ฉบับที่ 105 ต้มยำลำไย

ลำไยในความทรงจำของวัยเด็ก เป็นผลไม้ที่ฉันโปรดปรานไม่แพ้ทุเรียน มันจะมาก่อนหน้าฝนตกชุก เด็กตลาดบ้านนอกอย่างฉันหากินมันได้โดยวิธีการซื้อ ซึ่งร้านผลไม้ที่แบ่งขายปลีกจะมัดเป็นช่อๆ กำเล็กๆ ไว้ หรือไม่งั้นก็จะกอบลูกลำไยที่หลุดขั้วแล้วลงใส่ถุงกระดาษหนังสือพิมพ์ขนาดเล็กๆ ไว้ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ลำไยยังเป็นผลไม้ที่ราคาแพงมาก เด็กวัย 10 ขวบกว่า มีเงินแค่ 5 บาท ซื้อลำไยมากินได้แค่พอหายอยากเท่านั้น แต่ถ้าวันไหนแม่ใจถึงซื้อลำไยมัดใหญ่เป็นกิโลมาวางรอในบ้านแล้วล่ะก็ สิ่งที่ขาดไม่ได้หลังจากที่พวงลำไยเหลือไว้แต่เม็ดและเปลือกกองโตก็คือเกลือ ฉันมักจะควักเกลือเม็ดมาอมเล่นในปากทันที เพราะรู้ดีว่าฤทธิ์ความหวานของมันคือ อาการมีแผลร้อนในในช่องปาก แต่ถ้าไม่ใช่หน้าลำไยชุก ฉันก็ยังคงเจอลำไยในโรงเรียนบ่อยๆ ในรูปน้ำดื่มที่หอมหวานชื่นใจ ร้านขนม ร้านอาหารทั้งในโรงเรียนและที่ต่างๆ ทั่วไปมักมีน้ำลำไยเคียงไว้กับน้ำเก็กฮวย และอื่นๆ ให้คนได้เลือกดื่มกิน ชีวิตเด็กๆ ของฉันก็คุ้นชินกับลำไยมาแบบนั้น จนวันหนึ่งฉันเริ่มเป็นหญิงสาว นอกจากจะตกอกตกใจกับอาการประจำเดือนมาครั้งแรกในชีวิตแล้ว ความเจ็บหน่วงปวดแบบผู้หญิงนั้นได้นำให้ฉันไปรู้จักกับลำไย อย่างที่ฉันไม่เคยได้รู้จักมันมาก่อน “ไปซื้อมาเลยลำไยแห้งที่ร้าน... เอามาใส่ขวดแก้วแล้วเอาเหล้าขาวเทแช่ไว้ กินตอนเช้ากับตอนจะนอนก็พอ ครั้งละช้อน” ความรู้ที่จำได้จากยาชนิดใหม่จากใครสักคนที่ยื่นมาให้ฉันกินแถมยังบอกวิธีการเพื่อไว้ดูแลตัวเองติดมากับยาที่เพิ่งลิ้มรสเข้าไป ป้าแกว่ามันจะทำให้เลือดลมมันเดินดี ความหวาน ความหอม และเจือด้วยแอลกอฮอล์ที่ทำให้ร้อนวูบตั้งแต่ลำคอไปจนอยู่ในท้องทำให้ฉันรู้สึกว่าอยากจะลองกินอีก แต่ป้าที่บอกสูตรยากับสำทับทันทีว่า “เอ็งอย่าริเป็นอย่างอีลำยอง ติดยาดองนะโว้ย” พร้อมกับเสียงหัวเราะดักคออย่างรู้ทัน ป้าหยิบเอา นางลำยอง ในทองเนื้อเก้า ละครน้ำเน่าอันโด่งดังในสมัยนั้นมาใช้ปราม หลังจากนั้นฉันก็เริ่มได้รับความรู้มากมายในการดูแลรักษาอาการปวดประจำเดือนรวมไปถึงอาการไข้ทับระดูไว้หลายขนาน ไม่ว่าจะเป็น ใบไผ่ 7 ใบต้มน้ำกิน และปะสะไพล สูตรต่างๆ ความรู้ต่างๆ ที่ได้รับมาด้วยความปรารถนาดีของคนแวดล้อมที่รู้จัก เป็นความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ประสบการณ์ของคนที่มาก่อน แล้วบอกถ่ายทอดกันต่อๆ มา จนมีคำหนึ่งที่เรียกว่า “ยาขอ หมอวาน” ใช้เรียกขานความรู้ในแบบนี้ไว้ ยาและสูตรที่ขอมากิน ทำให้หมอเองก็ไม่เหน็ดเหนื่อยมากเกินไปที่จะต้องดูแลคนไข้ไปเสียทุกอาการ ภาระการดูแลสุขภาพเป็นเรื่องที่คนในครอบครัวและชุมชนสามารถดูแลและให้บริการกันเองได้ ยาดองลำไยนอกจากจะทำให้เลือดลมเดินดีอย่างที่ป้าว่าแล้วยังมีสรรพคุณทางยาอย่างน่ามหัศจรรย์ไม่แพ้รสชาติที่หอมหวาน ด้วยรสหวานที่มีฤทธิ์ร้อน นี่เอง คนจีนใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงเลือดลม หัวใจ และม้าม บำรุงประสาท สงบประสาท แก้ประสาทอ่อน แก้อ่อนเพลียจากการทำงานหนัก มีอาการหลงลืมง่าย และนอนไม่หลับ แต่กินลำไยมานานก็ชักเบื่อที่จะทำเป็นน้ำดื่มขึ้นมาเหมือนกัน พอดีเพิ่งได้ลำไยแห้งมาก็เลยทดลองทำต้มยำลำไย เพื่อให้รสชาติคุ้นลิ้นของมันยังคงปรากฎชัดในน้ำซุป ต้มยำจำแลงจึงไม่ใช่ ข่า ตะไคร้ และใบมะกรูดซึ่งเป็นสมุนไพรดับคาวมาปนเพื่อไม่ให้กลิ่นข่ม และตีกัน ตัวที่ใช้ดับคาวปลาสลิดสดที่จะเอาไปต้มใส่จึงใช้มะขามเปียกแทน ซึ่งนอกจากดับคาวแล้วยังให้รสเปรี้ยวเฉพาะตัวซึ่งเข้ากันดีกับรสหวานปะแล่มจากเนื้อลำไยแล้ว ซอยขิงอ่อนเป็นแว่นบางๆ ใส่ไปด้วยเพื่อที่จะได้เคี้ยวเล่นได้พร้อมหอมแดงบุบ โดยมีเกลือและพริกขี้หนูช่วยปรุงรส รสต้มยำลำไยครบ 3 รส กินแล้วช่วยให้ร่างกายอบอุ่น สดชื่น เหมาะสำหรับช่วงที่ฝนตกชุกจนอากาศเย็นชื้นไปจนถึงช่วงอากาศหนาว เป็นอีกเมนูหนึ่งที่อาจจะใช้สลับชั่วครั้งชั่วคราวกับเมนูจากแคบ้านดอกขาวในยามที่อากาศอาจพาไข้หัวลมมานะคะการทำต้มยำลำไยต้มลำไยในน้ำประมาณ 1 ? ถ้วย ด้วยไฟกลางๆ โดยใช้ลำไยสัก 1/3 ถ้วย ใส่มะขามเปียกไร้เม็ด 1 – 2 ฝัก เกลือ หอมแดง และขิงลงไปพร้อมกัน ดูจนหอมสุกดีหรือมีเนื้อใสแล้วชิมรสน้ำซุป น้ำเดือดดีแล้วใส่ปลาสลิดลงไป รอเดือดอีกทียกลง ก่อนเสิร์ฟใส่พริกขี้หนูบุบลงในก้นถ้วยแล้วตักเนื้อและน้ำแกงลงไป วิธีเลือกลำไยแห้งลำไยแห้งที่ดีจะต้องมีสีเนื้อแดงใส ไม่ดำเข้มคล้ำและไม่มีกลิ่นเหม็นอับเก่า ซึ่งระยะหลังๆ มานี่ชาวสวนลำไยมักรู้ทัน “ราคาตลาด” ดีว่าไปไม่ค่อยรุ่งเท่าไหร่จึงลด ละ เลิกจากฉีดยาและบำรุงปุ๋ยลงไปในสวน แต่ยังมีอีกหลายคนที่กล้าและมีทุนถึงที่จะเสี่ยงใช้สารเร่งผลิตเพื่อให้ผลมันออกก่อน เพราะออกก่อน มาใหม่ได้ราคาดี คนกินฉลาดซื้อรู้ดีก็ช่วยอดใจรอตอนให้มันมีชุกก่อนจึงค่อยกินเพราะเสี่ยงน้อยกว่า หรือถ้าจะให้ดีเลือกกินและอุดหนุนชาวสวนที่ปลูกแบบอินทรีย์ก็จะทำให้ระบบการปลูกลำไยที่ดียังคงมีผลผลิตดีๆ ให้เราได้กินกันต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 104 ครัวใบโหนด ผลผลิตจากครัวชุมชนสู่คนทั้งหมด

ใน “ลานผักพื้นบ้าน อาหารกู้โลก” ของงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 6 “ผักพื้นบ้าน สร้างเศรษฐกิจไทย กู้ภัยวิกฤติ” ที่จัดระหว่างวันที่ 2 – 6 กันยายนนี้ ที่เมืองทองธานี 2552 มีกลุ่มชาวบ้านที่จัดว่าเป็นไฮไลต์ของลานที่มาตั้งร้านจำลองที่มีชื่อว่า “ครัวใบโหนด” ซึ่งมาพร้อมกับเมนูตัวอย่างจากคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลากว่า 10 ชนิด ใครๆ ได้ไปชิมแล้ว เป็นต้องออกปากชมเปาะ และติดใจในรสมือระดับแม่ครัวตัวยายของกลุ่มพวกเขา “เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ตาลโตนด และโครงการฟื้นฟูฯ คาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา”   ครัวใบโหนดจากการคิดและร่วมลงทุนลงหุ้นกันของสมาชิกในกลุ่มจำนวน 7 กลุ่ม 5,000 กว่าชีวิต จนมาเปิดร้านอาหารพื้นบ้านที่มีขนาดใหญ่แบบคนใจใหญ่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเรื่องราววิถีวัฒนธรรมการกินของชาวคาบสมุทรสทิงพระและเพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มให้คงอยู่ในรุ่นลูก รุ่นหลานสืบต่อไป อีกทั้งยังต้องการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้สนใจที่แวะเวียนเข้าลองชิมและอุดหนุน พร้อมๆ กับการเปิดมุมเผยแพร่แลกเปลี่ยนพันธุ์พืชท้องถิ่น และเป็นแหล่งรวบรวมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในคาบสมุทรสทิงพระอีกด้วย ก่อนที่จะมาเปิดร้าน ครัวใบโหนด เริ่มกันด้วยเครือข่ายออมทรัพย์ตาลโตนดก่อน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของชาวบ้านเมื่อ 24 ปีที่แล้วเพื่อทำกลุ่มออมทรัพย์ ส่งเสริมอาชีพของสมาชิกในชุมชน "คาบสมุทรสทิงพระ" ซึ่งเป็นพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลาอยู่ระหว่างทะเลสาบสงขลากับอ่าวไทย ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือทำนา ทำสวน