มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้อง กสทช. เร่งออกมาตรการกำกับดูแลธุรกิจให้บริการ OTT

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้อง กสทช. เร่งออกมาตรการกำกับดูแลธุรกิจให้บริการ OTT หลังบ้านสมเด็จโพล เผยผู้บริโภคร้อยละ 87.1 ยินดีจ่ายค่าสมาชิกบริการ OTT แต่ไม่ยินดีดูโฆษณาคั่นร้อยละ 25.6มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้อง กสทช. เร่งออกมาตรการกำกับดูแลธุรกิจให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ชี้เหตุมีปัญหารอบด้านที่สร้างผลกระทบต่อผู้บริโภค หลังบ้านสมเด็จโพล เผยผู้บริโภคร้อยละ 87.1 ยินดีจ่ายค่าสมาชิกบริการ OTT แต่ไม่ยินดีดูโฆษณาคั่นร้อยละ 25.6         วันนี้ ( 7 พฤษภาคม 2567 ) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,114 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 7 - 10 เมษายน 2567 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง  ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) คือการให้บริการเนื้อหาสื่อรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วีดิโอ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต การบริการผ่าน แพลตฟอร์ม และเป็นแบบin app purchase คือ การดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน แล้วมีการจ่ายค่าบริการเพิ่มเติม หรือ ที่บอกรับสมาชิกและเรียกเก็บเงินโดยแพลตฟอร์ม ในปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) เป็นจำนวนมากเนื่องจากสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคจากความสะดวกสบายในการรับฟังและรับชมได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านหลากหลายอุปกรณ์ โดยผู้ให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) มีทั้งที่จดทะเบียนบริษัทในประเทศไทยที่เสียภาษีให้กับประเทศแบบถูกต้อง และแบบที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยโดยเงินของคนไทยที่ใช้บริการไหลออกไปยังต่างประเทศ โดยที่ประเทศไทยไม่ได้รับภาษีจากการชำระค่าบริการนั้นๆ         ในปัจจุบัน พบว่า กสทช.มีอำนาจกำกับดูแลเฉพาะบริการไอพีทีวี (IPTV) หรือโทรทัศน์ผ่านอินเตอร์เน็ต แต่สำหรับการให้บริการ OTT นั้น กสทช. ยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนมากำกับดูแลโดยเฉพาะ ทำให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ส่วนใหญ่ คือ ไม่สามารถควบคุมเนื้อหาที่เหมาะสม การกำหนดราคาที่เหมาะสมกับผู้บริโภค การมีโฆษณาคั่นในการรับชมผ่าน OTT แม้จะมีการชำระค่าสมาชิกก็หรือค่ารับชมแล้วก็ตาม เหล่านี้ คือปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคที่ไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร รวมถึงความเหลื่อมล้ำจากการถูกกำกับดูแลและการเสียภาษี ระหว่างผู้ให้บริการ IPTV และผู้ให้บริการ OTT ทั้งๆ ที่ลักษณะและรูปแบบของการให้บริการมิได้แตกต่างกัน กสทช. ควรหาแนวทางกำกับดูแลกิจการ OTT ให้เป็นธรรมและเหมาะสมเพื่อประชาชน         โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ร้อยละ 91.3 มีการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) แบบเสียค่าสมาชิก ร้อยละ 87.1 และมีการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) มากกว่า 1 แพลตฟอร์ม ร้อยละ 90.1 มีการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) จากผู้ให้บริการที่เจ้าของเป็นบริษัทในประเทศไทย อันดับที่หนึ่ง คือ TRUEID ร้อยละ 49 อันดับที่สอง คือ AISPLAY ร้อยละ 44.3 อันดับที่สาม คือ 3 PLUS ร้อยละ 18 อันดับที่สี่ คือ MONOMAX ร้อยละ 13.3 และอันดับที่ห้า คือ Bugaboo inter ร้อยละ 8.4 และมีการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) จากผู้ให้บริการที่เจ้าของเป็นบริษัทอยู่ในต่างประเทศ อันดับที่หนึ่ง คือ Netflix ร้อยละ 67 อันดับที่สอง คือ Youtube ร้อยละ 48.7 อันดับที่สาม คือ Disney plus Hotstar ร้อยละ 15.3 อันดับที่สี่ คือ Viu ร้อยละ 13.3 และอันดับที่ห้า คือ iQIYI ร้อยละ 12.2 ปัจจุบันมีการเสียค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ต่อเดือน เดือนละ 1 – 500 บาท ร้อยละ 75.5 มากที่สุด โดยคิดว่าค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ในปัจจุบันมีความเหมาะสม ร้อยละ 65.8 และคิดว่าค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมในการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) 1 – 500 บาท ต่อเดือน ร้อยละ 74.7 มากที่สุด กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ที่ใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) แบบเสียค่าสมาชิก คิดว่าไม่ควรมีโฆษณาคั่นในแพกเกจแบบเสียค่าสมาชิก ร้อยละ 73.8 และ 25.6% เคยพบโฆษณาคั่นในแพกเกจแบบเสียค่าสมาชิก  โดยเหตุผลที่ใช้บริการแพกเกจแบบเสียค่าสมาชิก อันดับที่หนึ่ง คือ ต้องการรับชมเนื้อหาที่สนใจ ร้อยละ 72.2 อันดับที่สอง คือ ไม่ต้องการรับชมโฆษณา ร้อยละ 19.4 อันดับที่สาม คือ ต้องการติดตามดาราที่ชื่นชอบ ร้อยละ 6.8  กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าภาครัฐควรจัดเก็บภาษีของผู้ให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ร้อยละ 42.3 ภาครัฐไม่ควรมีการกำกับเนื้อหา ร้อยละ 51 ของผู้ให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) และภาครัฐควรมีการกำกับราคาค่าสมาชิกของผู้ให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ร้อยละ 70.2 โดยอยากให้ทางภาครัฐ มีการกำหนดบทลงโทษกับผู้ให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ที่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ อันดับที่หนึ่ง คือ จ่ายค่าปรับ ร้อยละ 76.4 อันดับที่สอง คือ ปิดการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 42.1 อันดับที่สาม คือ ยึดใบอนุญาต ร้อยละ 1.9  หากพบเห็นปัญหาในการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) จะร้องเรียน อันดับที่หนึ่ง คือ คอลเซ็นเตอร์ของผู้ให้บริการ (OTT) ร้อยละ 54.4 อันดับที่สอง คือ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ) ร้อยละ 16 อันดับที่สาม คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช) ร้อยละ 13.6 อันดับที่สี่ คือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 6.6 และอันดับที่ห้า คือ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และ สภาองค์กรของผู้บริโภค ร้อยละ 4.7 นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมจากข้อมูลโพลสำรวจของ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เกี่ยวกับการให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) เห็นด้วยว่า  การดำเนินธุรกิจการให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT)  กสทช. ควรมีบทบาทกำกับดูแลทั้งระบบ  เพราะเป็นการให้บริการในรูปแบบเดียวกัน  เพราะปัจจุบัน พบว่า กสทช.มีอำนาจกำกับดูแลเฉพาะบริการไอพีทีวี (IPTV)  และยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล  ระบบ OTT   ผู้บริโภคจะเจอปัญหาว่าเมื่อใช้บริการ จะเจอเนื้อหาที่ไม่สุภาพ และมีโฆษณาที่ไม่เหมาะสม  และหากต้องการดูแบบไม่มีโฆษณาจะคิดค่าบริการที่มีราคาแพง และบังคับการใช้อุปกรณ์เท่าที่ระบุไว้ตามราคาเท่านั้น เช่น ถ้าซื้อราคา 99 บาท/เดือน ใช้ได้เฉพาะมือถือและแท็ปเล็ตเท่่านั้น  เป็นต้น     อีกทั้งพบว่า บริการ OTT ที่ผู้บริโภคใช้ส่วนมากจะเป็น ผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศซึ่งตรงกับโพลสำรวจข้างต้น   จึงขอให้ กสทช. มีหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการ OTT ที่เป็นผู้ประกอบการต่างประเทศให้อยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศไทยเหมือนกัน ซึ่งหากไม่มีการกำกับดูแลให้ทั่วถึงแล้ว นอกจากผู้บริโภคไทยจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์แล้ว  รัฐจะเสียผลประโยชน์ด้านภาษีด้วย  หมายเหตุ : การสำรวจความคิดเห็นของบ้านสมเด็จโพล ดำเนินการโดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,114 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 7 - 10 เมษายน 2567 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง  ส่วนที่ 1 การให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT)        1.  