ฉบับที่ 205 ฉลากเขียว สัญลักษณ์เพื่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของประชากรโลก ทำให้การบริโภคทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นประเด็นกระแสที่ถูกพูดถึงไม่จบสิ้น เป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่ทำให้ผู้คนหลายๆ ประเทศตื่นตัวและตระหนักในการแก้ปัญหาร่วมกันผ่านการริเริ่มกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดโลกร้อน เช่น การใช้ถุงพลาสติกให้น้อยลงหรือใช้ถุงผ้าทดแทน การยกเลิกพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม การไม่ใช้หลอดพลาสติก เหล่านี้เป็นยุทธวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนให้รักษ์โลกมากขึ้น เช่นเดียวกันกับโครงการฉลากเขียว ที่หลายๆ คน อาจจะเคยบังเอิญสังเกตเห็น ฉลากสีเขียววงกลมที่มีรูปนก ต้นไม้และหน้าเด็กยิ้ม ชวนให้สงสัยว่าฉลากสีเขียวนี้คืออะไร และเป็นประโยชน์กับเราอย่างไรฉลากเขียวคืออะไร ? ฉลากเขียว (Green label) หรือฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อม (eco-label) เป็นฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 (ตาม ISO) ที่มอบให้แก่ผลิตภัณฑ์ เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภคทราบว่า สินค้าชิ้นนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสินค้าที่มีองค์ประกอบ กระบวนการผลิต การใช้ ตลอดจนการกำจัดทำลายที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในประเภทเดียวกัน โดยมีองค์กรกลางเป็นผู้ให้การรับรองวิวัฒนาการของฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ eco-label  เริ่มต้นจากประเทศในแถบยุโรปโดยมีประเทศเยอรมนีเป็นหัวหอกและนับประเทศแรกที่เอาจริงเอาจังในการพัฒนาโครงการฉลากสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ใช้ฉลากที่เรียกว่า นางฟ้าสีฟ้า (Blue Angel) ในการรณรงค์ปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยจุดมุ่งหมาย 3 ประการคือ ชี้แนะให้ผู้บริโภคซื้อเฉพาะแต่สินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ส่งเสริมให้ผู้ผลิตพัฒนาสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม และรณรงค์ให้ฉลากนางฟ้าสีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ในการส่งเสริมการจำหน่าย ฉลากนางฟ้าสีฟ้า ได้เริ่มจากการใช้คำว่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Umweltfreundlich (Environment Friendly) มาแก้ไขเป็น ฉลากสิ่งแวดล้อม หรือ Umweltzeichen (Environment Label) ในปี พ.ศ. 2531 เพื่อหลีกเลี่ยงคำโฆษณาต่างๆ ที่มักใช้ประโยคว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในกลุ่มสหภาพยุโรปเอง ก็มีฉลาก EU-Eco Label หรือที่เรียกว่า EU – Flower ของสหภาพยุโรป เป็นตราสัญลักษณ์ฉลากสิ่งแวดล้อมของทุกประเทศในสหภาพยุโรปที่แสดงให้เห็นว่า สินค้าเหล่านั้นมีการผลิตและได้รับการรับรองแล้วว่ามีวงจรชีวิต (Life Cycle) ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบในการผลิต กระบวนการผลิตเป็นสินค้า และผลกระทบของคุณภาพสินค้าต่อผู้บริโภค เช่น การรักษาคุณภาพน้ำ อากาศ ดิน และเสียง รวมทั้งเรื่องการประหยัดพลังงาน โดยพิจารณาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการผลิต ทั้งในเรื่องวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การบรรจุหีบห่อ การใช้งาน จนถึงขั้นตอนสุดท้ายซึ่งเป็นการกาจัดกากเหลือใช้หรือการนากลับมาใช้ใหม่ EU Eco-label มีสัญลักษณ์เป็นรูปดอกไม้และมีรูปตัวอีคล้ายสัญลักษณ์ของเงินยูโรแทนเกสรดอกไม้ เริ่มใช้เป็นครั้งแรกในปี 2536สำหรับประเทศไทย โครงการฉลากเขียวริเริ่มขึ้นโดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน Thailand Business Council for Sustainable Development (TBCSD) เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2536 โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการโครงการฉลากเขียวเกิดขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานอิสระที่ใช้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อผู้บริโภค มีความเป็นกลาง โปร่งใส เชื่อถือได้ โดยมีการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักและป้องกันมลพิษที่อาจเกิดขึ้นตลอดวัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสินค้าสีเขียวที่มีจำหน่ายในท้องตลาดเกิดจากการประชาสัมพันธ์ของผู้ผลิตและผู้จัดนำหน่ายโดยอิสระเท่านั้นฉลากเขียว เป็นฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 ตามมาตรฐาน ISO14024 เริ่มดำเนินการให้การรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2537 โดยฉลากเขียวได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกที่ได้รับรองระบบงานGenesis (เจเนซิส) ของเครือข่ายฉลากสิ่งแวดล้อมโลก Global Ecolabelling Network (GEN) มีสมาชิกมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการพัฒนาเกณฑ์ของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สามารถใช้ร่วมกันได้ในระดับสากล Common Core Criteria (CCC) และในการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มสมาชิก อาจลงนามบันทึกความเข้าใจ Memorandum of Understanding (MOU) ร่วมกันเพื่อดำเนินงานร่วมกันระดับองค์กร ในการยอมรับมาตรฐานห้องปฏิบัติการ และผลการทดสอบของผลิตภัณฑ์เดียวกันปัจจุบันฉลากเขียวได้ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันกับหน่วยงานด้านฉลากสิ่งแวดล้อมของประเทศต่างๆ เพื่อการรับสมัครขอการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม และ การตรวจประเมินสถานประกอบการ (On-Site Assessment) แทนกันของประเทศที่มีความร่วมมือ ในการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลี นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จีน ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง มาเลเซีย และเยอรมนีนอกจากนี้ ฉลากเขียวยังได้มีการพัฒนาเกณฑ์ข้อกำหนดสำหรับใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สามารถใช้ร่วมกันได้ในระดับสากล Common Core Criteria (CCC) เพื่อให้มีสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ถูกนำเข้าหรือส่งออกในตลาดระหว่างประเทศ เช่น เครื่องพิมพ์ (Printers) เครื่องถ่ายเอกสาร (Copiers) และผลิตภัณฑ์เครื่องฉายดิจิตอล (Digital Projectors)แนวคิดและวัตถุประสงค์ของโครงการฉลากเขียว ฉลากเขียวเป็นฉลากที่ออกให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้ผ่านการประเมินและตรวจสอบว่าได้มาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนด โดยความสมัครใจของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายหรือผู้ให้บริการที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผู้บริโภค โดยการกระตุ้นให้มีการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย กระตุ้นให้กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิต หันมาใช้เทคโนโลยีสะอาด รวมถึงกระตุ้นให้รัฐบาลและเอกชน ร่วมมือกันฟื้นฟูรักษาสิ่งแวดล้อม และลดปัญหามลภาวะด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในสังคม ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของโครงการฉลากเขียว มาจากแนวคิดและความต้องการให้ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับการป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนี้ 1. ลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมโดยรวมภายในประเทศ 2. ให้ข้อมูลที่เป็นกลางต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน 3. ผลักดันให้ผู้ผลิตใช้เทคโนโลยีหรือวิธีการผลิตที่สะอาด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยผู้บริโภคได้อะไรจากการซื้อสินค้าหรือบริการที่มีฉลากเขียว ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียวนั้นมีข้อกำหนดและการพิจารณาแตกต่างกันไปตามประเภทของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ทั้งในแง่การผลิต การใช้ การทิ้งทำลาย และความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ เรียกว่าครบทั้งวงจรวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นๆ ซึ่งจะคำนึงถึงการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้มีการผลิต การขนส่ง การใช้และการกำจัดทิ้งหลังการใช้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลัก 3R คือ ลดการใช้ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)  การที่ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากเขียว เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยกันลดปัญหาโลกร้อน รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากเขียวยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองว่ามีคุณภาพสูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป มีความปลอดภัยจากสารเคมีที่เป็นอันตราย เนื่องจากมีการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ผู้บริโภคยังได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานความปลอดภัยอีกด้วย ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียว ผลิตภัณฑ์ที่สามารถขอการรับรองฉลากเขียวได้นั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ สินค้า และบริการ (บางประเภท) ยกเว้น ยา เครื่องดื่ม และอาหาร เนื่องจากการติดฉลากเขียวบนผลิตภัณฑ์ยา เครื่องดื่มและอาหาร มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ ความปลอดภัยในการบริโภค เพราะอาจสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคได้ ปัจจุบันฉลากเขียวของประเทศไทย มีข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่พร้อมให้ผู้ผลิตยื่นขอรับการรับรองเครื่องหมายฉลากเขียวแล้ว จำนวน 124 ผลิตภัณฑ์ มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสิทธิ์ให้ใช้เครื่องหมายฉลากเขียว รวมทั้งสิ้น 674 รุ่น ใน 30 กลุ่มผลิตภัณฑ์ และ 72 บริษัท/ผู้ผลิต (ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากเขียว) (ข้อมูลเผยแพร่ รายละเอียดผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียว ประจำเดือน ม.ค.2561; http://www.tei.or.th/greenlabel/download/2018-01-Name-GL-th.pdf) โดยผู้บริโภคสามารถดูรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียว และรายชื่อห้องปฏิบัติการทดสอบที่ยอมรับผลโดยฉลากเขียว (ISO/IEC 17025) ได้ที่เว็บไซต์ www.tei.or.th/greenlabel นอกจากฉลากเขียวแล้ว ภาครัฐยังมีการส่งเสริมระบบการติดฉลากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น ฉลากคาร์บอน ฉลากประหยัดพลังงาน ฉลากรับรองไม่ทำลายป่าไม้ ฉลากลดการใช้น้ำ และเกียรติบัตรใบไม้สีเขียวสำหรับธุรกิจโรงแรม เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า สินค้านั้นๆ มีคุณประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าสินค้าหรือบริการประเภทเดียวกันที่ไม่มีฉลากรับรอง ทั้งนี้ การอ่านฉลากสินค้าจะช่วยให้เราทราบข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อหาหรือใช้บริการอย่างปลอดภัย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้กำหนดให้มีการแสดงหรือระบุข้อความบนฉลากตามข้อกฎหมาย โดยฉลากสินค้าต้องใช้ข้อความที่ตรงตามความเป็นจริง ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า โดยหากผู้บริโภคพบเจอสินค้าที่มีข้อความบนฉลากที่เป็นเท็จ หรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า สามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้ดำเนินการกับผู้ประกอบการที่กระทำผิดตามกฎหมายได้ ในฐานะพลเมืองโลกที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Active Citizen) อย่างเราๆ การเลือกสรรหรือลดการบริโภคด้วยการเริ่มเป็นผู้บริโภคสีเขียว (Green Consumers) ที่รู้จักประมาณการบริโภคและตระหนักว่า การบริโภคทุกอย่างล้วนส่งผลกระทบต่อตนเองและสังคม การเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากเขียว ก็นับเป็นกิจกรรมที่มุ่งสู่การบริโภคที่พอเพียงบนวิถีแห่งการรักษ์โลกที่แท้จริงเช่นกันแหล่งข้อมูลอ้างอิง- www.tei.or.th/greenlabel- ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (https://progreencenter.org)- สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)สัญลักษณ์สีเขียวมีรูปหน้าเด็กยิ้ม ต้นไม้และนกที่อยู่ร่วมกันในโลกที่เห็นนี้เป็นสัญลักษณ์ของ “ฉลากเขียว” ของประเทศไทย -----------------------------------------------------------------------------ฉลากสิ่งแวดล้อม (ECO LABELLING)“ฉลากสิ่งแวดล้อม” เป็นกลไกการสื่อสารและบ่งบอกความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้บริโภครับทราบ โดยฉลากสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO  สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ     ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 ( ISO14024)เป็นฉลากที่บ่งบอกความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมอบให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนด โดยองค์กรอิสระที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Third party) โดยจะพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบใช้วิธีพิจารณาแบบตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Consideration) ในประเทศไทยมีการออกฉลากประเภทที่ 1 ซึ่งรู้จักกันดีในนาม “ฉลากเขียว” ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 2 ( ISO14021)เป็นฉลากที่ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หรือ ผู้ส่งออก จะเป็นผู้บ่งบอกความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือแสดงค่าทางสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ตนเอง (Self-declared Environmental Claims)  ซึ่งอาจจะแสดงในรูปของข้อความ หรือสัญลักษณ์ รูปภาพ เช่น การใช้พลังงานอย่างประหยัด การนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น โดยฉลากนี้ จะไม่มีองค์กรกลางในการดูแล แต่ทางผู้ผลิต จะต้องสามารถหาหลักฐานมาแสดงเมื่อมีคนสอบถาม ดังนั้น ฉลากประเภทนี้ผู้ผลิตสามารถทำการศึกษาหรือประเมินผลได้ด้วยตนเองฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 3 ( ISO14025)เป็นฉลากที่บ่งบอกถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์ต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการแสดงข้อมูลสิ่งแวดล้อมโดยรวม (Environmental information) โดยการใช้เครื่องมือการประเมินผลกระทบตลอดวัฏจักรชีวิตของสิ่งแวดล้อม (Life Cycle Assessment) เข้ามาประเมิน ตามมาตรฐาน ISO 14040 โดยฉลากนี้ จะมีหน่วยงานอิสระหรือองค์กรกลางในการทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนที่จะประกาศลงกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 204 ‘โซลาร์ รูฟท็อป’ พูดได้ แต่ทำไมยังทำไม่ได้

โครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัยแบบเสรีหรือโซลาร์ รูฟท็อปเสรี น่าจะเป็นโครงการที่ผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง หลายครอบครัวอาจคาดว่าจะเป็นแหล่งรายได้เสริมและช่วยประหยัดไฟฟ้าในคราวเดียวกันแต่มันเป็นฝันที่ค้างคาอยู่เช่นนั้น เพราะแม้ทางกระทรวงพลังงานจะประกาศนโยบายนี้มาพักใหญ่ แต่แนวทางในการรับซื้อก็ยังไม่ชัดเจนเสียที มีรายละเอียดจุกจิกที่เพิ่มความยุ่งยากมากกว่าจะอำนวยความสะดวก การปฏิบัติที่ไม่ค่อยตรงหลักการของชื่อโครงการที่บอกว่า ‘เสรี’ ทว่า จำกัดจำนวนรับซื้อไว้ไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ต่อปี หรือการกำหนดราคาที่ผู้ขายไฟฟ้ารู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม จากข่าวช่วงปลายปีที่ผ่านมาว่าการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ รูฟท็อปอิงกับราคาค่าไฟฟ้าขายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) โดยกลุ่มที่อยู่อาศัยทั่วไปจะรับซื้อในราคา 2.30-2.50 บาทต่อหน่วย แต่ขายในราคา 4.30 บาทต่อหน่วย เรียกว่าได้กำไรเกือบเท่าตัวทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานยังอ้างเรื่องความพร้อมของระบบสายส่งและถ้ารับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปมากเกินไปจะกระทบกับค่าไฟฟ้าที่เก็บจากประชาชนผู้ใช้ไฟ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะพาไปดูตัวอย่างคนที่ติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อปและประสบความสำเร็จ พร้อมกับสำรวจแบบคร่าวๆ ว่าสิ่งที่ภาครัฐอ้างนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ แล้วข้ออ้างดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพลังงานสะอาดในไทยหรือไม่? อย่างไร?วัดป่าศรีแสงธรรมคนที่สนใจประเด็นพลังงานน่าจะเคยได้ยินชื่อวัดป่าศรีแสงธรรม ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อพระครูวิมลปัญญาคุณ ศรีแสงธรรม เจ้าอาวาส และผู้รับใบอนุญาตและก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม ได้รับแรงบันดาลใจจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้สู่การพึ่งตนเองด้านพลังงาน ทำให้ชื่อของวัดป่าศรีแสงธรรมเป็นที่รู้จักการติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อปผลิตไฟฟ้าใช้เองทำให้โรงเรียนสามารถประหยัดค่าไฟได้ถึงเดือนละ 20,000 บาท ทว่า กว่าจะได้ผลลัพธ์นี้ก็ต้องอาศัยเวลาเรียนรู้และฝ่าฟันกับระบบระเบียบของทางราชการที่ไม่เอื้อให้เกิดการพึ่งตนเองด้านพลังงานของประชาชน ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องเลือกตัดปัญหาเพื่อไม่ต้องวุ่นวายกับระบบที่ไม่เอื้อนี้“ระบบออนกริด(On-grid) ข้อดีคือถูกมาก ตอนแรกๆ โรงเรียนผลิตไฟได้ 40 หน่วยต่อวัน กลางวันใช้ไป 30 หน่วย เหลือ 10 หน่วย มันก็ไปหมุนมิเตอร์กลับ กลางคืนใช้อีก 10 หน่วย เช้ามาก็เท่ากับ 0 หน่วยทุกวัน การไฟฟ้าไม่ยอม บอกว่าไม่มีระเบียบแบบนี้ ไฟที่ออกจากมิเตอร์แล้ว ต้องจ่ายเงิน ไม่ใช่เอาไฟฟ้าเข้าไปหมุนคืน ประเทศไทยยังไม่มีระบบแลกไฟไปกลับแบบนี้“ถามว่าจะเอาไฟฟ้าเข้าระบบยุ่งยากหรือไม่ หนึ่ง-ต้องไปแจ้งที่ กกพ. (คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) เอาแบบไปยื่น ไปขอยกเว้นไม่รับใบประกอบกิจการพลังงาน เมื่อได้ใบนี้แล้วจึงนำไปยื่นขอขนานไฟกับการไฟฟ้า ตรงนี้จะยุ่งยากขึ้นไปอีก การไฟฟ้าจะตรวจอุปกรณ์ว่าตามมาตรฐานหรือไม่ ทดสอบผ่านหรือไม่ ถ้าไม่ให้ผ่าน ก็ไม่ให้เชื่อม ไม่ให้ขนาน สำหรับบางคนระเบียบแบบนี้มันยุ่งยากจนเขาไม่ไปขอขนานไฟ เกิดเป็นโซลาร์กองโจรขึ้นมา อยากจะติดก็ติดเลย เพราะทั่วโลกเขาก็ให้ส่งขายอยู่แล้ว ทำไมมาติดที่ประเทศไทย” พระครูวิมล เล่าประสบการณ์พระครูวิมลเล่าอีกว่า ไม่ได้คิดจะผลิตไฟฟ้าเพื่อขาย หากมีไฟฟ้าเหลือใช้เข้าระบบก็ยินดียกให้ เพียงแต่กำลังผลิตที่มีอยู่สร้างขึ้นพอดีกับปริมาณการใช้ พอมีประเด็นมิเตอร์หมุนกลับ ทางพระครูวิมลจึงสร้างระบบจัดเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ตอนกลางคืน ทำให้ปัจจุบันทางโรงเรียนศรีแสงธรรมไม่ได้ใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเลย ฟังแบบนี้อาจคิดว่าการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เองต้องเป็นเรื่องซับซ้อนเข้าใจยาก แน่นอนว่าการติดตั้งต้องอาศัยช่างเทคนิค แต่หากเป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่มีคุณภาพ มีการรับประกันนานถึง 20 ปีเช่นที่โรงเรียนแห่งนี้ก็ถือว่าคุ้มต่อการลงทุน อีกทั้งการดูแลรักษาก็ง่ายดายขนาดว่าเด็กนักเรียนก็ทำเองได้“เรื่องการดูแลรักษา เราก็ให้ความรู้เด็กๆ ในโรงเรียน เต็มที่ก็ดูว่าแผ่นโซล่าร์สกปรกมั้ย มีนกไปขี้ใส่มั้ย ล้างแผ่นมั้ย แค่นี้เอง ทางบริษัทมอนิเตอร์หรือเรามอนิเตอร์เองก็ได้”ประโยชน์และความคุ้มค่าจากตัวอย่างของโรงเรียนวัดป่าศรีแสงธรรมแสดงให้เห็นว่า การพึ่งพาตนเองด้านพลังงานของประชาชนไม่ใช่เรื่องยากเย็น แม้เริ่มต้นจะลงทุนสูง แต่ในระยาวถือว่าคุ้มค่า อีกทั้งหากมีการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์ เซลล์ ก็จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้เทคโนโลยีก้าวล้ำขึ้นและราคาถูกลงดังนั้น โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่การส่งเสริม มิใช่การสร้างอุปสรรคและความไม่ชัดเจนเราพูดคุยกับนักวิชาการที่ติดตามประเด็นพลังงาน 2 คนคือประสาท มีแต้ม กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน และเดชรัต สุขกำเนิด จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับโซลาร์ รูฟท็อปทีละประเด็นตามข้อจำกัดของพื้นที่ เดชรัต กล่าวถึงการทำโซลาร์ รูฟท็อปว่า เหมือนการมีโรงไฟฟ้าขนาดย่อยกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ 3 จุด คือ การมีแหล่งกำเนิดไฟฟ้าอยู่ติดกับบ้านของผู้ใช้ทำให้ความสูญเสียในสายส่งน้อยลง ทำให้ปัญหาไฟตกหรือไฟดับลดลง และการทำให้ระบบกลับคืนมาใหม่ดีขึ้น เพราะมีแหล่งกำเนิดพลังงานรออยู่หลายจุดประเด็นที่ 2 คือผลพลอยได้ เช่น กรณีภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้ระบบสายส่งไม่สามารถทำงานหรือไม่สามารถส่งไฟได้ ความพร้อมในการดูแลผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติจะสามารถทำได้อีกทางหนึ่ง อย่างน้อยในระยะสั้นก็ยังสามารถมีไฟฟ้าใช้ประเด็นสุดท้ายคือการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์ เซลล์ ก่อให้เกิดมลภาวะน้อยกว่าถ่านหิน เพราะโซล่าร์ เซลล์ไม่ก่อให้เกิดการเผาไหม้ ดังนั้นจึงเป็นการช่วยสังคมโดยภาพรวมเมื่อถามถึงความคุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์ เดชรัต อธิบายดังนี้“เทคโนโลยีในระยะแรกจะแพงมาก แต่เมื่อมีการใช้มากขึ้นก็จะเกิดเส้นโค้งการเรียนรู้ ซึ่งทำให้ต้นทุนถูกลง ตัวเลขล่าสุดที่มีการประมูลขายไฟเข้าระบบ โซล่าร์ เซลล์ ไม่ถึง 4 บาทแล้ว ขณะที่ไฟฟ้าที่เราใช้อยู่ก็ประมาณ 4 บาทนิดๆ เพราะฉะนั้นแนวโน้มในอนาคตน่าจะแข่งขันได้มากขึ้น ตอนนี้อาจจะแพงกว่าไฟฟ้าจากถ่านหินเล็กน้อย แต่การที่มันแพงกว่าเป็นเพราะเราไม่ได้คิดต้นทุนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน”ระบบที่สร้างอุปสรรค ถ้าติดโซลาร์ รูฟท็อปแล้วต้องการขายไฟฟ้าส่วนเกินให้แก่การไฟฟ้าจะใช้ระบบใด ประสาทกล่าวว่า ปัจจุบันมี 3 ระบบหลักที่ใช้ในประเทศต่างๆ คือ Net Mitering ไฟฟ้าที่ผลิตได้ไหลเข้าสายส่ง มิเตอร์เดินถอยหลัง เมื่อมีการใช้ไฟฟ้าในบ้านมิเตอร์ก็เดินหน้า เมื่อครบรอบเดือนก็มาหักลบเป็นตัวเลขสุทธิว่าต้องชำระเพิ่มหรือไม่ แบบที่ 2 คือบริษัทไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าจากบ้านเรือนในราคาสูงและขายในราคาต่ำกว่า แบบที่ 3 คือบริษัทไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าจากบ้านเรือนในราคาต่ำและขายกลับในราคาสูง ซึ่งแบบนี้ประสาทบอกว่ากำลังเป็นคดีความอยู่ในสหรัฐฯอย่างไรก็ตาม ระบบการรับซื้อเป็นเรื่องหลังจากที่มีกติกาที่ชัดเจนแล้ว ซึ่งในประเทศไทยความชัดเจนที่ว่ายังไม่เกิดขึ้น ประสาทอธิบายปัญหาเชิงระบบของไทยโดยตั้งต้นจากตัวอย่างของประเทศเยอรมนีว่า การผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์ รูฟท็อป ไม่จำเป็นต้องจำกัดโควตาเช่นที่ประเทศไทยทำ ในเยอรมนีมีระเบียบว่าใครที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ก่อนสามารถขายได้ก่อนโดยไม่จำกัดจำนวน ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญเพราะไม่มีอุปสรรคต่อระบบการผลิตไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ เนื่องจากในช่วงเริ่มต้นนั้นพลังงานหมุนเวียนในเยอรมนีแพงกว่าพลังงานอื่น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจึงต้องมาเฉลี่ยกันทั้งประเทศ“ในส่วนของประเทศไทยไม่เมคเซ๊นส์เพราะ หนึ่ง-จำกัดจำนวน สอง-มีระเบียบหยุมหยิม สาม-มีการกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์แต่ละการไฟฟ้าก็ไม่เหมือนกัน สี่-มาตรฐานอุปกรณ์ที่ว่าก็สูงเกินจริงมากๆ ทำให้ต้นทุนแพง เพราะฉะนั้นคนจึงไม่ไปขอ โควตาที่ให้ก็ไม่เต็ม ขณะที่โซล่าร์ ฟาร์มของบริษัทขนาดใหญ่กลับเติบโตเร็วมาก สัดส่วนระหว่างโซล่าร์ ฟาร์ม กับโซล่า รูฟท็อป พบว่าร้อยละ 99 เป็นโซล่าร์ ฟาร์ม คือเน้นทุนขนาดใหญ่ ขณะที่ในเยอรมนี โซล่าร์จะเน้นชาวบ้านธรรมดา ประเทศไทยมันสลับหัวสลับหาง”ประเด็นที่ว่าจะทำให้ค่าไฟแพงขึ้นหรือไม่ ประสาท อธิบายคล้ายกับเดชรัตว่า เวลานี้ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ถูกลงมากและลดลงมาเรื่อยๆ ปีละประมาณร้อยละ 14-15 เขายังยกตัวอย่างการประมูลในประเทศซาอุดิอาระเบียที่เวลาค่าไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ถูกที่สุดไม่ถึง 3 เซนต์ต่อหน่วยไฟฟ้าหรือประมาณ 1.50 บาท ขณะที่ค่าไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 3.50-4 บาทต่อหน่วย และต้องไม่ลืมประเด็นที่เดชรัตกล่าวในตอนต้นด้วยว่า ไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าตัวหนึ่ง“สถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าเราจะติดบนหลังคา” ประสาทกล่าวถึงกรณีประเทศไทย “ภาครัฐบอกว่าไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องแจ้งพร้อมด้วยอุปกรณ์ที่ใช้ต้องได้มาตรฐาน และยังมีข้อแม้ว่าห้ามไฟฟ้าไหลย้อนเข้าไปในสายส่ง ปัญหาคือพระอาทิตย์มาตอนกลางวัน คนส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้าน ไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็ต้องเข้าสายส่ง แต่เมื่อห้ามไหลย้อน ก็ทำให้คนที่ติดโซล่าร์ รูฟท็อปแล้วไม่คุ้มทุนเพราะไฟฟ้าที่เข้าไปในสายส่งเขาไม่จ่ายเงิน“ยกกรณีโรงเรียนศรีแสงธรรม ไฟฟ้าไหลย้อนเข้าไปในมิเตอร์ ทำให้มิเตอร์ติดลบ ทางการไฟฟ้าตรวจพบก็โวยวาย ถอนมิเตอร์ออกไป นำมิเตอร์ใหม่มาติดให้ คิดค่ามิเตอร์ในราคาแพง คำถามคือหลังจากนั้นมันก็ไม่คุ้มที่จะผลิต ทีนี้ ที่โรงเรียนศรีแสงธรรมก็ผลิต แต่ติดตัวกันไฟไหลย้อน อุปกรณ์ชิ้นนี้ราคาเป็นแสน เมื่อไฟไม่ไหลย้อน ไฟฟ้าก็จะไม่ผลิตโดยอัตโนมัติ ไม่มีคนใช้ก็จะไม่ผลิต ที่ลงทุนไปสองสามแสนก็ไม่คุ้ม มันจึงไม่เกิดขึ้น นี่คือปัญหาบ้านเราที่ดำรงอยู่ตอนนี้”สายส่งไม่พอ?เป็นเหตุผลคลาสสิกของภาครัฐที่ทำให้ยังไม่เกิดการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ รูฟท็อปเสรีเดชรัตอธิบายว่า ถ้าพูดในกรณีสุดขั้วคือทุกบ้านติดโซลาร์ รูฟท็อป ทุกบ้านจะกลายเป็นโรงไฟฟ้า จึงต้องลงทุนเพิ่มเพื่อต่อไฟฟ้าจากทุกบ้านไปยังที่ใดที่หนึ่ง แต่...“แต่ประเด็นคือมันยังไกลจากสถานการณ์นี้มาก มันจะเป็นจริงกรณีโซล่าร์ ฟาร์ม เพราะไปตั้งอยู่ไกลก็ต้องมีสายส่ง แต่เขาไม่พูดเรื่องนี้เพราะต้องการผลักภาระสายส่งให้กับคนที่ทำโซล่าร์ ฟาร์ม จึงไม่ได้ยกข้อนี้ขึ้นมา หรือถ้ามีโซล่าร์ ฟาร์มอยู่ใกล้ๆ กัน สายส่งก็ต้องใหญ่ขึ้นอีก แบบนี้ต้องลงทุนเพิ่ม กรณีโซลาร์ รูฟท็อปยังไม่มีมากถึงขนาดนั้น ถ้าพูดในเชิงทฤษฎี ใช่ครับ เมื่อคุณติดโซล่าร์ เซลล์มากขึ้นถึงระดับหนึ่ง ก็มีความจำเป็นต้องปรับสายส่ง ทำนองกลับกัน เราก็ไม่ต้องไปเดินสายไฟแรงสูงมาจากเขื่อนเข้ามาในเมือง โดยสรุปคือมันเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น แล้วพอมันจะเกิดขึ้นจริงๆ มันจะมีทั้งได้ทั้งเสีย”อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ระบว่า กรมพลังงาน ทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้หารือร่วมกับ กกพ. และภาคเอกชนเกี่ยวกับโครงการโซลาร์ รูฟท็อป ให้มีความเสรีมากขึ้น คาดว่าจะสรุปผลได้ภายใน 1 เดือนสรุปคือต้องรอต่อไปว่าการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานและการใช้พลังงานสะอาดที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะเกิดเป็นรูปธรรมได้จริงหรือไม่ ......ก่อนจบมีข้อสังเกตที่ชวนให้ขบคิดต่อจากเดชรัตว่า เมื่อการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มีข้อดีมากกว่าไม่ดี เหตุใดถึงล่าช้าและมีขั้นตอนวุ่นวายเพียงนี้“เมื่อพูดในลักษณะห่วงโซ่มูลค่า เวลาเราผลิตไฟฟ้า มูลค่าจะเกิดขึ้นจาก 3 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกคือส่วนที่ขายเชื้อเพลิง ส่วนที่ 2 คือส่วนผลิตไฟฟ้า และส่วนที่ 3 คือส่วนที่ส่งไฟฟ้า ถ้าเราทำโซล่าร์ เซลล์ ห่วงโซ่มูลค่า 3 ส่วนนี้จะหายไปเลย เชื้อเพลิงไม่ต้องซื้อ ซื้อแต่โซล่าร์ เซลล์ ผู้ผลิตไฟฟ้าก็จะไม่ได้เงินจากการขายไฟฟ้า ส่วนการจัดส่งก็จะน้อยลงไปอีก เพราะไม่ต้องผ่านสายส่งเส้นใหญ่ ผ่านแต่เส้นย่อยๆ จึงไม่แปลกที่ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าเดิมไม่อยากให้เปลี่ยน”คำถาม-ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าเดิมที่ไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือใคร?

อ่านเพิ่มเติม >

พฤติกรรมชาวกรุง กับการ Shopping Online

ฉลาดซื้อ ร่วมมือบ้านสมเด็จโพลล์เผย 32.4% โพลล์ชี้คนกรุง 74.7%  เชื่อมั่นใน Online shopping เคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ จี้หน่วยงานรัฐรับผิดชอบโดยตรงฉลาดซื้อ ร่วมมือบ้านสมเด็จโพลล์เผย โพลล์ชี้คนกรุง 74.7%  เชื่อมั่นใน Online shopping 40.7% ซื้อของราคา 501 – 1,000 บาท 32.4% เคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ เครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศจัดเสวนาสมัชชาผูบริโภค ประจำปี 61 ชูประเด็น “กำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม รวมพลังผู้บริโภคผลักดันกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ”นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมมือกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ (Online shopping) โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่เคยซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์และอาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,205 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 22 - 25 กุมภาพันธ์ 2561  ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันมีการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ (Online shopping) มีเป็นจำนวนมากและมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้น สินค้าที่มีความหลากหลายที่อยู่บนร้านค้าออนไลน์ทั้งในแบบใช้ระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ และแบบเว็บไซด์ที่จัดทำขึ้นเพื่อขายสินค้า การตัดสินใจ ความเชื่อมั่น ปัญหาต่างๆในการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์เป็นอย่างไร โดยผลการสำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์เกี่ยวกับการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ (Online shopping) โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ผ่านทางร้านค้าบน Facebook เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 30.9 อันดับที่สองคือร้านค้าบน Instagram ร้อยละ 25.4 อันดับที่สามคือ Lazada ร้อยละ 13.9 อันดับที่สี่คือ Shopee ร้อยละ 10.9 และอันดับที่ห้าคือ Kaidee ร้อยละ 7.8 และมีการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ เป็นสินค้าประเภท เสื้อผ้าผู้หญิง/ผู้ชาย เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 29.8 อันดับที่สองคืออาหารเสริมสุขภาพ ร้อยละ 13.0 อันดับที่สามคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 12.1 อันดับที่สี่คือ อุปกรณ์เสริมมือถือ ร้อยละ 9.1 และอันดับที่ห้าคือ สินค้าความงาม ร้อยละ 8.4กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 74.7 มีความเชื่อมั่น เพราะเชื่อมั่นในระบบ/เว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือ อันดับหนึ่ง ร้อยละ 33.8 อันดับที่สองคือ เพราะสินค้าที่ซื้อได้รับการรับรองจากผู้ซื้อคนอื่นหรือการรีวิว ร้อยละ 31.0 อันดับที่สามคือ เพราะสินค้าได้รับการรับรองจากระบบ/เว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ ร้อยละ 21.6 อันดับที่สี่คือ เพราะสินค้านั้นมีราคาถูกกว่าไปซื้อหน้าร้าน ร้อยละ 13.5 และคิดว่าสินค้าในร้านค้าออนไลน์ มีความน่าเชื่อถือ ร้อยละ 62.9 ในส่วนของความน่าเชื่อถือ สินค้าบริโภค (ผลิตภัณฑ์อาหาร) ร้อยละ 45.8ในส่วนของราคาที่ใช้จ่ายซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ อันดับหนึ่งคือ 501 – 1,000 บาท ร้อยละ 40.7 อันดับที่สองคือ 101 – 500 บาท ร้อยละ 23.1 อันดับที่สามคือ 1,001 – 1,500 บาท ร้อยละ 19.5 อันดับที่สี่คือ 1,501 – 2,000 บาท ร้อยละ 9.5 อันดับที่ห้าคือ มากกว่า 2,000 บาท ร้อยละ 6.6 และอันดับสุดท้ายคือ น้อยกว่า 100 บาท ร้อยละ 0.6 การชำระค่าสินค้าที่ใช้จ่ายผ่านทางระบบออนไลน์ ด้วยวิธีการ โอนเงิน/หักบัญชีธนาคาร มากที่สุด ร้อยละ 61.1 อันดับที่สองคือ ผ่านบัตรเครดิต/เดบิต ร้อยละ 14.8 อันดับที่สามคือ โอนเงินผ่านเคาน์เตอร์ ร้อยละ 11.1 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าการจัดส่งสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ มีความรวดเร็ว ร้อยละ 75.8 เคยพบการจัดส่งสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด ร้อยละ 54.4 และเคยพบสินค้าชำรุด/เสียหาย หรือได้รับสินค้าไม่ครบตามจำนวนที่สั่งซื้อสินค้า ร้อยละ 35.0กลุ่มตัวอย่างเคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 32.4 และเมื่อพบปัญหาจากการถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ อันดับหนึ่งคือ แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร้อยละ 39.6 อันดับที่สองคือ โพสต์ลงโซเชียลมีเดีย/เฟสบุ๊ค ร้อยละ 28.7 อันดับที่สามคือ ร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร้อยละ 19.3 อันดับที่สี่คือ ไม่ดำเนินการใดๆ ร้อยละ 9.7 ในส่วนของการเคยมีการตรวจดูวันเดือนปีที่หมดอายุของสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 60.8 เคยมีการตรวจดูสถานที่ผลิตของสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 57.3 และเคยมีการตรวจสอบมาตรฐาน อย. (สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ของสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 58.4ทั้งนี้  ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร เสนอแนะว่า ควรมีหน่วยงานที่ดูแลจัดการในเรื่องการซื้อขายออนไลน์โดยตรง มีมาตรการเข้มงวด รวมถึงการควบคุมดูแลให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคด้วย อีกส่วนหนึ่งคือ การใช้จ่ายออนไลน์นั้น ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายโดยการหักบัญชีธนาคาร จากผู้ขายและผู้ซื้อโดยตรง ซึ่งภาครัฐจะสูญเสียรายได้จากภาษี ตรงนี้จะแก้ไขได้อย่างไร นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ  กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบันการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมในบ้านเรา เป็นที่น่าเสียดายหากภาครัฐจะสูญเสียรายได้ไปไม่น้อยจากการเก็บภาษีอากร  เพราะในต่างประเทศ อย่างเช่นประเทศอินโดนีเซีย มีการเก็บภาษีจากเฟสบุคได้แล้ว  ปีนี้เป็นปีที่ 2  สองปีซ้อนที่สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคทั่วโลก กำหนดให้วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights’ Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มีนาคม ของทุกปีเป็นประเด็น การคุ้มครองผู้บริโภคจากธุรกิจออนไลน์ เพื่อสร้างความมั่นใจและความ ยุติธรรมให้แก่ผู้บริโภค(Building a Digital World Consumers Can Trust) ในปี พ.ศ. 2560 สู่ “การกำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม” (Making digital marketplaces fairer) ในปี 2561 อีคอมเมิร์ซได้เปลี่ยนวิถีชีวิตทุกคน ผ่านโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ที่ เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต สามารถชำาระเงินซื้อข้าวของเครื่องใช้บริการได้ทั่วโลก แม้แต่เครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์ดนตรี  จองบริการ ขนส่งและที่พัก หรือซื้อตั๋วเข้าร่วมกิจกรรม สำหรับในประเทศไทย มูลค่า e-Commerce ในปี 2559 รวมทั้งสิ้น 2,560,103.36 ล้านบาท ขณะที่งบโฆษณาดิจิทัลในปี 2559 มีมูลค่า 9,477 ล้านบาท คาดว่า ปี 2560 จะทะลุหมื่นล้านขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นของการซื้อขายออนไลน์ ได้ทำให้ เกิดปัญหาสำคัญกับผู้บริโภค เช่น การหลอกลวง ซื้อของแล้วไม่ได้ของ ไม่ได้ เงินคืนหรือถึงแม้ได้เงินคืนก็แสนยากเย็น เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดพลาดขึ้น ถูกหลอกลวง ฉ้อโกง หรือโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ โอ้อวดสรรพคุณ จะได้รับ การชดเชยเยียวยาเป็นอย่างดี หรือถูกจัดการจากหน่วยงานอย่างทันท่วงที  ด้วยเหตุนี้เชื่อว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการผู้บริโภคทั่วโลก จะสามารถ ทำาให้เกิดการกำากับตลาดดิจิทัลที่เป็นธรรมสำาหรับผู้บริโภคเพิ่มขึ้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จัดงานสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2561 “กำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม รวมพลังผู้บริโภคผลักดันกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ” ในวันพุธที่ 14 ถึงวันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2561 ณ ห้องจูปิเตอร์ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ภายในงาน  มีการนำเสนองานวิจัย เรื่อง การคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายออนไลน์ โดย นางพลินี เสริมสินสิริ นักวิชาการอิสระ  เสวนา “กำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม (Making digital marketplaces fairer)”  และมีกิจกรรมวิชาการที่น่าสนใจ อาทิ เสวนา “มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคตลาดออนไลน์” , เสวนา “แนวทางการจัดการโฆษณาผิดกฎหมายในออนไลน์ซ้ำซาก กรณีผลิตภัณฑ์สุขภาพ” , เสวนา เรื่อง “แนวทางการแจ้งเตือนภัยสินค้าไม่ปลอดภัยทางสื่อดิจิตัล” , เสวนา “ความเป็นไปได้ในการตรวจสอบและกำกับค่ารักษาพยาบาลแพง” , เสวนา “ต้นแบบและความร่วมมือรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย”  และในวันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2561 ร่วมรับฟังเสวนา “ร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ความก้าวหน้าและอนาคต” ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าได้ที่ 02 248 3737 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 สารกันบูด เรื่องจริงบางอย่างที่คุณอาจยังไม่รู้

