ฉบับที่ 273 เกมรักทรยศ : คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด


        ภายใต้ระบอบสังคมแบบปิตาธิปไตยหรือสังคมแบบชายเป็นใหญ่นั้น บุรุษเพศมักมีอหังการว่า ตนมีอำนาจกำหนดชะตากรรมของผู้หญิง และในระบอบสังคมดังกล่าวนี้ ผู้หญิงจำนวนหนึ่งต้องทนทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส จนอาจจะนำไปสู่บทสรุปให้กับผู้หญิงว่า คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด ก็เป็นได้ 
        แบบเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่าง เจนพิชชา หรือ หมอเจน จิตแพทย์สาวชื่อดังในจังหวัดภูเก็ต กับสามีที่อยู่กินกันมานานอย่าง อธิน จนมีโซ่ทองคล้องใจสองคนคือ พัชร์กับ พลอย ในละครโทรทัศน์เรื่อง เกมรักทรยศ ที่ฉายภาพชีวิตคู่ซึ่งต้องภินท์พังลงเพราะความลุแก่อำนาจแบบชายเป็นใหญ่ และด้วยการออกแบบพล็อตเรื่องของละคร ก็อาจทำให้บรรดาสามีทั้งหลายต้องผาดตาสัมผัสผู้หญิงที่นอนร่วมเตียงเคียงหมอนกันด้วยมุมมองแบบใหม่ 
        เปิดฉากละครมาด้วยภาพชีวิตครอบครัวพ่อแม่ลูกที่แสนจะอุดมคติ อบอุ่นลงตัว ควบคู่ไปกับอีกด้านที่อาชีพการงานของหมอเจนก็ดูจะเจริญก้าวหน้าในฐานะแพทย์สาวด้านจิตเวชมือต้นๆ ของโรงพยาบาล จนกระทั่งจุดหักเหของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อหมอเจนไปพบเส้นผมของผู้หญิงติดอยู่บนผ้าพันคอของอธิน เพราะไฟไหม้อย่างไรก็ต้องมีควัน และเพราะหมอเจนมีคติประจำใจว่า ความโง่ที่สุดของผู้หญิงคือการคิดว่าตนเองฉลาดกว่าคนอื่น ดังนั้นเธอจึงเริ่มตั้งสมุฏฐานที่ว่า สามีที่เธอไว้ใจน่าจะกำลังนอกใจเธออยู่หรือไม่ 
        ยิ่งสงสัยก็ยิ่งสืบค้น ยิ่งขุดค้นก็ยิ่งทยอยเจอหลักฐาน จากเส้นผมปริศนา มาเจอช่องลับในรถยนต์ เจอรูปลับในโทรศัพท์ เจอพฤติกรรมแปลกๆ ของสามีและคนรอบข้างเธอ เรื่อยไปถึงข้ออ้างที่อธินมักไปเยี่ยมแม่ที่สถานพักฟื้นคนชรา จนกลับบ้านค่ำมืดดึกดื่น 
        หลังจากปะติดปะต่อจิ๊กซอว์ของเรื่องราว หมอเจนก็บรรลุคำเฉลยว่า เรื่องที่เธอกำลังระแวงว่า สามีแอบไปมี โลกสองใบ นั้นมีมูลความจริงอยู่ และก็ค่อยๆ ค้นพบต่อไปด้วยว่า ผู้หญิงที่สวมบทบาทเป็นภรรยาเก็บลับๆ ของอธินก็คือ เคท นักศึกษาไฮโซสาวสวยใสซื่อ ลูกผู้มีอิทธิพลด้านธุรกิจของจังหวัด 
        และที่สำคัญ สมการของเรื่องก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น เมื่อหมอเจนยิ่งสืบค้น เธอก็ยิ่งได้คำตอบที่ซุกซ่อนซ้อนทับลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า ไม่ใช่เพียงสามีเท่านั้นที่ปิดบังเรื่องการนอกใจ หากแต่บุคคลรอบตัวของเธอและอธินเอง ต่างก็รู้เห็นเป็นใจ และก็ช่วยกันปกปิดความจริงจนทำให้เธอดูราวกับเป็น ผู้หญิงโง่ๆ คนหนึ่ง 
        ไม่ว่าจะเป็น ชัชและ อันนา สองสามีภรรยาเพื่อนบ้านที่หมอเจนคิดเสมอว่าเป็นเสมือนญาติพี่น้องที่สนิทที่สุด โรส หมออายุรเวทเพื่อนสนิทของอธินและก็เป็นเพื่อนที่หมอเจนมอบความไว้ใจมานาน จูน เลขานุการของอธินที่มักมาปรับทุกข์เรื่องชีวิตครอบครัวกับหมอเจน รวมไปถึง สร้อยสน มารดาของอธินที่เอาแต่ปกป้องลูกชายโดยไม่คำนึงถึงจิตใจของลูกสะใภ้แต่อย่างใด 
        เพราะ คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด และยิ่งเป็น ทุกๆ คนที่ไว้ใจ ซึ่งอยู่ใกล้ชิดรอบตัวที่ใช้ทฤษฎีสมคบคิดทำร้ายจิตใจของเธอด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป แบบที่หมอเจนพูดกับโรสว่า มันไม่ใช่เส้นผมเส้นเดียวน่ะสิ แต่มันเป็นเส้นผมที่บังตาฉันมาตลอด ด้วยเหตุนี้ หมอเจนที่ ตาสว่างจึงตัดสินใจแน่วแน่วว่า คงต้องเป็นเธอเองที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทวงสิทธิ์ในการรับรู้และจัดการกับสามีที่มีบ้านหลังที่สอง 
        แม้หมอเจนจะเคยกล่าวกับโรสว่า ความเชื่อใจเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์อันมั่นคง แต่เมื่อหมดซึ่ง ความเชื่อใจ ที่มีต่อสามีและผู้คนรอบข้างไปเสียแล้ว หมอเจนจึงเลือกเดินเกมรุกเพื่อต่อสู้ในสมรภูมิแห่ง เกมรักทรยศในครั้งนี้         
        ในขณะที่หน้าฉากของครอบครัวคือสถาบันที่สมาชิกในบ้านต้องปั้นภาพลักษณ์ให้คนอื่นๆ เห็นเพียงด้านความสุขสมานฉันท์กลมเกลียว ดังสำนวนที่ว่า ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า แต่เอาจริงๆ แล้ว หลังฉากของสถาบันครอบครัว บ่อยครั้งก็ไม่ต่างจากสนามรบที่มีการเมืองระหว่างเพศปะทุคุกรุ่นเป็นระยะๆ 
        ดังนั้น เมื่อฉากหลังเป็นยุทธสงครามจาก เกมรักที่พรางตาเธอด้วยความ ทรยศหมอเจนจึงมุ่งหมายว่า เธอต้องเอาคืนทุกอย่างทั้งหมดที่เป็นของตนมาเสียจากอธิน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ทรัพย์สมบัติ และลูกทั้งสองคน จะมียกเว้นก็แต่สามีเท่านั้นที่เธอต้องการฟ้องหย่า และไม่คิดที่จะถือครองกรรมสิทธิ์อีกต่อไป 
