ฉบับที่ 179 สะใภ้จ้าว : ผู้หญิงอ่านหนังสือ เพื่อรื้อสร้างประวัติศาสตร์ของตน

มนุษย์เราเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ของตนได้หรือไม่?


    นักคิดหลายคนที่เชื่อในพลังสองมือมนุษย์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้นเป็นไปได้ แต่มิใช่เป็นไปตามยถากรรม หากแต่ต้องมี “ตัวกลาง” หรือปัจจัยบางอย่างที่จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวขึ้นมา


    และหากมนุษย์ที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตของตนเอง เกิดเป็น “มนุษย์ผู้หญิง” ด้วยแล้ว แม้จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ผู้หญิงก็สามารถขีดแต่งแปลงหน้าประวัติศาสตร์ของตนเองได้ แต่ก็ต้องมี “ตัวกลาง” ที่เป็นตัวแปรเอื้ออำนวยด้วยเช่นกัน


    ประจักษ์พยานต่อข้อคำถามนี้ เห็นได้จากปมเรื่องหลักที่สองสาวพี่น้องตระกูลบ้านราชดำริอย่าง “ศรีจิตรา” กับ “สาลิน” ได้ถูกผูกโยงให้ต้องคลุมถุงชนเพื่อเป็น “สะใภ้จ้าว” ของ “คุณชายรอง” หรือ “ม.ร.ว.กิติราชนรินทร์” และ “คุณชายเล็ก” หรือ “ม.ร.ว.บดินทราชทรงพล” ตามลำดับ


    เรื่องราวของละครเริ่มต้นจาก “สอางค์” และ “สร้อย” ผู้มีศักดิ์เป็นป้าของสองสาว พยายามผลักดันให้ศรีจิตราถูกคลุมถุงชนร่วมหอลงโรงกับ “คุณชายโต” หรือ “ม.ร.ว.ดิเรกราชวิทย์” แต่ทว่าคุณชายโตกลับรักใคร่ชอบพอและตกแต่งมีลูกกับ “จรวย” เมียบ่าวในวังวุฒิเวสน์แทน


    เมื่อเป็นหม้ายขันหมากพลาดหวังจากคุณชายโต ศรีจิตราก็ถูกจับคู่ครั้งใหม่ให้กับคุณชายรอง ผู้ที่อีกด้านหนึ่งก็เพิ่งจะผิดหวังความรักจาก “หญิงก้อย ม.ร.ว.เทพีเพ็ญแสง” ซึ่งเลือกหนีแต่งงานไปอยู่ต่างประเทศกับ “อัศนีย์” มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งและร่ำรวยกว่า

    แม้ในยุคหนึ่งนั้น การคลุมถุงชนจะถูกใช้อธิบายถึงการประสานประโยชน์และความเหมาะสมลงตัวในความสัมพันธ์ของบ่าวสาว แต่นั่นกลับไม่ใช่ชุดคำอธิบายเดียวกับที่สาลินนิยามเอาไว้ เพราะสาลินเห็นว่าการที่พี่สาวถูกโยนกลิ้งไปมาเป็นลูกบอลเพื่อจับคู่กับคนโน้นทีคนนี้ที ก็คือการที่สังคมพยายามเข้าไปกำหนดชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง โดยที่ผู้หญิงคนนั้นไม่อาจมีปากเสียงหรือต่อสู้ได้แต่อย่างใด


    เพราะสาลินเกิดในครอบครัวบ้านสวนที่บ่มเพาะให้เธอรักการอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก และโตขึ้นเธอก็ได้มาทำงานเป็นบรรณารักษ์ของห้องสมุดประชาชนอีก สาลินจึงเรียนรู้ว่า นางเอกในนวนิยายก็ไม่จำเป็นต้องลงเอยกับคู่หมายที่สังคมกำหนดหรือเชื่อว่าเหมาะสมเสมอไป นางเอกก็มีสิทธิและอำนาจที่จะเป็นผู้ “เลือก” หรือ “มีโอกาสเลือก” ในชีวิตได้เช่นกัน


    ดังนั้น เมื่อพี่สาวต้องถูกบังคับให้แต่งงานครั้งแล้วครั้งเล่ากับผู้ชายที่ไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน (แม้จะเป็นคุณชายก็เถิด) จนมาถึงคู่หมายคนล่าสุดที่เป็นคุณชายรอง (หรือที่เธอเรียกเขาแบบกระแนะกระแหนว่า “คุณชายชื่อยาว”) การคลุมถุงชนที่มีอีกด้านของเหรียญเป็นเสมือนการบังคับขืนใจผู้หญิงอย่างศรีจิตราให้จำยอม จึงเป็นสิ่งที่สาลินมิอาจรับได้เลย


    ด้วยเหตุนี้ สาลินจึงขัดขวางการแต่งงานนี้ในทุกๆ ทาง และพยายามที่จะส่งเสริมให้คุณชายรองกลับไปคืนดีกับหญิงก้อย ด้วยหวังจะให้พี่สาวหลุดพ้นจากพันธการแห่งการคลุมถุงชนโดยไม่ยินยอม


    แต่ก็เหมือนกับที่คำโบราณกล่าวไว้ว่า “เนื้อคู่กันแล้วก็คงไม่แคล้วกันไปได้” ถ้าสาลินถูกฟ้ากำหนดมาแล้วให้ต้องลงเอยกับคุณชายรอง จากที่เคยคิดว่าเขาเป็นพวกเจ้าชู้ไก่แจ้ หรือจากที่เคยเป็นพ่อแง่แม่งอนในยกแรกๆ ของความสัมพันธ์ สาลินก็เริ่มเรียนรู้และเข้าใจคำพูดของ “เสด็จพระองค์หญิง” ว่า “เวลาอ่านหนังสือ อย่าดูแต่เพียงหน้าปก” เพราะเนื้อในของคนก็เหมือนกับหนังสือที่ต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ทีละหน้าตั้งแต่ต้นจนกว่าจะอ่านจบเล่ม


    ส่วนกรณีของศรีจิตรานั้น แม้เธอจะเป็นผู้หญิงเงียบๆ ที่ดูแล้วเหมือนจะไม่มีปากเสียงและยอมจำนนอยู่ใต้อาณัติความเป็นไปของสังคม แต่แท้จริงแล้ว ศรีจิตราก็ใช่ว่าจะไม่รู้สึกรู้ร้อนรู้หนาวกับการคลุมถุงชนแต่ละครั้งในชีวิตของเธอ


    ดังนั้น เมื่อศรีจิตราค้นพบหัวใจของตัวเองแล้วว่า ถึงแม้จะถูกปฏิเสธและตกเป็นหม้ายขันหมากมาแล้วถึงสองครา เธอก็ไม่ได้เศร้าโศกเสียใจแต่อย่างใด เพราะลึกๆ แล้ว เธอเองก็หลงรักคุณชายเล็กคนสุดท้องของวังวุฒิเวสน์ หาใช่คุณชายโตหรือคุณชายรองไม่


