ฉบับที่ 196 ศาลโซเชียลกับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ปัจจุบันเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทกับภาคสังคมและภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ กิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตจึงได้รับความนิยมมาก ในอดีตการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ต่างๆ นั้น สามารถแสดงเพียงเนื้อหาอย่างเดียวเท่านั้น บุคคลไม่สามารถติดต่อหรือโต้ตอบซึ่งกันและกันได้ แต่ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาช่องทางในการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการพูดคุยโต้ตอบกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถทำได้ รวมไปถึงการแบ่งปันสื่อต่างๆ ที่ส่งผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะเว็บไซด์เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเฟซบุ๊ค ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถแสดงความคิดเห็นและโต้ตอบถึงกันได้  จึงเกิดเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์  “เครือข่ายสังคมออนไลน์”  หมายถึงช่องทางในการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง โดยมีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพื่อตอบสนองความต้องการทางสังคมที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น ข่าวสาร หรือการพูดคุยโต้ตอบระหว่างกัน รวมไปถึงการแบ่งปันสื่อต่างๆ ที่สามารถส่งผ่านทางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้  การสื่อสารประเภทนี้มีอิทธิพลต่อสังคมเป็นอย่างมากทั้งในด้านดีและไม่ดี ในด้านดี กล่าวคือใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวในด้านการศึกษา การค้นคว้า การวิจัย การจัดการความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ด้านการดำเนินธุรกิจเพื่อความบันเทิง เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย กล่าวคือในด้านการเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร และสิ่งผิดกฎหมาย ไม่มีความปลอดภัยในการใช้ข้อมูลส่วนตัว ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมด้านสังคม เป็นต้นดังนั้น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจึงเปรียบเสมือนผู้ควบคุมช่องทางในการผ่านเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งหลังจากที่ผู้ใช้บริการเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตได้แล้วก็จะสามารถเข้าถึงการใช้งานใดในระบบอินเทอร์เน็ตได้ และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2560 มาตรา 3 ได้บัญญัติความหมายของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการคือ  "ผู้ให้บริการ" หมายความว่า (1) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่นโดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น  (2) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น "ผู้ใช้บริการ" หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการ ไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม          ปัจจุบันเกิดสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลจากการใช้บริการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่างมากมาย ซึ่งสามารถแยกประเภทพิจารณาออกได้สามกรณีกรณีที่หนึ่ง การได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยมิชอบ    เช่น การเข้าไปในเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมและเข้าไปนำเอาข้อมูล  ภาพ หรือคลิป  ของผู้ใช้บริการมาเก็บไว้เพื่อเฝ้าติดตามคุกคามความเป็นส่วนตัว หรือนำไปใช้เผยแพร่แสวงหาประโยชน์  ดังนี้ อาจจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2) พ.ศ.2560 มาตรา 16 ซึ่งเป็นไปตามกรณีข้อเท็จจริง กรณีที่สอง การได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยชอบ เช่น การได้ข้อมูลส่วนบุคคลมาโดยได้รับความยินยอมจากผู้ใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่อย่างไรก็ตามผู้เป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าวอาจให้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ในการติดต่อสื่อสารทางเครือข่ายสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่ผู้ได้รับข้อมูลส่วนบุคคลนั้นนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น เพื่อการนำมาใช้เพื่อการขายตรงหรือโฆษณาสินค้าหรือบริการ ดังนี้ ดังนี้ อาจจะมีความว่าผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2)พ.ศ.2560 มาตรา11ซึ่งเป็นไปตามกรณีข้อเท็จจริง         กรณีที่สาม การนำเสนอข่าวของสื่อประเภทโซเชียล ซึ่งทำตัวเป็นเสมือนศาลที่พิพากษาให้บุคคลที่ตกเป็นข่าวเป็น”คนผิด” ในทันที โดยที่เจ้าตัวอาจจะยังไม่มีโอกาสชี้แจ้งใดๆ เลย เช่น ข่าวผู้ว่าราชการแม่ฮ่องสอนมีชื่อพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ สื่อทุกสื่อร่วมใจกันตีแผ่เรื่องนี้ยาวนานหลายสัปดาห์ แต่ต่อมาเมื่อความจริงปรากฏว่าท่านผู้ว่าฯ ไม่ได้ทำ มลทินที่ท่านได้รับจากศาลโซเชียล ก็ยังไม่ถูกบรรเทาลงไปแต่อย่างใด หรือกรณีการส่งรูปภาพที่ได้รับมาจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งเป็นทอดๆ โดยไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของภาพจนทำให้บุคคลในภาพได้รับผลกระทบ ทั้งสามกรณี หากนำข้อมูลส่วนบุคคล ภาพ หรือคลิป ออกมาเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะมีการชี้นำให้คิดตามหรือไม่ก็ตาม  ย่อมอาจจะทำให้บุคคลนั้นถูกละเมิดเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง  หรือได้รับความอับอายได้  ประเด็นเหล่านี้ ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบระหว่างผู้ให้บริการหรือผู้ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์  หากจะใช้มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถแก้ปัญหา “อิทธิพลศาลโซเชียล” ได้อย่างแน่นอน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ค่าปลงศพ กรณีทำให้เขาตาย เรียกได้แค่ไหน