        เริ่มต้นจากที่หมอเจนส่ง เตย อดีตคนไข้ที่เธอวางใจให้ไปเช่าห้องพักอยู่ข้างห้องของเคท และทำทีตีสนิทเพื่อสืบสาวเรื่องราวความลับหรือแม้แต่ปั่นหัวศัตรูอยู่ตลอดเวลา จากนั้นเธอก็ยอมหลับนอนกับชัช เพราะไม่เพียงต้องการสั่งสอนอันนาให้เข้าใจความเจ็บปวดจากการถูกทรยศโดยคนใกล้ตัวเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการคุมเกมการใช้ เพศสัมพันธ์ แบบ one-night stand เป็นเครื่องมือทางอำนาจเพื่อแบล็คเมล์ให้ชัชเอาเอกสารบัญชีการเงินที่ติดลบของสามีมาใช้ต่อรองตอนฟ้องคดีหย่าร้างกัน 
        จนนำไปสู่ฉากที่หมอเจนเปิดโปงวีรกรรมของเคทกลางโต๊ะกินข้าวต่อหน้า ท่านบุญณ์ญาณ์ และ คุณหญิงมินตรา เพื่อกระชากหน้ากาก ลูกสาวที่แสนดี ของทั้งคู่ว่า กำลังคบชู้กับอธินจนตั้งท้อง รวมถึงตอกหน้าเคทด้วยวลีเด็ดแห่งยุคว่า จะตบหน้าฉันอีกเหรอ ตบมาตบกลับนะครั้งนี้ ไม่โกง 
        หลังจากที่จัดฉากต่างๆ จนเขี่ยสามีให้ระเห็จออกไปจากชีวิตได้ หมอเจนก็กลับพบว่า สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร ยิ่งมีจิตสำนึกแบบผู้ชายเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจเป็นเดิมพัน แบบที่อธินก็กล่าวกับตนเองว่า บางทีผู้ชายก็รับไม่ได้ที่เห็นว่าเมียตัวเองเก่งกว่า ดีกว่า เพราะฉะนั้นความพ่ายแพ้ในเกมยกแรกจึงทำให้หลายปีที่ผ่านไปเขาก็ยังเลือกจะกลับมาเพื่อทวงคืนแก้แค้นกับภรรยาอีกครั้ง 
        และเพราะนักจิตวิทยาอย่างหมอเจนก็รู้ถึงสัจธรรมที่ว่า สิ่งที่ผู้ชายทั้งหลายกลัวก็คือ สายตาของคนอื่นที่มองว่าเขาเป็นคนขี้แพ้หรือเป็นคนที่น่าสมเพชเวทนา ดังนั้น ในยกหลังของเกม หมอเจนจึงจัดการวางกลอุบายที่จะสั่งสอนให้อธินในครั้งนี้ไม่เหลือสิ่งใด แม้แต่ครอบครัวใหม่กับเคทและอนาคตของเขา 
        หากในการเมืองเรื่องอำนาจระหว่างเพศจะทำให้หมอเจนต้องเรียนรู้ความสูญเสีย โดยเฉพาะกับพัชร์บุตรชายที่เลือกจะหนีออกไปจากเกมขัดแย้งของพ่อและแม่ แต่เธอก็ได้คำตอบว่า ระหว่างการรักษาความสัมพันธ์กับสามีที่เป็นเพียง ผู้ชายห่วยๆ คนหนึ่ง กับเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะหลุดพ้นจากสายโซ่ที่ร้อยรัดไว้ด้วยบรรทัดฐานของภรรยาที่ดีที่ต้อง แสร้งโง่ ตลอดเวลา เธอควรจะอยู่กับตัวเลือกข้อใด 
        คำตอบคงไม่ต่างจากฉากที่หมอเจนเอาเครื่องพ่นไฟมาลนหลอมแหวนแต่งงานจนไม่เหลือซากความทรงจำอัน ลวงตา ของอดีต คู่ขนานไปกับประโยคในท้ายเรื่องที่เธอกล่าวกับอันนา และกระแทกมาในใจของผู้ชมได้อย่างน่าขบคิดยิ่งว่า เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาจากผู้ชายห่วยๆ คนหนึ่ง แต่ทำไมคนที่ต้องลุกขึ้นมาทำสงครามฟาดฟันกันไม่จบไม่สิ้นต้องเป็นพวกผู้หญิงด้วย

แหล่งข้อมูล: สมสุข หินวิมาน

0 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ละคร เกมรักทรยศ

ฉบับที่ 278 มือปราบมหาอุตม์ : ฉันจะเป่าคาถา…เพื่อทวงหาคุณธรรม

                หากใครเป็นคอภาพยนตร์แนวบู๊ของฮอลลีวูด จะพบว่า ในกลุ่มหนังบู๊นั้น มีหนังแนวหนึ่งที่เน้นต่อสู้แอ็กชันผสมแฟนตาซีโรมานซ์ โดยใช้ฉากย้อนยุคแบบพีเรียดในอดีต ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อภาษาอังกฤษว่า ภาพยนตร์บู๊ประเภท “swashbuckler film”         หนังแนว “swashbuckler” มักผูกโยงเรื่องราวของตัวละคร “สีเทาๆ” ที่แม้ด้านหนึ่งจะเป็นพระเอกของเรื่อง แต่อีกด้านหนึ่งก็สวมบทบาทเป็นจอมโจรผู้เชี่ยวชาญอาวุธ โดยเฉพาะการต่อสู้ด้วยดาบ เพื่อปกป้องทั้งหญิงสาวคนรัก และปล้นมิจฉาชีพผู้ร่ำรวยเพื่อมาอภิบาลชาวบ้านผู้อ่อนแอจากอความอยุติธรรมที่ได้รับจากชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครอง แบบที่เราเห็นได้จากตัวละครคลาสสิกอย่าง “โรบิน ฮู้ด” แห่งป่าเชอร์วูด หรือ “จอมโจรโซโร” ผู้ผดุงคุณธรรมใต้หน้ากาก ไปจนถึง “กัปตันแจ็ค สแปร์โรว์” จ้าวแห่งโจรสลัดจากทะเลแคริบเบียน         ถ้าการปรากฏขึ้นของตัวละครในโลกสัญลักษณ์ไม่ได้ตกฟากมาอย่างเลื่อนลอย แต่มีเหตุผลรองรับจากความเป็นจริงแห่งปัจจุบันขณะ ดังนั้น ด้วยเรื่องราวของตัวละครย้อนยุคที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องซึ่งอยู่ในเส้นเรื่องของภาพยนตร์แนวนี้ ก็น่าจะสะท้อนย้อนให้เห็นว่า เมื่อไรก็ตามที่สังคมมิอาจไล่ล่าตามหาความยุติธรรมในโลกจริงได้แล้ว ตัวละครแบบ “swashbuckler” ก็จะลุกขึ้นมาทวงหาความเที่ยงธรรมแบบนี้ในโลกจินตนาการของเราเป็นการทดแทน         ออกจากป่าเชอร์วูดและทะเลแคริบเบียนมาสู่ชุมชน “เขาสมิง” ในปีพุทธศักราช 2508 ตัวละครโรบิน ฮู้ด จอมโจรโซโร และกัปตันแจ็ค สแปร์โรว์ ก็ได้แปลงรูปโฉมโนมพรรณเสียใหม่ มาอยู่ในคราบไคลของจอมโจรคาดหน้าภายใต้สมัญญาว่า “เสือผาด” ผู้คอยปล้นสะดมคนรวยเพื่อเอาเงินไปช่วยเหลือคนจนผู้ยากไร้ ในละครโทรทัศน์แนวบู๊แฟนตาซี หรือ “swashbuckler” แบบไทยๆ เรื่อง “มือปราบมหาอุตม์”         จุดเริ่มต้นของเรื่องเกิดขึ้นด้วยการแนะนำให้เรารู้จักกับ “กระทิง” หรือชื่อในอดีตว่า “สันติ” นายตำรวจหนุ่มอนาคตไกลผู้ไม่เคยกลัวใคร ยึดมั่นในคุณธรรม และคอยปราบปรามเหล่าร้ายนอกกฎหมาย หลังจากที่ติดยศเป็น “ผู้กองกระทิง” เขาได้เดินทางมายังเขาสมิง ดินแดนไกลปืนเที่ยงที่เสือผาดได้ใช้ชีวิตอยู่ในชุมโจรอันลึกลับเพื่อหลบเร้นจากอำนาจแห่งกฎหมายหรือข้อกำหนดใดๆ ของสังคม         ในขณะเดียวกัน แม้จะได้ชื่อลือเลื่องว่าเป็นจอมโจรใต้หน้ากากที่คนรวยตีตราให้เป็นประหนึ่งปีศาจ แต่กับคนยากคนจนทั้งหลาย กลับชื่นชมเสือผาดไม่ต่างจากพระเจ้าที่คอยช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากเหล่านั้น และที่สำคัญ แม้ยังไม่เคยมีใครที่ได้เห็นใบหน้าแท้จริงของเสือผาด แต่จริงๆ แล้ว ขุนโจรผู้นี้ก็คือเพื่อนวัยเยาว์ของกระทิงที่ชื่อ “ไม้” ที่มีปมพ่อแม่ถูกฆ่าตาย จนเป็นกำพร้าตั้งแต่ยังเด็ก         ภายใต้เส้นเรื่องที่พระเอกสองคนผู้เล่นบทบาทต่างกันได้เวียนวนมาพบกันหลังจากพลัดพรากไปตั้งแต่ยังเล็ก โดยที่คนหนึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่รักษากฎหมาย อีกคนหนึ่งเป็นผู้ขบถต่อกฎเกณฑ์แห่งสังคม ละครก็ได้เพิ่มปมขัดแย้งให้เข้มข้นขึ้น เพราะบุรุษหนุ่มทั้งคู่ไปตกหลุมรักผู้หญิงคนเดียวกันคือ “บุหลัน” หรือในอดีตชื่อ “กำไล” เพื่อนวัยเด็กของทั้งสอง ที่ปัจจุบันเป็นนักร้องสาวสวยประจำบาร์เขาสมิง และต้องปกปิดความลับของตัวตนไม่ให้ผู้อื่นรับรู้เช่นกัน         ในขณะที่ฮอลลีวูดสร้างตัวละครแบบ “swashbuckler” ผู้อยู่ “นอกกฎหมาย” มาเฝ้าคอยผดุงคุณธรรมของสังคม รวมถึงปกป้องหญิงสาวคนรักและผู้คนจากอำนาจมืดที่อยู่ “เหนือกฎหมาย” นั้น ละคร “มือปราบมหาอุตม์” ก็เดินเรื่องบนโครงพล็อตไม่แตกต่างกันนัก         ด้วยเหตุดังกล่าว แม้พระเอกทั้งสองจะเคยผูกพันด้วยมิตรภาพที่มีมาตั้งแต่เด็ก แต่เสือผาดในฐานะจอมโจรแห่งเขาสมิงผู้อยู่ “นอกกฎหมาย” ก็มิวายต้องขัดแย้งกับผู้กองกระทิงที่เล่นบทบาทเป็นผู้ “พิทักษ์กฎหมาย” ควบคู่ไปกับสี่ห้องหัวใจที่เขาทั้งคู่ต่างมอบให้กับหญิงสาวคนเดียวกันอีก         ที่สำคัญ อำนาจที่อยู่ “เหนือกฎหมาย” ของตัวร้ายอย่าง “เสือหาน” ตัวละครที่ทำให้ชาวบ้านเขาสมิงล้วนประหวั่นพรั่นพรึง ก็คือเหตุปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดตำนานเสือผาดจอมโจรใต้หน้ากากผู้เฝ้าคอยดูแลปกป้องชาวบ้านร้านตลาดจากอำนาจมืดดังกล่าว และก็เป็นเสือหานนี้อีกเช่นกันที่ทำให้เพื่อนรักอย่างไม้ สันติ และกำไล ต้องพลัดพรากบ้านแตกสาแหรกขาด จนต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบากมานานเกินกว่าสิบปี         ไม่เพียงเสือหานจะเป็นอภิมหาเจ้าพ่อผู้ทรงอิทธิพลด้านมืดเพื่อขึ้นเป็นใหญ่ในเขาสมิงเท่านั้น แต่เมื่อตัดสินใจจะเข้าสู่สนามการเมืองระดับชาติ เสือหานก็พยายามชุบตัวเสียใหม่กลายเป็น “เฮียหาน” และซื้อตัวบรรดาตำรวจยศใหญ่หลายคน รวมถึง “ทวี” หนึ่งในนายตำรวจผู้เป็นลูกน้องที่เขาปลุกปั้นจนได้มียศเป็นผู้กำกับประจำสถานีตำรวจเขาสมิง         เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศแบบไทยๆ และสอดรับกับกระแส “มูเตลู” วิถีความเชื่อที่ไม่เคยตกยุคตกสมัยในสำนึกของคนไทยแล้วนั้น แทนที่เราจะได้เห็นฉากดวลดาบดวลปืนแบบที่คุ้นเคยในหนังอเมริกัน ทั้งฮีโร่นักบุญในคราบจอมโจรและพระเอกหนุ่มผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ก็เลยสวมวิญญาณเจ้าพ่อแห่งวิชาอาคม เสกเป่าคาถามนตราต่างๆ เพื่อต่อสู้กับเฮียหานผู้ที่ได้ชื่อว่าอาคมแก่กล้าเกินกว่าใครในปฐพี         จากนั้น เพื่อสร้างอรรถรสในการเสพฉากบู๊สายมูเยี่ยงนี้ ละครจึงได้หวนให้เราเห็นภาพภูมิปัญญาอันหลากหลายของศาสตร์วิชชามหาอุตม์ ที่ชื่ออาจจะฟังดูไม่คุ้นหู ณ กาลปัจจุบัน แต่ก็ถูกขุดกรุออกมาเป็นอาวุธห้ำหั่นฟาดฟันกันทั้งจากฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรม ไม่ว่าจะเป็นว่านกำบังกาย ยันต์ไขคำปาก นกคุ้มส่งข่าว อานุภาพเหล็กไหล คาถานาคราชนาราชันย์ มนต์ธรรมราช ตรีศูลศาสตราวุธ และอื่นๆ อีกมากมาย         หลังจากต่อสู้เป่ามนตรามหาอุตม์อย่างชวนตื่นเต้นเร้าใจตลอดทั้งเรื่องแล้ว แม้ตามหลักกฎหมายแล้ว จอมโจรนักบุญกับตำรวจมือปราบจะเล่นบทบาทที่ยืนอยู่กันคนละขั้วคนละฝ่าย แต่ทว่าทั้งด้วยมิตรภาพและด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องการโค่นล้มมาเฟียใหญ่แห่งเขาสมิง การผนึกกำลังของชายสองคนต่างขั้วตรงข้ามกันก็ยืนยันให้เห็นว่า ต่อให้เสือหานจะมีวิชาอาคมเก่งกาจเพียงใด