ฉบับที่ 265 ค่าแรงขั้นต่ำ คุณภาพชีวิตต่ำ กับข้อถกเถียงเรื่อง ‘เซอร์วิสชาร์จ’

        'การมีจิตใจบริการ' หรือ 'service mind' เป็นภาพลักษณ์หนึ่งที่เกื้อหนุนอุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตมาหลายทศวรรษ        'คนไทยเป็นคนมีน้ำใจ' เป็นภาพลักษณ์เชิดชูความเป็นไทยแบบเหมารวมและยากพิสูจน์ที่ถูกเชื่อว่าหนุนหลังให้เกิด service mind แง่มุมอันงดงามเรื่องน้ำใจที่มีแง่คมต่อการขูดรีดแรงงาน        ก่อนหน้านี้เกิดประเด็นเรื่อง 'เซอร์วิสชาร์จ' ว่าเก็บได้หรือไม่ได้ ถ้าจะเก็บต้องทำอย่างไร ผู้บริโภคไม่จ่ายได้หรือไม่ ฯลฯ เรื่องนี้มีตำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนในทางกฎหมาย ซึ่งเราจะรวบตึงมามัดไว้ด้วยกันให้ผู้บริโภคได้ทำความเข้าใจ         นอกเหนือจากนี้ จะชวนไปฟังความเห็นของเจ้าของร้านอาหารที่ผูกพ่วงตำแหน่งนายกสมาคมการท่องเที่ยว และจะชวนไปฟังเสียงบาริสต้าจากสหภาพแรงงานบาริสต้า คนทำงานบริการตัวเป็นๆ ผู้ไร้สุ้มเสียงจากข้อถกเถียงที่พวกเขาไม่ควรถูกทำให้เงียบ เก็บได้ แต่ต้องชัดเจน         ก่อนที่งานบริการจะค่อยๆ ถูกยกมาตรฐานวิชาชีพและองค์ความรู้ตามสายงานอันหลากหลายเช่นปัจจุบัน ในสังคมอเมริกันงานบริการอย่างงานเสิร์ฟอาหารเคยเป็นงานขั้นต่ำสุดที่คนหลีกเลี่ยง แต่มันก็เป็นงานที่จำเป็นต้องมีใครสักคนรับหน้าที่ เซอร์วิสชาร์จจึงเข้ามาเพิ่มแรงจูงใจเพื่อดึงดูดแรงงานและยังมีบทบาทถึงปัจจุบัน         แล้วเซอร์วิสชาร์จเก็บได้ไหม? เอาตรงนี้ก่อน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. ออกมาให้ข้อมูลว่า ผู้ประกอบการสามารถคิดค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่าอาหารตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 69 พ.ศ.2565 ข้อ 9 ได้ เซอร์วิสชาร์จนับเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามประกาศ         กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดอีกว่า หากผู้ประกอบการจะคิดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็จำเป็นต้องแสดงค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ชัดเจนและครบถ้วนโดยแสดงควบคู่กับราคาอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคทราบประกอบการตัดสินใจว่าจะใช้บริการหรือไม่ อันเป็นสิทธิของผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 4 ที่ระบุถึงสิทธิของผู้บริโภคไว้ 5 ประการ ประกอบด้วย        1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ        2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ        3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ        4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ        5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณา และชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง และชดใช้ค่าเสียหายเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตาม ข้อ -4         และเพื่อให้เกิดความชัดเจนเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค ผู้ประกอบการควรแจ้งการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นไว้บริเวณหน้าร้านค้า มีกำหนดราคาที่เหมาะสมตามสมควร หากผู้ประกอบการไม่ดำเนินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศฉบับนี้ ผู้บริโภคอาจปฏิเสธไม่ชำระค่าใช้จ่ายอื่นและสามารถร้องทุกข์ต่อกรมการค้าภายในได้ ทางเลือกของผู้บริโภค         สรุปว่าร้านอาหารสามารถเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จได้ แต่ต้องทำตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ถึงกระนั้นก็มีร้านอาหารบางแห่งเลือกที่จะไม่เก็บ             พันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่และเจ้าของร้านอาหารเป็นลาวซึ่งไม่มีการเก็บเซอร์วิสชาร์จให้เหตุผลว่า การเก็บเซอร์วิสชาร์จจะมาพร้อมกับความคาดหวังของลูกค้าต่อมาตรฐานการบริการ ขณะที่ร้านเป็นลาวมีนโยบายและรูปแบบการบริการที่เน้นความเป็นกันเอง         “เราอยากรู้สึกเป็นเพื่อนกับลูกค้ามากกว่า แต่ถ้าในอนาคตเราต้องอยู่ในห้าง ต้องเป็นระบบ อันนั้นก็ไม่แน่ ต้องพิจารณากันอีกที แต่โดยส่วนตัวพบว่าสำหรับร้านเราไม่มีนโยบายเพราะเรารู้ว่าเราอาจบริการไม่ดีและก็ไม่อยากให้ลูกค้าคาดหวัง รู้สึกว่าจ่ายแล้วไม่คุ้มค่า” พันชนะยังอธิบายต่ออีกว่า         ในเมืองไทยการเก็บเซอร์วิสชาร์จเกิดขึ้นและวิวัฒนาการมาพร้อมกับการเติบโตของอุตสาหกรรมโรงแรม มันเป็นแรงจูงใจให้แก่พนักงานที่แม้ว่าฐานเงินเดือนจะต่ำ แต่ได้รับค่าเซอร์วิสชาร์จจากการเข้ามาใช้บริการของแขกเป็นสิ่งชดเชย เมื่อมองในแง่การบริหารต้นทุน มันทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการไม่สูงจนเกินไป เซอร์วิสชาร์จจึงมีหน้าที่ของมันในระบบนิเวศของธุรกิจ         เมื่อถามเธอในฐานะนายกสมาคมท่องเที่ยวเขาใหญ่ เธอเห็นว่าควรปล่อยให้เป็นนโยบายของแต่ละร้านที่จะเลือกเก็บหรือไม่เก็บเซอร์วิสชาร์จ เพราะร้านอาหารในเขาใหญ่เองมีความหลากหลาย ตั้งแต่สตรีทฟู้ดถึงแบบ fine dining ที่มีมาตรฐานการบริการขั้นสูง การกำหนดว่าต้องเก็บหรือไม่เก็บอาจไม่สอดคล้องกับสภาพของแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งสถานการณ์ที่เป็นอยู่เวลานี้ พันชนะบอกว่ามีร้านอาหารไม่ถึงร้อยละ 30 ในเขาใหญ่ที่มีการเก็บเซอร์วิสชาร์จ และควรปล่อยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกว่าต้องการระดับการบริการแบบไหน เก็บได้ แต่ต้องเป็นของพนักงาน         ถามย้อนกลับมาฝั่งผู้บริโภคบ้างว่ายินดีจ่ายหรือไม่ ตามทัศนะของ พีรพัฒน์ ตุลยาเดชานนท์ เจ้าของเพจกินกับพีท และพุธิตา ปราบ เจ้าของเพจ Wander Girls ทั้งคู่เป็นเพจรีวิวร้านอาหาร คาเฟ่ สปา เห็นว่าทางร้านสามารถเก็บเซอร์วิสชาร์จได้         “ถ้าถามในมุมผู้ประกอบการคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรมี” พีรพัฒน์อธิบาย “เป็นกำลังใจให้พนักงาน แต่ประเด็นคือการจะมีสิทธิตรงนี้ ทางผู้ประกอบการเองก็น่าจะต้องคอยหมั่นเทรนพนักงานให้มีมาตรฐานที่ดีในการบริการลูกค้า ทั้งในส่วนหน้าร้านและในครัว เพราะเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน”         ส่วนพุธิตามีจุดยืนว่า service charge ควรต้องมี         “เซอร์วิสชาร์จควรจะเป็นการเอาไปหารระหว่างพนักงานด้วยกันเอง ด้วยค่าแรงขั้นต่ำประเทศไทยคนทำงานในสายงานพวกนี้ไม่ได้เงินเดือนสูงอยู่แล้ว บวกกับวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนอเมริกาที่ทิปหนัก เซอร์วิสชาร์จยังจำเป็นอยู่เพื่อให้คนที่ทำงานด้านนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น มันก็มีกฎหมายไม่ให้เซอร์วิสชาร์จเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่ได้แรงมาก คิดว่ามันเล็กน้อยมากกับสิ่งที่เขาต้องทำงานให้เรา”         แต่เมื่อเก็บเซอร์วิสชาร์จ การบริการก็ควรต้องมีมาตรฐานในระดับหนึ่ง พีรพัฒน์กล่าวว่าผู้ประกอบการต้องจัดอบรมพนักงานด้านมาตรฐานการให้บริการ ขณะที่พุธิตามองต่างเล็กน้อยว่า บริการดีหรือไม่ดี ค่อนข้างเป็นเรื่องอัตวิสัย แต่ละคนมีความคาดหวังต่างกัน การให้บริการตามที่เป็นอยู่จึงถือว่าเพียงพอ หากร้านไหนบริการแย่จริงๆ ก็มีการโซเชียล แซ็งชั่นอยู่แล้วในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กำกับร้านอาหารให้ต้องรักษาคุณภาพบริการ        ประเด็นที่ทั้งคู่เห็นพ้องต้องกันคือเซอร์วิสชาร์จควรเป็นของพนักงาน ไม่ใช่ผู้ประกอบการ        พีรพัฒน์ กล่าวว่า “ผมเข้าใจว่าเจอหลายที่ที่เอาสิบเปอร์เซ็นต์นี้เก็บเข้าตัวเอง พนักงานไม่ได้ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องดูอย่างชัดเจนว่าลูกน้องได้หรือเจ้าของเก็บ ผมมองว่าควรลงที่พนักงานเต็มๆ มากกว่า” ในมุมคนทำงานคุ้มครองสิทธิ         อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดว่าเซอร์วิสชาร์จที่อยู่ในหมวดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ต้องเก็บเท่าไหร่ ระบุเพียงว่าต้อง ‘เหมาะสม’ ซึ่งโดยปกติที่เก็บกันทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 10 ของค่าอาหารในแต่ละครั้ง         จุดนี้เอง นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย https://www.bbc.com/thai/articles/cx808jy8g3qo ว่า การเก็บเซอร์วิสชาร์จในไทยไม่มีมาตรฐานอ้างอิง ผู้บริโภคไม่รู้ว่าที่เก็บไปร้อยละ 10 ของราคาคิดจากอะไร ซึ่งทางมูลนิธิเคยหารือเรื่องนี้กับ สคบ. และกรมการค้าภายใน แต่ก็ไม่มีระเบียบหรือมาตรฐานกำหนดไว้ บอกเพียงว่าเก็บได้ แต่ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าก่อนเข้ารับบริการ ติดป้ายหน้าร้านเพื่อให้คนที่จะเข้ามากินเห็นได้ชัดเจน ซึ่งเธอกล่าวว่าไม่ค่อยพบเห็นร้านที่ติดป้ายบอกว่ามีการเก็บเซอร์วิสชาร์จ        นฤมลตั้งข้อสังเกตต่อไปด้วยว่า ในเมืองไทยยังไม่มีการศึกษาเรื่องค่าทิปและเซอร์วิสชาร์จอย่างจริงจัง เช่น เงินส่วนนี้คิดเป็นมูลค่าเท่าไรของรายได้ของธุรกิจค้าปลีกและบริการของไทย อ้างอิงจากมาตรฐานอะไร หรือเซอร์วิสชาร์จตกถึงมือพนักงานหรือไม่         ถึงตรงนี้เราจะเห็นร่องรอยสำคัญบางอย่างที่ขาดหายไปในการถกเถียงเรื่องเซอร์วิสชาร์จ นั่นก็คือเหล่าพนักงานบริการซึ่งสุ่มเสี่ยงจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง         จิตใจบริการหรือจิตวิญญาณของความเป็นทาส?        เชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยร้านอาหารและคาเฟ่ จากการเปิดเผยของ เริงฤทธิ์ ลออกิจ บาริสต้าและสมาชิกสหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่ ทำให้รู้ว่ายังมีพนักงานบริการที่ไม่ได้รับค่าแรงตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ         เขาให้ข้อมูลอีกว่าค่าแรงขั้นต่ำของเชียงใหม่ที่ประกาศใช้ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2565 คือ 340 บาทต่อวันหรือ 10,200 บาทต่อเดือน ที่ได้มากกว่านี้อาจอยู่ที่ประมาณ 11,000-12,000 บาท มันเป็นรายได้ที่ต่ำเกินกว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เป็นเหตุผลที่ทำให้เขาสนับสนุนให้มีการเก็บเซอร์วิสชาร์จ         “มุมมองต่อลูกค้าจากแรงงานอย่างเรา เมื่อก่อนหนักมาก ปัจจุบันก็ยังมีอยู่คือการเปรียบลูกค้าเป็นพระเจ้า ทำให้ทุกบริการของแรงงานเป็นบริการพิเศษ ไม่ใช่แค่ผมไปเสิร์ฟ แต่ผมต้องยิ้มแย้ม ที่จริงผมไม่ต้องยิ้มก็ได้ งานผมแค่เสิร์ฟ แต่ในไทยไม่ได้ เราต้องมีเซอร์วิสไมด์ วันนี้จะมีปัญหาอะไรก็ตาม ต้องยิ้ม พอนิยามว่าลูกค้าคือพระเจ้า เราแทบจะบริการลูกค้าเต็มที่อยู่แล้ว เพิ่มด้วย                 “เวลามีคนมารีวิวร้านผมว่าบริการดี เป็นมิตร ผมก็จะบอกกับเพื่อนคนทำงานด้วยกันว่า ใช่สิ เพราะใส่จิตวิญญาณของความเป็นทาสลงในบริการนั้นด้วย แบบนี้ควรจะได้มั้ย แต่มันก็เป็นงานประจำของคุณอยู่แล้ว นั่นไง แล้วมันต้องพิเศษขนาดไหน” เริงฤทธิ์ตั้งคำถามกฎหมายคลุมเครือเปิดช่องนายจ้างฮุบเงินเซอร์วิสชาร์จ        กฎหมายอนุญาตให้ผู้ประกอบเก็บเซอร์วิสชาร์จได้และนับเป็นรายได้ แต่กฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องจัดการอย่างไรกับเซอร์วิสชาร์จ ต้องให้พนักงานหรือไม่ ต้องให้ในสัดส่วนเท่าไหร่ ช่องว่างนี้กลายเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการเก็บเซอร์วิสชาร์จเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ของตนโดยไม่แบ่งให้พนักงานตามที่พีรพัฒน์เล่า               “กฎหมายให้ไปตกลงกันเอง คิดว่านายจ้างกับลูกจ้างใครมีอำนาจการตัดสินใจมากกว่ากัน ไม่มีหลักประกันว่านายจ้างให้เท่านี้สมเหตุสมผลแล้ว พอไม่มีหลักประกัน แรงงานไม่กล้ามีปากเสียงในเรื่องเซอร์วิสชาร์จที่จะได้แต่ละเดือน ก็ต้องรอความอนุเคราะห์ของนายจ้าง อะไรคือหลักประกันของคนทำงานภาคบริการว่านายจ้างจะให้ ไม่มี มีนายจ้างฮุบเซอร์วิสชาร์จ แล้วเราจะพิทักษ์สิทธิ์ของตนได้ยังไงในเมื่อกฎหมายยังคลุมเครือ” เริงฤทธิ์อธิบาย         แม้กฎหมายจะเปิดทางให้ผู้ประกอบการใช้ดุลพินิจเองว่าจะเก็บหรือไม่เก็บเซอร์วิสชาร์จ แต่ถ้าธุรกิจใดเลือกจะเก็บ เริงฤทธิ์ก็เรียกร้องให้ต้องมีกฎหมายระบุชัดเจนลงไปว่าเงินที่ได้จากเซอร์วิสชาร์จต้องถูกนำมาแบ่งให้พนักงานทุกคนเท่าๆ กัน         ฟังดูสมเหตุสมผลที่จะเป็นเช่นนั้น พุธิตา กล่าวกับ ‘ฉลาดซื้อ’ ว่า         “ส่วนตัวรับไม่ได้ เซอร์วิสชาร์จเราเต็มใจจ่ายให้พนักงานที่มาดูแลเรา ถ้าเขาเก็บเข้าร้าน อันนี้ไม่ถูกต้อง แสดงว่ามันไม่ใช่ค่าอาหารที่แท้จริง แอบเสียบในเซอร์วิสชาร์จ ถ้าคุณจะเก็บเข้ากำไร คุณต้องใส่ในค่าอาหาร ในฐานะผู้บริโภค เดี๋ยวนี้มีการรณรงค์ว่าเวลาบริจาคไปตรวจสอบได้มากแค่ไหน อันนี้ก็เหมือนกัน เราพร้อมจ่ายเซอร์วิสชาร์จ แต่มันไปถึงคนที่เราอยากจะจ่ายให้จริงๆ หรือเปล่า ถ้ามันไม่ถึง เราทิปให้ยังจะง่ายกว่าอีก แต่ประเทศไทยมันไม่มีอะไรให้ตรวจสอบได้เลย ตอนที่มีดราม่าก็เคยลองอ่านดู มันมีบางคนที่ไม่ได้จริงๆ” ค่าแรงขั้นต่ำที่ต่ำเกินกว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี         เหมือนเป็นประโยคแบบมีเงื่อนไข กล่าวคือเพราะค่าแรงต่ำ เซอร์วิสชาร์จจึงต้องมี ดังนั้น ถ้าค่าแรงสูง เซอร์วิสชาร์จก็ไม่จำเป็น จริงๆ แล้วไม่ใช่ประโยคแบบมีเงื่อนไข เซอร์วิสชาร์จควรเรียกเก็บเป็นปกติเพื่อให้แก่การบริการของพนักงาน เป็นสิ่งที่เริงฤทธิ์และพุธิตาเห็นสอดคล้องกัน         เมืองไทยค่าแรงขั้นต่ำถูกนิยามว่าเป็นค่าตอบแทนที่คนทำงานได้รับซึ่งเพียงพอต่อค่าครองชีพของแรงงานคนนั้นเพียงคนเดียว แต่ค่าแรงขั้นต่ำตามนิยามสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) หรือ ILO ค่าแรงขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการยังชีพตามอัตภาพของคนงาน รวมถึงภรรยาและบุตรอีก 2 คน เห็นได้ชัดว่าค่าแรงขั้นต่ำของไทยห่างไกลจากหลักการสากลไปมาก         ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ เป็นต้น ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ แต่ใช้หลักการเจรจาร่วมระหว่างสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งและนายจ้าง ซึ่งต่างจากไทยที่นายจ้างเข้มแข็งมาก ส่วนสหภาพแรงงานอ่อนแอ         เหตุนี้ เงื่อนไขเดียวที่เริงฤทธิ์ยอมรับได้ถ้าจะไม่มีเซอร์วิสชาร์จคือ         “ถ้าจะไม่มีเซอร์วิสชาร์จ คุณต้องทำให้แรงงานมีอำนาจที่จะรวมตัวและต่อรองขึ้นค่าแรงของตนเองได้โดยอิสระ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 ฟ้องปิดปาก เครื่องมือหยุดผู้บริโภคไม่ให้ส่งเสียง! ตอน 2

