ฉบับที่ 119 เขาหลอกให้เด็กเป็นนักช้อปได้อย่างไร

เรียบเรียงจากหนังสือเรื่อง Born to Buy แต่งโดย จูเลียต บี. ชอร์   เมื่อปี 2546 โครงการวิจัย Child Watch ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ระบุเด็กไทยเป็นนักบริโภค และติดวัตถุมากกว่าครอบครัวและศาสนา ในรอบ 1 เดือนพบว่า เด็กกินอาหารจานด่วนเฉลี่ยราว 3 ครั้ง ไปเดินห้างสรรพสินค้าประมาณ 4 ครั้ง ซื้อเครื่องสำอางค์บำรุงผิวประมาณ 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กวัยรุ่นในต่างจังหวัดราวร้อยละ 50 ที่เข้าร้าน internet เป็นประจำ และร้อยละ 30 มีโทรศัพท์มือถือใช้และจากการที่เด็กวัยรุ่นใช้เวลาไปกับกระแสบริโภคนิยม และหมดเวลาไปกับการเดินห้าง หรือพูดคุยกับเพื่อน หรือเล่นเกมผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เด็กวัยรุ่นใช้เวลากับครอบครัวน้อยลงด้วย  กระแสบริโภคนิยมได้เข้าไปก่อร่างสร้างตัวในเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่เพียงแต่เด็กไทยเท่านั้นที่ต้องเผชิญวิกฤตนี้ เด็กทั่วโลกก็ไม่ต่างกัน  ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำผลงานวิจัยเชิงลึกของจูเลียต บี. ชอร์ ในหนังสือเรื่อง Born to Buy ที่ตีแผ่เทคนิคการโฆษณา และช่องทางในการเข้าถึงเด็กๆ ชาวอเมริกัน รวมถึงศึกษาผลกระทบจากวัฒนธรรมการบริโภคที่มีต่อจิตใจของเด็กเหล่านั้นด้วย โดยมีเด็กประถม 5 – 6 จำนวน 300 คนและผู้ปกครอง 25 คนเข้าร่วมการวิจัยครั้งนี้ มานำเสนอ ท่านสามารถหาอ่านฉบับเต็มได้จาก คุณหนูนักช็อป เมื่อโฆษณาบอกให้ลูกคุณต้องซื้อ. จูเลียต บี. ชอร์ เขียน ศศิวรรณ ปริญญาตร แปล สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก,2553.   คุณหนูนักช้อปงานวิจัย* ที่ทำกับเด็กอเมริกัน ฟันธงแล้วว่าเด็กที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการบริโภคมาก จะมีปัญหาทางจิตใจมากขึ้นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล สมาธิสั้น หรือมีความรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า นอกจากนี้ยังมีสุขภาพแย่ลงด้วย   ในภาพรวมแล้วเด็กอเมริกันทุกวันนี้มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง ทั้งๆที่อัตราความยากจนไม่ได้สูงเหมือนเมื่อก่อน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีปัจจัยลบที่บั่นทอนสุขภาวะของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา ปัจจัยที่ว่านั้นได้แก่ค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับวัตถุและการบริโภค  ที่สำคัญการตลาดและโฆษณากำลังจู่โจมพวกเขามากขึ้นทุกวัน ในทุกที่ๆพวกเขาอยู่ จึงไม่ได้มีเพียง “เด็กมีปัญหา” เท่านั้นที่ถูกดึงเข้าสู่วังวนแห่งบริโภคนิยม   เรื่องที่คุณอาจรู้แล้วเกี่ยวกับกลยุทธ์การโฆษณา1. โฆษณาจะนำเสนอภาพโลกของสินค้าดังกล่าวที่เป็นมิตรกับเด็ก โลกนั้นจะไม่มีครู ไม่มีพ่อแม่ที่น่ารำคาญ นี่คือโฆษณาที่สร้างขึ้นจากผลการวิจัยเรื่องเจตคติของเด็กต่อครูและพ่อแม่  2. โฆษณาจะต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าพวกเขาจะไม่เอาไหน ไม่เท่ ถ้าพวกเขาไม่มีสินค้าตัวดังกล่าวในครอบครอง ขอบอกว่ากลยุทธ์นี้ได้ผลกว่าการบอกเด็กให้ไปซื้อสินค้านั้นมาด้วยซ้ำ  3. โฆษณาจะเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับความต้องการทางอารมณ์ของเด็กๆ เช่น การต้องการเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม โฆษณาจึงนิยมส่งสารไปยังเด็กๆว่า ซื้อสินค้าตัวนี้สิ แล้วหนูจะมีเพื่อนแน่นอน   4. โฆษณาที่จะได้ผลนั้นจะต้องทำให้เด็กเกิดความต้องการอย่างท่วมท้นด้วย เราจึงได้เห็นการสร้างความตื่นเต้นเร้าใจด้วยแสง เสียง หรือภาพคลื่นครีมมหึมา หรือทะเลช็อกโกแลต เสมอๆ  5. บริษัทมักอ้างว่าโฆษณาไม่ได้มีผลต่อเด็กมากมายอย่างที่ผู้ใหญ่หลายคนวิตกกัน แต่ก็ยังตอบคำถามไม่ได้ว่าทำไมถึงทุ่มเงินให้กับการโฆษณาเป็นเงินหลายพันล้านเหรียญต่อปี   กลยุทธ์การตลาดที่ผู้ประกอบการใช้ในการเข้าถึงเด็กๆ1. สร้างอาณาจักรที่ทำให้เด็กรู้สึกเป็นอิสระได้โดยผ่านทางการบริโภค  2. เมื่อเด็กมีเงินใช้มากขึ้น หัวใจของวัฒนธรรมการบริโภคของพวกเขาคือการได้รู้สึกพิเศษเหนือคนอื่นๆ บริษัทต่างๆจึงพยายามปรับราคาสินค้าขึ้น เพื่อจะได้ดูเป็นสินค้า “เกินเอื้อม” และทำให้เด็กๆหลงใหล อยากเป็นเจ้าของมากขึ้น  3. สิ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จของการทำการตลาดสินค้าสำหรับเด็กคือความเท่ทันสมัย เพราะนาทีนี้มันคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ได้ในชีวิตของพวกเขา  4. นักการตลาดรู้ว่าเด็กเล็กก็ดูรายการสำหรับวัยรุ่น หรือรายการสำหรับผู้ใหญ่ และเด็กทุกคนก็มีความต้องการลึกๆที่ “อยากจะเป็นผู้ใหญ่” จึงจงใจนำเสนอสินค้าที่ “แก่กว่าวัย” ให้กับกลุ่มเป้าหมาย  5. การสื่อสารสองความหมายก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เช่น ในการโฆษณาอาหารสำเร็จรูปยี่ห้อหนึ่ง เนื้อหาที่ส่งไปยังพ่อแม่คืออาหารดังกล่าวมีวิตามินและทำจากวัตถุดิบที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ในขณะที่บอกกับเด็กๆ ว่าอาหารนั้นทานแล้วสนุกสนาน มีเพื่อนมากมาย  6. มีงานวิจัยที่ระบุว่าครอบครัวที่มีเวลาให้ลูกน้อยจะให้เงินลูกใช้มากขึ้นเพื่อเป็นการ “ไถ่บาป” และการใช้เงินทดแทนเวลานั้นเป็นสิ่งที่แม่นิยมทำมากกว่าพ่อ นักการตลาดจึงไม่พลาดโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากความรู้สึกผิดดังกล่าว ด้วยการสื่อสารถึงเด็กๆว่าสินค้าต่างหากที่อยู่เคียงข้างพวกเด็กๆเสมอ (ไม่ใช่พ่อแม่)  7. นักการตลาดใช้วิธี “สร้างโลก 360 องศา” ด้วยการจู่โจมผู้บริโภคด้วยข้อมูลจากทุกด้าน ในสื่อทุกประเภท รวมถึงการตลาดแบบ “ใช้ดีแล้วบอกต่อ” ด้วย 8. เงินซื้อได้ทุกอย่าง นักการตลาดสามารถจ่ายเงินให้พ่อแม่เพื่อซื้อเวลาที่จะได้พูดคุยกับลูกของพวกเขาได้อย่างเป็นส่วนตัวแม้กระทั่งการมาถ่ายวิดีโอลูกของตนในห้องนอนหรือห้องอาบน้ำ ---------------------------------------------------------------------------------------- เด็กกับพลังตื๊อเป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยกันดี แต่เรื่องใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นคือเด็กกำลัง “ฝึก” พ่อแม่ให้จัดหาสิ่งที่ต้องการให้โดยไม่ต้องร้องขออีกต่อไป เพราะเมื่อพ่อแม่เรียนรู้ว่าเด็กชอบหรือไม่ชอบอะไร ก็จะพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่ลูกไม่ชอบ เพราะไม่อยากเสียเงินหรือเวลาไปกับสิ่งที่ซื้อมาแล้วลูกจะไม่กิน ไม่ใช้ ซึ่งก็เข้าทางทั้งเด็กและทั้งคนที่จะหากำไรจากเด็ก ---------------------------------------------------------------------------------------- - สหรัฐอเมริกามีศูนย์การค้ากว่า 105,000 แห่ง เมื่อปลายปีพ.ศ. 2552 มีพื้นที่ช้อปปิ้งประมาณ 7,000 ล้านตารางฟุต เมื่อนำมาเฉลี่ยกับจำนวนประชากร 300 กว่าล้านคนแล้ว อเมริกันชนแต่ละคนจะมีพื้นที่ศูนย์การค้าประมาณ 23 ตารางฟุต - ข้อมูลจาก The International Council of Shopping Centers จากสถิติของกรุงเทพมหานคร เมื่อปีพ.ศ. 2551 กรุงเทพฯ มีศูนย์การค้าทั้งหมด 136 แห่ง (และตลาดนัดอีกนับไม่ถ้วน)- อัตราการเป็นเจ้าของเครื่องรับโทรทัศน์ของอเมริกันชน เท่ากับ 740 เครื่องต่อ 1,000 คน (เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก เบอร์มิวดาและโมนาโค) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 86 ที่ 236 เครื่องต่อ 1,000 คน ----------------------------------------------------------------------------------------   เด็กติดแบรนด์ ข้อมูลจากการสำรวจของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในอเมริการะบุว่าโดยเฉลี่ยแล้ว เด็กอายุ 10 ขวบ จะสามารถจดจำแบรนด์ได้ระหว่าง 300 ถึง 400 แบรนด์  เวลาที่เด็กอ้อนให้ซื้อของ พวกเขามักจะระบุแบรนด์ของสินค้า และที่แย่กว่านั้นเด็กอเมริกันเดี๋ยวนี้จะร้องอยากได้สินค้า “แบรนด์ดัง” เท่านั้น และประสบการณ์การบริโภคของเด็กอเมริกัน (และก็คงจะไม่ต่างกับเด็กที่บ้านเรา) ทุกวันนี้ก็จะต้องหรูหราขึ้นด้วยเด็กไม่ได้มีทางเลือกมากมาย อย่างที่พวกเขาเข้าใจ ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันธุรกิจสื่อและความบันเทิงสำหรับเด็กก็ อยู่ในมือของ 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ ดิสนีย์ เวียคอม นิวส์คอร์ป และเอโอแอล ไทม์ วอร์เนอร์ เท่านั้น   อย่างนี้จะดีไหมงานวิจัยเรื่องดังกล่าวมีข้อเสนอดังต่อไปนี้ • ให้มีการเก็บภาษีร้อยละ 2 จากโฆษณาที่ออกอากาศทางวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และอินเทอร์เน็ท เมื่อฉายในเวลาที่มีผู้ชมในวัยต่ำกว่า 18 ปี ดูเกินร้อยละ 25  • รวมโฆษณาเอาไว้ในช่องเดียวกัน เมื่อบริษัทอ้างว่าโฆษณานั้นเต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ มีคุณค่า ก็ไม่มีอะไรต้องวิตก คนที่ชอบดูโฆษณาก็จะตามไปดูเอง ดูแต่โฆษณาให้จุใจกันไปเลย • เปลี่ยนระบบจากการให้โฆษณาเป็นผู้สนับสนุนรายการ มาเป็นระบบที่ผู้ชมสามารถจ่ายเงินซื้อสาระที่ต้องการชมได้เลย   หน่วยสืบราชการลับ GIA: Girls Intelligence Agency Girls Intelligence Agency หรือ GIA ที่ว่านี้ไม่ได้เป็นสาขาหนึ่งของซีไอเอ หรือหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด แต่กิจการของเขาก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้างตรงที่ จีไอเอก็มี “สายลับ” เช่นกัน  เว็บไซต์ของจีไอเอ ระบุว่าตนเองมีสายลับหญิงในสังกัดประมาณ 40,000 คน พวกเธออายุระหว่าง 8 – 29 ปี อยู่ทั่วอเมริกา ซึ่งจะทำการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่จีไอเอเพื่อแจ้งข้อมูล ข้อมูลที่ว่านี้ได้แก่ความคิดเห็น ความฝัน เป้าหมาย แรงบันดาลใจของบรรดาสาวๆเหล่านั้นและเพื่อนๆของเธอ จากนั้นบริษัทก็จะแปรข้อมูลที่ได้ให้เป็นข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อ “ลูกค้า” ซึ่งก็คือบริษัทที่ต้องการเพิ่มยอดขายสินค้าสำหรับเด็กและวัยรุ่นหญิงนั่นเอง จีไอเอ จะให้ “สิทธิพิเศษ” กับเด็กที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเป็น “เจ้าหน้าที่” ของตนด้วยการให้โอกาสพวกเธอทดลองใช้ผลิตภัณฑ์หรือไม่ก็เชิญพวกเธอเข้าร่วมงานเปิดตัวสินค้าต่างๆ  เด็กๆเหล่านี้จะได้รับการอบรมเทคนิคการล้วงความลับจากเพื่อนๆ โดยจีไอเอ บอกกับพวกเธอว่าพวกเธอจะต้องสอดรู้สอดเห็นเพื่อองค์กร   หนึ่งในสิ่งที่ “สาวสืบราชการลับ” ตัวน้อยเหล่านี้ต้องทำคือจัดงานปาร์ตี้ชุดนอน เชิญเพื่อนๆอีก 11 คนมาร่วมงาน เพื่อมา “ทดลองใช้สินค้าตัวอย่างก่อนใคร” และ “กินอาหารขยะกันให้พุงกาง” ไม่ว่าเด็กๆเหล่านี้จะรู้ตัวหรือไม่ งานปาร์ตี้ดังกล่าวก็คือการทำโฟกัสกรุ๊ปเพื่อสำรวจความเห็นของผู้บริโภคและเป็นชั่วโมงขายของไปโดยปริยาย  โดยหลังงานเลิก บรรดาเจ้าภาพตัวน้อยๆ เหล่านี้จะต้องรายงานผลกลับไปยังหน่วยเหนือของพวกเธอ นอกจากนี้บางครั้งจีไอเอจะส่งเจ้าหน้าที่ไปบันทึกภาพปาร์ตี้ดังกล่าวไว้ด้วย จีไอเอถึงกับกล้าพูดว่าสายลับแต่ละคนจะสามารถเข้าถึงเพื่อนสาวของพวกเธอได้อีก 512 คน ได้ในทุกแง่มุมของชีวิต ฟังแล้วก็น่าวิตกแทนพ่อแม่ของพวกเธอและของเด็กๆที่พวกเธอเรียกว่า “เพื่อน” เพราะไม่รู้ว่าคำว่า “มิตรภาพ” จะยังมีความหมายเหมือนเดิมหรือไม่---ตลาดสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในสหรัฐคือสินค้าสำหรับเด็กและวัยรุ่นหญิง จีไอเอระบุในเว็บไซต์ว่าขณะนี้สหรัฐอเมริกามีประชากรที่เป็นเด็กหญิงอายุระหว่าง 10 – 19 ปีกว่า 18 ล้านคน และเด็กเหล่านี้มีการใช้จ่ายรวมกันถึงปีละ 75,000 ล้านเหรียญ  นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่าวัยรุ่นมีส่วนในการทำให้เกิดการใช้จ่ายของครอบครัวถึง 700,000 ล้านเหรียญต่อปี และร้อยละ 56 ของวัยรุ่นเหล่านี้เป็นวัยรุ่นหญิง---

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 118 พรปีใหม่ สร้างได้ด้วยตัวเอง

พรปีใหม่ สร้างได้ด้วยตัวเองกองบรรณาธิการ   ในทุกช่วงเทศกาลปีใหม่ สิ่งที่เราจะทำกันนอกจากมอบของขวัญหรือการจัดงานฉลองรื่นเริงแล้ว ก็คือการส่งมอบ คำอวยพร อันเป็นถ้อยคำที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดี หวังให้เกิดความสุขสมหวังแก่คนที่เรานิยมรักใคร่  จริงแท้แล้ว ความสุขสมหวังในชีวิตตามคำพรอันแสนดีนั้น เราท่านสามารถสร้างได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอใครมาหยิบยื่นให้ก่อน  ฉลาดซื้อฉบับต้อนรับปีใหม่ 2554 นี้ จึงขอมอบแนวทางที่จะทำให้ท่านสามารถสร้างพรปีใหม่ให้แก่ตัวเองได้อย่างง่ายๆ แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมปีใหม่อย่างที่เคยๆ มาในปีก่อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น   บุญ สร้างได้หลายทางไม่จำเพาะแค่การตักบาตรหรือถวายสังฆทาน การทำบุญคือ การทำให้เราลด ละ ความโลภและความเห็นแก่ตัวลง ด้วยการสละ ซึ่งอาจเป็นสละแรงกาย ทรัพย์ หรือปัญญาเพื่อบุคคลอื่น  ดังนั้นการทำบุญคือ การสละอย่างฉลาด ไม่ใช่การตั้งหน้าตั้งตาซื้อ การทำบุญในพุทธศาสนาจึงสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้   ทำบุญอย่างถูกวิธี 1.การให้ทาน บริจาคเงิน สิ่งของ 2.การถือศีลหรือลดความประพฤติไม่ดี และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น 3.การเรียนรู้ ฝึกจิตให้สงบไม่เศร้าหมอง ทำให้เกิดปัญญา 4.การสละแรงกายช่วยเหลือสังคมและผู้อื่น เป็นงานเพื่อส่วนรวม 5.การอ่อนน้อมถ่อมตน แม้มีอาวุโสกว่าก็มีเมตตา รู้จักให้เกียรติ 6.การยอมรับและมีความยินดีในการทำความดีของผู้อื่น 7.การเผื่อแผ่โอกาสให้ผู้อื่นได้ร่วมทำบุญหรือความดีกับเรา พร้อมเผื่อแผ่ให้ผู้อื่นได้รับส่วนบุญนั้นด้วย 8.การรับฟังธรรมะและข้อคิดดีงาม 9.การให้ธรรมะและและข้อคิดที่ดีงามแก่ผู้อื่น10. การนึกคิดในทางที่ถูกต้องดีงาม   ไม่มีเงิน ก็ทำบุญได้ทำบุญไม่ได้แปลว่าให้ทานเสมอไป ไม่มีเงินเลยก็สามารถทำบุญได้ ด้วยการงดสิ่งเสพติด งดอบายมุข ก็ถือว่าได้บุญแล้ว รักษาศีล ไม่ประพฤติตนเป็นคนเกเร อันธพาล ไม่เป็นหนี้เป็นสินหรือไม่ใช่จ่ายให้เกินตัว ทำให้ชีวิตให้โปร่งเบาโดยลดกิเลสต่างๆ ลง เหล่านี้ไม่ต้องใช้เงิน ก็นับเป็นการทำบุญที่อานิสงค์ ไม่แพ้การให้ทานแต่ประการใด  ปีใหม่ไม่ดื่มจากสถิติของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ (ศปภ.) พบว่า จำนวนอุบัติเหตุใน 100 ราย มี 41 รายเกิดจากผู้ขับดื่มเหล้ามึนเมา และสาเหตุการตายของคนไทยเนื่องจากอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคมะเร็ง ทำให้มีคนตาย 1,300 คนต่อปี สูญเสียทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท   การสูญเสียที่มากมายนี้ทำให้หลายหน่วยงานออกกฎ มาตรการต่างๆ มาป้องกัน เช่น ห้ามดื่มสุราสำหรับผู้ขับขี่รถ ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานีบริการน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็รับทราบกันดี แต่ก็ยังพบการละเมิดกฎหมายอยู่บ่อยๆ ทำให้สถิติการเสียชีวิตอันมีสาเหตุเชื่อมโยงกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ลดลง อย่างนี้แล้ว หากเราจริงใจในการอวยพรผู้อื่นให้มีความสุขจริง อีกทั้งไม่เสี่ยงพาตัวเองไปเป็นผู้ก่ออุบัติเหตุที่สร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น รวมถึงสร้างสุขให้แก่ตัวเองด้วยการสร้างสุขภาพที่ดี ปีใหม่นี้ก็ขอให้งดดื่ม งานเลี้ยงรื่นเริงสังสรรค์ต่างๆ ก็ปรับนิดหน่อยให้สามารถสนุกสนานได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์   คนไทยดื่มสุราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 260,000 คน พบดื่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบสิบปี (2535-2545) จาก 992 ล้านลิตร เป็น 1,926 ล้านลิตร ที่มา สำนักงานสถิติแห่งชาติ   อดหวานต้านโรคคนไทยรับประทานน้ำตาลมากกว่า 20 ช้อนชาต่อวัน จากปกติที่ไม่ควรเกิน 6-8 ช้อนชาต่อวัน ทำให้คนไทยติดรสหวาน เด็กรุ่นใหม่ก็ติด รสหวาน โรคที่ไม่ควรเป็นในวัยเด็กอย่างเบาหวานจึงพบได้ในทุกวันนี้ รวมทั้งโรคอ้วนที่เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหัวใจ หลอดเลือดและความดันโลหิตสูง   เทศกาลปีใหม่เป็นช่วงที่มีงานเลี้ยงเฉลิมฉลองมาก ทั้งงานเลี้ยงที่ทำงาน สถานที่บันเทิงบ้านญาติ มิตร บางบ้านก็จัดปาร์ตี้กันเองในครอบครัว โอกาสที่จะรับประทานของหวานของมันก็มีมากขึ้น เพราะอาหารสำหรับงานเลี้ยงปีใหม่หนีไม่พ้นอาหารหวาน ขนมนมเนย ขนมเค้ก เบเกอรี่ ฟาสต์ฟู้ด ของทอด น้ำหวาน น้ำอัดลม ฯลฯ ซึ่งล้วนมีน้ำตาลสูงและให้พลังงานมาก แต่ร่างกายกลับไม่ค่อยได้นำพลังงานมาใช้เท่าที่ควรเพราะหลายคนถือเป็นช่วงพักผ่อน(เอาแต่นอน)  ทำให้ช่วงนี้หลายคนน้ำหนักตัวพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว  ถ้าไม่อยากให้ชีวิตในช่วงเริ่มต้นของปีใหม่ กลายเป็นปีแห่งโรคภัยไข้เจ็บและโรคอ้วน ควรรับประทานหวานๆ ให้น้อยลง และอย่าละเลยการออกกำลังกาย  ..........