สารกันบูดคืออะไรสารกันบูดเป็นสารเคมีที่สามารถพบได้ทั้งในธรรมชาติหรือสังเคราะห์ขึ้น ซึ่งมีหน้าที่หลักในการทำลายหรือยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ในอาหาร  เพราะการขยายตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นดังกล่าวอาจก่อให้เกิดพิษภัยในอาหารหรือทำให้อาหารเน่าเสียได้ จึงเป็นสารที่มีประโยชน์โดยตรงในการยืดอายุการเก็บรักษาของอาหารนั้น บางครั้งสารกันบูดชนิดเดียวกันอาจมีคุณสมบัติในการปรับคุณภาพด้านประสาทสัมผัสให้ดีขึ้นด้วย เช่น สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (สารฟอกขาว) ไม่เพียงช่วยป้องกันจุลินทรีย์หลายชนิดไม่ให้เจริญแล้ว ยังช่วยป้องกันให้อาหารไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลคล้ำได้  หรือสารไนไตรท ที่หยุดยั้งการเจริญของสปอร์แบคทีเรียคลอสทริเดียม โบทูลินั่มในไส้กรอก ยังช่วยให้ไส้กรอกมีสีชมพูสวยงามด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อจะใช้สารกันบูดก็ควรเน้นในปริมาณที่หยุดยั้งการเจริญของจุลินทรีย์เป็นสำคัญ เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคเป็นหลักอันตรายจากสารกันบูดไม่ค่อยมีโอกาสที่จะเป็นแบบเฉียบพลัน  แต่มักเป็นแบบเรื้อรังที่สะสมเป็นเวลานานและมักจบที่โรคมะเร็งตามอวัยวะต่างๆ ยกเว้น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มีผลเฉียบพลันที่ทำให้เกิดการหอบหืดจนอาจเสียชีวิตได้ ในผู้บริโภคที่มีอาการแพ้ประเภทของสารกันบูดสารกันบูดมีหลากหลายชนิด ทั้งที่อยู่ในรูปสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์  ซึ่งสารกันบูดที่อยู่ในรูปสารอินทรีย์ ได้แก่ กรดอินทรีย์ ชนิดต่างๆ เช่น กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก กรดโพรพิโอนิก สารกันบูดที่เป็นกรดอินทรีย์ยังพบในพืชหลายชนิดตามธรรมชาติและยังสามารถสร้างได้โดยจุลินทรีย์บางชนิด เช่น กรดเบนโซอิกมีพบในผลไม้พวกเบอรี่หลายชนิด เครื่องเทศจำพวกอบเชย และนมเปรี้ยว ผลแครนเบอรี่เป็นตัวอย่างของผลไม้ที่มีกรดเบนโซอิกในปริมาณที่สูงมาก กรดซอร์บิกก็มีพบในผลไม้หลายชนิดเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีกรดโพรพิโอนิกที่ใช้เติมเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์เบเกอรี ก็สร้างได้โดยแบคทีเรียที่ใช้ในกระบวนหมักเนยแข็งบางประเภท   ในอุตสาหกรรมอาหารยังมีสารเคมีบางชนิดที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสารกันบูดแต่มีโครงสร้างคล้ายสารกันบูด เช่น สารเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ ที่ใช้ฟอกแป้งให้ขาว มีโครงสร้างเหมือนกรดเบนโซอิก ซึ่งอาจทำให้ถูกวิเคราะห์เป็นสารกันบูดชนิดดังกล่าวได้ จุดนี้จึงอาจเป็นข้อเตือนใจในการวิเคราะห์ผลส่วนสารกันบูดที่อยู่ในรูปสารอนินทรีย์ เช่น สารไนเตรท สารไนไตรท สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์  สารอนินทรีย์เหล่านี้มีสมบัติที่ควรทราบไว้ด้วย เช่น สารไนเตรทและสารไนไตรทสามารถเปลี่ยนกลับไปมาได้ตามปฏิกริยาเคมีที่เกิดจากจุลินทรีย์ในเนื้อสัตว์  สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์สามารถสลายตัวได้ในระหว่างกระบวนการผลิตที่มีการให้ความร้อนและระหว่างการเก็บรักษา  ดังนั้นในการอนุญาตให้ใช้สารกันบูด จึงได้มีการศึกษาถึงปริมาณที่ต่ำสุดที่สามารถก่อให้เกิดผลในการยืดอายุการเก็บรักษาอาหารและปริมาณสูงสุดที่มีโอกาสก่ออันตรายกับสุขภาพ พร้อมกำหนดเป็นเกณฑ์ที่อนุญาตให้เหลืออยู่ในอาหาร เพื่อให้สารเหล่านั้นได้ทำหน้าที่ในการยืดอายุการเก็บรักษาโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพแนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการผู้ประกอบการหากจะใช้สารกันบูดในผลิตภัณฑ์ของตน ต้องเข้าใจข้อความในกฎหมายอย่างถ่องแท้เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ปริมาณของสารกันบูดที่กำหนดไว้ในกฏหมายมักระบุปริมาณสารกันบูดให้มีหน่วยเป็นมิลลิกรัมในอาหารที่มีหน่วยเป็นลิตรหรือกิโลกรัม  ซึ่งหน่วยมิลลิกรัมต่อกิโลกรัมหรือลิตร บางครั้งเรียกว่า พีพีเอ็ม (ppm) ซึ่งก็สามารถคิดกลับมาเป็นค่าเปอร์เซนต์ที่คุ้นเคยกันได้ โดยใช้บัญญัติไตรยางค์ธรรมดา เช่น กฎหมายอนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิก 1000 มิลลิกรัมในเครื่องดื่ม 1 ลิตร หมายถึง 0.1%  ทั้งนี้ จะเห็นว่ากรดเบนโซอิก 1000 มิลลิกรัม คือ 1 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมากและไม่สามารถชั่งด้วยตาชั่งตามบ้านได้  ผู้ประกอบการจึงมีทางเลือกเพียง 2 วิธี คือ (1) เตรียมเครื่องดื่มครั้งละอย่างน้อย 25 ลิตร เพื่อให้สามารถใช้ตาชั่งพลาสติกที่ใช้ในร้านเบเกอรีที่มีขีดตัวเลขที่อ่านเห็นเป็น 25 กรัม ตัวละประมาณ 800 บาท หรือ (2) ซื้อตาชั่งไฟฟ้าที่มีความละเอียดเพียงพอให้สามารถใช้ชั่งที่น้ำหนักต่ำขนาด 1 กรัม  ซึ่งมีราคาประมาณ 3,000-5,000 บาท  ทั้งนี้ ห้ามใช้วิธีตวงสารกันบูด(กะเอา) ต้องชั่งเท่านั้น ส่วนอาหารที่เป็นของเหลว อนุโลมให้ตวงได้ แต่อุปกรณ์ที่ใช้ตวงต้องมีความละเอียดเพียงพอ หากอาหารเป็นของแข็งต้องใช้การชั่งเท่านั้น ห้ามตวงเด็ดขาดหลังจากเข้าใจข้อความในกฎหมายที่นำไปสู่การปฏิบัติในการชั่งตวง ซึ่งเป็นการควบคุมให้ปริมาณสารกันบูดที่ใช้ไม่เกินกว่าที่กฏหมายกำหนดแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอีกประการหนึ่ง ซึ่งสำคัญมาก คือ ความทั่วถึงของสารกันบูดที่เติมลงในอาหาร หากเติมลงในอาหารเหลว ต้องมั่นใจว่ามีการคนจนละลายหมด ไม่ตกตะกอนและกระจายตัวจนทั่ว ซึ่งสามารถทำและสังเกตเห็นไม่ยากในกรณีที่อาหารมีลักษณะใสและไม่ข้น  แต่หากอาหารมีลักษณะขุ่นข้นหรือเป็นของแข็งที่อาจเป็นผงหรือกึ่งแข็งกึ่งเหลว ต้องมีวิธีการปฏิบัติที่ช่วยให้มั่นใจว่ามีการกระจายตัวของสารกันบูดอย่างทั่วถึง ได้แก่ การผสมสารกันบูดกับส่วนผสมที่เป็นผงซึ่งใช้ในปริมาณมากให้ทั่วถึงก่อน แล้วจึงนำผงที่ผสมกันแล้วเติมลงในอาหาร  เช่น ในสูตรอาจใช้สารกันบูด 10 กรัมและน้ำตาล 500 กรัม ก็นำสารกันบูดทั้งหมดผสมกับน้ำตาล 100 กรัมให้ทั่วถึงก่อน แล้วนำน้ำตาลที่ผสมกับสารกันบูดแล้วดังกล่าว ไปผสมกับน้ำตาลส่วนที่เหลือ 400 กรัม ให้ทั่วถึง  แล้วจึงนำน้ำตาลทั้งหมดที่มีสารกันบูดผสมอยู่ลงไปคลุกเคล้าในอาหารให้ทั่วถึง ตามวิธีการปกติสรุปแล้วการเติมสารกันบูดลงในอาหารต้องมีข้อควรปฏิบัติ 3 ประการ คือ (1) รู้ปริมาณที่เติมได้ตามกฏหมาย (2) ชั่งสารกันบูดและอาหารให้ถูกต้อง และ (3) ผสมให้ทั่วถึงคำถามที่พบได้บ่อยจากคนใช้สารกันบูดQ1. ทำไมใช้สารกันบูดแล้ว บางทีก็บูด ยกชุด  บางทีก็ไม่บูด ยกชุดชั่งน้ำหนักสารกันบูดถูกต้องไหม? ชั่งน้ำหนักอาหารถูกต้องไหม?2. ทำไมใช้สารกันบูดแล้วบางห่อก็บูด  บางห่อก็ไม่บูด ผสมทั่วถึงหรือเปล่านะ3. เราไม่ใช่คนใช้สารกันบูดสักหน่อย แต่มาหาว่าเราใช้ ได้อย่างไรA- ขอรายละเอียดสินค้าจากคนส่งวัตถุดิบหรือส่วนประกอบทุกตัวว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง เพราะอาจมีการใช้ในส่วนประกอบเหล่านั้น ซึ่งภาษาวิชาการ เรียกว่า carry over  ที่หมายความว่าตกค้างมาถึงของเรา- อาจใช้วัตถุดิบจากพืช หรือจากการหมักที่โดยธรรมชาติมีสารกันบูดชนิดนั้นปะปนอยู่- อาจใช้วัตถุดิบที่มีการเติมวัตถุเจือปนอาหารบางชนิด ที่มีโครงสร้างคล้ายสารกันบูดบางชนิด หรือมีการผสมสารกันบูดบางชนิดในวัตถุดิบQเราไม่อยากใช้สารกันบูดแต่อยากให้เก็บรักษาได้นานขึ้น ควรทำอย่างไรA ต้องสังเกตว่าอาหารเน่าเสียจากสาเหตุอะไรแล้วป้องกันตามเหตุนั้น เช่น อาหารกึ่งแห้งพวกขนมเปี๊ยะมักเสียจากเชื้อรา ซึ่งตามธรรมชาติต้องใช้อากาศเพื่อการเจริญ เราก็ใส่ซองสารดูดออกซิเจนลงในถุงที่จำหน่าย ทำให้ในถุงไม่มีออกซิเจนเพียงพอ เชื้อราก็ไม่เจริญ เป็นต้นคำถามจากคนตรวจสารกันบูดQ1. ทำไมสุ่มอาหารชุดเดียวกัน เราตรวจเจอสารกันบูดเกินที่กำหนด  คนขายส่งตรวจเจอต่ำกว่าถามคนขายว่าผสมอย่างไร ทั่วถึงไหม2. ทำไมสุ่มอาหารชุดเดียวกัน คนขายบอกไม่ได้เติมสารกันบูด เราตรวจเจอสารกันบูด  คนขายส่งตรวจไม่เจอ- อาจใช้วัตถุดิบที่มีปนเปื้อนตามธรรมชาติไหม หรือมีการเติมสารกันบูดหรือสารที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายสารกันบูด3. ถ้าพบสารกันบูดปริมาณนิดเดียว ไม่เกินมาตรฐาน แต่ไม่ยอมแจ้งบนฉลาก จะจัดเข้าข่ายฉลากปลอมไหมA- ปริมาณสารกันบูดที่มีผลในการยืดอายุการเก็บรักษา ได้แก่ 500-2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งถ้าพบว่าต่ำกว่า น่าจะไม่จงใจ ซึ่งอาจเกิดจากการปนเปื้อนจากวัตถุดิบหรือการปนเปื้อนข้ามจากอาหารสูตรอื่นที่มีการเติมสารกันบูด จึงต้องมีการสอบสวนเหตุ ซึ่งหากมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ ไม่น่าจะเข้าข่าย แต่หากเป็นการ carry over จากวัตถุดิบหรือปนเปื้อนข้ามน่าจะเข้าข่าย อย่างไรก็ตาม ต้องระวังผลวิเคราะห์ที่อาจผิดพลาดจากวัตถุเจือปนอาหารชนิดอื่นที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกันด้วยข้อเตือนใจงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นงานที่สำคัญ ซึ่งต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตอาหารและผู้บริโภคเอง ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยความไว้วางใจและปรารถนาดีต่อกัน ทั้งนี้  เรื่องสารกันบูดที่เล่าสู่กันฟังเป็นตัวอย่างของความร่วมมือของหน่วยงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคที่ทำหน้าที่ของตนในแนวทางที่ควรจะเป็น แต่ก็รับฟังผู้ผลิตอาหารที่ก็มีเจตนาดีเช่นกัน เมื่อพบปัญหาแล้วจึงพูดคุยกัน แสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาคำตอบและทางออกร่วมกัน   ความจริงใจเหล่านี้ในที่สุดจะยังประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้บริโภค ซึ่งก็คือพวกเราทุกคนนั่นเอง********สรุปการประชุมสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหาร กรณีวัตถุกันเสีย28 พฤศจิกายน 2560  โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค   นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งสนับสนุนงบประมาณโดย สสส. ผลการประชุมพบว่า ผู้ประกอบการมีความตั้งใจจริงในการที่จะปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตนเอง โดยการขอให้ผู้จัดส่งวัตถุดิบทำใบรับรองสินค้าของตนเอง(Certificate of analysis) ว่าปราศจากสารกันบูด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพดี ได้มาตรฐาน การประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีร่วมกันระหว่างองค์กรผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และห้างค้าปลีก ซึ่งต่างเป็นผู้เล่นที่สำคัญในการผลิตและจำหน่ายสินค้าด้านอาหาร โดยนิตยสารฉลาดซื้อส่งหนังสือเชิญประชุมถึงผู้ประกอบการทุกราย ที่ทางนิตยสารได้เคยสุ่มสำรวจและทดสอบผลิตภัณฑ์ ในประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้สารกันบูด ในช่วงปี 2559-2560 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมีผู้ประกอบการเข้าร่วมงานอย่างคึกคัก มีการบรรยายด้านวิชาการจาก ศ.วิสิฐ จะวะสิต นักโภชนาการ จากสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล เรื่อง ความสำคัญและการใช้สารกันบูดอย่างเหมาะสม ในหัวข้อใหญ่ๆ ดังนี้  1.สารกันบูดมีความสำคัญเพราะช่วยยืดอายุอาหาร สามารถใช้ได้ แต่ต้องใช้ให้ถูกต้อง คือ ปริมาณถูกต้องตามกฎหมายกำหนด ต้องใช้เครื่องชั่งที่เหมาะสม และผสมให้ถูกวิธี  2.ความสำคัญของการระบุข้อความบนฉลาก เพื่อแจ้งเป็นข้อมูลแก่ผู้บริโภค  3.เรื่องที่ต้องเข้าใจ บางครั้งเมื่อตรวจพบการปนเปื้อนของสารกันบูด ในปริมาณไม่มากทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการไม่ได้ใส่ลงไปในกระบวนการผลิต อาจเป็นได้จากตัววัตถุดิบที่นำมาประกอบเป็นอาหาร ซึ่งมีทั้งที่เป็นการตั้งใจใส่ลงไปในวัตถุดิบก่อนถึงมือผู้ประกอบการ หรือเป็นสารกันบูดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่เองในตัววัตถุดิบ  หรือมีสารบางตัวที่อาจมีคุณสมบัติคล้ายกับตัวสารกันบูดทำให้ผลการวิเคราะห์ได้ค่าที่แสดงว่าตรวจพบ(ในปริมาณน้อย)  4.การเก็บรักษาที่ถูกวิธีช่วยยืดอายุสินค้าได้ ด้วยการทำความเข้าใจถึงสาเหตุของการบูดเสียและแก้ให้ถูกจุด 5.อาหารหลายชนิดจำเป็นจริงๆ ต้องใช้สารกันบูด มิฉะนั้นจะก่อผลเสียในการบริโภคมากกว่าไม่ใส่เช่น การใช้ไนเตรทในไส้กรอก เป็นต้น แต่ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดหลังการบรรยายมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมในบรรยากาศที่ดี ผู้ประกอบการได้นำเสนอให้องค์กรหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสร้างความเข้าใจให้กับผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการในขั้นตอนในทางกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติที่ง่าย เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งทางองค์กรผู้บริโภคยินดีนำข้อเสนอดังกล่าวไปจัดประชุมและเสนอเป็นความเห็นกับทางหน่วยงานต่อไป โดยบทสรุปในครั้งนี้คือ  ผู้ประกอบการได้แสดงเจตนารมณ์ว่าตนเองนั้นมีความตั้งใจจริงในการที่จะปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตนเอง โดยจะมีการขอให้ผู้จัดส่งวัตถุดิบทำใบรับรองสินค้าของตนเอง(Certificate of analysis) ว่าปราศจากสารกันบูด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพดี ได้มาตรฐานต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 ซื้อสินค้าทางออนไลน์ ซื้อง่าย แต่ห้ามจ่ายเร็ว

