ฉบับที่ 253 แอปฯ เงินกู้คนกรุงเริ่มใช้แล้ว 22 %

        นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานครโดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,204 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 5 - 10 มีนาคม 2565 (กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง)         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจถึงแม้รัฐบาลจะมีโครงการต่างๆ ออกมาเพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ประชาชนก็มีความจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ แล้วในช่วงต้นปี 2565 สถานการณ์สงครามระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในส่วนของค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการกู้เงินในปัจจุบันนั้นสามารถทำได้โดยผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้การกู้ยืมเงินสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยจะนำเสนอข้อมูล  ผ่านช่องทางทั้ง SMS  ไลน์ เฟสบุ๊ก โดยใช้ข้อความชวนเชื่อว่า กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน โดยการกู้ยืมเงินผ่านสถาบันทางการเงินที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงการกู้ยืมเงินที่ผิดกฎหมาย ประชาชนที่มีความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้กู้ยืมเงิน แต่กับถูกซ้ำเติมจากการกู้ยืมเงินที่ผิดกฎหมาย สิ่งที่สะท้อนว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาอันดับต้นๆของประเทศ การผิดชำระในการกู้ยืมเงินมีเพิ่มสูงขึ้น การทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคาม การขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งผิดตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เนื่องจากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ที่เป็นการปกป้องลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ ในรูปแบบต่างๆ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงินโดยนำไปซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.8 อันดับสองคือ นำไปซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 31.8 อันดับสามคือ การกู้ยืมนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 27.5 อันดับสี่คือ นำไปใช้ในการหมุนเวียนในธุรกิจ และ นำไปใช้เพื่อการศึกษา ร้อยละ 18.9 และอันดับห้าคือ นำไปใช้ในการลงทุนทำธุรกิจ ร้อยละ 17.3         รูปแบบการกู้ยืมเงินของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 34.2 อันดับสองคือ การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 30 อันดับสามคือ การกู้ซื้อรถยนต์ ร้อยละ 23.1 อันดับสี่คือ การกู้ยืมจากกองทุน ร้อยละ 19.5 และอันดับห้าคือ การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 17.4                 โดยหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน เป็นการกู้ยืมผ่านบริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 33.1 อันดับสองคือ ธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ 31.4 อันดับสามคือ คนปล่อยกู้ ร้อยละ 21.9 อันดับสี่คือ บริษัทสินเชื่อเงินด่วน ร้อยละ 17 และอันดับห้าคือ แอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 14.4         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เคยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 61 รองลงมาคือ เคยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 21.8 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 17.2 โดยได้รับข้อมูลของบริษัทกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านทางช่องทาง SMS มากที่สุด ร้อยละ 33.7 รองลงมาคือ ไลน์ ร้อยละ 31.7 และเฟสบุ๊ก ร้อยละ 30.8         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้รับสัญญาเงินกู้จากการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 41 ได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่ได้กู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 35.4 และทราบอัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 43.3         โดยทราบว่าแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมาย จะมีการขอข้อมูลส่วนตัวท่าน รูปถ่าย รูปบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร และรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 58.2 ทราบว่าแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมายจะมีการคิดค่าธรรมเนียม 39% และคิดค่าอัตราดอกเบี้ย 0.05% ต่อวัน และให้ชําระเงินคืน ภายใน 7 วัน  ร้อยละ 41.7         รวมไปถึง ทราบว่าสามารถตรวจสอบแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ร้อยละ 44.1 และ  ทราบว่าสามารถแจ้งความดำเนินคดีหากตกเป็นผู้เสียหายจากแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่ผิดกฏหมาย ที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) สายด่วน 1599 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สายด่วน 1359 หรือ ส่งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ร้อยละ 50.5         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยถูกทวงถามหนี้ ในลักษณะพูดจาไม่สุภาพ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 37 อันดับสองคือ คิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 30.1 อันดับสามคือ ประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 21.5 อันดับสี่คือ จดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึก ร้อยละ 19.7 และอันดับห้าคือ การข่มขู่ ร้อยละ 17.4         โดยทราบว่า การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร ร้อยละ 46.4 ทราบว่าเจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ร้อยละ 47.2 ทราบว่าเจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 59.3 และทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 53.1         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้ อันดับหนึ่ง คือถูกประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 34 อันดับสองคือ ถูกส่งคนติดตาม ร้อยละ 23.3 อันดับสามคือ ถูกข่มขู่ ร้อยละ 14.5 อันดับสี่คือ ถูกทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 11 และอันดับห้าคือ อื่นๆ ร้อยละ 17.2

