ฉบับที่ 256 ควบรวม ทรู - ดีแทค โอกาสทบทวนตัวเองครั้งสำคัญของ กสทช.

ตั้งแต่ช่วงเดือน พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ข่าวหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างมากเพราะส่งผลกระทบต่อ ผู้บริโภคเป็นวงกว้าง คือประกาศการควบรวมกิจการของดีแทค หรือกลุ่มเทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)  กับกลุ่มกิจการธุรกิจโทรคมนาคมกับบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรูมูฟ เอช         ปัจจุบันประเทศไทยมีหมายเลขโทรศัพท์มือถือใน 3 ค่ายหลักคือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส  บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  รวมกันแล้วกว่า  93 ล้านเลขหมาย มีค่าเฉลี่ยในการเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือทั่วโลกโดยเฉลี่ยคนละ 2 เครื่อง  มีความเร็วของเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายแบบ 3G, 4G หรือ 5G อยู่ในระดับเดียวกับญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน และฮ่องกง หากทรู คอร์ปอเรชั่น สามารถควบรวมกับ ดีแทคได้สำเร็จบริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นจะมีสัดส่วนของเลขหมายถึงร้อยละ 52 และ ทำให้คนไทยมีทางเลือกในการใช้บริการเพียง  2  เจ้า           หลังประกาศดังกล่าวทำให้เกิดข้อโต้แย้งหลายประการในสังคม  ปัจจุบัน กสทช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาการควบรวมและว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระให้จัดทำความเห็นประกอบ  จัดวงโฟกัสกรุ๊ปเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายขึ้นแล้วหลายครั้ง   ฉลาดซื้อรวบรวมข้อโต้แย้ง ทั้งฝ่ายคัดค้านและสนับสนุนมานำเสนอเพื่อให้ผู้บริโภคติดตามสถานการณ์ได้ทัน แล้วมาดูกันว่าปรากฎการณ์ผูกขาดด้านโทรคมนาคมจะเกิดขึ้นหรือไม่          ฝ่ายเห็นด้วยให้ควบรวม          -        การควบรวมทำให้เกิดการประสานพลังกัน (synergy) ของธุรกิจโทรคมนาคมที่ปัจจุบันต้องลงทุนเพิ่มขึ้นสูงถึง ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจลดลง ช่วยเพิ่มการลงทุนและจะพัฒนาการให้บริการให้ดีขึ้นได้         -        จะทำให้ประเทศไทยมีบริษัทขนาดใหญ่ระดับชาติ (national champion) มีศักยภาพในการไปแข่งขันในเวทีโลก  ช่วยสร้างความเข้มแข็งในเชิงธุรกิจทั้งในและต่างประเทศที่มีปัจจัยด้าน digital Disruption มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ใหม่ๆ มากขึ้น คุณภาพของ Network ที่เกิดขึ้นและเป็นเรื่องที่สำคัญ         -        ข้อห่วงกังวลในหลายเรื่อง เช่น   ค่าดัชนีการวัดการกระจุกตัวของตลาด (HHI)  อุปสรรคการเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่  ราคาค่าใช้บริการที่อาจสูงขึ้น   มีกลไกในการกำกับ ควบคุมอยู่แล้วคือการทำหน้าที่ของ กสทช.  ที่สามารถใช้อำนาจ หน้าที่ กำกับ กำหนดเงื่อนไขได้ ข้อกังวลว่าผู้ให้บริการจะร่วมมือกันกำหนดราคาเอาเปรียบผู้บริโภคไม่สามารถทำได้แล้วในปัจจุบัน เพราะมีการเปิดเผยข้อมูลและมี กสทช. ที่คอยทำหน้าที่อยู่แล้ว           ฝ่ายคัดค้านการควบรวม          -        การที่ผู้ให้บริการมีเงินลงทุนมากขึ้น ไม่ได้การันตีว่าจะมีการลงทุนเพิ่มและบริการจะมีคุณภาพที่ดีขึ้นเสมอไป         -        การควบรวมย่อมทำให้เกิดการผูกขาด  ส่งผลให้ผู้บริโภคถูกจำกัดทางเลือกในการใช้งานหลายรูปแบบ เช่น  อัตราค่าบริการที่อาจสูงขึ้นและไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่า คุณภาพของสัญญาณลดลง   เอกชนบางรายมีอำนาจเหนือตลาดหรืออาจจับมือกัน มีพฤติกรรมไปในทางเดียวกัน  และไม่เกิดการแข่งขัน         -        การควบรวมทำให้มีผู้ให้บริการน้อยราย ไม่สอดคล้องกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่มุ่งรักษาการแข่งขันในตลาดเพื่อรองรับการใช้เสรีภาพทางเศรษฐกิจตามที่ได้รับการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญ           นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตคณะกรรมการ กสทช. ทบทวนสถานการณ์ที่ผ่านมากับฉลาดซื้อ ว่าตลอดมาประเทศไทยมีผู้ให้บริการแบบ 3 เจ้าคือ AIS   Dtac และ True ทำให้เกิดการแข่งขัน และยิ่งเทคโนโลยีพัฒนายิ่งขึ้นได้ช่วยให้ค่าบริการถูกลงได้ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีที่ดีขึ้นแต่ราคาอาจไม่ได้ถูกลง และคุณภาพอาจไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นหากในระบบไม่มีการแข่งขันกันในการให้บริการ          “หากยังจำกันได้  ตอนที่เรามีการประมูลคลื่น  4  G  บริษัทชื่อ แจส  มาประมูลและชนะ จนได้เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายที่ 4  ทำให้ทั้ง 3 รายเดิม ออกแพคเกจ ลดราคาลงมาอย่างมาก แม้ว่าสุดท้าย แจสไม่มีเงินมาจ่ายค่าประมูลได้ แต่ผลพวงที่ทำให้ได้ประโยชน์จนถึงตอนนี้คือผู้บริโภคจ่ายค่าบริการถูกลง”         “การที่มี 3 เจ้า อย่างน้อยเป็นการแข่งขันในระดับที่ทำให้ราคาไม่สูงขึ้น มีโปรโมชั่นต่างๆ มาล่อใจลูกค้าแต่พอเหลือเพียง 2 ราย  ไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกโปรโมชั่นแล้วโดยเฉพาะ  2 ราย ที่มีส่วนแบ่งการตลาดใกล้เคียงกันคือ   50 /50   แล้วตลาดเริ่มอิ่มตัวแล้ว บทเรียนจากต่างประเทศก็พบว่า ระดับการแข่งขันจะลดลง  แต่เอกชนจะมีรายได้เพิ่มด้วย แล้วยิ่งปัจจุบันตอนนี้ที่ยังไม่มีการควบรวมจำนวนโปรโมชั่นของทุกค่ายในตลาด กำลังน้อยลงไปเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้น คือระดับการแข่งขันมันเป็นตัวกำกับดูแล ให้ราคามันอยู่ในจุดที่เหมาะสม   ถ้าการแข่งขันลดลงราคาก็จะผิดปกติ”          “วันนี้หากการควบรวมกิจการเกิดขึ้นจริง สิ่งที่จำเป็นคือ กสทช.ต้องรักษาระดับแข่งขันให้ได้ใกล้เคียงเดิม หากรักษาระดับการแข่งขันไม่ได้ ความเสียหายเกิดขึ้นแน่นอน อีกทั้งต้องประเมินผลกระทบการควบรวมกิจการ และจำกัดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด” นพ.ประวิทย์ กล่าว         สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ‘ทีดีอาร์ไอ’  ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่าในอดีตเมื่อมีผู้ให้บริการโทรคมนาคมเพียง 2 ราย นอกจากค่าบริการจะแพงลิบ โปรโมชั่นน้อย คุณภาพบริการแย่แล้ว ผู้ให้บริการยังสามารถใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในการเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น ใช้ระบบอีมี่ (IMEI หรือหมายเลขเฉพาะตัวเองของโทรศัพท์ในระบบ GSM ที่มีไว้เพื่อแก้ปัญหาเครื่องถูกขโมยในสมัยก่อน) บังคับให้ผู้ใช้บริการต้องซื้อเครื่องของผู้ให้บริการรายดังกล่าวด้วย         ความหวังอยู่ที่การทำหน้าที่ของ กสทช. ?         หลากหลายข้อโต้แย้ง ข้อห่วงกังวล มีสิ่งหนึ่งที่ตรงกันคือความหวังในการทำหน้าที่ของ กสทช. ที่หากทำด้วยความรอบคอบ รัดกุม ย่อมรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคได้ แต่เรื่องนี้หลายฝ่ายก็ยังกังวล เพราะในปี 2561    กสทช. ได้ออกประกาศที่ลดทอนอำนาจตัวเองทำให้การควบรวมไม่ใช้ระบบอนุญาต แต่ให้เป็นเพียงการแจ้งเพื่อทราบ ทำให้สังคมมองว่า กสทช. ที่เป็นผู้กำกับดูแลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องผู้บริโภคอย่างเต็มที่ ปัจจุบันจึงมีข้อเสนอเพื่อการทำงานของ กสทช.  ดังนี้          -   คลื่นความถี่เป็นสมบัติสำคัญของประเทศ จำเป็นต้องจัดสรรให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาชน ระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจ ตลอดจนความมั่นคงของประเทศ การควบรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ย่อมมีผลกระทบอย่างมาก รัฐจะต้องมีกฎเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาต โดยการชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีทั้งต่อทั้งผู้ประกอบการ การลงทุนเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคตกับผลเสียที่จะเกิดกับประชาชนและธุรกิจผู้ใช้บริการโทรคมนาคม        -   การควบรวมกิจการขนาดใหญ่ครั้งนี้ ส่งผลต่อประชาชนผู้ใช้บริการเป็นวงกว้าง กสทช. ผู้ตรวจสอบจะต้องรับฟังความเห็นจากทุกๆ ฝ่ายอย่างรอบด้าน  และให้ข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าเป็นระยะ ผ่านทางเว็บไซต์ของตนเองอย่างเป็นทางการ        -   ในการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการใดๆ กสทช. ต้องคำนึงถึงการรักษาการแข่งขันในตลาดเป็นสำคัญ ไม่ใช่มุ่งรักษาผลประโยชน์ของผู้ควบรวมหรือกำหนดเงื่อนไขที่ผู้ตรวจสอบคิดเอาเองว่าบังคับใช้ได้ง่าย ดังนั้นการที่ต้องพึ่งพาการทำหน้าที่ของ กสทช. เพื่อสร้างความเป็นธรรมในด้านโทรคมนาคม ย่อมสร้างความกังวลกับหลายฝ่ายต่อความสามารถที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวได้ เพราะการกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะให้ผู้ควบรวมต้องปฏิบัติตามเป็นเรื่องที่จะมีปัญหาและต้นทุนการบังคับใช้สูง อีกทั้ง กสทช.ยังไม่มีข้อมูล เพียงพอ  เท่าทันต่อการกำกับดูแลผู้ให้บริการ ...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 รู้จัก เข้าใจ ภาวะ Long COVID

        องค์การอนามัยโลก ออกประกาศนิยามภาวะ  Long COVID เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ที่ระบุว่า เป็นอาการผิดปกติเกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่องภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ 3 เดือนนับหลังจากวันตรวจพบเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน โดยอาการเกิดขึ้นได้หลายระบบซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นไม่สามารถ อธิบายได้ด้วยการวินิจฉัยสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ภาวะเหล่านี้มักไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง อาการจะเป็นๆ หายๆ ได้         “นิตยสารฉลาดซื้อ” จึงได้รวบรวมข้อมูลที่เผยแพร่โดย “กรมการแพทย์” ทำให้พอสรุปได้ว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ละคนจะมีการแสดงอาการที่แตกต่างกันออกไป และเมื่อหายป่วยร่างกายก็จะมีความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองแตกต่างกัน บางคนใช้เวลาไม่นานก็กลับมาเป็นปกติ แต่บางรายเมื่อหายจากการป่วยโควิด-19 แล้วยังหลงเหลือกลุ่มอาการ Long Covid อาทิ อาการเหนื่อยง่าย อ่อนแรง อ่อนเพลียเรื้อรัง ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม รู้สึกแน่นๆ หน้าอก ไอและปวดศีรษะ ท้องร่วง มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ปวดตามข้อ รู้สึกจี๊ดๆ ตามเนื้อตัว หรือปลายมือ ปลายเท้า มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส อ่อนเพลีย มีไข้ ซึ่งมักพบมากในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักตัวมาก เนื่องจากลักษณะของอวัยวะต่างๆ ของร่ายการที่เสื่อมถอยร่วมกับมีการอักเสบจากการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการต่อเนื่องได้นานมากกว่าคนปกติ         จากการสำรวจภาวะ long covid ผ่านทางเว็บไซต์กรมการแพทย์ พบว่าอาการ ส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง อาการที่พบบ่อย 10 อันดับแรก ได้แก่  อ่อนเพลีย หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย ไอ  นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ผมร่วง เวียนศีรษะ วิตกกังวล/ เครียด ความจำสั้น เจ็บหน้าอก         ทั้งนี้ แพทย์หญิงเปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก กล่าวว่า ถ้าพูดถึงข้อบ่งชี้ภาวะ long covid จะนับหลังจากหายป่วยโควิดไปแล้ว 3 เดือน บางคนถึง 6 เดือนขึ้นไป แต่ส่วนมากจะจบที่ 6 เดือน ซึ่งจากการรักษาผู้ป่วยที่ผ่านมา พบว่า  มักจะมีปัญหาเหนื่อยอ่อนเพลีย หายใจไม่อิ่ม นอนไม่หลับ ภาวะสับสน  ส่วนใหญ่จะเจอปัญหาการนอนไม่หลับ สับสน เป็นอันดับต้นๆ          ถ้าถามว่ามีปัญหาหรือไม่ เมื่อมีการดูเรื่องการทำงานของอวัยวะจริงๆ เช่น กรณีผู้ที่หายป่วยแล้ว บ่นว่าหายใจไม่อิ่ม เหนื่อยมากนั้น เมื่อมีวัดออกซิเจนในเลือกก็ปกติ เอ็กซเรย์ปอดก็ดี ดังนั้นอาจเป็นเพราะอยู่ในช่วงที่ปอดกำลังฟื้นตัว หลังเกิดการอักเสบจากการติดเชื้อ อาจจะรบกวนชีวิตรบกวนชีวิตช่วงต้นแต่นานๆ ไปก็จะดีขึ้น         “การฟื้นตัวของปอดนั้นเป็นคนละเรื่องกับ long covid ซึ่งคนป่วยที่ปอดอักเสบรุนแรงจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอาจจะต้องใช้ออกซิเจนไประยะหนึ่งแล้วค่อยลดระดับออกซิเจนลง แต่ยังไม่ได้นับว่าเป็น long covid เพราะ long covid จะนับ 3-6 เดือนขึ้นไปซึ่งคนที่ฟื้นตัวจากปอดอักเสบ”         สำหรับการดูแลภาวะ long covid นั้น ถ้ามีอาการมากก็ต้องตรวจวินิจฉัยว่ามีโรคร่วมหรือไม่ เพราะภาวะ long covid บางครั้งอาจจะไม่ถึงขั้นว่าจะต้องใช้ยาช่วย ส่วนมากที่มีปัญหาเนื่องจากพื้นฐานของโรคประจำตัวเดิม ส่วน long covid อาจจะเป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่า ซึ่งใช้การออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับให้ดี หลับสนิท ไม่เครียด ก็จะทำให้ดีขึ้นเอง         “อย่างไรก็ตาม เมื่อไหร่ก็ตามที่มีอาการเกิดขึ้นหลังจากติดโควิดไปแล้ว 3 เดือน หากประชาชนมีอาการที่ก็ยังไม่สามารถบอกตัวเองได้ว่าเกิดจากอะไร ก็แนะนำให้ตรวจเช็คกับแพทย์ เพราะบางครั้งอาจจะมีโรคอื่นที่มีอยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว พอเจอโควิดเข้ามามันก็เหมือนเป็นการผสมโรงทำให้โรคที่เป็นอยู่เดิมมีอาการรุนแรงขึ้น มองเห็นชัดขึ้น เมื่อเรามีปัญหาโรคเดิมอยู่ก็ไปจัดการตรงนั้น”           ขณะที่ แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ภาวะ long covid แม้จะเป็นอาการทางกายหลายๆ อาการ แต่กลับกลายเป็นว่าเป็น “ความรู้สึก” เช่น รู้สึกเหนื่อย รู้สึกวิตกกังวล ใจสั่น รู้สึกหายใจติดขัด อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ซึ่งเมื่อตรวจร่างกายทั่วไปแล้วอาจจะพบร่องรอยของโรคในแบบที่ชัดเจนว่าเป็นโรคอะไร เป็นอาการที่ไม่มีความจำเพาะ เพราะฉะนั้นมีความสุ่มเสี่ยงมากที่คนจะเข้าใจว่าตัวเองเป็น long covid  จากความกังวล         อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เจ้าตัวจะรู้สึกเป็นทุกข์ที่ไม่ได้รับความเข้าใจ และหวาดกลัวว่าทำอย่างไรถึงจะหาย ในมุมนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องช่วยกันให้ข้อมูลกับคนไข้ ว่าอาการหลายอย่างจะเกิดขึ้นและอยู่นาน ทั้งๆ ที่ดูเหมือนจะแข็งแรง แล้วแต่ศักยภาพทางร่างกาย ความรู้สึก ความมั่นใจจะยังไม่เท่าเดิม จึงต้องให้เวลากับตัวเอง ในช่วงแรกหลังหายป่วยต้องพักผ่อนให้เต็มที่ ใช้ชีวิตอย่างมีสุขอนามัยที่ดี เช่น กินอาหารถูกส่วน ดื่มน้ำเพียงพอ นอนหลับให้ดี และส่งเสริมให้ตัวเองได้ออกกำลังกายเบาๆ และเพิ่มความหนักขึ้น จนสอดคล้องกับสภาพร่างกาย หากมีอาการอะไรที่เป็นแล้วเป็นนาน หรือหากไม่มั่นใจก็สามารถปรึกษาแพทย์ หรือแม้แต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใกล้บ้าน แต่ส่วนใหญ่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป         “ที่น่าเห็นใจ เนื่องจากมีอาการทางกายเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่กว่าครึ่งหนึ่งจะถูกเข้าใจว่าเป็นปัญหาทางจิตใจ เป็นสภาพที่เจ้าตัวก็รู้สึกทุรนทุราย คนอื่นก็เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง อาจจะกลายเป็นว่าสมาชิกในครอบครัวเดียวกันอาจจะรู้สึกว่าผู้ที่หายป่วยขาดความสนใจกับคนอื่น หมกมุ่นกับความเจ็บป่วย คนในที่ทำงานก็อาจจะมองว่าเกลียดเกียจคร้านหรือเปล่าเพราะเขาอ่อนแรง แกล้งป่วยหรือเปล่า อะไรทำนองนี้ การไม่ได้รับความเข้าใจจากคนรอบข้าง แล้วตัวเองก็เกิดความสงสัยด้วย ก็จะเรียกว่า long covid ทางใจที่เสริมเข้าไปอีกบนพื้นฐานร่วมทางกายที่มีอยู่ระดับหนึ่ง”         อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสังคมไทย แม้ว่าจะอยู่ในบรรยากาศที่มีการระบาดของโรคจำนวนมาก ซึ่งอาจจะทำให้มีข้อจำกัดบางเรื่อง แต่ในภาพรวมแล้วประชาชนได้รับการดูแลที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 กลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) หลายคน ที่ติดเชื้อก็รู้สึกว่าตัวเองได้รับความรู้เรื่องโรคที่เป็นอยู่มากขึ้น มีความเข้าใจว่าจะดูแลตัวเองในสถานการณ์โควิดอย่างไร ประกอบกับสังคมไทยมีเครือญาติ เพื่อนฝูง เพื่อนบ้านที่เข้าใจโอกาส ที่จะมีปัญหาทางสภาพจิตใจจึงไม่มากเท่ากับที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ         ด้าน พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า การกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และมีความสำคัญในการป้องกันและลดความรุนแรงของโรค และทำให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวได้เร็ว สอดคล้องกับที่ “องค์การอนามัยโลก” มีคำแนะนำล่าสุดปี 2563 ว่า          1. กินอาหารให้หลากหลาย รวมทั้ง ผักและผลไม้ทุกวัน ควรรับประทานธัญพืชเต็มเมล็ด กินโปรตีนทั้งจากพืชและสัตว์เลือกชนิดไม่ติดมัน กินปลา ไข่และนม         2.