ฉบับที่ 209 ผลิตภัณฑ์ลดเซลลูไลท์

ฉลาดซื้อฉบับนี้มีข่าวดีที่จะช่วยให้คุณประหยัดเงินมาฝากอีกเช่นเคย ล่าสุดสมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ร่วมกันทดสอบผลิตภัณฑ์เจลหรือครีมที่อ้างว่าใช้เพื่อลดเซลลูไลท์หรือผิวเปลือกส้ม ทั้งหมด 13 แบรนด์ยอดนิยมในยุโรป ว่า “เห็นผล” ภายในหนึ่งเดือนตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ ทีมทดสอบแบ่งสัดส่วนคะแนนออกเป็นสามด้าน ร้อยละ 70 ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ความเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่วัดได้โดยผู้เชี่ยวชาญ เช่นจำนวน และความลึกของรอยบุ๋ม (35) ความแตกต่างที่บันทึกได้ในภาพถ่ายอินฟราเรด (28)  และความแตกต่างของเส้นรอบวง ต้นขาก่อนและหลังการใช้ (7)   ร้อยละ 20 ความพึงพอใจของผู้ใช้ (เช่น กลิ่น เนื้อสัมผัส การซึมลงสู่ผิวหนัง)  ร้อยละ 10 ข้อมูลบนฉลาก (การแสดงข้อมูลที่ครบถ้วนและไม่อวดอ้างเกินจริง) อาสาสมัครที่เข้าร่วมทดสอบได้แก่ผู้หญิงอายุระหว่าง 18 – 50 ปี จำนวน 30 คน ที่มีลักษณะของผิวที่เหมาะแก่การทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ (คัดเลือกโดยผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง) อาสาสมัครเหล่านี้จะใช้ผลิตภัณฑ์เป็นเวลา 28 วัน วันละสองครั้งเช้า-เย็น โดยใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและนวดเบาๆ จนซึมเข้าผิวหนัง เราเสียใจที่จะต้องบอกคุณว่า ครีมหรือเจลเหล่านี้ยังไม่สามารถช่วยลดเซลลูไลท์ได้ดีนัก แม้แต่ Collistar Crio-gel Anticellulite ที่ได้คะแนนรวมดีที่สุด ก็ได้ไปเพียง 49 จากคะแนนเต็ม 100 เท่านั้น ที่น่าสนใจคือแม้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะได้คะแนนประสิทธิภาพในระดับเฉลี่ย 2 ดาว แต่ในด้านความพึงพอใจของผู้ใช้กลับได้ไปถึง 4 ดาวเลยทีเดียวอยากรู้ว่ายี่ห้ออื่นมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับแบรนด์นี้สักกี่มากน้อย เชิญติดตามได้ในหน้าถัดไปค่าใช้จ่ายในการทดสอบอยู่ที่ประมาณ 3,300 ยูโร หรือประมาณ 128, 600 บาท ต่อหนึ่งตัวอย่าง (ยังไม่รวม ราคาผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้ประมาณ 34 – 38 ขวด/หลอด สนนราคาก็มีตั้งแต่ประมาณ 300 ไปจนถึงเกือบ 2,000 บาท)  เงินมาจากไหน … เงินส่วนใหญ่มาจากค่าสมาชิกนิตยสารที่จัดพิมพ์โดยสมาชิกขององค์กร International  Consumer Research and Testing เพื่อนำเสนอผลทดสอบผลิตภัณฑ์/บริการให้ผู้บริโภคได้พิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อ ฉลาดซื้อก็เป็นสมาชิกองค์กรนี้เช่นกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 208 ไซบูทรามีนในอาหารเสริมที่กล่าวอ้างลดน้ำหนัก

