ฉบับที่ 147 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 2556 ดื่มน้ำแร่...อาจจะแย่ก็ได้ ใครที่คิดว่าดื่มน้ำแร่ทุกวันดีต่อสุขภาพคงจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาเตือนคนที่ชอบนิยมดื่มน้ำแร่เป็นประจำว่า มีโอกาสเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับแร่ธาตุบางชนิดในปริมาณที่สูงเกินความจำเป็น ในน้ำแร่ซึ่งเป็นน้ำที่ได้จากใต้ดินจากแหล่งกำเนิดน้ำตามที่ต่างๆ เช่น บนภูเขา น้ำพุร้อนใต้ผิวโลก จะมีแร่ธาตุต่างๆ เป็นส่วนผสม เช่น ฟลูออไรด์ แมงกานีส ฯลฯ ซึ่งพวกแร่ธาตุเหล่านี้มีปริมาณที่เป็นมาตรฐานที่เหมาะสมกับร่างกาย อย่าง ฟูลออไรด์สำหรับดื่มค่ามาตรฐานไม่ควรเกิน 0.7 มิลลิลิตร/ลิตร หากเกินจากนี้อาจมีผลต่อกระดูกและฟัน ธาตุเหล็กไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม/ลิตร แมงกานีสไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัม/ลิตร ทองแดงไม่เกิน 1.0 มิลลิกรัม/ลิตร และสังกะสีไม่เกิน 5.0 มิลลิกรัม/ลิตร   เพราะฉะนั้นก่อนดื่มน้ำแร่ครั้งต่อไปอย่าลืมอ่านฉลากดูปริมาณแร่ธาตุต่างๆ ให้ดี ที่สำคัญการดื่มน้ำแร่ราคาแพงๆ ก็ไม่ได้การรันตีว่าจะทำให้เรามีสุขภาพที่ดี ได้เท่ากับการที่เราเลือกดื่มน้ำสะอาดธรรมดาๆ และรับประทานอาหารครบ 5 หมู่เป็นประจำ เท่านี้ก็เพียงพอแล้วต่อการดูแลสุขภาพร่างกายของเรา ------------------------------------------------   รับฝากเงินพ่วงทำประกันชีวิตเพิ่มมั้ยค่ะ!? ใครที่เคยเจอปัญหาถูกเจ้าหน้าที่ธนาคารกล่อมให้ซื้อประกันหรือให้ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ เช่นซื้อกองทุน ตราสารหนี้ พ่วงกับการฝากเงินหรือทำธุรกรรมการเงินอื่นๆ โดยยกมาเพียงแต่ตัวเลขของผลตอบแทนที่ได้ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดด้านการลงทุนหรือความเสี่ยงอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จากนี้ไปเหตุการณ์แบบนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศเรื่อง แนวนโยบายการกำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ หลังจากพบว่ามีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยของธนาคารพาณิชย์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศนี้จะมากำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ ที่ต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งการต้องเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ และผลตอบแทนที่ผู้บริโภคจะได้รับ ให้เห็นความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์หลักของธนาคารพาณิชย์ กับผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัย ซึ่งไม่ใช่เงินฝาก ที่อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับเงินต้นคืนไม่เต็มจำนวนเมื่อถอน ประเด็นสำคัญคือห้ามธนาคารพาณิชย์บังคับขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยควบคู่กับผลิตภัณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งเรื่องการส่งเสริมการขายและการเสนอขายต่างๆ ก็ต้องไม่เป็นการรบกวนผู้บริโภคและโฆษณาเกินจริง ผู้บริโภคต้องมีสิทธิปฏิเสธไม่ขอรับบริการได้ ------------------------------------------   เรื่องที่คนซื้อทองต้องรู้ ช่วงนี้ร้านทองตามที่ต่างๆ กำลังคึกคักกันน่าดู หลังจากที่ราคาทองถูกปรับลดลงมา หลายๆ คนต่างก็ไปจับจองเป็นเจ้าของทองคำกันจนแน่นร้านทอง แต่จะซื้อทองทั้งทีก็ต้องให้มั่นใจว่าทองที่ซื้อเป็นของดีมีคุณภาพ เป็นทองคำแท้ ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงฝากคำแนะนำสำหรับคนที่กำลังคิดจะซื้อทอง ก่อนซื้อทองทุกครั้งต้องไม่ลืมดูน้ำหนักทองให้ดี ต้องมีการชั่งน้ำหนักทองก่อนซื้อทุกครั้ง ทองคำ 1 บาทต้องมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 15.16 กรัม (ต้องเป็นทศนิยม 2 ตำแหน่ง) ที่สำคัญตราชั่งที่ใช้นั้นต้องมีความเสถียรที่ 0.00 หน่วย อย่าลืมสอบถามโรงงานที่ผลิตทองคำจากผู้ขาย เพราะในเนื้อทองคำต้องมีตราประทับของโรงงานที่ผลิต ซึ่งโรงงานที่ผลิตทองคำในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 64 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ 61 แห่ง จ.ตรัง 1 แห่ง จ.สงขลา 1 แห่ง และ จ.ขอนแก่น 1 แห่ง โดยทั้ง 64 โรงงานนี้ สคบ. ได้เข้าไปตรวจสอบและให้การรับรองมาตรฐานของทองคำที่ผลิตว่าสัดส่วนทองคำที่ 96.5% และต้องเลือกร้านทองที่ได้มาตรฐาน มีการแสดงราคาขายทองแท่งและทองรูปพรรณของแต่ละวันชัดเจน มีการแสดงราคารับซื้อคืน รวมถึงค่ากำเหน็จ --------------     หนังสั้น “เล่าเรื่องผู้บริโภค” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ) และแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดกิจกรรมฉายหนังสั้น “เล่าเรื่องผู้บริโภค 6+1” เพื่อส่งต่อเรื่องราวสถานการณ์ด้านสิทธิผู้บริโภคไทยและการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนของการผลักดันกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของเครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชน โดยกิจกรรมมีขึ้นที่โรงภาพยนตร์ เอสเอฟ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 27 – 28 เมษายนที่ผ่านมา กิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วยการฉายภาพยนตร์ให้ชมฟรีจำนวน 3 รอบ ซึ่งแต่ละรอบได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าแน่นโรงภาพยนตร์ทุกรอบ ก่อนฉายภาพยนตร์ยังมีการเสวนากับเหล่าผู้กำกับที่มาร่วมทำหนังสั้น พูดคุยถึงมุมมองและแรงบันดาลใจที่นำไปสู่การทำภาพยนตร์เพื่อผู้บริโภค ซึ่งผู้กำกับที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้แก่ อาจารย์ไพจิตร ศุภวารี, คุณมานุสส วรสิงห์, คุณชาญ รุ่งเรืองเดชวัฒนา, คุณบุญส่ง นาคภู่ และ คุณพัฒนะ จิรวงศ์ นอกจากนี้ภายในงานยังมีการมอบรางวัลผู้บริโภคใช้สิทธิยอดเยี่ยมแห่งปี 2555 ให้กับผู้บริโภคภาคประชาชนที่ออกมาทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิของตัวเองและสังคม ผู้ที่ได้รับรางวัลประกอบด้วย นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ, นางจิตรทิวา อินอิ่น และ นางสายลา เจ๊ะไบ๊ ซึ่งหลังจากนี้หนังสั้นทั้ง 6 เรื่อง กับอีก 1 คลิปวิดีโอ จะเดินทางไปฉายตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องสิทธิและการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนควรรู้ -----------     การแบนสารเคมีเกษตรยังไม่ถึงฝั่ง...เพราะมีใครบางคนขวางอยู่ เป็นเรื่องแปลกแต่จริง เมื่อสารเคมีเกษตรที่มีพิษร้ายแรง 4 ตัว คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และ อีพีเอ็น ที่ถูกประกาศโดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นวัตถุอันตรายห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายในประเทศไทย แต่สุดท้ายประกาศกับยังไม่มีโอกาสได้ใช้ เพราะถูกที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน สั่งเบรก ไม่ยอมรับข้อมูลที่กรมวิชาการเกษตรเสนอให้ยกเลิก แถมยังมีการเปิดช่องให้ภาคเอกชนผู้นำเข้าสารเคมีสามารถนำข้อมูลมาเสนอเพื่อโต้แย้งโดยไม่มีการระบุระยะเวลาในการนำเสนอ เป็นเสมือนการเปิดช่องให้บรรดาผู้นำเข้าสารเคมีได้ขายสินค้าของตัวเองต่อไปได้เรื่อยๆ ทั้งๆ ที่หลายประเทศได้สั่งแบนสารเคมีทั้ง 4 ชนิดแล้ว สารเคมีเกษตรทั้ง 4 ตัว ถือเป็นสารที่มีพิษร้ายแรง ซึ่งจากการสำรวจของภาคประชาชนและนักวิชาการที่ผลักดันให้มีการแบนสารเคมีดังกล่าว พบว่าสถานการณ์ตอนนี้มีผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมีเกษตรดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร รวมทั้งผู้บริโภคเองก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน จากนี้ไปเครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการที่ผลักดันให้มีการแบนสารเคมีทั้ง 4 ชนิด ก็จะค่อยติดตามการทำงานของภาครัฐอย่างใกล้ชิด และผลักดันให้เกิดการแบนโดยเร็วที่สุด   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนมีนาคม 2556 ใช้น้ำมันทอดซ้ำ = ทำผิดกฎมาย หลังจากนิตยสารฉลาดซื้อของเราได้ลงผลทดสอบ “น้ำมันทอดซ้ำในไก่ทอด” ซึ่งตรวจพบสารโพลาร์ – สารก่อมะเร็งในน้ำมันทอดซ้ำในหลายตัวอย่าง ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องอาหารปลอดภัย ก็ได้ออกมารับไม้ต่อในการทำหน้าที่ปกป้องผู้บริโภค โดยทั้งสุ่มตรวจอาหารทอด และออกกฎหมายควบคุมการใช้น้ำมันทอดซ้ำ อย.ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง วิธีการผลิตอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งในประกาศได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำห้ามมีการปนเปื้อนของสารโพลาร์เกินร้อยละ 25 ของน้ำหนักอาหาร หากมีการสุ่มตรวจแล้วพบการปนเปื้อนเกินกว่าค่าที่กำหนด ผู้ผลิตหรือผู้ขายอาหารที่ทำผิดจะมีโทษปรับสูงสุดหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งประกาศนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2556 เป็นต้นไป มีข้อมูลที่ทาง อย. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำมันทอดซ้ำจากทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อดูผลย้อนหลัง 5 ปี พบว่ามีความเสี่ยงจากอันตรายในน้ำมันทอดซ้ำเพิ่มขึ้นทุกปี โดยจากการเก็บตัวอย่าง อาหารทอดที่พบสารโพลาร์เกินร้อยละ 25 มีอย่างเช่น แคบหมู มันฝรั่ง ไส้กรอก ลูกชิ้น และไก่ทอด ----------------------------------------------------------   พ.ร.บ.ยา...ที่ยังมาไม่ถึง (สักที) คนไทยยังคงต้องร้องเพลงต่อไป สำหรับโอกาสที่จะได้ใช้ พ.ร.บ. ยา พ.ศ. ... (ฉบับประชาชน) หลังจากถูกดองโดยรัฐบาลเป็นเวลาร่วม 1 ปี ทั้งๆ ที่กฎหมายฉบับนี้ซึ่งมาจากการเข้าชื่อของประชาชนหนึ่งหมื่นชื่อผ่านการรับรองโดยรัฐสภาแล้วเรียบร้อย แต่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่ลงนามรับรองร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน รัฐบาลจะต้องออกร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับของรัฐบาลมาควบคู่กัน เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบ กฎหมายจากภาคประชาชนฉบับนี้จึงอดแจ้งเกิด ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา กล่าวว่า พ.ร.