ศาลยกฟ้องคดีบัตรเครดิต เหตุเอาเปรียบผู้บริโภค เตือนอย่ายอมจ่ายหนี้ หากเลิกสัญญาแล้ว

ศาลยกฟ้องคดีธนาคารฟ้องผู้บริโภค ไม่ชำระค่าบัตรเครดิต เหตุใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ด้านศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะอย่ายอมจ่ายหนี้บัตรฯ หากขอยกเลิกสัญญาในเวลากำหนดกรณีที่มีผู้บริโภคถูกธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ฟ้องคดี จากการค้างชำระค่าบัตรเครดิต หลังจากรูดซื้อบริการคอร์สเสริมความงาม และภายหลังได้ทำเรื่องขอยกเลิกการใช้บริการคอร์สเสริมความงามแล้วนั้นนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ กรณีใช้บัตรเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ ซื้อคอร์สบริการเสริมความงามจากสถานเสริมความ ซึ่งเป็นคอร์สทำหน้าจำนวน ๑๐ ครั้ง ในราคา ๕๐,๐๐๐ บาทโดยผู้ร้องได้ทดลองทำหน้า ๑ ครั้ง และครั้งแรกเป็นการทดลองทำให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ขณะที่ทำก็เกิดอาการแพ้ คันที่ใบหน้าและรอบดวงตา หลังจากนั้นก็ไปรักษาอาการแพ้ที่โรงพยาบาล ต่อมาจึงได้แจ้งสถานเสริมความงามเพื่อขอยกเลิกสัญญาในการใช้บริการ และแจ้งธนาคารฯ ให้ระงับการชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิตนางนฤมล เล่าต่อไปว่า ต่อมาทางธนาคารฯ ยื่นเรื่องฟ้องผู้บริโภครายนี้ต่อศาล จากการค้างชำระค่าบริการคอร์สเสริมความงาม ทั้งที่ผู้บริโภคส่งเรื่องไปให้ธนาคารฯ ระงับการจ่ายเงินแล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ศาลพิพากษาว่า ธนาคารฯ กระทำโดยเอาเปรียบผู้บริโภค และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงให้ผู้ร้องไม่ต้องชำระค่าบริการของสถานเสริมความงาม และให้ยกฟ้อง“ผู้บริโภคมักถูกฟ้องคดี เวลาเอาบัตรเครดิตไปรูดซื้อสินค้าหรือบริการ แล้วผู้ประกอบการผิดสัญญา พอบอกเลิกสัญญาไปแล้ว ก็ไม่ได้แจ้งกับธนาคารเจ้าของบัตรฯ หรือแจ้งไปแล้วก็ไม่ดำเนินการให้ ทั้งที่ธนาคารฯ ควรจัดการปัญหานี้ให้กับผู้บริโภคด้วย”  นางนฤมล กล่าวต่อว่า การที่ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ได้แปลว่าผู้บริโภคต้องยินยอมใช้หนี้ที่เกิดขึ้น ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ปี พ.ศ.๒๕๔๒ ข้อ ๓ (๗) (ข) ระบุว่า ถ้าผู้บริโภคไม่ได้รับสินค้า หรือบริการเป็นไปตามที่ตกลงไว้ มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ภายใน ๓๐ - ๔๕ วันแล้วแต่กรณีหัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะนำต่อไปว่า เมื่อเลิกสัญญากับผู้ประกอบการแล้ว ผู้บริโภคต้องแจ้งให้ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตระงับการจ่ายเงินให้กับคู่กรณีด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องทำทุกอย่างให้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐาน หากมีการฟ้องคดีเกิดขึ้น“อย่างกรณีนี้ ผู้บริโภคใช้บริการแล้วแพ้ ใช้บริการไม่ได้ หรือใช้บริการแล้วไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ สามารถยกเลิกสัญญาได้ตามสิทธิของผู้บริโภค และเมื่อผู้ร้องได้แจ้งกับธนาคารเจ้าของบัตรฯ แล้ว แต่ธนาคารฯ ยังจ่ายค่าบริการให้สถานเสริมความงามไป ทั้งที่ยกเลิกสัญญาแล้ว ดังนั้น ธนาคารฯ จะมาเรียกเก็บเงินกับผู้บริโภคไม่ได้” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ กล่าวทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ข้อ ๓ (๗) (ข) ระบุว่า ไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้บริโภคที่จะขอยกเลิกการซื้อสินค้า หรือรับบริการภายในระยะเวลา ๔๕ วัน นับแต่วันที่สั่งซื้อหรือขอรับบริการ หรือภายในระยะเวลา ๓๐ วัน นับแต่วันถึงกำหนดมอบสินค้า หรือบริการ ถ้าผู้บริโภคพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้รับสินค้า หรือบริการ หรือได้รับแต่ไม่ตรงตามกำหนด ไม่ครบถ้วน ชำรุดบกพร่องดาวน์โหลดตัวอย่างจดหมายบอกเลิกสัญญา คลิก!ข้อมูลนี้เป็นกรณีตัวอย่างจากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้เขียนมีความตั้งใจกระตุ้นเตือนและให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสิทธิของตนที่พึ่งทำได้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามก่อนการตัดสินใจซื้อบริการใดๆ ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจซื้อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 เรื่องที่คนอยู่คอนโดต้องรู้ “ปัญหาจากการบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุด”

ที่อยู่อาศัยแบบอาคารชุด ที่เรียกกันติดปากว่า “คอนโดมิเนียม” มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็วโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ทั่วประเทศไม่เฉพาะแต่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งหลักการเลือกซื้อคอนโดของหลายๆ คนประกอบกันด้วยหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของราคา ความสะดวกสบายเรื่องการเดินทาง และความน่าเชื่อถือของบริษัทเจ้าของโครงการ แต่ก็มีผู้ซื้อคอนโดจำนวนไม่น้อยที่มองข้ามเรื่องของการจัดการในของ “นิติบุคคลอาคารชุด” ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากและเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของผู้ซื้อคอนโดโดยตรงหลังจากที่เราได้ย้ายเขาไปอยู่อาศัย เพราะถือเป็นหน่วยที่จะคอยทำหน้าที่ดูแลความจัดการความสะดวกเรียบร้อยต่างๆ ของโครงการที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย น้ำ-ไฟ ทรัพย์สินส่วนกลางต่างๆ เช่น ที่จอดรถ สวนหย่อม สระว่ายน้ำ ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีข่าวที่เกี่ยวกับผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดได้รับความเสียหายจากอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็น สภาพห้องหรือสาธารณูปโภคส่วนกลางไม่ตรงตามที่มีการโฆษณาไว้ หรือไม่มีการดูแลจากนิติบุคคลอาคารชุด รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับการฉ้อโกงค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของร่วมหรือผู้อาศัยภายในคอนโดทุกยูนิตต้องจ่ายตามข้อตกลงคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้ทำการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งผู้ที่อยู่อาศัยและผู้ที่กำลังคิดจะซื้อคอนโดหลายคนมองข้าม ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก และเป็นเรื่องที่มีกฏหมายกำหนดไว้ชัดเจน คือ พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2555 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551ผลการศึกษาปัญหาจากการบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุดผู้อยู่ตอบแบบสอบถาม ราว 1 ใน 3 ไม่มีความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับ “นิติบุคคลอาคารชุด” ทั้งในส่วนของที่มา บทบาทหน้าที่ หรือการแต่งตั้งและถอดถอน ตลอดจนเรื่องสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วม(สิทธิของคนคอนโด) เช่น การจ่ายค่าส่วนกลางให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดนั้น แม้จะไม่ได้พักอาศัยเอง หรือ ไม่ทราบว่า ถ้าค้างชำระเงินค่าส่วนกลางตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป  จะต้องเสียเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี ฯลฯ  ในส่วนของที่มา ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 21.2 ไม่ทราบว่า “ใคร” คือ ผู้ทำหน้าที่บริหารงานนิติบุคคลอาคารชุด ร้อยละ  31.6 ไม่ทราบว่า เมื่อจดทะเบียนอาคารชุดแล้ว ต้องมีการจัดประชุมใหญ่เจ้าของร่วมภายใน 6 เดือน เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดและให้ความเห็นชอบข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดที่ได้จดทะเบียนไว้  ร้อยละ 27.2 ไม่ทราบว่า ผู้จัดการนิติบุคคล ต้องได้รับการแต่งตั้งหรือถอดถอนโดยมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม  และต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติ ร้อยละ 37.6 ไม่ทราบว่า ในการประชุมใหญ่นั้นเจ้าของร่วมมีสิทธิเสนอแก้ไขข้อบังคับ ถอดถอนและแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้  บทบาทหน้าที่ของนิติบุคคลฯ ร้อยละ  39.6 ไม่ทราบว่านิติบุคคลมีหน้าที่ต้องจัดเก็บสำเนาโฆษณาขายห้องชุดในอาคารชุด หรือหนังสือชักชวนที่นำออกโฆษณาแก่บุคคลทั่วไปไว้ในสถานที่ทำการ ร้อยละ 29.8ไม่ทราบว่า นิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง ตามกฎหมาย ร้อยละ  20.4 ไม่ทราบว่า ผู้จัดการนิติบุคคล มีหน้าที่จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำเดือน และติดประกาศให้เจ้าของร่วมทราบภายใน 15 วันนับแต่สิ้นเดือน และต้องประกาศต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ร้อยละ  37.4 ไม่ทราบว่า กรรมการนิติบุคคลมีหน้าที่จัดประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกหกเดือน ความรู้เกี่ยวกับเรื่องหน้าที่ของเจ้าของร่วม(คนคอนโด) ร้อยละ 32.2 ทราบว่า มีปัญหาในการอยู่อาศัยในอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียม  ร้อยละ 30.8 ไม่ทราบว่า “ข้อความหรือภาพโฆษณาหรือหนังสือชักชวน” เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายห้องชุด  ร้อยละ 33.8 ไม่ทราบว่า ตนเอง มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าส่วนกลางให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดนั้น แม้จะไม่ได้พักอาศัย หากไม่ชำระเงินค่าส่วนกลางเมื่อนิติบุคคลทวงถามในเวลาที่กำหนด  จะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี   ร้อยละ 37.2 ไม่ทราบว่า ถ้าค้างชำระเงินค่าส่วนกลางตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป  จะต้องเสียเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี  และอาจถูกระงับการให้บริการส่วนรวมหรือการใช้ทรัพย์ส่วนกลางตามที่กำหนดในข้อบังคับ  รวมทั้งไม่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมใหญ่ นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 4  ไม่ได้รับข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดเมื่อซื้อห้องชุดและเข้าอยู่อาศัย    เมื่อสอบถามว่า เห็นด้วยให้กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่จะเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้านบริหารงานนิติบุคคล ปรากฏว่า ร้อยละ 79.8 เห็นด้วย -----------------------------------------------------------------------------วิธีการเก็บตัวอย่าง การเก็บข้อมูลภาคสนามครั้งนี้ใช้แบบสอบถาม กับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเจ้าของร่วมที่ซื้ออาคารชุด จำนวน 500 คนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 พื้นที่ในการเก็บข้อมูลได้แก่ อาคารชุดในย่านพระรามสาม เพชรเกษม สุขุมวิท รัชดา และสาธร  โดยแบ่งกลุ่มตามมูลค่าของอาคารชุด ดังนี้ อาคารชุดราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท จำนวน 150 คน อาคารชุดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จำนวน 150 คน อาคารชุดราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท จำนวน 150 คน และอาคารชุดราคา  5  ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 50 คน โดย ร้อยละ 48.2 ของผู้ตอบแบบสอบถามซื้ออาคารชุดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ร้อยละ 27.6 ซื้อเพื่อขายต่อเก็งกำไร และร้อยละ 24.2  ซื้อไว้เพื่อให้เช่า ข้อเสนอแนะจากงานวิจัย1. ควรกำหนดให้คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการนิติบุคคล ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นการเฉพาะ โดยแก้ไขมาตรา 35/1 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 กำหนดคุณสมบัติที่สำคัญของผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด โดยต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้านบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุด   แม้ตามกฎหมายปัจจุบันได้กำหนดคุณสมบัติของผู้จัดการนิติบุคคลเอาไว้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการบริหารจัดการนิติบุคคลเป็นการเฉพาะ ทำให้พบปัญหาเรื่องของการแต่งตั้งเครือญาติ(บริษัทเจ้าของโครงการ) เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งถือเป็นปัญหาเรื่องความโปร่งใส อย่างไรก็ตามการแก้ไขข้อกฎหมายนี้ต้องไม่เป็นเงื่อนไขในการเพิ่มค่าใช้จ่ายของเจ้าของร่วม  รวมถึงมีข้อกำหนดห้ามไม่ให้ผู้มีส่วนได้เสียในบริษัทเจ้าของโครงการมาเป็นผู้จัดการนิติบุคคล2. กรณีความไม่ปลอดภัยของทรัพย์ส่วนกลาง ที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์ส่วนบุคคล ในการรับผิดชอบความเสียหาย ควรร่วมกันทั้งฝ่ายเจ้าของและฝ่ายนิติบุคคลอาหารชุด  ปัญหานี้สืบเนื่องจากกรณีเจ้าของร่วมอาคารชุดรายหนึ่งแพ้คดีความในชั้นศาลกรณีรถยนต์หายไปจากลานจอดรถของอาคารชุด แล้วไม่สามารถเรียกร้องให้นิติบุคคลอาคารชุดรับผิดชอบ หรือชดเชยค่าเสียหายได้ เนื่องจากศาลพิจารณาว่าหน้าที่ของนิติบุคคลคือการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางเท่านั้น ส่วนรถยนต์คือ ทรัพย์ส่วนตัว อย่างไรก็ตามปัญหานี้เกิดจากสาเหตุ เรื่องที่จอดรถไม่เพียงพอ ไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกร้องเรียนต่อคณะกรรมการองค์การอิสระฯ เป็นอันดับต้นๆ ดังนั้นเพื่อให้มีมาตรการดูแลทรัพย์ส่วนกลางให้มีคุณภาพมาตรฐาน การรับผิดชอบความเสียหาย ควรร่วมกันทั้งฝ่ายเจ้าของและฝ่ายนิติบุคคลอาหารชุด  3. กรณีที่มีคำสั่งปัญหาความไม่เข้าใจกฎหมาย ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการประชาสัมพันธ์ที่สามารถเข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุด รู้สิทธิ เข้าใจบทบาทในการเป็นเจ้าของร่วม การรวมตัวเพื่อใช้สิทธิ และมีส่วนร่วมในการเข้าประชุมเสนอแนะ และคัดเลือกกรรมการมากขึ้น โดยเฉพาะการรับรู้ข้อกฎหมายเรื่องการจ่ายค่าส่วนกลาง ค่าปรับ และการเสียสิทธิกรณีไม่จ่ายค่าส่วนกลางติดต่อกัน เนื่องจากพบว่ามีเจ้าของร่วมไม่รู้ข้อกฎหมายดังกล่าวเกือบครึ่งหนึ่งของเจ้าของร่วม พร้อมกันนี้ มีข้อเสนอให้กรมที่ดิน จัดทำคู่มือการอยู่อาศัยในอาคารชุด โดยมีรายละเอียดอธิบายสิทธิหน้าที่ของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด หน้าที่ของนิติบุคคล ทั้งการจัดการประชุม การเลือกกรรมการ การชี้แจงหลักเกณฑ์ การเปิดเผยข้อมูลรายรับรายจ่าย รวมถึงกฎหมายกำหนดหน้าที่ของลูกบ้าน เช่น กำหนดจ่ายค่าส่วนกลาง หรือการจ่ายค่าปรับกรณีไม่จ่ายค่าส่วนกลาง การใช้เอกสารโฆษณา เอกสารแนะนำการขายสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โดยคู่มือดังกล่าวต้องมอบแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และเมื่อมีการเปิดขายห้องชุดต้องส่งมอบคู่มือดังกล่าวแก่ผู้บริโภคทุกรายด้วยข้อสรุปปัญหาจากการบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุดและผลในทางกฎหมาย1.ปัญหาหน้าที่ในการจัดประชุมใหญ่สิ่งที่กฎหมายกำหนดผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่ต่อการประชุม ดังนี้-จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการและพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อบังคับ และผู้จัดการที่จดทะเบียนตามที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดไว้แล้ว หากไม่ทำต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท-นำมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติ หากไม่ทำต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท-นำมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมเรื่องแต่งตั้งกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติ หากไม่ทำต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท-นำมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมเรื่องแต่งตั้งกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติ หากไม่ทำต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท2.ปัญหาเรื่องการเงินสิ่งที่กฎหมายกำหนดกฎหมายกำหนดให้ผู้จัดการต้องจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำเดือนภายใน 15 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนและปิดประกาศให้เจ้าของร่วมทราบต่อเนื่องเป็นเวลา 15 วัน หากไม่ดำเนินการมีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 500 บาท3.ปัญหาหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปสิ่งที่กฎหมายกำหนดผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่เป็นตัวแทนของนิติบุคคลอาคารชุดในการจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง ดูแลให้เจ้าของร่วมให้ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด จัดให้มีการดูแลความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยภายในอาคารชุด และต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานนิติบุคคลอาคารชุดตามที่กำหนดในข้อบังคับเข้าใจเรื่อง การทำงานของนิติบุคคลอาคารชุด4 องค์ประกอบหลัก คือ1.นิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลอาคารชุด ส่วนใหญ่แล้ว ก็คือกลุ่มคนที่บริษัทเจ้าของโครงการ “ว่าจ้าง” เข้ามาเพื่อจัดการดูแลทรัพย์สินส่วนกลางต่างๆ ของอาคารชุด หรือ คอนโด ซึ่งคอนโด สามารถแยกการถือกรรมสิทธิ์ออกเป็นส่วนๆ ได้ โดยประกอบด้วย 2 ส่วน คือ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคล และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง ซึ่งนิติบุคคลอาคารชุดจะมีหน้าที่ดูแลและจัดการในทรัพย์ส่วนกลางเท่านั้น กฎหมายกำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง เช่น1.ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด ได้แก่ ที่ดินที่ปลูกสร้างอาคารชุดนั้น รวมถึงบริเวณติดต่อกันด้วย เช่น ที่ดินที่มีสนามหญ้า หรือมีที่ปลูกต้นไม้อยู่ในบริเวณเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นที่ดินที่ตั้งอาคารชุดนั่นเอง2.ที่ดินที่มีไว้เพื่อใช้หรือประโยชน์ร่วมกัน เช่น ที่ดินที่เป็นลานจอดรถร่วมกันหรือที่ดินที่จัดไว้เป็นสวนไม้ดอกเพื่อความสวยงามของอาคารชุดนั้น3.โครงสร้าง และสิ่งก่อสร้างเพื่อความมั่นคง และเพื่อป้องกันความเสียหายต่อตัวอาคารชุด ได้แก่ เสา เสาเข็ม หลังคา ดาดฟ้า ฝาผนังด้านนอกโดยรอบ เป็นต้น4.อาคารหรือส่วนของอาคาร และเครื่องอุปกรณ์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น อาคารที่เป็นโรงเก็บรถร่วมกัน ระเบียงราวลูกกรง บันได ทางเดินระหว่างห้องชุด เป็นต้น5.เครื่องมือและเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น เครื่องตัดหญ้า เครื่องสูบน้ำ เครื่องดูดฝุ่น6.สถานที่ที่มีไว้เพื่อบริการส่วนรวมแก่อาคารชุด เช่น สระว่ายน้ำ สนามกีฬา สนามเด็กเล่น เป็นต้น7.ทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น ลิฟท์ ถังขยะ เป็นต้น2.ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด กฎหมายกำหนดไว้ว่านิติบุคคลอาคารชุด ต้องมีผู้จัดการ 1 คน จะเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นนิติบุคคลเป็นผู้จัดการก็ต้องแต่งตั้งตัวแทนหนึ่งคนเข้ามาดำเนินการทำหน้าที่ในฐานะผู้จัดการแทนนิติบุคคลอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด1.จัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และมีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมติของเจ้าของร่วม2.ในกรณีจำเป็นและรีบด่วน ให้ผู้จัดการมีอำนาจโดยความริเริ่มของตนเองสั่งหรือกระทำการใดๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยของอาคาร3.จัดให้มีการดูแลความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยภายในอาคารชุด4.เป็นผู้แทนของนิติบุคคลอาคารชุด5.จัดให้มีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำเดือน และติดประกาศให้เจ้าของร่วมทราบภายใน 15 วันนับแต่วันสิ้นเดือนและต้องติดประกาศเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วันต่อเนื่องกัน6.ฟ้องบังคับชำระหนี้จากเจ้าของร่วมที่ค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ตามข้อปฏิบัติของอาคารชุด เกิน 6 เดือนขึ้นไป3.คณะกรรมการอาคารชุด กฎหมายกำหนดให้ทุกอาคารชุดต้องจัดให้มีคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด ประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่า 3 คนแต่ไม่เกิน 9 คน การแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการต้องนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติแต่งตั้งใครบ้างมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการอาคารชุด1.เจ้าของร่วมหรือคู่สมรสของเจ้าของร่วม2.ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ในกรณีที่เจ้าของร่วมเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ แล้วแต่กรณี3.ตัวแทนของนิติบุคคลจำนวนหนึ่งคน ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วมในกรณีที่ห้องชุดใดมีผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของร่วมหลายคนให้มีสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการจำนวนหนึ่งคนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอาคารชุด 1.ควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด2.แต่งตั้งกรรมการคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ ในกรณีที่ไม่มีผู้จัดการหรือผู้จัดการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามปกติได้เกิน 7 วัน3.จัดประชุมคณะกรรมการหนึ่งครั้งในทุก 6 เดือนเป็นอย่างน้อยโดยกรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี แต่จะดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระติดต่อกันไม่ได้ เว้นแต่ไม่อาจหาบุคคลอื่นมาดำรงตำแหน่งได้4.เจ้าของร่วมเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องแรก ผู้ซื้อห้องของอาคารชุดก็ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของร่วมทันที โดยจะมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนบุคคล และมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลางของโครงการที่อาศัยอำนาจหน้าที่ของเจ้าของร่วม 1.มีสิทธิ์เข้าประชุมทั้งสามัญและวิสามัญเพื่อให้องค์ประชุมครบ 1/4 ของเจ้าของร่วมทั้งหมด และดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ต่อไปได้2.มีสิทธิ์สมัครเป็นคณะกรรมการอาคารชุด3.มีสิทธิ์โหวต ออกความคิดเห็น คัดค้าน ตามอัตราส่วนสิทธิ์ของตัวเองในเรื่องต่างๆ ของที่ประชุม 