ไซบูทรามีนในอาหารเสริมที่กล่าวอ้างลดน้ำหนัก ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ข่าวการเข้าปราบปราม จับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย กลายเป็นกระแสสังคมที่ช่วยให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสิ่งอันตรายที่แฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ และน่าจะเกิดความระมัดระวังมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังต้องการกำลังเสริมจากรัฐในด้านการกำกับควบคุมที่เข้มงวดต่อเนื่อง และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะถึงแม้รัฐจะออกมาตรการที่รัดกุมแค่ไหน ภัยจากผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ก็คงไม่หมดไปง่ายๆ ผู้บริโภคยังเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับผู้กระทำผิดทั้งรายใหม่และรายเก่า ดังนั้นการสร้างเครื่องมือตรวจสอบและการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร นับเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่สามารถช่วยผู้บริโภคได้ฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่บรรยายสรรพคุณว่ามีส่วนในการลดน้ำหนัก จากเว็บไซต์ขายของออนไลน์ชื่อดัง ได้แก่ C mart ,Shop at 24, LAZADA, We mall, Watsons, 11 street, Konvy, Shopee รวม 8 แห่ง รวมทั้งสิ้น 16 ผลิตภัณฑ์ ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ที่ผ่านมา ส่งห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี เพื่อทดสอบหายาไซบูทรามีน และ ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มต้านอาการซึมเศร้า แต่มีผลข้างเคียงในการลดความอยากอาหาร ที่นิยมนำมาผสมในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและอวดอ้างสรรพคุณว่าช่วยลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว แต่มีภัยแฝงถึงเสียชีวิต ผลทดสอบผลการทดสอบหา ไซบูทรามีน (Sibutramine) และ ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือยารักษาโรคซึมเศร้า จากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน 16 ตัวอย่าง ที่ฉลาดซื้อสั่งซื้อจากเว็บขายสินค้าออนไลน์ 8 แห่ง พบว่า  มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 6 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนยาแผนปัจจุบัน ดังนี้  1. AIKA รุ่นผลิต 21/11/2017 พบ ไซบูทรามีน และฟลูออกซิทีน  2. MINIMAL By FALONFON รุ่นผลิต มกราคม 2018 พบ ไซบูทรามีน 3. S – Line รุ่นผลิต ไม่ระบุ พบ ไซบูทรามีน 4. LYN รุ่นผลิต 10-01-2561 พบไซบูทรามีน 5. L-Fin by Luk-Sam-Rong รุ่นผลิต 1/7/60 พบ ไซบูทรามีน 6. Kalo รุ่นผลิต ไม่ระบุ พบ ฟลูออกซิทีน  และยังพบด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ AIKA, L-Fin และ Kalo นั้น มีชื่อผู้รับอนุญาตคนเดียวกัน คือ บริษัทสยามเฮลท์แอนด์บิวตี้แคร์ จำกัดการขายผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่มีไซบูทรามีน (Sibutramine) มีโทษตามกฎหมายภก. ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ http://www.facebook.com/rparun          ไซบูทรามีน(Sibutramine) แรกเริ่มนั้นใช้เป็นยาต้านอาการซึมเศร้า ซึ่งพบว่าสามารถลดความอยากอาหารได้ โดยการไปยับยั้งการดูดกลับ(reuptake) ของซีโรโทนิน(serotonin) และนอร์อะดรีนาลีน (noradrenaline) ที่สมองส่วนไฮโปธาลามัส ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมการรับประทานอาหาร จึงมีการพยายามนำมาใช้เพื่อเป็นยาลดน้ำหนัก แต่พบความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น มีความดันโลหิตสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ในด้านของการลดน้ำหนักเมื่อรับประทานยาผ่านไป 6 เดือน กลับพบว่าให้ผลต่างกับยาหลอกเพียงเล็กน้อย จึงทำให้หลายประเทศมีความพยายามในการเลิกใช้ยานี้ ไซบูทรามีน(Sibutramine) เดิมประเทศไทยมีเพียงชื่อการค้าเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยา คือ รีดักทิล (Reductil) ชนิดแคปซูล 10 มิลลิกรัมและ 15 มิลลิกรัม ต่อมาบริษัทผู้นำเข้ายกเลิกทะเบียนตำรับยาโดยสมัครใจภายใต้คำแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตั้งแต่ 11 ตุลาคม 2553 ดังนั้น ปัจจุบันห้ามผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือผู้รับอนุญาตขายยาผู้ใดขาย นำเข้า ยาที่ทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 72(5) ผู้ฝ่าฝืนต้องได้รับโทษตามมาตรา 120 วรรคสอง คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือมาตรา 120 วรรคสาม ถ้ากระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นยาทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาทแล้วแต่กรณี ส่วน ประชาชนทั่วไปที่ขายยาหรือนำเข้ายานี้ ถือว่าเป็นการขายยาแผนปัจจุบันหรือนำเข้ายาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 12 ต้องรับโทษตามมาตรา 101 คือ  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 50,000 บาท ด้วย หากผลิตภัณฑ์ใดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทย และมีไซบูทรามีน (Sibutramine) เป็นส่วนผสม ถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจเข้าข่ายอาหารปลอมหากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ตามมาตรา 25(2) ประกอบมาตรา 26(3) ต้องระวางโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาทผลิตภัณฑ์อาหารที่มี fluoxetine มีความโทษตามกฎหมายfluoxetine เป็นยาในกลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitor (SSRIs) ซึ่งใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า กลไกการออกฤทธิ์โดยเพิ่มระดับสารสื่อประสาท serotonin ในสมอง นอกจากใช้ในโรคซึมเศร้า ยังมีข้อบ่งใช้ในการรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียนในโรคกลัวอ้วนรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมากfluoxetine จัดเป็นยาแผนปัจจุบันประเภทยาอันตราย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาอันตราย ฉบับที่ 25 (14 พ.ค.2555 ข้อ 3 (34)) กรณีที่มีการผสมยาตัวนี้ลงไปในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า1000 Point

