ฉบับที่ 245 เป้เดินป่า

        การเดินทางข้ามจังหวัดหรือข้ามประเทศไม่สะดวกเหมือนเคยมาพักใหญ่ ผู้คนเริ่มโหยหาการเดินทาง การผจญภัย เพื่อสัมผัสกับธรรมชาติ เมื่อการระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงบ้างในยุโรปซึ่งกำลังอยู่ในช่วงหน้าร้อน ผู้คนจึงเริ่มซื้อหาสินค้าประเภทอุปกรณ์เดินป่าจนบางอย่างขาดแคลนแล้วฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำผลทดสอบเป้เดินป่าที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศทำไว้มาฝากสมาชิก มีให้เลือกกัน 20 รุ่น ให้คุณได้จินตนาการเวลาออกไป “เที่ยวทิพย์” เพื่อลดความเครียดกันไปพลางๆ การทดสอบซึ่งทำขึ้นในสาธารณรัฐเชคครั้งนี้แบ่งออกเป็นสองด้าน        1. การทดสอบประสิทธิภาพ/คุณสมบัติ ทำในห้องแล็ป (ร้อยละ 60)แบ่งออกเป็น พื้นที่ใช้สอยสำหรับการใส่สิ่งของจำเป็นในการเดินป่า / ความสามารถในการกันน้ำ ทดสอบด้วยการตากฝนเทียมเป็นเวลา 30 นาที / ความแข็งแรงทนทาน ด้วยการทดลองใส่น้ำหนัก 9 กิโลกรัม แล้วแขวนด้วยหูจับ สายสะพายไหล่ รวมถึงการทดลอง “ทำตก” ที่ระยะ 40 มิลลิเมตร ทั้งหมด 20,000 ครั้ง และรูดซิปปิดเปิด 2,000 รอบ เป็นต้น / คุณภาพงานประกอบ รวมถึงการดูแลรักษา และอุปกรณ์ช่วยสะท้อนแสง         2. การทดลองใช้จริงโดยอาสาสมัคร 5 คน (ชาย 3 หญิง 2) ที่เปิด ปิด ปรับสาย และแบกน้ำหนักที่ 3 กิโลกรัมและ 9 กิโลกรัม แล้วให้ความเห็น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 242 สำรวจ ฟู้ดเดลิเวอรี ใครมีตัวเลือกรักษ์โลก

        เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็กดแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารทางออนไลน์กันเป็นเรื่องปกติ เพราะทั้งสะดวก รวดเร็ว และลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับผู้คนลงได้มาก แต่ขณะเดียวกันก็สร้างขยะพลาสติกจำนวนมากด้วย โดยในปี 2562 มีขยะพลาสติกจากธุรกิจร้านอาหารเดลิเวอรีมากถึง 140 ล้านชิ้น           นับเป็นเรื่องดีที่เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำบันทึกความร่วมมือการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหาร ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการ ซึ่งแม้เป็นเพียงความร่วมมือเชิงสมัครใจและยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ก็ได้เริ่มกระตุ้นให้ผู้ประกอบการตระหนักและหาวิธีช่วยลดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากต้นทางมากขึ้น         ในฐานะผู้บริโภค หลายคนก็คงอยากรู้ว่าจะมีผู้ประกอบการรายใดที่ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกนี้บ้าง นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มสำรวจตัวอย่างแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารทางออนไลน์(ฟู้ดเดลิเวอรี) จำนวน 36 แอปพลิเคชั่น ในเดือนมีนาคม 2564 เพื่อสำรวจว่าแอปฯฟู้ดเดลิเวอรีนั้นมีตัวเลือก‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’ให้กับลูกค้าหรือไม่  ผลการสำรวจแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารทางออนไลน์ (ฟู้ดเดลิเวอรี)         จาก 13 แอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรีที่ให้บริการในเขตกรุงเทพฯ พบว่ามี 4 แอปฯ ที่มีตัวเลือก ‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’ ได้แก่ Burger King, Food Panda, Grab Food และ Line Man  ข้อสังเกต        - มี 9 แอปฯฟู้ดเดลิเวอรี่ (เลือกจากที่แนะนำโดย Play Store) ที่ไม่ได้ให้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีตัวเลือก ‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’หรือไม่        - จากการสุ่มตัวอย่างแอปพลิเคชั่นยอดนิยม พบว่ามี 14 แอปฯ ที่ไม่ได้ให้บริการส่งอาหารออนไลน์โดยตรง ซึ่งจัดเป็นกลุ่มซูเปอร์มาเก็ตออนไลน์ กลุ่มส่งสินค้า และกลุ่มแอปฯ สะสมแต้ม + โปรโมชั่น (ร้านอาหาร,ร้านกาแฟ และศูนย์รวมร้านอาหาร)  ข้อแนะนำจากฉลาดซื้อ        แม้ตอนนี้จะมีหลายภาคส่วนร่วมมือกันจัดการขยะพลาสติกมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายให้เกิดเป็นพฤติกรรมที่ยั่งยืนได้ เพราะปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 9 ของพลาสติกที่ผลิตออกมาทั้งหมดเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ซึ่งก็เป็นปลายทางแล้ว         ดังนั้น เราน่าจะมาช่วยกันตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการลดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากต้นทางในการสั่งอาหารทางออนไลน์ โดยผู้บริโภค ควรใช้ตัวเลือกลดขยะพลาสติกในแอปฯ(ถ้ามี) เลือกสั่งจากร้านค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เลือกร้านที่ใช้กล่องข้าวหรือปิ่นโตซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ เพื่อสร้างกระแสผู้บริโภครักษ์โลกให้ร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายอยู่ในแอปฯ ต่างๆ นั้นรับรู้และแข่งกันสร้างสรรค์วิธีลดขยะพลาสติกมาเป็นกลยุทธ์การตลาดดึงดูดลูกค้าต่อไป    ข้อมูลอ้างอิงวารสารสิ่งแวดล้อม ปีที่ 25 (ฉบับที่ 1) มกราคม-มีนาคม 2564

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ผลทดสอบกระบอกน้ำเก็บอุณหภูมิ