อ่านเพิ่มเติม >

รถถูกน้ำท่วมรถเคลมยังไง?

ตรวจดูความคุ้มครองของกรมธรรม์ขั้นตอนแรก ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด คือ การตรวจดูความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจที่เราต่ออายุไว้ทุกปี  ว่าครอบคลุมความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติด้วยหรือไม่  ซึ่งความคุ้มครองตัวรถที่เอาประกันภัยคือประกันชั้น 1ประกันชั้น 2+ บางแพคเกจประกันชั้น 3+ บางแพคเกจความคุ้มครองประกันแบ่งความเสียหายจากน้ำท่วมเป็นสองแบบคือ 1.การสูญเสียโดยสิ้นเชิงคือกรณี น้ำท่วมมิดคัน หรือ ท่วมเกินช่วยคอนโซลหน้า ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับทั้งห้องโดยสาร บริษัทประกันประเมิณว่า ไม่คุ้มที่จะซ่อมให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม บริษัทประกันยินดีที่จะจ่ายเงิน 70-80% ของทุนประกันเพื่อเป็นการขอซื้อซากรถ2.ความเสียหายบางส่วนถ้ารถคันนั้นไม่เสียหายมากนัก สามารถซ่อมกลับมาใช้ได้ ประกันภัยก็จะตีเป็นลักษณะความเสียหายบางส่วน บริษัทประกันจะรับผิดชอบซ่อมแซมรถให้กลับมาใช้งานได้ปกติ โดยที่ประกันภัยนั้นจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดขั้นตอนการเคลมประกันจากน้ำท่วมเมื่อรถเราเจอน้ำท่วมขั้อนตอนการเคลม  โทรแจ้งประกันที่เราได้ทำประกันไว้  จากนั้นจะมีจ้าหน้าที่ประกันมาประเมิณความเสียหาย เมื่อประเมิณเสร็จแล้ว หากรถเราเสียหายบางส่วนก็รอใบเคลม แล้วนำไปเข้าอู่ซ่อม แต่ถ้ารถเสียหายทั้งคัน(เกินจะซ่อมแซม) ไม่สามารถนำมาใช้ใหม่ ผู้เอาประกันก็รอรับค่าเสียหายจากประกันที่จะซื้อซากรถที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว  แต่มีบางกรณี ที่บริษัทประกันจะไม่รับผิดชอบเลยก็คือเราตั้งใจปล่อยให้น้ำท่วมรถหรือตั้งใจขับไป (ต้องพิสูจน์)ขับรถลุยน้ำ ทำอย่างไรให้ปลอดภัย1. สังเกตระดับน้ำว่าลึกขนาดไหน อาจมองจากขอบทางเดินถนน หรือ ถ้ามีรถคันอื่นขับผ่านถนนเส้นนั้นอยู่ ให้ลองกะดูจากสายตา หากคุณขับรถเก๋งคุณสามารถลุยน้ำได้หากระดับน้ำไม่เกิน 30 ซ.ม. ไม่อย่างนั้นอาจเครื่องดับ2. ปิดแอร์! เพราะเมื่อเปิดแอร์ พัดลมจะทำงานและพัดน้ำให้กระจายไปทั่วห้องเครื่อง น้ำนี้แหละทำให้เครื่องดับได้3. ขับช้าๆ ด้วยระดับความเร็วที่มั่นคง ใช้เกียร์ต่ำ คือเกียร์ 1-2 และรักษาอัตราเร่งไว้ให้ได้ประมาณ 1500-2000 รอบ ต่ำกว่านี้เครื่องอาจดับ สูงกว่านี้อาจจะดูดอากาศและน้ำเข้าเครื่องได้อีก สำหรับเกียร์ออโต้ ใช้เกียร์ L จำไว้ว่า ขับช้าๆ อย่าหยุด อย่าเร่งเร็ว4. การขับเร่งเครื่องอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่คนเดินถนนและผู้ใช้รถคนอื่นๆ ได้ โดยรถอาจลอยขึ้นจากถนนและทำให้คุณควบคุมรถไม่ได้ น้ำสกปรกอาจกระเด็นไปโดนคนเดินถนน และการเร่งเครื่องจะทำให้เครื่องเกิดความร้อน พอเครื่องเกิดความร้อน พัดลมใบพัดเพื่อระบายความร้อนทำงาน พอพัดลมทำงาน ก็จะพัดน้ำให้กระจายเต็มห้องเครื่องนั่นเอง5. เลี่ยงไม่ขับผ่านตรงที่มีสายไฟฟ้าจมลงไป เดี๋ยวไฟดูดนะครับ6. ดูว่ามีวัตถุอะไรลอยตามน้ำมาไหม เพราะมันอาจขวางหรือชนรถทำให้คุณขับต่อไปไม่ได้7. พยายามรักษาระยะห่างจากรถคันหน้า เพราะระบบเบรกแช่น้ำอยู่ ประสิทธิภาพจะต่ำลง8. หากเจอพื้นที่ที่มีน้ำไหล ลึกประมาณ 4 นิ้ว อย่าขับรถผ่านตรงนั้นเด็ดขาด เพราะคุณกับรถอาจโดนกวาดไปพร้อมกับสายน้ำได้9. หากเครื่องดับระหว่างอยู่กลางน้ำ อย่าสตาร์ทเครื่องเพราะเครื่องยนต์อาจได้รับความเสียหาย ให้โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือหรือเรียกคนที่อยู่ภายนอกรถให้ช่วย และสุดท้าย10. เมื่อขับรถสวนกับรถอีกคันให้ลดความเร็วลง ไม่งั้นจะเป็นการทำคลื่นชนคลื่น ทำให้น้ำกระเด็นไปทำอันตรายต่ออุปกรณ์ภายในรถทั้งสองคันได้หลังพ้นพื้นที่ที่มีน้ำท่วม1. ให้ทดสอบเบรกโดยการขับช้าๆ และเบรกเป็นช่วงๆ เพื่อให้ผ้าเบรกแห้ง และดิสเบรกจะแห้งเร็วกว่าดรัมเบรก2. อย่าพึ่งดับเครื่องยนต์ทันที จอดทิ้งไว้โดยที่ยังสตาร์ทเครื่องไว้ซักครู่ เพื่อให้น้ำในท่อไอเสียระเหยออกไปให้หมด ซึ่งอาจจะมีไอออกมาจากท่อ นี่คือสิ่งปกติ หากคุณดับเครื่องทันที ท่อไอเสียอาจจะผุได้การดูแลรถหลังจากมีการลุยน้ำท่วม1. ล้างรถให้สะอาด ฉีดน้ำเข้าท้องรถ ล้อรถ กำจัดเศษหินดินทราย เศษหญ้า ใบไม้ เพราะอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้2. เปลี่ยนน้ำมันเกียร์ เพราะจะมีน้ำซึมเข้าไปในระบบเกียร์ทำให้พังได้3. เช็คลูกปืนล้อ เมื่อแช่น้ำนานอาจทำให้เกิดเสียงดัง4. ตรวจสอบพื้นพรมในรถ เปิดผ้ายาง รื้อพรม เพื่อป้องกันการติดเชื้อราในพรมและการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ5. ตรวจสอบระบบต่างๆ ให้อยู่ในความเรียบร้อย หากพบอะไรที่ผิดปกติให้นำรถเข้าศูนย์เช็คสภาพรถด่วนร้องเรียนเรื่องประกันภัยได้ที่ สายด่วน  1186  สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)     http://www.oic.or.thหรือ 022483737 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ข้อมูลเพิ่มเติม  และขอบคุณข้อมูลhttp://www.consumerthai.orghttp://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/86321http://www.moneyguru.co.thhttp://www.moneyandbanking.co.thhttps://goo.gl/wjSgtihttps://goo.gl/GS76Mf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ก้าวต่อไปของการคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล

“เมื่อถึงวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี เราก็กลับมาพบกันอีกครั้งกับวันสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อเตือนให้ผู้บริโภคทุกคนตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเคารพและปกป้องสิทธิของผู้บริโภคอย่างทั่วถึงทั้งโลก โดยสำหรับในปี พ.ศ. 2560 นี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนก็ได้มีโอกาสข้ามน้ำทะเลไปร่วมงานประชุมผู้บริโภคสากลที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ภายใต้ประเด็นหลักคือการคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล ซึ่งจะมีข้อมูลน่าสนใจอะไรบ้าง เราลองไปดูกันเลยทำความรู้จักวันสิทธิผู้บริโภคสากลกันสักนิดแม้ว่าในแต่ละประเทศจะกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภคไว้มากน้อยแตกต่างกัน แต่แนวทางหลักๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการกำหนดกฎหมาย ต่างมีที่มาจากหลักสิทธิผู้บริโภคสากลขั้นพื้นฐาน 8 ประการ ได้แก่ 1. สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน 2. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ 3. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่จำเป็นเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ 4. สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระในราคายุติธรรม 5. สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม 6. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและค่าชดเชยความเสียหาย 7. สิทธิที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริโภค และ 8. สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย ซึ่งถูกบัญญัติไว้โดยสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) นั่นเองสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล เป็นกลุ่มองค์กรอิสระที่ก่อตั้งมานานกว่า 50 ปี มีประเทศสมาชิกในเครือข่ายองค์กรกว่า 240 องค์กรใน 120 ประเทศทั่วโลก ซึ่งบ้านเราก็เป็นหนึ่งในสมาชิกที่อยู่ในกลุ่มสภาองค์กรผู้บริโภคประเทศอาเซียน หรือในกลุ่มประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย โดยสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลมีเป้าหมายเพื่อทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทั่วโลกโดยไม่แสวงหาผลกำไร และรับรองให้ทุกวันที่ 15 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งในวันดังกล่าวจะมีการจัดเวทีประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลปัญหาของผู้บริโภค รวมทั้งมีการกำหนดประเด็นในการรณรงค์ร่วมกันของกลุ่มประเทศสมาชิก เช่น ในปีที่ผ่านมาได้มีการร่วมรณรงค์ต่อยาปฏิชีวนะในอาหาร เนื่องจากพบว่าสามารถทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา รวมทั้งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อและการเจ็บป่วยเล็กน้อยได้ การคุ้มครองผู้บริโภคในโลกดิจิทัลสำคัญอย่างไรแม้ประเด็นปัญหาของผู้บริโภคจะมีมากมายแตกต่างกันไป แต่หนึ่งปัญหาใหญ่ที่ผู้บริโภคทั่วโลกต้องเผชิญร่วมกันในยุคนี้ก็หนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้บริโภคทั่วโลก โดยช่วยทำให้เข้าถึงและดำเนินการด้านข้อมูลต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกและการแข่งขัน รวมทั้งกระตุ้นให้มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในโลกธุรกิจ เช่น การซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ หรือการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ อย่างไรก็ตามข้อมูลอีกด้านหนึ่งกลับว่า โลกดิจิทัลได้สร้างอุปสรรคและความเสี่ยงต่างๆ ให้ผู้บริโภคจำนวนมาก ซึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบมากที่สุดคือยังมีผู้บริโภคบางส่วนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต และผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังไม่เชื่อมั่นในระบบความปลอดภัยของโลกออนไลน์ เพราะต่างกลัวว่าข้อมูลส่วนตัวจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือจะตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงในโลกออนไลน์ ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้ผู้บริโภคทุกภาคส่วนของโลกสามารถเข้าถึงโลกดิจิทัลได้อย่างครอบคลุม สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลจึงผลักดันให้ปัญหาดังกล่าวให้กลายเป็นประเด็นหลักสำหรับในปีนี้ โดยกำหนดชื่อการชุมประชุมว่า “Building a Digital World Consumers Can Trust” หรือการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในโลกดิจิทัล อุปสรรคและความเสี่ยงของโลกดิจิทัลส่งผลกระทบอย่างไรบ้างจากปัญหาของผู้บริโภคข้างต้น ได้เผยผลสำรวจในงานประชุมผู้บริโภคสากลครั้งนี้ว่าอุปสรรคและความเสี่ยงต่างๆ ได้ส่งผลกระทบด้านลบโดยตรงต่อเศรษฐกิจทางดิจิทัล ทำให้ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า ความเชื่อใจของผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญต่อการซื้อ (demand) ซึ่งจะทำให้ตลาดดิจิทัลเจริญเติบโตทางด้านกำลังขาย (supply) ดังนั้นหากปราศจากความเชื่อใจของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอาจจะไม่มีทางเป็นไปได้ ทั้งนี้หากต้องการให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อใจนั้น ต้องมีกฎหมายที่คลอบคลุมเพื่อสร้างความมั่นใจในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านความเป็นส่วนตัว การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือด้านการชดเชยเยียวยา นอกจากนี้ในทุกประเทศควรมีองค์กรที่ทำหน้าที่สร้างความตระหนักและให้ความรู้กับผู้บริโภค เพื่อยกระดับความสามารถของผู้บริโภคการเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย อย่างองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นต้น แนวทางแก้ปัญหาเพื่อคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัลเพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งเพื่อทำให้ผู้บริโภคเกิดความไว้วางใจในโลกดิจิทัลมากขึ้น หลายประเทศต่างๆ ทั่วโลกในกลุ่ม G20 (Group of Twenty) หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 20 แห่ง ได้แก่ อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, บราซิล, แคนาดา, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เม็กซิโก, รัสเซีย, ซาอุดิอาระเบีย, แอฟริกาใต้, ตุรกี, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกาและองค์กรสหภาพยุโรป ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเท่ากับร้อยละ 90 ของเศรษฐกิจโลก และมีประชากรรวมกันประมาณ 2 ใน 3 ของโลก จึงร่วมมือกันหาแนวทางคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล ซึ่งได้นำแนวทางของ UNGCP (UN Guidelines for Consumer Protection) หรือแนวทางของสหประชาชาติในการคุ้มครองผู้บริโภคมาเป็นกรอบแนวคิดเพื่อแก้ไขปัญหา โดยสามารถสังเคราะห์ออกมาได้เป็น 8 มิติที่ครอบคลุมประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น การขยายการเข้าถึงบอร์ดแบรนด์ การปรับปรุงคุณภาพ การพัฒนาทักษะหรือความสามารถของผู้บริโภคในการเข้าถึงโลกออนไลน์กรอบคิดของ UN ในการคุ้มครองผู้บริโภคในโลกดิจิทัลมีอะไรบ้าง8 มิติของการแก้ปัญหาที่กลุ่ม G20 ร่วมกันวางกรอบแนวคิดไว้ มีการกำหนดตัวบ่งชี้ที่สามารถอธิบายและวัดความก้าวหน้าได้ เพื่อทำให้การแก้ปัญหามีความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ดังนี้1. ด้านการเข้าถึงเพื่อลดช่องว่างของการเข้าถึงข้อมูลบนโลกดิจิทัล จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดที่สามารถบ่งบอกได้ว่าผู้บริโภคจะได้รับการส่งเสริมด้านใดบ้าง ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้จากสัดส่วนของประชากรได้รับบริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือสัดส่วนของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต และวัดความพึงพอใจในคุณภาพและราคาที่ต้องเสียไปเมื่อมีการเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลต่างๆ 2. ด้านประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ควรมีกฎหมายด้านการแข่งขันทางการค้าสำหรับโลกดิจิทัล เพื่อป้องกันผู้บริโภคถูกเอาเปรียบด้านราคา รวมทั้งต้องให้ผู้บริโภคมีความสามารถที่จะเปลี่ยนผู้ให้บริการ ICT ได้หากไม่พึงพอใจการให้บริการออนไลน์3. ความปลอดภัยด้านสินค้าและความรับผิด โลกดิจิทัลควรมีความปลอดภัย ซึ่งสามารถชี้วัดได้จำนวนและความรุนแรงของการรายงานเหตุสินค้าและบริการดิจิทัลที่ไม่ปลอดภัย โดยต้องพัฒนากฎหมายด้านความปลอดภัยและความรับผิด รวมทั้งควรมีหน่วยงานกำกับ ดูแล ควบคุมหรือสินค้าและบริการดิจิทัล นอกจากนี้ภาคธุรกิจก็ควรร่วมมือด้วยการยึดมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยก่อนวางตลาด หรือติดตาม ตรวจสอบสินค้าของตนเองหลังการวางจำหน่ายในตลาด และเรียกคืนสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ4. ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยด้านข้อมูล เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยด้านข้อมูล ควรมี Internet server ที่ปลอดภัย และพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว5. ข้อมูลและความโปร่งใสควรมีองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้คำแนะนำก่อนทำการซื้อขาย หรือมีหน่วยงานทดสอบเปรียบเทียบสินค้าหรือบริการออนไลน์ต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคก่อนตกลงซื้อ6. การศึกษาและจิตสำนึกเพื่อทำให้ผู้บริโภคมีความรู้เท่าทันโลกดิจิทัล จำเป็นต้องเพิ่มทักษะด้านการใช้งานหรือสามารถแก้ไขปัญหาได้ หากพบว่าตนเองถูกหลอกลวงในโลกออนไลน์ เช่น วิธีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ  7. การแก้ปัญหาข้อพิพาทและการเยียวยาความเสียหายตัวชี้วัดสำหรับมิตินี้ สามารถพิจารณาได้จากสถานะของการดำเนินการระงับข้อพิพาทและการเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งความพึงพอใจของผู้บริโภคเมื่อได้รับการแก้ปัญหา โดยควรพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการระงับข้อพิพาทและการเยียวยาความเสียหายให้มากขึ้น รวมทั้งทำให้ระบบจัดการเรื่องร้องเรียนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น8. ธรรมาภิบาลและความมีส่วนร่วมหน่วยงานของรัฐสามารถสร้างความเชื่อใจของผู้บริโภคในด้านการคุ้มครองสิทธิทางดิจิทัล ด้วยการออกกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล หรือให้มีองค์กรเพื่อผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย และให้หน่วยงานเพื่อผู้บริโภคมีอำนาจในการฟ้องคดีกลุ่มแทนผู้บริโภค นอกจากนี้หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้าน ICT ต้องมีความโปร่งใสนอกจากนี้เพื่อให้ได้เพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลก็ได้เสนอแนะให้กลุ่ม G20 ริเริ่มกระบวนการที่สามารถใช้เพื่อประเมิน หรือตรวจสอบสถานะของการคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิตัลทั้งในระยะกลางและระยะยาว รวมทั้งควรร่วมมือกันในการพัฒนาเครื่องมือกลไกสำหรับการจัดทำนโยบายและดำเนินการตามแผนนโยบายดังกล่าวเพิ่มเติม เช่น จัดตั้งคณะทำงานหรือมีองค์กรระหว่างประเทศที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นทางการ หรือมีโครงการทดลองนำร่องเพื่อแก้ปัญหาและมีการประเมินผล แนะแนวทางเบื้องต้นสำหรับปกป้องข้อมูลของตัวเองบนออนไลน์นอกเหนือจากไปกรอบแนวคิดที่กลุ่ม G20 ได้ร่วมกันเสนอเพื่อคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัลแล้ว ก่อนจบการประชุมครั้งนี้สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลก็ได้นำเสนอ 10 วิธีเบื้องต้นที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถปกป้องข้อมูลของตัวเองบนออนไลน์ได้ ซึ่งมีดังนี้1. ใช้รหัสผ่านที่ต่างกันในแต่ละบัญชีผู้ใช้ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงรหัสผ่านเสมอเพื่อป้องกันการถูกล้วงข้อมูล 2. ใช้การตั้งค่าความปลอดภัย หรือความเป็นส่วนตัวบนอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเชื่อมต่อโลกออนไลน์เสมอ 3. ระวังสิ่งที่แบ่งปันในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในพื้นที่ที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย 4. ตั้งค่ารหัสผ่าน Wi-Fi เพื่อจำกัดการเข้าถึงเครือข่ายที่เราใช้งานอยู่ 5. อย่าหลงกลอีเมลหลอกลวงที่มักให้เรากดเข้าไปดูและกรอกรายละเอียดส่วนตัว 6. หลีกเลี่ยงการเปิดไฟล์แนบอีเมลหรือลิงก์ที่ผิดปกติ  7. ควรมีบัญชีอีเมลมากกว่า 1 บัญชี ซึ่งช่วยป้องกันการระบุที่อยู่อีเมลที่แท้จริงเมื่อต้องสมัครลงชื่อใช้บริการในเว็บไซต์ต่างๆ 8. ชำระเงินกับเว็บไซต์ที่ปลอดภัย โดยสามารถตรวจสอบได้จากที่อยู่ของเว็บดังกล่าว ซึ่งควรขึ้นต้นด้วย “https: //” ไม่ใช่แค่ 'http' หรือมีเครื่องหมายเป็นรูปกุญแจล็อคสีเขียวที่ด้านซ้ายหรือด้านขวาข้างๆ ที่อยู่ดังกล่าว 9. อัปเดตซอฟต์แวร์เสมอ เพื่อให้ระบบรักษาความปลอดภัยบนอุปกรณ์การเชื่อมต่อมีความทันสมัย 10. ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสที่มีประสิทธิภาพ *ข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจากเว็บไซต์: http://www.consumersinternational.org/wcrd-2017-resource-pack/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 จัดฟันแฟชั่น แก้ที่กฎหมายยังไม่พอ