ทำน้ำตาลโตนดและทำประมง เมื่อเริ่มมีเครือข่ายออมทรัพย์ ก็มีการตั้งกองทุนสวัสดิการ กองทุนเงินฌาปณกิจและกองทุนไถ่ถอนที่ดินเพื่อสนับสนุนการทำเกษตรกรรมยั่งยืนร่วมไปด้วย จนเมื่อปี 2549 เครือข่ายออมทรัพย์ตาลโตนดได้เริ่มทำการสำรวจภูมิปัญญาจากตำรับน้ำพริก และอาหารท้องถิ่นในปี 2550 เพื่อศึกษาความหลากหลายของพืชพื้นบ้าน รวมถึงคุณประโยชน์ในด้านการกินและสมุนไพรในการรักษา และด้านอื่นๆ จากสภาพพื้นที่ที่มีลักษณะผสมผสานระหว่าง ทุ่งนา ป่าตาลโตนดและทะเลน้ำจืด(ทะเลสาบตอนบนและตอนกลาง) ทะเลน้ำกร่อยในช่วงทะเลสาบสงขลาตอนใต้และน้ำเค็มในทะเลอ่าวไทย เรียกสั้นๆ ง่ายๆ “โหนด –นา – เล ของคาบสมุทร 3 น้ำ” ชาวบ้านพบว่า หนทางเดียวที่จะรักษาความหลากหลายของทรัพยากรอาหารกับภูมิปัญญาความรู้ในการเลือกกิน เลือกเก็บอาหารมาปรุงให้อร่อยและมีคุณค่าได้ คือการมีไว้ให้ลูกหลานกินนั่นเอง ที่ร้านครัวใบโหนด นอกจากมีอาหารดีๆ อร่อยๆ แล้วยังจัดสรรให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับที่มาที่ไปของอาหารในคาบสมุทรสทิงพระ เช่น พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน อาหารจากตาลโหนดในนา โดยปฏิบัติการตรงจากลุงป้าน้าอาและลูกหลานของชุมชน เพื่อนำเสนอสู่ผู้คนที่สนใจให้ได้ร่วมภาคภูมิใจในรสอร่อยของอาหาร ไปพร้อมๆ กับการสืบสานและสร้างสรรค์ให้พืชพันธุ์ท้องถิ่นอยู่คู่การกินแบบมีคุณภาพในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง เมนูที่ครัวใบโหนดเลือกมาสาธิตให้ผู้สนใจในลานผักพื้นบ้าน อาหารกู้โลกเมื่อวันงานที่เมืองทองธานี คือ “ยำสาย” หรือยำสาหร่ายจากทะเลสาบสงขลา (คนที่เคยได้ทดลองกินในงานมหกรรมสมุนไพรปีที่แล้วต่างยอมรับกันทั่วว่าอร่อยจริงๆ) เมื่อวันงานผ่านไปแล้ว อย่าเพิ่งเสียดายว่าจะไม่ได้ชิมอีก หลังจากเสร็จงานมหกรรมฯ ที่เมืองทองธานี พวกเขาจะเปิดร้านครัวใบโหนดอย่างเป็นทางการ ที่บ้านบ่อกุล อ.สิงหนคร ในคอนเซ็ปต์ “ผลผลิตจากครัวชุมชน สู่คนทั้งหมด” เตรียมเสิร์ฟอาหารท้องถิ่นรสอร่อยแท้ ปลอดสารพิษรสเด็ดแบบชาวคาบสมุทรสทิงพระกว่า 60 รายการที่คัดสรรอย่างดีมาให้กับลูกค้า เจ้าตำรับ : นางฆอยะ มณีโชติ อายุ 60 ปี จ.สงขลา วัตถุดิบในการทำยำสาย1. สาย(หรือสาหร่าย) 3 ขีด2. มะพร้าวคั่ว ? กิโลกรัม3. มะนาวลูกใหญ่ 5 ลูก4. หอมแดง 16 กลีบ5. น้ำตาลปีบ 3 ขีด6. มะม่วงพิมเสนเบา 4 ลูก7. พริกสด 10 ดอก8. น้ำกะทิสด 1 กิโลกรัม9. เกลือ 1 ช้อนชา10. กะปิ 2 ขีด วิธีทำยำสาย1. นำสาย/สาหร่าย ที่ล้างทำความสะอาดแล้วมาหั่นให้เหลือความยาวประมาณ 2 นิ้ว2. เอาน้ำกะทิตั้งไฟ ใส่กะปิ หั่นหอมแดงประมาณ 6 กลีบ และน้ำตาลปีบใส่ลงไป เคี่ยวจนละลายแล้วเติมเกลือ3. นำสายหรือสาหร่ายที่หั่นแล้วใส่ลงไป คนให้เข้ากัน แล้วยกลงเทใส่ภาชนะหรือถาด4. นำมะพร้าวคั่วมาตำให้ละเอียด แล้วนำไปคลุกกับสาย5. หั่นหอมแดง 10 กลีบที่เหลือบางๆ ใส่ลงไป ฝานหรือสับหรือซอยมะม่วงใส่ลงไป แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน6. ใส่พริกสด เกลือ กะปิ คลุกเคล้าอีกครั้งหนึ่งแล้วชิมรส

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 103 จากตลาดสีเขียวเมืองกรุง สู่ fair trade ชุมชนสนามชัยเขต

วันแถลงข่าวเปิดตัวมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 6 ที่จัดไปแล้วเมื่อวันที่ 2 – 6 กันยายน 52 ที่เมืองทองธานีนั้น  ปีนี้มีชื่อคอนเซ็ปต์งานว่า “ผักพื้นบ้าน สร้างเศรษฐกิจไทย  กู้ภัยหวัด”   ในงานมีลานวัฒนธรรมที่นำเสนอ “ลานผักพื้นบ้าน  อาหารกู้โลก”  ของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกร่วมกับองค์กรชุมชนในแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร  กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ฉะเชิงเทรา   ซึ่งใกล้กรุงเทพฯ กว่าใครรับอาสาเป็นตัวแทนของเพื่อนๆ นำเสนอผักพื้นบ้านกว่า 130 ชนิด และเมนูจากผักพื้นบ้านมาแสดง  อย่างคับคั่ง รวมทั้งเปิดตัวกับสื่อสาธารณะทั้งในรายการทีวี และสิ่งพิมพ์ต่างๆ อย่างคึกคัก ชาวบ้านกลุ่มนี้ นับเป็นกลุ่มร่วมบุกเบิกเปิดตลาดสีเขียวกับเครือข่ายตลาดสีเขียว ซึ่งมีการนำสินค้าออร์แกนิคมาจำหน่ายกับผู้สนใจที่ตึกรีเจนท์ ราชดำริในทุกวันพฤหัสมาเมื่อ 2 ปีก่อน แล้วตะลอนไปขายกับเครือข่ายในทุกงานที่มีโอกาส เพื่อให้เกิดการขยายตัวของการตอบรับของผู้บริโภคเรียกว่าเป็นหน่วยผลิตแนวหน้ากล้าตายที่สามารถสู้กับตลาดกระแสหลักได้ทั้งในเรื่องข้าว ผักเศรษฐกิจ และผักพื้นบ้าน  ก่อนงานมหกรรมฯ ทีมทำสื่อได้ยกโขยงกันไประดมถ่ายรูปผักและเมนูอาหารกู้โลกเพื่อนำมาผลิตเป็นการ์ดเซ็ตสวยๆ ขายราคาต้นทุนในลานผักพื้นบ้านฯ  ฉันเลยได้ติดสอยห้อยตามเขาไปดูกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านคู้ยายหมี ที่อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา กับเขาด้วยตอนไปถึงเป็นช่วงก่อนมื้อเที่ยงเล็กน้อย กับข้าวหลายอย่างออกมาวางเรียงรายรอช่างภาพมาถ่ายภาพ  ทำให้ฉันที่เป็นคุณพลอยเลยได้เก็บรูปมากะเขาด้วยหลายผัก หลายตำรับ  ทั้งข้าวสวยสีฟักข้าวแดงระเรื่อ ต้มหมูชะมวง  ต้มข่าอ่อนไก่บ้าน  ต้มยำไก่บ้านใส่เต่ารั้ง  ต้มกะทิสายบัวลูกมะดัน  แกงขี้เหล็กกับหอยจุ๊บไม่ใส่กะทิ  แกงขี้เหล็กใส่กะทิกับข่าอ่อน  ตอนที่ไปถึงแม่ครัวเรากำลังผัดสายบัวกับกุ้งแม่น้ำพอดี  และยังมีการเตรียมอุปกรณ์และเครื่องปรุงสาธิตสดๆ การยำเต่ารั้งสูตรมังสวิรัติ และตำผลไม้ใส่มะอึก  เห็นกับข้าวจากวัตถุดิบดีๆ ฝีมือปรุงดีๆ อย่างนี้ทำเอาน้ำลายสอ กลืนลงคอถี่ๆ และอยากให้ภาระกิจการถ่ายภาพเหล่านี้เสร็จสิ้นโดยไวกันทั้งคณะ   ถ่ายภาพอาหารและผักที่เตรียมตัดมารอไว้เสร็จ ทีมงานก็เดินลุยแดดเปรี้ยงๆ ลงไปในสวนอีก 2 – 3 สวน  เพื่อเก็บภาพให้ครบตามเป้าหมายที่ตั้ง  ฉันเองเดินไปได้แค่รอบๆ อาคารสำนักงาน กับสวนด้านหลัง ก็เหน็ดเหนื่อยกับแดดแผดร้อนมหาโหดพอแรง  นั่งบ่นเรื่องอากาศร้อนๆ อยู่ พี่ยุพิน คะเสนา หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มบอกว่าปีนี้แล้งเหลือหลาย เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงแปรปรวนจนไม่แน่ใจว่าปีหน้าจะมีข้าวพอกินหรือเปล่า?  จริงสินะ....ขนาดชาวบ้านที่สร้างอาหารตัวเองได้รายรอบบ้านแบบนี้ยังมีความตื่นตัวเพราะใกล้ชิดและเห็นผลพวงที่ปรากฏตามธรรมชาติ  แต่เราที่อยู่กันแบบห่างไกลจนใกล้จะเรียกว่าตัดขาดจากสภาพธรรมชาติที่แท้กับไม่รับรู้  ลืมและหลงระหว่างรอทีมช่างภาพกลับมา  ฉันเลยมานั่งคุยกับพี่นันทวัน หาญดี เจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ของกลุ่ม ซึ่งควบรวมตำแหน่งผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรทางเลือก จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีสมาชิก 350 ครัวเรือนใน 9 หมู่บ้าน 3 ตัวบน ของอำเภอพนมสารคาม โดยใน 350 ครอบครัวนี้มี 50 ครอบครัวที่เป็นแหล่งผลิต ข้าว ผัก ปลา หมูอินทรีย์ ในพื้นที่รวม 1,300 ไร่   ที่บ้านคู้ยายหมีที่เรามานี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลุ่มเท่านั้นด้วยกำลังผลิตประมาณนี้ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกที่ จ.