ฉบับที่ 104 สร้างบ้านบกพร่อง แล้วไม่แก้ไข บอกเลิกสัญญาได้

ในการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยนั้นเราต้องตรวจสอบดูให้รอบคอบว่า บริษัทที่ประกอบกิจการโครงการบ้านนั้นเป็นบริษัทที่ดีมีชื่อเสียงในด้านซื่อตรงในการดำเนินกิจการหรือไม่ อีกทั้งในการเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขาย หากเห็นว่าสัญญาดังกล่าวมีข้อความเอารัดเอาเปรียบไม่เป็นธรรมในตอนใดก็ควรขอแก้ไขเสีย หากเขาไม่ยอมแก้ไขให้ก็ควรจะหาซื้อที่โครงการอื่นๆ ดีกว่า  สัญญาที่เป็นธรรมอย่างน้อยควรมีระยะเวลาก่อสร้างและระยะเวลาสร้างเสร็จ วัสดุก่อสร้างควรจะชัดเจนว่าจะใช้อะไรก่อสร้างและหากวัสดุดังกล่าวไม่มีจะใช้อะไรทดแทนในคุณภาพที่เท่ากัน มีข้อกำหนดให้ผู้จะซื้อตรวจสอบความเรียบร้อยของบ้านก่อนรับโอนได้ และหากมีข้อบกพร่องใดๆ ก็จะต้องแก้ไขให้เรียบร้อยก่อน สำหรับกรณีศึกษาในฉบับนี้ เป็นเรื่องที่ผู้จะขายสร้างบ้านโดยใช้วัสดุไม่เหมือนกับบ้านตัวอย่าง และมีข้อบกพร่องที่ยังต้องแก้ไขหลายรายการ ผู้จะซื้อแจ้งให้แก้ไขหลายรายการ แต่ผู้จะขายแก้ไขเพียงบางรายการ เท่านั้น ผู้จะซื้อจึงไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิ์ ผู้จะขายหาว่าผู้จะซื้อผิดสัญญาแล้วริบเงินที่ได้ส่งไปแล้ว ผู้จะซื้อจึงบอกเลิกสัญญาแล้วมาฟ้องเรียกเงินดาวน์และเงินที่ผ่อนไปแล้วบางส่วนคืนพร้อมดอกเบี้ย มาดูกันสิว่าผู้บริโภคจะเรียกคืนได้หรือไม่ คำ พิพากษาศาลฎีกาที่ 8509/2551 โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 725,078.36 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 622,700 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 725,078.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 622,700 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง จำเลยฎีกาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในการขายที่ดินพร้อมบ้านในโครงการ จำเลยได้ปลูกสร้างบ้านตัวอย่างให้ลูกค้าดู บ้านตัวอย่างจึงมีส่วนประกอบในการตัดสินใจซื้อ เชื่อว่าที่โจทก์ทั้งสองซื้อเพราะพอใจในคุณภาพการก่อสร้าง แม้วิธีการก่อสร้างบ้านที่จะส่งมอบแก่ลูกค้าอาจไม่เหมือนกับการสร้างบ้านตัวอย่างไปบ้างดังเช่น การเปลี่ยนวิธีการสร้างจากก่ออิฐฉาบปูนตามบ้านตัวอย่างมาเป็นการใช้วัสดุสำเร็จรูป แต่คุณภาพการก่อสร้างในส่วนอื่นก็ควรจะใกล้เคียงกับบ้านตัวอย่าง และเมื่อโจทก์ทั้งสองพบเห็นการก่อสร้างบกพร่องก็เป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสองที่จะขอให้จำเลยแก้ไข อันเป็นเรื่องปกติที่ผู้ต้องการจะซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยย่อมต้องการบ้านที่มีคุณภาพพร้อมจะเข้าอยู่อาศัยโดยมิพักต้องมาแก้ไขอีกหลังจากที่ตนเข้าอยู่อาศัยแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องดำเนินการให้ก่อนโอนกรรมสิทธิ์ แม้การแก้ไขจะทำให้จำเลยมีภาระต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอันเป็นไปตามข้อสัญญาที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงกันให้โจทก์ทั้งสองมีโอกาสตรวจสอบบ้านที่จะส่งมอบ ก่อนที่จะมีการโอนกรรมสิทธิ์กัน ดังนี้ เมื่อจำเลยรับว่าจำเลยยังไม่แก้ไขข้อบกพร่องให้โจทก์ทั้งสองเท่ากับยังมิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ของตนให้ครบ จำเลยทั้งสองจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเรียกให้โจทก์ทั้งสองรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินตามสัญญา โจทก์ทั้งสองชอบที่จะบอกเลิกสัญญากับจำเลยได้ “ พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาทแทนโจทก์ทั้งสอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 ดอกเบี้ยบัตรเครดิต

เดือนนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยบัตรเครดิตมาฝากแฟนๆ ฉลาดซื้อ คดีนี้โจทก์คือบริษัทกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ยื่นฟ้องผู้บริโภคเป็นจำเลย ส่วนจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ( ภาษาชาวบ้านก็คือไม่ได้ไปศาล ขี้เกียจไปซะอย่างงั้นละ ) โจทก์มัดมือชกจำเลยอยู่ข้างเดียว ดูมวยคู่นี้ซิผลจะออกมาอย่างไร ออกหัวหรือก้อย ดูตัวเลขจำนวนเงินให้ดีๆ นะครับ  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2551 โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 21,342.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 14,923.09 บาท และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอัตราร้อยละ 6 ต่อปี ของต้นเงิน 14,923.19 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 11,704 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 ทวิ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อกำหนดซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 8 แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาต ตาม ข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58( เรื่องสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ ไว้ในข้อ 4.4(1) ให้ผู้ประกอบธุรกิจอาจเรียกดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ เกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ทั้งนี้ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บต้องไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ (ร้อยละ 15 ต่อปี) โดยอัตรารวมสูงสุดของดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ ดังกล่าว รวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี (Effective rate) โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ โดยอัตรารวมสูงสุดไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี แต่ข้อเท็จจริงตามหนังสือแจ้ง ผลการพิจารณาสินเชื่อบุคคลปรากฏว่า ในการที่โจทก์อนุมัติเงินกู้ให้แก่จำเลยจำนวน 18,900 บาทนั้น โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 1.25 ต่อปี หรือร้อยละ 15 ต่อปี และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของวงเงินกู้ที่โจทก์อนุมัติ กับค่าดำเนินการอนุมัติเงินกู้ซึ่งเป็นค่าบริการจำนวน 1,000 บาท ซึ่งสามารถคำนวณเป็นร้อยละได้อัตราร้อยละ 5.29 ของวงเงินกู้ที่โจทก์อนุมัติ เมื่อรวมอัตราดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินและค่าดำเนินการ การอนุมัติเงินกู้ซึ่งเป็นค่าบริการเข้าด้วยกันแล้วจะเป็นอัตราร้อยละ 30.29 เกินกว่าอัตราร้อยละ 28 ต่อปีที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าว การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยค่าบริการและค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าว จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 พิพากษายืน “ อ้าว!!! โจทก์เตะผิดลื่นหงายหลังหัวฟาดพื้นสลบไปซะแล้วครับ ท่านผู้ชม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 หน้าที่และความรับผิดของนิติบุคคลอาคารชุด

หากเกิดกรณีนิติบุคคลอาคารชุดปล่อยปละละเลย จนเป็นเหตุให้ทรัพย์ส่วนกลางชำรุดบกพร่องและก่อความเสียหายแก่เจ้าของอาคารชุด นิติบุคคลอาคารชุดต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าของห้องชุดนั้น หรือไม่ ลองมาดูกรณีศึกษาเรื่องจริงซักเรื่องหนึ่ง  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4493/2543 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิห้องชุดเลขที่ 1349/136 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลอาคารชุด มีหน้าที่จัดการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดรวมถึงการจัดการดูแลท่อน้ำประปา ท่อระบายน้ำของอาคารเพื่อมิให้ชำรุดเสียหายหรืออุดตัน อันจะทำให้ทรัพย์ส่วนกลางและทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของร่วมอาคารชุดได้รับความเสียหาย โดยจำเลยที่ 1 ได้เรียกเก็บเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการจากโจทก์และเจ้าของห้องชุดรายอื่นเป็นรายเดือน จำเลยที่ 2 เป็นประธานคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของจำเลยที่ 1 ให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด จำเลยที่ 1 มิได้จัดการดูแลรักษาท่อน้ำประปาและท่อระบายน้ำของอาคารชุดดังกล่าว เป็นเหตุให้ท่อระบายน้ำอุดตันไม่สามารถระบายน้ำซึ่งใช้แล้วภายในอาคารสู่ท่อระบายน้ำและถังรองรับน้ำที่ติดตั้งไว้ชั้นใต้ดินของอาคารได้ ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมห้องชุดของโจทก์เป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่ติดตั้งอยู่ภายในห้องชุดของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 