บ. ยา ฉบับประชาชน จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในเรื่องการใช้ยาของคนไทย ทั้งการตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายจากปัญหาการใช้ยา ซึ่งหลายประเทศที่พัฒนาแล้วใช้หลักการนี้ การควบคุมการส่งเสริมการขาย สร้างโครงสร้างราคายาที่เหมาะสม ลดปัญหาการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันเรานำเข้ายาจากต่างประเทศถึง 70% โดยหลังจากนี้ กพย. วางแผนที่จะผลักดันให้เกิดการใช้ร่างเกณฑ์จริยธรรมการส่งเสริมการขายยา ด้วยการพิมพ์เผยแพร่ร่างดังกล่าว ส่งต่อให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ที่สนใจและเห็นประโยชน์เพื่อให้ลองนำไปปรับใช้ต่อไป ----------------------------------------------- สวยต้องห้าม "สเต็มเซลล์ โรลเลอร์” ความสวยไม่ควรมาพร้อมความเสี่ยง การแพทย์เพื่อความงามต้องตั้งอยู่บนความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ออกโรงยืนยันว่า "สเต็มเซลล์ โรลเลอร์ (Stem Cell Roller)" และ "เดอร์มา โรลเลอร์" (Derma Roller) ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่า ช่วยรักษารอยเหี่ยวย่น รอยสิว ผิวหน้าไม่เรียบ ทำให้หน้าใส โดยจะใช้ลูกกลิ้งที่มีเข็มเล็กๆ เป็นจำนวนมาก กลิ้งไปบนใบหน้า เพื่อให้ใบหน้ามีการสร้างเซลล์ผิวหนังใหม่ขึ้นมาทดแทนนั้น ไม่ได้รับการรับรองให้ใช้รักษาในประเทศไทย เพราะไม่มีข้อมูลการันตีเรื่องผลการรักษา และยังเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อผิวหน้า โดย อย. ได้เอาผิดกับ 2 คลินิกเสริมความงามชื่อดัง ทั้ง นิติพลคลินิก และ วุฒิ-ศักดิ์คลินิก หลังจากได้รับการร้องเรียนและตรวจสอบพบว่ามีการให้บริการ สเต็มเซลล์ โรลเลอร์ และเดอร์มา โรลเลอร์ อันตรายของ สเต็มเซลล์ โรลเลอร์ และเดอร์มา โรลเลอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ ที่ทำให้เกิดบาดแผลกับผิวหน้า มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคติดต่ออันตราย หากเครื่องมือที่ใช้ไม่มีความสะอาดและไม่ได้มาตรฐาน ------------   ร้องเนสท์เล่ เรียกคืน “คิทแคท” เจ้าปัญหาแบบในต่างประเทศ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน รวมกันแถลงข่าว ร้องขอความรับผิดชอบจาก บริษัท เนสท์เล่ ประเทศไทย ให้มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ ช็อคโกแล็ตนมสอดไส้เวเฟอร์ ตราเนสท์เล่คิทแคท ออกจากร้านค้าทั่วประเทศ หลังจากพบปัญหาว่าพลาสติกที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์หลุดออกมาปนเปื้อนในเนื้อช็อกโกแลตที่เคลือบขนม ปัญหาแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยบริษัท เนสท์เล่ ได้แสดงความรับผิดชอบโดยการเรียกคืนสินค้าที่มีปัญหาโดยสมัครใจทั้งใน อังกฤษ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่มาเลเซีย ซึ่งผลิตภัณฑ์คิทแคทที่จำหน่ายในบ้านเรานำเข้ามาจากมาเลเซีย ลักษณะของปัญหาเกิดจากตัวบรรจุภัณฑ์ที่มีการนำเส้นพลาสติกสีแดงติดอยู่ด้านใน ซึ่งสามารถหลุดลอกออกมาได้ทำให้ไปปนเปื้อนกับตัวอาหาร ยิ่งเนื้อช็อกโกแลตมีโอกาสหลอมเหลวได้ง่ายเมื่ออยู่ในที่ที่มีอากาศร้อน การปนเปื้อนของเส้นพลาสติกกับเนื้ออาหารจึงเกิดขึ้นได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงน่าจะมาจากตัวบรรจุภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาไม่เหมาะสม ------------------------------------------------------------------------------   กสทช. กับความล้มเหลวเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค "2556 ปีทองการคุ้มครองผู้บริโภค " คือคำประกาศที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. นำมาใช้แสดงวิสัยทัศน์ในการทำงาน แต่หากลองพิจารณาถึงการทำงานตลอดปี 2555 ที่ผ่านมา และช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 จะเห็นว่าผลงานที่ประจักษ์ของ กสทช. นั้น ช่างแตกต่างจากคำประกาศอย่างสิ้นเชิง เพราะการทำงานที่ผ่านมา ปัญหาของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของ กสทช. ถูกละเลยอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน การคิดค่าโทรนาทีละ 99 สตางค์ หรือปัญหา sms หลอกเงิน ซึ่งหลายเรื่องมีข้อกฎหมายกำหนดชัดเจนมาพร้อมบทลงโทษกับผู้ประกอบการที่กระทำผิด แต่ทุกปัญหาก็ยังคงรบกวนผู้บริโภคอย่างไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการแก้ไข นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวเสริมถึงเรื่องปัญหาของผู้บริโภคว่า ปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเต็มที่ ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนมาที่ กสทช. ประมาณ 4 - 5 พันเรื่อง การแก้ไขเป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งที่กฎหมายกำหนดว่าต้องดำเนินการภายใน 30 วัน โดยยังคงมีเรื่องร้องเรียนค้างอยู่นับพันเรื่อง ซึ่งสาเหตุของปัญหามาจากการจัดการทั้งเรื่องของบุคลากรและงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ขั้นตอนการดำเนินงานที่มากเกินไป ทั้งหมดล้วนเกิดจากการบริหารจัดการที่ยังไม่มีความชัดเจนและไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องปัญหาผู้บริโภคมากเพียงพอ จากนี้ไป ผู้บริโภคอย่างเราก็คงต้องจับตาดูการทำงานของ กสทช. อย่างใกล้ชิด  กสทช. ต้องแสดงความจริงใจในการเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคในยุคที่บริการด้านการสื่อสารมีบทบาทอย่างมากกับการดำเนินชีวิต ไม่ใช้องค์กรที่ค่อยสร้างประโยชน์แก่ผู้ประกอบการอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ---------------------   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ใช้เทคโนโลยีช่วยจำ ระวังทำสมองเสื่อม ข้อมูลจากงาน “สร้างสรรค์สังคมไทยห่างไกลอัลไซเมอร์ ครั้งที่ 5” มีการรายงานตัวเลขของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในประเทศไทยพบว่ามีผู้สูงอายุที่เสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมร้อยละ 12 และคาดว่าในปี พ.ศ.2563 ไทยอาจมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุโดยรวมของประเทศ โดยสาเหตุของการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม นอกจากสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดที่ส่งผลกับการทำงานของสมองและความผิดปกติของต่อมไธรอยด์แล้ว พฤติกรรมการดำเนินชีวิตเดี๋ยวนี้ก็มีผลกับโรคสมองเสื่อมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือเพื่อช่วยจำ ช่วยคิดแทนการใช้สมอง เช่น บันทึกข้อมูลต่างๆ ในโทรศัพท์ในมือถือ ร้องเพลงตามคาราโอเกะแล้วต้องคอยอ่านเนื้อเพลงแทนการจดจำ ใช้เครื่องคิดเลขแทนการใช้สมองคำนวณ ยิ่งเป็นเด็กยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะสมองขาดการใช้งาน เซลล์ประสาทขาดการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาสมองเสื่อมก็อาจจะตามมา   สำหรับการป้องกันโรคสมองเสื่อม วิธีง่ายๆ คือพยายามฝึกใช้สมองเป็นประจำ เช่น การท่องจำหรือคิดคำนวณต่างๆ เล่นเกมที่ฝึกสมอง รวมทั้งออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยการกระตุ้นทำงานของสมองได้ ------------------------------------------------------     สารเคมีกำจัดศัตรูพืชบุกยึดประเทศไทย เชื่อหรือไม่ ประเทศไทยเรานำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมากจนน่าตกใจ ว่ากันว่าสูงเท่ากับตึกใบหยก 2 ซึ่งปริมาณมากแบบนี้ย่อมมีผลกระทบกับคนที่รับประทานผักแน่นอน นพ.พิบูลย์ อิสรพันธุ์ รองผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในเวที “นโยบายเกษตรเพื่อสุขภาพ : แบน 4 สารเคมีเกษตรก่อมะเร็ง” ว่าในปี 2554 ประเทศไทยนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชสูงถึง 20,875 ล้านบาท หรือประมาณ 520,312 ตัน เท่ากับขวดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 46 เมตร สูงเท่าตึกใบหยก 2 ข้อมูลการสุ่มตรวจเลือดเกษตรกร 74 จังหวัด จำนวน 533,524 คน พบว่ามีสารเคมีปนเปื้อนในเลือดเกินมาตรฐานความปลอดภัยถึง 173,243 คน คิดเป็นร้อยละ 32ส่วนประชาชนทั่วไปตรวจจำนวน 99,283 คน พบไม่ปลอดภัย 35,949 คน คิดเป็นร้อยละ 36 ซึ่งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นต้นเหตุของร้ายโรคอันตราย โดยเฉพาะมะเร็ง สาเหตุสำคัญที่ทำให้การนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีปริมาณสูง นอกจากการที่ภาครัฐฯ ไม่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องสารเคมีแก่เกษตรกรแล้ว ยังมีเรื่องของการขึ้นทะเบียนสารเคมี ซึ่งควรยกเลิกสารเคมีที่มีอันตรายเฉียบพลัน โดยเฉพาะสารเคมี 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งหลายประเทศยกเลิกทั้งผลิตและนำเข้าไปแล้ว     เตือน! “สบู่ดำ” พิษถึงตาย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 (สคร.7) อุบลราชธานี แจ้งเตือนอันตรายของ “เมล็ดสบู่ดำ” สมุนไพรพื้นบ้านที่มีพิษร้ายแรง ถ้าหากใครเผลอรับประทานเข้าไปมีสิทธิเสียชีวิต เพราะพิษของเมล็ดสบู่ดำมีผลต่อการทำงานของระบบหายใจ ความดันโลหิต หัวใจเต้นผิดปกติ นอกจากนี้หากน้ำยางถูกผิวหนังก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองปวดแสบปวดร้อนรุนแรง ยิ่งถ้าหากเข้าตาอาจทำให้ตาบอด มีรายงานว่าพบผู้ป่วยอาหารพิษจากการรับประทานเมล็ดสบู่ดำเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะเด็กๆ ที่เก็บเมล็ดมาทานด้วยความไม่รู้ แนะวิธีป้องกันให้หน่วยงานและชุมชนที่ปลูกควรทำป้ายชื่อกำกับ แจ้งคำเตือนว่าเป็นพืชมีพิษห้ามรับประทาน เมล็ดสบู่ดำนิยมปลูกมากในหลายจังหวัด เพราะได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เนื่องจากเมล็ดสบู่ดำนอกจากเป็นพืชสมุนไพร เพราะเปลือกและใบสามารถใช้รักษาโรคกระเพาะและเป็นยาแก้ไอ นอกจากนี้ยังเป็นพืชพลังงานทดแทนเพราะนำไปสกัดเป็นน้ำมันได้     ปั่นต้านโลภ เครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิสุขภาพไทย และมูลนิธิเพื่อนหญิง จัดกิจกรรม "ปั่นต้านโลภ หยุดการกอบโกยของธุรกิจพลังงาน” เพื่อเรียกร้องให้ธุรกิจพลังงานหยุดเอาเปรียบผู้บริโภค โดยมีผู้ปั่นจักรยานเข้าร่วมขบวนรณรงค์ในกิจกรรมครั้งนี้กว่า 200 คัน ซึ่งเส้นทางในการปั่นจักรยานเริ่มต้นจากสวนสันติภาพ ผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปตามเส้นทางถนนพหลโยธิน แล้วไปจบที่บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน สำนักงานใหญ่ โดยกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการแสดงพลังเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องพลังงานหยุดเอาเปรียบผู้บริโภค ผ่านข้อเรียกร้องที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม เช่น   หยุดการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนและรถยนต์ ที่กำหนดเริ่มเดือนเมษายนนี้ และให้เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากภาคปิโตรเคมีที่ใช้ แอลพีจี เป็นวัตถุดิบในอัตรากิโลกรัมละ 12 บาท เหมือนที่เรียกเก็บกับอุตสาหกรรมทั่วไป ซึ่งจะทำให้หนี้กองทุนน้ำมันที่มีอยู่หมดไปในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ชะลอการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจำนวน 5,400 เมกะวัตต์ ในกลางปีนี้ หยุดการผูกขาดของธุรกิจก๊าซและพลังงานทั้งระบบของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หยุดผลประโยชน์ทับซ้อนของปลัดและอธิบดีในกระทรวงพลังงาน พร้อมทั้งสนับสนุนการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค --------------     