ฉบับที่ 242 เงินเฟ้อ ปลวกที่กัดกินมูลค่าเงินเป็นอาหาร

        อันที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ควรต้องพูดถึงตั้งแต่แรก แต่ก็หลงลืมไปเสียได้ ขออภัยๆ         เราได้ยินคำนี้บ่อยมากจากข่าวเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อๆๆ เป็นศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ที่เหมือนจะเข้าใจ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า แล้วถ้าแปลกันแบบเป็นวิชาการสักหน่อย เงินเฟ้อคือภาวะเศรษฐกิจที่ระดับราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง         หรือมีเงินอยู่ในระบบมากเกินไป ให้จินตนาการว่าเงินเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง สินค้าที่มีอยู่ในตลาดปริมาณมากๆ ราคาของสินค้านั้นก็จะตกลง ในที่นี้คือมูลค่าของเงินจะตกลง เมื่อมูลค่าของเงินตกลงทำให้ซื้อของได้น้อยลงนั่นเอง         ยังฟังดูยากไปหรือเปล่า? ให้ง่ายขึ้นอีกก็ได้ว่า เงินเฟ้อคือของกิน ของใช้ หรือค่าใช้บริการต่างๆ มีราคาแพงขึ้นนั่นเอง หรือจะเรียกว่ามูลค่าของเงินที่เรามีอยู่ลดลง         เคยได้ยินข่าวหรือเห็นภาพประเทศที่เงินเฟ้อสูงเป็นร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ใช่มั้ย คนต้องหอบเงินหลายล้านเป็นปึกๆ เพื่อซื้อน้ำสักขวด ประเทศเยอรมนีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 บวกกับสภาพเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (the great depression) คนเยอรมันต้องเจอกับสภาพประมาณนั้นแหละ         ยกตัวอย่างให้เข้าใจขึ้น นึกถึงสแน็คประเภทมันฝรั่งทอดกรอบในร้านสะดวกซื้อ เมื่อก่อนมีถุงละ 5 บาท ตอนนี้แทบไม่มีแล้ว ส่วนใหญ่เป็นถุง 10 บาท แถมเป็น 10 บาทที่มีปริมาณน้อยลงกว่าเดิม เช่นเดียวกับถุงละ 20 บาท หรือข้าวแกงที่เคยจานละ 20 ขยับเป็น 25 30 35 40 จนเดี๋ยวนี้ 50 และมันจะขึ้นไปอีกเรื่อยๆ แน่นอน         เงินเฟ้อมีผลต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม มากเกินไปก็ไม่ได้ น้อยเกินไปก็ไม่ดี แต่เราจะไม่ไปยุ่งกับเศรษฐกิจมหภาคหรอก เอาแค่ว่ามันเกี่ยวกับเงินในกระเป๋าเราอย่างไร         ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เงินฝากธนาคารสมัยนั้นสูงมาก 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปีก็มีมาแล้ว แต่ตอนนี้เงินฝากออมทรัพย์เหลือแค่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ หรือฝาก 100 บาท ได้ดอกเบี้ย 50 สตางค์ หมายความว่าการออมเงินโดยฝากเงินไว้กับธนาคารเช่นในอดีตไม่เพียงพออีกต่อไป ลองนึกดูว่าเงินเฟ้อปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ ฝากเงิน 100 บาท ผ่านไป 1 ปี เงินเฟ้อจะกัดกินเงินต้นทำให้มูลค่าเหลือจริงๆ แค่ 97 บาท ทั้งที่ตัวจำนวนเงินเท่าเดิม แต่ได้ดอกเบี้ยมาแค่ 50 สตางค์         แบบนี้เท่ากับยิ่งฝากยิ่งจนลงเรื่อยๆ         จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องเรียนรู้เรื่องการลงทุน เพื่อทำให้เงินงอกเงยให้มากกว่าที่ถูกเงินเฟ้อกัดกิน ไม่ว่าจะเป็นหุ้นในประเทศหรือต่างประเทศ ตราสารหนี้ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น         แต่เดี๋ยวก่อน ที่สาธยายมานี่ไม่ได้หมายความว่าให้โยนเงินทั้งหมดไปไว้ในทรัพย์สินอื่น จนไม่มีเงินสดติดบัญชีเลย ไม่ได้ มันจะเจอความพินาศทางการเงินอีกแบบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ‘กองทุนรวม’ คืออะไรเหรอ?

        เดี๋ยวนี้กองทุนรวมหรือ mutual fund เป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะภาครัฐสนับสนุนให้คนเก็บออมผ่านกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF (Long Term Equity Fund) ที่ฮิตกันก็เพราะมันสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งถ้าคิดในแง่ความเหลื่อมล้ำ LTF เรียกว่าเป็นตัวดีที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งห่างขึ้นไปอีก เอาล่ะ ยังไงกองทุนรวมก็ถือเป็นวิธีการเก็บออมและเพิ่มความมั่งคั่งที่ดีและได้รับการยอมรับ         แต่เป็นไปได้อยู่ที่คนอีกจำนวนมากไม่รู้ว่า กองทุนรวม คืออะไร? ทำงานอย่างไร?         เรามาลองทำความรู้จักกองทุนรวมแบบง่ายๆ คร่าวๆ ที่สุดกัน         แนวคิดของกองทุนรวมนั้นง่ายมาก สมมติว่าคุณมีเพื่อนคนหนึ่งที่เล่นหุ้นเก่งมาก ส่วนคุณไม่รู้เรื่องหุ้นเลยสักกระผีก แต่ก็อยากจะรวยกับเขาบ้าง คุณเลยไปชวนเพื่อนอีกสี่ห้าคน รวมเงินกันเข้า แล้วเอาไปให้เพื่อนคนนี้เล่นหุ้นให้เงินของคุณกับเพื่อนๆ งอกเงยขึ้น แน่นอนว่าคุณยอมจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้เพื่อนคนนี้เป็นค่าความรู้ ค่าการจัดการสะระตะ แลกกับผลตอบแทนที่ได้         กองทุนรวมก็อารมณ์ประมาณนี้แหละ (เดาว่าบางคนอาจทำอยู่ด้วยซ้ำ) เพียงแต่กองทุนรวมมีกฎเกณฑ์ของภาครัฐกำกับอยู่ และคนที่จะมาบริหารเงินให้คุณคือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไม่ใช่ใครที่ไหนไม่รู้ที่พร้อมจะเชิดเงินหนีหายไป ใช่ คุณต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าบริหารจัดการให้กับกองทุนด้วย         แต่กองทุนรวมมีหลายประเภท หลายระดับความเสี่ยง (อันที่จริงแล้ว เรื่องเงินๆ ทองๆ มีความเสี่ยงทั้งนั้น เก็บเงินไว้ที่บ้านก็มีความเสี่ยงจากการถูกขโมยหรือถูกเงินเฟ้อกัดกิน) เสี่ยงต่ำกว่าเพื่อนต้องยกให้กองทุนรวมตลาดเงิน ไล่ขึ้นเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ ตราสารทุน (ก็หุ้นนั่นแหละ) จนถึงกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์เฉพาะ เช่น ทองคำ น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น         ที่ว่ามานี่ยังแบ่งเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในประเทศกับที่ลงทุนในต่างประเทศอีก         หรือจะแบ่งตามแนวทางการลงทุนคือแบบ active กับแบบ passive แบบแรกคือสร้างผลตอบแทนให้ชนะตลาด ยังไงดีล่ะ สมมติว่าตลาดหุ้นปีที่แล้วให้ผลตอบแทน 10 เปอร์เซ็นต์ กองทุน active จะพยายามทำผลตอบแทนให้ได้มากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแบบ passive จะสร้างผลตอบแทนให้ได้เท่ากับตลาด         ข้อดีของแบบแรกคือคุณมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง แต่ก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าจัดการแพงกว่าแบบหลังซึ่งให้ผลตอบแทนไม่สูงเท่า แต่จ่ายให้กองทุนถูกกว่า ...ต้องแลกกัน ไม่มีอะไรฟรีหรอก         อ้อ ยังมีกองทุนรวมแบบเน้นประเภทธุรกิจหรือเทรนด์ของโลกด้วย เรียกว่าเป็นกองทุนรวมที่มีธีม (theme) ของตัวเอง เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยี ด้านอี-คอมเมิร์ส ตลาดเกิดใหม่ เป็นต้น ซึ่งกำลังได้รับความนิยม         มีหนังสือเกี่ยวกับกองทุนรวมมากมายในตลาด ลองหาซื้อมาอ่านกันดู อย่าลืม! การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 “315 กาล่า” เมื่อไชน่าแฉผู้ประกอบการ

        ประเทศจีนถือฤกษ์วันที่ 15 มีนาคม ซึ่งตรงกับวันสิทธิผู้บริโภคสากล เป็นวันเปิดโปงพฤติกรรมที่ “ไม่น่ารัก” ของผู้ประกอบการ ผ่านรายการถ่ายทอดสดของสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ China Central Television (CCTV) ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ         สองชั่วโมงเต็มของรายการ “315 กาล่า” เป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการลุ้นกันตัวโก่ง หวั่นตัวเองจะโดนแฉออกสื่อ เพราะ CCTV เขาใช้วิธีส่งนักข่าวเข้าไปแฝงตัวเพื่อเก็บหลักฐานการละเมิดสิทธิผู้บริโภค บางรายถึงขั้นเตรียมออกแถลงข่าวขอโทษเอาไว้เลย         ในภาพรวมของการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียน 980,000 เรื่องในปี 2563 และได้ดำเนินการเรียกร้องเงินคืนให้กับผู้บริโภค คิดเป็นมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 7,400 ล้านบาท         สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีนระบุว่ามีเรื่องร้องเรียนจำนวนพอๆ กันระหว่างสินค้าและบริการ สิ่งที่น่าสังเกตคือมีจำนวนเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริการหลังการขายเพิ่มขึ้น ในขณะที่การร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าด้อยคุณภาพลดจำนวนลง ที่ยังมีร้องเรียนเข้ามามากคือ อุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่ทำยอดขายถล่มทลายตั้งแต่โควิดเริ่มระบาด         รายงานของ CCTV ระบุว่านมผงสำหรับทารกที่ผลิตในประเทศจีนกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง หลังจากผู้บริโภคขาดความมั่นใจและหันไปพึ่งพานมผงนำเข้าอยู่หลายปี         ในรายการ 315 กาล่า ครั้งที่ 39 นี้ อุตสาหกรรมที่โดนเล่นงานหนักที่สุดเห็นจะไม่พ้นบรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับ “บิ๊กเทค” ทั้งหลาย         ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายออนไลน์ยังมาแรง เช่น โฆษณาหลอกลวง การใช้ข้อมูลตั้งราคาต่างกันสำหรับลูกค้าต่างกลุ่ม รวมถึงการขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และสินค้าปลอม เป็นต้น         เว็บ UC Browser ของค่ายอาลีบาบา และเว็บ 360 ถูกประณามเพราะไม่รับผิดชอบต่อสุขภาพความปลอดภัยของผู้บริโภค ด้วยการรับโฆษณาจากสถาบันการแพทย์ที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีกรณีไลฟ์สดขายรังนกที่ทำยอดสั่งซื้อได้ถึง 15 ล้านหยวน แต่สิ่งที่ผู้ซื้อได้รับกลับกลายเป็นแค่น้ำเชื่อม!         ทางการจีนยังใช้พื้นที่ในรายการดังกล่าวเปิดตัว “แนวปฏิบัติใหม่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมออนไลน์” ที่กำหนดให้แพลตฟอร์มตลาดกลางออนไลน์ต้องมีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เช่น ต้องขออนุญาตจากผู้บริโภคก่อนเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหว ให้ผู้ขายมีสิทธิเปิดร้านได้หลายแพลตฟอร์ม และเก็บคลิปไลฟ์สดขายของเอาไว้เป็นหลักฐานอย่างน้อย 3 ปี         ที่ฮือฮาที่สุดคือ การละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูกค้าในโชว์รูมของค่ายสุขภัณฑ์ Kohler ค่ายรถยนต์ BMW รวมถึงร้านเสื้อผ้า MaxMara ด้วยการเก็บข้อมูลสแกนใบหน้าลูกค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต เรื่องนี้โป๊ะแตกเพราะผู้ให้บริการระบบกล้องวงจรปิด Suzhou Ovopark Network Technology ยอมรับว่าได้ดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดจำนวนมหาศาลในร้านเหล่านี้ และยอมรับอีกว่าบริษัทในฐานะผู้ดูแลระบบ มีข้อมูลของลูกค้าจำนวน “หลายร้อยล้าน” ใบหน้าเลยทีเดียว         ข้อมูลที่ว่านี้สามารถนำไปสร้างโปรไฟล์ลูกค้า เพิ่มข้อมูลส่วนตัว ระบุเพศ อายุ อารมณ์ แล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นเครื่องมือการตลาดแบบเจาะจงได้         หลังถูกเปิดโปง Suzhou Ovopark Network Technology บอกว่าได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบการทำงานของตนเองและจะแจ้งความคืบหน้าให้ประชาชนได้ทราบ ส่วน Kohler