ฉบับที่ 246 Plant-Based Food ทางเลือกของเรา ทางรอดของโลก

        เมื่อปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์ใหญ่ของชาวโลก ผู้บริโภคต่างหันมาดูแลตัวเองในเรื่องอาหารการกินด้วยวิถีธรรมชาติกันมากขึ้น เน้นกินพืชผักและลดเนื้อสัตว์ ตามแนวทาง ’กินสู้โรค’ และ’กินเปลี่ยนโลก’ ในรูปแบบต่างๆ กัน อาหารทางเลือกจึงถูกพัฒนาให้มีความหลากหลาย อย่างล่าสุดกระแส plant-based food ที่กำลังมาแรงในตลาดอาหารสุขภาพ ก็ว่ากันว่าเป็นอาหารแห่งอนาคตฟีลกู๊ดที่ดีต่อเรา ดีต่อโลก และดีต่อใจด้วย         Plant-Based Food ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช         เนื้อทำจากขนุนอ่อน หมูสับจากเห็ดแครง เบค่อนจากเส้นใยเห็ด นมจากข้าวโอ๊ต ไข่จากถั่วเขียว         ผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้คือตัวอย่าง plant-based food กลุ่มอาหารโปรตีนทางเลือกที่นำพืชโปรตีนสูง เช่น ถั่วและธัญพืชต่างๆ เห็ด สาหร่าย ข้าวโอ๊ต แอลมอนด์ เป็นต้น มาเป็นวัตถุดิบหลักใช้ผลิตอาหารให้มีลักษณะและรสชาติใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์จากสัตว์มากที่สุด โดยคิดค้นและผลิตขึ้นมาเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาขาดแคลนอาหารในระยะยาว เป็นอาหารทางเลือกให้ผู้บริโภคที่ต้องการลดหรือลด ละ เลิกกินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางศาสนา ความเชื่อ ความชอบ หรือความจำเป็นส่วนตัวใดๆ ก็ตาม กินได้อย่างสบายใจ มีทั้งในรูปแบบเนื้อสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ รวมถึงอาหารปรุงสำเร็จ           เนื้อไร้เนื้อ เปิดใจผู้บริโภค ปลุกเทรนด์อาหารจากพืช         ความก้าวหน้าของนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การอาหารในปัจจุบัน ทำให้ผู้ผลิตพลิกแพลงพืชผักผลไม้กลายมาเป็นอาหารที่คล้ายมาจากสัตว์จริงๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเนื้อสัตว์จากพืช (plant -based meat) ที่พัฒนาให้มีรูปลักษณ์ รสชาติ กลิ่น เนื้อสัมผัส และสีสัน เสมือนเป็นเนื้อวัว หมู ไก่ กุ้ง และอาหารทะเลต่างๆ จริงๆ นั้น เชิญชวนให้ผู้บริโภคเปิดใจลิ้มลอง สอดคล้องกับกลุ่มคนกินผักก็ดีกินเนื้อก็ได้ (Flexitrain) ที่มากขึ้น อย่างในไทยเอง 1 ใน 4 ของประชากร หันมาลดกินเนื้อสัตว์เพื่อสุขภาพ 65% เพื่อควบคุมน้ำหนัก 20% โดยส่วนใหญ่จะงดกินในวันพระหรือวันเกิด ประกอบกับแนวโน้มผู้บริโภคที่ดูแลสุขภาพ ใส่ใจสิ่งแวดล้ม และกังวลการปนเปื้อนในเนื้อสัตว์มีเพิ่มขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่ปลุกตลาดอาหารจากพืชทั่วโลกให้คึกคัก โดยศูนย์วิจัยกรุงไทย COMPASS ประเมินไว้เมื่อปี 2563 ว่า ตลาดเนื้อจากพืชในไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ต่อปี และคาดว่ามูลค่าตลาดอาจแตะที่ 4.5 หมื่นล้านบาทในปี 2567         ในช่าง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื้อสัตว์จากพืชได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีวางขายในซุปเปอร์มาร์เกตทั่วไป ในรูปแบบเป็นวัตถุดิบและอาหารสำเร็จรูป ปัจจุบันมีให้เลือกหลายยี่ห้อทั้งที่นำเข้าจากต่างประเทศและผลิตในไทย เช่น  BEYOND MEAT, OmniMeat, NEVER MEAT, Meat Avatar, Let’s Plant Meat, More Meat, OMG Meat, MEAT ZERO, VG for Love และ Healthiful เป็นต้น         โปรตีนทางเลือก...ดีต่อเรา         ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา ต่างต้องการโปรตีนเป็นองค์ประกอบในอาหารเพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย การกินเนื้อ นม ไข่ ที่ผลิตจากพืชจึงเป็นอาหารโปรตีนทางเลือกที่เหมาะต่อสุขภาพ โดยเฉพาะคนที่แพ้โปรตีนจากสัตว์ ทั้งยังย่อยง่าย มีใยอาหารสูง มีไขมันดี(ไขมันไม่อิ่มตัว) ให้พลังงานต่ำ มีคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ต่ำ จึงช่วยให้ระบบขับถ่ายดี ควบคุมน้ำหนัก ป้องกันและรักษาโรคได้ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น         พืชบางชนิดมีกรดอะมิโนจำเป็นอยู่น้อย  ผู้บริโภคควรเลือกกินอาหารจากพืชที่หลากหลายเพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายจะได้รับโปรตีนเพียงพอ ในแต่ละวันคนทั่วไปควรได้รับโปรตีน 0.8-1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่อย่างนั้นอาจเสี่ยงต่อภาวะพร่องโปรตีน ร่างกายต้องสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อบางส่วนมาทดแทน ทำให้อาจเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้         สำหรับคนที่แพ้ถั่วควรเลี่ยง เพราะอาหารจากพืชส่วนใหญ่ใช้ถั่วและธัญพืชต่างๆ เป็นวัตถุดิบ รวมทั้งคนที่เป็นโรคโลหิตจางหรือมีอาการมือเท้าชา ควรกินอาหารอื่นๆ ที่มีธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 เสริมด้วย เพราะในพืชมีธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 น้อยกว่าเนื้อสัตว์         แม้ plant - based food จะเน้นคุณค่าทางโภชาการและความปลอดภัยเป็นสำคัญ คัดเลือกวัตถุดิบมาผลิตอย่างดีไม่ให้มีสารปนเปื้อนอันตราย เลี่ยงใช้พืชตัดต่อพันธุกรรม และพยายามคงคุณค่าของสารอาหารจากธรรมชาติไว้ให้ได้มากที่สุด แต่ถึงกระนั้นก็ยังได้ชื่อว่าเป็นอาหารแปรรูป หรือ Highly Process Food อย่างโบโลน่า เบอร์เกอร์ ไส้กรอก ที่ทำจากพืชนั้น ในบางผลิตภัณฑ์อาจมีสารปรุงแต่งรสสีผสมอาหาร และเกลือโซเดียมในปริมาณสูง          ลดก๊าซเรือนกระจก...ดีต่อโลก         ลดกินเนื้อสัตว์ ลดทำปศุสัตว์ ลดภาวะโลกร้อน         อุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งของการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ทำให้โลกสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ที่ดินเพื่อทำปศุสัตว์เป็นต้นทางของก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 4 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการใช้ที่ดินทั้งหมดในโลก เราต้องใช้พื้นที่เลี้ยงสัตว์ถึง 77% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด เพื่อผลผลิตเพียง 17% ของอาหารที่มนุษย์บริโภค         ในขณะที่การผลิตเนื้อที่ทำจากพืชใช้ที่ดินน้อยกว่าเนื้อสัตว์จริง 47%-99% ใช้น้ำน้อยกว่าเนื้อสัตว์จริง 72%-99% ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ากระบวนการผลิตเนื้อสัตว์จริง 30%-90% ดังนั้นการเปลี่ยนแนวทางมาบริโภคอาหารจากพืชแทนเนื้อสัตว์ จะช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้         องค์การสหประชาชาติก็มีแนวทางส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอาหารใช้ส่วนประกอบของพืชแทนเนื้อสัตว์ ผลิตอาหารออแกนิค เพื่อลดการปล่อยมลพิษ ตั้งเป้าสู่ “Net Zero” ให้คาร์บอนไดออกไซค์เป็นศูนย์ เพราะอุตสาหกรรมอาหารนั้นปล่อยคาร์บอนฯออกมากว่า 30-40% ของปริมาณคาร์บอนฯทั้งหมด         หากการใช้ที่ดินเพื่อเลี้ยงสัตว์ถูกแทนที่ด้วยแปลงผักเกษตรอินทรีย์เพื่อเป็นวัตถุดิบให้ผู้ผลิตอาหารจากพืช จะช่วยฟื้นฟูให้สภาพแวดล้อมกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ทั้งยังรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลกและสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ได้ด้วย         สร้างความมั่นคงทางอาหาร...ดีต่อใจ         การกินอาหารจากพืชเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานได้         คาดการณ์กันว่าในปี พ.ศ.2593 ประชากรโลกจะมีจำนวนถึง 9.7 พันล้านคน ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติมีจำกัดอยู่เท่าเดิม ซ้ำเติมด้วยภัยธรรมชาติร้ายแรงและโรคระบาดขั้นวิกฤติ การขาดแคลนอาหารจึงกลายเป็นความกังวลของคนทั่วโลก หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปากท้องจึงมองว่าการผลิตอาหารจากพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการดี ในปริมาณมากพอและราคาที่คนทั่วไปเข้าถึง โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า น่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร (food security) ได้         ผู้ผลิตอาหารส่วนใหญ่เริ่มคิดหาวิธีการทำให้อาหารเพียงพอต่อประชากรโลก พร้อมลดขั้นตอนการผลิตอาหารที่เป็นตัวทำลายสภาพแวดล้อม จนพบว่าการผลิตอาหารจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ การฟื้นฟูเกษตรกรรมตามวิถีธรรมชาติ และสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นนั้น น่าจะช่วยเพิ่มปริมาณอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัยให้มากขึ้นและยั่งยืนได้ในอนาคต         อีกแนวคิดหนึ่งที่สร้างเนื้อจากพืชขึ้นมาก็เพื่อจะได้ไม่ต้องไปเบียดเบียนผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ หรืออุตสาหกรรมที่สร้างความลำบากให้กับสัตว์ด้วย นอกจากนี้การกินอาหารจากสัตว์น้อยลงยังช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้ โดยมีการวิจัยพบว่าผู้ที่เคยกินเนื้อสัตว์เป็นประจำทุกวันมีแนวโน้มอารมณ์ดีขึ้นและเครียดน้อยลงหลังจากกินมังสวิรัติได้เพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเนื้อสัตว์มีส่วนประกอบของกรดไขมันสายยาว (Long-chainofomega-6 fattyacid )ที่เกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้า จึงทำให้คนกินมังสวิรัติส่วนใหญ่มีสุขภาพจิตที่ดีกว่า (Nutrition Journal, 2010, 2012)        เมืองนวัตกรรมอาหาร หนุนผลิตภัณฑ์จากพืช        หลายหน่วยงานภาครัฐเองก็เข้ามาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สนใจผลิตอาหารจากพืช ให้คิดค้นและสร้างนวัตกรรมใหม่ได้ง่ายขึ้นในต้นทุนที่ลดลง         เมืองนวัตกรรมอาหารที่ตั้งขึ้นโดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ออกแบบแพลตฟอร์มให้บริการภาคเอกชนไว้ค่อนข้างครบวงจร ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การผลิต การขอขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา(อย.) และปัจจัยเรื่องการตลาด รวมทั้งตั้งโรงงานขนาดเล็กที่ช่วยสนับสนุนการผลิตให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือสตาร์ทอัพด้วย โดยการผลิตอาหารโปรตีนทางเลือกนี้จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์         ทั้งนี้เพราะมองเห็นโอกาสของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีวัตถุดิบพื้นถิ่นอีกมากที่จะเลือกเป็นแหล่งโปรตีนใหม่จากพืชได้ เมื่อนำนวัตกรรมมาพัฒนาให้ตอบโจทย์เรื่องรสชาติ ลักษณะของผลิตภัณฑ์ การเก็บรักษา การนำไปทำอาหารได้สะดวก และถูกปากถูกใจผู้บริโภคแล้ว อุตสาหกรรมอาหารจากพืชนี้น่าจะเติบโตได้ดีทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก           ความปลอดภัยใน ‘อาหารใหม่’         อาหารจากพืชที่ผลิตด้วยนวัตกรรมใหม่นั้นส่วนใหญ่จัดเป็น ‘อาหารใหม่’ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการบริโภค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศจึงกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องส่งอาหารที่เข้าข่ายว่าเป็นอาหารใหม่มาประเมินความปลอดภัยก่อนนำออกจำหน่าย         เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ฉบับที่ 376 เรื่อง อาหารใหม่ หรือ Novel food โดยกล่าวว่าในปัจจุบันนี้มีการนำวัตถุที่ไม่เคยบริโภคเป็นอาหารมาใช้เป็นอาหารหรือส่วนประกอบอาหาร อีกทั้งมีการพัฒนากระบวนการผลิตอาหารโดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่เคยใช้มาก่อน จึงสมควรมีมาตรการการประเมินความปลอดภัยรองรับเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีการให้ความหมายของอาหารใหม่ไว้ 3 ข้อ ดังนี้         1) อาหารใหม่ หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ปรากฏหลักฐานทางวิชาการว่ามีประวัติการบริโภคเป็นอาหารน้อยกว่า 15 ปี         2) อาหารใหม่ หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ได้จากกระบวนการผลิตที่มิใช่กระบวนการผลิตโดยทั่วไปของอาหารนั้นๆ ที่ทำให้ส่วนประกอบ โครงสร้างของอาหาร รูปแบบของอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการ กระบวนการทางเคมีภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต (Metabolism) หรือระดับของสารที่ไม่พึงประสงค์ (level of undesirable substances)         3) อาหารใหม่ หมายถึง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีวัตถุตามข้อ 1) และ ข้อ 2) เป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงวัตถุเจือปนอาหารและอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม อาหารที่เข้าข่ายเป็นอาหารใหม่นี้จะต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยและต้องส่งมอบฉลากให้สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาตรวจอนุมัติก่อนนําไปใช้         หน่วยงานที่ประเมินความปลอดภัยของอาหารใหม่ ได้แก่        1) ศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล        2) สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร สังกัดกระทรวงสาธารณสุข        3) สถาบันอาหาร สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม         อาหารใหม่ที่ผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากหน่วยงานดังกล่าวแล้ว จะผลิตเพื่อจำหน่ายได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ในบางกรณีอาจมีกฎระเบียบเพิ่มเติมสำหรับการแสดงฉลากของอาหารใหม่ เช่น คำเตือนที่แสดงว่าอาหารใหม่นั้นไม่เหมาะกับกลุ่มผู้บริโภคที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง รวมถึงการกล่าวอ้างทางโภชนาการและสุขภาพต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน          ในต่างประเทศ หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป รวมถึงรัฐสภาและคณะกรรมการสหภาพยุโรป เป็นหน่วยงานต้นแบบที่ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับอาหารใหม่ มีหลักสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ด้านอาหาร โดยที่ยังทำให้ผู้บริโภคชาวยุโรปยังคงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยของอาหารและเพิ่มประเภทอาหารให้หลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกในการบริโภค         นอกจากนี้สมาคมอาหารจากพืช (Plant Based Foods Association) ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบดูแลตลาดการค้าสินค้าอาหารจากพืชในสหรัฐฯ ยังได้ริเริ่มโครงการแสดงตราสินค้า “Certified Plant Based” เพื่อรับรองสินค้าและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคตั้งแต่ปลายปี 2561 โดยผู้ประกอบการยื่นเอกสารเพื่อขอใช้ตราสัญลักษณ์ได้ที่ The Public Health and Safety Organization         ล่าสุดองค์กร Chinese Institute of Food Science and Technology (CIFST) ได้ร่างมาตรฐานกลุ่มสำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช (T/CIFST 001-2020) เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจให้ภาคอุตสาหกรรมได้นำไปใช้ในธุรกิจของตน โดยมาตรฐานดังกล่าวได้นิยามและข้อกำหนดต่าง ๆ ทั้งในแง่องค์ประกอบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และการติดฉลาก กำหนดประกาศใช้ในวันที่ 25 มิถุนายน 2564          ดูฉลากอย่างฉลาด        ข้อมูลจาก Krungthai COMPASS สำรวจพฤติกรรมการกินอาหารของคนไทยปี 2561 พบว่า 53% ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ขณะที่อีก 45% สนใจที่จะปรับเปลี่ยนไปกินอาหารแบบมังสวิรัติ วีแกน และอาหารจากพืชมากขึ้น         ไม่ว่าผู้บริโภคจะเลือกกินผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชนี้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม นอกจากความอร่อยที่ต้องพิสูจน์ด้วยรสนิยมส่วนตัวแล้ว ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการและความปลอดภัยในราคาที่สมเหตุสมผล โดยพิจารณารายละเอียดบนฉลากสินค้าเป็นสำคัญ        1.ต้องมีสัญลักษณ์ อย. เพื่อแสดงว่าได้ผ่านมาตรฐานอาหารปลอดภัยมาแล้ว        2.ดูวันเดือนปีที่ผลิตและวันเดือนปีที่หมดอายุ โดยต้องเรียงวันเดือนปีตามลําดับ และมีข้อความว่า “ผลิต” “หมดอายุ” หรือ “ควรบริโภคก่อน” กํากับไว้ด้วย        3.ดูวัตถุดิบจากพืชที่นำมาผลิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นถั่วและเห็ดต่างๆ หากแพ้ควรเลี่ยง        4.ดูข้อมูลโภชนาการว่าให้ปริมาณโปรตีนมากพอที่ต้องการไหม มีพลังงานเท่าไหร่ รวมทั้งปริมาณโซเดียมและไขมันเท่าไร เพราะเนื้อสัตว์จากพืชก็มีโซเดียมและไขมันได้เหมือนกัน        5.ดูปริมาณคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลประกอบด้วย พืชบางชนิดให้แป้งมากกว่าโปรตีน        6.ถ้าระบุว่ามีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น แคลเซียม ไฟเบอร์ หรือเพิ่มวิตามินและแร่ธาตุที่มักขาดในวัตถุดิบจากพืชด้วย เช่น วิตามินบี 12 วิตามินดี โอเมก้า-3 สังกะสี และเหล็ก เป็นต้น ก็เป็นตัวเลือกดีที่ช่วยเสริมคุณค่าทางโภชนาการในอาหาร        7.ควรเลือกผลิตภัณ์ที่เติมสารปรุงแต่งหรือผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยที่สุด        8.ควรเลือกวัตถุดิบจากเกษตรอินทรีย์ และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถ้ามีการตอบแทนต่อสังคมด้วยก็ดี เช่น ใช้วัตถุดิบที่เอื้อให้เกษตรกรในท้องถิ่นมีรายได้ เป็นต้น         ปัจจุบันตลาด plant-based food มีการแข่งกันเสนอผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้บริโภคจะได้เลือกซื้ออาหารจากพืชที่หลากหลาย มีคุณภาพและราคาถูกลง  ทั้งยังน่าจะช่วยชะลอความรุนแรงของผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ อยู่รอดปลอดภัยได้นานขึ้นอีกสักหน่อยด้วย    ข้อมูลอ้างอิงKrungthai COMPASS ฉบับตุลาคม 2020เว็บไซต์ สอวช. (https://www.nxpo.or.th)เว็บไซต์ สมอช. (https://warning.acfs.go.th)https://pharmacy.mahidol.ac.thhttps://workpointtoday.com/plant-based-food-warhttps://marketeeronline.co/archives/210350https://www.sarakadeelite.com/better-living/plant-based-meat/https://brandinside.asia/whole-foods-plant-based-protein/https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945907

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 รู้จักแผนจัดการเชื้อดื้อยา กำจัดจุดอ่อนก่อนเข้าสู่แผนปี 2565-2569

