ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อสุ่มวิเคราะห์ “หมึกกรอบ”ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล พบกว่าร้อยละ 57 ปนเปื้อนฟอร์มาลิน

        วันนี้ ( 14 มิถุนายน 2566 ) ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า การสุ่มตรวจสอบ “หมึกกรอบ”  ปนเปื้อนฟอร์มาลิน เป็นหนึ่งในงานเฝ้าระวังสินค้าและบริการของ นิตยสารฉลาดซื้อ ตามโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสุขภาพ จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เนื่องจากในทุกๆ ปีจะมีข่าวการพบสารฟอร์มาลินในอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารทะเล         จากข้อมูลของกรมอนามัย ปีงบประมาณ 2563  พบว่า จากผลการตรวจวิเคราะห์ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนทั้งหมด 14,046 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของฟอร์มาลิน 705 ตัวอย่าง โดยพบมากที่สุดใน หมึกกรอบ ร้อยละ 31.35 รองลงมาคือ หมึกสด  ร้อยละ 2.36  แมงกะพรุน ร้อยละ 1.55 และ กุ้ง ร้อยละ 0.14 ตามลำดับ ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ.2561) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือ ฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ และถ้าตรวจพบการกระทำดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         สรุปผลการทดสอบ “หมึกกรอบ” จำนวน 14 ตัวอย่าง สุ่มเก็บจากแหล่งจำหน่ายสินค้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ได้แก่ ตลาดสด 8 แห่ง , ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง ,และ ร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง ส่งวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 ซึ่งดำเนินการช่วงเดือนเมษายน 2566 พบปนเปื้อนฟอร์มาลิน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 57.14 โดยปริมาณฟอร์มาลิน พบตัวอย่างที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์  สูงเป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 และ 3  พบจากตลาดสด (  ดูผลทดสอบจากhttps://chaladsue.com/article/4269/ )          ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษาศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากถามว่า ฟอร์มาลินมีอันตรายอย่างไรต่อร่างกาย ข้อมูลที่พอเชื่อถือได้จากอินเทอร์เน็ตกล่าวโดยรวมว่า อาการระยะสั้นจากการสูดดมเข้าไปจะมีผลต่อระบบหายใจ คือ แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก หากสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด และอาจเสียชีวิตได้ หากสัมผัสกับฟอร์มาลินโดยตรงจะมีผลต่อระบบผิวหนังหลังสัมผัสคือ ทำให้เกิดผื่นคัน จนถึงผิวหนังอาจไหม้ หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวได้ และหากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินเข้าไปในปริมาณมาก อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว         วิธีเลือกซื้อเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัยจากฟอร์มาลิน สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อเนื้อสัตว์ต่าง ๆ จากร้านค้าที่ไม่มีการแช่ในตู้เย็น สามารถใช้วิธีการดมกลิ่น ถ้าอาหารนั้นมีกลิ่นฉุนแสบจมูกให้สงสัยว่ามีฟอร์มาลินอยู่ (ปัญหามักเกิดกับอาหารทะเลซึ่งเหม็นคาว) ซึ่งมีนักวิชาการคนหนึ่งกล่าวว่า สามารถกำจัดฟอร์มาลินที่ปนเปื้อนบนเนื้อได้ด้วยการใช้น้ำด่างทับทิมหรือ potassium permanganate เพื่อเปลี่ยนฟอร์มาลดีไฮด์ในฟอร์มาลินให้เป็นกรดฟอร์มิคหรือกรดมดได้ แต่ควรคำนึงด้วยว่า เนื้อสัตว์ที่ชุบฟอร์มาลินนั้นมักไม่ถูกสุขอนามัยที่ดีมาก่อน จึงต้องใช้ฟอร์มาลินกลบเกลื่อนความไม่สด ดังนั้นจึงไม่สมควรนำเนื้อดังกล่าวมาบริโภคและไม่ควรโยนให้สัตว์เช่น หมาหรือแมวกิน         อ่านผลทดสอบฟอร์มาลินใน “หมึกกรอบ”เพิ่มเติมได้ที่ https://chaladsue.com/article/4269/

อ่านเพิ่มเติม >

วิตามินซีในเครื่องดื่มสลายตัวเป็นอะไร

ผู้บริโภคที่ศึกษาถึงขั้นมัธยมศึกษาขึ้นไปนั้นคงพอมีความรู้ว่า วิตามินซี เป็นสารอาหารสำคัญมากชนิดหนึ่งต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรรู้ว่า ร่างกายต้องใช้วิตามินซีในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนที่เรียกว่า คอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีสัดส่วนมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ราวร้อยละ 25-35 ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรกินผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเพื่อให้มีผิวพรรณดีเพราะมีคอลลาเจนครบตามที่ผิวควรมีได้ (ไม่เกี่ยวกับสีผิวนะครับ) นอกจากนี้วิตามินซียังมีบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่ง (ในอีกหลายประการ) คือ ช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (ร่วมกับสังกะสี วิตามินเอ โปรตีนและอื่น ๆ) ให้ทำงานเป็นปรกติ)สิ่งที่พิสูจน์ว่าคนไทยหลายคนสนใจเกี่ยวกับวิตามินซีและรู้ถึงประโยชน์ของวิตามินซีอย่างดีนั้น ยืนยันด้วยความนิยมในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเสริมวิตามินซี โดยเฉพาะน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มที่มีการเติมวิตามินซีลงไป ทั้งเติมน้อยพอประมาณหรือเติมเท่าค่า RDA (คือ 60 มิลลิกรัม) หรือเติมให้มากเกินความต้องการโดยระบุเป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้น เช่น 200% ไปเลยแต่ประเด็นที่ผู้บริโภคมักมองผ่านคือ ในการเรียนรู้ที่ผ่านมาในชีวิตนั้น คุณครูมักสอนว่า วิตามินซีไม่ค่อยเสถียรเมื่อได้รับความร้อนและ/หรือแสง ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์แล้วแสงโดยเฉพาะแสงอัลตราไวโอเล็ทมีผลต่อการสูญเสียของวิตามินซีเป็นหลักมากกว่าความร้อนเสียอีก ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่เสริมวิตามินซีจึงมักใช้ภาชนะบรรจุปิดสนิทเพื่อป้องกันแสงพร้อมทั้งป้องกันออกซิเจนจากอากาศ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงวิตามินซีไปเป็นสารอื่นประเด็นที่น่าสนใจคือ วิตามินซีที่อยู่ในอาหาร ทั้งวิตามินซีธรรมชาติและวิตามินซีที่สังเคราะห์เลียนแบบธรรมชาติที่เติมลงไปในอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารอื่นยากหรือง่ายเพียงใด และที่สำคัญคือ เปลี่ยนไปเป็นอะไร         เครื่องดื่มผสมวิตามินซี        ความที่สินค้าที่มีการเสริมวิตามินซีได้รับความนิยมสูง คำถามหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในใจของคนขี้สงสัย คือ สินค้าที่ซื้อมาบริโภคนั้นมีวิตามินซีที่ต้องการได้ตามที่ระบุไว้บนฉลากหรือไม่ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องทำตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (มีลักษณะเป็นอาหารทั่วไปซึ่งมีเพียงการควบคุมการแสดงฉลากและดูแลความปลอดภัยเท่าที่ควรเป็นเท่านั้น) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงเก็บตัวอย่างสินค้าเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ส่งให้ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากรัฐ ตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีที่ปรากฏในวันที่เก็บตัวอย่าง แล้วเปิดเผยผลการตรวจสอบปริมาณวิตามินซีในตัวอย่างที่เก็บมาเมื่อวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563 ซึ่งพบว่ามี 8 ตัวอย่าง ไม่พบปริมาณวิตามินซีตามที่แจ้งบนฉลากสินค้าและหนึ่งในนั้นคือ เครื่องดื่มผสมน้ำสมุนไพรสกัดชนิดหนึ่งและวิตามินซี ของผู้ผลิตใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสินค้าดังกล่าวประหลาดใจปนเสียดายเงิน ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ที่เคยได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับวิตามินซีมาก่อนเห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะวิตามินซีนั้นก็เหมือนกับวิตามินที่ละลายน้ำอื่น ๆ ที่เสียสภาพได้ไม่ยากเมื่อถูกละลายน้ำ โดยขึ้นกับสิ่งแวดล้อมรอบวิตามินนั้น ๆ ทั้งสภาวะทางกายภาพและองค์ประกอบในสินค้านั้นว่าเป็นอะไรบ้าง (งานวิจัยในลักษณะนี้มีมากสามารถค้นหาได้จากฐานข้อมูลวิชาการทางวิทยาศาสตร์ในอินเทอร์เน็ต)หลังการแถลงข่าวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีผู้ผลิตสินค้ารายหนึ่งเห็นความสำคัญที่ต้องแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน (ผู้เขียนจำต้องดัดแปลงเนื้อหาบางส่วนนิดหน่อยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยี่ห้อสินค้าเพื่อตัดความรำคาญที่อาจตามมาภายหลัง) ว่า        ….สินค้าที่ผลิตทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่นๆ และเร็วขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น ทางผู้ผลิตขอยืนยันว่า สินค้าของบริษัทในทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่น ๆ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ อาจส่งผลให้การสลายตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ และวิตามินซียังสามารถสลายตัวได้ง่ายในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น แต่วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม ทีมงานวิจัยของบริษัทได้มีการคิดค้นวิธีการตามหลักวิทยาศาสตร์และนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้านั้นคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทได้วางแผนการอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บสินค้าอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่า สินค้าที่ส่งถึงมือผู้บริโภคนั้น ยังคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี....         ประเด็นสำคัญในแถลงการณ์ของผู้ผลิตรายนี้คือ การระบุว่า วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม สิ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูลส่วนนี้ได้ตรงกับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์แล้วก่อให้เกิดความประหลาดใจแก่นักวิชาการที่รู้เรื่องเกี่ยวกับวิตามินซีและผู้เขียน (ซึ่งแม้เกษียณการทำงานสอนแล้วแต่ยังติดตามข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพอยู่) เป็นอย่างมากเสมือนได้ความรู้ใหม่ซึ่งต้อง คิดก่อนเชื่อ        เพื่อให้ได้ข้อตัดสินว่า วิตามินซีที่ละลายน้ำนั้นเปลี่ยนไปเป็น L-tartrate (สารเคมีนี้เป็นเกลือของกรดมะขามคือ L-tartric acid ซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้) ได้จริงหรือไม่ ผู้เขียนจึงได้ใช้ฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพทั้งที่เป็นวารสารและตำราทั้งของ PubMed ซึ่งสังกัด National Center for Biotechnology Information (หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา) และ ScienceDirect ซึ่งเป็นของเอกชนที่รวบรวมข้อมูลจากวารสารนานาชาติจำนวนมาก เพื่อหาว่ามีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิตามินซีในน้ำ ซึ่งสุดท้ายแล้วหลังใช้ความพยายามพอสมควรก็ได้พบว่ามี 1 บทความวิจัยที่ตอบคำถามว่า วิตามินซีเมื่ออยู่ในน้ำนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปเป็น L-tartrateบทความเรื่อง Oxidative Decomposition of Vitamin C in Drinking Water ซึ่งเขียนโดย Patric J. Jansson และคณะ ในวารสาร Free Radical Research ชุดที่ 38 เล่มที่ 8 ประจำเดือน สิงหาคม หน้า 855–860 ของปี 2004 ได้รายงานการทำวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวฟินแลน์ ซึ่งผู้เขียนขอแปลส่วนที่เป็นบทคัดย่อให้ผู้อ่านได้อ่านแบบเต็มๆ ดังนี้         ก่อนหน้านี้เราได้แสดงให้เห็นว่าวิตามินซี (กรดแอสคอร์บิก) สามารถก่อให้เกิดอนุมูลไฮดรอกซิลในน้ำดื่มที่ปนเปื้อนทองแดงในครัวเรือน (Jansson, P.J. et al. 2003. Vitamin C (ascorbic acid) induced hydroxyl radical formation in copper contaminated household drinking water: role of bicarbonate concentration Free Radic. Res. 37: 901–905.) ในการศึกษาปัจจุบันเราได้ตรวจสอบความเสถียรของวิตามินซีในน้ำดื่มในครัวเรือนที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต (สารตัวนี้ผู้ทำวิจัยไม่ได้บอกว่าเติมลงไปทำไม ผู้แปลเข้าใจว่าเพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างด้วยคุณสมบัติเป็น buffer ให้เหมาะสมในการทำวิจัย) ในการศึกษาพบว่าร้อยละ 35 ของวิตามินซีที่เติมในตัวอย่างน้ำดื่ม (ให้มีความเข้มข้น 2 mM) ที่วางไว้ที่อุณหภูมิห้องถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก (dehydroascorbic acid) ภายใน 15 นาที และหลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมง ร้อยละ 93 ของกรดแอสคอร์บิกที่เติมลงไปถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก ซึ่งสลายตัวต่อไปเป็นกรดออกซาลิก (oxalic acid) และกรดธรีโอนิก (threonic acid) ด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่เกิดจากปฏิกิริยา autooxidation ระหว่างไอออนทองแดง (Cu+1) และออกซิเจนในน้ำ (สมมุติฐานตามหลักการของ Fenton reaction…ผู้แปล) การออกซิเดชั่นของวิตามินซีเกิดขึ้นพอประมาณในน้ำ Milli-Q (น้ำกรองจนบริสุทธิ์ระดับ ASTM 1...ผู้แปล) และในตัวอย่างน้ำในครัวเรือนที่ไม่ปนเปื้อนด้วยไอออนของทองแดง ยิ่งไปกว่านั้นการเพิ่มวิตามินซีลงในตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดที่จำหน่ายในประเทศ (ฟินแลนด์ ??...ผู้เขียน) ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการออกซิเดชั่นของวิตามินซี ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า กรดแอสคอร์บิกถูกออกซิไดซ์อย่างรวดเร็วเป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิกและย่อยสลายต่อไปเป็นกรดออกซาลิกและกรดธรีโอนิกในน้ำประปาที่ปนเปื้อนด้วยทองแดง ซึ่งถูกบัฟเฟอร์ด้วยไบคาร์บอเนต (โดยสรุป)งานวิจัยได้แสดงถึงสิ่งที่ได้จากการบริโภคกรดแอสคอร์บิกในน้ำดื่มที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต         จากบทคัดย่อผลงานวิจัยของ Patric J. Jansson ที่ผู้เขียนได้แปลนั้นคงให้คำตอบแล้วว่า วิตามินซีเปลี่ยนไปเป็นสารใดเมื่ออยู่ในน้ำ ส่วนการเกิด L-tartrate ได้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูต่อไปว่ามีใครพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 ชั่งน้ำหนัก CPTPP สิ่งที่เราจะได้และสิ่งที่เราจะสูญเสีย

