ฉบับที่ 226 ‘ค่ารถไฟฟ้าแพง’ เรื่องเล่าจากพนักงานออฟฟิศสู่ระบบขนส่งมวลชนที่รอวันปฏิรูป

                ถ้าคุณต้องเดินทางไปทำงาน ไป-กลับ ด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิทตั้งแต่สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จนถึงสถานีเคหะฯ คุณต้องชำระเงินค่าบัตรโดยสารรวม 118 บาท         ถ้าคุณต้องเดินทางไปทำงาน ไป-กลับ ด้วยรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีตั้งแต่สถานีคลองบางไผ่จนถึงสถานีหลักสอง คุณต้องชำระเงินค่าบัตรโดยสารรวม 140 บาท         เมื่อคิดจากค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ 331 บาทซึ่งเริ่มใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 หมายความว่าค่าเดินทางของคุณจะเท่ากับประมาณ 1 ใน 3 ของค่าแรงต่อวัน         แน่นอน นี่เป็นอัตราส่วนที่สูงมากจนน่าตกใจ         ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงไปหรือเปล่า? เป็นคำถามที่ดังกึกก้องมากเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ คำถามนี้ยังคงดังอยู่และเป็นไปได้ว่าจะดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโครงการรถไฟฟ้าเริ่มเปิดดำเนินงานเพิ่มมากขึ้น วันที่เครือข่ายรถไฟฟ้าทุกสายเปิดให้บริการ ค่าโดยสารจากสถานีปลายทางหนึ่งไปยังอีกปลายทางหนึ่งจะสูงขึ้นถึงเพียงไหน         ระบบขนส่งมวลชนจะกลายเป็นระบบของคนจำนวนหนึ่งที่มีกำลังซื้อมากพอเท่านั้นหรือเปล่า? ว่าด้วยการเดินทางของพนักงานออฟฟิศคนหนึ่ง         เรามาสำรวจการเดินทางมาทำงานของพนักงานออฟฟิศคนหนึ่ง วิภาพร ฟักอินทร์ ว่าจากบ้านถึงที่ทำงานและจากที่ทำงานถึงบ้าน เธอต้องไปจ่ายไปเท่าไหร่         วิภาพร เล่าว่า เธอนั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสจากสถานีเคหะถึงสถานีสำโรง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการคิดค่ารถในส่วนนี้ แต่จากสถานีสำโรงมาสถานีอ่อนนุชเธอต้องจ่ายเงินสดซื้อบัตรโดยสาร 15 บาท เนื่องจากเป็นส่วนต่อขยายที่ไม่ถูกนับรวมอยู่ในบัตร 25 เที่ยวต่อเดือน ราคา 725 บาทที่เธอใช้อยู่ เมื่อตีเป็นตัวเงิน การเดินทางจากสถานีอ่อนนุชถึงสถานีอโศกจึงเท่ากับ 29 บาทต่อเที่ยว หมายความว่าค่าโดยสารจากสถานีเคหะถึงสถานีอโศกเท่ากับ 44 บาท         ที่ทำงานของวิภาพรอยู่ห้วยขวาง เธอต้องนั่งรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีจากสถานีสุขุมวิทมาลงสถานีห้วยขวางอีก 23 บาท เธอบอกว่าบัตรเติมเงินของเอ็มอาร์ทีไม่มีการลดค่าโดยสาร คิดเต็มราคา เฉพาะค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินของเธอต่อเที่ยวเท่ากับ 67 บาท เมื่อรวมไปและกลับเท่ากับ 134 บาท         แต่ไม่ใช่แค่นั้น วิภาพรแจงรายละเอียดอีกว่า เธอต้องนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างจากหน้าโรงเรียนของลูกไปรถไฟฟ้าบีทีเอส 10 บาท และขากลับจากรถไฟฟ้าบีทีเอสกลับบ้านอีก 40 บาท รวมส่วนนี้เข้าไปด้วย ค่าเดินทางไป-กลับระหว่างบ้านและที่ทำงานของเธอจะเท่ากับ 184 บาทต่อวัน         ตีคร่าวๆ ว่า 1 เดือน มี 30 วัน หักวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ออก 8 วัน เหลือวันทำงาน 22 วัน วิภาพรจะมีค่าเดินทางต่อเดือน 4,048 บาท เมื่อถามว่าคิดเป็นอัตราส่วนเท่าไหร่ของเงินเดือน เธอตอบว่าประมาณร้อยละ 13 ดูตัวเลขนี้อาจให้ความรู้สึกว่าไม่มากเมื่อเทียบกับรายได้ แต่เธอบอกว่าในอดีตที่เธอยังเงินเดือนไม่มากนัก เธอก็ต้องจ่ายค่าเดินทาง 4,048 บาทเช่นกัน เธอบอกว่าจ่ายได้เพื่อแลกกับเวลาในการเดินทาง แต่         “เราว่ามันแพงไปและไม่สะดวกในเรื่องที่คิดอัตราค่าโดยสารแบบเที่ยวแล้วยังมาตัดเงินสดอีก เทียบกับค่ารถเมล์มันแพงมาก สำหรับเราค่าโดยสารพอจ่ายได้ แต่ควรทำให้มันไม่เสียบ่อยและมาบ่อยๆ ไม่ใช่อัดแน่นมากช่วงเร่งด่วน         “แล้วบัตรเดียวควรใช้ได้ทั้งบีทีเอสและเอ็มอาร์ที เพราะเราชอบหยิบบัตรผิด แต่เอ็มอาร์ทีไม่มีส่วนลดนะ ไม่มีแบบเที่ยว ตัดเงินอย่างเดียว อยากให้จัดการให้ระบบมันลิงค์กัน ควบคุมราคาค่าโดยสารโดยให้คนที่ฐานเงินเดือนแบบจบใหม่มีเงินเหลือไปทำอย่างอื่น และควบคุมคุณภาพ แต่ถ้าถูกได้กว่านี้เราก็ชอบ”        วิภาพรบอกว่า ปัจจุบันเธอไม่ขึ้นรถเมล์แล้วเพราะรถติด แต่ถ้ามีทางเฉพาะให้รถเมล์วิ่งและปรับปรุงคุณภาพรถเมล์ เธอก็เห็นว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ค่าโดยสารรถไฟแพง หรือค่าแรงเราต่ำ หรือทั้งสองอย่าง?         คราวนี้ ลองเปรียบเทียบค่าโดยสารรถไฟฟ้ากับค่าแรงขั้นต่ำของไทยที่ 300 บาทกับประเทศอื่นๆ ที่ทีดีอาร์ไอทำออกมาจะช่วยให้เห็นภาพมากขึ้น บอกก่อนว่าค่าแรงขั้นต่ำในที่นี้ถูกคิดเป็น ‘ชั่วโมง’ ไม่ใช่ ‘รายวัน’        ค่าแรงขั้นต่ำของไทย 37.50 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 16-70 บาท        ค่าแรงขั้นต่ำของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ 221 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 37-96 บาท        ค่าแรงขั้นต่ำของสิงคโปร์ 250 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 17-60 บาท        ค่าแรงขั้นต่ำของนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐฯ 250 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 91 บาทตลอดสาย        ค่าแรงขั้นต่ำของกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 279 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 39-913 บาท        ค่าแรงขั้นต่ำของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 331 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 119-253 บาท        ค่าแรงขั้นต่ำของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส 370 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 71 บาทตลอดสาย         ค่าแรงขั้นต่ำของออสเตรเลีย 457 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 85-256 บาท         จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเจนว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำรายชั่วโมงถือว่าสูงมาก         และเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนค่าใช้จ่ายระบบขนส่งสาธารณะรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังพบว่า เมื่อวัดตามอำนาจดัชนีการซื้อ ค่ารถไฟฟ้ามีราคาค่อนข้างสูงเฉลี่ย 28.30 บาท/คน/เที่ยว ขณะที่สิงคโปร์เฉลี่ยอยู่ที่ 13.3 บาท/คน/เที่ยว เรียกว่าของไทยสูงกว่าสิงคโปร์ถึงร้อยละ 50 ส่วนฮ่องกงอยู่ที่ 16.78 บาท/คน/เที่ยว นอกจากนี้ ค่าโดยสารระบบรางของไทยยังสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ทั้งยังมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถเมล์สูงที่สุด ของไทยอยู่ที่ 67.4 บาท ส่วนสิงคโปร์อยู่ที่ 25.73 บาท และฮ่องกงอยู่ที่ 46.5 บาททำไมค่าโดยสารรถไฟฟ้าถึงแพง                 น่าจะเป็นคำถามคาใจที่สุดของใครหลายๆ คน ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ จากทีดีอาร์ไอ คือผู้ที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุด         ดร.สุเมธอธิบายว่า สาเหตุหลักมาจากเรื่องรูปแบบของการลงทุน เนื่องจากรัฐมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ดังนั้นโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมดจึงต้องอาศัยเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งรูปแบบการลงทุนรถไฟฟ้าแต่ละเส้นทางก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป รถไฟฟ้าสายแรกของบีทีเอสเป็นรูปแบบที่รัฐให้ใช้ที่ดินฟรีเพียงอย่างเดียว แต่โครงสร้างพื้นฐานและระบบรถไฟฟ้าทั้งหมดเอกชนเป็นผู้ลงทุน ทำให้มีความจำเป็นต้องเก็บค่าโดยสารให้สอดคล้องกับต้นทุนและสามารถคืนทุนได้         “พอเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าต่อๆ มา รัฐก็เริ่มเห็นข้อจำกัดว่าถ้าปล่อยให้เอกชนลงทุนเพียงฝ่ายเดียว โดยที่รัฐช่วยเหลือน้อย ค่าโดยสารก็คงถีบตัวสูงกว่านี้หรืออาจจะไม่มีเอกชนมาร่วมลงทุนเลย รัฐก็เลยมีการเปิดรูปแบบอื่นๆ ในเส้นทางอื่นๆ เช่น รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เอกชนมาเดินรถ แต่ทีนี้จะเริ่มเห็นว่าทั้งหมดทั้งปวงรัฐก็ยังมีความจำเป็นให้เอกชนเข้ามาดำเนินงานและร่วมลงทุนค่อนข้างเยอะ เมื่อร่วมลงทุนค่อนข้างเยอะ ทำให้อัตราค่าโดยสารต้องสะท้อนต้นทุนก็เลยมีอัตราค่าโดยสารค่อนข้างสูง”        ขณะที่รูปแบบการลงทุนในต่างประเทศมีความแตกต่างออกไป ดร.สุเมธยกตัวอย่างสิงคโปร์ที่เริ่มสร้างรถไฟฟ้าก่อนไทยเพียงไม่กี่ปี โดยรัฐบาลสิงคโปร์เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แล้วให้เอกชนเข้ามาดำเนินงานเดินรถเพียงอย่างเดียว วิธีการนี้ทำให้ภาครัฐของสิงคโปร์ต้องแบกรับต้นทุนค่อนข้างสูง แต่ก็สะท้อนออกมาในค่าโดยสารที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเอกชนของสิงคโปร์ที่เข้ามาเดินรถไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เอกชนเพียงแค่เดินรถ จ่ายค่าดำเนินงาน ค่าบุคลากร ค่าไฟ ค่าบำรุงรักษา และคิดค่าโดยสารเฉพาะส่วนที่เป็นการเดินรถ จะเห็นได้ว่าการกำหนดรูปแบบการลงทุนและการสนับสนุนจากรัฐจะส่งผลต่อค่าโดยสารอย่างมีนัยสำคัญ         ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งคือรัฐไม่มีมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะมาตรการเชิงบังคับจำกัดรถยนต์วิ่งเข้าเมืองอย่างการจัดเก็บค่าเข้าเมืองในอัตราสูง ซึ่งในต่างประเทศ เช่น กรุงลอนดอนหรือสิงคโปร์ต่างก็ใช้มาตรการนี้ ทำให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น อย่างในลอนดอนพบว่ามีคนใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50  ความซับซ้อนของผู้โดยสาร ต้นทุน และสัญญาสัมปทาน         ดร.สุเมธอธิบายเพิ่มเติมอีกว่าในหลายกรณียิ่งปริมาณผู้โดยสารมาก อัตราค่าโดยสารอาจจะต่ำลงได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่ ผู้โดยสารครึ่งคันกับเต็มคันไม่ได้ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้นมากนัก เพราะฉะนั้นยิ่งจำนวนผู้โดยสารมากเท่าไหร่ต้นทุนเฉลี่ยต่อคนยิ่งต่ำลงเท่านั้น ในวงวิชาการจึงมีการถกเถียงกันในระดับหนึ่งว่า ค่าโดยสารถูกแล้วทำให้จำนวนผู้โดยสารมากหรือจำนวนผู้โดยสารมากทำให้ค่าโดยสารถูก         ทางฉลาดซื้อถามต่อว่า ในกรณีบีทีเอสถือว่ามีจำนวนผู้โดยสารมากหรือยัง?        “บีทีเอสถือว่าผู้โดยสารเยอะแล้ว แต่ capacity ของระบบยังเพิ่มได้อีก คือปกติ capacity มันอยู่ที่จำนวนขบวนต่อคันกับความถี่ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณคนที่สามารถบรรทุกได้ ณ ปัจจุบัน บีทีเอสวิ่งอยู่ที่ 4 ตู้ต่อ 1 ขบวน แต่ตัวโครงสร้างพื้นฐานที่ออกแบบไว้สามารถรองรับได้ถึง 6 ตู้ต่อ 1 ขบวน เพราะฉะนั้นการเพิ่มตู้เป็น 6 ตู้ต่อ 1 ขบวนจะเพิ่ม capacity ของระบบได้         “ประเด็นที่ 2 คือถ้าต้องการวิ่งถี่ ตอนนี้ที่เขาทำได้คือ 2 นาทีหรือ 1 นาทีกว่าๆ ยิ่งวิ่งถี่ก็ยิ่งขนคนได้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ตอนนี้บีทีเอสน่าจะเข้าใกล้จุดที่ถี่มากที่สุดแล้ว ถี่มากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นทางเลือกก็น่าจะเป็นการขยายขบวน ซึ่งทางบีทีเอสก็มีการดำเนินการมาอยู่เป็นระยะๆ เช่น เริ่มต้นเป็น 3 ตู้ต่อ 1 หนึ่งขบวน แต่ห้าถึงสิบปีที่แล้วขบวนใหม่ที่สั่งเข้ามาเปลี่ยนเป็น 4 ตู้ต่อ 1 ขบวน และอีกเจ็ดแปดปีจากนี้ที่มีส่วนต่อขยายแล้ว เขาก็จะสั่ง 6 ตู้ต่อ 1 ขบวนเข้ามาเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น”         แต่เมื่อผู้โดยสารเพิ่มจำนวนขึ้นแล้วเหตุใดค่าโดยสารจึงยังสูงอยู่ ดร.สุเมธตอบว่าการเพิ่มขึ้นของความจุจะส่งผลต่อต้นทุนด้วย วิ่งถี่ขึ้น ค่าซ่อมบำรุงอาจจะขึ้นบ้างแต่ไม่ได้มาก ถ้าวิ่งถี่ขึ้นและรับผู้โดยสารได้เต็มที่ต้นทุนต่อคนก็อาจจะถูกลง แต่พอคนมากขึ้นต้องเพิ่มตู้ เพิ่มขบวน ตรงนี้จะเริ่มมีการลงทุน คำถามต่อมาคือถ้าลงทุนซื้อตู้ ณ วันนี้ สัญญาสัมปทานของบีทีเอสเหลือเพียง 10 ปี อีกทั้งสัญญาสัมปทานระบุชัดเจนว่าเมื่อหมดสัญญาสัมปทานทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ เพราะฉะนั้นการซื้อตู้ในช่วงนี้ เพิ่มผู้โดยสารได้ แต่ใช้ได้แค่ 10 ปี ซึ่งอาจจะไม่คุ้มทุน จึงไม่มีแรงจูงใจให้เอกชนขยาย capacity เมื่อภาครัฐขยับตัว         ภายหลังที่ผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอออกมา ทางกรมขนส่งทางรางก็ได้เตรียมเสนอ 7 มาตรการให้กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลใหม่ (ตอนนั้นยังไม่มีการตั้งรัฐบาล) พิจารณา ประกอบด้วยเปลี่ยนรูปแบบสัญญาสัมปทานจาก PPP net cost เป็น PPP gross cost (PPP gross cost หมายความว่ารัฐเป็นผู้จ้างเอกชนเดินรถ โดยรัฐจะแบกภาระความเสี่ยงไว้เองด้วยการนำรายได้จากเส้นทางที่มีกำไรมาชดเชยให้กับเส้นที่ขาดทุน) กำหนดกรอบราคาขั้นสูงของระบบ กำหนดเงื่อนไขการเชื่อมต่อเพื่อให้ค่าโดยสารไม่สูงเกินไป จัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงาน ด้านเศรษฐกิจและด้านคมนาคมทำหน้าที่หลักในการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าบริการ ยกเว้นเก็บค่าแรกเข้ากรณีเดินทางข้ามระบบโดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเปิด มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และอุดหนุนค่าใช้จ่ายการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า         อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน สราวุธ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวกับสื่อว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม. มีมติลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีม่วงจาก 12-42 บาท เป็น 14-20 บาท หรือไม่เกิน 20 บาทตลอดสายในทุกช่วงเวลา รวมระยะเวลาลดค่าครองชีพประชาชน 3 เดือน คาดว่าจะช่วยลดค่าครองชีพประชาชนจากการโดยสารรถไฟฟ้าเป็นมูลค่า 38.7 ล้านบาทต่อเดือน         ดร.สุเมธ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ปัญหาใหญ่ของไทยคือรายได้เฉลี่ยของคนในเมืองค่อนข้างต่ำ ถ้าค่าโดยสารราคาสูงจะยิ่งส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงตลาดงาน เมื่อทำการแบ่งแต่ละกลุ่มรายได้แล้วดูค่าเฉลี่ยพบกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกลุ่มที่ 1 2 3 และ 4 จากข้างล่าง ค่าเฉลี่ยการเดินทางต่อวันจะอยู่ไม่เกิน 40-50 บาท เมื่อเทียบต่อวันต่อเที่ยว คนกลุ่มนี้จะเดินทางต่อเที่ยวได้ไม่เกิน 25 หรือ 28 บาท ซึ่งหมายถึงขึ้นรถไฟฟ้าได้ แต่ไม่สามารถขึ้นสุดสาย 40 กว่าบาทได้         “ถ้าต่อไปรถไฟฟ้าที่ต่อหลายสายขึ้นเป็นประมาณ 70-100 บาท ถ้าคุณต่อหลายสาย คนกลุ่มรายได้นี้อาจจะไม่สามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้ทุกวัน นั่นหมายถึงว่าเขาอาจไม่มีงานประจำที่อยู่ในเมืองหรือมีการเดินทางจากชานเมืองเข้ามาในเมืองด้วยรถไฟฟ้าได้ แล้วเขาอาจต้องหารูปแบบการเดินทางแบบอื่นที่มีความสะดวกสบายน้อยกว่า” ระบบขนส่งมวลชนไม่ได้มีแค่รถไฟฟ้า ต้องมองทั้งระบบ         ในส่วนมาตรการ 7 ข้อข้างต้น ดร.สุเมธ เห็นว่าน่าจะช่วยลดค่าเดินทางได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สุด ถามว่าถ้าต้องทำให้สุดควรเป็นอย่างไร?         “ถ้าเอาแนวของสิงคโปร์ มีจังหวะหนึ่งเขาซื้อคืนรถไฟฟ้ากลับมาหมดเลย เขาคล้ายๆ ของไทยในช่วงแรกคือให้เอกชนลงทุน แล้วก็มีสินทรัพย์ มีโครงสร้างพื้นฐาน เอกชนเดินรถ มีจุดหนึ่งที่เขาไหวตัวทัน เป็นจุดที่รถไฟฟ้ายังไม่เยอะสายมาก เขาซื้อคืนกลับมาหมดเลยให้เป็นของรัฐ แต่มันต้องใช้เงินเยอะ ซึ่งเราคงไม่สามารถทำได้”         สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งต้องไม่ดึงออกจากสมการคือรถเมล์         “ถ้าเราส่งเสริมรถเมล์ได้ อย่างสิงคโปร์ที่ค่อนข้างชัดที่ทำให้รถเมล์กับรถไฟฟ้ามีค่าโดยสารที่เชื่อมต่อกัน และอาจจะสร้างแรงจูงใจในการใช้ขนส่งมวลชน เช่น คุณใช้รถเมล์แล้วมาต่อรถไฟฟ้าคุณจะได้ส่วนลดเพิ่มเติม ซึ่งของเราคงไปถึงจุดนั้นยาก เพราะรถเมล์เรายังไม่พัฒนา แต่หวังว่าอีกสองสามปีข้างหน้า รถเมล์เริ่มปฏิรูปแล้ว มีสายใหม่ มีเอกชนเข้ามา แล้วก็จะมีเอกชนที่สามารถเชื่อมโยงกันเองได้ หมายถึงเอกชนที่เดินรถเมล์กับเอกชนที่เดินรถไฟฟ้าอาจจะมีปฏิสัมพันธ์กันในระดับหนึ่ง แล้วก็จะเริ่มทำตั๋วเชื่อมกันได้และอาจมีส่วนลดที่ช่วยกระตุ้น รถเมล์ก็จะเปลี่ยนเป็น feeder ในอนาคต น่าจะออกไปในแนวนั้นได้”         หากจะสรุปก็คงได้ประมาณว่า ใช่, ค่ารถไฟฟ้าของไทยแพงและต้องแก้ไข แต่เราจะมองแค่รถไฟฟ้าอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองระบบขนส่งมวลชนทั้งระบบ และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนไปพร้อมๆ กัน หมายเหตุ ทางนิตยสาร ‘ฉลาดซื้อ’ ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารบีทีเอสเพื่อรับฟังข้อมูล แต่ทางผู้บริหารบีทีเอสไม่สามารถจัดเวลาให้ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ผู้บริโภค เลิกกินสัตว์น้ำวัยอ่อนกันสักที

