ฉบับที่ 276 ผังเมืองกรุงเทพต้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน

        ช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา หลายปัญหาได้วิกฤตขึ้นในกรุงเทพมหานคร ทั้งปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ลุกลามมาถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด และปัญหาฝุ่น PM 2.5  ทั้งหมดนี้ ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานคร         ปัจจุบัน เมื่อกรุงเทพมหานคร ได้กำลังจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ภาคประชาสังคมในวันนี้ได้ตื่นตัว ให้ความสนใจเพราะอยากให้ผังเมืองฉบับใหม่เอื้อให้คนกรุงเทพมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เกิดขึ้นจริงๆ  ปฐมพงศ์ เจียมอุดมสิน ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในผู้ที่ ติดตามการพัฒนาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่เริ่มจัดทำตั้งแต่ในปี 2562 ปฐมพงศ์สนใจและเข้ามาเกี่ยวข้อง เคลื่อนไหวด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ช่วงปี 2540 ที่เขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการอยู่อาศัยในคอนโดโดยตรง การทำงานที่ผ่านมาจากในบทบาทผู้อยู่อาศัยคนเล็กๆ ในเมืองใหญ่ สู่การเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาการสร้างอาคารสูงในซอยแคบที่ส่งผลเดือดร้อนต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม วันนี้เขายืนยันว่ายังคงต้องคัดค้านผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ฉบับนี้ หากยังไม่มีการเริ่มต้นจัดทำใหม่ด้วยการเปิดรับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง   ขอเริ่มคำถามง่ายๆ ก่อนว่า ผังเมือง คืออะไร เพราะหลายคนอาจยังไม่ทราบ และจะได้เข้าใจว่า กฎหมายผังเมืองจะเกี่ยวข้องกับชีวิตของตนเองอย่างไร         ถ้าพูดให้เห็นภาพว่า ผังเมืองคืออะไรให้ลองนึกถึงว่า สมมุตว่าเรามีบ้านหลังหนึ่ง บ้านหลังนี้เราก็จะผังบ้านของเราว่ากว้างยาวเท่าไหร่ มีคอกสัตว์ แปลงผัก ไปจนถึงขอบเขตรั้วบ้านอยู่ตรงไหน แผนผังนี้คือกระดาษที่เหมือนเวลาเรามองลงมาจากที่สูง จะบอกทุกอย่างว่ามีอะไรบ้างซึ่งตรงนี้แค่บ้านหลังหนึ่ง พอใหญ่ขึ้นเป็นหมู่บ้าน ตำบลย่อมต้องมีแผนที่แบบนี้แน่นอน ที่สำนักงานเขตเขาก็จะมีแผนที่ แผนที่ทุกคนคงจะนึกออก แต่ผังเมือง  จะมีรายละเอียดข้างในด้วยที่กำหนดให้อะไรอยู่ตรงไหน ศูนย์การค้าอยู่ตรงนี้ ที่อยู่อาศัยอยู่ตรงนี้ ผังเมืองคือแผนที่อันหนึ่งที่จะบอกว่าในเมืองๆ นั้นมีอะไรบ้าง           แต่นอกจากผังเมืองจะบอกว่า อะไรอยู่ตรงไหนแล้ว ผังเมืองยังมีข้อกำกับลงไปด้วยว่า ไม่ให้มีอะไร หรือ ห้ามสร้าง ห้ามปลูกอะไร ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นอาจมาจากตรงนี้คือห้ามสร้าง เมื่อมาสร้างจึงผิดกฎหมาย         กฎหมายผังเมืองจึงเป็นกฎหมายลิดรอนสิทธิของประชาชนด้วยเช่นกัน หากเป็นบ้านเราเองจะปลูกต้นไม้ ดอกไม้ หรือจะตั้งถังขยะตรงไหน ย่อมทำได้ แต่พอเป็นเมืองแล้ว ผังเมืองจะกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนที่อยู่อาศัยในเมือง จึงกำหนดข้อห้ามสำคัญเช่นพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ห้ามสร้างตึกสูงใดๆ  ตรงนี้ห้ามสร้างตึกสูงเกินเท่าไหร่ ในแต่ละจังหวัดตอนนี้มีผังเมืองจังหวัด  ผังเมืองกรุงเทพ ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่ง           ผังมืองรวมกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา เรามีมาแล้วทั้งสิ้น 4 ฉบับ ทั้ง 4 ฉบับเป็นไปตามพระราชบัญญัติผังเมืองปี 2518  ครั้งนี้เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 4 หากมีการประกาศใช้จะเป็นฉบับที่ 5  ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4 เริ่มมีปัญหาจากจุดไหน         ต้องบอกว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพ เรามีมาตั้งแต่ปี 2556 และทุก 5 ปี กฎหมายกำหนดให้มีการจัดทำใหม่ และหลังจากประกาศใช้ทุก 2 ปี จะให้มีการประเมิน ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำมาเช่นนี้ แต่การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพที่ถึงกำหนดในปี 2561 มีกฎหมายสำคัญคือรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่กำหนดว่ากฎหมายที่ลิดรอนสิทธิประชาชนในด้านต่างๆ ก่อนจะดำเนินการต้องไปทำประชาพิจารณ์ก่อน  นอกจากนี้ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับที่ปรับปรุงในปี 2561 กว่าจะทำเสร็จยังมีการประกาศใช้ของ พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562 มาแทนฉบับปี 2518         การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพ ครั้งที่ 4 ครั้งนี้ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562  สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจาก พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2518 ที่กำหนดให้มีการจัดทำผัง 4 ประเภท ได้แก่ 1) แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้นำแนกประเภท 2) แผนผังแสดงที่โล่ง 3) แผนผังแสดงโครงสร้างคมนาคมและขนส่ง และ 4) แผนผังโครงการกิจการสาธารณูปโภค ขณะที่ พ.ร.บ. การผังเมืองปี 2562 กำหนดให้มีการจัดทำผัง 6 ประเภท โดยเพิ่มแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนผังแสดงผังน้ำเข้ามาด้วย         พ.ร.บ. การผังเมืองปี 2562 ยังกำหนดให้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวม                ดังนั้นการที่กรุงเทพมหานคร นำร่างผังเมืองรวมที่ทำมาตั้งแต่ปี 2561 - 2562 มาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเลย จึงเป็นการทำมาแล้ว ว่าอยากให้อะไรอยู่ตรงไหน  ไม่ได้เป็นการเปิดรับฟังเสียงจากประชาชนเพื่อทำขึ้นใหม่จริงๆ   ความเดือดร้อนนี้ที่ทำให้ประชาชนออกมาคัดค้านจำนวนมาก         ใช่ กฎหมายผังเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทั้งหมด และกรุงเทพมีพื้นที่ 50 เขต แต่ละเขต มันต่างกันมาก บางขุนเทียนเป็นพื้นที่มีชายฝั่งทะเล  เราไม่อยากให้มีการกัดเซาะ จึงไม่ค่อยมีการตั้งอุตสาหกรรม  ส่วนพื้นที่หนองจอกส่วนใหญ่ทำนา การพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เดิมต้องคำนึงสภาพที่เป็นและข้อจำกัดด้วย         ผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 นี้ยังจะมีการขยายพื้นที่ถนน พื้นที่แก้มลิง พื้นที่รับน้ำ ทำให้ประชาชนถูกเวนคืนที่ดิน บางพื้นที่หมู่บ้านหายไปหมด ถนนจาก 4 เมตร จะขยายเป็น 12 เมตร  คนจะเดือดร้อนมาก เรามองว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับนี้มุ่งเน้น เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์   การขยายถนน การกำหนดพื้นที่ให้เปลี่ยนจากพื้นที่อาศัยหนาแน่นน้อย เป็นปานกลาง จากหนาแน่นปานกลางเป็นหนาแน่นสูง หรือให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม  ทั้งหลายนี้เหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่ในความเป็นจริง กรุงเทพไม่อาจขยายตัวได้มากแล้ว จึงเกิดอาคารสูงกระจุกตัวอยู่ส่วนกลาง แต่เมืองนี้เราไม่ได้มีแต่คนรวย  ยังมีคนเข็นผักในตลาด รปภ. ตำรวจ พยาบาล ทหาร บุรุษไปรษณีย์ การถูกเวนคืนที่  การเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง เป็นความเดือดร้อนที่ค่อยบีบคนอยู่อาศัยธรรมดาให้ออกจากเมือง  การที่ยังให้มีการสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบทั้งที่สร้างไม่ได้ ได้สร้างความเดือดร้อนให้ทุกคนในซอย รถเทรลเลอร์ขนาดใหญ่แค่ช่วงเข้าไปสร้าง ก็เดือดร้อนแล้ว อาคารที่สูงมากๆ ก็จะสร้างขยะเยอะ ใช้ไฟเยอะ  น้ำเสีย มันเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยทั้งหมด            แล้วข้อความเห็นว่าเหมือนบีบคนออกจากเมือง เขาก็บอกว่าก็มีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ขยายออกไปเรื่อยๆ แต่ระบบรถ BTS ของเรามันไม่ได้เชื่อมต่อกัน ประชาชนยังแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงมาก         ผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4  ยังมีโบนัสให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายเรื่องมากๆ ที่ดำเนินการแล้ว เขาสามารถนำไปเพิ่มพื้นที่การสร้างอาคารให้สูงขึ้นได้  ช่วยขมวด 3 เรื่องสำคัญที่ประชาชนควรช่วยกันเฝ้าระวังในผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ครั้งนี้           หนึ่ง ผังเมืองรวมฉบับนี้ทำให้ กรุงเทพมีพื้นที่หนาแน่นขึ้น เดิมความหนาแน่นของกรุงเทพตอนนี้คือราว  3,500 คน/ ตร.กม แต่หากรวมประชากรแฝงเราคาดว่าน่าจะถึง 10,000 คนต่อ / ตร.