        ฉบับนี้ขอนำเสนอตัวอย่างคดีฟ้องปิดปาก อย่างลงลึกมากขึ้นคือ คดีหมายเลขดำที่  723/2565 โดย สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและ นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ  ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ในข้อหาหมิ่นประมาท ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์                   เรื่องราวของคดีนี้เริ่มต้นในช่วงปี 2562 ซึ่งย้อนกลับไปในช่วงเวลาดังกล่าว กระแสหนึ่งที่สังคมจับตาให้ความสนใจอย่างมาก คือ การรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายในการเกษตรคือ  พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งในที่สุดคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2562 ปรับให้ทั้ง 3 สาร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออกและห้ามใช้         ภายหลังมีมติดังกล่าวยิ่งทำให้สังคมให้ความสนใจ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ  ในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีจึงได้รับเชิญให้ไปแสดงความเห็นในสถานีวิทยุ โทรทัศน์และสื่อต่างๆ เป็นจำนวน ทั้งยังใช้เพจเฟซบุ๊กรณรงค์ ให้ความเข้าใจแก่สังคมเรื่องอันตรายของทั้ง  3 สารเคมี  ในระหว่างนี้เขาได้แชร์โพสต์ของสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยที่มีข้อความว่า “ไม่มีรัฐบาลไหนในโลกใบนี้ที่จะแบนสารแถบสีน้ำเงิน แบบไกลโฟเซตแต่เสนอสารทดแทนแถบสีเหลืองแบบกลูโฟซิเนต” มายังเพจของมูลนิธิชีววิถี   และนั่นคือที่มาของการถูกฟ้องที่เริ่มต้นขึ้น         “โพสต์ดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เป็นการบิดเบือนเพราะไม่ได้พูดถึงภัยอันตรายทั้งหมด  นั่นคือประเด็นหนึ่งที่ได้ทั้งแสดงความเห็น ทั้งโพสต์ในเฟซบุ๊ก รวมถึงอธิบายในสื่อต่างๆ  สีของฉลากไม่ได้พูดถึงพิษเรื้อรัง การก่อกลายพันธุ์ การก่อมะเร็ง”  วิฑูรย์กล่าว โดยประเด็นสำคัญที่ทำให้เขาแชร์โพสต์ดังกล่าวเพราะอยากสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่า ฉลากสีที่กำหนดประเภทของสารเคมี ไม่ได้ให้ข้อมูลอันตรายทั้งหมดของสารเคมีแต่ละชนิด โดยเฉพาะอันตรายในระยะยาวที่จะสะสมในร่างกายจนก่อให้เกิดโรครุนแรงได้หลายโรค  การที่สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยได้สื่อสารและทำให้ประชาชนเข้าใจอันตรายของสารเคมีตามฉลากของสีจึงยังไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่ความจริงทั้งหมด          สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและนางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมฯ มองเรื่องนี้ว่าเป็นหมิ่นประมาท ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จึงยื่นฟ้องวิฑูรย์ในข้อหาหมิ่นประมาท ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์   ขอให้ศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 91,326,328 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(1) , 16   ลงวันที่ฟ้องในศาลชั้นต้นวันที่  17 มีนาคม 2564         “โดยเมื่อพิจารณาจากการที่จำเลยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีที่จัดตั้งซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยด้านทรัพยากร ชีวภาพ เกษตรกรรม อาหาร สิทธิเกษตรกรและชุมชนเพื่อประโยชน์สาธารณด้านสิ่งแวดล้อม  มูลนิธิดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ทั้งจำเลยและบุคคลในมูลนิธิของจำเลยเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการเกี่ยวกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความอันตรายและจากการศึกษาทางวิชาการของจำเลยตามเอกสารหมายเลข จ.5 ได้แบ่งประเภทความอันตรายของสารเคมีเกษตรด้วยแถบสียังไม่สามารถวัดอันตรายของพิษเรื้อรังได้ ประกอบกับคู่มือการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ยังมีการจำแนกความอันตรายจากสารพิษตามหลักเกณฑ์พิษเฉียบพลัน และพิษเรื้อรังไว้ด้วย  ดังนั้นกรณีที่จำเลยกล่าวถ้อยคำทางแอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊คผ่านเพจมูลนิธิชีววิถี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 และวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 เป็นการเตือนให้ตระหนักหรือระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้สารเคมีที่ให้ผลเป็นพิษแก่ผู้บริโภคเป็นไปตามฐานะตำแหน่งการงานที่จำเลยดำรงอยู่ ”                  “เราคิดว่า ผลของคดีนี้ทำให้ผู้ถูกฟ้องมีความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นและทำงานของตัวเองได้อย่างเต็มที่ต่อไปเป็นอิสระจากความกลัวและเป็นการยืนยันว่า การทำเพื่อประโยชน์สาธารณะจะคุ้มครองเราเองจากการฟ้องคดีปิดปาก” จันทร์จิรา  ทนายความกล่าวยืนยันผลของคดี         ด้านวิฑูรย์กล่าวว่า “คำตัดสินของศาลเป็นการยืนยัน  สิทธิของประชาชนที่จะวิพากษ์ วิจารณ์  หรือแสดงความคิดเห็น  ในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ คำตัดสินแบบนี้ควรจะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในคดีความอื่นๆ  ด้วยที่จะปกป้องประโยชน์ของคนที่ทำงานเรื่องสุขภาพ และเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยต่อไป”           “เพราะในที่สุดแล้วผมคิดว่าการมีคดีแบบนี้เยอะๆ มันไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของสังคมโดยรวมเลย ในท้ายที่สุด คนที่จะสูญเสียประโยชน์ ได้รับผลกระทบ คือสังคมส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ในประเทศ การที่คนเล็กคนน้อยถูกฟ้องร้องในคดีพวกนี้  เพราะฉะนั้นที่จริงแล้วประเทศไทยควรมีทั้งแนวปฏิบัติ แนวกฎหมายที่จะช่วยป้องกันคุ้มครองคนที่เคลื่อนไหวต่อสู้หรือการแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 ฟ้องปิดปาก เครื่องมือหยุดผู้บริโภคไม่ให้ส่งเสียง! ตอนที่ 1

“ที่ใดก็ตาม ไม่มีเสรีภาพของการแสดงออกที่แท้จริง ที่นั่นไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง” นี่คือปรัชญาที่สหภาพยุโรปใช้เป็นแนวทางการยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท มองมาที่ไทย ประเทศที่เสรีภาพการแสดงออกได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2475 แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อประชาชนใช้สิทธิ เสรีภาพ  เพื่อส่งเสียงเรียกร้องสิทธิของตนเอง  อาจกระทบต่อคนหลายฝ่าย อาจเกี่ยวพันไปถึงสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของผู้ประกอบการ  นักการเมือง ข้าราชการ ที่ในอีกด้านหนึ่งพวกเขาก็ย่อมมีสิทธิในการปกป้องรักษาชื่อเสียงเกียรติยศของตนเองด้วยเช่นกัน         ‘การฟ้องปิดปาก’ หรือ SLAPPs (strategic lawsuits against public participation) หรือเรียกว่า  “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” จึงถูกผู้ประกอบการ นักการเมือง ข้าราชการนำมาใช้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง         คดีจากการ‘การฟ้องปิดปาก’  นี้จึงแตกต่างจากคดีทั่วไปตรงที่ผู้ฟ้องไม่ได้มุ่งหมายที่จะชนะคดี แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อขู่อีกฝ่ายให้กลัวหรือทำให้เกิดภาระมากมายจนหยุดการกระทำหรือแกล้งขัดขวางยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพของอีกฝ่ายเท่านั้น เช่น ปัจจุบัน ผู้บริโภคหลายรายเพียงรีวิว การใช้สินค้าที่ซื้อมาใช้ด้วยความสุจริตลงในสื่อออนไลน์ กลับถูกประกอบการขู่ฟ้อง ดำเนินคดี ก็เพื่อให้หยุดแสดงความคิดเห็นหรือลบข้อความที่ได้เขียนลงไป         ในเวทีเสวนาเรื่อง “เสวนาปัญหาการถูกฟ้องคดีปิดปาก: ถอดบทเรียนจากการใช้สิทธิของผู้บริโภค” วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า ในต่างประเทศการฟ้องปิดปากเป็นคดีแพ่งเท่านั้น เช่น สหรัฐอเมริกา แต่สำหรับประเทศไทยประชาชนที่ออกมาพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะกลับถูกดำเนินคดีทั้งกระบวนการทางแพ่งและอาญา สุดท้ายทำให้ประชาชนที่ใช้สิทธิ ถอดใจ เรากล่าวขอโทษ ถอดบทความต่างๆ ความจริงก็จะไม่ปรากฏ และประโยชน์สาธารณะก็จะเสียไป        “ผมคิดว่า การฟ้องปิดปากมีสมการที่อธิบายได้แบบนี้ เสรีภาพ การแสดงออกซึ่งความคิดของประชาชน กับเรื่องสิทธิของผู้ประกอบการในการมีสิทธิทางธุรกิจ เกียรติยศ  ผมว่าเสมอกัน เสรีภาพของประชาชน เสมอกับเกียรติยศของคนที่เราพูดถึง   ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว  เราไปกล่าวหาคนอื่น เรื่องส่วนตัว เรามีความรับผิด ตรงกันข้าม ถ้าเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิด บวกประโยชน์สาธารณะเข้ามา มันควรจะมากกว่า ชื่อเสียง เกียรติยศของภาคธุรกิจหรือไม่  เราเป็นผู้บริโภคแสดงออกว่า สินค้านี้ไม่ดี เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เขาไม่ได้ทำเพื่อส่วนตัว เขาทำให้บ้านเมืองนี้ดีขึ้น เพื่อธุรกิจจะมีความรับผิดชอบ นำของที่ดีมาขาย ไม่ใช่เอาของไม่ดีมาขายแล้วตัดภาระให้ประชาชน เมื่อมีประโยชน์สาธารณะสุดท้ายจะปรับให้เกิดภาพรวมที่ดีของสังคมที่ได้ ได้ใช้สินค้าและบริการที่ดี ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองมากขึ้นเพราะทุกคนในประเทศไทยต่างเป็นผู้บริโภค เพราะเราต้องซื้อของ และใช้บริการ”          รายงานวิจัยของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พบว่า ตั้งแต่ปี 2540 มีคดีปิดปากอย่างน้อย 212 คดีที่นำเข้าสู่กระบวนการศาล  หนึ่งในสี่ของคดีปิดปากเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ ประชาชนถูกฟ้องร้องจากความพยายามที่จะร้องเรียนเรื่องสภาพการทำงานที่ผิดกฎหมาย เรื่องการใช้ความรุนแรงของตำรวจ หรือ เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  โดยร้อยละ 95 ของคดีฟ้องปิดปากในประเทศไทย เป็นคดีอาญา และผู้ที่เป็นจำเลยส่วนใหญ่ คือ ประชาชนทั่วไป นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอาสาสมัคร ร้อยละ 39  ผู้แทนชุมชนและแรงงาน ร้อยละ 23% นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ร้อยละ16%และ นักข่าวร้อยละ9%  และกิจกรรมหลักที่เป็นสาเหตุสำคัญของการฟ้องร้องคือการแสดงความเห็นออนไลน์ ซึ่งคดีหมิ่นประมาทเป็นข้อกล่าวหาทางอาญา มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 2 ปี และ ปรับ 200,000 บาท หากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง         รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่าเขามองว่า ความหวัง และทางออกของเรื่องนี้คือ กฎหมายมาตรา 329 ที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายควรได้นำไปปรับใช้ให้มากขึ้น“มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต(1)   เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม(2)   ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่(3)   ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ(4)   ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล หรือในการประชุมผู้นั้น ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”         “ผมว่าตรงนี้คือกุญแจสำคัญในการที่ผู้บริโภค พิทักษ์สิทธิ์ ไปแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่เป็นความผิด แม้เป็นการใส่ความเขาเหตุผลเพราะ เรากำลังทำเพื่อความเป็นประธรรม ประโยชน์ส่วนร่วม ตามมาตรา 329”         อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติยังเป็นไปได้น้อย ศาลยังขาดข้อมูลว่าผู้ฟ้องมีเจตนาใช้กระบวนการยุติธรรมด้วยความไม่บริสุทธิ์ ทำให้มีคดีเข้าสู่ศาลแม้การฟ้องปิดปากจะเป็นคดีที่ไม่มีมูลเหตุ ถูกออกแบบมาให้มีความซับซ้อน กินระยะเวลายาวนาน และเสียค่าใช้จ่ายราคาแพงสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้าจำเลยไม่มีฐานะทางการเงินเพียงพอที่จะสู้คดี ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็ไม่มีทางเลือกและจำต้องยอมรับข้อเรียกร้องของโจทก์ ซึ่งมักจะมาในรูปของ การชดใช้ค่าเสียหาย การขอโทษ หรือ การลบข้อความที่ถือว่าละเมิด         การดำเนินคดีในกลุ่มผู้ใช้สิทธิผู้บริโภคก็มีมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอข่าว และ บทความ ในเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า “ฉลาดซื้อเผยผลสุ่มตรวจ ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ร้อยละ 67 ไม่ผ่านมาตรฐานประกาศ สธ. …” โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ยี่ห้อ เคียวร์ซิส (CUREAYS) ผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยผลการทดสอบ ได้ผล ร้อยละ 69 และ ร้อยละ 64 ตามลำดับ พร้อมระบุข้อสังเกตจากการทดสอบ เรื่องคุณภาพการผลิต พบว่า ยังไม่มีการควบคุมให้ได้มาตรฐาน … บริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด รับผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการหลายบริษัท แต่จากผลการทดสอบบางยี่ห้อผ่านเกณฑ์ บางยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏว่า บริษัทผู้ผลิต กลับยื่นฟ้อง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยข้อหา “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” ทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำงานโดยสุจริต เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่กลับถูกข้อกฎหมายฟ้องปิดปาก มาปิดกั้นการทำงานเพื่อผู้บริโภคส่วนใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ และยังมีอีกหลายกรณีของการทดสอบ หรือ เผยแพร่ข้อมูลโดยสุจริตเพื่อ เตือนภัย แต่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับถูกแทรกแซงจากผู้ประกอบการด้วยวิธีการต่างๆ และจากหลายกรณีที่ผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียน เช่น คดีกระทะโคเรียคิง ครีมเพิร์ลลี่ หรือ คดีสามล้อ ฯลฯ กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปากโดย ปปช.         คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ปัจจุบันมียุทธศาสตร์ ให้ประชาชน ‘ไม่ทำ’ และ ‘ไม่ทน’ ต่อการทุจริต  แต่เมื่อประชาชนที่มาชี้ช่อง เบาะแสกลับถูกดำเนินคดีฟ้องกลับ มากมาย ปปช.ในปี พ.ศ. 2564 จึงเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. ....” หรือ ปัจจุบันมีชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ...” ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งสุดท้าย         นายนิรุท  สุขพ่อค้า  ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวว่า “ปปช. เรามีแนวคิดปกป้องคุ้มครองประชาชนมานานแล้วเราจึงมีกฎหมายในการคุ้มครองพยาน แต่ยังเป็นเรื่องของการคุ้มครองอันตรายทางกายภาพ เนื้อตัว ร่างกาย ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น  ผู้ถูกกล่าวหาเขามีความรู้ก็จะใช้กฎหมายดำเนินคดีกับผู้แจ้งเบาะแส หรือ ภาคประชาชนซึ่งเรื่องการชี้ช่องเบาะแส  บางอย่าง เป็นเรื่องของการก้ำกึ่งระหว่างเรื่องของการหมิ่นประมาทซึ่งเป็นคดีอาญา การที่เขาจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการฟ้องร้อง หรือ ดำเนินคดีปิดปาก มันเป็นการดำเนินการที่ไม่ต้องใช้ทุนอะไร แค่เดินไปยังพนักงานสอบสวน และร้องทุกข์ กล่าวโทษก็ถือว่าเป็นคดีได้แล้ว”         “เรื่องการทุจริตต่อหน้าที่ ปปช. มีหน้าที่รวบรวม พยานหลักฐาน  แต่คนที่จะมีส่วนรู้เห็น ก็มีบทบาทสำคัญที่จะมาช่วย  ปปช. ได้คือภาคประชาชน การฟ้องปิดปากจึงทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเดือดร้อน  ไม่ว่าจะภาคประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง ที่ถูกเจ้าหน้าที่เอาเปรียบ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับความเดือดร้อน เสียหายในเขตพื้นที่อันเกิดจากการทุจริต ในการจัดซื้อจัดจ้าง ถนนชำรุดทรุดโทรมง่าย ภาคประชาชนที่ทำหน้าที่ NGO ทำหน้าที่เป็นสื่อ ทำหน้าที่สอดส่อง ดูแล  การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง เป็นกลุ่มที่หลากหลาย ทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ”          “กฎหมายฉบับนี้จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชรตามคดี 3 ลักษณะกว้างๆ คือ เมื่อคนที่ชี้ช่องถูกดำเนินคดีอาญา ปปช. จะเข้าไปทำงานร่วมกับพนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความร้องทุกข์ฐานหมิ่นประมาท ทางในแพ่ง ปปช. จะตั้งทนายเข้าไปช่วยประชาชน และหากเป็นคดีทางปกครอง ถูกผู้บัญชาดำเนินการทางวินัย ปปช.มีอำนาจที่จะสั่งให้หยุดการดำเนินการทางวินัยได้เลย นี่ค่อนข้างจะเด็ดขาดมาก ทั้ง 3 ลักษณะคดีนี้  ปปช. มีอำนาจที่จะให้ข้อมูล เพื่อให้พนักงานสอบสวน/ อัยการ มีดุลยพินิจ สั่งไม่ฟ้อง และ ปปช.ดำเนินการด้วยงบประมาณของตนเองเพราะมีกองทุนอยู่แล้วจึงมีความพร้อมในการปฏิบัติ เราคาดหวังเต็มร้อยเพราะเรื่องการปราบปรามทุจริตได้ เราทำเองไม่ได้ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือให้ข้อมูล เบาะแส หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความสำคัญเป็นลำดับต้นกฎหมายฉบับนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับภาคประชาชนด้วยทุกฝ่าย ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสังคมโลกดีขึ้น ”นายนิรุทกล่าวยืนยัน        ฉบับหน้าติดตามตัวอย่างผู้บริโภคที่ได้รับผลจากการฟ้องคดี “ปิดปาก” และผลของคดีที่น่าสนใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 ปี 2565 เศรษฐกิจแย่ แอปกู้เงินออนไลน์หลอกลวงระบาดหนัก พบร้องเรียนมากสุด

