ฉบับที่ 216 เป้เดินป่า

            ปัจจุบันมีเป้เดินป่า (ที่เราส่วนใหญ่นิยมนำมาใช้ในการใส่สัมภาระเดินทางทั่วไป) เข้ามาขายในบ้านเรามากมายหลายยี่ห้อ ด้วยสนนราคาที่ค่อนข้างแพง นักเดินทางจึงค่อนข้างคิดหนักก่อนจะลงทุน แต่ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะเรามีผลทดสอบเป้ความจุตั้งแต่ 40 ลิตร ที่สมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ได้ทำไว้มาฝาก คราวนี้เรามีให้คุณได้เลือกกัน 19 รุ่น ในสนนราคาระหว่าง 1,550 ถึง 6,800 บาท*ทีมทดสอบแบ่งคะแนนเต็ม 100 คะแนนให้กับคุณสมบัติ 7 ด้านดังนี้        -          ความสะดวกในการใช้งาน                                                                                                                                             40 คะแนน                    (บรรจุสัมภาระครึ่ง/เต็มกระเป๋า ใช้งานปิด/เปิด เข็มขัดล็อคเอว ความกระชับของกระเป๋าเมื่อผู้ใช้ก้มตัว ฯลฯ)                                                        -          เนื้อที่ใช้สอยทั้งภายในและภายนอก                                                                                                                             15 คะแนน        -          ประสิทธิภาพการกันน้ำ (ด้วยการจำลองสภาพฝนตก)                                                                                                     15 คะแนน        -          ความแข็งแรงของหูหิ้วและสายสะพาย                                                                                                                          10 คะแนน        -          ความเรียบร้อยสวยงามในการประกอบ                                                                                                                        10 คะแนน        -          ความสะดวกในการทำความสะอาด                                                                                                                               5 คะแนน        -          การมีชิ้นส่วนสะท้อนแสง                                                                                                                                             5 คะแนน         งานนี้ต้องยอมรับว่าของดีนั้นมีต้นทุนสูงอยู่บ้าง แต่ใช่ว่าเราจะหาของราคาปานกลางที่มีคุณภาพดีไม่ได้ พลิกหน้าถัดไปเพื่อดูผลคะแนนรวมหรือคุณสมบัติเฉพาะด้านที่คุณใส่ใจเป็นพิเศษได้เลย        ·        หมายเหตุ ราคาที่แสดงเป็นราคาที่จ่ายโดยองค์กรสมาชิกที่ซื้อสินค้ามาทดสอบ ที่เมืองไทยราคาอาจแพงหรือถูกกว่า โปรดตรวจสอบราคากับทางร้านอีกครั้ง        ·        ค่าใช้จ่ายในการทดสอบครั้งนี้อยู่ที่ตัวอย่างละ 390 ยูโร (ประมาณ 14,000 บาท) และค่าจัดทำรายงานผลอีก 1,500 ยูโร (ประมาณ 53,000 บาท) ทั้งนี้องค์กรสมาชิกที่ร่วมส่งตัวอย่างเป้เข้าทดสอบจะร่วมกันหารค่าใช้จ่าย              แม้ฉลาดซื้อจะไม่ได้ส่งตัวอย่างไปทดสอบที่เยอรมนีด้วย แต่ในฐานะสมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ที่จ่ายค่าสมาชิกปีละประมาณ 210,000 บาท) เราสามารถใช้ผลทดสอบได้ด้วย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 216 รัฐสวัสดิการ เมืองไทยต้องไปให้ถึง

รัฐสวัสดิการ (welfare state) คือ มโนทัศน์การปกครองซึ่งรัฐมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจและสังคมของพลเมือง โดยอาศัยหลักความเสมอภาคของโอกาส การกระจายความมั่งคั่งอย่างชอบธรรม และความรับผิดชอบต่อสาธารณะแก่ผู้ไม่สามารถจัดหาขั้นต่ำสำหรับชีวิตที่ดีได้ กลุ่มประเทศนอร์ดิก เช่น ไอซ์แลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์กและฟินแลนด์ รวมอยู่ในรัฐสวัสดิการสมัยใหม่รัฐสวัสดิการเกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนเงินทุนจากรัฐสู่บริการที่จัดให้ (เช่น สาธารณสุข การศึกษา) ตลอดจนสู่ปัจเจกบุคคลโดยตรง ("ผลประโยชน์") รัฐสวัสดิการจัดหาเงินทุนจากการเก็บภาษีแบบแบ่งความมั่งคั่ง (redistributionist taxation) และมักเรียกว่าเป็น "เศรษฐกิจแบบผสม" ประเภทหนึ่ง การเก็บภาษีดังกล่าวปกติรวมการเก็บภาษีเงินได้จากผู้มีรายได้สูงมากกว่าผู้มีรายได้ต่ำ เรียก ภาษีอัตราก้าวหน้า ซึ่งช่วยลดช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยและคนจน (ที่มา วิกิพีเดีย) รัฐสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับคนไทยเป็นได้ต้องปฏิรูประบบภาษี        ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ระบุว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องปฏิรูประบบภาษี และงบประมาณเพื่อรัฐสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับคนไทยถ้วนหน้า ซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการอนาคตประชากรไทยอาจจะมีปัญหา โดยเฉพาะคนรายได้น้อยและคนที่มีรายได้ปานกลาง        หากดูตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นหนึ่งประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง บวกกับความเชื่อมั่นว่า “คนชั้นกลาง” ในประเทศสามารถทำมาหากินและสร้างสิ่งที่เรียกว่า “อเมริกันดรีม” แต่มีบทความในนิตยสารฉบับหนึ่งเมื่อปี 2561 ที่ชี้ให้เห็น “การจมลงของชนชั้นกลาง” อันเนื่องมาจากปัญหาหลัก 3 ด้าน คือ 1. ด้านการศึกษา 2. ด้านการสาธารณสุข และ 3. ด้านที่อยู่อาศัย โดยทั้ง 3 ด้านนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้คนชั้นกลางมีเงินเหลือเก็บน้อยลง และเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป จากการเป็นประเทศผู้นำทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ทำให้การจ้าง “คนชั้นกลาง” ทำงานประจำน้อยลงเรื่อยๆ        ดังนั้น เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย “ด้านการศึกษา” พบว่าเดิมมีการจัดระบบการศึกษาฟรี จนถึง 12 ปี กระทั่งมีรัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช. การศึกษาฟรีลดลงมาเหลือเพียงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับเท่านั้น และเมื่อพิจารณาลึกลงไปกว่านั้นจะพบว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ตามข้อเท็จจริงว่า “โรงเรียนบางแห่ง” ไม่ใช่การศึกษาฟรีจริง เพราะยังมีการบังคับในเรื่องต่างๆ เช่น การแต่งกายต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ รวมถึงมีการเปิดห้องเรียนพิเศษเพื่อเก็บเงินเพิ่มเติม          และที่มีปัญหาหนักคือระดับ “มหาวิทยาลัย” ที่รัฐบาลมีการอุดหนุนงบให้นักศึกษาปีละ 10,000 บาทต่อคน แต่จากข้อมูลพบว่าในจำนวนกลุ่มคนที่จนที่สุดของประเทศ 20% นั้นมีเพียง 5% เท่านั้นที่สามารถเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้ ที่เหลือคือ เข้าไม่ถึง นี่คือสิ่งที่คนชั้นกลางไปไม่ถึง และไม่ได้รับสิทธิได้รับเงินอุดหนุนดังกล่าว รวมกว่า 95% แปลว่าเงินที่รัฐอุดหนุนเพื่อการศึกษาตกอยู่กับคนที่รวยที่สุด 20%           “เหมือนรัฐบาลยังมีกำแพงการช่วยเหลืออยู่ ช่วยแต่ไม่ได้ช่วยเต็ม เข้าใจว่ารัฐบาลไม่ได้ตั้งใจให้แบบนี้ แต่การที่ไม่ได้คิดครบทั้งระบบกลายเป็นการกีดกันคนจนโดยทางอ้อม และยังเบี่ยงไปจ่ายให้คนรวยทางอ้อมด้วยเช่นกัน”  “ด้านสุขภาพ” แน่นอนว่าประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหามี 2 เรื่องคือ ประชาชนต่างจังหวัด แม้จะเข้าระบบหลักประกัน แต่ยังมีค่าใช้จ่ายสูงในการเดินทางไปรับการรักษา และมีปัญหาการเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลชั้นนำในกรุงเทพหรือเมืองใหญ่          “หากแบ่งคนออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 20% จะพบว่าเงินที่รัฐบาลจ่ายส่วนมากกลับมาอยู่ที่คนกลุ่มที่รวย 20% บวกกับคนที่รวยที่สุดที่อยู่ในสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งมีงบประมาณค่ารักษาเฉลี่ย 1.5 หมื่นบาท ในขณะที่คนทั่วไปได้รับเพียง 3.4 พันบาทต่อหัว นี่คือปัญหาของการใช้งบประมาณที่สรุปแล้วเป็นการช่วยเหลือคนที่มีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองได้อยู่แล้ว ในขณะที่พี่น้องคนจนได้รับการช่วยเหลือน้อยแถมเข้าถึงยาก” ขณะที่ “คนชั้นกลางของไทย” ก็จะเป็นกลุ่มเดือดร้อนไปด้วย เพราะถ้าพูดถึง “เรื่องการศึกษา” มีการเรียนฟรีก็จริง แต่ก็มีสิ่งล่อคือ ทัศนคติว่าเรียนโรงเรียนธรรมดาคุณภาพจะไม่ถึง ต้องเรียนคลาสพิเศษ หรือไปเรียนโรงเรียนเอกชน หรือในระดับมหาวิทยาลัย ก็จะมีคอร์สอินเตอร์ ซึ่งไม่มีมาตรการควบคุมเรื่องการเก็บค่าบริการพิเศษเหล่านี้ว่าต้องเป็นเท่าไร เหมือนอเมริกามีการทำข้อมูลค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาสูงกว่ารายได้เยอะมาก แต่ประเทศไทยไม่มีการทำตรงนี้ รัฐบาลใช้กลยุทธ์เวลาใครวิจารณ์ก็ระบุว่า ไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้อง แต่เมื่อถามหาตัวเลขที่ถูกต้องรัฐบาลก็บอกว่าไม่มี  “ส่วนค่ารักษา” หากอยู่ในระบบบัตรทองแล้วรู้สึกรอนาน ก็ต้องไป รพ.เอกชน ที่ยังไม่มีกลไกควบคุมราคา ซึ่งก็ยังหวังว่าจะเริ่มควบคุมได้ในปีนี้ เช่นเดียวกับ “ที่อยู่อาศัย” ไม่มีการควบคุมเลย         นี่เป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางของไทยต้องต่อสู้คล้ายๆ กับคนชั้นกลางในอเมริกา จึงต้องถามคนชั้นกลางในประเทศไทยว่า จะสู้อย่างไรดี มาร่วมกันลงทุนเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการดีกว่าหรือไม่ เช่น มีการเสนอว่าไม่ต้องมีการลดหย่อนภาษี จำพวกกองทุนแอลทีเอฟ แต่จ่ายภาษีเต็มๆ ไปแล้วรัฐนำเงินนั้นมาสร้างสวัสดิการที่เพียงพอ  เพราะการมีรัฐสวัสดิการ คือการสร้างความมั่นใจให้กับทุกคนว่าจะสามารถเดินต่อไปได้         แต่สิ่งที่ต้องพูดเพื่อให้เข้าใจกันเกี่ยวกับระบบภาษี นั้นเรียนว่า ทุกคน รวมถึงคนจนต่างก็เสียภาษีกันทั้งสิ้น แน่นอนว่าภาษีเงินได้ เมื่อลองคำนวณแล้วคนชั้นกลางเสียภาษีประมาณปีละ 60,000 บาท ถือว่าเยอะต่อครอบครัว แต่ใน 60,000 บาทนั้น เป็นภาษีรายได้แค่นิดเดียว ที่เหลือเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีทางอ้อม ขณะที่คนจนอาจไม่ได้เสียภาษีเงินได้  เพราะเงินได้ไม่ถึงตามระบบจัดเก็บภาษี แต่ย้ำว่าภาษีมูลค่าเพิ่มต้องจ่ายกันทุกคน ซึ่งหากคำนวณแล้วคนจนต้องจ่ายแพงกว่าด้วยซ้ำ        “ใน 20% ที่รวยที่สุดของประเทศมีรายได้เฉลี่ย 60,000 บาท ใช้บริโภคประมาณ 40,000 บาทเบ็ดเสร็จเสียภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 2,000 บาทเท่านั้น เมื่อหารด้วย 60,000 บาทของรายได้ แปลว่าเสียภาษีแค่ 3% ของรายได้ แต่คนจนมีรายได้ประมาณ 10,000 บาท แต่มีรายจ่ายประมาณ 12,000 บาท แล้วต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเบ็ดเสร็จประมาณ 500 บาท คิดเป็นประมาณ 6% ของรายได้”           ดร.เดชรัต ย้ำว่า ดังนั้นจำเป็นต้องปฏิรูประบบภาษี ซึ่งตนเคยมีประสบการณ์ ตอนที่เคยไปอยู่เดนมาร์คและเสียภาษีประมาณ 40% ของเงินได้ แต่ไม่ต้องไปซื้อรถยนต์ เพราะระบบรถเมล์ดี นั่งแล้วสบายใจ ในขณะที่อยู่เมืองไทยเสียภาษี 10% แต่ทันทีที่กลับมาต้องซื้อรถยนต์ เพราะที่บ้านรถสาธารณะไม่มีออกมา ดังนั้นหากให้เอาเงิน 6 แสนที่จ่ายให้กับบริษัทรถมาจ่ายเป็นภาษีให้รัฐ เพื่อนำไปพัฒนาระบบขนส่ง พัฒนารถเมล์ให้ดี อยากให้เมืองไทยลงทุนกับสิ่งเหล่านี้          สิ่งที่ต้องเปลี่ยนจริงๆ คือภาษีเกี่ยวกับทรัพย์สิน ปัจจุบันจ่ายน้อยมาก อย่างตนเองมีที่ที่บางบัวทองประมาณ  10 ล้านบาทต่อไร่ แต่เสียภาษี 40 บาทเท่านั้น พอเก็บภาษีน้อย คนก็ซื้อที่ตุนไว้          อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเรื่องภาษี คนไทยต้องเปลี่ยนมุมมองว่า การเก็บภาษีคือ การเก็บจากคนกลุ่มหนึ่งไปให้อีกกลุ่มหนึ่ง แต่ในต่างประเทศไทยที่เชื่อเรื่องสวัสดิการเขามองต่างจากเรา โดยเขาจะมองว่าเป็นการลงทุนเพื่อให้ประเทศเข้มแข็งไปพร้อมกันทั้งประเทศ ดังนั้นหากเราเชื่อว่าการลงทุนเดี่ยวๆ แล้วจะรอดนั้นเป็นไปได้ยาก หากไม่ใช่คนชั้นสูงไม่มีทางรอด ดังนั้นหากจะรอดพร้อมกันคือ ต้องมาลงทุนในรัฐสวัสดิการพร้อมกัน.รัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเท่าเทียม        นายนิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักสุขภาพและเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ระบุว่า ณ วันนี้สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ในหลายๆ ด้าน จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องร่วมมือกันผลักดันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ อย่างน้อยใน 3 ด้าน คือ การสร้างหลักประกันด้านสุขภาพ หลักประกันรายได้  หลักประกันด้านการศึกษา        การสร้างหลักประกันสุขภาพ        เป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกที่ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรม เพราะปัจจุบันรัฐสวัสดิการในข้อนี้ ถูกตัดแบ่งออกเป็น 3 กองทุน คือ สวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ซึ่งโดยหลักคิดเบื้องต้นต้องรวม 3 กองทุนนี้เข้าด้วยกัน เพราะการมี 3 กองทุนเป็นเหตุให้มีความเหลื่อมล้ำสูง แต่ละระบบโดยรวมแล้วใช้งบประมาณจากรัฐ 100% อยู่แล้ว แต่ได้รับงบไม่เท่ากัน        อย่างกองทุนประกันสังคมนับเป็นความเหลื่อมล้ำแบบดับเบิ้ลไปอีก เพราะในขณะที่รัฐจ่ายให้กับกองทุนบัตรทองประมาณ 3 พันบาทต่อหัว จ่ายให้ข้าราชการประมาณ 1.2 หมื่นบาทต่อหัว แต่พอเป็นประกันสังคมต้องมาหาร 3 คือนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ เท่ากับรัฐจ่ายให้ผู้ประกันตนเพียงพันกว่าบาท จะเห็นว่ารัฐใช้เงินในเรื่องเดียวกัน แต่ให้ไม่เท่ากัน ผู้ประกันตนจึงถูกรัฐละเลยเรื่องสุขภาพมากที่สุด เป็นคนที่ถูกกระทำซ้ำซ้อน แถมต้องจ่ายเงินเพิ่มเองด้วย ดังนั้นควรเอาเงินที่รัฐจ่ายอยู่เพื่อดูแลสุขภาพของคนไทยทั้ง 3 กองทุนมารวมกัน แล้วกระจายไปทุกหัวประชากร แต่ละกองทุนจะได้งบเพิ่มทั้งหมด       “ใน 3 กองทุนนี้มีภาพลวงตาอยู่ คือกองทุนข้าราชการที่ดูเหมือนว่ารัฐจ่ายให้มากกว่ากองทุนอื่นๆ ได้สิทธิประโยชน์ที่ดีกว่า แต่จริงๆ แล้วต้นทุนค่ารักษาไม่ได้ต่างจากสิทธิอื่นเลย เพียงแต่โรงพยาบาลที่รักษาข้าราชการในโรคเดียวกันนั้น มีการเรียกเก็บเงินเกินไปเยอะกว่ากองทุนอื่นๆ เพราะคิดว่าชาร์จได้ ก็ชาร์จโอเว่อร์ เลยถูกมองว่าในโรคเดียวกันทำไมถึงจ่ายไม่เท่ากัน”        อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจว่า การรวมกองทุนไม่ได้ไปลดทอนสิทธิประโยชน์ที่ข้าราชการเคยได้ แต่จะไปช่วยให้การใช้จ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ทุกคนได้สิทธิประโยชน์ในการรักษาที่เท่ากัน ตามที่ควรจะได้ ทั้งนี้จะเห็นว่าปีที่ผ่านมา(2561) สิทธิข้าราชการเป็นสิทธิที่ถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพราะเป็นสิทธิที่ไม่ควรถูกเรียกเก็บเยอะขนาดนี้ แต่กลับถูกเรียกเก็บเยอะมากเกินกว่าที่ควรจะต้องเป็น แต่ที่ผ่านมาตัวข้าราชการก็ไม่รู้ กรมบัญชีกลางก็เพิ่งรู้ตัวหลังจากมีการเขย่าเรื่องนี้มากขึ้น จึงเริ่มมีการตรวจสอบ กำกับใบเบิกแต่ละใบมากขึ้น        สำหรับสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทอง และประกันสังคมนั้นก็เป็นสิทธิประโยชน์ที่สมเหตุสมผลอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเพิ่มอะไรอีก เพียงแต่การรวมกองทุนแบบนี้ คนที่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นคือ สถานพยาบาล เพราะปัจจุบันบัตรทองได้งบรายหัวประมาณ 3.4 พันบาท ประกันสังคม 3.3 พันบาท ข้าราชการปลายเปิด โดยเฉลี่ยประมาณ 1.2 หมื่นบาท ถ้าเอา 3 กองทุนนี้มารวมกันแล้วเขย่าค่าหัวใหม่ จะพบว่าทุกคนได้ค่าหัวประมาณ 6 พันกว่าบาท แสดงว่าหน่วยบริการที่เคยได้รับงบจากบัตรทองก็ได้เงินเพิ่มขึ้นเกือบ 100% แล้วถ้าใช้ระบบการเหมาจ่าย และมีการกำกับผู้ป่วยใน กำกับควบคุมราคายา ก็ทำให้หน่วยบริการรู้ว่าตัวเองได้เงินเหมาจ่ายไปเท่าไร มีรายรับที่ชัดเจน แน่นอนล่วงหน้า 80% นั่นหมายความว่ามีรายรับเพิ่มขึ้นเท่าตัว ส่วนกรณีมีผู้ป่วยในก็ไปคิดตามค่าใช้จ่ายจริง โดยดูค่าจ่ายตามรายโรคว่าเท่าไร ก็เหมือนทำให้หน่วยบริการที่มีปัญหากับบัตรทองดีขึ้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ไม่ต้องไปต่อรองของบประมาณทุกปีๆ        นิมิตร์ย้ำว่า เรื่องนี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นให้ได้ หากยังไม่เกิดปัญหาหน่วยบริการไม่ได้รายรับอย่างที่ควรจะได้ เพราะเวลาที่ สปสช.ทำงบประมาณขาขึ้น สมมติว่า 3.7 พันบาทต่อคน กรมบัญชีกลางคิดเรื่องนั้น เรื่องนี้ ครม.คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว ไม่เคยอนุมัติงบให้ตามจำนวนที่ขอ ทั้งที่จำนวนเงินที่ขอไปนั้น ขออยู่บนความสมเหตุสมผล จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ค่ายาเพิ่มขึ้น เป็นต้น แต่กลับไม่เคยอนุมัติเต็ม และเป็นปัญหารากเหง้าที่ทำให้สถานพยาบาลรู้สึกว่าได้รับงบประมาณไม่เท่าที่ควรจะได้รับ ดังนั้นต้องจัดการปัญหานี้ มีปัญหาทะเลาะ ต้องรีดศักยภาพจากหน่วยบริการ สถานพยาบาลมีปัญหาขาดสภาพคล่อง วนเวียนไม่จบ             หลักประกันด้านรายได้        เพราะทุกคนที่เกิดมามีรายจ่ายทันที แต่กลับไม่รู้ว่าจะมีรายได้จากไหนมาจ่าย ดังนั้นรัฐจะต้องดูแลให้คนแต่ละช่วงวัยมีรายได้เพียงพอที่จำรับผิดชอบชีวิตของตัวเองในแต่ละช่วงวัย เพื่อทำให้ชีวิตเดินไปข้างหน้าได้ เช่น เด็กที่เกิดมาแต่ละคน จะทำอย่างไรให้เด็กคนนั้นมีหลักประกันรายได้ที่ทำให้ครอบครัวไม่ต้องเป็นทุกข์ว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไร จะเอาเงินที่ไหนมาเลี้ยงลูก ค่าอาหาร ค่าอื่นๆ ที่จะมาบริหารจัดการให้ลูกได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี       ดังนั้นการสร้างหลักประกันด้านรายได้นั้น เป็นหมุดหมายสำคัญของคนที่ขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการอยากให้เกิด แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าจะเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ ซึ่งมีการเสนอว่าต้องเริ่มตั้งแต่ “เกิดยันตาย” หมายความว่าเมื่อเด็กคนหนึ่งเกิดมาควรมีหลักประกันรายได้อยู่บนเส้นความยากจนคือ เด็กเกิดมาต้องไม่จน ถ้าไม่จนคือต้องมีเงิน 3 พันบาทต่อเดือน ครอบครัวที่จะมีลูกก็จะมั่นใจได้เลยว่ารัฐจะมีรายได้ให้ 3 พันบาทต่อเดือนสำหรับดูแลลูก แน่นอนว่า 3 พันบาทนั้นไม่เพียงพอ แต่อย่างน้อยก็มีเงินบริหารจัดการที่เกินเส้นความยากจนของคน 1 คนอยู่แล้ว       พอเข้าสู่วัยรุ่น อาจจะขยับมาเป็น 3.5 พัน พอถึงวัยทำงาน ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตามจะมีรัฐสวัสดิการอยู่ที่ 3 พันบาท ถ้าคิดว่าอยู่ได้ด้วยเงินเท่านี้ โดยไม่ทำงานก็เป็นเรื่องของคุณ แต่ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ต้องทำงานเพิ่ม เชื่อว่าวิธีคิดการทำหลักประกันด้านรายได้ จะทำให้คนสามารถบริหารจัดการชีวิตได้คล่องตัวกว่าที่เป็นอยู่ ความเครียด โรคซึมเศร้า หรือความวิตกกังวลว่าจะอยู่อย่างไรก็อาจจะลดลงได้ เพราะมีเงินแน่ๆ อย่างน้อย 3 พันบาท แล้วไปบริหารจัดการต่อเพื่อให้มีเงินมากขึ้น       สรุปทุกคนตั้งแต่เกิดจนตายจะมีรายได้ต่อเดือนอยู่บนฐานความยากจน เช่น ชาวสวนยาง ในช่วงที่ราคาตกมากๆ อาจจะหยุดกรีดหรือกรีดยางให้น้อยลง เพื่อให้พอมีเงินมาสมทบกับเงินที่ได้รับนี้ บริหารจัดการให้อยู่ได้ แล้วเมื่อราคายางสูงขึ้นก็กลับมากรีดยางใหม่ ซึ่งจะทำให้คนบริหารจัดการชีวิตของตัวเองได้ แทนที่จะไปโค่นสวนยางเพื่อไปปลูกอย่างอื่นที่ราคาดีกว่า เพราะฉะนั้นหลักประกันด้านรายได้น่าจะเป็นเครื่องมือให้เราแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาความจนเรื้อรังได้       แน่นอนว่าเมื่อมีการเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา ก็จะมีคำถามตามมาว่าประเทศไทยพร้อมที่จะทำแบบนี้จริงหรือ เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก นิมิตร์ ระบุว่า สิ่งที่กำลังพูดถึงนี้หมายถึงการใช้เงินปีละประมาณ 3 แสนล้านบาท แต่เมื่อลองมาดูแล้วจะพบว่า ปัจจุบันรัฐจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีละประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ใช้เงินสงเคราะห์ครอบครัวยากจนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท คนพิการปีละประมาณ หมื่นกว่าล้านบาท และเงินสงเคราะห์อีกมากที่กระจัดกระจายกันอยู่รวมๆ ประมาณ 2 แสนล้านบาท จะเห็นว่ามีเม็ดเงินอยู่พอสมควรที่พอให้บริหารจัดการได้ แล้วก็มาบริหารจัดการ หรือรัฐจัดลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายงบประมาณในแต่ละกระทรวงใหม่ มาเขย่า บริหารจัดการใหม่ ซึ่งเชื่อว่าการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินใหม่อย่างเป็นธรรม ทำให้ประเทศมีเงินพอที่จะมาบริหารจัดการเรื่องนี้       โจทย์ที่สอง หากเขย่าแล้วยังไม่พอ ก็มาดูระบบภาษี บริหารจัดการ การลดภาษีที่รัฐให้กับส่วนนั้น ส่วนนี้มันทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมอะไรหรือไม่ ก็มาเขย่าเรื่องนี้ใหม่ ซึ่งคนที่ผลักดันเรื่องหลักประกันรายได้มองเรื่องนี้แล้วประเทศมีเงินพอ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐมีเจตจำนงที่จะบริหารจัดการเพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการหรือไม่         รัฐสวัสดิการด้านการศึกษา        รัฐต้องมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เด็กไม่ต้องไปกู้เงินจาก กยศ. ณ วันนี้มีพรรคการเมืองหลายพรรคที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ บางพรรคพยายามคิดแต่ก็ปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับรสนิยมของตัวเอง บางพรรคคิด แต่ก็เป็นการจัดสรรให้คนเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่คนไทยทั้งหมด บางพรรคคิดจะทำแต่ก็ไม่มีนโยบายชัดเจน ได้แต่ขายมุกเก่าว่ามีความสามารถในเชิงบริหารจัดการ แต่ก็ไม่เคยบอกว่าจะทำอย่างไร ในขณะที่บางพรรคไม่เอาเรื่องนี้เลย            อย่างไรก็ตามคนที่กุมอำนาจรัฐมักมองเรื่องนี้เป็นภาระของประเทศ เพราะฉะนั้นการจะหวังพึ่งนักการเมืองเพื่อทำเรื่องนี้ เป็นเรื่องยาก เพราะนักการเมืองเองก็มองเรื่องนี้เป็นภาระ ส่วนข้าราชการที่บริหารจัดการเรื่องนี้ก็มองเป็นภาระ เพราะคนพวกนี้ไม่ได้อยู่บนความทุกข์ยาก และยังอยู่บนฐานความกังวลว่า หากทำแล้วอาจจะกระทบรัฐไม่มีเงินจ่ายบำนาญให้ ดังนั้นเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ต้องเขย่าสังคมทั้งสังคมให้เห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องกดดันให้รัฐบาลทำให้ได้ หากไม่มีพลังของประชาชนออกมากดดัน เรื่องเหล่านี้ก็ไม่เกิด และสิ่งที่จะทำให้เกิดพลังของประชาชนก็ต้องทำให้ประชาชนมีความรู้และเข้าใจเรื่องเหล่านี้และช่วยกันลุกขึ้นมาเรียกร้อง อย่างการเลือกพรรคการเมืองที่เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญก็เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ส่วนพรรคใดที่ไม่เห็นความสำคัญเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ต้องเลือก--------- ข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจาก เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (เครือข่าย WE FAIR)        ข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” 7 ประเด็น ได้แก่ 1. การศึกษา 2.สุขภาพ 3.ที่อยู่อาศัยและที่ดิน 4.งาน รายได้ ประกันสังคม 5. ระบบบำนาญถ้วนหน้า 6. สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะ 7. การปฏิรูประบบภาษี        1. ด้านการศึกษา เสนอดังนี้ 1) เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชนถ้วนหน้า อายุ 0-18 ปี 3,000 บาท/เดือน 2) เงินสนับสนุนเยาวชนถ้วนหน้า ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยหรืออนุปริญญา/ปวส. 3,000 บาท/เดือน 3) ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก อายุ 0-3 ขวบ งบฯ รายหัว 10,000 บาท/คน/ปี 4) สถานศึกษามีการพัฒนามาตรฐานกลาง งบฯ รายหัว 16,000 บาท/คน/ปี ส่วนสถานศึกษาสำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะให้พิจารณางบประมาณเพิ่มเติมได้ 5) มหาวิทยาลัยพัฒนามาตรฐานกลาง ควบคุมค่าหน่วยกิต เรียนฟรีระดับมหาวิทยาลัย /ปวส.นำร่องด่วน 6) เงินสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพ ในหลักสูตรที่รัฐกำหนด ตามช่วงวัยของประชากร โดยจะใช้ประมาณ 600,000 ล้านบาท เพิ่มจากระบบสงเคราะห์การเลี้ยงดูเด็กเฉพาะคนจน 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท ประมาณ 260,000 บาท        2. ด้านสุขภาพ ข้อเสนอ คือ 1) กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียวที่มีคุณภาพสูง 2) งบประมาณด้านสุขภาพ คิดตามรายหัว 8,000-8,500 บาท/คน/ปี โดยงบประมาณที่ใช้ ประมาณ 467,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากฐานงบฯ เดิม 311,000 ล้านบาท แต่จะมีงบฯ เพิ่มเติมจากการเกลี่ยงบฯ สุขภาพจากส่วนราชการ ประมาณ 60,000 ล้านบาท        3. ด้านที่อยู่อาศัยและที่ดิน ข้อเสนอคือ 1) การเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยสูงสุด 2% ต่อปี 2) ที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน ในพื้นที่ตำบลละไม่น้อยกว่า 1,000 ห้อง 3) เกษตรกรต้องเข้าถึงที่ดินทำกินเพื่อการเกษตร 15 ไร่ ต่อครอบครัว 4) เข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่ดินการเกษตร ดอกเบี้ยสูงสุด 2% ต่อปี 5) การกระจายการถือครองที่ดิน ด้วยระบบภาษีอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน การปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินของหน่วยงานรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งงบฯ จะใช้ประมาณ 108,000 ล้านบาท คำนึงลักษณะการลงทุนระยะยาวเพื่อที่อยู่อาศัย งบฯ ส่วนอื่นๆ เป็นการวางมาตรฐานทางกฎหมายไม่มีค่าใช้จ่ายโดยตรง        4. ด้านงาน รายได้ ประกันสังคม ข้อเสนอคือ 1) ค่าจ้างขั้นต่ำตามดัชนีผู้บริโภค 500 บาท/วัน ปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ 2) ค่าจ้างแรงงาน ให้เป็นไปตามอายุงาน เพิ่มขึ้นปีละ 2% 3) ปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นระบบประกันสังคมถ้วนหน้า 4) การสมทบเงินเพดานสูงสุดประมาณ 30,000 บาท/เดือน 5) ปฏิรูปประกันสังคมแรงงานนอกระบบ กรณีรายได้สูง สามารถสมทบเพิ่มเติม 1,800 บาท หรือ 2,700 บาท/เดือน จากอัตราส่วน 9% จากฐานเงินเดือน 20,000 บาท หรือ 30,000 บาท กรณีรายได้น้อย สมทบ 100 บาท รัฐสมทบ 900 บาท เพื่อให้มีฐานเงินเดือน 10,000 บาท ขาดสมทบได้สูงสุด 12 เดือน เมื่อยื่นภาษี หากมีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท/ปี รัฐสมทบให้เพื่อเป็นหลักประกันเมื่อเกษียณอายุ ตามฐานเงินเดือน 10,000 บาท 6) การลาคลอด 180 วัน ใช้ร่วมกันได้ชายหญิง ทุกเพศสภาพ (สำหรับเด็ก 1 คน ) โดยได้รับค่าจ้างปกติ และ 7) การว่างงาน ให้ประกันสังคมจ่ายทุกกรณี จำนวน 80% ของฐานเงินเดือน เป็นเวลา 6 เดือน เมื่อพ้นจากการลงทะเบียนว่างงานให้ 6 เดือน ให้ได้ค่าจ้างเท่าค่าจ้างขั้นต่ำ จนกระทั่งเข้างานใหม่ โดยต้องเข้ารับการฝึกอบมรม สัมภาษณ์และเริ่มงานใหม่ภายใน 3 เดือน สำหรับงบประมาณใช้ จากการสมทบเพิ่มเติมประมาณ 2 แสนล้านบาท ให้สำนักงานประกันสังคม         5 ระบบบำนาญแห่งชาติ ข้อเสนอคือ 1) เปลี่ยน “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เป็น “บำนาญถ้วนหน้า” 3,000 บาท/เดือน เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้ ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนโดยเฉลี่ยของประเทศ 2) มีการปรับเพิ่มขึ้นทุก 5 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อและดัชนีผู้บริโภค 3) รัฐบาลจ่ายตรงให้แก่ประชาชนผ่านกรมบัญชีกลาง ซึ่งงบประมาณใช้เพิ่มขึ้น 270,000 ล้านบาท แต่สามารถได้จากงบประมาณส่วนข้าราชการโดยประมาณ 223,762 ล้านบาท เมื่อมีการปฏิรูปบำนาญประกันสังคมทั้งระบบควบคู่กับบำนาญแห่งชาติ        6.สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะ ข้อเสนอ คือ 1) เพิ่ม “เบี้ยยังชีพคนพิการ” จาก 800 บาท/เดือน เป็น 3,000 บาท/เดือน 2) คนพิการมีอิสระในการจัดซื้อกายอุปกรณ์เองตามวงเงินที่รัฐจัดให้ เพื่อการดำรงชีวิตได้อิสระ คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เอื้ออำนวยการเข้าถึงและจัดให้มีผู้ช่วยคนพิการ ความสะดวกในการเดินทาง การบริการสาธารณะ 3) คนพิการได้รับเงินสนับสนุนในการฝึกอบรมอาชีพในหลักสูตรที่รัฐกำหนด โดยเสรี ไม่จำกัดว่า จะต้องมีอาชีพที่รัฐกำหนดให้เท่านั้น 4)  ประชาชนทุกเพศสภาพต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการและสิทธิการรักษาพยาบาล ตลอดจนกระบวนการการข้ามเพศถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ถือเป็นเรื่องความสวยงาม เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนเพศ การศัลยกรรมทรวงอก การใช้ฮอร์โมนเพศและยาต้านฮอร์โมนเพศ ให้อยู่ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสามารถลาพักงานเพื่อเข้ากระบวนการข้ามเพศได้โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ 5) พนักงานบริการทางเพศต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ โดยไม่นำความผิดทางอาญามาเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ และทบทวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสวัสดิการ(พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539) 6) ชนเผ่าพื้นเมืองต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ ไม่จำกัดเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทย ดำรงชีวิตโดยได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเข้าถึงบริการสาธารณะ ที่ดินและที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การเข้าถึงข้อมูลและเอื้ออำนวยให้มีล่ามและการแปลภาษาชนเผ่าพื้นเมือง 7) ยกเลิกหลักสูตรการเรียนการสอน และการนำเสนอเนื้อหาผ่านข่าวสาร ละคร ภาพยนตร์ผ่านสื่อต่างๆ ที่สร้างภาพประทับจำแก่กลุ่มทางสังคม ซึ่งสร้างให้เกิดอคติ ความเกลียดชัง เหยียดเชื้อชาติ เพศสภาพ สถานะทางชนชั้น ลักษณะทางกายภาพของผู้อื่น ตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล 8) สร้างพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด เป็นสถานที่สร้างการเรียนรู้ ด้านสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน ประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น 9) สร้างสวนสาธารณะ หอศิลปวัฒนธรรม ลานกีฬา เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน สันทนาการของประชาชนและชุมชน        7. การปฏิรูประบบภาษี เสนอให้มีการปฏิรูประบบภาษีและการจัดสรรงบฯ โดยการคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม จะทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้ โดยมีมาตรการ ดังนี้ 1) การลดหย่อนภาษีการส่งเสริมการลงทุน BOI และการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงค่าเช่าที่ดินและผลกำไรทางธุรกิจ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 240,000 ล้านบาท 2) ภาษีรายได้จากตลาดหุ้น 30% ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 150,000 ล้านบาท 3) การลดหย่อนภาษีทุกเงื่อนไข อาทิ LTF ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 100,000 ล้านบาท 4) ภาษีที่ดินส่วนเกิน 10 ไร่ ยกเว้นที่ดินเพื่อการเกษตร 20 ไร่ (ปัจจุบันที่ดินกว่า 75 ล้านไร่ ในกลุ่มผู้ถือครองที่ดินประมาณ 3 ล้านคน) เก็บภาษีอัตราก้าวหน้าเริ่มต้นไร่ละ 2,000 บาท/ปี ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 150,000 ล้านบาท/ปี 5) ภาษีมรดกที่มีการปรับอัตราภาษีขั้นต่ำและเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้น ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 10,000-50,000 ล้านบาท 6) ภาษีอัตราก้าวหน้า ฐานภาษีสูงสุด 45% ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 50,000 ล้านบาท 7) ปรับลดงบฯ กระทรวงกลาโหม 70 % และการปฏิรูประบบราชการ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 180,000 ล้านบาท 8) ปรับลดระบบบำนาญข้าราชการ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 220,000 ล้านบาท 9) ปรับลดการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 63,000 ล้านบาท 10) บัตรคนจนและโครงการประชารัฐ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 100,000 ล้านบาท 11)  การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นจากการมีรัฐสวัสดิการ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 150,000 ล้านบาท 12. ทุกคนยื่นภาษีเพื่อรับสิทธิสวัสดิการแม้รายได้ไม่ถึงตามหลักเกณฑ์           รวมงบประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท เพียงพอต่อการทำรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ผลทดสอบดินสอสี

หนึ่งในของขวัญของฝากที่สามารถสร้างเสริมจินตนาการเด็กได้กว้างไกลด้วยสนนราคาที่ไม่แพง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแถมยังอยู่ได้นานหลายปี ก็คงหนีไม่พ้นดินสอสี  ฉลาดซื้อ ขอต้อนรับวันเด็กปี 2562 ด้วยผลการทดสอบดินสอสีหรือสีไม้ที่เพื่อนสมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ได้ทำไว้   การทดสอบสีไม้ 28 รุ่น (สนนราคาระหว่าง 32 ถึง 370 บาทเมื่อคิดเป็นเงินไทย) ครั้งนี้แบ่งการให้คะแนนออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1) การทดสอบในห้องแลปเพื่อวัดความทนต่อแรงกด ความแข็งแรงของไส้ดินสอเมื่อตกพื้น รวมถึงการกลิ้งของตัวดินสอ 2) การทดลองใช้งานโดยอาสาสมัครเพื่อดูความสะดวกในการจับ ระบาย และความแน่นของสี 3) การตรวจหาสารอันตราย เช่น โลหะหนัก พทาเลท และ PAHs (กลุ่มสารเคมีก่อมะเร็ง) ในภาพรวมเราพบว่า “ราคา” มีผลต่อคุณภาพ สีไม้รุ่นที่ราคาถูกมากๆ ได้คะแนนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับรุ่นที่ราคาสูงกว่า หลายรุ่นที่เนื้อไม้ดี สีสด ระบายได้สวย แต่มีสารเคมีปนเปื้อนเกินปริมาณที่ทีมทดสอบกำหนด จะได้คะแนนรวมไปเพียงแค่หนึ่งหรือสองดาวเท่านั้น โชคดียังเป็นของเราที่มีสีไม้ที่ราคาไม่แพง แต่คุณภาพและความปลอดภัยอยู่ในระดับสามดาวขึ้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 เคี้ยวแก้วในเกี๊ยวซ่า

                        จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเคี้ยวเพลินอร่อยๆ กับอาหารว่างของบริษัทดัง แล้วมาพบทีหลังว่า มันคือเศษแก้ว แค่คิดก็เจ็บจี๊ดแทนผู้บริโภคแล้ว            เรื่องมันมีอยู่ว่า คุณดอกสร้อยและลูกชายวัยน่ารัก ไปช้อปปิ้งเลือกซื้อข้าวของกลับบ้าน แล้วลูกชายอยากรับประทานเกี๊ยวซ่าทอด ที่บริษัทดังนำมาออกร้านเพื่อโปรโมตสินค้าในบริเวณซูเปอร์มาร์เก็ต จึงสั่งให้ลูกชาย 1 กล่อง ราคา 40 บาท แต่เด็กน้อยกินไม่หมด คุณแม่จึงนำมาจัดการต่อในภายหลังเมื่อกลับถึงบ้าน แค่เคี้ยวคำแรกคุณแม่ก็เจ็บลิ้นเจ็บคอเหมือนถูกบาดจึงคายเกี๊ยวซ่าออกมา พบว่า มีเลือดออกมาด้วยและสังเกตว่ามีเศษแก้วปนอยู่ในเกี๊ยวซ่า พอนำกล่องมาพิจารณาก็พบว่ามีเศษแก้วลักษณะเดียวกันอีกสองชิ้นในกล่อง จึงถามลูกชายว่า กินไปแล้วตอนนั้นรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติไหม เด็กชายทำหน้างงบอกคุณแม่ว่า “เคี้ยวเจอเหมือนเป็นผักแข็งๆ ฮะ มันแข็งกว่าผักอื่นๆ ”             คุณดอกสร้อยจึงรีบไป สน.เพื่อลงบันทึกประจำวันและติดต่อบริษัทผู้ผลิตทันที ว่าเกี๊ยวซ่าที่นำมาจำหน่ายมีปัญหาขอให้รีบแก้ไข จากนั้นก็ไปโรงพยาบาลเพื่อดูบาดแผลในคอและช่องปากของตนเอง และต้องการเช็คร่างกายลูกชายด้วย เพราะกินเข้าไปหลายชิ้น             ผลการตรวจแพทย์วินิจฉัยว่า คุณดอกสร้อยมีแผลในช่องปาก ลิ้นและคอ ส่วนเด็กชายผลเอ็กซเรย์พบสิ่งแปลกปลอมกระจายอยู่ในกระเพาะอาหาร ขนาด 0.5 - 1 เซนติเมตร คุณดอกสร้อยจึงทำหนังสือถึงบริษัทเพื่อให้ดำเนินการเยียวยา ซึ่งในตอนแรก ทางบริษัทดำเนินการเพียงเรียกให้ผู้เสียหายส่งเศษแก้วไปที่บริษัทเพื่อประกอบการพิจารณา ปรากฏว่าเหตุการณ์ผ่านไปหลายเดือนทางบริษัทก็เงียบหายไป คุณดอกสร้อยจึงปรึกษามาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหา            สิ่งที่คุณดอกสร้อยได้ดำเนินการไปเป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง แต่ทว่าบริษัทดูจะปล่อยปละละเลยต่อผู้บริโภคนานเกินไป เพราะเหตุเกิดตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 จนคุณดอกสร้อยมาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ย่างเข้าเดือนตุลาคมแล้ว บริษัทยังไม่ดำเนินการใดๆ ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงได้ประสานงานทำหนังสือขอให้ทางบริษัทเข้ามาเจรจาเพื่อไกล่เกลี่ยและเยียวยาค่าเสียหายให้กับผู้ร้อง             ต่อมาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้รับแจ้งจากทางทนายความของบริษัทผู้ผลิตเกี๊ยวซ่าว่า ได้เจรจากับทางผู้ร้องเรียบร้อยแล้ว โดยทางบริษัทได้ให้ทางบริษัทประกันภัยที่ทำสัญญากับทางบริษัทไว้ เป็นผู้จ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้อง เป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงินจำนวน 195,000 บาท และเมื่อศูนย์ฯ ติดต่อทางผู้ร้องได้ความตรงกัน จึงเป็นอันยุติเรื่อง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 โอคราท็อกซิน เอ ในผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟคั่ว

กาแฟเป็นเครื่องดื่มยอดนิยม โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงาน ที่ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพากาแฟเป็นจุดเริ่มต้นของเช้าวันสดใส เพื่อสร้างความตื่นตัวก่อนเริ่มงาน ไม่ว่ากาแฟกระป๋อง กาแฟซองสำเร็จรูป หรือกาแฟสด ต่างก็สร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับคอกาแฟได้ไม่ต่างกัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมความชื่นชอบของแต่ละคน             กาแฟ 2 สายพันธุ์ที่นิยมปลูกในไทย คือ โรบัสต้า ที่ปลูกมากในภาคใต้ คิดเป็นร้อยละ 99 ของกาแฟที่ปลูกในประเทศ และ อะราบิก้า (ร้อยละ 1) ในภาคเหนือ ทั้งสองสายพันธุ์แม้มีกระบวนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกัน  แต่ในระหว่าง กระบวนการเก็บเกี่ยว สภาพแวดล้อมและภาวะอากาศ ตลอดจนระยะเวลาระหว่างการเก็บรักษาเมล็ดกาแฟ ทุกอย่างมีผลเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราชนิด ไมโคท็อกซิน (mycotoxins) ที่สามารถผลิตสารพิษ ชื่อ โอคราท็อกซิน เอ (Ochratoxin A; OTA)  ที่เป็นอันตรายต่อการบริโภค ได้ไม่ต่างกันและเมล็ดกาแฟที่ปนเปื้อนสารพิษโอคราท็อกซินแล้ว สารพิษนี้ยังคงตกค้างในเมล็ดต่อไป แม้ว่าจะผ่านการตากแห้ง หรือนำเมล็ดไปคั่ว ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษได้ ดังนั้นการควบคุมปริมาณสารพิษในเมล็ดให้อยู่ระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จึงต้องใช้วิธีการป้องกันในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตกาแฟ                 ขณะเดียวกันการเก็บรักษาเมล็ดกาแฟในบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถป้องกันความชื้นได้ ก็เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อรา(mold)  เพราะเมล็ดกาแฟที่แห้งสามารถดูดความชื้นกลับได้ การเก็บรักษาจึงต้องมีการควบคุมความชื้นและอุณหภูมิในห้องเก็บให้คงที่ มีระบบระบายอากาศออกเป็นระยะๆ            เพราะกาแฟเป็นที่นิยมมาก หลายคนยังชื่นชอบกาแฟแบรนด์ดังเพราะกลิ่นรสที่มีความพิเศษด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังทั้งเชื้อราและสารพิษจากเชื้อรา ฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังฯ จึงสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟคั่ว จำนวน 20 ตัวอย่าง จากห้างสรรพสินค้า และร้านกาแฟสด ในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม 2561 โดยมีทั้งเมล็ดกาแฟที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ มาสุ่มตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของเชื้อรา และ สารพิษโอคราท็อกซิน เอ (Ochratoxin A) มาตรฐานการปนเปื้อนของ OTA ในเมล็ดกาแฟคั่ว ตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป กำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตให้พบสารพิษโอคราท็อกซิน