ฉบับที่ 266 ซักก่อนใส่

        หลายคนอาจมีความชอบเป็นส่วนตัวในการสวมใส่เสื้อผ้าใหม่เอี่ยมที่มิได้ซักมาก่อน ด้วยรู้สึกว่าการรีดเสื้อหรือกางเกงให้เรียบเหมือนที่วางขายในร้านนั้นทำได้ยาก จึงขอใส่โชว์ให้ดูดีที่สุดสักครั้งหนึ่งก่อนซัก         ใครที่ทำเช่นนี้ย่อมมีโอกาสสัมผัสกับสารเคมีที่ก่ออันตรายเช่นภูมิแพ้ได้ เนื่องจากการใส่เสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ซักนั้นระหว่างที่เหงื่อออกมักก่อให้เกิดการเสียดสีระหว่างเนื้อผ้าและผิวกายจนทำให้สีย้อมผ้าส่วนที่อาจหลงเหลือในการผลิตหลุดออกมาสู่ผิวกาย นอกจากนี้แล้วอุปกรณ์ใหม่ในการเล่นกีฬาที่ทำจากผ้าหรือใยสังเคราะห์ที่สัมผัสกับผิวหนัง เช่น ที่รัดเข่า รัดน่อง รัดข้อมือ ฯ ก็เป็นอีกแหล่งของสีย้อมผ้าส่วนเกินที่หลุดออกมาก่อปัญหาภูมิแพ้ได้เช่นกัน         มีงานวิจัยหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า เสื้อผ้าใหม่ที่ยังไม่ได้ซักมีสารเคมีที่เป็นพิษตกค้างอยู่ เช่น บทความเรื่อง Quinolines in clothing textiles—a source of human exposure and wastewater pollution? ในวารสาร Analytical and Bioanalytical Chemistry ของปี 2014 ซึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์มในสวีเดนได้ทดสอบเสื้อผ้า 31 ตัวอย่างที่ซื้อจากร้านค้าปลีกที่มีความหลากหลายทั้งในด้านสี วัสดุ ยี่ห้อ และราคาจากบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ จอร์เจีย โปรตุเกส จีน บัลแกเรีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี กัมพูชา สวิตเซอร์แลนด์ อียิปต์ อิตาลี ปากีสถาน โปแลนด์ ซึ่งผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า ตรวจพบสารเคมีกลุ่ม “ควิโนลีน (quinoline)” และอนุพันธ์อีก 10 ชนิด ใน 29 ตัวอย่าง โดยระดับของสารเคมีกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูงเป็นพิเศษในเสื้อผ้าโพลีเอสเตอร์ สำหรับสารประกอบ Quinoline ต่าง ๆ ที่ถูกใช้ในการผลิตสีย้อมเสื้อผ้านั้น หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา หรือ EPA ได้จัดว่าเป็น " possible human carcinogen" (เป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์) เนื่องจากการศึกษาบางเรื่อง เช่น Tumor-Initiating Activity of Quinoline and Methylated Quinolines on The Skin of Sencar Mice ในวารสาร Cancer Letters ของปี 1984 ได้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสารกลุ่มนี้กับการกระตุ้นเนื้องอกในหนูทดลอง เพียงแต่ว่ายังไม่มีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง         นอกจากนี้สารเคมีอีกชนิดที่พบได้ในเสื้อผ้าใหม่คือ ไนโตรอะนิลีน (Nitroaniline) ซึ่งใช้ในการสังเคราะห์สีย้อมผ้ากลุ่มเอโซ (Azo dyes) นั้นมีบทความเรื่อง NTP Toxicology and Carcinogenesis Studies of p-Nitroaniline (CAS No. 100-01-6) in B6C3F1 Mice (Gavage Studies) ใน National Toxicology Program technical report series ปี 1993 ที่ระบุหลักฐานการศึกษาในสัตว์ทดลองที่เชื่อมโยงผลเสียเนื่องจากสารเคมีนี้ต่อสุขภาพผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้น (ซึ่งรวมถึงมะเร็ง) ถ้าสารเคมีบางส่วนยังคงติดอยู่ในเส้นใยของเสื้อผ้า                 MDA เป็นสารที่นำมาใช้สำหรับผลิตโพลียูรีเทน ซึ่งมีการนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตเส้นใยสแปนเด็กซ์ (Spandex) ที่ยืดแล้วหดกลับได้เท่ากับขนาดเดิม และสามารถรีดให้เรียบได้ด้วยเตารีดที่อุณหภูมิต่ำ ทนต่อเหงื่อไคลและไขมันจากร่างกายได้ดีกว่ายางธรรมชาติ ใยสแปนเด็กซ์ถูกย้อมสีต่างๆ ได้ ทนต่อการขัดสีและทนต่อปฎิกริยาออกซิเดชั่นดี จึงมีความนิยมนำมาใช้ทำเป็นส่วนหนึ่งของชุดชั้นในสตรี ชุดอาบน้ำ ขอบถุงเท้า ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ต้องการให้มีการยืดกระชับ เช่น ผ้าพันข้อเท้าและหัวเข่า ผ้าพันกล้ามเนื้อ เป็นต้น ดังนั้นสินค้าเหล่านี้จึงอาจมี MDA ตกค้างได้         นอกจากสาร MDA แล้วเครื่องนุ่งห่มต่างๆ มักถูกย้อมด้วยสีกลุ่มเอโซซึ่งหลายชนิดสหภาพยุโรปห้ามใช้หรือจำกัดการหลงเหลือของสี ทั้งที่สีบางชนิดไม่ได้ก่อมะเร็งด้วยตัวมันเอง เพียงแต่ขณะใช้อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารก่อมะเร็งได้ ดังแสดงในบทความเรื่อง Formation of a carcinogenic aromatic amine from an azo dye by human skin bacteria in vitro ในวารสาร Human & Experimental Toxicology ของปี 1999 ซึ่งให้ข้อมูลว่า สีย้อมเอโซบางชนิดถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารประกอบแอโรแมติกอะมีนโดยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง อีกทั้งมีข้อมูลทางพิษวิทยาว่า สารประกอบแอโรแมติกอะมีนหลายชนิดถูกดูดซึมได้ทางผิวหนัง โดยในการศึกษานี้ผู้วิจัยได้นำเอา Direct Blue 14 (สีเอโซชนิดหนึ่งซึ่งมักถูกใช้สำหรับผ้าฝ้าย ป่าน ไหมเทียม และเส้นใยเซลลูโลสอื่นๆ) มาผสมกับเชื้อ Staphylococcus aureus (พบได้ทั่วไปบนผิวหนังมนุษย์) แล้วบ่มในเหงื่อสังเคราะห์ (20 มิลลิลิตร, pH 6.8) ที่ 28 องศาเซลเซียส นาน 24 ชั่วโมง จากนั้นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากปฏิกิริยาถูกสกัดและวิเคราะห์โดยใช้ HPLC ที่มีชุดตรวจวัดเป็น mass spectrometer ทำให้ตรวจพบสาร o-tolidine (3,3'-dimethylbenzidine) ซึ่งเป็นสารพิษในระดับ IARC Group 2B carcinogen (อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์) และอนุพันธ์ของ Direct Blue 14 อีกสองชนิดซึ่งยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยที่ชัดเจน         บทความที่ศึกษาในประเด็นเดียวกันอีกเรื่องคือ Azo dyes in clothing textiles can be cleaved into a series of mutagenic aromatic amines which are not regulated yet ในวารสาร Regulatory Toxicology and Pharmacology ของปี 2017 ให้ข้อมูลว่า สีย้อมเอโซเป็นสีที่แบคทีเรียที่ผิวหนังหลายชนิดสามารถเปลี่ยนแปลงสีชนิดนี้ไปเป็นแอโรแมติกอะมีน ซึ่งอาจถูกดูดซึมทางผิวหนังในปริมาณที่อาจก่อปัญหา เพราะเป็นที่ทราบกันว่า สีเอโซต่างๆ อาจถูกเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งชนิดแอโรแมติกอะมีนชนิดใดชนิดหนึ่งใน 22 ชนิดที่ถูกห้ามพบในสิ่งทอที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป (ดูรายละเอียดได้จาก เอกสาร COMMISSION REGULATION (EC) No 552/2009 of 22 June 2009) และผลการทดสอบจาก Ames Test (การทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์) ซึ่งใช้ทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ในการศึกษานี้พบว่า แอโรแมติกอะมีน 4 ชนิดเป็นสารก่อกลายพันธุ์ ซึ่งเมื่อนับรวมกับข้อมูลเดิมที่เปิดเผยต่อสาธารณะแล้วว่า มีสีที่ถูกเปลี่ยนเป็นสารก่อกลายพันธุ์ 36 ชนิด จึงทำให้ระบุได้ว่า จากสีเอโซ 180 ชนิด (ซึ่งนับเป็น 38% ของสีย้อมเอโซในฐานข้อมูลสีย้อมผ้า) ถูกเปลี่ยนโดยแบคทีเรียบนผิวหนังไปเป็นแอโรแมติกอะมีนที่ก่อกลายพันธุ์ได้ 40 ชนิด        ผู้บริโภคหลายท่านอาจไม่เคยทราบว่า โดยปรกติแล้วเสื้อผ้าที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมมักใช้สารเคมีหลายชนิดช่วยในการผลิต (ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องเปิดเผยสิ่งเหล่านี้แก่ผู้บริโภค) สารเคมีหลายชนิดนั้นรวมถึงสารเคมีกันน้ำและกันน้ำมัน ที่นิยมกันคือ ฟลูออโรเซอร์แฟกแตนต์ (fluorosurfactant ที่ใช้มากคือ Per- and polyfluoroalkyl substances หรือ PFAS ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับสารเคลือบกระทะชนิดที่ไม่ต้องใช้น้ำมันคือ Polytetrafluoroethylene (PTFE)) ที่มีงานวิจัยเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลยที่รายงานถึงความปลอดภัย         การซักเสื้อผ้าก่อนใส่นั้นทำให้โอกาสเสี่ยงอันตรายจากสารเคมีหมดไปหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่เสมอไป” เพราะยังอาจมีสารเคมีอื่นๆ ที่อาจทยอยหลุดออกจากเสื้อผ้าสู่ผิวหนังเมื่อเสื้อผ้ามีอายุและเสื่อมสภาพ หรือกำลังสวมระหว่างการเล่นกีฬาจนเหงื่อซก ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรเปลี่ยนเสื้อที่สวมใส่เล่นกีฬาจนเปียกเหงื่อระหว่างเล่นกีฬาบ้าง ทั้งนี้เพราะสารเคมีที่หลุดออกมาได้เหล่านี้ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างดีเกี่ยวกับการดูดซึมของผิวหนังหรือผลกระทบต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ………… การระบุเส้นใยธรรมชาติ 100 %              ผู้บริโภคทั่วไปมักมีความคิดว่า วัสดุสังเคราะห์มักใช้สารเคมีมากกว่าเส้นใยธรรมชาติ ดังนั้นจึงพบได้เสมอว่า มีเสื้อผ้าที่ระบุว่าผลิตจาก 'ผ้าฝ้าย 100%' เพื่อให้ผู้บริโภคดีใจว่าอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาตินั้น มักไม่บอกข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารเคมีหรือสารเติมแต่งใดที่ถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงเส้นใยเพื่อเพิ่มมูลค่า และถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า เสื้อผ้าฝ้ายแบรนด์เนมที่ติดฉลากว่าเป็น ผ้าฝ้าย 100% นั้น บางตัวใส่สบายมากแต่ถ้าพ่อไม่รวยพอคงซื้อใส่ไม่ไหวแน่        นิตยสารฉลาดซื้อฉบับที่ 149 ในปี 2556 เคยรายงานผลการเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชาย (สีดำ) มาตรวจหาสารก่อมะเร็งที่ปนในสีย้อมและฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับย่น) แล้วต่อมาในฉลาดซื้อฉบับที่ 259 ประจำเดือน กันยายน 2565 ฉลาดซื้อได้รายงานผลทดสอบกางเกงชั้นในชายสีดำอีกครั้งเพื่อเป็นการติดตามผลจากครั้งแรกซึ่งพบว่า กางเกงชั้นในสำหรับผู้ชาย 3 ตัวอย่าง ที่ตรวจทั้งหมดนั้นมีสีย้อมที่ให้สารประกอบแอโรแมติกอะมีนเกินกำหนดคือ กางเกงในชื่อดังราคา 1090 บาทต่อ 6 ตัว (พบ 61.40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) กางเกงในราคา 169 บาทต่อ 2 ตัว (พบ 59.89 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และมีกางเกงในอีกหนึ่งยี่ห้อที่ตรวจพบแม้ไม่เกินมาตรฐานซึ่งขาย 169 บาทต่อ 2 ตัวเช่นกัน (พบ 14.55 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) สำหรับสารเคมีที่ตรวจพบนั้นคือ 4,4'-ไดอะมิโนไดฟีนิลเม็ทเทน (4,4'-Diaminodiphenylmethane) หรืออีกชื่อคือ 4,4'-เมทิลีนไดแอนิลีน (4,4’-Methylenedianiline หรือ MDA) ได้ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในสถานที่ทำงาน โดย US National Institute for Occupational Safety and Healthของสหรัฐอเมริกา สำหรับในประเทศไทยนั้น MDA เป็นสารเคมี 1 ใน 24 ชนิดที่ถูกห้ามพบในสินค้าต่างๆ ตามมาตรฐาน มอก. 2346-2550        เคยมีบทความเรื่อง Detection of azo dyes and aromatic amines in women under garment ในวารสาร Journal of Environmental Science and Health, Part A: Toxic/Hazardous Substances and Environmental Engineering ของปี 2016 ได้รายงานถึงการประเมินตัวอย่างชุดชั้นในสตรีจำนวน 120 คอลเลคชั่นที่ถูกซื้อจากหลายห้างสรรพสินค้าเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่า มีการปล่อยสารประกอบแอโรแมติกอะมีนสู่ผิวหนังเพียงใด ผลการวิเคราะห์พบว่า 74 ตัวอย่าง ตรวจพบสารกลุ่มแอโรแมติกอะมีนในระดับต่ำ ในขณะที่ 18 ตัวอย่างพบสารกลุ่มแอโรแมติกอะมีนสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ppm)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2566

พบจุลินทรีย์เกินมาตรฐาน ใน “ก๋วยเตี๋ยวเรือสำเร็จรูป”        สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดผลทดสอบก๋วยเตี๋ยวเรือสำเร็จรูปร่วมกับทางสาธารณสุข จ.นนทบุรี พบตัวอย่างอาหารบรรจุถุงพลาสติกสีแดงฉลากระบุว่า “เลอรส” เครื่องหมายการค้าจดทะเบียน ก๋วยเตี๋ยวเรือเส้นเล็ก โดยเลขสารบบอาหาร 12-2-01765-6-0002 วันผลิต 01/02/23 และวันหมดอายุ 01/05/23 พบจุลินทรีย์เกิดโรค Bacillus cereus  6,600 CFU/กรัม ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 416) พ.ศ. 2563 พ.ร.บ. พ.ศ.2522 ได้กำหนดให้ Bacillus cereus ในเครื่องปรุง ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น ได้ไม่เกิน 1,000 CFU/กรัม ถือว่าเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ต่อมาทางบริษัทก๋วยเตี๋ยวเรือเลอรสได้ออกมาชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊กว่า “ก๋วยเตี๋ยวเรือกึ่งสำเร็จรูป เส้นเล็ก”ดังกล่าวได้มีการให้ทาง อย. อายัดล็อตดังกล่าวแล้วและไม่นำออกมาจำหน่ายอีก หิ้วผลไม้เข้าไทย มีโทษปรับ 2 หมื่น-คุก 1 ปี        กรมวิชาการเกษตร แจ้งถึงการนำเข้าผลไม้สดเข้ามายังประเทศไทย ระบุหากไม่สำแดงใบรับรองสุขอนามัยพืชผ่านเข้ามายังประเทศไทยในทุกช่องทางจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507 (และแก้ไขเพิ่มเติมมีโทษทั้งจำและปรับ)         อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า ขอแจ้งเตือนถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับเข้าประเทศให้ระวังการกระทำดังกล่าว ซึ่งอาจจะไม่ได้มีเจตนากระทำผิดเพราะหากมีการตรวจพบจะถูกดำเนินการตามกฎหมายมีโทษทั้งจำและปรับและสินค้าจะทำการยึดเพื่อไปทำลายตามกฎหมายกักพืช ที่ผ่านมาพบว่า นักท่องเที่ยวมักจะซื้อตามคำแนะนำของไกด์นำเที่ยว จึงฝากให้ประชาชนระมัดระวังเพื่อไม่ต้องเสียเงินกับสินค้ากลุ่มนี้และฝ่าฝืนจะมีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 21 จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เตือนซื้อตั๋วรถไฟนอกระบบ เสี่ยงถูกโกง         นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้แจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวังกลุ่มมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบต่างๆ โดยมีการนำตั๋วรถไฟปลอมมาจำหน่ายหรือมีการเปิดรับจองตั๋ว การให้โค้ดจองหรือการซื้อขายตั๋วโดยสารนอกระบบ ซึ่งจะทำให้เสียทั้งทรัพย์และเวลา โดยไม่สามารถเดินทางได้จริง ที่ผ่านม พบว่ามีประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อแล้ว เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นผู้โดยสารได้ซื้อตั๋วมาทางเฟซบุ๊ก  ดังนั้นการรถไฟฯ จึงขอเตือนให้ทุกคนระวังการซื้อตั๋วจากคนภายนอกหรือสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ใช่ของการรถไฟฯ โดยตรง เพราะอาจเป็นตั๋วที่ปลอมแปลงขึ้นมา และระวังอย่าหลงเชื่อบุคคลที่แอบอ้างเป็นพนักงานการรถไฟฯ และนำตั๋วไปขายต่อเพราะถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย เปิดสถิติอุบัติเหตุบนถนนคร่าชีวิต "ผู้สูงวัย"         เปิดสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนไตรมาสแรกไทย พบ กทม.เกิดเหตุสูงที่สุด ช่วงเวลาก่อน 6 โมงเช้า เหตุคนต้องรีบออกจากบ้านเดินทางไปทำงาน ขณะที่ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากท้องถนนเกือบหมื่น บาดเจ็บร่วม 2 แสน         ไทยพีบีเอสออนไลน์เปิดสถิติจาก ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนระบุว่า ในรอบ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564 ) ที่ผ่านมา มีผู้ประสบภัยในช่วงอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 9.43 จากจำนวนประชากรทั้งหมดที่เสียชีวิต 44,810 คนและบาดเจ็บ 1,945,345 คน เมื่อพิจารณาเฉพาะสัดส่วนผู้ประสบภัยที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พบว่าในช่วง 5 ปี เสียชีวิต 7,526 คน บาดเจ็บ 179,978 คน ส่วนใหญ่เป็นคนขับยานพาหนะนั้นๆ สูงถึงร้อยละ 7.71 รองลงมาคือผู้โดยสารร้อยละ 1.22 และบุคคลอื่นๆ ร้อยละ 0.5         ข้อมูลจากกลุ่มพัฒนานโยบายและสารสนเทศการบาดเจ็บจราจร กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค เรื่อง "คนเดินเท้าเสียชีวิตในประเทศไทย" ช่วง 1 ม.ค. - 2 เม.ย. 2566 พบผู้เสียชีวิตสูงถึง 60 คน พาหนะที่ชนมากที่สุดคือรถยนต์และรถกระบะ โดยช่วงเวลาเกิดเหตุมากที่สุดคือ 03.00-05.59 น. เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนพลุกพล่านทั้งเพื่อให้ทันเวลาเข้างานในช่วงเช้า รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่คนเดินเท้าเดินทางไปขึ้นรถเมล์หรือรถสาธารณะหรือออกไปซื้อของที่ตลาดหรือไปออกกำลังกายในตอนเช้า ทำให้ผู้เดินเท้าอาจขาดการประเมินความเสี่ยงและคาดการณ์อุบัติเหตุ ไม่ระมัดระวังในการเดินข้ามถนนหรือเดินในบริเวณที่ไม่ได้จัดให้คนเดินเท้าใช้ในการสัญจร ไม่ว่าจะเป็นทางแยก ทางข้าม หรือทางม้าลาย จึงทำให้ถูกพาหนะที่วิ่งบนถนนชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกระตุ้นรัฐให้ความสำคัญการโดยสารรถสาธารณะปลอดภัย         11 เมษายน พ.ศ.2566  นางนฤมล เมฆบริสุทธ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ กล่าวว่า จากประเด็นข่าวเผยแพร่ถึงเหตุการณ์ที่เจ้าของบริษัททัวร์บังคับให้คนขับรถ ขับรถไป-กลับ ระหว่าง ชัยภูมิ-กรุงเทพฯ เป็นจำนวน 3 รอบติดกันโดยไม่ได้พักนั้น น่ากังวลว่า ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์นี้ ที่จะมีผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเดินทางกลับต่างจังหวัดจำนวนมากอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนจนเกิดอันตรายทั้งผู้โดยสารและรถที่อยู่บนท้องถนน ซึ่งเป็นปัญหาที่ร้ายแรงเพราะสร้างผลกระทบไม่ใช่แค่ผู้ประสบเหตุแต่กระทบไปถึงครอบครัวที่ต้องสูญเสียบุคคลสำคัญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องมีมาตรการการลงโทษกับผู้ประกอบการเพื่อมิให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ เนื่องจากในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาวทั้งในช่วงสงกรานต์ และรวมไปถึงช่วงเดือนพฤษภาคม อาจจะมีการฉวยโอกาสกระทำแบบเดิมเพราะเป็นช่วงที่ผู้บริโภคมีความต้องการใช้บริการรถโดยสารในการเดินทาง รวมถึงกรณี รถผี รถเถื่อน หรือรถที่ไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการขนส่งแต่ผู้ประกอบการนำมาใช้ในการให้บริการกับผู้บริโภค         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง ในการตรวจจับรถที่ผิดกฎหมายเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดปัญหาและเสนอให้ผู้ประกอบการรถโดยสาร เพิ่มจำนวนรถและกำลังคนขับเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ผลสำรวจฉลากยาดม ตอนที่ 1

        อากาศเมืองไทยตลอดปีมีทั้งร้อน ร้อนมาก ร้อนสุดๆ ทำให้หลายคนเกิดอาการหน้ามืด วิงเวียน คล้ายจะเป็นลม จึงต้องมียาดมพกไว้ให้พร้อมเพื่อผ่อนคลายอาการซึ่งนี่เป็นเพียงเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตลาดยาดมเติบโตมีมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านต่อปี โดยนอกจากสำรวจพบว่าคนไทย 10% ใช้ยาดม และใช้อย่างน้อยเดือนละ 2 หลอดแล้ว (ข้อมูล : Nielsen ประเทศไทย) ปัจจุบันยาดมของไทยยังเป็นของฝากที่นักท่องเที่ยวต้องหิ้วกลับไปอีกด้วย อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่ายาแล้วก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญด้วย เพราะยาดมในรูปแบบต่างๆ นั้น หาซื้อได้ง่ายในราคาไม่แพง         ส่วนประกอบหลักๆ ในยาดม คือเมนทอล การบูร พิมเสน น้ำมันหอมระเหยต่างๆ ซึ่งจะทำให้รู้สึกเย็นซ่าในโพรงจมูก สดชื่น ตื่นตัวได้ แต่การสูดดมสารเหล่านี้บ่อยๆ อาจเสี่ยงทำให้เยื่อเมือกบุทางเดินจมูกที่สัมผัสกับกลิ่นที่เข้มข้นเป็นประจำเกิดการระคายเคืองได้         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ยาดมที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นไว้ใช้ดมหรือทาแก้วิงเวียนและคัดจมูก ทั้งแบบหลอด แบบน้ำ และแบบขี้ผึ้ง จำนวน 22 ตัวอย่าง 16 ยี่ห้อ เมื่อเดือนมีนาคม 2566 มาสำรวจการแสดงข้อความบนฉลาก ส่วนประกอบที่พึงระวัง และเปรียบเทียบราคา เพื่อนำเสนอเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไปผลการสำรวจฉลาก        จากยาดม 22 ตัวอย่าง แบ่งเป็น รูปแบบหลอด 8 ตัวอย่าง แบบน้ำ 13 ตัวอย่าง และแบบขี้ผึ้ง 1 ตัวอย่าง พบว่า        ·     ทุกตัวอย่าง ระบุ ‘ชื่อยา’ ‘เลขทะเบียนตำรับยา’ ‘เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตหรือวิเคราะห์ยา’ ‘วัน เดือน ปี ที่ผลิต-หมดอายุ’ และ ‘คำเตือน เช่น  ยาใช้ภายนอก  ยาใช้เฉพาะที่ ห้ามรับประทาน หรือ For external use only’ ไว้บนฉลาก         ·     มี 16 ตัวอย่าง ระบุเป็น ‘ยาสามัญประจำบ้าน’ โดยปรากฏสัญลักษณ์ คิดเป็น 72.73 %  ของตัวอย่างทั้งหมด        ·     มี 18 ตัวอย่าง แสดง ‘คำระบุบนฉลาก’ ว่าเป็น ยาแผนโบราณ หรือ ยาแผนไทย        ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 หน่วย (ซีซี / มิลลิลิตร / กรัม)            - จากตัวอย่างยาดมทั้งหมด พบว่า ยาดมพิมเสนน้ำ ตราหงส์ไทย(ขวดแก้ว) แพงสุด คือ 16.88 บาท / ซีซี  ส่วนยี่ห้อไอซ์ เจลลิ บาล์ม  ถูกสุด คือ 2.86 บาท / กรัม            - จากตัวอย่างยาดมแบบหลอด พบว่า ยาดมตราพาสเทล แพงสุด คือ 16.67 บาท / มิลลิลิตร  ส่วน ยาดมพีเป๊กซ์  ถูกสุด คือ 8 บาท / ซีซี / หลอด            - จากตัวอย่างยาดมแบบน้ำ พบว่า พิมเสนน้ำตราโป๊ยเซียน(กระปุก) ถูกสุด คือ 4 บาท /ซีซี ข้อสังเกต        ·     มี 4 ตัวอย่าง ที่ไม่ระบุว่ามี ‘การบูร’ ในส่วนประกอบ ได้แก่ ยาดมพีเป๊กซ์ ยี่ห้อวาเป๊กซ์ เอชอาร์ พิมเสนน้ำและยาหม่องน้ำ ตราขาวละออ        ·     ยาดมพีเป๊กซ์ มีเมทิล ซาลิไซเลต (Methyl Salicylate) ปริมาณ 0.05% ในส่วนประกอบ ซึ่งสารนี้มีคุณสมบัติแก้ปวดเมื่อย            ·     ยาหม่องน้ำเซียงเพียวอิ๊ว สูตร 1 มีอายุยาอยู่ที่ 5 ปี (ผลิต 21/7/22 หมดอายุ 21/7/27) ขณะที่ตัวอย่างอื่นๆ มีอายุยาอยู่ที่ 2 - 3 ปี          ·     ยี่ห้อไอซ์ เจลลิ บาล์ม และยาดมตราพาสเทล แสดงคำว่า “ยาสิ้นอายุ” ไว้บนฉลาก โดยไม่ได้เป็นยาสามัญประจำบ้าน        ·     เมื่อดูตามเกณฑ์ข้อความที่ต้องแสดงบนฉลากในกลุ่มที่เป็น’ยาสามัญประจำบ้าน’ พบว่า            - ยาดมผสมสมุนไพร ตราหงส์ไทย สูตร 2 (หลอด) ไม่ระบุปริมาณของยาที่บรรจุ            - ยาดมสมุนไพร ตราอภัยภูเบศร และยาหม่องน้ำขาวละออ ไม่ระบุปริมาณของส่วนประกอบ            - มีเพียง 2 ตัวอย่าง ที่แสดงคำว่า “ยาสิ้นอายุ” ได้แก่ ยี่ห้อวาเป๊กซ์ เอชอาร์ และยาดมท่านเจ้าคุณ            - พิมเสนน้ำตราโป๊ยเซียน(กระปุก) ไม่ระบุชื่อผู้ผลิตและจังหวัดที่ตั้งสถานที่ผลิตยา ฉลาดซื้อแนะ        ·     หลายคนเลือกซื้อยาดมเพราะติดกลิ่นและใช้แล้วเห็นผลดั่งใจ แต่ก็อย่าลืมเลือกที่มีเลขทะเบียนยาถูกต้องด้วย