ช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกล็อกดาวน์ภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ท่ามกลางความนิ่งงันจากการกักตัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และการเยียวยาที่ล่าช้า ไม่ทั่วถึงและแสนวุ่นวาย รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา นำโดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ มีความพยายามจะผลักดันประเทศไทยเข้าร่วมข้อตกลงเขตการค้าเสรี CPTPP จนเกิดกระแสคัดค้านรุนแรงจากหลายภาคส่วน         CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งเป็นข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าและบริการฉบับหนึ่งที่เริ่มต้นจาก Trans-Pacific Partnership หรือ TPP หรือความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ เวียดนาม และญี่ปุ่น ณ เวลานั้น ประเทศไทยก็แสดงท่าทีสนใจเข้าร่วม TPP อยู่ก่อนแล้ว         ทว่า ภายหลังที่โดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาก็ประกาศถอนตัวออกจาก TPP ทำให้ 11 ประเทศที่เหลือตัดสินใจเดินหน้าต่อเป็น CPTPP แม้จะไม่มีสหรัฐฯ เข้าร่วม ซึ่งก็ทำให้ขนาดตลาดหายไปอย่างมีนัยสำคัญ         เช่นเดียวกับทุกเรื่องบนโลก มักมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย CPTPP มีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน เพียงแต่ฝั่งคัดค้านเสียงดังไม่ใช่น้อย ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้ ชวนสำรวจสิ่งที่เราจะได้และสิ่งที่เราจะเสียหากเข้าร่วม CPTPP  ‘สมคิด’ หัวขบวนดันไทยเข้า CPTPP         สมาชิก CPTPP ทั้ง 11 ประเทศร่วมลงนามข้อตกลงนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 และจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อสมาชิกกึ่งหนึ่งให้สัตยาบัน  CPTPP มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม เมื่อเม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม ให้สัตยาบัน         ขนาดเศรษฐกิจของสมาชิกทั้ง 11 ประเทศมีมูลค่าคิดเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีกว่า 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 13 ของจีดีพีของทั้งโลก มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน  ปี 2562 ประเทศไทยมีการค้าขายกับประเทศใน CPTPP ถึง 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 29 ของการค้ารวมของไทย         ตัวเลขดังกล่าวเย้ายวนมากในมิติทางเศรษฐกิจ ทำให้ 13 กุมภาพันธ์ 2563 สมคิดในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) มีมติให้กระทรวงพาณิชย์สรุปผลการศึกษา หารือ และการรับฟังความเห็น นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาเข้าร่วม CPTPP ในเดือนเมษายน 2563 ก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีของสมาชิก CPTPP ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ที่เม็กซิโก ซึ่งจะมีการหารือเรื่องการรับประเทศสมาชิกใหม่         แต่การเสนอเรื่องเข้าสู่ ครม. ก็ยืดเยื้อออกไป เมื่อทางจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไม่นำเรื่องนี้เข้า ครม. โดยให้เหตุผลว่าจะไม่เสนอเรื่องนี้จนกว่าสังคมจะมีความเห็นต่อ CPTPP ไปในทิศทางเดียวกัน         ฟากอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ออกมาคัดค้านเรื่องนี้เช่นกัน เพราะเห็นว่าจะกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ ทำให้ CPTPP กลายเป็นปัญหาการเมืองในซีกรัฐบาลที่ยังไม่ลงตัว  ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจจาก CPTPP         แล้วไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการเข้าร่วม CPTPP?         แน่นอนว่าเหตุผลของสมคิดและกระทรวงพาณิชย์คือผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การศึกษาของกระทรวงพาณิชย์แสดงให้เห็นว่า หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้จีดีพีของไทยขยายตัวร้อยละ 0.12 หรือ 13,320 ล้านบาท การลงทุนขยายตัวร้อยละ 5.14 คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาท         ในทางตรงกันข้าม หากไทยไม่เข้าร่วม จีดีพีของไทยจะได้รับผลกระทบ 26,600 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.25 และกระทบต่อการลงทุน 14,270 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.49 ทั้งยังอาจทำให้ไทยเสียโอกาสในการขยายการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคเมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามและสิงคโปร์ โดยในปี 2558-2562 ทั้งสองประเทศส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.85 และ 9.92 ตามลำดับ ส่วนไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 3.23         ด้านมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้า ปี 2562 เวียดนามมีมูลค่า 16,940 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สิงคโปร์ 63,934 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ไทยมีเพียง 9,010 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น         ทั้งนี้กลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการส่งออกไปยัง CPTPP ของไทย ได้แก่ กลุ่มธัญพืชและของปรุงแต่ง เครื่องแต่งกาย เครื่องสูบของเหลว เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ยานยนต์ เครื่องหนังและรองเท้า น้ำตาลและขนม ในด้านการบริการและการลงทุนจะได้ประโยชน์จากการประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว         ประเด็นที่ต้องตั้งคำถามต่อข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์คือ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นจริงแค่ไหน         เรื่องนี้ อาชนัน เกาะไพบูลย์ คลัสเตอร์วิจัยความสามารถในการแข่งขัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับว๊อยซ์ทีวีไว้น่าสนใจว่า 11 ประเทศสมาชิก CPTPP มีเพียงชิลี เม็กซิโก และแคนาดาเท่านั้น ที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย หากทำข้อตกลงการค้าเสรีเพิ่มกับ 3 ประเทศดังกล่าว การส่งออกของไทยจะได้รับผลเพียงร้อยละ 2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดเท่านั้น          นอกจากนี้ จากข้อตกลงการค้าเสรีที่ไทยมีอยู่แล้ว กลับพบว่าภาคส่งออกของไทยใช้ประโยชน์แค่ร้อยละ 30 ของการส่งออกเท่านั้น ทั้งยังกระจุกในกลุ่มสินค้าไม่กี่สิบรายการจากการส่งออกสินค้าของไทยทั้งหมดกว่า 2,000 รายการ         ด้านการลงทุนที่เปรียบเทียบกับเวียดนาม อาชนันกล่าวว่า เป็นเพราะเวียดนามมีปัจจัยอื่นๆ ที่ดึงดูดการลงทุน เช่น นโยบายเปิดรับการลงทุน การมีแรงงานอย่างเพียงพอ และความมั่นคงทางการเมือง จุดสำคัญคือที่ผ่านมาการค้าการลงทุนไทยไม่ได้ขยายตัวจากการที่ไทยมีเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ มากนัก             อีกประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์ดูเหมือนจะหลงลืมไปก็คือ ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดในขณะนี้ ทำให้ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าอนาคตหลังโควิด-19 ห่วงโซ่อุปทานโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ดังนั้น ไทยจึงไม่ควรเร่งร้อนเข้าเป็นสมาชิก CPTPP เพราะจะไม่ได้รับประโยชน์มากอย่างที่ฟากรัฐให้ข้อมูล         ส่วนด้านผลกระทบที่เรียกว่าหนักหน่วง แบ่งเป็น 2 ประเด็นหลักคือ ยาและทรัพยากรชีวภาพ  เมื่อการเข้าถึงยากำลังเป็นตัวประกัน         มาเริ่มกันที่ยาซึ่งเป็นหลักประกันของระบบสุขภาพและการเข้าถึงการรักษาของประชาชน         เนื้อหาหลายประการใน CPTPP จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา เช่น การยกเลิกสิทธิพิเศษของรัฐวิสาหกิจ (ไม่นับรัฐวิสาหกิจที่ทำการค้าเพื่อผลกำไรทางธุรกิจ) ซึ่งมีรัฐวิสาหกิจจำนวนหนึ่งที่มีพันธกิจทางสังคม โดยเฉพาะองค์การเภสัชกรรม การรองรับนโยบายด้านยา เวชภัณฑ์ และวัคซีนที่จำเป็นต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศจะถูกจำกัดลงอย่างมีนัยสำคัญ         กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch กล่าวด้วยว่า CPTPP จะทำให้อุตสาหกรรมยาของไทยถูกบ่อนเซาะ เนื่องจากไทยจะไม่ได้รับประโยชน์ด้านราคายาจากการลดภาษีศุลกากรแหล่งวัตถุดิบยาที่อยู่นอกประเทศสมาชิก CPTPP ทั้งในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐยังต้องเปิดให้อุตสาหกรรมจากประเทศสมาชิกเข้ามาแข่งขันอย่างเท่าเทียม นโยบายบัญชีนวัตกรรมไทย รวมถึงระเบียบและกฎกระทรวงของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมยาในประเทศจะกลายเป็นหมัน         นอกจากนี้ สิทธิการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิหรือซีแอล (Compulsory Licensing: CL) ของไทยอาจถูกกระทบ กรรณิการ์ อธิบายว่า         “ถ้าอ่านความตกลง CPTPP ในมาตรา 1.2 ที่ระบุว่าไม่กระทบสิทธิที่ประเทศภาคีมีอยู่ตามข้อตกลงอื่น แต่ให้ข้อนี้อยู่ภายใต้มาตรา 28 ที่เกี่ยวกับการพิพาท หมายความว่าถ้ามีคู่กรณีไม่เห็นด้วยกับการใช้สิทธิก็สามารถเอาเรื่องเข้ากระบวนการระงับข้อพิพาทได้ เท่ากับนักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องรัฐได้ แล้วถ้าเกิดความจำเป็นต้องประกาศซีแอลจะมีรัฐมนตรีคนไหนกล้าทำ”         CPTPP ยังเชื่อมโยงระบบการขึ้นทะเบียนยากับระบบสิทธิบัตรเข้าด้วยกัน (patent linkage) ทั้งที่ควรแยกจากกัน เนื่องจากการขึ้นทะเบียนยาเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของยาก่อนอนุญาตให้มีการจำหน่ายในประเทศ ส่วนการรับจดสิทธิบัตรเป็นอำนาจหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ที่จะพิจารณาให้หรือไม่ให้ความคุ้มครองการผูกขาดตลาดให้กับผู้ยื่นคำขอฯ ตามเกณฑ์ด้านสิทธิบัตร เมื่อนำ 2 เรื่องนี้มาปนกันเท่ากับว่าเจ้าหน้าที่ อย. จำเป็นต้องตรวจสอบว่ายาชื่อสามัญที่ขอขึ้นทะเบียนยามีสิทธิบัตรด้วยหรือไม่     ใน CPTPP ระบุทางเลือกไว้สองทางคือ อย. ต้องแจ้งให้ผู้ทรงสิทธิบัตรรู้ว่ามีบริษัทยาอื่นมาขอขึ้นทะเบียนยาตัวเดียวกัน โดย อย. จะยังไม่รับขึ้นทะเบียน หรือให้มีระยะเวลานานพอจนกว่าผู้ทรงสิทธิฯ จะดำเนินการทางศาลหรือทางปกครองเพื่อจัดการการละเมิดสิทธิบัตรให้มีการเยียวยาหรือการชดเชยก่อน และประเทศสมาชิกต้องจัดให้มีกระบวนการอื่นแทนศาลเพื่อป้องกันไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนยาให้บุคคลอื่นโดยไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ทรงสิทธิบัตร         “ยาชื่อสามัญจะไม่สามารถเข้าแข่งขันในตลาดได้ ยาต้นแบบก็จะผูกขาดตลาดได้นานขึ้นเกินกว่า 20 ปี แม้ว่าสิทธิบัตรจะหมดอายุไปแล้ว เท่ากับเป็นการทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญภายในประเทศ และจะไม่มีบริษัทยาชื่อสามัญจากประเทศอื่นสนใจมาขายยาในประเทศไทย”         ยังไม่หมด ยังมีสิ่งที่เรียกว่ามาตรการชายแดน (Border Measure) ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรจับยึดสินค้าที่ส่งมาถึงแล้วหรือที่อยู่ในระหว่างขนส่ง เพียงแค่ ‘สงสัย’ ว่าจะละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ซึ่งขัดกับความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่รวมถึงสินค้าระหว่างการขนส่ง บวกด้วยการเอาผิดกับบุคคลอื่นเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ หมายถึงผู้ทรงสิทธิสามารถเอาผิดกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายได้ กรณีละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ซึ่งบุคคลอื่นอาจรวมถึงเจ้าของสถานที่ที่ปล่อยให้มีสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ อย่างเช่นโรงพยาบาล นอกจากบุคคลอื่นในตลอดห่วงโซ่อุปทาน         “ใน CPTPP ไม่ได้หมายความแค่เครื่องหมายการค้าที่ปลอมแปลง แต่ยังรวมถึงเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันและไม่ได้ตั้งใจที่จะละเมิดด้วย เพราะธุรกิจยา ชื่อยี่ห้อยาอาจคล้ายคลึงกันได้โดยไม่ได้ตั้งใจ โดยส่วนมากบริษัทยามักจะตั้งชื่อให้พ้องกับชื่อตัวยาสำคัญ ส่วนฉลากยาที่ระบุรายละเอียดของยาและวิธีการใช้ยาที่มากับบรรจุภัณฑ์ก็อาจถูกถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทลิขสิทธิ์ ดังนั้น เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันและฉลากยาอาจถูกใช้เป็นสาเหตุในการเอาผิดได้”  โจรสลัดชีวภาพ         นอกจากเรื่องการเข้าถึงยาแล้ว ด้านการเกษตรและทรัพยากรชีวภาพเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทยจึงแสดงจุดยืนคัดค้าน CPTPP อย่างเต็มที่ เนื่องจากมันกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องยอมรับอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอำนาจผูกขาดเมล็ดพันธุ์ของบริษัทเอกชน เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อได้         ซ้ำยังทำให้กลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ในการพัฒนายาจากสมุนไพรหรือทรัพยากรชีวภาพในประเทศเกิดความไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่มีระบุกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์เอาไว้         ทางมูลนิธิชีววิถียังกล่าวด้วยว่า CPTPP จะทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์แพงขึ้นประมาณ 2-6 เท่า เนื่องจากการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ขยายระยะเวลาเป็น 20-25 ปี และขยายการผูกขาดจากส่วนขยายพันธุ์ให้รวมถึงผลผลิต ผลิตภัณฑ์ และอนุพันธ์ของสายพันธุ์ใหม่ เช่น พันธุ์พืชที่กลายพันธุ์จากพันธุ์พืชใหม่ยังถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์ หรือหากนำข้าวจากการปลูกไปหมักเป็นเหล้า การผูกขาดก็จะขยายไปถึงเหล้าด้วย เป็นต้น         เรื่องที่ทำให้เห็นความกระตือรือร้นของหน่วยงานภาครัฐก็คือ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับทำการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เพื่อรองรับการเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งการแก้ไขกฎหมายส่งผลให้เกษตรกรที่พัฒนาพันธุ์ไปปลูกต่อมีความผิดตามกฎหมาย         เหตุนี้ อนุสัญญา UPOV 1991 จึงถูกขนานนามในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ’ กรรณิการ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า         CPTPP บังคับเข้าร่วมอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่หรือ UPOV1991 ซึ่งให้ความคุ้มครองสิทธิ์และประโยชน์กับนักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ แต่ไม่คุ้มครองชุมชนต้นทางของสายพันธุ์นั้น โดยในมาตรา 18.37 (4) บอกว่า ไม่ให้สิทธิบัตรพันธุ์พืช แต่ให้ “inventions that are derived from plants” ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นต้องการที่สุดและพยายามมาตั้งแต่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากภาคประชาชนคัดค้าน         “CPTPP เขียนอีกว่าไทยต้องเปิดให้ต่างชาติทำธุรกิจบริการด้านการวิจัยและพัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรชีวภาพของไทยและศึกษาทดลอง โดยไม่สามารถบังคับให้บริษัทเหล่านั้นถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้การลงทุนได้”         สังคมไทยคงต้องชั่งน้ำหนักว่า ผลประโยชน์ที่จะได้กับสิ่งที่จะสูญเสีย ฝั่งใดหนักหนากว่ากัน อย่าปล่อยให้รัฐบาลและกลุ่มทุนเป็นฝ่ายเดียวที่มีสิทธิตัดสินใจ