        ปัญหาเชื้อดื้อยาถูกพูดถึงบ่อยครั้ง แต่ก็ยังคงต้องพูดถึง ย้อนกลับไปวันที่ 6 กันยายน 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นลงนามในปฏิญญานครชัยปุระว่าด้วยการดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาต่อๆ มากระทั่งเกิดเป็น ‘แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564’ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 แต่กว่าจะมีคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติก็ล่วงเลยถึง 10 มีนาคม 2560         พอถึงเดือนธันวาคม 2562 มีการจัดทำรายงานความก้าวหน้าระยะครึ่งแผนออกมา ซึ่งเราจะกล่าวถึงในภายหลัง ส่วนปี 2564 ที่ผ่านมาแล้ว 7 เดือน ทั้งเป็นปีสุดท้ายของแผนยังไม่มีการจัดทำ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19         ส่วนแผนยุทธศาสตร์ฯ ปี 2565-2569 กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการ ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะชวนมาทำความรู้จักแผนดังกล่าว ความคืบหน้า จุดอ่อน และสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะในส่วนของยุทธศาสตร์ที่ 5 เกี่ยวกับการส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน ซึ่งเป็นส่วนที่ภาคประชาชนและภาคีเครือข่ายเข้ามามีบทบาท         ทำไมต้องมีแผนยุทธศาสตร์จัดการเชื้อดื้อยา         เรามาทำความรู้จัก ‘แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564’ อย่างย่นย่อกันก่อน         ข้อมูลจากแผนฯ ระบุว่ามีผู้คนประมาณ 700,000 คนต่อปีเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา ถ้าปล่อยไว้โดยไม่ทำอะไร ปี 2593 ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะสูงถึง 10 ล้านคน โดย 4.7 ล้านคนอยู่ในทวีปเอเชีย สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 3.5 พันล้านล้านบาท ขณะที่ประเทศไทยมีการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละประมาณ 38,000 คน 4.2 หมื่นล้านบาทคือความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น นี่คือที่มาของแผน         ตัวแผนกำหนดเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึงในปี 2564 ไว้ 5 ข้อคือ การป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลงร้อยละ 50 การใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์และสัตว์ลดลงร้อยละ 20 และ 30 ตามลำดับ ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และประเทศไทยมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล        โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ยุทธศาสตร์ที่ 2 การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม         ยุทธศาสตร์ที่ 4 การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน และยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน         ผลสำรวจดูดี แต่ในรายละเอียดนั้น...         เราจะไปดูความคืบหน้าจากรายงานระยะครึ่งแผน ‘ความรู้และความตระหนักเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของประชาชนในประเทศไทย: ผลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ.2562’ จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (International Health Policy Program หรือ IHPP) ว่าผลลัพธ์ออกมาอย่างไร โดยแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ         ข้อแรก-การได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ พบว่าประชาชนน้อยกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 21.5 ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17.8 จากการสำรวจในปี 2560 โดยประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.7 ได้รับข้อมูลจากบุคลากรทางการแพทย์         หัวข้อที่ 2 ความรู้เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ พบว่า ประชาชนมีความเรื่องนี้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 23.7 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 24.3 ในปี 2562 แต่ข้อที่น่าสังเกตคือประชาชนมากกว่าครึ่งที่ตอบแบบสอบถามตอบคำถามไม่ถูกต้องในประเด็น ‘ยาปฏิชีวนะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัส’ ‘ยาปฏิชีวนะไม่สามารถรักษาไข้หวัด’ ‘ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบ’ และ ‘การได้รับยาปฏิชีวนะบ่อยครั้งก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องเสีย’         ข้อที่ 3 ตระหนักเรื่องความสำคัญของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ โดยคะแนนในส่วนนี้เท่ากับ 3.3 จาก 5 คะแนน ประชาชนร้อยละ 89.6 เห็นว่าควรใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่แพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกรสั่งให้เท่านั้น ถึงกระนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดในบางประเด็น เช่น ร้อยละ 83.3 เชื่อว่าหากใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องจะไม่มีความเสี่ยงเรื่องเชื้อดื้อยา เป็นต้น         และข้อที่ 4 การใช้ยาปฏิชีวนะในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่าประชาชนร้อยละ 6.3 ใช้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบการกินในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยประชาชนร้อยละ 98.1 ได้รับยาปฏิชีวนะจากบุคลากรทางการแพทย์ แต่ยังมีร้อยละ 1.9 ที่ซื้อจากร้านขายของชำ ทั้งนี้สาเหตุการใช้ยาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 43.2 ใช้เพื่อรักษาไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นการใช้ยาไม่เหมาะสม เพิ่มขึ้นมากจากร้อยละ 27.0 ในปี 2560                ข้อสังเกตจากเภสัชกร         นอกจากนี้ ปี 2563 กลุ่มนิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ยังได้ทำการสำรวจออนไลน์ในหัวข้อ ‘ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผลของประชาชนที่ใช้สื่อออนไลน์’         ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และนักวิชาการประจำศูนย์วิชาการเฝ้าระวังแลพัฒนาระบบยา (กพย.) อธิบายผลสำรวจว่า         “เรามีการถามว่าในช่วงปี 2563-2564 ก่อนสำรวจ 6 เดือนมีการใช้ยาปฏิชีวนะหรือเปล่า ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าเคย ซึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 5 เรื่องการสื่อสารเราเน้นเรื่องหวัด เจ็บคอ ท้องเสีย แผลสดไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะจึงมีคำถามด้วยว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาที่บอกว่าใช้ยาปฏิชีวนะ คุณได้ใช้รักษาอาการเจ็บคอ ท้องเสีย แผลสดหรือเปล่า ก็ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่าใช้         “ในส่วนความรู้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือความรู้เกี่ยวกับเชื้อดื้อยาและความรู้เกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ ผลโดยภาพรวมคนส่วนมากจะตอบข้อความรู้ได้ถูกต้องเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นข้อหนึ่งที่น่าสนใจที่ไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ คือคนยังคิดว่ายาปฏิชีวนะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ายาแก้อักเสบ เป็นข้อที่คนส่วนใหญ่ยังตอบผิดอยู่คือ 56 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนเรื่องทัศนคติส่วนใหญ่ค่อนข้างดีว่าต้องทานยาปฏิชีวนะจนครบ         “ส่วนในเรื่องของพฤติกรรมส่วนใหญ่อยู่ในระดับกลางๆ คนที่ตอบว่าเคยซื้อยาปฏิชีวนะมากินเองส่วนใหญ่เคยประมาณ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์อันนี้ก็เป็นจุดที่น่าสนใจ และร้อยละ 50 ซื้อยาฆ่าเชื้อมากินเองตามที่เคยได้รับจากหมอ ส่วนพฤติกรรมอื่นๆ เช่นการแกะแคปซูลเอายามาโรยแผลยังน้อยอยู่ อาจเพราะเราใช้สื่อออนไลน์กลุ่มประชาชนที่เข้าถึงแบบสำรวจอาจเป็นประชาชนที่มีการศึกษา”         คนทำงาน         คราวนี้เราจะกลับมาที่ยุทธศาสตร์ที่ 5 ซึ่งที่ผ่านมามีความร่วมมือจากหลายเครือข่ายที่เข้ามาร่วมทำงานอย่างศูนย์วิชาการเฝ้าระวังแลพัฒนาระบบยา (กพย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เอ็นจีโอ ภาคประชาสังคม บุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานรัฐ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็นต้น         ยุทธศาสตร์นี้มี 3 กลยุทธ์คือ ส่งเสริมบทบาทขององค์กรและเครือข่ายภาคประชาสังคม สื่อมวลชนในการสร้างความเข้าใจเรื่องเชื้อดื้อยาและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมอ ส่งเสริมและพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็ก เยาวชน และกลุ่มวัยทำงาน และสุดท้าย เสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย         ภก.ชินวัจน์ อธิบายว่า หน่วยงานรับผิดชอบประกอบไปด้วยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพซึ่งในกรมนี้จะมี 2 กองย่อยคือกองสนับสนุนบริการสุขภาพทำหน้าที่ดูแล อสม. ทั่วประเทศ อีกกองหนึ่งคือกองสุขศึกษาทำหน้าที่จัดทำสื่อหรือเผยแพร่สื่อให้ อสม. นำไปใช้กระจายความรู้ให้กับประชาชน        ในส่วนผู้รับผิดชอบส่วนที่ 2 คือ สสส. ทำหน้าที่ให้ความรู้ในระดับกว้างทั้งประเทศผ่านสื่อออนไลน์ โทรทัศน์ วิทยุ รถไฟฟ้า ใน สสส. ยังมีภาคีเครือข่าย เช่น กพย. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นต้น         “ในส่วนของ กพย. เราจัดกิจกรรมสัปดาห์รณรงค์เรื่องการรู้และตระหนักการใช้ยาต้านแบคทีเรีย แล้วก็ชวนแต่ละที่มาร่วมกันตรงนี้เพื่อทำเป็นแคมเปญ นอกจากนี้ กพย. ก็ผลิตสื่อด้วย เช่น กระจกส่องคอ ยาวิพากษ์ แผ่นพับต่างๆ กระจายไปยังโรงพยาบาลในเครือข่ายของ กพย.”        ส่วนที่ 3 คือสมัชชาสุขภาพแห่งชาติซึ่งมีมติให้ ‘วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ’ เป็นประเด็นที่ต้องจัดการในการประชุมครั้งที่ 8 ปี 2558 แต่ยังไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ        สิ่งที่ต้องแก้ไขในแผนปี 2565-2569         จากตอนต้นถึงบรรทัดนี้ การขับเคลื่อนประเด็นเชื้อดื้อยาดูจะดำเนินไปด้วยดี แม้บางข้อจะยังมีความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนก็ตาม แต่ในมุมมองของ ภก.ชินวัจน์ กลับเห็นว่ามีหลายสิ่งอย่างที่ต้องจัดการและแก้ไข         เบื้องต้น ผลการสำรวจปี 2562 ออกมาถือว่าไม่เลว อย่างไรก็ตาม เมื่อลงไปดูในรายละเอียดยังมีหลายจุดที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังเข้าใจคลาดเคลื่อน ส่วนหนึ่งมาจากแผนการสื่อสารที่ยังไม่ชัดเจน         “ผมคิดว่าข้อที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการสื่อสารของภาครัฐยังแย่อยู่ เป็นการสื่อสารแบบราชการที่ประชาชนเข้าใจยาก คุณตั้งยุทธศาสตร์ขึ้นมาและต้องการภาคประชาชนในการสนับสนุน แต่การสื่อสารการให้ข้อมูลที่ถูกต้องคุณยังไม่ชัดเจน แล้วสื่อที่คุณผลิตออกมามันไม่ใช่สื่อที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายๆ” ภก.ชินวัจน์ วิพากษ์วิจารณ์         ประเด็นที่ 2 การสื่อสารของภาคประชาชนในระดับท้องถิ่นบางครั้งต้องอาศัยหน่วยงานรัฐท้องถิ่น เช่น โรงพยาบาลในส่วนของสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พบว่างบประมาณสนับสนุนให้บุคลากรของโรงพยาบาลหรือ สสจ. ลงพื้นที่พูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชนยังน้อย ภก.ชินวัจน์ กล่าวว่าหน่วยงานราชการไม่มีงบประมาณให้ในการทำสื่อหรือกิจกรรม แม้กระทั่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพก็ไม่มีงบประมาณเพื่อทำตามยุทธศาสตร์นี้         ในส่วนของภาคประชาชน ภก.ชินวัจน์ แสดงความคิดเห็นว่าภาคประชาชนมีเครือข่ายที่เหนียวแน่น เครือข่ายเหล่านี้ควรมีแกนนำที่เข้ามาร่วมทำงานกับภาครัฐ เพราะขณะที่ภาครัฐยังทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม หากภาคประชาชนช่วยกันส่งเสียงสะท้อนปัญหาก็น่าจะมีส่วนเร่งความกระตือรือร้นในการทำงานได้         อีกด้านหนึ่ง ภก.ชินวัจน์ ยอมรับว่าที่ผ่านมาการสื่อสารกับประชาชนยังไม่มีการจำแนกกลุ่มที่ชัดเจนเพื่อผลิตสื่อที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย สื่อที่ผลิตออกมาส่วนใหญ่ดูเหมือนว่าจะเน้นกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับกลุ่มประชาชนที่อยู่นอกเขตเมือง        และจุดนี้จะเป็นประเด็นที่ภาคประชาชนจะมีการหารือต่อไปเพื่อกำหนดออกมาเป็นยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน ในแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2565-2569 ต่อไป         หมายเหตุ การสัมภาษณ์ ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี เกิดขึ้นก่อนมีการประชุมหารือเพื่อวางแนวทางยุทธศาสตร์ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ‘หนี้’ ในการแพร่ระบาดของโควิด-19

‘เงินด่วน ไม่ต้องใช้เอกสาร โอนเงินไวใน 30 นาที ติดต่อ xx-xxxx-xxxx’         ไม่ว่าจะร้อนเงินหรือเปล่า ภาพของกระดาษพร้อมข้อความลักษณะนี้มีให้เห็นเนืองนิจ อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าบนโลกที่ไม่มีอะไรฟรี คนเราจะได้เงินมาง่ายๆ ได้อย่างไร ต่อให้เป็นเงินกู้ก็เถอะ         เรารู้อยู่แก่ใจว่าความเร็วและง่ายมาพร้อมต้นทุนที่สูงลิบลิ่ว หนี้นอกระบบมีอัตราดอกเบี้ยชนิดขูดเลือดเนื้อ แต่ในสถานการณ์ที่ทางเลือกจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน เงินสดในมือสำหรับใช้จ่ายไม่เพียงพอ การกู้เงินจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทย ณ สิ้นปี 2563 ที่สูงถึง 14 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 18 ปีจากการเก็บข้อมูลของของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคิดเป็นร้อยละ 89.3 ของจีดีพีปี 2563         ตัวเลขข้างต้นบ่งชี้ว่าทั้งความสามารถในการชำระหนี้และการออมของครัวเรือนไทยลดต่ำลงจนน่ากังวล         ขณะเดียวกันแอปปล่อยเงินกู้ผิดกฎหมายก็กำลังสร้างปัญหาใหม่ตามมา คำถามมีอยู่ว่าแม้การไม่มีหนี้จะเป็นลาภอันประเสริฐ แต่ในฐานะผู้บริโภคที่ยังต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อใช้จ่ายจะรับมืออย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ช่วยได้แค่ไหน โควิด-19 ทำปัญหาหนี้ลุกลาม         เรามาลงรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นจากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปี 2563 แม้จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 89.3 แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้หนี้เติบโตช้าลง ถึงกระนั้นระดับหนี้ก็ยังเพิ่มขึ้นสวนทางเศรษฐกิจที่หดตัว เมื่อดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนถอยหลังไป 3 ปีก็พบด้วยว่าหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นทุกปี โดยในปี 2561 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ร้อยละ 78.4 และร้อยละ 79.8 ในปี 2562         ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ถ้ามองด้านอัตราการเติบโตของหนี้กลับพบว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปี 2563 เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.9 ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี ซ้ำยังชะลอลงจากร้อยละ 5.1 ในปี 2562 ซึ่งแสดงผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยที่ทั้งผู้กู้และผู้ปล่อยกู้ต่างก็ระมัดระวังมากขึ้น         ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ต่อไปว่า กลุ่มผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจและผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้จะมีภาระหนี้หรือ Debt Service Ratio (DSR) สูงกว่าผู้กู้ในกลุ่มอื่นๆ แรงกดดันที่ทั้งสองกลุ่มนี้ต้องเผชิญคือความสามารถในการชำระคืนหนี้ลดลง ช่องว่างในการก่อหนี้ก้อนใหม่ลดลง และระดับการออมของครัวเรือนลดต่ำลง         นอกจากนี้ยังประเมินว่าหากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เงินกู้ยืมภาคครัวเรือนปี 2564 อาจมีโอกาสเติบโตสูงกว่าปี 2563 ผลที่ตามมาคือสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะขยับสูงขึ้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 89-91 ต่อจีดีพีในปี 2564         ทั้งนี้ตัวเลขเงินกู้ยืมภาคครัวเรือนไตรมาสที่ 4 ปี 2563 จากเว็บไซต์ ธปท. ปรับปรุงล่าสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 พบว่า เป็นเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 10,778,538 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ 4,785,134 ล้านบาท ซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 1,781,439 ล้านบาท เพื่อการศึกษา 309,608 ล้านบาท เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น 3,902,357 ล้านบาท  และบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของ ธปท. 1,027,240 ล้านบาท ความโหดร้ายของหนี้นอกระบบ         หนี้นอกระบบเป็นปัญหาและโหดร้ายต่อผู้กู้ทั้งในแง่กฎหมายและมนุษยธรรม ข้อมูลของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสืบสวนคดีพิเศษ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561–วันที่ 24 พฤษจิกายน 2562 ในส่วนที่มีการร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี มีผู้ร้องเรียนจำนวน 4,748 รายกระจายไปตามภาคต่างๆ โดยพื้นที่ภาคกลางมีมากที่สุดถึง 1,926 ราย และ 663 รายอยู่ในเขตกรุงเทพฯ         ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นเงินกู้-ในที่นี้เฉพาะที่ผิดกฎหมาย-เกิดขึ้นจำนวนมาก สามารถกู้ง่าย เร็ว ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก ทำให้ประชาชนที่เข้าไม่ถึงเงินกู้ในระบบต้องตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก กรณีการเข้าจับกุมแอปพลิเคชั่นเงินกู้นอกระบบรายใหญ่ของชาวจีน 2 คนในกรุงเทพฯ เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาของศูนย์ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ (ศปน.ตร.) พบว่ามีเงินหมุนเวียนถึง 20 ล้านต่อวัน มีพนักงานทวงหนี้คนไทย 53 คน และไม่ได้มีแอปยูบาท (U Baht) เพียงแอปเดียว         แต่มีถึง 12 แอป ได้แก่ 1.speed wallet 2.cash 24 3.Marscash 4.bee bath max 5.cash 24 6.u-wallet 7.yoo card 8.cash map 9.take cash 10.pp cash 11.lend cash และ 12.เงินฟ้าผ่า โดยมีข้อมูลลูกหนี้ 8,600 กว่าราย การปล่อยกู้มีตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นโดยใช้บัตรประชาชน บัญชีเงินฝาก และหมายเลขโทรศัพท์ ถ้าคุณกู้ 2,000 บาทจะได้รับเงินจริงเพียง 1,300 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 35 ต่อสัปดาห์         การตรวจสอบจากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ​รายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลขณะนี้มีเพียง 2 บริษัทคือ บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด และบริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด ดังนั้น หากเจอแอปเงินกู้ที่ไม่ใช่ 2 บริษัทนี้หรือไม่มีแหล่งที่มาชัดเจน ตรวจสอบที่อยู่ไม่ได้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นแอปเงินกู้ผิดกฎหมาย ถ้าหากหลงกู้เงินไปแล้ว คุณอาจเสียมากกว่าที่คิด นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้นบริโภค กล่าวว่า         “ปัญหาสำหรับแอปที่ผิดกฎหมาย คือไม่รู้ว่าวิธีการสมัครจะขอข้อมูลส่วนบุคคลอะไรบ้าง เวลาที่เราสมัครผ่านแอปมักจะขอข้อมูลส่วนบุคคลและเขารู้จากเราฝ่ายเดียว แต่เราไม่รู้เลยว่าแอปที่เราขอกู้เงินเป็นใคร มีตัวตนหรือเปล่า เวลาเราจ่ายหนี้ จ่ายให้ใคร เป็นบุคคลหรือนิติบุคคล ยกเว้นเป็นแอปที่ถูกกฎหมายสามารถตรวจสอบได้ แต่ถ้าผิดกฎหมายบางทีจะขออะไรมากมาย และสิ่งที่เกิดขึ้นคือความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หลายรูปแบบ ตั้งแต่ขโมยข้อมูลในโทรศัพท์ ขายข้อมูลของเรา ปัจจุบันจะมีการฝังมัลแวร์ไว้ในระบบโทรศัพท์ เวลาที่เราทำธุรกรรมทางการเงินมันก็จะดูดข้อมูลของเราไปในระดับหนึ่งและอาจขโมยข้อมูลเราไปได้ แอพอาจทำให้เกิดภัยการเงินออนไลน์”         และแน่นอนว่าแอปผิดกฎหมายมีวิธีการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากระบบของแอปพวกนี้จะดูดข้อมูลเบอร์โทรของลูกหนี้ไปและโทรทวงหนี้จากหมายเลขเหล่านั้น การเอาเปรียบของหนี้ในระบบ         ในช่วงเวลายากลำบากนี้ แม้แต่ลูกหนี้ในระบบก็เผชิญปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมาตรการขั้นต่ำออกมาเป็นนโยบายขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์และนอน-แบงค์ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้โดยการขอพักชำระหนี้ ซึ่งมีหลายรูปแบบตั้งแต่พักชำระเงินต้น พักชำระดอกเบี้ย พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย แต่พบว่าธนาคารพาณิชย์เลือกมาตรการให้ลูกหนี้พักชำระหนี้เงินต้นโดยยังต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่ ปัญหามีอยู่ว่า         “สมมติเราขอพักชำระหนี้ 6 เดือน เราก็จ่ายแต่ดอกเบี้ย เจ้าหน้ายังได้ดอกเบี้ยอัตราคงที่ ไม่ใช่ลดต้นลดดอก” นฤมลอธิบาย “กรณีที่เจอคือเงินต้นที่ถูกพักเอาไว้ยังถูกคิดดอกเบี้ยอยู่ แทนที่ 6 เดือนที่เราพักชำระหนี้เราจะไม่เสียดอกเบี้ยเลย แต่สุดท้ายก็ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยใน 6 เดือนต่อไป คือเดือนที่ 7 ต้องจ่ายดอกเบี้ยเหมือนเดือนที่ 6 พอเดือนที่ 8 ดอกเบี้ยจึงจะลดลงเพราะได้ดอกเบี้ยเดือนที่ 7 ไปลดยอดเงินต้น         “ธนาคารไม่ได้บอกว่าเงินต้นที่พักเอาไว้ 6 เดือนจะไม่คิดดอกเบี้ย ยังถือว่ามีหนี้อยู่อีก 6 เดือน เพราะฉะนั้น 6 เดือนที่ถูกยืดออกไปก็ยังถูกคิดดอกเบี้ยอยู่ มันถูกคิดดอกเบี้ยตลอดเวลา ทั้งที่ดอกเบี้ยเงินต้นที่ยืดออกมามันคือจ่ายไปแล้วใน 6 เดือนที่พักชำระหนี้เงินต้นเอาไว้ ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ อันนี้จึงเป็นนโยบายที่ไม่ได้ช่วยเหลือลูกหนี้จริง เพียงแค่ช่วงที่พักชำระหนี้เงินต้นไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่เท่านั้น เพราะการช่วยเหลือลูกหนี้จริงๆ มันต้องพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอก”         และในบางกรณีมีลูกหนี้ที่ถูกธนาคารพาณิชย์พักชำระหนี้โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ยินยอม ทวงหนี้แบบไหนทำได้ รู้ไว้ลดแรงกดดัน         ในกรณีหนี้นอกระบบ นฤมลเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงแจ้งความดำเนินคดีกับแอปผิดกฎหมาย         ส่วนกรณีของหนี้ในระบบ การทำเข้าใจ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 เบื้องต้นน่าจะช่วยให้ลูกหนี้มีภูมิคุ้มกันจากการทวงถามหนี้ผิดกฎหมายได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงจากฝั่งเจ้าหนี้ว่ากฎหมายฉบับนี้เข้าข้างฝั่งลูกหนี้มากเกินไป ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดเพราะวัตถุประสงค์ของกฎหมายกำลังพูดถึงพฤติกรรมการทวงถามหนี้ที่เจ้าหนี้สามารถทำได้และทำไม่ได้         ประการแรก เจ้าหนี้สามารถโทรทวงถามหนี้ลูกหนี้ได้เพียงวันละครั้งตั้งแต่ 08.00-20.00 ในวันธรรมดา และ 08.00-19.00 ในวันหยุด ที่กฎหมายกำหนดเช่นนี้เพื่อให้ลูกหนี้มีเวลาจัดการ         ประการที่ 2 