ฉบับที่ 235 เป็นไปได้ไหม เก็บภาษีเกลือ

หมอ ห่วงคนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึง 2 เท่า ทำเจ็บป่วย โรคเอ็นซีดีเพียบ ชี้การรณรงค์ ขอความร่วมมือลดเติมเกลือในอาหาร ยังไม่ได้ผล รอโควิดซาจ่อเก็บ “ภาษีโซเดียม” ยันทำเพื่อสุขภาพปัดหารายได้            ปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือกลุ่มโรคเอ็นซีดี ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม โดย ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์สาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มเปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยกินอาหารรสชาติค่อนข้างเค็มตอนนี้เกือบๆ 2 เท่าของความต้องการของร่างกาย หรือประมาณสูงถึง 4,351 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งจากการศึกษาทั่วประเทศพบว่ามีการบริโภคเค็มกันทุกภูมิภาค มากที่สุดคือภาคใต้ แต่สูงกว่ากันไม่มาก เช่น ประชากรจากภูมิภาคอื่นๆ บริโภคเค็ม 100 ส่วน ภาคใต้จะรับประทาน 110 ส่วน เป็นต้น         ทั้งนี้ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมที่อยู่ในอาหารธรรมชาติพบเล็กน้อยประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ข้าว ส่วนประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากเครื่องปรุงเช่น เครื่องปรุงที่มีความเค็มคือ เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่างๆ เกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ก็โซเดียมที่ไม่เค็ม ในรูปของผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ผงชูรส ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง เบเกอรี่ก็มีโซเดียมเช่นเดียวกัน         และจากการสำรวจของภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หรือการสำรวจของภาคเอกชน คือนีลสันพบข้อมูลตรงกันว่าคนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น จากเดิมประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ก็เพิ่มเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ มีการพึ่งพาอาหารจากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต อาหารข้างทาง ตามตลาดนัด ข้าวแกงและยังพบแนวโน้มรับประทานอาหารจานด่วน เช่น แฮมเบอร์เกอร์ ไส้กรอก พิซซ่า มากขึ้นด้วย        รวมถึงความนิยมอาหารญี่ปุ่น อาหารจีน ซึ่งมีรสชาติค่อนข้างเค็มมาก โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่นจะเค็มกว่าอาหารทั่วไป ตั้งแต่น้ำแกงราเมนที่ใส่ทั้งเกลือและซีอิ๊ว ซอสปรุงรสต่างๆ แถมยังรับประทานกับน้ำจิ้มอีก ทั้งหมดนี่คืออีกแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง ตลอดจนขนมกรุบกรอบที่เด็กรับประทาน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่ง 1 ซองมีปริมาณโซเดียมสูงเกินความต้องการของคน 2-3 เท่า เมื่อเทียบข้าว 2 จาน         ผศ.นพ.สุรศักดิ์ ระบุว่า จากพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนไทยที่กล่าวมานั้น เป็นแนวโน้มที่น่ากังวลส่งผลให้อัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น ทั้งความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ เบาหวาน ตลอดจนอัมพฤกษ์ อัมพาต ข้อมูลจากระทรวงสาธารณสุขพบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังสูงถึง 7,600,000 คน เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดปีละเกือบ 40,000 คน โรคอัมพฤกษ์อัมพาตมากกว่า 500,000 คน แนวโน้มการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ และไม่มีน้อยลงเลย         ที่น่าเป็นห่วงเพราะสังเกตว่าคนที่ป่วยด้วยโรคเหล่านี้อายุน้อยลงเรื่อยๆ จากเมื่อก่อนคนจะเริ่มป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่อายุ 30-35 ปี เป็นอายุกลางคนแล้ว โดยเริ่มความดันโลหิตสูง แต่ปัจจุบันวัยรุ่นพอเรียนจบความดันสูงน้ำหนักตัวเยอะ ยิ่งถ้าเราเริ่มกินเค็มแต่เด็กจะเป็นความดันโลหิตสูงเร็ว ไม่ถึง 20 ปี ก็เจอได้ ซึ่งที่ตนเคยเจออายุน้อยสุดคือ 18 ปี ทั้งนี้ไม่เกี่ยวว่าคนนั้นอ้วนหรือไม่อ้วน ทุกคนสามารถเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ หากรับประทานเค็มมากความดันก็สามารถขึ้นได้ แต่คนไข้ที่อ้วนมักพบว่ามีการกินหวานร่วมด้วย ยิ่งทั้งหวานทั้งเค็ม 2 อย่างก็จะอันตรายมากเข้าไปอีก         ผศ.นพ.สุรศักดิ์  ได้อธิบายกลไกการรับประทานอาหารที่มีความเค็ม มีโซเดียมสูงมีผลต่อการเกิดโรคว่า ความเค็มหรือโซเดียมจะก่อให้เกิดโรคอันดับแรกคือ โรคความดันสูง เพราะเวลากินเค็ม กินเกลือเข้าไปนั้น ธรรมชาติสร้างมาว่าต้องมีการขับออก ถ้าได้รับปริมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดอันตรายกับร่างกาย ดังนั้นเพื่อที่จะขับเกลือที่เกินความจำเป็นนั้นออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ เพราะฉะนั้นความเค็มจะไปกระตุ้นสมองและสั่งการให้เกิดกระหายน้ำ  และเมื่อน้ำกับเกลือรวมกันกลายเป็นน้ำเกลือ ซึ่งน้ำเกลือจะเป็นตัวนำพาเลือดภายในหลอดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย         ทั้งนี้กลไกของมันคือ เม็ดเลือดจะเดินทางไปไม่ได้ ถ้าไม่มีน้ำเกลือพาไป แต่ถ้าค่าน้ำเกลือมีปริมาณมากเกินไปแรงดันในหลอดเลือดก็จะสูงขึ้น เรียกว่าความดันโลหิตสูง จะส่งผลทำให้หลอดเลือดนั้นเสื่อมเร็ว หรือถ้าทนไม่ได้เส้นเลือดก็จะแตก เช่น เส้นเลือดสมองแตกเป็นอัมพาตไป บางคนเส้นเลือดเกิดการอักเสบ หรือทนแรงไม่ไหวก็จะเสื่อม มีหินปูนเกาะ มีไขมันคอเลสเตอรอลไปเกาะ เกิดการอุดตันได้ เกิดเป็นหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย และหากไตทำงานหนักมากๆ เพราะมีหน้าที่ขับเกลือออกทางปัสสาวะ ไตก็จะเสื่อมเร็วเพราะเหตุว่าไตมีหน้าที่กรองน้ำกับเกลือออกไป ซึ่งการขับสิ่งเหล่านี้จะต้องใช้แรงดันเลือดเข้าไป พอมีแรงดันมากๆ หลอดเลือดที่ไตก็จะเสื่อม เกิดไตเสื่อม ไตวายในอนาคต         เพราะฉะนั้นการรับประทานอาหารรสเค็มจะทำให้เป็นโรคความดันมาก่อน ตามมาด้วยไต โรคหัวใจ และอัมพาต และยังตามมาด้วยโรคเบาหวานอีกด้วย สังเกตว่าถ้าป่วยความดันสูง 4-5 ปี หรือเมื่ออายุมากขึ้นจะเป็นเบาหวานตามมา เพราะคนที่รับประทานเค็มมากมักจะรับประทานรสหวานด้วย มีน้ำหนักขึ้น เช่น เวลารับประทานขนมกรุบกรอบก็ต้องกินกับน้ำหวาน กินอะไรก็ตามอาจจะตามด้วยน้ำอัดลมจะทำให้น้ำหนักตัวเยอะ ตามด้วยเบาหวาน ความดัน โรคไต ตามมาเป็นตระกูล         ผศ.นพ.สุรศักดิ์  ย้ำว่า การรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็มต่อเนื่องกันเป็นเวลานานราวๆ 5 ปี 10 ปี มีโอกาสสูงที่จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตามถ้ารับประทานอาหารเค็ม แต่ก็รับประทานอย่างอื่น รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็จะช่วยได้บ้างแต่ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ บางคนรับประทานเค็มแล้วดื่มน้ำตามมากๆ ก็จะขับเกลือออกผ่านทางปัสสาวะ ขับออกจากร่างกายได้เร็วขึ้นแทนที่จะคั่งค้างในร่างกาย แต่ไตก็ยังทำงานหนักอยู่ดี หรือบางวันกินบุฟเฟ่ต์ มื้อต่อมาอาจจะรับประทานจืดลงหน่อย ไปวิ่งออกกำลังกาย ไปเข้าฟิตเนสประมาณ 45 นาที ก็จะช่วยขับเกลือออกทางเหงื่อได้         บางวันบางคนรับประทานผัก ซึ่งในอดีตคนจะรับประทานน้ำพริก และมีผักแนมเยอะๆ ซึ่งในผักจะมีสารโปรแตสเซียมช่วยในการขับเกลือส่วนเกินออกไปได้ดีขึ้นเช่นกัน ช่วยให้ป้องกันความดันโลหิตสูงได้ ดังนั้นในอดีต ชีวิตคนต่างจังหวัดจึงไม่ค่อยเป็นความดันโลหิตสูงมากนักเพราะรับประทานผักเยอะ อีกทั้งยังทำงานกลางแจ้งเสียเหงื่อเยอะความดันจึงไม่ค่อยขึ้น แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตคนเราเปลี่ยนไปเป็นชีวิตคนเมืองมากขึ้น ออกกำลังกายน้อยลงกินผักน้อยลงทำให้เป็นโรคสะสมโดยเฉพาะความดันโลหิตสูงโรคไตจะเข้ามาเยอะและอายุผู้ป่วยน้อยลงเรื่อยๆ          ผศ.นพ.สุรศักดิ์  บอกว่า เมื่อป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงแล้วหากไม่รักษา ใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี ก็จะเริ่มมีปัญหาโรคไต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับดีกรีด้วย ถ้าความดันโลหิตสูงมากก็มีโอกาสป่วยโรคไตเร็วขึ้น แต่ถ้าความดันโลหิตสูงน้อยหน่อยก็เป็นเป็นโรคไตช้า เช่น บางคนความดันโลหิตสูง 150 - 160  จะอยู่ได้ประมาณ 5 ปี ส่วนคนที่ 180 - 200 ภายใน 2-3 ปีก็เป็นโรคไตแล้ว ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความดันโลหิต         อย่างไรก็ตามสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ลดเค็ม ลดหวาน และออกกำลังกาย ถ้าน้ำหนักเยอะก็พยายามลดน้ำหนักลง และทานผักผลไม้เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยสร้างสมดุลเรื่องเกลือและไม่สูบบุหรี่ เลี่ยงยาที่ทำให้ไตเสื่อมเร็ว เช่น ยาชุด ยาแก้อักเสบ แก้ปวดข้อต่างๆ ซึ่งทำให้ไตเสื่อมเร็ว         หลายคนอาจจะเข้าใจว่าบุหรี่มีผลต่อโรคปอดอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วบุหรี่อันตรายมากกับทุกอวัยวะในร่างกาย ทำให้หลอดเลือดทั่วไปเสื่อมเร็ว เหมือนกับเวลาคนไข้ที่สูบบุหรี่มักจะเป็นโรคหัวใจเพราะหลอดเลือดหัวใจเสื่อม เป็นโรคไตก็เพราะหลอดเลือดไตเสื่อม โรคสมองก็เพราะบุหรี่ทำให้หลอดเลือดที่สมองเสื่อมและเป็นโรคปอดไปด้วย เพราะมีสารทำร้ายเนื้อเยื่อปอด เพราะฉะนั้นบุหรี่กับความเค็มมีความรุนแรงพอๆ กัน แต่ความเค็มยังพอมีวิธีแก้ด้วยการลดเค็ม แต่บุหรี่ไม่มีวิธีแก้เลย ต้องหยุดอย่างเดียว         ความเป็นไปได้ของการเก็บภาษีเกลือ         จากอันตรายที่มาจากการรับประทานอาหารที่มีความเค็ม หรือปริมาณโซเดียมสูง นำมาสู่ความพยายามผลักดันให้มีการออกกฎหมายเก็บภาษีโซเดียมขึ้นมา เรื่องนี้ ผศ.นพ.สุรศักดิ์  อธิบายว่า การรณรงค์ให้ประชากรลดการบริโภคเค็มถือว่ามีประโยชน์มาก ยกตัวอย่างที่ประเทศอังกฤษ ประเทศฟินแลนด์ มีการรณรงค์ทั่วประเทศให้ลดการบริโภคเค็มลดลง แค่ลดลงประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ก็มีผลทำให้ลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตได้มาก ในอังกฤษพบว่าการรณรงค์ระยะเวลา 10 ปี ประชาชนสามารถลดการบริโภคความเค็มลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ ส่งให้อัตราคนเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจลดลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ อัตราการเสียชีวิตลดลงชัดเจน         เพราะฉะนั้นการรณรงค์ก็มีความสำคัญ แต่การรณรงค์อย่างเดียวมักไม่ค่อยได้ผล เพราะธรรมชาติคนมักจะติดกับรสชาติ หากบอกว่าการรับประทานรสเค็มมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคไตในอีก 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นขอให้รับประทานรสจืดลงสักหน่อย แต่คนจะมองว่า “ฉันไม่เป็นหรอก ไม่กลัว อีกตั้งนานกว่าจะเป็น”  เพราะฉะนั้นการรณรงค์อย่างเดียวไม่ได้ประโยชน์ วิธีที่จะช่วยได้ ซึ่งในหลายประเทศทำอยู่ คือการปรับสิ่งแวดล้อมหรือปรับสูตรอาหาร ที่ขายในท้องตลาดให้มีความเค็มลดลง         ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ทำวิธีนี้เช่นกัน โดยการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจอาหารตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว ให้ช่วยลดปริมาณเกลือลงเพื่อทำให้ประชาชนสุขภาพดี อย่างน้อยคือ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่คนนิยมบริโภค มียอดจำหน่ายมากถึงวันละ  8 ล้านซอง ถ้าคนรับประทานวันละ 1 ซอง แสดงว่ามีคนรับประทานถึง 8 ล้านคน และคนเหล่านี้ก็คือคนที่ได้รับโซเดียมสูงมาก         เพราะฉะนั้น จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการลดเกลือในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลง เป็นการขอความร่วมมือ จะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ปรากฏว่าผู้ประกอบการลดปริมาณเกลือที่ใส่ได้น้อยมาก โดยให้เหตุผลว่าถ้าลดเกลือลงแล้วคนจะไม่ซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้ประกอบการทุกบริษัทลดเกลือลงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ทุกบริษัท คนก็จะต้องรับประทานของบริษัทที่เป็นเจ้าใหญ่อยู่แล้ว เพราะคนส่วนใหญ่ติดที่ยี่ห้อเดิม การลดปริมาณเกลือลง 5 เปอร์เซ็นต์ ลิ้นคนเราไม่สามารถจับได้         “ที่ผ่านมาเราขอให้เขาค่อยๆ ลดปริมาณเกลือลง ปีแรก 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งลิ้นคนเราจับรสชาติไม่ได้อยู่แล้ว หลังจากนั้นอีก 2 ปี ก็ขอให้ลดลงอีก 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ปรากฏว่าเขาทำไม่ได้ เพราะว่าต่างคนต่างไม่ยอมลด ก็เป็นที่มาว่าถ้าไม่ลดเกลือในอาหารลง ก็จะทำให้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนที่บริโภค เพราะฉะนั้นถ้าลดไม่ได้ก็ต้องเก็บภาษี เหมือนภาษีน้ำหวาน”         ผศ.นพ.สุรศักดิ์  ระบุว่า หลักการจัดเก็บภาษีโซเดียมนั้น ไม่ได้จะเก็บภาษีผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปทุกตัว แต่จะมีการกำหนดค่ามาตรฐานความเค็มเอาไว้ ผลิตภัณฑ์ใดที่มีความเค็มเกินเกณฑ์ที่กำหนดก็จะถูกเรียกเก็บภาษีดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันเมื่อดูจากข้อมูลผลิตภัณฑ์อาหารในท้องตลาดจะพบว่ามีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่จะโดนภาษี หรือคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 3 ใน 4 จะไม่โดน หลักคือกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กลุ่มโจ๊ก และขนมกรุบกรอบ         อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าการเก็บภาษีโซเดียมไม่ได้จะเก็บจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทุกตัว แต่จะเก็บเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีความเค็มเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ถ้าผู้ผลิตมีการปรับสูตรให้มีความเค็มเกินค่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ ก็จะไม่ถูกเก็บภาษีแต่อย่างใด แต่ถ้ามีคนกังวลว่าหากผู้ผลิตที่ถูกเก็บภาษี จะหันไปขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นั้น ส่วนที่ไม่ถูกเก็บภาษีก็จะราคาไม่แพง ดังนั้นถ้าดูตามพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ หรือประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ จะเลือกสินค้าตามราคา ตัวไหนราคาถูกก็จะซื้อตัวนั้น ดังนั้นผู้บริโภคก็มีทางเลือกว่าจะซื้อของที่มีราคาถูกและดีต่อสุขภาพ หรือว่าจะซื้อของแพงแถมยังเป็นภัยต่อสุขภาพ ผู้บริโภคมีสิทธิเลือก ทั้งนี้ไม่รวมเครื่องปรุงรส แต่อาจจะมีการออกคำเตือนเรื่องการบริโภคในปริมาณน้อยเพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง         เพราะฉะนั้นจะคัดค้านไม่ให้มีการเก็บภาษีดังกล่าวโดยอ้างว่าจะทำให้บะหมี่ราคาแพงขึ้นทั้งแผงคงไม่ถูกต้อง เป็นข้ออ้างที่จะบ่ายเบี่ยง แต่ถ้ามีการขึ้นราคาทั้งหมดเท่ากับว่าเป็นการฉวยโอกาสขึ้นราคาเพื่อทำกำไร ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องมาควบคุมราคาเพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภคได้         “การลดปริมาณเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ถ้าทำได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย เพราะไม่ต้องไปขึ้นราคา ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคเอ็นซีดี ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถเซฟค่าใช้จ่ายในการรักษาได้”         ทั้งนี้ มาตรการภาษีไม่ใช่ว่าบังคับใช้ทันที แต่จะบังคับใช้ใน 3 ปีข้างหน้า 5 ปีข้างหน้า เพราะเข้าใจดีว่าก็ต้องให้เวลาผู้ประกอบการในการปรับตัว โดยค่อยๆ ลดเกลือลงมา ซึ่งถ้าลดเกลือลงมาแล้วผลิตภัณฑ์มีความเค็มไม่เกินค่าที่ตั้งไว้ก็ไม่ต้องเสียภาษีอีก ดังนั้นถือว่ากระทบน้อยมากและนี่เป็นมาตรการที่ต่างประเทศ เช่น ฮังการี ใช้มาก่อนแล้วพบว่าได้ผลดี  สินค้าเกือบทั้งหมดลดปริมาณเกลือลงโดยที่ไม่ต้องไปขอร้องกันอีก ผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากการลดต้นทุน ไม่ต้องเสียภาษีและขายได้เยอะขึ้น เพราะราคาไม่แพง         สำหรับความคืบหน้าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทำความตกลงกับสภาอุตสาหกรรม กลุ่มผู้ผลิตอาหาร ประชุมกันมา 4-5 ครั้ง ดูแนวโน้มก็เข้าใจมากขึ้นว่าเราไม่ได้จะไปเก็บภาษีทั้งหมด ถ้าลดปริมาณเกลือลงมาก็จะไม่ถูกเก็บภาษี ข้อกำหนด หลักเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ได้มีการยกร่างเอาไว้หมดแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 จึงยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะออกมาตรการเก็บภาษีในช่วงนี้ รอให้สถานการณ์ดีขึ้นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้ประกอบการก่อน        โดยอยากจะทำความเข้าใจอีกครั้งว่าการลดการบริโภคเกลือลงนั้น  มีความสำคัญสำหรับประชาชน เพราะทำให้คนป่วยน้อยลง ค่าใช้จ่ายถูกลง ค่ารักษาพยาบาลน้อยลง ถ้าขอความร่วมมือทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตให้บริโภคเกลือน้อยลง โดยมีระบบจัดเก็บภาษีเป็นการโน้มน้าว หรือชักจูงให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคกินอาหารที่มีความเค็มลดลงเพื่อผลดีต่อสุขภาพ ไม่ได้มีเจตนาจะไปเก็บเงินหารายได้ต่างๆ ถ้าทุกอย่างคนกินจืดลง ผู้ผลิตผลิตอาหารจืดลง ภาษีนี้อาจจะไม่ต้องใช้ก็ได้ ไม่กระทบค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค คิดว่าเป็นมาตรการที่ทำให้สุขภาพของทุกคนดีขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ‘โควิด-19’ ภาพสะท้อนการจัดการขยะติดเชื้อของไทย