กม เมื่อคนอยู่อาศัยกันแน่นขึ้น ปัญหาอีกสารพัดจึงจะตามมาอีกมาก  สอง ผังเมืองรวมฉบับนี้ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องการระบายน้ำ  เรามีน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2554 มาแล้ว ยิ่งคนเข้ามาแน่น ปัญหาน้ำท่วมเราจะยิ่งวิกฤต เพราะตอนนี้ฝนตกหนักครั้งเดียว เราก็แย่แล้ว สาม เมื่อนำผังเมืองที่เขาทำไว้แล้วในปี 2562  มารับฟังความเห็นจากประชาชน  ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับนี้ ยังไม่คิดตอนที่มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 กับเรื่องโรคระบาด         เราเป็นห่วงว่า ผังเมืองฉบับนี้จะทำให้การอยู่อาศัยของคนในเมืองแย่ลง ทั้งน้ำท่วม การจราจร ฝุ่นPM2.5  โรคระบาด สิ่งแวดล้อมมันแย่ลงมากกว่าดีขึ้น สิ่งที่เราบอกว่ามันจะมีปัญหา เราไม่ได้จินตนาการเอาเอง ปัญหามีประจักษ์มาแล้ว เรื่องโรคระบาด ตอนเป็นโควิดเราเห็นแล้วว่า เราต้องการพื้นที่ปลอดภัย ต้องการพื้นที่จะระยะห่างบ้าง  เราเป็นห่วงคนในชุมชนคลองเตยมาก เพราะเขาต้องอาศัยกันอย่างแออัด  เขาบอกว่า เมืองว่าเมืองจะเจริญ แต่ตอนนี้สภาพแวดล้อมเราออกห่างจากคำว่าธรรมชาติมากขึ้นทุกที คนต้องหนีออกจากเมืองมากกว่าจึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้         การระบายน้ำ ขยะ การจราจร โรคระบาด ทั้งหมดนี้คือคุณภาพการใช้ชีวิตของคน  เราไม่สามารถอยู่แต่ในห้องแอร์ ไม่ว่าห้องจะหรูหรา มีเครื่องฟอกอากาศดีแค่ไหน แล้วเราไม่ออกไปไหน เราต้องออกไปข้างนอก         เรากังวล เป็นห่วงว่า ผังเมืองฉบับนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในเมืองแย่ลง   เราอยากให้มีผังเมืองที่ตอบโจทย์การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทุกกลุ่ม ทุกวัย รวมถึงช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่เป็นอยู่แล้วยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาด้วย อยากให้ประชาชน สังคมโดยทั่วไป ร่วมกันมีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง         อย่างที่ผมบอกว่า ผังเมืองเกี่ยวข้องกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเราทุกมิติ หลายคนที่เขายังรู้สึกว่า เขาไม่ได้รับผลกระทบ เขาอาจะวางเฉยได้ หรือเขาอาจจะรู้ว่า มีผลกระทบมาถึงตัวได้แต่ยังคิดว่า อาจไม่ใช่เร็วๆ นี้ ต้องออก พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ยังรอได้  แต่ผมคาดว่ามันไม่ได้นาน หลายพื้นที่ตอนนี้เริ่มโดยเวนคืนที่ดินแล้ว และผังเมืองรวมกรุงเทพยังส่งผลกระทบกับปริมณฑล  เครือข่ายถนนทั้งหมดเชื่อมโยงกับพื้นที่ใกล้เคียง นนทบุรี สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี  ฉะเชิงเทรา  สมุทรปราการ              การต่อสู้เรื่อง เราต้องศึกษาเรื่องกฎหมายด้วย เพราะเราสู้เรื่องกระบวนการที่ต้องดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายด้วยเราอาจะต้องสู่กันกันถึงศาลปกครอง แล้วหากเราตื่นตัว ร่วมกันลงชื่อเยอะๆ ผมคิดว่ามันมีผลกระทบ มันมีพลังที่จะทำให้เราสามารถทำให้หน่วยงานรัฐเริ่มทำผังเมืองกรุงเทพใหม่ได้ ผมก็สื่อสารเรื่องนี้ อยู่ตลอดเวลา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 ไซบูทรามีน คืนชีพ

        ข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่จังหวัดอ่างทอง เมื่อกลางปี 2562 ผลชันสูตรพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผลการตรวจเลือดพบว่ามียา 4 ชนิด (ที่มีการผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนักที่ผู้เสียชีวิตรับประทาน) ได้แก่ ฟูลออกซิทีน (Fluoxetine) บิซาโคดิล (bisacodyl) ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (hydrochlorothaiazide) และ ไซบูทรามีน (cybutramine) ยาทั้ง 4 ชนิด ออกฤทธิ์ร่วมและเสริมกันทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเสียชีวิต นำไปสู่การปราบปรามการแอบลักลอบปลอมปน “ไซบูทรามีน” ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคืออำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพราะมีข้อมูลว่าเป็นต้นทางการลักลอบนำเข้าสารไซบูทรามีนจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการตรวจค้นและพบวัตถุดิบสารไซบูทรามีนและการปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักจำนวนมากหลายยี่ห้อ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว         ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2566 เครือข่ายเฝ้าระวังในจังหวัดเชียงราย รายงานว่าพบการกลับมาจำหน่ายและพบการบริโภคผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “Lishou” และ “Bashi”ในหลายพื้นที่ โดยผลิตภัณฑ์ที่พบใครั้งล่าสุดนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้เคยตรวจพบการปลอมปนสารไซบูทรามีน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เคยดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายธุรกิจการลักลอบผลิตยาลดความอ้วนไม่ได้หมดไป ยังคงคืนชีพดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การกลับมาระบาดครั้งนี้ยังพบว่ามีการโฆษณาขายในตลาดออนไลน์อย่างเปิดเผย        ขอเตือนภัยมายังผู้บริโภคให้สังเกตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทานอยู่ว่าได้ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หรือแม้จะมีเลข อย. หากรับประทานไปแล้วน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วหรือผอมเร็ว ให้ระวังว่าอาจมีสารไซบูทรามีนปลอมปนควรหยุดรับประทาน แล้วให้ส่งผลิตภัณฑ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านตรวจสอบและดำเนินการต่อไปเพื่อความปลอดภัย         ไซบูทรามีนคืออะไร : ไซบูทรามีนคือสารเคมีที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง (สมอง) ที่ทำให้ไม่รู้สึกหิว อิ่มเร็วและกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย จึงมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยนำมาลักลอบปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก แต่เนื่องจากสารนี้มีผลข้างเคียงต่อร่างกายทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับและท้องผูก ที่สำคัญมีรายงานผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต ประเทศไทยจึงจัดไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และยกเลิกทะเบียนตำรับยาที่มีสารนี้ไปแล้วตั้งแต่ ปี 2553

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 ระวังโดนครอบครองปรปักษ์

        มีโฉนด อย่าวางใจ อาจโดนแย่งสิทธิความเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านได้ ด้วยหลักกฎหมาย “ครอบครองปรปักษ์”         ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในสายตาของกฎหมาย ที่ดินระหว่างเอกชน สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ ในปัจจุบันก็มีบางคนกว้านซื้อที่ดินจำนวนมาก จนเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และนำออกจำหน่ายให้ผู้บริโภคเพื่อหากำไร และแน่นอนเมื่อมีคนที่ทำเช่นนี้ หรือได้ที่ดินมาด้วยวิธีใดๆ จนถือครองที่ดินจำนวนมาก ก็อาจมีปัญหาไม่สามารถไปดูแลหรือใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งหมดของตนเองได้ หรือบางคนไม่ได้บอกลูกบอกหลานไว้ เมื่อตนเองจากไป ลูกหลานก็ไม่ทราบ และไม่ได้เข้าไปจัดการดูแลที่ดินหรือใช้ประโยชน์ ทำให้ที่ดินถูกปล่อยทิ้งไว้  ดังนั้น กฎหมายจึงมุ่งคุ้มครองการใช้ประโยชน์ของที่ดินเป็นสำคัญ จึงเกิดหลักกฎหมายที่เรียกว่า “ครอบครองปรปักษ์”ขึ้น เพื่อจะส่งเสริมให้คนที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง แต่เห็นประโยชน์ของที่ดินที่เจ้าของไม่ได้มาดูแล ได้แสดงตนเป็นเจ้าของและครอบครองนานเกินกว่าสิบปี โดยที่เจ้าของที่ดินนั้นไม่ได้มาโต้แย้งคัดค้านสามารถได้กรรมสิทธิ์ของที่ดินนั้นมาเป็นของตนได้  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382         มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยสุจริต โดยความสงบและโดย เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็น สังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”         อย่างไรก็ตาม การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และมีข้อสังเกตที่สำคัญ ดังนี้         1.ต้องเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น หากเป็นที่ดินประเภทอื่นๆที่มีเพียงสิทธิครอบครอง เช่น ส.