ข้อได้เปรียบของการซื้อสินค้าออนไลน์  1. อยากได้สินค้าสักชิ้น  ไม่รู้ว่าจะหาซื้อได้จากที่ไหน ลองค้นกูเกิลดู รู้เลยว่าที่ไหนมีขายบ้าง ทั้งที่ขายในประเทศและต่างประเทศ 2. มีสินค้าที่ต้องการอยู่ในใจ ลองค้นหาทางออนไลน์ สามารถเปรียบเทียบราคาได้ในเวลาไม่นาน ได้สินค้าที่ราคาคุ้มที่สุด 3. เมื่อเจอสินค้าที่ถูกใจในราคาที่พึงพอใจ ในเวลาดึกดื่นที่ร้านค้าปิดหมดแล้ว จะเดินทางไปซื้อก็ไกล รถติด พรุ่งนี้ก็ทำงานทั้งวัน กังวลว่าไปถึงร้านแล้วสินค้าจะหมด 4. ในการซื้อของทางออนไลน์ ผู้ซื้อมีเวลาพิจารณาไตร่ตรอง ไม่มีความกดดันต่าง ๆ สามารถหาข้อมูลและพิจารณาจากรีวิวหรือความคิดเห็นของผู้ซื้อคนอื่นสรุปคือ ซื้อง่าย จะเห็นว่าการซื้อสินค้าทางออนไลน์นั้นแสนจะสะดวกสบาย สามารถตอบสนองความต้องการค้นหาสินค้าได้ง่าย ประหยัดเวลาที่ต้องเดินทางหาสินค้า ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ได้สินค้าในราคาที่พึงพอใจ ซื้อสินค้าได้ตลอดเวลา ประหยัดเวลา มีความแน่นอนว่าสินค้าไม่หมดสต๊อก ไม่มีความกดดันในการตัดสินใจซื้อ เพราะดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก ทำให้การซื้อขายสินค้าไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบเดิม ๆ อีกต่อไป แค่เรามีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตก็สามารถซื้อของได้จากทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้ตลาดการซื้อขายของออนไลน์เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และนอกจากความสะดวกสบายแล้ว ปัจจัยด้านราคาก็เป็นตัวดึงดูดที่สำคัญ เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นว่าการซื้อของออนไลน์มักทำให้ได้สินค้าที่มีราคาคุ้มค่ามากขึ้น ดังนั้นการตกลงซื้อจึงมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ในกระบวนการชำระค่าสินค้าหรือบริการออนไลน์ก็ยังง่ายดายไม่ซับซ้อน เช่น โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารออนไลน์ หรือเพียงกรอกรหัสของบัตรเครดิต/บัตรเดบิตก็ทำให้เราสามารถทำธุรกรรมซื้อขายผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้แล้ว รวมทั้งเรายังสามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วยเหรียญมีสองด้าน ถึงจะง่ายอย่างไร ก็ยังต้องใช้หลักพึงระวังในการซื้อสินค้าทางออนไลน์ เพราะทำให้เสียเงิน เสียประโยชน์กันมานักต่อนักแล้วเช่นกัน  แล้วมีอะไรบ้างที่ต้องระวัง มาดูกัน1. การหลอกลวง โดยผู้ขายตั้งใจมาหลอก ไม่มีสินค้า แต่ล่อลวงให้ผู้ซื้อสินค้าจ่ายเงินค่าสินค้า แล้วไม่จัดส่งสินค้าตามสัญญา2. ได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามข้อสัญญา เช่น สินค้าที่ได้ไม่ตรงตามคำโฆษณาหรือตามที่ตกลงกัน สินค้าปลอม สินค้าชำรุด เกิดอันตรายจากสินค้า การจัดส่งล่าช้า ได้รับสินค้าไม่ทันเวลาที่จะใช้งาน3. การคืนสินค้ามีความยุ่งยาก เช่น ขั้นตอนยุ่งยาก เสียเวลาและค่าใช้จ่าย ได้รับเงินคืนล่าช้า ได้รับเงินคืนไม่เต็มจำนวนหรือไม่ได้รับเงินคืนเพราะทำไม่ถูกขั้นตอนที่ผู้ขายกำหนดไว้ล่วงหน้า หรือไม่ได้รับเงินคืนเพราะผู้ขายปฏิเสธด้วยเหตุผล ข้ออ้างต่าง ๆ4. ความปลอดภัยเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว 5. อาจถูกผู้ขายฟ้องร้องเพราะไม่พึงพอใจสินค้าและโพสต์ข้อความตำหนิผู้ขายการซื้อของออนไลน์ หรือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ในปัจจุบัน มีอยู่ 2 แบบ คือ1. ผู้ประกอบการ กับ ผู้บริโภค (Business-to-Consumer : B2C) เป็นรูปแบบที่มีการทำธุรกรรมมากที่สุดและเป็นที่รู้จักมากที่สุด โดยที่ผู้ประกอบการจะจัดช่องทางการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทเอง เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มเติม  เช่น สินค้าของร้านภัทรพัฒน์ที่วางจำหน่ายในร้านค้า 5 สาขาและตัวแทนจำหน่าย ก็มีช่องทางเว็บไซต์  http://www.patpat9.com เพื่อให้ผู้ซื้อสั่งซื้อทางออนไลน์  เป็นการขายโดยตรงระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค2. ผู้บริโภค กับ ผู้บริโภค (Consumer-to-Consumer : C2C) เป็นช่องทางขายผ่านทาง marketplace  เป็นรูปแบบที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับผู้บริโภคได้โดยอิสระ ซึ่งผู้ให้บริการจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเก็บค่าใช้บริการบางส่วน ตัวอย่างเว็บไซต์ในต่างประเทศ เช่น eBay.com และในประเทศไทย เช่น kaidee.com / tarad.com นอกจากนี้ยังรวมถึงการขายสินค้าและบริการผ่านทางช่องทางเว็บบอร์ดอื่น ๆ เช่น pantip.com โดยผู้บริโภคและผู้บริโภคติดต่อกันเองเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า มักเป็นสินค้าราคาถูกหรือเป็นสินค้าที่หาไม่ได้แล้วในท้องตลาดทั่วไปถ้าให้เปรียบเหมือนการซื้อขายในรูปแบบทั่วไป B2C ก็คือการซื้อขายปลีกระหว่างลูกค้ากับร้านค้าของผู้ประกอบการที่น่าเชื่อถือ มักไม่มีปัญหาเรื่องการหลอกลวงเพราะผู้ประกอบการมีตัวตนจริง มีสินค้าจริง มีข้อกำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดการสั่งซื้อสินค้าที่ชัดเจน แต่ผู้บริโภคที่จะทำการซื้อขายออนไลน์ในรูปแบบนี้จะต้องระมัดระวังในการอ่านรายละเอียดการสั่งซื้อสินค้าเพราะจะเป็นข้อมูลที่ทางผู้ขายกำหนดเอาไว้ตายตัว เจรจาหรือต่อรองเปลี่ยนแปลงไม่ได้ นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึงเงื่อนไขในการเปลี่ยนคืนสินค้ากรณีไม่พึงพอใจสินค้า สินค้าไม่เป็นไปตามรูปภาพ-คำบรรยาย สินค้าชำรุดบกพร่อง ส่วน C2C ก็คือการซื้อขายของตามตลาดนัด หาบเร่แผงลอย หรือตลาดเปิดท้ายขายของ หรือการประกาศขายของตาม classified ในหนังสือพิมพ์ นิตยสารที่ผู้ซื้อผู้ขายได้ติดต่อกันโดยตรง ต่อรองราคากันได้ แต่การเปลี่ยนคืนสินค้า บริการหลังการขายนั้นมีน้อยมาก ทำใจไว้ก่อนได้เลย  คู่มือเพื่อการช้อปปิ้งออนไลน์อย่างปลอดภัยท่องเอาไว้ทุกครั้ง “ซื้อของออนไลน์ ซื้อง่าย อย่าจ่ายเร็ว”!!!1. “อย่าจ่ายเร็ว”!!! จากเหตุเพราะผู้ขายตั้งใจมาหลอก ล่อลวงให้ผู้ซื้อสินค้าจ่ายเงินค่าสินค้าแล้วไม่จัดส่งสินค้าตามสัญญาส่วนมากผู้ขายที่ตั้งใจมาหลอก มักจะประกาศขายสินค้าที่ราคาถูกเกินกว่าราคาตลาดมากเกินไป หรือมักเป็นสินค้าประเภทพรีออเดอร์เพราะผู้ขายไม่มีสินค้าอยู่กับตัวเอง จะประกาศขายก่อนและรอให้มีลูกค้ามาสั่งซื้อสินค้า มักเป็นสินค้าราคาแพง ผู้ขายส่วนใหญ่มักให้ผู้ซื้อโอนเงินส่วนหนึ่งเพื่อเป็นค่ามัดจำไว้ก่อน เพื่อป้องกันการสั่งจองแล้วยกเลิก และผู้ขายบางรายอาจทำหน้าที่เป็นนายหน้าที่คอยประสานงานระหว่างร้านค้ากับผู้ซื้อ ผู้ขายอาจจะไม่ตั้งใจมาหลอก แต่หากมีปัญหาแล้วผู้ขายไม่สามารถหาซื้อสินค้าให้ได้ เมื่อเงินอยู่กับตัวเขาแล้ว คงยากที่จะได้เงินคืนการซื้อสินค้าจากผู้ขายแบบ C2C โดยเฉพาะช่องทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม(ไอจี) หรือโพสต์ขายของตามเว็บบอร์ด e-Classified เช่น ห้องต่างๆ ในเว็บไซต์พันทิป ต้องระวังให้มากๆ เพราะเราไม่รู้จักตัวตนของเขา หากมีปัญหาเขาก็ปิดเพจ บล็อกเมสเซนเจอร์ ไอจี ไลน์ เราก็ไม่สามารถติดตามตัวเขาได้เลย แม้บางครั้งผู้ขายจะให้ดูรูปบัตรประชาชน ก็อาจจะเป็นบัตรของใครก็ได้ หากโอนเงินไปแล้วมีปัญหา แม้เราจะมีเลขบัญชีที่สามารถสอบถามธนาคารได้ว่าเจ้าของบัญชีคือใคร แต่จะเอาเงินออกจากบัญชีนั้นทำได้ยากเย็นแสนเข็ญ ธนาคารไม่ยินยอมทำให้ จะไปแจ้งความกับตำรวจก็ลำบาก ดังนั้นตั้งสติก่อนที่เราจะตกลงใจสั่งซื้อและโอนเงิน วิธีที่รอบคอบคือ เราต้องตรวจสอบตัวตนร้านค้าก่อน โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือ ชื่อ ที่อยู่ หรือช่องทางการติดต่อ ต้องชัดเจน ตรวจสอบประวัติร้านค้า สามารถดูได้จากรีวิวการขายของในเพจหรือเฟซบุ๊ก พิจารณารายละเอียดการซื้อขาย ข้อความที่ผู้ขายคุยกับผู้ซื้อ ร้านค้ามีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา หรือนำชื่อร้านค้า ชื่อผู้ขาย ชื่อบัญชีการโอนเงินชำระสินค้า มาค้นหาใน google.com หรือ pantip.com เพื่อตรวจสอบประวัติและข้อมูลของร้านค้า และที่สำคัญควรสืบค้นข้อมูลการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขายตรงกับทาง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) พยายามซื้อจากร้านค้าเปิดเผยตัวตน จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุกิจการค้า ที่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified (เครื่องหมาย DBD Registered  คือ เครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าออกให้แก่พาณิชยกิจประเภทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จดทะเบียนพาณิชย์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อยืนยันการมีตัวตนอยู่จริงของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และนิติบุคคล สำหรับเครื่องหมาย DBD Verified คือ เครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณสมบัติ ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และแสดงว่าเว็บไซต์นั้นมีคุณภาพผ่านเกณฑ์ประเมินตามมาตรฐานคุณภาพธุรกิจ e-Commerce ของกรมพัฒนาธุกิจการค้า)สรุป ตรวจสอบตัวตนของร้านค้า /  ผู้ขายจดทะเบียนกับสคบ. กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified / ราคาไม่ต่ำกว่าราคาทั่วไปอย่างผิดสังเกต2. “อย่าจ่ายเร็ว”!!! เพราะอาจได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามข้อสัญญา สินค้าที่ได้ไม่ตรงตามคำโฆษณาหรือตามที่ตกลงกัน สินค้าปลอม สินค้าชำรุด เกิดอันตรายจากสินค้า การจัดส่งล่าช้า ได้รับสินค้าไม่ทันเวลาที่จะใช้งานก่อนตกลงใจสั่งซื้อ อ่านข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ให้เข้าใจทุกครั้ง ได้แก่ ข้อมูลรายละเอียดของสินค้า ข้อมูลการจัดส่งสินค้า ระยะเวลาในการจัดส่งสินค้า ผู้จัดส่งสินค้า ซึ่งหากผู้ขายให้ข้อมูลที่ไม่ครบ ควรติดต่อสอบถามเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น อีเมล ไลน์ และควรเก็บหลักฐานการสนทนาทุกครั้ง และสำหรับสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ จะต้องมีเครื่องหมาย อย. จำไว้ว่า ผู้ซื้อมีสิทธิในการยกเลิกการซื้อสินค้าที่เรียกว่า “สิทธิในการเลิกสัญญา” ทั้งในกรณีทั่วไปและในกรณีพิเศษ(withdrawal right หรือ right of withdrawal หรือสิทธิในการยกเลิกสัญญาได้ตามอำเภอใจ) ซึ่งการใช้สิทธินี้บางทีในต่างประเทศจะเรียกว่า “cooling-off period” เพราะการสั่งซื้อของออนไลน์เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการซื้อขายแบบดั้งเดิมที่มีหลักกฎหมายว่า “ผู้ซื้อต้องระวัง!!” โดยผู้ซื้อต้องระวังในการเลือกดูสินค้า พินิจพิเคราะห์ พิจารณาผู้ซื้อมีหน้าที่ที่ต้องระวังก่อนที่จะทำการตกลงซื้อสินค้า แต่การซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้ซื้อไม่สามารถพินิจพิเคราะห์ ตรวจสอบสินค้าได้ในขณะซื้อ ผู้ซื้อจึงมีสิทธิดังกล่าว สำหรับระยะเวลาในการใช้สิทธิเลิกสัญญาอาจแตกต่างกันไป(ในสหภาพยุโรปกำหนดไว้ 14 วัน) ดังนั้นก่อนที่ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อ ต้องศึกษาข้อมูลระยะเวลาของการใช้สิทธิในการเลิกสัญญานี้ให้ละเอียด ดังนั้นก่อนซื้อสินค้า ตรวจสอบกันเสียก่อนว่าผู้ขายมีระบบการติดตามตรวจสอบสถานะการจัดส่งสินค้าแบบไหน อย่างไรและผู้ส่งจะให้ข้อมูลรายละเอียดของเลขที่พัสดุแก่เราได้หรือไม่และจะได้เมื่อใด ผู้บริโภคต้องสอบถามผู้ขายเพื่อให้ได้ข้อมูลรายละเอียด ระยะเวลาจัดส่งสินค้า ระยะเวลาในการขนส่ง และข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบหากสินค้าชำรุดหรือสูญหายในระหว่างการจัดส่งสินค้ามาถึงมือผู้บริโภค และเพื่อให้ทราบข้อมูลรายละเอียด สถานะการจัดส่งสินค้า ผู้ขายจะต้องมีข้อมูลรายละเอียดของการจัดส่งพัสดุให้ผู้บริโภคอย่างเราสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง  นอกจากนี้ควรเลือกการชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้าเพราะมั่นใจได้แน่ว่าได้รับสินค้าแน่ๆ อีกทั้งยังสามารถตรวจดูสินค้าว่าเป็นไปตามที่สั่งซื้อหรือไม่ด้วย เพราะหากไม่ใช่สินค้าตามลักษณะที่เราสั่งซื้อไป เราปฏิเสธไม่รับสินค้าและไม่จ่ายเงินได้สำหรับกรณีจัดส่งสินค้าล่าช้านั้น หากผู้ซื้อติดต่อไปผู้ขายส่วนมากมักจะขอโทษ จากประสบการณ์จริงของผู้เขียนที่ได้สั่งสินค้าจากเว็บไซต์ขายสินค้าที่มีมาตรฐานและได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified ผู้เขียนต้องติดต่อยืนยันและเรียกร้องให้ดำเนินการชดเชยเยียวยาความเสียหาย จึงจะได้รับการชดเชยเยียวยาเป็นคูปองส่วนลดในการสั่งซื้อสินค้าในคราวต่อไป แต่ถ้าผู้เขียนไม่ได้เรียกร้อง ทางผู้ขายก็มักจะเพิกเฉย แต่การซื้อสินค้าจากผู้ขายแบบ C2C ผู้ขายที่ไม่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified ผู้ขายอาจจะไม่สนใจที่จะให้เราใช้สิทธิยกเลิกการสั่งซื้อหรือชดเชยเยียวยาในการจัดส่งล่าช้า เราจึงควรเจรจาต่อรอง แจ้งความประสงค์กำหนดวันรับสินค้ากับผู้ขายไว้ก่อนและเก็บหลักฐานข้อตกลงไว้  หากผู้ขายไม่ยินยอม ทางที่ดีเราไม่ควรซื้อ แต่หากเราซื้อไปแล้วโดยไม่มีข้อตกลงนี้ เราควรยืนยันสิทธิของเราโดยเก็บหลักฐานการสั่งซื้อและรายละเอียดต่างๆ ร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สคบ. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่การดำเนินการในขั้นตอนนี้อาจเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจจะมากกว่าค่าสินค้าก็ได้ ทางที่ดี “กันไว้ดีกว่าแก้” เลือกซื้อจากผู้ขายที่น่าเชื่อถือและมีข้อกำหนดในการใช้สิทธิยกเลิกการซื้อของเราอย่างชัดเจน และรับผิดชอบในการจัดส่งล่าช้าสรุป อ่านรายละเอียดต่าง ๆ ให้เข้าใจ / มีข้อสงสัยสอบถามเป็นลายลักษณ์อักษรและเก็บหลักฐานไว้ / ซื้อสินค้าที่ยอมให้ยกเลิกหรือคืนสินค้าได้ / มีการจัดส่งเลขพัสดุภัณฑ์หรือเครื่องมือที่สามารถติดตามสถานการณ์จัดส่งสินค้า / เก็บหลักฐานการสั่งซื้อ การสนทนาต่าง ๆ / เลือกซื้อสินค้าที่ให้ชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้า3.  “อย่าจ่ายเร็ว”!!! เพราะการคืนสินค้ามีความยุ่งยากจนผู้ซื้ออาจจะถอดใจแล้วปลอบตัวเองว่า “ถือว่าฟาดเคราะห์ไป” การคืนสินค้าอาจมีขั้นตอนยุ่งยาก เสียเวลาและค่าใช้จ่าย ได้รับเงินคืนล่าช้าหรือได้รับไม่เต็มจำนวน ไม่ได้รับเงินคืนเพราะทำไม่ถูกขั้นตอนที่ผู้ขายกำหนดไว้ล่วงหน้าหรือผู้ขายปฏิเสธด้วยเหตุผล ข้ออ้างต่าง ๆการสั่งซื้อสินค้าแบบชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้าเป็นทางเลือกที่ดีและปลอดภัย แต่ถ้าผู้ขายไม่มีบริการดังกล่าว ผู้ซื้อต้องได้ข้อมูลจากผู้ขายก่อนสั่งซื้อสินค้าว่าสามารถคืนสินค้าได้และผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าจัดส่งสินค้าคืน พร้อมรายละเอียดต่าง ๆ ในการคืนสินค้า เช่น กล่องบรรจุจะต้องอยู่ในสภาพดี (เวลาแกะกล่องจะได้เปิดหีบห่ออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ฉีกขาด) ผู้เขียนมีประสบการณ์สั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified และพบปัญหาจากการคืนสินค้าเนื่องจากข้อกำหนดที่ยุ่งยากซับซ้อนจน ส่งสินค้าคืนไปใช้เวลาเกือบ 1 เดือนจึงได้รับคำตอบว่าไม่สามารถรับคืนสินค้าได้เพราะบรรจุภัณฑ์อยู่ในสภาพที่ไม่เรียบร้อย ไม่ตรงตามข้อกำหนดสำหรับผู้ขายที่เป็นแบบ C2C ที่ไม่ได้จดทะเบียนกับสคบ.หรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified (คล้าย ๆ กับพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ขายที่ผู้ซื้อต้องระมัดระวังมากๆ มีความเสี่ยงสูง มาตรฐานและวิธีการในการรับเปลี่ยน/คืนสินค้าก็จะแตกต่างกันไป ไม่มีผู้ใดควบคุม การคืนสินค้ากับกลุ่มผู้ขายประเภทนี้มีความยากลำบาก ไม่แน่นอน หากเราส่งสินค้าคืนเขาไปแล้วและไม่ได้รับเงินคืน สินค้าก็ไม่ได้-เงินก็ไม่ได้คืน ต้องติดต่อร้องเรียนตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยยื่นเอกสารหลักฐานต่างๆ ซึ่งทำให้ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก อาจจะไม่คุ้มกับราคาค่าสินค้าก็ได้ ดังนั้นสอบถามให้แน่ชัด ใช้ความระวัดระวังไว้ให้มาก ๆอีกวิธีการที่อยากแนะนำคือ การชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ระหว่างที่ยังไม่ได้ชำระเงินค่าใช้จ่ายตามยอดบัตรเครดิต ผู้ซื้อยังพอมีเวลาที่จะดำเนินการปฏิเสธการจ่ายเงินกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตได้ โดยต้องทำตามขั้นตอนที่เจ้าของบัตรเครดิตกำหนด เช่น ทำหนังสือบอกกล่าวยกเลิกสัญญาซื้อขายไปยังผู้ขายและส่งเอกสารหลักฐานที่ติดต่อกับผู้ขายให้กับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อพิจารณาปฏิเสธการจ่ายเงิน ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการจะใช้ระยะเวลาประมาณ 15-30 วัน แม้จะไม่ได้เป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยก็ยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้เขียนขอแนะนำสำหรับการคืนสินค้าและรับเงินคืนทางบัตรเครดิต หากเป็นการซื้อสินค้าสกุลเงินต่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินขณะถูกเรียกเก็บเงินและคืนเงินอาจจะไม่เท่ากัน หากเราได้รับเงินคืนเข้าบัญชีบัตรเครดิตในจำนวนเงินไทยบาทที่ไม่กัน เราสามารถดำเนินการขอคืนส่วนต่างโดยติดต่อกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตสรุป เลือกบริการชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้า / อ่านและตกลงรายละเอียด ขั้นตอนการคืนหรือเปลี่ยนสินค้าให้เข้าใจ / หากชำระราคาก่อนได้รับสินค้าควรเลือกชำระเงินด้วยบัตรเครดิต4.“อย่าจ่ายเร็ว”!!! เพราะอาจโดนล้วงข้อมูลสำคัญส่วนตัว หรือด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว ก่อนส่งคำสั่งซื้อให้ตรวจดู URL เพราะปัจจุบันการซื้อขายออนไลน์ ส่วนใหญ่จะใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือบัญชีธนาคารออนไลน์ จึงมีเว็บไซต์ที่หลอกลวงหรือทำเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อเลียนแบบจนเราแทบจะไม่ทันสังเกตเห็นความต่างกันเลยก็ว่าได้  หากพลาดไป เว็บไซต์ดังกล่าวอาจนำข้อมูลส่วนตัว รายละเอียดเกี่ยวกับบัญชีธนาคาร บัตรเครดิตไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นขณะจะทำการสั่งซื้อต้องสังเกต URL หรือชื่อเว็บไซต์โดยละเอียด เพราะจะมีแตกต่างกันบางจุดชื่อ URL ของร้านค้าหรือหน้าเว็บไซต์ที่ใช้ตัดเงินผ่านบัตรเครดิต และให้ตรวจสอบว่าเว็บไซต์ที่เรากำลังใช้ทำธุรกรรมการสั่งซื้อของออนไลน์อยู่นั้น โดยเฉพาะหน้าที่แสดงวิธีการจ่ายเงินให้ตรวจสอบว่าเป็น HTTPS หรือไม่5.“อย่าจ่ายเร็ว”!!! ต้องเก็บหลักฐานการซื้อขาย เงื่อนไขที่ตกลงกัน และหลักฐานการชำระเงิน เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนเองซึ่งหากมีปัญหาเกิดขึ้น หากพบปัญหาควรติดต่อไปยังผู้ขายก่อน เพื่อแจ้งให้ทราบและให้ผู้ขายแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นการซื้อผ่านเว็บไซต์(Website) ก็จะมีขั้นตอนและเงื่อนไขในการรับผิดชอบของเว็บไซต์(Website) กำหนดไว้แล้ว สามารถติดต่อไปยังคอลเซ็นเตอร์(Call Center) หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์(Website) แต่ถ้าเป็นการซื้อผ่านโซเชียลมีเดีย(Social Media) เฟซบุ๊ก(Facebook) อินสตาแกรม(Instagram)  ไลน์ (Line) ต้องติดต่อไปยังผู้ขายซึ่งเป็นการช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นก่อน ถ้าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขจนพอใจก็ควรร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่รับเรื่องร้องเรียนโดยนำหลักฐานต่างๆ เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า ข้อความสนทนาการซื้อสินค้าระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ข้อมูลร้านค้า หลักฐานการชำระเงิน รูปถ่ายสินค้า และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มาประกอบคำขอร้องเรียน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วมาก ยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ การแก้ปัญหาในขั้นตอนนี้จะมีระยะเวลาดำเนินการพอสมควร ผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ผู้ซื้อเน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ปัญหา ท่องให้จำขึ้นใจทุกครั้งที่ซื้อของออนไลน์ “ซื้อของออนไลน์ ซื้อง่าย อย่าจ่ายเร็ว”!!!----------------------------------หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน  1. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) รับเรื่องร้องเรียน ให้คำแนะนำปรึกษาด้านปัญหาสินค้าและบริการทั่วไปที่เกิดจากการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ การแก้ปัญหากับคู่กรณี และขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ มาแก้ปัญหา รวมทั้งให้การช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่อยู่ 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400, เว็บไซต์ (Website) :  www.consumerthai.orgอีเมล (E-mail):  complaint@consumerthai.org, โทรศัพท์ 02-2483734-7, โทรสาร 02-24837332. ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ 1212 (Online Complaint Center: OCC)  ให้คำแนะนำปรึกษาด้านปัญหาที่เกิดจากการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ เป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือในการรับ-ส่งการแจ้งเบาะแสหรือเรื่องร้องเรียนระหว่างหน่วยงานความร่วมมือ ตลอดจนให้คำแนะนำ คำปรึกษา และประสานไปยังผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาโดยครอบคลุม 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมถึงการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญหาที่เกิดจากการซื้อขายทางออนไลน์ ภัยคุกคามไซเบอร์ ตลอดจนปัญหาทางออนไลน์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องสายด่วน 1212, เว็บไซต์ (Website)  :  http://www.1212occ.com,  โมบาย แอป (Mobile App) :  1212 OCCอีเมล (E-mail): 1212@mict.go.th, โทรสาร : 02-12757893. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มมครองผู้บริโภค (สคบ.) รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ โดยเน้นการคุ้มครองมิให้ผู้ประกอบการโฆษณาเกินจริง ต้องติดฉลากสินค้าอันตรายและสัญญาที่ทำกับลูกค้า หากไม่เป็นธรรม สคบ. มีอำนาจเข้าไปดูแลที่อยู่ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10120สายด่วน 1166, เว็บไซต์ (Website) :  http://complain.ocpb.go.th/OCPB_Complainsอีเมล (E-mail):  consumer@ocpb.go.th4. กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ กำกับดูแลและสอดส่องพฤติกรรมการใช้เครื่องชั่ง ตวง วัด ในการซื้อหรือขายสินค้าอุปโภคให้เกิดความเป็นธรรม การกำหนดราคาสินค้า และรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับราคา ปริมาณสินค้า และความไม่เป็นธรรมทางการค้าที่อยู่ 44/100 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรีสายด่วน 1569, เว็บไซต์ (Website) :  http://app-transport.dit.go.th/frontend/index.phpอีเมล (E-mail):  1569@dit.go.th, โทรศัพท์ 02-5076111, โทรสาร 02-54753615. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับเรื่องราวร้องทุกข์ปัญหาด้านอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และเครื่องสำอาง ไม่ได้มาตรฐาน ผิดมาตรฐาน ไม่ได้รับใบอนุญาต ตลอดจนการโฆษณาส่งเสริมการขายไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ที่อยู่ ตู้ ปณ. 52 ปณจ. นนทบุรี 11000สายด่วน 1556, เว็บไซต์ (Website) :  www.fda.moph.go.th, โมบาย แอป (Mobile App) :  ORYORอีเมล (E-mail):  complain@fda.moph.go.th, โทรศัพท์ 02-5907354-5, โทรสาร 02-5918472