พอจะพูดได้ว่า เวลานี้เราผ่านช่วงตึงเครียดของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มาแล้ว มาตรการล็อคดาวน์ทยอยไขกุญแจออกทีละส่วน (แต่ทำไมไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน?) อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอก 2 ยังต้องเฝ้าระวัง กระทรวงสาธารณสุขย้ำเตือนบ่อยครั้งว่าการ์ดห้ามตก         ประเด็นที่ถูกพูดถึงไม่มากคือเรื่องขยะติดเชื้อ         ขยะติดเชื้อไม่ใช่ปัญหาใหม่ ตรงกันข้าม มันเป็นปัญหาที่หมักหมมมานานแรมปี ลองดูตัวเลขจาก ‘แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564)’ ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ระบุว่า ในปี 2557 มีมูลฝอยติดเชื้อทั่วประเทศประมาณ 52,147 ตัน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากปี 2553 ที่มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อเพียง 40,000 ตันเท่านั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 57 มาจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่อีกร้อยละ 43 มาจากโรงพยาบาลเอกชนและสถานบริการขนาดเล็ก ได้แก่ คลินิก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือสถานีอนามัย และสถานพยาบาลสัตว์        ตัวเลขที่ชวนให้ตั้งคำถามและเรียกร้องคำตอบจากภาครัฐอยู่ที่ว่า ในปี 2557 มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่ได้รับการจัดการอย่าง ‘ถูกต้อง’ โดยการเผาไม่น้อยกว่า 35,857 ตันต่อปี หรือร้อยละ 70 ของปริมาณขยะติดเชื้อทั้งหมด         ขยะติดเชื้ออีก 16,290 ตันไปไหน?         ล่วงเลยถึงปี 2563 ขยะติดเชื้อคาดได้ว่าเพิ่มปริมาณขึ้นจากเมื่อ 6 ปีก่อนแน่นอน การกำจัดอย่างถูกต้องรองรับได้แค่ไหน คงต้องบอกว่าเสียใจที่งานชิ้นนี้ไม่มีคำตอบให้ แต่เราจะพาไปสำรวจสถานการณ์ในปัจจุบัน ภาพจากอดีต และความคาดหวังเล็กๆ ในอนาคต         ปริมาณขยะติดเชื้อช่วงโควิด        กลางเดือนเมษายนเว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจสัมภาษณ์ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เนื้อหาช่วงหนึ่งระบุว่า กรมอนามัยได้เฝ้าระวังและติดตามสถานะการณ์ขยะติดเชื้อใน 2 กลุ่มเป้าหมาย         กลุ่มแรกคือผู้ป่วย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำให้จำนวนขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นในระบบของการรักษาพยาบาล พบว่าผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1 คนมีอัตราการเกิดมูลฝอยติดเชื้อประมาณ 2.85 กิโลกรัมต่อเตียงต่อวัน ส่งผลให้ประเทศต้องดูแลระบบติดเชื้อเพิ่มขึ้นในกลุ่มเป้าหมายนี้         กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่ถูกกักกันหรือการกักตัวเอง ซึ่งมีการกำจัดขยะแบบขยะติดเชื้อ เมื่อรวมขยะติดเชื้อของ 2 กลุ่มเป้าหมายนี้ถือว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้น         ด้าน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวผ่านเว็บไซต์ของทางสถาบันว่า ขยะติดเชื้อที่เกิดจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วทั่วประเทศมีประมาณ 1.5–2 ล้านชิ้นต่อวัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1.7 ตันต่อวัน เมื่อรวมขยะติดเชื้อที่รวบรวมได้จากสถานพยาบาลต่างๆ และนำไปกำจัดโดยเตาเผาที่มีประสิทธิภาพวันละ 50 ตัน ในขณะที่สภาวะปกติมีขยะติดเชื้อ 43 ตันต่อวัน          แต่ยังมีข้อมูลอีกชุดที่น่าสนใจ...         นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวกับ ‘ฉลาดซื้อ’ ว่า หลังจากมีสถานการณ์โควิด-19 ระบบติดตามขยะติดเชื้อในสถานบริการหรือหน่วยต่างๆ พบว่า โดยปกติก่อนมีสถานการณ์โควิด-19 ปริมาณที่มีการจัดการและกำจัดตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 3,900 ตันต่อเดือน แล้วมาขึ้นสูงช่วงที่มีการพบผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อวันที่ 12 มกราคม         “แล้วคงมีการตื่นตัว ระมัดระวังในการให้บริการกับผู้ป่วยมากขึ้นกว่าปกติ เพราะเดิมจาก 3,900 ตันต่อเดือนมันไหลลงมาอยู่เกือบ 3,700 ตันต่อเดือนแล้วก็กลับขึ้นไปประมาณ 4,000 ตันต่อเดือนอีกครั้งหนึ่งในเดือนมกราคม พอเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,600-3,700 ตันต่อเดือน         แต่ข้อมูลตรงนี้ผมอยากเรียนเป็นเปอร์เซ็นต์ให้เห็น ในเดือนกุมภาพันธ์ไม่ดูตามจำนวนยอดใหญ่ แต่ดูจากภาพรวมที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ปริมาณมูลฝอยขยะติดเชื้อลดลงจากฐานเดิมที่เคยมีอยู่ประมาณ 6.98 เปอร์เซ็นต์ เดือนมีนาคมลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 4.22 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของเดือนเมษายนและพฤษภาคมกำลังรวบรวมอยู่”         ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยนอกต่อเดือนจากเดือนตุลาคมถึงธันวาคมปี 2562 มีจำนวนประมาณ 26 ล้าน 28 ล้าน และ 30 ล้านครั้งต่อเดือน และขึ้นสูงสุดในช่วงเดือนมกราคมปีนี้ที่ประมาณ 31 ล้านครั้งต่อเดือน แต่พอเดือนกุมภาพันธ์ที่เริ่มมีมาตรการต่างๆ ออกมาบวกกับการปรับตัวของโรงพยาบาลเพื่อลดความแออัด เพราะเริ่มมีความกังวลว่าการไปรับบริการที่โรงพยาบาลอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะรับเชื้อ ทำให้ยอดผู้ป่วยนอกของเดือนกุมภาพันธ์ตกลงมาอยู่ประมาณ 26 ล้านครั้งต่อเดือน และ 23 ล้านครั้งต่อเดือนในเดือนมีนาคม ซึ่งจำนวนขยะติดเชื้อมีความสัมพันธ์กับจำนวนคนไข้ที่มาโรงพยาบาล         “ถ้าเป็นข้อมูลที่เราได้จากสถานบริการจะเป็นข้อมูลที่แม่นยำกว่าและมีระบบการรายงานในส่วนของการคาดการณ์ต่างๆ และตัวเลขจากห้องแล็บต่างๆ ที่มีมาในช่วงแรกๆ ยังไม่ค่อยสูงเท่าไหร่ โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ยังมีปริมาณการตรวจไม่มากนัก เนื่องจากห้องแล็บที่จะตรวจได้มีจำกัด แล้วตอนหลังก็มีการประเมินและให้ห้องแล็บโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลจังหวัดตรวจเพิ่มขึ้น ดังนั้นปริมาณของขยะติดเชื้อก็เป็นเรื่องของนิยามส่วนหนึ่งว่าอะไรก็แล้วแต่ที่มาจากห้องปฏิบัติการติดเชื้อก็ถือว่าเป็นมูลฝอยติดเชื้อด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นสูงในช่วงเดือนเมษายนเพราะว่าเริ่มตรวจเยอะขึ้นและห้องแล็บมีปริมาณเยอะขึ้น” นพ.ดนัย กล่าว          ว่าด้วย ‘นิยาม’ ขยะติดเชื้อ คืออะไรกันแน่?         นพ.ดนัย เอ่ยถึง ‘นิยาม’ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปริมาณขยะติดเชื้อ          “ในส่วนของครัวเรือนหลายคนอาจคิดว่าก็เป็นมูลฝอยติดเชื้อ แต่ในข้อเท็จจริงก็ไม่สามารถอธิบายได้ ผมเรียนว่า ถ้าเป็นการใส่หน้าอนามัยโดยบุคลากรทางการแพทย์หรือคนไข้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดเชื้อแล้ว ส่วนนี้ยังไงก็ต้องจัดการแบบมูลฝอยติดเชื้อ แต่กรณีการใส่หน้ากากอนามัยของบุคคลทั่วไปที่ยังไม่ได้ป่วย ถ้าจะให้คำจำกัดความว่าหน้ากากอนามัยเหล่านี้เป็นมูลฝอยเชื้อด้วย มันคงจะเป็นปริมาณมหาศาลและในเชิงระบบของเราก็ไม่สามารถรองรับได้ หมายความว่าทุกเคสที่เราวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโควิดหรือสงสัยว่าเป็น เราจะรับตัวไว้รักษาที่โรงพยาบาลและมีการตรวจ ดังนั้นข้อมูลขยะติดเชื้อจึงเป็นข้อมูลที่เกิดจากการให้บริการผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าป่วย สิ่งต่างๆ ที่เราใช้กับผู้ป่วยเหล่านี้ทุกอย่างจะถือว่าเป็นมูลฝอยติดเชื้อ”         ด้วยนิยามดังกล่าว ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อจะมากจริงหรือไม่ ต้องดูข้อมูลของผู้มารับบริการที่เป็นโควิด แต่ถ้าประชาชนทั่วไปขยะที่มาจากหน้ากากอนามัยถือว่าเป็นขยะทั่วไป ไม่ใช่ขยะติดเชื้อ เพียงแต่ถ้าจะให้เกิดความเหมาะสมก็ควรมีการคัดแยกและทิ้งให้เป็นสัดส่วน ส่วนการกำจัดก็ทำเหมือนขยะทั่วไป เพราะความเสี่ยงที่หน้ากากเหล่านี้จะสัมผัสกับเชื้อถ้าเทียบเคียงแล้วถือเป็นเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างน้อย         ถึงจุดนี้เราจะเห็นประเด็นปัญหาเรื่องนิยาม มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยมองว่าหน้ากากอนามัยที่ประชาชนทั่วไปใส่เป็นขยะติดเชื้อ แต่กรมอนามัยมองว่าไม่ใช่ ซึ่งเป็นหัวข้อที่ต้องถกเถียงอภิปรายกันขนานใหญ่ทีเดียว         ขณะที่ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เห็นว่าหน้ากากอนามัยที่ประชาชนใส่ก็ถือเป็นขยะติดเชื้อด้วย เธอกล่าวว่า         “ภายใต้สถานการณ์โควิดเกิดการตั้งคำถามว่าขยะติดเชื้อโดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ถุงมือ ขวดน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นมันเหมือนกับทั้งประเทศอยู่ในช่วงต้องตื่นตัว โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐก็จะตื่นตัวกับเรื่องนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไปได้สักพักหนึ่งกรมอนามัยก็มีหนังสือแนะนำแจ้งไปยังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกประเภท แล้วกรมส่งเสริมก็มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดของทุกจังหวัด จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดของทุกจังหวัดก็จะมีหนังสือแจ้งไปยัง อปท. ว่ากรมอนามัยได้มีข้อแนะนำมาอย่างนี้ๆ ในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ซึ่งก็เป็นคำแนะนำทั่วๆ ไป”         เพ็ญโฉมคิดว่า ถ้าพิจารณาถึงมาตรการในการรับมือและการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ซึ่งแตกต่างไปจากสถานการณ์ปกติ คำแนะนำดังกล่าวไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังไม่นับความใหญ่โตของระบบราชการที่ต้องส่งคำสั่งเป็นทอดๆ ที่อาจทำให้การรับมือล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น          อาการหมักหมมของปัญหาขยะติดเชื้อในไทย         “พูดถึงปัญหาการจัดการขยะติดเชื้อของบ้านเรา ซึ่งเป็นปัญหาเดิมอยู่แล้ว เท่าที่เราเคยสำรวจดูการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของบางพื้นที่ เราพบว่าระบบการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของโรงพยาบาลบางแห่งที่เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐานที่รับรองได้ว่าจะมีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปกติขยะติดเชื้อมีส่วนผสมหลายอย่างจะถูกส่งเข้าเตาเผา สิ่งที่กังวลมากเวลาเผาขยะติดเชื้อก็คือการปลดปล่อยสารไดออกซินสู่สิ่งแวดล้อม เพราะขั้นตอนที่จะสามารถกำจัดควันที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเผาต้องใช้อุณหภูมิประมาณ 1,000 องศาเซลเซียส แต่เราพบว่าการจัดการขยะติดเชื้อของบ้านเราหลายพื้นที่น่าจะยังไม่ได้มาตรฐานเรื่องการควบคุมมลพิษที่เกิดขึ้นจากการเผาวัสดุต่างๆ”          ปัญหาการจัดการขยะติดเชื้อประการที่ 2 เนื่องจากประเทศไทยมีคลินิกเอกชนกระจายอยู่ในทุกจังหวัด ต้องดูว่า อปท. ในแต่ละพื้นที่มีมาตรการเก็บขนและการกำจัดอย่างไร บางพื้นที่จะมีการจ้างบริษัทเอกชนให้เป็นผู้รับขยะติดเชื้อไปกำจัดในเตาเผา แต่จะขึ้นกับปริมาณขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นจากสถานพยาบาลแต่ละแห่งถ้าเป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ บริษัทเอกชนที่ให้บริการรับขนจะมาเก็บขนเป็นล็อตๆ แต่เนื่องจากว่าเรามีคลินิกเอกชนและสถานพยาบาลขนาดกลาง ขนาดเล็กทั่วประเทศ ตรงนี้ตรวจสอบไม่ได้เลยว่ามีการเก็บขนและกำจัดขยะติดเชื้ออย่างไร ทำให้มีข่าวว่ามีการทิ้งขยะติดเชื้อจากสถานพยาบาลบางแห่งปะปนกับขยะมูลฝอยจากชุมชนที่นำไปทิ้งตามหลุมฝังกลบของเทศบาลต่างๆ         “การเก็บขนขยะติดเชื้อจากสถานพยาบาลทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ของรัฐหรือของเอกชนทุกวันนี้ เราบอกไม่ได้ว่ามีการเก็บขนที่ครบถ้วนสมบูรณ์และนำไปสู่การจัดการที่ปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ ถ้ามองในเชิงสถานการณ์โควิค ปัญหาที่มีอยู่เดิมก็ยังไม่ดีขึ้น ปัญหาใหม่ก็ทับถมเข้ามา ถ้าพูดโดยสรุปคือการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของบ้านเรายังไม่อยู่ในภาวะที่สามารถรับมือและนำไปสู่มาตรการการเก็บขนและกำจัดได้อย่างมีมาตรฐานที่ปลอดภัยเพียงพอทั้งต่อคนและสิ่งแวดล้อม”          ความพยายาม         นพ.ดนัย กล่าวถึงปัญหาการกำจัดขยะติดเชื้อว่า ทางกรมอนามัยพยายามติดตามและดำเนินการอยู่โดยในอดีตขยะติดเชื้อสามารถกำจัดได้ด้วยเตาเผาขยะที่โรงพยาบาล แต่ 10 ถึง 20 ปีให้หลังมานี้ โรงพยาบาลของเราอยู่ในที่ชุมชน รวมถึงปริมาณขยะติดเชื้อก็เพิ่มปริมาณมากขึ้นจึงไม่สามารถเผาในโรงพยาบาลได้ อีกทั้งต้องเป็นเตาเผาคุณภาพสูงและเผาด้วยความร้อนสูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส ทำให้ต้องใช้การรวบรวมขยะติดเชื้อไปกำจัดในแหล่งที่ได้มาตรฐาน ซึ่งขณะนี้ไม่ได้มีทั่วไปในทุกจังหวัด         เหตุนี้จึงต้องใช้บริการเก็บขนจากบริษัทเอกชนที่มีอยู่ประมาณ 24 รายที่ไปรับจากโรงพยาบาลต่างๆ มาส่งยังแหล่งกำจัด 10 กว่าแห่งที่มีการดำเนินการ         “เรากำกับในส่วนของบริษัทเอกชนกับเตาเผาขยะโดยการใช้ระบบ Manifest Online ข้อมูลขยะติดเชื้อที่มีการเก็บมาจากโรงพยาบาลมีจำนวนเท่าไหร่และนำส่งไปที่เตาเผาจำนวนเท่าไหร่ ข้อมูลเหล่านี้จะต้องเชื่อมกัน ซึ่งตอนนี้สามารถดำเนินการได้ในระดับหนึ่งอาจจะยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็อยู่ในเป้าหมายที่เราดำเนินการได้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ และยังเหลืออีกจำนวนหนึ่งที่เรากำลังเร่งรัดให้มีการดำเนินการให้ถูกต้อง ซึ่งเรากำลังพัฒนาโปรแกรมอื่นๆ อยู่ซึ่งยังต้องลงทุนอีกเยอะ         มาตรการที่เราดำเนินการอยู่ตอนนี้ เราพยายามกำหนดบทบัญญัติต่างๆ ให้มีความรัดกุมมากขึ้นโดยมีมาตรการการกำจัดเก็บขนในการบังคับให้หน่วยต่างๆ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เรากำหนด แต่อาจจะมีผลบังคับใช้จริงภายในเดือนกันยายนปีนี้เพราะมีขั้นตอนในเชิงกฎหมาย และเรากำลังปรับปรุงระบบกำกับติดตามการขนส่งมูลฝอยติดเชื้อให้มีความทันสมัย สามารถติดตามดูว่ารถขนส่งมูลฝอยติดเชื้อจากแหล่งกําเนิดไปยังแหล่งกำจัดมีเส้นทางและมีการดำเนินการที่ถูกต้อง”          สร้างทางเลือกใหม่ๆ         1,000 องศาเซลเซียส คืออุณหภูมิที่เพียงพอจะกำจัดขยะติดเชื้อโดยไม่ปล่อยสารไดออกซินสู่สิ่งแวดล้อม แต่ ดร.สมไทย วงษ์พาณิชย์ ผู้ก่อตั้งโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ บอกกับเราว่า ขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลที่ส่งให้บริษัทที่รับอนุญาตนำไปกำจัดโดยการเผามี 2 ระบบคือ 400 องศาและ 800 องศา เพื่อเผาขี้เถ้าให้หมดสิ้นไปเป็นการจัดการที่ถูกวิธีเบื้องต้น         “แต่ขยะติดเชื้อที่อยู่นอกสถานพยาบาล ที่อยู่ในทุกหมู่บ้าน ทุกหน่วยงานราชการ มีการทิ้งปะปนไปกับขยะชุมชนเป็นสิ่งที่ต้องสนใจเฝ้าดูว่ามันจะอันตรายแพร่กระจายเชื้อได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราไม่ทราบ”         ดร.สมไทย มองปัญหาขยะติดเชื้อในไทยว่า กลไกและระเบียบของภาครัฐในการจัดการขยะติดเชื้อของไทยยังไม่ทันสมัย และเรายังไม่เคยมีความรอบรู้มาก่อนในกรณีมีภัยคุกคามจากโรคระบาดต่างๆ ว่าจะมีการป้องกันในระยะยาวอย่างไร         ส่วนการจัดการขยะติดเชื้อของ 20 กว่าบริษัทในไทย ก็ยังไม่สมบูรณ์ เพียงแค่จัดการได้เบื้องต้นเท่านั้น การตรวจเตาเผาขยะติดเชื้อที่ปลายปล่องต้องส่งไปตรวจยังต่างประเทศ ซึ่งเรายังไม่มีห้องปฏิบัติการเพียงพอสำหรับงานนี้         “ในเยอรมนี ฟินแลนด์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์จะไม่เผาขยะติดเชื้อ แต่ใช้วิธี steam ด้วยความร้อนสูงพันกว่าองศา ขยะที่ถูกฆ่าเชื้อและมีความเสถียรแล้ว เขานำมารีไซเคิลได้โดยไม่ต้องเผา นอกจากนี้ยังมีการทำบ่อซีเมนต์เป็นผนังคอนกรีตหนาที่ซีนแล้วไม่มีรั่วเลย เป็น secure landfill ซึ่งบริษัทในไทยที่รับจัดการขยะติดเชื้อยังไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้”         ด้านเพ็ญโฉมแสดงทัศนะว่า สิ่งที่พอจะเริ่มต้นได้ทันทีคือการรณรงค์และให้ความรู้แก่ประชาชนว่าขยะติดเชื้อคืออะไรและควรจัดการอย่างไร ในส่วนภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งกับหน่วยงาน องค์กร หรือบริษัทผู้ก่อมลพิษและประชาชน         โควิด-19 เป็นปัจจัยภายนอกที่แทรกซ้อนเข้ามาโดยไม่คาดคิด ตอกย้ำให้เห็นสถานการณ์และปัญหาการจัดการขยะติดเชื้อในไทย แน่นอนว่าด้วยพื้นที่อันจำกัดย่อมไม่สามารถฉายภาพทั้งหมดได้ แต่อย่างน้อยผู้บริโภคอย่างเราคงได้เห็นภาพคร่าวๆ และการแสวงหาความรู้และนำไปปฏิบัติของตัวเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทุเลาปัญหาได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ถอดบทเรียนการรักษาโควิด-19 ในไทย

        นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อปลายปี 2019 ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจากข้อมูลของกรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ติดเชื้อแล้วใน 211 ประเทศ โดยยอดป่วยสะสมอยู่ที่ 6,031,023 ราย เสียชีวิต 366,812 ราย (ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2563) แต่ก็ยังไม่มีที่ว่าการระบาดจะยุติในเร็ววัน นักวิชาการทางการแพทย์คาดการณ์ว่าทั่วโลกยังต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ไปจนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรค         ขณะนี้มีนักวิจัยในหลายประเทศกำลังเร่งมือพัฒนาทั้งวัคซีนป้องกันโรคและยารักษาออกมาใช้ หลายประเทศมีความคืบหน้าไปมาก แต่ก็ยังไม่มียาจำเพาะต่อการรักษาโควิด-19 โดยตรง ตอนนี้การรักษาโควิดจึงเป็นเรื่องของการศึกษาและปรับใช้สูตรยาสำหรับการรักษาโรคอื่นๆ มาใช้ในการรักษาโรคโควิด-19         สำหรับประเทศไทย (สัมภาษณ์เมื่อเดือน พฤษภาคม 2563) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้สรุปแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ที่ผ่านมามีรายงานข่าวเป็นระยะว่าประเทศต่างๆ มีการใช้ยาบางประเภทแล้วได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ซึ่งประเทศไทย โดยกรมการแพทย์ร่วมกับเครือข่ายโดยเฉพาะโรงเรียนแพทย์ อยู่ระหว่างการสรุปผลการรักษา ซึ่งจะมีการวิเคราะห์ ถอดบทเรียน และปรับแนวทางคำแนะนำที่เป็นมาตรฐานสำหรับประเทศไทยเป็นระยะ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากันอีกครั้ง โดยจะบวกกับข้อมูลในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้         อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้ ถ้าดูจากข้อมูลส่วนใหญ่ที่มาจากการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนหนึ่ง เบื้องต้นเฉพาะข้อมูลที่มีการสรุปตรงกันคือการรักษาจะไม่ใช่การใช้ยาตัวเดียว แต่ต้องเป็นสูตรผสมหรือยาสูตรคอคเทล ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าสูตรคอคเทลจะต้องเป็น สูตร 1. ยาต้านเอชไอวี 2 ตัวคือ “โลพินาเวียร์ (lopinavir)” กับ “ริโทนาเวียร์ (ritronavir)  บวกกับยาตัวที่ 3 คือยาต้านไวรัส “ฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir)” หรือสูตร 2.ยาต้านเอชไอวี 2 ตัวคือ “โลพินาเวียร์” กับ “ริโทนาเวียร์ บวกกับยาตัวที่ 3 คือยาต้านไวรัส “โอเซลทรามิเวียร์ (Oseltamivir)”        หากจำได้จะมีเคสผู้ป่วยชาวจีนที่เข้ารับการรักษาที่รพ.ราชวิถี ซึ่งเคยมีคนบอกว่าใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล แต่ปรากฏว่าถ้าให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี 2 ตัว บวกกับยาฟาวิพิราเวียร์ หรือบวกกับยาโอเซลทรามิเวียร์ ตัวใดตัวหนึ่งได้ผล ทำให้ผู้ป่วยนอนรพ.สั้นลง เฉลี่ยผู้ป่วยจะนอนรพ.ประมาณ 8-9 วัน ถ้าเทียบกับการให้ยาต้านเอชไอวี บวกกับยา “คลอโรควินฟอสเฟต (chloroquine phosphate)  หรือ ยารักษาโรคมาลาเรีย ไฮดร็อกซี่คลอโรควิน (Hydroxychloroquine) ผู้ป่วยจะนอนรพ.เฉลี่ย 13 วัน ซึ่งขณะนี้มีรายงานว่าองค์การอนามัยโลกได้ให้ยกเลิกการใช้ไปแล้ว        อย่างไรก็ตาม การให้ยาคอกเทลสูตรยาต้านไวรัสเอชวี 2 ตัวบวกตัวที่ 3 เป็นโอเซลทรามิเวียร์ นั้นได้ให้เฉพาะผู้ป่วยชาวจีนที่รพ.ราชวิถีเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นมาตรฐาน ตอนนี้จึงมีเพียงสูตรที่ให้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นตัวที่ 3 เท่านั้น ที่ผ่านมาเราจะให้ฟาวิพิราเวียร์เฉพาะในผู้ป่วยอาการหนัก แต่ก็มีการปรับมาเป็นการให้ในผู้ป่วยที่เริ่มมีภาวะปอดอักเสบทุกราย และกำลังพิจารณาอยู่ว่าจำเป็นต้องให้ในผู้ป่วยโควิดที่เริ่มมีอาการเลยหรือไม่          นพ.สมศักดิ์ บอกด้วยว่าที่ผ่านมามีการใช้ยาอีกหลายตัว เช่น อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะช่วยอะไร ส่วน ยาต้าน “ไซโตไคน์ สตอร์ม (cytokine storm)” ก็ยังมีการใช้เพียงบางรายเท่านั้น อีกวิธีหนึ่งคือการใช้พลาสมาของผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว แต่เพิ่งมาเริ่มเก็บพลาสมาในระยะหลังที่ผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยน้อยลงแล้ว ทำให้มีการนำไปใช้จริงในผู้ป่วยไม่กี่รายเท่านั้น จึงยังบอกอะไรไม่ได้         อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าร่วมกับองค์การอนามัยโลกในโครงการทดลอง โซลิดาริที ไทรอัล (Solidarity Trial) ร่วมกับอีกประมาณ 30 ประเทศ ในการทดลองยาแต่ละสูตร ประมาณ 4-5 สูตร อาทิ  ยาเรมเดซิเวียร์" (Remdesivir) ซึ่งได้มีการทดลองใช้ในประเทศอื่นบ้าง หรือยาไซโตไคน์สตอม หน่วยงานหลักๆ ที่เข้าร่วมน่าจะมีทั้งโรงเรียนแพทย์ รพ.ราชวิถี รพ.ทรวงอก และน่าจะมีรพ.บำราศนราดูรด้วย อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วยและต้องอยู่ที่ความสมัครใจของผู้ป่วยด้วย         อีกด้านหนึ่ง คือสถาบันบำราศนราดูร ซึ่งเป็น รพ.เฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อฯ ที่รับส่งต่อผู้ป่วยโควิดอาการหนักจากทุกจังหวัด โดย นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผอ.สถาบันบำราศราดูร ฝ่ายควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ได้ถอดบทเรียนการรักษาผู้ป่วยโควิด -19 ก่อนการระบาดระลอกแรกจะคลี่คลายว่า ที่สถาบันมีผู้ป่วยทุกประเภทกว่า 200 ราย อายุต่ำสุดคือทารกวัย 47 วัน และสูงสุดอายุ 83 ปี ช่วงอายุที่พบมากสุดคือ 21-30 ปี เป็นชาย 60% หญิง 40% ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 90% อีก 10% เป็นชาวต่างชาติ มากที่สุดคือชาวจีนประมาณ 8% อีก 2% คือชาติอื่นๆ โดยเฉลี่ยผู้ป่วยนอนรพ. 