ส่วนผสมส่วนใหญ่ของคุกกี้ และเค้ก ทำมาจากแป้ง น้ำตาล เนย ไข่ และไขมัน ที่ให้รสหวานเป็นหลัก มีผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มได้ง่าย เสี่ยงเกิดโรคอ้วน ขนมเค้ก 1 ชิ้นเล็ก ขนาดประมาณ 35 กรัม ให้พลังงานถึง 140 กิโลแคลอรี ส่วนคุกกี้ 1 ชิ้น ขนาด 10 กรัม ให้พลังงานถึง 51 กิโลแคลอรี ..........ถ้ากินติดต่อกันในปริมาณ 1 ปอนด์(0.45 กก.)ต่อวัน จะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานถึง 1,600 กิโลแคลอรี เกือบเท่ากับที่ร่างกายต้องการพลังงานจากอาหารอื่นรวมวันละ 2,000 กิโลแคลอรี…   ของขวัญจากใจของขวัญ คือสิ่งที่นิยมมอบให้แก่กันในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่นิยมกันมากในช่วงหลังๆ ก็ได้แก่ กระเช้าผลไม้ กระเช้าของขวัญ เพราะเป็นดูกลางๆ ไม่มากไปน้อยไป ส่วนคนสนิทชิดใกล้ก็แล้วแต่จะเลือกสรรให้กัน ฉลาดซื้อเมื่อฉบับ 106 ธ.ค. 2552 เราก็จัดโพลล์กันไปรอบว่าด้วย สิบของขวัญที่ไม่อยากได้ และของขวัญที่ควรจะมอบให้แก่กันเพื่อมิให้เกิดการสูญเสียในทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งก็คือ “เงินสด” อย่างไรก็ตามถ้าจะเลือกมอบกระเช้าของขวัญ กระเช้าผลไม้ เป็นของขวัญปีใหม่   อย่าลืมว่าปีนี้ ทั้ง อย.และ สคบ.เขาพร้อมช่วยผู้บริโภค ด้วยการออกตรวจร้านค้าปลีก ร้านค้าทั่วไปเพื่อให้จัดกระเช้าของขวัญที่มีคุณภาพไม่แอบเอาของใกล้หมดอายุมาใส่ไว้ และในกรณีที่ผู้ประกอบการมีการ นำผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนวัตถุอันตราย และนำสินค้าที่หมดอายุ ไร้คุณภาพมาจำหน่ายในรูปแบบกระเช้า ให้ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากจำหน่าย อาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่มีฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท   “การให้ของขวัญ สิ่งสำคัญต้องไม่อยู่ที่ตัววัตถุ แต่อยู่ที่น้ำใจ และถ้าเราให้ของขวัญในสิ่งที่ช่วยประเทืองปัญญาจะดีมาก ไม่ใช่ให้ของขวัญที่กระตุ้นโลภะ โทสะ หรือว่าเป็นของขวัญที่บั่นทอนสุขภาพ ของขวัญถ้ามันไปสนองกิเลสของผู้รับ มันก็เป็นโทษทั้งแก่ผู้รับและผู้ให้ ในทางพุทธศาสนาก็ไม่ได้บุญ แต่ถ้าคุณให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต เกื้อกูลสติปัญญา ประเทืองอารมณ์ จรรโลงใจ เหล่านี้จะเป็นบุญแก่ทั้งผู้รับและผู้ให้” พระไพศาล วิสาโลใช้บัตรเครดิตให้ถูกทางข้อดีของการถือบัตรเครดิต คือความปลอดภัยและสะดวกในการใช้จ่าย เพราะการถือบัตรเครดิตโอกาสสูญหายหรือถูกขโมยมีน้อยกว่าการถือเงินสด (บัตรห ายก็ยังอายัดไว้ได้ ส่วนเงินไปแล้วไปเลย) นอกจากนี้ยังให้มูลค่าเพิ่มในการใช้อภิสิทธิ์ จากสถาบันการเงินที่ออกบัตรในการรับบริการที่แตกต่าง เช่น ได้รับสิทธิ์ซื้อสินค้าในราคาพิเศษ ได้รับความคุ้มค   รองด้านประกันภัยโดยไม่ต้องซื้อกรมธรรม์ ได้รับของกำนัลเมื่อใช้จ่ายผ่านบัตร ได้เงินคืนจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเมื่อถึงยอดที่กำหนด ฯลฯ  ซึ่งสถาบันการเงินต่างก็เพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อหวังเอาใจลูกค้ากันเต็มที่   แต่ผู้ใช้บัตรเครดิตจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่สูงนี้ ก็ต่อเมื่อผู้ใช้บัตรเครดิตมีการวางแผนทางการเงินที่ดี โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไม่เกินกำลังความสามารถของตนเองในการชำระคืนในเดือนถัดไป มิฉะนั้นท่านจะต้องตกลงในกับดักทางการเงิน ที่สุดท้ายกลายเป็นหนี้ก้อนโต การใช้บัตรเครดิตให้ปลอดภัย   1. จ่ายหมด ไม่มียอดค้างชำระ  การชำระสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิตเปรียบเสมือนการนำเงินในอนาคตมาใช้ เมื่อถึงรอบบัญชีเรียกเก็บหากชำระไม่เต็มจำนวนก็จะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยในรอบบัญชีถัดไป ซึ่งในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อปี 2. การใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ไม่ควรเกินร้อยละ 20 ของรายได้ต่อเดือน 3. อย่าติด Late Charge ถ้าจ่ายทั้งหมดไม่ได้ ก็จ่ายเท่ายอดขั้นต่ำ แต่จ่ายตามกำหนด ถ้าจ่ายช้ากว่าวันนัดชำระ จะเสียค่าปรับที่แพงขึ้นอีกจากค่าทวงถาม 4. อย่าเบิกเงินสดด้วยบัตรเครดิต ประเภทวีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ด เพราะจะเสียค่าธรรมเนียมแพงประมาณ 3% ของเงินสดที่เบิกออกมา บวกด้วยค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม และเมื่อรวมเงินต้นและดอกเบี้ยแล้ว จ่ายหนักแน่ 5. ไม่เบิกเงินสดจากบัตรเครดิตใบหนึ่งเพื่อไปโปะหนี้บัตรเครดิตอีกใบหนึ่ง เพราะสุดท้ายจะกลายเป็น งูกินหาง ติดหนี้ก้อนโตในทุกบัตร อย่าลืมว่า ดอกเบี้ยบัตรเครดิตนั้นแพงมาก หากพบว่าเริ่มมีปัญหาจากการใช้บัตรวิธีที่ดีที่สุดคือ หยุดการใช้บัตรเครดิตและวางแผนคืนเงินอย่างถูกต้อง ท่านสามารถขอคำปรึกษาได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2553 (ไม่รวมการใช้จ่ายของชาวต่างประเทศที่ถือบัตรเครดิตต่างประเทศ และการเบิกเงินสดล่วงหน้า) โดยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 712,000 - 727,650 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.0 ถึง ร้อยละ 17.5  จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ปี 2552  ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  เลือกรถโดยสารให้ปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่ จัดเป็นช่วงที่มีการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะที่สูงสุดช่วงหนึ่งของปี และทุกๆ ปี ก็พบว่า มีผู้โดยสารจำนวนมากทีเดียวที่พบอุบัติเหตุจากรถโดยสารที่ตัวเองนั่งไปโดยทั่วไปคนส่วนใหญ่เลือกนั่งรถกับบริษัทรถโดยสารที่คุ้นเคย หรือได้รับการบอกเล่าปากต่อปาก โดยคำนึงเรื่องความสะดวกสบายเป็นหลัก แต่น้อยคนนักที่จะคิดด้านความปลอดภัยและคิดจะตรวจสอบบริษัทรถโดยสารด้วยตัวเอง  ข้อมูลจากโครงการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เขาฝากมาว่า ในการขึ้นรถโดยสารทุกครั้ง ควรหลีกเลี่ยงการใช้บริการรถโดยสารสองชั้นเนื่องจากมีข้อจำกัดด้านจุดสมดุล  รถโดยสารที่ดีต้องมีส่วนที่เป็นโครงเหล็กมากกว่ากระจก บนรถต้องมีเข็มขัดนิรภัย ถังดับเพลิง หรืออุปกรณ์ด้านความปลอดภัย เบาะที่นั่งต้องยึดติดมั่นคง และมีเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อศูนย์บริการได้  นอกจากนั้น ผู้โดยสารทุกท่านยังสามารถช่วยกันดูแลสอดส่องการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ยามเมื่อเกิดอุบัติเหตุนอกจากจะทำเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้บริโภคเองแล้วยังเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพการบริการโดยเฉพาะด้านความปลอดภัยให้เป็นมาตรฐานสากลอีกด้วย  ฝากข้อมูลหรือแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ ติดต่อได้ที่โครงการฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ วิธีปฏิบัติ 3 ขั้นตอน ขั้นแรกผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถในการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาล และค่าปลงศพกรณีเสียชีวิตจากบริษัทประกันภัยของรถโดยสารที่เกิดเหตุโดยจะต้องดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายภายใน 180 วันหลังจากเกิดเหตุพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาบันทึกประจำวันของตำรวจ สำเนากรมธรรม์ประกัยภัยรถที่เกิดอุบัติเหตุในกรณีที่เสียชีวิตต้องเตรียมสำเนาใบมรณะบัตร และสำเนาทะเบียนบ้านหรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของทายาทมาด้วย   ขั้นที่สองนั้น สามารถใช้สิทธิเรียกร้องจากกรมธรรม์ภาคสมัครใจและบริษัทรถโดยสารจากความเสียหายทางด้านทรัพย์สิน และค่าเสียโอกาสอื่นๆหรือที่เราเรียกกันว่า ค่าทำขวัญ โดยมีข้อควรระวังคือ การลงลายมือชื่อในการรับค่าสินไหมทดแทนทั้งจากบริษัทประกันและบริษัทรถยนต์    หากมีเงื่อนไขในเอกสารการรับเงินหรือข้อตกลงใดๆว่า ผู้เสียหายยอมรับเงินโดยไม่ติดใจเอาความกับบริษัทแล้วจะทำให้ไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมได้ในภายหลัง   ขั้นสุดท้าย สิทธิการเรียกร้องทางกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคสามารถขอแบบฟอร์มได้ที่ศาล และติดต่อมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคหรือเขียนเองโดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มจาก www.consumerthai.org โดยฟ้องคดีได้ที่ศาลในภูมิลำเนาของผู้ประกอบการซึ่งจะต้องฟ้องร้องภายในระยะเวลา 1 ปีนับแต่ทราบความเสียหายในส่วนของผู้ที่ทำละเมิดโดยตรงคือ คนขับรถและบริษัทรถ  แต่ในส่วนของบริษัทประกันนั้นเราสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ภายในระยะเวลา2 ปีนับแต่ทราบถึงความเสียหายท่านสามารถใช้สิทธิผ่านช่องทางการร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 117 น้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญกับเรื่องที่ต้องระวัง

คนเราทุกคนต้องดื่มน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายดำเนินไปเป็นปกติ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายไม่อาจขาดน้ำได้ เพราะการขาดน้ำย่อมหมายถึงการสิ้นสุดของชีวิตโดยทั่วไปร่างกายได้น้ำมาจากน้ำดื่ม เครื่องดื่มและอาหาร น้ำที่เราใช้ดื่มกินมาจากหลายแหล่ง ทั้งที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น น้ำฝน น้ำบาดาล และที่ผ่านกระบวนการผลิต เช่น น้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งอย่างหลังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายจนเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจในน้ำประปาว่า สะอาดเพียงพอสำหรับการดื่มกิน อย่างไรก็ตาม น้ำดื่มบรรจุขวดนั้นมีราคาแพงมาก น้ำดื่มขนาด 600 มิลลิลิตรที่วางจำหน่ายทั่วไปมีราคาสูงถึง 7 บาทต่อขวด และยังอาจมีราคาสูงไปได้อีกหากจำหน่ายในร้านอาหารที่ไม่มีการควบคุมราคาน้ำดื่ม ดังนั้นหากเป็นการซื้อมาไว้เพื่อการบริโภคในครัวเรือน น้ำดื่มบรรจุขวดอาจไม่ใช่ทางเลือกสำหรับครอบครัวที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย การติดตั้งเครื่องกรองน้ำ ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่บางครอบครัวเลือกใช้ แต่สำหรับบางครอบครัวหรือบางคนที่ไม่ได้มีบ้านพักถาวร เช่นผู้ที่ต้องอาศัยอยู่ในหอพักหรือห้องเช่า น้ำดื่มที่กำลังมาแรงสุดตอนนี้ก็คือ น้ำดื่มที่ได้มาจากตู้หยอดเหรียญ ที่ปัจจุบันมีกระจายติดตั้งอยู่ทั่วไปในย่านชุมชนที่มีหอพักจำนวนมาก เพราะทั้งสะดวกในการใช้บริการและมีราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับน้ำดื่มบรรจุขวด โดยน้ำที่ได้จากตู้หยอดเหรียญจะมีราคาอยู่ที่ประมาณลิตรละ 70 – 85 สตางค์ เท่านั้น __________________________________________________________________________ ตู้น้ำหยอดเหรียญเป็นการพัฒนาระบบบริการน้ำดื่มให้ครอบคลุมความต้องการ โดยเฉพาะในแหล่งชุมชนที่มีประชาชนอยู่จำนวนมาก เช่น หอพัก ห้องเช่า ตลาด หรือบริษัทห้างร้านที่มีประชาชนจำนวนมาก พบได้ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตลอดจนในพื้นที่เขตเมือง เขตเทศบาลและแหล่งชุมชนใหญ่ๆ ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ จากการศึกษาล่าสุดโดยกองสุขาภิบาลอาหาร สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ประมาณการว่า เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร มีมากถึง 20,000 ตู้ และส่วนใหญ่เป็นตู้น้ำดื่มที่ใช้กระบวนการรีเวอร์ส ออสโมซิส (Reverse Osmosis: RO) __________________________________________________________________________ น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญปลอดภัยหรือไม่ โดยวิธีการและแหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำ น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญน่าจะมีความปลอดภัยเหมาะสำหรับการบริโภค เพราะใช้น้ำประปาที่คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานมาผ่านกระบวนการหรือขั้นตอนที่ทำให้ได้น้ำดื่มที่มีคุณภาพและความสะอาดที่ดี แต่จากการวิจัยของหลายหน่วยงานในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา พบว่า น้ำที่ได้จากตู้หยอดเหรียญยังมีความเสี่ยงในเรื่องของการปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ ข้อมูลจากศึกษาวิจัยและเฝ้าระวังของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ที่ได้ทำการศึกษาเชิงสำรวจคุณภาพน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญ โดยสุ่มตัวอย่างจากพื้นที่ 30 เขตของกรุงเทพฯ จำนวน 546 ตัวอย่างจาก 20 ตราผลิตภัณฑ์ ในช่วง มี.ค. – มิ.ย. 2548 โดยอาศัยเกณฑ์ประเมินคุณภาพของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ มอก. 257-2521 ของกระทรวงอุตสาหกรรม มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 (2524) และฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2534) และมาตรฐานของการประปานครหลวง ในภาพรวมพบว่า มีน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสูงถึง 289 ตัวอย่างหรือคิดเป็นร้อยละ 52.9 โดยมีประเด็นที่น่าสังเกตคือเมื่อจำแนกตามตรายี่ห้อผลิตภัณฑ์ของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้ง 20 ตราผลิตภัณฑ์พบว่าไม่มีกลุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากตรายี่ห้อใดเลยที่ผ่านเกณฑ์ได้ทั้งหมด และในจำนวนนี้มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของตราผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ในสัดส่วนมากกว่า 50% ของกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มตรวจของแต่ละตราผลิตภัณฑ์ ในปี พ.ศ. 2549 สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย ได้ทำการเฝ้าระวังความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญ โดยสุ่มตรวจตู้น้ำหยอดเหรียญจาก 9 จังหวัด (รวม กทม. และนนทบุรี) พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน (แบคทีเรีย) ของกรมอนามัย จำนวน 3 ตัวอย่าง (จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 33 ตัวอย่าง) และพบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์ม (Coliforms) จำนวน 1 ตัวอย่าง (จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 22 ตัวอย่าง) ในปี 2550 เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการศึกษาเรื่องความปลอดภัยของการบริโภคน้ำจากเครื่องผลิตน้ำดื่มหยอดเหรียญ โดยสุ่มตัวอย่างจากเขตพื้นที่ต่าง ๆ ใน กทม. จำนวน 350 ตัวอย่าง (50 เขต ๆ ละ 7 ตัวอย่าง) ปรากฏว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงฯ ฉบับที่ 61 พ.ศ. 2524 และฉบับที่ 135 พ.ศ. 2534) จำนวน 264 ตัวอย่าง ซึ่งหมายความว่ากว่าร้อยละ 25 ของกลุ่มตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์ และในจำนวนนี้พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์เรื่องกรด – ด่าง (pH) และความกระด้างร้อยละ 20.9 พบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์ม (Coliforms) ร้อยละ 5.43 และ อี. โคไล (E.coli) ร้อยละ 0.57 นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์ม บริเวณหัวจ่ายน้ำของตู้น้ำหยอดเหรียญถึงร้อยละ 23.41 และมีตะไคร่เกาะอยู่ที่หัวจ่ายน้ำกว่าร้อยละ 50 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด และในปี พ.ศ. 2552 สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย ได้ทำการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคครัวเรือนอีกครั้ง โดยสุ่มตรวจน้ำดื่มเพื่อการบริโภคประเภทต่างๆ ของครัวเรือน จาก 19 จังหวัดในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ (ไม่รวม กทม.) ทั้งเขตเมืองและชนบท ซึ่งได้มีการสุ่มตรวจคุณภาพน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญด้วยจำนวน 6 ตัวอย่าง พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์แบคทีเรีย จำนวน 4 ตัวอย่าง ซึ่งจากการทบทวนการสำรวจทั้งหลายที่กล่าวมา พบว่า สาเหตุสำคัญที่น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญมีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ แบคทีเรียและโคลิฟอร์ม เนื่องจากความไม่สะอาดของอุปกรณ์กรองน้ำ ภาชนะที่เก็บน้ำและการเก็บน้ำที่กรองออกมาจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอย่างไม่ถูกสุขลักษณะนั่นเอง ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ นอกจากนี้ในบางจุดยังพบสาหร่ายและตะไคร่ในบริเวณหัวจ่ายน้ำอีกด้วย __________________________________________________________________________ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่จังหวัดสงขลา สมาคมผู้บริโภคสงขลา ได้ทำการสำรวจคุณภาพของน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญจำนวน 13 ตัวอย่าง 11 ตราผลิตภัณฑ์ ในการเก็บตัวอย่างจำนวน 3 ครั้ง ในเดือน กันยายน และ พฤศจิกายน 2552 และเดือนมกราคม 2553 จากพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยส่งทดสอบหาจุลินทรีย์ก่อโรค 4 ชนิด ได้แก่ เสต็ฟฟิโลคอคคัส ออเรียส (เอส.