        สายยืดอกพกแก้วมาทางนี้ ฉลาดซื้อมีผลทดสอบเปรียบเทียบกระบอกน้ำเก็บอุณหภูมิมาฝาก เราเลือกมา 23 รุ่น จากที่สมาชิกในยุโรปขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research and Testing) ได้ทำไว้ในช่วงปลายปี 2020กระบอกน้ำเหล่านี้มีความจุระหว่าง 280 มล.ถึง 473 มล. สนนราคาตั้งแต่ 5 – 20 ยูโร จัดซื้อโดยองค์กรผู้บริโภคในออสเตรีย (Verein Fur Konsumenteninformation) สาธารณรัฐเชก (DTest) และเดนมาร์ก (Forbrugerraadet Taenk)         คะแนนในการทดสอบแบ่งออกเป็น 5 ด้านได้แก่        1.  ประสิทธิภาพ (ร้อยละ 60) คิดจากความสามารถในการรักษาอุณหภูมิน้ำร้อน/น้ำเย็น เมื่อเวลาผ่านไป 6, 12, และ 24 ชั่วโมง เมื่อวางกระบอกน้ำที่เติมน้ำร้อน/เย็น ปิดฝา แล้ววางไว้ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส โดยทดสอบทั้งการเติมน้ำครึ่งกระบอก และเติมถึงขีดสูงสุดที่ระบุรวมถึงการป้องกันการรั่วซึมเมื่อเติมน้ำร้อยละ 75 แล้วปิดฝา คว่ำไว้ 10 นาที และทดสอบการรั่วซึมอีกครั้งหลังเปิด/ปิด 600 ครั้ง        2.  ความสะดวกในการใช้งาน (ร้อยละ 25) เช่น การเปิด/ปิดฝา เติม/เทน้ำ การทรงตัวของกระบอกเมื่อวางบนพื้นไม่เรียบ และความง่ายในการล้างทำความสะอาด        3.  รูปลักษณ์และการประกอบ (ร้อยละ 5) ดูจากการรอยเชื่อมต่อ สภาพภายนอกที่ดูสวยงาม มั่นคงแข็งแรง รับแรงเปิด/ปิดได้ดี        4.  ความทนทาน (ร้อยละ 5) ทดสอบด้วยการทิ้งกระบอกจากความสูง 80 ซม. ลงบนพื้นคอนกรีต 3 ครั้ง (ทิ้งแนวตรง 1 ครั้ง/ทิ้งด้านข้าง 2 ครั้ง) แล้วตรวจสอบความเสียหาย        5.  ความปลอดภัย (ร้อยละ 5) เป็นการตรวจหาการปนเปื้อนของสารประกอบกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรเมติก ไฮโดรคาร์บอน (PAH)         เป็นอีกครั้งที่เราพบว่าของแพงไม่จำเป็นต้องดีและของดีก็ไม่จำเป็นต้องแพง รุ่นที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุด (85 คะแนน) ในการทดสอบเปรียบเทียบครั้งนี้คือ Undersöka ของ Ikea ที่ราคาถูกที่สุดด้วย (ราคาในเมืองไทย 299 บาท ราคาที่ซื้อในยุโรป 5 ยูโร) ส่วน Contigo Autoseal West Loop ที่ราคาแพงที่สุดได้ไปเพียง 64 คะแนน         ·    ฉลาดซื้อมีสิทธิ์เผยแพร่ผลการทดสอบที่เราไม่ได้ลงทุนทำเองได้ เพราะเราเป็นสมาชิก ICRT ที่ร่วมลงขันปีละ 6,000 ยูโร หรือประมาณ 217,000 บาท หากมีงบประมาณพอ เราก็สามารถส่งตัวอย่างจากเมืองไทยไปให้เขาทดสอบ โดยรับผิดชอบจ่ายค่าทดสอบ เช่น กระบอกน้ำเก็บอุณหภูมิ ค่าทดสอบอยู่ที่ตัวอย่างละ 390 ยูโร (ประมาณ 14,000 บาท)          ·    เราเคยเสนอผลการทดสอบเปรียบเทียบขวดน้ำสุญญากาศ ขนาด 350-500 มล. จำนวน 12 ยี่ห้อที่เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคได้ทำไว้ ในฉบับที่ 208 (ธันวาคม 2560) 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

กระเป๋าเดินทาง

        สมาชิกฉลาดซื้อหลายท่านอาจกำลังเตรียมตัวออกเดินทางเพื่อกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่พักหรือร้านค้าต่างๆ ในพื้นที่ท่องเที่ยว ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำเสนอผลการทดสอบเปรียบเทียบกระเป๋าเดินทางแบบล้อลาก ชนิดขับเคลื่อน 4 ล้อ มีทั้งแบบกล่องแข็งและแบบผ้าหนา ในขนาด “เคบินไซส์” หรือขนาดที่หิ้วขึ้นเครื่องบินได้ ผลที่องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลีย CHOICE ได้ทำไว้ทั้งหมด 12 รุ่น ราคาระหว่าง 1,100 ถึง 8,500 บาท        คะแนนรวม 100 คะแนน แบ่งออกเป็น        ร้อยละ 60      ความแข็งแรงทนทาน (การทดสอบในห้องแล็บฯ เปรียบเทียบความแข็งแรงทนทานของตัวกระเป๋า ล้อ และคันชัก รวมถึงการกันน้ำ)         ร้อยละ 40      การใช้งานได้สะดวก (ความพึงพอใจของอาสาสมัคร 3 คนที่ทดลองใช้)          ในภาพรวม กระเป๋าทุกรุ่นผ่านการทดสอบการตกจากที่สูงไปด้วยคะแนน 100 เต็ม (ใส่น้ำหนัก 4 กิโลกรัม ทดสอบการตก 300 ครั้ง) ยกเว้นรุ่น Voyager Boston Collection ที่ได้ไป 80 คะแนน)  กระเป๋าเหล่านี้ได้คะแนนแตกต่างกันในเรื่องความทนทานต่อการถูกเจาะเมื่อมีของแหลมมีน้ำหนักหล่นใส่ หรือประสิทธิภาพการกันน้ำ (ทดสอบด้วยการตากฝนเทียมเป็นเวลา 10 นาที) ส่วนเรื่องการใช้งานสะดวกเวลาเข็นออกจากลิฟต์ หิ้วลงบันได ลากบนพื้นพรม ยางมะตอย และซีเมนต์ ก็อยู่ในขั้นดีถึงดีมากแทบทุกรุ่นรุ่นที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุดคือรุ่นที่ราคาประมาณ 2,350 บาท ส่วนรุ่นที่ราคาถูกที่สุด (ประมาณ 1,100 บาท)* ก็ไม่ได้ขี้เหร่เลย เรียกว่าทุกรุ่นที่เรานำมาเสนอนั้นได้คะแนนดีเลยทีเดียว คงต้องแล้วแต่ความพึงพอใจในรูปลักษณ์ภายนอกและงบประมาณที่อยากลงทุนของแต่ละคน ไปดูกันเลยว่าคุณชอบแบบไหน         หมายเหตุ ราคาที่แสดงเป็นราคาที่แปลงจากหน่วยเงินของออสเตรเลียในช่วงต้นเดือนธันวาคม โปรดตรวจสอบราคาที่เป็นปัจจุบัน ณ จุดขาย อีกครั้ง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 234 ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก

        กลับมาแล้วจ้า ผลการทดสอบเปรียบเทียบที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (หรือเรียกสั้นๆ ว่าคาร์ซีท) ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ได้ทำไว้โดยเก็บตัวอย่างคาร์ซีทรุ่นยอดนิยมที่วางตลาดในยุโรปในช่วงปลายปี 2019 และต้นปี 2020 คราวนี้ให้เลือกพิจารณากัน 19 รุ่น โดยการทดสอบครั้งนี้ประกอบด้วยการจำลองการชนในห้องปฏิบัติการ และการใช้จริงโดยทั้งผู้เชี่ยวชาญและครอบครัวตัวจริง คะแนนรวมคิดจากคะแนน 3 ด้าน ได้แก่ความปลอดภัย ได้แก่ ประสิทธิภาพการป้องกันอันตรายจากการชนด้านหน้า ด้านข้าง ความแข็งแรงของตัวล็อก การยึดกับเบาะรถ และการดูดซับแรงกระแทก เป็นต้น (ร้อยละ 50) ความสะดวกในการใช้งาน ตั้งแต่การติดตั้ง√ใช้งาน√ปรับระยะหรือขนาด√ทำความสะอาด (ร้อยละ 40)การออกแบบตามหลักการยศาสตร์ หรือ ergonomics ทั้งตัวที่นั่ง พนักพิง ความนุ่มสบาย และการใช้พื้นที่ในรถ เป็นต้น (ร้อยละ 10)นอกจากนี้ยังตรวจหาสารเคมีอันตรายหลายชนิดที่ถูกห้ามใช้ในยุโรปด้วย เช่น โพลีไซคลิกไฮโดรคาร์บอน พทาเลท ฟอร์มัลดีไฮด์ สีเอโซ และโลหะหนัก เป็นต้น         ·  ค่าใช้จ่ายในการทดสอบคราวนี้อยู่ที่ตัวอย่างละ 6,000 ยูโร (ประมาณ 222,000 บาท) โดยเฉลี่ย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 229 เปรียบเทียบประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตอันเกิดจากการติดเชื้อโรคโควิด-19

            จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 (COVID-19) ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนไทยตื่นตัวที่จะซื้อประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตอันเกิดจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 กันเป็นจำนวนมาก เพราะมีค่าเบี้ยประกันที่ไม่สูงนัก เพื่อลดความเสี่ยงที่จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล หากพบว่าตัวเองติดเชื้อ ผลสำรวจเปรียบเทียบประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตอันเกิดจากการติดเชื้อโรคโควิด-19         ทีนี้มาดูเรื่องประกันภัยกันบ้าง เมื่อเราทราบแล้วว่ามีสิทธิการรักษาพยาบาลอะไร อย่างไรบ้าง เมื่อเลือกซื้อประกันก็ควรซื้อกรมธรรม์ที่ตอบโจทย์ของเราและมีสิทธิประโยชน์นอกเหนือจากสิทธิการรักษาพยาบาล เช่น บางคนอาจจะต้องการตรวจโควิด-19 ในขณะที่ยังไม่แสดงอาการ หรือต้องการเงินชดเชยในช่วงระยะเวลากักตัว 14 วัน เป็นต้น โดยในการซื้อประกันภัยแต่ละครั้ง นอกจากผู้บริโภคจะดูสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับแล้ว ยังต้องตรวจสอบรายละเอียด เงื่อนไข และข้อยกเว้นในการทำสัญญาด้วย เพราะประกันแต่ละตัวของแต่ละบริษัท ก็มีเงื่อนไขและข้อยกเว้นการรับประกันที่แตกต่างกันไป อีกทั้งบางบริษัทก็มีเงื่อนไขที่กำกวม หรือไม่ได้ระบุเงื่อนไขที่จำเป็นบางประการไว้         ฉลาดซื้อได้ทำการสำรวจประกันโควิด-19 จากโฆษณา เอกสารการขาย ที่สามารถหาได้จากสื่อต่างๆ และเวปไซต์ของบริษัทประกันชีวิต จำนวน 16  แห่ง โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึง 3 เมษายน 2563เงื่อนไขการรับประกันของทุกกรมธรรม์  1.ต้องมีใบรับรองแพทย์ระบุว่ามีการเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า หรือภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว หรือการเจ็บป่วยระยะสุดท้ายซึ่งเป็นการเจ็บป่วยรุนแรงที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้ และ/หรือเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตโดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา โควิด(COVID-19) 2. ระยะเวลารอคอย 14 วัน (Waiting Period )หลังจากวันที่กรมธรรม์มีผลบังคับใช้ หมายถึง ระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง/ระยะเวลารอคอย : บริษัทจะไม่จ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์เป็นครั้งแรกว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus (2019-nCoV)) ที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลบังคับเป็นครั้งแรกตามที่ระบุไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย) หมายเหตุ  :  หลักเกณฑ์การรับเงินค่าทดแทนสำหรับการเสียชีวิต/เจ็บป่วยระยะสุดท้าย และภาวะโคม่า มีดังนี้         ขณะที่กรมธรรม์ประกันภัยนี้มีผลบังคับและเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลารอคอย (Waiting Period) 14 วัน (กรณีกรมธรรม์ที่กำหนดระยะเวลารอคอย)  หากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบประกอบโรคศิลป์ตามกฎหมาย ว่าติดเชื้ออันเนื่องมาจากไวรัส COVID-19 ซึ่งมีลักษณะตามคำจำกัดความในกรมธรรม์ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตหรือต้องได้รับเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน บริษัทจะจ่ายค่าทดแทนสำหรับการเสียชีวิตให้ผู้รับผลประโยชน์ (กรณีระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์) หรือทายาทโดยธรรม (กรณีไม่ได้ระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์) ส่วนค่าทดแทนอย่างอื่นจะจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัย*การเจ็บป่วยระยะสุดท้าย หมายถึง การเจ็บป่วยรุนแรงที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้ และ/หรือ เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตโดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ การเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า หรือ ภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว**ภาวะโคม่า หมายถึง  ภาวะอาศัยเครื่องช่วยหายใจและไม่ตอบสนองอย่างน้อย 96 ชั่วโมง และสมองถูกทำลายถาวรเกิน 30 วัน*** การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ(อ.