        ปี 2565 เศรษฐกิจแย่ แอปกู้เงินออนไลน์หลอกลวงระบาดหนัก พบร้องเรียนมากสุด        2565 เป็นปีที่ผู้บริโภคไทยยังต้องรับมือกับยุคข้าวยากหมากแพง จากผลสำรวจของ EIC (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์เผยคนรายได้น้อยกระทบหนัก เหตุรายได้ไม่เพิ่ม แต่ค่าใช้จ่ายพุ่ง ทำให้อัตราการออมลดและเกือบครึ่งผิดนัดชำระหนี้ สอดรับกับปัญหาสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประจำปี 2565 พบว่า ปัญหาการเงินการธนาคาร “ถูกแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์หลอกลวงผู้บริโภค” พุ่งอันดับ 1 และเรื่องที่ปรึกษามากทุกวันคือ “ทำอย่างไรเมื่อไม่มีเงินจ่ายหนี้”         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคของปี 2565  (1 มกราคม - 30 พฤศจิกายน 65) จากจำนวนผู้ร้องเรียน 2,090 ราย พบ อันดับที่หนึ่ง ปัญหาการเงินการธนาคาร/ประกัน 487 เรื่อง (ร้อยละ 23.3)  อันดับที่สอง ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป 415   เรื่อง (ร้อยละ  19.9) และอันดับที่สาม ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม รวม  378  เรื่อง (ร้อยละ  18.1)           อันดับ 1 “ถูกแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์หลอกลวง”         ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ถูกแอพกู้เงินออนไลน์หลอก มีทั้งกรณีหลอกให้กู้แล้วได้เงินจริงแต่เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และกรณีกู้เงินแต่ไม่ได้เงินแต่กลับต้องเสียเงิน ตามมาด้วยปัญหาหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และเช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหลายรายไม่มีรายได้ ตกงาน ทำให้ไม่มีเงินชำระหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อต่างๆ ในปี 2565 ปัญหาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นปัญหายอดฮิตที่ผู้บริโภคเข้ามาปรึกษาที่มูลนิธิฯผ่านช่องทางต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะสอบถามประเด็นเป็นหนี้แล้วไม่มีเงินชำระต้องทำอย่างไร ได้รับหมายศาลผิดนัดชำระหนี้         สำหรับปัญหาประกัน กรณีการเคลมประกันโควิด ทั้งการเคลมประกันล่าช้า โดยลักษณะปัญหาคือ บริษัทประกันหลายที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่กำหนดให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยภายใน 15 วัน กรณียื่นเอกสารครบถ้วน หากผู้เอาประกันยื่นเอกสารไม่ครบถ้วนให้แจ้งภายในวันเดียวกับที่ตรวจพบและให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ยื่นเอกสารครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องบางรายส่งเอกสารครบถ้วนตามที่บริษัทแจ้ง ผ่านมา 3 เดือนยังไม่ได้รับค่ากรมธรรม์ และการที่บริษัทบอกเลิกสัญญา ยกเลิกประกันภัย การติดเชื้อไวรัสโคโร่นา แบบ เจอ จ่าย จบ หรือ โควิด 2 in 1 ระบุจ่ายเงินเบี้ยประกันคืน 15 วัน ทั้งนี้บริษัทจะแจ้งผู้ทำประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโร่นา แบบข้างต้นว่า ทางบริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ แบบเจอ จ่าย จบ และ 2 In 1 สืบเนื่องจากภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อโควิดที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและมีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงจนคาดเดาสถานการณ์ไม่ได้ อันดับ 2 “สินค้าชำรุด ไม่ตรงปก โปรโมชันหลอก”         ในขณะที่ผู้บริโภคเผชิญกับปัญหาสินค้าแพง ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาสินค้าชำรุดบกพร่อง สินค้าไม่ตรงปก และโฆษณาเกินจริงอีกด้วย โดยเฉพาะสินค้าที่สั่งทางออนไลน์ เช่น เสื้อผ้า ซึ่งจะได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณาหรือแสดงไว้บนหน้าแพลตฟอร์ม ส่วนกรณีซื้อสินค้าจากร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก พบปัญหาการแสดงราคาผิดและการแสดงโปรโมชันไม่ถูกต้องหรือการจัดวางสินค้าไม่ตรงกับป้ายแสดงราคา ทำให้เกิดปัญหาการเข้าใจผิด เช่น ที่ป้ายแจ้งว่าสินค้าซื้อ 1 แถม 1 แต่เมื่อนำสินค้าไปชำระเงินพนักงานกลับคิดราคาเต็มไม่มีการแถม เป็นต้น         ในส่วนของงานบริการ ผู้บริโภคพบปัญหาหลายด้าน อาทิ การถูกชักชวนให้ซื้อคอร์สบริการความงามต่างๆ หรือการเปิดบูธลวงขายเครื่องสำอางแพงเกินจริง การพบแอพขายสินค้าออนไลน์ที่ขายผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย และการหลอกซื้อบริการโปรแกรมทัวร์ท่องเที่ยวต่างประเทศล่วงหน้าแต่ถูกยกเลิกเที่ยวบินภายหลัง อันดับ 3 “คอลเซนเตอร์และ SMS หลอกลวง” ยังไม่หายไป         เมื่อปี 2564 ปัญหาเอสเอ็มเอสหลอกลวงจากบรรดามิจฉาชีพต่างๆ ครองอันดับหนึ่ง แต่เพราะการกระจายข่าวสารต่อสาธารณะมากขึ้น ทำให้ปัญหาลดความแรงลงมาแต่ไม่ใช่จะไม่มี ปีนี้ก็ยังเข้ามาเป็นอันดับที่ 3 ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งประเด็น SMS สินเชื่อ , บริการกู้เงินออนไลน์ , SMS พนันออนไลน์ , SMS รบกวนหลอกให้กดลิงก์เพื่อล้วงข้อมูล/หลอกหลวงให้โอนเงินเข้าบัญชี                   สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคที่น่าสนใจอื่นๆ         บริการสุขภาพ  เรื่องสิทธิบัตรทอง เรื่องการคิดค่าบริการสูงไม่สมเหตุผลของสถานพยาบาลยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน ตลอดจนเรื่องการฉีด/ไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ยังมีผู้บริโภคบางส่วนสับสน         อาหาร ยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้บริโภคยังเสี่ยงกับผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาเกินจริง อาหารเสริมโฆษณาสรรพคุณรักษาโรค อาหารหมดอายุก่อนวันที่แสดงบนฉลาก อาหารที่พบเจอสิ่งแปลกปลอมซึ่งแสดงถึงความไม่สะอาดถูกสุขลักษณะหรือแม้แต่อาหารที่สั่งทางออนไลน์ได้ไม่ตรงกับภาพโฆษณา         บริการขนส่งและยานพาหนะ เมื่อแท็กซี่เริ่มกลับมาให้บริการปกติ สถานการณ์แท็กซี่บอกปฏิเสธผู้โดยสารก็กลับมาเพิ่มในเรื่องร้องเรียนมากขึ้น รวมถึงวินมอเตอร์ไซต์ที่เรียกเก็บค่าบริการเกินราคาที่แสดง ขณะเดียวกันปีนี้กรมทางหลวงเปิดบริการ M-flow ก็พบว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ ว่า         “หลังจากได้เริ่มประกาศใช้ระบบดังกล่าวมีกระแสจากผู้ใช้เส้นทางสับสนในการใช้ช่องทางให้ถูกต้อง เกิดการเบียดแทรกเปลี่ยนเลนช่วงก่อนเข้าด่านเก็บเงิน ส่งผลให้การจราจรหน้าด่านติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วนมากขึ้นกว่าเดิม อีกหนึ่งปัญหาที่พบคือ ผู้ใช้ถนนขาจรที่ไม่ค่อยได้สัญจรผ่านเส้นทางมอเตอร์เวย์สาย 9 หลายคนเลือกใช้ช่องผ่านด่านของ M-Flow ทั้งที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน แต่ต้องชำระค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางต่างๆ ภายใน 2 วัน สำหรับรถที่ใช้บริการผ่าน M-Flow และไม่เสียค่าธรรมเนียมภายใน 2 วัน จะถูกปรับ 10 เท่า หรือคิดเป็นขั้นต่ำ 330 บาทต่อการผ่านทาง 1 ครั้ง ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกว่าค่าปรับดังกล่าวนั้นแพงไป เนื่องจากยังมีผู้ใช้รถใช้ถนนอีกไม่น้อยที่ยังไม่รู้จักกับระบบ M-Flow อีกทั้งวิธีการประชาสัมพันธ์ของกรมทางหลวงที่ไม่สามารถกระจายข่าวสารได้มากพอ จึงสร้างความสับสนและปัญหาในมิติอื่นๆ ที่ตามมาอีกจำนวนมาก”         อีกกรณีที่น่าสนใจคือ ร้องเรียนกรณีสายการบินยกเลิกเที่ยวบินเนื่องจากสถานการณ์โควิดจนถึงปัจจุบันสายการบินยังไม่ได้ดำเนินการคืนแก่ผู้ร้อง ไม่ว่าจะเป็นสายการบินในประเทศและต่างประเทศ ปัญหาที่พบคือสายการบินไม่ยอมคืนเงินแก่ผู้โดยสารแจ้งข้อเสนอให้ผู้บริโภคเลือกเครดิตเดินทางภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งทางเลือกดังกล่าวไม่ตอบโจทย์และเป็นธรรมเก็บผู้บริโภค เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19เป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะดีขึ้นเมื่อไหร่ ผู้บริโภคบางรายไม่ต้องการรับเครดิตตามที่สายการบินเสนอแล้ว สายการบินที่ได้มีการแจ้งร้องเรียนมายังมูลนิธิฯอาทิ สายการบิน Thai VietJet สายการบิน Thai Lion Air เป็นต้น โดยสายการบินที่ถูกร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากได้แก่ สายการบินแอร์เอเชียและแอร์เอเชียเอ็กซ์          อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย เรื่องร้องเรียนมากสุด ได้แก่ ร้องเรียนกรณีบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) สร้างคอนโดไม่เสร็จตามสัญญาเมื่อยกเลิกสัญญาบริษัทฯกลับไม่ยอมคืนเงิน จากกรณีดังกล่าวมีผู้ร้องเดินทางมาร้องเรียนที่มูลนิธิฯด้วยตัวเองจำนวน 40 กว่ารายทั้งหมด 4 โครงการได้แก่ โครงการ ไรส์ พหล - อินทามระ โครงการ ดิ เอ็ก ไฮด์อะเวย์ โครงการ The excella salle 17 โครงการ ดิ เอ็กเซลลาซาล 17 โดยทางมูลนิธิฯได้มีการเปิดรับเรื่องให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายร้องเรียนและได้มีการเข้าพบกับตัวแทนบริษัทฯเพื่อสอบทางแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยตัวแทนบริษัทฯชี้แจงว่า ทางบริษัทฯอยู่ระหว่างการคืนเงินแก่ผู้ร้องโดยขอแบ่งชำระเป็นงวดและทำบันทึกสัญญา ทั้งนี้ปรากฎว่าบริษัทฯไม่ได้มีการชำระเงินงวดแรกตามที่ตกลงไว้ มูลนิธิฯจึงจะดำเนินการฟ้องคดีเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ร้อง        พลังงานและสิ่งแวดล้อม สืบเนื่องจากราคาพลังงานปีนี้ค่อนข้างพุ่งสูง ทำให้เกิดการร้องเรียนเรื่องค่าไฟฟ้าสูงเกินจริง ร้องเรียนกรณีต้องการเรียกค่าเสียหายจากการที่การไฟฟ้านครหลวงถอดมิเตอร์แล้วมิเตอร์ได้รับความเสียหาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ‘หนังสือ’ ราคาแพงไปหรือไม่? คำถาม คำตอบ และความคาดหวัง

อาจจะ 20 หรือ 30 ปีก่อน ครั้งที่อินเทอร์เน็ตเริ่มบูมและมีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เกิดคำทำนายว่า ‘หนังสือเล่มจะหายไป’ นักอ่านจะหันมาอ่านหนังสือจากอินเทอร์เน็ตแทน ซึ่งก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นจริง (อย่างน้อยก็ยังไม่เป็นจริง) เพราะหนังสือเล่มมีเสน่ห์ในตัวที่ยังไม่มีสื่อชนิดอื่นเข้ามาแทนที่         ‘คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด’ มายาคติที่ไม่เป็นจริง (อย่างน้อยก็ไม่เป็นจริงแล้ว) แต่ก็ถูกเชื่อกันอยู่พักใหญ่ ปัจจุบันมีข้อมูลทางสถิติยืนยันแล้วว่าคนไทยอ่านหนังสือมากกว่านั้นเยอะ ผลสำรวจการอ่านของประชากรปี 2561 โดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยยังคงอ่านหนังสือเล่มสูงถึงร้อยละ 88 ขณะที่การอ่านจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็สูงขึ้นอย่างน่าจับตา ด้านสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (pubat) ระบุว่าคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 3 เล่มต่อเดือน         มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมชมงานถึง 1,355,893 คน สามารถสร้างรายได้ให้สำนักพิมพ์ที่เข้าร่วมงาน 347,331,734 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 ถึงร้อยละ 74         แต่ ‘รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำฐานข้อมูลและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการพิมพ์ (Publishing) ปี 2564’ จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ก็พบข้อมูลที่ดูขัดแย้งกันว่า         ‘ในภาพรวม พบว่าพฤติกรรมคนไทย มักไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอ่านเป็นทุนเดิม เนื่องจากระบบการศึกษาในประเทศ ที่ไม่ได้สนับสนุนให้คนไทยเห็นความสำคัญของการอ่านตั้งแต่ระดับเยาวชน ประกอบกับการเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้ผู้อ่านมีทางเลือกในการเสพสื่ออื่นๆ มากยิ่งขึ้นและพฤติกรรมการเสพสื่อของคนในปัจจุบันที่ใช้เวลาในการเสพสื่อสั้นลง รวมถึงทัศนคติของคนไทยที่มองว่าหนังสือคือสินค้าฟุ่มเฟือยเนื่องจากหนังสือมีราคาสูง ยิ่งทำให้คนไทยยิ่งหันไปเสพเนื้อหาแบบอื่นแทนที่สื่อสิ่งพิมพ์ ประกอบกับการเข้าถึงแหล่งหนังสือต่างๆ เช่น ห้องสมุด โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ไม่ได้สร้างการเข้าถึงให้กับผู้อ่านอย่างเพียงพอ ทำให้ผู้อ่านในต่างจังหวัดเข้าถึงหนังสือได้ยาก’         ‘รวมถึงทัศนคติของคนไทยที่มองว่าหนังสือคือสินค้าฟุ่มเฟือยเนื่องจากหนังสือมีราคาสูง’ ประโยคนี้คือประเด็นสำคัญที่เราจะคุยกัน หนังสือไทยแพงจริงไหม?         “คำว่าแพงหรือไม่แพงเป็นเรื่องสัมพัทธ์ มันขึ้นกับว่าเราจ่ายไหวมั้ย เพราะฉะนั้นถ้าเทียบในระดับราคาหนังสือต่อเล่มต่อค่าครองชีพ เมืองไทยถือว่าแพงแน่ๆ เพราะค่าแรงมันต่ำ แต่ค่าหนังสือมันขึ้นมาเรื่อยๆ ถ้าเทียบกับค่าครองชีพคือแพง ถ้ามองในมุมว่าราคาหนังสือปัจจุบันเทียบกับราคาหนังสือในประเทศอื่นๆ ก็ไม่ถือว่าแพงราคามาตรฐาน แต่ค่าแรงเรามันต่ำเราก็เลยรู้สึกว่าหนังสือแพง อย่างในญี่ปุ่นราคาหนังสือเล่มละ 350-1,000 เยน 1,000 เยนคือเล่มใหญ่ ถือว่าแพงแล้ว ประมาณ 256 บาท (ค่าเงินวันที่ 14 ธันวาคม) แต่ค่าแรงชั่วโมงละ 1,100 เยน ทำงาน 1 ชั่วโมงซื้อหนังสือได้แล้วเล่มหนึ่ง แต่ของไทยทำงานฟาสต์ฟู้ดเหมือนกัน พาร์ทไทม์ ชั่วโมงละ 28-36 บาท มันซื้อหนังสือไม่ได้ เดี๋ยวนี้ราคาเริ่มต้นก็ร้อยขึ้นแล้ว” ธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (pubat)         “ถามว่ามันขึ้นตามเงินเฟ้อมั้ย ใช่ ทุกสำนักพิมพ์น่าจะเจอเหตุผลเดียวกัน เพียงแต่ว่าปัญหาคำว่าแพงมันไปพันกับเรื่องค่าครองชีพและจีดีพีโดยรวมของประเทศด้วย ถ้าจะพูดถึงรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยกับราคาปกหนังสือ ณ ปัจจุบัน ผมคิดว่ามันก็แพง” มณฑล ประภากรเกียรติ ผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน         “แพงนะ รู้สึกเลยว่าแพงขึ้นมากจากตอนที่ไปเดินงานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุด บางสำนักพิมพ์ราคาสูงมากเลย ในใจทบทวนง่ายๆ อาจจะแบบสามเล่มพัน เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าสองเล่มพันก็มี เลยรู้สึกว่าแพงมากขึ้น ยิ่งหนังสือแปล ยิ่งแพง ต้องยอมรับว่าแพง เป็นของฟุ่มเฟือย” คชรักษ์ แก้วสุราช แอดมินเพจ ‘อ่านเจอ’         “ทำไมถึงแพง บางคนก็ตอบว่าเพราะค่าแรงมันถูก หมายถึงว่ามันไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำ เพราะฉะนั้นหนังสือมันเป็นความฟุ่มเฟือยอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องถูกมองว่าแพง แล้วก็ไม่ใช่ความบันเทิงราคาถูกอีกแล้ว เมื่อก่อนยังพอเป็นไปได้ที่คนทั่วจะสามารถซื้อหนังสืออ่าน ต้องยอมรับแล้วว่ามันสูงขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” กิตติพล สรัคคานนท์ นักเขียน นักออกแบบปก บรรณาธิการ ผู้ก่อตั้งร้านหนังสืออิสระ Books & Belongings และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี และสำนักพิมพ์ B&B Press ทำไมถึงแพง?         อย่างน้อยคนที่เกี่ยวข้องกับหนังสือในหลายบทบาทก็ยอมรับว่าราคาหนังสือไทยแพง แต่ความแพงนี้มีที่มา เราจะจัดกลุ่มกันดูว่าเป็นเพราะอะไร         ประเด็นแรกคือจำนวนการพิมพ์น้อยทำให้ไม่เกิดการประหยัดจากขนาดการผลิต (economy of scale) ถอยกลับไปประมาณ 10 ปีก่อนการพิมพ์หนังสือเริ่มต้นที่ 3,000 เล่ม ปัจจุบันเริ่มต้นที่ 500-1,000 เล่ม ขณะที่ fixed cost ต่างๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าบรรณาธิการ ค่าลิขสิทธิ์ ค่าแปล เป็นต้น สูงขึ้น เมื่อตัวหารน้อยลงราคาขายต่อหน่วยจึงต้องแพงขึ้น         คำถามที่ตามมา เหตุใดยอดพิมพ์จึงลดลงทั้งที่คนอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น ประเด็นนี้มองได้หลายมุม มุมแรก สำนักพิมพ์มีความหลากหลายมากขึ้นตัวเลือกการอ่านมีมากขึ้น ทำให้ยอดขายต่อเล่มต่อปกลดลงจึงต้องพิมพ์จำนวนน้อยลง เชื่อมโยงสู่ขนาดของตลาดในประเทศซึ่งธีรภัทรมองว่ามีขนาดใหญ่พอ แต่สิ่งที่ต้องนำมาคำนวณคือผู้เสพมีตัวเลือกการเสพ content มากกว่าในอดีตมาก หนังสือไม่ใช่แหล่งสาระความรู้และความบันเทิงเดียวเช่นในอดีต         แต่แม้ว่าขนาดตลาดจะใหญ่พอก็ไม่ใหญ่โตเท่ากับตลาดหนังสือในจีน อินเดีย ญี่ปุ่น หรือเวียดนามที่มีจำนวนประชากรไล่ตั้งแต่พันกว่าล้านถึงเกือบร้อยล้านและมีวัฒนธรรมการอ่านที่ค่อนข้างแข็งแรง ยกตัวอย่างญี่ปุ่นที่ยอดพิมพ์เริ่มต้นกันที่ 10,000 เล่ม เมื่อตลาดเล็กกว่าการอ่านน้อยกว่าก็ย้อนกลับไปเรื่องยอดพิมพ์        กระดาษแพงซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดโลก เป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของสำนักพิมพ์ ขณะที่ราคากระดาษในบ้านเราผูกกับราคาในตลาดโลก โดยเฉพาะปี 2565 ราคากระดาษพุ่งขึ้นกว่าร้อยละ 20-30 ในไทยมีผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่อยู่ 2 เจ้า ได้แก่ เอสซีจีและดับเบิ้ลเอเป็นอีกเกรดหนึ่งไม่เหมาะกับการผลิตหนังสือ(ส่วนความเข้าใจผิดที่ว่ากระดาษแพงเพราะเก็บภาษีกระดาษ ธีรภัทรบอกว่าประเทศไทยยกเลิกเก็บภาษีนำเข้ากระดาษตั้งแต่ปี 2535 และหนังสือก็ได้รับยกเว้นไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม) โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวอะไร?         ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่มักไม่ถูกนำมาคิดในสมการ-โครงสร้างพื้นฐาน เรืองเดช จันทรคีรี ผู้คร่ำหวอดในวงการหนังสือมายาวนาน โพสต์โครงสร้างราคาหนังสือในเฟซบุ๊กของเขาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2021 พบว่า ในราคาหนังสือ 100 บาทจะถูกคิดเป็นค่าสายส่งและหน้าร้านสูงถึงร้อยละ 40-45 เมื่อหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะเหลือกำไรคืนสู่สำนักพิมพ์น้อยกว่าร้อยละ 10         ดูแล้วเหมือนสายส่งผู้ทำหน้าที่กระจายหนังสือไปยังร้านหนังสือต่างๆ กำลังเอาเปรียบ แต่ธีรภัทรอธิบายว่าความจริงแล้วเมื่อหักต้นทุนแล้ว สายส่งเหลือกำไรเพียงร้อยละ 2-5 เท่านั้น          ธีรภัทรอธิบายต่อว่าเหตุผลที่ค่าสายส่งสูงเกือบครึ่งหนึ่งของราคาหนังสือเป็นเพราะต้นทุนการขนส่งของไทยสูง กลับไปที่ญี่ปุ่น ค่าสายส่งคิดเป็นร้อยละ 20-30 ของราคาหนังสือเท่านั้น เพราะในญี่ปุ่นใช้วิธีขนส่งหนังสือผ่านรถไฟไปยังหัวเมืองหรือจังหวัดต่างๆ แล้วนำรถบรรทุกมารับเพื่อไปกระจายต่อทำให้ต้นทุนค่าขนส่งถูกกว่าของไทยที่ต้องขนส่งด้วยรถบรรทุกเป็นหลัก         ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพต่ำส่งผลให้ราคาหนังสือแพงกว่าที่ควรจะเป็น         (และแน่นอนว่าค่าแรงขั้นต่ำก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อการเข้าถึงหนังสือ) รัฐควรทำอะไร?         คำถามสำคัญมีอยู่ว่ารัฐควรยื่นมือเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้ราคาหนังสือถูกลงหรือไม่         “ผมเห็นด้วยว่ารัฐต้องเข้ามาช่วย ถ้าคุณไม่สามารถสนับสนุนเรื่องการพิมพ์ได้ คุณควรสนับสนุนเรื่องบุ๊คแฟร์ ทุกสำนักพิมพ์อยากมีพื้นที่ในการปล่อยของ บางสำนักพิมพ์เล็กๆ ขายได้งานหนึ่งก็อยู่ได้ทั้งปี แต่ทำไมเขาต้องมาเสียค่าเช่า อย่างศูนย์สิริกิติ์เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่แต่ก็แพงขึ้นเป็นพื้นที่ของเอกชน ทำไมรัฐไม่เข้ามาเป็นเจ้าภาพในการจัดบุ๊คแฟร์คือ มันควรสนับสนุนด้านการขาย การตลาด        “ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้หนังสือราคาแพงคือกระดาษ ทุกวันนี้กระดาษนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่สามารถผลิตในไทยได้หรือกลุ่มเอสซีจีก็ผลิตน้อยลง หันไปทำธุรกิจอย่างอื่นที่ได้กำไรมากกว่า ถ้าเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ผมว่าช่วยสำนักพิมพ์ได้ยี่สิบสามสิบเปอร์เซ็นต์เลยในการลดต้นทุนการผลิต รัฐเข้ามาช่วยส่วนนี้ได้ด้วยการช่วยดีลกับตลาดต่างประเทศให้ราคาถูกลงหรือเรื่องโลจิสติกส์ที่ควรจะถูกลง แต่การจะให้คนในวงการอยู่ได้จริงๆ คุณต้องสนับสนุนตลาดหนังสือ” มณฑล กล่าว         ส่วนกิตติพลกล่าวด้วยความหวังที่น้อยกว่านั้น “ไม่มีผู้นำในรัฐบาลไหนตั้งใจทำให้เรารู้หรอก กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ถ้าเขาทำได้เขาทำตั้งนานแล้ว แต่ทุกวันนี้ยังจู้จี้ว่าประวัติศาสตร์ยังไม่ไทยพอ แสดงว่ามันสวนทางกับเรื่องการศึกษาที่แท้จริงและอย่างที่เราเห็นว่าในตำราในหลักสูตรต่างๆ มันสอนให้เราอ่านได้น้อยลงคิดได้น้อยลงเขียนได้น้อยลง สิ่งที่เราเห็นอยู่ก็เป็นโลกของชนชั้นกลางที่มีโอกาสมากกว่าแต่การศึกษาภาคบังคับทำให้เราพังทุกอย่างที่เราอยากรู้         “พอพูดถึงเรื่องนี้มันไม่มีหรอกแบบล็อตเตอรี่ ฟันด์ของอังกฤษที่ช่วยซัพพอร์ตสิ่งพิมพ์จะไปขอใคร ส่วนใหญ่ก็องค์กรด้านวัฒนธรรมของประเทศอื่นๆ ต่างหากที่จะหยิบยื่นเข้ามา ประเทศที่ยากจนกว่าเราในลาติน อเมริกายังมีงบที่ช่วยซัพพอร์ตด้านวัฒนธรรมเลยให้มากกว่าที่รัฐบาลไทยให้กับคนในประเทศอีก ตรงนี้ทำให้รู้สึกว่าถ้ามีความตั้งใจจริงใจจะทำตั้งแต่แรกเขาทำไปตั้งนานแล้วแต่เขาไม่ได้ต้องการ” ทำไมไม่ควรพึ่งพารัฐ?         ขณะที่ธีรภัทรมีมุมมองที่ต่างออกไปประมาณหนึ่ง “เวลาถกเถียงเรื่องแบบนี้เราชอบมองหนังสือเป็นเรื่องเดียวทั้งหมด ถามว่าเราควรอุดหนุนหนังสือเด็ก หนังสือเพื่อการเรียน เพื่อพัฒนาการให้ราคาถูก เข้าถึงได้มั้ย ผมว่าควร จำเป็น แล้วหลังจากนั้นเขาจะไปซื้อหนังสืออ่านในวัยที่โตขึ้นด้วยศักยภาพของตัวเอง แต่ถามว่ารัฐควรจะอุดหนุนทั้งหมดให้ราคาหนังสือทุกชนิดถูกลงมั้ย ผมไม่เห็นด้วย เพราะมันเป็นเรื่องธุรกิจของแต่ละฝ่าย หนังสือถูกทั้งหมดแล้วต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ในการสนับสนุน มันคุ้มหรือเปล่าในมุมมองของรัฐ”         เขาเห็นด้วยถ้ารัฐจะสนับสนุนด้านพื้นที่การจัดงานหนังสือและตลาดเพื่อให้สำนักพิมพ์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เท่าเทียมมากขึ้น         เขาเห็นด้วยถ้ารัฐจะอุดหนุนราคากระดาษ เนื่องจากใช้งบประมาณไม่มาก สำนักพิมพ์ได้รับประโยชน์ทั่วถึง และแทรกแซงอุตสาหกรรมกระดาษในไทยที่มีผู้เล่นน้อยราย แต่เขาคัดค้านการสนับสนุนสำนักพิมพ์หรือหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว เขายังมองว่าอันตรายต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการพิมพ์ เพราะหากพึ่งพารัฐมากเกินไปย่อมเท่ากับเปิดช่องโหว่ให้รัฐเข้ามาควบคุมเนื้อหาหนังสือโดยปริยายวิสัยทัศน์ที่ต่างกัน แผน 20 ปีที่ต่างกัน         ‘รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำฐานข้อมูลและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการพิมพ์ (Publishing) ปี 2564’ คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงของไทยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 3.64 มีมูลค่ารวมที่ 6 แสนล้านบาทในปี 2567 ทว่าใน Sector หนังสือกับหนังสือพิมพ์และนิตยสารจะมีอัตราการเติบโตคาดการณ์ต่ำสุด         อย่างไรก็ตาม e-book และ audiobook ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง จุดนี้สะท้อนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งต้องติดตามว่าจะส่งผลต่อการอ่านหนังสือเล่มแค่ไหน อย่างไร (ถึงกระนั้น เราอาจต้องนำเรื่อง digital divided หรือช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิตัลมาขบคิดร่วมด้วย)         ในรายงานข้างต้นได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์ของเกาหลีและเยอรมนีไว้ค่อนข้างละเอียด ช่วยให้เห็นว่าทั้งสองประเทศให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการอ่านมากเพียงใด เช่น เกาหลีใต้มีการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบกว่า 20 ปี มีหน่วยงานอิสระอย่าง KPIPA ทำหน้าที่ดูแลโดยเฉพาะ ฯลฯ และทั้งสองประเทศมีนโยบายสร้างนิสัยรักการอ่านและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่านเหมือนกัน         นอกจากนี้ รายงานยังจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการพิมพ์ ไว้ ผู้อ่านสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่        https://article.tcdc.or.th/uploads/media/2022/6/20/media_6-CEA-Publishing-Final-Report.pdf         เรานำเสนอส่วนนี้อย่างรวบรัดตัดความเพราะพื้นที่จำกัด เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศที่ใส่ใจกับการเรียนรู้ของพลเมืองนั้นมีอยู่ มีการคิด มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และประเทศที่ขาดวิสัยทัศน์ก็มีอยู่เช่นกัน         แผนพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์ 20 ปีของเกาหลีใต้กับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทย...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ผู้สูงอายุกับการซื้อของออนไลน์

        ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ และเป็นสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบแล้ว        ปัจจุบันกลุ่มคนสูงวัยมียอดใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์เติบโตขึ้นมาก และมีแนวโน้มสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วย เพราะสะดวก รวดเร็ว มีให้เลือกหลากหลาย และลดความเสี่ยงจากโรคโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมา แม้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันหาแนวทางส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจ และรู้เท่าทันเทคโนโลยีมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีผู้สูงวัยหลายคนที่พบปัญหาต่างๆ จากการชอปปิงออนไลน์  ผู้สูงอายุถูกหลอกให้ซื้อสินค้าออนไลน์ (สรุปปัญหาจากกลุ่มตัวอย่าง จ.พะเยา)        เนื่องจากมีการร้องเรียนปัญหาเรื่องสินค้าและบริการในพื้นที่จังหวัดพะเยาอย่างต่อเนื่อง คุณพวงทอง ว่องไวและเครือข่ายผู้สูงอายุ จึงได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลจากผู้สูงอายุใน 9 อำเภอ ของจ.พะเยา แบ่งเป็นช่วงอายุ 60 – 65 ปี (46.8%) ช่วงอายุ 66-70 ปี (26.8%) และช่วงอายุ 71-75 ปี (13.9%) แบ่งเป็นเพศชาย 101 คน และเพศหญิง 130 คน โดยใช้แบบสอบถามทั้งหมด 231 ชุด เพื่อศึกษาถึงปัญหาที่ผู้สูงอายุใน จ.พะเยา ถูกหลอกซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งสรุปผลสำรวจในประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้         ช่องทางการรับรู้ข้อมูลสื่อสารในการซื้อสินค้า – ทีวี เป็นสื่อที่กลุ่มผู้สูงอายุเข้าถึงมากที่สุด เนื่องจากชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะรับชมทีวีกัน ประกอบกับทุกวันนี้มีการขายสินค้าผ่านทางรายการทีวีมากขึ้น ส่วนทาง Line และ Facebook นั้น ผู้สูงอายุยุคปัจจุบันมีการใช้งานสมาร์ตโฟนกันมาก จึงทำให้เข้าถึงสื่อโฆษณาตามสื่อโซเชียลนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น         ประเภทสินค้าออนไลน์ที่ซื้อ - อาหารเสริม และ ยา เป็นสินค้าสองอันดับแรกที่ผู้สูงอายุทั้งหญิงและชายส่วนใหญ่เลือกซื้อ เนื่องจากในปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนั้นมีหลากหลายประเภท ทำให้เข้าถึงได้ง่าย ส่วนอันดับที่สามคือ อุปกรณ์ของใช้ (อุปกรณ์แต่งบ้าน อุปกรณ์การเกษตร อุปกรณ์แต่งรถ) เป็นสินค้าที่ผู้สูงอายุเพศชายเลือกซื้อมากกว่าเพศหญิง          เหตุผลที่ซื้อสินค้าออนไลน์ - สาเหตุที่ผู้สูงอายุเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ส่วนใหญ่คือ เพื่อรักษาสุขภาพ และเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เห็นได้ว่าผู้สูงอายุในปัจจุบันหันมาดูแลรักษาสุขภาพกันมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและสินค้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันเองก็หันมาจำหน่ายผ่านทางออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีผู้สูงอายุบางส่วนที่ซื้อสินค้าออนไลน์เพราะอยากทดลอง อีกด้วย          ปัญหาที่พบในการซื้อสินค้าออนไลน์ – ปัญหายอดฮิตอันดับแรกคือ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้รับสินค้าไม่ตรงกับโฆษณา รองลงมาจะเป็นไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่งและได้รับสินค้าล่าช้า จากปัญหาดังกล่าวอาจจะทำให้การสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ของผู้สูงอายุลดลงได้         เมื่อประสบปัญหาแล้วท่านทำอย่างไร – ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะประสานร้านค้า เพื่อให้ทางร้านดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป รองลงมาคือ ไม่ได้ทำอะไร และ ทิ้งสินค้านั้นไป จึงทำให้ผู้สูงอายุเสียเงินเปล่าและเสียโอกาสไปกับการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ (อาจเป็นไปได้ว่ามีผู้สูงอายุไม่กี่คนเท่านั้นที่จะประสานหน่วยงานเพื่อดำเนินการช่วยเหลือ แสดงว่าจำนวนผู้เสียหายจริงๆ น่าจะมีมากกว่าที่เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์ฯ หลายเท่าตัว)        ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา –ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เห็นควรให้ควบคุมคุณภาพร้านออนไลน์และกำหนดบทลงโทษและการชดเชยเยียวยา เพื่อให้ร้านค้าออนไลน์เกรงกลัวในการทำความผิด และมีการจัดทำทะเบียนร้านค้าเพื่อให้การขายออนไลน์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน         ทั้งนี้ ผู้สำรวจได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในสถานการณ์ที่มีปัญหาเรื่องร้องเรียนจากการซื้อสินค้าออนไลน์เกิดขึ้นมากมายนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการสร้างแรงจูงใจทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อสินค้า ด้วยวิธีการโฆษณาขายสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาดที่ขายตามปกติมาก และช่องทางการติดต่อเพื่อชำระเงินไม่ยุ่งยาก ก่อนซื้อติดต่อพูดคุยสอบถามเรื่องสินค้าง่าย แต่เมื่อผู้บริโภคหลงเชื่อซื้อสินค้ากลับพบปัญหาต่างๆ         ปัญหาการโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ หรือผิดกฎหมาย ขายสินค้าที่ติดฉลากที่ผิดกฎหมาย เช่น การโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ระบุเลขสาระบบอาหาร การโฆษณาขายสินค้าที่มีข้อความหรือ โฆษณาเกินจริง หรือสินค้าไม่ได้มีคุณสมบัติตามที่กล่าวอ้าง ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากได้รับความเสียหายสะท้อนถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ที่แม้จะมีกฎหมายควบคุมดูแลผู้ค้าออนไลน์ จัดการผู้กระทำความผิดในระบบคอมพิวเตอร์ หรือความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ แต่โดยสภาพบังคับใช้ยังไม่เอื้อต่อการปรามการกระทำความผิด และยังขาดการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ จึงไม่สามารถกำกับและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ           ผู้สูงอายุรู้ไม่เท่าทันกลโกงของร้านค้าออนไลน์         จากเวที “สูงวัยรู้เท่าทันโลกออนไลน์” ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดขึ้น โดยมีสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. : ETDA) และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าร่วมด้วย ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและแนะแนวทางลดความเสี่ยงให้ผู้สูงอายุไม่ถูกโกงจากการชอปปิงออนไลน์ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้         - ช่องทางที่ผู้สูงอายุถูกหลอกลวงมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก (44 %) รองลงมาคือทางไลน์ (31.25%)         - ผู้สูงอายุมักถูกดึงดูดจากการโฆษณาที่ใช้วิธีการลดราคาสินค้าลงมาก ๆ มีระยะเวลาจำกัดในการซื้อ ใช้ข้อความที่เกินจริง สร้างเรื่องราวให้เชื่อ และมีผู้สูงอายุเป็นพรีเซ็นเตอร์         - หากสินค้ามีการอ้างข้อมูลทางสถิติ จะต้องมีงานทดสอบหรืองานวิจัยจากสถาบันที่น่าเชื่อถือมารองรับ หากไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือพิสูจน์ได้ก็ไม่ควรซื้อ           - ถ้ามีการตั้งราคาจนถูกลงมาก ๆ อาจมองว่ามาหลอกขาย หรือสินค้าไม่มีคุณภาพ        - ถ้าไม่ได้บอกแหล่งที่มาว่าเอาข้อมูลมาจากไหนให้เชื่อไว้ว่าเป็นเท็จ        - การซื้อสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต เช่น อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ควรเช็กข้อมูลหรือสอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สคบ.หรือ อย.ก่อน เพื่อความปลอดภัย         - อย่าเร่งรีบซื้อสินค้า แต่ให้หาข้อมูลก่อน ทั้งข้อมูลของผู้ขาย ที่อยู่ของผู้ขาย โดยนำชื่อบัญชีผู้ขายค้นหาบนเว็บไซต์ตรวจสอบประวัติผู้ขายที่ควรระวัง เช่น เว็บไซต์แบล็กลิสต์เซลเลอร์ (blacklistseller.com) หรือค้นหาชื่อผ่านกูเกิ้ล (google)         - เลือกซื้อสินค้ากับตลาดออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ        - ไม่ควรซื้อกับผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ เพราะหากเกิดปัญหาจะตามตัวได้ยาก         - ผู้สูงอายุอย่าอายที่จะปรึกษากับลูกหลานก่อนตัดสินใจซื้อ         - ในจำนวนปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์ทั้งหมดที่มีผู้ร้องเรียนกับ สพธอ. พบปัญหาซื้อขายออนไลน์มากเป็นอันดับหนึ่ง สพธอ. จึงได้ร่วมกับทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชนในการประสานงานการเฝ้าระวัง ให้ข้อมูลความรู้ผู้บริโภค รวมทั้งช่วยจัดการแก้ไขปัญหาซื้อขายออนไลน์         - กรมกิจการผู้สูงอายุ พม. ร่วมมือกับชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย (OPPY) ส่งเสริมความรู้ในเรื่องการซื้อขายออนไลน์         อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุไทยยังพบปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลให้ปลอดภัย เพราะข้อมูลบนออนไลน์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีหลายคนถูกหลอกหรือถูกโกงมากขึ้น ดังนั้น ครอบครัวควรมีส่วนช่วยผู้สูงอายุในการให้ข้อมูล ความรู้ คำปรึกษา และแนะนำในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ด้วย ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ผิดปกติ         จากที่ Nikkei Asian Review นำเสนอกรณีศึกษาในประเทศญี่ปุ่นที่พบพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ผิดปกติของผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น โดยสินค้าที่ผู้สูงอายุสั่งซื้อมากผิดปกติคือ กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ (Health Foods) สาเหตุหนึ่งมาจากตัวแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุ เช่น ตัวหนังสือ หรือปุ่มแจ้งเตือนต่าง ๆ มีขนาดเล็กเกินไป ทำให้ยากแก่การสังเกต นอกจากนี้ อาการป่วยของผู้สูงวัยก็มีผลต่อการสั่งซื้อออนไลน์ที่ผิดปกติด้วย เช่นกรณีของคุณยายฐานะดีชาวญี่ปุ่นวัย 86 ปี ที่มีภาวะสมองเสื่อม ได้กดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ชนิดเดิม ๆ ซ้ำๆ ไปมากถึง 10 ล้านเยน ภายในเวลาเพียง 6 เดือน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสมองเสื่อมจากมหาวิทยาลัยเกียวโตมองว่า สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง เนื่องจากไม่มีใครคอยช่วยเตือน นั่นเอง         สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเชิงประจักษ์นี้ นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการยกระดับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้ปลอดภัยมากขึ้นสำหรับผู้สูงอายุ เช่น  Amazon ที่สามารถตรวจจับความผิดปกตินี้ได้แล้ว หากมีการกดซื้อสินค้าซ้ำ ๆ ติดต่อกันหลายวัน ระบบจะขึ้นแจ้งเตือนให้เห็นชัด ๆ ด้วยว่าเกิดการซื้อซ้ำที่มากเกินไป         ไม่แน่ว่า ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในประเทศไทยได้เช่นกัน       ก่อนสั่งซื้อสินค้าออนไลน์         1.ธุรกรรมที่เกี่ยวกับการเงินไม่ควรใช้อินเทอร์เน็ตสาธารณะ (Free-WiFi) - มิจฉาชีพอาจปล่อยสัญญาณให้ใช้ โดยให้ผู้ซื้อกรอกข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อขอใช้สัญญาณ เช่น เลขบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ ดังนั้น เพื่อป้องกันโดนขโมยข้อมูลทางการเงิน จึงควรใช้ WiFi ที่มีรหัสอย่างชัดเจน หรือเชื่อมต่อผ่านระบบสัญญาณมือถือส่วนตัวดีที่สุด         2. ตั้งสติก่อนคลิกทุกครั้ง - บ่อยครั้งที่เวลาสั่งซื้อสินค้าบนเว็บไซต์มักมีป็อบอัปเด้งข้อมูลโปรโมชั่น หรือส่วนลดต่างๆ ขึ้นมา ผู้ซื้อควรอ่านให้ละเอียดก่อนคลิกทุกครั้ง เพราะอาจโดนมัลแวร์หรือโปรแกรมประสงค์ร้ายที่แฝงมาเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่คลิกเข้าไปดูได้         3. เลือกซื้อจากเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือร้านที่เชื่อถือได้ – ร้านค้าต้องไม่มีประวัติการโกง ส่งสินค้าจริง เเละขายสินค้าที่มีคุณภาพ หากไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ อย่าสั่งซื้อเป็นอันขาด        4. เปรียบเทียบราคา และอ่านรีวิวจากผู้ซื้อ – ราคาควรสมเหตุสมผลกับตัวสินค้า ระวังสินค้าถูกเกินไปอาจเสื่อมคุณภาพหรือใกล้หมดอายุ และสังเกตด้วยว่ามีรีวิวจากหน้าม้าที่มาอวยเกินจริงหรือเปล่า         5. อ่านรายละเอียดของสินค้าให้ครบ - ร้านค้าต้องแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าให้ครบถ้วน เช่น ขนาด สี ลวดลาย จำนวนชิ้น ฯลฯ ค่อย ๆ พิจารณา อย่าพึ่งรีบกดซื้อ เพราะอาจถูกกลโกงจากภาพสินค้าเเละข้อมูลที่ไม่ตรงกันได้         6. สอบถามรายละเอียดจากผู้ขาย – ร้านค้าที่ดีควรมีช่องทางการติดต่อผู้ขายเสมอ หากไม่มั่นใจในสินค้า มีข้อสงสัย หรืออยากทราบที่มาของสินค้า ควรสอบถามรายละเอียดจากผู้ขาย รวมถึงขอดูรูปถ่ายสินค้าจริงประกอบการตัดสินใจ จะช่วยลดปัญหาสินค้าไม่ตรงปกได้อีกหนึ่งทาง การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์         7. กรอกข้อมูลส่วนตัวเท่าที่จำเป็น ไม่ต้องกรอกทุกช่อง - สังเกตจากเครื่องหมายว่า ส่วนใดจำเป็นต้องกรอก เช่น เครื่องหมาย *         8. อ่าน “เงื่อนไขในการให้บริการ” และ “การขอความยินยอม” หรือนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลอย่างละเอียดด้วย - จะได้รู้ว่ามีการเก็บข้อมูลเราไปเพื่ออะไร นำไปใช้ทำอะไรบ้าง เช่น เอาข้อมูลที่เรากรอกไปส่งต่อให้คนอื่นหรือไม่         9. พยายามจำรหัสผ่านให้ได้ หรือจดไว้ในที่ลับเฉพาะ - เมื่อใช้งานเว็บไซต์ หรือจะจ่ายเงิน ถ้ามีบริการช่วยจำหรือให้บันทึกรหัสผ่าน อย่าเผลอกด “ตกลง” แม้สะดวกสบายสำหรับการใช้งานครั้งถัดไป แต่อาจโดนสวมรอยได้         10. ตรวจสอบขั้นตอนวิธีการสั่งสินค้า และการส่งสินค้า – ผู้ซื้อควรรู้ขั้นตอนการสั่งและการส่งสินค้าของผู้ให้บริการ รวมถึงดูวันจัดส่ง วิธีการจัดส่ง โดยการยืนยันด้วยหมายเลขพัสดุ เพื่อติดตามและตรวจสอบสถานะการจัดส่งสินค้า        11.การชำระเงิน ถ้าเลือกได้ แนะนำให้ผู้สูงวัยเลือกจ่ายเงินแบบเก็บปลายทาง เพื่อความปลอดภัยเเละมั่นใจว่าได้ของแน่นอน แต่ต้องเช็กก่อนว่าได้สินค้าตรงปกจริงๆ จึงค่อยจ่ายเงิน หากเลือกการโอนเงินหรือตัดบัตรเครดิต ก็ต้องตรวจสอบจำนวนเงิน ชื่อและเลขบัญชีให้ถูกต้องก่อนกดยืนยันทุกครั้ง หลังการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์         12.เก็บหลักฐานซื้อขายทุกชิ้นไว้ให้ครบ –ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานการชำระเงิน ชื่อและเลขบัญชีธนาคารของเว็บไซต์ หรือร้านค้าออนไลน์ รวมถึงบันทึกหน้าจอสนทนากับผู้ขายไว้ด้วย เพราะหากเกิดปัญหาตามหลังมา ผู้ซื้อจะได้มีหลักฐานไว้ยืนยันเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตนเอง         13.เช็กว่าร้านค้านำข้อมูลส่วนตัวของผู้ซื้อไปเผยแพร่ในช่องทางสาธารณะหรือเปล่า เพราะในกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) นอกจากห้ามร้านค้าขอข้อมูลของลูกค้าเกินความจำเป็นแล้วยังห้ามเผยแพร่สลิปที่มีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือหมายเลขพัสดุของลูกค้า ในช่องทางสาธารณะต่าง ๆ ด้วย แต่ให้แจ้งข้อมูลแก่ลูกค้าในช่องทางส่วนตัวได้ หรือในกรณีที่พนักงานขนส่งสินค้าขอถ่ายรูปใบหน้าเพื่อยืนยันการรับสินค้า ผู้รับสามารถปฏิเสธการถ่ายภาพได้ และเปลี่ยนให้ถ่ายรูปมือขณะรับสินค้าแทน         15. เมื่อผู้ซื้อได้สินค้าแล้ว ก่อนจะเปิดกล่องพัสดุ ให้ตรวจเช็กชื่อผู้ส่งและผู้รับว่าถูกต้องหรือไม่รวมถึงอัดคลิปวิดีโอขณะเปิดกล่องพัสดุเก็บไว้ทุกครั้ง พร้อมตรวจเช็กสินค้าให้ละเอียดไปด้วย เพื่อป้องกันสิทธิ์ที่พึงมีของผู้ซื้อ และใช้เป็นหลักฐานหากได้รับสินค้าไม่ตรงปก ชำรุด หรือไม่ถูกต้องตามรายการที่สั่งซื้อ รวบรวมข้อมูลจาก...สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)เพจเฟซบุ๊กกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมช่องยูทูบ NSMThailand และ เว็บไซต์ myhellomonday.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 เรียนรู้จาก Forex 3D เพราะการลงทุนไม่มีทางลัด

Time line เหตุการณ์        ·  ตุลาคม 2561 ขาดสภาพคล่อง เริ่มระส่ำระส่าย จ่ายช้า แต่ยังพอมีเงินหมุนเวียน        ·  ธันวาคม 2561 ใช้วิธีหลอกล่อโดยให้กำไรมากกว่า 20% หลายๆคนคิดว่าเทรดจริงและเดือนนี้ได้กำไรยอะกว่าทุกเดือน หลายๆคนเพิ่มทุนเข้าไปอีก และได้ลูกค้าใหม่อีกหลายร้อยคน เพิ่มความน่าเชื่อถือด้วยทีมหน้าม้า แปะสลิปรับโอนปะปนกับคนที่ได้เงินคืนจริงด้วยอยู่เสมอ        ·  ต้นปี 2562 เริ่มจ่ายช้าลงอย่างเห็นได้ชัด        ·  พฤษภาคม 62 บางส่วนเข้าไปเจรจากับบริษัททางบริษัทเริ่มปิดข่าวไม่ได้ ก็เจรจาว่าจะโอนคืนให้ แต่ต้องเงียบห้ามโวยวาย        ·  บริษัทเริ่มปล่อยข่าว เงินติดแบงค์ชาติ, ผู้ถือหุ้น เพื่อนสนิท คนในบริษัทโกง เทสระบบปรับเปลี่ยนคลาส เพื่อให้จุดโฟกัสของนักลงทุน เบี่ยงเบียนไปจากเรื่องเงิน        ·  หลัง ก.ค. เงียบ ทำให้ผู้เสียหายตั้งกรุ๊ปไลน์รวมตัว เริ่มเข้าแจ้งความ แต่ทางบริษัทสร้างกลุ่มประจาน ข่มขู่ ผู้เสียหาย และผู้บริหาร ยังพูดจาให้ความหวังอยู่        ·  ต่อมาผู้บริหารไปปิดบัญชี โอนเงิน ถอนออกก้อนสุดท้ายที่ถอนหมดบัญชี ในเดือนกันยายน 62        ·  พฤศจิกายน 2562 DSI รับเป็นคดีพิเศษ        ·  ธันวาคม 2562 เริ่มยึดทรัพย์ อายัตบัญชี        ·  ปี 2563 ตีเช็คเงินสดให้ผู้เสียหาย มีการปล่อยข่าวคนใกล้ชิดโกงเงิน โทษกระบวนการทางราชการที่ทำให้จ่ายเงินเครือข่ายไม่ได้จากเพจ "รวบรวมผู้โดนโกง จาก Forex 3d"เวลานี้น่าจะมีน้อยคนที่ไม่เคยได้ยินชื่อ Forex 3D ขบวนการแชร์ลูกโซ่ที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอคาดว่ามูลค่าความเสียหายอาจสูงกว่า 4 หมื่นล้านบาท มีบุคคลในวงการบันเทิงเข้าไปพัวพันด้วยจำนวนมากและประชาชนเกือบหมื่นคนที่เป็นผู้เสียหาย         ย่อความให้เห็นที่มาที่ไปกันสักนิด อภิรักษ์ โกฎธิ ก่อตั้งบริษัท RMS Famelia Co. Ltd. และสร้างเว็บไซต์ Forex 3D ขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2558 ตามมาด้วยกระบวนการเชื้อเชิญประชาชนให้เข้ามาร่วมร่ำรวยกับ Forex 3D ด้วยการโอนเงินเข้าไปยังบริษัทจากนั้นก็แค่รอรับดอกเบี้ยเดือนละ 10-15 เปอร์เซ็นต์โดยไม่ต้องทำอะไร        อภิรักษ์อ้างว่าตนเองมีทีมงานที่เชี่ยวชาญการวิเคราะห์เศรษฐกิจโลก ค่าเงิน และยังมีโปรแกรมเอไอช่วยอีกแรง ซึ่งในช่วงต้นผู้ที่ลงทุนกับ Forex 3D ก็ได้รับดอกเบี้ยกลับมาจริงดังที่กล่าวอ้าง กระทั่งปลายปี 2561 ดอกเบี้ยก็หยุดจ่ายผู้ที่ขอคืนเงินต้นก็ไม่ได้คืน แล้วความฝันก็พังทลายลง ลูกไม้เดิมๆ ที่ไม่มีวันหมดอายุ         ทำไม Forex 3D สามารถสร้างความเสียหายทั้งในแง่ทรัพย์สินและจำนวนได้มากมายขนาดนี้?         