560,382 บาท และโจทก์ไม่สามารถเข้าพักอาศัยภายในห้องชุดได้คิดค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,110,382 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายอันเนื่องจากการที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ไม่สามารถเข้าพักอาศัยในห้องชัดของโจทก์ได้ในอัตราเดือนละ 40,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ครบถ้วน จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ค่าเสียหายในทรัพย์สินที่เสียหายนั้นโจทก์เรียกร้องมาสูงเกินไปและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ไม่สามารถเข้าพักอาศัยในห้องชุดได้ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 559,682 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระค่าเสียหายอันเนื่องจากการที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ไม่สามารถเข้าพักอาศัยในห้องชุดของโจทก์ในอัตราเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระค่าเสียหายเสร็จ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 คำขอนอกจากนี้ให้ยก จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ พ.ร.บ.อาคารชุดฯ ต้องการให้เจ้าของกรรมสิทธิในห้องชุดอันเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลสามารถใช้สิทธิในห้องชุดได้ตามสิทธิของตนแต่ทรัพย์ส่วนกลางถือว่าเป็นกรรมสิทธิรวมระหว่างเจ้าของห้องชุดซึ่งมีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันทั้งกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดล้วนกำหนดให้เป็นหน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุดเมื่อสาเหตุที่น้ำท่วมห้องชุดของโจทก์เพราะน้ำฝนเอ่อล้นจากท่อรับน้ำภายในอาคารชุดเนื่องจากท่อรวมรับน้ำอุดตัน ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลให้ท่อระบายน้ำดังกล่าวระบายน้ำได้ตลอดเวลา แม้โจทก์มิได้นำสืบว่าเหตุใดท่อน้ำจึงอุดตันและจำเลยที่ 1 ได้กระทำอย่างไรกับสิ่งอุดตันนั้นหรือบริเวณที่อุดตันนั้นไม่อาจตรวจพบได้โดยง่าย ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 แล้วเพราะจำเลยที่ 1 ได้เก็บเงินค่าดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง แล้วว่าจ้างบริษัทเอกชนที่มีอาชีพในการบริหารอาคารชุดมาทำหน้าที่แทน เมื่อบริษัทดังกล่าวละเว้นหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อปล่อยให้ท่อระบายน้ำอุดตันจนน้ำท่วมห้องชุดของโจทก์เช่นนี้ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 ขายคอนโดฯ แบบยัดเยียด บอกเลิกสัญญาได้หรือไม่

หน้าที่และความรับผิดของผู้จะขายนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 466 วรรคแรกนั้นระบุว่า “ในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น หากว่าได้ระบุจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดไว้ และผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยหรือมากไปกว่าที่สัญญาไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะปัดเสีย หรือรับเอาไว้และใช้ราคาตามส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก“ และวรรคสองระบุว่า “ อนึ่ง ถ้าขาดบกพร่องหรือล้ำจำนวนไม่เกินกว่าร้อยละห้าแห่งเนื้อที่ทั้งหมดอันได้ระบุไว้นั้นไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจำต้องรับเอาไว้แล้วใช้ราคาตามส่วน แต่ว่าผู้ซื้ออาจเลิกสัญญาเสียได้ในเมื่อขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนถึงขนาดซึ่งหากผู้ซื้อได้ทราบก่อนแล้วคงจะมิได้เข้าทำสัญญากัน“ มาลองดูกรณีศึกษากันเป็นเรื่องผู้ประกอบธุรกิจขายคอนโดฯ ระดับยักษ์ใหญ่ แถวเมืองทองธานี เอาเปรียบผู้บริโภคโดยจะยัดเยียดซอกมุมห้องที่ไร้ประโยชน์ให้ในราคาแพง ผู้บริโภคจึงไม่ยอมรับโอนและบอกเลิกสัญญาเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย มาดูกันซิว่าจะเรียกเงินคืนได้ไหม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2543 ป.พ.