อ่านเพิ่มเติม >

เหตุผล 7 ประการที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง(จังหู)

        ประเด็นค่าไฟฟ้าแพงได้กลายเป็นกระแสทั้งในสื่อกระแสหลักและสังคมออนไลน์ ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 63 เป็นต้นมา ทั้งนี้เพราะคนส่วนใหญ่ต้องทำงานจากบ้านเพื่อตอบสนองมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” จากโรค COVID-19  บางรายเคยจ่ายของเดือนกุมภาพันธ์ ประมาณ 1,500 บาท ได้เพิ่มเป็น 5,200 บาทในเดือนมีนาคม        เจอเข้าอย่างนี้ ผู้บริโภคที่แอคทีฟจะต้องโวยอยู่แล้ว  จริงไหมครับ?        ผมขอเรียงลำดับคำตอบนี้ตั้งแต่ระดับปรากฏการณ์ไปจนถึงสาเหตุเชิงโครงสร้างของค่าไฟฟ้าแพงรวม 7 ประการ ดังนี้         ประการที่หนึ่ง เพราะเราใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นจริง         เวลาเราได้ “ใบแจ้งค่าไฟฟ้า” นอกจากต้องดูจำนวนเงินที่ต้องจ่ายแล้ว เราต้องดูจำนวนหน่วยที่ใช้ด้วย  ซึ่งคำว่า “หน่วย (unit)” หมายถึงจำนวนวัตต์ของอุปกรณ์ไฟฟ้า คูณด้วยจำนวนชั่วโมงที่ใช้ แล้วหารด้วย 1,000  เช่น หลอดไฟขนาด 18 วัตต์จำนวน 1 หลอด ถ้าเปิดวันละ 10 ชั่วโมง ใน 30 วัน จะใช้พลังงานรวม 5.4 หน่วย หรือ kwh ในภาษาวิชาการ         โดยปกติใบแจ้งค่าไฟฟ้าจะมีข้อมูลประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง 6 เดือน เราก็ลองเปรียบเทียบกันดูว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่  เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าออกมายอมรับเองว่า “บางครั้งก็มีการจดผิด”           ประการที่สอง เพราะการคิดค่าไฟฟ้าเป็นอัตราก้าวหน้า         บ้านอยู่อาศัยประเภทที่ 1.2 (มิเตอร์ 15 แอมป์) ถ้าใช้ไฟฟ้าเดือนละ 1,000 หน่วย ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่อหน่วย (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าบริการแล้ว-ในอัตราปัจจุบัน) เท่ากับ 4.41 บาท (รวมต้องจ่าย 4,406.21 บาท) แต่ถ้าใช้ 2,000 หน่วย ค่าเฉลี่ยจะเพิ่มเป็น 4.51 บาทต่อหน่วย (รวมต้องจ่าย 9,013.31 บาท)         โปรดสังเกตว่า จำนวนการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2 เท่า แต่จำนวนเงินเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า         เหตุผลที่ทางรัฐบาลใช้เกณฑ์อัตราก้าวหน้า ก็เพราะต้องการให้คนประหยัดการใช้พลังงาน ซึ่งผมเห็นด้วยหากเป็นสถานการณ์ปกติ แต่ในยุคที่รัฐบาลต้องการให้คน “ช่วยชาติ” ทำไมจึงลงโทษคนที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลด้วยการคิดอัตราก้าวหน้าด้วยเล่า         ผมเสนอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกราย ทั้งพวก “5 แอมป์” และ “15 แอมป์” ได้ใช้ไฟฟ้าฟรี 150 หน่วยแรกเท่ากัน ส่วนที่เกินให้คิดในอัตรา “คงที่” อัตราเดียว         สำหรับค่าเอฟทีรอบหน้า (พ.ค.ถึง ส.ค.) ยังคงเท่าเดิม ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันลดต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี         ประการที่สาม เพราะกำไรสุทธิของ 3 การไฟฟ้าสูงถึง 11.6%         จากรายงานประจำปี 2562 ของ กฟผ. และ กฟภ. มีกำไรสุทธิจำนวน  48,271.26 และ 15,384 ล้านบาทตามลำดับ ในขณะที่ กฟน. มีกำไรสุทธิปี 2561 (ปีล่าสุดที่เผยแพร่) จำนวน 9,094.95 ล้านบาท         เมื่อรวมกำไรสุทธินี้เข้าด้วยกัน (เพื่อให้เห็นภาพคร่าวๆ) เท่ากับ  72,750.21 ล้านบาท ในขณะที่กระทรวงพลังงาน (ตารางที่ 7.1-6 สนพ.) มูลค่าพลังงานไฟฟ้าในปี 2562 เท่ากับ 699,000 ล้านบาท ทำให้เราคำนวณได้ว่า กิจการ 3 ไฟฟ้ามีกำไรสุทธิร้อยละ 11.62 ซึ่งผมเห็นว่าเป็นอัตรากำไรที่สูงเกินไป เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยธนาคารในปัจจุบัน         ในขณะที่บริษัท บี กริม เพาว์เวอร์  จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีโรงไฟฟ้าจำนวน 2,896 เมกะวัตต์ โดยร้อยละ 65 ของรายได้ปี 2562 จำนวน 44,132 ล้านบาท มาจากการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. มีกำไรสุทธิ เท่ากับ 3,977 ล้านบาท (เจ้าของบริษัทนี้ คือมหาเศรษฐีอันดับที่ 12 ของไทยที่นายกฯประยุทธ์ มีจดหมายไปขอคำแนะนำ)         ที่กล่าวมาแล้ว เป็นเหตุผลเชิงปรากฎการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกว่าค่าไฟฟ้าแพงมาก หรือ “แพงจังหู”         เหตุผลที่เหลือเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างซึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐบาล ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของการไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยงาน คือ กฟผ., กฟน.และ กฟภ.         ประการที่สี่ เพราะเรามีโรงไฟฟ้าสำรองมากเกินไป         จากรายงานประจำปี 2562 ของ กฟผ. พบว่า นับถึงสิ้นปี 2562 ในระบบไฟฟ้าของประเทศไทยมีกำลังการผลิตจำนวน 45,298.25 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของ กฟผ.คิดเป็น 33.40% ที่เหลือเป็นของบริษัทเอกชน  โดยมีความต้องการใช้สูงสุดที่ 30,853.20 เมกะวัตต์           ถ้าคิดเป็นกำลังสำรองก็เท่ากับ 46.8%  ในขณะที่ค่ามาตรฐานสากลประมาณ 15%         อนึ่ง จากเอกสารของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่า “กำลังการผลิตในระบบ 3 การไฟฟ้าา ณ สิ้นเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 49,066 เมกะวัตต์ ไม่รวมข้อมูลของผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง(IPS)” (http://www.eppo.go.th/index.php/th/energy-information)         เราไม่ทราบว่ามีรายละเอียดอะไรซ่อนอยู่จึงทำให้ข้อมูลทั้งสองแหล่งนี้แตกต่างกันค่อนข้างมาก        กลับมาที่ข้อมูลของ กฟผ. แม้กำลังการผลิตของ กฟผ.เหลือเพียง 33.4% แต่พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็ต่ำกว่าตัวเลขนี้อีก คือ 31.49% ที่เหลืออีก 68.51% เป็นการซื้อจากบริษัทเอกชน         การมีโรงไฟฟ้าสำรองมากเกินไปถือเป็นภาระของผู้บริโภค เพราะสัญญาที่ทำไว้เป็นแบบ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย ที่เรียกว่า take or pay”         ประการที่ห้า  เพราะเราปลดระวางโรงไฟฟ้าเร็วเกินไป        สัญญาที่รัฐบาลทำกับบริษัทเอกชนทั้งที่เรียกว่า IPP และ SPP จะมีอายุระหว่าง 21 ถึง 25 ปีเท่านั้น ในขณะที่ 51% ของโรงไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา(จากทั้งหมดกว่า 530,000 เมกวัตต์) มีอายุอย่างน้อย 30 ปี ในจำนวนนี้มีโรงไฟฟ้าก๊าซฯกว่า 5 หมื่นเมกะวัตต์ มีอายุ 41 ถึง 50 ปี (https://www.eia.gov/todayinenergy/detail.php?id=1830)         ต้นทุนการก่อสร้างพร้อมดอกเบี้ยของโรงไฟฟ้าที่ถูกปลดระวาง ผู้บริโภคเป็นผู้จ่ายให้ครบหมดถ้วนแล้ว          ประการที่หก เพราะอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับภาคครัวเรือนแพงกว่าภาคธุรกิจ  จากข้อมูล         (https://www.globalpetrolprices.com/Thailand/electricity_prices/) พบว่าค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนโดยเฉลี่ยแล้วแพงกว่าในภาคธุรกิจถึง 6.6 สตางค์ต่อหน่วย (เป็นข้อมูลเดือนกันยายน 2562- แต่เกือบทุกประเทศเป็นลักษณะนี้)        จากข้อมูลของ กฟผ. ในปี 2562 ความต้องการไฟฟ้าทั่วประเทศเท่ากับ 197,873 ล้านหน่วย ในจำนวนนี้ใช้ในภาคครัวเรือน 22%  นั่นคือ ถ้าภาคธุรกิจจ่ายน้อยกว่าภาครัวเรือน 6.6 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นมูลค่าก็ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี นี่มัน “เตี้ยอุ้มค่อม” ชัด ๆ         ประการที่เจ็ด เพราะราคาก๊าซหน้าโรงไฟฟ้าแพงกว่าที่ปากหลุม 32%        จากข้อมูลในรายงานประจำปี 2562 ของ กฟผ. “ราคาก๊าซธรรมชาติหน้าโรงไฟฟ้าเฉลี่ย 263.43 บาท ต่อล้านบีทียูคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 144,794 ล้านบาท” ซึ่งผู้นำส่งก็คือบริษัทในเครือของ ปตท.         ราคาก๊าซฯเฉลี่ย 263.43 บาท สูงกว่าราคาก๊าซเฉลี่ยที่ปากหลุม(ในประเทศไทยคือ 199 บาทต่อล้านบีทียู) ถึง 32%         ในทัศนะของผม แม้จะต้องลงทุนสร้างท่อก๊าซฯ แต่ถ้าราคาก๊าซขนาดนี้ก็น่าจะสูงเกินไป  ถ้าค่าผ่านท่อ(และกำไร)ลดลงมาเหลือ 20% ราคาไฟฟ้าต่อหน่วย(ที่ผลิตจากก๊าซฯซึ่งมีสัดส่วน 57%) ก็จะลดลงมาได้ประมาณ 10 สตางค์ต่อหน่วย (ก๊าซ 1 ล้านบีทียู ผลิตไฟฟ้าได้ 220 หน่วย)นี่คือเหตุผล 7 ประการที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงจังหู ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

หน้ากากป้องกัน (Face shield) แบบของม.นิวยอร์ค ทำได้ภายใน 1 นาที

หน้ากากป้องกัน (Face shield) แบบของม.นิวยอร์ค ทำได้ภายใน 1 นาทีเวอร์ชั่นนี้มีข้อดีคือ1. ใช้วัสดุอย่างเดียวคือ พลาสติกใส2. ไม่ต้องติดแถบกาวหรือใช้ปืนกาว3. ไม่ใส่ฟองน้ำ จึงทำความสะอาดง่าย ล้างน้ำสบู่แล้วนำกลับมาใช้ได้        หน้ากากป้องกันใบหน้าเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญสำหรับผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วย COVID-19 เอกสารนี้บอกวิธีทำหน้ากากพลาสติกใสแบบปกปิดใบหน้าของผู้สวมใส่ โดยใช้ควบคู่กับ N95 และหน้ากากอนามัย สามารถป้องกันบุคลากรจากการสัมผัสกับละอองที่มีไวรัสจากผู้ป่วยเมื่อพวกเขาไอหรือจาม มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) ได้พัฒนาการออกแบบหน้ากากป้องกันใบหน้า (face shield) เพื่อตอบสนองความต้องการอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE) ของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลก หน้ากากป้องกันใบหน้าแบบอื่นใช้การพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30-60 นาทีในการพิมพ์ แต่เวอร์ชั่นนี้ใช้แค่พลาสติกใสยืดหยุ่นสองชิ้นและแถบยางยืด สามารถประกอบได้ภายใน 1 นาที ซึ่งโรงงานที่มีอุปกรณ์สำหรับการผลิตสินค้าแบบแบนๆ เช่นที่เจาะรู เครื่องตัดเลเซอร์ สามารถนำไปผลิตแบบล็อตใหญ่ได้ เวอร์ชั่นนี้ออกแบบออกร่วมกับแพทย์ ทีมของ NYU ได้เผยแพร่วิธีทำแบบโอเพนซอร์ซ เปิดให้ทุกคนนำแบบนี้ไปใช้ได้ มีคำถามเพิ่มเติมติดต่อผ่านทาง covid19.taskforce@nyu.eduดาวน์โหลดแบบตัดและวิธีทำ https://open-face-website.now.sh/instructions#downloadแบบตัดหน้ากาก https://bit.ly/shieldcutfileแบบตัดแถบคาดศีรษะ https://bit.ly/3agdvEPวัสดุ 1. แผ่นพลาสติกใส PET หนา 0.25 มม หรือวัสดุที่มีความยืดหยุ่น (เช่นโพลีคาร์บอเนต, PETA, PETG, ไวนิล)        ·        ส่วนโล่กันใบหน้า ขนาดประมาณ 31.75 x 26 ซม 1 แผ่น        ·        แถบคาดศีรษะ ขนาดประมาณ 27.3 x 2.5 ซม 1 แผ่น2. สายยางยืด กว้าง 1-1.5 ซม ยาว 40 ซม 1 เส้น3. แผ่นโฟม หนา 1 ซม ขนาด 2.5 x 25 ซม (ถ้าจะใช่แผ่นโฟมเสริมก็ได้ แต่จะทำความสะอาดยากกว่า) หน้ากากพลาสติกใสแบบปกปิดใบหน้าของผู้สวมใส่ โดยใช้ควบคู่กับ N95 และหน้ากากอนามัยไม่ใส่ฟองน้ำ จึงทำความสะอาดง่าย ล้างน้ำสบู่แล้วนำกลับมาใช้ได้ อ้างอิง Retrieved and translate by Jittiporn: 30/03/2020 – 7.00NYU makes face shield design for healthcare workers that can be built in under a minute available to allDarrell Etherington @etherington / 12:40 am +07 • March 28, 2020https://techcrunch.com/2020/03/27/nyu-makes-face-shield-design-for-healthcare-workers-that-can-be-built-in-under-a-minute-available-to-all/https://open-face-website.now.sh/instructions#download

