ฉบับที่ 247 “ทิ้ง” เพื่อโลก

        หลายปีที่ผ่านมาเราได้ยินเรื่องของเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนกันมาพอสมควร เราได้รับข้อมูลเรื่องผลกระทบของการบริโภคที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และตระหนักว่า “การคัดแยกขยะ” นั้นมีส่วนอย่างยิ่งในการลดโลกร้อน แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ลงมือทำ บ้างก็ทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่ถูกต้อง แม้จะมีการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะแล้วก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะในทางปฏิบัติมีรายละเอียดที่ซับซ้อน เช่น ขวด กล่อง ถุง หรือแพ็คเกจต่างๆ ประกอบด้วยวัสดุหลายประเภท ผู้ผลิตแต่ละเจ้าให้ความสนใจในเรื่องนี้ต่างกัน ในขณะที่ภาครัฐของหลายๆ ประเทศก็ยังไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ             เรามาดูกรณีตัวอย่างจากออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ และเดนมาร์ก ที่รัฐบาลร่วมกับภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม กำหนดแนวปฏิบัติในการจัดทำฉลากที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถคัดแยกขยะได้อย่างถูกต้อง รองรับการนำกลับไปแปรรูปมาใช้ใหม่ และกรณีของสิงคโปร์ที่ใช้วิธีส่งเสริมให้แบรนด์ต่างๆ “ลดขนาด” ของบรรจุภัณฑ์ ด้วยการให้ “โลโก้” ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสนับสนุนแบรนด์เหล่านี้ได้  ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์          ก่อนหน้านี้คนออสเตรเลียมีความสับสนอยู่ไม่น้อยกับ “ฉลากรีไซเคิล” ที่มีถึง 200 รูปแบบ ผู้ผลิตที่นั่นให้ความสนใจเรื่องนี้มาก ต่างคนต่างก็คิดรูปแบบเฉพาะออกมาใช้กับสินค้าตัวเอง ผู้บริโภคส่วนใหญ่ “ตามไม่ทัน” จึงยังคง “ทิ้งผิด” อยู่นั่นเอง ความพยายามนั้นจึงเท่ากับสูญเปล่า          ต่อมาออสเตรเลียและนิวซีแลนด์แก้เกมด้วยการใช้ระบบฉลากรีไซเคิลที่เรียกกันว่า ARL (Australasian Recycling Label) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย APCO หรือ Australian Packaging Covenant Organization ร่วมกับ Planet Ark และ PREP (Packaging Recyclability Evaluation Postal) Design         คณะกรรมการที่ดูแลโครงการนี้แบ่งออกเป็นสองชุด ได้แก่ คณะที่ดูแลเรื่องข้อมูล (ซึ่งต้องมีความแม่นยำสูงมาก) และคณะที่ดูแลเรื่องการสื่อสารกับผู้บริโภค สมาชิกของทั้งสองคณะประกอบด้วยตัวแทนจากแบรนด์/ร้านค้าปลีก อุตสาหกรรมรีไซเคิล/จัดการขยะ ตัวแทนจากรัฐบาล และองค์กรไม่แสวงหากำไร           ผลิตภัณฑ์ภายใต้ระบบ ARL (สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกต และร้านค้าประเภทอื่นๆ ที่ร่วมโครงการ) จะมีสัญลักษณ์ 3 รูปแบบได้แก่         -        ลูกศรทึบวิ่งวน หมายถึง รีไซเคิลได้ (เจอถังรีไซเคิลที่ไหน ทิ้งได้เลย)         -        ลูกศรโปร่งวิ่งวน หมายถึง รีไซเคิลได้แบบมีเงื่อนไขตามที่แจ้งไว้ใต้สัญลักษณ์         -        ถังขยะ หมายถึง ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ทางเดียวที่ไปคือบ่อขยะ           ทั้งหมดนี้จะระบุชัดเจนว่าชิ้นส่วนไหน ต้องทิ้งอย่างไร          เช่น ตัวอย่างนี้ ส่วนที่เป็นกล่อง สามารถใส่ลงในถังรับขยะรีไซเคิลได้เลย ในขณะที่พลาสติกที่ห่อหุ้มมาจะต้องนำไป “ส่งคืนร้าน” ส่วนฝานั้นให้ทิ้งเป็นขยะทั่วไป          หัวใจของความสำเร็จของโครงการนี้คือข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ แบรนด์ที่เข้าร่วมโครงการ (ปัจจุบันเป็นแบบสมัครใจ) จะต้องประเมิน “ความสามารถในการรีไซเคิล” ของแพ็คเกจสินค้าตัวเอง โดยอ้างอิงกับฐานข้อมูลของ PREP ซึ่งมีการอัปเดตทุกปี โครงการนี้ยังส่งเสริมเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนด้วยการช่วยผู้ประกอบการออกแบบแพ็คเกจที่ตอบโจทย์เรื่องรักษ์โลกด้วย          ออสเตรเลียตั้งเป้าว่าภายในปี ค.ศ. 2025 แพ็คเกจผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะต้องเข้าเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ ใช้ซ้ำได้ รีไซเคิลได้ หรือ ย่อยสลายได้   เดนมาร์ก          ระบบ Pant A, B, C ของเดนมาร์กเป็นอีกตัวอย่างที่ยืนยันว่า จะมีการส่งต่อ “ขยะ” ไปสู่กระบวนการรีไซเคิลมากขึ้น หากผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ชัดเจนและได้ผลตอบแทนเป็นเงิน            Pant ในภาษาแดนิช แปลว่า “มัดจำ” เมื่อซื้อเครื่องดื่มในเดนมาร์ก ผู้บริโภคจะต้องจ่ายค่ามัดจำขวดหรือกระป๋องให้กับทางร้าน โดยร้านจะคำนวณค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้ที่หน้าเคาน์เตอร์ตามอัตราต่อไปนี้           เมื่อผู้บริโภคนำบรรจุภัณฑ์เหล่านี้มาคืนกับ “ตู้รับคืนอัตโนมัติ” ที่ตั้งอยู่ตามร้านค้าหรือปั๊มน้ำมันที่ร่วม โครงการ ซึ่งมีอยู่ 3,000 แห่งทั่วประเทศ ตู้ดังกล่าวก็จะออก “ใบเสร็จ” ให้ผู้บริโภคนำไปใช้ซื้อของในร้าน หรือจะรับเป็นเงินสดก็ได้เช่นกัน           หรือใครจะเก็บรวบรวมไว้ที่บ้านให้ได้เยอะๆ ก่อนก็ไม่ว่ากัน กรณีนี้ผู้บริโภคสามารถนำขวดหรือกระป๋องไปคืนที่ “Pantstation” ซึ่งสามารถรับได้ครั้งละ 90 ชิ้น ปัจจุบันมีสถานีรับคืนอยู่ใน 12 เมืองทั่วประเทศ          ขวดหรือกระป๋องจากตู้เหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยัง Dansk Retursystem องค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลระบบการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของเดนมาร์ก ตั้งแต่การจัดเก็บ คัดแยก ไปจนถึงการหลอมเพื่อผลิตขวดหรือกระป๋องขึ้นมาใหม่          จากข้อมูลของ DR การหลอมกระป๋องใช้แล้วขึ้นมาใหม่ ใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตกระป๋องขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ต้นถึงร้อยละ 95         โครงการที่ริเริ่มขึ้นในปี 2002 โดยผู้ผลิตเบียร์ร่วมกับหน่วยงานรัฐ ภายใต้การดูแลของกระทรวงสิ่งแวดล้อมนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง          ข้อมูลในปี 2019 ระบุว่าอัตราการส่งคืนขวด/กระป๋องเครื่องดื่ม โดยผู้บริโภคสูงถึงร้อยละ 92         นอกจากเดนมาร์กแล้ว โมเดลการมัดจำขวดก็มีใช้ในเยอรมนี สวีเดน และนอร์เวย์เช่นกัน  สิงคโปร์         กรณีของสิงคโปร์นั้นแม้จะไม่ใช่เรื่องการรีไซเคิล แต่ก็เป็นโครงการที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะเป็นการ “ตัดตอน” การใช้ทรัพยากรและพลังงาน รวมถึงลดการสร้างขยะโดยไม่จำเป็น          