พ. มาตรา 466 วรรคสอง มิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่กรณีจึงอาจกำหนดไว้ในสัญญาเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัตินี้ได้ โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอาคารชุดที่พักอาศัยในราคา 2,865,000 บาท สัญญาดังกล่าว ได้กำหนดไว้ว่า “ห้องชุดผู้ซื้อจะมีพื้นที่ประมาณ 94.5 ตารางเมตร ทั้งนี้โดยขึ้นอยู่กับการปรับขนาดพื้นที่ตามการก่อสร้างที่เป็นจริงและการจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน ถ้าพื้นที่จริงห้องชุดผู้ซื้อมีมากกว่าหรือน้อยกว่าที่ระบุไว้ข้างต้นคู่สัญญายังคงต้องผูกพันตนตามสัญญานี้ แต่ถ้าแตกต่างตั้งแต่ร้อยละห้าหรือมากกว่านั้น ราคาที่ต้องชำระตามสัญญานี้จะต้องปรับเพิ่มหรือลดลงตามส่วนโดยการปรับราคาจะกระทำในการชำระเงินงวดสุดท้ายของราคา “แม้ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย และใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 แต่ศาลก็ต้องตีความสัญญาให้เป็นไปตามความประสงค์ของคู่สัญญาในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีกล่าวคือ เจตนาของคู่สัญญาที่กระทำโดยสุจริตซึ่งพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีประกอบแล้ว คงมิได้หมายความขนาดที่ว่าไม่ว่าเนื้อที่ของอาคารชุดจะแตกต่างมากกว่าร้อยละห้าสักเพียงใดก็ตาม โจทก์ก็ต้องรับโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดโดยไม่อาจปฏิเสธได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาคารชุดพิพาทมีเนื้อที่ล้ำจำนวนถึง 29.98 ตารางเมตร คิดเป็นร้อยละ 31.7 ซึ่งโจทก์จะต้องชำระเงินเพิ่มอีกประมาณ 900,000 บาท รวมทั้งจำเลยได้บังคับให้โจทก์รับมอบซอกมุมห้องที่ติดกันซึ่งมีเนื้อที่อีก 30 ตารางเมตร โดยมีฝากั้นห้อง ระหว่างเนื้อที่ 96.5 ตารางเมตร กับ 30 ตารางเมตร เป็นฝากั้นซึ่งเป็นคานรับน้ำหนักของตัวอาคาร โดยจำเลยได้ทำช่องให้เข้าไปได้ทางด้านหลังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนที่ล้ำจำนวนเป็นส่วนของเนื้อที่ซอกมุมห้องที่ติดกัน ซึ่งหากพิจารณาถึงความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีแล้ว ก็หาควรบังคับให้โจทก์ต้องจ่ายเงินเพิ่มเป็นจำนวนมากเพื่อรับเอาเนื้อที่ล้ำจำนวนที่ไร้ประโยชน์ดังกล่าวนั้นหรือไม่ เพราะหากโจทก์ได้ทราบก่อนแล้วคงมิได้เข้าทำสัญญานั้นอย่างแน่นอน อีกประการหนึ่งเมื่อคำนึงถึงมาตรา 11 แห่ง ป.พ.พ. ด้วยแล้วในกรณีเช่นว่านี้เมื่อสัญญามีข้อสงสัยว่าโจทก์ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าวนี้หรือไม่ ศาลย่อมต้องตีความให้เป็นคุณแก่โจทก์ผู้ต้องเสียในมูลหนี้ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้ในเมื่อล้ำจำนวนถึงขนาด ซึ่งหากโจทก์ได้ทราบก่อนแล้วคงมิได้ทำสัญญานั้นตามมาตรา 466 วรรคสอง อันเป็นผลให้คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391 พิพากษายืนให้จำเลยคืนเงินที่รับไว้จากโจทก์ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยได้รับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 ขายเงินดาวน์รถยนต์ไปแล้วยังโดนฟ้อง

รถยนต์เป็นทรัพย์ที่มีราคาสูง ชาวบ้านธรรมดาซึ่งเป็นผู้บริโภคทั่วๆ ไป อย่างเราๆ ท่านๆ ที่ไม่ใช่เศรษฐีอยากจะมีรถยนต์ใช้กับเขาสักคันแม้จะเป็นรถยนต์ปิคอัพ ก็รถยนต์กระบะนั้นแหละแต่เรียกให้มันเท่ๆ ไปอย่างนั้นเอง เมื่อไม่มีเงินสดทีละหลายๆ แสนจะซื้อ ก็คงต้องพึ่งบริการบริษัทไฟแนนซ์หรือบริษัทลิสซิ่งอันว่าบริษัทลิสซิ่งสมัยนี้ก็แสนโหด นอกจากจะตรวจสอบประวัติอย่างละเอียดราวกับว่าจะไปสมัครเป็นลูกเขยแล้ว ยังต้องหาคนค้ำประกันแน่นๆ (ศัพท์ของเซลส์ขายรถ) อีกด้วย แถมบางบริษัทยังให้ผู้บริโภคไปเปิดบัญชีกระแสรายวัน เอาเช็คมาออกชำระค่างวดอีกด้วย “ประมาณว่าไม่ผ่อนตูเมื่อไรจะได้ดำเนินคดีอาญาเรื่องเช็คอีกดอกหนึ่งด้วย”ครั้นซื้อรถมาได้ใช้ไประยะหนึ่งอยากเปลี่ยนรถใหม่จะทำยังไง ก็ต้องขายดาวน์รถยนต์คันเก่าซิครับท่าน ขายดาวน์ไปแล้ว บริษัทลิสซิ่งก็รับทราบแล้ว จนผู้เช่าซื้อคนใหม่ผ่อนไปได้ 4 งวด แล้วไม่ผ่อนต่อ บริษัทลิสซิ่งก็มาฟ้องผู้เช่าซื้อกับผู้ค้ำประกันคนเดิม เพราะไม่ได้คืนสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเดิมให้ผู้บริโภค(โหดจริงๆ) มาดูกันซิว่าศาลจะว่าอย่างไรคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 632/2551 ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน เซฟิโร