ฉบับที่ 159 รถโดยสารสองชั้น : ความปลอดภัย “สร้างได้”

ในปัจจุบันแม้ว่ารถโดยสารสาธารณะ ได้แก่ รถโดยสารขนาดใหญ่ (หมวด ม.4) หรือ รถตู้โดยสารสาธารณะ (หมวด ม.2จ) จะมีมาตรฐานขั้นพื้นฐานที่กำหนดขึ้นโดยกรมขนส่งทางบกไว้บางประการแล้วนั้น อย่างไรก็ตาม จากสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารขนาดใหญ่อย่างรถโดยสารสองชั้นที่ผ่านมาล่าสุด ไม่ว่าจะเป็น กรณีที่รถโดยสารนำเที่ยวเสียหลักตกเหวข้างทางที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.ลำปาง ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 หรือกรณีรถโดยสารนำเที่ยวสองชั้นพลิกคว่ำตกเหวข้างทางที่อ.แม่สอด จ.ตาก ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 รวมถึงล่าสุดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 ที่รถโดยสารนำเที่ยวสองชั้น เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำบนถนนเลี่ยงเมือง ที่จ.ตรัง ล้วนทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเดินทางด้วยรถโดยสารสองชั้น ยังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่สูงอยู่ อีกทั้งยังมีความเสียหายและรุนแรงต่อชีวิตของผู้โดยสารสูงมากเช่นกัน โดยสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุนั้น นอกเหนือจากพฤติกรรมและความชำนาญในเส้นทางของผู้ขับขี่ สภาพของถนนหรือเส้นทางในการเดินรถแล้วนั้น อีกสาเหตุหลักของความสูญเสียชีวิตของผู้โดยสารคือ รถโดยสารสาธารณะเหล่านี้ ยังไม่มีโครงสร้างที่มีความแข็งแรง หรืออุปกรณ์พื้นฐานด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพเพียงพอตามมาตรฐานสากล หรือไม่มีการถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง บทความนี้ จะอธิบายถึงสาเหตุหลักและลักษณะรูปแบบส่วนใหญ่ของอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสองชั้นโดยสังเขป และชี้เน้นเชิงเสนอแนะถึงวิธีการและอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้นตามหลักการเชิงวิศวกรรมที่สำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้น ที่ควรจะมีการนำมาใช้กับรถโดยสารสาธารณะในประเทศไทยโดยเร่งด่วน ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้โดยสารเท่านั้นที่ควรรู้และเข้าใจ แต่รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอีกด้วย   สาเหตุหลักสามประการของการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสองชั้น สามปัจจัยหลัก ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยในการโดยสารรถโดยสารสองชั้น มีดังต่อไปนี้ 1) คนชับและผู้โดยสาร - พฤติกรรม วินัย มารยาทในการใช้รถและถนนของคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ขับขี่รถ ผู้ร่วมใช้ถนน และผู้โดยสารรถ เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุด ที่มีผลต่อความปลอดภัยบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการขับขี่ การเคารพกฎจราจร ความชำนาญเส้นทางของผู้ขับขี่เอง นอกจากนี้การตระหนักถึงความปลอดภัยด้วยตนเองของผู้โดยสารก็มีความสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การคาดเข็มขัดนิรภัย หรือไม่โดยสารรถที่มีจำนวนผู้โดยสารมากกว่าที่นั่งที่มีอยู่ เป็นต้น 2) ยานพาหนะและอุปกรณ์ภายใน – นอกเหนือจากโครงสร้างตัวถังรถ แชสซี รวมไปถึงชิ้นส่วนพื้นฐานอย่างระบบบังคับเลี้ยว สภาพช่วงล่าง สภาพยางรถ และอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยต่างๆ ของรถ เช่น ระบบเบรก แล้วนั้น การออกแบบรถที่ครอบคลุมถึง ขนาดความสูงของรถ การจัดวางเก้าอี้โดยสาร ซึ่งส่งผลต่อน้ำหนักรวม การกระจายน้ำหนัก และตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วง ยังมีผลโดยตรงต่อสมรรถนะการขับขี่และการทรงตัวของรถอีกด้วย 3) สิ่งแวดล้อม - อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการจราจร ก็คือ รูปแบบเส้นทางที่คดเคี้ยว ลาดชัน สภาพของถนนที่ชำรุดผุผัง เป็นหลุมเป็นบ่อ มีการจัดวางตำแหน่งของอุปกรณ์กั้นข้างทางที่ไม่เหมาะสม มีสิ่งกีดขวางการจราจร ทำให้ที่รถต้องชะลอความเร็วหรือเปลี่ยนเส้นทางโดยกะทันหัน รวมถึง สัญญาณจราจรที่ไม่ชัดเจน อาทิ ป้ายจราจร เส้นแบ่งทางเดินรถ สิ่งเหล่านี้เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด ลักษณะและรูปแบบของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสองชั้น จากข้อมูลสถิติจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพบว่า เหตุการณ์เสียหลักพลิกคว่ำ หลุดโค้ง เบรกไม่อยู่ เป็นลักษณะและรูปแบบของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสองชั้นที่พบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิศวกรรม และอธิบายถึงผลความของความรุนแรงอันตรายต่อชีวิตผู้โดยสารได้ดังนี้ 1) การพลิกคว่ำ (Rollover) จากผลงานวิจัยจากประเทศฮังการี หนึ่งในประเทศในยุโรปที่มีจำนวนรถโดยสารสองชั้นสูงพบว่า รูปแบบของการเสียหลักพลิกคว่ำของรถโดยสารสองชั้น สามารถแบ่งตามมุมองศาของการพลิกคว่ำ ได้เป็นสามรูปแบบ ดังที่ได้อธิบายไว้ในรูปที่ 1 ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า ลักษณะของมุมของการพลิกคว่ำที่ 90 องศา จะเกิดความเสียหายน้อยที่สุด โดยที่มุมของการพลิกคว่ำระหว่าง 45 ถึง 60 องศา จะสามารถส่งผลให้เกิดความเสียหายในระดับเล็กน้อยถึงขั้นรุนแรง ในขณะที่กรณีของการพลิกคว่ำที่ 90 องศาขึ้นไป ที่พบส่วนใหญ่ จะส่งผลให้เกิดความเสียหายขั้นรุนแรง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งรูปแบบลักษณะของการพลิกคว่ำของเหตุการณ์แต่ละแบบนั้น จะสัมพันธ์กับความเร็วของรถ สภาพถนนหรือความสูงของอุปกรณ์กั้นข้างทาง รวมถึงขนาดของตัวรถ โดยปัจจัยด้านขนาดของตัวรถที่มีผลโดยตรงต่อเสถียรภาพในการขับขี่ ได้แก่ ตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงของรถ ซึ่งในการพลิกคว่ำของรถโดยทั่วไปนั้น จะสามารถอธิบายได้ดังที่แสดงในรูปที่ 2 ในกรณีที่จุดศูนย์ถ่วงของรถยนต์ (จุดสีแดง) อยู่ในตำแหน่งภายในแนวแกนตั้งของฐานล้อรถยนต์ รถคันนั้นจะยังคงมีเสถียรภาพอยู่จนกว่าจุดศูนย์ถ่วงจะเลยพ้นแกนตั้ง ซึ่งจะส่งผลให้รถทั้งคันเกิดการพลิกคว่ำ โดยทั่วไปแล้ว สถานการณ์การขับขี่ที่สามารถทำให้รถเกิดอัตราเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำ ได้แก่ การขับชี่ในพื้นที่ต่างระดับ ลาดชัน รัศมีวงเลี้ยวแคบ รวมไปถึงการหักเลี้ยวรถเพื่อเปลี่ยนเลนอย่างกะทันหันที่ความเร็วสูง เกณฑ์ที่หน่วยงานด้านความปลอดภัยของรถสาธารณะสากลอย่าง สถาบัน National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) ใช้ในการวิเคราะห์การ “ป้องกันการพลิกคว่ำ” (Rollover resistance) และเปรียบเทียบวิเคราะห์อัตราเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำของรถสาธารณะแต่ละประเภท คือ ค่า Static Stability Factor (SSF)  ซึ่งสามารถคำนวณได้จากสูตร SSF = T ÷ (2 ×H) โดยจากรูปที่ 3 ตัวแปร T (Track Width) คือ ความกว้างของฐานล้อของรถโดยกำหนดจากระยะห่างระหว่างตำแหน่งจุดศูนย์กลางของรถ และตัวแปร H (Center Gravity of Height) หมายถึง ค่าความสูงของจุดศูนย์ถ่วงรถถึงพื้น ซึ่งตามทฤษฏีแล้วโครงสร้างของรถที่มีค่า SSF ที่ต่ำ รถจะมีแนวโน้มที่จะพลิกคว่ำได้ง่ายกว่า รถที่มีค่า SSF สูงกว่า ตัวอย่างของค่า SSF ที่ได้จากการวิเคราะห์รถโดยสารประเภทต่างๆ ที่มีจำนวนที่นั่งผู้โดยสารต่างๆ กัน โดยสถาบัน Transport Canada และ NHTSA แสดงไว้ในตารางที่ 1 ซึ่งจะพบว่ารถที่มีจำนวนที่นั่งมากกว่า ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีแนวโน้มที่จะพลิกคว่ำได้ง่ายกว่าเสมอ ยกตัวอย่างเช่น รถ 30ที่นั่งที่มีค่า SSF มากกว่า รถ 19 ที่นั่งบางคัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของตัวรถเป็นหลัก ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัย อาทิ เช่น การจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีผลต่อน้ำหนักรวมหรือตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงรถ ฐานความกว้างของรถแต่ละคัน หรือระบบกันสะเทือนช่วงล่าง ที่จะมีผลต่อตำแหน่งความสูงของจุดศูนย์ถ่วงรถ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญในการออกแบบและปรับปรุงพัฒนาสมรรถนะของรถให้มีค่า SSF ที่สูง เพื่อหลีกเลี่ยงการพลิกคว่ำให้ได้มากที่สุด   ประเภทรถ ค่า Static Stability Factor (SSF) รถโดยสาร 7 ที่นั่ง 1.27 รถตู้โดยสาร 12 ที่นั่ง 1.06 รถตู้โดยสารฐานล้อกว้าง 15 ที่นั่ง 1.06 - 1.08 รถโดยสารชั้นเดียว 15  ที่นั่ง 1.06 รถโดยสารชั้นเดียว 30 ที่นั่ง 0.99 รถโดยสารชั้นเดียว 19  ที่นั่ง 0.94 รถโดยสารสองชั้น 0.60 – 0.80   1) การเสียหลักหลุดโค้ง/ท้ายปัด (Spinout/Oversteering)  การเลี้ยวโค้งของรถเป็นหนึ่งในสถานการณ์ระหว่างการขับขี่และจราจรที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด และหนึ่งในประเภทของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดก็คือ การที่รถเสียหลักรถหลุดโค้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายๆ ปัจจัย ได้แก่ ความเร็วในการขับขี่สูงเกินกำหนดในรัศมีความโค้ง สภาพถนนลื่น และการบรรทุกผู้โดยสารเกิน รวมไปถึงการกระจายน้ำหนักของตัวรถที่เพลาหน้าและเพลาท้ายไม่เหมาะสม ซึ่งตามทฤษฏีพลศาสตร์ยานยนต์แล้วนั้น ในกรณีที่รถที่มีการกระจายน้ำหนักที่ล้อหลัง มากกว่าล้อหน้า แล้วถูกขับเลี้ยวเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง (หรือที่เรียกว่า “การเลี้ยวเร็ว“) รถจะมีแนวโน้มของการเคลื่อนที่ที่เรียกว่า  ”โอเวอร์สเตียริง” (Oversteering) หรือ “การหลุดโค้งท้ายปัด“ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้ง่ายกับรถยนต์ที่มีสัดส่วนน้ำหนักส่วนท้ายมากกว่าด้านหน้า โดยสามารถอธิบายได้จากสถานการณ์ที่ส่วนท้ายของรถนั้น ถูกหมุนปัดในทิศทางที่ทำให้รถเสียการทรงตัวเป็นมุมมากกว่าความรัศมีความโค้งของถนน ในขณะที่ส่วนหน้าของรถถูกบังคับเลี้ยวปกติดังที่แสดงในรูปที่ 4 2) การเบรกไม่อยู่ (Insufficient Brake Force) อีกหนึ่งในเหตุการณ์ที่พบบ่อยในการเกิดอุบัติเหตุคือ สถานการณ์ “เบรกไม่อยู่” โดยปกติแล้ว แรงเบรกที่ถูกสร้างในระบบเบรก จะเกิดจากแรงเบรกจากเท้าของคนขับที่ได้รับการเสริมแรงจากหม้อลมเบรก ซึ่งมีหลักการทำงานโดยอาศัยแรงสูญญากาศจากสร้างจากเครื่องยนต์ ดังที่แสดงในรูปที่ 5 ในกรณีที่แรงเบรกในระบบเบรกของรถไม่เพียงพอ อาจจะมีสาเหตุจากสองกรณี ได้แก่ การที่ระบบเบรกมีการรั่วซึมของระบบท่อลม ทำให้ระบบเบรกทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ และการที่หม้อลมเบรกไม่ได้รับแรงสูญญากาศที่พอเพียงกับความต้องการ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับรถโดยสารสองชั้นที่มีน้ำหนักมาก ที่เคลื่อนที่ลงจากทางที่สูงหรือลงจากภูเขาเป็นระยะทางยาวๆ จนคนขับต้องเหยียบเบรกบ่อยและต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้แรงสูญญากาศที่ได้จากเครื่องยนต์ส่งไปยังหม้อลมเบรกไม่เพียงพอ ทำให้คนขับ ต้องออกแรงในการเหยียบเบรกมากขึ้นกว่าปกติหลายเท่า เกิดความรู้ว่า “แป้นเบรกหนัก” ไม่สามารถหยุดรถได้อย่างปลอดภัย ซึ่งมักจะมีความเข้าใจผิดว่า “เบรกแตก” (หมายถึงการที่หม้อลมเบรกได้รับความเสียหาย) ซึ่งแท้จริงแล้วมีความหมายที่แตกต่างกัน ความปลอดภัยที่ “สร้างได้” ของรถโดยสารสองชั้น” - วิธีการและระบบอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย วิธีการและระบบอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยในรถยนต์นั้นสามารถแบ่งตามลำดับเหตุการณ์ก่อนและหลังการการอุบัติเหตุได้เป็น แนวทางความปลอดภัยที่ช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุหรือที่เรียกว่า “Active safety” และแนวทางความปลอดภัยที่ช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ หรือที่เรียกว่า “Passive safety” ดังที่แสดงในรูปที่ 6 ซึ่งอธิบายถึงทุกอย่างที่ช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งในกรณีนี้ นอกเหนือจากระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ระบบเตือนคนขับ ระบบช่วยเหลือคนขับคนแล้ว ยังครอบคลุมวิธีการออกแบบ รูปร่างและการกระจายน้ำหนัก ซึ่งส่งผลลัพธ์ออกมาในรูปของตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงของรถ ซึ่งมีผลการเสถียรภาพการทรงตัวดังที่อธิบายไว้แล้วเบื้องต้น จากข้อเท็จจริงพบว่า ทั้งรถโดยสารชั้นเดียวและสองชั้นที่มีให้บริการอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วนั้น ได้รับการประกอบจากอู่ประกอบรถภายในประเทศ โดยมีการนำเข้าแชสซีจากต่างประเทศ ซึ่งจะประกอบด้วยโครงสร้างส่วนช่วงล่างทั้งหมด เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และระบบเบรก ซึ่งมีทั้งแบบใหม่และแบบใช้แล้ว โดยอู่จะเป็นผู้ประกอบโครงสร้างและตัวถังขึ้น โดยใช้ประสบการณ์ของช่าง ที่จะเน้นด้านความสวยงาน แต่ไม่มีการคำนึงความแข็งแรงที่ถูกต้องตามแบบวิศวกรรม และไม่มีการควบคุมความถูกต้องอย่างจริงจัง ซึ่งผลกระทบเชิงลบที่เห็นได้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนคือ ความเสียหายที่รุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน กรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุครั้งต่างๆ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสาเหตุต่างๆ จากตัวรถ ได้แก่ ความสูงของรถที่มีอัตราเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำสูง (ค่า SFF ต่ำ) โครงสร้างของตัวรถที่ไม่มีความแข็งแรงรองรับสถานการณ์การพลิกคว่ำ ความแข็งแรงของอุปกรณ์ยึดเก้าอี้โดยสารที่ไม่แข็งแรง ทำให้เก้าอี้หลุดออกจากพื้นรถกรณีเกิดอุบัติเหตุ ความแข็งแรงของเข็มขัดนิรภัยที่ไม่เพียงพอ เป็นต้น คำว่า “รถโดยสารสองชั้นที่ปลอดถัย”สำหรับหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล หรือผู้ประกอบการ อาจมองว่าเป็นเรื่องที่ทำสำเร็จได้ยาก แต่หากพิจารณาด้วยหลักการวิศวกรรมแล้วจะพบว่า “การสร้างความปลอดภัย” ให้แก่ตัวรถนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีไกลเกินจริง เนื่องด้วย หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือ ผู้ประกอบการในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบโครงสร้างตัวถังขึ้นเอง สามารถเลือกประเภทของเก้าอี้โดยสาร การจัดวางตำแหน่งที่นั่งได้เอง กำหนดความสูงของรถได้เอง รวมทั้งเลือกรูปแบบของแชสซี และอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยพื้นฐานอย่างระบบเบรกได้เอง  ดังที่ผู้เขียนเสนอแนะ แนวทางการ”สร้าง” รถโดยสารสองชั้นที่ปลอดภัย ดังต่อไปนี้ (รูปที่ 7) 1) จุดศูนย์ถ่วงต่ำ มาตรการการลดตำแหน่งจุดศูนย์ถ่วง เป็นหนี่งในวิธีการด้าน Active safety ที่สามารถทำได้ ดังที่ได้อธิบายไว้แล้วนั้น รถประเภทที่มีตำแหน่งจุดศูนย์ถ่วงต่ำ (ค่า H ต่ำ) จะมีเสถียรภาพการทรงตัวที่ดีและอัตราเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำต่ำกว่า รถประเภทที่มีจุดศูนย์ถ่วงสูงกว่า (ค่า  H สูง) จากหลักการนี้เอง สามารถอธิบายถึงเหตุผลที่มีการผลักดันให้ยกเลิกการเดินรถรถโดยสารสองชั้นในหลายพื้นที่ที่มีความคดเคี้ยว ลาดชัน และทดแทนด้วยรถโดยสารชั้นเดียว ซึ่งมีตำแหน่งจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกรณีที่มีผู้โดยสารเท่ากัน ในเส้นทางเดียวกัน นอกจากนี้ การควบคุมความสูงของรถให้ได้ค่า SSF ที่สูงขึ้น ก็เป็นสิ่งผู้ประกอบการควรนำไปใช้เป็นอย่างยิ่ง 2) เพิ่มประสิทธิภาพระบบเบรกในสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยระบบ ABS และ Brake-Assist อุปกรณ์ชนิด Active safety ที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเบรกในรถโดยสารสองชั้น ได้แก่ ระบบป้องกันการล็อคล้อหรือระบบ ABS (Anti-lock Braking System) ซึ่งจะช่วยคนขับให้สามารถควบคุมรถได้อย่างปลอดภัยในสถานการณ์ที่สามารถเกิดการหลุดโค้งท้ายปัดได้ โดยทั่วไปแล้วระบบ ABS จะถูกติดตั้งและจำหน่ายมาพร้อมกับแชสซีรถอยู่แล้ว  ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเลือกชนิดและประเภทได้ ซึ่งในปัจจุบัน หลายประเทศในยุโรปได้มีการออกกฏหมายบังคับให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันติดตั้งระบบเบรกประเภทนี้แล้ว นอกจากนี้ อุปกรณ์ที่สำคัญที่สามารถช่วยสร้างแรงเบรกให้แก่รถที่มีน้ำหนักมาก อาทิ เช่น อุปกรณ์หน่วงความเร็ว (Retarder) ที่มีใช้แพร่หลายในรถบรรทุก หรือปั๊มสูญญากาศ (Vacuum-assisted Pump) โดยในกรณีที่ผู้ขับขี่เหยียบแป้นแบรกบ่อยและต่อเนื่อง จนแรงสูญญากาศจากเครื่องยนต์ไม่เพียงพอ อุปกรณ์นี้จะช่วยเติมแรงสูญญากาศให้แก่หม้อลมเบรก (รูปที่ 8) ทำให้ผู้ขับขี่ยังคงสามารถออกแรงเหยียบแป้นเบรกอย่างปกติ และสามารถชะลอรถได้อย่างปลอดภัย 1) โครงสร้างของห้องโดยสารที่รองรับการพลิกคว่ำ มาตรการประเภท Passive safety ที่ควรกำหนดให้อู่ประกอบรถโดยสารนำมาใช้อย่างเร่งด่วนคือ การพัฒนาโครงสร้างของห้องโดยสารที่มีความแข็งแรงรองรับการพลิกคว่ำ (Rollover) หรือที่เรียกว่า “โครงสร้างแบบ Superstructure” ซึ่งตามมาตรฐานสากล UN ECE R 66 ได้มีบังคับใช้ในรถโดยสารที่มีผู้โดยสารจำนวน 16 ที่นั่งขึ้นไป โดยมาตรฐานนี้จะกำหนดให้โครงสร้างของรถโดยสารต้องผ่านการทดสอบ ด้วยการปล่อยโครงสร้างลงมาจากแท่นเอียง (Tilt table) ที่ระดับความสูงจากพื้น 80 เซนติเมตร ดังแสดงใน รูปที่ 9 โดยโครงสร้างที่จะนำมาทดสอบนี้ จะเป็นโครงสร้างทั้งหมดของรถโดยสารทั้งคัน หรือเป็นโครงสร้างเฉพาะส่วนที่เรียกว่า “Bay-Section”ก็ได้ โดยโครงสร้างเฉพาะส่วนนี้ จะต้องมีการกำหนดคุณสมบัติทางกายภาพที่เหมือนรถโดยสารที่ประกอบเสร็จ เกณฑ์การทดสอบความแข็งแรงของโครงสร้างที่ตามมาตรฐานนี้ คือหลังจากการทดสอบนั้น จะต้องไม่ส่วนหนึ่งส่วนใดของโครงสร้างล้ำเข้าไปในขอบเขตความปลอดภัย (หรือที่เรียกว่า “Residual space”) ที่กำหนดไว้ดังแสดงในรูปที่ 10 นอกจากนี้การทดสอบนี้ยังสามารถทำได้ทั้งการทดสอบภาคสนามบนโต๊ะเอียงจริงหรือทำการทดสอบในสภาวะเสมือนในคอมพิวเตอร์โดยอาศัยระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ช่วยในการวิเคราะห์ความแข็งแรงของโครงสร้าง 2) เก้าอี้โดยสาร การจับยึดกับพื้นรถและเข็มขัดนิรภัย มาตรการประเภท Passive safety อีกประการที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิตของผู้โดยสาร คือความแข็งแรงของเก้าอี้โดยสาร การจับยึดและเข็มขัดนิรภัย ซึ่งมาตรฐานความแข็งแรงของที่นั่ง จุดยึดที่นั่ง และจุดยึดเข็มขัดนิรภัยของรถโดยสารที่เป็นที่ยอมรับกับอย่างกว้างขวางคือ UN ECE R 16 (Uniform provisions concerning the approval of Vehicles equipped with safety-belts, safety-belt reminder, restraint systems, child restraint systems and ISOFIX child restraint systems) โดยระบุถึงข้อกำหนดความแข็งแรงของระบบการยึดรั้งทั้งระบบ ซึ่งประกอบด้วย เข็มขัดนิรภัย อุปกรณ์ยึดเข็มขัดนิรภัยกับตัวรถ เก้าอี้โดยสาร และอุปกรณ์จับยึดเก้าอี้โดยสารกับพื้นรถ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยึดผู้โดยสารไม่ให้เกิดการเคลื่อนที่หลุดออกจากพื้นรถในกรณีที่เกิดการเบรกกะทันหัน การพุ่งชนสิ่งกีดขวาง รวมไปถึงการพลิกคว่ำ ซึ่งโดยทั่วไป จะทดสอบด้วยแรงฉุดเก้าอี้โดยสารเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสิบเท่าของน้ำหนักผู้โดยสาร ซึ่งตามมาตรฐานนี้ จะทำการทดสอบอุปกรณ์ทั้งหมดพร้อมกัน นอกเจากนี้ ยังมีมาตรฐานการทดสอบอุปกรณ์นิรภัยอื่นๆ อาทิ เช่น การรองรับการกระแทกของศีรษะ หรืออวัยวะอื่นๆ ของผู้โดยสารให้ไม่เกิดอันตราย อีกทั้งการทดสอบภาคสนามอื่นๆ ที่เพื่อบ่งชี้พฤติกรรมการเคลื่อนที่และเสถียรภาพของรถ ได้แก่ การทดสอบการเลี้ยวโค้งที่รัศมีการเลี้ยวโค้งคงที่ (Steady state circular test) หรือการทดสอบการเปลี่ยนเลนกะทันหัน (Double lane change หรือ Elch test) เพื่อศึกษาที่จะส่งผลการดื้อโค้ง (understeering) หรือท้ายปัด (oversteering) ของรถเป็นต้น ซึ่งมาตรการเชิงวิศวกรรมเหล่านี้ เป็นสิ่งที่จะต้องได้รับการผลักดันอย่างเร่งด่วน ควบคู่กับแนวทางการจัดการทั้งในด้านพนักงานขับรถ เส้นทางเดินรถ รวมไปถึงสภาพถนนและป้ายสัญลักษณ์จราจร ด้วยความหวังที่ว่า การเดินทางด้วยรถโดยสารสองชั้นอย่างปลอดภัย จะไม่ต้องพึ่งค่ำว่า “โชค” อีกต่อไป   ข้อมูลและภาพประกอบอ้างอิง Matyas, M. (2010), Behaviour of the Lower Level (Deck) of Double-Deck Vehicles in Rollover UN ECE R 66 Uniform technical prescriptions concerning the approval of large passenger vehicles with regard to the strength of their superstructure EOBUS project http://www.eobus.com/news/105.htm National Highway Traffice Safety Administration (NHTSA) Transport Canada UN ECE R 66 Uniform technical prescriptions concerning the approval of large passenger vehicles with regard to the strength of their superstructure   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 การแจกยาเบญจอำมฤตย์ เป็นความหวังดีต่อผู้ป่วยมะเร็งจริงหรือ