ออเรียส/S. aurius) ซัลโมเนลล่า (Salmonella ) อี.โคไล (E.coli) และ โคลิฟอร์ม (Coliform) ผลการทดสอบพบว่า มีเพียงหนึ่งตัวอย่างที่ไม่ผ่านการทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 8 ได้แก่ตัวอย่างยี่ห้อสยามวอเตอร์ จากหอพักณัชชา อพาร์ทเม้นท์ ในการเก็บตัวอย่างเดือนมกราคม 2553 พบโคลิฟอร์มจำนวนมากกว่า 22 เอ็มพีเอ็น ต่อน้ำดื่ม 100 มิลลิลิตร ซึ่งตามมาตรฐานในประกาศกระทรวงฯ ฉบับที่ 61 และ ฉบับที่ 135 ระบุไว้ว่าไม่เกิน 2.2 เอ็มพีเอ็น ต่อน้ำดื่ม 100 มิลลิลิตร (ข้อมูลจาก โครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ภายใต้การสนับสนุนจากแผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทย เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ./TUHPP) __________________________________________________________________________ ใครรับผิดชอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ในรายงานการศึกษาทบทวนองค์ความรู้ทางด้านน้ำกับความปลอดภัยด้านอาหาร โดย โปรแกรมศึกษาระบบความปลอดภัยอาหารและโภชนาการ (FSN) สถาบันคลังสมองของชาติ (KNIT) ร่วมกับ สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมกำกับดูแลน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังไม่มีความชัดเจน ไม่ว่าจะทางด้านหน่วยงาน/องค์กรหรือด้านตัวกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ก็ยังไม่มีกฎหมายใดที่กำหนด ควบคุมและกำกับดูแลน้ำดื่มเพื่อการบริโภคที่ได้จากตู้น้ำหยอดเหรียญโดยตรงเลย มีก็เพียงเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มทั่วไปในการตรวจสอบและเฝ้าระวังเท่านั้น อย่างไรก็ดีปัจจุบันเริ่มมีความพยายามที่จะเข้าควบคุมกำกับดูแลคุณภาพบ้างแล้ว เช่น ในเขตกรุงเทพมหานคร จากการให้สัมภาษณ์ของ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ  ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 ระบุว่า มีผู้ประกอบการตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญมาลงทะเบียนไว้ที่สำนักงานเขต ทั้งสิ้น 2,000 ตู้ ซึ่งต่อไปนี้ทางสำนักงานเขตแต่ละพื้นที่จะเข้มงวดให้ผู้ประกอบการทุกรายมาขึ้นทะเบียน โดยเตือนว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญต้องมาลงทะเบียนที่สำนักงานเขต หากตู้น้ำใดไม่มีการขึ้น ทะเบียน หรือไม่มีใบจดทะเบียนที่สำนักงานเขตออกให้ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย อาจจะถึงขั้นไม่ให้ตั้งตู้น้ำในพื้นที่นั้นๆ เลย และยังกล่าวอีกว่า “ขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ให้ ช่วยเป็นหูเป็นตาด้วย หากพบว่าตู้น้ำดื่มใดไม่มีใบขึ้นทะเบียนจากทางสำนักงานเขตก็อย่าได้ไว้ วางใจกดน้ำมาบริโภค” ถึงกระนั้น หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงทางกฎระเบียบข้อบังคับเท่านั้น แต่การเฝ้าระวัง การกำกับดูแลและการตรวจสอบที่อยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ทางวิชาการในส่วนที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญยังไม่ปรากฏว่า มีการดำเนินงานหรือการสนับสนุนที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เช่น ยังไม่การวิจัยหรืองานวิชาการเรื่องฐานความรู้ในเรื่องสำคัญๆ ที่จะเกี่ยวกับความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ อย่างเช่น ลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มที่ดีควรเป็นเช่นไร หัวจ่ายที่ใช้ในการจ่ายน้ำต้องมีความปลอดภัยแค่ไหนหรือแม้แต่มาตรฐานของวิธีการบำรุงรักษาว่าควรเป็นเช่นใด ถึงตรงนี้ผู้บริโภคก็ต้องทำใจรอกันล่ะ ว่าเมื่อไหร่ผู้มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย จะเร่งศึกษาวิจัยและจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญกันเสียที ก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาบานปลายแก้ไขไม่ทัน เพราะปัจจุบันธุรกิจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญกำลังเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก   ฉลาดซื้อแนะ การเลือกใช้บริการน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1. สภาพภายนอกของตู้น้ำดื่ม : ควรเลือกตู้ที่สะอาด มีการทำความสะอาด ไม่มีฝุ่นผงหรือคราบสกปรก ผู้ประกอบการมีการปัดกวาดเช็ดถูบริเวณรอบๆ ตู้ โดยเฉพาะตรงจุดที่ใช้สำหรับวางภาชนะบรรจุเพื่อรองน้ำจากหัวบรรจุต้องสะอาด ไม่มีฝุ่นผง มีฝาปิดเพื่อป้องกันฝุ่นละออง หัวจ่ายน้ำจะต้องสะอาด ไม่มีคราบสนิมหรือตะไคร่น้ำ และควรเลือกใช้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ตั้งอยู่ในที่ร่มไม่มีแสงแดดส่องถึง ซึ่งแสงแดดมักจะก่อให้เกิดตะไคร่ขึ้นภายในหัวบรรจุ 2. การควบคุมคุณภาพของน้ำ : ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญบางยี่ห้อจะมีการดูแลและควบคุมคุณภาพของน้ำดื่มโดยผู้ ดูแลตู้จะเข้ามาทำการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องและไส้กรอง จากนั้นจะทำการแปะสติ๊กเกอร์แสดงข้อความบอกวัน เวลาที่เข้ามาตรวจสอบ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยทำให้ผู้บริโภครู้ว่าเจ้าของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตู้นี้มีการดูแล และควบคุมคุณภาพของน้ำหรือไม่ 3. การสังเกตกลิ่น สี รส : ผู้บริโภคควรตรวจดูสภาพของน้ำที่ได้จากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเบื้องต้นด้วยตน เอง จากการสังเกตสี ความขุ่น-ใส กลิ่นและรสชาติของน้ำ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ถ้าเป็นตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ใช้อยู่เป็นประจำ เมื่อน้ำที่ได้มามีกลิ่นหรือรสชาติของน้ำเปลี่ยน ก็ควรที่จะเปลี่ยนตู้ใหม่ หรือรอให้ตู้ที่ใช้อยู่เดิมนั้นได้รับการดูแลทำความสะอาดหรือเปลี่ยนไส้กรอง เสียก่อน 4. ภาชนะบรรจุที่จะนำไปบรรจุน้ำดื่มจากตู้ : ควรเป็นภาชนะที่สะอาดและมีขนาดพอดีกับปริมาณน้ำที่ซื้อ 5. ไม่สัมผัสหัวจ่ายน้ำด้วยมือหรือวัสดุอื่นใด : เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคลงในน้ำดื่ม   __________________________________________________________________________ น้ำดื่มจากระบบรีเวอร์ส ออสโมซิส (Reverse Osmosis: RO) อันตรายจริงหรือ เนื่องจากน้ำจากตู้หยอดเหรียญส่วนใหญ่ ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า รีเวอร์ส ออสโมซิส (Reverse Osmosis: RO) ที่เคยมีผู้กล่าวอ้างว่าเป็นน้ำดื่มที่มีอันตรายเพราะ เป็นน้ำดื่มที่มีความบริสุทธิ์สูงนั้น ในความเป็นจริงยังไม่มีวิจัยไหนมารับรองว่าการกินน้ำ RO จะทำให้เกิดโทษหรือเกิดประโยชน์ไปมากกว่าน้ำปกติ กระบวนการผลิตน้ำบริโภคด้วยระบบ รีเวอร์ส ออสโมซิส เป็นการกรองน้ำให้มีความบริสุทธิ์เกือบ 100% ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ได้น้ำที่สะอาดปลอดภัยวิธีหนึ่ง และไม่ว่าจะเป็นระบบการผลิตน้ำแบบใดก็ตาม หากน้ำผ่านการกรองที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งยึดหลักเกณฑ์ตามองค์การอนามัยโลก น้ำนั้นจะไม่มีอันตราย __________________________________________________________________________ คุณภาพน้ำประปาที่ใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนี้เหมาะกับการนำมาบริโภคหรือไม่?โดย สถาบันวิจัยโภชนาการ มหิดล ตีพิมพ์ใน วารสารโภชนาการปีที่ 43 ฉ.1 มค.-มีค. 51 ถาม : คุณภาพน้ำประปาที่ใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนี้เหมาะกับการนำมาบริโภคหรือไม่?ตอบ : กองอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ศูนย์อนามัยสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ได้ทำการสำรวจคุณภาพน้ำบริโภคจากแหล่งต่างๆ คือ ประปาขนาดใหญ่ ประปาขนาดกลาง ประปาขนาดเล็ก บ่อบาดาล และบ่อตื้นทั่วประเทศ ยกเว้นในกรุงเทพมหานคร โดยสำรวจคุณภาพในแง่กายภาพ เคมี และแบคทีเรีย พบว่าน้ำบริโภคจากแหล่งน้ำเหล่านี้ประมาณร้อยละ 80 ไม่ได้มาตรฐาน แม้แต่ในกรณีประปาขนาดใหญ่ ซึ่งมีเพียงร้อยละ 27.2 ที่ได้มาตรฐานทั้ง 3 ด้านคุณภาพของน้ำประปาในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่ได้มาตรฐาน ยกเว้นอีกประมาณร้อยละ 8 ที่จ่ายให้ในบางพื้นที่ซึ่งมีปริมาณน้ำประปาไม่เพียงพอ จึงต้องใช้น้ำบาดาลแทน น้ำบาดาลเหล่านั้นมักไม่ได้มาตรฐานทั้งในด้านกายภาพ เคมี และแบคทีเรีย สรุปแล้วน้ำบริโภคจากทั้ง 5 แหล่งในชนบท มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานเหมาะกับการบริโภค ส่วนน้ำประปาในเขตกรุงเทพมหานครประมาณร้อยละ 90 ได้มาตรฐาน   ถาม : การต้มหรือกรองน้ำประปาจะช่วยปรับปรุงคุณภาพของน้ำให้เหมือนกับคุณภาพน้ำดื่มบรรจุขวดที่จำหน่ายอยู่ทั่วไปได้หรือไม่? ตอบ : การต้มช่วยฆ่าเชื้อโรคในน้ำและลดความกระด้างโดยเฉพาะในน้ำกระด้างชั่วคราว นอกจากนี้ยังช่วยลดกลิ่นคลอรีนด้วย คุณภาพจึงน่าจะใกล้เคียงกับน้ำดื่มบรรจุขวด ส่วนน้ำประปาที่ผ่านระบบกรองที่นิยมใช้อยู่ตามบ้านเรือนทั่วไป ซึ่งก็ประกอบด้วยถ่านและเรซิน เหมือนกับกระบวนการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด ยกเว้นไม่มีขั้นตอนการฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสีอัลตร้าไวโอเลตหรือก๊าซโอโซน อย่างไรก็ตามถ้าน้ำประปาที่ใช้ผ่านการฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีนในปริมาณที่เพียงพอ น้ำที่กรองจากเครื่องมือเหล่านั้นก็มีคุณภาพใกล้เคียงกับน้ำดื่มบรรจุขวดเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 ฟังเสียงหัวใจ ผู้เสียหายทางการแพทย์

จาก 2516 ถึง 2552 เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง“พ่อออกมาจากห้องไอซียู ไม่เกิน 48 ชั่วโมงแบบที่หมอบอก พ่อก็จากพวกเราไปอย่างสงบ” ครอบครัวตันทวีวงศ์ เสียบุคคลอันเป็นที่รักไปเมื่อ 5 เมษายน 2552 หากย้อนไปเมื่อปี 2516 ครอบ ครัวตันทวีวงศ์ก็เคยเสียบุคคลอันเป็นที่รักในฐานะแม่ไปด้วยสาเหตุคล้ายๆ กัน “ตอนนั้นแม่ไม่ได้ป่วยอะไรเลยนะ เพียงแค่แม่ต้องการไปเช็คสุขภาพเท่านั้นที่โรงพยาบาลเพราะแม่เป็นโรคหอบหืด หมอเลยทำการเช็คหัวใจด้วย เพราะอาจจะเป็นโรคหัวใจโตได้ แม่ก็นอนที่โรงพยาบาลเพื่อจะเช็คหัวใจให้ละเอียด พอเช้าวันรุ่งขึ้นโรงพยาบาลก็ทำการฉีดสีเพื่อตรวจหัวใจ แล้วแม่ก็ช็อคเพราะแม่แพ้และจากไปในวันนั้น ซึ่งทำให้ทุกคนช็อคมาก เพราะด้วยวัยและสุขภาพของแม่ที่แข็งแรงดี แค่การเข้าไปตรวจสภาพร่างการเท่านั้น ทำให้ครอบครัวต้องเสียโอกาสในชีวิตไปหมด” อภิญญา ตันทวีวงศ์ เผยลิ้นชักความทรงจำถึงการจากไปของแม่ด้วยอายุเพียง 34 ปี หลังจากมีลูกสาวให้พ่อได้เชยชม 3 คนในวัยไล่เลี่ยกันพี่สาวคนโต 9 ขวบ น้องสาววัย 3 ขวบ และเธอ 6 ขวบ พ่อจึงกลายเป็นแม่ในอีกบทบาทหนึ่งของครอบครัว และเลี้ยงลูกมาโดยลำพัง และเธอยอมรับว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นนำความทุกข์ และชิงโอกาสต่างๆของคำว่าครอบครัวไปจากเธอ เมื่อเธอเติบโตขึ้นเธอเคยถามพ่อว่า ‘เคยคิดที่จะฟ้องหมอไหม’ พ่อตอบว่าเคยคิด แต่ครั้นปรึกษาผู้ใหญ่แล้ว การยื่นฟ้องศาลถือเป็นเรื่องใหญ่มาก และองค์การด้านสิทธิผู้บริโภคก็ยังไม่เกิด การฟ้องรังแต่จะสร้างภาระให้กับครอบครัวเพิ่มมากขึ้น พ่อจึงไม่เอาความหมอแต่ความทุกข์นั้นก็ไม่ได้หายไปจากใจของพ่อ และทำหน้าที่ทั้งพ่อและแม่เลี้ยงลูกจนเติบโตทั้งสามคน หลังจากล้มเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2551 ด้วยวัย 81 ปี พ่อของอภิญญาเส้นเลือดในสมองซีกซ้ายแตก ครอบครัวพาพ่อส่งโรงพยาบาลที่พ่อมีสิทธิประกันสังคม ซึ่งถึงแม้พ่อจะออกจากงานแล้วก็ส่งมาตลอด ระหว่างนั้นลูกๆ ก็เฝ้าพยาบาลพ่อจนออกจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นที่บ้านได้ จากนั้นก็ฟื้นฟูด้วยการพาไปทำกายภายบำบัดอยู่เสมอๆ จนเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน พ่อของเธอมีการเกร็ง กระตุก และชัก เธอจึงพาพ่อส่งโรงพยาบาลอีกครั้ง ครั้นถึงโรงพยาบาล แพทย์มองว่าพ่ออยู่ในภาวะวิกฤตจึงนำตัวเข้าห้องไอซียู และติดตามดูอาการในห้องไอซียู 48 ชม.เพื่อป้องกันการชักซ้ำ ซึ่งอาจทำให้สมองขาดออกซิเจนได้ในขณะชัก หลังจากนั้นพ่อก็กลับไปพักฟื้นที่บ้านโดยทุกคนในครอบครัวช่วยกันดูแลใกล้ชิดพ่อตลอดเวลา ซึ่งถึงแม้พ่อจะไม่กลับมาเดินได้อีกครั้งแต่พ่อก็รู้สึกตัว มีสติ จำทุกคนได้หมด จนพ่อมีอาการเกร็งกระตุก อีก 2 ครั้ง ในเดือนกันยายนและตุลาคมซึ่งก็ได้รับการดูแลที่ดีจากโรงพยาบาลมาโดยตลอด ปลายปี 2551 โรงพยาบาลแห่งนี้ก็จะออกจากประกันสังคม ทางครอบครัวจึงมองหาโรงพยาบาลใกล้บ้านไว้เพราะหมอได้บอกไว้ว่า อาการพ่อของเธอนั้นเมื่อเกิดอาการชัก เกร็ง ซึ่งเป็นลักษณะอาการของคนที่เส้นเลือดในสมองแตก จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้สมองได้รับความเสียหายและอาจเสียชีวิตได้ ทางครอบครัวจึงเลือกโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสังกัดประกันสังคม ย่านถนนรามคำแหง ซึ่งใช้เวลาเดินทางเพียง 15 – 20 นาทีก็ถึงโรงพยาบาล และด้วยความเป็นห่วงพ่อ ทางครอบครัวจึงพาพ่อไปหาหมอที่โรงพยาบาลแห่งใหม่ดังกล่าว เพื่อจะได้มีการทำประวัติและบันทึกอาการของพ่อของเธอไว้เป็นข้อมูลพื้นฐาน เพื่อเตรียมการในกรณีป่วยฉุกเฉิน แล้วภาวะนั้นก็มาถึง วันที่ 19 มีนาคม 2552 พ่อของเธอชักอีกครั้ง และนั่นเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ได้ใช้สิทธิที่โรงพยาบาลแห่งใหม่ “พ่อชัก เกร็งกระตุก ด้วยอาการแบบนี้ เราก็รีบนำตัวพ่อส่งโรงพยาบาล พอถึงโรงพยาบาลเวลา 9.45 น. ก็ถูกนำตัวเข้าห้องฉุกเฉินและฉีดยากันชักให้ พร้อมห่มผ้าให้พ่ออย่างหนา ซึ่งทำให้เราไม่เห็นว่าพ่อยังชักอยู่ไหม ยังมีการเกร็งอยู่หรือเปล่า แล้วก็วัดความดันเป็นครั้งคราว เราก็ยืนอยู่ข้างเตียงพ่อแล้วก็ถามว่าจะรักษาพ่อต่ออย่างไร เขาบอกต้องทำซีทีสแกนสมองก่อน สักพักเวลา 10.30 น. เขาก็พาพ่อไปทำซีทีสแกนและส่งขึ้นหอผู้ป่วยตอน 11 โมงแล้วก็ตรวจวัดความดันอีกเช่นเดิม ไม่มีหมอมาตรวจ มีเพียงพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลเท่านั้น สักเที่ยงก็เลยไปถามพยาบาลว่า ‘เมื่อไรหมอประจำวอร์ดจะมาดูอาการ’ พยาบาลบอกว่าหมอไปทำธุระที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ จะเข้ามาดูอาการหลังบ่าย 3 แต่หมอสั่งยาทางโทรศัพท์ไว้แล้ว ไม่ต้องห่วง เราก็กังวลละสิทีนี้ ระหว่างนั้นเราก็ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องรออย่างอดทน สักบ่าย 2 บุรุษพยาบาลก็มาวัดความดันพ่ออีกครั้ง ครั้งนี้ความดันพ่อสูงเกิน 200 แต่พยาบาลก็ไม่ได้ทำอะไร ได้แต่บอกว่าเป็นเรื่องปกติของผู้ป่วยแบบนี้ สักพักพ่อก็ตาค้าง ไม่มีสติ เราก็ขอร้องให้พยาบาลตามหมอมาที พยาบาลก็โทรไปหาหมอเล่าอาการของพ่อ แล้วหมอก็สั่งให้พยาบาลฉีดยาให้กับพ่อเพิ่ม พ่อก็ยังเกร็ง และกระตุกอยู่ จนบ่ายสามโมงครึ่ง หมอก็มาดูอาการของพ่อ บอกว่าผลซีทีสแกนออกมาแล้ว พ่อมีน้ำคั่งในโพรงสมอง แต่เขาช่วยอะไรไม่ได้ เพราะเขาเองเป็นหมออายุรกรรมทั่วไป ต้องให้หมอด้านสมองมาดู ซึ่งหมอสมองนี่ก็เป็นคุณหมอพาร์ทไทม์อีก ไม่รู้จะมาเมื่อไร เราก็โห...