        จากการลดจำนวนลงของสัตว์ทะเลอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคาดว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือการทำประมงอย่างไม่ยั่งยืน หมายความว่า มีการจับสัตว์น้ำด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นมิตรกับท้องทะเล ทั้งการทำประมงแบบอวนลากคู่ อวนลากแผ่น ตะเฆ่ อวนล้อมปั่นไฟกลางคืน โดยเฉพาะการใช้ “อวนลาก” ที่จับสัตว์น้ำโดยไม่เลือกชนิด ไม่เลือกขนาด และยังทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำไปด้วย         เราได้ข้อมูลจาก นางสาวรภัสสา ไตรรัตน์ ซึ่งทำงานให้กับองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย (OXFAM in Thailand) ว่า จากการสืบค้นข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับการทำประมง ในโครงการศึกษาวิจัย เรื่อง“โครงการสำรวจองค์ประกอบชนิดสัตว์น้ำในปลาเป็ด จากการประมงขนาดใหญ่  (Phase I สงขลา)” ซึ่งมี ดร.ชวลิต วิทยานนท์ เป็นหัวหน้าโครงการ และมี ผศ. ดร.จารุณี เชี่ยววารีสัจจะ สถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง         มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นางสาวศิริวรรณ เจาวงศ์สวัสดิ์  นางสาวสุใบด๊ะ หมัดสะมัน นางสาวกาญจนา สังข์แก้ว เป็นคณะผู้วิจัย นั้น         การศึกษาดังกล่าวพบว่า ปัญหาการลดลงของสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย สันนิษฐานว่ามาจากการทำประมงอย่างไม่ยั่งยืน จากเครื่องมือที่ทำร้ายท้องทะเลและพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น การทำประมงอวนลาก อวนล้อมปั่นไฟกลางคืน         สำหรับ “อวนลาก” นั้นจัดว่าเป็นเครื่องมือประมงที่ “จับสัตว์น้ำโดยไม่เลือกชนิด เลือกขนาด” ทำให้ในจำนวนสัตว์น้ำที่ติดมากับอวนลาก มีทั้งสัตว์ที่เป็นอาหาร และสัตว์ที่ไม่ใช่อาหารของมนุษย์ ซึ่งรวมไปถึงตัวอ่อนของสัตว์ที่ยังไม่เหมาะจะนำมาบริโภคเป็นอาหาร เพราะมีขนาดเล็ก ซึ่งค่อนข้างอ่อนแอ ทำให้สัตว์เหล่านี้ตายง่าย และเน่าเสียได้ง่าย ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด หากนำไปขายก็จะได้ราคาต่ำ หรือเรียกสัตว์น้ำกลุ่มนี้อีกอย่างว่า “สัตว์น้ำพลอย (ถูก)จับ” หรือ “by-catch”         ในอดีตยามชาวประมงจับสัตว์น้ำขึ้นมาแล้วจะทำการคัดแยก และทิ้งสัตว์ที่พลอยจับได้ลงทะเล หรืออาจจะนำมาทิ้งบนฝั่ง แต่ปัจจุบันพบว่ามีการนำ “สัตว์ที่พลอยถูกจับ” มาเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ เช่น นำไปเป็นอาหารเลี้ยงเป็ด จึงถูกเรียกว่า “ปลาเป็ด” และกลายเป็นที่ต้องการของตลาดอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปลาป่น เนื่องจากเป็นส่วนประกอบโปรตีนที่สำคัญในการผลิตอาหารสัตว์เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปศุสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ         แต่ไม่ว่าสัตว์น้ำเหล่านี้จะถูกโยนทิ้งลงทะเลหรือนำขึ้นมาขายในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ก็ตาม ล้วนแต่เป็นการสร้างความสูญเสีย และทำลายระบบนิเวศของแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งสิ้น เช่นเดียวกับการทำงานของอวนลากที่กวาดทำลายพื้นผิวใต้น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำเหล่านี้ไปด้วย         “ที่สำคัญคือสัตว์เศรษฐกิจตัวอ่อนที่ถูกจับมาก่อนวัยอันควรนับเป็นการสูญเสียโอกาสที่จะเติบโตเป็นปลาขนาดใหญ่ต่อไปในอนาคต จัดเป็นการทำประมงที่ไม่คุ้มค่า และไม่ยั่งยืน”         นางสาวรภัสสา อธิบายว่า จากการสำรวจชนิดสัตว์น้ำเศรษฐกิจในตลาดที่อยู่ในพื้นที่ศึกษาและบริเวณท่าเทียบเรือประมงสงขลา 2 (ท่าสะอ้าน) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 และ เดือนมกราคม พ.ศ. 2561 โดยการสุ่มตัวอย่างเรือประมงอวนลากขนาดระหว่าง 21.23 – 79.51 ตันกรอส จำนวน 9 ลำ ที่ออกทำการประมง 5-10 วัน/เที่ยว ในน่านน้ำนอกฝั่งสงขลาและนครศรีธรรมราช มีผลจับสัตว์น้ำรวมอยู่ระหว่าง 1,861 –16,711 กิโลกรัมต่อลำ พบว่าในนั้นมีปลาเป็ดอยู่ในช่วง 6.16 – 47.56% และในจำนวนปลาเป็ดเหล่านี้พบว่าไม่น้อยกว่า 5 ชนิดเป็นสัตว์ที่ไม่นิยมรับประทาน“ส่วนที่นิยมรับประทานหรือสัตว์เศรษฐกิจพบว่ามีประมาณ 68 ชนิด ถูกนำไปแปรรูปเพื่อบริโภคกันในรูปของเนื้อปลาบด (surimi) เพื่อนำไปผลิต ลูกชิ้น หรือผลิตภัณฑ์เนื้อปลาต่างๆ”         เมื่อพิจารณาถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจ แบ่งได้ 2 กรณี คือ         กรณีที่ 1 การนำลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดที่มีขนาดใหญ่มาขายในรูปปลาเป็ด จะได้มูลค่า 13,630.72 บาท แต่หากปล่อยให้สัตว์เหล่านี้เติบโตจนได้ขนาดที่พอเหมาะและเป็นที่ต้องการของตลาดแล้วค่อยนำจับมาขาย ถ้าพิจารณาจากราคาอ้างอิงต่ำสุดและราคาสูงสุด ขององค์การสะพานปลาแล้ว จะมีมูลค่าต่ำสุดรวม 197,172.09 บาท มูลค่าสูงสุดรวม 328,617.59 บาท แต่พอมีการจับปลาเล็กปลาน้อยมาขายเป็นปลาเป็ด ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเที่ยวของการออกทำการประมงของเรือแต่ละลำ ของเรืออวนลากแผ่นตะเฆ่รวม 9 ลำ เป็นมูลค่าต่ำสุด 183,541.37 บาท และมูลค่าความสูญเสียสูงสุด 314,986.87 บาท         กรณีที่ 2 การนำสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่โตได้ขนาดตลาดแล้วมาขายในรูปปลาเป็ดจะมีมูลค่า 466.22 บาท หากนำมาขายในราคาปลาตลาดจะได้มูลค่าต่ำสุด 1,698.25 บาท มูลค่าสูงสุด 3,065.75 บาท ก่อให้เกิดความสูญเสียจากการนำสัตว์น้ำเศรษฐกิจดังกล่าวมาขายในรูปปลาเป็ดคิดเป็นมูลค่าต่ำสุด 1,232.03 บาท และมูลค่าสูงสุด 2,599.53 บาท         ความสูญเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั้ง 2 กรณี จากเรือรวม 9 ลำ ออกทำการประมง 1 เที่ยว/ลำ พบว่าเมื่อ นำลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจมาขายในรูปปลาเป็ด ซึ่งหากคิดราคาโดยอ้างอิงจากราคาของสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 5.50 บาท ดังนั้นจะได้มูลค่า 14,096.94 บาท หากปล่อยให้สัตว์น้ำเติบโตจนได้ ขนาดตลาดจะมีมูลค่าต่ำสุด 198,870.34 บาท มูลค่าสูงสุด 331,683.34 บาท ก่อให้เกิดความสูญเสียทาง เศรษฐกิจ โดยการคำนวณจากเรือรวม 9 ลำ คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียต่ำสุด 184,773.40 บาท ความสูญเสีย สูงสุด 317,586.40 บาท ต่อเที่ยวของการออกทำการประมง แล้วถ้า         หากกำหนดให้ในรอบ 1 ปี มีการออกทำการประมง 30 เที่ยว จะเกิดความสูญเสียขึ้นถึง 5,543,202.00 - 9,527,592.00 บาท ยังไม่นับรวมความสูญเสียจากการทำประมงจากเรืออวนล้อมและเรือปั่นไฟปลากะตัก ก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งของ ปลาเป็ด และพบอีกด้วยว่ามีส่วนประกอบที่เป็นปลาเศรษฐกิจวัยรุ่นมากกว่าในอวนลาก         สำหรับชนิดสัตว์น้ำที่มีการสูญเสียเนื่องจากไม่มีโอกาสได้เติบโต ได้แก่ ปลาอินทรีบั้ง ปลาทรายแดง ปลา ทรายขาว ปลาตาหวาน ปลาสาก ปลาปากขลุ่ย หมึกต่างๆ หอยเชลล์ กั้งกระดาน เป็นต้น ส่วนสัตว์น้ำชนิดที่มี ขนาดเล็กที่สูญเสียโดยตรง ได้แก่ กุ้งตาแฉะ ปลาแพะ ปลาแป้นแก้ว ปลานกขุนทองเขี้ยว เป็นต้น         อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการประมงอวนลากในน่านน้ำไทยถูกควบคุมค่อนข้างเข้มงวด โดยการบังคับใช้มาตรการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing : IUU) ของกรมประมง บังคับให้เรือประมงติดตั้งระบบ VMS (Vessel Monitoring System) ประจำเรือ ให้มีการลงทะเบียนเครื่องมือประมง และเวลาการจับ มีการจำกัดจำนวนเรือ รวมถึงมีระบบการแจ้งเข้า-ออกท่า (Port-in Port-out/PIPO)         มาตรการเหล่านี้อาจจะทำให้จำนวนและปริมาณการประมงจับปลาหน้าดินลดลงได้ในระดับหนึ่ง และแม้ภาครัฐจะมีแผนในการกำหนดมาตรการเพื่อลดสัดส่วนปลาเศรษฐกิจในปลาเป็ดให้เป็นที่ยอมรับได้ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปในทางปฏิบัติได้ว่ามีผลดีต่อปริมาณปลาในธรรมชาติจริง         ผลจากการวิจัยชิ้นนี้ ทำให้ได้บทสรุปว่าเนื่องจากในน่านน้ำไทยมีความหลากชนิดของปลามากกว่า 2,000 ชนิด และเป็นปลาเศรษฐกิจ มากกว่า 700 ชนิด การใช้แนวทางหรือมาตรการเดียวในการบริหารหรือจัดการประมง อาจไม่ช่วยลดการ สูญเสียปริมาณและความหลากชนิดได้ในภาพรวม จำเป็นต้องใช้หลายมาตรการประกอบกัน เช่น การกำหนด เขตรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ การลดหรือจำกัดการใช้เครื่องมือจับที่ทำลายล้าง ได้แก่ อวนลากคู่ อวนลากแผ่น ตะเฆ่ การงดใช้เรือปั่นไฟจับปลากะตัก และการกำหนดหรือส่งเสริมการดัดแปลงเครื่องมืออวนลากต่างๆ ให้มีการ “ถูกพลอยจับ” ให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่        สิ่งสำคัญคือ "ผู้บริโภค" ที่ต้องมีความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสัตว์น้ำตัวอ่อนที่มีผลต่อของวัฏจักรแห่งท้องน้ำอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ ตลอดจนคนรับประทานอาหาร ซึ่งที่ยังคงเชื่อว่าการการรับประทานปลาเล็ก ปลาน้อยชนิดที่กินได้ทั้งตัว จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไปเต็มๆ นั้น อาจจะต้องปรับทัศนคติกันเสียใหม่ ก่อนที่สัตว์น้ำเหล่านี้จะสูญพันธุ์         ขณะที่ นางสาวณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์  ผู้ประสานงานรณรงค์เรื่องทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซประเทศไทย กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากที่มีการประชุมโกลบอล โอชี่ยนทริป และมีงานวิจัยจากกรีนพีชที่ทำร่วมกับนักวิทยาศาสตร์หลายประเทศทั่วโลก ระบุว่าเราสามารถปกป้องพื้นที่ มหาสมุทรได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2573 โดยการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเล หรือการทำ “สนธิสัญญาทะเลหลวง” ซึ่งจะคุ้มครองเรื่องอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในทะเล เช่น การทำเหมืองแร่ในทะเล อุตสาหกรรมน้ำมัน รวมถึงเรื่องของการทำประมงแบบทำลายล้าง เป็นต้น          ระหว่างการผลักดันให้เกิดการรับรอง “สนธิสัญญาทะเลหลวง” แคมเปญที่กรีนพีซกำลังทำคู่กันไปคือการส่งเรือสำรวจพื้นที่ทะเลตั้งแต่ขั้วโลกเหนือ ถึงขั้วโลกใต้ เพื่อศึกษาผลกระทบกับมหาสมุทร ทั้งจากปรากฏการณ์โลกร้อน และอุตสาหกรรมทางทะเล ซึ่งตอนนี้เดินเรือสำรวจมาได้ครึ่งทาง ก็พบว่าในแต่ละที่ที่สำรวจจะมีปัญหาอยู่ เช่น พื้นที่ภูเขาใต้ทะเล จะมีปัญหาจากการทำประมงแบบทำลายล้าง มีการทิ้งซากอวนลงในพื้นที่ ซึ่งนับว่าปัญหาใหญ่ของโลกก็มาจากอุตสาหกรรมประมงที่ทิ้งลงทะเล         นอกจากนี้ ยังพบพื้นที่ทะเลแคริเบียน ซึ่งจะมีสาหร่ายที่เป็นแหล่งอนุบาลปลา และเป็นแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน ก็จะมีปัญหาขยะพลาสติกที่ลอยไปติดอยู่แถวๆ นั้น สัตว์ทะเลก็กินเข้าไปเพราะคิดว่าเป็นอาหาร เป็นหญ้าทะเล และก่อนหน้านั้น มีการพบว่าพื้นที่ขึ้นไปทางสเปน ซึ่งเป็นถ้ำ หรืออุโมงค์ใต้ทะเล ซึ่งเป็นแหล่งแร่ธาตุ ที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงเพราะกลุ่มอุตสาหกรรมแร่ทางทะเลพยายามจะเข้าไปสำรวจอยู่         สำหรับ เรื่องการทำประมงแบบทำลายล้างในประเทศไทยนั้น ต้องบอกว่าก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยได้รับใบเหลืองจากไอยูยู  หรือปัญหาการทำประมงแบบผิดกฎหมายและขาดการตรวจสอบ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการแก้ไข พ.ร.ก. การทำประมง และออกมาตรการที่เข้มงวดเรื่องการทำประมงมากขึ้น แง่หนึ่งทำให้การทำประมงในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น จนหลุดจากการได้รับใบเหลืองแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการการใช้อุปกรณ์ทำประมง ที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับขึ้นมาด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างร่วมกับภาคีเครือข่ายทำการสำรวจตลาดว่า มีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำสู่การผลักดันไปสู่เชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทำประมงแบบทำลายล้างที่กวาดเอาสัตว์น้ำวัยอ่อนไปด้วย         กลับมาที่การทำสนธิสัญญาทะเลหลวง นางสาวณิชนันท์ ระบุว่า มีแนวโน้มที่หลายประเทศจะให้การสนับสนุน แต่ขณะเดียวกันก็มีเสียงกดดันจากภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจที่ไม่อยากเสียประโยชน์ อาทิ เหมืองแร่ อุตสาหกรรมน้ำมัน แต่ถ้าพูดถึงการรณรงค์เรื่องนี้ในระดับนานาชาติ ถือว่าได้รับความสนใจ และการตอบรับค่อนข้างดี         ทั้งนี้ มหาสมุทรมีความเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ต่างๆ การที่ปกป้องมหาสมุทร อย่างน้อยตามเป้าหมายของเราคือ 1 ใน 3 ของพื้นที่มหาสมุทรก็จะช่วยเรื่องเหล่านี้ได้มา ทั้งเรื่องของโลกร้อน การปกป้องระบบนิเวศน์ท้องทะเลที่มีผลต่อสัตว์ทะเล เพราะถ้าปกป้องพื้นที่ในทะเลก็จะทำให้มีแหล่งดูแลอนุบาลพันธุ์ปลา ปลาก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในส่วนนี้ก็จะเชื่อมโยงไปถึงการประมงด้วย ทุกวันนี้ประชากรปลา สัตว์น้ำลดลง เพราะมีการทำประมงขนาดใหญ่เยอะขึ้น ยิ่งปลาหายากเท่าไรก็ต้องออกเรือไปไกลมากขึ้น          แต่ถ้าสนธิสัญญานี้ไม่เกิดขึ้น ผลเสียที่เห็นแน่ๆ เลยคือความหลากหลายในท้องทะเลหายไป แหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำที่เคยเป็นที่ทำประมงก็ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะถ้ามีการทำเหมืองแร่ ชาวประมงย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะนอกจากนี้ปัญหาจำนวนสัตว์น้อยลงแล้ว ยังเสี่ยงกับสารเคมีอีก         ดังนั้นสุดท้ายกลับมาที่คนกิน         “นายสง่า ดามาพงษ์” นักโภชนาการเชี่ยวชาญอิสระ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ให้ข้อมูลว่า อาหารทะเล ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา อุดมไปด้วย โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ซึ่งเป็นคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่แตกต่างไปจากสัตว์น้ำจืดเท่าไหร่ ยกเว้นว่าอาหารทะเลมีไอโอดีนผสมอยู่ แต่ถ้าเป็นปลา จะย่อยง่ายกว่า โปรตีนมีคุณภาพเหมาะกับทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะย่อยง่ายเมื่อเทียบกับเนื้อชนิดอื่นๆ ส่วน ปลาเล็ก ปลาน้อยมีแคลเซียมอยู่มาก เพราะเราสามารถรับประทานไปได้ทั้งตัว กินทั้งกระดูก ส่วนสารอาหารอื่นๆ เท่ากันกับปลาตัวใหญ่ เมื่อรับประทานในปริมาณเท่ากัน         อย่างไรก็ตาม ปลาเล็กปลาน้อยมีหลายสายพันธุ์ ซึ่งที่นิยมนำมารับประทานส่วนใหญ่ คือปลาทราย ปลากระตัก ซึ่งเป็นปลาพันธุ์เล็ก ต่อให้เป็นตัวเต็มวัยขนาดตัวก็ยังเล็กลีบเช่นนั้น จึงสามารถรับประทานได้ แต่ที่เขารณรงค์ไม่ให้กินปลาเล็กปลาน้อยคือลูกปลาที่เพิ่งออกมาจากไข่ อย่างนั้นไม่ควรกินอยู่แล้ว ต้องกินให้ถูกด้วย การได้แคลเซียมจากปลาไม่ได้หมายความว่าเราต้องกินปลาตัวเล็ก ตัวน้อยเท่านั้น แต่ปลาตัวใหญ่ ในเนื้อของมันก็มีแคลเซียมเช่นกัน นอกจากนี้ สารอาหารที่มีอยู่ในปลา หรือสัตว์ทะเล ก็พบว่ามีอยู่ในแหล่งอาหารอื่นๆ เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง รวมถึงดื่มนมรสจืด ไขมันศูนย์เปอร์เซ็นต์ ก็ทำให้ได้รับสารอาหารเหล่านี้ด้วย.  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ‘ยาปฏิชีวนะในพืชและสัตว์’ เมื่อผู้บริโภคอาจกินเชื้อดื้อยาเข้าปาก

ในช่วง 5-6 ปีหลังๆ มานี้ บุคลากรด้านสาธารณสุขและนักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ทำการรณรงค์เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลบ่อยครั้งขึ้น ถึงกระนั้น การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผลจนก่อผลกระทบด้านสุขภาพก็ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง        ข้อมูลจาก ‘ภูมิทัศน์ของสถานการณ์และการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย’ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการประสานและบูรณาการงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ เมื่อปลายปี 2558 ให้ข้อมูลว่า ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 ราย และหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เมื่อถึงปี 2593 คาดว่าการเสียชีวิตจะสูงถึง 10 ล้านคน โดยทวีปเอเชียและแอฟริกาจะเสียชีวิตมากที่สุดคือ 4.7 และ 4.2 ล้านคน ตามลำดับ ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจสูงถึง 3,500 ล้านล้านบาท        องค์การอนามัยโลกยังระบุด้วยว่าแนวโน้มการดื้อยาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้โลกเข้าสู่ยุคหลังยาปฏิชีวนะ(Post-antibiotic era) ที่การติดเชื้อแบคทีเรียเพียงเล็กน้อยอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตและเข้าสู่การล่มสลายทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เนื่องจากไม่สามารถทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดทั่วไป การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนหรือปลูกถ่ายอวัยวะ รวมทั้งการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดได้อีกต่อไป เพราะหัตถการทางการแพทย์เหล่านี้ต้องพึ่งพิงประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อ         ส่วนในประเทศไทย ประมาณการเบื้องต้นคาดว่า มีการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 87,751 ครั้ง        เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 38,481 รายหรือร้อยละ 40 ของผู้ติดเชื้อดื้อยาต้องอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น 3.24 ล้านวัน มูลค่ายาต้านจุลชีพที่ใช้รักษาคิดเป็น 2,539-6,084 ล้านบาท เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ        จากข้อมูลดังกล่าว ผู้บริโภคที่ไม่เจ็บ ไม่ไข้ ไม่ต้องทานยา ไม่ต้องผ่าตัด อาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทว่า ในความเป็นจริงปัญหาดังกล่าวใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะเป็นไปได้ว่าเชื้อดื้อยาอาจมากับอาหารที่เรากิน โดยเฉพาะส้มและปลาทับทิม นี่ยังไม่รวมถึงการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมหรือน้ำที่เราใช้อุปโภคบริโภค  แม่น้ำที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ         ต้องกล่าวก่อนว่าการทำปศุสัตว์อย่างหมู ไก่ หรือโคนม และการเลี้ยงปลามีการใช้ยาปฏิชีวนะอยู่แล้วโดยทั่วไป