ค.1 (ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน) หรือ น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก. (หนังสือรับรองการทำประโยชน์) หรือที่ดินมือเปล่าไม่สามารถครอบครองปรปักษ์ได้ และที่ดินของรัฐก็ไม่ได้เช่นกัน         2. หากเป็นผู้เช่า ไม่ถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ เพราะเป็นการทำสัญญาเช่าอาศัยหรือใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยผู้ครอบครองรู้ตัวอยู่แล้วว่าครอบครองแทนเจ้าของเพียงชั่วคราว และมีการตกลงทำสัญญากันไว้เป็นหลักฐาน ไม่ใช่การครอบครองเพื่อเป็นเจ้าของ         3.ไม่นับผู้ซื้อที่อยู่ระหว่างรอทำสัญญาซื้อขาย เพราะการที่ผู้ซื้อครอบครองที่ดินตามสัญญาซื้อขาย ถือว่าเป็นการครอบครองแทนผู้ขายจนกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์        4.หากเจ้าของที่ดินอนุญาตให้ใช้ประโยชน์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรไม่ถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์         5.หากมีการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างนั้นจะไม่ถือว่าครบ 10 ปี โดยผู้รับโอนได้กรรมสิทธิ์มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน มีผลให้การครอบครองปรปักษ์ก่อนหน้านี้สิ้นผลไป ต้องเริ่มนับระยะเวลาครอบครองใหม่         เมื่อการครอบครองปรปักษ์ คือการแย่งชิงกรรมสิทธิ์ของคนอื่นมาเป็นของตนเอง ย่อมเกิดคดีพิพาทกันได้เพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ จึงเกิดคำพิพากษาของศาลที่ตัดสินไว้จำนวนมาก โดยขอหยิบยกคำพิพากษาที่น่าสนใจ ดังนี้         การนับเวลาครอบครองปรปักษ์ ถ้าเข้าครอบครองก่อนมีโฉนด ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป         คำพิพากษาฎีกาที่ 4676/2560         จำเลยซื้อที่ดินมือเปล่าจากมารดาโจทก์แล้วเข้าครอบครองอยู่อาศัย จึงเป็นการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ ต่อมามารดาโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินรวมไปถึงที่ดินที่จำเลยซื้อ เมื่อจำเลยยังคงครอบครองที่ดินที่ซื้อโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ระยะเวลาแห่งการครอบครองปรปักษ์ที่ดินจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป และจำเลยไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ยึดถือแทนจึงไม่ต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการครอบครองไปยังผู้ขาย เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์         คำพิพากษาฎีกาที่ 13969/2558         บุคคลจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่น ที่ดินนั้นจะต้องเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เสียก่อน จึงจะถูกอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ ที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง แม้จะมีเจตนาครอบครองอย่างเป็นปรปักษ์ก็หาได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นสิทธิคนละประเภทกับสิทธิครอบครองที่มีอยู่แต่เดิมไม่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน น.ส. 3 ก. ที่มีเพียงสิทธิครอบครอง โจทก์จึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทได้         คำพิพากษาฎีกาที่ 679-682/2559         การที่จำเลยทั้งสี่เข้าครอบครองปลูกบ้านอาศัยอยู่ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยไม่เคยถูกผู้ใดโต้แย้งคัดค้านก่อนหน้านั้น จึงถือเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยมาตลอด รวมเวลาของผู้โอนกับเวลาที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยทั้งสี่ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382  อีกทั้งกฎหมายมิได้บัญญัติไว้อย่างแจ้งชัดว่า ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองนั้น จะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นของผู้อื่น ข้อสำคัญมีเพียงว่า การครอบครองนั้นมีลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตน มิใช่ครอบครองแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์ เช่น เป็นผู้อาศัยหรือผู้เช่า แม้ผู้ครอบครองจะเข้าใจว่าที่ดินที่ตนครอบครองเป็นของตน แต่ความจริงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่ ก็หาทำให้สิทธิจากการครอบครองเสียไปไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 สารเคมีตลอดกาลในเสื้อผ้า

        ฉลาดซื้อฉบับนี้ชวนคุณไปดูผลทดสอบสิ่งทอที่ระบุว่ามีคุณสมบัติกันละอองน้ำ คราวนี้ไม่ใช่การทดสอบเปรียบเทียบคุณสมบัติการใช้งานหรือความพึงพอใจของผู้บริโภค แต่เป็นการวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารเคมีกลุ่ม PFAS (per-and polyfluoroalkyl substances) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “สารเคมีตลอดกาล” ซึ่งใช้กันแพร่หลายในอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อเพิ่มคุณสมบัติกันน้ำกันคราบสกปรกเครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ (International Pollutants Elimination Network หรือ IPEN)* และองค์กรสมาชิก เจาะจงตรวจวิเคราะห์หาสาร PFAS ในเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เนื่องจากเป็นกลุ่มสารที่สามารถทำให้ผู้ที่ทำงานในโรงงานได้รับอันตรายสะสม ลูกค้าที่ซื้อไปสวมใส่ก็สัมผัสกับสารเหล่านี้โดยตรง และการซักทำความสะอาดยังทำให้สารเหล่านี้แพร่ไปสู่อากาศหรือแหล่งน้ำ ที่สำคัญคือมันสามารถสะสมและคงอยู่ในสภาพแวดล้อมได้อย่างยาวนานด้วย   การทดสอบครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรสมาชิกของ IPEN ใน 13 ประเทศจากเอเชีย อัฟริกา ยุโรป และอเมริกาเหนือ ได้แก่ ไทย อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เคนยา เยอรมนี โปแลนด์ เซอร์เบีย มอนเตเนโกร เนธอร์แลนด์ สาธารณรัฐเชก สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา โดยองค์กรสมาชิกในประเทศไทยที่ร่วมส่งตัวอย่างเข้าทดสอบได้แก่ มูลนิธิบูรณะนิเวศตัวอย่างทั้งหมด 72 ตัวอย่าง ที่ได้จากการสุ่มซื้อในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ปี 2565 ถูกส่งไปตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการของสถาบันสิ่งแวดล้อมศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยชารลส์ ในสาธารณรัฐเชกเนื่องจากมีสารเคมี PFAS หลายพันชนิดที่ถูกใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ การทดสอบจึงแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ การตรวจหาสารกลุ่ม PFAS ตัวที่ระบุ 58 ชนิด และการวัดระดับ EOF (Extractable Organic Fluorine) หรือสารฟลูออรีนอินทรีย์ที่สกัดได้ ซึ่งผลที่ได้จะสัมพันธ์กับการใช้สารเคมีกลุ่ม PFAS   ผลการตรวจวิเคราะห์ในภาพรวมเราพบว่ามีถึง 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 65) จากเสื้อผ้าทั้งหมด 72 ตัวอย่าง ที่มีการใช้หรือการปนเปื้อนของสารในกลุ่ม PFAS หากดูเฉพาะตัวอย่างที่เป็นแจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง พบว่ามีถึง 16 ตัวอย่างที่มีระดับสารเคมีในกลุ่ม PFAS เกินระดับที่สหภาพยุโรปกำหนด ในกรณีของประเทศไทยพบการปนเปื้อนในทุกตัวอย่างที่ส่งไป (6 ตัวอย่าง)การตรวจวิเคราะห์พบสาร FTOHs (หนึ่งในสารกลุ่ม PFAS) และผลผลิตจากการสลายตัวของสารดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าคุณสมบัติด้านความทนทาน การสะท้อนน้ำ และการป้องกันรอยเปื้อน ในตัวอย่างที่ส่งตรวจ เกิดจากการใช้โพลีเมอร์ที่ได้จากฟลูโรเทโลเมอร์แบบสายโซ่ด้านข้างและ FTOHs ตัวที่พบมากที่สุดคือ PFOA ซึ่งเป็นสารเคมีที่จัดอยู่ในรายการ “ต้องกำจัด” ภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์ม จึงไม่ควรนำมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าทำไมเราถึงเรียกมันว่า “สารเคมีตลอดกาล”? สารเคมีในกลุ่ม PFAS ทุกตัวมีพันธะทางเคมีระหว่างอะตอมของคาร์บอนและฟลูโอรีนที่ยึดเหนี่ยวกันแน่นมาก ทำให้มีความเสถียรสูงและสลายตัวยาก เราจึงเรียกมันว่า “สารเคมีตลอดกาล” งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า PFAS สามารถถูกปล่อยออกมาในสิ่งแวดล้อมได้ตลอดช่วงชีวิตของมัน ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การใช้ ไปจนถึงการกำจัด และเพราะมันกำจัดได้ยาก ความเข้มข้นของสารเคมีเหล่านี้ในสิ่งแวดล้อมจึงเพิ่มขึ้นตลอดเวลา นักวิจัยพบ PFAS ทั้งในดิน น้ำ อากาศ รวมถึงแหล่งน้ำดื่ม และฝุ่นผงตามบ้าน มีหลักฐานว่ามันสามารถแพร่กระจายไปได้ไกลถึงขั้วโลกเหนือเลยทีเดียวเราจำเป็นต้องใช้มันหรือไม่?ปัจจุบันมีสารชนิดอื่นที่สามารถนำมาใช้แทนได้โดยให้คุณสมบัติอย่างเดียวกัน เห็นได้จากผลการทดสอบครั้งนี้ เราพบเสื้อผ้าที่มีฟังก์ชันคล้ายกันที่ผลวิเคราะห์ระบุว่าปราศจากสาร PFAS ถึง 21 ตัวอย่าง หากเปรียบเทียบกันระหว่างตัวอย่างที่มีสาร PFAS สูงที่สุดของแต่ละประเทศในเอเชียด้วยกันจะพบว่าตัวอย่างที่ซื้อจากอินเดียมีปริมาณ PFAS สูงสุด (702.2 นาโนกรัม/กรัม) ตามด้วยตัวอย่างจากไทย (379.9 นาโนกรัม/กรัม) ในขณะที่ตัวอย่างจากบังคลาเทศและศรีลังกามีสาร PFAS ในปริมาณ 6.8 และ 2.7 นาโนกรัม/กรัม ตามลำดับถ้ามองในภาพรวมจากทั้ง 13 ประเทศจะพบว่าตัวอย่างจากสาธารณรัฐเชก ครองอันดับสิ่งทอที่มี PFAS ในปริมาณมากที่สุด (1304.7 นาโนกรัม/กรัม) อันดับสองตัวอย่างจากสหรัฐ (983 นาโนกรัม/กรัม) อันดับสามได้แก่อีกหนึ่งตัวอย่างจากสาธารณรัฐเชก (825.1 นาโนกรัม/กรัม) ส่วนตัวอย่างจากไทยนั้นเข้ามาเป็นอันดับที่ 9·     คำอธิบายEOF (Extractable Organic Fluorine) หมายถึงปริมาณสารฟลูออรีนอินทรีย์ที่สกัดได้ LOD (Limit of Detection) หมายถึงปริมาณต่ำสุดที่สามารถวัดได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

“การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปและการโฆษณา ณ สถานที่ขายเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพ”

ผลสำรวจตัวอย่างเนื้อหมู-ไก่ ชนิดพรีเมียม และปกติ พบบางรายการปกปิดข้อมูลด้านความไม่ปลอดภัยจากสารอันตราย ไม่ยอมแจ้งบนฉลาก         วันนี้ ( 13 มีนาคม 2567 ) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และภาคีเครือข่ายนักวิชาการ ได้จัดแถลงผลการศึกษาเรื่อง “การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปและการโฆษณา ณ สถานที่ขายเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพ” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)         การสำรวจฉลาก นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวถึงวิธีการเก็บตัวอย่างว่า ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่ระบุว่าเป็นสินค้าพรีเมียม มีการอ้างถึงขั้นตอนเลี้ยงด้วยกระบวนการพิเศษและปลอดภัยจากสารต่างๆ ทำให้ราคาขายแพงกว่าเนื้อสัตว์ในกระบวนการเลี้ยงปกติ โดยเก็บเนื้อหมูส่วนสะโพก (สันนอก สันใน) และอกไก่ลอกหนัง จากซูเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นเนื้อหมูจำนวน 7 ตัวอย่าง อกไก่ 5 ตัวอย่าง และเก็บตัวอย่างเนื้อหมูส่วนสะโพกและอกไก่ แบบปกติที่บรรจุในภาชนะบรรจุอย่างละ 1 ตัวอย่างในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อนำมาเปรียบเทียบราคาจำหน่ายในช่วงเวลาเดียวกัน (เดือนกันยายน 2566) รวมเป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง จากการเปรียบเทียบราคาพบว่า ราคาแพงกว่าราคาปกติประมาณสองเท่า         1.เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 290 – 500 บาท ต่อกิโลกรัม ในขณะที่เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดธรรมดา สันนอกคัด จำหน่ายภายในห้างฯ ราคาอยู่ที่ 225 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 สันนอกจะมีราคาอยู่ที่ 130 บาทต่อกิโลกรัม         2.เนื้ออกไก่ลอกหนังชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 215 – 400 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เนื้ออกไก่ชนิดธรรมดา จำหน่ายภายในห้างฯ อกไก่ลอกหนัง ราคาอยู่ที่ 208 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 อกไก่จะมีราคาอยู่ที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม         ผลวิเคราะห์การสำรวจฉลากเนื้อหมูสด-เนื้อไก่สด อ.ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ได้นำข้อมูลจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ฉลากเนื้อหมูสด-ไก่สด ชนิดพรีเมียม และชนิดธรรมดา ช่วงเดือนกันยายน 2566 ทำการวเคราะห์ประเด็นการใช้ยาปฏิชีวนะ และสารอื่นๆ ปรากฏว่า รูปแบบฉลากที่สำรวจชนิดพรีเมียม มีทั้งแจ้ง และ ไม่แจ้ง บนฉลาก ส่วนชนิดธรรมดา ไม่มีการแจ้งใดๆ         การวิเคราะห์ฉลาก ยังมีข้อสังเกต ดังนี้         มีความหลากหลายของการแสดงฉลาก         การแสดงฉลากในเรื่องยาปฏิชีวนะของเนื้อหมูและเนื้อไก่ ...พบว่าเนื้อหมูและไก่เกรดพรีเมียม 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) มีการแสดงข้อความในฉลากที่สื่อว่าไม่ใช้เลยตลอดการเลี้ยง และ 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) ที่ฉลากมีการกล่าวอ้างว่าไม่เจอโดยใช้ข้อความหลายรูปแบบ เช่น ‘ปลอดยาปฏิชีวนะ’ แตกต่างจาก ‘เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ’ ในขณะที่เนื้อหมูและเนื้อไก่แบบธรรม 2 ตัวอย่าง (ร้อยละ 14.3) ไม่ได้ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ         บางยี่ห้อเน้นที่รางวัลที่ได้รับ ทำให้ผู้บริโภคสนใจคำว่าชนะรางวัล มากกว่าคุณค่าทางโภชนาการ         ข้อความคำแนะนำเป็นภาษาอังกฤษ อ่านยาก ควรเป็นภาษาไทยเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ         ข้อสังเกตสำคัญ ประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องยาปฏิชีวนะ มีการใช้คำสองความหมายคือ “เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ (RAISED WITHOUT ANTIBIOTICS)” ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะตกค้าง (ANTIBIOTICS CONTROLLED หรือ ANTIBIOTICS FREE)” มีการใช้คำกล่าวอ้างที่มีรูปแบบหลากหลายอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เช่น มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง แต่หยุดการใช้ก่อนเชือดจนไม่มีการตกค้างอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดูเลยได้ ควรมีการกำหนดมาตรฐานและการตรวจสอบก่อนอนุญาตให้ใช้คำดังกล่าว และควรมีการกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง ทั้งในฉลากทั้งเนื้อสัตว์แบบพรีเมียม และไม่พรีเมียม รวมทั้งระบุถึงมาตรฐานฟาร์มที่เป็นที่มาของเนื้อสัตว์ดังกล่าว         ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รายงานข้อสังเกตจากฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูป การโฆษณา ณ สถานที่ขายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า “ประเทศไทยมีการกำหนดฉลากผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ประเภทลูกชิ้น ไส้กรอก แหนม หมูยอ กุนเชียง และผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตทำนองเดียวกันนี้ที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 243) พ.ศ. 2544 เรื่อง ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และมีการกำหนดฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ แต่ประกาศนี้ก็ไม่ใช้กับอาหารสดที่ไม่ผ่านกรรมวิธีใดๆ หรืออาหารสดที่ผ่านกรรมวิธีการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด ซึ่งอาจแช่เย็นหรือไม่แช่เย็นและบรรจุในภาชนะที่สามารถมองเห็นสภาพของอาหารสด ฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปขาดการควบคุม จึงส่งผลให้ผลการสำรวจฉลากพบการแสดงฉลากที่หลากหลาย ขาดความชัดเจน ทั้งขนาดตัวอักษร รูปแบบการแสดงข้อความ ตลอดจนความชัดเจนของการสื่อความหมายของข้อความ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดได้ จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าบทบาทหน้าที่ในการกำหนดมาตรการด้านฉลากดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือหน่วยงานอื่น”         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนประเด็นด้านโฆษณาอาหารนั้น ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้การแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร ต้องได้รับอนุญาตก่อนการโฆษณา ซึ่งหากพิจารณาตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2564 การใช้คำว่า “สด” “ธรรมชาติ” “ผลิตภัณฑ์อินทรีย์” “ออร์แกนิก” “อนามัย” “ถูกสุขอนามัย” “สะอาด” “คุณภาพ” เข้าข่ายบัญชีหมายเลข 3 ของประกาศนี้ ซึ่งเป็นลักษณะการโฆษณาที่เข้าข่ายลักษณะเป็นคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารที่ต้องยื่นคำขออนุญาตโฆษณาอาหาร หากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาถือว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปเป็นอาหารที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 การกล่าวอ้างในลักษณะนี้ก็ควรจะต้องมีการตรวจสอบโฆษณาทั้งเรื่องการขออนุญาต หรืออย่างน้อยก็ควรมีบทบาทในการตรวจสอบสิ่งที่กล่าวอ้างนั้นเป็นความจริงหรือไม่         รายละเอียดด้านการลงพื้นที่เก็บภาพการโฆษณา ณ แหล่งขาย นางสาวทัศนีย์กล่าวว่า ไปสำรวจโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อหมูและเนื้อไก่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 44 ร้าน 29 พื้นที่ สำรวจทั้งในซูเปอร์มาเก็ต ร้านตั้งเดี่ยวนอกห้างสรรพสินค้า ร้านค้าในตลาด ร้านสะดวกซื้อ และแผงในตลาดสด ...เมื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยเทียบกับหลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พบว่าการโฆษณาที่เข้าข่ายการแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร โดยมีการแจ้งคุณภาพของสินค้า พบ 16 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 36.3) โดยรูปแบบการแจ้งคุณภาพอาจจะกล่าวเพียงประเด็นเดียวหรือหลายประเด็น ดังนี้ ร้านขายได้กล่าวถึงความสะอาด 8 ร้าน, สด 6 ร้าน, คุณภาพ 4 ร้าน, อนามัย 2 ร้าน, ชุ่มฉ่ำ 2 ร้าน คำว่าพรีเมี่ยม 1 ร้าน และเลี้ยงด้วยโปรไบโอติกส์อย่างละ 1 ร้าน ข้อสังเกตในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ต จะมีการอนุญาตให้สินค้าแต่ละชื่อการค้าโฆษณาตัวเอง พบ 8 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 18.18) นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาว่าปลอดภัย 6 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 13.63) การโฆษณาว่าปลอดสารเร่งเนื้อแดง พบ 4 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 9.09) การโฆษณาว่าไม่ใช้ฮอร์โมน พบ 2 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 4.55) การโฆษณาสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK พบ 16 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 36.3) แต่ร้านที่มีสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK มีแจ้งคุณภาพของสินค้าเพียง 8 ร้านเท่านั้น การแจ้งคุณค่าทางโภชนาการของเนื้อสัตว์ที่ขาย พบเพียง 1 ร้าน และการกล่าวอ้างอื่น เช่น การกล่าวอ้างด้านกระบวนการเลี้ยงดูที่เป็นธรรมชาติ พบคำว่า “100% organic” การรับรองตนเอง พบคำรับรองประกันคุณภาพในบริษัท “มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ” “วงจรคุณภาพและความสดของแผนกเนื้อสัตว์”         นักวิชาการด้านกฎหมาย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ มองว่า “หากมองในมุมกฎหมายการโฆษณาลักษณะนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นปัญหาด้านกฎหมายได้ หากมองในมุมของผู้บริโภคก็ต้องการทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายเชื่อถือหรือไว้วางใจได้หรือไม่ หากไม่ทราบข้อมูลจากผู้ขายเลยก็อาจขาดข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ หากผู้ขายให้ข้อมูลมา แต่ไม่สามารถตรวจสอบหรือยืนยันได้ว่าเรื่องใดจริงหรือเท็จผู้บริโภคก็ถูกเอาเปรียบได้เช่นกัน”         ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สรุปผลการศึกษาดังกล่าวข้างต้น มีข้อสังเกตว่าฉลากมีความหลากหลายของการนำเสนอ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้อง คำว่า’ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง’ ที่มีความหมายแตกต่างจากคำว่า’ปลอดจากยาปฏิชีวนะ’ นอกจากนี้ยังพบความแตกต่างของการใช้คำต่าง ๆ เช่น วันหมดอายุ มีขนาดเล็กมาก รวมถึงการระบุสรรพคุณของเนื้อสัตว์ จากการวิเคราะห์กฎหมาย ระเบียบ กติกา อาจมีช่องว่างของการควบคุมฉลากเนื้อสัตว์ดิบประเภทหมูและไก่ เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์แปรรูปแปรรูปหรือไม่ จึงมีช่องว่างของการใช้คำโฆษณาผลิตภัณฑ์ เพื่อทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ เช่นคำว่า ปศุสัตว์ OK หมายถึงอะไรบ้าง การเคลมคุณสมบัติบนฉลากผลิตภัณฑ์ หรือ การแสดง ณ จุดจำหน่ายนี้ มีหน่วยงานใดมีหน้าที่ตรวจสอบบ้าง มีหน่วยงานใดทำหน้าที่ควบคุม การกำหนดราคาสินค้าพรีเมียม มาตรฐานต่างๆ         ดังนั้นจึงมีข้อเสนอเกี่ยวกับฉลากเนื้อสัตว์สด และการโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ ดังนี้         1. ควรมีเจ้าภาพรับผิดชอบในการกำหนดลักษณะฉลากเนื้อสัตว์สดและการโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ ซึ่งอาจจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค         2.ควรมีข้อกำหนดในการใช้คำให้ชัดเจน เนื่องจากพบการใช้คำโฆษณานี้มีความหลากหลาย มีทั้งการกล่าวอ้างด้านกระบวนการเลี้ยงดูที่เป็นธรรมชาติ และการกล่าวอ้างด้านไม่พบสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจที่แตกต่างกันได้ เช่น คำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะ” อาจสื่อความหมายได้ตั้งแต่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดู หรือมีระยะหยุดยาก่อนการฆ่า หรือมีการใช้ยาแต่มีเนื้อสัตว์พบยาปฏิชีวนะตกค้างไม่เกินที่กำหนดในกฎหมาย จึงควรมีข้อกำหนดในการใช้คำให้ชัดเจน เช่น “Raised without antibiotics” (ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะทุกขั้นตอนของการเลี้ยง)         3.ควรมีหน่วยงานที่ติดตามและตรวจสอบการกล่าวอ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการกล่าวอ้างเกินจริง ซึ่งจูงใจให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ และการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวอาจมีผลทำให้ราคาสินค้าเกินกว่าความเป็นจริงได้ โดยเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เข้ามาตรวจสอบการโฆษณาดังกล่าว         4.มีระบบฐานข้อมูลการตรวจสอบฉลากของสินค้า และ 5. การให้ความรู้กับผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 กระแสต่างแดน

ส้วมสะเทือนใจ        การรถไฟอินเดียต้องจ่ายค่าชดเชย 30,000 รูปี (ประมาณ 12,900 บาท) ให้กับผู้โดยสารคนหนึ่งที่ได้รับความกระทบกระเทือนต่อร่างกายและจิตใจจากสภาพห้องน้ำบนขบวนรถ         วันที่ 3 กันยายน 2564 ผู้โดยสารคนดังกล่าวขึ้นรถไฟตู้ปรับอากาศชั้นสามจากนิวเดลลีเพื่อไปลงที่เมืองอินดอร์ ซึ่งเป็นการเดินทางข้ามคืนที่ใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมง          แปดโมงเช้าวันต่อมา เขาลุกไปเข้าห้องน้ำเพื่อล้างหน้าและทำธุระส่วนตัว แต่พบว่าไม่มีทั้งน้ำล้างหน้าและน้ำสำหรับกดชักโครก ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสภาพสกปรกสุดทน และเนื่องจากรถไฟเสียเวลา เขาจึงต้องทนปวดท้องอยู่สองชั่วโมงและไปถึงที่ทำงานสายด้วย         แม้จะแย้งว่าห้องน้ำไม่ถือเป็น “บริการ” ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค แต่การรถไฟฯ มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม “กฎบัตรพลเมือง” ที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐจัดหาน้ำใช้ที่สะอาดและห้องน้ำที่ถูกสุขอนามัยให้กับประชาชนและยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้อง 10,000 รูปีด้วย  ยาถูกมีอยู่จริง         เป็นเรื่องปกติที่คนสิงคโปร์จะขับรถข้ามชายแดนไป “ซื้อของ” ที่ยะโฮร์บารู เมืองหลวงของรัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย เพราะนอกจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในซูเปอร์มาร์เก็ตที่นั่นจะถูกกว่า รวมถึงยารักษาโรคก็ถูกกว่าด้วย แถมร้านยาในมาเลเซียก็ไม่ถามหา “ใบสั่งแพทย์” อีก         ตัวอย่างเช่น ราคาของยาลดความดัน Micardis ในสิงคโปร์อยู่ที่ 53 เหรียญ (1,400 บาท) แต่สามารถซื้อได้ในมาเลเซียที่ราคา 62 ริงกิต (470 บาท)         นอกจากความแตกต่างของค่าเงินแล้ว ยาในมาเลเซียยังถูกกว่าเพราะร้านยาซึ่งมีหลายร้านในบริเวณเดียวกันมักจะกระหน่ำลดราคาเพื่อแย่งลูกค้าด้วย         อย่างไรก็ตามช่องข่าว CNA ซึ่งนำเสนอเรื่องดังกล่าวพบว่ายาที่สั่งซื้อจากร้านออนไลน์ในมาเลเซียมักใช้ไม่ได้ผล อาจเป็นเพราะคุณภาพการเก็บรักษาหรือการขนส่ง แถมหลายตัวยังเป็นยาปลอมหรือมีสารต้องห้าม         ทางช่องข่าวแนะนำให้คนสิงคโปร์ประหยัดด้วยการซื้อ “ยาชื่อสามัญ” เพราะเขาทดสอบแล้วพบว่าหลายตัวมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากยาที่มีแบรนด์เลย ถือบัตรไหนดี         กรุงโซลและปริมณฑลมีบัตรขึ้นรถสาธารณะหลายใบให้เลือก เป้าหมายร่วมกันคือลดภาระค่าเดินทางให้คนเมือง แต่สิทธิประโยชน์และเขตพื้นที่ให้บริการนั้นไม่เหมือนกัน         “ไคลเมทการ์ด” บัตรรายเดือนโดยเทศบาลโซล ใช้ขึ้นรถเมล์และรถไฟได้ดินได้ทุกเส้นทางในโซลได้ไม่จำกัด ใบละ 62,000 (ประมาณ 1,650 บาท) และบัตรดังกล่าวจะครอบคลุมพื้นที่เมืองอินชอนด้วยตั้งแต่ปี 2024         “ไอพาส” ของเทศบาลเมืองอินชอน ใช้เดินทางในเมืองนี้ได้โดยไม่จำกัดเที่ยว ผู้สูงอายุสามารถรับเงินคืนร้อยละ 30 จากที่จ่ายไป         “เคพาส” ของกระทรวงที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและการขนส่ง ใช้เดินทางได้ 60 เที่ยวทั่วประเทศ หากใช้รถสาธารณะมากกว่า 15 ครั้งต่อเดือน สามารถขอเงินคืนได้ร้อยละ 30 (สำหรับผู้ที่อายุ 