เอ (OTA) ในเมล็ดกาแฟคั่ว และกาแฟคั่วบดได้ ไม่เกิน 5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (ug/kg) และปนเปื้อนในกาแฟสำเร็จรูปพร้อมชงได้ไม่เกิน 10 ug/kg ส่วนองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เสนอปริมาณ OTA ที่ยอมรับให้บริโภคได้ใน 1 สัปดาห์ ไม่ควรเกิน 100 นาโนกรัม/กิโลกรัม (ng/kg) ของน้ำหนักตัว (JECFA, 2001) สรุปผลการทดสอบผลการตรวจวิเคราะห์หาเชื้อราและสารพิษโอคราท็อกซิน เอ จากตัวอย่างผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟคั่ว จำนวน 20 ตัวอย่าง พบว่า ทุกตัวอย่าง ตรวจพบเชื้อราปริมาณน้อยกว่า 10 CFU/g และตรวจไม่พบสารพิษโอคราท็อกซิน เอ (OTA)ข้อสังเกตวันผลิต วันหมดอายุ หรือ วันที่ควรบริโภคก่อน บนบรรจุภัณฑ์- พบผลิตภัณฑ์ที่ ไม่ได้ระบุ วันผลิต แต่ระบุวันหมดอายุ หรือวันที่ควรบริโภคก่อน จำนวน 6 ตัวอย่าง            ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ Espresso Roast (Dark Roast) ยี่ห้อ STARBUCKS, ผลิตภัณฑ์ Doitung Espresso Roast ยี่ห้อ Doitung, ผลิตภัณฑ์ Espresso Italian-style, traditional, dark-roasted espresso ยี่ห้อ BONCAFE, ผลิตภัณฑ์ Premium Blend Medium Dark Roast ยี่ห้อ Suzuki Coffee, ผลิตภัณฑ์ Roasted Coffee Bean ยี่ห้อ illy และ ผลิตภัณฑ์ Coffee Bean Roasted Coffee Bean ยี่ห้อ COFFMAN- และพบผลิตภัณฑ์ที่ ระบุวันผลิต แต่ไม่ได้ระบุวันหมดอายุหรือวันที่ควรบริโภคก่อน จำนวน 4 ตัวอย่าง            ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ The Impression of Espresso Finest 100% Arabica (Premium A5 Dark Roast Level) ยี่ห้อ Bluekoff, ผลิตภัณฑ์ Café KALDI Fresh Roasted Coffee (Premium Dark) ยี่ห้อ KALDI, Roasted Coffee Beans : House Blend ยี่ห้อ mezzo และ ผลิตภัณฑ์ Full City Roast ยี่ห้อ Akha Ama ตารางผลตรวจวิเคราะห์เชื้อราและสารพิษโอคราท็อกซิน เอ ในผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟคั่ว (เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือน กันยายน - ตุลาคม 2561)หมายเหตุ หน่วย CFU/g หมายถึง Colony forming unit เป็นหน่วยที่ได้จากวิธีตรวจนับปริมาณกลุ่มจุลินทรีย์ หน่วย ug/kg หมายถึง ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักเมล็ดกาแฟคั่ว หน่วย ug/kg หมายถึง ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักเมล็ดกาแฟคั่ว หน่วย ug/kg หมายถึง ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักเมล็ดกาแฟคั่ว หน่วย ug/kg หมายถึง ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักเมล็ดกาแฟคั่ว หน่วย ug/kg หมายถึง ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักเมล็ดกาแฟคั่ว* การตรวจวิเคราะห์เชื้อรา ใช้วิธี FDA BAM Online, 2001 (Chapter 18). ** การตรวจวิเคราะห์สารพิษโอคราท็อกซิน เอ ใช้วิธี In house method SOP LBLC-13024 based on Agronomy Research 9 (Special Issue II), 461-468,2011, HPLC-MS-MS.ข้อแนะนำในการเก็บรักษาเมล็ดกาแฟคั่ว        แม้ว่าเมล็ดกาแฟคั่วในบรรจุภัณฑ์จะปลอดภัยจากเชื้อราและสารพิษโอคราท็อกซิน เอ (OTA)  แต่หลังจากเปิดห่อบรรจุภัณฑ์เพื่อนำเมล็ดกาแฟไปบด ก็เป็นช่วงเวลาที่เมล็ดกาแฟอาจได้รับความชื้นจนเกิดเชื้อราได้ จึงควรบดเมล็ดกาแฟเฉพาะในปริมาณที่พอเหมาะกับการบริโภค (ผงกาแฟจะมีพื้นที่สัมผัสอากาศมาก กว่ากาแฟที่อยู่ในรูปแบบเมล็ด ทำให้กาแฟเสื่อมคุณภาพเร็วขึ้น) และปิดผนึกห่อเมล็ดกาแฟคั่วส่วนที่เหลือให้มิดชิด (อาจเทเก็บเอาไว้ในขวดโหลที่ปิดสนิท) นำผงกาแฟที่บดแล้วใส่กล่องสุญญากาศ เก็บไว้ในที่แห้งและไม่มีความชื้น      นอกจากนี้ ยังสามารถนำผงกาแฟที่บดแล้วใส่กล่องสุญญากาศ แช่ไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาก็ได้ เป็นการลดโอกาสที่จะเกิดกลิ่นหืนจากน้ำมันในผงกาแฟ ซึ่งผงกาแฟจะเสื่อมสภาพเร็ว หากทิ้งไว้ให้สัมผัสกับอากาศและความชื้น ควรใช้ช้อนที่แห้งสนิทตักผงกาแฟ เพื่อเก็บรักษาผงกาแฟสุดรักสุดโปรด ให้คงกลิ่นความหอม และปลอดภัยจากเชื้อราแหล่งข้อมูล:- เว็บไซต์ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม - งานวิจัย การตรวจสอบโอคราทอกซินเอในกาแฟคั่วที่จำหน่ายในกรุงเทพมหานคร (สิทธิพร ชมภูรัตน์ และคณะ) - ไทยรัฐออนไลน์ สารพิษจากเชื้อรา ในกาแฟคั่วบด ( - งานวิจัย การตรวจสอบโอคราทอกซินเอในกาแฟคั่วที่จำหน่ายในกรุงเทพมหานคร (สิทธิพร ชมภูรัตน์ และคณะ) - ไทยรัฐออนไลน์ สารพิษจากเชื้อรา ในกาแฟคั่วบด ( - งานวิจัย การตรวจสอบโอคราทอกซินเอในกาแฟคั่วที่จำหน่ายในกรุงเทพมหานคร (สิทธิพร ชมภูรัตน์ และคณะ) - ไทยรัฐออนไลน์ สารพิษจากเชื้อรา ในกาแฟคั่วบด (https://www.thairath.co.th/content/360759) - กรมวิชาการเกษตร. - กรมวิชาการเกษตร. - กรมวิชาการเกษตร. 2548. สารพิษ ออคราทอกซิน เอ และมาตรฐานคุณภาพเมล็ดกาแฟ. สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กรุงเทพฯ แนะนำทำความรู้จัก ‘ โอคราท็อกซิน เอ ’ โอคราท็อกซิน เอ (Ochratoxin A; OTA) คือ สารพิษที่ถูกผลิตขึ้นโดยเชื้อราไมโคท็อกซิน (Mycotoxin) ที่ชื่อ Aspergillus achraceus และ Penicillium viridicatum โดยที่พบจะมี 2 ชนิด คือ A และ B แต่ที่พบตามธรรมชาติคือชนิด A ซึ่งมักปนเปื้อนอยู่ในเมล็ดธัญชาติ และผลไม้อบแห้ง เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดโกโก้ องุ่นอบแห้ง รวมถึงเมล็ดกาแฟ และอาจพบในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ หากว่าสัตว์กินอาหารที่ทำจากพืชที่ปนเปื้อนสารพิษนี้เข้าไป สารพิษโอคราท็อกซิน เอ หรือ OTA มีโครงสร้างที่มีความคงตัว ทนความร้อน ไม่สามารถถูกทำลายที่อุณหภูมิหุงต้มปกติได้ ชอบความชื้น และอุณหภูมิที่ 25 – 28 องศาเซลเซียส OTA เป็นสารพิษที่มีพิษต่อตับและไต หากร่างกายได้รับ OTA สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก จะทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อ ไตเกิดอาการติดเชื้อจนอาจนำไปสู่การเกิดเนื้องอกในต่อมไต และมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง  OTA ยังเป็นสารพิษที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง ดังนั้นจึงควรหาวิธีลดปริมาณ OTA ที่พบในอาหารให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่เทคโนโลยีการผลิตอาหารจะสามารถทำได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 ทดสอบสารกันบูดในแป้งทำขนม

ฉลาดซื้อทดสอบวัตถุกันเสียในขนมอบหรือเบเกอรี่ค่อนข้างบ่อย เพราะเป็นอาหารที่นิยมรับประทานกันมาก หลายครั้งที่พบว่า มีการปนเปื้อนของวัตถุกันเสียในปริมาณไม่มาก ซึ่งผู้ผลิตเองก็ระบุว่า ไม่มีการเติมวัตถุกันเสียใดๆ ลงไปจนทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ถ้าเช่นนั้นทำไมจึงตรวจพบ ซึ่งจากคำแนะนำของนักวิชาการด้านอาหาร เป็นไปได้ว่าสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากตัววัตถุดิบที่นำมาผลิตขนม  ดังนั้นนิตยสารฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ  จึงสุ่มตัวอย่าง “แป้งสาลี” ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ทุกชนิด จำนวน 19 ตัวอย่าง ทดสอบหาสารกันเสียยอดนิยมคือ กรดซอร์บิก กรดเบนโซอิก และสารฟอกขาว(ซัลเฟอร์ไดออกไซด์) จากผลวิเคราะห์พบ กรดเบนโซอิกปริมาณน้อยในผลิตภัณฑ์ 13 ตัวอย่าง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า อาจมิใช่การจงใจใส่วัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกโดยตรง แต่เกิดจากการใช้วัตถุเจือปนอาหารชนิดอื่นในกระบวนการผลิตแป้งสาลีเพื่อฟอกขาว และสารนั้นมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกรดเบนโซอิก ดังนั้นเมื่อมีการนำแป้งสาลีมาทำขนมอบ เช่น ขนมเปี๊ยะ ผลวิเคราะห์จึงพบค่าวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกในปริมาณเล็กน้อย ทั้งที่ผู้ผลิตยืนยันว่าไม่มีการเติมวัตถุกันเสียในสูตรขนม ดังนั้นเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด ผู้ผลิตขนมจึงควรแจ้งบริษัทแป้งสาลีเพื่อขอใช้แป้งสาลีที่ไม่มีสารฟอกขาว สรุปผลการทดสอบจากการทดสอบผลิตภัณฑ์ทั้ง 19 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนของกรดซอร์บิกและซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในทุกตัวอย่าง พบกรดเบนโซอิกในปริมาณเล็กน้อยตั้งแต่ 2.52 – 71.66 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในผลิตภัณฑ์ 13 ตัวอย่าง อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ของนักวิชาการด้านอาหาร ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเคยให้ความคิดเห็นไว้ในการประชุมร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อว่า การพบวัตถุกันเสียในปริมาณที่ไม่สูงพอที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ในอาหาร ไม่น่าจะเป็นความตั้งใจของผู้ผลิตในการใส่สารกันเสียเพื่อถนอมอาหาร อีกทั้งในกระบวนการผลิตแป้งสาลีจะมีการใช้สารเสริมคุณภาพหรือวัตถุเจือปนอาหารเพื่อฟอกสีแป้งให้ขาว ซึ่งวัตถุเจือปนอาหารที่นิยมใช้ได้แก่ INS 928 Benzoyl peroxide , INS 925 Chlorine , INS 927a  Azodicarbonamide , INS 300 Ascorbic acid L-  “การใช้วัตถุเจือปนอาหารที่ใส่ลงไปในวัตถุดิบเพื่อวัตถุประสงค์อื่น อาจกลายเป็นการปนเปื้อนวัตถุกันเสียจากความเข้าใจผิดได้ เช่น การใช้สารฟอกขาวประเภท Benzoyl peroxide เนื่องจากสารตัวนี้มีโครงสร้างเคมีคล้ายสารกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก” ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) ไม่มีการกำหนดค่าวัตถุกันเสีย BENZOATES (กลุ่มเบนโซเอต) ในแป้ง แต่มีการกำหนดค่า BENZOYL PEROXIDE (เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์) INS: 928 ซึ่งมีหน้าที่เป็น สารฟอกสี, สารปรับปรุงคุณภาพแป้ง, สารกันเสีย  ในแป้งไว้ไม่เกิน 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัมตารางผลการทดสอบ ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเก็บตัวอย่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2561*หมายเหตุ วัตถุเจือปนอาหารที่ใช้เพื่อการฟอกสีประเภท Benzoyl peroxide มีโครงสร้างเคมีคล้ายสารกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก ผลวิเคราะห์ในปริมาณที่ปรากฏ จึงไม่น่าใช่การจงใจเติมวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้ฟอกสีแป้งสาลีเพื่อปรับปรุงคุณภาพหรือสีของผลิตภัณฑ์ INS 928 Benzoyl peroxide , INS 925 Chlorine , INS 927a  Azodicarbonamide , INS 300 Ascorbic acid L-แป้งสาลี    แป้งสาลีเป็นแป้งที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ทุกชนิด ไม่มีแป้งชนิดอื่นใช้แทนแป้งสาลีได้ ทั้งนี้เพราะแป้งสาลีมีโปรตีน 2 ชนิด ที่รวมกันอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมคือ กลูเตนินและไกลอะดิน (Glutenin & Gliadin) ซึ่งเมื่อแป้งผสมกับน้ำในอัตราส่วนที่ถูกต้องจะทำให้เกิดสารชนิดหนึ่งเรียกว่า “กลูเตน” (gluten) มีลักษณะเป็นยาง เหนียว ยืดหยุ่นได้ กลูเตนนี้จะเป็นตัวเก็บก๊าซไว้ทาให้เกิดโครงร่างที่จำเป็นของผลิตภัณฑ์ และจะเป็นโครงร่างแบบฟองน้ำเมื่อได้รับความร้อนจากตู้อบ ประเภทของข้าวสาลี ข้าวสาลีที่นำมาโม่เป็นแป้งสาลีนั้น แบ่งเป็น 2 ประเภทตามความแข็งและสีของเมล็ดจัดเป็นข้าวสาลีชนิดแข็ง (Hard wheat) กับข้าวสาลีชนิดอ่อน (Soft wheat) ชนิดของแป้งสาลี แป้งสาลีที่ผลิตออกมาขายเพื่อทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่นั้นมี 3 ชนิดคือ แป้งขนมปัง แป้งเค้ก และแป้งเอนกประสงค์ ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและคุณลักษณะ รวมถึงการใช้ประโยชน์ต่างกันคือ 1.แป้งขนมปัง มีโปรตีนสูง 12-14 เปอร์เซ็นต์ โม่จากข้าวสาลีชนิดแข็ง ใช้ทำผลิตภัณฑ์พวกขนมปังจืด ขนมปังหวาน และผลิตภัณฑ์ที่ใช้หมักด้วยยีสต์ทุกชนิด 2.แป้งเอนกประสงค์ มีโปรตีนสูงปานกลาง 10-11 เปอร์เซ็นต์ เป็นแป้งที่ได้จากผสมข้าวสาลีชนิดแข็งกับชนิดอ่อนเข้ากับเข้าด้วยกันในสัดส่วนที่เหมาะสมการทำผลิตภัณฑ์หลายๆ ชนิด ใช้ทำผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น ขนมปังจืดและหวาน ขนมเค้กบางชนิด ปาท่องโก๋ บะหมี่ เพสตรี 3.