ฉะเชิงเทรา ทำให้ฉันไม่แปลกใจเลยที่จะมีผลผลิตดีๆ ออกไปจำหน่ายอย่างต่อเนื่องที่ตลาดสีเขียวในกรุงเทพฯ โดยพี่ต้อย พลูเพ็ชร สีเหลืองอ่อน ช่วยประสานการวางแผนงานตลาดคนเมือง  แต่กลุ่มจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะเป้าหมายที่แท้ที่กลุ่มอยากสร้างคือ “ตลาดท้องถิ่นของชุมชน”“เราอยากให้ทั้งคนมีและคนจนในชุมชนของเราเข้าถึงอาหารคุณภาพดีๆ ที่เราผลิตได้ในราคาที่ไม่แพง แต่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เพื่อที่คนกินจะได้หันมากินของดีๆ ของเรา  ได้รู้จัก พูดคุย สร้างความสัมพันธ์และเข้าใจอันดีต่อกัน” สั้นๆ ง่ายๆ ที่พี่นันบอกมาพี่นันยังเล่าอีกว่า มีพี่จิ๋ม หรือเภสัชกรหญิงศิริพร จิตประสิทธิ์ศิริ ที่ทำงานร่วมกันมาได้ช่วยกันผลักดันโดยนำเรื่องนี้ไปปรึกษาหารือกับ นายแพทย์สมคิด วิระเทพสุภรณ์  ผอ.รพ.สนามชัยเขต  จนทำให้เกิดมีตลาดนัดสีเขียวในโรงพยาบาลทุกวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันที่สำรวจพบว่ามีผู้เข้ามารับบริการจากโรงพยาบาลมากที่สุด โดยเริ่มจำหน่ายกันมาตั้งแต่กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว  สินค้าที่จำหน่ายส่วนใหญ่เป็นอาหารปรุงสำเร็จ และอาหารตามสั่ง และมีเมนูเด็ดที่ขายประจำคือขนมจีน 4 สี จากข้าวเหลืองประทิวอินทรีย์ที่ยอดจำหน่ายเริ่มพุ่งจากจันทร์ละ 15 กก.เป็น 18 กก. โดยมีน้ำยา 3 รส คือน้ำยาหวาน น้ำยากะทิ และน้ำยาป่าเป็นตัวยืน  เมนูอีกอันที่ฮิตติดกระแสคือยำผักกูด ซึ่งตอนนี้กำลังขยายความคุ้นเคยของผู้บริโภคไปสู่ยำผักพื้นบ้านสมุนไพรตัวอื่นๆ อย่างยำสี่สหายและยำเต่ารั้ง แผนที่จะทำกับกลุ่มโรงพยาบาลต่อ คือโครงการเมนูสุขภาพ  ซึ่งเครือข่ายจะเตรียมจัดเมนูอาหารกลางวันอินทรีย์ดีๆ อร่อยๆ ให้กับบุคลากรในโรงพยาบาลที่มีประมาณ 200 กว่าคน ให้ได้รับประทานกันในราคาประหยัด  ในทุกวันทำงานตั้งแต่จันทร์ – ศุกร์  ซึ่งโครงการนี้จะเริ่มในกลางเดือนกันยายนนี้และคาดหวังว่าแผนการดีๆ อย่างนี้จะเป็นโครงการนำร่องเพื่อให้เกิดการขยายตัวในการผลิตอาหารอินทรีย์ของกลุ่มชาวบ้านเครือข่ายเพิ่มขึ้น    ยำสี่หสายเมนูรสเยี่ยม เปี่ยมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่รับประกันว่ารับประทานแล้วช่วยให้สวยตลอดเรือนร่างเพราะเป็นเมนูไร้ไขมัน จาก ผักกูด (แก้อ่อนเพลีย แก้ไข้ แก้ไอ) , ดอกอัญชัน (บำรุงดวงตา ทำให้ตาสว่าง) , พริก หอม กระเทียม (ช่วยลดโคเลสเตอรอลและแก้ไขหวัด) , คื่นฉ่าย (ช่วยสร้างภูมิต้านทาน) ดอกโสน (อุดมด้วยสารเบต้าแคโรทีน) , เห็ดนางฟ้าลวก (เสริมโปรตีนจากพืชผัก) , ไผ่ตง (ขับปัสสาวะ และเต่ารั้ง (โปรตีนและธาตุสังกะสีสูง) การเตรียมผัก ผักที่ลวกสุกได้แก่ ผักกูด และหอมแดง และเห็ดนางฟ้า ผักที่ต้มได้แก่หน่อไม้ไผ่ตง ผักกินสดได้แก่ ดอกอัญชัน โสน คื่นฉ่าย น้ำยำ : ใช้พริกขี้หนูโขลกกับกระเทียมพอแหลก ปรุงรสด้วยน้ำกระเทียมดอง เกลือ ซีอิ๊วขาว น้ำตาล และมะนาว ตามชอบใจ การยำ : ใส่ทุกอย่างเท่าๆ กัน แล้วตักน้ำยำราด คลุกเคล้าให้ทั่ว โรยหน้าด้วยงาขาว งาดำ คั่วใหม่ๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 102 ข้าวคลุกกะปิรวมมิตร

เรื่องเรียงเคียงจานนก อยู่วนา วันหยุดเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา ฉันหลบร้อนจากเรื่องราวที่ผ่านตาในหน้าคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ไปอยู่ในสวน เพาะถั่วมะแฮะ ถั่วแปบ ถั่วดาบ ที่เก็บมาจากยโสธร ถั่วพูจากฝักแก่ที่พันเลื้อยต้นมะม่วงในบ้าน และถั่วพุ่มที่เก็บมาจากตลาดสดของชาวบ้านระหว่างทางไปสามพันโบก จ.อุบลฯ พอปลายเดือนเมษายน ต้นถั่วแปบและถั่วดาบก็มีอันเป็นไปเพราะหอยหากอัฟริกันที่แฝงฝังอยู่ในสวนออกมาพาเหรดกันช่วงที่ฉันไม่อยู่บ้านหลายวัน ดีที่ยังมีกล้ามะแฮะที่ฉันแยกเอาไปปลูกลงดินข้างรั้วบ้าน กับถั่วพูที่นอกจากเอาไปลงข้างค้างที่เพิ่งทำขึ้นใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้รกเลื้อยไต่ไปบนต้นไม้ใหญ่จนลำบากต่อการเก็บมากิน ยังเหลือเอาไปปันให้พี่ฉัตร แม่ค้าก๋วยจั๊บในหมู่บ้านซึ่งแม้ตัวเองจะบอกว่าไม่ค่อยมีที่จะปลูกก็ยังพยายามปลูกพืชผักสวนครัวแซมแทรกที่หน้ารั้วบ้านของตัวเองด้วยใจรัก ส่วนถั่วพุ่ม ฉันนำกล้าทั้ง 3 ต้นปลูกลงในลอง ซึ่งเป็นท่อซีเมนต์ขนาดใหญ่กว้างเกือบเมตรที่ปกติเขาเอาไว้ทำบ่อพักส้วม ลองซื้อมาหนึ่งอันตกราคาแค่ 80 – 85 บาท นับว่าถูกกว่ากระถางดินขนาดใหญ่หลายเท่าทีเดียวแม้กล้าผักต่างๆ ทั้งใบบัวบก ผักชี ผักชีฝรั่ง ผักคะน้า ผักกาดเขียว กวางตุ้ง ผักกาดฮ่องเต้ และอีกสารพัดชนิดที่ว่านลงดิน ล้วนมีชะตากรรมเดียวกับถั่วแปบและถั่วดาบทั้งสิ้น ซึ่งในการลงมือ “เก็บ” เหล่าเจ้าหอยทากตัวแสบ(มารคอหอยตัวจริง)แทบทุกครั้งเพื่อเอาไปปล่อยนอกบ้าน ฉันจะข่มขู่มันว่าจะเอาไปต้มยำทำแกงเป็นเมนูในคอลัมน์นี้สักครั้งมันก็ยังไม่เข็ด ยังคงพากันแห่แหนเข้ามาเพราะที่สวนของฉันมันทั้งร่มชื้นและมีต้นไม้ เศษซากใบไม้ไว้ให้กินได้อย่างอิ่มหมีพีมัน วิธีกินหอยทากชนิดนี้ ถ้าจะกินให้ดีต้องเอาไปต้ม นึ่งหรือย่างให้สุกดีเสียก่อนแล้วปรุงเป็นอาหารต่างๆ อร่อยไม่แพ้หอยจุ๊บ หรือหอยหวาน แต่แค่เห็นหน้าเห็นหนวดมันแล้ว ออกจะดูน่ารักน่าสงสารแม้จะสร้างความรำคาญและเสียหายให้กันอยู่บ้าง ก็ได้แต่ปลงใจว่ามันทำให้ฉันต้องพยายามค้นหาผักยืนต้นอื่นๆ ที่มันไม่พิสมัยต่อไป พอก่อนจะเข้าพรรษา ต้นถั่วพุ่มก็งามสมบูรณ์ ออกดอกออกฝักให้ได้เห็นชื่นตา ฝักแรกของต้น ฉันปล่อยให้มันแก่แห้งคาต้นไว้ เพื่อเก็บเมล็ดไว้ปลูกครั้งต่อไป ตอนเก็บฝักแดงๆ มากินยังนึกแปลกใจว่าเป็นเพราะพันธุ์ที่ได้มามีแต่ถั่วพุ่มสีแดง หรือว่าถั่วพุ่มสีเขียว ถั่วพุ่มลายที่ปะปนมากันในถุงเมล็ดที่วางขายจะถูกเจ้าหอยทากกินหมด ซึ่งถ้าจะให้รู้คำตอบได้แน่คงต้องลองหาเมล็ดถั่วพุ่มสีอื่นๆ มาทดลองเพาะซ้ำร่วมกับถั่วพุ่มแดงอีกหน แล้วฉันก็หายจากบ้านไป 5 – 6 วัน อีก2 ครั้ง ดีแต่ว่าที่ที่ฉันไม่อยู่มีเทวดาคอยดูแลต้นไม้ในสวนไว้อย่างต่อเนื่อง กลับมาบ้านเที่ยวนี้จึงเห็นสุมทุมพุ่มไม้ในสวนเขียวงามสดสะพรั่ง และดั่งเช่นเคย เจ้าหอยทากก็ออกมาร่าเริงเลยกันเป็นหมู่คณะ ฉันเห็นฝักถั่วพุ่มแดงไสวก็ได้แต่บอกว่าช่างมันเถอะ ถือว่าแบ่งกันกิน แล้วก็เก็บมันไปทิ้งเหมือนเดิม เดินทางหลายวันแบบนี้ ได้ลงมือทำอาหารกินเองสักที ค่อยชื่นใจ มีข้าวเย็นเป็นข้าวหอมมะลิหุงปนกับข้าวกล้องบรือปรุ๊ หรือข้าวหม่นของปกากะญอที่เชียงใหม่ กับยอดของใบชะมวงที่พี่ฝนเอามาให้จากบ้านสิงห์บุรี และกะปิดีของชาวบ้านที่ทำนาอินทรีย์ ต.