เกษตรกรสามารถซื้อยาปฏิชีวนะสำหรับสัตว์ได้ตามร้านขายเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร ซึ่งเคยมีการสำรวจพอเชื้อดื้อยาทั้งในหมูและไก่มาแล้ว ส่วนในสัตว์น้ำพบเชื้อดื้อยาในปลามากกว่ากุ้ง โดยเฉพาะการดื้อต่อยา tetracycline, oxytetracycline และ sulfamethoxazole แน่นอนว่าเรื่องนี้ชวนวิตกกังวล เพราะในคนที่มีอาการแพ้ยา การได้รับเชื้อดื้อยาเพียงน้อยนิดอาจหมายถึงชีวิต         ภก. สันติ โฉมยงค์ เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอยุธยา เปิดเผยกับ ‘ฉลาดซื้อ’ ว่า         การติดตามการใช้ยาปฏิชีวนะในกระชังปลาทับทิมในแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยุธยา อ่างทอง ไปจนถึงชัยนาท พบว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะหลายกลุ่มในการเลี้ยงปลา ตั้งแต่ที่ผสมมากับอาหารเลยก็คือ tetracycline กลุ่มที่ใช้รักษาโรคพื้นๆ อย่าง penicillin amoxicillin แล้วก็มีกลุ่มที่ใช้รักษาโรคพิเศษคือกลุ่ม quinolone ซึ่งเป็นกลุ่มยาสัตว์        ภก. สันติ ยังบอกอีกว่า ยากลุ่ม quinolone นี้ยังไม่แน่ใจว่าขึ้นทะเบียนถูกต้องหรือเปล่าหรือว่ามาจากตลาดมืด แต่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายพอสมควร ตั้งแต่ต้นน้ำก็คือเขื่อนเจ้าพระยาที่ชัยนาทมาถึงอยุธยาซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำ พบว่ามีการใช้อย่างไม่มีการควบคุม ชาวบ้านสามารถหาซื้อมาใช้ตามคำบอกเล่าหรือแบบบอกต่อจากเพื่อนที่ทำกระชังปลาด้วยกัน         “ผู้ประกอบการจะประเมินจากจำนวนปลาที่อยู่ในกระชังมากน้อย เพราะถ้าความหนาแน่นของปลาในกระชังมีมาก ปลาก็มีโอกาสจะเป็นแผลหรือเกิดโรค เขาก็จะใช้ยาในสัดส่วนที่มากขึ้น ส่วนตัว amoxicillin เขาจะใช้ละลายน้ำแล้วก็หว่านลงในกระชัง ซึ่งเขาก็จะมีความถี่ในการให้ เช่น ให้เช้าเย็นหรือให้ติดต่อกัน 7 วันเหมือนมีคนแนะนำมาว่าควรจะทำแบบนี้ๆ และในส่วนที่เป็นโรคระบาดหรือโรคที่มาตามฤดู เขาก็จะใช้ตัว quinolone ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นยาสัตว์ แต่โดยแพ็คเกจแล้วดูเหมือนจะเป็นยาในตลาดมืดมากกว่า ไม่ใช่ยาที่ขายโดยทั่วไป         สิ่งที่เรากังวลก็คือการที่ทั้งผสมอาหารให้ปลากินทุกวันหรือผสมน้ำแล้วหว่านลงในกระชังติดต่อกัน 7 วัน 14 วัน มันเป็นการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคิดว่ามันเชื่อมโยงกับเรื่องเชื้อดื้อยาที่กำลังแพร่หลายมากขึ้น เพราะจะไม่ใช่แค่ตัวปลาในกระชังที่ได้รับยานี้ แต่มันหมายถึงสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำเจ้าพระยาอื่นๆ ก็จะได้รับยาปฏิชีวนะไปด้วย ซึ่งถ้ามันมียีนดื้อยา การที่เราไปบริโภคอาหารที่มีเชื้อดื้อยาอยู่มันจะส่งผลกระทบกับเราหรืออาจจะตกค้างในแม่น้ำ” ภก.สันติ กล่าว  เชื้อดื้อยาในสวนส้ม          อีกกรณีหนึ่งที่เริ่มมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากขึ้นคือการใช้รักษาโรคพืช โดยเฉพาะโรคกรีนนิ่งในพืชตระกลูส้ม เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ และมะนาว โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Candidatus Liberibacterasiaticus ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากแก่เกษตรกร         ต่อมางานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พบว่า ยาปฏิชีวนะสามารถช่วยรักษาโรคกรีนนิ่งได้ผลดี โดยมีการทดลองเปรียบเทียบยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด คือ tetracycline, penicillin และ ampicillin พบว่า ampicillin ที่เป็นแคปซูลทั้งขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัมได้ผลดีที่สุด จึงมีการส่งเสริมการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าต้นส้มเพื่อรักษาโรคดังกล่าว ส่งผลให้การใช้ยาปฏิชีวนะในส้มเป็นไปอย่างแพร่หลาย         จากการลงสำรวจพื้นที่อำเภอเชียงของของ ภก.อิ่นแก้ว สิงห์แก้ว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย พบว่า มีเกษตรกรประมาณร้อยละ 80 ของสวนที่ใช้ยาปฏิชีวนะ แต่อัตราการใช้ยังไม่รุนแรง ส่วนใหญ่จะใช้ประมาณปีละครั้งหรือปีละ 2 ครั้งเท่านั้น         “การใช้ยาปฏิชีวนะที่เชียงของจะได้รูปแบบมาจากฝาง จะใช้แบบผสมน้ำ ใช้สว่านเจาะรูต้นส้ม แล้วก็ฉีดเข้าไป บางส่วนก็จะใช้ไซริงค์ใหญ่ๆ ประมาณ 20 ซีซีปักคาที่ต้นไว้ บางส่วนก็จะใช้อัดเข้าไปในขวดโค้กแล้วต่อสายน้ำเกลือห้อยไว้ ส่วนใหญ่ก็จะมี 2 รูปแบบนี้ ทางเรากำลังอยู่ในช่วงเก็บข้อมูลทำเป็นทะเบียนผู้ผลิตส้มและทะเบียนยาปฏิชีวนะที่ใช้ในสวนจึงยังไม่ทราบปริมาณการใช้ที่แน่นอน ส่วนยาที่ใช้จะเป็น ampicillin กับ amoxicillin ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในคนด้วยสำหรับโรคติดเชื้อทั้งหลาย”         ขณะนี้ในพื้นที่อำเภอเชียงของโดยมีนายอำเภอเป็นประธานได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งสาธารณสุข โรงพยาบาล เกษตรกรผู้ปลูกส้ม และสำนักงานเกษตร เพื่อทำการสำรวจ พูดคุย และแก้ปัญหา โดยจะมีการจัดทำทะเบียนผู้ปลูกส้มและทะเบียนสารเคมี ทั้งยาปฏิชีวนะและยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลงทั้งหลายว่ามีการใช้อย่างไรบ้าง         ภก.อิ่นแก้ว ให้ข้อมูลว่าเกษตรกรซื้อยาปฏิชีวนะจากร้านขายยาหรือร้านเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้สำหรับสัตว์เท่านั้น แต่เกษตรกรก็นำไปดัดแปลงใช้เพราะมีการวิจัยว่าใช้ได้ผล แต่ไม่ได้มีการศึกษาผลระยะยาวเรื่องการดื้อยา         เมื่อถามต่อว่ายาปฏิชีวนะสามารถซื้อได้เองตามร้านขายยาโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์หรือ?         เขาตอบว่าไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์และกฎหมายก็ไม่ได้บังคับ เพราะการจะมีใบสั่งยาแพทย์ต้องเป็นยาควบคุมพิเศษ แต่ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาควบคุมพิเศษเป็นแค่ยาอันตรายทั่วไป        อย่างไรก็ตาม การใช้ยาปฏิชีวนะในส้มในอำเภอเชียงของยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับอำเภอฝาง จากการลงพื้นที่สำรวจ หลายสวนเริ่มมีความถี่ในการฉีดยาต้นส้มเพิ่มขึ้นจากปีละครั้งเป็นปีละ 2 ครั้ง ล่าสุดที่พบคือ 2 เดือนครั้ง เกษตรกรบอกว่าถ้าไม่ทำแบบนี้จะเอาไม่อยู่ ซึ่งน่าสงสัยว่าเชื้อในต้นส้มจะดื้อยาหรือเปล่า                 “มันไม่มีกฎหมายห้ามไว้ว่าห้ามใช้ยาปฏิชีวนะในสวน แต่กฎหมายจะดูแหล่งแพร่กระจายคือ ร้านยาเวลาขายจะต้องมีใบอนุญาต แล้วเขาจะมีการควบคุมปริมาณและมีรายงาน แต่ปัจจุบันนี้ก็ไม่ค่อยมีที่ไหนรายงานเท่าไหร่ทำให้เกษตรกรไปซื้อตามร้านขายยาได้คราวละมากๆ และอีกปัญหาหนึ่งคือการลักลอบนำเข้าที่เรายังหาเส้นทางไม่เจอ แต่เรารู้ข้อมูลจากตัวผลิตภัณฑ์เพราะมันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนในประเทศไทย         “ของเชียงของตอนนี้ถ้าเราสำรวจผลิตภัณฑ์เสร็จเรียบร้อยว่ามีตัวไหนบ้าง ใช้ปริมาณเท่าไหร่ ก็มีแผนว่าจะทำเป็นสวนตัวอย่างควบคุม อาจมีการทำวิจัยดูปริมาณสารตกค้างในส้มเพราะเท่าที่เคยอ่านรายงานมาต้นส้มจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือนในการกำจัดยาออกจากต้นหมด นั่นหมายความว่าเกษตรกรน่าจะฉีดก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 4 เดือนถ้าจะฉีด ตอนนี้ทางเชียงของทั้งกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มต่างๆ ก็ตกลงกันว่าจะทำเป็นตารางการฉีด ถ้าคุณจะฉีดจะฉีดในปริมาณเท่าไหร่ ในระยะเวลาเท่าไหร่ เพื่อให้แน่ใจว่าผลส้มที่ออกมามันปลอดภัย แต่การห้ามฉีดเป็นไปไม่ได้เพราะชาวบ้านก็ลงทุนกับต้นส้มไปเยอะ ถ้ามันติดเชื้อต้องเผาทิ้งทั้งไร่ ก็เหมือนเผาเงินทิ้ง” ภก.อิ่นแก้ว กล่าวกลไกกำกับดูแลที่หละหลวม-การแก้ปัญหาต้องมองทุกมิติ         ไม่จำเป็นต้องถามว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในปลาและพืชจะเกิดการตกค้างในสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า แต่ต้องถามว่ามีการตกค้างมากแค่ไหน ซึ่งไม่มีใครรู้ตัวเลขที่แน่ชัดในปัจุบัน ภก.สันติ กล่าวว่า         “การตรวจสอบเป็นสิ่งที่เราเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาทำ เพราะการตรวจสอบมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและต้องตรวจในแล็บที่เชื่อถือได้ ซึ่งตัวชาวบ้านเองหรือเครือข่ายที่เฝ้าระวังไม่มีกำลังพอที่จะไปเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบ เราก็เรียกร้องมาหลายปีแล้ว เช่นกรมทรัพยากรธรรมชาติหรือเกษตรที่ตรวจคุณภาพน้ำ ซึ่งเขาตรวจคุณภาพน้ำอย่างเดียว แต่ไม่ได้ตรวจเรื่องเชื้อดื้อยา อันนี้เราเรียกร้องว่าควรจะตรวจโดยเฉพาะในช่วงที่มีการทำกระชังปลาน้ำจืดเยอะๆ”         ปัญหาไม่ใช่แค่นั้น แต่กลไกที่จะคอยกำกับดูแลก็ยังมีข้อติดขัด ภก.ศุภนัย ประเสริฐสุข หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู และผู้ประสานงานเครือข่ายยาชายแดนและผลิตภัณฑ์สุขภาพข้ามแดน กล่าวว่า ในปศุสัตว์มีการใช้ยาปฏิชีวนะมาก แต่ก็มีกลไกกำกับดูแล แต่ในภาคเกษตรแม้อาจจะใช้น้อยกว่า แต่ไม่มีกลไกในการกำกับดูแล         กลไกการกำกับดูแลหมายความว่า รู้ว่ามีการใช้และสามารถประเมินตรวจสอบได้ว่าใช้แล้วจะมีผลกระทบอย่างไร ใช้แล้วสามารถป้องกันไม่ให้เกิดยีนดื้อยามนุษย์ได้ ซึ่งถ้ามีกลไกแบบนี้ก็จะสามารถลดปริมาณการใช้หรือจำกัดการใช้ในปริมาณที่ถูกต้องหรือกลุ่มยาที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดยีนดื้อยา ภาคเศรษฐกิจก็สามารถเจริญเติบโตได้ ขณะที่ด้านสาธารณสุขก็ลดการดื้อยาจากเชื้อดื้อยาได้         กลไกในที่นี้หมายถึงกระบวนการตั้งแต่ต้นทาง เช่น ยาปฏิชีวนะจะถูกนำไปใช้อะไรบ้าง เกษตรกรรม ปศุสัตว์ ต้องผ่านหน่วยงานที่กำกับดูแลหลายๆ ส่วน แต่ปรากฏว่าเกษตรกรรายย่อยสามารถซื้อยาเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย ใครมาซื้อก็ได้ ซื้อจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ ทำได้เลย ถ้าเป็นรายใหญ่มีข้อมูลว่ามีการสั่งซื้อยากลุ่ม penicillin จากอินเดียที่ใช้ในสวนส้มจำนวนมาก ซึ่งปรากฏว่าเป็นยาที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่ได้ผ่านหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล เพราะถ้ามีการกำกับดูแลยาเหล่านี้จะไม่สามารถนำมาขายในประเทศไทยได้เพราะไม่ถูกขึ้นทะเบียน ไม่มีฉลาก         “การใช้ยาปฏิชีวนะในสวนส้มทางภาคเหนือก็มีการใช้พร่ำเพรื่อและไม่มีกลไกตรวจสอบเลย เพราะว่าประเด็นนี้เราไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้โดยตรง กฎหมายทางด้านสาธารณสุขก็ยังไม่มีอันไหนที่สามารถใช้ได้โดยตรงมากนัก จะใช้กฎหมายอาหารก็ไม่สามารถทำได้ ก็ต้องไปทำการตรวจวิเคราะห์และการตรวจวิเคราะห์ทุกวันนี้ก็ไม่ง่ายต้องส่งแล็บที่มีสเกลสูง ซึ่งตามต่างจังหวัดไม่สามารถทำได้”        จากชุดประสบการณ์ที่ทาง ภก.ศุภนัยและคณะทำเรื่องสเตียรอยด์ การนำเข้ายาปฏิชีวนะมีได้ 2-3 ทาง ทางหนึ่งคือ สำแดงเท็จแล้วก็นำเข้ามาโดยตรง ซึ่งต้องผ่านนายหน้า ผ่านบริษัท เพราะโดยกระบวนการที่ถูกต้องเวลาจะนำเข้ายาต้องขออนุญาตนำเข้าผ่านศุลกากร แล้วไปสำแดงกับสำนักด่านอาหารและยาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พอได้รับใบอนุญาตนำเข้าก็จะมีระบบ tracking ว่านำเข้าโดยบริษัทใดนำไปผลิตเป็นยาอะไร ปริมาณเท่าไหร่ ส่งให้ใคร แล้วก็มาบวกรวมกันว่าสารเคมีที่เหลือถูกต้องตรงกันกับที่ผลิตและกระจายใช้ในประเทศหรือไม่ ดังนั้น คนที่ตั้งใจจะทำผิดจึงไม่เข้าระบบนี้เพราะติดตามได้ว่ายากระจายไปที่ไหน เหลืออยู่เท่าไหร่ จึงมีการลักลอบนำเข้าแล้วกระจายขาย         เหล่านี้แสดงให้เห็นกลไกกำกับดูแลที่ยังหละหลวมและกฎหมายที่จะใช้บังคับก็ไม่มีความชัดเจน กลายเป็นช่องโหว่สำคัญให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะในพืชเพิ่มขึ้น         อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ไม่สามารถมองในประเด็นด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียวแล้วจะสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะมันเชื่อมโยงถึงเรื่องปากท้องของชาวบ้านที่ทำสวนและเลี้ยงปลา การห้ามใช้ยาปฏิชีวนะอาจหมายถึงการล้มละลายเพราะผลผลิตเสียหาย หากมองในภาพรวม จำเป็นต้องมองให้ครอบคลุมเรื่องเศรษฐกิจ การสร้างทางเลือกในอาชีพ การถือครองที่ดินทำกินเพราะผู้เลี้ยงปลาในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนไม่น้อยไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง การเลี้ยงปลาในกระชังจึงเป็นทางออกไม่กี่ทางในการเลี้ยงชีพ        การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาจึงมองมิติด้านสาธารณสุขอย่างเดียวไม่ได้ ต้องครอบคลุมถึงด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และต้องมองเห็นมนุษย์ที่อยู่ในวงจรนี้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ของเด็กเล่นต้องปลอดภัย

ของ “เด็ก” เล่น        ของเล่น ในความเข้าใจของคนทั่วไปคือ สิ่งของที่มีไว้สำหรับ “เล่น” ของเด็ก เพื่อให้สนุกและเพลิดเพลิน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงนัก เพราะ ”ของเล่น” นั้น คนทุกวัยสามารถสนุกและเพลิดเพลินได้ ซึ่งมนุษย์รู้จักนำสิ่งของทั่วไปจากธรรมชาติหรือประดิษฐสิ่งของขึ้นเพื่อเล่นมาตั้งแต่อดีตกาล มีหลักฐานสืบค้นได้จากวัฒนธรรมเก่าแก่โบราณคือ ว่าว ลูกดิ่ง(โยโย่) ลูกบอล เป็นต้น         อย่างไรก็ตามการเล่นสิ่งของของเด็กมีความพิเศษต่างไปจากวัยอื่น เพราะของเล่นถือเป็นสื่อการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความสุขและพัฒนาการในด้านต่างๆ สำหรับเด็กด้วย  โดยพื้นฐานแล้วของเล่นทุกประเภทนั้นมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกายที่ดี ของเล่นที่ต้องใช้กำลังและการเคลื่อนไหวของร่างกาย สามารถช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้แข็งแรงเพื่อช่วยควบคุมการทรงตัวและรองรับการเติบโตของร่างกายในแต่ละช่วงวัย ขณะที่การเล่นของเล่นที่ใช้การสัมผัสหยิบจับและอาศัยนิ้วมือในการควบคุม เช่น การปั้นดินน้ำมัน การเล่นตัวต่อประเภทต่างๆ สามารถช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กที่ช่วยควบคุมนิ้วมือให้ทำงานที่มีความละเอียดอย่างการวาดรูป เขียนหนังสือ ได้เป็นอย่างดี ส่วนในด้านของพัฒนาการทางสติปัญญา ของเล่นช่วยให้เด็กเพิ่มความสามารถในการคิด การวางแผน การวางลำดับขั้นตอน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อีกทั้งยังเสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ด้วย         ของเล่นนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งประดิษฐเสมอไป แค่กิ่งไม้ ดิน ทราย กระดาษ ก็เป็นของที่เด็กนำมาเล่นได้ แต่สำหรับโลกปัจจุบันของเล่นในรูปแบบสิ่งประดิษฐนั้นมีจำนวนมากมายมหาศาล ซึ่งผลิตและจำหน่ายในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีทั้งสินค้าของเล่นที่ผลิตในประเทศและสินค้าของเล่นที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครองจำเป็นต้องมีความรู้และความใส่ใจในการเลือกซื้อของเล่นให้ลูกได้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัย เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความอ่อนไหวเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากของเล่นได้ง่ายและรุนแรงถึงขนาดก่อผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวหรือถึงแก่ชีวิตได้  ในเกือบทุกประเทศของเล่นจึงเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมด้วย กฎ ระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าในระดับสูง ในส่วนของประเทศไทย “ของเล่น” สำหรับเด็ก ถือเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมมาตรฐานโดยกระทรวงอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้เด็กๆ ได้รับความปลอดภัยและรอดพ้นจากอันตรายเมื่อเล่นของเล่นทำไมไทยจึงยังมีปัญหาจากของเล่นไม่ได้มาตรฐาน        แม้มีการกำหนดให้ของเล่นเป็นสินค้าที่ต้องมีตรา มอก.หรือมาตรฐานบังคับ แต่เมื่อพิจารณาจากข่าวสารและงานวิจัยหลายฉบับพบว่า ยังคงมีสินค้าของเล่นที่ไม่ได้มาตรฐานวางจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ได้แก่        1.ผู้บริโภคนิยมซื้อของเล่นที่วางจำหน่ายในตลาดที่เน้นราคาถูก และนิยมของเล่นที่เป็นสินค้าเลียนแบบสินค้าลิขสิทธิ์(ของปลอม) ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไม่มีสัญลักษณ์มาตรฐาน มอก. หรือมีตราสัญลักษณ์ที่ปลอมขึ้นมา สินค้าประเภทนี้มักพบในร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าราคาประหยัดทุกชิ้นราคาเดียว ซึ่งร้านค้าประเภทนี้มีการกระจายตัวไปทั่วประเทศในเกือบทุกชุมชน ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยากที่จะเข้าไปตรวจสอบและดำเนินคดีได้ทั่วถึง และยังรวมไปถึงร้านค้าที่ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายแต่ยากแก่การกำกับดูแล        2.ช่องโหว่ของกฎหมายในการตรวจสอบโรงงานผู้ผลิต เพราะ “ของเล่น” จำนวนมากในตลาดไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นของเล่นตามกฎหมาย ทำให้หน่วยงานที่กำกับดูแลไม่อาจเข้าไปดำเนินการตรวจสอบได้นิยาม “ของเล่น” ตาม มอก.685-2540 คือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อให้เด็กอายุไม่เกิน 14 ปีบริบูรณ์ใช้เล่น        ของเล่นโดยนิยามนี้คือ “ผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบให้เด็กเล่น” และ “เด็กหมายถึงผู้มีอายุไม่เกิน 14 ปี” ดังนั้นหากเป็นสินค้าที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าไม่แสดงเจตนาว่าเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภควัยใด สินค้านั้นจะไม่จัดเป็นของเล่นตามนิยามนี้ แต่ในส่วนของการวางจำหน่าย ส่วนใหญ่ผู้ขายจะจงใจนำสินค้าที่ไม่เข้านิยามของเล่นไปจำหน่ายให้แก่เด็ก เช่น การวางขายปะปนในชั้นวางของเล่น หรือจำหน่ายในร้านที่ขายเฉพาะของเล่นที่มีเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมาย        3.