ก็ออกแถลงการณ์ว่าเขาใช้กล้องวงจรปิดเพื่อนับจำนวนลูกค้าเท่านั้น บริษัทไม่ได้เก็บ วิเคราะห์ หรือส่งต่อข้อมูลนั้นให้ใคร แต่เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ เราได้รื้อถอนกล้องดังกล่าวออกจากโชว์รูมทั้งหมดตั้งแต่คืนวันที่ 15 มีนาคมแล้ว บริษัทกล่าว         อีกธุรกิจที่ถูกแฉคือ ผู้ให้บริการแอปฯ จัดหางาน Zhaopin.com, Liepin.com, และ 51job.com ที่นำข้อมูลประวัติการศึกษาและประสบการณ์การทำงานของผู้สมัครงานไปขาย และยังปล่อยให้รั่วไหลไปยัง “ตลาดมืด” ที่สำคัญคือแต่ละแอปฯ อ้างว่าตัวเองมีบัญชีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน         หลังจบรายการ ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถืออย่าง Huawei, Xiaomi, OPPO และ VIVO ได้ถอนแอปฯ ของสามบริษัทนี้ออกจากร้านขายแอปฯ ของตัวเองทันที         ด้านเจ้าของแอปฯ ก็รับปากจะไปตรวจสอบจัดการระบบให้รัดกุมและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น ไม่ปล่อยให้ใครต่อใครเข้ามาดาวน์โหลดเรซูเม่ของผู้ใช้ได้ตามใจชอบ บางเจ้าตั้งทีมขึ้นมาควบคุมดูแลการปรับปรุงโดยเฉพาะด้วย         ค่ายรถยนต์ก็โดนเช่นกัน ผู้ใช้รถหรู Infiniti ของค่ายนิสสัน และผู้ใช้รถหลายรุ่นของ Ford เช่น focus หลายรายพบปัญหาเกี่ยวกับระบบเกียร์ นิสสันถูกแฉในรายการว่าพยายาม “ปิดกั้น” ลูกค้าไม่ให้ร้องเรียน ในขณะที่ฟอร์ดไม่แจ้งเตือนผู้ใช้รถและไม่จัดการซ่อมแซมให้โดยสมัครใจ         แน่นอนว่าบริษัทต้องรีบเสนอทางออกทันทีหลังรายการจบ นิสสันบอกว่าจะปรับปรุงการสื่อสารกับลูกค้า ในขณะที่ฟอร์ดเสนอให้ผู้ใช้นำรถที่มีปัญหาเกียร์เข้ามาซ่อมฟรีได้เลย         อีกเรื่องที่น่าสนใจของ 315 Gala ปีนี้ คือกรณีผู้สื่อข่าวที่แฝงตัวเข้าไปเป็นพนักงานขายเพื่อเก็บข้อมูลของบริษัทขายรถมือสองแห่งหนึ่งที่มีคนร้องเรียนว่าขายรถในราคาแพงเกินจริง กว่าบริษัทจะรู้ตัวว่ามี “สปาย” ผู้สื่อข่าวคนนี้ก็ได้รับการเลื่อนขั้นเป็นถึงรองผู้อำนวยการที่เข้าประชุมร่วมกับผู้บริหารคนอื่นๆ เป็นประจำ และมีลูกน้องในสังกัดไม่ต่ำกว่า 10 คน         เจ้าตัวบอกว่าตอนแรกที่เป็นพนักงานขาย เขาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล “อินไซด์” ที่เป็นประโยชน์ต่อการเปิดโปงได้ เขาจึงพยายามทำยอดขายให้ได้อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งได้เลื่อนตำแหน่ง ที่สำคัญคือเงินเดือนในตำแหน่งใหม่นี้สูงกว่าที่สถานีโทรทัศน์ CCTV จ่ายให้เขาเกือบสามเท่า หัวหน้างานที่สถานีฯ จึงหมั่นโทรหาเขาทุกวัน เพราะกลัวลูกน้องจะแปรพักต์ไปอยู่กับบริษัทขายรถมือสอง            สามารถดูคลิปวิดีโอรายการได้ที่ www.315.cctv.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 “ฮาวทูทิ้ง?”

        คุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและพยายามแยกขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติก แต่บางครั้งก็ไม่รู้ว่าจะจัดการกับขวด กล่อง หรือกระป๋องเปล่าพวกนั้นอย่างไร สัญลักษณ์ที่แต่ละเจ้าใช้ก็ไม่เหมือนกัน คิดมากก็เพลียจิต คุณเลยทำเท่าที่ทำได้... แล้วก็ทำใจ         ใจเย็นๆ คนทั้งโลกก็พบกับปัญหาเดียวกัน         เพื่อรับมือกับเรื่องนี้ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNDP), สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International), และ One Planet Network จึงได้สำรวจและจัดทำรายงาน “CAN I RECYCLE THIS?” A global mapping and assessment of standards, labels, and claims on plastic packaging เพื่อทำแผนผังและประเมิน “ตรามาตรฐาน” “โลโก” รวมถึง “คำกล่าวอ้าง” ของผู้ผลิตบนฉลากบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ว่าด้วยวัสดุที่ใช้ กระบวนการผลิต ความเป็นไปได้ในการรีไซเคิล และการทิ้งอย่างถูกต้อง        (อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://www.consumersinternational.org/media/352255/canirecyclethis-finalreport.pdf)         การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญใน 33 ประเทศ และสำรวจ “โลโก” และ “คำกล่าวอ้าง” บนฉลากบรรจุภัณฑ์พลาสติกใน 22 ภาษาจากเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงการลงพื้นที่ในประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเคนยา ทำให้พบประเด็นปัญหาและเกิดข้อเสนอแนะที่สำคัญ 5 ประการ ในการสื่อสารเรื่องพลาสติกกับผู้บริโภค ดังนี้        ·      การศึกษาครั้งนี้พบว่ายังมีสิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุงอีกมาก ปัจจุบันมีความแตกต่างหลากหลายในการสื่อสารด้วยโลโกบนฉลากและคำกล่าวอ้างบนบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ระดับความน่าเชื่อถือ ความชัดเจนโปร่งใส การเข้าถึงข้อมูล รวมถึงการที่ผู้ผลิตให้ข้อมูลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้จึงเสนอให้ภาคธุรกิจใช้ “แนวปฏิบัติว่าด้วยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์” ที่ตีพิมพ์โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติและศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ (ITC) ในการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกกับผู้บริโภค        ·      สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการศึกษาครั้งนี้คือ บรรดาฉลากและคำกล่าวอ้างล้วนสร้างความสับสนให้ผู้บริโภค จึงควรมีการกำหนด “ความหมาย” ให้ตรงกัน เช่น