พบท่อสี “จัดฟันแฟชั่น” ปนเปื้อนแคดเมียมปริมาณสูง ฉลาดซื้อ ทันตแพทยสภาและแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ(คคส.) เก็บตัวอย่างยางจัดฟัน ท่อสี ลวดมัดฟันและแบรกเก็ตจัดฟัน เมื่อเดือน ก.พ. 60 จากร้านค้าออนไลน์ พบตัวอย่างท่อสี(ท่อยางที่ใช้ร้อยกับลวดรีเทนเนอร์) สีดำและสีชมพู ซึ่งเป็นสียอดนิยมในหมู่วัยรุ่นผู้ชื่นชอบการใส่รีเทนเนอร์แฟชั่น  พบว่า มีปริมาณแคดเมียม สูงถึง 695  mg/kg ในท่อสี สีดำ และ 692  mg/kg ในท่อสี สีชมพู   ซึ่งแคดเมียมปริมาณสูงที่พบในท่อสี เมื่ออยู่ในปากจะถูกละลายโดยน้ำลายและถูกกลืนเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดพิษจากโลหะหนัก ตับวาย ไตวาย และมะเร็ง  การทดสอบครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อยืนยันว่า อุปกรณ์จัดฟันแฟชั่น ได้แก่ ลวด แบรกเก็ต ยางโอริง ยางซีเซน ท่อสี ที่จำหน่ายโดยร้านค้าออนไลน์ และร้านค้าที่ขายส่งอุปกรณ์จัดฟัน จะยังเข้าข่ายสินค้าอันตรายหรือไม่ เพื่อประเมินว่า ความเสี่ยงในการตกค้างของสารโลหะหนักจะยังคงรุนแรง อย่างเช่นการทดสอบในครั้งก่อนตอนที่การจัดฟันเถื่อนเริ่มฮิตใหม่ ซึ่งขณะนั้นวัสดุและอุปกรณ์จัดฟันเถื่อนจะเป็น “ของเลียนแบบ” เครื่องมือจัดฟันที่ใช้ในทางการแพทย์ เป็นส่วนใหญ่  ครั้งนี้ฉลาดซื้อ ได้ซื้อสินค้าอุปกรณ์จัดฟันแฟชั่นจากร้านค้าทางออนไลน์ 38 ตัวอย่าง จากร้านค้าบนเฟซบุ๊คสองร้าน ร้านละ 19 ตัวอย่าง และจากตัวแทนร้านค้าอุปกรณ์ที่จำหน่ายให้กับทันตแพทย์ 9 ตัวอย่าง แล้วส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อหาโลหะหนัก ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท โครเมียม และสารหนู  ผลการวิเคราะห์(จากจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 47 ตัวอย่าง) พบสองตัวอย่างที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียม ได้แก่ ท่อสี สีชมพูของร้านค้าจากเฟซบุ๊คที่เลือกเป็นตัวแทนร้านค้าออนไลน์ทั่วไป  มียอดผู้กดถูกใจจำนวนมาก โดยพบปริมาณแคดเมียม 692  mg/kg และ ท่อสี สีดำของร้านค้าเดียวกัน พบปริมาณแคดเมียม 695  mg/kg   ซึ่งสินค้าจากร้านค้าที่เป็นตัวแทนร้านจัดฟันแฟชั่นที่ขายสินค้าบนเฟซบุ๊คแห่งนี้ มีการจำหน่ายสินค้าในราคาถูกมาก สั่งซื้อง่าย ฉลาดซื้อเก็บตัวอย่างจากร้านค้าแห่งนี้ จำนวน 19 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนสองตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ   10.5    ซึ่งการพบการปนเปื้อนครั้งนี้ ต้องถือว่า ผู้ชื่นชอบการจัดฟันแฟชั่นยังคงมีความเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษจากโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในวัสดุจัดฟันแฟชั่น ที่มีราคาถูกและหาซื้อได้ง่ายในร้านค้าบนโลกออนไลน์  จากจัดฟันเถื่อนหน้าร้านสู่จัดฟันแฟชั่นบนโซเชียล การทำทันตกรรมจัดฟัน โดยบุคคลที่มิใช่ทันตแพทย์ เป็นปัญหาที่ยังคงคุกคามสุขภาพในช่องปากของเด็กไทยมาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่มีการรับทำจัดฟันแบบห้องแถว ตลอดจนร้านค้าตามแหล่งช้อปปิ้งต่างๆ ที่คึกคักโจ่งแจ้ง จนขนาดสำนักงานต่างประเทศเอาไปออกข่าวยกให้เป็นประเทศหนึ่งเดียวในโลกที่ “วัยรุ่น” ชื่นชอบการจัดฟัน โดยคนที่ไม่ได้เป็นหมอฟัน ยกย่อง(ประชด) ว่า ช่างไม่กลัวอันตรายใดๆ ห่วงอย่างเดียวคือ กลัวตกเทรนด์แฟชั่น ร้อนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาเร่งปราบปรามกันไปครั้งหนึ่ง แต่แฟชั่นยิ้มอวดฟันเหล็กและยางสีสวยๆ นั้นมันไม่เคยหายไป  จากการจัดฟันแฟชั่นที่เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2547 โดยการวางขายลวดดัดฟัน ที่มีลักษณะคล้ายกำไลข้อมือโดยมีปลาย 2 ข้างไว้ใช้ทาบกับพื้น และแหย่เข้าไปหักงอไว้ในซอกฟันเพื่อยึดไว้ ทำให้เวลายิ้มจะดูเหมือนคนจัดฟันมา ซึ่งรูปแบบนี้แทบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว ด้วยถูกมองว่า “เป็นงานหยาบ” และปัจจุบันอุปกรณ์จัดฟันแฟชั่นได้ถูกพัฒนาให้มีลักษณะใกล้เคียงกับการจัดฟันจริงมากขึ้น หรือบางทีก็ใช้วัสดุเดียวกันกับร้านค้าส่งที่ทางทันตแพทย์ใช้จริงหรือสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ  เรียกตามภาษาแม่ค้าว่า “แบบเดียวกับร้านหมอฟัน” หรือ  “คุณภาพสินค้าเท่าเทียมกับคลินิกทันตแพทย์จัดฟัน (medical grade)” ซึ่งกลุ่มผู้นิยมฟันเหล็กสามารถซื้อหามาติดเองได้ โดยมีช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย เพราะการเปิดกว้างของโซเชียลมีเดีย โดยช่องทางที่นิยมกันมากคือ  อินสตาแกรม เฟซบุ๊ค ไลน์ และหน้าเว็บไซต์ รูปแบบการจัดฟันปัจจุบันจะแบ่งเป็นสองแบบหลักๆ คือ จัดฟันแฟชั่นแบบติดแน่น เป็นการเลียนแบบการจัดฟันของทันตแพทย์ให้เหมือนมากขึ้น โดยจะมีการติดเครื่องมือ "แบรกเกต" เป็นโลหะรูปสี่เหลี่ยมที่มีร่องใส่ลวดจัดฟันและมีส่วนยื่นออกมาสำหรับคล้อง ยาง สามารถเลือกสีของยาง รูปร่างของยาง เช่น รูป ดอกไม้ ลายการ์ตูนยอดนิยม อย่าง มิกกี้เม้าส์ โดราเอมอน เป็นต้นจัดฟันแฟชั่นแบบถอดได้ เป็นการใช้เครื่องมือคงสภาพฟัน หรือ "รีเทนเนอร์" ที่เหมือนกับทันตแพทย์ใช้ มีลักษณะเป็นแผ่น พลาสติกปิดอยู่ที่เพดาน หรือข้างลิ้น มีลวดคอยบังคับฟันให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ มีการดัดแปลง เพิ่มแบรกเกตให้ติดอยู่บนลวด ขั้นตอนการทำจะต้องมีการพิมพ์ฟันก่อน เพื่อทำให้ออกมาพอดีกับลักษณะฟัน โดยสามารถเลือกสี ลายของแผ่น พลาสติก และลวดได้ ในรูปแบบ รีเทนเนอร์นี้ ยังพัฒนาเป็น “รีไร้เหงือก” ด้วย คือ ทำออกมาแล้วใส่ได้สะดวก โดยไม่ต้องพิมพ์ฟันก่อน ภาษาแม่ค้าเรียกว่า เป็นโมเดลมาตรฐาน โดยบรรยายสรรพคุณว่า เหมาะสำหรับ ใส่ถ่ายรูป ใส่เที่ยว ไม่อันตราย--------------------------------------------------------------------------------ทำความรู้จักอุปกรณ์จัดฟันแฟชั่น• ลวดจัดฟัน (Archwire)• แบรกเกต (Brackets)• ยางจัดฟัน  แบบ O-Ring มีลักษณะที่สังเกตได้ง่ายๆ นั่นคือ มีห่วงกลมๆ อันเล็กๆ ที่มีลักษณะที่ค่อนข้างยืดหยุ่นได้ไม่มาก มีสารพัดสีให้เลือก ทำหน้าที่ยึดแบรกเกตกับลวด • ยางจัดฟัน  แบบ C-Chainมีลักษณะเหมือนกับโซ่ แบบ ซีเชน นี้ จะได้รับความนิยมมาก หลายคนชอบ อยากใส่ เพราะมันดูสวยดียามเมื่อยิ้มออกมา• ท่อสี  ไม่ได้มีผลกับการดึงฟัน แต่เป็นท่อยางที่ใช้ร้อยกับลวดรีเทนเนอร์พาดไปบนแนวฟัน เพื่ออวดสีสัน ดูสวยงามสำหรับกลุ่มผู้ชื่นชอบแฟชั่นนี้อันตรายจากการจัดฟันแฟชั่นการจัดฟันแฟชั่นเป็นเพียงการนำเครื่องมือจัดฟันติดบนหน้าฟันเท่านั้น ไม่มีผลในการรักษา แต่เป็นการนำของแปลกปลอมใส่เข้าไปในช่องปาก ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนี้ อันตรายจากขั้นตอนการทำ ซึ่งหากทำโดยผิดหลักวิชา อาจเกิดปัญหาจากการติดเชื้อ เพราะกระบวนการทำไม่สะอาดตามมาตรฐาน อันตรายจากวัสดุ วัสดุจัดฟันแฟชั่น บางชนิดยังพบการปนเปื้อนที่เป็นโลหะหนัก เช่น แคดเมียม  หากสะสมในร่างกายมาก ๆ จะเป็นอันตรายต่อไต ทำให้เนื้อเยื่อต่าง ๆ ของเซลล์ตาย อาจทำให้เกิดมะเร็งได้ อันตรายต่อฟันและเนื้อเยื่อในช่องปาก ในขั้นตอนการทำ จะมีการใช้หัวกรอ กรอเอาเคลือบฟันที่ดีออกไป รวมทั้งใช้กรดกัดฟัน ซึ่งจะทำให้เคลื่อนฟันบางลง ทำให้ความแข็งแรงของฟันลดลง ทำให้เสียวฟันได้ง่าย การปรับแต่งลวดโดยผู้ที่ไม่มีความรู้จะทำให้เกิดแรงกดไปที่ตัวฟัน และฟันเคลื่อนไปจากเดิม ทำให้มีอาการปวดฟันมากอาจทำให้ฟันซี่นั้นกลายเป็นฟันตาย รากฟันละลาย อาจจะต้องถอนฟันซี่นั้นทิ้งไปนอกจากนี้การใส่เครื่องมือจัดฟันแฟชั่นมักทำให้เกิดการบาดกระพุ้งแก้ม หรือเนื้อเยื่อในช่องปากกลายเป็นแผล เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเนื้อเยื่อในช่องปาก อีกทั้งเครื่องมือที่ใส่ในปาก จะขัดขวางการแปรงฟันและทำความสะอาดฟัน อาจทำให้ฟันผุ เหงือกอักเสบ บวมแดง มีกลิ่นปาก ยิ่งถ้ากระทำด้วยตนเอง ไม่ได้รับการอบรมที่ถูกวิธีหรือคอยดูแลตรวจสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอโดยทันตแพทย์ ย่อมเกิดปัญหาสุขภาพฟันติดตามมา บางทีก็ผิดพลาดจนยากจะแก้ไขได้ทัน การจัดการกับปัญหาการจัดฟันแฟชั่นด้วยมาตรการทางกฎหมายอุปกรณ์จัดฟันแฟชั่น• คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จากผลการตรวจวิเคราะห์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่พบว่า ลวดดัดฟันแฟชั่น นั้น พบสารปนเปื้อนซึ่งเป็นโลหะหนัก และวัสดุที่ใช้เป็นวัสดุที่ไม่มีมาตรฐาน ลักษณะการนำมาคล้องที่ฟันด้วยลวดที่ไม่แข็งแรง มีโอกาสหลุดลงคอ ทำให้เป็นอันตรายแก่ชีวิต อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือผลเสียด้านสุขอนามัย สคบ. จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 36 วรรคสอง ประกาศห้ามขายถาวรตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2552  ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่10/2552 เรื่อง ห้ามขายสินค้าลวดดัดฟันแฟชั่น ซึ่งประกาศนี้มีผลเฉพาะ “ลวดดัดฟัน” เท่านั้น ปัจจุบัน สคบ.กำลังเร่งพิจารณาเพื่อออกกฎหมายให้ครอบคลุมไปถึงวัสดุอื่นๆ ด้วย • อุปกรณ์จัดฟัน ยังไม่จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ จึงไม่ได้รับการกำกับดูแล ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 • อุปกรณ์จัดฟันแฟชั่นที่ขายทางอินเทอร์เน็ต จะเข้าข่าย ความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  ปัจจุบันปรับมาเป็น ความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2)  พ.ศ. 2560   กำกับดูแลโดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.)สถานที่และผู้ให้บริการจัดฟันแฟชั่น• ผู้ลักลอบดำเนินการจัดฟันแฟชั่นจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2537 มาตรา 28 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ทำการประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว• สถานที่ที่มีการประกอบการทันตกรรมหรือคลินิกที่ประกอบกิจการสถานพยาบาลทันตกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต จะต้องโทษ ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ทว่าเมื่อลองประเมินจากบทบัญญัติทางกฎหมายเพื่อที่จะควบคุมกำกับปัญหาการจัดฟันแฟชั่นเถื่อน อาจเรียกได้ว่า ยังอยู่ในสถานะที่ไม่พร้อมอย่างที่ควรจะเป็น ภาพที่ผู้ค้าบางรายยังสามารถขายสินค้าแฟชั่นนี้ได้อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายยังปรากฏให้เห็นผ่านช่องทางสื่อสารทางโลกโซเชียลอยู่ตลอดเวลา บวกกับค่านิยมของวัยรุ่น ที่ยอมจะสวยในแบบฉบับที่ไม่ตกเทรนด์แฟชั่น มากกว่าการห่วงเรื่องสุขภาพในช่องปาก หรืออันตรายที่แฝงอยู่ในการจัดฟันแฟชั่นนี้ เราคงจะต้องเผชิญกับปัญหานี้ไปอีกนาน ซึ่งไม่ต่างจากเรื่องที่เราเป็นห่วงคนไทยจำนวนหนึ่ง ที่อยากขาว อยากผอม ตามค่านิยมยุคสมัย แต่เลือกวิธีการที่ไม่เหมาะสมด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งการหวังเพียงให้กฎหมายช่วยจัดการอาจจะยังไม่พอ เพราะเป็นแค่การตัดช่องทางซื้อขาย  อย่างไรก็ตามคงต้องร่วมกันกับการปรับค่านิยมให้แก่คนกลุ่มเสี่ยงด้วย       