นี่รอหมอมาครึ่งค่อนวัน แล้วยังช่วยอะไรไม่ได้อีก” เมื่อรู้ว่าการรอคอยอย่างอดทนกว่า 7 ชั่วโมง ที่มีชีวิตของพ่อเป็นเดิมพันไม่มีสัญญาณที่ดี เธอจึงขอย้ายพ่อไปรักษาอีกโรงพยาบาลในย่านเดียวกัน ก่อนจะย้ายทางโรงพยาบาลนั้น หมอบอกกับเธอว่าพ่อของเธออยู่ในภาวะวิกฤตต้องใช้เครื่องช่วยหายใจขณะย้าย ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายได้ พร้อมส่งเอกสารให้เธอเซ็น 1 ฉบับ ถึงแม้จะอยู่ในช่วงชุลมุนเธอก็ยังมีสติที่จะอ่าน ซึ่งใจความบอกว่า จะไม่เอาความและไม่ฟ้องร้องโรงพยาบาลหากเกิดความเสียหายเกิดขึ้น และเธอก็ใช้นาทีชุลมุนเก็บเอกสารนั้นมาด้วย เพราะเธอมองว่ามันไม่ยุติธรรมเลยที่โรงพยาบาลจะทำแบบนี้ ถ้าหากเป็นญาติผู้ป่วยรายอื่นๆ อาจจะเซ็นไปแล้วก็ได้เพราะเวลานั้นเป็นช่วงเวลาเร่งรีบและอาจเกรงว่าถ้าไม่เซ็นโรงพยาบาลจะไม่ให้พาตัวออกไปก็เป็นได้ บ่ายสี่โมงครึ่ง พ่อของเธอก็ถึงอีกโรงพยาบาล ซึ่งขณะนั้นพ่อของเธออยู่ในภาวะหัวใจวาย และโคม่า จึงถูกนำตัวเข้าห้องไอซียู และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา  ตลอด 15 วันที่พ่อนิ่งสนิทไม่รู้สึกตัว เธอและครอบครัวอยู่ดูแลไม่ห่างถึงแม้จะเข้ามาเยี่ยมได้บางเวลาเท่านั้น แต่ก็อยู่ที่หน้าห้องไอซียูเสมอ การงานที่เคยทำของลูก หนังสือที่เคยเรียนของหลาน ความกังวลใจต่างๆ นานา ถาโถมเข้าสู่ครอบครัวตันทวีวงศ์อีกครั้ง ทำให้เธอเกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบการรักษาพยาบาล เมื่อคราวแม่และเมื่อคราวของพ่อ ที่ระยะเวลาห่างกันถึง 37 ปี แต่เหตุการณ์คล้ายๆ กันก็ยังเกิดขึ้น “หมอเรียกพวกเราไปคุยและบอกว่าพ่อจะไม่กลับมาเหมือนเดิมแล้วนะ ถึงแม้พ่อจะฟื้นขึ้นมา เพราะสมองของพ่อขาดออกซิเจนนานเกินไปแล้วตั้งแต่ก่อนเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนี้ ต้องเป็นผู้ป่วยนอนเตียงเวลากินก็กินทางสายยาง การรับรู้ก็น้อยมากเพราะสมองเสียหายไปมากตั้งแต่ตอนเริ่มชัก และทางเลือกที่มีอยู่ก็คือการเจาะคอเพื่อที่จะให้อาหารและให้อากาศ เพื่อให้พ่อมีชีวิตอยู่ได้ พอได้ฟังแบบนั้นเราก็ปรึกษากัน หาข้อมูลต่างๆ ว่าจะทำอย่างไร เราจะยอมให้พ่อตื่นขึ้นมาทุกครั้งแล้วอยู่กับความเจ็บปวดไหม ของที่ชอบก็ไม่ได้กิน หายใจเองก็ยังทำไม่ได้ สุดท้ายพวกเรายอมให้พ่อจากไป ยอมให้หมอถอดเครื่องช่วยหายใจและย้ายพ่อมารักษาที่ห้องพักฟื้นผู้ป่วย ไม่เกิน 48 ชั่วโมง พ่อก็จากไปอย่างสงบท่ามกลางลูกหลานครบทุกคน” เธอเล่าถึงนาทีสุดท้ายที่ได้อยู่กับพ่อ หลังการจากย้ายโรงพยาบาลมาอยู่โรงพยาบาลใหม่ อภิญญาบอกว่าทางโรงพยาบาลเดิมก็มาเยี่ยม และส่งเจ้าหน้าที่มาเจรจา เพราะเธอไม่ได้ส่งใบสัญญานั้นคืนให้โรงพยาบาล  ด้วยหลักฐานต่างๆ ที่เธอมีมันพร้อมที่จะเอาผิดโรงพยาบาลได้ แต่เธอเลือกที่จะไม่ฟ้องหมอหรือโรงพยาบาล เธอหวังเพียงจะให้เกิดการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน และเพื่อปกป้องผู้ประกันตนคนอื่นๆ อยากให้เกิดการกำกับดูแลมาตรฐานโรงพยาบาลนั้นที่มีการบันทึกเวชระเบียนที่เป็นเท็จหลังจากเธอยื่นขอเวชระเบียนไป เหตุการณ์นี้ทำให้เธอนำเรื่องเข้าร้องเรียนต่อประกันสังคม สุดท้ายหลังการเจรจา ทางโรงพยาบาลยอมจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นทั้งหมดราวๆ 340,000 บาท “ญาติที่ฟ้องหมอหรือโรงพยาบาล จริงๆ แล้วไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการเห็นอะไรบางอย่างต้องการความรับผิด ต้องการการดูแลที่ดีจากโรงพยาบาล ต้องการวัดใจกันว่าทางโรงพยาบาลรู้สึกสำนึกไหมกับสิ่งที่ทำลงไปไหม ก็รู้สึกเสียใจที่พาพ่อส่งโรงพยาบาลผิด ถ้าเราพาพ่อส่งโรงพยาบาลถูกพ่อก็จะอยู่กับเราต่อ ถึงแม้ญาติๆ จะมีความรู้บ้างแต่ถึงที่สุดแล้วความรู้ความเชี่ยวชาญจริงๆ ก็ต้องเป็นหมอ และอีกอย่างการรักษาพยาบาลก็ไม่ใช่การซื้อของที่ไม่พอใจก็ไปซื้อที่อื่น ในขณะที่พ่อชักอยู่ก็พาพ่อขึ้นรถไปโรงพยาบาลอื่น มันไม่ใช่ เราไม่ฟ้องหมอหรือโรงพยาบาล เราเพียงแค่อยากให้มีการควบคุมดูโรงพยาบาล อยากให้ประกันสังคมเข้าไปควบคุมดูแลให้สมกับเงินที่จ่ายให้ประกันสังคมทุกเดือนๆ หน่อย เราไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใครอีก อยากให้เรื่องของพ่อเป็นบทเรียนในการปรับปรุงบริการ ถ้าหมอมองว่าผู้ป่วยจะใช้โอกาสที่เขาพลาดเพื่อฟ้องเรียกเงิน 10 ล้าน 20 ล้าน มันไม่ใช่เลย ความสูญเสียต่างๆ มันเกิดขึ้น อย่างโรงพยาบาลทำแม่ตาย ถ้ามองว่าเราสูญเสียอะไรบ้าง เราเสียโอกาสการได้รับการเลี้ยงดูที่ดี เสียคุณภาพชีวิต เสียแม่ ซึ่งถ้าหากจะคิดเป็นตัวเงินเพื่อฟ้องร้องตอนนั้นมันก็มีเหตุผลที่ฟ้องร้องกันได้ ถ้าเทียบกับกรณีของพ่อ ค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลต้องจ่ายมันเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยมากๆ “พอเห็นหน้าเขาก็ดีใจนะ ดีใจที่เขาเกิดมาปกติ ไม่พิการ” เนื้องอกที่มีหัวใจ ของบังอร มีประเสริฐ “แม่ใครน่ะ ใครเหรอ” น้องอาร์มแฝดคนน้องเซ้าซี้ถามบังอร มีประเสริฐ ผู้เป็นแม่ด้วยความใคร่รู้ว่าแม่พูดโทรศัพท์กับใคร ส่วนน้องอั้มแฝดคนพี่ นั่งคลอเคลียไม่ห่างแม่  ลูกชายแฝดวัย 8 ขวบของบังอร  ที่ครั้งหนึ่งหมอมีคำวิจฉัยว่าเขาสองคนเป็นเนื้องอกในมดลูกของบังอรเมื่ออยู่ในท้องได้ 6 เดือน ย้อนไปเมื่อปี 2545 เดือนเมษายน บังอร มีประเสริฐ รู้อึดอัดแน่นท้อง อีกทั้งท้องก็โตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลังจากเธอมีลูกชายให้สามีได้เชยชมแล้ว 1 คน บังอรก็กินยาคุมมาตลอด 9 ปี จึงแน่ใจว่าไม่ได้ตั้งท้องอย่างแน่นอน แต่อาการผิดปกติทำให้กังวล เธอจึงให้สาธิต  นาคขันทอง ผู้เป็นสามี พาไปตรวจที่สถานีอนามัยปากมาบ แต่ด้วยความจำกัดด้านอุปกรณ์ หมออนามัยจึงใช้การคลำท้องและพบว่ามีก้อนเนื้อภายในท้อง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเนื้องอกหรือว่าบังอรตั้งท้องกันแน่ จึงแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาล ผลการตรวจของโรงพยาบาลซึ่งตรวจด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ พบว่าบังอรไม่ได้ท้อง หมอจึงวินิจฉัยว่าเหตุที่บังอรท้องโตนั้นเกิดจากเนื้องอก ดังนั้นทางโรงพยาบาลจึงทำการผ่าตัดเพื่อผ่าตัดเนื้องอกในท้องของบังอร แต่แล้วหลังการผ่าตัดที่หมอวินิจฉัยว่าเป็น “เนื้องอก” นั้นแท้จริงแล้วเป็นเด็กแฝด 2 คนอยู่ในมดลูกของบังอรที่ขณะนี้มีอายุครรภ์ถึง 6 เดือนแล้วหลังการผ่าตัดคุณหมอได้ออกมาแสดงความยินดีกับครอบครัวของบังอรที่หน้าห้องผ่าตัดว่า ‘ยินดีด้วย เพราะบังอรไม่ได้เป็นเนื้องอกในท้อง แต่บังอรท้องเด็กแฝด’ กลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ ไม่มีอะไรต้องกังวล ‘ไม่มีอะไรต้องกังวล’ แต่กลับเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลและความลำบากให้กับครอบครัวของบังอรเป็นอย่างมาก การตั้งท้องดูจะเป็นเรื่องยากเย็นที่สุดของผู้หญิงแล้ว แต่บังอรอุ้มท้องลูกแฝด  ซ้ำร้ายกว่านั้นเป็นท้องที่มีแผลผ่าตัดที่ยาวกว่าคืบ การจะพลิกตัวแต่ละครั้งจึงเป็นเรื่องที่แสนสาหัสสำหรับบังอร  อีกทั้งกังวลว่าแผลจะปริออกด้วยเพราะท้องเธอก็โตขึ้นทุกวันๆ  ตลอดระยะ 3 เดือน ที่รักษาแผลให้หายจนผ่าตัดคลอด สามีจึงต้องคอยอยู่ดูแลบังอรเกือบจะตลอดเวลา งานรับจ้างและทำประมง ด้วยรายได้ 2 คนที่ตกวันละ 200 – 300 บาท จึงมีอันต้องหยุดลง และประทังชีวิตครอบครัวด้วยการหยิบยืมเงินเพื่อนบ้านเพื่อเลี้ยงปากท้อง ในเดือนกรกฎาคม 2545 น้องอั้มและน้องอาร์ม ลูกชายฝาแฝด ของบังอรก็ลืมตาดูโลก ร่างกายสมบูรณ์ดีด้วยน้ำหนัก 3 ก.ก. กรัม เมื่อแรกคลอดทั้งคู่ ซึ่งเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลเดิม หากแต่ว่าเปลี่ยนหมอในการผ่าตัด “พอเห็นหน้าเขาก็ดีใจนะ ดีใจที่เขาเกิดมาปกติ ไม่พิการ” ความกังวลของบังอรหมดไป 1 เปาะ แต่มีอีกเปาะที่เธอยอมรับว่าท้อเหลือเกินในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการเยียวยา ความผิดพลาดของทางโรงพยาบาล 23 พฤษภาคม 2545 บังอรได้ได้ยื่นเรื่องต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้พิจารณาชดเชยค่าสินไหม ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2535 เพราะเธอถูกผ่าท้องฟรีและได้สร้างความวิตกกังวลว่า การผ่าท้องที่เกิดขึ้นจะทำให้ส่งผลกระทบต่อลูกแฝดในท้องหรือไม่ เธอเฝ้ารอผลการร้องเรียนด้วยใจหวัง แต่แล้ววันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 ผลที่ออกมาทำให้เธอถึงกับเข่าอ่อน นั่นเพราะว่าสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าการผ่าตัดของหมอนั้นเหมาะสมแล้ว และนั่นเป็นการผ่าท้องเพื่อวินิจฉัยโรค ไม่ใช่การรักษาโรค ทำให้เธอสงสัยว่าเดี๋ยวนี้เขาวินิจฉัยโรคกันอย่างนี้เลยหรือ หลังจากได้ฟังคำตอบจากสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เธอไม่เชื่อว่านั่นเป็นการวินิจฉัยโรค เธอยังคงตามหาความเป็นธรรมต่อไปด้วยการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเมื่อต้นปี 2546 เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และขอให้หมอที่ทำการผ่าตัดเธอ และโรงพยาบาลร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับครอบครัวของเธอเป็นเงิน 500,000 บาท แต่เธอก็ต้องผิดหวังอีกครั้ง เพราะวันที่ 18 มีนาคม 2546 ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง ในเรื่องให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย แต่ก็ทำให้ใจเธอชื้นขึ้นมาบ้างเพราะศาลยอมรับคำฟ้องในข้อหาขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานปลัดฯ 3 ปีผ่านไป บังอรกลับมาใช้ชีวิตด้วยอาชีพรับจ้าง และทำประมง เลี้ยงครอบครัวดังเช่นปกติ โดยคดีของเธอยังคงดำเนินต่อไป และวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ผลการรับคำฟ้องไปเมื่อ 3 ปีก็ออกมาว่าศาลยกฟ้อง เพราะกระบวนการในการออกคำสั่งของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว 29 มิถุนายน 2549 เธอจึงยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด และการรอคอยก็ผ่านไปอีก 1 ปี 15 สิงหาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมาว่า การผ่าตัดเธอนั้นถือเป็นการกระทำละเมิด และให้โอนคดีของเธอกลับไปยังศาลยุติธรรม จังหวัดที่เกิดเรื่องนั่นก็คือที่จังหวัดสมุทรสงคราม  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 เธอจึงยื่นเรื่องฟ้องศาลใหม่อีกครั้ง ในที่สุด 15  พฤษภาคม 2551 ก็มีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยเกิดขึ้นระหว่าง ครอบครัวของบังอร โดยมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไป ร่วมเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งทราบว่าหมอที่ทำการผ่าตัดบังอรได้เสนอค่าเยียวยาเธอมาเป็นจำนวนเงิน 80,000 บาท ซึ่งการฟ้องครั้งนี้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคและบังอร ต้องการให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ได้ต้องการรับค่าเสียหายจากหมอ จึงยื่นข้อเสนอสำนักงานปลัดจ่ายไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท วันที่ 23 พฤษภาคม 2551 จึงมีการเจรจาไกล่เกลี่ยอีกครั้ง โดยแพทย์ที่ทำการผ่าตัดยินดีที่จะรับผิดชอบแทนสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอยากจะยุติเรื่องราวทั้งหมด เพราะส่วนตัวแล้วหมอเองก็รู้สึกเสียใจกับเรื่องที่ผ่านมา จึงยินดีช่วยเหลือเยียวยาค่าเสียหายและเป็นทุนการศึกษาให้กับลูกชายทั้งสองของบังอร เป็น 120,000 บาท  สุดท้ายวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 บังอรได้รับการชดเชยเยียวยาจำนวนเงิน 140,000 บาท กว่า 6 ปีของเส้นทางการตามหาความยุติธรรมของบังอร เธอบอกว่าระยะเวลาการต่อสู้นานขนาดนี้ ทำให้เธอท้อมาก “พอเห็นหน้าเขาก็ดีใจนะ ดีใจที่เขาเกิดมาปกติ ไม่พิการ” แต่ยาใจสำคัญที่ทำให้เธอมีแรงสู้ต่อก็คือ “ลูก” ของเธอนั่นเอง และเธอหวังว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งกำลังรอพิจารณาอยู่ในสภาฯ ขณะนี้จะมีส่วนในการช่วยลดความขัดแย้งระหว่างหมอกับผู้ป่วย และจะมีกระบวนการเยียวยาที่รวดเร็ว รวมถึงน่าจะช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยด้วยเช่นกัน -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เรื่องเล่าจากหัวใจพ่อ กลางดึกวันที่ 6 กรกฎาคม 2552 ขวัญอุทัย แสนทายก ในฐานะพ่อ กำลังส่งใจไปยื้อหัวใจลูกสาวคนเล็ก “น้องครีม” วัย 1 ขวบ 22 วัน ที่เต้นแผ่วลงทุกทีๆ ในห้องรักษาของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องยื้อหัวใจที่ยังเต้นตุบๆ หากแต่ว่าสลายไปแล้วของ สริชญา ติดสันโดษ  ภรรยาของเขา ที่ร่ำไห้ปานจะขาดใจอยู่หน้าห้อง “หมอบอกว่าลูกเราจะไม่เป็นไร แต่ทำใจดีๆ ไว้นะ” คำปลอบของเขากลับทำให้ภรรยาร้องไห้หนักขึ้น ด้วยคำว่า “ทำใจดีๆ” และนั่นเป็นถ้อยคำที่ดีที่สุดแล้วของเขา  ย้อนไปเมื่อเช้าของวันที่ 6 กรกฎาคม ย่าพาน้องครีมมาหาหมอด้วยอาการอาเจียนและถ่ายท้องอย่างหนัก หลังหมอตรวจอาการแล้ว บอกว่าเป็นไวรัสลงกระเพาะ ไม่เป็นอะไรมากให้กลับไปพักที่บ้านได้ ในขณะที่ขวัญอุทัย ซึ่งลางานมาเฝ้า “น้องคริส” ลูกสาวแฝดผู้พี่ที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ก่อนหน้า 2 วันแล้วด้วยอาการเดียวกัน รู้สึกเบาใจขึ้นมาบ้างหลังรู้ว่าลูกสาวคนเล็กไม่เป็นอะไรมาก ทว่าตกเย็นวันนั้น “น้องครีม” อาการทรุดลงขึ้นจึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง โดยโรงพยาบาลนำตัวไปที่ห้องฉุกเฉินและปล่อยให้รออย่างนั้นกว่า 1 ชั่วโมง โดยไม่มีการตรวจรักษา ขวัญอุทัยจึงขอปรอทจากพยาบาล มาวัดไข้ลูกเองซึ่งปรอทขึ้นถึง 38 องศา ทำให้เขากังวลว่าน้องครีมจะช้อคเพราะน้องเคยช้อคมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อไข้ขึ้นถึง 39 องศา หลังวัดไข้เสร็จ “น้องครีม” ก็เปลี่ยนจากการงอแง เป็นเริ่มนิ่งแบบไม่ตอบสนอง เขาจึงขอให้หมอและพยาบาลช่วยรักษาให้หน่อย จึงได้รับการตอบสนองโดยพยาบาลนำตัวน้องครีมไปเช็ดตัว จนน้องเริ่มตัวเย็นลงแล้วก็ให้มาอุ้มไว้เช่นเดิม จนเวลา 4 ทุ่ม ทางโรงพยาบาลจึงให้เข้าพักรักษาตัว และพักอยู่เตียงใกล้ๆกับ “น้องคริส” แฝดผู้พี่ “มันเป็นช่วงเวลาการรอคอยที่ยาวนานมากครับ ไปตั้งแต่ 5 โมงเย็น กว่าจะได้ขึ้นไปห้องผู้ป่วยในก็ 4 ทุ่ม แต่ก็อุ่นใจครับเพราะเตียงอยู่ใกล้ๆกันกับพี่สาวของเขา ทำให้ดูแลได้ง่ายขึ้น น้องครีมจะแข็งแรงกว่าพี่สาว อย่างครั้งนี้ก็เหมือนกันพี่สาวเขาเป็นหนักกว่า” ขวัญอุทัยย้อนเล่าเหตุการณ์ที่เขาไม่อาจลืมได้ แต่แล้วขณะแม่น้องครีมกำลังให้นมอยู่กับอก ไข้ขึ้นสูงและเกิดอาการช็อค นักศึกษาแพทย์ที่กำลังจะเช็ดตัวให้ ก็รีบนำตัวเข้าห้องรักษา นักศึกษาแพทย์ก็กรูกันเข้าไปช่วยกัน โดยไม่มีหมอประจำการอยู่ที่นั่น จนเวลาผ่านไปกว่า 45 นาที ที่นักศึกษาแพทย์ช่วยกันปั๊มหัวใจ สักครู่ก็มีคนเข้ามา และบอกให้เขาทำใจ… สุดท้ายน้องครีมจากไป เวลาตี 1 วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม 2552 ด้วยสาเหตุระบุว่า “หัวใจล้มเหลว” “คือเหมือนหัวใจผมมันสลายไปแล้ว" ตอนแรกผมก็อุ่นใจเพราะที่นี่เป็นโรงพยาบาล เกิดอะไรขึ้นก็จะช่วยเหลือได้ทัน แต่พอถึงเวลาฉุกเฉินจริงๆ กลับช่วยเหลือไม่ได้เลย ผมเชื่อว่าลูกผมไม่ได้ตายเพราะโรค เพราะครั้งหนึ่งน้องเคยช้อคมาครั้งหนึ่งแล้วแต่ได้รับการช่วยเหลือทัน แต่ครั้งนี้ กดกันจนหน้าอกช้ำแล้วหมอก็ไม่มีอยู่เวร การเยียวยาหลังการเสียชีวิตของน้องครีมครอบครัวของขวัญอุทัย ขอพบผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งตอนนั้นคิดไว้ว่าหากไม่ยอมดำเนินการอะไรต่อเรื่องการเสียชีวิตของ “น้องครีม” ทางครอบครัวก็ตกลงกันว่าจะฟ้องร้องให้ถึงที่สุด ด้วยหวังว่าอยากให้ทางโรงพยาบาลปรับปรุงบริการ และดูแลเอาใจใส่คนอื่นๆให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะแสดงอาการเจ็บป่วยหรือไม่ ก็ควรจะดูแลไม่ควรที่จะเพิกเฉยต่อการรักษาและควรจะมีทีมหมอพร้อมถึงแม้จะเป็นวันหยุดยาว ไม่ใช่ปล่อยไปแบบนี้ พร้อมเรียกค่าเยียวยาและค่าเลี้ยงดูไป 290,000 บาท ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ซึ่งขณะนั้นลูกสาวคนโตยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล หลังการเข้าพบทางโรงพยาบาลมีการเรียกประชุมผู้บริหาร และเข้าเจรจากับครอบครัวขวัญอุทัย พร้อมให้การดูแลน้องคริสเป็นอย่างดี และชดเชยเยียวยาค่ารักษาพยาบาลเต็มจำนวนที่เรียกไปในวันที่ 22 ตุลาคม 2552 “ผมว่าถ้าเขาดูแลน้องครีมดีแบบนี้ตั้งแต่ตอนแรก การสูญเสียทั้งสองฝ่ายก็ไม่เกิดขึ้น เพราะเงินที่นำมาชดเชยให้ผมก็เป็นเงินจากภาษีประชาชนนั่นเอง และเงินจำนวนเพียงเท่านี้ถ้าเทียบกับชีวิตของลูกสาวผม มันเทียบกันไม่ได้เลย” นอกจากการได้รับการเยียวยาจากทางโรงพยาบาลแล้ว ครอบครัวของขวัญอุทัย ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ยื่นเรื่องไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในเดือนเดียวกันและได้รับการเยียวยาในวันที่ 21 มกราคม 2553 จำนวนเงิน 200,000 บาท อีกหนึ่งชีวิตที่ยังเหลืออยู่ เมื่ออีกหนึ่งชีวิตจากไป อีกสามชีวิตที่อยู่จะอยู่ต่ออย่างไร แม่น้องครีมบอกเพียงว่า ไม่อยากจะพูดถึง เธอบอกได้เพียงเท่านั้น หยาดน้ำตาก็รื้นขึ้นมาเล่าเรื่องราวแทนถ้อยคำ “มันพูดยากครับ เพราะเขาสองคนเคยเล่นอยู่ด้วยกัน กินด้วยกัน นอนด้วยกัน แล้วชีวิตคู่แฝดเขาจะมีความสัมพันธ์กัน เขาก็จะไปเล่นกับลูกของเพื่อนบ้าน มีอะไรเขาก็แบ่งปันให้ เขาคงคิดว่าเป็นน้องของเขาเวลาเห็นหน้าน้องคริส แล้วจะคิดถึงน้องครีมตลอด คือเราจะคิดว่าถ้าน้องครีมยังอยู่นะโตเท่านี้แล้วนะ พ่ออุ้มคนนั้น แม่อุ้มคนนี้ คือมัน…ขาดไปหลายอย่าง อืม…ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรดีครับ” เขาหยุดผ่อนลมหายใจอีกครั้งและนั่นเป็นการอธิบายที่ดีแล้วสำหรับเขา ถึงแม้จะผ่านไปกว่า 1 ปีแล้ว แต่ทุกอย่างยังคงชัดเจนสำหรับเขาเสมอ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 114 สินค้าตราห้าง..ราคา “ถูก”นี้ ใครได้? ใครเสีย?