สัดส่วนปริมาณพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือการทิ้งที่ถูกต้อง เพื่อที่ผู้ประกอบการจากทั่วโลกจะได้ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน        ·      มาตรฐานอ้างอิง โลโก และคำกล่าวอ้าง ต้องสะท้อนสภาพตามความเป็นจริงมากขึ้น คำจำกัดความ และข้อกำหนดทางเทคนิคที่ใช้ในมาตรฐานเกี่ยวกับระดับความสามารถในการถูกรีไซเคิล การย่อยสลาย ไม่ว่าจะโดยตัวของมันเองหรือจากฝีมือของจุลินทรีย์ในดิน ควรเป็นสิ่งที่สามารถวัดประเมินได้และทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายด้วย         ·    การใช้สัญลักษณ์ “ลูกศรวิ่งไล่กัน” ควรถูกจำกัดไว้สำหรับการแสดงว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกนั้นสามารถนำไปรีไซเคิลได้เท่านั้น งานสำรวจพบว่าปัจจุบันมีการนำสัญลักษณ์ดังกล่าวไปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น ทำให้ผู้บริโภคสับสน นำไปสู่การคัดแยกขยะที่ไม่ถูกต้อง และกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภค ผู้ประกอบการจึงควรเลิกใช้สัญลักษณ์นี้ในตราสินค้า เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด        ·      ควรมีการนำโลโกรีไซเคิลที่ผ่านการออกแบบอย่างดีและให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภคมาใช้ โลโกที่ดีสามารถส่งเสริมพฤติกรรมการทิ้งขยะอย่างรับผิดชอบของผู้บริโภคได้ แน่นอนว่าภาคธุรกิจควรใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่รีไซเคิลได้ แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าแสดงโลโกที่เข้าใจง่ายด้วย ด้านองค์กรกำกับดูแลควรออกกฎระเบียบให้ชัดเจนเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคใช้และ “ทิ้ง” บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง ในขณะที่ภาครัฐเองก็ต้องจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิลไว้รองรับด้วย                 ขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่เราร่วมกันสร้างและต้องร่วมกันแก้ แม้ในปัจจุบันภาคธุรกิจและภาครัฐจะให้ความสนใจกับการจัดการขยะพลาสติกมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายในการทำให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคและรูปแบบการผลิตที่ยั่งยืน ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 9 ของพลาสติกที่ผลิตออกมาทั้งหมดเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล         สิ่งที่เราต้องช่วยกันทำอย่างเร่งด่วนคือการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่วัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์อย่างพลาสติกจะได้รับการคงคุณค่าทางเศรษฐกิจไว้ในนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก่อนจะถูกลดชั้นไปเป็น “ขยะ” และเป็นส่วนหนึ่งของ “ขยะพลาสติก” ที่รั่วไหลลงสู่ทะเลประมาณปีละ 8 ล้านตัน และทำให้เกิดไมโครพลาสติกที่สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ชายฝั่ง         ปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่มักถูกมองข้ามคือผู้บริโภค สินค้าที่เราเลือกซื้อและวิธีการ “ทิ้ง” ของเรามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อกระบวนการผลิตสินค้าและการรั่วไหลของพลาสติกเข้าสู่สิ่งแวดล้อม หากเราได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เข้าใจง่าย ไม่สับสน เราจะเป็นกำลังสำคัญในขบวนการกู้โลกได้อย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ดี มันไม่ดีกับเราทุกคนนั่นแหละ

        ออกตัวกันก่อนว่าไม่ใช่การชี้ชวนให้ซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมตัวไหน แหม่ จะเอาความรู้ที่ไหนมาบอกได้ แล้วถ้ารู้ว่าตัวไหนจะขึ้น ผู้เขียนซื้อไว้เองไม่ดีกว่าเหรอ เรื่องแบบนี้ต้องเรียนรู้เอง เจ็บเอง         ที่อยากเล่าสู่กันฟังคือเพิ่งได้ฟังเสวนาวิเคราะห์ทิศทางหุ้นโลก หุ้นไทย และการทำ DCA (เรื่องนี้ต้องพูดแน่ๆ แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้) ของบริษัทหลักทรัพย์เจ้าหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาบางประเด็นน่าสนใจทีเดียว มันเกี่ยวข้องทั้งกับใครที่อยากลงทุนหุ้นและอาการบิดๆ เบี้ยวๆ ของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย         เรื่องคือนักวิเคราะห์คนหนึ่งพูดถึงการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปยังหุ้นหรือกองทุนรวมในต่างประเทศ เพราะมีหลายตัว หลายกองน่าสนใจ โดยเฉพาะที่เกาะกับกระแสเมกะเทรนด์ของโลก เช่น สังคมสูงวัย อุตสาหกรรมดิจิทัลหรือเทคโนโลยีล้ำอย่างหุ่นยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด เป็นต้น เดี๋ยวนี้กองทุนรวมหลายกองมีธีมการลงทุนเฉพาะ เช่น กองที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มอี-คอมเมิร์ส กองที่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี ให้เราเลือกเกาะเทรนด์การเติบโต          แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน?        