    ประโยคที่ศรีจิตราพูดกับ “อุ่นเรือน” ผู้เป็นมารดาว่า “จะผิดไหมถ้าหนูจะต่อสู้เพื่อหัวใจของหนูเอง” จึงเป็นวลีที่บอกเป็นนัยกับผู้ชมว่า ภายใต้อำนาจกฎเกณฑ์ทางสังคมที่เข้ามาขีดวงชีวิตของตัวละครหญิงผู้นี้ ศรีจิตราก็พร้อมจะลุกขึ้นมารื้อถอนและรื้อสร้างเพื่อขีดเขียนหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตของเธอเองบ้างแล้ว


    และเพราะอ่านหนังสืออยู่เป็นอาจิณ ศรีจิตราจึงลงมือทำตัวเป็นนางเซฮาราซาดผู้เล่านิทานอยู่ถึงพันหนึ่งราตรี ก็เพียงเพื่อพิชิตใจของคุณชายเล็ก ไล่เรียงตั้งแต่ตำนานของนางมัทนาผู้เจ็บช้ำจากความรักจนถูกสาปเป็นดอกกุหลาบในเรื่องมัทนะพาธา นางเงือกน้อยแอเรียลผู้พบจุดจบจากความรักในเรื่องลิตเติ้ลเมอร์เมด จนมาถึงการเผด็จศึกคุณชายเล็กด้วยฉากคาบดอกบัวจากวรรณกรรมนิทานเวตาล


    บทบาทของการอ่านหนังสือ ที่แม้จะเป็นเพียงกระดาษเล่มเล็กๆ ที่ร้อยเรียงเรื่องราวของโลกเอาไว้ แต่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยขยายประสบการณ์และอำนาจของผู้หญิงอย่างศรีจิตราและสาลิน ให้รู้ทันโลกและเข้าใจชีวิตมากยิ่งขึ้น ไม่ต่างไปจากตัวละครผู้หญิงอีกหลายๆ คนในท้องเรื่องอย่างเสด็จพระองค์หญิง อุ่นเรือน คุณยาย จนถึงคุณแม่นม ที่ต่างก็มีโลกทัศน์กว้างไกลออกไปเพราะการอ่านหนังสือนั่นเอง


    แม้การจะได้เป็น “สะใภ้จ้าว” ในชีวิตจริง อาจเป็นเพียงโอกาสของผู้หญิงไม่กี่คนที่จะสมหวังได้เหมือนกับศรีจิตราและสาลิน แต่ทว่า โอกาสแห่งผู้หญิงที่จะลุกขึ้นมาขีดเขียนเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตของตนเองนั้น สามารถบังเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ว่าผู้หญิงเหล่านั้นจะอ่านหนังสือหรือเปิดหน้าต่างประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านโลกสัญลักษณ์และตัวอักษรที่บรรจงเขียนไว้ในทุกเส้นบรรทัด

         