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 พลังงง-พลังงาน !?

        ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยจะรู้สึกว่าเรื่องพลังงานนี่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากถึงยากมาก ถ้าเราเชื่อและยอมรับอย่างนั้นจริงๆ ก็ถือว่าพ่อค้าพลังงานทำงานได้ผลดีมาก เพราะความตั้งใจของพ่อค้าพลังงานเขาไม่ต้องการให้ผู้บริโภคเข้าใจอะไรที่สำคัญๆ หรอก เขาต้องการให้เราบริโภคและจ่ายเงินซื้อพลังงานจากเขาเพียงอย่างเดียว แต่ครั้นจะไม่ให้เข้าใจอะไรเสียเลยก็จะผิดหลักการค้าในยุคสมัยใหม่ ที่ต้องการความโปร่งใส  เป็นธรรมและร่วมกันรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อวิกฤตโลกร้อน พวกพ่อค้าจึงจำเป็นต้องให้ข้อมูลแบบไม่ครบถ้วนบ้าง  ไม่จริงทั้งหมดบ้าง หรือแกล้งทำให้ดูเป็นเรื่องซับซ้อน เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น เรียกว่าทำให้เรางงเล่นแล้วจะรู้สึกเบื่อไปเอง         ผมเองเชื่อมานานแล้วว่า มนุษย์เราสามารถเรียนรู้และเข้าใจในเรื่องที่มีความสำคัญกับตนเองได้เกือบทุกคน แต่กับบางคนที่ไม่ยอมเรียนรู้ก็เพราะไปติดกับดักที่เป็นวาทกรรม เช่น “ราคาน้ำมันดิบเป็นไปตามกลไกตลาดโลก” แต่ในความเป็นจริงแล้วมันขึ้นอยู่ที่พ่อค้าจะปั่นราคาเป็นส่วนใหญ่และเมื่อไหร่ ปัจจัยเรื่องอุปสงค์และอุปทานก็มีส่วนด้วยแต่ก็ไม่เสมอไป ที่น่าแปลกมากก็คือราคาน้ำมันดิบเคยติดลบถึง $37 ต่อบาร์เรล (ใครสั่งน้ำมันราคาล่วงหน้านอกจากไม่ต้องจ่ายเงินแล้วยังได้เงินกลับไปอีก เพราะบริษัทไม่มีที่จะจัดเก็บ) ในช่วงพฤษภาคม 2563 ทีทั่วโลกกำลังตกใจกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในช่วงแรก          อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านที่มี “พลังงง” อาจจะรู้สึกว่าเข้าใจยาก ผมจึงมีวิธีการแปลงราคาจาก “ดอลลาร์ต่อบาร์เรล” มาเป็น “บาทต่อลิตร” พร้อมด้วยข้อมูลที่น่าสนใจบางอย่างเพิ่มเติม ดังรูป ไม่ยากเลยครับ            ประเทศเราเป็นประเทศที่ไม่สามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานได้ ต้องนำเข้าเชื้อเพลิงในรูปของน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและไฟฟ้ารวมกันมากกว่า 60% ของมูลค่าที่ต้องใช้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดิบประเทศเราต้องนำเข้าประมาณ 85%  ดังนั้น หากมีการปั่นราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประเทศเราจึงไม่ต่างอะไรกับ“ประเทศเมืองขึ้น” หรือ “ทาส” นั่นเอง         เรามาทดสอบความเข้าใจกันดีไหมครับ หยิบเอาข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2563 ราคาน้ำมันดิบประมาณ $42 ต่อบาร์เรล (อัตราแลกเปลี่ยน 31.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) เราสามารถแปลงมาสู่สิ่งที่เราคุ้นเคยได้ว่าประมาณ 8.41 บาทต่อลิตร ถ้าเราอยากจะรู้ว่าตอนนั้นราคาประกาศหน้าโรงกลั่นเป็นเท่าใด ก็ถาม “google” ได้ โดยพิมพ์คำว่า “โครงสร้างราคาน้ำมัน” พบว่าเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ราคาเบนซิน(ULG) ขายส่งหน้าโรงกลั่นเท่ากับ 9.88 บาทต่อลิตร และราคาหน้าปั๊มใน กทม.และปริมณฑลเท่ากับ 28.96 บาทต่อลิตรซึ่งเป็นราคาที่รวมภาษีและค่าอื่นๆ แล้ว รู้สึกงงอีกแล้วใช่ไหมครับ  ก็ต้องขยันค้นคว้า ขยันตั้งคำถามว่า “เอ๊ะ”         ในปี 2564 (จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์) พบว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่า 7.7 และ 1.7 แสนล้านบาท ตามลำดับ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่า 2.8 แสนล้านบาท (จัดเป็นมูลค่าส่งออกที่สูงเป็นอันดับ 7 ของประเทศ)  นั่นคือมูลค่าส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่าถึง 36% ของมูลค่าน้ำมันดิบที่นำเข้า ถึงตรงนี้เราอาจจะรู้สึกงงๆ ใน 2 ประเด็นคือ         หนึ่ง ทำไมไม่สั่งน้ำมันดิบเข้ามาให้ใกล้เคียงกับปริมาณที่คนไทยใช้  เรื่องนี้ตอบไม่ยากครับ เพราะโรงกลั่นในประเทศไทยมีจำนวนมาก สามารถกลั่นได้มากกว่าที่คนไทยใช้ ที่เหลือจึงต้องส่งออก ประเด็นนี้จึงไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ นอกจากปัญหามลพิษจากกระบวนการกลั่นที่ได้ทิ้งไว้ให้คนไทยรับไป รวมทั้งน้ำมันดิบรั่ว เป็นต้น         สอง สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญมากๆ คือ การกำหนดราคาขายส่งน้ำมันสำเร็จหน้าโรงกลั่น ถ้าขายให้คนไทยใช้(ขายส่งนะ) ให้คิดในราคาเท่ากับที่กลั่นในประเทศสิงคโปร์ แล้วบวกด้วยค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาอำเภอศรีราชา ประเทศไทย บวกด้วยค่าประกันภัย และบวกด้วยค่าน้ำมันหกหรือระเหยระหว่างการขนส่ง ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่บวกเข้ามานี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ความจริงคือกลั่นในประเทศไทย         ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่หน้าโรงกลั่นในประเทศไทยที่ขายให้คนไทยใช้นั้นมีราคาแพงกว่าราคาหน้าโรงกลั่นในประเทศสิงคโปร์ นี่คือความไม่เป็นธรรม ที่ทางกระทรวงพลังงานไม่เคยอธิบาย คงจะเป็นเพราะว่ามันไม่รู้จะเอาเหตุผลอะไรมาอธิบาย         จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน พบว่าในปี 2564 ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 5 หมื่นล้านลิตร ถ้าราคาที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงมีมูลค่าเท่ากับลิตรละหนึ่งบาท