นักวิเคราะห์รายนี้บอกว่า เมื่อย้อนกลับมาดูหุ้นไทยเราแทบจะไม่เจอหุ้นที่เกาะเมกะเทรนด์ของโลกเลย แย่กว่านั้นหุ้นจำนวนหนึ่งก็เป็นธุรกิจผูกขาด ธนาคารเป็นตัวอย่างหนึ่ง นี่แหละประเด็นใหญ่         ลองถามนักเศรษฐศาสตร์ เกือบร้อยทั้งร้อยแหละไม่เห็นด้วยกับการผูกขาด มันส่งผลร้ายมากกว่าดี และผลร้ายที่ว่ามันตกอยู่กับประเทศ นักลงทุน จนถึงผู้บริโภคอย่างเรา          ทำไมเราจึงไม่ค่อยมีบริษัทใหญ่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ที่ทำวิจัยและพัฒนา ปรับตัวเพื่อเกาะเมกะเทรนด์ของโลก ทั้งที่ได้ประโยชน์เห็นๆ แต่ถ้าเป็นคุณจะเสียเงินมากมายทำไมกับผลในระยะยาวที่ไม่แน่ใจว่าจะประสบผลสำเร็จ ในเมื่อธุรกิจของคุณผูกขาดไปแล้ว ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก ถ้าไม่ซื้อหรือใช้บริการของคุณก็ไม่มีเจ้าอื่นอีกแล้ว คุณแค่นั่งเก็บกินผลประโยชน์จากการผูกขาดก็พอ         การผูกขาดยังทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน สมมติว่าในอุตสาหกรรมหนึ่งมีบริษัทใหญ่เพียง 2 บริษัท พวกเขาคงแข่งกันแย่งลูกค้าแหละ แต่ไม่มีนัยสำคัญพอที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบสนองผู้บริโภคได้ดีขึ้น แล้วถ้า 2 บริษัทฮั้วกันอีก ความซวยก็ยิ่งเกิดกับผู้บริโภค จะต่างกันลิบถ้ามีคู่แข่งเป็นสิบๆ ในตลาด ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากมาย บริษัทไหนอ่อนแอก็แพ้ไป          นักลงทุนจึงพลอยได้รับผลกระทบจากการผูกขาดไปด้วย มีตัวเลือกในการลงทุนไม่มาก ไม่มีบริษัทที่เกาะเมกะเทรนด์ การเติบโตในอนาคตของบริษัทประเภทนี้อาจไม่ยั่งยืน อย่าคิดว่ากำเงินสดไว้ซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมอย่างเดียวเป็นพอ         โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ดี มันไม่ดีกับเราทุกคนนั่นแหละ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 “การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง”

        “การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง” คำพูดของวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา ตำนานที่มีชีวิตของนักลงทุนสายคุณค่า (value investment) ซึ่งเคยพูดถึงมาแล้ว         ที่ยกประโยคนี้มาพูดถึงอีกรอบเพราะเป็นหัวใจสำคัญของการออมและการลงทุน (หรืออันที่จริงก็น่าจะเกือบทุกเรื่องนั่นแหละ) ผู้เขียนมักเจอคำถามเดิมๆ จากคนใกล้ตัวว่า “ซื้อหุ้นตัวไหนดี?” “ซื้อหุ้นตัวนี้ดีไหม?” “กองทุนนี้น่าลงทุนหรือเปล่า?” คำตอบที่ให้ก็จะเหมือนเดิมทุกครั้งคือ         “ไม่รู้”         ก็ไม่รู้จริงๆ แล้วจะให้ตอบว่ายังไงล่ะ ผู้เขียนเองก็ไม่ได้เรียกว่าเป็นผู้ที่มีความรู้มากมาย ทุกวันนี้ยังต้องอ่าน ต้องฟังเสวนาเติมความรู้ตลอด แล้วจะรู้เหรอว่าหุ้นหรือกองทุนตัวไหนน่าลงทุน แล้วถ้าบอกชื่อไป ซื้อตาม เกิดขาดทุนขึ้นมาจะตามกลับมาด่าไหม         ดังนั้น “การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง” จึงเป็นหัวใจหรือรากฐานของการจัดการการเงินส่วนบุคคลและการลงทุน อ่านให้มาก ฟังให้เยอะ คิดตาม ใคร่ครวญ อย่าเพิ่งเชื่อ นำสิ่งที่รู้มาทดลองปฏิบัติเพื่อเรียนรู้ มีนักลงทุนบางคนพูดว่า คุณไม่ต้องรู้ทั้งหมด 100% แต่จงทำ 100% ในสิ่งที่รู้ หมายความว่าจงทำอย่างเต็มที่ อย่างตั้งใจจากสิ่งที่คุณเรียนรู้มา เพราะโลกนี้ไม่มีรู้ได้หมด 100% หรอก ถ้ามัวรอรู้ทั้งหมดคงไม่ต้องทำอะไรกันพอดี         ต้องบอกด้วยว่าการหาความรู้เรื่องการลงทุนในยุคนี้ง่ายและสะดวกกว่าเมื่อก่อนมากๆ มีเว็บไซต์ มีเพจ มียูทูบล้นเหลือให้เรียนรู้ หรือจะเข้าไปที่ www.set.or.th เป็นเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่รวบรวมความรู้ไว้เพียบ         การลงทุนกับตัวเองจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่ดีที่สุด         เพราะถ้าเอาแต่ถามหาหุ้นดีก็ไม่ต่างจากการยืมจมูกคนอื่นหายใจ กลายเป็นแมงเม่าติดดอยกับคำพูดติดปากว่า “รู้งี้...”         บางครั้งคำพูดนี้ก็กินความไปถึงการเก็บออมทันทีหลังจากรับรายได้มา ที่เหลือค่อยนำไปใช้จ่ายด้วย เพราะเป็นการทำเพื่อตัวเองก่อนและประกันว่าเราจะเก็บออมทุกเดือน สูตรเดิมๆ ที่ว่าใช้ก่อน เหลือแล้วค่อยเก็บเป็นสูตรที่เชยและตกรุ่นไปแล้ว         การลงทุนในตัวเองยังหมายถึงการรู้จักตัวเองด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากๆ อีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามีโอกาสจะเล่าให้ฟัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ผดทดสอบหน้ากากอนามัย จากองค์กรผู้บริโภคต่างประเทศ

        ในยุคที่คนทั้งโลกต้อง “สวมหน้ากาก” เข้าหากัน จึงเป็นธรรมดาที่คนจะตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของมัน กรณีของ “หน้ากากอนามัยเกรดการแพทย์” นั้นไม่น่าเป็นห่วง เพราะกว่าจะเรียกตัวเองเช่นนั้นได้ ก็ต้องผ่านมาตรฐานหลายประการ         แต่สภาผู้บริโภคแห่งฮ่องกง (ผู้จัดพิมพ์ CHOICE นิตยสารเพื่อผู้บริโภค) ก็ไม่ยอมปล่อยผ่าน เขาทดสอบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จำนวน 30 ยี่ห้อ (ผลิตในฮ่องกง 18 ยี่ห้อ  ผลิตในจีน 8 ยี่ห้อ ที่เหลือผลิตจากไต้หวัน และเวียดนาม) สนนราคาชิ้นละ 2-9 เหรียญฮ่องกง (ประมาณ 8-35 บาท)          เขาพบว่า 29 รุ่นมีประสิทธิภาพการกรองแบคทีเรียและอนุภาคทั่วไปได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 จึงถือว่าวางใจได้พอสมควร ในภาพรวมหลายยี่ห้อทำได้ดี แต่ไม่ดีเท่าที่เคลม ราคาแพงกว่าไม่ได้แปลว่าดีกว่า และหลายยี่ห้อไม่น่าซื้อเพราะสายคล้องคุณภาพไม่ดี        แต่ที่ต้องระวังคือยี่ห้อ Perfetta Disposable High Filtration Face Mask ที่ผลิตในเวียดนาม (ราคาเฉลี่ยชิ้นละ 8 บาท) ที่ฉลากอ้างว่ามีประสิทธิภาพกันอนุภาคทั่วไปได้ 99.99% แต่เขาทดสอบพบว่าทำได้เพียง 86.64% เท่านั้น แถมสายคล้องหูก็ยืดย้วยง่ายด้วย ติดตามตารางแสดงผลการทดสอบแบบเต็มๆ ได้ที่        