ฉบับที่ 207 พาราควอตในน้ำตาลทราย

เรื่องทดสอบฉบับนี้ เป็นความร่วมมือกันของทีมงานคุ้มครองผู้บริโภค ระหว่างคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (ภายใต้โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค) ทำการสำรวจด้านนโยบายของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำตาลต่อการใช้สารพาราควอต โดยส่งแบบสำรวจถึงกลุ่มโรงงานน้ำตาลไทย รวมทั้งสิ้น 47 บริษัท และทีมนิตยสารฉลาดซื้อ สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำตาลทรายในท้องตลาดจำนวน  21 ตัวอย่าง นำส่งห้องปฏิบัติการ เพื่อทดสอบหาการปนเปื้อนของพาราควอตในผลิตภัณฑ์  เหตุผลสำคัญที่ทีมงานเลือกการทดสอบน้ำตาลทรายและทำสำรวจกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการน้ำตาลและเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ถือเป็นเสียงจากฟากฝั่งที่ยังคงต้องการให้มีการใช้สารพาราควอตต่อไปอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าจะมี “มติ” ไปเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 60 จากคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมี ศ. คลินิกเกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส โดยไม่ให้ขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน และให้ยุตินำเข้าในวันที่ 1 ธ.ค. 2560 และยุติการใช้วันที่ 1 ธ.ค. 2562   อย่างไรก็ตามเรื่องราวได้ยืดเยื้อกันมาจนถึงปัจจุบัน  โดยทั้ง 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่ดำเนินการทำตามมติข้างต้น ให้เหตุผลว่า อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลและผลกระทบจากการใช้สารเคมีดังกล่าว เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีมติ แบน-ไม่แบน ในวันที่ 23 พฤษภาคม ปีนี้      ผลการสำรวจด้านโยบาย• จากจำนวน 47 บริษัทในกลุ่มโรงงานน้ำตาลทราย มีบริษัทที่ตอบแบบสอบถามกลับมาจำนวน 6 บริษัท (ดูตารางที่ 1) ตารางที่ 1 บริษัทและนโยบาย การใช้สารพาราควอต• มีบริษัทที่ไม่ตอบแบบสอบถาม จำนวน 39 บริษัท ซึ่งผู้จัดทำแบบสอบถาม ได้ระบุไว้ชัดเจนในจดหมายว่า “กรณีท่านไม่สะดวกในการตอบแบบสอบถาม ขออนุญาตแปลความว่า “บริษัทท่านยังไม่มีนโยบายในการยกเลิกการใช้สารเคมีพาราควอตในวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำตาล”  • มีบริษัทที่ไม่ได้รับแบบสอบถาม 2 บริษัท คือ บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด และ บริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัดผลทดสอบผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย พบว่าจากจำนวนทั้งสิ้น 21 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนของสารพาราควอต (สามารถดูตัวอย่างทั้งหมดได้ในตารางที่ 2)  ตารางที่ 2 ผลทดสอบการปนเปื้อนพาราควอตในน้ำตาลทรายฉลาดซื้อแนะ แม้จะไม่พบการปนเปื้อนพาราควอตในน้ำตาล แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย โดย ผศ.ดร.นพดล กิตนะ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ระบุว่า พบการปนเปื้อนสารพาราควอตใน กบหนอง ปูนา หอยกาบน้ำจืด และปลากะมัง ซึ่งมีค่ามากกว่าระดับสูงสุดที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ จำกัดให้มีในอาหาร(เนื้อสัตว์) คือ ไม่เกิน 5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม โดยปริมาณที่พบในปูนา อยู่ระหว่าง 24 – 56 ไมโครกรัม/กิโลกรัม พบในกบหนอง 17.6 – 1,233.8 ไมโครกรัม/กิโลกรัม พบในปลากะมัง 6.1 – 12.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และพบในหอยกาบน้ำจืด 3.5 – 7.7 ไมโครกรัม/กิโลกรัม อีกทั้งยังพบในอาหารแปรรูปอย่างน้ำปู๋ (น้ำปู) เรียกว่าเกินกว่าค่ามาตรฐานไปถึง 200 เท่าในบางรายการ ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า พาราควอตมีการตกค้างจำนวนมากในพื้นที่เกษตรกรรม และสามารถส่งผ่านไปถึงสิ่งมีชีวิตที่สัมผัสสารโดยตรงด้วย  ดังนั้นทีมฉลาดซื้อขอร่วมสนับสนุนการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ตามมติเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560ในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล จากการตรวจพาราควอตในซีรั่มของมารดาและสายสะดือของทารก ในกลุ่มประชากรที่อาศัยในพื้นที่เกษตร ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อำนาจเจริญ และกาญจนบุรี โดยเก็บตัวอย่างเลือด ซีรั่ม ปัสสาวะ รวมถึงขี้เทาในทารกแรกคลอด ยืนยันว่า ในประเทศไทยพบการตกค้างและสะสมของพาราควอตจากมารดาสู่ทารก ซึ่งพบปริมาณการสะสมมากกว่าในมารดาศาสตราจารย์ ดร.พรพิมล กองทิพย์  อาจารย์ประจำภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุข---------------------------------------------------------------------------รายชื่อโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 47 บริษัท 1. บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด  2. บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ จำกัด  3. บริษัท น้ำตาลพิษณุโลก จำกัด  4. บริษัท ไทยเพิ่มพูนอุตสาหกรรม จำกัด 5. บริษัท น้ำตาลสระบุรี จำกัด  6. บริษัท ไทยอุตสาหกรรมน้ำตาล จำกัด  7. บริษัท สหการน้ำตาลชลบุรี  8. บริษัท น้ำตาลระยอง จำกัด  9. บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลชลบุรี จำกัด  10. บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด  11. บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด12. บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด13. บริษัท น้ำตาลสิงห์บุรี จำกัด14. บริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ซูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด 15. บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด16. บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน)17. บริษัท โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย จำกัด18. บริษัท น้ำตาลนิวกว่างสุ้นหลี จำกัด19. บริษัท น้ำตาลท่ามะกา จำกัด20. บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด21. บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด  22. บริษัท น้ำตาลนครเพชร จำกัด  23. บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด 24. บริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด 25. บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด  26. บริษัท น้ำตาลทิพย์สุโขทัย จำกัด  27. บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลสุพรรณบุรี จำกัด  28. บริษัท น้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร จำกัด  29. บริษัท น้ำตาลไทยกาญจนบุรี จำกัด  30. บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด  31. บริษัท อุตสาหกรรมมิตรเกษตร จำกัด32. บริษัท มิตรเกษตร อุทัยธานี จำกัด33. บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) 34. บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) 35. บริษัท น้ำตาล เอราวัณ จำกัด36. บริษัท โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน)37. บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน จำกัด38. บริษัท น้ำตาลทรายกำแพงเพชร จำกัด39. บริษัท ประจวบอุตสาหกรรม จำกัด40. บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลปราณบุรี จำกัด41. บริษัท อุตสาหกรรมอ่างเวียง จำกัด (รง.น้ำตาลราชสีมา แก้งสนามนาง)42. บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลที.เอ็น. จำกัด43. บริษัท น้ำตาลรีไฟน์ชัยมงคล จำกัด (รง.น้ำตาลอู่ทอง)44. บริษัท น้ำตาลวังขนาย จำกัด (มหาวัง)45. บริษัท โรงงานน้ำตาลทรายขาวเริ่มอุดม จำกัด46. บริษัท สหเรือง จำกัด47. บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า1000 Point