วัดดาว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรีติดก้นครัว เมนูวันนี้คงจะเป็นข้าวคลุกกะปิ ฝักถั่วพุ่มที่พองแล้วฉันแกะเอาแต่เมล็ดออกมา เนื้อเมล็ดที่สดยังหวาน มัน ส่วนเปลือกนั้นออกจะเหนียวเกินอร่อย ทดลองกินฝักที่สดกำลังกิน เนื้อจะเหนียวกว่าและหวานน้อยกว่าถั่วฝักยาวนิดหน่อย ฉันเอามาซอยบางๆ ไว้ แล้วเอาใบชะมวงมาซอยหยาบๆ แทนมะม่วงซอย ซอยหอมแดงอินทรีย์จากสุรินทร์ วางข้างพริกที่เก็บมากินจากในสวน แล้วลงมือเจียวไข่ไก่ เป็นไข่จากไก่แจ้ที่ฉันเก็บมาจากบ้านแม่ที่อยุธยา แล้วซอยเป็นเส้นหยาบๆ รอไว้ แกะกระเทียมอินทรีย์สุรินทร์แล้วตี สับกระเทียมเจียวให้หอม ตักกะปิเกือบๆ ช้อนแกงลงไปผัดบนไฟอ่อนๆ ให้หอมดีแล้วเอาข้าวที่ยีเป็นเม็ดลงไปผัดสักครู่แล้วตักขึ้น ฉันเลิกกินหมูมาตั้งแต่เมื่อต้นปี ดีที่ในตู้เย็นยังมีกุ้งแห้งทั้งป่นแล้ว และกุ้งเป็นตัว กับหอยหวานที่ได้มาจากดอนหอยหลอดเมื่อกลางมิถุนายน (คราวหน้าไม่แน่อาจเป็นเจ้าหอยทากตัวแสบ ฮา) ฉันเลือกหยิบมาแต่หอยหวาน จำได้ว่าตอนเลือกซื้อหอยหวานที่ไม่คลุกน้ำตาลนี่ฉันเดินหาอยู่พักใหญ่ หลายร้านกว่าจะได้ เพราะแผงร้านขายอาหารทะเลที่ดอนหอยหลอดส่วนใหญ่จะมีขายชนิดที่ผสมมาเสร็จ “เอากลับไปทำแล้วมันหวานเลยไม่ต้องปรุง” เป็นคำอธิบายของแม่ค้า จนสุดท้ายตอนที่ฉันได้มาเป็นเพราะแม่ค้าด้วยกันเองช่วยถามเพื่อนข้างร้านที่เขามีหอยหวานที่ไม่ปรุงเก็บไว้นั่นแหละ ไม่งั้นอดกินแน่เลยเชียว เทหอยหวานใส่ลงชามแล้วล้าง 2 – 3 ครั้ง ตั้งทิ้งให้สะเด็ดน้ำ แล้วเอาไปทอดในน้ำมันแบบขลุกขลิก ไฟไม่แรงมากเพราะกลัวไหม้ หมั่นใช้ตะหลิวคนเอาไว้ พอสุกเหลืองหอมทั่วทุกตัวดีแล้วตักใส่ถ้วย เอาน้ำผึ้งโตนดราดสัก 1 ช้อนโต๊ะแล้วคลุกให้เข้ากันดี แค่นี้ทุกอย่างก็พร้อมแล้วสำหรับมื้อเช้าเย็นชื้นฝนที่พรมลงมาแต่เมื่อคืน น้ำผึ้งโตนด (หรือคนที่เอามาให้จากคาบสมุทรสทิงพระ สงขลาเรียกน้ำผึ้งโหนด) เป็นน้ำหวานจากจาวตาลที่ถูกเคี่ยวจนเหนียวมีลักษณะคล้ายน้ำผึ้ง คนแถวนั้นคุ้นเคยกับมันดีเพราะมีตาลโตนดปลูกเรียงรายอยู่มากไม่น้อยกว่าที่เพชรบุรีเลยทีเดียว วิธีใช้น้ำผึ้งโหนดของพวกเขามีตั้งแต่เอามาผสมน้ำจิ้มสารพัดชนิด ทำอาจาด ใส่ขนมหวานน้ำแข็งไสเป็นน้ำเชื่อม เชื่อมขนม ตอนที่อ้นยกขวดน้ำผึ้งโหนดให้ฉัน 4 ขวด เธอกังวลว่าขวดจะหนักและต้องแบกขนกัน ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการผลิตสินค้าส่งออกขาย แต่ฉันว่าไม่ได้ลำบากอะไรแค่ใส่ไว้ท้ายรถ แล้วพอมาถึงก็แบ่งๆ กับเพื่อนๆ ไปทดลองทำอาหารกินกันดู รสมันหวานและหอมดีแท้ๆ ถ้าจะทำน้ำปลาหวานแบบที่กินกับมะม่วง หรือที่กินกับปลาดุกเผาสะเดาลวก ก็แสนจะสะดวก ไม่ต้องเอาน้ำตาลโตนดที่เป็นปึกเป็นแว่นมาเคี่ยวไฟละลายให้เหนียว แถมยังลดความเสี่ยงจากการใช้น้ำตาลโตนดปึกซึ่งถ้าไม่รู้แหล่งและดูไม่ออก อาจจะได้น้ำตาลโตนด(แว่น) ที่ปนดีน้ำตาลที่เขามาใส่ตอนเคี่ยวให้มันแห้งไฟและจับเป็นก้อน ข้าวคลุกกะปิจานนี้เลยเป็นเมนูรวมมิตรจากผลผลิตทั่วสารทิศตั้งแต่ภูเขาสูงเหนือจรดดินแดน 3 น้ำ ของสงขลาไป อร่อยแบบข้าวคลุกกะปิ แต่แปลกออกไปไม่เหมือนใครดี ซึ่งแบบนี้คุณเองก็ลองแปลงเองได้ ง่ายๆ จริงๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 101 มหกรรมสมุนไพรครั้งที่ 6

เรื่องเรียงเคียงจานนก อยู่วนาเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อนพี่น้องในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 4 ภาคมานั่งคุยกันว่าจะเตรียมโชว์ผักพื้นบ้านของแต่ละภาคในงานมหกรรมสมุนไพรครั้งที่ 6 ซึ่งจะจัดในอิมแพค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 2 – 6 กันยายน ปีนี้ งานนี้นอกจากจะมีสูตรอาหารท้องถิ่นที่มาจากชุมชนที่รักษาความหลากหลายของพืชพรรณในระบบนิเวศน์ต่างๆ แล้ว ยังมีข้าวมีข้าวพื้นบ้าน และลานสาธิตการปรุงอาหารจากผักพื้นบ้าน และการเตรียมเมล็ดพันธุ์ กล้าไม้ไว้ให้ผู้สนใจได้เอากลับไปปลูกกินเองต่อที่บ้าน คุยกันเล่นๆ ว่า ถ้ายังไม่รู้จักว่าผักพื้นบ้านหน้าตาแปลกๆ นั้นจะนำไปปรุงและกินอย่างไร คำตอบง่ายๆ สำหรับเรื่องนี้มีไข่เป็นตัวช่วยค่ะ “เจียวไข่” กรรมวิธีปรุงอาหารคลาสสิคที่ใครๆ ส่วนใหญ่เคยทำ น่าจะเป็นเมนูแรกๆ ที่คนไม่เคยทำอาหารมาก่อนเลยเลือกทดลอง อาจจะเป็นรองแค่ไข่ต้มและไข่ดาวที่ง่ายกว่า ไข่เจียว กินอร่อย กินง่าย ทำง่าย ใช้เวลาไม่มาก แต่หากพิถีพิถันแล้วเรียนรู้วิธีการเจียวไข่สารพันกับผักก็จะกลับเป็นเรื่องสนุกได้เหมือนกัน เหมาะกับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่อยากจะหัดทำกับข้าวและลองรับประทานผักพื้นบ้าน ในเมืองไทยมีผักพื้นบ้านให้เจียวกับไข่ได้ หลายเมนูไม่ซ้ำกัน ลองมานั่งไล่กันดูนะคะ1.กระถิน เมล็ดอ่อนแกะแต่เมล็ดเจียวกับไข่ 2.กระเทียมเจียว ตีสับๆ หยอดลงกระทะก่อนเทใส่ไข่ หรืออีกวิธีมีกระเทียมดองปอกเปลือกออกแล้วซอยใส่ลงในไข่ที่ตีฟูแล้วเจียว 3.กะเพรา เอาแต่ใบกับยอดใส่ไข่แล้วทอดเหลืองๆ หอมๆ 4.กะทกรก ใส่ไข่เจียวคล้ายๆ กับข้อ 3 5.ชะอมชุบไข่ กินกับน้ำพริก 6.กุยช่าย เหมาะมากกับคุณแม่คลอดลูกใหม่เสริมโปรตีนและขับน้ำนม 7.ปลีกล้วย ซอยถี่ๆ เหมือนจะเอาไปลวกกินกับขนมจีนน้ำพริก แต่คราวนี้ใส่ลงในไข่ปรุงรสน้ำปลา 8.กระสังใบใสๆ กินสดรสจืดๆ กินแก้ไข้ 9.ขจร หรือดอกสลิด ตอกไข่ใส่ชาม ปลิดเอาแต่ดอก 10.ข้าวสาร ปกติต้มกินกับน้ำพริก ลองเปลี่ยนมาฝานบางๆ ใส่ไข่เจียวดู 11.เข็ม ดอกเข็มแดงๆ ในไข่เหลืองฟู น่ากินมาก12.ข้าวโพดข้าวเหนียว ฝานเมล็ดแล้วเจียว...สุดยอด 13.ขนุน ใบอ่อนหรือดอกขนุนตัวผู้ ที่ทางอีสานเรียกหำบักมี้ ซอยใส่ไข่ 14.ดอกแคบ้าน และ15.ดอกแคแดง เจียวในน้ำมันร้อนแรงกับไข่ ไข่เจียวฟูๆ ถ้าไม่มีดอก ใช้ยอดและใบอ่อน รูดเอาแต่ใบนะจ๊ะ 16.งา ทั้งงาขาวและงาดำ 17.ชะพลู อีสานเรียกอีเลิด ซอยฝอยๆ หอมอร่อย 18.ดาวกระจาย เลือกแต่กลีบดอกเส้นเหลืองๆ บางๆ ไม่ใช้เกสร 19.ตะไคร้ ซอยบางๆ เหมาะสำหรับใครบางคนที่เพิ่งเดินทางข้ามทวีปแล้วมีอาการเจ็ตแล็ค 20.ไค สาหร่ายในแม่น้ำทางอีสาน เหนือ และลาว ที่กำลังมีลดน้อยลงทุกที 21.ตำลึง ใส่เป็นใบทอดไข่หนานุ่มกินกับน้ำพริก หรือจะซอยบางๆ โรยเบาๆ ในไข่ฟูๆ ก็ได้ 22.ถั่วฝักยาว23.ถั่วพุ่ม 24.ถั่วพู ถั่ว 3 อย่างนี้ ซอยบางๆ ส่วนถั่วพูถ้ามียอดและใบอ่อนก็เจียวได้ค่ะ ว้า! มาจนถึงหมวด บ.ใบไม้ ครับผม 25.บวบกลม 26.บวบเหลี่ยม 27.บวบงู บวกอีกหนึ่ง ต.แตงอ่อน และแตงกวา เป็นอันดับที่ 28 กับ 29 กลุ่มนี้ไม่เจียวแต่ใช้ท่อนผัดกับน้ำมันแล้วตอกใส่ไข่ มีตัวช่วยเป็นไข่พออนุโลมไหมหนา30.ผักกะเฉด เอาแต่ยอดอ่อนๆ 31.ผักกูด ลวก ราดกะทิกินกับน้ำพริกอร่อย ต้มแกงก็อร่อย แต่วันไหนอย่างกินง่ายๆ ไม่ใช้เวลามากลองผัดไฟแดงหรือเจียวดู! 32.ผักขี้หูด ผักพื้นบ้านภาคเหนือ ขอบอก เลือกฝักอ่อนๆ นะจ๊ะ 33.ผักโขม 34.ผักโขมจีน ซอยแล้วเจียว แข็งแรงอย่างป็อบอายเชียว 35.ผักชี 36.ผักชีล้อม 37.ผักชีลาว she ทั้งสามมีเสน่ห์ความหอมที่แตกต่าง 38.ผักเชียงดา ยอดอ่อนตอนหน้าแล้งรสไม่เฝื่อนเหมือนหน้าฝน 39.ผักบุ้งไทยใบเขียว ซอย ตำแล้วคั้นเอาแต่น้ำข้นๆ ใส่ลงในไข่สัก 1 – 2 ช้อนโต๊ะเหยาะน้ำปลา เป็นไข่เจียวมรกตฟูๆ 40.ผักบุ้งแดง ซอยเป็นแว่นๆ เจียวเพิ่มวิตามินเอ 41.ผักปลัง ใช้ส่วนยอด 42.หวานบ้าน และ43.ผักหวานป่า จะเจียวหรือผัดไข่ก็อร่อย 44. ผำ ล้างน้ำสะอาดแล้วกรองเอาแต่เม็ดผำใส่ลงในไข่ ไม่ต้องใส่น้ำ เพราะผำฉ่ำน้ำ ไม่งั้นไข่จะนิ่มเละเกินไป ถ้าชอบไข่ฟูใส่แค่ 1 ช้อนโต๊ะต่อไข่ 1 ใบก็ได้ความอร่อยแบบใหม่ 45.