ลดการบริโภคเกลือ ควรได้รับไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน ใช้เกลือไอโอดีน จำกัดการบริโภคน้ำตาล จำกัดการบริโภคของหวานและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้และเครื่องดื่มน้ำผลไม้         3.กินไขมันและน้ำมันในปริมาณปานกลาง เลือกแหล่งอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว เช่น ปลา ถั่ว น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน         4.เลี่ยงการกินอาหารแปรรูปหรือเนื้อสัตว์แปรรูป ซึ่งจะมีปริมาณไขมันและเกลือที่สูง และดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์         สำหรับอาหารที่แนะนำเป็นอาหารที่ย่อยง่ายให้ร่างกายสามารถดึงพลังงานจากอาหารไปใช้ได้เร็ว และช่วยหลีกเลี่ยงอาการจุกเสียดแน่นท้องได้         “ไข่ต้มสุก” สารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินชนิดต่างๆ ที่มีส่วนช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกายได้อย่างดี         “ซุปและน้ำแกง” เมนูที่ผู้ป่วยสามารถซดน้ำได้ แต่ไม่ให้มีรสชาติจัดจ้าน ไม่ควรมีน้ำมัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการคันคอ ไอหนักขึ้นได้         “ผัก ผลไม้” ที่มีวิตามินซีสูง จะมีส่วนช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับโควิด19ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผักและสมุนไพร ผ่านการปรุงเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มได้ตามความเหมาะสม แต่ไม่แนะนำให้ปรุงอาหารแบบผัดด้วยน้ำมัน เพราะจะกระตุ้นให้เกิดอาการระคายคอได้          “ส่วน 10 อาหารบำรุงปอด ได้แก่  1.ขิง ช่วยต้านการอักเสบ 2.พริกหวาน ช่วยต้านอนุมูลอิสระ 3.แอปเปิ้ล มีใยอาหาร วิตามินซี 4.ฟักทอง มีสารอาหารบำรุงปอด 5.ขมิ้นชัน สารเคอร์คูมิน ดีต่อปอด 6.มะเขือเทศ ช่วยลดการอักเสบ 7.ธัญพืช มีเส้นใยสูง ดีต่อปอด 8.น้ำมันมะกอก ป้องกันโรคทางเดินหายใจ  9.หอยนางรม มีแร่ธาตุที่ดีต่อปอด และ10.เบอร์รี่ ต้านอนุมูลอิสระได้ดี”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ปีกว่าที่ว่างเปล่า สิทธิการทำแท้งที่ปลอดภัยในระบบราชการไทย

        กว่า 60 ปี การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสังคมไทย ผู้หญิงไม่มีสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายและเลือกหนทาง มิพักต้องพูดถึงแนวคิดล้าหลังที่ซุกอยู่ในกฎหมายทำแท้งที่มุ่งเอาผิดผู้หญิงเป็นหลัก โดยเฉพาะมาตรา 301 และมาตรา 305 ในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง          ปี 2561 พญ.ศรีสมัย เชื้อชาติ แพทย์อาสาของเครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย กรมอนามัย ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302 ที่ระบุว่าผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ใครจะรู้ว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่          ในฐานะผู้ที่ผลักดันการแก้กฎหมายทำแท้งคนหนึ่ง พญ.ศรีสมัย ใช้เหตุการณ์นี้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่ระบุว่า ‘หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ’ ขัดรัฐธรรมนูญ เกิดแรงกระเพื่อมต่อเนื่องเป็นการแก้กฎหมายอาญามาตรา 301 และมาตรา 305 ในที่สุด          โดยในมาตรา 301 ที่ได้รับการแก้ไขแล้วระบุว่า ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากเกินกว่านี้จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นอัตราโทษที่เบากว่ากฎหมายเดิม          ส่วนมาตรา 305 อนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้ ดังนี้         1. จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงกับการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือใจของหญิงนั้น         2. จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควร เชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง         3. หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ         4. หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์         5. หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศ กำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น          ไม่มีปฏิเสธว่าเป็นชัยชนะก้าวสำคัญ เมื่อพูดเช่นนี้ก็หมายความว่ายังมีก้าวอื่นอีกที่ต้องไปต่อ  ผู้หญิงยังเข้าไม่ถึงสิทธิการทำแท้งที่ปลอดภัย          เป้าหมายสูงสุดของภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวประเด็นนี้คือการยกเลิกโทษอาญาของการทำแท้ง การทำแท้งต้องไม่ใช่ความผิด และผู้หญิงที่ทำแท้งไม่ใช่อาชญากร การทำแท้งต้องเป็นทางเลือกด้านสุขภาพของผู้หญิงและมีกระบวนการครอบคลุม ครบถ้วน โดยคำนึงถึงสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง         อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ขับเคลื่อนตระหนักดีว่าบางเรื่องก็ต้องค่อยๆ ขยับไปข้างหน้า แต่สิ่งที่ทำความเข้าใจได้ยากคือผ่านมาปีกว่าแล้วนับตั้งแต่ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 ผ่านไปปีกว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุขสำหรับวางแนวทางรองรับกลับยังไม่ถูกประกาศใช้         สมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สายด่วน 1663 ที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม เล่าว่าที่ผ่านมา 3 สิ่งที่เอื้อต่อการทำงานคือการแก้กฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งซึ่งทำให้สังคมเปิดกว้างมากขึ้น หน่วยบริการมีมาตรฐานมากขึ้น สอง-มีคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ที่ให้การคุ้มครองและช่วยเหลือให้วัยรุ่นได้รับสิทธิและเกิดคณะทำงานขับเคลื่อน ประการสุดท้าย ในช่วงโควิดก็มีนโยบาย Telemedicine หรือโทรเวชกรรม ส่งยาให้กับผู้ที่จำเป็นเพื่อยุติการตั้งครรภ์ทำให้เข้าถึงบริการที่ปลอดภัย          แต่ยังมีช่องว่างอยู่ เป็นเพราะผู้คนในสังคมจำนวนหนึ่งยังไม่ทราบถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ระบบบริการไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้หญิงที่ต้องการท้องต่อหรือต้องการยุติการตั้งครรภ์ก็ยังไม่ครอบคลุมต่อปัญหาและยังไม่ครอบคลุมพื้นที่อย่างเพียงพอ บริการบางอย่าง เช่น การยุติการตั้งครรภ์ยังไม่เป็นบริการในระบบปกติของหน่วยบริการ ทั้งยังมีวัยรุ่นและผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมเข้าไม่ถึงสิทธิและถูกละเมิดสิทธิ พร้อมกับที่ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนก็มีไม่มากพอและไม่เป็นมิตรสำหรับผู้ที่ท้องไม่พร้อม          จากการเก็บข้อมูลการให้บริการท้องไม่พร้อมของสายด่วน 1663 ตั้งแต่ตุลาคม 2564 ถึงมีนาคม 2565 มีจำนวนพผู้ปรึกษาทั้งหมด 21,397 เป็นผู้ที่ตั้งครรภ์ร้อยละ 81 หรือ 17,416 คน จำนวนผู้ที่ตั้งครรภ์และมีปัญหาซับซ้อนต้องได้รับการช่วยเหลือร้อยละ 15 หรือ 2,634 คน มีผู้หญิงที่ประสงค์ทำแท้งไปขอรับบริการจากโรงพยาบาลแต่ถูกปฏิเสธและไม่ส่งต่อ 116 ราย อายุต่ำกว่า 20 ปี 37 ราย มากกว่า 20 ปี 79 ราย          “เกิดคำถามว่าเป็นเพราะทัศนคติหรือนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขไม่ชัดเจนถึงทำให้เกิดความลักลั่นในทางปฏิบัติ” สมวงศ์ ตั้งคำถาม          ระบบราชการทำ สธ. ประกาศกระทรวงไม่ได้          ผู้รับบริการสุขภาพในฐานะผู้บริโภคยังต้องเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงบริการ สืบเนื่องจากระบบราชการแบบไทยๆ ที่มักติดขัดเรื่องอำนาจหน้าที่         ความเดิมมีอยู่ว่า หลังจากแก้กฎหมาย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างประกาศใช้เป็นแนวทางการให้บริการ ผ่านไปประมาณ 1 ปี คณะกรรมการยกร่างประกาศเสร็จสิ้น ประกอบด้วย 3 หมวด ได้แก่         หมวดที่ 1เรื่องการให้การปรึกษาทางเลือก         หมวดที่ 2 การดูแลกรณีที่เลือกตั้งครรภ์ต่อ         หมวดที่ 3 กระบวนการขับเคลื่อนประกาศกระทรวง          กรมอนามัยนำส่งร่างต่อไปยังสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้รัฐมนตรีลงนามบังคับใช้ ทาง สธ. เพื่อลงนามบังคับใช้ ทว่า กองกฎหมายของสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ทักท้วงว่า ตัวร่างในหมวดที่ 2 และ 3 อาจจะเกินขอบเขตที่มาตรา 305 ระบุให้กระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายระบุเพียงให้กระทรวงฯ ออกหลักเกณฑ์ว่าด้วยการปรึกษาทางเลือกเท่านั้น          “ทางกรมอนามัยจึงหารือกับคณะกรรมการยกร่าง” นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าว “ทางคณะกรรมการก็ยืนยันว่าร่างที่ยกน่าจะมีประโยชน์ในการบังคับใช้เพราะครอบคลุมกระบวนการดูแลอย่างครบถ้วน ข้อที่ว่าเกินอำนาจที่จะทำได้หรือเปล่า ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีส่วนร่วมในการยกร่างตั้งแต่แรกก็อธิบายว่า แม้ในมาตรา 305 จะให้ออกประกาศการให้การปรึกษาทางเลือกอย่างเดียว แต่ว่าทางกระทรวงสาธารณสุขก็มีฐานอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินที่จะออกหมวดสองและสามได้”          คำอธิบายข้างต้นไม่สามารถเบาบางข้อวิตกกังวลของกองกฎหมาย สำนักปลัดฯ ได้ เพราะถ้าระบุลงไปแล้วในทางปฏิบัติทำไม่ได้ นอกจากจะผิดประกาศกระทรวงแล้ว ยังอาจถูกตีความว่าผิดประมวลกฎหมายอาญาด้วย ทางสำนักปลัดฯ ต้องให้ประกาศสั้น กระชับ และตรงประเด็น เพื่อให้ในทางปฏิบัติไม่ต้องมีข้อถกเถียง          นพ.บุญฤทธิ์ กล่าวว่า เมื่อทั้งสองฝ่ายยืนกรานจึงจบลงด้วยบทสรุปที่ให้ตั้งคณะกรรมการยกร่างขึ้นอีกชุดเพื่อยกร่างประกาศใหม่โดยอ้างอิงมาตรา 305 โดยตรงและใช้ร่างเดิมเป็นตัวตั้งต้น          กรณีโรงพยาบาลประกันสังคมบางแห่งไม่รับผิดชอบ         เวลาที่ยืดเยื้อออกไปส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้หญิง สมวงศ์เล่าถึงกรณีหนึ่งว่ามีผู้หญิงรายหนึ่งเป็นโรคหัวใจและตั้งครรภ์ เธอฝากครรภ์โดยใช้สิทธิประกันสังคม ปรากฏว่าทั้งแพทย์สูตินรีเวชและแพทย์ด้านหัวใจบอกตรงกันว่าไม่ควรตั้งครรภ์ต่อเพราะมีอันตรายต่อชีวิต ซึ่งขณะนั้นอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์แล้ว          “เขาโทรมาหาเรา เราบอกว่าเป็นเรื่องสุขภาพคุณควรได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลประกันสังคมของคุณ เขาก็เลยกลับไปที่โรงพยาบาล ทางนั้นบอกว่าไม่มีบริการทำแท้งจึงปฏิเสธและไม่รับฝากท้องด้วยเนื่องจากเขาเป็นโรคหัวใจ เขาจึงกลับมาปรึกษาเราอีกครั้งหนึ่งว่าโรงพยาบาลประกันสังคมไม่ดูแลเขา          เราจึงติดต่อโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยร่วมกับเครือข่าย ปรากฏว่าโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยรับทำให้และยืนยันว่าเคสนี้อันตรายถึงชีวิตจริงและมีความจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน จึงแนะนำให้กลับไปที่โรงพยาบาลประกันสังคมนำประวัติการรักษาทั้งหมดมาและทำหนังสือส่งตัวเพื่อไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 5 หมื่นบาท อันนี้เป็นเรื่องการรักษา เป็นเรื่องสุขภาพจริงๆ ปรากฏว่าโรงพยาบาลประกันสังคมตัดสินใจทำใบส่งตัวให้ แต่ไม่ส่งตัวไปให้ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย แต่ส่งไปให้อีกโรงพยาบาลหนึ่งในเครือข่ายของเขา         วิธีส่งตัวคือทำเอกสารขึ้นมาใบหนึ่งแล้วให้ผู้รับบริการเดินไปรับบริการเอง ไม่มีการประสานส่งตัว ผู้รับบริการก็เดินไปที่โรงพยาบาลแห่งนั้น แต่ทางนั้นก็บอกว่าไม่ได้เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ก็ปฏิเสธ สุดท้ายก็จำเป็นต้องรับบริการจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและเสียค่าใช้จ่าย ตอนนี้เรากำลังดำเนินการฟ้องร้องให้ประกันสังคมต้องรับผิดชอบ โรงพยาบาลต้องรับผิดชอบ จะปฏิเสธค่าใช้จ่ายไม่ได้ ทำให้เห็นว่าแม้แต่เรื่องสุขภาพก็ไม่ได้รับบริการ”          การรับบริการทำแท้งที่ปลอดภัยเป็นเรื่องชนชั้น          สุพีชา เบาทิพย์ จากกลุ่มทำทาง องค์การภาคเอกชนที่ขับเคลื่อนการทำแท้งที่ปลอดภัย เปิดรายงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. ปี 2564 พบว่า ในปี 2563 สปสช. ตั้งเป้าการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยไว้ที่ 23,000 ราย แต่ทำได้จริงเพียง 4,924 ปี 2564 จึงตั้งเป้าต่ำลงคือ 12,000 ราย แต่ก็ทำได้จริงเพียง 5,294 ราย          “แต่เราคาดว่ามีการทำแท้งประมาณ 3 แสนคนต่อปีจากการวิจัยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2540 คำถามคือที่เหลือไปไหน” สุพีชา กล่าวอีกว่า เหตุผลที่ผู้หญิงยังเข้าไม่ถึงบริการในอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ ร้อยละ 15 เพราะไม่รู้จะไปรับบริการที่ไหน ร้อยละ 16.5 รู้ว่ามีบริการแต่ไม่มีเงินเข้ารับบริการ และร้อยละ 2.9 ไม่มีเงินค่าเดินทางไปรับบริการ เมื่อวิเคราะห์ปัญหาที่พบเจอ กลุ่มทำทางแจกแจงออกเป็น 5 ประการ ประกอบด้วย          1. การเข้าไม่ถึงข้อมูลบริการและสถานที่ยุติ ประชาชนและส่วนหนึ่งก็เป็นเจ้าหน้าที่เองที่ไม่รู้ว่ากฎหมายเปลี่ยน ไม่ได้รับมอบหมายนโยบายจึงไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไรเมื่อมีผู้มาขอรับบริการ ประชาชนจึงไม่รุ้ว่าจะไปรับบริการได้ที่ไหน บริการเป็นอย่างไร         2. จำนวนสถานบริการมีไม่เพียงพอ ทำให้ต้องเดินทางไกลเพื่อเข้ารับบริการ สุพีชาบอกว่าในประเทศไทยมีโรงพยาบาล 1,300 แห่ง มีโรงพยาบาลและคลินิกที่ขึ้นทะเบียนให้บริการทำแท้งปลอดภัย 149 แห่ง แต่ให้บริการจริงเพียง 91 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นของเอกชน 21 แห่ง เปิดให้บริการใน 38 จังหวัดเท่านั้น          “เงื่อนไขที่โรงพยาบาลตั้งขึ้นเป็นเองก็แตกต่างกันและเป็นอุปสรรค” สุพีชา อธิบาย “ค่าบริการแตกต่างกัน บางแห่งต้องผ่านคณะกรรมการ บางแห่งให้บริการเฉพาะคนในจังหวัดหรืออำเภอเท่านั้น บางที่ให้บริการเฉพาะวัยรุ่นเท่านั้น และวัยรุ่นต่ำกว่า 20 ปีต้องมีผู้ปกครองซึ่งขัดกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข สถานบริการมีน้อยมากบวกกับถึงรู้แล้วว่าที่ไหนให้บริการก็ใช่ว่าจะได้รับบริการ ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ ผลคือต้องเดินทางไกลเพื่อเข้ารับบริการ”          3. ผู้รับบริการจำนวนไม่น้อยมีปัญหาค่าใช้จ่ายในการรับบริการ ค่าเดินทาง ค่าอาหารระหว่างเดินทาง ค่าผ้าอนามัย ค่าใช้จ่ายของคนที่มาด้วย ค่าจ้างคนดูแลลูก ค่าบริการปรึกษาด้านจิตใจ และสูญเสียรายได้จากการหยุดงานหรือบางรายที่ทำงานไม่ให้หยุด          “การรับบริการเป็นเรื่องชนชั้น คนรวยจะมีหนทางเยอะแยะ เลือกรับบริการได้เร็ว ดีที่สุด สบายใจ สบายตัวที่สุด แต่ถ้าคุณตกงาน เป็นนักเรียนนักศึกษา ทำงานโรงงาน ทางเลือกของคุณมันตีบตันมากและเราก็พบว่าคนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ที่เข้ามารับคำปรึกษา”          4. พบว่าผู้รับบริการถูกปฏิเสธ ไม่มีการส่งต่อ ถูกตีตรา เลือกปฏิบัติ และพบเจอบริการที่ไม่เป็นมิตร          5. ผู้ให้บริการถูกตีตรา มือเปื้อนเลือด เห็นแก่เงิน ไร้จริยธรรม เนื่องจากภาครัฐขาดการประชาสัมพันธ์ การถูกตีตรายังมีอยู่อย่างรุนแรง สุพีชา กล่าวว่า          “อย่าปล่อยให้หมอที่ให้บริการต้องเคว้งคว้าง การประชาสัมพันธ์คือการคุยกับสังคมว่ารัฐบาลสนับสนุน กฎหมายสนับสนุน และไม่จำเป็นต้องมีกฎกระทรวง สุพีชายังเสนออีกว่านโยบายของกระทรวงสาธารณสุขต้องมีความชัดเจน ทำงานร่วมกันกับโรงพยาบาลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายและสามารถปฏิบัติได้ตามกฎหมาย ต้องเผยแพร่ข้อมูลที่ตั้ง เงื่อนไข ค่าใช้จ่าย และสิทธิในการทำแท้งให้ประชาชนทราบ สถานบริการที่ไม่ต้องการบริการจำเป็นต้องส่งต่อ          และจำเป็นต้องมีการกำหนดงบประมาณให้เพียงพอ ขยายจำนวนสถานบริการให้ครอบคลุมโดยเฉพาะต้องมีแผนงาน งบประมาณเพื่อปรับทัศนคติของผู้ให้บริการ มีการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการ จัดให้มีบริการใช้ยาด้วยตัวเองและโทรเวชกรรมเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง          รอดูกันว่าสิ้นปีนี้ระบบราชการไทยจะผลักประกาศกระทรวงสาธารณสุขออกมาได้หรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 แก็งคอลเซ็นเตอร์ระบาด เมื่อ กสทช. เชื่องช้า และผู้บริโภคต้องดูแลตัวเอง