ก็มีมูลค่าเท่ากับ 5 หมื่นล้านบาทแล้ว นี่คือความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคโดยตรง         ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรู้ว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ขายให้คนไทยใช้ภายในประเทศกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปส่งออกนั้นราคาจะสูงกว่ากันเท่าใด แต่ผมไม่พบข้อมูล(สำเร็จรูปที่สามารถใช้ได้ทันที) จากกระทรวงพลังงาน  ดังนั้นผมจึงลงมือคำนวณเอง โดยเลือกคำนวณเพียงเดือนเดียว (เพราะข้อมูลดิบมีเยอะมาก) ผลการคำนวณในเดือนพฤศจิกายน 2564 ดังแสดงในรูปครับ ผลการคำนวณสรุปว่า        (1)   ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งออกถูกกว่าราคาน้ำมันสำเร็จที่ขายให้คนไทยที่หน้าโรงกลั่น 1.01 บาทต่อลิตร        (2)   ราคาน้ำมันดิบนำเข้าแพงกว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย(จากหลายตลาด)ในตลาดโลก 1.57 บาทต่อลิตร         ยังมีความจริงอีกหนึ่งอย่างที่กระทรวงพลังงานไทยไม่เคยบอกเรา แต่ผมพบในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศแคนาดาคือ “โดยเฉลี่ยน้ำมันดิบ 1 บาร์เรล หรือ 159 ลิตรจะได้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปรวมกันถึง 170 ลิตร” นี่คือกำไรที่ซ่อนอยู่ในโรงกลั่นน้ำมัน        เรื่องพลังงานไม่ได้มีเฉพาะแต่เรื่องน้ำมันอย่างเดียวซึ่งเป็นเรื่องผูกขาด ปั่นราคา ก่อสงคราม (เช่นกรณียูเครน รัสเซีย) และเอื้อให้มีการคอรัปชันได้ง่าย ยังมีเรื่องไฟฟ้าที่ในปัจจุบันเราสามารถผลิตได้จากแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานที่ผูกขาดได้ยาก เราสามารถนำแสงแดดมาผลิตไฟฟ้าแล้วใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนน้ำมันได้ด้วย นี่เป็นหนทางที่ประเทศเราจะสามารถพึ่งตนเองหรือเป็นอิสระได้มากขึ้น นี่เป็นหนทางที่ทำให้คนไทยมีงานทำมากขึ้น เป็นหนทางลดรายจ่ายได้ หรือหนทางเพิ่มรายได้ให้ทุกครัวเรือนหากเราสามารถขายไฟฟ้าที่เราผลิตเองได้        แล้วค่อยคุยในในโอกาสต่อไปครับ ผมจะเขียนประจำที่ “ฉลาดซื้อ”  เพื่อเปลี่ยนพลังงงของผู้บริโภคมาเป็นพลังของการเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและลดปัญหาโลกร้อนนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ‘Stop Loss’ วินัย วินัย และวินัย

        เดี๋ยวนี้การเทรดเป็นอาชีพที่มีคนสนใจกว้างขวาง หุ้น ทองคำ คริปโตฯ เยอะขนาดว่าบางคนต้องเขียนบรรยายโปรไฟล์บนโซเชียลมีเดียว่าไม่สนใจเพราะมักจะมีนักเทรดมาขอเป็นเพื่อนเพื่อชักชวนเข้าสู่วงการ         เทรดเดอร์ (Trader) หรือนักเก็งกำไรจากส่วนต่างราคาอยู่คนละฟากฝั่งกับนักลงทุน (Investor) พวกเขาเน้นถือหุ้นระยะสั้น เข้า-ออกตามจังหวัดกำไร-ขาดทุน เฝ้าดูและวิเคราะห์กราฟเพื่อหาหุ้นที่น่าเข้าไปเล่น ซื้อๆ ขายๆ เพื่อทำกำไร ฟังดูเหมือนงานง่าย รายได้ดี ไม่หรอก เทรดเดอร์ทุกคนผ่านช่วงเวลาเสียหายหนักๆ มาแล้วทั้งนั้น ใช้เวลาไปมากมายกับการเรียนรู้ การอ่านกราฟ การดู Bid และ Offer กับอีกสารพัด         ไม่ว่าคุณคิดจะเดินสายไหนก็จำเป็นต้องหาความรู้เหมือนกันทั้งนั้นแหละ ถ้าคุณเก่งจริงก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้เป็นกอบเป็นกำ ดูอย่างจอร์จ โซรอส ผู้เก็งกำไรในทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่หุ้นยันค่าเงิน        พื้นที่นี้เคยพูดไว้ครั้งหนึ่งว่าจะเทรดเดอร์หรือนักลงทุน สิ่งที่ต้องมีเหมือนกันคือวินัย         ถ้าคุณจะใช้วิธีลงทุนแบบ DCA หรือซื้อเฉลี่ยเท่าๆ กันทุกเดือนในหุ้นหรือกองทุนรวม คุณก็ต้องมีวินัยในการทำตามแผนการออมระยะยาว เทรดเดอร์ก็เช่นกัน และวินัยที่สำคัญมากๆ หรืออาจจะสำคัญที่สุดก็คือการ Stop Loss หรือตัดขาดทุน         อธิบายให้ง่ายที่สุด คุณเป็นเทรดเดอร์เข้าซื้อหุ้นตัวหนึ่งที่ราคา 10 บาท ถ้าหุ้นราคาขึ้นคุณก็ปล่อยให้กำไรวิ่งไปเรื่อยๆ Let’s Profit Run แต่ถ้าจะขาดทุน คุณวางเกณฑ์ไว้เลยว่าถ้าขาดทุน 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อไหร่ ขาดทิ้งทันที ถ้าหุ้นตัวนี้ลงไปที่ 9 บาทก็ถึงเวลาที่คุณต้องขายโดยไม่มีเยื่อใย         อันนี้แบบเข้าใจง่ายๆ เทรดเดอร์มืออาชีพนี่เขาวิเคราะห์แล้ววิเคราะห์อีกว่าจะตัดขาดทุนราคาไหน ไม่หมูแบบนี้หรอก        แต่คนส่วนใหญ่ทำตรงกันข้าม         พอกำไรนิดๆ หน่อยๆ รีบขาย เช่นขึ้นไป 12 บาท กำไร 20 เปอร์เซ็นต์เชียวนะ ขายเลย สุดท้ายราคาไปต่อ 15 บาท 17 บาท 19 บาท ศัพท์ในวงการเรียกขายหมู         ตรงข้าม พอขาดทุนถึงจุดที่ต้อง Stop Loss แล้วกลับเสียดาย เข้าข้างตัวเองว่าเดี๋ยวมันก็กลับขึ้นมาอีก กอดหุ้นจนตัวตาย สุดท้ายแทนที่จะขาดทุนแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นขาดทุน 50 เปอร์เซ็นต์ 70 เปอร์เซ็นต์ วงการติดดอย สูงด้วย         ถึงบอกไงว่าความรู้สำคัญที่สุดและต้องมาควบคู่กับวินัยที่สำคัญพอๆ กัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ยอมได้ไหม เมื่ออายุเป็นมากกว่าตัวเลข

        การคิดราคาไม่เท่ากันสำหรับสินค้าหรือบริการอย่างเดียวกัน มีข้อดีตรงที่ผู้คนในกลุ่มเปราะบางหรือรายได้น้อยได้มีโอกาสเข้าถึงสินค้าหรือบริการดังกล่าวในราคาที่เอื้อมถึง (เช่น ราคานักศึกษา หรือบัตรสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น) และยังช่วยให้เกิดสมดุลขอดีมานด์และซัพพลาย (เช่น ตั๋วถูกนอกเวลาเร่งด่วน) แต่ขณะเดียวกันการใช้นโยบาย “การตั้งราคาเฉพาะบุคคล” ในแพลตฟอร์มออนไลน์หรือในธุรกิจที่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ก็อาจไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคนัก เช่น ค่าตั๋วเครื่องบินหรือห้องพักที่หลายคนได้ราคาต่างกันโดยไม่ทราบเหตุผล หรือกรณีที่ Uber แพลตฟอร์มบริการเรียกรถ ใช้อัลกอริทึมประเมินราคาสูงสุดที่คน “พร้อมและยินดี” จ่าย สำหรับการเดินทางในช่วงเวลาต่างๆ (ข้อมูลจากการเปิดเผยของ “คนใน”) หรือกรณีของ บางประเทศ เช่นบราซิล ก็จัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น ในปี 2017 เว็บขายทัวร์ Decolar.com ถูกสั่งปรับ 7.5 ล้านเรียล (ประมาณ 48.6 ล้านบาท) โทษฐานที่คิดราคาทัวร์ต่างกันตาม “ที่อยู่” ของลูกค้า         อีกบริการหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมได้แก่ แพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์ ก็มีการนำนโยบายนี้มาใช้อย่างกว้างขวางเช่นกัน เรื่องนี้ยืนยันโดยงานสำรวจล่าสุดของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล Consumers International ร่วมกับมูลนิธิมอซิลลา Mozillia Foundation ที่เปรียบเทียบราคาสมาชิกของผู้ใช้แพลตฟอร์มเจ้าดังอย่าง Tinder ในหกประเทศ ได้แก่ อเมริกา เนเธอร์แลนด์ บราซิล อินเดีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์         การสำรวจดังกล่าวมีข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการดังนี้        - ไม่มีการแจ้งผู้ใช้เรื่องนโยบายการตั้งราคาแบบเฉพาะบุคคลอย่างชัดเจน มีเพียงเนื้อหาใน “ข้อตกลงการใช้งาน” ที่ระบุว่าจะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อนำเสนอดีลและส่วนลดที่เหมาะกับโพรไฟล์ของผู้ใช้         -  “ราคาสมาชิก” มีหลายระดับ        Tinder Plus ในเนเธอร์แลนด์มีถึง 21 ระดับระคา ในขณะที่อเมริกามี 9 ระดับ น้อยที่สุดคือบราซิล (2 ระดับ)ราคาสูงสุด แพงกว่าราคาต่ำสุดประมาณ 4 ถึง 6 เท่า ในกรณีของเกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ อเมริกา และเนเธอร์แลนด์  ส่วนของอินเดียก็ต่างกันมากกว่าสองเท่า        - \ อายุ เป็นปัจจัยในการกำหนดราคา        ร้อยละ 65.3 ของคนในช่วงอายุ 30 – 49 ปี จ่ายค่าสมาชิกแพงกว่ากลุ่ม 18 – 29 ปี        ในทุกประเทศที่สำรวจ (ยกเว้นบราซิล) กลุ่มผู้ใช้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ถูกเรียกเก็บค่าสมาชิกแพงกว่า ในขณะที่กลุ่มอายุระหว่าง 30 – 49 ปี และกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป จ่ายไม่แตกต่างกัน          แต่อายุอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่นำมากำหนดราคา เช่น กรณีของบราซิลและนิวซีแลนด์ มีกลุ่มอายุมากกว่าที่ได้ราคาต่ำกว่า ในขณะเดียวกันก็พบคนกลุ่มอายุน้อยในเกาหลี เนเธอร์แลนด์ และบราซิล ที่ต้องจ่ายในราคาสูงเช่นกัน         พื้นที่อยู่อาศัยก็อาจเป็นอีกปัจจัย แต่ยังสรุปไม่ได้จนกว่าจะมีการสำรวจเพิ่มเติม การสำรวจนี้พบว่าคนเมืองในอเมริกาและเนเธอร์แลนด์ เสียค่าสมาชิกถูกกว่า แต่คนเมืองในเกาหลีและอินเดีย กลับต้องจ่ายแพงกว่า เป็นต้น          -   ผู้บริโภคยังมีความกังวล          ร้อยละ 56 ของผู้ใช้ กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ในขณะที่หนึ่งในสามรู้สึกว่าการตั้งราคาแบบนี้ไม่ยุติธรรม เมื่อถามถึงประโยชน์ของการตั้งราคาเฉพาะบุคคลร้อยละ 14 ไม่เห็นประโยชน์ร้อยละ 38 เชื่อว่ามันช่วยให้ได้สินค้าและบริการตรงใจขึ้นร้อยละ 40 เชื่อว่ามันอาจทำให้พวกเขาได้ราคาที่ถูกลง          แต่เมื่อถามว่าถ้ามีปุ่มให้เลือก “ไม่ต้องตั้งราคาเฉพาะบุคคล” ก็มีถึงร้อยละ 83 ที่จะคลิก         ทีมสำรวจยังพบด้วยว่าแต่ละประเทศยังไม่มีการกำกับดูแลอย่างจริงจัง ส่วนที่มีก็ยังไม่ครอบคลุมหรือไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การตั้งราคาส่วนบุคคลนั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่มันควรจะเกิดขึ้นภายใต้กฎระเบียบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เข้มข้นขึ้น เช่น ผู้ใช้จะต้องรู้ตัวว่าจะมีการเก็บข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว และแพลตฟอร์มจะต้องต้องขอความยินยอมจากผู้ใช้ รวมถึงควรมีความโปร่งใสในนโยบายการตั้งราคา ไม่เช่นนั้นก็อาจจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในตลาดดิจิทัลโดยรวม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบบัที่ 251 ETF ทางเลือกของการลงทุนในกองทุนดัชนี

        เคยพูดกองทุนรวมไปแล้ว โดยเฉพาะกองทุนรวมดัชนีหรือ Index Mutual Fund หรือ Passive Fund ที่ใช้วิธีการลงทุนล้อไปกับดัชนีของตลาด หมายความว่าถ้า SET50 หรือหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สุด 50 อันดับแรกในตลาดหุ้นไทยรวมกันสร้างผลตอบแทนใน 1 ปีได้ 10 เปอร์เซ็นต์ กองทุนดัชนี SET50 ก็จะลงทุนในหุ้น 50 ตัวนี้ในสัดส่วนเดียวกันกับตลาดและสร้างผลตอบแทนได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์นั่นเอง         ข้อดีของกองทุนรวมประเภทนี้คือมีค่าใช้จ่ายต่ำ ไม่เหมือนกองทุนรวมที่ต้องการเอาชนะตลาด         วันนี้จะมาแนะนำอะไรที่คล้ายๆ กัน มันมีชื่อเรียกว่า ETF หรือ Exchange Traded Fund เอาเข้าจริงมันก็คือกองทุนรวมนั่นแหละ ลงทุนในทรัพย์สินได้หลายประเภทเหมือนกัน เช่น หุ้นในประเทศ หุ้นต่างประเทศ ไปจนถึงสินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำ น้ำมัน และอื่นๆ แต่เป็นกองทุนรวมที่เปิดขายในตลาดหลักทรัพย์และต้องการสร้างผลตอบแทนตามดัชนีอ้างอิงของ ETF นั้นๆ         เรียกว่าไม่เอาชนะตลาด กูรูด้านการลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศบอกว่าไม่มีกองทุนรวมไหนในระยะยาวที่เอาชนะตลาดได้หรอก         เราก็จะพอมองเห็นความต่างระหว่าง ETF กับกองทุนรวมดัชนีได้บ้างแล้ว ETF ซื้อ-ขายในตลาดหุ้นได้เหมือนหุ้นทั่วไป ราคาก็เป็นราคาตลาด ณ เวลานั้น ซึ่งกองทุนรวมดัชนีทำไม่ได้ เพราะกองทุนรวมถ้าซื้อวันนี้ต้องรอราคาของวันพรุ่งนี้ก่อน คำสั่งซื้อถึงจะมีผลว่าเราจะได้กี่หน่วย         จุดที่ต่างกันอีกข้อหนึ่งของ ETF คือการซื้อขั้นต่ำต้องซื้ออย่างน้อย 100 หน่วยเหมือนหุ้น ต่างจากกองทุนรวมที่ระบุขั้นต่ำเป็นจำนวนเงิน เดี๋ยวนี้ซื้อขั้นต่ำ 1 บาทยังมีเลย         ต่อมาก็เรื่องการขายคืน พูดให้เข้าใจง่ายคือขายกองทุนรวมที่ถือไว้ออกมาเป็นเงิน สำหรับ ETF ถ้าสั่งขายวันนี้ (ต้องอยู่ในเวลาของตลาดหลักทรัพย์) คุณจะได้เงินในอีก 3 วันให้หลัง ไม่รวมวันหยุด หรือที่เรียกว่า T+3ส่วนกองทุนรวมเป็น T+4 หรือ 4 วัน         ส่วนเรื่องภาษี ทั้ง ETF และกองทุนรวมดัชนี ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา เช่น ซื้อมา 10 บาท ตอนขายคืนขายในราคา 15 บาท ส่วนต่าง 5 บาทได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ต้องเสีย ยกเว้นว่ามีเงินปันผล ซึ่งทั้งสองตัวเหมือนกัน ถ้าได้เงินปันผล เงินปันผลนั้นจะถูกหักภาษี 10 เปอร์เซ็นต์         เป็นที่มาของคำแนะนำว่าไม่จำเป็นก็ควรเลือกกองทุนที่ไม่จ่ายปันผล จะคุ้มกว่า         เพราะถ้าเสียภาษีแล้วรัฐเอาไปใช้กับเรื่องไม่เป็นเรื่องก็น่าคิดหนักอยู่ จริงไหม?         