ตั้งแต่ปี 2017 รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มโครงการติด “โลโก้” ให้กับสินค้าที่มีการปรับลดขนาดบรรจุภัณฑ์ ภายใต้ข้อตกลง SPA (Singapore Packaging Agreement) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าที่ไม่ใส่บรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่เกินปริมาณสิ่งของด้านใน และเลือกสนับสนุนแบรนด์ที่ใส่ใจกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น           สินค้าที่จะติดโลโก้ “Reduced packaging” ภายใต้โครงการ LPRP (The Logo for Products with Reduced Packaging) จะต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการโครงการ โดยผู้ผลิตจะต้องส่งหลักฐานข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการลดปริมาณการใช้วัสดุในการผลิตบรรจุภัณฑ์ เพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาในการใช้โลโก้ดังกล่าว   ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 ระบุว่าโครงการนี้สามารถลดขยะบรรจุภัณฑ์ได้ถึง 54,000 ตัน และประหยัดเงินค่าวัตถุดิบได้ 130 ล้านเหรียญ   เอกสารอ้างอิง รายงานกรณีศึกษาโดยสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International)  โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และเครือข่าย One Planet    https://www.consumersinternational.org/media/361469/unep_ci_2021_arl_case_study.pdf https://www.consumersinternational.org/media/361467/unep_ci_2021_pantabc_case_study.pdf https://www.consumersinternational.org/media/361470/unep_ci_2021_lprp_case_study.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ฮาวทู (ไม่) ทิ้ง

         ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ตระหนักถึงผลกระทบจากการกินการใช้สินค้า/บริการ และต้องการทางเลือกที่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 74 ของผู้บริโภคในยุโรป สหรัฐอเมริกา และอเมริกาใต้ ยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่แพ็คเกจรีไซเคิลได้         ผู้ประกอบการหลายเจ้าก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น มาดูกันว่าสินค้าอุปโภคบริโภคจากผู้ผลิตค่ายใหญ่ มีการปรับปรุงแพ็คเกจให้เหลือเป็น “ขยะ” น้อยลง และให้ความรู้กับผู้บริโภคเรื่องวิธีการ “ทิ้ง”หรือ “รีไซเคิล” แพ็คเกจที่ใช้แล้วหรือไม่           Consumers International หรือสหพันธ์ผู้บริโภคสากล ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกใน 9 ประเทศ (บราซิล โปรตุเกส ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย อินเดีย และฮ่องกง ทั้งหมดนี้มีผู้บริโภครวมกันไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านคน) ทำการสำรวจบรรจุภัณฑ์ของกินของใช้ยอดนิยม 11 ชนิดที่มีจำหน่ายในประเทศดังกล่าว ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564 ว่าสามารถคัดแยกไปรีไซเคิลได้สะดวกหรือไม่และมีฉลากที่ให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวมากน้อยเพียงใด         มีข้อค้นพบที่น่าสนใจจากการสำรวจดังนี้        · ในภาพรวม ร้อยละ 35 ของแพ็คเกจผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่สำรวจยังเป็นภาระในการรีไซเคิล        · ถ้าเฉลี่ยเป็นรายชิ้นจะพบว่า ร้อยละ 17 ของแพ็คเกจแต่ละชิ้นไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และยิ่งเป็นพลาสติกชิ้นบางเบา ก็ยิ่งยากต่อการรีไซเคิล        · เมื่อเทียบแพ็คเกจสินค้า 11 ชนิด ในแต่ละประเทศ ฮ่องกงมีสัดส่วนของแพ็คเกจที่นำไปรีไซเคิลได้มากที่สุด ในขณะที่บราซิลมี “ขยะ” เหลือทิ้งมากที่สุด          ·  สำหรับอีก 7 ประเทศ ดูได้จากตารางด้านล่างนี้                   · ฉลากสินค้าเหล่านี้ในทุกประเทศที่สำรวจ ไม่ระบุวิธี “ทิ้ง” บางชนิดมีแพ็คเกจที่นำไปรีไซเคิลได้ แต่ฉลากกลับไม่แจ้งไว้ หรือกรณี M&M ของโปรตุเกส ที่แพ็คเกจระบุว่าให้นำไปทิ้งลงถัง ทั้งๆ ที่มันสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100%        · ฉลากมีข้อความที่ไม่สามารถเข้าใจได้ง่ายโดยผู้บริโภคในประเทศ เช่น ฉลากน้ำแร่ซานเพลลิกรีโน ที่ขายในออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ กลับมีการแสดงสัญลักษณ์แบบที่ใช้ในยุโรป        · จากการเปรียบเทียบฉลากสินค้า 11 ชนิด ใน 9 ประเทศ พบว่า ออสเตรเลีย บราซิล และฝรั่งเศส มีสินค้าที่มีฉลากให้ข้อมูลรีไซเคิลมากกว่า 8 ชนิด อินเดีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร มีระหว่าง 5 – 8 ชนิด ฮ่องกงและโปรตุเกสมีไม่เกิน 4 ชนิด                     โดยสรุป ผู้บริโภคใน 9 ประเทศที่ทำการสำรวจรู้สึกว่า การคัดแยกขยะเพื่อการรีไซเคิลเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย ฉลากที่ไม่ชัดเจนหรือให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็ทำให้การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอย่างรับผิดชอบต่อโลกเป็นเรื่องยาก หากต้องการไปให้ถึงเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน ภาระเรื่องนี้ต้องไม่ใช่ของผู้บริโภคอย่างเดียว ผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามนี้ รวมถึงภาครัฐที่ปัจจุบันยังมีระดับการจัดการเรื่องนี้แตกต่างกันไป ก็ควรมีกฎเกณฑ์ในเรื่องฉลากและมีศูนย์รีไซเคิลไว้รองรับด้วย           หลัก 7R ที่ผู้บริโภคอย่างเราสามารถใช้เพื่อช่วยลดขยะ        REFUSE         ปฏิเสธสิ่งที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม            REDUCE        ลดการใช้อย่างฟุ่มเฟือย รวมถึงเลือกสินค้าที่สามารถใช้งานได้นานขึ้น        REUSE           ใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำหลายครั้งก่อนทิ้ง        REFILL           เลือกใช้สินค้าชนิดเติมได้ เพื่อลดขยะบรรจุภัณฑ์        REPAIR          ซ่อมแซมเพื่อให้สามารถใช้ต่อได้ แทนที่จะปลดระวางมันไปเป็นขยะ        RETURN        เลือกสินค้าที่สามารถส่งคืนบรรจุภัณฑ์กลับสู่ผู้ผลิตได้          RECYCLE     แยกขยะที่ยังมีประโยชน์ออกมาเพื่อส่งแปรรูป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 รู้จัก ‘ความเสี่ยง’ ไม่เสี่ยงเลยก็เป็นความเสี่ยงแบบหนึ่ง