การขาดระบบการตรวจสอบหลังการวางจำหน่าย การกำหนดให้ของเล่นได้มาตรฐาน มอก. ทำให้ผู้ผลิตของเล่นสำหรับเด็กตามนิยามกฎหมายต้องผลิตให้ได้มาตรฐาน โดยจะมีการตรวจสอบโรงงานและนำสินค้าไปทดสอบก่อนได้รับมาตรฐานและวางจำหน่าย เช่นเดียวกันกับการนำเข้าเจ้าหน้าที่จะตรวจดูเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและเก็บตัวอย่างไปทดสอบกับหน่วยตรวจ จึงจะได้รับใบอนุญาต แต่เมื่อได้รับการอนุญาตแล้ว กฎหมายมิได้กำหนดอายุของใบอนุญาต ทำให้ภายหลังจากการได้รับอนุญาตของเล่นเด็กหรือการนำเข้าของเล่นเด็กแล้ว ของเล่นที่ได้รับการอนุญาตจะไม่ได้รับการติดตามตรวจสอบควบคุมคุณภาพอย่างเหมาะสม         แม้กฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้กำหนดหน้าที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีการติดตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับตรามาตรฐานบังคับ แต่ในทางปฏิบัติกฎหมายฉบับนี้มีผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจำนวนมากที่อยู่ในการกำกับดูแลความปลอดภัย  ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่จะติดตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก็ต่อเมื่อได้รับการร้องเรียนหรือเมื่อพบว่าความเป็นอันตรายของสินค้าได้เกิดขึ้นแล้ว นอกจากนี้ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจเอง กฎหมายมิได้กำหนดหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบของเล่นเด็กที่วางจำหน่ายในท้องตลาดแต่อย่างใด        4.ข้อกำหนดสำหรับการกำกับดูแลความปลอดภัยในของเล่นในระดับสากลมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น ในขณะที่มาตรการกำกับดูแลของไทยยังมีข้อจำกัดอยู่มากและไม่ทันสถานการณ์ โดยเฉพาะข้อกำหนดด้านความปลอดภัย เช่น ยังมิได้กำหนดห้ามสารในกลุ่มทาเลต(Phthalates) นำมาเป็นส่วนประกอบในของเล่นเด็ก ซึ่งในมาตรฐานสากลที่เกี่ยวกับของเล่นเด็กอย่าง EN 71 (มาตรฐานสหภาพยุโรป) และ ASTM F 963 (มาตรฐานสหรัฐอเมริกา) ได้กำหนดห้ามไว้นานแล้วข้อมูลนลินี ศรีพวงและคณะ. การศึกษาวิจัยพิษและอันตรายในของเล่นเด็กและมาตรการความปลอดภัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, 2551. “มาตรการทางกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในของเล่นเด็ก” ศรารัตน์ อิศราภรณ์.วารสารบัณฑิตศึกษานิติศาสตร์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม - ธันวาคม 2561)“มหาภัยของเด็กเล่น” http://www.csip.org/csip/autopage/show_page.php?h=119&s_id=30&d_id=24&page=1&start=1“วันเด็กกับสถานการณ์อันตรายของเล่นในประเทศไทย” http://www.csip.org/csip/autopage/print.php?h=119&s_id=153&d_id=153&page=1

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ซื้อของออนไลน์ จ่ายอย่างไรให้ปลอดภัย มั่นใจ ได้เงินคืน

        ปัจจุบันการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ได้เปลี่ยนชีวิตผู้บริโภค สามารถซื้อสินค้าได้ทุกประเภทเพียงปลายนิ้วสัมผัส ทำให้มูลค่าทางการตลาดของ ธุรกิจ e-Commerce หรือตลาดออนไลน์มีการเติบโตอย่างมาก ซึ่งล่าสุด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดย “เสาวลักษณ์ ชีวสิทธิยานนท์” ได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง “การศึกษาข้อมูลระบบการชำระเงินและคืนเงินกรณีซื้อสินค้า/บริการออนไลน์” เมื่อช่วงต้นปี 2562 ทำให้พบข้อมูลที่น่าสนใจ ว่าทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์บนตลาดออนไลน์มีรูปแบบที่หลากหลาย ซับซ้อน และไร้ขอบเขต จึงเป็นหนึ่งช่องทางอันหอมหวานของกลุ่มมิจฉาชีพเข้ามาหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคบนตลาดออนไลน์ได้มากเช่นเดียวกัน เห็นได้จากการสำรวจของบ้านสมเด็จโพล พบว่ากว่า 32.4% เคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าออนไลน์ จึงจำเป็นต้องให้การคุ้มครองผู้บริโภคที่มากขึ้นทั้งนี้  “นิตยสารฉลาดซื้อ” ได้นำเอาข้อค้นพบในงานวิจัยชิ้นดังกล่าวที่เป็นประโยชน์มาฝากผู้อ่านเป็นหลักคิดเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการซื้อของออนไลน์ โดยพุ่งเป้าไปที่ลักษณะการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งหลักๆ พบว่ามี ดังนี้1. เงินสด2. จ่ายผ่านบัตรเดบิต3. บัตรเครดิต4. เงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตรโดยสารรถไฟฟ้า บัตรซื้ออาหารในศูนย์อาหาร บัตรเติมเงินโทรศัพท์มือถือ บัตรเติมเงินซื้อชั่วโมงอินเทอร์เน็ต บัตรชมภาพยนตร์ และกระเป๋าเงินบนโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น5. การชำระเงินผ่านโซเชียลมีเดีย ที่จะมีผู้ทำหน้าที่เป็น Payment Gateway อีกทีหนึ่ง แล้วให้ผู้ซื้อเลือกจ่ายค่าสินค้าผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต โอนเงินผ่านธนาคาร เป็นต้น 6. การชำระเงินผ่านตัวกลาง (PayPal) สามารถผูกบัญชีกับการชำระเงินผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือโอนเงินผ่านธนาคารได้ และ7. การชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือผ่านอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง จ่ายแบบไหนปลอดภัยสุด         โดยในงานวิจัยได้มีการศึกษาลักษณะการใช้จ่ายเงินทั้ง 7 วิธีการแล้ว และได้บทสรุปออกมาว่า “การชำระค่าสินค้าและบริการผ่านบัตรเครดิต” มีความปลอดภัยค่อนข้างสูงโดยเฉพาะประเทศไทย เพราะต้องใส่หมายเลขบัตรเครดิต รหัส CVV 3 หลัก และรหัส OTP อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหาจากการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ และต้องการเรียกเงินคืน ผู้บริโภคมีสองทางเลือก คือ         1.ติดต่อผู้ขาย หรือตลาดกลางซื้อขายออนไลน์ เพื่อขอคืนเงิน (refund) โดยตรง หรือ        2.ในกรณีที่ติดต่อผู้ขายไม่ได้ หรือผู้ขายปฏิเสธที่จะคืนเงินให้ ผู้ซื้อสามารถติดต่อธนาคารผู้ออกบัตร เพื่อยื่นเรื่องขอปฏิเสธการชำระเงิน (chargeback) โดยธนาคารอาจใช้เวลาในการตรวจสอบและดำเนินการคืนเงินภายใน 45-90 วัน        แต่สิ่งที่แตกต่างจากบัตรเดบิต คือ บางธนาคารอนุโลมให้ผู้ถือบัตรเครดิตยังไม่ต้องชำระค่าใช้จ่ายที่ยื่นเรื่องขอตรวจสอบได้ แต่หากใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตนั้น ผู้ซื้อจะถูกหักเงินค่าสินค้าออกจากบัญชีธนาคารไปก่อน แล้วหลังจากตรวจสอบเสร็จ จึงดำเนินการคืนเงินให้         อีกทั้งระยะเวลาคืนเงินของบัตรเครดิตยังอาจรวดเร็วกว่าบัตรเดบิตในกรณีที่ซื้อสินค้าและขอคืนเงินผ่านตลาดกลางซื้อขายออนไลน์เช่น Lazada หรือ Amazon และยังมีขั้นตอนการขอคืนเงินที่ง่ายกว่ากรณีที่ชำระค่าสินค้าผ่านการโอนเงินทางบัญชีธนาคาร เพราะหากโอนเงินให้ผู้ขายโดยตรงและไม่ได้รับสินค้าในกรณีของประเทศไทย จะต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่ออายัดบัญชี ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าจะได้รับเงินคืนจากผู้ขายหรือไม่         “การชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเดบิต” ถึงแม้จะมีความปลอดภัยเช่นเดียวกับบัตรเครดิต แต่ในขั้นตอนการขอเงินคืนนั้น อาจจะใช้เวลาที่มากกว่าบัตรเครดิต อีกทั้งยังเป็นการหักเงินในบัญชีเป็นค่าซื้อสินค้าไปก่อน         “การชำระค่าสินค้าเป็นเงินสดปลายทาง” เรียกว่ามีความปลอดภัยสูงว่าจะได้รับสินค้าอย่างแน่นอน แต่การใช้จ่ายด้วยเงินสดมีต้นทุนการใช้ที่สูงกว่าการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ และในกรณีที่ได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่อธิบายไว้ และต้องการคืนสินค้านั้น จะมีความเสี่ยงมากว่ากรณีซื้อตรงกับผู้ขายอาจจะมีความไม่แน่นอนว่าจะสามารถติดต่อผู้ขายเพื่อขอคืนเงินได้หรือไม่ แต่ในกรณีที่ซื้อสินค้าโดยจ่ายเงินปลายทางผ่านตลาดกลางเช่น Lazada นั้น ยังสามารถติดต่อผ่านตลาดกลางนี้ได้ อย่างไรก็ตาม กรณีสินค้าถูกนำส่งโดย บริษัทเคอรี่ มีแนวทางปฏิบัติที่น่าสนใจดังนี้ สำหรับผู้บริโภค ที่เลือกการชำระเงินโดยจ่ายปลายทาง แล้วพบว่า หลังจากชำระเงินไปแล้ว สินค้าที่ซื้อไม่ตรงตามที่โฆษณา หรือที่สั่งไป มีสิทธิขอเงินคืนได้ เนื่องจากกรณีที่เราชำระเงินปลายทาง ผู้ส่งของ คือบริษัทเคอรี่ จะคงเก็บเงินไว้ 3 วันตามนโยบายของบริษัท ที่ตกลงไว้กับผู้ส่งว่า “บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง ค่าบริการคิดเป็น 3% ของยอดที่เรียกเก็บ ผู้ส่งจะชำระค่าขนส่งและค่าบริการนี้ ณ จุดส่ง สำหรับยอดเงินเรียกเก็บปลายทางระบบจะทำการโอนเงินคืนผู้ส่งใน 3 วันทำการหลังจากลูกค้าปลายทางได้รับสินค้าเป็นที่เรียบร้อย" ดังนั้น เมื่อได้รับของและชำระเงินแล้ว ควรตรวจสอบสินค้าภายใน 3 วัน และหากพบว่าไม่ตรงกับที่สั่ง ควรติดต่อไปยังบริษัทเคอรี่ เพื่อขอคืนเงิน โดยแจ้งเลขที่พัสดุ ชื่อผู้ส่ง หลังจากนั้นบริษัทจะประสานสาขาใกล้เคียงให้มารับของนั้นคืนไป และคืนเงินให้กับผู้บริโภค(ที่มา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)        “การชำระเงินผ่าน e-money” กรณีเป็นบัตรพลาสติกจะมีความคล้ายคลึงกับเงินสด หากสูญหาย ก็เหมือนกับสูญเสียเงินสดเท่ากับมูลค่าที่มีในบัตรพลาสติก แต่ e-money อีกประเภทที่คล้ายกับบัตรเครดิตแบบเติมเงินล่วงหน้านั้น จะมีความปลอดภัยเพราะจำกัดวงเงินความเสียหายเท่ากับเงินที่เติมไว้ในบัตร แต่ตอนนี้ e-money ในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายจนสามารถใช้ได้กับทุกร้านค้าหรือทุกเว็บไซต์         “การจ่ายเงินผ่านตัวกลาง” เช่น “PayPal” นั้นมีความปลอดภัยค่อนข้างมาก เพราะ PayPal มีนโยบายคุ้มครองผู้ซื้อในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้า หรือได้รับสินค้าที่แตกต่างจากที่ระบุไว้อย่างชัดเจน โดยผู้บริโภคสามารถขอเงินคืนโดยเปิดข้อพิพาทกับ PayPal ได้ภายใน 180 วันนับจากวันชำระเงินค่าสินค้า         “การจ่ายผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ หรือ “อินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง” ผู้ซื้อจะต้องเข้ารหัสส่วนตัว เพื่อเข้าไปทำธุรกรรม ซึ่งหลังจากทำรายการแล้ว จะมี sms แจ้งเตือนให้ผู้ซื้อทราบว่าได้มีการใช้จ่ายจากบัญชีของตนเอง หรือในบางครั้งถ้ามีการโอนเงินไปบุคคลอื่นเป็นครั้งแรก จะต้องใส่รหัส OTP ด้วย แต่ในกรณีที่ซื้อสินค้าแล้วมีปัญหา อาจมีความยุ่งยากในการขอเงินคืนโดยเฉพาะกรณีซื้อสินค้ากับผู้ขายรายย่อย เพราะอาจเกิดปัญหาไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ ในกรณีประเทศไทยต้องมีการแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อขออายัดบัญชีของผู้ขาย        “การจ่ายผ่านโซเชียลมีเดีย” ความปลอดภัยในการใช้บัตรขึ้นกับ Payment gateway ที่ให้บริการ แต่โดยทั่วไป Payment gateway เหล่านั้นจะผ่านมาตรฐานความปลอดภัยทั่วไปอยู่แล้ว ลักษณะการใช้งานคล้ายกับกรณีของบัตรเดบิต และบัตรเครดิต แต่หากผู้บริโภคเลือกจ่ายผ่านการโอนเงินผ่านธนาคารก็อาจมีความยุ่งยากในการขอเงินคืน         อย่างไรก็ตาม แม้มีช่องทางให้สามารถคืนสินค้าและขอเงินคืนได้แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ซื้อจะสามารถทำได้ตามอำเภอใจทุกอย่างมีหลักเกณฑ์ข้อกำหนดเอาไว้ โดยหลักๆ จากที่งานวิจัยได้รวบรวมเอาไว้ อาทิ  สินค้าที่ได้รับไม่ตรงตามที่อธิบายไว้ สินค้าชำรุด เสียหาย ถูกแกะออกมาใช้หรือเป็นสินค้ามือสอง  ไม่ได้รับของตรงตามกำหนดเวลา ได้รับของไม่ครบถ้วน หรือชำรุดบกพร่อง หรือไม่ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์        และการจะเรียกร้องสิทธิตรงนี้ ผู้ซื้อจะต้องเก็บหลักฐานการซื้อสินค้าออนไลน์ทุกครั้ง เพื่อใช้เป็นหลักฐานในกรณีทีเกิดปัญหา เช่น หลักฐานระยะเวลาการรับประกันการคืนสินค้า หลักฐานการชำระค่าสินค้า หลักฐานการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ เป็นต้น เพราะในบางครั้งแม้ผู้ซื้อจะมีหลักฐานที่ยืนยันว่ามีระยะเวลาประกันการคืนสินค้าภายใน 14 วันจริง ก็ยังมีปัญหาในการคืนสินค้าดังกรณีตัวอย่างของ Lazada ที่ระบบแจ้งว่าต้องคืนสินค้าภายใน 7 วันแต่ได้แสดงผลบนหน้าเว็บไซต์ว่าคืนได้ภายใน 14 วัน วิธีแก้ปัญหาในการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์         ผู้บริโภคควรเรียนรู้สิทธิและวิธีแก้ปัญหาในการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ เช่น ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต สามารถใช้วิธีปฏิเสธการชำระเงิน (chargeback) ได้หากเกิดปัญหาจากการซื้อสินค้า และมีระยะเวลาคืนเงินที่รวดเร็วกว่าการใช้บัตรเดบิต แต่การชำระเงินค่าสินค้าผ่านการโอนเงินธนาคารนั้น มีความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะการซื้อกับผู้ขายโดยตรง เพราะถ้าไม่ได้รับสินค้าและไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ ต้องดำเนินเรื่องแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่ออายัดบัญชี ซึ่งยังไม่ได้รับประกันว่าจะได้รับเงินคืนหรือไม่ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย การซื้อสินค้าผ่านตลาดกลางซื้อขายสินค้า ย่อมมีความปลอดภัยมากกว่าซื้อจากผู้ขายโดยตรง เพราะมีการรับประกันสินค้าและนโยบายคืนเงินที่ชัดเจนกว่า          ทั้งนี้เมื่อดำเนินการเรียกร้องสิทธิโดยตรงกับทางผู้ขาย หรือธนาคารสถาบันที่เป็นตัวกลางในการจ่ายเงินไปแล้วยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ผู้ซื้อสามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ดังนี้         1.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.)         2.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม        3.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก. ปอท.)         4.สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)         5.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)         6.ธนาคารแห่งประเทศไทย        7.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ขั้นตอนการร้องเรียน        ในการร้องเรียนนั้นควรเตรียมหลักฐานเพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปใช้พิจารณา เช่น        1. ใบสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ        2. ข้อความสนทนาการซื้อสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย        3. ข้อมูลร้านค้า        4. หลักฐานการชำระเงิน        5. ถ่ายรูปสินค้าและเก็บสินค้าไว้เป็นหลักฐาน        6. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเป็นหลักฐาน           อย่างไรก็ตาม นอกจากที่ต้องระวังเรื่องการหลอกลวงจากการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์แล้วสิ่งที่ผู้ซื้อควรระวังด้วยเช่นกันคือ “ความอยากของตัวเอง” โดยเฉพาะการชำระค่าสินค้าที่ไม่ใช่เงินสด ซึ่งก่อนหน้านี้มีจิตแพทย์ออกมาให้ข้อมูลว่า “การซื้อของ” นับเป็นความสุขอย่างหนึ่งของมนุษย์ ช่วยลดความรู้สึกแย่ๆ ที่มีในจิตใจ ยิ่งถ้าซื้อทางออนไลน์ และไม่ได้จ่ายเงินสดยิ่งทำให้เกิดความเพลิดเพลิน ไม่รู้สึกเจ็บปวดเท่ากับการต้องควักกระเป๋าจ่ายสด ดังนั้นจงระมัดระวังใจตนเอง ซื้อเท่าที่จำเป็น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 สารเคมีตกค้าง