บ.1) หมายถึง การสูญเสียอวัยวะ หรือ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ รวมถึงการฆาตกรรมหรือถูกทำร้ายร่างกายข้อสังเกต        ·  ผู้ทำประกันสุขภาพต้องได้รับความคุ้มครองทุกโรค        ·  เจอ-จ่าย-จบ  หรือ เจอแล้วจ่าย ต้องสอบถามจากตัวแทนประกันภัยของแต่ละบริษัทว่ามีรายละเอียดอย่างไร        ·  บางกรมธรรม์มีข้อยกเว้นไม่รับทำประกันให้กับกลุ่มอาชีพพิเศษ หรือมีระยะเวลารอคอย ให้ผู้ซื้อประกันตรวจสอบกับผู้ขายก่อนซื้อแล้วก่อนจะซื้อประกัน โควิด-19 ควรดูอะไรบ้าง?         ภญ.ชโลม เกตุจินดา อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้อธิบายผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ในเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไว้ว่า จุดที่ควรสังเกตในการซื้อประกันภัยโควิด-19 มีอยู่ 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ อายุ ปัญหาสุขภาพ ข้อยกเว้นความรับผิดชอบ และการขายพ่วงประกันอื่นๆ1. อายุผู้เอาประกัน เพราะกรมธรรม์แต่ละฉบับจะมีความคุ้มครองในช่วงอายุที่แตกต่างกันในการรับประกัน จึงควรศึกษาให้ดีก่อนซื้อประกันให้ตัวเองหรือคนใกล้ตัว2. ปัญหาสุขภาพ เงื่อนไขของกรมธรรม์บางฉบับ ไม่ได้ระบุหรือสอบถาม เกี่ยวกับสุขภาพและโรคประจำตัวต่างๆ ซึ่งผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลส่วนนี้ให้ละเอียด เนื่องจาก บริษัทอาจใช้ข้ออ้างในเรื่องปัญหาสุขภาพ หรือโรคเรื้อรังต่างๆ มาเป็นเหตุผลในการปฏิเสธความคุ้มครองภายหลังโดยอ้างเรื่องการปกปิด หรือไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งเป็นมาก่อนการทำประกัน ( ซึ่งเป็นไปตามข้อยกเว้นท้ายคำเสนอของกรมธรรม์นั้นๆ )3. ข้อยกเว้นในการรับผิดชอบ โดยปกติแล้วบริษัทประกันภัยจะคิดเงื่อนไขโดยคำนึงว่าให้บริษัทแบกรับความเสี่ยงน้อยที่สุด ดังนั้นจึงอาจมีการกำหนดหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เงื่อนไประกันของบางบริษัทมีข้อยกเว้นที่กำหนดเรื่องอาชีพเอาไว้ หากเป็นแพทย์ พยาบาล หรือกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงก็จะไม่อยู่ในเงื่อนไขการรับประกัน หรือบางบริษัทกำหนดว่าต้องติดเชื้อก่อนการซื้อประกันภัย โดยใช้เกณฑ์ระยะฟักตัว 14 วัน นั่นหมายความว่า ภายในระยะเวลา 14 วันหลังการซื้อประกัน คุณต้องไม่ป่วยเป็นโควิด ถ้าคุณป่วยประกันจะไม่รับผิดชอบ เป็นต้นและ 4. การขายพ่วงประกันอื่นๆ เช่น ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องดีที่ได้ประกันในหลายรูปแบบ แต่นั่นก็จะทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นทั้งที่อาจไม่ได้มีความจำเป็น ดังนั้น หากต้องการซื้อประกันเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ก็ให้ซื้อเฉพาะเรื่องไปเลย ไม่ต้องพ่วงเรื่องประกันอื่นๆ ซึ่งจะหมดไปพร้อมกัน         ทั้งนี้ หากผู้บริโภคอ่านรายละเอียดต่างๆ แล้วไม่เข้าใจหรือมีข้อสงสัย ควรโทรถามบริษัทประกันให้เข้าใจก่อน แล้วจึงตัดสินใจซื้อ ก่อนตัดสินใจ ควร 1. ผู้บริโภคต้องตรวจสอบเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ให้ดี ก่อนที่จะสมัครทำสัญญา บางกรมธรรม์มักพ่วงประกันอุบัติเหตุร่วมด้วย และหากกรมธรรม์ มีข้อความว่า  ต้องเกิดอุบัติเหตุและติดเชื้อไวรัส Covid -19 พร้อมกัน จึงจะได้เงินตามเงื่อนไขของสัญญาประกันภัย ดังนั้น ถ้าเกิดติดเขื้อไวรัส Covid -19 เพียงอย่างเดียว หรือ อุบัติเหตุเพียงอย่างเดียว ไม่มีสิทธิรับเงิน เพราะไม่เข้าเงื่อนไข ตามสัญญา ดังนั้น ต้องตรวจสอบกรมธรรม์ให้ดีด้วย 2. เงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุว่า "เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต โดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัส COVID-19" อันนี้ ต้องดูความเห็นของแพทย์ บางคนหากติดเชื้อจริง แต่สาเหตุการเสียชีวิตมาจากโรคแทรกซ้อน เช่น ความดัน หัวใจวาย ปอดติดเชื้อ แพทย์ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าเสียชีวิตจากไวรัสโควิด ก็อาจไม่เข้าเงื่อนไขของประกัน 3. ผู้บริโภคที่เอาประกันต้องแจ้งข้อมูลสุขภาพก่อนทำสัญญา เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทประกันอ้างในภายหลังเกี่ยวกับการปกปิดข้อมูลสุขภาพ โดยเฉพาะกรณีติดเชื้อก่อนทำประกัน  ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในการปฏิเสธการจ่ายเงินตามสัญญาประกัน 4. ผู้ที่ทำประกันชีวิต และสุขภาพไว้แล้ว  ขอให้ทราบว่า กรมธรรม์ประกันภัยนั้นๆ จะรวมถึงการประกันกรณีติดเชื้อโควิดด้วยอยู่แล้ว ( ตาม“คำสั่งนายทะเบียนที่ 23/2563 เรื่องให้เพิ่มเติมเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย”  )  ดังนั้น หากจะทำประกันภัยเพิ่ม ขอให้พิจารณาความจำเป็นอย่างรอบคอบ “คำสั่งนายทะเบียนที่ 23/2563 เรื่องให้เพิ่มเติมเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย” อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.prachachat.net/finance/news-434595   หมายเหตุ 1 การเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า หรือ ภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว หรือ การเจ็บป่วยระยะสุดท้ายซึ่งเป็นการเจ็บป่วยรุนแรงที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้ และ/หรือ เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต โดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัส COVID-19          2 ค่าชดเชยรายได้ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลวันละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 50 วัน3 มีคุ้มครองการเสียชีวิต อวัยวะ สายตา ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุ (อ.