ผู้ติดตามทวงหนี้เวลาติดต่อกับลูกหนี้จะต้องแสดงตัวโดยมีเอกสารว่าได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ติดตามทวงถามหนี้ และในกรณีที่จะรับชำระเงินจากลูกหนี้ผู้ทวงถามจะต้องมีใบรับมอบอำนาจจากบริษัท หากถ้าไม่มีเอกสารจะไม่สามารถรับเงินได้ ทวงถามได้อย่างเดียว         ประการต่อมา ผู้ทวงถามหนี้ไม่สามารถทวงหนี้กับบุคคลอื่นที่ลูกหนี้ไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาได้ เช่น ลูกหนี้ระบุว่าถ้าไม่สามารถติดต่อตนได้ให้ติดต่อสอบถามกับภรรยา ญาติ หรือบุคคลใดก็ตามที่ลูกหนี้ระบุไว้ โดยกฎหมายให้กล่าวถึงการเป็นหนี้ของลูกหนี้กับบุคคลที่ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น แต่ถ้าเป็นบุคคลอื่นที่ลูกหนี้ไม่ได้ระบุไว้ทำได้แค่ถามสถานที่หรือที่ทำงานของลูกหนี้เท่านั้น เช่น ลูกหนี้ยังอยู่บ้านนี้หรือไม่ หรือทำงานที่นี่หรือเปล่า ไม่สามารถบอกว่าลูกหนี้เป็นหนี้        นฤมลกล่าวว่า หลังจากมีกฎหมายฉบับนี้ออกมา สถานการณ์ปัญหาการทวงถามหนี้มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หนี้เป็นมากกว่าปัญหาระดับปัจเจก         สำหรับลูกหนี้คนใดที่กำลังเผชิญปัญหาหรือใกล้จะเผชิญปัญหา นฤมลแนะนำให้ติดต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงอย่าง ธปท. ซึ่งจะช่วยเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยกับคู่สัญญาให้ อย่ารอให้ผิดนัดชำระหนี้         “เราเคยมีข้อเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยหลายเรื่อง ถ้าเป็นหนี้ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดทางธนาคารแห่งประเทศไทยควรมีนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลหรือพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงปลายธันวาคม 2564 ให้เศรษฐกิจฟื้นตัว คนมีงานทำ หรือจนกว่าจะมีสามารถชำระหนี้ได้ก็ค่อยชำระหนี้ มันก็จะช่วยเหลือผู้บริโภคมากกว่าการใช้มาตรการขั้นต่ำ เพราะถ้าเป็นมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยมันจะชัดเจน แต่ถ้าเป็นการขอความร่วมมือและออกมาตรการขั้นต่ำ ธนาคารพาณิชย์จะทำหรือไม่ทำก็ได้ซึ่งก็ทำ แต่ทำขั้นต่ำ คือพักชำระหนี้เงินต้น”         ถอยออกมาเพื่อมองภาพในระดับที่ใหญ่ขึ้น เราจะพบปัญหาเชิงระบบที่หลบซ่อนแบบเปิดเผยมานานมากนั่นคือ การเข้าถึงสินเชื่อถูกกฎหมาย ซึ่งทำให้คนจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระและแรงงานนอกระบบไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ต้องวิ่งเข้าหาหนี้นอกระบบ แม้ว่าจะมีความพยายามแก้ไข แต่ก็ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เป็นการฉีกช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้น        อีกด้านหนึ่งเมื่อมองในแง่ความเป็นธรรมทางสังคม เงินที่ธนาคารปล่อยกู้มาจากเงินฝากของผู้ฝากรายย่อยจำนวนมาก แต่ผู้ฝากรายย่อยกลับไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารได้ผิดกับผู้กู้รายใหญ่ นอกจากนี้ ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ถูกวิจารณ์ว่ามีส่วนต่างมากเกินไป         ปัญหาหนี้สินจึงไม่ใช่แค่ปัญหาระดับปัจเจก ยังมีโครงสร้างและระบบอันบิดเบี้ยวค้ำจุนมันอยู่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 วันตรวจสอบข่าวลวงโลก ความท้าทายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน

        เครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสาร National Fact-Checking Network- IFCN ที่มีสมาชิกเป็นองค์กรตรวจสอบข้อมูลข่าวสารครอบคลุมในหลายประเทศทั่วโลก ได้จัดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปีเป็นวันตรวจสอบข่าวลวงโลก หรือ International Fact-Checking Day         ในวันที่ 2 เมษายน 2021 นี้ โคแฟค-เครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสารในประเทศไทย ได้จับมือกับภาคีเครือข่าย 39 องค์กร ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย เราประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่าในระหว่าง 1 ปีนับจากนี้ จะช่วยกันรณรงค์ให้พลเมืองรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารและสร้างผู้ตรวจสอบข่าวสาร (Fact-Checkers) ในสังคมยุคดิจิทัล เพื่อลดผลกระทบด้านลบจากข่าวลือข่าวลวงในโลกออนไลน์ที่นับวันจะมีมากและซับซ้อนขึ้น         โอกาสนี้ ได้จัดเวทีสัมมนาหัวข้อ “ความท้าทายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และฉายภาพความคืบหน้ากิจกรรมต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับกลไกการตรวจสอบและสร้างผู้ตรวจสอบข่าวสาร ที่แต่ละภาคส่วนกำลังขับเคลื่อนอยู่ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในประกาศเจตนารมณ์ต่อไป         การตรวจสอบความลวงในภาวะวิกฤติรอบโลก         จากประสบการณ์ทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง(Fact-Checking) มากว่า 15 ปี วันนี้คุณ Baybars Orsek ในฐานะผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรตรวจสอบสากล ได้ย้ำว่าการขยายความร่วมมือระหว่างผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในหลายประเทศทั่วโลกนั้นสำคัญและจำเป็นมาก โดยเฉพาะในวิกฤติโควิด-19 นี้ ที่การตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวลวงข่าวเท็จนั้นยากกว่าการหาต้นตอของโรคระบาดเสียอีก         “ความท้าทายยิ่งใหญ่ที่เรายังเผชิญอยู่ คือการค้นหาต้นตอของข้อมูลเท็จเหล่านั้น บางทีมันยากที่เราจะระบุว่าสิ่งนี้เป็นข้อมูลที่แท้จริงหรือไม่ นั่นคือสาเหตุว่าทำไมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจึงจำเป็นต้องดำเนินงานกับหลายๆ หน่วยงาน ก็เพื่อให้เรามีคลังข้อมูล มีแหล่งข้อมูล และมีความรู้ที่มากขึ้น”         ในยุคดิจิทัลที่ข่าวสารมากมายอยู่รายล้อมตัวเรา ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ ที่กระจายได้กว้างและเร็วมาก หากจะนั่งตรวจสอบข่าวทีละชิ้นๆ คงไม่ทันการณ์ ดังนั้นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงยุคดิจิทัลจำเป็นต้องมีรูปแบบการทำงาน เครื่องมือ และเทคโนโลยี ที่หนุนเสริมให้ตรวจสอบข่าวลือข่าวลวงที่ต้นทางได้ทันท่วงที         คุณ Baybars ยกตัวอย่างว่าการหักล้างความคิดและความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง (debunking) แล้วก็ตรวจสอบข้อเท็จจริงไปในขณะเดียวกันนั้น เป็นโมเดลที่ใช้รับมือกับข้อมูลที่บิดเบือน (disinformation) และข้อมูลเท็จ (misinformation) ได้ผลดี อีกทั้งยืนยันว่าทุกคนสามารถฝึกฝนทักษะการเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้         “บางทีคุณแค่ตรวจสอบข้อมูลบางอย่างเพื่อดูแลคนในครอบครัวเอง ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว ถ้าคุณสงสัยว่าข่าวสารที่เห็นอาจก่อให้เกิดอันตรายกับบุคคลใดได้ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกครั้ง เพราะคนบางกลุ่มเขาอาจหลงเชื่อข้อความลวงหรือข่าวปลอมได้ง่ายๆ ดังนั้นเราต้องร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ได้ดีที่สุด”         โอกาสและอุปสรรคการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทย         พฤติกรรมการบริโภคสื่อของคนไทยที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะยึดติดกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ตนใช้บ่อย และมักเชื่อข้อมูลที่ส่งต่อมาจากคนใกล้ชิด จึงแชร์โดยไม่เช็กให้ชัวร์ก่อน ในขณะเดียวกันกลไกการตลาดก็บังคับให้ผู้ผลิตสื่อออนไลน์ทั้งหลายต่างเร่งทำยอดผู้ชม แข่งกันสร้างเนื้อหาให้ถูกใจมากกว่าถูกต้อง จึงส่งผลให้เกิดการแพร่สะพัดของข่าวลือข่าวลวงได้เร็วในวงกว้าง         คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ เผยความรู้สึกว่า         “วงจรการทำงานของแฟคต์เช็กเกอร์ คือ collect – choose – check – create ความท้าทายคือเรื่องเวลาและความเร็ว ตอนนี้ทุกคนให้มูลค่ากับการไลฟ์ ให้คุณค่ากับความสด ต้องรีบทำอะไรบางอย่างเพื่อให้คนแชร์ต่อ หรือทำให้คนอยากรู้อยากได้คำตอบตลอดเวลา อันนี้เป็นแรงกดดันหนึ่งของแฟคต์เช็กเกอร์ บางครั้งเราอึดอัดว่าเราไม่สามารถจะหยุดกระแสที่น่าเป็นห่วงด้วยข้อเท็จจริงได้ทัน”         การเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ก็เป็นอุปสรรคสำคัญ แม้ ‘ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย’ ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่ประชาชนอาจยังเข้าไม่ถึง นำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน แต่การเป็นหน่วยงานภาครัฐก็มีข้อกังขาถึงความเป็นกลาง ซึ่งคุณสันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ ชี้แจงว่า         “เราเปิดศูนย์นี้มาปีครึ่ง จะมีเรื่องสุขภาพและสมุนไพรมาให้ตรวจสอบค่อนข้างเยอะ เรามีเงื่อนไขว่าต้องทำข่าวให้เป็นกลางที่สุด ต้องมีข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ เรายอมรับว่าต้องมีไบแอสจากสังคมอยู่แล้ว แต่การจะลดไบแอสแล้วทำให้เรื่องเหล่านี้ขับเคลื่อนต่อไปได้คือ เราก็ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์”         คุณอภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค ได้ตั้งข้อสังเกตถึงอุปสรรคเชิงโครงสร้างว่า         “ในเมืองไทยการเข้าถึงข้อมูลข่าวยังยากอยู่ ถ้าเทียบกับในอเมริกาที่เขาแฟคต์เช็กกันเรียลไทม์ได้ อ้างอิงข้อมูลเปิดได้ สิ่งที่สังคมไทยต้องทำมากขึ้นคือเรื่องโอเพ่นดาต้าและดิจิทัลโกเวอเมนต์ที่เราจะเช็กข้อมูลต่างๆ บนหน้าเว็บไซต์ได้ง่ายๆ ซึ่งล่าสุดมีดีเบตเรื่อง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารเวอร์ชั่นใหม่กันอยู่ว่า จะนำไปสู่การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารหรือเปล่า”         อย่างไรก็ตาม คุณระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่มีโอกาสจะลดข่าวปลอมลงได้ว่า         “ผมเห็นโซเชียลมีเดียมา 6-7 ปี ช่วงบูมๆ เขาจะไม่มีคัดกรองอะไร ทุกคนจะผลิตอะไรก็ได้ แต่วันนี้ยูทูป เฟสบุค ทวิตเตอร์ เริ่มมีการคัดกรอง ให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ดีๆ ดังนั้นเราเห็นโอกาสแล้วว่าเมื่อทุกคนพยายามจะทำของที่ดี ก็จะไม่ผลิตเฟคนิวส์กันออกมา”         คุณณัฐกร ปลอดดี บรรณาธิการ Fact-Check สำนักข่าวเอเอฟพี ประจำประเทศไทย มองว่าสิ่งที่หน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนมานั้นเดินถูกทางแล้ว         “ในช่วงที่ผ่านมาเราเห็นคนตระหนักถึงข้อมูลข่าวสารเท็จเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากที่ผมใช้สื่อสังคมออนไลน์ด้วย เห็นเขาก็มีการตรวจ มีการแย้งกันเองในโพสต์ต่างๆ วันนี้จึงเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้สังคมของเราเสริมสร้างวัฒนธรรมการตั้งคำถามและตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เกิดขึ้นแล้ว และกำลังแข็งแกร่งขึ้นทุกๆ วัน”         ข้อค้นพบเชิงวิชาการในประเด็นการสื่อสารในโลกออนไลน์         งานวิจัยเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการตรวจสอบข่าวปลอม ระหว่างนักข่าวมืออาชีพและคนทั่วไปที่ใช้สื่อออนไลน์ ทีมนักวิจัยใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรมศาสตร์มารวบรวมข้อมูลจากโซเชียลมีเดียและวิเคราะห์ร่วมกันในเชิงนิเทศศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่าเมืองไทยยังมีช่องว่างในการตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ บรรยากาศหลายๆ อย่างอาจทำให้นักข่าวไม่สามารถตรวจสอบได้เต็มที่ โดยเฉพาะข่าวการเมือง รวมทั้งอาจเป็นโอกาสให้หลายคนสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นแฟคเช็กเกอร์ในเรื่องที่ตนสนใจและยังเป็นช่องว่างในประเทศไทยอยู่ ทั้งนี้ผู้วิจัยสังเกตว่าถ้าเป็นข่าวที่ชัดเจนว่าปลอม คนจะไม่ค่อยแชร์         โครงการพัฒนาทักษะนักการศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อรู้เท่าทันข่าวลวง ได้พัฒนาเป็นหลักสูตรออนไลน์ ที่เหมาะกับนักศึกษาและนักข่าวท้องถิ่น ให้ใช้โปรแกรมการจัดเรียง คัดกรอง และประมวลผลข้อมูลมานำเสนอเป็นข่าวอย่างถูกต้องในรูปแบบที่น่าสนใจได้ ซึ่ง ดร.จิรเวทย์ รักชาติ คณะการสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่ เล่าว่า “บางครั้งเราใช้อารมณ์ในการเล่าเรื่อง ก็เลยมีข่าวเชิงอารมณ์เยอะ จึงนำไปสู่เฟคนิวส์ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องมองหาวิธีการเล่าเรื่องด้วยข้อมูล ฝึกให้นักศึกษาเขาพร้อมมาอยู่ในโลกยุคใหม่ที่เราคุยกันด้วยข้อมูล”         ในส่วนบริบทความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ ที่ปรึกษา Deep South COFACT สรุปว่า “ปัญหาของจังหวัดชายแดนใต้คือ เมื่อเกิดประเด็นขัดแย้ง ไม่มีองค์กรอิสระที่มาตรวจความถูกต้องของข่าว มันก็เลยแพร่กระจายข่าวลือข่าวลวงไปได้ไกล ในฐานะนักวิชาการ ถ้าเรานั่งรอ เราจะเข้าไม่ถึงข้อมูล เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าไปฝังตัวอยู่ในเพจต่างๆ ดูว่ามีข้อมูลอะไรในพื้นที่การสื่อสารนั้นบ้าง เพื่อที่เราจะนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์”         สรุปบทเรียนของชุมชนโคแฟค         โคแฟคชายแดนใต้ (Deep South COFACT)         คุณมะรูฟ เจะบือราเฮง เล่าว่าทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจ.สงขลา ได้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมมือกับเครือข่ายในภูมิภาคต่างๆ โดยใช้โมเดลในองค์กร digital for peace คือนำนวัตกรรมแบบเปิดที่มีหลายๆ ฝ่ายมาทำงานร่วมกัน ทั้งหน่วยงานรัฐที่อยู่ในพื้นที่ หน่วยงานวิชาการ องค์กรเอกชน สื่อท้องถิ่น แล้วก็หน่วยงานภาคประชาสังคม มีการเชื่อมโยงทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งไม่ได้ตรวจสอบแค่ข้อเท็จจริง แต่ยังมองไปว่าข้อเท็จจริงนั้นจะช่วยป้องกันอันตราย หรือช่วยทำนายเหตุการณ์ข้างหน้าได้อย่างไรอีกด้วย         อีสานโคแฟค (Esan COFACT)         คุณกมล หอมกลิ่น เล่าว่าได้ทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เริ่มทำงานเมื่อตุลาคม 2563 โดยร่วมมือกับเครือข่าย 7 สถาบันการศึกษา 3 องค์กรด้านสื่อในพื้นที่ ใช้โมเดลที่ชวนให้ชาวบ้านตระหนัก ฉุกคิด แล้วใช้เครื่องมือตรวจสอบได้ เพื่อร่วมกัน “หยุดข่าวลวง ทวงความจริง” โดยพยายามกระจายกำลังคนให้อยู่ในเขตทั่วพื้นที่ภาคอีสานมากที่สุด ตั้งเป้า 120 คน จากนั้นจะขยับทำงานเชิงรุกมากขึ้น ให้ทีมงานเข้าไปในพื้นที่ ชวนชาวบ้านมองปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนแล้วตั้งคำถาม และหาความจริงร่วมกัน โดยใช้เครื่องมือโคแฟค เว็บไซต์อีสานโคแฟค.org และล่าสุดได้ตั้งศูนย์ตรวจสอบข่าวลวงชุมชนแห่งแรกของภาคอีสาน ที่ จ.อุดรธานี         โคแฟคภาคเหนือ         ผช.ศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล เล่าว่าได้ทำงานกับโคแฟคมาเกือบ 1 ปีแล้ว การสร้างชุมชนผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ภาคเหนือมีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย โดยเข้าไปดูว่าแต่ละกลุ่มอ่อนไหวกับข้อมูลแบบไหน มีข้อมูลแบบไหนที่กำลังหลอกลวงพวกเขาอยู่ แล้วเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมและตรงกับความสนใจของแต่ละกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา-จัดกิจกรรมสร้าง young fact- checker กลุ่มผู้บริโภคสื่อวิทยุและโทรทัศน์- ทำเทรนนิ่งเพื่ออัพสกิลและรีสกิลกับเครือข่ายในทุกภาค กลุ่มแรงงานข้ามชาติ-สอนตรวจสอบข้อเท็จจริงและผลิตสื่อในภาษาของตน(ไทยใหญ่,พม่า) ล่าสุดในกลุ่มผู้พิการทางการได้ยินและการพูด-สอนตรวจสอบข้อเท็จจริงบนฉลากโภชนาการ โดยแต่ละโครงการจะแบ่งผู้รับผิดชอบชัดเจน ซึ่งได้ผลลัพธ์และผลตอบรับจากทุกกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี         การรู้เท่าทันสื่อในผู้สูงอายุ         ผศ.ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ เล่าว่าในต่างประเทศมีการวิจัยว่าผู้สูงอายุเป็นคนแชร์ข่าวลือมากที่สุดแต่ในไทยยังไม่มีการสำรวจ ส่วนงานวิจัยเรื่องการรู้เท่าทันสื่อในผู้สูงอายุนี้ทำต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว โดยผ่านกลไกของโรงเรียนผู้สูงอายุ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ในพื้นฐานความคิดว่าผู้สูงอายุต้องพึ่งพาตัวเองจากการบริโภคสื่อและดูแลตัวเองได้ ความยากคือ หนึ่ง-ผู้สูงอายุไทยเกิดในยุคที่ไม่ถูกสอนให้ตั้งคำถาม สอง-เกิดในยุคที่สื่อมีไม่มากและสิ่งที่ออกมาผ่านสื่อถูกกรองมาแล้ว เชื่อถือได้ ดังนั้นแม้ผ่านการอบรมและได้คาถารู้ทันสื่อคือ “หยุด...คิด...ถาม...ทำ” ติดตัวไว้แล้ว ก็เพิ่งจะเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้นในปีนี้เอง คือกลุ่มผู้สูงอายุเริ่มถามกันเองในกลุ่มไลน์ว่าข่าวนี้จริงหรือเปล่า เริ่มรู้เท่าทันสื่อกันบ้างแล้ว สิ่งสำคัญคือกลุ่มผู้สูงอายุยังต้องการเครื่องมือที่ไว้เช็คข่าวลวงต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นสุขภาพ        เช็คให้ชัวร์ที่ ‘โคแฟค’        โคแฟค (COFACT THAILAND) เป็นองค์กรด้านตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ก่อตั้งมาได้ 1 ปี มีแนวคิดที่จะใช้เทคโนโลยีภาคพลเมืองคู่ขนานกับวารสารศาสตร์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมุ่งหวังส่งเสริมให้พลเมืองทุกคนเป็นแฟคต์เช็กเกอร์ คือรู้เท่าทันข่าวสารและใช้เทคโนโลยีดิจิตอลอย่างฉลาด        โคแฟคได้สร้างเครื่องมือออนไลน์ที่รวบรวมข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วไว้ให้บริการสืบค้น หากใครได้รับข้อมูลที่ชวนสงสัย อย่าเพิ่งแชร์ ให้มาเช็กให้ชัวร์ที่โคแฟค โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ cofact.org พิมพ์คีย์เวิร์ดเพื่อเช็กก่อนได้ ซึ่งในฐานข้อมูลจะแบ่งเป็น 5 หมวดหมู่ คือ จริง--ไม่จริง--จริงบางส่วน--มีความเห็นส่วนตัว--รอตรวจสอบ หรือส่งข้อมูล/รูปภาพมาในไลน์ @cofact แล้วทีมงานจะไปตรวจสอบให้แผนงานในปีนี้ โคแฟคจะเดินสายไปเทรนนิ่งในภูมิภาคต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนและพลเมืองมีทักษะการเป็นแฟคต์เช็กเกอร์ต่อไป.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ข้อควรรู้การมีกัญชาในอาหารและเครื่องสำอาง

