ฉบับที่ 266 รู้ทัน กล่องสุ่ม ใครได้ ใครเสีย

        กล่องสุ่ม (Mystery box) คือ กล่องที่มีการนำสินค้าหลายๆ อย่าง คละแบบ/ราคา ใส่ไว้ในกล่อง และมีการนำมาขาย โดยที่ผู้ซื้อไม่ทราบว่าสินค้าในกล่องมีอะไรบ้าง รู้เพียงราคาของกล่องที่ซื้อว่าเท่าไรเท่านั้น ซึ่งตามหลักแล้วถือเป็นกลยุทธ์ในการทำการตลาดแบบหนึ่ง เป็นการกระตุ้นยอดขายและทำให้ลูกค้ารู้จักร้านมากขึ้น         ทุกวันนี้หลายคนคงรู้จักกล่องสุ่มมากขึ้น เพราะมีการโฆษณาขายอยู่บนโลกออนไลน์อย่างแพร่หลาย และบวกกับคุณสมบัติของกล่องสุ่มที่ทำให้ผู้ซื้ออย่างเราๆ ได้ลุ้นว่าจะได้ของอะไรบ้าง ซึ่งตรงกับนิสัยคนไทยบางส่วนที่ชอบการเสี่ยงโชค เสี่ยงดวง ทำให้กล่องสุ่มได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว มีอินฟลูเอนเซอร์หรือดาราหลายคนหันมาขายกล่องสุ่ม แต่อย่างไรก็ตามก็มีข่าวออกมาอยู่เป็นระยะว่ามีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่โดนหลอกลวงจากกล่องสุ่ม เนื่องจากมีการชวนเชื่อว่าซื้อไปแล้วในกล่องมีโอกาสได้ของราคาแพง มีโอกาสสร้างกำไรจากกล่องสุ่ม เสมือนเป็นการพนันขันต่อที่มีทั้งคนได้และคนเสีย  จึงเป็นที่สงสัยกันมากว่า ตกลงกล่องสุ่มที่มีอยู่เต็มไปหมดในโลกออนไลน์ เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายไหม           ในประเด็นนี้ หากมองมุมของกฎหมายก็ตอบได้ทันทีว่า การขายกล่องสุ่มเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ผิดกฎหมายเพราะมีลักษณะเป็นการพนัน แต่หากกล่องสุ่มนั้นมาในรูปแบบของชิงโชค เช่น ซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าหรือในตลาดออนไลน์ครบ 1,000 บาท ได้บัตรแลกกล่องสุ่มหนึ่งใบ กล่องสุ่มแบบนี้สามารถทำได้เพียงแต่ต้องขออนุญาตต่อกรมการปกครอง เช่นเดียวกับพวกลุ้นใต้ฝาเครื่องดื่มชูกำลังในสมัยก่อนหรือร้านค้าที่เปิดให้สอยดาวต่างๆ เหล่านี้ เป็นกลุ่มที่เรียกว่ารับชิงโชคต้องมีการขออนุญาตทั้งสิ้น  เป็นไปตาม มาตรา 8 และมาตรา 12 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478         มาตรา 8 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478         “การจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค โดยวิธีใด ๆ ในการ ประกอบกิจการค้าหรืออาชีพ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตก่อนจึงจะทำได้”         หากฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50 บาท ขึ้นไปจนถึง 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 12 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478         “ ผู้ใดจัดให้มีการเล่น หรือทําอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวน โดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หรือรับอนุญาตแล้วแต่เล่นพลิกแพลง ”         หากฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปจนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป จนถึง 5,000 บาท         สรุปได้ว่า การขายกล่องสุ่ม ถ้ามีลักษณะที่ทำให้ผู้ซื้อต้องลุ้นว่าจะได้หรือเสีย กล่าวคือ ของในกล่องสุ่มอาจมีราคาสูงหรือต่ำกว่าเงินที่จ่ายค่ากล่อง เช่นนี้ มีลักษณะเป็นการพนัน การเสี่ยงโชค ผิดกฎหมายพนัน แต่หากการขายกล่องสุ่มของที่อยู่ในกล่องรวมกัน ราคามากกว่าเงินที่ผู้ซื้อจ่ายเพียงแต่ละคนอาจได้ของมูลค่ามากน้อยแตกต่างกันไป เช่นนี้ ถือว่าไม่มีการได้การเสีย ไม่มีลักษณะการพนันสามารถทำได้         อย่างไรก็ตาม ในมุมกฎหมายการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคก็มีประเด็นเกี่ยวกับการระบุข้อมูลของสินค้าที่อยู่ในกล่องสุ่ม ซึ่งพบว่าที่ผ่านมาบางร้านขายกล่องสุ่มโดยกล่องสินค้ามีเพียงการแจ้งประเภทสินค้า เช่น เครื่องสำอางหรือของใช้ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดสำคัญของสินค้า ทั้งฉลากและราคา เช่นนี้ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน   เนื่องจากผู้บริโภคควรได้รับข้อมูลที่เพียงพอก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าไม่ตรงปก หรือไม่ครบตามที่มีการโฆษณา         ดังนั้นในฐานะผู้บริโภคเวลาจะซื้อสินค้าหรือบริการใด ก็ต้องตรวจสอบข้อมูลผู้ขาย ดูรีวิว คอมเม้น  และหลีกเลี่ยงสินค้าที่มีความเสี่ยง อย่างเช่นกล่องสุ่มก็เป็นสินค้าอีกประเภทที่เราต้องเท่าทัน อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาจ่ายน้อยได้มาก เพราะส่วนมากคือเป็นกลโกงของมิจฉาชีพเพื่อหลอกเอาเงินเรา  เราควรใช้เงินอย่างคุ้มค่าเพื่อให้ได้มาซึ่งของที่เราต้องการจริงๆ  มากกว่าการซื้อสินค้าอย่างกล่องสุ่มที่ไม่รู้จะได้อะไรมา ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และโดนหลอกจนสูญเงินอย่างเปล่าประโยชน์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 การจอดรถหน้าบ้านคนอื่น ผิดกฎหมายหรือไม่

        หลายคนมักมีปัญหาเจอคนชอบเอารถมาจอดขวางหน้าบ้านทำให้เข้าออกได้ไม่สะดวก แน่นอนว่าหลายคนอาจสงสัยว่า บริเวณหน้าบ้านถือเป็นพื้นที่ของเจ้าของบ้านหรือไม่ (ความเป็นจริงส่วนมากมักเป็นที่สาธารณะ) อย่างไรก็ตามการจอดรถในที่สาธารณะซึ่งเป็นบริเวณหน้าบ้านของคนอื่น ก็อาจทำให้เจ้าของบ้านเกิดปัญหามีความเดือดร้อนในการเข้าออกหรือไม่สามารถนำรถยนต์ของตนเองออกไปข้างนอกได้เช่นนี้ หลายคนจึงสงสัยว่ากฎหมายมีการคุ้มครองเจ้าของบ้านมากน้อยเพียงใด  มีบทลงโทษคนที่ชอบจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่นไหม เรื่องนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 ระบุว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือ ให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท”        บทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ระบุพฤติการณ์ของผู้ที่จะถือว่ากระทำความผิดต้องมีการกระทำในลักษณะ “รังแก” หรือ “ข่มเหง” หรือ คุกคาม หรือ ให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ”  ดังนั้นการจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่นก็อาจไม่ใช่เป็นความผิดเสมอไป เนื่องจากหากมีการเรียกให้เจ้าของรถยนต์เอารถยนต์ที่จอดขวางออกไปเพื่อให้เจ้าของบ้านเข้าออกได้และมีการย้ายรถยนต์ออกไปก็จะไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่ในทางกลับกันหากเมื่อเจ้าของบ้านได้ขอให้ขยับรถออกจากหน้าบ้าน แต่เจ้าของรถยนต์กลับเมินเฉยไม่สนใจและไม่ขยับรถออกไปหน้าบริเวณหน้าบ้านเช่นนี้ อาจเข้าข่ายกระทำความผิดในมาตรา 397 เพราะถือว่าเป็นการรังแกข่มเหงให้เจ้าของบ้านเกิดความเดือดร้อนรำคาญ   