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 โควิด 19 โรคอุบัติใหม่

        การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งต่อมาองค์การอนามัยโลกกำหนดชื่อไวรัสว่า SARS CoV-2 และชื่อโรคว่าโควิด 19 (CoVID -19) นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญยิ่งแห่งยุคสมัย การระบาดของเชื้อไวรัสที่มีแหล่งกำเนิดจากค้างคาวนี้มีจุดกำเนิดมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ตั้งแต่ธันวาคม ค.ศ. 2019  จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งได้แพร่ระบาดใหญ่ไปแล้วเกือบทั่วโลกอย่างรวดเร็ว   รวมแล้วไม่น้อยกว่า   189 ประเทศ แม้ประเทศจีนซึ่งเป็นจุดเริ่มของการระบาด จะสามารถควบคุมโรคได้แล้ว ทว่าการระบาดในประเทศอื่นๆ หลายประเทศกลับมีความรุนแรงมากขึ้น มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 330,000 คน เสียชีวิต มากกว่า 14,000 คน  ทั้งนี้เพราะไวรัสมีความสามารถในการแพร่เชื้อ มีความทนทานสภาวะแวดล้อมเมื่ออยู่นอกเซลล์ ทั้งในอากาศ และบนพิ้นผิววัตถุต่างๆ   นับว่า โควิด 19 ได้สร้างส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติอย่างกว้างขวาง ทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม  จนเป็นที่หวาดวิตกว่า กว่าจะค้นพบยาและวัคซีนป้องกันและรักษาโรคได้อาจมีความสูญเสียอย่างมาก         การจะรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่นี้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากหน่วยงานของรัฐจะต้องมีมาตรการที่เหมาะสม ทันสถานการณ์ และปฎิบัติอย่างจริงจังรอบด้านแล้ว ประชาชนจะต้องมีความรู้ที่ถูกต้อง และให้ร่วมมือปฎิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันตนเอง ครอบครัว และสังคมส่วนรวมด้วยอย่างรับผิดชอบ จึงจะสามารถคลี่คลายสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้โดยมีความสูญเสียไม่มากนัก  แต่เป็นที่น่าสลดใจว่า ความสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนจำนวนมาก ได้เกิดขึ้นในหลายประเทศ ที่จัดว่ามีระบบสาธารณสุขที่ดี มีเทคโนโลยีทันสมัยแล้ว          สำหรับประเทศไทย ระยะแรกสามารถชะลอการแพร่กระจายของไวรัสได้ดี จำนวนผู้ติดเชื้อเพียงหลักสิบคน และผู้เสียชีวิต 1 คน มีจำนวนคงที่เป็นเวลามากกว่า 2 เดือน แต่จากการอนุญาตให้มีกิจกรรมมวยที่มีผู้ร่วมงานนับหมื่นคน ประกอบกับการแพร่เชื้อจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพียงรายเดียว  เป็นจุดตั้งต้นของการแพร่เชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลายร้อยคนอย่างรวดเร็ว จนทำให้ต้องมีมาตรการปิดสถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน มหาวิทยาลัย ตามมา  ไวรัส คืออะไร         ไวรัสเป็นสิ่งไม่มีชีวิตขนาดเล็กมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น  แต่ไวรัสไม่จัดเป็นเซลล์เพราะขาดองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการ เช่น ไม่มีเยื่อหุ้มเซลล์ เป็นต้น  ไวรัสจึงมีสถานะเป็นเพียงอนุภาคขนาดเล็กมาก เล็กกว่าแบคทีเรียหลายเท่า มีขนาดอนุภาคอยู่ในช่วง 20-300 นาโนเมตรขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัส         การที่ไวรัสเป็นเพียงอนุภาคเล็กๆ จึงไม่สามารถอยู่เป็นอิสระได้  จะต้องอาศัยอยู่ในเซลล์สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอย่างจำเพาะเท่านั้น เช่น ไวรัสพืชต้องอาศัยในเซลล์พืช ไวรัสสัตว์ต้องอาศัยอยู่ในเซลล์สัตว์ ไม่สามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยกลไกต่างๆ ของเซลล์เจ้าบ้านที่ไวรัสไปอาศัยอยู่เป็นกลไกสำคัญ ทั้งนี้เพราะไวรัส มีองค์ประกอบเพียงสารพันธุกรรมชนิดดีเอ็นเอ หรืออาร์เอ็นเอ  อาจถูกห่อหุ้ม ด้วยโปรตีนหน่วยย่อยที่รวมกันอยู่เป็นแคพซิด (capsid) นอกจากนี้ไวรัสบางชนิดอาจมีเยื่อหุ้มบางๆ ซึ่งเป็นสารพวกไลโปโปรตีนหรือไกลโคโปรตีน ที่ไวรัสได้จากเซลล์เจ้าบ้านที่ไวรัสไปอาศัย ห่อหุ้มไว้อีกชั้นหนึ่งเท่านั้น         สำหรับ SARS CoV- 2 จัดอยู่ในกลุ่มโคโรนาไวรัส เป็นสมาชิกในกลุ่มเดียวกับไวรัสก่อโรคระบบทางเดินหายใจที่เคยระบาดใหญ่มาก่อน คือ ซาร์ส ( SARS) และเมอร์ส ( MERS) ซึ่งเชื้อล้วนมีต้นกำเนิดมาจากค้างคาว แล้วแพร่ผ่านสัตว์ตัวกลางมาสู่คน เช่นเดียวกัน โดยทั่วไป ไวรัสแต่ละชนิดต้องอาศัยเซลล์เจ้าบ้านที่จำเพาะเจาะจงดังกล่าวแล้ว ดังนั้นตามปกติไวรัสไม่มีการก่อโรคในสัตว์ข้ามชนิดกัน  แต่อาจมีกรณีพิเศษเกิดการปรับตัวกลายพันธุ์ ทำให้มีการติดเชื้อข้ามกลุ่มจากสัตว์มาสู่คนได้ ตัวอย่าง เช่น ไข้หวัดนก เอชไอวี และซาร์ เมอร์ เป็นต้น         โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ  SARS CoV- 2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด- 19  มีขนาดเพียงประมาณ 0.125 ไมครอนหรือ 125 นาโนเมตร  มีสารพันธุกรรม เป็น  อาร์เอ็นเอสายบวก ซึ่งจะสามารถแปลรหัสสร้างกรดอะมิโนและโปรตีนได้โดยตรง ทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ปัจจุบัน(เท่าที่มีข้อมูล) พบว่าไวรัสเกิดการกลายพันธุ์เป็น 2 สายพันธุ์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการก่อโรคแตกต่างกัน ให้ชื่อว่า ชนิดเอส ( Serine) และชนิดแอล ( Leucine) ตามชนิดของกรดอะมิโนที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากการกลายพันธุ์ของจีโนม แนวโน้มสถานการณ์         องค์การอนามัยโลก ยกระดับการระบาดของโควิด 19 ให้เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก   นักระบาดวิทยาประเมินสถานการณ์ว่า  ไวรัสคงแพร่ระบาดอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี จนทำให้มีคนติดเชื้อจำนวนมาก แล้วมีภูมิคุ้มกันกลุ่มเกิดขึ้น ทำให้คนมีภูมิต้านทาน  ดังนั้นไวรัสจะถูกยับยั้งได้ หรือถ้าสามารถค้นพบวัคซีนได้รวดเร็ว ก็จะช่วยลดระยะเวลาการระบาดให้สั้นลงได้         ในเมื่อมีแนวโน้มว่า ประชาชนคงต้องอยู่เผชิญกับโรคโควิด 19 กันอีกเป็นเวลานานพอสมควร ประชาชนจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจ ในประเด็นที่สามารถนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพตนเอง             -          ความทนทานของไวรัส มีรายงานการทดลองล่าสุดว่า ไวรัส SARS CoV- 2 มีความทนทานสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างอิสระในอากาศได้ 2 -8 ชั่วโมง และอยู่บนพื้นผิววัสดุชนิดพลาสติก เหล็ก ทองแดง กระดาษได้นานประมาณ 9 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ และความชื้น ดังนั้น ทำให้ไวรัสสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ             -          ระยะเวลาฟักตัว ประมาณ 2- 14 วัน พบในบางราย มีระยะฟักตัวนาน  21 วัน และ 28 วัน ซึ่งคงเนื่องมาจาก ปริมาณเชื้อเริ่มต้นที่ผู้ป่วยได้รับว่ามีมากน้อยเพียงใด และเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางไหน             -          ความสามารถในการแพร่เชื้อ จากการประมวลผล การแพร่ระบาดในประเทศจีน พบว่า ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการใดๆ คือยังอยู่ในระยะฟักตัว สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้แล้วในอัตรา RO  1.6 ทุกๆ 5.4 วัน ซึ่งเป็นความสามารถแพร่เชื้อได้ดี             -          การก่อโรคของไวรัสโควิด 19  แม้ว่าไวรัสจะมีระยะฟักตัวหลายวัน แต่ค้นพบว่า ไวรัสเข้าสู่เซลล์เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอนุภาคของไวรัสจะจับกับตำแหน่งตัวรับจำเพาะที่อยู่บนเซลล์เจ้าบ้านเช่น เซลล์ปอดได้อย่างดี แล้วเข้าไปชักนำให้เซลล์เจ้าบ้านมาสร้างสารพันธุกรรม และโปรตีนของไวรัสแทน ในปริมาณมาก จนได้ส่วนประกอบต่างๆ ของไวรัสจำนวนมาก เพื่อประกอบเป็นอานุภาคของไวรัสใหม่ๆ แล้วไวรัสจะออกจากเซลล์เดิมโดยนำเอาส่วนเยื่อหุ้มเซลล์ไปด้วย  ทำให้เซลล์เจ้าบ้านถูกทำลาย  