เดี๋ยวนี้เวลาเดินซื้อของในห้างสรรพสินค้าไม่ว่าจะเป็นห้างฯ ไหนๆ “สินค้าตราห้าง” หรือเรียกกันอีกชื่อว่า“สินค้าเฮาส์แบรนด์” (House Brand) ที่ผลิตและจำหน่ายเฉพาะในห้างฯ นั้นๆ เช่น ยี่ห้อบิ๊กซี คาร์ฟูร์ เทสโก้ท็อปส์ โฮมเฟรชมาร์ท ฯลฯ ก็มักวางขายให้เราเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และราคาก็มัก “ถูก” ล่อตาล่อใจยิ่งนัก ผู้เขียนเองยังอยากลองซื้อสินค้าตราห้างมาใช้หลายครั้ง เผื่อจะช่วยประหยัดตังค์ในกระเป๋าอันบางๆ ลงบ้าง(ฮา) แต่ติดอยู่ที่รู้สึกไม่มั่นใจในคุณภาพสินค้าสักเท่าไร สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่ควักตังค์ซื้อสินค้าตราห้างมาลองใช้สักทีคราวนี้ได้โอกาส บก. บอกให้ไปซื้อสินค้าตราห้างมาทดสอบคุณภาพดู ฉลาดซื้อฉบับนี้ จึงขอพาคุณผู้อ่านช้อปปิงตระเวนซื้อสินค้าตราห้างตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ มาพิสูจน์กันว่าสินค้าตราห้างจะมีคุณภาพ “ดี” สักแค่ไหน แถมตีตั๋วฟรีลัดเลาะข้ามฟากไปฟังเสียงจากฝั่งของผู้ผลิต ผู้ประกอบการห้างฯ และมุมมองนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์กันดูบ้าง ให้รู้ไปว่าสินค้าตราห้างที่ว่าขายได้ในราคาถูกนั้น มัน “ถูก” มาจากปัจจัยอะไร? ส่งผลดีผลเสียต่อใคร? อย่างไร? ถ้าพร้อมแล้วไปตะลุยหาคำตอบพร้อมๆ กันเลย.....   คุณภาพไม่ต่าง แต่ราคาได้ใจผู้บริโภค ฉลาดซื้อสำรวจพฤติกรรมการซื้อและความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้าตราห้างของผู้บริโภคในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทั้งหมด 295 คน เป็นหญิงร้อยละ 72.9 ชาย ร้อยละ 27.1 อยู่ในช่วงอายุ16 - 25 ปี ร้อยละ48.5 ช่วงอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 34.2 มีผู้บริโภคที่ใช้สินค้าตราห้างมากถึงร้อยละ 80.7 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระดาษชำระ ผงซักฟอก เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ฯลฯ เหตุผลที่ใช้สินค้าตราห้าง “ราคา” เป็นเหตุผลหลักในการตัดสินใจเลือกซื้อ คิดเป็นร้อยละ 73.6รองลงมาคือ ปริมาณ ร้อยละ 23.4 และคุณภาพร้อยละ 18 เปรียบเทียบคุณภาพกับราคาของสินค้าตราห้างที่ใช้ ร้อยละ 35.9 ระบุว่าคุณภาพดีสมราคา ในขณะที่ร้อยละ 29.8 บอกว่าคุณภาพต่ำสมราคา เคยเจอปัญหาเกี่ยวกับการใช้สินค้าตราห้างหรือไม่ ร้อยละ 55.9 บอกไม่เคย อีกร้อยละ 21 เคย ปัญหาที่พบ เช่น วุ้นเส้นไม่เหนียวนุ่ม บรรจุภัณฑ์ชำรุด มีแมลงในขนมปัง น้ำยาซักผ้าเจือจางต้องใช้ปริมาณมาก ฯลฯ พบปัญหาแล้วทำอย่างไร ร้อยละ 14.6 ของผู้เคยเจอปัญหาเลิกใช้สินค้าตราห้าง ร้อยละ 7 ใช้สิทธิร้องเรียน อีกร้อยละ 5.8 เฉยๆ ไม่ทำอะไร สาเหตุที่สินค้าตราห้างมีราคาถูก ร้อยละ 51.5 คิดว่าเพราะไม่มีต้นทุนโฆษณาร้อยละ 27.5 คิดว่าวัตถุดิบคุณภาพต่ำ ร้อยละ 17.6 คิดว่าเป็นกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้า ต่อข้อคำถาม “คุณคิดว่าสินค้าตราห้างกับสินค้าทั่วไปมีคุณภาพต่างกันหรือไม่ อย่างไร” ร้อยละ 27.8 คิดว่าไม่ต่างกัน ร้อยละ 62.7 บอกว่าสินค้าทั่วไปมีคุณภาพดีกว่าสินค้าตราห้าง มีเพียงร้อยละ 6.8 เท่านั้น ที่เห็นว่าสินค้าตราห้างมีคุณภาพดีกว่าสินค้าทั่วไป แสดงว่า แม้ราคาจะเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้บริโภคใช้สินค้าตราห้างก็ตาม แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่มั่นใจในคุณภาพของสินค้ามากเท่าไรนัก ฉลาดซื้อทดสอบฉลาดซื้อสุ่มทดสอบสินค้าตราห้างและไม่ห้างทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ ถ่านอัลคาไลน์ AA, เมล็ดถั่วเขียว, กระดาษทิชชู, สมุดปกอ่อน และไม้จิ้มฟัน เป็นสินค้าเฮาส์แบรนด์ของผู้ค้าปลีกทั้งหมด 6 ราย ได้แก่บิ๊กซี คาร์ฟูร์ โลตัส ท็อปส์ เดอะมอลล์ วัตสัน (สำรวจแล้วบางรายก็ไม่มีสินค้าบางชนิด) และเป็นสินค้าทั่วไปในท้องตลาดอีก 2 ยี่ห้อส่วนเหตุผลที่นำสินค้าเหล่านี้มาทดสอบ เพราะเป็นสินค้าที่หาวิธีทดสอบได้ไม่ยาก ผู้บริโภคอย่างเราๆก็สามารถทดสอบเองได้ แต่ถ้าเป็นเหตุผลที่อาจดูดีหน่อยเพราะฉลาดซื้อเราเห็นว่าผู้บริโภคหลายคนอาจมองข้ามหรือไม่ใส่ใจอะไรมากนักกับคุณภาพของสินค้าเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ซึ่งคงไม่มีใครมานั่งนับเสี้ยนไม้จิ้มฟัน ชั่งเมล็ดถั่วเขียว วัดความยาวกระดาษทิชชู ฯลฯแต่เรื่องเล็กๆ แบบนี้นี่แหละที่เราไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง เราจะได้รู้ว่าผู้ผลิตเขาจะซื่อสัตย์หรือเอาเปรียบเล็กๆ น้อยๆ กับผู้บริโภคหรือไม่ ผลทดสอบ ถึงเวลามาปฏิบัติการล้วงลับหาคำตอบกันแล้วว่าสินค้าตราห้างกับสินค้าทั่วไปที่เราไปเลือกซื้อมา ดูกันว่าการทดสอบและผลที่ได้เป็นอย่างไรบ้าง เชิญติดตาม... - การทดสอบถ่านอัลคาไลน์ AA วิธีนี้ง่ายๆ แค่อาศัยความอดทนในการรอๆๆ แล้วก็รอจนกว่าไฟฉายจะดับ โดยนำถ่านมาใช้กับไฟฉายใหม่เปิดพร้อมกันทั้งหมด 7 ยี่ห้อในห้องสว่าง ยึดเวลาที่ไฟฉายดับครั้งแรกเป็นหลัก และนำเวลามาหาค่าเฉลี่ยถ้าราคา 1 บาทจะใช้ได้นานกี่นาที เราพบว่า ยี่ห้อที่ใช้งานกับไฟฉายได้นานที่สุดคือ เทสโก้ เวลา 4.18 ชม. ยี่ห้อที่ซื้อ 1 บาทแล้วคุ้มก็ยังเป็นเทสโก้ 21.06 นาที ส่วนยี่ห้อที่ใช้งานได้น้อยสุด คือ พานาโซนิค 10.24 นาที (ฉลาดซื้อทดสอบใช้ถ่านกับงานเบาเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงการใช้งานหนัก เช่น กล้องถ่ายรูปที่ต้องชาร์จพลังงานในการถ่ายแต่ละรูป การทดสอบแต่ละวิธีจึงอาจให้ผลต่างกันได้ เช่น ถ่านเทสโก้ ใช้กับไฟฉายได้นาน อาจใช้กับกล้องถ่ายรูปได้ไม่นาน ทางกลับกันถ่านวัตสัน ใช้กับไฟฉายได้ไม่นาน แต่อาจใช้กล้องถ่ายรูปได้นาน เป็นต้น ดังนั้นต้องพิจารณาด้วยว่า ความคงทนของถ่านขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานด้วยนะคะ) - การทดสอบกระดาษทิชชู หากใครยังพอจำได้ ฉลาดซื้อฉบับที่ 97 เราเคยทดสอบความยาวและคุณสมบัติการกระจายตัวในน้ำของกระดาษทิชชูไปแล้ว คราวนี้ก็เช่นกันแต่เราทดสอบกับสินค้าตราห้างด้วย โดยวัดความยาวหาค่าเฉลี่ยยี่ห้อละ 3 ม้วน และทดสอบคุณสมบัติการกระจายตัวในน้ำเพื่อดูความเปื่อยยุ่ย ซึ่งจะนำกระดาษทิชชูเป็นแผ่นมาแช่น้ำ 30 วินาที แล้วใช้นิ้วชี้สอดลงใต้แผ่นกระดาษดึงขึ้นมาด้วยแรงพอประมาณ เพื่อดูผลรอบแรกว่าเป็นอย่างไร จากนั้นก็แช่น้ำต่อไปอีก 30 วินาที ก่อนจะดึงขึ้นมาดูผลอีกครั้งว่ากระดาษทิชชูขาดรุ่ยหรือไม่ ผลออกมาเรื่องความยาวต้องยกนิ้วให้ผู้ผลิต เพราะทุกยี่ห้อมีความยาวมากกว่าที่ระบุไว้ในฉลาก ยี่ห้อที่มีความยาวเกินมามากที่สุด ได้แก่ พริมโรส วัดได้ 20.67 ม. เกิน 3.67 ม. แต่ความเปื่อยยุ่ยนั้นมีทั้งยอดเยี่ยมและยอดแย่ ยี่ห้อที่แช่น้ำ 30 วินาทีแรกเมื่อดึงขึ้นมาก็เริ่มแตกรุ่ย คือ ซิลค์ คอตตอน, โฮมเฟรชมาร์ท Economy และเทสโก้ ส่วนยี่ห้อที่เริ่มแตกรุ่ยเมื่อดึงขึ้นมาครั้งที่2 คือ บิ๊กซี ขณะที่พริมโรส, คาร์ฟูร์, ออริต้า และท็อปส์นั้น แม้จะแช่น้ำ 2 ครั้งก็ยังเป็นแผ่นอยู่ - การทดสอบสมุดปกอ่อน อาศัยวิชาเลขเล็กน้อยในการนับจำนวนแผ่นและชั่งขนาด แกรมของกระดาษสมุด โดยการทดสอบครั้งนี้ฉลาดซื้อใช้กระดาษรูปวงกลม มีพื้นที่ 95 ตร.ซม. นำไปชั่งและอ่านค่าที่ได้ (ขนาดแกรมที่ระบุไว้บนปกสมุดคือ น้ำหนักของกระดาษ เช่น ระบุว่า 60 แกรม ก็หมายถึงกระดาษหนัก 60 กรัมต่อ 1 ตร.ม. ก่อนนำกระดาษไปชั่งเราจึงย่อสัดส่วนลง อาจเป็นรูปวงกลมหรือรูปสี่เหลี่ยมที่ขนาดต้องเท่ากันทุกด้าน (กว้างxยาว) เช่น 10x10 ซม.) ผลออกมา ยี่ห้อที่มีขนาดแกรมน้อยกว่าที่ระบุไว้ในฉลาก คือ คาร์ฟูร์, อนุรักษ์ไทย, และลายไทย น้อยกว่า 5 แกรม ส่วนจำนวนแผ่นกระดาษนั้น ทุกยี่ห้อมีครบตามจำนวนที่ระบุ แต่ต้องรวมปกด้วยนะ ถ้าไม่นับก็จะขาดไป 2 แผ่น ยกเว้นเทสโก้แวลูที่ไม่ต้องนับรวมปก - การทดสอบเมล็ดถั่วเขียว ง่ายๆ แค่ชั่งน้ำหนักถั่วเขียวเทียบกับปริมาณที่ระบุไว้ในฉลาก และสุ่มทดสอบประมาณ 1 ถ้วย เพื่อคัดดูเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์มีรู/ครึ่งซีก และดูสิ่งแปลกปลอมที่ปะปนมา เช่น เศษดิน เมล็ดถั่วเขียวยี่ห้อที่มีปริมาณน้อยกว่าที่ระบุไว้ในฉลาก คือ ท็อปส์ นอกนั้นมีปริมาณมากกว่าส่วนยี่ห้อที่พบเมล็ดไม่สมบูรณ์มากสุด มีรูบ้าง ครึ่งซีกบ้าง คือ เทสโก้ จำนวน 163 เมล็ด และพบเศษดินขนาดเล็กปะปนมา 2 ยี่ห้อ คือ เทสโก้กับข้าวทอง - การทดสอบไม้จิ้มฟัน แค่นับไม้จิ้มฟันๆ ธรรมดา...แต่ก็ไม่ธรรมดาอย่างที่คิด เล่นเอาผู้นับตาเหลือกตาลายถึง 3 วัน 3 คืนมาแล้ว โดยนับจำนวนไม้จิ้มฟันทั้งหมด 7 ยี่ห้อ ยี่ห้อละ 2 แพ็ก นำมาเฉลี่ยเทียบกับปริมาณที่ระบุไว้ในฉลากและนับดูไม้จิ้มฟันที่มีเสี้ยน, ไม้แตกปลาย, ไม้ครึ่งซีก รวมทั้งวัดหาค่าเฉลี่ยความหนาบางของไม้จิ้มฟันโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า เวอร์เนียร์คาลิปเปอร์ งานนี้ภูมิใจเสนอผล พบไม้แตกปลาย,เสี้ยนในทุกยี่ห้อ โดยคาร์ฟูร์พบมากที่สุด 163 ก้าน (จาก480ก้าน) และบิ๊กซี 120 ก้าน (จาก360 ก้าน) ส่วนยี่ห้อที่พบปริมาณไม้จิ้มฟันน้อยกว่าที่ระบุไว้ คือ ไผ่แดง มี 347 ก้าน(ระบุไว้ 360 ก้าน) ยี่ห้ออื่นแม้จะมีปริมาณมากกว่าที่ระบุก็ตาม แต่เมื่อคัดไม้แตกปลาย/เสี้ยนออกแล้ว เกือบทุกยี่ห้อเหลือปริมาณน้อยกว่าที่ระบุไว้เช่นกัน ได้แก่ คาร์ฟูร์, บิ๊กซี, โลตัส,ไผ่แดง ยกเว้นยี่ห้อแบมบีบู, ท็อปส์และโฮมเฟรชมาร์ท สรุปแล้วสินค้าตราห้างก็ไม่ได้มีคุณภาพแย่ตามราคาที่ถูกลงของมัน และบางทีคุณภาพก็อาจไม่ต่างกับสินค้าทั่วไปมากมายนัก แต่ผลนี้เป็นเพียงกลุ่มสินค้าที่สุ่มทดสอบเท่านั้น เพราะสินค้าแต่ละชนิด แต่ละยี่ห้อก็มีให้เราเลือกซื้อเลือกหากันมากมาย ท้ายที่สุดสินค้านั้นจะดีหรือไม่ก็คงขึ้นอยู่กับการใช้งาน ความต้องการและที่สำคัญ คือการตัดสินใจของผู้บริโภคแต่ละคนนั่นเอง --------------------------------------------------------------------------------------------- ข้อสังเกต • ไม้จิ้มฟันยี่ห้อไผ่แดงจะมีขนาดใหญ่และค่อนข้างเท่ากันทุกก้าน ส่วนไม้จิ้มฟันยี่ห้ออื่นมีขนาดเล็กๆ บางๆ ไม่เท่ากัน สงสัยคงเพื่อให้ได้จำนวนมากๆ อย่างยี่ห้อคาร์ฟูร์ก่อนจะนำ มาหาค่าเฉลี่ยนั้น จากที่ระบุไว้ 480 ก้าน/แพ็ก นับจริงมีมากถึง 532 ก้าน หักลบไม้เสี้ยนไปก็เหลือแค่ 344 ก้าน• ฉลาดซื้อเพิ่งรู้เหมือนกันว่าขนาดกระดาษสมุดนั้น เจ้าหน้าที่โรงพิมพ์ที่ช่วยทดสอบเขาบอกว่าโดยทั่วไปผู้ผลิตเขาสามารถเผื่อขาดเผื่อเกินได้ 5 แกรม อย่างนี้ไม่รู้ว่าใครได้  เปรียบเสียเปรียบ แต่ที่รู้แน่ๆ ถ้าไม่ “เกิน” ก็ไม่ควรจะ “ขาด” ใช่หรือไม่?• สมุดส่วนใหญ่จะระบุจำนวนกระดาษไว้บนปกให้รู้ว่ากี่แผ่น แต่ไม่ได้บอกให้ชัดเจนว่า “รวมปก” ด้วย มีเพียงยี่ห้อเทสโก้แวลูที่ระบุไว้ให้เรารู้ว่า “รวมปก”• สมุดยี่ห้ออนุรักษ์ไทยไม่ได้เป็นสินค้าตราห้าง สงสัยราคาจะแพงที่ปกซึ่งเป็นกระดาษอาร์ตพิมพ์สี จำนวนแผ่นกระดาษข้างในก็เลยมีน้อยกว่ายี่ห้ออื่น• ขณะสำรวจเลือกซื้อ สินค้าตราห้างส่วนใหญ่มีตำแหน่งอยู่บนชั้นวางในระดับสายตาใกล้ๆ กับสินค้าแบรนด์ดังๆ โดยโทนสีของบรรจุภัณฑ์ หีบห่อจะดูละม้ายคล้ายคลึงกัน ราคา“ถูก” ที่ใคร?ฉลาดซื้อเคยสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมสินค้าตราห้างส่วนใหญ่มักมีราคาถูก บ้างก็ว่าไม่มีต้นทุนโฆษณา บ้างก็ว่าวัตถุดิบคุณภาพต่ำ ผู้ผลิตถูกกดขี่จากห้างค้าปลีกบ้าง ว่ากันไปสารพัดแง่มุม ข้อมูลจากนิตยสารผู้จัดการรายวันเคยนำเสนอผลศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทยถึงผลกระทบจากการผลิตสินค้าตราห้างว่า ผู้ผลิตรายใหญ่จะต้องทุ่มงบฯ เพื่อตอกย้ำให้ผู้บริโภคภักดีต่อยี่ห้อของตัวเองมากขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตรายย่อยที่มักรับผลิตสินค้าตราห้างก็อาจมีรายได้จากการผลิตสินค้าขาย โดยที่ไม่ต้องทำการตลาดเอง แต่ผู้ผลิตที่มีสินค้าของตัวเองอยู่แล้วหากรับผลิตสินค้าตราห้างอีกก็เท่ากับเป็นการผลิตสินค้าแข่งกับสินค้าตัวเอง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวก็คือ ถ้าห้างค้าปลีกมีคู่แข่งน้อยลงหรือคู่แข่งหมดไป ก็อาจเกิดอำนาจผูกขาดทำให้เป็นผลเสียต่อผู้บริโภคได้ ฉลาดซื้อเราจึงสอบถามไปยังผู้ผลิตและผู้ประกอบการห้างค้าปลีก มาดูกันสิว่าพวกเขาจะให้คำตอบแบบ “ตรงๆ” กับเราอย่างไรบ้าง เสียงที่ “ไม่ค่อยได้ยิน” จากผู้ผลิต• การผลิตสินค้าตราห้างได้รับผลกระทบหรือไม่?“ทำธุรกิจก็ต้องทำใจ 50 - 50” ผู้ผลิตรายหนึ่งให้สัมภาษณ์และว่า บางธุรกิจอาจได้รับผลกระทบ บางธุรกิจอาจไม่ได้รับ แล้วแต่ประเภทการแข่งขันสินค้า “ธุรกิจอื่นๆ ผมไม่รู้นะว่าได้รับผลกระทบหรือไม่ ถ้าเป็นสินค้าที่แข่งขันกันสูงก็อาจได้รับผลกระทบ สำหรับผมเป็นธุรกิจที่รับจ้างผลิตสินค้าอยู่แล้ว ก็เลยไม่เสียเปรียบ แต่ก็เคยถูกกดดันเรื่องราคาเหมือนกันคือ บางครั้งถูกขอลดราคาลงเรื่อยๆ ถูกมากๆ แบบรับไม่ได้ ทางเรามีสิทธิปฏิเสธนะ ถ้ารับไม่ไหวจริงๆ เราจะปฏิเสธ ก็เจรจาตกลงกันได้ ไม่เสียเปรียบอะไร” • “มันเป็นธุรกิจแบบพึ่งพาอาศัยกัน”ผู้ผลิตรายนี้บอกว่า “ทางเราชอบผลิตสินค้าขายให้กับห้างฯ เพราะมีความปลอดภัยด้านการเงิน และข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ ห้างฯ เขาจะเข้ามาตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา มันทำให้เราสามารถควบคุมคุณภาพสินค้าและผู้บริโภคก็มั่นใจได้ มันเป็นธุรกิจแบบพึ่งพาอาศัยกัน” • แล้วสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพล่ะ?“เราควบคุมคุณภาพมาตรฐานในการผลิตสินค้าทุกขั้นตอน และไม่ได้ตั้งใจให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้น สินค้าบางตัวอาจมีตำหนิบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ผลดีมันมากกว่าผลเสีย ผู้บริโภคก็ไม่เสียหายอะไรมาก เราทำสุดความสามารถ ทำให้ลูกค้าซื้อไปแล้วจะต้องไม่ขาดทุน” • “ถ้าอนาคตห้างฯ กลายเป็นหนึ่งเดียว...” นี่คือคำบอกกล่าวของผู้ผลิตรายนี้ที่แอบรู้สึกหวาดกลัวคือ การว่าจ้างผู้ผลิตจากต่างประเทศของห้างค้าปลีกรายใหญ่ๆ ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก อาจทำให้ต่างชาติกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญของผู้ผลิตภายในประเทศได้ “เรื่องผูกขาดน่ากลัวมาก ถ้าอนาคตห้างฯ กลายเป็นหนึ่งเดียว เขาอาจติดต่อกับต่างประเทศจ้างผู้ผลิตเข้ามาแข่งกับผู้ผลิตในประเทศเราได้” เสียงของผู้ผลิตอีกรายหนึ่งกล่าวถึงการผลิตสินค้าตราห้างคล้ายๆ กันว่า เป็นผลดีกับผู้บริโภคด้านราคา เพราะบางคนต้องการของถูก ส่วนผลกระทบต่อผู้ผลิตนั้นก็ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจสินค้าและลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ต่างกันเช่นกัน แต่ผู้ผลิตรายเล็กๆ คงเสียเปรียบเพราะไม่สามารถผลิตสินค้าของตนแข่งขันได้ แต่คำตอบที่ได้รับจากผู้ผลิตรายนี้กลับตรงข้ามกับรายแรก คือ การกำหนดเงื่อนไขในการผลิตสินค้าของห้างฯ ทำให้เกิดผลกระทบในทางลบมากกว่า “แน่นอน เราถูกบีบกดดันเรื่องข้อกำหนดในการผลิตสินค้า ทางห้างเขาจะเป็นผู้กำหนดควบคุมการผลิตตามที่เงื่อนไขที่เขาวางไว้ อย่างบางครั้งอยากได้คุณภาพดีแต่จะเอาราคาถูก เราก็แย่สิ ทางเราก็มีมาตรฐานการผลิตเกรดเดียวกันหมดอยู่แล้ว” อีกฟากฝั่งจากผู้ประกอบการห้าง คุณมนธชา สุดอำพัน รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายกิจการบรรษัทสื่อสารองค์กร ของเทสโก้ โลตัส• สินค้าราคาถูกมีปัจจัยมาจากอะไร?คุณมนธชาบอกว่า 3 ปัจจัยที่ทำให้สินค้าตราห้างมีราคาถูก คือหนึ่ง ไม่มีค่าการทำโฆษณาเหมือนสินค้าที่เห็นทั่วๆ ไปในท้องตลาด เนื่องจากมีร้านเป็นของตนเอง เวลาคนเดินเข้ามาในห้างฯ คนก็เห็นสินค้า จึงไม่จำเป็นต้องโฆษณา สอง ไม่มีค่าวางสินค้าบนชั้นวาง ซึ่งโดยปกติการจำหน่ายสินค้าทั่วไปจะมีเรื่องของค่าจัดตำแหน่งในจุดที่น่าสนใจเพื่อให้ได้อยู่จุดที่ดีกว่าคู่แข่ง สาม สินค้าไม่ได้ผ่านคนกลาง เพราะผลิตโดยตรงจากโรงงานไม่มีการส่งต่อกันหลายทอด ทำให้ราคาต่อหน่วยถูกกว่าสินค้าทั่วไป • บางคนคิดว่าราคาถูกเพราะวัตถุดิบคุณภาพต่ำ?“ถ้าคุณภาพไม่ดีและผู้บริโภคไม่พึงพอใจ มันไม่ได้เสียเฉพาะสินค้าตัวนั้น แต่มันเสียไปทั้งหมด จึงเป็นสิ่งที่เราระวังมาก เราจะช่วยเหลือซัพพลายเออร์ในเรื่องของการทำสินค้าให้ได้มาตรฐาน ทั้งเรื่องเทคนิคการผลิต การทดลองสินค้า เรามีการตรวจโรงงานที่ผลิตสินค้าให้เราเป็นประจำทุกๆ ปีอยู่แล้ว มันทำให้เรามั่นใจว่าคุณภาพสินค้าของเราดี” • แต่ผู้ผลิตบางรายไม่ชอบการกำหนดเงื่อนไข?“มันต้องอยู่ที่การยอมรับตรงนี้ด้วย เพราะว่าผู้ผลิตหลายๆ รายก็ยินดี เพราะว่าตัวของเขาเองก็มีขั้นตอนการผลิตที่มีการรับรองคุณภาพอยู่แล้ว เราจะกรองโรงงานก่อนที่จะให้ผลิต ถ้ามาตรฐานได้อยู่แล้ว อาจจะปรับอีกนิดหนึ่งให้สามารถผลิตให้ดีขึ้น หรือมาตรฐานดีอยู่แล้วก็แค่ผลิตเพิ่มเท่านั้นเอง” • กดขี่ผู้ผลิต?“ถ้าเข้มงวดน่ะใช่ คิดว่ามันน่าจะเป็นผลดีกับผู้ผลิตมากกว่า ทำให้เขาสามารถใช้เครื่องจักรหรือแรงงานคนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น,,,หมายความว่าโรงงานเขาสามารถผลิตงานได้มากขึ้น มีรายได้มากขึ้น ” • เคยประสบปัญหาหรือมีเรื่องร้องเรียนหรือไม่“มีบ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องของคุณภาพหรือความที่ไม่ปลอดภัย เช่น เบเกอรี่ อย่างครัวซองส์ อาจจะอบสีคล้ำหรือสีอ่อนไป ผู้บริโภคก็จะบอกว่าไม่น่าทานหรือว่าอาจจะเป็นสินค้าที่ไม่เป็นไปตามสเป็ก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะถูกคัดออกไปก่อนที่จะถึงมือผู้บริโภค วิธีการจัดการก็คือว่า เราจะคัดกรองให้เรียบร้อยก่อนอยู่บนชั้นวาง ถ้ามันหลุดรอดมาก็จะรีบจัดการดึงออก หรือถ้าผู้บริโภคไม่พึงพอใจในสินค้าก็เอามาคืนได้ในเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ก็จะส่งผู้เชี่ยวชาญไปดูที่โรงงานด้วย เพราะว่าเราไม่อยากให้เกิดซ้ำอีก” • ทิศทางและแนวโน้มของการผลิตสินค้าตราห้างอนาคตธุรกิจของการผลิตสินค้าตราห้างจะเป็นอย่างไรนั้น คุณมนธชาบอกว่า “จะต้องดูตลาดว่าความต้องการของผู้บริโภคอยู่ตรงไหน คงจะขยายไปตามความต้องการของผู้บริโภคมากกว่า สินค้าตัวไหนที่ผลิตออกมาแล้วขายไม่ดีหรือผู้บริโภคอาจจะไม่นิยมก็จะเลิกผลิตเหมือนกัน” คุณฤดี เอื้อจงประสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ ของบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์เมื่อถามถึงปัจจัยที่ทำให้สินค้าตราห้างมีราคาถูก คุณฤดีให้คำตอบเช่นเดียวกับโลตัสว่า “เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายงบด้านการตลาด เพราะอาศัยแบรนด์ของทางห้าง จึงทำให้สินค้ามีราคาถูกลง 20-30 เปอร์เซ็นต์” ส่วนที่หลายคนคิดว่าอาจเป็นเรื่องของวัตถุดิบคุณภาพต่ำนั้น คุณฤดีบอกว่า “ไม่ค่ะ เพราะหากมองโดยภาพกว้างแล้ว สินค้าพวกนี้มันจะเป็นโลโก้ของบริษัท มันน่าจะเป็นตัวการันตีของสินค้าพวกนี้ไปในตัว นอกจากนี้โรงงานที่ผลิตจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน”• กดขี่หรือสร้างผลกระทบให้กับผู้ผลิต?