พริก อ๊ะ! ใช้ส่วนใบมาเจียวค่ะไม่ใช้เมล็ด 46.เพกา เอาฝักที่ใช้เผากินกับแจ่วแล้วอร่อยสุดๆ นั่นแหละ มาฝานบางๆ แล้วเจียวดูสิ 47.ฟักข้าว ใช้ยอดอ่อนมาเจียวกับไข่ 48.ฟักทอง ถ้าเป็นยอดไม่มีปัญหาในการเจียว แต่ถ้าเป็นผล ฝานบางแล้วซอยเป็นเส้นฝอยๆ เจียวกับไข่ฟูๆ แต่ถ้าชอบไข่นิ่มๆ หั่นบางๆ ก็โอเค 49.มะขามเทศ มะขามเทศต้นข้างทางที่ฝาดๆ พอเอามาใส่ไข่เจียวหนานุ่มแล้ว ...อืม อร่อยลืมฝาด แต่อย่าลืมแกะเปลือกกับเมล็ดออกก่อนนา 50.มะเขือพวง 51.มะเขือเปาะ และ 52.มะเขือยาว จะใส่ไข่เจียวเป็นแพหรือชุบไข่ทอดเป็นคำดี 53.มะระขี้นก ใช้ได้ทั้งยอดและผล ถ้าเป็นผล ผ่ากลางผลแล้วแกะเมล็ดออก ฝานบางๆ 54.มะละกอ บ้างว่าสับ บางว่าซอยเป็นเส้น แล้วแต่ความถนัดและความนิยม จะซอยหรือผัดกับไข่อร่อยมากๆ 55.เหมียง อ้าว! อันนี้ก็ผัดไข่ 56.โหระพา เจียวแล้วหอม 57.อัญชัน ใช้ดอกมาเจียว เลยนึกขึ้นมาได้อีกอันเป็นอันดับที่ 58 คือดอกดาหลา แล้วมาจบที่ 59. ดอกโสน ส่วนวิธีทำและวิธีรับประทานแบบอื่นๆ ค่อยๆ เรียนรู้ดัดแปลงต่อได้หลังจากเราพอจะปรับลิ้น ปรับใจให้คุ้นกับไข่สารพันผัก ซึ่งในงานเราคงจะไม่สาธิตการเจียวไข่กับผักแต่จะเอาเมนูเด่นทั้งแบบพื้นถิ่นและแบบประยุกต์มาสาธิต และพูดคุยกันถึงสรรพคุณอันแสนวิเศษผักอย่าง ตามัด ราน้ำ หญ้าช้อง สะคร้าน เทียมลิง ซึ่งฉันเองไม่เคยรู้จัก คงจะได้รู้จักในงานนี้ ส่วนผักที่บางอันเพิ่งรู้จัก บางอันก็คุ้นเคยมานานนับปี อย่างหัวทือ ทำมัง เต่ารั้ง หวาย คาวตอง ขะแยง สาบ ติ้ว และฯลฯ คงจะมาอวดโฉมพร้อมกับให้ได้ลิ้มรสฝีมือการปรุงจากแม่ครัวท้องถิ่น ขอบอกก่อนว่าไม่ใช่มีแต่เครือข่ายเกษตรทางเลือกที่จะทำให้กิน มีทั้งเครือข่ายหมอยาและกลุ่มชาวบ้านที่รักษาฐานทรัพยากรอาหารอีกหลายแห่งก็เตรียมขนผักกันมามากมาย คาดว่าจะละลานตา .... ละลานใจ ไม่แพ้งานปีก่อนๆ เลย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 100 ทอดมันแปลงกาย กับคำแนะนำของผู้ชายในตลาด

เรื่องเรียงเคียงจานนก อยู่วนาวันไหนพอจะมีเวลาและไม่ตื่นสาย ฉันก็จะมีโอกาสได้ไปเดินดูข้าวปลาอาหารในตลาดสดบางบัวทอง ตลาดซึ่งเมื่อฉันกลับมาถึงบ้านทีไร ก็อยากจะหาโอกาสได้ไปเดินดูอะไรต่อมิอะไรบ่อยๆ กว่าที่เป็นอยู่ เอาเข้าจริงๆ แล้วที่ว่าตื่นไม่สายสำหรับฉัน มันคือช่วงแสงแดดเริ่มแย้มออกมาได้สักพัก ฉันเลยมักกำหนดโปรแกรมการเดินตลาดสดแบบอาศัยมื้อเช้าที่ร้านอาหารเล็กๆ ที่มีอยู่หลายเจ้าในตลาดนั่นแหละ กินไปดูผู้คนไป บางทีก็ไพล่ไปคิดถึงตลาดสดที่บ้านในวัยเด็ก เวลาจะผ่านเลยไป ฉันก็ยังคงรู้สึกถึงความมีชีวิตชีวาได้อย่างไม่ต่างกันกับตอนนี้แม้นานๆ จะไปเดินตลาดสักที แต่หลายๆ ทีที่ไปฉันมักโชคดีอยู่บ่อยๆ เช่น ไปเจอร้านอาหารมุสลิมที่เอานมแพะมาตั้งขาย ไปทีไรมีวางขายอย่างมากก็ไม่เกิน 4 – 5 ขวด ยังไม่ได้สบโอกาสถามสักทีว่าทำไมจึงมีแค่นี้ แต่ถ้าวันไหนได้ไปตลาด ฉันก็จะต้องซื้อกลับมากินทุกที เพราะมันเป็นนมแพะแท้ๆ ไม่มีกลิ่นอื่นปนติดมา ราคาไม่แพง แถมยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะพบยาปฏิชีวนะกันโรคเต้านมอักเสบน้อยกว่าในนมวัวอีกต่างหากอีกคราวที่ไปเดินตลาด กำลังเพลินกับการเลือกซื้อลูกแผงแตงไทยใบไม่ใหญ่ที่ลุงคนขายวางให้เลือกซื้อไว้ราว 10 กว่าลูก แต่ละลูกมีรูปทรงแตกต่างกันไปไม่เหมือนกันสักลูก กลมบ้าง เรียวบ้าง ผิวเปลือกก็มีสีแตกต่าง เลือกมาได้ขนาดกำลังกิน 1 ลูก แล้วตาก็พลันไปเหลือบเห็นเห็ดรูปทรงประหลาดหัวใหญ่ดำทะมึนวางแอบอยู่ข้างกองใบแมงลัก ลุงคนขายบอกว่ามันเป็นเห็ดตับเต่าซึ่งปีหนึ่งจะออกดอกมาให้กินหนหนึ่ง ฉันเคยได้ยินแต่ชื่อ เลยถือโอกาสทำความรู้จักวิธีกินมันเบื้องต้นจากลุงคนขายนั่นเองกลับมาบ้านฉันจึงนึกได้ เสียดายว่าลืมถามชื่อแกเอาไว้ อารามด้วยความตื่นเต้นดีใจกับเห็ดแปลกๆมื้อกลางวันวันนั้น ฉันทำทอดมันแปลงกาย ส่วนผสมที่ใช้ทำทอดมันแปลงกายมีปลากรายขูด ซึ่งตอนซื้อก็เป็นธรรมดาที่พ่อค้าอยากจะขายให้ได้มาก เขาเสนอให้ฉันเอากองปลากรายที่ปั้นเป็นก้อนๆ มา 2 ขีด 50 บาท แต่ฉันขอซื้อตามปริมาณที่ต้องการเพราะอยู่คนเดียว กินไม่หมด และยังไม่มีเมนูสำรองเพื่อการกักตุนใดๆ จริงๆ ก็เกือบๆ 2 ขีดนั่นแหละ แต่จ่ายไป 45 บาท สบายอกสบายใจทั้งคนขายและคนซื้อปกติเวลาได้ปลากรายมา ถ้าจะเอามาทำลูกชิ้นสำหรับแกง ก็เคยถูกสอนมาให้เอาเนื้อปลากรายขูดมาตำแล้วเจือโดยน้ำเกลือ ตำให้เนื้อนุ่ม เหนียว เมื่อนำไปต้มแล้วจะฟู แต่คราวนี้ฉันเอาปลากรายขูดใส่ครกหิน แล้วใส่พริกแกงปลาที่มีติดอยู่ในตู้เย็นลงไปพร้อมๆ กับใบมะกรูดซอย ตำแบบหนืดๆ หนักๆ เพื่อให้ปลากับเครื่องแกงเข้ากันดีอยู่พัก แล้วตักขึ้นมาจับเป็นแผ่นวางลงบนใบเล็บครุฑ กับใบพริกใบพริกจากต้นซึ่งมีแต่ใบใหญ่ๆ ดกสะพรั่ง เจ้าต้นพริกที่เกิดขึ้นเองอยู่ดาษดื่นในสวนราวกับจะเย้ยเจ้าหอยทากอัฟริกัน alien ตัวสำคัญที่ฉันต้องขอบคุณพวกมันทุกๆ วันขณะเก็บมันไปทิ้งนอกบ้าน เพราะมันได้สอนให้ฉันได้ค้นพบวิธีการจัดการสวนที่ไม่สามารถปลูกผักใบอย่างคะน้า กวางตุ้ง ผักชี เพราะฝีปากของพวกมันได้ตอนจับเนื้อปลากรายที่เข้าเครื่องแกงดีแล้ว วางบนใบเล็บครุฑ และใบพริก ต้องคอยจุ่มมือลงในน้ำสะอาดเพราะเนื้อปลาเหนียวได้ใจ จับเป็นคำขนาดพอกินได้หนึ่งจานพอดี เสร็จจากนี้ก็ใส่น้ำมันลงกระทะตั้งไฟพอให้ร้อนอย่าแรงจัด รอจนน้ำมันร้อนแล้วจึงค่อยๆ จับมันลงทอด ตอนนี้แหละ เนื้อปลาดูฟูน่ากินมาก แต่พอตักขึ้นมาสักพักก็ยุบไปเองโดยปริยาย แต่เหนียว นุ่ม อร่อยและกินได้แบบแทบไม่อยากหยุดปากตอนทอดมันใบเล็บครุฑนั้นระวังนิดนะคะ เพราะจะกระเด็นมากกว่าใบพริกสักหน่อย แต่ความอร่อยทั้งใบพริกกับใบเล็บครุฑสูสีกัน เปลี่ยนรสอร่อยจากที่เคยใช้ถั่วฝักยาว ถัวพุ่ม ถั่วพู และโหระพา กะเพรา ใส่ลงในทอดมันกินไปได้ตั้งครึ่งค่อนจานแล้ว เพิ่งจะนึกขึ้นได้ว่าลืมอาจาด! น้ำส้มโหนด หรือน้ำหมักจากน้ำตาลโหนดสดๆ ที่ได้มาจากลงไปเยี่ยมโครงการฟื้นฟูคาบสมุทรสทิงพระยังอยู่ในตู้เย็น (ไม่มีก็ใช้น้ำส้มสายชูแท้แทนไป) ชาวบ้านที่บ้านบ่อกุล อ.สิงหนคร เคยนำกุ้งเคยสดๆ ที่เพิ่งตักได้จากอ่าวไทยมาผสมแป้ง ไข่ และเครื่องแกงทอดแล้วทำน้ำจิ้มให้กิน โดยใส่น้ำส้มโหนดกับน้ำผึ้ง (น้ำตาลโตนดเคี่ยว) ซอยพริก ซอยแตงกวา หอมใหญ่ใส่ไปก็ได้แล้วตอนกินทอดมันกุ้งเคยกับน้ำส้มโหนดปรุงรส ฉันได้แต่พยักหน้าตาโต พึมพำย้ำซ้ำไปซ้ำมาว่า อืม...อร่อย... จนได้หิ้วเอาส้มโหนดกลับมา กะว่าจะเอามาลองทำอาหารที่ใช้แทนน้ำส้มหมักจากแอ็ปเปิ้ล หรือน้ำส้มสายชูดูบ้าง หลังจากที่ได้ไปดู วิถีการทำมาหากินของชาวบ้านในพื้นที่ที่มีลักษณะ “โหนด – นา – เล” และกินมาจนลืมอายเสร็จจากกินทอดมันมื้อบ่ายแล้วฉันก็จ่อมจมกับเครื่องมือหากินบนโต๊ะทำงานไปทั้งวัน ตกตอนค่ำของวันนี้ ฉันนึกได้อีกทีว่าลืมเรื่องสำคัญอย่างที่ 3 ไปจนได้เช้าวันถัดมา วันที่ฉันไม่ได้ไปตลาด หยิบเห็ดตับเต่าที่ล้างและตัดเอาส่วนโคนที่ติดดินออกแล้ววางผึ่งทิ้งไว้จนลืมทำกินมา หั่นเป็นชิ้นๆ ใส่น้ำลงกระทะกะพอลวกเห็ด 1 ดอก ราคา 20 บาท หั่นเป็นชิ้นพอคำได้จานพูนๆ พอน้ำเดือดจัดฉันก็เอาเห็ดลงไปลวกกะให้สุกแล้วตักชิ้นเห็ดขึ้นมาวางพักเพื่อถ่ายรูป น้ำลวกกลายเป็นสีแดงเข้มเกือบน้ำตาลอย่างที่ลุงคนขายบอกไว้แต่ฉันไม่ได้ทิ้งน้ำที่ลวกไปอย่างที่ลุงแนะ กลับเอามันมาปรุงเป็นน้ำแกงโดยต้มกับใบหอมแดง ยอดหม่อนและตะไคร้ ปรุงน้ำแกงด้วยน้ำปลาเพราะปลาร้าขาดครัว ดียังพอมีใบโหระพาที่หามาได้ในสวนใส่แทนแมงลัก แต่ทำแบบชุ่ยๆ ขนาดนี้ก็ยังพอกินได้ นึกเสียดายที่น่าจะทำเห็ดตับเต่ากินครั้งแรกเสียแต่เมื่อวานรสชาติเห็ดก็อยู่ในขั้นปานกลาง และแม้จะสู้เห็ดฟาง เห็ดโคนไม่ได้ แต่กินไปแล้วฉันกลับนึกได้ว่าถ้าเอาไปทำเห็ดตับเต่าน้ำแดง อย่างกระเพาะปลาน้ำแดงแล้วจะเป็นอาหารจานเหลาได้สบาย คงต้องรอปีหน้าละกันนะ... ถ้าไม่ลืม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 99 ผู้บริโภค คือผู้ร่วมผลิต

