ฉบับที่ 263 โรงไฟฟ้าชุมชนกับความจริงที่หายไปจากการอภิปรายในสภาผู้แทน

        ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติของสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 152 เมื่อ 15-16 กุมภาพันธ์ 2566  มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจที่ฝ่ายค้านได้ยกขึ้นมาอภิปราย คือ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากหรือ VSPP (Very Small Power Producer) ขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์         ฝ่ายค้านโดยคุณสุทิน คลังแสงได้อภิปรายพอสรุปได้ว่า ท่านเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะชาวบ้านจะมีรายได้จากการขายเชื้อเพลิงซึ่งได้แก่ ไม้โตเร็ว และหญ้าเนเปียร์  เป็นต้น แต่ปัญหาอยู่ที่สัดส่วนการลงทุนระหว่างบริษัทเอกชนกับวิสาหกิจชุมชน โดยระเบียบที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)กำหนดคือ ให้ชุมชนถือหุ้นในสัดส่วน 10% คุณสุทินเสนอว่าควรจะให้ชุมชนถือหุ้นมากกว่านั้นเป็น 60-70% เป็นต้น ต่อมาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นมาตอบแบบข่มผู้ตั้งคำถามว่า ให้ไปศึกษาดูให้ดีก่อน วิสาหกิจชุมชนถือหุ้น 10% เฉพาะในช่วงแรกเท่านั้นแต่สามารถเพิ่มการลงทุนได้ถึง 40% ในปีต่อๆ ไป         ผมได้ตรวจสอบจากเอกสารของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2563 พบว่า ไม่มีการกำหนดเวลาว่าจะให้ชุมชนสามารถเพิ่มทุนเป็น 40% ให้สำเร็จภายในปีใด นั่นแปลว่ายังคงถือหุ้นเท่าเดิมคือ 10% ตลอดอายุสัญญา 20 ปีก็ได้ นอกจากนี้ผมได้ติดตามเอกสาร “ประกาศเชิญชวน” (ออกปี 2564) โดย กกพ.ก็ไม่มีการพูดถึงสัดส่วนการลงทุนแต่ประการใด         ดังนั้นเราพอสรุปได้ว่าเรื่องสัดส่วนการลงทุนที่บอกว่าจะให้ชุมชนถือหุ้นถึง 40% จึงเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งพลเอกประยุทธ์นำมาหลอกต่อในสภาและคุณสุทินเองก็ไม่ได้กล่าวถึงสัดส่วนการลงทุนที่ไม่ได้ระบุเวลา นี่คือความจริงที่หายไปประการที่หนึ่ง         ความจริงที่หายไปประการที่สองคือ ขนาดของโรงไฟฟ้า กำหนดว่าต้องไม่เกิน 3 เมกะวัตต์สำหรับที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (เช่น เอาหญ้าเนเปียร์มาหมักเป็นก๊าซ) และไม่เกิน 6 เมกะวัตต์สำหรับเชื้อเพลิงชีวมวล (จากเศษไม้โตเร็ว) คำถามคือโรงไฟฟ้าพวกนี้มีขนาดเล็กมากจริงหรือ         ข้อมูลจากผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอ.บต. ท่านหนึ่งระบุว่า โรงไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ต้องใช้พื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ถึง 4 พันไร่ ถ้าขนาด 3 เมกะวัตต์ต้องใช้พื้นที่ปลูกหญ้าถึง 12,000 ไร่ การขนหญ้ามาขายก็มีต้นทุนคือค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง ดังนั้นโรงไฟฟ้าชีวมวลและชีวภาพจึงควรจะมีขนาดเล็กมาก(ตามชื่อ) แต่ควรเล็กขนาดไหน และข้อมูลจากประเทศเยอรมนีก็พบว่า ทั่วประเทศมีโรงไฟฟ้าชีวมวลและชีวภาพมีขนาดเฉลี่ยเพียง 0.6 เมกะวัตต์เท่านั้น (14,400 โรง 9,300 เมกะวัตต์)  มีอยู่โรงหนึ่งขนาดเพียง 75 กิโลวัตต์ (หรือต้องใช้ 14 จึงได้ 1 เมกะวัตต์) ต้องใช้มูลวัว 120 ตัวเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ เราลองจินตนาการดู การเลี้ยงวัว 120 ตัวก็พอจะเป็นไปได้ถ้าคนในชุมชนร่วมมือกันดีๆ แต่ถ้าเป็น 3 เมกะวัตต์ต้องใช้วัวกว่า 5 พันตัว มันยุ่งยากไม่น้อยเลย         โรงไฟฟ้าชุมชนประเภทนี้สามารถขายไฟฟ้าให้กับ กฟน.และกฟภ.ในราคาที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าทั่วไปถึงประมาณ 50 สตางค์ต่อหน่วย นอกจากนี้เท่าที่ผมตรวจสอบพบว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างน้อย 3 โรงสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 100% ของศักยภาพ ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนที่ทำสัญญากับ กฟผ.สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 45% ถึง 70% ของศักยภาพเท่านั้น (เพราะเรามีโรงไฟฟ้าล้นเกิน) ในเมื่อ (1) บริษัทเอกชนถือหุ้น 90% (2) ขายไฟฟ้าได้ในราคาแพงกว่าและ (3) ได้ผลิตไฟฟ้า 100% ของศักยภาพ ส่งผลให้เจ้าของโรงไฟฟ้ามีระยะเวลาคืนทุนเร็วมากเป็นการเอาเปรียบทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายอื่นๆ มากเกินไป         สุภาษิตเยอรมันเตือนไว้ว่า “มีปีศาจซ่อนอยู่ในรายละเอียด” ซึ่งอย่างน้อย 2 ประการดังที่กล่าวมาแล้วนี่แหละครับ การเมืองไทยมันต้องใช้ภาคประชาชนที่ตื่นรู้คอยตรวจสอบอย่างใกล้ชิดอย่าให้พลาดสายตานะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 ‘บัฟเฟตต์’ กับ ‘โซรอส’ แตกต่างเหมือนกัน

        บทเรียนแรกๆ ของการออม การลงทุน การจัดการการเงินส่วนบุคคล คือการรู้จักและเข้าใจตัวเอง ทั้งในแง่นิสัยใจคอ การยอมรับความเสี่ยง เป้าหมายการลงทุน ไปจนถึงวิธีการลงทุนที่เหมาะกับตัวเรา จะเดินสาย investor หรือเดินสาย trader ก็ขอให้เป็นคุณเดินแล้วเดินได้สะดวก         มีนักลงทุนระดับตำนาน 2 คนที่มีวิธีการลงทุนต่างกันคนละขั้ว คนหนึ่งคือวอร์เรน บัฟเฟตต์ เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา สาย value investor อีกคนคือจอร์จ โซรอส นักเก็งกำไรกับทุกสิ่ง คนนั้นนั่นแหละ คนที่โจมตีค่าเงินบาทไทยตอนปี 2540         มีหนังสือขายดีตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษตั้งแต่ปี 2005 เคยแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกเมื่อปี 2554 และถูกพิมพ์ซ้ำเรื่อยมา ‘The Winning Investment Habits of Warren Buffett & George Soros’ หรือชื่อไทยว่า ‘บัฟเฟตต์-โซรอส ลงทุนถูกนิสัย ยังไงก็ชนะ’ ก็อย่างที่บอกว่าทั้งสองคนมีแนวทางการลงทุนที่ไม่เหมือนกันเลย แต่ Mark Tier ผู้เขียน ก็วิเคราะห์แนวทางการลงทุนที่เป็นลักษณะร่วมของทั้งสองคนออกมาได้น่าสนใจทีเดียว         ยกอุปนิสัยบางข้อมาเล่าให้ฟังแล้วกัน บางข้อก็เป็นเรื่องทั่วไปมากๆ เลย แต่ไอ้ความทั่วไปนี่แหละที่แยกนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จกับนักลงทุนที่ล้มเหลว เช่น การ ‘มุ่งมั่นที่จะลดความเสี่ยง’ หรือ ‘จงรักษาเงินต้นไว้ให้ได้เสมอ’ เพราะความเสี่ยงเป็นสิ่งที่เราพอจะควบคุม หมายถึงประเมินและยอมรับระดับความเสี่ยงได้ มากกว่าเรื่องผลตอบแทนที่แสนผันผวนตามอารมณ์ของตลาด ส่วนการรักษาเงินต้น...ก็ตามนั้นแหละ         ชวนดูอีกสัก 2 ข้อ ‘สร้างปรัชญาการลงทุนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง’ กับ ‘พัฒนาระบบในการคัดเลือก ซื้อ และขายการลงทุนต่างๆ อันเป็นแบบฉบับของตัวเอง’ สองข้อนี้รวบตึงเป็นข้อเดียวกันก็ได้และมาจากรากฐานเบื้องต้นนั่นคือการรู้จักตนเอง ...ขอยกข้อความมา 2 ย่อหน้า         “ถ้าหุ้นโค้กราคาตกหลังจากบัฟเฟตต์เข้าซื้อ เขาจะทำเช่นไร ถ้าคิดว่าราคา 5.22 ดอลล่าร์ถือว่าถูกมากแล้ว พอราคาร่วงลงมาที่ 3.75 ดอลลาร์ ก็ยิ่งต้องถือว่าถูกกว่าเดิมซะอีก และเขาย่อมซื้อเพิ่มอยู่แล้ว         “แต่ระเบียบวิธีของโซรอสกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ถ้าเขาซื้ออะไรแล้วราคาของมันตก เขาจะถือว่าตลาดกำลังบอกว่าเขาทำผิด และเขาก็ออกทันที ถ้าราคาเพิ่มขึ้น เขาก็จะยังซื้อเพิ่ม เพราะตลาดกำลังบอกว่าสมมติฐานของเขาถูกต้องแล้ว”         สองย่อหน้านี้น่าจะสรุปความแตกต่างที่เหมือนกันของทั้งสองได้ดีสุดแล้ว พวกเขาเข้าใจตัวเองมากพอจะสร้างแนวทางการลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ลองให้สองคนสลับวิธีกันก็เป็นไปได้ว่าจะเจ๊งยับและโลกจะไม่รู้จักชื่อบัฟเฟตต์และโซรอส         อ้อ ยังมีอีกข้อที่ทั้งสองคนมีเหมือนกันและเป็นรากฐานที่สำคัญมากๆๆๆๆ แต่ถูกละเลยเสมอ นั่นก็คือ         ‘จงลงทุนในสิ่งที่คุณเข้าใจเท่านั้น’