หรือเลือกที่มีสัญลักษณ์ยาสามัญประจำบ้าน เพื่อความปลอดภัยในระดับหนึ่ง        ·     เภสัชกรแนะนำว่า ยาหม่องน้ำซึ่งมีข้อบ่งใช้คือทาแก้อาการปวดเมื่อย ที่มีเมทิล ซาลิไซเลต เป็นตัวยาหลักนั้น ไม่ควรนำมาใช้สูดดม เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ        ·     การบูร เป็นสารกระตุ้นในระบบประสาทชนิดหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการเสพติดได้ หากสูดดมกลิ่นที่เข้มข้นของการบูรบ่อยๆ อาจทำให้แพ้หรืออักเสบได้ เช่น โพรงจมูกอักเสบ ติดเชื้อในโพรงจมูก ไซนัสอักเสบ เยื่อบุโพรงจมูกเสียหาย และการระคายเคืองที่อาจรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบได้ จึงไม่ควรสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานาน และใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้นหลีกเลี่ยงพฤติกรรมติดยาดม คือหยิบมาสูดดมหรือทาเป็นประจำ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีอาการวิงเวียนหรือคัดจมูกใดๆ เพราะอาจเสี่ยงได้รับสารต่างๆ ในยาดมเกินความจำเป็น  และทำให้เสียบุคลิกอีกด้วยข้อมูลอ้างอิง  mahidol.ac.th บทความ ยาดมมีอันตรายหรือไม่BrandAge Onlinehttps://wizsastra.com/2017/10/15/householddrugs/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2566

ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าดำเนินคดีทุกราย!         สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยมีประชาชนร้องเรียนว่าพบมีการลักลอบเปิดร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วไป รวมทั้งนักศึกษาในบริเวณตลาดถนนคนเดินใกล้มหาวิทยาลัยชื่อดัง ย่านเขตประเวศ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.อุดมสุข ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งพบผู้กระทำผิดจริงในขณะกำลังเปิดร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าหลายราย พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเพื่อดำเนินการยึดบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าและควบคุมตัวผู้กระทำผิดไปที่ สน.อุดมสุข เพื่อดำเนินคดีฐานขายบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า  ทั้งนี้ สคบ. ขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าหรือน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หากพบจะดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดทุกราย         "บุหรี่ไฟฟ้า"  เป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยผู้ครอบครองหรือรับฝากไว้จะมีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีผู้ขายหรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้เคยมีคำสั่งที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” ดังนั้นผู้ใดขายหรือให้บริการ โดยมีค่าตอบแทนรวมถึงการซื้อมาเพื่อขายต่อ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถูกตัดคะแนนใบขับขี่ ขอคะแนนคืนได้         หลังจากมีประกาศจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติสำหรับมาตรการตัดแต้มใบขับขี่ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่าหากผู้ขับขี่รายใดถูกตัดคะแนนจนเหลือน้อยกว่า 6 คะแนน ท่านสามารถขอคะแนนคืนได้ด้วยการเข้าอบรม ที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศซึ่งมีการเปิดอบรมให้ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น โดยสามารถจองคิวผ่านทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ DLT Smart Queue แอปพลิเคชัน DLT Smart Queue (การเข้าอบรมจะมีค่าใช้จ่ายตามหลักสูตร)            กรณีที่ถูกตัดแต้มใบขับขี่จนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักอนุญาตใบขับขี่ (ห้ามขับรถทุกประเภทเป็นเวลา 90 วัน) และหากฝ่าฝืนขับรถขณะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   คนไทยป่วยจากมลพิษทางอากาศ 1.32 ล้านคน         นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์หมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็กด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2566 พบว่ามีพื้นที่มีค่าฝุ่น PM. เกิน 51 มคก./ลบ.ม. และเริ่มกระทบต่อสุขภาพ ติดต่อกันเกิน 3 วัน จำนวน 15 จังหวัด และ กทม. 50 เขต โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว 15 จังหวัด และกำลังเปิดเพิ่ม 6 จังหวัด ในส่วนพื้นที่ค่าฝุ่นมากกว่า 51 มคก./ลบ.ม. แต่ไม่ต่อเนื่องเกิน 3 วัน มีทั้งหมดจำนวน 36 จังหวัด         ทั้งนี้การเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.- 5 มี.ค. 66 นั้น พบว่ามีผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศรวม 1,325,838 คน กลุ่มผู้ป่วยสูงสุดได้แก่ โรคทางเดินหายใจ 583,238 คน โรคผิวหนังอักเสบ 267,161 คน โรคตาอักเสบ 242,805 คน โรคหัวใจ หลอดเลือดและสมอง 208,880 คน น้ำตาเทียมที่พบเชื้อแบคทีเรีย 2 ยี่ห้อในอินเดียยังไม่มีขายในไทย        จากกระแสข่าวที่มีศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) นั้น มีการพบเชื้อแบคทีเรียในน้ำตาเทียม 2 ยี่ห้อ ได้แก่ EzriCare และ Delsam Pharma โดยมีผลิตในประเทศอินเดีย ซึ่งน้ำยาดังกล่าวทำให้ส่งผลกระทบให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน สูญเสียการมองเห็นถึง 8 คนและต้องผ่าลูกตากว่า 4 คนนั้น           สำนักงานคณะกรรมการอาหารและ(อย.) ระบุจากการตรวจสอบของทาง อย.ไม่พบว่ามีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และไม่พบข้อมูลจำหน่ายทางออนไลน์ในไทย โดยทาง อย.มีมาตรการที่เข้มงวดในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ทั้งการนำเข้าและจัดจำหน่ายในประเทศ รวมทั้งมีการติดตามข่าวผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยในต่างประเทศอย่าใกล้ชิดเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ขอให้ผู้บริโภควางใจ มพบ. ยื่นฟ้อง กสทช. กรณีปมควบรวม ทรู-ดีแทค         8 มีนาคม 2566 นายเฉลิมพงษ์ กลับดี และนางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล ได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ยื่นฟ้องคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(สนง.กสทช) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนมติ กสทช. กรณีอนุมัติให้ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการ ชี้เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมนัดพิเศษของ กสทช. ครั้งที่ 5/2565 วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้เอกชน มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 อนุมัติให้ควบรวมธุรกิจ ทรู-ดีแทค โดยไม่รับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วไป ไม่นำรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบ รับฟังความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ (บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด) เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง        กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า จากเหตุนี้ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ เพราะเมื่อประเทศไทย เหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 2 เจ้า อย่างเป็นทางการ และบริษัทใหม่กลายเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 ทันที มีส่วนแบ่งการตลาดเกินกว่าร้อยละ 50 ก่อให้เกิดการผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคม โดยไม่ได้เกิดการพัฒนาด้านคุณภาพ สุ่มเสี่ยงต่อการฮั้วราคา ส่งผลต่อค่าโทรศัพท์ที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ถึง 200 รวมทั้งตลาดมือถือจะอยู่ในภาวะ การแข่งขันตกต่ำ ยากเกินจะฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพเดิม จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ คณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคลงมติ ยื่นฟ้อง คณะกรรมการ กสทช.และ สำนักงาน กสทช. เป็น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ส่วนต่าง 0.75 สตางค์

        ชายคนหนึ่งรู้สึกมาโดยตลอดว่า มือถือแบบเติมเงินที่เขาใช้ มักถูกตัดเงินไม่ค่อยตรงตามการใช้งาน ในความเข้าใจของเขา โปรฯ หรือแพ็กเกจ หรือรายการส่งเสริมการขายที่เขาใช้ คิคค่าโทรนาทีละ 70 สตางค์ แต่เงินในระบบที่เขาเติมไว้มักถูกตัดออกไปเกินปริมาณการใช้งานทำให้เงินหมดลงเร็วเกินควรอย่างไม่สัมพันธ์กับการใช้งาน แต่เขาก็ไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขารู้สึกว่าเกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพียงใด         จนกระทั่งวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2565 เขาโทรออก 1 ครั้งโดยใช้เวลาคุยประมาณ 50 วินาที ก่อนการโทรครั้งนั้นเขาได้ตรวจสอบเงินคงเหลือในระบบ และพบว่ามีจำนวน 197.45 บาท แต่หลังการโทร เงินคงเหลืออยู่ที่ 196.64 บาท ซึ่งเขาได้เก็บภาพหน้าจอยอดเงินคงเหลือทั้งสองช่วงนั้นไว้เป็นหลักฐาน รวมถึงบันทึกประวัติการโทรรายการดังกล่าว ด้วยหลักฐานเหล่านี้ เขาจึงร้องเรียนเข้ามายัง กสทช.         ข้อเรียกร้องของเขาคือ ต้องการให้บริษัทผู้ให้บริการคืนเงินที่เก็บไปเกิน และมีหนังสือชี้แจงรายละเอียด พร้อมทั้งขอให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย คือตรวจสอบว่ามีการทำผิดหรือไม่ หากผิดก็ขอให้ลงโทษด้วย         น้ำเสียงของการร้องเรียนกรณีนี้จึงผสมผสานทั้งการพิทักษ์สิทธิประโยชน์ส่วนตนกับการธำรงความเป็นธรรมและความถูกต้อง        สำหรับข้อมูลที่ทางบริษัทชี้แจงมา บ่งบอกให้รู้ว่า โปรฯ ที่ผู้ร้องใช้คือนาทีละ 75 สตางค์ โดยยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นจำนวนที่เรียกเก็บจึงเป็นอัตราที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย         ข้อชี้แจงของบริษัทถือว่าฟังขึ้นและมีความกระจ่างในทางหลักการเหตุผล ดูเผิน ๆ แล้ว เรื่องร้องเรียนนี้จึงสมควรที่จะยุติลงได้ ถ้าหากว่าจะไม่มีปีศาจอยู่ในรายละเอียด กล่าวคือ เมื่อนำยอด 197.45 เป็นตัวตั้ง ลบด้วย 196.64 เท่ากับว่าราคาที่บริษัทเก็บในการโทร 1 นาทีนั้นคือ 81 สตางค์ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ vat ที่เก็บไปจึงอยู่ที่ 6 สตางค์ แต่ด้วยอัตรา vat ของไทย 7% เมื่อคิดเทียบกับต้นเงิน 75 สตางค์แล้ว vat ต้องอยู่ที่ 5.25 สตางค์         ราคาของการโทรรายการนี้รวม vat จึงอยู่ที่ 80.25 สตางค์ หรือถ้าไม่ต้องการให้มีเศษ ก็ควรเก็บที่ 80 สตางค์เท่านั้น เนื่องจากหลักการปัดเศษทางภาษีใช้หลักเดียวกับคณิตศาสตร์ทั่วไป นั่นคือถ้าน้อยกว่า 5 ต้องปัดลง         เนื่องจากผู้ร้องเรียนสำคัญผิดว่า ตนเองใช้โปรฯ นาทีละ 70 สตางค์ อีกทั้งยังคิดเลขผิด จึงนิยามปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเป็นการเรียกเก็บค่าบริการเกินกว่าแพ็กเกจหรือสัญญา แต่ผลการตรวจสอบทำให้พบว่า ปัญหาของกรณีนี้เป็นเรื่องการปัดเศษภาษีโดยไม่ถูกต้อง         แม้ความไม่ถูกต้องที่ว่าจะทำให้ผลลัพธ์ในเชิงตัวเงินก่อให้เกิดส่วนต่างเพียงไม่ถึง 1 สตางค์ แต่กรณีนี้กลับสะท้อนประเด็นปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า การปัดเศษเช่นนี้ดูจะเป็นแนวปฏิบัติปกติของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มิติที่เป็นที่รู้กันมาก่อนหน้าแล้วก็คือ การปัดเศษเรื่องเวลาการโทร และที่จริงแล้วก็มีการปัดเศษในเรื่องปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตด้วย โดยอุตสาหกรรมนี้เลือกปัดเศษในทิศทางปัดขึ้นเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นยังไม่ใช่การปัดในระดับยอดรวม แต่ปัดเศษในทุก ๆ ครั้งของการโทรเลยทีเดียว         ในเรื่องของการปัดเศษเวลาการโทร ทั้งๆ ที่เมื่อหลายปีก่อน มีกระแสการรณรงค์เรื่องการคิดค่าโทรหรือค่าใช้บริการโทรคมนาคมโดยรวม “ตามจริง” ในความหมายที่ว่า ใช้เท่าไรก็คิดเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมและ กสทช. กลับอธิบายเรื่องนี้ไปในแนวทางที่ว่า เป็นเรื่องของการจัดโปรฯ หรือแพ็กเกจ ซึ่งโปรฯ แบบนาทีทำให้คิดอัตราค่าบริการต่ำได้ และการมีโปรฯ ทั้งแบบนาทีและวินาที ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น         จนปัจจุบันการคิดค่าบริการแบบปัดเศษจึงยังคงเป็นแนวปฏิบัติปกติเพียงแต่ในตลาดเพิ่มการมีโปรฯ หรือแพ็กเกจแบบคิดค่าบริการเป็นวินาทีให้เลือกใช้ด้วย        กลับมาในกรณีการปัดเศษ vat เป็นที่ชัดเจนว่า กรณีที่เกิดขึ้นก็เป็นการปัดเศษลักษณะรายครั้งเช่นเดียวกัน  ส่วนต่างระดับเศษเสี้ยวของสตางค์ที่แสนเล็กน้อยนี้ แท้แล้วจึงไม่เล็กน้อยเลยเมื่อคิดเป็นยอดในเชิงสะสมที่ผู้บริโภคแต่ละคนต้องจ่ายและยิ่งเป็นจำนวนมากมายมหาศาลอย่างยิ่งสำหรับในมุมของผู้รับ ในเมื่อจำนวนผู้ใช้บริการมือถือในประเทศนี้มีมากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศเสียด้วยซ้ำ         0.75 สตางค์ต่อการโทร 1 ครั้ง สมมติโทรเพียงวันละสองครั้ง ส่วนต่างก็จะกลายเป็น 1.5 สตางค์ต่อวัน และกลายเป็นปีละกว่า 5 บาท  หากคูณด้วยจำนวนคนเพียง 10 ล้านคน เงินส่วนต่างที่เริ่มจากเสี้ยวสตางค์ก็จะเป็นจำนวนมากถึงปีละ 50 ล้านบาท         กรณีนี้คืออีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพลังของเรื่องร้องเรียน โดยที่การลงแรงของผู้บริโภคที่ละเอียดละออคนหนึ่ง ทำให้ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นได้ถูกสะท้อนออกมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 “ท่อน้ำแตกเป็นเดือนแต่เจ้าของบ้านไม่รู้ตัว”

        ปัญหาของลูกบ้าน เมื่อซื้อบ้านจัดสรรแล้วเข้าอยู่อาศัยเกิดขึ้นอยู่เสมอ กรณีที่นำมาเล่าในฉบับนี้ เหตุเกิดจากท่อน้ำแตกแบบที่เจ้าของบ้านไม่รู้ตัวได้เลย ทำให้คุณวุฒิชัย วงศ์สิริวิทยา เจ้าของบ้านถูกเรียกเก็บค่าน้ำในรอบ 1 เดือน สูงถึง 18,635.01 บาท ซึ่งคุณวุฒิชัยไม่ได้ทำท่อน้ำแตกและคาดว่ามาจากการวางโครงสร้างผังบ้าน จึงร้องเรียนให้บริษัทเจ้าของโครงการหมู่บ้านรับผิดชอบค่าน้ำที่เขาได้จ่ายไปแล้ว...