ท่านใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ใช่หรือไม่                ใช่                                                ร้อยละ 91.3                ไม่ใช่                                             ร้อยละ 8.7        2. ปัจจุบันท่านใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) มากกว่า 1 แพลตฟอร์ม ใช่หรือไม่                ใช่                                                 ร้อยละ 90.1                ไม่ใช่                                             ร้อยละ 9.9        3. ท่านใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) จากผู้ให้บริการที่เจ้าของเป็นบริษัทในประเทศไทย รายใดบ้าง  (เลือกได้มากกว่า 1 ข้อ)                 TRUEID                                                 ร้อยละ 49                AISPLAY                                                ร้อยละ 44.3                MONOMAX                                            ร้อยละ 13.3                3 PLUS                                                  ร้อยละ 18                Bugaboo inter                                  ร้อยละ 8.4                อื่นๆ                                                       ร้อยละ 2             4. ท่านใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) จากผู้ให้บริการที่เจ้าของเป็นบริษัทอยู่ในต่างประเทศ รายใดบ้าง (เลือกได้มากกว่า 1 ข้อ)                 Netflix                                          ร้อยละ 67                   Prime Video                                  ร้อยละ 11.5                 Disney pluss Hotstar                      ร้อยละ 15.3                HBO Go                                        ร้อยละ 7.3                  WeTV                                           ร้อยละ 11.8                Viu                                               ร้อยละ 13.3                iQIYI                                            ร้อยละ 12.2                 Youtube                                        ร้อยละ 48.7                อื่นๆ                                              ร้อยละ 0.7          5. ท่านใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) แบบเสียค่าสมาชิก ใช่หรือไม่                ใช่                                                ร้อยละ 87.1                 ไม่ใช่                                             ร้อยละ 12.9         6. ปัจจุบันท่านเสียค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) เท่าไรต่อเดือน                ไม่เสียค่าใช้จ่าย                              ร้อยละ 14.5                 1 – 500 บาท                                 ร้อยละ 75.5                 501 – 1,000  บาท                          ร้อยละ 8.6                  มากกว่า 1,000 บาทขึ้นไป                 ร้อยละ 1.4                   7. ท่านคิดว่าค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ในปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่                เหมาะสม                                      ร้อยละ 65.8                 ไม่เหมาะสม                                   ร้อยละ 17.1                 ไม่แน่ใจ                                        ร้อยละ 17.1         8. ท่านคิดว่าค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมในการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) เท่าไรต่อเดือน                ไม่เสียค่าใช้จ่าย                              ร้อยละ 19.4                 1 – 500 บาท                                 ร้อยละ 74.7                 501 – 1,000  บาท                          ร้อยละ 5.3                  มากกว่า 1,000 บาทขึ้นไป                 ร้อยละ 0.6                   9. ท่านใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) แบบเสียค่าสมาชิก เพราะเหตุใด                ต้องการรับชมเนื้อหาที่สนใจ               ร้อยละ 72.2                ต้องการติดตามดาราที่ชื่นชอบ            ร้อยละ 6.8                ไม่ต้องการรับชมโฆษณา                   ร้อยละ 19.4                อื่นๆ                                             ร้อยละ 1.6          10. ท่านเคยพบโฆษณาในการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) แบบเสียค่าสมาชิก หรือไม่                เคยพบโฆษณา                                ร้อยละ 25.6                ไม่เคยพบโฆษณา                            ร้อยละ 60.7                ไม่แน่ใจ                                         ร้อยละ 13.7        11. ท่านพบโฆษณาในการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) แบบเสียค่าสมาชิก ท่านคิดว่าควรมีโฆษณาหรือไม่                ควรมี                                            ร้อยละ 10.3                ไม่ควรมี                                         ร้อยละ 73.8                ไม่แน่ใจ                                         ร้อยละ 15.9        12. ท่านคิดว่าภาครัฐควรจัดเก็บภาษีของผู้ให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) หรือไม่              ควร                                              ร้อยละ 42.3                ไม่ควร                                           ร้อยละ 40.7                ไม่แน่ใจ                                         ร้อยละ 17        13. ท่านคิดว่าภาครัฐควรมีการกำกับเนื้อหาของผู้ให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) หรือไม่                ควร                                              ร้อยละ 32.9                ไม่ควร                                           ร้อยละ 51                ไม่แน่ใจ                                         ร้อยละ 16.1        14. ท่านคิดว่าภาครัฐควรมีการกำกับราคาค่าสมาชิกของผู้ให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) หรือไม่                ควร                                               ร้อยละ 70.2                ไม่ควร                                           ร้อยละ 10.7                 ไม่แน่ใจ                                        ร้อยละ 19.1        15. ท่านอยากให้ทางภาครัฐ มีการกำหนดบทลงโทษกับผู้ให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ที่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างไร (เลือกได้มากกว่า 1 ข้อ)                 จ่ายค่าปรับ                                            ร้อยละ 76.4                ปิดการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต                  ร้อยละ 42.1                ยึดใบอนุญาต                                   ร้อยละ 1.9        16. หากท่านพบเห็นปัญหาในการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ท่านจะร้องเรียนผ่านช่องทางใด                 คอลเซ็นเตอร์ของผู้ให้บริการ (OTT)                                                                                        ร้อยละ     54.4                คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ)                                                                                    ร้อยละ     16                กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)                        ร้อยละ     4.7                คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช)       ร้อยละ     13.6                สภาองค์กรของผู้บริโภค                                                                                               ร้อยละ     4.7                ไม่แน่ใจ                                                                                                                   ร้อยละ     6.6         ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์                1.  เพศ                 ชาย                     ร้อยละ        51.5           หญิง                   ร้อยละ        48.5                2.  อายุ                 ต่ำกว่า  20 ปี        ร้อยละ        11.8            20 – 25  ปี         ร้อยละ        35.2                                              26 – 30  ปี            ร้อยละ        20.8           31 – 35  ปี          ร้อยละ         14.5                                              36 – 40  ปี            ร้อยละ        7.9             41 – 45  ปี           ร้อยละ        3.9                                              46 – 50  ปี            ร้อยละ        2.6              มากกว่า 50  ปี     ร้อยละ        3.3                3.  อาชีพ      นักเรียน / นิสิต / นักศึกษา                                    ร้อยละ         36                                     ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ        ร้อยละ         12.8                                 พนักงานบริษัทเอกชน                                         ร้อยละ         25                                      นักธุรกิจ/เจ้าของกิจการส่วนตัว                              ร้อยละ         12                                 แม่บ้าน/พ่อบ้าน                                                 ร้อยละ          6                                 รับจ้างทั่วไป                                                      ร้อยละ         8.2 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 278 ลูกชิ้นปลา ทำฟันระเบิด!

        ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นเนื้อ ลูกชิ้นปลา ของกินสุดแสนอร่อยที่ใครหลายคนชื่นชอบ มีขายอยู่ทั่วเกือบทุกพื้นที่ของประเทศไทย ถึงขนาดปัจจุบันก็มีร้านเฟรนไชส์ขายลูกชิ้นกันให้เกลื่อนเต็มไปหมด ซึ่งถ้าพูดถึงร้านเฟรนไชส์เราก็คงจะคาดหวังว่าอาหารที่เราจะซื้อคงจะสะอาดปลอดภัย ถูกสุขอนามัยทุกขั้นตอนใช่ไหมล่ะ (เป็นมาตรฐานที่ควรจะมีสำหรับการขายอาหารอยู่แล้ว) แต่ดันไม่ใช่กับเคสของคุณจุ๊บ        คุณจุ๊บเข้ามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เธอซื้อลูกชิ้นปลาร้านเฟรนไชส์เจ้าหนึ่งมารับประทาน จำนวน 1 ถ้วย ราคา 55 บาท พอได้รับสินค้ามาแล้วเธอก็รับประทานทันที แต่ในระหว่างที่กำลังเคี้ยวอยู่นั้น ก็เหมือนกับเจออะไรแข็งๆ โดนที่ฟัน ซึ่งพอเอาออกมาดูก็พบกับเศษเหล็กและฟันกรามของเธอที่แตกหักเสียหาย เธอจึงติดต่อไปยังเฟรนไชส์ดังกล่าวให้รับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียเวลาทำงานและอื่นๆ เป็นเงินจำนวน 69,300 บาท         ทั้งนี้ จากที่คุณจุ๊บติดต่อไปยังบริษัทเฟรนไชส์ลูกชิ้นปลาดังกล่าว ทางบริษัทก็ได้มารับชิ้นส่วนดังกล่าวไปตรวจสอบ หลังจากนั้นทางบริษัทก็ได้ติดต่อผู้เสียหายมาว่าทางบริษัทได้ให้ทางโรงงานที่ผลิตตรวจสอบแล้ว ไม่พบชิ้นส่วนเหล็กดังกล่าว อย่างไรก็ตามจะขอชดเชยค่าเสียหายดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท แทน คุณจุ๊บเองนั้นไม่โอเคกับขอเสนอดังกล่าวเนื่องจากเธอนั้นตั้งครรภ์อยู่จึงไม่สามารถทำฟันได้ทันที และการที่เธอได้รับประทานลูกชิ้นดังกล่าวไปในขณะตั้งครรภ์อยู่ทำให้ไม่สบายใจเป็นอย่างมาก พร้อมกับหน้าที่การงานของเธอนั้นต้องใช้หน้าตาในการให้บริการลูกค้า ซึ่งตั้งแต่เกิดเรื่องเธอต้องถือเอาเรื่องโควิดมาช่วยแก้สถานการณ์ในการทำงานโดยต้องใส่แมสก์ตลอดเวลา เพราะไม่มั่นใจ ไม่กล้ายิ้มหรือพูดคุยได้เหมือนปกติ ที่สำคัญอีกอย่างคือค่าเสียหายทั้งหมดที่เธอต้องเสียไปในการรักษาพยาบาลก็มากกว่าจำนวนเงินที่ทางบริษัทเสนอมาอีกด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหา         เพื่อติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติม ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปยังคุณจุ๊บอีกครั้ง ทำให้ได้ทราบว่าคุณจุ๊บมีการเจรจากับทางบริษัทอีกครั้ง โดยทางบริษัทฯ เจ้าของเฟรนไชส์ลูกชิ้นปลาได้มีการส่งตัวแทนเข้าไกล่เกลี่ยและยื่นข้อเสนอเป็นเงินชดเชยจำนวน 50,000 บาท ทางคุณจุ๊บยินยอมรับข้อเสนอดังกล่าว เป็นอันว่าจบไปได้ด้วยดี         ก่อนจะเข้าร้องเรียนที่มูลนิธิฯ คุณจุ๊บเองได้มีการไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน พร้อมกับตรวจเช็กร่างกายนำใบเสร็จและใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐาน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญของการรวบรวมหลักฐานเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย อย่าลืมถ่ายรูปอาหารที่มีสิ่งแปลกปลอมหรือความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ใบเสร็จหรือสลิปโอนเงินก็เป็นหลักฐานอย่างดีว่าเราซื้อหรือใช้บริการจริง ผู้บริโภคทุกคนควรใส่ใจ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 278 อย่ายอม ! หากโรงแรมให้ไปจอดรถในที่มืดๆ

        โรงแรมเป็นสถานที่พักที่ต้องจัดให้บริการให้เป็นไปมาตรฐานที่ทั้งต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้เข้าพัก มีความสะอาด ปลอดภัย หากไม่เป็นไปตามนี้อาจเสี่ยงทำให้ทรัพย์สินของผู้มาใช้บริการเสียหายได้ เช่นเรื่องราวของคุณนัท         เรื่องราวคือ คุณนัทได้เข้าไปใช้บริการโรงแรมมีชื่อแห่งหนึ่งย่านรัชดา เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ในเวลา 19.40 น. โดยได้ติดต่อขอใช้บริการห้องพักชั่วคราวกับโรงแรมเป็นเวลา 2 ช.ม. และได้ชำระเงิน 600 บาท โดยเป็นค่าห้องพัก 300 บาท และค่ามัดจำกุญแจ 300 บาท หลังชำระเงินเสร็จแล้ว จึงค่อยมาทราบทีหลังว่าไม่สามารถนำรถไปจอดหน้าห้องพักตามปกติได้ทั้งที่คุณนัทเคยมาใช้บริการก่อนหน้านี้สามารถนำรถมาจอดหน้าห้องพักได้เลย         ในครั้งนี้พนักงานให้คุณนัทนำรถไปจอดฝั่งตรงข้ามโรงแรม  คุณนัทจึงได้ขอยกเลิกคืนเงินในทันทีแต่โดนปฏิเสธการคืนเงิน จึงจำใจต้องใช้บริการแต่เมื่อทำเลื่อนรถไปจอดฝั่งตรงข้าม พนักงานยังไม่มีแจ้งสถานที่จอดรถที่ชัดเจน ทั้งยังไม่มีป้ายบอกหรือแสดงข้อความที่ชัดเจนว่าต้องเข้าจอดตรงไหน ตลอดจนไปที่จะให้ความสว่างก็มีไม่เพียงพอ เรียกว่าเกือบมืดเลยแหละ คุณนัทไม่รู้ว่าจะจอดรถอย่างไร พนักงานจึงเดินมาบอกให้ขับเข้าไปจอดด้านในมืดๆ         คราวนี้คุณนัทรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยจึงตัดสินใจยอมทิ้งค่าห้องพัก ไม่พักแล้ว เพราะบริการของโรงแรมไม่ได้มาตรฐานและหากต้องจอดรถในที่มืด ไม่มีระบบป้องกันความปลอดภัยใดๆ รถก็เสี่ยงเสียหายได้ คุณนัทจึงตัดสินใจเชคเอ้าท์ออกในเวลา 19.53 โดยได้รับเงินค่ามัดจำกุญแจคืน จำนวน 300 บาท และจ่ายค่าห้องพัก 2 ช.ม. ไปฟรี 300 บาท โดยที่ไม่ได้เข้าพัก         คุณนัทจึงมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะการบริการของโรงแรมดังกล่าวไม่ปลอดภัยต่อทรัพย์สินของผู้ใช้บริการ ไม่ได้เป็นไปตามาตรฐานของโรงแรงตามที่ควรเป็นหลายประการ  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ได้ติดต่อกับโรงแรมดังกล่าว สอบถามถึงข้อปัญหาที่บกพร่อง ต่อมาเจ้าของหน้าที่ของโรงแรมได้ประสานและรายงานแสดงผลกับมูลนิธิฯ ว่าได้ปรับปรุงจุดที่มีปัญหาแล้ว คือได้ทำให้ไฟหน้าห้องพักใช้งานได้ตามปกติ  ติดตั้งป้ายและไฟในที่จอดรถแล้ว และได้โทรศัพท์แจ้งผลการปรับปรุงให้คุณนัททราบด้วย คุณนัทจึงพึงพอใจไม่ติดใจโรงแรมอีก         มาตรฐานของโรงแรมแล้วนั้น กฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรมพ.ศ. 2551 โดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้           1.