การใช้สารเคมีในภาคเกษตรนับเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรและผู้บริโภคภายในประเทศจำนวนมาก จนนำมาสู่การเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐยกเลิกสารเคมีหลายตัวที่หลายประเทศ แม้แต่ประเทศผู้ผลิตก็ได้ยกเลิกการใช้ไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าผู้เกี่ยวข้องจะดูใจเย็นกับเรื่องนี้เหลือเกินทั้งๆ มีรายงานตัวเลขผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิต ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในภาคเกษตรนับเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อยู่ที่หลักหลายพันคนต่อปี หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ เฝ้าระวังผลผลิตที่วางจำหน่ายในท้องตลาด จะออกมาป่าวประกาศถึงสถานการณ์สารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ ในระดับที่น่าเป็นห่วงก็ตาม  ล่าสุด นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ให้ข้อมูลกับ ฉลาดซื้อ ว่าแต่ละปีมีการสำรวจสารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ แตกต่างกัน ซึ่งช่วงแรกๆ ที่ทำร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน มีการตรวจยาฆ่าแมลงแค่ 2 กลุ่ม ก่อนจะพัฒนามาเป็น 4 กลุ่มสารเคมี (organophosphates, carbamates, organochlorine  และ pyrethroids) ปัจจุบันมีการส่งตรวจวิเคราะห์ที่ห้องแลปที่อังกฤษ ซึ่งสามารถวิเคราะห์สารเคมีได้มากกว่า 4 กลุ่ม ทำให้ช่วงหลังพบสารเคมีตกค้างมากขึ้น          สำหรับปี 2562 มีการเก็บตัวอย่างผัก ผลไม้จากห้างสรรพสินค้าและตลาดสด พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานประมาณ 41% ขณะที่สองปีก่อนส่งไปตรวจที่อังกฤษเหมือนกันพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 46% แต่ถ้าดูเฉพาะสารสี่กลุ่มที่ประเทศไทยสามารถวิเคราะห์ได้ จะพบปัญหาการตกค้างเกินค่ามาตรฐานลดลงเรื่อยๆ เหลือ 30% จนกระทั่งล่าสุดเหลืออยู่ที่ 20% และไม่ลงไปกว่านี้ อย่างไรก็ตาม แม้ของไทยจะลดลงแต่ยังถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป ที่สามารถตรวจได้ในระดับเดียวกันกับอังกฤษ การพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานอยู่ที่ ประมาณ 1-3% สำหรับสารที่ปีนี้ที่พบมากสุดคือ คาร์เบนดาซิม (carbendazim) ซึ่งเป็นสารป้องกันการเกิดเชื้อรา เป็นสารดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ ยกตัวอย่าง หากตกค้างใน “ส้ม” ถึงจะปอกเปลือกออก สารนี้ก็ยังอยู่ในเนื้อ  ปัจจุบันหลายประเทศยกเลิกการใช้แล้วเพราะทำให้คนที่ได้รับสารนี้มีโอกาสเป็นหมัน  นางสาวปรกชล ยังบอกอีกว่า จากการตรวจวิเคราะห์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในกลุ่ม “ผัก” ปัญหาจะหมุนเวียนชนิดกัน ขึ้นๆ ลงๆ เช่น ผักกวางตุ้ง คะน้า พริก กระเพรา ผักชี ถั่วฝักยาว จะอยู่ในอันดับต้นๆ ทุกปี ส่วน “ผลไม้” ที่เป็นอันดับหนึ่งที่พบสารเคมีตกค้างมาตลอด คือส้ม ตามมาด้วย องุ่น สลับกับ ฝรั่ง หรือ มะละกอ ชมพู่ และมีความเป็นไปได้ ที่ผัก ผลไม้หนึ่งตัวอย่างจะเจอสารเคมีตกค้างมากกว่าหนึ่งชนิด         “อย่างสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 41% อีกเกินครึ่งก็เจอสารเคมีในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน ซึ่ง 2 ใน 3 ของกลุ่มนี้มีสารเคมีตกค้างมากกว่าสองชนิดในหนึ่งตัวอย่าง มากสุดคือสารเคมีตกค้าง 20 ชนิดในหนึ่งตัวอย่าง ถือว่าเป็นปัญหามาก เพราะหน่วยงานภาครัฐไม่มีการประเมินความเสี่ยงสารตกค้างร่วมกับผู้บริโภคจึงไม่มีทางรู้เลยว่ารับประทานเข้าไปแล้วจะเกิดผลกระทบมากน้อยแค่ไหน”         ที่น่าสังเกตคือเราพบว่าตัวอย่างผัก ผลไม้ที่ขายในห้างฯ มีสารเคมีตกค้างมากกว่าที่วางขายในตลาดสดเล็กน้อย  แม้ว่าผลผลิตที่ขายในห้างฯ จะมีตรารับรองมาตรฐาน อย่างเช่น Q หรือ Organic Thailand ยังพบว่าไม่มีความปลอดภัย สารตกค้างยังคงเกินค่ามาตรฐาน ส่วนตัวมองว่าระบบการตรวจสอบรับรองยังคงมีช่องว่าง รวมถึงกระบวนการในการกำกับดูแลหลังให้ใบรับรองไปแล้ว ซึ่งเป็นไปได้ที่บางครั้งอาจจะไปถูกสวมสิทธิ์ที่ห้างหรือซับพลายเออร์ เท่ากับว่ากระบวนการให้ใบรับรองยังไม่แข็งแรงพอ ทำให้เรายังมั่นใจไม่ได้ 100% กับสินค้าที่มีตรารับรอง             “การล้างทำความสะอาดสามารถล้างสารพิษออกได้นิดหน่อย แต่ถ้าเป็นสารประเภทดูดซึมจะล้างไม่ออก ปีนี้เราพบสารพิษตกค้าง 90 ชนิด ในจำนวนนี้ 50 ชนิดเป็นสารตกค้างประเภทดูดซึม ล้างไม่ออกแน่ๆ ปอกเปลือกออกก็อยู่ในเนื้อ ส่วนที่ล้างออกประมาณ 40 ชนิด บางอย่างก็ล้างออกง่าย แค่เปิดน้ำไหลผ่าน การแช่ด่างทับทิม น้ำส้มสายชู เบคกิ้งโซดา ซึ่งสามารถขจัดสารเคมีได้แตกต่างกัน การล้างผัก ผลไม้จึงแค่เป็นการทำให้ตัวเองสบายใจ”         นางสาวปรกชล ระบุว่า เรื่องการใช้สารเคมีที่มีมากในประเทศไทยที่จริงเป็นปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมสารเคมี เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น 1.ไม่มีระบบการเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนภัยให้กับผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐที่มีการตรวจก็เก็บข้อมูลไว้ไม่ได้เปิดเผยให้ผู้บริโภคทราบ ทำให้ผู้บริโภคไม่มีข้อมูล จึงไม่สามารถแสดงความต้องการอาหารที่ปลอดภัย หรือความต้องการที่จะสนับสนุนสินค้าที่มีคุณภาพที่ไหนได้2. สารเคมีหลายตัวที่พบ เป็นสารที่หลายประเทศยกเลิกการใช้ไปแล้ว โดยเฉพาะประเทศต้นทางที่ผลิตสารเคมีเอง เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค แต่ประเทศไทยกลับยังนำเข้ามาใช้     แสดงว่าระบบการคัดกรองสารเคมีเหล่านี้ของประเทศไทยยังไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน ซึ่งนอกจากสารเคมี 3 ตัวที่ขอให้แบนคือพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แล้ว ยังมีสารเคมีอีกกว่า 100 ชนิด ที่ต้องมีการจัดการเช่นเดียวกัน         “วันนี้จึงทำให้เราประสบภาวะที่ว่านอกจากสารเคมีเกินค่ามาตรฐานแล้วยังมีสารเคมีหลายตัวที่ร้ายแรงมาก” 3.เกษตรกรมองว่าการใช้สารเคมีในภาคเกษตรคือคำตอบที่ถูกต้องและสมบูรณ์แบบ เนื่องจากบริษัทนำเข้าไม่ต้องเสียภาษีเลย เพราะฉะนั้นราคามันเลยไม่ได้รวมผลกระทบภายนอกทั้งทางด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เลยทำให้ดูเป็นทางเลือกที่ราคาถูกที่สุดในการทำเกษตรกรรม เกษตรกรจึงนิยมใช้ แถมยังไม่ควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขาย จึงทำให้มีการใช้มากเกินความจำเป็น        เพราะฉะนั้น วันนี้ ทางเลือกของผู้บริโภคอาจจะต้อง “เหนื่อย” และต้องการข้อมูลของผัก ผลไม้ว่ามีที่มาที่ไปอย่าง ไร ผักประเภทไหนเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย เพราะไม่สามารถดูได้จากหน้าตาผัก ผลไม้ ต่อให้มีรอยแมลงกัดก็ไม่สามารถการันตีอะไร ตรารับรองก็ไม่สามารถเชื่อมั่นได้ 100% ที่จริงแล้วผู้บริโภคมีอำนาจเต็ม เพราะเงินอยู่ในกระเป๋าเรา ทุกครั้งที่ใช้จ่ายจะเป็นการแสดงเจตจำนงว่ากำลังสนับสนุนเกษตรกรที่ใช้สารเคมี หรือจะสนับสนุนเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งราคาไม่ได้สูงเสมอไปหากไม่ซื้อในห้างฯ หรือให้เกษตรกรจัดส่งให้ที่บ้านก็ยังได้ ราคาถูกด้วย อีกทางหนึ่งควรปลูกผักกินเองบาง เช่น พริก กระเพรา เป็นต้น         นางสาวปรกชล ย้ำว่า สิ่งที่ไทยแพนอยากเห็นคือเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องพื้นฐาน ถ้ามีสารเคมีตกค้างก็ต้องไม่เกินมาตรฐานกำหนด ซึ่งประชาชนต้องช่วยกันกดดันภาครัฐให้มีการตรวจสอบและลงโทษกลุ่มเกษตรกรที่มีการใช้สารเคมี ปล่อยให้เกินค่ามาตรฐาน แถมยังเคลมว่าปลอดภัย แล้วขายในราคาแพงๆ หรือกดดันให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีบางตัวที่หลายประเทศยกเลิกไปแล้ว ทำไมไทยถึงยังยอมให้เข้ามาในระบบอาหารของไทย และช่วยกันส่งเสียงกระตุ้นให้เกิดระบบเฝ้าระวังและเตือนภัย ซึ่งสำคัญมาก เพราะการมีข้อมูลที่ชี้ปัญหาจะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้         อันที่จริงสถานการณ์ก็เหมือนจะดีขึ้น มีจำนวนเกษตรที่ลุกขึ้นมาปลูกผักที่ลดการใช้สารเคมี การเพิ่มตลาดสีเขียว ผู้บริโภคตื่นตัวมากขึ้น  แต่ว่าในภาพใหญ่ระดับโครงสร้างนโยบายที่ยังคงมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้องอาจจะยังต้องสู้กันอีกยาว ตรงนี้ต้องใช้พลังผู้บริโภคลุกขึ้นมาส่งเสียงว่าต้องการอาหารปลอดภัยและต้องร่วมกันแก้ปัญหาด้วยการปรับพฤติกรรมอุดหนุนเกษตรกรที่ปลูกผัก ผลไม้โดยไม่ใช้สารเคมี และอุดหนุนให้หลากหลายเพื่อเปิดตลาดให้กว้าง         รวมถึงการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการแสดงฉลาก เช่น ใช้ก็บอก ไม่ใช่ก็บอก มีการเรียกร้องให้โรงงานน้ำตาลแจ้งบนถุงน้ำตาลเลยว่า อ้อยมาจากการปลูกโดยใช้พาราควอตหรือไม่ และผู้บริโภคจะตัดสินใจเอง นี่คือการส่งเสียงเพื่อให้รัฐบาลตั้งใจแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย         ด้าน นพ.พูนลาภ ฉันทวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการปลูกผัก ผลไม้ในเมืองไทยยังมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีอยู่ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้มีการใช้มากเกินไปจนเกิดการตกค้างในผลผลิตเกินค่ามาตรฐาน จึงเป็นที่มาว่าเมื่อมีการสุ่มตรวจสารตกค้างในผลผลิตเหล่านี้แล้วยังเจอบ้าง ไม่เจอบ้าง แต่ถ้าไม่ได้มีปริมาณเกินค่ามาตรฐานก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่มีความปลอดภัย เกิดการตรวจการเฝ้าระวัง         “หากจะให้ไม่มีสารเคมีเลยนั้นยอมรับว่ายังยาก ดังนั้นคำแนะนำสำหรับประชาชนคือไม่ว่าจะซื้อผักผลไม้จากแหล่งใดก็ตามจะต้องมีการนำมาล้างด้วยวิธีการปล่อยให้น้ำไหลผ่านหรือการแช่น้ำเกลือ หรือเบกกิ้งโซดา สักช่วงเวลาหนึ่งก็จะช่วยลดปริมาณสารเคมีลงได้”         อย่างไรก็ตามในเรื่องของสารเคมีนั้นทางอย.ไม่ได้มีการดูโดยตรง และไม่เคยมีการออกตราสัญลักษณ์เพื่อรับรองมาตรฐาน หรือรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษแต่อย่างใด เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ แต่สิ่งที่อย.ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน คือกรณีที่มีการแบ่งบรรจุจำหน่ายผัก ผลไม้นั้น ให้ ทางห้างฯ ติดฉลากแหล่งที่มาของผลผลิตนั้นๆ ให้ชัดเจน เพราะหากตรวจเจอสารเคมีเกินค่ามาตรฐานก็จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มาและดำเนินการเอาผิดได้ ฐานเป็นอาหารไม่ปลอดภัย ตามพ.ร.บ.อาหาร มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท        ทั้งนี้ ที่ผ่านมาต้องเรียนว่ายังไม่มีการลงโทษถึงขั้นนั้นเนื่องจากเราต้องการใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือป้องปรามและการเฝ้าระวัง พยายามสร้างความตระหนักและทำให้เกษตรกร ไม่ใช้สารพิษในปริมาณที่มากเกินไปมากกว่า ซึ่งจากข้อมูลผัก ผลไม้ที่มีการแบ่งบรรจุขายในห้างสรรพสินค้า ในตลาดสดคิดเป็น 30% อีก 70% เป็นการขายส่ง ซึ่งผลจากแนวปฏิบัติดังกล่าว รวมถึงการขอความร่วมมือจากชุมชนท้องถิ่นให้ช่วยกันสุ่มตรวจผัก ผลไม้ โดยอาศัย พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 แก้ไข พ.ศ.2560 เข้ามาดำเนินการ ก็พบว่าปัญหาเรื่องสารพิษตกค้างในผัก ผลไม้ดีขึ้น อย่างที่ไทยแพนได้มีการสุ่มตรวจก็พบว่าน้อยลงเช่นกัน  ด้านกรมอนามัยได้มีการออกเอกสารเผยแพร่คำแนะนำแก่ประชาชน โดยใจความระบุว่าการรับประทานผักผลไม้เป็นประจำย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือปัญหาการตกค้างของสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย เพื่อความปลอดภัยประชาชนจึงควรใส่ใจการล้างผักให้สะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างหรือการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค โดยให้แช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร นาน 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด หรือใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) ครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด ซึ่งทั้ง 3 วิธีนี้ สามารถลดสารเคมีตกค้างจนไม่ก่อให้เกิดอันตรายได้ ขณะที่ นายธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์การอ็อกซ์แฟมในประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อดูจากสถานการณ์ปัจจุบันโดยยังไม่ได้ดูในแง่ของสถิติจะพบว่ามีห้างสรรพสินค้ากว่า 3 พันสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ทั้งห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ยังไม่นับรวมร้านสะดวกซื้ออีกจำนวนมาก ทำให้เห็นแนวโน้มว่าผู้บริโภคเลือกที่จะไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้ามากขึ้น เพราะสะดวกสบายไปครั้งเดียวก็ได้ของครบทุกอย่าง         ทั้งนี้ถ้ามองในแง่ของสถิติ นอกจากการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศแล้วยังพบว่ามีการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ แอปพลิเคชั่นต่างๆ ยิ่งเพิ่มความสะดวกในการซื้อสินค้ามากขึ้น แม้ตัวจะยังอยู่ที่บ้านก็ตาม เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าผู้บริโภคกับห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกมีความใกล้ชิดกัน อย่างน้อยในหนึ่งสัปดาห์ น่าจะเข้าห้างสรรพสินค้าราวๆ 1-2 ครั้ง         สำหรับการจำหน่ายสินค้ากลุ่มอาหารสด ผัก ผลไม้ นั้นทางอ็อกซ์แฟมยังไม่ได้มีการสำรวจและประเมิน จึงยังไม่สามารถบอกถึงความนิยมได้ เพราะที่มีประเมินอยู่คือ มิติทางด้านสังคม เช่น ความโปร่งใส เรื่องแรงงาน เรื่องเกษตรกรรายย่อย เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ การส่งเสริมบทบาทสตรี เป็นต้น          “ถ้าจับจากพฤติกรรมคนทั่วไปก็เห็นได้ว่า ทุกวันนี้คนนิยมซื้อสินค้าอาหารสด ผัก ผลไม้ในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น แทนการเดินตลาดสด ซึ่งปัจจุบันตลาดสดเองก็เริ่มมีน้อยลง แต่ถ้าพูดถึงคุณภาพ สินค้าและความปลอดภัยแล้ว ตนมองว่าปัจจุบันก็ค่อนข้างปฏิบัติตามมาตรฐานกฎหมายและค่อนข้างมีการพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภค”          อย่างไรก็ตาม ประมาณปลายปี 2562 หรือ ต้นปี 2563 จะมีการสำรวจ ประเมินมิติด้านความปลอดภัยทางอาหารร่วมด้วย ซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สารเคมีต่างๆ รวมถึงการจัดซื้อที่เป็นมิตร แต่สิ่งที่อ็อกซ์แฟมและภาคีเครือข่ายดำเนินการอยู่ขณะนี้ คือการสนับสนุนให้ห้างฯ ซึ่งเป็นตลาดปลายทางที่รับสินค้ามาจากเกษตรกรถึงมือผู้บริโภค มีนโยบายเชิงบวกให้เกิดขึ้นกับเกษตรกร ผู้แปรรูปอาหารต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกสินค้าที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ถ้ามีการออกเป็นนโยบายแล้วจะทำให้เกิดการปฏิบัติเหมือนกันของห้างฯ ทุกสาขา และมีการปฏิบัติอย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบันแนวปฏิบัติด้านต่างๆ ของห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยยังคงเป็นแบบโครงการ กิจกรรมซีเอสอาร์ ซึ่งตนไม่ได้บอกว่าโครงการเหล่านี้ไม่ดี เพียงแต่กรณีแบบนี้เมื่อจบโครงการก็คือจบ ถ้ามีการกำหนดเป็นนโยบายจะมีความยั่งยืนมากกว่า “นโยบายหมายความว่าจะต้องใช้กับทุกพื้นที่ ทุกผลิตภัณฑ์ และอยู่ถาวร มีการดึงมาสู่แผนงานแผนปฏิบัติ มี KPI หากปฏิบัติตามไม่ได้ก็ต้องปรับปรุง มีความยั่งยืน ถ้าไม่ดีก็ปรับปรุง ดังนั้นอยากให้ทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ยั่งยืนถาวรมากขึ้น เชื่อว่าห้างค้าปลีกไทยมีศักยภาพที่จะทำ เพราะดูจากนวัตกรรมทางการตลาดและการขยายธุรกิจไม่ได้น้อยหน้าต่างประเทศ หากเกิดนโยบายเชิงบวกเพื่อให้ผู้ผลิตอาหารในประเทศไทยรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนในประเทศดีขึ้น”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน ยิ่งแพง ยิ่งเหลื่อมล้ำ

                ว่ากันตามหลักการ คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลตามแต่ว่าตนสังกัดสิทธิไหน และเป็นที่รู้กันว่าการไปใช้สิทธิของตน โดยเฉพาะสิทธิประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าค่อนข้างใช้เวลานานในการรอคอย มันอาจหมายถึงการสิ้นเปลืองเวลาทั้งวันเพื่อพบแพทย์ไม่เกิน 10 นาที คนไข้จำนวนหนึ่งจึงเลือกใช้เงินซื้อเวลาและความสะดวกสบายด้วยการไปโรงพยาบาลเอกชนแทน เพราะเชื่อว่ามีเงินเพียงพอที่จะรับมือกับค่ารักษาพยาบาล         แต่บ่อยครั้งก็คาดการณ์ผิด ที่ว่าเอาอยู่ กลับเอาไม่อยู่ โรงพยาบาลเอกชนบวกกำไรค่ายา 16,000 เปอร์เซ็นต์         งานวิจัยเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ของ ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล จากศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า ในการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โรงพยาบาลเอกชนจำนวนไม่น้อยเรียกเก็บค่าบริการแพงเกินจริง เมื่อเปรียบเทียบรายการยากับโรงพยาบาลศูนย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ความแพงดังกล่าวมีช่วงห่างตั้งแต่ 60-400 เท่า เช่น วิตามินบีคอมเพล็กฉีดหลอดละ 1.50 บาท เพิ่มเป็น 600 บาท ยาฉีดแก้ปวดขนาด 50 มิลลิกรัม ราคา 6.50 บาท เพิ่มเป็น 450 บาท         ขณะที่รายการเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยามีราคาต่างกันตั้งแต่ 16-44 เท่า เช่น ท่อดูดเสมหะชิ้นละ 10 บาท กลายเป็น 440 บาท ไหมเย็บแผลสีดำ ชุดละ 28.5 บาท เพิ่มเป็น 460 บาท         นอกจากนี้ ยังพบว่าโรงพยาบาลเอกชนมีการตรวจวินิจฉัยเกินความจำเป็น เช่น การให้เลือดในคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือด คนไข้เป็นปอดบวมจำเป็นต้องได้รับการรักษาด่วน แต่กลับส่งตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น         ผลการตรวจสอบเบื้องต้นของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่า โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายตั้งแต่ร้อยละ 29.33 ถึงร้อยละ 8,766.79 หรือตั้งแต่ 10.83 บาทถึง 28,862 บาท คิดเป็นอัตรากำไรตั้งแต่ร้อยละ 47.73 ถึงร้อยละ 16,566.67 เช่น ยา S-DOPROCT ราคายาอยู่ที่ 17 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนขายเฉลี่ยที่ 148 บาท ราคาขายสูงสุดอยู่ที่ 303 บาท หรือยา AMPHOTERICIN-B ราคายาคือ 452 บาท ขายเฉลี่ยที่ 937 บาท ราคาที่ขายสูงสุดอยู่ที่ 2,200 บาท เป็นต้น         สอบถามไปยัง ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาว่ามีเหตุผลที่ฟังขึ้นหรือไม่ว่าเหตุใดราคายาของโรงพยาบาลเอกชนจึงแพงขนาดนี้             “ถ้ามองในภาพรวมก็ไม่น่าจะมีความต่างอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ราคายาอาจต้องบวกต้นทุนการเก็บรักษา การดูแลคงคลัง ค่าบุคลากรที่ดูแลยา อันนี้คือตัวเม็ดยา ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขภายใต้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล มีประกาศแนบท้ายออกมาฉบับหนึ่งว่า ถ้าโรงพยาบาลจะคิดค่ายาให้บวกค่าอะไรได้บ้าง ตรงนี้จะเป็นเหตุให้ราคาต่างจากร้านขายยามากหรือไม่ ก็น่าจะไม่มาก เพียงแต่ว่าเวลาเขาบวกเข้าไป มันรวมค่าบริการด้วยหรือเปล่า ไม่รู้ ที่ทำให้เขาเพิ่มราคายาขึ้นมา เพราะถ้าเภสัชกรให้บริการ เวลาจะจ่ายตัวเม็ดยาที่บวกต้นทุนไปแล้ว กับค่า Professional Fee หรือค่าวิชาชีพของเภสัชกร ในร้านยาที่มีเภสัชกรก็ต้องให้บริการเหมือนกัน ก็ยังหาเหตุผลอธิบายไม่ได้ว่าทำไมมันจึงต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ คือถ้าต่างกัน 50 เปอร์เซ็นต์ยังพอเข้าใจ แต่ถ้าต่างกันไปถึงหลักร้อย หลักพัน หรือหลักหมื่นเปอร์เซ็นต์ อันนี้ก็คงรับไม่ได้         ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนเคยพูดว่า บางบริการเขาไม่สามารถเรียกเก็บได้จากผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคืออะไร เขาจึงมาบวกที่ค่ายา ต่อไปก็คุยกันว่าบริการต่างๆ ต้องเอามาตีแผ่ว่าคือค่าอะไร แล้วก็คิดกันตรงไปตรงมา ไม่บวกพ่วงไปกับค่ายา อนาคตต้องทำให้ราคามันโปร่งใสขึ้น อย่างที่กระทรวงพาณิชย์ให้มาบางตัวสูงถึง 15,000-16,000 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องกลับมาดูว่าเป็นค่าอะไรบ้าง และทำให้เห็นว่าแต่ละบรรทัดเป็นค่ายาจริงหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ก็ต้องไปตั้งหมวดใหม่” การรักษาพยาบาลเกินความจำเป็น         นอกจากค่ายาที่แพงเกินเหตุแล้ว อีกวิธีการหนึ่งที่โรงพยาบาลเอกชนมักนำมาใช้กับผู้ป่วยคือการรักษาพยาบาลเกินความจำเป็นหรือ Over Treatment เช่น กรณีถูกมีดบาดมือ 1 เซนติเมตร แต่ถูกนำตัวเข้าห้องผ่าตัดหมดเงินไป 6 หมื่นกว่าบาท         เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เล่าว่า เคยมีคนไข้รายหนึ่งมีอาการท้องเสียและเห็นว่าตนทำประกันสุขภาพไว้จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าทางโรงพยาบาลนำคนไข้รายนี้ตรวจสารพัดตรวจ ทั้งที่คนไข้บอกว่าเพิ่งตรวจร่างกายมา ซึ่งการตรวจบางรายการก็ไม่เกี่ยวกับอาการท้องเสีย ซ้ำยังให้คนไข้รายนี้นอนห้องไอซียูอีกหลายวัน สุดท้ายประกันสุขภาพที่ทำไว้ไม่พอจ่าย ค่ารักษาพยาบาลเกินไปอีก 3 แสน         “ผ่านไปเกือบ 2 ปี เพราะอายุความค่าจ้างทำของมัน 2 ปี ทางโรงพยาบาลก็ฟ้องที่ศาลจังหวัดมีนบุรีเรียกค่ารักษาพยาบาล ทางมูลนิธิก็ให้ผมหาทนายต่อสู้คดี เอาบิลต่างๆ ให้ผู้รู้เช็คว่าทำอะไรไปบ้าง ก็พบว่าไม่เกี่ยวกับอาการท้องเสีย เป็นการตรวจซ้ำซ้อน มีค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าห้องพักในไอซียูที่ไม่จำเป็นหลายรายการ เราเขียนคำให้การต่อสู้คดีว่าไม่มีความจำเป็น แต่ไปตรวจเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับท้องเสีย แล้วอาการก็ไม่ถึงกับต้องอยู่ไอซียู ศาลก็ไกล่เกลี่ย ในที่สุดทางโรงพยาบาลก็ลดราคาลงมา ฝ่ายจำเลยก็ยอมจ่ายให้จบไป” เครือข่ายผู้บริโภคผลักดันคุมโรงพยาบาลเอกชน         เครือข่ายผู้บริโภคพยายามผลักดันให้มีการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนมานาน อย่างน้อยในรอบนี้ก็มีมาตั้งแต่ 2561 จนกระทั่ง 22 มกราคม 2562 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นให้มีการประกาศค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าที่ต้องมีการควบคุม ทว่า         “ประกาศนั้นก็ไม่มีผลอะไร เพราะยังไม่มีการประกาศมาตรการว่าจะควบคุมกำกับยังไง กกร. ก็เลยตั้งอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรการยา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ ซึ่งอนุฯ นี้คุยกันครั้งแรกบอกว่าจะเริ่มต้นที่ยาและเวชภัณฑ์ก่อน ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ให้เวลา 60 วันในการศึกษา พบว่ามีการทำรายการยาและเวชภัณฑ์ของ UCEP กรณีฉุกเฉิน ซึ่งราคากลางนี้มาจากการพูดคุยกันระหว่าง 3 กองทุน ปรากฏว่ามีราคากลางของยาอยู่ประมาณ 3 หมื่นกว่ารายการ แล้วก็มีรายการเวชภัณฑ์ 5 พันกว่ารายการ ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นราคากลางที่ผ่านการตกลงของทั้ง 3 กองทุนเวลาไปตามจ่ายให้กับการเจ็บป่วยฉุกเฉินให้กับหน่วยบริการ” สุภัทรา นาคะผิว กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ กล่าว         นอกจากนี้ กรมการค้าภายในยังได้ขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลเอกชน 353 แห่ง ให้ส่งราคายาที่ซื้อและขายเพื่อเอามาเปรียบเทียบว่ามีการคิดกำไรกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตอนแรกไม่ได้รับความร่วมมือ จึงต้องออกเป็นหนังสือโดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ทางโรงพยาบาลเอกชนจึงส่งข้อมูลให้ ทำให้เห็นว่ามีการบวกกำไรเข้าไปสูงมากดังที่ปรากฏข้างต้น กกร. เดินหน้ามาตรการ         ล่าสุด ทางคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 52 พ.ศ.2562 เรื่องการแจ้งราคา การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาล ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ราคาและใช้ประกอบการตัดสินใจ         ประกาศดังกล่าวยังกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนต้องประเมินค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยทราบเมื่อผู้ป่วยร้องขอ และในกรณีจำหน่ายยาสำหรับผู้ป่วยนอก ทางโรงพยาบาลต้องออกใบสั่งยามาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและใบแจ้งราคายาให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า โดยต้องประกอบด้วยชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า รูปแบบยา ขนาดหรือปริมาณ จำนวน วิธีใช้ ระยะเวลาในการใช้ และใบแจ้งราคายาต้องประกอบด้วยชื่อยาตามใบสั่งยาและราคาต่อหน่วย             อีกทั้งยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในส่วนกลางและส่วนจังหวัดเพื่อพิจารณาวินิจฉัยกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเกินความจำเป็น สมาคมโรงพยาบาลเอกชนฟ้องศาลปกครอง         คงพอคาดการณ์ได้ว่าทางฟากโรงพยาบาลเอกชนย่อมไม่พอใจประกาศค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าที่ต้องมีการควบคุม สิ่งที่ตามมาคือสมาคมโรงพยาบาลเอกชนกับโรงพยาบาลเอกชนอีก 41 แห่งร่วมกันฟ้องศาลปกครองสูงสุดให้ยกเลิกประกาศ กกร. ฉบับนี้ ไม่ให้มีการกำกับค่ารักษาพยาบาล ด้วยข้ออ้างว่าการออกประกาศนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายทางโรงพยาบาลเอกชนไม่มีส่วนร่วม ประการต่อมาอ้างว่าการออกประกาศบังคับเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนเป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรม เพราะไม่บังคับโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ที่เก็บค่ารักษาพยาบาลสูงเช่นกัน โดยผู้ถูกฟ้องที่ 1 คือ กกร. ตามมาด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธาน กกร. ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน         “ชัดเจนว่าในฐานะองค์กรผู้บริโภคมีส่วนได้เสียในเรื่องนี้ แล้วเราก็ผลักดันเรื่องนี้มาตลอด ถ้าศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่ง กกร. ฉบับนี้ ผู้บริโภคย่อมได้รับผลกระทบ เราจึงตัดสินใจร้องสอดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคดี คือเราไม่ได้เป็นคู่ความตั้งแต่ต้น แต่เรามีสิทธิที่จะร้องสอดด้วยความสมัครใจและอยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ถูกฟ้องทั้งหมด เพื่อจะได้ช่วยกันต่อสู้คดี ยืนยันถึงความจำเป็น และการออกประกาศนี้ชอบแล้ว” สุภัทรา กล่าว         ประเด็นนี้มีองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศสนใจเข้ามาร้องสอดร่วมกันจำนวนมาก และได้ไปยื่นร้องสอดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา การปล่อยเสรียิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ         อย่างไรก็ตาม หากมองอีกด้านหนึ่ง การที่ประชาชนเลือกไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน นอกจากความจำเป็นเฉพาะหน้า เช่นการเจ็บป่วยฉุกเฉินแล้ว ต้องยอมรับว่าการบริการของโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลที่ตนมีสิทธิประกันสังคมต้องใช้เวลารอคิวนาน ตรงนี้อาจถือเป็นอีกหนึ่งจุดอ่อนของระบบ สุภัทรากล่าวว่า                “เราปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น ความเพียงพอของบุคลากร เครื่องมือที่เพียบพร้อม มันยังมีความไม่เพียงพออยู่ เราจึงเปิดโอกาสให้มีโรงพยาบาลเอกชนเกิดขึ้น แต่ในบางประเทศที่ทำระบบประกันสุขภาพ เขาจะจำกัดการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนมากๆ เช่น ไต้หวัน สวีเดน จะให้มีโรงพยาบาลเอกชนไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ หรือค่าตอบแทนของแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนต้องไม่มากกว่ารัฐเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ การมีอยู่ของโรงพยาบาลเอกชนก็เป็นส่วนหนึ่งของการตอบปัญหาเชิงระบบที่ยังไม่ดีนัก         แต่ขณะเดียวกันธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมันต่างจากธุรกิจอื่น แล้วโรงพยาบาลเอกชนเองก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพราะความเจ็บป่วย การบริการสาธารณสุข เป็นงานบริการเชิงคุณธรรมที่ไม่ใช่จะเอากำไรเท่าไหร่ก็ได้ เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันถ้ามันแพงไปเรื่อยๆ ไม่มีการจำกัดควบคุม มันยิ่งจะสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้น คนที่มีเงินก็มีโอกาสรอด คนไม่มีเงินก็ตายก่อน จึงจำเป็นต้องทำให้โรงพยาบาลเอกชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพและต้องมีการกำกับควบคุมดูแล เราคงต้องดูว่าจะกำกับควบคุมอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยเสรีแบบนี้ เพราะจะทำให้ราคาต่างๆ ในระบบสุขภาพสูงขึ้นได้ ขณะเดียวกัน การดึงแพทย์ พยาบาล ก็อาจมีผลต่อการคิดค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจากที่เคยเป็นอยู่” มาตรการต่อไป         มาตรการต่างๆ ของ กกร. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป ภญ.ยุพดี ให้ข้อมูลว่าขั้นต่อไปต้องมาดูราคาที่เหมาะสมของยาแต่ละกลุ่ม แต่ละตัว ต้องมีวิธีการในการบอกว่าราคาที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน ซึ่งกำลังให้ทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ข้อมูลอยู่         “วันนี้ประเทศไทยมีรหัสยาซึ่งบอกถึงลักษณะของยา ขนาดกี่มิลลิกรัม ของแบรนด์ไหน ซึ่งเป็นจุดแข็งของเราที่ทำให้สามารถเทียบราคายาได้รหัสต่อรหัส แต่อันอื่นๆ ยังไม่มีรหัสเลย เช่น วัสดุการแพทย์ บริการการแพทย์ นี่คือสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงสาธารณสุขและหลายองค์กรกำลังให้ สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) ทำรหัสวัสดุการแพทย์ และในอนาคตอาจต้องทำรหัสบริการการแพทย์อีก”         ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อกรณีค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่บวกกำไรเพิ่มสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น         ในฐานะผู้บริโภคสิ่งที่ต้องทำคือการยืนยันสิทธิของตนเมื่อต้องเผชิญการเอาเปรียบ เพราะการร้องเรียน 1 ครั้งย่อมดีกว่าการบ่น 1000 ครั้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ภัยจากอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร

เพียง “วูบเดียว” ของ นายสุมนต์ เอี่ยมสมบัติ คนขับรถตู้โดยสารสาธารณะ เส้นทางจันทบุรี – กรุงเทพทำให้เกิดโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดอีกเหตุการณ์หนึ่ง เป็นเหตุให้หลายครอบครัวต้องหลั่งน้ำตาในงานศพ แทนที่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากการได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันในครอบครัวช่วงเทศกาลปีใหม่         ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2560 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับรายงานว่ามีรถตู้โดยสารหมายเลขทะเบียน 15-1352 กรุงเทพมหานคร ที่วิ่งรับส่งผู้โดยสาร เส้นทางจันทบุรี – กรุงเทพ บรรทุกผู้โดยสารมาเต็มคันรถ เกิดเสียหลักข้ามไปถนนฝั่งตรงข้ามประสานงาเข้าอย่างจังกับรถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสารมาเต็มคันรถเช่นเดียวกัน จนเกิดไฟลุกท่วมก่อนเกิดระเบิดตามมาอีก 1 ครั้ง จนกลายเป็นการย่างสดผู้โดยสารเสียชีวิตรวมทั้งหมด 25 ราย สาเหตุคาดว่าคนขับ ชื่อ ของนายสุมนต์ เอี่ยมสมบัติ มีอาการหลับใน เพราะต้องขับรถติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง        ทั้งนี้หลังเกิดเหตุการณ์มีหลายหน่วยงานที่เข้าไปให้การช่วยเหลือผู้เสียชีวิตและครอบครัวผู้เสียชีวิตทำให้ผู้เสียหายได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างรวดเร็ว แต่หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ประสานเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันออกเข้าไปพูดคุยกับญาติผู้เสียหายว่า ยังมีประเด็นปัญหาอะไรที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือไม่         นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า “เพราะจากประสบการณ์การขับเคลื่อนเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านการโดยสารรถสาธารณะในช่วงที่ผ่านมา พบว่าหลังเกิดอุบัติเหตุแล้วผู้โดยสารไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิได้รับการชดเชยอะไรบ้าง ทำให้เสียสิทธิที่ควรได้รับการชดเชย และจากการพูดคุยทำให้เราได้รู้ว่าผู้เสียหายได้รับเพียงการชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ รายละ 7 แสนบาท เท่านั้น โดยแบ่งเป็นค่าชดเชยจากประกันภัยภาคบังคับ 3 แสนบาท และประกันภัยภาคสมัครใจ 4 แสนบาท แต่สิทธิอื่นๆ ไม่ได้อะไรเลย ดังนั้นจึงคิดว่าต้องลงไปพูดคุยกับเขาเพื่อให้ได้รับการชดเชยตามสิทธิที่มีมากกว่านี้”           แต่การเข้าไปให้การช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้เสียหายไม่ยอมเปิดใจ มีความกังวลว่าทางมูลนิธิฯ จะเข้าไปหาผลประโยชน์อะไรจากเขาหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้มีประสบการณ์ถูกหน่วยงานหนึ่งเข้าไปเรียกร้องบางอย่างจากการเข้าไปให้การช่วยเหลือ จึงค่อนข้างผิดหวัง แต่สุดท้ายหลังจากที่ทำความเข้าใจกันแล้วก็เปิดใจยอมรับการให้การช่วยเหลือจากมูลนิธิฯ และนำสู่การฟ้องร้องคดีห้างหุ้นส่วนจำกัด 2017 วีเจ ทรานสปอร์ต เป็นจำเลยที่ 1 นางสาววาสนา จันทร์เอี่ยม เป็นจำเลยที่ 2 และบริษัท ขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 3 กรณีละเมิด ต่อศาลจังหวัดจันทบุรี เรียกค่าเสียหาย ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น         อย่างไรก็ตาม การต่อสู้มีอุปสรรคบ้าง เพราะดูเหมือนว่าหน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือก่อนหน้านี้ไม่ได้ให้ข้อมูลในหลายๆ เรื่อง ทำให้การทำงานครั้งนี้ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ต้องเสาะหาเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาเป็นหลักฐานประกอบ อาทิ หลักฐานการเสียชีวิต หลักฐานการจัดการงานศพ ภาพถ่ายต่างๆ เอกสารต่างๆ หลักฐานรายได้ของผู้เสียหาย ซึ่งเหตุการณ์ผ่านไป 2 เดือนแล้ว บางอย่างหาได้ บางอย่างหาไม่ได้ บทเรียนจากการสู้คดี         การสู้คดีถือว่าใช้เวลาไม่นานศาลจันทบุรีได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 โดย นายโสภณ หนูรัตน์ ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ผู้ดูแลคดีดังกล่าว ได้ให้สัมภาษณ์ในวันนั้น ว่า ศาลฯ ได้ตัดสินให้จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมที่ 1 และ 2 คือ ทายาทของคนขับ ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ญาติของผู้เสียชีวิต รวมเป็นเงิน 20,780,000 บาท รวมทั้งต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด นั่นคือวันที่ 2 มกราคม 2560 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ         ทนายความของคดี ยังระบุอีกว่า ส่วนสำคัญ คือ ศาลชั้นต้นได้กรุณากำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษกับโจทก์แต่ละราย รายละ 500,000 บาท เนื่องจากเห็นว่าคนขับรถประมาท เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตของผู้โดยสารเป็นจำนวนมาก รวมทั้งค่าสินไหมทดแทน ได้แก่ ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าขาดแรงงานในครัวเรือน และค่าทรัพย์สินเสียหายสูญหาย ส่วนจำเลยที่ 1 และ 2 ศาลได้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่ใช่นายจ้างหรือตัวการตัวแทนที่ต้องรับผิดร่วมกับคนขับรถตู้คันเกิดเหตุ ซึ่งทาง มพบ. จะมีการประชุมคดีเพื่อพิจารณาในการใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อไป         และในวันเดียวกันนั้น “นางเสงี่ยม หินอ่อน” มารดาของหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ได้ให้สัมภาษณ์ ด้วยสีหน้าและแววตาที่ปราศจากรอยยิ้ม โดยสรุปใจความว่า         “ตัวเธอเองต้องสูญเสียลูกสาวไปอย่างไม่มีวันกลับ หนำซ้ำ หลานสาวตาดำๆ ยังต้องกลายมาเป็นเด็กกำพร้าที่คอยถามเธอทุกครั้งที่เห็นภาพถ่ายว่า “แม่ไปไหน” และคำตอบที่เธอพอจะพูดออกไปได้เพื่อเป็นการปลอบประโลมใจทั้งของหลานสาว และของตัวเธอเองคือ “แม่ไปสวรรค์นะ” ขณะที่ฐานะทางบ้านเริ่มสั่นคลอนเพราะเสียเสาหลักไป ส่วนเงินที่ได้จากการชดเชยก็จะนำไปใช้เป็นเงินเก็บไว้เลี้ยงดูลูกของลูกสาวในอนาคตต่อไป”อย่างไรก็ตาม จากการติดตามความคืบหน้าล่าสุดถึงกลางปี 2562 นายคงศักดิ์ บอกว่า คดีความยังไม่เป็นที่สิ้นสุด เนื่องจากจำเลย คือ บริษัทขนส่งจำกัด ได้มีการยื่นอุทธรณ์เนื่องจากมองว่าศาลตัดสินให้ต้องมีการชดเชยมากเกินไป ซึ่งศาลก็ได้นัดฟังคำตัดสินในเดือน ก.ย.2562 นี้ ก็ต้องมาดูว่าศาลเห็นด้วยหรือไม่ มีการปรับแก้คำพิพากษาอะไรหรือไม่ แต่ถึงแม้ว่ามีคำพิพากษาออกมาแล้ว หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเห็นว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถยื่นฟ้องถึงศาลฎีกาได้อีก ซึ่งคาดว่าหากถึงขั้นนั้นคงใช้เวลาประมาณ 4 ปี ถือว่าค่อนข้างเร็วในมุมมองของทางมูลนิธิฯ เพราะบางคดีเคยต่อสู้กันนานถึง 8 ปี กว่าผู้เสียหายจะได้รับการชดเชย         ทั้งนี้ ถึงแม้คดีความจะยังไม่จบ แต่ความสูญเสียอันใหญ่หลวงจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ไม่กลายเป็นการเสียเปล่าเสียทีเดียว เพราะทำให้มีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระบบขนส่งรถโดยสารสาธารณะของไทยขนานใหญ่ โดยมีการออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 15/2560 เรื่องมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือกำหนดให้รถโดยสารต้องทำประกันภัยภาคสมัครใจ         “การทำประกันภัยภาคสมัครใจสำคัญมากเพราะเมื่อก่อนรถบางคันก็ทำ บางคันก็ไม่ทำ รถคันที่ไม่ทำก็มีเพียง พ.