ไวรัสก็จะไปเข้าสู่เซลล์ข้างเคียง แล้วทำลายเซลล์ต่อไปทำนองเดียวกัน  หากไม่สามารถยับยั้งกระบวนการนี้ อวัยวะเป้าหมายจะถูกทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ             -          การติดเชื้อซ้ำ มีข้อสงสัยในประเด็นนี้ เพราะมีรายงานข่าวจากประเทศจีนว่า มีคนไข้บางราย ที่รักษาหาย ตรวจไม่พบกรดนิวคลิอิกของไวรัสแล้ว แต่หลังจากนั้นก็กลับมาป่วยใหม่ จึงมีข้อสงสัยและความเป็นไปได้ว่า                 o   คนไข้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์จากเชื้อเดิม หรือ                o   คนไข้ยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกาย แต่ตรวจไม่เจอ และไม่มีอาการป่วยแล้วระยะหนึ่ง จากนั้นไวรัสเพิ่มจำนวนมากขึ้นใหม่ วัคซีน เมื่อไหร่จะได้ใช้         จากเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้สามารถทราบสารพันธุกรรม องค์ประกอบของโปรตีน ลักษณะสามมิติ ตลอดจนวงจรชีวิต ของไวรัส SARS CoV- 2  อย่างรวดเร็ว การออกแบบพัฒนาวัคซีนจึงเป็นไปอย่างรวดเร็วมากเช่นกัน  โดยอาจมุ่งออกแบบวัคซีนเพื่อยับยั้งระยะการเข้าเซลล์ การสร้างโปรตีน หรือ การสังเคราะห์กรดนิวคลิอิก  เป็นต้น  ปัจจุบัน อย่างน้อย 3 ประเทศ คือ จีน สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล  ประกาศว่าได้พัฒนาวัคซีนถึงขั้นทดลองในสัตว์ และคนได้แล้ว โดยจำแนกเป็นวัคซีน 3 ชนิด คือ วัคซีนเชื้อตาย  วัคซีนเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนกำลังลงโดยเทคนิคพันธุวิศวกรรม  และแมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเอ วัคซีน (mRNA vaccine)  แต่การใช้วัคซีนใดๆ จำเป็นต้อง ทำการทดสอบหลายขั้นตอน ทั้งประสิทธิภาพ และความปลอดภัย คาดว่าคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี จึงจะสามารถประเมินผลได้ หากได้ผลดีจึงจะทำการผลิตในระดับอุตสาหกรรมต่อไป หากไม่ได้ผล ก็ต้องเริ่มต้นคัดเลือกโมเลกุลเพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนใหม่ จึงต้องใช้เวลาเช่นกัน  ดังนั้นการจะรีบนำวัคซีนที่พัฒนาได้มาใช้ในคน โดยลัดขั้นตอนพิสูจน์ความปลอดภัย อาจทำให้เกิดผลเสียกับคนไข้ได้        สำหรับประเทศไทย มีการแถลงข่าว ลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน เพื่อการพัฒนาวัตซีนโควิด 19 เช่นกัน จึงจะต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป         ดังนั้น ในระยะนี้ ประเทศต่างๆ จึงได้พยายามทดสอบหายาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อ SARS CoV- 2 ต่อไป ที่ผ่านมา ได้มีการนำยาต้านไวรัสชนิดอื่นที่มีอยู่แล้ว เช่น ซาร์ส เอชไอวี หรือ ยาต้านมาลาเรีย มาทดลองใช้รักษาผู้ป่วยร่วมกับการรักษาตามอาการ แต่ปรากฏว่า ผลที่ได้ยังไม่ชัดเจน ยังต้องทำการทดลองต่อไป การกลายพันธุ์         โคโรนาไวรัส เป็นอาร์เอนเอไวรัสสายเดี่ยวดังได้กล่าวมาแล้ว ไวรัสจึงมีความสามารถกลายพันธุ์แบบ ไม่เจาะจง (random mutation) ได้มาก ในระหว่างการเพิ่มสารพันธุกรรมของไวรัสในเซลล์เจ้าบ้าน  แต่ส่วนใหญ่การกลายพันธุ์จะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของไวรัส เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอเพียงหนึ่งตำแหน่ง หรือไม่กี่ตำแหน่ง  และตำแหน่งที่กลายพันธุ์อาจไม่ส่งผลให้ชนิดของกรดอะมิโนเปลี่ยนแปลงก็ได้  ดังนั้นการกลายพันธุ์ที่ส่งผลให้คุณสมบัติไวรัสเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ต้องใช้เวลา และการปัจจัยที่เหมาะสม         การกลายพันธุ์อาจทำให้เชื้อก่อโรครุนแรงขี้น หรืออ่อนกำลังลงก็ได้ หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติในการก่อโรคก็ได้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลง  จึงไม่ควรวิตกกังวลประเด็นนี้มากนัก เพราะถ้าไวรัสทำลายแหล่งอาศัยอย่างรุนแรง จนเสียชีวิตจำนวนมาก ไวรัสก็อาจมีแหล่งอาศัยน้อยลงด้วย   ตัวอย่าง ไวรัสเอชไอวีที่ก่อโรคเอดส์ แม้เชื้อจะกลายพันธุ์มากมายในคนไข้แต่ไม่ได้ก่อโรครุนแรงเพิ่มขึ้น  ทั้งๆ ที่ปัจจุบันเรายังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ใช้ คนไข้ที่กินยาต้านไวรัสก็สามารถมีชีวิตยืนยาวได้  ประชาชนจะรับมืออย่างไร            การแพร่ระบาดทั่วโลกของโควิด 19 ครั้งนี้เป็นบทเรียนครั้งสำคัญของมวลมนุษยชาติ ว่าพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่เหมาะสมเพียงจุดเดียว สามารถนำเชื้อไวรัสในค้างคาวที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาก่อโรคในคน แล้วแพร่ระบาดไปตามเส้นทางการคมนาคมที่สะดวกสบายในปัจจุบัน จนมีคนติดเชื้อทั่วทุกทวีปภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน  ทั้งๆ ที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้มีมาตรการรับมืออย่างเต็มที่ภายใต้บริบทและทรัพยากรของประเทศเหล่านั้น แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดได้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนอย่างกว้างขวาง          ในกรณีของประเทศไทย   ณ ปัจจุบัน การระบาดดำเนินมาถึงจุดสำคัญมากว่า จะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยลงได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จำนวนคนป่วย คนเสียชีวิต จะเพิ่มขึ้นเป็นหลักพันในเวลาอันใกล้นี้  ซึ่งการจะควบคุมสถานการณ์ให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนอย่างมาก          ประชาชนทั่วไปควรตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามคำแนะนำ อย่างเคร่งครัด และมีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้อย่างจริงจังเพื่อให้สามารถป้องกันตนเองและครอบครัวอย่างเหมาะสม เพราะว่าไวรัสนี้ จะแพร่กระจายติดต่อได้ง่าย ผู้ติดเชื้อไวรัสมีระยะเวลาในการฟักตัวนานประมาณ 2-14 วันเป็นส่วนใหญ่ หรือบางรายอาจถึง 27 วัน  ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่เข้าสู่ร่างกายครั้งแรกว่ามี มากน้อยเพียงใด  ไวรัสแพร่ออกจากร่างกายคนพร้อมสารคัดหลั่งต่างๆ โดยการ ไอ จาม  ของผู้ที่มีอาการแล้ว ในกรณีนี้ เราจะระมัดระวังได้ง่ายกว่าพวกที่ยังไม่มีอาการ        พึงตระหนักว่า ไวรัสแพร่จากร่างกายคนไม่มีอาการ หรืออยู่ในระยะฟักตัวได้  โดยที่ในระยะนี้ ไวรัสอาจอยู่บริเวณเยื่อเมือกบริเวณจมูก ปาก แล้วผู้ป่วยอาจสัมผัสร่างกายบริเวณนั้นๆ แล้วไปสัมผัสสิ่งของ วัตถุต่างๆ ซึ่งเราป้องกันการรับเชื้อได้โดยการล้างมือบ่อยๆ หลังจากไปสัมผัสสิ่งต่างๆ รอบตัว ไวรัสแพร่เชื้อจากคนสู่คน ดังนั้น การอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด พลุกพล่าน ย่อมมีโอกาสรับเชื้อได้ง่าย จึงต้องหลีกเลี่ยงไม่ไปอยู่ในสถานที่เช่นนั้น   หากไม่ระมัดระวังอาจจะรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางจมูก ปาก ตา ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80 % อาการไม่รุนแรง  บางคนหายเองโดยภูมิต้านทานของตนเอง หรือเพียงแต่รักษาตามอาการ         ไวรัสก่อโรครุนแรง หากมีการติดเชื้อในปอด โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งตามรายงานปัจจุบันอยู่ที่ 4.23 % ผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อที่ปอด เมื่อหายแล้วพบว่ามียังรอยโรคที่ปอด ร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมได้ ทำให้ปอดทำงานไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม ไวรัสมีผลต่อระบบประสาทของการรับรสชาติในผู้ป่วยบางราย         ดังนั้นแม้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง แต่เป็นผู้แพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นๆ ได้ดี ผู้ป่วยที่หายจากโรคแล้วอาจมีปัญหาสุขภาพบางประการตามมา  การป้องกันการติดเชื้อไวรัสนี้เป็นมาตรการที่ดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 เงินเดือน 6 หลักแล้วรวย...จริงเหรอ?