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 ปัญหาโฆษณาสุขภาพเกินจริงแนวรบที่ไม่มีวันจบ

อย. ย้ำเตือนผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทั้งลดน้ำหนัก กระชับสัดส่วน หรือรักษาโรค ผ่านทางโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ อาจเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปลอดภัย โดย อย. จะดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่โอ้อวดเกินจริง ส่งตรวจวิเคราะห์ หากพบการปลอมปนของสารออกฤทธิ์ทางยา จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่รู้ว่าเราต้องอ่านคำเตือนจาก อย. หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ไปอีกกี่หน เพราะดูเหมือนว่าปัญหาจากการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา หรือเครื่องสำอาง ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงนั้น ก็ยังวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวเรา สอดแทรกอยู่ในสื่อต่างๆ ทั้งใหม่เก่า ที่ผูกมัดพันธนาการเราไว้แทบจะตลอดวัน ผู้บริโภคหากวันใดเกิดจิตใจไม่เข้มแข็งพอขึ้นมาก็คงไม่แคล้วต้องมีอันพลาดท่าเสียที แล้วทำไมสังคมของเราถึงยังจัดการกับปัญหาโฆษณาอวดอ้างเกินจริงเหล่านี้ไม่ได้ อะไรคือสาเหตุ และอะไรคือแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เราลองมาถอดรื้อจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสื่อและโทรคมนาคม เรื่อง การจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายของหน่วยงานกำกับดูแลปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ที่จัดทำเมื่อปี 2559 ว่าเขามองเรื่องนี้อย่างไร พบโฆษณาผิดกฎหมายปีหนึ่งเป็นหมื่นแต่จัดการได้แค่พัน ในงานวิจัยชี้ว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบตรงอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นั้น พบการกระทำผิดกฎหมายเฉลี่ยปีละหมื่นกว่า แต่การดำเนินคดีนั้นทำได้เพียงปีละพันกว่า ทั้งนี้ไม่นับรวมการกระทำผิดที่ อย.ไม่พบ หรือไม่มีคนร้องเรียนเข้ามาอีกเป็นจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านสื่อทางอินเทอร์เน็ตที่มีพลังในการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารได้อย่างน่าทึ่งแถมยังทำกันได้ง่าย แทบจะเรียกว่าใครก็ทำได้   ถ้านับเป็นเวลาก็นับเป็นแค่นาที แต่สำหรับหน่วยงานกำกับดูแล การเข้าจัดการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายต้องใช้เวลานับเดือน นับปีกว่าจะสามารถลงโทษด้วยการปรับเงิน(จำนวนน้อย)ได้ ดังนั้นผู้กระทำผิดจึงไม่ค่อยเคารพยำเกรงกฎหมาย เพราะถือว่าคุ้มกับการเสี่ยง    มี อย. ปลอดภัย 100% แล้วถ้าเป็น อย.ปลอมจะทำอย่างไร   แบรนด์ อย. ถูกสร้างมาให้ติดตลาด อย่างไรก็ดี เครื่องหมาย อย. ก็กลายเป็นจุดอ่อนได้เช่นกัน เมื่อปลายปี 2559 เกิดกรณี MangLuk  Power Slim ผลิตภัณฑ์อาหารในแบบแคปซูล สีชมพู-ขาว มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า หลังรับประทานแล้วมีอาการใจสั่น มือสั่น ปากแห้ง คอแห้ง (ผลข้างเคียงจากสารไซบูทรามีนหรือยาลดความอ้วนที่ผสมลงไปในผลิตภัณฑ์) เมื่อ อย. ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งฉลากระบุเลขที่ อย. 89-1-04151-1-0080 นำเข้าและจัดจำหน่ายโดยบริษัท THE RICH POWER NETWORK จังหวัดสมุทรสาคร รุ่นผลิต RI88-89/01วันที่ผลิต 01/01/16 วันหมดอายุ 01/01/18 นั้น  อย .แถลงข่าวว่า เป็นเลข อย.ปลอม และเมื่อตรวจสอบข้อมูลผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายตามที่ระบุบนฉลากจากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้าไม่พบข้อมูลการจดทะเบียนของบริษัทดังกล่าว คือปลอมทั้งเลข อย.และปลอมชื่อทางธุรกิจ ดังนั้นผลิตภัณฑ์อาหาร Mangluk Power Slim ตัวนี้ จึงเข้าข่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย มีการปลอมเลขสารบบอาหาร โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และตรวจพบไซบูทรามีน ซึ่ง อย. จะมีการดำเนินการกับผู้กระทำผิดต่อไป แต่ ณ ปัจจุบัน เมื่อนำมาสืบค้นด้วยชื่อ ผลิตภัณฑ์นี้ เราก็ยังพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ ผู้บริโภคทั่วไปมักเข้าใจผิดว่า การมีเครื่องหมาย อย. คือการรับประกันความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว เครื่องหมาย อย. เป็นเพียงการรับรองการผลิตที่ได้มาตรฐานเท่านั้น เล่ห์ร้ายของผู้ประกอบการขอโฆษณาไปอย่างหนึ่งแล้วโฆษณาอีกอย่างหนึ่ง หนึ่งในยุทธวิธีที่ผู้ประกอบการที่ไม่รับผิดชอบนิยมในการหลอกลวงทั้งหน่วยงานและผู้บริโภค คือ  ขอโฆษณาไปอย่างหนึ่งแล้วโฆษณาอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นพวกเขาจะมี เลขที่ใบอนุญาตโฆษณาที่ถูกต้อง แต่เนื้อหาผิดไปจากที่ยื่นขอ  ผู้บริโภคที่ไม่ทันเหลี่ยมนี้ก็คิดว่า เป็นโฆษณาที่ถูกต้องแล้ว นี่ไง อย.รับรอง หรือแม้กระทั่งการโฆษณาแฝงในรายการต่างๆ โดยไม่มีการบรรยายสรรพคุณแบบโต้งๆ  ทำให้ อย.ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้  เพราะยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลโฆษณาแฝงทุกหน่วยงานมีปัญหากับการจัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เมื่อนึกถึงการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ หลายคนก็หันไปมองที่ อย. แน่นอนว่า ไม่ผิด แต่เราทราบกันไหมว่า ยังมีอีกหลายหน่วยงานภาครัฐ ที่มีหน้าที่ช่วยกันกำกับดูแลด้านการโฆษณาผิดกฎหมายได้อีก ได้แก่ กระทรวงดิจิทัล ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายตาม พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด แต่กลับปล่อยให้มีการโฆษณาผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์กันอย่างมากมาย  ขณะเดียวกันก็ไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบกำกับดูแลสื่อในโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ซึ่งปัจจุบันตามกฎหมายให้อำนาจ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำกับดูแลเฉพาะสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ ไม่ได้ครอบคลุมถึงการโฆษณาใน โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต เมื่อบางหน่วยงานไม่ค่อยขยับ หน่วยงานหลัก อย่าง อย. ก็ติดกับดักระบบราชการ ซึ่งมีระเบียบวิธีที่ค่อนข้างซับซ้อน ทำให้เกิดลักษณะคอขวดในการจัดการเรียกง่ายๆ ว่า งานไปจมอยู่ที่ อย.  ผู้บริโภคไม่เชื่อวิทย์  ผู้บริโภคส่วนหนึ่งก็ใจร้อน วิธีคิดก็เป็นตรรกะที่ผิด เช่น เชื่อว่ากินอาหารบางอย่างแล้วรักษาโรคได้สารพัดโรค อีกทั้งยังเห็นผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว หรือแทนที่จะคิดว่า การที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น เป็นเพราะสาเหตุที่มาจากการกินมากไปแล้วใช้กำลังกายน้อย กลับไปตั้งความหวังและมั่นใจในอาหารเสริมบางอย่างว่ากินแล้วจะช่วยบล็อกไม่ให้อ้วนได้ หรือเกิดการเผาผลาญพลังงาน โดยที่ไม่ต้องออกกำลังกาย พอไม่เชื่อวิทย์ ชีวิตบางคนจึงเปลี่ยน บางคนถึงเสียชีวิต เพราะหลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างเกินจริง  บางคนแม้จะเชื่อในวิทยาศาสตร์ แต่แพ้ภัยค่านิยม "ผอม ขาว สวย ใส อึ๋ม ฟิตปั๋ง” ก็จำต้องเสี่ยงใช้ทางลัด ซึ่งบทพิสูจน์ที่ผ่านมาคือ ไม่มีทางลัดใดที่ปลอดภัย เน็ตไอดอล ยังไงฉันก็เชื่อเธอ NET IDOL ก็คือคนดังบนโลกออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย พวกเขาหรือเธอ มียอดคนติดตาม (Followers) เป็นแสน เป็นล้าน ขยับตัวทำอะไรก็เกิดกระแส ถือสินค้าสักชิ้น กินอาหารสักอย่างเหล่าผู้ติดตามส่วนหนึ่งก็พร้อมจะทำตาม หากเน็ตไอดอลบางคนทำสินค้าด้านสุขภาพขึ้นมาสักชิ้นแล้วบอกว่า ใช้แล้วดีมาก พร้อมบรรยายสรรพคุณจนเลยเถิดไป หรือในผลิตภัณฑ์เกิดมีสารอันตรายแฝงอยู่ ผู้ที่หลงเชื่ออาจกลายเป็นเหยื่อที่ต้องทุกข์ทรมานเพราะความรักและความนิยมในตัวเน็ตไอดอลเหล่านั้น  หรือบางทีเน็ตไอดอลเองก็กลายเป็นผู้ส่งเสริมให้คนใช้สินค้าไปโดยไม่ได้สนใจว่า ผิดหรือถูก เพราะรับเงินค่าถือสินค้าออกช่องทางสื่อสารของตนเองอย่าง อินสตาแกรม เฟซบุ้ก ฯลฯ ไปแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงพวกเธอหรือเขาอาจไม่เคยทดลองใช้สินค้านั้นจริง แนวทางในการกำกับดูแล และแก้ปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากงานวิจัย1.จัดทำและเปิดใช้ “คลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพสาธารณะ” (Health Products’ Public Data Bank) คือ คลังข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งหมด ที่ได้จดทะเบียนกับ อย. รวมทั้งการอนุญาตโฆษณา คำที่อนุญาตให้ใช้ในโฆษณา เลขที่อนุญาตโฆษณา ซึ่งจะแสดงรายละเอียดในสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้ง สื่อสิ่งพิมพ์ ภาพ เสียง วีดีโอ เพื่อให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการเข้าสืบค้นข้อมูลได้เองด้วยวิธีการที่ไม่ซับซ้อน เมื่อผู้บริโภคต้องการสืบค้นสรรพคุณและการโฆษณาของผลิตภัณฑ์สุขภาพตัวใดตัวหนึ่งเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนจะซื้อ ก็สามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูล และตรวจสอบโฆษณานั้นว่าได้รับอนุญาตจริงหรือไม่2.อย. ควรประกาศใช้  “แนวทางปฏิบัติ หลักเกณฑ์การพิจารณา โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย” เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องได้บังคับใช้ตามแนวทางที่ออกประกาศ เช่น เมื่อหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการโฆษณา พบการโฆษณาฯ ที่ไม่มีอยู่ใน  “คลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพสาธารณะ” ให้สิทธิพิจารณาได้เลยว่า โฆษณานั้นผิดกฎหมาย โดยไม่ต้องส่งกลับมาให้ อย.เป็นผู้วินิจฉัย และให้หน่วยงานกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมายในฐานความผิดของหน่วยงานด้วย ถือเป็น ความผิดเดียว ผิดหลายกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายจริงจังและรุนแรง เพื่อไม่ให้กระทำผิดอีก 3.การกระจายอำนาจให้หน่วยงานกำกับดูแลส่วนภูมิภาค อย. ควรกระจายอำนาจให้ สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) มีหน้าที่จัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพในพื้นที่อย่างฉับไว สามารถบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในทุกสื่อทั้งที่เกิดในพื้นที่ตน และใน Social Media โดยให้อำนาจเท่ากับ อย. เพราะในปัจจุบัน สสจ. มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายเพียงเฉพาะที่เกิดขึ้นในสื่อโทรทัศน์ และสื่อวิทยุกระจายเสียงเท่านั้น   4.อย. ควรเร่งปรับปรุงแนวปฏิบัติในการลงโทษ โดยพิจารณาความผิดฐานโฆษณาเกินจริงเป็นเท็จ แทนที่จะลงโทษเพียงฐานไม่ขออนุญาตโฆษณา รวมถึงการกระทำผิดซ้ำซาก เพราะฐานความผิดโฆษณาเกินจริงเป็นเท็จนั้นจะเป็นแนวทางให้หน่วยงานกำกับดูแลอื่นสามารถนำไปต่อยอดความผิดได้ และปรับปรุงบทลงโทษกฎหมายที่เกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ให้มีโทษปรับในอัตราก้าวหน้า หรือนำมาตรการการเก็บภาษีเข้ามาช่วย สำหรับผู้ขายและผู้โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย 5.ปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องและการสร้างภูมิคุ้มกันในการบริโภคสื่อ ด้วยการปูพื้นฐานผู้บริโภคตั้งแต่ปฐมวัย และสอดแทรกอยู่ในหลักสูตรเท่าทันสื่อ ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 สาระการเรียนรู้ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานสนใจงานวิจัยฉบับเต็ม สามารถดูได้ที่ www.indyconsumers.org

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 ‘อุบัติเหตุบนท้องถนน’ เป็นเพราะเรื่องอาถรรพ์หรือพฤติกรรมเสี่ยงกันแน่