        หลังจากรัฐไฟเขียวให้สามารถใช้กัญชามาเป็นส่วนประกอบในอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอางแล้วนั้น ปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก กรณีอาหารนั้นมีการผุดสารพัดเมนูคาวหวานมาเรียกความสนใจจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก และโฆษณากันให้ครึกโครม แต่ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็คงจะเกิดข้อห่วงใยขึ้นตามมาด้วยว่า เรื่องนี้จะมีผลกระทบกับสุขภาพตามมาอย่างไรหรือไม่ ฉลาดซื้อจึงสอบถามข้อกังวลใจนี้ต่อผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ชำนาญการเรื่องการแพทย์แผนไทย ผู้เชี่ยวชาญการใช้ประโยชน์จากกัญชา และ อย. ซึ่งเป็นผู้ที่กำกับดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้ มานำเสนอต่อผู้อ่านเพื่อเป็นข้อพึงรู้และข้อควรระวังหากคิดลอง กัญชาในอาหารและเครื่องสำอาง         “ต้องเฝ้าระวังและดูว่าหน่วยงานจะทำหน้าที่ดูแลได้เท่าทันตลาดหรือไม่”         รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า เรื่องนี้ต้องมีการติดตามผลกระทบกันต่อไป เนื่องจากเป็นการใช้ในชีวิตประจำวัน ที่เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่ระหว่างการทยอยออกประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาผสมใน ยา อาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ทว่ายังไม่ครบถ้วน         ในกรณีของการผสมในเครื่องสำอางยังอนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอกเท่านั้น รวมทั้งการกำหนดปริมาณสารเมาหรือเตตระไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์  ทั้งเครื่องสำอางและอาหารพร้อมรับประทาน สามารถขออนุญาตผลิตได้โดยการขอจดแจ้ง ส่วนอาหารที่ปรุงขายทั่วไปสามารถทำได้เลยเพียงแต่ต้องมีที่มาของกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาตรวจสอบ อยู่เสมอทั้งแหล่งที่มาและการปนเปื้อนสารอื่นๆ ที่เป็นอันตราย เช่น โลหะหนัก         สำหรับแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นเนื่องจากการจดแจ้งและการตรวจสอบมีข้อกำหนดให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและอาหาร เครื่องดื่มสำเร็จรูปที่ผสมกัญชาต้องขอจดแจ้งจาก อย. จึงควรมีการตรวจสอบคุณสมบัติและปริมาณของสาร THC ในผลิตภัณฑ์ทั้งตอนขอจดแจ้งและควรมีการตรวจสอบติดตามเมื่อวางขายในตลาดแล้วอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่พิจารณาแค่จากเอกสาร         “ฉลาก” ควรกำหนดให้ระบุข้อมูล คำเตือนและข้อห้าม การแจ้งปริมาณอย่างชัดเจน เข้าใจง่าย เช่น การห้ามใช้ในเด็ก สตรีมีครรภ์ เป็นต้น รวมทั้ง จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นชัดเจน ตัวอักษรมีขนาดให้อ่านได้ไม่ยาก         “การโฆษณา” ผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะการโฆษณาบนสื่อออนไลน์ ที่ส่งต่อกันได้อย่างรวดเร็ว อาจมีข้อความที่โฆษณาเกินจริงและจูงใจให้บริโภคเกินความจำเป็น ดังเห็นจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมากมาย รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากกัญชาที่พบว่ามีการโฆษณาบนสื่อออนไลน์แล้วทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับอนุญาต จึงมีคำถามว่า แล้วหน่วยงานที่รับผิดชอบจะกำกับติดตามอย่างไรให้ทันท่วงที         ปัจจุบันมีการคาดการณ์ตลาดและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากกัญชาในเชิงเศรษฐกิจไว้สูง ซึ่งหมายความว่าจะมีผู้บริโภคจำนวนมาก มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ได้ ดังนั้นการโฆษณาคงเป็นเครื่องมือสำคัญ ผู้บริโภคต้องเท่าทันต่อการโฆษณาเกินจริ และช่วยกันสอดส่องโฆษณาผิดกฎหมาย  อย. ก็ต้องสร้างกลไกเพื่อติดตาม จับกุม และแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ        อย่างไรก็ตามประชาชนเองก็ควรจะรู้เท่าทัน โดยการศึกษาข้อดี ข้อด้อย ข้อควรระวังก่อนใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งมีประโยชน์แต่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยเท่านั้น ห้ามการซื้อใช้เองตามคำโฆษณา เพราะอาจได้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพมีการแนะนำใช้ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม         “การเลือกรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของกัญชานั้น ผู้บริโภคต้องถามตัวเองด้วยว่ามีความจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ผสมกัญชาหรือไม่ มากน้อยเพียงไร เช่น ในกรณีเครื่องสำอาง ต้องรู้ว่ามีอะไรบ้างที่ อย.อนุญาต สรรพคุณที่อ้างมีการทดสอบหรือไม่ อย่างไร เทียบเท่าหรือดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ราคาสมเหตุผลหรือไม่”          “การออกแบบเมนูต้องคิดให้ดีไม่ให้เกิดปัญหาและเยาวชนต้องได้รับการป้องกัน”         ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ระบุว่า คนไทยมีประวัติการใช้ใบกัญชาในอาหารมานาน ตั้งแต่เป็นตำรับในวัง โดยมีหนังสือแม่ครัวหัวป่าก์ปี พ.ศ. 2451 และจากการสืบค้นความรู้จากหมอพื้นบ้านก็พบว่าใช้ใบกัญชาเป็นส่วนผสมหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหานอนไม่หลับ รับประทานอาหารไม่ได้ แต่เมื่อรักษาหายแล้วก็หยุดยา ดังนั้นจึงมองเห็นว่าใบกัญชาน่าจะมีประโยชน์บางอย่างเมื่อผสมลงไปในอาหาร         อย่างไรก็ตามมีคนกังวลว่ากัญชาไทยมี THC สูง ดังนั้นจึงมีการสืบค้นข้อมูลในต่างประเทศ เช่น แคนาดา พบว่าหากจะนำกัญชาหรือการชงมาผสมในอาหารจะต้องมี THC น้อยกว่า 10 มิลลิกรัมต่อแพ็ค เราจึงมาศึกษาและวิเคราะห์ ใบกัญชาที่รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปลูกก็พบว่า 1 ใบ มี THC ประมาณ 1-2 มิลลิกรัม จึงไม่ควรรับประทานเกิน 5-10 ใบ ซึ่งสอดคล้องกับองค์ความรู้ดั้งเดิมบอกไว้ว่า 1 คนไม่ควรรับประทานเกิน 5 -8 ใบ จึงคิดว่าปริมาณนี้เป็นปริมาณที่แนะนำ         ทั้งนี้เมื่อรับประทานแล้วหากรับประทานในปริมาณน้อยก็มีการศึกษาพบว่า กัญชาเป็นต้นทางของโมโนโซเดียมกลูตาเมตหรือผงชูรสนั่นเอง และในทางแผนไทยระบุว่าเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนพลังงานจึงส่งผลให้กินข้าวได้ นอนหลับดี         สำหรับ “ใบสด” ถือว่าไม่มีสารเมาแต่เป็นกรดของสารเมาที่ไม่ผ่านเยื่อหุ้มสมองเข้าไป ดังนั้นโอกาสจะเกิดอันตรายกับสมองก็น้อย แต่ถ้านำมาผ่านความร้อนจะทำให้กรดนั้นสลายไปแล้วเกิดเป็นสารเมา ดังนั้นยิ่งผ่านความร้อนมาก ก็จะยิ่งมีสารเมาในปริมาณมาก หรือถ้ามีน้ำมันอยู่ในตำรับด้วย เช่น ผัดกะเพราก็จะสกัดเอาสารเมาออกมาได้เยอะ  แต่การ “ผัดให้สลบ” อย่างองค์ความรู้บางพื้นที่ คือต้มแกงให้เดือดจนทุกอย่างสุกแล้วแล้วใส่ใบกัญชาทีหลังก็จะ “แค่สลบ” สารเมาก็จะน้อย ส่วนการทอด “เทมปุระ” สารเมาก็จะน้อย เพราะไปอยู่ในน้ำมันหมด ฉะนั้นจึงเป็นที่มาของการออกแบบเมนู         การออกแบบเมนูอาหารนั้นต้องคิดเยอะ แม้ว่าทางการแพทย์ระบุว่า “สารเมา” ช่วยเพิ่มความอยากอาหารและช่วยในการนอนหลับ แต่การใช้ในบางคนต้องระวังให้มาก         กลุ่มที่ต้องหลีกเลี่ยงคือ “เยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี” เพราะพัฒนาการของสมองจะสมบูรณ์ที่ 25 ปี หากได้รับสารจากกัญชาเข้าไปเร็วอาจจะเกิดผลกระทบได้ นอกจากนี้ “คนท้องหญิงให้นมบุตร” ก็ไม่ควรรับประทาน เพราะไม่มั่นใจว่าสารนี้จะผ่านไปทางรกหรือน้ำนมหรือไม่ รวมถึงคนที่เป็น “โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ” ก็ไม่ควรรับประทาน เพราะบางครั้งผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคนั้นอยู่ทั้งในภาวะที่คุมได้หรือไม่ได้ จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานไปเลย สุดท้ายคือ “กลุ่มที่มีการใช้ยาวาฟารีนและใช้ยาที่มีผลต่อสมอง”         ส่วนเรื่องเครื่องสำอางตอนนี้ที่ให้ใช้ จะเป็นลักษณะของ “น้ำมันเมล็ดกัญชง น้ำมันเมล็ดกัญชา” ซึ่ง มีกรดโอเมก้าที่ดีช่วยในเรื่องของความชุ่มชื้น ปรับสภาพผิวช่วยลดรอยเหี่ยวย่น แต่สิ่งที่กังวลคือสาร cbd ยังมีรายงานว่าก่อให้เกิดการระคายเคืองเช่นกัน        “เรื่องเหล่านี้จำเป็นจะต้องให้ความรู้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการ เพราะเราจะไปตามจับคนที่ทำผิดทุกคนไม่ได้ เพราะฉะนั้นประชาชนจึงจำเป็นจะต้องรู้ว่าตัวเองควรที่จะใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้หรือไม่ เพราะนอกจากจะไม่จำเป็นแล้วยังจะมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะได้ประโยชน์จากตรงนี้ หรือถ้าเป็นเครื่องสำอางก่อนจะซื้อ ก็ต้องดูด้วยว่ามีความคุ้มทุนมีความคุ้มค่าที่เราจะเสียเงินซื้อหรือไม่ เช่นถ้าบอกว่าช่วยในเรื่องของการลดริ้วรอยแต่ราคาสูงมากเป็นหมื่นบาท มีเงินที่จะจ่ายตรงนี้หรือว่ามีผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ ที่ช่วยในเรื่องเดียวกันแต่ราคาเหมาะสมกว่ามีหรือไม่ ต้องคิดในหลายๆ มุม ซึ่งความรู้จะเป็นเรื่องพื้นฐานของการตัดสินใจ”         ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะต้องมีการสุ่มตรวจเป็นระยะ เพราะเคยมีรายงานในต่างประเทศ พบว่าในผลิตภัณฑ์บรรจุปิดสนิท มีปริมาณ THC เกิน จากปริมาณที่กำหนด ส่วนของไทยในระยะแรกคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา THC เกิน แต่กังวลว่าจะไม่มีสารใดๆ เลยมากกว่าแล้วนำมาหลอกขายในราคาสูง เพราะตอนนี้กัญชาหายาก จึงต้องระมัดระวังเอาไว้ ส่วนอนาคตก็ต้องระวังมากๆ ในเรื่องการเข้าถึงของกลุ่มเยาวชน         “ต้องควบคุมด้วยการมีฐานข้อมูลแหล่งปลูก ร้านจำหน่ายที่ประชาชนตรวจสอบได้สะดวก”                 “นายวีระพงษ์ เกรียงสินยศ” ผอ.มูลนิธิสุขภาพไทย ย้ำว่า ตนสนับสนุนเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพราะมีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ มีการรับรองการรักษาทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่พบว่ามีอันตรายอะไร ทั้งนี้เป็นเพราะการใช้ในทางการแพทย์นั้นอยู่ภายใต้การควบคุมดูแล ทั้งในเรื่องของปริมาณที่ควรได้รับและผู้ป่วยที่ควรได้รับ จึงถือว่าสามารถควบคุมดูแลได้         แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การนำส่วนต่างๆ ของกัญชามาผสมในอาหาร เครื่องดื่ม โดยพยายามชูว่าเป็นพืชผักสมุนไพร เป็นอาหารวิเศษที่จำเป็นต่อร่างกาย ตรงนี้อยากจะให้เฝ้าระวังให้มาก แม้จะตั้งความหวังเอาไว้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจแต่ต้องมีมิติในการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย เนื่องจากต้องยอมรับว่าในใบ กิ่ง ก้าน นั้นยังมีสารเมาอยู่บ้างแม้จะมีในปริมาณน้อยก็ตาม การประกอบอาหารก็ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและใช้อย่างมีความรู้         ต้องมีมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งการที่หน่วยงานระบุว่ามีการควบคุมในส่วนของแหล่งปลูกกัญชาแล้ว ส่วนใครจะซื้อส่วนประกอบกัญชา (ยกเว้นช่อดอกและใบรองดอก) มาปรุงอาหารไม่ต้องขออนุญาตอีกนั้น มองว่ายังไม่เพียงพอควรมีการควบคุมที่ดี โดยควรทำฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกันทั้งแหล่งปลูก และปลายทางคือร้านอาหาร ร้านค้าที่นำกัญชามาปรุงอาหารด้วย โดยจัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต แอพลิเคชันที่สามารถตรวจสอบได้ เพราะทุกวันนี้ประชาชนก็ไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องของการเข้าถึงเทคโนโลยีแล้ว โดยเห็นได้จากการเยียวยาช่วยเหลือจากภาครัฐให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ก็ดำเนินการผ่านโทรศัพท์มือถือได้กันทั้งผู้ค้าขาย และผู้บริโภคอยู่แล้ว ซึ่งหากทำได้เท่ากับเป็นการคอยเฝ้าระวังหรือให้รู้ด้วยว่าวัตถุดิบนี้ไปอยู่ตรงไหน ซึ่งจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยและมีข้อมูลให้ประชาชนรับรู้ได้ตลอด         “ส่วนที่น่ากังวลคือกรณีใน 1 ร้านมีหลายเมนูที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบทั้งเมนูคาว และของหวาน ไอศกรีม รวมถึงเครื่องดื่มอาจะทำให้ผู้บริโภคได้รับสารเมาในกัญชาจากการรับประทานเมนูที่หลากหลายได้ โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน เพราะอย่างที่บอกว่าหลายๆ เมนู คือไอศกรีม ของหวาน ขนมเค้ก ซึ่งเป็นของที่เด็กๆ เขารับประทานกันอยู่ ตรงนี้งานทางวิชาการหรือหน่วยงานของรัฐควรจะมีหลักเกณฑ์อะไรหรือไม่ เพราะตอนนี้รับประทานกันเพลินเลย”         เพราะฉะนั้นในส่วนนี้จะต้องมีการกำหนดกลุ่มผู้ใช้อย่างชัดเจน โดยในส่วนเจ้าของร้านอาหาร เครื่องดื่มใดมีเมนูกัญชาเป็นส่วนประกอบ ควรจะติดป้ายประกาศให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคได้ตัดสินใจเลือกว่าจะรับประทานหรือไม่ แสดงข้อห้ามชัดเจนว่าไม่จำหน่ายให้กับเด็ก เยาวชน หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น ส่วนภาครัฐ  โดยเฉพาะอย. ควรจะมีเกณฑ์ประกาศอย่างเป็นทางการว่าใครที่ไม่ควรรับประทาน หรือต้องรับประทานด้วยความระมัดระวัง และมีคำแนะนำปริมาณในการปรุง คำแนะนำกับผู้บริโภคด้วยว่า ตลอดจนข้อควรระวังหลังรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา แม้จะมีปริมาณเล็กน้อย เพราะแต่ละคนมีความไวต่อปริมาณหรือสารในกัญชาไม่ไม่เท่ากัน          “มีมาตรการสุ่มตรวจแน่นอนเพื่อดูว่าร้านค้าเอามาจากแหล่งที่ถูกกฎหมายหรือไม่”        “ภญ.สุภัทรา บุญเสริม” รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า หลังจากที่อย.ปลดล็อค ส่วนประกอบของกัญชา ยกเว้น ดอก และใบรองดอกออกจากการเป็นยาเสพติด และอนุญาตให้นำไปเป็นส่วนประกอบในอาหารเครื่องดื่มได้นั้น ทำให้ใบกัญชา กัญชง มีความต้องการสูงมาก เพื่อนำไปประกอบในเมนูอาหาร เครื่องดื่มต่างๆ ในท้องตลาด แต่ต้องยึดหลักกฎหมายว่าต้องซื้อมาจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเท่านั้น         อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ในเรื่องของการควบคุมยังเป็นการควบคุมที่ต้นน้ำ คือแหล่งที่ปลูกต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งผู้ปลูกสามารถดาวน์โหลดเอกสารรับรอง และนำไปแสดงต่อผู้ที่ต้องการซื้อไปเป็นส่วนประกอบอาหารได้สบายใจว่าได้รับของที่ถูกกฎหมายแน่นอน         แต่ในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านค้าที่จะใช้กัญชาไปปรุงอาหารนั้นทาง อย.ยังไม่ได้มีข้อกำหนดว่าต้องมาขออนุญาตใช้ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเปิดได้เลยตามมาตรฐานร้านอาหารปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ของกรมอนามัย แต่ อย.จะมีมาตรการสุ่มตรวจเพื่อดูว่ากัญชาที่เอามาใช้นั้นมาจากแหล่งที่ถูกกฎหมายหรือไม่ ในส่วนนี้ก็ถือเป็นการควบคุมในระดับหนึ่ง แต่ไม่ต้องถึงขั้นต้องแขวนใบอนุญาตแหล่งที่มาของกัญชาให้เห็นชัดก็ได้ เพียงแต่เมื่อไรที่มีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ ทางร้านจะต้องสำแดงต่อเจ้าหน้าที่ได้         สำหรับคำแนะนำแก่ผู้บริโภคนั้น เบื้องต้น อย.จะมีคำแนะนำให้ทราบตลอดถึงผลดี ผลเสีย ข้อควรระวัง และกลุ่มที่ไม่ควรรับประทานอาหาร เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา เพียงแต่ไม่ได้ออกเป็นประกาศอย่างเป็นทางการเท่านั้น อาทิ หญิงตั้งครรภ์ คนให้นมลูก เด็ก เยาวชน คนที่รับประทานยาบางประเภท เช่น ยาละลายลิ่ม  คนมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจต้องระมัดระวังเวลารับประทาน แต่ก็ไม่ได้ห้ามรับประทาน         “เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่าใบกัญชาไม่ใช่ผักหรือพืชผักสวนครัว เวลารับประทาน ต้องระมัดระวัง เพราะแต่ละคนจะมีความไวต่อสารในกัญชาไม่เท่ากัน แม้ว่าในใบจะมี THC ต่ำแต่ก็ไม่รู้ว่าในใบยังมีสารอะไรอีกหรือไม่ที่เรายังไม่รู้เพราะฉะนั้นการรับประทานจึงต้องระมัดระวัง”         สำหรับกรณีการนำไปผสมในเครื่องสำอางนั้น เนื่องจากพบว่ามีประโยชน์ เช่น น้ำมันเมล็ดกัญชง ให้ความชุ่มชื้น   ซึ่ง สาร CBD ก็ช่วยลดการอักเสบ ขณะเดียวกัน ตัวเมล็ดกัญชง มีโอเมก้า 3 มีโปรตีนสามารถนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ ปัจจุบันมีผู้มาขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชงหรือกัญชายังไม่เยอะ เพราะกฎหมายเพิ่งเปิด คาดว่าน่าจะอยู่ระหว่างการคิดค้นผลิตภัณฑ์ แต่หลังจากนี้น่าจะมีจำนวนมากขึ้น ส่วนเรื่องราคานั้น ทางอย. ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่พยายามที่จะสำรวจราคาเพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลและเป็นไกด์ไลน์เบื้องต้นสำหรับคนซื้อและคนขาย เพื่อให้เป็นราคามาตรฐานเอาไว้เพื่อทำให้ไม่เกิดการโก่งราคา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ค่าโดยสารรถไฟฟ้าควรเป็นเท่าไร ?

ค่าโดยสารรถไฟฟ้ากลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง (และน่าจะเป็นอีกในอนาคต) เมื่อก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวการต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวและกรุงเทพมหานครประกาศว่าจะมีการจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอัตราไม่เกิน 104 บาทตลอดสายตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ซึ่งทั้งสองกรณีนี้สุดท้ายยังไม่เกิดขึ้นเนื่องจากถูกหลายฝ่ายคัดค้าน         กรณีดังกล่าวถูกโจมตีว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน ขณะที่ค่าโดยสาร 104 บาทก็สูงจนรับไม่ได้ เพราะหากคิดจากค่าแรงขั้นต่ำแล้วเท่ากับ 1 ใน 3 หมายความว่าคนจำนวนหนึ่งจะไม่สามารถเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนสาธารณะได้         แล้วค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ควรจะเป็นคือเท่าไหร่?         ยังไม่มีคำตอบแบบฟันธง แต่ ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะพาไปฟังมุมมองจากหลายฝ่าย ทั้งนักวิชาการ นักการเมือง จนถึงคนทำงานว่าพวกเขาคิดอย่างไร45-50 บาทต่อเที่ยวสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ( TDRI )         ราคาที่เหมาะสมถ้าดูในส่วนของรายได้และการจ่ายของกลุ่มรายได้ต่างๆ ถ้าเทียบก่อนว่าค่ารถไฟฟ้าปัจจุบันเหมาะกับกลุ่มรายได้ค่อนข้างสูง คือต้องมีรายได้เดือนหนึ่ง 20,000 บาทขึ้นไปต่อคนถึงจะสามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้เป็นประจำ คำถามต่อไปคือถ้าเราอยากให้กลุ่มรายได้ที่ต่ำลงมา เช่นเงินเดือน 10,000-12,000 บาทขึ้นรถไฟฟ้าได้ ค่ารถไฟฟ้าจะต้องลดลงมากี่เปอร์เซ็นต์ แล้วถ้าเราอยากให้คนที่เงินเดือนต่ำกว่า 10,000 บาทขึ้นรถไฟฟ้าได้ค่ารถไฟฟ้าควรเป็นเท่าไร         เราอาจจะมีปัญหาถ้าเราต้องตั้งอัตราค่ารถไฟฟ้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่มรวมถึงกลุ่มรายได้ขั้นต่ำ ซึ่งค่ารถไฟฟ้าเราอาจจะถูกมาก แต่ระบบอาจอยู่ไม่ได้ในระยะยาว สมมติว่า 10 หรือ 15 บาทตลอดสาย แต่ถามว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ รัฐบาลอาจต้องกุมขมับ ถ้าจะให้รัฐบาลกุมขมับน้อยลง มันก็คงเป็นค่าโดยสารที่คิดตามระยะทาง อาจเริ่มต้นที่ 15 บาทเป็นค่าแรกเข้า แล้วยิ่งเดินทางไกลก็อาจจะขึ้นค่าโดยสารหน่อย        ค่าโดยสารสูงสุดผมยังมองภาพที่ 45-50 บาทต่อเที่ยว ถือว่ายังพอบริหารจัดการได้และให้รัฐอุดหนุนบ้างแต่ไม่มาก ตัวเลข 45-50 บาทต่อเที่ยวไม่ถึงขั้นที่คนมีรายได้ต่ำที่สุดในกรุงเทพฯ เข้าถึงได้ ซึ่งคนกลุ่มนั้นเราอาจจะต้องให้ความช่วยเหลือโดยตรงต่อไป แต่คนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ น่าจะเข้าถึงได้ ซึ่งถ้าได้ตามนี้หมายถึงเราต้องมีระบบตั๋วที่เชื่อมโยงกันระหว่างเส้นทางรถไฟฟ้า สิ่งที่เราพยายามพูดคือเราไม่อยากให้รถไฟฟ้าแต่ละเส้นต่างคนต่างคิดแยกกัน เพราะถ้าเราต้องการเดินทางไกล ผ่านหลายระบบ ค่าโดยสารก็จะสูงมากๆ อันนี้คือกรอบที่ผมเริ่มคิด แต่ถามว่าตัวเลขควรเป็นเท่าไหร่ อันนี้ยังต้องถกเถียงกันอยู่และคงต้องทำวิจัยเพิ่มเติม         ส่วน 25 บาทตลอดสายถือว่าค่อนข้างยาก คำถามต่อคือถ้าผมขึ้น 2 สถานีควรเก็บเท่าไหร่ 25 บาทก็ไม่คุ้มในมุมผู้โดยสาร เวลาพูดถึงเรื่องตลอดสาย มันต้องมีนิยามของคำว่าตลอดสายระดับหนึ่ง แล้วเที่ยวเดียว เดินทางสั้นๆ จะคิดค่าโดยสารยังไง         สิ่งเหล่านี้ต้องมีการเจรจา คำถามคือรัฐอยากจะทำไหม เพราะรัฐเองก็ลงทุนรถไฟฟ้าค่อนข้างมาก แต่ไม่มีแผนในการควบคุมอัตราค่าโดยสารเลย ปล่อยให้เป็นไปตามสัญญาสัมปทานเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นคำถามคือรัฐจะดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้ สัญญาที่ยังไม่เซ็นก็ต้องเซ็นในรูปแบบที่มีอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม สัญญาไหนที่เซ็นแล้วก็อาจต้องเรียกเอกชนมาเจรจา ถ้ารายได้ไม่เหมาะสม ต้องชดเชย หรือปรับเปลี่ยนสัญญาสัมปทานก็ว่าไป 15-45 บาทน่าจะเหมาะสมที่สุดสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล         ผมคิดว่าอัตรา 15-45 บาทน่าจะเหมาะสม อย่างที่เราเห็นสายสีน้ำเงินตอนนี้ 17-42 บาท บีทีเอส 16-44 บาท ส่วนต่อขยาย 15-45 บาท รวมๆ หลักการคิดค่าโดยสารพิจารณาจากค่าครองชีพพอสมควร แต่ประเด็นคือเราทุกคนอยากให้มันถูกลง เพียงแต่ว่าคำถามนี้ง่ายก็จริง แต่ต้องถามว่าแล้วจะเอาเงินจากไหนมาอุดหนุน ระบบที่เราพัฒนากันมามันเป็นอยู่อย่างไร มีสัญญาผูกไว้หรือไม่         ปัญหาค่าโดยสารแพงเกิดจากการที่รัฐอุดหนุนไม่เพียงพอเพราะการลงทุนแบบไม่พอเพียง รัฐบาลจัดการห่วย หาทางรวยจากขบวนการ 3 ป. อย่างที่ผมได้อภิปรายไม่ไว้วางใจไป ที่เป็นปัญหาเพราะระบบวางแผนรถไฟฟ้าของเรามาผิดทางคือเราเอาผู้ประกอบการเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ทีนี้ก็เลยเกิดการเจรจาเป็นสายๆ แบ่งเค้กเป็นรายๆ ต่อรองกันเป็นชิ้นๆ และมัดตราสังข์ไว้ด้วยสัมปทาน PPP net cost (เป็นการร่วมกันพัฒนาและให้บริการสาธารณะของภาครัฐและเอกชน โยเอกชนได้รับสิทธิ์ในการจัดเก็บรายได้และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง ซึ่งเอกชนจะต้องรับความเสี่ยงจากผลดำเนินงานทั้งหมด) 30 ปี จึงทำให้การแก้ปัญหาหรือทำให้ถูกลงเป็นเรื่องยากและไม่สมเหตุสมผลในบางประการ         พอเราผูกสัญญาสัมปทาน net cost 30 ปีไว้ เอกชนก็ไม่ยอมลดราคาให้ขาดทุนแน่ๆ เพราะมีสัญญาผูกไว้ จึงเป็นเหตุผลที่ผมบอกว่า 15-45 บาทน่าจะเหมาะสมและคนก็รับได้ในปัจจุบันเพราะทุกวันนี้เราก็ใช้กันอยู่เรทนี้         ผมยกตัวอย่าง สมมติว่า PPP net cost ผูกไว้ที่ 45 บาทในท่อนหลัก อยู่ๆ รัฐบอกว่าจะเอาเงินภาษีของทุกคนทั่วประเทศมาช่วยอุดหนุนให้เหลือ 20 บาท การทำอย่างนั้นพอราคาลด ดีมานด์ก็จะเพิ่มขึ้น แต่รัฐต้องไปชดเชยอุดหนุนส่วนต่างให้เอกชนเพราะว่าผูกไว้ด้วย PPP net cost พอเป็นอย่างนั้นก็เหมือนกับรัฐเอาเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศไปเทให้เอกชนให้มีผู้ใช้เพิ่มมากขึ้น ผมจึงบอกว่ามันแก้ยากมากด้วยเงื่อนไขที่เราเป็นอยู่         เพียงแต่การช่วยผู้บริโภคเวลาข้ามสายหรือข้ามระบบจะต้องหาทางแก้ ซึ่งตรงนี้ยังพอทำไหว แต่ตามสัญญาผูกไว้ว่า 45 บาท แล้วอยู่ๆ จะไปลดเหลือ 30 บาทหรือ 20 บาทตลอดสาย บอกตรงๆ เลยว่าเป็นไปไม่ได้ ต่อให้มีเงินพอมันก็เป็นการเทเงินเข้ากระเป๋าเอกชน จุดเริ่มต้นที่เร็วที่สุดคือการทำตั๋วร่วมและเสียค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวสิริพงศ์  อังคสกุลเกียรติ ส.ส.