2 สัปดาห์         สำหรับกลุ่มอาการของโรคมี 4 ลักษณะตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก คือ         อาการน้อยสุดหรือไข้หวัดพบ 60% รองลงมาคือปอดอักเสบเล็กน้อย 21%  ปอดอักเสบรุนแรง 13% และปอดอักเสบและระบบหายใจล้มเหลว ADRS 6%         เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขผู้ป่วยหนักทั่วประเทศไทยและทั่วโลก จะอยู่ที่ 3% แต่สถาบันบำราศฯ รับส่งต่อผู้ป่วยมาจากรพ.ทั่วประเทศจึงทำให้มีจำนวนผู้ป่วยหนักสูงถึง 6% หรือคิดเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยผู้ป่วยหนักทั่วโลก         ทั้งนี้ถ้าผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง เมื่อเข้ารับการรักษาจากบวกจะกลายเป็นลบใช้เวลาเฉลี่ย10 วัน ส่วนกลุ่มอื่นๆ ประมาณ 12 วัน ดังนั้นเฉลี่ย 10-12 วัน สำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ออกซิเจนช่วยหายใจมีอยู่ 10% โดยบางคนต้องให้ออกซิเจนความเร็วสูง และบางส่วนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเพราะหายใจเองไม่ได้          ส่วนยารักษานั้น ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องได้รับยาเหมือนกัน คนที่มีแค่อาการไข้หวัดก็ไม่จำเป็นต้องได้รับยา แค่สังเกตอาการก็เพียงพอ โดยกลุ่มนี้คิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด         เนื่องจากสถาบันบำราศฯ เป็นสถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยรายแรกๆ ของประเทศ ในขณะที่ข้อมูลการรักษามีน้อยมาก แนวทางการรักษาก็ยังไม่มี จึงต้องมีการศึกษางานวิจัยของต่างประเทศและ ใช้ความรู้ที่มีอยู่ทบทวนและประชุมทีมแพทย์ สร้างสูตรยาให้กับผู้ป่วย โดยมี 3 กลุ่ม คือ 1. ยาต้านไวรัสเอชไอวี 2. ยารักษาโรคมาลาเรีย ข้ออักเสบรูมาตอยด์ และ 3. ยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์          ต่อมาหลังจากที่เริ่มมีผู้ป่วยหนักเมื่อเดือน ก.พ. ก็ประสานนำเข้า “ยาเรมดิสซีเวีย” ชนิดฉีดตัวแรกเข้ามาใช้กับผู้ป่วยวิกฤตที่ไม่สามารถรับยาด้วยการกินได้         ที่สำคัญยังได้สร้างกรอบการรักษาใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย เช่น นำยาลดการอักเสบกลุ่มที่ลดสารเคมี “ไซโตไคม์” ในร่างกาย ซึ่งเกิดในผู้ป่วยวิกฤต ระบบการหายใจล้มเหลว รวมถึงความพยายามในการนำพลาสมาของผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วมารักษาผู้ป่วยใหม่ การใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (Extracorporeal membrane oxygenation : ECMO) ทำให้ภาพรวมการรักษาหายสูง อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1.8 % ในขณะที่ภาพรวมของโลกอยู่ที่ 7%         มาต่อที่ความพยายามในการพัฒนายาและวัคซีนของไทย จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าในส่วนของการพัฒนาวัคซีนมีหลายหน่วยงานที่เริ่มเดินหน้า และที่มีความคืบหน้าไปมากคือการวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย “ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม” ผอ.พัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า จุฬาฯ ได้เลือกเทคโนโลยี mRNA ที่ใช้เอสโปรตีน (s protein) ทั้งตัว จากการทดลองในหนูพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ผลดี และเริ่มฉีดให้กับสัตว์ใหญ่ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะรอประมาณ 4-6 สัปดาห์ถึงจะเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันโควิด-19 อีกครั้ง          หากได้ผลดีก็จะเริ่มทดลองในมนุษย์ โดยแบ่งออกเป็น 3 เฟส         เฟสแรกเป็นกลุ่มอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อฯ ต่ำ ประมาณ 100 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ 10-15 คน โดยให้วัคซีนในโดสที่แตกต่างกัน แบ่งเป็นขนาดสูง กลาง ต่ำ         เฟสที่ 2 เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่มีทั้งความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโคโรนา 2019 สูง และต่ำ ประมาณ 500 กว่าคน         และเฟสที่ 3 ใช้อาสาสมัครที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง และบางส่วนต้องใช้อาสาสมัครที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อด้วย โดยใช้อาสาสมัครประมาณหลักพันคน          อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ได้ประสานโรงงานผลิตวัคซีน mRNA 2 แห่ง คือ บริษัทไบโอเนท สหรัฐอเมริกา และไบโอเนทเยอรมัน เพื่อผลิตวัคซีนจำนวน 10,000 โดส สำหรับใช้ในการทดลองในกลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้ต่อไป  หากได้ผลดีจริงคาดว่าจะสามารถทดลองในคนได้ราวเดือนพฤศจิกายน 2563 และถ้าได้ผลดีตามแผนที่วางไว้ประเทศไทยจะสามารถผลิตวัคซีนได้เองราวปลายปี 2564           ขณะที่ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม ได้เปิดเผยถึงความร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบ โดยให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้นแบบ 2 ชนิด คือชนิดวัคซีนอนุภาคเหมือนไวรัส (Virus-like particle) โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และชนิดวัคซีนโปรตีนซับยูนิต (Subunit vaccine) โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งวัคซีนทั้ง 2 ชนิดใช้เทคโนโลยีการใช้เซลล์เพาะเลี้ยง ซึ่งหากวัคซีนต้นแบบสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองได้ อภ.จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาเพื่อพัฒนาต่อในการขยายขนาดการผลิตเป็นวัคซีนตามมาตรฐาน GMP สำหรับใช้ในการทดสอบทางคลินิกต่อไป         นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) เพื่อวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิดเชื้อตายจากการตัดต่อยีนของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ SARS-CoV2 เข้าไปในยีนของไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Inactivated influenza virus-based COVID-19 vaccine) เพื่อเป็นเชื้อไวรัสตั้งต้น หากสำเร็จจะนำเชื้อไวรัสตั้งต้นนี้ผลิตเป็นวัคซีนโดยใช้เทคโนโลยีการใช้ไข่ไก่ฟักของอภ. ที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่อยู่เดิม เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาทางคลินิกต่อไป โดยคาดว่าจะทราบผลเบื้องต้นของการวิจัยพัฒนาวัคซีนทั้ง 3 ชนิดในปลายปี 2563          ส่วนเรื่องการสำรองยาไว้รักษาโรคนั้น “ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฏกกุล” ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม ระบุว่าได้สำรองยาที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคโควิด-19 รวม 7 รายการ  คือ        1.ยาคลอโรควิน        2.ยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรผสมโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์        3.ยาต้านไวรัสเอชไอวีดารุนาเวียร์        4.ยาต้านไวรัสเอชไอวีริโทนาเวียร์        5.ยาอะซิโทรมัยซิน          6.ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน และ        7. ยาฟาร์วิพิราเวียร์         ภญ.นันทกาญจน์ บอกอีกว่ายังอยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนายาฟาร์วิพิราเวียร์ โดยนำเข้าวัตถุดิบมาพัฒนาเป็นยาเม็ดผลิตขึ้นเอง คาดว่าจะผลิตกึ่งอุตสาหกรรมได้ในต้นปี 2564 ก่อนศึกษาการคงตัวและการละลายของยาเปรียบเทียบกับยาต้นแบบ นำไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมประสิทธิผลด้านชีวสมมูลต่อในกลุ่มอาสาสมัคร และคาดว่าปลายปี 2564 น่าจะพร้อมยื่นขอขึ้นทะเบียนยา และผลิตได้ต้นปี 2565             สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้น ขณะนี้มีหลายประเทศพัฒนา ทั้งจีน ยุโรป อเมริกา ส่วนไทยเองมีหลายหน่วยงานที่อยู่ระหว่างการพัฒนา อาทิ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ยังเตรียมความพร้อมและเตรียมเข้ามาประเมินความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ ว่ามีความสามารถในการผลิตวัคซีนหรือไม่ อย่างไร โดยการผลิตอาจจะเป็นการซื้อวัตถุดิบมาแบ่งบรรจุ หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศผู้พัฒนาก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 ชั่งน้ำหนัก CPTPP สิ่งที่เราจะได้และสิ่งที่เราจะสูญเสีย

ช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกล็อกดาวน์ภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ท่ามกลางความนิ่งงันจากการกักตัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และการเยียวยาที่ล่าช้า ไม่ทั่วถึงและแสนวุ่นวาย รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา นำโดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ มีความพยายามจะผลักดันประเทศไทยเข้าร่วมข้อตกลงเขตการค้าเสรี CPTPP จนเกิดกระแสคัดค้านรุนแรงจากหลายภาคส่วน         CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งเป็นข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าและบริการฉบับหนึ่งที่เริ่มต้นจาก Trans-Pacific Partnership หรือ TPP หรือความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ เวียดนาม และญี่ปุ่น ณ เวลานั้น ประเทศไทยก็แสดงท่าทีสนใจเข้าร่วม TPP อยู่ก่อนแล้ว         ทว่า ภายหลังที่โดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาก็ประกาศถอนตัวออกจาก TPP ทำให้ 11 ประเทศที่เหลือตัดสินใจเดินหน้าต่อเป็น CPTPP แม้จะไม่มีสหรัฐฯ เข้าร่วม ซึ่งก็ทำให้ขนาดตลาดหายไปอย่างมีนัยสำคัญ         เช่นเดียวกับทุกเรื่องบนโลก มักมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย CPTPP มีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน เพียงแต่ฝั่งคัดค้านเสียงดังไม่ใช่น้อย ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้ ชวนสำรวจสิ่งที่เราจะได้และสิ่งที่เราจะเสียหากเข้าร่วม CPTPP  ‘สมคิด’ หัวขบวนดันไทยเข้า CPTPP         สมาชิก CPTPP ทั้ง 11 ประเทศร่วมลงนามข้อตกลงนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 และจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อสมาชิกกึ่งหนึ่งให้สัตยาบัน  CPTPP มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม เมื่อเม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม ให้สัตยาบัน         ขนาดเศรษฐกิจของสมาชิกทั้ง 11 ประเทศมีมูลค่าคิดเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีกว่า 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 13 ของจีดีพีของทั้งโลก มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน  ปี 2562 ประเทศไทยมีการค้าขายกับประเทศใน CPTPP ถึง 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 29 ของการค้ารวมของไทย         ตัวเลขดังกล่าวเย้ายวนมากในมิติทางเศรษฐกิจ ทำให้ 13 กุมภาพันธ์ 2563 สมคิดในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) มีมติให้กระทรวงพาณิชย์สรุปผลการศึกษา หารือ และการรับฟังความเห็น นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาเข้าร่วม CPTPP ในเดือนเมษายน 2563 ก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีของสมาชิก CPTPP ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ที่เม็กซิโก ซึ่งจะมีการหารือเรื่องการรับประเทศสมาชิกใหม่         แต่การเสนอเรื่องเข้าสู่ ครม. ก็ยืดเยื้อออกไป เมื่อทางจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไม่นำเรื่องนี้เข้า ครม. โดยให้เหตุผลว่าจะไม่เสนอเรื่องนี้จนกว่าสังคมจะมีความเห็นต่อ CPTPP ไปในทิศทางเดียวกัน         ฟากอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ออกมาคัดค้านเรื่องนี้เช่นกัน เพราะเห็นว่าจะกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ ทำให้ CPTPP กลายเป็นปัญหาการเมืองในซีกรัฐบาลที่ยังไม่ลงตัว  ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจจาก CPTPP         แล้วไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการเข้าร่วม CPTPP?         แน่นอนว่าเหตุผลของสมคิดและกระทรวงพาณิชย์คือผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การศึกษาของกระทรวงพาณิชย์แสดงให้เห็นว่า หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้จีดีพีของไทยขยายตัวร้อยละ 0.12 หรือ 13,320 ล้านบาท การลงทุนขยายตัวร้อยละ 5.14 คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาท         ในทางตรงกันข้าม หากไทยไม่เข้าร่วม จีดีพีของไทยจะได้รับผลกระทบ 26,600 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.25 และกระทบต่อการลงทุน 14,270 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.49 ทั้งยังอาจทำให้ไทยเสียโอกาสในการขยายการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคเมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามและสิงคโปร์ โดยในปี 2558-2562 ทั้งสองประเทศส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.85 และ 9.92 ตามลำดับ ส่วนไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 3.23         ด้านมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้า ปี 2562 เวียดนามมีมูลค่า 16,940 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สิงคโปร์ 63,934 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ไทยมีเพียง 9,010 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น         ทั้งนี้กลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการส่งออกไปยัง CPTPP ของไทย ได้แก่ กลุ่มธัญพืชและของปรุงแต่ง เครื่องแต่งกาย เครื่องสูบของเหลว เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ยานยนต์ เครื่องหนังและรองเท้า น้ำตาลและขนม ในด้านการบริการและการลงทุนจะได้ประโยชน์จากการประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว         ประเด็นที่ต้องตั้งคำถามต่อข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์คือ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นจริงแค่ไหน         เรื่องนี้ อาชนัน เกาะไพบูลย์ คลัสเตอร์วิจัยความสามารถในการแข่งขัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับว๊อยซ์ทีวีไว้น่าสนใจว่า 11 ประเทศสมาชิก CPTPP มีเพียงชิลี เม็กซิโก และแคนาดาเท่านั้น ที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย หากทำข้อตกลงการค้าเสรีเพิ่มกับ 3 ประเทศดังกล่าว การส่งออกของไทยจะได้รับผลเพียงร้อยละ 2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดเท่านั้น          นอกจากนี้ จากข้อตกลงการค้าเสรีที่ไทยมีอยู่แล้ว กลับพบว่าภาคส่งออกของไทยใช้ประโยชน์แค่ร้อยละ 30 ของการส่งออกเท่านั้น ทั้งยังกระจุกในกลุ่มสินค้าไม่กี่สิบรายการจากการส่งออกสินค้าของไทยทั้งหมดกว่า 2,000 รายการ         ด้านการลงทุนที่เปรียบเทียบกับเวียดนาม อาชนันกล่าวว่า เป็นเพราะเวียดนามมีปัจจัยอื่นๆ ที่ดึงดูดการลงทุน เช่น นโยบายเปิดรับการลงทุน การมีแรงงานอย่างเพียงพอ และความมั่นคงทางการเมือง จุดสำคัญคือที่ผ่านมาการค้าการลงทุนไทยไม่ได้ขยายตัวจากการที่ไทยมีเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ มากนัก             อีกประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์ดูเหมือนจะหลงลืมไปก็คือ ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดในขณะนี้ ทำให้ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าอนาคตหลังโควิด-19 ห่วงโซ่อุปทานโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ดังนั้น ไทยจึงไม่ควรเร่งร้อนเข้าเป็นสมาชิก CPTPP เพราะจะไม่ได้รับประโยชน์มากอย่างที่ฟากรัฐให้ข้อมูล         ส่วนด้านผลกระทบที่เรียกว่าหนักหน่วง แบ่งเป็น 2 ประเด็นหลักคือ ยาและทรัพยากรชีวภาพ  เมื่อการเข้าถึงยากำลังเป็นตัวประกัน         มาเริ่มกันที่ยาซึ่งเป็นหลักประกันของระบบสุขภาพและการเข้าถึงการรักษาของประชาชน         เนื้อหาหลายประการใน CPTPP จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา เช่น การยกเลิกสิทธิพิเศษของรัฐวิสาหกิจ (ไม่นับรัฐวิสาหกิจที่ทำการค้าเพื่อผลกำไรทางธุรกิจ) ซึ่งมีรัฐวิสาหกิจจำนวนหนึ่งที่มีพันธกิจทางสังคม โดยเฉพาะองค์การเภสัชกรรม การรองรับนโยบายด้านยา เวชภัณฑ์ และวัคซีนที่จำเป็นต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศจะถูกจำกัดลงอย่างมีนัยสำคัญ         กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch กล่าวด้วยว่า CPTPP จะทำให้อุตสาหกรรมยาของไทยถูกบ่อนเซาะ เนื่องจากไทยจะไม่ได้รับประโยชน์ด้านราคายาจากการลดภาษีศุลกากรแหล่งวัตถุดิบยาที่อยู่นอกประเทศสมาชิก CPTPP ทั้งในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐยังต้องเปิดให้อุตสาหกรรมจากประเทศสมาชิกเข้ามาแข่งขันอย่างเท่าเทียม นโยบายบัญชีนวัตกรรมไทย รวมถึงระเบียบและกฎกระทรวงของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมยาในประเทศจะกลายเป็นหมัน         นอกจากนี้ สิทธิการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิหรือซีแอล (Compulsory Licensing: CL) ของไทยอาจถูกกระทบ กรรณิการ์ อธิบายว่า         “ถ้าอ่านความตกลง CPTPP ในมาตรา 1.2 ที่ระบุว่าไม่กระทบสิทธิที่ประเทศภาคีมีอยู่ตามข้อตกลงอื่น แต่ให้ข้อนี้อยู่ภายใต้มาตรา 28 ที่เกี่ยวกับการพิพาท หมายความว่าถ้ามีคู่กรณีไม่เห็นด้วยกับการใช้สิทธิก็สามารถเอาเรื่องเข้ากระบวนการระงับข้อพิพาทได้ เท่ากับนักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องรัฐได้ แล้วถ้าเกิดความจำเป็นต้องประกาศซีแอลจะมีรัฐมนตรีคนไหนกล้าทำ”         CPTPP ยังเชื่อมโยงระบบการขึ้นทะเบียนยากับระบบสิทธิบัตรเข้าด้วยกัน (patent linkage) ทั้งที่ควรแยกจากกัน เนื่องจากการขึ้นทะเบียนยาเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของยาก่อนอนุญาตให้มีการจำหน่ายในประเทศ ส่วนการรับจดสิทธิบัตรเป็นอำนาจหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ที่จะพิจารณาให้หรือไม่ให้ความคุ้มครองการผูกขาดตลาดให้กับผู้ยื่นคำขอฯ ตามเกณฑ์ด้านสิทธิบัตร เมื่อนำ 2 เรื่องนี้มาปนกันเท่ากับว่าเจ้าหน้าที่ อย. จำเป็นต้องตรวจสอบว่ายาชื่อสามัญที่ขอขึ้นทะเบียนยามีสิทธิบัตรด้วยหรือไม่     ใน CPTPP ระบุทางเลือกไว้สองทางคือ อย. ต้องแจ้งให้ผู้ทรงสิทธิบัตรรู้ว่ามีบริษัทยาอื่นมาขอขึ้นทะเบียนยาตัวเดียวกัน โดย อย. จะยังไม่รับขึ้นทะเบียน หรือให้มีระยะเวลานานพอจนกว่าผู้ทรงสิทธิฯ จะดำเนินการทางศาลหรือทางปกครองเพื่อจัดการการละเมิดสิทธิบัตรให้มีการเยียวยาหรือการชดเชยก่อน และประเทศสมาชิกต้องจัดให้มีกระบวนการอื่นแทนศาลเพื่อป้องกันไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนยาให้บุคคลอื่นโดยไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ทรงสิทธิบัตร         “ยาชื่อสามัญจะไม่สามารถเข้าแข่งขันในตลาดได้ ยาต้นแบบก็จะผูกขาดตลาดได้นานขึ้นเกินกว่า 20 ปี แม้ว่าสิทธิบัตรจะหมดอายุไปแล้ว เท่ากับเป็นการทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญภายในประเทศ และจะไม่มีบริษัทยาชื่อสามัญจากประเทศอื่นสนใจมาขายยาในประเทศไทย”         ยังไม่หมด ยังมีสิ่งที่เรียกว่ามาตรการชายแดน (Border Measure) ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรจับยึดสินค้าที่ส่งมาถึงแล้วหรือที่อยู่ในระหว่างขนส่ง เพียงแค่ ‘สงสัย’ ว่าจะละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ซึ่งขัดกับความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่รวมถึงสินค้าระหว่างการขนส่ง บวกด้วยการเอาผิดกับบุคคลอื่นเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ หมายถึงผู้ทรงสิทธิสามารถเอาผิดกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายได้ กรณีละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ซึ่งบุคคลอื่นอาจรวมถึงเจ้าของสถานที่ที่ปล่อยให้มีสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ อย่างเช่นโรงพยาบาล นอกจากบุคคลอื่นในตลอดห่วงโซ่อุปทาน         “ใน CPTPP ไม่ได้หมายความแค่เครื่องหมายการค้าที่ปลอมแปลง แต่ยังรวมถึงเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันและไม่ได้ตั้งใจที่จะละเมิดด้วย