ให้มีโทรศัพท์หรือระบบการติดต่อสื่อสารต้องมีจำนวนเพียงพอ        2. การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อส่งไปยังสถานพยาบาลใกล้เคียง         3. ระบบรักษาความปลอดภัยอย่างทั่วถึงตลอด 24 ชั่วโมง         4. จัดให้มีห้องน้ำและห้องส้วมในส่วนที่ให้บริการสาธารณะโดยจัดแยกชายและหญิง          5. มีการรักษาความสะอาด มีการจัดแสงสว่างอย่างเพียงพอ และมีระบบระบายน้ำ บำบัดน้ำเสีย และระบบระบายอากาศที่ถูกสุขลักษณะ         6. ทุกชั้นต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือไม่น้อยกว่าชั้นละ 1 เครื่อง และเครื่องดับเพลิงต้องอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดเวลา         7. ต้องติดตั้งระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้         8. ต้องมีทางหนีไฟหรือบันไดหนีไฟตามหลักเกณฑ์ 9. ต้องจัดให้มีระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองสำหรับกรณีฉุกเฉิน ใช้ได้อัตโนมัติเมื่อระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าปกติหยุดทำงาน 10. ต้องอยู่ห่างจากแม่น้ำ คู คลอง หรือแหล่งน้ำสาธารณะไม่น้อยกว่า 10 เมตร         นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ที่จะช่วยทำให้มาตรฐานความปลอดภัยถูกยกระดับมากยิ่งขึ้น อีกหลายประการ เช่น กล้องวงจรปิด ,บัตรผ่านจอดรถ ,คีย์การ์ด ,สัญญาณกันขโมย ,ไม้กั้นอัตโนมัติ เป็นต้น         หากผู้บริโภคท่านอื่นๆ พบเจอปัญหาเช่นคุณนัท ก็สามารถร้องเรียนได้ เพราะมาตรฐานการบริการของโรงแรมมีกฎหมายกำหนดไว้อย่างเข้มงวด ชัดเจน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 278 ผู้โดยสารร้องแท็กซี่ไม่กดมิเตอร์ ปล่อยลงกลางทาง

        แม้หลายคนจะเคยได้รับรู้ข่าวปัญหาจากการเดินทางด้วยรถแท็กซี่ตามหน้าสื่อต่างๆ ว่าผู้โดยสารบางคนโบกแล้วแท็กซี่ไม่จอด จอดแล้วไม่ไปบ้าง ขับพาอ้อมบ้าง ไม่กดมิเตอร์บ้าง โก่งราคาบ้าง หรือกระทั่งถูกปล่อยทิ้งกลางทาง แต่คงไม่มีใครคาดคิดว่าตัวเองจะเจอปัญหานี้ คุณริต้าก็เช่นกัน แต่เธอก็เจอแจ็กพ็อตจนได้         ในเช้าวันหนึ่ง คุณริต้ามีธุระต้องเดินทางไปดอนเมือง เธอมายืนเรียกแท็กซี่อยู่ที่หน้าสถานีรถไฟฟ้า BTS สนามเป้า รอสักพักก็มีรถแท็กซี่คันหนึ่งผ่านมาและจอดรับ เธอขึ้นรถตอนเจ็ดโมงกว่าๆ เกือบแปดโมงเช้า คุณโชเฟอร์เขาขับรถออกไปโดยไม่ได้กดมิเตอร์ตามปกติ แต่กลับหันมาเรียกเก็บค่าโดยสารจำนวน 600 บาทแทน คุณริต้าตกใจ แต่ก็มีสติพอที่จะไม่จ่ายให้เพราะรู้สึกว่าแพงเกินไป         เมื่อผู้โดยสารปฎิเสธ คนขับแท็กซี่ก็เลยจอดรถและให้เธอลงกลางทางที่หน้าปากซอยพหลโยธิน 2 แล้วมุ่งหน้าไปยังถนนวิภาวดี เรียกว่าปล่อยเธอไว้กลางทาง ตอนนั้นเธอรู้สึกไม่พอใจ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากเรียกแท็กซี่คันใหม่ในบริเวณนั้นให้ไปส่งที่ดอนเมืองแทน เมื่อถึงปลายทางเธอจ่ายค่าโดยสารไปเพียง 163 บาท ทำให้เธอเชื่อว่าแท็กซี่คันแรกนั้นต้องจ้องจะเอาเปรียบผู้โดยสารแน่ๆ เธอจึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับคนขับแท็กซี่ที่ไม่กดมิเตอร์ เรียกเก็บค่าโดยสารแพงเกินจริงและทิ้งผู้โดยสารไว้กลางทางรายนี้    แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลแล้วก็ได้ประสานไปที่กรมการขนส่งทางบก เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยทำหนังสือถึงอธิบดีกรมขนส่งทางบก ขอให้ดำเนินการตรวจสอบแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่กรมขนส่งฯ กรณีมีการแจ้งให้ตรวจสอบแท็กซี่จากหน่วยงาน หากในหนังสือระบุข้อมูลเบอร์ติดต่อผู้เสียหาย ทางกรมขนส่งฯ จะติดต่อผ่านผู้เสียหายเองเพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หากมีข้อมูลตกหล่นหรือหากต้องการข้อมูลเพิ่มสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเมื่อโดยสารรถแท็กซี่คือ ผู้โดยสารควรจดจำทะเบียนรถหรือชื่อคนขับรถแท็กซี่ไว้ เผื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นจะได้ติดต่อตามตัวมาได้อย่างรวดเร็ว  และสายด่วนเพื่อร้องเรียนพฤติกรรมของผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะ คือ สายด่วน 1584 กรมการขนส่งทางบก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 278 นั่งกินหมูกระทะแต่กลับได้แผลกลับบ้าน

        มาตรฐานของร้านอาหารนอกจากเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยในอาหารแล้ว ความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมในการรับประทานอาหารทั้งโต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการปรุงอาหารก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะไม่อย่างนั้น แค่เพียงไปนั่งรับประทานหมูกระทะก็อาจจะได้แผลกลับมาเหมือนเรื่องของคุณสุดเขตต์         เรื่องราวเริ่มเมื่อคุณสุดเขตต์ไปรับประทานหมูกระทะกับแฟน ในวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา คุณสุดเขตต์ก็นั่งรับประทานตามปกติ แต่แค่เพียงขยับขาเปลี่ยนท่านั่งเข่าก็ไปชนกับ ก้นของเตาเข้าอย่างจังจนทำให้สะดุ้ง ชักขากลับแทบไม่ทัน         แม้ขาจะชนขอบเตาเพียงไม่นานแต่ก็เกิดเป็นแผล เริ่มแรกเป็นเพียงรอยแดงถลอก ต่อมาไม่กี่ชั่วโมงจึงเริ่มพุพอง         “เตาหมูกระทะของร้านนั้น เขาติดตั้งแบบเขาเจาะหลุมกลางโต๊ะ แล้วก็หย่อนตัวเตาลงไป ก้นเตาที่อยู่ด้านล่าง มันยาวกว่า 20 เซ็นได้ แล้วเตามันก็ใหญ่ มันทำให้ชิดกับขาของคนนั่ง ตอนแรกที่นั่ง ยังไม่รู้ เพราะยังไม่ได้ทันสังเกตแต่พอโดนเข้าแล้วแบบนี้ เราก้มดู ติดตั้งเตาแบบนี้อันตรายมาก ใครนั่งก็โดน เด็กๆ มานั่งยิ่งโดนไม่ปลอดภัยจริงๆ ”         หลังจากรับประทานหมูกระทะในวันนั้น คุณสุดเขตต์ได้เข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาแผลพุพองที่ได้จากการไปกินหมูกระทะ และกลายเป็นแผลที่เข่าขนาดกว้าง ยาวกว่า 1 นิ้ว รักษาอยู่ต่อเนื่อง 4 – 5 วันจึงค่อยหายดีแล้วคุณสุดเขตต์จึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าจะสามารถเรียกร้องสิทธิอะไรได้บ้าง   แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อประชาชนพบเจอปัญหาเช่นคุณสุดเขตต์ คือได้รับความไม่ปลอดภัยจากร้านอาหารให้ดำเนินการ สองแนวทาง คือ หนึ่งเข้าร้องเรียนกับหน่วยงานที่กำกับดูแลร้านอาหาร เช่น กรุงเทพฯ ให้เข้าร้องเรียนที่สำนักงานเขตที่ร้านอาหารนั้นตั้งอยู่ โดยกรุงเทพมหานครได้มีสำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานครประจำอยู่ในแต่ละสำนักเขตพื้นที่ มีอำนาจหน้าที่คือตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยร้านอาหารในพื้นที่ และออกคำสั่งให้ร้านปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐาน  สำหรับต่างจังหวัดคือเทศบาลของแต่ละพื้นที่         สอง รวบรวมหลักฐาน ทั้งหลักฐานการจ่ายเงินว่าได้เข้ารับประทานอาหารในร้านดังกล่าวจริง รูปถ่ายความเสียหายและเอกสารจากการเข้ารับการตรวจรักษา เพิ่มเติมด้วยการเข้าบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ และเจรจาเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลกับทางร้านอาหาร  กรณีของคุณสุดเขตต์ ซึ่งเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนั้น ขณะนี้กำลังประสานงานเพื่อจะดำเนินการเรียกร้องสิทธิให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ร้านอาหารเยียวยาค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 278 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2567