ซึ่งเรื่องนี้เคยมีการฟ้องร้องเป็นคดีสู่ศาลจนเกิดแนวคำพิพากษาเป็นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2518 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2518         จำเลยจอดรถขวางกั้นไม่ให้โจทก์ถอยรถออกไปจากซอยที่เกิดเหตุ เป็นเพียงขัดขวางไม่ให้โจทก์นำรถออกไปได้เท่านั้น ส่วนตัวโจทก์มีอิสระที่จะออกไปจากซอยได้ การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 แต่เป็นการรังแกข่มเหงทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ แม้ซอยนั้นจะอยู่ในที่ดินของผู้มีชื่อซึ่งแบ่งให้ผู้อื่นเช่าปลูกบ้าน แต่ประชาชนก็ชอบที่จะเข้าออกไปติดต่อกับผู้ที่อยู่ในซอยนั้นได้ ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำในที่สาธารณสถาน จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397         นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายจราจร ที่กำหนดว่าผู้ขับขี่จะจอดรถก็ต้องระมัดระวัง ไม่ไปจอดในพื้นที่ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายกับผู้อื่น ดังนั้น การจอดรถขวางทางเข้าออกบ้านคนอื่น จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 55 (6) ซึ่งบัญญัติว่า มาตรา 55 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถ 1. ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง 2. บนทางเท้า 3. บนสะพานหรือในอุโมงค์ 4. ในทางร่วมทางแยก 5. ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ 6. ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ 7. ในเขตปลอดภัย ซึ่งหากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท         อย่างไรก็ตามแม้การที่มีผู้อื่นมาจอดรถขวางหน้าบ้านของเราจะถือเป็นความผิดต่อกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้เจ้าของบ้านเกิดสิทธิที่จะทำลายหรือทำให้รถยนต์ที่จอดขวางหน้าบ้านได้รับความเสียหาย อย่างเช่นในอดีตที่มีข่าวป้าทุบรถและถูกเจ้าของรถดำเนินคดีซึ่งในคดีดังกล่าวศาลก็ตัดสินว่าเป็นการกระทำผิดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ที่ระบุว่าผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ           ดังนั้นสำหรับเจ้าของรถหากมีความจำเป็นที่จะต้องจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่นเพื่อทำธุระ ควรทิ้งเบอร์ติดต่อไว้ที่หน้ารถเผื่อมีกรณีฉุกเฉินหรือเจ้าของบ้านต้องการให้ขยับรถของจากหน้าบ้าน เจ้าของบ้านจะได้ติดต่อได้สะดวก ส่วนเจ้าของบ้านหากพบว่ามีรถจอดขวางหน้าบ้านก็ควรติดต่อเจ้าของรถแจ้งเตือนหรือบอกกล่าวให้รับทราบในกรณีเจอรถจอดขวางหน้าบ้านหรือติดป้ายประกาศห้ามจอดที่รั้วประตูบ้าน พร้อมระบุข้อความแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับรถที่ผ่านมาได้ทราบ และหากไม่ได้รับความร่วมมือในการย้ายรถออกก็ควรไปแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายอันเป็นการใช้สิทธิที่ชอบธรรมตามที่มีกฎหมายรับรองไว้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 สัญญาเช่าต้องติดอากรแสตมป์ด้วยหรอ

        ผู้บริโภคหลายคนโดยเฉพาะนักศึกษาและคนวัยเริ่มทำงานมักจะเช่าห้องเช่าคอนโดมิเนียม หลายคนอาจไม่ทราบว่าสัญญาเช่าที่เราทำกัน จริงๆ แล้วต้องติดอากรแสตมป์ด้วย หลายๆ คนอาจจะสับสนว่า อากรแสตมป์ อันเดียวกันกับที่เป็นแสตมป์ปิดซองจดหมายใช่หรือไม่  บอกเลยไม่ใช่         อากรแสตมป์เป็นภาษีประเภทหนึ่งตามประมวลรัษฎากรที่จัดเก็บในรูปของดวงแสตมป์ที่ใช้สำหรับปิดบนเอกสารราชการและหนังสือสัญญาต่างๆ โดยมีกรมสรรพากร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเก็บ  มีชนิด 1 บาท 5 บาท และ 20 บาท สีเขียวๆ  โดยอัตราที่ต้องเสียคิดง่ายๆ เสียอัตรา 0.1% ของค่าเช่าตลอดอายุสัญญา (ถ้าไม่กำหนดให้ถือว่ามีระยะเวลา 3 ปี และถ้าครบกำหนดแล้วยังให้เช่าต่อไปถือว่าทำสัญญากันใหม่และต้องเสียอากรสำหรับสัญญาดังกล่าว ภายใน 30 วัน) เช่น ค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท ทำสัญญา 1 ปี = 60,000 บาท เสียภาษีอากรอัตราร้อยละ 0.1 จึงเท่ากับ ต้องติดอากรจำนวน 60 บาท ซึ่งตามกฎหมายผู้ที่ต้องเสียอากรส่วนนี้ คือผู้ให้เช่า เนื่องจากกฎหมายมองว่าเจ้าของทรัพย์ที่เช่าเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการทำสัญญาเช่า  ส่วนผู้เช่ามีหน้าที่ต้องขีดฆ่าอากรแสตมป์  อย่างไรก็ตามกฎหมายก็ยังเปิดช่องให้คู่สัญญาสามารถตกลงกันเองได้ ว่าจะกำหนดให้ใครมีหน้าที่ต้องเสียอากรนี้ โดยระบุไว้ในสัญญา แต่หากไม่ได้ตกลงกันก็ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด         ดังนั้น หากในสัญญาเช่าระบุไว้ว่า ให้ผู้เช่าเป็นผู้รับผิดชอบ เราจึงควรรู้ว่า หากต้องเสียอากรสามารถทำได้ โดยหาซื้ออากรได้ที่หน่วยงานราชการ เช่น กรมสรรพากร หรือร้านเครื่องเขียน (บางร้าน)หรือ จะนำเงินไปขอเสียอากรที่สำนักงานสรรพากรใกล้บ้านก็ได้ โดยจ่ายเงินสด จะได้ใบเสร็จมา ก็นำใบเสร็จมาแนบประกอบสัญญาเช่าไว้เป็นหลักฐาน         หากสัญญาเช่าใด ไม่ติดอากรหรือติดไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด ผลคือ ผู้มีหน้าเสียอากรจะต้องเสียเงินเพิ่มนอกเหนือจากค่าอากรที่ต้องเสียนับจากวันทำสัญญาเช่า ซึ่งแบ่งเป็นช่วงเวลาคือถ้าปิดอากรหลัง 15 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน จะเสีย 2 เท่า แต่ถ้าเกิน 90 วัน จะเสีย 5 เท่า แต่หากไม่ดำเนินการและถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเจอ จะเสีย 6 เท่า เงินเพิ่มดังกล่าวสามารถขอลดหย่อนได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดและหากมีข้อพิพาทต่อศาล ตราสารดังกล่าวจะไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีในศาลได้จนกว่าจะได้เสียอากรแสตมป์ให้ถูกต้อง (ขอบคุณที่มา กรมสรรพากร )         สัญญาเช่าซื้อไม่ติดอากรแสตมป์ มีผลใช้บังคับได้ไม่ตกเป็นโมฆะเพียงแต่อ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่2089/2552)         คำพิพากษาฎีกาที่ 2089/2552         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยแบบของสัญญาเช่าซื้อบัญญัติไว้เพียงว่า "สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ" เมื่อปรากฏว่าสัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นโดยมีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้เช่า และมีผู้รับมอบอำนาจโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในช่องเจ้าของ ถือได้ว่าสัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นเป็น หนังสือตามแบบที่บัญญัติไว้แล้ว จึงมีผลผูกพันคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตามนั้น ส่วนการ ปิดอากรแสตมป์ในตราสารตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลรัษฎากร ก็เป็นเรื่องของการเรียกกับ อากรอันเป็นอีกเรื่องหนึ่งแยกต่างหาก ทั้งการไม่ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ก็มีผล เพียงไม่อาจอ้างตราสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้เท่านั้น มิใช่ว่าสัญญาที่มิได้ ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์จะตกเป็นโมฆะไม่         สัญญาเช่าไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ แต่เมื่อจำเลยยอมรับว่ามีการทำสัญญากันจริง เพียงแต่เจตนาเป็นสัญญาซื้อขาย จึงไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน แม้หนังสือสัญญาเช่าฉบับดังกล่าวจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังได้ตามคำรับของจำเลยว่ามีการทำหนังสือสัญญาเช่ากันจริง          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7720/2550         โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำหนังสือสัญญาเช่ากับโจทก์ตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าท้ายฟ้องแล้วผิดสัญญา ขอให้ขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหาย จำลยให้การว่าหนังสือสัญญาเช่าเอกสารท้ายฟ้องเป็นสัญญาที่โจทก์เจ้าของที่ดินรวมและจำเลยมีเจตนาให้เป็นสัญญาซื้อขาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยให้การยอมรับว่า จำเลยทำหนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวกับโจทก์จริง เพียงแต่อ้างว่าหนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวคู่สัญญามีเจตนาให้เป็นสัญญาซื้อขาย กรณีเช่นนี้จึงไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน แม้หนังสือสัญญาเช่าฉบับดังกล่าวจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังได้ตามคำรับของจำเลยว่ามีการทำหนังสือสัญญาเช่ากันจริงไม่ต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา118

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 หลอกลงทุนทิพย์ แต่หมดตัวจริง

        บ่อยครั้ง ที่เราได้ยินได้ฟังข่าวเกี่ยวกับการจับกุมบรรดาพ่อข่ายแม่ข่ายชวนลงทุนแล้วเชิดเงินหนี และมีคนเสียหายหลายสิบล้าน จากเดิมที่ชวนลงทุนในสินค้าขายปลีก ก็มาสู่การลงทุนผ่านออนไลน์ แม้ช่องทางหรือสินค้าที่นำมาหลอกให้ลงทุนจะเปลี่ยนแปลงไปตามเศรษฐกิจแต่รูปแบบการหลอกลวงก็ยังเหมือนเดิม คือหลอกให้ร่วมทำธุรกิจ อ้างว่าจะได้ผลตอบแทนสูง แต่ความจริงเน้นหาสมาชิกและนำเงินจากรายใหม่มาจ่ายให้รายเก่า จนเมื่อหมุนเงินไม่ไหวก็จะพังลง และจะหนีหายไปทิ้งไว้แต่หนี้สินให้เป็นของดูต่างหน้า ลักษณะเช่นนี้ ถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีบทลงโทษทางอาญาที่รุนแรง เพราะในการกระทำความผิดในแต่ละครั้งเกิดความเสียหายจำนวนมาก ซึ่งล่าสุดที่กำลังเป็นข่าวช่วงต้นปี 2566 คือกรณี น.ส.พิชญ์นรี ตันติวิทย์ หรือ ‘เม พรีมายา’ เจ้าของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้ชื่อแบรนด์ PRIMAYA (พรีมายา) และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ใช้ข้อความอันเป็นเท็จ ลักษณะเชิญชวนอ้างว่าลงทุน 6,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ได้เงิน 15 ล้านบาท พร้อมโพสต์ภาพหญิงคนหนึ่งคู่กับรถหรูในโชว์รูม ในลักษณะเชิญชวน ซึ่งต่อมาโดนหมายจับ พ.ร.บ.คอมพ์ ซึ่งการหลอกลวงเช่นนี้ เกิดขึ้นตลอด         หากย้อนไปเมื่อต้นปี 2560 หลายคนคงรู้จัก “ซินแสโชกุน” อายุเพียง 34 ปี ร่วมกับพวก หลอกให้ร่วมลงทุนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสมองจะพาสมาชิกไปทัวร์ญี่ปุ่น สุดท้ายลอยแพกลางสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้มีคนถูกหลอกกว่าแปดร้อยราย ความเสียหายมากกว่าร้อยล้านบาท ท้ายที่สุดศาลก็สั่งจำคุกซินแสโชกุนกับพวก เนื่องจากมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ผิด พ.ร.ก.กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษบทหนักสุดตาม พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กระทงละ 3 ปี 4 เดือน โดยกระทำผิดรวม 871 กระทง จึงจำคุก คนละ 2,903 ปี 4 เดือน ส่วนโชกุนโดนจำคุก 4,355 ปี  แต่เมื่อรวมโทษจำคุกตามกฎหมายแล้ว จำคุกสูงสุดคนละ 20 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2)         หรืออีกคดีกรณี “เมจิกสกิน”   เป็นคดีรีวิวเครื่องสำอางเมจิกสกินและจำหน่ายสินค้าปลอม มีการฟ้องในฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ผิด พ.ร.บ เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ศาลตัดสินปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 175,000 บาท  จำเลยที่ 2 และ 3 จำคุกคนละ 20 ปี 5 เดือน และปรับ 170,500 บาท จำเลยที่ 4 -6 จำคุกคนละ 20 ปี และปรับ 147,500 บาท         ช่วงปี 2561 นายสวัสดิ์ แสงบางปลา อายุ 80 ปี อดีตประธานกก.ดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาฯ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ฯ ลงทุนแชร์ล็อตเตอรี่ สูญเงินกว่า 187 ล้านบาท จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 เเละ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงลงโทษฐานการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นบทหนักสุดให้ลงโทษ ทุกกรรมกรรมละ 5 ปี จำเลยรับสารภาพลงโทษเหลือกรรมละ 2 ปี 6 เดือน การกระทำจำเลยเป็นความผิด 100 ครั้ง คงลงโทษจำคุกจำเลย ทั้งหมด 200 ปี 600 เดือน เเต่ตามกฎหมายคงจำคุกจริงมีกำหนด 20 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2)         หรือเมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีมหากาพย์คดี Forex-3D  ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 พัวพันกับบุคคลที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก หลอกให้ประชาชนเข้ามาร่วมลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (Forex) มีผู้หลงเชื่อตกเป็นผู้เสียหาย 9,824 คน ความเสียหายเกือบ 2,500 ล้านบาท ซึ่งคดีก็ยังอยู่ในขั้นตอนของหน่วยงานรัฐที่สอบสวนเพื่อพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ           ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ อยากให้ทุกท่านได้เห็นว่า ความเสียหายจากการหลอกลวงไม่ว่าจะมาในลักษณะชวนลงทุนโดยใช้ข้อความชวนเชื่อจูงใจให้ลงทุนน้อยๆ อ้างได้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว หรืออาศัยคนมีชื่อเสียงเพื่อทำให้ดูน่าเชื่อถือก็ตาม เมื่อหลงเชื่อไปแล้ว สุดท้ายเกิดความเสียหายกับคนจำนวนมากที่โดนหลอกเงิน การดำเนินคดีก็มุ่งไปที่การลงโทษผู้กระทำผิดที่ฉ้อโกงหลอกลวงให้ติดคุก ซึ่งเราก็เห็นจากตัวอย่างคดีต่างๆ ที่กล่าวมาว่า ต่อให้ศาลมีกำหนดโทษจำคุกมากถึงร้อยปีพันปี แต่สุดท้ายกฎหมายอาญาก็ให้ลงโทษจำคุกจริงสูงสุดเพียง 20 ปี  เพียงเท่านั้น ในอีกมุมหนึ่งการชดเชยความเสียหายแก่ประชาชนที่ถูกหลอก กลับไม่เป็นจริง โอกาสที่จะไปติดตามเส้นทางการเงินหรือหาเงินมาชดเชยความเสียหายเป็นไปได้ยาก         ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุดคือ การมีสติ ตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะลงทุนใดๆ และหลีกเลี่ยงการลงทุนที่มีลักษณะชวนเชื่อที่อ้างการใช้เงินลงทุนน้อยๆ แต่ได้ผลตอบแทนสูงผิดปกติ หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือกิจการที่ชอบโชว์ชีวิตแบบหรูหรา ใช้ของแพง เที่ยวต่างประเทศ เหล่านี้ ล้วนเป็นเพียงวิธีการให้หลงเชื่อเพื่อหลอกเอาเงิน หากเจอการโฆษณาชวนเชื่อรูปแบบดังกล่าว ควรร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐหรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อช่วยตรวจสอบ แจ้งเตือนภัย เพื่อไม่ให้คนตกเป็นเหยื่อภัยลงทุนทิพย์เหล่านี้ ประมวลกฎหมายอาญา         มาตรา 91  เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้         (1) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี         (2) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี         (3) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 ลูกหนี้ตาย เจ้าหนี้จะฟ้องทายาทลูกหนี้รับผิดได้หรือไม่

หลายคนคงเคยสงสัยว่า เวลาที่เป็นคนเป็นหนี้กันปกติเจ้าหนี้ก็ต้องไปทวงเอาเงินจากลูกหนี้ แต่หากวันหนึ่งลูกหนี้ตายไปก่อนใครจะต้องรับผิดจะไปฟ้องทายาทของลูกหนี้ให้รับผิดได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้มีหลักกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องมรดกที่ต้องมาพิจารณากำหนดไว้ว่า หากลูกหนี้ที่เป็นเจ้ามรดกเสียชีวิตแน่นอนว่ามรดกที่ตกแก่ทายาทจะมีทั้งทรัพย์สินและหนี้สินด้วย แต่กฎหมายก็กำหนดขอบเขตความรับผิดของทายาทไว้ว่าให้รับผิดในหนี้ของลูกหนี้ที่ตายไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ  เช่น ลูกหนี้ เป็นหนี้จำนวนหนึ่งล้านบาท  เมื่อลูกหนี้เสียชีวิต นายแดงทายาทได้รับมรดกคือเงินในบัญชีจำนวนหนึ่งแสนบาท เช่นนี้ หากเจ้าหนี้มาฟ้องนายแดงที่เป็นทายาทของลูกหนี้ นายแดงก็จะรับผิดเพียงทรัพย์มรดกที่ตนได้รับคือหนึ่งแสนบาทเท่านั้น และเจ้าหนี้จะมายึดทรัพย์สินส่วนตัวของนายแดงเพื่อไปชำระหนี้ก็ไม่ได้  โดยมีคำพิพากษาของศาลฏีกาที่ 2161/2558 ได้เคยตัดสินเอาไว้อย่างชัดเจนในเรื่องนี้           คำพิพากษาฎีกาที่ 2161/2558        แม้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงตาม ป.พ.พ. มาตรา 194 และมาตรา 214 แต่เมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตายกฎหมายคุ้มครองให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น ตามมาตรา 1734 และมาตรา 1738 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าหนี้จะไปบังคับเอาจากทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่ทายาทของลูกหนี้จะต้องรับผิดทั้งสิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ซึ่งเป็นเจ้ามรดกก็เพื่อให้เจ้าหนี้มีทางได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น ไม่ทำให้ทายาทนั้นต้องรับผิดชดใช้จากทรัพย์สินส่วนตัวด้วย หากทายาทรับทรัพย์สินจากกองมรดกของผู้ตายไปแล้วก็เพียงให้รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทได้รับไปตามมาตรา 1601 และมาตรา 1738 วรรคสอง โดยยังถือว่าทรัพย์สินที่ได้รับไปนั้นเป็นกองมรดกอยู่         คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ผู้เป็นเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นทายาทรับผิดในค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ตายเจ้ามรดกกระทำละเมิด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยเพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น มิได้ฟ้องให้จำเลยต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ฉะนั้น เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิบังคับคดีเฉพาะทรัพย์สินในกองมรดกของผู้ตายเท่านั้น จึงไม่มีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ที่ดินพิพาทอีกตัวอย่าง กรณีที่ลูกหนี้ตาย ทายาทไปทำหนังสือรับสภาพหนี้ของลูกหนี้ และตกลงชดใช้เงินตามจำนวนยอดหนี้ที่ค้างอยู่ทั้งหมด ศาลก็ได้ตัดสินไว้ว่าสัญญาดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ และไม่ถือเป็นการแปลงหนี้กันใหม่ให้เป็นความรับผิดของทายาทเป็นการส่วนตัว ดังนั้น ทายาทของลูกหนี้ก็รับผิดแค่เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6225/2539           ป. เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ เมื่อ ป. ถึงแก่กรรมแล้วจำเลยทั้งสองทำหนังสือเพื่อชำระหนี้แทน ป. ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นหนี้โจทก์ โดยระบุว่า ขณะทำสัญญาฉบับนี้ ป.ยังคงเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนเงิน 2,720,000 บาท จำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้หนี้จำนวนดังกล่าวโดยจะชำระเป็นงวด เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ป. ทำขึ้นเพื่อยอมรับสภาพหนี้ของเจ้ามรดก มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันจะเป็นเหตุให้มูลหนี้เดิมระหว่างโจทก์กับ ป. ระงับลงเพราะ ป. ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะมีการจัดทำหนังสือดังกล่าวแล้วและข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ยอมตนเข้าผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทผู้ตาย มิใช่รับผิดเป็นส่วนตัวและเป็นสัญญาที่มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่คงรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสองจะได้รับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ปลดหนี้ บนออนไลน์

        ในปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลกับการดำรงชีวิตของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าหรือการกู้ยืมเงินสามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้ เกิดการโฆษณาให้ข้อมูลที่หลากหลายรวมถึงการติดต่อสื่อสารระหว่างกันจากเดิมที่ต้องเดินทางไปมาหากันก็เหลือเพียงวีดีโอคอลหรือแชทไลน์สนทนาทำให้ติดต่อกันได้รวดเร็วมากขึ้น         แน่นอนว่าเรื่องของกฎหมายก็ต้องมีการปรับตัวไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น ในเรื่องของการกู้ยืมเงินกัน ที่เมื่อก่อนต้องมีการเจอหน้าพูดคุยทำสัญญากู้ยืมกัน แต่ปัจจุบันเมื่อวิธีติดต่อสื่อสารเปลี่ยนแปลง การกู้ยืมเงิน การติดตามทวงถามให้ใช้หนี้ ก็ทำผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในรูปแบบการพิมพ์ข้อความแชทสนทนา ซึ่งหลักฐานสนทนาเหล่านี้ กฎหมายยอมรับให้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินที่สามารถนำมาอ้างอิงเพื่อเรียกร้องกันได้ และแน่นอนว่าปัญหาการผิดนัดเบี้ยวหนี้ก็มีเกิดขึ้นอยู่เสมอ จนเกิดเป็นคดีความขึ้นสู่ศาลมากมาย ดังนั้นจะขอหยิบยกตัวอย่างคดีที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินกันและปรากฏว่าตัวเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ มีการส่งข้อความแชททางเฟซบุ๊กไปยังลูกหนี้ผู้กู้ว่าเงินที่กู้ยืมทั้งหมดนั้น ไม่ต้องส่งคืนยกให้ทั้งหมด ข้อความดังกล่าวศาลเห็นว่า แม้ไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ แต่ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายซึ่งยอมรับให้ถือเสมือนมีการลงลายมือชื่อแล้วและการส่งข้อความทางเฟซบุ๊กจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและผู้ให้กู้ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง เช่นนี้ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่ผู้กู้โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วทำให้หนี้ระงับไปศาลจึงยกฟ้องผู้ให้กู้         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2560         จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,500 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงินคงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท การที่โจทก์ส่งข้อความทางเฟซบุ๊กถึงจำเลยมีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืนยกให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึง มาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย         แม้ข้อความนี้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟซบุ๊กจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง         ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว  หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง         กฎหมายที่เกี่ยวข้อง        พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544         มาตรา 7  ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์        มาตรา 8  ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว         มาตรา 9  ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า         (1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน และ         (2) วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้โดยเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสร้างหรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมหรือข้อตกลงของคู่กรณี         ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์         มาตรา 340 ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 กฎหมายความรับผิดของนิติบุคคลคอนโด

ในสังคมเมืองใหญ่ สำหรับที่อยู่อาศัยแล้ว บ้านแนวราบลักษณะที่เป็นหมู่บ้าน โครงการบ้านได้พัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมหรือห้องชุดที่อยู่อาศัยแนวดิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะใช้พื้นที่น้อยลงได้จำนวนห้องมากขึ้น แต่เมื่อเป็นการอยู่อาศัยร่วมกัน สิ่งที่สำคัญคือการมีกติการ่วมกัน หลายคนที่อยู่ในคอนโด ก็จะมีนิติบุคคลอาคารชุดเป็นคนดูแล จ้างผู้จัดการมาคอยจัดการเรื่องความปลอดภัย ความสะอาด ที่จอดรถ น้ำประปา ไฟฟ้า และทรัพย์ส่วนกลางต่างๆ ให้ใช้งานได้เป็นปกติ รวมถึง จัดประชุมเจ้าของห้องชุด เพื่อออกระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้การอยู่อาศัยร่วมกันเป็นปกติสุข         อย่างไรก็ตามมีปัญหามากมายเกิดขึ้นตลอดเวลา ส่วนใหญ่มักเกิดปัญหาระหว่างนิติบุคคลอาคารชุดกับเจ้าของห้องชุดอยู่เสมอๆ จนถึงขั้นฟ้องร้องกันก็มีมากมาย ครั้งนี้จึงยกบางกรณีที่น่าสนใจเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคในฐานะผู้ซื้อห้องชุดในคอนโดมิเนียม         คดีแรกเป็นเรื่องของคอนโดแห่งหนึ่งที่เกิดน้ำท่วมห้องพัก ซึ่งเมื่อตรวจสอบพบว่าสาเหตุมาจากปัญหาท่อรับน้ำภายในอาคารชุด ซึ่งนิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุด เพราะได้เรียกเก็บเงินค่าดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางจากเจ้าของห้องชุดไปแล้ว และได้นำเงินไปจ้างบริษัทมาบริหารอาคารชุดแทนตน เมื่อบริษัทดังกล่าวปล่อยปละละเลยให้เกิดน้ำท่วมห้องพัก ทำให้ทรัพย์สินของเจ้าของห้องชุดเสียหาย เช่นนี้ ศาลก็วินิจฉัยว่า บริษัทดังกล่าวละเว้นหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อปล่อยให้ท่อระบายน้ำอุดตันจนน้ำท่วมห้องของโจทก์ เช่นนี้ ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ นิติบุคคลอาคารชุดต้องรับผิดชอบในฐานะตัวการตัวแทน         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4493/2543 มีรายละเอียด ดังนี้         พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ต้องการให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ในห้องชุดอันเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลสามารถใช้สิทธิในห้องชุดได้ตามสิทธิของตน แต่ทรัพย์ส่วนกลางถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างเจ้าของห้องชุดซึ่งมีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ทั้งกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดล้วนกำหนดให้เป็นหน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุด จำเลยที่ 1 ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุด เมื่อสาเหตุที่น้ำท่วมห้องชุดของโจทก์เพราะน้ำฝนเอ่อล้นจากท่อรับน้ำภายในอาคารชุด เนื่องจากท่อรวมรับน้ำอุดตัน ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลให้ท่อระบายน้ำดังกล่าวระบายน้ำได้ตลอดเวลา แม้โจทก์มิได้นำสืบว่าเหตุใดท่อน้ำจึงอุดตัน และจำเลยที่ 