        ‘ฉลาดซื้อ’ เคยนำเสนอเรื่องราวของ SMS หลอกลวงแพร่ระบาดสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้บริโภคมาแล้วครั้งหนึ่ง ไม่รู้ว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขไปอย่างไรบ้างเพราะทุกอย่างช่างเงียบเชียบ         ห้วงเวลาปัจจุบัน SMS หลอกลวงล้าสมัยเสียแล้ว ข่าวคราวที่นำเสนอบนหน้าสื่อ มิจฉาชีพใช้วิธีโทรศัพท์หาเหยื่อโดยตรง และโดนกันถ้วนหน้าตั้งแต่นักเล่าข่าวชื่อดัง เจ้าหน้าที่ตำรวจ จนถึงอัยการ ผู้พิพากษา         ปัจจุบัน โทรศัพท์ฉลาดแทบจะเป็นอวัยวะชิ้นหนึ่งของมนุษย์ ทุกคนจึงมีโอกาสที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงตัว พินิจพิจารณาปัญหานี้เราจะพบ 2 คำถามใหญ่ หนึ่งคือหน่วยงานรัฐซึ่งน่าจะมีกฎหมายและอำนาจจัดการที่ต้นทางหรือแกะรอยจึงไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ และสอง-มิจฉาชีพนำข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์มาจากไหนเสียงจากผู้เดือดร้อนสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพ         เอ (นามสมมติ) ร้องเรียนเข้ามาที่เพจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ว่าได้รับ SMS หลอกลวงบ่อยมากวันละ 4-5 ข้อความ มีเนื้อหาเกี่ยวกับพนันออนไลน์หรือหลอกให้กดรับเงิน ต่อมา SMS ซาลง เปลี่ยนเป็นการโทรถึงเธอโดยตรง มุขที่มิจฉาชีพใช้เป็นมุขดั้งเดิมอย่างการหลอกว่ามีพัสดุผิดกฎหมายส่งถึงหรือไม่ก็ชวนลงทุน         แน่นอนว่าตัวเธอไม่ได้หลงเชื่อ แต่ประเด็นที่เธอเป็นห่วงคือคุณตาและคุณพ่อหรือก็คือผู้สูงอายุโดยทั่วไปที่อาจหลงเชื่อ         “พ่อก็เคยได้รับเหมือนกัน ตอนนั้นอยู่ด้วยกัน พ่อก็งงว่าไม่ได้สั่งของแต่ดีเอชแอลโทรมา ลองนึกว่าถ้าเป็นคนแก่แบบคุณตาเรา อยากให้ SMS หลอกลวงหมดไปเลยดีกว่า บล็อกไปเลยได้ไหม พนันออนไลน์ หรือชวนให้กู้ยืมนี่นั่น”         ไม่นานมานี้ที่เว็บไซต์ www.change.org มีผู้ใช้รายหนึ่งชื่อ หนู ซึ่งถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงินไปถึง 4 ล้านบาท เธอได้ทำแคมเปญ ‘ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดช่องโหว่ไม่ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีที่ยืนในสังคม!’ เนื้อหาระบุว่า         “ดิฉันถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเอาเงินไป 4,016,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ดิฉันทำมาหากินและเก็บมาทั้งชีวิต ดิฉันมีอาชีพเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร เลี่ยงเรื่องการเปิดเผยเบอร์โทรศัพท์ไม่ได้ และไม่สามารถเลี่ยงไม่รับเบอร์แปลกได้ ดิฉันไม่รู้ว่าเงินทั้งชีวิตของใครจะต้องตกเป็นเหยื่อของแก๊งพวกนี้อีก ดิฉันกินข้าวทั้งน้ำตามาหลายมื้อ ยืนก็ร้อง นั่งก็ร้อง มันสุดแสนทรมานใจ ดิฉันเข้าใจความรู้สึกสูญเสียว่ามันฆ่าชีวิตคนบริสุทธิ์ได้เลย         “รอบนี้เป็นรอบที่ 4 ที่ ดิฉันถูกแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์หลอก เหมือนกับแก๊งเหล่านี้ลิสต์เอาไว้ว่าดิฉันไม่สนใจเบอร์อะไรแล้วไม่ใช้เบอร์นั้นโทรมาอีก จนถึงเบอร์ล่าสุดที่มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหาดิฉัน ในรอบนี้พวกเขาให้ดิฉันวิดิโอคอลกับชายแต่งเครื่องแบบเหมือนตำรวจที่พูดด้วยน้ำเสียงข่มขู่ ซึ่งเป็นการหลอกที่ต่างจากทุกครั้ง และแสดงให้เห็นว่าวิธีการก่อเหตุของแก๊งคอลเซ็นเตอร์พัฒนามากขึ้นแล้ว         “หลังโอนเงินแล้วดิฉันเริ่มหาข้อมูลจนพบว่านี่น่าจะเป็นการหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดิฉันจึงไปธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นธนาคารที่ดิฉันเปิดบัญชีไว้เพื่อขอให้ระงับการโอนเงินทันที แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารบอกว่าดิฉันต้องมีใบแจ้งความมาแสดง เมื่อดิฉันนำใบแจ้งความมาแสดงถึงจะอายัดได้ ธนาคารยังบอกว่าขอส่งใบแจ้งความตัวจริง (ทางไปรษณีย์) เผื่อไปตรวจสอบบัญชีของผู้ร้าย รอหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบ ส่งไปส่งมา เงินมันก็ลอยไปถึงไหนแล้ว แค่ร้องทุกข์ผ่านคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารต่างๆ ยังรอสายเป็นชั่วโมง เป็นระบบที่แย่มากจริงๆ”         ผู้จัดแคมเปญรายนี้เรียกร้อง เธอใช้คำว่า ‘ขอวอน’ ไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่า        1. ตำรวจควรเร่งจับคนรับเปิดบัญชีปลอม ถ้าไม่มี แก๊งมันก็ทำงานไม่ได้ และประชาสัมพันธ์ถึงโทษทางอาญาและอัตราปรับของการเปิดบัญชีปลอมอย่างทั่วถึง        2. ธนาคารควรให้ความร่วมมือลูกค้าและรีบอายัดบัญชี เงินเข้า-ออกปลายทางทั้งหมดของผู้เกี่ยวข้อง ดิฉันเข้าใจว่าดิฉันผิดพลาดที่โอนเงินเอง แต่ถ้ามีสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในบัญชี เช่น ลูกค้าคนนี้อยู่ๆ โอนเงินเยอะจนหมดบัญชี หรือมีบัญชีที่เงินโอนเข้าจำนวนเยอะๆ แล้วโอนออกภายในไม่กี่วินาที จนเงินในบัญชีเหลือหลักหน่วย ธนาคารควรมีมาตรการตรวจสอบไม่ใช่หรือ?        3. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมควรรวบรวมข้อมูลของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น บัญชีธนาคาร หมายเลขโทรศัพท์ และชื่อ-สกุล ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นส่วนหนึ่งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไว้เป็นฐานข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้โดยง่าย         “ดิฉันเป็นประชาชนคนหนึ่งที่อยากได้ความปลอดภัย ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใครแล้ว จึงขอให้รัฐและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดช่องโหว่ทุกอย่างที่ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำงานได้และแก้ไขขั้นตอนที่ยุ่งยากเวลาเจออาชญากรรรมนี้เพื่อปกป้องประชาชนต่อไป”         เสียงจากหนึ่งในผู้เดือดร้อนจำนวนมากที่ส่งถึงรัฐโดยตรงสามารถสะท้อนประสิทธิภาพการทำงานของรัฐได้เป็นอย่างดีกสทช. ต้องทำงานเชิงรุก         หน่วยงานหนึ่งด้านโทรคมนาคมที่ ‘ฉลาดซื้อ’ ได้เอ่ยถึงไปแล้วในสกู๊ปก่อนหน้านี้คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่น่าจะบรรเทาปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมก็ยังไม่แอคทีฟอย่างที่ควรจะเป็น         สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Collaborative Fact Checking หรือ Cofact ประเทศไทย กรรมการนโยบายสภาองค์กรผู้บริโภค และอดีต กสทช. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นงานของ กสทช. โดยตรงที่ต้องกำกับดูแลให้เกิดการบริการที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้บริโภค         เธอแสดงทัศนะว่าสิ่งที่ กสทช. ทำได้ ณ เวลานี้คือการตรวจดูกฎ กติกา และประกาศล่าสุดต่างๆ ของ กสทช. ว่ามีจุดใดที่ล้าสมัย ต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการในด้านการบังคับผู้ได้รับใบอนุญาตหรือว่าค่ายมือถือในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ เช่น การทำกลไกป้องกันตั้งแต่ต้นทางโดยให้ผู้บริโภคแสดงความจำนงไม่รับข้อความ SMS ที่ไม่พึงปรารถนา รวมถึง SMS ที่มาจากเบอร์ที่ไม่รู้จัก หรือไม่ใช้เบอร์ที่มีนิติบุคคลรองรับเป็นทางการ เช่น โรงพยาบาล ธนาคาร เป็นต้น         “แต่ตรงนี้ กสทช. อาจจะอ้างว่าต้องแก้กฎหมาย ต้องรีวิวก่อนว่ามีกฎหมายอะไรที่ยังไม่เอื้อ ทั้งในประกาศที่อยู่ในอำนาจของ กสทช. เองหรือที่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ เช่น การรับส่งสแปมข้อความที่ไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย ต้องไปดู กฎ กติกาก่อนว่ามีอะไรเป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถจะบังคับใช้ได้ ส่วนอะไรที่บังคับใช้ได้แล้ว เอกชนยังไม่ทำก็ต้องมีบทลงโทษที่เด็ดขาด”         นอกจากการจัดการแก้ไขสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว สุภิญญาเห็นว่า กสทช. ควรมีวิสัยทัศน์ทำงานเชิงรุกไปข้างหน้าโดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเช่นในต่างประเทศ เธออธิบายว่า กสทช. อาจจะทำระบบหลังบ้านให้ผู้บริโภคสามารถกดร้องเรียนเบอร์มิจฉาชีพคล้ายๆ การรีพอร์ตของโซเชียลมีเดีย โดยร่วมกับผู้ให้บริการมือถือหรือ กสทช. ทำระบบขึ้นเอง         “เวลาคนได้รับ SMS เบอร์ไม่พึงประสงค์ เบอร์มิจฉาชีพ ทำยังไง จะกดโทร ร้องเรียนได้ทันที โดยแจ้งเบอร์นั้นไปที่ Database ของรัฐ มันเป็นข้อมูลหลังบ้าน เป็น Data Center แล้ว กสทช. ก็ประมวลข้อมูล วิเคราะห์ โดยใช้ AI หรือใช้คน และหาที่มาว่าต้นตอมาจากไหน จะได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไข เช่น ให้ตำรวจไปดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อ ในขั้นนี้อาจทำงานร่วมกับตำรวจก็ได้         “ให้ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนเข้าสู่ระบบ สมมติเบอร์นี้มีคนร้องเรียนเกินพันหรือหมื่น เวลาเขาโทรไปเบอร์ใครจะได้ขึ้นเตือนอัตโนมัติได้ว่าเบอร์นี้ให้ระวัง เป็นมิจฉาชีพ ซึ่งตอนนี้ประชาชนก็สามารถดาวน์โหลดแอพฯ Whoscall มาทำลักษณะนี้ได้ซึ่งเป็นของเอกชน ประเด็นคือทำไมภาครัฐไม่ทำเอง โดยเอาข้อมูลจากหลังบ้านตรงนั้นไปวิเคราะห์เพื่อหาทางป้องกันแก้ไขต่อไป เพราะว่าคนที่มีฐานข้อมูลเบอร์โทรมากที่สุดคือค่ายมือถือและ กสทช.”         การนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้เกิด        1. การบูรณาการการทำงาน        2. ทำให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที และ        3. สร้างช่องทางให้ประชาชนสามารถร้องเรียนได้อย่างรวดเร็ว         “ไม่ใช่พอถูกมิจฉาชีพโทรมา ต้องวางหู ต้องโทรไป 1200 กสทช. รอนาน แล้วต้องส่งเลขที่บัตรประชาชน ต้องให้รายละเอียด จากนั้นโทรไปธนาคาร จากนั้นโทรไปสถานีตำรวจ ต้องโทรไปนั่นไปนี่ มันไม่เวิร์ค มันควรต้องมีการทำระบบ One Stop Service มีการบันทึกหลักฐาน แจ้งร้องเรียน โดยที่ตัวตนของผู้ร้องเรียนก็ผูกกับเบอร์มือถืออยู่แล้ว มันก็ไม่จำเป็นต้องใช้บัตรประชาชนเหมือนที่ต้องทำทุกวันนี้”         สุภิญญาย้ำว่า กสทช. ควรทำงานเชิงรุกเพราะมีศักยภาพที่จะทำจุดนี้ได้ เงินกองทุนที่เก็บจากผู้ให้บริการเครือข่ายควรนำมาจัดทำระบบดังกล่าว นอกเหนือจากการปรับปรุงกฎหมายและกำหนดบทลงโทษให้ทันสมัยขึ้นจึงจะรับมือมิจฉาชีพยุค 5G ได้ เธอย้ำว่าปัจจุบันการจัดสรรคลื่นทำไปมากแล้ว กสทช. ควรเน้นบทบาทการกำกับดูแลให้มากขึ้น         อีกส่วนที่เป็นอำนาจ กสทช. โดยตรงต่อไปคือการกำกับดูแลไม่ให้ฐานข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลไปสู่ มิจฉาชีพ ซึ่งตรงนี้สามารถใช้เทคโนโลยีตรวจสอบได้และต้องสร้างระบบตรวจสอลผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเป็นระยะ         การทำงานของ กสทช. ที่ผ่านมามีกระบวนการค่อนข้างล่าช้า เน้นตัวบทกฎหมาย ทั้งที่ตนเองมีอำนาจและทรัพยากรในมือให้กระตุ้นการทำงานหรือลงโทษผู้ให้บริการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นบทบาทที่หายไปของ กสทช.สิทธิของผู้บริโภคและ PDPA ในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล         อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้บริโภคควรรู้ซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลคือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ (ถ้าไม่ถูกเลื่อนออกไปอีก) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ควบคุมและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคและไม่นำไปใช้นอกเหนือขอบเขตของความยินยอมและสัญญา (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทสัมภาษณ์ ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์: ทำความรู้จักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก่อนใช้จริง ฉลาดซื้อ|นิตยสารออนไลน์ - ฉบับที่-252-ผศ.ศุภวัชร์-มาลานนท์:-ทำความ... (chaladsue.com) )         ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์ จากบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวในเชิงแนะนำว่า         “ผมเชื่อว่าพอกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับจริงๆ พวก Direct Marketing จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบในแง่ที่ว่า การทำงานจะต้องมีขั้นตอนกระบวนการมากขึ้น อย่างทุกวันนี้เวลาใครโทรมาขายของกับผม ผมจะถามว่าคุณเอาข้อมูลผมมาจากไหน สอง          ผมจะบอกว่าผมไม่สนใจสินค้าและบริการนี้ กรุณาถอดรายชื่อผมออกจากบัญชีลูกค้าหรือบัญชีคนที่คุณจะติดต่อ อันนี้คือวิธีการที่ผมตอบไปกับคนที่โทรมาขายของ         “ถ้ากฎหมาย PDPA ใช้บังคับ หลักการประมวลผลต้องมีฐานทางกฎหมาย คนที่โทรมาต้องตอบได้ว่าเขามีสิทธิอะไรถึงเอาข้อมูลเรามาใช้ เราตั้งคำถามได้ทันทีเลยว่าเอาข้อมูลของเรามาจากไหน ทุกวันนี้ธนาคารกับค่ายมือถือเขาใส่ใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะรู้แล้วว่าการทำ Direct Marketing มีข้อจำกัด เขาจะทำอย่างระมัดระวัง คราวนี้ก็ยังอาจจะมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะยังไม่รับรู้หรือตระหนักมากนัก และอาจจะต้องให้เวลาเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับภาคธุรกิจบางส่วน”         เมื่อกฎหมายบังคับใช้เต็มรูปแบบ ผู้บริโภคสามารถตั้งคำถามกับทุกองค์กรได้ว่านำข้อมูลส่วนตัวของตนมาใช้ได้อย่างไร เอามาจากไหน และมีสิทธิให้องค์กรนั้นๆ ยุติการประมวลผลและลบข้อมูลของตน         นอกจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ PDPA แล้ว การรวมตัวกันของภาคประชาสังคมเป็นชุมชนคอยย้ำเตือน สอดส่อง ทำระบบร้องเรียน และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้บริโภคกับหน่วยงานรัฐก็น่าจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาได้         สุดท้ายแล้ว ปัญหานี้ยังเชื่อมโยงกับ Technology Literacy หรือการรู้เท่าทันเทคโนโลยีและ Cyber Literacy หรือการรู้เท่าทันด้านไซเบอร์ของผู้ใช้ที่ต้องหมั่นเรียนรู้วิธีใช้เทคโนโลยี การตั้งค่าอุปกรณ์ การทำความเข้าใจลักษณะสัญญาก่อนคลิก และอื่นๆ         อีกหนทางหนึ่งที่น่าจะส่งผลดีและป้องกันได้คือชะลอชีวิตให้ช้าลงก่อนจะกดปุ่ม 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 “คดีที่ยังไม่ปิด” ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 10 คดี