ฉบับที่ 207 ส่องฉลากลูกอมชุ่มคอและยาอมสมุนไพรบรรเทาอาการไอ เจ็บคอ

ลูกอม(เม็ดอม) กับ ยาอม นั้นต่างกันในทางสรรพคุณ ลูกอมจัดเป็นอาหารส่วนใหญ่ไว้อมเพลินๆ ชุ่มคอ ส่วนยาอม เป็นยามีผลในทางบำบัดรักษา ถึงอย่างนั้นเวลารู้สึก คอแห้ง ระคายเคืองคอ เจ็บคอ จนเลยไปถึงไอถี่ๆ หลายคนก็รู้สึกว่า ลูกอม ยาอมก็เป็นทางออกที่พอจะช่วยให้ชุ่มคอและผ่อนเพลาอาการทั้งหลายลงได้บ้าง หรือบางคนไม่ได้มีอาการอะไรก็ยังชอบอมเพราะติดใจในรสชาติ  แต่หลายครั้งการเลือกซื้อก็ทำให้ผู้บริโภคสับสนหน่อยๆ เพราะลูกอมกับยาอมมักวางขายบนชั้นวางเดียวกัน (ยาอมที่เป็นยาสามัญประจำบ้านสามารถวางจำหน่ายได้ทั่วไป)  ถ้าไม่รู้จักกันมาก่อนหรือไม่ได้อ่านฉลากก็อาจจะเลือกผิดวัตถุประสงค์ได้  ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงไปหยิบลูกอมที่โฆษณาให้อารมณ์ประมาณชุ่มคอ สดชื่น และเนียนๆ ว่าช่วยลดการเจ็บคอมาส่องฉลาก เน้นกันที่ผลิตภัณฑ์ทำจากน้ำตาลแท้(ยังครองใจตลาด) กับชนิดไม่มีน้ำตาล ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมา แถมด้วยยาอมสมุนไพรที่จัดเป็นยาสามัญประจำบ้าน ยาแผนโบราณ ซึ่งปัจจุบันวางขายหลากหลายยี่ห้อ มาเจาะกันที่ส่วนผสมหรือตัวยา เพื่อไว้เป็นข้อมูลสามัญประจำบ้านแก่สมาชิกชาวฉลาดซื้อ  ตลาดลูกอม 8000 ล้าน ผลิตภัณฑ์เล็กๆ แต่การตลาดยิ่งใหญ่ ตลาดลูกอมนั้นมีมูลค่าสูงและเติบโตทุกปี ทำให้การแข่งขันสูง ทั้งเจ้าตลาดเก่าและรายใหม่ ลูกอมแบบชนิดเม็ดแข็งได้รับความนิยมมากที่สุด(สัดส่วน 43%) ส่วนรสชาติ เย็นสดชื่น คือรสชาติที่คนไทยชื่นชอบ รองลงมาเป็นลูกอมช่วยให้ปากหอม(ลดกลิ่นปาก) ฉลาดซื้อกับลูกอม ยาอมลูกอมนั้นแต่แรกเริ่มเดิมทีก็มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นยา มีสรรพคุณแก้ไอ เจ็บคอ ลดการระคายคอ และวางขายกันในร้านยา ต่อมาจึงขยับมาเป็นอาหาร เพื่อให้จำหน่ายได้ง่ายขึ้น แต่ภาพจำก็ยังทำให้รู้สึกถึงความเป็นยาของลูกอม  อย่างไรก็ตามลูกอมนั้นส่วนใหญ่ทำจากน้ำตาลล้วนๆ ส่วนสมุนไพรที่ใส่ลงไปจะเป็นเรื่องของรสชาติที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกสดชื่น เว้นก็แต่ใส่สมุนไพรเข้าไปเป็นจุดขาย ดังนั้นหากเป็นลูกอมจากน้ำตาลก็ควรระวังเรื่องปริมาณน้ำตาล ไม่อมบ่อยจนเพิ่มน้ำตาลในร่างกายมากไป รวมถึงเรื่องฟันผุด้วย แต่ปัจจุบันก็มีทางเลือกเป็นลูกอมชนิดซูการ์ฟรีหรือไม่มีน้ำตาล แต่ถ้าอยากได้สรรพคุณทางยา หรือรับคุณประโยชน์จริงๆ จากสมุนไพร ยาอมสมุนไพรเป็นทางออกที่ดี เดิมนั้นอาจมีรสชาติไม่ถูกปาก เพราะรสที่ฝาด ขม และสัมผัสในปากที่ให้ความรู้สึกระคายลิ้น แต่หลายผลิตภัณฑ์ก็ปรับปรุงรสชาติให้ “อร่อย” ขึ้น รสยอดนิยมก็คือ รสบ๊วย รสเปรี้ยวหวาน รสสัมผัสหวานๆ เย็นๆ การปรับตัวนี้ทำให้ตลาดยาอมสมุนไพรนั้นไม่ธรรมดาและมีแนวโน้มเติบโตไปเรื่อยๆ เห็นได้จากการจัดวางในร้านสะดวกซื้อทั้งหลาย   เจ็บคอทำอย่างไรดี เจ็บคอเกิดได้จากหลายสาเหตุ แบ่งหลักๆ เป็นเรื่องเจ็บคอจากการติดเชื้อโรค กับเจ็บคอเนื่องจากสิ่งแวดล้อม(สูดควันบุหรี่ ภูมิแพ้ ฯลฯ) หรือการใช้เสียงมากเกินไป(พูดมากไป ตะโกนเสียงดังเป็นเวลานาน) หรือสภาวะของโรคบางอย่าง เช่น กรดไหลย้อน เป็นต้น การเจ็บคอ ระคายคอที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ การใช้ยาอมสมุนไพรหรือลูกอม ช่วยให้เกิดสภาพชุ่มคอ ช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองได้ ยิ่งเป็นยาอมสมุนไพร จัดว่ามีสรรพคุณทางยาที่ช่วยบำบัดอาการได้มาก และปลอดภัยกว่ายาแก้เจ็บคอหรือยาแก้ไอ ที่เป็นยาแผนปัจจุบัน   วิธีที่ดีและง่ายสุดเพื่อบรรเทาอาการคอแห้ง เจ็บคอ คือ ดื่มน้ำให้มากๆ ไม่เป็นน้ำเย็น ควรเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้องจะดีกว่า เพราะน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้กับเยื่อบุลำคอที่เกิดการอักเสบ และควรเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการคันคอ พวกของทอด ของมัน อาหาร ผลไม้ รสหวานจัด   ส่วนยาอมที่ต้องหลีกเลี่ยงไม่ใช้เลยคือ ยาอมที่มียาปฏิชีวนะนีโอมัยซินเป็นส่วนผสม ยาเหล่านี้บรรเทาอาการเจ็บคอได้จากยาชาที่ผสมอยู่ แต่ยาปฏิชีวนะเป็นส่วนเกินเพราะไม่มีส่วนช่วยให้อาการดีขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อเชื้อดื้อยาด้วย 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 207 เครื่องทำกาแฟ Manual & automatic