        “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษา...บลาๆๆ”         ประโยคแสนคุ้นเคย ได้ยินบ่อย เร็วรัว และนึกสงสัยว่าคนพูดหายใจทางไหน แต่ก็เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ ผู้ที่คิดลงทุนไม่ว่าจะในอะไรก็ตามแต่ต้องใส่ใจ มีคำพูดประมาณว่าในการลงทุนนั้นไม่มีอะไรที่เราควบคุมได้เลย หุ้น ทองคำ น้ำมัน ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ สิ่งเดียวที่เราพอจะควบคุมได้คือ ‘ความเสี่ยง’         เป็นเหตุผลให้ต้องเตือนไว้เสมอว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ต่อให้คุณลงทุนเองก็เถอะ หรือเวลาเปิดบัญชีกองทุนรวมกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทางพนักงานจะต้องให้คุณทำแบบทดสอบประเมินความเสี่ยงทุกครั้ง พอครบรอบระยะเวลาก็ให้ประเมินเพื่อดูว่าความเสี่ยงที่คุณเคยรับได้เปลี่ยนไปหรือเปล่า         สมมติว่าคุณทำแบบประเมินความเสี่ยงแล้วผลออกมาว่า คุณรับความเสี่ยงได้ระดับ 4 ก็จะมีการแนะนำกองทุนที่มีความเสี่ยงไม่เกิน 4 ให้คุณพิจารณา ถึงตรงนี้คงเกิดคำถามว่า ถ้าฉันอยากลงทุนในกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูงกว่า 4 ล่ะจะทำได้ไหม?         ทำได้ แต่ทาง บลจ. จะยื่นเอกสารให้คุณเซ็นรับรองว่าคุณยอมรับความเสี่ยงมากกว่าที่คุณทำแบบประเมินไว้         ว่าแต่ทำไมต้องทำ? คำตอบง่ายที่สุดคือแต่ละคนรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน เช่นคุณจะเจอคำถามว่าคุณคาดว่าไม่จำเป็นต้องใช้เงินที่นำมาลงทุนนานแค่ไหน สมมติคุณตอบว่าภายใน 1 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นเกินไปถ้าคิดลงทุนในหุ้นเพราะมันมีโอกาสขาดทุนสูง ถ้าคุณฝืนลงทุนไปโดยไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน แล้วมีเหตุให้ต้องใช้เงิน แต่กองทุนที่ถือไว้ยังขาดทุนอยู่ล่ะ         หรือคำถามว่าคุณยอมรับผลขาดทุนได้แค่ไหน คุณรู้อยู่แล้วว่าการลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องระยะยาว คุณเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว เงินก้อนที่ใช้ลงทุนเป็นเงินเย็นพร้อมจะให้มันทำงานยาวๆ ไป แม้ในระยะสั้นจะขาดทุน แต่ระยะยาวกำไรเติบโตแน่ คุณอาจยอมรับการขาดทุนได้สูงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของเงินต้นหรือมากกว่า         เห็นไหมล่ะว่าการประเมินความเสี่ยงจำเป็นแค่ไหน         มันก็ย้อนกลับไปตอนแรกๆ ที่พูดถึงการรู้จักตัวเองนั่นแหละ มันไม่ใช่แค่รู้ว่าตัวเองมีเงินแค่ไหน มีความรู้เท่าไหร่ แต่ต้องรู้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ด้วย         ทีนี้ก็จะมีบางคนกลัว ไม่กล้าเสี่ยง ไม่อยากเห็นเงินต้นหดหาย กลัวเจ็บหนัก เลยใช้วิธีดั้งเดิมที่คิดเองเออเองว่าไม่เสี่ยงชัวร์ คือการฝากเงินไว้กับธนาคารเฉยๆ         ผิด ไม่มีอะไรที่ไม่เสี่ยง ธนาคารล้มได้ วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ล้มกันระเนนระนาด หรือต่อให้ไม่ล้ม คุณก็จะเจอกับความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อที่กัดกินมูลค่าเงินของคุณ ต่อให้จำนวนเงินเท่าเดิม มูลค่าก็ลดลงอยู่ดี         ไม่มีอะไรที่ไม่เสี่ยงหรอก อยู่ที่ว่าเสี่ยงแบบมีความรู้หรือไม่มีความรู้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 Passive กับ Active คุณชอบแบบไหน?

        ขอพูดถึงกองทุนรวมต่อจากคราวที่แล้ว (คงมีอีกเรื่อยๆ นั่นแหละ) เพราะมันยังไม่จบ        กองทุนรวมแบ่งได้หลายแบบ หนึ่งในหลายแบบนั้นคือการแบ่งแบบ Passive Fund หรือ Index Fund กับแบบ Active Fund         ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมที่ลงในตราสารหนี้ ตราสารเงิน หุ้น หรือธีมอะไรก็ตาม จะมีสิ่งที่เรียกว่าเกณฑ์มาตรฐานหรือ Benchmark เพื่อใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงาน กองทุนรวมแบบ Passive จะพยายามทำผลตอบแทนให้เท่าหรือใกล้เคียงกับเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนแบบ Active จะพยายามเอาชนะตลาด         และกองทุนทั้งสองประเภทก็มีข้อดี-ข้อเสียต่างกันไป มาเริ่มกันที่แบบ Active         ข้อดีของกองทุนแบบนี้ที่เห็นกันชัดๆ คือมันมีโอกาสให้ผลตอบแทนดีกว่าหรืออาจขาดทุนน้อยกว่า ในเมื่อเป็นการบริหารแบบ Active ผู้จัดการกองทุนย่อมต้องพยายามทำผลตอบแทนให้สูงๆ เข้าไว้ในยามที่ตลาดกำลังขึ้นและขาดทุนให้น้อยที่สุดในขาลง (หรืออาจมีกำไรก็ได้) เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ผู้จัดการกองทุนและทีมย่อมต้องทำการบ้านเยอะ วิเคราะห์ข้อมมูล ซื้อๆ ขายๆ สินทรัพย์ ฟังแล้วก็ดูเข้าท่า แต่...         ใครจะมาบริหารจัดการเงินให้เราฟรีๆ ล่ะ ของพวกนี้มีค่าใช้จ่ายทั้งนั้นแหละ และจุดนี้เองคือข้อเสียของกองทุนแบบ Active ค่าธรรมเนียมเอย ค่าบริหารจัดการกองทุนเอย นั่นนู่นนี่ ทำให้ในระยะยาวแล้วมันอาจไม่ได้ชนะตลาดจริงอย่างที่กล่าวอ้าง เพราะผู้ถือหน่วยจะถูกค่าจิปาถะพวกนี้กัดกินผลตอบแทนจนต่ำกว่าตลาดในที่สุด         ตรงกันข้ามกับแบบ Passive ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเห็นๆ ผู้จัดการกองทุนก็แค่จัดสรรเงินลงทุนตามตลาด คุณได้ผลตอบแทนเท่ากับตลาด โดยที่มันจะไม่ถูกกัดกินจากค่าใช้จ่ายต่างๆ เหมือนกับกองทุนรวมแบบ Active         จุดอ่อนคือในยามที่ตลาดร้อนแรง กองทุนรวมแบบ Active อาจทำผลตอบแทนได้มากกว่าตลาดจนคุณอิจฉา และในยามตลาดห่อเหี่ยวมันก็อาจขาดทุนน้อยกว่า         อย่างไรก็ตาม นักลงทุนระดับโลกและนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าในไทยบางคนต่างแนะนำกองทุนรวมแบบ Passive ด้วยเหตุผลว่าในระยะยาวแล้วไม่มีใครหรอกที่สามารถเอาชนะตลาดหุ้นได้ เผลอๆ แพ้ด้วย เมื่อเป็นอย่างนั้นเราจะจ่ายเงินแพงๆ ให้กับบริษัทจัดการกองทุนไปทำไม         แต่กูรูด้านกองทุนรวมบางคนก็ให้ความเห็นว่า มันอาจจะจริงกับตลาดหุ้นขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ หรือที่อื่นๆ แต่สำหรับตลาดหุ้นไทยที่จำนวนบริษัทมหาชนยังไม่มากเท่า เรื่องที่ว่ากองทุนรวมแบบ Passive ให้ผลตอบแทนดีกว่าแบบ Active อาจยังไม่เป็นจริง         สุดท้ายอยู่ที่คุณเลือกว่าชอบแบบไหน...หลังจากเจอะเจอสไตล์ของตัวเองและทำความเข้าใจมันแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 คนกรุง 83.9 % มีหนี้สิน 54.3 % รู้ว่ามี พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ และ 28.5 % เคยถูกประจานทำให้อับอาย

        นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,135 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 27 - 30 มิถุนายน 2564 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เนื่องจากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 มีผลใช้บังคับจริงในวันที่ 2 กันยายน 2558 เป็นต้นไป ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกาศใช้บังคับ คือ เพื่อป้องกันและแก้ไขการทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคาม การขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น เป็นการปกป้องลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ ในรูปแบบต่างๆ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน ร้อยละ 83.9 โดยการกู้ซื้อรถยนต์เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 36.7 อันดับสองคือ การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 33.9 อันดับสามคือ การกู้ยืมจากกองทุน ร้อยละ 21.9 อันดับสี่คือ การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 20.6 อันดับห้าคือ การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 19.2 และอันดับหกคือ การกู้ยืมจากสหกรณ์ ร้อยละ 10.5                 โดยหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน เป็นการกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.8 อันดับสองคือ บริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง ร้อยละ 30.6 อันดับสามคือ กองทุน ร้อยละ 23.1 อันดับสี่คือ บริษัทสินเชื่อเงินด่วน ร้อยละ 20.8 อันดับห้าคือ คนปล่อยกู้ ร้อยละ 18.8 และอันดับหกคือ สหกรณ์ ร้อยละ 12.8                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบเรื่อง พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 คุ้มครองลูกหนี้ร้อยละ 54.3 ทราบว่าพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มีการคุ้มครองลูกหนี้เพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 49.8                 ในส่วนของการที่ไม่เคยผิดนัดผ่อนชำระ ร้อยละ 48.5 เคยผิดนัดผ่อนชำระ ร้อยละ 40.6 และไม่เคยถูกทวงถามหนี้ ร้อยละ 45.0 เคยถูกทวงถามหนี้ ร้อยละ 37.9                 โดยเคยถูกทวงถามหนี้ ผ่านทางจดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึกมากที่สุด ร้อยละ 32.4 อันดับสองคือ การคิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 26.4 อันดับสามคือ พูดจาไม่สุภาพ ร้อยละ 20.5 อันดับสี่คือ ทวงหนี้กับญาติ ร้อยละ 11.2 อันดับห้าคือ ประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 9.7                ทราบว่าการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร ร้อยละ 50.7 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. ร้อยละ 42.4 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ร้อยละ 42.6                 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 61.7 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 52.0                 ทราบว่า การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 42.6 และไม่ทราบว่า ผู้ทวงถามหนี้ ต้องขออนุญาตจดทะเบียนประกอบธุรกิจทวงหนี้และข้าราชการห้ามประกอบธุรกิจทวงถามหนี้  ร้อยละ 32.3                 ไม่เคยถูกทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 53.3 เคยถูกทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 25.7 และไม่เคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 59.2 เคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 16.8                 ทราบว่า หากเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จะร้องเรียนผ่าน สถานีตำรวจ มากที่สุด ร้อยละ 60.7 อันดับสองคือ คณะกรรมการการกํากับการทวงถามหนี้ประจําจังหวัด สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร้อยละ 31.6 อันดับสามคือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร้อยละ 25.0 อันดับสี่คือ เขตหรือที่ว่าการอำเภอ ร้อยละ 19.0 อันดับที่ห้าคือ สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน ร้อยละ 16.9 อันดับที่หกคือ สำนักงานสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ร้อยละ 16.0 และอันดับสุดท้ายคือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร้อยละ 13.1 โดยไม่แน่ใจว่าได้รับการแก้ไขปัญหา จากเคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 66.2                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้ คือถูกประจานทำให้อับอาย เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 28.5  อันดับที่สองคือ ถูกส่งคนติดตาม ร้อยละ 14.4 อันดับที่สามคือ ถูกข่มขู่ ร้อยละ 13.1

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 การใช้ยาเพิ่มน้ำหนักดีจริงหรือ

        อยากเพิ่มน้ำหนัก อยากอ้วน แต่กินเท่าไรก็ไม่อ้วน ในเมื่อกินอาหารไม่อาจช่วยได้ กินยาช่วยเลยละกัน ทำแบบนี้ได้ไหม แล้วจะได้ผลจริงหรือเปล่า มันจะเป็นการแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหากันนะ เรามาทำความรู้จักกับยาเพิ่มน้ำหนักกันเถอะ         ความหมาย         ยา  คือ สารทางธรรมชาติหรือสารเคมีที่ผ่านกรรมวิธีแล้วนำมาใช้งานให้ออกฤทธิ์ต่อร่างกาย เพื่อใช้ในการป้องกัน รักษา บำบัด หรือบรรเทาอาการของโรค ซึ่งจะแตกต่างในสรรพคุณและวิธีการใช้ ยาจะมีการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าและมีการตรวจสอบถึงผลกระทบที่จะตามมากับผู้ใช้อย่างละเอียดก่อนจะอนุญาตให้ใช้ในคน เพราะยาบางประเภทอาจจะรักษาอาการหรือรักษาโรคชนิดหนึ่งหาย แต่กลับไปทำลายระบบร่างกายส่วนอื่น และทำให้ต้องรักษาการป่วยของร่างกายที่เกิดจากการรับประทานยาตัวนั้นด้วย ถึงตรงนี้จะพบว่า ยานั้นผ่านการตรวจสอบค่อนข้างละเอียด หากใช้ถูกวิธีก็เกิดผลดี แต่ก็อันตรายถ้าใช้ไม่เหมาะสม แล้วยาช่วยเพิ่มน้ำหนักนั้นมีอยู่จริงไหม         ยาช่วยเจริญอาหารหรือที่มักเรียกกันว่า “ยาเพิ่มน้ำหนัก” ที่รู้จักกันในวงกว้าง คือ ยาไซโปรเฮปทาดีน (Cyproheptadine) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อการค้าว่า “เพอริแอคติน” (Periactin) และยาพิโซติเฟน (Pizotifen)         อันที่จริงสรรพคุณต้นฉบับนั้นเป็นยาแก้แพ้  แต่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการง่วงนอนและอื่นๆ โดยออกฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินสูงขึ้น ทำให้ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อน้ำตาลต่ำก็จะไปกระตุ้นที่ศูนย์ความหิวในสมอง จึงทำให้เกิดอาการหิวหรืออยากกินอาหารมากขึ้น บ่อยขึ้น จึงช่วยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในทางอ้อมได้          อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้ก็จะมีผลข้างเคียงหลายอย่างในการใช้จึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือขอคำแนะนำก่อนใช้ยาจากเภสัชกร ส่วนขนาดและระยะเวลาที่เหมาะสมของการใช้ยาต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น หมายความว่า เราไม่ควรไปซื้อรับประทานเอง         ไม่กินยาได้ไหม         ปัญหาสุขภาพนั้น สิ่งแรกเลยที่ต้องจัดการคือ การค้นหาสาเหตุของปัญหา ถ้ามีรูปร่างผอมและดัชนีมวลกายน้อย เรี่ยวแรงไม่มี อาจเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ เช่น กินอาหารไม่ถูกต้อง เป็นพันธุกรรม มีนิสัยการกินที่ผิด (เลือกกิน) หรืออาจมีปรสิตแอบอยู่ในตัว ฯลฯ จึงควรแก้ไขให้ถูกที่ โดยเริ่มจากพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยว่าไม่ได้มีสาเหตุทางกายภาพ เช่น มีพยาธิ เป็นกรรมพันธุ์หรือโรคร้าย หากสาเหตุเกิดจากโรคต้องให้แพทย์รักษา แต่หากเป็นเรื่องของพฤติกรรมลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้ดู         ·     ปรับวิธีกินให้เหมือนกับคนอ้วน            1.กินเร็วหรือเคี้ยวอาหารเร็วขึ้น            2.เพิ่มมื้ออาหาร            3.งดดื่มน้ำระหว่างรับประทาน            4.กินอาหารที่ให้พลังงานสูง                  ·     กินให้ถูกหลักโภชนาการ            1.กินอาหารดีมีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่  ไม่เลือกกิน            2.เพิ่มสัดส่วนหรือเน้นอาหารกลุ่มโปรตีนและไขมันเพิ่มเติมในมื้ออาหาร เพื่อช่วยเสริมกล้ามเนื้อ เช่น อกไก่ โปรตีนจากปลา ไข่ ธัญพืช กะทิ ถั่วและเมล็ดพืชต่างๆ         ·     เพิ่มการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี             ลองนำคำแนะนำข้างต้นนี้ไปปรับใช้ น่าจะช่วยเพิ่มน้ำหนักได้ แต่การเพิ่มน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืนต้องทำไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ แล้วผลลัพธ์จะออกมาดี และแน่นอนว่าดีกว่าการกินยาช่วยเพิ่มน้ำหนัก เพราะนั่นเป็นเพียงการใช้เสริมเพื่อให้เกิดความอยากอาหารขึ้นเท่านั้น ผลข้างเคียงก็เยอะ จึงไม่ควรเป็นสิ่งยึดหลัก เอาเป็นแค่ทางเลือกก็พอหากจำเป็นจริงๆ           ยาเพิ่มน้ำหนัก หรือยาช่วยเจริญอาหาร        1. ยาต้านซีโรโทนิน  (serotonin antagonist)             1.1 ไซโปรเฮปทาดีน (Cyproheptadine) : เป็นยาแก้แพ้ที่รู้จักในชื่อการค้าว่า “เพอริแอคติน” (Periactin)  มีสรรพคุณต้านฤทธิ์ของสารฮิสตามีนที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ ต้านฤทธิ์ซีโรโทนิน และออกฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินสูงขึ้น ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อน้ำตาลต่ำก็จะไปกระตุ้นที่ศูนย์ความหิวในไฮโปทาลามัส (ส่วนหนึ่งของสมอง) ทำให้หิวหรืออยากกินอาหารมากขึ้น บ่อยขึ้น จึงช่วยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในทางอ้อมได้ แต่น้ำหนักตัวจะไม่เพิ่มและยังอาจลดลงด้วยซ้ำเมื่อหยุดยา              ผลข้างเคียง             - ง่วงนอนตอนกลางวัน จึงอาจกระทบต่อผลการเรียนหรือการทำงาน             - ทำให้เกิดอาการอยู่ไม่สุข พลุ่งพล่าน             - ยังยั้งการหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต (ถ้าใช้ในเด็กอาจทำให้เด็กตัวเตี้ย)             1.2 พิโซติเฟน (Pizotifen) : มีฤทธิ์และผลข้างเคียงคล้ายคลึงกับไซโปรเฮปทาดีน แต่มีราคาแพงกว่า         โดยทั่วไปแพทย์จะให้ใช้ยา 2 ชนิดนี้ ไม่นานเกิน 2 สัปดาห์ เพื่อเลี่ยงไม่ให้ไปรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ        2. ยากลุ่มคอร์ติโคสตีรอยด์และอะนาบอลิกฮอร์โมน             2.1 ยากลุ่มคอร์ติโคสตีรอยด์ : ผู้ขายยาบางรายมักผสมยานี้ลงใน “ยาชุด” หลายแบบ และโฆษณาว่าเป็นยาบำรุงร่างกายบ้าง ยาชุดเพิ่มความอ้วนบ้าง อันที่จริง ยากลุ่มนี้จัดว่าเป็น “ยาอันตราย” ห้ามซื้อขายโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ เพราะมีผลข้างเคียงรุนแรงต่อผู้กินยาอย่างผิดวิธี ตัวยากลุ่มนี้ เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เด็กซาเมทาโซน  ผลข้างเคียง             - กระดูกหยุดเจริญเติบโตในเด็ก และกระดูกผุในผู้ใหญ่             - ร่างกายบวมฉุจากการคั่งของเกลือและน้ำ ผู้ใช้ยาจึงหลงคิดว่าอ้วนขึ้น            - ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง เกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย             - อาจเป็นเบาหวานหรือแผลในกระเพาะอาหาร             - ถ้าใช้ต่อเนื่องนานๆ จะกดการทำงานของต่อมหมวกไต และเสพติดได้             - อาจเกิดสิว ซึ่งรักษายาก ผิวหนังบาง ผิวหนังแตกเป็นริ้วตามหน้าท้องและขาอ่อน         2.2 อะนาบอลิกฮอร์โมน : ยากลุ่มนี้ที่มีแพร่หลายในท้องตลาดคือ แอนโดเจน เป็นฮอร์โมนที่มีมากในเพศชาย มีฤทธิ์กระตุ้นการเจริญของกระดูกและกล้ามเนื้อ ทำให้มีลักษณะของเพศชาย เช่น เสียงห้าว มีหนวดขนขึ้นดกดำ อวัยวะเพศชายเจริญรวดเร็ว 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 กองทุนรวมอีกรอบ รุกและรับ

        เคยพูดถึงวิธีการทำงานของกองทุนรวม (Mutual Fund) ไปแล้ว เหมาะกับคนที่ไม่มีเวลาหาข้อมูลมากมาย ซื้อ-ขายหุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ หรือนั่นนี่ไม่เป็น ไม่ถูก หรือไม่ทัน ก็หันมาใช้กองทุนรวมเพราะมีมืออาชีพคอยบริหารจัดการให้ ซึ่งเดี๋ยวนี้ต้องยอมรับว่ากองทุนรวมได้รับความนิยมมากขึ้นเยอะ         วันนี้จะชวนลงรายละเอียดกันอีกนิดว่าด้วยประเภทของกองทุนรวม         เคยแตะไปนิดหนึ่งว่ากองทุนรวมแบ่งได้หลายแบบ แบบหนึ่งคือการแบ่งกองทุนรวมเป็น Active Fund และ Passive Fund ถ้าให้แปลเป็นไทยแบบเข้าใจง่ายมันก็คือวิธีการบริหารจัดการกองทุนเพื่อสร้างผลต้นแทน 2 แบบ         แบบ Active Fund คือการบริหารจัดการเชิงรุกหรือสร้างผลตอบแทนให้ชนะตลาด         อันนี้อาจจะงงว่าชนะตลาดคืออะไร เรื่องมีอยู่ว่าสินทรัพย์ต่างๆ จะมีมาตรวัดหรือดัชนีว่าให้ผลตอบแทนในช่วง 6 เดือน หรือ 1 ปี 3 ปี 5 ปี 10 ปีเป็นเท่าไหร่ สมมติว่าปี 2563 ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ A ทั้งตลาดสร้างผลตอบแทนคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ กองทุนรวมแบบ Active Fund ที่ลงทุนในตราสารทุนหรือหุ้นนั่นแหละก็ต้องทำผลตอบแทนในปี 2563 ให้ได้มากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ จะ 11 12 15 20 อะไรก็ว่าไป         โดยผู้บริหารจัดการกองทุนจะทำหน้าที่เฟ้นหา