https://www.consumer.org.hk/ws_en/news/specials/2020/coronavirus-prevention-collection.html          ไปดูการทดสอบ “หน้ากากผ้า” ชนิดใช้ซ้ำ ซึ่งป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ดี โดยไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมกันบ้าง         องค์กรผู้บริโภคของอังกฤษหรือนิตยสาร Which? ซึ่งได้ทดสอบหน้ากากผ้าชนิดใช้ซ้ำได้ รูปแบบต่างๆ จำนวน 15 ตัวอย่างที่หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา        Which? ทดสอบและให้คะแนนในด้านต่างๆ ได้แก่ ประสิทธิภาพในการป้องกันแบคทีเรีย การหายใจได้สะดวก ความรู้สึกสบายในการสวมใส่ และความทนทานต่อการซักโดยไม่เสื่อมสภาพเร็วเกินไป           หน้ากากผ้าสองยี่ห้อที่ได้คะแนนมากที่สุดคือ NEQI และ Bags of Ethics ที่ขายในราคาชิ้นละ 5 ปอนด์ (ประมาณ 200 บาท) แต่ถ้าใครอยากประหยัดเงินอาจเลือก Step Ahead ที่คะแนนน้อยกว่าเล็กน้อยแต่ราคาถูกกว่ามาก (2 ปอนด์ หรือประมาณ 80 บาท)         ในภาพรวม มีหน้ากากผ้าที่สามารถป้องกันละอองฝอยได้ถึงร้อยละ 99 แต่ก็มีบางรุ่นที่กันได้เพียงร้อยละ 7 เท่านั้น         Which? ให้คำแนะนำ “ไม่ควรซื้อ” กับหน้ากากผ้า 3 ยี่ห้อ ได้แก่ Termin8 / Etiquette / และ White Patterned สองยี่ห้อแรกซึ่งวางขายในร้านขายยา โต้ว่าเขาไม่ได้ทำผิดอะไร กฎหมายไม่ได้กำหนดเกณฑ์แบบที่ Which? ทดสอบ ส่วนยี่ห้อสุดท้ายที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ASDA นั้น ทางห้างเรียกเก็บออกจากชั้นไปแล้ว ข้อค้นพบจากการทดสอบหน้ากากผ้า-  การป้องกันจะดีขึ้นตามจำนวนชั้นของผ้า ใส่ฟิลเตอร์ได้ยิ่งดี (แต่ฟิลเตอร์ก็เป็นขยะอีก) หน้ากากผ้าที่ไม่ควรซื้อใช้คือหน้ากากผ้าโพลีเอสเตอร์ที่มีชั้นเดียว-  หน้ากากที่ดีต้องมีสมดุลระหว่างประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อกระจายและการระบายอากาศที่ดี ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความชื้นทำให้ประสิทธิภาพลดลง และเราอาจเอามือไปขยับบ่อยๆ หรือไม่ก็รำคาญจนไม่อยากใส่ต่อ-  หน้ากากผ้าแบบทำเองก็ใช้ได้ดี การทดสอบพบว่าหน้ากากผ้าที่ตัดเย็บตามแพทเทิร์นที่รัฐบาลอังกฤษแชร์ออนไลน์ สามารถกรองละอองได้ร้อยละ 73 และเมื่อผ่านการซัก 5 ครั้ง กลับสามารถกรองได้ถึงร้อยละ 81 ด้วย! แต่อาจมีปัญหาเรื่องการสวมแล้วอึดอัดไม่สบาย-  การให้คำแนะนำในการใช้บนฉลาก (ทั้งในการใช้งานและการซักทำความสะอาด) ยังทำได้ไม่ดี มีถึง 6 เจ้าที่ไม่ระบุว่า “ไม่ใช่อุปกรณ์ทางการแพทย์” และมี 7 เจ้าไม่แจ้งวิธีการใช้อย่างปลอดภัย            องค์กรผู้บริโภคอื่นๆ ที่ทดสอบหน้ากากผ้า ได้แก่ Forbrugerradet Taenk ของเดนมาร์ก ที่ทดสอบทั้งหน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แล้วพบว่ามีประสิทธิภาพในการกรองไม่ต่างกันนัก  ในขณะที่ UFC-Que Choisir ของฝรั่งเศส ทดสอบหน้ากากที่ทำจากผ้าหลากชนิด เขาพบว่าผ้าฝ้ายชนิดที่ใช้ทำเสื้อยืด หรือแม้แต่ทิชชูคลิเน็กซ์ ก็ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการกรองเชื้อโรคเหมือนกัน ทางด้าน Altroconsumo ของอิตาลี ก็ทดสอบหน้ากากผ้า และพบว่ามันสามารถกรองละอองฝอยได้ระหว่างร้อยละ 80-90 แตกต่างกันตรงที่บางรุ่นใส่แล้วหายใจสะดวก บางรุ่นสวมแล้วอึดอัด เช่นเดียวกับ Deco Proteste ของโปรตุเกส

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 เบาะกันกระแทก (จบ)

        ไม่ใช่แค่อายุกับอาชีพเท่านั้นที่เป็นเรื่องสำคัญในการเลือกประกันภัยอุบัติเหตุ เมื่อมันคือการจ่ายเงินเพื่อประกันความไม่แน่นอนในอนาคต เงินที่จ่ายออกไปก็ควรคุ้มค่าที่สุด คุณจึงต้องใส่ใจกับเบี้ยประกันเพราะมันสัมพันธ์กับทุนประกันหรือการคุ้มครองที่จะได้กลับมาเมื่อเกิดอุบัติเหตุ         แน่นอนว่าไม่มีใครอยากจ่ายเบี้ยประกันสูงๆ และแน่นอนด้วยว่าใครๆ ก็อยากการคุ้มครองมากๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน บริษัทประกันมีการประเมินความเสี่ยงให้ผู้ซื้ออยู่แล้ว แต่ตัวเราเองก็ต้องประเมินความเสี่ยงด้วย เช่น นิสัยการขับขี่รถ กีฬาที่ชอบเล่น ผาดโผนมากก็เสี่ยงกว่านั่นแหละ หรือคุณมีภาระรออยู่ข้างหลังหรือเปล่าถ้าคุณประสบอุบัติเหตุจนทำงานไม่ได้ไปช่วงเวลาหนึ่ง เป็นต้น         สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ประเมินได้ว่าเบี้ยประกันและทุนประกันที่เหมาะสมกับตัวเราควรเป็นเท่าไหร่         ต้องไม่ลืมด้วยว่าการประกันภัยอุบัติเหตุเน้นคุ้มครองความเสี่ยงพื้นฐานทั่วไป มันจึงมีเหตุการณ์บางอย่างที่เป็นข้อยกเว้นหรือไม่คุ้มครองซึ่งจะกำหนดอยู่ในกรมธรรม์ เช่น การเข้าร่วมการทะเลาะวิวาท การจลาจล หรือการโดยสารพาหนะที่คนทั่วไปไม่ใช่กันอย่างเฮลิคอปเตอร์ รายละเอียดพวกนี้ต้องอ่านให้ดี         แต่อีกด้านหนึ่งเราก็สามารถขยายความคุ้มครองได้ (ถ้ามีปัญญาจ่ายเบี้ยประกัน) ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดไว้เพียง 5 กรณี ได้แก่        1.การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์        2.การจลาจล การนัดหยุดงาน        3.การสงคราม        4.การโดยสารอากาศยานที่มิได้ประกอบการโดยสายการบินพาณิชย์ (เช่นเฮลิคอปเตอร์นั่นแหละ)        5.การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย         แล้วอย่าลืมดูด้วยว่าบริษัทประกันที่คุณซื้อมีโรงพยาบาลอยู่ในเครือข่ายประกันอุบัติเหตุครอบคลุมแค่ไหน         สุดท้ายที่ลืมไม่ได้ บริษัทประกันคือธุรกิจ คุณในฐานะผู้ซื้อประกันคือผู้บริโภค บริการหลังการขาย ความน่าเชื่อถือ เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาประกอบด้วย จะได้ไม่กลายเป็นเหยื่อแบบที่มักเห็นตามข่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 รณรงค์ หยุดวงจร “ส้มอมพิษ” ตั้งแต่ต้นทาง