แหล่งข้อมูล: สมสุข หินวิมาน

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ สะใภ้จ้าว

ฉบับที่ 278 มือปราบมหาอุตม์ : ฉันจะเป่าคาถา…เพื่อทวงหาคุณธรรม

                หากใครเป็นคอภาพยนตร์แนวบู๊ของฮอลลีวูด จะพบว่า ในกลุ่มหนังบู๊นั้น มีหนังแนวหนึ่งที่เน้นต่อสู้แอ็กชันผสมแฟนตาซีโรมานซ์ โดยใช้ฉากย้อนยุคแบบพีเรียดในอดีต ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อภาษาอังกฤษว่า ภาพยนตร์บู๊ประเภท “swashbuckler film”         หนังแนว “swashbuckler” มักผูกโยงเรื่องราวของตัวละคร “สีเทาๆ” ที่แม้ด้านหนึ่งจะเป็นพระเอกของเรื่อง แต่อีกด้านหนึ่งก็สวมบทบาทเป็นจอมโจรผู้เชี่ยวชาญอาวุธ โดยเฉพาะการต่อสู้ด้วยดาบ เพื่อปกป้องทั้งหญิงสาวคนรัก และปล้นมิจฉาชีพผู้ร่ำรวยเพื่อมาอภิบาลชาวบ้านผู้อ่อนแอจากอความอยุติธรรมที่ได้รับจากชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครอง แบบที่เราเห็นได้จากตัวละครคลาสสิกอย่าง “โรบิน ฮู้ด” แห่งป่าเชอร์วูด หรือ “จอมโจรโซโร” ผู้ผดุงคุณธรรมใต้หน้ากาก ไปจนถึง “กัปตันแจ็ค สแปร์โรว์” จ้าวแห่งโจรสลัดจากทะเลแคริบเบียน         ถ้าการปรากฏขึ้นของตัวละครในโลกสัญลักษณ์ไม่ได้ตกฟากมาอย่างเลื่อนลอย แต่มีเหตุผลรองรับจากความเป็นจริงแห่งปัจจุบันขณะ ดังนั้น ด้วยเรื่องราวของตัวละครย้อนยุคที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องซึ่งอยู่ในเส้นเรื่องของภาพยนตร์แนวนี้ ก็น่าจะสะท้อนย้อนให้เห็นว่า เมื่อไรก็ตามที่สังคมมิอาจไล่ล่าตามหาความยุติธรรมในโลกจริงได้แล้ว ตัวละครแบบ “swashbuckler” ก็จะลุกขึ้นมาทวงหาความเที่ยงธรรมแบบนี้ในโลกจินตนาการของเราเป็นการทดแทน         ออกจากป่าเชอร์วูดและทะเลแคริบเบียนมาสู่ชุมชน “เขาสมิง” ในปีพุทธศักราช 2508 ตัวละครโรบิน ฮู้ด จอมโจรโซโร และกัปตันแจ็ค สแปร์โรว์ ก็ได้แปลงรูปโฉมโนมพรรณเสียใหม่ มาอยู่ในคราบไคลของจอมโจรคาดหน้าภายใต้สมัญญาว่า “เสือผาด” ผู้คอยปล้นสะดมคนรวยเพื่อเอาเงินไปช่วยเหลือคนจนผู้ยากไร้ ในละครโทรทัศน์แนวบู๊แฟนตาซี หรือ “swashbuckler” แบบไทยๆ เรื่อง “มือปราบมหาอุตม์”         จุดเริ่มต้นของเรื่องเกิดขึ้นด้วยการแนะนำให้เรารู้จักกับ “กระทิง” หรือชื่อในอดีตว่า “สันติ” นายตำรวจหนุ่มอนาคตไกลผู้ไม่เคยกลัวใคร ยึดมั่นในคุณธรรม และคอยปราบปรามเหล่าร้ายนอกกฎหมาย หลังจากที่ติดยศเป็น “ผู้กองกระทิง” เขาได้เดินทางมายังเขาสมิง ดินแดนไกลปืนเที่ยงที่เสือผาดได้ใช้ชีวิตอยู่ในชุมโจรอันลึกลับเพื่อหลบเร้นจากอำนาจแห่งกฎหมายหรือข้อกำหนดใดๆ ของสังคม         ในขณะเดียวกัน แม้จะได้ชื่อลือเลื่องว่าเป็นจอมโจรใต้หน้ากากที่คนรวยตีตราให้เป็นประหนึ่งปีศาจ แต่กับคนยากคนจนทั้งหลาย กลับชื่นชมเสือผาดไม่ต่างจากพระเจ้าที่คอยช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากเหล่านั้น และที่สำคัญ แม้ยังไม่เคยมีใครที่ได้เห็นใบหน้าแท้จริงของเสือผาด แต่จริงๆ แล้ว ขุนโจรผู้นี้ก็คือเพื่อนวัยเยาว์ของกระทิงที่ชื่อ “ไม้” ที่มีปมพ่อแม่ถูกฆ่าตาย จนเป็นกำพร้าตั้งแต่ยังเด็ก         ภายใต้เส้นเรื่องที่พระเอกสองคนผู้เล่นบทบาทต่างกันได้เวียนวนมาพบกันหลังจากพลัดพรากไปตั้งแต่ยังเล็ก โดยที่คนหนึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่รักษากฎหมาย อีกคนหนึ่งเป็นผู้ขบถต่อกฎเกณฑ์แห่งสังคม ละครก็ได้เพิ่มปมขัดแย้งให้เข้มข้นขึ้น เพราะบุรุษหนุ่มทั้งคู่ไปตกหลุมรักผู้หญิงคนเดียวกันคือ “บุหลัน” หรือในอดีตชื่อ “กำไล” เพื่อนวัยเด็กของทั้งสอง ที่ปัจจุบันเป็นนักร้องสาวสวยประจำบาร์เขาสมิง และต้องปกปิดความลับของตัวตนไม่ให้ผู้อื่นรับรู้เช่นกัน         ในขณะที่ฮอลลีวูดสร้างตัวละครแบบ “swashbuckler” ผู้อยู่ “นอกกฎหมาย” มาเฝ้าคอยผดุงคุณธรรมของสังคม