ตามที่สัญญากันไว้ ฉบับที่แล้วเราลงผลทดสอบเครื่องทำกาแฟแบบแคปซูล คราวนี้เรายังเอาใจคอกาแฟต่อไปด้วยผลทดสอบเครื่องทำกาแฟแบบอัตโนมัติและอัตโนมือ มีมาให้เลือกกัน 14 รุ่น แบ่งออกเป็นแบบอัตโนมัติ 8 รุ่น (ราคาระหว่าง 22,000 ถึง 89,000 บาท) และแบบแมนวลอีก 6 รุ่น (ราคาระหว่าง 3,500 ถึง 10,500 บาท) โดยรวมแล้วพบว่าถ้าอยากประหยัดเงินเราก็ต้องลงแรงกันหน่อย เพราะเครื่องทำกาแฟแบบแมนวลส่วนใหญ่ที่เราทดสอบก็ได้คะแนนใกล้เคียงกับเครื่องอัตโนมัติที่ราคาสูงกว่าหลายเท่า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 206 เครื่องทำกาแฟแบบแคปซูล

ฉบับนี้เอาใจคนรักคาเฟอีนด้วยผลทดสอบเครื่องทำกาแฟแบบแคปซูล ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ทำไว้ในระหว่างปลายปี 2560 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา องค์กรผู้บริโภคจากยุโรปและเอเชียร่วมลงขันทดสอบเครื่องรุ่นที่ได้รับความนิยมในประเทศของตนเอง รวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 50 รุ่น แต่ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงขอลงเฉพาะรุ่นที่รองรับการใช้งานร่วมกับแคปซูลก่อน ท่านที่สนใจเครื่องชนิดที่เราเลือกเมล็ดกาแฟมาบดดื่มเอง ติดตามได้ในฉบับหน้าการทดสอบครั้งนี้แบ่งคะแนนออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่- คุณภาพของกาแฟที่ได้ ร้อยละ 35- ประสิทธิภาพการทำงาน ร้อยละ 30- ความสะดวกในการใช้งาน ร้อยละ 30- การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 5  การให้น้ำหนักกับคะแนนด้านต่างๆ อ้างอิงจากผลการทำโฟกัสกรุ๊ปกับผู้ใช้เครื่องทำกาแฟตัวจริง คะแนนเหล่านี้ได้จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ ร่วมกับความเห็นของอาสาสมัครที่นำเครื่องกลับไปใช้ที่บ้าน และความพึงพอใจในรสชาติกาแฟของนักชิมกาแฟ (8 คนต่อหนึ่งตัวอย่าง)การตั้งค่าเครื่องทำกาแฟ และแคปซูลกาแฟที่ใช้เป็นไปตามที่ผู้ผลิตระบุในคู่มือการใช้งานไปดูกันเลยว่าเครื่องทำกาแฟแคปซูลรุ่นไหนจะถูกใจคุณที่สุด 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 206 ไขมันทรานส์และพลังงาน ในโดนัทรสช็อกโกแลต