หมายเลขทะเบียน 3ธ-230 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 538,770 บาท ตกลงผ่อนชำระ 30 งวดๆ ละ 17,959 บาทตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2538 และทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหลังจากทำสัญญาเช่าซื้อประมาณ 2 สัปดาห์ จำเลยที่ 1 ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายศุภชัย …เป็นการขายเงินดาวน์ และเมื่อเดือนกันยายน 2538 นายขนิษฐ์ มาขอซื้อรถคันที่เช่าซื้อจากนายศุภชัย โดยนายขนิษฐ์จะต้องไปผ่อนชำระค่าเช่าซื้อกับโจทก์ นายศุภชัยได้ติดต่อขอวงเงินกู้จากโจทก์และนัดให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าซื้อให้แก่นายขนิษฐ์ ต่อมามีการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 ประจำวันที่ 5 ธันวาคม 2538 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันตามฟ้องหรือไม่ แม้ตามคำขอโอนสิทธิการจะเช่าซื้อจะระบุว่า คำขอยังไม่มีผลผูกพันโจทก์จนกว่าจะทำการตรวจสอบหลักฐานของผู้เช่าซื้อ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์คืนเช็คที่จำเลยที่ 1 ชำระเป็นค่าเช่าซื้อล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 และนายขนิษฐ์ ผู้เช่าซื้อรายใหม่กับผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน และยอมให้นายศุภชัยมอบรถยนต์คันพิพาทให้แก่นายขนิษฐ์ ผู้เช่าซื้อรายใหม่ รวมทั้งรับเงินค่าเช่าซื้อจากนายขนิษฐ์ต่อมาถึงสี่งวด และงวดที่ 5 บางส่วนแสดงว่าผู้เช่าซื้อรายใหม่รับรถคันที่เช่าซื้อไปแทนโจทก์ สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงสิ้นผลผูกพัน จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์“ ศาลฎีกายกฟ้อง ผู้บริโภครอดตัวไป บริษัทนี้มันโหดจริงๆ ขายดาวน์ไปแล้วยังมีหน้ามาฟ้องอีก ใครอยากรู้ว่าบริษัทอะไรต้องมาถามเป็นการส่วนตัวครับ

อ่านเพิ่มเติม >

พรากผู้เยาว์ (2)

คำว่า “พราก“ ในความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรหมายความว่า พาไปหรือแยกเด็กออกไปจากความปกครองหรือดูแล ทำให้ความปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน (ฎีกาที่ 3152/2543) กฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดาที่มีต่อเด็ก มิให้ผู้ใดพรากไปเสียจากความปกครอง  แม้ผู้กระทำผิดจะชักชวนแนะนำเด็กให้ไปกับผู้กระทำโดยมิได้หลอกลวงเด็กและเด็กเต็มใจไปด้วยก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ (ฎีกาที่ 2858/2540 , ฎีกาที่ 3718/2547) เด็กยังไม่พ้นจากความปกครองดูแลของบิดามารดา จะกระทำโดยวิธีการใดก็ได้ ไม่มีข้อจำกัด ไม่ต้องใช้กำลังหรืออุบายใด ( ฎีกาที่ 2673/2546) ดังนั้นไม่ว่าการพาไปเพื่อร่วมประเวณีจะอยู่ในเส้นทางหรือนอกเส้นทางรับส่งผู้เสียหายไปกลับจากโรงเรียนก็ย่อมเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารเช่นกัน โดยไม่จำกัดว่าเป็นเวลานานเท่าใดด้วย แม้จะพรากไปเพียงชั่วคราวก็ตามหากไม่ได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ( ฎีกาที่ 2858/2540) ก็ถือว่ากระทำผิดฐานพรากผู้เยาว์ ฎีกาที่ 1605/2523 ผู้กระทำผิดพาผู้เสียหายไปร่วมประเวณีในกระท่อมใกล้บ้าน แม้อยู่ด้วยกันเพียง 5 ชั่วโมง ก็ถือว่ารบกวนสิทธิหรือแยกสิทธิในการควบคุมดูแลไปจากผู้ปกครองแล้ว อนึ่งการพรากจะสำเร็จต่อเมื่อพ้นไปจากการปกครอง หากยังไม่พ้นไปจากความปกครองก็เป็นเพียงพยายาม เช่น ดึงเด็กอายุ 8 ปี ไปจากผู้ดูแลพยายามจับอุ้มตัวไปแต่ผู้ดูแลดึงตัวเด็กไว้และร้องขอให้ช่วย จึงปล่อยตัวเด็กไป (ฎีกาที่ 2191/2522) บิดามารดา ผู้ปกครอง น่าจะหมายถึงผู้ปกครองตามกฎหมาย ส่วนผู้ดูแลถือตามความจริง (ฎีกาที่ 5669/2537 , ฎีกาที่ 6203/2541) ซึ่งไม่ว่าจำเลยจะพรากไปจากคนใดคนหนึ่งดังกล่าวก็มีความผิดทั้งสิ้น (ฎีกาที่ 1400/2538) อย่างเช่น กรณีเป็นการพรากเพื่อหากำไร อย่างการพรากเด็กให้ไปเป็นขอทาน (ฎีกาที่ 5409/2530) เป็นต้น มาดูกรณีศึกษากันสักเรื่อง ในกรณีพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร โดยเป็นเรื่องที่ จำเลยอุ้มผู้เสียหาย ซึ่งนั่งเล่นอยู่ใต้ถุนบ้านของจำเลยขึ้นไปบนบ้านของจำเลย จะถือว่าเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ด้วยหรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 848/2548 