ประกวดสปอตโฆษณา องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ประกาศผลผู้ชนะไปแล้วเรียบร้อย สำหรับกิจกรรมการประกวดสปอตโฆษณา “ให้ความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคเดี๋ยวนี้ Consumer Justice Now” ที่ได้เปิดโอกาสให้น้องๆ นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้แสดงฝีมือและร่วมเป็นหนึ่งแรงในการผลักดันสร้างความเข้าใจเรื่อง องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 61 ให้กับสังคม ซึ่งผลงานสปอตโฆษณาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่เรื่อง “อย่าให้การถูกเอาเปรียบเป็นเรื่องเคยชิน” จากทีม BU ไฝดำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท นอกจากนี้อีกหนึ่งผลงานจากทีม BU ไฝดำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มีชื่อว่า “การคิดอยู่ในใจไม่มีผู้ประกอบการรายใดได้ยิน” ก็ได้รับรางวัลป๊อบปูล่าโหวตด้วยอีกหนึ่งรางวัล ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ผลงานเรื่อง “Guinness Van” จากทีม SWEET KID รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ผลงานเรื่อง “หยุดเอาเปรียบฉัน” จากทีมลูกหมาสามตัว ใครที่อยากชมผลงานสปอตที่ได้รับรางวัลและผลงานคลิปอื่นๆ ที่เข้าร่วมประกวด สามารถเข้าไปดูได้ที่หน้าเฟซบุ๊คมาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค www.facebook.com/cindependence   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 2556 ระวัง “กลลวงทดสอบคุณภาพน้ำ” การประปานครหลวง (กปน.) ฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับการทดสอบความสะอาดและคุณภาพของน้ำดื่ม เพราะทั้งสร้างความเข้าใจผิดเรื่องความสะอาดของน้ำดื่ม แถมยังหวังหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงซื้อผลิตภัณฑ์ปรับคุณภาพน้ำ   มีการโฆษณาชวนเชื่อโดยการนำเครื่องมือทดสอบ ชนิดเครื่องแยกสารละลายด้วยไฟฟ้า หรือ เครื่องอิเล็กโทรไลซิส (Electrolysis) ซึ่งประกอบด้วยขั้วไฟฟ้า 2 ขั้ว คือเหล็ก และอะลูมิเนียม โดยเมื่อนำเครื่องมือทดสอบดังกล่าวจุ่มลงไปในน้ำดื่มทั่วไปที่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุ และทำให้ไฟฟ้าไหลผ่านน้ำที่ทดสอบ ขั้วไฟฟ้าที่ทำด้วยเหล็กจะละลายและทำปฏิกิริยากับน้ำ ทำให้เกิดตะกอนที่มีสีน้ำตาลแดงคล้ายสนิมเหล็ก เรียกว่า เหล็กไฮดรอกไซด์ ซึ่งตะกอนที่ละลายออกมาจากเครื่องมือนี้เอง ที่สร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนว่าน้ำที่มีตะกอนละลายคือน้ำที่ไม่สะอาด มีสิ่งเจือปน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค ซึ่งความจริงแล้ว น้ำดื่มที่เหมาะแก่การบริโภค ต้องมีส่วนประกอบของแร่ธาตุอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม จึงไม่แปลกที่เมื่อนำเครื่องมือดังกล่าวมาทดสอบแล้วเกิดสีหรือตะกอน ในขณะที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวนำน้ำบริสุทธิ์หรือน้ำที่ผ่านกระบวนการ Reverse Osmosis หรือการขจัดแร่ธาตุทุกชนิดออกไปจากน้ำ จนไม่มีสิ่งใดๆ เจือปนอยู่เลยเทียบเท่าได้กับน้ำกลั่นมาทดสอบ จึงไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆ ขึ้นทั้งสิ้น และทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าน้ำดังกล่าวคือน้ำที่สะอาดที่สุด   กปน.ยืนยันว่าน้ำประปาที่ผลิตได้นั้น ได้มาตรฐานน้ำดื่มตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก     ขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาล นโยบายปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลเริ่มส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วนของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการรักษาพยาบาล เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเตรียมปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาล โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปรับตามสภาวะเศรษฐกิจ หลังจากที่ไม่ได้ปรับราคามาตั้งแต่ปี 2547 โดยทางกระทรวงฯ เชื่อว่าจะไม่กระทบกับคนไทยส่วนใหญ่ซึ่งมีระบบหลักประสุขภาพรองรับ ทั้งระบบบัตรทอง ระบบประกันสังคม และระบบราชการ แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ที่จะต้องรับผลกระทบโดยตรงแน่นอน เพราะเมื่อมีประกาศเรื่องการขึ้นราคารักษาพยาบาลจากกระทรวงฯ โรงพยาบาลเอกชนเองก็จะต้องปรับขึ้นราคาตามประกาศ หรือแม้แต่กลุ่มผู้ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ก็อาจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในกลุ่มประกันสังคมอาจมีการเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มจากทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ใช้สิทธิประกันสังคม   ค่าบริการใหม่ครั้งนี้มีรายการที่จะออกประกาศใหม่ทั้งหมด 2,713 รายการ หมวดที่เพิ่มขึ้นสูงสุด คือ ค่าตรวจรักษาโรคโดยวิธีพิเศษซึ่งเพิ่มขึ้น 53% เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีใหม่ รองลงมา คือค่าบริการรังสีวินิจฉัย เวชศาสตร์นิวเคลียร์และรังสีรักษา เพิ่ม 23%รายการที่เพิ่มต่ำสุด คือ ค่าบริการเทคนิคการแพทย์ 8%     กสทช. แจกคูปองส่วนลดกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การรับชมโทรทัศน์ในบ้านเราจะมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาณเป็นระบบดิจิตอลที่มีความคมชัดของทั้งภาพและเสียงดีกว่าสัญญาณระบบอนาล็อกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงระบบการส่งสัญญาณในครั้งนี้จะมีผลทำให้แต่ละบ้านต้องมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการรับชม แต่ผู้บริโภคว่าไม่ต้องกังวลว่าถึงขนาดต้องเปลี่ยนโทรทัศน์ใหม่ เพราะสามารถใช้กล่องรับสัญญาณหรือ set top box รับสัญญาณชมรายการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้ตามปกติ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมแจกจ่ายคูปองส่วนลดให้กับประชาชนทุกครัวเรือนเพื่อนำไปซื้อ Set-top-box เพื่อเตรียมพร้อมสู่การรับชมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล   ข้อดีของทีวีดิจิตอล คือ ในหนึ่งช่องสัญญาณจะสามารถนำมาส่งได้หลายรายการโทรทัศน์ สำหรับรายการดิจิตอลทีวีของประเทศไทยจะมีจำนวน 48 ช่อง ได้แก่ ช่องบริการชุมชน 12 ช่อง ช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง ช่องบริการธุรกิจ (เชิงพาณิชย์) 24 ช่อง ซึ่งยังแบ่งออกเป็นในหมวดรายการเด็กและเยาวชน 5 ช่อง หมวดข่าวสารและสาระ 5 ช่อง หมวดช่องทั่วไป 10 ช่อง หมวดช่องรายการที่มีคุณภาพความคมชัดสูง (HD) 4 ช่อง     โทรนาทีละ 99 สตางค์ จากนี้ไปผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายต้องคิดค่าโทรในอัตรานาทีละไม่เกิน 99 สตางค์ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีประกาศเรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ.2555 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2555   จากการตรวจสอบของ กสทช. พบว่าต้นทุนการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ไม่เกินนาทีละ 1 บาท ประกาศฉบับนี้จึงทำให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการในราคาที่เป็นธรรม   โดยตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นบริการในระบบเติมเงินหรือเหมาจ่ายรายเดือน ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือห้ามคิดค่าโทรเกิน 99 สตางค์ หากใครพบว่ามีการฝ่าฝืนสามารถแจ้งข้อมูลหรือร้องเรียนเข้ามาได้ทางสายด่วนรับเรื่องร้อนของ กสทช. หมายเลข 1200     ปั่นจักรยานดันกฎหมายผู้บริโภค กลุ่มผู้บริโภคจากทั่วประเทศรวมกันขี่จักรยานและเดินเท้า ถือป้ายรณรงค์กฎหมายองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค และนำรายชื่อประชาชน 107,905 รายชื่อ สนับสนุนการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ให้ช่วยเร่งจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556   โดยกิจกรรมการ “ปั่นจักรยานทวงสิทธิของคุณคืนมาด้วยมาตรา 61” ถือเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่เริ่มต้นตั้งแต่การรวมตัวปั่นจักรยานของกลุ่มเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่บริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 และกิจกรรมครั้งที่ 2 คือการปั่นจักรยานที่สวนรถไฟในวันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ ก่อนจะปิดท้ายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ด้วยกิจกรรมขบวนจักรยานและเดินเท้าของกลุ่มพี่น้องเครือข่ายผู้บริโภคจากทั่วประเทศกว่า 500 คน จากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า มายังหน้ารัฐสภา เพื่อเป็นการแสดงพลังและส่งเสียงทวงถามถึงความคืบหน้าในการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับสำคัญที่มาจากประชาชน พร้อมกันนี้มีการยื่นหนังสือต่อ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร นายวัฒนา เซ่งไพเราะ และ ส.ส. ส.ว. อีกหลายท่าน เช่น นายบุญยอด สุขถิ่นไทย  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  นางสาวรสนา  โตสิตระกูล  สว.สรรหากรุงเทพมหานคร  นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย   สมาชิกวุฒิสภา สรรหา และนายวิทยา บูรณะศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ตำแหน่งประธานวิปรัฐบาล เพื่อให้ช่วยกันผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้   แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 61 กำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดตั้งองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคขึ้น ซึ่งประชาชนได้ทำการเข้าชื่อกันกว่า 10,000 ชื่อเพื่อเสนอกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 แต่ปัจจุบันการพิจารณาก็ยังค้างคาอยู่ในกระบวนการจัดตั้งกรรมาธิการร่วม ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งกลุ่มองค์กรผู้บริโภคเห็นว่ากระบวนการออกกฎหมายฉบับนี้ล่าช้าเกินไป ทั้งที่เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ และเกรงว่าร่างกฎหมายจะตกไปหากหมดสมัยประชุมสภา กลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคจึงต้องออกมารวมพลังเรียกร้องในครั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายฉบับนี้ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2555 ปัญหาของ “ซิมฟรี” ซิมมือถือแจกฟรียังเป็นปัญหากวนใจของผู้บริโภค เมื่อของที่ว่าแจกฟรีแต่แท้จริงกลับไม่ได้ฟรีอย่างที่โฆษณา เพราะพอเวลาผ่านไปกลับมีใบเสร็จมาเรียกเก็บค่าบริการ ทั้งๆ ที่ซิมฟรีที่ได้รับแจกมายังไม่ได้ถูกใช้งาน กลุ่มงานรับเรื่องราวร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้สรุปตัวเลขการร้องเรียนปัญหากรณีแจกซิมฟรี ช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งมียอดร้องเรียนทั้งหมด 