คนที่ชื่นชอบการลงทุนในกองทุนดัชนี ETF เป็นทางเลือกการลงทุนหนึ่งที่น่าสนใจ ว่าแล้วก็อยากซื้อเก็บไว้บ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ส้มอมพิษ

        แคมเปญ "ส้มอมพิษ" หรือ Orange Spike เป็นกิจกรรมจากความร่วมมือกันของภาคีภาคประชาสังคม ได้แก่ เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมประเทศไทย (Oxfam)  ภายใต้แคมเปญ ‘ผู้บริโภคที่รัก’ (Dear Consumers) ที่เริ่มต้นตั้งแต่ต้นปี 2654 ที่ผ่านมา โดยกิจกรรมหลักคือ การเชิญชวนให้ผู้บริโภคตระหนักถึงเรื่อง “การใช้สารพิษในส้ม” และ “เรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตติดคิวอาร์โค้ด” เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มาและกระบวนการผลิตส้มได้         “คนไทยมีโอกาสที่จะเกิดโรคร้ายได้จากการบริโภคผักและผลไม้ที่มีสารพิษตกค้างเป็นระยะเวลานาน เพราะเกิดการสะสมของสารพิษในร่างกายมากเกินไปจนเจ็บป่วย จากสถิติพบว่าคนไทยส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องถึง 85,000 รายต่อปี และผู้ป่วยใหม่ที่เป็นโรคมะเร็งเฉลี่ยจะเกิดขึ้นถึง 122,757 คนต่อปี… สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าสารพิษตกค้างจากการบริโภคเป็นภัยเงียบที่พร้อมจะคุกคามผู้บริโภคตลอดเวลา การเสนอให้ซูเปอร์มาร์เก็ตมีการติดคิวอาร์โค้ดแสดงแหล่งที่มาและกระบวนการผลิต นอกจากเป็นการยืนยันความปลอดภัยแล้ว ยังช่วยแจกแจงถึงอันตรายของสารเคมีที่เกษตรกรใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจ สามารถหลีกเลี่ยง และรักษาสุขภาพไว้ได้” ‘ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น’ กล่าวถึงอันตรายของสารพิษตกค้างที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายไว้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นงานเปิดตัวแคมเปญ         การรู้ถึงแหล่งที่มาของอาหาร เป็นวิธีการหนึ่งที่ผู้บริโภคสามารถนำมาใช้พิจารณาในการซื้อสินค้าเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการบริโภค แคมเปญนี้จึงเรียกร้องต่อซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ ขอให้ดำเนินการติดคิวอาร์โค้ดกำกับสำหรับการสแกนตรวจสอบที่มาของส้มที่วางจำหน่ายอย่างโปร่งใส  (Traceability)  ซึ่งจากภาพรวมที่ปรากฎในช่วงเวลาของการเริ่มต้นแคมเปญ พบว่า การสแกนคิวอาร์โค้ดของซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งโดยรวมยังให้ข้อมูลไม่มากพอ         ดังนั้นเพื่อติดตามสถานการณ์ในรอบหนึ่งปีหลังการเรียกร้องของภาคประชาสังคมต่อความรับผิดชอบของซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ บิ๊กซี โลตัส ท็อปส์ และแม็คโคร ในเรื่องการให้ข้อมูลย้อนกลับสินค้าในห่วงโซ่อุปทาน “ส้ม” ทางคณะทำงาน แคมเปญ "ส้มอมพิษ" จึงทำสำรวจ ในระหว่างวันที่ 11 – 30 พ.ย. 2564 พบว่า แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ดำเนินการสำรวจทั้ง 4 แห่ง ยังไม่มีความคืบหน้าหรือการปรับปรุงข้อมูลใน QR Code ได้ตรงตามข้อเรียกร้องของแคมเปญกรอบในการเรียกร้องให้นำเสนอเพื่อการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับสินค้าในห่วงโซ่อุปทานส้ม    ชื่อสินค้า    รูปสินค้า        1. หมวดที่มาของส้ม ได้แก่ ชื่อสวน จังหวัดที่ตั้งของสวน ข้อมูลเกษตรกร ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูก        2. หมวดกระบวนการปลูกส้ม ได้แก่ กระบวนการเพาะปลูก ระยะเวลาการเพาะปลูก รายการสารเคมีที่ใช้ ข้อมูลการเก็บเกี่ยว วันที่ เก็บเกี่ยว ข้อมูลการเว้นระยะในการเพาะปลูก การเก็บรักษาและการขนย้ายผลิตผล        3. หมวดกระบวนการคัดเลือกส้มของซูเปอร์มาร์เก็ต ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงการตรวจสอบย้อนกลับ การบันทึกข้อมูล ข้อมูลการปฏิบัติการหลังการเก็บเกี่ยว ข้อมูลการเก็บรักษา ข้อมูลการขนย้ายผลิตผล มาตรฐานที่ใช้คัดเลือก วิธีการคัดแยก โรงคัดแยก วันที่ในการจัดจำหน่าย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 เพราะรัฐต้องดูแลชีวิตประชาชน

        ปีใหม่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ พูดแบบไลฟ์โค้ชด้านการเงินก็คงบอกว่าควรใช้เวลานี้เริ่มเก็บออมเงินสำหรับใครก็ตามที่ยังไม่ได้เริ่ม เพราะยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีต่อตัวเองเท่านั้น ซึ่งก็จริง         เมื่อใครๆ ก็พูดไปแล้วจึงไม่ขอพูดซ้ำอีก แต่ขอพูดในสิ่งที่ไลฟ์โค้ชไม่พูด ซ้ำยังทำให้ดูเหมือนเป็นเรื่องน่ารังเกียจเสียอีก         ขณะที่เรากำลังเก็บหอมรอมริบ เราควรเริ่มใส่ใจ กดดัน และเรียกร้องการดูแลจากรัฐให้มากขึ้น ที่ไลฟ์โค้ชชอบพูดกันเหมือนนกแก้วนกขุนทองว่าจงสร้างความมั่งคั่งด้วยตัวเอง อย่าแบมือขอ บางทีก็ไร้สาระ ทำไมเราจะเรียกร้องให้รัฐดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเราไม่ได้ ในเมื่อเราเสียภาษีเพื่อการนี้และเป็น ‘หน้าที่’ ของรัฐโดยตรง         ตรงกันข้าม ถ้ารัฐไม่เอาเงินภาษีไปใช้กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น การซื้ออาวุธ การปรับปรุงคลองด้วยเงิน 80,000 ล้าน (คือมันต้องมากขนาดนี้เหรอ?) สร้างห้องน้ำบนเครื่องบินของนายกฯ ราคาหลายสิบล้าน