รวมถึงปกป้องหญิงสาวคนรักและผู้คนจากอำนาจมืดที่อยู่ “เหนือกฎหมาย” นั้น ละคร “มือปราบมหาอุตม์” ก็เดินเรื่องบนโครงพล็อตไม่แตกต่างกันนัก         ด้วยเหตุดังกล่าว แม้พระเอกทั้งสองจะเคยผูกพันด้วยมิตรภาพที่มีมาตั้งแต่เด็ก แต่เสือผาดในฐานะจอมโจรแห่งเขาสมิงผู้อยู่ “นอกกฎหมาย” ก็มิวายต้องขัดแย้งกับผู้กองกระทิงที่เล่นบทบาทเป็นผู้ “พิทักษ์กฎหมาย” ควบคู่ไปกับสี่ห้องหัวใจที่เขาทั้งคู่ต่างมอบให้กับหญิงสาวคนเดียวกันอีก         ที่สำคัญ อำนาจที่อยู่ “เหนือกฎหมาย” ของตัวร้ายอย่าง “เสือหาน” ตัวละครที่ทำให้ชาวบ้านเขาสมิงล้วนประหวั่นพรั่นพรึง ก็คือเหตุปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดตำนานเสือผาดจอมโจรใต้หน้ากากผู้เฝ้าคอยดูแลปกป้องชาวบ้านร้านตลาดจากอำนาจมืดดังกล่าว และก็เป็นเสือหานนี้อีกเช่นกันที่ทำให้เพื่อนรักอย่างไม้ สันติ และกำไล ต้องพลัดพรากบ้านแตกสาแหรกขาด จนต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบากมานานเกินกว่าสิบปี         ไม่เพียงเสือหานจะเป็นอภิมหาเจ้าพ่อผู้ทรงอิทธิพลด้านมืดเพื่อขึ้นเป็นใหญ่ในเขาสมิงเท่านั้น แต่เมื่อตัดสินใจจะเข้าสู่สนามการเมืองระดับชาติ เสือหานก็พยายามชุบตัวเสียใหม่กลายเป็น “เฮียหาน” และซื้อตัวบรรดาตำรวจยศใหญ่หลายคน รวมถึง “ทวี” หนึ่งในนายตำรวจผู้เป็นลูกน้องที่เขาปลุกปั้นจนได้มียศเป็นผู้กำกับประจำสถานีตำรวจเขาสมิง         เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศแบบไทยๆ และสอดรับกับกระแส “มูเตลู” วิถีความเชื่อที่ไม่เคยตกยุคตกสมัยในสำนึกของคนไทยแล้วนั้น แทนที่เราจะได้เห็นฉากดวลดาบดวลปืนแบบที่คุ้นเคยในหนังอเมริกัน ทั้งฮีโร่นักบุญในคราบจอมโจรและพระเอกหนุ่มผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ก็เลยสวมวิญญาณเจ้าพ่อแห่งวิชาอาคม เสกเป่าคาถามนตราต่างๆ เพื่อต่อสู้กับเฮียหานผู้ที่ได้ชื่อว่าอาคมแก่กล้าเกินกว่าใครในปฐพี         จากนั้น เพื่อสร้างอรรถรสในการเสพฉากบู๊สายมูเยี่ยงนี้ ละครจึงได้หวนให้เราเห็นภาพภูมิปัญญาอันหลากหลายของศาสตร์วิชชามหาอุตม์ ที่ชื่ออาจจะฟังดูไม่คุ้นหู ณ กาลปัจจุบัน แต่ก็ถูกขุดกรุออกมาเป็นอาวุธห้ำหั่นฟาดฟันกันทั้งจากฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรม ไม่ว่าจะเป็นว่านกำบังกาย ยันต์ไขคำปาก นกคุ้มส่งข่าว อานุภาพเหล็กไหล คาถานาคราชนาราชันย์ มนต์ธรรมราช ตรีศูลศาสตราวุธ และอื่นๆ อีกมากมาย         หลังจากต่อสู้เป่ามนตรามหาอุตม์อย่างชวนตื่นเต้นเร้าใจตลอดทั้งเรื่องแล้ว แม้ตามหลักกฎหมายแล้ว จอมโจรนักบุญกับตำรวจมือปราบจะเล่นบทบาทที่ยืนอยู่กันคนละขั้วคนละฝ่าย แต่ทว่าทั้งด้วยมิตรภาพและด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องการโค่นล้มมาเฟียใหญ่แห่งเขาสมิง การผนึกกำลังของชายสองคนต่างขั้วตรงข้ามกันก็ยืนยันให้เห็นว่า ต่อให้เสือหานจะมีวิชาอาคมเก่งกาจเพียงใด หากไร้คุณธรรมกำกับด้วยแล้ว ฝ่ายอธรรมก็ต้องแพ้พ่ายต่อพลังแห่งธรรมะและกฎแห่งกรรมเสมอ         เมื่อถึงฉากจบของการทวง “คืนความสุขให้เขาสมิง” กลับมาได้แล้ว ด้วยบทบาทที่เล่นกันคนละจุดยืน กอปรกับมิตรภาพที่เคยมีมาตั้งแต่วัยเด็กของบุรุษหนุ่มตัวเอกทั้งสองของเรื่อง ไม้ในนามเสือผาดได้เลือกหายสาบสูญจากเขาสมิงไปตลอดกาล เพื่อให้ส้นติและกำไลได้ลงเอยครองคู่กันอย่างแฮปปี้เอนดิ้งไปในที่สุด          คู่ขนานไปกับการคลี่คลายปมรักปมแค้นและปมขัดแย้งหลักของเรื่องละครเช่นนี้ บางทีการปรากฏตัวและลาจากไปของเสือผาดก็อาจตั้งคำถามกับเราไม่มากก็น้อยด้วยว่า ทุกวันนี้ที่สังคมเป็น “สีเทาๆ” ความดีความเลวแยกขาดกันได้ไม่ชัดเจน เราจะยังหวังทวงหาคุณธรรมและความยุติธรรมในโลกจริงกันได้เพียงไร หรือต้องรอให้จอมโจรใต้หน้ากากลุกขึ้นมาเป่าคาถากอบกู้คุณธรรมความถูกต้องให้เรากันอีกกี่ครั้งครา