จังหวัดศรีสะเกษ เขต 1 พรรคภูมิใจไทย         ประเด็นแรกของผมคือค่ารถไฟฟ้าควรเป็นเท่าไหร่ ตอนนี้ต้องยอมรับว่าสมการในการคำนวณค่าโดยสารรถไฟฟ้าแต่ละสายไม่เหมือนกัน เนื่องจากว่าเป็นคนละสัญญากันหมดเลย กรณีที่เราจะหักหรือบังคับเปลี่ยนสัญญา ผมไม่มั่นใจว่าจะสามารถทำได้ตามข้อกฎหมาย แต่ถ้าตามอำนาจที่อาจทำได้โดยเริ่มต้นด้วยการใช้ระบบร่วม แล้วไปลดค่าแรกเข้าก่อน เช่นเดิมทีวันหนึ่งขึ้น 3 สายก็อาจต้องเสียค่าแรกเข้า 15 บาท 3 ครั้งเป็นเงิน 45 บาท ตรงนี้ต้องลดออกไปเลย 30 บาท เสียแค่ครั้งเดียวคือ 15 บาท ซึ่งแนวทางนี้น่าเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ที่สุด ฉะนั้น ค่าโดยสารควรเป็นเท่าไหร่ก็คือตามระยะทาง ส่วนค่าแรกเข้าเสียเพียงครั้งเดียว         ต่อมาในส่วนสายสีเขียวที่เป็นประเด็นอยู่ วันนี้วิ่งตลอดระยะทางอยู่ที่ประมาณ 59 บาท แต่ในสัญญาทั้งหมดที่เขานำเสนอคณะรัฐมนตรีต้องไม่เกิน 65 บาท ซึ่งมีการพูดถึงว่าเนื่องจากสัญญาการวิ่งแต่ละช่วงของ กทม. ก็เป็นสัญญาคนละลักษณะอีกเพราะส่วนตรงกลางหรือส่วนไข่แดง เอกชนรับเหมาหมด แต่ส่วนต่อขยายเขาจ้างวิ่งรถ มันก็คนละสมการกัน ก็จำเป็นต้องออกมาดู แต่ค่าแรกเข้าก็ยังยืนยันว่าควรเสียแค่ครั้งเดียว         อย่างไรก็ดี เราเขียนตัวเลขกันมาแล้วว่าสมมติในกรณีที่เขาได้สัมปทานที่ กทม. ให้เอกชนรับสัมปทานเบ็ดเสร็จทั้งหมดไปเลย เขาจะสามารถวิ่งได้ไม่เกิน 65 บาท ดังนั้น ถ้าตลอดสายเกิน 65 บาท มันก็ไม่เมคเซ้นส์ ฉะนั้น สายสีเขียวยังไงก็ต้องไม่เกิน 65 บาท         วันที่ได้ฟังผู้ว่าการ รฟม. พูด 20 บาท 40 บาท หรือ 50 บาทตลอดสาย มันย่อมเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่ระยะเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากว่ามีรถไฟฟ้าบางช่วงที่เอกชนลงทุนโครงสร้างและสัญญาจะหมดแล้ว เช่นสีเขียวตอนกลางซึ่งถือเป็นส่วนที่กำไรที่สุด พอสัญญาจะหมดมันสามารถเอากำไรตรงนี้ไปอุดหนุนภาวะขาดทุนตรงอื่นได้ ต้องเข้าใจว่าตอนนี้ระบบของไทยไม่เหมือนเราไปรถไฟฟ้าใต้ดินต่างประเทศ เขาจะไม่ได้ทำ commercial zone เฉพาะตรงส่วนของสถานี แต่เขาจะทำ commercial zone ใต้เมืองไปเลย แล้วพวกนี้รายได้ก็เอามาช่วยค่ารถ แต่ของเรายังไม่มีการจัดเก็บลักษณะนี้         ถ้าถามว่า กทม. จะทำได้ไหม ด้วยการเอาภาษีน้ำมัน ภาษีสรรพสามิตที่ กทม. เก็บได้มาอุดหนุนค่ารถไฟฟ้า อันนี้ก็ต้องแล้วแต่นโยบายผู้บริหารซึ่งควรทำ แต่อย่างหนึ่งที่ควรทำก็คือต้องดูว่าตรงไหนที่กำไร แล้วเอากำไรไปอุดหนุนตรงอื่น อย่างนี้จะลดได้เยอะ         จุดเริ่มต้นที่เร็วที่สุดผมจึงคิดว่าควรจะเป็นตั๋วร่วม อาจไม่ใช่ว่าทำตั๋วร่วมออกมาแล้วถูกเลย แต่ผมคิดว่าเป็นการเริ่มต้นของการทำให้ราคาถูกลงได้ ตั๋วร่วมจะรวมถึงรถเมล์ด้วย ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงสิ้นปีนี้ 25 บาทตลอดสายสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สภาองค์กรของผู้บริโภค        ตัวเลขของกระทรวงคมนาคมเขียนไว้ชัดเจนว่าใช้ตัวเลขที่ 49.83 บาท จากตัวเลขนี้ ณ ปี 2602 ทำให้กรุงเทพมหานครสามารถมีรายได้ส่งรัฐทั้งหมด 380,200 ล้านบาท ในฐานะที่มีความรู้ทางคณิตศาสตร์อยู่บ้าง สภาองค์กรผู้บริโภคก็มาทดลองว่าถ้าเราลดราคาครึ่งหนึ่งของ 49 บาทจะยังมีรายได้ส่งรัฐหรือไม่ หรือว่า กทม. จะขาดทุนเท่าไหร่ เลยใช้ตัวเลข 25 บาท พบว่า ยังมีรายได้ส่งรัฐ 23,200 ล้านบาท ทำให้ดิฉันยืนยันว่า 25 บาทเป็นราคาที่ทำได้จริง เพราะเราใช้ค่าใช้จ่ายตัวเดียวกันกับของกระทรวงคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างเดินรถ แล้วเงินส่งรัฐรวมทั้งจ่ายหนี้ทั้งหลายของ กทม. เงินปันผลก็ใช้ตัวเลขเดียวกัน         25 บาทตลอดสายใน 2573-2585 เราอาจจะยังคืนหนี้บางส่วนไม่ได้ทั้งหมดเมื่อหักค่าใช้จ่าย แต่เมื่อถึงปี 2602 ก็ยังมีเงินเหลืออยู่ 2 หมื่นกว่าล้าน ดิฉันจึงคิดว่าเงินตรงนี้แม้เราจะเสียดอกเบี้ยเงินที่ติดลบอยู่ 39,800 ล้านบาท ยังไงก็มีเงินเหลือเพราะดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 2 หมื่นล้านอยู่แล้ว เมื่อเป็นแบบนี้ทำให้สภาองค์กรผู้บริโภคมั่นใจว่าราคา 25 บาททำได้จริง แล้วถ้าคุณใช้ 25 บาทจริงดิฉันคิดว่ารายได้จะมากกว่านี้ เพราะพอมันถูก คนจะขึ้นมากขึ้น ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลเลยที่กรุงเทพมหานครจะกำหนดราคา 65 บาท         เราคิดภายใต้หลักการว่าบริการขนส่งมวลชนเป็นบริการพื้นฐานของประชาชน ทุกคนต้องขึ้นได้ ราคาจึงควรเป็นราคาที่คนที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำควรขึ้นได้ ถ้าคุณใช้ 25 บาท คนก็จะขึ้นมากขึ้น มันก็ตอบคำถามว่ารถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนสำหรับทุกคน ตัวเลขของทีดีอาร์ไอบอกชัดเจนว่าคนที่ขึ้นรถไฟฟ้าได้ต้องมีเงินเดือนตั้งแต่ 25,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเราไม่เห็นด้วย         รัฐบาลต้องรู้ว่ารถไฟฟ้าไม่ได้อยู่หน้าบ้านของทุกคน ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอีก จริงๆ ยังอยากให้ถูกกว่านี้อีกเพราะในต่างประเทศค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรงขั้นต่ำ ของเรา 25 บาท ถ้าคิดไปกลับ 50 บาทก็ยังเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรงขั้นต่ำอยู่ แต่ดิฉันก็โอเค อย่างน้อย 25 บาทก็ดีกว่าปัจจุบันมาก         ยังมีอีกวิธีหนึ่งคือ กทม. เก็บภาษีน้ำมันเอ็กซ์ตร้าจากรัฐบาลกลางซึ่ง กทม. มีสิทธิเก็บอยู่แล้ว คุณเก็บเพียง 0.01 หรือ 1 สตางค์ หรือ 10 สตางค์ต่อลิตร คุณก็ได้รายได้เพื่อเอามาทำให้ค่ารถไฟฟ้าถูกลงหรือแม้กระทั่งทำให้รถเมล์มีคุณภาพมากกว่านี้         ตอนนี้เราไม่รับหลักการว่ารถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชน เราคิดว่ารถไฟฟ้าเป็นทางเลือก แต่รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมพูดชัดเจนว่าที่ต้องมีรถไฟฟ้าหลายสายเพราะอยากแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ แต่ถ้าราคารถไฟฟ้า 99 บาท คนขึ้นไม่ได้ มันจะไม่ลดรถติด แต่ถ้าราคา 25 บาทดิฉันเชื่อว่าคนที่อยู่ใกล้รถไฟฟ้าเก็บรถไว้ที่บ้านแน่นอน คุณประสบความสำเร็จในการทำให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชน บริการขนส่งมวลชนต้องเป็นรัฐสวัสดิการวรรณา แก้วชาติ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย         เราคิดว่าค่าบริการรถสาธารณะควรเป็นเรทที่ใกล้เคียงกันเพราะว่าต้นทุนไม่ได้ต่างกัน พูดถึงตัวเราที่ขึ้นขนส่งสาธารณะทุกวัน ต่อรถต่อวันแบบปกติไปกลับประมาณ 8 ต่อ เพราะต้องขี่มอร์เตอร์ไซค์จากบ้านมาลงปากซอย แล้วเอาจอดไว้ นั่งรถสองแถวมาต่อรถเมล์อีก 2 ครั้ง บางวันก็ต่อเรือ ต่อวินมอเตอร์ไซค์ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 8 ต่อต่อวัน บ้านอยู่หนองจอก ทำงานอยู่วัดเทพลีลา ซึ่งตอนนี้กำลังมีรถไฟฟ้าสายสีส้มที่จะไปมีนบุรีผ่านหน้าราม ค่าเดินทางเฉลี่ยเดือนหนึ่งเกือบ 4,000 บาท ยังไม่รวมค่าบ้าน ค่ากิน แล้วเงินที่เราต้องเก็บออมไว้เผื่อฉุกเฉิน ส่งให้พ่อที่ต่างจังหวัด นี่ไม่มีลูกนะ ถ้ามีลูกก็แทบจะไม่รอด         เราคิดว่าค่ารถไม่ควร 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรงขั้นต่ำ ตอนนี้นั่งรถเมล์จากมีนบุรีมาถึงหน้ารามอยู่ที่ประมาณ 25 บาทต่อรอบ แต่ถ้าต้องนั่งรถตู้ยาวมาเลยอาจจะเยอะหน่อยตกที่ 30-40 บาท แต่เราคิดว่าต่อเที่ยวไม่เกิน 25 บาทตลอดสาย ไปกลับ 50 บาท สมมติคิดจากค่าแรงขั้นต่ำที่ 300 มันก็ยังพอมีเงินเหลือที่จะใช้กับค่าใช้จ่ายอื่น         เวลาต้องไปประชุมหรือลงพื้นที่ เช่นพื้นที่บางกอกน้อย ต้องนั่งรถสองแถวจากบ้านไปลงมีนบุรีแล้วต่อรถตู้ไปลงจตุจักร แล้วนั่งรถไฟฟ้าต่อไปลงบางขุนนนท์ เฉพาะรถไฟฟ้าประมาณ 42 บาท ถ้าบางวันต้องไปลงพื้นที่แถวทุ่งครุก็ต้องนั่งยาวจากจตุจักรไปลงบางหว้าอันนี้ก็ตกเกือบ 50 บาท ทำให้เรารู้สึกว่าทำไมรถไฟฟ้าคนที่มีรายได้น้อยถึงขึ้นได้ยาก ถามว่าเราอยากขึ้นไหม เราอยากขึ้น แต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงมากและไม่เอื้ออำนวยกับเงินในกระเป๋า เราจึงต้องเลือกต่อรถหลายต่อเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่จริงๆ พอบวกกันแล้วก็ใกล้เคียงกับรถไฟฟ้า         ทุกคนก็อยากมีรถไฟฟ้าที่ขึ้นได้ อย่างเช่นเขาอาจต้องไปซื้อของที่ตลาดเพราะขายแกงขายอะไร แต่สิ่งพวกนี้เราถูกปฏิเสธ เอาขึ้นรถไฟฟ้าไม่ได้ เขากลัวมีน้ำจะทำให้เป็นปัญหา รถไฟฟ้าตอนนี้มันตอบโจทย์ชนชั้นกลางและอาจจะเป็นชนชั้นกลางระดับบนด้วย ไม่ได้ตอบโจทย์ชนชั้นกลางระดับล่าง สมมติวันนี้ชาวบ้านที่ไปรับจ้างทำความสะอาดเป็นแม่บ้านอาจจะมีอุปกรณ์บ้าง ถามว่าขึ้นรถไฟฟ้าได้ไหม ขึ้นไม่ได้ เพราะขึ้นไปแล้วจะเป็นปัญหา เขาจะไม่ให้เข้า เพราะดูพะรุงพะรัง บางทีทาสีมาแล้วสีติดเต็มตัวเขาก็รู้สึกว่าขึ้นไปคนอื่นก็รังเกียจ เราอยากให้มีรถไฟฟ้าที่ใช้ได้สำหรับทุกคนเหมือนต่างประเทศ ใครจะขึ้นก็ได้ บางอย่างก็ห้ามได้ แต่บางอย่างก็ไม่ควร ถึงเขาจะบอกว่าไม่มีข้อห้าม แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ได้         บริการขนส่งมวลชนต้องเป็นรัฐสวัสดิการ ทุกคนต้องใช้ได้ บนพื้นฐานที่ไม่กระทบกับรายได้และค่าครองชีพ รัฐต้องเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ไม่ใช่โยนภาระให้กับผู้ใช้บริการแล้วไปตอบโจทย์ให้กับนักธุรกิจหรือแหล่งทุนต่างๆ...........         ค่าโดยสารรถไฟฟ้าควรเป็นเท่าไรยังมีคำตอบหลากหลาย แต่ถ้าถามว่าทำไมมันจึงเป็นอย่างที่เป็นอยู่ดูเหมือนว่าจะมีคำตอบเดียวคือ การสร้างรถไฟฟ้าของรัฐไม่ได้ถูกคิดเป็นระบบในภาพรวมตั้งแต่ต้น เน้นการสร้างหลายสายเป็นหลัก ไม่ได้คำนึงถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและความคุ้มทุนทางการเงิน ผลลัพธ์จึงเป็นดังที่เห็น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 PM 2.5 กลับมาและกลับมา ขออากาศสะอาดให้พวกเรา

เหมือนจะเป็นเหตุการณ์ประจำไปแล้วในช่วงปลายปีต่อต้นปีที่ฝุ่น PM 2.5 จะแผ่ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สร้างผลกระทบต่อสุขภาพชนิดร้ายลึก (ไม่นับด้านเศรษฐกิจ) ยิ่งสำหรับคนที่ร่างกายไวต่อมลพิษ แค่เดินออกไปข้างนอกไม่นานก็อาจเกิดอาการคันยุบยิบตามตัว มิพักต้องพูดถึงพ่อค้า แม่ค้า หรือคนที่ต้องทำงานกลางแจ้งว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง         ไล่เรียงเส้นเวลากลับไปก็ชวนคิดว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นสถานการณ์ที่เพิ่งเห็นชัดในช่วงสามสี่ปีมานี้เอง         คำถามที่เลี่ยงไม่ได้คือถ้าถอยกลับไปนานกว่านั้น เราไม่มีปัญหานี้เลยหรือ? แล้วฝุ่น PM 2.5 มาจากไหน? มันวนซ้ำเป็นวัฏจักรมาสามสี่ปีเหตุใดจึงยังไม่เห็นการแก้ปัญหาใดจากภาครัฐ?         เราจะค่อยๆ หาคำตอบร่วมกันต่อจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร         ก่อนอื่นเรามาทบทวนสั้นๆ ว่าฝุ่น PM 2.5 คืออะไร         มันคือฝุ่นละอองที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน จนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่มันมีปริมาณสูงมากเช่นที่เป็นอยู่เราจะเห็นมันเหมือนหมอกหรือควัน ถ้าคุณถูกโอบล้อมด้วยมันโดยไม่มีเครื่องป้องกัน คุณอาจมีอาการแสบตา ไอ จาม เป็นไข้ ผิวหนังอักเสบ และด้วยขนาดที่เล็กมากมันจึงสามารถลอดผ่านการกรองของขนจมูกเข้าสู่หลอดลม เดินทางไปถึงถุงลมปอด และซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งปอด ปอดอักเสบ หรือหัวใจขาดเลือด         สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดฝุ่น PM 2.5 มาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ในที่นี้คือรถ ควันบุหรี่ การเผาขยะ การเผาเพื่อการเกษตรหญ้า หรือการเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น แม้ว่าฝุ่น PM 2.5 มีอันตรายต่อสุขภาพโดยตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ยิ่งอันตรายมากขึ้นเนื่องจากมันสามารถรวมตัวกับสารพิษอื่นๆ เช่น ไฮโดรคาร์บอน ไดออกซิน ยาฆ่าแมลง และโลหะหนัก ฝุ่น PM 2.5 ในไทย สาหัสติดอันดับโลก         ย้อนกลับไปที่รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยประจำปี 2562 ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ครองแชมป์อันดับ 1 ที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุด เพราะฝุ่น PM 2.5 ฝุ่น PM 10 และก๊าซโอโซน มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐานมากกว่าปี 2561 อีกทั้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศใน 34 จังหวัดที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติ มีจำนวนวันในรอบปีที่มีปัญหาคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานมากกว่าร้อยละ 20 ใน 8 จังหวัดคือ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ ขอนแก่น และสระบุรี         รายงานสภาพคุณอากาศพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยกรมควบคุมมลพิษ ณ วันที่ 24 มกราคม 2564 พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพดีถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตรวจพบฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานที่บริเวณตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี, ริมถนนดินแดง เขตดินแดง, แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม, ริมถนนสุขาภิบาล 5 เขตสายไหม จ.กรุงเทพฯ, ริมถนนนวมินทร์ แยกบางกะปิ เขตบางกะปิ และริมถนนเลียบวารี เขตหนองจอก         มองในแง่ความร้ายแรงนี่คือสถานการณ์เร่งด่วนยิ่งยวดเพราะเราทุกคนต้องหายใจ เกิดเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองและการจัดทำแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 โดยแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง (พ.ศ.2562-2564) และระยะยาว (พ.ศ.2565-2567)ว่าแต่เรารู้เห็นความคืบหน้าอะไรบ้างยังคงเป็นคำถามคาใจ         ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่สถานการณ์เฉพาะในไทย องค์การอนามัยโลกประกาศให้มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ จำนวนมาและส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 7 ล้านคนต่อปี         ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกวางเกณฑ์ค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ไว้ โดยค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงคือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ค่าเฉลี่ยรายปีของไทยในปี 2560 อยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงคือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึง 2 เท่าและการวิเคราะห์ข้อมูลใน State of Global Air ระบุว่า ฝุ่น PM 2.5 ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทยประมาณ 37,500 คน ในปี 2558        ตัวเลขล่าสุดเมื่อปลายปี 2563 จากการวัดคุณภาพอากาศของ World Air Quality Index พบว่า ประเทศไทยมีฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนติดอันดับที่ 3 จาก 96 ประเทศทั่วโลก โดยมีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 190 หน่วย ซึ่งเป็นระดับที่อันตรายต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ มันมาจากไหน?         ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สํานักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า         “ความร้ายแรงของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ความเข้มข้นและความเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศ ที่ตอนนี้มีคำอธิบายว่าเป็นฝาชีครอบ ผมมักเปรียบเทียบกับการจุดธูปในห้องพระ ถ้าวันหนึ่งเราปิดประตูหน้าต่างควันธูปก็จะฟุ้งอยู่ในห้อง ในลักษณะเดียวกัน สถานการณ์ความเข้มข้นมันเกิดจากลักษณะอากาศว่าไหลเวียนดีแค่ไหน ในช่วงนี้ที่สถานการณ์ดูจะรุนแรงขึ้นเนื่องจากอากาศไหลเวียนไม่ดี จุดนี้การพยากรณ์อากาศจะช่วยได้”         เนื่องจากอากาศเย็นทำให้ความกดอากาศสูง ฝุ่นที่อยู่ในอากาศไม่สามารถลอยขึ้นข้างบนได้ ขณะเดียวกันกรุงเทพฯ ก็มีแหล่งกำเนิดฝุ่นหลักจากรถยนต์ ซ้ำเติมด้วยสภาพอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ทำให้เกิดสภาพห้องที่ปิดประตูหน้าต่าง และยังซ้ำเติมด้วยฝุ่นที่มาจากพื้นที่อื่น เช่น การเผาในพื้นที่ภาคกลาง หรือฝุ่นควันที่มาจากกัมพูชา ควันจากโรงงานอุตสาหกรรมในสมุทรสาคร สมุทรปราการ สระบุรี เป็นต้น         แต่กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย ในพื้นที่อื่นๆ ก็เผชิญปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วย เช่นในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งก็มีอันตรายเหมือนกัน หากพื้นที่กรุงเทพฯ ฝุ่น PM 2.5 มาพร้อมกับสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและเครื่องยนต์ ในภาคเหนือมันก็มาพร้อมกับสารเคมีทางการเกษตร และการที่มันเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งก็เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โรงงานอุตสาหกรรม การเผาป่า การเผาพื้นที่เกษตร ปริมาณรถยนต์ หรือการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ล้วนเพิ่มมากขึ้น ฝุ่น PM 2.5 จึงมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามไปด้วย         ดร.นพ.วิรุฬ เปิดเผยอีกว่า ประเทศไทยมีการตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 มาประมาณ 10 ปี แต่ไม่มีการนำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ประมาณสองสามปีที่แล้วภาคประชาชนและกรีนพีซจึงเรียกร้องให้มีการนำฝุ่น PM 2.5 เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยกรมควบคุมมลพิษ สิ่งที่ต้องแก้ไขและสิ่งที่เราทำได้         ทั้งที่มีวาระแห่งชาติออกมา แต่เรากลับไม่เห็นความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา เป็นเพราะอะไร ตอบแบบรวบรัดที่สุดเพราะ ‘ระบบราชการ’ ดร.นพ.วิรุฬ อธิบายว่า             “เป็นปัญหาเรื่องการจัดการของกลไกภาครัฐ ประเทศไทยมีกรมควบคุมมลพิษซึ่งควรจะทำหน้าที่นี้จึงตกเป็นเป้าการโจมตีซึ่งส่วนหนึ่งก็มีปัญหา แต่อีกส่วนหนึ่งก็น่าเห็นใจเพราะว่ากรมควบคุมมลพิษทำได้แค่การประกาศมาตรฐาน ส่วนการจัดการกับต้นกำเนิดอย่างเช่นโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษไม่ได้มีอำนาจเข้าไปจัดการ         “แล้วหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลโรงงานก็มีหน้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรม ไม่ได้มีหน้าที่จัดการเรื่องมลพิษจึงเกิดความย้อนแย้งกันในตัว เพราะต้องการส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมอุตสาหกรรม แต่ถ้ามีมาตรการควบคุมมลพิษมากขึ้นอุตสาหกรรมก็ไม่เติบโต มันเป็นปัญหาในเชิงระบบ ถ้ามาคุยกันจริงๆ แต่ละคนก็จะบอกว่าต้องการช่วย แต่ไม่มีอำนาจเพราะอำนาจในการควบคุมมันกระจัดกระจายและทิศทางของประเทศเองก็เน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้น มันจึงเป็นปัญหาเชิงระบบ”         ดังนั้น ในภาพรวมจึงต้องแก้ไขระบบการจัดการมลพิษทางอากาศ โดยเชื่อมโยงอำนาจ เชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานทั้งหลายให้ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการแก้ไขจากข้างบนลงข้างล่าง อย่างไรก็ตาม ดร.นพ.วิรุฬ แสดงทัศนะว่า         “การแก้ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ ผมคิดว่าต้องทำ 2 ทางคือทำจากข้างบนลงมาและทำจากข้างล่างขึ้นไปด้วย ซึ่งการทำจากข้างบนก็ต้องการแรงผลักดันจากข้างล่างที่เรียกร้องให้ข้างบนแก้ไข มีการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อผลักดันกฎหมาย”         ส่วนการทำจากข้างล่างขึ้นไป...         “ผมเคยเสนอว่าต้องทำใน 4 ระดับ ระดับที่ 1 คือตัวเราเองที่ต้องเข้าใจและปกป้องตัวเองก่อน ต้องติดตามสถานการณ์ เป็น active citizen ที่ดูแลตัวเอง ต้องรู้ว่าตัวเราไวต่อปัญหาคุณภาพอากาศหรือไม่ ระดับที่ 2 คือปกป้องคนในครอบครัว อย่างผมมีลูกเล็กๆ และมีผู้สูงอายุที่บ้าน ผมก็ต้องรู้ว่าลูกคนไหนไวเป็นพิเศษเพราะแต่ละคนแต่ละวัยได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน เช่นดูแลบ้านของเราให้มีห้องปลอดฝุ่นสำหรับผู้ที่ไวต่อมลพิษทางอากาศเป็นห้องที่ปิดประตูหน้าต่าง ถ้าดีขึ้นมาหน่อยก็มีเครื่องฟอกอากาศ         “ระดับที่ 3 คือการทำงานร่วมกับชุมชนหมายถึงการร่วมกันดูแลครอบครัวอื่นๆ ที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน เช่น บางครอบครัวมีฐานะดีหน่อย มีเครื่องฟอกอากาศเกินก็อาจจะให้อีกครอบครัวหนึ่งยืมหรือมีระบบที่ช่วยซื้อเครื่องฟอกอากาศราคาถูกที่ทุกคนพอจะซื้อได้หรือหาหน้ากากที่เหมาะกับเด็กในโรงเรียน ส่วนระดับสุดท้ายคือระดับสังคมที่ต้องร่วมกันเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ” พ.ร.บ.อากาศสะอาด อากาศสะอาดคือสิทธิในการมีชีวิต        จากที่เห็นแล้วว่าการจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาเชิงระบบอันเนื่องจากความซ้ำซ้อน การทำงานแยกเป็นเอกเทศ และขาดการบูรณาการของหน่วยงานราชการ จึงมีการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (ฉบับประชาชน) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาดที่ ดร.นพ.วิรุฬ เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย เขาอธิบายว่า         “เป้าหมายของการเสนอกฎหมายนี้เพื่อจัดการคุณภาพอากาศ ระบบการจัดการ และมีเป้าหมายชัดเจนว่าเป็นการจัดการเพื่อสุขภาพ โดยหลักการเราเน้นการจัดการแบบมีส่วนร่วม เป้าหมายจึงไปพ้นจากเรื่องมลพิษ แต่มีเป้าหมายในการปกป้องสิทธิที่จะหายใจอากาศที่สะอาดของประชาชนซึ่งเป็นสิทธิที่มีอยู่คู่กับสิทธิที่จะมีชีวิต มันเป็นสิทธิติดตัว ไม่ใช่ว่าทำให้อากาศในพื้นที่สะอาดขึ้นแล้วก็จบ แต่เป็นการมุ่งเน้นไปที่ประชาชนแต่ละคนว่าเขาจะต้องหายใจด้วยอากาศที่สะอาด กลไกของกฎหมายจะเข้าไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของกลไกราชการและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน”         ปัจจุบัน ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวม 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา ตัวเลขที่ได้ขณะนี้อยู่ที่ประมาณหลักพันกว่า (สามารถร่วมลงชื่อได้ที่ thailandcan.org)         ดร.นพ.วิรุฬ อธิบายว่า กระบวนการออกกฎหมายเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้คนทำความเข้าใจกับปัญหา เพราะว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่ากฎหมายจะผ่านหรือไม่ แต่มันจะกระตุ้นให้ประชาชนตั้งคำถามกับการจัดการมลพิษทางอากาศโดยรัฐ เกิดเป็น active citizen ที่เข้าใจเรื่องนี้และเป็นแรงผลักดันจากข้างล่างขึ้นมา         อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือพลังของผู้บริโภค ดร.นพ.วิรุฬ เสนอความคิดว่า ควรมีการ air pollution footprint เช่นเดียวกับ carbon footprint คือดูว่ากระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของภาคธุรกิจสร้างมลพิษทางอากาศมากน้อยแค่ไหน         “เช่นผู้บริโภคต่อต้านบริษัทรถยนต์ที่ไม่ติดตั้งอุปกรณ์กรองอากาศให้กับรถหรือต่อต้านบริษัทผลิตอาหารที่ส่งเสริมการปลูกแบบอุตสาหกรรมแล้วมีการเผา ผมคิดว่าพลังของผู้บริโภคจะเป็นพลังอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องจัดการกับกระบวนการผลิตของตนซึ่งจะช่วยให้การจัดการต้นกำเนิดมลพิษเป็นไปได้มากขึ้นแทนที่จะรอภาครัฐอย่างเดียว”         การมีอากาศสะอาดให้หายใจคือสิทธิในการมีชีวิต ดังนั้น ขออากาศสะอาดให้พวกเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ตีแผ่อาหารเสริม "ถังเช่า" บำรุงร่างกายจริงหรือตัวเร่งตับ-ไตพัง