เรื่องเรียงเคียงจานนก อยู่วนา รุ่งเช้าของวันหลังฝนตก อากาศสดชื่น ต้นไม้น้อยใหญ่ในสวนมีหยดน้ำเกาะพราว หลังจากนั้นอีกสามสี่วันก็จะมียอดอ่อน ดอกตูมๆ ของต้นไม้แตกออกมาให้ได้ชื่นใจ หลังจากฉันชื่นชมอยู่ได้พักใหญ่ ยอดผักสารพัดชนิดก็มาวางเรียงรายเต็มถาดเพื่อเตรียมนำมาปรุงกิน ระหว่างจัดแต่งผักเพื่อเตรียมถ่ายรูป เพื่อนบ้านตะโกนถามว่าทั้งหมดที่วางกองรวมๆ อยู่นี่มาจากสวนในบ้านเหรอ ? ฉันบอก...เปล่า แต่อยากจะให้มันเป็นอย่างนั้นสักวันหนึ่ง ซึ่งยังอยู่บนเส้นทางการทดลอง และความพยายาม ระหว่างทางความพยายามฉันเก็บเกี่ยวความสุขไปพร้อมๆ กับผลผลิต ซึ่งสวนเล็กๆ ได้บอกเล่าเรื่องราวผ่านการสังเกตจากสิ่งที่ได้เห็นอยู่ซ้ำๆ แต่เป็นความจำเจที่มีเสน่ห์อย่างประหลาด นอกเหนือไปจากความประหยัดที่ลดเวลา ความถี่และค่าใช้จ่ายในการไปซื้อของจากร้านพุ่มพวงหน้าสโมสร หรือตลาดสดใกล้บ้านแล้ว ความสุขจากการเลือกเก็บเลือกกินผักที่งอกเงยจากน้ำพักน้ำแรงตัวเอง และการเฝ้าเห็นรอบของการเจริญเติบโตของผัก ก็เป็นมูลค่าเพิ่มที่ได้จากการไม่ซื้อ ...แต่ลงมือทำเอง ขณะนี้ฉันเองเพิ่งเข้าใจวิถี slow food ได้ลึกซึ้งถึงคำว่า “ผู้บริโภค คือผู้ร่วมผลิต” ก็ต่อเมื่อลงมือปลูก และเรียนรู้ปัญหาจากหนอน แมลงและสารพัดสัตว์ที่เขามามีส่วนแบ่งในพืชผักที่ลงมือปลูก รวมไปถึงสภาวะ แดดร้อนไป ดินไม่ดี เมล็ดอันนี้หว่านหน้านี้ไม่ขึ้น หรือแม้แต่การเลือกเล็งว่าจะขุดหลุมปลูกอะไรตรงไหนให้เหมาะเจาะถูกใจคนปลูกและต้นไม้ก็ชอบด้วย ส่วนเมนูอาหารที่จะทำกินเองแต่ละครั้ง แทนที่จะนึกว่าอยากกินอะไรเป็นตัวตั้งอย่างแต่ก่อน ฉันปรับมาดูว่าในสวนตอนนี้มีอะไรให้กินแล้วจึงค่อยไปหาซื้อผักอื่นๆ ที่ในสวน(ยัง)ไม่มีมาเพิ่มเติม อย่างแกงเลียงวันนี้ น้ำพริกแกง มีหอมแดง พริกไทย กระชาย และกุ้งแห้ง เหมือนเดิมจะมีผักบางชนิดจะดูแปลกตาท่านผู้อ่านไปบ้าง แต่รับรองว่าหากสนใจจะปลูกแล้วสามารถปลูกเองได้ และนำไปปรุงอาหารประเภทอื่นๆ ได้เช่นกัน ผักอื่นๆ เช่น อ่อมแซ่บ ผักที่ฉันเพิ่งรู้จักจากการลงไปดูชาวนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ยโสธร มันเป็นไม้ยืนต้นพุ่มขนาดเล็กมีดอกหลายสีปลูกตกแต่งตามบ้านเรือน มีรสจืด ยอดและใบ ยังนำมารับประทานสดกับส้มตำ ลาบ หรือน้ำพริกได้ ยำ หรือนำไปต้มจืด ใส่ไข่แล้วเจียว รองก้นห่อหมก ซึ่งแล้วแต่จะปรับแปลงวิธีการ ส่วนวิธีปลูกแค่ตัดกิ่งปักชำไว้ในร่มรำไรสัก 15 - 20 วัน ก็เอามาปลูกในกระถาง แดดดีน้ำดี ก็แตกใบงาม ตัดกินได้เรื่อยๆ หรือจะปล่อยให้ออกดอกบ้างเพื่ออาหารใจก็ย่อมได้ ผักเหมียงหรือผักเหลียง เคยได้กินแกงผักเหมียงกับกุ้งแม่น้ำที่บ้าน บ.ก. ฉลาดซื้อ อร่อยมาก ทำให้มุมครึ้มใต้ร่มมะม่วงของบ้านฉันกลายเป็นที่อยู่และเติบโตของผักเหมียง 2 ต้น พอฝนตกดีๆ เหมียงก็แตกใบแดงๆ ออกมาให้กิน เก็บไปก็นึกไปว่าคงต้องหามาปลูกเพิ่มอีกสักหน่อย ผักเหมียงถ้าปล่อยให้ต้นโตใหญ่ก็ได้ แต่ถ้าหมั่นเก็บกินเป็นช่วงๆ ก็จะมีทรงพุ่มไม่ใหญ่มากนัก คล้ายๆ ผักหวานป่า ส่วนผักหวานบ้าน ต้องแดดดีๆ น้ำชุ่มแต่ไม่แฉะขัง จึงจะงาม บวบเหลี่ยม อันนี้ปลูกง่ายแต่ที่แกงอยู่ฉันไปซื้อมาพร้อมกับน้ำเต้าจากป้าในหมู่บ้านที่แกปลูกแล้วเอามาขายเอง ส่วนยอดบวบที่ฉันลงเม็ดที่ได้มาจากชาวบ้านที่ปลูกและเก็บพันธุ์เองนั้นถูกหอยทากอัฟริกาเลื้อยไต่มาจากคลองที่ติดอยู่กับด้านนอกกำแพงหมู่บ้าน รบกันมันไม่ชนะแม้จะพยายามเก็บมันไปทิ้งอยู่หลายรอบ ยอดถั่วพุ่ม และผักอีกหลายชนิด หรือแม้แต่มะละกอต้นโตสูงกว่าศอกยังเคยถูกมันกินเรียบมาแล้ว มีแต่มะเขือส้มนี่แหละที่มันไม่แยแสจนกว่าจะมีลูกสุกแดงปลั่ง ... อืมมันช่างฉลาดเลือกกินเชียวแหละ ผักโขม ฉันได้เมล็ดจากซองที่เขาขายทั่วไป นำมาปลูกแล้วปล่อยให้โตสักพักก็เด็ดยอดกิน มันก็แตกยอดใหม่ๆ ออกมาเรื่อย มีอยู่ต้นหนึ่งปล่อยให้ต้นโตใหญ่และรอเมล็ดแก่ ให้ร่วงกระจายเพื่อจะได้เก็บรุ่นหลังๆ ไว้กินต่อ แกงเลียงหม้อนี้ ฉันตั้งใจโขลกน้ำพริกแกงจากหอมแดงอินทรีย์ เพื่อนที่สุรินทร์โทรมาบอกและความอยากได้ของดีมากินจึงต้องเที่ยวโทรถามเพื่อนๆ รวบรวมจำนวนที่ต้องการแล้วให้ส่งมาทางรถไฟ ถามว่าลำบากไหม ก็ใช่.. ลำบากกว่าไปซื้อกินตามตลาด แต่ตามตลาดหาหอมอินทรีย์กินยาก และในแปลงฉันเองยังปลูกไม่ได้นี่นา ส่วนคนที่โทรมาถามไม่ได้เดือดร้อนเรื่องหาคนมาซื้อไหม? ไม่ คือคำตอบ เพราะเขาสามารถขายให้กับลูกค้าที่ยอมจ่ายราคาที่สูงกว่าฉันจ่ายได้อยู่แล้ว เพราะเป็นราคาจ่ายที่ลูกค้าเหล่านั้นจ่ายแล้วรู้สึกคุ้มค่ากว่าการได้อาหารดีอย่างเดียว แต่เพื่ออุดหนุนให้มีอาหารอินทรีย์ที่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นวิธีการผลิตอาหารที่รักโลก รักคนปลูกและคนกิน แกงเลียงหม้อนี้จึงอร่อยเป็นพิเศษ เพราะอิ่มทั้งกายและใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมผลิตมากกว่าการเป็นแค่ผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 ยำสมุนไพรผักพื้นบ้านต้านมะเร็ง ของดีจากกุดชุม

เรื่องเรียงเคียงจานนก อยู่วนาromsuan@hotmail.com เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา กลุ่มแม่บ้านเครือข่ายตลาดทางเลือก จ.ยโสธร นั่งประชุมหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้ลูกหลานในชุมชนและคนเมือง โดยเฉพาะที่มาอุดหนุนสินค้าอาหารปลอดสารพิษจากระบบเกษตรอินทรีย์ได้หันมาสนใจกินผักพื้นบ้านมากขึ้น ผักพื้นบ้านที่ทั้งปลูกง่ายกว่า มีหมุนเวียนมาให้กินตามฤดูแต่ละฤดู... กินกันไม่เบื่อ แต่ดูเหมือนทั้งคนเมืองและลูกหลานในชุมชนเองจะรู้จักและรักที่จะกินน้อยลง จากระยะเวลาสั้นๆ แค่ 2 วัน สาวๆ 20 กว่าคนช่วยกันรวบรวมรายชื่อตัวอย่างผัก 101 ชนิด พร้อมสรรพคุณ แหล่งที่อยู่ และวิธีการนำมาประกอบอาหาร แล้วช่วยกันคัดเลือกมาทำนิทรรศการเผยแพร่ที่ตลาดสีเขียว จ.ยโสธร ซึ่งเปิดจำหน่ายสินค้าอินทรีย์ทุกวันเสาร์ไปตั้งแต่เช้า ตี 5 จนถึงสายๆ แม่บ้านแต่ละคนยังเลือกที่จะจดจำเป็นผักพื้นบ้านในดวงใจกันคนละ 1 – 3 ชนิด เอาไว้สื่อสารกับคนกินที่เขามาซื้อหาและพูดคุยกันด้วย และเพื่อให้ผักพื้นบ้านได้เข้าไปพบปะและมีโอกาสแสดงตัวบนโต๊ะอาหาร พี่พิศ สุพิศ พืชผล แห่งบ้านกุดหิน ต.กำแมด อ.กุดชุม จ.