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 บทเรียน ‘เพย์ทีวี’ กสทช. ต้องปรับ ผู้บริโภคต้องรู้

ในอดีตกาล ทางเลือกในการชมรายการโทรทัศน์ของผู้บริโภคไทยจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ช่อง การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีไม่ได้เกิดการพลิกโฉมเช่นในปัจจุบัน คนรุ่นอายุ 30 ขึ้นไปคงนึกออกเมื่อเปิดทีวีตอนกลางวันของวันธรรมดาจะเจอแต่จอเปล่ากับแท่งสีหลากสี ดีขึ้นหน่อยก็มีเพลงประกอบ สำหรับคนยุค 2017 ไม่อาจจินตนาการถึงทางเลือกที่น้อยนิดเป็นโอกาสให้ธุรกิจเพย์ทีวีหรือช่องโทรทัศน์ที่ต้องจ่ายเงินถึงจะมีสิทธิ์ชมเกิดขึ้นในสังคมไทย แต่ในยุคเริ่มต้น ราคาของทางเลือกชนิดนี้ค่อนข้างสูงสำหรับประชาชนทั่วไปกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น คอนเท้นต์ที่มีหลากหลาย ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้การซื้อหาเพย์ทีวีของผู้บริโภคง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก ซึ่งก็มาพร้อมกับโจทย์ใหม่ๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยเช่นกันยกตัวอย่างในปี 2559 เมื่อบริษัท จีเอ็มเอ็มบี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของซีทีเอช แจ้งผู้ใช้บริการว่า 17 มกราคม ไม่สามารถเติมเงินเพื่อซื้อแพ็คเกจช่องรายการต่างๆ ของ Z Pay TV ในกล่อง GMMz ได้ ทำให้ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับชมช่องรายการของ CTH ทางกล่อง GMMz  ได้ตั้งแต่ วันที่ 6 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป ทางบริษัทเสนอมาตรการเยียวยาในลักษณะของการให้กล่องรับสัญญาณดาวเทียม CTH  พร้อมรับชมแพ็กเกจ Beyond CTH Package ฟรี นาน 4 เดือน 8  เดือน และ 12 เดือน และหากลูกค้าไม่ยอมรับการชดเชยต้องคืนเงินให้กับลูกค้าโดยหลักการคืนในจำนวนเงินตามวันที่ไม่ได้รับ ทว่า ในทางปฏิบัติกลับไม่ง่ายดายเช่นที่ว่า โสภณ หนูรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนนโยบายและพัฒนาองค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า“เนื่องจากกล่องแกรมมี่เดิมดูช่องพิเศษของซีทีเอชไม่ได้ เขาก็เสนอว่าให้มีการยืนยันตนเพื่อรับกล่องซีทีเอชไปดู แล้วก็มีแพ็กเกจบียอนด์ ซีทีเอช ให้ดูฟรี 4 เดือน 8 เดือน 12 เดือน ตามระยะเวลาที่ลูกค้าเหลืออยู่ คือถ้าผมสมัครไป 6 เดือน เหลืออีก 3 เดือน แสดงว่าผมต้องดูฟรีอีก 3 เดือน แต่ผมต้องเปลี่ยนกล่องเป็นกล่องซีทีเอช มันก็จะมีปัญหาว่าไม่ใช่ทุกคนจะดูได้ คือบางบ้านใช้ระบบเคยูแบนด์ เป็นจานเล็ก สีดำๆ จานพวกนี้เวลาฝนตกจะดูไม่ค่อยได้ อีกระบบคือซีแบนด์ เป็นจานใหญ่ๆ แต่กล่องนี้รองรับแค่ระบบเคยูแบนด์ เนื่องจากกล่องจีเอ็มเอ็มแซดแต่เดิมใช้ได้ทั้งสองระบบ ลูกค้าที่ใช้เคยูแบนด์เขาก็เกิดคำถามว่าเขาต้องเสียเงินติดตั้งจานใหม่หรือเปล่า ได้กล่องมาจริง แต่ต้องเสียค่าติดตั้งจานอีกเป็นพัน ทำไมเขาต้องมีภาระตรงนี้ ทำไมบริษัทไม่กำหนดเรื่องนี้ในมาตรการเยียวยาด้วยว่าต้องชดเชยค่าใช้จ่ายตรงนี้ให้ผู้บริโภค”ต่อมาซีทีเอชยกเลิกกิจการทั้งหมดในวันที่ 1 กันยายน จนทุกวันนี้ก็ยังมีผู้บริโภคที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาหลงเหลืออยู่อีกไม่น้อยคราวนี้ลองมาดูกรณีตัวอย่างคลาสสิกและร้อนแรงอย่างทรูวิชั่นส์กันช่วงคาบเกี่ยวปีเก่าปีใหม่ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ เกิดกรณีใหญ่โตเมื่อทรูวิชั่นส์ยกเลิกช่อง HBO ทั้งหมดออกจากผังรายการ ได้แก่ HBO, Cinemax, HBO Signature, HBO Family, HBO Hits และ RED by HBO ทรูวิชั่นส์ไม่ใช่กรณีแรกที่ผู้ให้บริการเพย์ทีวียกเลิกช่องรายการจนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่จ่ายเงินซื้อบริการ บางกรณีก็เยียวยาผู้บริโภคตามเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดไว้ แต่บางกรณีก็ไม่เสียงจากผู้บริโภคกรณีทรูวิชั่นส์ศิวาณัติ ไชยภัฎ หนึ่งในผู้ใช้บริการรายหนึ่งของทรูวิชั่นส์ที่ต้องเสียค่าสมาชิกประมาณ 2,000 บาทต่อเดือน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการยกเลิกรายการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า กล่าวกับฉลาดซื้อว่า“นอกจากยกเลิกรายการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าแล้ว ยังลดระดับเนื้อหาลงมาเป็นระดับที่หาดูได้ทั่วไป เดิมผมเป็นแบบเอ็กคลูซีฟ ต่อมาผมสามารถหาดูได้ในราคาที่ต่ำลง หรือบางคอนเทนต์ที่เป็นของบีบีซีก็ถูกตัดทิ้งไปเลย ทั้งที่ตอนแรกก็มีโฆษณาให้ใช้ พอเราตื่นมาตอนเช้า รายการนี้ก็หายไป โดยไม่ได้บอกอะไรเลย ทั้งที่เขามีช่องทางแม็กกาซีนที่ใช้สื่อสารกับสมาชิกอย่างเป็นทางการทุกเดือน ก็ไม่มีการแจ้งข่าว อ้างแต่ว่ามีตัววิ่งผ่านหน้าจอให้ดูแล้ว“ผมเป็นสมาชิกแบบเอ็กคลูซีฟ เป็นแพลตตินัม ได้ดูช่องพิเศษ ถ้าเป็นบีบีซีจะเป็นช่องพิเศษที่ต้องซื้อเพิ่ม แต่ก็ถอดออกแล้วลดค่าบริการผมลง แต่ผมยินดีจ่ายๆ มาลดผมได้ยังไง ผมมีสิทธิดูช่องเอชบีโอ เขาก็ถอด แล้วเอาช่องทั่วไปที่มีในเคเบิ้ลท้องถิ่นมาให้ดู ถ้าเป็นช่องพวกนี้ ผมไม่ต้องจ่ายเงินแพงขนาดนี้ให้ทรูวิชั่นก็ได้“พอเกิดเหตุขึ้น ผมโทรไปที่คอลล์เซ็นเตอร์ แจ้งว่ามันเป็นมายังไง ผมไม่พอใจอะไร เขาก็จะตอบเป็นสูตรว่าให้ลองชมรายการนี้ จัดหารายการใหม่ที่คุณภาพดีกว่ามาให้ดู ผมบอกว่ารายการพวกนี้ผมหาดูได้ทั่วไปอยู่แล้ว”ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ.2556 หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ข้อ 15 ระบุไว้ชัดเจนว่า กรณีที่ผู้ให้บริการประสงค์จะเปลี่ยนแปลงลักษณะ ประเภท เงื่อนไข มาตรฐาน และคุณภาพในการให้บริการที่ตกลงในสัญญา หรือที่ได้โฆษณาหรือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ หรือการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการอื่นๆ อันมีลักษณะเป็นสาระสำคัญของการให้บริการ ผู้ให้บริการมีหน้าที่แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนมีการเปลี่ยนแปลงในกรณีของทรูวิชั่นส์ถือว่าแจ้งน้อยกว่า 30 วัน อีกทั้งการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรที่ว่าของทรูวิชั่นส์คือการทำตัววิ่งขึ้นบนหน้าจอดังที่ศิวาณัติเล่า ซึ่งผู้บริโภคไม่ได้รับข่าวสารนี้อย่างชัดเจนการเยียวยาที่ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมาตรการเยียวยาที่ทางทรูวิชั่นส์เสนอ มี 6 ข้อ คือมีช่องใหม่  7 ช่อง, อัพเกรดแพคเกจ 1 ระดับ ระยะเวลา 30 วัน, สิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าแพลตตินั่ม เพิ่มแต้ม, สิทธิขอลดแพคเกจ, สิทธิลูกค้ารายปีหรือราย 6เดือนที่จะยกเลิกบริการ และสิทธิลูกค้าสมาชิกไม่ครบ 6 เดือนกับลูกค้าที่ควบบริการเป็นสมาชิกไม่ถึง 12 เดือน ได้รับยกเว้นค่าติดตั้งและค่าสมาชิกประเด็นก็คือมาตรการเยียวยาของทรูวิชั่นส์ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เช่น ช่องรายการที่นำมาชดเชยไม่สามารถทดแทนช่องรายการเดิมได้ ผู้บริโภคควรมีสิทธิยกเลิกได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ได้รับเงินคืน และบริษัทไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะเป็นกรณีที่บริษัทผิดสัญญาและไม่ควรมีการกำหนดระยะเวลาเพื่อทำให้ผู้บริโภคเสียสิทธิ เป็นต้น“ทรูวิชั่นส์เสนอแต้มให้ผม 1,000 แต้ม เขาบอกว่ามันสิทธิประโยชน์ต่างๆ เยอะมาก แต้มนี้ไปแลกเป็นเงินได้ 100 บาท พอ กสทช. รุกหนักขึ้น เขาก็ให้แต้มอีก 1,000 แต้ม ผมบอกว่าแพ็กเกจที่ต่ำกว่าผม ได้อัพเกรดฟรีขึ้นมาร่วม 400 บาท ผมเป็นระดับเอ็กคลูซีฟ ได้เท่ากัน แต่ทำไมจ่ายแพงกว่า” ศิวาณัติ เล่าถึงมาตรการเยียวยาที่ไม่ตอบโจทย์และทำให้เขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งท้ายสุดแล้วเขาก็ตัดสินใจบอกเลิกสัญญากับทรูวิชั่นส์ พร้อมกับติติงการทำงานของ กสทช. ว่าไม่สามารถดูแลผู้บริโภคและกำกับดูแลผู้ประกอบการให้อยู่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ได้เปิดข้อสงวนความเห็นสุภิญญา จากการประชุม กสท. ครั้งที่ 6/2560 วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ในการพิจารณาวาระ 4.26 แผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณี บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ จำนวน 6 ช่องรายการ สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งใน กสทช. (ซึ่งปัจจุบันได้ขอยุติการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวเพื่อรอการตีความทางกฎหมาย เพราะถูกพิพากษาว่ามีความผิดจากกรณีปีนสภา) ได้ขอสงวนความเห็น สรุปความได้ว่า1.ไม่เห็นชอบแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติม เพราะเห็นว่ามาตรการข้างต้นยังไม่ครอบคลุมหลักการชดเชยเยียวยาผู้บริโภคที่ครอบคลุมและเป็นธรรมเพียงพอกับสมาชิกทุกกลุ่ม2.การออกคำสั่งเตือนทางปกครองแก่บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด ในกรณีที่มีพฤติกรรมการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงฯ นั้น เป็นบทลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำของผู้รับใบอนุญาต3.หากพิจารณาการกำกับดูแลของ กสท. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์) ต่อกรณีการยกเลิกกลุ่มช่องรายการ HBO 6 ช่องรายการ นับตั้งแต่การพิจารณากรณีดังกล่าวครั้งแรกในที่ประชุม กสท.ครั้งที่ 43/2559 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 ซึ่งถือเป็นครั้งแรก จนกระทั่งถึงการประชุม กสท.ครั้งที่ 6/2560 วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ตลอดระยะเวลาดังกล่าวมีหลายขั้นตอนที่สุภิญญาเห็นว่า กสท. มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ประกาศ กสทช. กำหนด และมีความล่าช้าในการพิจารณาดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคสับสนและไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างทันท่วงที รวมทั้งอาจมีแนวทางการพิจารณาที่ข่ายเลือกปฏิบัติต่อผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายแตกต่างกัน การดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ของ กสท.ข้างต้น แสดงถึงการกำกับดูแลที่ล่าช้า ขาดประสิทธิภาพ และอาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับใบอนุญาตบางรายรวมทั้งละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม(สามารถอ่านข้อสงวนความเห็นของสุภิญญา กลางณรงค์ โดยละเอียดได้ที่ http://www.supinya.com/2017/01/5656/)กสทช. ต้องปรับนโยบาย-ผู้บริโภคต้องถี่ถ้วนจากปัญหาที่เกิดขึ้น โสภณสรุปบทเรียนจากฝั่ง กสทช. และฝั่งผู้บริโภคได้ว่า“ในระดับนโยบาย กสทช. มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการยกเลิกรายการ ดังนั้น ผมเห็นว่า กสทช. ควรพิจารณาอนุมัติแผนเยียวยาที่คุ้มครองผู้บริโภคจริงหรืออาจจะสนับสนุนในการทำมาตรการเยียวยาผู้บริโภค เพราะที่ผ่านมาเห็นแล้วว่าถ้าปล่อยให้ผู้ประกอบการออกมาตรการเองไม่เป็นธรรม อย่างการบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วันเพียงพอหรือไม่ การแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรควรกำหนดให้ชัดเลยว่าต้องทำเป็นหนังสือแจ้งผู้บริโภคหรือทางเอสเอ็มเอส ไม่ใช่แค่ตัววิ่งบนจอ เรื่องพวกนี้ต้องชัดเจน“เรื่องแผนมาตรการเยียวยา เมื่อ กสทช. มีอำนาจ ก็ควรกำหนดเกณฑ์ว่าการทำแผนเยียวยาต้องมีเรื่องอะไรบ้าง เช่น การคืนเงิน ผู้บริโภคมีช่องทางอะไรบ้าง ระยะเวลาการใช้สิทธิ กำหนดแค่ 30 วัน ซึ่งผู้บริโภครู้สึกว่ามันสั้นไป แล้วคุณก็ไม่ได้แจ้งเป็นทางการด้วย หรือการให้ดูฟรี 30 วันจะให้ทำไม ถ้าผู้บริโภคเป็นสมาชิก 6 เดือนก็ต้องให้เขาดู 6 เดือน ถึงจะเรียกว่าตั้งใจเยียวยาจริงๆ เมื่อ กสทช. ไม่มีเกณฑ์ ผู้ประกอบการกำหนดเองก็กำหนดแบบไม่สนใจผู้บริโภค แล้วผู้บริโภคก็ต่อรองกับผู้ประกอบการไม่ได้ คนที่ต้องออกหน้าแทนคือ กสทช. จึงควรต้องมีหลักประกันให้แผนเยียวยาที่ผู้ประกอบการทำมาไม่ผ่านความเห็นชอบเพราะไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ”ในส่วนของผู้บริโภค โสภณมีคำแนะนำว่า ก่อนจะบอกรับเป็นสมาชิกเพย์ทีวีช่องต้องศึกษาและอ่านข้อสัญญาอย่างถี่ถ้วนก่อนจะลงนาม หากพบว่าข้อสัญญาใดเป็นการเอาเปรียบ สามารถร้องเรียนกับ กสทช. เพื่อให้ตรวจสอบว่าใช้สัญญาตามที่ขออนุญาตจาก กสทช. หรือไม่ เพราะสัญญาเหล่านี้ต้องผ่าน กสทช. ก่อนจึงจะใช้ทำสัญญากับผู้บริโภคได้“กรณีเปลี่ยนแพ็กเกจ ผู้บริโภคคุณต้องดูตัวเองว่านิยมดูช่องไหน เหมาะสมกับความต้องการของตนเองหรือไม่เมื่อเทียบกับราคา บางคนซื้อกล่องไม่ได้คิดอะไร ดูแต่ราคา ดูแต่ว่ามีช่องเยอะ โดยไม่สนว่าตัวเองจะดูอะไรบ้าง แล้วเวลาทำสัญญา เอกสาร ใบเสร็จ ใบประกัน ถ้ามีก็ต้องเก็บไว้ทั้งหมด โบรชัวร์ก็สำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่คุณอ่านแล้วตัดสินใจซื้อ ควรเก็บไว้ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา เขาโฆษณาแบบนี้ ถ้าไม่เป็นตามโฆษณาก็ร้องเรียนได้”ที่สำคัญ โสภณบอกว่า เวลาเกิดปัญหา อย่านิ่งนอนใจ ต้องร้องเรียนเพื่อรักษาสิทธิ..........แม้ธุรกิจเพย์ทีวีจะขยายตัวกว่าอดีตขึ้นมาก บริษัทใหญ่ๆ จำนวนหนึ่งเข้ามาเป็นผู้เล่นเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด แต่ก็ยังถือว่ามีผู้เล่นน้อยรายในตลาด ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม  เพย์ทีวีก็กำลังเผชิญความท้าทายขั้นชี้เป็นชี้ตายจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าในอดีต ที่กำลังเข้ามา Disrupt ธุรกิจดั้งเดิมหลายประเภท (แอร์บีเอ็นบีกำลังเขย่าธุรกิจโรงแรมหรืออูเบอร์และแกร็บกำลังสั่นสะเทือนวงการรถแท็กซี่)เพย์ทีวีถูก Disrupt จากอินเตอร์เน็ต จากเฟสบุ๊คไลฟ์ จากยูทูบ ยังไม่นับเว็บไซต์ภาพยนตร์และซีรีส์ละเมิดลิขสิทธิ์อีกมาก ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงคอนเท้นต์ที่ตนเองต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงิน มองในแง่นี้ก็น่าสนใจว่าธุรกิจเพย์ทีวีในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะมีที่อยู่ที่ยืนในตลาดอย่างไร และรูปแบบปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคจะเป็นอย่างไร------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ขั้นตอนยกเลิกการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกของผู้ให้บริการหลักการ 1.ห้ามมิให้ผู้ให้บริการยกเลิกการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกตามสัญญาเว้นแต่กรณี ดังต่อไปนี้   (4) ผู้ให้บริการ ไม่สามารถให้บริการได้ด้วยเหตุสุดวิสัย  ( ตาม ข้อ 34 (4) แห่งประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 )2.ผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไม่ได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ กสท. ( ตามข้อ 14 แห่งประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 )3.ผู้รับใบอนุญาตสามารถให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ได้ตามระยะเวลาที่คณะกรรมการอนุญาต หากประสงค์จะเลิกการให้บริการดังกล่าวก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ จะต้องแจ้งเหตุแห่งการยกเลิกประกอบกิจการพร้อมทั้งมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการให้คณะกรรมการเห็นชอบล่วงหน้าก่อนเลิกกิจการ โดยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก่อนเลิกกิจการนอกจากนี้ผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไม่ได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ กสทช. ( ตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ )4.กรณีที่ผู้ให้บริการประสงค์จะเปลี่ยนแปลงลักษณะ ประเภท เงื่อนไข มาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการที่ตกลงในสัญญา หรือที่ได้โฆษณาหรือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ หรือการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการอื่น ๆ อันมีลักษณะเป็นสาระสำคัญของการให้บริการ ผู้ให้บริการมีหน้าที่แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนมีการเปลี่ยนแปลงกรณีการเปลี่ยนแปลงตามวรรคหนึ่งมีลักษณะ ประเภท เงื่อนไข มาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาเดิม ผู้ให้บริการต้องดำเนินการเยียวยา หรือลดค่าบริการหรือยกเว้นค่าบริการแก่ผู้ใช้บริการอย่างเป็นธรรม หรือให้โอกาสผู้ใช้บริการบอกเลิกสัญญานั้นก็ได้ ( ตามข้อ 15 แห่งประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 )สรุป หากผู้ให้บริการประสงค์จะเลิกกิจการ ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ต้องปฏิบัติ ดังนี้ 1. แจ้งเหตุแห่งการยกเลิก ไปยัง สำนักงาน กสทช. ล่วงหน้าก่อนเลิกกิจการ 2. แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนมีการเปลี่ยนแปลง 3. ในการแจ้งยกเลิก ต้องส่งแผนมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการมาประกอบด้วย เพื่อให้ คณะกรรมการ กสท.พิจารณาและเห็นชอบแผน 4. เมื่อคณะกรรมการ กสท.มีมติเห็นชอบแผนมาตรการเยียวยา และเห็นชอบการยกเลิกกิจการว่าเป็นไปตามกฎหมาย ผู้ให้บริการจึงสามารถเลิกกิจการได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 ประกันชีวิต (เพื่อผู้สูงอายุ) ศึกษาให้เข้าใจ ไม่ตกเป็นเหยื่อ

ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่เป็นข่าวโด่งดังทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์และบนสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับปัญหาจากการซื้อ “ประกันผู้สูงอายุ” เนื่องจากมีผู้ทำประกันหลายรายถูกปฏิเสธจากบริษัทประกันในการจ่ายทุนเอาประกันหรือค่าสินไหมทดแทน โดยบริษัทแจ้งว่าผู้เอาประกันเสียชีวิตด้วยโรคร้ายแรงที่เจ็บป่วยเรื้อรังมาก่อนสมัครทำประกัน โดยจุดเริ่มต้นของปัญหาส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของความไม่ตรงไปตรงมาและการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะคำโฆษณาในทำนองที่ว่า “สมัครได้ทันที ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ เบี้ยประกันแค่วันละไม่กี่บาท” ทำให้ผู้เอาประกันตัดสินใจซื้อประกันทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำการศึกษาข้อมูลเงื่อนไขในกรมธรรม์ให้เข้าใจเพียงพอ ปัญหาที่เกิดขี้นทำให้บรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไล่ตั้งแต่ สมาคมประกันชีวิตไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องทำงานร่วมกันเพื่อหามาตรการในการจัดการปัญหา ควบคุมไม่ให้สัญญาประกันผู้สูงอายุเป็นไปในลักษณะเอาเปรียบผู้ทำประกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เกิดประกาศหลายฉบับที่ออกมาจัดการควบคุมประกันเพื่อผู้สูงอายุ ลองไปดูกันดีกว่าว่า จากนี้ไปหากจะทำประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุจะต้องศึกษาข้อมูลตรงไหนบ้างเงื่อนไขที่ควรรู้ก่อนทำประกันผู้สูงอายุสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลควบคุมธุรกิจประกันภัย ได้ออกมาทำหน้าที่จัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อประกันถูกเอาเปรียบจากบริษัทประกัน โดยได้ออกข้อกำหนดที่จะมาควบคุมรูปแบบการทำประกันเพื่อผู้สูงอายุให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ซึ่งประกาศดังกล่าวมีชื่อว่า คำสั่งเรื่อง “ให้แก้ไขเพิ่มเติมแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันชีวิตผู้สูงอายุของบริษัทประกันชีวิตและเอกสารประกอบ” ซึ่งประกาศฉบับนี้จะกำหนดรายละเอียดสำคัญที่ประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุต้องมีเอาไว้ดังนี้1.เติมคำว่า (เพื่อผู้สูงอายุ) ต่อท้ายชื่อแบบประกันต้องมีการเพิ่มคำว่า (เพื่อผู้สูงอายุ) ต่อท้ายชื่อแบบและข้อความในกรมธรรม์ประกันชีวิตผู้สูงอายุ ใบคำขอเอาประกันชีวิต และเอกสารสรุปสาระสำคัญโดยย่อที่ใช้สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งการกำหนดให้เพิ่มเติมคำว่า (เพื่อผู้สูงอายุ) ต่อท้ายชื่อของแบบประกัน ก็เพื่อให้ทั้งผู้ซื้อประกันและบริษัทฯ เข้าใจร่วมกันว่า ประกันฉบับนี้คือประกันเพื่อผู้สูงอายุ ข้อกำหนดต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์และความคุ้มครองจะต้องเป็นไปตามประกาศที่ทาง คปภ. กำหนด ทางบริษัทประกันไม่มีสิทธิใช้ข้ออ้างอื่นใดในการปฏิเสธหรือไม่ทำตามข้อกำหนดที่มีอยู่ในประกาศ2.อายุผู้ที่สามารถทำประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุได้ต้องมากกว่า 50 ปีขึ้นไปอายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถเอาประกันภัยเพื่อผู้สูงอายุอยู่ที่ 50 ปีขึ้นไป จนถึง 70 หรือ 75 ปี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท โดยจะได้รับเงินทุนเอาประกันเมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิต หรืออยู่ครบอายุสัญญาที่อายุ 90 ปี3. ไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องแถลงสุขภาพในใบคำขอเอาประกันชีวิตส่วนนี้คือจุดเด่นที่สุดของประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุ เพราะเปิดโอกาสที่ผู้สูงอายุทุกคนสามารถทำประกันชีวิตเพื่อมีเงินไว้ใช้เมื่ออายุมากขึ้น หรือมีเงินก้อนไว้ให้ลูกหลานในวันที่จากไป ซึ่งการบังคับให้มีการกำหนดเรื่องการไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องแถลงสุขภาพในใบคำขอเอาประกันชีวิต ทำให้บริษัทประกันไม่สามารถเอาเรื่องการป่วยด้วยโรคเรื้อรังร้ายแรงก่อนทำประกันมาเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธการจากเงินเอาประกันได้อีก4.ผู้เอาประกันเสียชีวิตก่อนครบ 2 ปี จะต้องได้เบี้ยประกันคืน พร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 2หากผู้เอาประกันเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 2 ปี นับแต่วันทำสัญญา บริษัทฯ จะคืนเบี้ยประกันที่ได้รับมาแล้วพร้อมเงินเพิ่มในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่ผู้รับประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ ร้อยละ 2 – 5 ตามแต่ละบริษัทฯ 5.ยกเลิกกรมธรรม์ได้ภายใน 15 วันต้องมีการระบุในสัญญาว่า ผู้เอาประกันภัยสามารถขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตได้ ภายใน 15 หรือ 30 วันแล้วแต่กรณี นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ประกันชีวิตประกันผู้สูงอายุ ให้ผลประโยชน์แบบไหนจุดเด่นของ ประกันชีวิตผู้สูงอายุ ก็คือการเป็นทางเลือกให้กับผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถสมัครทำประกันแบบปกติทั่วไปได้ เพราะประกันชีวิตผู้สูงอายุ มาพร้อมเงื่อนไขที่ว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพและก็ไม่ต้องแจ้งเรื่องสุขภาพลงในสัญญา ทำให้ผู้สูงอายุที่ต้องการมีเงินไว้ให้กับลูกหลานหรืออาจจะเก็บไว้ใช้เองยามแก่เฒ่า สามารถเลือกทำประกันเพื่อผู้สูงอายุได้แต่ทั้งนี้บริษัทประกันก็ได้มีการออกแบบมาไว้แล้ว โดยใน 2 ปีแรก หากผู้ทำประกันเสียชีวิตด้วยโรคร้ายแรง ก็ได้รับเพียงเงินจากเบี้ยประกันที่จ่ายมา บวกเงินเพิ่มที่ทางบริษัทประกันจะจ่ายให้อีกร้อยละ 2 ของเบี้ยประกันที่จ่ายมาแล้ว ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก เช่น ถ้าในช่วง 2 ปีก่อนเสียชีวิต ผู้ทำประกันจ่ายเบี้ยมาแล้วเป็นเงิน 4,000 บาท ก็จะได้เงินเพิ่มอีก ร้อยละ 2 ของเบี้ยประกันคือ 4,000 บาท หรือเท่ากับ 80 บาท รวมแล้วผู้รับผลประโยชน์ก็ได้เงินจำนวน 4,080 บาท ในกรณีที่เสียชีวิตจากโรคในช่วง 2 ปีแรกของการทำประกันส่วนการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วง 2 ปีแรกของการทำประกัน จะได้รับผลประโยชน์เต็มจำนวนของเงินทุนเอาประกัน เช่นเดียวกับเมื่อทำประกันเข้าสู่ปีที่ 3 ก็จะได้รับเงินทุนเอาประกันเต็มวงเงินไม่ว่าเสียชีวิตจากอาการเจ็บป่วยจากโรคหรืออุบัติเหตุกรณีที่อยู่จนครบสัญญาประกันซึ่งส่วนใหญ่กำหนดไว้ที่อายุ 90 ปี ผู้เอาประกันก็จะได้รับเงินทุนเอาประกันเต็มวงเงินเช่นกันประกันชีวิตสูงวัย ไม่คุ้มครองเรื่องรักษาพยาบาลประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุ จะเน้นที่การคุ้มครองในลักษณะประกันชีวิตเพียงอย่างเดียว ตามชื่อแบบประกัน คือจะให้ผลประโยชน์ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตหรืออยู่จนครบอายุสัญญาเท่านั้น ไม่ได้ให้ความคุ้มครองในส่วนของค่ารักษาพยาบาล หรือการจ่ายเงินปันผล แต่บริษัทประกันชีวิตหลายแห่งก็มีการขายสิทธิประโยชน์เหล่านี้เพิ่มเติมกับประกันชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งแน่นอนว่าในเงื่อนไขสัญญาของสิทธิอื่นๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาก็จะมีความแตกต่างไปจากเงื่อนไขสัญญาของประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุทั่วไปรู้ให้ทันโฆษณาประกันชีวิตประเด็นหลักที่ทำให้ก่อนหน้านี้ “ประกันชีวิตเพื่อผู้สุงอายุ” ถูกมองว่าเป็นสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภค ก็คือเรื่องของการโฆษณา ที่จงใจบอกเพียงแต่ผลประโยชน์สูงสุดที่จะได่รับ แต่กลับปกปิดเงื่อนไขสำคัญอย่างเกณฑ์ในการขอรับเงินคุ้มครอง แม้จะบอกว่าสมัครได้โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่ก็กลับพบปัญหาเรื่องการปฏิเสธการจ่ายเงินทุนเอาประกันคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.จึงต้องออกประกาศเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเป็นประกาศที่จะควบคุมเรื่องการโฆษณาขายประกันโดยเฉพาะ ซึ่งกำหนดที่บริษัทประกันต้องปฏิบัติในการโฆษณาขายประกันทุกประเภทมีดังนี้1.ข้อความที่โฆษณาต้องไม่เป็นเท็จหรือเกินความจริง2.ข้อความที่โฆษณาต้องไม่กำกวม มีความชัดเจน เข้าใจง่าย 3.ข้อความที่โฆษณาจะต้องไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยหรือการจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัย4.ไม่ประมาณการผลตอบแทนที่จะได้รับ หรือไม่ประมาณการผลประกอบการธุรกิจผู้เสนอขาย เว้นแต่ กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการจ่ายปันผล, กรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน และกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบยูนิเวอร์แซลไลฟ์ โดยกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าวต้องระบุแหล่งที่มาของสมมุติฐานที่ใช้อ้างอิง5.ในการโฆษณาที่ระบุว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ” จะต้องมีการระบุให้ชัดเจนด้วยว่าต้องแถลงเกี่ยวกับสุขภาพในใบคำขอเอาประกันภัยด้วยหรือไม่ หากมีการแถลงเกี่ยวกับสุขภาพ ต้องระบุเพิ่มด้วยว่าการแถลงสุขภาพเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณารับประกันภัย หรือพิจารณาจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัย6.ในกรณีที่มีการอ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอื่นใด ต้องระบุแหล่งที่มาให้ชัดเจน ต้องไม่ตัดทอนข้อมูลดังกล่าว จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ และต้องมีข้อมูลดังกล่าว พร้อมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้7.กรณีโฆษณาผ่านสื่อโฆษณาที่ใช้ข้อความ หรือภาพ ตัวอักษรของคำเตือนและคำอธิบายรายละเอียดต้องมีความคมชัด และอ่านได้ชัดเจน8.กรณีโฆษณาผ่านสื่อโฆษณาที่มีเฉพาะการใช้เสียง ต้องจัดให้มีการอ่านออกเสียง คำเตือน และคำอธิบายรายละเอียดที่สามารถฟังเข้าใจได้9.ให้มีการระบุคำเตือน โดยใช้ข้อความว่า “ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจในรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไขก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง” หรือข้อความอื่นใดที่มีความหมายทำนองเดียวกัน10.ต้องระบุให้ชัดเจนว่าในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสื่อโฆษณาว่า กรมธรรม์ประกันภัยที่เสนอขายเป็นกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทใดที่มา : ประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสือโฆษณาตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต พ.ศ. 2556

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ผลงานดีๆ เพื่อผู้บริโภคไทยของ คอบช.