                เคยเห็นหนังสือ how to ที่ชื่อเรื่องออกไปทำนองว่าทำอย่างไรถึงจะมีเงินเดือนหรือรายได้ 6 หลักไหม?         เป็นความฝันของใครหลายๆ คนเลยล่ะ เดี๋ยวก่อน ถ้าคุณเข้าใจว่าการมีเงินเดือนสูงๆ แล้วคิดว่าตัวเองเป็นคนรวยล่ะก็ คุณกำลังเข้าใจผิดอย่างแรงเลย เพราะความร่ำรวยหรือคำที่น่าจะใช่กว่าคือความมั่งคั่ง (wealth) เป็นคนละเรื่องกับการมีรายได้สูง เพียงแต่คนที่มีรายได้สูงมีโอกาสที่จะสร้างความมั่งคั่งได้ง่ายกว่าคนที่มีรายได้ต่ำ         เรื่องการจัดการการเงินส่วนบุคคลนี่ซับซ้อนพอประมาณเหมือนกัน ไม่ผิดถ้าคิดว่าเงินก็คือทรัพย์สินแบบหนึ่ง แต่มันก็ง่ายเกินไป          รู้จัก henry ไหม?         เปล่า, ไม่ใช่ชื่อคน มันย่อมาจาก high earner not rich yet หรือคนที่หาเงินได้เยอะ แต่ทำยังไงก็ยังไม่รวย เพราะเงินที่หามาได้หมดไปกับการช้อปปิ้ง ท่องเที่ยว ซื้อประสบการณ์ พักโรงแรมหรู กินอาหารดี เสื้อผ้าแบรนด์เนม รายได้ 6 หลักจึงหมดไปกับเรื่องพวกนี้ เผลอๆ จะเป็นหนี้บัตรเครดิตด้วย         ดังนั้น การมีเงินเดือนหรือรายได้สูงๆ ไม่ได้หมายความว่าคุณร่ำรวย มันเพียงทำให้คุณมีกำลังซื้อมากกว่าคนอื่นเท่านั้น เพราะความมั่งคั่งไม่ได้วัดกันที่จำนวนรายได้ แต่วัดกันที่ความมั่งคั่งสุทธิหรือมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดลบด้วยมูลค่าหนี้สินทั้งหมด ถ้าทรัพย์สินมากกว่าหนี้มากๆ เท่ากับคุณมีความมั่งคั่งสุทธิมาก ยิ่งทรัพย์สินนั้นสามารถเพิ่มมูลค่าตัวมันเองได้ ความมั่งคั่งของคุณก็จะยิ่งสูงขึ้น นี่แหละที่เรียกว่าการลงทุน เช่น ซื้อที่ดินไว้ 1 ไร่ราคา 5 แสนบาท ผ่านไป 5 ปี ราคาเพิ่มเป็น 1 ล้านบาท เป็นต้น         คงเริ่มเห็นความแตกต่างระหว่างการมีรายได้สูงกับความมั่งคั่งกันแล้ว         ถ้าคุณมีประสบการณ์กับธุรกิจขายตรงที่ต้องหาทีมหรือลูกข่าย ยิ่งหาได้เยอะ รายได้คุณจะเยอะตาม เชื่อไหมว่าคนที่หารายได้ได้สูงๆ จากอาชีพนี้ บางครั้งก็ติดกับดักตัวเอง ยังไง? เพื่อให้ลูกข่ายเห็นว่าการทำอาชีพนี้จะทำให้ประสบความสำเร็จหรือร่ำรวย (ซึ่งเอาเข้าจริง มันเป็นคนละเรื่องกัน) และดึงดูดให้คนเข้ามาเป็นลูกข่ายมากขึ้น หัวหน้าทีมก็เลยต้องมีบ้านหลังโต รถหรู ใช้ของแบรนด์เนม         ลองคิดดู นาย ก. รายได้ต่อเดือน 1 แสนบาท ซื้อบ้านใหญ่โตมโหฬารราคา 5 ล้าน ผ่อนเดือนละ 35,000 บาท ผ่อนรถอีกหลักหมื่น ค่าใช้จ่ายเสริมภาพลักษณ์อีกหลักหมื่น ค่าส่งลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์อีกหลักหมื่น เผลอๆ เงินไม่เหลือ         ส่วนนาย ข. เงินเดือน 30,000 บาท เช่าห้องอยู่ ใช้รถโดยสารไปทำงาน ส่งเสียที่บ้านตามสมควร หนี้สินไม่มี แถมมีเงินเก็บทุกเดือน เดือนละ 3,000 บาท ชีวิตอาจไม่ดูดีเท่านาย ก. แต่ความมั่งคั่งของนาย ข. อาจเท่าๆ กันหรือสูงกว่า นาย ก.         สรุปคือ ถึงคุณจะมีเงินเดือนหลักแสน มันก็ไม่ได้ทำให้คุณมั่งคั่งหรือรวย ถ้าคุณยังไม่รู้ว่าอะไรกันแน่ที่สำคัญกับชีวิตคุณจริงๆ และใช้จ่ายเพื่อสิ่งสำคัญนั้น ไม่ใช่เพื่อให้คนอื่นจับจ้องหรืออิจฉาชีวิตคุณ คุณก็จะเป็นได้แค่ henry ต้องทำงานๆ เพื่อให้มีเงินจับจ่าย โดยแทบไม่มีเงินเก็บและต่อยอดลงทุนเลย

อ่านเพิ่มเติม >

คะแนนด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังต่ำ เน้นทำ CSR มากกว่าปรับนโยบาย