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคหนึ่ง มีความมุ่งหมายเพื่อให้ความคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่มีต่อผู้เยาว์มิให้ผู้ใดพาไปหรือแยกออกจากความปกครองดูแลโดย ไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีการใด และไม่คำนึงถึงระยะใกล้หรือไกล ดังนั้นแม้ผู้เสียหายที่ 1 (ผู้เยาว์) นั่งเล่นอยู่ใต้ถุนบ้านของจำเลย แต่ผู้เสียหายที่ 1 ก็ยังอยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 (ผู้ปกครอง) การที่จำเลยมาอุ้มผู้เสียหายที่ 1 ในการควบคุมดูแลของผู้เสียหายที่ 2 จำเลยไม่มีสิทธิจะพาผู้เสียหายที่ 1 ไปยังที่ใดโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม การที่จำเลยมาอุ้มผู้เสียหายที่ 1 ขึ้นไปบนบ้านตนแล้วพาไปห้องนานและกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ถือว่าจำเลยแยกสิทธิปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ในการควบคุมดูแลผู้เสียหายที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควร การกระทำของจำเลยเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจารอันเป็นความผิดตาม มาตรา 317 วรรคสอง จำเลยนำอวัยวะเพศของจำเลยใส่อวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 อวัยวะเพศจำเลยได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสองด้วย ส่วนจำเลยจะสำเร็จความใคร่หรือไม่ย่อมมิใช่สาระสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

พรากผู้เยาว์ อุทาหรณ์สอนใจคนรักเด็ก

รู้กฎหมายกับทนายอาสาsmbuyer@hotmail.com ความผิดฐานพรากผู้เยาว์นั้น บุคคลทั่วๆ ไปมักจะเข้าใจกันว่าต้องเป็นเรื่องการหลอกลวงผู้เยาว์หรือนำผู้เยาว์ไปจากความดูแลของบิดามารดาหรือผู้ปกครองผู้เยาว์ แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ แม้ไปพบผู้เยาว์ที่อื่น เช่น ศูนย์การค้า ผับ เธคหรืองานวัด ฯลฯ แล้วพาผู้เยาว์ไปกระทำชำเรา ก็ยังมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์อยู่ดี  ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคแรก บัญญัติว่า “ ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วยต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีหรือสิบปีและปรับตั้งแต่สี่พันถึงสองหมื่นบาท “ และวรรคสามบัญญัติว่า “ ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท“ และมาตรา 319 วรรคแรกบัญญัติว่า “ ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาท ถึงสองหมื่นบาท “มาดูกรณีศึกษาจาก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4465/2530 ( ประชุมใหญ่)โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้พราก น.ส. ก. อายุ 16 ปีเศษไปเสียจากนาย จ. บิดาเพื่อการอนาจารโดยใช้มีดปลายแหลมขู่บังคับให้ น.ส. ก. ไปกับจำเลยและจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเรา น.ส. ก. 2 ครั้ง โดย น.ส. ก.ไม่เต็มใจไปด้วย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม จำคุก 3 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกาศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ผู้เสียหายมีอายุเพียง 16 ปีเศษ ยังอาศัยและอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบิดามารดา ผู้เสียหายจึงอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดาการกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายแม้ผู้เสียหายจะสมัครใจยินยอมก็ตาม ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาก่อน มิฉะนั้นย่อมเป็นการล่วงอำนาจปกครองของบิดามารดา การที่บิดามารดาให้อิสระแก่ผู้เสียหาย ที่จะเที่ยวที่ไหนและกลับเมื่อใด ไม่เคยสนใจสอบถามหรือห้ามปราม ผู้เสียหายก็ยังคงอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปกระทำชำเราจึงเป็นการพรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดามารดา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 การพรากผู้เยาว์กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ไม่ว่าผู้เยาว์จะเต็มใจไปด้วยหรือไม่ แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 ศาลย่อมปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 ได้ มิใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องพิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 จำคุก 3 ปี ปรับ 6,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 อายุความสินเชื่อบัตรเรดดี้เครดิต

