ฉบับที่ 146 ซอสมะม่วงกับหมูทอด

  ข้อดีอีกอย่างของพิมเสนสุกเมื่อเอามาปั่นและเคี่ยวไฟ สีไม่คล้ำเข้มเหมือนอย่างอกร่อง ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งความหวานจนต้องใช้เนื้อมะม่วงแก้วสุกปนด้วยเมื่อเอามากวนยามทำมะม่วงกวน มะม่วงแผ่น ฉันได้แต่หวังว่าสักวันคนแถวบ้านนอกอย่างฉันจะมีโอกาสได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ แบบ คน กทม. กะเขามั่ง เลยยังอินและละเลียดระเรื่อยไปกับข่าวสำคัญของคน กทม.  และติดตามดูอยู่ว่า คุณสุขุมพันธ์จะถูกพิษการหาเสียงบนฐานความเกลียดชังจากกรณี “เผาบ้านเผาเมือง” และข้อความของ ดร.เสรี วงษ์มณฑา ที่โพสต์ใน FB ในลักษณะที่ว่า “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” หรือไม่   กับอีกข่าวที่ไม่ค่อยโด่งดังเท่า  เป็นข่าวที่เกิดขึ้นหลังจากมีผลตัดสินการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ฯ แค่ 2 วัน   มันคือข่าวที่ศาลแพ่งตัดสินให้บริษัทเทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ห้างเซนเป็นเงินกว่า 1,647 ล้านบาท เพราะพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่ห้างเซนเกิดเพลิงไหม้ไม่ได้เป็นการกระทำจากเหตุก่อการร้าย แถมบริษัทฯ ยังต้องจ่ายชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มเติมตามคำขอของโจทก์อีกต่างหาก   แม้จะไม่นึกชอบใจวิธีหาเสียงของฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาเลย และทำใจยอมรับกับผลการเลือกตั้งไปแล้วก็ตาม   แต่ฉัน ก็ยังไม่รู้จะคิดอย่างไรดี กับบทบาทขององค์กรอิสระอย่าง ก.ก.ต. รวมทั้งอีกหลายๆ องค์กร ที่ต้องเล่นกับขอบเขตหน้าที่และบทบาทในการสนับสนุนให้การเลือกตั้งในระดับต่างๆ เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่ไปขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย   กฎ กติกา มารยาทของระบอบประชาธิปไตยของเรา ยังคงต้องค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ และช่วยทำความเข้าใจ  วิธีการหาเสียงเลือกตั้งแบบไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย ซึ่งอาจทำให้ผู้ว่าคนใหม่ที่เลือกเข้ามาตายน้ำตื้นก็ได้ใครจะรู้?  ฉันเลยอยากชวนคุณผู้อ่านมาจับตาดูเรื่องราวเหล่านี้ไปด้วยกัน  ถึงวันที่ฉลาดซื้อเล่มนี้อยู่ในมือคุณ เราคงรู้ผลการตัดสินเหล่านั้นกันแล้วก็ได้   ไปว่าเรื่องกินของเรากันดีกว่า…มะม่วงสุกมีเป็นกระบุงหลังจาก 2 วันก่อน แม่เพิ่งให้คนสอยลงมา  นานหลายปีแล้วที่พิมเสนต้นนี้ไม่ออกลูกให้กินสักที   ฉันชอบมันตอนที่ยังไม่สุกแต่แก่จัดจนหัวเหลือง  เนื้อกรอบแข็งรสมันอมเปรี้ยว  แต่พอสุกก็จะมีรสหวานเฉพาะตัว ไม่เหมือนอกร่อง หรือน้ำดอกไม้  แน่ๆ  - - ก็มันพิมเสนนี่นา   กินดิบก็แล้ว กินสุกก็แล้ว แบ่งขายที่แผงหนังสือหน้าบ้านด้วย  ยังมีเหลืออีกเยอะแยะ  ฉันเลยเปิดเว็บว่าคนอื่นๆ เขากินมะม่วงสุกกันด้วยวิธีไหน?   นั่นไง... เพลินจบเกือบลืมปั่นต้นฉบับส่ง บ.ก.ฉลาดซื้อ!  แฮะ  แฮะ  แต่ก็ได้มาแระ เมนูเที่ยวนี้   ปิดหน้าเว็บ  ฉันเดินเข้าตลาด ได้มะนาว 3 ลูก เดินต่อไปเขียงหมูเจ้าประจำ  บอกแม่ค้าว่าอยากได้เนื้อหมูสำหรับทอดกิน  เธอว่าให้ฉันใช้เนื้อสันลายที่นุ่มอร่อยกว่าเนื้อสันในและไม่ติดมันมากนักมาครึ่งโล  ยังเหลือแต่เกล็ดขนมปัง ที่ต้องเข้าไปซื้อในร้านสะดวกซื้อ  แหม... ฉันพอเข้าใจ เมนูทอดเป็นเมนูยอดนิยมของเรา  มันจึงเป็นสินค้าสุดยอดขายดีของร้านไปซะได้   ฉันเลยโมเมเอาง่ายๆ ว่า เมนูเที่ยวนี้น่าจะถูกใจใครๆ ได้มากพอสมควรตามประสาคนหลงตัวเองซะงั้น   เครื่องปรุงซอสมะม่วง 1.มะม่วงสุก หั่นละเอียด 2 ถ้วย  หั่นเต๋า ¼ ถ้วย    2.น้ำ 2 ถ้วย    3.เกลือ 1 ช้อนชา  4.มะนาว ¼ ถ้วย   วิธีทำซอสมะม่วง นำมะม่วงสุกมาปั่นละเอียดโดยเติมน้ำลงไป 1 ถ้วยแล้วเทใส่ชามพักไว้   จากนั้นใช้น้ำอีก 1 ถ้วยที่เหลือล้างโถปั่นแล้วเทน้ำลงหม้อ นำไปตั้งไฟกลาง ใส่เกลือ จนกระทั่งน้ำเดือดจัด จึงเทมะม่วงปั่นลงไป   คนให้เข้ากัน หรี่ไฟลง เคี่ยวให้งวดราว 15 นาที  จึงเติมเนื้อมะม่วงหั่นเต๋า และมะนาวลงไปต้มอีก 5 นาที จึงปิดเตา   สูตรดั้งเดิมที่ได้มาจากเว็บเขาต้องใส่น้ำหวานและน้ำผึ้งด้วย  แต่ฉันว่ามันจะหวานไป  เลยไม่ใส่   ข้อดีอีกอย่างของพิมเสนสุกเมื่อเอามาปั่นและเคี่ยวไฟ สีไม่คล้ำเข้มเหมือนอย่างอกร่อง ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งความหวานจนต้องใช้เนื้อมะม่วงแก้วสุกปนด้วยเมื่อเอามากวนยามทำมะม่วงกวน มะม่วงแผ่น   ส่วนหมูทอด ฉันเอาเนื้อหมูทั้งชิ้นที่ได้จากตลาดมาล้าง  แล่ให้มีความหนาพอประมาณตามแนวขวางของชิ้นเนื้อ  คลุกเกลือกับพริกไทป่นไว้สักพักแล้วจึงเอามาเคล้ากับเศษขนมปัง  ทอดน้ำมันไฟปานกลาง   ก็อย่างที่เห็นในรูปค่ะว่าน่ากินขนาดไหน   กินแล้วคุณอาจจะติดใจ และเพิ่มซอสเข้ามาคู่กับเมนูใหม่ๆ ได้อีกหลายรายการทีเดียวเชียว   Glutathione Precursors) คือ อะมิโนแอซิด เอ็นอะซิทิลซิสเตอีน (N-acetyl-cysteine) ซึ่งโมเลกุลชนิดนี้ จะสามารถถูกดูดซึมเข้าทางเดินอาหารได้ง่ายและรวดเร็ว และจะไปรวมตัวกับโปรตีนอีก 2 ชนิด คือ อะมิโนแอซิด ไกลซิน (Glycine) และ กลูตาเมท (Glutamate) ที่มีอยู่มากมายในกระแสเลือดจากอาหารที่รับประทานเข้าไป การรวมตัวของอะมิโนแอซิดทั้ง 3 ชนิด ก่อให้เกิดเป็นโมเลกุลกลูตาไธโอนในกระแสเลือด   อย่างไรก็ตาม มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ประสงค์จะกินอาหารเสริมชนิดนี้เป็นประจำ เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มปริมาณกลูตาไธโอนในกระแสเลือด เพื่อเป็นยาอายุวัฒนะ ชะลอวัย และเพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกาย หากรับประทานมากเกินไป อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น มึนงง ปวดหัว ตาพล่ามัว และอาจมีสารตกค้าง ทำให้เป็นนิ่วที่ไต และกระเพาะปัสสาวะอีกด้วย ยาทาผิวหนัง สารกลูตาไธโอน เมื่อนำมาผสมในผลิตภัณฑ์ประเภทครีม หรือเจล สำหรับทาผิวหนัง เพื่อหวังให้ผิวขาวนั้น จะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ เพราะโมเลกุลสารนี้ค่อนข้างใหญ่ ไม่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้   เอกสารอ้างอิง  1, Lomaestro B, Malone M. Glutathione in health and disease. Pharmacotherapeutic Issues. Ann Pharmacother 29: 1263-73, 1995. 2, The importance of glutathione in human disease. Biomed Pharmacother. 2003 May-Jun; 57(3-4):145-55.  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 145 สปาเก็ตตี้ข้างนา

  เพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นอาจารย์คนหนึ่งของฉันถึงกับฟันธงว่า ผู้บริโภคที่ไม่สนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และทำความเข้าใจถึงวิถีชีวิตของพวกผู้ผลิตอาหารจริงๆ  ....ไม่ใช่คนที่จะกิน(อาหาร)เพื่อคนอื่นได้จริงๆ   ว่ากันว่าช่วง  6 – 7 ปี มานี้ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย และเรายังคงอยู่กับแรงเสียดทานในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ทุกอย่างเดินหน้าไปสู่ความยุติธรรมแบบเสมอหน้าและมีสิทธิเสรีภาพตามที่มนุษย์ในโลกสมัยใหม่พึงจะมีกัน   การวิ่งวนเอาสินค้าเกษตรลงสนามแข่งขัน ดูเหมือนจะขยายหัวเรื่องการสนทนาไปสู่เรื่องอื่นๆ มากกว่า เทคนิควิธีการจัดการดูแลระหว่างการผลิตและจำหน่ายผลผลิต  หากแต่เชื่อมโยงไปถึงเรื่องนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนพวกเขาโดยตรง   ถ้าคุณผู้อ่านได้มีโอกาสไปพบปะพูดคุยกับเหล่าผู้ผลิต ที่เรียกกันติดปากว่า “ชาวบ้าน” ชาวบ้านๆ ที่ทำการผลิตอาหารโดยอยู่นอกสังกัดการอุปถัมภ์ของหน่วยส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่าง NGOs ดูบ้าง  คุณอาจเข้าใจถึงเงื่อนไขในการเลือกผลิตและดำเนินชีวิตที่แตกต่างไปจากกลุ่มผู้ผลิตที่คุ้นเคย  และอาจทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่า  แค่เลือกบริโภคอาหารอินทรีย์ และทดลองทำการผลิตปลูกผักทำสวนครัวเองบ้างเมื่อมีโอกาส มันจะยังไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจระบบการผลิตอาหารทั้งหมดทั้งมวลที่เราอาศัยกินดื่มใช้กัน   ระบบอาหารอินทรีย์ที่มีอยู่ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกันกับการขยับขยายให้ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนั่นแหละ  เพียงแต่ตอนนี้ มันเป็นเพียงแต่ “ติ่ง” เล็กๆ ที่เกิดขึ้น  และมันขยายออกไปไม่ได้เพราะเงื่อนไขมากมาย เราพูดเรื่องบางเรื่องไม่ได้จนต้องเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะ ม. 112 ถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือควบคุมโดยอ้างความมั่นคงของประเทศที่ไม่ได้หมายถึงความมั่นคงและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองในประเทศ  ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการพูดไม่หมดถึงความซับซ้อนของเงื่อนไขต่างๆ ที่เกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรที่ยากจน ไร้ที่ ไร้ทุน ในการที่จะเปลี่ยนเทคนิควิธีการผลิตที่ไปสัมพันธ์กับระบบตลาดที่กว้างใหญ่กว่าตลาดทางเลือกแคบๆ ที่ผุดพรายขึ้นมา ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะดูดซับผลผลิตทั้งหมดของพวกเขา   เพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นอาจารย์คนหนึ่งของฉันถึงกับฟันธงว่า ผู้บริโภคที่ไม่สนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และทำความเข้าใจถึงวิถีชีวิตของพวกผู้ผลิตอาหารจริงๆ  แต่ยึดหลงกับภาพแทนของกลุ่มผู้ผลิตอินทรีย์ หรือแม้แต่ดาราชาวนา ผู้บริโภคแม้กินอาหารอินทรีย์อยู่จริง  และนี่นั่นไม่ใช่คนที่จะกิน(อาหาร)เพื่อคนอื่นได้จริงๆ   วันก่อนฉันไปคุยกับเพื่อนรุ่นน้องที่สุพรรณบุรี  เธอเป็นลูกจ้างประจำที่ต้องทำงานในฟาร์มอินทรีย์ประจำวันทุกวันจันทร์ – ศุกร์ รายได้ของเธอ และสามีซึ่งมีเงินเดือนประจำจากการเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านนั้นแทบไม่พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าส่งเสียเล่าเรียนของลูก 2 คนที่กำลังเรียนในระดับประถมต้น   ทางเลือกอื่นๆ ที่พอจะหารายได้ให้กับครอบครัวของเธอที่เธอเลือกจะทำได้ตามเงื่อนไขเอื้ออำนวยก็คือทำนาลดต้นทุนและปลูกเมล็ดพันธุ์ผักขาย   “พันธุ์ข้าวที่ใช้ก็ซื้อเขา ซื้อเอาจากที่คนปลูกแล้วเอามาตากเอง  ไม่ได้เอาพันธุ์ที่เขาสีขายให้คนกินอินทรีย์อย่างที่เขาส่งเสริมกัน เพราะต้องสีขายโรงสี  ข้าวขายโรงสีมีแค่ข้าวที่ทำแป้ง กับข้าวหอมปทุมเท่านั้นแหละ” นาลดต้นทุนของเธอนั้นเคยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำเองในช่วงแรก แต่ก็ต้องเลิกทำไปแล้ว   เธอยังคงใช้น้ำหมักและฮอร์โมนชีวภาพ แต่ต้องพึ่งยากำจัดวัชพืชอยู่อย่างสม่ำเสมอ     แต่การที่เธอทำนามา 7 – 8 ปี  ก็เพิ่งจะมีช่วงโครงการรับจำนำข้าวนี่แหละที่ทำให้เธอถอยรถปิ๊กอัพป้ายแดง 2 ประตูออกมาใช้อย่างคนอื่นๆ บ้าง   นี่เป็นเพียงแค่เรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่ง   ที่ทำให้ฉันแปลกใจว่าข้อเสนอของใครหลายคนในแวดวงส่งเสริมเกษตรอินทรีย์จึงไม่เคยเป็นที่โดนใจของชาวนา  ชาวนาที่พวกเขาเรียกกล่าวหาว่าไม่รู้จักพอเพียงนั่นแหละ   กลับจากนาของเพื่อนรุ่นน้องคนนั้น ฉันควักเอาซอสมะเขือเทศของคุณชาวนาฯ เพื่อนสนิทมาปรุงเป็นสปาเก็ตตี้กิน  กะทำทีเดียวกินไปตลอด 3 มื้อของวันนี้หลังปั่นต้นฉบับให้ บ.ก. ฉลาดซื้อ   เครื่องปรุง 1.ซอสมะเขือเทศสูตรคุณชาวนาฯ(ดูจากฉบับที่แล้ว) 1 ถ้วย 2.ตับหมู หั่นชิ้นเล็ก  ½  ถ้วย (หรือไก่ กุ้ง ฯลฯ) 3.หอมหัวใหญ่สับ ½ ถ้วย , มะเขือเทศสับ   ½ ถ้วย 4. ถั่วฝักยาวหั่วท่อนละ 0.5 ซม. ½  ถ้วย 5.เกลือเล็กน้อย 6.น้ำมันมะกอก ¼ ถ้วย , เส้นสปาเก็ตตี้ต้มสุกแล้ว 1 ชาม   วิธีทำ ตั้งกระทะเทฟลอน เทน้ำมันมะกอกลงไป รอให้ร้อนแล้วนำหอมหัวใหญ่สับลงไปผัดจนหอม  จึงใส่ตับหมูลงไปผัดให้สุก  ตามด้วยมะเขือเทศ และถั่วฝักยาว  จากนั้นจึงใส่ซอสมะเขือเทศลงไป  ปรุงรสตามชอบ แล้วปิดเตา ตักเสิร์ฟ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 144 ซอสมะเขือเทศเชอร์รี่ ของคุณชาวนาฯ

เตรียมตัวไปเยี่ยมผู้ใหญ่ แต่เตลิดเลยไปบ้านคุณชาวนา ลูกหลานพญาคันคากที่สุพรรณบุรีเสีย  เลยได้ของฝากจากคุณชาวนาฯ มาฝากท่านผู้อ่าน   ผู้ใหญ่ที่ว่านั้น เป็นชาวนาสูงวัย 2 ราย ที่ฉันเคยได้ไปขออาศัยศึกษาข้อมูลความรู้เรื่องนาฟางลอยเมื่อ 2 ปีก่อน   รายแรกที่แวะไปเยี่ยม  เป็นคู่สามี-ภรรยา  วัย 60 ปี   ที่ทำนามาตลอดชีวิต  ตอนที่ไปหานั้นทั้งคู่อยู่ในนาทั้งที่เป็นเวลาบ่ายสี่โมงกว่าๆ แล้ว  เราคุยทักทายกันเบื้องแรกอยู่ไม่กี่นาทีประสาคนไม่เจอหน้ากันนานหลายเดือน  สักพักป้าแกเลยพาไปนั่งหลบเงารถแทรกเตอร์พ่วงบนคันนา  จึงได้รู้ว่านอกจากโครงการจำนำข้าวจะสร้างความพึงพอใจในด้านการผลิตของแก แล้ว  แกเพิ่งนำเงินกำไรจากการขายข้าวไปดาวน์รถคันแรกให้กับลูกชายคนสุดท้ายที่เพิ่งได้งานทำในบริษัท หลังจากช่วงที่ว่างงานลูกชายคนนี้เคยมาช่วยงานในนาบ้างเป็นครั้งคราว  แต่เขาก็ไม่ได้ชอบงานนาสักเท่าไหร่   ทั้งลุงและป้าก็อยากให้เขาได้งานที่สบายกว่าเป็นชาวนา     ฝ่ายลุงก็ยังอดเปรยให้ฉันฟังไม่ได้ว่าบริษัทของลูกชายนั้นเขี้ยว  หาคนเข้าไปทำงานก็ต้องมีรถไปด้วย บริษัทไม่ยอมซื้อให้  ยอมจ่ายแต่ค่าน้ำมัน   อีกรายเป็นชาวนาวัย 70 กว่า  ที่นอกจากทำนาปีในช่วงฤดูนาปีแล้ว  ยังปล่อยให้คนเช่าทำนาปรังของตัวเองในช่วงฤดูนาปรังด้วย   ส่วนรอบๆ บ้านของแกก็มีบ่อปลา เลี้ยงไก่ ปลูกกล้วย ผลไม้ และผักสวนครัวไว้กินตามประสาคนไกลตลาด    สิ่งที่น่ายินดีไปกับแกด้วย  คือลูกชายคนโตที่แกส่งเรียนจนเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ในโรงพยาบาลอำเภอนั้นมาหลายปี เก็บเงินเก็บทองได้ก้อนใหญ่กลับมาซื้อที่นาแปลงใกล้ๆ บ้านไว้ 30 ไร่  และพ่อลูกสองคนได้ใช้โอกาสตระเวนไปดูงานชาวนาดีเด่นอย่าง คุณชัยพร พรหมพันธุ์ , คุณทองเหมาะ แจ่มแจ้ง  และที่อื่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมจะมาเป็นชาวนา   แต่คุณลุงแกก็ยังแย้มออกมาว่า ต้องดูก่อนเรื่องน้ำที่ปีนี้ว่าแล้งมากและอาจจะเบิกที่ทำนาปรังไม่ได้  และถึงทำนายังไม่ได้การมีที่ดินที่รู้แต่แรกว่าถนนเส้นใหญ่จะตัดผ่านใกล้ๆ บริเวณนั้น มันช่างการเป็นการเก็งกำไรที่คุ้มค่า  ถึงไม่ได้ทำนา ราคาที่ดินก็ขึ้นมาอยู่ดี แม้บริเวณทุ่งนาแห่งนี้จะถูกประกาศให้เป็นแอ่งรับน้ำนองในช่วงที่เกิดอุทกภัยในเขตเมืองก็ตาม   ฟังข่าวดีของผู้ใหญ่ชาวนาที่ฉันไปเยี่ยมแล้วอดแช่มชื่นใจไปกับแกด้วยไม่ได้   นี่ไม่รวมความครึ้มอกครึ้มใจที่ได้ของฝากแสนอร่อยของคุณชาวนาฯ เพื่อนฉันด้วยนะนี่   ของฝากจากคุณชาวนาฯ ที่ว่า เป็นซอสมะเขือเทศโฮมเมท ที่คุณชาวนาฯ ปลูกเองเคี่ยวเอง กินอร่อยเองภายในครอบครัวแล้วยังมีเหลือแบ่งมาให้ฉันได้ทดลองกิน    แค่ได้ดมก็หอมเหลือใจ  มันมีกลิ่นของอบเชยลอยอวลมากระทบจมูกแล้วชวนน้ำลายไหล พาให้คิดไปไกลว่าจะทำอะไรกินดีระหว่าง พาสต้าของชอบ กับพิซซ่าที่พอจะหาสูตรแป้งในอินเตอร์เน็ตได้ แต่ไม่มีเตาอบสำหรับมัน   คุณชาวนาฯ ปลูกมะเขือเทศเชอร์รี่ไว้  ทั้งกินเองและเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้บรรจุเป็นซองสวยงามจำหน่ายทั้งตามงานของเหล่าชาว GREEN ตามแต่จะมีโอกาส และทางอินเตอร์เน็ตผ่านโซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook  ด้วย  พอมีผลผลิตเหลือเยอะเกินจัดการ ก็เปิดค้นหาทั้งรูปแบบและวิธีการแปรรูปจากอินเตอร์เน็ต  แล้วก็เอารูปผลิตภัณฑ์มาอวดกันใน Facebook   หลังจากทั้งได้ดูภาพใน Facebook  ได้ดมและได้กินซอสของจริงแล้ว ฉันว่าผู้ที่สนใจก็อาจจะเอาไปทดลองทำได้ง่ายๆ ไม่ยากเลย   ส่วนประกอบ มะเขือเทศเชอร์รี่สุก                   2              ถ้วย หอมหัวใหญ่                           1              ถ้วย น้ำส้มสายชู                            2              ช้อนโต๊ะ น้ำสะอาด                              ½             ถ้วย เกลือป่น                               1              ช้อนชา อบเชย                               2 – 3          ชิ้น   วิธีทำ นำมะเขือเทศและหอมหัวใหญ่ใส่น้ำ ปั่นด้วยเครื่องปั่นน้ำผลไม้  แล้วเทใส่หม้อเคลือบ  ใส่ส่วนผสมที่เหลือทั้งหมดลงไปในหม้อ ตั้งไฟอ่อนๆ เคี่ยวสัก 30 นาที โดยคนตลอดเวลา  แล้วปิดเตาไป  ยกลง ตั้งให้เย็น   จากนั้นนำไปกรองด้วยกระชอนตาละเอียด หรือกระชอนร่อนแป้ง  กรองเอาแต่น้ำซอสไว้ใช้   สูตรนี้คุณผู้อ่านอาจจะปรับแต่งรสชาติได้เองตามชอบโดยการชิมแล้วค่อยๆ ปรุงเพิ่ม   ถ้าทำในปริมาณมากโดยเก็บใส่ขวดแก้วสะอาดมีฝาปิดแช่ไว้ในตู้เย็น   เมื่อต้องการนำมาใช้ปรุงอาหาร หรือใช้เป็นเครื่องจิ้ม จึงเทแบ่งมาใช้   ฉันทดลองนำซอสมะเขือเทศทำเองของคุณชาวนามาทาขนมปังเป็นแยมกินก็อร่อยดี  ปิ้งขนมปังให้กรอบแล้วทา  จะเสริมเพิ่มแฮมโบโลน่า และ Cheddar Cheese  ลงไปด้วยก็ได้ตามอัธยาศัย   นึกแผลงขึ้นมาอีกนิดก็เอาซอสทาขนมปังแล้วเอากุ้งสดที่ล้างสะอาดผ่ากลางตัวเอาเส้นดำกลางหลังออกมาวางแผ่หรา    แล้วเรียงด้วยถั่วแขกหั่นแฉลบ ของคุณชาวนาฯ นั่นแหละลงไป  โปะด้วย  Cheddar Cheese  ที่หั่นเป็นริ้วๆ แล้วยกไปใส่ไมโครเวฟอบแป๊บเดียวก็ได้กิน   เสียแต่ว่า ขนมปังที่รองมันบางและใส่ซอสมากไปนิด เลยออกจะแฉะไป  เลยกะว่าจะลองปิ้งขนมปังให้เกรียมกรอบก่อน ค่อยบรรจงทาซอส เรียงชิ้นถั่วแขกแล้วเอาเข้าเวฟใหม่คราวหน้า   นี่ยังเสียดายว่าฉันเพลินชิมซอสไปนิด  ถ้ามีเหลือมากกว่านี้   เอาตับหมูบดละเอียดแล้วเอาลงไปเคี่ยวไฟอ่อนๆ ให้ตับสุก  ก็จะได้เป็นแยมตับกับซอสเชอร์รี่ เอาไว้ทาขนมปังกินยามเร่งด่วนก็คงจะดีไม่น้อยทีเดียว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 143 บุฟเฟต์จากข้าว : เมี่ยงกรอบ

  ก่อนปีใหม่ 2 สัปดาห์ฉันเพิ่งเจอกับเพื่อนสาวชาวนาเช่าเจ้าเก่าที่เธอมีอีกอาชีพคือแม่ค้าขายผักในตลาดนัด  ทำให้ฉันได้มีโอกาส up date สถานการณ์ ด้านการผลิตของเธอไปพร้อมๆ กับการจับจ่ายของในตลาดไปด้วย “น้ำในทุ่งลดลงเร็วเหลือแค่เอวแล้ว  ว่าจะวิดน้ำออกแล้วปลูกข้าว ก็กลัวจะไม่มีน้ำอีก”  เธอว่าสั้นๆ พลางส่ายหน้า โดยปกติแล้ว ทุ่งนาที่เธอเช่าทำนานั้นมักได้เริ่มต้นปั่นนาและทำเทือกเพื่อเตรียมหว่านข้าวแบบนาน้ำตมในช่วงหลังปีใหม่ เป็นนาปรังเที่ยวแรก   แต่ความกังวลของเธอก็คือข่าวภาวะน้ำจะแล้ง  น้ำในเขื่อนจะมีไม่เพียงพอ และทำให้ทำนาไม่ได้ตามที่ต้องการ  หรือทำนาได้แค่ปีละเที่ยวเดียวเท่านั้นจากที่เคยทำนาปี ละ 2 หน เมื่อภาวะแล้งมาเยือน  ประสบการณ์เดิมๆ ของเพื่อนนชาวนายังตามหลอนและสร้างความกังวลจนเธอต้องคิดหาทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้ยังคงทำนาได้ปีละ 2 หนตามที่ต้องการ   แต่การเร่งวิดน้ำออกจากนาเพื่อเตรียมหว่านไถ  แล้วใช้วิธีการวิดน้ำเข้าไปอีกอย่างน้อยอีกประมาณ  3 – 4 เที่ยว เป็นช่วงๆ ใน ทุกๆ  7 – 10 วัน  เพื่อหล่อเลี้ยงข้าวให้เติบโต   ที่ต้องเสียทั้งเวลาและค่าน้ำมันทำให้เธอเอาโดยคร่าวๆ แล้วก็ได้แต่ส่ายหน้าว่าไม่คุ้ม   ผิดกับที่ใครหลายคนที่ไม่เคยมาสัมผัส คลุกคลี อยู่กับปัญหาของเธอที่คาดการณ์เอาอย่างง่ายๆ ว่า ราคาข้าวที่ถูกยกระดับขึ้นมาถึงตันละ 15,000 บาท นั้น จะทำให้ชาวนาอย่างเธอตาโตและหาช่องโกยกำไรโดยปลูกข้าวระยะสั้นมาขายเข้าโครงการ!! สำหรับเธอ  แม้จะอยากปลูกข้าวขาย แต่ก็ต้องอาศัยช่องทางอื่นๆ ที่ยังพอเหลืออยู่ และมีเงื่อนไขที่เหมาะสมกับตัวเธอมากกว่า ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น  ”ความยืดหยุ่น”  ที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน  โดยการที่เธอผันตัวเองมาเป็นแม่ค้า  ระดมทุนจากที่ตัวเองมีและร่วมทุนกับเครือญาติเปิดร้านค้าเล็กๆ แล้วเร่ขายไปตามตลาดนัดต่างๆ  ในช่วงที่ว่างจากงานนาราว 4 เดือน   ซึ่งนี่เป็นเพียงแค่ 1 ตัวอย่างที่ทำให้ฉันคลายข้อสงสัยที่เคยมีว่า ทำไมชาวนาภาคกลางซึ่งเป็นกลุ่มชาวนารายย่อยที่ไร้ที่ทำกินมากที่สุด จึงมีการรวมตัวเพื่อต่อสู้เรื่องที่ดินทำกินตัวน้อยที่สุด  เพราะการต่อสู้ในเรื่องนี้ต้องอาศัยพลังการรวมตัว อำนาจการวิเคราะห์ และระยะเวลาอย่างยาวนานในการต่อรองต่างๆ กับรัฐและทุน   ชาวนาที่ไม่มีที่ดิน  มีต้นทุนสำคัญของตัวเองคือเวลา หรือชั่วโมงการทำงานเพื่อสร้างผลิตผล เพื่อให้ได้ค่าตอบแทน(ผลผลิต หรือรายได้จากการค้าขาย)   และในกรณีชาวนารับจ้างทำนา  สิ่งที่ได้รับจากการลงทุนลงแรงในงานคือ ค่าจ้าง(กรณีชาวนารับจ้างทำนา)   ซึ่งถูกคิดคำนวณออกมาเป็นขนาดพื้นที่ของการผลิต  เช่น ค่าฉีดยา - หว่านปุ๋ย ไร่ละ 50 บาท   เมื่อผลผลิตทางการเกษตรมีเพดานราคาขายออกจากไร่นาต่ำ ความหวังที่จะดิ้นรนเพื่อให้พวกเขาอยู่รอดจึงไม่ใช่แค่ลดต้นทุนการผลิต หรือกินอยู่ใช้จ่ายอย่างพอเพียง  อย่างที่แนวคิดของกระบวนการส่งเสริมอินทรีย์พร่ำบอกให้พวกเขาต้องปฏิบัติโดยที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงกลไกตลาด    แต่มันคือความหวังที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและลำบากให้น้อยลงโดยการไปให้พ้นจากการทำการเกษตรที่ตกอยู่ภายใต้กลไกการตลาดที่รุมทึ้งเอากับส่วนเกินของผลตอบแทนจากชาวนาและแรงงานภาคการเกษตรไปให้กับฝ่ายพ่อค้า/ตัวกลางอย่างที่เป็นมาในอดีต   อุดมการณ์ชาวนาอินทรีย์อันเรียวแคบ  ที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มชาวนาที่มีที่ดิน ทุน และเวลา มากพอที่จะใช้เทคนิคทางเลือกต่างๆ ซึ่งเพิ่มเวลาในการจัดการมากยิ่งขึ้น  และเข้มงวดกับการควบคุมคุณภาพผลผลิตและผลกระทบต่อระบบนิเวศน์   และขายผลผลิตในระบบตลาด(เดิม) ตามแนวทางการส่งเสริมที่เป็นมา   ในสายตาของชาวนาไร้ที่จึงเป็นการขูดรีดตัวเองมากขึ้น  และเฝ้ารอผลตอบแทนที่เลื่อนออกไป      และหากมองในแง่ของการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบกับการทำนาปกติของพวกเขา   การทำนาอินทรีย์ที่ขายในตลาดปกติจึงเป็นการเพิ่มอำนาจการแข่งขันของฝ่ายที่มีทุนมากกว่า  มีอำนาจในการจัดการมากกว่า เข้ามาเบียดขับชาวนาไร้ที่ให้หลุดออกไปจากระบบการทำนาไวยิ่งขึ้น  จากเบียดบังเอาส่วนของผลกำไร(ค่าตอบแทน) ของชาวนา  ที่มีผลต่อการกดค่าแรงของลูกจ้างในนา  โดยราคาข้าวเพดานต่ำกว่าตันละ  10,000 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุดที่ชาวนาเคยขายได้ในระบบประกันราคา   เมื่อเครือข่ายชาวนาอินทรีย์อีสานออกมาโวยว่าราคาข้าวที่แพงขึ้นจากโครงการจำนำข้าว ทำให้ชาวนาที่พวกเขาคาดว่าจะเพิ่มเข้ามาเป็นส่วนของขบวนการทำนาอินทรีย์หดหายไป  เพราะราคาข้าวอินทรีย์ยังขายได้ในราคาเดิม(ที่สูงกว่าข้าวทั่วไปเล็กน้อย)  จึงกลายเป็นเรื่องกึ่งชวนหัวให้ขื่นขันกันว่า   ที่ผ่านมานาอินทรีย์และข้าวอินทรีย์นั้นอยู่ได้ในตลาดที่ขูดรีดตัวเองและเพื่อนๆ ชาวนาด้วยกันนั่นเอง   เมี่ยงกรอบ บุฟเฟต์อันนี้เหมาะกับงานปาร์ตี้ปีใหม่  ดัดแปลงมากจากเมนูอาหารเวียดนาม คือแหนมเนือง และหมูห่อชะพลูอันโด่งดัง  โดยเอาแผ่นแป้งข้าวเจ้าที่ใช้สำหรับกินกับแหนมเนืองมาใช้ห่อไส้หมูบดปรุงรสที่คลุกเคล้ากันใบชะพลูซอย   เครื่องปรุง หมูบด (หรือกุ้งบด)  1 ขีด  ,  รากผักชี  3 ราก  , พริกไทยเม็ด 20 เม็ด ,  กระเทียม 10 กลีบ,  เกลือนิดหน่อย,   แผ่นแป้ง 6 แผ่น , ใบชะพลูดซอยละเอียด 20 ใบ, น้ำมันปาล์มสำหรับทอด   วิธีทำ 1.โขลกรากผักชีกับพริกไทยเม็ดและกระเทียมให้ละเอียด  นำไปคลุกกับเกลือและหมูบด จนเข้ากันดีจึงนำใบชะพลูมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน 2.เตรียมแผ่นแป้ง ผ่าแบ่งเป็นแผ่นครึ่งวงกลม แล้วใช้น้ำสะอาดลูบแผ่นแป้งให้ทั่วจนแผ่นแป้งนิ่มลงจึงหยิบเนื้อหมูบดที่ปรุงแล้วมาพันเป็นรูปกรวย   หรือจะใช้วิธีเกลี่ยหมูปรุงรสลงบนแผ่นแป้งทั้งแผ่นแล้วใช้อีกแผ่นประกบก็ได้ 3.ใส่น้ำมันลงกระทะ ตั้งไฟปานกลางจนร้อนดี จึงค่อยนำกรวยแป้งลงไปทอดจนเหลืองกรอบให้ทั่ว ตักขึ้น กินกับน้ำจิ้มทอดมัน  น้ำจิ้มไก่ หรือบ๊วยเจี่ย แนมกับแตงกวา ต้นหอม และใบชะพลู ตามชอบ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 142 (ไม่)กินเส้น