19-34 ปี) ส่วนผู้มีรายได้น้อยจะได้เงินคืนร้อยละ 52         แล้วยังมี “คยองกีพาส” สำหรับใช้ในจังหวัดคยองกี ที่จะเริ่มใช้เดือนพฤษภาคมได้เงินคืนเหมือนกันแต่ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว         ประชาชนเกาหลีหลายคนสงสัยดังๆ จะง่ายกว่าไหม ถ้ารัฐบาลลดราคาตั๋วไปเลย   ไม่ต้องฝัง         เพราะความสะดวกและความประหยัด คนดัทช์ยุคนี้จึงหันมาเลือกใช้บริการพิธีศพแบบเผา แทนที่จะฝังตามธรรมเนียมดั้งเดิม         ที่เนเธอร์แลนด์พิธีศพแบบเผามีค่าใช้จ่าย 6,000 ยูโร (ประมาณ 232,000 บาท) แต่อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มบ้างในกรณีที่ราคาพลังงานแพงขึ้น ในขณะที่การฝังมีค่าใช้จ่ายถึง 9,000 ยูโร (ประมาณ 350,000 บาท)         สถิติระบุว่าร้อยละ 68.4 ของผู้ที่เสียชีวิตในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2023 ได้รับการฌาปนกิจศพ ความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นดูได้จากจำนวนฌาปนสถานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน         ข้อเสียอย่างเดียวคือ ตามขั้นตอนปกติของเนเธอร์แลนด์ ญาติจะต้องรอประมาณหนึ่งเดือนถึงจะสามารถมารับกระดูกกลับได้         หลายคนไม่อยากทิ้งภาระให้ลูกหลานต้องจ่ายค่าดูแลหลุมศพก็จะสั่งเสียไว้ให้เลือกวิธีนี้ ส่วนการกล่าวไว้อาลัยหน้าหลุมศพก็ไม่จำเป็น เพราะปัจจุบันผู้คนนิยมบอกลากันตั้งแต่ก่อนที่ผู้ล่วงลับจะจากไปฟาสต์เฟอร์นิเจอร์        รัฐบาลไต้หวันต้องรีบออกมาเคลียร์ หลังสื่อออกมาเปิดเผยว่าในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2023 ยังมีที่นอนเก่าที่ควรนำไปรีไซเคิลตกค้างอยู่ถึง 140,000 หลัง หมายความว่ามีสปริงที่ยังไม่ถูกนำไปใช้งานและมีผ้าที่สามารถเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงได้ค้างอยู่         กระทรวงสิ่งแวดล้อมบอกว่าที่ผ่านมาเขาก็จัดการรีไซเคิลที่นอนได้ปีละเกือบหนึ่งล้านหลังโดยไม่มีปัญหา แถมบอกอีกว่าเดี๋ยวช่วงตรุษจีนก็จะมีฟูกถูกทิ้งเพิ่มอีกเพราะคนต้องซื้อของใหม่เข้าบ้าน         ผู้แทนกระทรวงฯ อธิบายว่าเครื่องรีไซเคิลของเขานั้น ถ้าจะให้คุ้มค่ากับพลังงานที่เสียไปต้องใส่ฟูกเข้าไปอย่างต่อเนื่องครั้งละไม่ต่ำกว่า 5,000 หลัง มันก็เลยเกิด “ความกอง” อย่างที่เห็น         แต่คำถามคือใครควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย มูลค่าตลาดที่นอนมีมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญ ด้วยยอดขายประมาณ 330,000 หลังต่อปี แต่ที่ผ่านมารัฐยังไม่มีกลไกที่จะทำให้ผู้ประกอบการร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อขยะที่นอนเลย         อีกปัญหาที่ต้องรับมือคือ “ฟาสต์เฟอร์นิเจอร์” ที่ราคาถูก ดีไซน์สวย แต่ใช้งานได้ไม่นาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 สำรวจฉลากดาร์กช็อกโกแลต

        ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพามาสำรวจฉลากกับภารกิจเตือนภัย ”ขมซ่อนหวาน” ในดาร์กช็อกโกแลตกัน         ดาร์กช็อกโกแลต (Dark Chocolate) จัดเป็นหนึ่งในซูเปอร์ฟูดที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะกินแล้วมีประโยชน์มาก ช่วยคลายเครียด อารมณ์ดีมีความสุข และยังอาจรวมถึงการป้องกันโรคต่างๆ เช่น อัลไซเมอร์ โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น แต่ดาร์กช็อกโกแลตที่ดีต่อสุขภาพควรมีเปอร์เซ็นต์โกโก้ทั้งหมดสูงกว่า 70% ขึ้นไป ซึ่งจะมีรสขม หลายคนลองชิมแล้วอาจรู้สึกว่ากินยาก จึงไปเลือกที่ผสมน้ำตาลและนมเพิ่มรสชาติให้กินง่ายขึ้น ดังนั้นผู้บริโภคต้องระวังว่าดาร์กช็อกโกแลตที่มีน้ำตาลและนมในสัดส่วนมากๆ เพราะแม้จะอร่อยแต่กินบ่อยๆ ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้         นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเลือกดาร์กช็อกโกแลต จำนวน 15 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมกราคม 2567 มาสำรวจฉลากเพื่อดูส่วนประกอบว่าผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดตามมาตรฐานหรือไม่ เปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการและราคา เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจซื้อในครั้งต่อๆ ไป   ผลการสำรวจฉลาก เมื่อพิจารณาในส่วนประกอบสำคัญ พบว่า         - ยี่ห้อลินด์ เอ็กเซอร์เล็นซ์ ดาร์ก 99% โกโก้ มีโกโก้รวมทั้งหมดมากที่สุด คือ 99% ส่วนยี่ห้อเมจิ แบล็ค ช็อกโกแลต คอนแฟคชั่นเนอรี่ มีน้อยที่สุดคือ 40.4%         - ยี่ห้อบอนโอบอน ดาร์ค ช็อกโกแลต บาร์ มีน้ำตาลมากที่สุด คือ 49% ส่วนยี่ห้อมีอา อินเทนส์ ดาร์ก ช็อกโกแลต 85% และยี่ห้อเวทโทรส เบลเยี่ยน ดาร์ค ช็อกโกแลต 72% มีน้อยสุด คือ 10%         - ยี่ห้อเดียโบล ดาร์ก ช็อคโกแลต วิท สวีทเทนเนอร์ ใส่วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล (มอลตินอล)ส่วนยี่ห้อลินด์ เอ็กเซอร์เล็นซ์ ดาร์ก 99% โกโก้ ไม่ระบุว่ามีน้ำตาลในส่วนประกอบ  เมื่อพิจารณาคุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 หน่วยบริโภคที่แนะนำ พบว่า         - ยี่ห้อลินด์ เอ็กเซอร์เล็นซ์ ดาร์ก 99% โกโก้ มีมากที่สุดทั้งพลังงาน (310 กิโลแคลอรี) ไขมัน (25 กรัม) และโซเดียม (140 กรัม) ส่วนน้ำตาลมีน้อยที่สุดคือ 3 กรัม          - ยี่ห้อเนสท์เล่ ลัทเตอริฮ์เย่ ดาร์คช็อกโกแลต 80% มีพลังงานน้อยที่สุดคือ 120 กิโลแคลอรี         - ยี่ห้อบอนโอบอน ดาร์ค ช็อกโกแลต บาร์ มีไขมันน้อยที่สุดคือ 7 กรัม         - ยี่ห้อลอตเต้ กาน่า แบล็ก ช็อกโกแลต มีน้ำตาลมากที่สุดคือ 23 กรัม และมีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 5 กรัม        และเมื่อคำนวณเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อลินด์ เอ็กเซอร์เล็นซ์ ดาร์ก 99% โกโก้ แพงสุดคือ 3.50 บาท ส่วนยี่ห้อบอนโอบอน ดาร์ค ช็อกโกแลต บาร์ ถูกสุดคือ 0.48 บาท  ข้อสังเกต         - ทุกตัวอย่างผลิตและนำเข้ามาจากต่างประเทศ ได้แก่  มาเลเซีย ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน ญี่ปุ่น เบลเยี่ยม อาร์เจนติน่า สเปน ไอร์แลนด์ สาธารณรัฐกานา และสาธารณรัฐเช็ก         - มี  2 ตัวอย่างที่พบว่ามีเปอร์เซนต์โกโก้ทั้งหมดในส่วนประกอบน้อยกว่าที่ระบุไว้บนฉลาก คือ ยี่ห้อลอตเต้ กาน่า แบล็ก ช็อกโกแลต ฉลากระบุ 50% แต่ในส่วนประกอบรวมได้ 48% และดัลซีเนีย ดาร์ค ช็อกโกแลต 72% ในส่วนประกอบรวมได้ 67%         - มี 2 ตัวอย่างที่เติมไขมันอื่นนอกจากไขมันโกโก้ ได้แก่ ยี่ห้อโมรินากะ ดาร์ส ดาร์ก (ไขมันปาล์ม 4 %) และเมจิ แบล็ค ช็อกโกแลต คอนแฟคชั่นเนอรี่ (มีน้ำมันพืช 14%)         - เมื่อคำนวณคุณค่าทางโภชนาการต่อปริมาณ 40 กรัมเท่ากัน (ค่าเฉลี่ยของหน่วยบริโภคที่แนะนำ) พบว่า ยี่ห้อริตเทอร์สปอร์ต โกโก้ ซีเล็คชั่น 81% มีมากที่สุดทั้งพลังงาน (256 กิโลแคลอรี) และไขมัน (20.8 กรัม) ยี่ห้อบอนโอบอน ดาร์ค ช็อกโกแลต บาร์ มีน้ำตาลมากที่สุดคือ 20.8 กรัม ส่วนยี่ห้อบัตเลอรส์ ดาร์กช็อกโกแลต 70% ยี่ห้อเดียโบล ดาร์ก ช็อคโกแลต วิท สวีทเทนเนอร์ และยี่ห้อเวทโทรส เบลเยี่ยน ดาร์ค ช็อกโกแลต 72% มีพลังงานน้อยที่สุดคือ 210 กิโลแคลอรี         - มีตราประทับ Rainforest Alliance Certified บนฉลากยี่ห้อเนสท์เล่ ลัทเตอริฮ์เย่ ดาร์คช็อกโกแลต 80% ยี่ห้อริตเทอร์สปอร์ต โกโก้ ซีเล็คชั่น 81% และยี่ห้อคาสิโน ช็อกโกล่าต์ นัวร์ เดอ ดีกัสตาซีอง 85% ซึ่งสัญลักษณ์นี้หมายความว่า ผลิตภัณฑ์หรือส่วนผสมที่ผ่านการรับรองนั้นผลิตขึ้นโดยใช้วิธีการที่สนับสนุนหลักสามประการของความยั่งยืน ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ฉลาดซื้อแนะ         - ดาร์กช็อกโกแลตส่วนใหญ่ผลิตและนำเข้าจากต่างประเทศ ควรเลือกซื้อที่มีฉลากภาษาไทยกำกับไว้ชัดเจน มีเลขทะเบียน อย. ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยและเปรียบเทียบปริมาณของส่วนประกอบได้         - ก่อนซื้อดาร์กช็อกโกแลตควรดูเปอร์เซ็นต์ของโกโก้ทั้งหมด น้ำตาลและนม และเลือกให้ตอบโจทย์กับความต้องการ โดยมีคำแนะนำว่าหากอยากลดน้ำหนัก ให้เลือกที่ 80 - 100 % ใครเพิ่งลองกินและยังไม่ชินกับรสขม ให้เลือกที่ 50 - 80 % ใครชอบหวานให้เลือกน้อยกว่า 50% ส่วนใหญ่จะใส่น้ำตาลเยอะ ควรกินแต่น้อย         - ดาร์กช็อกโกแลตมีแคลอรี่สูงและมีคาเฟอีนด้วย ควรกินในประมาณที่เหมาะสม หรือไม่เกิน 60 กรัมต่อวัน แหล่งข้อมูลอ้างอิง https://bestreview.asia/best-dark-chocolate/#google_vignettehttps://www.thaihealth.or.th (บทความ กินช็อกโกแลตถูกหลัก ช่วยสร้างสุข)https://www.bio100.co.th/knowledge/rainforest-alliance-certified/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2567

ร้องเรียน 9,218 เรื่อง ปัญหามลพิษ ปี 2566        อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เผยมีประชาชนแจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหามลพิษในปี 2566 เข้ามากว่า 9,218 เรื่อง ผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงสายด่วน 1650 โดยพบว่าจำนวน 8,043 เรื่อง เป็นกรณีเหตุรำคาญต่างๆ โดยทางกรมควบคุมมลพิษได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่ผู้ร้องเรียนและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหา อีก 1,175 เรื่อง ทางกรมควบคุมมลพิษดำเนินการเอง ส่วนใหญ่แหล่งกำเนิดมลพิษ คือ โรงงานอุตสาหกรรม อาคารประเภทต่างๆ การเลี้ยงสุกร โดยได้รับการแก้ไขแล้วกว่า 836 เรื่อง         ทั้งนี้ ประเด็นที่พบมากที่สุด ได้แก่ 1. ปัญหากลิ่นเหม็น  2. ปัญหาฝุ่นละออง-เขม่าควัน และ 3. เสียงดัง-เสียงรบกวน   ผลิต-เผยแพร่สื่อลามกด้วย AI ระวังโทษคุก 5 ปี                    สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยว่า ปัจจุบันมีกลุ่มมิจฉาชีพนำเทคโนโลยี AI มาใช้สร้างเนื้อหาปลอมเพื่อใช้ในการฉ้อโกงสร้างความเสียหายให้กับประชาชน รวมถึงผลิตสื่อลามกอนาจาร โดยมักนำภาพของบุคคลมีชื่อเสียง เช่น ดารา นักแสดง นักร้อง มาใช้เป็นใบหน้าตัวอย่างและสร้างคลิปลามกแล้วนำไปเผยแพร่หรือจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ ทางออนไลน์ ประชาชนต้องระวังต่อภัยดังกล่าว ทั้งนี้ฝากเตือนถึงผู้ที่ผลิตและเผยแพร่สื่อลามกปลอมด้วย AI  ดังกล่าวนั้น จะถือว่าเข้าข่ายความผิดทางอาญาถึง 6 ฐานความผิด ระวางโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี ปรับสูงสุดถึง 200,000 บาท ระวัง! ไลน์ปลอม ก.ล.ต. อ้างเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน         จากกรณีพบบัญชีไลน์แอบอ้างเป็น “ที่ปรึกษาด้านการลงทุน ภายใต้สำนักงาน ก.ล.ต.” นั้น   ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ทำการตรวจสอบถึงกรณีดังกล่าวแล้ว และได้ทำการชี้แจ้งว่า บัญชีไลน์ที่ว่ามีการปลอมแปลงและแอบอ้างการใช้โลโก้ของหน่วยงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับข้อมูลอาจเข้าใจผิดและหลงเชื่อเข้าลงทุนจนเกิดความเสียหาย  ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่างหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว พร้อมทั้ง ไม่แชร์หรือส่งต่อข้อมูลดังกล่าวด้วย ลูกชิ้นเถื่อน         กองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าตรวจค้นพื้นที่ ม.4 ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี หลังพบว่ามีการใช้สถานที่ดังกล่าวในการผลิตและจัดส่งจำหน่ายลูกชิ้นไม่ถูกสุขอนามัย ไปในพื้นที่ใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดลูกชิ้นกว่า 2,400 ถุง พร้อมอุปกรณ์เครื่องจักร บรรจุภัณฑ์ และส่วนผสมต่างๆ กว่า 31 รายการ พร้อมนำตัวอย่างส่งตรวจสอบ และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ ลูกชิ้นที่พบมีทั้งมียี่ห้อและไม่มียี่ห้อรวม 9 รายการ ดังนี้ 1.ลูกชิ้นหมูตราตี๋ใหญ่  2.ลูกชิ้นหมูเมืองทอง ตราโกดี KODEE  3. ลูกชิ้นหมูเมืองทองตราที.เค  4.ลูกชิ้นหมูตราตี๋เล็ก  5.ลูกชิ้นเนื้อตราตี๋ใหญ่  6.ลูกชิ้นเนื้อ ตรา เฮง 7.ลูกชิ้นเนื้อตราเมืองเอก 8.ลูกชิ้นหมู AR  9. ชาย 2 ลูกชิ้นหมู         ทั้งนี้  การกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  มพบ. จี้ ขสมก. ตอบคำถาม “ทำไมรถต่างสี ราคาต่างกัน” ย้ำ นโยบายปฎิรูปรถเมล์ ให้คำนึงถึงผู้ใช้บริการ         16 มกราคม 67 จากกรณีรถยูโรทู "สายปฏิรูป" เปลี่ยนเลขสายใหม่ พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้เดินรถที่ได้สัมปทานโครงการปฏิรูปเอาเลขสายใหม่ไปใช้และเก็บค่าโดยสารเพิ่มอีก 1 บาท (แพงกว่าเดิม) โดยเก็บจากราคา "อัตราขั้นสูง" ตามที่กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดไว้ในตารางค่าโดยสาร (ทำให้การลดอัตราค่าโดยสารทำได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของอัตราขั้นสูง) เปิดช่องให้ผู้เดินรถเลือกที่จะเก็บค่าโดยสารตามอัตราขั้นสูงหรือหากจะลดราคาก็ให้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับทาง ขสมก. ทั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้ประกาศแจ้งให้ผู้โดยสารรับรู้ล่วงหน้าสำหรับการขึ้นราคาครั้งนี้ จึงทำให้เกิดกระแสสังคมจากผู้บริโภคในเชิงตำหนิต่างๆ นั้น         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “มูลนิธิฯ ขอเป็นตัวแทนผู้บริโภคตั้งคำถามไปถึง ขสมก. ที่ต้องตอบให้ชัดว่า รถต่างสี ทำไมต้องเก็บราคาค่าโดยสารต่างกัน และ การเปลี่ยนเลขหมายรถนั้นมีเหตุผลอย่างไร อะไรที่เป็นเหตุต้องปรับงขึ้นราคาค่ารถ โดยไม่แจ้งผู้โดยสารล่วงหน้า” มูลนิธิฯ ขอเรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบก ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ตรวจสอบและแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร เพราะนโยบายการ “ปฎิรูปรถเมล์” ของกรมการขนส่ง ควรคำนึงถึงผู้ใช้บริการให้มีรถเมล์บริการอย่างทั่วถึงและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะ ขสมก. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องให้บริการรถที่มีคุณภาพและคิดค่าบริการที่ราคาเป็นธรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน

        ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คงจำกันได้ว่าคนไทยเราบ่นกันมากว่าค่าไฟฟ้าแพง และน่าจะบ่นกันมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไปเพราะว่าการใช้ไฟฟ้าจะพุ่งตามอุณหภูมิของอากาศที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าของปีนี้จะสูงกว่าของเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้อัตราค่าไฟฟ้าในช่วงถัดไปก็น่าจะสูงขึ้นกว่านี้อีก เพราะถึงเวลาที่ต้องจ่ายหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ที่รัฐบาลขอให้จ่ายแทนผู้บริโภคไปพลางก่อน ขอย้ำนะครับว่า ค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ใช่ทั้งหมดของค่าไฟฟ้า แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ กฟผ. จ่ายแทนเราไปก่อน อีกไม่นานเขาก็ต้องเรียกคืน         เรามาดูภาพรวมกันสักนิดครับ เมื่อปี 2565 คนไทยจ่ายค่าไฟฟ้ารวมกัน 8.2 แสนล้านบาท แต่ในปีล่าสุดคือ 2566 ข้อมูลมีแค่ 9 เดือนแรกของปีเท่านั้น แต่ถ้าคิดแบบบัญญัติไตรยางค์ ค่าใช้จ่ายของทั้งปีก็จะประมาณ 9.6 แล้นล้านบาท คือสูงกว่าของปีก่อนถึง 1.4 แสนล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 17%) ทั้งนี้เป็นเพราะว่าราคาก๊าซธรรมชาติได้เพิ่มสูงขึ้นมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในเมื่อประเทศเรามีแหล่งก๊าซฯ เป็นของตนเอง แต่ไม่พอใช้ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาผันผวนมาก จึงมีคำถามง่ายๆ ว่า ทำไมเราไม่เปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งไม่ต้องซื้อ ไฟฟ้าที่ได้ก็ถูกกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ทุกชนิด         นี่แหละครับ คือประเด็นที่เราจะคุยกันเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริโภคใช้ประกอบในการตัดสินใจตามชื่อบทความนี้         เพื่อให้เราเห็นปัญหาชัดขึ้น เรามาดูข้อมูลของประเทศอื่นเพื่อมาเปรียบเทียบกันก่อน ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์มากเป็นอันดับต้นๆของโลก เอาเฉพาะที่ติดตั้งบนหลังคาบ้านอย่างเดียวนับถึงสิ้นปี 2566 มีจำนวนกว่า 3.6 ล้านหลังคา ประเทศนี้มีประชากรเพียง 25 ล้านคน (คิดคร่าวๆก็ประมาณ 8.3 ล้านหลังคา)  โดยในรัฐออสเตรเลียใต้ได้ติดตั้งไปแล้วถึงครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของจำนวนบ้าน (หมายเหตุในหมู่บ้านที่ผมอยู่ ซึ่งอยู่ในจังหวัดนนทบุรีได้ติดตั้งแล้ว 0.8% ของจำนวนบ้านทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงเกือบ 1 เท่าตัว เฮ้!) มีผลงานวิจัยถึงความคิดเห็นของชาวออสเตรเลียว่า ทำไมจึงนิยมติดตั้งโซลาร์เซลล์กันมาก พบว่ามีเหตุผล 3 ข้อ คือ (1) ค่าไฟฟ้าในออสเตรเลียแพงมาก ราคาขายปลีกรวมภาษีแล้วเฉลี่ย 8.20 บาทต่อหน่วย (ของไทย 4.84 บาท,เวียดนาม 2.85 บาท)   (2) เป็นประเทศที่มีแสงแดดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อพื้นที่ที่เท่ากันจะมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และมากกว่าของประเทศไทยเราประมาณ 10-15% และ (3) เขารู้สึกอายที่ต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดโลกร้อน (คนออสเตรเลียปล่อยก๊าซฯ 15.0 ตันต่อคนต่อปี,ไทย 3.8 เวียดนาม 3.5)         