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีข่าวดังเกิดขึ้นในแวดวงการสาธารณสุขไทย เมื่ออธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธวัชชัย กมลธรรม ออกข่าวเรื่องแจกสูตรยาสมุนไพรต้านมะเร็งตับ เบญจอำมฤตย์ที่โรงพยาบาลการแพทย์ผสมผสานที่ยศเสเพื่อให้บริการรักษาและติดตามผู้ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้าย ข่าวนี้สร้างความหวังให้กับผู้ป่วยมะเร็งตับอย่างมาก ขนาดแห่กันไปขอรับการรักษาจนแน่นโรงพยาบาล และทำให้วัตถุดิบในการผลิตยา ราคาพุ่งกระฉูด และก่อให้เกิดคำถามสำคัญขึ้นมาว่า วิธีการแจกยาให้แก่ผู้ป่วยนี้ อาจเข้าข่ายผิดจริยธรรม เพราะสูตรยาเบญจอำมฤตย์ที่ทางกรมฯ นำมาแจกจ่ายให้กับประชาชน เป็นสูตรยาในโครงการติดตามผลการใช้ยาเบญจอำมฤตย์ ที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคนด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก(The Ethic Committee for Research in Human Subjects In the Fields of Thai Traditional and Alternative Medicine)   3 ก.พ. 57 นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าว “ศาสตร์การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง” ว่าจากฐานข้อมูลภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยพบว่าตำรับยาแผนไทยที่มีสรรพคุณในการ รักษาโรคเรื้อรังมี จำนวน 12,428 ตำรับ ในจำนวนนี้เป็นตำรับยารักษาโรคมะเร็ง จำนวน 3,115 ตำรับ อย่างไรก็ตาม ตำรับยาที่น่าสนใจและเป็นอีกทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็งร่วมกับการรักษา แพทย์แผนปัจจุบัน คือ สูตรยาสมุนไพรโบราณที่เรียกว่า เบญจอำมฤตย์   ซึ่งประกอบด้วยสูตรยาในคัมภีร์แพทยศาสตร์สงเคราะห์  9 ตัว ได้แก่ มหาหิงค์ ยาดำบริสุทธิ์ รงทอง มะกรูด ขิงแห้ง ดีปลี พริกไทย รากทนดี และดีเกลือ โดย สูตรยาดังกล่าวได้ทำการศึกษาร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตั้งแต่ปี 2554 โดยได้ทดสอบในระดับหลอดทดลอง และหนูทดลอง โดยให้ยาสูตรดังกล่าวพบว่า หนูมีภูมิต้านทานขึ้นมีประสิทธิภาพต้านเซลล์มะเร็ง เมื่อเทียบกับหนูที่ไม่ได้รับยาดังกล่าว “ยาสูตรนี้จะได้ผลดีต่อการต้านทานเซลล์มะเร็งตับดีกว่ามะเร็งชนิดอื่น โดยได้ผ่านการรักษาผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งในรพ.เคียนซา และรพ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ อยู่ระหว่างทดลองในระดับคลินิกในผู้ป่วยอาสาสมัครในโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยและ การแพทย์ผสมผสาน (ยศเส) ได้จัดทำเป็นยาชนิดแคปซูล เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการรักษา โดยไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้กับผู้ป่วยที่มารักษา ด้วยสิทธิบัตรทอง หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น แต่สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการก็สามารถมาติดต่อเพื่อขอรับยาตัวนี้ ได้ฟรี แต่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แผนไทยที่รพ.ก่อน และต้องรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันร่วมด้วย” นพ.ธวัชชัย กล่าว ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20140203/178149.html     เบญจอำมฤตย์ ชื่อนี้มาจากไหน ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งรวบรวมคัมภีร์แพทย์แผนโบราณไว้จำนวนมากนั้น ยาที่ชื่อว่า เบญจอำมฤตย์(หรือออกเสียงเหมือนกัน) ปรากฏอยู่ในคัมภีร์สามเล่ม คือ คัมภีร์ปฐมจินดา คัมภีร์โรคนิทาน และคัมภีร์ธาตุบรรจบ มีรายละเอียดดังนี้ คัมภีร์ปฐมจินดา ยาชื่อเบ็ญจอำฤต ขนานนี้ท่านให้เอา มหาหิงคุ์ ๑ ยาดำ ๑ สิ่งละส่วน รงทอง ๒ ส่วน มะกรูดใหญ่ ๓ ผล แล้วจึงเอามหาหิงคุ์ รงทอง ยาดำ ทั้ง ๓ สิ่งนี้ยัดเข้าในผลมะกรูดสิ่งละผล แล้วจึงเอามูลโคสดพอกสุมไฟแกลบให้สุกระอุดี แล้วจึงเอารากตองแตก ๔ ส่วน ดีเกลือ ๑๖ ส่วน ทำเปนจุณแล้วประสมกันเข้าจึงบดทั้งเนื้อมะกรูดปั้นแท่งไว้เอาหนัก ๑ สลึง ละลายน้ำส้มมะขามเปียก กินลงสดวกดี นัก ยาขนานนี้ถ้ากุมารได้ ๓, ๔ ขวบกินก็ได้ ดีเหมือนกัน คัมภีร์โรคนิทาน กล่าวถึงชื่อยา เบญจอำมฤตย์ (ชื่อนี้ปรากฏในสมุดไทยซึ่งเป็นฉบับหลวงชำระในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่เมื่อนำมาตีพิมพ์เป็นตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ใช้ชื่อว่า บุญจอำมฤตย์) โดยไม่ได้ระบุส่วนประกอบของตำรับ   คัมภีร์ธาตุบรรจบ ยาชื่อเบ็ญจะอำมฤตย์ เอามหาหิงคุ์ ๑ ยาดำบริสุทธิ์ ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง รงทอง ๒ สลึง มะกรูด ๓ ผล (เอามหาหิงคุ์, ยาดำ, รงทอง ใส่ในมะกรูดสิ่งละผล แล้วเอามูลโคพอกสุมไฟแกลบให้สุก) ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ พริกไทย ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง รากทนดี ๑ บาท ดีเกลือ ๔ บาท ยา ๕ สิ่งนี้ประสมกับมะกรูดที่สุมไว้ทำเปนจุณละลายน้ำ ส้มมะขามเปียกให้รับประทานหนัก ๑ สลึง ฟอกอุจจาระอันลามกให้สิ้นโทษ ชำระลำไส้ซึ่งเปนเมือกมันแลปะระเมหะทั้งปวง   ไม่ควรใช้ชื่อ เบญจอำมฤตย์ เพราะไม่เป็นไปตามตำรายาการแพทย์แผนไทย ยาเบญจอำมฤตย์ที่นำมาแจกจ่ายในขณะนี้ เป็นสูตรยาจาก โครงการติดตามผลการใช้ยาเบญจอำมฤตย์ ในผู้ป่วยมะเร็งทางเดินท่อน้ำดี และอ้างอิงว่า นำมาจากคัมภีร์ธาตุบรรจบ ซึ่งประกอบด้วยตัวยาจากวัตถุดิบ 9 ชนิด แต่สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาคือ ยาเบญจอำมฤตย์ที่คณะผู้วิจัย(โครงการติดตามความปลอดภัยของตำรับยาเบญจอำมฤตย์ ในผู้ป่วยมะเร็งตับ, ลำไส้, ปากมดลูก และต่อมลูกหมาก) ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการจริยธรรม มีความต่างจากต้นตำรับเดิม   ตำรับยาเบญจอำมฤตย์   (ตาม protocol ที่เสนอคณะกรรมการจริยธรรม) ลำดับที่ รายการ ปริมาณ มาตราไทย มาตราเมตริก (กรัม) 1 มหาหิงคุ์ 1 สลึง 3.75 กรัม 2 ยาดำบริสุทธิ์ 1 สลึง 3.75 กรัม 3 รงทอง 2 สลึง 7.5 กรัม 4 มะกรูด 3 ผล 50 กรัม 5 ขิงแห้ง 1 สลึง 3.75 กรัม 6 ดีปลี 1 สลึง 3.75 กรัม 7 พริกไทย 1 สลึง 3.75 กรัม 8 รากทนดี 1 บาท 15 กรัม 9 ดีเกลือ 4 บาท 60 กรัม   ขั้นตอนการผลิต 1.ชั่งยาตามสูตร 2. เอามหาหิงคุ์ ยาดำ รงทอง ทำการสะตุหรือประสะตามวิธีของแต่ละตัว 3. นำมหาหิงคุ์ ยาดำ รงทอง แยกบดให้ละเอียดทีละชนิดแยกจากกันแล้วนำไปละลายน้ำ พักเอาไว้ 3. นำสมุนไพรที่เหลือมาอบที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส แล้วบดสมุนไพรทั้งหมดรวมกันพอหยาบ 4. นำสมุนไพรที่ได้คลุกเคล้ารวมกับน้ำที่ละลาย มหาหิงคุ์ รงทองและยาดำ 5. นำสมุนไพรไปอบที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส อีกครั้งจนสมุนไพรแห้ง จากนั้นนำไปอบจนสามารถบดเป็นลงละเอียดได้ 6. นำผงละเอียดที่ได้บรรจุลงแคปซูล   รูปแบบ/ความแรง แคปซูล 300 มิลลิกรัม วิธีใช้ รับประทาน ครั้งละ 3 แคปซูล ก่อนอาหาร วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น วิธีปรุงยาตำรับนี้ ในคัมภีร์ธาตุบรรจบระบุว่า “เอามหาหิงคุ์ ๑ ยาดำบริสุทธิ์ ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง รงทอง ๒ สลึง มะกรูด ๓ ผล (เอามหาหิงคุ์ ยาดำ รงทอง ใส่ในมะกรูดสิ่งละผล แล้วเอามูลโคพอกสุมไฟแกลบให้สุก) ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ พริกไทย ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง รากทนดี ๑ บาท ดีเกลือ ๔ บาท ยา ๕ สิ่งนี้ประสมกับมะกรูดที่สุมไว้ทำเปนจุณละลายน้ำ ส้มมะขามเปียกให้รับประทานหนัก ๑ สลึง”   จะเห็นว่าคณะผู้วิจัยฯ มีวิธีการเตรียมยา ที่ผิดไปจากในคัมภีร์ธาตุบรรจบ ดังนั้นผลในการรักษาอาจแตกต่างจากยาที่ปรุงตามตำรับยาดั้งเดิม จึงต้องถือว่า สูตรยาเบญจอำมฤตย์ตาม  protocol เป็นยาใหม่ ซึ่งหากจะนำมาทดลองวิจัยทางคลินิก จำเป็นต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกก่อน การดำเนินการแจกยาให้แก่ผู้ป่วยที่กระทำอยู่ในขณะนี้จึงสุ่มเสี่ยงว่า เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค(ผู้ป่วย) ซึ่งอาจไม่รู้ตัวว่า ตนเองได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการทดลองยาสูตรนี้อยู่ และเมื่อฉลาดซื้อได้สอบถามกับผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย ซึ่งทำงานอยู่ในสังกัดกรมพัฒนาการแพทย์ฯ ท่านหนึ่ง ได้ทราบข้อมูลเพิ่มว่า “ทางกรมฯ นำสูตรยานี้มาเปลี่ยนชื่อโครงการทีหลัง เน้นเฉพาะเจาะจงที่มะเร็งตับ ส่วนเหตุผลที่ทางกรมฯ อ้างว่า ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต EC (คณะกรรมการจริยธรรม) เพราะเป็น Actual Use Research (AUR) แบบที่ทางประเทศญี่ปุ่นใช้ แต่ประเด็นคือ AUR ในญี่ปุ่น เขาใช้วิธีนี้ในการศึกษายาแผนโบราณ ที่มีการใช้กันในท้องตลาดอยู่แล้ว ไม่ใช่กับยาใหม่ ซึ่งยังไม่มีการใช้มาก่อน”   ทัศนะจากประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รศ.ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ ฉลาดซื้อ : ตามที่ มีการแจก ยาเบญจอำมฤตย์ให้กับประชาชนทั่วไป โดยกรมพัฒนาแพทย์แผนไทยฯ เป็นผู้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้นั้น เมื่อมีข้อสังเกตพบว่า ยาสูตรที่แจกนี้ มิใช่สูตรดั้งเดิมตามตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ กล่าวคือ เป็นสูตรดัดแปลงไปจากตำรับเดิม หากจะทำตามขั้นตอนการปฏิบัติในทางกฎหมายให้ถูกต้อง(เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค)  ต้องมีขั้นตอนอย่างไร   รศ.ดร. จิราพร  : ยานี้จะใช้ชื่อว่า ยาเบญจอำมฤตย์ ไม่ได้ เพราะสูตรได้มีการดัดแปลง จึงถือว่าเป็นยาใหม่ ซึ่งต้องมีการวิจัยเริ่มจากห้องปฏิบัติการในสัตว์ทดลอง และในมนุษย์ตามลำดับ   ฉลาดซื้อ : สูตรยาเบญจอำมฤตย์ สูตรนี้ ยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรม การที่กรมฯ นำมาแจกจ่ายให้กับประชาชน ถือว่าผิดขั้นตอนหรือไม่ และอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร   รศ.ดร. จิราพร :  ยาสูตรดัดแปลงจากยา เบญจอำมฤตย์ เมื่อจะทำการวิจัยทางคลินิก ต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ก่อน การแจกจ่ายและโฆษณารักษาโรคเป็นการทำผิดกฎหมาย ที่สำคัญอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อผู้ใช้ได้ เน้นว่าผิดทั้งกฎหมายและจริยธรรม   การวิจัยทางคลินิกด้านการแพทย์แผนไทย การวิจัยทางคลินิก หมายถึง การทำวิจัยที่เกี่ยวกับการรักษาโรคในคน การทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัย ระบาดวิทยา ธรรมชาติของโรค ซึ่งประกอบด้วยอาการและอาการแสดงทางคลินิก การพัฒนาของโรค เครื่องบ่งชี้ในการพยากรณ์โรค การใช้ยา การผ่าตัด และอุปกรณ์ที่ใช้ทางการแพทย์ การป้องกันโรค เช่น วัคซีน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสืบค้นรายงานผู้ป่วย การกรวดน้ำคัดหลั่ง เลือด หรือส่วนของเลือด เนื้อเยื่อของผู้ป่วย เป็นต้น ความสำคัญในการวิจัยทางคลินิกด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร คือ การทำให้การแพทย์แผนไทยมีความปลอดภัย ประสิทธิผล และมีคุณภาพที่คนไทยจะนำมาใช้อย่างแพร่หลาย โครงร่างวิจัยทางคลินิกนี้จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อ ผ่านการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแล้วเท่านั้น     เจาะประเด็นวันนี้ เราจะไปเจาะลึกทำความรู้จักกับสูตรยาสมุนไพรที่อยู่ในคัมภีร์แพทย์แผนไทย ที่ชื่อ"เบญจอำมฤตย์"ว่ามีคุณสมบัติอย่างไร ประกอบไปด้วยสมุนไพรชนิดใดบ้าง สามารถต้านมะเร็งตับได้เด็ดขาดจริงหรือไม่ วันนี้จะไปเจาะลึกกันค่ะ     "เบญจอำมฤตย์" เป็นสูตรยาสมุนไพรโบราณที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้คิดค้นวิจัยร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่ปี 2554 ผ่านการทดสอบการออกฤทธิ์ทั้งในหลอดทดลอง หนูทดลองและผู้ป่วยมะเร็งหลายชนิด ที่ รพ.เคียนซา และรพ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี ทั้งมะเร็งต่อมลูกหมากมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด รวมถึงมะเร็งตับ พบว่า มีประสิทธิภาพต้านเซลล์มะเร็งตับดีที่สุด หลังกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ บรรจุและเผยแพร่ตำรับยาสมุนไพร"เบญจอำมฤตย์" ปรากฏมีผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ แห่มารับยาสมุนไพรฟรี ที่โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานยศเส จำนวนมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาด้วยอาการมะเร็งระยะสุดท้าย อย่างคุณลุงท่านนี้อยู่ไกลถึงเพชรบูรณ์ ทันทีที่ทราบข่าว ก็รีบเดินทางมาด้วยความหวังว่า อาการป่วยมะเร็งตับจะดีขึ้น จะได้อยู่กับลูกหลานนานๆ ขณะที่ทางโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยฯ ยสเส เปิดเผยว่าเพียงแค่วันเดียว มีผู้ป่วยมะเร็ง มาขอรับยามากถึงวันละ 3,000 แคปซูล และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น  ตามขั้นตอนผู้ป่วยต้องผ่านการตรวจคัดกรองสุขภาพ ก่อน เพื่อระวังผลข้างเคียง ย้ำว่าสมุนไพร"เบญจอำมฤตย์" ไม่ใช่ยารักษามะเร็งให้หายขาด  แต่ช่วยต้านการแพร่กระจายเซลล์มะเร็ง ลดภาวะแทรกซ้อน เสริมให้ระบบการทำงานของร่างกายดีขึ้นแต่จะให้ได้ผลดีที่สุดต้องรักษาควบคู่ กับการแพทย์แผนปัจจุบัน เมื่อเจาะลึกสูตรยา"เบญจอำมฤตย์" พบว่าประกอบด้วยสมุนไพรไทย 9 ชนิด ซึ่งสมุนไพรแต่ละตัวมีสรรพคุณในการรักษาโรคต่างๆ อยู่แล้ว  แต่เพิ่งวิจัยค้นพบว่าเมื่อนำมาผสมรวมกัน จะออกฤทธิ์ต้านมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทีมงานเจาะประเด็นลงพื้นที่ โรงพยาบาลอู่ทอง ซึ่งเป็นศูนย์ผลิตยาสมุนไพรไทยที่ได้มาตรฐาน ส่งทั่วประเทศ เจาะลึกสูตรยาสมุนไพรแคปซูล"เบญจอำมฤตย์"พบว่า ประกอบด้วยสมุนไพร  9  ชนิด  คือ มหาหิงค์ ยาดำบริสุทธิ์ รงทอง มะกรูด ขิงแห้ง ดีปลี พริกไทย รากทนดี และดีเกลือ เป็นสูตรยาในคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ตำรายาโบราณของไทย แต่ละชนิดมีสรรพคุณบำรุงธาตุ และรักษาโรคอยู่แล้ว เช่น  ดีปลี พริกไทย ขิง ช่วยลดแก๊ส ขับลม แก้ท้องอืด ,ดีเกลือช่วยทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น โดยเมื่อเอามาผสมรวมกัน จะมีฤทธิ์ เสริมสร้างระบบในร่างกายให้สมดุล โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง ที่มีปัญหาใหญ่ คือเรื่องระบบขับถ่าย ล่าสุด ยอดผู้ป่วยต้องการยาเพิ่มขึ้น วัตถุดิบสมุนไพรบางชนิดเริ่มไม่เพียงพอ จำเป็นต้องสั่งซื้อจากนอกพื้นที่ สำหรับประเทศไทย มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ปีละกว่า 60,000 ราย พบผู้ชายป่วยเป็นมะเร็งตับมากที่สุด ส่วนผู้หญิง ส่วนใหญ่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และลำไส้ใหญ่ แพทย์แนะผู้ป่วยมะเร็ง นอกจากรักษาด้วยยาควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย และเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์เสริมภูมิต้านทานโรค ทำให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในทุกสิทธิการรักษา สามารถมาขอรับยาฟรีได้ที่โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยฯ ยสเส โดยกลุ่มผู้ป่วยที่มารับยา จะถือเป็นกลุ่มอาสาสมัครเพื่องานวิจัยด้วย เป็นการพัฒนาอีกขั้นของการแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือกความหวังของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ที่มา CH7 NEWS   มะเร็งกับการแพทย์แผนไทย ความปลอดภัยคือหัวใจสำคัญ มะเร็งเป็นโรคร้ายที่คุกคามต่อชีวิตมนุษย์ในปัจจุบัน ในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุมะเร็งเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยทั้งจากอาการของโรคและผลข้างเคียงจากการรักษา การรักษาผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งตามทฤษฎีการแพทย์แผนตะวันตก มี 2 วิธีหลักที่ปฏิบัติกันแพร่หลายคือการใช้รังสี และการใช้เคมีบำบัด ซึ่งทั้งสองวิธี ต่างก็ใช้หลักการเดียวกันคือทำลายเนื้อร้าย แต่ทั้งนี้ไม่สามารถเลือกทำลายเฉพาะเนื้อร้ายได้ เซลล์ดีจำนวนมากต้องถูกทำลายไปด้วย จึงเกิดผลข้างเคียงตามมาเช่น ผมร่วง แผลในปาก ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เกล็ดเลือดต่ำทำให้เลือดออกง่าย อีกทั้งผู้ป่วยยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นอีก จากการกระจายตัวของเซลล์มะเร็ง จึงมีผู้แสวงหาแนวทางอื่นในการรักษามากขึ้น และการแพทย์แผนไทย คือทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งภาครัฐโดยกระทรวงสาธารณสุขเองก็ให้ความสำคัญ จากการติดตามการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุข ตำรับยาแผนไทยที่เริ่มนำมาศึกษาถึงผลการต้านมะเร็งของกระทรวงสาธารณสุขมีที่เด่นๆ อยู่สองตำรับคือ ตำรับยา "เบญจามฤต"(เบญจอำมฤตย์) และ "ตรีผลา" การวิจัยทั้งสองตำรับยานี้เป็นกระบวนการวิจัยที่จะมีขั้นตอนการศึกษาทดลองในมนุษย์ด้วย (หลังผ่านการทดลองความปลอดภัยในสัตว์ทดลองมาแล้ว) ซึ่งจะสามารถยืนยันผลหรือสรรพคุณยาในคนได้เป็นอย่างดี ต่างกับการวิจัยอื่นที่อาจทดลองเฉพาะในสมุนไพรเดี่ยว ค้นหาส่วนประกอบสารสำคัญ/สารออกฤทธิ์ในสมุนไพร และทดสอบความเป็นพิษในสัตว์หรืออื่นๆ เท่านั้น แต่จากการสืบค้นข้อมูล พบว่า โครงร่างการวิจัย “โครงการติดตามความปลอดภัยของตำรับยาเบญจอำมฤตย์ ในผู้ป่วยมะเร็งตับ, ลำไส้, ปากมดลูก และต่อมลูกหมาก” ไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคนด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงเป็นที่มาของข้อกังขาสำคัญว่า เหตุใดอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ จึงนำยาเบญจอำมฤตย์สูตรนี้มาแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งเสี่ยงที่จะเข้าข่ายการละเมิดสิทธิผู้ป่วย “ตำรับยาดังกล่าวจากการวิจัยเริ่มต้นที่หลอดทดลอง ปรุงยาขึ้นมาโดยนำมาทดสอบกับเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง ผลที่ได้คือ ยามีผลต่อเซลล์มะเร็งตับอันดับแรกโดยฆ่าเซลล์มะเร็งตับได้ดี จากนั้นก็นำมาทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลองซึ่งผลการทดสอบความเป็นพิษพบว่า ยาตำรับนี้ปลอดภัยในสัตว์ทดลอง  ความเป็นพิษค่อนข้างต่ำจึงมีความมั่นใจว่ายาตัวนี้น่าจะมีความปลอดภัยในคน แต่อย่างไรก็ตามงานวิจัยยังคงศึกษาทดลองต่อเนื่อง ติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัยของตำรับยาในผู้ป่วยมะเร็งตับ ในกลุ่มอาสาสมัครที่เข้าร่วมในงานวิจัยการศึกษาวิจัยจะมีการเจาะเลือด ตรวจร่างกายเป็นระยะ ๆ...การวิจัยซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการเก็บตัวอย่างข้อมูล เก็บตัวอย่างผู้ป่วยที่ได้ยาเป็นการติดตามผลการรักษา ประเมินเป็นระยะโดยเริ่มในผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ทีมวิจัยกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ด้วยตำรับยาไม่เป็นที่ปิดบังตำรับยาอยู่ในคัมภีร์โบราณซึ่งเมื่อเปิดแพทยศาสตร์สงเคราะห์ก็จะเห็นถึงรายละเอียด...” (ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ ผู้ร่วมวิจัยของโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานใน โครงการติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัยของตำรับยาเบญจอำมฤตย์ ที่มา : เดลินิวส์ 5 มีนาคม 2557) ปัญหาคือ ยานี้ไม่ได้ปรุงตามคัมภีร์ธาตุบรรจบ แล้วอะไรคือหลักประกันความปลอดภัยของผู้รับยาที่กรมฯ นำมาแจก ----------------------------   วัตถุดิบทยอยขึ้นราคาทันทีที่เป็นข่าวดัง การให้ข่าวพร้อมกับการแจกจ่ายยาได้ก่อให้เกิดกระแสและสร้างความคาดหวังให้กับผู้ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้าย จนไม่เพียงแต่แห่กันไปรับยาจนแน่นโรงพยาบาล(สำรวจ ณ วันที่ 25 เมษายน ฉลาดซื้อพบว่า ยังมีการแจกยาอยู่) แต่ยังกลายเป็นช่องทางให้ผู้ค้าวัตถุดิบสมุนไพรตามตำรับยาดังกล่าว โก่งราคาวัตถุดิบจนแพงลิ่ว ภญ.ดลิชา ชั่งสิริพร หัวหน้างานแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี(แหล่งผลิตวัตถุดิบยาตำรับเบญจอำมฤตย์) กล่าวว่าในช่วงหลังการออกข่าวมีประชาชนบางคนนำตัวสมุนไพรไปต้มสกัดยามารับ ประทานเองซึ่งขอเตือนว่าไม่สมควรทำอย่างยิ่งนอกจากจะไม่สามารถช่วยรักษา อาการได้แล้วยังมีผลตามมาถึงขั้นเสียชีวิตได้เนื่องจากตัวยาบางตัวถ้าใช้ใน ปริมาณที่ไม่เหมาะสมจะให้โทษอย่างมหันต์ เช่น ดีเกลือที่มีฤทธิ์ในการขับถ่าย อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรงได้และสำหรับผู้ป่วยมะเร็งอาจส่งผลให้ เซลล์มะเร็งลุกลามมากขึ้นได้จึงขอเตือนว่าห้ามนำมาต้มรับประทานเองเด็ดขาด ซึ่งปริมาณที่ใช้ในการใช้วัตถุดิบเพียง 0.22 ไมโครกรัมต่อซีซี เท่านั้น ประชาชนห้ามผลิตเอง "สำหรับราคาวัตถุดิบที่ไปตรวจสอบมานั้นบางชนิดมีราคาสูงขึ้นเป็นเท่าตัวคือ มหาหิงค์ จาก 350 - 450 บาท เป็น 400 - 450 บาท ยาดำบริสุทธิ์ 400 - 500 บาท เป็น 600 -800 บาท รงทอง 300 - 400 บาท เป็น 800- 1,000 บาท มะกรูด 100 บาท เป็น 100 -150 บาท ขิง 500 - 600 บาท เป็น 600 -800 บาท ดีปลี 200 - 300 บาท เป็น 300- 350 บาท พริกไทย 500 บาท เป็น 500 -600 บาท รากทนดี 150 บาท เป็น 150 -200 บาท และดีเกลือ ราคาประมาณ 50 - 80 บาทซึ่งเป็นราคาต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ขอฝากให้ผู้ค้าวัตถุดิบเห็นใจและไม่ปรับราคาให้สูงขึ้นอีก"   รู้จักตัวยาสำคัญใน เบญจอำมฤตย์ >> มหาหิงคุ์ ยาดำ รงทอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 157 ตรวจสุขภาพอย่างไรไม่เปลืองเงินไม่เปลืองตัว

ขอบคุณทุกท่านที่สนใจข้อมูลจากนิตยสารฉลาดซื้อ>>> อ่านแล้วอยากสนับสนุนให้เรามีเงินทุนต่อเนื่อง >>> ร่วมอ่าน online 200 บาท/ ต่อปี  ข้อมูลการสมัครอยู่ด่านล่าง ขอบคุณค่ะ   เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความ “คุ้มเงิน” สินค้าบริการต่างๆ นานาจึงต้องมาเป็นแพ็คเกจ บริการตรวจสุขภาพก็ไม่น้อยหน้า มีโปรแกรมให้เลือกกันตั้งแต่ราคาไม่ถึงหนึ่งพันไปจนเลยหนึ่งหมื่น อย่างที่ ฉลาดซื้อ เคยลงเปรียบเทียบราคาและรายการตรวจของสถานบริการตรวจสุขภาพไปแล้ว แต่หลายคนยังมีปัญหาคาใจอยู่ถึงความจำเป็นและความถูกต้องแม่นยำของการตรวจคัดกรองสุขภาพที่เป็นที่นิยมแพร่หลายกันอยู่ในขณะนี้ เหตุฉะนี้เราจึงต้องมีภาคสองเพื่อค้นหาคำตอบในเรื่องดังกล่าว เราตกลงกันตรงนี้ก่อนว่า “การตรวจสุขภาพ” หรือ “การตรวจคัดกรองสุขภาพ” ในที่นี้หมายถึงการเข้ารับการตรวจเบื้องต้นในขณะที่เรายังไม่ได้รู้สึกเจ็บป่วย และเป็นการตรวจเพื่อป้องกัน ลดความเสี่ยงหรือลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเท่านั้น ย้ำอีกที ... การตรวจสุขภาพไม่ใช่การตรวจหาโรค แต่เป็นการตรวจหาความเสี่ยงของการเกิดโรค    เราควรรับการตรวจคัดกรองอะไรบ้าง เราคงไม่บอกคุณว่าควรหรือไม่ควรตรวจอะไร เพราะสุดท้ายแล้วคุณคือคนที่ทราบถึงปัจจัยแวดล้อมตัวเองดีที่สุด แต่เนื่องจากปัจจุบันบ้านเรายังไม่มีมาตรฐานการตรวจสุขภาพสำหรับประชาชน และเรายังอยู่ในระหว่างการรอคู่มือการตรวจสุขภาพสำหรับผู้บริโภค ฉลาดซื้อ จึงขออ้างอิงผลการวิจัยของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ที่ศึกษารายการตรวจคัดกรองสุขภาพที่เหมาะสม เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบสุขภาพ (ซึ่งในอนาคตอาจมีการรวมกันของทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบประกันสังคม ที่ยังไม่เท่าเทียมกันอยู่ในปัจจุบัน*)     การตรวจทั้งหมดนี้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยไม่เกิน 400 บาทต่อคนต่อปี  (เทียบกับระบบการตรวจคัดกรองตามสวัสดิการข้าราชการที่มีค่าใช้จ่ายระหว่าง  530 – 1,200 บาท เพราะมีการตรวจบางรายการที่ค่าใช้จ่ายสูงแต่ประโยชน์ยังไม่ชัดเจน) อาจต้องเลิกใช้คำว่า “การตรวจสุขภาพประจำปี” เพราะบางอย่างไม่ต้องตรวจทุกปี ในขณะที่บางอย่างตรวจได้ปีละมากกว่า 1 ครั้ง   ในกรณีที่คุณรู้สึกว่ารายการตรวจข้างต้นน่าจะยังไม่เพียงพอ และกำลังชั่งใจกับแพ็คเกจตรวจสุขภาพสุดคุ้มที่ฝ่ายการตลาดของสถานบริการสุขภาพปล่อยออกมาเอาใจ “คนรักสุขภาพ” ที่มีรายการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มขึ้นอีกหลายรายการ ด้วยสนนราคา “พิเศษ” เราขอฝากประเด็นเหล่านี้ไว้ให้คุณพิจารณา   ฉลาดซื้อขอแชร์ ทุกครั้งที่เราส่งผลิตภัณฑ์เข้าทดสอบในห้องปฏิบัติการ เราจะต้องเลือกว่าต้องการตรวจเพื่อหาอะไร และอ้างอิงตามมาตรฐานไหน เพราะมันสัมพันธ์กับการเตรียมอุปกรณ์/เครื่องมือ และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการนำผลไปใช้ด้วย เช่นกรณีของขนมปัง เราต้องระบุไปว่าต้องการตรวจหาสารกันบูด (เพราะมีประเด็นที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามา) เป็นต้น นอกจากนี้เรายังต้องยอมรับข้อจำกัดของเครื่องมือที่ใช้ เช่นบางครั้ง สารเคมีที่เราต้องการตรวจหานั้นมีปริมาณน้อยกว่าที่เครื่องจะตรวจจับได้ (แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มี เป็นต้น) สำคัญที่สุดคือห้องปฏิบัติการที่เราใช้จะต้องผ่านการตรวจรับรองเพื่อความน่าเชื่อถือในผลการทดสอบที่ได้ (ไม่ได้ส่งไปตรวจที่หลังบ้านใครอย่างที่เคยถูกกล่าวหา) เรื่องนี้น่าจะพอนำมาประยุกต์ได้กับการเลือกแพ็คเกจตรวจร่างกาย คุณสามารถเลือกตรวจเฉพาะรายการที่คิดว่าตนเองมีความเสี่ยง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าผลที่ออกมานั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการตั้งค่าของเครื่อง และที่สำคัญปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานควบคุมบริการตรวจคัดกรองสุขภาพเอาไว้อ้างอิงด้วย     ตามที่เป็นข่าวเมื่อปีกลาย คนไทยใช้เงินกับการตรวจคัดกรองสุขภาพไปถึงปีละ 2,200 ล้านบาท (ส่วนหนึ่งของคนเหล่านี้คือผู้ที่มีสิทธิได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการถึง 16 รายการภายใต้ระบบสวัสดิการข้าราชการอยู่แล้ว) ข่าวไม่ได้บอกว่ามีกี่กรณีที่ตรงกับความเป็นไปได้ในรูปแบบที่ 1   เจ้าหน้าที่กองบรรณาธิการฉลาดซื้อพบเจอมาด้วยตนเอง เนื่องจากไอต่อเนื่องอยู่หลายสัปดาห์จึงไปโรงพยาบาล แพทย์สั่งตรวจเอ็กซเรย์ปอดด้วยเครื่องตรวจแบบอัตโนมัติ แพทย์อ่านผลแล้วบอกว่าพบจุดที่อาจหมายถึงเป็นวัณโรค จึงให้ตรวจซ้ำตอนบ่าย (เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพักเที่ยง) คราวนี้ตรวจด้วยเครื่องอีกชนิดหนึ่ง ปรากฏว่าไม่พบจุดดังกล่าวแล้ว  ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ. สายพิณ หัตถีรัตน์ อาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลรามาธิบดี ดร.