        “ถังเช่า” รุกคืบโฆษณาอ้างสรรพคุณ คนกิน “ตับ ไต” พัง “หมอลี่” ตีแผ่ที่มาถังเช่าดั้งเดิมได้จากซากหนอน ผิดกับอาหารเสริม ใช้การเพาะเห็ดสกัดถังเช่า คาดสรรพคุณต่างกัน  กสทช.-อย. ตรวจสอบพบโฆษณาอวดครึ่งหมื่นรายการ มพบ. จี้ออกเอกสารคำเตือนหวังเป็นข้อมูลตัดสินใจ “หมอยา” แนะหลักการกิน อยู่ ไม่ต้องฟอกไต             กรณีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงนั้น มีปัญหามาอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยเฉพาะในระยะหลังที่มีเทคโนโลยีการสื่อสารหลากหลายช่องทาง ทำให้การตรวจสอบติดตามเป็นไปได้อย่างยากลำบาก และตามหลังปัญหาอยู่มาก โดยที่เห็นชัดในขณะนี้คือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสวนผสมของถังเช่า สารสกัดถังเช่า ที่มีอยู่เกลื่อนตามอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งการโฆษณาผ่านสถานีโทรทัศน์ ทั้งในรูปแบบของการโฆษณาโดยตรงและการโฆษณาแฝง ทำให้ประชาชนซื้อหามารับประทานจำนวนมาก และก็พบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาสุขภาพตามมา           เรื่องนี้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) บอกว่า อันดับแรกตนขอให้ข้อมูล “ในฐานะแพทย์” ซึ่งจากข้อมูลดั้งเดิมของจีน “ถังเช่า” เป็นสิ่งมีชีวิต คือ ตัวหนอนที่เกิดขึ้นในภูเขา ที่ประเทศจีน ซึ่งเมื่อถึงฤดูหนาวจะมีเชื้อรา หรือว่าเห็ดไปเจริญงอกงามในตัวหนอนกลายเป็น “ซาก” คนจีนจึงบริโภคซากตัวหนอนและจากเชื้อราไปในคราวเดียวกัน ถือเป็นยาจีนอย่างหนึ่ง สรรพคุณในตำราแพทย์แผนจีนคือรักษาไอเรื้อรัง  บำรุงไต มีฤทธิ์ร้อน ใช้กับคนที่ร่างกายมีความเย็น ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน และระบุชัดเจนว่ามีผลกระทบกับการเกาะตัวของเลือด  ห้ามกินในคนที่ต้องผ่าตัด และยังมีผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือด จึงห้ามกินในคนที่เป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น         แต่ถังเช่าที่ขายในประเทศไทยไม่ได้มาจากตัวหนอน แต่มาจากการเอาเห็ดประเภทที่เป็นเชื้อราแบบเดียวกับที่อยู่ในตัวหนอน ซึ่งอาจจะเป็นคนละสายพันธุ์ แต่อยู่ในตระกูลเดียวกันมาเพาะและสกัดออกมา ซึ่งเมื่อเป็นการสกัด ก็จะไม่เหมือนกับถังเช่าดั้งเดิม          ดังนั้นการจะอวดอ้างว่าบำรุงไตได้หรือไม่เป็นประเด็นที่ต้องพิสูจน์ต่อไป แต่แน่นอนว่าเวลามีการนำอาหารเสริมเหล่านี้มาจำหน่ายและบริโภค ก็จะมีการติดตามผลข้างเคียงว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง เช่นปี 2561 ที่รพ. เชียงราย มีอายุรแพทย์ด้านไตเตือนว่าการทานสมุนไพรรวมถึงถังเช่า อาจทำให้เกิดไตวายเพิ่มขึ้น และมีเภสัชกรทำการทดสอบพบว่าคนที่กินถังเช่าทำให้ค่าไตผิดปกติ แต่เมื่อหยุดกินค่าไตก็ดีขึ้น         “จึงยังไม่มีข้อมูลสรุปว่าเป็นพิษต่อไต หรือบำรุงไต แต่ก็เพียงพอที่จะเตือนผู้บริโภคว่าอาหารเสริมไม่กินก็ไม่เสียหายเพราะไม่ใช่อาหารหลัก แล้วกรณีถังเช่านั้น ไม่ได้ขาดสารอาหารอะไรทั้งสิ้น แต่เราไปทานเข้าไป ดังนั้นมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดพิษหรือผลข้างเคียงได้ และหลักการกินในจีนไม่ได้กินตลอดชีวิต แต่กินเป็นช่วงเวลา เช่น กิน 1 เดือนแล้วหยุดกิน ไม่เคยมีคำแนะนำให้กินอาหารเสริมไปเรื่อยๆ จน 50-60 ปี แบบนี้ไม่ใช่ หลักการแพทย์แผนจีน ก็เหมือนของไทยก็คือบริโภคให้ครบหมู่ บริโภคให้ครบถ้วน ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน แต่ที่ไทยเวลาเอามาสกัดขายพูดอย่างกับว่าถังเช่าเป็นอาหารเสริมครอบจักรวาล”         นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าให้พูดในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้ก็ต้องบอกว่า ในภาพรวมประเทศไทยมี อย. ดูแลเรื่องอยู่ ส่วน กสทช.มีอำนาจในการดูแลเนื้อหาการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ เท่านั้น ซึ่งในแต่ละเรื่อง หาก อย.มีการยืนยันว่าเป็นโฆษณาเกินจริง ทางกสทช.ก็สั่งระงับโฆษณา หากฝ่าฝืนก็มีโทษปรับ แต่ถ้า อย. ไม่ยืนยัน กสทช. ไปสั่งก็จะมีปัญหาข้อกฎหมายทันที         ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการพบกลยุทธ์ในการโฆษณาของบริษัทเหล่านี้ โดยใช้โทรทัศน์ วิทยุ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้คนติดตามเท่านั้น เนื้อหาจึงไม่ค่อยมีอะไรที่ส่อไปในทางผิดกฎหมาย แต่จะเปิดทางให้คนไปติดตามช่องทางอื่น มีการโฆษณาโอ้อวด เกินจริง แต่กสทช.ดูแลไม่ถึง เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์         ดังนั้นคำเตือนคือ 1 ถ้ามีใครกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถังเช่าเป็นประจำและมีอาการผิดปกติ ให้แจ้งแพทย์ด้วยว่ามีอาการผิดปกติอะไร กินอะไรไปบ้าง เพราะในอดีตก็เคยมีการทำสารสกัดใบขี้เหล็ก หลังพบว่าใบขี้เหล็กมีสรรพคุณเป็นยายาระบาย แต่พอทำเป็นสารสกัดแล้วกินเข้าไปทำให้เกิดตับอักเสบ จึงนำมาสู่การถอนทะเบียน  ก็เช่นเดียวกับถังเช่าที่เดิมคือสมุนไพรที่ได้จากซากหนอน ไม่ใช่สารสกัดจากถังเช่า ดังนั้นสมุนไพรดั้งเดิมมีฤทธิ์อย่างหนึ่ง พอเป็นสารสกัดก็ให้ฤทธิ์อีกแบบหนึ่ง หากมีผลกระทบอะไรก็ให้แจ้งกับแพทย์ ซึ่งแพทย์จะแจ้งเตือนมาที่อย. ให้ตรวจสอบต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าสารสกัดถั่งเช่าบำรุงสุขภาพจริงๆ แต่มีข้อจำกัด ว่ากระทบกับการทำงานของไตซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป         “ในระหว่างนี้สิ่งที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้คือ หากยี่ห้อไหนโฆษณาว่าบำรุงไต ให้สงสัยไว้เลยว่าเป็นการโอ้อวด เพราะอาหารเสริมจริงๆ เป็นอาหารเสริมสุขภาพทั่วไป จะมาบอกว่าบำรุงเฉพาะส่วนไม่ได้ จะรักษาเฉพาะส่วนไม่ได้  ที่จริงควรจะมีคำเตือนด้วยว่าอาหารเสริมนี้ใครกินได้ ใครกินไม่ได้ ยิ่งคนที่สุขภาพไม่แข็งแรงยิ่งต้องระวัง ก่อนกินให้ถามตัวเองก่อนว่ากินเพื่ออะไร และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกินไปตลอดชีวิต”          ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับถังเช่าขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกว่า 427 รายการ บางรายการเพิกถอนทะเบียนไปแล้วโดยที่ขึ้นทะเบียนนั้นมีทั้งถังเช่าสกัดอย่างเดียว ถังเช่าสกัดผสมอย่างอื่น เช่นผสมวิตามินซี ผสมโสม ผสมกาแฟ ผสมสมุนไพรอีกหลายประเภท หรือผสมผลไม้ เรียกว่ามีสารพัดที่มีถังเช่าไปผสมอยู่ ซึ่งคำถามต่อมาคือการที่ผสมสิ่งเหล่านี้จำนวนมาก แล้วมีการเสริมฤทธิ์ หรือว่าต้านฤทธิ์กันหรือไม่ หรือผลเป็นอย่างไร         อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิฯ ได้รับการสอบถามจากประชาชนจำนวนมากว่า “ถังเช่า” ที่มีการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ จำนวนมากอยู่ในขณะนี้ สามารถเชื่อถือได้หรือไม่ มีสรรพคุณตามที่โฆษณาจริงหรือไม่ จริงๆ ก่อนหน้านี้ราวๆ ปี 2562 มีรายงานของ รศ.ดร.ภญ.มยุรี  มีกรณีผู้บริโภค 3 ราย ร้องเรียนว่ารับประทานถังเช่าและเกิดปัญหาว่ามีผลกระทบต่อการทำงานของไต โดยมี 1 คนเกิดปัญหาไตวายเรื้อรัง และปี 63 เจออีก 8 ราย ทั้งหมดรวมเป็น 11 ราย         ดังนั้น เมื่อมีรายงานว่ามีผลกระทบต่อการทำงานของไต ทางมูลนิธิฯ จึงอยากให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบเรื่องของการออกฤทธิ์ด้วย รวมถึงควรมีการเขียนคำเตือนบนฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจ เพราะถ้าดูข้อมูลจะพบว่าที่ประเทศจีน จะรับประทานกันหน้าหนาว ในคนที่ต้องการฤทธิ์ร้อน และไม่ได้รับประทานทุกวัน แต่ที่โฆษณาในประเทศไทยกลับบอกว่าต้องทานทุกวันเพื่อบำรุงร่างกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และขอให้ กสทช. พิจารณาเรื่องการลงโทษสื่อที่มีการโฆษณาเกินจริง หรือการโฆษณาแฝงเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคด้วย มีระยะเวลาในการโฆษณาผิดกฎหมายอยู่ โดยกสทช. อาจจะชวนดิจิทัลทีวีหรือสื่อต่างๆ มาทำข้อตกลงได้ไปในแนวทางการป้องปราม         น.ส.สารี ยังบอกอีกว่า ทั้งนี้หากผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์มาแล้ว พบว่าตัวเราเองไม่สามารถใช้ได้ เพราะมีโรคประจำตัวอยู่ สิ่งแรกคือถ้าสามารถคืนได้ก็ให้นำไปขอเงินคืน แต่หากคืนไม่ได้ก็ไม่แนะนำให้รับประทาน อย่างไรก็ตาม มีหลายคนอยากให้มูลนิธิฯ ช่วยฟ้องร้องคดีกรณีที่รับประทานแล้วเกิดปัญหาต่อตับและไต ซึ่งจริงๆ มีกฎหมายหลายตัวที่จะช่วยผู้บริโภค เช่น ว่าด้วยเรื่องสินค้าที่ไม่ปลอดภัยคือความรับผิดของบริษัท เมื่อมีสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้นในส่วนนี้หากทางบริษัทไม่ได้เขียนคำเตือนไว้ในฉลากผลิตภัณฑ์ก็สามารถฟ้องร้องได้ แต่หากเขียนเอาไว้ชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนั้นอาจจะส่งผลต่อการทำงานของไต ก็ถือว่าเตือนเราแล้วโอกาสที่ผู้บริโภคจะไปฟ้องคดีก็ลำบาก         “หลักที่ผู้บริโภคจะต้องคิดไว้คือเมื่อเป็นอาหารห้ามโฆษณาเป็นยา ถ้าโฆษณาว่ารักษาโรค บำรุง สิ่งต่างๆ จะผิดพ.ร.บ.อาหาร ทันที นี่คือหลักการเบื้องต้นที่ผู้บริโภคจะเอาไปใช้ได้เลย  ดังนั้น ผู้บริโภคอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ สุขภาพของเราไม่ใช่เรื่องพวกนี้แน่นอน การมีสุขภาพดีมีอีกหลายเรื่องที่ควรทำไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อนนอนหลับที่เพียงพอ และคุณภาพชีวิตโดยภาพรวมของเรา ไม่ใช่เรื่องของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่อย่างนั้นเราคงต้องอยู่กับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ออกมาจำนวนมาก”           ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ม.ค.  พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (.กสทช) เปิดเผย ว่า จากการที่ กสทช. ร่วมมือกับ อย. กระทรวงสาธารณสุข ในการจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ตั้งแต่กลางปี 2561 มีการพัฒนากระบวนการทำงานร่วมกัน ได้แก่ การบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย โดย กสทช. ทำการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาทางโทรทัศน์ และ อย. เป็นผู้วินิจฉัยข้อความการโฆษณานั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และมีการขยายผลการดำเนินการไปยังส่วนภูมิภาค โดยได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในการตรวจวินิจฉัยเนื้อความการโฆษณาทางสื่อวิทยุกระจายเสียง         ผลพบว่าสามารถตรวจจับการโฆษณาทางโทรทัศน์ดิจิตอลได้ 17 ราย 77 กรณีโฆษณา โทรทัศน์ดาวเทียม 90 ราย 190 กรณีโฆษณา และวิทยุ 2,150 ราย 4,058 กรณี        แบบที่พบว่ามีการโฆษณานั้น บางรายที่เคยโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยมีอาจารย์ภาษาจีนชื่อดังเป็นพรีเซนเตอร์ มีการใช้ตัวแสดงลักษณะคล้ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นอนติดเตียง หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก แต่เมื่อรับประทานถั่งเช่าของอาจารย์ มีอาการดีขึ้น เดินได้ ลุกไปเข้าห้องน้ำเองได้ ใช้ยาแผนปัจจุบันน้อยลง หรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  เห็ดหลินจือโดยพรีเซนเตอร์นักแสดง-พิธีกรสาวสองพันปี          บ้างก็กล่าวอ้างว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง กล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์แล้วจะมีอาการดีขึ้น ถึงขั้นปีนต้นไม้ และขี่จักรยานได้ เป็นการจัดฉากการโฆษณาลวงโลก ซึ่งเคยถูกจับดำเนินคดีแล้วแต่ก็กลับมาอีกครั้ง แต่ทำโดยผู้โฆษณารายใหม่ ซึ่งมีบุคคลในแวดวงบันเทิงเป็นพรีเซนเตอร์ จัดฉากลวงโลกแบบเดิม อ้างว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าดังกล่าว สามารถรักษาได้สารพัดโรค เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต และโรคเรื้อรังต่างๆ มีนักแสดง แสดงเป็นผู้ป่วยอาการหนัก สภาพร่างกายทรุดโทรม แต่เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว กลับหายจากอาการป่วยได้อย่างมหัศจรรย์ ซึ่งไม่เป็นความจริง                 กสทช ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคครั้งใหญ่กลับมา เราจะจับมือกับ อย. ให้แน่นกว่าเดิมและร่วมกันกวาดล้างการโฆษณาอีกครั้ง เพื่อกำจัดโฆษณาลวงโลกเหล่านี้ให้สิ้นซาก ผู้ประกอบกิจการเหล่านี้ขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ประสงค์ต่อรายได้ และประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม แม้จะได้รับคำสั่งเตือนให้ระงับการโฆษณาไปแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ลงโทษโดยการปรับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเป็นเงิน 5 แสนบาท ไปแล้ว 1 ราย         และมีอีก 2 ราย ที่ อย. วิจิฉัยมาแล้วว่าเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย และคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เตรียมเสนอต่อบอร์ด กสทช. เพื่อลงโทษปรับอีกรายละ 5 แสนบาท และนอกจากจะดำเนินการปรับสถานีโทรทัศน์แล้ว กสทช. จะส่งเรื่องไป อย. เพื่อดำเนินคดีกับพิธีกร พรีเซนเตอร์ และพิจารณาเกี่ยวกับการเพิกถอนทะเบียนตำรับอาหารด้วย เนื่องจากกฎหมายของ กสทช. ให้อำนาจ ในการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์เท่านั้น มิได้ครอบคลุมถึงพิธีกร และเจ้าของผลิตภัณฑ์         “ค่าปรับของ กสทช. นั้นแพง กฎหมายกำหนดไว้สูงถึง ไม่เกิน 5 ล้านบาท  และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 1 แสนบาท ไม่เพียงแค่สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเท่านั้นที่โดนลงโทษปรับ แต่ยังมีสถานีวิทยุอีก 2 ราย ที่โดนลงโทษปรับ รายละ 1 แสนบาท เนื่องจากมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงซ้ำ ภายหลังได้รับคำสั่งเตือนด้วย อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า อัตราค่าปรับของ กสทช. นั้นสูง ยิ่งเป็นวิทยุรายเล็กๆ โดนปรับ ก็อาจส่งผลให้ยกเลิกการประกอบกิจการได้ มีข้อมูลว่า มีผู้ประกอบการวิทยุ ขอยกเลิกใบอนุญาตไปแล้วกว่า 260 ราย และนอกจากจะโดนปรับแล้ว ประวัติการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ จะถูกบันทึกไว้ เมื่อมาขอต่อใบอนุญาต จะถูกลดอายุใบอนุญาตลง อย่างในกรณีของวิทยุ จะเหลืออายุใบอนุญาตเพียง 6 เดือน ซึ่งขณะนี้มีสถานีถูกลดอายุใบอนุญาตไปแล้ว 150 ราย”         อย่างไรก็ตาม นอกจากการโฆษณาถั่งเช่าแล้ว ยังมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกี่ยวกับดวงตา อ้างรักษาสารพัดโรคตา ทั้งโรคต้อทุกชนิด กระจกตาเสื่อม สายตาสั้น-ยาว ตาแห้ง  เคืองตา แสบตา บ้างอ้างว่าเพียงแค่รับประทานอาหารเสริมเหล่านี้แล้ว สายตากลับมาเป็นปกติ ไม่ต้องผ่าตัด มองเห็นได้ชัดเจน ในกรณีนี้ กสทช. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ในการวินิจฉัยและให้ความเห็นเกี่ยวกับเนื้อความการโฆษณา จนนำไปสู่การลงโทษปรับสถานีวิทยุที่มีการโฆษณาในลักษณะนี้ ไปแล้ว 6 ราย รายละ 5 หมื่นบาท และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอปรับอีก 3 ราย         ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย.ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าที่ อย. อนุญาตมี 2 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ยาแผนโบราณ) และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่งเช่าเป็นส่วนประกอบ เพื่อบำรุงร่างกายทั่วไป เสริมจากการรับประทานอาหารตามปกติ ดังนั้น การโฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่าสามารถรักษาสารพัดโรค ทั้งเสริมภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาภูมิแพ้ เบาหวาน ไต ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง เป็นต้น จึงเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ในปี 2563 ที่ผ่านมา อย. ดำเนินคดีโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทอื่น ทางสื่อต่าง ๆ 1,388 คดี ทั้งนี้ ในส่วนความร่วมมือในการจัดการปัญหาโฆษณาผิดกฎหมาย อย. จะเป็นผู้วินิจฉัยความผิดที่พบทางสื่อ และดำเนินคดีกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือผู้ทำการโฆษณาตามกฎหมายที่ อย. รับผิดชอบ ส่วน กสทช. จะเป็นผู้ดำเนินการกับสถานีที่ออกอากาศตามกฎหมายที่ กสทช. รับผิดชอบ โดยตั้งแต่ปี 2561-2563 อย. ได้วินิจฉัยความผิดที่พบส่งให้ กสทช. ดำเนินการแล้ว 250 เรื่อง เป็นผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่า 58 เรื่อง ซึ่งผู้โฆษณามักใช้จุดอ่อนของผู้ซื้อ นำเสนอภาพหรือคลิปวีดีโอสัมภาษณ์ผู้ป่วยให้ดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น จากที่เป็นผู้ป่วย ผู้ป่วยติดเตียง  เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าแล้วหายจากโรค สามารถกลับมาชีวิตได้เหมือนคนปกติ จึงขอเตือนไปยังผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้สูงอายุ อย่าหลงเชื่อโฆษณาเหล่านี้ เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังอาจทำให้โรคหรืออาการที่เป็นอยู่แย่ลง เสียโอกาสในการรักษา เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องโดยแพทย์ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง         ขณะที่ รศ.ดร.ภญ.มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระบุว่า ในการดูแลผู้ป่วยโรคตับ โรคไตนั้น พบว่าปัญหาหนึ่งที่เจอในปัจจุบัน คือผู้ป่วยมีการกินยาแก้ปวด ยาชุด ยาลูกกลอนที่ผสมสเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการปลอมปม ใส่ยาต่างๆ ลงไป รวมถึงสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใส่สมุนไพรที่ทำให้เกิดพิษต่อตับหรือไตได้ เช่น ที่เมืองไทยพบทั้งในน้ำมันกัญชา สารสกัดมะระขี้นก สารสกัดเห็ดหลินจือ หนานเฉาเหว่ย และถังเช่าที่พบความถี่มากขึ้น โดยพบว่ามีทั้งการกินมากเกินไป หรือกินหลายตัวที่มีพิษต่อตับหรือไตเหมือน ๆ กัน ทำให้เกิดปัญหา สมุนไพรบางชนิดตีกับยาบางตัว ทำให้ฤทธิ์ของยาเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ เป็นต้น ถัดมาคือคอลลาเจนที่มีการใช้เยอะในผู้สูงอายุและปัญหากำลังจะตามมา         ทั้งนี้ ส่วนใหญ่พบในกลุ่มผู้สูงอายุ ราวๆ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาโรคตับ โรคไต ส่วนประชาชนทั่วไปอายุน้อย 20 30 หรือ 40 ปีต้นๆ จะไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่มีโรคประจำตัวหรืออายุน้อย คิดว่าตัวเองแข็งแรงจะกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นจะต้องใช้ให้ถูกใช้ให้เป็น          รศ.