“คิดว่ามันไม่น่าจะเกี่ยวกันเลยนะคะ ในตัวของซัพพลายเออร์เราจะมองด้านเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องของกำลังการผลิต อย่างโรงงานหนึ่งอาจจะมีกำลังการผลิตร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เขาอาจจะขายภายใต้แบรนด์ของเขาได้เพียงแค่ 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ เขาก็ผลิตสินค้าตราห้าง มันน่าจะทำให้เขาสามารถใช้กำลังการผลิตได้เต็มที่ มันจึงไม่น่าจะมีปัญหานะคะ” • ผู้ผลิตบางรายบอกว่าถูกกดดันเงื่อนไขมากเกินไป“เหตุผลที่ทางห้างต้องตรวจสอบคุณภาพในการพัฒนาสินค้าตราห้าง เป็นเพราะเรามองว่าสินค้าตราห้างเป็นสินค้าที่ลูกค้าจับตามองอยู่แล้ว การผลิตสินค้าตราห้างให้ลูกค้ามีความชอบหรือมีความไว้วางใจ มันจะต้องมากกว่าเนเชอรัลแบรนด์ด้วยความที่มันไม่ได้ทำการตลาด เราต้องการสร้างความพึงพอใจในสินค้าตราห้างให้กับลูกค้า” • ที่ผ่านมามีปัญหาหรือมีเรื่องร้องเรียนหรือไม่?“ไม่ค่อยมีนะคะ มันเป็นเรื่องของแนวทางป้องกันมากกว่า เพราะสินค้าตราห้างมันเป็นภาพลักษณ์ของบริษัทอยู่แล้ว แนวทางแก้ไขของเราคือ จะตรวจสอบทันที เราเน้นความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ บางอย่างถ้าไม่ชอบก็เปลี่ยนให้ เราจะดูว่าปัญหามันเกิดตรงไหน เกิดจากแหล่งผลิตหรือเปล่า แต่เรามีการดูแลควบคุมที่เคร่งครัดอยู่แล้ว ปัญหาไม่ค่อยเกิดขึ้น” ขอบคุณภาพจากhttp://www.apacnews.net • ผูกขาดในอนาคต?“คิดว่าไม่น่าจะถึงวันนั้น คนไทยเป็นคนที่ชอบความหลากหลาย จะเห็นว่าสินค้าแต่ละชนิดมีซัพพลายเออร์หลายเจ้า แต่เรามองเพียงแค่ว่าเราอยากเป็นหนึ่งในทางเลือกให้กับลูกค้า”• แนวโน้มทิศทางของการผลิตสินค้าตราห้าง?“อยากเน้นเซ็กเมนต์ให้มันเพิ่มมากขึ้น เพราะเรามองว่ามีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว สิ่งที่จะพัฒนาต่อไปคือ ต้องเป็นสินค้าคุณภาพดี คุณภาพสูง” มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ รศ.หงษ์ฟ้า ทรัพย์บุญเรือง อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)• ผลกระทบต่อผู้ผลิต?อาจารย์หงส์ฟ้ากล่าวเช่นเดียวกันกับผู้ผลิตว่า ผลกระทบนั้นขึ้นอยู่กับการแข่งขันแต่ละธุรกิจสินค้า “บางรายรับจ้างผลิต อาจจะเป็นผลดีต่อผู้ผลิตด้วยกันเอง เพราะผู้ผลิตสามารถเอาปัจจัยการผลิตต่างๆ มาผลิตสินค้า เมื่อจำนวนผลิตมากขึ้นราคาก็ต้องถูกลง เขาจึงสามารถต่อรองลดราคาให้กับผู้ที่มาว่าจ้างได้ มันน่าจะเป็นผลดีมากกว่า ยกเว้นว่าผู้ผลิตรายนั้นเป็นเจ้าของเดิมที่ขายสินค้าตนเอง นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” • ผลกระทบในระยะยาวต่อผู้บริโภค?“อะไรก็ตามที่เป็นไปโดยกลไกตลาดและมีการแข่งขันย่อมมีเรื่องราคาและคุณภาพของสินค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง หากวันใดที่ห้างสามารถครองตลาดหรือกีดกันไม่ให้คนอื่นเข้ามาผลิตแข่งได้ตอนนั้นผู้บริโภคจะเริ่มเสียเปรียบ” •แสดงว่าอาจเกิดการผูกขาดได้ในอนาคต?“ไม่คิดว่าจะถึงวันนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วสินค้าอุปโภคบริโภครายวัน ไม่ว่าจะเป็นแชมพู สบู่ เป็นอะไรต่างๆ ลักษณะของสินค้าไม่สามารถที่จะผูกขาดด้วยตัวมันเองได้ ไม่เหมือนกับน้ำมันหรือเหมืองแร่ที่มันผูกขาดและตั้งราคาได้ และหากห้างตั้งราคาเพิ่มทำให้ขายสินค้าได้กำไรดีจริงๆ ก็จะมีผู้ค้ารายย่อยเกิดขึ้นทันทีเข้ามาสู้แข่งขันกันอีก” • “สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของข้อมูลข่าวสาร”หากจะป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่หลายคนหวั่นวิตก อาจารย์หงส์ฟ้าบอกว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของข้อมูลข่าวสาร ถ้าข้อมูลข่าวผู้บริโภคไม่ชัดเจน คลุมเครือ ถูกหลอกโดยการโฆษณาว่าสินค้าชนิดนี้อร่อยมาก กินแล้วสุขภาพดี ในความจริงตัวต้นทุนสินค้าอาจแค่ 5 บาท แล้วขาย 500 บาท มันคือข้อมูลข่าวสารหลอก ถ้าคนรู้ว่าราคา 500 แต่ต้นทุน 50 บาท ก็จะมีผู้ผลิตเข้ามาแข่ง และผู้บริโภคก็ไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้ารายเดิม ราคาจะสูงอย่างเดิมก็ไม่ได้ เพราะข้อมูลข่าวสารเริ่มชัดเจนขึ้น ซึ่งสคบ.ควรที่จะให้ข้อมูลข่าวสารตรงนี้” ลองมาดูอีกแง่มุมหนึ่งที่เราอาจไม่สามารถหาคำตอบได้จากผู้ผลิตกับอาจารย์ท่านนี้ รศ.ดร.สมดี หงส์ไพศาลวิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. • “ยิ่งถูก ยิ่งซื้อ ยิ่งทำให้ฟุ่มเฟือย...ท้ายที่สุดผู้บริโภคก็ตาย” อาจารย์สมดีบอกว่า อำนาจและความยิ่งใหญ่ของห้างสรรพสินค้าสามารถผลิตสินค้าต่างๆ สู่ตลาดและกำหนดราคาให้ถูกได้ เมื่อสินค้ามีราคาถูกในระยะสั้นๆ ก็จะเกิดผลดีต่อผู้บริโภค แต่ในระยะยาวจะทำให้เกิดการบริโภคมากขึ้น ยิ่งถูก ยิ่งซื้อ ยิ่งทำให้ฟุ่มเฟือย ยิ่งเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมห้างสรรพสินค้าผลิตสินค้าต่างๆ ออกมามาก ท้ายที่สุดผู้บริโภคก็ตาย • “เกิดการเอาเปรียบคนงาน...”“เมื่อห้างสรรพสินค้าบีบซัพพลายเออร์ให้ผลิตสินค้าที่มีราคาถูก ผู้ผลิตก็ไปบีบแรงงาน เกิดการเอาเปรียบคนงาน เพื่อลดต้นทุนในการผลิตลงอีกที ทำให้แรงงานมีรายได้กำไรน้อย สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ เดือดร้อนกันหมด เกิดการเอารัดเอาเปรียบในรูปของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ส่งผลทั้งในระยะสั้นและยาว”

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 115 รู้ทันสินค้าราคา sale!

รู้ไหมว่า การซื้อสินค้าลดราคา ก็ไม่คุ้มค่าเสมอไป ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอพาผู้อ่านไปรู้เท่าทันกลยุทธการส่งเสริมการขายของร้านค้าปลีก ทั้งโดยสำรวจตลาดคนเดินถนน เพื่อรวบรวมกลวิธีการติดป้ายบอกราคาที่ชวนให้เข้าใจผิดของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าบางคน และตลาดติดแอร์ โดยเจาะลึกถึงช่วงเวลาการส่งเสริมการขายของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่อย่าง Big C, Robinsonและ Central & Zen ฉลาดซื้อสำรวจตลาดนัดสวนจตุจักร จากการสำรวจการติดป้ายราคาของร้านค้าปลีกขนาดเล็กในตลาดนัดสวนจตุจักร (สำรวจเมื่อวันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม 2552) พบว่ามี 7 ร้านที่มีการติดป้ายราคาที่คลุมเครือไม่ชัดเจน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. การเขียนป้ายราคาขนาดใหญ่ในราคาถูก เห็นชัดเจนเพียงป้ายเดียวในร้าน แต่ราคานั้นไม่ได้ครอบคลุมสินค้าทั้งร้าน (พบ 5 ร้าน) 2. การเขียนป้ายราคาขายผลไม้ที่ราคากิโลกรัมละ 30 บาท โดยเขียนคำว่า “ครึ่ง” ด้วยตัวอักษรขนาดเล็กมาก และคำว่า “โล 15” ขนาดใหญ่มาก (พบ 2 ร้าน) 3. รถเข็นขายสตรอเบอรี่สดใส่แก้ว เขียนป้ายราคาด้วยเลข “20” เมื่อเข้าไปถามราคาผู้ขายจะรีบตักพริกเกลือราดสตรอเบอรี่ในแก้ว พร้อมกับบอกราคาว่า 40 บาท เมื่อสอบถามก็จะบอกว่า “20 คือราคาต่อขีด ในแก้วนี้ 2 ขีดก็ 40 บาท” รถเข็นขายมะม่วงหั่นใส่ถุงพร้อมน้ำจิ้ม ติดราคา “10” เมื่อซื้อ มะม่วง 1 ถุงคนขายคิดราคา 30 บาท เมื่อสอบถามผู้ขายบอกว่า 10 บาท คือราคาน้ำจิ้ม ถ้าซื้อมะม่วงด้วยก็ 30 บาท (พบ 2 ร้าน) *กรณีร้านสตรอเบอรี่ที่ตลาดนัดจตุจักรนี้ มีผู้บริโภคหลายรายที่ถูกเอาเปรียบ บางรายพยายามจะคืนสินค้าและเอาเงินคืนผู้ขายก็จะแสดงสีหน้าไม่พอใจและต่อว่าผู้ซื้อเสียงดังเพื่อให้ผู้ซื้ออาย และไม่กล้าต่อรอง(*อ้างอิงจาก http://babyfancy.com/printer_friendly_post.asp?TID=58138) 4. ร้านขายเสื้อผ้าที่คนขายมักจะบอกว่า “ลดราคา วันสุดท้าย” อยู่เสมอ แม้ไปสำรวจครั้งที่ 2 ร้านเดิมก็ยังบอกว่า “ลดราคา วันสุดท้าย” (พบ 1 ร้าน)ดังนั้นการซื้อสินค้าทุกครั้งเราควรถามราคาพ่อค้าแม่ค้าให้แน่ใจก่อนจะซื้อสำหรับใครที่ซื้อสินค้าเพราะหลงกลเจ้าป้ายราคาแบบนี้แล้วอยากคืนสินค้า ฉลาดซื้อแนะนำว่า ถ้าการเขียนป้ายราคานั้นทำให้เราเข้าใจผิดอย่างเจตนา ก็เจรจาขอคืนสินค้ากับแม่ค้าโดยตรงเลย เรามีสิทธิคืนได้ เพราะเขาทำผิดพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคแน่นอน ถ้าเขาไม่ยอม และเราไม่แน่ใจว่าเขาผิดหรือไม่ เก็บหลักฐานไว้แล้วโทรไปปรึกษากับกรมการค้าภายใน เพื่อดำเนินการร้องเรียนได้เลยค่ะที่สายด่วน 1569   ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จากการสำรวจการส่งเสริมการตลาดของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ได้แก่ BigC, Robinson และ Central&Zen ที่มีการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐตลอดทั้งปี 2552 โดยเลือกเฉพาะการส่งเสริมการขายในช่วงเวลาพิเศษต่างๆ ดังนี้     8 วิธีปฏิบัติ เมื่อเจอป้ายโปรโมชั่น1. นับ 1- 10 ก่อน พร้อมถามตัวเองว่าสินค้านั้นมีความจำเป็นต่อเราหรือไม่ ถ้ายังตอบไม่ได้ นับถึง 20 เลยก็ได้ 2. สำรวจเงินในกระเป๋าให้มั่นใจก่อนว่า เมื่อซื้อสินค้าแล้วจะยังมีเงินใช้ไปจนตลอดสิ้นเดือน 3. ตั้งงบประมาณในการซื้อสินค้าไว้ก่อน ถ้าราคาสินค้าเกินกว่านั้น ตัดใจก่อนดีกว่า 4. คำนวณดูว่าลดราคาครั้งนี้ ลดกี่เปอร์เซ็นต์ คุ้มค่าไหม 5. เช็คดูสภาพสินค้ากันก่อนดีกว่า สภาพยังดีอยู่หรือเปล่า ตรวจดูทุกซอกทุกมุม อย่าลืมดูวันผลิตและวันหมดอายุด้วย 6. ถ้าเป็นสินค้าที่มีขายหลายๆ ร้าน ยอมเสียเวลาสักนิดไหม เดินไปดูราคาที่ร้านอื่นก่อน ถ้าถูกกว่า คุ้มกว่าจริง ค่อยกลับมาซื้อ 7. เห็นป้ายโปรโมชั่นติดอยู่ไม่ตรงกับสินค้าที่จะซื้อ สอบถามพนักงานให้มั่นใจก่อนว่าสินค้าที่จะซื้ออยู่ในโปรโมชั่นด้วยหรือไม่ 8. ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าจะมีการลดราคา แล้วอยากจะซื้อจริงๆ แนะนำให้ไปซื้อในวันแรกๆ ของการลดราคา เพราะจะมีโอกาสเลือกสินค้ามากกว่าและได้สินค้าที่มีคุณภาพดีกว่าวันหลังๆ ค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 111 ลิขสิทธิ์ = ปิดโอกาส?

ส่วนใหญ่แล้วเมื่อเราพูดถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์เรามักจะได้ยินกันจนชิน คือเรื่องของเทปผี ซีดี/ดีวีดีเถื่อน ที่ว่าด้วยการสูญเสียผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างสำนักพิมพ์ ค่ายหนัง ค่ายเพลง ฯลฯ เสียมาก แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เรายังไม่ค่อยได้พูดถึงกันมากนักคือเรื่องของลิขสิทธิ์จากมุมมองของผู้บริโภค เช่นเรื่องของโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ จากงานอันมีลิขสิทธิ์ที่มีราคาแพงเกินกว่าที่ผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถซื้อได้ หรือสิทธิในการทำสำเนาเพื่อแบ่งปันงานลิขสิทธิ์ที่ผู้บริโภคได้ซื้อมาอย่างถูกต้อง รวมถึงการขาดการสนับสนุนจากรัฐให้มีการสร้างหรือใช้ประโยชน์จากงานที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการแบ่งปันอีกเป็นต้น การปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ค่อนไปทางการรักษาผลประโยชน์ของภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการขยายขอบเขต/ระยะเวลาการคุ้มครอง การเพิ่มระดับการปราบปราม ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้วัสดุเพื่อการเรียนรู้มีราคาแพงขึ้นหรือหาได้ยากขึ้นสำหรับในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังต้องอาศัยการต่อยอดจากงานที่มีการสร้างสรรค์ไว้ก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ผู้บริโภคยังถูกปฏิเสธเสรีภาพในการใช้สินค้าในแบบที่ควรจะสามารถทำได้อีกด้วย ว่าแล้วเรามาดูกันว่าถึงวันนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไหนจะรักษาสมดุลระหว่างการรักษาผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์กับการเข้าถึงความรู้ของผู้บริโภคได้ดีกว่ากัน A2K Global surveyสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ได้ทำการสำรวจความเป็นมิตรต่อผู้บริโภคของกฎหมายลิขสิทธิ์ของ 34 ประเทศจากทั่วทุกภูมิภาคของโลกในประเด็นต่อไปนี้ • ขอบเขต/ระยะเวลาคุ้มครอง  • อิสระในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ • เสรีภาพในการแบ่งปันและถ่ายโอน • การบริหารจัดการและบังคับใช้กฎหมายเราพบว่า• ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 30 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามมีกฎหมายที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคมากกว่า (ในอันดับที่ 13 19 และ 20 ตามลำดับ)• สถานภาพทางเศรษฐกิจหรือระดับการพัฒนาไม่ใช่ตัวแปรชี้วัดการมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ สวีเดน อเมริกา บังคลาเทศและอินโดนีเซียต่างก็อยู่ในสิบอันดับต้น  ในขณะที่อังกฤษและเคนย่าต่างก็เป็นหนึ่งในสิบอันดับยอดแย่• ประเทศส่วนใหญ่ยังทำคะแนนได้น้อยในเรื่องของเสรีภาพในการแบ่งปันและถ่ายโอน  ซึ่งหมายความว่า ประเทศเหล่านี้ควรเพิ่มงบประมาณในการส่งเสริมการสร้างงานที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ สนับสนุนการใช้ ครีเอทีฟ คอมมอน และซอฟท์แวร์แบบโอเพ่นซอร์ส และใช้ประโยชน์จากงานที่ยังไม่มีผู้อ้างสิทธิ์ให้มากขึ้น• โดยรวมแล้วสิ่งที่ประเทศเหล่านี้ทำได้ดีก็คือเรื่องของการเข้าถึงและการใช้โดยสื่อมวลชน (แต่เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคน้อยมาก เพราะสื่อเหล่านี้มีงบประมาณไว้สำหรับจ่ายค่าลิขสิทธิ์อยู่แล้ว) Top ten ประเทศที่มีกฎหมายลิขสิทธิ์และการบังคับใช้ที่เอื้อต่อการเข้าถึงความรู้มากที่สุด 10 อันดับ1. อินเดีย2. เลบานอน3. อิสราเอล4. สหรัฐอเมริกา5. อินโดนีเซีย 6. อัฟริกาใต้7. บังคลาเทศ 8. โมรอคโค 9. สวีเดน 10. ปากีสถาน กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศเหล่านี้ ระบุข้อยกเว้นไว้อย่างกว้างๆ ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานจากงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ สหรัฐอเมริกาและอิสราเอล เรียกข้อยกเว้นนี้ว่า “การใช้งานอย่างเป็นธรรม” ในขณะที่สวีเดนและเลบานอนเรียกว่า “การทำสำเนาเพื่อการใช้ส่วนตัว” (โดยไม่ได้ระบุว่าเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น ดังนั้นจึงสามารถใช้เพื่อการบันเทิงได้ด้วย) Bottom tenประเทศที่มีกฎหมายลิขสิทธิ์และการบังคับใช้ที่เอื้อต่อการเข้าถึงความรู้น้อยที่สุด 10 อันดับ1. ชิลี2. จอร์แดน 3. อังกฤษ 4. เคนยา5. ไทย6. อาร์เจนตินา7. บราซิล8. แซมเบีย9. อียิปต์ 10. ญี่ปุ่น   ประเทศไทยได้เกรดเฉลี่ย C- โนอา เมทธินี  นักกฎหมายอาสาสมัครของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นนักวิจัยที่ทำการวิเคราะห์กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทยในการสำรวจครั้งนี้บอกว่า โดยภาพรวมแล้วกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยยังไม่มีมาตรการในการรับมือกับการพัฒนาการทางเทคโนโลยีในสื่อใหม่ๆที่เกิดขึ้น เช่น การดาวน์โหลดผ่านอินเตอร์เนท รวมถึงยังไม่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้พิการในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่างๆ เขาตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อไรก็ตามที่เราจะมีการแก้กฎหมายเพื่อลดช่องว่างดังกล่าว เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ผู้บริโภคไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะประเทศไทยยังต้องการทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอย่างอเมริกาหรือกลุ่มประเทศอียู ซึ่งต้องการกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มขึ้น  ขณะนี้นักศึกษาสามารถทำสำเนาตำราเรียนเพื่อใช้ส่วนตัวได้ แต่ในอนาคตเมื่อมีการปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว การจะทำสำเนาได้จะต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนและยากขึ้น  ----- หมายเหตุ  ถ้าดูจากตาราง สหรัฐอเมริกาซึ่งจะทำข้อตกลงทางการค้ากับเราและเรียกร้องให้เรามีกฎหมายลิขสิทธิ์เข้มขึ้นนั้น ให้อิสระกับประชาชนในประเทศในการทำสำเนา และคัดลอกไฟล์ มากกว่าบ้านเรามากทีเดียว ประโยชน์ของภาคธุรกิจกับสิทธิผู้บริโภค ... สมดุลที่ต้องตามหา ภาคธุรกิจมักอ้างว่าควรมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เข้มไว้ก่อน เพราะไม่เช่นนั้นจะได้รับความเสียหายจากเทคโนโลยีการแชร์ไฟล์ทางเน็ท แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการแชร์ไฟล์เป็นสาเหตุหลักของการขาดทุนของธุรกิจเพลง แต่มีหลักฐานว่าของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เพิ่มขึ้นสูงอย่างเป็นประวัติการณ์ในปี 2552 --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ทางเลือกของภาคธุรกิจ• ในแคนาดา สมาคมนักแต่งเพลงของแคนาดาเสนอให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมรายเดือน เพื่อให้คนสามารถแบ่งปันเพลงกันได้อย่างถูกกฎหมาย • บริษัทวอร์เนอร์สาขาประเทศจีน ออกแผ่นดีวีดีไม่กี่วันหลังภาพยนตร์ออกฉาย โดยจำหน่ายในราคาแผ่นละ 70 บาท• หลายประเทศให้ผู้บริโภคได้ฟังเพลงหรือดูภาพยนตร์ผ่านแพลทฟอร์มดิจิตัลด้วยค่าบริการที่สมเหตุสมผล เช่น Spotify (www.spotify.com)  หรือ Hulu (www.hulu.com) เป็นต้น • ปล่อยฟรีไปเลย หรือที่เรียกกันว่าเป็นผลงานสังกัดค่ายเพลงอินเตอร์เน็ท (netlabel)  เช่น เพลงของ Radio Head หรือ Nine Inch Nails ซึ่งการปล่อยฟรีในที่นี้เท่ากับเป็นการโปรโมทให้ผลงานของตนเองเป็นที่รับรู้โดยผู้ฟังจำนวนมาก --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- COPY COPY COPY  เมื่อการทำสำเนามีค่าใช้จ่าย  ในแคนาดา เสปน ยูเครน สวีเดน จะคิดภาษีเพิ่มในอุปกรณ์เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ และที่ใช้สื่อบันทึก อย่างแผ่นซีดี ดีวีดีเปล่า เป็นต้นแต่นั่นยังเข้มไม่เท่าที่อิตาลี ที่ผู้บริโภคแต่ละครัวเรือนจะต้องจ่ายเงินเพิ่มถึง 100 ยูโร (ประมาณ 4,000 บาท) เพื่อ “สิทธิในการทำสำเนาเพื่อใช้เอง” ซึ่งได้แก่ภาษีที่ต้องเสียเมื่อซื้อซีดี ดีวีเปล่า เมมโมรี่สติ๊ก หรือมือถือมัลติมีเดีย และค่าธรรมเนียมในการดาวน์โหลดจากร้านเพลงออนไลน์ และภาษีที่ต้องจ่ายเมื่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ (ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ในการทำสำเนาด้วย) เราคงไม่ปฏิเสธว่าสังคมจะยั่งยืนได้ถ้าทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้โดยไม่ถูกจำกัด และสามารถร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะได้  ติดตามการรณรงค์เพื่อการเข้าถึงความรู้ของสหพันธ์ผู้บริโภคสากลและความเคลื่อนไหวขององค์กรสมาชิกได้ที่ http://a2knetwork.org/ ---พบกับผลสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาไทย เรื่องของอุปสรรคในการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ ในฉลาดซื้อฉบับ 112 (มิถุนายน)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 110 นั่งรถ(โดยสาร)กับใครปลอดภัยที่สุด