ภญ. ศิตาพร ยังคง นักวิจัย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) บทความ “การตรวจคัดกรองที่เหมาะกับสังคมไทย” โดย ภญ.ธนัญญา คู่พิทักษ์ขจร นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)   ฉลาดซื้อสำรวจ จากการโทรศัพท์ไปสอบถามสถานบริการการตรวจสุขภาพ 9 แห่ง (โรงพยาบาลรัฐ 3 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 5 แห่ง และ ศูนย์ตรวจสุขภาพ 1 แห่ง) โดยอาสาสมัครของฉลาดซื้อ เราพบว่าแม้ประเทศเราจะยังไม่มีมาตรฐานการตรวจสุขภาพและยังไม่มีการตรวจสอบบริการเหล่านี้ แต่สถานประกอบการเหล่านี้มีความพร้อมและให้ความสำคัญกับการจัดบริการตรวจคัดกรองสุขภาพ หรือบางแห่งอาจเรียกว่า “การตรวจสุขภาพประจำปี” ออกมาให้บรรดา “ผู้รักสุขภาพ” ได้เลือกช้อปกัน อาสาสมัคร (สาวทำงานวัย 38 ปี) ที่โทรไปสอบถามข้อมูลจากสถานพยาบาลเหล่านี้ โดยอ้างอิงข้อมูลที่ประชาสัมพันธ์ผ่านอินเตอร์เน็ทหรือโบรชัวร์ พบว่า   ธุรกิจสถานพยาบาลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีมูลค่าการตลาดสูงที่สุด 5 อันดับได้แก่ อันดับ 1         บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) มูลค่าการตลาด 194,400 ล้านบาท  กิจการ: โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ โรงพยาบาลวัฒโนสถ   โรงพยาบาลรักษาโรคมะเร็งกรุงเทพ ถือหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช อันดับ 2         บริษัทโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) มูลค่าการตลาด 63,931 ล้านบาท   กิจการ: โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์  อันดับ 3         บริษัทโรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) มูลค่าการตลาด 21,600 ล้านบาท    กิจการ: โรงพยาบาลรามคำแหง อันดับ 4         บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) มูลค่าการตลาด 19,400 ล้านบาท   กิจการ: กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช อันดับ 5         บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) มูลค่าการตลาด 14,900 ล้านบาท กิจการ: โรงพยาบาลเกษมราษฎร์  โรงพยาบาลเวิรลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์  นวนครการแพทย์ -------------------------------------------------->>>อ่านแล้วอยากสนับสนุนให้เรามีเงินทุนต่อเนื่อง >>> ร่วมอ่านonline 200 บาท/ ต่อปี >>> โอนเงินแล้วแจ้งมาที่ >> อีเมล์ chaladsue@gmail.com + แนบรูปโอน >> เปิดอ่าน full Version ทันทีจ้าาาาาา>>> ต้องการใบเสร็จ >> พิมพ์ชื่อ - ที่อยู่  ใน อีเมล์ด้วยนะครับ---------------------------------ชื่อ บช. "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค"กสิกรไทย : 058-2-86735-6ไทยพาณิชย์ : 319-2-62123-1กรุงไทย : 141-1-28408-9ทหารไทย : 026-2-40760-4กรุงเทพ : 088-0-38742-8กรุงศรีอยุธยา : 463-1-10884-6--------------------------------->>> อ่านย้อนหลังได้กว่า 90 ฉบับ ผลทดสอบเพียบ! >>>นิตยสารนี้ไม่มีโฆษณา...เพื่อข้อมูลที่เป็นกลางและตัดสินใจได้ สำหรับผู้บริโภค--------------------------------   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 ปั่นสู่กรุงเทพฯ เมืองจักรยาน

พาหนะเรียบง่ายแสนวิเศษ ปี พ.ศ. 2557  ท่ามกลางการจราจรหนาแน่นตามสี่แยกใหญ่ทั่วเมืองกรุง อารมณ์ผู้คนบนถนนต่างขุ่นหมองไม่ต่างจากหมอกควันปลายท่อไอเสียรถยนต์ มีพาหนะชนิดหนึ่งที่เคลื่อนที่ไปได้เรื่อยๆ ซอกแซก ลัดเลาะ ไหลลื่นไปไม่ยี่หระกับสภาพการจราจรที่อยู่ตรงหน้า พาหนะที่ว่านี้ไม่ใช่นวัตกรรมล้ำยุคสุดไฮเทค แต่เป็นเพียงพาหนะเรียบง่ายแสนธรรมดาที่เรียกว่าจักรยานนั่นเอง ด้วยความที่มีขนาดเล็ก ทุ่นแรงได้ดี เคลื่อนที่คล่องตัวแต่ไม่เร็วมาก ไม่ต้องเติมน้ำมัน ไม่ปล่อยมลพิษและไม่ส่งเสียงดัง เลยไม่ก่อความรำคาญสร้างความรบกวนใครสักเท่าไหร่นัก  จักรยานจึงช่วยให้ผู้ที่ขับขี่สามารถเดินทางฝ่าทุกสภาพถนน(หรือแม้แต่ฝ่าม็อบปิดถนน) ไปได้ทุกที่ และหลุดพ้นจากวังวนปัญหารถติดในเมืองกรุงฯ ได้ ทุกวันนี้เราแทบจะสังเกตเห็นผู้คนปั่นจักรยานบนท้องถนนเป็นเรื่องธรรมดา อาจจะยังมีจำนวนไม่มากเท่าไหร่ถ้าเทียบกับจำนวนยานพาหนะอื่นๆ แต่หากเทียบกับสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยบนท้องถนนที่มีให้แก่จักรยานเพียงน้อยนิด ไม่ว่าจะเป็นเลนจักรยาน ที่จอดจักรยาน หรือแม้กระทั่งการรับรู้ว่าจักรยานมีสิทธิในการสัญจรบนถนนเท่าเทียมกับรถยนต์ ผมคิดว่าการที่ยังมีคนขี่จักรยานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสังเกตได้ชัดเช่นนี้เป็นเรื่องที่รัฐไม่ควรเพิกเฉยต่อความต้องการของประชาชน   ผลสำรวจความต้องการใช้จักรยานของคนกรุงเทพฯ[i] ที่มูลนิธิโลกสีเขียวทำการสำรวจขึ้นเนื่องในโอกาสวันคาร์ฟรีเดย์เมื่อปี 2554 เป็นการสะท้อนความต้องการใช้พาหนะเรียบง่ายแสนวิเศษนี้ได้อย่างชัดเจน จากการสอบถามชาวกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น 4,333 คน ทั้งผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ (2,858 คน) และผ่านทางการสำรวจแบบตัวต่อตัวตามย่านชุมชน (1,475 คน) ได้แก่ สยามสแควร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จตุจักรและท่าเตียน โดยมีคำถามสำคัญอยู่ 2 ข้อ คือ ถ้าสามารถขี่จักรยานในกรุงเทพฯ ได้อย่างปลอดภัย คุณจะขี่ไหม ? ถ้าต้องแบ่งพื้นที่บนถนนมากั้นเป็นเลนจักรยาน คุณจะยอมไหม ? ผลสำรวจออกมาว่า ร้อยละ 86 บอกว่าจะออกมาขี่จักรยานบนท้องถนน หากรู้สึกว่าสามารถขี่ได้อย่างปลอดภัย และร้อยละ 93 ที่ยินยอมให้จัดสรรแบ่งปันพื้นที่จราจรบนถนนมากั้นเป็นเลนให้จักรยาน ผลสำรวจสะท้อนความต้องการใช้จักรยาน ทั้งๆ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามมากถึงร้อยละ 48  ไม่เคยใช้จักรยานในกรุงเทพฯ มาก่อนเลย เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาเหล่านั้นรู้สึกว่าถนนหนทางในกรุงเทพฯ ยังไม่ใช่ที่ทางที่จักรยานจะสามารถปั่นได้อย่างปลอดภัยนั่นเอง นี่เป็นที่มาที่ชาวจักรยานและกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องกับจักรยานรณรงค์ร้องขอทางจักรยานที่ปลอดภัย   วิวัฒน์ทางจักรยานในกรุงฯ กับฝันค้างของนักปั่น เท่าที่มีบันทึกในเอกสารของสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานครเริ่มมีทางจักรยานสายแรกตั้งแต่ปี  2535 เป็นทางยกระดับเลียบคลองประปาฝั่งตะวันตก แต่ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ให้ข้อมูลจากความทรงจำว่า ก่อนหน้านั้นเคยมีทางจักรยานตั้งอยู่บริเวณถนนรามคำแหง  เริ่มตั้งแต่สี่แยกคลองตันถึงสนามกีฬาหัวหมาก  แต่เมื่อเวลาผ่านไป ขาดการบำรุงรักษา เส้นทางจักรยานทั้ง 2 เส้นนั้นก็รางเลือนไปตามกาลเวลาจนหายไปในที่สุด ในสมัยของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 12 ดร.พิจิตต รัตตกุล (2539-2543) ความฝันเรื่องทางจักรยานดูจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาใหม่ มีการสร้างทางจักรยานเฉพาะขนานถนนตัดใหม่แยกออกจากพื้นผิวถนนอย่างชัดเจน เส้นทางที่เด่นชัดที่สุดคือ ทางจักรยานถนนประดิษฐ์มนูธรรม(จากถนนพระราม 9  - ถนนรามอินทรา) ระยะทาง ไป - กลับ รวม 24 กิโลเมตรโดยมีต้นปาล์มขั้นกลางยาวตลอดแนว ตลอดสมัยนี้มีการสร้างทางจักรยานยาวรวมกัน 34 กิโลเมตรรวม 5 เส้นทาง แต่เมื่อใช้งานจริงกลับประสบปัญหา เส้นทางไม่มีความต่อเนื่อง อยู่คนละทิศละทาง ไม่ตอบโจทย์การใช้งาน ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้จริง ความฝันเรื่องทางจักรยานจึงเป็นจริงได้เพียงตัวเลขกิโลฯ บนเอกสารและเส้นสีที่เปรอะเปื้อนบนก้อนอิฐที่ค่อยๆ จางลงเรื่อยๆ จนมาถึงสมัยของคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน นโยบายเรื่องทางจักรยานก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่างอีกครั้ง โดยเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวจักรยานตื่นเต้นเป็นที่สุดคือเมื่อ มีการริเริ่มโครงการ "จักรยานชมกรุงรัตนโกสินทร์" หรือ Green Bangkok Bike (ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น Bangkok Smiles Bike) ถนนหลายสายในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน เช่น ถนนพระอาทิตย์ ถนนตะนาว ถนนมหาไชย  มีการสร้าง ‘ทางจักรยานบนผิวจราจร’ ด้วยการจัดแบ่งเลนสัญจรใหม่ให้แคบลงนิดหน่อยเพื่อเพิ่มเลนจักรยานทางด้านซ้ายของทางเดินรถ มีการติดป้ายสัญญาณจราจร ป้ายเตือน มีจุดให้บริการยืมคืนจักรยานอยู่ทั่วบริเวณ นับเป็นครั้งแรกที่จักรยานมีเลนของตัวเองบนผิวถนนเฉกเช่นเดียวกับพาหนะติดเครื่องยนต์อื่นๆ แต่ฝันของชาวจักรยานยังต้องกลายเป็นฝันค้างอีกครั้งเมื่อโครงการเริ่มดำเนินการไปโดยไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมายและขาดการสื่อสารกับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเท่าที่ควร ดังนั้นเมื่อขีดสีตีเส้นจนสีแห้งสนิทเพียงไม่กี่วัน เลนจักรยานที่เป็นสิ่งแปลกใหม่บนท้องถนนก็ถูกรถราต่างๆ ที่เคยชินกับการจอดชิดขอบถนน เข้ามาจอดทับทางเฉกเช่นเคย ราวกับว่าไม่เคยมีเลนจักรยานมาก่อน ในสมัยของผู้ว่าฯ อภิรักษ์ เลนจักรยานได้ถูกสร้างขึ้นอีกในถนนหลักหลายสาย ทั้งแบบ ‘ทางจักรยานบนผิวจราจร’ เช่น ถนนโดยรอบวงเวียนใหญ่ ถนนสาธร และแบบ ‘ทางจักรยานร่วมบนทางเท้า’ ให้ขี่จักรยานบนฟุตปาธร่วมกับคนเดิน เช่น ถนนราชดำเนิน ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนสุขุมวิท แต่ทางจักรยานส่วนใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นล้วนประสบปัญหาการตั้งวางสิ่งของ จอดรถกีดขวาง มีผู้คนพลุกพล่าน ผิวทางไม่ราบเรียบ เนื่องจากทางจักรยานบนผิวจราจรจะอยู่เลนด้านซ้ายสุดของถนนซึ่งมักอยู่ในแนวท่อระบายน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการใช้จักรยานอย่างปลอดภัยทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ดีในสมัยของคุณอภิรักษ์ ได้มีการตั้งคณะกรรมการทำงานด้านจักรยานที่ชื่อ “คณะกรรมการโครงการเรารักกรุงเทพฯ เรารักจักรยาน” โดยมีผู้แทนทั้งจากภาครัฐและนักจักรยานจากสมาคม องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้จักรยานเข้าร่วมด้วย ผู้ว่าฯ คนต่อมา มรว.สุขุมพันธ์ บริพัทธ (สมัยที่ 1) ช่วงครึ่งวาระแรกแทบไม่มีการขับเคลื่อนนโยบายจักรยานใดๆ แม้จะเป็นผู้ว่าที่มาจากพรรคการเมืองเดียวกับผู้ว่าฯ อภิรักษ์ก็ตาม จนกระทั่งมูลนิธิโลกสีเขียว ชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ และกลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ “Big Trees” ขอเข้าพบรองผู้ว่าฯ ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ (ตำแหน่งในสมัยนั้น) เพื่อหารือเรื่องการพัฒนาวิถีจักรยาน จนทำให้เกิดการรื้อฟื้น “คณะกรรมการโครงการเรารักกรุงเทพฯ เรารักจักรยาน” ขึ้นมาอีกครั้ง งานในสมัยนั้นเป็นไปในทิศทางด้านการรณรงค์ค่อนข้างมาก มีการจัดกิจกรรม Bangkok Car Free Sunday เป็นประจำทุกเดือนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จักรยานเพิ่มขึ้น มีโครงการให้เช่าจักรยานสาธารณะ “ปันปั่น” เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของเมืองไทย เพื่อเอื้อให้ผู้คนที่ใช้ระบบขนส่งมวลชนหรือชาวบ้านในพื้นที่เดินทางไปถึงจุดหมายด้วยจักรยานได้สะดวกขึ้น แต่นอกจากมีสถานีให้เช่าจักรยานหน้าตาเป็นเอกลักษณ์ที่มาพร้อมระบบสมาร์ทการ์ดและป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ก็ไม่มีปรับปรุงทางกายภาพใดๆ เพื่อการปั่นจักรยานเลย แม้จะฝันค้างมานานแต่ก็ไม่ใช่ไม่มีอะไรคืบหน้า เหตุการณ์การรวมตัวกันของชาวจักรยานที่น่าจดจำที่สุดในยุคนั้นคือการร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ผู้ว่ากรุงเทพมหานครปรับปรุงฝาท่อระบายน้ำที่ไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้จักรยานผ่านทางเว็บไซต์ Change.org[ii] จนทำให้กรุงเทพมหานครเร่งเปลี่ยน/ซ่อมฝาท่อระบายน้ำบนผิวถนนที่ชำรุดหรือมีโอกาสทำให้ล้อเล็กๆ ของจักรยานตกไปได้ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้จักรยานมากเพราะ หากล้อติดตะแกรงจะทำให้คนขี่ล้มทันที หากเลี้ยวหลบก็มีโอกาสถูกเฉี่ยวชนจากพาหนะอื่นๆ  โดยหลังจากผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ รับเป็นนโยบายแก้ไขให้ ชาวจักรยานได้รวมตัวกันหลายครั้งเพื่อสำรวจฝาท่อที่มีปัญหาในเขตพื้นที่ต่างๆ ส่งเป็นรายงานระบุพิกัดพร้อมรูปถ่ายที่ชัดเจนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขต่อไป  นับเป็นแก้ไขปัญหาที่บูรณาการและปลุกให้นักปั่นที่ฝันค้างมานานตื่นและพบว่า เราสามารถทำสิ่งที่ฝันให้เป็นจริงได้ด้วยมือของเราเอง ในส่วนของภาคประชาชน มีการเคลื่อนไหวค่อนข้างคึกคักมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา แวดวงนิตยสารดังต่างทยอยสับเปลี่ยนหมุนเวียนทำเรื่องจักรยาน  มีกิจกรรมใหญ่สำหรับจักรยานเพิ่มขึ้น  แทบทุกวันในสัปดาห์ล้วนมีทริปปั่นจักรยานที่จัดโดยกลุ่ม องค์กรต่างๆ มากมาย  จนทุกวันนี้หากสังเกตดีๆ เราจะเห็นจักรยานอยู่ตามรายการทีวี บิลบอร์ด โฆษณาต่างๆ อยู่เสมอ  จักรยานกำลังสอดแทรกตัวเองเข้าไปในสื่อกระแสหลักเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปในฐานะเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ รักษ์โลก รักสุขภาพ อินดี้ นอกกรอบ พึ่งตนเอง หลังครบวาระ ‘สุขุมพันธ์ 1’ เป็นยุคที่กระแสจักรยานเป็นที่นิยมมากจนผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ทุกคนต่างต้องนำเสนอนโยบายจักรยานควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองทั้งสิ้น เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงการวิวัฒน์ทางความคิดต่อแง่มุมเรื่องจักรยาน  แม้ว่าทางจักรยานส่วนใหญ่ยังมิเปลี่ยนแปลงใดๆ   ************************************************************** ทำไมต้อง ‘จักรยาน’ A cycle-lized city is a civilized city เมืองน่าอยู่คือเมืองน่าปั่น จักรยานเป็นมากกว่ากระแสแฟชั่น ด้วยความเล็ก เคลื่อนที่คล่องตัวแต่ไม่เร็ว ใช้แรงคน จึงไม่ปล่อยมลพิษและส่งเสียงดัง และใครๆ ก็สามารถหามาครอบครองได้ จักรยานจึงเป็นทางออกง่ายๆ ของปัญหาซับซ้อนหลายประการในเมืองใหญ่ เช่น คุณภาพอากาศ การจราจรติดขัด ปัญหาสุขภาพ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นต้น หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกจึงเร่งปรับเปลี่ยนวิถีการสัญจรในเมืองให้สามารถใช้จักรยานได้อย่างสะดวกและปลอดภัยและออกมาตรการสนับสนุนจูงใจให้ผู้คนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น  จักรยานกลายเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เป็นตัวบ่งชี้ของเมืองน่าอยู่ที่ยอมรับกันในสหประชาชาติ[iii] **************************************************************   ทางจักรยานในปัจจุบัน กับเส้นทางสู่กรุงเทพฯ เมืองรถถีบ ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีทางจักรยานรวมทั้งสิ้น 35 เส้นทาง เป็นระยะทาง 232.66 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็นทางจักรยานเฉพาะ 5 เส้นทาง ทางจักรยานบนผิวจราจร 10 เส้นทาง และทางจักรยานร่วมบนทางเท้าอีก 20 เส้นทาง แต่มีทางเพียง 2 กิโลเมตรเศษเท่านั้น (5 เส้นทาง) ที่มีการประกาศรองรับให้เป็น ‘ทางที่จัดไว้ให้สำหรับจักรยาน’ ตามกฎหมาย พ.ร.บ จราจรทางบก พ.ศ. 2522[iv] และที่แย่ไปกว่านั้นมีเส้นทางเพียง 600 เมตรบนถนนพระอาทิตย์เท่านั้นที่ได้รับการดูแล มีหลักล้มลุกกั้นไม่ให้รถยนต์จอดกีดขวาง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด อันเกิดจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำรวจ สน.ชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร กิจการร้านค้าและหน่วยงานต่างๆ ในบริเวณถนนพระอาทิตย์ และชาวจักรยานจากทุกสารทิศ สำหรับทางจักรยานอีกหลายสิบสายที่เหลือ มีการพิจารณาทบทวนความต้องการใช้ ศักยภาพ และความเหมาะสมต่างๆ ใหม่ เพื่อให้การพัฒนาปรับปรุงมีความคุ้มค้าและสามารถใช้งานได้จริง โดยคณะกรรมการเรารักกรุงเทพ ฯ เรารักจักรยานได้คัดเลือกเส้นทางเพื่อพิจารณาปรับปรุงก่อน 10 เส้นทางและมอบหมายให้กลุ่มมหาวิทยาลัยที่สนใจเรื่องจักรยานและมูลนิธิโลกสีเขียวช่วยกันทำการประเมินและนำเสนอแนวทางปรังปรุงให้ใช้ได้จริง ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว กำลังรอหารือกับผู้บังคับการจราจรซึ่งเป็นผู้มีอำนาจประกาศรับรองทางจักรยานตามกฎหมายต่อไป ในส่วนการพัฒนาโครงข่ายทางจักรยานใหม่ กรุงเทพมหานครได้ขอความร่วมมือทั้ง 50 สำนักงานเขตร่วมกับกลุ่มมหาวิทยาลัยช่วยกันคัดเลือกเส้นทางที่มีศักยภาพเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการใช้จักรยานของคนในพื้นที่เพื่อพัฒนาให้เป็นเส้นทางจักรยานใหม่ที่เน้นว่าต้องใช้ได้จริงและเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงถึงกันต่อไป แม้เส้นทางสู่กรุงเทพฯ เมืองจักรยานจะยังอีกไกลโข แต่ผมเชื่อว่าเรากำลังเข้าใกล้ไปเรื่อยๆ และมันจะเร็วขึ้นมากหากเราทุกคนช่วยกัน  กรุงเทพฯ เมืองหายใจสะอาด เมืองสัญจรสะดวก เมืองแห่งความเท่าเทียม เมืองแห่งสุขภาพ เมืองสีเขียวร่มรื่น เมือง.. ฯลฯ กรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการกระทำของพวกเราทุกคน   [i] อ่านผลสำรวจฉบับเต็มได้ที่ http://www.greenworld.or.th/bikemap/1476 [ii] อ่านเรื่องราวการเรียกร้องเปลี่ยนฝาท่อเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://www.greenworld.or.th/bikemap/2136 ‘Change ฝาท่อ We must believe in’ [iii] อ้างอิงจาก ‘ทำไมจึงเป็นแผนที่ปั่นเมือง’ สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ และ ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์. Bangkok Bike Map แผนที่ปั่นเมือง : คู่มือหาเส้นทางจักรยานกรุงเทพมหานคร.กรุงเทพฯ : มูลนิธิโลกสีเขียว, 2555. [iv] อ่านบทความเกี่ยวกับกฎหมายจักรยานเพิ่มเติมได้ที่ http://www.greenworld.or.th/bikemap/2004 ‘กฎหมายจักรยาน... ใครว่าไม่มี ?’   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 เจาะเส้นทางโกง ฟิตเนสแคลิฟอร์เนีย

ผู้บริโภคจำนวนมากบอก ไม่อยากจะเชื่อว่า บริษัท แคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ว้าว บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีหลายสาขา เป็นแบรนด์ดังระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งโดย  "แอริค มาร์ค เลอวีน" นักธุรกิจที่ใช้กลยุทธการตลาด ด้วยการสมัครสมาชิกตลอดชีพ และการออกกำลังกายด้วยผู้เชี่ยวชาญเป็นแรงจูงใจ จะล้มละลาย และถูกผู้บริโภคฟ้องร้องในข้อหาเข้าข่ายหลอกลวงและฉ้อโกงผู้บริโภค ผู้บริโภคที่เสียหายยอมรับไม่ได้ที่ถูกโกงแล้วกรรมการของบริษัททั้งอดีตและปัจจุบัน อยู่ดีกินดี ไม่รู้สึกรู้สากับสิ่งที่เกิดขึ้น?? ทั้งข่าวซื้อแหวนเพชรแต่งงานราคาแพง สัมภาษณ์ว่าใช้ช้อนเงินป้อนข้าวลูก แถมสามารถโอนเงินไปออกนอกประเทศเป็นเงินรวมกว่า 1,699 ล้านบาท เป็นเรื่องให้เจ็บใจของคนที่ถูกหลอกถูกโกง พ.ต.อ. สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง.หรือ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ถึงกับออกมาให้ข่าวว่า “ผู้บริหารแห่งนี้ วางแผนโกงมาตั้งแต่ต้น” บริษัท แคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส เซ็นเตอร์ส จำกัด จดทะเบียนบริษัทครั้งแรก เมื่อ 25 กรกฎาคม 2543 และร่วมทุนกับกลุ่มเมเจอร์ซีนีเพล็ก จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อกันยายน 2547 เพื่อประกอบกิจการศูนย์สุขภาพ  ศูนย์ออกกำลังกาย  ศูนย์ฝึกสอนออกกำลังกาย จนเป็นผู้ให้บริการเจ้าใหญ่ที่สุดที่มีสมาชิกมากถึง 1.6 แสนราย  โดยมีผู้ใช้บริการประมาณ  2 หมื่นรายต่อวัน ในปี 2553  จากเริ่มต้นในปี 2544 ที่มีสมาชิกเพียง 8,500 คน     โกงอย่างมีแบบแผน “เซียนเท่านั้นที่ทำได้”   เริ่มต้นด้วยลักษณะของมืออาชีพ 1. เริ่มต้นจากการขยายแนวคิดการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย และย้ำว่า การออกกำลังกายที่ถูกต้อง ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะบุคคล 2. กลยุทธการตลาด ทั้งแจกทั้งแถม แจกคูปองให้ไปทดลอง พาเพื่อนไปออกกำลังกาย พาครอบครัวไปออกกำลังกาย ทั้งลดทั้งแถมในการหาสมาชิก เทคนิคนำบัตรเครดิตไปตรวจสอบว่ามีลดราคาร่วมกับธนาคารนี้หรือไม่ พอจ่ายได้ จัดโปรโมชั่นสารพัดรูปแบบ เช่น ค่าสมาชิก ถ้าจ่ายเป็นรายปี หรือมากกว่าปี จนถึงตลอดชีพ ซึ่งจะมีราคาถูกกว่ามากๆ จนทำให้ได้สมาชิกตลอดชีพจำนวนมากมาย รวมถึงค่าจ้างผู้ฝึกสอนส่วนบุคคล (Trainer) ในการออกกำลังกายประเภทต่างๆ ที่ขายจำนวนชั่วโมงล่วงหน้าทีละมาก ๆ  เพื่อได้บริการส่วนบุคคล ทำให้มีรายได้จำนวนมาก 3. ร่วมทุนกับกลุ่มเมเจอร์ซีนีเพล็ก จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อกันยายน 2547 เพื่อประกอบกิจการศูนย์สุขภาพ  ศูนย์ออกกำลังกาย  ศูนย์ฝึกสอนออกกำลังกาย มีสมาชิกมากถึง 1.6 แสนราย   น้ำลดตอผุด 1. เมื่อมีสมาชิกจำนวนมากจนให้บริการไม่ทัน สมาชิกจะพบกับปัญหาสารพัน ทั้งสถานที่ไม่เพียงพอ คนล้น เทรนเนอร์ที่สมัครเฉพาะบุคคล ไม่มีจริง เทรนเนอร์ลาออก และอาจจะเรียกได้ว่า ทำให้เกิดข้อเรียกร้องในการบอกเลิกสัญญา ซึ่งพบว่าข้อสัญญาเป็นอุปสรรคต่อการบอกเลิกสัญญามาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพ ตั้งครรภ์ ลาบวชก็ไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้ จนทำให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้ บริโภคอาศัยอำนาจตามโกงพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา  เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2554 เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค 2. เมื่อถูกจำกัดให้รับสมาชิกได้ไม่เกิน 1 ปีจาก สคบ. และประกอบกับข้อร้องเรียนเรื่องการให้บริการ ที่ไม่เพียงพอ บริษัทเลือกใช้วิธีเดินหน้าเปิดรับสมาชิกตลอดชีพราคาถูกกว่าเดิม และใครที่มีความรู้เรื่องรับสมัครตลอดชีพไม่ได้ ก็จะใช้การรับรองว่าใช้ได้ตลอดชีพ แต่เขียนในสัญญาไม่ได้  “หนู(ผม) รับรอง” และหากผู้บริโภคไม่ยอม มีบางรายที่ยอมเขียนในสัญญาว่า ตลอดชีพ หรือมากกว่า 1 ปี ตั้งแต่ 2-3 ปี รวมทั้งเปลี่ยนวิธีการเป็นต่ออายุทุกปี ราคาถูกเพียงตั้งแต่ 100-1,500 บาท ในทุกๆ ปี ในทางพฤตินัยผู้บริโภคทุกคนที่สมัครต่างรับรู้เป็นการทั่วไปว่า สมัครสมาชิกตลอดชีพและใช้เทรนเนอร์ ออดอ้อนลูกค้าว่า กำลังจะถูกไล่ออกเพราะหาสมาชิกไม่ได้ เดือนนี้ไม่รู้จะได้เงินเดือนหรือไม่ ทำให้สามารถเก็บเงินค่าสมาชิกไปได้อีกก้อนโต ถึงแม้กำลังจะถูกฟ้องล้มละลาย 3. หลังยุติการให้บริการบางสาขา เรื่องร้องเรียนเริ่มมีมากขึ้น บริษัทยังเปิดรับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อมีขบวนการเรียกร้องจากกลุ่มผู้เสียหาย ตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2555 ทำให้ข้อมูลต่างๆ หลั่งไหลออกมามากขึ้น เช่น หนี้สินมีมูลค่ามากกว่าทรัพย์สินถึง 619. 