ในการเรียกร้องให้ชดเชยความเสียหาย กรณีทำละเมิดจนถึงแก่ชีวิต หากเกิดเหตุมีคนในครอบครัว หรือญาติของเรามีอันเป็นไปถึงแก่ชีวิต คนที่ทำละเมิดต้องรับผิดอะไร และเราหรือญาติของเราในฐานะผู้มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายจะเรียกร้องอะไรได้บ้าง หลังจากเกิดเหตุเสียชีวิต แน่นอนว่าก็ต้องมีการนำศพไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือประเพณีท้องถิ่น เกิดค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมาย ซึ่งตามกฎหมาย เราเรียกค่าใช้จ่ายดังกล่าวว่า “ค่าปลงศพ”  อันได้แก่ ค่าปลงศพ พอตายแล้วจะต้องมีหีบศพ ห่อศพ ฉีดยาป้องกันศพเน่า แต่งตัวให้ศพ แต่งชุดพิเศษหรือชุดที่ชอบ จ้างช่างตัดผมหรือหวีผมให้ หรือว่ากรณีร่างกายถูกรถชนแหลกเหลวจะต้องเย็บให้เข้าที่ ค่าจ้างหมอเย็บศพก็ถือว่าเป็นค่าปลงศพอย่างหนึ่ง ค่าพิธีการรดน้ำศพ สวดศพ ทำบุญอันจำเป็นตามประเพณี ค่าเช่าเมรุเผาศพ เป็นต้น ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าปลงศพได้ ตามกฎหมายกำหนดไว้เฉพาะ คือทายาทผู้มีอำนาจจัดการศพ ตามมาตรา 1649 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์    ดังนั้น ภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ในการจัดการศพ แม้จะเป็นผู้จัดการศพ ก็เรียกค่าปลงศพไม่ได้ (  (ฎ.212-213/2525) บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วถือว่าเป็นผู้สืบสันดานมีสิทธิรับมรดกก็เรียกค่าปลงศพได้ (ฏ. 14/2517 และที่ 1202/2549) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2514ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าปลงศพตามมาตรา 443 วรรค 1หมายความเฉพาะผู้ที่เป็นทายาทของผู้ตายที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้ที่กระทำละเมิด ทำให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเพราะสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยเหตุที่ได้ละเมิดแก่เจ้ามรดกตกทอดมายังตนผู้เป็นทายาทภายใต้บังคับของมาตรา 1649 เท่านั้นมิได้หมายความว่าใครทำศพผู้ตายแล้วก็จะมีสิทธิเรียกร้องค่าทำศพในลักษณะที่เป็นค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดเสียเองได้เสมอไปเมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ใช่ทายาทผู้ตายเพราะไม่ได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการปลงศพเป็นค่าสินไหมทดแทนแก่ตนในการที่จำเลยกระทำละเมิดต่อผู้ตาย (อ้างฎีกาที่ 1314/2505)โจทก์ร่วมแม้จะเป็นมารดาของผู้ตาย แต่เมื่อฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์มาแต่ต้นสิทธิโจทก์ร่วมก็ไม่ดีกว่าโจทก์ โจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่อาจเรียกค่าใช้จ่ายในการทำศพผู้ตายได้ ค่าปลงศพใช่ว่าจะต้องจ่ายไปแล้วเท่านั้นถึงจะมาเรียกร้องได้ แม้ว่าจะเป็นค่าปลงศพที่ยังไม่เกิดขึ้น เช่น ทายาทยังไม่ปลงศพทันทีแต่อาจจะจัดการเบื้องต้นโดยเก็บศพไว้ก่อน แล้วค่อยทำ ซึ่งเช่นนี้สามารถเรียกค่าปลงศพในอานาคตได้ แต่กรณีนี้ต้องบรรยายฟ้องมาให้ชัดว่าจะจัดการศพในอนาคตอย่างไร ตามลัทธิประเพณีหรือไม่ ตามสมควรหรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่  143/2521ผู้เสียหายย่อมฟ้องนายจ้างของผู้ทำละเมิดให้ร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ผู้ทำละเมิดกระทำไปในทางการที่จ้างได้ โดยไม่จำต้องบอกกล่าวทวงถามก่อน เพราะถือว่าได้ผิดนัดมาตั้งแต่วันทำละเมิดแล้วเมื่อเหตุที่รถชนกันเกิดเพราะความประมาทของคนขับรถทั้งสองฝ่าย และพฤติการณ์แห่งละเมิดมีความร้ายแรงพอๆ กันความเสียหายย่อมเป็นพับกันไปผู้ตายเนื่องจากการทำละเมิดเป็นบุตรโจทก์ แม้โจทก์ไม่ได้ออกค่าใช้จ่ายในการจัดการศพ โดยภรรยาผู้ตายเป็นผู้ออกก็ตาม แต่ค่าใช้จ่ายในการนี้เป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้ จำเลยจะยกเอาข้อที่ภรรยาผู้ตายเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายมายกเป็นข้อปัดความรับผิดของจำเลยหาได้ไม่และแม้โจทก์จะยังไม่ได้จ่ายเงินค่าฌาปนกิจศพผู้ตายก็ตามโจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องได้ถ้าผู้ทำละเมิดช่วยค่าทำศพโดยไม่ยอมรับผิดจะมีลักษณะเป็นการช่วยทำบุญอย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการจ่ายค่าปลงศพที่เรียกว่าเป็นค่าสินไหมทดแทน กรณีนี้จะมีบ่อยเวลาเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ฝ่ายเจ้าของรถยนต์ผู้ทำละเมิดจะไปเจรจากับฝ่ายผู้ตายเจรจาในช่วงแรกก็ยังไม่ยอมรับผิด ฝ่ายผู้ตายก็จะเรียกมาก ฝ่ายนี้ก็ไม่ยอมให้อ้างว่าไม่ได้ประมาท ไม่ผิด แต่เพื่อบรรเทาความรู้สึกของฝ่ายผู้ตาย ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาก็จะมอบเงินให้บางส่วน เช่นช่วยไป 10,000 บาท แต่ไม่ได้รับผิดเป็นการบรรเทาความรู้สึก กรณีอย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกว่าเป็นค่าปลงศพเพราะว่าจ่ายโดยไม่ได้รับผิด สมมุติต่อมาเขาฟ้องเรียกค่าปลงศพ 100,000 บาท จะไปบอกขอหักที่ช่วยไปแล้ว 10,000 บาท อย่างนี้หักไม่ได้เพราะเป็นการช่วยทำบุญไม่ใช่ช่วยจ่ายค่าปลงศพอันเป็นค่าสินไหมทดแทนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4367/2528เงินจำนวน 3,000 บาทที่จำเลยที่ 3 ช่วยค่าทำศพในขณะที่จำเลยที่ 3 มิได้ยอมรับผิดว่าการตายเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างของตน และมิได้มอบให้ในฐานะเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง แต่เป็นการให้ในลักษณะร่วมทำบุญอันเป็นสำนึกในด้านศีลธรรมและเรื่องการบุญการกุศลของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยจะนำมาหักกับจำนวนเงินค่าทำศพที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องไม่ได้สุดท้ายนี้ ขอย้ำว่าแม้ผู้บริโภคจะมีสิทธิเรียกร้องค่าปลงศพดังกล่าว ก็ต้องเรียกตามฐานะและตามสมควรนะครับ ไม่ใช่ว่าจะเรียกร้องได้ตามอำเภอใจ หรือถือโอกาสจัดงานเสียใหญ่โตเกินฐานะ เพราะศาลจะพิจารณากำหนดให้ตามฐานะสมควรเท่านั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2506ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 ซึ่งบัญญัติให้ผู้ทำละเมิดรับผิดใช้ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆ อีกด้วย นั้น จะต้องพิเคราะห์ตามฐานานุรูปของผู้ตาย มิใช่ว่าถ้ามีการใช้จ่ายเงินทำศพตามประเพณีเป็นจำนวนเท่าใดแล้วผู้ทำละเมิดจะต้องรับผิดทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 เกิดเป็นนายจ้าง เมื่อลูกจ้างทำให้ผู้อื่นเสียหาย ต้องรับผิดแค่ไหน

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่าน วันนี้ เรามาคุยเรื่องเกี่ยวกับนายจ้าง ลูกจ้างกันนะครับ  เชื่อว่าหลายท่านคงเคยมีสถานะเป็นทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง แต่ก็มีบางครั้งที่ นายจ้างให้ลูกจ้างไปทำการงานบางอย่าง แล้วต่อมาลูกจ้างไปทำให้คนอื่นเกิดความเสียหาย เช่นนี้ นายจ้างก็ต้องร่วมรับผิด เพราะลูกจ้างได้ทำไประหว่างอยู่ในการงานที่จ้างนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างที่นำรถของบริษัทไปทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย ขับรถประมาทไปชนกับรถคันอื่น เช่นนี้ นายจ้างเขาต้องมาร่วมรับผิดด้วย   แต่ก็มีประเด็นสงสัยต่อมาว่า คำว่า “ลูกจ้าง” ที่นายจ้างต้องร่วมรับผิด ต้องเป็นคนที่ทำงานมานานๆ แล้ว หรือได้รับคำสั่งโดยตรงหรือไม่ ลูกจ้างทดลองงาน ยังไม่ได้รับทำงานประจำ แบบนี้ ถือว่าเป็น “ลูกจ้าง” ตามกฎหมายที่นายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าว ศาลฏีกาได้เคยมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า ลูกจ้างก็คือผู้ทำการงานให้นายจ้าง ตามที่นายจ้างสั่ง แล้วก็รับสินจ้างจากนายจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ หรือลูกจ้างชั่วคราว หรือแม้แต่อยู่ระหว่างทดลองงาน ก็เป็นลูกจ้าง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2524)คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2524การที่นายจ้างรับบุคคลใดเข้าทำงานจะเป็นการรับไว้ประจำหรืออยู่ในขั้นทดลองงานก็ตาม ย่อมถือได้ว่าได้มีการรับบุคคลนั้นเพื่อการทำงานของตนแล้ว