ถ้าลองค้นหาในกูเกิ้ลด้วยคำว่า อุบัติเหตุทางถนน และ อาถรรพ์ คุณก็จะได้ผลลัพธ์ประมาณว่า ‘10 ถนนอันตราย สุดเฮี้ยนในเมืองไทย’‘10 ถนนที่เฮี้ยนที่สุดในประเทศไทย’ หรือ‘สะพรึง!!! 7 โค้งอันตราย อาถรรพ์หรือประมาทเอง?’หรือพาดหัวข่าวตามหน้าสื่อก็เช่น ‘ตูมสนั่น! เก๋งชนรถ 'คาราบาวแดง' แยกอาถรรพ์สังเวย 4 ศพ’ ‘อาถรรพ์โค้ง ศาลปู่โทน  รถพ่วง 18 ล้อเสยกระบะสาหัส 7’ ถ้อยคำจำพวกนี้บอกอะไรเราได้บ้าง? คราวนี้ ลองมาดูสถิติอุบัติเหตุจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ Thai RSC ข้อมูลรับแจ้งอุบัติเหตุทางถนนในปี 2560 ถึง ณ วันที่ 28 สิงหาคม มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 647,145 คน เสียชีวิต 9,757 คน รวม 656,902 คน ประเมินตัวเลขแบบหยาบ เรามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเฉลี่ยเดือนละ 1,000 กว่าคน ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมาบูรณาการกันจะได้ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ 22,281 คนต่อปี ตัวเลขมากขนาดนี้ ทุกหัวโค้งในประเทศก็คงเป็นโค้งอาถรรพ์เกือบหมด ใช่หรือไม่? องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ทำตัวเลขประมาณการไว้เมื่อปี 2556 ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก คิดเป็นอัตราการตายที่ 36.2 คนต่อประชากร 1 แสนคน สถิติแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่าทำลาย แต่การสื่อสารเนื้อหาที่หวือหวาด้วยเรื่องอาถรรพ์สารพัดและพระเครื่องของเหล่าเกจิดัง มันได้กลบฝังความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนลงไปอย่างมาก จนละเลยค้นหาสาเหตุที่ประกอบด้วยปัจจัยหลากหลาย และในบางครั้งก็ซับซ้อน ใหญ่โต ถึงระดับโครงสร้างร้อยละ 24 ของคนไทยหรือ 1 ใน 4 เชื่อว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นป้องกันไม่ได้ อุบัติเหตุเป็นเคราะห์ร้าย โชคชะตา อาถรรพ์ ปัจจัย 2 ระดับของอุบัติเหตุบนท้องถนน น่าสนใจทีเดียวเมื่อพบว่า คนไทย 1 ใน 4 เชื่อว่าอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ป้องกันไม่ได้ มันคือคราวเคราะห์ โชคชะตา อาถรรพ์ แต่ถ้าเราพาตัวเองหลุดจากโค้งอาถรรพ์ แล้ววิเคราะห์การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจะพบว่า มี 2 ระดับที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน แต่เราอาจนึกไม่ถึงมาก่อนและคิดเหมาไปว่าเป็นเรื่องเดียวกัน 1.สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ เช่น เมาแล้วขับ โทรแล้วขับ หรือการขับรถเร็ว เป็นต้น 2.สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต เช่น การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่มีถุงลมนิรภัย หรือโครงสร้างของรถไม่แข็งแรงเพียงพอ ที่ต้องแยกออกเป็น 2 ปัจจัย เพื่อให้การวิเคราะห์และแก้ปัญหาดำเนินไปอย่างถูกต้อง เพราะการเกิดอุบัติเหตุไม่จำเป็นต้องมาคู่กับการสูญเสียชีวิตทุกครั้ง นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า“เราต้องมองสาเหตุทั้งสองระดับ คือสาเหตุของการเกิดเหตุและสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต เมื่อนำปัจจัยเหล่านี้มาวิเคราะห์ร่วมกับคน รถ และถนน เราจึงจะได้ภาพรวมว่าเหตุการณ์นี้จะจัดการตรงจุดไหนได้บ้าง เราจึงต้องวิเคราะห์ทั้งสองส่วน เวลาเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งเราจะไม่สรุปแค่ว่าขับรถโดยประมาท ทุกวันนี้ เรื่องอุบัติเหตุถูกครอบงำ ถูกทำให้มองไม่ลึก เช่น ถูกมองแบบบิดเบือนเชื่อมโยงกับอาถรรพ์ ปาฏิหาริย์ โชคชะตา ซึ่งทำให้การมองปัญหาเพื่อนำไปสู่การป้องกันมีจำกัด”นพ.ธนะพงษ์ กล่าวว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 43 ไม่มีคู่กรณี แต่กลับมีการเสียชีวิตถึงร้อยละ 34 แสดงว่าความตายเกิดจากวัตถุอันตรายข้างทาง เช่น ต้นไม้ เสาไฟฟ้า ป้าย เป็นต้น หรือเพราะสภาพกายภาพของถนน ทั้งที่วัตถุเหล่านี้ควรมีระยะห่างจากขอบทางอย่างน้อย 5-7 เมตร แต่สภาพความเป็นจริงคือ 3-4 เมตรหรือกรณีถนนบริเวณหน้าศาลอาญารัชดาที่ถูกเรียกขานเป็นโค้งอาถรรพ์ นพ.ธนะพงษ์ อธิบายว่า ถ้าเป็นทางหลวงรถสามารถทำความเร็วได้มากกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การออกแบบถนนบริเวณโค้งจะมีการยกระดับความลาดเอียงขึ้นเพื่อป้องกันการหลุดโค้งของรถ แต่สำหรับถนนในเมืองซึ่งไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้รถทำความเร็ว ทางโค้งจึงไม่ได้ออกแบบให้มีความลาดเอียงไว้ เมื่อวิเคราะห์ต่อไปว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดเวลากลางคืน ถนนโล่ง รถจึงทำความเร็วเกินกำหนด แต่เมื่อถนนไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทำความเร็วระดับนี้ อุบัติเหตุรถหลุดโค้งจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่แทนที่จะวิเคราะห์หาปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ กลับถูกสื่อเล่นข่าวเป็นโค้งอาถรรพ์ จนการมองปัญหาผิดเพี้ยนไป“อีกประการคือเวลาพูดถึงอุบัติเหตุ ต้องไม่โทษเหยื่อหรือตัวเหตุการณ์ เช่นไม่มองว่าเพราะรถซิ่ง โจ๋ซิ่งทำให้เสียชีวิต โดยไม่รู้ตัว คำนี้ทำให้คนรับสารไม่รู้สึกถึงการอยากป้องกัน มองแค่ว่าเขาทำตัวเอง บางทีจะรู้สึกว่าสมควรแล้วที่เกิดกับคนเหล่านั้น ไม่ไปชนคนอื่นก็ดีแล้ว ทั้งที่เราไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง แต่เราถูกทำให้สรุปไปอย่างนั้น ดังนั้น การนำเสนอ การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ นอกจากต้องไม่เชื่อมโยงกับเรื่องอาถรรพ์แล้ว ยังต้องไม่ตำหนิกล่าวโทษตัวเหยื่อ และต้องชี้ให้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องสุดวิสัย เช่น ฝนตกถนนลื่นซึ่งเราจะเห็นประจำ แต่คำถามคือถ้าฝนตกถนนลื่น ทำไมอุบัติเหตุจึงเกิดกับคันนี้คันเดียว แสดงว่าต้องมีอะไรมากกว่าฝนตกถนนลื่น อาจเป็นไปได้ว่ายางรถยนต์ของคันนี้เป็นยางเสื่อมสภาพหรือคันนี้ขับเร็ว คือสิ่งที่จะถูกวิเคราะห์และนำเสนอ ต้องการการเปลี่ยนมุมมองของคนที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ปัญหาต้องเห็นองค์ประกอบที่ครบถ้วน”องค์ประกอบ 4 ด้านของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อกล่าวถึงอุบัติเหตุบนท้องถนน คน ถนน รถ และสภาพแวดล้อม ใน 4 ปัจจัยนี้ ปัจจัยแรกมีผลมากที่สุดต่อการเกิดอุบัติเหตุ มันคือเรื่องของพฤติกรรม ยามที่คุณขับขี่รถไปบนท้องถนน เชื่อเหลือเกินว่าคุ้นเคยดีกับพฤติกรรมการขับขี่รถที่ไม่เหมาะสมและสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงถือเป็นหัวใจหลักประการหนึ่งของการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่ทุกครั้งที่พูดถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เรามักได้ยินคำพูดซ้ำๆ ว่า ต้องสร้างจิตสำนึก ต้องสร้างจิตสำนึก และต้องสร้างจิตสำนึก เป็นคำที่ถูกนำมาใช้เสมอเพื่อวัตถุประสงค์นี้ แต่เราก็สร้างจิตสำนึกกันมานานมากแล้ว พฤติกรรมการขับขี่ (หรือแม้กระทั่งเรื่องอื่นๆ) ก็ไม่เปลี่ยน ใช่หรือไม่ว่า ถ้าไม่ใช่เพราะวิธีการสร้างจิตสำนึกของเราล้มเหลว ตัววิธีการสร้างจิตสำนึกเองต่างหากที่น่าจะมีปัญหาหรือไม่เพียงพอ“ถ้ากล่าวเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สิ่งที่สังคมต้องการตอนนี้คือไม่ใช่แค่เรื่องสร้างจิตสำนึก แต่เรากำลังต้องการการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมว่า การมีพฤติกรรมแบบนี้เป็นพฤติกรรมอันตรายและให้คนในสังคมกำกับหรือกดดันควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย” นพ.ธนะพงศ์ กล่าวแน่นอนว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสร้างจิตสำนึกยังเป็นความจำเป็น แต่ไม่เพียงพอ หากต้องใส่องค์ประกอบอื่นๆ ลงไปด้วยรวมเป็น 4 องค์ประกอบ1.การสร้างจิตสำนึก2.การสร้างบรรทัดฐานทางสังคม3.การบังคับใช้กฎหมาย4.การใช้สิ่งปลูกสร้างทางกายภาพยกตัวอย่าง การจอดรถในที่จอดรถของผู้พิการที่ปัจจุบันลดลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความเข็ดขยาดจากการถูกถ่ายคลิปหรือรูป แล้วส่งต่อกันในโลกโซเชียลมีเดีย และนี่กลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ทางสังคมขึ้นมา ซึ่งไม่ได้เกิดจากสำนึกที่ถูกสร้าง แต่เกิดจากมาตรการทางสังคมที่ก่อรูปบรรทัดฐานที่ควรจะเป็น“ผมขยายความเรื่องบรรทัดฐาน มันไม่ใช่การสร้างบรรทัดฐานผ่านโลกโซเชียลอย่างเดียว เราสามารถสอดแทรกเข้าไปในกลไกที่มีอยู่ เช่น ทำให้องค์กรต้นสังกัดกำหนดพฤติกรรมความปลอดภัย ยกตัวอย่างองค์กรหนึ่งบอกกับพนักงานว่า ต่อไปถ้าจะขี่มอเตอร์ไซค์มาต้องใส่หมวก ไม่ใส่จะมีผล จะเห็นว่าพฤติกรรมนี้ไม่ได้ถูกกำกับด้วยตัวปัจเจกแล้ว แต่ถูกกำกับด้วยตัวองค์กร เป็นตัวช่วยอีกแบบในการสร้างบรรทัดฐาน”หรือกรณีการขับรถแซงเข้ามาเบียดที่คอสะพานเพื่อหวังจะได้ไปก่อน นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า การสร้างจิตสำนึกยังคงต้องทำต่อไป แต่วิธีการที่ได้ผลกว่าคือรถคันอื่นๆ จะต้องไม่ยอมรถจำพวกนี้ ต้องแชร์พฤติกรรมนี้ และมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดไปในเวลาเดียวกันการบังคับใช้กฎหมายดูจะเป็นข้ออ่อนอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย นพ.ธนะพงศ์ เล่าให้ฟังว่า เรามักพูดว่าคนไทยขาดจิตสำนึกทำให้ไม่ยอมใส่หมวกกันน็อกเวลาขี่รถจักรยานยนต์ แต่พอคนไทยคนเดียวกันนี้ข้ามไปประเทศมาเลเซีย กลับหยิบหมวกกันน็อกขึ้นมาใส่ คำถามคือ คนคนนี้เกิดจิตสำนึกขึ้นมาโดยพลัน หรือเพราะเกรงกลัวการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดของมาเลเซียการใช้สิ่งปลูกสร้างทางกายภาพเพื่อกำกับพฤติกรรมเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ต้องนำมาใช้ ยกตัวอย่างปัญหาการขับขี่รถจักรยานยนต์ขึ้นมาบนฟุตปาธ ที่ผ่านมาการรณรงค์ การสร้างจิตสำนึก พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล ล่าสุด หน่วยงานรัฐออกนโยบายให้ผู้เห็นพฤติกรรมดังกล่าวถ่ายรูปส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อปรับและแบ่งค่าปรับคนละครึ่ง นพ.ธนะพงศ์ตั้งคำถามว่า วิธีการที่ง่ายกว่านั้นคือติดอุปกรณ์ขวางไว้ดีหรือไม่ จะช่วยขจัดพฤติกรรมให้หายไปได้ ไม่ใช่เพราะมีจิตสำนึกหรือถูกจับ แต่หายไปเพราะไม่สามารถทำพฤติกรรมนี้ได้ เนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้างทางกายภาพมากำกับ หรือกรณีรถวิ่งเร็วในซอย การติดป้ายรณรงค์หรือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเฝ้าคงไม่อาจทำได้ตลอด แต่การสร้างเนินชะลอความเร็วจะบังคับให้รถทุกคันต้องขับช้าลง ดังนั้นอิทธิพลทางกายภาพจึงมีผลต่อพฤติกรรมบนท้องถนนมากกว่าการบังคับใช้กฎหมายธูป เทียน ดอกไม้ ไม่ใช่คำตอบ แต่เดี๋ยวก่อน สิ่งปลูกสร้างทางกายภาพไม่ใช่คำตอบสมบูรณ์ของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบนท้องถนน ไม่ใช่เลย เราคงเคยเห็นผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ไม่สนใจสิ่งปลูกสร้างทางกายภาพและยังคงทำผิดกฎจราจรเช่นเดิม“เวลาพูดถึงการเปลี่ยนแปลง เราทำเรื่องเดียวไม่ได้ ต้องทำกับตัวปัจเจก กับบรรทัดฐาน กับการบังคับใช้กฎหมาย และกับด้านกายภาพไปพร้อมๆ กัน ผมกำลังบอกว่า เวลาเราคิดเรื่องนี้ มันไม่เบ็ดเสร็จ เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ต้องสร้างจิตสำนึก ไม่จริงหรอก พลังมันไม่พอ ต้องทำควบคู่กันหลายอย่าง”ไกลและกว้างกว่านั้น นพ.ธนะพงศ์ อยากให้เรามองปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่แค่เรื่องพฤติกรรมเชิงปัจเจกหรือกฎหมาย เช่น เวลาเผชิญปัญหารถติด ความคิดโดยทั่วไปคือทำไมไม่ขยายถนน แต่เมื่อขยายถนน สิ่งที่ตามมาคือรถวิ่งเร็วขึ้น เพราะสามารถทำความเร็วได้มากขึ้น เสี่ยงทั้งต่อผู้ขับขี่และต่อคนเดินถนนหรือปัญหาในระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เมื่อระบบขนส่งมีข้อจำกัด ผู้คนจึงเลือกการซื้อรถยนต์ส่วนตัวเป็นทางออก แล้วปัญหาต่างๆ ก็ติดตามมาเป็นลูกโซ่ทั้งหมดนี้บอกอะไร?มันกำลังบอกว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่เรื่องของพลังงานลี้ลับ แต่เป็นปัจจัยจากตัวบุคคล รถ ถนน และสภาพแวดล้อม ธูป เทียน ดอกไม้ และเครื่องเซ่นสรวง จึงไม่ใช่คำตอบของการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ผ่านกลไกทั้ง 4 ด้านไปพร้อมๆ กันและการแก้ไขปัญหาระยะยาวในเชิงโครงสร้างต่างหากคือคำตอบที่ได้ผลยั่งยืนกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 10 ปีของมหากาพย์ทวงคืนท่อก๊าซ สมบัติชาติ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกได้ฟ้องศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนการแปรรูปปตท.เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดีนี้ ในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 เป็นคดีหมายเลขแดง ที่ ฟ35/2550 คำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ประกอบด้วย 1) คณะรัฐมนตรี 2) นายกรัฐมนตรี 3) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน 4) บมจ. ปตท. ดำเนินการโดยสรุปดังนี้ 1) แบ่งแยกสาธารณสมบัติของแผ่นดินคืนให้รัฐ2) ที่ดินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนคืนให้รัฐ3) แยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บมจ. ปตท.)ภาค 1 มหากาพย์แปรรูปฮุบสมบัติชาติการแปรรูป "ปตท." ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2544 เกิดขึ้นหลังจากพรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลเพียง 9 เดือนเศษ ทั้งที่เคยหาเสียงว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิก "กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ" ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายที่ถูกเรียกขานว่า 'กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ' คือ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ออกตามเงื่อนไขการกู้เงิน IMF เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่เป็นผลจากความไร้วินัยทางการเงินของภาคเอกชนเมื่อปี 2540 แต่เป็นมรดกบาปที่ประชาชนทั้งประเทศต้องมาจ่ายหนี้แทนเอกชนที่ล้มบนฟูกทั้งหลายเมื่อพรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล ทักษิณมองเห็นสำรับผลประโยชน์ที่จัดเตรียมขึ้นโดยกลุ่มสนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามแนวทางของมิลเลอร์ ฟรีดแมน ที่มีนางมาร์กาเรต แทตเชอร์เอาไปปฏิบัติจนประเทศอังกฤษย่อยยับจากนโยบายแปรรูปของรัฐบาลของเธอ หากใครติดตามข่าวตอนมรณกรรมของอดีตนายกฯหญิงอังกฤษคนนี้เมื่อปี 2556 จะเห็นหนังสือพิมพ์ในอังกฤษหลายฉบับได้พาดหัวข่าวคำสัมภาษณ์ของคนอังกฤษที่พูดว่านางแม่มดชั่วร้ายได้ตายแล้ว (The wicked witch is dead) ประชาชนออกมาจัดปาร์ตี้แสดงความยินดีกับการตายของเธอตามท้องถนนสวนกระแสการไว้ทุกข์ของรัฐบาล(แต่ในประเทศไทยยังมีกลุ่มธุรกิจผูกขาดหลงยุคที่ชื่นชมการแปรรูปสาธารณูปโภคพื้นฐานของนางแทตเชอร์)ทักษิณมองเห็นธุรกิจพลังงานเป็นผลประโยชน์มหาศาล และปตท. คือเครื่องมือสำคัญ จึงละทิ้งสัญญาประชาคมตอนหาเสียงเลือกตั้งแบบกลับหลังหัน และเข้ามาชุบมือเปิบผลประโยชน์ต่อจากกลุ่มนิยมขายสมบัติชาติที่ตั้งสำรับไว้แล้ว และแปรรูปปตท. เป็นภารกิจลำดับแรกๆ หลังเข้ามาเป็นรัฐบาล ในมุมมองตรงกันข้ามการแปรรูปกิจการรัฐในสายตานักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมกระแสหลักที่เน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2544 อย่างโจเซฟ สติกลิสต์ที่กล่าวอมตวาจาว่า "การแปรรูปคือการคอรัปชั่น (Privatization is Barbarization ) เพียงการบอกขายสมบัติชาติในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ก็จะสามารถฉกฉวยเอาทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลเป็นของตนแทนที่จะปล่อยมันไว้ให้คนอื่นเข้ามาถลุง"การแปรรูป "ปตท." เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนอมตวาจาของสติกลิสต์ นอกจากนี้เขายังเคยพูดถึงวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551 ว่ารัฐบาลอเมริกันไม่ควรไปอุ้มกลุ่มทุนการเงินที่เป็นผู้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงให้กับสหรัฐอเมริกา และประชาคมเศรษฐกิจโลก เขาถามหาสิ่งที่เรียกว่าความรับผิดชอบ และการตรวจสอบได้ (Accountability) ของกลุ่มทุนการเงินเหล่านั้น และเรียกร้องให้คนพวกนั้นเป็นผู้ที่ต้องจ่ายให้กับความเสียหายที่เขาก่อขึ้น ไม่ใช่ให้รัฐบาลเอาภาษีของประชาชนมาจ่าย และปล่อยคนเหล่านี้ลอยนวลไปพร้อมกับเงินก้อนใหญ่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และ 11 ปีก่อนหน้าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์นั้น ก็ไม่ต่างจากกลุ่มทุนการเงินชาวอเมริกัน คือนอกจากล้มบนฟูกแล้ว ยังตบตูดจากไปอย่างไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ปล่อยให้ประชาชนรับกรรมใช้หนี้แทน แล้วยังต้องการนำปตท.ที่เป็นสาธารณสมบัติของชาติมาพยุงตลาดหลักทรัพย์ที่ซบเซาจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้น ทั้งที่มาจากความโลภและความไร้วินัยทางการเงินของสถาบันการเงินภาคเอกชนเอง โดยคนเหล่านั้นหาได้มีจิตสำนึกความรับผิดชอบใดๆ ไม่เมื่อรัฐบาลต้องการแปรรูปปตท. ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 ให้ปตท.ซึ่งขณะนั้นคือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ไปดำเนินการแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ ออกจากกิจการจัดหาและจำหน่ายก่อนการแปรรูปและนำเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยให้ ปตท.คงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 มติดังกล่าวจึงมิได้ให้มีการนำกิจการท่อก๊าซธรรมชาติเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย แต่ทักษิณอ้างว่าหากต้องรอการแยกกิจการท่อส่งก๊าซก่อน ก็จะไม่สามารถนำปตท. เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ทันในปลายปี 2544 รัฐบาลจึงมีมติให้แปรรูปทั้งองค์กรไปก่อน และนำปตท. ไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทันที โดยมีมติครม. ว่าจะแยกท่อก๊าซหลังระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว 1 ปี แต่หลังจากนั้น รัฐมนตรีพลังงานในสมัยนั้น ก็กลับมติ โดยให้ยกเลิกมติเดิมที่จะแยกท่อก๊าซภายใน 1 ปี เพราะอ้างว่ามีการเปลี่ยนนโยบายจากระบบ Power pool คือระบบที่ให้บุคคลที่ 3 เข้าร่วมใช้ระบบท่อส่งก๊าซ กลับไปเป็นระบบ Single buyer คือผูกขาดเจ้าเดียวโดยให้ปตท. เป็นผู้ผูกขาดการซื้อก๊าซและใช้ระบบท่อเพียงรายเดียว อันเป็นการโอนย้ายอำนาจผูกขาดจากรัฐไปให้เอกชน  สาเหตุที่ไม่ยอมแยกท่อก๊าซออกก่อนการนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะท่อส่งก๊าซมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติทำให้กิจการก๊าซเป็นกิจการไม่มีคู่แข่ง ย่อมทำให้ผู้ครอบครองท่อก๊าซได้รับผลประโยชน์สูงจากกิจการก๊าซไปด้วย การมีมติครม. ว่าจะแยกท่อก๊าซหลังจากนั้นก็เป็นเพียงมติแบบขอไปที และในที่สุดก็ยกเลิกการแยกท่อก๊าซ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการยักยอกทรัพย์ของแผ่นดิน ใช่หรือไม่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกร่วมกันฟ้องเพิกถอนการแปรรูปปตท. ต่อศาลปกครองสูงสุดในเดือนสิงหาคม ปี 2549 ในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้บรรยายอย่างชัดเจนว่าการแปรรูปโดยไม่ได้ทำตามเงื่อนไขในกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจที่กำหนดเงื่อนเวลาในการแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและการไม่แบ่งแยกอำนาจรัฐออกจากปตท.