ภาคประชาสังคมเปิดคะแนนนโยบายด้านสังคมของ 8 ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย พบว่าในภาพรวมคะแนนยังต่ำอยู่ เผยเน้นทำกิจกรรม CSR แต่ไม่สนบรรจุเป็นนโยบายบริษัท แนะใช้วิธีการซื้อตรงจากเกษตรกรอย่างรับผิดชอบแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแคมเปญ ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ เปิดผลการประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของ 8 ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในประเทศไทย ประจำปี 2562 พบว่าในภาพรวม ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังทำคะแนนได้ไม่ดีนัก โดยมีซูเปอร์มาร์เก็ตถึง 4 รายที่ไม่ได้คะแนนเลยในการประเมินครั้งนี้ ได้แก่ Big C, Foodland, Gourmet Market และ Villa Market โดยการประเมินครอบคลุมตัวชี้วัดย่อยใน 4 มิติด้วยกัน คือ ความโปร่งใส สิทธิแรงงาน เกษตรกรรายย่อย และสิทธิสตรีสำหรับซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้คะแนนจากการประเมินประจำปีนี้ ได้แก่ CP Freshmart (มิติความโปร่งใส 2 คะแนน มิติสิทธิแรงงาน 6 คะแนน และมิติเกษตรกรรายย่อย 3 คะแนน) Makro (มิติความโปร่งใส 3 คะแนน มิติสิทธิแรงงาน 3 คะแนน และมิติเกษตรกรรายย่อย 4 คะแนน) Tesco (มิติความโปร่งใส 10 คะแนน มิติสิทธิแรงงาน 14 คะแนน มิติเกษตรกรรายย่อย 5 คะแนน และมิติสิทธิสตรี 6 คะแนน) และ Tops (หมวดสิทธิสตรี 1 คะแนน)นายธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย เปิดเผยว่า “เราประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตรอบนี้เป็นปีที่สอง เจ้าที่ทำคะแนนได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว คือ CP Freshmart, Makro และ Tesco เจ้าที่ได้คะแนนเท่าเดิมคือ Tops ส่วนเจ้าที่คะแนนน้อยลงคือ Big C ลดจาก 1 เหลือ 0 คะแนนในปีนี้ เราตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะ Big C เพิ่งจะเปลี่ยนเจ้าของและออกจากตลาดหลักทรัพย์ไป ทำให้ไม่มีรายงานประจำปีเหมือนเมื่อก่อน ส่วนอีก 3 เจ้ายังไม่เคยได้คะแนนเลยตั้งแต่การประเมินปีที่แล้วครับ”“ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือคะแนนของ Tesco ที่เกือบทั้งหมดได้มาจากการประกาศนโยบายของบริษัทแม่ที่อังกฤษ ถ้าดูเฉพาะข้อมูลที่ปรากฎบนช่องทางของ Tesco Lotus ในไทยอย่างเดียวจะคะแนนได้น้อยมาก คือได้แค่คะแนนเดียวในมิติเกษตรกรรายย่อย และไม่ได้คะแนนเลยในมิติอื่นๆ ครับ” นายธีรวิทย์กล่าวเสริมด้านนางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นเรื่องความเป็นธรรมและยั่งยืนกำลังเป็นเทรนด์ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตระดับโลกให้ความสำคัญกันมากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการตรวจสอบย้อนกลับเส้นทางอาหาร การใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินระดมทุนเพื่อพัฒนาด้านความยั่งยืน การศึกษาวิจัยว่ารายได้ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของคนที่ทำงานบนเส้นทางอาหารควรเป็นเท่าใด เป็นต้น ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยกลับยังไม่ให้ความสำคัญในด้านนี้มากนัก เห็นได้จากคะแนนประเมินนโยบายด้านสังคมล่าสุดที่ภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และส่วนใหญ่ยังทำประเด็นความยั่งยืนกันในลักษณะกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นครั้งคราวเท่านั้น ไม่ได้กำหนดไว้ในนโยบายของบริษัทเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจหลักแต่อย่างใด“จะเห็นว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทยเน้นทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือที่เรียกกันว่า CSR เยอะมากนะคะ เช่น โครงการรับซื้อหรือสนับสนุนให้เกษตรกรเอาผักหรือผลไม้มาขายโดยตรงซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำแค่เป็นครั้งคราวไป และอาจจะไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจน อาจจะดี แต่จะเลิกทำเมื่อไรก็ได้ การที่เราประเมินตัวนโยบายและเรียกร้องให้เขาบรรจุเรื่องทางสังคมเป็นนโยบายก็เพื่อให้บริษัทมีพันธสัญญาในระยะยาวที่จะต้องทำให้เส้นทางการผลิตและจำหน่ายอาหารของตัวเองดีขึ้น ถ้านโยบายดีแล้ว ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้บริหารไปอีกกี่คน นโยบายมันก็ยังอยู่ให้คนต่อๆ ไปมาสานต่อได้ค่ะ” นางสาวทัศนีย์กล่าวทั้งนี้ แคมเปญซูเปอร์มาร์เก็ตที่รักยังเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคแน่ใจได้ว่าการซื้อตรงจากเกษตรกรหรือ Direct Sourcing เป็นไปอย่างเป็นธรรมและรับผิดชอบ เพื่อช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยได้ยกตัวอย่างกรณีสหกรณ์ท่ายาง จ.เพชรบุรี ซึ่งมีการรวมกลุ่มเกษตรกรอย่างเข้มแข็ง ส่งขายให้กับซุเปอร์มาร์เก็ตอย่างเป็นระบบ สามารถระบุที่มาของผลผลิต ตรวจสอบย้อนกลับได้ชัดเจน โดยกลุ่มเกษตรกรสามารถกำหนดราคาขายที่พอใจได้เองด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการซื้อตรงอย่างเป็นธรรมและรับผิดชอบสามารถทำได้จริงในประเทศไทยด้าน นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก ระบุว่า “แม้ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายเจ้าในประเทศไทยตอนนี้จะบอกว่ามีการซื้อตรงจากเกษตรกรแล้ว ซึ่งเราก็ยินดีนะคะ แต่แค่การซื้อตรงอย่างเดียวยังไม่สามารถเป็นหลักประกันว่าเกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกรผู้ผลิต คุณต้องเปิดเผยข้อมูลด้วยว่าทำอย่างไร ทำไปเท่าไร กับที่ไหนบ้าง และผู้บริโภคจะสามารถตรวจสอบข้อมูลได้อย่างไร เพราะซูเปอร์มาร์เก็ตมีอิทธิพลสูงมากในกระบวนการผลิตและจำหน่ายอาหารทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ทั้งชาวนา ชาวไร่ ชาวประมง แรงงาน พนักงาน มาจนถึงผู้บริโภคเองด้วย ผู้บริโภคที่แคร์ความยั่งยืนอย่างเรา เราก็อยากจะมั่นใจได้ว่าทุกการกระทำและคำโฆษณาของซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นความจริง โปร่งใส และตรวจสอบได้ค่ะ”แคมเปญ ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนจากโครงการ SWITCH-Asia II ของสหภาพยุโรป และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในการผลิตและจำหน่ายอาหารในประเทศไทย ผ่านการรณรงค์ให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับอาหารที่ ‘ดีตั้งแต่ต้นทาง’ คือ เป็นธรรมกับเกษตรกรและแรงงาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอ่าน ผลประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมซูเปอร์มาร์เก็ตไทย ปี 2562

อ่านเพิ่มเติม >

จะดีไหม.. ถ้าคนไทยจ่ายหนี้ได้ด้วยแดด ?