รู้กฎหมายกับทนายอาสาsmbuyer@hotmail.comอายุความบัตรเครดิตนั้นมีอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามหนังสือทวงถามซึ่งเป็นระยะเวลาอันสั้น ทางฝ่ายสถาบันการเงินจึงพยายามทำสัญญาต่างๆ เพื่อลากให้เป็น “บัญชีเดินสะพัด” ให้ได้เพราะบัญชีเดินสะพัดมีอายุความถึง 10 ปี ถึงขนาดให้ลูกค้าเปิดบัญชีกระแสรายวันแล้วมอบเช็คให้ไว้เบิกจ่ายเลยทีเดียว เรามาดูกันสิว่าศาลท่านจะเล่นด้วยหรือไม่  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10262/2550 แม้สัญญาให้บริการสินเชื่อเรดดี้เครดิตโจทก์กับจำเลยต้องเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับโจทก์เพื่อให้จำเลยใช้บัญชีดังกล่าวเบิกถอนเงินโดยการใช้เช็คที่โจทก์มอบให้จำเลยไว้และมีข้อตกลงให้โจทก์หักทอนเงินในบัญชีเพื่อการชำระหนี้ใดๆ ที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามสัญญาก็ตาม แต่เมื่อตามสัญญาใช้สินเชื่อข้อ 11 ระบุไว้ว่า หากผู้กู้นำเงินสดและ/หรือเช็คเข้าฝากในบัญชีกระแสรายวันที่ผู้กู้เปิดไว้โดยผู้กู้ไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ใดๆ แก่ธนาคาร ผู้กู้ยอมให้ธนาคารโอนเงินจำนวนดังกล่าวหรือที่เรียกเก็บได้ตามเช็คเข้าฝากในบัญชีเงินฝากประเภทไม่มีดอกเบี้ยที่ธนาคารจัดให้มีขึ้นทันที  ทั้งนี้ ผู้กู้ตกลงและรับทราบว่าในเวลาใดๆ เวลาหนึ่ง ยอดเงินฝากคงเหลือในบัญชีกระแสรายวันจะมีจำนวนเท่ากับศูนย์ ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่า จำเลยไม่มีโอกาสเป็นเจ้าหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันอันจะเป็นเหตุให้ต้องหักทอนบัญชีกัน ทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีก็ปรากฏว่าจำเลยใช้เช็คที่โจทก์มอบให้เบิกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยเพียงช่วงแรกเท่านั้น หลังจากนั้นจำเลยเบิกถอนเงินโดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติเพียงอย่างเดียว ในการคิดดอกเบี้ยเนื่องจากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คิดดอกเบี้ยอย่างทบต้นแต่อย่างใด บัญชีกระแสรายวันที่จำเลยเปิดไว้จึงเป็นบัญชีกระแสรายวันที่ใช้ให้เพื่อให้จำเลยชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเรดดี้เครดิตของจำเลยฝ่ายเดียวโดยเฉพาะ ไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวขึ้นโดยมีเจตนาตกลงกันโดยตรงให้หักทอนบัญชีหนี้อันเกิดขึ้นแก่กิจการในระหว่างโจทก์กับจำเลย และคงชำระหนี้แต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือ อันเป็นลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 865  การที่โจทก์ออกบัตรซิตี้การ์ดพร้อมเลขรหัสประจำตัวให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยใช้เบิกถอนเงินสดจากพนักงานของโจทก์หรือจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติโดยไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเบิกเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของโจทก์เท่านั้น ซึ่งหากจำเลยเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของสถาบันการเงินอื่นๆ โจทก์ต้องออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยไปก่อน อันเป็นการรับทำการงานแทนนั่นเอง ส่วนการมอบเช็คให้จำเลยไว้ใช้ในการเบิกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลย หรือออกรหัสประจำตัวแก่จำเลยเพื่อให้จำเลยสามารถใช้บริการสินเชื่อเรดดี้เครดิตได้นั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการอำนวยความสะดวกดังกล่าว  กรณีถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่างๆ ให้จำเลยเรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 20 มีนาคม 2546 ตามที่กำหนดไว้ในใบแจ้งยอดบัญชี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2546 การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้วันที่ 25 เมษายน 2548 ซึ่งพ้นกำหนด 2 ปี แล้วสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ  สรุปว่า ศาลท่านไม่เล่นด้วยนะครับ อายุความยังเป็น 2 ปีเช่นเดิมสำหรับบัตรเรดดี้เครดิต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 บัตรเครดิตปลอมและถูกลัก