จากข้อมูลของ Our World In Data พบว่าในปี 2565 โดยเฉลี่ย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนามและไทย ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้เฉลี่ยต่อคนได้ 1,484 ,826, 269 และ 70 หน่วย ตามลำดับ  ผมยกเอาข้อมูลของประเทศญี่ปุ่นมาด้วยก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าในประเทศที่แสงแดดไม่ค่อยดีนัก แต่เขาก็ยังให้ความสำคัญที่จะนำพลังงานแสงแดดมาใช้ประโยชน์  โดยน่าจะมีเหตุผลที่คล้ายกับความเห็นของชาวออสเตรเลียที่ได้กล่าวมาแล้ว ปัจจัยสำคัญคืออะไร         ปัจจุบัน รัฐบาลไทยมีกฎระเบียบที่จะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ไม่เหมือนกับประเทศออสเตรเลียและเวียดนาม กล่าวคือ  ใน 2 ประเทศดังกล่าวเขาอนุญาตให้ไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านผลิตได้ในเวลากลางวัน แต่ไม่ได้ใช้หรือเหลือจากการใช้แล้วสามารถไหลย้อนเข้าไปในระบบสายส่งได้ เปรียบเหมือนกับการฝากไฟฟ้าไว้ในสายส่งก่อน พอถึงเวลากลางคืนเจ้าของบ้านก็เอาไฟฟ้าที่ได้ฝากไว้มาใช้ เมื่อครบเดือนก็คิดบัญชีกันตามมิเตอร์ที่บันทึกไว้ หากเราผลิตได้น้อยกว่าที่ใช้ เราก็จ่ายค่าไฟฟ้าส่วนเกินในราคาปกติ หากเราใช้มากกว่าที่ผลิตได้ ทางการไฟฟ้าก็จ่ายส่วนที่เกินไปให้เจ้าของบ้าน ในอัตราค่าไฟฟ้าที่เท่ากับที่ขายให้เรา นักวิชาการเรียกระบบนี้ว่า Net Metering หรือการหักลบหน่วยไฟฟ้า  ปัจจุบันระบบนี้มีการใช้กันแล้วกว่า 68 ประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศร่ำรวยและยากจน เช่น สหรัฐอเมริกาและศรีลังกา เป็นต้น         ประเทศไทยไม่ได้ทำเช่นดังกล่าวนั้น แต่จะรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย (ในขณะที่ขายให้ผู้บริโภครวมภาษีแล้วประมาณ 4.84 บาทต่อหน่วย) และรับซื้อเพียงระยะเวลา 10 ปีเท่านั้น ในขณะที่อายุการใช้งานจริงนานถึง 25 ปี  ด้วยมาตรการดังกล่าว ต้องลงทุนติดตั้งมิเตอร์เพิ่มอีก 1 ตัว ราคาประมาณ 2 พันบาทซึ่งไม่มีความจำเป็นหากใช้ Net metering   นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่าแบบของวิศวกรไฟฟ้าอีกประมาณ 5 พันบาทเมื่อนโยบายพลังงานของประเทศเราเป็นอย่างนี้ ผู้บริโภคควรจะทำอย่างไร   นอกเหนือจากการร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายให้เหมือนกับประเทศอื่นแล้ว เราลองมาพิจารณารายละเอียดให้ลึกกว่านี้ ดังนี้ หนึ่ง  ต้นทุนในการติดตั้ง         เท่าที่ผมติดตามที่ประกาศขายกันในอินเตอร์เนตและสอบถามจากผู้รับติดตั้งบางราย พบว่า ถ้าติดขนาด 3 กิโลวัตต์จะใช้เงินลงทุนประมาณ 8.4 หมื่นบาท (เมื่อ 5 ปีก่อนประมาณ 1.1 แสนบาท) รวมต้นทุนทั้งหมดประมาณ 91,000 บาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณเดือนละ 110 หน่วยต่อกิโลวัตต์ (ขึ้นอยู่กับพื้นที่ซึ่งก็ไม่แตกต่างกันมากนักสำหรับในประเทศไทย) ดังนั้น หากเป็น 3 กิโลวัตต์ตลอดเวลา 25 ปี จะผลิตไฟฟ้าได้รวม 99,000 หน่วย ต้นทุนเฉลี่ยตลอด 25 ปีเท่ากับ 0.85 บาทต่อหน่วย (91,000 หารด้วย 99,000)  การประมาณการดังกล่าวนี้อาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้างเล็กน้อย และเป็นการคิดโดยไม่รวมค่าดอกเบี้ยหรือค่าเสียโอกาสจากดอกเบี้ย สอง ผลตอบแทนจากการติดตั้ง         ในการคำนวณที่แสดงในตารางข้างล่างนี้อยู่บนสมมุติว่า         (1)        อัตราค่าไฟฟ้าเท่าเดิมทุกอย่าง โดยค่าเอฟทีเท่ากับเดิมคือ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย        (2)        เดิมบ้านที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ใช้ไฟฟ้าจำนวน 600 หน่วยทุกเดือน ค่าไฟฟ้า 2,878.29 บาท เฉลี่ย 4.80 บาทต่อหน่วย        (3)        เมื่อติดตั้งแล้ว แบ่งการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจำนวน 330 หน่วยต่อเดือน เป็น 5 กรณี ๆ แรก ใช้เอง 24% และขาย 76% ในอัตรา 2.20 บาทต่อหน่วย จนถึงกรณีที่ 6 ใช้เอง 76% และขาย 24%         ผลการคำนวณพบว่า กรณีแรก (ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตเอง 24%) จะให้ผลตอบแทนคุ้มทุนในเวลา 7.9 ปี (ดูตารางในภาพ)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 ประกันมะเร็งต้องอ่านเงื่อนไขดีๆ

        มะเร็งเป็นโรคร้ายแรงที่การรักษานั้นค่อนข้างยาก ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งมีสถิติที่พรากชีวิตคนไทยในแต่ละปีค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทประกันภัยหลายแห่งจัดรูปแบบกรมธรรม์เพื่อคุ้มครองเรื่องการรักษามะเร็ง มาเป็นตัวเลือกสำหรับผู้บริโภค         เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นข้อเตือนใจจากคุณน้ำ ซึ่งเข้ามาขอคำปรึกษาในคดีหนึ่ง แต่เรื่องที่เล่านี้เป็นประสบการณ์เก่าที่เธอเคยประสบจากการทำประกันโรคมะเร็ง ซึ่งผ่านมาหลายปีแล้ว เมื่อมองย้อนไปคุณน้ำพบว่าตัวเองพลาดที่ไม่ได้อ่านเงื่อนไขให้ดีจึงเสียโอกาสที่จะได้รับการคุ้มครองจากการทำประกันมะเร็ง ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงได้ขออนุญาตนำเรื่องนี้มีเล่าเพื่อฝากไว้ให้ผู้บริโภคได้ใช้เป็นบทเรียน         คุณน้ำ เริ่มต้นทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชน เธอจึงวางแผนการใช้เงินอย่างรัดกุม นอกจากค่าใช้จ่ายรายเดือน เธอได้วางแผนการออมเงินด้วย ทั้งออมเงินแบบฝากกับธนาคาร และการทำประกันชีวิตหลายฉบับเพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ โดยคาดการณ์ว่าเพื่อเป็นการใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบไม่ลำบาก ทั้งนี้ ประกันชีวิต  1 ฉบับในหลายฉบับที่ทำคือ ประกันมะเร็ง เพราะคิดว่า มะเร็งเป็นโรคที่ต้องใช้เงินในการรักษาสูงมาก หากเป็นหนึ่งในความเสี่ยงก็ควรทำประกันไว้ก่อน แม้ว่าค่าเบี้ยประกันจะค่อนข้างแพง         จากวันแรกๆ ที่เริ่มงานผ่านมาจนถึงหลังวัยเกษียณ เมื่อเธอเกษียณได้ไม่นาน แพทย์ตรวจพบว่าเธอเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น คุณน้ำตกใจแต่ก็รู้สึกว่า เอาน่ายังดีนะที่เธอได้ทำประกันมะเร็งเอาไว้ เธอจึงติดต่อตัวแทนบริษัทประกันเจ้าของกรมธรรม์ ต่อมาตัวแทนประกันซึ่งได้ขอเอกสารรายละเอียดที่หมอตรวจพบโรคมะเร็งพร้อมกับรายละเอียดการรักษาต่างๆ ไปจากเธอได้ไม่นานนัก ก็แจ้งกับเธอว่า บริษัทไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ได้ เพราะมะเร็งระยะที่กรมธรรม์คุ้มครองคือ ระยะที่ 2          คุณน้ำได้ฟังก็ถึงขั้นตกใจมาก เพราะที่เข้าใจมาตลอดคือ เมื่อตรวจเจอว่าเป็นมะเร็ง บริษัทจะคุ้มครอง ทันที แต่ตัวแทนบริษัทได้อธิบายว่า ในเอกสาร/เงื่อนไขสัญญาเขียนว่า จะคุ้มครองในระยะที่สอง ซึ่งคุณน้ำก็ได้แต่คิดว่า เมื่อแพทย์ตรวจพบมะเร็งแพทย์ก็ต้องเริ่มรักษาทันที ซึ่งไม่น่าจะมีใครรอให้โรคพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 2  จึงเริ่มรักษาเพื่อหวังให้ประกันคุ้มครองแน่นอน         นี่เป็นบทเรียนที่คุณน้ำประสบมา จึงขอนำมาฝากเตือนผู้บริโภคท่านอื่นๆ ว่า เมื่อจะทำประกันโรคร้ายแรง อย่างเช่น มะเร็ง ต้องอ่านรายละเอียดของประกันมะเร็งด้วยว่า มีความคุ้มครองครอบคลุมถึงประเด็นไหนบ้าง  เช่น มะเร็งทุกอวัยวะไหม หรือเฉพาะบางอวัยวะ หรือเจอมะเร็งจ่ายทันที คุ้มครองมะเร็งทุกระยะ รักษามะเร็งทุกขั้นตอน ฯลฯ ถามต่อตัวแทนประกันให้อธิบายอย่างละเอียด ตลอดจนซักถามตัวแทนประกันให้ละเอียดรอบคอบถึงข้อจำกัดต่างๆ  รวมทั้งต้องปรึกษาแพทย์เมื่อพบคำศัพท์เฉพาะทางทางการแพทย์ด้วย         ที่ควรพิจารณต่อมาคือ เรื่องเบี้ยประกันและวงเงินคุ้มครองเหมาะสมหรือเปล่า โดยต้องประเมินวงเงินคุ้มครองว่า หากเจ็บป่วยขึ้นมาวงเงินที่จะได้รับนั้น เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลหรือการใช้จ่ายระหว่างการรักษาตัวหรือไม่ เช่น หากต้องการรักษากับโรงพยาบาลเอกชนก็จะต้องประเมินว่าค่าใช้จ่ายย่อมสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ เพื่อจะได้เลือกแผนประกันที่วงเงินคุ้มครองเหมาะสมที่สุด เป็นต้น         เลือกด้วยความรอบคอบว่าเราอยากได้เงินคุ้มครองลักษณะไหน เช่น ในกรณีที่เป็นการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล อาจเหมาะกับผู้ที่ยังไม่มีประกันสุขภาพและต้องการให้ประกันคุ้มครองเฉพาะการรักษาพยาบาลตลอดการรักษา ขณะที่ประกันแบบจ่ายเงินทันทีที่ตรวจพบมะเร็งนั้น อาจเหมาะกับผู้ที่มีประกันสุขภาพอยู่แล้วแต่ต้องการเงินก้อน เพื่อนำไปใช้ในการรักษาส่วนเกินจากประกันสุขภาพหรือนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นต้น         อย่างไรก็ดีสำคัญที่สุดคือ อย่าพลาดการอ่านเงื่อนไขสัญญาให้ละเอียดเพื่อให้สิทธิประโยชน์ที่เราจะได้รับนั้นคุ้มค่ากับการลงทุน

อ่านเพิ่มเติม >