บ.1)      4 เงินชดเชยรายวันกรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา วันละ 300 บาท (สูงสุด14 วัน)5 กลุ่มอาชีพพิเศษ ดังนี้ บุคลากรทางการแพทย์ (แพทย์, พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล) และพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในท่าอากาศยาน แอร์โฮสเตส สจ๊วต นักบิน6 เงินชดเชยกรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 500 บ./วัน (สูงสุด14วัน)7ค่าชดเชยรายได้กรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 300 บ./วัน (สูงสุด 30 วัน)  8ค่าชดเชยรายได้กรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 700 บ./วัน (สูงสุด 30 วัน)  9ค่าชดเชยรายได้กรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 1,000 บ./วัน (สูงสุด 30 วัน)         10 สำหรับผุ้ที่ซื้อกรมธรรม์ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป มีระยะเวลารอคอย 14 วัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 224 ปากกาเคมี

    ฉลาดซื้อ ฉบับนี้ขอเอาใจสายอาร์ตกันบ้าง เรามีผลทดสอบปากกาเคมีหรือที่เรียกกันติดปากว่า ”ปากกาเมจิก” มาฝาก สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research and Testing) ได้ร่วมกันส่งปากกาเมจิกทั้งหมด 36 เซตเข้าทดสอบ แต่ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงขอนำเสนอเพียง 20 เซตเท่านั้น การทดสอบแบ่งออกเป็นสองส่วนได้แก่*         1.          การทดสอบทางเทคนิค เช่น เขียนดีสีสวยหรือไม่ หมึกหมดเร็วแค่ไหน หากเปิดฝาทิ้งไว้จะยังระบายต่อได้ไหม รวมไปถึงความทนทานของตัวปากกา (ไม่แตกง่าย) และหัวสักหลาด (ไม่ยุบเข้าไปในด้ามเมื่อทำตกในแนวดิ่ง) การออกแบบให้ไม่กลิ้งหล่นง่ายบนโต๊ะที่ลาดเอียง และการติดทนของหมึกบนผ้าหลังซัก        2.          การตรวจหาสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ เช่น พีวีซี (ในวัสดุที่ใช้ทำด้ามหรือฝากปิด) โลหะหนัก (ในปากกาสีเหลือง) สีเอโซ (ในปากกาสีแดง) สารกันเสีย (ในปากกาสีเขียว) สารทำละลายอินทรีย์ (ในปากกาสีน้ำเงิน) และ PAHs (ในปากกาสีดำ) เป็นต้น         โดยรวมแล้วไม่มียี่ห้อไหนได้คะแนนรวม 5 ดาว ถ้าดูคะแนนในแต่ละด้านจะเห็นว่าแทบทุกรุ่นได้คะแนนเป็นเลิศด้านการเขียนได้ต่อเนื่องด้วยเส้นและสีที่สวยงาม ปากกาส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเรื่องหมึกแห้งง่าย แต่ที่น่าสังเกตคือมีเพียงสองรุ่นเท่านั้นที่ได้คะแนนปลอดสารเคมีไป 5 ดาว          พลิกหน้าต่อไปเพื่อดูคะแนนแต่ละด้านกันเลย         ค่าทดสอบเฉลี่ยตัวอย่างละ 888 ยูโร หรือประมาณ 30,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ห้างไทยเขาจัดการอย่างไรกับถุงก๊อบแก๊บ

            ทุกวันนี้นักช้อปทั่วโลกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วหรือถุงก๊อบแก๊บปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านใบ เฉลี่ยคนละ 150 ใบ พันรอบโลกได้ถึง 4,200 รอบ (www.oceancrusaders.org) และที่น่าเป็นห่วงคือพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวเหล่านี้ถูกใช้งานเฉลี่ยเพียงแค่ใบละ12 นาที แต่อาจยังเป็นขยะอยู่บนผิวโลกได้ถึง 400 ปี           แม้มันจะทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้น แต่สถานการณ์ขยะล้นทั้งบนดินและในทะเลทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการกินการใช้เพื่อลดการพึ่งพาพลาสติกลง รัฐบาลหลายๆ ประเทศเริ่มประกาศแบนถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง ประเทศไทยซึ่งรั้งอันดับ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ก็จะเริ่มแบนตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 (ยกเว้นถุงใส่แกง ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์) ในขณะที่หลายประเทศก็ใช้วิธีทำให้ถุงพลาสติกไม่ใช่ของ “ฟรี” อีกต่อไป    “แล้วผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกในบ้านเรามีความตื่นตัวเรื่องการลดขยะพลาสติกอย่างไรบ้าง” จากการสอบถามไปยังผู้ประกอบการห้างค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศไทย ฉลาดซื้อ ได้รับคำตอบดังนี้ เทสโก้ โลตัส  เทสโก้ โลตัส เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายแรกในประเทศไทยที่รณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกใน โครงการภูมิใจไม่ใช้ถุง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 บริษัทลดการใช้ถุงพลาสติกได้ 