        หลายคดีใช้เวลาในการตัดสินคดีที่ค่อนข้างนานและมีขั้นตอนมาก อาจทำให้ผู้บริโภคที่รอคอยบทสรุปของคดีไม่รู้ว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเปิดแฟ้มอัพเดตสถานการณ์ล่าสุดของคดีมูลนิธิฯ 10 คดี ที่ยังไม่ปิดคดีหรือศาลยังไม่ได้พิพากษาถึงที่สุด เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าในแต่ละคดีว่าอยู่ในขั้นตอนไหนบ้าง1.คดีค่าทางด่วนโทลเวย์         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับประชาชนผู้บริโภค ยื่นฟ้องกรมทางหลวง อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ ข้อ 5 แห่งบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งที่ 3/2550 ที่มีสาระสำคัญว่า ให้บริษัทฯ ขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ขยายอายุสัมปทานออกไปจากเดิมอีก 27 ปี นับจากวันที่ทำสัญญา ฯลฯ พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า ให้เพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ และมติคณะรัฐมนตรีที่แก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ให้เอกชน         หลังจากนั้น บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ประกาศขึ้นราคาค่าผ่านทางด่านดอนเมืองโทล์เวย์ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2562 ราคาใหม่ รถ 4 ล้อ จาก 55 บาท เป็น 85 บาท และรถมากกว่า 4 ล้อ จาก 95 บาท เป็น 125 บาท และจะขึ้นราคาอีก 15 บาท ทุกๆ 5 ปี ตลอดอายุสัมปทาน โดยบริษัทฯ อ้างสิทธิที่ทำได้ เนื่องจากรัฐผิดสัญญากับบริษัทฯ แต่แท้จริงแล้วบริษัทไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการโดยอ้างอิงมติได้อีกต่อไป คำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลผูกพันหรือเพิกถอนมติไปแล้ว จะอ้างว่าคำสั่งยังไม่ถึงที่สุดแล้วใช้มตินั้นดำเนินการต่อไปนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านทางส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานฯ ไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ศาลไม่รับคำขอดังกล่าว โดยพิจารณาว่า เป็นความเดือดร้อนที่หลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดินอยู่ใต้ทางยกระดับที่สามารถใช้จราจรไปมาได้         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยวันที่ 29 เมษายน 2564 มูลนิธิฯ ส่งหนังสือเร่งรัดติดตามผลการดำเนินคดีถึงประธานศาลปกครองสูงสุด และได้รับการตอบรับว่าแจ้งประธานศาลปกครองสูงสุดและให้ส่งหนังสือถึงตุลาการเจ้าของสำนวนแล้ว2.คดีแคลิฟอร์เนียว้าว             บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ปิดสถานบริการ โดยไม่แจ้งสมาชิกล่วงหน้า ทำให้สมาชิกรายปีและสมาชิกตลอดชีพที่ชำระเงินล่วงหน้าไปแล้วได้รับความเดือดร้อน จึงดำเนินการฟ้องคดีฉ้อโกงประชาชน และให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมูลฐาน มูลค่ารวมกว่า 88 ล้านบาท และให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายยื่นต่อศาล และให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคืนให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานต่อไป         ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และให้ไต่สวนมูลฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 นายแอริค มาร์ค เลอวีน ต่อมาพบปัญหาโจทก์ว่าไม่สามารถหาที่อยู่ของจำเลยในประเทศแคนาดาเพื่อจัดส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ศาลจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดประกาศไว้ที่ศาลแทนและประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย แต่จำเลยไม่มาศาล ดังนั้นศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนคดีไม่มีกำหนดและออกหมายจับ มีอายุความ 10 ปี แต่เนื่องจากคดีนี้นับจากการเริ่มกระทำความผิดทำให้หมายจับมีอายุความเหลืออยู่ 3 ปี และได้คัดสำเนาหมายจับทั้งหมด 5 ใบ ส่งไปถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานอัยการเพื่อตรวจสอบการเดินทางออกนอกประเทศของจำเลย ต้องจับตัวจำเลยก่อนจึงจะพิพากษาได้ แต่ถ้ายังจับไม่ได้ภายใน 3 ปีถือว่าคดีจบลง3.คดีกระทะโคเรียคิง         เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ที่นำเข้ากระทะยี่ห้อโคเรียคิง เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืนและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาชั้นไต่สวนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม4.คดีเพิร์ลลี่         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ ได้แก่ เพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น พลัส ได้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนทั่วไปว่า เมื่อใช้แล้วจะผิวขาว แต่เมื่อผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์เป็นประจำ กลับพบว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา แพทย์ที่รักษาวินิจฉัยว่า ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้         วันที่ 18 กันยายน 2560 ผู้เสียหายยื่นฟ้องนางอมรรัตน์ ก่อเกียรติศิริกุล ผู้ผลิตโลชั่นทาผิวยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 และศาลอุทธรณ์ภาค 9  อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม         วันที่ 27 ธันวาคม 2561 หลังจากดำเนินคดีในศาลชั้นต้นเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน ก็ได้พิพากษาให้ชำระเงิน แก่โจทก์ 4 คน และสมาชิกกลุ่มกว่า 40 คน รวมทั้งหมดประมาณ 40 ล้านบาท และห้ามมิให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น พลัส และให้ชำระเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท ให้แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ และค่าทนายจำนวน 30,000 บาท ให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โจทก์จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาในประเด็นเงินรางวัลทนายความที่ศาลกำหนดให้ต่ำเกินไป        วันที่ 26 มกราคม 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งในชั้นขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ว่า หากจำเลยประสงค์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไป ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลและค่าฤชาธรรมเนียม มาชำระค่าศาลชั้นต้น ภายใน 15 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 19 มกราคม 2565 การจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาให้วางค่าธรรมเนียมศาล เพราะจำเลยยื่นฎีกา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกานั้น ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นนำฎีกาเรื่องค่าธรรมเนียมศาลของจำเลย ไปให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อ5.คดีฟ้องกลุ่ม ดีแทคและเอไอเอส คิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาที         วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 กลุ่มผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีสามค่ายมือถือใหญ่ คือ ทรู (TRUE) เอไอเอส (AIS) และ ดีแทค (DTAC) จำนวน 3 คดี เนื่องจากบริษัทผู้ให้บริการคำนวณค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีทุกครั้งของการโทร ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินจริง ทั้งแบบระบบรายเดือน และ/หรือระบบเติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 23 เดือน เป็นเงินคนละ 465 บาท ต่อหนึ่งเลขหมายโทรศัพท์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และขอศาลกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษเป็นเงินจำนวน 5 เท่าของความเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง ในการยื่นฟ้องครั้งนี้ ค่ายมือถือ TRUE ขอไกล่เกลี่ยตกลงเยียวยาผู้บริโภค ส่วน AIS และ DTAC แม้จะมีการเจรจาแต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มคดีกลุ่มเอไอเอส         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 21 มีนาคม 2565คดีกลุ่มดีแทค         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นยกฟ้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 1 มีนาคม 25656.คดีอาญาทุจริต ฟ้องคณะรัฐมนตรี (คดีท่อก๊าซ ปตท.)         วันที่ 14 ธันวาคม 2550 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นร่วมผู้ฟ้องคดีปกครองเรื่อง พิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา ต่อผู้ถูกฟ้องคดี 4 ราย คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550         วันที่ 2 เมษายน 2558 ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้ตรวจสอบว่า มีการปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ โดย คตง. มีมติว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ได้แบ่งแยกทรัพย์สินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายมากกว่า 32,613.45 ล้านบาท โดยเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่เสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินให้คณะรัฐมนตรี และการเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัท มีเนื้อหาเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริง         วันที่ 5 มิถุนายน 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน ได้แก่ นายพรชัย ประภา, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, นายอำนวย ปรีมนวงศ์, นายนิพิธ อริยวงศ์, นายจตุพรหรือธนพร พรหมพันธุ์, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, นายสุพจน์  เหล่าสุอาภา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท.ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้อยู่ในศาลอุทธรณ์อาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้เสียหาย และดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ศาลอาญามีคำสั่งให้รอผลการดำเนินการคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน แล้วแถลงคำชี้แจงของป.ป.ช. กับศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2564         ความคืบหน้าล่าสุด นัดพร้อมเพื่อฟังผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 25657.คดีผู้เสียเสียหายจากการใช้สารเคมีพาราควอต         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีส่วนผสมของ สารพาราควอตไดคลอไรด์ ใช้ชื่อทางการค้าว่า “ก๊อกโซน” เมื่อใช้แล้วได้รับอันตรายต่อสุขภาพ ต้องทุกข์ทรมานจากการรักษาโรคเนื้อเน่า สูญเสียอวัยะ หรือถึงแก่ความตาย จึงได้ฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายให้โจทก์ 2 ราย และสมาชิกกลุ่ม พร้อมทั้งให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม และให้วางเงินค่าใช้จ่ายประกาศหนังสือพิมพ์ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 28 มกราคม 25658.คดีอาญาที่นอนยางพารา         ผู้เสียหายจากกรณีซื้อสินค้า ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา ปลอกหมอน และอื่นๆ ผ่านเฟซบุ๊คเพจ ชื่อ น้องของขวัญนำเข้าสินค้าราคาโรงงาน, ร้านถุงเงิน, Bed room, Perfect room, Best slumber ที่นอนในฝัน, Best slumber ซึ่งผู้เสียหายหลงเชื่อโฆษณาสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า โดยโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่แต่ละเพจแจ้ง ซึ่งบางเพจเป็นชื่อบุคคลเดียวกัน ผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความ และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และทุจริตหลอกหลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ฟ้องคดีทั้งหมด 5 คดี ความคืบหน้าล่าสุด        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2563 อยู่ระหว่างเตรียมยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง คือไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากตกลงซื้อขาย ไม่ใช่การหลอกหลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1341/2563 นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย และนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 24 เมษายน 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.3995/2563 กำหนดนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ในวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.590/2563  ศาลพิพากษายกฟ้อง ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 และยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1566/2563 เลื่อนนัดฟังคำพิพากษา ของนัดในวันที่ 14 มกราคม 2565 9.คดีปกครองเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า         เนื่องจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีคำสั่งอนุญาตให้รวมธุรกิจ ระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส ทำให้รวมเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าร้อยละ 83.97 ทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างอิสระ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดร้านค้าส่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้า ที่กำลังจะเข้าสู้ตลาดในอนาคต ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรมวันที่ 15 มีนาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล ร่วมกันยื่นฟ้อง กขค. และศาลเรียกให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ฟ้องคดียื่นคำคัดค้านคำให้การของกขค. ซีพีและเทสโก้ และวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ศาลมีคำสั่งให้รวมสำนวนคดีของผู้ประกอบการรายย่อยที่ฟ้องในประเด็นเดียวกันเข้าด้วยกัน แล้วพิจารณาพิพากษารวมกันไป10.คดีธนาคารออมสินฟ้องผู้เสียหายสามล้อ         กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างสาธารณะ จำนวน 38 ราย ถูกสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ยื่นฟ้องกรณีแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน, แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนฯ และโกงเจ้าหนี้ ซึ่งความเป็นมานั้น กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างได้จดทะเบียนสิทธิรถยนต์สามล้อรับจ้างใหม่ และต้องการซื้อรถสามล้อ จึงติดต่อกับสหกรณ์บริการจักรเพชร เพื่อให้จัดหารถยนต์สามล้อและแหล่งเงินกู้ ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้ติดต่อให้ผู้ขับรถสามล้อรับจ้าง เข้าไปทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน กับเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน โดยจัดเตรียมเอกสารจำนวนมากให้ลงชื่อ ตามที่เจ้าหน้าที่ชี้บอก ทำให้ไม่รู้ว่าแต่ละคนกู้เงินจำนวนเท่าไร รู้แค่สรุปการจ่ายสินเชื่อของสหกรณ์ฯ ค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ รวมเป็นเงิน 345,000 บาท แต่ภายหลังผู้ขับรถสามล้อรับจ้างถูกธนาคารออมสินฟ้องให้คืนเงิน ซึ่งระบุยอดหนี้เงินกู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 400,000 ถึง 500,000 บาท ซึ่งสูงกว่าที่สหกรณ์แจ้งไว้ จึงได้จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง พบว่าเงินกู้จากธนาคารออมสิน ได้โอนให้กับสหกรณ์ฯ และเมื่อนำสัญญาหนี้กู้ยืมเงินของธนาคาร มาหักกับค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ จำนวน 345,000 บาท มีส่วนต่างอยู่ที่สหกรณ์รายละ 55,000 ถึง 155,000 บาท         ความคืบหน้าล่าสุด อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์และจำเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 SMS หลอกลวง’ และโลกดิจิตอลในมือผู้บริโภค