เรื่องราวจะจบลงอย่างไร มาติดตามกันเลยค่ะ ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นอย่างไร เมื่อไหร่         เกิดช่วงหลังปีใหม่ เจ้าหน้าที่การประปาเข้ามาจดมิเตอร์แล้วแจ้งว่า ค่าน้ำผิดปกติน่าจะมีท่อรั่วภายในบ้าน มิเตอร์ไม่ได้เสีย เพราะเจ้าหน้าที่โทรไปถามแล้ว เขาก็แจ้งว่าน่าจะท่อน้ำรั่วภายใน ผมจึงเพิ่งทราบตอนบิลค่าน้ำมาเรียกเก็บเลย รู้ตอนนั้นเลย ค่าน้ำผิดปกติ หน่วยค่าน้ำมันสูงกว่าปกติ เพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ค่าน้ำสูงมาก 18,600 กว่าบาทครับอาจมีคนถามว่า ท่อน้ำแตกเป็นเดือนแต่เจ้าของบ้านไม่รู้ตัวเลย เพราะอะไร         ทุกหมู่บ้าน ทุกโครงการจะมีแทงค์น้ำอยู่หลังบ้าน ลักษณะที่ท่อนำแตกของบ้านผม เมื่อแตกแล้วน้ำยังไหลเข้าแทงค์ปกติ ปั้มน้ำทำงาน ปกติน้ำที่แตกเยอะขนาดนี้จะต้องเอ่อล้นออกมามานอกบ้าน ข้างบ้านแล้ว แต่ไม่ล้น ไม่มีอาการอะไรเลย ผมถามเพื่อนบ้านแล้วว่ามีน้ำเอ่อออกมาบ้างไหม เขาบอกว่า ไม่มีน้ำอะไรเอ่อออกมาเลย แล้วทำอย่างไรต่อ         ผมจึงเข้าไปที่สำนักงานการประปาก่อน เพราะไม่แน่ใจ อยากเช็คอีกรอบว่ามิเตอร์น้ำปกติดีใช่ไหม เมื่อเข้าไปเจ้าหน้าที่ที่อยู่ที่เคาน์เตอร์ให้ผมเข้าไปหาช่างส่วนจดมิเตอร์ซึ่งเขาอธิบายให้ฟังว่า ถ้ามิเตอร์เสีย ตอนที่หมุนน้ำเข็มมันอาจจะไม่กระดิกเลย เขายืนยันว่าไม่ใช่มิเตอร์เสียแน่นอน หลังจากนั้นผมจึงไปติดต่อนิติบุคคลของหมู่บ้าน อยู่ตรงส่วนด้านหน้าของสำนักงานขาย เขาก็ไม่รับเรื่องอะไร เรื่องค่าน้ำเขาบอกว่าไม่รับผิดชอบให้ เขารับผิดชอบให้แค่เขาจะเดินท่อน้ำแบบลอยให้ คือเดินให้ใหม่ แต่เป็นการเดินลอยอกมาข้างบ้าน และต่อเข้าแทงค์น้ำ เขารับผิดชอบแค่นั้น ส่วนค่าน้ำ ก็พยายามถามเขาว่า มีงานส่วนไหนที่ช่วยได้บ้าง เขาไม่ตอบ เขาเงียบกันหมดเขาให้ผมเขียนคำร้องส่งไป แล้วเดี๋ยวช่างจะมาเดินลอยให้ แล้วตอนนั้น ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยหรือไม่ เพราะเขาไม่ตอบว่าถ้าเดินลอยใหม่แล้วผมต้องเสียค่าใช้จ่ายไหม เรื่องค่าน้ำไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนรับผิดชอบให้ ไม่มีการประสานงานต่อ         ในระหว่างที่กำลังเดินลอย ผมก็คิดหาวิธีต่างๆ แล้วลูกบ้านด้วยกันเขาแนะนำให้ไปติดต่อที่สำนักงานใหญ่อยู่แถวโลตัสบางกะปิ ผมเข้าไปบริษัทก็ให้ทางเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ หรือ CRM เข้ามาดู ซึ่งเขาก็ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ที่ดูแลโครงการที่ผมอยู่โดยเฉพาะพอประสานงานเสร็จกลับเงียบหายไปเลย ที่สำนักงานใหญ่ก็เงียบต่อมาเขาแจ้งมาว่าให้ผมรับผิดชอบเอง ผมถามไปชัดเจนว่า “มีหน่วยงานไหน ฝ่ายไหนที่จะรับเรื่องร้องทุกข์ผมได้บ้าง” เขาก็รับเรื่องไว้ แล้วไม่ตอบเลย เขาโยนกันไปมา ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ CRM ที่ดูแลโครงการนี้ ผมก็ทำทุกอย่าง  เขาก็แจ้งว่าให้ส่งเอกสารทุกอย่าง เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน ปัญหาที่เกิด จุดที่ท่อน้ำแตกส่งไปให้เขา ผมส่งด่วน EMS เขาได้รับเรียบร้อย แต่ก็เงียบเป็นอาทิตย์ ผมก็คิดว่าคงเหมือนเดิม ไม่ได้เรื่อง ไม่ตอบกลับ โทรไป เขาก็แจ้งว่าอยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ ผมก็คิดว่าไม่ได้แล้ว เราต้องร้องเรียนทางอื่นแล้วในเอกสารตอนนี้คือต้องการคำตอบว่า บริษัทจะรับผิดชอบค่าน้ำไหม และค่าเดินท่อลอยที่กำลังทำอยู่ใครจะออกค่าค่าใช้จ่ายใช่ไหม         ใช่ครับ ตอนแรกที่ผมเข้าไปหานิติบุคคล เขาจะให้ช่างมาเดินลอยให้แต่เรื่องค่าใช้จ่ายเขาไม่ยืนยัน เขาอ้างว่าผมต่อเติมบ้านไปแล้ว แต่แค่ปูกระเบื้อง ผมก็งงว่ากระเบื้องหนักขนาดไหน ถึงทำให้ท่อน้ำใต้บ้านแตกได้ คือผมไม่ทราบจริงๆ ว่าแตกตอนไหน เพราะว่าพี่ที่เขาเป็นช่างทางโครงการเข้ามาหาจุดแตกเขาหาจุดแตกไม่ได้ จนต้องเดินลอยใหม่         เรื่องนี้ถ้าไม่ถามไปเขาจะไม่ทำให้ฟรี  ผมพยายามเถียงจนสุดท้ายทางโครงการจะรับผิดชอบค่าเดินท่อลอยให้ ไม่เสียค่าใช้จ่ายการที่เขาบอกว่าท่อน้ำแตกอาจจะเกิดเพราะปูกระเบื้องตรงนี้คุณวุฒิชัยมองว่าไม่สมเหตุสมผล เลยเดินหน้าสู้ต่อเรื่องให้บริษัทรับผิดชอบค่าน้ำ         ครับ คือผมซื้อบ้านมา ผมก็อยากทำกระเบื้อง เพราะตอนแรกพื้นบ้านไม่ได้ระดับบ้างด้วย น้ำขัง ต้องทำใหม่ เลยจบปัญหาโดยการปูกระเบื้องแล้วไล่ระดับน้ำให้น้ำออก ปัญหาก็หาย ทีนี้ค่าน้ำใครจะจ่ายผมไปที่สำนักงานใหญ่แล้วไม่มีใครช่วยได้ ผมจึงมาร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ) และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตอนร้องเรียน แต่ละที่ดำเนินการอย่างไร          ผมไปที่ สคบ. ก่อน และลองดูช่องทางร้องเรียนอื่นคือ มพบ.ผมลองหาข้อมูลเขาแจ้งว่าสามารถร้องเรียนได้ที่เพจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ปรากฏว่าเขาตอบกลับเร็วมาก ดีจริงๆ ต้องขอขอบคุณมาก เจ้าหน้าที่พยายามขอข้อมูล รายละเอียดและสอบถามว่า เรื่องราวเป็นอย่างไร อันนี้ดีเลย         ส่วนที่ทาง สคบ. เขาติดต่อกลับมาช้าเพราะ ผมคิดว่าเขาคงรับเรื่องเยอะ ผมเลยตัดสินใจให้ มพบ.ช่วยเหลือผม   หลังจากมูลนิธิรับเรื่องแล้ว ดำเนินการร่วมกันต่ออย่างไร         ผมส่งเอกสาร หลักฐานทั้งหมดที่ให้บริษัท หลักฐานที่ผมมีทั้งหมดให้มูลนิธิฯ หมดเลย หลังจากได้รับข้อมูลแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งกลับมาว่าขอตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน จากนั้นมูลนิธิออกจดหมายไปถึง บริษัทที่สำนักงานใหญ่ ประมาณกว่า 2 สัปดาห์เลยกว่าที่สำนักงานใหญ่จะตอบกลับมูลนิธิมาว่า  บริษัทอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบข้อเท็จจริง มูลนิธิขอเอกสารเพิ่มเติม เช่น รูปรอยแตก สภาพแวดล้อม บิลค่าน้ำย้อนหลังว่าเราใช้น้ำอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ แล้วก็ส่งเอกสารเหล่านี้ไปที่สำนักงานใหญ่ และอีกประมาณครึ่งเดือนมูลนิธิก็แจ้งมาว่าบริษัทรอว่าจะตกลงกันอย่างไร จนช่วงเดือนมีนาคม ผมก็ได้รับแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายของบริษัทจะเข้ามาดูแล ตอนแรกเขาจะชดเชยที่ร้อยละ 50 ซึ่งผมไม่รับเพราะว่าส่วนที่ผมต้องรับผิดชอบยังเยอะ และตอนแรกผมดำเนินการแล้ว บริษัทไม่ประสานงานอะไรให้เลย จนเราต้องร้องเรียนให้มูลนิธิช่วยแล้วท่อน้ำที่อยู่ใต้บ้านแตก แสดงว่าผิดตั้งแต่ก่อสร้างแล้วไม่ใช่ว่าผมต่อเติมกระเบื้อง ผมซื้อมาได้ 2 ปีเอง มันไม่น่าจะเป็นไปได้ โครงการระบุว่ารับประกันโครงสร้างบ้าน 5 ปี ด้วย ซึ่งเรื่องนี้พอผมถาม บริษัทบอกว่าท่อน้ำเป็นเรื่องสถาปัตย์ ไม่ได้อยู่ในการรับประกันโครงสร้าง         ผมไม่รับแล้วบอกว่าขอให้บริษัทรับผิดชอบค่าน้ำ ร้อยละ 80 ฝ่ายงานกฎหมายของบริษัทเขาขอลดมาที่ 70 จึงได้ข้อสรุป มันนานแล้ว ผมไม่ไหว ผมหยุดงานเพื่อไปดำเนินการต่างๆ โดนหักเงิน 3 วันทั้งที่ไปสำนักงานประปา ไปคุยที่สำนักงานใหญ่ หยุดงานเพื่อให้ช่างเข้ามาดูสาเหตุที่ท่อน้ำแตก  อยากจะจบเรื่องตรงนี้ ผมเลยเข้าไปไกล่เกลี่ยกับบริษัทที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน บริษัทรับผิดชอบ 70% ผมจ่าย 30 %  บริษัทจ่ายเชคให้ผมจำนวน 13,000 บาท         เรื่องกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผมก็ได้แจ้งว่าเรื่องของผมยุติแล้ว การร้องเรียนที่ สคบ. ก็ยุติเรียบร้อย ฝากถึงคนที่อาจจะเจอปัญหาได้         ตอนซื้อบ้านนะครับ  นี่คือบ้านหลังแรกของผม ผมไม่ทราบว่าโครงการอื่นๆ เขามีงานก่อสร้าง แบบไหนอย่างไรแต่ต้องระวังด้วย ไม่ว่าจะค่าน้ำ ค่าไฟ ต้องคอยเช็คตลอด         และเมื่อเกิดเรื่อง แม้เราไม่ทราบ เราต้องหาข้อมูลทุกช่องทาง ออนไลน์ต่างๆ อย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้เขาช่วย อย่าไปยอม ผมมองว่าเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม ต้องสู้บางคนอาจจะยอมแพ้ไปถึงสำนักงานใหญ่ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ แต่ผมมองว่าไม่ใช่ ถ้าไม่สมเหตุสมผลเขามาโทษเราก็ไม่ได้ เราต้องสู่เพื่อความชอบธรรม  เพื่อสิทธิของเราครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 มีหมายศาลเรียกให้ไปจ่ายค่าไฟจากบ้านที่ขายไปเมื่อ 20 ปีก่อน