ดร.ภญ.มยุรี บอกว่า หลักการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็ต้องใช้ให้ถูก ใช้ให้เป็น คือใช้ 3 เดือนแล้วหยุด 1 เดือน ก็จะค่อนข้างปลอดภัย แต่จะกินของเหล่านี้ต้องดูว่ากินเพื่ออะไร มีงานวิจัยในคนรับรองหรือไม่ว่ามีประโยชน์หรือปลอดภัย แต่ถ้าบอกว่าอยากจะกินเพื่อความสบายใจ ไม่ได้หวังผลอะไร ในส่วนนี้ไม่น่าจะเป็นอะไร เพียงแต่ต้องกินตามที่ฉลากแนะนำ ไม่ควรกินเกินกว่านั้น และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนกับทางอย.อย่างถูกต้อง ผู้ใช้ควรตรวจสอบเลขสารระบบให้ชัดว่าถูกต้องก่อนซื้อมาใช้         “อย่างไรก็ตาม กินแล้วต้องหยุด อย่ากินยาวเป็นปี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ออกมาใหม่ๆ เพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่ ไม่มีการทำวิจัย ว่ากิน 6 เดือน หรือ 1 ปี ผลจะเป็นอย่างไร โดยมากจะทำวิจัย 3 เดือน ดังนั้น จึงไม่มีข้อมูลความปลอดภัยระยะยาว”         อย่างไรก็ตาม จากการติดตามพบว่าผู้บริโภคในประเทศไทย รวมถึงทั่วโลก พบว่าส่วนหนึ่งที่นิยมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือสมุนไพรต่างๆ นั้น เนื่องจากมองว่าของที่มาจากธรรมชาติย่อมปลอดภัย ซึ่งต้องชี้แจงก่อนว่าเป็นความเชื่อที่ผิดเพราะไม่มีอะไรปลอดภัย 100% ยกตัวอย่าง ถ้ากินโปรตีนเยอะก็สามารถทำให้ไตวายได้ กินเกลือเยอะก็เป็นโรคไตได้         “หลักการง่ายๆ ขนาดอาหารที่กินกันทั่วไปนั้น ถ้ากินเกินพอดี เกินความต้องการของร่างกายก็เป็นอันตรายได้ ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงผลิตภัณฑ์อะไรหลายอย่าง นี่คือหลักการเบื้องต้น เพราะฉะนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพรต่างๆ ใช้ได้ แต่ต้องรู้วิธีใช้ให้ปลอดภัย สำหรับคนทั่วไป         คือ 1. เลือกผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง ไม่มีการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตร โลหะหนัก เชื้อรา เชื้อจุลชีพต่างๆ              2. เนื่องจากเราไม่ได้ใช้เพื่อการรักษาโรค แต่เพื่อเสริมอาหาร ซึ่งปกติเราก็ไม่ได้กินอาหารชนิดเดิมๆ ซ้ำๆ เพราะถ้ากินซ้ำๆ ก็จะได้สารอาหารเดิมๆ ดังนั้นให้กินสลับประเภทอาหาร บางคนปั่นน้ำผลไม้กิน ก็ปั่นอย่างเดิมทุกวัน อันตราย เพราะอาจมียาฆ่าแมลงปนอยู่ กินทุกวันก็จะได้ยาฆ่าแมลงนั้นทุกๆ วัน หรือพวกเกลือแร่บางอย่างอาจจะได้เยอะเกิน เพราะฉะนั้นวิธีการคือ ต้องสลับชนิดการกิน และกินในปริมาณปกติ ไม่มาก ไม่น้อยเกินไปในแต่ละวัน”         ด้าน น.ส.สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า           “ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ควรตรวจสอบกับเลขสารบบของอย. ให้แน่ชัด ถึงแม้ว่าจะพบปัญหาการปลอมเลขอย. แต่อย่างน้อย การที่เราตรวจสอบ และดูรายชื่อ หน้าตาผลิตภัณฑ์จากเว็บไซต์ของอย.ก่อน ก็น่าจะช่วยคัดกรอง และเป็นทางเลือกที่ทำให้เราอันตรายน้อยที่สุด”          ปัญหาหนึ่งของการตรวจสอบดูแลผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมาจากช่องว่างของกฎหมาย ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.อาหาร ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกิดขึ้นทุกวัน และมีการโฆษณาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทุกวันนี้ทำได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องผ่านเอเจนซี่แล้ว โดยผู้ทำผลิตภัณฑ์สามารถออกผลิตภัณฑ์แล้วสามารถโฆษณาได้เองผ่านสื่อโซเชียลมีเดียของตัวเอง ทำให้เกิดปัญหามากขึ้น         ในขณะกระบวนการร้องเรียนผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายไปยังหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็น อย. หรือหน่วยงานอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับดูแล ค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อน ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น เมื่อประชาชนโทรศัพท์เข้าไปแจ้งเบาะแส แล้วถูกขอหลักฐาน เอกสารการบันทึกเทปต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานทำเนินการเปรียบเทียบต่อ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทำให้ประชาชนรู้สึกยุ่งยาก ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหาช่องทางากรมีส่วนร่วม ให้ประชาชนร่วมเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายโดยไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนเกินไป เพื่อให้การแก้ไขปัญหาทันต่อสถานการณ์         ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ มูลนิธิฯ เคยเสนอเรื่องการให้รางวัลนำจับ และปัจจุบัน อย.เริ่มเปิดให้มีการเข้าถึงระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพบ้างแล้ว แต่ยังไม่ทั้งหมด หรือจะมีวิธีการอะไรที่ อย.ไปบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นหรือไม่ เช่น ออกประกาศให้สาธารณชนรับทราบเลยว่าโฆษณาอะไรบ้างที่เป็นโฆษณาเข้าข่ายผิดกฎหมาย ทำไม่ได้ ประชาชนอย่าหลงเชื่อดาราอย่าไปรีวิว influencer ก็อย่าไปเชื่อมากนัก และแต่ละหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลก็มีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลการเข้าถึงฐานข้อมูลของอย. ได้ซึ่งหากหน่วยงานสามารถคลิกเข้าไปดูได้ แล้วแต่ละหน่วยงานสามารถเรียกปรับได้เอง โดยไม่ต้องส่งเรื่องย้อนกลับไปที่อย.เพื่อวินิจฉัยก่อน อาทิ กรณีประชาชนไปร้องเรียนที่สถานีตำรวจ เมื่อก่อนถูกตำรวจไล่กลับมาให้ไปเคลียร์กันเอง แต่หากตำรวจสามารถคีย์ไปยังข้อมูลฐานระบบได้แล้วเรียกปรับได้เลย ตรงนี้ประชาชนก็มีส่วนร่วม เมื่อแจ้งหลักฐานเสร็จก็ให้รางวัลนำจับคิดว่าตรงนี้ก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 มัดรวมผลทดสอบอาหาร 2 ปีรวด คน "ฉลาดซื้อ" ต้องอ่าน

        “อาหาร” ก็เหมือน “ยา” การได้กินอาหารที่ดีมีคุณประโยชน์ร่างกายก็แข็งแรง ซึ่งแน่นอนว่าหาก “กายดี จิตก็ดี” ในทางกลับกันหากกินอาหารคุณภาพไม่ดี คุณประโยชน์ขาดๆ เกินๆ นอกจากจะไม่แฮปปี้ในการกินแล้วยังส่งผลให้สุขภาพแย่ลงด้วย โดยเฉพาะอาหารที่มีการผสมสารเคมีหรือวัตถุเจือปนอาหารต้องห้ามหรือมากเกินมาตรฐานอย่างสารกันบูด การปนเปื้อนโลหะหนักอย่างสารตะกั่ว หรือการปนเปื้อนสารพิษอันตราย อาทิ สารเคมีทางการเกษตร ทั้งยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงต่างๆ แทนที่จะกินอาหารเป็นยา กลับกลายเป็น “ยาพิษ” ไปได้         ดังนั้นนอกจากการออกเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่พยายามปรับปรุงอย่างเต็มกำลัง ซึ่งจะมีข้อห้ามและบทลงโทษเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว ก็อาจต้องยอมรับว่า อย.ยังด้อยเรื่องการทำงานเชิงรุก เรียกว่ายังไม่มากเพียงพอที่จะตามทันเล่ห์เหลี่ยมคนที่จ้องจะหาผลประโยชน์จากการผลิต “ผลิตภัณฑ์อาหาร” ที่ไม่ได้คุณภาพออกมา         “นิตยสารฉลาดซื้อ” โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งในการทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามผลิตภัณฑ์อาหารที่วางจำหน่ายในท้องตลาดเมืองไทย เพื่อคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมให้คนไทยได้กินอาหารที่ดี มีประโยชน์จริงๆ ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องนี้ “ฉลาดซื้อ” ติดตาม เกาะติดมานานหลายปี ช่วยจัดทำชุดข้อมูลข้อเท็จจริงส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำกับติดตามให้เกิดการแก้ไข และเพื่อการมีอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย         ในโอกาสสิ้นปี 2563 นี้ นิตยสารได้ทำการสรุปผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2563 อะไรเด่น “ฉลาดซื้อ” มัดรวมเอาไว้ผ่านบทความชิ้นนี้ โดยแยกเป็นกลุ่ม 1. สารกันบูด 2. สารเคมีทางการเกษตร 3. เชื้อดื้อยา และ 4. ไขมันทรานส์         เริ่มกันที่ กลุ่มวัตถุกันเสีย หรือ สารกันบูด ทั้ง กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) มีผลต่อการทำงานของตับ และไต ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา นิตยสารฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างมาทดสอบจำนวนมาก ดังนี้...         “โรตีสายไหม” สุดยอดของฝากจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งการตรวจสอบต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ 1.แผ่นแป้ง ซึ่งบูดง่าย อาจมีการใช้สารกันบูดเพื่อยืดอายุการใช้งาน 2.น้ำตาลสายไหม ทำจากน้ำตาล น้ำมันมะพร้าว แป้งสาลี และสีผสมอาหารสังเคราะห์ที่มากเกินไปก็ไม่ดีต่อสุขภาพ หลังจากที่เคยเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนมี.ค. 2561 จำนวน 10 ตัวอย่าง พบ 4 ตัวอย่างผสมสารกันบูด ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เข้ามาจัดการแล้ว แต่จากการเก็บตัวอย่างมาตรวจอีกครั้งในเดือนเม.ย.2562 จากตลาด 13 แห่งในพื้นที่ โดยเป็นโรตีสายไหมจากเจ้าเดิม 10 ตัวอย่าง และเจ้าใหม่อีก 3 ตัวอย่าง ผลทดสอบในแป้งโรตี มีการใช้สีผสมอาหารสังเคราะห์ตาร์ตราซีน (Tartrazine) เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด (สูงสุดไม่เกิน 50 มก./กก.) 2 ตัวอย่าง คือ 1.ร้านวรรณพร ตรวจพบ ตาร์ตราซีน 59.76 มก./กก. และ 2.ร้านประวีร์วัณณ์  ตรวจพบ ตาร์ตราซีน 57.41 มก./กก.         ขณะที่การทดสอบวัตถุกันเสียนั้น ในทุกตัวอย่างไม่พบกรดซอร์บิก แต่พบกรดเบนโซอิกในทุกตัวอย่าง แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน (ไม่เกิน 1,000 มก./กก.) 7 ตัวอย่าง แต่มีอีก 6 ตัวอย่างที่พบกรดเบนโซอิกเกินค่ามาตรฐาน คือ 1. โรตีสายไหม ร้านเรือนไทย 2. ร้านไคโร น้องชายบังอิมรอน 3. ร้านบังหมัด 4.ร้านวริศรา โรตีสายไหม 5.ร้านบังเปีย อามีนะห์ แสงอรุณ และ 6.ร้านแม่ชูศรี (รายละเอียดในฉบับที่ 218) โดยมีอยู่ 2 ร้านที่ผลการทดสอบครั้งแรกเดือนมี.ค. 2561 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 205) และครั้งนี้พบเกินค่ามาตรฐานทั้ง 2 ครั้ง ร้านเอกชัย (B.AEK) และ ร้านศิลัคข บังอารีย์ แสงอรุณ เจ้าเก่า อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 218)            “เส้นขนมจีน” ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยม เป็นอาหารจำพวกแป้งสด จึงบูดเสียง่าย จึงพบการลักลอบในสารกันบูดเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการทดสอบมาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือน ก.พ. 2559 (ฉบับที่ 180) และในเดือนมิ.ย. 2560 (ฉบับที่ 196) พบว่ามีการการผสมสารกันบูดเกินมาตรฐานเกินครึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มเก็บมา         ล่าสุดเดือนพ.ค.2562 สุ่มเก็บมาอีก 31 ตัวอย่าง จากตลาดสดและห้างสรรพสินค้า ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการแล้วไม่พบกรดซอร์บิกเลย แต่พบกรดเบนโซอิกในทุกตัวอย่าง และมี 2 ตัวอย่างที่พบเกินค่ามาตรฐาน 1.เส้นขนมจีน ยี่ห้อ หมื่นบูรพา จากตลาดคลองเตย พบในปริมาณ 1066.79 มก./กก.และ  2.เส้นขนมจีน ยี่ห้อ M&A บ้านขนมจีนปทุม จากตลาดสี่มุมเมือง พบในปริมาณ 1361.12 มก./กก.         อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตรวจพบว่าเส้นขนมจีนทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนกรดเบนโซอิก จึงสังเกตที่ฉลากบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติมพบว่ามีเพียง 4 ตัวอย่างที่แสดงข้อมูลการใช้สารกันบูดหรือวัตถุกันเสีย ที่เหลือบางตัวอย่างมีเลขสารระบบของอย. บางตัวอย่างระบุไว้บนฉลากว่าปราศจากวัตถุกันเสีย ปราศจากสิ่งเจือปน  (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 219)         “น้ำพริกหนุ่ม” สำหรับการตรวจหาสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่มนั้น โดยสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มที่จำหน่ายในภาคเหนือ 17 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมิ.ย. 2562 ผลการตรวจพบว่า 2 ตัวอย่างไม่มีสารกันบูดเลย ส่วนที่พบสารกันบูดแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน 8 ตัวอย่าง         และพบกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน 7 ตัวอย่าง คือ 1.น้ำพริกหนุ่ม ร้านดำรงค์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบ 890.32 มก./กก. 2.น้ำพริกหนุ่ม ล้านนา จาก ตลาดของฝากเด่นชัย จ.แพร่ พบ 1026.91 มก./กก. 3.น้ำพริกหนุ่ม นิชา (เจ๊หงษ์ น้ำพริกหนุ่ม) จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ 1634.20 มก./กก. 4.น้ำพริกหนุ่ม เจ๊หงษ์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบ 1968.85 มก./กก. 5.น้ำพริกหนุ่ม แม่ชไมพร จาก ตลาดสดอัศวิน ร้านสิริกรของฝาก จ.ลำปาง พบ 2231.82 มก./กก. 6.น้ำพริกหนุ่ม ยาใจ (รสเผ็ด) จาก ร้านขายของฝากสามแยกเด่นชัย จ.แพร่ พบ 3549.75 มก./กก. และ 7. น้ำพริกหนุ่ม อุมา จาก ตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบ 5649.43 มก./กก. (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 221)         “กุนเชียง” ว่าด้วยเรื่องของกุนเชียงนั้น เมื่อเดือน ธ.ค.2562 “นิตยสารฉลาดซื้อ” ได้รับการสนับสนุนทีมอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ในการเก็บตัวอย่าง กุนเชียง 19 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกุนเชียงหมู 9 ตัวอย่าง  กุนเชียงไก่ 5 ตัวอย่าง และกุนเชียงปลา 5 ตัวอย่าง มาตรวจสอบ ก็พบว่าทุกตัวอย่างมีความปลอดภัย ไม่มีวัตถุเจือปนอาหาร ไนไตรท์ ไนเตรท กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก เกินค่ามาตรฐาน หรือถ้าพบก็พบในปริมาณน้อยไม่เกินค่า ...(อ่านต่อได้ที่ฉลาดซื้อฉบับ 227)         มาต่อกันที่ “สลัดครีม” เมนูอาหารมื้อเบาๆ ที่มักพบสารกันบูดละไขมันนั้น จากการ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม 17 ตัวอย่าง จากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ มาตรวจวิเคราะห์ พบ 1 ตัวอย่างมีสารกันบูด ทั้งกรดซอร์บิก และ กรดเบนโซอิก รวมกันเกินค่ามาตรฐาน คือ “American Classic Ranch” โดยพบกรดเบนโซอิก664.14 มก./กก. และพบกรดซอร์บิก 569.47 มก./กก. รวมแล้วทั้ง 2 ชนิดพบ 1,233.61 มก./กก. (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 232)         กลุ่มสารเคมีทางการเกษตร และโลหะหนัก ทั้งนี้ สิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย มีโลหะหนัก หรือการใช้สารเคมีในภาคเกษตรที่มีอยู่หลายร้อยชนิด เป็นความเสี่ยงอย่างสูงที่จะทำให้วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารนั้นมีการปนเปื้อนสารเหล่านี้ไปด้วย ดังนั้น ตลอดปี 2562-2563  “ฉลาดซื้อ” มีการเก็บตัวอย่างอาหารมาทดสอบหาการปนเปื้อน           โฟกัสไปที่ “น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ” เมื่อเดือน ก.พ.-มี.ค.2561 ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ 12 ตัวอย่าง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อตรวจหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ผลการตรวจตะกั่ว พบว่าในน้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มก./ อาหาร 1 กก. ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้าของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มก./กก.ก็พบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช.ทุกตัวอย่าง           ต่อมาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ 15 ตัวอย่าง โดยเป็นตัวอย่างในชื่อผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ตรวจแล้วทุกอย่างอย่างผ่านเกณฑ์การทดสอบตะกั่ว และแคดเมียมทั้งหมด  แต่กลับตรวจพบสารกันบูดแต่ยังไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งกรณีที่พบในปริมาณน้อย อาจจะเป็นไปได้ว่า กรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ  (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 220)         ขณะที่ “ปลาสลิดตากแห้ง” ซึ่งเป็นอาหารที่แมลงวันชอบมาตอมและไข่ทิ้งไว้ ทำให้ดูไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งบางร้านใช้การขับไล่ตามปกติ แต่บางร้าน  อาจจะมีการใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่น ดังที่เป็นข่าวเมื่อต้นปี 2560 ที่พบการใช้ ไดคลอโรไดฟีนิลไตรคลอโรอีเทน (Dichloro-diphenyl-trichloroethane หรือ ดีทีที) ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อเดือน ก.ค. 2562 “ฉลาดซื้อ” จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาสลิดตากแห้ง 19 ตัวอย่าง จากร้านค้าในตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าทั่วไป และร้านค้าออนไลน์ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ผลตรวจไม่พบว่ามีตัวอย่างใดปนเปื้อนยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และในกลุ่มไพรีทรอยด์ แต่อย่างใด (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 235)         มาต่อกันที่ “น้ำปู” หรือ “น้ำปู๋” เป็นเครื่องปรุงรสของทางภาคเหนือ กลุ่มเดียวกับกะปิ ซึ่งจากการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์น้ำปูจำนวน 24 ตัวอย่าง จากตลาดในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ระหว่างวันที่ 7-15 ก.ย. 2563 มาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต พบสารพาราควอตในน้ำปู 33 % หรือ 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ ค่าเฉลี่ยของการตกค้าง 0.04275 มก./กก.         โดยตัวอย่างที่พบปริมาณพาราควอตตกค้างมากที่สุด ได้แก่1.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ต.บ้านลา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง พบ 0.090 มก./กก. 2.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พบ 0.074 มก./กก. 3.น้ำปู ยี่ห้อน้ำปู๋แม่แจ่ม จาก ตลาดสดข่วงเปา ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พบ 0.046 มก./กก.  4.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ร้าน น.ส.นิตยา ต.แม่ยางฮ่อ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ พบ 0.042 มก./กก. 5.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก บ้านป่าสัก ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา พบ 0.040 มก./กก. 6.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ตลาดบ้านปางลาว ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พบ 0.031 มก./กก. 7.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จากบ้านหนุน อ.ปง จ.พะเยา พบ 0.011 มก./กก. และ 8. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ร้านป้าหวิน บ้านร่องกาศใต้ ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ พบ 0.006 มก./กก. (อ่านรายละเอียดได้ที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 235)         ส่วน “หมึกแห้ง” นั้น เมื่อเดือน ม.ค.2563 ฉลาดซื้อได้เก็บหมึกแห้ง 8 ตัวอย่าง  (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง) จากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งร้านค้าในต่างจังหวัด และห้างออนไลน์ รวม 13 ตัวอย่าง  ตรวจพบว่าทั้ง 13 ตัวอย่างมีการปนเปื้อนปรอทแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยตัวอย่างที่พบสูงสุดอยู่ที่ 0.042 มก./กก. เช่นเดียวกับผลการตรวจหาตะกั่วที่พบทั้ง 13 ตัวอย่างแต่ไม่เกินเกณฑ์ สูงสุด คือ 0.059 มก./กก. สำหรับการตรวจหาสารพิษจากเชื้อรา ( Aflatoxin B1, B2, G1, G2 และ Total Aflatoxin) ไม่พบในทุกตัวอย่าง  เช่นเดียวกับการตรวจหาการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ ก็ไม่พบในทุกตัวอย่างเช่นกัน         อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการตรวจหาแคดเมียม ก็พบทุกตัวอย่าง แต่มีอยู่ 7 ตัวอย่างที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน คือ 1.หมึกแห้ง จาก ตลาดคลองเตย ไม่ระบุ ซ.1 ต้นโพธิ์ พบ 2.003  มก./กก. 2. หมึกแห้ง จาก จังหวัดระยอง ร้านโชคชัยการค้า พบ 2.393 มก./กก. 3. หมึกแห้ง จาก ร้านค้าออนไลน์ SHOPEE พบ 2.537  มก./กก. 4. หมึกแห้ง จาก ตลาดเยาวราช ร้าน ต.วัฒนาพาณิชย์ ตลาดเก่าเยาวราช พบ  3.006  มก./กก. 5. หมึกแห้ง จาก ตลาดมหาชัย ร้านศรีจันทร์ พบ  3.303  มก./กก. 6. หมึกแห้ง จาก จังหวัดตราด ร้านเจ๊อำนวย (ตรงข้าม รพ. จังหวัดตราด) พบ 3.432  มก./กก. และ 7. หมึกแห้ง จาก ตลาดปากน้ำสมุทรปราการ ร้านพี่น้อง (เจ๊เล็ก) พบ 3.872  มก./กก. ...(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 230)         อีกหนึ่งตัวอย่างที่ฉลาดซื้อให้ความสำคัญคือ “ถั่วเหลือง” เป็นพืชที่พบการใช้สารเคมีอันตราย อย่างพาราควอต และไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส แต่ถูกผลักดันให้ยกเลิกการนำเข้า และใช้สารเคมีเหล่านี้ในประเทศไทย ทั้งนี้เมื่อฉลาดซื้อ เก็บตัวอย่างถั่วเหลืองทั้งแบบเต็มเม็ดและแบบผ่าซีก  3 ครั้ง ในวันที่ 29 พ.