317 ล้านบาทคือมูลค่าความเสียหายจาก SMS หลอกลวงต่างๆ 131 Sender Name ที่ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) แถลงร่วมกันเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564        เป็นตัวเลขไม่น้อย แต่เชื่อเถอะว่ามูลค่าความเสียหายจริงที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้สูงกว่าหลายเท่า                  ปัญหา SMS หลอกลวงไม่ใช่เพิ่งเกิด มันวิวัฒนาการเรื่อยมาตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แค่คุณเผลอคลิกลิงค์แปลกที่ปรากฏในกล่องข้อความ ข้อมูลส่วนบุคคลของคุณก็สามารถถูกแฮ็กได้         ถามว่านี่เป็นความรับผิดชอบของใคร ถ้าคำตอบของคุณคือผู้กำกับดูแลและผู้ให้บริการเครือข่าย คำตอบของคุณไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูก เพราะเอาเข้าจริงเรื่องนี้มีผู้เล่น 4 ฝ่ายที่นอกจากจะมี 2 รายชื่อแรกที่กล่าวไปแล้ว ยังมีผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและผู้ใช้        ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์บอกว่าคนที่มีบทบาทมากที่สุดก็คือผู้ใช้หรือตัวคุณนั่นเอง ความเดือดร้อนของผู้บริโภค         SMS หลอกลวงมาในหลายรูปแบบ เช่น การแอบอ้างธนาคาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปรษณีย์ แอปกู้เงิน ไปจนถึงเว็บการพนัน เว็บที่มีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เรียกร้องให้คุณโอนเงินกลับไปไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่ก็พยายามล่อหลอกความอยากรู้อยากเห็น ความโลภ หรือใช้ความเดือดร้อนให้คุณคลิกลิงค์เข้าไปก่อนจะตกเป็นเหยื่อในที่สุด         “SMS ปล่อยกู้ก็มีบางคนลองกู้แต่เงินที่ได้ก็ไม่ครบ เมื่อคลิกลิงค์มันจะให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น และจะมีวิธีให้ผู้ใช้ลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบสินเชื่อ บางคนก็โดนหลอกว่าถ้าลงทะเบียนผิดต้องปลดล็อคช่วยโอนเงินมาเพื่อปลดล็อค ประเด็นคือพอสมัครไปมันจะให้เราอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ พอกู้เงินเสร็จก็จะมีคนโทรเข้าไปบอกคนอื่นว่าเราเป็นหนี้หรือไปทวงหนี้กับคนอื่น หรือบางทีก็เอารูปผู้กู้ เนื่องจากตอนที่กู้ต้องส่งรูปบัตรประชาชนให้ มันก็เอาไปขู่” นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว         ในมุมของนฤมล กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแลหลักดูจะย่อหย่อนและเชื่องช้ากับหน้าที่ส่วนนี้ สิ่งที่เธอเห็นว่า กสทช. ควรทำและสามารถทำได้ทันทีคือการสั่งผู้ประกอบธุรกิจกิจการโทรคมนาคมบล็อกไม่ให้มิจฉาชีพเข้าถึงโทรศัพท์ของผู้รับได้ ต้องสร้างระบบที่ผู้บริโภคต้องให้ความยินยอมก่อน ไม่ใช่ให้ค่ายโทรศัพท์มือถือนำเบอร์ไปใช้ทำธุรกิจหรือส่งให้ผู้ผลิต Content Provider อื่นๆ         กสทช. ควรบังคับใช้อย่างจริงจังตามอำนาจที่ตนเองมีสั่งปรับค่ายมือถือ มิใช่ปล่อยให้ผู้เสียหายเป็นฝ่ายร้องเรียนไม่จบสิ้น         “แต่ก่อน กสทช. ออกหมายเลขดอกจัน 137 เพื่อยกเลิกข้อความ” นฤมล เล่าถึงปัญหาที่ไม่ถูกแก้ไข “แต่สักพักก็กลับมาอีก เป็นภาระของเราหรือเปล่า มันแก้ปัญหาไม่ได้ก็ร้องเรียน กสทช. ก็จัดการแค่ไกล่เกลี่ย ทั้งที่บางคนถูกละเมิดสิทธิ์เอาข้อมูลเขาไปใช้ทำให้เสียหาย หรือเอาข้อมูลของเขาไปหลอกลวงคนอื่นอีกที”         แต่เรื่องนี้ซับซ้อนกว่าที่คิด Business Model ของการส่ง SMS         นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า เพราะตัวละครมีหลายชั้นการบล็อกข้อความจึงไม่ง่าย เขายกตัวอย่างว่ามีการหารือกับค่ายมือถือเรื่องนี้ ปรากฏว่ามีผู้ใช้บริการไม่ได้รับหมายเลข OTP ที่ใช้เป็นรหัสผ่านจากหน่วยธุรกิจต่างๆ ติดร่างแหด้วย การเข้าใจประเด็นนี้ เขาบอกว่าต้องเข้าใจ Business Model ของการส่ง SMS         ผู้ให้บริการโทรคมนาคมขาย SMS 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือขายเหมาให้แก่หน่วยธุรกิจที่นำไปใช้งานโดยตรง เช่น ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า โรงแรม แล้วธุรกิจเหล่านี้จะทำการส่ง SMS ออกไป         รูปแบบที่ 2 คือการขายเหมาผ่านคนกลางซึ่งต้องมีใบอนุญาตจาก กสทช. ตัวอย่างเช่น บริษัทเอซื้อ SMS เหมาจำนวน 50,000 ข้อความ เพื่อขายต่อให้แก่หน่วยธุรกิจอื่นๆ เช่น บริษัทบีซื้อ SMS 10,000 ข้อความ นอกจากบริษัทเอจะขายให้แล้วยังบริการส่งข้อความให้เสร็จสรรพ จุดนี้เองที่มิจฉาชีพสอดแทรกเข้ามา         “เขา (ผู้ที่รับซื้อเหมาไปขายต่อ) บอกว่าจริงๆ แล้วเขาไม่รู้ว่าข้อความที่ส่งมาหลอกลวงหรือเปล่าเพราะโดยหลักแล้วมันเหมือนจดหมาย เขาทำหน้าที่เป็นแค่ไปรษณีย์ ไม่มีอำนาจเปิดซองอ่านข้อความ ตอนนี้ปัญหาเกิดขึ้นอีกชั้นหนึ่งคือคนที่ซื้อเหมามาขายต่ออาจจะไม่ได้ขายกับลูกค้าโดยตรง แต่มีมือสามมือสี่มาซื้อต่อซึ่งพวกนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้ใบอนุญาตของ กสทช. พวกมือสามมือสี่ก็ยิ่งไม่ต้องกรองลูกค้าเพราะกำไรมาจากการขายอย่างเดียว จะขายมิจฉาชีพก็ไม่สน หลักการเดียวกันเขาจะอธิบายว่าข้อความนั้นเขาไม่รู้ว่าเป็นมิจฉาชีพเพราะเขาเปิดไม่ได้มีหน้าที่แค่อำนวยความสะดวกในการส่ง ปัญหามันก็เลยยิ่งแก้ยากขึ้นระดับหนึ่ง” นพ.ประวิทย์ อธิบาย หลายหน่วยงาน หลายกฎหมาย หลายขั้นตอน         เรื่องหน่วยงานกำกับดูแลก็ทำให้การแก้ปัญหาไม่เป็นเอกภาพ นพ.ประวิทย์ กล่าวยอมรับว่า หน้าที่ของ กสทช. จริงๆ คือรับหน้าเสื่อผู้บริโภคและการจัดการกับผู้ให้บริการเครือข่าย รวมถึงผู้ให้บริการลำดับถัดไป ไม่มีอำนาจดูแลเนื้อหาในส่วนโทรคมนาคม        กรณีแอปเงินกู้หลอกลวงหรือคิดดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ส่วนนี้อยู่ในความดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย         กรณี SMS ที่หลอกให้คลิกลิงค์แล้วถูกแฮ็กข้อมูล ส่วนนี้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ซึ่งมีกระทรวงดิจิตอลดูแลอยู่         นอกจากนี้ การเอาผิดมิจฉาชีพก็ยังติดขัดในแง่กระบวนการทางกฎหมายที่ต้องมีเจ้าทุกข์ร้องเรียน การค้นหาต้นทาง SMS สามารถทำได้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีได้ต้องมีผู้เสียหายมาแจ้งความ ซึ่งกรณี SMS หลอกลวงส่วนใหญ่มีการร้องเรียน แต่ไม่มีการแจ้งความ         “เพราะไม่รู้ว่าแจ้งความแล้วจะได้อะไรขึ้นมา ยกตัวอย่างเป็น SMS หลอกลวงว่าเป็นธนาคาร จริงๆธนาคารนั้นต้องเป็นผู้เสียหายเพราะถูกแอบอ้างชื่อปรากฏว่าธนาคารก็ไม่ยอมเป็นผู้เสียหายมาแจ้งความ เพราะถ้าแจ้งความจะเป็นภาระต้องไปดำเนินคดีต่อและเสียภาพลักษณ์ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเสียความมั่นใจ ธนาคารจึงทำไม่รู้ไม่เห็น ทำเรื่องให้เงียบที่สุด”         ยิ่งไม่ต้องพูดถึงกรณีผู้เสียหายเป็นผู้บริโภครายบุคคล ซึ่งการเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายมีต้นทุนสูงเกินกว่าจะยอมรับ             “ดังนั้น ปัญหา SMS จึงต้องมานั่งวิเคราะห์ว่ามีกี่แบบเพราะแต่ละแบบมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เหมือนกัน” นพ.ประวิทย์ กล่าว หนทางออก         อ่านแล้วเหมือนไม่มีหวัง ก็ไม่เชิง มีมาตรการบางอย่างที่ กสทช. ทำได้เพื่อป้องปรามและป้องกัน นพ.ประวิทย์ บอกว่า         “หนึ่งใครที่ขายต่อ SMS ต้องขออนุญาตทุกคน และสองกำหนด ID ผู้ส่งหรือ ID Sender ต้องมีการลงทะเบียนกลาง ถ้าใครจะมาส่งในนามของธนาคารต้องมีเอกสารหลักฐานถูกต้อง ไม่ใช่เหมือนตอนนี้ที่ใครจะตั้งอะไรก็ได้ ดังนั้น มิจฉาชีพก็ไปซื้อจากค่ายนี้ตั้งชื่อหนึ่ง ไปซื้อจากอีกค่ายก็ตั้งอีกชื่อหนึ่ง บล็อกชื่อหนึ่งมันก็ยังโผล่มาอยู่ดี    “ถ้าเราจัดการเรื่อง ID ของผู้ส่งได้ต่อไปมิจฉาชีพก็จะสวมรอยไม่ได้หรือส่งมาก็จะถูกบล็อก ID ของผู้ส่งนี้ก็จะหายไป พอรู้ว่า ID นี้ส่ง SMS หลอกลวงค่ายมือถือก็บล็อกไม่ให้ส่ง ถ้าจะขอ ID ผู้ส่งใหม่ก็ต้องไปพิสูจน์กันใหม่ มีการยืนยันตัวตน ถ้าทำระบบนี้สุดท้ายตำรวจจะจับได้เพราะขึ้นทะเบียนไว้หมดแล้วว่าใครส่ง แต่ตอนนี้ ID ผู้ส่งเป็นเสรีภาพอยากจะใช้ชื่ออะไรค่ายไหนก็ได้ ถ้าทำlv’ข้อนี้ผมคิดว่าปัญหาจะลดลงไปส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็คือเรื่องการดำเนินคดี ประสานกับผู้เสียหายอาจจะต้องมีการอำนวยความสะดวกให้”        ย้อนกลับไปที่นฤมล เธอเรียกร้องการแก้ปัญหา 3 ข้อ ได้แก่        1. กสทช. ต้องตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจและมีคำสั่งให้ทำเอกสารให้ผู้บริโภคยินยอมในการรับส่งข้อมูล         2. การบังคับใช้กฎหมายของ กสทช. ต้องทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่รอให้มีเรื่องร้องเรียนแล้วจึงบังคับใช้กฎหมาย        3. บังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562         “พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลจะทำให้ทาง Operator และ Content Providers ทั้งหลายรวมทั้งร้านค้าออนไลน์มีความระแวดระวังต่อข้อมูลของลูกค้ามากขึ้นในการที่จะเอาไปให้ Third Party ทำธุรกิจหรือทำ Big Data Analytics  หรือการส่งโปรโมชั่นการขาย” ปริญญา หอมเอนก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าว         หัวใจหลักของกฎหมายฉบับนี้ก็คือการที่หน่วยธุรกิจจะนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ทำธุรกิจหรือให้แก่หน่วยธุรกิจอื่นจะต้องได้รับความยินยอม (Consent) จากเจ้าของข้อมูลเสียก่อน มิฉะนั้นจะถือว่าผู้ที่นำข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมกระทำผิดกฎหมาย         ปริญญา ย้ำด้วยว่าเจ้าของข้อมูลมีสิทธิที่จะให้หรือไม่ให้ก็ได้ หน่วยธุรกิจไม่สามารถกำหนดว่าต้องยินยอมเพียงอย่างเดียว         พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 จึงเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหา SMS หลอกลวง อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูการบังคับใช้และเจตจำนงทางการเมืองของรัฐด้วยว่าจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองหรือเพื่อความมั่นคงของฝ่ายรัฐ Digital Literacy เพราะการควบคุมอยู่ในมือผู้ใช้         ดังที่กล่าวไปตอนต้น ปัญหา SMS หลอกลวงมีผู้เล่น 4 ฝ่าย เราจะเก็บผู้ใช้ไว้หลังสุด ตอนนี้มาดูกันก่อนว่าผู้เล่น 3 ฝ่ายมีบทบาทหน้าที่อย่างไร ปริญญา อธิบายตัวอย่างว่า         หน้าที่ของผู้ผลิตคือเปิด Default หรือค่าตั้งต้นทุกอย่างไว้เพื่อให้ผู้ใช้ปิดเองว่าต้องการกรองข้อมูลใดให้เข้ามาหรือไม่ หรือผู้ผลิตร่วมมือกับ Third Party ในการกลั่นกรองสแปม         หน้าที่ของผู้ให้บริการเครือข่ายซึ่งมีเทคโนโลยีที่ทำให้รู้ว่าแหล่งที่มาของสแปมมาจากที่ไหน ทำให้สามารถบล็อกจากแหล่งที่มาได้เลย และขึ้นเป็น IP Blacklist ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการเครือข่ายที่ทำได้         หน้าที่ของผู้กำกับดูแลอาจออกกฎว่าถ้ามี SMS สแปม ผู้ให้บริการเครือข่ายต้องลงทุนใช้เทคโนโลยีอะไรบ้างในการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน         แต่ถึงที่สุดแล้ว ปริญญากล่าวปัญหา SMS หลอกลวงไม่มีทางแก้ได้แบบหมดจด 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเมื่อใดที่ทำแบบนั้นหมายความว่า SMS ทั่วไปจะถูกบล็อกด้วย         “ผู้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ วันนี้ผู้ใช้โทรศัพท์สามารถควบคุมได้เกินกว่าครึ่ง แต่เราไม่เคยรู้ก็เลยคิดว่าเป็นหน้าที่ของคนอื่น ต้องเข้าใจว่าพลังอำนาจในการควบคุมกลับมาอยู่ในฝั่งผู้บริโภคหรือผู้ใช้ ผู้ใช้ต้องรู้ว่าตนเองมีสิทธิ์ ต้องรู้ว่าอำนาจในการควบคุมทุกอย่างอยู่ที่ตนเอง ประการที่สองคือเมื่อตอบตกลงไปแล้วสามารถเปลี่ยนได้”         ปริญญาเน้นย้ำกลับไปที่ประเด็น Cyber Literacy หรือ Digital Literacy หรือความรู้เท่าทันในเทคโนโลยีดิจิตอลของผู้บริโภคที่ต้องเรียนรู้และเพิ่มทักษะด้านนี้ติดตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือว่ามีความสำคัญยิ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่อง SMS หลอกลวงเท่านั้น         ส่วนคำแนะนำเบื้องต้นที่ปฏิบัติได้ทันที นฤมลบอกว่าถ้าได้รับข้อความแปลกจากเบอร์ที่ไม่รู้ อย่าคลิกเข้าไปอ่าน ลบ และบล็อกเบอร์นั้นทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 สถานการณ์ผู้บริโภค ปี 64

ปี 2564 ยังคงเป็นปีแห่งช่วงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการระบาดของโควิด 19 ระลอกแล้วระลอกเล่า ซึ่งไม่เพียงชีวิตต้องปรับเปลี่ยนสู่วิถีใหม่และอยู่กันอย่างหวาดระแวงโรคภัย กรณีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิผู้บริโภคเองก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบตามเข้ามาสู่ชีวิตวิถีใหม่ด้วยเช่นกัน หากเราเผลอไผลไม่ทันระวังตัว หรือแม้จะระวังมากแล้วก็ตาม ปัญหาก็อาจเกิดขึ้นได้ กล่าวคือหากเขาจะโกง อยู่เฉยๆ เขาก็โกง ผู้บริโภคจึงต้องเรียนรู้ที่จะใช้สิทธิและไม่ปล่อยให้ “ผู้ร้ายลอยนวล” ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำตัวเองให้กลายเป็นเหยื่อเพราะความละโมบหรือไม่ทันเกมคนโกง         มาดูกันว่า ปี 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนอะไรบ้าง (สถิติ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 ธันวาคม 2564) ปัญหา SMS ก่อกวน พุ่งอันดับ 1         อันดับหนึ่งของปี 2564 คือ ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม 1,816 ราย คิดเป็นร้อยละ 55 รองลงมา คือ ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร/ประกัน ร้องเรียนเข้ามา 740 ราย คิดเป็นร้อยละ 22 และอันดับที่ 3  คือ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 400 ราย คิดเป็นร้อยละ 12 (จากจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด 3,321 ราย)         ร้อยละ 55 ของจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมดนั้น ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่พบจากการได้รับข้อความ SMS ก่อกวน ที่มีเนื้อหาหลอกลวงให้ใช้บริการแอปฯ กู้เงิน ผิดกฎหมาย และเว็บพนัน รวมถึงเนื้อหาอนาจาร ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญและเสียทรัพย์สินได้ เบื้องต้นทาง กสทช.สั่งค่ายโทรศัพท์มือถือบล็อกข้อความแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้มีผู้ร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม 2564  ปัญหาหนี้และทวงหนี้ไม่เหมาะสม ประกันและประกันโควิด เข้าป้ายมาเป็นอันดับสอง         ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร/ประกัน ร้องเรียนเข้ามา 740 ราย คิดเป็นร้อยละ 22 นั้น ประกอบไปด้วยหนี้จาก ธุรกิจเช่าซื้อ หนี้นอกระบบ สินเชื่อและบัตรเครดิต เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19         โดย “ประกันโควิด” เป็นปัญหาที่มีผู้เสียหายมากและเป็นประเด็นในสังคมที่กำลังร้อนแรง คือ การจ่ายค่าสินไหมประกันโควิดแบบ “เจอจ่ายจบ” ล่าช้าเกินกว่า 15 วัน ขัดกับคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) หรือบริษัทประกันบอกยกเลิกสัญญา และบริษัทประกันถูกเพิกถอนใบอนุญาต ต้องขอรับชำระหนี้กับกองทุนประกันภัยวินาศภัยที่เข้ารับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่อจากบริษัทประกัน         กรณีในเรื่องของประกันภัย มพบ.