ทุกปีคนไทยราว 12 ล้านคน จำเป็นต้องใช้รถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด ทุกชีวิตเหมือนแขวนไว้บนเส้นด้าย ทุกเที่ยวการเดินทางเหมือนกำลังเสี่ยงดวงว่า จะรอดหรือจะเจ็บ-ตาย จากอุบัติเหตุรถโดยสารขนาดใหญ่ที่เกิดปีละ 3-4 พันครั้ง โอกาสรอด  โอกาสตาย ใครกำหนดแต่ละปีมีรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ประสบอุบัติเหตุ 3-4 พันครั้ง/ปี โดย 1ใน3 เกิดกับรถโดยสารต่างจังหวัด และ 2ใน3 เกิดกับรถโดยสารใน กทม. เหตุการณ์เกี่ยวกับอุบัติเหตุจากการโดยสารรถสาธารณะ พบได้หลายรูปแบบ เช่น พนักงานขับรถอย่างประมาททำให้รถพลิกคว่ำ พนักงานไม่ชำนาญเส้นทาง หรือ สภาพของรถที่เก่าและไม่ได้มาตรฐานทำให้ผู้โดยสารมีภาวะเสี่ยงเพิ่มขึ้นเมื่อรถเกิดอุบัติเหตุ อย่างเบาะหลุดออกจากตัวรถ โครงหลังคากดทับ กระจกปิดทึบไม่สามารถหนีออกมาได้กรณีไฟไหม้ ฯลฯ  ซึ่งในแต่ละครั้งแม้จะมีการระดมความคิดเพื่อหามาตรการที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่ก็ต้องพบกับอุปสรรคสำคัญหลายประการ 1.การให้ใบอนุญาตเป็นรายเส้นทาง ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาระบบขนส่งที่มีคุณภาพ ปัจจุบันการกำกับดูแลรถโดยสารสาธารณะ(รถโดยสารประจำทาง) คือ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง โดยมีกรมการขนส่งทางบกเป็นผู้ออกใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการ โดยดูแลเรื่องเส้นทางที่รถโดยสารประจำทางให้บริการ จำนวนรถที่ให้บริการ ความถี่ของการให้บริการและราคาค่าโดยสาร การให้ใบอนุญาตนั้นกรมการขนส่งทางบกจะพิจารณาจากความต้องการของประชาชนในการเดินทางเส้นทางนั้นๆ เป็นหลัก โดยที่จะให้ใบอนุญาตเป็นรายเส้นทาง ใบอนุญาตมีอายุ 7 ปี ถ้าผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตสามารถประกอบการได้ตามข้อกำหนดของกรมฯ ตลอดช่วงเวลา 7 ปี ก็สามารถขอต่ออายุใบอนุญาตได้ ลักษณะการให้ใบอนุญาตรายเส้นทาง เป็นสิ่งที่อาจจะไม่เหมาะสมในการพัฒนาระบบรถโดยสารให้มีคุณภาพดีได้ เนื่องจากการเดินทางของประชาชนมีลักษณะซับซ้อน ระบบรถโดยสารที่ดีควรต้องมีการพัฒนาในลักษณะโครงข่ายเพื่อให้ประชาชนได้ไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้ทั่วถึง หมายถึงว่าอาจต้องมีการเดินทางโดยรถโดยสารหลายต่อ(หลายเส้นทาง) หากผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตในลักษณะโครงข่ายก็จะสามารถพัฒนาคุณภาพในลักษณะการส่งต่อผู้โดยสารให้ถึงที่หมายได้อย่างเป็นระบบ แต่เมื่อได้รับใบอนุญาตเป็นรายเส้นทาง ผู้ประกอบการก็จะไม่พัฒนาคุณภาพการให้บริการ นอกจากเพิ่มความถี่ของการวิ่งเพื่อให้ได้จำนวนผู้โดยสารมากที่สุด ส่วนผู้โดยสารต้องไปต่อรถอะไรไปไหนก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนของผู้โดยสารเอง 2.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนอกจากการให้ใบอนุญาตรายเส้นทางทำให้ขาดการวางแผนในเชิงโครงข่ายและทำให้บริการไม่พัฒนา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังขาดการสนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่พยายามจัดหาหรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่น  ทั้งทางเท้า ป้ายหยุดรถโดยสาร ไฟส่องสว่าง ระบบความปลอดภัย เพื่อจูงใจให้คนมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้น 3.รถร่วมบริการ ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาระบบความปลอดภัยปัจจุบันผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตในแต่ละเส้นทางจากกรมการขนส่งทางบก ส่วนใหญ่ไม่มีรถพอที่จะให้บริการได้เองทั้งหมด ต้องหาเอกชนรายอื่นมาร่วมให้บริการ ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในภูมิภาคเป็นรถร่วมบริการมากกว่าร้อยละ 80 ข้อดีของการให้มีรถร่วมบริการคือ ช่วยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตมีรถโดยสารให้บริการอย่างเพียงพอ แต่ในปัจจุบันปัญหาด้านความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการมาจากรถร่วมบริการนั่นเอง ในด้านความปลอดภัย รถร่วมบริการมีทุนในการประกอบการน้อย ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้ประกอบการรถร่วมไม่สามารถรับภาระค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุได้ ครั้นผู้เสียหายจะไปฟ้องร้องเอากับผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตก็เป็นเรื่องยากและกินเวลานาน ในส่วนของคุณภาพ ผู้ประกอบการรายย่อยที่มาร่วมให้บริการอาจมีรถเพียงหนึ่งหรือสองคัน ในขณะที่เส้นทางนั้นมีรถให้บริการอยู่หลายคัน ผู้ประกอบการรถร่วมมักไม่ค่อยคำนึงถึงคุณภาพการให้บริการของตัวเอง เพราะทุนต่ำอีกทั้งการพัฒนารถของตัวเองอาจไม่เกิดประโยชน์แก่รายได้ของตัวเอง เนื่องจากผู้โดยสารอาจเลือกขึ้นรถคันอื่นที่วิ่งอยู่ในเส้นทางเดียวกัน 4.การกำกับดูแลมาตรฐานและความปลอดภัย ยังไม่มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการรถโดยสารสาธารณะที่ดี แต่เนื่องจากระบบกำกับดูแลยังขาดความชัดเจน ทำให้เวลาเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียมหาศาลทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน เกณฑ์มาตรฐานและการบังคับใช้ต่างๆ จึงยังไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง ส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากรูปแบบของการประกอบกิจการรถโดยสารสาธารณะเป็นรูปแบบการให้บริการของเอกชน เป็นการประกอบการเชิงพาณิชย์ ผู้ประกอบการต้องอาศัยค่าโดยสารเป็นรายได้หลัก แต่อัตราค่าโดยสารถูกควบคุมโดยภาครัฐ ดังนั้นถ้าเส้นทางที่ผู้ประกอบการให้บริการอยู่มีจำนวนผู้โดยสารน้อย การกวดขันเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยก็ทำได้อย่างยากลำบาก เพราะผู้ประกอบการไม่มีทั้งศักยภาพและแรงจูงใจเพียงพอที่จะลงทุนในการพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ เช่น การจัดหารถโดยสารที่ได้มาตรฐานมาให้บริการ การติดตั้งเข็มขัดนิรภัย การจ้างพนักงานขับรถที่ชำนาญเส้นทางและเพียงพอต่อการให้บริการ เป็นต้น อย่างไรก็ดีแนวโน้มของคนที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะกลับมีจำนวนที่ลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากเส้นทางคมนาคมที่สะดวกสบายขึ้น ประชาชนมีรถยนต์ส่วนบุคคลมากขึ้น รวมทั้งความไม่มั่นใจในคุณภาพการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะในปัจจุบัน ดังนั้นการจะพัฒนาให้ระบบรถโดยสารสาธารณะได้มาตรฐานและปลอดภัยต่อประชาชนจำนวนกว่า 12 ล้านคน จำเป็นต้องปฏิรูประบบการขนส่งสาธารณะทั้งระบบ ข้อมูล : เอกสารประกอบการเสวนา “ความปลอดภัยและมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะช่วงเทศกาลสงกรานต์” วันอังคารที่ 30 มีนาคม 2553 โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ  เรื่อง ความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการของรถโดยสารประจำทาง ความสำคัญของนโยบายและการกำกับดูแล โดย ดร.สุเมธ องกิตติกุล ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เมื่อเกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง - มีผู้เสียชีวิต 0.42 ราย- บาดเจ็บสาหัส 0.90 ราย - บาดเจ็บเล็กน้อย 2.69 ราย มูลค่าความสูญเสีย  2,300,000.00 บาท/ครั้งจำนวนอุบัติเหตุปีละ 3,500 – 4,000 ครั้ง คิดเป็นค่าเสียหายปีละ 8,000 – 9,000 ล้านบาทที่มา สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง 2007 ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------- สาเหตุหลักของอุบัติเหตุรถโดยสารขนาดใหญ่ ปี พ.ศ.2545-2549 ร้อยละ 71 ขับเร็วเกินอัตรากำหนดร้อยละ 9 ตัดหน้าระยะกระชั้นชิดร้อยละ 3 อุปกรณ์รถชำรุดบกพร่องร้อยละ 3 หลับในร้อยละ 3 แซงอย่างผิดกฎหมายร้อยละ 1 เมาสุราร้อยละ 10 อื่น ๆ ที่มา  สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง ประเภทใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้โดยสารประจำทางในเส้นทางการเดินรถหมวด 1 เป็นเส้นทางการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสารภายในเขตกรุงเทพมหานคร เทศบาล เมือง และเส้นทางต่อเนื่องภายในจังหวัดหมวด 2 เป็นเส้นทางเดินรถโดยสารที่มีจุดเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ไปยังส่วนภูมิภาค หมวด 3 เป็นเส้นทางเดินรถระหว่างจังหวัด หรือคาบเกี่ยวระหว่างจังหวัดในภูมิภาค หมวด 4 เป็นเส้นทางเดินรถระหว่างอำเภอ หมู่บ้านหรือเขตชุมชนภายในจังหวัด ผลสำรวจคุณภาพการบริการรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด (ปรับอากาศ) โชคชะตากำหนด?เพราะเราเชื่อว่า อุบัติเหตุป้องกันได้  ไม่ใช่เรื่องของโชคชะตาหรือฟ้าลิขิต แต่ในท่ามกลางสถานการณ์ระบบขนส่งสาธารณะที่ยังไม่ได้ปฏิรูปให้เกิดมาตรฐานและความปลอดภัยแก่ประชาชน โครงการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิผู้ ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงทดลองสำรวจคุณภาพงานบริการของรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด ในเส้นทางเดินรถ 3 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เพื่อนำเสนอข้อมูล “ทางเลือก” ให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เกณฑ์การสำรวจโครงการฯ ได้เลือกสำรวจรถโดยสารประจำทางปรับอากาศในกลุ่มมาตรฐาน 1 (ข) และรถกลุ่มมาตรฐาน 4 (ข) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า รถโดยสารปรับอากาศ ชั้น 1/ ป 1 (รถชั้นเดียวและรถสองชั้น) เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัด เนื่องจากเป็นกลุ่มรถโดยสารที่มีผู้นิยมใช้บริการจำนวนมากและมีจำนวนที่ให้บริการรวมกันถึง 3,000 กว่าคัน เงื่อนไขในการสำรวจ (เริ่มสำรวจ 5 ก.พ. – 27 มี.ค. 2553)1. เป็นรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด หมวด 2 วิ่งบริการระหว่าง กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้2. เป็นรถโดยสารประจำทางปรับอากาศในกลุ่มมาตรฐาน 1 (ข) และรถกลุ่มมาตรฐาน 4 (ข)3. เป็นรถโดยสารประจำทางในเส้นทางที่ใช้เวลาในการเดินทางมากกว่า 4 ชั่วโมงขึ้นไป4. ให้อาสาสมัครขึ้นใช้บริการบนรถโดยสารประจำทางตลอดเส้นทางทุกบริษัทที่ให้บริการรถโดยสารภายใต้เงื่อนไขตามข้อ 1-3 บริษัทละ 2 เที่ยว โดยเลือกสุ่มสำรวจในเส้นทางจังหวัดปลายทางที่มีจำนวนประชากรมากเป็นสำคัญ สิ่งที่พบจากการสำรวจการให้ข้อมูลข่าวสาร แก่ผู้โดยสารจากการสำรวจพบว่า96.9 % ไม่ระบุเวลาถึงจุดหมายปลายทางบนตั๋ว94.6 % ไม่ได้รับการแจ้งชื่อ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อของบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครอง96.9% ไม่มีการแจ้งเบอร์โทรอัตโนมัติในการร้องเรียน (1584) ของกรมการขนส่งทางบกบนตั๋ว54.6 % ไม่พบป้ายแจ้งชื่อพนักงานขับรถบนรถโดยสาร ความสะดวก สบายในการใช้บริการจากการสำรวจพบว่า 60 % สัมภาระที่ฝากไว้ในห้องเก็บสัมภาระ(ใต้ท้องรถ) ไม่มีป้ายแสดงความเป็นเจ้าของ44.1 % รถโดยสารถึงช้ากว่ากำหนดมากกว่า 15 นาที43.4 % ห้องสุขาไม่สะอาด มีกลิ่นและสภาพไม่เหมาะกับการใช้งาน มาตรฐานความปลอดภัยจากการสำรวจพบว่า69.5% ที่นั่งผู้โดยสารไม่มีเข็มขัดนิรภัย50.4% เมื่อรถวิ่งไปได้ 4 ชั่วโมง ไม่มีการเปลี่ยนพนักงานขับรถหรือให้พนักงานขับรถพัก 30 นาทีก่อนขับต่อไป40% ไม่มีค้อนสำหรับทุบกระจกภายในห้องโดยสาร35.4% ไม่มีถังดับเพลิงในห้องโดยสาร 5 อันดับยอดเยี่ยม – ยอดแย่ ภาคเหนือสำรวจทั้งหมด 19 บริษัท

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 94 อะฟลาท็อกซิน สารพิษที่อันตรายที่สุดในโลก

อะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) เป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อรา และเป็นสารพิษที่พบปนเปื้อนในอาหารมากที่สุดชนิดหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า อาหารอะไรก็ตามที่เกิดเชื้อราได้ ย่อมมีโอกาสปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินได้ แต่ส่วนใหญ่อาหารที่มักพบอะฟลาท็อกซิน ได้แก่ อาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วลิสง เช่น ถั่วลิสงดิบ ถั่วลิสงคั่วที่ใช้ปรุงอาหาร หรือถั่วลิสงเคลือบ ทั้งยังพบในถั่วชนิดอื่นๆ รวมถึงข้าวและข้าวโพดได้อีกด้วย  นอกจากนี้ยังพบในแป้งต่างๆ อย่างแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว แป้งท้าวสาลี แป้งมันสำปะหลัง  และบรรดาอาหารอบแห้งทั้งหลาย ได้แก่ พริกแห้ง พริกป่น พริกไทย งา ปลาแห้ง กุ้งแห้ง กระเทียม หัวหอม ผัก ผลไม้อบแห้ง  เครื่องเทศต่างๆ หรือแม้แต่สมุนไพร ชา ชาสมุนไพร และกาแฟคั่วบด อะฟลาท็อกซิน ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากวิธีการปรุงอาหารด้วยความร้อนแบบธรรมดาๆ เช่น การทอด หุง นึ่ง ต้ม ไม่สามารถทำลายพิษอะฟลาท็อกซินให้หมดไปได้ เพราะอะฟลาท็อกซินทนความร้อนได้สูงถึง 260 องศาเซลเซียส ระดับความเป็นพิษของอะฟลาท็อกซิน องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่ง ปริมาณของอะฟลาท็อกซินเพียง 1 ไมโครกรัม สามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรีย และทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้เมื่อได้รับสารนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างที่กล่าวไปข้างต้น อะฟลาท็อกซินใกล้ชิดกับมนุษย์มากเพราะมีอยู่ในอาหารที่เราบริโภคประจำวัน แม้จะไม่ค่อยพบการเกิดพิษอย่างเฉียบพลัน เพราะปริมาณที่บริโภคเข้าไปในแต่ละครั้งมีไม่มาก แต่ก็นับว่ามีความเสี่ยงของการเกิดพิษสะสม ซึ่งหากร่างกายได้รับสารพิษนี้เป็นประจำ จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งที่ทุกวันนี้ติดอันดับคร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดโรคหนึ่ง (ปัจจุบันคนไทยทุกๆ 100,000 คน จะเสียชีวิตเพราะมะเร็งในตับ 51.7 คน) ดังนั้นผู้บริโภคควรให้ความสนใจและตระหนักถึงพิษภัยของอะฟลาท็อกซิน เพื่อจะได้หาทางป้องกันและหลีกเลี่ยง มิให้เกิดเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ ชนิดของอะฟลาท็อกซินอะฟลาท็อกซิน เป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อราในกลุ่ม แอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัส (Aspergillus flavus) และ แอสเปอร์จิลลัส พาราซิติกัส (Aspergillus parasiticus) ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบได้ในอาหาร ทั้งที่ยังไม่ผ่านการแปรรูปและที่แปรรูปแล้ว ตามธรรมชาติ อะฟลาท็อกซินจะมีอยู่ทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่ อะฟลาท็อกซินชนิด B1  B2 G1 และ G2  โดยอะฟลาท็อกซิน B1 เป็นชนิดที่ร้ายแรงที่สุด (อะฟลาท็อกซิน B1 เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในตับสัตว์ทดลองหลายชนิดอย่างชัดเจนจึงอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ได้เช่นกัน)ฉลาดซื้อแนะวิธีเลี่ยงพิษอะฟลาท็อกซิน1.อะฟลาท็อกซินเกิดจากเชื้อราในกลุ่ม แอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัส (Aspergillus flavus) และ แอสเปอร์จิลลัส พาราซิติกัส (Aspergillus parasiticus) ซึ่งเชื้อราเหล่านี้จะเจริญได้ดีในอาหารที่มีความชื้นมากๆ ผู้บริโภคสามารถสังเกตเห็นเชื้อรานี้ได้ด้วยตาเปล่า เพราะจะมีสีเขียวอมเหลืองหรือสีเขียวเข้ม ดังนั้นเมื่อพบว่าถั่วหรืออาหารที่มีราสีเขียวอมเหลือง ก็ให้ทิ้งไปทั้งหมดอย่านำมาปรุงอาหารเด็ดขาด กรณีที่พบว่าเป็นปัญหาอย่างหนึ่งคือ ผู้บริโภคมักคิดว่า การปาดเอาส่วนที่เป็นเชื้อราออกไปจากอาหาร จะสามารถบริโภคส่วนที่ดูด้วยตาเปล่าว่ายังมีสภาพดีอยู่ได้ นั่นเป็นความคิดที่ผิด เพราะสารพิษที่เชื้อราได้สร้างขึ้นได้กระจายไปในส่วนอื่นของอาหารแล้ว การนำมาบริโภคจึงเป็นการนำสารพิษเข้าสู่ร่างกายโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์โดยแท้2. อาหารที่มีแนวโน้มเกิดเชื้อราได้ อย่าง พริกแห้ง กระเทียม เครื่องเทศต่างๆ ไม่ควรซื้อมาเก็บไว้ในปริมาณมาก ควรซื้อเท่าที่จำเป็นต้องใช้ และการเก็บรักษาต้องเก็บในที่แห้งสนิทไม่เกิดความชื้นจนทำให้เชื้อรามีโอกาสเจริญเติบโต จนก่อสารพิษที่จะมาทำร้ายสุขภาพ  ไม่เพียงแต่อาหารแห้ง แม้แต่ผักหรือผลไม้ ก็เช่นกัน ควรซื้อในปริมาณน้อย เลือกให้มีความสุกดิบคละกัน เพื่อจะได้รับประทานผลไม้ที่สดทุกวัน หากเลือกซื้อที่สุกทั้งหมด อาจรับประทานไม่ทัน ผลไม้ที่เหลือจะขึ้นราได้ 3.