ย., 2 ธ.ค. และ 6 ธ.ค. 62  รวม 8 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มาทำการตรวจหาการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตร         ทั้งนี้ผลตรวจสอบพบการตกค้างของไกลโฟเซต 5 ตัวอย่างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน  ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ พบ 0.53 มก./กก., ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ พบ 0.07 มก./กก., ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน พบ 0.50 มก./กก., ถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท พบ 0.20 มก./กก., และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต พบ 0.24 มก./กก. ส่วนอีก 3 ตัวอย่างไม่พบการตกค้างได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, และถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์        “แม้จะพบไกลโฟเซตไม่เกินค่ามาตรฐานอาหารสากล แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หากมีการบริโภคในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองที่ไม่ผ่านความร้อนสูงไม่ว่าจะเป็นน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ฟองเต้าหู้”...(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 231)         สำหรับกลุ่ม “ไขมันทรานส์” ที่มักพบในขนม นมแนย นั้น และส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน ซึ่งล่าสุดทายอย.ประกาศห้ามมีในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ แล้วนั้น อย่างไรก็ตาม “ฉลาดซื้อ” ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาตรวจสอบ และเผยแพร่ต่อประชาชนคือ         “เค้กเนย และชิฟฟ่อน” โดยมีการเก็บตัวอย่าง 16 ตัวอย่าง พบไขมันทรานส์ในปริมาณน้อยไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค ยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) ถือว่าสูงกว่ายี่ห้ออื่นๆ แต่เมื่อตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์ พบว่า ยี่ห้อนี้เขาจัดหนักจัดเต็มในสูตรเค้กเพราะใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ จึงไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพ ส่วนผลตรวจหาสารกันเสีย ก็พบเค้กเนยนั้นไม่พบกรดเบนโซอิก แต่กรดเบนโซอิกเล็กน้อยไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ..(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 216)           การตรวจหาการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ และเชื้อดื้อยา        “ปลาทับทิมและเนื้อไก่ชำแหละ” ...เมื่อเดือนต.ค. 2563 “ฉลาดซื้อ” ลุยเก็บตัว “ปลาทับทิม” จากตลาดในเขตกรุงเทพฯ 11 แห่ง ตลาดและกระชังปลาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง 4 แห่ง รวม 15 ตัวอย่าง ส่งตรวจพบว่ามี 14 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ มีเพียง 1 ตัวอย่าง จากตลาดคลองเตย พบ ยา Oxytetracycline ในปริมาณน้อยกว่า 5.00 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (ไม่เกินมาตรฐาน)         ส่วน “เนื้อไก่ชำแหละ” ซึ่งได้เก็บมา 10 ตัวอย่าง ผลตรวจพบว่ามี 9 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ  มี 1 ตัวอย่าง จากเนื้อไก่ที่ซื้อจากตลาดเจ้าพรหม  พบยา Enrofloxacin (Endrofloxacin) ในปริมาณ 0.66 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ทั้งนี้ ยาดังกล่าวไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ แม้ อย. อนุญาตให้ใช้ได้แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย อาจถือเป็นความผิดตามมาตรา 60 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522           มัดรวมไว้ตรงนี้ เผื่อว่าใครยังไม่ทราบว่าฉลาดซื้อได้เคยทำทดสอบด้านอาหารอะไรไว้บ้าง ก็น่าจะได้เป็นแนวทางในการค้นหารายละเอียดต่อไป และเราสัญญาว่า เราจะตามติดและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เครื่องสำอาง ฯลฯ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ “ซื้อ” หรือ “ไม่ซื้อ” ในปี 2564 อย่างเข้มข้น แน่นอน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ทำความรู้จัก ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ เป็นปากและเป็นเสียงให้ผู้บริโภค

      ทุกวันนี้เวลาซื้อสินค้าหรือบริการแล้วไม่เป็นอย่างที่โฆษณา สินค้าไม่ตรงปก บริการไม่เป็นธรรมและอีกสารพัดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. จะเป็นหน่วยงานแรกที่ผู้บริโภคนึกถึง           เอาล่ะ เรื่องการทำหน้าที่ของ สคบ. เป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพแค่ไหน ไม่ใช่หัวข้อที่เราจะคุยกันตรงนี้ ประเด็นคือ สคบ. เป็นหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่ ‘ตัวแทนผู้บริโภค’        เทียบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในสภา ตัวแทนผู้บริโภคก็ทำงานในลักษณะเดียวกัน แต่ถ้าถามว่าปัจจุบันนี้เราในฐานะผู้บริโภคมีตัวแทนผู้บริโภคที่จะคอยเป็นปากเสียง คอยตรวจสอบผู้ประกอบการ เสนอแนะนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคแก่รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐ ไปจนถึงการฟ้องร้องแทนผู้บริโภคหรือยัง?        คำตอบคือ ยังไม่มี        ทั้งที่แนวคิดนี้ก่อร่างสร้างตัวมาไม่น้อยกว่า 2 ทศวรรษแล้ว แต่อย่างว่าในประเทศที่รัฐสนใจเรื่องความมั่นคงมากกว่าสิทธิของผู้บริโภค (และประชาชน) การจะได้ตัวแทนผู้บริโภคย่อมต้องต่อสู้ให้ได้มา ซึ่งหากไม่มีอะไรผิดพลาด ปีหน้าเราจะได้เห็น ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ เกิดขึ้น        ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะพาไปทำความรู้จักสภาองค์กรของผู้บริโภคแบบเป็นกันเอง ถาม-เส้นทางการเกิดขึ้นของสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นอย่างไรตอบ-แนวคิดเรื่ององค์กรอิสระของผู้บริโภคปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่บัญญัติให้มีองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐในมิติต่างๆ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น โดยในมาตรา 57 ได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระอีกองค์กรหนึ่งที่เกิดจากการรวมตัวของผู้บริโภคเพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมายและมาตรการต่างๆ ในการคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า ‘องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค’        10 ปีผ่านไปจนถึงปี 2549 เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 61 ยังคงบัญญัติเรื่องนี้ไว้และขยายความเพิ่มเติมให้มีหน้าที่ ‘ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย’        เช่นเคย ยังไม่ทันที่องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคจะเกิดขึ้น รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นำไปสู่รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้บัญญัติเรื่องนี้อีกครั้งในมาตรา 46 ว่า ‘สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลัง ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อํานาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ’        ในที่สุด พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ก็ถือกำเนิดขึ้น หลังต้องรอคอยถึง 23 ปี ถาม-สภาองค์กรของผู้บริโภคคืออะไร?ตอบ-พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ให้นิยามสภาองค์กรของผู้บริโภคเพียงว่าคือ ‘สภาขององค์กรผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้’ ทำให้ต้องดูต่อว่า ‘องค์กรผู้บริโภค’ คืออะไร ซึ่งกฎหมายให้นิยามว่า         ‘องค์กรที่ผู้บริโภคซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาตั้งแต่สิบคนขึ้นไปรวมตัวกันจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคและไม่แสวงหากำไร ไม่ว่าการรวมตัวจัดตั้งนั้นจะจัดตั้งเป็นรูปแบบใด และจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วย’         ทั้งนี้องค์กรผู้บริโภคตามนิยามของกฎหมายมี 2 รูปแบบคือองค์กรที่เป็นบุคคลธรรมดาตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปมารวมตัวกัน จะเป็นผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้บริโภคก็ได้ มีการกำหนดวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและไม่แสวงหากำไร แบบที่ 2 คือนิติบุคคล ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องมีผู้ร่วมก่อตั้งกี่คน ดูเพียงว่าเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายหรือไม่ และมีวัตถุประสงค์ว่าเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคหรือเปล่า         เมื่อนำนิยามทั้งสองมารวมกัน สภาองค์กรของผู้บริโภคก็คือสภาที่เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรผู้บริโภคโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ถาม-อำนาจและหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคมีอะไรบ้างตอบ-กฎหมายกำหนดให้สภาองค์กรของผู้บริโภคอำนาจหน้าที่ ดังนี้        1.ให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค รวมตลอดทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง        2.สนับสนุนและดำเนินการ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารหรือเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเกิดความเสื่อมเสียแก่ผู้บริโภค โดยจะระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือชื่อของผู้ประกอบธุรกิจด้วยก็ได้        3.รายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค ไปยังหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ        4.สนับสนุนและช่วยเหลือองค์กรของผู้บริโภคในการรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพและได้รับความเชื่อถือ ตลอดจนส่งเสริมการรวมตัวขององค์กรของผู้บริโภคในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อบังคับของสภาองค์กรของผู้บริโภค        5.สนับสนุนการศึกษาและการวิจัยเพื่อประโยชน์ในการด าเนินงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค        6.สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งก่อนและในระหว่างการดำเนินคดีต่อศาล        7.ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามที่เห็นสมควรหรือเมื่อมีผู้ร้องขอ หรือให้ความช่วยเหลือในการดำเนินคดีในกรณีที่ผู้บริโภคหรือองค์กรของผู้บริโภคถูกฟ้องคดีจากการใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภคหรือใช้สิทธิแทนผู้บริโภค แล้วแต่กรณี และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้มีอำนาจประนีประนอมยอมความด้วย        8.จัดให้มีหรือรวบรวม และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ถาม-แล้วจะจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อย่างไรตอบ-กฎหมายกำหนดให้องค์กรผู้บริโภคที่เข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไขอย่างน้อย 150 องค์กรสามารถรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภคได้กับนายทะเบียนกลาง ซึ่งก็คือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อนายทะเบียนกลางได้รับเอกสารครบถ้วนถูกต้องแล้วจะต้องดำเนินการตรวจสอบและประกาศการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคภายใน 30 วัน หลังจากนั้นทั้ง 150 องค์กรที่ขอจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคจะต้องเรียกประชุมสมาชิกและร่างข้อบังคับสภาภายใน 30 วันนับจากประกาศจัดตั้ง เช่น วัตถุประสงค์ของสภา โครงสร้างการบริหาร การคัดเลือกกรรมการ ข้อบังคับ แนวทางนโยบายคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น ถาม-ขณะนี้เกิดสภาองค์กรของผู้บริโภคขึ้นหรือยังตอบ-ยัง ข้อมูล ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2563 พบว่ามีองค์กรผู้บริโภครวมตัวกันได้ 151 องค์กรที่ยื่นขอจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคต่อสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่การตรวจสอบเอกสารของนายทะเบียนกลาง พบว่ามี 7 องค์กรที่ต้องแก้ไขเอกสารให้ถูกต้อง ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการแก้ไขเอกสาร หากนายทะเบียนกลางได้รับเอกสารที่ครบถ้วนถูกต้องแล้ว จึงจะประกาศการจัดตั้งสภาองค์กร ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในภายในปี 2564 นี้ ถาม-ถ้ามีองค์กรผู้บริโภคต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาองค์กรผู้บริโภคสามารถทำได้หรือไม่ตอบ-ทำได้ หากเข้าเกณฑ์ที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำหนดไว้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคพบอุปสรรคสำคัญ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่        ประการแรก ผู้ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนรับจดแจ้งมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคไม่เพียงพอ โดยมองเป็นแค่เรื่องการซื้อขายสินค้าและบริการเท่านั้น เช่น บางจังหวัดนายทะเบียนมองว่าองค์กรผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับบริการสุขภาพหรือคุ้มครองสิทธิ์ให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงสิทธิ์รักษาพยาบาลได้ ไม่ถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งที่การรักษาพยาบาลถือเป็นบริการอย่างหนึ่ง        ประการที่ 2 การสร้างภาระขั้นตอนเกินจำเป็น เช่น การจะตั้งองค์กรผู้บริโภคตัวผู้ก่อตั้งทั้งหมดจะต้องไปยืนยันตัวตน ณ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือนายทะเบียนจังหวัด ทั้งที่เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้จากฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นการสร้างภาระให้องค์กรผู้บริโภคเกินจำเป็น ทำให้การจดแจ้งมีความยุ่งยาก ทั้งที่ในมาตรา 6 ระบุว่า ‘ต้องไม่มีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น และให้รับฟังความคิดเห็นขององค์กรของผู้บริโภคประกอบด้วย’        ประการที่ 3 การตีความเกี่ยวกับตำแหน่งกรรมการองค์กรผู้บริโภคที่บางองค์กรเกิดจากการรวมตัวของประชาชนทั่วไป การจะทำงานให้มีความน่าเชื่อถือ มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ ย่อมต้องมีนักวิชาการมาสนับสนุน ประเด็นคือหากกรรมการด้านวิชาการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐ นายทะเบียนจะตีความว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่อนุญาตให้จดแจ้งเป็นองค์กรผู้บริโภค ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการตีความที่ไม่ตรงกับเจตนารมย์ของกฎหมาย เนื่องจากนักวิชาการที่มาให้ความเห็นไม่สามารถครอบงำองค์กรได้เพราะไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในองค์กรผู้บริโภคที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งการจะแก้ไขรายชื่อกรรมการและข้อบังคับไม่ใช่เรื่องง่าย การตีความลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งที่องค์กรผู้บริโภคจำนวนมากไม่สามารถจดแจ้งได้ ถาม-จะป้องกันไม่ให้ภาคธุรกิจสวมรอยเข้ามาเป็นองค์กรผู้บริโภคและจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อย่างไรตอบ-เพราะต้องการให้เกิดสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นอิสระจึงมีการกำหนดคุณลักษณะขององค์กรผู้บริโภคที่จะมีสิทธิ์รวมตัวกันเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภคในมาตรา 5 ว่าต้องไม่เป็นองค์กรของผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือถูกครอบงำโดยผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล กรรมการหรือผู้มีอำนาจบริหารของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หรือโดยหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพรรคการเมือง และไม่เป็นองค์กรของผู้บริโภคที่ได้รับเงินอุดหนุนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจากบุคคล        บวกกับการมีกระบวนการตรวจสอบที่ค่อนข้างเข้มงวด เช่น การตรวจสอบชื่อกรรมการองค์กรว่ามีชื่อเป็นกรรมการบริหารอยู่ในบริษัทใดหรือไม่จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือการตรวจสอบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่จากกรมบัญชีกลาง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้มีการร้องคัดค้านหากเห็นว่าองค์กรผู้บริโภคนั้นๆ ไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 5ถาม-ช่วยยกตัวอย่างการทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นรูปธรรมตอบ-กรณีการควบรวมกิจการของ CP และเทสโก้ โลตัส ซึ่งทางคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อนุญาตให้ควบรวมได้ ทั้งที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้ CP มีอำนาจเหนือตลาด กรณีเช่นนี้กฎหมายให้อำนาจสภาองค์กรของผู้บริโภคตรวจสอบมติของ กขค. ได้ โดยทำความเห็นได้ว่าลักษณะการควบรวมแบบนี้จะกระทบต่อผู้บริโภค เนื่องจากการผูกขาดทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการเลือกที่เป็นอิสระเกี่ยวกับสินค้าและบริการบางประเภท แต่เมื่อ กขค. เห็นชอบให้ควบรวมได้แล้ว สภาองค์กรของผู้บริโภคหากเห็นว่ามีผลกระทบ หรือกรณีการแบนพาราควอต สมมติว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายเสียงข้างมากเห็นว่าพาราควอตปลอดภัย มีคำสั่งไม่แบน แต่สภาองค์กรของผู้บริโภคเห็นว่าพาราควอตเป็นสารเคมีที่ห้ามใช้กันทั่วโลก มีข้อเท็จจริงทางวิชาการที่พิสูจน์ได้ สภาองค์กรของผู้บริโภคสามารถยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนมติได้เช่นกันข้อดีประการหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้คือมีข้อสันนิษฐานที่เป็นคุณต่อสภาองค์กรของผู้บริโภคว่า ในการทำหน้าที่ในข้อ 1, 2, 3, 7 หรือ 8 ถ้าเป็นการกระทำโดยสุจริต ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคพ้นจากความรับผิด ถาม-เราจะตรวจสอบการทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อย่างไรตอบ-ความรับผิดรับชอบ (accountability) เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับอำนาจหน้าที่ กลไกการตรวจสอบสภาองค์กรของผู้บริโภคถูกล่าวถึงในมาตรา 17 ว่า        ‘เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมประสิทธิภาพและการตรวจสอบการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคตามระยะเวลาที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 3 ปี การประเมินผลการดำเนินงานตามวรรคหนึ่ง ให้จัดทำโดยสถาบันหรือองค์กรที่เป็นกลางและมีความเชี่ยวชาญในด้านการประเมินผลการดำเนินงาน โดยมีการคัดเลือกตามวิธีการที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำหนด การประเมินผลการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคจะต้องแสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏในด้านประสิทธิผล ประสิทธิภาพ การพัฒนาสภาองค์กรของผู้บริโภค และการสนับสนุนจากประชาชน หรือในด้านอื่นตามที่สภาองค์กรของผู้บริโภคจะได้กำหนดเพิ่มเติมขึ้น’        และในมาตรา 18        ‘ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคเผยแพร่ให้ประชาชนทราบและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อทราบภายใน 6 เดือนนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน นายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา อาจขอให้ประธานกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภคชี้แจงการดำเนินงานในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นหนังสือหรือขอให้มาชี้แจงด้วยวาจาได้’ ถาม-เมื่อเกิดสภาผู้บริโภคขึ้นแล้ว ผู้บริโภคจะมีส่วนร่วมได้อย่างไรตอบ-สภาองค์กรของผู้บริโภคจะเป็นพื้นที่รวมตัวของสมาชิกองค์กรผู้บริโภค ขณะที่ตัวผู้บริโภคเองที่มีการรวมกลุ่มและต้องการการสนับสนุนก็สามารถทำเรื่องขอรับการสนับสนุนได้ เนื่องจากเป็นหน้าที่โดยตรง ทั้งนี้ภารกิจหลักที่สภาองค์กรของผู้บริโภคควรรีบผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็วคือการทำให้เกิดองค์กรผู้บริโภคในทุกจังหวัด จัดการบริการแบบ one stop service ให้แก่ผู้บริโภคในการร้องเรียน ขอข้อมูล หรือแจ้งเบาะแส เป็นต้น ก็จะช่วยทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคในไทยมีความเข้มแข็งขึ้นกว่าในอดีต        เพราะในโลกทุนนิยม พลังของ ‘ผู้บริโภค’ คือพลังสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงโลกและทำให้ทุนนิยมอ่อนโยนลงกว่าที่เป็นอยู่

อ่านเพิ่มเติม >