190 ล้านใบ และมอบแต้มคลับการ์ดให้กับลูกค้าที่ไม่รับถุงไปทั้งสิ้น 5,900 ล้านแต้ม ยกเลิกการใช้ถาดโฟมในทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562  มีนโยบายงดใช้ถุงพลาสติกสำหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้า 1-2 ชิ้นในร้านเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส และ เทสโก้ โลตัส ตลาด ทั้งหมด 1,800 สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่ 15 สิงหาคม 2562 เปิดตัว “กรีนเลน” ช่องทางชำระเงินพิเศษปลอดถุงพลาสติก ในสาขาใหญ่ 200 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 บริษัทมีแผนขยายสาขาร้านค้าปลอดถุงพลาสติกอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบัน 10 แห่ง  ................ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ห้างงดใช้ถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือนและทุกวันพุธ  รวมทั้งงดการแจกถุงพลาสติกทั่วประเทศในวันสิ่งแวดล้อมไทย (4 ธันวาคม)  ตั้งเป้าลดการใช้ถุงพลาสติก 100 ล้านใบ ภายใน 5 ปี ให้คะแนนพิเศษเมื่อลูกค้าช้อปสินค้าที่บิ๊กซีครบตามกำหนด และ ลูกค้าใช้ “ถุงผ้า” หรือ “ตะกร้า” หรือ ลูกค้านำถุงผ้ารักษ์โลกบิ๊กซี กลับมาใช้  หรือ “วิธีการอื่นที่ไม่ใช้ถุงพลาสติก”  ใช้กาบกล้วย ใบตอง วัสดุธรรมชาติแทนการใช้ภาวชนะโฟม ใน 25 สาขา เช่น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาราชดำริ รัชดา พระราม 4 และวางแผนขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรมีแผนยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์โฟม สำหรับสินค้าที่บิ๊กซีเป็นผู้ผลิตหรือบรรจุ ในทุกสาขาตั้งแต่ปี 2563เป็นศูนย์กลางรับบริจาคกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้ว เช่น กล่องนม น้ำผลไม้ ชา กาแฟ และ กล่องน้ำดื่ม ที่บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ทั้ง 107 สาขาทั่วประเทศ เพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ประกอบเป็นแผ่นหลังคาเพื่อผู้ประสบภัย อันเป็นการช่วยลดปริมาณขยะ และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม............... ซีพี ออลล์  เซเว่น อีเลฟเว่น เริ่มโครงการรณรงค์ลดและเลิกใช้ถุงพลาสติก ผ่านโครงการ 7 Go Green (เซเว่น โก กรีน) ตั้งแต่ปี 2550  โครงการ “ลดวันละถุง คุณทำได้” ลดการใช้ถุงพลาสติกไปแล้วกว่า 663  ล้านใบ คิดเป็นยอดบริจาคกว่า 132 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2562) โดยได้ส่งมอบเงินบริจาคเพื่อสมทบทุนซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้กับ 77 โรงพยาบาลใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ  เปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษและแก้วแบบย่อยสลายได้ ใน 300 สาขา ในมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และแหล่งท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ และจะขยายผลไปยังสาขาอื่นๆ ต่อไป โครงการ “รักษ์อันดามัน ร่วมใจลดใช้ถุงพลาสติก” ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มูลนิธิโลกสีเขียว เครือเจริญโภคภัณฑ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อุทยานแห่งชาติบนเกาะต่างๆ ชุมชนในท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ดำเนินการแล้วบนเกาะลันตา เกาะยาวน้อย-เกาะยาวใหญ่ เกาะหลีเป๊ะ เกาะพีพี รวมถึงเกาะเต่า เกาะเสม็ด และเกาะพีพี โครงการ “คิดถุ๊ง คิดถุง ผ่านการสร้างเครือข่ายเยาวชนไทย ลดใช้ถุงพลาสติก”  ขยายโครงการไปสู่สถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ 30 มหาวิทยาลัยเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นโครงการนำร่องและเป็นแบบอย่างที่ดีในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนและสังคม โครงการ “ปฏิเสธถุง...ได้บุญ” หนึ่งในการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกในร้านเซเว่นฯ ในโรงพยาบาล เมื่อลูกค้าปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติก ร้านจะสะสมยอดค่าใช้จ่ายไว้ 0.20 บาทต่อถุง และมอบให้กับโรงพยาบาล ปัจจุบันดำเนินงานในโรงพยาบาลรามาธิบดี ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์  และจะมีการขยายผลอย่างต่อเนื่อง  การนำขยะพลาสติกกลับมาให้ชุมชนใช้ประโยชน์ Recycled Plastic Road จากแนวคิดเศรษฐกิจ หมุนเวียนหรือ Circular Economy ซึ่งนอกจากผลต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังได้ช่วยพัฒนาชุมชน เริ่มที่สาขาสายไหม ซอย 3 และสาขาราษฎร์ พัฒนา ซอย 24 โดยจะพัฒนาและขยายในสาขาต่อๆไป    ........................... เดอะมอลล์ กรุ๊ป ประกาศเจตนารมณ์เป็นห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตปลอดถุงพลาสติกแห่งแรกในประเทศไทย ด้วยโครงการ THE MALL GROUP GO GREEN ; GREEN EVERYDAY ที่งดบริการถุงพลาสติกทุกวัน และรณรงค์ให้ลูกค้านำถุงผ้ามาเอง หากมีความจำเป็นต้องใช้ ขอความร่วมมือบริจาค 1 บาทต่อถุง 1 ใบ เพื่อนำไปสนับสนุนการทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับ WWF-ประเทศไทย............................ กลุ่มเซ็นทรัล จัดแคมเปญ Central Love the Earth ‘Say No to Plastic Bags’ เพื่องดแจกถุงพลาสติกพร้อมประกาศเป็นห้างค้าปลีกรายแรกในไทยที่ปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2562 ตั้งเป้าลดถุงพลาสติกให้ได้กว่า 150 ล้านใบ จัด Green Checkout แคชเชียร์ช่องพิเศษ สำหรับลูกค้าที่งดรับถุงหรือนำถุงผ้ามาเอง    ..................................... สถานการณ์ปัจจุบันในไทย -          คนกรุงเทพฯ ใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อวัน (ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ) -          คนไทยสร้างขยะวันละ 1.14 กิโลกรัม มากกว่าร้อยละ 60 เป็นขยะอาหารซึ่งสร้างก๊าซมีเทนที่เป็นสาเหตุของโลกร้อนเช่นกัน -          ทุกวันมีขยะพลาสติกและโฟมเกิดขึ้น 7,000 ตัน สถานการณ์โลก-          ร้อยละ 50 ของพลาสติกที่มีอยู่ในโลกขณะนี้ ถูกผลิตขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จากเคยผลิตได้เพียง 2.3 ล้านตันในปี 1950 เราผลิตพลาสติกได้ถึง 448 ล้านตันในปี 2015-          ชาวโลกผลิตขยะพลาสติกปีละ 300 ล้านตัน-          โดยรวมแล้ว ประชากรในประเทศที่ร่ำรวยจะสร้างขยะพลาสติกมากกว่าประเทศที่ยากจน คนเยอรมันและคนอเมริกันทิ้งขยะมากกว่าคนในอินเดียและเคนย่าถึง 10 เท่า แน่นอนขยะที่เกิดขึ้นมักถูกส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา แต่แนวโน้มนี่อาจเปลี่ยนไปเมื่อหลายประเทศประกาศยกเลิกการนำเข้าขยะ-          ในปี 2017 คนยุโรปสร้างขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์เฉลี่ยปีละ 32.74 กิโลกรัม ในนั้นมีถ้วยกาแฟแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอยู่ 16,000 ล้านใบ (www.statista.com)  และถึงแม้จะบริหารจัดการขยะได้ดีกว่าที่อื่นๆ ร้อยละ 60 ของขยะในยุโรปก็ยังไม่ถูกนำมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล-          ร้อยละ 30 ของขยะจากครัวเรือนและสำนักงานในอเมริกา เป็นขยะจากบรรจุภัณฑ์-          ข้อมูลจาก Ocean Conservancy ในปี 2017 ระบุว่าร้อยละ 60 ของขยะพลาสติกในทะเล มาจากจีน และสี่ประเทศในอาเซียน (ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย)  -          แม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิแห่งชมพูทวีป รองรับขยะพลาสติกปีละ 540 ล้านกิโลกรัม -          ข้อมูลจาก Alliance to end plastic ระบุว่า มีเพียงร้อยละ 9 ของพลาสติกที่ผลิตขึ้นมาเท่านั้นที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่  --- “อย่าลืม” โปรดพกถุงผ้าติดตัวไว้เสมอ เพราะห้างร้านส่วนใหญ่เริ่มการรณรงค์งดให้ถุงพลาสติกแล้ว บางห้างงดทุกวัน บางแห่งงดในวันที่ 4 ของเดือน---

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ปัญหาจากการใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ

                โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ โดยนิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสายการบินต้นทุนต่ำ(low cost Airline) โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,204 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 30 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2562 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง ความคิดเห็นของประชาชนต่อสายการบินต้นทุนต่ำ(low cost Airline) โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ความรู้ทั่วไปเรื่องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์         พบว่า คนส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยทราบว่าตนเองมีสิทธิอะไรบ้างเมื่อเกิดปัญหาเช่น กรณีเครื่องบินดีเลย์ กฎหมายการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ หรือทราบว่าเมื่อเกิดปัญหาควรติดต่อหน่วยงานใด แต่รายละเอียดเชิงลึกส่วนใหญ่จะไม่ทราบ เช่น กรณีเครื่องบินดีเลย์ กว่าครึ่งหนึ่ง ร้อยละ 53.8 ทราบว่า หากเที่ยวบินเลื่อนการเดินทางล่าช้า 2-3 ชั่วโมง มีสิทธิได้รับอาหาร เครื่องดื่ม ฟรี  แต่ร้อยละ 53.7 ยังไม่ทราบว่า หากเที่ยวบินเลื่อนการเดินทางล่าช้า 5-6 ชั่วโมง สิทธิได้รับอาหาร เครื่องดื่ม ฟรี  ถ้าไม่ต้องการเดินทางก็สามารถติดต่อก็ขอคืนค่าโดยสารได้ และสามารถขอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม พร้อมค่าชดเชยจำนวน 600 บาท และร้อยละ 59.1 ไม่ทราบว่า หากเที่ยวบินเลื่อนการเดินทางล่าช้ามากกว่า 6 ชั่วโมง หรือ ยกเลิกเที่ยวบิน สิทธิได้รับอาหาร เครื่องดื่ม ฟรี  ถ้าไม่ต้องการเดินทางก็สามารถติดต่อก็ขอคืนค่าโดยสารได้ และสามารถขอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม พร้อมค่าชดเชยจำนวน 1200 บาทและที่พักจำนวน 1 คืน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ผลทดสอบสารทาเลตในของเล่น/ ของใช้พลาสติก