แล้วนำมาดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างเป็นระบบ มันจะช่วยผ่อนเบาภาระของเราลงได้หลายเรื่อง         ทำไมการที่รัฐดูแลความเป็นอยู่ สวัสดิการพื้นฐาน และลดความเหลื่อมล้ำ ถึงช่วยให้เราเก็บเงินได้เร็วขึ้น สะสมความมั่งคั่งได้เร็วขึ้น         -ถ้าสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่แล้ว 3 ระบบถูกจัดการให้เป็นระบบเดียวจะช่วยให้สวัสดิการสุขภาพมีเงินมากขึ้น แล้วจัดการระบบให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเจ็บป่วยระบบก็เข้ามาดูแล เราไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากเท่าทุกวันนี้         -ถ้าการศึกษาที่มีคุณภาพและฟรีจริงๆ เราก็ไม่ต้องกังวลกับค่าเทอม ค่าแปะเจี๊ยะ ค่าเสื้อผ้า อุปกรณ์ ค่าเรียนพิเศษ ไม่ต้องให้นักร้องมาวิ่งขอเงินเป็นทุนให้เด็กแค่ 109 คน เราจะเก็บเงินได้เร็วขึ้น         -ถ้ามีระบบประกันสังคมที่ดี แรงงานนอกระบบเศรษฐกิจที่เป็นทางการสามารถเข้าสู่ระบบนี้ได้ ตกงาน คลอดลูก งานศพ เราจะได้รับเงินเยียวยา         -ถ้าป้องกันการผูกขาดได้ ธุรกิจมีการแข่งขัน ตลาดทำงาน ย่อมเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ การสร้างสรรค์ การเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุนในหุ้นก็จะได้รับผลตอบแทนดีขึ้น         -ถ้ามีระบบบำนาญแห่งชาติที่ผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับเงินรายเดือนอย่างเพียงพอ เงินที่เราต้องเก็บเพื่อใช้หลังเกษียณก็จะลดลง เบาแรงไปได้เยอะ         -ถ้ามีการจัดเก็บภาษีแบบก้าวหน้า เก็บภาษีทรัพย์สิน ย่อมมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เกิดการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งเงินที่ได้จะนำไปใช้จ่ายกับเรื่องอื่นๆ ข้างต้น        -ถ้าการเมืองดีและเป็นประชาธิปไตย เราจะมีระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ทัดทานการใช้งบประมาณแบบไม่เห็นหัวประชาชน         เห็นไหมว่าเรื่องระดับโครงสร้างนั้นกินความถึงเรื่องส่วนตัวอย่างการเก็บออมเงิน อย่าเชื่อแต่คำพูดดูดีของไลฟ์โค้ช เพราะถ้าเราผลักดันให้โครงสร้างสังคมดี มันก็ไม่ต่างกับการลงทุนชนิดหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าทั้งต่อตัวเอง คนอื่นๆ และลูกหลานด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 อยากซ่อมต้องทำได้

        ในยุคที่มนุษย์เราต้องพึ่งพาอาศัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสื่อสาร การเรียน การทำงาน ฯลฯยอดขายอุปกรณ์เหล่านี้จึงเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ควบคู่ไปกับปริมาณขยะที่เกิดจากมัน ทั้งนี้เพราะผู้บริโภค(ถูกทำให้) รู้สึกว่าสินค้าเหล่านี้มีความซับซ้อนยุ่งยาก ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการซ่อม ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายที่แพงลิ่ว สุดท้ายก็ตัดใจ “ทิ้ง” แล้วซื้อใหม่ สถิติในปี 2019 ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วเราสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์กันคนละ 7.3 กิโลกรัมต่อปี         ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสมาร์ตโฟน ข้อมูลจากรายงานของ NGI Forward เรื่อง Breaking the two-year cycle: Extending the useful life of smartphones ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป (ที่ประชากรเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือทุก 2 ปี) ระบุว่าหากเรายืดอายุการใช้งานของสมาร์ตโฟนออกไปได้ 3-4 ปี เราจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ร้อยละ 29 ถึงร้อยละ 44 เลยทีเดียว         ตั้งแต่ 2017 เป็นต้นมา มีโทรศัพท์มือถือถูกขายออกไปไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านเครื่องในแต่ละปี และสมาร์ตโฟนหนึ่งเครื่อง ซึ่งหนักไม่เกิน 200 กรัม สามารถทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 40 – 80 กิโลกรัม พูดง่ายๆ มันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเครื่องซักผ้าด้วยซ้ำ และร้อยละ 72 ของรอยเท้าคาร์บอนของสมาร์ตโฟนก็เกิดขึ้นก่อนถึงมือผู้บริโภค เพราะวัตถุดิบที่ใช้มีทั้งโลหะ แร่ธาตุหายากที่ได้จากการทำเหมือง และในกระบวนการผลิตยังต้องผ่านกระบวนการใช้สารเคมีอันตรายที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เราซ่อมสมาร์ตโฟนเองได้จริงหรือ?        ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ค่าย Apple ซึ่งเข้มงวดเรื่องการส่งซ่อมกับบริษัทมาตลอด ประกาศว่าพร้อมให้ผู้บริโภคใช้ “สิทธิ์ในการซ่อม” แล้ว โดยช่วงแรกจะจำกัดเฉพาะจอ แบตเตอรี และการแสดงผลของ iPhone 12 และ iPhone 13 โดยบริษัทจะวางจำหน่ายอะไหล่กว่า 200 ชิ้น รวมถึงเครื่องมือสำหรับซ่อมไว้ในเว็บไซต์   แต่ Apple ไม่ใช่เจ้าแรกที่ทำเช่นนั้น เมื่อปี 2013 บริษัทธุรกิจเพื่อสังคมรายหนึ่งในเนเธอร์แลนด์ได้เปิดตัว Fairphone สมาร์ตโฟนดีไซน์โมดูลาร์ที่ประกอบด้วยชิ้นส่วน 8 ชิ้น ออกแบบมาเพื่อรองรับการถอดเปลี่ยนอะไหล่ได้โดยใช้ไขควงธรรมดา และมีอะไหล่จำหน่ายแยก         โทรศัพท์ของค่ายนี้ยังออกแบบมาให้ง่ายต่อการรีไซเคิล เช่น รุ่น Fairphone 3 สามารถรีไซเคิลได้ถึงร้อยละ 50  ทำได้ดีขึ้นจาก Fairphone 2 ที่รีไซเคิลได้ร้อยละ 30 (สมาร์ตโฟนทั่วไปทำได้ร้อยละ 20 เท่านั้น)           รุ่นล่าสุด Fairphone 4 ที่เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาด้วยราคา 579 -649 ยูโร (ประมาณ 22,000 – 25,000 บาท) ยังให้เวลารับประกันถึง 5 ปีด้วย         สมาร์ตโฟนของบริษัทดังกล่าวซึ่งมีพนักงานร้อยกว่าคน มียอดขายในปี 2020 ประมาณ 95,000 เครื่อง จากการทำตลาดเฉพาะในอังกฤษและสหภาพยุโรป ได้ครองที่หนึ่งทุกครั้งในการจัดอันดับสมาร์ตโฟนที่ผู้ใช้ “ซ่อมเองได้”  โดย ifixit.com เว็บไซต์สัญชาติอเมริกันซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลเกี่ยวกับการซ่อมโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ไปจนถึงรถยนต์         Fairphone จากเนเธอร์แลนด์ได้คะแนนไป 10 เต็ม 10            ตามมาติดๆ ด้วย Shiftphone จากเยอรมนีที่ได้รางวัล German Sustainability Award 2021 ที่ได้ไป 9 คะแนน           ในอันดับกลางๆ ได้แก่ iPhone 12 และ Google Pixel ที่ได้ 6 คะแนนเท่ากัน         รุ่นที่ได้คะแนนต่ำได้แก่ Microsoft Surface Duo และ Galaxy 2 Flip ที่ได้ไป 2 คะแนน และ Motorola Razor ที่ได้ไปเพียง 1 คะแนนเท่านั้น          นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น สมาชิกสามารถเข้าไปดูข้อมูลฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ ซึ่งเป็นชุมชนของผู้ที่มีความสนใจด้านนี้ คุณสามารถเข้าไปเรียนรู้หรือแบ่งปันวิธีซ่อมโทรศัพท์ ช่วยแปลเนื้อหาบางส่วนเพื่อขยายการเรียนรู้ให้กว้างขวางขึ้น รวมถึงสั่งซื้ออะไหล่หรืออุปกรณ์ที่จำเป็นได้ด้วย        เทรนด์ “ซ่อมได้” สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลังมาแรง เราน่าจะได้เห็นการออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการในแนวนี้มากขึ้น แม้แต่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่ผลิตออกมาก็ลดความซับซ้อนให้ผู้ใช้รถรู้สึกอุ่นใจที่สามารถซ่อมหรือซื้อหาอะไหล่มาเปลี่ยนเองได้ และความเรียบง่ายในการออกแบบยังมีส่วนทำให้ราคาถูกลงอีกด้วย   https://www.dw.com/en/fairphone-shiftphone-cell-phone-smartphone-environment-climate-co2https://research.ngi.eu/reports-white-papers/breaking-the-two-year-cycle-extending-the-useful-life-of-smartphones/https://positioningmag.com/1240029https://www.thestandard.com.hk/breaking-news/section/6/183103/Apple-to-allow-iPhone-users-to-repair-their-own-deviceshttps://www.ifixit.com/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 แผนปั่นให้โลกเย็น

        ในการประชุมภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว สก็อตแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สหพันธ์จักรยานแห่งทวีปยุโรป (European Cycling Federation) ได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกที่ลงนามโดย 350 องค์กรทั่วโลก เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างเร่งด่วนและกว้างขวาง เพื่อลดการปล่อยก๊าซที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น        โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จักรยานในเมืองใหญ่ ร้อยละ 80 ของก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นในเขตเมือง และโดยเฉลี่ย ผู้คนประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศก็อยู่ในเมือง การสำรวจยังพบว่าคนเหล่านี้ยืนยันจะเป็นคนเมืองต่อไป แม้เหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น การล็อคดาวน์ หรือวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงโควิดจะทำให้การใช้ชีวิตลำบากไปบ้างก็ตาม         หลายเมืองใหญ่ในโลกได้ลงมือส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างจริงจัง ประสบความสำเร็จบ้าง ประสบปัญหาบ้าง เรามาดูตัวอย่างกัน...         -        อัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ อยู่ในอันดับต้นๆ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการใช้จักรยาน การออกแบบผังเมืองที่ดี การจำกัดความเร็วรถยนต์ รวมถึงขนาดของเมืองที่เล็กกะทัดรัด ทำให้มากกว่าร้อยละ 50 ของการเดินทางในเมือง เป็นการเดินทางด้วยจักรยาน ปัจจุบันเมืองนี้มีประชากร 1.15 ล้านคน จักรยานจดทะเบียนมากกว่า 900,000 คัน และเลนจักรยานความยาว 400 กิโลเมตร ไม่เพียงอัมสเตอร์ดัมเท่านั้น ร้อยละ 25 ของประชากรเนเธอร์แลนด์ใช้จักรยานในการเดินทางประจำวัน อัตราการถือครองจักรยานเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่คนละ 1.33 คัน (ด้วยสถิติโจรกรรมจักรยานที่ค่อนข้างสูง คนส่วนหนึ่งจึงถีบจักรยานเก่าๆ ไปทำงาน แต่จะมีจักรยาน “ไฮเอนด์” อีกคันจอดไว้ที่บ้าน สำหรับใช้ปั่นออกทริปไกลๆ)  ข้อมูลของประเทศเนเธอร์แลนด์ระบุว่าการใช้จักรยานจะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คนละ 21 กรัมต่อกิโลเมตร ขณะที่การใช้รถส่วนตัวทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ 271 กรัมต่อคน/ต่อกม. แม้แต่การใช้รถเมล์ก็ยังทำให้เกิดก๊าซดังกล่าวถึงคนลั 101 กรัม/กม.  และการเปลี่ยนจากรถยนต์มาใช้จักรยานยังลดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ลงได้ร้อยละ 65 แถมประหยัดเงินได้ปีละไม่ต่ำกว่า 8,000 ยูโรเนเธอร์แลนด์ยังเคาะตัวเลขออกมาว่าทุกๆ 1 กิโลเมตรที่จักรยานผ่านไป จะทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 0.68 ยูโร ในขณะที่รถยนต์ส่วนบุคคลและรถเมล์จะเป็นภาระต่อสังคมคิดเป็นมูลค่า 0.37 และ 0.29 ยูโร ต่อกิโลเมตร         -        ลอสแอนเจลิส เป็นอีกตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะเขาให้ความสำคัญกับการใช้จักรยานด้วยสาเหตุด้านสุขภาพ ทั้งๆ ที่โครงสร้างเดิมจะเป็นเมืองที่เกิดมารองรับการใช้รถยนต์ (อาจจะมากกว่าเมืองอื่นๆ ในอเมริกาด้วยซ้ำ) เมืองนี้ติดอันดับเมืองที่ประชากรวัยเด็กเป็นหอบหืดมากที่สุดในอเมริกา และปัญหารถติดสาหัสในเมืองก็ทำให้เกิดการสูญเสียทางผลิตภาพไปปีละไม่ต่ำกว่า 19,000 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่ามีการแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัวผ่านสายด่วน 911 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9 ในวันที่รถติดหนัก ที่สำคัญยังพบว่ารถเมล์เมืองนี้วิ่งได้เร็วแค่ประมาณ 17 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่ต่างอะไรกับความเร็วจักรยาน และการเดินทางส่วนใหญ่ (เกินร้อยละ 65) มีระยะไม่เกิน 8 กิโลเมตร สิ่งที่เป็นปัญหาของแอลเอคือเรื่องความปลอดภัย