ไขมันทรานส์และพลังงาน ในโดนัทรสช็อกโกแลตแม้หลายคนจะยกให้โดนัทจะเป็นของว่างแสนอร่อย จนบางครั้งก็กินเพลินจนลืมไปว่าในความอร่อยที่แสนหวานนั้น ให้พลังงานสูงไม่แพ้การรับประทานอาหารจานหลักเลยทีเดียว และที่มากไปกว่านั้นยังทำให้เราเสี่ยงต่อการได้รับไขมันทรานส์อีกด้วย โดยสำหรับเจ้าไขมันทรานส์(Trans fat) หรือกรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty acid) นั้น เป็นกรดไขมันชนิดหนึ่งที่เกิดจากกระบวนการแปรรูป พบมากในการผลิตอาหารทอด ครีมเทียม หรือพวกขนมอบ เบเกอรี่ที่มีมาการีน/เนยขาว เพราะสามารถทำให้อาหารเก็บได้นาน ทนความร้อน ไม่มีกลิ่นหืนและต้นทุนการผลิตต่ำ อย่างไรก็ตามไขมันทรานส์กลับเป็นถูกจัดให้เป็นไขมันตัวร้าย เนื่องจากสามารถเพิ่มระดับระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL: low-density lipoprotein) ที่มีผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจและความดัน รวมทั้งสามารถทำให้มีการอักเสบของผนังหลอดเลือด ซึ่งทำให้หลอดเลือดตีบง่ายขึ้น ส่งผลให้องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้หลีกเลี่ยงการบริโภคไขมันทรานส์ หรือไม่ควรบริโภคเกินกว่า 2.2 กรัม/วัน และควรพบความเข้มข้นในอาหารได้สูงสุดไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภคฉลาดซื้อฉบับนี้จึงกลับมาเอาใจคนชอบกินโดนัทกันอีกครั้ง ด้วยการทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ และพลังงานในโดนัทรสช็อกโกแลต จากยี่ห้อยอดนิยมตามท้องตลาดจำนวน 13 ตัวอย่าง ซึ่งผลการทดสอบจะเป็นอย่างไร เราลองไปดูกันเลยประเทศไทยอยู่ในระหว่างการยกร่างกฎหมาย ที่กำหนดห้ามนำส่วนประกอบอาหารที่มีไขมันทรานส์มาผลิตอาหาร หรือ ห้ามเติมสารไฮโดรเจนลงไปในกระบวนการผลิตน้ำมัน โดยคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ภายในเดือนเมษายน 2561 อ้างอิงบทความข่าวจาก https://www.matichon.co.th/news/781033สรุปผลการทดสอบจากโดนัทที่นำมาทดสอบทั้งหมดจำนวน 13 ตัวอย่าง พบว่า1. พลังงาน- ยี่ห้อที่ให้พลังงาน/ 100 กรัม มากที่สุด คือ แซง-เอ-ตัวล (Saint ETOILE) ให้พลังงาน 471 kcal./ 100 กรัมในขณะที่ยี่ห้อ ดังกิ้น โดนัท ให้พลังงานน้อยที่สุด คือ 381 kcal./ 100 กรัม- ยี่ห้อที่ให้พลังงาน/ ชิ้น มากที่สุด คือ แซง-เอ-ตัวล (Saint ETOILE) ให้พลังงาน 320 kcal./ ชิ้น (68 กรัม)ส่วนยี่ห้อ เอ็น.เค.โดนัท (NK Donut) ให้พลังงานน้อยที่สุด คือ 85 kcal./ชิ้น (19 กรัม)2. ไขมันทรานส์ผลการทดสอบพบว่า ทุกยี่ห้อมีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ โดยแบ่งเป็น - ยี่ห้อที่มีปริมาณไขมันทรานส์/ 100 กรัม มากที่สุด คือ ซับไลม์โดนัท (Sublime Doughnuts) มีปริมาณไขมันทรานส์ 6.65 กรัม./ 100 กรัมในขณะที่ยี่ห้อ เฟลเวอร์ ฟิลด์ (Flavor Field) มีปริมาณไขมันทรานส์น้อยที่สุด คือ 0.12 กรัม./ 100 กรัม- ยี่ห้อที่มีปริมาณไขมันทรานส์/ ชิ้นมากที่สุด คือ ซับไลม์โดนัท (Sublime Doughnuts) มีปริมาณไขมันทรานส์ 4.5913 กรัม./ ชิ้น (69 กรัม)ส่วนยี่ห้อที่มีปริมาณไขมันทรานส์/ ชิ้นน้อยที่สุด คือ แด๊ดดี้ โด (Daddy Dough) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.0729 กรัม./ ชิ้น (51 กรัม)ข้อสังเกต- ไขมันทรานส์ จากโดนัทที่นำมาทดสอบทั้งหมด พบว่า มีปริมาณไขมันทรานส์ เฉลี่ย 1.25 ต่อหน่วยบริโภค ซึ่งสูงเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือไม่ควรเกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค โดยหากเราบริโภคหลายชิ้น อาจได้รับปริมาณไขมันทรานส์มากกว่าเกินกว่า 2.2 กรัม/วันได้ ทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ - โดนัทส่วนใหญ่มีน้ำหนักประมาณ 60 กรัม/ ชิ้น และให้พลังงานเฉลี่ยที่ประมาณ 256 กิโลแคลอรี่ ซึ่งหากเราอร่อยเพลิน อาจทำให้ได้รับพลังงานสูงเกินกว่าที่ต้องการต้องการได้ เพราะอย่าลืมว่าโดนัท เป็นเพียงของหวานรับประทานเล่นเท่านั้น ยังมีอีก 3 มื้อหลัก/ วันรออยู่ (ปริมาณพลังงานที่เหมาะสมที่ร่างกายควรได้รับใน 1 วันคือ 2,000 กิโลแคลอรี่)**** อัพเดท***เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ระบุว่า โดยปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (8) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ข้อ 1 ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2561ปิยะสกล สกลสัตยาทรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า1000 Point