หากไร้คุณธรรมกำกับด้วยแล้ว ฝ่ายอธรรมก็ต้องแพ้พ่ายต่อพลังแห่งธรรมะและกฎแห่งกรรมเสมอ         เมื่อถึงฉากจบของการทวง “คืนความสุขให้เขาสมิง” กลับมาได้แล้ว ด้วยบทบาทที่เล่นกันคนละจุดยืน กอปรกับมิตรภาพที่เคยมีมาตั้งแต่วัยเด็กของบุรุษหนุ่มตัวเอกทั้งสองของเรื่อง ไม้ในนามเสือผาดได้เลือกหายสาบสูญจากเขาสมิงไปตลอดกาล เพื่อให้ส้นติและกำไลได้ลงเอยครองคู่กันอย่างแฮปปี้เอนดิ้งไปในที่สุด          คู่ขนานไปกับการคลี่คลายปมรักปมแค้นและปมขัดแย้งหลักของเรื่องละครเช่นนี้ บางทีการปรากฏตัวและลาจากไปของเสือผาดก็อาจตั้งคำถามกับเราไม่มากก็น้อยด้วยว่า ทุกวันนี้ที่สังคมเป็น “สีเทาๆ” ความดีความเลวแยกขาดกันได้ไม่ชัดเจน เราจะยังหวังทวงหาคุณธรรมและความยุติธรรมในโลกจริงกันได้เพียงไร หรือต้องรอให้จอมโจรใต้หน้ากากลุกขึ้นมาเป่าคาถากอบกู้คุณธรรมความถูกต้องให้เรากันอีกกี่ครั้งครา

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 ชีวิตภาคสอง : หากเราได้เจอกันอีกสักครั้ง อยากขอกอดเธอไว้ให้อุ่นเหมือนเก่า

         นักปรัชญากรีกโบราณอย่างเฮราไคลตัสเคยกล่าววาทะที่คลาสสิกบทหนึ่งเอาไว้ว่า “you cannot step into the same river twice” หรือแปลความเป็นภาษาไทยว่า “คุณไม่สามารถจะก้าวลงไปในแม่น้ำสายเดียวกันได้เป็นครั้งที่สอง”                คำคมของเฮราไคลตัสข้างต้นนี้ อธิบายความโดยนัยได้ว่า เวลาไม่เคยหยุดนิ่ง แต่ดำเนินอยู่บนกฎแห่งความเปลี่ยนแปลง แค่เพียงเราก้าวเท้าลงแม่น้ำ สายน้ำก็ไหลไปอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ภายใต้กฎความเปลี่ยนแปลงแห่งเวลาเช่นนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ “สายน้ำจะหวนคืนกลับ” หรืออีกนัยหนึ่ง โอกาสของมนุษย์แทบจะไม่มีทางย้อนกลับมาเกิดเป็นครั้งที่สองได้เลย         แต่จะเป็นเช่นไร หากสายน้ำบังเอิญได้หวนกลับ และโอกาสในชีวิตของคนเราได้ย้อนทวนหวนคืนมาอีกเป็นคำรบที่สอง คำตอบข้อนี้เป็นเส้นเรื่องหลักที่ผูกไว้อยู่ในละครโทรทัศน์แนวดรามาเรื่อง “ชีวิตภาคสอง”         ด้วยพล็อตเรื่องที่ประหนึ่งโชคชะตาเล่นตลกกับผู้ชายสองคนจากต่างรุ่นวัยและต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจสังคม ละครได้เปิดเรื่องด้วยการแนะนำให้ผู้ชมได้รู้จักกับตัวละครแรกคือ “ปรเมศ” พ่อม่ายนักธุรกิจผู้มั่งคั่ง แต่มีความสัมพันธ์อันไม่ลงรอยกับ “ปิ่น” บุตรสาวเพียงคนเดียวของเขา กับอีกตัวละครหนึ่งคือ “สอง” ชายหนุ่มแสนดี แต่มีฐานะยากจนและมีชีวิตหาเช้ากินค่ำไปในแต่ละวัน         แล้วความขัดแย้งของเรื่องก็ยิ่งปะทุหนักขึ้น เมื่อปรเมศตัดสินใจเข้าสู่ประตูวิวาห์อีกครั้งกับ “รตา” หญิงสาวที่มีอายุรุ่นลูก ซึ่งปิ่นเชื่อว่า รตาต้องการแต่งงานกับบิดาสูงวัยของเธอเพียงเพื่อปอกลอกสมบัติจากปรเมศเท่านั้น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพ่อลูกจึงเพิ่มดีกรีมากขึ้น จนพ่อกับลูกสาวทะเลาะกัน และทำให้ปรเมศเกิดอาการโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลันขึ้นมา         ประจวบเหมาะกับในเวลาเดียวกันนั้น ทางฝั่งของแรงงานรับจ้างรายวันหนุ่มอย่างสอง ก็เกิดอาการโรคหัวใจกำเริบขึ้นเฉียบพลัน จนเข้าขั้นโคม่า และได้เข้ามานอนบนเตียงโรงพยาบาลแห่งเดียวกับที่ปรเมศถูกแอดมิทอยู่นั่นเอง        บนความบาดหมางไม่ลงรอยกันระหว่างพ่อกับลูกนี้เอง นำไปสู่การจากไปแบบกะทันหันของปรเมศ โดยที่ทั้งคู่ยังไม่ได้คลี่คลายความขัดแย้งกัน กลายเป็นปมติดค้างในใจที่ทั้งปรเมศและปิ่นต่างก็เหมือนจะมีเสียงร้องก้องอยู่ว่า “ใจฉันยังคิดถึงเหมือนเคย ไม่มีใครแทนที่เธอได้เลย” ในเวลาเดียวกับที่ปิ่นผู้เป็นบุตรสาวเองก็ยังคงมีข้อสงสัยในสาเหตุการตายของบิดา และคิดว่าเป็นฝีมือการวางแผนฆาตกรรมของรตาที่ต้องการฮุบสมบัติทั้งหมดไว้เป็นของตน         แต่ทว่า ภายใต้ปมในใจที่ค้างคาระหว่างพ่อลูก ภายใต้ปมปริศนาการเสียชีวิตของตัวละครที่ยังไม่คลี่คลาย และภายใต้ห้วงนาทีชีวิตที่มีความเป็นกับความตายเป็นเส้นกั้นแบ่งบางๆ อยู่ระหว่างกลางนั้น ความมหัศจรรย์แห่งโชคชะตาก็บังเกิดขึ้นในชีวิตของผู้ชายทั้งสองคน         ในเสี้ยวชีวิตที่วิญญาณของปรเมศหลุดลอยออกจากร่างนั้น ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่สองได้หมดสิ้นลมหายใจลง เพราะฉะนั้นดวงจิตของเขาจึงถูกโชคชะตา “โอนไฟล์” เข้ามาอยู่ในร่างของสองแทน ในขณะที่ร่างจริงของปรเมศก็ได้ถูกรตาเร่งจัดการฌาปนกิจจนเป็นเถ้าสลายหายไป             “ถ้าเราได้เจอกันอีกสักวัน อยากถาม เธอจำฉันได้อยู่หรือเปล่า เธอจะยิ้มให้ฉันหรือเปล่า…” หลังจากที่ปรเมศได้ “โอกาสที่สอง” หรือ “second chance” ในร่างของชายหนุ่มที่ชื่อว่าสองเช่นนี้ เขาจึงต้องการใช้โอกาสดังกล่าวเพื่อแก้ไขปมขัดแย้งต่างๆ ที่ผูกมัดไว้เมื่อเขายังมีลมหายใจอยู่ในคราแรก         เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า สำหรับกลุ่มทุนที่เป็นชนชั้นนำบนยอดปิรามิดของสังคมไทยนั้น แม้ชีวิตของคนกลุ่มนี้จะประสบความสำเร็จในการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจการเมืองมาช้านานแล้วก็ตาม แต่ในชีวิตทางสังคมนั้น ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันมหาศาลก็คือชนวนเหตุหลักแห่งความขัดแย้งต่างๆ และก็มักลุกลามเข้าไปมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัวของคนกลุ่มดังกล่าว         เมื่อชนชั้นนำมีความเปราะบางยิ่งในชีวิตครอบครัว   ดังนั้นการกลับมาสิงสถิตอยู่ในร่างของผู้ชายอีกคน ปรเมศจึงค้นพบข้อเท็จจริงหลายอย่าง ตั้งแต่เงื่อนงำการเสียชีวิตของเขาที่มีรตากับชู้รักอย่าง “จิรัน” สมคบคิดวางแผนฆาตกรรมอยู่เบื้องหลัง และในขณะเดียวกัน รตาเองก็ยังร่วมมือกับทั้ง “อรัญญา” ผู้เป็นมารดา “สิตางค์” ลูกพี่ลูกน้อง และ “เฮียหมง” เจ้าของธุรกิจสีเทา เพียงเพื่อจะยึดครองมรดกทางธุรกิจที่เขาก่อร่างสร้างไว้ให้บุตรสาวมาทั้งชีวิต         ด้วยเส้นเรื่องของการที่มนุษย์ผู้หนึ่งสามารถได้ในสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “second chance” นี้เอง ก็อาจจะไม่เกินการคาดเดาได้ว่า “โอกาสที่สอง” ของปรเมศ ต้องสัมฤทธิ์ผลในท้ายที่สุดแน่นอน เพียงแต่ละครจะทำให้เราลุ้นกันว่า กว่าจะคลี่คลายปมขัดแย้งทั้งหมดได้นั้น ตัวละครทั้งหลายจะมีเส้นทางฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ กันด้วยวิธีการใด         เพราะฉะนั้น เมื่อมาอยู่ในร่างที่ต่างไปจากเดิม แต่สิงไว้ด้วยจิตสำนึกใหม่ที่ต้องการแก้ไขข้อผิดพลาดในครั้งเก่า ปรเมศในร่างของสองจึงคอยช่วยเหลือปิ่นที่ต้องปะทะประมือกับรตาและสหพรรคพวกเกินกว่าครึ่งเรื่อง จนปิ่นเองก็ยิ่งเกิดความสงสัยในตัวตนที่แท้จริงของสอง เพราะไม่เพียงเขาจะรู้เรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับปรเมศ หรือมีพฤติกรรมคล้ายกับบิดา แต่สองยังดูคุ้นเคยและปรับตัวเข้ากันได้ดีกับสุนัข “ไฟเตอร์” ที่ปรเมศรักและเลี้ยงดูมาตั้งแต่ครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่         ยิ่งเมื่อความโหดร้ายของรตาเริ่มอัพเลเวลทับทวีขึ้นเรื่อยๆ ปรเมศในร่างของสองก็คอยทุ่มเทปกป้อง เพื่อใช้ “โอกาสที่สอง” ยืนยันกับลูกสาวของตนว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่มีชีวิตอยู่จนถึงวิญญาณหลุดไปอยู่ในร่างชายหนุ่มรุ่นลูก แต่ความรักที่พ่อมีให้กับปิ่นนั้น “ยังคงเหมือนเดิม ไม่เคย…จางหายไป…”         “มีพบก็ต้องมีจาก” เป็นสัจธรรมที่มิอาจปฏิเสธได้ เหมือนกับภาษิตจีนที่กล่าวว่า “การได้พบกันถือเป็นโชคชะตา การจากลาก็เช่นเดียวกัน” ด้วยเหตุนี้ แม้ในตอนท้ายเรื่อง ความบาดหมางระหว่างพ่อลูกจะแก้ไขไปได้แล้วก็ตาม แต่เพราะปรเมศได้ตัดสินใจใช้ “โอกาสที่สอง” เอาชีวิตของตนปกป้องบุตรสาวในห้วงเวลาความเป็นความตาย ทำให้ทั้งคู่ต้องพลัดพรากจากกันอีกครั้ง ทั้งๆ ที่รู้ว่าคงไม่มี “โอกาสที่สาม…สี่…ห้า…” ให้ได้กลับมาพบลูกสาวของตนครั้งใหม่ก็ตาม         เมื่อฉากละครจบลง และฉากชีวิตของครอบครัวชนชั้นนำของปรเมศและปิ่นได้รับ “โอกาสที่สอง” เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไม่เข้าใจกันผ่านพื้นที่ของโลกสัญลักษณ์กันผ่านไปแล้ว บางทีก็น่าคิดเหมือนกันว่า แล้วกับมนุษย์ผู้หาเช้ากินค่ำหรือมีสถานะเป็นชนชั้นล่างของสังคมอย่างสองนั้น “โอกาสที่สอง” จะบังเกิดขึ้นในชีวิตของคนกลุ่มนี้เฉกเช่นเดียวกับที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นกับปรเมศได้บ้างหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 กลเกมรัก : สงสารแต่ลูกปลาบู่…

                “สงสารแต่แม่ปลาบู่ อาศัยอยู่ในฝั่งคงคา นางเอื้อยเป็นลูกกำพร้า ถึงเวลามาร่อนรำ…”         นิทานพื้นบ้าน “ปลาบู่ทอง” เล่าถึงชีวิตของ “เอื้อย” เด็กน้อยผู้กำพร้ามารดาตั้งแต่ยังเล็ก แต่ด้วยความรักความผูกพัน แม่ของเด็กหญิงเลยกลับชาติมาเกิดเป็นปลาบู่ทอง แต่ก็มิวายถูก “อ้าย” น้องสาวต่างมารดา ตามราวีจับแม่ปลาบู่ทองมาฆ่ามาแกง กลายเป็นเรื่องเล่ามุขปาฐะชีวิตลำเค็ญที่สืบต่อรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน         แม้ข้อคิดหลักของนิทานเรื่อง “ปลาบู่ทอง” จะยืนยันกับเด็กๆ ว่า ให้รู้จักคิดดีทำดีแล้วจะได้ดี รู้จักให้อภัย ไม่อิจฉาริษยา อดทนยึดมั่นกตัญญูแม้จะถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา หากทว่าสิ่งหนึ่งที่ถูกตอกย้ำซ้ำทวนเอาไว้ในเรื่องราวก็คือ ภาพความน่าสงสารของเด็กกำพร้า เพราะขาดซึ่งพ่อหรือแม่ที่เฝ้าคอยปกป้องดูแล         พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กำหนดความหมายของ “เด็ก” ว่า เป็นบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และนิยามถึง “เด็กกำพร้า” เอาไว้ว่า เป็นเด็กที่บิดาหรือมารดาเสียชีวิต เด็กที่ไม่ปรากฏบิดามารดา หรือไม่สามารถสืบหาบิดามารดาได้         แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะนิยามความหมายของ “เด็กกำพร้า” เอาไว้แบบกลางๆ แต่ก็เป็นเรื่องชวนประหลาดใจว่า เมื่อภาพเด็กกำพร้ามาปรากฏอยู่ในจินตกรรมของเรื่องแต่งทั้งหลาย เด็กกำพร้ากลับมักถูกกำหนดคุณค่าให้ดูน่าสงสาร และมีชะตากรรมที่ทุกข์ยากลำเค็ญ ไล่เรียงตั้งแต่นิทานคลาสสิกเรื่อง “ปลาบู่ทอง” ไปจนถึงละครโทรทัศน์แนวรักสี่เส้าเรื่อง “กลเกมรัก”         เริ่มต้นเรื่องขึ้นมาด้วยการฉายให้เห็นภาพของ “อนล” พระเอกหนุ่มลูกชายของ “อาทิตย์” รองประธานบริษัท KTP ของตระกูลกำธรภูวนาถ ที่ต้องการเวนคืนที่ดินจากกลุ่มคนจนในสลัม เพราะคุณอาทิตย์มีปณิธานประจำใจที่คอยสอนบุตรชายอยู่เสมอว่า “คนจนก็ไม่ต่างจากมดปลวก ไร้ค่า ไร้ประโยชน์”         แต่ในเวลาเดียวกัน “ภูมิ” ผู้เป็นน้องชายของอาทิตย์ และรั้งตำแหน่งประธานบริษัท KTP กลับไม่เห็นด้วย ทำให้พี่น้องต้องขัดแย้งกัน ไม่ใช่เพียงเพราะความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ยังเป็นเพราะผลประโยชน์ที่แบ่งกันไม่ลงตัว จนเป็นศึกสายเลือดภายในตระกูลเดียวกันของกลุ่มทุนรายใหญ่         ภูมิมีบุตรชายที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับอนลชื่อ “ภีม” ซึ่งมองว่า “บ้าน” ไม่ใช่เพียง “สิ่งที่เป็นอาคารสถานที่อยู่อาศัย” หากแต่เป็น “ทุนของความสุข” สำหรับทุกคนโดยไม่แบ่งชนชั้นหรือฐานะทางสังคม ดังนั้น ไม่เพียงแต่รุ่นพ่อที่ขัดแย้งผลประโยชน์ระหว่างกัน แต่รุ่นลูกก็ยังไม่ลงรอยกันด้วยโลกทัศน์ที่หล่อหลอมมาคนละชุด         ตัดภาพจากฉากชีวิตครอบครัวชนชั้นนำ อีกด้านหนึ่งละครก็จำลองภาพรูปแบบความเป็นครอบครัวซึ่งต่างออกไปของคนอีกกลุ่ม ที่ใช้ชีวิตอยู่ในมูลนิธิเด็กกำพร้าบ้านสายชล กับตัวละครนางเอก “อันดา” และเพื่อนรัก “ลลิษา” ที่เติบโตมาด้วยกัน และแม้จะเป็นเพื่อนรักและสนิทกันมาแต่เด็ก และแม้จะถูกเลี้ยงดูมาโดย “หมอเบญ” ผู้เป็นประหนึ่งแม่บุญธรรมในมูลนิธิบ้านสายชล แต่ชะตาชีวิตของทั้งอันดาและลลิษาก็ไม่ต่างจากเอื้อยและอ้ายในตำนานเรื่องเล่า “ปลาบู่ทอง” เอาเสียเลย                 ในขณะที่อันดาเป็นตัวแทนของสาวน้อยสดใสแสนดี และคอยช่วยเหลือเพื่อนรักทุกครั้งที่ทำผิดและหมอเบญคาดโทษเอาไว้ แต่ทว่ากับลลิษาแล้ว ลึกๆ มีแต่ความอิจฉาริษยา เพราะคิดวาหมอเบญและใครต่อใครต่างพากันมอบความรักความเอ็นดูให้แต่กับอันดาเพียงคนเดียว         และแล้วชะตากรรมของตัวละครทั้งสี่ชีวิตก็มีอันต้องโคจรมาพบกัน เมื่อ “รมิตา” ได้ทราบความจริงจาก “ถาวร” บิดาผู้เป็นนายทุนใหญ่เจ้าของธุรกิจตระกูลอัศวชานนท์ว่า ลูกสาวคนเดียวของเธอยังมีชีวิตอยู่ เธอจึงตัดสินใจออกตามหา ประจวบกับภีมที่ได้รับบาดเจ็บเพราะอุบัติเหตุจากคนปองร้าย ได้หนีมาหลบซ่อนตัวอยู่ใกล้ๆ กับมูลนิธิบ้านสายชล ทำให้ตัวละครทั้งหมดได้เข้าไปผูกพันทั้งกับความลับของบุตรสาวที่หายตัวไปของรมิตา และกับความขัดแย้งที่ปะทุอยู่ในตระกูลเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ไปโดยปริยาย         เพราะเสียงก้องในหัวใจของสาวน้อยผู้กำพร้าบุพการีอย่างลลิษาได้แต่ครวญเพลง “ก็อยากเป็นคนที่ถูกรัก” อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และเพราะเธอแอบไปรู้ความลับที่หมอเบญปกปิดเอาไว้ว่า อันดาน่าจะเป็นบุตรสาวที่สาบสูญไปของรมิตา ลลิษาจึงสวมวิญญาณ “เพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อ” และสวมรอยเป็นลูกสาวมหาเศรษฐี เพื่อแย่งชิงทุกอย่างไปจากอันดา ไม่ต่างจากต่อมริษยาของอ้ายที่มีต่อเอื้อยลูกสาวแม่ปลาบู่ทองแต่อย่างใด         เมื่อมี “mission” อันแน่วแน่ที่จะพรากทุกอย่างมาจากเพื่อนรัก ลลิษาจึงลงมือปฏิบัติการ “กลเกม” ต่างๆ ที่จะทำให้เธอหลุดพ้นไปจากบ่วงในใจของเด็กกำพร้าผู้ที่ไม่เคยมีใคร และยังเป็นผู้ที่ไม่เคยมีอะไร เพื่อให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งได้เข้าไปครอบครองคฤหาสน์หลังใหญ่ที่ใฝ่ฝันมาแต่เด็ก         ไม่ว่าจะเป็นการใช้ล็อคเก็ตของอันดามาสวมอ้างเป็นทายาทเศรษฐีนี ลงทุนกรีดข้อเท้าเพื่อสร้างตำหนิให้เหมือนแผลเป็นของเพื่อนรัก หลอกใช้ “กระทิง” ชายคนรักให้ร่วมมือในปฏิบัติการดังกล่าว ไปจนถึงกำจัดอีกหลายชีวิตที่ล่วงรู้ความลับ รวมถึงฆาตกรรมทั้งหมอเบญผู้อุปการะเลี้ยงดูเธอจนเติบโต และ “ซอนญ่า” ที่แอบเอาดีเอ็นเอของหญิงสาวไปตรวจพิสูจน์ความจริง          ศึกรบที่อันดาต้องเผชิญก็ว่าหนักหน่วงแล้ว ศึกรักที่ต้องประมือกับลลิษาก็ยังหนักหน่วงไม่แพ้กัน