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 เมื่ออัยการทำ MOU กับศัลยแพทย์ ประชาชนจะพึ่งใคร

        เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม สำนักงานอัยการสูงสุด กับแพทยสภา และราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ลงนามทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ โดยมี อัยการสูงสุด นายกแพทยสภา และประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมลงนาม         คำถามที่ชาวบ้านหรือผู้รับบริการสาธารณสุขสงสัยคือ เหตุใดองค์กรแพทย์จึงต้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์เป็นกรณีพิเศษ  ข่าวแจกสื่อมวลชนระบุว่า การทำ MOU นี้เกิดจากปัญหาที่ศัลยแพทย์ถูกร้องเรียนหรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งผู้ป่วยได้รับความเสียหายจากการรักษาของศัลยแพทย์ที่เป็นภาวะแทรกซ้อน  ดังนั้น จึงควรมีการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ที่ถูกร้องเรียนหรือถูกฟ้องร้อง  กล่าวคือ สำนักงานอัยการสูงสุดจะให้การคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ด้วยการให้คำปรึกษาปัญหาทางกฎหมาย การไกล่เกลี่ยประนอม ข้อพิพาท การช่วยเหลือทางคดี         ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวเรื่องการเตรียมทำ MOU ฉบับนี้ โดยระบุถึงความจำเป็นว่า ศัลยแพทย์มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ  หากปล่อยให้ศัลยแพทย์ได้รับโทษทางแพ่งและอาญา ตลอดจนโทษจากองค์กรควบคุมวิชาชีพ อันเป็นผลจากภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาพยาบาล  ก็อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศในอนาคต           ผู้เขียนเห็นว่า การทำ MOU ดังกล่าวของสำนักงานอัยการสูงสุดกับแพทยสภา โดยเฉพาะราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นสิ่งที่ขาดเหตุผล ความจำเป็นและขาดความเหมาะสม  เนื่องด้วยบทบาทหน้าที่ของอัยการในการพิจารณาสั่งฟ้องคดีอาญาที่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายร้องทุกข์ในคดีทางการแพทย์ หากมีผู้ป่วยไปเสริมความงามจมูก หน้าอก แล้วเกิดภาวะติดเชื้อหรือทำให้ใบหน้าผิดเพี้ยนหรือพบความผิดปกติ หรือการผ่าตัดรักษาอาการอย่างหนึ่งแต่กลับส่งผลต่ออวัยวะส่วนอื่นในร่างกาย  กรณีเหล่านี้จะถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อน (complication) หรือไม่  หรือกรณีศัลยแพทย์มิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วย (standard of care) ซึ่งเป็นที่ยอมรับ เช่น การป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับผู้ป่วยในขณะเข้ารับการผ่าตัดหรือการแก้ไขภาวะแทรกซ้อนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม  ในคดีทางการแพทย์ในต่างประเทศหากเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด โดยศัลยแพทย์มิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย มีหลายคดีที่ศาลตัดสินให้แพทย์มีความผิดหรือต้องชดใช้ค่าเสียหาย เพราะศาลเห็นว่าแพทย์มิได้ให้การรักษาอย่างเหมาะสมตามมาตรฐานการดูแลรักษา   คำถามสำคัญคือ หากแพทย์ที่ถูกร้องร้องเรียนหรือถูกฟ้องมาขอคำปรึกษากับอัยการตาม MOU จะส่งผลทำให้อัยการมีความเห็นทางกฎหมายที่เอนเอียงไปกับฝ่ายศัลยแพทย์หรือไม่                     การทำ MOU นี้ของสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ที่ถูกฟ้องร้องในคดีอาญาหรือร้องเรียน อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 248 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง เนื่องจากอาจทำให้อัยการขาดความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงยังอาจขัดต่อกฎหมายขององค์กรอัยการหลายฉบับคือ พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓  จนอาจทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามคำปฏิญาณของพนักงานอัยการก่อนเข้ารับหน้าที่ว่า “..... จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมโดยปราศจากอคติทั้งปวงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน ....”  อีกทั้งยังอาจขัดต่อ ”ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน พ.ศ. 2562” โดยเฉพาะข้อ 19 ที่กำหนดว่า พนักงานอัยการจะต้องให้คำปรึกษาแก่ประชาชนโดยเสมอภาคกัน  การที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้คำปรึกษาเป็นพิเศษแก่กลุ่มองค์กรแพทย์เป็นการเฉพาะ จึงเป็นเรื่องที่อาจขัดต่อกฎหมายและระเบียบขององค์กรอัยการข้างต้น        เนื้อหาตาม MOU ระบุให้มีการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุด แพทยสภา ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ โดยการประชุมหารือร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ในการให้ความคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์  จึงมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้อัยการที่ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย ขาดความรู้ ความเข้าใจทางการแพทย์ ก็ย่อมอาจรับฟังและเชื่อในข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่แพทย์บางท่านอธิบาย  แต่ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ในแต่ละเคสจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน การพิจารณาว่าศัลยแพทย์ท่านใดกระทำผิดตามที่ถูกผู้ป่วยหรือผู้รับบริการร้องเรียนหรือไม่ หากอัยการรับฟังข้อมูลจากศัลยแพทย์ที่ถูกร้องเรียนแล้วเชื่อว่าเป็นความจริงทั้งหมด ก็อาจส่งผลต่อการพิจารณาสั่งคดีของอัยการได้คือ อัยการอาจสั่งคดีไม่ฟ้องแพทย์รายนั้น ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรม สิ่งที่น่ากังวลอีกประการคือ หากพนักงานอัยการในนามองค์กรอัยการได้ให้คำปรึกษาแก่ศัลยแพทย์ท่านนั้นไป หรือให้คำแนะนำแก่แพทยสภาและราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ไปแล้ว อาจทำให้มีผลผูกพันต่อการสั่งคดีทางอาญาหรือไม่ และอาจส่งผลต่อความเป็นอิสระ เที่ยงธรรมของพนักงานอัยการผู้สั่งคดี         อนึ่งในความเป็นจริงนั้น ผู้ป่วยที่ฟ้องแพทย์ส่วนใหญ่จะแพ้คดี เพราะเป็นเรื่องยากที่จะร้องขอให้แพทย์ท่านใดมาเป็นพยานเบิกความให้ฝ่ายผู้ป่วยในศาลได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ฟ้องแพทย์ก็มีน้อยมาก