ร.บ. เท่านั้น หากเกิดเหตุรุนแรง ไม่ว่าจะบาดเจ็บ เสียชีวิตก็จะได้รับการชดเชยน้อยมาก ดังนั้นการมีการทำประกันภัยภาคสมัครใจก็จะได้รับการชดเชยอย่างต่ำ 3 แสนบาท รวมกับประกันภัยภาคบังคับอีก 3 แสนบาท รวมเป็น 6-7 แสนบาท”         นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดมาตรการความปลอดภัยต่างๆ เช่น การควบคุมจำนวนที่นั่งของรถตู้โดยสารจากเดิมที่มีมากถึง 15-16 ที่นั่ง ก็กำหนดให้ไม่เกิน 13 ที่นั่ง มีการจำกัดความเร็ว การจัดจุดบริการรถตู้ให้เป็นสัดส่วน จากเดิมที่อยู่กระจัดกระจาย ไม่มีการจัดระเบียบ ไม่มีมาตรการควบคุมอะไรเลย         นายคงศักดิ์ ชี้ว่า ก่อนหน้านี้ตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารทุกประเภท เฉลี่ยเสียชีวิตประมาณ 200-300 คน ต่อปี บาดเจ็บประมาณ 2,000-3,000 คน ต่อปี ในจำนวนนี้รถตู้โดยสารเป็นประเภทรถเกิดอุบัติเหตุรุนแรงที่สุด เพราะมีการขับรถเร็ว ไม่มีการติดตั้งจีพีเอสติดตาม แต่พอเกิดอุบัติเหตุรถตู้จันทบุรีก็ทำให้มีการควบคุมมาตรฐานที่น่าพอใจ จำนวนการเกิดอุบัติเหตุกับรถตู้โดยสารสาธารณะลดลง แต่ไปพบปัญหาใหม่คือ เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นในกลุ่มรถตู้โดยสารรับจ้างส่วนตัว ที่สูงขึ้นเพราะกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกบังคับให้ติดจีพีเอส อาจจะยังสามารถขับรถเร็วมากกว่า 90 กม./ชม.เป็นเรื่องที่ต้องติดตามแก้ไขกันต่อไป         เช่นเดียวกับบทสรุปคำพิพากษาของศาลต่อกรณีอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร “จันทบุรี – กรุงเทพ” ว่าจะออกมาอย่างไร ผู้เสียหายจะได้รับการชดเชยเยียวยาอันสมควรหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไป แน่นอนว่าเงินชดเชยที่ได้นั้นไม่ว่าจะเป็นจำนวนเงินเท่าไรก็ไม่อาจชุบชีวิตคนตายให้ฟื้นคืนได้ แต่อย่างน้อยก็จะช่วยดูแลครอบครัวอันเป็นที่รักของผู้ตายในฐานะเหยื่อของเหตุการณ์ไม่อาจจะดูแลครอบครัวอันเป็นที่รักต่อไปในอนาคต.นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า ด้วยสถานการณ์ข่าวที่โหมรุนแรง ทางบริษัทประกันฯ เลยชักช้าไม่ได้ ทำให้ผู้เสียหายได้รับการชดเชยอย่างตรงไปตรงมา แต่หากเปรียบกับเคสอื่นๆ เมื่อมีการรับเงินชดเชยส่วนนี้แล้วจะถูกให้เซ็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งในสัญญาตัวนี้จะมีถ้อยคำที่เป็นอันตราย ที่ระบุว่า “ผู้เสียหายจะไม่ติดใจเอาความ ดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา”  ซึ่งเมื่อมีข้อความเหล่านี้จะไม่มีสิทธิเรียกร้องสิทธิอื่นๆ ได้เลย จะได้รับแค่สิทธิที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประกันภัยผู้ประสบภัยจากรถเท่านั้น ทั้งๆ ที่ยังมีสิทธิในการเรียกร้องค่าชดเชยการขาดรายได้ ค่าเลี้ยงลูกจนโต        “เรื่องนี้หลายคนไม่รู้ หน่วยงานก็ไม่เคยบอกว่าหากเซ็นแล้วต้องเจอแบบนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเจอกรณีให้เซ็นสัญญาประนีประนอมผู้เสียหายสามารถเขียนข้อความกำกับลงไปได้ว่า ขอสงวนสิทธิในการที่จะเรียกร้องดำเนินคดีกับเจ้าของรถต่อ หรือไม่ต้องเซ็นเอกสารนั้นเลยก็ได้ ถ้าถูกบังคับให้เซ็นหรือข่มขู่ว่าถ้าไม่ยอมเซ็นชื่อจะไม่ได้รับเงินชดเชย ผู้เสียหายสามารถร้องเรียนไปยัง คปภ.ได้ ว่าถูกบังคับ ถ้าไม่ร้องเรียนทุกอย่างจะเป็นไปตามกระบวนการบริษัทประกันฝ่ายเดียว”         ดังนั้น เวลาขึ้นรถโดยสารขอให้คำนึงว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นหมั่นสังเกตข้อมูล เกี่ยวกับรถ ทะเบียนรถ ตั๋วโดยสาร ข้อมูลคนขับ สิ่งสำคัญคือสิทธิที่จะได้รับมีอะไรบ้าง หลักๆ เลย วงเงินที่ได้รับการชดเชยตาม พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ กรณีเป็นผู้โดยสารจะได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลตามจริง ประมาณ 80,000 บาท กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินชดเชย 300,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ยังไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด สิทธิที่ผู้โดยสารจะได้รับเบื้องต้นคือ ค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 30,000  บาท.          จากการรวบรวมสถิติอุบัติเหตุรถตู้โดยสารสาธารณะในปี 2560 โดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนและเครือข่ายเฝ้าระวังรถโดยสารสาธารณะที่เก็บข้อมูลผ่านข่าวออนไลน์ พบว่า มีอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถตู้โดยสารสาธารณะในพื้นที่ทั่วประเทศมากถึง  252 ครั้ง แบ่งเป็น ประเภทรถตู้โดยสารประจำทาง 61 ครั้ง รถตู้โดยสารไม่ประจำทาง 72 ครั้ง และรถตู้โดยสารส่วนบุคคล 119  ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 1,008 คน และเสียชีวิต 229 คน           ปัจจุบันมีรถตู้โดยสารที่จดทะเบียนสะสมกับกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2561จำนวน 45,510 คัน  แบ่งเป็นรถตู้โดยสารประจำทาง 14,436 คัน  รถตู้โดยสารไม่ประจำทาง 31,074 คัน แม้กฎหมายจะบังคับให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ก็ยังพบปัญหาของรถโดยสารที่มีเข็มขัดนิรภัยแต่ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ ไม่มีอุปกรณ์นิรภัยประจำรถ พนักงานขับรถขับรถด้วยความประมาท สภาพร่างกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ ขับรถเร็ว บรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะในรถตู้โดยสารประจำทาง ที่ส่งผลถึงมาตรฐานการให้บริการรถตู้โดยสารของผู้ประกอบการที่ไม่มีคุณภาพ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงจากอุบัติเหตุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 จากขยะพลาสติกถึงไมโครพลาสติก ปัญหาใหญ่ที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด

                การลดใช้ถุงพลาสติกเป็นกระแสที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัว ในประเทศไทยมีการรณรงค์ประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง บริษัทห้างร้านต่างๆ ก็พยายามลดการใช้ถุงพลาสติกใส่สินค้าให้ลูกค้า นับเป็นเรื่องน่ายินดีแทนสิ่งแวดล้อมของโลกที่ป่วยหนักขึ้นทุกวัน ถึงกระนั้นก็ยังต้องอาศัยเวลาอีกไม่น้อยเพื่อลดการใช้พลาสติกลงอย่างมีนัยสำคัญ        นอกจากนี้ ยังมีการใช้ถุงพลาสติกที่ระบุว่าย่อยสลายได้ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า         ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะพาไปสำรวจสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกพลาสติกคุกคาม ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤต อาจมีคำถามว่าวิกฤตอย่างไร? มันวิกฤตถึงขั้นว่า คุณ-หมายถึงคุณผู้อ่าน-อาจมีพลาสติกตกค้างอยู่ในร่างกายโดยไม่รู้ตัว ขยะพลาสติก: ความอลังการทางตัวเลข        - ตั้งแต่มีการคิดค้นพลาสติกขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน คาดการณ์ว่ามีพลาสติกเกิดขึ้นแล้ว 8,000 ล้านตัน ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เทียบเท่ากับน้ำหนักของช้าง 1,000 ล้านเชือกที่อยู่บนโลกนี้        - มีการคาดการณ์ปริมาณขยะพลาสติกที่ลงสู่ท้องทะเลว่าสูงถึง 13 ล้านตันต่อปีหรือเทียบเท่ารถบรรทุก 1 คันขนขยะพลาสติกทิ้งลงทะเลทุกๆ 1 นาที         - ขยะพลาสติก 13 ล้านตันต่อปีก่อให้เกิดแพขยะพลาสติกขนาดใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือ Great Pacific Garbage Patch มันใหญ่กว่าประเทศเยอรมนี สเปน และฝรั่งเศสรวมกัน หรือ 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าประเทศไทย 3 เท่า         - ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ประมาณ150,000-400,000 ตันต่อปี รองจากประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และศรีลังกา         - ประเทศไทยมีการผลิตและใช้ถุงพลาสติกกว่า 45,000 ล้านใบต่อปี         - ประเทศไทยในปี 2560 ปริมาณขยะพลาสติกประเภทถุงพลาสติกหูหิ้วเท่ากับ 517,054 ตัน แก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 241,233 ตัน หลอดพลาสติก 3,873 ตัน และกล่องโฟมบรรจุอาหาร 29,248 ตัน        - ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ของปริมาณขยะทั้งหมดหรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน ในจำนวนนี้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียงปีละ 0.5 ล้านตันหรือร้อยละ 25 ที่เหลืออีก 1.5 ล้านตันถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบหรือเผา บางส่วนตกค้างในสิ่งแวดล้อม        - 5 อันดับปากแม่น้ำที่มีปริมาณขยะลอยน้ำไหลลงทะเลมากที่สุดคือ แม่น้ำเจ้าพระยา 1,425 ตันต่อปี 137,452,011 ชิ้นต่อปี แม่น้ำท่าจีน 361 ตันต่อปี 13,504,287 ชิ้นต่อปี แม่น้ำแม่กลอง 173 ตันต่อปี 12,603,264 ตันต่อปี แม่น้ำบางปะกง 166 ตันต่อปี 6,630,835 ชิ้นต่อปี และแม่น้ำบางตะบูน (เป็นสาขาของแม่น้ำเพชรบุรี) 48 ตันต่อปี 3,055,653 ชิ้นต่อปี พลาสติกที่มองเห็นและมองไม่เห็น        ตัวเลขข้างต้นฉายให้เห็นวิกฤตขยะพลาสติกที่กำลังคุกคามโลกอย่างเงียบๆ และมันยังคุกคามสิ่งมีชีวิตในทะเลดังที่มักเห็นเป็นข่าวอยู่เสมอ เช่น การพบขยะพลาสติกในกระเพาะของวาฬ ปลอกพลาสติกที่รัดกระดองของเต่าทะเลจนผิดรูป ภาพของปลาที่ติดตายอยู่ในถุงพลาสติก เป็นต้น เหล่านี้เป็นตัวอย่างของปัญหาขยะพลาสติกที่จับต้องได้                  ทว่า ยังมีขยะพลาสติกอีกรูปแบบหนึ่งที่มองไม่เห็นและกำลังเป็นที่สนใจศึกษามากขึ้น มันถูกเรียกว่าไมโครพลาสติก มันคืออะไร                  ไมโครพลาสติกคือพลาสติกหรือเศษพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งแม้จะมีขนาดเล็กมากแล้ว แต่มันก็ยังเล็กได้อีกถึงระดับนาโนเมตร โดยเราสามารถแบ่งไมโครพลาสติกได้เป็น 2 ประเภทคือ Primary Microplastic หรือพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นมาให้มีขนาดเล็กตั้งแต่ต้น เช่น เม็ดพลาสติกที่เป็นวัสดุตั้งต้นของการผลิตพลาสติก หรือเม็ดพลาสติกที่อยู่ในเครื่องสำอางหรือไมโครบีดส์ ที่มักเรียกกันว่า เม็ดสครับ นอกจากนี้ ยังเกิดจากการถลอกหรือการขีดข่วนจากกระบวนการผลิตพลาสติกขนาดใหญ่ จากยางรถยนต์บนท้องถนน จนถึงเส้นใยสังเคราะห์จากเสื้อผ้า                  อีกชนิดคือ Secondary Microplastic หรือไมโครพลาสติกที่เกิดจากการหลุดลอก แตกหัก จากพลาสติกชนิดต่างๆ คงพอนึกภาพออก ถ้าทิ้งพลาสติกไว้กลางแจ้งนานๆ มันจะเกิดการล่อนและเปราะ จนแตกหักเป็นเศษพลาสติกได้       องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติได้ทำการศึกษาปริมาณ Primary Microplastics ในทะเลเมื่อปี 2560 พบว่า Primary Microplastics ถูกพบในแม่น้ำและทะเลทั่วโลกในรูปแบบขยะประมาณ 0.8-2.5 ล้านตันต่อปี โดยร้อยละ 98 ของปริมาณที่พบเกิดจากกิจกรรมทางบก โดย Primary Microplastics มากกว่าครึ่งที่ลงสู่ทะเลคือเส้นใยสังเคราะห์จากการซักล้างหรือไมโครไฟเบอร์ (นึกถึงเสื้อที่ทำจากใยสังเคราะห์ เมื่อใช้ไปนานๆ เราจะพบขุยผ้าเป็นเส้นใยเล็กๆ) ร้อยละ 34.8 และจากยางรถยนต์ที่สึกหรอขณะขับขี่ร้อยละ 28.3                  ขณะที่รายงานของ Eunomia ระบุว่า พบ Primary Microplastics ในทะเลประมาณ 0.95 ล้านตัน โดย 3 อันดับแรกคือยางรถยนต์ที่สึกหรอขณะขับขี่ เม็ดพลาสติก และเส้นใยสังเคราะห์ ส่วนเส้นทางที่นำพวกมันลงสู่ท้องทะเลเรียงจากมากที่สุดถึงน้อยที่สุดคือ จากการชะล้างถนน ระบบบำบัดน้ำเสีย และการพัดพาของลม Oxo ถุงไม่รักโลก          ยังมีแหล่งกำเนิดไมโครพลาสติกอีกประเภทที่ผู้บริโภคอาจไม่รู้ เพราะมันถูกเคลือบด้วยภาพลักษณ์ของการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยบอกว่าเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่                 ก่อนอื่นต้องจำแนกแยกแยะเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ปัจจุบันมีถุงพลาสติกเรียกว่า Biodegradable Plastic ซึ่งสามารถย่อยสลายทางชีวภาพตามธรรมชาติ เพราะใช้วัตถุดิบจากแป้งของอ้อย และมันสำปะหลัง และ Polybulyene succinate (PBS) ที่ดัดแปลงจากวัตถุดิบทางปิโตรเลียม กลุ่มนี้ไม่ใช่ปัญหา                  แต่มีพลาสติกอีกกลุ่มที่เรียกว่า Degradable Plastic ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายได้ มันเพียงแค่แตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ จนกลายเป็นไมโครพลาสติก หรือที่รู้จักกันในชื่อ Oxo-degradable หรือที่เรียกสั้นๆ ถุง Oxo เจ้าถุงพลาสติกชนิดนี้เองที่ถูกใช้ตามห้างสรรพสินค้าและประกาศตัวว่าเป็นถุงพลาสติกที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นอีกหนึ่งต้นตอของปัญหาไมโครพลาสติก ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า                  “ถุง Oxo ไม่ถูกยอมรับว่าเป็นอีดีพี (Environmentally Degradable Plastic: EDP) หรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ในสภาวะธรรมชาติ ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่า อีดีพี คือ พลาสติกที่ย่อยสลายได้ในทางชีวภาพซึ่งสามารถทำเป็นปุ๋ยได้ ต้องได้มาตรฐานการทำเป็นปุ๋ย ซึ่งถุง Oxo ไม่ผ่านมาตรฐานนี้ กระบวนการของมันคือการเติมสารเติมแต่งประเภทแป้งลงไปในเนื้อพลาสติก                 “ขณะที่ถุงพลาสติกที่ได้มาตรฐานทำปุ๋ยได้ มีผู้ผลิตอยู่ แต่ขายไม่ได้เพราะราคาแพงกว่าพลาสติกทั่วไป 3-4 เท่า ผู้ผลิตก็ส่งออก แต่เจ้า Oxo ที่บอกว่าเป็นถุงรักษ์โลก แพงกว่าพลาสติกทั่วไปประมาณร้อยละ 20 ทำให้ทุกคนมาซื้อ ซึ่งยิ่งเร่งให้เกิดไมโครพลาสติก เพราะมันแตกสลายเร็วกว่าพลาสติกทั่วไป” ไมโครพลาสติก จากทะเลถึงกระเพาะ                  คำถามก็คือทำไมเราจึงต้องใส่ใจกับปัญหาไมโครพลาสติก แค่ขยะพลาสติกอย่างเดียวก็ชวนปวดหัวแล้ว ที่ต้องใส่ใจก็เพราะมันเป็นพลาสติกที่กำจัดยาก ดร.สุจิตรา อธิบายว่า ถ้าไมโครพลาสติกลงไปในแหล่งน้ำหรือทะเลจะไม่สามารถบำบัดได้ เพราะมันมีขนาดเล็กมาก ล่องลอยอยู่ในมหาสมุทรทั่วโลก ถ้าจะเก็บมันขึ้นมาก็ต้องหาตะแกรงที่รูเล็กมากๆ มาตัก ซึ่งสัตว์ทะเลต่างๆ ก็จะถูกตักขึ้นมาด้วย มันจึงยากมากที่จะกำจัดไมโครพลาสติกในทะเล                  ที่สำคัญ ณ เวลานี้ มนุษย์โลกจำนวนหนึ่งมีไมโครพลาสติกอยู่ในร่างกายแล้ว นั่นอาจรวมถึงตัวเราด้วย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งกรุงเวียนนา (Medical University of Vienna) และสำนักสิ่งแวดล้อมของออสเตรีย ได้เก็บตัวอย่างอุจจาระของกลุ่มตัวอย่างไปทำการตรวจสอบและพบว่า ตัวอย่างอุจจาระทุกตัวอย่างของผู้เข้าร่วมการศึกษาพบพลาสติกที่แตกต่างกันถึง 9 ชนิด มีขนาดตั้งแต่ 50-500 ไมโครเมตร โดยพบโพลิโพรไพลีน (Polypropylene: PP) และโพลิเอทิลีน (Polyethylene Terephthalate: PET) มากที่สุด                  อีกงานวิจัยที่ศึกษาปัญหาขยะพลาสติกในทะเลยังพบด้วยว่า 3 ใน 4 ของปลาทะเลชนิดต่างๆ รวมทั้ง ปลาหมึก และปลากระโทงดาบที่ขายในตลาดทั่วโลกพบไมโครพลาสติกอยู่ภายใน              ถึงจุดนี้ คุณผู้อ่านคงเริ่มตกใจและสงสัยว่าเจ้าไมโครพลาสติกที่ว่ามันเข้าไปอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้อย่างไร ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตอบว่า เป็นไปได้ว่าเราอาจมีไมโครพลาสติกอยู่ในร่างกายอยู่แล้ว เนื่องจากไมโครพลาสติกมีแพร่กระจายอยู่ในธรรมชาติ แต่จุดที่ต้องให้ความสำคัญคือ ห่วงโซ่อาหาร หมายความว่าแพลงตอนหรือสัตว์ทะเลที่กินไมโครพลาสติกเข้าไป และถูกกินต่อมาเรื่อยๆ ตามห่วงโซ่อาหาร จนกระทั่งมันถูกจับขึ้นมาเป็นอาหารของมนุษย์ แล้วมนุษย์ก็กินทั้งเนื้อปลาและไมโครพลาสติกเข้าไปด้วย                  “การมีสารประกอบพลาสติกอยู่ในร่างกายก็ยังไม่มีใครชี้ชัดได้ว่าทำให้เกิดโรคอะไร เพียงแต่องค์การอนามัยโลกชี้ว่ามันมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรค ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถระบุฟันธงได้” ดร.ธรณ์ กล่าว                 แล้วเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็นของปริมาณไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำ ในสัตว์ หรือในร่างกายมนุษย์คือเท่าไหร่ ดร.ธรณ์ กล่าวว่า เนื่องจากเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ ยังอยู่ในช่วงการเร่งศึกษาเพื่อสร้างองค์ความรู้ ทำให้ยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานพอจะกำหนดได้                อย่างไรก็ตาม ดร.สุจิตราให้ข้อมูลว่า แม้ตัวพลาสติกไม่ใช่สารอันตรายเพราะเป็นโพลีเมอร์และมีความเฉื่อย แต่ผู้ผลิตพลาสติกมักจะใส่สารเติมแต่งลงไป ซึ่งสารบางตัวก็เป็นอันตราย อีกประการหนึ่งคือพลาสติกสามารถดูดซับมวลสารอื่นๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ เช่น โลหะหนัก สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน และนี่ทำให้มันเป็นตัวอันตราย ลด ละ เลิก และมาตรการต่างๆ                  ปลายปี 2561 คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกมีมติต่อร่างแผนพลาสติก 20 ปี ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้ปรับลดระยะเวลาในโร้ดแม็ปเป็น 13 ปี โดยกำหนดเป้าหมายในการลดเลิกใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกจำนวน 7 ประเภท                 Cap Seal หรือพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม, ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภท Oxo และไมโครบีสด์ จะเลิกใช้ในปี 2562               ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และหลอดพลาสติกจะเลิกการใช้ในปี 2565                  ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาว่าจะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ ดร.