จึงอยู่ในฐานะลูกจ้างของนายจ้างคำให้การพยานในชั้นสอบสวนเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่จะนำมาประกอบการวินิจฉัยในการรับฟังเกี่ยวกับข้อเท็จจริงแห่งพฤติการณ์และการกระทำทั้งหลายได้ ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามไว้โดยเด็ดขาด ประเด็นน่าสนใจอีกเรื่องคือ ใครคือ “นายจ้าง” การจะพิจารณาว่าบุคคลใดเป็นนายจ้างหรือไม่ ต้องดู 2 เรื่อง คือ มีอำนาจควบคุมการทำงานหรือไม่ และลูกจ้างต้องทำตามที่เขาสั่งหรือไม่ มีการรับค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้โดยไม่ต้องคำนึงความสำเร็จของงาน มีหน้าที่ทำตามคำสั่งเท่านั้นใช่หรือไม่ หากไม่มีอำนาจควบคุมการทำงาน และงานที่ทำมุ่งผลสำเร็จ การจ้างดังกล่าว ก็เป็นการจ้างทำของ ไม่ใช่จ้างแรงงาน ส่งผลให้บุคคลที่ว่าจ้างไม่นับว่าเป็นนายจ้าง จึงไม่ต้องร่วมรับผิด  ดังเช่น คดีที่จะยกตัวอย่าง เป็นเรื่องของ การรับจ้างล้างและเฝ้ารถซึ่งจอดอยู่ริมถนน คนที่รับเฝ้ารถและล้างรถ  คนว่าจ้าง เขาต้องการผลสำเร็จของงานคือความสะอาดและความคงอยู่ของรถ เป็นการจ้างทำของ คนที่เขารับจ้างดังกล่าวจึงไม่ใช่ลูกจ้างของเจ้าของรถ เมื่อต่อมามีการนำรถไปขับโดยพลการจนถูกรถยนต์คันอื่นชนด้วยความประมาทของคนรับจ้าง แล้วไปชนโจทก์บาดเจ็บ เจ้าของรถจึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2523)คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2523จำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 2 และบุคคลอื่นล้างและฝ้ารถ ซึ่งจอดอยู่ริมถนนที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานเฝ้ายามอยู่แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ต้องทำตามคำสั่งหรืออยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ 2 การจ้างเช่นนี้เป็นการจ้างทำของเพราะผู้ว่าจ้างต้องการแต่ผลสำเร็จของงานคืนความสะอาดและความคงอยู่ของรถ ไม่ใช่จ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ ตัวอย่างอีกคดีหนึ่ง ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อย คือ จำเลยที่ 2 ลูกจ้างขับรถรับจ้างแล้วคนขับประมาทไปชนเขา ตำรวจเรียกไปสถานีตำรวจ มีการเจรจาให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของรถก็ไปช่วยเจรจาเหมือนว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของตน ไม่เคยบอกว่าจำเลยที่ 2 เช่ารถจำเลยที่ 1 ไปขับรับจ้าง พอเจรจาไม่สำเร็จ ผู้เสียหายก็มาฟ้องให้จำเลยที่ 1รับผิดในฐานะนายจ้างร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงต่อสู้ว่าไม่ใช่นายจ้าง ศาลก็ดูพฤติการณ์ดังกล่าว จึงวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 898/2534จำเลยที่ 2 ขับรถสองแถวของจำเลยที่ 1 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 โดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายแล้วโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีซึ่งมีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ยินยอมชดใช้ค่าซ่อมรถตามที่โจทก์เรียกร้อง คู่กรณีตกลงไม่ติดใจเอาความในทางอาญาอีกต่อไปข้อความดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะผู้เสียหายไม่ติดใจจะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 2 เพื่อพนักงานสอบสวนจะได้เปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 2 เท่านั้น ส่วนข้อความที่จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชดใช้ค่าซ่อมรถตามที่โจทก์เรียกร้องนั้น ไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องชำระ วิธีการชำระอันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีก ข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวมิใช่เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิดจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างหลุดพ้นความรับผิดในมูลละเมิด.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 การขอสินเชื่อของผู้บริโภค กับข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน  ในฉบับนี้ เราจะมาคุยกันถึงเรื่องสิทธิผู้บริโภคด้านสัญญากันครับ ก่อนอื่นต้องถามก่อนว่าใครไม่เคยยืมเงินบ้าง เชื่อว่าส่วนใหญ่ก็คงมีประสบการณ์ในการไปกู้หนี้ยืมสินกันบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ แต่สำหรับวันนี้ผมขอกล่าวถึงการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน  ซึ่งเวลาที่เราจะไปซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ เรามักจะไปทำเรื่องขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินกันใช่ไหม แต่ก่อนลงชื่อในสัญญา มีท่านใดอ่านเอกสารตอนทำสัญญาทุกข้อบ้าง ผมเชื่อว่าน้อยคนนักจะอ่านโดยละเอียด ซึ่งก็แน่นอนว่า สถาบันการเงินมักจะซ่อนข้อสัญญาที่ทำให้เราเสียเปรียบอยู่ด้วย เช่นกันกับคดีที่จะยกตัวอย่างมาให้ทุกท่านศึกษา เป็นเรื่องของลูกค้าธนาคารแห่งหนึ่งที่ไปขอสินเชื่อกับธนาคาร และได้ทำสัญญากู้เงิน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และสัญญากู้เงินประเภทวงเงินกู้หมุนเวียนในการใช้วงเงินสินเชื่อ โดยได้ทำบันทึกข้อตกลงยินยอมชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้แก่ธนาคาร และก็ได้ชำระเงินกู้และใช้วงเงินสินเชื่อโดยเบิกถอนจากบัญชีและชำระหนี้ตลอดมา จนอยู่มาวันหนึ่ง เขาไม่ประสงค์จะกู้เงินและใช้วงเงินสินเชื่ออีกต่อไป จึงแจ้งธนาคารขอชำระหนี้ปิดบัญชีและไถ่ถอนหลักประกัน ธนาคารจึงได้แจ้งยอดหนี้และคิดค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินสินเชื่อกู้เบิกเงินเกินบัญชี เงินกู้หมุนเวียนและหนังสือค้ำประกัน ในอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินสินเชื่อที่ขอยกเลิก  ลูกค้าท่านนี้เขาเห็นว่าการคิดค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินดังกล่าวไม่เป็นธรรม จึงทำหนังสือโต้แย้งธนาคารและขอสงวนสิทธิที่จะเรียกคืน แต่เมื่อได้มีการชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวไป จึงได้มีหนังสือทวงถามให้ธนาคารคืนเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว แต่ปรากฎว่าธนาคารก็เพิกเฉยไม่คืน ทำให้เขาไปฟ้องคดีต่อศาล และศาลฏีกาได้ตัดสินให้ธนาคารคืนเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว เนื่องจากข้อตกลงให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินไม่เป็นธรรม ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 4904/2557คำพิพากษาฎีกาที่ 4904/2557“ พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวได้แยกข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ กับข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูป เป็นคนละส่วนกัน ทั้งนี้โดยคู่สัญญาในสัญญาสำเร็จรูปไม่จำต้องเป็นสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ เมื่อพิจารณาเอกสารสัญญาสินเชื่อแต่ละประเภทและบันทึกแล้ว เห็นได้ว่าเป็นการจัดทำโดยใช้แบบพิมพ์สัญญา และบันทึกข้อตกลงที่จำเลยเป็นผู้กำหนดขึ้นล่วงหน้าและนำไปใช้ได้กับลูกค้าทั่วไปที่ขอสินเชื่อประเภทเดียวกันจึงเป็นสัญญาสำเร็จรูป ซึ่งการจะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าข้อตกลงนั้นเป็นผลให้ผู้กำหนดสัญญาแต่ละประเภทและบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้จำเลยเรียกค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินสินเชื่อ เป็นข้อตกลงที่ให้สิทธิจำเลยผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปเรียกค่าธรรมเนียมจากโจทก์คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้ทุกกรณี ไม่ว่าโจทก์จะใช้วงเงินสินเชื่อหรือไม่ อย่างไร  จึงเป็นข้อตกลงที่ให้สิทธิจำเลยเรียกร้องหรือกำหนดให้โจทก์ต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญามีผลให้โจทก์รับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์ ตาม พ.