คกก.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เผย ปชช.แห่หารือ กม. PDPA        พันตำรวจเอก ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  หรือ สคส. เปิดเผยว่า การบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือกฎหมาย PDPA ถือเป็นเรื่องใหม่และมีรายละเอียดมาก ทำให้กฎหมาย PDPA กำหนดให้ประชาชนสามารถขอคำแนะนำหรือคำปรึกษาด้านตัวกฎหมายจาก ‘PDPC หรือ สคส. ได้         ตั้งแต่เริ่มต้นมาจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีสถิติตอบข้อหารือและให้คำปรึกษา PDPA แล้ว 4,884 เป็นเรื่องตอบข้อหารือแล้ว 4,540 เรื่อง ผอ.สำนักกฎหมายย้ำชัดว่า ประชาชนสามารถเข้าหารือได้ทุกเวลาใน 3 ช่องทาง ได้แก่ การยื่นหนังสือ, อีเมล,โทรศัพท์และ Walk-in พร้อมเผยหน่วยงานกำลังเร่งยกระดับกระบวนการตอบข้อหารือไม่ให้มีความล่าช้า พร้อมมุ่งเน้นที่ขั้นตอนต่อ ๆ ไปควบคู่ไปด้วย เพื่อให้มั่นใจว่ากฎหมายจะได้รับการบังคับใช้อย่างจริงจัง รวดเร็ว สุภาพอ่อนโยน เสมอภาคเท่าเทียม ถูกต้องตามหลักการที่ควรจะเป็น       อย. แจ้งอาหารนำเข้าต่างประเทศ ต้องแสดงฉลากให้ถูกต้อง         เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า พบปัญหาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่จำหน่ายในร้านค้าและในโลกออนไลน์ โดยที่สินค้าอาหารดังกล่าวไม่ได้รับเลข อย. ไม่มีฉลากภาษาไทยหรือมีฉลากแต่แสดงไม่ถูกต้อง ซึ่งไม่เป็นตามที่กฎหมายกำหนดจำนวนมาก         ปัญหาดังกล่าวอาจจะทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลไม่ถูกต้อง จนอาจเกิดความไม่ปลอดภัยในการบริโภคอาหาร ทาง อย.จึงมีความร่วมมือที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าอาหารต่างๆ พร้อมกับแนะนำให้ผู้บริโภคป้องกันตนเองจากสินค้าอาหารผิดกฎหมายดังกล่าว โดยการให้เลือกซื้อสินค้าที่มีฉลากภาษาไทยและแสดงฉลากอย่างถูกต้อง เช่น แสดงชื่ออาหาร มีเลข อย. ส่วนประกอบ ส่วนผสม ชื่อ - ที่ตั้งของผู้นำเข้า ชื่อ - ประเทศผู้ผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ น้ำหนักสุทธิหรือปริมาตรสุทธิ และข้อมูลการใช้วัตถุเจือปนอาหาร สารก่อภูมิแพ้ แต่งกลิ่น เป็นต้นอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม "นโยบายรัฐบาลช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า"        นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ กล่าวถึง ผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 19 - 25 เมษายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,196,893 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 160 ข้อความ ทั้งนี้ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 139 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 21 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 141 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 89 เรื่อง         ข่าวปลอมที่ประชาชนให้ความสนใจ อันดับที่ 1 “นโยบายรัฐบาลช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า ตั้งแต่ใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือน เม.ย.-ก.ค. 67” รองลงมาเป็น “SMS แจ้งการถอดมิเตอร์ เนื่องจากผู้ใช้ไฟค้างชำระค่าไฟ หากชำระแล้วยืนยันหลักฐาน” ทั้งนี้ ขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อคปภ.เร่งแก้ปมโควิดเจอจ่ายจบ เสนอผู้เคลมประกันรับเงินอัตราส่วนลด         นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ในฐานะที่ดูแลกองทุนประกันวินาศภัย ได้มีมติเสนอทางเลือกให้แก่ผู้ที่ต้องการเคลมประกันโควิด เจอ จ่าย จบ โดยรับเงินเคลมประกันวันนี้ในอัตราส่วนลดแทนที่จะรอเงินเคลมในอนาคต เพื่อแก้ไขปัญหาผู้เคลมประกันที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับเงินจากการเคลม เนื่องจาก กองทุนวินาศภัยเหลือเงินในกองทุนน้อยมาก         “แทนที่ผู้ขอเคลมประกันโควิดเจอ จ่าย จบ จะใช้เวลานานเป็น 10 ปี เพื่อเคลมประกัน หากต้องการได้เงินในวันนี้เลย มีทางเลือกให้รับในอัตราที่เป็นส่วนลด เช่น สิทธิการเคลมประกันที่ 100 บาท อาจลดเหลือ 60 บาท โดยกองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินเคลมประกัน แทนบริษัทประกันวินาศภัยที่ปิดกิจการที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด และกองทุนประกันวินาศภัย จะจ่ายให้กับผู้เคลมประกัน รายละไม่เกิน 1 ล้านบาทตามกฎหมาย” ผู้บริโภคร้องเมเจอร์เปิดขายบัตรแลกโฟโต้การ์ด ไม่เป็นธรรม        จากกรณี เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ได้เปิดขายบัตร AESPA WORLD TOUR IN CINEMAS ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบทสรุปภาพยนตร์การเดินทางของสาวๆ วง AESPA ในราคา 900 บาท ระหว่างวันที่ 24-27 เมษายน 2567  ทำให้มีแฟนคลับของกลุ่มศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปดังกล่าวสนใจเป็นจำนวนมาก และได้โปรโมทจูงใจโดยมีเงื่อนไขให้ผู้ซื้อบัตรสามารถนำมาแลกรับ PHOTO CARD ได้ทุกรอบ แต่เมื่อซื้อไปแล้วสุดท้ายกลับไม่เป็นตามเงื่อนไขที่มีประกาศออกมานั้น         นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า  มีผู้เสียหายมาร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ ให้ข้อมูลว่า 27 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ทางเมเจอร์ได้เริ่มเปิดขายบัตรผ่านออนไลน์ ทางผู้เสียหายได้มีการกดบัตรไปจำนวน 4 ใบ ซึ่งเป็นแบบดูภาพยนตร์ในวันเดียวกันทั้ง 4 ใบ เนื่องจากเข้าใจว่าจะได้รับ PHOTO CARD ทั้งหมด 4 แบบ แต่ปรากฏว่าหลังจากที่เธอทำการจองไปแล้วนั้น ทางเมเจอร์กับมีการโพสต์ทวิตเตอร์แจ้งว่า ผู้ซื้อบัตรจะได้รับ PHOTO CARD 1 แบบ ต่อ 1 วัน เท่านั้น และแบบที่ 1 ให้เฉพาะผู้เข้าชมวันที่ 24 เมษายน ส่วนแบบที่ 2-3-4 ให้เฉพาะผู้เข้าชมภาพยนตร์ วันที่ 25-26-27 เมษายน ตามลำดับ หากต้องการทั้ง 4 แบบ ผู้บริโภคต้องซื้อบัตรเข้าชมทั้ง 4 วันเท่านั้น ทำให้ผู้ร้องรู้สึกไม่เป็นธรรม เนื่องจากเป็นการแจ้งเงื่อนไขหลังจากที่มีการเปิดจองบัตร         ทั้งนี้ ทางผู้เสียหายจึงขอเรียกร้องไปยังเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ให้มีการสุ่ม PHOTO CARD แทนการกำหนดเจาะจงแบบให้แก่ผู้เข้าชม เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถแลกเปลี่ยนบัตรกันได้ตามที่ต้องการ หรือสามารถเปลี่ยนวันรับชมได้ นอกจากนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังเห็นว่าข้อความชี้แจงของทาง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เป็นการประกาศโฆษณาอาจเข้าข่ายก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 อีกด้วย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 278 น้ำท่อมผสมยาแก้ไอกระจายทั่วทั้งแผ่นดิน

        เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา  มีข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชนว่ามีการตรวจจับร้านขายน้ำกระท่อมหลายแห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย  สิ่งที่พบไม่เพียงแต่เจอน้ำกระท่อมเท่านั้นแต่ยังพบยาน้ำแก้ไอเด็กเล็กที่ทั้งผสมในน้ำกระท่อมหรือบางร้านนำมาขายควบคู่กัน   โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง         “พืชกระท่อม” เดิมถูกจัดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522  แต่ถูกปลดออกจากการเป็นยาเสพติด เมื่อวันที่  24 สิงหาคม 2564 ด้วยประโยชน์ทางเภสัชวิทยาของใบกระท่อม  แต่ใดๆ ในโลกนี้ ไม่มีสิ่งใดดีเสมอไป ในเสียมีดี ในดีย่อมมีเสียด้วยเช่นกัน         ใบกระท่อมมีสารไมทราไจนีน (mitragynine)  ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง  โดยนิยมเอาใบมาต้มเป็นน้ำกระท่อมหรือน้ำท่อม  มาบรรจุขวดขายซึ่งคนที่ดื่มน้ำท่อมช่วงแรกๆ อาจจะรู้สึกร่าเริง สดใส กระปรี้กระเปร่า แต่ถ้าดื่มไปเรื่อยๆ จะเกิดอาการ ใจสั่น ปากแห้ง ฉี่บ่อย เบื่ออาหาร ท้องผูก อุจจาระแข็งเป็นก้อน นอนไม่หลับ และยิ่งถ้าเสพเยอะเป็นระยะเวลานานจะทําให้มึนงง คลื่นไส้ ต่อมาผิวจะเริ่มคล้ำขึ้น สับสน ซึมเศร้า หวาดระแวง เห็นภาพหลอน คิดว่าคนจะมาทำร้าย และถ้าเลิกกินน้ำท่อมหรือใบกระท่อมจะเกิดอาการถอน เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ หงุดหงิด อ่อนเพลีย ท้องเสีย น้ำมูกไหล แขนขากระตุก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนที่อยู่ในวัยศึกษาและจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคตของชาติ         แม้ว่าในปัจจุบันกระท่อมจะไม่ใช่ยาเสพติด และมีสารออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ทางยา แต่หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปและติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ดังที่กล่าวมาแล้ว ตามข้อกำหนดของกฎหมาย บอกไว้ว่าประชาชนสามารถปลูกและบริโภคพืชกระท่อมเองได้ตามวิถีชาวบ้าน แต่ห้ามขายให้เยาวชน  สตรีมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ห้ามขายในสถานศึกษา หอพัก สวนสาธารณะ สวนสนุก สวนสัตว์ สวนสนุก และห้ามขายโดยใช้เครื่อขาย  ห้ามนำไปผสมกับยาแผนปัจจุบันหรือสารเสพติดต่างๆ  ซึ่งผู้ฝ่าฝืนนอกจากจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติพืขกระท่อม พ.ศ.2565 แล้ว  ยังมีความผิดตามกฎหมายของสารที่ผสมไปด้วย  เช่น ผู้ผลิตหรือผู้ขายน้ำกระท่อมที่ผสมยาน้ำแก้ไอเด็กเล็ก จะมีความผิดฐานผลิตหรือขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาท 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 278 โฆษณาคือส่วนหนึ่งของสัญญา ได้บ้านไม่ตรงปกฟ้องให้รับผิดตามโฆษณาได้

        เชื่อว่าทุกคนในยุคนี้ เวลาจะซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมสักหลัง คงหาข้อมูลเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจ ทั้งทำเล ราคา โปรโมชั่นต่างๆ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าก่อนจะจ่ายเงินก้อนออกไปจากกระเป๋า และโฆษณาชวนเชื่อที่บอกว่าบ้านจะมีสาธารณูปโภคหรือสิ่งอำนวยความสะดวกแบบนั้น แบบนี้ จะมีพื้นที่ส่วนกลาง มีสระว่ายน้ำ มีห้องออกกำลังกาย ก็เป็นสิ่งที่เรามักจะเอามาพิจารณาเสมอก่อนเข้าทำสัญญา แต่บางครั้งเราอาจเจอปัญหาสินค้าไม่ตรงปก ไม่ตรงตามโฆษณาและมาทราบภายหลังทำให้เราเกิดเปลี่ยนใจหรือรู้สึกเหมือนถูกหลอกจากโฆษณา         มีคดีหนึ่งที่ผู้บริโภคได้เห็นโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจห้องชุด การโฆษณารูปแผนผังที่ปรากฏทางพิพาทที่เป็นทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดติดต่อกับพื้นที่อาคารชุดทำให้เข้าใจว่าเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ตนสามารถใช้ประโยชน์ได้  แต่ปรากฎมาทราบภายหลังว่า ไม่ใช่พื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งตอนโฆษณาผู้ประกอบธุรกิจห้องชุดก็ไม่บอกให้ชัด ศาลจึงตัดสินว่าเป็นการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรม และต้องถือว่าโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา จึงพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจห้องชุดดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทรัพย์ส่วนกลางของเจ้าของร่วมโดยปลอดภาระผูกพัน คำพิพากษาฎีกาที่  5351/2562         แผ่นพับโฆษณาเป็นประกาศโฆษณาที่จำเลยแจกจ่ายแก่ผู้ซื้อห้องชุด เพื่อจูงใจให้ผู้พบเห็นเข้าทำสัญญากับจำเลย สิ่งที่จำเลยกำหนดในแผ่นพับที่เป็นสื่อกลางโฆษณาให้ผู้ซื้อทราบว่าจะได้รับสิ่งใดเป็นการตอบแทนการเข้าทำสัญญาซื้อห้องชุดจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างจำเลยกับผู้ซื้อ ดังที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจจึงมีหน้าที่ตามมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมที่จะต้องแจ้งข้อที่ผู้บริโภคควรทราบให้กระจ่างชัด ทั้งต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมในการโฆษณาต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับ สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการไม่ว่าในทางใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) บัญญัติว่า ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรม ดังนี้ แม้จำเลยไม่มีเจตนาให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด แต่ตามแผ่นพับโฆษณา รูปแผนผังที่ปรากฏทางพิพาทที่เป็นทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดติดต่อกับพื้นที่อาคารชุด มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยอันมีผลต่อสถานะความเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ทำให้ผู้ซื้อเข้าใจไปว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นพื้นที่ที่เจ้าของร่วมจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของอาคารชุด การโฆษณาของจำเลยจึงเป็นการโฆษณาด้วยข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ดังบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) จำเลยจึงต้องรับผลแห่งการโฆษณานั้น         การที่จำเลยไม่แสดงให้ชัดแจ้งเพื่อให้ปรากฏแก่ผู้ซื้อ ซึ่งเป็นผู้บริโภคว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดซึ่งเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำให้ปรากฏอย่างชัดเจนในการโฆษณา ในขอบมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมกับภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม แม้จำเลยไม่มีเจตนาลวงผู้บริโภค จำเลยก็ต้องผูกพันตามแผนผังในแผ่นพับโฆษณา ซึ่งถือเป็นข้อตกลงอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย ดังที่บัญญัติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 และแม้ลักษณะที่แสดงตามแผ่นพับจะแสดงว่าทางและที่ดินติดชายหาดเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันของโรงแรมและอาคารชุดก็ตาม ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ก็ยังคงมีสถานะเป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมอยู่ด้วย         การที่โรงแรมมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์ด้วยหาทำให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมไม่ ทั้งทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดนั้น นอกจากทรัพย์สินอื่นๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ยังหมายความถึงทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ถือเป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วยดังบัญญัติความตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 และมาตรา 15 ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะขึ้นทะเบียนอาคารชุดระบุว่าเป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่หรือเจ้าของทรัพย์สินนั้นจะแสดงเจตนายกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นให้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นกรณีตกเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดโดยผลของกฎหมาย พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 66572 และโฉนดเลขที่ 66574 เฉพาะส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของโจทก์โดยปลอดภาระผูกพัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 278 ‘ออมทอง’ vs ‘กองทุนทอง’ (1) ไม่ต้องมีเงินก้อนก็ซื้อทองได้

        ณ เวลาที่เคาะแป้นพิมพ์อยู่ ราคาขายทองรูปพรรณตกราวๆ บาทละ 41,000 บาทไปแล้ว ใครเห็นราคาแล้วเป็นต้องตกใจและเสียใจที่ไม่ได้ซื้อทองตอนราคาต่ำกว่านี้ ไม่ต้องเสียใจหรอก ไม่ว่ากับสินทรัพย์อะไรก็มักเป็นอย่างนี้เสมอแหละ         ทองคำจัดเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ถูกแนะนำให้มีติดพอร์ตไว้เพราะมันช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ ตอนปี 2540 ราคาทองคำคือ 4,869 บาท 27 ปีผ่านไปราคาพุ่งขึ้นมาเกือบ 10 เท่า เห็นได้ว่าทองคำมันก็ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามอัตราเงินเฟ้อ การถือครองทรัพย์สินเป็นทองคำจึงเท่ากับลดความเสี่ยงของพอร์ตสินทรัพย์ทั้งหมด        คำถามมีอยู่ว่า ถ้าฉันจะซื้อทองใส่พอร์ตต้องทำยังไง?         คำถามเหมือนง่าย...ก็เอาเงินไปซื้อทองสิ แต่คำตอบยากกว่าที่คิด สิ่งแรกคือคุณต้องมีเงินก้อนเกือบๆ ครึ่งแสนถ้าคิดจะซื้อทองรูปพรรณหนัก 1 บาท ใช่ว่าทุกคนจะมีเงินเยอะขนาดนั้น ปัญหาต่อมา สมมติว่าคุณมีเงินซื้อการเก็บรักษาทองคำให้ปลอดภัยก็ดูยุ่งยาก การแขวนไว้ที่คอเป็นทางเลือกแรกๆ ที่หลายคนคิด แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่ามันก็เหมือนแขวนเหยื่อล่ออาชญากรไว้ที่คอ หรือต่อให้เก็บไว้ที่บ้านก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะปลอดภัย คนรวยๆ เลยใช้วิธีเอาทองไปเก็บไว้ที่ธนาคารที่มีบริการตู้เซฟแบบที่เห็นในหนังนั่นแหละ ถามว่าคุณมีทองและเงินมากพอจะทำหรือเปล่า ถ้ามี การเก็บรักษาทองคำก็ไม่เป็นปัญหาอะไรนัก         แต่ระบบทุนนิยมก็ช่วยแก้ปัญหาให้คนที่อยากเก็บทองคำไว้ในพอร์ตโดยลดความยุ่งยากที่ว่ามาข้างต้น ปัจจุบันมีอยู่ 2 วิธีหลักๆ คือออมทองกับซื้อกองทุนทองคำ         โดยข้อดีของ 2 วิธีนี้ก็คือคุณไม่จำเป็นต้องมีเงินสี่ซ้าห้าหมื่นหอบไปซื้อทองที่ร้าน แต่สามารถค่อยๆ ซื้อตามกำลังเงินในมือได้ตามมูลค่าขั้นต่ำที่ร้านทองหรือกองทุนทองนั้นๆ กำหนด บางทีมีแค่ 100 เดียวก็ซื้อทองได้แล้ว         100 อาจจะได้ทองคำประมาณหนวดกุ้ง แต่คุณไม่ต้องสะดุ้งจนเรือนไหวกลัวใครจะปล้น ที่สำคัญคือคุณสามารถใช้วิธีเดียวกับการลงทุนหุ้นหรือกองทุนหุ้นได้ นั่นก็คือ DCA หรือ Dollar Cost Average หรือการซื้อทุกเดือนด้วยจำนวนเงินเท่าๆ กัน ซึ่งก็ได้ผลตอบแทนไปในทิศทางเดียวกับการซื้อทองคำแท่งด้วยตนเอง แต่สะดวกกว่า         ปัญหาอยู่ที่ว่าจะซื้อออมทองหรือทยอยซื้อทองทุกเดือนๆ หรือจะซื้อผ่านกองทุนทองคำดี         ไว้มาติดตามกันต่อตอนหน้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 278 มือปราบมหาอุตม์ : ฉันจะเป่าคาถา…เพื่อทวงหาคุณธรรม