ฉบับที่ 204 เครื่องโกนหนวดไฟฟ้า

ฉลาดซื้อฉบับนี้มีผลทดสอบเครื่องโกนหนวดไฟฟ้า 11 รุ่น จากผู้ผลิตสี่ราย ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ทำไว้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา สนนราคาของอุปกรณ์ดังกล่าวอยู่ระหว่าง 1,320 บาท ถึง 17,500 บาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในภาพรวมเราพบว่ารุ่นที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นรุ่นที่ราคาแพงที่สุด แต่คุณสุภาพบุรุษอย่าเพิ่งวิตกไป รุ่นที่ราคากลางๆ คุณภาพดียังมีให้เลือก  การทดสอบครั้งนี้แบ่งคะแนนออกเป็นสองส่วนได้แก่ - ร้อยละ 80 ความคิดเห็น/ความพึงพอใจของผู้ใช้ (อาสาสมัคร 50 คน) อาสาสมัครแบ่งออกเป็นกลุ่มที่ทดลองใช้เครื่องโกนหนวดไฟฟ้าหลังโกนหนวดครั้งก่อนหน้าหนึ่งวันและสามวัน หลังจากใช้แล้วอาสาสมัครจะตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการโกน ความสะดวกในการใช้งานทั้งการโกนและตัดแต่ง รวมถึงน้ำหนัก ความเหมาะมือ เสียง และแรงสั่นสะเทือน - ร้อยละ 20 แบตเตอรี่/การใช้พลังงาน รวมถึงการทำความสะอาด/จัดเก็บ/เปลี่ยนใบมีด (โดยห้องปฏิบัติการ) * ต้นทุนในการทดสอบอยู่ที่ตัวอย่างละ 850 ยูโร หรือประมาณ 33,000 บาท

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 204 ไขมันทรานส์ ในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง

ตามที่สัญญากันไว้ว่าเราจะกลับมาพบกันอีกครั้ง กับผลการทดสอบไขมันทรานส์ในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง หลังจากเล่มที่ผ่านมาเราได้เสนอผลการตรวจสอบ ปริมาณพลังงานและน้ำตาลในเครื่องดื่มดังกล่าวไปแล้ว ไขมันทรานส์(Trans fat) หรือกรดไขมันทรานส์(Trans Fatty acid) เป็นกรดไขมันชนิดหนึ่งที่เกิดจากกระบวนการแปรรูป พบมากในการผลิตอาหารจำพวกขนมอบ เบเกอรี่ที่มีมาการีน/เนยขาว อาหารทอดหรือครีมเทียม เพราะสามารถทำให้อาหารเก็บได้นาน ทนความร้อน ไม่มีกลิ่นหืนและต้นทุนการผลิตต่ำอย่างไรก็ตามไขมันทรานส์กลับเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต่างเฝ้าระวัง เพราะสามารถส่งผลร้ายเช่นเดียวกับกรดไขมันอิ่มตัว โดยทำให้ระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี(LDL: low-density lipoprotein) เพิ่มสูงขึ้น และลดระดับโคเลสเตอรอลชนิดดี(HDL: high-density lipoprotein) ในเลือดลง ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งยังเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ จอประสาทตาเสื่อม โรคนิ่วในถุงน้ำดีและการอักเสบ อันเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคติดต่อไม่เรื้อรังทั้งหลายดังนั้นหลายประเทศจึงออกกฎหมายกำกับปริมาณไขมันทรานส์ในอาหาร เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา(USFDA) กำหนดให้อาหารทุกประเภทที่วางจำหน่ายและมีส่วนประกอบของกรดไขมันดังกล่าว ต้องระบุการใช้กรดไขมันทรานส์ไว้บนฉลากโภชนาการ รวมทั้งต้องมีปริมาณไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ทั้งนี้ภายหลังก็ได้ออกกฎหมายใหม่ให้เข้มงวดขึ้น โดยควบคุมการผลิตอาหารให้มีไขมันทรานส์เป็น 0% หรือห้ามไม่ให้มีไขมันทรานส์ในอาหารอีกเลย(หลังวันที่ 16 มิถุนายน 2561) เนื่องจากตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ซึ่งถือเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับแรกๆ ของประชากรโลก องค์การอาหารและยา(อย.) บ้านเราตระหนักในผลร้ายของไขมันทรานส์เช่นกัน โดยล่าสุดทาง อย. ได้ออกประกาศว่ากำลังอยู่ในระหว่างการยกร่างกฎหมาย ที่ห้ามนำส่วนประกอบอาหารที่มีไขมันทรานส์มาผลิตอาหาร หรือห้ามเติมสารไฮโดรเจนลงไปในกระบวนการผลิตน้ำมัน โดยคาดว่าจะสามารถใช้กฎหมายดังกล่าวได้ภายในเดือนเมษายน 2561 (ที่มา https://www.prachachat.net/economy/news-90978)ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงอาสาช่วยตรวจสอบปริมาณไขมันทรานส์ในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง 15 ยี่ห้อ 22 ตัวอย่าง โดยอ้างอิงตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่แนะนำให้หลีกเลี่ยงการบริโภคกรดไขมันทรานส์ คือ ไม่ควรบริโภคเกินกว่า 2.2 กรัม/วัน หรือควรพบความเข้มข้นสูงสุดไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ซึ่งผลการทดสอบจะเป็นอย่างไร เราลองไปดูกันผลการทดสอบไขมันทรานส์ในทั้ง 15 ยี่ห้อ 22 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจพบว่า มีปริมาณกรดไขมันทรานส์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตามมีเพียง 1 ยี่ห้อที่มีปริมาณกรดไขมันดังกล่าวสูง คือ เครื่องดื่มข้าวกล้องงอก ผสมธัญพืช 7 ชนิด สูตรไม่ผสมน้ำตาล ยี่ห้อ โกเด้นท์ มีปริมาณไขมันทรานส์มากที่สุดคือ 2.43 กรัม/ 100 กรัม(0.7 ต่อหน่วยบริโภค)  ส่วนตัวอย่างที่เหลือพบว่ามีไขมันทรานส์อยู่ในปริมาณน้อย ซึ่งอาจพบได้ในธรรมชาติและไม่เกินคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก  ตารางแสดงผลการทดสอบอย.เตรียมประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อย.ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. …. เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร (ฉบับที่ 3) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (1) และมาตรา 6 (5) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 โดยให้เพิ่มความลงในข้อ 2 ของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ. 2536) เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ในข้อ 2.13 “ห้ามใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (ไขมันทรานส์) “ยกเว้น” การใช้ในการผลิตอาหารเพื่อการส่งออก”การออกประกาศฉบับดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า “ไขมันทรานส์ (trans fatty acids)” จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (partially hydrogenated oil) จะเพิ่ม “ความเสี่ยง” ของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น อย.จึงได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวขึ้น โดยขณะนี้ตัวร่างอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ โรงงานผลิตวัตถุดิบอาหาร, โรงงานผลิตน้ำมันพืช, โรงงานผลิตนม-เนย-เบเกอรี่ และโดนัท ฯลฯ ที่ใช้กระบวนการผลิตที่มีไขมันทรานส์เกิดขึ้น“เราเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของสำนักอาหาร อย. รวมถึงการส่งหนังสือไปยังองค์การการค้าโลก (WTO) ด้วย และให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่งความคิดเห็นกลับมายัง อย. ภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ หลังจากนั้น อย.จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดสรุปเสนอคณะกรรมการอาหาร ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน หากความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน อย.จะเร่งประกาศฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา” น.ส.ทิพย์วรรณกล่าวที่มา https://www.prachachat.net/economy/news-90978**อัพเดท**เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ระบุว่า โดยปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (8) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ข้อ 1 ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2561ปิยะสกล สกลสัตยาทรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 204 ดูหนังออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์ เจ้าไหนน่าใช้บริการที่สุด