คอบช. คือใครคอบช. เป็นชื่อย่อของ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จำลองรูปแบบของ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จากกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 โดยเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านผู้บริโภค 302 องค์กร มีวัตถุประสงค์เพื่อทดลองทำหน้าที่ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ คือการให้ความเห็น ข้อเสนอแนะด้านนโยบายและมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในปี 2558-2559 มีผลงานที่โดดเด่นจำนวนมาก ท่านสามารถติดตามผลงานและดาวน์โหลดรายงานประจำปีของ คอบช. ได้ที่ www.indyconsumer.org--------------------------------------------------------------------------3 ผลงานดีๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในปี 2559• ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ• ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหา การฟ้องขับไล่กรณีบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ จากสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย • ผลักดันด้านนโยบาย ให้ อย.ออกประกาศฉบับใหม่เพื่อควบคุมการแสดงฉลากอาหารที่ได้จากพืชดัดแปรพันธุกรรม1 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้มาตรฐาน แม้ดูเหมือนมีหลายหน่วยงานเข้ามาดูแลและเฝ้าระวังปัญหาน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ แต่สถานการณ์กลับไม่ดีขึ้น คนไทยยังเสี่ยงต่อการบริโภคน้ำดื่มไม่ปลอดภัยจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่กำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบันดังนั้นในปี 2559 คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับนักวิจัยอิสระทำการศึกษา เรื่อง “สถานการณ์ความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในกรุงเทพมหานคร” โดยสำรวจลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวน 855 ตู้ พื้นที่ 17 เขตของกรุงเทพฯ ซึ่งผลการศึกษามีดังนี้ด้านการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พบว่า มีผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพียงร้อยละ 8.24 เท่านั้นเรื่องสถานที่ตั้งตู้น้ำดื่มฯ พบว่า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญถูกวางไว้ใกล้บริเวณที่มีฝุ่นมาก (ริมถนน ริมฟุตบาท) ร้อยละ 76.3 วางอยู่ใกล้แหล่งระบายน้ำเสีย/น้ำขัง ร้อยละ 28.3 และวางอยู่ใกล้ที่ทิ้งขยะ ซึ่งมีสัตว์พาหะนำโรคอย่าง หนู แมลงสาบ แมลงวัน ร้อยละ 22 วิธีการติดตั้งพบว่า มีตู้ที่ยกระดับให้สูงจากพื้นอย่างน้อย 10 เซนติเมตร ร้อยละ 52.3 และมีจุดวางพักภาชนะบรรจุน้ำร้อยละ 88.9เรื่องการติดฉลากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ (ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 31 พ.ศ. 2553 โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) พบว่า มีการแสดงรายงานการตรวจสอบคุณภาพน้ำเพียง ร้อยละ 6 แสดงรายงานการเปลี่ยนไส้กรอง ร้อยละ 7 มีการแสดงข้อแนะนำในการใช้ตู้ ร้อยละ 20 มีการแสดงคำเตือน “ระวังอันตรายหากไม่ตรวจวัน เดือน ปี ที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ” ร้อยละ 26.1 และแสดงเบอร์ติดต่อกรณีเครื่องมีปัญหาร้อยละ 50.5เมื่อดูลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พบว่า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตัวตู้ไม่สะอาด ร้อยละ 55.2 หัวจ่ายน้ำไม่สะอาดร้อยละ 42.9 ตู้เป็นสนิม ร้อยละ 29.4 มีการผุกร่อนร้อยละ 21.1 ตู้มีรูรั่วซึม ร้อยละ 11.2 สำหรับในส่วนของเรื่องการบำรุงรักษาและการทำความสะอาดตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนั้น พบว่า มีการล้างถังเก็บน้ำภายในตู้ทุกเดือน เพียงร้อยละ 43.3สำหรับแหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำดื่มหยอดเหรียญ จากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ใช้น้ำประปาในการผลิตร้อยละ 93.8 ส่วนที่เหลือไม่ทราบแหล่งน้ำที่ใช้สู่ความร่วมมือคอบช. ได้นำผลการศึกษาพร้อมข้อเสนอจากงานวิจัยเรื่อง “สถานการณ์ความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในกรุงเทพมหานคร” ส่งต่อให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ หลายหน่วยงานต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้กำหนดให้มีการตรวจติดตามตู้น้าดื่มหยอดเหรียญไว้ในแผนการตรวจสอบฉลากสินค้าแล้ว กรณีที่พบการกระทำความผิดจะส่งเปรียบเทียบความผิดตามกฎหมายทันที และในส่วนของแผนการตรวจสอบฉลากสินค้าในส่วนภูมิภาคประจำปีงบประมาณ 2559 ทาง สคบ.จะกำหนดให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลดำเนินการตรวจสอบด้วยสำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร รับผลการศึกษาของ คอบช.เพื่อนำไปประกอบการทำร่างเทศบัญญัติการควบคุมกิจการผลิตน้ำดื่มจากเครื่องจำหน่ายตู้น้ำดื่มอัตโนมัติขณะที่รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ยินดีที่จะนำผลการศึกษาไปพัฒนา และจัดทำความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เรื่องการควบคุมมาตรฐานน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญ โดยจะตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อหาแนวทางการบูรณาการแก้ไขปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญต่อไปนอกจากนี้ ข้อเสนอจากผลการศึกษายังได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องน้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ในปี 2559 ด้วยสรุปข้อเสนอจากงานวิจัย • ข้อเสนอต่อผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตฯ และจัดสถานที่ให้เหมาะสมก่อนการติดตั้งตู้ และปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง• ข้อเสนอต่อหน่วยงานสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ต้องติดตามและตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งหมด ถ้าพบว่าไม่ได้รับใบอนุญาตฯ ต้องเรียกเจ้าของตู้ให้มาดำเนินการตามกฎหมาย หากไม่สามารถติดต่อได้รื้อถอนตู้ และเสนอให้ติดสติกเกอร์ทุกตู้ที่ได้ใบอนุญาตฯ ถูกต้องสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ควรมีแผนการเก็บตัวอย่างน้ำจากตู้น้ำดื่มไปตรวจวิเคราะห์ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ หากน้ำที่ผลิตจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ต้องติดตามกำกับดูแลเครื่องผลิตน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ ให้เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องบังคับให้ผู้ประกอบที่ได้รับใบอนุญาตฯ ต้องขออนุญาตการติดฉลาก ตามประกาศฯ ฉบับที่ 31 พ.ศ. 2553 รวมถึงติดตามการติดฉลากของผู้ประกอบการว่ากระทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากพบว่าดำเนินการไม่ถูกต้อง ควรลงโทษให้เด็ดขาด2 บ้านเอื้ออาทรกับการบอกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่อยู่อาศัยคือปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ไม่เพียงแค่ใช้พักผ่อนหลับนอน แต่ยังเป็นศูนย์รวมของครอบครัวซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิต สำหรับประเทศไทยการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะกับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งในอดีตรัฐเองก็ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า การเคหะแห่งชาติ ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่จัดให้มีเคหะขึ้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้มีรายได้น้อย ได้มีที่อยู่อาศัย ทั้งในแบบเช่าซื้อและซื้อ โดยโครงการบ้านเอื้ออาทร ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่การเคหะฯ เป็นผู้ดำเนินการ ตามนโยบายของรัฐบาลในยุค พ.ศ. 2546บ้านเอื้ออาทร ในนิยามของการเคหะฯ คือ เป็นที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานและอยู่ในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีระดับราคาที่กลุ่มเป้าหมาย คือกลุ่มที่มีรายได้ครัวเรือนไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท (รายได้ปี 2546) และปรับเป็นรายได้ครัวเรือนไม่เกินเดือนละ 40,000 บาท สามารถรับภาระการผ่อนชำระได้ต่อมาโครงการนี้ ถูกเรียกขานว่า เป็นนโยบายประชานิยมมีนัยเพื่อซื้อใจคนที่มีรายได้น้อย ให้มีความหวังกับการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่จากระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่า แม้จะมีการวางแผนไว้อย่างดีสำหรับโครงการนี้ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีช่องว่างมากมายจนทำให้เกิดการทุจริต (ซึ่งปัจจุบันกำลังมีการตรวจสอบกันอย่างเข้มข้น) และท้ายที่สุดก็เกิดปัญหาดีมานด์เทียมขึ้น จนก่อให้ซัพพลายหรือตัวอาคารที่สร้างเสร็จค้างไว้ ไม่มีผู้มารับโอนตามจริง เป็นภาระหนักให้การเคหะฯ ต้องขวนขวายหากลยุทธ์ในการระบายสต็อกในโครงการบ้านเอื้ออาทรที่มีค้างอยู่ให้หมด และยังมีปัญหาที่ผู้ซื้อมือแรกไปต่อไม่ไหว กลายเป็นหนี้สูญ หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสินเชื่อ เพราะผู้มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่จะมีรายได้ไม่แน่นอนทำให้เกิดปัญหาในการชำระค่างวดให้ตรงเวลา หรือขาดส่งค่างวดตามที่สัญญาระบุไว้ติดๆ กัน จนนำไปสู่การบอกเลิกสัญญาการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมปัญหาการถูกการเคหะแห่งชาติบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค จนนำไปสู่การฟ้องร้องขับไล่ เป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากดำเนินงานช่วยเหลือผู้บริโภคของ คอบช. พบว่า ปัญหาเกิดจากข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเมื่อผู้บริโภคตัดสินใจเข้าร่วมโครงการบ้านเอื้ออาทร จะมีสัญญาเกิดขึ้น 3 ฉบับ คือ สัญญาจะซื้อจะขาย สัญญากู้ยืมเงิน และสัญญาค้ำประกัน โดยผู้บริโภคทำสัญญาจะซื้อจะขายกับการเคหะแห่งชาติ ผู้บริโภคทำสัญญากู้เงินกับสถาบันการเงิน และการเคหะฯ ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของผู้บริโภคและยอมรับผิดร่วมกับสถาบันการเงินสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อผู้บริโภคผิดพลาดในการส่งเงินค่างวดตามสัญญากู้เงิน สถาบันการเงินจะส่งเรื่องให้ผู้ค้ำประกัน คือการเคหะฯ ทราบเรื่องเพราะถือเป็นลูกหนี้ร่วม การเคหะฯ จะดำเนินการจ่ายหนี้แทนผู้บริโภคและส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายให้กับผู้บริโภค ซึ่งหากผู้บริโภคไม่ยินยอมออกจากบ้าน(ที่บางคนก็อยู่มาหลายปีแล้ว) ก็ตามมาด้วยการฟ้องขับไล่ ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากได้พิจารณาในตัวสัญญาที่เกิดขึ้นทั้งสามฉบับ กลับพบว่า มีจุดที่เอาเปรียบผู้บริโภคอย่างมาก จนทำให้หลายคนเสียบ้านไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวทาง คอบช. จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อกรณีการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมของการเคหะฯ ดังนี้1.ขอให้การเคหะแห่งชาติแก้ไขสัญญาเรื่องผู้ขายบอกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน 2.ขอให้การเคหะแห่งชาติ บังคับใช้ข้อสัญญา เรื่องห้ามให้เช่าช่วงอย่างเคร่งครัด 3.ขอให้การเคหะแห่งชาติกับสถาบันการเงิน ปฏิบัติตามสัญญากู้เงินในเรื่องการให้แก้ไขข้อผิดสัญญาก่อนบอกเลิกสัญญา“ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจกู้ยืมเงินเพื่อให้ผู้บริโภคของสถาบันการเงิน เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2544 ข้อ 3 (2) ระบุว่า การผิดสัญญาเรื่องใดของผู้กู้ที่ผู้ให้กู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะต้องให้ผู้ให้กู้ระบุไว้เป็นการเฉพาะ ด้วยตัวอักษรสีแดง หรือตัวดำ หรือตัวเอนที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป และก่อนการบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งหนังสือไปยังผู้กู้ และควรกำหนดระยะเวลาอันสมควรให้ผู้กู้แก้ไขการผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขดังกล่าว แต่สัญญากู้ยืมเงินในโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่ผู้กู้หรือผู้บริโภคทำกับสถาบันการเงินไม่มีข้อสัญญาที่ให้ผู้ให้กู้ต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้กู้และไม่มีการกำหนดระยะเวลาอันสมควรให้ผู้กู้แก้ไขการผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขก่อนการบอกเลิกสัญญา จึงเป็นการขัดต่อประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ข้อ 3 (2) และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 35 ตรี”หลังการนำข้อเสนอข้างต้นเข้าหารือ การเคหะแห่งชาติ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อการคุ้มครองผู้ซื้อหรือผู้บริโภคโครงการบ้านเอื้ออาทร ดังนี้1.หากผู้ซื้อผิดนัดและไม่มีเงินชำระก็ให้สิทธิแก่ผู้ซื้อ ที่จะนำเงินที่เหลือมาผ่อนชำระกับการเคหะแห่งชาติในรูปแบบสัญญาเช่าซื้อได้2.การเคหะแห่งชาติได้ประชาสัมพันธ์ข้อห้ามต่างๆ ให้ผู้ซื้อทราบก่อนทำสัญญา และปัจจุบันมีการโอนกรรมสิทธิ์บ้านให้ผู้ซื้อเป็นจำนวนมาก3.การเคหะแห่งชาติได้ประสานกับสถาบันการเงิน และตกลงให้สถาบันการเงินมีหนังสือแจ้งผู้ซื้อที่ผิดนัดชำระหนี้ ได้ทราบเรื่องการผิดสัญญาและให้ผู้ซื้อได้แก้ไขข้อผิดสัญญาในระยะเวลาอันสมควร ก่อนถูกบอกเลิกสัญญา และก่อนที่สถาบันการเงินจะมีหนังสือแจ้งการเคหะแห่งชาติให้ชำระหนี้แทน3 การแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคพันธุวิศวกรรม(จีเอ็มโอ) ผู้บริโภคย่อมมีสิทธิที่จะได้รู้ถึงที่มาของอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งอาหารดัดแปรพันธุกรรมหรือที่ใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรม(จีเอ็มโอ) เป็นอาหารชนิดหนึ่งที่ยังมีข้อกังขาในเรื่องความปลอดภัยแต่ผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ ไม่อาจสังเกตได้ในระดับปกติ ต้องใช้การทดสอบเป็นการเฉพาะ เนื่องจากไม่มีความแตกต่างในทางกายภาพ การแจ้งบนฉลากอาหารจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยแจ้งข้อมูลแก่ผู้บริโภคได้ ในประเทศไทยไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องฉลากอาหารจีเอ็มโอ แต่มีอยู่ใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 251 พ.ศ. 2545 แต่บทบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาครอบคลุมเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่วเหลืองและข้าวโพด เท่านั้นฉลากจีเอ็มโอต้อง ‘ชัดเจน’ ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ ไม่เฉพาะถั่วเหลือง-ข้าวโพดสิ่งนี้คือข้อเสนอที่ คอบช. ได้พยายามผลักดันเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้ได้ เพราะการปล่อยให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจีเอ็มโอ ที่นอกเหนือจากถั่วเหลืองและข้าวโพด วางจำหน่ายตามท้องตลาด ย่อมไม่ทันสถานการณ์จีเอ็มโอซึ่งปัจจุบันอาหารจีเอ็มโอในนั้นก้าวหน้าไปอย่างมาก มีมากกว่าถั่วเหลืองกับข้าวโพดแล้ว เช่น มันฝรั่ง มะเขือเทศ แป้งมันสำปะหลัง มะละกอ และปลาแซลมอล (Salmon) ซึ่งยังไม่มีข้อกำหนดต้องติดฉลากจีเอ็มโอแต่อย่างใดในประเทศไทย กรณีเช่นนี้จึงไม่เป็นธรรมกับอาหารจีเอ็มโอ ทั้งถั่วเหลืองและข้าวโพด ตลอดจนผู้บริโภคที่ปฏิเสธอาหารประเภทดังกล่าว เพราะไม่มีโอกาสเลือก หรือรับรู้ข้อมูลจากฉลากที่ชัดเจนในปี 2559 คอบช.ได้ทำข้อเสนอแนะต่อการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยชีวภาพ พ.ศ. ....(พืช GMOs) โดยคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษากฎหมายเพื่อกำกับดูแลสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมเพื่อพิจารณา ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ทั้งยังได้เสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการออกประกาศควบคุมฉลากแสดงสินค้าพืชดัดแปรพันธุกรรม (GMOs ) ที่ก้าวหน้ากว่าบทบัญญัติ ปี พ.ศ.2545-----------------------------------------------------ปัจจุบันมี ถั่วเหลือง และข้าวโพด เท่านั้นที่แสดงฉลาก จากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรมที่ต้องมีการแสดงฉลากอาหาร 22 รายการ ได้แก่1. ถั่วเหลือง 2. ถั่วเหลืองสุก (cooked soybean) 3. ถั่วเหลืองคั่ว 4. ถั่วเหลืองบรรจุขวดหรือบรรจุกระป๋อง (canned soybean) หรือบรรจุในบรรจุภัณฑ์ อ่อนตัว (retort pouch) 5. ถั่วหมัก (natto) 6. เต้าเจี้ยว (miso) 7. เต้าหู้ เต้าหู้ทอดน้ำมัน 8. เต้าหู้แช่แข็ง กากเต้าหู้ (ฟองเต้าหู้และผลิตภัณฑ์) 9. นมถั่วเหลือง 10. แป้งถั่วเหลือง (soybean flour) 11. อาหารที่มีอาหารตามข้อ 1-10 เป็นส่วนประกอบหลัก 12. อาหารที่มีโปรตีนจากถั่วเหลือง (soybean protein) เป็นส่วนประกอบหลัก13. อาหารที่มีถั่วเหลืองฝักอ่อนและยอดอ่อน (green soybean) เป็นส่วนประกอบหลัก 14. อาหารที่มีถั่วงอกที่ได้จากถั่วเหลืองเป็นองค์ประกอบหลัก 15. ข้าวโพด 16. ป๊อปคอร์น (pop corn) 17. ข้าวโพดแช่เยือกแข็ง (freeze) หรือแช่เย็น (chill) 18. ข้าวโพดบรรจุขวดหรือบรรจุกระป๋อง (canned corn) หรือบรรจุในบรรจุภัณฑ์อ่อนตัว (retort pouch) 19. แป้งข้าวโพด (corn flour/corn starch) 20. ขนมขบเคี้ยวที่ผลิตโดยใช้ข้าวโพดเป็นส่วนประกอบหลัก 21. อาหารที่มีอาหารตามข้อ 15-20 เป็นส่วนประกอบหลัก 22. อาหารที่มีข้าวโพดบดหยาบ (corn grits) เป็นส่วนประกอบหลัก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ฉลากโภชนาการ สิ่งจำเป็นเพื่อการดูแลสุขภาพ