ฉันเพิ่งอ่านบันทึก face book ของคุณชาวนา ลูกหลานพญาคันคาก ที่อัดอั้นตันใจกับเหล่าผู้ค้านนโยบายจำนำข้าว เรื่อง “ชาวนาผู้ (ไม่) มีอำนาจเต็ม บันทึกของ Pseudo farmer ท่ามกลางกระแส Pseudo demand” ที่เว็บข่าวออนไลน์ประชาไทนำมาเผยแพร่เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนผ่านมา ที่แจงรายละเอียดที่คนเมืองไม่ค่อยมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพข้าวที่ปลูกและขายในทัศนะของชาวนา เลยคิดว่าจะทำก๋วยเตี๋ยวหลอดกิน ว่ากันว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวจากจีนเข้ามาในอาณาเขตสยามประเทศตั้งแต่ยุคสมเด็จพระนารายณ์ ที่ว่ากันว่ามีความรุ่งเรืองในการค้าขาย ข้าวพันธุ์ที่ผลิตเพื่อขายทั้งจากนาปีและนาปรังที่มีคุณสมบัติแข็งกินไม่อร่อยนั้น นอกจากพ่อค้ารับซื้อข้าวเอาไปนึ่งขายเป็นข้าวนึ่งแล้ว ยังใช้ทำเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวต่างๆ ทั้งเส้นหมี่ เส้นเล็ก เส้นใหญ่ เส้นจันทร์ เส้นโคราช ก๋วยจั๊บ(จีน และ เวียดนาม) รวมถึงขนมจีน เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยและกินกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เมนูเส้นจากข้าวต่างๆ เหล่านี้ยังเป็นอาหารจานด่วนราคาประหยัดทางเลือกอีกทางที่แตกต่างจากร้านขายข้าวแกงที่นำข้าวเม็ดแข็งมาขายให้กับคนทำมาหากินได้ตามข้างถนนอีกด้วย ตลาดนัดวันจันทร์พอดี ฉันได้ผักบุ้งไทยต้นอวบขาวมาจากแม่ค้าชาวนาเจ้าเก่าที่คุ้นเคย เธอสอนฉันว่าถ้าหั่นผักบุ้งแล้วให้โรยเกลือไว้แล้วเวลาเอาไปปรุงจะได้ไม่ดำ ฉันเลยแกล้งอำเธอว่ากำผักบุ้งอ้วนขาวในกะละมังที่ขายแช่เกลือแน่ๆ เธอร้องเสียงหลง ว่า เฮ้ย! ไม่ได้ มันจะเน่าหมดก่อนได้ขาย แล้วส่ายหน้ากับความไม่รู้ประสาอะไรของฉันเอาเสียเลย เหมือนกับตอนที่ฉันถามเธอเรื่องการเก็บพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง เธอว่าช่วงที่มีเวลาหลังเกี่ยวข้าวนาปรังหน 2 แล้วต้องปล่อยนาให้น้ำท่วม 4 เดือนนั้น เธอจะแยกเก็บข้าวบางส่วนจากที่ขายมาตากไว้และเก็บไว้ใช้ แต่ 2 – 3 ปีก็ต้องเปลี่ยน เมื่อมีข้าวปนมากขึ้น ข้าวปนทำให้คนรับซื้อข้าวหาโอกาสติและตัดราคา หรือถ้าหากว่ามีปัญหาโรคแมลงระบาดและรัฐแนะนำให้ใช้พันธุ์ต้านทานใหม่ เธอก็ต้องหาซื้อพันธุ์ข้าวจากชาวนาด้วยกันเอง โดยดูว่าแปลงไหนสวยแล้วจองเอาโดยให้ราคาอาจจะเท่าหรือแพงกว่าข้าวที่ขายในลานรับซื้อเล็กน้อยแล้วเอามาจัดการเอง หรือไม่ก็ซื้อจากร้านขายพันธุ์ข้าว เธอว่า คนขายพันธุ์ข้าวก็ใช้วิธีเดียวกันกับชาวนานั่นแหละ คือออกตระเวนหาซื้อจากชาวนาโดยออกปากให้ราคากันไว้ก่อน พอถึงวันเกี่ยวก็มาบอกให้เอาข้าวที่ว่าไว้ไปจัดการต่ออีกทีทั้งการตาก แยก คัด และบรรจุเพื่อเตรียมขาย ราคาก็แพงขึ้นมาหน่อยเพราะคนขายก็ต้องได้กำไร หากเทียบกับเวลาที่เธอใช้ในการออกไปทำรายได้นอกแปลงนาอย่างการขายผักในตลาดนัดแล้วเธอว่าเธอซื้อพันธุ์ข้าวเขาก็สะดวกดี และไม่เห็นว่ามันจะไร้ศักดิ์ศรีตรงไหนหากต้องไปซื้อเชื่อพันธุ์ข้าวรวมทั้งปุ๋ย ยา เมื่อร้านค้าก็ยอมให้เครดิต เช่นเดียวกับชาวนารายอื่นๆ ในสนามที่ฉันเคยคุยด้วย ในช่วงการปลูกข้าวนาปรังหน 2 ที่หลายคนว่าปลูกให้ได้เกี่ยวก่อนน้ำจะมาจึงต้องรีบไถหว่านนากันให้ไว ข้าวที่เพิ่งเกี่ยวไปไม่เกิน 20 วันนั้นใช้ปลูกไม่ได้เพราะเมล็ดพันธุ์ข้าวมีระยะพักตัว วิธีที่มั่นใจว่าข้าวที่หว่านไปจะขึ้นมาทันใจตามกำหนดเวลาจึงต้องใช้วิธีวิ่งหาซื้อจากชาวนาที่เกี่ยวไปก่อน หรือไม่ก็จากร้านขาย รายที่จนๆ มักเลือกระบบการซื้อเชื่อจากร้านค้าโดยมีค่าดอกเบี้ย 1.5 บาท/เดือน หรือไม่ก็ซื้อเชื่อจากสหกรณ์ได้หากเข้าเป็นสมาชิก ส่วนร้านค้ากับสหกรณ์ก็มีการแข่งขันกันอยู่ในที มีหลายโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม และมีการจัดพบปะสังสรรค์กับลูกค้าอยู่เป็นระยะๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันซึ่งมีผลกับยอดจำหน่ายของร้าน ชาวนาที่อยู่นอกเครือข่ายอุปถัมภ์ของการส่งเสริมเกษตรกรรมทางเลือก จึงมีความสัมพันธ์กับตลาดมากกว่าในลักษณะที่นักส่งเสริมหรือแกนนำของเครือข่ายฯ วิจารณ์ว่า “ถูกครอบงำโดยระบบตลาด” หากแต่มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าโดยมีเครือข่ายความสัมพันธ์อื่นๆ มาหนุนเสริม และมีการปะทะ ต่อรองกับตลาดอยู่ตลอดเวลา และมีความสัมพันธ์มากเกินไปกว่าการซื้อมาขายไป หรือ กำไร ขาดทุน ฉันได้ผักบุ้งแล้ว แต่ต้องไปตลาดสดอยู่ดี ยังขาดเส้นหมี่และหมู 3 ชั้น ฉันไปหาน้าแอ๊ แม่ค้าขายหมูที่ฉันวิ่งซื้อมาแต่เด็กตั้งแต่ยังใช้ใบตองห่อเชือกกล้วยมัด และหยุดขายหมูในทุกวันพระ กว่า 20 ปีแล้วที่ระบบการเลี้ยงหมูสมัยใหม่เพื่อตอบสนองกับตลาด ทำให้น้าแอ๊มีหมูขายทุกวัน ระหว่างรอน้าแอ๊ที่กำลังจัดสรรสินค้าให้กับลูกค้าประจำที่มาซื้อแบบเชื่อโดยเอาของไปเที่ยวนี้แล้วจ่ายเที่ยวหน้า หน้าแอ๊สอนวิธีเจียวกากหมูให้ฉันไปด้วย โดยบอกว่าให้หั่น 3 ชั้นเป็นชิ้นเล็กๆ เท่ากับมันเส้นติดหนังที่แกแถมมาให้ก้อนใหญ่ บอกให้ฉันใช้เจียวไปพร้อมๆ กันจนเหลือง แล้วปล่อยให้เย็นจึงเจียวซ้ำอีกทีให้กรอบแล้วค่อยบุบกระเทียบใส่ลงไปรอให้เหลือง เครื่องปรุง เช็คเครื่องปรุงกันอีกที เส้นหมี่ขาวไวไว 1 ห่อ , ผักบุ้ง 1 กำ , หมู 3 ชั้น 2 ขีด , กระเทียม 1 หัว, มันติดหนัง 2 ขีด , กุ้งแห้ง ¼ ถ้วย , ปลาเส้น 1 แท่ง หั่นเป็นแผ่นบางๆ , เต้าหูขาวหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ , น้ำมันพืช 1 ถ้วย, ต้นหอมผักชีหั่นท่อน , น้ำตาลทราย , ซีอิ๊วดำหวาน , พริกน้ำส้ม , น้ำปลา และพริกป่น วิธีทำ 1.เจียวกระเทียมรอไว้ แช่เส้นหมี่ขาวในน้ำสะอาดให้นุ่มแล้วสงขึ้นพักไว้ หันไปล้างผักบุ้งให้สะอาดเลือกเอาแต่ส่วนยอด นำมาผ่าแบ่งเป็น 2 หรือ 4 ส่วนให้กลายเป็นเส้นยาวๆ ที่มีขนาดเล็กลง แต่ถ้ายุ่งยากมากนักและไม่มีเวลาให้หั่นเป็นท่อนก็ได้ เตรียมน้ำผสมเกลือละลายไว้ระหว่างที่เตรียมผักบุ้งเพราะใช้เวลาพอควร หากไม่ชอบกินผักบุ้ง เปลี่ยนไปใช้ถั่วงอกก็ไม่ว่ากัน ส่วนกุ้งแห้งก็ล้างให้หายเค็มแล้วแช่น้ำสะอาดให้นิ่มแล้วสงพักไว้ 2.ใส่น้ำมันลงกระทะตั้งไฟกลาง ทอดเต้าหู้ข้าวให้เหลืองสุก จากนั้นจึงทอดปลาเส้นที่หั่นเตรียมไว้ให้เหลือง 3.ใส่น้ำลงหม้อตั้งไฟให้เดือด ลวกเส้นหมี่ให้นุ่มแล้วสงขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำ ใช้น้ำที่กำลังเดือดนั่นโดยเติมเกลือลงไปเพื่อให้การลวกผักบุ้งให้สุกแล้วตักขึ้นแช่น้ำเย็นจะมีสีสวยไม่คล้ำหมอง เมื่อจะกิน น้ำเส้นหมี่และผักบุ้งที่ลวกแล้วใส่ลงจาน แล้วเครื่องปรุงต่างๆ ที่เตรียมไว้ กากหมูกรอบๆ หอมๆ กระเทียมเจียวขาดไม่ได้เลย แล้วปรุงรสด้วยซีอิ๊วดำหวาน น้ำตาล น้ำปลา น้ำส้ม พริกป่น คล้ายก๋วยเตี๋ยวแห้งที่เราคุ้นเคย หากใครชอบหมูรวนและหนังหมูต้มเปื่อยหั่นเป็นเส้นลงไปด้วยก็ได้เช่นกัน ตามอัธยาศัย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 141 มาม่า - กระเจี๊ยบเขียว