ยังพบปัญหามิจฉาชีพหลอกให้ผู้บริโภคต่อประกันรถยนต์ทางโทรศัพท์แต่ไม่ได้รับกรมธรรม์ โดยมีผู้เสียหายที่มาร้องเรียน 14 คน กล่าวว่า มีการแอบอ้างเป็นบริษัทประกันโทรมาแจ้ง เรื่องอู่รถยนต์ที่อยู่ในเครือบริษัทประกันไม่ครอบคลุมกับอู่ใกล้บ้าน ทำให้ต้องไปซ่อมที่ไกลๆ ทำให้ต้องยินยอมต่อกรมธรรม์         นอกจากนี้ แอปพลิเคชันกู้เงินผิดกฎหมาย ก็เป็นปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามามากเช่นเดียวกัน โดยร้องเรียนเข้ามามากขึ้นในเดือนตุลาคม (เป็นช่วงเวลาเดียวกับการเกิดปัญหาเอสเอ็มเอสกวนใจ) ลักษณะของแอปฯ กู้เงิน คือ ต้องจ่ายเงินก่อนกู้ หรือ มีดอกเบี้ยสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ต้องชำระคืนภายใน 6-7 วัน ถ้าลูกหนี้จ่ายหนี้ไม่ครบหรือไม่จ่ายหนี้ เจ้าหนี้จะโทรหาทุกคนที่มีรายชื่อในโทรศัพท์ อันดับสาม คือ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป         ผู้บริโภคที่ร้องเรียนเข้ามาพบปัญหาสินค้าชำรุดบกพร่อง ไม่ได้มาตรฐานมากที่สุด จำนวน 76 เรื่อง รองลงมา คือ มีปัญหาการขอเงินคืน ไม่พอใจบริการ การโฆษณาเกินจริง ซึ่งเป็นปัญหาเกิดจากการซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ เมื่อจัดส่งสินค้ามาให้พบว่าสินค้าชำรุด และไม่ตรงปก ดังนั้นผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ควรต้องเป็นผู้แก้ไขจัดการร้านค้าออนไลน์ที่พบปัญหา การแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค         จากประเด็นปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนข้างต้น มพบ. และ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยแจ้งปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขและเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภค เช่น กรณีผู้บริโภคได้รับข้อความ SMS ก่อกวนนั้น มพบ.ได้เข้าพบกับรองเลขาฯ กสทช. ติดตามความคืบหน้าและยื่นข้อเสนอให้        1. เปิดเผยคำสั่งของ กสทช. ที่กำหนดให้ค่ายมือถือแก้ไขปัญหา SMS         2. ออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียน 1,000 บาท/ข้อความ        3. ลงโทษตามกฎหมายสูงสุดกับผู้ประกอบการเช่นเดียวกับกรณีบริษัทประกันโควิดจ่ายค่าสินไหมล่าช้า มพบ.พาผู้เสียหายเข้าพบ คปภ. เร่งให้บริษัทประกันดำเนินการ        1. เร่งรัดบริษัทจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้ซื้อประกันทุกรายทันที        2. ตรวจสอบและลงโทษบริษัทประกันที่ประวิงเวลาจ่ายค่าสินไหม        3. พิจารณาออกคำสั่งให้บริษัทประกันรับเอกสารเคลมค่าสินไหมผ่านช่องทางออนไลน์ประเด็นปัญหาแอปฯ กู้เงินผิดกฎหมาย มพบ. เสนอให้        1. ธปท.ควรจะให้ผู้ประกอบธุรกิจเปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียนอนุญาต โดยทำเป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์        2. ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กวาดล้างหรือระงับไม่ให้เปิดแอปฯ กู้เงินผิดกฎหมายทั้งหมด         ต่อกรณีปัญหาการซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ มพบ.ได้ประสานงานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 21 ข้อ ร่วมกัน 19 องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ สร้างความปลอดภัยทางเศรษฐกิจดิจิตอล และติดตามผู้ให้บริการตลาดออนไลน์และหน่วยงานให้ดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ         ทั้งนี้ปัญหาผู้บริโภคที่พบทั้งหมด ภาครัฐจะต้องมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและรวดเร็ว ทุกฝ่ายจะต้องแจ้งเตือนผู้บริโภคให้ทราบถึงภัยที่เกิดขึ้น รวมทั้งจะต้องมีแหล่งเพื่อให้ผู้บริโภคได้ตรวจเช็คข้อมูลที่เชื่อถือได้โดยเร็วที่สุดการดำเนินคดีเพื่อผู้บริโภค                     ในปี 2563 ต่อเนื่องมาถึง 2564 มีสถานการณ์หรือปรากฎการณ์ที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิผู้บริโภคหลายกรณี ซึ่ง มพบ. มีการฟ้องคดีทั้งลักษณะคดีปกครอง ได้แก่ การควบรวมธุรกิจ ระหว่าง บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กับบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งก่อให้เกิดอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าร้อยละ 83.97 ของส่วนแบ่งตลาด กรณีดังกล่าวนี้จะทำให้ผู้ขอรวมธุรกิจใช้อำนาจที่เหนือกว่าในการต่อรองเชิงผลประโยชน์ด้านราคา ทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างอิสระ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดร้านค้าส่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้า ที่กำลังจะเข้าสู้ตลาดในอนาคต ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรม      ดังนั้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 เพื่อเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ที่อนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจ (คดีอยู่ระหว่างดำเนินการ)         คดีทั่วไป ได้แก่ การฟ้องคดีฉ้อโกงขายที่นอนยางพารา การฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากอุบัติเหตุรถชน การฟ้องคดีผู้บริโภคกรณีอสังหาริมทรัพย์ และการช่วยเหลือด้านคดีแก่กลุ่มสามล้อผู้เสียหายจากการถูกสหกรณ์ฉ้อโกง เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ทีวีดิจิทัล ทำเลทองของโฆษณาในยุคโควิด-19

        คุณเคยรู้สึกไหมว่าทุกวันนี้โฆษณาทางโทรทัศน์มีจำนวน “มาก” และกินเวลา “นาน” เสียเหลือเกิน ชนิดที่ว่าลองกดรีโมทไปกี่ช่องก็ต้องเจอโฆษณา         บางกรณีแทบจะแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าสิ่งที่กำลังรับชมอยู่นั้นคือ “โฆษณา” หรือ “รายการโทรทัศน์” เนื่องจากการปรับตัวของผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสินค้า/บริการ เจ้าของรายการโทรทัศน์หรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ ที่สร้างสรรค์โฆษณาให้มีความแตกต่างออกไปจากเดิม และหลีกเลี่ยงได้ยากกว่าเดิม         ถ้ามองในแง่การตลาดอาจเป็นผลเชิงบวก แต่หากมองในแง่ของผู้บริโภค ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า         เรากำลังเสียเวลาไปกับเนื้อหาที่ไม่ต้องการรับชมอยู่หรือไม่ ?ทีวีดิจิทัลในช่วงโควิด-19         แม้ว่าสื่อออนไลน์จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคสมัยนี้ มีการเปิดรับข่าวสาร สาระความรู้ และความบันเทิงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีอย่างแพร่หลาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโทรทัศน์ระบบดิจิทัล หรือทีวีดิจิทัล ยังคงเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการรับชมเนื้อหาต่างๆ ของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมาตรการของภาครัฐส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง เช่น การรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” การทำงานที่บ้าน (work from home) การปิดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านค้า โรงภาพยนตร์ เป็นต้น ทำให้ผู้คนมีการใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านและเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และโฮมชอปปิ้งมากขึ้น         ฐานเศรษฐกิจรายงานตัวเลขการเติบโตของธุรกิจโฮมชอปปิ้งในปี 2563 สูงขึ้นกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บำรุงสุขภาพ บำรุงสมอง ปอด เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย         ขณะที่ณิชาปวีณ์ กกกำแหง และเบญญาทิพย์ ลออโรจน์วงศ์ สำรวจสถานการณ์ภาพรวมของสื่อโทรทัศน์ในเดือนมกราคม-ธันวาคม 2563 พบว่า สื่อโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อหลักที่มีการใช้งานต่อวันสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อวิทยุและสื่อดิจิทัล ผู้ชมนิยมรับชมโทรทัศน์ในช่วงไพรม์ไทม์ เวลา 18.00-22.30 น. โดยเฉพาะผู้ชมที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งรายการที่มีค่าความนิยมโดยเฉลี่ยหรือเรตติ้งรายการสูงขึ้น ได้แก่ รายการประเภทภาพยนตร์เรื่องยาว (Feature Film) รายการประเภทบันเทิงแบบเบ็ดเตล็ด (Light Entertainment) และรายการข่าว         แรกเริ่มนั้นทีวีดิจิทัลมีจำนวน 28 ช่อง แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 19 ช่อง เมื่อสถานีโทรทัศน์ที่เป็นพื้นที่สำหรับลงโฆษณาสินค้า/บริการมีจำนวนน้อยลง นั่นย่อมหมายความว่าโฆษณาสินค้า/บริการมีโอกาสกระจายตัวไปตามสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่ช่อง และอาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้เราพบโฆษณาทีวีในปริมาณที่มากขึ้น         กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เมื่อเดือนกันยายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งสารแสดงความห่วงใยผ่านรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีของรายการขายสินค้าที่เผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะทางทีวีดิจิทัล ทั้งเครื่องใช้ในบ้าน เครื่องสำอาง อาหารเสริม แม้จะเป็นทางเลือกในการซื้อสินค้าของประชาชน ในช่วงที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่การนำเสนอสินค้าบางรายการมีลักษณะแจ้งสรรพคุณที่อาจเกินความจริง จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) องค์การอาหารและยา (อย.) ฯลฯ ทำงานในเชิงรุก เพื่อตรวจสอบว่าสินค้าที่นำเสนอผ่านรายการส่งเสริมการขายต่างๆ นั้นได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองตรวจสอบแล้วหรือไม่ เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ แนวทางการกำกับโฆษณาในไทย        พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 23 ระบุว่า การประกอบกิจการทางธุรกิจ ให้ดำเนินการหารายได้โดยการโฆษณา การบริการธุรกิจ การจัดเก็บค่าสมาชิก หรือโดยวิธีอื่นใดได้ แต่ทั้งนี้จะกำหนดการโฆษณาและการบริการธุรกิจได้ไม่เกินชั่วโมงละสิบสองนาทีครึ่ง โดยเมื่อรวมเวลาโฆษณาตลอดทั้งวัน เฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละสิบนาที         ในส่วนของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ข้อ 2 และข้อ 5 ระบุลักษณะของการเอาเปรียบผู้บริโภค ได้แก่ การออกอากาศรายการหรือการโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้า โดยหลอกลวงหรือกระทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสําคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง รวมทั้งการออกอากาศรายการโดยมีการโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือบ่อยครั้งที่เป็นผลให้ผู้บริโภครับชมรายการอย่างไม่ต่อเนื่อง สำรวจโฆษณาทีวี         เมื่อทำการศึกษาโฆษณาที่ปรากฏทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่ออกอากาศตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม – 30 เมษายน 2564 โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านประเภทสถานีโทรทัศน์ ได้แก่ ช่องบริการทางสาธารณะและช่องบริการทางธุรกิจ ปัจจัยด้านประเภทรายการโทรทัศน์ ได้แก่ รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) และรายการที่นำเสนอความบันเทิง (Light Entertainment) และปัจจัยด้านช่วงเวลาในการออกอากาศ         จากเกณฑ์ข้างต้น สามารถคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจำนวน 34 กลุ่มตัวอย่าง โดยการนับเวลารายการ 1 ชั่วโมง หรือ 60 นาที จะเริ่มนับตั้งแต่ต้นชั่วโมง เช่น 00.01-01.00 น. ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมี 1 รายการหรือมากกว่า 1 รายการก็ได้ แต่จะนับเป็น 1 กลุ่มตัวอย่างเท่านั้น รายละเอียดของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ประกอบด้วย        1. รายการประเภทข้อเท็จจริง (Non-Fiction) 20 กลุ่มตัวอย่าง        2. รายการประเภทเรื่องแต่ง (Fiction) 8 กลุ่มตัวอย่าง        3. รายการประเภทความบันเทิง (Light Entertainment) 6 กลุ่มตัวอย่าง          โฆษณาเกินเวลาที่กำหนด ?         ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา 52 นาที 36 วินาที ซึ่งไม่เกินเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด แต่เมื่อพิจารณารายกลุ่มตัวอย่างพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีเนื้อหารายการน้อยกว่า 47 นาที 30 วินาที มีจำนวน 4 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างที่ 22 (วันทอง) 38 นาที 35 วินาที รองลงมาคือ กลุ่มตัวอย่างที่ 28 (ทุบโต๊ะข่าว + ซุปตาร์พาตะลุย) 44 นาที 14 วินาที, กลุ่มตัวอย่างที่ 31 (ฟ้าหินดินทราย + ข่าวภาคค่ำ) 46 นาที 45 วินาที และกลุ่มตัวอย่างที่ 15 (แฉ) 47 นาที ตามลำดับ         ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณาและโฆษณาแฝง 50 นาที 16 วินาที ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า 46 นาที 27 วินาที ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ 43 นาที 55 วินาที ซึ่ง 2 กรณีหลังถือว่ามีเนื้อหารายการน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด         เมื่อหาค่าเฉลี่ยของเนื้อรายการโดยจำแนกตามประเภทรายการโทรทัศน์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) และรายการที่นำเสนอความบันเทิง (Light Entertainment) พบว่า รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) เช่น รายการข่าว รายการกีฬา รายการสารคดี ฯลฯ มีค่าเฉลี่ยเนื้อหารายการ 44 นาที 58 วินาที (กรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า) และค่าเฉลี่ยเนื้อหารายการ 42 นาที 33 วินาที (กรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ)         เมื่อหาค่าเฉลี่ยของเนื้อรายการโดยจำแนกตามประเภทสถานีโทรทัศน์ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่        1) ช่องบริการทางสาธารณะ        2) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ        3) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) และ        4) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD)          พบว่า กรณีที่หักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า ค่าเฉลี่ยของช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 46 นาที 57 วินาที ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) 44 นาที 6 วินาที และช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) 46 นาที 15 วินาที ส่วนกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ ค่าเฉลี่ยของช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 43 นาที 36 วินาที ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) 42 นาที 4 วินาที และช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) 43 นาที 37 วินาที มุมมองผู้บริโภค         ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคด้วยแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 350 ชุด เก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม – 15 กรกฎาคม 2564 กับผู้ที่เปิดรับรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการมี “โฆษณา” ทางโทรทัศน์ ในแง่ของการเป็นช่องทางหารายได้ที่เหมาะสมสำหรับผู้ผลิตรายการหรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ (2.55) และเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ (2.53)         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับไม่เห็นด้วยต่อการมี “โฆษณาแฝง” และ “รายการแนะนำสินค้า” ในรายการโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นการรบกวนการรับชมรายการโทรทัศน์ (3.13, 3.19 ตามลำดับ) โดยมองว่ารายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง เช่น รายการข่าว สาระความรู้ สารคดี ไม่ควรมีโฆษณาแฝงหรือรายการแนะนำสินค้า (3.25)         และมีความเห็นด้วยน้อยกับการที่นักแสดงหรือคนดังบอกเล่าและเชิญชวนให้ผู้ชมซื้อสินค้าหรือบริการ ในรายการสัมภาษณ์ต่างๆ (1.94)        หากพบว่า “โฆษณา” และ “โฆษณาแฝง” ของสินค้าหรือบริการใดที่รบกวนการรับชม ผู้บริโภคจะไม่ซื้อหรือสนับสนุนสินค้าเหล่านั้นโดยเด็ดขาด (3.03, 3.07 ตามลำดับ) ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ         จากผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่า สถานีโทรทัศน์มีการหารายได้จากโฆษณาและโฆษณาแฝงอย่างมากจนทำให้เวลาของเนื้อหารายการในกลุ่มตัวอย่างบางส่วนน้อยกว่าเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนดไว้ เนื่องมาจากสถานการณ์การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่สูงขึ้นและช่องว่างทางกฎระเบียบของ กสทช. ที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลเฉพาะโฆษณา (TV Commercial - TVC) เป็นหลัก ทำให้เกิดช่องว่างที่ผู้ประกอบการสามารถหารายได้เพิ่มเติมโดยหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎได้ ซึ่งล้วนแต่เป็นการเบียดบังเวลาในการรับชมรายการโทรทัศน์ของผู้บริโภค         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมีทัศนคติที่ยอมรับได้กับ “โฆษณา” แต่รับไม่ได้กับ “โฆษณาแฝง” และหากรู้สึกว่าถูกรบกวนก็จะนำไปสู่พฤติกรรมการเปลี่ยนช่อง การไม่สนับสนุนสินค้าหรือบริการนั้นๆ ตลอดจนการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบทันที         ข้อเสนอแนะจากการวิจัยในครั้งนี้คือ ควรมีแนวทางการกำกับโฆษณาที่ชัดเจนและครอบคลุม เช่น กำหนดขอบเขตของโฆษณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากจะอนุโลมให้มีโฆษณาแฝงอาจต้องจำกัดช่วงเวลาในการเผยแพร่ หรือจำกัดประเภทสถานีโทรทัศน์และประเภทรายการ โดยพิจารณาจากกลุ่มเป้าหมายที่รับชม ซึ่งอาจเป็นเยาวชนหรือคนสูงอายุที่ถูกโน้มน้าวใจได้ง่ายกว่าคนวัยอื่นๆ         รวมทั้งควรมีหน่วยงานสอดส่องเฝ้าระวังโฆษณาในเชิงรุก โดยมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีระบบการจัดการข้อมูลที่เป็นรูปธรรม ที่สำคัญคือสามารถเข้าถึงภาคประชาชนและภาครัฐ สร้างการรับรู้ในฐานะของศูนย์กลางการเฝ้าระวังโฆษณา         ขณะเดียวกันอาจสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคด้วยการให้ค่าตอบแทนหรือค่าเสียเวลา สำหรับผู้บริโภคที่ช่วยสอดส่องโฆษณาที่ผิดกฎหมายหรือเอาเปรียบผู้บริโภค แล้วร้องเรียนไปยัง กสทช.        หากสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ย่อมส่งผลดีทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต รวมทั้งสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญของการโฆษณาในทีวีดิจิทัลอีกด้วย        (เนื้อหาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “งานศึกษาโฆษณาแฝงและการโฆษณาเกินเวลาทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล” (2564) โดย น.ส.บุณยาพร กิตติสุนทโรภาศ นักวิจัยอิสระ)อ้างอิงhttp://bcp.nbtc.go.th/th/detail/2020-06-16-11-48-20 www.nbtc.go.th/law/พระราชบัญญัติ/พระราชบัญญัติ/พรบ-การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์-พ.aspxwww.nbtc.go.th/Business/กจการวทย/เอกสารที่เกี่ยวข้อง-(1)/กฎหมาย-(1)/ประกาศ-กสทช-เรื่อง-การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บ.aspxhttp://www.supinya.com/2016/06/7578https://www.thansettakij.com/content/428726https://broadcast.nbtc.go.th/data/bcj/2564/doc/2564_02_2.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ประกันโควิด ‘เจอ จ่าย (ไม่) จบ’ บทเรียนและความเสียหายที่ (ยัง) ไม่จบ

สถานการณ์โควิด-19 สร้างความเสียหายอย่างมากต่อชีวิตและเศรษฐกิจ ประชาชนจำนวนไม่น้อยจึงต้องบริหารความเสี่ยงด้วยการซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทประกันภัย เพื่อหวังเป็นอีกหนึ่งที่พึ่งหากเจ็บป่วยด้วยไวรัสร้ายนี้         ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาในช่วงต้นๆ ของการแพร่ระบาดเป็นประเภท ‘เจอ จ่าย จบ’ หมายความว่าหากผู้เอาประกันตรวจพบว่าตนเองติดเชื้อก็สามารถเคลมค่าสินไหมได้ทันที สินมั่นคงประกันภัยเป็นเจ้าแรกๆ ที่จับจองตลาดประกันภัยแนวนี้ก่อนที่เจ้าอื่นๆ จะทยอยตามมา        แต่บริษัทประกันภัยคงไม่คิดว่าสถานการณ์ที่เหมือนกำลังคลี่คลายจะกลับมารุนแรงจากการระบาดระลอก 3 และ 4 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึงวันละหมื่นกว่าราย กลางปี 2564 สินมั่นคงประกาศยกเลิกประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ โดยจะคืนเบี้ยประกันให้กับผู้ซื้อประกัน ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ต้องยื่นมือเข้ามาจัดการ สินมั่นคงประกันภัยจึงกลับไปให้การคุ้มครองตามเดิม และนั่นคือสัญญาณแรกของความเสียหาย         เจอ จ่าย (ไม่) จบ แต่เอเชียประกันภัยจบไปแล้ว         ข้อมูลจาก คปภ. ที่ปรากฏในสื่อระบุว่า ถึงต้นเดือนกันยายนปี 2564 ทั่วประเทศมีการร้องเรียนเกี่ยวกับประกันภัยโควิดสูงถึงถึง 1,671 กรณี ขณะที่ปี 2563 มีเพียง 366 กรณีเท่านั้น โดยเรื่องร้องเรียน 5 อันดับแรก ประกอบด้วย         1. บริษัทประกันไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ        2. บริษัทบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดและคืนค่าเบี้ยประกันภัย        3. ผู้เอาประกันภัยไม่ได้รับกรมธรรม์        4. บริษัทปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชยรายวันหรือจ่ายไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่พักรักษาตัว        5. ประเด็นอื่นๆ เช่น การขอแก้ไขข้อมูลในกรมธรรม์ การหักเบี้ยประกันภัยซ้ำซ้อน ร้องเรียนตัวแทนขาย         ต่อมาเราจึงได้เห็นภาพผู้ซื้อประกันที่ไม่มั่นใจสถานะการเงินของบริษัทประกันภัยไปรวมตัวเรียกร้องที่หน้าบริษัทตามที่เป็นข่าว         กระทั่งวันที่ 15 ตุลาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) เนื่องจากมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายนถึง 14 ตุลาคม ทางบริษัทต้องจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้เอาประกันถึง 13,000 คน คิดเป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท ถ้าปล่อยให้ประกอบธุรกิจต่อไปผู้บริโภคจะได้รับความเสียหาย         “บริษัทประกันที่แบกรักความเสี่ยงสามารถจ่ายค่าเคลมประกันให้ผู้บริโภคทุกรายหรือไม่” นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ตั้งคำถาม “เนื่องจากซื้อประกันหลักร้อยบาท แต่เวลาเคลมคือหลักหมื่นกับหลักแสนบาท มันแบกรับความเสี่ยงไว้หลายร้อยเท่า บริษัทประกันต้องมีตัวเลขว่าขายไป 100 กรมธรรม์ คุณได้เท่าไหร่ คุ้มไหม ดังนั้น เขาจะคำนวณจากพื้นฐานการเคลมประกัน แต่ด้วยมันเป็นวิกฤตโรคระบาด มันคุมสถานการณ์ไม่ได้ แล้วทุกคนก็มีความเสี่ยงติดเชื้อ ไม่รู้ว่าบริษัทประกันประเมินความเสี่ยงอย่างไร”         คปภ. ออกมาตรการเยียวยาผู้บริโภค         การล้มครืนของเอเชียประกันภัยทำให้กองทุนประกันวินาศภัยต้องเข้ามารับบทบาทเป็นผู้ชำระบัญชีและจ่ายค่าสินไหมให้แก่ผู้เอาประกัน โดยทาง คปภ. ได้ออกมาตรการเยียวยารองรับ ชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กลุ่มงาน: ด้านกฎหมายคดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ยืนยันกับ ‘ฉลาดซื้อ’ ว่า ทางกองทุนจะมีกระบวนการทำงานและจ่ายค่าสินไหมให้กับทุกรายแน่นอน         “การประกันภัยโควิดเท่าที่ผ่านมาช่วงที่หนักคือระลอก 3 และ 4 ในปีนี้ บริษัทประกันภัยก็พยายามหาผลิตภัณฑ์ที่จะตอบโจทย์การบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชน มีเงื่อนไขการคุ้มครองหลากหลายแตกต่างกัน แต่ที่มีปัญหาคือเงื่อนไขเจอ จ่าย จบ ซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุทางธุรกิจประกันกับบริษัทเอเชียประกันภัย         “โดยปกติแล้วกรมธรรม์ที่ขายจะมีเงื่อนไขการคุ้มครอง เช่น การเสียชีวิตจากโควิด-19 หรือได้รับเชื้อแล้วมีอาการโคมา ค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายวัน แต่การคุ้มครองแบบเจอ จ่าย จบ มีประมาณสี่ห้าบริษัทที่ขายประกันแบบนี้เยอะ ทำให้ค่าสินไหมที่ต้องจ่ายกับเบี้ยประกันไม่สัมพันธ์กัน ซึ่ง คปภ. ก็ดูแลใกล้ชิดมาตลอดและพยายามแก้ไข แต่เนื่องจากว่าบริษัทประกันที่ขายประกันลักษณะนี้ขายเร็วมาก ประชาชนทำประกันเร็วมากทุกช่องทาง”         ทั้งนี้มาตรการเยียวยาที่ คปภ. ออกมากรณีที่กรมธรรม์ยังคุ้มครอง แต่ยังไม่เกิดภัย ทาง คปภ. ได้ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทยและกองทุนประกันวินาศภัยจัดหาบริษัทประกันภัยที่ยินดีเข้าโครงการรับกรมธรรม์ต่อจากเอเชียประกันภัยประมาณ 15 บริษัท โดยกรณีกรมธรรม์โควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ ทางบริษัท ทิพยประกันภัย จะรับต่อ โดยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขว่าเมื่อพบการติดเชื้อและมีอาการโคม่าจึงจะจ่ายค่าสินไหมในจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากกรมธรรม์เดิม เช่น ถ้ามีความคุ้มครองที่ 50,000 บาท ทางบริษัทจะเพิ่มเป็น 300,000 บาท เบี้ยประกันที่ต้องจ่ายคือ 300 บาท         ในกรณีที่ไม่ต้องการต่ออายุกรมธรรม์ทางกองทุนจะคืนเบี้ยประกันให้ หรือหากต้องการทำกรมธรรม์ประเภทอื่นก็สามารถนำเบี้ยที่เหลือจากกรมธรรม์โควิดไปชำระและได้ส่วนลด 500 บาท         ในส่วนของประกันภัยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 เช่น ประกันรถยนต์ อัคคีภัย บริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการจะรับช่วงต่อ ทั้งนี้ชำระเบี้ยเฉพาะส่วนต่าง เช่นมีความคุ้มครองเหลืออยู่ 6 เดือนคิดเป็นเบี้ยประกัน 6,000 บาท ถ้าบริษัทประกันภัยที่มารับต่อคิดเบี้ยประกันทั้งปีที่ 12,000 บาท ผู้เอาประกันจะชำระเพียง 6,000 บาท แล้วทางบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับส่วนต่าง 6,000 บาทจากกองทุนฯ         “ส่วนกรณีที่บางบริษัทมีเงื่อนไขเจอ จ่าย จบ แล้วยังมีการเคลมอยู่มากและกำลังทยอยจ่ายค่าสินไหมทดแทน ทาง คปภ. ก็ดูแลอย่างใกล้ชิด พูดคุยปรึกษาหารือกับผู้บริหารบริษัทซึ่งรับปากว่าไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ โดยทั่วไปแล้วในเชิงระบบก็ไม่มีปัญหาอะไร มีความมั่นคงทุกบริษัท” ชนะพล กล่าว         ด้าน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า กองทุนประกันวินาศภัยไม่มีปัญหาสภาพคล่องแต่อย่างใด แม้จะต้องจ่ายชดเชยให้กับผู้เอาประกันของเอเชียประกันภัย         ความเสียหายที่ (ยัง) ไม่จบ         บริษัทเอเชียประกันภัยฯ เป็นแค่หนังตัวอย่าง บริษัทหลายแห่งที่ระดมขายประกันโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ ไปก่อนหน้านี้ก็อยู่ในภาวะลูกผีลูกคน เมื่อยอดเคลมประกันโควิด-19 ทั้งระบบมีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท จากเบี้ยประกันที่ 6,000 ล้านบาท ซ้ำเติมด้วยเงื่อนไขกรมธรรม์ที่ต้องจ่ายค่าสินไหมภายใน 15 วัน หากสภาพคล่องไม่เพียงพอก็อาจต้องเดินตามรอยเอเชียประกันภัยฯ         คาดการณ์ว่ายอดค่าสินไหมจะสูงกว่า 35,000 ล้านบาทเมื่อถึงสิ้นปี เนื่องจากยังมีกรมธรรม์ประเภทนี้ตกค้างในระบบประมาณ 13-14 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งการประกาศเปิดประเทศของรัฐบาลทำให้หลายภาคส่วนกังวลว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะกลับมารุนแรงอีกครั้ง หมายความว่ายอดเคลมประกันมีโอกาสเพิ่มเป็น 40,000  ถึง 50,000 ล้านบาท         ทำให้มีการประเมินว่าความเสียหายจากประกันโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ อาจไม่จบง่ายๆ และลุกลามต่อเนื่อง คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร จึงมีการเรียกให้ผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงและเรียกร้องให้กระทรวงการคลังเปิดเผยข้อมูล         จากเว็บไซต์มติชน วันที่ 26 ระบุว่า ทาง กมธ. ได้สอบถามตัวแทน คปภ. ว่า เหตุการณ์จะลุกลามเป็นโดมิโนหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่าไม่แน่ใจ และ...         ‘อาจจะมี ซึ่งน่าจะมีประมาณ 5 บริษัท รวมบริษัทเอเชียประกันภัยแล้ว เท่ากับว่าเหลือให้ประชาชนลุ้นกันเองตามยถากรรมอีก 4 บริษัท ทั้งนี้ กมธ. ได้ขอให้ คปภ.เปิดเผยว่ารายชื่อกว่า 40 บริษัท 16 ล้านกรมธรรม์นั้น ใครไปทำประกันโควิดกับบริษัทไหนจะได้เปลี่ยนบริษัท ซึ่งก็ไม่ได้รับคำตอบ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในอำนาจที่จะบอกได้ว่าอีก 4 บริษัทที่ทำท่าจะล่อแล่ จะอยู่รอดปลอดภัยหรือไม่’         เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แนะนำกับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากเอเชียประกันภัยว่า         “ถ้าคุณป่วยหลังบริษัทถูกเพิกถอน คุณก็ไปเคลมกับกองทุนฯ สมมติว่าเขาจ่ายแล้วแต่คุณเห็นว่าควรได้รับตามเงื่อนไขมากกว่านี้ คุณก็อาจต้องคุยกับกองทุนฯ ถ้าเขายังยืนยันตามนี้ คุณก็ต้องฟ้องกองทุนฯ ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทเอเชียประกันภัย แต่ถ้าโอเคก็จบ”         บทเรียน         นฤมล กล่าวว่า กรณีนี้เป็นบทเรียนของหน่วยงานกำกับดูแลที่ควรเข้าไปตรวจสอบสภาพคล่อง ฐานะการเงิน ผลิตภัณฑ์และเงื่อนไขการเคลมของบริษัทว่าเบี้ยประกันกับค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายมีความสัมพันธ์กันหรือไม่         “คปภ. ต้องออกหลักเกณฑ์ใหม่เพราะบางทีไม่ใช่เจอจ่ายจบ เพราะเงื่อนไขนี้ไม่จำเป็นต้องรักษาพยาบาล แค่เจอ ก็ต้องจ่ายแล้ว แต่จะจ่ายชดเชยกรณีต้องนอนรักษาตัว ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่แค่ในโรงพยาบาล มีการไปพักตามโรงแรม มี Community Isolation มี Home Isolation เวลาซื้อประกันง่ายมากเลย แต่ตอนเคลมยุ่งยากมาก เพราะส่วนใหญ่ซื้อแบบเจอ จ่าย จบกับชดเชยรายวัน คนที่เจอไม่มีคนไหนหรอกที่ไม่ต้องรักษาตัว คนที่ซื้อประกันเจอจ่ายจบและมีชดเชยควรได้รับชดเชยด้วย มาตรการในอนาคตคือเอกสารการเคลมประกันต้องไม่ตึงเกินไปจนทำให้ผู้บริโภคกระดิกตัวไม่ได้         “เช่น กรณี Home Isolation ไม่ได้ไปอยู่โรงพยาบาลจะเอาใบรับรองแพทย์ที่ไหน แต่โรงพยาบาลเป็นคนตรวจให้ก็ควรจบ แต่บริษัทประกันใช้ช่องนี้ในการประวิงเวลาจ่าย บริษัทต้องเอาเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้บริโภคส่งมาไปตรวจสอบกับโรงพยาบาลหรือประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ให้ชัดเจน เพราะโรงพยาบาลมีระบบที่ดูแลเรื่องประกันสุขภาพอยู่แล้ว ไม่ควรปล่อยให้เป็นภาระของผู้บริโภค”         ด้านชนะพลเห็นด้วยในแง่ที่ว่ากรณีนี้ถือเป็นบทเรียนของอุตสาหกรรมประกันภัยและ คปภ. ซึ่งทาง คปภ. จะทำแนวทางปฏิบัติออกมาในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตรวจสอบ กฎหมาย         “ขณะนี้มีการริเริ่มดำเนินการแล้วว่าต่อไปลักษณะของกรมธรรม์บางประเภทหรือเพื่อรองรับเหตุการณ์ต่างๆ อาจต้องมีความรอบคอบในการอนุมัติกรมธรรม์ คุณสมบัติ เงื่อนไข หรือความมั่นคงของบริษัท ผมเข้าใจว่าถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกคงจะไม่มีลักษณะนี้อีก เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงก็ควรปรับปรุงให้สามารถรองรับสถานการณ์ต่างๆ ได้โดยไม่เพลี้ยงพล้ำหรือไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น         “ฐานะการเงินของบริษัทเรามอนิเตอร์ใกล้ชิดมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรทรัพย์สิน เรามีมาตรฐานการกำกับเป็นระบบสากลเหมือนกัน ตรงนี้ไม่น่าห่วง ที่น่าห่วงคือบริษัทประกันในบ้านเรามีหลายขนาด ฐานะการเงินก็จะแตกต่างกันจากขนาด เพียงแต่ว่าในอนาคตถ้ามันจะมีโรคระบาดอีก กรมธรรม์ในลักษณะนี้อาจจะต้องคำนึงถึงความมั่นคงของบริษัทประกันภัยด้วย”         ในส่วนของเอเชียประกันภัย ชนะพล กล่าวว่า เนื่องจากกองทุนส่วนหนึ่งเป็นเงินหลวงที่ต้องนำมาจ่ายให้ประชาชน คปภ. กำลังตรวจสอบพฤติกรรมความผิดต่างๆ ว่ามีหรือไม่ เช่น ผู้บริหารบริษัทมีนโยบายเร่งรัดการขาย มีการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์รอบคอบเพียงพอหรือไม่ บางทีอาจจะไม่ประสงค์ต่อผล แต่พอเกิดการแพร่ระบาดจำนวนมากยังเร่งขายกรมธรรม์เจอ จ่าย จบ โดยเล็งเห็นผลหรือไม่ว่าถ้ามีคนติดเชื้อจำนวนมากจะไม่มีเงินจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งหากเล็งเห็นก็จะมีการดำเนินคดีต่อไป         อาจบางที การวิเคราะห์ของบริษัทประกันภัยไม่ได้นำความเสี่ยงอันเนื่องจากรัฐบาลเข้ามาคิดด้วยหรือไม่ก็ประเมินรัฐบาลไว้สูงเกินไปมากจนนำมาสู่บทสรุปเช่นที่เป็นอยู่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 จากแอชตัน อโศกถึงหมิงตี้ จากผังเมืองถึงชีวิตของเรา