เพราะธุรกิจยา ชื่อยี่ห้อยาอาจคล้ายคลึงกันได้โดยไม่ได้ตั้งใจ โดยส่วนมากบริษัทยามักจะตั้งชื่อให้พ้องกับชื่อตัวยาสำคัญ ส่วนฉลากยาที่ระบุรายละเอียดของยาและวิธีการใช้ยาที่มากับบรรจุภัณฑ์ก็อาจถูกถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทลิขสิทธิ์ ดังนั้น เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันและฉลากยาอาจถูกใช้เป็นสาเหตุในการเอาผิดได้”  โจรสลัดชีวภาพ         นอกจากเรื่องการเข้าถึงยาแล้ว ด้านการเกษตรและทรัพยากรชีวภาพเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทยจึงแสดงจุดยืนคัดค้าน CPTPP อย่างเต็มที่ เนื่องจากมันกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องยอมรับอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอำนาจผูกขาดเมล็ดพันธุ์ของบริษัทเอกชน เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อได้         ซ้ำยังทำให้กลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ในการพัฒนายาจากสมุนไพรหรือทรัพยากรชีวภาพในประเทศเกิดความไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่มีระบุกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์เอาไว้         ทางมูลนิธิชีววิถียังกล่าวด้วยว่า CPTPP จะทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์แพงขึ้นประมาณ 2-6 เท่า เนื่องจากการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ขยายระยะเวลาเป็น 20-25 ปี และขยายการผูกขาดจากส่วนขยายพันธุ์ให้รวมถึงผลผลิต ผลิตภัณฑ์ และอนุพันธ์ของสายพันธุ์ใหม่ เช่น พันธุ์พืชที่กลายพันธุ์จากพันธุ์พืชใหม่ยังถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์ หรือหากนำข้าวจากการปลูกไปหมักเป็นเหล้า การผูกขาดก็จะขยายไปถึงเหล้าด้วย เป็นต้น         เรื่องที่ทำให้เห็นความกระตือรือร้นของหน่วยงานภาครัฐก็คือ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับทำการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เพื่อรองรับการเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งการแก้ไขกฎหมายส่งผลให้เกษตรกรที่พัฒนาพันธุ์ไปปลูกต่อมีความผิดตามกฎหมาย         เหตุนี้ อนุสัญญา UPOV 1991 จึงถูกขนานนามในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ’ กรรณิการ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า         CPTPP บังคับเข้าร่วมอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่หรือ UPOV1991 ซึ่งให้ความคุ้มครองสิทธิ์และประโยชน์กับนักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ แต่ไม่คุ้มครองชุมชนต้นทางของสายพันธุ์นั้น โดยในมาตรา 18.37 (4) บอกว่า ไม่ให้สิทธิบัตรพันธุ์พืช แต่ให้ “inventions that are derived from plants” ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นต้องการที่สุดและพยายามมาตั้งแต่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากภาคประชาชนคัดค้าน         “CPTPP เขียนอีกว่าไทยต้องเปิดให้ต่างชาติทำธุรกิจบริการด้านการวิจัยและพัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรชีวภาพของไทยและศึกษาทดลอง โดยไม่สามารถบังคับให้บริษัทเหล่านั้นถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้การลงทุนได้”         สังคมไทยคงต้องชั่งน้ำหนักว่า ผลประโยชน์ที่จะได้กับสิ่งที่จะสูญเสีย ฝั่งใดหนักหนากว่ากัน อย่าปล่อยให้รัฐบาลและกลุ่มทุนเป็นฝ่ายเดียวที่มีสิทธิตัดสินใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 10 ปีผ่านไป มหากาพย์ ‘สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ ยังไม่จบ

        ‘แร่ใยหิน’ เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ ? มีการยืนยันชัดเจนแล้วว่า เป็นอันตรายจริง           จากรายงานวิจัยรองรับหลายชิ้นทั้งของไทยและต่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลกระบุว่า แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หรือคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน ก็มีมติเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2557 ว่าแร่ใยหินไครโซไทล์เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างชัดเจน เป็นต้น         สิ่งนี้เป็นเหตุให้หลายประเทศยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ยกเว้นประเทศไทย ทำไม ? ทั้งที่ภาควิชาการ หน่วยงานรัฐ บุคลากรสาธารณสุข ผู้ประกอบการ กลุ่มแรงงานและภาคประชาชน พยายามผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2549 สิ่งที่สะท้อนกลับมามีเพียงความเงียบงัน การนิ่งเฉย และสารพัดเหตุผลของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบและผู้ประกอบอีกจำนวนหนึ่งที่ยังยืนยันจะใช้แร่ใยหิน         อันที่จริง นี่เป็นเรื่องปกติในสังคมไทยที่เรื่องสุขภาพของประชาชนและผู้บริโภคมักมาทีหลังเหตุผลด้านเศรษฐกิจและผลประโยชน์         มติสมัชชาสุขภาพ ‘สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’         หมุดหมายสำคัญที่เป็นรูปธรรมในเรื่องนี้คือมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 มติที่ 1 เรื่องมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2553 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในวันที่ 12 เมษายน 2554 จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รวมถึงภาคีเครือข่ายต่างๆ ก็เดินหน้าตามยุทธศาสตร์ของมติสมัชชาทันที         ยุทธศาสตร์สังคมไทยไร้แร่ใยหินประกอบด้วยมาตรการหลายอย่างที่ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ เช่น ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมควบคุมแร่ใยหินที่เป็นวัตถุดิบ (ไครโซไทล์) ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 อย่างเร่งด่วนภายในปี 2554 ซึ่งจะห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง การขอให้กระทรวงมหาดไทยเป็นแกนกลางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนามาตรการเพื่อควบคุมการรื้อถอน ซ่อมแซม ต่อเติมอาคารหรือวัสดุที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ และการกำหนดมาตรการการทิ้งขยะแร่ใยหิน โดยเฉพาะในกิจการก่อสร้างและการบริการติดตั้ง การขอให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น โดยต้องแล้วเสร็จภายในปี 2555         แต่การออกแบบกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและ สช. ไม่มีอำนาจในการสั่งการหน่วยงานต่างๆ ให้ปฏิบัติตาม การ ‘ขอให้’ ก็คือการขอความร่วมมือ ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละหน่วยงานจะมีกะจิตกะใจให้ความร่วมมือหรือไม่         10 ปีผ่านมาหลังจากมติสมัชชาฯ สังคมไทยก็ยังไม่ปลอดแร่ใยหิน         8 ปีผ่านไป กระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน         19 มิถุนายน 2556 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งข้อเสนอถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ผลการดำเนินการตามคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2556 โดยระบุว่า กระเบื้องแผ่นเรียบและกระเบื้องยางปูพื้นจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่กำหนดกรอบระยะเวลาการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบในการผลิตภายใน 2 ปี ส่วนผ้าเบรกและคลัทช์ ท่อซีเมนต์ใยหิน และกระเบื้องมุงหลังคา จะยกเลิกภายใน 5 ปี         ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะเลขานุการคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นว่าด้วยการทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน กล่าวว่า ในครั้งนั้นมีการขับเคลื่อนให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกกฎหมายระบุให้ไครโซไทล์เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่าไม่สามารถประกาศเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ได้ เพราะจะทำให้ประชาชนทั่วไปที่ครอบครองผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์อยู่ผิดกฎหมาย         “แต่ตรงนี้หากพิจารณาดูดีๆ มีสารเคมีหรือวัตถุดิบต่างๆ ที่ประกาศเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 อยู่หลายรายการ โดยเฉพาะแร่ใยหินประเภทอื่นที่ไม่ใช่ไครโซไทล์ ก็ถูกประกาศเป็นประเภทที่ 4 ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่ต้องมีการรื้อถอนกระเบื้องมุงหลังคาที่ทำจากแร่ใยหินที่ไม่ใช่ไครโซไทล์”         โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้ใช้กฎหมายอื่นๆ และค่อยๆ ลดการใช้ จนกระทั่งยกเลิกแร่ใยหินไครโซไทล์ได้ภายใน 5 ปี ตามข้อเสนอข้างต้น ซึ่งถ้านับจากปี 2556 จนถึงปัจจุบัน การยกเลิกกลับยังไม่เกิดขึ้น         ทำไมจึงไม่ยกเลิก         ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า มีข้อสมมติฐานว่าไทยนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์จากรัสเซียเป็นหลัก ซึ่งไปเกี่ยวพันกับประเด็นการเจรจาทางการค้าระหว่างรัสเซียกับไทย โดยทางรัสเซียเสนอว่าจะส่งผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการมาช่วยศึกษาว่าแร่ใยหินไครโซไทล์มีผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยจริงหรือไม่ อย่างไร แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขตอบปฏิเสธ         ขณะเดียวกัน ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ซึ่งเป็นศูนย์ที่มีเครือข่ายทั่วโลก อ้างข้อมูลของ ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ที่ระบุว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินในประเทศไทยค่อนข้างน้อยจึงไม่คุ้มที่จะยกเลิกการนำเข้า สช. จึงมอบหมายให้ ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ กับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งและกระทรวงสาธารณสุขศึกษาจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินในปี 2558 และ 2559 ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วย 28 รายใน 2 ปี         เมื่อเห็นข้อมูลการศึกษานี้อาจรู้สึกว่า ผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินก็น้อยจริงเหมือนที่ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ของไทยนำเสนอ แต่เรื่องนี้มีรายละเอียดซับซ้อนกว่านั้น และถูกใช้เป็นข้ออ้างไม่ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน         ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ อธิบายว่า แร่ใยหินสามารถทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ แต่การวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดเหตุแร่ใยหินโดยเฉพาะไครโซไทล์ทำได้ยาก เนื่องจากมะเร็งปอดมีสาเหตุหลักจากการสูบบุหรี่ ดังนั้น ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งปอดและสงสัยว่าจะเกิดจากแร่ใยหินจะต้องมีการตัดชิ้นเนื้อปอดหรือนำน้ำล้างปอดมาตรวจเพื่อหาเส้นใยแร่ใยหิน จากการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ มีผู้ที่เป็นมะเร็งปอดจากโรคเหตุแร่ใยหินไม่ถึงร้อยละ 20 เนื่องจากไครโซไทล์เป็นเส้นใยที่มีรูปร่างคดเคี้ยวและเปราะบางมาก เมื่อเข้าไปในร่างกายก็จะสลายและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด การตรวจพบจึงน้อยกว่าแร่ใยหินชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่ามะเร็งปอดที่เกิดจากแร่ใยหินน่าจะมีจำนวนมากกว่ามะเร็งเยื่อเลื่อมจากแร่ใยหินค่อนข้างมากประมาณ 4-5 เท่า         สำหรับมะเร็งเยื่อเลื่อมก็เช่นกัน โรคนี้มักจะเป็นบริเวณเยื่อหุ้มปอด การวินิจฉัยจะต้องตัดชิ้นเนื้อเยื่อหุ้มปอดไปย้อมพิเศษทางห้องปฏิบัติการและเฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นเซลล์ของเยื่อหุ้มปอดเท่านั้น เหตุนี้เมื่อมีอาการบริเวณนั้นก็อาจคิดว่าเป็นมะเร็งปอด ทำให้ไม่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอด แต่หากวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดตามขั้นตอน ยืนยันได้ว่าสาเหตุเกิดจากการได้รับแร่ใยหินแน่นอน         “อีกประเด็นหนึ่งสำหรับมะเร็งเยื่อเลื่อมก็คือหลังจากได้รับหรือสัมผัสแร่ใยหินเข้าไปแล้วจะใช้เวลา 30 ถึง 40 ปีกว่าที่จะเกิดมะเร็งเยื่อเลื่อมได้ เพราะฉะนั้นบางทีเขาอาจเกษียณแล้ว แล้วเกิดอาการขึ้นมา เราก็ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนหรือลืมไปแล้วว่าในอดีตเคยทำอะไรที่สัมผัสกับแร่ใยหิน”         อีกเหตุผลหนึ่งที่กลุ่มผู้ผลิตไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกแร่ใยหินคือ วัตถุดิบทดแทนแร่ใยหินมีราคาสูงกว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า วัตถุดิบที่ใช้ทดแทนแร่ใยหินมีหลายชนิด มีอัตราอากรร้อยละ 0-5 ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งยังมีวัตถุดิบบางรายการ เช่น เส้นใยที่ได้จากธรรมชาติสามารถผลิตได้ในประเทศ ดังนั้น อัตราภาษีขาเข้าจึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สินค้าที่ใช้วัตถุดิบอื่นเป็นส่วนประกอบแทนแร่ใยหินมีราคาสูงขึ้น         จะเห็นได้ว่า ความเดือดร้อนของประชาชน การผลิตผ้าเบรกด้วยแร่ใยหินมีความปลอดภัย การวินิจฉัยและระยะเวลาในการแสดงอาการของมะเร็งเหตุแร่ใยหิน และความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ เป็นประเด็นที่มักถูกนำมาใช้กับการเมืองเรื่องแร่ใยหินเสมอ         อีกครั้งและอีกครั้ง         การขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมและมติสมัชชาฯ มาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน แม้ยังคงลอยอยู่ในอากาศ แต่ก็ยังผลให้ช่วงตั้งแต่ปี 2550 การนำเข้าแร่ใยหินมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทว่า ข้อมูลปี 2559 ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีอัตราการนำเข้าแร่ใยหินสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก แม้ว่า 66 ประเทศทั่วโลกจะยกเลิกการใช้แร่ใยหินไปแล้ว นอกจากนี้ ตัวเลขการนำเข้าในปี 2560 ยังกลับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 7,000 ตัน จึงเกิดการผลักดันให้มีการ ‘ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ อีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เกิดการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน สร้างความเข้มแข็งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และชุมชน ส่งเสริมการใช้สารทดแทนที่ปลอดภัย รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ติดตามกลุ่มเสี่ยง และทำการวิจัยเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย         จากการดำเนินการที่ผ่านมาพบข้อจำกัดและอุปสรรคหลายประการ เช่น กลุ่มแรงงานก่อสร้างอิสระยังเข้าถึงข้อมูลอันตรายจากแร่ใยหินไม่มากนัก การรื้อถอน ซ่อมแซม ต่อเติมอาคารเก่าที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์แร่ใยหิน รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์แร่ใยหินในอาคารก่อสร้างใหม่ ยังไม่มีบทบัญญัติเฉพาะในการควบคุมหรือห้ามใช้ รายงานจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุใยหินเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี แต่ยังขาดระบบในการเฝ้าระวังและประชาสัมพันธ์ข้อมูลดังกล่าว ควรมีการจัดทำระบบเฝ้าระวังและตรวจสอบการรายงานโรคเหตุใยหินที่เหมาะสม เป็นต้น         ทางสมัชชาฯ จึงทำข้อเสนอหลายประการเพื่อขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ อีกครั้ง เช่น        · ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงมหาดไทยเร่งรัดดำเนินการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ทั้ง 5 ชนิด ภายในปี 2565 และ 2568        · ขอให้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางและมาตรการในการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบแร่ใยหิน และการสนับสนุนให้มีมาตรการที่ทำให้การใช้วัสดุทดแทนแร่ใยหินมีราคาที่ถูกลง        · ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้มีมาตรการในการกำจัดขยะที่มีแร่ใยหินและกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบในการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ        · ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องผลกระทบของแร่ใยหินและออกข้อบัญญัติของท้องถิ่นในกระบวนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและกำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน        · ขอให้กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางปฏิบัติให้หน่วยงานภาครัฐ ใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ปลอดแร่ใยหิน        · ขอให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหน่วยงานหลัก ในการสนับสนุนเครือข่ายแรงงานและภาคประชาชน ในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบและรณรงค์ให้ใช้วัสดุที่ไม่มีแร่ใยหินในการก่อสร้าง รื้อถอน ซ่อมแซม และต่อเติมอาคาร        · ขอให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำระบบลงทะเบียนสถานประกอบกิจการและแรงงานที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหิน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการใช้ข้อมูลการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงแรงงานที่ทำงานกับแร่ใยหิน ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนงาน หรือออกจากงานไปแล้ว เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพจากเหตุแร่ใยหิน         ไร้แร่ใยหินหรือไม่ คำตอบยังอยู่ในสายลม          เมื่อถาม ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ ว่าการผลักดันให้สังคมไร้แร่ใยหินรอบนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่         “จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวเหมือนรอบที่แล้วขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องการนำเข้าจากรัสเซีย แต่ความพร้อมต่างๆ เทคโนโลยีสารทดแทนมีความพร้อมอยู่แล้ว เวลาที่มีการเชิญตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์มาคุยก็จะมีประเด็นพวกนี้อยู่ จริงๆ มติสมัชชาสุขภาพรอบนี้ปี 2562 ตอนแรกเน้นว่าทำอย่างไรจะเสริมความเข้มแข็งของประชาชนในการดูแล ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบที่ไม่มีแร่ใยหินและการรื้อถอนอย่างปลอดภัย การจัดการขยะอันตรายจากแร่ใยหินโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเห็นว่ามีส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาควบคู่กันไปกับมาตรการเดิมที่ให้ยกเลิกการนำเข้าและการใช้ก็คือการสร้างการตระหนักรับรู้ของประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการกับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันระหว่างที่รอการยกเลิก”          พอถามย้ำอีกครั้ง ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ ตอบว่า         “ผมว่าถึงที่สุดแล้วก็น่าจะทำได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ตามระยะเวลาที่เสนอไปหรือเปล่า”        ในส่วนของภาคประชาชนจะต้องรอไปอีก 10 ปีหรือนานกว่านั้นหรือไม่? คงขึ้นกับความเข้มแข็งและการขับเคลื่อนที่มีพลังมากพอจะกดดันให้หน่วยงานรัฐเข้าอกเข้าใจว่า สุขภาพของประชาชนในประเทศเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ความจริงของ COVID-19 และวิธีการฆ่าไวรัส