สลับสับเปลี่ยนหุ้นที่ถือให้เหมาะกับแต่ละช่วงเวลา เช่น ถ้าช่วงนี้การท่องเที่ยวฟุบเพราะพิษโควิด หุ้นของบริษัทที่เกี่ยวกับท่องเที่ยวราคาหล่น ผลประกอบการก็ยังไม่น่าฟื้น เขาก็อาจจะขายหุ้นกลุ่มนี้ออกมาเพื่อไปซื้อหุ้นตัวอื่นที่น่าจะสร้างผลตอบแทนดีกว่า เขาต้องการชนะตลาดไง         ส่วนแบบ Passive Fund ก็ตรงกันข้าม เดี๋ยวๆ ไม่ได้หมายถึงบริหารให้แพ้ตลาด การบริหารจัดการเชิงรับคือการสร้างผลตอบแทนให้เท่ากับหรือใกล้เคียงกับตลาด ตัวอย่างเดิม ถ้าตลาดหลักทรัพย์ A ทำได้ 10 เปอร์เซ็นต์ กองทุนรวมชนิดนี้ก็จะทำผลตอบแทนเกาะแถวเลข 10 ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัด เป็นเหตุผลให้มันมีอีกชื่อว่า Index Fund         กองทุนรวมแบบนี้ ผู้บริหารจัดการกองทุนแค่มีหน้าที่เอาเงินไปใส่ในหุ้นต่างๆ ตามสัดส่วนของมูลค่าหุ้นของบริษัทนั้น สมมติว่าตลาดหลักทรัพย์ A มีหุ้นอยู่ 10 ตัวคือ ก. ข. ค. ง. จ. ฉ. ช. ซ. ต. ด. ใน 100 เปอร์เซ็นต์ หุ้นบริษัท ก มีมูลค่าตลาดอยู่ 30 จากนั้นก็ 10 5 5 4 6 12 8 6 14 ตามลำดับ เขาจะนำเงินของผู้ลงทุนไปซื้อหุ้นตามสัดส่วนนี้ เมื่อถึงรอบเวลา หุ้นทั้ง 10 ตัวทำผลตอบแทนได้เท่าไหร่หรือขาดทุนเท่าไหร่ ผลที่กองทุนรวมชนิดนี้ทำได้ก็จะล้อกับหุ้นทั้ง 10 ตัวนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ปัญหาขาดแคลนถุงพลาสติกทำให้การผลิตวัคซีนของโลกชะงัก

        การขาดแคลนถุงพลาสติกเฉพาะทางซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิตวัคซีนกลายเป็นปัญหาคอขวดที่ไปชะงักการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เพียงพอใช้ทั่วโลก เมื่อมองย้อนกลับไปปลายปี 2019 โลกก็เริ่มที่จะประสบปัญหาการขาดแคลนฟิล์มพลาสติกที่ใช้ทำถุงพลาสติกเฉพาะทางเหล่านี้ก่อนที่โควิด-19 จะเริ่มระบาดอยู่แล้ว และเมื่อโควิด-19 ระบาดหนักในช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา  วัสดุสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19  เช่น ขวดแก้ว พลาสติก จุกปิดขวดและสารเคมีประเภทต่างๆ ก็เริ่มที่จะขาดตลาด ซึ่งทำให้เป็นจุดเริ่มในการเกิดปัญหาการขาดแคลนครั้งใหญ่ทั่วโลกครั้งนี้         กระบวนการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19  เช่น BioNTech / Pfizer, Moderna และ Novavax  ต่างต้องใช้ถุงพลาสติกเฉพาะทางในกระบวนการผลิตกันทั้งนั้น โดยจะใช้ถุงพลาสติกเฉพาะทางเหล่านี้ในการเป็นท่อที่ถูกฆ่าเชื้อเพื่อทำการประกอบส่วนผสมของสารเคมีในวัคซีนขึ้น  ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ รวมไปถึง  CSL หรือบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพท้องถิ่นในออสเตรเลียที่กำลังเร่งผลิตวัคซีนอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า (Oxford-Astrazeneca) จำนวน 50 ล้านโดสให้ทันต่อความต้องการของประชากรในประเทศก็ถูกชะงักลงเนื่องจากขาดวัสดุอุปกรณ์เฉพาะทางที่สำคัญในกระบวนการผลิต  เนื่องด้วยวัสดุเหล่านี้ต้องได้รับการผลิตด้วยมาตรฐานการฆ่าเชื้อที่สูงมาก จึงทำให้มีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่สามารถผลิตมันได้          ตัวอย่างเช่นในยุโรป ดร.เจอร์เกน ลินเนอร์ หัวหน้าสมาคมผู้ผลิตส่วนผสมทางเภสัชกรรมแห่งออสเตรเลียกล่าวว่า  “เท่าที่ฉันทราบ ในยุโรปมีผู้ผลิตขวดแก้วแค่สามที่”  มากไปกว่านั้นวัสดุหลายประเภทต้องใช้ระยะเวลาในการผลิตเนื่องด้วยความซับซ้อนในกระบวนการผลิตของมัน  จึงทำให้บริษัทในหลายแห่งไม่สามารถผลิตมันออกมาได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ ได้ อีกทั้งตัววัคซีนเองก็จำเป็นต้องใช้สารเคมีหลายร้อยชนิดในการผลิต เช่น กระบวนการผลิตวัคซีน Pfizer ที่ต้องใช้ส่วนผสมในการผลิตมากกว่า 280 ชนิด  จึงทำให้ไม่แปลกที่ทั่วโลกจะเกิดอุปทานที่มากขึ้นกับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตวัคซีน         ดังนั้นจาก “ความต้องการที่ไม่เคยมีมาก่อน” นี้เองที่ทำให้บริษัทที่สามารถผลิตวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนต่างก็ตื่นตัวและพยายามอย่างเต็มที่ในการขยายความสามารถในการผลิตของตนให้มีได้ในปริมาณที่มากที่สุด  เพื่อให้ทันต่อปริมาณอุปทานที่ล้นหลามจากทั่วโลก โดยกระบวนการผลิตนั้นจะยังคงต้องรักษาระดับมาตรฐานคุณภาพเอาไว้ให้ได้อีกด้วย  ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่สำคัญเหล่านี้สามารถเห็นได้ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่กระบวนการผลิตวัคซีนถูกชะลอให้ช้าลง ดังจะเห็นได้จาก สถาบันเซรั่มรายใหญ่ของอินเดียได้ออกมากล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนถุงพลาสติกทำให้พวกเขาผลิตวัคซีน Novavax  อย่างยากลำบาก ซึ่งทำให้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาทางบริษัทได้ออกมาเตือนถึงข้อจำกัดในการผลิตวัคซีนเนื่องจากกำลังประสบปัญหาการสรรหาวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต ทำให้เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาอินเดียทำลายสถิติโลกของผู้ติดเชื้อโควิด-19         วัตถุดิบที่ใช้เพื่อผลิตวัคซีนส่วนใหญ่มาจาก 13 ประเทศ นำโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อังกฤษ อาร์เจนตินา รัสเซีย บราซิล ออสเตรเลีย แคนาดา จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้รวมตัวกันก่อตั้ง “วัคซีนคลับ” ตามที่ธนาคารโลกได้ขนานนามไว้ขึ้น  โดยเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อผลิตวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดรวมไปถึงตัวผลิตภัณฑ์วัคซีน “นั่นทำให้พวกเขาได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ เป็นสองเท่า”  ศ.