เพราะไม่มีเงินว่าจ้างทนายความ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงต้องเสียเวลาขึ้นศาล หรือคิดว่าเป็นเรื่องเคราะห์กรรม อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยบัตรทองหลายรายที่ได้รับการเยียวยาความเสียหาตามกฎหมายแล้วคือ มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็มักจะไม่ฟ้องแพทย์หรือโรงพยาบาลอีก              ผู้บริหารสำนักงานอัยการสูงสุดควรทบทวนการทำ MOU ดังกล่าว เพราะอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อองค์กรและการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ อาจทำให้ประชาชนหรือผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลเกิดความคลางแคลงใจในการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการว่า จะมีความเที่ยงธรรมหรือไม่ เพียงใด  การที่อัยการมีความสัมพันธ์หรือมีปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายแพทย์ที่เป็นคู่ความในคดีอย่างใกล้ชิด เช่น การจัดประชุมหรือจัดสัมมนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลต่อความเป็นอิสระของอัยการในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง          การร้องเรียนหรือคดีทางการแพทย์ที่ประชาชนได้รับความเสียหายจากศัลยแพทย์อาจมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามกระแสนิยมในเรื่องการเสริมความงาม  หากผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับบริการดังกล่าว   ศัลยแพทย์ที่ถูกฟ้องร้องได้รับคำปรึกษาแนะนำทางกฎหมายจากอัยการอย่างใกล้ชิด แล้วประชาชนจะไปหันพึ่งใคร          การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ ระหว่าง สำนักงานอัยการสูงสุด กับ แพทยสภาและราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายและระเบียบขององค์กรอัยการ องค์กรอัยการเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความน่าเชื่อถือและมีความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรม จึงควรทบทวนความจำเป็นการทำ MOU ฉบับนี้ เพราะการมีปฏิสัมพันธ์กับแพทยสภาที่เป็นองค์กรเอกชนซึ่งสมาชิกขององค์กรอาจเป็นคู่ความในคดีทางการแพทย์ จึงอาจกระทบต่อความเป็นกลาง ความเที่ยงธรรมในการดำเนินคดีของอัยการ  --------------------------------* กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 นโยบายพรรคการเมืองด้านไฟฟ้า ประชาชนต้องรู้เท่าทัน

ช่วงนี้ใกล้การเลือกตั้งทั่วไป หลายพรรคการเมืองค่อยๆทยอยเสนอนโยบายด้านต่างๆ กันบ้างแล้ว แต่ส่วนมากผมยังไม่เห็นนโยบายที่เกี่ยวกับด้านพลังงาน  จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2566  พรรคไทยสร้างไทยได้นำเสนอในเวทีปราศรัยที่จังหวัดกาฬสินธุ์ว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงมาเหลือ 3.50 บาทต่อหน่วย (จากปัจจุบันถ้ารวมภาษีด้วย  5.33 บาทต่อหน่วย)หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) ได้นำเสนอถึงสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงเพราะเรามีกำลังผลิตสำรองล้นเกิน หลายโรงไฟฟ้าแม้ไม่ได้เดินเครื่องเลยแต่ก็ยังได้รับเงิน  ซึ่งเป็นความจริงคุณหญิงสุดารัตน์ ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมพร้อมด้วยวิธีการแก้ปัญหานี้ว่า “เป็นสัญญาทาสทำค่าไฟแพง ปล้นคนไทยทั้งประเทศ แบบนี้ส่อไปในทางทุจริตหรือไม่ พรรคไทยสร้างไทยจะนำประเด็นนี้ไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อยกเลิกสัญญาทาส ที่ปล้นประชาชนไปให้นายทุน ข้าราชการ นักการเมือง ไปเสวยสุข นักการเมืองบางคนเอาเงินที่โกงประชาชนไปใช้เป็นทุนในการซื้อเสียงเลือกตั้ง แล้วเข้ามาโกงพี่น้องประชาชนต่ออีกรอบ” (ไทยรัฐออนไลน์ 15 ม.ค. 66)ต้องขอขอบคุณพรรคไทยสร้างไทยที่ได้นำเสนอมาตรการแก้ปัญหาที่สำคัญของประเทศและเป็นภาระที่ไม่จำเป็นธรรมของประชาชนมายาวนานแล้วสภาองค์กรของผู้บริโภคได้เคยนำเสนอวิธีการแก้ปัญหากิจการไฟฟ้าอย่างเป็นระบบให้กับรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบและไม่ตอบสนองแต่อย่างใดในประเด็นเรื่องกำลังการผลิตล้นเกินและเป็น “สัญญาทาส” แบบไม่ผลิตเลยก็ยังได้รับเงินจากผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เคยเสนอให้รัฐบาลเปิดเจรจากับคู่สัญญาเพื่อหาทางออกที่ดีกว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคเชื่อว่าการเจรจาที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนจะนำไปสู่ประสิทธิภาพที่ดีกว่า ที่เรียกว่าแบบ Win-Win แต่พรรคไทยสร้างไทยเลือกที่จะให้ “ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง” เป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ก็ว่ากันตามความเชื่อของพรรคนะครับแต่สิ่งที่สังคมไทยควรหยิบมาพิจารณาเป็นบทเรียนก็คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ที่วินิจฉัยด้วยเสียง 6 ต่อ 3 ว่า การที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า (ถึงร้อยละ 68 ของกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าทั้งหมด) เป็นการปฏิบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56ผมว่านโยบายที่เกี่ยวกับไฟฟ้าที่พรรคการเมืองควรนำเสนอนอกเหนือจากเรื่องกำลังการผลิตล้นเกินก็คือ การพึ่งตนเองด้านพลังงาน โดยการใช้เชื้อเพลิงที่มีอยู่ภายในประเทศเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้เรื่องกำลังผลิตสำรองล้นเกินเชื้อเพลิงที่ว่านี้ก็คือแสงอาทิตย์ โดยการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตนเอง เพราะเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและราคาถูกลง สามารถคุ้มทุนได้ภายใน 6-8 ปีเรื่องนี้หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเล็กๆ ผลิตได้ไม่เป็นกอบเป็นกำ แต่ทราบไหมว่า ในปี 2021 ประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนีซึ่งมีแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทย สามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้จำนวนกว่า 85,000 และ 48,000 ล้านหน่วย ตามลำดับ (ดูภาพประกอบ)ในขณะที่ประเทศไทยเราสามารถผลิตได้เพียง 4,800 ล้านหน่วยเท่านั้น (จากจำนวนทั้งหมดที่ใช้ประมาณ 2 แสนล้านหน่วย) แต่ประเทศไทยผลิตจากก๊าซธรรมชาติกว่า 1.1 แสนล้านหน่วยต่อปี โดยที่การใช้ก๊าซธรรมชาตินอกจากจะถูกปั่นราคาให้สูงลิ่วจากสถาการณ์สงครามแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนด้วยกล่าวเฉพาะออสเตรเลียซึ่งมีประชากร 26 ล้านคน แต่ติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาไปแล้ว 3 ล้านหลัง โดยใช้ระบบหลักลบกลบหน่วย (Net Metering) ซึ่งเป็นระบบที่ประหยุดที่สุด ไม่ต้องติดมิเตอร์เพิ่มอีก 1 ตัว เป็นการแลกหน่วยไฟฟ้ากัน(ในราคาที่เท่ากัน)ระหว่างเจ้าของบ้านกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ตลอดอายุขัยของอุปกรณ์ 30 ปี ไม่ใช่แค่ 10 ปีที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้ตามอำเภอใจด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอนโยบายต่อพรรคการเมืองว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้า