ไวรัส COVID-19 คืออะไร        ไวรัสเป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งแต่แปลกแยกจากจุลินทรีย์อื่นๆ เช่นแบคทีเรีย ราและสาหร่าย ตรงที่ว่าไวรัสไม่ใช่สิ่งมีชีวิต   มันต้องอาศัยเซลล์ของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นเพื่อเพิ่มจำนวน   สิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิดมีไวรัสเป็นปรสิต  แม้แต่อาร์เคียแบคทีเรียที่อาศัยในน้ำพุร้อนกรดยังมีไวรัสตามไปรังควาน   มนุษย์สุขภาพดีทั่วไปมีไวรัสแอบอาศัยอยู่ด้วยโดยไม่ก่อให้เกิดอาการป่วยประมาณ 5 ชนิดเลยทีเดียว (Wylie และคณะ 2014) และแน่นอนว่าไวรัสเหล่านี้พร้อมจะทำให้เราเจ็บป่วยหรือแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ทุกเมื่อ        Coronavirus disease of 2019 หรือ COVID-19 มีชื่อไทยว่าไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นน้องใหม่ล่าสุดลำดับที่ 7 ของไวรัสกลุ่มโคโรนาที่ก่อโรคหวัดในมนุษย์   ผู้ป่วยด้วยโรคหวัดทุกปีประมาณ 10-30% จะมีสาเหตุจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 229E, NL63, OC43 และ HKU1   ส่วนไรโนไวรัส (Rhinovirus) เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของโรคหวัด  แต่ก่อนใครเป็นหวัดก็ให้พักผ่อนและรักษาดูแลกันไปตามอาการ  ยาแก้ปวดลดไข้อย่างพาราเซตามอลก็กินไปเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานจากอาการของโรคไม่ได้เป็นยาต้านไวรัสและไม่มีใครสนใจหาสาเหตุด้วยซ้ำไปว่าเราเป็นหวัดเพราะติดไวรัสอะไรมา           พอเรามีน้องใหม่เข้ามา  ทั้งคนและไวรัสยังไม่ได้มีเวลาปรับตัวเข้าหากัน  ดังนั้นอัตราการติดต่อ การตายและความรุนแรงของโรคจึงเป็นที่น่าพรั่นพรึงของทุกคน   ไวรัสอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเจ้าบ้าน  ดังนั้นในที่สุดในอนาคตเจ้าโควิด-19 จะกลายเป็นไวรัสหวัดอีกชนิดหนึ่งที่ไม่มีใครสนใจสืบหาสาเหตุ  แต่กว่าจะถึงวันนั้นต้องรอจนกว่าจะมีวัคซีนหรือมียารักษาที่ได้ผลและปลอดภัยที่แพร่หลายเข้าถึงได้ทุกหมู่บ้าน  หรือใช้แนวคิด "การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่" (Herd Immunity) ที่มีประชากรอย่างน้อย 60% มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนหรือติดเชื้อ  ทั้งสามความหวังนี้เราต้องรออย่างน้อย 1-2 ปี           งานวิจัยเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์อื่น พบว่าผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วและตรวจพบว่ามีแอนติบอดีต่อเชื้อยังสามารถติดเชื้อสายพันธุ์เดิมซ้ำอีกครั้งเพียง 4 เดือนถึง 2 ปี หลังจากการติดเชื้อครั้งแรก (Callow และคณะ 1990)  ในปัจจุบันเรายังมีความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 น้อยมาก  ระหว่างนี้ก็อยู่ห่างๆ เจ้าโควิด-19 กันไว้ก่อนดีกว่า   การติดโควิด-19 มักจะเกิดจากการสูดเอาละอองสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อที่หายใจไอจามออกมาแล้วล่องลอยอยู่ในอากาศเข้าไป  มีรายงานว่าละอองลอยของโควิด-19 ยังก่อการติดเชื้อได้แม้ว่าล่องลอยในอากาศนานถึง 3 ชั่วโมง  บนพื้นผิวอยู่ได้ตั้งแต่ 2-10 วันขึ้นไป (van Doremalen และคณะ 2020)         โควิด-19 เป็นไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็นอาร์เอ็นเอ  ห่อหุ้มด้วยเปลือกโปรตีนหรือแคพซิด (capsid)  มีชั้นไขมันหุ้มล้อมรอบแคพซิดอีกชั้นหนึ่งเรียกว่าเปลือกหุ้ม (envelope) บนเปลือกหุ้มของมันมีโปรตีนคลุมด้วยกลุ่มคาร์โบไฮเดรทเป็นปุ่มๆ (spikes) เมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนจะเห็นอนุภาคของไวรัสคล้ายมงกุฎ (ภาษาลาติน corona แปลว่า crown หรือ มงกุฎ) จึงเป็นที่มาของชื่อไวรัส   เปลือกหุ้มชั้นนอกสุดเป็นชั้นไขมันทำให้ถูกทำลายได้ง่ายเมื่อเทียบกับไวรัสพวกที่ไร้เปลือกหุ้ม           เมื่อเรารู้โครงสร้างของโควิด-19 แล้ว การจะทำลายมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ยาก  แต่ที่ยากคือต้องทำให้ถูกต้อง จึงจะสามารถใช้วิธีต่าง ๆ ในการทำลายไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีผลกระทบต่อผู้ใช้  ช่วงที่มีการระบาดรุนแรงเป็นช่วงฝุ่นตลบ ใครคิดว่ามีวิธีการอะไรดีก็เอามาแจกจ่ายเพื่อนฝูงผ่านทางโซเชียล ซึ่งบางครั้งไม่ถูกต้องและอาจเป็นอันตรายกับผู้ใช้อีกด้วย  ดังนั้น ในบทความนี้จะสรุปวิธีการที่ประชาชนทั่วไปพอจะสามารถใช้เพื่อกำจัดไวรัสโควิด-19 นี้ได้ ดังต่อไปนี้  1. การล้างมือด้วยสบู่          การล้างมือด้วยสบู่เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดในการกำจัดไวรัส เนื่องจากสบู่มีฤทธิ์สองลักษณะคือ เป็นสารลดแรงตึงผิวทำให้สามารถกำจัดไวรัสไปจากพื้นผิวซึ่งคือผิวหนังของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี  นอกจากนี้ สบู่ยังสามารถละลายไขมันได้ด้วย  ดังนั้นจึงมีความสามารถในการฆ่าแบคทีเรียและไวรัสได้ด้วย  โควิด-19 ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชั้นไขมันหุ้มจึงโดนทำลายได้ด้วยสบู่อย่างง่ายดาย   อย่างไรก็ตาม การล้างมือด้วยสบู่จะต้องมั่นใจว่าทำความสะอาดได้ทุกซอกมุมบนมือได้แก่ ฝ่ามือ หลังมือ นิ้ว ซอกนิ้ว ซอกเล็บและข้อมือ และต้องออกแรงถูสักเล็กน้อยและใช้เวลาล้างมือนานพอสมควร (ร้องเพลงช้าง หรือ happy birthday 1 รอบ)  ซึ่งวิธีการล้างมือที่ถูกต้องได้มีการเผยแพร่แล้วโดยกระทรวงสาธารณสุข   นอกจากสบู่แล้วสารซักฟอกทุกชนิด เช่น ผงซักฟอก  ยาสระผม  ยาสีฟัน  น้ำยาล้างจาน และสารอื่นที่สามารถทำให้เกิดฟองได้ จะมีความสามารถกำจัดไวรัสและแบคทีเรียได้เช่นเดียวกับสบู่ 2. การใช้แอลกอฮอล์เจล 70%          การใช้แอลกอฮอล์เจลเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สะดวกและปลอดภัย สามารถใช้ได้ทุกที่โดยเฉพาะเมื่อลงจากขนส่งสาธารณะหรือสัมผัสกับสิ่งของที่คิดว่าจะมีการปนเปื้อนเชื้อโรค   แอลกอฮอล์มีผลในการละลายไขมันเช่นกันซึ่งจะทำให้โควิด-19 ถูกทำลายได้เนื่องจากมันมีเปลือกหุ้มที่ประกอบด้วยไขมัน   แอลกอฮอล์เจลที่ให้ผลในการกำจัดจุลินทรีย์รวมทั้งไวรัสโควิดจะต้องมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมอย่างน้อย 70%  รวมทั้งจะต้องให้เวลาการสัมผัสแอลกอฮอล์เจลนานไม่น้อยกว่า 30 วินาทีจึงจะให้ผลการฆ่าเชื้อได้ดีที่สุด (Hirose และคณะ 2019) เนื่องจากแอลกอฮอล์ 70% ส่วนใหญ่จะระเหยอย่างรวดเร็วเมื่อถูกับมือ  ดังนั้นจึงแนะนำว่าควรใช้สองครั้งติดต่อกันเพื่อให้มีเวลาสัมผัสกับเชื้อนาน 30 วินาที   เราต้องทำลายไวรัสให้หมด เพราะว่าในปัจจุบันนี้เรายังไม่ทราบจำนวนอนุภาคที่ทำให้เกิดโรค (infectious dose) นั่นคือจำนวนไวรัสน้อยที่สุดที่ทำให้เกิดโรคได้           บนขวดแอลกอฮอล์เจลมักจะเขียนว่าฆ่าเชื้อโรค 99.99% หมายความว่า ถ้าบนมือเรามีไวรัส 100,000 อนุภาค ใช้เจลถูมือ 1 รอบจะเหลือ 10 อนุภาค ซึ่งไม่แน่ว่า 10 ตัวนี้อาจก่อให้เกิดโรคก็ได้   นอกจากนี้ ไวรัสมักอยู่ในน้ำมูกน้ำลายที่มีลักษณะเป็นเมือกๆ เหนียวๆ ซึ่งสารคัดหลั่งซึ่งจะลดประสิทธิภาพการทำงานของแอลกอฮอล์เจลลงไปอีก (Hirose และคณะ 2019)   ผู้ป่วยโควิด-19 บางรายมีไวรัสในเสมหะได้สูงถึงแสนล้านอนุภาคต่อมิลลิลิตร (1.34 x 1011 อนุภาคต่อมิลลิลิตร)  (Pan และคณะ, 2020)    การใช้แอลกอฮอล์เจลที่มีสัดส่วนของแอลกอฮอล์น้อยกว่าเช่น 40% หรือเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ที่มากเกินไปเช่น 90-100% ก็ให้ผลตรงกันข้ามคือไม่สามารถกำจัดไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Kampf 2018)    การใช้สุราหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ทุกชนิด เช่น วิสกี้ บรั่นดี วอดก้า เบียร์ ไวน์ เหล้าโรง อุ สาโท ฯลฯ ไม่สามารถฆ่าไวรัสได้   นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ที่ควรใช้ในการผลิตแอลกอฮอล์เจลคือ เอธิลแอกอฮอล์หรือไอโซโพรพิลแอกอฮอล์ (แอลกอฮอล์ล้างแผล)         ห้ามใช้เมธิลแอลกอฮอล์ เนื่องจากสามารถซึมเข้าทางผิวหนัง การใช้เป็นระยะเวลานานเป็นอันตรายต่อดวงตา อาจทำให้ตาบอดได้ถ้ากระเด็นเข้าตา   และเนื่องจากแอลกอฮอล์เจลหรือแอลกอฮอล์มีราคาแพง ในการทำความสะอาดพื้นผิวเช่น เก้าอี้ โต๊ะ พื้น จึงสามารถใช้น้ำสบู่หรือน้ำผงซักฟอกแทนได้ 3. โซเดียมไฮโปคลอไรต์         โซเดียมไฮโปคลอไรต์หรือสารฟอกขาว (household bleach)  สารประกอบเหล่านี้มีความสามารถในการทำลายเชื้อโดยคลอรีนที่เกิดขึ้นจะทำลายโปรตีนของไวรัส  ดังนั้นในการทำความสะอาดพื้นบ้านที่มีผู้ป่วย  ให้เจือจาง 5% โซเดียมไฮโปคลอไรต์ (น้ำยาซักผ้าขาวที่มีขายตามท้องตลาด) ให้ได้ความเข้มข้นสุดท้ายอย่างน้อย 0.1% หรือพูดง่าย ๆ ใช้น้ำยาซักผ้าขาว 1 ส่วนผสมน้ำ 49 ส่วน   แต่การทำความสะอาดห้องน้ำและสุขภัณฑ์ควรใช้ความเข้มข้นสูงกว่าคือใช้ที่ความเข้มข้น 0.5% โซเดียมไฮโคลอไรต์  นั่นคือใช้น้ำยาซักผ้าขาว 1 ส่วน ผสมน้ำ 9 ส่วน   การเช็ดต้องเช็ดให้ชุ่มและทิ้งไว้อย่างน้อย 5 นาที  ข้อควรระวังในการใช้โซเดียมไฮโปคลอไรต์คือสารอินทรีย์บนพื้นผิวจะทำให้โซเดียมไฮโปคลอไรต์หมดประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรค  ไอระเหยของโซเดียมไฮโปคลอไรต์เป็นอันตรายต่อสุขภาพและต้องสวมถุงมือทุกครั้งที่สัมผัสกับสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (FIOH 2020)   อย่างไรก็ตาม พื้นผิวบางชนิดเช่นโลหะอาจเสียหายเมื่อสัมผัสกับโซเดียมไฮโปคลอไรต์   เราสามารถสามารถใช้ผงซักฟอกแทนได้ โดยละลายน้ำให้ได้ความเข้มข้นเช่นเดียวกับที่ซักผ้าหรือตามผู้ผลิตกำหนด  ผงซักฟอกมี pH 9 และสารลดแรงตึงผิวทำงานร่วมกันทำลายเยื่อหุ้มอนุภาคไวรัส  ถูให้พื้นเปียกทิ้งไว้ 15 วินาที จากนั้นล้างอีกครั้งด้วยน้ำเปล่าเพื่อกำจัดคราบผงซักฟอก (National Environment Agency, 2020) 4. ฟีนอล         สารออกฤทธิ์ในเดทตอล คือ สารประกอบประเภทฟีนอล (Chloroxylenol) จะทำลายจุลินทรีย์และไวรัสโดยการทำให้โปรตีนเสียสภาพ   ผู้บริโภคควรระวังเนื่องจากเดทตอลที่วางจำหน่ายในท้องตลาดมีสองชนิด คือชนิดที่มีมงกุฎสีฟ้าบนเครื่องหมายการค้า (น้ำยาฆ่าเชื้อโรค Dettol Antiseptic Liquid) จะสามารถใช้กับร่างกายได้ เช่นสำหรับล้างแผลหรืออาบน้ำ รวมทั้งฆ่าเชื้อที่พื้นผิวด้วย  ส่วนอีกชนิดไม่มีมงกุฎสีฟ้า (ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคอเนกประสงค์ Dettol Hygiene Multi-Use Disinfectant) เป็นชนิดที่ไม่สามารถใช้กับร่างกายได้โดยตรง มักจะใช้สำหรับการฆ่าเชื้อบริเวณพื้นผิว  ทั้งสองชนิดสามารถฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้ ผู้ใช้ต้องเจือจางให้เหมาะสมตามที่แนะนำข้างฉลาก 5. แสงอุลตราไวโอเลต (UV)         แสงอุลตราไวโอเลตหรือแสง UV เป็นคลื่นแสงที่มีความยาวคลื่นต่ำและมีผลในการทำลายสารพันธุกรรมของไวรัสหรือจุลินทรีย์อื่น   ดังนั้นแสง UV จึงสามารถฆ่าโควิด-19 ได้ แสง UV จากดวงอาทิตย์ที่ฉายมายังโลกมนุษย์มีสามชนิด คือ UVA UVB และ UVC ซึ่ง UVA และ UVB สามารถผ่านชั้นบรรยากาศมายังพื้นโลกได้  แต่แสง UV ที่สามารถฆ่าไวรัสได้คือ UVC เท่านั้น ซึ่งจะไม่สามารถผ่านชั้นบรรยากาศลงมาได้ ดังนั้น การยืนตากแดดจึงไม่สามารถฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้           อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้มีหลอดไฟที่ผลิตแสง UVC ได้และสามารถใช้ฆ่าโควิด-19 และมีการประดิษฐ์เครื่องมือที่ใช้แสง UVC สำหรับฆ่าเชื้อบนธนบัตรหรือหน้ากากอนามัยได้ แต่หลอดอุลตราไวโอเลตตามปกติไม่มีใช้ทั่วไปตามบ้านเรือน จะใช้เฉพาะในห้องผ่าตัด ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา  ห้องปลอดเชื้อตามโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ    และการใช้แสง UVC มีผลต่อมนุษย์มาก เช่น หากโดนแสง UVC เป็นเวลานานจะเกิดมะเร็งผิวหนังได้และอาจก่อให้เกิดจอตาเสื่อมหรือต้อกระจกได้หากมองรังสี UVC เป็นเวลานาน          นอกจากนี้การใช้แสง UV เพื่อฆ่าเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมีความเข้มแสงเพียงพอ ดังนั้นจึงขึ้นกับชนิดหลอดไฟ (วัตต์) และระยะห่างจากพื้นผิวที่ต้องการฆ่าเชื้อ   วัตถุที่โดนแสง UV เป็นเวลานานอาจทำให้เปลี่ยนสภาพไปเหมือนกับการวางตากแดดไว้เป็นเวลานาน เช่นพลาสติกอาจกรอบหรือสีอาจซีดลงได้  แสง UV ยังมีข้อเสียคือจะไม่ผ่านวัตถุทึบแสงหรือกระจก  ดังนั้นการฆ่าเชื้อธนบัตรหรือหน้ากากอนามัย ในขณะฆ่าเชื้อจึงไม่สามารถซ้อนทับกัน  สำหรับหลอดไฟ UV ที่ใช้ในการตรวจสอบธนบัตรไม่มีผลในการฆ่าเชื้อโควิด-19 6. การกรองไวรัส         คนไทยรู้จักการกรองและป้องกันตัวเองมาก่อนแล้วตั้งแต่ยุค pm2.5 ซึ่งทุกคนทราบว่าจะมีหน้ากากที่เรียกว่า N95 ซึ่งสามารถกรองฝุ่น pm2.5 ได้  ในปัจจุบันนี้มีหน้ากากมากมายหลายชนิด  แต่หน้ากากทุกชนิดไม่สามารถป้องกันไวรัสได้ 100%  ถึงแม้หน้ากาก N95 จะป้องกันไวรัสได้ดีที่สุดแต่ก่อนการใช้งานจะต้องทดสอบ fit test เพื่อให้หน้ากากแนบสนิทกับใบหน้ามากที่สุด จึงเหมาะสมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยจำนวนมาก   สำหรับบุคคลทั่วไปการใช้ surgical mask (หน้ากากอนามัยทั่วไปที่มีสีเขียว สีฟ้า สีขาว ฯลฯ) หรือหน้ากากแบบผ้าก็เพียงพอแล้ว          การใช้หน้ากากทุกชนิดให้มีประสิทธิภาพสูงสุดขึ้นกับวิธีการใช้หน้ากากให้ถูกต้อง  การใส่หน้ากากที่ถูกต้องจะต้องปิดทางเข้าของอากาศที่ไม่ผ่านหน้ากากให้ได้มากที่สุด สังเกตได้จากเราจะหายใจได้อึดอัดไม่สะดวก   การใส่แบบเห็นรูจมูกจะไม่มีผลในการป้องกันไวรัสเลย  หรือการไส่หน้ากากที่หลวมเกินไปไม่แนบกับใบหน้าก็จะป้องกันไวรัสได้น้อยกว่า  และการที่ผู้ที่ป่วยหรือผู้ที่เข้าข่ายเฝ้าระวังใส่หน้ากากจะช่วยให้เชื้อไม่แพร่กระจายไปคนอื่นได้มากถึง 90%          การกรองอีกวิธีหนึ่งคือการใช้ HEPA FILTER ที่มีใช้ในเครื่องฟอกอากาศต่าง ๆ  จนถึงปัจจุบันนี้ ไม่มีเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศชนิดใดหรือระบบใดที่ได้รับการยืนยันว่าสามารถฆ่าโควิด-19 ได้  ไวรัสมีขนาดเล็กกว่า HEPA FILTER มาก ดังนั้นจึงสามารถลอดผ่าน HEPA FILTER ได้ คำถามยอดฮิตช่วงนี้คำถามยอดฮิตช่วงนี้สบู่เหลว สบู่ก้อน หรือโฟมล้างมือ ชนิดใดจึงเหมาะสมที่จะใช้ล้างมือป้องกันเชื้อ          สบู่ทุกประเภทรวมทั้งสารซักฟอกทุกชนิดมีผลในการทำลายจุลินทรีย์และไวรัสได้ใกล้เคียงกัน  จึงสามารถเลือกใช้ชนิดใดก็ได้ ว่ายน้ำจะติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่         ตามปกติแล้ว ในสระว่ายน้ำจะใส่สารฆ่าเชื้อ ซึ่งอาจเป็นสระน้ำที่เติมคลอรีนหรือสระน้ำที่เป็นน้ำเกลือ   ในสระน้ำที่เติมคลอรีน  คลอรีนที่อยู่ในน้ำจะสามารถทำลายโควิด-19 เนื่องจากคลอรีนจะไปทำลายโปรตีนของไวรัส  และสระน้ำที่เป็นน้ำเกลือจะมีระบบเซลล์เกลือ (Salt chlorinator) เพื่อทำปฏิกิริยาไฟฟ้าและสร้างคลอรีนธรรมชาติ (Sodium hypochlorite – NaOCl) ที่สามารถฆ่าเชื้อโรคและ COVID-19 ได้เช่นกัน  ดังนั้นสระว่ายน้ำทั้งสองประเภทที่ดูแลรักษาระบบบำบัดน้ำให้ได้มาตรฐานจะทำลายโควิด-19 ได้แน่นอน  และจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อโควิด-19 จากสระว่ายน้ำ แต่การอยู่ร่วมกันใกล้ชิดอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย (https://www.babyswimmingthailand.com/) หน้ากากแบบผ้าก่อนซักต้องแช่น้ำยาฆ่าเชื้อหรือไม่        ไม่มีความจำเป็น เนื่องจากการซักที่ใช้ผงซักฟอก สบู่หรือน้ำยาซักผ้าชนิดต่าง ๆ  ก็จะสามารถทำลายไวรัสโควิดได้แล้วจึงไม่จำเป็นต้องแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อก่อน การฉีดแอกอฮอล์หรือสารฆ่าเชื้ออื่นบนหน้ากากอนามัยจะช่วยฆ่าไวรัสได้ดีขึ้น         หน้ากากอนามัยจะเกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อผู้ที่เป็นโรคใส่เพื่อป้องกันการกระจายหรือการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น  การใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้อื่นสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องให้หน้ากากแนบกับใบหน้ามากที่สุด  การฉีดแอลกอฮอล์บนหน้ากาก ไม่ช่วยให้ป้องกันไวรัสได้ดีขึ้น เนื่องจากแอลกอฮอล์จะระเหยไปอย่างรวดเร็วและไม่มีผลต่อการทำลายไวรัสใด ๆ การทำอาหารด้วยความร้อนจะฆ่าโควิด-19 ได้หรือไม่         การทำอาหารด้วยความร้อนไม่ว่าจะเป็นการต้ม นึ่ง ทอด ผัด สามารถทำลายไวรัสโควิด-19 ได้  เนื่องจากความร้อนจะทำลายโปรตีนของไวรัส  อย่างไรก็ตาม การทำอาหารต้องแน่ใจว่าอาหารทั้งหมดได้สัมผัสกับความร้อนอย่างทั่วถึงและนานเพียงพอ  การใช้ไมโครเวฟยังสามารถทำลายไวรัสได้เช่นกัน  ความร้อนที่ 56 องศาเซลเซียสอย่างน้อย 30 นาที (จอดรถตากแดดปิดกระจกดูเทอร์โมมิเตอร์ให้อุณหภูมิในห้องโดยสารขึ้นถึง 56 oซ อย่างน้อย 30 นาที) หรือความร้อนที่ 70 องศาเซลเซียสอย่างน้อย 25 นาทีทำลายไวรัสได้ เอกสารอ้างอิงCallow KA, Parry HF, Sergeant M, Tyrrell DA. The time course of the immune response to experimental coronavirus infection of man. Epidemiol Infect 1990, 105:435-446.Finnish Institute of Occupational Health (FIOH). 2020. Cleaning guidelines for the prevention of covid-19 infections. https://www.ttl.fi/en/cleaning-guidelines-for-the-prevention-of-covid-19-infections%E2%80%AF/, สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2563 Hirose R, Nakaya T, Naito Y, Daidoji T, Bandou R, Inoue K, Dohi O, Yoshida N, Konishi H, Itoh Y: Situations leading to reduced effectiveness of current hand hygiene against infectious mucus from influenza virus-infected patients. mSphere 2019, 4.Kampf G: Efficacy of ethanol against viruses in hand disinfection. J Hosp Infect 2018, 98:331-338.National Environment Agency (Singapore). 2020. Interim List of Household Products and Active Ingredients for Disinfection of the COVID-19 Virus. https://www.nea.gov.sg/our-services/public-cleanliness/environmental-cleaning-guidelines/guidelines/interim-list-of-household-products-and-active-ingredients-for-disinfection-of-covid-19, สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2563Pan Y, Zhang D, Yang P, Poon LLM, Wang Q: Viral load of SARS-CoV-2 in clinical samples. Lancet Infect Dis 2020, 20:411-412.van Doremalen N, Bushmaker T, Morris DH, Holbrook MG, Gamble A, Williamson BN, Tamin A, Harcourt JL, Thornburg NJ, Gerber SI, et al.: Aerosol and Surface Stability of SARS-CoV-2 as Compared with SARS-CoV-1. N Engl J Med 2020.world health organization (WHO). 2005. Food safety issues. https://www.who.int/influenza/resources/documents/food_risk_h5n1_11_2005/en/, สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2563 Wylie KM, Mihindukulasuriya KA, Zhou Y, Sodergren E, Storch GA, Weinstock GM: Metagenomic analysis of double-stranded DNA viruses in healthy adults. BMC Biol 2014, 12:71.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 โควิด 19 โรคอุบัติใหม่

        การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งต่อมาองค์การอนามัยโลกกำหนดชื่อไวรัสว่า SARS CoV-2 และชื่อโรคว่าโควิด 19 (CoVID -19) นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญยิ่งแห่งยุคสมัย การระบาดของเชื้อไวรัสที่มีแหล่งกำเนิดจากค้างคาวนี้มีจุดกำเนิดมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ตั้งแต่ธันวาคม ค.ศ. 2019  จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งได้แพร่ระบาดใหญ่ไปแล้วเกือบทั่วโลกอย่างรวดเร็ว   รวมแล้วไม่น้อยกว่า   189 ประเทศ แม้ประเทศจีนซึ่งเป็นจุดเริ่มของการระบาด จะสามารถควบคุมโรคได้แล้ว ทว่าการระบาดในประเทศอื่นๆ หลายประเทศกลับมีความรุนแรงมากขึ้น มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 330,000 คน เสียชีวิต มากกว่า 14,000 คน  ทั้งนี้เพราะไวรัสมีความสามารถในการแพร่เชื้อ มีความทนทานสภาวะแวดล้อมเมื่ออยู่นอกเซลล์ ทั้งในอากาศ และบนพิ้นผิววัตถุต่างๆ   นับว่า โควิด 19 ได้สร้างส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติอย่างกว้างขวาง ทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม  จนเป็นที่หวาดวิตกว่า กว่าจะค้นพบยาและวัคซีนป้องกันและรักษาโรคได้อาจมีความสูญเสียอย่างมาก         การจะรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่นี้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากหน่วยงานของรัฐจะต้องมีมาตรการที่เหมาะสม ทันสถานการณ์ และปฎิบัติอย่างจริงจังรอบด้านแล้ว ประชาชนจะต้องมีความรู้ที่ถูกต้อง และให้ร่วมมือปฎิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันตนเอง ครอบครัว และสังคมส่วนรวมด้วยอย่างรับผิดชอบ จึงจะสามารถคลี่คลายสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้โดยมีความสูญเสียไม่มากนัก  แต่เป็นที่น่าสลดใจว่า ความสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนจำนวนมาก ได้เกิดขึ้นในหลายประเทศ ที่จัดว่ามีระบบสาธารณสุขที่ดี มีเทคโนโลยีทันสมัยแล้ว          สำหรับประเทศไทย ระยะแรกสามารถชะลอการแพร่กระจายของไวรัสได้ดี จำนวนผู้ติดเชื้อเพียงหลักสิบคน และผู้เสียชีวิต 1 คน มีจำนวนคงที่เป็นเวลามากกว่า 2 เดือน แต่จากการอนุญาตให้มีกิจกรรมมวยที่มีผู้ร่วมงานนับหมื่นคน ประกอบกับการแพร่เชื้อจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพียงรายเดียว  เป็นจุดตั้งต้นของการแพร่เชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลายร้อยคนอย่างรวดเร็ว จนทำให้ต้องมีมาตรการปิดสถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน มหาวิทยาลัย ตามมา  ไวรัส คืออะไร         ไวรัสเป็นสิ่งไม่มีชีวิตขนาดเล็กมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น  แต่ไวรัสไม่จัดเป็นเซลล์เพราะขาดองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการ เช่น ไม่มีเยื่อหุ้มเซลล์ เป็นต้น  ไวรัสจึงมีสถานะเป็นเพียงอนุภาคขนาดเล็กมาก เล็กกว่าแบคทีเรียหลายเท่า มีขนาดอนุภาคอยู่ในช่วง 20-300 นาโนเมตรขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัส         การที่ไวรัสเป็นเพียงอนุภาคเล็กๆ จึงไม่สามารถอยู่เป็นอิสระได้  จะต้องอาศัยอยู่ในเซลล์สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอย่างจำเพาะเท่านั้น เช่น ไวรัสพืชต้องอาศัยในเซลล์พืช ไวรัสสัตว์ต้องอาศัยอยู่ในเซลล์สัตว์ ไม่สามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยกลไกต่างๆ ของเซลล์เจ้าบ้านที่ไวรัสไปอาศัยอยู่เป็นกลไกสำคัญ ทั้งนี้เพราะไวรัส มีองค์ประกอบเพียงสารพันธุกรรมชนิดดีเอ็นเอ หรืออาร์เอ็นเอ  อาจถูกห่อหุ้ม ด้วยโปรตีนหน่วยย่อยที่รวมกันอยู่เป็นแคพซิด (capsid) นอกจากนี้ไวรัสบางชนิดอาจมีเยื่อหุ้มบางๆ ซึ่งเป็นสารพวกไลโปโปรตีนหรือไกลโคโปรตีน ที่ไวรัสได้จากเซลล์เจ้าบ้านที่ไวรัสไปอาศัย ห่อหุ้มไว้อีกชั้นหนึ่งเท่านั้น         สำหรับ SARS CoV- 2 จัดอยู่ในกลุ่มโคโรนาไวรัส เป็นสมาชิกในกลุ่มเดียวกับไวรัสก่อโรคระบบทางเดินหายใจที่เคยระบาดใหญ่มาก่อน คือ ซาร์ส ( SARS) และเมอร์ส ( MERS) ซึ่งเชื้อล้วนมีต้นกำเนิดมาจากค้างคาว แล้วแพร่ผ่านสัตว์ตัวกลางมาสู่คน เช่นเดียวกัน โดยทั่วไป ไวรัสแต่ละชนิดต้องอาศัยเซลล์เจ้าบ้านที่จำเพาะเจาะจงดังกล่าวแล้ว ดังนั้นตามปกติไวรัสไม่มีการก่อโรคในสัตว์ข้ามชนิดกัน  แต่อาจมีกรณีพิเศษเกิดการปรับตัวกลายพันธุ์ ทำให้มีการติดเชื้อข้ามกลุ่มจากสัตว์มาสู่คนได้ ตัวอย่าง เช่น ไข้หวัดนก เอชไอวี และซาร์ เมอร์ เป็นต้น         โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ  SARS CoV- 2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด- 19  มีขนาดเพียงประมาณ 0.125 ไมครอนหรือ 125 นาโนเมตร  มีสารพันธุกรรม เป็น  อาร์เอ็นเอสายบวก ซึ่งจะสามารถแปลรหัสสร้างกรดอะมิโนและโปรตีนได้โดยตรง ทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ปัจจุบัน(เท่าที่มีข้อมูล) พบว่าไวรัสเกิดการกลายพันธุ์เป็น 2 สายพันธุ์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการก่อโรคแตกต่างกัน ให้ชื่อว่า ชนิดเอส ( Serine) และชนิดแอล ( Leucine) ตามชนิดของกรดอะมิโนที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากการกลายพันธุ์ของจีโนม แนวโน้มสถานการณ์         องค์การอนามัยโลก ยกระดับการระบาดของโควิด 19 ให้เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก   นักระบาดวิทยาประเมินสถานการณ์ว่า  ไวรัสคงแพร่ระบาดอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี จนทำให้มีคนติดเชื้อจำนวนมาก แล้วมีภูมิคุ้มกันกลุ่มเกิดขึ้น ทำให้คนมีภูมิต้านทาน  ดังนั้นไวรัสจะถูกยับยั้งได้ หรือถ้าสามารถค้นพบวัคซีนได้รวดเร็ว ก็จะช่วยลดระยะเวลาการระบาดให้สั้นลงได้         ในเมื่อมีแนวโน้มว่า ประชาชนคงต้องอยู่เผชิญกับโรคโควิด 19 กันอีกเป็นเวลานานพอสมควร ประชาชนจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจ ในประเด็นที่สามารถนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพตนเอง             -          ความทนทานของไวรัส มีรายงานการทดลองล่าสุดว่า ไวรัส SARS CoV- 2 มีความทนทานสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างอิสระในอากาศได้ 2 -8 ชั่วโมง และอยู่บนพื้นผิววัสดุชนิดพลาสติก เหล็ก ทองแดง กระดาษได้นานประมาณ 9 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ และความชื้น ดังนั้น ทำให้ไวรัสสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ             -          ระยะเวลาฟักตัว ประมาณ 2- 14 วัน พบในบางราย มีระยะฟักตัวนาน  21 วัน และ 28 วัน ซึ่งคงเนื่องมาจาก ปริมาณเชื้อเริ่มต้นที่ผู้ป่วยได้รับว่ามีมากน้อยเพียงใด และเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางไหน             -          ความสามารถในการแพร่เชื้อ จากการประมวลผล การแพร่ระบาดในประเทศจีน พบว่า ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการใดๆ คือยังอยู่ในระยะฟักตัว สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้แล้วในอัตรา RO  1.6 ทุกๆ 5.4 วัน ซึ่งเป็นความสามารถแพร่เชื้อได้ดี             -          การก่อโรคของไวรัสโควิด 19  แม้ว่าไวรัสจะมีระยะฟักตัวหลายวัน แต่ค้นพบว่า ไวรัสเข้าสู่เซลล์เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอนุภาคของไวรัสจะจับกับตำแหน่งตัวรับจำเพาะที่อยู่บนเซลล์เจ้าบ้านเช่น เซลล์ปอดได้อย่างดี แล้วเข้าไปชักนำให้เซลล์เจ้าบ้านมาสร้างสารพันธุกรรม และโปรตีนของไวรัสแทน ในปริมาณมาก จนได้ส่วนประกอบต่างๆ ของไวรัสจำนวนมาก เพื่อประกอบเป็นอานุภาคของไวรัสใหม่ๆ แล้วไวรัสจะออกจากเซลล์เดิมโดยนำเอาส่วนเยื่อหุ้มเซลล์ไปด้วย  ทำให้เซลล์เจ้าบ้านถูกทำลาย  ไวรัสก็จะไปเข้าสู่เซลล์ข้างเคียง แล้วทำลายเซลล์ต่อไปทำนองเดียวกัน  หากไม่สามารถยับยั้งกระบวนการนี้ อวัยวะเป้าหมายจะถูกทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ             -          การติดเชื้อซ้ำ มีข้อสงสัยในประเด็นนี้ เพราะมีรายงานข่าวจากประเทศจีนว่า มีคนไข้บางราย ที่รักษาหาย ตรวจไม่พบกรดนิวคลิอิกของไวรัสแล้ว แต่หลังจากนั้นก็กลับมาป่วยใหม่ จึงมีข้อสงสัยและความเป็นไปได้ว่า                 o   คนไข้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์จากเชื้อเดิม หรือ                o   คนไข้ยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกาย แต่ตรวจไม่เจอ และไม่มีอาการป่วยแล้วระยะหนึ่ง จากนั้นไวรัสเพิ่มจำนวนมากขึ้นใหม่ วัคซีน เมื่อไหร่จะได้ใช้         จากเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้สามารถทราบสารพันธุกรรม องค์ประกอบของโปรตีน ลักษณะสามมิติ ตลอดจนวงจรชีวิต ของไวรัส SARS CoV- 2  อย่างรวดเร็ว การออกแบบพัฒนาวัคซีนจึงเป็นไปอย่างรวดเร็วมากเช่นกัน  โดยอาจมุ่งออกแบบวัคซีนเพื่อยับยั้งระยะการเข้าเซลล์ การสร้างโปรตีน หรือ การสังเคราะห์กรดนิวคลิอิก  เป็นต้น  ปัจจุบัน อย่างน้อย 3 ประเทศ คือ จีน สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล  ประกาศว่าได้พัฒนาวัคซีนถึงขั้นทดลองในสัตว์ และคนได้แล้ว โดยจำแนกเป็นวัคซีน 3 ชนิด คือ วัคซีนเชื้อตาย  วัคซีนเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนกำลังลงโดยเทคนิคพันธุวิศวกรรม  และแมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเอ วัคซีน (mRNA vaccine)  แต่การใช้วัคซีนใดๆ จำเป็นต้อง ทำการทดสอบหลายขั้นตอน ทั้งประสิทธิภาพ และความปลอดภัย คาดว่าคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี จึงจะสามารถประเมินผลได้ หากได้ผลดีจึงจะทำการผลิตในระดับอุตสาหกรรมต่อไป หากไม่ได้ผล ก็ต้องเริ่มต้นคัดเลือกโมเลกุลเพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนใหม่ จึงต้องใช้เวลาเช่นกัน  ดังนั้นการจะรีบนำวัคซีนที่พัฒนาได้มาใช้ในคน โดยลัดขั้นตอนพิสูจน์ความปลอดภัย อาจทำให้เกิดผลเสียกับคนไข้ได้        สำหรับประเทศไทย มีการแถลงข่าว ลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน เพื่อการพัฒนาวัตซีนโควิด 19 เช่นกัน จึงจะต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป         ดังนั้น ในระยะนี้ ประเทศต่างๆ จึงได้พยายามทดสอบหายาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อ SARS CoV- 2 ต่อไป ที่ผ่านมา ได้มีการนำยาต้านไวรัสชนิดอื่นที่มีอยู่แล้ว เช่น ซาร์ส เอชไอวี หรือ ยาต้านมาลาเรีย มาทดลองใช้รักษาผู้ป่วยร่วมกับการรักษาตามอาการ แต่ปรากฏว่า ผลที่ได้ยังไม่ชัดเจน ยังต้องทำการทดลองต่อไป การกลายพันธุ์         โคโรนาไวรัส เป็นอาร์เอนเอไวรัสสายเดี่ยวดังได้กล่าวมาแล้ว ไวรัสจึงมีความสามารถกลายพันธุ์แบบ ไม่เจาะจง (random mutation) ได้มาก ในระหว่างการเพิ่มสารพันธุกรรมของไวรัสในเซลล์เจ้าบ้าน  แต่ส่วนใหญ่การกลายพันธุ์จะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของไวรัส เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอเพียงหนึ่งตำแหน่ง หรือไม่กี่ตำแหน่ง  และตำแหน่งที่กลายพันธุ์อาจไม่ส่งผลให้ชนิดของกรดอะมิโนเปลี่ยนแปลงก็ได้  ดังนั้นการกลายพันธุ์ที่ส่งผลให้คุณสมบัติไวรัสเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ต้องใช้เวลา และการปัจจัยที่เหมาะสม         การกลายพันธุ์อาจทำให้เชื้อก่อโรครุนแรงขี้น หรืออ่อนกำลังลงก็ได้ หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติในการก่อโรคก็ได้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลง  จึงไม่ควรวิตกกังวลประเด็นนี้มากนัก เพราะถ้าไวรัสทำลายแหล่งอาศัยอย่างรุนแรง จนเสียชีวิตจำนวนมาก ไวรัสก็อาจมีแหล่งอาศัยน้อยลงด้วย   ตัวอย่าง ไวรัสเอชไอวีที่ก่อโรคเอดส์ แม้เชื้อจะกลายพันธุ์มากมายในคนไข้แต่ไม่ได้ก่อโรครุนแรงเพิ่มขึ้น  ทั้งๆ ที่ปัจจุบันเรายังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ใช้ คนไข้ที่กินยาต้านไวรัสก็สามารถมีชีวิตยืนยาวได้  ประชาชนจะรับมืออย่างไร            การแพร่ระบาดทั่วโลกของโควิด 19 ครั้งนี้เป็นบทเรียนครั้งสำคัญของมวลมนุษยชาติ ว่าพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่เหมาะสมเพียงจุดเดียว สามารถนำเชื้อไวรัสในค้างคาวที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาก่อโรคในคน แล้วแพร่ระบาดไปตามเส้นทางการคมนาคมที่สะดวกสบายในปัจจุบัน จนมีคนติดเชื้อทั่วทุกทวีปภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน  ทั้งๆ ที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้มีมาตรการรับมืออย่างเต็มที่ภายใต้บริบทและทรัพยากรของประเทศเหล่านั้น แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดได้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนอย่างกว้างขวาง          ในกรณีของประเทศไทย   ณ ปัจจุบัน การระบาดดำเนินมาถึงจุดสำคัญมากว่า จะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยลงได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จำนวนคนป่วย คนเสียชีวิต จะเพิ่มขึ้นเป็นหลักพันในเวลาอันใกล้นี้  ซึ่งการจะควบคุมสถานการณ์ให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนอย่างมาก          ประชาชนทั่วไปควรตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามคำแนะนำ อย่างเคร่งครัด และมีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้อย่างจริงจังเพื่อให้สามารถป้องกันตนเองและครอบครัวอย่างเหมาะสม เพราะว่าไวรัสนี้ จะแพร่กระจายติดต่อได้ง่าย ผู้ติดเชื้อไวรัสมีระยะเวลาในการฟักตัวนานประมาณ 2-14 วันเป็นส่วนใหญ่ หรือบางรายอาจถึง 27 วัน  ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่เข้าสู่ร่างกายครั้งแรกว่ามี มากน้อยเพียงใด  ไวรัสแพร่ออกจากร่างกายคนพร้อมสารคัดหลั่งต่างๆ โดยการ ไอ จาม  ของผู้ที่มีอาการแล้ว ในกรณีนี้ เราจะระมัดระวังได้ง่ายกว่าพวกที่ยังไม่มีอาการ        พึงตระหนักว่า ไวรัสแพร่จากร่างกายคนไม่มีอาการ หรืออยู่ในระยะฟักตัวได้  โดยที่ในระยะนี้ ไวรัสอาจอยู่บริเวณเยื่อเมือกบริเวณจมูก ปาก แล้วผู้ป่วยอาจสัมผัสร่างกายบริเวณนั้นๆ แล้วไปสัมผัสสิ่งของ วัตถุต่างๆ ซึ่งเราป้องกันการรับเชื้อได้โดยการล้างมือบ่อยๆ หลังจากไปสัมผัสสิ่งต่างๆ รอบตัว ไวรัสแพร่เชื้อจากคนสู่คน ดังนั้น การอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด พลุกพล่าน ย่อมมีโอกาสรับเชื้อได้ง่าย จึงต้องหลีกเลี่ยงไม่ไปอยู่ในสถานที่เช่นนั้น   หากไม่ระมัดระวังอาจจะรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางจมูก ปาก ตา ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80 % อาการไม่รุนแรง  บางคนหายเองโดยภูมิต้านทานของตนเอง หรือเพียงแต่รักษาตามอาการ         ไวรัสก่อโรครุนแรง หากมีการติดเชื้อในปอด โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งตามรายงานปัจจุบันอยู่ที่ 4.23 % ผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อที่ปอด เมื่อหายแล้วพบว่ามียังรอยโรคที่ปอด ร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมได้ ทำให้ปอดทำงานไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม ไวรัสมีผลต่อระบบประสาทของการรับรสชาติในผู้ป่วยบางราย         ดังนั้นแม้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง แต่เป็นผู้แพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นๆ ได้ดี ผู้ป่วยที่หายจากโรคแล้วอาจมีปัญหาสุขภาพบางประการตามมา  การป้องกันการติดเชื้อไวรัสนี้เป็นมาตรการที่ดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกับโฆษณาแฝงอีกปัญหาที่ยากจัดการ

        ย้อนกลับเมื่อช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปี 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคทั่วประเทศกว่า 4,182 ราย ซึ่งครอบคลุมด้านการเงินการธนาคาร ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสาธารณะ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านสื่อและโทรคมนาคม ด้านที่อยู่อาศัย และด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข พบว่า         ปัญหาด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ รั้งแชมป์มีคนร้องเรียนมากที่สุด จำนวน 1,534 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 36.68 รองลงมา คือ ด้านบริการสาธารณะ ร้องเรียน 820 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 19.61 หมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข ร้องเรียน 703 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16.81          โดยสภาพปัญหายังเป็นเรื่องเดิมๆ คือ “โฆษณา” พบว่ามีทั้งการโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวง โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทำให้เข้าใจผิดและหลงเชื่อ ผลิตภัณฑ์ไม่มีฉลากหรือไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเครื่องหมาย อย. โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ที่อวดอ้างสรรพคุณสามารถรักษาโรคได้ ซึ่งช่องทางที่พบการโฆษณา คือทางโทรทัศน์และวิทยุชุมชน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เมื่อได้ส่งถึงผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาก็ใช้ระยะเวลายาวนานมาก ในขณะที่ผลิตภัณฑ์เจ้าปัญหายังมีขายเกลื่อนท้องตลาดต่อไป            ข้างต้นนั้นคือข้อมูลเมื่อปีที่แล้วและเป็นข้อมูลการเอาเปรียบผู้บริโภคผ่านการโฆษณาแบบชัดเจน ยังไม่นับรวมในเรื่องของการโฆษณาแฝงในสื่อต่างๆ ซึ่งเรายังไม่ต้องไปพูดถึงว่าเป็นของจริงหรือหลอก แต่แค่ปล่อยให้มีการโฆษณาแฝงในรายการทั่วไปก็ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะเราตั้งใจเข้ามาดูเนื้อหาในรายการ แต่กลับถูกยัดเยียดการโฆษณาขายสินค้าแบบเนียนบ้าง ไม่เนียนบ้าง ทำให้เสียอรรถรสในการรับชมรายการไปแล้ว         เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ดร.ตรี บุญเจือ” ผอ.การส่วนไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเลขานุการคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ในแง่ของการกำกับเนื้อหาการโฆษณา ตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดว่าการโฆษณาจะต้องไม่โป๊เปลือย ลามกอนาจาร เสื่อมศีลธรรมของประชาชนอย่างร้ายแรง ไม่ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง         นอกจากนี้ยังมีการกำกับระยะเวลาในการโฆษณาทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกอัดโฆษณาจนเกิดเดือดร้อนรำคาญ แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะยังไม่ครอบคลุมไปถึงขั้นการดูแลโฆษณาแฝง         เหตุผลคือ “รูปแบบของการโฆษณา” ซึ่งขณะนี้ กสทช. ยังไม่ได้มีประกาศนิยามเรื่องของการโฆษณาแฝง แต่ที่ผ่านมามีความพยายามในการพูดถึงการออกประกาศในภาพรวม แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อหลายๆ ส่วนเลยยังอยู่ในกระบวนการที่พิจารณาและศึกษาเพิ่มเติม         แต่ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีประกาศชัดเจนเกี่ยวกับข้อห้ามการโฆษณาแฝงที่ชัดเจนออกมา แต่ถามว่ายังคงกำกับดูแลอยู่ไหม ก็ยังทำอยู่ตามที่มีอำนาจ เช่น การกำกับเนื้อหาการออกอากาศจะต้องไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ไม่หลอกลวงผู้บริโภค มีหลายครั้งที่เขาส่งผังรายการมาเป็นว่า รายการแต่มีการพูดถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพ แล้วบอกสรรพคุณที่เกินจริงไปทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ ก็สามารถกำกับดูแลและหาตรงนี้ได้ ถ้าเชิงสังคมอาจเรียกว่าสามารถทำได้ แต่ถ้าในเชิงกฎหมายเรียกว่าก็ยังไม่ได้มีประกาศห้ามไว้         ตอนนี้พยายามตรวจสอบและนำกฎหมายที่มีอยู่มาตรวจจับกันอยู่โดยทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เฝ้าระวังทั้งเนื้อ หารูปแบบ การพูดถึงสินค้า ว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ เกินจริงหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่าโฆษณาแฝงบางตัวมีการพูดถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์ที่เกินจริงไป โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงมีคำสั่งทางปกครองไปอยู่บ้าง บางรายถูกเรียกให้มาชี้แจง แจ้งเตือน เป็นต้น          ดร.ตรี บอกว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องการกำกับดูแลการโฆษณาแฝงที่เคยคุยกันก่อนหน้านี้ ที่มองกันไว้ในเบื้องต้นมี 4 ลักษณะ คือ            1. Product placement หรือการนำผลิตภัณฑ์ไปวางไว้ในรายการเฉยๆ            2. Product movement คือ มีการหยิบ จับ แสดงสินค้า            3. Product experience คือมีการพูดถึงสิ้นค้านั้นๆ ในรายการ และ            4. การเขียนสคริป สร้างเรื่องราวของสินค้าตัวนั้นๆ ในรายการ         ก่อนหน้านี้ได้มีการคุยกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน พบว่าในรายการวิทยุ จะมีการเผยแพร่นิทานชีวิตตลกขำๆ นิทานสั้นๆ เขียนบทสนทนาของตัวละคร 2 ตัวที่พูดถึงผลิตภัณฑ์เข้าไปว่าจะไปซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่ไหนอย่างไร สรรพคุณเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ จริงๆ แล้ว หลายชิ้นก็แยกไม่ชัด ซึ่งก็ได้ขอให้เครือข่ายผู้บริโภคช่วยดูและศึกษาว่ามีการโฆษณาสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ มีการทำให้เดือดร้อนรำคาญหรือไม่ แต่ในกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคก็ค่อนข้างเห็นว่าเป็นการสร้างสรรค์อยู่เช่นเดียวกัน จึงมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำให้กระบวนการผู้บริโภคให้มีความรู้เท่าทันด้วยว่านี่เป็นโฆษณาแฝงในรายการ          สำหรับวิธีการป้องปรามป้องกันการโฆษณาแฝงใน 4 รูปแบบนั้น ยังไม่ได้มีการคุยกัน เพราะอย่างที่บอกว่า “เป็นเพียงประเด็นเรื่องของการทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนรำคาญใจ” เช่น มีการซูมให้เห็นเด่นชัดและค้างเป็นเวลานาน หรือว่าพูด ตอกย้ำ ซ้ำๆ บ่อยๆ ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญใจหรือไม่         อย่างไรก็ตามถ้าวันหนึ่งวันใดถึงเวลาที่ต้องลุกขึ้นมาควบคุมกันจริงๆ จากการศึกษามาในหลายๆ ประเทศ ก็มีโมเดลที่ต่างกัน เช่น อังกฤษห้ามการโฆษณาแฝงในหลายๆ รูปแบบ ห้าม Tie-in หลายประเทศก็ให้มีการขับเคลื่อนกันเอง สิงคโปร์ก็ไม่ได้มีกฎหมายที่พูดชัดเจน ส่วนมาเลเซียมีการควบคุมที่ไม่เต็มร้อย เป็นต้น         เพราะฉะนั้นตนมองว่า “ทุกอย่างไม่ได้แก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายใหม่ แต่อาจจะมีการกำกับดูแลในมิติกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว นำไปปรับใช้ ซึ่งตอนนี้ก็ใช้อยู่ แต่ว่าในเรื่องของเวลายังไม่ได้พิจารณาว่าจะต้องกำกับดูแลเพิ่มเติมหรือไม่ว่าไม่ให้เกินกี่นาที กี่วินาที”        อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้มาก หากรู้สึกว่าถูกคุกคามเอารัดเอาเปรียบสามารถร้องเรียน หรือมีข้อเสนอแนะเข้ามาที่กสทช.