179 เรื่อง โดยบริษัทผู้ให้บริการที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ บริษัท เรียลมูฟ หรือ ทรูมูฟ เอช ที่มีเรื่องร้องเรียนจำนวน 91 เรื่อง รวมเข้ากับบริษัทที่อยู่ในเครือเดียวกันอย่าง บริษัท ทรูมูฟ จำกัด อีกจำนวน 10 เรื่อง ส่วนบริษัทผู้ให้บริการอื่นๆ ที่มีเรื่องร้องเข้ามาก็ได้แก่ บริษัท ไอ-โมบาย พลัส จำนวน 74 เรื่อง, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จำนวน 3 เรื่อง และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส จำนวน 1 เรื่อง   ปัญหาการรับแจกซิมฟรีแล้วถูกเรียกเก็บเงินในภายหลังนั้น มักเกิดจากการที่ผู้ให้บริการสื่อสารข้อมูลหรือเงื่อนไขกับลูกค้าหรือผู้ได้รับแจกซิมฟรีไม่ชัดเจน ผู้ที่ได้รับแจกซิมหลายคนเข้าใจสามารถนำซิมไปใช้โทรได้ฟรีหรือมีวงเงินให้สามารถโทรได้โดยไม่ต้องเติมเงินหรือจ่ายรายเดือน   ซึ่งพนักงานที่แจกซิมที่สามารถพบเจอได้ตามแหล่งชุมชนหรือตามตลาดที่มีผู้คนพลุกพล่าน มักไม่ยอมแจ้งข้อมูลทั้งหมด ว่าซิมที่แจกเป็นซิมประเภทไหน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นซิมแบบจดทะเบียน เพราะเงื่อนไขในการแจกมักมีการขอบัตรประชาชน มีการลงลายมือชื่อ ทำให้มีบิลเรียกเก็บค่าบริการส่งไปหาถึงบ้านในภายหลัง แม้ว่าซิมที่ได้รับแจกมาจะยังไม่เคยได้เปิดใช้เลยก็ตาม   ใครที่ประสบปัญหานี้ สามารถติดต่อแจ้งได้ด้วยตัวเองกับบริษัทเจ้าของซิม หรือแจ้งมายัง กสทช. เพื่อแสดงเจตจำนงว่าไม่ได้มีความประสงค์จะขอใช้บริการและขอยุติการเรียกเก็บค่าบริการต่างๆ ทั้งหมด และครั้งต่อไปหากถูกเรียกให้ไปรับแจกซิมฟรี อย่ารับเด็ดขาดถ้าไม่คิดจะนำมาใช้งาน หรือหากอยากได้ก็ขอให้สอบถามข้อมูลประเภทการใช้งานให้เรียบร้อย โดยเฉพาะเรื่องการคิดอัตราค่าบริการ --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เชื่อมั่น “บัญชียาหลักแห่งชาติ” ทุกวันนี้ผู้ที่ถือสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ต่างก็ได้ใช้ยาในระบบ “บัญชียาหลักแห่งชาติ” ซึ่งอาจมีบางคนที่ยังไม่มั่นใจว่ายาเหล่านี้จะสู้ยาราคาแพงๆ ที่ใช้ในโรงพยาบาลเอกชนได้หรือเปล่า คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. วอนให้คนไทยเชื่อมั่นใน “บัญชียาหลักแห่งชาติ” เพราะยาทุกรายการที่อยู่ในบัญชีมีความเหมาะสมและทันสมัย มีรายการยาที่จำเป็นสำหรับคนไทย ซึ่งผ่านกระบวนการพิจารณากลั่นกรองคัดเลือกยาโดยคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญกว่า 200 คน  โดยยึดหลักในเรื่องประสิทธิภาพของยา ความปลอดภัย และมีความคุ้มค่าตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและความสามารถในการจ่ายของสังคม ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประกอบด้วย 3 บัญชี คือ 1.บัญชียาสำหรับโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข 2.บัญชียาจากสมุนไพร และ 3.เภสัชตำรับโรงพยาบาล ปัจจุบันมีรายการยาแผนปัจจุบันอยู่ในบัญชียาหลักประมาณกว่า 800 รายการ บัญชียาจากสมุนไพรประมาณ 71 รายการ ซึ่งความครอบคลุมในการรักษาโรคต่างๆ ของคนไทย สำหรับยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ยามะเร็ง ยาโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ยาโรคระบบทางเดินอาหาร คณะกรรมการฯ ของ อย. จะนำหลักการทางด้านเภสัชศาสตร์กับความสามารถในการจ่ายของรัฐ เพื่อจัดทำข้อเสนอในการต่อรองราคายากับบริษัทผู้ผลิตยา เพื่อให้ยาที่มีความจำเป็นต้องอยู่ในบัญชีหลักแห่งชาติมีราคาที่ถูกลง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและมาตรฐานของยาแต่อย่างใด ใครที่อยากทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบัญชียาหลักแห่งชาติ สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ www.nlem.in.th ------------------------------------------------------------------------------------------------------ หมากฝรั่งไฟช้อต มีของเล่นอันตรายมาทำร้ายเด็กไทยกันอีกแล้ว คราวนี้เป็นของเล่นที่ชื่อว่า “หมากฝรั่งไฟช้อต” หรือมีชื่อทางการค้าว่า “Chewing Gum Shock” ของเล่นที่หน้าตาเหมือนหมากฝรั่งแต่มีไว้แกล้งคนอื่น ซึ่งเด็กนักเรียนมักจะซื้อมาแกล้งเพื่อนให้ตกใจ ด้วยการให้ดึงชิ้นส่วนซองบรรจุหมากฝรั่งที่ยื่นออกมา แล้วจะเกิดไฟฟ้าช้อต ซึ่งทำให้มีเด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บ เกิดอาการชาและช้ำบริเวณที่สัมผัสเจ้าของเล่นอันตรายชิ้นนี้ ศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัยของ สำนักคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้สุ่มเก็บตัวอย่างหมากฝรั่งไฟช้อตมาทดสอบความแรงของการช้อต ซึ่งผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการของคณะวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าในการดึงแต่ละครั้งจะมีค่ากระแสไฟฟ้าสูงถึง 736 โวลต์ ซึ่งมากกว่าค่ากระแสไฟฟ้าตามบ้านเรือน และกระแสไฟเป็นแบบต่อเนื่องจึงทำให้เกิดการกระตุ้นของกระแสไฟที่ผ่านในร่างกายเป็นระยะๆ ทำให้เกิดอาการชาบริเวณอวัยวะที่สัมผัสเหมือนถูกไฟฟ้าช้อต ยิ่งถ้าดึงค้างไว้นานๆ กระแสไฟฟ้าจะส่งเข้าสู่ร่างกายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หากใครเห็นสินค้าชนิดนี้ให้แจ้งไปได้ที่ สคบ .ซึ่งทาง สคบ. เองเตรียมนำเสนอคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อห้ามขายสินค้าดังกล่าว ตามมาตรา 36 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 -----------------------------------------------------------------------------------------------------   กองทุนเยียวยาผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมจัดตั้งกองทุนอุดหนุนเงินเยียวยาผู้บริโภค เพื่อชดเชยความเสียหายให้ผู้บริโภคทันที หลังจากที่คณะกรรมการมีมติว่าผู้ประกอบการมีความผิดและผู้บริโภคได้รับความเสียหายจริง จากเดิมที่กว่าผู้บริโภคจะได้รับเงินชดเชยต้องรอให้มีคำตัดสินของศาลออกมาก่อน ซึ่งใช้เวลานาน สำหรับแนวทางการจัดตั้งกองทุน ทาง สคบ. วางไว้ 2 แนวทาง แนวทางแรก สคบ.อาจรับเป็นเจ้าภาพแต่เพียงผู้เดียว โดยใช้งบประมาณจากสำนักงบประมาณ หรืออีกแนวทาง คือ ร่วมมือกับผู้ประกอบการในการจ่ายเงินค้ำประกันเพื่อรับประกันว่าหากเกิดปัญหาก็สามารถตัดเงินก้อนดังกล่าวมาใช้เยียวยาให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งทาง สคบ. จะเร่งให้เกิดกองทุนเยียวยาผู้บริโภคให้ได้เร็วที่สุด เพื่อเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาผู้บริโภค ที่มีดูเหมือนจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ------------------------------------------------------------------   10 สุดยอดนวัตกรรมปี 2555 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ได้คัดเลือก “10 สุดยอดนวัตกรรมประจำปี 2555” จากโครงการนวัตกรรมทั้งหมด 849 โครงการที่ สนช. ให้การสนับสนุน โดยคัดเลือกธุรกิจใหม่ๆ ที่มีความโดดเด่นในด้านของเทคโนโลยีกระบวนการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดในรูปแบบใหม่ โดย 10 สุดยอดนวัตกรรมประจำปี 2555 จากการคัดเลือกของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติมีดังนี้ 1. “ไบโอเวกกี้” วิตามินรวมจากผักเมืองหนาว บริษัท เชียงใหม่ ไบโอเวกกี้ จำกัด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทวิตามินรวมจากผักเมืองหนาว 12 ชนิด   2. “ฟีนพลัส” หมึกนำไฟฟ้าผสมแกรฟีนสำหรับผลิตลายไฟฟ้า บริษัท อินโนฟิน จำกัด หนึกนำไฟฟ้าผสมแกรฟินที่จะช่วยทดแทนการใช้หมึกน้ำไฟฟ้าที่ผสมสารตัวอื่น เช่น โลหะเงิน ด้วยประสิทธิภาพการใช้งานที่เท่าเทียมกันแต่มีราคาต้นทุนถูกกว่า   3. “ซินนิไพร์” เครื่องอบแห้งผลิตภัณฑ์เซรามิกด้วยก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ บริษัท อิมพีเรียลพอทเทอรี่ จำกัด เครื่องอบแห้งผลิตภัณฑ์เซรามิกด้วยก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ แทนการใช้ก๊าซหุงต้ม   4. “เอนเนอเร่” เครื่องดื่มให้พลังงานจากข้าว บริษัท บีเอสซีเอ็มฟูดส์ จำกัด เครื่องดื่มที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวสารเกรดเอได้ถึง 10 เท่า   5. “โดรน” เครื่องช่วยฟังแบบทัดหลังหู บริษัท ศูนย์การได้ยินดีเมด จำกัด เครื่องช่วยฟังที่มีการประมวลผลแบบดิจิตอล สามารถตัดเสียงรบกวนภายนอก แยกแยะระดับความถี่ของเสียงที่ได้รับเพื่อเพิ่มความดังที่เหมาะสมกับความผิดปกติของแต่ละบุคคล   6. “ชีวาดี” น้ำหวานดัชนีน้ำตาลต่ำจากดอกมะพร้าวอินทรีย์ บริษัท ชีวาดี โปรดักชันส์ จำกัด ผลิตภัณฑ์ให้ความหวานแต่ดัชนีน้ำตาลต่ำ ทำจากน้ำหวานดอกมะพร้าวหมักที่ยับยั้งการตกผลึกของน้ำตาลมะพร้าวและเชื้อจุลินทรีย์ด้วยมังคุดกับไม้พะยอม   7. “ไอริส” กระเบื้องเคลือบผลึกจากเศษกระจกรีไซเคิล ห้างหุ่นส่วนจำกัด ไอริส อินดัสเทียล กระเบื้องที่มีความสวยงามเฉพาะตัว แถมขั้นตอนการผลิตยังมีการลดการใช้อุณหภูมิในการเผาลงถึง 50 – 100 องศาเซลเซียส   8. “บีที ไฮบริด” สารชีวภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงสำหรับกำจัดหนอนศัตรูพืช บริษัท ภูธนเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยกำจัดและลดการระบาดหนอนศัตรูพืชได้มากกว่า 1 ชนิด และเหมาะที่จะนำมาใช้แทนสารเคมีประเภทดูดซึม เช่น สารเคมีกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และคาร์บาเมต   9. “ซิลค์ แอคเน่” ผลิตภัณฑ์ลดการอักเสบจากโปรตีน บริษัท เอทิกา จำกัด ผลิตจากรังไหมที่ผ่านกระบวนการสกัดจนได้กาวไหมเธริธินที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มการสร้างคอลลาเจนและยับยั้งการอักเสบ สำหรับแผลอักเสบจากสิวและแมลงกัดต่อย   10. “แดรี่โฮม” บรรจุภัณฑ์โยเกิร์ตอินทรีย์จากพลาสติกชีวภาพ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีความแข็งแรงทนทาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤศจิกายน 2555 ใบจองต้องเป๊ะ ซื้อรถคันแรก หลังจากที่รัฐบาลออกนโยบายรถคันแรกซึ่งเอื้อให้ประชาชนสามารถมีรถยนต์เป็นของตัวเองได้ง่ายขึ้น จากเงื่อนไขที่ภาครัฐที่จ่ายภาษีคืนให้กับผู้ซื้อ ทำให้ยอดการจองรถยนต์มีอัตราสูงขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยการทำสัญญาจองรถยนต์นั้นผู้บริโภคต้องให้ความสำคัญกับ “ใบจอง” เพราะเป็นเอกสารหลักฐานสำคัญที่ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอก โดยทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เคยทำหนังสือถึงผู้ประกอบการจำหน่ายรถยนต์ทุกค่ายพิจารณาการออกใบจองรถยนต์ให้ลูกค้าให้มีมาตรฐาน เป็นประโยชน์กับผู้ซื้อ โดยต้องแสดงรายละเอียดสำคัญให้ครบถ้วน ตั้งแต่รายละเอียดของรถยนต์ สี รุ่น ราคา ระยะเวลาการผลิตรถ ขนาดของเครื่องยนต์ และกำหนดเวลาส่งมอบรถ พร้อมสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ หากค่ายรถยนต์ใดไม่แสดงรายละเอียดข้อมูลดังกล่าวให้ครบถ้วน ถือว่าอาจเข้าข่ายการหลอกลวงผู้บริโภค