แป้งเค้ก มีโปรตีนประมาณ 7-9 เปอร์เซ็นต์ โม่จากข้าวสาลีชนิดอ่อน ใช้ทำเค้ก คุกกี้ ลักษณะของแป้งเมื่อถูด้วยนิ้วมือจะรู้สึกอ่อนนุ่มเนียนละเอียด มีสีขาวกว่าแป้ง 2 ชนิดแรก เมื่อกดนิ้วลงไปบนแป้ง แป้งจะเกาะรวมกันเป็นก้อนและคงรอยนิ้วมือไว้ แป้งชนิดนี้ใช้สารเคมีช่วยทำให้ขึ้นฟูเท่านั้น ไม่ใช่ยีสต์ ซึ่งสารเคมีก็ได้แก่ ผงฟู โซดา เป็นต้น สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันได้สั่งข้าวสาลีจากต่างประเทศมาทำการโม่เป็นแป้ง โดยโรงโม่ที่มีอยู่จะทำแป้งจากทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวมาแล้ว และจากแป้งหลักเหล่านี้ โรงโม่แต่ละแห่งจะทำการโม่แป้งสาหรับทำผลิตภัณฑ์เฉพาะยิ่งขึ้น โดยจะบ่งไว้ที่ถุงบรรจุแป้งว่า ใช้ทำผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง ซึ่งผู้ซื้อจะต้องรู้ว่าแป้งที่จะใช้ทำผลิตภัณฑ์ที่ต้องการนั้นเป็นแป้งชนิดใด มีโปรตีนชนิดใด แล้วจึงเลือกซื้อให้เหมาะสม     เพื่อจะทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ให้ได้ผลดี คุณลักษณะที่สำคัญหนึ่งของแป้งสาลี คือ สีของแป้ง(Color) แป้งที่ดีควรมีสีขาว ถ้าหากมีสีอื่นปน เช่น สีเหลืองอ่อนของแซนโทฟิลล์ หรือสีครีม จะทำให้ขนมปังมีเนื้อใน(crumb) ที่มีสีไม่ดี ดังนั้นแป้งที่โม่ออกมาจึงควรผ่านการฟอกสีก่อน               สารเสริมคุณภาพแป้งสาลี ในปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปรวมทั้งประเทศไทยได้ออกกฎหมายอาหาร เพื่อยกเลิกการใช้โพแทสเซียมเป็นสารเสริมคุณภาพแป้งสาลี ทำให้บริษัทผู้ผลิตแป้งสาลีต้องเลือกใช้สารออกซิไดส์อื่นแทน เช่นใช้กรดแอสคอร์บิกในปริมาณ 15-25 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ของแป้งสาลี เพื่อช่วยให้ได้ขนมปังที่มีปริมาตรและเนื้อขนมปังดีขึ้นโดยผสมลงในแป้งก่อนขายให้ช่างทำขนมปัง นอกจากนี้ยังอาจใช้คลอรีนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสารออกซิไดส์อย่างอ่อนและเป็นสารฟอกสีแป้งด้วย เพื่อช่วยให้ได้ขนมปังที่มีปริมาตรและเนื้อสัมผัสที่ดี หรือใช้เบนโอซิลเพอร์ออกไซด์ ซึ่งเป็นสารฟอกสี จะช่วยให้ได้ขนมปังที่มีเนื้อขนมปังขาวขึ้น โดยผสมลงในแป้งในปริมาณที่เหมาะสม สารเสริมคุณภาพแป้งสาลีอีกชนิดหนึ่งที่โรงโม่แป้งสาลีต้องคำนึงถึงคือ แป้งมอลล์ หรือเอนไซม์อะมิเลสจากเชื้อรา โดยใช้อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อปรับปรุงคุณภาพแป้งในการทำขนมปังให้มีปริมาตรเพิ่มขึ้นและมีเนื้อสัมผัสนุ่มขึ้น ถ้าใช้แป้งมอลล์จะใช้ปริมาณ 1800 ส่วนในล้านของแป้ง แต่ใช้เอนไซม์แอลฟา-อะมิเลสได้เช่นกันแต่มีประสิทธิภาพในการทนความร้อนได้น้อยกว่า   เอนไซม์แอลฟา-อะมิเลสจากเชื้อรา จึงต้องใช้ในปริมาณมากกว่า ซึ่งเอนไซม์แอลฟา-อะมิเลสนี้จะช่วยย่อยสลายสตาร์ชในขณะหมักเพื่อให้ได้น้ำตาลมอลโทสสาหรับการทำงานของยีสต์ให้ได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และแอลกอฮอล์อย่างเหมาะสมขณะหมักเพื่อให้ได้ขนมปังที่มีปริมาตรดี ที่มา : จิตธนา แจ่มเมฆ และอรอนงค์ นัยวิกุล. 2549. เบเกอรี่เทคโนโลยีเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : สานักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 มือถือกับเด็ก ภัยจากเทคโนโลยีที่ยากจะควบคุม

มาถึงศตวรรษนี้แล้วคงไม่มีใครปฏิเสธการเข้ามาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตให้ง่ายขึ้นด้วยปลายนิ้ว จนปัจจุบันกลายมาเป็นปัจจัยที่ 5 ที่มนุษย์ทุกคนแสวงหา อย่างไรก็ตาม ในแง่มุมตรงกันข้าม ความง่ายของมันทำให้เกิดปัญหาตามมาได้หากใช้โดยไม่รู้เท่าทัน จากผู้ที่กุมโลกทั้งใบเอาไว้ในมืออาจกลายเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะ “เด็ก” ที่อยู่ในช่วงการสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกาย สมอง สติปัญญา ทักษะชีวิตและการเข้าสังคม เมื่อราวๆ กลางปี 2561 นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันพบเด็กเล็กเป็น “โรคไฮเปอร์เทียม” มากขึ้น คือมีอาการคล้ายโรคไฮเปอร์แต่ยังไม่ถึงขั้นป่วย เกิดจากการเลี้ยงดูด้วยการ “ปล่อยให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เล่นแท็ปเล็ต สมาร์ทโฟนเพื่อทำให้เด็กนิ่ง ไม่ซน” ในวงการจิตแพทย์พบว่าความเร็วของภาพในเกม ซึ่งเปลี่ยนทุก 3 วินาทีจะส่งผลโดยตรงต่อสมองทำงานไม่ลงตัว คุมสมาธิไม่ได้ ทำให้ทักษะการอ่าน การเขียน การพูดของเด็กแย่ลง อารมณ์ร้อน รอคอยไม่เป็น มีปัญหาการอยู่ร่วมกับเด็กวัยเดียวกันหรือคนอื่น นอกจากนี้ เมื่อเด็กอยู่กับสมาร์ทโฟน ติดกับความสนุกสนานของภาพเคลื่อนไหว เด็กจะนั่งนิ่ง ไม่มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและมวลกล้ามเนื้อต่างๆ รวมถึงการสื่อสารกับคนรอบข้าง นับเป็นจุดเริ่มต้นของผลกระทบด้านลบ ปัญหาแสงสีฟ้ากับสายตาขี้เกียจ นพ.ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าการใช้สมาร์ทโฟนมีผลทำให้เด็กสายตาสั้นมากขึ้น และแสงสีฟ้าจากจอโทรศัพท์มือถือก็มีผลทำให้คนรุ่นหลังๆ เสี่ยงเป็นโรคต้อกระจกมากขึ้น และเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ขอเริ่มที่ “ปัญหาแสงสีฟ้า” ก่อน แสงที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่นแสงแดด ประกอบด้วยสีหลายสี เช่น คราม น้ำเงิน แสงสีฟ้า เขียว เหลือง แสด แดง เป็นต้น แต่ละสีมีคลื่นความถี่แตกต่างกัน  แสงสีฟ้าที่มีในจอโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นแสงความยาวคลื่นที่มีความถี่สูงกว่าแสงสีชนิดอื่นๆ จึงมีพลังงานสูงกว่าแสงสีอื่น ทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่บริเวณจอประสาทตามากขึ้น ซึ่งวงการแพทย์มีความเป็นห่วงว่าอาจจะทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ เร็วกว่าเวลาอันควร ซึ่งโรคนี้จะนำมาซึ่งการสูญเสียการมองเห็น “สมัยก่อนเราจะพบโรคนี้ในคนที่ทำงานกลางแจ้ง แต่ก็มักพบเมื่ออายุประมาณ 70-80 ปี ขึ้นไปแล้ว แต่การที่เด็กเล่นโทรศัพท์ โดยเฉพาะการเล่นตอนกลางคืนจากเดิมที่ตอนกลางวันก็โดนแสงธรรมชาติอยู่แล้ว ก็ยังมาโดนแสงโทรศัพท์อีก ยิ่งถ้าปิดไฟเล่นจะทำให้ม่านตาขยายเข้าไปมากกว่าเดิม ดังนั้นจักษุแพทย์จึงเป็นห่วงว่าคนในยุคหน้าจะเป็นจอประสาทตาเสื่อมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น” มาที่ผลกระทบของการใช้โทรศัพท์มือถือที่ทำให้เด็กมีปัญหาสายตาสั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเล่ากันยาวหน่อย คือ เนื่องจากเมื่อมีการใช้สายตามองในระยะใกล้ๆ ทำให้เด็กต้องใช้สายตามากขึ้น และการเพ่งสายตามากขึ้นจะทำให้เกิดปัญหา “สายตาสั้นเทียม” หมายความว่าเด็กมีอาการเพ่งค้างของสายตา มองไกลไม่ชัด เมื่อไปพบจักษุแพทย์แล้วหยอดยาลดการเพ่ง จากนั้นก็วัดค่าสายตาแล้วจะพบว่าไม่มีปัญหาจริงๆอย่างไรก็ตามมีการศึกษาวิจัยทั่วโลก โดยเฉพาะโซนเอเชีย พบว่าการใช้สายตามองใกล้มากๆ ของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ค่อยได้ออกไปเล่นกลางแจ้ง หรือมองไกลๆ เลยจะทำให้มีปัญหาสายตาสั้นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีกรรมพันธุ์พ่อแม่สายตาสั้น เด็กที่เล่นสมาร์ทโฟนมากขึ้นก็ยิ่งทำให้สายตาสั้นมากขึ้น เร็วขึ้นกว่าเวลาอันควร ปัจจุบันบางประเทศพบเด็กสายตาสั้นครึ่งหนึ่งของเด็กทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน“ยิ่งอายุน้อยยิ่งมีผลกระทบเยอะ เพราะว่าความสามารถในการเพ่งจะมากที่สุดตั้งแต่ตอนเกิดและค่อยๆ ลดลง รวมทั้งความสามารถในการขยายตัวของลูกตาที่มีผลทำให้สายตาสั้นนั้นจะพบเร็วมากในช่วง 2 ขวบแรก เพราะเป็นช่วงที่ลูกตามีโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้สูง ดังนั้นถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เราไม่แนะนำให้เล่นเลย เพราะว่าลูกตายังมีความบอบบาง ยังไม่แข็งแรงพอ ถ้าทำให้เด็กมีการเพ่งตั้งแต่อายุยังน้อยก็มีโอกาสที่จะเกิดสายตาสั้นเร็วมากขึ้น” รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาคือเวลาที่เด็กมีปัญหาสายตา ไม่ว่าจะสั้นเทียมหรือสั้นจริง เด็กอาจจะไม่รู้ว่านั่นคือปัญหา จึงไม่ได้บอกผู้ปกครอง แน่นอนว่าเมื่อมีปัญหาการมองเห็นแล้วย่อมมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ด้านอื่น ตามมา ที่กังวลคือมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความพิการถาวรจากโรค “สายตาขี้เกียจ” คือเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ เป็นเวลาทองของการพัฒนาจอประสาทตา หากมองไม่ชัด ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม จะทำให้จอประสาทตาไม่พัฒนา เมื่อจอประสาทตาไม่พัฒนา มารู้ตัวอีกทีหลังจากที่เด็กมีอายุมากกว่า 10 ขวบแล้ว จะแก้ไขให้กลับมามองเห็นปกติไม่ได้ ต่อให้ตัดแว่นให้ใส่ก็ตาม ทั้งนี้ เมื่อตามองไม่ชัด สมองก็ไม่พัฒนา สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือตาเหล่ คือข้างหนึ่งมองเห็นปกติ ข้างหนึ่งไม่ปกติ หากไม่ได้รับการแก้ไข ข้างนั้นจะพิการไป แต่ปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งคือสายตาผิดปกติ ปัจจุบันพ่อแม่ที่พาลูกเข้ามาตรวจกับจักษุแพทย์พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งมีปัญหาสายตาสั้น และเกือบทุกรายมีปัญหาติดโทรศัพท์มือถือ แนวทางการป้องกันมีข้อแนะนำว่าไม่ควรให้เกิดการเพ่งอย่างต่อเนื่อง เรามีสูตร 20 : 20 : 20 คือ เมื่อเด็กใช้สายตามองใกล้ทุก 20 นาที ต้องหยุดพักมองไกลๆ อย่างน้อย 20 ฟุต อย่างน้อย 20 วินาที ถึงจะกลับมาใช้มือถือต่อได้  ส่วนระยะห่างจากมือถือกับดวงตาควรห่างกันประมาณ 33-40 เซนติเมตร ไม่ควรปิดไฟเล่น อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างแล้วแต่บริบท แต่ที่ต้องย้ำคือ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรใช้สมาร์ทโฟน  ส่วนวัยที่โตมาหน่อยเข้าใจว่า ทุกวันนี้เราไม่สามารถกันเด็กออกจากมือถือหรือเทคโนโลยีได้ แต่ต้องใช้อย่างเหมาะสม ดังนั้นต้องมีกติกาการใช้ ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นที่ตั้งเวลาการใช้งานได้ หรืออย่างไต้หวัน ที่มีกฎหมายให้เด็กมีกิจกรรมกลางแจ้งอย่างน้อยวันละ 90 นาที มือถือพาเด็กเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่ได้อย่างง่ายดายและน่าเป็นห่วงรศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบเด็กอายุประมาณ 9 เดือน ถูกเลี้ยงดูด้วยสมาร์ทโฟน พ่อแม่จะเปิดการ์ตูนในยูทูปให้ดู ตั้งค่าเอาไว้เลย 4-5 เรื่อง ซึ่งก็พบว่าเด็กอายุแค่นั้นสามารถใช้เองได้ด้วย เด็กอยากดูเรื่องไหนก็เอามือจิ้มๆ เข้าไป รู้จักการไถมือ เราพบว่าตัวเด็กเองนั้นสนใจมาก มองตาม ฟัง อยู่นิ่งๆ ได้นาน จนกระทั่ง 10-12 เดือน ก็ติดมือถือแล้วที่ผ่านมามีเด็ก 3-4 คนที่มาคลินิกผม เด็กพวกนี้พูดภาษาอังกฤษเก่งมาก สำเนียงชัดมากจากการดูยูทูปพวกนี้ ถือว่ามีประโยชน์เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ผู้ปกครองพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แต่ในทางกลับกันก็พบว่าเมื่อถึงวัยที่เด็กไปโรงเรียน เด็กก็ไม่ยอมเล่นกับเพื่อน ไม่คุย แยกตัวอยู่คนเดียว พูดภาษาอังกฤษได้ แต่สื่อสารกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง “เราจะสังเกตว่าภาษาเป็นการสื่อสารของมนุษย์ มีภาษาพูด จะมองตา มองปาก ขณะคุยกันจะมีการสื่อความรู้สึกไปพร้อมกับภาษาพูด ในเด็กเล็กซึ่งเป็นช่วงที่สมองมีการพัฒนา ถ้าเล่นแต่มือถือ  เรียนรู้การสื่อสารผ่านมือถือซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว อยู่กับเรื่องเรียนภาษา สำเนียง โดยไม่มีอารมณ์ ความรู้สึก จนก่อพฤติกรรมการแยกตัว เขานึกไม่ออกหรอก ว่าการสื่อสารกับมนุษย์จริงๆ ต้องใช้อารมณ์แบบไหน เขาไม่รู้ โตมาหวังจะแก้ไขให้เขารู้จักสื่อสารด้วยความรู้สึก ความรัก ความเกลียดชังต่างๆ มันสร้างได้ยาก ถามว่าแก้ได้ไหม บอกเลยว่าแก้ยาก และจะเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพจิตในอนาคต”รศ.นพ.อดิศักดิ์ บอกว่า ถ้าเป็นการเล่นและติดโทรศัพท์มือถือในกลุ่มเด็กโต ก็จะมีปัญหาคนละแบบ ส่วนใหญ่มักเล่นเกมเพื่อความสนุก  แต่ก็มีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งเพื่อการเรียนรู้  ลึกลับ รุนแรง ยิงกันเลือดสาด เรื่องเพศ เป็นต้น หากล้นมากๆ จนไร้การควบคุมก็จะนำไปสู่การสูญเสียพัฒนาการ ไม่กิน ไม่นอน และเกิดปัญหาเด็กติดเกมตามมา“อาการติดเกม”  เป็นอาการที่คล้ายกับการติดสารเสพติด ติดยา เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารในสมอง ต้องการเกมที่แรงขึ้น เครื่องมือที่ดีขึ้น ใครห้ามจะโกรธ โมโห มีอารมณ์ ต้องใช้การบำบัด ปรับพฤติกรรม “ถอนออกจากเกม” เหมือนรักษาการติดยา แต่ก็เป็นพฤติกรรมที่แก้ไขได้ อย่างไรก็ตาม นอกจากเกมแล้วยังพบการติดโซเชียลมีเดียรูปแบบอื่นที่มากับโทรศัพท์มือถือ เช่น เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ไลน์ ดูนั่นดูนี่ เปิดทั้งวัน ปิดไม่ได้ ถ้าไม่ได้ดูจะมีความกังวล ฯลฯ  ยิ่งปัจจุบันพบว่าเด็กสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เหมือนกับผู้ใหญ่ เพราะไม่มีการแยกแยะกลุ่มเนื้อหาเฉพาะ แม้จะบอกว่าแยกแล้ว แต่ในความเป็นจริงสามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด ทำให้เด็กเข้าถึงเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมได้อย่างง่ายดาย เช่น แค่พิมพ์คำว่า “โป๊” คำเดียว ก็ขึ้นมาเป็นเนื้อหาลามกอนาจารเลย พอเข้าไปแล้วคลิกอีก 2-3 ที ก็ดูได้แล้ว ซึ่งถ้าเทียบกับโลกแห่งความเป็นจริง สื่อประเภทหนังสือโป๊ สื่ออนาจาร ตลอดจนสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ ล้วนแต่ถูกควบคุมเอาไว้หมด แต่อินเทอร์เน็ตมีทุกอย่าง เข้าได้อย่างเสรี ดังนั้นถ้าสนับสนุนให้เด็กวันนี้ใช้สื่อโซเชียล โดยพวกผู้ใหญ่บอกว่าต้องส่งเสริมให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ต ทำทุกอย่างผ่านอินเทอร์เน็ต ทำการบ้าน ส่งงานผ่านทางอินเทอร์เน็ต ก็ต้องออกแบบให้สามารถดูแลสภาพปัญหาที่ว่านี้ให้ได้ก่อน ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างๆ ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่เก็บเงินเด็กแล้วเปิดไปมีแต่ภาพโป๊ ทั้งๆ ที่เป็นสายของเด็ก ต้องร่วมกันทำ “อินเทอร์เน็ตสีขาว” หรืออินเทอร์เน็ตที่เปิดมาแล้วเจอเนื้อหาที่ปลอดภัย หากจะเข้าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเฉพาะสำหรับผู้ใหญ่ถึงจะต้องมีการลงทะเบียนอีกรูปแบบหนึ่ง  “ปัจจุบันเด็กเข้าอินเทอร์เน็ตด้วยโทรศัพท์มือถือส่วนตัว หากไปลงทะเบียนกับบริษัทที่ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ต้องกำหนดรูปแบบอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยสำหรับเครื่องนั้น ซึ่งปัจจุบันทำได้อยู่แล้ว เช่น