หลีกเลี่ยงถั่วลิสงคั่วที่ดูเก่าหรือมีความชื้นหรือมีกลิ่นหืน เพราะมีโอกาสที่จะพบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินได้สูงมาก เป็นไปได้ก็ไม่ควรรับประทานให้บ่อยหรือรับประทานในปริมาณมาก 4.อาหารที่เกิดเชื้อราได้ง่าย ควรเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่ไว้ใจได้ หีบห่อมิดชิด และควรสดใหม่ ไม่เป็นสินค้าที่เก็บค้างไว้นานหลายเดือน อย่าซื้ออาหารที่มีกลิ่นอับหรือกลิ่นหืน ซึ่งแสดงถึงความเก่าเก็บหรือการเก็บรักษาที่ไม่ดี 5. หากสงสัยว่าอาหารจะมีราขึ้น ให้ทิ้งอาหารนั้นเสียทั้งหมด อย่าทิ้งเฉพาะส่วน นอกจากนี้กระดาษหรือกล่องที่สัมผัสกับอาหารที่ขึ้นราให้ทิ้งไปด้วย เพื่อป้องกันการนำเชื้อราไปปนเปื้อนอาหารอื่น 6. อุปกรณ์เครื่องครัว รวมทั้งเขียงที่ใช้ควรล้างให้สะอาด ในระหว่างเตรียมอาหารควรซับให้แห้งอยู่เสมอ อย่าให้มีราขึ้นพึงระลึกไว้เสมอว่าสภาพแวดล้อมในบ้านเรา เป็นแบบร้อนชื้นที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และเชื้อรา จึงต้องใส่ใจและระวังเรื่องการเก็บรักษาอาหาร ตลอดจนเครื่องครัวต่างๆ ให้พ้นจากความชื้นเพื่อป้องกันสารพิษที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตเข้ามาปนเปื้อนในอาหารที่เรารับประทาน ส่วนอาหารที่ขายตามตลาดทั่วไป ก็หมั่นตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนซื้อ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้บ้าง -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขไทยกำหนดไว้ว่า ต้องมีอะฟลาท็อกซินอยู่ในอาหารไม่เกิน 20 พีพีบี (20 ไมโครกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม) -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- •    อะฟลาท็อกซิน (aflatoxin) เป็นสารพิษอันเกิดจากเชื้อรา (mycotoxins) คำว่า aflatoxin มาจากคำ 3 คำรวมกัน โดยมาจากชื่อของเชื้อราตัวที่สร้างสารพิษคือ แอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัส (Aspergillus flavus) และ คำว่า toxin ที่แปลว่าสารพิษหรือเป็นพิษ•    สารพิษอะฟลาท็อกซินค้นพบเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2503 โดยได้เกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้นกับไก่งวงในประเทศอังกฤษ ทำให้ไก่งวงที่เลี้ยงไว้จำนวนประมาณ 100,000 ตัว ล้มตาย ไปภายในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ภายหลังจากการศึกษาสาเหตุโดย สถาบันผลิตผลเมืองร้อน (Tropical Products Institute) ของประเทศอังกฤษ (ปัจจุบันคือ Tropical Development and Research Institute) พบว่าสาเหตุการล้มตายของไก่งวงเป็นจำนวนมากนั้นเกิดจากความเป็นพิษของอาหารผสมที่มีถั่วลิสงปน เมื่อได้ตรวจพบแน่ชัดแล้วว่าถั่วลิสงเป็นที่อาศัยของเชื้อราที่ทำให้เกิดพิษนี้ขึ้น จึงได้ทำการตรวจสอบตัวอย่างถั่วลิสงจากประเทศต่างๆ ที่ส่งไปจำหน่ายยังประเทศอังกฤษ ผลปรากฏว่า พบสารพิษนี้จำนวนหนึ่งจากแหล่งใหญ่ๆ ทุกแห่งที่ปลูกถั่วลิสง  --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 109 ตามไปดูเขากำจัดสารตะกั่ว…ต้องช่วยผู้บริโภค

วันหนึ่งหลังจากตื่นนอนทำวัตรเช้าเสร็จ โทรศัพท์ก็ดังกริ๊งกร๊างปรากฏว่า มีคำสั่งให้ทีมกระต่ายฯ (รายการทีวีของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค) ออกไปทำสกู๊ปทดสอบสีในโรงเรียนที่มีศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก สังกัดภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นเจ้าของโครงการ เนื่องจากได้ข่าวว่า มีการตรวจพบสารตะกั่วในของเล่นและสีที่ใช้ทาในโรงเรียน!! งานเข้าครับ… ท่านผู้อ่านที่เคยผ่านการใช้รถในยุคน้ำมันเบนซินลิตรละ 10 บาท คงพอจำโฆษณาทางทีวีตัวหนึ่งที่มีมนุษย์ประหลาดหัวโล้นๆ ตัวสีเงิน ไม่ใส่เสื้อผ้าโผล่มา ที่เขาเรียกกันว่า “มนุษย์ตะกั่ว” ได้ใช่ไหมล่ะครับ ก็ช่วงนั้นเขารณรงค์ให้ใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วกันทั่วบ้านทั่วเมือง เหตุเพราะพิษภัยของมันค่อนข้างอันตราย หากเก็บสะสมไว้ในร่างกายนานเข้า อาจทำให้เกิดภาวะผิดปกติทางสมอง สมองพิการ หรือปัญญาอ่อนได้ทีนี้พอไอ้เจ้า “มนุษย์ตะกั่ว” ที่มากับน้ำมันซูเปอร์ในสมัยนั้นถูกลอยแพบ๊ายบายไปตามสายน้ำ (โฆษณาชิ้นสุดท้ายของซีรี่ส์ตะกั่ว) คุณพ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ ท่านก็เลยเบาใจหายห่วงไปได้เปาะหนึ่ง ว่าต่อแต่นี้คงส่งลูกส่งหลานเดินทางขึ้นรถไปโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย จนกระทั่ง...เกิดข่าวสารตะกั่วตามเข้าไปอยู่ในโรงเรียน!! นี่ผมไม่ได้ละเมอมานั่งเทียนเขียนนะครับ แล้วสารตะกั่วมันจะตามเข้าไปอยู่ในโรงเรียนได้อย่างไร หรือคุณครูจะแอบกักตุนน้ำมันลิตรละ 10 บาทไว้เติมรถตัวเอง เอาล่ะสิครับ สังขารปรุงให้ความสงสัยเกิด ทุกข์ก็เกิดอีกแล้ว ไอ้คนเขียนอย่างผมก็ทุกข์ไปด้วยเพราะต้องไปหาข้อมูลมาอธิบายให้คนอ่านหายทุกข์ ทุกข์กันทั้งบ้านทั้งเมืองไม่รู้จะทุกข์กันไปทำไม...เนอะ (เริ่มเข้าสู่แนวธรรมของถนัดอีกแล้ว มีหวังกองบก.เล่นผมตายแน่) ตามตะกั่วไปถึงโรงเรียนอย่างที่บอกไปครับ งานเข้าทีมกระต่ายฯ แล้ว คือแรกเริ่มเดิมทีนั้น ทางศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กฯ เขาสนใจเรื่องของการบาดเจ็บในเด็กจากของเล่นก่อน แล้วจึงพบว่าสารเคมีที่ปนเปื้อนมากับสีของของเล่นเหล่านั้น มันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งเจ้าสารเคมีตัวเอ้ที่ว่ามานั้น ก็ไม่ใช่อื่นไกลเลย...พี่สารตะกั่วยังไงล่ะครับ!! รอบแรกที่ลงไปทำการสำรวจของเล่นที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด พบว่ามีสูงถึงร้อยละ 18 ที่สารตะกั่วเจือปนมากับสีของของเล่นในอัตราส่วนที่เกินมาตรฐาน สำหรับมาตรฐานสากลนั้น กำหนดให้อยู่ที่ 90 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสี 1 กิโลกรัม หมายความว่า เมื่อนำเอาวัตถุที่มีสีแช่ลงในสารละลายที่สามารถละลายสารตะกั่วได้ แล้วพบว่ามีสารตะกั่วละลายออกมาสูงเกิน 90 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมนั้น ให้เชื่อว่าเกินมาตรฐาน หรืออีกวิธีหนึ่งจะดูปริมาณสารตะกั่วที่ปนเปื้อนทั้งหมดไม่คิดเฉพาะส่วนที่ละลายออกมาก็ได้ ค่านี้มาตรฐานให้อยู่ที่ 600 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสี 1 กิโลกรัม คือ ตัวเลข 600 เนี่ย หมายถึงค่าที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายเฉียบพลัน แต่หากสะสมไปนานๆ มากๆ เข้าก็อาจส่งผลกระทบถึงระบบประสาทได้ครับ ทางที่ดีควรจะเป็น 0 เรียกว่า ไม่ควรจะมีเลยด้วยซ้ำ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการทดสอบของเล่นในศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งก็ตรวจพบบ้างประปรายในบางศูนย์ แล้วก็ได้มีการแนะนำให้ความรู้กับครูอาจารย์ผู้ประกอบการถึงพิษภัยตลอดจนวิธีที่สารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย ส่วนใหญ่คือทางเดินอาหาร (เด็กจับของเล่นแล้วมาจับของกินหรือบางทีก็หยิบเอาสีที่ล่อนออกมาเข้าปาก) และต้องมีการกำจัดของเล่นที่มีความเสี่ยงทิ้งไป ต่อมา ก็ได้มีหน่วยงานหลายหน่วยงานให้ความสนใจในเรื่องนี้ และได้เข้ามาร่วมศึกษาตรวจสอบ อย่างการพบสารตะกั่วในแทงค์น้ำบ้าง ในหม้อก๋วยเตี๋ยวที่มีการบัดกรีบ้าง ฯลฯ แล้วก็ในสีที่ใช้ทาหรือเคลือบวัสดุต่างๆ ด้วย อย่างที่ฉลาดซื้อฉบับป้ายสีเคยลงข้อมูลไว้ “สี” ก็เลยกลายเป็นผู้ต้องหาคนสำคัญไปโดยปริยาย!! (ต้องหามาทดสอบซ้ำนะครับพี่ๆ) จากการศึกษาในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกาพบว่า สีทาบ้านโดยเฉพาะที่พบในอาคารเก่าเป็นแหล่งที่มาสำคัญของภาวะพิษจากสารตะกั่วในเด็ก หรือศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนและโรงเรียนประถมในจีนก็เช่นเดียวกัน พบว่าร้อยละ 57 ของสีทาบ้านมีระดับสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน ดังนั้นทางศูนย์วิจัยฯ แห่งโรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้สุ่มคัดเลือกโรงเรียนศูนย์เด็กเล็กจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นกลุ่มตัวอย่างสำหรับศึกษาและเผยแพร่งานวิจัยชิ้นนี้ ทีนี้บางท่านอาจมีข้อสงสัยขึ้นมาว่า ทำไมจึงโฟกัสเฉพาะเด็กเล็กเท่านั้นล่ะ เด็กโตไม่สำคัญหรือ... วิสัชนาว่า ก็เด็กเล็กอายุตั้งแต่ 6 ปีลงไป ร่างกายสามารถซึมซับสารตะกั่วได้ดีกว่าวัยอื่นๆ ถึง 5 เท่าน่ะสิครับ สมองจะพิการหรือไม่ก็ช่วงนี้แหละ อีกอย่างหากเราจัดการสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้พวกเขาตั้งแต่เล็ก โตมาจะมีอะไรน่าห่วงอีกล่ะครับ หมดเรื่องของสารตะกั่วแล้วจะนิโคตินหรือแอลกอฮอล์ค่อยว่ากันอีกที โรงเรียนแรกที่ทีมกระต่ายฯ เราได้ลงพื้นที่ไปสำรวจดูนั้นก็คือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน พัวชิวติ่ง-ลิ้มเซาะคิ้ม ย่านชุมชนเคหะนคร 2 เขตลาดกระบัง ซึ่งเป็น 1 ใน 11 ศูนย์ที่ทางทีมวิจัยของรามาตรวจพบสารตะกั่วปนเปื้อน จากทั้งสิ้น 17 ศูนย์ที่ได้สุ่มเก็บตัวอย่างมาทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 64.71 โดยแบ่งเป็นพบในสีถึง 9 ศูนย์ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ 1 ศูนย์ และดินอีก 1 ศูนย์ โดยปริมาณที่พบสูงสุดเลยคือ 32,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากค่ามาตรฐาน 600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม คิดเป็น 53.33 เท่า!! โอ้แม่เจ้า!! นี่เด็กชักตายได้เลยนะเนี่ย ไม่ต้องรอสะสมให้เหนื่อยเลย!! และนี่คือตารางแสดงจำนวนตัวอย่างทั้งหมดที่ส่งไปทดสอบปริมาณตะกั่วจากทั้ง 17 ศูนย์   ตัวอย่างทดสอบ จำนวน (ที่พบ) สารตะกั่วสูงกว่ามาตรฐาน สีทาบ้าน 9 โต๊ะเรียน 1 ดินในสนามเด็กเล่น 1 สารตะกั่วต่ำกว่ามาตรฐาน น้ำดื่ม 17 น้ำประปา 17 สีในของเล่น 16 ดินน้ำมัน 8 ภาชนะบรรจุอาหาร 30 (จานชาม) 21 (หม้อหุงต้ม) 9 แก้วน้ำ 18 ช้อน 17 ฝุ่นที่ติดพื้น 11 ดินสอสี / สีเทียน 18   โดยวันนั้นเกิดการติดต่อประสานงานผิดพลาดขึ้นเล็กน้อยครับ ทีมกระต่ายฯ ที่ได้รับคำสั่งเร่งด่วน ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลยขณะนั้น ต้องไปแกร่วอยู่กับคุณครูประจำศูนย์ 2 ท่าน ปราศจากผู้เชี่ยวชาญจากรามาฯและทีมบำรุงซ่อมแซม(การตรวจสอบเพื่อให้ได้ผลสรุปที่แน่นอนจะต้องทำการเก็บตัวอย่างหลายรอบครับ นี่คือเหตุผลที่ทางรามาฯ ต้องไปแล้วไปอีก) ผมเลยต้องเริ่มต่อจิ๊กซอว์ตัวแรกด้วยการคุยกับคุณครูประจำศูนย์ทั้ง 2 ท่านก็พบว่าศูนย์พัวชิวติ่งนี้ ถูกตรวจพบสารตะกั่วจากตัวอย่างสีน้ำมันที่นำมาทาทับเพื่อลบร่องรอยขีดเขียนตามผนังโดยฝีมือนักศิลปะรุ่นเยาว์ทั้งหลาย ซึ่งตัวคุณครูเองก็คาดไม่ถึงว่าจะเจอในลักษณะนี้ แต่เมื่อเจอแล้วก็ต้องแก้ไขกันต่อไป นอกจากนี้ ท่านยังเล่าให้ฟังอีกว่า ศูนย์เด็กเล็กส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของชุมชน โดยเฉพาะชุมชนขนาดกลาง ชุมชนที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ หรือชุมชนสลัม ฯลฯ พ่อแม่ทำงานหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก ต้องนำลูกมาฝากไว้กับศูนย์ พอปัญหาเกิดขึ้นก็ไม่รู้จะหางบประมาณจากไหนมาเยียวยา บางทีพ่อแม่ผู้ปกครองไม่เข้าใจอีก หาว่าเป็นความผิดทางโรงเรียน ที่ทำได้คือถอดเอาชุดอุปกรณ์ที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงทิ้งไป เด็กก็มีของให้เล่นน้อยลง ความซวยจึงบังเกิดกับเด็กผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไหนจะต้องเสี่ยงกับพัฒนาการทางสมองจากสารตะกั่ว ไหนจะขาดแคลนเครื่องเล่นที่จะช่วยพัฒนาไอ-คิว ทุกข์อีกแล้ว !! สำหรับอีกโรงเรียนที่กระต่ายฯ ได้ลงพื้นที่ก็คือ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนหมู่บ้านเคหะนคร เขตสะพานสูง ซึ่งศูนย์แห่งนี้ก็ถูกตรวจพบสารตะกั่วจากตัวอย่างสีเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังพบรูรั่วตามหลังคา ทำให้เวลาฝนตกลงมาเกิดความชื้นเกิดเชื้อราได้ง่าย ศูนย์ฯ นี้มีบริเวณและจำนวนเด็กมาก สถานที่ค่อนข้างใหญ่จะบูรณะซ่อมแซมอะไรรายจ่ายก็สูงเป็นเงาตามตัว ข้อมูลนี้อาจารย์เขาเล่าให้ฟังเอง ยังดีที่ทางรามาฯ ยื่นมือเข้าช่วยโดยประสานกับทางบริษัทสีให้เข้ามาซ่อมแซมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะหากรอความช่วยเหลือจากทางเขตก็ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ เด็กก็ต้องรับเคราะห์ทนสภาพเสี่ยงกันต่อไป การกำจัดสารตะกั่วเมื่อตรวจพบว่ามีสารตะกั่วปนเปื้อนในบริเวณรอบโรงเรียน ทางทีมงานของรามาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ดำเนินการ “แก้ไข” ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ครับ เป็นปฏิบัติการระดับ Mission Impossible ทีเดียวเชียว ขั้นตอนของการกำจัดเจ้าสารตะกั่วซึ่งถือเป็นขยะพิษขยะอันตรายนี้ ต้องเริ่มจากการขูดลอกสีที่ปนเปื้อนมาเก็บพักรวมกันไว้ที่โรงกำจัดสารพิษของ กทม. ก่อนจะส่งไปยังโรงกำจัดขยะพิษที่จังหวัดสระแก้ว เพื่อมิให้ขยะสีเหล่านี้ไปก่อให้เกิดมลพิษกับบุคคลอื่น คนงานทุกคนที่ขูดลอกสี ต้องใส่ชุดประมาณ “ชุดอวกาศ” คือมีหน้ากากป้องกันฝุ่นจากสีเข้าสู่ร่างกาย การล้างน้ำจากพื้น ผนังต้องให้แน่ใจว่า ไม่มีสีปนเปื้อนตะกั่วไหลไปลงท่อน้ำทิ้ง คนงานต้องหาทางดักชิ้นส่วนของสีที่ขูดออกมารวบรวมไว้อย่างดีไม่ให้ออกไปปนกับสิ่งแวดล้อมรอบบริเวณโรงเรียน โรงเรียนที่ทางรามาฯ และทีมกำจัดได้เข้าไปดำเนินการนั้น นัยหนึ่งก็นับว่าโชคดี แต่ทีนี้ปัญหาที่ผมสงสัยต่อมาก็คือ แล้วอีกกว่า 276 ศูนย์เด็กเล็กที่ทางรพ.รามาฯไม่ได้ลงไปตรวจสอบ ผู้ปกครองจะมั่นใจได้อย่างไรว่าศูนย์เหล่านั้นปลอดภัย เป็นศูนย์ไร้สารตะกั่วจริง บางที่อาจจะเกิน 32,000 มิลลิกรัมขึ้นไปอีกก็ได้ตามหลักความน่าจะเป็นทางคณิตศาสตร์และสถิติหรือบางที่อาจจะพบเจอตามที่แปลกๆ อย่างศูนย์หนึ่งพบตรงผิวหน้าดิน เป็นต้น ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้สอบถามไปยังศูนย์วิจัยฯ ของรามาธิบดีว่า มีแผนจะลงไปตรวจสอบศูนย์เด็กเล็กที่เหลือเมื่อไร ก็ได้คำตอบกลับมาว่าศูนย์วิจัยฯ หยุดสำรวจเรื่องสารตะกั่วในศูนย์เด็กเล็กแล้ว เพราะต้องทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดขึ้นกับเด็กในเรื่องอื่นๆ ด้วย งานวิจัยเป็นแค่แนวทางปฏิบัติเท่านั้น   ใครรู้ตัวว่าเกี่ยวข้องรีบเข้ามาจัดการด่วนหลังจากไปดำเนินการแก้ไขปัญหาจนแล้วเสร็จ ทางศูนย์วิจัยฯ ได้จัดแถลงข่าวเผยแพร่งานวิจัยชิ้นนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ห้องประชุม 4703 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข หรืออาคาร 6 ชั้น 7 กระทรวงสาธารณสุข โดยได้แสดงผลการศึกษาที่น่าสนใจประมาณการได้ว่า “มีเด็กกว่า 15,000 คน กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากสารตะกั่ว” ดังนั้นจึงสมควรเร่งให้สำนักพัฒนาสังคมดำเนินการให้ความรู้ครูผู้ดูแลเด็กในการจัดการสิ่งแวดล้อม หากมีสีหลุดลอกตามพื้นให้ทำความสะอาดโดยใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดพื้นหลายๆ ครั้งต่อวัน และมิให้เด็กเล่นใกล้บริเวณที่มีสีหลุดลอกได้ ทางสำนักงานเขตกทม.ต้องมีการจัดผู้เชี่ยวชาญไว้ให้บริการตรวจสอบทั้งในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน และตามบ้านเรือนที่อยู่อาศัย รวมทั้งจัดตั้งทีมกำจัดสารตะกั่วในการดำเนินงานแก้ไขตามมาตรฐานสากล ป้องกันการเจือปนของสารตะกั่วจากการขูดลอกสีภายในชุมชนและมีการกำจัดขยะสีอย่างถูกวิธี กรุงเทพมหานครต้องขยายผลการดำเนินงานนี้ให้ครอบคลุมทุกศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ส่วนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นควรดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขเช่นเดียวกันในศูนย์เด็กเล็กภูมิภาค นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเพิ่มมาตรการในการควบคุมสารตะกั่วในสีให้มากขึ้น อย่าลืมนะครับว่าจริงๆ มันไม่ใช่หน้าที่เขามาตั้งแต่ต้น ชื่อหน่วยงานก็บอกอยู่ทนโท่ว่าศูนย์ “วิจัย”เพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ไม่ใช่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามสารตะกั่ว หลักๆ นี่มันเป็นหน้าที่ของบรรดาผู้ได้รับเงินภาษีจากราษฎรเพื่อเข้ามาบริหารจัดการดูแลสุขทุกข์ประชาชนต่างหากที่ต้องรีบเข้ามาจัดการโดยด่วนครับ พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ สำนักงานเขต เจ้าของผลิตภัณฑ์ที่มีสารปนเปื้อน รวมถึงคนในชุมชน ถึงตรงนี้ผมมองว่าทุกๆ ท่านคงต้องช่วยกันรับผิดชอบด้วยแล้วล่ะครับ จะมัวรอให้คนนู้นคนนี้คอยเป็นธุระจัดการ หรือพอเกิดปัญหาขึ้นมาทีก็เอาแต่โทษกันไปโทษกันมา บุตรหลานของท่านไม่ตายก็พิการกันหมดล่ะทีนี้ งานวิจัยเขาก็นำร่องไว้ให้แล้ว วิธีปฏิบัติเขาก็แสดงให้เห็นแล้ว อยากได้คำแนะนำก็ขอคำปรึกษาได้ มันจะยากอะไรแค่ช่วยกันช่วยกันขูดตัวอย่างสีหรือหาวัสดุที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงส่งไปให้ห้องแล็ปทดสอบ เหลือแค่พวกเราลงมือกระทำเท่านั้นแหละครับ อยู่ที่ว่าจะลุกขึ้นมาหรือเปล่า... ถ้าลุกขึ้นมาลูกหลานก็ปลอดภัย ถ้าปล่อยไปก็อาจตายหยังเขียด หรือดีหน่อยก็เป็นไอ้มนุษย์ตะกั่ว ร่วมไม้ร่วมมือกันอย่าเอาแต่นิ่งดูดาย ล้อมคอกเมื่อวัวหายมันไม่คุ้มหรอกนะครับ ป.ล.โฆษณาซีรี่ส์ตะกั่วงวดหน้าอาจโผล่มาในโรงเรียนก็ได้ ฮ่าฮ่า ;D

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point