ที่เป็นบริษัทเอกชนมหาชน โดยยังมีอำนาจเหมือนปตท. สมัยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับมอบอำนาจมหาชนตามกฎหมายจากสภานิติบัญญัตินั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดได้บรรยายในคำพิพากษาว่าเมื่อปตท.ได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นองค์กรมหาชนของรัฐไปเป็นองค์กรเอกชนมหาชนแล้ว จึงไม่ถือเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป แม้ว่ากระทรวงการคลังจะถือหุ้นใหญ่เกิน 51% แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปตท. มีสถานะกลับมาเป็นองค์กรมหาชนของรัฐอีกแต่อย่างใด ปตท. จึงไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาด้วยอำนาจมหาชน ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อการใช้ร่วมกันของคนในชาติ และปตท.ซึ่งแปรสภาพไปเป็นบริษัทเอกชนแล้ว ก็ไม่สามารถใช้อำนาจมหาชนของรัฐได้อีกต่อไปด้วย อันที่จริงศาลมีความเห็นว่า การแปรรูปปตท.เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การฟ้องเพิกถอนการแปรรูปนั้นเกิดขึ้นหลังจากการแปรรูปปตท. ผ่านไปกว่า 5 ปีแล้ว ปตท. ได้ก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกเป็นจำนวนมาก และมูลค่าปตท. ในตลาดหลักทรัพย์ขณะนั้นสูงถึง 8.4 แสนล้านบาท หากเพิกถอนการแปรรูปเกรงจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจศาลปกครองสูงสุดได้อ้างพ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงานที่ออกในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่าเป็นการเยียวยาความเสียหายแล้ว จึงให้ยกคำร้องการเพิกถอนการแปรรูปปตท. แต่สั่งให้แบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและทรัพย์สินที่มาจากการรอนสิทธิคืนให้กับรัฐ และให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนมีการตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อีกทั้งไม่ให้ปตท. ใช้อำนาจรัฐอีกต่อไป ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษานั้น รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในสมัยนั้นกำหนดให้คืนเฉพาะท่อก๊าซบนบกที่มีการรอนสิทธิ ส่วนท่อส่งก๊าซในทะเลไม่ได้คืน ทั้งที่ในคำพิพากษาระบุว่าท่อส่งก๊าซและท่อส่งน้ำมันเป็นระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ซึ่งมีลักษณะเชื่อมต่อกันเป็นระบบจึงต้องคืนทั้งระบบ ไม่ใช่คืนเป็นท่อนหรือเป็นส่วน ๆ แต่กระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินก็ไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ ที่ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลังไปแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา และให้สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สิน หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเรื่องทรัพย์สินตามคำพิพากษา มติครม.ก็ได้ระบุให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยให้มีข้อยุติต่อไป แม้สตง.จะยืนยันตลอดมาว่าปตท.ยังไม่ได้คืนท่อส่งก๊าซในทะเลและอุปกรณ์ที่รวมกันเป็นระบบตามคำพิพากษาของศาลอย่างครบถ้วน แต่รัฐบาลในสมัยต่อมาก็ไม่ได้ตรวจสอบและกำกับให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการตามมติครม.ที่เมื่อมีข้อโต้แย้งว่าท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ เมื่อตกลงกันไม่ได้ต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้มีข้อยุติว่าท่อส่งก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือสมบัติของเอกชน เมื่อยังไม่มีข้อยุติเรื่องท่อก๊าซในทะเล แต่หน่วยงานรัฐกลับให้บมจ.ปตท. ซึ่งมีสภาพเป็นลูกหนี้ได้ไปรายงานต่อศาลว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ และผู้เกี่ยวข้องได้เห็นชอบการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อสตง. ทักท้วงว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน คณะรัฐมนตรีก็เพิกเฉยทั้งที่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษา และมติครม. ก็มอบหมายให้สตง. เป็นฝ่ายตรวจสอบและรับรองความถูกต้องเสียก่อน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกจึงได้ร้องต่อศาลปกครองสูงสุดหลายครั้ง ซึ่งศาลปกครองได้ยกคำร้องด้วยเหตุผลว่าผู้ร้องไม่ใช่ผู้ชนะคดี และไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ จึงไม่สามารถร้องให้มีการบังคับคดีใหม่ได้ ซึ่งในคำพิพากษาเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ศาลได้สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ประกอบด้วย 1) คณะรัฐมนตรี 2) นายกรัฐมนตรี 3) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และ 4) บมจ. ปตท. ไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา ดังนั้นผู้ที่มีสิทธิทักท้วงให้มีการบังคับคดีใหม่ให้ถูกต้องคือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ส่วนปตท. เป็นลูกหนี้ และอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงพลังงาน ปรากฏในการแบ่งแยกทรัพย์สินเจ้าหนี้ปล่อยให้ลูกหนี้ไปรายงานต่อศาลว่าคืนทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว ทั้งที่สตง. ทักท้วงว่าไม่ครบ แต่เจ้าหนี้ไม่ทักท้วงว่าลูกหนี้ยังไม่คืนท่อในทะเล และไม่ได้ให้กฤษฎีกาวินิจฉัยข้อโต้แย้งว่าท่อในทะเลเป็นสาธารณสมบัติที่ต้องคืนหรือไม่ตามที่ฝ่ายตรวจสอบคือสตง. บอกว่าต้องคืนด้วย ปรากฏว่าเจ้าหนี้พอใจตามที่ลูกหนี้คืนให้โดยไม่ทักท้วง และไม่ฟังฝ่ายตรวจสอบของตัวเองอีกด้วย จากการนำคดีไปฟ้องร่วมกับประชาชน 1,455 คน เรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ไม่ได้ทำตามมติคณะรัฐมนตรี ของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ที่ให้การแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษานั้นต้องให้สตง.เป็นผู้ตรวจสอบ และรับรองความถูกต้องเสียก่อน การฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 800/2557 วินิจฉัยว่าข้ออ้างของผู้ร้องว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมติครม.นั้นเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีต้องไปว่ากล่าวกันเอง ความหมายคือมีแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่เป็นเจ้าหนี้ตามกฎหมายเท่านั้นที่จะสามารถโต้แย้งว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วนตามการตรวจสอบของสตง. เมื่อปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีไม่ว่ากล่าวให้มีการดำเนินการให้ถูกต้อง ประชาชนจึงต้องตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารว่ามีการปฏิบัติถูกต้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนประชาชนหรือไม่ มูลนิธิฯ และพวกจึงนำเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 คตง. มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบว่าหน่วยรับตรวจได้ทำตามกฎหมายระเบียบ คำสั่ง รวมทั้งมติครม.หรือไม่ คตง. อาศัยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ตรวจสอบแล้วมีคำวินิจฉัยเมื่อ 10 พฤษภาคม 2559 ว่ายังมีการคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน ยังมีท่อก๊าซในทะเลและบนบกมูลค่าประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทที่ต้องคืน และคตง. มีหนังสือเมื่อ 24 สิงหาคม 2559 แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ให้ดำเนินการคืนให้ครบถ้วนภายใน 60 วัน แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลคสช. ก็ยังไม่ปฏิบัติตามมติของคตง. ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษได้วินิจฉัยเรื่องท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติหรือไม่ ตามการร้องของสตง. คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 นั้นมีความชัดเจนว่าท่อส่งก๊าซเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และศาลมองท่อก๊าซเป็นระบบไม่ว่าท่อก๊าซนั้นจะผ่านบนที่ดินใคร เพราะไม่ได้มองท่อก๊าซเป็นท่อนเป็นส่วน ดังนั้นคำพิพากษาจึงมีความชัดเจนขึ้นอยู่กับว่ามีการปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างครบถ้วนหรือไม่ ท่อก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรรูป และไม่มีการแยกออกมาก่อนการนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทำให้หุ้นของปตท. มีมูลค่าแบบก้าวกระโดดโดยที่ท่อก๊าซมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติที่ตามกฎหมายไม่อาจยกให้เอกชนครอบครองได้นั้น แม้มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 แล้วก็ไม่ได้มีการแบ่งแยกท่อก๊าซคืนทั้งระบบ การไม่แยกกิจการท่อก๊าซออกมา จึงทำให้ปตท. ได้กำไรจากกิจการท่อก๊าซรองมาจากกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยที่กิจการทั้ง 2 ส่วนนี้เกื้อหนุนกัน เพราะปิโตรเลียมที่พบในประเทศเป็นก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องอาศัยท่อส่งก๊าซในการขนส่งก๊าซจากแหล่งผลิตมาถึงโรงแยกก๊าซ ปตท. ผูกขาดกิจการก๊าซทั้งระบบเพราะได้ครอบครองและใช้ท่อก๊าซในระบบผูกขาดเจ้าเดียว และยังได้สิทธิผูกขาดการซื้อก๊าซเจ้าเดียวอีกด้วย ซึ่งสิทธินี้เคยเป็นสิทธิผูกขาดของกระทรวงอุตสาหกรรมและต่อมามอบให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หลังการแปรรูป สิทธินี้ยังไม่ได้คืนตามคำพิพากษาที่ระบุให้แยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 คือปตท.จึงทำให้รายได้ของปตท. จากท่อก๊าซธรรมชาติสูงถึงประมาณ 356,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 14 ปี (2544-2558) โดยปตท.จ่ายค่าเช่าท่อที่คืนให้รัฐบางส่วนตามคำพิพากษาเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นเม็ดเงินประมาณ 6,000 ล้านบาทในระยะเวลา 14 ปีภาค 2 มหากาพย์แยกท่อก๊าซเป็นสมบัติเอกชนแผนการฮุบท่อส่งก๊าซไปเป็นของเอกชนยังคงเป็นโรดแมปสำคัญ หลังการรัฐประหารของคสช. ในปี 2557 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้อนุมัติให้มีการแยกกิจการท่อส่งก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทลูกของปตท.ประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการ บมจ. ปตท. เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ว่า ได้เห็นชอบแนวทางการเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน และลดอำนาจการผูกขาดของปตท. โดยให้ปตท. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรียุครัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2544 คือให้ดำเนินการแยกท่อก๊าซ ปตท. ให้เป็นบริษัทลูกเพื่อเปิดให้บุคคลที่ 3 มาใช้ท่อก๊าซฯ ด้วยประธานกรรมการปตท. ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเผชิญหน้า ทีวีสปริงนิวส์ว่า จะแยกท่อก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่โดยให้เป็นของบริษัทปตท.หลังจากนั้นก็แล้วแต่ "คสช." จะตัดสินใจให้คนอื่นมาถือหุ้นแทนปตท. และเรื่องแยกท่อก๊าซก็ต้องทำให้เสร็จก่อนมีการเลือกตั้ง (ที่เคยคาดว่าจะเกิด) ในปี 2558 อีกด้วย เมื่อย้อนไปดูมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2544 ได้มอบหมายให้ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจไปดำเนินการแยกท่อส่งก๊าซก่อนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และมอบหมายให้ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ในขณะนั้นคงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 ตามมติดังกล่าวแสดงว่าระบบท่อส่งก๊าซต้องเป็นของรัฐ 100% แต่กระบวนการแปรรูปโดยไม่แยกท่อก๊าซ จึงเป็นข้อต่อที่สำคัญที่จะถ่ายโอนท่อส่งก๊าซทั้งระบบไปเป็นสมบัติเอกชน ซึ่งศาลมีคำสั่งให้คืนแต่ก็ไม่ยอมคืนท่อทั้งระบบที่แปรรูปไป ข้อเสนอให้ดำเนินการแยกระบบท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ครั้งใหม่นี้ ย่อมมีความแตกต่างจากมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพราะปตท.ในขณะนี้เป็นบมจ.ปตท. ที่รัฐถือหุ้นเพียง 51% และมีเอกชนมาถือหุ้นร่วมด้วยอีก 49% ปตท. ในขณะนี้จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ 100% เหมือนเมื่อก่อนแปรรูป ดังนั้นการแยกท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ตามข้อเสนอนี้ จะทำให้รัฐและประชาชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ระบบท่อส่งก๊าซเพียง 51% เท่านั้นไม่ใช่เป็นเจ้าของ 100% ตามมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อปี 2544 หากการแยกท่อก๊าซไปตั้งบริษัทใหม่สำเร็จ ย่อมทำให้ท่อก๊าซตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนโดยสมบูรณ์ ซึ่งคือการย้อนกลับไปสู่สภาพก่อนที่มีคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุด และท่อก๊าซก็จะไม่ได้คืนกลับมาเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีก คำวินิจฉัยของคตง. และคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ทำให้มติกพช.ที่อนุมัติให้มีการแยกท่อก๊าซมาตั้งบริษัทใหม่ต้องหยุดชะงักไป แต่คณะรัฐมนตรีก็ยังไม่ยอมปฏิบัติตามมติคตง. ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ที่มีหน้าที่ต้องแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติคืนแผ่นดินให้ครบถ้วนตามคำพิพากษา สิ่งที่รัฐบาลคสช. ควรทำคือปฏิบัติตามการตรวจสอบของคตง. โดยใช้อำนาจบังคับบัญชาตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 และมติคตง. 10 พฤษภาคม 2559 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา 20 กันยายน 2559 ให้ปตท. คืนท่อก๊าซทั้งระบบตามคำพิพากษา และควรตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติมารับมอบระบบท่อส่งก๊าซและเปิดให้เอกชนและปตท. ใช้โดยจ่ายค่าบริการให้กับรัฐผ่านองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่ การแก้ไขพ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) ที่ประกาศใช้เมื่อ 22 มิถุนายน 2560 หากรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านกฎหมายและให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่แทนการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ถูกแปรรูปไปเป็นเอกชนแล้วจะเป็นการปฏิรูปนโยบายพลังงานอย่างแท้จริง รัฐบาลจะมีองค์กรใหม่เป็นผู้รับมอบทรัพย์สินหลังจากเอกชนหมดสัมปทาน รวมทั้งรับมอบท่อส่งก๊าซและที่ดินตามคำพิพากษา รวมทั้งถือกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมจากระบบแบ่งปันผลผลิตกับบริษัทเอกชน ซึ่งบริษัทปตท. ที่มีเอกชนถือหุ้นไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ และให้องค์กรใหม่กำกับดูแลให้มีการประมูลขายปิโตรเลียมทั้งส่วนที่เป็นน้ำมันและส่วนที่เป็นก๊าซที่เป็นของรัฐ และเปิดให้เอกชนทุกรายสามารถใช้ท่อส่งก๊าซโดยจ่ายค่าบริการให้รัฐผ่านบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เชื่อว่าระบบก๊าซธรรมชาติในประเทศจะเกิดการแข่งขันกัน และได้ราคาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ แต่น่าเสียดายที่การครอบงำของกลุ่มทุนพลังงานมีพลังมากจนการปฏิรูปไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ตามโรดแมปของกลุ่มทุนพลังงาน ขั้นตอนแรกคือแปรรูปกิจการสาธารณูปโภคของรัฐให้เป็นรัฐครึ่งเอกชนครึ่ง และขั้นตอนต่อมาคือแปรรูปกิจการให้เป็นของเอกชน 100% ตามแนวคิดของมิลเลอร์ ฟรีดแมน ที่เชื่อว่าทรัพย์สินของรัฐไม่มีใครเป็นเจ้าของ เลยไม่มีใครสนใจดูแล ดังนั้นจึงควรแปรรูปให้เป็นของเอกชน (State owns is nobody owns, Nobody owns is nobody cares) กลุ่มทุนใช้ข้ออ้างเพื่อไม่ให้นักการเมืองเข้ามาล้วงลูกกิจการรัฐวิสาหกิจ จึงควรแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน ดังที่ปตท. ต้องการแยกทั้งบริษัทท่อก๊าซ และบริษัทน้ำมันและค้าปลีกออกไปเป็นบริษัทลูก ที่รัฐถือหุ้นต่ำกว่า 51% เพื่อให้บริษัทใหม่เป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว หากทุนเอกชนสามารถยึดโครงข่ายกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซได้ ก็เหมือนยึดเส้นเลือดในกายเศรษฐกิจของชาติด้านพลังงานได้ทั้งหมด แล้วเลือดหรือทรัพยากรพลังงานที่ผ่านท่อจะไปไหนเสีย? การที่กลุ่มทุนพยายามผลักดันให้คสช.คงระบบสัมปทานในการให้สิทธิสำรวจผลิตปิโตรเลียมแก่เอกชนต่อไปก็ยิ่งทำให้ทรัพยากรพลังงานที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชนตกอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนผูกขาดการคงระบบสัมปทานปิโตรเลียมก็คือการยกกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งหมดให้กับกลุ่มทุนพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อทุนพลังงานครอบครองกลไกเครื่องมือคือระบบท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมันและได้กรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมไปด้วย ชะตากรรมของคนไทยก็จะอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนพลังงานเอกชนโดยสมบูรณ์ การผูกขาดธุรกิจพลังงาน ราคาพลังงานจะแพงขึ้นเท่าไหร่ ประชาชนต้องก้มหน้ารับกรรมกันไป จะไปเรียกร้องตรวจสอบอะไรอีกไม่ได้ เพราะเขาเป็นเอกชนเต็มตัว เมื่อตอนกลุ่มธุรกิจเอกชนใหญ่ก่อวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ประชาชนต้องเข้าไปรับเคราะห์ใช้หนี้แทน แต่พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เขาก็มาฮุบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาขน เอาไปเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่ ๆ ไม่กี่ราย มหากาพย์ฮุบสมบัติชาติด้านพลังงานจะเสร็จสมบูรณ์ตามโรดแมปของกลุ่มทุนพลังงานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความตื่นรู้ของประชาชนคนไทยทั้งปวง และความสุจริตและธรรมาภิบาลของผู้บริหารบ้านเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต

อ่านเพิ่มเติม >

ศาลยกฟ้องคดีบัตรเครดิต เหตุเอาเปรียบผู้บริโภค เตือนอย่ายอมจ่ายหนี้ หากเลิกสัญญาแล้ว

ศาลยกฟ้องคดีธนาคารฟ้องผู้บริโภค ไม่ชำระค่าบัตรเครดิต เหตุใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ด้านศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะอย่ายอมจ่ายหนี้บัตรฯ หากขอยกเลิกสัญญาในเวลากำหนดกรณีที่มีผู้บริโภคถูกธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ฟ้องคดี จากการค้างชำระค่าบัตรเครดิต หลังจากรูดซื้อบริการคอร์สเสริมความงาม และภายหลังได้ทำเรื่องขอยกเลิกการใช้บริการคอร์สเสริมความงามแล้วนั้นนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ กรณีใช้บัตรเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ ซื้อคอร์สบริการเสริมความงามจากสถานเสริมความ ซึ่งเป็นคอร์สทำหน้าจำนวน ๑๐ ครั้ง ในราคา ๕๐,๐๐๐ บาทโดยผู้ร้องได้ทดลองทำหน้า ๑ ครั้ง และครั้งแรกเป็นการทดลองทำให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ขณะที่ทำก็เกิดอาการแพ้ คันที่ใบหน้าและรอบดวงตา หลังจากนั้นก็ไปรักษาอาการแพ้ที่โรงพยาบาล ต่อมาจึงได้แจ้งสถานเสริมความงามเพื่อขอยกเลิกสัญญาในการใช้บริการ และแจ้งธนาคารฯ ให้ระงับการชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิตนางนฤมล เล่าต่อไปว่า ต่อมาทางธนาคารฯ ยื่นเรื่องฟ้องผู้บริโภครายนี้ต่อศาล จากการค้างชำระค่าบริการคอร์สเสริมความงาม ทั้งที่ผู้บริโภคส่งเรื่องไปให้ธนาคารฯ ระงับการจ่ายเงินแล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ศาลพิพากษาว่า ธนาคารฯ กระทำโดยเอาเปรียบผู้บริโภค และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงให้ผู้ร้องไม่ต้องชำระค่าบริการของสถานเสริมความงาม และให้ยกฟ้อง“ผู้บริโภคมักถูกฟ้องคดี เวลาเอาบัตรเครดิตไปรูดซื้อสินค้าหรือบริการ แล้วผู้ประกอบการผิดสัญญา พอบอกเลิกสัญญาไปแล้ว ก็ไม่ได้แจ้งกับธนาคารเจ้าของบัตรฯ หรือแจ้งไปแล้วก็ไม่ดำเนินการให้ ทั้งที่ธนาคารฯ ควรจัดการปัญหานี้ให้กับผู้บริโภคด้วย”  นางนฤมล กล่าวต่อว่า การที่ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ได้แปลว่าผู้บริโภคต้องยินยอมใช้หนี้ที่เกิดขึ้น ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ปี พ.ศ.๒๕๔๒ ข้อ ๓ (๗) (ข) ระบุว่า ถ้าผู้บริโภคไม่ได้รับสินค้า หรือบริการเป็นไปตามที่ตกลงไว้ มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ภายใน ๓๐ - ๔๕ วันแล้วแต่กรณีหัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะนำต่อไปว่า เมื่อเลิกสัญญากับผู้ประกอบการแล้ว ผู้บริโภคต้องแจ้งให้ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตระงับการจ่ายเงินให้กับคู่กรณีด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องทำทุกอย่างให้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐาน หากมีการฟ้องคดีเกิดขึ้น“อย่างกรณีนี้ ผู้บริโภคใช้บริการแล้วแพ้ ใช้บริการไม่ได้ หรือใช้บริการแล้วไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ สามารถยกเลิกสัญญาได้ตามสิทธิของผู้บริโภค และเมื่อผู้ร้องได้แจ้งกับธนาคารเจ้าของบัตรฯ แล้ว แต่ธนาคารฯ ยังจ่ายค่าบริการให้สถานเสริมความงามไป ทั้งที่ยกเลิกสัญญาแล้ว ดังนั้น ธนาคารฯ จะมาเรียกเก็บเงินกับผู้บริโภคไม่ได้” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ กล่าวทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ข้อ ๓ (๗) (ข) ระบุว่า ไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้บริโภคที่จะขอยกเลิกการซื้อสินค้า หรือรับบริการภายในระยะเวลา ๔๕ วัน นับแต่วันที่สั่งซื้อหรือขอรับบริการ หรือภายในระยะเวลา ๓๐ วัน นับแต่วันถึงกำหนดมอบสินค้า หรือบริการ ถ้าผู้บริโภคพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้รับสินค้า หรือบริการ หรือได้รับแต่ไม่ตรงตามกำหนด ไม่ครบถ้วน ชำรุดบกพร่องดาวน์โหลดตัวอย่างจดหมายบอกเลิกสัญญา คลิก!ข้อมูลนี้เป็นกรณีตัวอย่างจากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้เขียนมีความตั้งใจกระตุ้นเตือนและให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสิทธิของตนที่พึ่งทำได้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามก่อนการตัดสินใจซื้อบริการใดๆ ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจซื้อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 เรื่องที่คนอยู่คอนโดต้องรู้ “ปัญหาจากการบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุด”

ที่อยู่อาศัยแบบอาคารชุด ที่เรียกกันติดปากว่า “คอนโดมิเนียม” มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็วโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ทั่วประเทศไม่เฉพาะแต่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งหลักการเลือกซื้อคอนโดของหลายๆ คนประกอบกันด้วยหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของราคา ความสะดวกสบายเรื่องการเดินทาง และความน่าเชื่อถือของบริษัทเจ้าของโครงการ แต่ก็มีผู้ซื้อคอนโดจำนวนไม่น้อยที่มองข้ามเรื่องของการจัดการในของ “นิติบุคคลอาคารชุด” ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากและเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของผู้ซื้อคอนโดโดยตรงหลังจากที่เราได้ย้ายเขาไปอยู่อาศัย เพราะถือเป็นหน่วยที่จะคอยทำหน้าที่ดูแลความจัดการความสะดวกเรียบร้อยต่างๆ ของโครงการที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย น้ำ-ไฟ ทรัพย์สินส่วนกลางต่างๆ เช่น ที่จอดรถ สวนหย่อม สระว่ายน้ำ ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีข่าวที่เกี่ยวกับผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดได้รับความเสียหายจากอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็น สภาพห้องหรือสาธารณูปโภคส่วนกลางไม่ตรงตามที่มีการโฆษณาไว้ หรือไม่มีการดูแลจากนิติบุคคลอาคารชุด รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับการฉ้อโกงค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของร่วมหรือผู้อาศัยภายในคอนโดทุกยูนิตต้องจ่ายตามข้อตกลงคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้ทำการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งผู้ที่อยู่อาศัยและผู้ที่กำลังคิดจะซื้อคอนโดหลายคนมองข้าม ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก และเป็นเรื่องที่มีกฏหมายกำหนดไว้ชัดเจน คือ พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2555 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551ผลการศึกษาปัญหาจากการบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุดผู้อยู่ตอบแบบสอบถาม ราว 1 ใน 3 ไม่มีความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับ “นิติบุคคลอาคารชุด” ทั้งในส่วนของที่มา บทบาทหน้าที่ หรือการแต่งตั้งและถอดถอน ตลอดจนเรื่องสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วม(สิทธิของคนคอนโด) เช่น การจ่ายค่าส่วนกลางให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดนั้น แม้จะไม่ได้พักอาศัยเอง หรือ ไม่ทราบว่า ถ้าค้างชำระเงินค่าส่วนกลางตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป  จะต้องเสียเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี ฯลฯ  ในส่วนของที่มา ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 21.2 ไม่ทราบว่า “ใคร” คือ ผู้ทำหน้าที่บริหารงานนิติบุคคลอาคารชุด ร้อยละ  31.6 ไม่ทราบว่า เมื่อจดทะเบียนอาคารชุดแล้ว ต้องมีการจัดประชุมใหญ่เจ้าของร่วมภายใน 6 เดือน เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดและให้ความเห็นชอบข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดที่ได้จดทะเบียนไว้  ร้อยละ 27.2 ไม่ทราบว่า ผู้จัดการนิติบุคคล ต้องได้รับการแต่งตั้งหรือถอดถอนโดยมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม  และต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติ ร้อยละ 37.6 ไม่ทราบว่า ในการประชุมใหญ่นั้นเจ้าของร่วมมีสิทธิเสนอแก้ไขข้อบังคับ ถอดถอนและแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้  บทบาทหน้าที่ของนิติบุคคลฯ ร้อยละ  39.6 ไม่ทราบว่านิติบุคคลมีหน้าที่ต้องจัดเก็บสำเนาโฆษณาขายห้องชุดในอาคารชุด หรือหนังสือชักชวนที่นำออกโฆษณาแก่บุคคลทั่วไปไว้ในสถานที่ทำการ ร้อยละ 29.8ไม่ทราบว่า นิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง ตามกฎหมาย ร้อยละ  20.4 ไม่ทราบว่า ผู้จัดการนิติบุคคล มีหน้าที่จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำเดือน และติดประกาศให้เจ้าของร่วมทราบภายใน 15 วันนับแต่สิ้นเดือน และต้องประกาศต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ร้อยละ  37.4 ไม่ทราบว่า กรรมการนิติบุคคลมีหน้าที่จัดประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกหกเดือน ความรู้เกี่ยวกับเรื่องหน้าที่ของเจ้าของร่วม(คนคอนโด) ร้อยละ 32.2 ทราบว่า มีปัญหาในการอยู่อาศัยในอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียม  ร้อยละ 30.8 ไม่ทราบว่า “ข้อความหรือภาพโฆษณาหรือหนังสือชักชวน” เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายห้องชุด  ร้อยละ 33.8 ไม่ทราบว่า ตนเอง มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าส่วนกลางให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดนั้น แม้จะไม่ได้พักอาศัย หากไม่ชำระเงินค่าส่วนกลางเมื่อนิติบุคคลทวงถามในเวลาที่กำหนด  จะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี   ร้อยละ 37.2 ไม่ทราบว่า ถ้าค้างชำระเงินค่าส่วนกลางตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป  จะต้องเสียเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี  และอาจถูกระงับการให้บริการส่วนรวมหรือการใช้ทรัพย์ส่วนกลางตามที่กำหนดในข้อบังคับ  รวมทั้งไม่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมใหญ่ นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 4  ไม่ได้รับข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดเมื่อซื้อห้องชุดและเข้าอยู่อาศัย    เมื่อสอบถามว่า เห็นด้วยให้กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่จะเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้านบริหารงานนิติบุคคล ปรากฏว่า ร้อยละ 79.8 เห็นด้วย -----------------------------------------------------------------------------วิธีการเก็บตัวอย่าง การเก็บข้อมูลภาคสนามครั้งนี้ใช้แบบสอบถาม กับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเจ้าของร่วมที่ซื้ออาคารชุด จำนวน 500 คนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 พื้นที่ในการเก็บข้อมูลได้แก่ อาคารชุดในย่านพระรามสาม เพชรเกษม สุขุมวิท รัชดา และสาธร  โดยแบ่งกลุ่มตามมูลค่าของอาคารชุด ดังนี้ อาคารชุดราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท จำนวน 150 คน อาคารชุดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จำนวน 150 คน อาคารชุดราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท จำนวน 150 คน และอาคารชุดราคา  5  ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 50 คน โดย ร้อยละ 48.2 ของผู้ตอบแบบสอบถามซื้ออาคารชุดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ร้อยละ 27.6 ซื้อเพื่อขายต่อเก็งกำไร และร้อยละ 24.2  ซื้อไว้เพื่อให้เช่า ข้อเสนอแนะจากงานวิจัย1. ควรกำหนดให้คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการนิติบุคคล ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นการเฉพาะ โดยแก้ไขมาตรา 35/1 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 กำหนดคุณสมบัติที่สำคัญของผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด โดยต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้านบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุด   แม้ตามกฎหมายปัจจุบันได้กำหนดคุณสมบัติของผู้จัดการนิติบุคคลเอาไว้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการบริหารจัดการนิติบุคคลเป็นการเฉพาะ ทำให้พบปัญหาเรื่องของการแต่งตั้งเครือญาติ(บริษัทเจ้าของโครงการ) เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งถือเป็นปัญหาเรื่องความโปร่งใส อย่างไรก็ตามการแก้ไขข้อกฎหมายนี้ต้องไม่เป็นเงื่อนไขในการเพิ่มค่าใช้จ่ายของเจ้าของร่วม  รวมถึงมีข้อกำหนดห้ามไม่ให้ผู้มีส่วนได้เสียในบริษัทเจ้าของโครงการมาเป็นผู้จัดการนิติบุคคล2. กรณีความไม่ปลอดภัยของทรัพย์ส่วนกลาง ที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์ส่วนบุคคล ในการรับผิดชอบความเสียหาย ควรร่วมกันทั้งฝ่ายเจ้าของและฝ่ายนิติบุคคลอาหารชุด  ปัญหานี้สืบเนื่องจากกรณีเจ้าของร่วมอาคารชุดรายหนึ่งแพ้คดีความในชั้นศาลกรณีรถยนต์หายไปจากลานจอดรถของอาคารชุด แล้วไม่สามารถเรียกร้องให้นิติบุคคลอาคารชุดรับผิดชอบ หรือชดเชยค่าเสียหายได้ เนื่องจากศาลพิจารณาว่าหน้าที่ของนิติบุคคลคือการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางเท่านั้น ส่วนรถยนต์คือ ทรัพย์ส่วนตัว อย่างไรก็ตามปัญหานี้เกิดจากสาเหตุ เรื่องที่จอดรถไม่เพียงพอ ไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกร้องเรียนต่อคณะกรรมการองค์การอิสระฯ เป็นอันดับต้นๆ ดังนั้นเพื่อให้มีมาตรการดูแลทรัพย์ส่วนกลางให้มีคุณภาพมาตรฐาน การรับผิดชอบความเสียหาย ควรร่วมกันทั้งฝ่ายเจ้าของและฝ่ายนิติบุคคลอาหารชุด  3. กรณีที่มีคำสั่งปัญหาความไม่เข้าใจกฎหมาย ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการประชาสัมพันธ์ที่สามารถเข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุด รู้สิทธิ เข้าใจบทบาทในการเป็นเจ้าของร่วม การรวมตัวเพื่อใช้สิทธิ และมีส่วนร่วมในการเข้าประชุมเสนอแนะ และคัดเลือกกรรมการมากขึ้น โดยเฉพาะการรับรู้ข้อกฎหมายเรื่องการจ่ายค่าส่วนกลาง ค่าปรับ และการเสียสิทธิกรณีไม่จ่ายค่าส่วนกลางติดต่อกัน เนื่องจากพบว่ามีเจ้าของร่วมไม่รู้ข้อกฎหมายดังกล่าวเกือบครึ่งหนึ่งของเจ้าของร่วม พร้อมกันนี้ มีข้อเสนอให้กรมที่ดิน จัดทำคู่มือการอยู่อาศัยในอาคารชุด โดยมีรายละเอียดอธิบายสิทธิหน้าที่ของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด หน้าที่ของนิติบุคคล ทั้งการจัดการประชุม การเลือกกรรมการ การชี้แจงหลักเกณฑ์ การเปิดเผยข้อมูลรายรับรายจ่าย รวมถึงกฎหมายกำหนดหน้าที่ของลูกบ้าน เช่น กำหนดจ่ายค่าส่วนกลาง หรือการจ่ายค่าปรับกรณีไม่จ่ายค่าส่วนกลาง การใช้เอกสารโฆษณา เอกสารแนะนำการขายสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โดยคู่มือดังกล่าวต้องมอบแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และเมื่อมีการเปิดขายห้องชุดต้องส่งมอบคู่มือดังกล่าวแก่ผู้บริโภคทุกรายด้วยข้อสรุปปัญหาจากการบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุดและผลในทางกฎหมาย1.ปัญหาหน้าที่ในการจัดประชุมใหญ่สิ่งที่กฎหมายกำหนดผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่ต่อการประชุม ดังนี้-จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการและพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อบังคับ และผู้จัดการที่จดทะเบียนตามที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดไว้แล้ว หากไม่ทำต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท-นำมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติ หากไม่ทำต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท-นำมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมเรื่องแต่งตั้งกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติ หากไม่ทำต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท-นำมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมเรื่องแต่งตั้งกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติ หากไม่ทำต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท2.ปัญหาเรื่องการเงินสิ่งที่กฎหมายกำหนดกฎหมายกำหนดให้ผู้จัดการต้องจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำเดือนภายใน 15 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนและปิดประกาศให้เจ้าของร่วมทราบต่อเนื่องเป็นเวลา 15 วัน หากไม่ดำเนินการมีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 500 บาท3.ปัญหาหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปสิ่งที่กฎหมายกำหนดผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่เป็นตัวแทนของนิติบุคคลอาคารชุดในการจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง ดูแลให้เจ้าของร่วมให้ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด จัดให้มีการดูแลความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยภายในอาคารชุด และต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานนิติบุคคลอาคารชุดตามที่กำหนดในข้อบังคับเข้าใจเรื่อง การทำงานของนิติบุคคลอาคารชุด4 องค์ประกอบหลัก คือ1.นิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลอาคารชุด ส่วนใหญ่แล้ว ก็คือกลุ่มคนที่บริษัทเจ้าของโครงการ “ว่าจ้าง” เข้ามาเพื่อจัดการดูแลทรัพย์สินส่วนกลางต่างๆ ของอาคารชุด หรือ คอนโด ซึ่งคอนโด สามารถแยกการถือกรรมสิทธิ์ออกเป็นส่วนๆ ได้ โดยประกอบด้วย 2 ส่วน คือ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคล และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง ซึ่งนิติบุคคลอาคารชุดจะมีหน้าที่ดูแลและจัดการในทรัพย์ส่วนกลางเท่านั้น กฎหมายกำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง เช่น1.ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด ได้แก่ ที่ดินที่ปลูกสร้างอาคารชุดนั้น รวมถึงบริเวณติดต่อกันด้วย เช่น ที่ดินที่มีสนามหญ้า หรือมีที่ปลูกต้นไม้อยู่ในบริเวณเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นที่ดินที่ตั้งอาคารชุดนั่นเอง2.ที่ดินที่มีไว้เพื่อใช้หรือประโยชน์ร่วมกัน เช่น ที่ดินที่เป็นลานจอดรถร่วมกันหรือที่ดินที่จัดไว้เป็นสวนไม้ดอกเพื่อความสวยงามของอาคารชุดนั้น3.โครงสร้าง และสิ่งก่อสร้างเพื่อความมั่นคง และเพื่อป้องกันความเสียหายต่อตัวอาคารชุด ได้แก่ เสา เสาเข็ม หลังคา ดาดฟ้า ฝาผนังด้านนอกโดยรอบ เป็นต้น4.อาคารหรือส่วนของอาคาร และเครื่องอุปกรณ์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น อาคารที่เป็นโรงเก็บรถร่วมกัน ระเบียงราวลูกกรง บันได ทางเดินระหว่างห้องชุด เป็นต้น5.เครื่องมือและเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น เครื่องตัดหญ้า เครื่องสูบน้ำ เครื่องดูดฝุ่น6.สถานที่ที่มีไว้เพื่อบริการส่วนรวมแก่อาคารชุด เช่น สระว่ายน้ำ สนามกีฬา สนามเด็กเล่น เป็นต้น7.ทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น ลิฟท์ ถังขยะ เป็นต้น2.ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด กฎหมายกำหนดไว้ว่านิติบุคคลอาคารชุด ต้องมีผู้จัดการ 1 คน จะเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นนิติบุคคลเป็นผู้จัดการก็ต้องแต่งตั้งตัวแทนหนึ่งคนเข้ามาดำเนินการทำหน้าที่ในฐานะผู้จัดการแทนนิติบุคคลอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด1.จัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และมีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมติของเจ้าของร่วม2.ในกรณีจำเป็นและรีบด่วน ให้ผู้จัดการมีอำนาจโดยความริเริ่มของตนเองสั่งหรือกระทำการใดๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยของอาคาร3.จัดให้มีการดูแลความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยภายในอาคารชุด4.เป็นผู้แทนของนิติบุคคลอาคารชุด5.จัดให้มีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำเดือน และติดประกาศให้เจ้าของร่วมทราบภายใน 15 วันนับแต่วันสิ้นเดือนและต้องติดประกาศเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วันต่อเนื่องกัน6.ฟ้องบังคับชำระหนี้จากเจ้าของร่วมที่ค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ตามข้อปฏิบัติของอาคารชุด เกิน 6 เดือนขึ้นไป3.คณะกรรมการอาคารชุด กฎหมายกำหนดให้ทุกอาคารชุดต้องจัดให้มีคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด ประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่า 3 คนแต่ไม่เกิน 9 คน การแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการต้องนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติแต่งตั้งใครบ้างมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการอาคารชุด1.เจ้าของร่วมหรือคู่สมรสของเจ้าของร่วม2.ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ในกรณีที่เจ้าของร่วมเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ แล้วแต่กรณี3.ตัวแทนของนิติบุคคลจำนวนหนึ่งคน ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วมในกรณีที่ห้องชุดใดมีผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของร่วมหลายคนให้มีสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการจำนวนหนึ่งคนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอาคารชุด 1.ควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด2.แต่งตั้งกรรมการคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ ในกรณีที่ไม่มีผู้จัดการหรือผู้จัดการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามปกติได้เกิน 7 วัน3.จัดประชุมคณะกรรมการหนึ่งครั้งในทุก 6 เดือนเป็นอย่างน้อยโดยกรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี แต่จะดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระติดต่อกันไม่ได้ เว้นแต่ไม่อาจหาบุคคลอื่นมาดำรงตำแหน่งได้4.เจ้าของร่วมเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องแรก ผู้ซื้อห้องของอาคารชุดก็ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของร่วมทันที โดยจะมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนบุคคล และมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลางของโครงการที่อาศัยอำนาจหน้าที่ของเจ้าของร่วม 1.มีสิทธิ์เข้าประชุมทั้งสามัญและวิสามัญเพื่อให้องค์ประชุมครบ 1/4 ของเจ้าของร่วมทั้งหมด และดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ต่อไปได้2.มีสิทธิ์สมัครเป็นคณะกรรมการอาคารชุด3.มีสิทธิ์โหวต ออกความคิดเห็น คัดค้าน ตามอัตราส่วนสิทธิ์ของตัวเองในเรื่องต่างๆ ของที่ประชุม 

อ่านเพิ่มเติม >