        เมื่อ 2 ธันวาคม 2563  ภาคี เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) ชี้คนไทยบริโภคส้มอมพิษตลอดปี สารเคมีอันตรายตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  รณรงค์ภาคประชาชนร่วมเรียกร้องหยุดส้มอมพิษตั้งแต่ต้นทาง จัดกิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ (Orange Spike)” กระตุ้นผู้บริโภคแสดงสิทธิให้ซูเปอร์มาร์เก็ตใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ติด QR Code  ส้มทุกประเภท         มร.จูเซปเป บูซินี (Mr.Giuseppe BUSINI) อัครราชทูตที่ปรึกษา-รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า การส่งเสริมความยั่งยืนด้านการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นหัวข้อสำคัญในนโยบายด้านอาหารของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ กลยุทธ์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork Strategy) ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของนโยบายจัดการภาวะโลกร้อนของสหภาพยุโรป หรือ European Green Deal ที่ได้นำมาใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีเป้าหมายในการส่งเสริมระบบการจัดการอาหารที่เป็นธรรม ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเราเชื่อว่า การลดความเสี่ยงและการลดปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันพืชเคมี ตลอดจนถึงปุ๋ยและยาปฏิชีวนะ และการเพิ่มพื้นที่การทำเกษตรออแกนิคนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง        นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนจากเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า ส้มเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงและมีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ อยู่คู่กับชีวิตคนไทยในทุกรูปแบบ แต่จากการตรวจสอบของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) พบว่า ส้ม 1 ผล มีสารเคมีตกค้างมากถึง 55 ชนิด โดยเฉลี่ยถึง *0.364 มิลลิกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) โดยสารเคมีตกค้างเป็นชนิดดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ถึง 28 ชนิด อาทิ คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ส่งผลให้พิการแต่กำเนิดและภาวะเจริญพันธุ์เสื่อม, สารคาร์โบฟูราน (Carbofuran) เป็นพิษต่อเซลล์สมองและฮอร์โมนเพศ, สารอะเซตามิพริด (Acetamiprid) มีผลกระทบต่อสมองและระบบประสาท เป็นต้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงเรื่องสารพิษตกค้างมากมาย แต่จากการสุ่มตรวจส้มจากซูเปอร์มาร์เก็ต พบว่า 100% ของส้มที่นำมาตรวจมีการตกค้างของสารเคมีที่เกินกว่าปริมาณสูงสุดที่กฎหมายกำหนด แม้แต่ในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำที่อ้างว่ามีระบบตรวจสอบแล้วก็ตาม ทั้งที่เป็นสถานที่ค้าปลีกที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไว้วางใจในเรื่องของความสะอาดและปลอดภัย         นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ธรรมชาติของส้มจะให้ผลผลิตเพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม ซึ่งถือเป็นช่วงที่ปลอดภัยที่สุดเพราะเป็นส้มในฤดูกาล แต่ด้วยอุปสงค์ของตลาดที่มีความต้องการส้มตลอดทั้งปี ทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีมากกว่าปกติเพื่อให้สามารถผลิตส้มได้ตามความต้องการของตลาด ตั้งแต่ระยะติดดอก ระยะติดผลตุ่มเท่าหัวไม้ขีด ช่วงลูกปิงปอง ช่วงเลี้ยงผิวสวยไปถึงช่วงเก็บผลผลิต โดยสารเคมีที่ใช้ตลอดช่วงอายุมักเป็นชนิดดูดซึม (Systemic) ซึ่งจะกระจายในลำต้นไปจนถึงเนื้อในของผลส้ม         อีกหนึ่งกลไกของตลาดที่ทำให้ส้มกลายเป็นผลไม้อันตรายคือค่านิยมในการเลือกซื้อส้มที่มีผลใหญ่ ผิวสวย เรียบเนียน สีทองแวววาว ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตจึงต้องคัดเกรดส้มสวยเข้ามาจำหน่าย เพื่อให้ส้มมีผิวสวยตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ผู้ผลิตต้องฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืช ถึง 52 ครั้งต่อปี หรือทุกสัปดาห์ ดังนั้นหนึ่งในวิธีที่จะหยุดวงจรส้มอมพิษได้ คือฝั่งผู้บริโภคเองก็ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติในการเลือกบริโภค และทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการเพาะปลูกมากขึ้น อาทิ เลือกรับประทานส้มที่มีผิวลายเพราะเป็นส้มที่ได้รับสารเคมีในปริมาณที่น้อย รวมถึงการทานผลไม้ให้หลากหลายตามฤดูกาล เพื่อลดการใช้สารเคมี         นอกจากนี้ ผู้บริโภคเองก็ควรมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับส้มที่ซื้อผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างถูกต้อง เพียงพอ มีกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ ที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของส้ม กระบวนการผลิตส้มตลอดปีทั้งในและนอกฤดู รวมถึงกระบวนการตรวจสารเคมีตกค้างของซูเปอร์มาร์เก็ต  เพื่อแสดงถึงความจริงใจและห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้บริโภค ซึ่งจากการสำรวจในปัจจุบันพบว่าระบบการตรวจสอบของซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ        ด้านนางสาวฐานิตา