จากข้อมูลของ สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2555 ทั้งสิ้น 889 เรื่อง เป็นกรณีขอเงินจองคืนเนื่องจากไม่ได้รถยนต์ 100 รายการ ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญา 69 รายการ ยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน 53 รายการ ชำรุด 231 รายการ คืนรถ ค้างค่างวด 91 รายการ ยึดรถคืน 40 รายการ ขอชดใช้ค่าเสียหาย 38 รายการ ค่าปรับสูง 31 รายการ ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ 31 รายการ ขอคำปรึกษา 30 รายการ     ที่พักแพงแจ้ง สคบ. ปีใหม่นี้หลายๆ คนคงเตรียมตัวไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ซึ่งสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องคิดและวางแผนเลือกกันอย่างดีก่อนที่จะออกไปเที่ยวก็คือ “ที่พัก” แม้จะมีให้เลือกมาก แต่รูปแบบและราคาก็แตกต่างกันมากด้วยเช่นกัน ที่สำคัญยิ่งถ้าเป็นช่วงหน้าท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น บรรดาที่พักต่างๆ ก็มักจะฉวยโอกาสขึ้นราคา ถือว่าไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้บริโภค หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงจับมือกันเพื่อหาทางช่วยเหลือผู้บริโภค โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เป็นเจ้าภาพ ร่วมกับกรมการค้าภายใน กรมการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมไทย ฯลฯ โดยหนึ่งในมาตรการที่อยากขอร้องกับให้ผู้ประกอบการ รวมถึงบริษัททัวร์ ก็คือ ให้จัดทำโบรชัวร์แสดงราคาของที่พักที่ต้องมีความชัดเจน แจ้งทั้งราคาช่วงไฮซีซั่นและโลว์ซีซั่น เพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นและตัดสินใจได้ ซึ่งความจริงแล้วบริษัททัวร์ ที่พัก หรือสถานที่ท่องเที่ยว จัดอยู่ในกลุ่ม 26 สินค้าที่ สคบ. มีโครงการจะมอบตราสัญลักษณ์ให้ด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้หากผู้นักท่องเที่ยวคนใดไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องราคาทั้งที่พัก สามารถร้องเรียนไปได้ที่ สายด่วน สคบ. 1166 บะหมี่สำเร็จรูปเกาหลีไม่มีสารก่อมะเร็ง หลังจากมีที่มีข่าวออกมาว่า มีการตรวจพบสารก่อมะเร็งในบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อดังจากประเทศเกาหลี “นองชิม” (nongshim)  ที่วางจำหน่ายในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งส่งผลมาถึงประเทศไทยเราเพราะบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อดังกล่าวก็มีวางขายในประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยงานนี้ทางคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง จึงออกมาตรการด่วนด้วยการสุ่มเก็บตัวอย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนองชิมที่นำเข้าจากประเทศเกาหลีใต้และฮ่องกง จำนวน 20 ตัวอย่าง พร้อมกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย จำนวน 3 ตัวอย่าง รวม 23 ตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์หาสารปนเปื้อนอันตราย ซึ่งผลวิเคราะห์ที่ได้พบว่าทุกตัวอย่างปลอดภัยจากสารก่อมะเร็ง ผู้บริโภคสามารถหาซื้อมารับประทานได้อย่างสบายใจ โดยการตรวจวิเคราะห์ในครั้งนี้เป็นการตรวจหาสารก่อมะเร็ง (สารเบนโซ (เอ) ไพรีน) ที่อยู่ในเครื่องปรุงรสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเต้าเจี้ยว, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสปลาหมึก, บะหมี่  กึ่งสำเร็จรูปรสอาหารทะเล และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเผ็ด ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ไม่พบสารก่อมะเร็งในเครื่องปรุงรสแต่อย่างใด คปภ. แนะซื้อประกันภัยสุขภาพอย่างถูกต้อง คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แนะนำผู้ที่จะซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนเลือกซื้อ อันดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่าระหว่างการประกันชีวิตและการประกันภัยสุขภาพนั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร สำหรับการประกันชีวิตนั้น เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองทางด้านชีวิตโดยตรง บริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินสินไหมทดแทนเนื่องจากการเสียชีวิต (จากทุกกรณี) หรือเนื่องจากการมีชีวิตอยู่รอดตามระยะเวลาที่กำหนดขึ้นอยู่กับสัญญาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองการเสียชีวิตและการอยู่รอดเต็มจำนวนผลประโยชน์ที่ซื้อจากทุกๆ กรมธรรม์ประกันชีวิต ส่วนการประกันภัยสุขภาพ ซึ่งเป็นสัญญาเพิ่มเติมที่ซื้อเพิ่มจากกรมธรรม์ประกันชีวิตจะให้ความคุ้มครองด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล และเงินชดเชยรายได้เนื่องจากนอนพักรักษาพยาบาลเท่านั้น ไม่ว่าการรักษาพยาบาลนั้น จะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ซึ่งการพิจารณารับประกันภัยของบริษัทประกันภัย จะขึ้นอยู่กับสุขภาพและอายุของผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยส่วนใหญ่จะไม่คุ้มครอง “โรคที่เป็นมาก่อนการทำประกันภัย” เช่น โรคมะเร็งระยะสุดท้าย และโรคเอดส์ และหากผู้ขอเอาประกันภัย มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัวหลายอย่าง บริษัทประกันภัยอาจจะพิจารณารับประกันภัยด้วยเบี้ยประกันภัยที่สูงกว่าคนปกติ หรืออาจจะไม่รับประกันภัยเลยก็ได้ สิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาและควรรู้สำหรับผู้ที่จะทำประกันสุขภาพก็คือ การเบิกค่ารักษาพยาบาลจากการทำประกันภัยสุขภาพ ผู้เอาประกันภัยจะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริงเท่านั้น ดังนั้น การซื้อประกันภัยสุขภาพ ผู้เอาประกันภัยไม่จำเป็นต้องซื้อหลายๆ กรมธรรม์ แต่ควรพิจารณาว่าค่ารักษาพยาบาลที่ได้ทำอยู่แล้วครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลที่ผู้เอาประกันภัยต้องการหรือไม่ และควรศึกษาทำความเข้าใจในรายละเอียดเงื่อนไขความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยทุกครั้ง ว่าตรงกับที่บริษัทประกันภัยเสนอขาย     รถทัวร์เตรียมใช้ “จีพีเอส” ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป รถโดยสารสาธารณะเตรียมนำระบบจีพีเอสมาใช้ เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร โดยจะเริ่มต้นที่รถของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กว่า 800 คัน ก่อนจะขยายผลไปยังรถร่วมบริการของ บขส. และรถตู้โดยสาร ซึ่งระบบจีพีเอสน่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุของรถโดยสารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในปัจจุบัน ระบบจีพีเอสมีเป็นระบบสื่อสารกับดาวเทียม สามารถรู้จุดตำแหน่งของรถที่ติดตั้ง การใช้ความเร็ว สามารถควบคุมให้พนักงานขับรถปฏิบัติตามกฎหมาย และเกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จของผู้บริโภค หลังจากที่องค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยบนท้องถนนหลากหลายภาคส่วน ได้เข้ายื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้จัดตั้ง “ศูนย์ควบคุมการเดินรถโดยสารสาธารณะประจำทางตลอด 24 ชั่วโมง” และให้มีการติดตั้งระบบจีพีเอสและกล่องเก็บข้อมูลในรถโดยสารสาธารณะประจำทาง เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา เห็นหรือยังว่าพลังของผู้บริโภคมีความสำคัญอย่างมากในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆ ของผู้บริโภคในสังคม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2555 ระวัง! “ทิ้นท์” ไม่ได้มาตรฐานทำปากพัง คงไม่ใช่เรื่องผิดถ้าสาวๆ จะรักสวยรักงาม เพราะใครๆ ก็อยากดูดี แต่เวลาจะแต่งหน้าทำผมทั้งทีเครื่องสำอางที่จะใช้ก็ต้องใส่ใจเลือกให้ดี เพราะถ้าใช้ของไม่ดีไม่มีคุณภาพไม่ผ่านมาตรฐาน ผลลัพธ์ไม่ใช่แค่แต่งออกมาแล้วไม่สวย แต่อาจต้องเจ็บป่วยด้วยโรคที่แถมมากับเครื่องสำอาง อย่างล่าสุดคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาเตือนถึงอันตรายของ “ทิ้นท์” เครื่องสำอางที่มีลักษณะเป็นเจลน้ำสีแดง ที่ใช้สำหรับทาบริเวณริมฝีปากเพื่อให้ริมฝีปากมีสีแดงอมชมพู ดูน่ารักสวยงาม ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มสาวๆ วัยรุ่น โดยส่วนใหญ่จะหาซื้อกันตามร้านค้าแผงลอยตามตลาดนัดทั่วไป ทาง อย. จึงเป็นห่วงผลิตภัณฑ์ที่วางขายตามท้องตลาดทั่วไปนั้น อาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน สีที่ใช้ในทิ้นท์อาจเป็นสีที่ห้ามใช้หรือมีส่วนผสมของสารอันตราย เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม ซึ่งเป็นโลหะหนัก หากสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากอาจมีผลทำให้รู้สึกระคายเคืองอย่างรุนแรง อาการคลื่นไส้อาเจียน ตาพร่ามัว หรือถ้าใครที่แพ้อย่างรุนแรงอาจมีอาการปวดแสบปวดร้อนที่ริมฝีปาก เกิดอาการคัน บวม แดง ผิวหนังลอกเป็นขุย   อย. จึงฝากเตือนสาวๆ ที่อยากใช้ทิ้นท์ช่วยเพิ่มสีสันให้ริมฝีปาก ต้องไม่ลืมอ่านฉลากบนผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจ ซึ่งเครื่องสำอางที่ได้รับมาตรฐานจะต้องแสดง ชื่อเครื่องสำอาง ชนิดของเครื่องสำอาง ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง วิธีใช้เครื่องสำอาง ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ วัน เดือน ปี ที่ผลิตและหมดอายุ ในกรณีที่เครื่องสำอางมีอายุการใช้น้อยกว่า 30 เดือน คำเตือน และที่สำคัญต้องแสดงเลขที่ใบรับแจ้งบนฉลากหรือกล่องผลิตภัณฑ์ -------------------------------------------------------------   เมื่อ “สารส้ม” ปนเปื้อนอลูมิเนียม “สารส้ม” ถือเป็นของคู่บ้านคนไทยเรามาอย่างยาวนาน หลายๆ ครอบครัวใช้สารส้มแกว่งในน้ำกินน้ำใช้เพื่อให้ตกตะกอน โดยเฉพาะในพื้นที่กันดารห่างไกลซึ่งระบบน้ำประปาน้ำสะอาดยังเข้าไม่ถึง แต่สารส้มแม้จะมีคุณประโยชน์ช่วยทำให้น้ำใสน่ากินน่าใช้แต่ก็ต้องรู้จักใช้อย่างพอดี เพราะล่าสุดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการสุ่มตรวจสารส้มพบว่ามีการปนเปื้อนของอะลูมิเนียมเกินกว่าที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135 (พ.