โครงการรับจำนำข้าวคงต้องรอปิดดีลการขายแบบ G – to – G ของสิ้นปี 2555 จบ แล้วดูผลลัพท์เพื่อพิสูจน์ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์นี้จะสามารถเปลี่ยนกลไกการตลาดข้าวโลกเพื่อเพิ่มรายได้ของชาวนาตามมาตรฐานใหม่ที่ชาวนาควรมีรายได้เพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปแล้วอย่างความเสี่ยงที่จะการเกิดภัยพิบัติ  ภาวการณ์ขาดแคลนพลังงาน และราคาปัจจัยการผลิต ที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นในโลกอนาคต  และหันมาเพิ่มรายได้ชาวนาเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายและสร้างการเงินหมุนวียนภายในประเทศได้มากน้อยเพียงไร ดีไปอย่างที่วิวาทะเกี่ยวกับโครงการจำนำนั้น   นอกจากจะทำคนไทยหันมาสนใจเรื่องของชาวนาอย่างกว้างขวาง  ตั้งแต่ชาวนาไทยที่แท้จริงรวยหรือจน?    รวมถึงข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาชาวนาที่ยั่งยืนมากขึ้นในรูปแบบอื่นๆ อย่างเช่นรัฐควรดูแลที่ดินทำกินของเกษตรกรให้ชาวนาเป็นผู้ถือครองมีกรรมสิทธิเป็นของตนเอง  การดูแลรายได้และการลดต้นทุนการผลิต ประเด็นแลกเปลี่ยนกันอย่างสุดฮิตใน FB  ก็คือ ความสามารถของชาวนาไทยในการแข่งขันผลิตข้าวขายในตลาดข้าวโลก โดยอิงตัวเลขจาก TDRI  โดยระบุว่า ไทยมีผลผลิต/ไร่ เป็นลำดับที่ 6  อัตรา 448 กก./ไร่   ต่ำกว่าลำดับที่ 1 เวียดนาม , อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ , มาเลเซีย ,  และลาว คือ  862.4 , 779.2 , 616 ,  592 , 588.8 กก./ไร่   แถมด้วยมีสารคดี “ASEAN Beyond 2015 : ข้าวเวียดนามชนะข้าวไทย”   ที่ Thai PBS ลงทุนเดินทางไปถ่ายทำและนำเสนอความยาวเกือบ 1 ชั่วโมง ฉายภาพให้เห็นโอกาสอันก้าวหน้าของอนาคตข้าวเวียดนาม พร้อมบรรยายว่ามีต้นทุนการผลิตเพียง 4,426 บาท/ไร่ แต่กำไรมากเป็น 4 เท่าของชาวนาไทย คือ 5,555 บาท และปีนี้ซื้อขายกันที่ตันละ 7,000 บ.  ซึ่ง อ.วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิจัยของ TDRI เอง ได้ชี้ให้เห็นข้อมูลที่ผิดพลาดนี้ว่า หากชาวนาเวียดนามจะขายให้ได้กำไรอย่างที่บรรยายไว้ โดยอัตราผลผลิต/ไร่ที่ 800 กก./ไร่ ราคาที่ควรขายจริงน่าจะอยู่ที่ 12,500 บาท   ถ้าผลผลิต/ไร่ของไทยต่ำกว่าเกือบครึ่งหนึ่งราคาที่ชาวนาไทยจะอยู่รอดได้จริงควรเป็นเท่าไหร่ดี(ฮา) อันที่จริงเรื่องปริมาณผลผลิต/ไร่ ที่มากกว่า ก็ไม่ชัวร์ว่าจะเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขันในตลาดข้าวโลกได้   ตัวเลขที่หลายคนหยิบมาใช้นี้ไม่ได้บอกวิธีคิดที่แยกแยะความแตกต่างของชนิด/พันธุ์ข้าวที่ปลูกในแต่ละประเทศ   และลักษณะจำเพาะของตลาดที่ซื้อขายข้าวชนิดต่างๆ    ในกรณีของไทยอนุมานว่านำตัวเลขผลผลิต/ไร่ ของข้าวพื้นที่เพาะปลูกนาปรังในพื้นที่ชลประทานรวมกับนาปีเขตน้ำฝนรวมกันแล้วหาค่าเฉลี่ย  ขณะที่เวียดนามเองก็มีทั้งพื้นที่ปลูกข้าวอายุสั้น ต้นเตี้ย ผลผลิตสูงแต่ราคาต่ำ  และพื้นที่ปลูกข้าวคุณภาพดีรวมอยู่ด้วยเช่นกัน   นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการชี้วัดผลผลิตข้าวรวมทั้งประเทศในแต่ละปีว่าจะมีแค่พอกินหรือเหลือขาย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่มีอัตราผลผลิต/ไร่สูงกว่าไทยแต่ต้องนำเข้าข้าว  เป็นต้น ยิ่งกว่าขำก็คือ หลายคนห่วงว่าชาวนาไทยจะเปลี่ยนใจหันมาเพิ่มรอบการปลูกข้าวมากขึ้นด้วยการใช้พันธุ์ข้าวอายุสั้น แต่กลับเอาปริมาณผลผลิต/ไร่ของข้าวอายุสั้นที่มากกว่าในเวียดนามมาใช้    ข้อมูลภาคสนามที่ฉันได้จากชาวนาพบว่า ข้าวอายุสั้น 75 วัน หรือที่เรียกว่าข้าวซีพี แม้จะโตไวแต่เพราะผลผลิต/ไร่ต่ำ ไม่ได้น้ำหนัก และขายยากไม่น่าสนใจ  ชาวนาแถวบ้านยังเลือกปลูกข้าวอายุ 100 กว่าวันในนาปรังหนแรกช่วงต้นปี และรีบปลูกข้าวปรังหนที่ 2 ทันที ซึ่งบางรายยังสนใจที่จะปลูกข้าวพันธุ์เดียวกับปรังหนแรกเพราะน้ำหนักดี แต่บางรายปรับมาปลูกข้าว 90 วันแทนเพราะต้องการหนีให้ทันน้ำ ยังมีเรื่องขำขันในสารคดีนี้อีกไม่น้อย เช่น แหล่งข้าวหอมมะลิไทยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือภาพที่ดูดีไปหมดของการมีอาชีพทำนาในเวียดนาม และประสิทธิภาพของรัฐในการส่งเสริมการลดต้นทุนชาวนา ที่ฉันได้แต่รำพึงในใจว่าถ้าดีและเก่งอย่างนั้นจริงๆ น่าจะส่งหน่วยงานส่งเสริมเกษตรของไทยไปฝึกงานอย่างจริงจังดูมั่ง แต่ก็ยังลังเลอยู่ว่า ชาวนารายที่มีที่นาถือครองเพียง 4 – 5,000 ตร.เมตร นั้นสามารถขายข้าวและผลผลิตในการทำเกษตรผสมผสานได้จริงๆ หรือ ก่อนคอลัมน์นี้จะเปลี่ยนสถานะจากคอลัมน์ how to cook ไปเป็น วิจารณ์หนัง/โฆษณา และกลายเป็นมาม่าทีวีไทยไปเสียก่อน เรามาทำอะไรง่ายๆ กินดีกว่า หลายวันก่อน คุณชาวนาเพื่อนของฉันที่สุพรรณ เอารูปกระเจี๊ยบเขียวและประชาสัมพันธ์ขายเมล็ดของมันใน FB  ฉันเลยทดลองทำกระเจี๊ยบเขียวอบกรอบกินดู ทั้งที่ไม่มีหม้ออบสุญญากาศ  ... แต่ยังไม่ได้ผลค่ะ รอสำเร็จเมื่อไหร่ค่อยเอามาแลกเปลี่ยนกันในคอลัมน์นี้ กระเจี๊ยบเขียว  ฝักรูปทรงยาวเรียวคล้ายนิ้วมือ(ยักษ์)แต่มี  5 - 10 เหลี่ยม เลยได้ชื่อว่า Okra หรือ Lady’s finger  พันธุ์ที่นิยมมากเพื่อนำไปแปรรูปและส่งออกไปชาวญี่ปุ่นของคือพันธุ์ 5 เหลี่ยม รูปฝักค่อนข้างตรง  ด้วยเพราะความนิยมในการปลูกส่งออกแล้วนี่แหละเราคนไทยจึงได้มีโอกาสกินกระเจี๊ยบเขียวเพิ่มมากขึ้นจากในอดีต  ซึ่งนิยามกินในรูปของการนำไปลวกจิ้มน้ำพริก เกือบ 20 ปีก่อน เพื่อนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งแนะนำฉันต่อหน้าเพื่อนชาวเนเธอแลนด์ว่ากระเจี๊ยบเขียวกินสดได้และส่งเข้าปากเคี้ยวกรุบกรอบทันทีในแปลงผักอินทรีย์แห่งหนึ่งใน จ.สุพรรณบุรี   ฉันก็ลองดูบ้างและพบว่ามันกรอบอร่อยและมีเมือกน้อยกว่า    หลังจากนั้นมาฉันว่าฉันชอบกินกระเจี๊ยบสดมากกว่ากระเจี๊ยบลวกสุกจริงๆ ด้วย หลังรู้วิธีกินกระเจี๊ยบเขียวสดได้ไม่กี่ปี ฉันมีโอกาสได้ไปประชุมอะไรสักอย่างที่กัวลาลัมเปอร์ แต่เพราะต้องเดินทางราคาประหยัดกับเพื่อนหมู่มาก จึงมีโอกาสได้แวะพักที่นอนราคาถูกแถวปีนัง   และเจอร้านบะหมี่โต้รุ่งที่นั่นมีบริการหั่นผักชนิดต่างๆ ใส่ตะกร้า และบอกราคาขายที่คนซื้อต้องจ่ายเพิ่มหากต้องการเติมลงในบะหมี่  ซึ่งในตะกร้าเหล่านั้นนั้นมีทั้งเห็ดทอด เห็ดฟาง ต้นกระเทียมญี่ปุ่น บล็อกโคลี และกระเจี๊ยบเขียวหั่นท่อนรวมอยู่ด้วย   โกยซีหมี่กันดีกว่า เครื่องปรุง 1.บะหมี่เหลืองกวางตุ้งหรือบะหมี่เตี๊ยว  2.แฮม 1 ขีด  2.กระเจี๊ยบเขียวหั่นท่อน  2 ขีด 3.เห็ดหอมแห้งแช่น้ำ  3 – 4 ดอก 4.ต้นหอม  3 ต้น 5.กระเทียม  4 – 5 กลีบ  6.แป้งข้าวโพดหรือแป้งมัน  7.น้ำ  8.ซีอิ๊วขาว  9.น้ำตาล  10.จิ๊กโฉ่(ซอสเปรี้ยว) วิธีทำ ลวกเส้นบะหมี่ให้สุกแล้วพักไว้   จากนั้นเตรียมน้ำสำหรับราดเส้นหมี่ ซึ่งมีวิธีทำคล้ายราดหน้า   เริ่มที่เจียวกระเทียมให้หอมแล้วนำเห็ดหอมแห้งที่แช่น้ำและหั่นเป็นชิ้นแล้วลงไปผัดสักครู่ ตามด้วยแฮมหั่นเป็นเส้น  แล้วเติมฝักกระเจี๊ยบเขียวลงไปผัดต่อไปไวๆ เติมน้ำ ระหว่างนี้ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวและน้ำตาลตามชอบ รอจนกระทั่งน้ำเดือด ค่อยๆ เติมน้ำละลายแป้งข้าวโพดลงไป  เมื่อน้ำข้นได้ที่ก็ปิดเตา บางรายหากชอบมาม่า ก็ใช้แทนเส้นบะหมี่ได้ ทั้งแบบกรุบกรอบและแบบลวกล้างเค็มออก ก่อนตักโกยซีหมี่กระเจี๊ยบเขียวเข้าปาก  ฉันยังอดสงสัยไม่ได้ว่าปรากฏการณ์แล้งนานและกินพื้นที่กว้างขวางในสหรัฐอเมริกาปีนี้จะมีผลต่อราคาขนมปัง มาม่า บะหมี่ มักกะโรนี พลาสต้า  และบรรดาผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีหรือเปล่า???