ยโสธร หนึ่งในกลุ่มแม่บ้านฯ ได้หารือกับเกรียงไกร เจ้าหน้าที่ศูนย์สมุนไพรท่าลาด ช่วยกันทำสูตรผักยำต้านมะเร็ง โดยสูตรนี้เน้นผักพื้นบ้าน ซึ่งพอเราได้ชิมแล้วก็ชวนให้พี่พิศมาทำโชว์ในงานแถลงข่าวเปิดตัวกินเปลี่ยนโลกทันที วิธีการทำยำสมุนไพรสูตรบ้านกำแมดผักที่ใช้ยำ 24 ชนิด  1.ใบเม็ก รสฝาด มีเบต้าแคโรทีนสูง 2.ใบกระโดนน้ำ รสฝาด มัน มีวิตามินเอสูง ควรกินควบคู่กับอาหารที่ให้โปรตี 3.ใบมะยม รสมัน จืด แก้ไข้ บำรุงประสาท ขับเสมหะ บำรุงอาหา 4.ผักลิ้นปี แก้ท้องเสีย แก้ไข้ ขับเสมหะ แก้หืด แก้ไ 5.ใบชะพลู รสเผ็ดเล็กน้อย แก้ธาตุพิการ แก้ปวดท้อง จุก เสียด บำรุงธาตุ คุมเสมหะให้ปกติ 6.ใบว่านกาบหอย รสจืด เย็น แก้ช้ำใ 7.ใบขนุนอ่อน เจริญอาหาร 8.หัวปลี รสฝาด แก้ท้องเสีย บำรุงน้ำนม แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้โรคเกี่ยวกับลำไส้ แก้โลหิตจาง เพิ่มน้ำนมสำหรับสตรีหลังคลอด 9.ผักอ่อมแซบ รสจืด เย็น มีสารแอนติออกซิแดนซ์หรือสารต้านสารก่อมะเร็งสูง 10.ดอกสะเดา   รสขมจัด ช่วยแก้ไข้ บรรเทาความร้อน ช่วยเจริญอาหาร เบต้าแคโรทีนและวิตามินซีสูง 11.ผักสลัด รสจืด เย็น แก้ท้องผูก 12.แตงกวา   รสเย็น เป็นยาระบายอ่อนๆ บำรุงธาตุ แก้ไข้ แก้กระหายน้ำ ขับปัสสาว 13.ถั่วพุ่ม   รสมัน มีโปรตีน ช่วยเจริญอาหาร 14.ถั่วงอก รสเย็น มีวิตามินซี วิตามินบี 12 สารเลซินทิน(บำรุงประสาท) สารชะลอแก่(ออซินัน) มีกรดโปรตีนที่ย่อยง่ายในรูปกรดไลซินและไตรโทปัน 15.คะน้า มีสารต้านสารก่อมะเร็งสูง ทั้งวิตามินซีและเบต้าแคโรทีน รวมทั้งโฟเลตและธาตุเหล็ก 16.ยอดมันแกวลวก รสมัน วิตามินเอสูง 17.ยอดบวบลวก รสจืด เย็น แก้ร้อนใน 18.ยอดฟักข้าวลวก รสหวาน เย็น บรรเทาความร้อนในร่างกาย มีสารต้านสารก่อมะเร็งสูง 19.ยอดเสาวรสลวก ยาบำรุงหัวใจ บำรุงเลือด แก้โรคเหน็บชา เป็นยาถ่ายพยาธิ 20.ดอกแคกะทิ และแคหางลิง ดับพิษร้อน ถอนไข้ 21.สะระแหน่ กลิ่นหอมเย็น แก้หวัด ขับเหงื่อ ระบายความร้อน แก้ปวดท้อง ขับลมในลำไส้ ช่วยย่อยอาหาร รักษาอาการอ่อนเพลีย บรรเทาอาการปวดไมเกรน หลอดลมอักเสบ และหอบหืด 22.ต้นหอม แก้หวัดคัดจมูก 23.กระเทียม ลดไขมันในเส้นเลือด บำรุงร่างกาย 24.มะเขือเทศ เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยย่อย แก้กระหาย ลดรอยเหี่ยวย่นทำให้ผิวพรรณดี มีวิตามินซีสูง มีสารไลโคปีนซึ่งมีคุณสมบัติต้านสารก่อมะเร็งและโรคหลอดเลือดหัวใจ เครื่องปรุงรส1. มะนาว 1-2 ผล2. มะขามเปียก 2 ช้อนโต๊ะ คั้นเอาแต่น้ำ3. ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนโต๊ะ4. เกลือ 1-2 ช้อนชา5. น้ำตาล 1-2 ช้อนชา6. ถั่วลิสงคั่ว 1-2 ช้อนโต๊ะ7. น้ำเปล่า ?-1 ถ้วย วิธีทำ1. นำผักสดทั้งหมดล้างน้ำให้สะอาด พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ (ปริมาณและชนิดของผักแล้วแต่ความชอบของผู้รับประทาน)2. หั่นผักสด (ยกเว้นถั่วงอก) และผักที่ลวกแล้วเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาใส่รวมกันในชาม3. ปรุงรสด้วยเครื่องปรุงรสที่เตรียมไว้4. หั่นมะเขือเทศใส่ คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรุงรสได้อีกตามใจชอบ เครือข่ายตลาดทางเลือก จ.ยโสธร“เกษตรอินทรีย์ ดินดีมีชีวิต ผู้ผลิตปลอดภัย มั่นใจผู้บริโภค”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 กินเปลี่ยนโลก : ชวนคุณเปลี่ยนโลกให้หมุนไปตามใจปาก

เรื่องเรียงเคียงจานนก อยู่วนาromsuan@hotmail.comรสชาติอาหารอร่อยอย่างที่เราเคยกินถูกกลืนหายไปกับวิถีการกินในโลกยุคใหม่กับความรวดเร็วทันใจ ซึ่งนอกจากความสุขจากลิ้นที่สัมผัสรสจะค่อยๆ หายไปพร้อมๆ กับอาหารดีๆ รสนิยมการกินดีๆ ที่เราเคยมีและเลือกได้ก็หดหายไปพร้อมอำนาจในการเลือกซื้อเลือกกิน ยิ่งกินแต่อาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแช่แข็งยิ่งหมดทางไป แต่สิ่งที่ได้เพิ่มมาอย่างไม่ทันรู้ตัว ก็คือโรคภัยไข้เจ็บจากการกินแบบด่วนได้ กิน คำกริยาที่เราทุกคนทำอยู่กันเป็นประจำ บ้าง 2 มื้อ บ้างมากกว่า 3 มื้อ และบางคนทำเกือบตลอดเวลาที่ไม่ได้หลับ และหากเราจับตาดูเรื่องการกินของเราในแต่ละวัน เราจะเห็นว่าทางเลือกในการกินของเรานั้นมีน้อยกว่าในอดีตที่ผ่านมาแบบเห็นๆ แม้เราจะมีสิ่งของที่มีให้เลือกซื้อไปกินหลากหลาย มากมาย และแปลกไปจากที่เราเคยมี บางอย่างเราสามารถนำเข้าได้จากต่างประเทศ แต่ทว่า…ในขณะเดียวกัน ของกินดีๆ อร่อยๆ ที่เราเคยหากินได้ในอดีตกลับสูญหายไปตั้งหลายอย่าง เดี๋ยวนี้หากจะหากินทุเรียนให้อร่อยสุดใจอย่างที่เคยกิน ก็ต้องลุ้นทุกครั้งไปว่าจะเจอแข็งเป็นไต ห่ามไป เละไป ไม่อร่อยอย่างที่เคยกินเลย มะม่วงที่เห็นมีวางขาย เราก็เจอแค่ มะม่วงน้ำดอกไม้ เขียวเสวย โชคดีหน่อยอาจจะเจอ อกร่อง พิมเสน กะล่อน แต่อีกนับสิบๆ สายพันธุ์ไม่รู้มันหายไปไหนหมด จะกินส้มเขียวหวานบางมดที่มีรสและเนื้อสัมผัสเฉพาะตัว ชาวสวนบางมดก็ยกร่องสวนหนีไปปลูกเสียที่อื่นโดยเอาพันธุ์ดีดั้งเดิมของตัวเองไป แต่ปัญหาการใช้สารเคมีกับส้มกลายเป็นปัญหาอมตะที่ชาวสวนส้มเคมีต้องปะฉะดะกันร่ำไป และสุดท้ายเราก็ต้องมานั่งกินส้มอะไรไม่รู้ที่ทั้งฝ่อ และรสไม่อร่อย ส่วนส้มรสดีๆ หน่อยแต่บวกสารเคมีจากการปลูกและการแว็กซ์เสียจนตั้งทิ้งไว้นานนับเดือนก็ไม่เหี่ยวไม่ย่น ก็ไม่อยากจะทนกินอร่อยแบบเสี่ยงตาย หันมาดูอาหารโปรตีน เนื้อหมูที่แต่ก่อนแม้เราจะนานๆ กินที แต่ตอนนี้เปลี่ยนมากินได้ถี่ๆ ตามที่ต้องการ แต่ก็อาจจะมีสารเคมีตกค้างในเนื้อแดงได้ ส่วนปลาตามธรรมชาติ มีทั้งชนิดและปริมาณลดลง แต่สำหรับคนที่พิถีพิถันในการกินปลาก็แทบจะไม่อยากกินปลาเลี้ยงในกระชังที่ทั้งมันและไม่อร่อย แถมสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันกับการกดขี่แรงงานของชาวประมง ทำให้ปลากระชังยิ่งไม่อร่อยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในความรู้สึก ส่วนไก่บ้านและเป็ดไล่ทุ่งที่เลี้ยงแบบปล่อยให้ไปหาอาหารกินตามรายทาง ซึ่งเป็นการเลี้ยงแบบประหยัดต้นทุนของชาวบ้านรายย่อย กลับกลายเป็นการเลี้ยงที่ผิดกฎหมายและถูกทำลายให้กลายเป็นตัวร้ายของการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดนก ทั้งๆ ที่ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาจากเลี้ยงแบบปล่อย แบบพื้นบ้านนี้ไม่เคยมีปัญหาโรคไข้หวัดนก ซึ่งที่สุดเราก็ต้องทนให้ลูกหลานกินไก่เนื้อกระดาษยุ่ยๆ และเป็ดโป๊ยฉ่ายมันๆ โดยหวั่นเกรงว่าสักวันลูกสาวเราจะมีหนวดเฟิ้ม และลูกชายจะมีทรวงอกดั่งหญิงสาว แต่พอคิดจะประท้วงเรื่องนี้โดยไม่กินไก่มันเสียเลย ก็ต้องหันไปพึงพิงโปรตีนเกษตรและถั่วเหลือง ก็อีกนั่นแหละ เจอถั่วเหลืองปนเปื้อนจีเอ็มโอที่แพร่ระบาดไปทั่วจนน้ำเต้าหู้ดูน่ากลัวขึ้นมาพลัน เลยต้องขวนขวายและดิ้นรนหาถั่วต่างๆ มากินสับเปลี่ยนหมุนเวียนลดความเสี่ยงแบบตัวใครตัวมันไปวันๆ เรากินอาหารกันแบบไหน? แล้วโลกในอนาคตที่เราอยากให้ลูก ให้หลานอยู่ล่ะ เป็นแบบไหน? รสชาติอาหารอร่อยอย่างที่เราเคยกินถูกกลืนหายไปกับวิถีการกินในโลกยุคใหม่ กับความรวดเร็วทันใจ ซึ่งนอกจากความสุขจากลิ้นที่สัมผัสรสจะค่อยๆ หายไปพร้อมๆ กับอาหารดีๆ รสนิยมการกินดีๆ ที่เราเคยมีและเลือกได้หดหายไปพร้อมอำนาจในการเลือกซื้อเลือกกิน ยิ่งกินแต่อาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแช่แข็งยิ่งหมดทางไป แต่สิ่งที่ได้เพิ่มมาอย่างไม่ทันรู้ตัว ก็คือ โรคภัยไข้เจ็บจากการกินแบบด่วนได้ ขณะเดียวกันรายย่อยที่เป็นคนผลิตและคนขายก็ล่มสลายไปพร้อมๆ กัน เมื่อ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เวลาบ่ายๆ ที่สำนักงานกลุ่มละครมะขามป้อม ซ.