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 ชีวิตภาคสอง : หากเราได้เจอกันอีกสักครั้ง อยากขอกอดเธอไว้ให้อุ่นเหมือนเก่า

         นักปรัชญากรีกโบราณอย่างเฮราไคลตัสเคยกล่าววาทะที่คลาสสิกบทหนึ่งเอาไว้ว่า “you cannot step into the same river twice” หรือแปลความเป็นภาษาไทยว่า “คุณไม่สามารถจะก้าวลงไปในแม่น้ำสายเดียวกันได้เป็นครั้งที่สอง”                คำคมของเฮราไคลตัสข้างต้นนี้ อธิบายความโดยนัยได้ว่า เวลาไม่เคยหยุดนิ่ง แต่ดำเนินอยู่บนกฎแห่งความเปลี่ยนแปลง แค่เพียงเราก้าวเท้าลงแม่น้ำ สายน้ำก็ไหลไปอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ภายใต้กฎความเปลี่ยนแปลงแห่งเวลาเช่นนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ “สายน้ำจะหวนคืนกลับ” หรืออีกนัยหนึ่ง โอกาสของมนุษย์แทบจะไม่มีทางย้อนกลับมาเกิดเป็นครั้งที่สองได้เลย         แต่จะเป็นเช่นไร หากสายน้ำบังเอิญได้หวนกลับ และโอกาสในชีวิตของคนเราได้ย้อนทวนหวนคืนมาอีกเป็นคำรบที่สอง คำตอบข้อนี้เป็นเส้นเรื่องหลักที่ผูกไว้อยู่ในละครโทรทัศน์แนวดรามาเรื่อง “ชีวิตภาคสอง”         ด้วยพล็อตเรื่องที่ประหนึ่งโชคชะตาเล่นตลกกับผู้ชายสองคนจากต่างรุ่นวัยและต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจสังคม ละครได้เปิดเรื่องด้วยการแนะนำให้ผู้ชมได้รู้จักกับตัวละครแรกคือ “ปรเมศ” พ่อม่ายนักธุรกิจผู้มั่งคั่ง แต่มีความสัมพันธ์อันไม่ลงรอยกับ “ปิ่น” บุตรสาวเพียงคนเดียวของเขา กับอีกตัวละครหนึ่งคือ “สอง” ชายหนุ่มแสนดี แต่มีฐานะยากจนและมีชีวิตหาเช้ากินค่ำไปในแต่ละวัน         แล้วความขัดแย้งของเรื่องก็ยิ่งปะทุหนักขึ้น เมื่อปรเมศตัดสินใจเข้าสู่ประตูวิวาห์อีกครั้งกับ “รตา” หญิงสาวที่มีอายุรุ่นลูก ซึ่งปิ่นเชื่อว่า รตาต้องการแต่งงานกับบิดาสูงวัยของเธอเพียงเพื่อปอกลอกสมบัติจากปรเมศเท่านั้น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพ่อลูกจึงเพิ่มดีกรีมากขึ้น จนพ่อกับลูกสาวทะเลาะกัน และทำให้ปรเมศเกิดอาการโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลันขึ้นมา         ประจวบเหมาะกับในเวลาเดียวกันนั้น ทางฝั่งของแรงงานรับจ้างรายวันหนุ่มอย่างสอง ก็เกิดอาการโรคหัวใจกำเริบขึ้นเฉียบพลัน จนเข้าขั้นโคม่า และได้เข้ามานอนบนเตียงโรงพยาบาลแห่งเดียวกับที่ปรเมศถูกแอดมิทอยู่นั่นเอง        บนความบาดหมางไม่ลงรอยกันระหว่างพ่อกับลูกนี้เอง นำไปสู่การจากไปแบบกะทันหันของปรเมศ โดยที่ทั้งคู่ยังไม่ได้คลี่คลายความขัดแย้งกัน กลายเป็นปมติดค้างในใจที่ทั้งปรเมศและปิ่นต่างก็เหมือนจะมีเสียงร้องก้องอยู่ว่า “ใจฉันยังคิดถึงเหมือนเคย ไม่มีใครแทนที่เธอได้เลย” ในเวลาเดียวกับที่ปิ่นผู้เป็นบุตรสาวเองก็ยังคงมีข้อสงสัยในสาเหตุการตายของบิดา และคิดว่าเป็นฝีมือการวางแผนฆาตกรรมของรตาที่ต้องการฮุบสมบัติทั้งหมดไว้เป็นของตน         แต่ทว่า ภายใต้ปมในใจที่ค้างคาระหว่างพ่อลูก ภายใต้ปมปริศนาการเสียชีวิตของตัวละครที่ยังไม่คลี่คลาย และภายใต้ห้วงนาทีชีวิตที่มีความเป็นกับความตายเป็นเส้นกั้นแบ่งบางๆ อยู่ระหว่างกลางนั้น ความมหัศจรรย์แห่งโชคชะตาก็บังเกิดขึ้นในชีวิตของผู้ชายทั้งสองคน         ในเสี้ยวชีวิตที่วิญญาณของปรเมศหลุดลอยออกจากร่างนั้น ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่สองได้หมดสิ้นลมหายใจลง เพราะฉะนั้นดวงจิตของเขาจึงถูกโชคชะตา “โอนไฟล์” เข้ามาอยู่ในร่างของสองแทน ในขณะที่ร่างจริงของปรเมศก็ได้ถูกรตาเร่งจัดการฌาปนกิจจนเป็นเถ้าสลายหายไป             “ถ้าเราได้เจอกันอีกสักวัน อยากถาม เธอจำฉันได้อยู่หรือเปล่า เธอจะยิ้มให้ฉันหรือเปล่า…” หลังจากที่ปรเมศได้ “โอกาสที่สอง” หรือ “second chance” ในร่างของชายหนุ่มที่ชื่อว่าสองเช่นนี้ เขาจึงต้องการใช้โอกาสดังกล่าวเพื่อแก้ไขปมขัดแย้งต่างๆ ที่ผูกมัดไว้เมื่อเขายังมีลมหายใจอยู่ในคราแรก         เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า สำหรับกลุ่มทุนที่เป็นชนชั้นนำบนยอดปิรามิดของสังคมไทยนั้น แม้ชีวิตของคนกลุ่มนี้จะประสบความสำเร็จในการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจการเมืองมาช้านานแล้วก็ตาม แต่ในชีวิตทางสังคมนั้น ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันมหาศาลก็คือชนวนเหตุหลักแห่งความขัดแย้งต่างๆ และก็มักลุกลามเข้าไปมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัวของคนกลุ่มดังกล่าว         เมื่อชนชั้นนำมีความเปราะบางยิ่งในชีวิตครอบครัว   ดังนั้นการกลับมาสิงสถิตอยู่ในร่างของผู้ชายอีกคน ปรเมศจึงค้นพบข้อเท็จจริงหลายอย่าง ตั้งแต่เงื่อนงำการเสียชีวิตของเขาที่มีรตากับชู้รักอย่าง “จิรัน” สมคบคิดวางแผนฆาตกรรมอยู่เบื้องหลัง และในขณะเดียวกัน รตาเองก็ยังร่วมมือกับทั้ง “อรัญญา” ผู้เป็นมารดา “สิตางค์” ลูกพี่ลูกน้อง และ “เฮียหมง” เจ้าของธุรกิจสีเทา เพียงเพื่อจะยึดครองมรดกทางธุรกิจที่เขาก่อร่างสร้างไว้ให้บุตรสาวมาทั้งชีวิต         ด้วยเส้นเรื่องของการที่มนุษย์ผู้หนึ่งสามารถได้ในสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “second chance” นี้เอง ก็อาจจะไม่เกินการคาดเดาได้ว่า “โอกาสที่สอง” ของปรเมศ ต้องสัมฤทธิ์ผลในท้ายที่สุดแน่นอน เพียงแต่ละครจะทำให้เราลุ้นกันว่า กว่าจะคลี่คลายปมขัดแย้งทั้งหมดได้นั้น ตัวละครทั้งหลายจะมีเส้นทางฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ กันด้วยวิธีการใด         เพราะฉะนั้น เมื่อมาอยู่ในร่างที่ต่างไปจากเดิม แต่สิงไว้ด้วยจิตสำนึกใหม่ที่ต้องการแก้ไขข้อผิดพลาดในครั้งเก่า ปรเมศในร่างของสองจึงคอยช่วยเหลือปิ่นที่ต้องปะทะประมือกับรตาและสหพรรคพวกเกินกว่าครึ่งเรื่อง จนปิ่นเองก็ยิ่งเกิดความสงสัยในตัวตนที่แท้จริงของสอง เพราะไม่เพียงเขาจะรู้เรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับปรเมศ หรือมีพฤติกรรมคล้ายกับบิดา แต่สองยังดูคุ้นเคยและปรับตัวเข้ากันได้ดีกับสุนัข “ไฟเตอร์” ที่ปรเมศรักและเลี้ยงดูมาตั้งแต่ครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่         ยิ่งเมื่อความโหดร้ายของรตาเริ่มอัพเลเวลทับทวีขึ้นเรื่อยๆ ปรเมศในร่างของสองก็คอยทุ่มเทปกป้อง เพื่อใช้ “โอกาสที่สอง” ยืนยันกับลูกสาวของตนว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่มีชีวิตอยู่จนถึงวิญญาณหลุดไปอยู่ในร่างชายหนุ่มรุ่นลูก แต่ความรักที่พ่อมีให้กับปิ่นนั้น “ยังคงเหมือนเดิม ไม่เคย…จางหายไป…”         “มีพบก็ต้องมีจาก” เป็นสัจธรรมที่มิอาจปฏิเสธได้ เหมือนกับภาษิตจีนที่กล่าวว่า “การได้พบกันถือเป็นโชคชะตา การจากลาก็เช่นเดียวกัน” ด้วยเหตุนี้ แม้ในตอนท้ายเรื่อง ความบาดหมางระหว่างพ่อลูกจะแก้ไขไปได้แล้วก็ตาม แต่เพราะปรเมศได้ตัดสินใจใช้ “โอกาสที่สอง” เอาชีวิตของตนปกป้องบุตรสาวในห้วงเวลาความเป็นความตาย ทำให้ทั้งคู่ต้องพลัดพรากจากกันอีกครั้ง ทั้งๆ ที่รู้ว่าคงไม่มี “โอกาสที่สาม…สี่…ห้า…” ให้ได้กลับมาพบลูกสาวของตนครั้งใหม่ก็ตาม         เมื่อฉากละครจบลง และฉากชีวิตของครอบครัวชนชั้นนำของปรเมศและปิ่นได้รับ “โอกาสที่สอง” เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไม่เข้าใจกันผ่านพื้นที่ของโลกสัญลักษณ์กันผ่านไปแล้ว บางทีก็น่าคิดเหมือนกันว่า แล้วกับมนุษย์ผู้หาเช้ากินค่ำหรือมีสถานะเป็นชนชั้นล่างของสังคมอย่างสองนั้น “โอกาสที่สอง” จะบังเกิดขึ้นในชีวิตของคนกลุ่มนี้เฉกเช่นเดียวกับที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นกับปรเมศได้บ้างหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 กลเกมรัก : สงสารแต่ลูกปลาบู่…