ศ.2534) เรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท กำหนดให้มีอะลูมิเนียมได้ไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อน้ำบริโภค 1 ลิตร แต่จากการที่กลุ่มงานพิษวิทยา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 พิษณุโลก ได้เฝ้าระวังอะลูมิเนียมในน้ำบริโภคหลังจากเกิดอุทกภัยในเขตจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ อำเภอพรหมพิราม อำเภอบางกระทุ่ม อำเภอบางระกำ และอำเภอเมือง พบการปนเปื้อนของอะลูมิเนียมเข้มข้นถึง 0.06 – 0.42 มิลลิกรัมต่อลิตรถึง 7 ตัวอย่าง ซึ่งสาเหตุสำคัญของการปนเปื้อนอาจมาจากการเติมสารส้ม เพื่อทำให้น้ำใสแต่มิได้มีการควบคุมปริมาณให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย อะลูมิเนียมที่เข้าสู่ร่างกายบางส่วนจะถูกดูดซึมแพร่กระจายผ่านทางระบบเลือดไปยังปอด ตับ กระดูก และสมอง และถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะผ่านไต ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกับการทำงานของไต และหากบริโภคน้ำที่มีปริมาณอะลูมิเนียมสูงเป็นเวลานานจะส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาท และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งขณะนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งศึกษาถึงปริมาณและวิธีการใช้สารส้มที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ -------------------------------------------------   “ปลาดุกย่าง” แชมป์ของย่างเสี่ยงมะเร็ง ใครที่ชอบทานอาหารปิ้งย่างฟังทางนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รายงานผลการสุ่มสำรวจการปนเปื้อนของสารเคมีในอาหารปิ้งย่าง โดยสารที่ตรวจวิเคราะห์เป็นกลุ่มสารก่อมะเร็ง เช่น สารเบนโซเอไพรีน เป็นสารประกอบในกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรเมติก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีที่มีมากกว่า 100 ชนิด ที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์หรือการสลายทางเคมีของสารอินทรีย์โดยความร้อน แต่เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันต่ำ แม้จะมีการทดลองพบว่าสารนี้มีผลก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่พบข้อมูลที่เพียงพอว่าจะทำให้ก่อมะเร็งในคน สำหรับตัวอย่างอาหารที่นำมาวิเคราะห์ได้แก่ ไก่ย่าง ปลาดุกย่าง และหมูปิ้ง โดยเก็บตัวอย่างจากตลาดสดใน กทม.42 แห่ง รวม 101 ตัวอย่าง ซึ่งพบการปนเปื้อนมากที่สุดในตัวอย่างปลาดุกย่าง เฉลี่ยพบการปนเปื้อนอยู่ที่ 0.5-3.2 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม จากทั้งหมด 36 ตัวอย่าง รองลงมาคือ หมูปิ้ง 30 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อน 0.3-1.3 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ตามด้วยไก่ย่าง 35 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนอยู่ที่ 0.5-0.7 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งปริมาณสารที่พบยังถือว่ามีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ประกาศในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ที่กำหนดไว้ 5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม แต่เพื่อความปลอดภัยในการทานอาหารปิ้งย่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ฝากถึงผู้จำหน่ายอาหารปิ้งย่างไม่ควรใช้ไฟแรงและใช้เวลาในการปิ้งย่างนานเกินไป ควรตัดแต่งอาหารส่วนที่ไหม้เกรียมออก ส่วนผู้บริโภคก่อนรับประทานควรตัดส่วนที่ไหม้เกรียมออกไป หลีกเลี่ยงส่วนไหม้เกรียมมากๆ เพราะสัมผัสไฟโดยตรง เช่น หนังหรือชิ้นส่วนติดมัน ----------------------------------------------------- คุมเข้มโรงเรียนกวดวิชา ในยุคที่โรงเรียนกวดวิชาถูกประเมินค่าความสำคัญไม่ต่างจากการเรียนในโรงเรียนปกติทั่วไป ทำให้เราได้เห็นโรงเรียนกวดวิชาผุดขึ้นมากมายเป็นดอกเห็ด ซึ่งทำให้มีโรงเรียนกวดวิชาจำนวนมากที่ไม่ได้มาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ และหลายแห่งใช้การโฆษณาเกินจริงเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงต้องออกมาทำหน้าที่ปกป้องผู้บริโภค เร่งจัดระเบียบโรงเรียนกวดวิชา จากการตรวจสอบของทาง สคบ. พบว่าปัจจุบันมีสถาบันกวดวิชาเปิดสอนทั่วประเทศมากกว่า 10,000 แห่ง ซึ่งผู้บริโภคจำนวนมากมักตัดสินใจเลือกใช้บริการโรงเรียนกวดวิชาจากชื่อเสียงและคำโฆษณา โดยไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลอื่นๆ ที่สำคัญ สคบ. จึงฝากแนะนำนักเรียนและผู้ปกครองที่กำลังมองหาโรงเรียนกวดวิชาต้องไม่ลืมตรวจสอบข้อมูลสำคัญต่อไปนี้ 1.ต้องมีการขออนุญาตจากกระทรวงศึกษา 2.ต้องจัดห้องเรียนให้ครบกับหลักสูตรและรายวิชาตามที่ขออนุญาต 3.สถานที่ต้องไม่แออัด มีความกว้างขวางเพียงพอกับจำนวนนักเรียน คือประมาณ 1.50 เมตร ต่อนักเรียน 1 คน 4.ต้องมีสภาพแวดล้อมที่ถูกสุขอนามัย มีการดูแลรักษาความปลอดภัยที่ดี ไม่ต้องอยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมที่อาจเกิดอันตรายใดๆ กับกิจกรรมต่างๆ โรงเรียน 5.ห้ามให้สถานที่ตั้งโรงเรียนเอกชนสามัญศึกษาเป็นสถานที่เปิดสอนกวดวิชา 6.ต้องจัดให้มีสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนและบริการอื่นๆ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนกำหนด และ 7.ผู้สอนต้องมีคุณสมบัติตามที่กระทรวงศึกษากำหนด ใครที่ได้รับความเสียหายจากการใช้บริการโรงเรียนกวดวิชาหรือพบเห็นโรงเรียนกวดวิชาที่มีการใช้คำโฆษณาอวดอ้างเกินจริง สามารถแจ้งข้อมูลไปได้ที่สายด่วน สคบ. 1166 --------------------------------------------------------------------------------------------   “กะปิ” มีสีมีเสี่ยง “กะปิ” ถือเป็นส่วนประกอบที่ทำให้อาหารไทยหลากหลายเมนูมีรสชาติอร่อยถูกปากถูกใจ แต่จากนี้ไปต้องระวังให้ดี เพราะกะปิธรรมดาๆ ก็อาจไม่ปลอดภัยกับสุขภาพของเรา เมื่อศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 จ.ตรัง ได้นำเสนอผลการสุ่มตรวจตัวอย่างกะปิจากจังหวัดกระบี่ ตรัง ระนอง รวม 88 ตัวอย่าง พบว่ามีการใส่สีลงไปในกะปิถึง 52 ตัวอย่าง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสีที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในอาหารถึง 49 ตัวอย่าง โดยพบสีที่เป็นอันตรายอย่าง สีโรดามีน บี ที่หากสะสมในร่างกาย อาจทำให้เกิดผื่นที่ผิวหนัง หน้าบวม อาเจียน และอาจส่งผลทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการชา อ่อนแรงคล้ายเป็นอัมพาต ตับ ไต และระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้ยังมีการตรวจในเรื่องของคุณภาพด้านจุลินทรีย์ ซึ่งไม่พบการปนเปื้อนเชื้อสเตปโตคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) แต่พบการปนเปื้อนเชื้อคลอสทริเดียม เพอร์ฟิงเจน (Clostridium perfringens) ร้อยละ 3.48 แต่อยู่ในระดับปลอดภัย เพราะฉะนั้นเวลาที่จะไปเลือกซื้อกะปิครั้งต่อไป อย่าลืมเลือกกะปิที่สีสันไม่ฉูดฉาด จะได้ปลอดภัยจากสารเคมี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกันยายน 2555 6 กีฬาระดับชาติห้าม “จอดำ” หลังจากเหตุการณ์ “จอดำ” ช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโรที่ผ่านมา ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงอย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ต้องเร่งออกมาตรการมารองรับเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย ซึ่งทาง กสทช. ก็เตรียมออกประกาศให้รายการแข่งขันกีฬาระดับประเทศ 6 รายการ ต้องมีการเผยแพร่ผ่านทางช่องฟรีทีวีโดยไม่สนว่าผู้ชมจะรับชมผ่านระบบการรับสัญญาณชนิดใด จะเป็นเสาก้างปลาหนวดกุ้ง เคเบิลทีวี จานดาวเทียมสีไหนหรือกล่องรับสัญญาณของใคร เมื่อกำหนดให้เผยแพร่ทางช่องฟรีทีวีแล้ว ผู้รับชมทีวีทุกคนต้องสามารถรับชมได้ สำหรับ 6 รายการแข่งขันกีฬาที่ทาง กสทช. บังคับว่าห้ามจอดำ ประกอบด้วย ซีเกมส์, พาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, โอลิมปิก, พาราลิมปิก และการแข่งขันฟุตโลกรอบสุดท้าย มาตรการนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือ MUST CARRY RULE ที่ กสทช. บังคับใช้ตั้งแต่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์จอดำ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ออกมาควบคุมผู้ให้บริการจานดาวเทียม กล่องรับสัญญาณ และเคเบิลทีวี ต้องให้บริการช่องฟรีทีวีโดยทั่วถึง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายการ หรือตัดสัญญาณ จนทำให้ผู้บริโภคพลาดการรับชม     รักใครให้ล้างมือ การล้างมือให้สะอาดถือเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ช่วยในการดูแลรักษาสุขภาพ แต่หลายคนกลับมองข้าม  ภญ.อินทิรา วงศ์อัญมณีกุล กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเลิดสิน ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยล้างมือลดโรคในโรงเรียน จึงขอนำเสนอผลการศึกษาการลดการเจ็บป่วยที่ได้จากการล้างมือ ซึ่งผลที่ออกมาชี้ชัดว่าการล้างมือบ่อยๆ ช่วยให้เราห่างไกลโรค โดยเป็นการทดลองในเด็กนักเรียนชั้น ป.1-ป.4 ของโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก จำนวน 553 คน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2555 โดยเก็บข้อมูลการขาดเรียนเนื่องจากการป่วยในช่วงก่อนและหลังให้ความรู้ในการล้างมืออย่างถูกวิธี ซึ่งผลการศึกษาพบว่า จำนวนการขาดเรียนเนื่องจากการป่วยลดลงจาก 156 คน เหลือ 74 คน หรือลดลงประมาณร้อยละ 50 การล้างมืออย่างถูกต้องเป็นประจำจะช่วยให้เราลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เพราะโรคหลายโรคเริ่มจากมือที่ไม่สะอาดเป็นตัวนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เช่น โรคท้องร่วง โรคผิวหนังอักเสบ โรคตาแดง ไข้หวัด ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยเราเริ่มให้ความสำคัญกับการล้างมือหลังจากมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่เห็นประโยชน์ของการล้างมือ ถึงขนาดที่เมื่อปี 2008 สหประชาชาติประกาศให้วันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันล้างมือโลก” (Global Handwashing Day) จับตา...