สถิติการเกิดอุบัติเหตุกับผู้ใช้จักรยานที่นี่ค่อนข้างสูง แต่ความนิยมใช้จักรยานที่เพิ่มสูงขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้ภาครัฐหันมาให้ความใส่ใจปรับปรุงเรื่องนี้อย่างจริงจังขึ้น         -        ปารีส เมืองนี้ไม่พูดถึงไม่ได้เพราะเขามีนายกเทศมนตรีที่มุ่งมั่นจะปรับปรุงคุณภาพอากาศและคุณภาพชีวิตของผู้คน ด้วยการส่งเสริมให้การขี่จักรยานเป็นโหมดการเดินทางหลักของคนเมือง            หลังได้รับตำแหน่งในปี 2014  แอนน์ อิดัลโก ก็ทำตามสัญญาที่ให้ไว้เมื่อตอนหาเสียง เช่น ลดพื้นที่จอดรถยนต์ ลดกำหนดความเร็วรถจาก 50 กิโลเมตร/ชม. เป็น 30 กิโลเมตร/ชม.) เพิ่มทางจักรยาน ทั้งโดยการเปลี่ยนจากเลนรถยนต์และการสร้างเลนจักรยานขึ้นใหม่ รวมๆ แล้วปารีสได้ทางจักรยานมา 300 กิโลเมตร ด้วยงบประมาณ 150 ล้านยูโร         ปัจจุบัน “เครือข่าย” จักรยานในปารีสมีระยะทางมากกว่า 1,000 กิโลเมตร ในนี้รวมเอา “เลนโคโรนา” หรือเส้นทางชั่วคราวสำหรับใช้จักรยานในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ระยะทาง 52 กิโลเมตร ที่ถูกเปลี่ยนมาเป็นเลนจักรยานถาวรอยู่ด้วย           นอกจากนี้ใจกลางกรุงปารีส ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง เช่น มหาวิหารนอร์เทรอดาม ยังถูกประกาศให้เป็นเขตห้ามรถยนต์เข้า นับว่ากร้าวมากสำหรับเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดในโลก  ล่าสุด แอนน์ อิดัลโก นายกเทศมนตรีปารีสสองสมัยคนนี้ได้ประกาศลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในปีหน้า (2022) แน่นอนว่าเธอยังชูนโยบายเดิม ด้วยการประกาศว่าจะทำให้ปารีสเป็นเมืองที่ใช้จักรยานได้ 100% ภายในปี 2026         หันมาดูกรุงเทพมหานครของเรา เมืองที่มีผู้อยู่อาศัยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน มีรถยนต์และจักรยานยนต์ไม่ต่ำกว่า 9 ล้านคัน และคุณภาพอากาศแบบคุ้มดีคุ้มร้าย ผู้คนมีทางเลือกสองทางเมื่อใช้ขนส่งสาธารณะ (จะเลือกแบบคุณภาพดีราคาแพง หรือแบบคุณภาพต่ำราคาถูก) ไหนจะปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อ ในขณะที่คนพร้อมจะใช้จักรยานยังต้องยอมรับความเสี่ยงและความลำบากยุ่งยาก         ทั้งหมดนี้ดูแล้วยังไม่ใช่ “ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” แต่ปัญหานี้ยังไม่เคยถูกจัดการอย่างเป็นระบบ  ได้แต่หวังว่าผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนใหม่ ในการเลือกตั้งที่ (คาดว่า) จะมีขึ้นในเดือนเมษายนปีหน้า จะมีนโยบายยกระดับคุณภาพอากาศและคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ได้อย่างยั่งยืนเสียที https://www.france24.com/en/france/20211103-residents-react-to-mayor-hidalgo-s-plans-for-a-100-bikeable-parishttps://www.dutchcycling.nl/en/https://www.amsterdamtips.com/cycling-in-amsterdamhttps://cop26cycling.com/https://streetsforall.org/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ตลาดหุ้นไทย ผูกขาดจนสิ้นหวัง

        สำหรับสายนักลงทุนหุ้น งาน BETTER TRADE SYMPOSIUM 2021: WARP TO THE FUTURE ที่จัดไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 ได้ยิน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนคุณค่า (Value Investor) ของไทยพูดว่า         “จากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากว่า 20 ปี ไม่เคยมีครั้งไหนรู้สึกสิ้นหวังกับตลาดหุ้นไทยเท่าครั้งนี้ เพราะตลาดหุ้นไทยไม่ไปไหน แถมยังไม่มีหุ้นเด็ดๆ ถูกๆ น่าลงทุน” แถมแกก็หนีไปลงทุนหุ้นต่างประเทศเสียแล้ว ไม่เท่านั้น ยังชวนคนรุ่นใหม่ไปลงทุนหุ้นเมืองนอกด้วย         ฟังแล้วหลายคนสะดุ้ง ขนาดจิ้งจกทักยังลังเล นี่นักลงทุนคุณค่าอันดับต้นๆ ของไทยพูดขนาดนี้จะไม่ฟังเลยก็กระไรอยู่ จริงไหม? ข่าวจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานคำพูดของ ดร.นิเวศน์ อีกว่า ตลาดหุ้นไทยจะทนภาวะเลวร้ายต่อไปไม่ไหว เช่น คนแก่ตัวขึ้นมาก คนทำงานน้อยลง เศรษฐกิจไม่ก้าวหน้า ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ในที่สุดตลาดหุ้นก็ไปต่อยาก                 พักเรื่องคนแก่ คนทำงานน้อยลง กับเศรษฐกิจแย่ๆ ไว้ก่อน แล้วใส่เครื่องหมายคำพูดที่ “ไม่มีความคิดสร้างสรรค์” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในการประกอบธุรกิจ ถ้าเราจะซื้อหุ้นสักบริษัทหนึ่งและถือยาวๆ แน่นอนว่าเราต้องอยากได้บริษัทที่จ่ายปันผลดีและมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะทำแบบนี้ได้ ตัวบริษัทก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มีความสามารถในการแข่งขัน ลงทุนกับการวิจัยและพัฒนา         หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ ผูกขาดหรือเกือบผูกขาด         บริษัทใหญ่ๆ ในตลาดหุ้นไทยโดยมากใหญ่ได้จากวิธีหลัง ลองไปไล่ดูสิ น้ำมัน สนามบิน ขนส่ง ค้าปลีก การสื่อสาร ผูกขาดท้างงงน้านนน                 ในทางเศรษฐศาสตร์ การผูกขาดคือความเลวร้ายขั้นสุด เพราะมันทำให้ผู้ที่ผูกขาดได้ค่าเช่าส่วนเกินจากเศรษฐกิจ ได้กำไรเกินพอดี ไม่ต้องคิดอะไรใหม่ๆ อยู่เฉยๆ เงินก็มา เพราะไม่มีใครมาแข่งด้วย ในประเทศพัฒนาแล้วจึงให้ความสำคัญกับการต่อต้านการผูกขาด             ไม่เหมือนไทย รัฐบาลกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการผูกขาด อย่างข่าวล่าสุดที่บริษัทมือถืออันดับ 2 กับ 3 จะควบรวมกัน นักวิชาการออกมาเตือนแล้วว่า เฮ้ย นี่มันผูกขาดนะ มันลดผู้เล่นในตลาดลงไปนะ สุดท้ายแล้วผู้บริโภคจะไม่มีทางเลือกและทำอะไรไม่ได้นะ เพราะมันมีแค่ 2 เจ้าให้เลือก         เหมือนรถไฟฟ้าเส้นหลัก ไม่ขึ้นเจ้านี้ ก็ไม่มีให้ขึ้น ไปนั่งรถเมล์โบราณนู่น         อย่าคิดว่ามีเงินลงทุนแล้วจะรวยได้แบบไม่แคร์สังคม เพราะถ้าสังคมมันห่วยจากรัฐที่ไม่ไยดีประชาชน แต่เอื้อนักธุรกิจ มันก็จะย้อนกลับมาทำร้ายผลตอบแทนจากการลงทุนในที่สุด         ...แล้วจะไม่สิ้นหวังได้ยังไง

อ่านเพิ่มเติม >