ฉบับที่ 278 น้ำท่อมผสมยาแก้ไอกระจายทั่วทั้งแผ่นดิน

        เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา  มีข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชนว่ามีการตรวจจับร้านขายน้ำกระท่อมหลายแห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย  สิ่งที่พบไม่เพียงแต่เจอน้ำกระท่อมเท่านั้นแต่ยังพบยาน้ำแก้ไอเด็กเล็กที่ทั้งผสมในน้ำกระท่อมหรือบางร้านนำมาขายควบคู่กัน   โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง 
        พืชกระท่อม เดิมถูกจัดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522  แต่ถูกปลดออกจากการเป็นยาเสพติด เมื่อวันที่  24 สิงหาคม 2564 ด้วยประโยชน์ทางเภสัชวิทยาของใบกระท่อม  แต่ใดๆ ในโลกนี้ ไม่มีสิ่งใดดีเสมอไป ในเสียมีดี ในดีย่อมมีเสียด้วยเช่นกัน 
        ใบกระท่อมมีสารไมทราไจนีน (mitragynine)  ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง  โดยนิยมเอาใบมาต้มเป็นน้ำกระท่อมหรือน้ำท่อม  มาบรรจุขวดขายซึ่งคนที่ดื่มน้ำท่อมช่วงแรกๆ อาจจะรู้สึกร่าเริง สดใส กระปรี้กระเปร่า แต่ถ้าดื่มไปเรื่อยๆ จะเกิดอาการ ใจสั่น ปากแห้ง ฉี่บ่อย เบื่ออาหาร ท้องผูก อุจจาระแข็งเป็นก้อน นอนไม่หลับ และยิ่งถ้าเสพเยอะเป็นระยะเวลานานจะทําให้มึนงง คลื่นไส้ ต่อมาผิวจะเริ่มคล้ำขึ้น สับสน ซึมเศร้า หวาดระแวง เห็นภาพหลอน คิดว่าคนจะมาทำร้าย และถ้าเลิกกินน้ำท่อมหรือใบกระท่อมจะเกิดอาการถอน เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ หงุดหงิด อ่อนเพลีย ท้องเสีย น้ำมูกไหล แขนขากระตุก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนที่อยู่ในวัยศึกษาและจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคตของชาติ 
        แม้ว่าในปัจจุบันกระท่อมจะไม่ใช่ยาเสพติด และมีสารออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ทางยา แต่หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปและติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ดังที่กล่าวมาแล้ว ตามข้อกำหนดของกฎหมาย บอกไว้ว่าประชาชนสามารถปลูกและบริโภคพืชกระท่อมเองได้ตามวิถีชาวบ้าน แต่ห้ามขายให้เยาวชน  สตรีมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ห้ามขายในสถานศึกษา หอพัก สวนสาธารณะ สวนสนุก สวนสัตว์ สวนสนุก และห้ามขายโดยใช้เครื่อขาย  ห้ามนำไปผสมกับยาแผนปัจจุบันหรือสารเสพติดต่างๆ  ซึ่งผู้ฝ่าฝืนนอกจากจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติพืขกระท่อม พ.ศ.2565 แล้ว  ยังมีความผิดตามกฎหมายของสารที่ผสมไปด้วย  เช่น ผู้ผลิตหรือผู้ขายน้ำกระท่อมที่ผสมยาน้ำแก้ไอเด็กเล็ก จะมีความผิดฐานผลิตหรือขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาท 

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

0 point

LINE it!






ความคิดเห็น (0)