รบ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม (5) จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรม และพอสมควรแก่กรณีนั้น แม้โจทก์จะทำสัญญาสินเชื่อแต่ละประเภทและบันทึกข้อตกลงด้วยความสมัครใจ โดยจำเลยคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยประกาศเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไป และโจทก์ได้รับประโยชน์ในรูปของดอกเบี้ยที่ลดลงตลอดมา แต่เมื่อพิจารณาบันทึกข้อตกลงในส่วนของวงเงินตามสัญญากู้เงินที่ตกลงให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนเงินกู้ หากโจทก์ชำระคืนต้นเงินก่อนครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี ซึ่งดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินดังกล่าว จำเลยคิดในอัตราต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยประกาศเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปเช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าโจทก์ใช้วงเงินสินเชื่อแต่ละประเภทมาเกินกว่า 3 ปี โดยเสียดอกเบี้ยให้จำเลยมาตลอด ถือได้ว่าจำเลยได้รับผลตอบแทนจากการใช้วงเงินสินเชื่อของโจทก์มาพอสมควรแก่กรณีแล้ว หากกำหนดให้โจทก์ต้องชำระค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินสินเชื่อให้จำเลยอีกย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าธรรมเนียม การยกเลิกวงเงินสินเชื่อให้แก่โจทก์” จากตัวอย่างคดีข้างต้น  ชี้ให้เห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิด้านสัญญา  โดยเฉพาะสัญญาสำเร็จรูปที่ผู้ประกอบธุรกิจทำขึ้นฝ่ายเดียว โดยเราไม่มีโอกาสแก้ไขข้อสัญญา เราต้องตรวจสอบสัญญาก่อนลงลายมือชื่อทุกครั้ง และหากพบว่ามีข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ทำให้เราเสียเปรียบ ก็ควรเรียกร้องโต้แย้งไว้โดยทำเป็นหนังสือให้ปรากฎหลักฐาน อย่างเช่นในคดีนี้ที่โจทก์พบว่าหลังจากทำสัญญาสินเชื่อกับธนาคาร  ตนถูกธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม ก็ต่อสู้จนได้เงินคืนในที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ผลของสัญญาต่างตอบแทนที่ควรรู้

การทำสัญญาที่อยู่ใกล้ตัวทุกท่านอย่างหนึ่ง ก็คือสัญญาต่างตอบแทน ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าสัญญาต่างตอบแทนคืออะไร มันคือสัญญาที่มีลักษณะที่คู่สัญญาต่างมีหนี้ต้องชำระตอบแทนซึ่งกันและกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงเป็นทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ในสัญญาเดียวกัน เช่น สัญญาจะซื้อจะขายบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียม ซึ่งผู้ขายนอกจากมีหน้าที่ในฐานะลูกหนี้ต้องส่งมอบบ้านที่พร้อมอยู่อาศัยแก่ผู้ซื้อ ก็มีสิทธิในฐานะเจ้าหนี้ที่จะได้รับเงินค่าขายบ้านจากผู้ซื้อด้วย นอกจากนี้ บรรดาสัญญาเช่าหอพัก สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ก็ถือว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนทั้งสิ้น เมื่อเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทำให้เกิดหนี้ที่ต้องตอบแทนกันทั้งสองฝ่าย ต่างจากสัญญาทั่วไป ที่เกิดหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น ผลของสัญญาต่างตอบแทน คือ ถ้าฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายมีสิทธิที่จะไม่ชำระหนี้ได้เช่นเดียวกัน เว้นแต่หนี้ของฝ่ายแรกยังไม่ถึงกำหนด ซึ่งเพื่อให้เข้าใจง่าย ขอยกตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาหนึ่ง ที่ผู้บริโภคไปทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านจัดสรรของโครงการแห่งหนึ่ง โดยผู้ประกอบการโฆษณาว่า โครงการจะมีการทำคลับเฮ้าส์ ทะเลสาบ ลู่วิ่ง และสวนหย่อม แต่เมื่อมีการติดต่อให้ผู้บริโภคไปรับโอน ปรากฎว่าผู้ประกอบการยังไม่ก่อสร้างสาธารณูปโภคตามที่โฆษณาไว้ ผู้บริโภครายนี้จึงขอเลิกสัญญาและให้คืนเงิน ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการไม่คืน จึงต้องมาฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งคดีนี้ ศาลได้ตัดสินไว้ว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน และผลคือเมื่อจำเลยยังมิได้ก่อสร้างสาธารณูปโภคอันเป็นส่วนสาระสำคัญของโครงการตามที่ได้โฆษณาในแผ่นพับในขณะโจทก์เข้าทำสัญญาจองซื้อบ้าน โจทก์จึงยังไม่จำต้องรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินและชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย มีสิทธิบอกเลิกสัญญา และจำเลยต้องคืนเงินให้แก่โจทก์คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2552สาธารณูปโภคที่โครงการจัดให้ตามแผ่นพับที่พิมพ์โฆษณาว่ามีคลับเฮ้าส์ ทะเลสาบ ลู่วิ่ง และสวนหย่อมเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญ แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจะมีข้อตกลงเฉพาะเกี่ยวกับแบบแปลนสิ่งปลูกสร้าง กำหนดเวลาการก่อสร้าง กำหนดเวลาการตรวจรับอาคารสิ่งปลูกสร้างเฉพาะตัวบ้านตามที่โจทก์จองซื้อก็ตาม แต่ตามสัญญาข้อ 16 ได้กำหนดให้ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคส่วนกลางจำนวน 30,000 บาท ซึ่งเมื่อดูจากแผ่นพับโฆษณาแล้ว ค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามที่กำหนดไว้นั้นน่าจะหมายถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลสวน ลู่วิ่ง รอบทะเลสาบและทะเลสาบซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ร่วมกัน แต่ขณะที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยสร้างบ้านเสร็จแต่พื้นที่รอบบ้านยังอยู่ในสภาพรกร้างว่างเปล่า ยังมิได้ดำเนินการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสาระสำคัญในการเอื้อต่อการเข้าอยู่อาศัยของผู้ซื้อบ้านซึ่งสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้ก่อสร้างสาธารณูปโภคอันเป็นส่วนสาระสำคัญของโครงการตามที่ได้โฆษณาในแผ่นพับในขณะโจทก์เข้าทำสัญญาจองซื้อบ้าน โจทก์จึงยังไม่จำต้องรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินและชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย ทั้งกรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมจำเลยจึงต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อีกตัวอย่าง เป็นเรื่องของสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์ ซึ่งศาลตีความว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทน ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าให้ผู้เช่าสามารถใช้งานได้ ดังนั้น ระหว่างที่ปรับปรุงโรงภาพยนตร์ ผู้เช่าจึงมีสิทธิที่จะไม่ชำระค่าเช่าได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1215/2535สัญญาเช่าโรงภาพยนตร์มีข้อความว่า ผู้เช่าสัญญาว่าจะจัดการดูแลรักษาทรัพย์สินที่เช่าให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย และบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้เสมอด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าเองหากมีการชำรุดบกพร่อง แตกหักเสียหายด้วยประการใด ๆ ผู้เช่าจะต้องรีบแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบทันที และดำเนินการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิมด้วย ค่าใช้จ่ายของผู้เช่าเองทั้งสิ้นนั้น หมายถึงการซ่อมแซมบำรุงรักษาตามปกติและเป็นการซ่อมแซมเล็กน้อยเท่านั้นผู้เช่าจึงจะมีหน้าที่ซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่า แต่อาคารโรงภาพยนตร์ทรุด และพื้นคอนกรีตแตกร้าวเสียหายมากหลายแห่ง เป็นความเสียหายร้ายแรงจนอาจเกิดการพังทลายเป็นอันตรายแก่ผู้เข้าชมภาพยนตร์ได้จึงเป็นเรื่องมีความจำเป็นและสมควรที่จะต้องซ่อมแซมใหญ่อย่างรีบด่วนเพื่อรักษาโรงภาพยนตร์ให้สามารถใช้การต่อไปไม่ให้พังทลายไปเสียก่อนมิใช่กรณีต้องซ่อมแซมเพียงเล็กน้อย ผู้ให้เช่าจึงมีหน้าที่ต้องซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 547หาใช่หน้าที่ของผู้เช่าไม่ โจทก์อ้างว่าจำเลยค้างชำระค่าเช่าเดือนกันยายน 2525 แต่โจทก์รับค่าเช่าจากจำเลยโดยไม่ได้ทวงถามค่าเช่าสำหรับเดือนดังกล่าวจนล่วงเลยมาถึงเดือนกันยายน 2526 การรับเงินค่าเช่าโจทก์ได้ออกใบรับเงินให้จำเลยทุกครั้ง กรณีจึงต้องด้วยบทสันนิษฐานของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 327 ที่ว่า ในกรณีชำระดอกเบี้ยหรือชำระหนี้อย่างอื่นอันมีกำหนดชำระเป็นระยะเวลานั้นถ้าเจ้าหนี้ออกใบเสร็จรับเงินให้เพื่อระยะหนึ่งแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เพื่อระยะก่อน ๆ นั้นด้วยแล้ว เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมาหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายนี้ได้ จึงต้องฟังว่าจำเลยได้ชำระค่าเช่าเดือนกันยายน 2525 ให้โจทก์แล้ว โจทก์ปิดและบูรณะปรับปรุงโรงภาพยนตร์ที่ให้เช่า จำเลยผู้เช่าจึงไม่อาจใช้ฉายภาพยนตร์ได้ตามสิทธิการเช่าของตน สัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยย่อมมีสิทธิไม่ยอมชำระค่าเช่าในระหว่างที่โรงภาพยนตร์ต้องปิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 สิทธิของผู้ซื้อบ้าน กรณีเจอบ้านชำรุดบกพร่อง

ในชีวิตคนเรา ไม่ว่าใครก็ฝันอยากมีบ้านเป็นของตนเอง หรือบางท่านก็ต้องการมีบ้านเพื่อเป็นเรือนหอ เพื่อสร้างครอบครัวของตนเอง บ้านหลังหนึ่งราคาไม่ใช่น้อยๆ  ต้องเก็บเงิน ทำงานทั้งชีวิตกว่าจะได้มา ช่วงที่ผ่านมา หลายท่านคงได้ทราบข่าวคู่รักชาวเชียงใหม่ เข้าร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมให้ช่วยเหลือ หลังซื้อบ้านใหม่ราคากว่า 2 ล้านบาท เพื่อทำเป็นเรือนหอ แต่ยังไม่ทันเข้าอยู่ กลับมีสภาพเหมือนโรงเพาะเห็ด  เมื่อมาเจอปัญหาซื้อบ้าน แต่ได้บ้านที่มีเห็ด มีเชื้อราขึ้นทั่วบ้าน ใครจะกล้าอยู่  จ่ายเงินไปแล้ว ก็ต้องการบ้านที่ดี สะอาด ปลอดภัย น่าอยู่เหมือนคนอื่นๆ    เรื่องของการซื้อขายบ้าน คนขายไม่ใช่เพียงแต่ขายบ้าน รับเงินแล้วจบ  แต่ยังมีหน้าที่ต้องส่งมอบบ้านในสภาพที่ใช้อยู่อาศัยได้จริงด้วย  หากส่งมอบบ้านมา อย่างกรณีที่เกิดขึ้น ผู้บริโภคยังไม่ทันเข้าอยู่อาศัย พบว่าบ้านมีเห็ด มีเชื้อราขึ้น สอบถามจนทราบว่าเกิดจากความชื้นจากใต้ดิน ทำให้บ้านเกิดเชื้อรา แบบนี้ถือว่า บ้านที่ส่งมอบให้ผู้บริโภคนั้น เกิดความชำรุดบกพร่องเป็นเหตุเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ กล่าวคือ บ้านซื้อมาประโยชน์จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยอีกหลายสิบปี แต่กลับใช้อาศัยไม่ได้ ไม่ปลอดภัยเพราะมีแต่เชื้อโรค บ้านปกติเขาไม่เป็นแบบนี้  กรณีแบบนี้ ต่อให้ตรวจสอบก่อนรับมอบบ้าน ก็คงไม่ทราบ เพราะไม่ใช่ความชำรุดเสียหายที่เห็นเป็นประจักษ์ขณะส่งมอบบ้านกัน จะให้ผู้บริโภคที่ซื้อบ้านรับผิดชอบคงไม่ได้ (ฏีกาที่   5584/2544, 17002/2555) โดยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้บริโภคในฐานะผู้ซื้อ เมื่อพบว่าทรัพย์สินที่ซื้อขายมีความชำรุดบกพร่องเช่นนี้ มีสิทธิ 3 ประการ คือ 1.สิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายแก้ไขความชำรุดบกพร่อง (มาตรา 472)2.สิทธิยึดหน่วงราคาทั้งหมดหรือแต่บางส่วน กล่าวคือ ไม่ต้องชำระเงินค่าบ้านส่วนที่เหลือจนกว่าจะได้รับการแก้ไขความชำรุดบกพร่อง (มาตรา 488) 3.สิทธิบอก(ปัด)เลิกสัญญา และเรียกค่าเสียหาย  รวมถึงเงินมัดจำ และให้ชำระหนี้บางส่วน (ถ้ามี) ( มาตรา 386 และ 391 )แต่อย่างไรก็ตามสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายรับผิดนั้นก็ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง  ดังนั้นในเบื้องต้น หากท่านรู้ว่าบ้านที่ซื้อมีความชำรุดบกพร่อง มีความเสียหายส่วนใดๆ ก็ตาม ต้องรีบทำหนังสือแจ้งให้โครงการดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว เช่น ภายใน 15 วัน หากผู้ขายไม่รีบดำเนินการแก้ไข ก็อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบทำเรื่องร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อดำเนินการช่วยเหลือในการเจรจาไกล่เกลี่ย รวมถึงฟ้องเป็นคดีต่อศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2544 ความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากการที่ผนังบางส่วนมีรอยแตกร้าวบริเวณระหว่างกำแพงที่เป็นปูนหรือส่วนที่เป็นพื้นกับวงกบอะลูมิเนียมของบานประตูหน้าต่างมีรอยต่อไม่สนิท หรือบางส่วนยาซิลิคอนไม่ทั่วทำให้น้ำฝนสามารถซึมเข้ามาได้นั้น เป็นความชำรุดบกพร่องอันไม่เห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบ เมื่อมีน้ำฝนตกหนักน้ำฝนซึมเข้ามา จึงจะรู้ว่ามีการชำรุดบกพร่องดังกล่าว แม้ตัวแทนโจทก์เข้าไปสำรวจตรวจสอบแล้ว ก็เป็นการตรวจสอบเพียงว่ามีทรัพย์สินใดเสียหายบ้าง แต่บุคคลดังกล่าวไม่มีความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้าง การที่ตัวแทนโจทก์เสนอให้โจทก์หาผู้เชี่ยวชาญมาทำการตรวจสอบและโจทก์ได้ว่าจ้างบริษัท อ. เข้าไปตรวจสอบจึงเป็นการกระทำที่สมควร จะถือว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องแล้วแต่เวลานั้นยังไม่ได้ เมื่อต่อมาบริษัท อ. ตรวจสอบเสร็จและเสนอรายการซ่อมให้โจทก์ทราบ จึงถือได้ว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องนับแต่เวลานั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันดังกล่าวคดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17002/2555การผุกร่อนของเหล็กเส้นที่ถูกสนิมกัดกินคานบ้าน เป็นความชำรุดบกพร่องที่เป็นเหตุเสื่อมราคาและเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เมื่อโจทก์ซื้อบ้านเพื่อจะใช้อยู่อาศัยและคู่สัญญาซื้อขายไม่ได้ตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 