                “สงสารแต่แม่ปลาบู่ อาศัยอยู่ในฝั่งคงคา นางเอื้อยเป็นลูกกำพร้า ถึงเวลามาร่อนรำ…”         นิทานพื้นบ้าน “ปลาบู่ทอง” เล่าถึงชีวิตของ “เอื้อย” เด็กน้อยผู้กำพร้ามารดาตั้งแต่ยังเล็ก แต่ด้วยความรักความผูกพัน แม่ของเด็กหญิงเลยกลับชาติมาเกิดเป็นปลาบู่ทอง แต่ก็มิวายถูก “อ้าย” น้องสาวต่างมารดา ตามราวีจับแม่ปลาบู่ทองมาฆ่ามาแกง กลายเป็นเรื่องเล่ามุขปาฐะชีวิตลำเค็ญที่สืบต่อรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน         แม้ข้อคิดหลักของนิทานเรื่อง “ปลาบู่ทอง” จะยืนยันกับเด็กๆ ว่า ให้รู้จักคิดดีทำดีแล้วจะได้ดี รู้จักให้อภัย ไม่อิจฉาริษยา อดทนยึดมั่นกตัญญูแม้จะถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา หากทว่าสิ่งหนึ่งที่ถูกตอกย้ำซ้ำทวนเอาไว้ในเรื่องราวก็คือ ภาพความน่าสงสารของเด็กกำพร้า เพราะขาดซึ่งพ่อหรือแม่ที่เฝ้าคอยปกป้องดูแล         พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กำหนดความหมายของ “เด็ก” ว่า เป็นบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และนิยามถึง “เด็กกำพร้า” เอาไว้ว่า เป็นเด็กที่บิดาหรือมารดาเสียชีวิต เด็กที่ไม่ปรากฏบิดามารดา หรือไม่สามารถสืบหาบิดามารดาได้         แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะนิยามความหมายของ “เด็กกำพร้า” เอาไว้แบบกลางๆ แต่ก็เป็นเรื่องชวนประหลาดใจว่า เมื่อภาพเด็กกำพร้ามาปรากฏอยู่ในจินตกรรมของเรื่องแต่งทั้งหลาย เด็กกำพร้ากลับมักถูกกำหนดคุณค่าให้ดูน่าสงสาร และมีชะตากรรมที่ทุกข์ยากลำเค็ญ ไล่เรียงตั้งแต่นิทานคลาสสิกเรื่อง “ปลาบู่ทอง” ไปจนถึงละครโทรทัศน์แนวรักสี่เส้าเรื่อง “กลเกมรัก”         เริ่มต้นเรื่องขึ้นมาด้วยการฉายให้เห็นภาพของ “อนล” พระเอกหนุ่มลูกชายของ “อาทิตย์” รองประธานบริษัท KTP ของตระกูลกำธรภูวนาถ ที่ต้องการเวนคืนที่ดินจากกลุ่มคนจนในสลัม เพราะคุณอาทิตย์มีปณิธานประจำใจที่คอยสอนบุตรชายอยู่เสมอว่า “คนจนก็ไม่ต่างจากมดปลวก ไร้ค่า ไร้ประโยชน์”         แต่ในเวลาเดียวกัน “ภูมิ” ผู้เป็นน้องชายของอาทิตย์ และรั้งตำแหน่งประธานบริษัท KTP กลับไม่เห็นด้วย ทำให้พี่น้องต้องขัดแย้งกัน ไม่ใช่เพียงเพราะความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ยังเป็นเพราะผลประโยชน์ที่แบ่งกันไม่ลงตัว จนเป็นศึกสายเลือดภายในตระกูลเดียวกันของกลุ่มทุนรายใหญ่         ภูมิมีบุตรชายที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับอนลชื่อ “ภีม” ซึ่งมองว่า “บ้าน” ไม่ใช่เพียง “สิ่งที่เป็นอาคารสถานที่อยู่อาศัย” หากแต่เป็น “ทุนของความสุข” สำหรับทุกคนโดยไม่แบ่งชนชั้นหรือฐานะทางสังคม ดังนั้น ไม่เพียงแต่รุ่นพ่อที่ขัดแย้งผลประโยชน์ระหว่างกัน แต่รุ่นลูกก็ยังไม่ลงรอยกันด้วยโลกทัศน์ที่หล่อหลอมมาคนละชุด         ตัดภาพจากฉากชีวิตครอบครัวชนชั้นนำ อีกด้านหนึ่งละครก็จำลองภาพรูปแบบความเป็นครอบครัวซึ่งต่างออกไปของคนอีกกลุ่ม ที่ใช้ชีวิตอยู่ในมูลนิธิเด็กกำพร้าบ้านสายชล กับตัวละครนางเอก “อันดา” และเพื่อนรัก “ลลิษา” ที่เติบโตมาด้วยกัน และแม้จะเป็นเพื่อนรักและสนิทกันมาแต่เด็ก และแม้จะถูกเลี้ยงดูมาโดย “หมอเบญ” ผู้เป็นประหนึ่งแม่บุญธรรมในมูลนิธิบ้านสายชล แต่ชะตาชีวิตของทั้งอันดาและลลิษาก็ไม่ต่างจากเอื้อยและอ้ายในตำนานเรื่องเล่า “ปลาบู่ทอง” เอาเสียเลย                 ในขณะที่อันดาเป็นตัวแทนของสาวน้อยสดใสแสนดี และคอยช่วยเหลือเพื่อนรักทุกครั้งที่ทำผิดและหมอเบญคาดโทษเอาไว้ แต่ทว่ากับลลิษาแล้ว ลึกๆ มีแต่ความอิจฉาริษยา เพราะคิดวาหมอเบญและใครต่อใครต่างพากันมอบความรักความเอ็นดูให้แต่กับอันดาเพียงคนเดียว         และแล้วชะตากรรมของตัวละครทั้งสี่ชีวิตก็มีอันต้องโคจรมาพบกัน