5 ล้านบาท ไม่สามารถชำระเงินยืมได้ 50 ล้านบาท ปิดสาขาลง 1 สาขา ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นว่า งบการเงินมีข้อบ่งชี้ที่มีสาระสำคัญ ในปี 2552 4. ปี 2553 ผู้ตรวจสอบบัญชีอนุญาตไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัท หนี้สินมีมูลค่ามากกว่าทรัพย์สินถึง 1,069.87 ล้านบาท ธนาคารทหารไทยและกรุงศรีอยุธยาฟ้องศาลให้ชำระ รวม 183.82 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 225.29 ล้านบาท ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมายห้ามซื้อขาย(Trading Suspension, SP) และเป็นบริษัทที่เข้าข่ายการถูกเพิกถอนออกจากตลาด(Non Compliance, NC) 5. ปี 2554 ผู้ตรวจสอบบัญชีอนุญาตไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัท เครือเมเจอร์ขายหุ้นทั้งหมด สาขาต่าง ๆ เริ่มทยอยปิดตัวลง นอกจากสองธนาคารเดิมฟ้องธนาคารกรุงเทพ ฯ บอกเลิกสัญญาเงินกู้ 72.94 ล้านบาท และยังคงติด SP และ NC 6. กลุ่มผู้เสียหายได้ไปร้องเรียนกับหลายหน่วยงาน คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา (ขอชื่นชมทุกหน่วยงาน) ช่วยกันตรวจสอบจน ปปง. พบ เส้นทางการโอนเงินไปต่างประเทศ CAWOW เริ่มทยอยปิดสาขาต่างๆ ก่อนยุติการให้บริการ และโดนข้อหาล้มละลายในที่สุด 7. กลยุทธให้พนักงานหรือลูกน้องเป็นกรรมการหรือผู้มีอำนาจในบริษัทหลังจากโกยเงินไปเรียบร้อย แล้วทำบริษัทให้ล้มละลาย ? หวังไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค? ถึงแม้อาจจะเข้าข่ายคดีอาญาข้อหาฉ้อโกงหลอกลวงผู้บริโภค ผิดสัญญาอย่างร้ายแรงซ้ำซาก แถมผู้บริโภคยังต้องผ่อนหนี้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินแทนทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้บริการ   ลักษณะความผิดเบื้องต้น กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ได้แจ้งข้อหากับบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าวฯ กับกรรมการบริษัทอีก 4 คน ประกอบด้วย แอริค  เลอวีน, ไซ่ม่อน ดักลาส โฮวาร์ด , จอร์จ ซาบ และ สุรศักดิ์ กองปัญญา แต่ถึงขณะนี้มีเพียงนายสุรศักดิ์ กองปัญญา ที่เข้ามาพบเจ้าพนักงานสอบสวน และนายไซ่ม่อน ดักลาส โฮวาร์ด ถูกจับที่สนามบินสุวรรณภูมิ ฝากขังที่ศาลอาญา ส่วนรายอื่น ๆ ยังไม่มีความคืบหน้า ในข้อหาความผิดฝ่าฝืนประกาศพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 กรณีที่กำหนดอายุสมาชิกตลอดชีพ ซึ่งมีโทษ จำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือสัญญาละไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนคดีฉ้อโกงมีความผิดมูลฐานพระราชบัญญัติ ปปง.   ปฏิบัติการทวงสิทธิของผู้บริโภค สมาชิก CAWOW ได้ปฏิบัติการทวงสิทธิจำนวนหลายครั้งจนนับไม่ถ้วน ยื่นหนังสือทุกหน่วยงานในประเทศนี้ ที่ระบุในนี้เป็นเพียงการทำจดหมายเป็นทางการเท่านั้น ยังไม่นับรวมการใช้โทรศัพท์ติดตาม การไปพบที่ไม่มีการยื่นหนังสือ แต่ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้ได้รับการเยียวยาความเสียหายจนกระทั่งถึงปัจจุบัน .... ทุกคนต่างมีความหวังว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 แก้ไข พ.ศ. 2556 ได้กำหนดไว้ในมาตรา 12 ให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำด้วยความสุจริต โดยคำนึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสม ภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมจะช่วยเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภคได้ในท้ายที่สุด   พ.ศ. 2555 21 ส.ค.  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอให้ผู้เสียหายมาร้องเรียนพร้อมกันภายในวันที่ 31 ส.ค. 31 ส.ค.  ผู้เสียหายเข้าชื่อร่วมกันทั้งหมด 639 ราย ความเสียหายมากกว่า 30 ล้านบาท 8  ก.ย.  ประชุมเพื่อวางแนวทางการทำงานกับแกนนำผู้เสียหาย 12 ก.ย. แกนนำฯ ยื่นหนังสือให้บริษัทแคลิฯ แจ้งกับธนาคารและหน่วยงานผู้ให้บริการบัตรเครดิตยุติการเรียกเก็บเงินผ่านบัตรเครดิต และให้บริษัทฯ คืนเงินค่าสมาชิกและบริการเสริมอื่นๆ ให้กับสมาชิกผู้ประสงค์ยกเลิกสัญญา พร้อมดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนด 23 ก.ย. เวทีสาธารณะ “ถูกโกง ไม่ใช่ เรื่องเวรกรรม ตอน สัญญา ไม่เป็นสัญญา กรณีฟิตเนสไม่ว้าววว”  เพื่อหาทางออก 26 ก.ย. แกนนำฯ ยื่นหนังสือพร้อมเอกสาร และรายชื่อผู้เสียหาย 639 รายกับ ร.ม.ต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล   เพื่อให้ช่วยผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย 30  ก.ย.  ผู้เสียหาย 50 ราย เข้าแจ้งความ ที่กองบังปราบปรามคุ้มครองผู้บริโภค  เพื่อให้ดำเนินคดีอาญากับบริษัทแคลิฯ ข้อหา “เข้าข่าย ฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชน” 2  ต.ค.   ผู้เสียหายยื่นหนังสือต่อ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ (ดู**) 7  ต.ค. ประชุมหาแนวทางการดำเนินคดีกับบริษัทฯ ร่วมกับนักวิชาการ 8  ต.ค. ผู้เสียหายพบเจ้าหน้าที่ฝ่ายงานเลขาธิการ กลต. 19 พ.ย. เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะตัวแทนผู้เสียหาย 26 ธ.ค.  ผู้เสียหายยื่นหนังสือนายกสภาทนายความเพื่อสนับสนุนการฟ้องคดี 27 ธ.ค. ผู้เสียหายยื่นหนังสือต่อนายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการ สคบ. เพื่อขอให้ดำเนินคดี   พ.ศ. 2556 14 ก.พ. มูลนิธิฯ ออกจดหมายติดตามความคืบหน้ากับ สคบ. ฉบับที่ 1 9 มี.ค. มูลนิธิฯ ออกจดหมายติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินการกับ สคบ. ฉบับที่ 2 15 มี.ค. สคบ. แจ้งว่า ได้ส่งรายชื่อผู้ร้องจำนวน 639 รายให้ DSI พิจารณาดำเนินคดีอาญาแก่บริษัทฯ ในความผิดฐานฉ้อโกงแทนผู้บริโภค  และให้ มูลนิธิฯ แจ้งให้ผู้ร้องทั้งหมดนำหลักฐานยื่นกับ สคบ. เพื่อฟ้องคดีแพ่งฐานผิดสัญญา 10 เม.ย.  มูลนิธิฯ นำผู้เสียหายยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ กรรมาธิการฯ พร้อมเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล  พบเข้าข่ายเป็นการฟอกเงิน 2 พ.ค. ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ บริษัทแคลิฯ 8 พ.ค. ตำรวจ ปคบ. แจ้งข้อกล่าวหา "ร่วมกันไม่ส่งมอบสัญญาที่มีข้อสัญญาหรือมีข้อสัญญาและแบบถูกต้องตามมาตรา 35 ทวิ, 59 ตาม พรบ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ต่อ ผู้ต้องหา 3 ราย คือ 1) บริษัทแคลิฯ  2) นายไซม่อน ดักลาสโฮวาร์ด และ 3) นายสุรศักดิ์ กองปัญญา 7 มิ.ย. ปปง.ได้พิจารณาเห็นว่าพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำของบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน (ดู***) 1 ก.ค.  มูลนิธิฯ ขอให้ทบทวนให้ กรณีคดี CAWOW เป็นคดีพิเศษ หลังจากที่ดีเอสไอแจ้งไม่เข้าข่ายคดีพิเศษ 23 ก.ค. ไซม่อน ดักลาส โฮวาร์ด ถูกจับที่สนามบินสุวรรณภูมิ ฝากขังที่ศาลอาญา 2 ก.ย.  มูลนิธิฯ ได้รับจดหมายจากนายชาตรี ตันเจริญ อ้างได้รับมอบหมายจากผู้ถือหุ้นของบริษัท CAWOW ตามที่บริษัทได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่บรรดาผู้ถือหุ้นขอเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง และขอปรึกษาเสนอแนะแนวทางในการเยียวยาความเสียหายให้แก่ลูกค้าของบริษัท 28 ต.ค. ตำรวจ ปคบ. ขอความร่วมมือประสานให้ผู้เสียหายไปแจ้งความเพิ่มเติม 21-28 พ.ย. ผู้เสียหายเข้าแจ้งความเพิ่มเติม     ** โดยมี 3 มูลเหตุ 1) บริษัทฯ กระทำการผิดพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยให้สมัครสมาชิกแบบตลอดชีพ เป็นที่รับรู้ทั่วไปของผู้บริโภคที่ใช้บริการ  หรือ เก็บเงินค่าสมาชิกล่วงหน้ามากกว่า 1 ปี  ซึ่งขัดต่อประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2554 2) การกระทำความผิดฐานโฆษณาเป็นเท็จหรือเกินความจริง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 3) พฤติการณ์ของบริษัทฯ ที่อาจจะเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคให้เข้าทำสัญญา ปกปิดความจริงทำให้บริษัทฯ ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้บริโภค  ทั้งที่บริษัทฯ ทราบหรือทราบเป็นอย่างดีว่าสถานะทางการเงินของบริษัทฯ มีความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญหลายเหตุการณ์ในการดำเนินงานต่อเนื่องของกิจการ  ที่อาจมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อฐานะการเงินผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดของบริษัท  ดังรายงานที่ผู้สอบบัญชีอนุญาตไม่อาจแสดงความเห็นและไม่รับรองบัญชีต่องบการเงินสำหรับปี 2553 และสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ของบริษัท     *** เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หลังการสอบสวนพบว่าบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว ไม่ได้มีเจตนาทำธุรกิจให้บริหารฟิตเนสตั้งแต่ต้น แต่ได้ประกอบกิจการโดยการวางแผนอย่างชาญฉลาด เพื่อระดมเงินจากตลาดหลักทรัพย์และจากสมาชิกที่ใช้บริการของฟิตเนสแคลิฟอร์เนีย ว้าว จากการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว พบว่าปริมาณธุรกรรมที่มีการทำมาแต่ละปี มีรายได้เข้ามาจำนวนมากมาย แต่รายได้ที่เข้ามาในบริษัทไม่ได้มีการนำรายได้มาใช้ในการประกอบการ แต่กลับนำเงินรายได้ที่ได้มาส่งโอนออกไปต่างประเทศ   พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวอีกว่า จากการสอบสวนพบว่า บริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว มีการโอนเงินออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการทำธุรกรรมรายปีตั้งแต่ปี 2545 – 2556 บางช่วงเวลามีการทำธุรกรรมจำนวนสูงกว่า 400 ล้านบาท เมื่อพิจารณาในภาพรวมพบว่ามีธุรกรรมหมุนเวียนในช่วง 10 ปีมานี้ กว่า 1,600 ล้านบาท นอกจากนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกรรมทางการเงินในแต่ละช่วงเวลา พบว่ามูลค่าสูงสุดของการทำธุรกรรมเกิดขึ้นในช่วง 3 ปี คือ 2552 – 2554 โดยร้อยละ 99 เป็นการทำธุรกรรมผ่านระบบ SWIFT คือ การโอนเงินออกไปต่างประเทศ     ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2554 บังคับใช้ 1 สิงหาคม 2554 สาระสำคัญ สัญญาการให้บริการที่ผู้ประกอบการทำกับผู้บริโภคถูกกำหนดให้ต้องมีข้อความ ภาษาไทย ที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน และข้อความในสัญญาจะต้องมีสาระสำคัญและเงื่อนไขดังนี้ 1.รายละเอียดเกี่ยวกับขนาดพื้นที่สถานให้บริการ จำนวนประเภท และจำนวนอุปกรณ์ออกกำลังกาย สิ่งอำนวยความสะดวก และการให้บริการอื่น ๆ 2.รายละเอียดอัตราค่าสมาชิก ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะเรียกเก็บ เงื่อนไขและวิธีการชำระเงิน วันเริ่มต้นและสิ้นสุดการเป็นสมาชิก 3.ผู้ประกอบการต้องระบุชัดเจนว่าการผิดสัญญาเรื่องใดของผู้บริโภคที่มีสิทธิบอก เลิกสัญญาหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อใดข้อหนึ่งได้ แต่ก่อนบอกเลิกสัญญาจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 30 วัน เว้นผู้บริโภคผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญดังนี้ ก.กระทำการอันเป็นความผิดกฎหมายอาญาโดยเจตนา ข.มีพฤติกรรมรบกวนการใช้บริการของสมาชิกอื่น ค.เป็นโรคติดต่อร้ายแรง...   การบอกเลิกสัญญาการใช้บริการออกกำลังกายโดยได้เงินคืน 3 กรณี คือ 1.ผู้ประกอบการไม่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการอื่น มีอุปกรณ์แต่ชำรุดบกพร่อง หรือให้บริการได้ ไม่เหมาะสมและเพียงพอ และไม่จัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการนั้น ๆ มาทดแทนได้ภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันรับแจ้ง 2.มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ว่าการใช้บริการออกกำลังกายต่อไปอาจ จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ 3.รับได้บาดเจ็บเนื่องจาก ผู้ฝึกสอนไม่มีความรู้ความชำนาญ หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายไม่มีคำเตือนว่าชำรุดบกพร่อง โดยผู้ประกอบการ จะต้องคืนเงินสด เช็ค หรือนำเงินเข้าบัญชีตามจำนวนเงิน ที่เหลือจากค่าสมาชิกหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และตามระยะเวลาที่ยังไม่ได้ใช้บริการภายใน 30 วันนับแต่เลิกสัญญา นอกจากนี้ กฎหมายยังให้ผู้บริโภคยังมีสิทธิอื่น ๆ เพิ่ม ได้แก่ สิทธิในการโอนสิทธิตามสัญญาไปให้บุคคลที่ 3 ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสมาชิกได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ประกอบการ สิทธิในการต่อระยะเวลาการใช้บริการเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา โดยผู้ประกอบการต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าสมาชิก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ฯลฯ ขณะเดียวกันข้อสัญญาที่ผู้ประกอบการทำกับผู้บริโภค กฎหมายใหม่ก็กำหนดข้อห้ามไม่ให้เป็นลักษณะสัญญาฝ่ายเดียว เช่น ให้ผู้บริโภคต้องผูกพันตามประกาศหรือหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบการกำหนด เว้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยส่วนรวม ข้อสัญญาที่ยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่เกิดจากผู้ประกอบการผิดสัญญาหรือ ละเมิด เช่น ผู้บริโภคบาดเจ็บ เจ็บป่วยจากการใช้บริการออกกำลังกาย รวมทั้งทรัพย์สินสูญหายในสถานประกอบการ การให้สิทธิผู้ประกอบการบอกเลิกสัญญากับผู้บริโภคโดยไม่ต้องบอกกล่าวเป็นลาย ลักษณ์อักษร หรือผู้บริโภคไม่ได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ข้อสัญญาที่กำหนดระยะเวลาตามสัญญาเกิน 1 ปี และข้อสัญญาที่กำหนดให้การต่อระยะเวลาการให้บริการมีผลบังคับทันทีเมื่อครบ กำหนด เป็นต้น   ฉลาดซื้อแนะ ก่อนตัดสินใจเลือกฟิตเนสครั้งต่อไป 1. ผู้ให้บริการ 1.1  ผู้ให้บริการส่วนใหญ่จะเป็นนิติบุคคล (เช่น บริษัทจำกัด) จึงควรตรวจสอบรายที่มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการซึ่งมุ่งเน้นการออกกำลังกายเป็นหลัก โดยไม่มีการขายสินค้าอื่นแอบแฝง 1.2  สถานภาพของผู้ให้บริการ รวมถึงกรรมการผู้มีอำนาจ และผู้ถือหุ้น ไม่ควรมีหนี้สินมากเกินสมควร และไม่ควรมีผลประกอบการที่ขาดทุนต่อเนื่อง 1.3  ไม่สามารถเชื่อถือชื่อเสียงของผู้ให้บริการที่มีสาขาจากต่างประเทศได้เสมอไป 1.4  ควรดูระยะเวลาที่ผู้ให้บริการรายนั้นได้ดำเนินกิจการมาเพื่อประกอบการตัดสินใจของท่าน 2. สถานที่ 2.1  ควรตั้งอยู่ในจุดที่สะดวกต่อการเดินทาง และต้องคำนึงถึงที่จอดรถและค่าจอดรถที่ต้องจ่ายเพิ่ม 2.2  จำนวนสาขาที่เปิดให้บริการ ควรมีทางเลือกให้สามารถเข้ารับบริการได้มากกว่าจุดเดียว 2.3  ช่วงเวลาการเปิดให้บริการ ควรมีทางเลือกที่หลากหลาย ทำให้สามารถเลือกใช้ได้ตลอดทั้งวัน 2.4  ขนาดของสถานที่กับปริมาณสมาชิกที่ผู้ให้บริการอนุญาตให้เข้าใช้บริการควรมีสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่หนาแน่นมากจนเกินไป 2.5  สิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย และความสะอาดควรมีการให้บริการห้องล็อกเกอร์, ห้องน้ำ, ห้องอาบน้ำ, อุปกรณ์ สบู่ แชมพู ผ้าเช็ดตัว โดยจัดให้มีพนักงานรับผิดชอบคอยตรวจสอบดูแลให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ และมีพนักงานดูแลความปลอดภัยจากผูที่ปะปนเข้ามาเพื่อขโมยสิ่งของ 2.6  ระบบปรับอากาศ และระบายอากาศควรสมดุลกับปริมาณสมาชิกที่กำลังออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้อากาศร้อนหรือเย็นจนเกินไป  อีกทั้งไม่ควรมีกลิ่นอับหรือกลิ่นเหงื่อเกาะติดกับอุปกรณ์ออกกำลังกาย 2.7  ควรแยกสัดส่วนการออกกำลังกายประเภทต่าง ๆ ให้ชัดเจน โดยบรรยากาศแสงและเสียงควรส่งเสริมและเหมาะสมกับการออกกำลังกายประเภทนั้น ๆ 3. อุปกรณ์ออกกำลังกาย 3.1  อุปกรณ์ออกกำลังกายที่ผู้ให้บริการจัดไว้ให้ควรอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมใช้งานตลอดเวลา มิใช่มีเป็นจำนวนมาก แต่ใช้งานจริงได้เพียงไม่ถึงครี่ง 3.2  อุปกรณ์ฯ ควรมีความหลากหลายเพื่อให้สามารถเลือกออกกำลังกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ  ได้ครบทุกส่วนของร่างกาย 3.3  ควรมีพนักงานแนะนำการใช้งานอุปกรณ์ฯ โดยที่ไม่หวังผลจากการขายชั่วโมงฝึก หรือควรมีภาพอธิบายประกอบการใช้ติดตั้งในบริเวณที่ตั้งอุปกรณ์ฯ นั้น ๆ 3.4  ควรมีชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้นในกรณีเกิดอุบัติเหตุจากการใช้อุปกรณ์ฯ 4. ผู้ฝึกสอนส่วนบุคคล และโปรแกรมการฝึก 4.1  เนื่องจากสถานให้บริการออกกำลังกายส่วนใหญ่มักไม่เคร่งครัดและไม่มีข้อกำหนดในการรับผู้ฝึกสอนเข้าปฏิบัติงาน จึงควรเลือกสถานให้บริการออกกำลังกายที่มีมาตรฐาน โดยผู้ฝึกสอนควรได้ผ่านการเรียนในการออกกำลังกายประเภทที่สอนมาอย่างถูกวิธี (เช่น ได้รับประกาศนียบัตรรับรอง) 4.2  ผู้ฝึกสอนควรมีจุดมุ่งหมายในการให้บริการเฉพาะการฝึกเพียงอย่างเดียวเป็นหลัก แต่ไม่ควรมีหน้าที่ในการขายชั่วโมงฝึกด้วย 4.3  ผู้ฝึกสอนควรจัดโปรแกรมการฝึกแบบมีจุดมุ่งหมาย พร้อมกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน 4.4  ผู้ฝึกสอนไม่ควรสอนการออกกำลังกายหลายประเภทมากเกินไป โดยควรเน้นที่ตนเองถนัดเป็นหลัก 4.5  ผู้ฝึกสอนจะต้องสามารถให้บริการตามโปรแกรมที่กำหนดไว้ร่วมกันกับผู้ออกกำลังอย่างครบถ้วน และจะต้องไม่รับฝึกผู้อื่นทับซ้อนในช่วงเวลาดังกล่าว 4.6  ควรมีการประเมินผลการฝึกสอนของผู้ฝึกสอนอย่างเป็นระบบ 4.7  การฝึกออกกำลังกายแบบกลุ่ม (Group Exercise) ควรมีชั้นเรียนที่หลากหลายไว้บริการ ในกรณีที่ไม่ต้องการใช้ผู้ฝึกส่วนตัว 5. อัตราค่าให้บริการที่เหมาะสม 5.1  ค่าผู้ฝึกสอนส่วนบุคคลนั้นยังไม่ปรากฏข้อจำกัดที่ชัดเจน โดยแตกต่างกันไป อาทิ ค่าฝึกการออกกำลังกายประเภทยกน้ำหนัก และประเภท TRX  ควรอยู่ระหว่าง 300 -700 บาท ต่อชั่วโมง ค่าฝึกออกกำลังกายประเภทโยคะ และพิลาทิส (Pelates) ควรอยู่ระหว่าง 500 –2500 บาท ต่อชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์ของผู้ฝึกสอน) 5.2  ไม่ควรซื้อชั่วโมงฝึกสะสมไว้มาก ๆ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ฝึกสอนเป็นผู้ขายด้วย เพราะชั่วโมงฝึกจะมีวันหมดอายุ 5.3  ค่าฝึกการออกกำลังกายกลุ่ม บางสถานประกอบการมักรวมอยู่ในค่าสมาชิก หรืออาจแยกจ่ายขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทฯ รายละเอียดที่ควรพิจารณาประกอบได้แก่ 5.3.1   ประเภทของการออกกำลังกาย 5.3.2   จำนวนคนในกลุ่มแต่ละครั้ง ทั้งนี้ราคาต่อครั้ง ต่อชั่วโมงไม่ควรมากไปกว่า 300 บาทในกรณีที่ไม่มีอุปกรณ์การฝึกประกอบ และถ้ากลุ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ค่าฝึกควรต้องลดลง //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 154 เงิบแห่งปี

ต้อนรับเทศกาลปีใหม่ ก่อนจะก้าวเข้าสู่ปี 2557 เราลองมาทบทวนประสบการณ์เงิบจากข่าวเกี่ยวกับผู้บริโภค ที่ทางทีมฉลาดซื้อได้รวบรวมมาและจัดให้เป็น “เงิบแห่งปี” กันนะคะ   1 ประสบการณ์เงือก เมื่อสตาร์บัคส์ประกาศฟ้องร้านกาแฟรถพ่วงสตาร์บัง โทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้ารูปนางเงือกสองหาง ที่เขาบอกว่าเขาใช้เวลากว่า 40 ปีเพื่อทำให้มันเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคทั่วโลก หลายคนฟังแล้วขำที่บังสองพี่น้องเจ้าของร้านกาแฟเคลื่อนที่เจ้านี้ เข้าใจโหนกระแสร้านกาแฟระดับโลก นอกจากตั้งชื่อคล้ายแล้วทำโลโก้แนวเดียวกันอีกด้วย โลโก้ของบังเป็นรูปบังโพกผ้า มือหนึ่งถือกระบวยน้ำร้อน อีกมือชูสองนิ้ว แต่เราก็คงไม่แวะซื้อกาแฟบังเพราะเข้าใจสับสนว่าเป็นสตาร์บัคส์อยู่แล้ว (เอ๊ะหรือว่ารอบๆมอเตอร์ไซค์บังจะมีไวไฟให้ใช้เหมือนกันด้วย) นักการตลาดให้ความเห็นว่านี่เป็นการ “ล้อเลียน” มากกว่า “ลอกเลียน” แต่เพื่อเป็นการ “รักษาประสบการณ์สตาร์บัคส์” ตามความคาดหวังของลูกค้า บริษัทบอกว่า “จำเป็นต้องฟ้อง” ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเรียกค่าเสียหาย 300,000 บาท และดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี จากบังสองพี่น้อง รวมถึงให้ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายความ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี สตาร์บัคส์บอกว่าเจอแบบนี้มาหลายครั้ง แต่ที่ผ่านมาใช้วิธีเจรจากับผู้ที่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ และให้ความช่วยเหลือจนฝ่ายนั้นยินยอมปรับเปลี่ยนเครื่องหมายการค้าของตัวเองให้แตกต่างไปจากสตาร์บัคส์ บังเอิญว่าคราวนี้ผู้ประกอบการสตาร์บังเขาขัดขืน ผู้บริโภคอย่างเราเลยได้เห็นอะไรแปลกๆ คำตัดสินในคดีอาญาข้อหาเลียนเครื่องหมายการค้านี้จะเป็นอย่างไร เราจะรู้ผลวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 นี้   2 ขาวดีมีทุนให้ !!? ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สังคมทั้งออนไลน์และออฟไลน์หงุดหงิดกันไม่น้อยเมื่อบริษัทยูนิลิเวอร์ปล่อยแคมเปญโฆษณาครีมผิวขาวตัวใหม่ ที่มุ่งตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักศึกษาสาว ท่ามกลางกระแสความอยากขาว บริษัทเลยจัดกิจกรรม “ซิตร้าค้นหาสาวใสเด้งวิ๊ง 3D” เพื่อตามล่าหานักศึกษาสาวผิวขาวใส ที่ผู้เข้าแข่งขันไม่ต้องทำอะไรนอกจาก “แต่งชุดนักศึกษา โพสต์ท่าโชว์ผิวเด้ง 3 มิติ พร้อมถือซิตร้า เพิร์ลลี่ไวท์ ซีรั่ม หรือโลชั่น แล้วแชะรูปเต็มตัว ส่งมาที่ www….” ข้อความที่ปรากฏในโฆษณาโทรทัศน์ระบุว่า ผู้ชนะจะได้รางวัลเป็นทุนการศึกษากว่า 100,000 บาท (พร้อมโอกาสในการได้ร่วมถ่ายแฟชั่นลงนิตยสาร Cheeze) เท่านั้นแหละท่านผู้ชม เกิดการถกเถียงกันมากมายทั้งกลุ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์การให้ทุนการศึกษากับคนที่ผิวขาว คนผิวคล้ำไม่มีโอกาสเลยหรือ บ้างก็ตั้งคำถามเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท แต่หลายคนก็เข้าอกเข้าใจ บอกว่าเขาขายครีมผิวขาว จะให้ไปแจกรางวัลคนผิวคล้ำมันก็ไม่ตรงคอนเซปต์สิ และที่เรียกรางวัลว่า “ทุนการศึกษา” ก็เพราะจะได้ไม่ต้องเสียภาษีไง ว่ากันไป … เรื่องนี้เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ของอังกฤษและออสเตรเลียหลายฉบับ คนที่นั่นคงจะอ่านไปขำไป ... ไอ้เราก็อยากจะกำจัดความขาวเหลือเกิน ให้เอาตัวเองไปปิ้งย่างกลางแดดก็ยอม สุดท้ายบริษัทออกมาขอโทษว่าไม่ได้มีเจตนาจะทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องของการเหยียดสีผิว ว่าแล้วก็ถอนแคมเปญ “ขาวในฟอร์ม” นี้ออกไป แต่มันก็ทำให้นักศึกษา หรือวัยรุ่นทั่วไปได้เห็นความจริงข้อหนึ่ง นั่นคือคนที่มาถ่ายรูปชิงรางวัลนั้น ขาวมาเองจากบ้านอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับผลิตภัณฑ์ที่ถืออยู่ในมือสักหน่อย เพราะเขาเพิ่งจะเปิดตัวปีนี้เองนะ   3 ขาขึ้น ข่าวนี้รับประกันความเงิบสามชั้น  เมื่อราคาแก๊สหุงต้ม ค่าไฟฟ้า และค่าทางด่วน พร้อมใจกันขึ้นราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา จะให้ลดการใช้ไฟฟ้า หรืองดใช้ทางด่วนนั้นเป็นเรื่องพอจะทำได้ แต่จะให้ประหยัดแก๊สด้วยการหันมากินอาหารดิบๆสุกๆ คงจะทำยาก เขาบอกว่าราคาแก๊สหุงต้ม (แอลพีจี) นั้นจะปรับขึ้นเพียงกิโลกรัมละ 50 สตางค์ ต่อเดือนเท่านั้น ไม่น่าจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนมากนัก แต่ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานเขาประกาศให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อน (.. ตกลงเรามีผู้เดือดร้อนนะ) เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย (บ้านที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ หรือใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 90 หน่วยต่อเดือน) กลุ่มร้านค้าหาบเร่ แผงลอยร้านอาหาร ที่ยังสามารถซื้อแก๊สหุงต้มได้ในราคาต่ำกว่าคนอื่น ณ วันที่เขียนเรื่องนี้ราคาแก๊สขึ้นมาอยู่ที่ 20.13 บาทต่อกิโลกรัม (ถังละ 15 กิโลกรัม จึงราคา 301.95 บาทเป็นอย่างต่ำ) แต่สุดท้ายแล้วราคาแก๊สจะขึ้นไปจนราคาต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 24.82 บาท (ถังละ 372.30 บาท ซึ่งหมายความว่า เราคงเสียเงินค่าแก๊สไม่ต่ำกว่า 400 บาท (พ่อค้าไม่นิยมเศษสตางค์จ้า) ... แย่แล้วซาร่า จะหนีไปใช้เตาไฟฟ้าค่าเอฟทีก็ขึ้น เราคงต้องพึ่งพาอาหารนอกบ้านกันแล้ว แต่เดี๋ยวก่อน ... เราต้องจ่ายแพงขึ้นด้วยหรือเปล่า? กรมการค้าภายในยืนยันว่ามันส่งผลกระทบน้อยมาก อธิบดีเขาบอกว่าก๊าซหุงต้ม 1 ถังใช้ประกอบอาหารได้ประมาณ 300 จาน การปรับขึ้นก๊าซเดือนละ 50 สตางค์/กก. ทำให้ต้นทุนราคาอาหารปรุงสำเร็จเพิ่มขึ้นจานละ 2-3 สตางค์เท่านั้น จิ๊บๆ กรมฯ ยังบอกด้วยว่า เขาขอความร่วมมือจากทางร้านไว้ ให้ช่วยตรึงราคาอาหารปรุงสำเร็จเอาไว้จนถึงสิ้นปี ... ปีหน้าฟ้าใหม่ ก็ตัวใครตัวมันแล้วกันพี่น้อง   4 รับรองซิมไม่ดับ วันที่ 15 กันยายน 2556   บริษัทดิจิตอลโฟน  จำกัด(มหาชน) หรือทรู ย้ำหนักแน่นว่า ซิมไม่ดับแน่นอน ก็คงไม่ดับแน่ล่ะ เพราะ กสทช. เอื้ออาทรด้วยการอนุญาตให้ต่ออายุสัมปทานไปอีก 1 ปี (สัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz หรือระบบ 1800) การต่ออายุโดยงดประมูลเพื่อหารายใหม่นี้จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศและประชาชนเป็นมูลค่าสูงถึง 1.6 แสนล้านบาท ข้อมูลโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กสทช. อ้างไม่ต่ออายุไม่ได้หรอกจะมีคนถึงเกือบ 20 ล้านคนต้องถูกทอดทิ้ง จึงประกาศมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ขึ้น พร้อมอนุญาตให้ทรูครอบครองสัมปทานไปอีก 1 ปี และแถมท้ายด้วยการฟ้องหมิ่นประมาท อาจารย์เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และนางสาวณัฎฐา โกมลวาทิน ที่ร่วมกันเผยแพร่ข่าวนี้ทางช่องไทยพีบีเอส เงิบไหมล่ะ นักวิชาการ นักข่าว ทำหน้าที่ก็ถูกฟ้อง @#$%$#@ และหลังจากติดตามผลมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ของ กสทช. จากงานเสวนาเรื่อง “60 วัน ประกาศเยียวยา 1800 MHz ประชาชนได้อะไร” ยังพบว่า 3-4 ข้อห้ามทั้งห้ามซิมดับ ห้ามขายเบอร์คลื่น 1800 อีก ห้ามโอนย้ายเลขหมายโดยไม่บอกผู้บริโภค ทรูก็จัดให้มีทุกข้อหลัง 15 กันยายน โดยเฉพาะห้ามโอนย้ายเลขหมายตามอำเภอใจ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ยังโดนกับตัวเอง ว่าไปเรื่องนี้คงไม่เกิดขึ้น หาก กสทช.