ต้องส่งเสริมให้ครัวเรือนติดโซลาร์เซลล์ขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์จำนวน 2 ล้านหลัง ปีละ 5 แสนหลังเมื่อครบจำนวนแล้วผู้บริโภคจำนวนดังกล่าว หากติดโซลาร์เซลล์ขนาด 3.2 กิโลวัตต์ (ผลิตได้ปีละ 1,380 หน่วยต่อกิโลวัตต์ ค่าไฟฟ้า 4.72 บาทต่อหน่วย) จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าปีละกว่า 42,000 ล้านบาทนโยบายแบบนี้สามารถตรวจสอบได้ และไม่ขึ้นกับคำวินิจฉัยของศาล  หากเอาตามแนวทางพรรคไทยสร้างไทยเสนอ สมมุติว่าศาลวินิจฉัยว่าไม่เป็นการทุจริต ประชาชนก็ไม่ได้อะไรเลย ทั้ง ๆที่ได้ตัดสินใจกาบัตรให้ไปแล้ว เหมือนกับหลายนโยบาย(ของหลายพรรค) ที่ไม่ได้นำมาปฏิบัติเลยในคราวการเลือกตั้งเมื่อปี 2562ความจริงแล้ว เรื่องนโยบายหักลบกลบหน่วย มติคณะรัฐมนตรีชุดรักษาการณ์โดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ  ได้มีมติไปแล้วเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 พร้อมกับได้มีหนังสือสั่งการ “ด่วนที่สุด” ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 6 หน่วยงานเพื่อเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว แต่จนป่านนี้ 4 เดือนแล้ว ยังไม่มีอะไรคืบหน้าเลยมีคำสั่งใดที่ด่วนกว่า “ด่วนที่สุด” ไหมครับเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ประชาชาชนเราต้องรู้เท่าทันทั้งนักการเมืองและกลไกของระบบราชการทุกส่วนให้มากกว่าเดิม รวมทั้งทุกศาลด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 เรื่องน่าผิดหวังแห่งปี

        เป็นธรรมเนียมประจำปีของ CHOICE องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียที่จะประกาศรางวัล Shonky Awards ให้กับสินค้าหรือบริการที่สร้างความผิดหวังให้ผู้บริโภคมากที่สุด มาดูกันว่าในปี 2022 หลังการระบาดของโควิดเริ่มคลี่คลาย มีผู้ประกอบการเจ้าไหนได้รางวัลนี้ไปเชยชมกันบ้าง          เริ่มจาก Qantas สายการบินแห่งชาติของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสายการบินที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด เพราะความคับข้องใจของลูกค้าที่ต้องเจอปัญหาเที่ยวบินล่าช้า (สถิติการตรงต่อเวลาของควอนตัสขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 70 แต่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีเที่ยวบินตรงเวลาเพียงร้อยละ 47 เท่านั้น) สัมภาระสูญหาย และความสับสนวุ่นวายขณะทำการเช็คอิน พวกเขาคิดแล้วไม่เข้าใจ อุตส่าห์ควักกระเป๋าจ่ายค่าตั๋วสำหรับ “สายการบินพรีเมียม” แต่ได้รับบริการไม่ต่างกับสายการบินต้นทุนต่ำ         แถมด้วยเรื่องเก่าที่เคลียร์ไม่จบจากยุคโควิด เมื่อผู้โดยสารที่ไม่สามารถเดินทางได้ในช่วงที่รัฐบาลจำกัดการเดินทางต่างก็ได้รับ “เวาเชอร์”​ ไว้ใช้ภายหลัง แต่กลับพบว่าตั๋วที่ใช้เวาเชอร์ซื้อได้นั้นมีราคาแพงกว่าปกติ ในขณะที่ “คะแนนสะสม” ของหลายคนก็ไม่ได้รับการต่ออายุทั้งที่ไม่มีโอกาสได้ใช้ในช่วงโควิด         แน่นอนว่าต้องมีคำถามจากลูกค้ามากมาย แต่สายการบินกลับไม่เตรียมการไว้รองรับ บางคนที่โทรไปคอลเซ็นเตอร์ของควอนตัส ต้องถือสายรอเกือบ 50 นาที บริษัทต้องปรับปรุงอีกมาก หากต้องการจะใช้สโลแกน “Spirit of Australia” ต่อไป         ตามด้วยผลิตภัณฑ์อาหารที่อ้างว่าคิดค้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ปกครองที่ลูกไม่ชอบกินผัก บริษัท Steggles ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไก่ ที่อยู่คู่กับออสเตรเลียมาเกือบร้อยปี ได้ปล่อยนักเก็ตไก่แช่แข็ง แบบ “ซ่อนผัก” ออกสู่ตลาด พร้อมฉลากที่ระบุว่ามีส่วนผสมของ “ผัก” ถึง ¼ ถ้วยหรือ 50 กรัม พร้อมรูปดอกกะหล่ำบนกล่อง คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายถูกใจยิ่งนัก แม้ต้องจ่ายแพงกว่านักเก็ตไก่ธรรมดา ก็ยอมเปย์        แต่สารอาหารที่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์มีเพียง โปรตีน ไขมัน น้ำตาล และโซเดียม ทำให้ CHOICE เกิดข้อสงสัยจึงส่งตรวจวิเคราะห์หา “ความเป็นผัก” ในนักเก็ตดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีอยู่เพียงน้อยนิด และ “ผัก” ที่ว่านั้นส่วนใหญ่เป็นมันฝรั่ง (ร้อยละ 11) ส่วนดอกกะหล่ำตามรูปบนบรรจุภัณฑ์นั้นมีเพียงร้อยละ 3           หากคำนวณโดยนับรวมทั้งดอกกะหล่ำและมันฝรั่ง ปริมาณผักที่ได้ก็เป็นเพียงร้อยละ 20 ของปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน พูดง่ายๆ ถ้าจะกินให้ได้ปริมาณที่เพียงพอ เด็กต้องกินมากกว่าหนึ่งกล่อง ในขณะที่ข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัทระบุว่า หนึ่งกล่อง (ขนาด 400 กรัม) เหมาะสำหรับรับประทาน 4 คน           ต่อไปขอแนะนำให้รู้จักกับผลิตภัณฑ์เพื่อการหุงต้มที่ชื่อว่า Zega Digital หม้อต้มที่อ้างว่าใช้งานง่าย สะดวก ทันสมัย สั่งงานผ่านแอปพลิเคชันได้ แถมยังช่วยคุณประหยัดพลังงาน เพราะคุณสามารถปิดแก๊สก่อนอาหารสุกแล้วความร้อนในหม้อที่มีผนังสองชั้นทำหน้าที่ให้ความร้อนต่อไป         มันดีงามเสียจน CHOICE ต้องซื้อมาทดลองใช้ หลังจากทำตามคำแนะนำในคู่มือของบริษัท ทีมงานพบว่าทั้งไก่และผักยังไม่เข้าข่าย “สุก” และซอสก็ไม่เหนียวข้นอย่างที่ควรจะเป็น แต่ที่อันตรายอย่างยิ่งคือเขาพบว่าบริเวณตรงกลางของเนื้อสัตว์มีอุณหภูมิเพียง 66 องศาเซลเซียส (ซึ่งควรเป็น 75 องศา หรือสูงกว่า เพื่อความปลอดภัยจากจุลินทรีย์) และพวกเขายังต้องนำหม้อดังกล่าวไปตั้งเตาต่ออีก 90 นาที จึงจะได้อาหารสุกพร้อมรับประทานได้อย่างปลอดภัย ... ดูแล้วไม่น่าจะประหยัดทั้งเงิน ทั้งพลังงาน         ด้านบริษัทผู้ผลิตออกมาตอบโต้ว่าน่าจะเป็นเพราะทีมงานยังไม่คุ้นเคยกับการใช้ผลิตภัณฑ์สุดไฮเทคของเขามากกว่า และบริษัทได้ส่งคำแนะนำในการทำเมนูดังกล่าวให้กับองค์กรผู้บริโภคแล้ว         มาที่ผลิตภัณฑ์เงินกู้ซึ่งมีอยู่มากมายในออสเตรเลียกันบ้าง (คนออสซี่ก็เป็นหนี้มีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับห้าของโลก) ปีนี้ CHOICE ยินดีมอบรางวัลเจ้าหนี้ยอดแย่ให้แก่ VetPay บริการเงินกู้เพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลสัตว์เลี้ยง        มองเผินๆ บริการนี้คือความหวังของบรรดา “ทาส” ที่ไม่ได้ซื้อประกันสุขภาพให้กับสัตว์เลี้ยงของตัวเอง เพราะเบี้ยประกันแสนแพง แถมยังมีเงื่อนไขข้อยกเว้นอีกมากมาย โฆษณาของ VetPay กล่อมบรรดาทาสว่าพวกเขาจะมีโอกาสนำน้องแมว น้องหมา หรือน้องอื่นๆ ไปรับการรักษาแบบผ่อนส่งได้ ด้วยการจ่ายค่ารักษาให้กับคลินิกเบื้องต้นเพียงร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือก็ผ่อนชำระเป็นรายปักษ์กับบริษัทด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.4 พร้อมกับ “ค่าธรรมเนียมการผ่อนจ่าย” ทุกงวด งวดละ 2.5 เหรียญ ซึ่งลูกหนี้จะทราบข้อมูลเหล่านี้หลังจากได้สมัครเป็นสมาชิกรายปี และจ่ายค่าสมาชิกในอัตรา 49 เหรียญ (ประมาณ 1,200 บาท) แล้ว         เว็บไซต์ของบริษัทเขียนเอาไว้หล่อๆ ทำนองว่า เราเข้าใจคนรักสัตว์เป็นอย่างดี