        เรื่องนานขนาดผ่านไปเกือบยี่สิบปี แต่หากผู้บริโภคไม่ได้จัดการในเรื่องสัญญาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าให้เรียบร้อย ปัญหาก็อาจวนกลับมาให้เสียทรัพย์ได้         คุณก้อยติดต่อขอคำแนะนำมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า วันหนึ่งได้รับหมายเรียกของศาลจังหวัดปทุมธานี ตามที่มีคำฟ้องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอสามโคก ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2565 โดยยื่นฟ้องฐานค้างชำระหนี้ค่าไฟฟ้า 6 เดือน สิงหาคม - ธันวาคม 2563 และมกราคม 2564 มียอดหนี้พร้อมดอกเบี้ยรวม 10,300.51 บาท ซึ่งในคำฟ้องนี้ มีคุณก้อยเป็นจำเลยที่ 1 และผู้ใช้ไฟฟ้าคนปัจจุบันเป็นจำเลยที่ 2         เหตุนี้เกิดขึ้นจากเมื่อ 20 ปีก่อน (พ.ศ. 2544)  นางสะอาด (นามสมมติ) ได้ซื้อบ้านหลังเกิดเหตุกับคุณก้อย ครั้งนั้นคุณก้อยไม่ได้ “สนใจ” ที่จะจัดการยกเลิกหรือเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองมิเตอร์ไฟฟ้าให้เรียบร้อย “ยอมรับค่ะว่าไม่ทันคิดอะไร หลังธุรกรรมเรื่องซื้อขายบ้านเรียบร้อย ดิฉันเซ็นมอบอำนาจให้นางสะอาดไปเพื่อให้เขาไปดำเนินการเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นชื่อนางสะอาดแทน” หลังจากที่คุณก้อยมอบอำนาจแล้วก็ไม่ได้สนใจอะไรอีก เพราะตลอดเวลาเกือบ 20 ปี ก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร ดังนั้นเมื่อได้หมายเรียกจากศาล จึงพยายามติดต่อนางสะอาดว่าเกิดอะไรขึ้น ได้ความแค่ว่า นางสะอาดขายบ้านหลังนี้ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าหรือเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 และไม่ได้ชำระค่าไฟฟ้าหลายเดือน จนเกิดหนี้ค่าไฟฟ้าขึ้น  “ดิฉันถูกฟ้องด้วย เรื่องนี้ดิฉันต้องทำอย่างไรดีคะ”           แนวทางการแก้ไขปัญหา         จากการที่ละเลยไม่เปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าของคุณก้อยหลังการขายบ้าน จนกระทั่งผู้เป็นเจ้าของบ้านคนปัจจุบันค้างชำระค่าไฟฟ้านั้น ตามระเบียบของการไฟฟ้า ระบุว่า  “ตามระเบียบว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ พ.ศ. 2562 ข้อ 32 ความรับผิดชอบในการชำระค่าไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับผิดชอบค่าไฟฟ้าตลอดไปจนกว่าจะแจ้งบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าเป็นลายลักษณ์อักษรหรือโอนเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าให้ผู้อื่น หากผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ได้บอกเลิกการใช้ไฟฟ้า แต่มีผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้า ให้ถือว่าผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันชำระค่าไฟฟ้า”         หลังจากขอรายละเอียดต่างๆ จากคุณก้อยผู้ร้องเรียนแล้ว ทางมูลนิธิฯ ได้ประสานไปที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพราะเกิดข้อสงสัยว่า ธรรมดาเมื่อผู้ใช้ไฟฟ้าค้างชำระค่าไฟฟ้า 1-2 เดือน การไฟฟ้าจะระงับการจ่ายไฟฟ้าหรือเรียกภาษาชาวบ้านว่า ตัดไฟ แล้วในกรณีนี้ทำไมจึงปล่อยให้มีการใช้ไฟฟ้าต่อไปจนถึง 6 เดือน ซึ่งเท่ากับทำให้ยอดค้างชำระมีจำนวนที่สูงตามจำนวนการใช้ไฟฟ้าไปด้วย         คำถามนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอสามโคก ปทุมธานี ตอบว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลมีมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชน ดังนั้นการไฟฟ้าสามโคกในฐานะโจทก์จึงยังมิได้งดจ่ายกระแสไฟฟ้าหรือบอกเลิกสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้ากับจำเลย แต่ได้ติดตามทวงถามและแจ้งหนี้มาโดยตลอด แน่นอนว่าการทวงถามนี้คุณก้อยไม่เคยได้รับข้อมูล เนื่องจากเอกสารต่างๆ ส่งไปยังบ้านเลขที่ของบ้านที่เกิดการใช้ไฟฟ้าและปัจจุบันไม่สามารถติดตามตัวเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าได้         คุณก้อยกังวลใจมาก เพราะตามตัวผู้ใช้ไฟฟ้าหรือจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ทำให้คิดว่าตนอาจต้องรับผิดชอบเรื่องหนี้ก้อนนี้ทั้งหมดเองคนเดียว ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้แนะนำให้คุณก้อยไกล่เกลี่ยโดยขอร้องต่อศาลให้เลื่อนเวลาผ่อนผันออกไปก่อน เพื่อตามตัวผู้ใช้ไฟฟ้าหรือเจ้าของบ้านคนปัจจุบันให้ได้ เพื่อมารับผิดชอบหนี้ที่ก่อไว้ (ตอนนี้บ้านไม่มีผู้อาศัย) ขณะเดียวกันเสนอให้คุณก้อยยื่นคำให้การต่อศาลเป็นเอกสารชี้แจงลำดับเหตุการณ์ ซึ่งทางมูลนิธิฯ ยินดีช่วยร่างให้ พร้อมกับต้องไปคัดทะเบียนราษฎร์ที่เคยปรากฎชื่อตนเองว่าครอบครองบ้านหลังดังกล่าวก่อนขายเปลี่ยนมือเมื่อปี 2544 พร้อมหลักฐานการแจ้งย้ายออกแล้วนำยื่นต่อศาลเพื่อพิจารณา ซึ่งเรื่องราวจะจบลงอย่างไรจะได้นำเสนอต่อไป         ทั้งนี้ฝากเป็นบทเรียนให้แก่ทุกท่าน เมื่อมีการซื้อขายเปลี่ยนมือไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดมิเนียม ควรจัดการบอกยกเลิกสัญญาการใช้ไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ ต่างๆ ให้เรียบร้อย เพื่อมิให้ต้องเกิดปัญหาเช่นเดียวกับผู้ร้องทุกข์รายนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ซูเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายนมหมดอายุ

        คุณน้ำตาล เจ้าของเรื่องราวที่มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เล่าว่า เมื่อ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา เธอไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง โดยเธอได้เลือกซื้อนมพร่องมันเนยยี่ห้อหนึ่งมา 1 แพ็ก ขนาด 225 มล. (แบบยูเอชที) หลังจากนั้นเมื่อเธอเดินทางกลับถึงบ้าน ก็นำนมที่ซื้อมาแช่เย็นไว้ในตู้เย็น ต่อมาเธอก็ได้หยิบนมดังกล่าวที่ซื้อมาดื่ม ขณะกำลังดื่มสายตาก็ดันเหลือบไปเห็นรายละเอียดวันหมดอายุบนกล่องนม อ้าว!! หมดอายุตั้งแต่ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ทำไมเอาของหมดอายุมาขายกันนะ ห้างก็ออกจะชื่อดังระบบแย่ขนาดนี้เลย         คุณน้ำตาลยังดื่มนมไม่หมด แต่เธอก็กังวลเพราะดื่มเข้าไปแล้ว สำคัญคือเธอตั้งครรภ์อยู่ด้วย อย่างแรกที่ทำคือ เธอรีบติดต่อไปถึงห้างฯ ดังกล่าวเพื่อแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นทันที ซึ่งทางพนักงานรับเรื่องแจ้งเธอว่าจะติดต่อกลับมาภายในเวลา 3-5 วัน คำตอบนี้เธอไม่โอเค จึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรจะทำอย่างไรต่อดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        เบื้องต้นผู้บริโภคหากพบปัญหาลักษณะนี้สามารถดำเนินการได้ตามแนวทางที่เขียนในกรณีของคุณกุ้ง (ซื้ออาหารดองหมดอายุจากห้างค้าปลีก)         กรณีคุณน้ำตาล วันที่ 15 มีนาคม 2566 ทางมูลนิธิฯ ได้ส่งหนังสือถึงบริษัทผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตขอให้ตรวจสอบและแก้ไขถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นไม่นานทางผู้ร้องก็ได้แจ้งกับทางมูลนิธิฯ ว่าผู้ร้องได้รับการติดต่อจากบริษัทแล้ว โดยได้รับแจ้งว่า ทางบริษัทฯ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพทั้งหมด           อย่างไรก็ตาม คุณน้ำตาลแม้ว่ารับประทานเข้าไปแล้วก็จริง แต่เธอไม่ได้มีอาการป่วยอะไร อาจเพราะเธอเห็นวันหมดอายุตอนที่ดื่มเข้าไปไม่มาก เธอจึงขอปฏิเสธที่จะรับเงินในส่วนนี้ไปแต่ขอให้บริษัทฯ ช่วยชดเชยเป็นค่าเสียเวลาให้เธอจำนวน 30,000 บาท ทางมูลนิธิฯ จึงให้ข้อมูลกับทางผู้ร้องว่า การเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินดังกล่าวนั้นเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะเรียกได้ และการจะได้รับค่าเสียหายตามที่เรียกร้องไปนั้นก็ขึ้นอยู่ที่ทางบริษัทฯ จะพิจารณาด้วยเช่นกัน ต่อมาเมื่อมีการเจรจาและทางบริษัทฯ ได้รับข้อเสนอคุณน้ำตาลไปพิจารณา ต่อมาได้รับการแจ้งจากผู้ร้องว่า บริษัทฯ ให้ไปรับเงินชดเชยจำนวน 5,000 บาท ที่สาขาที่ผู้ร้องใช้บริการ คุณน้ำตาลจึงข้อยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ห้างดังวางขายอาหารหมดอายุ