เตรียมการประมูลเอาไว้ล่วงหน้าก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในทุกคลื่นความถี่ นี่ก็แว่วเสียงจากแหล่งข่าวที่ใกล้ชิด กสทช. บอกมาว่า ต่ออายุ 1800 ให้ทรูไป 1 ปี คงต้องต่อให้ เอไอเอส กับ ดีแทค ด้วย ไม่งั้นจะถูกกล่าวหาว่าเลือกปฏิบัติ (สองค่ายนี้เหลือเวลาสัมปทานอีกสองปี) อืม...คิดได้   5 ตกลงหมูหรือไก่ ตอนเดือนมีนาคม ฉลาดซื้อโดยคอลัมน์ซูมลงเรื่อง ฉลากเบอร์เกอร์ข้าวเหนียวหมูย่าง ที่มันไม่ใช่หมูย่างล้วนๆ อย่างที่เข้าใจตามชื่อสินค้า แต่มันมีเนื้อไก่ผสมอยู่ด้วย ทำเอาหลายคนอึ้ง ประมาณไม่รู้มาก่อนเลยนะเนี้ย พอมีคนเอาข้อมูลไปแชร์กันต่อ(รวมทั้งหาข้อมูลเพิ่ม) ในเว็บไซต์ต่างๆ โดยเฉพาะพันทิป เลยกลายเป็นกระแส ผู้คนหันมาพลิกอ่านฉลากอาหารในร้านเซเว่นฯ กันคึกคัก และได้ค้นพบโลกใหม่ ที่ต้องทำให้อึ้ง อย่างเบอร์เกอร์ข้าวเหนียวหมูทอดน้ำพริกหนุ่ม อันนี้ปริมาณหมูกับไก่ พอฟัดพอเหวี่ยง หมู 10% ไก่ 9.9% มีหลายคนมาตอบว่า เขาทำกันแบบนี้มานานแล้ว บ้างก็ว่าเพื่อให้มันอร่อยขึ้น แต่อีกหลายเสียงตอบว่า ผสมอะไรให้อร่อยขึ้นก็ไม่ว่าหรอก แต่ทำไมต้องตั้งชื่อให้เข้าใจผิดด้วย ประโยคหลังนี้ตัดพ้อโดยผู้บริโภคที่พลาดมาหลายครั้ง ทางผู้ผลิตเขาก็อธิบายว่า เพื่อความอร่อยนั่นแหละจึงต้องมีการผสมให้เนื้อสัมผัสมันดีขึ้น (แต่มันไม่ใช่หมูอยู่ดี) และอ้างว่า ใครเขาก็ทำกัน ฉลาดซื้อเลยไปดูฉลากอาหารประเภทเดียวกันเพิ่มเติมอีกหลายยี่ห้อ พบว่า ก็จริงอย่างซีพีว่าแฮะ ฉลาดซื้อสำรวจไป 76 ตัวอย่าง 46 ตัวอย่างฉลากไม่ไปกับชื่ออาหารเลย กุ้งทอดก็มีปลาผสม ไส้กรอกชีส ไม่มีชีสระบุในส่วนประกอบ เกี๊ยวปู ไม่บอกว่ามีปูเท่าไหร่ บอกแต่ว่า เนื้อสัตว์และแผ่นแป้ง ฯลฯ ความลำบากจะไม่เกิดกับคนที่กินอะไรก็ได้ แต่คนที่จำเป็นหรือมีข้อห้ามประจำตัว กินนี่ไม่ได้ นั่นไม่ได้ คงลำบากหน่อยนะ อ่านฉลากดีๆ ล่ะกัน   6 โฟมในกำแพง “The Base คอนโด” สะท้อนความเป็นตัวคุณ แล้ว “โฟมที่อยู่ในกำแพง” สะท้อนอะไร ใครจะไปคิดว่าคอนโดหรูเลิศอลังการ ราคาหลายล้าน จะใช้วัสดุที่ดูแล้วไม่น่าจะมีความแข็งแรงทนทานอย่าง “โฟม” มาทำผนังห้อง!? เงิบกันเลยท่าน เรื่องมันเกิดขึ้นเมื่อเจ้าของห้องชาวต่างชาติที่ชื่อว่า Mr.Kristopher George Houston ผู้อาศัยในคอนโด The Base park east สุขุมวิท 77 ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้เรียกช่างมาทุบผนังห้องเพื่อจะดูว่าทำไมถึงมีน้ำรั่วซึมออกมา แต่ผลจากการลงมือทุบผนังห้อง ไม่ได้ช่วยให้ Mr.Houston พบที่มาของการซึมของน้ำเพียงอย่างเดียว แต่เจ้าตัวยังพบเรื่องที่ทำให้ทั้งตกใจ ประหลาดใจ และไม่เข้าใจ เมื่อผนังที่ควรก่อด้วยอิฐและซีเมนต์ กลับกลายเป็นโฟมและแผ่นกระดาษที่ถูกสอดไว้อยู่ข้างใน Mr.Houston จึงถ่ายภาพโฟมที่พบหลังจากการทุบผนัง ไปโพสยังหน้าเฟสบุ๊คของแสนสิริ ทีนี้ก็เป็นเรื่อง เพราะหลังจากนั้นก็มีคนนำเอาภาพและข้อความที่ Mr.Houston ที่โฟสในเฟสบุ๊ค ไปขยายต่อในเว็บไซต์พันทิป เรื่องเลยกลายเป็นที่สนใจในสังคม นักข่าวก็สนใจ สุดท้ายทางแสนสิริเจ้าของโครงการจึงต้องออกมายอมรับผิด โดยยอบรับว่าเป็นความบกพร่องของช่างผู้ทำงาน ที่อาจจะรีบร้อนให้งานเสร็จไวจึงใช้โฟมมาอุดผนังตรงบริเวณเต้ารับไฟฟ้าที่ติดอยู่ตรงผนัง ขนาดประมาณ 30 x 20 ซม. แต่ยืนยันว่าไม่ผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ตรงกับทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ที่ออกมาให้ความเห็นว่า โฟมที่พบเป็นการพบในบางจุด ไม่ใช่ทั้งส่วนของผนัง ถ้าไม่ใช่ความจงใจของทางโครงการ ก็คงเป็นเพราะความสะเพร่าของช่าง(ก็ไม่รู้สินะว่าคนในคอนโดนั้นจะกล้าลองทุบผนังห้องตัวเองพิสูจน์บ้างไหม) ก่อนหน้านี้ในเว็บไซต์พันทิปเคยมีคนออกมาแฉเรื่องความไม่จริงใจกับผู้บริโภคของคอนโด The Base 77 มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว เรื่องของวัสดุที่ใช้และการออกแบบโครงสร้างอาคาร ที่ของจริงแตกต่างคนละอย่างกับที่เห็นในโฆษณา แม้ Mr.Houston จะบอกว่าที่เขาโพสภาพของโฟมที่พบในผนังห้องไปยังหน้าเฟสบุ๊คของแสนสิริ เพราะว่าแค่อยากให้ทางโครงการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องและให้ช่วยตรวจสอบห้องอื่นๆ ในโครงการว่าเจอปัญหาเดียวกันหรือเปล่า ไม่ได้ต้องการเรียกร้องค่าชดเชยหรือฟ้องร้องเป็นคดีความ แต่เมื่อเรื่องนี้กลายเป็นกระแส ก็ช่วยทำให้คนที่กำลังอยากเป็นเจ้าของคอนโดเริ่มต้องฉุกคิดถึงเรื่องของวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ ความถูกต้องและความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร มากกว่าที่จะดูกันแค่ ความสวยงาม หรือสิ่งอำนวยความสะดวก   7 ตามหาช้างกับเมเจอร์ แม้จะเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจโรงภาพยนตร์ของประเทศไทย แต่ “เมเจอร์ ซีเนเพล็กซ์” ก็ยังคงสร้างเรื่องให้ผู้บริโภคปวดใจได้เสมอ ไม่ใช่แค่เรื่องโฆษณาในโรงหนังที่ฉายกันยืดยาวคนดูต้องนั่งรอแล้วรออีกกว่าจะได้ดูหนัง เมื่อกลางปีก็มีคลิปที่ถูกกระหน่ำแชร์ในโลกออนไลน์ ถึงเหตุการณ์ที่ผู้จัดการโรงหนังโต้เถียงกับลูกค้าอย่างดุเดือดเรื่องการบริการ สิ่งที่ตามมาคือกระแสวิจารณ์ในทางลบต่อโรงหนัง จนเมเจอร์อยู่เฉยไม่ไหวต้องทำหนังสือชี้แจงบวกกับการลงโทษพนักงานของตัวเอง ล่าสุดเมเจอร์ทำให้คนดูหนังต้องปวดใจอีกครั้ง เมื่ออยู่ดีๆ หนังไทยฟอร์มใหญ่อย่าง “ต้มยำกุ้ง 2” ถูกปรับขึ้นราคาค่าตั๋วอีก 20 บาทต่อที่นั่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า “หนังลงทุนสูงกว่า 500 ล้านบาท ด้วยเทคโนโลยีระดับฮอลลีวูด” งานนี้เลยมีคนตั้งข้อหาว่าเอาเปรียบผู้บริโภคเกินไปหรือเปล่า ขนาดทางสหมงคลฟิล์มเจ้าหนังแท้ๆ ยังออกตัวว่าไม่มีเอี่ยวเรื่องการขึ้นราคาตั๋วนะครับ โบ้ยว่าทางเมเจอร์เป็นคนทำเรื่องนี้แต่เพียงผู้เดียว คราวนี้ก็เลยมีคนมาสืบสวนหาสาเหตุที่มาของราคาเพิ่ม 20 บาท แล้วจึงถึงบางอ้อ เพราะมันมีโปรโมชั่นพิเศษ หากนำชิ้นส่วนฉลากมาม่ามาแสดงตอนซื้อตั๋วจะได้ลดราคาค่าตั๋วทันที 20 บาท โอ้ เป๊ะ รับกับราคาที่ปรับขึ้นพอดี(ใครไม่ได้กินมาม่า ก็จ่ายไปสิ) คงไม่อาจปฏิเสธได้หรอกนะ ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่วิธีส่งเสริมการตลาดที่ทั้งเมเจอร์และมาม่าตั้งใจทำร่วมกัน ความจริงแล้วเรื่องการปรับขึ้นราคาค่าตั๋วหนังฟอร์มใหญ่ๆ โดยเฉพาะหนังจากต่างประเทศของโรงหนังเมเจอร์เกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ใช่เกิดกับหนังต้มยำกุ้งภาค 2 เป็นเรื่องแรก ซึ่งทางโรงจะอ้างเหตุผลว่าหนังเรื่องนั้นเป็นหนังฟอร์มยักษ์ทุนสร้างสูง จำเป็นต้องขึ้นราคาตั๋ว แต่เหตุผลจริงๆ คงไม่พ้นเรื่องการ “ฉวยโอกาส” หวังฟันกำไรเพิ่มจากหนังดังๆ ที่ดูแล้วยังไงคนก็ต้องแห่กันมาดู เชื่อว่าหลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตั๋วหนังปรับขึ้นราคา พนักงานออกตั๋วมาก็จ่ายเงินไป อาจตะขิดตะขวงใจว่าทำไมแพงจัง แต่ไม่รู้จะทำยังไง เราจึงขอเสนอวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับคนที่ไม่อยากถูกเอาเปรียบจากโรงหนังเจ้าปัญหาอย่างเมเจอร์ ก็คือการไม่สนับสนุน เลิกไปดูหนังที่โรงเมเจอร์เสีย ซึ่งจากหลายหลากปัญหาที่เมเจอร์ได้สร้างไว้ ทำให้เกิดการทำแฟนเพจในเฟสบุ๊คที่ชื่อว่า “เครือข่ายคนรักหนังต่อต้านการโฆษณามหาโหดของโรงหนังเครือเมเจอร์” ที่ตอนนี้มีคนมากดถูกใจกว่า 2 หมื่น 5 พันคน แสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบใจกับการเอาเปรียบผู้บริโภคของโรงหนังในเครือนี้   8 จุดเทียนถาม หาความเป็นธรรม เพราะ กฟภ. ตัดไฟที่ค้างชำระไว้ 441 บาท 14 สตางค์!!! ทำให้เด็กสองคนตาย หรือเป็นความประมาทไม่รู้ความของเด็กเอง เรื่องเศร้าที่ไม่ควรจะเกิดจริงๆ เมื่อ 2 พี่-น้องชาวพิษณุโลก คนพี่อายุ 13 ปี ส่วนคนน้องอายุ 9 ขวบ เสียชีวิตคากองเพลิง จากเทียนไขที่จุดทิ้งไว้ เนื่องจากที่บ้านถูกการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.พิษณุโลก ตัดไฟ เพราะไม่ได้จ่ายค่าไฟ เลยจำเป็นต้องจุดเทียนเพื่อส่องสว่างตอนทำการบ้าน แต่(อาจเผลอหลับ)ไฟเกิดลุกไหม้บ้านจนเกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าว แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่สังคมจะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กฟภ. ว่าใจดำไปหรือเปล่าที่ตัดไฟฟ้าคนยากคนจนแบบนี้ ทั้งๆ ที่ยอดค่าไฟที่ค้างอยู่ของครอบครัวนี้คือ 441 บาท 14 สตางค์เท่านั้น ขณะที่มีคนเปรียบเทียบว่าที่หน่วยงานราชการหลายแห่ง ค้างค่าไฟเป็นหลักล้านแต่ กฟภ. ไม่เห็นดำเนินการใดๆ ทาง กฟภ. เองก็ทำได้แค่ออกมาแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และชี้แจงว่าการตัดไฟบ้านที่ค้างชำระค่าบริการ เจ้าหน้าที่ต้องทำไปตามหน้าที่ แต่เรื่องนี้ก็ปลุกให้ กฟภ. ตื่นตัว ลุกขึ้นมาปรับปรุงระบบการแจ้งเตือนค้างจ่ายค่าไฟฟ้า โดยจะขยายเวลาก่อนที่จะดำเนินการตัดไฟ จากเดิม 7 วัน เพิ่มเป็น 2 เดือน เริ่มตั้งแต่การส่ง sms ให้ชำระค่าบริการไปยังโทรศัพท์มือถือ จากนั้นจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปเจรจาถึงบ้าน แต่หากครบกำหนด 2 เดือนแล้วยังไม่มีการชำระค่าบริการจึงจะมีการดำเนินการตัดไฟ แถมยังมีแนวคิดยกเลิกเรื่องการตัดไฟแต่จะให้ผู้ใช้เลือกจ่ายเป็นดอกเบี้ยแทน แต่ก็ต้องศึกษาความเป็นไปได้ เพราะในความเป็นจริงหากผู้ใช้ไฟไม่สามารถชำระค่าไฟได้แล้วจะมีกำลังพอที่จะชำระดอกเบี้ยได้หรือเปล่าคงต้องมีการพิจารณาหาความเหมาะสมกันต่อไป ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 8 แสนรายที่มีปัญหาค้างค่าไฟ และในจำนวนนี้ 2 แสนรายมีโอกาสเสี่ยงที่จะต้องถูกตัดไฟ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครอบครัวยากจนตามชนบท กฟภ. ต้องหามาตรการดูแลจัดการในเรื่องนี้ที่ไม่เป็นการทำร้ายและเอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำอีก   9 เปิบข้าว สุดยอดไฮไลท์ เงิบ คือวิวาทะเรื่องข้าว ผลอันเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าวอันลือลั่นบวกข่าวข้าวเน่า ข้าวปนเปื้อนสารพิษ ทั้งแชร์ ทั้งดราม่าจึงกระหน่ำกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง มิไยที่รัฐจะแถลงข่าวร่วมกับหน่วยงานดูแลเรื่องข้าวทั้งหลายออกมาบอกว่า ไม่จริง ไม่มี แต่คนก็ไม่เชื่อมั่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับมูลนิธิชีววิถี เลยจับมือกัน(ลงขัน) ซื้อข้าวถุงบรรจุ 5 กิโลกรัมไปทดสอบหาสารรมควันข้าว ชื่อเมทิลโบร์ไมด์ ว่ามี/ไม่มี เกิน/ไม่เกิน เพื่อหวังช่วยหาคำตอบให้กับสังคม หลังมูลนิธิฯ ทั้งสองแถลงว่า ข้าวถุงที่นำไปทดสอบ พบว่ามีเมทิลโบร์ไมด์ ตั้งแต่ “ไม่มีเลย และมีน้อยมากไปจนถึงมากเกินมาตรฐาน” (1 ยี่ห้อเกินมาตรฐานสากลไปโขอยู่สามารถตามอ่านย้อนหลังได้ที่ ฉบับ 149) โอ้แม่เจ้า...สายโทรศัพท์ที่มูลนิธิฯ ทั้งสองอื้ออึงมาก รวมทั้งการแชร์ข้อมูลกันกระหน่ำ สำนักข่าวทั้งหลายไม่มีที่ไหนพลาดข่าวนี้ ฝ่ายเชียร์ก็ว่ามูลนิธิฯ ทำดีแล้ว ฝ่ายค้านก็พยายามเหลือเกินในการดิสเครดิต มูลนิธิฯ ทั้งกล่าวหาว่า ทำการทดสอบหลังบ้าน รับเงินฝ่ายค้าน ข้อมูลมั่ว ฯลฯ แต่เผอิญเหลือเกินที่ อย. ก็มีผลทดสอบตรงกับของมูลนิธิฯ (แถลงหลังมูลนิธิฯ 1 วัน) ยืนยันว่า เป็นยี่ห้อเดียวกันเสียด้วยที่เกินมาตรฐาน งานนี้ต้องบอก เงิบ นะขอรับ เมื่อปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมี เลยกลายเป็นแก้เกี้ยวว่า “เอาข้าวล้างน้ำเยอะหน่อย” ก่อนหุงเท่านี้ก็ปลอดภัย   เงิบ คืออะไร รู้จักอาการหงายหลังใช่ไหมคะ จะเกิดเมื่อตัวเราไปปะทะกับวัตถุอะไรก็ตามที่แรงพอจะผลักให้เราหงายลงไปได้ แต่ถ้าไม่ใช่วัตถุ แต่เป็นอะไรที่มีความแรงพอก็น่าจะทำให้เราหงายได้เช่นกัน อย่างคำด่าแรงๆ หรือเกิดภาวะตกใจอย่างแรง อาการ“หงายหลัง” ก็เกิดขึ้นได้ แต่ พ.ศ. นี้ หงายหลังดูจะยาวไป ต้องนี้เลย “เงิบ” ที่พจนานุเกรียนระบุว่า - ใช้เป็นคำแสดง "อาการตกใจจนแทบหงายหลัง ในคำพูดของคนอื่นที่กล่าวขึ้นในขณะนั้น " คล้ายกับคำว่า "เหวอ" - ใช้แทนคำอุทานว่า "ตาย... ตายห่า" - ใช้ในลักษณะโดนเบรคในการสนทนาจนหน้าหงาย - "ฮาจนหงายท้อง" - "แปลกใจมาก ไม่เคยคิดฝันมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น" http://pojnanukrian.com/เงิบ     //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 โซล่าร์เซลล์.......เหมาะกับสังคมคนไทยจริงหรือ

เราอาจจะไม่ต้องเกริ่นนำให้ยืดยาวว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องประหยัดพลังงานและหาพลังงานทดแทนมาเพื่อสอดรับกับเรื่องวิกฤติพลังงาน  เพราะจากข้อมูลทางสถิติบอกว่า  นับแต่ประมาณปี 2543 เป็นต้นมา อัตราความสำเร็จในการค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ดิ่งลงอย่างสม่ำเสมอ และคาดว่าเมื่อถึงปี 2050 จะไม่มีการค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่อีกต่อไปแล้ว   มาใช้พลังงานทางเลือกกันเถอะ ปัญหาไฟฟ้าดับในภาคใต้หรือปัญหาน้ำมันแพง เป็นเหตุผลเพียงพอสำหรับการหันมาเลือกใช้พลังงานทางเลือก ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยทั้งเราและโลกให้ดำรงอยู่แบบไม่ลำบากในภายภาคหน้านัก พลังงานทางเลือก หรือ พลังงานหมุนเวียน ซึ่งหมายถึงพลังงานที่เกิดขึ้นจากทรัพยากรรอบตัวที่ไม่มีวันหมด เช่น สายลม แสงแดด สาบน้ำ เศษอาหาร มูลสัตว์ ชานอ้อย แกลบ ฯลฯ จึงถูกนำเสนอขึ้นมาเป็นทางเลือกเพื่อทดแทนพลังงานกระแสหลักทุกวันนี้ ถ้าถามว่า ทำไมเราต้องหันมาพึ่งพาพลังงานหมุนเวียน คำตอบก็คือ เพราะต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนมีลักษณะยิ่งทำยิ่งถูก   เพราะมีค่าใช้จ่ายหลักคือการลงทุนตอนต้น หลังจากนั้นวัตถุดิบล้วนแต่หาได้รอบตัวในราคาถูก หรือไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่นเมื่อติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าแล้ว นอกเหนือจากค่าตรวจสภาพ ซ่อมบำรุง ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสายลมจัดการต่อ   ส่วนพลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติที่มีเหลือเฟือและเหมาะกับบ้านเมืองเรามากที่สุดก็คือ พลังงานแสงอาทิตย์   พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาเป็นการใช้พื้นที่หลังคาบ้าน อาคารธุรกิจ หรือโรงงาน ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งส่วนที่อยู่บนหลังคา ได้แก่ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำหน้าที่รับแสงอาทิตย์และเปลี่ยนพลังงานแสงให้เป็นพลังงานไฟฟ้าโดยตรง ไฟฟ้าที่ได้จะเป็นกระแสตรง (Direct Current) ซึ่งจะถูกส่งมายังเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าหรือ Inverter ที่ติดตั้งอยู่ภายในบ้าน เพื่อเปลี่ยนกระแสไฟตรงให้เป็นกระแสสลับ (Alternate Current) ที่สามารถนำมาใช้งาน ได้เหมือนกับกระแสไฟฟ้าที่เราใช้อยู่ตามปกติ ไฟฟ้าที่ผลิตได้และผ่าน Inverter แล้วจะสามารถขายให้แก่การไฟฟ้าได้ทั้งหมด โดยได้รับราคาตามมาตรการ FiT ที่ภาครัฐกำหนด คือ •          ขนาดเล็กสำหรับที่พักอาศัย ไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ ราคารับซื้อ 6.96บาทต่อหน่วย •          ขนาดกลาง มากกว่า 10 กิโลวัตต์ และไม่เกิน 250 กิโลวัตต์ ราคารับซื้อ 6.55 บาทต่อหน่วย •          ขนาดมากกว่า 250 กิโลวัตต์ และไม่เกิน 1,000 กิโลวัตต์ ราคารับซื้อ 6.16 บาทต่อหน่วย ข้อดีของการผลิตไฟฟ้า ณ ที่มีการใช้แบบนี้คือ จะช่วยลดการสูญเสียไฟฟ้าในระบบจำหน่ายได้ และเป็นการทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่มีความสะอาดไม่ก่อให้เกิดมลพิษ   ตัวอย่างการใช้พลังงานทดแทนในประเทศไทย ในปัจจุบันการใช้พลังงานทดแทนของไทยเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เฉพาะที่ภาคอีสาน พบว่า มีศักยภาพสูง  ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม น้ำ รวมทั้งการที่ชาวบ้านสามารถมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาพลังงาน ตัวอย่าง ที่ยโสธร มีการนำพลังงานลม ที่ได้จากกังหันลมมาช่วยลดต้นทุนการผลิต และสูบน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร จนการทำไร่ทำนาสามารถทำได้ทุกฤดูกาลไม่ต้องรอฟ้ารอฝน รวมทั้งที่สุรินทร์  นำน้ำเสียจากโรงงานขนมจีน หรือมูลสัตว์ มาผลิตแก๊สชีวภาพในชุมชน เป็นต้น     โซล่าร์เซลล์ช่วยเราประหยัดอย่างไร ข้อมูลการเปรียบเทียบให้เห็นการลงทุน+การคุ้มทุน+การประหยัดพลังงาน ฯลฯ ตาราง  GZTH-PV Price Guide for FIT Program 13-09-13 เครดิต คุณสุทัศนา กำเนิดทอง บ.เกร็นโซน(ประเทศไทย) จำกัด   SOLAR PV PRICE GUIDE FOR THAI FIT PROGRAM 13th September, 2013 ขนาดของระบบ พื้นที่ติดตั้ง(ตรม.) PERFORMANCE MULTIPLIER FIT Rate ( บาท ) กำลังการผลิตเฉลี่ยต่อปี(kwh) รายได้เฉลี่ยต่อปีจาก FIT (บาท) ค่าติดตั้ง(รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จุดคุ้มทุน(ปี) 2 20 3.9 6.96 2,847 19,815 168,000 8.48 3 30 3.9 4,271 29,723 246,000 8.28 5 50 3.9 7,118 49,538 405,000 8.18 10 100 3.9 14,235 99,076 800,000 8.07 20 200 3.9 6.55 28,470 186,479 1,560,000 8.37 50 500 3.9 71,175 466,196 3,850,000 8.26 75 750 3.9 106,763 699,294 5,550,000 7.94 100 1000 3.9 142,350 932,393 7,000,000 7.51 150 1500 3.9 213,525 1,398,589 10,200,000 7.29 200 2000 3.9 284,700 1,864,785 13,200,000 7.08 250 2500 3.9 6.16 355,875 2,192,190 16,000,000 7.30 500 5000 3.9 711,750 4,384,380 30,000,000 6.84 1000 10000 3.9 1,423,500 8,768,760 55,000,000 6.27 สรุปจากตาราง .....จะพบว่า บ้านที่ติดตั้งระบบโซล่าร์ รู๊ฟ ในพื้นที่ขนาด  30 ตร.ม. ขนาด 3 กิโลวัตต์ เงินลงทุน 246,000 บาท ได้ไฟ 4,271 หน่วย/ปี ขายไฟฟ้าได้ประมาณ 29,723 บาท/ปี เพราะฉะนั้นคืนทุนใน 8.28 ปี   โปรแกรมการคำนวณอย่างง่ายสำหรับระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ โปรแกรมการคำนวณอย่างง่ายสำหรับระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ คือ โปรแกรมที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน  พัฒนาขึ้นสำหรับผู้สนใจเรื่องการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายได้แก่ บ้านพักอาศัย, อาคารธุรกิจขนาดเล็ก และ อาคารธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่ หรือโรงงาน ขนาดตามที่ระบุไว้ข้างต้น ที่ขายไฟฟ้าได้ตามมาตรการ FiT ของภาครัฐ โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกตั้งต้นการคำนวณได้ทั้งจากพื้นที่ในการติดตั้งที่มีอยู่ หรือกำลังการติดตั้งที่ต้องการ และเลือกชนิดของแผงเซลล์และราคาระบบที่สามารถจัดซื้อได้ต่อ 1 กิโลวัตต์ และกดคำว่าคำนวณ ผลจากการคำนวณจะได้ทราบข้อมูลดังนี้ •          เงินลงทุนระบบเซลล์แสงอาทิตย์ทั้งหมดที่ต้องจ่าย •          พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อปี •          จำนวนเงินที่ขายไฟฟ้าได้ต่อปี •          จำนวนปีที่คืนทุน เพื่อให้รู้ว่าท่านจะคุ้มทุนในกี่ปี สามารถดาวน์โหลดได้ที่http://www.ces.kmutt.ac.th/pvroof/index.php สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สำนักพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ โทร 02 223-0021 ต่อ 1246 คุณกุลวรีย์ บูรณสัจจะวราพร.   การรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา กระทรวงพลังงาน ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2556 คณะรัฐมนตรี (ครม.)  