เราเป็นพันธมิตรกับคลินิกสัตวแพทย์ในการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ ช่วยให้เจ้าของตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมโดยมีข้อมูลประกอบ และยินดีเป็นตัวกลางระหว่างคลินิกกับเจ้าของสัตว์         แต่ในทางปฏิบัติแล้วดูเหมือนบริษัทกำลังหาประโยชน์จากเจ้าของสัตว์เสียมากกว่า  VetPay เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เงินกู้ที่แพงที่สุดที่ CHOICE เคยพบมาเลยทีเดียว         รางวัลสุดท้ายของปีนี้ CHOICE ขอมอบให้กับร้านดอกไม้ออนไลน์ Bloomex บริษัทสัญชาติแคนาดาที่มีสาขาในอเมริกาและออสเตรเลียด้วย บริษัทที่อ้างว่าได้สร้างรอยยิ้มให้ผู้คนไม่ต่ำกว่า 3.8 ล้านคนทั่วโลกมาแล้ว กลับทำให้คนออสซี่ได้แต่ยิ้มอ่อน        ปัญหานี้เรื้อรังยาวนานจนมีการตั้งกลุ่มใน facebook เพื่อการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวความผิดหวังจากบริการส่งดอกไม้และกระเช้าของขวัญดังกล่าวกันอย่างจริงจัง         มีเสียงเรียกร้องจากผู้บริโภคให้บริษัท “หยุดรับออเดอร์” หากไม่พร้อมหรือไม่มีความมั่นใจว่าสามารถจัดส่งดอกไม้ได้ตามกำหนดเวลา เพราะการรับออเดอร์เกินตัวทำให้เกิดความผิดหวังกันทั่วหน้า กรณีที่อุกอาจที่สุดคือกรณีของผู้หญิงคนหนึ่งที่สั่งซื้อช่อดอกไม้ “ขนาดใหญ่พิเศษ” หกช่อ ในราคา 325 เหรียญ (ประมาณ 7,700 บาท) ให้นำไปส่งในงานพิธีศพของคนรู้จัก ผ่านไปหนึ่งวันหลังงานจบ เธอเพิ่งจะได้รับดอกไม้ที่หน้าประตูบ้านในเวลาตีสอง และสิ่งที่เธอได้คือดอกเดซี่ช่อเดียว ในสภาพเหี่ยวสุดๆ         เมื่อโทรไปคอมเพลนและขอรับเงินคืน (เธอพยายามอยู่สองวันกว่าจะมีคนรับสาย) ก็ถูกพนักงานวางหูใส่ บริการอะไรกันนี่ ... ทั้งช้าและเฉา ไม่เข้ากับสโลแกน “เฟรช ฟาสต์ แอนด์แฟร์” ของบริษัทเอาเสียเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 จงทำให้ ‘เวลา’ อยู่ข้างเรา

        ปัจจัย 3 อย่างที่มีผลต่อการสะสมความมั่งคั่งให้งอกเงย ได้แก่ เงินต้น อัตราผลตอบแทน และเวลา หมายความว่าถ้าใครมีเงินตั้งต้นสำหรับลงทุนมากกว่า สร้างอัตราผลตอบแทนได้มากกว่า และมีเวลามากกว่า ก็จะสร้างความมั่งคั่งได้มากกว่า         มักจะพูดกันว่าแต่ละคนมีเงินตั้งต้นไม่เท่ากันตามแต่ต้นทุนชีวิต ส่วนอัตราผลตอบแทนถ้าอิงจากผลตอบแทนตามดัชนี set 50 ก็คงอยู่ราวๆ 8-10 เปอร์เซ็นต์ทบต้น นี่ไม่ได้พูดถึงการลงทุนชนิดหวือหวานะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พอจะทำให้คนที่มีเงินตั้งต้นไม่มากแต่สามารถสร้างความมั่งคั่งได้แบบไม่น้อยหน้านักก็คือ ‘เวลา’         วอร์เรน บัฟเฟตต์ (คนนี้อีกแล้ว) นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าสร้างผลตอบแทนต่อปีจากการลงทุนที่ 22 เปอร์เซ็นต์ทบต้น ตอนปี 2020 มีความมั่งคั่งสุทธิ 84,500 ล้านดอลลาร์ (พระเจ้าช่วย!!!) อันเป็นผลลัพธ์จากการที่เขาเริ่มลงทุนตั้งแต่อายุ 10 ขวบ (พระเจ้าช่วย!!!)        แค่บัฟเฟตต์ลงทุนช้ากว่านี้ไป 15 ปีหรือก็คือเริ่มลงทุนตอนอายุ 25 ปีซึ่งเป็นวัยเริ่มทำงาน ความร่ำรวยของเขาจะไม่สูงขนาดนี้ ตัวเลขจะต่างอย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว         เขาถึงพูดกันว่ายิ่งเริ่มต้นเร็วก็ยิ่งได้เปรียบไงล่ะ         เอาล่ะ ใช่ว่าเด็กอายุ 10 ทุกคนจะหมกมุ่นกับการลงทุนเหมือนบัฟเฟตต์ซะทีไหน เว้นเสียแต่พ่อแม่จะเก็บออมและลงทุนเตรียมไว้ให้ ซึ่งก็คงมีไม่มากนักหรอก แต่ท่านคุณเริ่มจัดการการเงินส่วนบุคคลตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน คุณก็มีโอกาสสูงที่จะเกษียณแบบรวยๆ         หมายความว่าตั้งแต่โรงเรียนถึงอุดมศึกษาจะต้องเตรียมองค์ความรู้ด้านการเงินส่วนบุคคลไว้ให้เนิ่นๆ         ปัญหาไม่ใช่แค่ว่าสถาบันการศึกษาไทยไม่สอนเรื่องนี้ แต่ยังอยู่ที่วินัยในการออมของแต่ละคนด้วย เพราะต่อให้มีความรู้ ถ้าไม่ลงมือทำก็ไร้ประโยชน์         มันอาจจำเป็นที่ต้องมีกลไกของรัฐเข้ามาช่วย อันที่จริงก็มีแล้วอย่างกองทุนการออมแห่งชาติสำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการและไม่ได้อยู่ในกองทุนประกันสังคม แต่มันก็ยังไม่ครอบคลุมและจำนวนเงินที่จะได้รับหลังเกษียณก็ไม่มากมาย         เคยมีพรรคการเมืองเสนอนโยบาย ‘หวยบำเหน็จ’ คือไหนๆ ชาวบ้านก็ซื้อหวยอยู่แล้ว เงินที่ซื้อแทนที่จะซื้อทิ้งๆ ก็เก็บเป็นเงินออมไปเลย เป็นนโยบายที่น่าสนใจ         ประเด็นคือนอกจากประชาชนจะเก็บออม ลงทุนด้วยตนเองแล้ว ถ้ารัฐสร้างกลไกการออมที่หลากหลายและสามารถรองรับคนได้ทุกกลุ่มตั้งแต่เริ่มทำงาน มันจะยิ่งช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงินของประชาชนได้มาก         เมื่อรวมกับสวัสดิการอื่นๆ ที่ดีมีคุณภาพ คนไทยชีวิตดีแน่นอน...ว่าแล้วก็ตื่นจากฝัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 เรื่องยุ่งๆ ของซิลิโคนในครีมนวดผม

        สืบเนื่องจากข่าวเรื่อง ผลสำรวจฉลาก "ครีมนวดผม" ของนิตยสารฉลาดซื้อ พบว่าเจอสารซิลิโคนทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพเส้นผม เช่น ผมร่วง ได้นั้น (ติดตามรายละเอียดได้จากนิตยสารฉลาดซื้อฉบับที่ 257) ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางตามกฎหมายเรื่องเครื่องสำอางนั้น ได้ออกหนังสือชี้แจงว่า         “ผลิตภัณฑ์ครีมนวดผมมักใส่สารในกลุ่มซิลิโคน เช่น สารไดเมทิโคน (Dimethicone) เพื่อคุณสมบัติช่วยเคลือบเส้นผมทำให้เส้นผมนุ่มลื่น ไม่พันกัน โดยสารในกลุ่มซิลิโคนนี้ ประเทศไทยอนุญาตให้ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางได้โดยมิได้กำหนดเงื่อนไขและปริมาณการใช้เช่นเดียวกับกฎระเบียบสากลด้านเครื่องสำอาง และเนื่องจากครีมนวดผมมีน้ำเป็นส่วนผสม ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตง่าย จึงมีความจำเป็นต้องใส่สารกันเสีย โดยสามารถใช้สารกันเสียในครีมนวดผมมากกว่า 1 ชนิดได้อย่างปลอดภัยหากใช้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด...”          ดังนั้นทางนิตยสารฉลาดซื้อจึงขอนำเสนอเรื่องราวของ ซิลิโคน ซึ่งเป็นสารเคมีที่ได้รับการเฝ้าระวังเพราะถูกใช้ในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เพื่อประกอบเป็นความรู้เพิ่มเติมให้กับผู้บริโภค โดย ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระได้ให้ข้อมูลว่า EU ได้กล่าวถึงการเตือนให้ระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบเป็น  silicone ชนิด cyclopentasiloxane (D5) ซึ่งมักมีการเจือปนที่ไม่ต้องการของ cyclotetrasiloxane (D4) (Cyclotetrasiloxane (D4) เป็นพิษต่อระบบการสืบพันธุ์ของมนุษย์และสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยมีผลกระทบระยะยาวที่คาดเดาไม่ได้)         Wikipedia ให้ข้อมูลพร้อมเอกสารอ้างอิงว่า สารประกอบซิลิโคนโดยเฉพาะ cyclic siloxanes D4 และ D5 เป็นสารก่อมลพิษในอากาศและในน้ำ และมีผลเสียต่อสุขภาพในสัตว์ทดลอง ใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลต่างๆ The European Chemicals Agency (สำนักงานเคมีภัณฑ์แห่งยุโรป) พบว่า "D4 เป็นสารที่ตกค้างยาวนาน สะสมทางชีวภาพและเป็นพิษ (PBT หรือ persistent, bioaccumulative and toxic) และ D5 เป็นสารที่ตกค้างยาวนานมากและสะสมในสิ่งมีชีวิตมาก (vPvB หรือ very bioaccumulative)"         ในปี 2015 คณะกรรมการวิทยาศาสตร์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค (SCCS) ของ EU  ระบุว่าระดับของ Cyclotetrasiloxane (D4) ที่เป็นสิ่งเจือปนของ Cyclopentasiloxane (D5) ควรถูกทำให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าต้องการใช้ D5 ในเครื่องสำอาง จากนั้นเมื่อต้นปี 2017 คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้เสนอให้ห้ามใช้ Cyclotetrasiloxane (D4) และ Cyclopentasiloxane (D5) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบบล้างออก โดยมีสารอย่างใดอย่างหนึ่ง 0.1% ขึ้นไป การห้ามนี้เมื่อเผยแพร่อย่างเป็นทางการจะครอบคลุมผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แชมพู ครีมนวด เจลอาบน้ำ ฯลฯ         ผู้ผลิตสินค้าจึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า Cyclopentasiloxane (D5) ที่ใช้ในการผลิตสินค้ามีความบริสุทธิ์สูงสุด (99%) และไม่มี Cyclotetrasiloxane (D4) พร้อมทั้งวางแผนที่จะปรับสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบบล้างออกด้วย Cyclopentasiloxane โดยลดปริมาณลงถึง 0.1% หรือโดยการแทนที่ด้วยซิลิโคนชนิดอื่น         รายงานฉบับสุดท้ายเรื่อง  the Opinion on decamethylcyclopentasiloxane (cyclopentasiloxane, D5) in cosmetic products ของ EU (รับรองในการประชุมเมื่อ 25 มีนาคม 2015) ให้ข้อมูลว่า SCCS (Scientific Committee on Consumer Safety) พิจารณาว่า การใช้ Cyclopentasiloxane (D5) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีความปลอดภัยในระดับความเข้มข้นที่รายงานได้ศึกษา ยกเว้นการใช้ในสเปรย์แต่งผมและผลิตภัณฑ์สเปรย์กันแดด         โดยแท้จริงแล้วการใช้ในสเปรย์แต่งผมและผลิตภัณฑ์สเปรย์กันแดดที่ความเข้มข้นสูงสุดที่ผู้ผลิตกำหนดในวิธีใช้และตามสมมติฐานที่ SCCS มีอยู่สรุปได้ว่า การสัมผัสกับ D5 อาจทำให้ความเข้มข้นของอากาศสูงกว่าค่าที่ SCCS พิจารณาว่า D5 อาจเป็นพิษเฉพาะที่ในตำแหน่งที่ถูกพ่น การสัมผัสกับ D5 ที่มาจากผลิตภัณฑ์สเปรย์สำหรับการจัดแต่งผมยังทำให้เกิดการสัมผัสรวมในระดับสูงซึ่งอาจนำไปสู่ความเข้มข้นในอากาศที่สูงกว่าค่าที่ SCCS พิจารณาว่าปลอดภัย ความคิดเห็นนี้ไม่ครอบคลุมถึงการใช้ Cyclopentasiloxane (D5) ในผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก             Cyclopentasiloxane (D5) อาจมีการปนเปื้อนของ Cyclotetrasiloxane (D4) ซึ่งในสหภาพยุโรปจัดว่า เป็นพิษต่อการสืบพันธุ์ ดังนั้นระดับการปนเปื้อนของ Cyclotetrasiloxane (D4) ใน Cyclopentasiloxane (D5) ควรต่ำที่สุด SCCS ทราบดีว่ามีการเสนอข้อจำกัดเกี่ยวกับ D4 และ D5 ในผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (personal care) ภายใต้ระเบียบการเข้าถึงอันเนื่องมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อม         ประเด็นคือ เครื่องสำอางในไทยยี่ห้อใดบ้างที่มีองค์ประกอบเป็น D5 และมี D4 (ปนเปื้อน) น่าจะเป็นสิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแล หรือนิตยสารฉลาดซื้อน่าจะได้มีการเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ค่าเฉลี่ยกับความมั่นคงด้านพลังงานและของชีวิต

        เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้จัดเสวนาเรื่อง “รัฐผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟฟ้าแพง ขัดรัฐธรรมนูญ?” (อย่าลืมอ่านเครื่องหมายคำถามด้วยนะ) โดยผมเองได้มีโอกาสกล่าวเปิดการเสวนาในครั้งนั้น จึงขอถือโอกาสนำมาเล่าให้ชาว “ฉลาดซื้อ” ฟังในบางประเด็นดังต่อไปนี้ครับ         เอาเรื่องรัฐธรรมนูญก่อนเลยครับ         รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 56 วรรคสอง กำหนดว่า “โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใด ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้”นอกจากนี้ ในมาตรา 72 วรรคห้า กำหนดว่า “ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า รวมทั้งพัฒนาและสนับสนุนให้มีการผลิตและการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน” เป็นที่น่าสังเกตว่า คำว่า “ความมั่นคงด้านพลังงาน” เป็นคำที่เพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2560 สองฉบับก่อนหน้านี้คือปี 2540 และ 2550 ยังไม่มีครับ         เท่าที่ผมติดตามความหมายของ “ความมั่นคงด้านพลังงาน” ค่อยๆ พัฒนามาอย่างต่อเนื่องโดยเริ่มต้นอย่างแคบๆ เช่น สามารถมีใช้ตลอดเวลา ราคาไม่แพง หากเป็นกรณีไฟฟ้าก็ต้องให้อุปสงค์กับอุปทานต้องเท่ากันตลอดเวลา เป็นต้น แต่ในระยะต่อมาความหมายเริ่มกว้างขึ้น เช่น มีมิติของความยั่งยืน ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำและมีความเป็นธรรม         ความจริงแล้วโลกรู้จัก “ความไม่มั่นคงด้านพลังงาน” ก่อนที่รู้จัก “ความมั่นคงด้านพลังงาน” เสียด้วยซ้ำ โดยเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่ประเทศกลุ่มโอเปค (OPEC) ขึ้นราคาน้ำมันดิบ 4 เท่าตัวในปี 2516  Evan Hillebrand ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (University of Kentucky Patterson School สหรัฐอเมริกา) ได้ให้ความหมายที่ลึกซึ้งมากว่า “ความมั่นคงทางพลังงานไม่ใช่แค่เรื่องความสำคัญของพลังงาน แต่เกี่ยวข้องกับว่าพลังงานมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติอย่างไร” ย้ำนะครับว่า มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติด้วย เหตุการณ์ประเทศรัสเซียถล่มโรงไฟฟ้าในประเทศยูเครนคงจะเป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ได้อย่างดี มีคนสรุปว่า “ในช่วงที่อุณหภูมิหนาวจัดการทำลายโรงไฟฟ้าคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” มันสาหัสกว่าการทำลายความมั่นคงของชาติเสียอีก         ความมั่นคงด้านพลังงานไม่ใช่แค่หมายถึง (1) การมีพลังงานใช้ตลอดเวลา (2) ในราคาที่สามารถจ่ายได้และมีเสถียรภาพ แต่ยังคงหมายถึง (3) การพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย (4) มีการปล่อยคาร์บอนและมลพิษน้อย และ (5) มีความเป็นธรรม มีธรรมาภิบาลในการกำกับดูแล จากความหมายของศาสตราจารย์ Evan Hillebrand และความหมาย 5 ข้อข้างต้นพอสรุปได้ว่า “ประเทศใดไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีธรรมาภิบาล ประเทศนั้นไม่มีความมั่นคง” และน่าจะเป็นจริงกับเรื่องทั่วๆ ไปด้วย         ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 คนไทยจ่ายค่าไฟฟ้าทั้งประเทศคิดเป็นมูลค่า 3.65 แสนล้านบาท ซึ่งตอนนั้นค่าไฟฟ้ายังไม่ได้ขึ้นมากนัก ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี ค่าเอฟทีได้ขึ้นจาก 24.77 เป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย (จำได้ใช่ไหมครับ)  ดังนั้นพอจะประมาณได้ว่า ค่าไฟฟ้าปี 2565 ทั้งปีน่าจะประมาณ 7.4-8.0 แสนล้านบาทซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่มีกิจการไฟฟ้า         คราวนี้มาถึงมาตรา 56 ที่พอสรุปให้กระชับได้ว่า การทำให้รัฐเป็นเจ้าของสาธารณูปโภค(ระบบการผลิตไฟฟ้า)น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้ แต่เนื่องจากระบบการผลิตไฟฟ้าประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนของโรงไฟฟ้าซึ่งนับถึงเดือนสิงหาคม 2565 มีจำนวน 53,030 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของรัฐหรือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ร้อยละ 32 ที่เหลือร้อยละ 68 ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนไปแล้ว ส่วนของโครงข่ายสายส่งเป็นของ กฟผ.