ต่ำกว่า 13 ปีห้ามใช้เฟซบุ๊ค เกมประเภทนี้เหมาะสมกับอายุเท่าไหร่ คือพ่อ แม่เป็นคนลงทะเบียนอินเทอร์เน็ตให้ หากมีการเข้าเว็บที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมกับอายุเด็ก ก็ตัดทันที ปัจจุบันมีบริการนี้อยู่แต่ไม่ค่อยได้ประชาสัมพันธ์ ที่ประเทศอังกฤษทำให้ฟรีเลย” ปัญหาอีกอย่างที่ซ่อนอยู่กับการใช้โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตของเด็กๆ คือ เรื่องความรุนแรง การล่วงละเมิดเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ผู้ใหญ่หรือมิจฉาชีพบางคนใช้การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียในการล่อลวงเด็ก หลอกขายสินค้า เสียเงินเสียทอง ที่หนักสุดคือการหลอกล่อพาเด็กไปทำอนาจารทางเพศ แน่นอนว่าเด็กผู้หญิงตกเป็นเหยื่อมากกว่าเด็กผู้ชาย และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง คือครอบครัวไม่เข้มแข็ง พ่อ แม่แยกทางกัน เป็นต้น “ผมมีคนไข้คนหนึ่งถูกหลอกลวงทางเพศจากแอปสนทนาทางโซเชียลมีเดีย 12 ครั้งเพื่อไปข่มขืน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางอยู่แล้วจากการที่พ่อ แม่แยกทางกัน ตัวเด็กเองอยู่กับพี่สาวสองคน เรื่องนี้เกิดขึ้นเยอะเหมือนกัน และเกือบทั้งหมดที่เข้ามาปรึกษา เป็นเหยื่อของคนที่เพิ่งรู้จักกันครั้งแรกผ่านทางโซเชียล” สำหรับข้อถกเถียงเรื่องคลื่นความถี่จากโทรศัพท์มือถือกับสมองนั้น ต้องเรียนว่า มีคนศึกษาเยอะว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีผลต่อมะเร็งในสมองหรือไม่ มีผลต่อมะเร็งกับเซลล์ชั้นในหรือไม่ แต่เข้าใจว่างานวิจัยยังไม่มีผลยืนยันชัดเจน ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วคลื่นแม่เหล็กนั้นจะมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ การใช้โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตผิดวิธีนั้นมีอันตราย ตั้งแต่การทำลายพัฒนาการ การเสพเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมซึ่งเป็นการบ่มเพาะพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว การใช้โดยที่ผู้ใหญ่เข้าถึงหรือป้องกันได้ยาก คนร้ายเข้าถึงตัวเด็กได้ง่าย ถูกล่อลวงทางเพศ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน “เด็กที่เสียชีวิต เด็กที่เสียพัฒนาการ เด็กที่ถูกกระทำนั้น เกิดขึ้นจริงแล้วในสังคม แต่ยังไม่ยอมแก้ไข ผู้ใหญ่หากมีการพูดถึงเรื่องนี้มักอ้างเรื่องของอิสรภาพ กระทรวงวัฒนธรรมเองพูดอย่างทำอย่าง ปากพูดถึงอินเทอร์เน็ตสีขาว แต่กลับทำยาก”อย่างไรก็ตาม การใช้โทรศัพท์มือกับเด็กไม่ใช่จะมีแต่เรื่องแย่ๆ ร้ายๆ ประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็กก็มี แต่ต้องมีการสร้างความสมดุลเพื่อให้มีโทรศัพท์มือถือเพื่อการเรียนรู้ของเด็กจริง อย่างกรณีการฝึกภาษา ตอนนี้ที่เราแนะนำเลยคือ เด็กต่ำกว่า 2 ขวบไม่ให้ใช้สื่อหน้าจอเลย หากจะใช้ในกรณีที่ต้องการฝึกภาษา ต้องเอามาเป็นเครื่องมือของพ่อแม่ในการสื่อสารกับลูก โดยเน้นเป็นการสบตาของพ่อ แม่ ลูก แล้วเอาโทรศัพท์มือถือมาสอนควบคู่ เช่น เปิดเสียงสัตว์ชนิดต่างๆ ประกอบ เป็นต้น ไม่ใช่เปิดทิ้งไว้ให้เด็กดูเพียงลำพัง อย่าปล่อยให้อยู่ด้วยกันเพียงลำพัง ลูกต้องติดใจที่ได้เล่นกับแม่หรือพ่อ แล้วยอมพูดตามสำเนียงตามโทรศัพท์มือถือ เพราะแม่เป็นคนถือ แม่เชียร์อยู่ ไม่ใช่เด็กติดใจมือถือ เราจะอยู่กันอย่างนี้ไม่ได้ การใช้อินเทอร์เน็ตต้องมีการควบคุมเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับเด็ก พ่อแม่ต้องควบคุมการใช้งานทั้งเรื่องเนื้อหาและระยะเวลาที่ใช้งาน วันนี้เมืองไทยต้องมีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กจากสื่อออนไลน์ ล้อไปกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เป็นไปไม่ได้ที่ภายนอกมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 2546 บอกว่ามิให้ผู้อื่นผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ เช่น เอาเด็กไปอยู่ในจุดอันตราย กระทำร้ายต่อเด็ก ล่วงละเมิดต่อเด็ก เขียนไว้ในกฎหมายเยอะแยะ แต่ในอินเทอร์เน็ตกลับคุมไม่ได้ เอาเด็กเข้าไปอยู่ในจุดอันตราย เอาไปอยู่ในโซเชียลมีเดียเป็นการทำลายพัฒนาการเด็ก ถ้าบอกว่ามี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ดูแลอยู่ บอกเลยว่าไม่จริง ล่าสุดที่เพิ่งมีการแก้ไขกฎหมาย ยังไม่เห็นการพูดถึงเรื่องนี้ พ.ร.บ.คอมพ์ฯ พูดถึงแต่เรื่องคนที่เข้าไปล้วงข้อมูลออนไลน์จะผิดอย่างนั้น ผิดอย่างนี้ ไม่พูดถึงผู้ร้ายที่ขายของผิดกฎหมาย อย่างบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งไม่เข้าใจ เพราะกระทรวงพาณิชย์ออกกฎหมายห้ามนำเข้า กรมสรรพากรบอกว่าห้ามขายในประเทศ ผิดกฎหมาย แต่ในออนไลน์มีหมด ซื้อง่าย มีโฆษณาด้วย สิ่งผิดกฎหมายต่างๆ ที่ห้ามในโลกแห่งความเป็นจริงกลับพบว่ามีหมดเลยบนโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม พอพูดเรื่องการดูแลเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต ก็มักมีการอ้างเรื่องผลกระทบกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจหรือการจำกัดสิทธิเสรีภาพบ้าง แต่เปิดช่องให้ทำในเรื่องที่เป็นการกระทบกับพัฒนาการเด็ก พอพูดเรื่องนี้แล้วก็ขอเอ่ยถึงเรื่อง “อี-สปอร์ต” ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่กีฬา ไม่มีการส่งเสริมการออกกำลัง แต่มันคือเรื่องของธุรกิจ ซึ่งกระทบพัฒนาการเด็ก เป็นการเพิ่มจำนวนเด็กติดเกมอย่างเห็นได้ชัด แต่ด้วยความกลัวว่าเศรษฐกิจจะก้าวไม่ทันชาวบ้านเขา มหาวิทยาลัยเปิดสอนกันเยอะมาก เปิดสอนให้คนไปทำธุรกิจอี-สปอร์ตได้ แต่ไม่ได้สอนให้รู้โทษ  ร้านเกมในต่างจังหวัดเปลี่ยนเป็นศูนย์อี-สปอร์ต ทั้งนั้น เด็กเล่นเลอะเทอะไปหมด กฎระเบียบไม่ต้องมี เพราะการกีฬาอนุมัติ เพราะกลัวเศรษฐกิจไม่ทันกิน ก็เลยวางคุณภาพเอาไว้ก่อน  ปัจจุบันเห็นแล้วว่าถ้ามองแต่เศรษฐกิจเบื้องหน้า แต่คนไร้คุณภาพ ประเทศจะพัฒนาไปได้แค่ไหน ตอนนี้ต้องยอมรับว่า 4.0 หากไม่คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ มันไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ อัตราเด็กถูกทำร้ายและอัตราการเสียชีวิตของเด็กอาจเพิ่มมากขึ้น คิดว่าถ้าชั่งน้ำหนักแล้วไม่คุ้ม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ป้องกันตั้งแต่แรกดีกว่ามาตามแก้ไข  และเป็นเรื่องที่ต้องดูแลกันตั้งแต่ระดับนโยบาย จะให้เป็นเรื่องของครอบครัว หรือเรื่องบุคคลไม่ได้ เพราะความสามารถในการ “คิด วิเคราะห์ แยกแยะ” ของเด็กยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ การมีโทรศัพท์มือถือจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแล ใส่ใจ จากผู้ปกครอง รวมถึงผู้ที่มีอำนาจในบ้านเมืองที่ต้องทำให้เด็กๆ ได้รับความปลอดภัย   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 เมีย 2018 : เป็นเมียคุณ...ทำไมเราต้องทน

   พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้บัญญัติความหมายของคำว่า “เมีย” เอาไว้ว่า “หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย”    ความหมายโดยนัยที่พ่วงมากับนิยามตามพจนานุกรมนี้ก็คือ เพราะเมียคือผู้ที่ถูกสังคมกำหนดให้ “เป็นคู่” และถูกครอบ “ครองของชาย” ดังนั้น นับตั้งแต่อดีตเรื่อยมา บทบาทของบรรดาเมียๆ จึงมีสถานะเป็นผู้ถูกกระทำ และเป็น “ช้างเท้าหลัง” ที่ต้องเสียสละอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของสมาชิกทุกคนในครอบครัว    แต่เมื่อเวลาผันผ่านมาถึงปัจจุบัน เราจะยังแน่ใจได้หรือไม่ว่า เมียแห่งปี 2018 จะยังคงดำรงวัตรปฏิบัติหรือมีความคิดความเชื่อที่เป็นไปตามนัยซึ่งพจนานุกรมได้สร้างความชอบธรรมเอาไว้   ชีวิตของผู้หญิงอย่าง “อรุณา” แห่งละครโทรทัศน์เรื่อง “เมีย 2018” เริ่มต้นชีวิตครอบครัวก็ด้วยนิยามแบบพจนานุกรมที่ว่า เมียก็คือผู้หญิงที่ถูกกำหนดเป็น “คู่ครองของชาย” เพราะฉะนั้น หลังจากแต่งงานอยู่กินกับ “ธาดา” และมีบุตรสาวคือ “น้องนุดา” แล้ว เธอก็เลือกที่จะสละความสุขทั้งชีวิต โดยปวารณาตัวให้กับสามีและลูกสาวอันเป็นที่รัก   ฉากเปิดเรื่องของละครที่อรุณาบรรจงจัดเตรียมสำรับอาหารเป็นเกี๊ยวน้ำสูตรเด็ดที่สืบทอดมาจากมารดา ตลอดจนการวิ่งสาละวนไปไหว้เจ้าทำบุญเพื่อให้ผลานิสงส์แผ่ซ่านไปถึงสามีที่กำลังจะได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งในหน้าที่การงาน เหล่านี้ก็คือการบอกผู้ชมคนดูว่า เมียในเวอร์ชันก่อนปี 2018 นั้น ทุกลมหายใจเข้าออกต้องยึดเรื่องครอบครัวและความสำเร็จของสามีเอาไว้เป็นสรณะ   จนกระทั่งมีบทพิสูจน์ใหม่แทรกเข้ามาเป็นตัวแปรในชีวิตของผู้หญิงที่เป็นเมียนั่นแหละ ลมหายใจเข้าออกของอรุณาก็ก่อกลายเป็นคำถามข้อใหม่ว่า เมียในบทบาทผู้ที่เป็นคู่และถูกครอบครองของบุรุษเพศ จะคงเป็นเพียงคำตอบเดียวในชีวิตของผู้หญิงอีกต่อไปจริงหรือไม่   และการปรากฏตัวขึ้นของตัวละครอย่าง “กันยา” น้องสาวลูกพี่ลูกน้องของอรุณา ที่เข้ามาแทรกอยู่กึ่งกลางระหว่างชีวิตครอบครัวของเธอกับธาดา ก็คือบททดสอบต่อคำถามข้างต้นดังกล่าว   ด้วยทัศนะของผู้หญิงแบบกันยาที่พูดกับอรุณาว่า “คนเราถ้าอยากได้อะไร จะต้อง fight ต้องอย่าไปยอม” ดังนั้นเมื่อกันยาย้ายเข้ามาอยู่ร่วมชายคาบ้าน และต้องการที่จะช่วงชิงสิทธิ์แห่งการเป็นภรรยาของธาดาขึ้นมา เธอจึงทำทุกอย่างตั้งแต่ยั่วยวน วางหมากกล หรือกระทั่งปั่นหัวพี่เขย จนในที่สุดก็ได้กลายมาเป็นอนุภรรยาของธาดาในเขตรั้วไพศาลของบ้านใหญ่หลังเดียวกับอรุณา   แม้ว่าตอนต้นของเรื่อง อรุณาจะเคยพูดกับเพื่อนรักอย่าง “ธารี” ว่า “ชีวิตแต่งงานถ้าเดือดง่ายก็พังกันหมดสิ” หรือแม้แต่เตือนสติธารีที่กำลังมีปัญหากับสามีเจ้าชู้อย่าง “ชาติชาย” ว่า “คำว่าหย่ามันมีไว้ใช้ครั้งเดียวเท่านั้น คือครั้งที่คิดว่าใช้เท่านั้นจริงๆ อย่าพูดไปเรื่อยเพราะอารมณ์” แต่เมื่อ “ผงที่เคยเขี่ยจากตาคนอื่น” หลุดมาเข้าตาของเธอบ้าง อรุณาก็ถึงกับขาดสติและแทบจะมิอาจจัดการกับปัญหาใดๆ ในชีวิตของเธอได้เลย   ในช่วงแรกที่เผชิญปัญหานั้น อรุณายังคงยืนกรานว่า ไม่ว่ามรสุมคลื่นลมจะโถมถามาเพียงใด แต่การพยายามรักษาความอยู่รอดของครอบครัวก็ยังคงเป็นหน้าที่หลักของหญิงผู้เป็นภรรยา อาจเนื่องด้วยว่าโลกทัศน์ของผู้หญิงที่สังคมหลอมหล่อเอาไว้นั้น ต้องยึดมั่นในคติประจำใจที่ว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” นั่นเอง   ก็เหมือนกับประโยคที่อรุณาพูดกับแม่บ้านผู้ชมที่ติดตามการสาธิตทำเกี๊ยวน้ำผ่านวิดีโอออนไลน์ของเธอว่า “คุณแม่บ้านทุกคน พวกเราเหมือนคนห่อเกี๊ยว เกี๊ยวคือครอบครัวของเรา เราต้องช่วยกันประคับประคองทุกอย่างให้เหนียวแน่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องทำทุกอย่างด้วยความรักและความใส่ใจ และเราจะผ่านอุปสรรคไปได้ทุกอย่าง”   อย่างไรก็ดี หากจิตสำนึกเรื่อง “ช้างเท้าหลังต้องเสียสละและอดทน” เป็นสิ่งที่สังคมติดตั้งเอาไว้ให้กับผู้หญิงอย่างอรุณาได้ เมื่อเงื่อนไขทางสังคมเปลี่ยน และปมความขัดแย้งระหว่างเธอกับสามีและน้องสาวสุกงอมจนถึงจุดแตกหัก อรุณาก็เริ่มทบทวนตัวเอง และค่อยๆ พัฒนามุมมองใหม่ที่ท้าทายและตั้งคำถามกับ “ตรรกะป่วยๆ” ที่เคยถูกดาวน์โหลดเอาไว้แต่เดิม   ในขณะที่เมียในยุคก่อนปี 2018 ต้องยึดมั่นการบำเพ็ญทุกรกิริยาใดๆ ที่ชายผู้เป็นสามีสาดซัดเข้ามา แต่ในความเป็น “เมีย 2018” แล้ว อรุณาก็เลือก “คิดใหม่ทำใหม่” และก้าวข้ามสถานการณ์เอารัดเอาเปรียบที่สามีก่อขึ้น แต่กลับต้องเป็นเธอที่เผชิญทุกขเวทนาเอาไว้ผู้เดียว   หลังจากที่ธาดามิอาจตอบคำถามได้ว่ายังรักเธออยู่หรือเปล่า อรุณาก็ค้นพบคำตอบว่า วลีสวยๆ ที่ผู้ชายมักพูดว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” นั้น เอาเข้าจริงๆ ก็เป็นเพียง “จิตสำนึกปลอมๆ” ที่สังคมสืบทอดฝากฝังไว้ให้กับผู้หญิงเท่านั้นเอง    และประโยคที่เธอกรีดร้องกับสามีว่า “ฉันอยู่กับคุณ ทำทุกอย่างเพื่อคุณ ฉันควรจะเป็นคนที่คุณขอบคุณสิ” ก็คงไม่ต่างจากการบอกเป็นนัยว่า คงถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงต้องเลือกระหว่างหน้าที่ที่สังคมกำหนดให้เธอเป็นแม่พระผู้เสียสละอย่างไม่ลืมหูลืมตา กับการเปิดโอกาสให้เธอได้ทำตามใจปรารถนาของตนเองเสียบ้าง อันนำมาซึ่งการจดทะเบียนหย่ากับธาดาในที่สุด   ยิ่งเมื่อมีตัวแปรใหม่ที่เข้ามาในชีวิตอย่าง “วศิน” บิ๊กบอสวัยหนุ่มหัวหน้างานคนใหม่ อรุณาก็พบว่า ชีวิตที่เคยมีตัวเลือกเพียงข้อเดียวคือสามีและครอบครัว จริงๆ แล้วก็ลวงตาไม่ให้บรรดา “เมีย 2018” ได้เห็นตัวเลือกอื่นๆ ในชีวิต เหมือนที่วศินพูดกับเธอว่า “ผมแค่รู้สึกว่าคุณฉลาดกว่าจมตัวเองอยู่ในครัวหรือทำความสะอาดบ้าน”   จนมาถึงฉากจบ ในขณะที่ตัวเลือกแบบหันกลับไปคืนดีกับอดีตสามี ก็อาจเหมาะกับผู้หญิง “ช้างเท้าหลัง” แบบเดิมๆ หรือในขณะที่การเลือกเป็น “ซิงเกิ้ลมัมแม่เลี้ยงเดี่ยว” ก็มักเป็นคำตอบของผู้หญิงที่อยากยืนหยัดอยู่ด้วยลำแข้งของตนเอง แต่กับ “เมีย 2018” ที่ลุกขึ้นมาปรับลุคแต่งตัวทำผมเสียใหม่ ได้ออกไปใช้ชีวิตโลดแล่นนอกบ้าน และกล้าเผยความในใจสู่สาธารณชนผ่านสังคมออนไลน์ การตอบตกลงรับรักกับวศินชายหนุ่มที่อ่อนวัยกว่าแต่ก็พร้อมจะยืนเคียงข้างชีวิตของเธอ ก็ดูจะเป็นตัวเลือกใหม่ๆ ของบรรดาเมียๆ ในยุคสมัยนี้   บทเรียนชีวิตของอรุณาเฉกเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ทิ้งคำถามใหม่กับคุณสามีว่า “เป็นเมียคุณ...ทำไมเราต้องทน” เท่านั้น แต่ยังย้อนกลับไปตั้งคำถามกับคุณผู้หญิงทั้งหลายด้วยว่า หากผู้หญิงคือเพศที่ต้องทำอะไรต่อมิอะไรเพื่อคนอื่นอยู่ตลอดเวลาแล้ว จะมีสักช่วงชีวิตบ้างไหมที่เธอจะรู้จักหันกลับมาทำอะไรเพื่อตนเองได้บ้าง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 หยุดทำร้ายแม่คนอื่น