ได้มีมติรับทราบมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมเมื่อวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2556 เห็นชอบให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Rooftop PV System) โดยมีปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งของแผงโฟโตโวลเทอิก (Photovoltaic Panel) รวม 200  MWp จำแนกเป็น 100 MWp สำหรับอาคารประเภทบ้านอยู่อาศัย และอีก 100 MWp สำหรับอาคารประเภทธุรกิจและโรงงาน ทั้งนี้ ให้มีการเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าภายในปี 2556 ด้วยอัตราการรับซื้อแบบ Feed-in Tariff ระยะเวลาการสนับสนุน 25 ปี โดยมีช่วงระยะเวลาการยื่นคำขอขายไฟฟ้าตั้งแต่วันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2556 ถึง วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2556 ยกเว้นวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดทำการของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (รวม 15 วันทำการ) ระหว่างเวลา 9.00 น. – 15.00 น. อนึ่ง ผู้ที่ประสงค์จะจำหน่ายไฟฟ้าประเภทอาคารบ้านอยู่อาศัยสามารถยื่นคำขอในแต่ละครั้งได้ไม่เกิน 10 คำขอ และประเภทอาคารธุรกิจ/โรงงานสามารถยื่นคำขอในแต่ละครั้งได้เพียง 1 คำขอ โดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะพิจารณาแบบคำขอและประกาศผลการตอบรับซื้อไฟฟ้าบน Website ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายตั้งแต่วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป ข้อสังเกต ระเบียบการยื่นคำร้องมีรายละเอียดปรากฏที่เว็ปไซต์ของกระทรวงพลังงาน มีข้อสังเกตว่า ใบสมัครมีความซับซ้อน เข้าถึงยาก แม้คนที่จบทางด้านวิศวกรรมมายังใช้เวลานานในการกรอกข้อมูล นอกจากนี้หากผู้บริโภคทำเรื่องขออนุญาตด้วยตนเองจะยากและใช้เวลามากกว่าการขอผ่าน บริษัทตัวแทนจำหน่ายโซล่าร์เซลล์  เช่น การขอใบรับรอง รง.4 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น     ความจริง เรื่องขายไฟฟ้าของประชาชนกับการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักเศรษฐศาสตร์ด้านพลังงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   ตัวอย่างในต่างประเทศที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ และได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างเยอรมัน เดนมาร์กก็ทำปกติ คือใช้แผงของตัวเองเลยถ้าเหลือก็ขายได้แต่เน้นเอามาใช้ในครัวเรือนก่อน หรือบางทีเขาเรียกเป็นมิเตอร์ 2 ทาง คือขายไปกับเข้ามาแต่ว่าหักลบกันก่อนแล้วค่อยไปคิดเงินกัน ของบ้านเรานั้นมิเตอร์ 2 ตัวไม่ใช่มิเตอร์ 2 ทางที่เรียกมิเตอร์ 2 ตัวคือตัวหนึ่งขาย ตัวหนึ่งซื้อ ประเทศเพื่อนบ้านเราที่ทำที่ใกล้ที่สุดก็ญี่ปุ่น ส่วนประเทศอื่นไม่ค่อยเยอะนักประเทศเราก็ทำได้ดีแล้วแต่ว่าเสียดายที่มันมาติดเรื่องเวลา คือถ้าเราคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรยังพอว่าแต่นี่คิดออกแล้วดันมาล็อคเรื่องเวลาซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าล็อคทำไม ล็อคแล้วมันกลายเป็นผลประโยชน์ของฝ่ายธุรกิจมากกว่า แต่เป็นผลประโยชน์ระยะสั้นนะ ผลระยะยาวจะขายใครได้อีก ลึกๆ แล้วอยากให้มันแน่นอนนะ เหมือนรถปีที่แล้ววุ่นกันพอสต๊อกไว้แล้วก็ค้างบาน ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้กันว่าสิ่งที่มันดูเหมือนช่วยเอาเข้าจริงมันอาจไม่ได้ช่วย   ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ เยอรมัน เดนมาร์ก เขาเอาไปทำต่อเนื่องมันก็เลยประสบความสำเร็จไปในระยะยาว แผง Solar cell ของเขาก็กลายเป็นธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กรณีของไทยเหมือนทำอย่างเขา แต่เราไม่รู้รัฐบาลจะเปิดรอบไหน อย่างเราขายแผง Solar cell เองนั้นก็ไม่รู้เราจะไปลงทุนผลิตเองดีไหมในเมื่อมันยังไม่ชัวร์ เพราะฉะนั้นเมื่อมันไม่ชัวร์เราก็รับมาจากต่างประเทศละกันอันไหนถูกกว่าหน่วยงานเราก็หากันเฉพาะหน้าไป เพราะฉะนั้นต่างประเทศที่เขาทำระยะยาวมันจึงประสบความสำเร็จในการสนับสนุน เริ่มตั้งแต่คนติดตั้งเยอะขึ้น คนลงทุนเยอะขึ้นจนกลายเป็นธุรกิจ Solar cell อย่างครบวงจรได้ มันต้องการความชัดเจนในระยะยาว ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี อีกโมเดลหนึ่งคือ ผมคิดว่าประเทศไทยเราไม่มีเลย คือการลงทุนสนับสนุนสำหรับชุมชนหรือบ้านเรือนที่ใช้ในแนวของพลังงานอย่างยั่งยืน เรื่องการสร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อมเราไม่มีเลย วิธีการคิดของรัฐบาลคือติดตรงไหนก็เอาไปขายเข้าระบบอย่างเดียวแต่ของต่างประเทศเขามีคนมาร่วมกันเป็นสหกรณ์ เป็นบริษัทก็ได้ ถ้าทำมาเป็นโครงการลักษณะแบบที่จะมีการประหยัดการใช้พลังงาน ซึ่งมันไม่ได้มีแต่ Solar cell อย่างเดียว ยังมีอื่นๆ อีกที่ทำได้ เช่นสิ่งปฏิกูลจากห้องน้ำ สมมติว่าเราสร้างบ้าน 20 หลังแล้วเราทำท่อที่สิ่งปฏิกูลมาทำไบโอแก็สได้ ไบโอแก็สก็จ่ายคืนกลับไปสู่การใช้ LPG อันนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะฉะนั้นในต่างประเทศการสนับสนุนเขาจะให้แต่ละที่คิดเองว่าจะทำอะไรได้บ้าง บางที่ก็ Solar cell อย่างเดียว บางที่ก็ Solar cell บวกกังหันลม บางที่ก็ Solar cell บวกไบโอแก็ส บางที่ก็ Solar cell บวกไบโอแมส อย่างเช่นกิ่งไม้ หมู่บ้านจัดสรรกิ่งไม้เยอะมาก เสร็จแล้วก็ไม่รู้ทำอย่างไรจริงแล้วเอามาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เพราะฉะนั้นการให้สนับสนุนในโครงการลักษณะแบบนี้มันจำเป็นที่จะต้องมี เพราะในที่สุดแล้วมันคือการลดการใช้ไฟฟ้าแต่ปัจจุบันการให้ความสนับสนุนของรัฐฯ นั้นให้ก็ต่อเมื่อมีการขายไฟฟ้า ซึ่งบางคนเขาไม่ได้ขายแต่ว่าเราทำเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าลงอันนี้มันก็เป็นการสนับสนุนของรัฐบาลไทย มันเหมือนกับขาเดียวไม่ได้ทำ 2 ขา คือใครขายก็ขาย ใครที่ใช้อยู่ก็ต้องใช้ให้มันน้อยลง   นโยบายของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรมนอกจากเรื่องรับซื้อแล้วยังมีอะไรอีกเรื่องการส่งเสริมพลังงานโซล่าร์เซลล์ ไม่มีเลย ที่เหลือก็จะเป็นโครงการ มันไม่ได้เป็นกลไกนะโครงการมันเป็นกลไกที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ การรับซื้อที่มันเป็นกลไกมันก็ไม่ค่อยสมบูรณ์เพราะมันดันมาล็อคเรื่องเวลา เพราะฉะนั้นบ้านเรามันขาดกลไกจริงๆ เหมือนเราอุดหนุน LPG รัฐบาลออก LPG แต่คนทำไบโอแก็สเยอะเลย ชาวบ้านทำไบโอแก็สไม่ช่วยเขาเลย เขาทำไบโอแก็สแก้ปัญหาให้คุณไม่มีการอุดหนุนเลย คนทำไบโอแก็สก็ทำกันไปเรื่อยๆทั้งที่จริงการอุดหนุนไบโอแก็สนั้นง่ายมาก อุดหนุนผ่านวัสดุเลยถ้าคุณซื้ออันนี้เพื่อเอาไปทำไบโอแก็สคุณได้ส่วนลด ก็เหมือนกับรถคันแรกไปซื้อเสร็จคุณก็ไปขอส่วนลดใช่ไหม แต่นี่ไม่ได้ลดเป็นแสน ลดเป็นหลักพันหลักร้อยเองแล้วคุณก็ขึ้นบัญชีคนซื้อ LPGคุณได้ ใครซื้อไฟต่ำกว่าเท่านี้ก็ไปขออัตราลดLPGคุณทำได้เลย ชาวบ้านที่ทำไบโอแก็สจำนวนก็น้อยกว่า ความตั้งใจก็เยอะกว่า ประโยชน์ก็เยอะกว่า คุณก็ไม่ช่วย ผมคิดว่ารัฐบาลมองอะไรที่มันแบบผิวเผิน   สาเหตุที่รัฐบาลไม่ส่งเสริมอย่างจริงจัง เขาเน้นเป้า คือหมายถึงว่าอยากให้ได้ Solar cell กี่เมกะวัต คิดหาวิธีที่มันง่ายที่สุด เขียนนโยบายมาว่าจะต้องได้เท่านี้ สมมติว่าเขาได้ในระยะเวลาที่เขากำหนด เขาก็คิดว่ามันจบเลยต่อจากนี้ไม่ต้องยุ่งอีกต่อไป วิธีคิดเขาเป็นแบบนี้ แต่เขาไม่ได้มองว่าในความเป็นจริงคนค่อยเรียนรู้มันจะเกิดการพัฒนาต่อเนื่อง เขาไม่ได้มองเรื่องอนุรักษ์พลังงาน จริงๆผมว่าเขาไม่เคยมองเรื่องคนเลยมากกว่า คือทุกเรื่องสุดท้ายเราต้องการคนที่เปลี่ยนไป เขามองแค่การลงทุน ผมนี่ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเลยถ้าผมคิดว่าเงิน2แสนมันคุ้มค่า ผมก็โทรสั่งมาติด จบ ผมไม่ได้เปลี่ยนอะไร เขาสนใจแค่ได้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ อันนี้ทำให้เขาได้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ง่ายที่สุดก็จบแล้วสำหรับเขา   ทางออกสำหรับคนที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายจากการใช้พลังงาน ทางออกสำหรับคนที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายจากการใช้พลังงาน แต่ยังไม่ต้องการขายไฟฟ้าให้แก่ภาครัฐ ทำได้ โดยการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บางจุดของบ้าน  เช่น ทดแทนไฟฟ้าแสงสว่างในครัวเรือน หรือติดตั้งระบบโซล่าร์เซลล์บริเวณเครื่องสูบน้ำ เป็นต้น   เยอรมัน อังกฤษ เดนมาร์ก และจีน เป็นประเทศที่มีนโยบายพลังงานหมุนเวียนที่มีความน่าสนใจ โดยประเทศเยอรมันมีความก้าวหน้าการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนมากที่สุดในโลก ส่วนประเทศอังกฤษที่เดิมมีพื้นฐานอุตสาหกรรมหนักมีการใช้พลังงานกระแสหลัก เช่น ถ่านหิน น้ำมันเป็นหลักเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ประกาศใช้นโยบาย RPS  ประเทศเดนมาร์ก ที่มีเป้าหมายการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าเป็นเจ้าของการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบสหกรณ์    และประเทศจีนที่กำลังการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนมากที่สุด ปัจจุบันเดนมาร์กมีโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบทำความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 30,000 แห่ง โดยมีเครื่องมือประมาณ 35,000 เครื่องสำหรับใช้ในระบบทำความร้อน และที่เกาะ Aeroe   ในเดนมาร์กเป็นที่ตั้งของระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมพื้นที่ 19,000 ตรม. โดยพลังงานที่ได้ใช้สำหรับผลิตระบบความร้อนภายในเกาะพลังงานของระบบความร้อน 1 ใน 3 ของที่ใช้ในเดนมาร์กได้มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยสามารถกักเก็บพลังงานที่ผลิตได้สำรองไว้ใช้ในฤดูใบไม้ร่วง และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้   7,500 MWh โดยมีการลงทุนเพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ไปแล้วจำนวน 49 ล้านโครนเดนมาร์ก ซึ่งเงินจำนวน19 ล้านโครนเดนมาร์กจากจำนวนนี้มาจากการสนับสนุนของสหภาพยุโรปลำดับ   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 152 พลุและดอกไม้ไฟ อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

พอใกล้ช่วงลอยกระทงทีไรเราก็มักจะได้ยินข่าวเรื่องการขอความร่วมมืองดเว้นการเล่นพลุเล่นดอกไม้ไฟ สาเหตุก็เพราะบ่อยครั้งที่ได้ยินข่าวบรรดาพลุหรือดอกไม้ไฟนำมาซึ่งอุบัติเหตุแบบคาดไม่ถึง รุนแรงมากบ้างน้อยบ้าง หลายครั้งที่มันนำไปสู่การสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นเสียทรัพย์หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ที่สำคัญคือคนที่ได้รับอุบัติเหตุจากการเล่นพลุเล่นดอกไม้ไฟส่วนใหญ่ ก็คือ เด็กๆ ที่มักเล่นสนุกจนมองข้ามอันตราย คำถามที่ตามมา คือ ในเมื่อพลุและดอกไม้ไฟเป็นสินค้าอันตราย แล้วการควบคุมการขาย การนำมาใช้นั้นได้มีการทำอย่างถูกต้องเข้มงวดแล้วหรือยัง ลองมาหาด้วยกันว่าบ้านเรามีวิธีจัดการกับปัญหาเรื่องอันตรายจากพลุและดอกไม้ไฟมากน้อยขนาดไหน เจ็บ – ตาย เพราะพลุและดอกไม้ไฟ ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เรื่องสถานการณ์การบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลวหรือสะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุ ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2550 – 2554 พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 2,587 ราย เฉลี่ยปีละ 517.4 ราย โดยเป็นผู้ที่เสียชีวิตจำนวน 6 ราย ซึ่งเมื่อจำนวนผู้ป่วยแยกเป็นแต่ละปีพบว่ามีผู้ป่วยจากอุบัติเหตุพลุ ดอกไม้ไฟ มีแนวโน้มสูงขึ้น จากในปี จากจำนวน 364 ราย ในปี พ.ศ. 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 642 ราย ในปี พ.ศ. 2554 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1.76 เท่า อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุพลุและดอกไม้ไฟ อยู่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน มากที่สุดคือช่วงอายุ  10-14 ปี ร้อยละ 23.83 รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 15-19 ปี ร้อยละ 14.48 และกลุ่มอายุ 5-9 ปี ร้อยละ 14.33   ชนิดของพลุและดอกไม้ไฟ พลุและดอกไม้ไฟที่จำหน่ายในท้องตลาดในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งประเภทที่จุดแล้วทำให้เกิดแสงสว่าง และชนิดที่จุดแล้วทำให้เกิดเสียงดัง แต่โดยทั่วไปแล้วเราสามารถแบ่งประเภทของพลุและดอกไม้ไฟได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1.พลุและดอกไม้ไฟขนาดเล็ก หรือ แบบทั่วไป (Consumer Fireworks) ใช้เล่นเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก แสงหรือเสียงที่เกิดขึ้นจะเกิดจากการเผาไหม้ พลุและดอกไม้ไฟขนาดเล็กจะมีปริมาณของส่วนผสมที่เป็นวัตถุระเบิดไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อชิ้นสำหรับพลุและดอกไม้ไฟที่เล่นบนพื้นดิน และไม่เกิน 130 มิลลิกรัม สำหรับพลุและดอกไม้ไฟที่เล่นในอากาศ ตัวอย่างพลุและดอกไม้ไฟขนาดเล็กมีอย่างเช่น ประทัด ไฟเย็น พลุขนาดเล็ก กระจับ กระเทียม เป็นต้น 2.พลุและดอกไม้ไฟขนาดใหญ่ หรือ แบบพิเศษ (Display Fireworks) พลุและดอกไม้ไฟขนาดใหญ่นิยมใช้กับงานแสดงในที่กว้าง โล่งแจ้ง ผู้ใช้จะต้องมีความชำนาญ ได้รับการฝึกอบรมในการใช้งานมาเป็นอย่างดี เพราะมีการระเบิดเผาไหม้ที่รุนแรงกว่า ที่สำคัญคือใช้ส่วนผสมของวัตถุระเบิดมากกว่า ตัวอย่างของพลุและดอกไม้ไฟขนาดใหญ่ ได้แก่ พลุและดอกไม้ไฟขนาดใหญ่ที่นิยมยิงขึ้นฟ้าสร้างภาพและสีสันต่างๆ   อันตรายที่มักเกิดจากพลุและดอกไม้ไฟ อันตรายจากการเกิดไฟไหม้และการระเบิด อุบัติเหตุที่เกิดจากพลุและดอกไม้ไฟที่นำมาซึ่งความสูญเสียมากที่สุด ก็คืออุบัติเหตุที่เกิดจากการระเบิดของพลุและดอกไม้ไฟ โดยเฉพาะกับการระเบิดที่เกิดขึ้นภายในโรงงานที่ผลิต ซึ่งเต็มไปด้วยวัตถุดิบที่เอื้อต่อการเกิดการระเบิดที่รุนแรง บ่อยครั้งที่เราได้ยินข่าวโรงงานผลิตพลุและดอกไม้ไฟเกิดการระเบิด ซึ่งมักเป็นเหตุการณ์รุนแรง แถมยังมีสิ่งที่ตามมาหลังการระเบิด ทั้งการเกิดเพลิงไหม้ และการรั่วซึมของสารเคมีที่เป็นอันตราย นอกจากนี้สาเหตุของการระเบิดและไฟไหม้อาจไม่ได้เกิดจากความไม่ได้มาตรฐานของโรงงานที่ผลิตแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีหลายเหตุการณ์ที่เกิดจากความประมาทของผู้ที่ซื้อพลุไปจุดเล่นแล้วไม่ระมัดระวัง พลุหรือดอกไม้ไฟที่จุดไปตกยังบริเวณที่เสียงต่อการติดไฟทำให้ไฟเกิดลุกไหม้ อีกหนึ่งอุบัติเหตุจากพลุและดอกไม้ไฟที่เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ก็คือการที่ผู้เล่นซึ่งมักเป็นเด็กและเยาวชนได้รับบาดเจ็บจากการจุดพลุและดอกไม้ไฟ ซึ่งมีไม่น้อยที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็นมือ นิ้วมือ แขน หรือ แม้แต่ดวงตา ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความประมาท ความคึกคะนอง ซึ่งการป้องกัน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องคอยสอดส่องดูแล ไม่ควรให้เด็กเล่นวัตถุอันตรายอย่างพลุเด็ดขาด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดูแลเรื่องการขายก็ต้องควบคุมดูแลให้การขายพลุและดอกไม้ไฟเป็นไปตามกฎ   อันตรายจากการได้รับสารเคมี เพราะส่วนประกอบหลักของพลุและดอกไม้ไฟเกิดจากการผสมกันของสารเคมีหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น สารโปแตสเซียมเปอร์คลอเรต ที่มีผลทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและระบบทางเดินหายใจส่วนบน, สารซัลเฟอร์หรือกำมะถัน จะทำให้เกิดอาการตาแดง ผิวหนังอักเสบ หายใจขัด เกิดการระคายเคืองที่ระบบทางเดินหายใจ, สารโปตัสเซียมไนเตรต หากสัมผัสถูกสารจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง และเยื่อบุผิวหนัง ถ้ากลืนกินเข้าไปจะทำให้คลื่นไส้ ท้องเสีย และกล้ามเนื้ออ่อนแรง, สารแบเรียมไนเตรต เป็นสารที่ มีพิษมากจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อหู ตา จมูก และผิวหนัง สารนี้มีผลทำลายตับ ม้าม และยังทำให้เกิดอัมพาตที่แขน ขา และบางรายอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งอย่างที่เราได้รับทราบในข่าว เวลาที่เกิดการระเบิดของโรงงานผลิตพลุและดอกไม้ไฟ จะมีการอพยพชาวบ้านที่อยู่ในละแวกที่เกิดเหตุออกจากพื้นที่ เพื่อหลีกหนีอันตรายจากสารเคมีต่างๆ ที่อาจรั่วซึมออกมาพร้อมการระเบิด   อันตรายการได้รับเสียงดัง มีข้อมูลจากกรมอนามัย เรื่องความดังของเสียงระเบิดจากพลุและดอกไม้ไฟมีระดับเสียงกระแทกสูงถึง 130 เดซิเบล เอ (เดซิเบล เอ dB(A) คือ สเกลของเครื่องวัดเสียงที่สร้างเลียนแบบลักษณะการทำงานของหูมนุษย์ โดยจะกรองเอาความถี่ต่ำ และความถี่สูงของเสียงที่เกินกว่ามนุษย์จะได้ยินออกไป) ที่ระยะห่างจากจุดกำเนิด 5 เมตร ซึ่งสูงเกินกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 85 เดชิเบล เอ การที่หูของเราได้รับเสียงที่มีความดังเกินกว่า 130 เดซิเบล เอ มีผลทำให้เราเกิดอาการหูตึงชั่วคราว แต่หากต้องได้ยินติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลทำให้เกิดอาการหูตึงถาวร นอกจากนี้เสียงที่ดังมากๆ ก็มีผลต่อเรื่องของสุขภาพจิต ทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิด รำคาญ ส่งผลให้นอนไม่หลับ ทำให้สุขภาพร่างกายอ่อนแอ รวมทั้งมีผลต่อผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิต   อันตรายจากความร้อน พลุและดอกไม้ไฟใช้การจุดระเบิดเป็นตัวทำปฏิกิริยา ซึ่งการจุดไฟสิ่งที่ตามด้วยเสมอก็คือความร้อน หลายคนหลงเพลิดเพลินกับประกายสะเก็ดไฟที่สวยงาม จนลืมนึกถึงความร้อนของสะเก็ดไฟเหล่านั้น ซึ่งเป็นความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงมาก ตัวอย่างพลุที่ชื่อเรียกว่า ไฟเย็น ซึ่งเป็นที่นิยมมาก หลายๆ คนน่ารู้จักกันดี แม้จะชื่อไฟเย็นแต่เวลาที่จุดจะมีอุณหภูมิความร้อนสูงสุดถึง 900 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นความร้อนในระดับที่สามารถทำให้ผิวหนังไหม้ได้หากไปสัมผัสถูก   11 ข้อห้าม!!! ป้องกันอันตรายจากพลุและดอกไม้ไฟ 1.ห้ามให้เด็กๆ เล่นพลุและดอกไม้ไฟ หรือควรต้องอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ 2.ห้ามเล่นพลุและดอกไม้ไฟ ที่ซื้อจากร้านค้าที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ  สินค้าอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ เก่า และไม่มีฉลากภาษาไทยที่ถูกต้องชัดเจน 3.ห้ามเล่นพลุและดอกไม้ไฟ ถ้ายังไม่ได้อ่านฉลาก คำแนะนำ วิธีการใช้ คำเตือน 4. ห้ามจุดดอกไม้ไฟที่เสื่อมสภาพหรือดอกไม้ไฟที่ถูกจุดแล้วแต่ยังไม่ระเบิด(ไม่ทำงาน) เพราะพลุและดอกไม้ไฟนั้นอาจระเบิดโดยไม่คาดคิด 5.ห้ามจุดพลุและดอกไม้ไฟ ถ้ายังไม่ได้เตรียมกระป๋องหรือถังใส่น้ำไว้ใกล้บริเวณที่จะจุดพลุหรือดอกไม้ไฟ เผื่อไว้ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน 6.ห้ามเข้าใกล้ดอกไม้ไฟที่ถูกจุดแล้วหรือดอกไม้เพลิงที่ยังดับไม่สนิท 7.ห้ามจุดพลุหรือดอกไม้ไฟ หากไม่อยู่ในระยะที่ปลอดภัย คือ 1 เมตร หรือ 1 ช่วงแขน 8.ห้ามประกอบหรือดัดแปลงพลุหรือดอกไม้ไฟไว้เล่นเองโดยเด็ดขาด 9.ห้ามเก็บพลุและดอกไม้ไฟไว้ในบ้าน หากต้องเก็บควรเก็บในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดฝามิดชิด สถานที่เก็บควรเป็นที่แห้งและมีอากาศเย็น 10.ห้ามจุดพลุหรือดอกไม้ไฟ ในพื้นที่โล่งแจ้ง บริเวณที่มีหญ้าแห้งหรือบริเวณที่เป็นสนามหญ้า เพราะหญ้าเหล่านั้นสามารถลุกติดไฟได้ หลีกเลี่ยงบริเวณอาคารบ้านเรือน หรือแหล่งที่มีวัสดุที่ติดไฟง่าย พวก ก๊าซ น้ำมัน หรือเชื้อเพลิง 11.ห้ามเล่นพลุและดอกไม้ไฟโดยเด็ดขาด หากไม่จำเป็น   กฎหมายที่ทำหน้าที่ควบคุมการซื้อ-ขายและการใช้พลุและดอกไม้ไฟ พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ที่ให้อำนาจนายทะเบียนท้องที่แต่ละท้องที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตในการขาย ผลิต นำเข้า ดอกไม้เพลิง ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุ 1 ปี นอกจากนี้เจ้าหน้าที่นายทะเบียนท้องที่ยังมีสิทธิในการออกข้อกำหนดหรือข้อบังคับเพื่อควบคุมป้องกันอันตรายอันอาจจะเกิดจากพลุและดอกไม้ไฟ เช่น การกำหนดปริมาณน้ำหนักรวมของดินปืนหรือสารระเบิดในสินค้าพลุและดอกไม้ไฟรวมทั้งหมดที่มีอยู่ในร้าน อย่างเช่น กำหนดให้มีน้ำหนักรวมของดินปืนหรือสารระเบิดรวมไม่เกิน 50 กิโลกรัม กำหนดเวลาปิดเปิดของร้านค้าพลุและดอกไม้ไฟ กำหนดให้ภายในร้านต้องมีลักษณะที่เหมาะสม  มีอากาศถ่ายเทดี มีอุปกรณ์ดับเพลิง ไม่จำหน่าย พลุและดอกไม้ไฟ รวมกับสินค้าอื่นที่ติดไฟง่าย อย่าง เชื้อเพลิง ก๊าซ น้ำมัน ไม้ขีดไฟ เป็นต้น ซึ่งผู้ที่ทำผิดมีสิทธิถูกบทลงโทษ ทั้งจำทั้งปรับ   พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 พลุ ดอกไม้ไฟ หรือ ดอกไม้เพลิง ถือเป็นวัตถุอันตราย ตามคำจำกัดความที่บอกว่าวัตถุอันตรายหมายถึง วัตถุไวไฟ และ วัตถุระเบิดได้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ทำหน้าที่ควบคุมดูแลสินค้าที่ถูกผลิต นำเข้า และจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด โดยจะมีคณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งมาจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงอุตสาหกรรม กรมการค้าภายใน กรมตำรวจ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงกลาโหม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาเคมี ฯลฯ หน้าที่หลักๆ ของคณะกรรมการชุดนี้คือ ให้คำแนะนำแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการรับขึ้นทะเบียน หรือเพิกถอนทะเบียนวัตถุอันตราย แจ้งข่าวสารเกี่ยวกับวัตถุอันตรายให้ประชาชนได้ทราบ รวมถึงพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากวัตถุอันตราย   พลุ ดอกไม้ไฟ เป็นสินค้าควบคุมฉลาก หนึ่งในความพยายามที่จะลดและป้องกันอันตรายจากพลุและดอกไม้ไฟ ก็คือการกำหนดให้ ดอกไม้ไฟ หรือ ดอกไม้เพลิง ซึ่งนิยามตามประกาศหมายรวมถึง พลุ ประทัดไฟ ประทัดลม และวัตถุอื่นใดอันมี สภาพคล้ายคลึงกัน เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ซึ่งสิ่งที่ดอกไม้ไฟต้องแสดงไว้บนฉลากเพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค นอกจากรายละเอียดสำคัญพื้นฐานอย่าง -ชื่อประเภทหรือชนิดของสินค้า -สถานที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้ขาย -ปริมาณ ขนาด หรือน้ำหนักของสินค้า -วิธีใช้ -ข้อแนะนำในการใช้ หรือห้ามใช้ -คำเตือน -วันเดือนปีที่ผลิต -ราคา ตามข้อกำหนดในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. 2541 แล้ว ยังต้องมีการแสดงข้อมูลเฉพาะที่ได้มีการกำหนดเพิ่มเติมในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 36 พ.ศ. 2556 เรื่อง ให้ดอกไม้เพลิงเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยรายละเอียดข้อมูลที่ต้องมีบนฉลากสินค้าดอกไม้ไฟ มีดังนี้ 1. ผู้เล่นดอกไม้เพลิงที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี ต้องอยู่ในการกำกับดูแลของผู้ใหญ่ 2. ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก 3. ไม่ควรเก็บรักษาไว้ในที่มีอุณหภูมิสูง 4. ไม่ควรจุดไฟใหม่ หากจุดชนวนแล้วไม่ติด 5. ควรเล่นในที่โล่งกว้าง ห่างไกลจากวัตถุไวไฟ นอกจากนี้ยังต้องมีคำเตือน ที่ระบุว่า “อันตรายอาจถึงตายหรือพิการหากเล่นไม่ถูกวิธี หรือคึกคะนอง” โดยข้อความที่เป็นคำเตือนต้องใช้ตัวอักษรเส้นทึบขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรอื่น ในกรอบสี่เหลี่ยม สีของกรอบและข้อความต้องตัดกับสีพื้นของฉลาก ซึ่งประกาศฉบับนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 นี้เป็นต้นไป   โดยใน พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ได้มีการระบุโทษของผู้ที่จำหน่ายพลุ ดอกไม้ไฟ ดอกไม้เพลิง ที่ไม่มีฉลาก หรือมีฉลากไม่ถูกต้อง มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   เล่นพลุไม่ระวัง ทำคนอื่นเดือดร้อน มีสิทธินอนคุก อันตรายจากการเล่นพลุและดอกไม้ด้วยความประมาทจนนำไปสู่อุบัติเหตุนั้น นอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับตัวเองแล้ว ใครที่เล่นพลุและดอกไม้ไฟแล้วไปสร้างความเสียหายเดือนร้อนให้กับคนอื่นๆ ถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เรื่องความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน มาตรา 220 ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของ ตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท และยิ่งถ้าหากรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 224 มิสิทธิโดนลงโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต   ข่าวพลุระเบิด เมื่อไรจะเงียบเสียง 14 ส.ค.49 รถเทรลเลอร์บรรทุกดอกไม้ไฟนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย มายังจังหวัดสงขลา ได้เกิดระเบิดขึ้นขณะขนถ่ายเข้าเก็บภายในโกดัง ทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 2 ราย ซึ่งการระเบิดขึ้นมีความรุนแรงมาก เนื่องจากพลุที่เริ่มระเบิดภายในรถเทรลเลอร์ได้ลุกลามไปยังพลุและดอกไม้ไฟที่อยู่ในโกดัง ทำให้การระเบิดขยายวงกว้างขึ้น 31 ธ.ค.53 ดารานายแบบชื่อดัง ''สมเจตน์ สะอาด'' เสียชีวิตจากการถูกพลุระเบิดใส่เข้าที่ใบหน้า สาเหตุเกิดจากอุบัติเหตุจากการที่ตัวนายแบบตั้งใจจะเข้าไปดับพลุที่เตรียมไว้เพื่อจุดในงานส่งท้ายปีเก่า ซึ่งเกิดติดขึ้นมาก่อนเวลาที่ตั้งใจไว้ ระหว่างที่เห็นพลุเกิดมีควันลอยออกมานายแบบหนุ่มตั้งใจก้มลงไปที่พลุเพื่อดับชนวน พลุก็เกิดระเบิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิด  ลูกไฟจากแรงระเบิดกระแทกเข้าใบหน้าของนายแบบหนุ่ม ทำให้เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ 17 ม.ค.54 ที่จังหวัดอยุธยา เกิดเหตุระเบิดจากพลุและดอกไม้ไฟ มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย สาเหตุเกิดจากบ้านหลังดังกล่าวลักลอบผลิตพลุและดอกไม้ไฟอย่างผิดกฎหมาย แรงระเบิดยังทำให้บ้านอีก 4 หลังรอบๆ ที่เกิดเหตุ ได้รับความเสียหายพังราบเป็นหน้ากลอง 24 ม.ค. 55 งานตรุษจีนสุพรรณบุรี ปีทองมังกรสวรรค์ ณ อุทยานมังกรสวรรค์ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้เกิดเหตุดอกไม้ไฟระเบิด ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากพลุและดอกไม้ไฟที่สร้างความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประเทศไทย สาเหตุจากพลุและดอกไม้ไฟจำนวนมากที่ถูกเตรียมไว้แสดงในงานเกิดระเบิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิด เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 4 ราย บาดเจ็บมากกว่า 70 ราย มีบ้านเรือนที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้รุนแรงถึงขั้นไร้ที่อยู่อาศัยมากกว่า 50 ครอบครัว 27 ส.ค.56 ถังเก็บดินระเบิดที่ผสมแล้วของโรงงานทำพลุซึ่งมีเจ้าของเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ต.ชัยฤทธิ์ อ.ไชโย จ.อ่างทอง เกิดระเบิด จนเป็นเหตุให้ทั้งโรงงานผลิตพลุ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน และบ้านเรือนใกล้เคียงอีก 3 หลัง ได้รับความเสียหาย โรงงานพลุแห่งนี้ ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง มีการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ แต่ก็ยังเกิดอุบัติเหตุขึ้นโดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน 9 มิ.ย.56 โรงงานผลิตพลุ ในตำบลสวนแตง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้เกิดเหตุระเบิดรุนแรง จนทำให้โกดังเก็บพลุจำนวน 6 หลัง บ้านพัก และรถยนต์ 4 คันที่อยู่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ ถูกแรงระเบิดได้รับความเสียหายทั้งหมด โดยจำนวนพลุทั้งหมดที่ถูกเก็บไว้ในโกดังมีมากกว่า 700 ลูก ที่น่าคิดคือโกดังแห่งนี้เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับยึดพลุที่อยู่ในโกดังมาแล้วเมื่อปี 54 เพราะสุ่มเสี่ยงต่ออันตราย แต่ก็ยังมาเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในที่สุด 22 ต.ค. 56 เกิดเหตุโกดังเก็บพลุ ดอกไม้ไฟ และโคมลอย ในอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ สาเหตุคาดว่าเกิดจากประกายไฟจากการก่อสร้างในบริเวณใกล้เคียง กระเด็นมาติดกับพลุและดอกไม้ไฟ ที่ถูกเก็บไว้ในโกดัง เพื่อเตรียมจำหน่ายช่วงวันลอยกระทง เป็นผลให้เกิดการระเบิดขึ้น ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บอีก 5 คน //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ภัยจากพิษตะกั่วในสีทาอาคารกับความเสื่อมถอยของสติปัญญาชาติ