ทั้ง 100%  และส่วนฝ่ายจัดจำหน่ายซึ่งเป็นของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงรวมกันเป็น 100%  การคิดความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของระบบไฟฟ้าว่าเป็นของรัฐหรือของเอกชนนั้น ควรจะคิดกันอย่างไร จะคิดรวมทั้งระบบทั้ง 3 ส่วน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้กรรมสิทธิ์ของรัฐก็น่าจะไม่น้อยกว่าร้อยละ 51    หรือจะคิดทีละส่วนๆ เพราะถือว่าหากส่วนใดส่วนหนึ่งไม่มีความมั่นคงก็ส่งผลให้ทั้งระบบก็ไม่มีความมั่นคงไปด้วย         ภาพบนเป็นภาพคนเอาเท้าข้างหนึ่งแช่น้ำเย็นอุณหภูมิลบ 60 องศาเซลเซียสซึ่งเย็นกว่าน้ำแข็ง เท้าอีกข้างหนึ่งแช่ในน้ำร้อนบวก 60 องศาเซลเซียส น่าจะพอลวกไข่ได้ เมื่อเป็นดังนี้ หากเราคิดตามหลักการหาค่าเฉลี่ยทางคณิตศาสตร์หรือทางสถิติ เราก็จะได้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของคนคนนี้ก็ยังเท่าเดิม คือ 37 องศาเซลเซียส  ทั้งๆที่ ในความเป็นจริงแล้ว เท้าทั้งสองข้างอาจจะเปื่อยพองไปแล้วก็ได้         สิ่งที่ผมยกมาเปรียบเทียบ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะครับ แต่มีคนเขียนเป็นหนังสือชื่อ How to lie with Statistics ขายดีด้วยทั่วโลก และมีคนแปลเป็นภาษาไทยว่า “วิธีปั่นหัวคนด้วยสถิติ”  ผมอธิบายเพิ่มเติมดังรูป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 Growth Mindset กับคนจน (2)

        มีหนังสือเล่มหนึ่งที่อยากแนะนำให้อ่านกัน ‘The Broken Ladder’ หรือชื่อไทยว่า ‘เมื่อบันไดหัก มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา’ โดย Keith Payne ของสำนักพิมพ์ Bookscape มันพยายามทำความเข้าใจว่าทำไม๊ทำไมคนจนถึงชอบทำตัวที่ดูยังไง๊ยังไงก็ไม่เป็นคุณกับชีวิตตัวเองเลย         ถ้าเราเอาเรื่อง Growth Mindset มาจับ มันก็ง่ายดีที่เราจะสรุปว่าคนจนไม่มี Growth Mindset เป็นพวก Fixed Mindset ไม่ยอมเรียนรู้ ไม่ยอมพัฒนาตัวเอง เอาแต่รอความช่วยเหลือ แถมที่ดูน่าหงุดหงิดคือทั้งที่เงินก็ไม่ค่อยจะมียังทำตัวแย่ๆ อย่างสูบบุหรี่ กินเหล้า ไม่เรียนหนังสือ แถมมีลูกเร็วอีกต่างหาก         Keith Payne เรียกว่า พฤติกรรมบั่นทอน สิ่งนี้แหละนำไปสู่ข้อสรุปอันหละหลวมที่ว่าคนจนก็เพราะทำตัวเอง         Keith Payne ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมบั่นทอนน่ะเป็นเรื่องจริง เห็นๆ กันอยู่ คนจนเองก็มีส่วนทำตัวเอง แต่ๆๆ ...“ความเหลื่อมล้ำส่งผลต่อพฤติกรรมของเรา และความแตกต่างของพฤติกรรมแต่ละคนก็ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นได้”         ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำกว้างเป็นกาแล็กซี่ทางช้างเผือกแบบสังคมไทย มันส่งผลต่อพฤติกรรมของคนจนอย่างมีนัยสำคัญ มันคือผลของวิวัฒนาการและจิตใจ         คนจนไม่รู้หรอกว่าพรุ่งนี้จะเป็นยังไง จะมีกินมั้ย จะมีค่านม ค่าเทอมให้ลูกหรือเปล่า ต้องดิ้นรนทุกทางให้มีวันพรุ่งนี้ ความไม่มั่นคงนี้เองทำให้พวกเขาต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเฉพาะหน้ามากกว่าอนาคตที่ยังลูกผีลูกคน         คนจนมักถือคติว่า ‘ใช้ชีวิตให้เต็มที่ อีกไม่นานก็ตายแล้ว’ และ ‘ไม่มีอะไรจะเสีย’ เป็นคำที่ Keith Payne ใช้ ก็เพราะชีวิตพวกเขาเป็นเช่นนั้น         การพัฒนาตนเองน่ะเหรอ? การเรียนรู้น่ะเหรอ? การยอมรับความผิดพลาดและใช้เป็นบทเรียนน่ะเหรอ? มันต้องใช้ทั้งเวลาและเงินซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของพวกเขาเชียวนะ         การมี Growth Mindset น่าจะดีแหละ แต่บอกว่าคนจนเพราะไม่มี Growth Mindset ก็คงไม่ใช่เสียทีเดียว         Keith Payne ย้ำตลอดทั้งเล่มว่าความเหลื่อมล้ำส่งผลต่อพฤติกรรม ความคิด ความเชื่อของคนเรา คนที่อยู่บนบันไดสถานะต่างกัน มีมุมมองต่อโลกและชีวิตต่างกัน         บางที Growth Mindset ควรต้องมีองค์ประกอบว่าด้วยความเข้าใจและการอยู่ร่วมกับความหลากหลายของผู้คนบนโลกทั้งด้านสถานะทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความคิด พฤติกรรม ฯลฯ รวมถึงการมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แทนที่จะเอาแต่เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 อากาศดีต้องมีได้

        มลภาวะทางอากาศเป็นอีกปัญหาระดับโลกที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน ทุกวันนี้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะอากาศที่ไม่สะอาด ไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคนต่อปี ในขณะที่ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5 หรือฝุ่นจิ๋ว) จากไอเสียรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม ควันไฟจากการหุงต้มหรือการให้ความอบอุ่น รวมถึงพื้นที่ทะเลทรายที่เพิ่มขึ้นและไฟป่าที่รุนแรงขึ้นเพราะภาวะโลกร้อน ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มปริมาณขึ้น         เดือนกันยายนปี 2564 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศปรับเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ ลดเพดานค่าฝุ่นจิ๋วที่ยอมรับได้ลงมาที่ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง (จากเดิม 25 ไมโครกรัม)  การตรวจวัดโดย IQAir  บริษัทสัญชาติสวิสที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฟอกอากาศ พบว่ามีเพียง 222  เมืองจาก 6,475 เมือง ใน 117 ประเทศเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์องค์การอนามัยโลก แต่มีถึง 93 ประเทศที่มีอากาศที่เลวร้ายเกินเกณฑ์ถึงสิบเท่า           จากรายงานดังกล่าว ในบรรดา 50 เมืองที่อากาศเลวร้ายที่สุดในโลกในปี 2564 มีถึง 46 เมืองที่อยู่ในภูมิภาคอินเดียกลางและอินเดียใต้ โดยมีบังคลาเทศรั้งตำแหน่งประเทศที่อากาศเป็นพิษที่สุดในโลก ด้วยค่าฝุ่นจิ๋ว 76.9 ไมโครกรัมต่อหนึ่งลูกบาศก์เมตร ประเทศอื่นในอันดับต้นๆ ได้แก่ แชด ปากีสถาน ทาจิกิสถาน อินเดีย โอมาน คีร์กีสถาน บาห์เรน อิรัก และเนปาล         ส่วนประเทศที่อากาศสะอาดที่สุดคือ นิวคาลิโดเนีย ซึ่งเป็นเกาะในทะเลแปซิฟิกใต้ (ค่าฝุ่นจิ๋ว 3.8 ไมโครกรัมต่อหนึ่งลูกบาศก์เมตร) ตามด้วยเวอร์จินไอแลนด์ เปอโตริโก เคปเวิร์ด ซาบา ฟินแลนด์ เกรนาดา บาฮามาส์ ออสเตรีย และเอสโตเนีย         อย่างไรก็ตาม บริษัท IQAir บอกว่าปัจจุบันเขายังไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศครอบคลุมทั่วทุกประเทศ จึงอาจมีเซอร์ไพรส์เกิดขึ้นได้ทุกปี เช่น ก่อนปี 2564 ไม่เคยมีชื่อประเทศแชดปรากฏ แต่เมื่อมีสถานีตรวจวัด ประเทศนี้คว้าอันดับประเทศที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดอันดับสองของโลกไปเลย          เมืองหรือประเทศที่ประสบปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศ มีแผนลดมลพิษหรือควบคุมมาตรฐานอากาศกันอย่างไร เราลองไปสำรวจกัน         เริ่มจากฟินแลนด์ซึ่งเป็นแชมป์โลกด้านอากาศสะอาด ก็ยังมีค่าฝุ่นจิ๋วเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ (ค่าฝุ่นจิ๋วของฟินแลนด์คือ 5.