เปรียบเทียบนโยบายพลังงาน รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ กับ รัฐบาลอินเดียโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสาท มีแต้มถ้าเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอินเดียนับจากช่วงต้นปี 2562 เป็นต้นมา พบว่ามีทั้งสิ่งที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ที่คล้ายคลึงกันก็คือมีการเลือกตั้งทั่วไปในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แต่ที่แตกต่างกันก็คือ รัฐบาลอินเดียใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลที่รวดเร็ว ในขณะที่รัฐบาลไทยใช้เวลา 4 เดือนกว่าจึงจะได้แถลงนโยบายรัฐบาลแต่ที่แตกต่างกันในสาระสำคัญที่มากกว่านั้นก็คือ การมีนโยบายเพื่อลดปัญหาสำคัญของชาติ คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งประเทศไทยเรามีความรุนแรงกว่าของประเทศอินเดียมาก กล่าวคือ ครัวเรือนของไทยมีจำนวนหนี้ที่มากกว่าหลายเท่าและเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่ามากในปี 2560 ขณะที่ครอบครัวชาวอินเดียมีหนี้รวมกันประมาณเพียงร้อยละ 12 ของจีดีพี และมีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2553 เพียงร้อยละ 1.5  แต่ครอบครัวคนไทยในปี 2560 มีหนี้รวมกันถึงร้อยละ 70 ถึง 76 ของจีดีพี และมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 ถึง 18  นับจากช่วงเดียวกัน  (ดูภาพประกอบ)จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อสิ้นไตรมาสแรกของปี 2562  “จำนวนเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน” ของคนไทยมีจำนวน 12.967 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 78.7 ของจีดีพี สูงเป็นอันดับที่ 10 จากการสำรวจ 89 ประเทศทั่วโลก - ข่าวสด 6 มิ.ย.62) หรือเฉลี่ยคนละ 195,000 บาท  ในขณะที่เมื่อสิ้นปี 2561 คนไทยมีหนี้สินเฉลี่ยคนละ 193,000 บาทอันตรายของการมีหนี้จำนวนเยอะๆ และเป็นเวลานานๆ  จะเป็นอย่างไรนั้น ผมจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ แต่จะขอกล่าวถึงสาเหตุของการมีหนี้และแนวทางการลดจำนวนหนี้ โดยจะยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมด้วยนโยบายโซลาร์เซลล์ โดยเน้นไปที่ประเทศอินเดียและประเทศไทย ซึ่งผมได้เรียนมาตั้งแต่ต้นว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจากบทความเรื่อง “วินัยทางการเงินของครัวเรือนไทยและบทบาทของ ธปท. ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน”  ในรายงานนโยบายการเงิน มีนาคม 2562  ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้จากการสอบถามความคิดเห็นในประเด็น “สาเหตุที่ทำให้ครัวเรือนมีหนี้” พบว่ามีผู้เห็นด้วยกับสาเหตุ “รายรับไม่พอกับรายจ่าย” และ “ขาดวินัยทางการเงิน” สูงเป็นดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับแต่ในความเห็นของผมแล้ว ผมคิดว่านโยบายของรัฐบาลก็มีส่วนสำคัญมากที่ทำให้คนไทยเป็นหนี้ โดยผมจะยกตัวอย่างเปรียบเทียบจากโครงการโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐคุชราต (Gujarat- มีประชากร 60 ล้านคน) ของประเทศอินเดียและของประเทศไทยรัฐบาลอินเดียและรัฐบาลแห่งรัฐคุชราต ได้ออกนโยบายสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาจำนวน 2 แสนครอบครัวในปีงบประมาณ 2019-2020 โดยได้รับการอุดหนุนถึง 40% ของต้นทุนการติดตั้งที่ขนาดไม่เกิน 3 กิโลวัตต์ และ 20% สำหรับขนาดระหว่าง 3 ถึง 10 กิโลวัตต์  โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลแห่งรัฐรับค่าใช้จ่ายไปรวม 50% ที่เหลืออีก 50% เป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้านที่ต้องลงทุนเอง (https://cleantechnica.com/2019/07/11/gujarat-to-subsidize-rooftop-solar-systems-in-200000-homes/)ไฟฟ้าที่ผลิตได้ หากเหลือใช้ก็สามารถขายให้กับระบบสายส่งได้ แต่ในรายงานข่าวดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าจะรับซื้อในราคาเท่าใดโครงการดังกล่าวรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไว้ประมาณ 4,500 ล้านบาท สำหรับนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะแถลงในวันที่ 25-26 กรกฎาคม นี้  ผมยังเปิดไฟล์ทั้งหมดไม่ได้ (โดยอ้างว่าไฟล์เสีย) แต่ที่พบแล้วใน หัวข้อที่ 5.2 พัฒนาภาคอุตสาหกรรม มีเฉพาะประโยคที่ว่า “ส่งเสริมพลังงานทดแทน” โดยไม่มีรายละเอียดอะไรเลยอย่างไรก็ตาม ที่เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์บนหลังคาซึ่งกระทรวงพลังงานได้ประกาศไปแล้วเมื่อช่วงก่อนการเลือกตั้งเล็กน้อย  สรุปว่า “จะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ เฉพาะที่เหลือจากการใช้เอง ในราคาหน่วยละ 1.68 บาท เป็นเวลา 10 ปี ในขณะที่ทางการไฟฟ้าขายให้กับครัวเรือนที่ใช้เดือนละ 500 หน่วย ในราคาที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หน่วยละ 3.80 บาท (ความจริงคือ 3.93 บาท)” จากการศึกษาของกระทรวงพลังงานเองได้ข้อสรุปว่า ถ้าผู้อยู่อาศัยขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จำนวนครึ่งหนึ่งให้ทางการไฟฟ้าในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย อีกครึ่งหนึ่งสำหรับการใช้เอง จะทำให้ถึงจุดคุ้มทุนภายในเวลา 7.8 ถึง 10.2 ปี  โดยไม่มีการคิดค่าดอกเบี้ยที่เกิดจากการลงทุน นอกจากนี้อายุการใช้งานของโซลาร์เซลล์ปกติจะนาน 25 ปี แล้วที่เหลืออีก 15 ปี จะให้นำไฟฟ้าไปขายให้ใคร ?เป็นที่น่าสังเกตว่า กติกาการรับซื้อดังกล่าว แตกต่างจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่อย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ทาง กฟผ. จะต้องจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ซึ่งหมายถึง ค่าลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าบำรุงรักษาและค่าดอกเบี้ยด้วย  แต่กับกรณีโซลาร์เซลล์บนหลังคาของคนธรรมดาซึ่งมีหนี้ท่วมหัว ทางกระทรวงพลังงาน (1) ไม่คิดดอกเบี้ยให้ (2) ซื้อในราคาที่ต่ำมาก ในขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงซื้อจาก กฟผ. ในราคา 2.72 บาทต่อหน่วย และ (3) รับซื้อเพียง 10 ปีเท่านั้น  โดยมีเป้าหมายในการรับซื้อ 100 เมกะวัตต์  หรือ 1 ถึง 3 หมื่นหลังโดยประมาณ ในขณะที่รัฐบาลอินเดียนอกจากจะจ่ายเงินอุดหนุนให้ถึง 20 ถึง 40% ถึง 2 แสนหลังแล้ว ยังรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือและยังไม่ต้องติดมิเตอร์ (ที่ไม่จำเป็นถ้ารับซื้อไฟฟ้าในราคาที่เท่ากับราคาขาย) เพิ่มอีก 7,500 บาทต่อหลังอีกด้วย นี่คือความไม่เป็นธรรมที่รัฐบาลไทยเลือกปฏิบัติระหว่างคนไทยธรรมดาๆ กับเจ้าของไฟฟ้าขนาดใหญ่ส่งผลให้เจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่คนหนึ่งซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.จำนวนประมาณ 11,910 เมกะวัตต์ กลายเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับที่ 267 ของโลก คือนาย Sarath Ratanavadi  (https://www.bloomberg.com/billionaires/)  และส่งผลให้คนไทยที่ถูกนโยบายพลังงานของรัฐบาลกดทับต้องมีหนี้ท่วมหัวดังที่กล่าวแล้วจริงอยู่ครับว่า สาเหตุของการเป็นหนี้มีหลายอย่าง แต่ตัวอย่างที่ผมยกมาเป็นแค่เรื่องไฟฟ้าที่มีมูลค่าทั้งประเทศปีละ 6.7 แสนล้านบาท ถ้าเราจัดสรรให้แต่ละหลังคาสามารถผลิตเองได้สัก 1 ล้านหลัง ขนาด 3 กิโลวัตต์ ในราคาหน่วยละ 3.90 บาท ก็จะสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ปีละ 17,400 ล้านบาท นอกจากจะเป็นการช่วยลดจำนวนหนี้แล้ว จะมีการจ้างงานจำนวนมากซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจอีกด้วยนะครับเนื่องจากว่า ผมยังเปิดไฟล์คำแถลงนโยบายของรัฐบาลฉบับเต็มยังไม่ได้ แต่เชื่อว่าจะเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี2018) ซึ่งเพิ่งประกาศใช้เมื่อไม่นานมานี้เองผมมีข้อสังเกตต่อแผน พีดีพี 2018 ว่าคงยังเป็นแผนที่เอื้อต่อกลุ่มทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติและกีดกันสิทธิของคนธรรมดาต่อไป เพราะว่าได้กำหนดให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG นำเข้าจากต่างประเทศ) ผลิตไฟฟ้าจากร้อยละ 59.7 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 64.7 ในปี 2561 และปี 2568 ตามลำดับ ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากร้อยละ 7.9 เป็น 10.6 ในช่วงเดียวกันในขณะที่ในปี 2561 ประเทศสหราชอาณาจักรซึ่งมีแดดน้อยกว่าประเทศไทย แต่ได้ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไปแล้วร้อยละ 11.6 และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 19.6  ในปี 2568  นี่แค่จากแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว ถ้ารวมพลังงานลมและชีวมวลก็จะเป็นร้อยละ 57 ในปี 2568 (https://interactive.carbonbrief.org)ขอปิดท้ายด้วยคำพูดของทีมงานของ Narendra Modi นายกรัฐมนตรีของอินเดีย  ภายหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ว่า  “เรามองพลังงานแสงอาทิตย์ว่าเป็นแหล่งรายได้ของเกษตรกรและเราจะกระตุ้นให้มีโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่เพื่อให้ผู้ผลิตอาหารได้เปลี่ยนเป็นผู้ผลิตพลังงาน”แม้ว่าผมไม่เห็นด้วยกับโซลาร์ฟาร์ม แต่ก็ยังดีกว่าต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อก๊าซธรรมชาติปีละกว่าหนึ่งแสนล้านบาทครับ ผมว่าโซลาร์รูฟนั่นแหละเหมาะที่สุดและราคาถูกกว่าด้วยครับเราสามารถลดหนี้คนไทยได้ด้วยแสงแดดครับ  ทำไมพลเอกประยุทธ์มองเรื่องนี้ไม่ออก ?  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ไขมันทรานส์ในเค้กเนย หลังประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์มีผลบังคับ

              เค้กและผลิตภัณฑ์เบเกอรี เป็นขนมที่จัดว่ามีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท เป็นขนมที่นิยมกันทุกเพศวัย  เค้กนั้นมีส่วนผสมหลักคือแป้ง ไข่ ไขมันและน้ำตาล จึงเป็นอาหารให้พลังงานสูง และเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เดิมจัดว่าเป็นกลุ่มอาหารที่มีไขมันทรานส์สูง เนื่องจากส่วนผสมนั้นนิยมใช้ไขมันจากน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งทำให้เกิดไขมันทรานส์ แต่เมื่อมีกฎหมายห้ามการใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์แล้ว ทำให้หลายคนอยากทราบว่า เค้กและบรรดาขนมอบทั้งหลาย จะยังเป็นกลุ่มเสี่ยงของไขมันทรานส์หรือไม        ฉลาดซื้อ และโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงอาสาทำหน้าที่แทนผู้บริโภค เราเก็บตัวอย่างเค้กเนย จำนวน 12 ตัวอย่างจากผู้ผลิตเจ้าดัง และได้เพื่อนเครือข่ายผู้บริโภคเก็บตัวอย่างเค้กชิฟฟ่อน ที่นิยมซื้อเป็นของฝากจำนวน 4 ตัวอย่าง รวม 16 ตัวอย่าง ส่งทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ และสารกันบูดหรือวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก โดยผลทดสอบเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภค เชิญติดตาม       ไขมันทรานส์ คืออะไร                   ไขมันทรานส์ (Trans Fat) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่บริเวณพันธะคู่มีการจัดเรียงตัวของไฮโดรเจนอะตอมอยู่ตรงข้ามกัน สามารถพบได้ทั้งในธรรมชาติ และจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมัน       ไขมันทรานส์จากธรรมชาติ พบได้ในเนื้อวัว ควาย ซึ่งเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ดังกล่าว เช่น นม เนย ชีส แต่พบในปริมาณเพียงเล็กน้อย       ไขมันทรานส์จากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partial Hydrogenation) ลงไปในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งน้ำมันที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวจะเรียกว่า Partially Hydrogenated Oil ทำให้น้ำมันที่อยู่ในสภาพของเหลวเปลี่ยนเป็นไขมันที่มีสภาพแข็งขึ้นหรือเป็นของกึ่งเหลว พบในอุตสาหกรรมเนยเทียม (margarine) หรือเนยขาว (shortening) ซึ่งไขมันดังกล่าวจะหืนช้า และมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น ผลทดสอบ        ไขมันทรานส์                                                                                                                                                        จากผลการทดสอบพบว่า ปริมาณไขมันทรานส์ในเค้กเนย 12 ตัวอย่าง และเค้กชิฟฟ่อน 4 ตัวอย่าง มีปริมาณน้อยเฉลี่ยต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) คือ 0.2 กรัม/หน่วยบริโภค   ถือว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค        ยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบปริมาณไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม)  ทำให้ทางฉลาดซื้อเกิดคำถามว่า ทำไมผลทดสอบของ พรมารีย์ เบเกอรี่   จึงสูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งเป็นไปได้สองสาเหตุคือ ยังคงใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติคือ เนยแท้ จำนวนมาก ดังนั้นจึงตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์มีเพียงชนิดเดียวที่สูงเด่นมาก ได้แก่ Vaccenic acid (C18:1)-11 ที่พบมากตามธรรมชาติในไขมันจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง จึงอนุมานได้ว่า ยี่ห้อนี้เขาจัดหนักจัดเต็มในสูตรเค้กเพราะใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ  จึงไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก หากรับประทานเกิน1 หน่วยบริโภค         ปัจจุบัน ผู้ประกอบการน้ำมันและไขมันส่วนใหญ่ได้ปรับใช้กระบวนการอื่นแทนกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และมีการปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารโดยไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว ดังนั้นเมื่อประกาศฯ มีผลใช้บังคับ (9 มกราคม 2562) ผลิตภัณฑ์เบเกอรี เช่น ขนมปังกรอบ เค้ก พาย พัฟ เพสตรี คุกกี้ หรืออาหารที่ผ่านการทอดโดยใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแบบน้ำมันท่วม (Deep frying) เช่น โดนัททอด ไก่ทอด  จะไม่มีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม สามารถตรวจพบปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์ข้างต้นได้ เนื่องจากอาจมีการใช้วัตถุดิบที่มีองค์ประกอบของไขมันทรานส์ตามธรรมชาติ เช่น นม เนย ชีส เป็นต้น ทั้งนี้ ปริมาณที่ตรวจพบน้อยมาก เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วน·        วัตถุกันเสีย                ฉลาดซื้อทดสอบหากรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ซึ่งเป็นวัตถุกันเสียที่นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์เบเกอรี เค้กเนยและเค้กชิฟฟ่อน พบว่า เค้กเนยจำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ไม่พบกรดเบนโซอิก และพบปริมาณกรดเบนโซอิกเล็กน้อยใน 2 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจเป็นไปตามข้อสังเกตจากการทดสอบผลิตภัณฑ์ขนมอบที่ผ่านมาคือ มีการใช้แป้งสาลี ซึ่งใช้สารฟอกขาวที่เรียกว่า กรดเบนโซอิ้ว ซึ่งมีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายกรดเบนโซอิก ทั้งๆ ที่ในสูตรการผลิตเค้ก ไม่มีการผสมวัตถุกันเสีย ส่วนในเค้กชิฟฟ่อนไม่พบกรดเบนโซอิกจำนวน 3 ผลิตภัณฑ์และพบปริมาณเล็กน้อย 1 ผลิตภัณฑ์        ผลการตรวจหากรดซอร์บิก พบว่าปริมาณของกรดซอร์บิกที่ตรวจพบสูงสุดคือ ผลิตภัณฑ์เค้กเนย ของ KUDSAN Bakery & Coffee พบปริมาณกรดซอร์บิก 244.15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม   ซึ่งไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5)        ตามบัญชีแนบท้าย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณสารกันเสียประเภท กรดเบนโซอิก ในผลิตภัณฑ์กลุ่มขนมอบที่มีการปรุงแต่งรสชาติ และส่วนผสมสำเร็จรูป ได้สูงสุดไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก สามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์ขนมอบ (ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่) ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม  

อ่านเพิ่มเติม >