เพราะเมื่อลูกพี่ลูกน้องสองคนที่ขัดแย้งกันในกลเกมธุรกิจ มาแอบหลงรักชอบพออันดา ลลิษาที่หวังในตัวของพระเอกหนุ่มจึงเพิ่มดีกรีของเสียงร้องในใจขึ้นไปอีกด้วยว่า “ถ้าเลวแล้วได้ครอบครอง ฉันยอมให้มองว่าร้าย…”         เมื่อกลเกมแห่งธุรกิจมาบรรจบกับกลเกมแห่งความรัก ความขัดแย้งของสองพระเอกหนุ่มลูกพี่ลูกน้องในวงศ์วานเดียวกันที่ฟั่นเกลียวกับความขัดแย้งของหญิงสาวกำพร้าสองคนที่กลายมาเป็น “เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด” จึงกลายเป็นเส้นเรื่องหลักที่ทำให้ผู้ชมได้ลุ้นไปกับบทสรุปว่า ตกลงแล้วข้อขัดแย้งในกลเกมเรื่องรบและเรื่องรักจะคลี่ลายได้อย่างไร และความลับเรื่องปมชาติกำเนิดที่จะทำให้ลูกปลาบู่ทองอย่างอันดากลับคืนสู่อ้อมอกของมารดาจะออกมาในแบบไหน         อนุสนธิจากความลับของอันดาที่มีล็อคเก็ตและตำหนิแผลเป็นช่วยนำพาให้เธอกลับคืนสู่บัลลังก์ครอบครัวอัศวชานนท์ ในขณะเดียวกับที่ลลิษาก็ถูกลงโทษให้ตายตกไปตาม “กลกรรม” ที่ได้กระทำมาตลอดทั้งเรื่อง ก็คงยืนยันอุทาหรณ์เดียวกับนิทานพื้นบ้าน “ปลาบู่ทอง” ที่สอนให้เราคิดดีทำดี และเฉพาะเด็กหญิงที่รู้จักมุ่งมั่นทำความดีเท่านั้น จากเด็กน้อยผู้น่าสงสารก็จะกลายเป็น “เจ้าหญิงในนิยาย” ที่กลับคืนสู่อ้อมอกแม่ และได้อยู่ครองคู่กับ “เจ้าชายรูปงาม” ได้ในที่สุด       ดูละคร “กลเกมรัก” จนจบ ได้แต่รำพึงรำพันอนิจจาน่าเวทนาก็แต่ลูกปลาบู่อย่างลลิษา ผู้ที่ทำแม้ในสิ่งที่ผิด เพียงเพื่อเขยิบสถานะจากเด็กผู้ใฝ่ฝัน “อยากเป็นคนที่ถูกรัก” สักครั้งในชีวิต ถึงที่สุดก็ต้องกลายเป็นคนที่ไม่มีอะไรและไม่เหลือใครสักคน งานนี้ก็คงได้แต่ครวญเพลงบทใหม่ว่า “สงสารแต่ลูกปลาบู่…” แล้วกระมัง

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 พรหมลิขิต : ตกลงคือพรหมลิขิตใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น

        “พรหมลิขิตบันดาลชักพา ดลให้มาพบกันทันใด ก่อนนี้อยู่กันแสนไกล พรหมลิขิตดลจิตใจ ฉันจึงได้มาใกล้กับเธอ…”         บทเพลง “พรหมลิขิต” ที่ขับร้องโดยคุณวินัย จุลละบุษปะ แห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์ เมื่อราว 7 ทศวรรษที่ผ่านมาได้ บ่งบอกนัยความเชื่อของสังคมไทยที่รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งนับถือเทพตรีมูรติทั้งสามองค์ คือ พระพรหมผู้สร้างและควบคุมทุกอย่างที่พระเจ้าได้สร้างขึ้น พระวิษณุผู้ปกป้องโลกและควบคุมโชคชะตาของมนุษย์ และพระศิวะผู้ทำลายทุกชีวิตแต่ก็เป็นผู้ให้ชีวิตใหม่ได้เช่นกัน         เฉพาะกับความเชื่อเรื่องพระพรหมในฐานะเป็นผู้สร้างโลกและลิขิตชะตาชีวิตของบุคคลต่างๆ นับแต่เกิดจนตาย หรือแม้แต่ดลบันดาลให้เกิดความรักระหว่างบุคคลดังเนื้อร้องทำนองเพลงข้างต้นนั้น แม้เมื่อเราแปลคำภาษาอังกฤษ “destiny” ที่มีความหมายถึงอำนาจซ่อนเร้นบางอย่างซึ่งกำหนดอนาคตของปัจเจก คนไทยก็ยังซ่อนซุกร่องรอยไว้ด้วยว่า คงเป็นเพราะพระพรหมท่านที่ได้ขีดเขียนชะตากรรมให้เป็นเช่นนั้นแล         อย่างไรก็ดี เมื่อเรื่องราวของ “destiny” มาปรากฏอยู่ในโลกแห่งละครโทรทัศน์กันบ้าง และตัวละครต่างก็พูดคำว่า “destiny” กันซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดทั้งเรื่อง ก็ชวนให้สงสัยและไขข้อข้องใจว่า มาถึงทุกวันนี้แล้ว “ตกลงยังเป็นพรหมลิขิตอยู่ใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น” กันจริงๆ         กับละครโทรทัศน์แนวเดินทางข้ามเวลาภาคต่อ ที่ขานรับกระแส “ออเจ้าฟีเวอร์” ซึ่งฮือฮาเมื่อราว 5 ปีก่อนหน้าเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” มาสู่ภาคใหม่ในชื่อเรื่อง “พรหมลิขิต” ก็สื่อนัยความหมายไม่มากก็น้อยถึงอิทธิฤทธิ์ของพระพรหมท่านที่จะลิขิตบันดาลหรือกำหนดชะตาชีวิตของตัวละครให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้         เรื่องราวของละครโทรทัศน์ภาคต่อเล่าถึงนางเอก “พุดตาน” ณ กาลสมัยปัจจุบัน มีเหตุบังเอิญไปเจอเข้ากับหีบโบราณลึกลับ พลันที่เธอเปิดหีบนั้น ก็ได้พบกับสมุดข่อยโบราณ ซึ่งก็คือ “มนต์กฤษณะกาลี” ที่ถูกฝังดินไว้ และทันทีที่พุดตานได้สัมผัสกับสมุดข่อยศักดิ์สิทธิ์ ร่างของเธอก็ถูกกลืนหายไปจากปัจจุบันขณะ ย้อนกลับไปปรากฏตัวเมื่อกว่า 300 ปีในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาโน่นเลย         และแล้วตำนานรักโรแมนติกบทใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อพุดตานได้ลืมตามาพบกับ “หมื่นมหาฤทธิ์” หรือ “พ่อริด” พระเอกหนุ่มบุตรชายฝาแฝดของ “ออกญาวิสูตรสาคร” และ “คุณหญิงการะเกด” หรือก็คือ “เกศสุรางค์” ผู้ที่ครั้งหนึ่งก็เคยเดินทางข้ามกาลเวลามา แต่บัดนี้ได้กลายเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาไปเสียแล้ว         