ไซมอน อีเว็ตต์ ผู้เขียนรายงานกล่าวถึงความได้เปรียบของประเทศสมาชิกใน “วัคซีนคลับ”   จากความได้เปรียบนี้เองที่ทำให้การกระทำของประเทศที่ร่ำรวยบางประเทศส่งผลให้ส่วนที่เหลือของโลกมีความเสี่ยง เพราะประเทศที่เหลือนอกจากประเทศสมาชิกเข้าถึงสิทธิ์ในการฉีดวัคซีนได้ยากเนื่องจากต้องจ่ายเงินเพื่อนำเข้าวัคซีนมาใช้ เช่นประเทศที่ยังไม่พัฒนาหรือประเทศที่มีรายได้ต่ำ           ขณะที่จีน อินเดียและสหภาพยุโรปพยายามจัดหาวัตถุดิบและผลิตวัคซีนให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศตนเองและประเทศเพื่อนบ้าน สหรัฐอเมริกาเลือกที่จะปฏิเสธการส่งออกวัคซีนไปยังส่วนที่เหลือของโลกถึงแม้ว่าวัคซีนหลายล้านโดสในประเทศตัวเองจะไม่ได้ถูกใช้ก็ตาม เนื่องด้วยสาเหตุจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตวัคซีนและจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องหยุดการส่งออกวัคซีนเพื่อเก็บไว้ให้ประชากรในประเทศของตนเองใช้  อย่างไรก็ตามเมื่อยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียใต้หรืออินเดียต้องต่อสู้กับยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในทุกวัน  บวกกับแรงกดดันจากนานาชาติที่เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาแบ่งปันส่วนหนึ่งของวัคซีนในประเทศเพื่อช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติในสหรัฐอเมริกาจึงได้ออกมากล่าวให้การสนับสนุนสถานการณ์โควิด-19 ในอินเดีย โดยจะจัดหาวัตถุดิบเพื่อผลิตวัคซีน ตลอดจนหนทางการรักษาและอุปกรณ์ป้องกันโรคที่สำคัญกับอินเดียโดยทันที นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังมีแผนส่งออกวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) กว่า 60 ล้านโดสไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ทั่วทุกประเทศรวมไปถึงประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง นอกจากนี้ ประเทศตะวันตกหลายประเทศ นำโดย อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดาและเยอรมนีได้ให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือสถานการณ์วิกฤตของโควิด-19 ในอินเดียที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างเต็มที่         ถึงแม้ว่าการร่วมมือกันของหลายประเทศมหาอำนาจที่ตั้งใจจะพัฒนาและผลิตจำนวนวัคซีนให้เพียงพอเพื่อที่จะจัดจำหน่ายให้บริการทั่วถึงทั้งโลกจะเกินกว่าหนึ่งพันล้านโดสแล้วก็ตาม  ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น และปริมาณอุปทานในการผลิตวัคซีนก็ยังคงมีอยู่  จากการคาดเดาปริมาณที่ทั่วโลกต้องการผลิตวัคซีนภายในปีหน้าพบว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าแรงกดดันในการจัดหาวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง Reference Aime Williams and Kiran Stacey, (2021, May 1).Is there a ban on Covid vaccine exports in the US?.https://www.ft.com/content/82fa8fb4-a867-4005-b6c2-a79969139119Belinda Smith, (2021, February 12).Inside CSL, where Australia's Oxford-AstraZeneca vaccines are being made.https://www.abc.net.au/news/science/2021-02-12/covid-19-vaccine-oxford-astrazeneca-adenovirus-csl-manufacturing/13140104 Liam Mannix, (2021, May 7).Why a worldwide shortage of plastic bags is choking vaccine production.https://www.smh.com.au/national/why-a-worldwide-shortage-of-plastic-bags-is-choking-vaccine-production-20210506-p57phk.html Hannah Kuchler and Joe Miller, (2021, February 17).Shortage of giant plastic bags threatens global vaccines rollout.https://www.ft.com/content/b2f4f9cf-af80-428f-a198-2698ceb4c701

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 บิทคอยน์

        เดือนที่ผ่านมาเรื่องบิทคอยน์ (Bitcoin) เป็นประเด็นร้อนๆ ของนักลงทุนเพราะราคาตกต่อเนื่องจากคำไม่กี่คำจากปากอีลอน มัสก์ ผู้ก่อนตั้งเทสล่า ใครที่ซื้อเอาไว้ตอนราคาสูงๆ แล้วติดดอยคงมีอาการร้อนๆ หนาวๆ แต่นั่นแหละ อะไรที่ราคาขึ้นๆ ลงๆ ได้ เข้าถูกจังหวะก็ได้ส่วนต่างหรือได้ของถูก         ต้องมีคนคันไม้คันมืออยากเสี่ยงดวงกับบิทคอยน์ อยากร่ำรวยเหมือนพวกเศรษฐีบิทคอยน์ที่ได้ยินในข่าว ย้ำกันอีกครั้ง อย่าผลีผลาม ถ้ายังไม่รู้จักสิ่งที่ลงทุนศึกษามันก่อนลงทุนในตัวเองก่อนจังหวะและโอกาสมีมาเสมอ กฎการลงทุนข้อแรกของวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนเน้นคุณค่า (value investor) บอกไว้ว่า ‘อย่าขาดทุน’        แล้วบิทคอยน์คืออะไร?         บิทคอยน์เป็นแค่สกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency) สกุลหนึ่งเท่านั้น หมายความว่ายังมีเงินดิจิตอลสกุลอื่นอีก เช่น Ethereum Tether หรือ Libra ที่สร้างโดยเฟสบุ๊คเมื่อกลางปี 2562 เป็นต้น แต่บิทคอยน์เป็นสกุลเงินดิจิตอลที่โด่งดังที่สุด         มันถูกพัฒนาโดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์ชื่อ ซาโตชิ นาคาโมโตะ อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่าเป็นชื่อจริงหรือเปล่า มันถูกสร้างด้วยคอมพิวเตอร์ อยู่ในรูปแบบดิจิตอลเท่านั้น และถ่ายโอนผ่านอินเทอร์เน็ตกันด้วยบล็อคเชน (blockchain) เทคโนโลยีที่ปลอดภัยมากในเวลานี้ การจะได้มันมาครอบครอง คุณต้องขุดด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งน่าจะไม่ใช่หน้าที่ของนักลงทุน         คนสงสัยว่าเงินที่ไม่มีตัวตนมันใช้ซื้อของได้ด้วยเหรอ? มันซื้อได้ เหมือนเวลาเราซื้อของออนไลน์แล้วโอนเงินหรือจ่ายด้วยบัตร เพียงแต่เรามีเงินจริงๆ หนุนหลัง บิทคอยน์ไม่มี ความที่มันมีมูลค่าและมีจำกัดเพียง 21 ล้านเหรียญ กฎอุปสงค์-อุปทานจึงทำงาน คนต้องการมากของมีจำกัด ราคาจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ ราคาบิทคอยน์ 1 เหรียญ ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ตีเป็นเงินบาทเท่ากับ 1,238,847.86 บาท มีสักสิบยี่สิบเหรียญก็สบายแล้ว         มูลค่าขนาดนี้หอมหวานพอจะเสี่ยง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการซื้อขายเงินดิจิตอลในไทยหลายเจ้า ถ้าสนใจลองหากันดู         เตือนอีกครั้ง สกุลเงินดิจิตอลไม่มีมูลค่าบนโลกจริงหนุนหลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ให้การรับรอง จะว่าไปมันเป็นสิ่งประดิษฐ์ของโลกทุนนิยมสุดๆ มีคนจำนวนมากถูกหลอกเงินหลักแสนถึงหลักล้านจากการบินเข้ากองไฟบิทคอยน์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 รู้เท่าทันการเลือกเทรนเนอร์และนักโภชนาการ