อินทรามระ3 มีเวทีเสวนาเปิดตัวกิจกรรมรณรงค์ “กินเปลี่ยนโลก” ซึ่งทางไบโอไทย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ชุมชนคนรักป่า สถาบันต้นกล้า และ we change ได้จัดขึ้น เพื่อชักชวนผู้บริโภคให้หันกลับมาใช้ อำนาจจากการกินที่เชื่อมโยง ไปสู่ความใส่ใจในคุณภาพ รสชาติของอาหาร ที่มาจากขบวนการผลิตที่ยั่งยืน ปลอดภัยต่อคนกิน คนผลิต และธรรมชาติ รวมไปถึงความเป็นธรรมในการผลิตและกระจายอาหาร ตามหลักของขบวนการ slow food ที่ว่า Good Clean & Fair ซึ่งในวันงานได้แจกคู่มือกินเปลี่ยนโลกไว้ให้เราได้เริ่มต้นง่ายๆ อย่าง “ถามถึงที่มา แบ่งปันของกินกับเพื่อนบ้าน หรือแม้กระทั่งเลือกอุดหนุนร้านค้ารายย่อย... ” ซึ่งสำหรับผู้บริโภคแล้วร้านเล็กๆ น้อยๆ เราสามารถกำหนดคุณภาพและบริการได้ดีกว่าร้านค้าใหญ่โตหรือห้างต่างชาติ และยังมีอีกหลายกลวิธีที่เราทำได้เองทันที และร่วมเป็นนักรณรงค์ชั้นดีโดยชวนคนข้างเคียงรอบตัวมาช่วยกันเปลี่ยนโลก ก่อนเปิดตัว คณะรณรงค์ได้จัดให้มีการพบปะกับอาสาสมัครที่สนใจเข้าร่วมรณรงค์กินเปลี่ยนโลกไปแล้ว 1 ครั้งเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยหลังจากการเปิดตัวแล้วจะมีกิจกรรมออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดอีเวนท์ การพาผู้สนใจไปพบปะแหล่งผลิต การจัดเสวนา และมีเป้าว่าต้นปี ราวมกราคม 2552 จะมีงาน มหกรรมกินเปลี่ยนโลก : Slow Food Thai อีกด้วย สนใจต้องการคู่มือกินเปลี่ยนโลก หรือเข้าร่วมเป็นนักรณรงค์ โปรดติดต่อ สถาบันต้นกล้า โทร. 02-437-9445 หรือ ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่เว็บ www.slowfoodthai.org

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 อบวุ้นเส้นเจ

เรื่องเรียงเคียงจานนก อยู่วนาromsuan@hotmail.com ก่อนวันปีใหม่ 1 วัน ลองไปเดินตลาดสดที่บางบัวทอง เห็นเผือกหอมในกระจาดน่ากินเลยคิดลองทำขนมเผือกดู เผื่อว่าจะทำไปพร้อมกันกับอบวุ้นเส้นเจ ไฟล์ความทรงจำเกี่ยวกับขนมเผือกในสมัยเด็กประถมยังใช้การได้ดี เพราะเครื่องปรุงและวิธีทำมันง่ายด้วย นอกจากเผือกหอมแล้วฉันเลยสั่งแป้งข้าวเจ้าและถั่วลิสงเม็ดใหญ่จากแม่ค้าด้วย ช่วงปลายปีที่เพิ่งผ่านมา ได้มีเวลาสะสางบ้านช่องที่มีแต่กองหนังสือและเอกสารสุมตามจุดต่างๆ ของบ้าน กำลังหมกหมุ่นอยู่กับการเก็บกวาดอยู่นั้น พี่แป้นโทรมาบอกว่า วันที่ 6 มกราคม (ก็ผ่านมาพอสมควรล่ะนะ) จะทำบุญขึ้นออฟฟิศใหม่ของพี่เอ พร้อมออร์เดอร์มาเรียบร้อยว่าอยากกิน “อบวุ้นเส้นเจ” ฉันรับปากไป ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยกิน ไม่เคยทำ ก่อนวันปีใหม่ 1 วัน ลองไปเดินตลาดสดที่บางบัวทอง เห็นเผือกหอมในกระจาดน่ากินเลยคิดลองทำขนมเผือกดู เผื่อว่าจะทำไปพร้อมกันกับอบวุ้นเส้นเจ ไฟล์ความทรงจำเกี่ยวกับขนมเผือกในสมัยเด็กประถมยังใช้การได้ดี เพราะเครื่องปรุงและวิธีทำมันง่ายด้วย นอกจากเผือกหอมแล้วฉันเลยสั่งแป้งข้าวเจ้าและถั่วลิสงเม็ดใหญ่จากแม่ค้าด้วย ขนมเผือกเครื่องปรุง เผือกหอมซอยเป็นเส้น 1 ถ้วย , แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วย , ถั่วลิสงแช่น้ำ 24 ชั่วโมงแล้วนำไปต้มแค่พอสุก 3ส่วน4 ถ้วย , น้ำ 1 ถ้วย , เกลือ 1 ช้อนชา เครื่องปรุงน้ำจิ้ม ซอสดำรสหวาน ? ถ้วย , น้ำส้มสายชู 1 – 2 ช้อน , น้ำตาลทรายไม่ฟอกสี ครึ่ง ถ้วย , เกลือ นิดหน่อย , น้ำ ครึ่ง ถ้วย พริกชี้ฟ้าสดซอย 3 – 4 เม็ด วิธีทำ 1. ทำน้ำจิ้ม โดยผสมซอสดำ น้ำส้มสายชู น้ำตาล เกลือ และน้ำ ตั้งไฟจนละลายดี ปรับรสตามที่ชอบ ออกเปรี้ยวหวานนำ เมื่อจะเสิรฟให้ใส่พริกชี้ฟ้าสดซอยลงไป2. เลือกภาชนะที่เหมาะสำหรับทนไฟ ใส่เผือกและถั่วลงไป3. ละลายแป้งกับน้ำลงในชามอีกใบจนเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วเทน้ำแป้งลงในภาชนะ ในข้อ 24. นำไปนึ่งไฟปานกลางค่อนข้างแรง ประมาณ 20 – 25 นาที ลองใช้ส้อมจิ้มดูตรงกลาง ถ้าแห้งดีไม่มีน้ำแป้งเกาะส้อม ถือว่าสุกใช้ได้ 5. ตัดเป็นชิ้นๆ เสิรฟพร้อมน้ำจิ้มความที่ฉันขนซื้อเผือกมาเป็นกิโล ขนมเผือกเลยกลายเป็นขนมต้อนรับปีใหม่กับเพื่อนบ้าน และแม่แทนขนมเค้กไปโดยปริยาย และนอกจากขนมเผือกจะกินแบบนึ่งร้อนๆ แล้ว เอาไว้อังไฟใส่น้ำมันน้อยๆ ในกระทะเคลือบแบนๆ พอให้เหลืองและหอมก็อร่อยไปอีกแบบเช้าวันทำบุญ ดีที่ตัดสินใจทำแค่อบวุ้นเส้นเจอย่างเดียว ตั้งอกตั้งใจมากเป็นพิเศษเพราะเพิ่งทำครั้งแรก จนพลาดการถ่ายรูปขั้นตอนการทำมาฝาก แต่วิธีการปรุงอบวุ้นเส้นเจ ไม่ยากค่ะ มีรายละเอียดพอสมควร แต่ก็คุ้มกับรสชาติอร่อยๆ แบบเจๆ ดี   อบวุ้นเส้นเจเครื่องปรุง 1. ถั่วลิสงแช่น้ำ 24 ชั่วโมงแล้วต้มพอสุก 1 ถ้วย 2. ถั่วแดงเม็ดใหญ่ แช่น้ำ 24 ชั่วโมงแล้วต้มพอสุก 1 ถ้วย 3. เต้าหู้อ่อนขาว ปลอดจีเอ็มโอ 6 ก้อน 4. เห็ดหอมแห้ง แช่น้ำแล้วหั่นเป็นเส้นหยาบๆ 1 ถ้วย 5. กระเทียมไทยแกะกลีบสับ ครึ่ง ถ้วย 6. เผือกหั่นเป็นลูกเต๋าขนาด ครึ่งนิ้ว 1 ถ้วย 7. วุ้นเส้นไม่ฟอกสีขนาดซองกลาง 6 ถุง 8. ต้นหอม / คื่นฉ่าย หั่นเป็นท่อน 4 ถ้วย 9. หอมแดงไทยหัวเล็กสับหยาบ 1 ถ้วย 10. พริกไทยเม็ด บดหยาบๆ 11. น้ำมันพืชสำหรับทอดกระเทียม12. ซอสเห็ดหอม และซีอิ๊วขาว 30 – 40 เมล็ด วิธีการ1. แช่วุ้นเส้นในน้ำสะอาดจนนิ่มแล้วหั่นให้เป็นท่อนสั้นๆ เตรียมไว้ในชามอ่าง 2. ทอดเต้าหู้ขาวด้วยไฟอ่อนปานกลางจนเหลืองกรอบ ตักพักไว้ 3. เจียวกระเทียมในน้ำมันจนหอม ตักกระเทียมแยกออก แล้วใช้น้ำมันผัดเครื่องปรุง โดยใส่หอมสับ เห็ดหอมซอย ตามด้วย ถั่วลิสง ถั่วแดง เผือก ปรุงรสด้วยพริกไทยบด ซีอิ๊วให้พอมีรสเค็มอ่อนๆ ผัดแค่พอหอมดีแล้วยกลง 4. ผสมซอสเห็ดหอมกับซีอิ๊ว อย่างละประมาณ 1/3 ถ้วย ให้เข้ากันดี แล้วค่อยๆ ผสมลงในวุ้นเส้นที่เตรียมไว้ ระวังอย่าให้มีรสเค็มจัด5. ใช้กระทะใบใหญ่อีกใบเป็นภาชนะสำหรับอบ โดยเรียงคื่นฉ่ายและต้นหอมหั่นเป็นท่อนๆ ขนาด 1 นิ้วไว้ข้างล่าง แล้วใส่เต้าหู้ทอดกรอบ และเครื่องปรุงที่ผัดเตรียมไว้ จากนั้นใส่วุ้นเส้นที่คลุกซีอิ๊ว และโรยหน้าด้วยต้นหอม คื่นฉ่ายและกระเทียมเจียว 6. ปิดฝาอบด้วยไฟอ่อนประมาณ 20 นาที สังเกตดูเส้นใสดีแล้วยกลง อย่าอบนานเกินไปเพราะจะก้นกระทะจะไหม้ ออกจากบ้านแต่เช้ามืดนั่งรถแท็กซี่ไปพร้อมๆ กับลุ้นกับรถติดอยู่นาน เฮ้อ!.... ทันถวายอาหารเช้าพระท่านพอดิบพอดี อบวุ้นเส้นเจคราวนี้ลืมขิงไปอย่างหนึ่ง นึกได้ตอนก่อนผัดเครื่อง ใส่ขิงซอยบางๆ สัก 20 ชิ้น ก็คงจะดี แต่คราวนี้ไม่มีก็ไม่เป็นไร ดูจากที่แต่ละคนกินแล้วบอกอร่อยดี โดยไม่มีใครจับได้สักคน อิอิ

อ่านเพิ่มเติม >