483 ความชำรุดบกพร่องดังกล่าวจึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472แม้ก่อนจะมีการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบบ้านให้แก่โจทก์นั้น โจทก์ได้เข้าไปตรวจดูบ้านถึง 4 ครั้ง กับใช้กล้องวิดีโอถ่ายสภาพบ้านนำไปให้ญาติของโจทก์ช่วยกันพิจารณาสภาพบ้านด้วยก็ตาม แต่ในส่วนโครงเหล็กของคานชั้น 2 อยู่บริเวณเหนือฝ้า การจะตรวจดูต้องทุบแล้วรื้อฝ้าออกจึงจะพบเห็น ไม่ใช่กรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบและโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์รับเอาบ้านไว้โดยมิได้อิดเอื้อน ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้ขอเปิดฝ้าเพื่อตรวจดูคานนั้น ก็เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่ไม่น่าจะคาดคิดว่าคานบ้านชั้น 2 ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้พื้นดินหรือความชื้นจะเกิดสนิมที่เหล็กเส้นจนผุกร่อน จนต้องขอเปิดฝ้าดูเพื่อตรวจสอบ กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน อันจะทำให้จำเลยทั้งสองผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องในกรณีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 473 (1) และ (2)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 ผู้บริโภคร้อง ถอดแผ่นป้ายโฆษณาปิดบังบริเวณกระจกหน้าต่างรถไฟโดยสาร ได้ไหม?

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ เราจะมาคุยกันถึงเรื่องแผ่นป้ายโฆษณาที่ติดบนรถไฟโดยสาร บางท่านอาจเคยสังเกต เวลาเรามองรถไฟจากภายนอกรถก็เห็นภาพป้ายโฆษณาสวยงามประดับอยู่ที่ตัวรถไฟโดยสาร แต่สำหรับผู้โดยสารที่อยู่ในรถไฟ อาจไม่รู้สึกดีด้วยเท่าไหร่ เนื่องจากแผ่นป้ายดังกล่าว เมื่อมองจากข้างในรถไฟจะมีลักษณะเป็นรูพรุนเพื่อให้แสงผ่านได้ ซึ่งบางครั้งเกิดอาการตาลาย เวียนหัวได้ หรือ จะมองหาป้ายบอกทาง ทิวทัศน์ต่างๆ ก็เห็นไม่ชัด ซึ่งเชื่อว่าหลายคนก็คงเจอกันนะครับ แล้วมันเป็นคดีสู่ศาลได้ยังไง เรามาดูกันครับเรื่องเกิดขึ้น เมื่อมีผู้บริโภคท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้โดยสารรถไฟขบวนด่วนพิเศษเป็นประจำ ขึ้นรถไฟโดยสารขบวนด่วนพิเศษกรุงเทพ – เชียงใหม่ เขาเดินไปนั่งริมหน้าต่างของรถไฟที่มีแผ่นป้ายโฆษณาดังกล่าวแปะอยู่ และมองออกไปข้างนอก ก็ไม่สามารถเห็นทิวทัศน์ข้างทางได้ชัดเจน แถมยังเกิดอาการตาพร่ามัว และคลื่นไส้ ระหว่างการเดินทาง หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้บริโภครายนี้ก็ทำหนังสือร้องทุกข์ไปถึงการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อขอให้ขูดลอกแผ่นป้ายโฆษณาดังกล่าวออกจากหน้าต่างผู้โดยสาร แต่ปรากฎว่าไม่ได้รับการแก้ไข จึงนำเรื่องไปฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยฟ้องว่าการที่การรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด จึงนำคดีมาฟ้องศาลเพื่อขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการลอกแผ่นป้ายโฆษณาออกจากกระจกหน้าต่างของตู้รถโดยสารทุกสายทั่วประเทศและทำความสะอาดกระจกหน้าต่างรถตู้โดยสารของขบวนรถไฟทุกขบวนให้สะอาดต่อมา ศาลปกครองสูงสุด ได้ตัดสินว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยละเลยต่อหน้าที่ในการจัดทำกิจการรับขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งเป็นบริการสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เนื่องจาก ตามมาตรา 9 แห่ง พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 กำหนดหน้าที่ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องดูแลรักษาส่วนต่างๆ ของตู้รถไฟโดยสารของขบวนรถไฟ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ใช้ในการทำบริการสาธารณะดังกล่าว เช่น ที่นั่ง ที่นอนของผู้โดยสาร รวมทั้งประตู หน้าต่างของรถโดยสารให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดี และสามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารได้ตามสมควร และหน้าต่างรถโดยสารมิได้มีไว้เพียงเพื่อให้แสงสว่างจากภายนอกรถเข้าไปภายในรถเท่านั้น แต่ยังมีไว้เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถมองเห็นสรรพสิ่งที่อยู่นอกรถเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินในระหว่างที่อยู่ในรถและระแวดระวังภยันตรายที่อาจจะมีจากภายนอกรถอีกด้วย รถโดยสารที่ไม่มีหน้าต่างไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นรถโดยสาร ดังนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงมีหน้าที่ที่จะต้องจัดให้ตู้รถโดยสารของขบวนรถไฟทุกขบวนมีหน้าต่างและดูแลรักษาหน้าต่างรถตู้โดยสารทุกคันให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้การได้สมวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีหน้าต่าง การที่การรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ถูกฟ้องคดีทำสัญญาเช่าติดตั้งป้ายโฆษณาภายนอกรถโดยสารโดยยินยอมให้ติดตั้งป้ายโฆษณาที่กระจกหน้าต่างรถโดยสารได้ด้วย จึงเป็นการใช้หน้าต่างรถโดยสารแสวงหารายได้จนทำให้ผู้โดยสารไม่อาจใช้ประโยชน์จากหน้าต่างรถโดยสารได้ตามวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีหน้าต่างได้ตามที่ควรจะเป็น ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ในการจัดทำกิจการรับขนส่งผู้โดยสารซึ่งเป็นบริการสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงพิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการขูดลอกแผ่นป้ายโฆษณาออกจากบริเวณกระจกหน้าต่างตู้รถโดยสารและทำความสะอาดกระจกหน้าต่างตู้รถโดยสารรถไฟทุกคันให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ( คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.231/2550)จากคดีตัวอย่างนี้ เราจะเห็นว่า เรื่องใกล้ตัวเราบางครั้ง เราอาจมองข้ามไปทั้งที่มันก็เป็นปัญหากับเรา หลายท่านอาจเคยเกิดความเดือดร้อนรำคาญจากแผ่นป้ายโฆษณาลักษณะนี้ แต่ยังไม่ได้ใช้สิทธิของตนเองเหมือนผู้ฟ้องคดีรายนี้ ที่ทำหนังสือถึงหน่วยงานให้ดำเนินการตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด จัดการแก้ไข จนไปถึงขั้นฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม ผลคดีเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคนที่ใช้บริการรถไฟโดยสารของไทย ผมเชื่อว่าทุกคนมองเห็นปัญหาจากบริการสาธารณะ ไม่ใช่แค่รถไฟโดยสาร แต่รวมถึงรถตู้โดยสาร รถไฟฟ้า รถแท็กซี่ ฯลฯ แต่ปัญหานั้นจะลดลงหรือหายไปก็ต่อเมื่อมีคนลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ เราต้องช่วยกันครับเพื่อให้สังคมของเราน่าอยู่มากขึ้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 หากถูกเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า