พฤติกรรมการดูภาพยนตร์ของคนยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก การรับชมภาพยนตร์เฉพาะแค่ในโรงภาพยนตร์หรือหน้าจอโทรทัศน์อาจจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป คนที่ชื่นชอบการชมภาพยนตร์หลายคนเริ่มหันมารับชมผ่านทางสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ในอุปกรณ์อย่าง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์กันมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และแม้ว่า ณ เวลานี้ในสื่อออนไลน์จะเต็มไปด้วยการเผยแพร่ภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่สำหรับคนที่อยากสนับสนุนของถูกลิขสิทธิ์ก็ยังมีบริการให้รับชมภาพยนตร์ออนไลน์แบบถูกกฎหมายไว้คอยบริการอยู่จำนวนไม่น้อย ซึ่งปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ บวกกับในต่างประเทศเริ่มมีการผลิตภาพยนตร์และซีรี่ส์เพื่อฉายทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันสำหรับรับชมทางออนไลน์โดยเฉพาะฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเอาใจคนชอบดูหนังที่อยากรับชมหนังและซีรี่ส์เรื่องดังผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือ แท็บแล็ต ด้วยผลทดสอบเปรียบเทียบ เว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง (Streaming Video) ฉายภาพยนตร์ผ่านระบบออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์ตารางเปรียบเทียบบริการของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันดูภาพยนตร์ออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์ฉลาดซื้อแนะนำ-Netflix, iflix และ Hooq ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดสำหรับคนที่อยากรับชมภาพยนตร์และซีรี่ส์ออนไลน์เพื่อบอกเลิกการเป็นสมาชิก เพราะมีปริมาณให้เลือกชมเยอะ มีความหลากหลาย มีการอัพเดทคอนเทนต์ใหม่ๆ ตลอดเวลา ที่สำคัญคือภาพยนตร์และซีรี่ส์ที่มีให้ชม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน-Netflix, iflix และ Hooq ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดสำหรับคนที่อยากรับชมภาพยนตร์และซีรี่ส์ออนไลน์เพื่อบอกเลิกการเป็นสมาชิก เพราะมีปริมาณให้เลือกชมเยอะ มีความหลากหลาย มีการอัพเดทคอนเทนต์ใหม่ๆ ตลอดเวลา ที่สำคัญคือภาพยนตร์และซีรี่ส์ที่มีให้ชม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน-ส่วนจะเลือกใช้บริการเจ้าไหนก็ขึ้นอยู่กับ เนื้อหาของภาพยนตร์และซีรี่ส์ที่ต้องการรับชม ดังนั้นควรเข้าไปสำรวจดูเนื้อหาที่มีให้ชมของแต่ละเจ้า ก่อนตัดสินใจสมัครใช้บริการ-การจ่ายค่าบริการแบบตัดเงินผ่านบัตรเครดิต ผู้ให้บริการจะทำการตัดเงินต่ออายุสมาชิกแบบอัตโนมัติ ดังนั้นหากต้องการยุติการใช้บริการต้องทำให้การติดต่อกับทางผู้บริการ เพื่อบอกเลิกการเป็นสมาชิก-นอกจากการดูภาพยนตร์แบบถูกลิขสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์สตรีมมิ่งและแอปพลิเคชันที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน เรายังสามารถรับชมภาพยนตร์แบบถูกลิขสิทธ์ผ่านทางมือถือผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Google Play Store ในมือถือระบบแอนดรอยด์ และ Itunes ในมือถือระบบ IOS ซึ่งมีภาพยนตร์จำนวนมากจำหน่ายให้กับใครที่อยากรับชมแบบถูกลิขสิทธิ์บนมือถือและแท็บเล็ต โดยมีให้เลือกทั้งแบบเช่า คือเปิดดูได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต กับแบบขายขาด สามารถโหลดเก็บไว้ดูภายหลังได้ โดยราคาแบบเช่าจะเริ่มที่ 60 บาท ส่วนราคาแบบขายขาดเริ่มที่ 280 บาท

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point