องค์ความรู้ทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ไม่มีระดับของสารตะกั่วในร่างกายที่ถือว่าปลอดภัยต่อสุขภาพ ในระดับโลก มีงานศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสารตะกั่วในเลือดกับพัฒนาการทางสมองเด็กเมื่อปี พ.ศ. 2550 ระบุว่า เด็กชั้นประถมปีที่ 4 จำนวน 8,600 คน ที่ตรวจพบสารตะกั่วในเลือดเพียง 2 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร (ug/dL) มีผลการสอบคณิตศาสตร์และทักษะการอ่านที่ด้อยกว่าปกติ[1] นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่พบว่าสารตะกั่วส่งผลระยะยาวต่อพฤติกรรมของเด็ก ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ก้าวร้าวและเป็นโรคสมาธิสั้น[2] และเมื่อปี พ.ศ. 2553 องค์การอนามัยโลกยอมรับอย่างเป็นทางการแล้วว่า ไม่มีระดับสารตะกั่วในร่างกายที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม[3] สารตะกั่วเป็นโลหะหนักที่ไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อมนุษย์[4] แตกต่างจากโลหะหนักบางชนิดซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายหากได้รับในปริมาณเล็กน้อย ในทางตรงกันข้าม สารตะกั่วเป็นอันตรายต่อสุขภาพแม้ในปริมาณเพียงน้อยนิด เนื่องจากมีพิษต่อสมองและระบบประสาท ตะกั่วสามารถสะสมอยู่ในกระแสเลือดและกระดูก ผู้ใหญ่ที่ได้รับสารตะกั่วต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจะมีอาการอ่อนเพลียตามนิ้วหรือข้อมือข้อเท้า รวมถึงมีระดับความดันโลหิตสูงขึ้นและอาจเป็นโรคโลหิตจางได้ ผู้ใหญ่ที่ได้รับสารตะกั่วในปริมาณมากอาจเกิดอาการเนื้อเยื่อสมองเสื่อมได้ด้วย เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีความเสี่ยงจากพิษตะกั่วสูงกว่าผู้ใหญ่ เพราะร่างกายเด็กดูดซับสารตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่ราว 4-5 เท่า นอกจากนี้ สารตะกั่วยังไปขัดขวางพัฒนาการทางสมองของเด็กเล็ก ส่งผลให้สติปัญญาบกพร่องไปตลอดชีวิตได้ ในประเทศไทย “ค่าที่ยอมรับได้” ของสารตะกั่วในเลือดเด็ก คือ 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร (ug/dL) ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า การมีสารตะกั่วในเลือดเพียง 5 ug/dL ก็จะทำให้ระดับเชาว์ปัญญา (IQ) ของเด็กลดลง[5] และยังระบุว่า “โรคปัญญาอ่อนจากพิษตะกั่ว” (lead-caused mental retardation) เป็นหนึ่งในสิบอันดับแรกของโรคร้ายแรงที่สุดอันเกิดจากปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสารตะกั่วเป็นต้นเหตุให้เด็กมีความบกพร่องทางสติปัญญาปีละกว่า 600,000 คน[6]   ตะกั่วจากสีเข้าสู่ร่างกายเราได้อย่างไร งานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2551  แสดงให้เห็นว่า เด็กที่อาศัยในบ้านที่มีฝุ่นจากสารตะกั่วในสี จะมีระดับสารตะกั่วในเลือดสูงกว่าปกติ และหากบ้านมีฝุ่นตะกั่วมาก เด็กก็จะมีระดับตะกั่วในเลือดสูงมากเช่นกัน[7] เนื่องจากสารตะกั่วจากสีสามารถเข้าสู่ร่างกายง่าย ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องกำหนดมาตรฐานของอาคารที่พักอาศัยให้มีสารตะกั่วในฝุ่นได้ไม่เกิน 40 ไมโครกรัมต่อตารางฟุต (ug/ft2) สารตะกั่วในสีเข้าสู่ร่างกายได้สองทาง คือ การหายใจและการกิน ผู้ใหญ่ส่วนมากได้รับสารตะกั่วจากการหายใจและสูดฝุ่นสีที่อาจฟุ้งกระจายออกมาระหว่างการขูดลอกสีเก่าเพื่อทาสีใหม่ หรือจากสีที่หลุดลอกเองตามธรรมชาติ  สำหรับเด็กเล็ก ส่วนใหญ่จะได้รับสารตะกั่วจากสีโดยการกิน ทั้งด้วยความตั้งใจและไม่ตั้งใจ เนื่องจากเด็กวัย 1 - 6 ขวบ มีพฤติกรรมอยากรู้อยากเห็นและมักหยิบของเข้าปาก ทั้งนี้ เด็กอาจกลืนฝุ่นและดินรอบตัวได้ถึงประมาณวันละ 100 มิลลิกรัม โดยที่ระบบทางเดินอาหารของเด็กจะดูดซึมสารตะกั่วได้มากถึงร้อยละ 50 ของทั้งหมดที่รับประทานเข้าไป แตกต่างจากระบบทางเดินอาหารของผู้ใหญ่ ซึ่งดูดซึมสารตะกั่วได้เพียงร้อยละ 10 ฉะนั้น พ่อบ้านแม่บ้านทั้งหลายจึงควรระวังอย่าให้ลูกหลานหยิบแผ่นสีเข้าปาก และหมั่นทำความสะอาดพื้นผิวในบริเวณที่เด็กเล่นอยู่เสมอด้วยการถูพื้น เนื่องจากฝุ่นตะกั่วยากต่อกำจัดโดยการกวาดและไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า   ไทยยังเป็นประเทศที่ไม่มีมาตรฐานบังคับเรื่องปริมาณตะกั่วในสี ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมเคมีทำให้มีสารทดแทนที่จะใช้ผสมในสีทาอาคารได้ดีและปลอดภัยกว่าสารตะกั่วทุกชนิดมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 (ช่วง พ.ศ. 2523) เป็นต้นมา ขณะเดียวกันก็มีหลายประเทศทั่วโลกที่ทยอยประกาศห้ามใช้สารตะกั่วในสีทาอาคารมาอย่างต่อเนื่อง เช่น สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2521) สหภาพยุโรป (พ.ศ. 2532) ออสเตรเลีย (พ.ศ. 2540) จีน (พ.ศ. 2550) เป็นต้น แต่บางประเทศก็ไม่ถึงกับให้เลิกใช้สารตะกั่วในสีทาอาคารทันที แต่มีการออกข้อกำหนดให้ผู้ผลิตใช้สารตะกั่วได้เพียงเล็กน้อย คือ ไม่เกิน 600 ppm เช่น สิงคโปร์ (พ.ศ. 2547) บราซิล (พ.ศ. 2551) แอฟริกาใต้ (พ.ศ. 2551) ฯลฯ ขณะที่บางประเทศแนะนำให้ผู้ผลิตสีเลิกใช้สารตะกั่วโดยสมัครใจ และบังคับใช้มาตรการทางการค้าเพื่อกีดกันผลิตภัณฑ์สีที่มีสารตะกั่วปนเปื้อน ยกตัวอย่างเช่น สมาคมผู้ผลิตสีของญี่ปุ่นจะรับรองเฉพาะผลิตภัณฑ์สีทาอาคารที่ปลอดสารตะกั่วเท่านั้น สำหรับประเทศไทย สีทาอาคารปลอดสารตะกั่วหรือใช้สารตะกั่วในปริมาณน้อยเริ่มมีวางจำหน่ายในท้องตลาดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520[8] และมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับผลิตภัณฑ์สีประเภทต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 อย่างไรก็ตาม มาตรฐานดังกล่าวยังเป็นมาตรฐานแบบสมัครใจ ไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย รวมทั้งยังไม่มีมาตรการเสริมอื่นๆ การผสมสารตะกั่วในสีจึงถูกฝากไว้กับความตระหนักต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตสีแต่ละราย ในสถานการณ์จริงพบว่า ปัจจุบันผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังมีการผลิตและจำหน่ายสีที่ใช้สารตะกั่วในปริมาณสูง รวมถึงผู้ผลิตบางรายหรือบางบริษัทยังมีการผลิตสีต่างยี่ห้อต่างมาตรฐานกัน โดยที่มีข้อโต้แย้งจากผู้ผลิตสีบางรายว่า การเลิกใช้สารตะกั่วในสีน้ำมันจะทำให้ต้นทุนการผลิตสีสูงขึ้นและจะทำให้ราคาขายแพงขึ้น   ผลิตภัณฑ์สีทาอาคารของไทยอุดมด้วยตะกั่ว เมื่อปี พ.ศ. 2552 มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการทดสอบสีทาอาคารทั้งหมด 27 ตัวอย่าง (สีน้ำมัน 17 ตัวอย่างและสีพลาสติก 10 ตัวอย่าง) พบว่า สีน้ำมันที่มีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 600 ppm หรือ 600 ส่วนในล้านส่วน (เกินเกณฑ์มาตรฐาน มอก. 327-2538) มีถึง 8 ตัวอย่าง ส่วนสีพลาสติกไม่พบตัวอย่างที่มีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 90 ppm (มาตรฐานบังคับ สหรัฐอเมริกา) ค่าของตะกั่วที่พบจากการศึกษาในปีนั้น พบว่า บางตัวอย่างมีปริมาณตะกั่วในสีน้ำมันสูงระดับหลายหมื่นถึงเกือบแสน ppm    ผลที่น่าตกใจจากการสำรวจในครั้งนั้นนำมาสู่การสำรวจซ้ำอีกสองครั้ง ซึ่งยังพบปัญหาเช่นเดิม แต่เนื่องจากจำนวนตัวอย่างอาจยังไม่มากพอ ดังนั้นจึงนำมาสู่การทดสอบอีกครั้งในปี พ.ศ. 2556 นี้ โดยเจาะจงตรวจเฉพาะสีน้ำมันทาอาคาร และเพิ่มจำนวนเป็น 120 ตัวอย่าง ซึ่งครอบคลุมผลิตภัณฑ์สีถึง68 ยี่ห้อ การศึกษาสถานการณ์การปนเปื้อนสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคารครั้งนี้ ดำเนินการโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ในฐานะที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาชน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล อินเดีย และไทย โดยการสนับสนุนจากโครงการ EU SWITCH-Asia และเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (International POPs Elimination Network - IPEN)   ราคาไม่ใช่ตัวตัดสิน ของถูกก็ปลอดภัยได้ จากงานศึกษาตัวอย่างสีทั้ง 120 ตัวอย่าง รวม 68 ยี่ห้อครั้งนี้ได้พบข้อมูลสำคัญว่า ราคาไม่ได้มีนัยสำคัญกับการปนเปื้อนตะกั่ว โดยตัวอย่างสีที่มีปริมาณตะกั่วต่ำไม่ได้มีราคาแพงกว่าตัวอย่างสีที่มีปริมาณตะกั่วสูง ยกตัวอย่างเช่น จากตัวอย่างสีที่มีขนาดบรรจุ 1/4 แกลลอนหรือประมาณ 1 ลิตร จำนวน 107 ตัวอย่าง มีราคาขายอยู่ระหว่าง 80 – 353 บาท โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70) มีราคาขายอยู่ระหว่าง 100-150 บาท แต่ตัวอย่างสีที่ขายในแต่ละช่วงราคาก็มีตะกั่วเจือปนในช่วงปริมาณที่ค่อนข้างกว้างมาก เช่น ที่ราคาขาย 120 บาท ซึ่งมีตัวอย่างสี 22 ตัวอย่าง พบว่า มีปริมาณตะกั่วตั้งแต่ 26 ถึง 63,000 ppm นอกจากนี้หากพิจารณาราคาขายของตัวอย่างสีที่มีตะกั่วน้อยกว่า 90 ppm ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ราคาขายมีลักษณะกระจายตั้งแต่ 90 บาทถึงเกือบ 300 บาท แสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์สีที่ไม่ใช้สารตะกั่วนั้นมีขายทั้งในราคาต่ำและราคาสูง ดังนั้นข้อโต้แย้งจากผู้ผลิตสีบางรายที่ระบุว่าการเลิกใช้สารตะกั่วในสีน้ำมันจะทำให้ต้นทุนการผลิตสีสูงขึ้นและจะทำให้ราคาขายแพงขึ้น จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง   ก้าวสำคัญทางนโยบาย เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเรื่อง “ตะกั่วในสีทาอาคาร ภัยที่ป้องกันได้” ที่เสนอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งเร่งด่วนและรณรงค์เพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว โดยเฉพาะการกำหนดให้มาตรฐานปริมาณตะกั่วในสีเป็นมาตรฐานบังคับภายในปี พ.ศ. 2556 เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประกาศให้มีการแสดงปริมาณสารตะกั่วในสีตกแต่งหรือสีทาอาคาร และมีฉลากคำเตือนบนภาชนะบรรจุสีตกแต่งหรือสีทาอาคารที่มีสารตะกั่วเจือปน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อภายในปี พ.ศ. 2556 เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังให้กระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ ออกข้อกำหนดให้ผู้รับเหมาใช้สีที่ควบคุมปริมาณสารตะกั่วในสีทาอาคาร และสีทาเคลือบผิววัสดุที่ใช้ในอาคารและใช้ในโรงเรียน โดยมีปริมาณสารตะกั่วน้อยกว่า 90 ppm รวมถึงข้อเสนอแนะถึงสถาปนิกและสมาคมสถาปนิกสยามให้กำหนดให้สีทาอาคารและสีทาเคลือบผิว วัสดุที่ใช้ในอาคารอยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย เป็นต้น ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 รัฐบาลได้ออกคำสั่งถึงหน่วยงานภายใต้กระทรวงต่างๆ ดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร รวมถึง ให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดมาตรฐานสารพิษ เช่น สารตะกั่ว สารหนู และอื่นๆ ของผลิตภัณฑ์สีทุกชนิดให้เป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มบทบาทการติดตามและสอดส่องพฤติกรรมของผู้ประกอบการที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สีและของเล่นที่มีสารตะกั่วเกินมาตรฐาน ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของสารตะกั่วและสารพิษอื่นๆ แก่ผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็ให้โรงเรียนภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สีและอื่นๆ ที่ได้รับมาตรฐาน มอก. เพื่อป้องกันเด็กจากการได้รับสารตะกั่วและสารพิษอื่นๆ สำหรับหน่วยงานราชการก็ให้เลือกใช้สีที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มอก. ในงานจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ     ตะกั่วในกระแสโลก  ในระดับนานาชาติ องค์การอนามัยโลก (WHO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ร่วมมือกันก่อตั้งพันธมิตรระดับโลกเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสี (Global Alliance to Eliminate Lead Paint – GAELP) เป้าหมายสำคัญคือการป้องกันเด็กไม่ให้ต้องรับอันตรายจากสารตะกั่วในสีและลดความเสี่ยงของคนงานจากสารตะกั่ว ทั้งยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เลิกการผลิตและการขายสีผสมสารตะกั่ว และทำให้สังคมปลอดภัยจากสีผสมตะกั่ว องค์การอนามัยโลกและ UNEP เริ่มเปิดศักราชงานรณรงค์ตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้นี้โดยสนับสนุนให้ทุกประเทศร่วมกันจัด “สัปดาห์ป้องกันภัยจากพิษตะกั่ว” พร้อมกันในระหว่างวันที่ 20-26 ตุลาคมนี้   ขอเชิญชวนทุกท่านสนับสนุนให้ “เด็กไทยปลอดภัยจากสารตะกั่ว”   โดยร่วมส่งภาพถ่ายลูกหลานตัวน้อยของท่าน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโปสเตอร์เผยแพร่ เพื่อรณรงค์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กและผู้บริโภคจากพิษตะกั่วในสีทาอาคาร   กรุณาส่งภาพถ่ายใบหน้าของเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ซึ่งอยู่ในความปกครองของท่าน มายัง LeadFreeThailand@gmail.com พร้อมชื่อและที่อยู่ เพื่อทีมงานจะจัดส่งโปสเตอร์กลับไปให้ท่านทางไปรษณีย์   หรืออาจส่งภาพถ่ายมาทางไปรษณีย์ ถึง มูลนิธิบูรณะนิเวศ 211/2 ซ.งามวงศ์วาน 32 ต.บางเขน อ.เมือง นนทบุรี 11000 หมดเขต 10 ตุลาคมศกนี้   ตัวอย่างฉลากเตือนภัยเรื่องสารตะกั่วในสี   ระวัง! คุณอาจทำให้ฝุ่นตะกั่วฟุ้งกระจายจากการขูด ขัด หรือลอกสีเก่า สารตะกั่วเป็นพิษ การได้รับฝุ่นตะกั่วอาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรง เช่น สมองเสื่อม โดยเฉพาะในเด็ก สตรีมีครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการได้รับฝุ่นตะกั่วเช่นกัน ควรใช้หน้ากากหายใจเพื่อจำกัดการได้รับสารตะกั่ว และควรทำความสะอาดด้วยเครื่องดูดฝุ่นและการเช็ดถูด้วยน้ำ ก่อนจะขูดลอกสีเก่า ควรสอบถามข้อมูลเรื่องการปกป้องตนเองและครอบครัวโดยติดต่อสายด่วนข้อมูลสารตะกั่ว หรือเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สหรัฐฯ www.epa.gov/lead   [1]Miranda ML, Kim D, Galeano AO, et al. The relationship between early childhood blood lead levels and performance on end-of-grade tests. Environ Health Perspect 2007; 115: 1242-1247. [2]Braun JM, Kahn RS, Froehlich T, et al. Exposures to Environmental Toxicants and  Attention Deficit  Hyperactivity Disorder in US Children. Environ Health Perspect  2006; 114: 1904-1909. [3] WHO, 2011. Evaluation of certain food additives and contaminants: 73rd report of the Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives. apps.who.int/ipsc/database/evaluations/chemical.aspx?chemID=3511 สืบค้นเมื่อ 21 ก.ค. 56 [4] Staudinger, K.C. and V.S. Roth. Occupational Lead Poisoning. Am Fam Physician. 1998 Feb 15; 57(4):719-726. สืบค้นจาก http://www.aafp.org/afp/1998/0215/p719.html เมื่อ 1 กันยายน 2556 [5] WHO, 2010. Childhood Lead Poisoning. http://www.who.int/ceh/publications/leadguidance.pdf  สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2556 [6] WHO, 2010. Exposure to lead: a major public health concern. http://www.who.int/ipcs/assessment/public_health/lead/en/index.html สืบค้นเมื่อ 14 ส.ค. 56. [7] Jacobs, DE et al. The relationship of housing and population health: a 30-year retrospective analysis. Environ Health Perspect. 2009 April; 117(4): 597-604. [8] www.toagroup.com/th/about/8/25-ก้าวสำคัญ.html

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 150 ทำไมต้องสนใจการเจรจาเอฟทีเอ ไทยกับสหภาพยุโรป

แล้วกระแสเรื่องการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ก็วนกลับมาสู่ความสนใจของสาธารณะอีกครั้ง หลังการเจรจารอบแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่จัดขึ้น ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม จบลงด้วยการที่ทั้งสองฝ่ายได้ทำความเข้าใจในข้อเสนอต่างๆ และย้ำเจตนารมณ์ที่จะพยายามสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปี 2557 โดยจะมีการหารือในรายละเอียดมากขึ้นในการเจรจารอบสอง ซึ่งกำหนดให้มีขึ้นที่เชียงใหม่ ประเทศไทย ในระหว่างวันที่  16 – 20 กันยายน 2556 นี้ ในโลกที่ทุกประเทศต้องแข่งขันกันในด้านการค้าขาย แน่นอนว่าประเทศไทยไม่อาจเลี่ยงการค้าระหว่างประเทศได้ การส่งออกถือเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และเพราะเหตุที่ต้องแข่งขันเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเจาะตลาด การส่งเสริมการส่งออก และการทำให้อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดประเทศคู่ค้าลดน้อยลงนั้นต้องทำผ่านการเจรจาในเวทีระดับต่างๆ เอฟทีเอหรือความตกลงการค้าเสรี(Free Trade Agreement : FTA) ก็คือหนึ่งในเวทีการเจรจาที่สำคัญ เป็นระดับความสำคัญขนาดที่ว่ามีผลกระทบต่อความเป็นความตายของคนในประเทศเลยทีเดียว ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยได้ทำเอฟทีเอกับหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกับประเทศจีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย ฯลฯ ซึ่งจากบทเรียนที่ผ่านมานั้น น่าจะทำให้เราได้ประจักษ์ในการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจการค้าหลายประการ และขณะนี้เราก็มีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับสถานการณ์เดิมอีกครั้ง(อาจร้ายแรงกว่า) เมื่อจำต้องเร่งเปิดเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป ด้วยเหตุผลหลักๆ คือ เพื่อไม่ให้ภาคธุรกิจบางส่วนเสียหายเนื่องจากการเสียสิทธิ จีเอสพี(การให้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร) ที่เคยทำให้ภาคธุรกิจนั้นได้เปรียบคู่แข่งขันจากชาติอื่นในการค้าขายกับสหภาพยุโรป   การให้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(Generalized System of Preferences) หรือ GSP เกิดขึ้นครั้งแรกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเกิดปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ในคราวประชุมของคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development- UNCTAD) เมื่อปี 2507 ได้มีการเสนอให้มีสิทธิพิเศษ GSP ขึ้น เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งต่อมาในคราวประชุม UNCTAD ปี 2511 ที่ประชุมจึงได้ยอมรับในระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP โดยกำหนดให้ระบบ GSP ที่ก่อตั้งขึ้นนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการส่งออก การพัฒนาอุตสาหกรรมและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย และอยู่บนหลักการพื้นฐาน 3 ประการ คือ เป็นการให้สิทธิโดยทั่วไป(Generalized) ไม่หวังผลตอบแทน(Non - recipocal) และไม่เลือกปฎิบัติ (Non-discrimination) สำหรับประเทศไทยนั้นใช้สิทธิพิเศษฯ GSP จากประเทศต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2514   ถูกตัดสิทธิ จีเอสพี เหตุที่ไทยต้องเร่งเจรจาเอฟทีเอ “17 ธันวาคม 2555 คณะกรรมาธิการยุโรปออกระเบียบ Commission Implementing Regulation (EU) No 1213/2012 เพื่อประกาศรายการสินค้าตาม Section ที่จะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้โครงการ GSP ใหม่ของสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559” สหภาพยุโรป หรือ อียู เป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าส่งออกจากไทย ขณะนี้กำลังจะตัดสิทธิพิเศษทางการค้า จีเอสพี (Generalised System of Preferences) ที่เคยให้กับไทยมาเป็นระยะเวลานานหลายปี การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยุโรป เมื่อไทยถูกตัดสิทธิ จีเอสพี จึงเกิดคำถามขึ้นว่า แล้วสาขาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจะเดินหน้าอย่างไร ซึ่งอันที่จริงแล้วมันมีหลายคำตอบเพื่อการปรับตัวสำหรับโจทย์นี้ แต่สิ่งที่ถูกหยิบมาก่อนมาตรการอื่นใด(ประสานเสียงกันทั้งภาคธุรกิจและรัฐบาล) คือ ไทยต้องเร่งเจรจา Free Trade Agreement (FTA) กับอียู เพื่อให้ได้สิทธิพิเศษทางภาษีครอบคลุมสาขาส่งออกสำคัญเช่นที่เคยได้รับตามระบบ จีเอสพี โดยทั้งภาคธุรกิจและรัฐบาลต่างเห็นพ้องกันว่า เป็นมาตรการที่จะช่วยลดผลกระทบจากการถูกตัด จีเอสพี ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งในความเป็นจริงการเร่งรีบเจรจา เอฟทีเอ ระหว่าง ไทย-อียู นี้ไม่แน่ว่าอาจทำให้เสียมากกว่าได้...ก็เป็นได้ สินค้าส่งออกของไทยที่ถูกตัดสิทธิ GSP เรียงตามมูลค่าส่งออก 10 อันดับแรก ในปี 2555 (ม.ค.-พ.ย.) สินค้า มูลค่าส่งออกไปอียู (ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สัดส่วนการพึ่งพาอียู (ร้อยละ) อัญมณีและเครื่องประดับ 1,501.7 11.8 ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 347.0 24.4 ปลาทูน่ากระป๋อง 262.6 10.9 กุ้งแปรรูป 225.7 16.7 อาหารสัตว์เลี้ยง 132.9 13.1 ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและ อาหารสำเร็จรูปอื่นๆ 98.9 10.3 เนื้อสัตว์และของปรุงแต่ง ที่ทำจากเนื้อสัตว์ 63.3 23.2 ปลาแปรรูป 53.9 10.8 ผักกระป๋ องและแปรรูป 45.1 14.3 โกโก้และของปรุงแต่งที่ ทำจากโกโก้   15.0 20.4   ที่มา กระทรวงพาณิชย์ 10 มกราคม 2556 คนไทยรวยขึ้น ต้นเหตุสำคัญการถูกตัดจีเอสพีจากอียู ในวันที่ 1 ม.ค. 2557 อียูจะทำการทบทวนประจำปีเพื่อตัดชื่อประเทศที่มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ จากระบบ GSP โดยเน้นหลักการที่จะให้ประโยชน์เฉพาะประเทศที่มีความต้องการจริง หากประเทศไทยยังคงได้รับการจัดอันดับโดย World Bank ตาม GNI per capita ให้เป็น upper-middle income country อีกในปี 2556 นี้  เท่ากับว่าไทยจะครองตำแหน่งนี้ติดกันมาเป็นระยะเวลา 3 ปี ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ไม่มีสิทธิได้รับสิทธิ GSP จากอียูอีก ไม่ว่าในสินค้าใดๆ โดยที่อียูให้เวลาปรับตัว 1 ปีหมายความว่าสิทธิ GSP จากอียูอาจจะหมดไปสำหรับทุกตัวสินค้าจากไทยในต้นปี 2558 วันที่ 4 ธันวาคม 2555 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างกรอบการเจรจา ความตกลงการค้าเสรีไทย – สหภาพยุโรป และได้มอบหมายผู้แทนการค้าไทย (ดร.โอฬาร ไชยประวัติ) เป็นหัวหน้าคณะเจรจา และเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 ที่ประชุมรัฐสภาร่วมฯ ได้มีมติเห็นชอบร่างกรอบการเจรจา กรอบการเจรจา ความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปจะครอบคลุมความ   ตกลงด้านการค้าสินค้า บริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งการเจรจาอาจแยกเป็นรายฉบับ รวมทั้งภาคผนวกและเอกสารแนบท้ายที่จะมีการเจรจาเพิ่มเติมในภายหน้า สาระสำคัญครอบคลุม 17 ประเด็น 1)            การค้าสินค้า 2)            พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 3)            กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 4)            มาตรการเยียวยาทางการค้า 5)            มาตรการปกป้องด้านดุลการชำระเงิน 6)            มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 7)            อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 8)            การค้าบริการ 9)            การลงทุน 10)          การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ 11)          ทรัพย์สินทางปัญญา 12)          การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 13)          ความโปร่งใส 14)          การแข่งขัน 15)          การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 16)          ความร่วมมือ 17)          เรื่องอื่นๆ เมื่อพิจารณาจากกรอบการเจรจาที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ จะพบว่า การเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียูนี้ มีหลายประเด็นที่ไม่เคยเจรจาเปิดเสรีมาก่อนในเอฟทีเออื่นๆ ทั้งเป็นประเด็นที่มีผลกระทบสูง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ การคุ้มครองการลงทุนที่เปิดโอกาสให้ใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน และสินค้าทำลายสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ เป็นต้น        จึงทำให้เกิดประเด็นร้อนในสังคมขึ้นมาทันใดว่า รัฐบาลจะเร่งเจรจาไปเพื่อผลทางการค้าของสินค้าส่งออกไม่กี่กลุ่ม แล้วยอมละทิ้งผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่หรือ?   สิ่งที่จะเกิดขึ้น ถ้าไทยขาดความระมัดระวังในการเจรจา - ยารักษาโรคถูกผูกขาดยาวนานยิ่งขึ้น ยาราคาแพงจะคงอยู่ในตลาดยาโดยไม่มียาที่ถูกกว่าเข้ามาแข่งขัน ส่งผลให้คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงยา เข้าไม่ถึงการรักษา เพิ่มภาระกับงบประมาณของประเทศ และระบบหลักประกันสุขภาพจะถูกสั่นคลอน  หากมีการยอมรับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาด้านยา - เปิดทางให้บรรษัทการเกษตรยักษ์ใหญ่เข้ามาผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ต้นทุนการผลิตเกษตรกรรมและอาหารจะสูงขึ้นอย่างมาก หากยอมรับประเด็น ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพ - เปิดทางให้บริษัทธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่เข้ามาใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลงทุน ทางการเกษตร ด้วยเงินทุนเทคโนโลยี และการเอื้อประโยชน์ทางนโยบายจากรัฐบาล เกษตรกรรายย่อยจะกลายเป็นแรงงานรับจ้างในที่ดินของตัวเอง อาหารถูกผูกขาดและถูกกำหนดราคาโดยบริษัทจากการเปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและการเกษตร - ขณะที่ยารักษาโรคมีราคาแพง สินค้าที่มีอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนจะได้รับการลดภาษีอย่างมโหฬาร เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ จะมีราคาถูก กระตุ้นให้เกิดนักดื่ม-นักสูบหน้าใหม่ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นภาระโรคใน ระยะยาว และยังจำกัดอำนาจของรัฐในการออกนโยบายและมาตรการเพื่อควบคุมการบริโภค แอลกอฮอล์และยาสูบ - เอฟทีเอนี้ จะเป็นอุปสรรคสำหรับการกำหนดนโยบาย กฎหมาย และมาตรการต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข, การคุ้มครองผู้บริโภค, ปกป้องสิ่งแวดล้อม, ช่วยเหลือเกษตรกร, อุดหนุนเอสเอ็มอี ด้วยกลไกที่เรียกว่า “กลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน” ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เรียก ค่าเสียหายจากงบประมาณแผ่นดิน หากรัฐบาลกำหนดนโยบายที่กระทบต่อการหากำไรของ บริษัทข้ามชาติ - ปิดกั้นการเข้าถึงความรู้ทั้งหนังสือและโลกออนไลน์ ผ่านเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับใช้กฎหมายที่เกินไปกว่าที่ตกลงไว้ ในองค์การการค้าโลก (WTO) ---------------------------------------------------------------------------------------------------------- เราไม่ได้ ค้าน FTA แต่เราต้องการ FTA ที่เป็นธรรมกับประชาชน และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงมากกว่า กรรณิการ์ กิจติเวชกุล FTA Watch “เรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้มีแค่เรื่องยา แต่ยังมีเรื่องทรัพยากรชีวภาพอีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังทำคือ ทำอย่างไรก็ตามเพื่อให้การเจรจา ผลของการเจรจาเป็นประโยชน์กับประชาชน กับสังคมมากที่สุด โดยที่พยายามลดผลกระทบทางลบให้น้อยที่สุดไม่ใช่เป็นเหมือนกับการเจรจา FTA ครั้งที่ผ่านๆ มา โดยต้องใช้ข้อมูล ใช้การศึกษา ใช้งานวิจัยให้มากที่สุด ถ้าอะไรเป็นผลกระทบไม่ควรจะยอมรับ อะไรที่ยังพอได้ก็ยังสามารถกำหนดระยะเวลาออกไปได้ เพื่อให้มีผลบังคับช้าหน่อย แต่อะไรที่ยอมได้และเป็นประโยชน์กับประเทศไทยก็ยอม แต่ไม่ใช่ว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับการกดดันของภาคธุรกิจเท่านั้น ปัญหาสำคัญของเรื่องนี้มาจากการที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเป็นประเทศด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนาระดับล่างๆ ทำให้ได้สิทธิพิเศษทางการค้า หรือ GSP หมายความว่าประเทศด้อยพัฒนาที่ส่งสินค้าไปขายจะเสียภาษีน้อยกว่า แต่เมื่อไหร่ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วจะไม่ได้รับสิทธิดังกล่าวอีก ต้องมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งช่วงทศวรรษหลังนี้ประเทศไทย ธุรกิจของไทยมีศักยภาพสูงขึ้นมา ถือเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ระดับสูง 3 ปีติดต่อกัน และเรายังมีสินค้าจำนวนมากที่เคยได้สิทธิ GSP และไปครองตลาดเกิน 17.5% สินค้าบางประเภทที่เขากำหนดก็เกิน 14.5% สินค้าหลายตัวของไทยทยอยหมดสิทธิได้รับ GSP ไปแล้ว และที่ล็อตใหญ่ๆ จะหมดสิ้นปี 2557 เพราะฉะนั้นภาคธุรกิจควรจะปรับตัวเองก่อนหน้านี้ 3-4 ปีแล้ว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่กลับพบว่าภาคธุรกิจไทยไม่ยอมทำอะไรเลย แต่มาเรียกร้องและกดดันรัฐบาลไทยว่าต้องไปเจรจา FTA ให้แล้วเสร็จในปีครึ่ง ให้มันใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2558 เพื่อให้ได้ต่อสิทธินี้อย่างถาวร ซึ่งตรงนี้เราถือว่าเป็นความไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งเพราะว่ามันจะทำให้การเจรจาด้อยประสิทธิภาพอย่างมาก อินเดียเป็นประเทศใหญ่กว่าประเทศไทย เจรจามาแล้วกว่า 5 ปี กับสหภาพยุโรปยังไม่ยุติ สิงคโปร์ขนาดเป็นประเทศเล็กเขายังเจรจาไป 3 ปีใกล้จะเสร็จแล้ว” โฟกัสมาที่เรื่องยาเพราะไม่ใช่แค่ผลทางธุรกิจแต่มีต่อสุขภาพของคนไทยด้วย ? “เรื่องยา เราต้องบอกว่ามีความพยายามของภาคธุรกิจเอกชนที่จะได้ผลประโยชน์จากการคง สิทธิ GSP พยายามร่วมมือกับสมาคมบริษัทยาข้ามชาติ ใช้คำเรียกยาชื่อสามัญว่าเป็นการทำปลอม ซึ่งน่าแปลกใจมากที่เขาใช้คำเดียวกับทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยใช้บอกกับ ผู้สื่อข่าวว่ายาชื่อสามัญของไทย หรือยาที่ใช้อยู่ในประเทศไทยเป็นยาปลอมจำนวนมาก แต่คำว่าปลอมของเขาจงใช้ในเรื่องของการปลอมทรัพย์สินทางปัญญา แต่คำว่ายาปลอมในบ้านเราเป็นยาปลอมเรื่องคุณภาพ ยาปลอมตาม พ.ร.บ.ยา ซึ่งพวกนี้ไม่สนใจ พยายามที่จะขยายนิยามออกมาเพื่อที่จะกีดกันยาชื่อสามัญไม่ให้เข้าสู่ตลาด ยาชื่อสามัญมีความสำคัญอย่างไร ก็ย้อนหลังกับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ยาต้านไวรัสเอชไอวี มีการผู้ขาดเพียงเจ้าเดียว ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อเดือน ต่อคนประมาณ 3-4 หมื่นบาท ตอนนั้นมีเพียงผู้ติดเชื้อที่อยู่ในโครงการทดลองเท่านั้นถึงจะได้ใช้ แต่เมื่อมีการผลิตได้มากขึ้น ประเทศบราซิลผลิตได้ อินเดียผลิตได้ ประเทศไทยผลิตได้ ราคาลดลงเกินกว่าครึ่ง และเมื่อเวลาผ่านมา เมื่อมีจำนวนผู้เข้าแข่งขันในตลาดมากขึ้นราคาก็ลดลง ปัจจุบันยา จีพีโอเวียร์ของเราอยู่ที่ประมาณ 700-800 บาทต่อเดือนเท่านั้น ในขณะที่ยาต้นแบบเองก็ลดลงเหลือเพียงไม่กี่พันบาท แบบนี้มันทำให้คนเข้าถึงยาเพิ่มขึ้น ซึ่งชัดเจนว่าสามารถช่วยชีวิตคนได้ เป็นกำลังสำคัญของครอบครัวเขาได้ต่อไป เรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่ายาชื่อสามัญมีความสำคัญ เราไม่ได้คัดค้านระบบทรัพย์สินทางปัญญา ระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้สิทธิผูกขาดกับผู้คิดค้นนวัตกรรมที่มีความใหม่ และมีนวัตกรรมที่สูงขึ้น แต่สมควรได้รับในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งการตกลงขององค์กรการค้าโลกระบุไว้ที่ 20 ปี แต่อยู่ๆ คุณบอกว่าจะมาขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรออกไปอีก 5 ปี เนื่องจากความล่าช้าในการออกสิทธิบัตร และบวกความล่าช้าในการอนุมัติทะเบียนยา ซึ่งคุณไม่เคยไปดูเลยว่าความล่าช้านั้นเกิดจากเจ้าหน้าที่หรือเกิดจากผู้ที่ มาขอสิทธิบัตรหรือมาขอขึ้นทะเบียนยา ทั้งๆ ที่กรณีการขอสิทธิบัตรถ้าของดีจริง ได้สิทธิบัตรตั้งแต่วันที่ขอยื่นแล้ว ถ้าใครจะไปผลิต ถึงแม้จะยังไม่ได้สิทธิแต่สามารถยื่นโนติสไปให้ผู้ผลิตเหล่านั้นได้ ซึ่งบริษัทยาข้ามชาติในประเทศไทยก็ทำอยู่บ่อย เพียงแต่ถ้ายาของคุณไม่ได้คุณภาพจริง ไม่สมควรได้สิทธิบัตรจริง คนอื่นก็กล้าผลิตเพราะรู้ว่าไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิบัตร หรือแม้แต่กรณีที่มีบางคนอ้างว่าการขึ้นทะเบียนยาใช้เวลาถึง 13 ปีจึงอนุมัตินั้น คิดว่าตัวเลขนี้เป็นการโกหก ถ้าจริงออกมาบอกเลยว่าเป็นยาตัวไหน เพราะว่าจากงานวิจัยเราพบว่าบริษัทยาข้ามชาติที่มาขอสิทธิบัตรในประเทศไทย พยายามขอถ่วงเวลาในการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาตรวจ พยายามยืดเวลาออกไป 3-5 ปี เพราะรู้อยู่แล้วว่าในช่วงเวลานั้นถึงอย่างไรก็ได้รับความคุ้มครอง เพราะฉะนั้นก็ไม่รีบร้อนยื่นให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาตรวจ ถ้ามีความล่าช้าในส่วนของผู้อนุมัติคุณก็ต้องไปเร่งกระบวนการอนุมัติ ไม่ใช่มาบอกว่าคุณควรต้องได้รับการขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรออกไปอีก 5 ปี” จริงๆ แล้วของไทยใช้เวลาขอขึ้นทะเบียนนานแค่ไหน ? “มันไม่ได้นานขนาดนั้นหรอก อย่างขอขึ้นทะเบียนยาใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 1 ปี จะมีบางเคสที่ใช้เวลา 2 ปี แต่มีไม่เยอะ ซึ่งเรื่องนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงได้ เขามีตัวเลขเหล่านี้ทั้งหมด ส่วนเรื่องการขอสิทธิบัตรจะอยู่ที่ 4-5 ปี ที่เป็นปัญหาแบบนี้ ก็อย่างที่บอกว่างานวิจัยพบว่าบริษัทที่มาขอสิทธิบัตรไม่ยอมยื่นจรวจสอบ คือยื่นขอแล้ว จะมีระยะเวลาที่จะมาขอยื่นตรวจสอบ หากไม่มาขอยื่นตรวจสอบ กรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ แล้วเขาก็ยืดเวลาออกไป 3-5 ปีอย่างนี้ ยืดจนสุดขีดของเขาเพราะรู้ว่าช่วงเวลานั้นจะได้รับการคุ้มครองถ้าสิทธิบัตร ของเขาดีจริง ฉะนั้นไม่ได้เป็นปัญหาจากหน่วยงานราชการของไทยเลย ซึ่งประเด็นนี้คนที่ไม่ได้อยู่ในภาคส่วนที่เกี่ยวกับยามักจะไม่รู้ และยังมีสมาคมบริษัทยาข้ามชาติพยายามไปกรอกหูคนเหล่านี้ให้มาพูดจาโกหก ประชาชน เป็นเรื่องที่เรารับไม่ได้ ยังไม่นับเรื่องที่คุณพยายามใช้ Data Exclusivity เพื่อที่จะได้ผูกขาดข้อมูลทางยา เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีบริษัทยาข้ามชาติมาขึ้นทะเบียนแล้ว ห้ามคนอื่นมาขึ้นทะเบียนเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี จะอ้างว่าเป็นโมเลกุลใหม่ แต่กลับไม่มีระบุไว้ตรงไหนเลยว่าเป็นโมเลกุลใหม่ เนื้อหาคำขอที่ยุโรปยื่นให้อินเดีย ยื่นให้อาเซียนไม่มีคำขอใดบอกเลยว่าเป็นโมเลกุลใหม่ พวกนี้ต้องการใช้วิธีการนี้สำหรับตัวยาที่หมดสิทธิบัตรแล้วแต่ยังไม่ได้ขึ้น ทะเบียน ยาตัวใหม่ที่คิดค้นขึ้นกว่าจะมาถึงบ้านเราก็ช้ามาก การขึ้นสิทธิบัตรถ้าขึ้นช้าจะถือว่าเก่า เพราะฉะนั้นก็ต้องมาขึ้น กว่าที่ยาจะมา กว่าจะมาขึ้นทะเบียนยาก็เก่าแล้ว ถ้าไม่ใช้วิธี Ever greening หรือสิทธิบัตรต่อเนื่อง ไม่ใหม่มากแต่ก็มาต่ออายุไปเรื่อยๆ คือเป็นอีกระบบหนึ่งที่สามารถตั้งราคาได้โดยไม่มีผู้แข่ง เพราะเมื่อไหร่ที่มีคนมาแข่งราคาจะลดลงไปกว่าครึ่ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่พยายามทำคือการขัดขวางบริษัทยาชื่อสามัญ และตอนนี้มีความพยายามที่จะบอกว่ายาชื่อสามัญในไทยไม่มีศักยภาพ ซึ่งคิดว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจนี้คงจะเข้าใจผิด ในวงธุรกิจเดียวกันเขาเป็นที่ยอมรับว่าบริษัทยาชื่อสามัญในไทยมีศักยภาพ อย่างมาก และตอนนี้หลายเจ้าทำส่งขายในยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงทำให้กับบริษัทยาของญี่ปุ่นที่ส่งขายในประเทศไทยด้วย” มีข้อเสนอจากภาคธุรกิจว่า เมื่อเป็นกังวลเรื่องยาแพงก็ให้เจรจากันในเรื่องของยาแพง ถ้าหากประเทศไทยยอมตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป แล้วเจรจาในประเด็นเรื่องยาแพงอย่างเดียวจะเกิดผลอย่างไรกับประเทศไทย ? “เกิดผลกระทบแน่นอน ต้องบอกก่อนว่าคนที่พูดแบบนี้คือไม่เข้าใจระบบการควบคุมราคายาของประเทศไทย เลย ว่าบ้านเราไม่เคยมีระบบนี้อยู่ในประเทศ ดังนั้นเราจะไปคุมราคาเขาไม่ได้ มีแต่กรมการค้าภายในที่บอกว่าราคายาต้องไม่ขายเกินกว่าที่ระบุไว้ที่กล่อง แต่สามารถขายถูกกว่านี้ได้ บ้านเราไม่มีระบบควบคุมราคายา เพราะฉะนั้นการที่อ้างว่าไปเจรจา แล้วบอกเขาว่าหากได้ตรงนี้ไป จะต้องขายไม่เกินเท่านี้ๆ แต่คุณไม่มีกลไกอะไรเลยที่จะไปควบคุมเขา แล้วบอกไว้ก่อนเลยว่า หลัง FTA มีผลบังคับใช้กฎแบบนี้ออกไม่ได้ เพราะถ้าออกมาแล้วบริษัทยาสามารถเอาไปฟ้องร้องดำเนินคดีได้เลย เอาไปฟ้องร้องกับอนุญาโตตุลาการ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาการควบคุมราคายาของไทยคือ การที่เมื่อไหร่ก็ตามมีคู่แข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้น ราคายาในตลาดจะลดลง หรือเขาใช้วิธีการซื้อจำนวนมากแล้วต่อรองราคายา แต่ว่าถ้าซื้อจำนวนมากแล้วมีขายแค่เจ้าเดียวก็ไม่ได้ลดราคาเหมือนกัน ประเทศไทยมีองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทำหน้าที่ผลิตยา จะมียาตัวใหม่ๆ ออกมาเพื่อยันราคายาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่สหภาพยุโรปเรียกร้องอีกข้อหนึ่งคือการตัดแขนตัดขา อภ. คือให้ให้ยกเลิกกฎระเบียบให้ซื้อยากับ อภ.ก่อน ถ้าไม่เกิน 5% ซึ่งปกติโรงพยาบาลแทบไม่ได้ใช้กฎนี้แล้ว เพราะว่าเงินที่ได้รับจากสปสช.จะเข้าไปในลักษณะของเงินบำรุง ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้กฎนี้  ดังนั้นข้อดีของการมี อภ.คือเอาไว้ยันราคา แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ทำให้ อภ.ไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ เลยไม่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ก็ตาม เมื่อนั้นเท่ากับว่าตัดแขน ตัดขา อภ. เช่นเดียวกับประเทศมาเลเซียที่เมื่อก่อนเคยมีองค์การเภสัชกรรมคล้ายกับบ้าน เรา แต่แปรรูปไป หลังจากนั้นยาในมาเลเซียแพงมาก ทุกวันนี้มีผู้ติดเชื้อและใช้ยาเรื้อรังในมาเลเซียมาซื้อยาในประเทศไทยเยอะ มาก เวลาที่คุณเป็นคนรวยมากๆ คุณไม่เข้าใจหรอกว่าคนเข้าไม่ถึงยาเป็นอย่างไร คนที่ผ่านช่วงเวลาเห็นเพื่อนล้มตายเป็นจำนวนมากทั้งๆ ที่มียาแต่มันแพงเกินไปมันผ่านมาแล้วทั้งนั้น ถึงต้องลุกมาบอกว่าไม่เฉพาะยาของผู้ติดเชื้อ แต่รวมถึงยารักษาโรคเรื้อรังอื่นๆ ด้วย และจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพตาย เพราะว่าถ้าระบบหลักประกันสุขภาพไม่สามารถซื้อได้เพราะยาราคาแพง ระบบหลักประกันสุขภาพก็จะกลายเป็นประกันชั้น 2 ในที่สุดก็จะล้มเหลวถ้าไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ สิ่งที่ระบบหลักประกันสุขภาพต้องทำคือการต่อรองราคายาให้ถูก การที่มีภาคธุรกิจมาบอกว่าให้ต่อรองราคายาจากเขาลงนั้นเป็นไปไม่ได้ ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนนั้นสหรัฐอเมริกากดดันประเทศไทยให้แก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ปี 2528-2535 โดยอ้างว่าจะตัดสิทธิ GSP ไทย พวกธุรกิจที่ส่งออกก็บอกว่าให้ยอมรับไปเถอะเดี๋ยวก็มีการควบคุมราคายาโดยคณะ กรรมการสิทธิบัตรด้านยา จนในที่สุดคณะกรรมการสิทธิบัตรด้านยาก็ถูกยกเลิกไป เพราะว่ามีความตกลงลับๆ ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาขณะนั้นว่า ความจริงจะให้ยกเลิกคณะกรรมการชุดนี้หลังจากที่ออกกฎหมายแล้ว ในที่สุดก็ไม่มีตัวควบคุมราคายา แต่คุณได้ประโยชน์จากการได้สิทธิ GSP และขณะนี้ 20 ปี ต่อมาคุณยังจะทำแบบนี้ใช่ไหม คือไม่เคยเลยที่จะคิดถึงประชาชนคนอื่น ไม่เคยเลยที่จะคิดว่าจริงอยู่ที่ธุรกิจของคนทำให้ประเทศชาติก้าวหน้า แต่ว่าผลประโยชน์มันต้องถูกแบ่งปันบ้าง คนที่ยากจนควรมีตาข่ายทางสังคมมารองรับ เราไม่ได้บอกว่าคุณเจรจา FTA ไม่ได้ คุณเจรจาได้ แต่อะไรที่มันเป็นผลกระทบระยะยาว งานวิจัยที่ชี้ออกมาว่าการผูกขาดข้อมูลทางยาทำให้เกิดผลกระทบ 8 หมื่นล้าน จากการขยายอายุสิทธิบัตรอีก 2 หมื่นล้าน ยังไม่นับเรื่องสิทธิบัตรพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ของประเทศอีกประมาณแสนล้าน ถามว่าตรงนี้ใครจะรับภาระ จะเป็นเรื่องผลได้กระจุก ผลเสียกระจายอีกใช่ไหม” จากสถานการณ์ที่คณะเจรจาถูกกดดันจากภาคธุรกิจทำให้ขณะนี้แนวโน้มของการเจรจาคาดว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ? “ตอนนี้ต้องบอกว่าต้องแยกก่อนว่า เราจะเห็นความพยายามของหัวหน้าคณะเจรจาคุณโอฬาร ไชยประวัติ และกรมทรัพย์สินทางปัญหาให้ อย. ดูเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยาเป็นหลัก แต่พี่คิดว่าว่าเขายังให้ดูน้อยเกินไป เพราะว่าดูแค่การขยายอายุสิทธิบัตรและการผูกขาดข้อมูลทางยา แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่สหภาพยุโรปต้องการคือการแก้ไขการบังคับใช้ กฎหมายของไทยให้เข้มข้นขึ้น ให้ยึดจับยาได้โดยอ้างว่าเป็นเป็นยาปลอม หรือยาที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าเวลาที่บอกว่ายานี้เป็นยาที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า ฉะนั้นทริปส์ไม่เคยกำหนดว่าให้สามารถยึดจับได้ เพราะว่าสิทธิบัตรต้องไปฟ้องร้องกันในชั้นศาล และดูถึงระดับโมเลกุล ใช้ตาดูไม่ได้ แต่สิ่งที่สหภาพยุโรปต้องการคือให้ยึดจับเลย ไม่ว่าจะละเมิดหรือยัง หรือเกือบจะละเมิดให้ยึดจับได้ ตามกระบวนการของศาลไทยหากจะมาร้องขอให้ยึดจับโดยอ้างว่าเป็นการละเมิด ทรัพย์สินทางปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายการค้า หรือว่าทรัพย์สินทางปัญญาต้องวางเงินประกัน เพราะศาลเกรงว่าอาจจะมีการกล่าวหาอย่างไม่สมเหตุผล เป็นการกลั่นแกล้งกัน แต่สหภาพยุโรปเขียนเลยว่า “ห้ามวางเงินประกัน” ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ใช้วิธีรังแกเขาเลยสิ แถมยังบอกว่าสามารถหยุดได้ทั้งกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นคนส่งวัตถุดิบ คนส่งของ ร้านขายยา แล้วใครยังจะอยากขายยาชื่อสามัญอีก ทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่ยาปลอม เพราะยาชื่อสามัญจะผลิตได้ก็เมื่อสิทธิบัตรยานั้นหมดอายุไปแล้ว พี่เลยเข้าใจเลยว่าตอนนี้ทำไมทั้งสหภาพยุโรป ทูตสหภาพยุโรป และสภาหอการค้าไทยและพรีม่าพยายามโจมตีเรื่องยาปลอม ทั้งที่จริงๆ เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลอยากมาก เพราะว่าเขาเอาไปรวมกับยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ยาที่ลักลอบเอาเข้ามา ซึ่งตอนนี้อย.ไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ตรวจจับอยู่แล้ว ตอนนี้เป็นปัญหามาก คิดว่าฝ่ายคณะเจรจาเขาเริ่มดูเรื่องพวกนี้มากขึ้น ทางอย.เขาพยายามที่จะทำเตรียมพร้อมรับการเจรจา และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่ อย.ร่วมกับสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกันทำ ตรงนี้ก็จะเสร็จประมาณเดือนก.ย. นี้ ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเจรจา FTA ไทย ที่มีงานศึกษาที่พร้อมมูลมากกว่าครั้งไหนๆ ที่ผ่านมา แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะได้ใช้งานวิจัยพวกนี้ไหม ถ้าภาคธุรกิจยังมากดดันอยู่ทุกวันว่าต้องเจรจาให้เสร็จภายในสิ้นปีหน้า พวกนี้มันต้องเจรจากันอย่างรอบคอบ ถ้ารู้ว่ามีปัญหาอย่างนี้แล้วจะเขียนอย่างไรให้รอบคอบ เขียนหลบอย่างไรให้ผลกระทบเกิดน้อยที่สุด ซึ่งถามว่าทำได้ไหม ทำได้ เพราะอินเดียเจรจากับสหภาพยุโรปจนสหภาพยุโรปยอมที่จะไม่เรียกร้องการขยาย อายุสิทธิบัตร ไม่เรียกร้องการผูกขาดข้อมูลทางยาแล้ว ไม่เรียกร้องให้อินเดียเข้าอนุสัญญา UPOV 1991[1] ไม่เรียกร้องให้อินเดียเข้า สนธิสัญญาบูดาเปส ไม่เรียกร้องให้อินเดียเข้ากลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน เหลือที่ยังยันกันอย

อ่านเพิ่มเติม >