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 140 คะน้าหมูกรอบ

3 กันยายน 55 – ฉันออกสำรวจตลาดนัดเช้าวันจันทร์ด้วยระยะเวลาอันสั้น  เดินวนตลาดครบรอบ ได้กับข้าวสด ผลไม้ และมะดันแช่อิ่ม  และผ่านตรงจุดที่จำเนียรนั่งขายผัก ผลไม้อยู่  วันนี้เธอกับเพื่อนอีก 3 คนนั่งจัดผักในกระจาดอยู่พอดี "เกี่ยวข้าวแล้ว ได้แค่ 30 ตันเอง มันเป็นข้าวเบา กข. 51 น่ะ ไวเลยได้น้อย  แทบไม่ได้พักดินเลย ไม่เหมือนต้นปี นั่นนาดีเพราะพักนานน้ำท่วม 35 ไร่ได้ 35 ตัน เที่ยวนี้ได้ ตัน 10,800 บาท  มันเปียกน้ำ โรงสีเขาวัดความชื้นเที่ยวเดียว  สู้ ของพี่สำไม่ได้ นาข้างกัน   ข้าวแบบเดียวกันแต่ไม่ล้มเหมือนเรา เกี่ยววันเดียวกันเขาได้ 12,000 บ.  ของเรามันล้มจมน้ำ ฝนมันตกก่อนวัน  พอรุ่งขึ้นก็เกี่ยวขายกันเลย โรงสีมันสุ่มจิ้มลงไปเที่ยวเดียวมันกดราคาเลย หาว่าความชื้น 34 % ยังดีว่า เกี่ยวทันน้ำ ไม่งั้นคงแย่กว่านี้ แต่ขายที่สุพรรณราคาดีกว่านี้หนึ่งพัน"  สาวชาวนาสุพรรณ ที่วันว่างจากนาจะผันตัวมาเป็นแม่ค้าตอบฉันด้วยสำเนียงอันเป็นเอกลักษณ์ เมื่อฉันถามถึงนา 30 ไร่ ที่ เธอว่าเพิ่งเกี่ยวไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา "แหม ก็ฟางแทบจะยังไม่ทันเน่าเลยต้องปลูกอีกรอบแล้ว ไม่งั้นหนีน้ำไม่ทัน" เพื่อนเธอที่ขายผักอยู่ข้างกันเสริม"   ปีที่แล้วทั้งน้ำทั้งฝนมาไวกว่าปกติราว 40 วัน  พอสิ้นเดือนสิงหาคม น้ำก็ท่วมบ้านริมแม่น้ำ และถูกปล่อยลงทุ่งตั้งแต่ต้นกันยายน  แต่ช่วงหน้าแล้งและขาดน้ำนี่สิ  นาที่อยู่ปลายน้ำหากจะทำนาหนที่ 2 ก็ต้องลงทุนเพิ่มกว่านาที่อยู่ต้นน้ำ   บางพื้นที่ทำนาได้แค่นาปรังหนเดียวก็มี  บางพื้นที่ทำแต่ข้าวปีเพราะอาศัยแต่น้ำฝน ครั้นพอเจ้าหน้าที่กรมชลประทานขอให้นาต้นน้ำระงับการใช้น้ำเพื่อปลูกข้าวรอบ 3 เพราะจะผันน้ำมาให้ด้านล่างทำนาบ้าง  ชาวนาต้นน้ำก็มักไม่สละสิทธิ และตั้งคำถามกลับเอากับเจ้าหน้าที่รัฐจนอึ้งว่า “หลวงจะประกันได้ไหมว่าจะมีน้ำให้เขาทำได้พอเหมาะพอดีกับการทำนา ปล่อยมาตามเวลาเป๊ะๆ น่ะ?” ปัญหางูกินหางของการจัดการน้ำโดยระบบเขื่อน ที่หน้าแล้งขาดน้ำ และหน้าน้ำปล่อยน้ำ  แล้วปล่อยให้ชาวนาไปลุ้นเอาทั้งค่าข้าวที่จะขายได้ กับภัยน้ำ ภัยแล้ง และภัยต่างๆ   เพราะเขาต้องความเสี่ยงกับภัยสารพัด    หลักประกันเดียวของชาวนาคือพึ่งตัวเองมาโดยตลอด ด้วยการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต/ไร่ และผลิตให้ได้จำนวนรอบการปลูกมากที่สุด ฉันจึงเห็นว่าน่าจะดี ถ้าระบบจำนำข้าวที่จะปรับปรุงใหม่ในปีนี้จะเปิดช่วงประกาศรับจำนำข้าวให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่เกี่ยวมากขึ้น และให้สิทธิชาวนาได้เข้าโครงการจำนำได้ปีละ 2 หน เพิ่มมาตรการป้องกันการทุจริตในโครงการจำนำข้าว เพิ่มอำนาจและกลไกการต่อรองของชาวนา แล้วให้กลไกตลาดทำงานตามที่รัฐเข้าไปแทรกแซง และถ้าหากว่ารัฐหรือเราอยากให้ชาวนาปลูกข้าวคุณภาพดี   รัฐควรมีนโยบายเรื่องข้าวที่หลากหลายกว่านี้สำหรับชาวนาที่มีระบบการผลิตที่แตกต่างกัน ราคาข้าว  ถูก/แพง  จำนำ/ประกันราคา ชาวนาก็จะปลูกข้าวให้มากรอบ/ปีที่สุด   บางคนเหลืออดเหลือทนจริงๆ ก็ยังจะเสี่ยงปลูก 75 วัน ซึ่งนั่นหมายถึงรายได้ข้าวที่ขายจะต่ำลงไปอีก   เพราะน้ำหนักข้าวที่เบาตามอายุปลูก แถมข้าวเป็นท้องไข่ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนรับซื้อที่ลานข้าวกดราคาลงไปอีก เพราะปัจจัยเรื่องน้ำต่างหากที่ควบคุมรอบการปลูกข้าว   รัฐต้องแก้ไขระบบการจัดการน้ำให้ดีกว่าเดิม   หันมาดูปัจจัยเงื่อนไขที่จะช่วยอุดหนุนให้พวกเขาผลิตในระบบการปลูกข้าวคุณภาพ   และ ...  อีกมากมายที่รัฐต้องการเปิดใจและรับฟังเสียงของชาวนาที่ถูกกลไกการผลิตข้าวกดดันขูดรีดโดยตลอดจนบางรายอย่างจำเนียรและพี่น้องต้องหารายได้เสริมนอกอาชีพด้วยการค้าขาย  และชาวนาอีกตั้งมากมายที่ไม่อยากเป็นแล้วชาวนาพอเพียง อ้อ!  เกือบลืมแหนะ   ว่ารัฐก็ต้องฟังเสียงของผู้บริโภคที่เข้าใจชาวนา ที่ยอมจ่ายในราคาที่แพงให้กับชาวนาที่ต้องขูดรีดแรงงานตัวเอง(หรือจ้างคนงานเพิ่ม)เพราะเทคนิคการผลิตที่ซับซ้อนขึ้น  อีกทั้งยังต้องอดทนรอการฟื้นตัวเข้าสู่สมดุลธรรมชาติที่ใช้เวลานานกว่าระบบการผลิตข้าวกระแสหลัก ที่ชาวนาไร้สังกัดและทุนต่ำ หรือชาวนาเช่าที่ทำตามเงื่อนไขเหล่านี้ได้ยาก   ก่อนวันสุดท้ายที่ต้องส่งต้นฉบับ  ข่าวโทรทัศน์  หนังสือพิมพ์  และออนไลน์ประโคมเรื่องน้ำท่วม ข่าวหนึ่งที่เห็นเป็นข่าวที่ทางการจะปล่อยน้ำเข้าทุ่งเพื่อบรรเทาระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ 3 – 4 วัน  นั่นเป็นชะตากรรมของชาวนาในทุ่งรอบเขตเมืองใกล้กรุงเทพฯ ที่เสี่ยงภัยกันทุกปี   ดีว่าปีนี้ชาวนาผักไห่โดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้าวกันไปก่อนหน้านี้แล้ว ช่วงฝนฉ่ำที่ฝนตกต่อเนื่องกันหลายวัน   เย็นนี้ฉันรอกินข้าวต้มร้อนๆ กับคะน้าหมูกรอบไฟแดง ที่ต้องผ่านหลายขั้นตอน ระหว่างรอกิน   ฉันเห็นและชอบที่เพื่อนใน FB แชร์ คำเท่ห์ของ บารัก โอบามา พูดไว้ที่ประชุมพรรคเดโมแครต เมื่อ 6 กันยายนนี้  “คุณไม่ได้เลือกผมมาเพื่อให้มาบอกในสิ่งที่คุณอยากฟัง คุณเลือกผมเพราะต้องการให้ผมบอกความจริง ความจริงคือเราต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าเราจะแก้ปัญหาที่สะสมมาเป็นหลายศตวรรษได้” ฟังนักการเมืองบ้านเขาพูดเขาท่า  นึกถึงว่าถ้านำเทียบกับเมืองไทย ปัญหาชาวนาที่สะสมไว้ก่อนปี 2475 กลับมาที่วิธีทำ ‘หมู (สามชั้น) กรอบ’ กินกันดีกว่า แม่เอาหมูสามชั้นที่ต้มพอสุกแล้วใส่กระจาดไม้ไผ่ เอาส้อมจิ้มหนังหมู  ทาเกลือให้ทั่วชิ้นแล้วล้างด้วยการบีบน้ำมะนาวใส่ จึงนำผึ่งแดดที่เพิ่งโผล่มาหลังม่านฝน   ดีว่ามันแห้งพอหมาดแล้วฝนก็ตั้งท่าจะตกลงมาอีกรอบ   จากนั้นจึงเห็นแม่เอาชิ้นหมูไปทอดในน้ำมันบนเตาไฟปานกลางแค่ให้สุกแล้วดับเตา  ปล่อยให้ชิ้นหมูสามชั้นนั้นนอนจมน้ำมันจนทั้งน้ำมันและชิ้นหมูเย็น  แล้วแม่จึงเริ่มกรรมวิธีการทอดอีกรอบโดยตักชิ้นหมูขึ้น ตั้งกระทะไฟกลางจนน้ำมันร้อน  แล้วทอดให้ชิ้นหมูสุกนิ่มเป็นหมูกรอบ 3 ชั้นอันแสนโอชะ แหมพิถีพิถันและรอกันนานหน่อยค่ะ  เพราะกว่าจะได้หั่นชิ้นหมูกรอบให้ขนาดพอเป็นคำก่อนจะเอาไปผัดไฟแดงกับคะน้านั่น หมู 3 ชั้น ต้องผ่านร้อนมาถึง 3 – 4 ที  ร้อนซ้ำซากแบบนี้แหละ ถึงจะได้ของอร่อยเต็มคำไว้ให้เราแม่ลูกได้กินกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 139 ข้าว(เม่า)จี่ AEC

ได้ข่าวจากพี่ชาวนาที่ฉันเคยไปสัมภาษณ์ว่าเขาเลือกปลูกพันธุ์ข้าว กข. 51 อายุเพียง 90 วัน ในรอบการปลูกนาปรังหนที่ 2 ที่ต้องเกี่ยวให้ทันก่อนน้ำมาภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้เป็นอย่างช้า  หากเลือกพันธุ์อื่นที่อายุยาวนานกว่านั้นอาจจะต้องเสี่ยงเกี่ยวข้าวเขียวหนีน้ำกันอีกรอบเพราะเมื่อต้นปี 55 นั้น น้ำลดช้าทำให้ แม้ว่าเกษตรตำบลจะท้วงติงว่าข้าว กข. 51 จะขายได้ราคาต่ำเพราะคุณภาพข้าวไม่ดี แต่นี่คือทางเลือกที่ดีที่สุดตามเงื่อนไขที่พี่เขาเลือกได้ ฉันเองก็นึกขำเกษตรตำบลอยู่ไม่น้อย แม้ในช่วงการปฏิบัติตามนโยบายประกันราคาของรัฐบาลประชาธิปัตย์  พันธุ์ข้าวอายุตั้งแต่ 100 วัน ที่รัฐกำหนดให้ขึ้นทะเบียนนั้นมีอยู่จริงเฉพาะในทะเบียนเมื่อต้องปลูกข้าวนาปรังรุ่นที่2 ซึ่งต้องปลูกระหว่างเดือนพฤษาคม –ต้นกันยายน  หรือที่ชาวนาเรียก “รุ่นหนีน้ำ” และถึงแม้จะปลูกพันธุ์ข้าว 90 วันแล้วแต่หากน้ำมาก่อนกำหนดเกี่ยวหนีน้ำก็ต้องการเป็นเกี่ยวข้าวให้เป็ดกินเพราะโรงสีไม่รับซื้อ ส่วนข้าวที่เกี่ยวขายได้ตามปกติก็ถูกพ่อค้าช้อนซื้อในราคาต่ำแต่มีรัฐบาลยอมจ่ายส่วนต่างชดเชยให้โดยตรงกับชาวนา แต่รวมแล้วเงินจากการขายข้าว 1 ตันที่ชาวนาได้จริงก็ไม่ถึง 10,000 บ. เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงหลังเลือกตั้งใหม่ปี 2554 น้ำมาไวและมากเหมือนเดิม พันธุ์ข้าวที่ปลูกพันธุ์เดิม เกี่ยวข้าวเขียวขายเหมือนเดิม แต่ปีนี้ราคาข้าวเขียวขายได้เกือบเท่าราคาข้าวปกติในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากประกันราคาข้าวเป็นจำนำข้าวแทน - - ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? สื่อต่างประเทศอย่างบลูมเบิร์กวิเคราะห์ไว้ว่าราคาข้าวที่ขึ้นสูงในช่วงนั้นเป็นเพราะนโยบายจำนำข้าวมีผลทำให้ดึงราคาข้าวในตลาดโลกให้สูงขึ้น  พ่อค้าข้าว/โรงสี พยายามกักตุนข้าวก่อนรัฐจะดำเนินนโยบายดังกล่าว  กระตุ้นกลไกตลาดให้ข้าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นและชาวบ้านรับตรงเองจากชาวนา  จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมชาวนาส่วนใหญ่ถึงพออกพอใจกับการขายข้าวได้ราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 1 หมื่นบาทจากการขายข้าวงวดนั้น ผลที่ตามมาของนโยบายจำนำข้าวคือชาวนากล้าที่จะลงทุนปรับเปลี่ยนจากนาฟางลอยที่ปลูกแล้วไม่คุ้มมาเป็นนาปรัง 2 หนแทน เพราะแม้จะมีความเสี่ยงเรื่องหนีน้ำในการปลูกนาหนที่ 2 อยู่บ้าง แต่การจัดการผลผลิตและแนวโน้มของผลตอบแทนที่ได้รับอย่างคุ้มค่าก็มีอยู่โอกาสอยู่มากด้วยเช่นกัน   ราคาข้าวก่อนหน้านั้นมันถูกกดให้ต่ำมานานมากแล้วโดยกลไกตลาด ก่อนปี 2550 ราคาข้าวไม่เคยสูงเกินกว่าตันละ 6,500 บ. และค่าเช่านาปีละ 300-400 บ./ไร่  และที่นาหลุดมือจากชาวนาเพราะราคาข้าวถูกกดไปแล้วเท่าไหร่?  แม้ช่วงปี 50-51 ซึ่งราคาข้าวเขยิบขึ้นสูงถึงตันละ 1 หมื่นบาทนั่นก็เพราะประเทศคู่แข่งส่งออกข้าวของไทยเราเจอปัญหาภัยพิบัติและเกิดการเก็งกำไรของตลาดโลก   ฉันยังสงสัยว่าถ้าราคาข้าวนาปรังไทยเรายังขายได้ต่ำกว่าหมื่นบาท/ตัน  เมื่อถึงวันที่ไทยต้องเปิดเสรีข้าวในปี 2558 นั่น เราจะขายข้าวส่งออกกันในราคาที่เท่าไหร่  หากไม่พยายามดึงราคาให้สูงขึ้นไว้และหนีให้พ้นสงครามตัดราคากันเองของประเทศผู้ส่งออกข้าวอย่างที่เราทำๆ กันมาอย่างต่อเนื่อง? ฉันยังสงสัยต่อไปอีกว่า มีสัดส่วนของชาวนาหน้าใหม่ ทุนใหม่ กับชาวนาหน้าเดิมหรือชาวนารับมรดกต่อเนื่องมาจากครอบครัว เป็นเท่าไหร่ที่จะเหลือพออยู่สู้กับวิกฤติการแข่งขันข้าวครั้งใหม่ในโลกตลาดเสรีถ้าเรายังขายข้าวได้ในราคาต่ำกว่าตันละ 1 หมื่น? ยังมีเรื่องข้าวคุณภาพอย่างข้าวนาปี ข้าวเมล็ดยาวของไทยที่หลายคนยังไม่แน่ใจว่าจะโดนข้าวหอมเมล็ดยาวของกัมพูชา และข้าวปอซานมุยของพม่ามาแข่งขันในตลาดชั้นสูงเพิ่มจากเดิมที่มีข้าวบาสมาติของอินเดียข่มกันอยู่กับข้าวหอมมะลิของไทย ให้เราได้ฉงนสงสัยกับการเคลื่อนย้ายไปของนักลงทุนภาคการเกษตรเสรีอีก  ถึงตอนนี้ฉันได้แต่ฝันแทนประชากรกลุ่มชาวนาของประเทศผู้ส่งออกว่าถ้ามีสหภาพชาวนาและครัสเตอร์ส่งออกข้าวแห่งอาเซียนในการค้าเสรี AEC ก็คงจะดี  - - อา  อยากจะฝันแบบนี้นานๆ จัง   ก่อนจะไปฝันแบบนั้นฉันเพิ่งอิ่มมาจากเมนูข้าวเม่าที่จับเอาวิธีการปรุงโดยการจี่ไฟ (ปิ้ง-ย่าง) แบบอีสาน กับเครื่องปรุงแบบไทยปนแขกอย่างหมูสะเต๊ะ มาผสมผเสปนเปกันน่ะ เครื่องปรุง 1.ไข่ไก่ใบใหญ่ 1 ฟอง   2.ข้าวเม่าข้าวเหนียว(สีเขียว)  1 ถ้วย  3.หมูสะเต๊ะ  4 ไม้ 4.พริกไทยป่น   5.เกลือ 1 ช้อนชา   6.น้ำเปล่า 3 ช้อนโต๊ะ    7.สาหร่ายญี่ปุ่นแห้งท่อน 1 ช้อนโต๊ะ (ไม่ใส่ก็ได้) วิธีทำ 1.ตอกไข่ลงชาม ตีไข่แดงให้แตกเข้ากันกับไข่ขาว   ปรุงรสด้วยพริกไทยและเกลือเติมสีสันอาหารโดยการใส่สาหร่ายญี่ปุ่นแห้งที่ใช้กรรไกรตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ยาว 1 ซม. 2.ใส่ข้าวเม่าลงในไข่เจียวที่เตรียมไว้  คนให้เข้ากันให้ทั่วแล้วทิ้งไว้สัก 5 นาทีเพื่อให้ไข่ซึมเนื้อข้าวเม่าจนนิ่มดี 3.นำข้าวเม่าผสมไข่ห่อหมูสะเต๊ะ  โดยนำใช้มือที่สวมถุงพสาสติกใส(ถุงใส่แกงร้อน) เพื่อห่อไม้หมูสะเต๊ะให้แน่นและไม่ติดมือ 4.นำไปย่างบนเตาไฟฟ้า หรือเตาถ่านตามสะดวก   โดยตั้งไฟให้แรงปานกลาง  เมื่อเหลืองหอมสุกดีแล้วยกลง เสิร์ฟคู่กับน้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ และอาจาด หากชอบข้าวจี่หอมๆ อาจจะต้องหาชามใบเล็กๆ อีกใบและเพิ่มไข่อีกลูก  เจียวไข่และปรุงรสให้เหมาะตามชอบแล้วนำข้าวปั้นที่นำไปจี่มาชุบแล้วจี่สัก 3 – 4 ครั้ง ส่วนผู้ที่พิสมัยรสชาติที่แตกต่างออกไป อาจจะเปลี่ยนไส้ในข้าวเป็น หมู ไก่ กุ้ง  เห็ด และแน่นอน  น้ำจิ้มที่ใช้ก็เลือกเป็นแจ่วแบบอีสาน หรือน้ำพริกตาแดง  หรืออื่นๆ ตามแต่สะดวกค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 138 เค้กกระทะกะข้าวเม่า

ก่อนน้องสาวจะต้องย้ายตัวเองไปเรียนภาษาที่นิวซีแลนด์ เธอกลับมาอยู่บ้านของพ่อเธอ 1 สัปดาห์ ก็บ้านเดียวกับที่ฉันกับแม่อาศัยอยู่นี่แหละ แล้วบ่ายวันหนึ่ง ก็ได้ฤกษ์ดีที่ฉันมีโอกาสว่างได้ละจากหน้าจอคอมพ์ชั่วคราว  ฉันก็ได้ลองทำเค้กกระทะ(pan cake) กันกับแม่และน้อง  ทำครั้งแรกก็ทำเลียนแบบสูตรที่ข้างกล่องแป้งแพนแค้กสำเร็จรูปจำหน่ายว่าไว้ เพียงแต่ลดเนื้อแป้งลงนิดหน่อย และไม่ใส่เนยตามสูตร เพราะแม่ต้องควบคุมไขมัน อันที่จริง ก่อนหน้านี้ย้อนไปกว่า 10 ปี เค้กกระทะที่เคยกินอยู่นี้มีเพื่อนคนหนึ่งเคยทำให้กิน  ทั้งๆ ที่เพื่อนคนนี้ไม่นิยมการทำอาหารใดๆ เลย ยกเว้นการชงกาแฟหอมๆ ให้เพื่อนๆ ดื่ม  จำได้ว่านอกจากความแปลกประหลาดใจที่เห็นเธอลงมือทำเองแล้ว  รสอร่อยของแพนเค้กชุดนั้นมันอร่อยมากด้วยเช่นกัน   หลังจากนั้นมา พอเบื่อๆ อาหาร บางคราวก็นึกถึงเค้กกระทะ  แล้วก็ทดลองทำกินเองจากสูตรแป้งสำเร็จที่มีวางขายในชั้นของซูเปอร์มาร์เก็ต  มีบ่อยๆ ที่ฉันเพิ่มแป้ง ลดแป้ง ลดนม  แล้วเติมกล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ข้าวโอ้ต  รำละเอียด หรืองา  ลงไปผสม  ทำเสร็จออกมาก็กินกับแยมมั่ง น้ำผึ้งมั่ง  ผลัดเปลี่ยนไปตามแต่จะมีวัตถุดิบอะไรมาให้เล่น   แพนเค้กข้าวเม่า เครื่องปรุง แป้งแพนเค้กสำเร็จรูป 100 กรัม  หรือ  1 ถ้วย , นมสด   1 ถ้วย , ไข่ไก่ฟองใหญ่ 1 ฟอง , ข้าวเม่า  1/3 ถ้วย , น้ำมันถั่วเหลือง 1 ช้อนโต๊ะ   วิธีทำ 1ใส่น้ำมันลงในถ้วย ตีไข่แล้วคนให้ไข่แดง และไข่ขาวเข้ากันกับน้ำมัน 2.เติมน้ำนมลงไปแล้วใส่ข้าวเม่าคนให้เข้ากัน  จากนั้นจึงค่อยๆ เติมแป้งลงไปทีละน้อย  คนให้แป้งละลาย จนกระทั่งแป้งหมด 3.ตั้งกระทะเทฟลอนบนเตาไฟขนาดกลาง  เมื่อกระทะร้อนดีแล้วจึงค่อยๆ ตักส่วนผสมที่เตรียมไว้ลงไปทอด จนกระทั่งเหลืองหอมแล้วพลิกอีกด้านหนึ่งทอดให้เหลืองสุก ตัดเสิร์ฟ กินกับเนย แยม หรือน้ำผึ้ง ครบ 1 เดือนพอดี ที่น้องไปอยู่ในที่ที่ไม่มีใครในบ้านรู้จัก  อาการกินอะไรไม่ได้นอกจากนมกับกล้วยหอมของน้องเริ่มดีขึ้น เธอเริ่มกินขนมปัง และหันมาพึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบ้าง  แต่ยังปฏิเสธชัดเจน แกะแพะและเนื้อวัว จนฉันกับแม่คลายห่วงลงได้นิดหน่อย ระหว่างเคี้ยวเค้กกระทะราดแยมส้มและเนยที่มีเม็ดข้าวเม่าเจือกลิ่นอยู่ในปาก  ฉันกำลังสงสัยว่า ถ้าเปลี่ยนเป็นข้าวเม่าในไข่เจียวกินกับปลาร้าบ้องอุบลฯ  หรือน้ำพริกหนุ่มเจ้าอร่อยจากเชียงใหม่ที่น้องชอบ   มันจะทำให้อาการช่วยบรรเทาคิดถึงปลาร้าสับ ปลาร้าหลนของน้องสาวที่อยู่ไกลได้ไหมหว่า???

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 137 ข้าวเม่าห่อกุ้ง

ช่วงนี้ฝนฟ้าตกบ่อยๆ หนักบ้าง เบาบ้าง หลายคนก็ยังหวังว่าข้าวนาปรังหนที่2 ซึ่งเริ่มปลูกกันช่วงต้นพฤษภาคมจะได้เกี่ยวทันน้ำในต้นกันยายน และมีชาวนาอีกไม่น้อยที่เปลี่ยนเอาข้าวอายุสั้น 90 วันลงแทนข้าว 110 วันก็เพราะเหตุนี้ ข้าวเม่ายังมีเหลืออยู่ในครัว  คราวนี้เลยลองเอามาห่อกุ้งแล้วเอาไปทอดกินจิ้มกับครีมสลัดและแนมผักแก้เลี่ยน วิธีที่ทดลองมี 2 แบบ   แบบที่ 1 ห่อด้วยข้าวเม่า เครื่องปรุง   น้ำเปล่า  5 ช้อนโต๊ะ  , น้ำส้มสายชูกลั่น  1 ช้อนโต๊ะ , น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา , กุ้ง 4 ตัว , ข้าวเม่า 8 ช้อนชา , งาบด 2 ช้อนโต๊ะ , น้ำมันพืช 1 ถ้วย   วิธีทำ 1.ผสมน้ำ, น้ำส้มสายชูกลั่น และน้ำตาลทราย คนเพื่อละลายให้เข้ากันดี 2.นำงาบด และข้าวเม่าที่คัดแยกสิ่งปลอมปนออกแล้วมาคลุกเคล้าทิ้งไว้สักพัก ข้าวเม่าจะนิ่มและมีลักษณะแฉะกว่าที่เคยกินแบบข้าวเม่าคลุกกับมะพร้าวเล็กน้อย 3.ระหว่างรอให้ข้าวเม่านิ่ม  ปอกกุ้งและผ่าแนวกลางลำตัวตามยาวลึกแค่พอเห็นเส้นสีดำเพื่อเอามันออกมา ล้างกุ้งให้สะอาดและทิ้งให้สะเด็ดน้ำ 4.เมื่อข้าวเม่านิ่มแล้ว ใช้มือนวดโดยออกแรงเล็กน้อยให้ข้าวเม่านิ่มจับตัวกัน 5.ใช้ถุงพลาสติกขนาดถุงแกง ผ่าออกให้เป็นแผ่น  นำข้าวเม่าที่นวดมาวางลงบนถุงพลาสติกแล้วใช้อีกด้านวางประกบ จากนั้นใช้ฝ่ามือกดลงให้ข้าวเม่าเป็นแผ่นบางๆ แล้วจึงนำไปห่อกุ้งที่เตรียมไว้ 6.นำกุ้งที่ห่อข้าวเม่าไปทอดในน้ำมันปาล์มที่ตั้งระดับความร้อนปานกลางจนเหลืองสุก ตักให้สะเด็ดน้ำแล้วเสิร์ฟคู่กับครีมสลัดหรือบ๊วยเจี่ย   แบบที่ 2 ชุบแป้งแล้วคลุกข้าวเม่า เครื่องปรุง    แป้งสำหรับทอด  4 – 5 ช้อนโต๊ะ  ,  น้ำเย็น  ½ ถ้วย  ,  ข้าวเม่า 1 ขีด , กุ้ง 5 ตัว , น้ำมันพืช 1 ถ้วย วิธีทำ 1.เตรียมกุ้งแบบเดียวกับวิธีที่ 1 2.ผสมแป้งกับน้ำเย็น  คนให้เข้ากันดี  แป้งที่ผสมไม่ควรข้นหรือเหลวจนเกินไปนัก 3.เทข้าวเม่าลงในจาน 4.นำกุ้งมาชุบลงในน้ำแป้งให้ทั่ว  จากนั้นนำกุ้งขึ้นมาคลุกกับข้าวเม่า  ทำจนครบ 5 ตัว แล้วทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที เพื่อให้ข้าวเม่านิ่มและเกาะตัวกัน 5.นำกุ้งลงทอดในน้ำมันให้เหลืองสุกโดยตั้งไฟปานกลาง  แล้วนำมาจัดลงจานราดด้วยสลัดครีม   ข้าวเม่าที่นำมาใช้ทั้ง 2 วิธี ใช้ข้าวเม่าข้าวเหนียวซึ่งมีสีเขียว  เมื่อนำมาปรุงในที่ 1 แล้วทอดให้กรอบ ถ้าห่อหนาจะกรอบนอกนุ่มใน  ส่วนการปรุงแบบวิธีที่ 2 ข้าวเม่าที่ห่อกุ้งจะบางกว่าและกรอบกว่าถ้ามีแต่ข้าวเม่าสีขาวซึ่งเป็นข้าวเม่าที่ทำจากข้าวเจ้าไม่เหมาะกับวิธีที่ 1  แต่จะเหมาะกับวิธีที่ 2 มากกว่า เศษข้าวเม่าที่เหลือเมื่อนำไปทอดกรอบๆ แล้วเอามาคลุกกับสลัดครีมทำให้ฉันนึกไปถึงข้าวเม่าหมี่ได้ยังไงกันนะ  ชักอยากกินขึ้นมาแล้วเหมือนกัน ไม่ได้เจอกับมันเสียนาน แต่นึกถึงเครื่องเคราและวิธีการก็ชวนคร้านขึ้นมาซะแล้ว เครื่องปรุงข้าวเม่าซึ่งมีทั้งกุ้งแห้ง, เต้าหู้ขาว(แข็ง), ข้าวเม่า, ถั่วลิสง ,  ทั้งหมดนี่จะต้องเอามาทอดให้สุกกรอบ  จากนั้นจึงเคี่ยวน้ำตาลปี๊บกับน้ำมะขามเปียกและน้ำปลาจนเป็นฟองละเอียดแล้วจึงนำเครื่องปรุงที่ทอดกรอบรอไว้ลงมาคลุกเคล้าให้ข้าวกัน ฉันจำวิธีการได้ แต่สูตรที่แม่เคยทำขายนั้นเลือนราง จำได้ว่าเวลาทำแค่พอให้เอาทุกอย่างลงไปคลุกในกระทะใบเขื่อง(แต่ไม่เท่ากระทะใบบัว) ต้องใช้ข้าวเม่า และถั่วลิสงเป็นกิโล  เต้าหู้ข้าวนั้นก็หลายก้อนหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อให้ทอดได้กรอบ  ส่วนตอนเคี่ยวน้ำตาลปี๊บนั่นต้องกะให้ฟองละเอียดพอที่เครื่องทอดจะจับกันดีกับน้ำตาล   แต่ต้องไม่แก่ไฟเกินไปจนเมื่อนำเครื่องปรุงทุกอย่างไปคลุกแล้วปล่อยให้เย็นจนข้าวเม่าหมี่ตกทราย อีกอย่าง ฉันอยากหาวิธีกินข้าวเม่าแบบใหม่ๆ  นึกวิธีกินแบบอื่นได้เมื่อไหร่คงมีเมนูใหม่มาให้ลองทำกันดูนะคะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point