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้คนใส่ใจเรื่องของสุขภาพทั้งในด้านอาหารการกินและการออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น มีเทรนด์สุขภาพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการเทรนการลดน้ำหนัก แต่หากมีการใส่ใจแบบหวังผลลัพธ์ไวทันตาเห็น อาจตกเป็นเหยื่อได้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอยากสุขภาพดีโดยอาศัยทางลัด อย่าง การอดอาหาร กินอาหารเสริม หรือพึ่งพา Health Coach ที่ไม่ได้เรียนจบมาทางด้านโภชนาการโดยตรง แค่อาศัยจากการเรียนคอร์สโภชนาการมาบ้าง ดังนั้นผู้บริโภคต้องมีความรู้เท่าทันเพื่อจะได้ไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง         ความหมายของ “เทรนเนอร์ และ นักโภชนาการ”        “เทรนเนอร์” คือ (Trainer) ผู้ที่มีความรู้ด้านฟิตเนส ที่จะต้องพัฒนาและนำวิธีการออกกำลังกายที่แตกต่างกันไปเฉพาะแต่ละคนไปสู่การปฏิบัติ เพื่อเป็นผู้นำในการออกกำลังกายของกลุ่มคนที่มีสุขภาพดีหรือกลุ่มคนทั่วไปที่ไม่มีข้อจำกัดทางการแพทย์ โดยประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายไปสอนบุคคลคน ด้วยเทคนิคการสอนที่หลากหลาย ปลอดภัย เกิดประสิทธิภาพ และทำให้เกิดผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีต่อบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา รักษา หรือทำให้เกิดผลสูงสุดต่อสุขภาพให้กับแต่ละบุคคล รวมทั้งมีความสามารถเพียงพอที่จะให้คำแนะนำที่เหมาะสมในการออกกำลังกาย กระตุ้นจูงใจให้บุคคลดูแลรักษาสุขภาพ และเป็นผู้นำด้านสุขภาพและการออกกำลังกาย หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ เทรนเนอร์ จะทำหน้าที่เทรนการออกกำลังกายอย่างถูกวิธีให้กับผู้คน          “นักโภชนาการ” หรือ “นักกำหนดอาหาร” คือผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารและสารอาหารอย่างรอบด้าน เป็นอาชีพที่มีบทบาทสำคัญในการวางแผนให้คำปรึกษาและเตรียมอาหารตามหลักโภชนาการสำหรับบุคคลทั่วไปหรือผู้ป่วย นอกจากนั้นนักโภชนาการยังทำหน้าที่เป็นคนศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและทดลองตำรับอาหารใหม่ พัฒนาสูตรอาหารตามหลักวิชาการและโภชนาการ กำหนดรายการอาหาร คำนวณคุณค่าของอาหารที่ใช้บริโภค ควบคุมและให้คำแนะนำการประกอบอาหารเฉพาะโรค การถนอมอาหารหรือ แปรรูปอาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ด้านโภชนาการแก่สาธารณชน ดังนั้นแล้วด้วยเทรนด์อาหารคลีนที่กำลังมาแรง นักโภชนาการที่คิดค้นและพัฒนาสูตรอาหารจึงมีความจำเป็นมาก           ปัจจุบันนักกำหนดอาหารในประเทศไทยนั้น จะต้องขึ้นทะเบียนวิชาชีพกับ “สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย” โดยจะได้รับคำว่า กอ.ช หรือ CDT ต่อท้ายซึ่งย่อมาจาก “นักกำหนดอาหารวิชาชีพ” หรือ “Certified dietitian of Thailand” ซึ่งจะมีการจัดสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นประจำทุกปี  นักโภชนาการที่ไม่ได้สอบขึ้นทะเบียนวิชาชีพนักกำหนดอาหารจะไม่สามารถขึ้น Ward ดูคนไข้ได้และไม่สามารถเขียนใบสั่งอาหารเพื่อกำหนดอาหารให้ผู้ป่วยรับประทานในแต่ละมื้อได้ ล่าสุดเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้มีประกาศจากคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหาร เรื่อง ผลการพิจารณาขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร ที่ปฏิบัติงานด้านการกำหนดอาหาร โดยมีผู้ที่ผ่านการอนุมัติขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร จำนวน 371 คน และผู้ที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต จำนวน 88 คน ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อได้           สิ่งที่ต้องรู้ในการจ้างเทรนเนอร์และนักโภชนาการ        การจ้างเทรนเนอร์ มีการแยกราคาเทรนออกมาเป็น 2 แบบ         1. แบบส่วนตัว หรือ แบบยืนสอนในยิม (On-field)         แบบส่วนตัว ราคาค่อนข้างหลากหลาย โดยเฉลี่ยแล้วมีอัตราราคาอยู่ที่ชั่วโมงละ 300-1,200 บาท/ชั่วโมง หรืออาจจะสูงถึง 1,500/1,800/2,000 หากเป็นเทรนเนอร์ต่างชาติตามฟิตเนสหรือเทรนเนอร์เซเลบริตี้          2. แบบออนไลน์ หรือ เทรนออนไลน์ (Online Training)          แบบออนไลน์ ซึ่งอัตราจ้างไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก อยู่ที่เฉลี่ย 1000-2000 /เดือน โดยส่วนมากจะมีโปรโมชั่นราคาเฉลี่ยถูกลง ซึ่งรายละเอียดการเทรนออนไลน์ จะเน้นดูแลอาหารที่ลูกค้ากินและดูแลเรื่องตารางการออกกำลังกาย        การจ้างนักโภชนาการส่วนตัว จะให้บริการในเรื่องโภชนาการเพื่อควบคุมน้ำหนัก โภชนาการเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และโภชนาการสำหรับผู้มีโรคประจำตัว โดยมีอัตราเฉลี่ยราคา 700-3000 บาทต่อเดือน อัตราเฉลี่ยข้อมูลจากเว็บ https://www.bumrungrad.com/th/packages/nutrition-tele-consultation         ลักษณะการให้บริการของเทรนเนอร์และนักโภชนาการที่ดี          คำแนะนำในการเลือกเทรนเนอร์เพื่อการลดน้ำหนักหรือปรับรูปร่าง         1) เลือกคนที่เหมาะกับเป้าหมายของคุณ         ควรรู้เป้าหมายตัวเองก่อนว่าอยากจะออกกำลังกายเพื่อจุดประสงค์อะไรเช่น อยากลดไขมัน เพิ่มกล้ามเนื้อ  ลดน้ำหนัก หากอยากฝึกซ้อมเพื่อวิ่งมาราธอน ควรเลือกเทรนเนอร์ส่วนตัวที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ         2) เลือกระดับราคาที่เหมาะสม         สาเหตุที่คนไม่อยากใช้บริการเทรนเนอร์เพราะรู้สึกว่ามีราคาที่แพง ดังนั้นควรเลือกในอัตราราคาที่เหมาะสมต่อรายได้ตัวเอง และศึกษาส่วนลด​ โปรโมชั่น เปรียบเทียบราคาเพื่อเกิดความคุ้มค่ากับตัวเองมากที่สุด         3) เลือกที่นิสัยที่ใช่         เทรนเนอร์บางคนมีความรู้ที่มากแต่สื่อสารไม่เก่งเท่าไหร่ ซึ่งแบบนี้ทำให้การออกกำลังกายของคุณไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลือกเทรนเนอร์ส่วนตัว ควรศึกษาลักษณะนิสัย โดยลองสอบถามพูดคุยกับเขา หรือศึกษาข้อมูลจากการรีวิวผ่านลูกค้าคนอื่น ๆ         สุดท้าย ขอเสนอทางเลือกที่จะไม่ขอตารางอาหารการกินเป๊ะๆ จากเทรนเนอร์ เพราะแต่ละคนมีลักษณะร่างกายและปัจจัยที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถกำหนดได้ว่าต้องกินอะไร หากทำไปโดยไม่เข้าใจ ถึงอาจจะเห็นผลแต่ในผลลัพธ์ที่ได้จะอยู่กับคุณไม่นาน เนื่องจากขาดความเข้าใจ และคุณไม่สามารถทำตามได้ทั้งหมด ถึงเทรนเนอร์จัดตารางให้คุณ แต่คุณไม่ชอบ ไม่สอดคล้องกับตัวคุณเอง คุณก็ทำไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นควรตรวจสอบว่าบุคคลนั้นหรือแบรนด์นั้น ๆ ว่ามีใบอนุญาตหรือมีประสบการณ์หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของตัวเราเอง ข้อมูลอ้างอิง        https://www.gourmetandcuisine.com/stories/detail/944 เจาะลึก “อาชีพนักกำหนดอาหาร” ในยุคเทรนสุขภาพ นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 242 เดือนกันยายน 2563        https://traindee.co/uncategorized ราคาตลาดของเทรนเนอร์ 30 ตุลาคม 2021        https://hellokhunmor.com เทรนเนอร์ส่วนตัว ควรมีไหม? แล้วเลือกยังไงให้เหมาะสม        https://sorbdd.com        http://www.careercast.com/content/10-least-stressful-jobs-2011-2-dietitian อาชีพ นักโภชนาการ

อ่านเพิ่มเติม >