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และในเขตตัวเมืองเฮลซิงกิก็ยังคงมีไนโตรเจนไดออกไซด์เกินมาตรฐานถึงสามเท่า ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคหัวใจ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจอันมีสาเหตุมาจากมลภาวะปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย      เทศบาลเมืองร่วมกับมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ องค์กรกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาของเมือง ได้ริเริ่มโครงการ HOPE (Healthy Outdoor Premises for Everyone) ที่ให้ประชากรมีส่วนร่วมติดตามคุณภาพอากาศในพื้นที่กลางแจ้ง โดยอาสาสมัครอย่างน้อย 150 คนจะพกอุปกรณ์ตรวจวัดติดตัวไปด้วยตามเส้นทางที่ใช้ประจำวัน มหาวิทยาลัยเชื่อว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะเก็บข้อมูลได้แม่นยำที่สุดในโลก         ส่วนประเทศที่คุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในยุโรปอย่างโปแลนด์ ซึ่งมีถึง 36 เมืองที่ติดอันดับ “เมืองอากาศแย่ที่สุด 50 เมืองในยุโรป” และมีประชากรเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะมลพิษทางอากาศมากถึง 47,000 คนทุกปี ก็กำลังรณรงค์อย่างจริงจัง รวมถึงออกมาตรการจำกัดการใช้ถ่านหินและการใช้ฟืนหุงต้มหรือสร้างความอบอุ่น และมีแผนเพิ่มการติดตั้งเซนเซอร์ให้ทั่วถึงเพื่อให้เอื้อต่อการกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายด้วย          โปแลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่มีการทำเหมืองถ่านหินมากที่สุดในยุโรปรองจากเยอรมนี ยังพึ่งพาถ่านหินเป็นหลักในอุตสาหกรรมต่างๆ ในขณะที่บ้านเรือนทั่วไปก็ยังใช้เตาผิงแบบดั้งเดิมเพื่อให้ความอบอุ่นด้วย         ในภาพรวมสหภาพยุโรปซึ่งมีประชากรประมาณ 450 ล้านคน กำลังผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการจำกัดปริมาณฝุ่นจิ๋วภายในปี 2573 และตั้งเป้าว่าภายในปี 2593 จะต้องไม่มีสารก่อมลพิษในอากาศเลย  เป้าหมายนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ผู้คนต้องกลับไปพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลกันมากขึ้น         ข้ามทวีปไปอเมริกาใต้เพื่อดูความพยายามของโบโกตา เมืองหลวงของโคลัมเบียกันบ้างพิษส่วนใหญ่ของโบโกตาซึ่งมีประชากร 500,000 คน มาจากการเดินทางขนส่ง (ที่เหลือเป็นควันจากไฟป่าในประเทศข้างเคียง)         คลอเดีย โลเปซ นายกเทศมนตรีของโบโกตาประกาศตั้งเป้าว่าโบโกตาจะลดมลภาวะลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 10 ภายในปี 2567 โดยมีแผนเปลี่ยนรถเมล์ทั้งหมดให้เป็นรถพลังงานไฟฟ้า 100% เพื่อให้ระบบขนส่งสาธารณะของเมืองนี้เป็นระบบที่สะอาดที่สุดในโลก         เมื่อต้นปี 2565 โบโกตามีรถเมล์ไฟฟ้าให้บริการรวม 655 คันในหกเส้นทาง และจากคำนวณพบว่าการมีรถเมล์จำนวนดังกล่าววิ่งรับส่งผู้โดยสารในเมืองสามารถทำให้อากาศสะอาดขึ้นเทียบได้กับการปลูกต้นไม้ 148,000 ต้น ทางเมืองจึงมีแผนจะจัดหารถดังกล่าวมาให้บริการเพิ่มอีก 830 คันภายในสิ้นปี และโบโกตายังประกาศจะเป็นเมืองที่มีรถเมล์พลังงานไฟฟ้าให้บริการมากที่สุดในโลกรองจากจีนด้วย         มาที่กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ โซลเผชิญกับมลภาวะที่เข้าขั้นวิกฤตเช่นกัน งานวิจัยคาดการณ์ว่าหากไม่มีการลงมือแก้ไขโดยด่วน ประชากรกว่า 10 ล้านคนในมหานครแห่งนี้จะมีอายุสั้นลง 1.7 ปี        นอกจากไอเสียจากรถยนต์แล้ว กรุงโซลและอีกหลายพื้นที่ในเกาหลีใต้ยังได้รับผลกระทบจาก “ฝุ่นเหลือง” ที่เคยเชื่อกันว่าถูกพัดพามาจากทะเลทรายในจีนและมองโกเลีย แต่ต่อมีการศึกษาที่ยืนยันว่ามีฝุ่นเหลืองจากเขตอุตสาหกรรมของเกาหลีมากกว่าที่พัดมาจากประเทศจีนด้วยซ้ำ ที่สำคัญเกาหลีใต้ยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 61 โรง ที่ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าสนองร้อยละ 52.5 ของความต้องการไฟฟ้าในประเทศ         แผนรับมือของเกาหลีใต้เริ่มจากการประกาศเพิ่มจำนวนสารอันตรายควบคุมในอากาศเป็น 32 ชนิด (จาก 18 ชนิดในกฎหมายฉบับก่อนหน้า) เมื่อปี 2563 นอกจากนี้ยังมีกฎหมายห้ามรถเครื่องยนต์ดีเซลเข้ามาวิ่งในเขตเมือง ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป และรัฐบาลเกาหลีใต้ยังได้ร่วมมือกับรัฐบาลจีนในการทำฝนเทียมเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นเหลือง และร่วมมือกับเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์วัดคุณภาพอากาศ ที่สามารถซอกแซกเข้าไป “ตรวจ”​ โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก โดรนตรวจการณ์พื้นที่ชายฝั่ง รวมถึงใช้ดาวเทียมของตัวเองในการตรวจวัดคุณภาพอากาศให้บ่อยขึ้น และตรวจวัดปริมาณสารก่อมลพิษถึง 7 ชนิด        กรุงเทพมหานครที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของประชากรไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนของเรานั้น ตามแผน  “Green Bangkok 2030” ที่ประกาศไว้เมื่อปี 2562 เราได้ให้คำมั่นไว้ว่ากรุงเทพฯ จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประชากร จาก 7.30 ตารางเมตรต่อคน เป็น 10 ตารางเมตรต่อคนภายในปี 2573 และพื้นที่เหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงได้จากที่อยู่อาศัยในระยะไม่เกิน 400 เมตร หรือใช้เวลาเดินไม่เกิน 5 นาทีด้วย แผนนี้เน้นไปที่ “เครื่องฟอกอากาศ” เป็นหลัก ยังต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะมีกฎระเบียบหรือนโยบายใหม่ๆ ออกมาเพื่อจัดการกับต้นตอของมลพิษในเมือง    https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-03-22/every-country-is-flunking-who-air-quality-standard-report?leadSource=uverify%20wallhttps://thecitizen.plus/node/51769https://thl.fi/en/web/thlfi-en/-/the-tightened-recommendations-for-air-quality-by-who-pose-new-challenges-even-to-finlandhttps://innovationorigins.com/en/selected/helsinki-citizens-help-measuring-air-pollution/https://www.unep.org/news-and-stories/story/five-cities-tackling-air-pollutionhttps://bogota.gov.co/en/international/2023-bogota-will-have-biggest-electric-fleet-after-chinahttps://www.koreatimes.co.kr/www/world/2022/11/501_338651.htmlhttps://www.privacyshield.gov/article?id=Korea-Air-Pollution-Control

อ่านเพิ่มเติม >