ถ้าพูดด้วยภาษาของคนที่คลุกคลีในแวดวงการลงทุนและตลาดหุ้นต้องบอกว่า มนุษย์ขับเคลื่อนด้วยความโลภและความกลัว ในกรณี Forex 3D ชัดเจนว่าความโลภทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งก็ว่าไม่ได้เพราะถ้ามีหนทางสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำโดยไม่ต้องลำบากและยังได้รับถ่ายทอดความคิดจากกลางกระแส passive income เป็นใครก็คงไม่ปฏิเสธแต่นั่นยังไม่เพียงพอในการสร้างความน่าเชื่อถือ ดังนั้น กระบวนการปั่นความน่าเชื่อถือของ Forex 3D จึงเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่การมีที่ตั้งบริษัทอยู่บนถนนรัชดาย่านธุรกิจของกรุงเทพ การจ่ายผลตอบแทนในอัตรา 10-15 เปอร์เซ็นต์จริงตามที่โฆษณา หมายความว่าถ้าคุณลงทุนกับบริษัทนี้ 1 ล้านบาท คุณจะได้ผลตอบแทนกลับมา 100,000-150,000 บาททุกเดือน แม้ว่าในช่วง 3 เดือนแรกจะไม่สามารถถอนเงินต้นได้ก็ตาม แต่การได้รับผลตอบแทนขนาดนี้จะทำให้คนยินดีรอเพราะเชื่อว่าแค่ 10 เดือนก็จะคืนเงินต้น จากนั้นก็เป็นกำไรล้วนๆ         ตรงนี้จะสร้างกระแสเล่าลือแบบปากต่อปากดึงดูดเหยื่อเข้ามา ยิ่งถ้าสามารถหาสมาชิกใหม่เข้ามาเพิ่ม ผลตอบแทนที่ได้รับก็ยิ่งสูงขึ้นกลเม็ดอีกประการคือการแสดงความร่ำรวย การโชว์พอร์ต โชว์ผลตอบแทนที่แท้จริง การจัดสัมมนา พาไปดูบริษัทหรือสินทรัพย์ที่มีตัวตน สมาชิกถ่ายรูปคู่กับสินทรัพย์ราคาแพงอย่างรถสปอร์ตหรือบ้านแล้วเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย เดือนสิงหาคม 2561 อภิรักษ์ยังเปิดตัวโชว์รูมรถ RKK Auto Car ที่ขายเฉพาะรถหรูระยับเท่านั้น การมีรูปถ่ายและความสัมพันธ์กับดาราที่มีชื่อเสียง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาชนจะหลงเชื่อ         ที่แปลกคือทั้งหมดนี้ล้วนเป็นวิธีการเดิมๆ ซ้ำๆ ของเหล่ามิจฉาชีพ ใช้เกณฑ์ ก.ล.ต. ตรวจหาสิ่งผิดสังเกต         กระแสการลงทุนที่ได้รับความสนใจมากในปัจจุบันคือคริปโตหรือสินทรัพย์ดิจิทัล มีทั้งที่ถูกกฎหมายได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และไม่ได้รับอนุญาตซึ่งมักปรากฎโฆษณาบ่อยครั้งตามโซเชียลมีเดียต่างๆ         ภญ.ชโลม เกตุจินดา อุปนายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา กล่าวว่า ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องพยายามออกกติกาการกำกับดูแลเนื่องตอนนี้มีการโฆษณาการลงทุนออนไลน์จำนวนมาก ซึ่งการลงทุนที่น่ากังวลคือการลงทุนในเงินหรือสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งยังไม่เทียบเท่ากับเงิน         “เพราะฉะนั้นมันจะขึ้นๆ ลงๆ พอเราลงทุนไปแล้ว เราจะไม่รู้ว่าค่าเงินที่แท้จริงคืออะไร เลยต้องมีการกำกับโฆษณาไม่ให้เกินจริงหรือกำกับอินฟลูเอนเซอร์ที่โดนจ้างให้มาโฆษณา เราจะเห็นว่าการกำกับโฆษณาเกินจริงในสินค้าอื่นมี สคบ. (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ดูแล ในผลิตภัณฑ์อาหารและยามี อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ดูแล แต่สำหรับผลิตภัณฑ์นี้มันเริ่มยาก ก.ล.ต. ต้องมากำกับดูแล         “บริษัทที่ได้รับอนุญาตจาก กลต. จะมีการคุมเข้มมาก มันกลายเป็นกรอบกติกาว่าถ้าโฆษณานอกเหนือจากเว็บไซต์หรือช่องทางที่เป็นทางการของคุณแล้วถือว่าผิด พื้นที่การโฆษณาโดนกระชับพื้นที่เยอะมาก ถ้าเราเห็นโฆษณาลงทุนเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ให้เราเอาชื่อไปเช็คจากเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ถ้ามันไม่ใช่ก็โฆษณาไม่ได้ไม่ว่าจะน่าเชื่อถือขนาดไหน”         ทั้งนี้ทาง ก.ล.ต. ได้ออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์การโฆษณาและการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา มีเนื้อความว่า         1. ต้องโฆษณาไม่เกินความจริง                2. มีการแสดงข้อมูลด้านบวกหรือโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนและต้องมีการแสดงข้อมูลด้านลบหรือความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลควบคุม (balanced view)         3. กำหนดให้โฆษณาคริปโตทำได้ในช่องทางทางการของผู้ประกอบธุรกิจ (official channel) เท่านั้น (กรณีโปรโมตธุรกิจเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เจาะยี่ห้อเหรียญยังสามารถโฆษณาผ่านสื่อทั่วไปได้ทั้งหมด) และสำหรับผู้ประกอบการรายใดมีการเผยแพร่โฆษณาอยู่ก่อนแล้ว เช่น โฆษณาบนบิลบอร์ด เป็นต้น ต้องถอนออกภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ โดยได้ส่งหนังสือและสั่งให้แต่ละบริษัทดำเนินการตามกำหนดและทำตรารับรองส่งกลับมาให้ ก.ล.ต. การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง         ธนัช ธรรมิกสกุล หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำผู้บริโภคอีกว่า กรณีที่มีการชักชวนให้ลงทุน ผู้บริโภคควรบันทึกเสียงเอาไว้เพราะผู้ชักชวนจะต้องแจ้งชื่อและรหัสการขายเสมอ หากมีการการันตีว่าสามารถทำผลตอบแทนได้เท่านี้ภายในระยะเวลาเท่านี้ เมื่อถือเวลาไม่สามารถทำได้ อย่างน้อยก็มีหลักฐานสำหรับการร้องเรียน เขายังแนะนำอีกว่า        “ก่อนอื่นเราต้องดูว่าการที่เขามาพูดหรือชักชวนนั้น สมมติลงทุน 100 บาทได้ 10 บาทภายในระยะเวลา 1 เดือน เราอาจจะต้องฉุกคิดก่อนนิดหนึ่งว่ามันมีความเป็นไปได้ขนาดไหน ผมเข้าใจว่าเราต้องการเงินมาหล่อเลี้ยงชีวิต ถ้าเรามีเงินเหลือใช้จริง เราก็ลงทุนส่วนหนึ่ง แล้วก็เก็บอีกส่วนหนึ่งโดยไม่ไปกระทบกับส่วนอื่นๆ และต้อหาข้อมูลก่อนจะดำเนินการต่อไปเพราะต้องเจอจิตวิทยาของผู้ตั้งวงอยู่แล้วในกลุ่มมวลชน เราก็ไม่รู้ว่าเขาปั่นหรือเปล่า ก้อนแรก ก้อนสองได้อยู่แล้ว แต่พอเราลงทุนหนักเข้าไปสิ เราเริ่มติดเบ็ดเขา สู้ลงทุนก้อนแรกแล้วเราถอยเลย         “การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง แต่ถ้าเกิดแล้วเราก็ต้องเก็บรวบรวมพยานหลักฐานทุกอย่าง แม้กระทั่งสลิปการโอน อบรมโดยใคร เพื่อจะได้โยงโดนตัวผู้กระทำความผิดให้ได้ทั้งหมด แล้วนำเรื่องเหล่านี้ไปร้องเรียน ไม่ว่าจะแจ้งตำรวจหรือหน่วยงานมาช่วยกระพือ ติดต่อสื่อเพื่อให้เขารีบประชาสัมพันธ์ เพื่อไม่ให้เกิดผู้เสียในวงกว้างกว่านี้” ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาสั้น ต้องระวัง!         คราวนี้เรามาฟังคำแนะนำจากกูรูด้านการลงทุนกัน สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาคือ         “ให้ดูลักษณะผลตอบแทน ผลตอบแทนอะไรที่ดูดีเกิน ยกตัวอย่าง ลงทุนไปร้อยบาทปันผลยี่สิบบาท พวกนี้ให้เริ่มระมัดระวัง ถ้าลงทุนในหุ้นเก่งๆ 20 เปอร์เซ็นต์ต่อปีก็ถือว่าเก่งมากแล้ว อย่างวอร์เรนต์ บัฟเฟตต์เองหรือใครก็ตามที่เป็นนักลงทุนระดับโลก 20 เปอร์เซ็นต์ 23 เปอร์เซ็นต์ 27 เปอร์เซ็นต์ (เป็นผลตอบแทนต่อปีในระยะยาว) คือเก่งสุดแล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นจุดหนึ่งเลยที่นักลงทุนหลายคนหรือว่าคนที่อยากลงทุนมองข้าม” คำเตือนจากธนัฐ ศิริวรางกูร เจ้าของเพจคลินิกกองทุน         ก่อนการลงทุน สิ่งแรกๆ ที่ควรตรวจสอบก่อนคือผลตอบแทนว่ามีความเป็นไปได้จริงหรือไม่ กรณี Forex 3D ที่อ้างว่าจ่ายผลตอบแทน 10-15 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ลองคำนวณดูว่าลงทุน 1 ล้านบาท แล้วได้ผลตอบแทน 10 เปอร์เซ็นต์ทุกเดือนตลอด 1 ปีหรือ 1.2 ล้านบาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 120 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ขณะที่นักลงทุนเก่งๆ ระดับโลกต้องอาศัยเวลา 5 ปีถึง 10 ปีขึ้นไปแล้วนำผลตอบแทนมาหารเฉลี่ยเป็นผลตอบแทน 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ต่อปี         เมื่อใดก็ตามที่มีผู้อ้างว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงๆ ในระยะเวลาอันสั้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการหลอกลวง         “ที่ต้องดูคู่กันคือ platform นั้นได้มาตรฐานจากทาง กลต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) หรือเปล่า คืออย่างน้อยมี กลต. มาคั่นก็ปลอดภัยระดับหนึ่ง”         อย่างไรก็ตาม พบว่าการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐยังตามไม่ทันการลงทุนหลากหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาของเทคโนโลยี กลไกกำกับดูแลภาครัฐยากจะตามทัน         Forex 3D เป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจน ธนัฐอธิบายว่า Forex หรือ Foreign Exchange Market หรือตลาดซื้อขายอัตราเงิน ซึ่งเป็นการเก็งกำไรจากค่าเงิน ทาง กลต. ไม่ได้เป็นผู้กำกับดูแลแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงค์ชาติในการควบคุมเข้าออกของเงินสกุลต่างๆ         “แต่สินทรัพย์ Forex เป็นการลงทุนประเภทหนึ่ง ฉะนั้น กลต. จะเป็นคนดูแล แต่ว่า กลต. ไม่ได้ไปควบคุมเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ฉะนั้นมันจึงเทาๆ นิดหนึ่ง ถามว่าใครผู้ดูแลหลักผมให้น้ำหนักไปที่แบงค์ชาติ”         สรุปได้ว่าตลาด Forex ไม่ถูกและไม่ผิดกฎหมายเพราะยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ มันจึงอยู่ในพื้นที่สีเทา อย่างไรก็ตาม ทาง ธปท. ได้ชี้แจงว่าตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศต้องทำกับผู้ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อของผู้ได้รับใบอนุญาตได้ทางเว็บไซต์ของ ธปท. (www.bot.or.th) และในปัจจุบันทาง ธปท. ก็ยังไม่มีการให้ใบอนุญาตแก่บุคคลหรือนิติบุคคลที่ไม่ใช่ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทางอินเทอร์เน็ต         นอกจากนี้ ธปท. ยังไม่อนุญาตให้ทำการโอนเงินไปต่างประเทศเพื่อชำระธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศหรือ Forex ในเว็บไซต์ต่างประเทศ การฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ส่วนบุคคลที่แนะนำหรือโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาซื้อขายเงินตราต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตก็อาจมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน         ธนัฐให้ความเห็นว่าไม่มีทางที่หน่วยงานรัฐจะสามารถออกเกณฑ์การกำกับดูแลได้ทันท่วงที ถือเป็นจุดบอดประการหนึ่ง เนื่องจากเกิดสินทรัพย์ใหม่ๆ ขึ้นตลอดเวลา หนทางที่ดีที่สุดคือการให้ความรู้แก่ประชาชน         “ทำได้มากที่สุดก็คือฝั่งนักลงทุนต้องศึกษาหาข้อมูลก่อนทุกครั้ง ก็คือเป็นเรื่องธรรมดาปกติ ไม่อยากบอกเลยว่าต้องดูแลตัวเอง” กลับสู่พื้นฐาน investment literacy         เขาเสริมว่า investment literacy เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องทำ ต้องเข้าใจสินทรัพย์ที่จะลงทุนเป็นอย่างดีก่อน ต้องรู้ว่าที่มาที่ไปของผลตอบแทนของสินทรัพย์นั้นมาอย่างไร กลไกสร้างผลตอบแทนมาจากไหน ยกตัวอย่าง Forex ที่โฆษณาว่าให้ผลตอบแทน 10 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน นักลงทุนต้องถามว่ามันมาอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่ค่าเงินที่เทรดจะสม่ำเสมอทุกเดือน เป็นต้น         “ผมอยากให้ทุกคนกลับมาที่เบสิค การบริหารจัดการทางการเงิน ฉันไม่อยากจน อยากมีชีวิตที่ดี ถ้าอยากทำแบบนั้นมันไม่มีทางอ้อม ไม่มีทางลัด มันมีแต่ทางฟันฝ่าว่าเราต้องทำบัญชีกระแสเงินสดของตัวเองก่อน ลองบริหารจัดการและเอาเงินที่เหลือไปลงทุน และการที่เราใช้เงินที่หามาอย่างยากลำบากไปลงทุนก้อนนี้มันมีค่ากับเรานะ แล้วเราจะศึกษาเยอะขึ้นแล้วเอาเงินที่เราหาไปลงทุนมากขึ้น เพราะเงินที่หามาได้มันเหนื่อยจริงๆ คนส่วนใหญ่ที่ผมเจอ คนที่มีการเก็บออมแบบตั้งใจจริงๆ เขาจะไม่เข้ามาทางนี้เพราะว่าเขาได้มายาก เขาลงทุนอะไรสักอย่างก็ต้องคิดเยอะ ฉะนั้น กลับไปที่เบสิค ลองปรับตัวเองทำรายรับรายจ่าย เราจะเข้าใจตัวเอง การลงทุนแบบที่รู้ที่มาที่ไปเป็นอย่างดี มันจะปลอดภัยกับตัวเรามากขึ้น”        ประโยคที่ว่า ‘การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน’ ยังใช้ได้เสมอ ห้ามลืมเป็นอันขาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 อันตรายของการ ‘ปลดล็อกกัญชา’ ในภาวะสุญญากาศที่ไร้การควบคุม

หลังจาก ‘กัญชา’ ถูกปลดออกจายาเสพติดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 จากการผลักดันของอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่เคยหาเสียงไว้ ก็เกิดสภาพปั่นป่วนวุ่นวายไม่น้อยเพราะปลดล็อคแบบไร้การกำกับดูแล เกิดข่าวผู้บริโภคกัญชาทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวเข้าต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ไปจนถึงมีการเสพภายในโรงเรียน เป็นเหตุให้มีความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง ความเคลื่อนไหวหลังปลดล็อกกัญชา        เบื้องต้นกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขต้องออกประกาศเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน เพื่อกำกับดูแลในเบื้องต้น โดยมีเนื้อหาดังนี้         1. ให้กัญชา หรือสารสกัดจากกัญชา ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis เป็นสมุนไพรควบคุม         2. อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายสมุนไพรควบคุมตามข้อ 1 ได้ ยกเว้นการกระทำ ดังต่อไปนี้ (1) การใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ (2) การใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร (3) การจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร         3. อนุญาตให้ใช้ สั่งจ่าย กัญชา ยากัญชา กับผู้ป่วยของตนได้ กลุ่มที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย         4. ผู้ป่วยที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ยากัญชา กัญชา ได้ ตามข้อ 3 สามารถครอบครอง ขนย้าย ดูแล เก็บรักษา ใช้ประโยชน์ในปริมาณที่จ่ายให้สำหรับการใช้ประโยชน์เป็นเวลา 30 วัน         ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เคยตั้งข้อสังเกตและแสดงจุดยืนว่าเนื้อหาในข้อ 2 เท่ากับปล่อยเสรีและสุ่มเสี่ยงที่เยาวชนจะใช้กัญชาในทางที่ผิด อีกทั้งน่าจะขัด พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 มาตรา 46 หรือไม่ ที่บัญญัติว่า ‘ห้ามมิให้ผู้ใดศึกษาวิจัย หรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต’ ทางมูลนิธิฯ เห็นว่าควรยกเลิกประกาศข้อ 2 และรอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา        ถึงช่วงปลายเดือนกรกฎาคมก็มีการรวบรวมรายชื่อแพทย์จำนวน 851 คน พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลปิดสภาวะกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศทันที ยังไม่นับการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กร หน่วยงาน และภาคประชาชนอีกหลายกลุ่มที่ออกมาแสดงความห่วงใยในเรื่องนี้         ถ้าดูสถิติของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) เราจะไม่แปลกใจ เพราะหลังวันที่ 9 มิถุนายนเป็นต้นมาถึงปลายเดือนกรกฎาคม พบเยาวชนสูบกัญชาสูงขึ้นราว 2 เท่า ผลเบื้องต้นยังพบการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับสารเสพติดทั้งหมดยกเว้นสุราและบุหรี่ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 29.56 ในผู้ป่วยนอก และร้อยละ 44.33 ในผู้ป่วยใน ควรจำกัดเฉพาะกัญชาเพื่อการแพทย์         ย้อนกลับไปดูความเป็นมาของการผลักดันให้มีการใช้กัญชาในทางการแพทย์แบบสั้นๆ ภก.