รู้กฎหมายกับทนายอาสาsmbuyer@hotmail.com กรณีที่มีบุคคลอื่นทำปลอมบัตรเครดิตหรือลักบัตรเครดิต เช่น เป็นการลักหรือโจรกรรมข้อมูลจากบัตรเครดิตในขณะมีการใช้บัตรเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการ โดยผู้ขโมยข้อมูลเป็นพนักงานของร้านค้าหรือสถานบริการ หรือข้อมูลถูกขโมยจากเครื่องมืออิเล็กโทรนิกส์ที่คนร้ายลักลอบติดตั้งไว้บริเวณด้านบนของเครื่อง เอ ที เอ็ม (มีการถ่ายภาพหรือบันทึกข้อมูล ขณะมีการใช้บัตรเครดิตนั้นกดรหัสประกอบบัตรเครดิตเบิกถอนเงินจากเครื่อง เอ ที เอ็ม) ซึ่งเจ้าของบัตรเครดิตไม่ทราบเรื่อง หรือขโมยจากข้อมูลที่ธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตเก็บรักษาไว้ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ แล้วนำข้อมูลนั้นมาทำบัตรเครดิตปลอม แล้วมีการนำบัตรปลอมนั้นออกไปซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมทั้งการเบิกถอนเงินจากเครื่อง เอ ที เอ็ม ซึ่งกรณีที่สองนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า สมาชิกหรือเจ้าของบัตรเครดิตที่ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมให้มีการทำบัตรเครดิตปลอม ไม่ต้องรับผิดใช้เงินที่ธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตได้ออกทดรองไปก่อน จากการใช้บัตรเครดิตปลอมของบุคคลอื่น เพราะธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตจะต้องจัดทำบัตรเครดิตและจัดเก็บข้อมูลเป็นความลับ ให้ยากต่อการถูกลักหรือโจรกรรมข้อมูลไปได้ เว้นแต่เจ้าของบัตรเครดิตมีส่วนรู้เห็นให้บุคคลอื่นทำบัตรเครดิตปลอมขึ้นมา แล้วมีการนำบัตรเครดิตไปใช้ซื้อสินค้าและบริการ รวมทั้งเบิกถอนเงินสดจากเครื่อง เอ ที เอ็ม เจ้าของบัตรเครดิตนั้นต้องรับผิดชอบหนี้ที่เกิดขึ้น ดังนั้นหากสมาชิกบัตรเครดิตได้รับใบแจ้งยอดหนี้ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตเป็นรายเดือนจากธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตแล้ว ถ้าตรวจสอบใบแจ้งยอดหนี้แล้วเห็นว่าตนมิได้ใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าและบริการรายใด รวมทั้งการเบิกถอนเงินสดจากเครื่อง เอ ที เอ็ม ก็ต้องรีบแจ้งและทักท้วงเป็นลายลักษณ์อักษรไปทันที เพื่อธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตจะได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อยกเลิกบัตรเครดิตใบดังกล่าว แล้วออกบัตรเครดิตใหม่ให้แทนต่อไป  สำหรับกรณีบัตรเครดิตถูกคนร้ายลักไปแล้วนำไปใช้นั้น มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยล่าสุด ซึ่งมีความน่าสนใจดังนี้  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2840/2550 ข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ระบุว่า บัตรเครดิตนี้ธนาคารได้ออกให้และสงวนไว้เฉพาะผู้ถือบัตรเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ถือบัตรยินยอมอนุญาตหรือนำบัตรเครดิตไปให้บุคคลอื่นใช้ ดังนั้นในกรณีที่มีบุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ที่ออกให้แก่จำเลยไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการแก่สถานประกอบกิจการและร้านค้าเป็นการใช้บัตรเครดิตซึ่งมิได้เป็นไปโดยถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติและ/หรือเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตจะต้องรับผิดชำระหนี้อันเกิดจากการที่มีบุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ต่อเมื่อจำเลยได้ยินยอม อนุญาตหรือนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปให้บุคคลอื่นใช้ตามข้อตกลงดังกล่าวข้างต้น การที่บัตรเครดิตของจำเลยถูกคนร้ายลักไปย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าจำเลยมิได้ยินยอมอนุญาตหรือนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปให้บุคคลอื่นใช้ตามข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ที่บุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ ถ้าบัตรเครดิตถูกขโมยไปใช้ เราก็ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ที่เราไม่ได้ก่อขึ้นครับ

อ่านเพิ่มเติม >