เมื่อ “รมิตา” ได้ทราบความจริงจาก “ถาวร” บิดาผู้เป็นนายทุนใหญ่เจ้าของธุรกิจตระกูลอัศวชานนท์ว่า ลูกสาวคนเดียวของเธอยังมีชีวิตอยู่ เธอจึงตัดสินใจออกตามหา ประจวบกับภีมที่ได้รับบาดเจ็บเพราะอุบัติเหตุจากคนปองร้าย ได้หนีมาหลบซ่อนตัวอยู่ใกล้ๆ กับมูลนิธิบ้านสายชล ทำให้ตัวละครทั้งหมดได้เข้าไปผูกพันทั้งกับความลับของบุตรสาวที่หายตัวไปของรมิตา และกับความขัดแย้งที่ปะทุอยู่ในตระกูลเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ไปโดยปริยาย         เพราะเสียงก้องในหัวใจของสาวน้อยผู้กำพร้าบุพการีอย่างลลิษาได้แต่ครวญเพลง “ก็อยากเป็นคนที่ถูกรัก” อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และเพราะเธอแอบไปรู้ความลับที่หมอเบญปกปิดเอาไว้ว่า อันดาน่าจะเป็นบุตรสาวที่สาบสูญไปของรมิตา ลลิษาจึงสวมวิญญาณ “เพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อ” และสวมรอยเป็นลูกสาวมหาเศรษฐี เพื่อแย่งชิงทุกอย่างไปจากอันดา ไม่ต่างจากต่อมริษยาของอ้ายที่มีต่อเอื้อยลูกสาวแม่ปลาบู่ทองแต่อย่างใด         เมื่อมี “mission” อันแน่วแน่ที่จะพรากทุกอย่างมาจากเพื่อนรัก ลลิษาจึงลงมือปฏิบัติการ “กลเกม” ต่างๆ ที่จะทำให้เธอหลุดพ้นไปจากบ่วงในใจของเด็กกำพร้าผู้ที่ไม่เคยมีใคร และยังเป็นผู้ที่ไม่เคยมีอะไร เพื่อให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งได้เข้าไปครอบครองคฤหาสน์หลังใหญ่ที่ใฝ่ฝันมาแต่เด็ก         ไม่ว่าจะเป็นการใช้ล็อคเก็ตของอันดามาสวมอ้างเป็นทายาทเศรษฐีนี ลงทุนกรีดข้อเท้าเพื่อสร้างตำหนิให้เหมือนแผลเป็นของเพื่อนรัก หลอกใช้ “กระทิง” ชายคนรักให้ร่วมมือในปฏิบัติการดังกล่าว ไปจนถึงกำจัดอีกหลายชีวิตที่ล่วงรู้ความลับ รวมถึงฆาตกรรมทั้งหมอเบญผู้อุปการะเลี้ยงดูเธอจนเติบโต และ “ซอนญ่า” ที่แอบเอาดีเอ็นเอของหญิงสาวไปตรวจพิสูจน์ความจริง          ศึกรบที่อันดาต้องเผชิญก็ว่าหนักหน่วงแล้ว ศึกรักที่ต้องประมือกับลลิษาก็ยังหนักหน่วงไม่แพ้กัน เพราะเมื่อลูกพี่ลูกน้องสองคนที่ขัดแย้งกันในกลเกมธุรกิจ มาแอบหลงรักชอบพออันดา ลลิษาที่หวังในตัวของพระเอกหนุ่มจึงเพิ่มดีกรีของเสียงร้องในใจขึ้นไปอีกด้วยว่า “ถ้าเลวแล้วได้ครอบครอง ฉันยอมให้มองว่าร้าย…”         เมื่อกลเกมแห่งธุรกิจมาบรรจบกับกลเกมแห่งความรัก ความขัดแย้งของสองพระเอกหนุ่มลูกพี่ลูกน้องในวงศ์วานเดียวกันที่ฟั่นเกลียวกับความขัดแย้งของหญิงสาวกำพร้าสองคนที่กลายมาเป็น “เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด” จึงกลายเป็นเส้นเรื่องหลักที่ทำให้ผู้ชมได้ลุ้นไปกับบทสรุปว่า ตกลงแล้วข้อขัดแย้งในกลเกมเรื่องรบและเรื่องรักจะคลี่ลายได้อย่างไร และความลับเรื่องปมชาติกำเนิดที่จะทำให้ลูกปลาบู่ทองอย่างอันดากลับคืนสู่อ้อมอกของมารดาจะออกมาในแบบไหน         อนุสนธิจากความลับของอันดาที่มีล็อคเก็ตและตำหนิแผลเป็นช่วยนำพาให้เธอกลับคืนสู่บัลลังก์ครอบครัวอัศวชานนท์ ในขณะเดียวกับที่ลลิษาก็ถูกลงโทษให้ตายตกไปตาม “กลกรรม” ที่ได้กระทำมาตลอดทั้งเรื่อง ก็คงยืนยันอุทาหรณ์เดียวกับนิทานพื้นบ้าน “ปลาบู่ทอง” ที่สอนให้เราคิดดีทำดี และเฉพาะเด็กหญิงที่รู้จักมุ่งมั่นทำความดีเท่านั้น จากเด็กน้อยผู้น่าสงสารก็จะกลายเป็น “เจ้าหญิงในนิยาย” ที่กลับคืนสู่อ้อมอกแม่ และได้อยู่ครองคู่กับ “เจ้าชายรูปงาม” ได้ในที่สุด       ดูละคร “กลเกมรัก” จนจบ ได้แต่รำพึงรำพันอนิจจาน่าเวทนาก็แต่ลูกปลาบู่อย่างลลิษา ผู้ที่ทำแม้ในสิ่งที่ผิด เพียงเพื่อเขยิบสถานะจากเด็กผู้ใฝ่ฝัน “อยากเป็นคนที่ถูกรัก” สักครั้งในชีวิต ถึงที่สุดก็ต้องกลายเป็นคนที่ไม่มีอะไรและไม่เหลือใครสักคน งานนี้ก็คงได้แต่ครวญเพลงบทใหม่ว่า “สงสารแต่ลูกปลาบู่…” แล้วกระมัง