ถ้าให้สรุปประเด็นปัญหาเกี่ยวกับผังเมืองเพียงประโยคเดียวก็คงได้ประมาณนี้...        ‘ระบบราชการรวมศูนย์ ทุนใหญ่ และการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง’         การก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่สักแห่งไปจนถึงผังเมืองที่กำหนดว่าพื้นที่ต่างๆ จะถูกใช้สอยอย่างไรนั้นใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด แต่ด้วยข้อกฎหมายอันซับซ้อน เรื่องราวเชิงเทคนิคที่ยากเข้าใจ บวกกับชีวิตประจำวันก็ไม่ได้เข้าไปข้องเกี่ยวอะไรด้วยยิ่งทำให้มองไม่เห็นความเชื่อมโยงที่จะส่งผลกระทบต่อตัวเรา         กรณีแอชตัน อโศกถึงการระเบิดของโรงงานหมิงตี้เป็นตัวอย่างที่ดีประโยคสรุปปัญหาข้างต้น ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ทั้งผู้บริโภคและชุมชนรอบข้าง กรณีแอชตัน อโศกเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ขณะที่ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2518 เกี่ยวพันกับกรณีโรงงานหมิงตี้ เหมือนเป็นคนละเรื่อง กฎหมายคนละฉบับ แต่...ไม่ใช่เลย จากแอชตัน อโศก...         กล่าวถึงกรณีแอชตัน อโศกอย่างรวบรัดได้ว่า กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ข้อ 2 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร กำหนดให้อาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นมากกว่า 30,000 ตารางเมตรต้องมีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตรติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร และยาวต่อเนื่องไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตรด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยกรณีเกิดเพลิงไหม้หรือภัยพิบัติ แต่แอชตัน อโศกไม่มีพื้นที่นี้ตามที่กฎหมายกำหนด ศาลปกครองจึงวินิจฉัยให้เพิกถอนใบอนุญาต         ทั้งนี้ทางฝ่ายแอชตัน อโศก ชี้แจงว่าเดิมทีที่ดินดังกล่าวมีพื้นที่ตามที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากเจ้าของเดิมถูกเวนคืนที่ดินโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อสร้างรถไฟฟ้าจนกลายเป็นที่ดินตาบอด เจ้าของเดิมจึงฟ้องร้องและศาลฎีกาตัดสินให้ทำทางจำเป็นกว้าง 6.4 เมตร ผ่านที่ดินเวนคืนสำหรับออกสู่ถนนอโศก         เจ้าของโครงการแอชตัน อโศกจึงซื้อที่ดินผืนนี้โดยทำสัญญากับ รฟม. เพื่อสร้างทางเข้าออกโครงการให้มีความกว้างตามที่กฎหมายกำหนดโดยจ่ายผลประโยชน์ให้ รฟม. แต่ศาลเห็นว่าการกระทำดังกล่าวขัดกับวัตถุประสงค์การเวนคืนและไม่ใช่การใช้เพื่อกิจการรถไฟฟ้าจึงถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งที่ดินของ รฟม. ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของแอชตัน อโศก จึงทำให้การก่อสร้างโครงการไม่ชอบด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ข้อ 2 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร คือไม่มีทางเข้าออกกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะ นั่นเอง         “กรณีของแอชตันมีประเด็นที่น่าสนใจคือการเวนคืน” ภูดิท โทณผลิน ทนายความและกรรมการสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิ์และสิ่งแวดล้อม แสดงความเห็น “ศาลจึงวินิจฉัยว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์เพราะการที่หน่วยงานรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเวนคืนที่ดินและไปให้เอกชนเช่า ถึงแม้จะเป็นเงินเข้ารัฐก็ตาม แต่ศาลมองว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ รฟม. เพราะไม่อย่างนั้นจะเปิดช่องให้หน่วยงานรัฐทำแบบนี้โดยอ้างว่าเงินเข้ารัฐ แต่จะต้องให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุดด้วย จึงน่าสนใจว่าการที่เขาเอาที่ดิน รฟม. มารวมเพื่อขอใบอนุญาตผมเห็นด้วยในทางกฎหมายว่ามันไม่ตรงตามเจตนารมณ์และจะทำให้เกิดบรรทัดฐานที่หน่วยงานรัฐไปดำเนินการแบบนี้”         ภูดิทแนะนำผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายว่า ถ้ากรณีแอสตัน อโศกถูกห้ามใช้อาคารและต้องดำเนินการรื้อถอนโดยไม่สามารถขอใบอนุญาตได้แล้ว ผู้เสียหายสามารถฟ้องเพื่อเรียกร้องเงินที่ได้ชำระไปคืนกับทางเจ้าของโครงการพร้อมดอกเบี้ย 2 ส่วน ส่วนแรกคือดอกเบี้ยผิดนัดจากการผิดสัญญา ส่วนที่ 2 คือดอกเบี้ยธนาคารที่ผู้บริโภคกู้มา ตึกสูง ผังเมือง และเสียงที่ไม่ถูกได้ยิน         ยังมี พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 อีกฉบับที่เข้ามาพัวพันกับคนที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม ปฐมพงศ์ เจียมอุดมสิน กลุ่มคัดค้านร่างผังเมืองรวม กทม. อดีตเครือข่ายคนคอนโดเล่าว่า ปัญหาคอนโดมิเนียมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่น ปัญหาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายจนถึงปัญหาระหว่างผู้ซื้อกับนิติบุคคล ประเด็นที่เขาพบมาตลอดการทำงาน 2 ทศวรรษคือ         “พระราชบัญญัติอาคารชุดปี 2522 ซึ่งเป็นฉบับแรกที่มีการแก้ไขฉบับที่ 2 ฉบับที่ 3 ไม่ได้มีบทลงโทษกรณีที่ผู้จัดการนิติบุคคลไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง รวมทั้งเจ้าของโครงการมีการประกันทรัพย์ต่ำมากหรือไม่มีเลย ช่วงนั้นเครือข่ายคนคอนโดก็พยายามผลักดันให้มีการแก้กฎหมายพระราชบัญญัติอาคารชุดเป็นฉบับที่ 4 ซึ่งมีการกำหนดบทลงโทษแล้วและให้เจ้าหน้าที่เข้ามาจัดการได้ สมัยก่อนที่บอกว่าไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่เนื่องจากทางฝั่งเจ้าหน้าที่อาจจะมองว่าไม่มีการเขียนไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุดให้เจ้าหน้าที่ทำอะไร เขียนไว้แค่ให้เจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนเท่านั้น”         ในช่วงหลังปฐมพงศ์ตระหนักว่าการกระจุกตัวของอาคารสูงในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผังเมือง ทำให้เขาต้องหันมาสนใจเรื่องนี้ด้วย         “ถ้าเราโฟกัสเฉพาะในกรุงเทพฯ ผังเมืองจะพยายามเพิ่มความหนาแน่นของประชากร เขากำหนดเป็นนโยบายระดับจังหวัดว่าเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ให้มากขึ้น แต่กลายเป็นว่ามันไปเพิ่มความหนาแน่นตั้งแต่ฉบับที่ 1 จนที่จะเป็นฉบับที่ 4 นี้ จำนวนประชากรต่อพื้นที่มันสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการสร้างรถไฟฟ้าแล้วดันไปวางว่าพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าอนุญาตให้สร้างตึกสูงได้เกินกว่าที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคารหรือผังเมืองกำหนดไว้เพราะฉะนั้นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็สร้างกัน”          และแม้ว่าจะมีการรับฟังความเห็นของประชาชนเพื่อนำมาพิจารณา แต่กฎหมายก็ไม่ได้ระบุให้ต้องนำความเห็นของประชาชนมาดำเนินการแต่อย่างใด หน่วยงานรัฐยังคงดำเนินการไปตามที่ตนเห็นชอบอยู่ดี โดยทางกลุ่มไม่เห็นด้วยที่กรุงเทพฯ จะเต็มไปด้วยอาคารสูง ซึ่งเวลานี้ก็ถือว่ามีมากเกินความจำเป็นแล้ว เพราะจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การกระทบกระทั่งระหว่างคนข้างล่างกับคนข้างบน การแย่งกันใช้สาธารณูปโภค เป็นต้น แต่ควรใช้โครงข่ายรถไฟฟ้าให้เป็นประโยชน์ในการขนคนเข้ามาในเมืองเพื่อลดความแออัด         ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี สถาปนิกและตัวแทนชุมชนย่านศาลาแดงจากการสร้างอาคารผิดกฎหมาย เล่าจากประสบการณ์ของตนว่า         “เจ้าของโครงการไม่ได้รู้ลึกเรื่องกฎต่างๆ เขาก็โยนมาให้ผู้รู้เป็นคนศึกษาซึ่งก็คือสถาปนิก พอปฏิบัติจริงๆ เราต้องไปปรึกษากับพี่ใหญ่ซึ่งก็คือกรมโยธาธิการและผังเมือง เราก็ไปปรึกษาตามโยธาเขตขึ้นอยู่กับว่าอาคารนั้นๆ ขออนุญาตที่เขตหรือที่ กทม. ผมเรียกพวกนี้ว่าเป็นลูกพี่และเราก็ให้ความเคารพพวกนี้มาตลอดเพราะเราเข้าใจว่าสิ่งที่เขาตีความชี้ช่องบอกเรามาปฏิบัติได้ ถูกกฎหมาย สถาปนิกทำให้เกิดพื้นที่ขายให้เขาได้มากเท่าไหร่ คุณก็ได้ประโยชน์มากเท่านั้น สิ่งสำคัญคือจรรยาบรรณในวิชาชีพ ก็เจ้าหน้าที่บอกว่าทำได้ ขออนุญาตก็ผ่าน แล้วผิดตรงไหน”        ต้นตอสาเหตุปัญหาที่สำคัญ​คือ​ การรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กทม.เกือบทั้งหมด ทั้งเรื่องการตรวจแบบ​ อนุมัติตีความตัดสินข้อบัญญัติ​ กฏหมาย​ กฏระทรวงต่างๆ​ การตรวจสอบทั้งระหว่างการก่อสร้าง​ ตั้งแต่เริ่มจนถึงสร้างเสร็จ​ และตรวจสอบเมื่อสร้างเสร็จ​ส่งมอบ​ เปิดใช้งาน​ ทำให้เกิดช่องว่างที่ไม่มีใครจะสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้น​ จึงเห็นว่าควรต้องแยกอำนาจในขั้นตอนต่างๆดังที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงการประชุมรับฟังความเห็นจากชุมชน​ประชาชนที่มีการตรวจสอบผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) และต้องเพิ่มการตรวจสอบ​ การมีส่วนร่วม​ จากภาคประชาชน​  และตัวแทนหน่วยงานวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรง​ ทั้งจากสภาสถาปนิกและวิศวกรรม​ เข้าร่วมรับฟัง​ แสดงความเห็น​ และตรวจสอบได้​ในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนถึงการเปิดใช้อาคาร เพื่อให้เกิดความโปร่งใส   ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมาย​ ที่ผ่านการตรวจสอบขั้นตอนต่างๆมาตั้งแต่ต้น กฎหมายผังเมืองไม่ศักดิ์สิทธิ์          นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าเมื่อดูข้อกำหนดผังเมืองกรุงเทพฯ พบว่าไม่ได้มีการกำหนดโซนอาคารสูงในกรุงเทพฯ เอาไว้ ทำให้มีการก่อสร้างอาคารสูงผิดกฎหมายเกิดขึ้นจำนวนมาก        “พื้นที่พาณิชย์ในกรุงเทพฯ ถูกป้ายเป็นสีแดงทั้งหมด เพราะพยายามทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เจริญ แล้วค่อยสร้างสาธารณูปโภค แต่ก่อนเขาบอกว่าเมืองต้องเจริญก่อน สาธารณูปโภคถึงจะมา ซึ่งมันไม่ใช่ หลักการคือเมื่อใดที่สาธารณูปโภคไปถึง เมืองจะเจริญเอง แต่ปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้น อาศัยว่าถ้าคุณลงทุนในกรุงเทพฯ ได้คุณจะเป็นอภิมหาเศรษฐี เพราะในกรุงเทพฯ สาธารณูปโภคคุณไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องทำถนนเข้าโครงการหมู่บ้าน ไม่ต้องทำอาคารจอดรถ ทำแค่ 25 เปอร์เซ็นต์ก็ได้เพราะกฎหมายล่าสุดที่แก้บอกว่าอาคารจอดรถให้ 25 เปอร์เซ็นต์ของอาคาร เขาบอกว่าเป็นการบังคับให้คนที่ซื้อคอนโดฯ ไม่มีรถ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้”         เพราะผังเมืองเป็นนโยบายสาธารณะที่กำหนดการพัฒนาเชิงพื้นที่ของแต่ละพื้นที่ โดยก่อนจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.การผังเมืองในปี 2562 การทำผังเมืองเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญที่เน้นเชิงเทคนิค มุ่งประมาณการในอนาคต และนำมาวางแผนการพัฒนาพื้นที่ เป็นเหตุให้ประชาชนมักไม่ให้ความสนใจผังเมือง จนในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา การวางผังเมืองเพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรมทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจึงมีการรวมกลุ่มของประชาชนติดตามการทำผังเมือง         “กฎหมายผังเมืองบ้านเราไม่ค่อยศักดิ์สิทธิ์เท่าไหร่คือไม่ค่อยมีผลในเชิงการบังคับใช้สำหรับการลงทุนขนาดใหญ่” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการบูรณะนิเวศ กล่าว “แต่อาจจะมีผลในการบังคับใช้กับประชาชนทั่วไป แต่ในต่างประเทศกฎหมายผังเมืองค่อนข้างมีความศักดิ์สิทธิ์และเฉียบขาดในการบังคับใช้เพราะเขาจะให้ความสำคัญกับภูมิทัศน์ การพัฒนาเมือง การขยายตัวของเมือง แต่สำหรับประเทศไทยมันขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลพูดอย่างไรแล้วผังเมืองก็พร้อมจะเปลี่ยนตาม”ถึงหมิงตี้...         ไม่เพียงกฎหมายผังเมืองเท่านั้น ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่ามีกฎหมายหลายฉบับและหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง ซึ่งยิ่งทำให้การบังคับใช้กฎหมายผังเมืองไม่ศักดิ์สิทธิ์ กรณีโรงงานหมิงตี้ที่กิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ระเบิดเป็นอีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนเรื่องนี้         เพ็ญโฉมอธิบายว่าผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการประกาศประมาณปี 2536 ขณะที่โรงงานหมิงตี้สร้างปี 2534 โดยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ต่อมาเมื่อผังเมืองประกาศใช้พื้นที่ดังกล่าวถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีแดงหมายถึงเป็นเขตพาณิชยกรรมและสีส้มคือเขตที่อยู่อาศัยของประชาชน เท่ากับว่าผังเมืองประกาศทับที่ตั้งของโรงงาน ตามกระบวนการทางจังหวัดต้องจ่ายค่าชดใช้และทำการย้ายโรงงานไปยังพื้นที่สีม่วงหรือเขตอุตสาหกรรม แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ         เมื่อมีโรงงานบวกกับเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย ชุมชนจึงขยายตัวหนาแน่นขึ้น มีการสร้างบ้านจัดสรรเข้าไปชิดโรงงาน ซึ่งเพ็ญโฉมเห็นว่าเป็นความผิดร่วมกันระหว่างจังหวัดสมุทรปราการกับสำนักโยธาธิการและผังเมืองที่ไม่บังคับใช้กฎหมายผังเมืองระหว่างชุมชนกับโรงงานที่ต้องมี Buffer Zone         “แล้วการออกใบอนุญาตให้มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สร้างหมู่บ้านจัดสรรก็เป็นความผิดของหน่วยงานใดก็แล้วแต่ที่อนุญาตให้มีการสร้างหมู่บ้านขนาดใหญ่อยู่ใกล้กับโรงงานโดยไม่พิจารณาในแง่ความปลอดภัยจึงคิดว่ามันเป็นความผิดร่วมกันของผู้ออกใบอนุญาต นอกจากนี้ เริ่มแรกที่หมิงตี้ประกอบกิจการมีกำลังการผลิตที่ 24,000 ตัน แต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมาออกใบอนุญาติให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 36,000 ตันในปี 2562 เท่ากับคุณรู้อยู่แล้วว่าผังเมืองไม่ใช่สีม่วงและชุมชนก็หนาแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มกำลังการผลิตให้เขาโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ถือว่าไม่ถูกต้อง นั่นหมายความว่าทางโรงงานจะต้องมีการเก็บสารเคมีอันตรายไว้ภายในโรงงานเยอะมากซึ่งอันตรายต่อชุมชนที่อยู่รายล้อม”         การบังคับใช้ไม่ศักดิ์สิทธิ์ไม่พอ กฎหมายผังเมืองปัจจุบันปี 2562 ยังขัดหลักการที่ควรจะเป็น กล่าวคือไม่แยกเรื่องทางเทคนิคกับนโยบายออกจากกัน เพ็ญโฉมอธิบายว่า เพราะโดยปกติการประกาศพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาล ไม่ควรผูกรวมกับกฎหมายผังเมือง เนื่องจากประชาชนอาจไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐ แต่เมื่อนำนโยบายมาอยู่ภายใต้กฎหมายผังเมืองย่อมเท่ากับว่าประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการพัฒนาพื้นที่กำลังทำผิดกฎหมายผังเมือง         จากแอชตัน อโศกถึงโรงงานหมิงตี้ จากอาคารแห่งหนึ่งถึงผังเมือง ผูกรัดกันอย่างวุ่นวายด้วยกฎหมาย ข้อบังคับ หน่วยงานรัฐ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคดังที่แสดงให้เห็นแล้ว ทั้งหมดนี้ย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราโดยไม่รู้ตัว หากจะแก้ไขคงต้องมุ่งตัดรากเหง้าของปัญหา...         ‘ระบบราชการรวมศูนย์ ทุนใหญ่ และการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง’

อ่านเพิ่มเติม >