อาคารไม่ปลอดภัย ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยตามอาคารและตึกสูงต่างๆ ขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเพลิงไหม้หรืออาคารถล่ม ซึ่งสาเหตุมักเกิดจากตัวอาคารไม่ได้มาตรฐานเรื่องความปลอดภัย หรือเจ้าของอาคารและผู้รับผิดชอบขาดความเอาใจใส่ดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) สมาคมปลอดภัยไว้ก่อน และสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร จึงได้จับมือร่วมกันเพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากอาคารที่เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันยังคงมีอาคารที่หลบเลี่ยงการตรวจสอบการหน่วยงานของรัฐอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะใน กทม. ทั้งที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าอาคารต่างๆ โดยเฉพาะอาคารสาธารณะ อย่าง สถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า สถานบริการต่างๆ อาคารที่เป็นลักษณะที่อยู่อาศัยรวม เช่น คอนโด หอพัก อพาร์ทเมนท์ รวมทั้งอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ต้องผ่านการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยก่อนอนุญาตให้เปิดใช้งาน ซึ่งจากสถิติการเกิดอัคคีภัยปี 2554 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พบว่า มีอัคคีภัยเกิดในคอนโดมิเนียม สำนักงานและอาคารสูงมากกว่า 180 แห่ง ขณะที่รถดับเพลิงสำหรับอาคารสูงเกิน 10 ชั้นยังมีจำกัดและถนนของซอยที่คับแคบยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าไปช่วยเหลือ เราทุกคนสามารถช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังอาคารที่เสี่ยงอันตราย หากใครพบเห็นหรือมีข้อมูลอาคารที่ไม่ปลอดภัยสามารถแจ้งไปยังทั้ง 3 หน่วยงานได้ทันที   “ฟิลเลอร์”  เสี่ยงมากกว่าสวย ถือเป็นอุทาหรณ์เตือนใจสาวๆ ที่อยากสวยด้วยการฉีดสารต่างๆ กับกรณีของพริตตี้สาวคนหนึ่งที่เสียชีวิตจากการฉีดสารฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันนี้ยังมีสาวๆ จำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดเรื่องการฉีดสารต่างๆ เพื่อเสริมความงาม ไม่ว่าจะเป็น ฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ คอลลาเจน และ กลูตาไธโอน ซึ่งสารเหล่านี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อความสวยความงาม แต่ทางการแพทย์เอาไว้ใช้ในการแก้ไขความผิดปกติต่างของร่างกาย แต่กลับมีผู้ไม่หวังดีหรืออาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ลักลอบนำเข้าสารเหล่านี้มาอย่างผิดกฎหมาย แล้วนำมาฉีดให้กับผู้ที่หลงเชื่อตาคำโฆษณาว่าฉีดแล้วสวยฉีดแล้วขาว โดยที่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ไม่ใช่แพทย์ คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ยืนยันว่าไม่มีการรับขึ้นทะเบียนยาฉีดคอลลาเจน เพราะยังไม่มีการรับรองความปลอดภัยเพื่อใช้สำหรับฉีด ขณะที่สารฟิลเลอร์ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.อย่างถูกต้องมีเพียงชนิดเดียว คือ สารไฮยาลูรอนิกแอซิด (Hyaluronicacid) ส่วนสารกลูตาไธโอนก็ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ใดๆ ว่าช่วยทำให้ผิวขาว การฉีดสารใดๆ เข้าสู่ร่างกายเพื่อความสวยความงาม ควรเข้ารับบริการกับสถานเสริมความงามที่มีใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาล ในกรณีที่เกิดอาการแพ้ ทางสถานพยาบาลจะต้องรับผิดชอบดูแล ซึ่งจะมีเครื่องแพทย์และยารักษาคนไข้ได้ทันท่วงที สำหรับแพทย์ที่ทำการฉีดยาควรเป็นแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโครงสร้างผิวหนัง กายวิภาค เซลล์วิทยา เพราะการฉีดต้องไม่ให้กระทบเส้นเลือดหรือเส้นประสาท และปริมาณของยาต้องเหมาะสม อันตรายจากผลข้างเคียงของการฉีดสารต่างๆ เพื่อเสริมความงาม นอกจากจะทำให้กล้ามเนื้ออวัยวะส่วนที่ฉีดสารนั้นเกิดอาการอักเสบอย่างรุนแรงแล้ว ในผู้ที่แพ้มากๆ ก็อาจเกิดอาการหายใจติดขัด ความดันโลหิตต่ำ หากรักษาไม่ทัน อาจถึงขั้นเสียชีวิต เมื่อผู้บริโภคแสดงพลัง กรณี “แคลิฟอร์เนีย (ไม่) ว้าว” ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิก “แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส” ที่ได้รับความเสียหายจากใช้บริการ ไม่ได้รับบริการตามที่ตกลงในสัญญา เนื่องจากมีสาขาที่ปิดให้บริการเป็นจำนวนมาก จากการที่บริษัทตกอยู่ในภาวะล้มละลาย แถมยังถูกละเมิดสิทธิอย่างการไม่อนุญาตให้เขาไปใช้บริการหากไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มทั้งที่ไม่เคยได้ตกลงกันไว้ในสัญญา ที่สำคัญสมาชิกหลายคนชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต ทำให้ถูกธนาคารหักเงินค่าบริการอย่างต่อเนื่องทุกเดือนแม้จะเข้าไปใช้บริการไม่ได้ สร้างความเดือดร้อนและความทุกข์ใจให้กับผู้เสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งยอดผู้ร้องเรียนที่เข้ามายังมูลนิธิฯ ตั้งแต่วันที่ 21-31 ส.ค. 2555 มีจำนวนมากกว่า 500 คน รวมเป็นค่าเสียหายมากกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ก็ได้ให้การสนับสนุนสมาชิกแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส เดินหน้าเพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเอง เริ่มตั้งแต่ทำหนังสือถึงบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหากับสมาชิก โดยขอให้ทางบริษัทแจ้งกับธนาคารหรือผู้ให้บริการบัตรเครดิตให้ยุติการเรียกเก็บเงินค่าบริการผ่านบัตรเครดิตทั้งหมด โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น และสมาชิกที่ประสงค์จะยกเลิกสัญญา ขอให้ทางบริษัทคืนเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมดทุกกรณี ต่อด้วยการจัดเวทีสาธารณะโดยเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ความใจที่ถูกต้องเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการปกป้องสิทธิ จากนั้นก็มีเข้ายื่นหนังสือต่อ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เพื่อให้เร่งดำเนินคดีอาญากับบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ข้อหา ฉ้อโกงประชาชน พร้อมกับเข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(ปคบ.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ให้ดำนานการเอาผิดกับบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ตามกฎหมายต่อไป ต้องคอยติดตามและเอาใจช่วยกันต่อไป ว่าท้ายที่สุดแล้ว สิทธิของผู้บริโภคในเมืองไทย จะยังคงได้รับการคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็นอยู่หรือไม่?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 2555 อย.ก็ตรวจสารเคมีในผัก หลังจากที่ฉลาดซื้อของเราได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างผักสดที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง แล้วพบว่ามีการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเกินมาตรฐานในหลายตัวอย่าง ซึ่งหลังจากฉลาดซื้อนำผลวิเคราะห์ลงในนิตยสารพร้อมทั้งเปิดแถลงข่าวจนเกิดเป็นกระแสตื่นตัวถึงอันตรายของสารเคมีในผักและการขายสินค้าไม่ปลอดภัย โดยหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ก็ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบคุณภาพผักผลไม้ที่จำหน่ายในท้องตลาดโดยใช้ชุดทดสอบเบื้องต้น (Test Kit) โดยเป็นการสุ่มเก็บตัวอย่างผัก – ผลไม้ในเขตกทม.จำนวน 1,987 ตัวอย่าง มาตรวจวิเคราะห์ ผลที่ได้พบว่ามีจำนวนตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์ 69 ตัวอย่าง แบ่งเป็นตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสด 60 ตัวอย่าง ตัวอย่างผักสดที่พบสารพิษตกค้างมากที่สุดคือ 1. คะน้า 2. กะหล่ำดอก 3. ต้นหอม ส่วนอีก 9 ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนเป็นตัวอย่างที่เก็บจากซูเปอร์มาร์เก็ต โดยคะน้ายังคงเป็นผักที่พบสารตกค้างมากที่สุด รองลงมาคือ มะเขือพวง และ พริกไทย ซึ่งทาง อย. ก็ได้ตักเตือนไปกับทางผู้จำหน่าย พร้อมทั้งจะทำการสุ่มตรวจซ้ำต่อเนื่อง หากพบการทำผิดซ้ำจะมีบทลงโทษตามกฎหมาย ----------------------------------------------------------------------------------------     ไม่ใช่แค่คนขับ...คนนั่งก็มีสิทธิถูกปรับถ้าเมาบนรถ นักดื่มทั้งหลายรู้กันหรือยัง ตอนนี้มีกฎหมายออกมาแล้วว่าไม่ว่าจะเป็นคนขับรถหรือเป็นผู้โดยสารถ้าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือว่ามีความผิด ตาม “ประกาศตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เรื่อง การห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางสาธารณะ ขณะขับขี่หรือขณะโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถทุกประเภท” ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคมเป็นต้นไป โดยบทลงโทษสำหรับผู้ที่ทำผิดคือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหน่วยงานที่รณรงค์เรื่องปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เชื่อว่ากฎหมายนี้น่าจะช่วยลดสถิติการเสียชีวิตและบาดเจ็บที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสถิติทุกวันนี้จะอยู่ที่เฉลี่ย 30 รายต่อวัน ยิ่งถ้าจะเป็นช่วงเทศกาลจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ซึ่งความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นนั้น บริษัทผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เคยออกมารับผิดชอบแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้กฎหมายอีก 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กำลังรอการบังคับใช้ ประกอบด้วย ร่างประกาศ “ห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงงานอุตสาหกรรม” ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา มีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน และ ร่างประกาศ “ห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ” ที่ยังไม่ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ---------------------------------------------------------------------------------------     เรื่องร้อนๆ ของ “ผ้าเย็น” “ผ้าเย็น” ถือเป็นสินค้าที่หลายคนใช้โดยมองข้ามเรื่องความปลอดภัย ทั้งที่ความจริงแล้ว ผ้าเย็นจัดเป็นสินค้าในกลุ่ม “เครื่องสำอางควบคุม” ตามประกาศของ อย. ต้องมีการแสดงคำเตือนบนฉลาก เช่น “ห้ามใช้บริเวณรอบดวงตา” พร้องทั้งข้อมูลสำคัญอื่นๆ เช่น ชื่อ – ที่อยู่ผู้ผลิต เลขที่จดแจ้งกับทาง อย. แต่ปัจจุบันเรายังพบเห็นผ้าเย็นที่มีปัญหาเรื่องการแสดงข้อมูลบนฉลากเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผ้าเย็นที่ได้รับแจกตามร้านอาหาร โต๊ะจีน บนรถโดยสาร ซึ่งอันตรายของผ้าเย็นที่ไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง หรือหากถูกบริเวณก็อาจทำให้แสบตาได้ เนื่องจากสารที่ต้องห้ามในเครื่องสำอางอย่าง เมททิลแอลกอฮอล์ และรวมถึงอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ โดยล่าสุด กองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ได้ตรวจยึดผ้าเย็นที่เสี่ยงอันตราย จำนวนกว่า 100,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 500,000 บาท ของบริษัทไทยโทเวล หลังจากได้รับการร้องเรียน โดยตรวจสอบพบว่าผ้าเย็นทั้งหมดไม่มีการแสดงฉลาก ---------------------------------------------------     “พาสต้า” น่าเป็นห่วง ใครที่ชอบทานอาหารอิตาเลียนชื่อดังอย่าง “พาสต้า” อ่านข่าวนี้แล้วอาจจะตกใจ เพราะมีการเปิดเผยผลการศึกษาวิจัยในการประชุมวิชาการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 20 เกี่ยวกับสิ่งแปลกปลอมในพาสต้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยศึกษาสิ่งแปลกปลอมชนิดต่างๆ ในตัวอย่างพาสต้านำเข้าช่วงเดือนตุลาคม 2548-2552 จำนวน 142 ตัวอย่าง พบสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กในทุกตัวอย่าง เช่น ชิ้นส่วนของแมลง ตัวหนอน ตัวไร มด ขนสัตว์ต่าง ๆ ไข่แมลง เป็นต้น ฟังแล้วน่าตกใจ งานนี้ อย. จึงต้องออกมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค โดยได้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างพาสต้าเพื่อนำมาวิเคราะห์หาสารพิษจากเชื้อราและวัตถุกันเสีย ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ไม่พบตัวอย่างที่มีการปนเปื้อน พาสต้าจัดเป็นอาหารทั่วไปกลุ่มผลิตภัณฑ์จากแป้ง