ด้วยเป็นภาคต่อของละครโทรทัศน์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส” นี้เอง คู่ขนานไปกับการคลี่คลายปมของตัวละครทั้งหลายที่ถูกผูกไว้ตั้งแต่ภาคก่อน เส้นเรื่องของ “พรหมลิขิต” จึงยังคงเดินหน้าถ่ายทอดความรักรุ่นลูกระหว่างพ่อริดกับพุดตาน โดยมีการตั้งคำถามหลักว่า เหตุการณ์อันมหัศจรรย์ที่คนสองคนข้ามเวลามารักกันเยี่ยงนี้เป็นเพราะ “destiny” กันจริงหรือไม่         แม้จุดเริ่มเรื่องพุดตานจะพยายามแย่งสมุดข่อยลึกลับคืนจากพ่อริด เพราะคิดว่าเป็นประตูกาลเวลาซึ่งจะนำพาให้เธอกลับสู่สามร้อยกว่าปีที่จากมาได้ แต่ด้วยเหตุที่ครั้งหนึ่งคัมภีร์กฤษณะกาลีเคยทำให้คุณหญิงการะเกดเกือบต้องตายจากไปตลอดกาล พ่อริดจึงเอาสมุดข่อยต้นเรื่องไปฝากไว้กับ “หมื่นณรงค์ราชฤทธา” หรือ “พ่อเรือง” แฝดผู้พี่ที่พำนักอยู่เมืองสองแควพิษณุโลก อันเป็นเหตุให้พุดตานต้องใช้ชีวิตติดอยู่ในรัชสมัย “ขุนหลวงท้ายสระ” กับดินแดนที่เธอไม่รู้สึกคุ้นเคยแต่อย่างใด         ด้วยเหตุฉะนี้ ใจความหลักของเรื่องจึงวนเวียนอยู่กับการนำไปสู่บทสรุปตอนท้ายว่า ตกลงแล้วพุดตานจะกลับคืนสู่ภพชาติปัจจุบันได้หรือไม่ และยืนยันให้คำตอบที่พ่อริดสงสัยอยู่เนืองๆ ต่อ “destiny” ว่า “ออเจ้ามาที่นี่เพราะพรหมลิขิตกระนั้นหรือ”         ที่น่าประหลาดใจยิ่งก็คือ ในขณะที่พุดตานก็อธิบายถึง “destiny” ให้พ่อริดฟังว่า “คนที่เชื่อเรื่องพรหมลิขิต ไม่เชื่อว่าจะมีอะไรขัดขวางพระพรหมได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพรหมลิขิตไว้” หากทว่า เรื่องราวของละครกลับมีพล็อตที่คู่ขนานกันไปด้วยว่า เหตุปัจจัยที่ตัวละครหลากหลายได้โคจรมาบรรจบพบกันนั้น อีกฟากหนึ่งก็กลับมีกรรมเก่าที่ทำร่วมกันมาแต่ปางก่อนเป็นเงื่อนไขกำหนด         ทั้งนี้ พุดตานผู้เดินทางย้อนเวลาข้ามภพมา จริงๆ ก็คือ “แม่หญิงการะเกด” ที่เพราะทำกรรมไว้แต่ชาติปางบรรพ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็ตั้งแต่ละครภาคก่อน ดังนั้น การที่เธอได้มาพบรักกับพ่อริด พบเจอกับออกญาวิสูตรสาครและเกศสุรางค์ จนถึงกลับมาปะทะคารมกับ “คุณหญิงจำปา” และ “แม่ปริก” หรือมาเจอะเจอกับ “ผิน” และ “แย้ม” บ่าวรับใช้ในอดีต ก็หาใช่เหตุบังเอิญไม่ แต่เป็นเพราะกรรมเก่าที่ยังไม่ได้ชำระปลดเปลื้องไปนั่นเอง         โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวละคร “แม่กลิ่น” หลานสาวของ “ยายกุย” ที่เอาแต่ตั้งแง่รังเกียจกลั่นแกล้งพุดตานแบบไม่รู้ต้นสายปลายเหตุด้วยแล้ว ละครก็มาเฉลยความในตอนท้ายว่า แม่กลิ่นก็คือ “แดง” เจ้ากรรมนายเวรที่เมื่อชาติก่อนเคยถูกการะเกดทำให้ตกน้ำตาย จนชาตินี้พุดตานต้องกลับมาช่วยชีวิตแม่กลิ่นที่กำลังจมน้ำ เพื่อแก้กรรมและอโหสิกรรมให้หลุดพ้นจากวังวนวัฏฏะที่ทำกันมาตั้งแต่ภพภูมิเก่า         อย่างไรก็ตาม แม้ “destiny” ที่พุดตานกับพ่อริดจะร่วมกันสร้างขึ้นด้วยส่วนผสมระหว่าง “พรหมลิขิต” กับ “กรรมลิขิต” ก็ตาม แต่ทว่า ในอีกแง่มุมหนึ่ง ละครก็ได้นำเสนอเส้นขนานคู่ที่สามที่ตั้งคำถามไปอีกว่า แล้วปัจเจกบุคคลอย่างเราๆ มีอำนาจที่จะลิขิตชีวิตของตนเองได้ด้วยหรือไม่         ด้วยเหตุนี้ เมื่อมาถึงฉากตอนท้ายที่พุดตานต้องถูกถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาให้กับขุนหลวง นางเอกสาวก็เลือกประกาศเจตนารมณ์ข้อใหม่กับพ่อริดและใครต่อใครว่า “กฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นต้องเปลี่ยนแปลงได้” และประวัติศาสตร์ที่จะขีดเขียนใหม่ให้เกิดเป็นจริงขึ้นได้ ก็ไม่ใช่รอคอยให้เป็นไปตามยถากรรม แต่ต้องได้มาด้วยจิตสำนึกและลงมือกระทำการโดยตัวของมนุษย์เองเท่านั้น         ดังนั้น ควบคู่ไปกับการพูดคำศัพท์ร่วมสมัยให้กับผู้คนยุคกรุงศรีฯ การลงมือปรุงสำรับอาหารหลากหลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ยั่วน้ำลายผู้ชม หรือการปฏิเสธค่านิยมคลุมถุงชนและหลายผัวหลายเมียแบบโบราณ เราจึงได้เห็นฉากที่ปัจเจกบุคคลอย่างพุดตานลุกขึ้นมาปฏิเสธการเข้าถวายตัว อันเป็นข้อกำหนดที่เคยเชื่อว่ามิอาจเปลี่ยนแปลงได้ จนนำไปสู่บทสรุปความรักที่สมหวังกับชายหนุ่มที่เธอได้รักและได้เลือกจริงๆ         หากจะย้อนกลับไปสู่คำถามว่า แล้วกับ “destiny” นั้น “ตกลงคือพรหมลิขิตใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น” บางทีคำตอบจากละครที่มีชื่อเรื่องว่า “พรหมลิขิต” ก็น่าจะบอกเราได้ว่า พระพรหมอาจจะลิขิตให้คนสองคนรักกัน และกรรมก็อาจลิขิตชีวิตไปตาม “ชะตา(แห่ง)กรรม” แต่กระนั้น ก็ยังเป็นปัจเจกบุคคลที่สามารถลุกขึ้นมาท้าทาย เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ และลิขิตขีดเขียน “destiny” ของตนเอาไว้ได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)