ธรณ์ กล่าวว่า                  “ผมคิดว่าในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ประเทศไทยค่อนข้างกระตือรือร้นกับขยะพลาสติกและขยะทะเล เราไปประกาศกับยูเอ็นว่าเราสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ มีการจัดประชุมระดับอาเซียนเมื่อเดือนมีนาคม เสนอประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นปฏิญญากรุงเทพ ต่อสู้กับขยะพลาสติกในทะเล แล้วก็จะเข้าที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนมิถุนายน บทบาทของส่วนกลางทั้งในระดับภูมิภาคและนานาประเทศ เราทำค่อนข้างเยอะ”                  แต่เพียงพอหรือไม่ที่จะยับยั้งปัญหาขยะพลาสติก ดร.สุจิตรา กล่าวว่า                      “ทางออกคือการลดตั้งแต่กระบวนการผลิตและการลดการบริโภค ถ้าให้ดีต้องออกกฎหมายให้ลดการใช้พลาสติกใหม่และส่งเสริมการใช้พลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) เพิ่มสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์ที่ต้นทาง อีกส่วนต้องลดการผลิตและบริโภคพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หามาตรการต่างๆ เช่นการเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม เพื่อลดทอนความต้องการพลาสติก                  “อีกด้านหนึ่ง รัฐต้องมีระบบการจัดการขยะที่ดี มีการแยกขยะที่ต้นทาง ขยะพลาสติกที่แยกได้นำกลับไปรีไซเคิล หรือนำไปผลิตสิ่งของต่างๆ ไปทำถนน เป้าหมาย คือ ลดการตกค้างของขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ข้อมูลการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลคาดการณ์จากระดับการจัดการขยะของประเทศที่ต้องทำให้ดีขึ้น ทำไมไทยติดอันดับ 6 ก็เพราะเรามีการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้องบนบกค่อนข้างเยอะ ขาดวินัยในการทิ้งขยะให้ลงถังและการแยกขยะ ทั้งที่จริงๆ แล้วเราผลิตขยะพลาสติกน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ในยุโรปหรือญี่ปุ่นสร้างขยะเยอะกว่าเรา แต่เขามีการแยกขยะ แล้วปลายทางก็เอาไปเผา ฝังกลบ ปรับวินัยของประชาชน จึงไม่มีหลุดรอดลงทะเลเท่าไหร่”                  แหล่งของขยะพลาสติกในทะเลมาจากบนบกถึงร้อยละ 80 ดังนั้น การจะลดปัญหาจึงต้องเริ่มตั้งแต่บนแผ่นดิน มาตรการทางเศรษฐศาสตร์อย่างการจัดเก็บภาษีผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าถุงพลาสติก และเพื่อให้มาตรการทางภาษีมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อัตราภาษีจะต้องถูกผ่องถ่ายจากผู้ผลิตไปยังผู้จัดจำหน่ายจนถึงผู้บริโภค หรือจัดเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ เช่น ค่าถุงพลาสติก เพื่อให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรม ควบคู่ไปกับการจัดการขยะที่ดีและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างจิตสำนึกแก่ผู้บริโภคให้เกิดการตระหนักรู้ว่าการบริโภคของตนส่งผลต่อโลกที่เราอยู่อย่างไร มูลนิธิโลกสีเขียวแนะใช้ชีวิตอย่างมีสติ ช่วยลดการใช้พลาสติก                  มูลนิธิโลกสีเขียวซึ่งทำงานด้านการให้การศึกษา เฝ้าระวังต้นน้ำ ชายหาด พบว่าปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่มาเนิ่นนาน มีการใช้พลาสติกสูงมากๆ นิตยา วงษ์สวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า                  “แต่ปัญหาไม่ลดลง มีแต่เพิ่มขึ้น ถามใคร ใครไม่รู้บ้างเรื่องปัญหาขยะพลาสติก แต่รู้แล้วยังไง จะทำอะไรต่อ เปลี่ยนแปลงตัวเองหรือไม่ ประกอบกับนโยบายก็ไม่ชัดเจนที่จะออกกฎกติกาในการทำให้ลดลง เป็นการขอความร่วมมือเสียส่วนใหญ่ เลยไม่ค่อยเห็นผลที่ชัดเจนมากนัก แต่มันก็อาจจะดีขึ้น เพราะห้างร้าน ร้านค้าปลีกก็เห็นความสำคัญ เริ่มทำด้วยตัวเอง แต่ถ้าภาครัฐออกมาชัดเจน มีการลดภาษีให้กับหน่วยงานที่ลดใช้ถุงพลาสติกก็จะช่วยได้เยอะ มันต้องนโยบายทั้งจูงใจและบังคับ                  “บางทีเรานึกภาพไม่ออกว่าขยะที่เราทิ้งมันไปสู่ทะเลได้ยังไง ลองนึกภาพว่าคนเมืองเอาขยะใส่ถุงพลาสติกมาทิ้งถังใหญ่ริมถนนเพื่อให้ กทม. มาจัดเก็บ แต่พอมันลับสายตาแล้ว มันไม่ได้ไปตามกระบวนการของมัน เช่น ถ้าเก็บไม่ดี ฝนตกมันก็หลุดร่วง หรือถังขยะล้ม ฝนก็ชะขยะลงท่อ บ้านเราไม่ได้มีการบำบัดทั้งหมด มันก็หลุดรอดลงทะเล               “เราต้องมีสติในการใช้ชีวิตประจำวัน มีถุงผ้า ขวดน้ำ กล่องข้าว ลดหลอด แต่ถ้าไม่สะดวกก็ต้องหาวิธีใช้ให้น้อยที่สุด ลองนับก็ได้ว่าวันหนึ่งผลิตขยะกี่ชิ้น”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 วิ่งยังไงไม่ให้ถูกเอาเปรียบและประหยัด

      ถ้าคุณเดินได้ คุณก็วิ่งได้ สโลแกนที่นักวิ่งมักพูดกันเป็นคติประจำใจ และถ้าคุณวิ่งได้ คุณก็มีโอกาสที่จะพิชิตระยะทาง 42.195 กิโลเมตรได้ถ้าซ้อมถึง        แน่นอนว่าการพิชิตมาราธอน ใช่ว่าคิดจะวิ่งก็วิ่งเลย แต่คุณต้องเข้าร่วมงานวิ่งที่มีการจัดการ ‘อย่างดี’ เพราะการจัดการอย่างดีจะช่วยให้คุณวิ่งได้อย่างปลอดภัย ถ้าวิ่งแล้วชนกำแพง(Hit the Wall) หมายถึงหมดแรงก่อนจะถึงเส้นชัยหรือบาดเจ็บระหว่างวิ่ง คุณสามารถรู้แน่ชัดว่าจะมีทีมพยาบาลมาคอยช่วยเหลือ        แต่ถ้าคุณโชคร้ายไปงานวิ่งที่การจัดการไม่ดี ความสนุกสนาน ความท้าทาย อาจกลายเป็นหนังคนละม้วน จนทำให้คุณรู้สึกว่าการจ่ายเงินเพื่อร่วมงานวิ่งครั้งนี้ช่างไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย เช่นข่าวที่เคยเกิดขึ้นกับงานวิ่งครั้งหนึ่งที่ไม่มีน้ำดื่มเพียงพอสำหรับนักวิ่ง หรือมีแม้กระทั่งนักวิ่งเสียชีวิตระหว่างการแข่งขัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะความปลอดภัยในระหว่างวิ่งถือเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ        ฉบับนี้ ‘ฉลาดซื้อ’ ชวนนักวิ่งให้ย้อนกลับมาดูตัวเองในฐานะ ‘ผู้บริโภค’ คนหนึ่งว่า เราควรเลือกงานวิ่งอย่างไรจะได้ไม่ถูกเอาเปรียบ และควรต้องมีอุปกรณ์ใดบ้างถึงจะพอดีกับตัวเรา ไม่มากเกินไปจนต้องจ่ายแพงเกินความจำเป็น เศรษฐศาสตร์งานวิ่ง        บทความเรื่อง ‘เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการจัดงานวิ่ง’ ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ศึกษาโดย ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้        ปี 2559-2560 พบว่ามีการจัดงานวิ่งทั่วประเทศ 1,305 รายการ เฉลี่ยเดือนละ 54 รายการ สัปดาห์ละ 12 รายการ จัดขึ้นเกือบครบทุกจังหวัดในประเทศ โดยเดือนที่มีการจัดงานวิ่งมากที่สุดคือเดือนธันวาคมและพฤษภาคม เดือนละประมาณ 160 รายการ วันที่มีการจัดงานวิ่งมากที่สุดคือวันอาทิตย์ มีจำนวน 940 รายการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71 ของงานวิ่งทั้งหมด        จังหวัดที่มีการจัดงานวิ่งมากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร จำนวน 386 รายการ เฉลี่ยเดือนละ 16 รายการ อันดับถัดๆ มาคือสกลนคร เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต และสงขลา ถ้าพิจารณาเฉพาะงานวิ่งที่จัดในกรุงเทพฯ สถานที่นิยมจัดงานวิ่งมากที่สุด 3 อันดับคือสวนลุมพินี, สวนหลวง ร.9 และสวนวชิรเบญจทัศหรือสวนรถไฟ        งานวิ่งส่วนใหญ่แบ่งการแข่งขันเป็น 4 รูปแบบคือ Fun Run เป็นการวิ่งเพื่อความสนุกสนานระยะทางประมาณ 3-5 กิโลเมตร, Mini Marathon ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร, Half Marathon ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร และ Full Marathon ระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร โดยค่าสมัครจะเพิ่มขึ้นตามระยะทาง ในช่วง 2 ปีที่เก็บข้อมูล ค่าเฉลี่ยของค่าสมัครในการวิ่งประเภท Fun Run อยู่ที่ 312 บาท Mini Marathon อยู่ที่ 365 บาท Half Marathon 583 บาท และ Full Marathon 841 บาท        บทความยังกล่าวอีกว่า กระแสงานวิ่งที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บวกกับกระแสการดูแลสุขภาพ งานวิ่งจะยังเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเก็บเกี่ยวผลกำไรได้ต่อไปในอนาคตประสบการณ์เลวร้ายจากงานวิ่ง        จากเว็บไซต์ positioningmag.com ระบุว่าปัจจุบันราคาเฉลี่ยต่องานวิ่งอยู่ที่ 500-900 บาท โดยรายได้หลังหักต้นทุนแล้วจะเหลือกำไรเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 50 เมื่อกำไรสูงเพียงนี้ นักวิ่งก็ควรได้รับบริการที่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป        “วิ่ง 21 กิโลเมตรครั้งแรก โฆษณาไว้ดีมาก แต่พอวันจริงพบว่าปล่อยตัวช้า น้ำหมดตั้งแต่กิโลเมตรแรก จนต้องซื้อน้ำข้างทางกิน ป้ายบอกทางไม่มี 21 กิโลต้องไปทางไหน 10 กิโลต้องไปทางไหน วิ่งกันตามมีตามเกิด หรือถ้าเจอจุดให้น้ำก็ไม่มีแก้ว ต้องใช้ปากหรือฝาขวดน้ำรองกิน ค่อนข้างเลวร้ายมาก        อีกงานเป็นงานที่จัดตอนกลางคืนอย่าง สตาร์วอร์ รัน เป็นงานในตำนานที่ทุกคนเจ็บปวด ราคาแพงมากเพราะไปซื้อลิขสิทธิ์การวิ่งจากต่างประเทศ แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาไม่คุ้มค่า ปล่อยตัวช้ามาก แทนที่จะเน้นกิมมิกที่โฆษณาไว้ตลอดเส้นทาง ไม่มี หรือมีแบบไม่ลงทุน เพราะไปลงทุนกับคอนเสิร์ตก่อนวิ่ง คอนเสิร์ตจบไปนานแล้วก็ยังไม่ปล่อยตัวเสียที บอกปล่อยตัว 4 ทุ่ม แต่ปล่อยจริงๆ อีก 15 นาทีเที่ยงคืน แล้วผู้จัดก็ไม่อธิบายอะไรเลย เหรียญที่ได้ก็ไม่ตรงกับที่โฆษณาจนมีการเรียกร้องให้เปลี่ยน เขาก็ทำใหม่ แต่ใช้เวลาค่อนข้างนาน และการเปลี่ยนก็ค่อนข้างจุกจิก ต้องรอเกือบ 2 เดือนกว่าจะได้เหรียญใหม่”        เรียกว่าเป็นประสบการณ์การวิ่งที่เลวร้ายที่นักวิ่งอย่างนลินี เรืองฤทธิศักดิ์ ต้องเจอ ในฐานะที่เริ่มวิ่งมาห้าหกปี เธอเตือนสตินักวิ่งหน้าใหม่(หรือแม้แต่หน้าเก่า) ว่าก่อนกดสมัครลงงานวิ่งใดๆ ควรตรวจสอบชื่อผู้จัดงานก่อน ถามว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้จัดงานเจ้าใดบริหารจัดการงานวิ่งได้ดี เธอตอบว่าปัจจุบันมีชุมชนของนักวิ่งตามเพจต่างๆ ที่มีการให้ข้อมูลและจัดอันดับงานวิ่งให้นักวิ่งเข้าไปศึกษาหาข้อมูล ซึ่งถือว่าช่วยให้ไม่พลาดท่าเสียทีได้พอสมควร        นลินียังแนะนำว่า นักวิ่งบางคนเลือกงานวิ่งจากความสวยงามของเสื้อและเหรียญรางวัล ซึ่งก็ไม่ผิด แต่อยากให้ดูรายละเอียดอื่นๆ ด้วย การจัดการงานวิ่งที่ดีมักให้ข้อมูลนักวิ่งไว้ค่อนข้างละเอียด ตั้งแต่เส้นทางวิ่ง จุดให้น้ำ จุดปฐมพยาบาล และควรเปรียบเทียบสถานที่กับจำนวนนักวิ่งว่าได้สัดส่วนเหมาะสมหรือไม่ เพราะสถานที่จัดงานจำกัด แต่มีนักวิ่งเข้าร่วมจำนวนมากอาจเกิดการเบียดเสียด ชน หรือล้ม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันได้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่นักวิ่งควรตรวจสอบก่อนการสมัคร        ความปลอดภัยคือสิ่งแรกที่งานวิ่งที่ดีต้องคำนึงถึง        ทีนี้มาลงรายละเอียดกันให้มากขึ้น คุณหมอนักวิ่งอย่าง นพ.ภัทรภณ อติเมธิน แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ประจำ Running Clinic โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ตอบเรื่องงานวิ่งที่ดีจาก 2 สถานะ คือนักวิ่งและแพทย์ ถ้าในฐานะนักวิ่ง สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการบริการน้ำ ความปลอดภัย การปิดถนนซึ่งอาจไม่ต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องปลอดภัย เพราะบางงานรถแล่นไปมาข้างๆ นักวิ่งก็มีให้เห็นมาแล้ว หรือบางงานมีเส้นทางวิ่งอยู่ใต้สะพานหรือใต้ทางด่วนซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างอึดอัด        “แต่ถ้าตอบในฐานะหมอ มันมีมาตรฐานงานวิ่งของสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations: IAAF) ซึ่งสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 คือทีมแพทย์ในงานวิ่ง ถ้าทีมแพทย์ไม่โอเค เขาก็จะไม่รับรองมาตรฐานให้ เพราะความปลอดภัยของนักวิ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เขามาวิ่งเพื่อสุขภาพ ไม่ได้วิ่งเพื่อมีความเสี่ยง แต่ในเมืองไทยของเราจะขาดเรื่องนี้ไปมากๆ”        นพ.ภัทรภณ กล่าวว่างานวิ่งในเมืองไทยมักจะเน้นผิดจุด คือไปเน้นที่อาหารหลังงานวิ่งเป็นหลัก ต่างจากงานวิ่งในต่างประเทศที่หลังวิ่งอาจมีแค่น้ำ เกลือแร่ กับแซนด์วิช 1 ชิ้นเท่านั้น งบประมาณที่เหลือจะไปทุ่มเทให้กับการบริหารจัดการต่างๆ ในระหว่างการวิ่ง การมีทีมปฐมพยาบาลและการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ        ทำไมต้องมีการติดต่อประสานงานที่มีประสิทธิภาพ?        ชลชัย อานามนารถ ผู้ช่วยคณบดีและอาจารย์ประจำวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล เฉลยว่า เพราะโดยทั่วไปหากว่ากันตามหลัก First Aid เมื่อเกิดเหตุใดๆ ขึ้น ทีมแพทย์ต้องสามารถเข้าถึงนักวิ่งได้ภายในเวลา 4 นาทีเพื่อให้ความช่วยเหลือและส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงที ดังนั้นงานวิ่งที่ดีจะต้องมีการวางแผนกำลังคนของทีมแพทย์อย่างรัดกุม        ความปลอดภัยของนักวิ่งจึงต้องมาก่อนอาหารที่หลากหลายและความเอร็ดอร่อย จากนั้นจึงมาดูที่การบริหารจัดการต่างๆ เช่น การรับสมัครที่สะดวก ไม่ยุ่งยาก การรับเสื้อและเบอร์วิ่งที่มีระบบ จุดฝากของมีหรือไม่ มีกี่จุด จุดจอดรถอยู่ตรงไหน ชลชัยแนะนำว่างานวิ่งที่มีการจัดการที่ดีมักบอกรายละเอียดเหล่านี้ให้นักวิ่งได้รับรู้ก่อนเสมอ        สายอุปกรณ์        เมื่อคุณวิ่งไปสักระยะหนึ่ง คุณน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘สายอุปกรณ์’ หมายถึงนักวิ่งที่จัดหนัก จัดเต็ม กับอุปกรณ์สารพัดอย่าง บางคนเกิดคำถามในใจว่าจำเป็นแค่ไหน หรือบางคนเห็นเพื่อนมีก็อยากมีบ้าง ต้องตอบว่าไม่มีคำตอบตายตัวสำหรับเรื่องนี้ เพราะด้านหนึ่งก็เป็นความพึงพอใจของนักวิ่งที่มีกำลังซื้อ คงห้ามปรามกันไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีแนวทางในการเลือกอุปกรณ์อยู่เลย        สิ่งที่ต้องใส่ใจเป็นอันดับแรกคือรองเท้า เพราะรองเท้าที่ดีช่วยลดอาการบาดเจ็บได้จริง นพ.ภัทรภณ กล่าวว่า แต่รองเท้าที่ดีของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ไม่มีรองเท้าใดที่ดีกับทุกคน เพราะสรีระรูปเท้า วิธีการวิ่งของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คำแนะนำที่ดีที่สุดในการเลือกซื้อรองเท้าคือให้ทดลองใส่วิ่งแล้วดูว่ารู้สึกสบายหรือไม่        “มีงานวิจัยว่ารองเท้าที่ช่วยลดอาการบาดเจ็บได้ดีที่สุดคือรองเท้าที่ใส่แล้วรู้สึกสบายที่สุด แค่นั้นเลยครับ แต่ที่บอกว่าเท้าแบน อุ้งเท้าสูง มันก็มีงานวิจัยที่รองรับแค่อย่างเดียวคือเท้าแบน ถ้าเท้าแบนแล้วใส่รองเท้าที่เรียกว่าโมชั่น คอนโทรล ล็อกข้อเท้าหน่อยกันไม่ให้เท้าล้ม อันนี้จะช่วยได้สำหรับคนที่เท้าแบน แต่รองเท้าพวกนี้ไม่ได้สวยมาก เทอะทะนิดหนึ่ง เวลาแนะนำคนไข้ผมก็จะบอกว่ารองเท้าอะไรก็ได้ แต่หาแผ่นรองที่ล็อกข้อเท้ามาใส่”        ถุงเท้า-เดี๋ยวนี้ถุงเท้าสำหรับนักวิ่งบางยี่ห้อราคาสูงถึงคู่ละ 500-600 บาท เช่นกัน มันเป็นเรื่องของกำลังซื้อและวัตถุประสงค์ในการวิ่ง คำแนะนำคือควรเลือกถุงเท้าที่ทำจากใยสังเคราะห์ที่ไม่อุ้มน้ำ ถ้าวิ่งระยะไกลหรือวิ่งเทรล(การวิ่งแบบผจญภัยบนพื้นที่ธรรมชาติ) ก็อาจเลือกถุงเท้าที่มีปุ่มบริเวณพื้นเท้าเพื่อป้องกันการลื่นซึ่งมีราคาสูง และถ้าคุณมีปัญหาเท้าพองระหว่างวิ่ง การซื้อถุงเท้าแบบแยกนิ้วก็จะช่วยได้        รองเท้ากับถุงเท้าน่าจะเป็นอุปกรณ์หลักๆ ที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ แล้วนอกนั้นล่ะ? คำตอบแบบกว้างๆ คือขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้วิ่ง        เสื้อ-กางเกงแบบรัดรูป เป้สะพายสำหรับใส่น้ำดื่ม นาฬิกาแบบสมาร์ท และอื่นๆ จำเป็นแค่ไหน เพราะถ้าใครเคยดูการแข่งขันวิ่งมาราธอนระดับโลก จะพบว่านักวิ่งระดับอีลีทก็ใส่เพียงเสื้อยืด กางเกงขาสั้น และรองเท้า...แค่นั้น ชลชัยมีคำแนะนำว่า การจะใช้อุปกรณ์ใดต้องย้อนกลับไปดูว่าเราวิ่งเพื่ออะไรและสภาพร่างกายของเราเป็นอย่างไร        “เช่นนักวิ่งมือใหม่ที่มีข้อจำกัดด้านสุขภาพ นาฬิกาแบบสมาร์ทก็ช่วยให้รู้อัตราการเต้นของหัวใจที่ไม่หนักเกินไป ถ้าเกินจะมีการร้องเตือน หรือถ้ามีน้ำหนักตัวเยอะ แต่ไม่ลงทุนกับรองเท้าเลยก็อาจทำให้เกิดปัญหากับหัวเข่า แต่ละคนมีเหตุผลที่ต่างกัน จุดแรกต้องดูก่อนว่าถ้าคุณมีข้อจำกัดด้านสุขภาพ มีความเสี่ยง คุณอาจต้องลงทุนในระดับหนึ่งเพื่อให้ตัวเองปลอดภัยมากขึ้น        ส่วนกลุ่มนักวิ่งที่จริงจังขึ้น ต้องการพัฒนาการวิ่ง ถ้าใส่รองเท้าธรรมดา คนที่ความเร็วเท่ากัน รองเท้าดีกว่าก็เซฟแรงมากกว่า หรือนาฬิกาแทนที่จะบอกแค่อัตราการเต้นของหัวใจ บอกแคลลอรี่ แต่สามารถบอกระยะทางได้ คุมฮาร์ทเรทโซนได้ บอกความเร็วเฉลี่ย ช่วงก้าวขวาซ้าย ทำให้ประสิทธิภาพการวิ่งดีขึ้น แต่ต้องใช้ให้เป็นนะ ถ้าใช้ไม่เป็นก็ซื้อแบบถูกๆ ก็เพียงพอ”        ส่วนชุดรัดกล้ามเนื้อ นพ.ภัทรภณ บอกว่าช่วยในเรื่องการฟื้นตัวหลังวิ่ง แต่ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการวิ่ง ไม่ได้ป้องกันอาการบาดเจ็บ จึงไม่จำเป็นต้องใส่        “แต่ใส่แล้วมีผลเสียอะไรมั้ย ก็ไม่มี ใส่ได้ เพราะทุกอย่างมันมีผลทางใจ ใส่แล้วรู้สึกโอเค ไม่มีผลเสียอะไร ส่วนอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ก็แล้วแต่คนว่าจะใส่เยอะขนาดไหน” เป็นคำตอบจากแพทย์ด้านการวิ่ง        ถึงตอนนี้ใครที่อยากวิ่ง อยากลงสนามก็คงจะพอเห็นแนวทางแล้วว่า จะตรวจสอบสนามแข่ง ตรวจสอบผู้จัดงานได้ที่ไหน อย่างไร ควรจะเลือกรองเท้า ถุงเท้าแบบไหน จะสวมใส่อุปกรณ์อะไรบ้าง ทั้งหมดคงต้องดูที่วัตถุประสงค์ว่าคุณวิ่งเพื่ออะไร มีงบประมาณเท่าไหร่ แล้วลองหาสิ่งที่ตอบโจทย์ให้ได้มากที่สุด        แล้วคุณจะมีความสุขกับการวิ่ง

อ่านเพิ่มเติม >