ได้ แล้วจะถูกพิจารณาเป็นรายกรณีไป ซึ่งจะมีขั้นตอน ส่วนระยะขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี เช่น หลังรับเรื่องร้องเรียน กสทช.จะต้องแจ้งว่าได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว และนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาที่มีคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก่อนจะนำผลสรุปเข้าบอร์ดกสทช .         แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็ยังตอบไม่ได้ว่าเมื่อเข้าไปแล้ว กสทช. จะพิจารณาแบบไหน หรือว่าคณะอนุกรรมการจะเสนอแบบไหน บางเรื่องที่มีกฎหมายอยู่แล้วอาจพิจารณาความผิดได้เลย แต่ถ้ายังไม่มีกฎหมายที่ออกมาหรือยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของกระบวนการในการกำกับดูแล กสทช. อาจมาออกประกาศย่อยหรือออกคำนิยามเพิ่มหรือออกแนวทางมติเพิ่มเพื่อทำให้เกิดการกำกับดูแลเรื่องนี้ได้         นอกจากนี้ ตนยังมีข้อเสนอกลับไปยังประชาชน ผู้บริโภคด้วย ส่วนแรกคือ กระบวนการผู้บริโภคจะต้องมีความเข้มแข็ง จะรวมตัวกันแล้วจัดทำเป็นข้อเสนอขึ้นมาก็ได้ ส่วนที่ 2 คือเรื่องนี้ ตนยังไม่รู้ว่าจะออกมาแบบไหน แต่ก็เป็นความรับผิดชอบของทุกคน อย่างนั้นเป็นกระบวนที่เราอาจจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนกันไปก่อน ต้องมองที่กระบวนการ วิธีการกำกับดูแลกันเอง          “ดร.ตรี ย้ำในตอนท้ายว่า กสทช. พยายามกำกับดูแลในเชิงกฎหมายและจริยธรรม หากมันไม่เข้าข่ายกฎหมายอาจจะต้องมองไปที่จริยธรรม ซึ่งเป็นมิติที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการสื่อสาร เช่น สะท้อนความคิดเห็นโดยตรงไปยังสื่อนั้นๆ รายการนั้นๆ ขณะที่คนทำสื่อเองก็ต้องตระหนักเรื่องนี้เอาไว้ด้วย นี่เป็นกลไก 3 ก้อน คือ “ผู้บริโภค-คนทำสื่อ หน่วยงานที่กำกับ” ควรขับเคลื่อนไปด้วยกันและมองเห็นกันและกันสถานการณ์โฆษณาแฝงกับบทบาทภาคประชาชน         นายโสภณ หนูรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนานโยบาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า องค์กรผู้บริโภคได้มีการพัฒนาความเข้มแข็งในการทำงานด้านการจัดการโฆษณาผิดกฎหมาย โดยมีการสร้างระบบการทำงานเฝ้าระวัง โดยมุ่งเน้นเฝ้าระวังโฆษณาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ เนื่องจากพบว่ามีผู้บริโภคเสียชีวิตจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย มีการใส่สารอันตราย อีกทั้งพบว่ามีการโฆษณาหลอกลวง โอ้อวดเกินจริง โดยฐานการโฆษณามีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากในทีวีไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์         รูปแบบการทำงานเฝ้าระวังมีการพัฒนาให้เป็นระบบ ประกอบด้วยกลไกเฝ้าระวังที่มีทั้งการเฝ้าในสื่อโทรทัศน์ วิทยุและบนออนไลน์ เมื่อได้ข้อมูลจากการเฝ้าระวังจะมีการบันทึกผลในฐานข้อมูลร้องเรียน เพื่อนำไปวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เกิดขึ้น และนำผลเฝ้าระวังส่งให้แก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ  โดยใช้ทั้งช่องทางปกติ คือทำหนังสือส่งไปยังหน่วยงาน และตั้งกลุ่มไลน์ร่วมกับผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือเพื่อให้นำออกจากระบบทันที โดยมีข้อตกลงหากไม่ดำเนินการจะมีการส่งให้กับหน่วยงานเพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายต่อไป โดยปัจจุบันในการทำงานจัดการโฆษณาผิดกฎหมาย มีความร่วมมือกันขององค์กรผู้บริโภค 34 จังหวัดใน 6 ภูมิภาค ดังนี้          นอกจากนี้  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคแต่ละองค์กร ก็มีการจัดทำเพจองค์กรตนเอง เพื่อสื่อสารผลการเฝ้าระวัง และการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ  แจ้งเตือนภัยผู้บริโภค ทำให้เป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น         ในส่วนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีการจัดทำเพจเฟสบุ๊ค “ซอกแซกสื่อ” และ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”  และได้มีการนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะ ที่สำคัญ ดังนี้            1.สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ  หยิบยกกรณีร้องเรียนต่างๆ ในสื่อออนไลน์มาบอกเล่ากับผู้บริโภค เพื่อเตือนภัยและสร้างการตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคให้มีมากขึ้น เช่น ข่าวนักเรียน ม.4 ที่ลำปาง สั่งซื้ออาหารเสริมทางเน็ต แบบผงมาชงดื่มลดความอ้วน ต่อมาไตวาย ติดเชื้อเข้ากระแสเลือด ตัวบวมเสียชีวิต  ข่าว อย.เปิดฐานข้อมูลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ประชาชนตรวจสอบก่อนซื้อ เป็นต้น            2.ติดตามการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐ เช่น เผยแพร่ข้อมูล ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่อย. ได้ยกเลิกเลขสารบบ หรือมีสารประกอบอันตรายเพื่อเตือนภัยผู้บริโภค             3.แจ้งผลการทำงานเฝ้าระวังของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เช่น การจัดเวทีความร่วมมือเพื่อยกระดับการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย  การแถลงข่าวผลเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค        สำหรับภาคประชาชนหรือเครือข่ายผู้บริโภคนั้น จำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะในการตรวจสอบรูปแบบโฆษณาแฝง เพราะแม้เครือข่ายผู้บริโภคจะมีความรู้เกี่ยวกับโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หลอกลวง แต่ในเรื่องการโฆษณาแฝงยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนทำงานผู้บริโภค เนื่องจากการโฆษณาแฝง มีความหลากหลาย โดยเฉพาะปัจจุบันไม่ได้มีสปอตโทรทัศน์เท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบอื่น ยกตัวอย่าง การนำสินค้าวางในรายการต่าง ๆ หรือการให้ความรู้สอดแทรกว่าควรใช้สินค้านั้น ๆ หรือไม่  อีกทั้งการโฆษณาแฝง ยังเกี่ยวพันกับเรื่องสถาบันวิชาชีพต่าง ๆ เช่น แพทยสภาเพื่อกำกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่กระทำการแฝงโฆษณาและใช้วิชาชีพของตนเองในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดและคอยติดตามเฝ้าระวังไม่ให้เกิดลักษณะเช่นนี้อีก  รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสทช.ที่ต้องเร่งจัดทำ เช่น ให้คำนิยามหรือขอบเขตของโฆษณาแฝงที่ชัดเจน ทันยุคสมัย และมีความเป็นปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานหรือประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับโฆษณาแฝง รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูล (data bank) ที่ผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาแฝงได้         “ผมมองว่าการทำงานของ กสทช. นั้น ไม่เพียงพอ เพราะในหลายเรื่องก็ยังไม่มีการดำเนินการ เห็นได้จากการที่คณะอนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ได้มีข้อเสนอต่อการกำกับดูแลเรื่องโฆษณาแฝงในทีวีดิจิทัลหลายประการ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการ เช่น กสทช.ควรกำหนดกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลโฆษณาแฝงหรือหลักจรรยาบรรณ (code of conduct) ที่ชัดเจน รวมทั้งสานต่อ กฎ กติกา ที่เคยถูกร่างไว้ให้เป็นรูปธรรม”         เนื่องจากการทำโฆษณาแฝงไม่เพียงแต่จะเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค หากแต่ยังแสดงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างช่องโทรทัศน์ที่ปฏิบัติตามกฎกับช่องโทรทัศน์ที่ละเมิดกฎเกณฑ์ กสทช.ต้องประสานความร่วมมือในการเฝ้าระวังโฆษณาแฝงในโทรทัศน์ระบบดิจิทัลอย่างมีลำดับขั้นตอน เช่น องค์กรผู้บริโภคหรือสมาคมช่วยกันสอดส่องดูแลแล้วส่งข้อมูลให้ภาครัฐดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลร่วมกัน ทั้งนี้อาจมีการศึกษารูปแบบการทำงานเพิ่มเติมจากหน่วยงานในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา พร้อมประสานความร่วมมือกับสถาบัน เช่น แพทยสภาเพื่อกำกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่กระทำการแฝงโฆษณาและใช้วิชาชีพของตนเองในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดและคอยติดตามเฝ้าระวังไม่ให้เกิดลักษณะเช่นนี้อีก รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูล (data bank) ที่ผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาแฝงได้         ซึ่งหาก กสทช.ได้พิจารณาและดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ปัญหาการโฆษณาเกินจริง หรือเอาเปรียบผู้บริโภคลดลงได้มาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 How to เก็บ เก็บยังไงให้เหลือเงิน How to ลด ลดยังไงไม่ให้เหลื่อมล้ำ

                ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาช่างฝืดเคืองในความรู้สึกของชาวบ้านร้านช่อง ส่วนในปี 2563 บรรดานักเศรษฐศาสตร์ก็ไม่ได้ให้ความหวังมากนักว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้น ทั้งเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งกระทบต่อการส่งออกทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงและการท่องเที่ยวที่อาจไปไม่ถึงเป้า ขณะที่กำลังซื้อในประเทศที่ลดลงน่าจะส่งผลถึงปีนี้ ผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า ยังพบว่า ในปี 2562 หนี้ครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 340,053 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงสุดในประวัติศาสตร์และเพิ่มจากปีก่อนร้อยละ 7.4 บวกกับสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะหยุดรบรากัน เศรษฐกิจไทยปี 2563 จึงเสี่ยงที่จะเติบโตช้า        คำถามตัวโตๆ ก็คือผู้บริโภคอย่างเราจะอยู่อย่างไรในสภาพเศรษฐกิจและการเมืองเช่นนี้         ‘ฉลาดซื้อ’ ชวนหาคำตอบเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่น่าจะพอช่วยฝ่าฟันมรสุมเศรษฐกิจปี 2563 การเงินในระยะยาว แต่ต้องเน้นตัวโตๆ ตรงนี้ว่ามันคงไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปตายตัวที่ทุกคนจะนำไปใช้ได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องเฉพาะคน แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำที่ถูกค้ำจุนจากเชิงโครงสร้าง การผลักดันทางสังคมจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้          เริ่มรู้จักตัวเองและเก็บออม          การเงินส่วนบุคคลหรือ personal finance เป็นวิชาที่ไม่มีสอนในโรงเรียน นี่เป็นจุดอ่อนใหญ่ของระบบการศึกษาไทย         พูดถึงเรื่องเก็บออมหรือลงทุน เรามักนึกถึงเรื่องจำนวนเงิน ผลตอบแทน ความเสี่ยง วิธีการสารพัดที่หนังสือฮาวทูโฆษณาว่าจะทำให้คุณรวยเร็ว ฯลฯ ผิด! เพราะสิ่งแรกที่คุณต้องรู้ก่อนคือ ‘รู้จักตัวเอง’ เริ่มจากการสำรวจตัวเอง ไลฟ์สไตล์ ทัศนคติต่อเรื่องเงิน ภาระค่าใช้จ่าย งบการเงิน หนี้สิน รวมถึงเป้าหมายทางการเงินของตน เวลาพูดถึงเป้าหมายการออมและลงทุน คำตอบมักหนีไม่พ้น ‘อยากรวย’ แต่ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงเรียกว่ารวย รวยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน        หลังจากนั้น คุณต้องหันทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือน เพื่อให้รู้ว่าเงินของคุณเดินทางเข้าออกอย่างไร มันจะช่วยให้เห็นว่ารายจ่ายตรงไหนที่ประหยัดได้อีก แต่ละเดือนมีเงินเหลือหรือไม่ กล่าวคือมันเป็นการเริ่มต้นสำรวจสถานะการเงินของคุณ สิ่งสำคัญคือสภาพคล่อง เงินสดในกระเป๋าสำหรับใช้จ่ายกินอยู่ ถ้าคุณไม่มีสภาพคล่อง หนี้สินก็จะตามมา การรู้รายรับ-รายจ่ายและการบริหารสภาพคล่องจึงเป็นเสาหลักต้นแรกที่ต้องใส่ใจ         ไม่ใช่แค่ใช้จ่าย สภาพคล่องในที่นี้ยังต้องรวมเงินสำหรับเก็บออมด้วย คำแนะนำโดยทั่วไปคือเมื่อคุณได้รายได้มาให้หักเงินออมก่อนอย่างน้อยร้อยละ 10 ของรายได้ เพราะความคิดเดิมที่ว่าเหลือแล้วค่อยเก็บนั้นล้าสมัยไปมากแล้ว         ถามว่าต้องเก็บเงินเท่าไหร่? เงินก้อนแรกที่คุณต้องเก็บคือเงินสำรองฉุกเฉิน 6-12 เดือนของรายจ่ายต่อเดือน เช่น ถ้าใน 1 เดือนคุณมีรายจ่ายและเงินออมรวม 10,000 บาท คุณต้องมีเงินสำรองฉุกเฉิน 60,000 -120,000 บาท ฟังดูมากจนน่าท้อใจ แต่ถ้าวันหนึ่งที่คุณไม่มีรายได้หรือเกิดเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงินก้อนคุณจะเห็นความสำคัญของเงินก้อนนี้ และในระหว่างที่เก็บเงินสำรองฉุกเฉิน คุณยังสามารถออมเงินอีกก้อนไปพร้อมกันได้ หากรู้จักจัดสรรเงินโดยไม่กระทบสภาพคล่อง         อีกทั้งมันยังเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเก็บออม นั่นคือ ‘วินัย’ ที่มักทำให้หลายคนตกม้าตายไปไม่ถึงเป้าหมายการออมของตน          จัดการหนี้สิน         หนี้สินเป็นสิ่งที่กัดกินสภาพคล่องและความมั่งคั่ง การจัดการหนี้สินจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ         สิ่งแรกที่ต้องรู้ ไม่ใช่ว่าหนี้จะเป็นสิ่งไม่ดีเสมอไป คุณต้องแยกระหว่างหนี้ดีกับหนี้ไม่ดีให้ได้ หนี้ดีคือหนี้ที่ก่อแล้วส่งผลดี เช่น เพิ่มทักษะใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพ หนี้ที่นำมาลงทุนทำอาชีพเสริม เป็นต้น ส่วนหนี้ไม่ดีก็คือหนี้บริโภคจากการใช้จ่ายเกินตัว        จุดนี้ต้องแยกแยะให้ดี เพราะการกู้หนี้มาซื้อของอย่างเดียวกันอาจเป็นได้ทั้งหนี้ดีและหนี้ไม่ดี ยกตัวอย่างการซื้อรถ ถ้าคุณเป็นเซลที่ต้องเดินทางออกไปเสนอผลิตภัณฑ์กับลูกค้าบ่อยๆ หนี้รถก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการก่อหนี้ดีจะต้องไม่กระทบกับสภาพคล่อง ทีนี้ ถ้าคุณซื้อรถเพราะเห็นเพื่อนๆ มีรถก็อยากมีบ้างหรือซื้อเพื่อแสดงสถานะทางสังคมทั้งที่รายได้ยังไม่มากพอ แบบนี้ก็เป็นหนี้ไม่ดี ดังนั้น จงหลีกเลี่ยง         หากทำได้ กำจัดหนี้ไม่ดีออกไปให้เร็วที่สุด คำนึงถึงความจำเป็นเป็นหลัก การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าอาจไม่สะดวกเท่าขับรถไปทำงานเอง แต่มันอาจประหยัดได้มากกว่าหลายเท่าตัวกับค่าผ่อนรถ ค่าบำรุงรักษา ภาษี และอื่นๆ          รับมือความเสี่ยง        ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุเป็นเบาะกันกระแทกที่ดีเมื่อคุณต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เอ๊ะ แล้วเงินสำรองฉุกเฉินล่ะทำไมไม่เอามาใช้ แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้าคุณสามารถถ่ายโอนภาระความเสี่ยงไปให้ผู้อื่นแบกรับแทน แม้คุณจะมีเงินสำรองฉุกเฉิน แต่อุบัติเหตุร้ายแรงเพียงครั้งเดียวอาจทำให้เงินก้อนนี้หายไปในชั่วพริบตา อย่างไรก็ตาม คุณจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีคัดเลือกประกันและเบี้ยประกันที่เหมาะสมกับตัวคุณ        ปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาคิดก่อนซื้อประกันคือสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่แล้ว เช่น ประกันอุบัติเหตุของบริษัทที่คุณทำงานอยู่ สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น แน่นอนว่าสิทธิการรักษาพยาบาลควรเป็นสวัสดิการที่รัฐจัดหาให้แก่ประชาชนทุกคนอย่างครอบคลุม เสมอหน้า และเท่าเทียม ทว่า ในรัฐที่ระบบสวัสดิการยังไม่ครอบคลุมและมีรัฐบาลที่เห็นว่าการซื้ออาวุธสำคัญกว่าสุขภาพของประชาชน การซื้อประกันก็เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า          เรียนรู้เพื่อลงทุน-อย่าโลภ         เมื่อคุณมีเงินสำรองฉุกเฉิน จัดการหนี้สินได้ มีเงินออม และเริ่มมีเงินเหลือ การวางแผนการเงินระยะยาวเพื่อการเกษียณก็จะตามมา ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณควรคิดตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน เพราะความมั่งคั่งจากการลงทุนต้องอาศัย 3 ปัจจัย-เงินต้น ผลตอบแทน และระยะเวลา         คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด เงินต้นไม่มากพอที่จะสร้างความมั่งคั่งได้รวดเร็ว ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารก็ต่ำเตี้ยมาเป็นเวลานานโตไม่ทันกับเงินเฟ้อ คงมีแต่เวลาที่พอจะมีใกล้เคียงกัน (แต่ก็ไม่เสมอไป) ดังนั้น ยิ่งคุณเริ่มเร็วก็ยิ่งได้เปรียบ         การฝากเงินกับธนาคารจึงไม่ใช่คำตอบของการเก็บเงินเพื่อการเกษียณ การลงทุนต่างหากที่ช่วยได้        ทันทีที่พูดเรื่องการลงทุน คนส่วนใหญ่จะทำหน้างอและถอย ข้ออ้างคือไม่มีความรู้ ไม่มีเงินก้อน นี่เป็นมายาคติตัวใหญ่ที่ขวางกั้นคุณกับความมั่งคั่ง สกู๊ปนี้คงไม่ลงรายละเอียดว่าต้องลงทุนอย่างไร คุณสามารถหาความรู้ด้านการลงทุนมากมายได้จาก www.set.or.th/education        เรามีแค่คำเตือน-อย่าโลภ ขายตรง ทองคำ ฟอร์เร็กซ์ ข่าวคราวแชร์ลูกโซ่ที่มากทั้งจำนวนผู้เสียหายและจำนวเงิน ล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยความโลภทั้งสิ้น เมื่อใดที่เห็นคำโฆษณาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ เช่น ร้อยละ 12 ต่อเดือน จงระวังตัว          วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนหุ้นแบบเน้นคุณค่าที่เก่งที่สุดในโลกคนหนึ่งจนได้ฉายาว่า เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา ยังสร้างผลตอบแทนแบบทบต้นได้เพียงประมาณร้อยละ 22 ต่อปีเท่านั้น แล้วคุณเชื่อหรือว่าจะมีคนที่คุณเอาเงินไปให้แล้วจะสร้างผลตอบแทนให้ร้อยละ 12 ต่อเดือนโดยที่คุณแค่นั่งเฉยๆ         ดังนั้น ก่อนเริ่มลงทุน คุณต้องหาความรู้ เข้าใจความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ ผลตอบแทนที่ต้องการ รักษาวินัยในการลงทุน และอย่าโลภ          ความเหลื่อมล้ำอันกว้างใหญ่         ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเย็นเกินกว่าจะลงมือทำ         อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคลที่ต้องลงมือทำด้วยตนเอง เพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้ ‘ทุกคน’ อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีและเสมอภาค คำตอบคือไม่ เพราะแต่ละคนมีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน บางคนติดลบตั้งแต่เกิด อีกบางคนมีมูลค่าเป็นพันล้านตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิงเด็กชาย         วารสารการเงินการธนาคารฉบับเดือนธันวาคมปี 2562 เผยภาพรวมเศรษฐีหุ้นไทยโดยวัดจากผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ถือหุ้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ก่อนวันที่ 30 กันยายน 2562 พบว่ามีจำนวน 7,626 คน มูลค่าหุ้นรวมกันเท่ากับ 2,127,895 ล้านบาท คน 7,626 นี้ได้รับปันผลจากหุ้นที่ตนถือครอง 60,060 ล้านบาท ส่วนมหาเศรษฐีหุ้นไทย 500 อันดับแรก มูลค่าหุ้นที่คนกลุ่มนี้ถือครองคือ 1,607,362 ล้านบาท         นิตยสาร Forbes Thailand จัดอันดับมหาเศรษฐีไทย 50 อันดับแรก พบว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยรวมของมหาเศรษฐีทั้ง 50 คนอยู่ที่ประมาณ 5.14 ล้านล้านบาท มหาเศรษฐีเหล่านี้วนเวียนอยู่ในตระกูลที่คนไทยคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เจียรวนนท์ สิริวัฒนภักดี โอสถานุเคราะห์ อัศวโภคิน กาญจนพาสน์ ปราสาททองโอสถ โสภณพนิช ว่องกุศลกิจ เป็นต้น         ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของทั้งประเทศอยู่ที่ 3,200,000 ล้านบาท         อีกฟากฝั่งของความร่ำรวยของคนไม่กี่คนและไม่กี่ตระกูล จากงานศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า เงินฝากมีการกระจุกตัวสูงโดยผู้ฝากรายใหญ่สุดร้อยละ 10 มีเงินฝากรวมถึงร้อยละ 93 ของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด และคนไทยกว่าครึ่งมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ แต่ครึ่งหนึ่งของผู้ฝากมีเงินในบัญชีไม่ถึง 3,142 บาท และมีเพียงร้อยละ 0.2 ที่มีเงินในบัญชีมากกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 32.8 ของผู้ฝากหรือ12.2 ล้านคน มีเงินในบัญชีไม่เกิน 500 บาท ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ฝากถึง 4.7 ล้านคนมีเงินในบัญชีไม่ถึง 50 บาท และจากข้อมูลของ CS Global Wealth Report 2018 หรือปี 2561 ประเทศไทยก็ได้ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกในด้านความเหลื่อมล้ำ        ลองเทียบตัวเลขคุณจะเห็นความผิดปกติบางอย่าง ความเหลื่อมล้ำและช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยในไทยช่างกว้างใหญ่ราวมหาสมุทรแปซิฟิก        รศ.