ทำงานอยู่ดีๆ เกิดนายจ้างเลิกสัญญาจ้างแรงงานขึ้นมาโดยไม่บอกให้รู้ล่วงหน้า เราจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง เราลองมาดูตัวอย่างกันค่ะปกติเมื่อนายจ้างต้องการจะเลิกสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้าง ในสัญญาจ้างจะกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ในการบอกกล่าวลูกจ้างล่วงหน้าก่อนหรือเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้าง และจะมีผลเป็นการเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างในงวดถัดไป แต่ถ้าในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างแล้ว และไม่ประสงค์จะให้ลูกจ้างทำงานแล้ว นายจ้างจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้าง ตามจำนวนให้ครบจนถึงวันที่เลิกสัญญา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 สำหรับกรณีตามตัวอย่างคราวนี้ ลูกจ้างโดนนายจ้างซึ่งปิดประกาศเลิกจ้างหน้าบริษัทฯ โดยไม่ระบุถึงสาเหตุในการเลิกจ้างในประกาศ ลูกจ้างจึงได้เป็นโจทก์ฟ้องนายจ้าง เรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และเรียกให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3407/2552 ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิพากษาว่า “จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยให้เหตุผลว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และมาตรา 583 หรือตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 แล้วแต่กรณี มิได้บัญญัติไว้ว่า ถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้างแล้ว นายจ้างจะยกเหตุผลแห่งการเลิกจ้างขึ้นมาอ้างภายหลังไม่ได้ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย ดังนั้นแม้จำเลยไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้างจำเลยก็ย่อมยกเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้”นอกจากนี้ ยังมีคำให้การของนายจ้างว่า ลูกจ้างใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวพ่วงกับอุปกรณ์ของบริษัทฯ เพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัวในเวลาทำงานเป็นประจำ และออกไปติดต่อทำการค้าขายในกิจการส่วนตัวโดยไม่แจ้งให้นายจ้างทราบ นายจ้างได้ตักเตือนในที่ประชุมแล้วแต่ลูกจ้างยังคงปฏิบัติเช่นเดิม นายจ้างจึงมีหนังสือตักเตือนลูกจ้างครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 หลังจากนั้นลูกจ้างได้กระทำความผิดอีกในวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย สำหรับในประเด็นนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานเห็นว่า “จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานก็ย่อมมุ่งหวังจะได้รับประโยชน์จากการทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างให้คุ้มกับค่าจ้างที่เสียไป การที่โจทก์ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวต่อพวงกับอุปกรณ์ของจำเลยในเวลาทำงานเพื่อทำการค้ากับบุคคลภายนอก นอกจากจะเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากการใช้กระแสไฟฟ้า โทรศัพท์และอุปกรณ์ของจำเลยเพื่อเป็นประโยชน์ส่วนตัวแล้วยังเป็นการเบียดบังเวลาทำงานของจำเลยอีกด้วย ย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยตักเตือนและสั่งห้ามในที่ประชุมแล้ว โจทก์ยังกระทำเช่นนั้นอีกจนต้องมีการตักเตือนเช่นนั้นถึง 5 ครั้ง ย่อมถือได้ว่าโจทก์ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณและเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย และตามพฤติการณ์การกระทำของโจทก์ดังกล่าวนอกจากจะแสวงหาประโยชน์อันมิชอบและเบียดบังเวลาทำงานของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแล้ว ยังยากแก่การบังคับบัญชา หากจ้างโจทก์ทำงานต่อไปก็มีแต่จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมากขึ้น จำเลยย่อมมีเหตุผลที่จะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไป ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์” เพราะฉะนั้น หากใครที่ใช้เวลาทำงานในการหาประโยชน์ส่วนตัว หรือใช้เวลาทำงานเล่นอินเตอร์เน็ตหรือทำให้นายจ้างเสียประโยชน์ อาจจะโดนบอกเลิกสัญญาจ้างทันที และไม่ได้รับเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 กฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้เช่าตึกแถว

คราวนี้เราจะมาพูดถึงการคุ้มครองสิทธิด้านที่อยู่อาศัยของตนเองกันต่อ แต่เป็นเรื่องสิทธิของผู้เช่าที่ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่อาศัยนะครับ แต่ก็ถือว่า เขาเป็นผู้บริโภคคนหนึ่ง มีสิทธิครอบครองใช้สอยทรัพย์ที่เช่าตามสัญญาได้ และมีสิทธิจะอยู่ในที่อยู่อาศัยหรือสิ่งแวดล้อมที่ดีเช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีใครมาทำให้เขาเดือดร้อน กฎหมายก็คุ้มครองเขานะครับมีคดีหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นกรณีผู้เช่าตึกแถวคนหนึ่ง ที่เช่าอยู่มาเกือบ 20 ปี ที่อยู่มาวันดีคืนดี ก็มีเจ้าของที่มาสร้างกำแพงปูนปิดปากทางถนน ที่ผู้เช่าใช้เป็นทางสัญจรผ่านเข้าออกเป็นประจำ ทำให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถใช้ทางได้โดยปกติสุข ก็มาฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งศาลก็มองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิโจทก์ผู้เช่าตึกแถวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1036/2543แม้โจทก์จะเป็นเพียงผู้เช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 1 แต่ถนนพิพาทเป็นถนนหน้าตึกแถวที่จำเลยที่ 1 สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่ซื้อหรือเช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 1 ใช้เป็นทางสัญจรผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ และโจทก์ได้ใช้ถนนพิพาทตลอดมาเป็นเวลานานถึง 17 ปีแล้ว โดยจำเลยที่ 1 ไม่เคยหวงห้าม แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะขายตึกแถวที่โจทก์เช่าอยู่ให้แก่บุคคลภายนอก แต่โจทก์ก็ยังคงอยู่ในตึกแถวที่เช่าต่อมา การที่จำเลยที่ 2 สร้างกำแพงปูนปิดปากทางถนนพิพาทด้านถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ตนซื้อจากจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์สัญจรผ่านเข้าออกไม่ได้ตามปกติย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้จำเลยที่ 1 ตกลงกับโจทก์และผู้เช่ารายอื่นว่าจะจัดให้ถนนพิพาทเป็นทางสัญจรเข้าออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ตลอดไป มิฉะนั้นโจทก์และผู้เช่ารายอื่นคงไม่ยินยอมจ่ายเงินช่วยค่าก่อสร้างและจดทะเบียนการเช่ากับจำเลยที่ 1 เป็นเวลานานถึง 20 ปี และจำเลยที่ 1 ก็คงไม่ยินยอมให้โจทก์และครอบครัวตลอดจนบุคคลอื่นที่อาศัยอยู่ในตึกแถวดังกล่าวได้ใช้ถนนพิพาทเป็นทางเข้าออกตลอดมาเป็นเวลานานถึง 17 ปี เช่นเดียวกัน แม้สัญญาเช่าตึกแถวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะมิได้ระบุเรื่องการใช้ถนนพิพาทไว้ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้หวงห้ามมิให้ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 1 ใช้ถนนพิพาท และจำเลยที่ 2 ก็ทราบดีอยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 ก่อสร้างถนนพิพาทไว้สำหรับให้ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวใช้เป็นทางสัญจรเข้าออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ การที่จำเลยที่ 2 ซื้อถนนพิพาทบางส่วนจากจำเลยที่ 1 และได้ก่ออิฐเป็นกำแพงปิดกั้นถนนพิพาทบริเวณปากทางออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมุ่งแต่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว โดยรู้อยู่แล้วว่าต้องเกิดความเสียหายแก่ผู้ที่ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 1 ที่ไม่สามารถใช้ถนนพิพาทออกสู่ทางสาธารณะด้านถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้โดยปกติสุข การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่ารายหนึ่งอีกเรื่อง เป็นการเช่าช่วง ที่ผู้เช่าช่วงต้องทราบว่า หากจะให้เกิดสิทธิของผู้เช่าช่วงก็ต้องทำหนังสือสัญญาเช่ากับผู้ให้เช่าไว้เป็นหลักฐานด้วย หากไม่มีก็อาจจะถูกฟ้องขับไล่ เหมือนอย่างคดีดังต่อไปนี้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6275/2551การเช่าช่วงที่ดินพิพาทถือ เป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่ง จึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 538 ซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ เมื่อจำเลยเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่า เช่าช่วงจากโจทก์ แต่ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าช่วงกับโจทก์แต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อของจำเลยผู้เช่า จำเลยจึงไม่อาจยกการเช่าช่วงขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทจึงต้องถือว่าจำเลยอยู่โดยอาศัยสิทธิของโจทก์ จำเลยจะอ้างว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินแก่โจทก์แล้ว เพื่อต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาย่อมเป็นการอยู่โดยละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 เพื่อนบ้านเป็นโรงงานส่งเสียงดัง หรือเลี้ยงสุกรมีกลิ่นเหม็น

เพื่อนบ้านเป็นโรงงานส่งเสียงดัง หรือเลี้ยงสุกรมีกลิ่นเหม็นเราจะคุ้มครองสิทธิตนเองอย่างไรเมื่อพูดถึงการคุ้มครองสิทธิด้านที่อยู่อาศัยของตนเอง เพื่อให้ได้อยู่ในที่อยู่อาศัยหรือสิ่งแวดล้อมที่ดี ถือเป็นสิทธิผู้บริโภคสากลที่สำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ของเรา  และกฎหมายไทยเราก็มีการเขียนเรื่องนี้ไว้ว่า ใครก็ตามจะใช้สิทธิ หากทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์เดือดร้อนเกินไปกว่าปกติ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้น มีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อจัดการความเดือดร้อน ทั้งนี้ไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทนเพื่อให้เห็นภาพชัด ก็ขอยกตัวอย่างคดีหนึ่ง โจทก์เป็นเจ้าของบ้านหลังหนึ่ง และบังเอิญเพื่อนบ้านเปิดฟาร์มเลี้ยงสุกร อยู่ไปอยู่มาดูแลไม่ดี เพราะต่อมาได้เลี้ยงสุกรมากขึ้นจึงได้ใช้ผ้าพลาสติกคลุมคอกสุกรแล้วใช้พัดลมดูดเอากลิ่นเหม็นสิ่งปฏิลออกจากคอกสุกรส่งผลให้มีกลิ่นเหม็นรบกวนสุขภาพและอนามัยของโจทก์ เขาทนไม่ไหว ก็ไปฟ้องคดี ให้เพื่อนบ้านกำจัดสิ่งเน่าเหม็น และย้ายที่เลี้ยงไปที่อื่น  ศาลก็ตัดสิน โดยใช้หลักกฎหมายดังกล่าว ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1639/2555 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่  8309/2548คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1639/2555ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1337 บัญญัติไว้ในกรณีที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดใช้สิทธิของตนจนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย หรือได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่น เสียง แสงสว่าง หรือมลภาวะใดๆเกินกว่าที่บุคคลทั่วไปจะทนได้ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นมีสิทธิกระทำการเพื่อป้องกันความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป อันเป็นการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนจากกลิ่น เสียง แสงสว่าง หรือมลภาวะนั้นให้มีสุขลักษณะที่ดิน โดยคำฟ้องของ ผ.มีคำขอให้ ฉ.กำจัดสิ่งปฏิกูลที่รบกวนสุขภาพอนามัยของ ผ.ด้วย แสดงให้เห็นว่าการขจัดความเดือนร้อนที่ ผ.ได้รับอาจทำได้โดยวิธีอื่น หาใช้ต้องขับไล่ ฉ.ตามฎีกาของ ผ. ดังนั้น ที่ ผ.ฎีกาขอให้ขับไล่ ฉ.ให้ขนย้ายสุกรไปเลี้ยงให้ห่างไกลจากบ้านของ ผ.จึงเป็นวิธีการที่เกินกว่าความจำเป็นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผ.ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า อบต.ออกข้อบัญญัติอย่างไร รวมทั้งไม่นำสืบว่า ฉ.ฝ่าฝืนข้อบัญญัติดังกล่าวอย่างไร คำขอของ ผ.ที่ให้ ฉ.กำจัดสิ่งเน่าเหม็นอันเกิดจากมูลสุกรเป็นคำขอที่ไม่ชัดเจนพอที่จะบังคับให้ ฉ.ปฏิบัติได้ ศาลฎีกาเห็นว่า เจตนารมณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1337 เป็นคนละปัญหากับการดำเนินการของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะเข้าแก้ไข คำขอของ ผ.ไม่มีความหมายกว้างเกินไปและไม่ชัดเจนพอที่ ฉ.จะปฏิบัติได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ผ. ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ ฉ.กำจัดสิ่งปฎิกูลเน่าเหม็นอันเกิดสจากมูลสุกรที่ ฉ.เลี้ยงไว้คำพิพากษาที่ 8309/2548การประกอบกิจการของจำเลยทั้งสองก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนสิทธิที่จะอยู่อาศัยในเคหะสถานของโจทก์ทั้งสองโดยปกติสุข โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหาย หรือเดือดร้อนรำคาญให้สิ้นไป ได้แก่ การดำเนินการให้จำเลยทั้งสองหยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นหรือหาวิธีป้องกันมิให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ทั้งสองเมื่อศาลมีคำพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสองกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดเสียงดังและพ่นสีส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว หากจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล โจทก์ทั้งสองชอบที่จะให้บังคับคดีได้ ซึ่งย่อมทำให้ความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญจากเสียงดังและกลิ่นเหม็นนั้นระงับสิ้นไป ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์อีกต่อไปการตั้งโรงงานของจำเลยทั้งสอง แม้จะเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และสมควรจะย้ายไปตั้งในนิคมอุตสาหกรรมตามที่โจทก์อ้างมา ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองกระทำผิดต่อรัฐ พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองย้ายโรงงานไปอยู่ที่อื่นค่าใช้จ่ายในการป้องกันเสียงดังและระงับกลิ่นเหม็น อันได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในบ้านโจทก์ทั้งสอง ค่าใช้จ่ายในการกู้เงินมาสร้างบ้านอีกหนึ่งหลัง และค่าใช้จ่ายที่ต้องจ้างคนเฝ้าบ้านนั้น มิใช่ผลธรรมดาที่เกิดจากเหตุกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง แต่เป็นความเสียหายที่ไกลเกินเหตุ ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด

อ่านเพิ่มเติม >