ความสำคัญและระดับการควบคุมข้อมูลโภชนาการหรือฉลากโภชนาการ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รู้ถึงคุณค่าทางด้านโภชนาการหรือปริมาณสารอาหารต่างๆ ที่ร่างกายจะได้รับเมื่อรับประทานเข้าไป และเป็นการยกระดับให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องเหมาะสมกับการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว ถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่ผู้บริโภคพึงได้รับ ดังนั้นหน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพของประชาชนในทุกประเทศทั่วโลก จึงต่างให้ความสำคัญกับการแสดงฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์อาหาร อย่างไรก็ตามระดับการแสดงข้อมูลโภชนาการมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องแสดงข้อมูลโภชนาการบนฉลาก(Mandatory) เป็นลักษณะบังคับว่าต้องมี ถ้าไม่มี จะมีบทลงโทษ และกลุ่มที่ผู้ประกอบการสามารถแสดงฉลากได้ตามความสมัครใจ (Voluntary) คือ กฎหมายไม่บังคับ – จะแสดงฉลากหรือไม่ก็ได้1) ประเทศหรือกลุ่มประเทศที่กฎหมายบังคับให้มีการแสดงฉลากโภชนาการในอาหาร ได้แก่ สหภาพยุโรป (อียู), สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, เม็กซิโก, อาร์เจนตินา, บราซิล, ชิลี, โคลัมเบีย, เอกวาดอร์, ปารากวัย, อุรุกวัย, อิสราเอล, อินเดีย, อินโดนีเซีย, จีน (+ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง), เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ไต้หวัน, ไทย, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์  ซึ่งประเทศเหล่านี้จะกำหนดตามกฎหมายให้ผู้ประกอบการต้องแสดงฉลากโภชนาการถึงแม้ว่าจะไม่มีการแสดงคำกล่าวอ้างทางโภชนาการหรือคำกล่าวอ้างทางสุขภาพก็ตาม โดยจะกำหนดว่าสารอาหารตัวใดจะต้องถูกแสดงบ้างและจะแสดงในลักษณะใด (เช่น ต่อ 100 กรัม หรือ ต่อหน่วยบริโภค เป็นต้น) นอกจากนี้ยังอนุญาตให้มีการแสดงรูปแบบอื่น ๆ ของฉลากโภชนาการได้โดยสมัครใจ อีกด้วย 2) ประเทศหรือกลุ่มประเทศที่ให้มีการแสดงฉลากโภชนาการโดยสมัครใจโดยรัฐให้การสนับสนุนแนวทางในการแสดงข้อมูล ได้แก่ กลุ่มประเทศอาหรับ (Gulf Cooperation Council : GCC) (ประกอบด้วย บาห์เรน, คูเวต, กาตาร์, โอมาน, ซาอุดิอาระเบีย, และสหรัฐอาหรับเอมิเรต: ยูเออี), เวเนซุเอล่า, ตุรกี, สิงโปร์, ฟิลิปปินส์, ญี่ปุ่น, เคนยา, เมาริเทียส, ไนจีเรีย, และอาฟริกาใต้ ซึ่งกฎหมายของประเทศกลุ่มนี้จะให้รัฐเป็นผู้กำหนดว่าสารอาหารใดบ้างที่ต้องมีการแสดงบนฉลากและต้องแสดงฉลากในลักษณะใดแต่ไม่ได้บังคับว่าจะต้องแสดงเว้นเสียแต่ว่ามีการกล่าวอ้างทางโภชนาการหรือกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารนั้น ๆ หรือเป็นอาหารที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อการควบคุมน้ำหนัก   ภาพประกอบ : แผนภูมิภาพแสดงการแบ่งกลุ่มประเทศที่มีการแสดงฉลากโภชนาการตามกฎหมายกระแสโลกในการทำให้ฉลากโภชนาการเป็นกฎหมายภาคบังคับในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมากระแสโลกในเรื่องการแสดงข้อมูลโภชนาการได้มุ่งไปสู่การทำเป็นกฎหมายภาคบังคับ เห็นได้จากการที่ มาตรฐานอาหารสากล(โคเด็กซ์) (Codex Alimentarius Commission, 2012) ซึ่งประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2555 นั้น ได้แนะนำให้ฉลากโภชนาการเป็นกฎหมายภาคบังคับแม้ว่าอาหารนั้นจะไม่มีการกล่าวอ้างทางโภชนาการก็ตามในหลายประเทศที่เคยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแสดงฉลากโภชนาการแบบสมัครใจ ก็ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นกฎหมายฉลากโภชนาการแบบภาคบังคับ เช่น ประเทศจีนก่อนหน้านี้ใช้กฎหมายฉลากโภชนาการแบบสมัครใจ ต่อมาเมื่อได้นำมาตรฐานอาหารสากล(โคเด็กซ์) มาใช้ จึงเปลี่ยนให้ฉลากโภชนาการเป็นฉลากภาคบังคับและให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 ด้านสหภาพยุโรป (อียู) ได้ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการให้ข้อมูลด้านอาหารแก่ผู้บริโภคในเดือนกันยายน พ.ศ. 2554 ซึ่งทำให้ฉลากโภชนาการเป็นกฎหมายภาคบังคับภายในวันที่ 13 ธันวาคม 2559 แต่ยังมีหลายสิ่งที่สหภาพยุโรปต้องทำก่อนถึงกำหนดในวันที่ 13 ธันวาคม 2559 หนึ่งในนั้นคือ การหาข้อสรุปว่า รูปแบบการแสดงฉลากโภชนาการ แบบใดเหมาะสม เข้าใจง่าย และจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมากที่สุด จึงทำให้มีการสนับสนุนทุนทำโครงการวิจัย ชื่อว่า FLABEL ที่พบข้อมูลว่า ใน 27 ประเทศสมาชิกของอียูและตุรกี มีผลิตภัณฑ์ร้อยละ 85 จาก 5 กลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฉลากโภชนาการแบบ แสดงด้านหลังบรรจุภัณฑ์ (Back of Pack : BOP) มีผลิตภัณฑ์ร้อยละ 48 ที่ใช้ฉลากโภชนาการแบบ แสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ (Front of Pack : FOP) นอกจากนี้ยังพบว่า ร้อยละ 84 ของผลิตภัณฑ์จะแสดงข้อมูลโภชนาการใน รูปแบบเป็นตาราง หรือ เป็นเส้นตรง (ตารางโภชนาการหรือกรอบข้อความโภชนาการ) โดยที่มีเพียงร้อยละ 1 แสดงข้อมูลด้วยสัญลักษณ์สุขภาพ (health logos) และในบรรดาฉลากแบบ แสดงข้อมูลโภชนาการด้านหน้า ทั้งหมด รูปแบบฉลาก หวาน มัน เค็ม (Guideline Daily Amounts :GDA) และ การกล่าวอ้างทางโภชนาการ เป็นรูปแบบที่แพร่หลายที่สุด ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นมาตรฐานกลางของฉลากโภชนาการแบบแสดงข้อมูลด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ (FOP)การโต้เถียงเรื่องการใช้ฉลากโภชนาการด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ของโลก ส่วนใหญ่อยู่ในสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศในทวีปเอเชีย ได้สร้างความประหลาดใจแก่โลก โดยได้ประกาศใช้ การแสดงฉลากโภชนาการแบบด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ ซึ่งแสดงในรูปแบบที่เรียกว่า ฉลาก “หวาน มัน เค็ม” (GDA) เป็นประเทศแรกในเดือน พ.ค. 2554 โดยประกาศใช้ในขนมเด็ก 5 กลุ่ม หลังจากนั้นฉลากรูปแบบนี้ก็ได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาลในหลายประเทศ (เช่น ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สหรัฐอเมริกา) โดยมีสิ่งที่รัฐต้องตัดสินใจคือ จะทำให้ฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้านี้เป็นกฎหมายภาคบังคับหรือไม่ และถ้าใช่ ควรที่จะต้องเพิ่มเติมเกณฑ์ประกอบการตัดสินใจของคุณค่าทางโภชนาการที่แสดงผ่านการใส่สี (แบบสีสัญญาณไฟจราจร) หรือ การให้สัญลักษณ์ “เครื่องหมายสุขภาพ” (ตราที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มีโภชนาการเหมาะสมตามเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้ เช่น ตรารูปหัวใจ : สมาร์ทฮาร์ท, เครื่องหมายรูปรูกุญแจสีเขียว) หรือให้ข้อมูลเป็นเปอร์เซ็นของการบริโภคต่อวัน เช่น ฉลาก หวาน มัน เค็ม : GDA ท่ามกลางการตัดสินใจต่าง ๆ เหล่านี้ รูปแบบสีสัญญาณไฟจราจร (Traffic Light) ของสหราชอาณาจักร (UK) เป็นจุดสนใจและได้รับการโต้เถียงอย่างกว้างขวาง กลุ่มผู้บริโภคจำนวนมาก องค์กรภาคประชาสังคม (NGOs) สายสุขภาพ และบางรัฐบาลในยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศกลุ่มภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค ได้ประกาศสนับสนุนรูปแบบฉลากโภชนาการด้านหน้าบรรจุภัณฑ์แบบสีสัญญาณไฟจราจรของสหราชอาณาจักรขณะที่รัฐบาลทั้งหลายกำลังตัดสินใจว่าจะใช้ฉลากโภชนาการแบบด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยข้องต่าง ๆ ของตนอย่างไรนั้น รูปแบบย่อยทั้งหลายของฉลากโภชนาการแบบแสดงหน้าบรรจุภัณฑ์ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นก็แพร่หลายไปภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล, องค์กรระหว่างประเทศ, NGOs, กลุ่มองค์กรภาคอุตสาหรรม และบริษัทต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลโภชนาการได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การผลักดันให้เกิดการหลอมรวมเป็นรูปแบบเดียวกันจึงเกิดขึ้นในบางประเทศ นปี พ.ศ. 2555 แผนกสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรได้เสนอรูปแบบฉลากที่รวมฉลาก GDA เข้ากับสีสัญญาณไฟจราจร และ ตัวหนังสือบรรยายโภชนาการ อย่างไรก็ตามยังคงมีการโต้เถียงในเรื่อง การระบุคำบรรยายใต้สัญลักษณ์สีสัญญาณไฟจราจรว่า “สูง” “ปานกลาง” และ “ต่ำ” บนฉลาก และ เกณฑ์ทางโภชนาการควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งรูปแบบนี้ถูกนำไปใช้โดยความสมัครใจของร้านขายปลีกขนาดใหญ่ทั้งหลายเป็นที่เรียบร้อย แต่ผู้ผลิตอาหารจำนวนมากยังคงลังเลที่จะเข้าร่วมดำเนินการในสหรัฐอเมริกา มีรายงานระยะที่ 1 จาก the Institute of Medicine (IOM) Committee ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 แนะนำว่า ควรต้องมีระบบเฉพาะในการระบุข้อมูลโภชนาการที่สร้างความกังวลอย่างยิ่งต่อผู้บริโภค 4 ประเภท คือ ค่าพลังงาน (แคลอรี่), หน่วยบริโภค (serving size), ไขมันทรานส์ (trans fat), ไขมันอิ่มตัวและโซเดียม ส่วนในรายงานระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ได้ระบุเรื่องของการเปิดกว้างของผู้บริโภค ความเข้าใจ และความสามารถในการการใช้ฉลากโภชนาการแบบแสดงหน้าบรรจุภัณฑ์ ซึ่งได้ให้คำแนะนำแก่ อย. (USFDA) และหน่วยงานด้านเกษตร (USDA) ของสหรัฐไว้ว่า ควรต้องมีการพัฒนา ทดสอบและบังคับใช้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งของฉลากโภชนาการแบบแสดงหน้าบรรจุภัณฑ์ในผลิตภัณฑ์ทั้งหมด และได้ให้คำแนะนำให้การบังคับใช้มาตรการฉลากนี้ว่า จะต้องเกิดจากความมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด และกลุ่มผู้มีความสนใจที่หลากหลาย สำหรับรูปแบบฉลากที่แนะนำนั้น IOM เสนอให้แสดงเป็นสัญลักษณ์แสดงปริมาณแคลอรี่ต่อหน่วยบริโภคและแสดงคะแนนเป็นดาวโดยเทียบจากคุณค่าทางโภชนาการ ด้านไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ โซเดียม และน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ ที่ต่ำกว่าเกณฑ์โภชนาการ  ไม่เพียงแค่ภาครัฐที่ดำเนินการเรื่องฉลากโภชนาการ ในปี พ.ศ. 2555 กลุ่มภาคเอกชนของสหรัฐฯ ได้แก่ สมาคมร้านค้าของชำ สถาบันการตลาดอาหาร และผู้แทนของบริษัทชั้นนำด้านการผลิตอาหาร เครื่องดื่ม และและกลุ่มผู้ค้าปลีก ได้นำเสนอ ฉลากแบบสมัครใจเรียกว่า fact-based FOP nutrition labelling ที่แสดงข้อมูลพลังงาน และสารอาหารสำคัญ (ไขมันอิ่มตัว โซเดียม และน้ำตาล) ด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ ซึ่ง อย. ของ สหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนฉลากแบบนี้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า  ต้องไม่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดในสารอาหารของผลิตภัณฑ์อีกหนึ่งความก้าวหน้าที่สำคัญของกระแสการทำให้ฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์กลายเป็นมาตรฐานสากลคือ การที่ สหภาพยุโรป ได้ประกาศใช้กฎหมาย ข้อมูลด้านอาหารเพื่อผู้บริโภค ที่อนุญาตให้มีการใช้ฉลากโภชนาการแบบสมัครใจในบางรูปแบบได้ ทำให้มีการแสดงข้อมูลทางโภชนาการ สี ภาพ หรือ สัญลักษณ์ ซึ่งต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 ได้มีการออกเอกสารถาม-ตอบ (Q&A) เพื่อสร้างความชัดเจนในการบังคับใช้มาตรการนี้ออกมา โดยในเอกสารได้ยืนยันว่า กิโลจูล (หน่วยของค่าพลังงาน)สามารถใช้ได้บนฉลากโภชนาการแบบสมัครใจด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะแสดงเดี่ยว ๆ หรือจะแสดงคู่กันกับ กิโลแคลอรี ก็ได้ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในงานประชุมของรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้มีความเห็นตรงกันว่ามีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการพัฒนาฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ที่เข้าใจและแปลความได้ง่าย แต่ยังไม่ได้ประกาศสนับสนุนการแสดงฉลากรูปแบบสีสัญญาณไฟจราจรโดยทันที ซึ่งต่อมา ในประเทศออสเตรเลีย ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับทิศขึ้นชุดหนึ่งขึ้นมาทำงานในเรื่องนี้ เช่นเดียวกันกับในนิวซีแลนด์ ที่ได้มีกลุ่มทำงานมาพัฒนาแนวทางและคำแนะนำต่อการจัดทำฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าผลิตภัณฑ์ แต่มิได้มีรูปแบบเฉพาะเจาะจงออกมาเช่นกัน ซึ่งความน่าจะเป็นของรูปแบบฉลากโภชนาการของทั้งสองประเทศนี้น่าจะมีความคล้ายคลึงกันมาทางฝั่งทวีปเอเซียกันบ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 ประเทศเกาหลีใต้ กลายเป็นประเทศแรกในเอเซียที่ประกาศใช้ฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบสีสัญญาณไฟจราจรโดยสมัครใจในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเด็ก และภายหลังเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยกระดับการแสดงฉลากในรูปแบบสีสัญญาณไฟจราจรในขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มเป็นกฎหมายภาคบังคับโดยให้มีผลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งการกระทำนี้ส่งผลให้ประเทศเกาหลีใต้กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้รูปแบบฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจรภายใต้กฎหมายภาคบังคับ นับแต่นั้น ได้มีการผ่านร่างกฎหมายสองฉบับ ฉบับแรก ว่าด้วยการแสดงฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจรในอาหารที่เด็กชื่นชอบได้แก่ ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่ม กับ กฎหมายฉบับที่สองซึ่งกำหนดให้มีการแสดงฉลากโภชนาการทั้งแบบสีสัญญาณไฟจราจรและแบบคุณค่าทางโภชนาการต่อวันที่ใส่สีเพื่อแสดงเกณฑ์ประกอบการตัดสินใจ การเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นรุ่งอรุณแห่งมาตรการฉลากโภชนาการที่น่าจะช่วยให้ประเทศอื่น ในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค เจริญรอยตาม ก็เป็นได้ข้อถกเถียงเรื่องรูปแบบฉลากโภชนาการยังไม่ยุติข้อถกเถียงที่ว่ารูปแบบฉลากโภชนาการแบบใดจะมีประสิทธิภาพที่สุด จะดำเนินต่อไปในยุโรป, เอเซีย-แปซิฟิค, และอเมริกา ในช่วงอนาคตอันใกล้ การศึกษาวิจัยที่มากขึ้นจะเป็นประโยชน์และช่วยยืนยันประเด็นนี้ รัฐบาล NGOs ผู้ผลิตอาหารและผู้ค้าปลีกได้ร่วมกันสำรวจว่า รูปแบบฉลากโภชนาการแบบใดที่ผู้บริโภคชื่นชอบที่สุด ด้วยเหตุผลใด และรูปแบบใดจะส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อและการสร้างสมดุลในการเลือก แม้จะมีข้อมูลจำนวนหนึ่งที่ให้คำตอบได้ แต่ยังคงไม่มีข้อสรุปใด ๆ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายว่าจะไปในทิศทางใดกัน อย่างไรก็ตาม มีความชัดเจนว่ามีความจำเป็นที่จะต้องให้ข้อมูลโภชนาการบนฉลากอาหารที่ง่ายกว่าในปัจจุบันแก่ผู้บริโภค ข้อมูลโภชนาการ/ ตารางโภชนาการ แบบภาคบังคับ เป็นเครื่องมือทางสาธารณสุขที่ช่วยประกอบการตัดสินใจเลือกของผู้บริโภคในยุโรป สหรัฐฯ แคนาดา ฮ่องกง มาเลเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย และเหมือนกับเครื่องมืออื่นๆ มันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อเมื่อมันเหมาะสมต่อหน้าที่ของมัน ซึ่งก็คือ ผู้บริโภคมีความเข้าใจและใช้มัน ในสหรัฐฯ ความความเติบโตทางความเห็นที่ว่า ข้อมูลโภชนาการแบบเดิม ๆ อย่างเดียวไม่เพียงพอ หรือ มันไม่สามารถเข้าใจและใช้ได้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่อีกแล้ว อย. สหรัฐฯ จึงได้ประกาศภารกิจเร่งด่วนในการทบทวนการแสดงโภชนาการในรูปแบบ ข้อมูลโภชนาการ/ ตารางโภชนาการเสียใหม่ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงข้อมูลโภชนาการด้านหน้าผลิตภัณฑ์ (FOP) ขณะที่ฉลากหวาน มัน เค็ม (GDA) ได้รับการสนับสนุนจำนวนมากจากกลุ่มผู้ผลิตอาหาร และผู้กำหนดนโยบาย ความเป็นประโยชน์ในการเป็นแนวทางประกอบการเลือกของผู้บริโภคจะขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าในการให้การศึกษาผู้บริโภคให้สามารถใช้ประโยชน์จากมันอย่างไร------------------------------สถานการณ์ด้านฉลากโภชนาการของประเทศไทย นับแต่การประกาศใช้ข้อมูลโภชนาการ/ ตารางโภชนาการ ในปี พ.ศ. 2541 ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการควบคุมฉลากโภชนาการแบบสมัครใจมาโดยตลอด จนถึงการบังคับใช้ฉลากโภชนาการแบบหวาน มัน เค็ม (จีดีเอ) ในปี พ.ศ. 2554 ที่ยกระดับการควบคุมทางกฎหมายของฉลากโภชนาการจากสมัครใจมาสู่กฎหมายภาคบังคับ โดยควบคุมการแสดงฉลากโภชนาการในอาหาร กลุ่มขนมขบเคี้ยว 5 ประเภท ได้แก่ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ, ข้าวโพดคั่วทอดกรอบหรืออบกรอบ, ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง, ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต, และเวเฟอร์สอดไส้ แต่ก็ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรูปแบบการแสดงฉลากโภชนาการอย่างต่อเนื่อง  ย้อนไปในปี พ.ศ. 2553 มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติระบุว่า ให้มีฉลากโภชนาการอย่างง่าย(ฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์) ในรูปแบบสีสัญญาณไฟจราจร จึงนำมาซึ่งการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมและนำเสนอรูปแบบฉลากสีสัญญาณไฟจราจรแก่ อย. อย่างไรก็ตาม อย. กลับได้ประกาศใช้ฉลากหวาน มัน เค็ม แทนที่ฉลากสีสัญญาณไฟจราจรตามมติสมัชชา และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา อย. ได้ขยายการควบคุมจากผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว 5 ประเภทมาเป็น อาหาร 5 กลุ่ม ได้แก่ ขนมขบเคี้ยว (มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ, ข้าวโพดคั่วทอดหรืออบกรอบ, ข้าวเกรียบทอดหรืออบกรอบ หรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง, ถั่วหรือนัตทอดหรืออบกรอบหรืออบเกลือ หรือเคลือบปรุงรส, สาหร่ายทอด หรืออบกรอบ หรือเคลือบปรุงรส และปลาเส้นทอด หรืออบกรอบหรือปรุงรส), ช็อกโกแลต, ผลิตภัณฑ์ขนมอบ (ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต, เวเฟอร์สอดไส้, คุ้กกี้, เค้ก, และ พาย เพสตรี้ ทั้งชนิดที่มีและไม่มีไส้), อาหารกึ่งสำเร็จรูป (ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้นไม่ว่าจะมีการปรุงแต่งหรือไม่ก็ตามพร้อมซองเครื่องปรุง, และ ข้าวต้มที่ปรุงแต่ง และโจ๊กที่ปรุงแต่ง), และอาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารจานเดียว ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งตลอดระยะเวลาจำหน่าย  นอกจากการทำให้ฉลากโภชนาการแบบหวาน มัน เค็ม เป็นฉลากแบบบังคับแล้ว อย. ยังได้ร่วมกับหน่วยงานวิชาการในการทำการศึกษารูปแบบฉลากโภชนาการแบบสัญลักษณ์สุขภาพและได้ออกประกาศให้มีการแสดงฉลากโภชนาการแบบสมัครใจขึ้นมาอีก 1 รูปแบบ ใช้ชื่อว่า สัญลักษณ์โภชนาการ (สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ) โดยได้มีการประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ซึ่ง ทางเลือกสุขภาพนี้ คือเครื่องหมายที่ช่วยให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นมีปริมาณสาร อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ดีต่อสุขภาพ  ด้านฝั่งองค์กรภาคประชาสังคมได้มีการรณรงค์เพื่อผลักดัน ให้ อย. พิจารณาบังคับให้ฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจร แทนที่ฉลากแบบหวาน มัน เค็ม โดยได้มีดัดแปลงรูปแบบจากรูปแบบของสหราชอาณาจักรมาเป็นสัญญาณไฟจราจรแบบไทย และได้นำประเด็นเข้าสู่การเรียนการสอนในโรงเรียน พัฒนาเด็กและอาจารย์ในโรงเรียนให้มีความรู้ในการอ่านฉลากอาหารและฉลากโภชนาการรูปแบบต่างๆ รวมทั้งสามารถใส่สีสัญญาณไฟจราจรลงบนฉลากอาหารได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มทำงานในโรงเรียนจำนวน 3 แห่งในจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างการขยายผล ขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมใน 8 จังหวัดของภาคตะวันตกตามการแบ่งเขตขององค์กรผู้บริโภค ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ฉลากโภชนาการรูปแบบใดจะเหมาะสมสำหรับประเทศไทย สมควรหรือไม่ที่ควรต้องมีรูปแบบเดียว หรือจะให้มีหลากหลายรูปแบบทั้งแบบภาคบังคับและภาคสมัครใจนั้น ยังคงต้องการการศึกษาเพื่อยืนยัน ว่าฉลากรูปแบบใดกันแน่ ที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคมากที่สุดข้อมูล Global Update on Nutrition Labelling Executive Summary January 2015Published by the European Food Information Council. www.eufic.org/upl/1/default/doc/GlobalUpdateExecSumJan2015.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 ค้นหาคำตอบ ‘วัคซีน HVP’ ปลอดภัยหรือไม่? คุ้มค่าหรือไม่?