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก นักวิชาการและนักวิจัยระบบภูมิปัญญาสุขภาพ รองประธานมูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย เล่าว่า ในต่างประเทศมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชาอยู่มากและค้นพบประโยชน์ทางเภสัชวิทยาของสารที่อยู่ในพืชชนิดนี้ว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ อีกทั้งในตำรับยาแผนดั้งเดิมของไทย กัญชาก็เป็นส่วนหนึ่งของตำรับยา         เป็นที่มาของการผลักดันโดยกลุ่มนักวิชาการให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ภายหลังจึงมีภาคประชาชนที่ใช้กัญชาทางการแพทย์อยู่แล้วเข้าร่วมด้วย ขณะที่กลุ่มที่ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการไม่ได้มีส่วนร่วมตรงนี้ กระทั่งมีการแก้ไขกฎหมายยาเสพติดปี 2562 อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ ต่อมาพรรคการเมืองก็นำไปใช้เป็นนโยบายกัญชาเสรีในการหาเสียง เท่ากับว่าการปลดล็อกกัญชารอบนี้ไม่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์         “ที่ผ่านมาเราควบคุมว่ามันเป็นยาเสพติด แทนที่เราจะได้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้ในทางยาเราก็ทำไม่ได้ ทำให้มีการเรียกร้องว่าน่าจะต้องจัดวิธีการควบคุมใหม่ แทนที่จะไปอยู่ในลิสต์ของยาเสพติด น่าจะมีกฎหมายแยกเฉพาะเพื่อคุมมัน อันนี้ข้อเรียกร้องข้อเสนอมาแต่แรกๆ มีเครือข่ายขับเคลื่อน อาจารย์สำลี ใจดีก็เป็นผู้นำในยุคนั้น”         ตามที่ ภก.ยงศักดิ์ จะเห็นว่าไม่มีตรงไหนที่เรียกว่าเป็นการเปิดกัญชา ‘เสรี’ ชนิดใครอยากปลูก อยากเสพ อยากขายก็ทำได้ แต่มีการควบคุมด้วยกฎหมายเฉพาะและจำกัดการใช้ในทางการแพทย์ ครั้นนำมาปฏิบัติกลับกลายเป็นหนังคนละม้วน เขาเห็นด้วยกัญชาทางการแพทย์เป็นโยบายที่ควรสนับสนุน แต่ต้องควบคู่กับการควบคุมกำกับให้อยู่ในทางการแพทย์        “ผมไม่เห็นด้วยว่าเราจะกระโจนไปสู่การใช้กัญชาเพื่อนันทนาการในระยะเวลาสั้นๆ แล้วก็มันก็มีข้อควรระวังเยอะแยะที่จะเปิดให้ใช้กัญชาโดยทั่วไป ข้อกังวลเหล่านี้มีเหตุมีผลมีหลักฐานทางวิชาการและควรรับฟัง มันจะเป็นประโยชน์มากถ้าสามารถรวบรวมหรือทำให้คนหรือภาคีต่างๆ ในสังคมที่เขาสนใจเรื่องนี้มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำให้กฎหมายและการควบคุมเป็นไปอย่างที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน” เสรีกัญชาแบบไร้การควบคุม         นอกจากนี้ บรรดาระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ออกมาเพื่อกำกับดูแลก็ชวนตั้งคำถามทั้งในแง่ความชอบด้วยกฎหมายและการนำไปปฏิบัติจริง ไพศาล ลิ้มสถิต กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายว่าข้อ 2 ในประกาศเรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 เป็นประกาศที่มิชอบเพราะไม่มีอำนาจทางกฎหมาย เนื่องจากในมาตรา 44 และ 45  ของ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ไม่ได้ให้อำนาจในการอนุญาตเรื่องนี้ไว้         “ปกติแล้วการจะอนุญาตเรื่องสมุนไพรควบคุม ตัวอย่างเช่นกราวเครือที่มีการประกาศไปแล้วตามมาตรา 45 จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการครอบครอง การดูแล การเก็บรักษา การศึกษาวิจัย ซึ่งต้องออกเป็นรายละเอียด แต่ว่าประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับวันที่ 16 มิถุนายนไม่มีรายละเอียดก็เลยไม่มีอำนาจในการออก เป็นการออกที่ไม่ถูกต้อง แล้วก็ขัดแย้งกับมาตรา 46 ของกฎหมายฉบับเดียวกันด้วย เพราะมาตรา 46 บัญญัติว่าไม่ให้วิจัย ส่งออก รวมถึงจำหน่าย โดยเฉพาะการจำหน่ายแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ก็คือว่าใครที่จะเอาพวกกัญชาไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และขายให้กับประชาชนเพื่อการค้าจะทำไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตตาม พ.ร.บ. นี้ซึ่งก็คือปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยฯ ยังไม่เคยอนุญาตให้ใครตามมาตรา 46 เลย ที่ขายกัญชาในสถานบันเทิง การขายดังกล่าวเป้นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. นี้ตามมาตรา 46 แต่ว่ากรมแพทย์แผนไทยแค่ไปตักเตือน ไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย มันมีปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐไม่บังคับใช้กฎหมาย”        สรุปคือแม้ว่ากัญชาจะถูกปลดออกจากการเป็นยาเสพติดในกฎหมายยาเสพติดแล้ว แต่มันก็ยังถูกควบคุมโดยพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 อยู่ ใครที่ต้องการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาจะต้องขออนุญาตก่อนทุกกรณี ซึ่งยังไม่มีการอนุญาตแต่อย่างใด นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของประกาศควบคุมกัญชาที่ดูเหมือนจะมีปัญหาในทางกฎหมายให้ต้องพิสูจน์กันต่อ         ส่วนกรณีการปลูกเพื่อใช้เองในครัวเรือนสามารถทำได่โดยไม่ต้องขออนุญาต ไพศาลมองว่าจะสร้างผลกระทบมาก ซ้ำยังผิดหลักการที่ควรต้องขออนุญาตก่อนจึงจะปลูกเองได้ เขายกตัวอย่างว่าหากในบ้านมีเด็กและเยาวชนนำกัญชาไปสูบเองหรือนำไปผสมในอาหารในปริมาณมากเกินไป กรณีคนที่มีอาการแพ้กัญชาอาจมีอันตรายต่อร่างกายได้ ยังไม่นับว่ากัญชามีคุณสมบัติดูดซึมสารพิษและโลหะหนักในดิน การใช้อย่างไม่มีความรู้ย่อมสร้างผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว หยุดภาวะสุญญากาศเสรีกัญชา         ด้าน วีรพงษ์ เกรียงสินยศ เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่าเวลานี้สังคมกำลังสับสนกับภาวะสุญญากาศในการกำกับดูแลกัญชา เขาเห็นว่ามี 2 ส่วนที่รัฐจำเป็นต้องทำให้ชัดเจน ประเด็นแรกคือการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการว่าสามารถทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ และจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ต่อไป         ประเด็นต่อมาคืออาหารการกิน วีรพงษ์อธิบายว่าเป็นประเด็นที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำหน้าที่กำกับดูแลและให้อนุญาตแก่ผลิตภัณฑ์ที่มาขอขึ้นทะเบียน ถือว่ายังมีการดูแลอยู่ส่วนหนึ่ง แต่มีปัญหาว่ายังไม่มีมาตรการกำหนดให้ผู้ผลิตติดฉลากคำเตือนว่ามีส่วนผสมของกัญชาให้ชัดเจน ซึ่งตอนนี้เป็นเพียงการขอความร่วมมือเท่านั้น         จุดที่วีรพงษ์คิดว่าน่าเป็นห่วงกว่าคือกลุ่มอาหารปรุงสำเร็จที่ขายทั่วไปตามท้องตลาด เพราะแต่ละร้านปรุงกันเองใส่กันเอง ไม่มีการกำกับดูแล คงต้องรอร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ.... ที่อยู่ในการพิจารณาของสภาว่าจะออกมาหน้าตาอย่างไร สามารถสร้างกลไกกำกับดูแลได้แค่ไหน         ไพศาลวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง ว่าเนื้อหาไม่ค่อยดีนัก หลักการค่อนไปทางส่งเสริมกัญชาเสรี อนุญาตให้ประชาชนปลูกได้โดยไม่จำกัดแต่ใช้วิธีจดแจ้ง ส่วนมาตราการคุ้มครองผู้บริโภค เด็กและเยาวชนก็มีน้อย         “ถ้าจะให้ทำจริงๆ อาจจะต้องแก้ไขย้อนกลับไปที่ตัวประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการประกาศให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยกลับไปใช้ประกาศฉบับเก่าปี 2563 ที่เขียนไว้ว่าให้ตัวต้น ตัวดอกกัญชาเป็นยาเสพติดอยู่ แล้วกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงยุติธรรมพิจารณาร่วมกันในฐานะที่เป็นกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยาเสพติดให้คนที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ. ขึ้นมาตามหน่วยงานเสนอ ไม่ใช่ให้ ส.ส. เสนอเพราะทำให้ไม่มีกระบวนการกลั่นกรอง การรับฟังความเห็นก็ทำน้อย ไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมายก่อน อันนี้จะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่กำหนดให้มีกระบวนการศึกษาผลกระทบก่อนรอบด้าน แต่คงจะยากเพราะรัฐบาลก็ไม่ยอมเสนอร่างกฎหมาย ปล่อยให้ ส.ส.เสนอ เหมือนว่ารัฐบาลก็เกียร์ว่าง”         ไพศาลยังเห็นว่ากฎหมายกัญชากับกัญชงควรแยกคนละฉบับเพราะกัญชงเป็นพืชเศรษฐกินได้ ขณะที่กัญชายังยาเสพติดในหลายประเทศยังต้องควบคุมเข้มงวดมากกว่านี้ ผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้ปลูกในระยะแรกควรเป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยหรือแพทย์พื้นบ้านโดยต้องมาจดทะเบียน ส่วนกรณีประชาชนทั่วไปอาจจะอนุญาตให้ปลูกได้ในระยะต่อไปโดยจำกัดในกลุ่มผู้ป่วย พร้อมกับส่งเสริมองค์ความรู้         ด้าน ภก.ยงศักดิ์ แสดงทัศนะว่าการเปิดให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการยังเร็วเกินไปสำหรับสังคมไทย เขายกตัวอย่างแคนาดาซึ่งกว่าจะอนุญาตให้ใช้เพื่อสันทนาการได้ก็ต้องใช้เวลาเปลี่ยนกว่า 10 ปี เปิดให้โอกาสให้ทุกฝ่ายมาถกเถียง แลกเปลี่ยน วางระบบควบคุม และสร้างกลไกป้องกันกลุ่มเปราะบาง เช่น การควบคุมแหล่งผลิต พื้นที่ขายว่าบริเวณไหนขายได้ ตรงไหนขายไม่ได้ ห้ามขายให้ใคร มีระบบติดตามว่าใครเป็นผู้ซื้อ ซื้อไปจำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น        ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่มีเลยในไทย เราจึงอยู่ในสภาพเปิดเสรีกัญชาแบบไร้ทิศทาง ไม่รู้ว่ากฎหมายที่กำลังพิจารณาจะมีหน้าตาอย่างไร เกิดภาวะสุญญากาศ มึนๆ งงๆ และเป็นบทเรียนอีกครั้งว่าการทำเรื่องใหญ่ๆ ที่เน้นเอาเร็วเข้าว่า ไม่วิเคราะห์ผลกระทบ ไม่สร้างการมีส่วนร่วม สุดท้ายก็ต้องมาตามแก้ไขกันไม่จบสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 ‘กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล’ หลายเรื่องต้องรู้ก่อนตกเป็นเหยื่อ

เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ช่องทางสื่อสารต่างๆ ที่มีหลากหลายขึ้นทำให้การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง หลายครั้งเราได้เห็นแล้วว่าข้อมูลดังกล่าวถูกนำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มมิจฉาชีพ ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่เจ้าของข้อมูลและความมั่นคงต่อเศรษฐกิจและสังคม จึงเป็นที่มาของ “พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” (Personal Data Protection Act : PDPA) ที่เริ่มบังคับใช้แล้วอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565  ที่ผ่านมา  PDPA  มีความสำคัญอย่างไร ?         ความสำคัญของ PDPA คือทำให้เจ้าของข้อมูลมีสิทธิในข้อมูลส่วนตัวที่ถูกจัดเก็บไป โดยมีสิทธิที่สำคัญคือ สิทธิการรับทราบและยิมยอมการเก็บข้อมูลส่วนตัว และสิทธิในการขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว คัดค้านเพิกถอนการเก็บและนำข้อมูลไปใช้ และสิทธิขอให้ลบหรือทำลายข้อมูลส่วนตัว         สิทธิต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นของเจ้าของข้อมูล ทำให้องค์กร บริษัทต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการเก็บรวบรวมและนำข้อมูลส่วนตัวบุคคลไปใช้ ไม่ว่าจะของลูกค้า พนักงานในองค์กร หรือบุคคลใดๆ ที่เกี่ยวข้องก็ตามเป็นไปตามหลักปฏิบัติของ PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลส่วนบุคคลคืออะไรบ้าง         ข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) คือข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรม และข้อมูลนิติบุคคล เพราะไม่ถือเป็นข้อมูลที่มีสภาพส่วนบุคคล ข้อมูลส่วนบุคคลจัดกลุ่มกว้างๆ  ได้ 2 ลักษณะ คือ  ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ อีเมลส่วนตัว ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน เลขหนังสือเดินทาง  ข้อมูลการศึกษา สัญชาติ เชื้อชาติ  รวมถึงข้อมูลบนอื่น ๆ บนอินเทอร์เน็ตที่สามารถระบุตัวตนได้ สอง คือข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว ซึ่งส่วนนี้ต้องระวังการใช้ข้อมูลที่มีความอ่อนไหว (Sensitive Personal Data) มากเป็นพิเศษ เพราะเป็นข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูลมาก ได้แก่ ข้อมูลด้านสุขภาพ ความพิการ เช่น โรคประจำตัว การฉีดวัคซีน ใบรับรองแพทย์  ความคิดเห็นทางการเมือง ลัทธิ ความเชื่อ พฤติกรรมทางเพศ ข้อมูลพันธุกรรม  ข้อมูลชีวภาพ เช่น ลายนิ้วมือ แบบจำลองใบหน้า ข้อมูลม่านตา  เป็นต้น กฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องกับใครบ้าง        ·       เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject)  ซึ่งมีสิทธิในข้อมูลในหลายเรื่องคือ        ·       สิทธิได้รับการแจ้งให้ทราบ        ·       สิทธิขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล        ·       สิทธิในการขอให้โอนข้อมูลส่วนบุคคล        ·       สิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล        ·       สิทธิขอให้ลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคล        ·       สิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูล        ·       สิทธิในการขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล         ·       ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) คือ บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ “ตัดสินใจ” ในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล           ·       ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (Data Processor) คือ บุคคลหรือนิติบุคคลผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล “ตามคำสั่งหรือในนามของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล” ทั้งนี้บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการดังกล่าว ต้องไม่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล          เมื่อ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีผลบังคับใช้ เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject)  ต้องใช้ความระวังในการให้ข้อมูลและตระหนักในสิทธิของตนเองตามกฎหมายฉบับนี้ อีกทั้ง และผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ที่เปรียบเสมือนผู้ดูแลระบบมีหน้าที่เก็บรวบรวมและนำข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลไปใช้ ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงระบบดำเนินการเก็บรวบรวมเพื่อให้ข้อมูลปลอดภัย ไม่รั่วไหล ไม่ถูกนำไปใช้ นอกวัตถุประสงค์ที่เจ้าของข้อมูลยินยอม  ส่วนข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหวเป็นข้อมูลที่มีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดมากกว่าข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไปก็ต้องใช้ความระมัดระวัง มีความเข้มงวดมากขึ้น ดังนั้นจึงควรเก็บข้อมูลเท่าที่จำเป็นต้องใช้ และเก็บตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้กับเจ้าของข้อมูลเท่านั้น โดยสรุปพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กำหนดให้การเก็บข้อมูล รวบรวม การนำไปใช้ หรือเปิดเผย ข้อมูลส่วนบุคคล สามารถทำได้ในกรณีต่อไปนี้        ·       ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล        ·       จัดทำเอกสารประวัติศาสตร์ หรือจดหมายเหตุเพื่อประโยชน์สาธารณะ การศึกษาวิจัยหรือการจัดทำสถิติ        ·       ป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพของบุคคล        ·       จำเป็นเพื่อปฏิบัติกฎหมาย หรือสัญญา        ·       จำเป็นเพื่อประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือของบุคคลอื่น        ·       เป็นข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการทำตามสัญญาให้บริการ        ·       เป็นการใช้ข้อมูลที่มีกฎหมายอื่นให้อำนาจไว้        ·       เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือร่างกายของบุคคล        ·       เป็นการใช้เพื่อการศึกษาวิจัยหรือสถิติ        ·       เป็นการใช้ตามหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ        ·       เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ข้อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมาย PDPA สำหรับกิจการสื่อมวลชน        กรณีกิจการสื่อมวล กฎหมายฉบับนี้มีข้อยกเว้นเชิงเนื้อหาที่ไม่ใช้บังคับตาม พ.