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 พรหมลิขิต : ตกลงคือพรหมลิขิตใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น

        “พรหมลิขิตบันดาลชักพา ดลให้มาพบกันทันใด ก่อนนี้อยู่กันแสนไกล พรหมลิขิตดลจิตใจ ฉันจึงได้มาใกล้กับเธอ…”         บทเพลง “พรหมลิขิต” ที่ขับร้องโดยคุณวินัย จุลละบุษปะ แห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์ เมื่อราว 7 ทศวรรษที่ผ่านมาได้ บ่งบอกนัยความเชื่อของสังคมไทยที่รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งนับถือเทพตรีมูรติทั้งสามองค์ คือ พระพรหมผู้สร้างและควบคุมทุกอย่างที่พระเจ้าได้สร้างขึ้น พระวิษณุผู้ปกป้องโลกและควบคุมโชคชะตาของมนุษย์ และพระศิวะผู้ทำลายทุกชีวิตแต่ก็เป็นผู้ให้ชีวิตใหม่ได้เช่นกัน         เฉพาะกับความเชื่อเรื่องพระพรหมในฐานะเป็นผู้สร้างโลกและลิขิตชะตาชีวิตของบุคคลต่างๆ นับแต่เกิดจนตาย หรือแม้แต่ดลบันดาลให้เกิดความรักระหว่างบุคคลดังเนื้อร้องทำนองเพลงข้างต้นนั้น แม้เมื่อเราแปลคำภาษาอังกฤษ “destiny” ที่มีความหมายถึงอำนาจซ่อนเร้นบางอย่างซึ่งกำหนดอนาคตของปัจเจก คนไทยก็ยังซ่อนซุกร่องรอยไว้ด้วยว่า คงเป็นเพราะพระพรหมท่านที่ได้ขีดเขียนชะตากรรมให้เป็นเช่นนั้นแล         อย่างไรก็ดี เมื่อเรื่องราวของ “destiny” มาปรากฏอยู่ในโลกแห่งละครโทรทัศน์กันบ้าง และตัวละครต่างก็พูดคำว่า “destiny” กันซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดทั้งเรื่อง ก็ชวนให้สงสัยและไขข้อข้องใจว่า มาถึงทุกวันนี้แล้ว “ตกลงยังเป็นพรหมลิขิตอยู่ใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น” กันจริงๆ         กับละครโทรทัศน์แนวเดินทางข้ามเวลาภาคต่อ ที่ขานรับกระแส “ออเจ้าฟีเวอร์” ซึ่งฮือฮาเมื่อราว 5 ปีก่อนหน้าเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” มาสู่ภาคใหม่ในชื่อเรื่อง “พรหมลิขิต” ก็สื่อนัยความหมายไม่มากก็น้อยถึงอิทธิฤทธิ์ของพระพรหมท่านที่จะลิขิตบันดาลหรือกำหนดชะตาชีวิตของตัวละครให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้         เรื่องราวของละครโทรทัศน์ภาคต่อเล่าถึงนางเอก “พุดตาน” ณ กาลสมัยปัจจุบัน มีเหตุบังเอิญไปเจอเข้ากับหีบโบราณลึกลับ พลันที่เธอเปิดหีบนั้น ก็ได้พบกับสมุดข่อยโบราณ ซึ่งก็คือ “มนต์กฤษณะกาลี” ที่ถูกฝังดินไว้ และทันทีที่พุดตานได้สัมผัสกับสมุดข่อยศักดิ์สิทธิ์ ร่างของเธอก็ถูกกลืนหายไปจากปัจจุบันขณะ ย้อนกลับไปปรากฏตัวเมื่อกว่า 300 ปีในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาโน่นเลย         และแล้วตำนานรักโรแมนติกบทใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อพุดตานได้ลืมตามาพบกับ “หมื่นมหาฤทธิ์” หรือ “พ่อริด” พระเอกหนุ่มบุตรชายฝาแฝดของ “ออกญาวิสูตรสาคร” และ “คุณหญิงการะเกด” หรือก็คือ “เกศสุรางค์” ผู้ที่ครั้งหนึ่งก็เคยเดินทางข้ามกาลเวลามา แต่บัดนี้ได้กลายเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาไปเสียแล้ว         ด้วยเป็นภาคต่อของละครโทรทัศน์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส” นี้เอง คู่ขนานไปกับการคลี่คลายปมของตัวละครทั้งหลายที่ถูกผูกไว้ตั้งแต่ภาคก่อน เส้นเรื่องของ “พรหมลิขิต” จึงยังคงเดินหน้าถ่ายทอดความรักรุ่นลูกระหว่างพ่อริดกับพุดตาน โดยมีการตั้งคำถามหลักว่า เหตุการณ์อันมหัศจรรย์ที่คนสองคนข้ามเวลามารักกันเยี่ยงนี้เป็นเพราะ “destiny” กันจริงหรือไม่         แม้จุดเริ่มเรื่องพุดตานจะพยายามแย่งสมุดข่อยลึกลับคืนจากพ่อริด เพราะคิดว่าเป็นประตูกาลเวลาซึ่งจะนำพาให้เธอกลับสู่สามร้อยกว่าปีที่จากมาได้ แต่ด้วยเหตุที่ครั้งหนึ่งคัมภีร์กฤษณะกาลีเคยทำให้คุณหญิงการะเกดเกือบต้องตายจากไปตลอดกาล พ่อริดจึงเอาสมุดข่อยต้นเรื่องไปฝากไว้กับ “หมื่นณรงค์ราชฤทธา” หรือ “พ่อเรือง” แฝดผู้พี่ที่พำนักอยู่เมืองสองแควพิษณุโลก อันเป็นเหตุให้พุดตานต้องใช้ชีวิตติดอยู่ในรัชสมัย “ขุนหลวงท้ายสระ” กับดินแดนที่เธอไม่รู้สึกคุ้นเคยแต่อย่างใด         ด้วยเหตุฉะนี้ ใจความหลักของเรื่องจึงวนเวียนอยู่กับการนำไปสู่บทสรุปตอนท้ายว่า ตกลงแล้วพุดตานจะกลับคืนสู่ภพชาติปัจจุบันได้หรือไม่ และยืนยันให้คำตอบที่พ่อริดสงสัยอยู่เนืองๆ ต่อ “destiny” ว่า “ออเจ้ามาที่นี่เพราะพรหมลิขิตกระนั้นหรือ”         ที่น่าประหลาดใจยิ่งก็คือ ในขณะที่พุดตานก็อธิบายถึง “destiny” ให้พ่อริดฟังว่า “คนที่เชื่อเรื่องพรหมลิขิต ไม่เชื่อว่าจะมีอะไรขัดขวางพระพรหมได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพรหมลิขิตไว้” หากทว่า เรื่องราวของละครกลับมีพล็อตที่คู่ขนานกันไปด้วยว่า เหตุปัจจัยที่ตัวละครหลากหลายได้โคจรมาบรรจบพบกันนั้น อีกฟากหนึ่งก็กลับมีกรรมเก่าที่ทำร่วมกันมาแต่ปางก่อนเป็นเงื่อนไขกำหนด         ทั้งนี้ พุดตานผู้เดินทางย้อนเวลาข้ามภพมา จริงๆ ก็คือ “แม่หญิงการะเกด” ที่เพราะทำกรรมไว้แต่ชาติปางบรรพ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็ตั้งแต่ละครภาคก่อน ดังนั้น การที่เธอได้มาพบรักกับพ่อริด พบเจอกับออกญาวิสูตรสาครและเกศสุรางค์ จนถึงกลับมาปะทะคารมกับ “คุณหญิงจำปา” และ “แม่ปริก” หรือมาเจอะเจอกับ “ผิน” และ “แย้ม” บ่าวรับใช้ในอดีต ก็หาใช่เหตุบังเอิญไม่ แต่เป็นเพราะกรรมเก่าที่ยังไม่ได้ชำระปลดเปลื้องไปนั่นเอง         โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวละคร “แม่กลิ่น” หลานสาวของ “ยายกุย” ที่เอาแต่ตั้งแง่รังเกียจกลั่นแกล้งพุดตานแบบไม่รู้ต้นสายปลายเหตุด้วยแล้ว ละครก็มาเฉลยความในตอนท้ายว่า แม่กลิ่นก็คือ “แดง” เจ้ากรรมนายเวรที่เมื่อชาติก่อนเคยถูกการะเกดทำให้ตกน้ำตาย จนชาตินี้พุดตานต้องกลับมาช่วยชีวิตแม่กลิ่นที่กำลังจมน้ำ เพื่อแก้กรรมและอโหสิกรรมให้หลุดพ้นจากวังวนวัฏฏะที่ทำกันมาตั้งแต่ภพภูมิเก่า         อย่างไรก็ตาม แม้ “destiny” ที่พุดตานกับพ่อริดจะร่วมกันสร้างขึ้นด้วยส่วนผสมระหว่าง “พรหมลิขิต” กับ “กรรมลิขิต” ก็ตาม แต่ทว่า ในอีกแง่มุมหนึ่ง ละครก็ได้นำเสนอเส้นขนานคู่ที่สามที่ตั้งคำถามไปอีกว่า แล้วปัจเจกบุคคลอย่างเราๆ มีอำนาจที่จะลิขิตชีวิตของตนเองได้ด้วยหรือไม่         ด้วยเหตุนี้ เมื่อมาถึงฉากตอนท้ายที่พุดตานต้องถูกถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาให้กับขุนหลวง นางเอกสาวก็เลือกประกาศเจตนารมณ์ข้อใหม่กับพ่อริดและใครต่อใครว่า “กฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นต้องเปลี่ยนแปลงได้” และประวัติศาสตร์ที่จะขีดเขียนใหม่ให้เกิดเป็นจริงขึ้นได้ ก็ไม่ใช่รอคอยให้เป็นไปตามยถากรรม แต่ต้องได้มาด้วยจิตสำนึกและลงมือกระทำการโดยตัวของมนุษย์เองเท่านั้น         ดังนั้น ควบคู่ไปกับการพูดคำศัพท์ร่วมสมัยให้กับผู้คนยุคกรุงศรีฯ การลงมือปรุงสำรับอาหารหลากหลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ยั่วน้ำลายผู้ชม หรือการปฏิเสธค่านิยมคลุมถุงชนและหลายผัวหลายเมียแบบโบราณ เราจึงได้เห็นฉากที่ปัจเจกบุคคลอย่างพุดตานลุกขึ้นมาปฏิเสธการเข้าถวายตัว อันเป็นข้อกำหนดที่เคยเชื่อว่ามิอาจเปลี่ยนแปลงได้ จนนำไปสู่บทสรุปความรักที่สมหวังกับชายหนุ่มที่เธอได้รักและได้เลือกจริงๆ         หากจะย้อนกลับไปสู่คำถามว่า แล้วกับ “destiny” นั้น “ตกลงคือพรหมลิขิตใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น” บางทีคำตอบจากละครที่มีชื่อเรื่องว่า “พรหมลิขิต” ก็น่าจะบอกเราได้ว่า พระพรหมอาจจะลิขิตให้คนสองคนรักกัน และกรรมก็อาจลิขิตชีวิตไปตาม “ชะตา(แห่ง)กรรม” แต่กระนั้น ก็ยังเป็นปัจเจกบุคคลที่สามารถลุกขึ้นมาท้าทาย เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ และลิขิตขีดเขียน “destiny” ของตนเอาไว้ได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)