ทาเลต (Phthalates) เป็นกลุ่มของสารที่ใช้ผสมในพลาสติกชนิดโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) เพื่อเพิ่มภาวะการคืนรูป ลดความหนืด โดยทำให้เกิดความอ่อนนิ่มมากขึ้น ทาเลตไม่มีพันธะเคมีที่เชื่อมต่อกับพีวีซี จึงสามารถเคลื่อนย้ายออกจากผลิตภัณฑ์พีวีซีไปเกาะติดกับส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ โดยเฉพาะของเล่นเด็กและของใช้พลาสติกที่อาจมีส่วนประกอบของทาเลต เมื่อเด็กใช้มือหยิบจับสัมผัสของเล่นของใช้ ก็อาจได้รับสารทาเลตได้        ทาเลตบางชนิดจัดว่าเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย โดยกลไกการออกฤทธิ์ต้านแอนโดรเจน ซึ่งขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนเพศชาย ทาเลตบางชนิดจึงมีข้อจำกัดในของเล่นและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก เช่นในสหรัฐอเมริกาได้ประกาศระเบียบภายใต้กฎหมาย PUBLIC LAW 110-314 มาตรา 108 เพื่อควบคุมปริมาณทาเลตในของเล่นเด็กและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ให้มีทาเลตได้ไม่เกินร้อยละ 0.1 โดยน้ำหนัก ซึ่งในสหภาพยุโรปและแคนาดาก็มีการออกกฎหมายควบคุมเช่นกัน         เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการควบคุมปริมาณทาเลตในสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็กอย่างชัดเจน ด้วยเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ ได้ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สุ่มเก็บตัวอย่างของเล่นเด็ก ของคล้ายของเล่นที่เด็กอาจนำมาเป็นของเล่น และของใช้ประเภทพลาสติกชนิดโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) จากร้านค้าในห้างสรรพสินค้า ท้องตลาด และบริเวณหน้าโรงเรียน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และในเว็บไซต์ห้างออนไลน์ ซึ่งมีคุณลักษณะผิวสัมผัสนิ่ม สามารถกด ยืด หรืองอได้ จำนวน 51 ตัวอย่าง ในเดือนพฤษภาคม 2562 ส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์อนุพันธ์ทาเลตทั้งหมด 6 ชนิด (ที่สกัดได้จากพลาสติก ยาง และสารเคลือบ ในบริเวณหรือส่วนที่สัมผัสถึง) ได้แก่         1) บิส-2-เอทิลเฮกซิลทาเลต  bis-(2-ethylhexyl) phthalate (DEHP)         2) ไดนอร์มอลบิลทิลทาเลต  di-n-butyl phthalate (DBP)           3) เบนซิลบิวทิลทาเลต  Benzyl butyl phthalate (BBP)          4) ไดไอโซโนนิลทาเลต  di-iso-nonyl phthalate (DINP)          5) ไดไอโซเดซิลทาเลต  di-iso-decyl phthalate (DIDP)         และ 6) ไดนอร์มอลออกทิลทาเลต  di-n-octyl phthalate (DNOP)          เพื่อเปรียบเทียบกับข้อกำหนดในกฎหมายเกี่ยวกับทาเลตในของเล่นของสหภาพยุโรป และมาตรฐานอุตสาหกรรม (ฉบับร่าง)โดยเกณฑ์กำหนดสูงสุดของปริมาณรวมของอนุพันธ์ทาเลตในตัวอย่างของเล่น แสดงดังตารางต่อไปนี้ซึ่งผลทดสอบปริมาณอนุพันธ์ทาเลตทั้ง 7 ชนิด จากตัวอย่างของเล่น/ของใช้  แสดงดังตารางต่อไปนี้ตารางแสดงผลทดสอบปริมาณอนุพันธ์ทาเลต จากตัวอย่างของเล่น/ของใช้ ทั้งหมด 51 ตัวอย่างสรุปผลการสำรวจ        ผลการตรวจของเล่น/ของใช้ จำนวนทั้งหมด 51 ตัวอย่าง พบสารทาเลต (phthalates) เกินกว่าค่ามาตรฐานสากล จำนวน 18 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 35.29 โดยชนิดของอนุพันธ์ทาเลตที่ตรวจพบมากที่สุด คือ บิส-2-เอทิลเฮกซิลทาเลต  bis-(2-ethylhexyl) phthalate (DEHP)แผนภูมิผลการทดสอบปริมาณทาเลตในตัวอย่างของเล่น/ ของใช้ 51 ตัวอย่าง        และยังพบว่า ของเล่นที่ตรวจพบค่าทาเลตรวมสูงสุด 3 อันดับแรก เป็นของเล่นประเภทตุ๊กตาบีบได้ รูปสัตว์ชนิดต่างๆ ได้แก่        1)  ยางบีบหมู จาก ตลาดบางพลัด (หน้าเมเจอร์ปิ่นเกล้า) ตรวจพบปริมาณทาเลตรวมกันเท่ากับ  37.86 (หน่วยเป็นร้อยละเศษส่วนโดยมวล) ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ (ต้องไม่เกิน 0.1) ประมาณ 378 เท่า         2)  แรคคูณสีเหลือง จาก ร้านค้าเช่น ชั้น 2 ห้างเซ็นจูรี่ฯ อนุสาวรีย์ชัยฯตรวจพบปริมาณทาเลตรวมกันเท่ากับ  36.42 (หน่วยเป็นร้อยละเศษส่วนโดยมวล)                 และ 3)  พะยูนสีเขียว จาก ร้านค้าเช่าขายของเล่น แฟลตคลองจั่น ตรวจพบปริมาณทาเลตรวมกันเท่ากับ  35.739 (หน่วยเป็นร้อยละเศษส่วนโดยมวล)         โดยผลทดสอบจากตัวอย่างของเล่น/ของใช้ที่สุ่มซื้อจากห้างสรรพสินค้า จำนวน 20 ตัวอย่าง พบสารทาเลตสูงกว่ามาตรฐานสากล 9 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 45         ส่วนตัวอย่างของเล่น/ของใช้ที่สุ่มซื้อนอกห้างสรรพสินค้า จำนวน 25 ตัวอย่าง พบสารทาเลตสูงกว่ามาตรฐานสากล จำนวน 9 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 36        ทั้งนี้ จากการสังเกตสัญลักษณ์เครื่องหมาย มอก. พบว่า        ตัวอย่างของเล่น/ของใช้ ที่สุ่มเก็บทั้งหมด 45 ตัวอย่าง (ไม่รวมของเล่นที่สั่งซื้อออนไลน์ 6 ตัวอย่าง) มีสัญลักษณ์เครื่องหมาย มอก. 19 ตัวอย่าง และ ไม่มีเครื่องหมาย 32 ตัวอย่าง        ซึ่งของเล่น/ของใช้ที่มี มอก. 19 ตัวอย่างข้างต้น ตรวจพบสารทาเลตสูงกว่ามาตรฐานสากล จำนวน 7 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 36.84        ส่วนที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. 26 ตัวอย่าง ตรวจพบสารทาเลตสูงกว่ามาตรฐานสากล จำนวน 11 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 42         และตัวอย่างของเล่นที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ ทั้งหมด 6 ตัวอย่าง จากร้านค้าในเว็บไซต์ Shopee และ Lazada เป็นของเล่นที่นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่มีคำอธิบายภาษาไทย ไม่มีสัญลักษณ์เครื่องหมาย มอก. ซึ่งไม่พบสารทาเลตสูงเกินค่ามาตรฐานสากล

อ่านเพิ่มเติม >