ไม่มีการกำหนดคุณภาพมาตรฐานเป็นการเฉพาะไว้ แต่ก็มีข้อกำหนดด้านความปลอดภัย เช่น ต้องไม่มีสารปนเปื้อนและจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค แต่ปกติพาสต้าต้องมีการปรุงด้วยความร้อนก่อนทาน ก็น่าจะช่วยฆ่าเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมได้ระดับหนึ่ง ซึ่งหากใครที่ซื้อพาสต้ามาทานแล้วพบเจอสิ่งแปลกปลอมน่าสงสัยให้รีบแจ้งหรือส่งไปให้ทาง อย. ตรวจสอบต่อไป ------------------------------------------------------------------------------------     ระวังสูญเงินฟรีเพราะซอฟต์แวร์เถื่อน ใครที่ใช้งานซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ต้องระวัง โดยเฉพาะคนที่ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ต อาจมีความเสี่ยงต่อการสูญเงินแบบไม่รู้ตัว เนื่องจากโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์มักขาดระบบป้องกันที่ได้มาตรฐาน ทำให้บรรดาอาชญากรคอมพิวเตอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ต้องใช้ความระมัดระวังในการให้ข้อมูลที่สำคัญๆ โดยเฉพาะหมายเลขบัญชีธนาคาร และรวมถึงรหัสผ่านต่างๆ นอกจากนี้หากมีการติดต่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงินผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิก ก่อนการตอบรับหรือติดต่อกลับต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าถูกส่งมาจากธนาคารจริง ป้องกันการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่หวังข้อมูลด้านการเงินของเรา หากไม่แน่ใจหรือมีข้อสงสัยในขั้นตอนใดๆ ของการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ต้องโทรสอบถามกับทางธนาคาร สำหรับอันตรายของการใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ลิขสิทธิ์ คือการส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมของคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะระบบป้องกันข้อมูลต่างๆ มีประสิทธิภาพจะด้อยลง และบ่อยครั้งที่มัลแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่ไม่ปลอดภัยมักจะถูกโหลดมาพร้อมกับซอฟต์แวร์ที่ไม่ถูกกฎหมายโดยที่ผู้บริโภคไม่รู้ตัว  ที่สำคัญคือผู้บริโภคเองก็ต้องรู้จักที่จะปกป้องข้อมูลของตัวเอง อย่างเช่นการเปิดระบบ Firewalls และทำการติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสที่มีประสิทธิภาพไว้ในคอมพิวเตอร์ของตัวเอง หมั่นล้างประวัติการใช้งานอินเตอร์เน็ต และเปลี่ยนรหัสผ่านที่ใช้ในการทำธุรกรรมการเงินเป็นประจำ ยิ่งเดี๋ยวนี้หลายคนใช้เว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์คอย่าง Facebook และ Twitter การแสดงข้อมูลสำคัญต่างๆ ต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะอาจมีผู้ไม่หวังดีเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นแล้วนำไปใช้ประโยชน์จนเกิดความเสียหายกับเราได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2555 แท็กซี่ไม่รับ...ร้องเรียนได้ ใครที่ใช้บริการแท็กซี่โดยสารคงเคยเจอเหตุการณ์ ที่ทั้งชวนให้สงสัยและหงุดหงิดใจ อย่างการถูกปฏิเสธที่จะให้บริการ ยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนหรือในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น ซึ่งคนขับรถมักจะอ้างว่ารถติด กลัวไปส่งรถไม่ทัน หรือไม่ก็แก๊สหมด ซึ่งหากเป็นจริงตามเหตุผลที่คนขับรถแท็กซี่อ้างก็ไม่น่าที่จะจอดรับผู้โดยสารตั้งแต่แรก ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ฝากคำแนะนำในกรณีที่เจอปัญหาแบบนี้ ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะร้องเรียน โดยแจ้งไปยังศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ สายด่วน 1584 หรือกองบังคับการตำรวจจราจร สายด่วน 1197 โดยพยายามจดจำรายละเอียดทะเบียนและชื่อผู้ขับรถซึ่งติดอยู่ในใบอนุญาตหน้ารถ ซึ่งตาม พ.ร.บ.การจราจรทางบก กำหนดไว้ว่าผู้ขับรถแท็กซี่ไม่มีสิทธิปฏิเสธผู้โดยสาร หากจุดหมายอยู่ในเขตที่กำหนด คือพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยไม่มีเหตุอันควร การปฏิเสธผู้โดยสารถือเป็นความผิด มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และเป็นข้อหาที่ต้องถูกบันทึกคะแนน 20 คะแนน อีกทั้งยังถูกยึดใบอนุญาตขับขี่อีกด้วย   มีข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก ที่สรุปยอดร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดของรถแท็กซี่ซึ่งพบว่ามีทั้งหมดกว่า 12,000 ราย แบ่งเป็นกระทำผิดโดยไม่แสดงใบอนุญาตสาธารณะ 2,556 ราย ไม่มีบัตรประจำตัวผู้ขับขี่ 1,950 ราย แต่งกายไม่สุภาพ 4,618 ราย ไม่นำรถเข้าตรวจสภาพตามที่กำหนด 6 เดือนต่อครั้ง 1,012 ราย ไม่ต่ออายุภาษีรถยนต์ 736 ราย และปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร 1,585 ราย ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกได้สุ่มตรวจแท็กซี่ โดยให้เจ้าหน้าที่ปลอมเป็นผู้โดยสารทดลองเรียกใช้บริการแท็กซี่ 300 คัน พบว่ามีแท็กซี่รับผู้โดยสารประมาณ 80 คันเท่านั้น   บัตรทองกลับมาเก็บ 30 บาท แบบจ่ายก็ได้ไม่จ่ายก็ได้!? ผู้ใช้สิทธิหลักประสุขภาพถ้วนหน้า จะต้องกลับมาจ่าย 30 บาท อีกครั้ง นับตั้งวันที่ 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป หลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกระเบียบให้ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทองเดิม) ร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาท แต่การร่วมจ่ายครั้งนี้เป็นแบบไม่บังคับ คงมีหลายคนที่สงสัยว่า ตกลงแล้วต้องจ่ายหรือไม่ต้องจ่ายกันแน่ ซึ่ง นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า “สำหรับการเรียกเก็บ 30 บาทนั้น จะเป็นการคิดค่าบริการในกรณีที่ผู้ใช้สิทธิใช้บริการตั้งแต่โรงพยาบาลระดับอำเภอหรือโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป แต่สำหรับผู้ที่ได้รับการยกเว้นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง บุคคลที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ฉบับที่ 1 และ 2 จำนวน 23 กลุ่ม อาทิ ยากจน ทุพพลภาพ ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ส่วนคนทั่วไปให้ขึ้นอยู่กับความพอใจและสมัครใจของผู้ใช้บริการ ไม่ได้เป็นการบังคับ ซึ่งจะมีแบบฟอร์มให้ผู้ใช้บริการเลือกว่าจะร่วมจ่ายหรือไม่ร่วมจ่าย” ใครที่ถือสิทธิหลักประสุขภาพถ้วนหน้าคงต้องคอยติดตามข่าวกันให้ดี ว่าเมื่อมีการเรียกเก็บค่าบริการแบบจ่ายไม่จ่ายก็ได้แบบนี้ จะส่งผลกระทบอะไรบ้างต่อมาตรฐานการรักษาพยาบาล ห้าม! โฆษณาขายนมผงสำหรับทารกในสถานพยาบาล สำนักงานอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาตรการเด็ดขาดห้ามสถานพยาบาลทุกแห่งโฆษณาขายผลิตภัณฑ์นมสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพื่อส่งเสริมให้คุณแม่เลี้ยงดูบุตรด้วยน้ำนมของตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้ยังออกข้อบังคับให้ผลิตภัณฑ์นมสำหรับทารกและเด็กเล็ก ไม่ว่าจะเป็นนมดัดแปลงสูตรต่อเนื่อง นมโค นมปรุงแต่ง นมผง และอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ต้องมีการแสดงข้อความบนฉลากว่า “นมแม่ดีที่สุดสำหรับทารก” เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้คุณแม่ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ สำหรับข้อห้ามเรื่องการโฆษณาผลิตภัณฑ์นมสำหรับทารกและเด็กเล็กในสถานพยาบาลยังครอบคลุมถึงเรื่องการจัดกิจกรรมต่างๆ ด้านการขายและการตลาด การสาธิตส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนนมแม่ และยังรวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ขวดนม จุกนม  ที่สำคัญคือบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และห้ามเป็นตัวแทนผู้ผลิต ผู้จำหน่ายอาหารทดแทนนมแม่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง   จับตาร้านขายยา ร้ายขายยานั้นเป็นที่พึ่งพิงแห่งแรกของหลายๆ คนในยามที่รู้สึกเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งแม้จะเป็นแค่ร้านขายยาแต่ก็ต้องมีการควบคุมดูแล โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายยาต้องถูกต้องตรงตามอาการป่วยของผู้ที่มาซื้อยา เพราะถ้ากินยาไม่ถูกโรค นอกจากจะไม่หายอาจจะกลายเป็นป่วยเพิ่ม เพราะฉะนั้นร้านขายยาที่ดีจะต้องมีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา ซึ่งคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ได้จัดเจ้าหน้าที่ดูแลตรวจสอบ ที่สำคัญคือใน พ.ร.บ. ยาได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ให้ร้านขายยาทุกแห่งต้องมีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา ที่ผ่านมา อย. ตรวจเฝ้าระวังร้านขายยาเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการสุ่มตรวจร้านขายยาในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 498 แห่ง โดยพบว่าเภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 16 ราย จำหน่ายยาอันตรายในขณะที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 8 ราย และไม่จัดทำบัญชีการซื้อขายให้เป็นไปตามกฎหมาย จำนวน 48 ราย ส่วนร้านขายยาในต่างจังหวัดนั้น อย. ได้ประสานให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการดำเนินการตรวจสอบ นอกจากนี้ อย. ยังได้เตรียมจัดทำฐานข้อมูลเภสัชกรที่ปฏิบัติงานในร้านขายยาทั่วประเทศ ไว้เป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคได้สืบค้นตรวจสอบ เราในฐานะผู้บริโภค หากจำเป็นต้องซื้อยาจากร้านขายยา ก็ควรเลือกที่มีเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยา ซึ่งในร้านจะต้องมีใบอนุญาตแสดงไว้ให้เห็นชัดเจน นอกจากนี้หากเราพบเห็นร้านขายยาไม่มีเภสัชกรประจำร้าน หรือขายยาอันตราย หรือขายยาที่คาดว่าจะผิดกฎหมาย สามารถแจ้งไปได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556   แปรงสีฟันต้องแจ้งอายุ สุขภาพฟันของเด็กๆ เป็นเรื่องที่พ่อ-แม่ควรห่วงใย ปัญหาเด็กแปรงฟันไม่ถูกวิธีอาจไม่ใช่เรื่องเดียวที่ต้องกังวล เพราะยังมีเรื่องการใช้แปรงสีฟันไม่เหมาะสมกับวัยเป็นเรื่องหนักใจเช่นกัน ซึ่งเมื่อลองสำรวจดูแปรงสีฟันที่วางขายอยู่ในท้องตลาดก็จะพบว่า ไม่มีการระบุช่วงอายุที่เหมาะสมในการใช้แปรงสีฟันของเด็กไว้บนฉลาก เพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพฟันของเด็กๆ ให้ได้รับความปลอดภัย และเลือกใช้แปรงสีฟันให้เหมาะสมกับวัย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงได้ออกประกาศให้แปรงสีฟันเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยต้องเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับช่วงอายุของเด็กในฉลากสินค้าแปรงสีฟัน ว่าเหมาะสมสำหรับช่วงอายุใด  เช่นเริ่มมีฟันถึง 3 ปี หรือ 6 ปี ถึง 12 ปี เป็นต้น ซึ่งประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป  

อ่านเพิ่มเติม >