วงศ์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่รณรงค์ องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) กล่าวว่า กิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ” หรือ Orange Spike เป็นกิจกรรมภายใต้แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก (Dear Consumers)” โดยมีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักว่าส้มมีกระบวนการผลิตที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการตกค้างของสารเคมีซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว และร่วมเรียกร้องให้หยุดส้มพิษตั้งแต่ต้นทาง โดยเน้นการใช้กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพของซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเปรียบเสมือนตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้บริโภคและผู้ผลิต และใช้กลไกข้างต้นกระตุ้นให้ผู้ผลิตที่ปลูกส้มและผลิตอาหารอื่น ๆ มีกระบวนการในการผลิตอาหารที่ปลอดภัยขึ้น         กิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ” ดำเนินการโดยภาคี ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสหภาพยุโรป ภายใต้ SWITCH Asia II Programme และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (Sida) ร่วมแสดงสิทธิของผู้บริโภคเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ อาทิ แม็คโคร, บิ๊กซี, เทสโก้ โลตัส และ ท็อปส์ ให้หยุดขายส้มอมพิษ ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงนามผ่านทาง  www.dearconsumers.com/th/petition เพื่อเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตมีการตรวจสอบแหล่งที่มาของส้มที่นำมาจำหน่ายผ่าน QR Code และเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสวนส้ม วิธีปลูกส้ม รายการสารเคมีที่ใช้ และกระบวนการคัดกรองของซูเปอร์มาร์เก็ตต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังคาดหวังให้ภาครัฐมีมาตรการควบคุมปริมาณสารเคมีในผลิตภัณฑ์ส้มทุกประเภท         ร่วมกันลงนามหยุดส้มอมพิษในแคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก (Dear Consumers)” ได้ที่  www.dearconsumers.com/th/petition ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทาง facebook.com/DearConsumers (เพจ ผู้บริโภคที่รัก)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 เบาะกันกระแทก (2)

        มาว่ากันต่อเกี่ยวกับประกันภัยอุบัติเหตุ (Personal Accident Insurance) หรือที่มักเรียกกันว่าพีเอ เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนต้องเคยเจอสถานการณ์ที่บริษัทประกันโทรหา (เอาเบอร์โทรของเรามาจากไหน?) เพื่อเสนอขายประกันให้ บางคนตัดบทปฏิเสธ บางคนเคลิ้มตอบตกลง         การซื้อประกันอุบัติเหตุ (และประกันชนิดอื่นๆ) ไม่ควรใจร้อน มันมีหลายเรื่องที่เราต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเงื่อนไขชีวิตของตัวเรา ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แยกประกันอุบัติเหตุออกเป็น 2 แบบ คือ แบบ อบ. 1 และ อบ. 2 โดยแบบแรกจะมีความคุ้มครองให้เลือกซื้อ 4 ความคุ้มครอง-การเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ/สายตา การทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง, การทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง, การทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน และการรักษาพยาบาล         ส่วนแบบที่ 2 จะให้ความคุ้มครองเพิ่มจากแบบแรกคือรวมเรื่องการสูญเสียนิ้ว การสูญเสียการรับฟังเสียง/การพูดออกเสียง และการทุพพลภาพถาวรบางส่วน         แต่ถ้าจะเลือกประกันอุบัติเหตุที่เหมาะกับตัวคุณก็มีหลายเรื่องที่ต้องมานั่งพิจารณากัน         อย่างแรกเลยคืออายุ คนอายุน้อยกับคนอายุมาก แน่นอนว่าคนกลุ่มหลังย่อมจ่ายเบี้ยประกันต่ำกว่า แต่อายุก็เป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง ยังต้องดูอีกคุณประกอบอาชีพอะไร เพราะแต่ละอาชีพมีระดับความเสี่ยงต่างกัน อาชีพที่มีความเสี่ยงสูงกว่า เบี้ยประกันสูงกว่า         คปภ. แบ่งชั้นอาชีพในการรับประกันภัยไว้ 4 ชั้น ประกอบด้วย อาชีพชั้น 1 ส่วนใหญ่ทำงานประจำในสำนักงาน อาชีพชั้น 2 ปฏิบัติงานที่ใช้วิชาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งตลอดเวลา อาชีพชั้น 3 ปฏิบัติงานด้านช่าง กระบวนการผลิต ที่มีการใช้เครื่องจักรกลหนัก ผู้ใช้แรงงาน การเดินทาง หรือทำงานนอกสำนักงานเป็นประจำ และอาชีพชั้น 4 อาชีพพิเศษที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าชั้นอื่น ๆ เป็นพิเศษ เช่น นักแสดงผาดโผน         ถ้าคุณรู้ว่าอาชีพที่ทำอยู่มีความเสี่ยงระดับไหน มันจะช่วยให้คุณพอจะประเมินได้ว่าทุนประกันภัย-หมายถึงเงินที่จะได้เวลาประสบอุบัติเหตุนั่นแหละ-แค่ไหนที่เหมาะสมกับตัวเอง ต้องการให้ครอบคลุมความคุ้มครอง ค่าใช้จ่าย และผลประโยชน์ในกรณีเสียชีวิตอย่างไร เช่น ถ้าคุณเป็นเครื่องยนต์หลักในการหาเลี้ยงครอบครัว คุณอาจต้องการทุนประกันที่มากกว่า เพื่อช่วยดูดซับแรงกระแทกไม่ให้คนข้างหลังซวนเซ หรือถ้าคุณยังไม่มีครอบครัว มีพี่น้อง และมีพ่อแม่ที่พอมีเงินเก็บอยู่บ้าง ทุนประกันที่คุณต้องการก็อาจไม่จำเป็นต้องมากเท่ากับกรณีแรก เพราะยิ่งทุนประกันสูง เบี้ยประกันก็ยิ่งสูงตาม การคำนึงถึงจุดนี้จะช่วยให้การจ่ายเบี้ยประกันไม่กลายเป็นภาระเกินจำเป็น         เรื่องนี้ยังไม่จบ ไว้มาต่อกันคราวหน้า

อ่านเพิ่มเติม >