1 ได้กระทำอย่างไรกับสิ่งอุดตันนั้น หรือบริเวณที่อุดตันนั้นไม่อาจตรวจพบได้โดยง่าย ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 แล้ว เพราะจำเลยที่ 1 ได้เก็บเงินค่าดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลาง แล้วว่าจ้างบริษัทเอกชนที่มีอาชีพในการบริหารอาคารชุดมาทำหน้าที่แทน  เมื่อบริษัทดังกล่าวละเว้นหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อปล่อยให้ท่อระบายน้ำอุดตันจนน้ำท่วมห้องชุดของโจทก์ เช่นนี้ ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์         อีกคดี เป็นเรื่องของการออกระเบียบเกี่ยวกับการจอดรถยนต์ ซึ่งศาลได้ตัดสินว่า แม้นิติบุคคลอาคารชุดจะมีอำนาจในการกำหนดระเบียบเพื่อการอยู่อาศัยร่วมกัน อันเป็นการจัดการและดูแลทรัพย์สินส่วนกลางคือสถานที่จอดรถให้อยู่ในระเบียบเดียวกัน แต่การที่มีเงื่อนไขในเรื่องการค้างค่าส่วนกลางมากำหนดในระเบียบเพื่อจำกัดสิทธิในการขอรับขอรับสติกเกอร์จอดรถยนต์ในอาคารจอดรถยนต์ เป็นการกำหนดที่ขัดต่อกฎหมาย เพราะถือเป็นการบังคับเอากับเจ้าของห้องชุดให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่ตนกำหนด โดยหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้สิทธิฟ้องร้องให้ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อบังคับดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับได้         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013/2550         ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 บัญญัติว่านิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว การที่จำเลยออกระเบียบกำหนดให้รถยนต์ที่จะเข้ามาจอดในอาคารจอดรถยนต์ของจำเลยจะต้องได้รับสติกเกอร์จากจำเลยเพื่อติดรถยนต์ก่อนอันเป็นการจัดการและดูแลทรัพย์สินส่วนกลางคือสถานที่จอดรถให้อยู่ในระเบียบเดียวกัน จำเลยย่อมสามารถกระทำได้ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการขอรับสติกเกอร์จอดรถยนต์ในอาคารจอดรถยนต์ ข้อ 1 แต่การที่จำเลยกำหนดในข้อ 2 ว่าเจ้าของร่วมผู้มีสิทธิในการขอรับสติกเกอร์ตามข้อ 1 จะต้องไม่ค้างชำระค่าส่วนกลางเกิน 6 เดือนนั้น ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเรื่องการค้างชำระค่าส่วนกลางถือเป็นหนี้ที่จะต้องมีการฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมาย การออกระเบียบเช่นนี้ถือเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้สิทธิฟ้องร้องให้ถูกต้อง มีเจตนาที่จะบีบบังคับเอากับโจทก์ให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่จำเลยกำหนดจึงไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ในการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ไม่สามารถบังคับเอาแก่โจทก์ได้         จึงเห็นได้ว่าการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ให้นิติบุคคลอาคารชุดต้องจัดการดูแลทรัพย์สินทรัพย์ส่วนกลางให้เรียบร้อยเป็นปกติ  หากมีปัญหาผู้บริโภคในฐานะเจ้าของห้องชุดสามารถไปใช้สิทธิทางศาลฟ้องเพื่อให้รับผิดชอบแก้ไขหรือจัดการให้ถูกต้องได้ รวมถึงหากพบระเบียบ กติกาบางข้อที่ประกาศออกมาไม่เป็นธรรม ก็มีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภคให้ศาลชี้ขาดว่าระเบียบหรือข้อกำหนดใดขัดต่อกฎหมาย เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของรวมคนอื่นๆ ให้ได้รับการคุ้มครองได้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ถูกหลอกซื้อบ้านที่ต้องเวนคืน มีสิทธิเรียกร้องอะไรบ้าง

        ก่อนที่เราจะตัดสินใจมีบ้านสักหลัง จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมีข้อมูล เพื่อให้เราเลือกบ้านได้ตามที่เราต้องการ ฝั่งผู้ประกอบธุรกิจขายบ้านก็มักมีคำโฆษณาชวนเชื่อหลากหลายเพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อ ซึ่งแน่นอนว่าคำโฆษณาเหล่านี้ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่ให้ไว้กับผู้บริโภค ดังนั้นเมื่อข้อความที่โฆษณาเป็นส่วนสำคัญที่ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อบ้านสักหลัง ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องมีความสุจริตในการทำโฆษณาไม่หลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด  มิเช่นนั้นผู้บริโภคก็จะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินค่าบ้านและค่าใช้จ่ายต่างๆ คืนจากผู้ประกอบธุรกิจได้          ผมขอยกตัวอย่างคดีที่ผู้บริโภคท่านหนึ่ง ซึ่งตัดสินใจอยากมีบ้านสักหลังเป็นของตนเอง แต่เมื่อทำสัญญาซื้อขายกันไปแล้วต่อมาทราบข้อมูลภายหลังว่า บ้านที่ตนซื้อเป็นพื้นที่กำลังโดนเวนคืน จึงเกิดความเสียหายเพราะผู้ประกอบธุรกิจปกปิดข้อมูลดังกล่าว ผู้บริโภคจึงฟ้องศาลเรียกเงินค่าบ้านคืน รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดจากการทำสัญญาซื้อบ้านดังกล่าว  เช่น ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปา ค่าธรรมเนียมสัญญาจำนอง อากรสัญญากู้และนิติกรรม และค่าประกันอัคคีภัย เป็นต้น         ลักษณะข้างต้นเช่นนี้ศาลถือว่าเป็นการใช้ “กลฉ้อฉล” โดยวิธีปกปิดไม่บอกความจริงเกี่ยวกับบ้านว่าอยู่บนพื้นที่เวนคืน ทำให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ศาลจึงพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินและค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการหลงทำสัญญาซื้อบ้านดังกล่าว คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1808/2561         การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาด้วยการปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืน เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคทั้งสองซึ่งประสงค์จะซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย โดยการไม่ได้ให้คำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าที่จำเลยขายแก่ผู้บริโภคทั้งสอง อันเป็นการโฆษณาที่ใช้ข้อความไม่เป็นธรรมโดยก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และตัดโอกาสของผู้บริโภคที่จะใช้ข้อมูลดังกล่าวตัดสินใจที่จะเข้าทำสัญญากับจำเลย ดังนั้นผู้บริโภคทั้งสองจึงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะนี้ เป็นกรณีจำเลยละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ที่มีมาตรา 4 ประกอบมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 รับรองไว้         จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าติดตั้งโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปา ค่าธรรมเนียมสัญญาจำนอง อากรสัญญากู้และนิติกรรม และค่าประกันอัคคีภัย ซึ่งเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกี่ยวเนื่องกับการที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการปกปิดข้อเท็จจริง ซึ่งผู้บริโภคทั้งสองซื้อบ้านเพื่อการอยู่อาศัย สำหรับส่วนต่างราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาโดยปกปิดข้อเท็จจริง โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้และศาลมีอำนาจคิดคำนวณให้ได้ตามพฤติการณ์แห่งคดี         หากขณะทำสัญญาซื้อขาย ผู้ประกอบธุรกิจไม่ทราบว่าที่ดินจะถูกเวนคืน เช่นนี้ ไม่ถือว่าปกปิดข้อเท็จจริง ดังนั้น จึงไม่ถือว่ามีความผิดฐานฉ้อโกง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 151/2537         ในขณะที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันจำเลยทั้งสองไม่ทราบว่าที่ดินจะถูกเวนคืน เพียงแต่จำเลยทั้งสองพูดรับรองว่าที่ดินไม่มีภาระผูกพันใดๆ เท่านั้น ทั้งโจทก์ในฐานะผู้จะซื้อที่ดินจากจำเลยทั้งสองก็มีหน้าที่ต้องระวังอยู่แล้วการเวนคืนถึงหากจะมีก็ยังไม่เป็นการแน่นอน ในขณะทำสัญญาจะซื้อจะขาย พฤติการณ์แห่งคดีจำเลยทั้งสองไม่อาจทราบได้ว่าจะมีการเวนคืนหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ถือว่าจำเลยทั้งสองมิได้ปกปิดข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับที่ดินซึ่งตกอยู่ในเขตที่ดินที่ต้องถูกทางราชการเวนคืนโดยทุจริตแต่อย่างใดจำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 อยู่คอนโด เลี้ยงสัตว์ได้ไหม ใครกำหนด

        หลายท่านที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมหรืออาคารชุดคงทราบดีว่าการอยู่ด้วยกันในพื้นที่แนวดิ่ง เป็นเรื่องที่เราต้องอยู่อาศัยอยู่กับคนจำนวนมาก แม้จะอยู่แยกห้องส่วนตัว แต่ก็มีอาคาร มีทรัพย์ส่วนกลางที่ใช้สอยด้วยกัน เช่น พื้นที่จอดรถ ห้องออกกำลังกาย ลิฟต์ สระว่ายน้ำ  ดังนั้น การอยู่อาศัยในคอนโดจึงมีทั้งส่วนที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวและส่วนที่เป็นพื้นที่ส่วนรวม  ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่จะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ก็คือต้องสร้างกติการในการอยู่ร่วมกัน การใช้ทรัพย์สินร่วมกัน เพื่อแบ่งปันกันใช้ประโยชน์ ป้องกันปัญหาความขัดแย้ง  ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ก็มีข่าวดัง เกี่ยวกับผู้เป็นเจ้าของห้องชุดท่านหนึ่ง ที่ถูกฟ้องร้องต่อศาล เนื่องจากมีการเลี้ยงสัตว์โดยฝ่าฝืนกติการ่วมกันคือข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดและระเบียบนิติบุคคลอาคารชุดที่กำหนดไว้ โดยที่สุดศาลก็ตัดสินให้เจ้าของสัตว์และเป็นเจ้าของห้องชุดชำระเงินจำนวน 141,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 140,500 บาท นับจากวันที่ได้มีการฟ้องร้อง         คำถามที่เกิดขึ้นคือ แล้วข้อกำหนดที่ห้ามเลี้ยงสัตว์มาจากไหน ใครกำหนด  ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ที่อยู่อาศัยแนวดิ่งที่เราคุ้นกันในชื่อคอนโด เป็นที่พักอาศัยที่มีกฎหมายควบคุมไว้เป็นการเฉพาะ คือพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2551 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ วางกฎเกณฑ์ของเรื่องอาคารชุดตั้งแต่การเริ่มต้นโครงการไปตลอดจนการบริหารจัดการภายหลังโครงการแล้วเสร็จและเปิดให้ผู้ซื้อเข้าอยู่อาศัย ซึ่งเมื่อมีผู้ซื้อจำนวนหนึ่ง ก็จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารคอนโด จะทำหน้าที่บริหารนิติบุคคลอาคารชุด ภายใต้มติของที่ประชุมใหญ่สมาชิกเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของผู้อยู่อาศัยในคอนโด และออกกฎระเบียบการใช้ประโยชน์พื้นที่ส่วนกลางเพื่อประโยชน์ร่วมกันของบรรดาเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม รวมถึงการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางจากบรรดาสมาชิกเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามสัดส่วน ซึ่งแน่นอนว่าในเรื่องการเลี้ยงสัตว์ก็ต้องมีการหารือตกลงกันว่าสมควรให้มีการเลี้ยงสัตว์ได้หรือไม่ เพียงใด โดยกำหนดไว้ในข้อบังคับและระเบียบของนิติบุคคลอาคารชุด         ในแง่หนึ่ง หลายคนมองว่าการนำสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงในพื้นที่ส่วนบุคคลในคอนโด ก็ควรทำได้ เพราะถือเป็นสิทธิและเสรีภาพของเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมทุกคนในคอนโด ไม่มีกฎหมายข้อใดห้ามไว้  แต่ในอีกมุมหนึ่ง การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงก็ต้องไม่ไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่นหรือสร้างความเสียหายแก่ร่างกายหรือทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยเช่นกัน  หากมีการสร้างความเดือดร้อนนรำคาญ ส่งเสียงดังรบกวนการอยู่อาศัยของเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมคนอื่น ก็ต้องมีการจัดการตามข้อบังคับหรือระเบียบของนิติบุคคลอาคารชุดที่ได้วางไว้          โดยปกติ คอนโดส่วนใหญ่จะไม่อนุญาตให้เจ้าของกรรมสิทธิ์นำสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงไว้ในคอนโด หากมีการอนุญาตก็จะอนุญาตแบบเงื่อนไข โดยการออกระเบียบเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในคอนโดของคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด จะอยู่ภายใต้มติของที่ประชุมใหญ่สมาชิกเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมที่ได้จัดให้มีการประชุมขึ้นเป็นประจำทุก ปี ดังนั้น บรรดาข้อบังคับของอาคารชุดที่ออกมาก็เปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญสำหรับคอนโดนั้นๆ ที่คนในคอนโดส่วนใหญ่เห็นชอบร่วมกัน ทุกคนจึงต้องให้ความเคารพและปฏิบัติตาม ตลอดจนไปถึงระเบียบต่างๆที่ออกภายใต้ข้อบังคับดังกล่าวด้วย  ดังนั้น  หากใครเป็นคนรักสัตว์เลี้ยงและชอบสัตว์เลี้ยง ก่อนซื้อคอนโดก็ควรตรวจสอบเกี่ยวกับข้อบังคับ กติกาหรือระเบียบในเรื่องการเลี้ยงสัตว์ให้ดี ก่อนตัดสินใจ มิฉะนั้น จะทำให้เกิดปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในคอนโด และอาจลุกลาม จนท้ายที่สุดต้องเสียเงินมากมาย ดังเช่นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมที่เป็นข่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 โฆษณาสินเชื่อจำนำทะเบียนรถหลอกลวง สัญญามีผลใช้บังคับได้ไหม