ทำไมการโฆษณาขายสินค้าหรือแม้แต่การทำรายการโทรทัศน์ที่พาผู้ชมไปดูการกินอาหารบางอย่างในภัตตาคารนั้นถึงได้เป็นบาป คำตอบง่ายๆ คือ มันเป็นการชักชวน ชี้นำให้คนไปกินสิ่ง ซึ่งส่งผลถึงการรบกวนความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตอื่นโดยไม่จำเป็นผู้เขียนประทับใจกับชื่อกระทู้หนึ่งใน pantip (https://pantip.com/topic/32398154) ซึ่งเป็นกระทู้ที่ดูเก่าเพราะยกประเด็นเกี่ยวกับการกินรังนกขึ้นมาอภิปรายกันเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 อย่างไรก็ตามแม้กระทู้จะเก่าแล้ว แต่พอใกล้วันแม่คือ 12 สิงหาคม ทุกปีนั้น เราท่านจะได้เห็นโฆษณาที่ลูกกตัญญูทั้งหลายเตรียมตัวนำรังนกบรรจุขวดไปเยี่ยมเคารพแม่กัน โดยผู้ที่แสดงตนในโฆษณานั้นอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า สิ่งที่ตนรับจ้างโฆษณานั้นน่าจะเป็นบาป ทำไมการโฆษณาขายสินค้าหรือแม้แต่การทำรายการโทรทัศน์ที่พาผู้ชมไปดูการกินอาหารบางอย่างในภัตตาคารนั้นถึงได้เป็นบาป คำตอบง่าย ๆ คือ มันเป็นการชักชวน ชี้นำให้คนไปกินสิ่ง ซึ่งส่งผลถึงการรบกวนความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตอื่นโดยไม่จำเป็น เพราะเราสามารถกินสิ่ง ซึ่งเป็นอาหารทั่วไปที่สังคมยอมรับได้อยู่แล้วรังนกที่คนนิยมกินนั้นถูกสร้างจากน้ำลายของพ่อนกและแม่นกก่อนการผสมพันธุ์ เพื่อใช้เป็นที่วางไข่ กกไข่ และเป็นที่อยู่ของลูกนกก่อนเริ่มหัดบิน ส่วนประกอบของรังนก(แห้ง) โดยประมาณราวร้อยละ 85-97 เป็นน้ำลายที่นกขยอกออกมาและอีกร้อยละ 3-15 เป็นขนอ่อน รังนกนั้น เมื่อปรุงแล้วถือว่าเป็นอาหารถ้วยหนึ่งที่นิยมกินแพร่หลายกันในหมู่ชาวจีน โดยในอดีตนั้นอาหารนี้ได้รับการยกย่องว่า เป็นอาหารบำรุงชั้นยอดของฮ่องเต้(ซึ่งสุดท้ายก็ถูกโค่นล้มหายไปจากแผ่นดินจีน) ตลอดจนกลุ่มชนชั้นสูงของจีน ซึ่งรวยถึงระดับไม่รับรู้ว่า อะไรควรทำหรือไม่ควรทำ การกินรังนกในประเทศต่างๆ ไม่ว่าไทยแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์และประเทศอื่นๆ นั้นเป็นการถ่ายทอดพฤติกรรมจากบรรพบุรุษชาวจีน ซึ่งมีความเชื่อว่า รังนกนั้นให้ประโยชน์แก่ตนเองโดยไม่ได้คำนึงถึงใจพ่อแม่กว่าปวดร้าวเพียงใด ผู้เขียนเคยชมสารคดีทางโทรทัศน์ช่องหนึ่งอธิบายว่า รังนกนั้นถูกเก็บถึง 3 ครั้งในระหว่างที่นกพยายามสร้างรัง จนครั้งสุดท้ายที่นกพยายามสร้างรังเป็นครั้งที่ 4 นั้นมีคราบเลือด ซึ่งผู้เก็บคงมองออกว่า ราคารังนกผสมเลือดคงต่ำลงแล้ว จึงปล่อยให้นกได้วางไข่เพื่อสืบพันธุ์เกิดลูกมารับเวรกรรมในการเป็นนกต่อไปอย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้ได้มีรังนกที่เก็บจากตึกแถวที่สร้างไว้เพื่อให้คนอยู่แต่กลับถูกปล่อยร้าง (ตัวอย่างเช่นในจังหวัดชุมพร) แล้วมีนกชนิดหนึ่งทำเนียนเข้าไปสร้างรัง ผู้เป็นเจ้าของตึกแถวได้กล่าวในบทความชื่อ “ทุกข์คนทำรังนก บ้านติด ก.ม.ขายเองไม่ได้” ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ (www.thairath.co.th/content/480976) ประมาณว่า เขาไม่ได้เก็บรังนกตัดหน้าการวางไข่เหมือนคนที่เก็บรังนกสัมประทานในถ้ำบนเกาะต่างๆ แต่เขาปล่อยให้นกวางไข่จนได้ลูกนกที่เมื่อเติบโตแล้ว ทั้งพ่อแม่ลูกอพยพออกไป ทิ้งรังให้เขาได้เก็บขายเป็นอาชีพ จึงน่าจะเป็นบุญมากกว่าบาป โดยรังเก่าๆ นั้นจะต้องทำให้สะอาดมีสีขาวด้วยการฟอกสีก่อน จึงจะมีราคากิโลกรัมละ 60,000 บาท ในขณะที่รังซึ่งเก่ามากหน่อยเพราะเก็บช้าคุณภาพอาจต่ำลงและมีสีเหลืองสามารถขายได้เพียงกิโลกรัมละ 12,000 บาท รังนกนั้นให้ประโยชน์แก่ตนเองโดยไม่ได้คำนึงถึงใจพ่อแม่กว่าปวดร้าวเพียงใด ผู้เขียนเคยชมสารคดีทางโทรทัศน์ช่องหนึ่งอธิบายว่า รังนกนั้นถูกเก็บถึง 3 ครั้งในระหว่างที่นกพยายามสร้างรัง จนครั้งสุดท้ายที่นกพยายามสร้างรังเป็นครั้งที่ 4 นั้นมีคราบเลือด ซึ่งผู้เก็บคงมองออกว่า ราคารังนกผสมเลือดคงต่ำลงแล้ว จึงปล่อยให้นกได้วางไข่เพื่อสืบพันธุ์เกิดลูกมารับเวรกรรมในการเป็นนกต่อไปสิ่งที่น่าแปลกใจคือ มีผู้ขายผลิตภัณฑ์รังนกอ้างว่า สินค้าของเขาเป็นรังนกสีทอง(ความจริงดูเป็นสีเหลือง) นั้นมีคุณภาพสุดยอดสำหรับผู้บริโภคทีเดียว อย่างนี้เลยไม่รู้ว่าผู้นิยมบริโภครังนกจะเชื่อใครดีว่า จริงแล้วรังนกสีเหลืองนั้นดีกว่าสีขาวหรือไม่ แต่สำหรับผู้เขียนนั้นไม่สนใจจะเชื่อใครทั้งสิ้น เพราะไม่ชอบทั้งกลิ่นและรสชาติของรังนกในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการกินรังนกกล่าวกันว่า สมัยราชวงค์หมิงตอนปลายนั้นในใบสั่งยาของหมอจีน มักมีรังนกเป็นส่วนผสมเสมอ เพราะเชื่อตามที่บอกกันมานานแล้วว่า รังนกสามารถรักษาโรคทางเดินหายใจ ช่วยบำรุงสุขภาพเด็ก สตรีและคนชรา ช่วยบำรุงผิวพรรณของสตรีให้มีความนุ่มนวลอ่อนเยาว์ ช่วยบำรุงปอดและเลือด และช่วยบำรุงสุขภาพของผู้ป่วยในระยะพักฟื้นรวมทั้งสตรีหลังคลอดบุตร โดยลืมพิจารณาในความเป็นจริงว่า คนที่กินรังนกนั้นมักเป็นคนรวย ซึ่งมีการกินดีอยู่ดีอยู่แล้ว ยังไงๆ ก็ควรมีสุขภาพดีได้ถ้ากินอาหารครบห้าหมู่และไม่ทำร้ายตนเองด้วยกันกินเหล้าสูบบุหรี่บ่อยนักข้อมูลจากวิกิพีเดีย(ภาษาไทย) อ้างถึงบทความวิจัยบทความหนึ่งที่รายงานผลการวิเคราะห์ว่า รังนกแห้ง(100 กรัม) ที่เก็บในมาเลเชียนั้นประกอบด้วยโปรตีนประมาณ 61.5 กรัม ส่วนแร่ธาตุหลัก 4 ชนิดที่พบได้ในรังนกคือ แคลเซียม โซเดียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม และมี sialic acid ประมาณร้อยละ 0.7-1.5 โดยปริมาณสารอาหารในรังนกแตกต่างกันไปตามฤดูเก็บเกี่ยวและสถานที่ทำรังสำหรับข้อมูลเกี่ยวกับรังนกในบ้านเรานั้น เป็นการรายงานคุณค่าทางโภชนาการของรังนกบรรจุขวดแล้วซึ่งประมาณว่า รังนก 1 ขวด มีโปรตีนเท่ากับนมสดแค่ครึ่งช้อนโต๊ะ หรือถั่วลิสงเพียง 2 เมล็ด มีพลังงานน้อยกว่าไข่ไก่ 1 ฟอง ซึ่งข้อมูลประมาณนี้ผู้ทำกิจการขายรังนกไม่ว่าแห้งหรือเปียกในขวดต่างก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าอยากกินโปรตีนก็ให้ไปกินเนื้อ นม ไข่ แล้วกัน เพราะผู้ที่กินรังนกนั้นเขากินเพื่อหวังประโยชน์ต่อสุขภาพ(ถ้ามี) เป็นประการที่หนึ่ง ส่วนรสชาติหวานจากน้ำตาลกรวดนั้น เป็นเป้าประสงค์ประการที่สอง สำหรับปริมาณโปรตีนหรือคุณค่าทางโภชนาการอื่นๆ นั้นไม่ใช่ประเด็นจากการที่มีความเชื่อในสรรพคุณด้านบำรุงร่างกายมานับพันปีเกี่ยวกับรังนกนั้น จึงทำให้มีนักวิจัยมากมายที่สนใจทดสอบสรรพคุณและสารออกฤทธิ์ ซึ่งคาดว่ามีอยู่ในรังนก แต่จนแล้วจนรอดนั้นดูเหมือนว่า ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนไหนกล้าออกมายืนยันสักคนว่า ตนเองซึ่งไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน(conflict of interest) สามารถแสดงให้เห็นคุณประโยชน์อย่างประจักษ์ชัดว่า การกินรังนกนั้นบำรุงร่างกายอย่างไร หรือสารใดในรังนกที่มีสรรพคุณดังที่ร่ำลือมานับพันปี กล่าวกันว่า รังนกที่ดีต้องมีกลิ่นคาวไข่ ซึ่งเป็นการรับประกันว่า สามารถฟอกปอดบำบัดโรคได้ดี ในปัจจุบันคาดกันว่าคุณค่าด้านสุขภาพที่ได้จากรังนกนั้น อยู่ที่โปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งถูกจัดเป็นกลัยโคโปรตีนผู้เขียนได้ไปพบผลงานวิจัยเรื่องหนึ่งชื่อ Edible bird’s nest extract inhibits influenza virus infection ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชื่อ Antiviral Research ชุดที่ 70 (ปี 2006) หน้าที่ 140–146 งานวิจัยดังกล่าวนั้นใช้วิธีการสกัดรังนกด้วยน้ำร้อนได้เป็นสารละลายซึ่งมี N-acetylmuraminic acid เป็นองค์ประกอบสำคัญ จากนั้นจึงทำให้แห้งแล้วนำไปทดสอบฤทธิ์การต้านเชื้อโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ (3 ชนิดคือ หวัดใหญ่คน นกและหมู) ต่อเซลล์จากไตสุนัข(ชื่อ Madin-Darby canine kidney cells) ที่เลี้ยงไว้ในหลอดทดลอง  ซึ่งผู้วิจัยได้สรุปว่า "สารสกัดจากรังนกสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ในหลอดทดลอง ส่วนผลในมนุษย์นั้นยังต้องศึกษาต่อไป” สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับรังนกในบ้านเรานั้น เป็นการรายงานคุณค่าทางโภชนาการของรังนกบรรจุขวดแล้วซึ่งประมาณว่า รังนก 1 ขวด มีโปรตีนเท่ากับนมสดแค่ครึ่งช้อนโต๊ะ หรือถั่วลิสงเพียง 2 เมล็ด มีพลังงานน้อยกว่าไข่ไก่ 1 ฟองสารเคมีที่สกัดได้จากรังนกคือ  N-acetylmuraminic acid นั้นสามารถหาซื้อในรูปสารเคมีที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ 98 จากบริษัทขายสารเคมีระดับโลก ซึ่งมีตัวแทนที่สิงคโปร์เพื่อใช้ในห้องปฏิบัติการในราคาประมาณกว่า 47,500 บาทต่อกรัม ซึ่งมองเผินๆ ก็รู้ว่า แพงกว่าทองคำ ซึ่งมีราคาประมาณ 1,400 บาทต่อกรัม นี่น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมงานวิจัยเกี่ยวกับสารธรรมชาติชนิดนี้ถึงไม่ค่อยมีคนทำวิจัยมีข้อสังเกตหนึ่งที่ผู้ทำวิจัยชาวญี่ปุ่นได้กล่าวถึงในบทความที่รายงานผลว่า รังนกต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่คือ แม้รังนกนั้นจะได้รับความเชื่อถือว่าเสริมสร้างภูมิต้านทานก็ตาม แต่ในประเทศจีนนั้น รังนกก็เป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งในการก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ที่อาจทำให้ตายได้ ประเด็นนี้น่าจะทำให้หลายคน ซึ่งคุ้นเคยกับการแพ้อาหารทะเล เช่น กุ้งหรือปู ได้ยับยั้งชั่งใจแล้วปรึกษาแพทย์ก่อนการกินอาหารชนิดนี้ หรืออาจต้องลองกินในปริมาณน้อยก่อนเพื่อดูว่า ตนนั้นมีความเสี่ยงต่ออันตรายจากการกินอาหารนี้หรือไม่หมายเหตุ รังนกในบทความนี้ก็หมายถึงรังนกที่มนุษย์นิยมกินนะแหละ ผู้เขียนไม่ประสงค์จะระบุชนิดของนก เนื่องจากไม่ต้องการระบุ แต่เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงทราบอยู่เองว่าควรเป็นรังของนกอะไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 การตกค้างของยาปฏิชีวนะในอกไก่และตับไก่สด

ปัญหาเชื้อดื้อยาในระบบอาหารของโลก โยงไปถึงปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความห่วงใย มีงานศึกษาวิจัย ลักษณะต่างๆ  เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งการประกาศนโยบาย ยุทธศาสตร์ ในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับนานาชาติและระดับประเทศ ในเรื่องอาหาร และการตกค้างยาปฏิชีวนะ เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคในอย่างน้อยสามประเด็น เรื่องข้อมูลในการเลือกหา  เรื่องความปลอดภัย และเรื่องบริโภคศึกษา ดังนั้นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการประกันความปลอดภัย ด้วยการเฝ้าระวัง ตรวจตรา และกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเพื่อการตัดสินใจเลือกหาและใช้สินค้า จึงเป็นเรื่องสำคัญมากฉลาดซื้อ และโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างอกไก่และตับไก่สด เพื่อตรวจสอบสถานการณ์การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์อีกครั้ง (ปี 2559ตรวจในฟาสต์ฟู้ด 2560 ตรวจในเนื้อหมูดิบ) โดยความร่วมมือจากเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ออกสุ่มเก็บตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และห้างออนไลน์ ระหว่างวันที่ 9 - 15 มิถุนายน 2561 จำนวนทั้งสิ้น 62 ตัวอย่าง แบ่งเป็นอกไก่สด จำนวน 32 ตัวอย่าง และตับไก่สด จำนวน 30 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด จาก 3 กลุ่ม ดังนี้ผลการตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจวิเคราะห์การตกค้างของยาปฏิชีวนะทั้ง 3 ชนิด (ใน 3 กลุ่ม) จากตัวอย่างทั้งหมด 62 ตัวอย่าง พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 26 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 41.93) แบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 คือ Enrofloxacin หรือ Endrofloxacin (เอนโรฟลอคซาซิน) 5 ตัวอย่าง และ Doxycycline (ด็อกซีไซคลิน) 21 ตัวอย่าง โดยตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะกลุ่มที่ 3 ชนิด Amoxicillin (อะม็อกซีซิลลิน) ส่วนอีก 36 ตัวอย่าง นั้น ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะทั้งสามกลุ่ม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้างตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง เพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้พบปริมาณการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL) ของยาในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) ในสัตว์ปีก เช่น นก ไก่ ไก่งวง เป็ด ห่าน ไก่ต๊อก ในส่วนของกล้ามเนื้อ ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และ ในส่วนของตับไม่เกิน 600 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมจากผลตรวจวิเคราะห์พบ ยาเอนโรฟลอคซาซิน (Enrolfloxacin) จำนวน  5 ตัวอย่าง ซึ่งไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ ซึ่ง อย. อนุญาตให้ใช้ยานี้ได้ แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย โดยมีความผิดตามมาตรา 60 ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท  และพบว่า ไม่มีตัวอย่างใดที่พบปริมาณยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่ประกาศกำหนด ข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 5 ข้อ 1. ผู้บริโภคไม่ต้องการอาหารที่มีการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ เพราะการเกิดเชื้อดื้อยาเกิดได้ทั้งปริมาณการตกค้างทั้งน้อยและมาก 2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องปรับปรุงมาตรฐานการตกค้างให้ยอมรับได้น้อยที่สุด 3. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องบังคับใช้แผนปฏิบัติการในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์ม 4. สำนักงานงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมปศุสัตว์ จะต้องเข้มงวด และติดตามการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ให้ตกค้างเกินมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ สม่ำเสมอ @page { margin: 0.79in } p { margin-bottom: 0.1in; line-height: 120% } 5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการจัดการเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ และร้านค้าต่างๆ ควรตรวจสอบที่มาของอาหารก่อนนำเข้ามาจำหน่าย อีกทั้งในส่วนของร้านค้าในตลาด ทาง มพบ. จะทำหนังสือไปถึงสมาคมตลาดสดไทยเพื่อให้ตรวจสอบและเฝ้าระวังด้วย--------------------------------------------------------------------------------------------------------------ยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อไก่ ผู้บริโภคมีสิทธิรู้ ผู้บังคับใช้กฎหมายต้อง จริงจังและจริงใจโดย นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกไก่ทั่วโลก เป็นลำดับสี่ ในห้าประเทศ นอกจากนี้มี บราซิล สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศ ก็น่าสนใจว่า สิทธิผู้บริโภคมีการปกป้องเพียงใดผลการสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำหรับปี พ.ศ. 2561 นี้ พบยาปฏิชีวนะตกค้างในไก่สดและตับ (โดยตรวจยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด คือ Enrolfloxacin, Doxycycline, Amoxycillin ) พบยาปฏิชีวนะ 2 ชนิดแรก  แม้ปริมาณที่ตรวจพบจะไม่เกินปริมาณที่กำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550   เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง มีการระบุขนาดต่าง ๆ ของยาปฏิชีวนะที่ยอมรับให้มีในไก่ หรือสัตว์ปีกจำนวน 16 รายการ เช่น Oxytetracycline มีได้ในเนื้อไก่ไม่เกิน200 ug/kg ในตับไม่เกิน 600 ug/kg แต่จากผลการศึกษาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับพบมีการใช้ยานอกเหนือจากรายการที่ระบุประกาศ เช่น Enrolfloxacin มีข้อน่าสังเกต จากผลการสำรวจดังกล่าว ที่ควรได้วิเคราะห์ และทบทวนไปสู่ข้อเสนอต่อไป1. การสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ของการตกค้างยาปฏิชีวนะ เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรผู้บริโภคในเรื่องการตรวจสอบ และสะท้อนการจัดการ  รวมครั้งนี้มี 3 ครั้ง  (1) ตัวอย่างอาหารฟาสต์ฟู้ดสำเร็จรูป จากร้านอาหารชนิดมีสาขามาก (ฉลาดซื้อ ตุลาคม 2559) (2) ตัวอย่างเนื้อหมูสด (ฉลาดซื้อ มีนาคม 2560) และ ในครั้งนี้ สำรวจในตัวอย่างเนื้อไก่สดและตับ (รวม 62 ตัวอย่าง)  ผลคือพบการตกค้างยาปฏิชีวนะจำนวน 26 ตัวอย่าง (41.98%) แม้จะไม่เกินปริมาณที่กำหนด แต่แสดงว่ามีการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในวงจรอาหาร เป็นไปได้ว่ามีการใช้ในฟาร์ม ในการเลี้ยงไก่ (ผสมอาหาร ผสมน้ำ เป็นยาฉีด) และอาจรวมถึงการปนเปื้อนในวงจรอาหารส่วนที่เหลือ เช่น โรงเชือด การชำแหละ หรือตลาด   2. รายการยาที่ทำการตรวจครั้งนี้มี จำนวน 3 รายการ ยังพบว่ามียาที่อยู่นอกเหนือจากรายการยาที่ประกาศขนาดที่ยินยอมให้มีตกค้าง อาจเป็นไปได้ว่ามีการลักลอบใช้โดยไม่อนุญาต หรือกระทรวงได้มีการประกาศรายการเพิ่มเติมอีก แต่ยังไม่เห็น และพบว่ามีการอ้างอิงประกาศฉบับนี้ในการแถลงข่าวของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปี พ.ศ. 2560 3. การสำรวจครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่ได้ตรวจหา colistin เป็นที่น่าเสียดาย เพราะมีงานวิจัย พบว่ามีการใช้ ยาตัวนี้ในการเลี้ยงไก่ในประเทศไทยด้วย (อ้างอิง1)  โดยรายการยาปฏิชีวนะที่พบใช้ในฟาร์มไก่ คือ  amoxicillin, colistin, oxytetracycline, doxycycline และ  tilmicosin.  การศึกษาที่เชียงใหม่(อ้างอิง2)   พบใช้ Enrolfloxacin และ Sulfadimethoxin ในฟาร์มไก่ไข่ ส่วนในต่างประเทศ มีงานวิจัยระบุการตกค้างยาปฏิชีวนะหลายชนิดในเนื้อไก่ในบังคลาเทศ(อ้างอิง3)   ส่วนในเวียดนาม(อ้างอิง4)   ได้ศึกษาทั้งชนิดยา และยีนการดื้อยาด้วย4. งานศึกษานี้ยังไม่มีการสำรวจ เรื่องการตกค้างของเชื้อดื้อยา ซึ่งมีงานวิจัยในไทย เมื่อ พ.ศ. 2555(อ้างอิง5)   สำรวจเนื้อไก่ในซูเปอร์มาร์เก็ต พบมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน มียีนเชื้อดื้อยาจากเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด และต่อมามีงานวิจัยมากมายที่ศึกษายีนดื้อยาชนิดต่าง ๆ รวมทั้งชนิดรุนแรง (เช่น MCR-1) จากเนื้อไก่ ในประเทศจีน(อ้างอิง6-7)  -   เนเธอร์แลนด์(อ้างอิง8)    สิงคโปร์(อ้างอิง9)    เป็นต้น5. ภาครัฐควรได้ทำการเฝ้าระวังตรวจการตกค้างของยาปฏิชีวนะในฟาร์ม โรงเชือด ไก่สด หรือในอาหารสำเร็จรูปและแจ้งผลการสำรวจให้ประชาชนทราบอย่างกว้างขวาง และกระทำอย่างสม่ำเสมอ แต่ผลการค้นหาทางอินเตอร์เน็ต พบว่ารายงานจากภาครัฐถึงการ ให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลให้ค้นคว้าได้ง่าย ๆ มีไม่มากนัก ล่าสุดที่ค้นหาได้จาก ทางอินเตอร์เน็ต คือ ผลการรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีพ.ศ. 2560 (อ้างอิง10)    ไม่มีรายละเอียดมากนัก มีเพียงระบุว่าจากการสุ่ม 105 ตัวอย่าง ใน 12 จังหวัด ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบการตกค้างของยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อไก่และเนื้อวัวทุกตัวอย่าง แต่ตรวจพบการตกค้างของยาต้านจุลชีพเกินมาตรฐานเพียง 1 ตัวอย่าง ในเนื้อหมู ซึ่งผลการสำรวจในไก่นั้น ไม่สอดคล้องกับผลที่ทางมูลนิธิ ตรวจพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในตัวอย่างถึงเกือบครึ่ง6. เป็นประเด็นคำถาม ว่าควรอนุญาตให้มียาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์ที่นำมาทำเป็นอาหารหรือไม่ ในมุมมองผู้บริโภค ย่อมไม่ต้องการให้มีการตกค้าง แต่ระบบควบคุมจะจัดการได้อย่างไร แม้จะมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (อ้างอิง11)   ห้ามใช้ยาต้านจุลชีพทุกชนิดผสมลงในอาหารสัตว์ในวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารสัตว์. โดยยังอนุญาตให้ใช้เพื่อป้องกัน และรักษาอาการป่วย (ใช่หรือไม่) แต่ผลการติดตามการบังคับใช้ให้เป็นไปตามกติกานั้นคงต้องมีความเข้มงวด ต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับการนำเข้าสารเคมีจนถึงการใช้ในฟาร์ม และติดตามการตกค้างในอาหารสดที่ตลาด พร้อมการดำเนินการจัดการตามหน้าที่ เพื่อนำมาเปิดเผยให้ผู้บริโภคได้ทราบ อย่างสม่ำเสมอ7. ควรอนุญาตให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการผสมในอาหารสัตว์หรือไม่  ห้ามทั้งหมด หรือห้ามบางรายการ เป็นอะไรบ้าง เพียงใด และอย่างไร มีงานวิจัยที่รองรับมาตรฐานอย่างไรบ้างในการประกาศ ทั้งนี้คำศัพท์ ที่ผู้บริโภคควรรู้จัก  Chicken with antibiotic free (ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะในตัวอย่าง) หรือ raise without antibiotics  (เลี้ยงสัตว์โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นเมื่อป่วย ต้องแยกคอก) คำแถลงจาก อธิบดี กรมปศุสัตว์(อ้างอิง12)  “กรมปศุสัตว์มุ่งพัฒนาการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังยาหรือสารตกค้างในเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวดที่สอดคล้องกับมาตรฐานโลก และมีมาตรการลงโทษตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องหากมีการตรวจพบ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายกลาง และเกษตรกรรายย่อย ได้ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ว่าได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัยจากยาและสารตกค้าง สามารถสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต”8. ผลกระทบของยาปฏิชีวนะนั้นรุนแรงมาก เกิดผลเสียต่อสุขภาพ แม้จะใช้ปริมาณไม่มาก  การดื้อยา การแพ้ยา เป็นความห่วงใยแรก นอกจากนี้เด็กเล็กถ้าได้รับยาปฏิชีวนะในขณะช่วงอายุแรก ๆ ยิ่งถ้าได้รับบ่อย จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอ้วน(อ้างอิง13)  ปัญหาคือ ผู้บริโภคจะทราบได้อย่างไรว่าอาหารที่เรารับประทานนั้นมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะหรือยีนเชื้อดื้อยาหรือไม่    Sir Alexander Fleming ได้บรรยายเมื่อรับรางวัลโนเบล(อ้างอิง14)   ถึงความห่วงใยการดื้อยา ว่า “ I would like to sound one note of warning. Penicillin is to all intents and purposes non-poisonous so there is no need to worry about giving an overdose and poisoning the patient. There may be a danger, though, in underdosage. It is not difficult to make microbes resistant to penicillin in the laboratory by exposing them to concentrations not sufficient to kill them, and the same thing has occasionally happened in the body ”  9. แนวทางการดำเนินงานโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข  นั้นเป็นเรื่องที่ดี จะติดตามเรื่องการตกค้างยาปฏิชีวนะ หรือยีนเชื้อดื้อยาในวัตถุดิบได้อย่างไร  หากประกันคุณภาพได้ รัฐบาลควรจะได้ขยายแนวคิดอาหารปลอดภัยให้ครอบคลุมทุกท้องที่ และให้ประชาชนในประเทศไทยทุกคนได้รับประโยชน์ต่อเนื่องจากนโยบายนี้10. ไทยมียุทธศาสตร์การจัดการดื้อยาต้านจุลชีพ ประเทศไทย พ.ศ.2560-2564.  โดยทำแผนปฏิบัติการแล้ว ทั้งนี้ยุทธศาสตร์มีพัฒนาการมาจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8  คงต้องมีการติดตามผลงานที่เกี่ยวข้องที่ใกล้ตัวผู้บริโภค ทั้งเรื่องอาหาร สิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากโรงพยาบาล ในลักษณะสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) อย่างจริงจัง----------------------------------------------------------------------------------------(อ้างอิง1)  Wongsuwan G, et al (2017) Antibiotic use in poultry: a survey of eight farms in Thailand.  Bull World Health Organ  96(2): 94–100.(อ้างอิง2)  ณัฐธิดา สุขสาย และคณะ (2559) การใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ : กรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ . วารสารเภสัชกรรมไทย 8(2): 282-294.(อ้างอิง3) Sarker YA, et al (2018) Screening of antibiotic residues in chicken meat in Bangladesh by Thin Layer Chromatography.   J Adv Vet & Animal Res 5(2): 140-145.(อ้างอิง4)  Nguyen TH, et al (2018) Antimicrobial residue and resistance against critically important antimicrobials in non-typhoidal Salmonella from meat sold at wet-markets and supermarkets in Vietnam. Int J Food Microbiol 266:301-309.(อ้างอิง5) Chaisatit C, et al (2012) Molecular Characterization of Antibiotic-Resistant Bacteria in Contaminated Chicken Meat Sold at Supermarkets in Bangkok, Thailand.  Jpn. J. Infect. Dis., 65, 527-534. (อ้างอิง6)Hang J, et al (2018) Molecular detection of colistin resistance genes (mcr-1, mcr-2 and mcr-3) in nasal/oropharyngeal and anal/cloacal swabs from pigs and poultry.  Sci Rep. 8: 3705.(อ้างอิง7)Liu J, et al (2018)  Isolation of an IncP-1 plasmid harbouring mcr-1 from a chicken isolate of Citrobacter braakii in China. Int J Antimicrob Agents. 51(6):936-940.  (อ้างอิง8) Schrauwen EJA, et al (2017) High prevalence of the mcr-1 gene in retail chicken meat in the Netherlands in 2015. Antimicrob Resist Infect Control. 6: 83.(อ้างอิง9) Zwi YH, et al (2018) Prevalence, sequence types, antibiotic resistance and, gyrA mutations of Salmonella isolated from retail fresh chicken meat in Singapore.  Food Control 90: 233-240.(อ้างอิง10)  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อสัตว์ 27  ก.ค. 2560   (accessed July 2018)http://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/136 (อ้างอิง11) ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เรื่องกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะ หรือคุณสมบัติของวัตถุที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์  พ.ศ. 2558  (อ้างอิง12) กรมปศุสัตว์ระวังยาปฎิชีวนะตกค้าง ในเนื้อสัตว์ตามมาตรฐานสากล (accessed July 2018) http://certify.dld.go.th/certify/index.php/th/2016-04-30-03-59-03/2016-05-01-02-55-53/476-2016-11-21-03-29-40 (อ้างอิง13) Rasmussen SH, et al (2018) Antibiotic exposure in early life and childhood overweight and obesity: A systematic review and meta-analysis. Diabetes, Obesity, and Metabolism  20: 1508-1514.(อ้างอิง14) AL E X A N D E R F L E M I N G (1945) Penicillin Nobel Lecture, December 11, 1945https://www.nobelprize.org/nobel_prizes/medicine/laureates/1945/fleming-lecture.pdf  @page { margin: 0.79in } p { margin-bottom: 0.1in; direction: ltr; line-height: 120%; text-align: left; orphans: 2; widows: 2 } a:link { color: #0563c1 }

อ่านเพิ่มเติม >