                หากใครเป็นคอภาพยนตร์แนวบู๊ของฮอลลีวูด จะพบว่า ในกลุ่มหนังบู๊นั้น มีหนังแนวหนึ่งที่เน้นต่อสู้แอ็กชันผสมแฟนตาซีโรมานซ์ โดยใช้ฉากย้อนยุคแบบพีเรียดในอดีต ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อภาษาอังกฤษว่า ภาพยนตร์บู๊ประเภท “swashbuckler film”         หนังแนว “swashbuckler” มักผูกโยงเรื่องราวของตัวละคร “สีเทาๆ” ที่แม้ด้านหนึ่งจะเป็นพระเอกของเรื่อง แต่อีกด้านหนึ่งก็สวมบทบาทเป็นจอมโจรผู้เชี่ยวชาญอาวุธ โดยเฉพาะการต่อสู้ด้วยดาบ เพื่อปกป้องทั้งหญิงสาวคนรัก และปล้นมิจฉาชีพผู้ร่ำรวยเพื่อมาอภิบาลชาวบ้านผู้อ่อนแอจากอความอยุติธรรมที่ได้รับจากชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครอง แบบที่เราเห็นได้จากตัวละครคลาสสิกอย่าง “โรบิน ฮู้ด” แห่งป่าเชอร์วูด หรือ “จอมโจรโซโร” ผู้ผดุงคุณธรรมใต้หน้ากาก ไปจนถึง “กัปตันแจ็ค สแปร์โรว์” จ้าวแห่งโจรสลัดจากทะเลแคริบเบียน         ถ้าการปรากฏขึ้นของตัวละครในโลกสัญลักษณ์ไม่ได้ตกฟากมาอย่างเลื่อนลอย แต่มีเหตุผลรองรับจากความเป็นจริงแห่งปัจจุบันขณะ ดังนั้น ด้วยเรื่องราวของตัวละครย้อนยุคที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องซึ่งอยู่ในเส้นเรื่องของภาพยนตร์แนวนี้ ก็น่าจะสะท้อนย้อนให้เห็นว่า เมื่อไรก็ตามที่สังคมมิอาจไล่ล่าตามหาความยุติธรรมในโลกจริงได้แล้ว ตัวละครแบบ “swashbuckler” ก็จะลุกขึ้นมาทวงหาความเที่ยงธรรมแบบนี้ในโลกจินตนาการของเราเป็นการทดแทน         ออกจากป่าเชอร์วูดและทะเลแคริบเบียนมาสู่ชุมชน “เขาสมิง” ในปีพุทธศักราช 2508 ตัวละครโรบิน ฮู้ด จอมโจรโซโร และกัปตันแจ็ค สแปร์โรว์ ก็ได้แปลงรูปโฉมโนมพรรณเสียใหม่ มาอยู่ในคราบไคลของจอมโจรคาดหน้าภายใต้สมัญญาว่า “เสือผาด” ผู้คอยปล้นสะดมคนรวยเพื่อเอาเงินไปช่วยเหลือคนจนผู้ยากไร้ ในละครโทรทัศน์แนวบู๊แฟนตาซี หรือ “swashbuckler” แบบไทยๆ เรื่อง “มือปราบมหาอุตม์”         จุดเริ่มต้นของเรื่องเกิดขึ้นด้วยการแนะนำให้เรารู้จักกับ “กระทิง” หรือชื่อในอดีตว่า “สันติ” นายตำรวจหนุ่มอนาคตไกลผู้ไม่เคยกลัวใคร ยึดมั่นในคุณธรรม และคอยปราบปรามเหล่าร้ายนอกกฎหมาย หลังจากที่ติดยศเป็น “ผู้กองกระทิง” เขาได้เดินทางมายังเขาสมิง ดินแดนไกลปืนเที่ยงที่เสือผาดได้ใช้ชีวิตอยู่ในชุมโจรอันลึกลับเพื่อหลบเร้นจากอำนาจแห่งกฎหมายหรือข้อกำหนดใดๆ ของสังคม         ในขณะเดียวกัน แม้จะได้ชื่อลือเลื่องว่าเป็นจอมโจรใต้หน้ากากที่คนรวยตีตราให้เป็นประหนึ่งปีศาจ แต่กับคนยากคนจนทั้งหลาย กลับชื่นชมเสือผาดไม่ต่างจากพระเจ้าที่คอยช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากเหล่านั้น และที่สำคัญ แม้ยังไม่เคยมีใครที่ได้เห็นใบหน้าแท้จริงของเสือผาด แต่จริงๆ แล้ว ขุนโจรผู้นี้ก็คือเพื่อนวัยเยาว์ของกระทิงที่ชื่อ “ไม้” ที่มีปมพ่อแม่ถูกฆ่าตาย จนเป็นกำพร้าตั้งแต่ยังเด็ก         ภายใต้เส้นเรื่องที่พระเอกสองคนผู้เล่นบทบาทต่างกันได้เวียนวนมาพบกันหลังจากพลัดพรากไปตั้งแต่ยังเล็ก โดยที่คนหนึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่รักษากฎหมาย อีกคนหนึ่งเป็นผู้ขบถต่อกฎเกณฑ์แห่งสังคม ละครก็ได้เพิ่มปมขัดแย้งให้เข้มข้นขึ้น เพราะบุรุษหนุ่มทั้งคู่ไปตกหลุมรักผู้หญิงคนเดียวกันคือ “บุหลัน” หรือในอดีตชื่อ “กำไล” เพื่อนวัยเด็กของทั้งสอง ที่ปัจจุบันเป็นนักร้องสาวสวยประจำบาร์เขาสมิง และต้องปกปิดความลับของตัวตนไม่ให้ผู้อื่นรับรู้เช่นกัน         ในขณะที่ฮอลลีวูดสร้างตัวละครแบบ “swashbuckler” ผู้อยู่ “นอกกฎหมาย” มาเฝ้าคอยผดุงคุณธรรมของสังคม รวมถึงปกป้องหญิงสาวคนรักและผู้คนจากอำนาจมืดที่อยู่ “เหนือกฎหมาย” นั้น ละคร “มือปราบมหาอุตม์” ก็เดินเรื่องบนโครงพล็อตไม่แตกต่างกันนัก         ด้วยเหตุดังกล่าว แม้พระเอกทั้งสองจะเคยผูกพันด้วยมิตรภาพที่มีมาตั้งแต่เด็ก แต่เสือผาดในฐานะจอมโจรแห่งเขาสมิงผู้อยู่ “นอกกฎหมาย” ก็มิวายต้องขัดแย้งกับผู้กองกระทิงที่เล่นบทบาทเป็นผู้ “พิทักษ์กฎหมาย” ควบคู่ไปกับสี่ห้องหัวใจที่เขาทั้งคู่ต่างมอบให้กับหญิงสาวคนเดียวกันอีก         ที่สำคัญ อำนาจที่อยู่ “เหนือกฎหมาย” ของตัวร้ายอย่าง “เสือหาน” ตัวละครที่ทำให้ชาวบ้านเขาสมิงล้วนประหวั่นพรั่นพรึง ก็คือเหตุปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดตำนานเสือผาดจอมโจรใต้หน้ากากผู้เฝ้าคอยดูแลปกป้องชาวบ้านร้านตลาดจากอำนาจมืดดังกล่าว และก็เป็นเสือหานนี้อีกเช่นกันที่ทำให้เพื่อนรักอย่างไม้ สันติ และกำไล ต้องพลัดพรากบ้านแตกสาแหรกขาด จนต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบากมานานเกินกว่าสิบปี         ไม่เพียงเสือหานจะเป็นอภิมหาเจ้าพ่อผู้ทรงอิทธิพลด้านมืดเพื่อขึ้นเป็นใหญ่ในเขาสมิงเท่านั้น แต่เมื่อตัดสินใจจะเข้าสู่สนามการเมืองระดับชาติ เสือหานก็พยายามชุบตัวเสียใหม่กลายเป็น “เฮียหาน” และซื้อตัวบรรดาตำรวจยศใหญ่หลายคน รวมถึง “ทวี” หนึ่งในนายตำรวจผู้เป็นลูกน้องที่เขาปลุกปั้นจนได้มียศเป็นผู้กำกับประจำสถานีตำรวจเขาสมิง         เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศแบบไทยๆ และสอดรับกับกระแส “มูเตลู” วิถีความเชื่อที่ไม่เคยตกยุคตกสมัยในสำนึกของคนไทยแล้วนั้น แทนที่เราจะได้เห็นฉากดวลดาบดวลปืนแบบที่คุ้นเคยในหนังอเมริกัน ทั้งฮีโร่นักบุญในคราบจอมโจรและพระเอกหนุ่มผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ก็เลยสวมวิญญาณเจ้าพ่อแห่งวิชาอาคม เสกเป่าคาถามนตราต่างๆ เพื่อต่อสู้กับเฮียหานผู้ที่ได้ชื่อว่าอาคมแก่กล้าเกินกว่าใครในปฐพี         จากนั้น เพื่อสร้างอรรถรสในการเสพฉากบู๊สายมูเยี่ยงนี้ ละครจึงได้หวนให้เราเห็นภาพภูมิปัญญาอันหลากหลายของศาสตร์วิชชามหาอุตม์ ที่ชื่ออาจจะฟังดูไม่คุ้นหู ณ กาลปัจจุบัน แต่ก็ถูกขุดกรุออกมาเป็นอาวุธห้ำหั่นฟาดฟันกันทั้งจากฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรม ไม่ว่าจะเป็นว่านกำบังกาย ยันต์ไขคำปาก นกคุ้มส่งข่าว อานุภาพเหล็กไหล คาถานาคราชนาราชันย์ มนต์ธรรมราช ตรีศูลศาสตราวุธ และอื่นๆ อีกมากมาย         หลังจากต่อสู้เป่ามนตรามหาอุตม์อย่างชวนตื่นเต้นเร้าใจตลอดทั้งเรื่องแล้ว แม้ตามหลักกฎหมายแล้ว จอมโจรนักบุญกับตำรวจมือปราบจะเล่นบทบาทที่ยืนอยู่กันคนละขั้วคนละฝ่าย แต่ทว่าทั้งด้วยมิตรภาพและด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องการโค่นล้มมาเฟียใหญ่แห่งเขาสมิง การผนึกกำลังของชายสองคนต่างขั้วตรงข้ามกันก็ยืนยันให้เห็นว่า ต่อให้เสือหานจะมีวิชาอาคมเก่งกาจเพียงใด หากไร้คุณธรรมกำกับด้วยแล้ว ฝ่ายอธรรมก็ต้องแพ้พ่ายต่อพลังแห่งธรรมะและกฎแห่งกรรมเสมอ         เมื่อถึงฉากจบของการทวง “คืนความสุขให้เขาสมิง” กลับมาได้แล้ว ด้วยบทบาทที่เล่นกันคนละจุดยืน กอปรกับมิตรภาพที่เคยมีมาตั้งแต่วัยเด็กของบุรุษหนุ่มตัวเอกทั้งสองของเรื่อง ไม้ในนามเสือผาดได้เลือกหายสาบสูญจากเขาสมิงไปตลอดกาล เพื่อให้ส้นติและกำไลได้ลงเอยครองคู่กันอย่างแฮปปี้เอนดิ้งไปในที่สุด          คู่ขนานไปกับการคลี่คลายปมรักปมแค้นและปมขัดแย้งหลักของเรื่องละครเช่นนี้ บางทีการปรากฏตัวและลาจากไปของเสือผาดก็อาจตั้งคำถามกับเราไม่มากก็น้อยด้วยว่า ทุกวันนี้ที่สังคมเป็น “สีเทาๆ” ความดีความเลวแยกขาดกันได้ไม่ชัดเจน เราจะยังหวังทวงหาคุณธรรมและความยุติธรรมในโลกจริงกันได้เพียงไร หรือต้องรอให้จอมโจรใต้หน้ากากลุกขึ้นมาเป่าคาถากอบกู้คุณธรรมความถูกต้องให้เรากันอีกกี่ครั้งครา

อ่านเพิ่มเติม >