        ผู้บริโภคต่างรู้กันอยู่แล้วว่าก่อนจะซื้อของกินทุกครั้งนั้น ต้องดูวันผลิตและวันหมดอายุอย่างรอบคอบ แต่บางทีถ้าซื้อเยอะๆ ใครจะไปตรวจดูได้ทุกชิ้น พอดูชิ้นสองชิ้นว่ายังไม่หมดอายุ ก็คิดเหมาว่าลอตเดียวกันน่าจะเหมือนกัน โดยไม่ได้เฉลียวใจเลยว่าจะมีของที่หมดอายุแล้วปะปนอยู่ในนั้นด้วยเหมือนอย่างที่คุณกุ้งเพิ่งเจอมากับตัวเอง         เธอเล่าว่าไปซื้ออาหารทะเลดองจากห้างชื่อดังแห่งหนึ่งใกล้บ้านซึ่งเป็นห้างค้าปลีกที่ใช้บริการเป็นประจำ จำนวน 10 กระปุก จ่ายเงินไป 3,471 บาท แต่เมื่อนำมารับประทานแล้วเกิดท้องเสียอย่างรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วจึงกลับบ้านและเริ่มค้นหาสาเหตุที่ทำให้เสียทั้งสุขภาพและเงินจำนวนพอสมควร อย่างแรกคือของดองต้องสงสัย         แล้วก็อย่างที่สงสัย เมื่อค่อยๆ พิจารณาดูฉลากบนกระปุกหอยดองที่เพิ่งเปิดกินไป ก็เจอแจ็กพอต!! เพราะระบุวันหมดอายุบนฉลาก ระบุว่าหมดอายุก่อนหน้าวันที่ซื้อไปถึงเดือนกว่าๆ (ซื้อสินค้าวันที่ 18 ก.พ. 66 แต่ของหมดอายุตั้งแต่ 1 ม.ค. 66) แถมพอไปดูที่ซื้อมาทั้งหมดก็พบว่ายังมีอีก 2 กระปุกที่หมดอายุนานแล้วเหมือนกัน เรียกว่าปนๆ กันไปกับของที่ยังอยู่ในสภาพไม่หมดอายุ         คุณกุ้งจึงติดต่อไปทางห้างชื่อดังที่ขายของหมดอายุแล้วนี้และได้คุยกับทางผู้จัดการ คุณกุ้งขอให้ผู้จัดการช่วยออกค่ารักษาพยาบาลให้ก่อน แต่ทางนั้นจะขอเป็นคืนเงินค่าสินค้าทั้งหมดแทน ซึ่งเธอไม่รับข้อเสนอนี้ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ ผ่านช่องทางไลน์ เพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางการแก้ไขปัญหา         หากใครเจอกรณีเช่นเดียวกับคุณกุ้งนี้ แนะนำให้ดำเนินการเบื้องต้น ดังนี้        1. ถ่ายรูปฉลาก โดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้าและใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ขอให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)        2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจในท้องที่เพื่อเป็นหลักฐาน        3. ให้ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งต้องคิดให้ดีว่าเราต้องการให้เขาดำเนินการอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น (เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน จ่ายค่าเสียเวลา ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น)         4. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ บรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงเจ้าของร้านค้านั้นๆกรณีคุณกุ้งอยู่ระหว่างไกล่เกลี่ยเมื่อมีความคืบหน้าจะได้นำเสนอต่อไป ยังมีอีกเรื่องที่ผู้บริโภคพบปัญหาดื่มนมที่หมดอายุ ซึ่งซื้อมาจากซูเปอร์มาร์เก็ตดัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 โจรออนไลน์ หลอกขายต้นทุเรียนไม่ตรงปก

        เตือนภัย ! นักช้อปออนไลน์ ระวังโจรในคราบพ่อค้าคนกลางบนเฟซบุ๊ก         มิจฉาชีพเหล่านี้จะมาพร้อมข้อความโฆษณว่าขายสินค้าคุณภาพเลิศ ราคาเกินคุ้ม ส่งฟรี แถมเก็บปลายทางอีกต่างหาก เชิญชวนให้นักช้อปมือลั่นกดสั่งสินค้าไป โดยกว่าจะมารู้ตัวว่าถูกหลอกก็ตอนได้รับของไม่ตรงปกนี่แหละ แต่ใครจะคาดคิดว่าจะโกงกันได้แม้กระทั่ง “ต้นทุเรียน”         คุณสายลมอยากปลูกทุเรียน“มูซังคิง” ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ราชาแห่งทุเรียนมาเลย์’ มากๆ ด้วยเห็นว่าทุเรียนพันธุ์นี้ได้รับความนิยมมากและขายกันในราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 500 บาท วันหนึ่งเห็นร้านหนึ่งโพสต์บนเฟซบุ๊กว่าขายต้นทุเรียน “มูซังคิง “ สายพันธุ์แท้จากมาเลเซีย ระบุว่ามี 3 ขา ใน 1 กระถาง ไซส์​สูงกว่า 1 เมตร  กำลังลดราคา 50 % พร้อมมีบริการเก็บเงินปลายทาง และรับประกันหากเกิดความเสียหายระหว่างขนส่งให้ด้วย รออะไรครับ...เขาจึงสั่งซื้อไป 6  ต้น เพื่อให้ได้โปรโมชันนี้ “แถมอีก 2  ต้น พร้อมปุ๋ย ราคารวมส่ง 950 บาท” พอสั่งไปแล้วทางร้านออนไลน์แจ้งกลับมาว่าให้รอประมาณ 5 วัน ต้นทุเรียนจะส่งไปถึงหน้าบ้าน แน่นอนว่าระหว่างนั้นเขาก็รออย่างใจจดใจจ่อ         เมื่อถึงกำหนดส่ง ต้นทุเรียนมาส่งตามกำหนดไม่ได้หลอกลวง แต่ทว่าวันนั้นเขาไม่อยู่บ้าน จึงฝากให้คนที่บ้านจ่ายเงินและเซ็นรับของไว้ให้แทน ปัญหาอยู่ตรงนี้จริงๆ เพราะถ้าเขาอยู่บ้านจะไม่รับของเด็ดขาด “สภาพกล่องที่ใส่ต้นทุเรียนมันสั้นมาก” เขามองก็รู้แล้วว่าได้ของไม่ตรงปกแน่ มือเริ่มสั่นแล้วคราวนี้ ยิ่งเมื่อเขาเปิดกล่องก็พบว่าต้นทุเรียนทั้ง 6 ต้น มีแค่ขาเดียวและสูงแค่ 40 เซนติเมตรไม่เหมือนคำโฆษณาสักนิด         คุณสายลมรีบติดต่อทางร้านทันทีแต่ก็ไร้สัญญาณตอบรับใดๆ และเขายังผิดสังเกตอีกอย่างด้วยว่า เขาสั่งซื้อสินค้าจากเพจเฟซบุ๊ก แต่ทำไมจ่าหน้าส่งมาจาก “แอปพลิเคชันชอปปิ้งสีส้ม” เขาคาดว่ามิจฉาชีพพวกนี้น่าจะสั่งซื้อทุเรียนพันธุ์ถูกๆ แล้วมาขายต่อเพื่อกินส่วนต่างอีกทีแน่ๆ เขาจึงโทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรทำอย่างไรต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ได้สอบข้อเท็จจริงและขอหลักฐานบางส่วนจากทางคุณสายลมแล้ว จึงแนะนำเบื้องต้นให้คุณสายลมทำตามขั้นตอนดังนี้         1.รีบไปดำเนินการแจ้งความลงบันทึกประจำวัน เพื่อให้ตำรวจเอาผิดกับเจ้าของเฟซบุ๊กที่หลอกลวงขายสินค้า         2.ส่งหนังสือแจ้งไปยังบริษัทขนส่งที่มาส่งของให้โดยด่วนเพื่อให้ระงับยอดเงิน 950 บาท (ที่ยังค้างอยู่กับทางบริษัทขนส่ง) ไม่ส่งไปให้กับร้านค้าที่กระทำการส่งสินค้าไม่ตรงปกมาให้ อีกทั้งขอให้ทางบริษัทนส่งคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหาย         เมื่อติดตามเรื่องจากคุณสายลมพบว่า ในระยะเวลา 1 เดือนภายหลังจากที่ได้ดำเนินการตาม ข้อ 1 และ 2 แล้ว ปรากฎว่ายังไม่คืบหน้า ทางมูลนิธิฯ จึงทำหนังสือสำทับไปยังบริษัทขนส่งอีกรอบ รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อขอให้ตรวจสอบเพจเฟซบุ๊กของมิจฉาชีพด้วย           ปัจจุบันกรณีซื้อสินค้าแล้วได้รับของไม่ตรงปกนี้ อีกทางออกหนึ่งคือ ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องคดีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ได้ด้วย “ศาลยุติธรรมแผนกคดีซื้อขายออนไลน์” ได้เปิดระบบให้ผู้ร้องสามารถฟ้องคดีตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ร้องที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อขายออนไลน์สามารถยื่นเรื่องด้วยตัวเองและไม่จำกัดวงเงินมากน้อย แต่มีเงื่อนไขว่าต้องซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ร้องจะต้องมีหลักฐานประกอบเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขาย หลักฐานการสั่งซื้อสินค้า หลักฐานการชำระเงิน รวมถึงวิดีโอที่ถ่ายขณะเปิดกล่อง เป็นต้น เมื่อเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว ศาลจะดำเนินการสืบพยานและไกล่เกลี่ยผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด หากผู้ร้องประสงค์จะฟ้องคดีออนไลน์สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://efiling3.coj.go.th

อ่านเพิ่มเติม >