ดร.วิมุต วานิชเจริญธรรม จากภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจของไทยเป็นผลจากนโยบายของรัฐมักเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจ ไม่สนับสนุนนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของตนเอง ดังนั้น เครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำคือการจัดสรรภาษีที่เป็นธรรมตามหลักการจัดสรรรายได้จากคนรวยสู่คนจนจึงไม่ทำงาน          สร้างรัฐที่ดูแลประชาชน         การเก็บออมเป็นวินัยที่ทุกคนควรมี แต่มันไม่เพียงพอ การถักทอตาข่ายทางสังคมที่รองรับทุกคน ส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องผลักดันควบคู่กันไปให้เป็นสิทธิของเราที่รัฐต้องจัดหาให้แก่ประชาชน นโยบายที่ควรต้องขับเคลื่อนให้รัฐตอบสนอง เช่น        1.การจัดสวัสดิการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ        2.การจัดสวัสดิการด้านการศึกษาอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพ และต้องฟรีจริงๆ        3.การสร้างระบบบำนาญแห่งชาติ        4.การเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีผลได้จากทุน เป็นต้น อย่างมีประสิทธิภาพ        5.การสร้างระบบการเมืองที่เปิดพื้นที่ให้ทุกกลุ่มได้ส่งเสียงและเสนอความต้องการ        6.การจัดสรรให้เกิดการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐอย่างเป็นธรรม        ฯลฯ         การผลักดันเชิงนโยบายเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ทำได้หรือไม่? ก็ไม่ได้ เพราะมันจะช่วยดึงความมั่งคั่งที่อยู่ในมือคนไม่กี่คนกระจายไปยังคนส่วนใหญ่ของประเทศ         อุปสรรคใหญ่ที่สุดที่ยืนขวางอยู่คือรัฐบาลสืบทอดอำนาจและรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ‘ค่ารถไฟฟ้าแพง’ เรื่องเล่าจากพนักงานออฟฟิศสู่ระบบขนส่งมวลชนที่รอวันปฏิรูป

                ถ้าคุณต้องเดินทางไปทำงาน ไป-กลับ ด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิทตั้งแต่สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จนถึงสถานีเคหะฯ คุณต้องชำระเงินค่าบัตรโดยสารรวม 118 บาท         ถ้าคุณต้องเดินทางไปทำงาน ไป-กลับ ด้วยรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีตั้งแต่สถานีคลองบางไผ่จนถึงสถานีหลักสอง คุณต้องชำระเงินค่าบัตรโดยสารรวม 140 บาท         เมื่อคิดจากค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ 331 บาทซึ่งเริ่มใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 หมายความว่าค่าเดินทางของคุณจะเท่ากับประมาณ 1 ใน 3 ของค่าแรงต่อวัน         แน่นอน นี่เป็นอัตราส่วนที่สูงมากจนน่าตกใจ         ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงไปหรือเปล่า? เป็นคำถามที่ดังกึกก้องมากเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ คำถามนี้ยังคงดังอยู่และเป็นไปได้ว่าจะดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโครงการรถไฟฟ้าเริ่มเปิดดำเนินงานเพิ่มมากขึ้น วันที่เครือข่ายรถไฟฟ้าทุกสายเปิดให้บริการ ค่าโดยสารจากสถานีปลายทางหนึ่งไปยังอีกปลายทางหนึ่งจะสูงขึ้นถึงเพียงไหน         ระบบขนส่งมวลชนจะกลายเป็นระบบของคนจำนวนหนึ่งที่มีกำลังซื้อมากพอเท่านั้นหรือเปล่า? ว่าด้วยการเดินทางของพนักงานออฟฟิศคนหนึ่ง         เรามาสำรวจการเดินทางมาทำงานของพนักงานออฟฟิศคนหนึ่ง วิภาพร ฟักอินทร์ ว่าจากบ้านถึงที่ทำงานและจากที่ทำงานถึงบ้าน เธอต้องไปจ่ายไปเท่าไหร่         วิภาพร เล่าว่า เธอนั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสจากสถานีเคหะถึงสถานีสำโรง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการคิดค่ารถในส่วนนี้ แต่จากสถานีสำโรงมาสถานีอ่อนนุชเธอต้องจ่ายเงินสดซื้อบัตรโดยสาร 15 บาท เนื่องจากเป็นส่วนต่อขยายที่ไม่ถูกนับรวมอยู่ในบัตร 25 เที่ยวต่อเดือน ราคา 725 บาทที่เธอใช้อยู่ เมื่อตีเป็นตัวเงิน การเดินทางจากสถานีอ่อนนุชถึงสถานีอโศกจึงเท่ากับ 29 บาทต่อเที่ยว หมายความว่าค่าโดยสารจากสถานีเคหะถึงสถานีอโศกเท่ากับ 44 บาท         ที่ทำงานของวิภาพรอยู่ห้วยขวาง เธอต้องนั่งรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีจากสถานีสุขุมวิทมาลงสถานีห้วยขวางอีก 23 บาท เธอบอกว่าบัตรเติมเงินของเอ็มอาร์ทีไม่มีการลดค่าโดยสาร คิดเต็มราคา เฉพาะค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินของเธอต่อเที่ยวเท่ากับ 67 บาท เมื่อรวมไปและกลับเท่ากับ 134 บาท         แต่ไม่ใช่แค่นั้น วิภาพรแจงรายละเอียดอีกว่า เธอต้องนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างจากหน้าโรงเรียนของลูกไปรถไฟฟ้าบีทีเอส 10 บาท และขากลับจากรถไฟฟ้าบีทีเอสกลับบ้านอีก 40 บาท รวมส่วนนี้เข้าไปด้วย ค่าเดินทางไป-กลับระหว่างบ้านและที่ทำงานของเธอจะเท่ากับ 184 บาทต่อวัน         ตีคร่าวๆ ว่า 1 เดือน มี 30 วัน หักวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ออก 8 วัน เหลือวันทำงาน 22 วัน วิภาพรจะมีค่าเดินทางต่อเดือน 4,048 บาท เมื่อถามว่าคิดเป็นอัตราส่วนเท่าไหร่ของเงินเดือน เธอตอบว่าประมาณร้อยละ 13 ดูตัวเลขนี้อาจให้ความรู้สึกว่าไม่มากเมื่อเทียบกับรายได้ แต่เธอบอกว่าในอดีตที่เธอยังเงินเดือนไม่มากนัก เธอก็ต้องจ่ายค่าเดินทาง 4,048 บาทเช่นกัน เธอบอกว่าจ่ายได้เพื่อแลกกับเวลาในการเดินทาง แต่         “เราว่ามันแพงไปและไม่สะดวกในเรื่องที่คิดอัตราค่าโดยสารแบบเที่ยวแล้วยังมาตัดเงินสดอีก เทียบกับค่ารถเมล์มันแพงมาก สำหรับเราค่าโดยสารพอจ่ายได้ แต่ควรทำให้มันไม่เสียบ่อยและมาบ่อยๆ ไม่ใช่อัดแน่นมากช่วงเร่งด่วน         “แล้วบัตรเดียวควรใช้ได้ทั้งบีทีเอสและเอ็มอาร์ที เพราะเราชอบหยิบบัตรผิด แต่เอ็มอาร์ทีไม่มีส่วนลดนะ ไม่มีแบบเที่ยว ตัดเงินอย่างเดียว อยากให้จัดการให้ระบบมันลิงค์กัน ควบคุมราคาค่าโดยสารโดยให้คนที่ฐานเงินเดือนแบบจบใหม่มีเงินเหลือไปทำอย่างอื่น และควบคุมคุณภาพ แต่ถ้าถูกได้กว่านี้เราก็ชอบ”        วิภาพรบอกว่า ปัจจุบันเธอไม่ขึ้นรถเมล์แล้วเพราะรถติด แต่ถ้ามีทางเฉพาะให้รถเมล์วิ่งและปรับปรุงคุณภาพรถเมล์ เธอก็เห็นว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ค่าโดยสารรถไฟแพง หรือค่าแรงเราต่ำ หรือทั้งสองอย่าง?         คราวนี้ ลองเปรียบเทียบค่าโดยสารรถไฟฟ้ากับค่าแรงขั้นต่ำของไทยที่ 300 บาทกับประเทศอื่นๆ ที่ทีดีอาร์ไอทำออกมาจะช่วยให้เห็นภาพมากขึ้น บอกก่อนว่าค่าแรงขั้นต่ำในที่นี้ถูกคิดเป็น ‘ชั่วโมง’ ไม่ใช่ ‘รายวัน’        ค่าแรงขั้นต่ำของไทย 37.50 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 16-70 บาท        ค่าแรงขั้นต่ำของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ 221 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 37-96 บาท        ค่าแรงขั้นต่ำของสิงคโปร์ 250 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 17-60 บาท        ค่าแรงขั้นต่ำของนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐฯ 250 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 91 บาทตลอดสาย        ค่าแรงขั้นต่ำของกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 279 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 39-913 บาท        ค่าแรงขั้นต่ำของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 331 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 119-253 บาท        ค่าแรงขั้นต่ำของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส 370 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 71 บาทตลอดสาย         ค่าแรงขั้นต่ำของออสเตรเลีย 457 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 85-256 บาท         จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเจนว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำรายชั่วโมงถือว่าสูงมาก         และเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนค่าใช้จ่ายระบบขนส่งสาธารณะรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังพบว่า เมื่อวัดตามอำนาจดัชนีการซื้อ ค่ารถไฟฟ้ามีราคาค่อนข้างสูงเฉลี่ย 28.30 บาท/คน/เที่ยว ขณะที่สิงคโปร์เฉลี่ยอยู่ที่ 13.3 บาท/คน/เที่ยว เรียกว่าของไทยสูงกว่าสิงคโปร์ถึงร้อยละ 50 ส่วนฮ่องกงอยู่ที่ 16.78 บาท/คน/เที่ยว นอกจากนี้ ค่าโดยสารระบบรางของไทยยังสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ทั้งยังมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถเมล์สูงที่สุด ของไทยอยู่ที่ 67.4 บาท ส่วนสิงคโปร์อยู่ที่ 25.73 บาท และฮ่องกงอยู่ที่ 46.5 บาททำไมค่าโดยสารรถไฟฟ้าถึงแพง                 น่าจะเป็นคำถามคาใจที่สุดของใครหลายๆ คน ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ จากทีดีอาร์ไอ คือผู้ที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุด         ดร.สุเมธอธิบายว่า สาเหตุหลักมาจากเรื่องรูปแบบของการลงทุน เนื่องจากรัฐมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ดังนั้นโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมดจึงต้องอาศัยเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งรูปแบบการลงทุนรถไฟฟ้าแต่ละเส้นทางก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป รถไฟฟ้าสายแรกของบีทีเอสเป็นรูปแบบที่รัฐให้ใช้ที่ดินฟรีเพียงอย่างเดียว แต่โครงสร้างพื้นฐานและระบบรถไฟฟ้าทั้งหมดเอกชนเป็นผู้ลงทุน ทำให้มีความจำเป็นต้องเก็บค่าโดยสารให้สอดคล้องกับต้นทุนและสามารถคืนทุนได้         “พอเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าต่อๆ มา รัฐก็เริ่มเห็นข้อจำกัดว่าถ้าปล่อยให้เอกชนลงทุนเพียงฝ่ายเดียว โดยที่รัฐช่วยเหลือน้อย ค่าโดยสารก็คงถีบตัวสูงกว่านี้หรืออาจจะไม่มีเอกชนมาร่วมลงทุนเลย รัฐก็เลยมีการเปิดรูปแบบอื่นๆ ในเส้นทางอื่นๆ เช่น รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เอกชนมาเดินรถ แต่ทีนี้จะเริ่มเห็นว่าทั้งหมดทั้งปวงรัฐก็ยังมีความจำเป็นให้เอกชนเข้ามาดำเนินงานและร่วมลงทุนค่อนข้างเยอะ เมื่อร่วมลงทุนค่อนข้างเยอะ ทำให้อัตราค่าโดยสารต้องสะท้อนต้นทุนก็เลยมีอัตราค่าโดยสารค่อนข้างสูง”        ขณะที่รูปแบบการลงทุนในต่างประเทศมีความแตกต่างออกไป ดร.สุเมธยกตัวอย่างสิงคโปร์ที่เริ่มสร้างรถไฟฟ้าก่อนไทยเพียงไม่กี่ปี โดยรัฐบาลสิงคโปร์เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แล้วให้เอกชนเข้ามาดำเนินงานเดินรถเพียงอย่างเดียว วิธีการนี้ทำให้ภาครัฐของสิงคโปร์ต้องแบกรับต้นทุนค่อนข้างสูง แต่ก็สะท้อนออกมาในค่าโดยสารที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเอกชนของสิงคโปร์ที่เข้ามาเดินรถไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เอกชนเพียงแค่เดินรถ จ่ายค่าดำเนินงาน ค่าบุคลากร ค่าไฟ ค่าบำรุงรักษา และคิดค่าโดยสารเฉพาะส่วนที่เป็นการเดินรถ จะเห็นได้ว่าการกำหนดรูปแบบการลงทุนและการสนับสนุนจากรัฐจะส่งผลต่อค่าโดยสารอย่างมีนัยสำคัญ         ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งคือรัฐไม่มีมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะมาตรการเชิงบังคับจำกัดรถยนต์วิ่งเข้าเมืองอย่างการจัดเก็บค่าเข้าเมืองในอัตราสูง ซึ่งในต่างประเทศ เช่น กรุงลอนดอนหรือสิงคโปร์ต่างก็ใช้มาตรการนี้ ทำให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น อย่างในลอนดอนพบว่ามีคนใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50  ความซับซ้อนของผู้โดยสาร ต้นทุน และสัญญาสัมปทาน         ดร.สุเมธอธิบายเพิ่มเติมอีกว่าในหลายกรณียิ่งปริมาณผู้โดยสารมาก อัตราค่าโดยสารอาจจะต่ำลงได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่ ผู้โดยสารครึ่งคันกับเต็มคันไม่ได้ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้นมากนัก เพราะฉะนั้นยิ่งจำนวนผู้โดยสารมากเท่าไหร่ต้นทุนเฉลี่ยต่อคนยิ่งต่ำลงเท่านั้น ในวงวิชาการจึงมีการถกเถียงกันในระดับหนึ่งว่า ค่าโดยสารถูกแล้วทำให้จำนวนผู้โดยสารมากหรือจำนวนผู้โดยสารมากทำให้ค่าโดยสารถูก         ทางฉลาดซื้อถามต่อว่า ในกรณีบีทีเอสถือว่ามีจำนวนผู้โดยสารมากหรือยัง?        “บีทีเอสถือว่าผู้โดยสารเยอะแล้ว แต่ capacity ของระบบยังเพิ่มได้อีก คือปกติ capacity มันอยู่ที่จำนวนขบวนต่อคันกับความถี่ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณคนที่สามารถบรรทุกได้ ณ ปัจจุบัน บีทีเอสวิ่งอยู่ที่ 4 ตู้ต่อ 1 ขบวน แต่ตัวโครงสร้างพื้นฐานที่ออกแบบไว้สามารถรองรับได้ถึง 6 ตู้ต่อ 1 ขบวน เพราะฉะนั้นการเพิ่มตู้เป็น 6 ตู้ต่อ 1 ขบวนจะเพิ่ม capacity ของระบบได้         “ประเด็นที่ 2 คือถ้าต้องการวิ่งถี่ ตอนนี้ที่เขาทำได้คือ 2 นาทีหรือ 1 นาทีกว่าๆ ยิ่งวิ่งถี่ก็ยิ่งขนคนได้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ตอนนี้บีทีเอสน่าจะเข้าใกล้จุดที่ถี่มากที่สุดแล้ว ถี่มากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นทางเลือกก็น่าจะเป็นการขยายขบวน ซึ่งทางบีทีเอสก็มีการดำเนินการมาอยู่เป็นระยะๆ เช่น เริ่มต้นเป็น 3 ตู้ต่อ 1 หนึ่งขบวน แต่ห้าถึงสิบปีที่แล้วขบวนใหม่ที่สั่งเข้ามาเปลี่ยนเป็น 4 ตู้ต่อ 1 ขบวน และอีกเจ็ดแปดปีจากนี้ที่มีส่วนต่อขยายแล้ว เขาก็จะสั่ง 6 ตู้ต่อ 1 ขบวนเข้ามาเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น”         แต่เมื่อผู้โดยสารเพิ่มจำนวนขึ้นแล้วเหตุใดค่าโดยสารจึงยังสูงอยู่ ดร.สุเมธตอบว่าการเพิ่มขึ้นของความจุจะส่งผลต่อต้นทุนด้วย วิ่งถี่ขึ้น ค่าซ่อมบำรุงอาจจะขึ้นบ้างแต่ไม่ได้มาก ถ้าวิ่งถี่ขึ้นและรับผู้โดยสารได้เต็มที่ต้นทุนต่อคนก็อาจจะถูกลง แต่พอคนมากขึ้นต้องเพิ่มตู้ เพิ่มขบวน ตรงนี้จะเริ่มมีการลงทุน คำถามต่อมาคือถ้าลงทุนซื้อตู้ ณ วันนี้ สัญญาสัมปทานของบีทีเอสเหลือเพียง 10 ปี อีกทั้งสัญญาสัมปทานระบุชัดเจนว่าเมื่อหมดสัญญาสัมปทานทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ เพราะฉะนั้นการซื้อตู้ในช่วงนี้ เพิ่มผู้โดยสารได้ แต่ใช้ได้แค่ 10 ปี ซึ่งอาจจะไม่คุ้มทุน จึงไม่มีแรงจูงใจให้เอกชนขยาย capacity เมื่อภาครัฐขยับตัว         ภายหลังที่ผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอออกมา ทางกรมขนส่งทางรางก็ได้เตรียมเสนอ 7 มาตรการให้กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลใหม่ (ตอนนั้นยังไม่มีการตั้งรัฐบาล) พิจารณา ประกอบด้วยเปลี่ยนรูปแบบสัญญาสัมปทานจาก PPP net cost เป็น PPP gross cost (PPP gross cost หมายความว่ารัฐเป็นผู้จ้างเอกชนเดินรถ โดยรัฐจะแบกภาระความเสี่ยงไว้เองด้วยการนำรายได้จากเส้นทางที่มีกำไรมาชดเชยให้กับเส้นที่ขาดทุน) กำหนดกรอบราคาขั้นสูงของระบบ กำหนดเงื่อนไขการเชื่อมต่อเพื่อให้ค่าโดยสารไม่สูงเกินไป จัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงาน ด้านเศรษฐกิจและด้านคมนาคมทำหน้าที่หลักในการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าบริการ ยกเว้นเก็บค่าแรกเข้ากรณีเดินทางข้ามระบบโดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเปิด มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และอุดหนุนค่าใช้จ่ายการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า         อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน สราวุธ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวกับสื่อว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม. มีมติลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีม่วงจาก 12-42 บาท เป็น 14-20 บาท หรือไม่เกิน 20 บาทตลอดสายในทุกช่วงเวลา รวมระยะเวลาลดค่าครองชีพประชาชน 3 เดือน คาดว่าจะช่วยลดค่าครองชีพประชาชนจากการโดยสารรถไฟฟ้าเป็นมูลค่า 38.7 ล้านบาทต่อเดือน         ดร.สุเมธ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ปัญหาใหญ่ของไทยคือรายได้เฉลี่ยของคนในเมืองค่อนข้างต่ำ ถ้าค่าโดยสารราคาสูงจะยิ่งส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงตลาดงาน เมื่อทำการแบ่งแต่ละกลุ่มรายได้แล้วดูค่าเฉลี่ยพบกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกลุ่มที่ 1 2 3 และ 4 จากข้างล่าง ค่าเฉลี่ยการเดินทางต่อวันจะอยู่ไม่เกิน 40-50 บาท เมื่อเทียบต่อวันต่อเที่ยว คนกลุ่มนี้จะเดินทางต่อเที่ยวได้ไม่เกิน 25 หรือ 28 บาท ซึ่งหมายถึงขึ้นรถไฟฟ้าได้ แต่ไม่สามารถขึ้นสุดสาย 40 กว่าบาทได้         “ถ้าต่อไปรถไฟฟ้าที่ต่อหลายสายขึ้นเป็นประมาณ 70-100 บาท ถ้าคุณต่อหลายสาย คนกลุ่มรายได้นี้อาจจะไม่สามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้ทุกวัน นั่นหมายถึงว่าเขาอาจไม่มีงานประจำที่อยู่ในเมืองหรือมีการเดินทางจากชานเมืองเข้ามาในเมืองด้วยรถไฟฟ้าได้ แล้วเขาอาจต้องหารูปแบบการเดินทางแบบอื่นที่มีความสะดวกสบายน้อยกว่า” ระบบขนส่งมวลชนไม่ได้มีแค่รถไฟฟ้า ต้องมองทั้งระบบ         ในส่วนมาตรการ 7 ข้อข้างต้น ดร.สุเมธ เห็นว่าน่าจะช่วยลดค่าเดินทางได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สุด ถามว่าถ้าต้องทำให้สุดควรเป็นอย่างไร?         “ถ้าเอาแนวของสิงคโปร์ มีจังหวะหนึ่งเขาซื้อคืนรถไฟฟ้ากลับมาหมดเลย เขาคล้ายๆ ของไทยในช่วงแรกคือให้เอกชนลงทุน แล้วก็มีสินทรัพย์ มีโครงสร้างพื้นฐาน เอกชนเดินรถ มีจุดหนึ่งที่เขาไหวตัวทัน เป็นจุดที่รถไฟฟ้ายังไม่เยอะสายมาก เขาซื้อคืนกลับมาหมดเลยให้เป็นของรัฐ แต่มันต้องใช้เงินเยอะ ซึ่งเราคงไม่สามารถทำได้”         สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งต้องไม่ดึงออกจากสมการคือรถเมล์         “ถ้าเราส่งเสริมรถเมล์ได้ อย่างสิงคโปร์ที่ค่อนข้างชัดที่ทำให้รถเมล์กับรถไฟฟ้ามีค่าโดยสารที่เชื่อมต่อกัน และอาจจะสร้างแรงจูงใจในการใช้ขนส่งมวลชน เช่น คุณใช้รถเมล์แล้วมาต่อรถไฟฟ้าคุณจะได้ส่วนลดเพิ่มเติม ซึ่งของเราคงไปถึงจุดนั้นยาก เพราะรถเมล์เรายังไม่พัฒนา แต่หวังว่าอีกสองสามปีข้างหน้า รถเมล์เริ่มปฏิรูปแล้ว มีสายใหม่ มีเอกชนเข้ามา แล้วก็จะมีเอกชนที่สามารถเชื่อมโยงกันเองได้ หมายถึงเอกชนที่เดินรถเมล์กับเอกชนที่เดินรถไฟฟ้าอาจจะมีปฏิสัมพันธ์กันในระดับหนึ่ง แล้วก็จะเริ่มทำตั๋วเชื่อมกันได้และอาจมีส่วนลดที่ช่วยกระตุ้น รถเมล์ก็จะเปลี่ยนเป็น feeder ในอนาคต น่าจะออกไปในแนวนั้นได้”         หากจะสรุปก็คงได้ประมาณว่า ใช่, ค่ารถไฟฟ้าของไทยแพงและต้องแก้ไข แต่เราจะมองแค่รถไฟฟ้าอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองระบบขนส่งมวลชนทั้งระบบ และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนไปพร้อมๆ กัน หมายเหตุ ทางนิตยสาร ‘ฉลาดซื้อ’ ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารบีทีเอสเพื่อรับฟังข้อมูล แต่ทางผู้บริหารบีทีเอสไม่สามารถจัดเวลาให้ได้

อ่านเพิ่มเติม >