ร.บ.  ดังนี้        ·       เป็นข้อยกเว้นเฉพาะกิจกรรมประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้นการประมวลผลที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการสื่อมวลชน กฎหมายไม่ได้ยกเว้น เช่น การใช้ข้อมูลพนักงาน การทำระบบสมาชิก        ·       การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของกิจการสื่อมวลชนจะต้องเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพหรือเป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้น        ·       ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับการยกเว้นยังคงต้องจัดให้มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานด้วย        ·       จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ และการปฏิบัติหน้าที่ในการใช้อำนาจรัฐ   โทษทางกฎหมาย  ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล         สิ่งสำคัญที่เรายิ่งต้องศึกษาตัวกฎหมายฉบับนี้ นอกจากจะเพื่อปกป้องตนเองจากการเป็นเหยื่อ และถูกละเมิดแล้ว ยังเพราพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีบทลงโทษเมื่อนำข้อมูลอ่อนไหวดังกล่าวไปใช้ ซึ่งเราอาจเผลอทำไปได้อย่างไม่รู้ตัว โทษมีดังนี้           o  โทษทางอาญา:การสร้างความเสียหายต่อส่วนรวม        -กรณีนำข้อมูลไปใช้ ทำให้เกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง โทษสูงสุดจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000  บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ        -กรณีนำข้อมูลไปหาประโยชน์แบบผิดกฎหมาย โทษสูงสุดจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับการลงโทษทางอาญาข้างต้น ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริง และองค์ประกอบหลายอย่าง อาทิ เจตนาของการกระทำ การใช้หรือเปิดเผยข้อมูลไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป        o  โทษทางแพ่ง: การทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายทั้งด้านสิทธิ ชื่อเสียง และร่างกาย        -ค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่ได้รับจริง และศาลสั่งลงโทษเพิ่มขึ้นได้แต่ไม่เกิน 2 เท่าของสินไหมทดแทนที่แท้จริง        o  โทษทางปกครอง: การฝ่าฝืนข้อกฎหมาย        -จากการไม่ขอความยินยอมให้ถูกต้อง ไม่แจ้งรายละเอียดให้เจ้าของข้อมูลทราบ ไม่ให้เจ้าขอข้อมูลเข้าถึงตามสิทธิ ฯลฯ ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท        -การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยปราศจากฐานทางกฎหมาย ปรับไม่เกิน 3,000,000 บาท        -เก็บรวบรวม ใช้ เปิดเผยหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปรับไม่เกิน 5,000,000 บาท ส่วนการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป เช่น ชื่อ เบอร์โทร ที่อยู่อาศัย หมายเลขประจำตัว ไม่เข้าองค์ประกอบโทษอาญาตามมาตรา 79 (ทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)...................... 4 เรื่องไม่จริงเกี่ยวกับ PDPA         1. การถ่ายรูป-ถ่ายคลิป ติดภาพคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอมจะผิด PDPAหากไม่เจตนา และการถ่ายรูปถ่ายคลิปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย สามารถทำได้        2. ถ้านำคลิปหรือรูปถ่ายที่ติดคนอื่นไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียโดยบุคคลอื่นไม่ยินยอมจะผิด PDPAสามารถโพสต์ได้ หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ใช้แสวงหากำไรทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล        3. ติดกล้องวงจรปิดแล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือนผิด PDPAการติดกล้องวงจรปิดภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน เพราะเพื่อป้องกันอาชญากรรมและรักษาความปลอดภัยกับตัวเจ้าของบ้าน        4. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้ไม่จำเป็น ต้องขอความยินยอม หากการใช้ข้อมูลดังกล่าว        (1) เป็นการทำตามสัญญา        (2) เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ        (3) เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล        (4) เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ        (5) เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ        (6) เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง ทั้งนี้ หลักการข้างต้น อาจเปลี่ยนแปลงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆ ไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 ควบรวม ทรู - ดีแทค โอกาสทบทวนตัวเองครั้งสำคัญของ กสทช.

ตั้งแต่ช่วงเดือน พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ข่าวหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างมากเพราะส่งผลกระทบต่อ ผู้บริโภคเป็นวงกว้าง คือประกาศการควบรวมกิจการของดีแทค หรือกลุ่มเทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)  กับกลุ่มกิจการธุรกิจโทรคมนาคมกับบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรูมูฟ เอช         ปัจจุบันประเทศไทยมีหมายเลขโทรศัพท์มือถือใน 3 ค่ายหลักคือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส  บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  รวมกันแล้วกว่า  93 ล้านเลขหมาย มีค่าเฉลี่ยในการเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือทั่วโลกโดยเฉลี่ยคนละ 2 เครื่อง  มีความเร็วของเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายแบบ 3G, 4G หรือ 5G อยู่ในระดับเดียวกับญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน และฮ่องกง หากทรู คอร์ปอเรชั่น สามารถควบรวมกับ ดีแทคได้สำเร็จบริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นจะมีสัดส่วนของเลขหมายถึงร้อยละ 52 และ ทำให้คนไทยมีทางเลือกในการใช้บริการเพียง  2  เจ้า           หลังประกาศดังกล่าวทำให้เกิดข้อโต้แย้งหลายประการในสังคม  ปัจจุบัน กสทช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาการควบรวมและว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระให้จัดทำความเห็นประกอบ  จัดวงโฟกัสกรุ๊ปเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายขึ้นแล้วหลายครั้ง   ฉลาดซื้อรวบรวมข้อโต้แย้ง ทั้งฝ่ายคัดค้านและสนับสนุนมานำเสนอเพื่อให้ผู้บริโภคติดตามสถานการณ์ได้ทัน แล้วมาดูกันว่าปรากฎการณ์ผูกขาดด้านโทรคมนาคมจะเกิดขึ้นหรือไม่          ฝ่ายเห็นด้วยให้ควบรวม          -        การควบรวมทำให้เกิดการประสานพลังกัน (synergy) ของธุรกิจโทรคมนาคมที่ปัจจุบันต้องลงทุนเพิ่มขึ้นสูงถึง ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจลดลง ช่วยเพิ่มการลงทุนและจะพัฒนาการให้บริการให้ดีขึ้นได้         -        จะทำให้ประเทศไทยมีบริษัทขนาดใหญ่ระดับชาติ (national champion) มีศักยภาพในการไปแข่งขันในเวทีโลก  ช่วยสร้างความเข้มแข็งในเชิงธุรกิจทั้งในและต่างประเทศที่มีปัจจัยด้าน digital Disruption มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ใหม่ๆ มากขึ้น คุณภาพของ Network ที่เกิดขึ้นและเป็นเรื่องที่สำคัญ         -        ข้อห่วงกังวลในหลายเรื่อง เช่น   ค่าดัชนีการวัดการกระจุกตัวของตลาด (HHI)  อุปสรรคการเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่  ราคาค่าใช้บริการที่อาจสูงขึ้น   มีกลไกในการกำกับ ควบคุมอยู่แล้วคือการทำหน้าที่ของ กสทช.  ที่สามารถใช้อำนาจ หน้าที่ กำกับ กำหนดเงื่อนไขได้ ข้อกังวลว่าผู้ให้บริการจะร่วมมือกันกำหนดราคาเอาเปรียบผู้บริโภคไม่สามารถทำได้แล้วในปัจจุบัน เพราะมีการเปิดเผยข้อมูลและมี กสทช. ที่คอยทำหน้าที่อยู่แล้ว           ฝ่ายคัดค้านการควบรวม          -        การที่ผู้ให้บริการมีเงินลงทุนมากขึ้น ไม่ได้การันตีว่าจะมีการลงทุนเพิ่มและบริการจะมีคุณภาพที่ดีขึ้นเสมอไป         -        การควบรวมย่อมทำให้เกิดการผูกขาด  ส่งผลให้ผู้บริโภคถูกจำกัดทางเลือกในการใช้งานหลายรูปแบบ เช่น  อัตราค่าบริการที่อาจสูงขึ้นและไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่า คุณภาพของสัญญาณลดลง   เอกชนบางรายมีอำนาจเหนือตลาดหรืออาจจับมือกัน มีพฤติกรรมไปในทางเดียวกัน  และไม่เกิดการแข่งขัน         -        การควบรวมทำให้มีผู้ให้บริการน้อยราย ไม่สอดคล้องกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่มุ่งรักษาการแข่งขันในตลาดเพื่อรองรับการใช้เสรีภาพทางเศรษฐกิจตามที่ได้รับการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญ           นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตคณะกรรมการ กสทช. ทบทวนสถานการณ์ที่ผ่านมากับฉลาดซื้อ ว่าตลอดมาประเทศไทยมีผู้ให้บริการแบบ 3 เจ้าคือ AIS   Dtac และ True ทำให้เกิดการแข่งขัน และยิ่งเทคโนโลยีพัฒนายิ่งขึ้นได้ช่วยให้ค่าบริการถูกลงได้ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีที่ดีขึ้นแต่ราคาอาจไม่ได้ถูกลง และคุณภาพอาจไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นหากในระบบไม่มีการแข่งขันกันในการให้บริการ          “หากยังจำกันได้  ตอนที่เรามีการประมูลคลื่น  4  G  บริษัทชื่อ แจส  มาประมูลและชนะ จนได้เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายที่ 4  ทำให้ทั้ง 3 รายเดิม ออกแพคเกจ ลดราคาลงมาอย่างมาก แม้ว่าสุดท้าย แจสไม่มีเงินมาจ่ายค่าประมูลได้ แต่ผลพวงที่ทำให้ได้ประโยชน์จนถึงตอนนี้คือผู้บริโภคจ่ายค่าบริการถูกลง”         “การที่มี 3 เจ้า อย่างน้อยเป็นการแข่งขันในระดับที่ทำให้ราคาไม่สูงขึ้น มีโปรโมชั่นต่างๆ มาล่อใจลูกค้าแต่พอเหลือเพียง 2 ราย  ไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกโปรโมชั่นแล้วโดยเฉพาะ  2 ราย ที่มีส่วนแบ่งการตลาดใกล้เคียงกันคือ   50 /50   แล้วตลาดเริ่มอิ่มตัวแล้ว บทเรียนจากต่างประเทศก็พบว่า ระดับการแข่งขันจะลดลง  แต่เอกชนจะมีรายได้เพิ่มด้วย แล้วยิ่งปัจจุบันตอนนี้ที่ยังไม่มีการควบรวมจำนวนโปรโมชั่นของทุกค่ายในตลาด กำลังน้อยลงไปเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้น คือระดับการแข่งขันมันเป็นตัวกำกับดูแล ให้ราคามันอยู่ในจุดที่เหมาะสม   ถ้าการแข่งขันลดลงราคาก็จะผิดปกติ”          “วันนี้หากการควบรวมกิจการเกิดขึ้นจริง สิ่งที่จำเป็นคือ กสทช.ต้องรักษาระดับแข่งขันให้ได้ใกล้เคียงเดิม หากรักษาระดับการแข่งขันไม่ได้ ความเสียหายเกิดขึ้นแน่นอน อีกทั้งต้องประเมินผลกระทบการควบรวมกิจการ และจำกัดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด” นพ.ประวิทย์ กล่าว         สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ‘ทีดีอาร์ไอ’  ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่าในอดีตเมื่อมีผู้ให้บริการโทรคมนาคมเพียง 2 ราย นอกจากค่าบริการจะแพงลิบ โปรโมชั่นน้อย คุณภาพบริการแย่แล้ว ผู้ให้บริการยังสามารถใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในการเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น ใช้ระบบอีมี่ (IMEI หรือหมายเลขเฉพาะตัวเองของโทรศัพท์ในระบบ GSM ที่มีไว้เพื่อแก้ปัญหาเครื่องถูกขโมยในสมัยก่อน) บังคับให้ผู้ใช้บริการต้องซื้อเครื่องของผู้ให้บริการรายดังกล่าวด้วย         ความหวังอยู่ที่การทำหน้าที่ของ กสทช. ?         หลากหลายข้อโต้แย้ง ข้อห่วงกังวล มีสิ่งหนึ่งที่ตรงกันคือความหวังในการทำหน้าที่ของ กสทช. ที่หากทำด้วยความรอบคอบ รัดกุม ย่อมรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคได้ แต่เรื่องนี้หลายฝ่ายก็ยังกังวล เพราะในปี 2561    กสทช. ได้ออกประกาศที่ลดทอนอำนาจตัวเองทำให้การควบรวมไม่ใช้ระบบอนุญาต แต่ให้เป็นเพียงการแจ้งเพื่อทราบ ทำให้สังคมมองว่า กสทช. ที่เป็นผู้กำกับดูแลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องผู้บริโภคอย่างเต็มที่ ปัจจุบันจึงมีข้อเสนอเพื่อการทำงานของ กสทช.  ดังนี้          -   คลื่นความถี่เป็นสมบัติสำคัญของประเทศ จำเป็นต้องจัดสรรให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาชน ระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจ ตลอดจนความมั่นคงของประเทศ การควบรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ย่อมมีผลกระทบอย่างมาก รัฐจะต้องมีกฎเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาต โดยการชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีทั้งต่อทั้งผู้ประกอบการ การลงทุนเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคตกับผลเสียที่จะเกิดกับประชาชนและธุรกิจผู้ใช้บริการโทรคมนาคม        -   การควบรวมกิจการขนาดใหญ่ครั้งนี้ ส่งผลต่อประชาชนผู้ใช้บริการเป็นวงกว้าง กสทช. ผู้ตรวจสอบจะต้องรับฟังความเห็นจากทุกๆ ฝ่ายอย่างรอบด้าน  และให้ข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าเป็นระยะ ผ่านทางเว็บไซต์ของตนเองอย่างเป็นทางการ        -   ในการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการใดๆ กสทช. ต้องคำนึงถึงการรักษาการแข่งขันในตลาดเป็นสำคัญ ไม่ใช่มุ่งรักษาผลประโยชน์ของผู้ควบรวมหรือกำหนดเงื่อนไขที่ผู้ตรวจสอบคิดเอาเองว่าบังคับใช้ได้ง่าย ดังนั้นการที่ต้องพึ่งพาการทำหน้าที่ของ กสทช. เพื่อสร้างความเป็นธรรมในด้านโทรคมนาคม ย่อมสร้างความกังวลกับหลายฝ่ายต่อความสามารถที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวได้ เพราะการกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะให้ผู้ควบรวมต้องปฏิบัติตามเป็นเรื่องที่จะมีปัญหาและต้นทุนการบังคับใช้สูง อีกทั้ง กสทช.ยังไม่มีข้อมูล เพียงพอ  เท่าทันต่อการกำกับดูแลผู้ให้บริการ ...

อ่านเพิ่มเติม >