ร้อยละ 12 ของผู้หญิงทั่วโลกเป็นมะเร็งปากมดลูก 470,000 ราย คือ ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี 233,000 ราย คือ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ และร้อยละ 83 ของผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาในประเทศไทย ความรุนแรงของสถานการณ์มะเร็งปากมดลูกไม่ได้น้อยหน้าระดับโลก มันเป็นโรคภัยที่พบในผู้หญิงไทยบ่อยเป็นอันดับ 2 แต่คร่าชีวิตหญิงไทยสูงเป็นอันดับ 1 ในปี 2551 พบว่าอัตราการเป็นมะเร็งปากมดลูกของผู้หญิงไทยเท่ากับ 16.7 ต่อประชากร 100,000 คน เท่ากับว่าแต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่ 6,000 ราย และเสียชีวิตกว่า 2,000 รายต่อปี คุณค่าชีวิตที่สูญเสียประเมินค่าไม่ได้ ขณะที่มูลค่าของราคาที่ต้องจ่ายไปกับโรคนี้ก็มหาศาล ปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผล ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ถ้าโรคอยู่ในระยะลุกลามแปลว่าอะไร? แปลว่าถ้าตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ผู้หญิงไทยมีความรู้และยินยอมสละเวลาไปตรวจกันมากแค่ไหนด้วยตัวเลขที่น่าพรั่นพรึง หน่วยงานด้านสาธารณสุขของไทยจึงมองหาหนทางลดความสูญเสียจากมะเร็งปากมดลูก วัคซีน HPV เป็นหนึ่งในคำตอบที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้พฤษภาคม 2559 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่กำหนดชนิดวัคซีนและตารางการให้วัคซีนที่เหมาะสมสำหรับประชากรไทย มีมติเห็นชอบแนะนำให้นำวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมาใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโดยเร็ว เนื่องจากเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง และเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559 คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ก็มีมติเห็นชอบและให้บรรจุวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยถือเป็นวัคซีนตัวที่ 11 ในรอบ 17 ปีแต่ก่อนหน้านั้น กรุงเทพมหานครได้ริเริ่มโครงการให้บริการวัคซีนป้องกันเอชพีวีในโรงเรียนสังกัด กทม. ไปก่อนแล้วตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 โดยมีเด็กนักเรียนหญิงระดับประถมศึกษาปีที่ 5 ในสังกัดกรุงเทพมหานครได้รับวัคซีน HPV ร้อยละ 98 สำหรับปีการศึกษา 2559 กรุงเทพฯ ได้ดำเนินโครงการไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 มีนักเรียนหญิงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในสังกัดที่ได้รับบริการวัคซีนจำนวน 16,468 คนการใช้วัคซีน HVP ติดตามมาด้วยคำถามเรื่องความปลอดภัย จากกระแสข่าวการฟ้องร้องในประเทศญี่ปุ่น เพราะพบว่าเด็กที่ได้รับวัคซีนเกิดอาการอัมพาตอ่อนแรงและชัก กับอีกด้าน คือ ความคุ้มค่าของวัคซีนว่าราคาที่งบประมาณรัฐต้องจ่ายไปคุ้มกับสิ่งที่ได้คืนมาหรือไม่‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะไปค้นหาคำตอบสำหรับ 2 คำถามนี้องค์การอนามัยโลกรับรองวัคซีน HPV ปลอดภัยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ถูกใช้เป็นกรณีตัวอย่างประเด็นผลกระทบจากวัคซีน HPV เพราะมันถูกรัฐบาลประกาศให้ถูกรวมอยู่ในโปรแกรมฉีดวัคซีนพื้นฐานเพียง 3 เดือนเท่านั้น คือ เมษายน-มิถุนายน 2556 จากนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นก็เพิกถอนคำแนะนำ เนื่องจากมีรายงานและการร้องเรียนว่า มีผู้ได้รับผลกระทบหลังฉีดวัคซีนเข้าไป และช่วงกลางปีที่ผ่านมาผู้หญิงชาวญี่ปุ่น 64 คน ยื่นฟ้องรัฐบาลและผู้ผลิตวัคซีน HPV หลังได้รับผลข้างเคียงเป็นเงินคนละ 15 ล้านเยน และค่าเสียหายจะเพิ่มขึ้นอีกตามอาการข้างเคียงที่อาจปรากฏในภายหลังนี่เองที่ทำให้ภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอไทยเฝ้าดูด้วยความวิตก นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพหรือไฮแทป (Health Intervention and Technology Assessment Program: HITAP) และอีกสถานะหนึ่ง คือ กรรมการด้านวิจัยและพัฒนาวัคซีนขององค์การอนามัยโลก ในฐานะนักพัฒนานโยบายและนักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ให้ข้อมูลกับเราว่า“ณ ข้อมูลปัจจุบันที่เป็นหลักฐานที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อถือ พบว่า ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าวัคซีนไม่มีความปลอดภัย”ทวนอีกรอบ ‘ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าวัคซีน HPV ไม่มีความปลอดภัย’ เราสอบถามกลับด้วยคำถามลักษณะเดียวกันว่า แล้วมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันได้หรือไม่ว่า ‘ปลอดภัย’ นพ.ยศ ตอบว่า“โดยหลักการยาหรือวัคซีนทุกตัวจะให้บอกว่าปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นไปไม่ได้ แน่นอน ทุกคนยอมรับว่าวัคซีนตัวนี้เมื่อฉีดไปแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรงเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย แต่ถึงกับบอกว่าไม่ปลอดภัยและไม่ควรใช้ มันยังสรุปแบบนั้นไม่ได้ เพราะอาการไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่ที่เจอคือหน้ามืด เป็นลม วิงเวียน และพบเจอทั่วโลก และอาจมีอาการเจ็บปวดบริเวณที่ฉีด ซึ่งก็เป็นอาการทั่วไปของวัคซีน“แต่วัคซีนตัวนี้ยังไม่เจอผลข้างเคียงรุนแรง ถ้าจะสื่อสารกับประชาชนก็ต้องบอกว่า ณ ปัจจุบันนี้ 10 กว่าปีผ่านมาที่วัคซีนยังอยู่ในท้องตลาด ในทางวิทยาศาสตร์เรายังไม่สามารถสรุปได้ว่าวัคซีนไม่ปลอดภัย ถึงแม้ว่าจะเจอผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก”สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น นพ.ยศ อธิบายว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมความเชื่อในการต่อต้านวัคซีนที่ฝังอยู่ในสังคมญี่ปุ่นมาค่อนข้างนานแล้ว คนญี่ปุ่นจึงมักมีความรู้สึกกับวัคซีนในแง่ลบ เคยมีปัญหาวัคซีนหลายตัวในญี่ปุ่นที่คนขาดความเชื่อถือ เมื่อเกิดเรื่องกับวัคซันตัวใหม่อย่าง HPV ทำให้กระแสจุดติดได้ง่าย เพราะมีกลุ่มเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมกลุ่มหนึ่งเฉพาะที่คอยต่อต้านวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนตัวไหนกลุ่มนี้ก็จะระแวงไว้ก่อน และทำให้การฟ้องร้องกรณีผลกระทบจากวัคซีนในญี่ปุ่นทำได้ง่าย เนื่องจากมีกลุ่มและระบบสนับสนุนจำนวนมาก“ที่ผมได้อ่านจากเอกสารวิชาการที่ตีพิมพ์ มีการสอบสวนโดยการไปดูเวชระเบียนของคนญี่ปุ่นที่มีปัญหาข้างเคียง ก็เจอว่ายังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นผลจากวัคซีน”นอกจากนี้ นพ.ยศ ยังได้ระบุว่า ปัจจุบันนี้ จุดยืนขององค์การอนามัยโลกถือว่าวัคซีนตัวนี้มีความปลอดภัยอย่างไรก็ตาม การที่จะรู้ว่ายาหรือวัคซีนตัวหนึ่งมีผลกระทบรุนแรงหรือไม่ ต้องอาศัยเวลายี่สิบถึงสามสี่ปีเป็นเครื่องพิสูจน์ นพ.ยศ แนะนำว่า หากประเทศไทยจะนำวัคซีน HPV มาใช้ ในแง่ความปลอดภัยไม่มีอะไรต้องวิตกกังวล แต่ก็ไม่ควรฝากชีวิตประชาชนไทยกับข้อมูลของต่างประเทศ รัฐบาลจึงควรสร้างระบบติดตามความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีนเชิงรุกที่เป็นข้อมูลของคนไทยวัคซีน HPV คุ้มค่า แต่ไม่คุ้มทุนเรื่องความปลอดภัยดูเหมือนจะเคลียร์แล้ว(ในระดับหนึ่ง) ส่วนคุ้มค่าหรือไม่ ต้องค้นหาคำตอบกันต่อโดยปกติแล้ว การจะบอกว่าการใช้เงินกับสิ่งใด คุ้มค่าหรือไม่ต้องมีสิ่งเปรียบเทียบ อดีตที่ผ่านมามีการศึกษาความคุ้มค่าของวัคซีน HPV อยู่หลายครั้ง ซึ่งบางครั้งก็เป็นการศึกษาโดยบริษัทยา เปรียบเทียบระหว่างฉีดกับไม่ฉีดวัคซีนและไม่ทำอะไรใดๆ ทั้งสิ้น ก็แน่นอนว่าด้วยลักษณะการเปรียบเทียบเช่นนี้ การฉีดวัคซีน HPV ย่อมคุ้มค่ากว่าแต่ของไฮแทป ศึกษาโดยเปรียบเทียบกับการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกัน 3 วิธีที่เป็นที่นิยมและยอมรับในปัจจุบัน คือหนึ่ง-การทำ Pap Smear ซึ่งเป็นวิธีที่แพร่หลายในไทย โดยทำการตรวจภายในและป้ายเซลล์จากมดลูกป้ายสไลด์และส่งตรวจ วิธีนี้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว สอง-Wisual Inspection with Acetic acid หรือ VIA เป็นการใช้น้ำส้มสายชูป้ายปากมดลูกเพื่อดูว่ามีจุดสีขาวปรากฏขึ้นมาหรือไม่ ถ้ามี ก็ใช้ความเย็นจี้ทำลายเซลล์ที่เริ่มผิดปกติตั้งแต่เริ่มต้น และสุดท้าย-เป็นวิธีการตรวจที่เรียกว่า HPV DNA Test คือการนำเซลล์ปากมดลูกไปตรวจอย่างละเอียดในระดับพันธุกรรม ซึ่ง นพ.ยศ กล่าวว่า ทั้ง 3 วิธีนี้คุ้มทุนมากกว่าการฉีดวัคซีน แต่วัคซีนมีความคุ้มค่ากว่า สรุปคือวัคซีน HPV คุ้มค่า แต่ไม่คุ้มทุนอ่านถึงตรงนี้ คงเริ่มสับสนชีวิต นพ.ยศ อธิบายว่า “คุ้มค่าแปลว่า คุณยอมจ่ายของแพงกว่าเพื่อให้ได้ประโยชน์มากกว่า วัคซีน HPV มีประโยชน์มากกว่าการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกชนิด แต่แพงกว่า คำถามคือเมื่อมันดีกว่า แพงกว่า แล้วเมื่อไหร่จะคุ้ม ประเทศไทยได้ทำการศึกษาจนได้เกณฑ์ว่า ยาและวัคซีนจะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อใช้เงินไม่เกิน 160,000 บาทต่อ 1 ปีสุขภาวะ เพราะใช้เงินจำนวนนี้จะทำให้คนไทยอายุยืนยาวขึ้นอย่างสมบูรณ์ 1 ปีถือว่าคุ้ม เช่น ออกยาใหม่ อยากรู้ว่ายาใหม่คุ้มหรือไม่ ก็นำมาเทียบกับยาเดิม ถ้ายาใหม่ทำให้อายุคนไข้ยืนขึ้น 1 ปีและเป็น 1 ปีที่มีความสมบูรณ์แข็งแรง เช่น เป็นโรคมะเร็ง คุณภาพชีวิตไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ สมมติว่าแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ของคนทั่วไป อายุยืนขึ้น 1 ปีเท่ากับ 0.5 ปีสุขภาวะ ถ้าอายุยืนขึ้นแบบนี้ 2 ปีจึงจะเท่ากับ 1 ปีสุขภาวะ ถ้าใช้เงินไม่เกิน 160,000 บาททำให้อายุยืนขึ้น 2 ปีแบบที่มีคุณภาพชีวิตแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับคุ้มค่าในประเทศไทย ข้อมูลนี้มีประโยชน์ใช้เปรียบเทียบยากับทุกตัวได้ถ้าเทียบวัคซีนตัวนี้เทียบว่าแพงกว่าและดีกว่า อยู่ภายใต้ 160,000 บาทต่อปีสุขภาวะหรือไม่ ใช่ คือคุ้มค่าแล้ว แต่ไม่คุ้มทุนเป็นอย่างไร เนื่องจากวัคซีนอ้างว่าเมื่อฉีดวันนี้สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกในอนาคต แปลว่าในอนาคตเราต้องประหยัดเงินได้จากการรักษาโรคมะเร็ง แสดงว่าเรานำเงินที่ต้องจ่ายในอนาคตเพื่อรักษาโรคมะเร็งมาซื้อวัคซีนวันนี้ โดยที่เราไม่ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น อย่างนี้ถือว่าคุ้มทุน แต่ ณ ราคาวันนี้ที่บริษัทเสนอให้ยังถือว่าไม่คุ้มทุน”ราคาวัคซีนที่บริษัทยาเสนอให้กับรัฐบาลตอนนี้คือ 375 บาทต่อเข็ม โดยจะต้องฉีด 3 เข็ม ซึ่งยังเป็นราคาที่ไม่คุ้มทุน แต่ราคาที่คุ้มทุนคือ 300 บาท เรื่องเกิดขึ้นขณะที่ทั้งฝ่ายเราและบริษัทยากำลังต่อรองราคากันอยู่นั้น รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งกลับพูดในที่สาธารณะว่า ประเทศไทยต้องใช้วัคซีน HPV แน่นอน และนั่นทำให้การต่อรองราคาจบลงด้วยราคา 375 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่คุ้มทุน“อาจจะเกิดการสับสนเวลาที่แพทย์หรือบริษัทยาบอกว่า โรคมะเร็งรักษาทีเป็นแสน แล้วทำไมการฉีดยาเข็มละ 375 บาทจึงไม่คุ้มทุน คำตอบคือสมมติว่าคนไทยทั้งประเทศป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ย 12 คนต่อ 100,000 คน ฉีดวัคซีนไปแสนคน เท่ากับคุณป้องกันไม่ให้ป่วยแค่ 12 คนเท่านั้น เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นมะเร็ง เราทำวิจัยและทั่วโลกก็ยืนยันเหมือนกัน ถ้าเราฉีดให้ทุกคน แล้วนำเวลาของอายุที่ยืนยาวขึ้นของคนไทยโดยเฉลี่ยหลังได้รับการฉีดวัคซีน อายุจะยืนยาวขึ้นเฉลี่ยแค่ 5-7 วันเท่านั้น ที่น้อยเพราะบางคนไม่ได้อายุยืนยาวขึ้น เนื่องจากไม่ว่าจะฉีดหรือไม่ฉีดทั้งชีวิตเขาก็ไม่ได้เป็นมะเร็งปากมดลูกอยู่แล้ว”เราแลกเปลี่ยนถกเถียงกับ นพ.ยศ ว่า แต่ถ้านับค่าเสียเวลา ค่าเสียโอกาส ค่าเดินทาง ที่ผู้หญิงจะต้องเดินทางไปตรวจคัดกรองด้วย 3 วิธีข้างต้นทุกๆ 5 ปี การฉีดวัคซีน HPV ก็ยังไม่ถือว่าคุ้มค่าและคุ้มทุนกว่าอย่างนั้นหรือ?“การฉีดสะดวกกว่า ไม่ต้องเสียเวลา เสียโอกาส แต่ผมอธิบายแบบนี้ สิ่งที่เรากลัวกันอยู่คือวัคซีนป้องกันได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงทั้งหมดที่จะเกิดขึ้น ทั่วโลกจึงแนะนำว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้วก็ต้องทำ 3 วิธีนี้เหมือนเดิมมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งชนิดที่ค่อยๆ เป็น ใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการลุกลามจนกระทั่งรักษาไม่ได้ ดังนั้น จึงมีการแนะนำให้ตรวจมะเร็งปากมดลูกทุก 5 ปี ถ้าผู้หญิงไทยทุกคนทำ วัคซีนไม่จำเป็น แถมการตรวจยังดีกว่าด้วย เพราะป้องกันร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ประเด็นคือทุกวันนี้ผู้หญิงไทยไปตรวจกัน 60-70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น พอเอาวัคซีนมาฉีดก็ป้องกันได้เหมือนเดิมคือ 60-70 เปอร์เซ็นต์ เพราะวัคซีนไม่ได้ป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นคุณจะปล่อยคนอีก 30 เปอร์เซ็นต์ให้เป็นมะเร็งโดยที่ไม่รักษา”คำอธิบายของ นพ.ยศ น่าจะทำให้เข้าใจได้แล้วว่า วัคซีน HPV คุ้มค่าแต่ไม่คุ้มทุนอย่างไร.........ปัจจุบัน วัคซีน HPV เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าจะได้รับการบรรจุเข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หรือไม่ทิ้งท้ายตรงนี้ว่า ตอนวัคซีน HPV เข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ต้นทุนเพียงเข็มละ 90 บาทเท่านั้น แต่ราคาที่ขายคือ 5,000 บาทต่อเข็ม“เราต่อ 300 ยังไม่อยากลดราคา เพราะกลัวเสียราคา” นพ.ยศ กล่าว

อ่านเพิ่มเติม >