ในยุคที่สินค้าราคาแพง แถมยังมีการกลับมาระบาดของโควิดระลอกใหม่ ทำให้หลายคนประสบปัญหาทางการเงินต้องวิ่งหาแหล่งเงินกู้เพื่อนำเงินมาหมุนใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ซึ่งธุรกิจให้กู้ยืมเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินก็มีเพิ่มขึ้นมากมาย โดยเฉพาะช่วงหลายปีที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจปล่อยสินเชื่อโดยเรียกเก็บโฉนดที่ดินหรือทะเบียนรถยนต์ก็เริ่มมีเพิ่มขึ้น เพราะเป็นแหล่งเงินกู้ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และแน่นอนว่าเราก็พบเห็นข้อความโฆษณาของธุรกิจแบบนี้บนสื่อต่างๆ ในทำนองว่า “รับจัดสินเชื่อบ้าน ที่ดิน และรถทุกประเภท ไม่ต้องมีสลิป ไม่เช็คประวัติ อยู่ที่ไหนก็จัดได้ ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ต้องโอนเล่มทะเบียน ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน” ซึ่งการโฆษณาเช่นนี้ ก็ทำให้คนโดยทั่วไปเข้าใจว่ากู้ง่ายได้ไวและตัดสินใจเข้ามาทำสัญญากู้เงิน          อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าในความเป็นจริงธุรกิจให้สินเชื่อดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการให้เป็นอย่างที่โฆษณา  เมื่อผู้บริโภคเข้าทำสัญญาปรากฎว่ามีการให้โอนเล่มทะเบียนซึ่งไม่ตรงตามที่โฆษณา เช่นนี้จึงได้มีการนำเรื่องไปฟ้องร้องกันในศาลและเรื่องไปสู่ศาลฏีกา ซึ่งศาลก็ได้พิจารณาและมีคำพิพากษาว่า การที่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อโฆษณาเกินจริง หลอกลวง โดยอ้างว่าไม่ต้องโอนเล่มทะเบียน แต่เมื่อผู้บริโภคมาเข้าทำสัญญากลับมีการให้โอนเล่มทะเบียน เช่นนี้จึงทำให้การโอนเป็นโมฆะ เพราะขัดเเย้งกับสิ่งที่ได้โฆษณาไว้   ผลคือผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ให้กู้จะต้องส่งมอบรถแทรกเตอร์คันพิพาทคืนแก่ผู้กู้   และผู้กู้มีหน้าที่ต้องคืนเงินต้นที่รับมาจากผู้ให้กู้ทั้งหมดให้แก่ผู้ให้กู้   โดยต้องนำเงินที่ผู้กู้ชำระเงินให้แก่ผู้ให้กู้ไปแล้ว มาหักออกจากจำนวนที่ผู้กู้ต้องรับผิด ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1799 / 2563         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1799 / 2563         แผ่นป้ายโฆษณาของจำเลยข้อความว่า “ให้เงินกู้ค่ะ มีบ้านมีรถเงินสดทันใจ ไม่โอนเล่ม ไม่จดจำนอง” และ “ให้เงินกู้ จัด 2 แสน รถยนต์ไม่ต้องโอน ทะเบียนรถทุกชนิด รถไถ โฉนดบ้าน ที่ดิน คอนโด”         แม้ป้ายโฆษณาจะระบุให้ติดต่อกับสาขาของจำเลยคนละสาขา แต่ก็เป็นการโฆษณากิจการให้เงินกู้ของจำเลย   เมื่อโจทก์เข้าทำธุรกรรมทางการเงินกับจำเลยเนื่องมาจากการโฆษณาตามแผ่นป้ายดังกล่าวจึงถือว่าแผ่นป้ายโฆษณาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์ผู้บริโภคกับจำเลยผู้ประกอบธุรกิจ ตาม พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 เมื่อรถที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยเป็นรถแทรกเตอร์ขุดตักประเภทเดียวกับที่ระบุในแผ่นป้ายโฆษณาว่าไม่โอนเล่ม การที่จำเลยให้โจทก์กู้เงินโดยทำสัญญาเช่าซื้อและมีการโอนกรรมสิทธิ์รถแทรกเตอร์ให้แก่จำเลยจึงไม่เป็นไปตามที่โฆษณา การโฆษณาดังกล่าวของจำเลยถือได้ว่าเป็นข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการตามมาตรา 22 (2) แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ถือเป็นโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมมีลักษณะเป็นการลวงผู้บริโภคซึ่งมีโทษทางอาญาตามมาตรา 47 อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเกิดจากการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ย่อมไม่อาจอ้างเป็นเหตุฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ และต้องคืนทรัพย์สินต่อกันตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ จำเลยจึงต้องส่งมอบรถแทรกเตอร์คันพิพาทคืนแก่โจทก์และโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินที่รับมาจากจำเลยทั้งหมดให้แก่จำเลย โดยต้องนำเงินที่โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยไปแล้วมาหักออกจากจำนวนที่โจทก์ต้องรับผิดและเมื่อการคืนทรัพย์สินหรือเงินอันเกิดจากโมฆะกรรม ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ต้องใช้ดอกเบี้ย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องคืน แต่มีอำนาจเพิกถอนรายการจดทะเบียนอันเกิดจากนิติกรรมอันเป็นโมฆะนั้นเสียได้         จากคำพิพากษาข้างต้นจะเห็นได้ว่า การที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้การโฆษณาเพื่อลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดและหลงทำสัญญา ผลคือสัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับได้เลย  ดังนั้นการที่ไปโอนเล่มทะเบียนกันไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ก็ถูกเพิกถอนรายการจดทะเบียนดังกล่าวไปด้วย  สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้บริโภคก็ต้องคืนเงินที่กู้ให้ผู้ประกอบธุรกิจผู้ให้กู้และเงินที่คืนกันนี้เป็นการคืนแบบลาภมิควรได้ ไม่ใช่การใช้เงินคืนตามสัญญากู้ ดังนั้นจึงมาคิดดอกเบี้ยไม่ได้  และเมื่อคดีนี้เป็นการฟ้องคดีผู้บริโภค พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ก็มีบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดี ทั้งเรื่องกำหนดให้ข้อความโฆษณาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา (มาตรา 11 )  การประกอบธุรกิจต้องกระทำโดยสุจริต ( มาตรา 12 ).................................        พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551         มาตรา 11 ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของบริการ หรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใดๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคลหรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าการทำสัญญาเช่นว่านั้นกฎหมายจะกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ปรากฏข้อตกลงนั้นในหนังสือที่ได้ทำขึ้นก็ตาม         มาตรา 12 ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม         นอกจากนี้ การใช้โฆษณาหลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดและหลงทำสัญญาก็เป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษจำคุกและปรับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522  มาตรา 47 อีกด้วย         มาตรา 47 ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งกระทำผิดซ้ำอีก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >