ฉบับที่ 126 ซื้อบ้านที่สาธารณูปโภคยังไม่เสร็จ ไม่ยอมรับโอนได้หรือไม่

  ฉบับนี้เป็นเรื่องผู้บริโภคที่ไปซื้อบ้านจัดสรรในโครงการแห่งหนึ่ง ซึ่งสัญญาว่าจะมีสาธารณูปโภคที่โครงการจัดให้ตามแผ่นพับ ซึ่งพิมพ์โฆษณาว่า จะมีคลับเฮ้าส์ ทะเลสาบ ลู่วิ่ง และสวนหย่อม ผู้บริโภคชำระค่างวดไป 20 งวดแล้ว พอบ้านเสร็จแต่สาธารณูปโภคไม่เสร็จ โครงการจะให้รับโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินไปก่อน โดยชำระค่าส่วนกลางไปด้วย ผู้บริโภคไม่ยอมรับโอนและบอกเลิกสัญญา ให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงิน แต่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ยอมคืนเงินอ้างว่า ผู้บริโภคไม่ยอมไปรับโอนบ้านและที่ดินเอง จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อน ผู้บริโภคจึงฟ้องศาลเรียกเงินคืน เรามาดูกันว่าศาลจะว่าอย่างไรคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2552 สาธารณูปโภคที่โครงการจัดให้ตามแผ่นพับที่พิมพ์โฆษณาว่า มีคลับเฮ้าส์ ทะเลสาบ ลู่วิ่ง และสวนหย่อมเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญ แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจะมีข้อตกลงเฉพาะเกี่ยวกับแบบแปลนสิ่งปลูกสร้าง กำหนดเวลาการก่อสร้าง กำหนดเวลาการตรวจรับอาคารสิ่งปลูกสร้างเฉพาะตัวบ้านตามที่โจทก์จองซื้อก็ตาม แต่ตามสัญญาข้อ 16 ได้กำหนดให้ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคส่วนกลางจำนวน 30,000 บาท ซึ่งเมื่อดูจากแผ่นพับโฆษณาแล้ว ค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามที่กำหนดไว้นั้นน่าจะหมายถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลสวน ลู่วิ่งรอบทะเลสาบและทะเลสาบ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ร่วมกัน   แต่ขณะที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยสร้างบ้านเสร็จแต่พื้นที่รอบบ้านยังอยู่ในสภาพรกร้างว่างเปล่า ยังมิได้ดำเนินการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสาระสำคัญในการเอื้อต่อการเข้าอยู่อาศัยของผู้ซื้อบ้าน ซึ่งสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยยังมิได้ก่อสร้างสาธารณูปโภคอันเป็นส่วนสาระสำคัญของโครงการตามที่ได้โฆษณาในแผ่นพับ   ในขณะโจทก์เข้าทำสัญญาจองซื้อบ้าน โจทก์จึงยังไม่จำต้องรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินและชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย ทั้งกรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์  หมายเหตุผู้เขียน : คดีนี้ฟ้องก่อน พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ใช้บังคับ และถึงแม้จะฟ้องคดีทำนองนี้ในปัจจุบันนี้ผลของคดีก็คงไม่เปลี่ยนแปลง แต่เหตุผลในการวินิจฉัยของศาลอาจอ้างถึงกฎหมายฉบับดังกล่าวเพราะ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ มาตรา 10 บัญญัติว่า   “ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของ บริการ หรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใดๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคล หรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าการทำสัญญาเช่นว่านั้นกฎหมายจะกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ปรากฏข้อตกลงนั้นในหนังสือที่ได้ทำขึ้นก็ตาม”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 รถหายในคาร์ฟูร์ (ตอนจบ)

  มาว่ากันต่อเลยนะครับ... ...จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์  สาขาบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี  ได้จัดให้มีลานจอดรถสำหรับลูกค้าที่มาซื้อสินค้าโดยผู้ที่จะนำรถยนต์เข้าไปจอดในบริเวณลานจอดรถดังกล่าวจะต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เสียก่อน  และเมื่อจะนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถก็จะต้องมอบคืนบัตรจอดรถให้แก่พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ทางออกเสียก่อนจึงจะนำรถยนต์ผ่านออกไปได้  หากไม่มีบัตรจอดรถพนักงานรักษาความปลอดภัยจะไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ออกไปได้  รายละเอียดปรากฏตามข้อความด้านหลังบัตรจอดรถ แม้จะปรากฏข้อความที่ด้านหลังบัตรจอดรถข้อ 2 ว่า บัตรนี้เป็นบัตรผ่านสำหรับนำรถเข้าจอดบริเวณห้างคาร์ฟูร์เท่านั้น  บริษัทไม่รับผิดชอบกรณีสูญหายหรือเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น และไม่มีการเก็บค่าบริการจอดรถก็ตาม  แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว  ย่อมทำให้ผู้ที่มาใช้บริการจอดรถหรือลูกค้าของห้างคาร์ฟูร์โดยทั่วไปเข้าใจได้ว่า  บริเวณลานจอดรถดังกล่าว  จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของห้างคาร์ฟูร์จัดให้บริการรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ของลูกค้าที่จะนำเข้ามาจอดขณะที่เข้าไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยอื่นเป็นผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยทั้งขณะนำรถยนต์เข้าไปจอดและขณะนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถซึ่งผู้ที่มิใช่เจ้าของรถยนต์และไม่มีบัตรจอดรถจะลักลอบนำรถยนต์ออกไปไม่ได้ เพราะจะมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยตรวจสอบก่อน  การกระทำที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติมาดังกล่าวย่อมเป็นการก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยทั้งสองต้องดูแลรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยแก่รถยนต์ที่นำเข้ามาจอด  โดยพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมอบหมายมีหน้าที่โดยตรงที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์นำรถยนต์ออกไปจากบริเวณลานจอดรถหรือป้องกันการโจรกรรมด้วยการตรวจบัตรตรงช่องทางออก   ซึ่งหากจำเลยทั้งสองมีการตรวจตราอย่างเคร่งครัดและป้องกันอย่างดีมิให้ผู้ที่ไม่มีบัตรขับรถผ่านออกไปได้โดยง่ายก็ยากที่รถยนต์ของนายสรศักดิ์จะถูกคนร้ายลักไปได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่คนร้ายขับรถยนต์ของนายสรศักดิ์ผ่านช่องทางออกนั้น  คนร้ายได้ขับผ่านจำเลยที่ 1 ซึ่งประจำอยู่ช่องทางออกโดยไม่ได้คืนบัตรจอดรถให้  จำเลยที่ 1 ได้เคาะรถยนต์เพื่อให้คืนบัตร  แต่คนขับรถนิ่งเฉยแล้วขับรถยนต์ออกไป   จำเลยที่ 1 จึงจดทะเบียนรถไว้คือ 7978 หรือ 7879 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1ไม่ได้แจ้งทางวิทยุสื่อสารให้ศูนย์รักษาความปลอดภัยของห้างคาร์ฟูร์ทราบโดยอ้างว่าวิทยุสื่อสารของจำเลยที่ 1 แบตเตอรี่หมด   แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังป้องกันความปลอดภัยให้แก่รถยนต์ของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการอย่างเต็มที่ อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของนายสรศักดิ์ถูกคนร้ายลักไปและเป็นการประมาทเลินเล่อจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อนายสรศักดิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2  ดังนั้น  จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ในผลแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 425  โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยได้ชำระค่าสินไหมทดแทนในการที่รถยนต์สูญหายครั้งนี้เป็นจำนวนเงิน 430,000 บาท ให้แก่นายสรศักดิ์เรียบร้อยแล้ว  จึงรับช่วงสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองได้  จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดตามจำนวนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยต่อโจทก์ตามฟ้อง  ที่ศาลล่างพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย  ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไป”  พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 430,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม  2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องมิให้เกินกว่า 2,678 บาท ตามที่โจทก์ขอ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ   หมายเหตุผู้เขียน  คดีมันพลิกครับท่าน  และปัจจุบันนี้ตามห้างต่างๆ ก็เลิกแจกบัตรก็เพราะเหตุนี้  และก็ยังมีรถหายอยู่เรื่อยๆ หายแบบว่าไม่มีบัตร   ตอนนี้มีคดีฟ้องห้างดอกบัว คดียังอยู่ศาลชั้นต้น  คงต้องรอฟังศาลฎีกาต่อไปว่าจะออกอย่างไรแล้วจะนำมาแจ้งให้ทราบ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 รถหายในคาร์ฟูร์

  ฉบับนี้เป็นเรื่องของผู้บริโภคที่ไปซื้อของในห้างคาร์ฟูร์ พอซื้อเสร็จออกมาพบว่ารถหาย โชคดีหน่อยที่ผู้บริโภครายนี้ได้ทำประกันภัยไว้ บริษัทประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้บริโภคแล้ว ช่วงสิทธิมาฟ้องตั้งแต่พนักงานรักษาความปลอดภัยจนกระทั่งเจ้าของห้าง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ก็ไม่ย่อท้อสู้ขาดใจยื่นฎีกา ซึ่งผู้เขียนจะนำคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับล่าสุดนี้ จัดเต็มให้ เพราะมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3100/2543 คดีระหว่าง บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด โจทก์ กับ นายธนพล วอนวงศ์ กับพวก จำเลย โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์หากไม่สามารถส่งมอบคืนได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 430,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2542 ถึงวันฟ้องเป็นจำนวนเงิน 2,687 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 432,678 บาท กับขอให้ร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราเดียวกันนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระราคาเสร็จแก่โจทก์  จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ  โจทก์อุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ  โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ มีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2542 เวลา 19 นาฬิกาเศษ นายสรศักดิ์ จันทร์แสงวัฒนา ขับรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน บจ 7978 นนทบุรี ไปจอดที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ สาขาบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นกิจการของจำเลยที่ 2 โดยรับบัตรจอดรถแล้วนายสรศักดิ์ขึ้นไปซื้อของในห้างเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงเศษ ต่อมามีคนร้ายลักรถยนต์ของนายสรศักดิ์ขับรถหลบหนีผ่านจุดทางออกของลานจอดรถที่จำเลยที่ 1ประจำอยู่โดยไม่มีบัตรจอดรถคืนแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดคืนรถยนต์หมายเลขทะเบียน บจ 7978 นนทบุรี หรือชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 430,000 บาท แก่นายสรศักดิ์หรือไม่ เพียงใด และโจทก์เข้ารับช่วงสิทธิจากนายสรศักดิ์มาฟ้องลาเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองต้องตรวจตรารถยนต์เข้าออกว่าจะต้องคืนบัตรจอดรถเมื่อมีคนขับรถยนต์ออกไปจากลานจอดรถและบัตรนั้นต้องมีหมายเลขทะเบียนตรงกับหมายเลขทะเบียนที่พนักงานรักษาความปลอดภัยเขียนไว้ในบัตรจอดรถขณะที่ขับรถเข้ามาจอด หากไม่มีบัตรจำเลยที่ 1 ก็ย่อมจะไม่อนุญาตให้ลูกค้านำรถยนต์ออกไปได้ จนกว่าจะแสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของรถ  เห็นว่าตามข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยนำสืบฟังได้....ว่า คดีนี้ไม่อยากตัดทอน เพราะเป็นที่มาที่ห้างในปัจจุบันไม่มีบัตรเข้าออกแบบนี้อีก ไปตามต่อกันฉบับหน้านะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 ธนาคารมีสิทธิคิดค่าธรรมเนียมในการกู้ยืมนอกเหนือไปจากดอกเบี้ยได้หรือไม่

  ฉบับนี้ผู้เขียนก็มีเรื่องใกล้ตัวผู้บริโภคมาฝากอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของการกู้ยืมเงินจากธนาคารซิตี้แบงค์   แล้วธนาคารซิตี้แบงค์คิดค่าธรรมเนียมในการกู้ยืมเงินจากผู้กู้ในอัตราร้อยละ 0.5 ของวงเงินที่กู้นอกเหนือจากการคิดดอกเบี้ยตามปกติอีก(ไม่ทราบว่าเป็นธรรมเนียมของประเทศไหนกัน)  และยังเรียกเบี้ยปรับในการชำระเงินล่าช้าอีกครั้งละ 500 บาทอีก(โหดดี ฮิ)  ดูซิว่าศาลฎีกาจะว่าอย่างไร   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1147/2553 คดีระหว่าง ธนาคารซิตี้แบงค์ โจทก์ กับ นายสมชาย เครือองอาจนุกุล จำเลย   คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 134,688.13 บาท  พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี  จากต้นเงิน 77,058 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์   จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง  จำเลยขาดนัดพิจารณา  ศาลชั้นต้นตัดสินชี้ขาดคดีไปฝ่ายเดียว   ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 132,188.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี    77,058 บาท  นับถัดจากวันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 10 ตุลาคม 2548)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก   จำเลยอุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า...... การที่โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์  การประกอบธุรกิจของโจทก์อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้กู้ยืมเงินโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตอบแทนจากผู้กู้ซึ่งการเรียกดอกเบี้ยต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง  การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด  ซึ่งในขณะที่จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์นั้นธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์รวมทั้งโจทก์จะเรียกดอกเบี้ยได้จะต้องประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แล้วส่งสำเนาประกาศไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้  ดังนั้น  การที่โจทก์คิดค่าธรรมเนียมในการกู้ยืมเงินจากจำเลยอัตราร้อยละ 0.5 ของวงเงินกู้หรือ 1,5000 บาท โดยหักจากต้นเงินที่จะจ่ายให้แก่จำเลย  จึงเป็นการไม่ชอบ  นอกจากนี้ตามประกาศอัตราดอกเบี้ยของโจทก์มิได้มีข้อกำหนดให้เรียกเบี้ยปรับในกรณีชำระหนี้ล่าช้า  ดังนั้น  การที่โจทก์เรียกเบี้ยปรับในการชำระเงินล่าช้าครั้งละ 500 บาท จึงไม่ชอบเช่นกัน  แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ในข้อนี้แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้   พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดชำระต้นเงิน 99,250 บาท โดยให้นำเงินที่จำเลยชำระมาหักชำระหนี้ ณ วันที่มีการชำระในแต่ละครั้ง โดยให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 0.5 ต่อเดือนในระยะเวลา 6 เดือนแรกนับแต่วันที่จำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์ หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์  แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยหลังฟ้องต้องไม่เกินจำนวนที่โจทก์ขอ  นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น  ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 นิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่ทำอะไร?

    ฉบับนี้มีคดีที่น่าสนใจขอนำเสนอ เป็นเรื่องของ ฅนคอนโดฯ เมื่อห้องถูกงัด ของหาย นิติบุคคลอาคารชุดต้องรับผิดชอบหรือไม่   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3220/2553 นางสาวกนกวรรณ  คุณวัตรศิริ โจทก์ กับ นิติบุคคลอาคารชุด คอมมอนเวลธ์ปิ่นเกล้า กับพวก จำเลย   ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ .....พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า  โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 159/290 ตั้งอยู่บนชั้น 13 อาคารชุดคอมมอนเวลธ์  ปิ่นเกล้า  แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร  โดยโจทก์ได้ชำระเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นรายปี ปีละ 6,120 บาท จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลอาคารชุดคอมมอลเวลธ์ ปิ่นเกล้า และได้ว่าจ้างพนักงานดูแลความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยภายในอาคารชุดดังกล่าว จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทวันที่ 2 มิถุนายน 2542 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา  มีคนร้ายงัดกุญแจประตูห้องชุดพิพาทเข้าไปลักทรัพย์ของโจทก์หลายรายการรวมเป็นค่าเสียหาย 1,542,970.25 บาท ตามสำเนารายงานจำกัด และทำสัญญารับประกันภัยเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตามตารางกรมธรรม์ เมื่อประจำวันเกี่ยวกับคดี  ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยที่ 1 ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้คนร้ายลักทรัพย์นั้นไปหรือไม่ เห็นว่า  ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด มาตรา 4 วรรคสอง บัญญัติว่า “ ทรัพย์ส่วนบุคคล” หมายความว่าห้องชุดและหมายความรวมถึงสิ่งปลูกสร้างหรือที่ดินที่จัดไว้ให้เป็นของเจ้าของห้องชุดแต่ละราย  วรรคสามบัญญัติว่า “ห้องชุด” หมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่แยกการถือกรรมสิทธิ์ออกได้เป็นส่วนเฉพาะของแต่ละบุคคล  และวรรคสี่ บัญญัติว่า “ ทรัพย์ส่วนกลาง” หมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม  ส่วนการจัดการทรัพย์ส่วนกลางต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 17,33,36 และ 37  กล่าวคือต้องมีนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล  มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดตามมติของเจ้าของร่วมภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวและตามข้อบังคับโดยมีผู้จัดการหรือคณะกรรมการเป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์ส่วนกลาง  จะเห็นได้ว่าตามบทบัญญัติและข้อบังคับดังกล่าวนิติบุคคลอาคารชุดไม่มีหน้าที่รักษาทรัพย์ส่วนบุคคลแต่ประการใด  ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลตรวจตราอาคารชุดทุกชั้นโดยใกล้ชิด จึงเป็นเหตุให้คนร้ายเข้าไปในห้องชุดลักทรัพย์ของโจทก์ไปนั้น  ในกรณีเช่นนี้ตามกฎหมายลักษณะละเมิดหามีบทมาตราใดบัญญัติไว้ว่าเป็นละเมิดไม่  เพราะการละเมิดนั้นเป็นประทุษกรรมกระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายหรือละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำหรือตนไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  การละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้กระทำหรือตนไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องกระทำหาเป็นละเมิดไม่   ดังนี้  การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลตรวจตราอาคารชุดโดยใกล้ชิด  จึงเป็นเหตุให้คนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ของโจทก์นั้น จะถือว่าเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 งดเว้นหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้  จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  420 กรณีนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาอื่นของโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น   พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ   หมายเหตุผู้เขียน ต่อไปนี้ผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารชุดควรต้องระมัดระวังห้องของตนเองให้ดี ทางที่ดีควรทำประกันโจรภัยไว้ด้วย แถมท้ายอีกนิด มีแฟนคลับถามมาว่า อายุความฟ้องเรียกเงินเงินค่าส่วนกลางนั้นมีอายุความเท่าใด  คำตอบ เงินค่าส่วนกลางนั้นถือเป็นเงินค้างจ่าย ซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา193/33(4) ( ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1735/2551)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 แอบทำผิด แต่ไม่ยอมรับ ยังไงก็ต้องรับผิด (2)

  เรื่องผู้บริโภคซื้อห้องชุดโดยเชื่อว่าเป็นโครงการในเครือของบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียงน่าเชื่อถือ แต่เวลาทำสัญญาผู้บริโภคกลับต้องทำสัญญากับบริษัทฯ โนเนม อีกบริษัทหนึ่ง เมื่อเกิดปัญหาห้องชุดสร้างไม่เสร็จ ผู้บริโภคจะสามารถฟ้องเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากบริษัทใหญ่ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาได้หรือไม่นั้น มาตามต่อกันเลยครับ   “...จำเลยที่ 2 นำสืบว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้บริหารการขายซึ่งรับค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 โดยทำหน้าที่ชักชวนประชาชนให้มาซื้อห้องชุดในโครงการเท่านั้น ใบโฆษณาเอกสารหมาย จ.18 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำ จำเลยที่ 2 เพียงมีหน้าที่รับไปแจกจ่ายเท่านั้น (ศาล)เห็นว่า ตามใบโฆษณาเอกสารหมาย จ.9 มีข้อความว่า “ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) (จำเลยที่ 2) ได้เล็งเห็นถึงความเจริญเติบโตทางธุรกิจที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในย่านประตูน้ำจึงพัฒนาแนวคิดทางด้านการจัดศูนย์รวมการค้าขาย ทั้งประเภทการค้าส่งและการค้าปลีกเป็นรูปแบบใหม่ให้เข้ามารวมอยู่ในจุดเดียวกันในชื่อโครงการว่า “ โครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียม “ โดยมอบหมายให้บริษัทโกลเด้น เกท พลาซ่า จำกัด “ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเข้ารับผิดชอบเป็นเจ้าของโครงการ และเอกสารโฆษณาหมาย จ.18 แผ่นที่ 5 มีข้อความว่า “ ...รับประกันโดยบริษัทแผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน)  ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งหมดเป็นหลักประกันความสำเร็จที่ชัดเจนสำหรับธุรกิจในอนาคตของคุณ”  และในแผ่นที่ 15 และ 21 มีข้อความว่า “ เจ้าของโครงการและกรรมสิทธิ์ที่ดินบริษัทโกลเด้น เกท พลาซ่า จำกัด ทุนจดทะเบียน 10,000,000  บาท บริหารโครงการโดยบริษัทแผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) (บมจ.474 )ทุนจดทะเบียน 750,000,000 บาท(ชำระเต็มมูลค่า) ประธานกรรมการคุณหญิงศศิมา  ศรีวิกรม์ กรรมการผู้จัดการ นายประภา  สมุทรโคจร...” ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ และข้อความดังกล่าวย่อมทำให้พยานโจทก์และประชาชนทั่วไปที่พบเห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันดำเนินธุรกิจโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 มีทุนจดทะเบียนสูงถึง 750,000,000 บาท ขณะที่จำเลยที่ 1 มีทุนจดทะเบียนเพียง 10,000,000 บาท  และในเอกสารดังกล่าวมีข้อความย้ำหลังข้อความเกี่ยวกับทุนจดทะเบียนของจำเลยที่ 2 ว่า “ ชำระเต็มมูลค่า“ ประกอบด้วย  ย่อมจูงใจให้ผู้พบเห็นข้อความนี้เชื่อถือโครงการดังกล่าวจากฐานะความมั่นคงของจำเลยที่ 2  ประกอบกับนางสาว ป. พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่ซื้อห้องชุดในโครงการดังกล่าวคนหนึ่งเบิกความว่า ก่อนตกลงซื้อพยานหนังสือเชิญชวนจากจำเลยที่ 2 ให้ซื้ออาคารและห้องชุดของจำเลยที่ 2 และบริษัทในเครือรวมทั้งโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียมด้วย  ซึ่งเป็นการยืนยันว่าโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียมเป็นโครงการหนึ่งในเครือของจำเลยที่ 2 ข้ออ้างที่ว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้บริหารโครงการทำหน้าที่ขายและไม่รู้เห็นในการจัดทำเอกสารโฆษณาหมาย จ.18 ทั้งเหตุที่ต้องระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้บริหารโครงการเพื่อเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ กฎกระทรวงฉบับที่ 4 ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 นั้น ไม่สมเหตุสมผล จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์  แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเอกสารหมาย จ.2 จ.3 จ.7 จ.10 และ จ.19 เป็นการทำสัญญาระหว่างผู้บริโภคทั้ง 21 ราย ในคดีนี้กับจำเลยที่ 1 ก็ตาม  แต่จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวย่อมฟังได้โดยแจ้งชัดว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันดำเนินธุรกิจโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียมโดยต่างมีประโยชน์ร่วมกันในโครงการดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อผู้บริโภคทั้ง 21 ราย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น “   แอบชักใยเบื้องหลัง ก็โดนครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 แอบทำผิด แต่ไม่ยอมรับ ยังไงก็ต้องรับผิด (1)

  คดีเด็ดสำหรับเดือนนี้เป็นคำพิพากษาฎีกาใหม่ล่าสุด เป็นเรื่องผู้บริโภคซื้อห้องชุดโดยเชื่อว่าเป็นโครงการในเครือของบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียงน่าเชื่อถือ มีทุนจดทะเบียนเป็นร้อยล้าน แต่เวลาทำสัญญาผู้บริโภคกลับต้องทำสัญญากับบริษัทฯ โนเนม อีกบริษัทหนึ่งที่มีทุนจดทะเบียนแค่ สิบล้าน ครั้นเกิดปัญหาห้องชุดสร้างไม่เสร็จ ผู้บริโภคจะสามารถฟ้องเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากบริษัทใหญ่ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาได้หรือไม่  คดีนี้สามารถใช้เป็นบทเรียนสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำ แต่ทำมาหากินในระดับโครงการร้อยล้าน พันล้าน ซึ่งถ้าดูแค่ทุนจดทะเบียนอาจจะคิดไปได้ว่า ฟ้องไปก็เปล่าประโยชน์ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าบริษัททำมาหากินในลักษณะส่งรายได้ให้กับบริษัทใหญ่ เราก็ฟ้องให้เป็นจำเลยร่วมกันได้เลยครับ   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2637-2638 /2553 คดีระหว่าง คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โจทก์ กับ บริษัทโกลเด้น เกท พลาซ่า จำกัด กับพวก จำเลย  ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า “... พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 (บริษัทโกลเด้น เกท พลาซ่า จำกัด) เป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียมและทำสัญญาขายห้องชุดกับผู้บริโภคทั้ง 21 ราย แล้วผิดสัญญาก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและหยุดการก่อสร้าง   ผู้บริโภคทั้ง 21 ราย ร้องเรียนต่อโจทก์และมอบอำนาจให้โจทก์บอกเลิกสัญญาและเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เพิกเฉยจึงถือว่าสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้บริโภคทั้ง 21 ราย ในคดีนี้เป็นอันเลิกกัน โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้บริโภคทั้ง 21 ราย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 (บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ว่าจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้องหรือไม่  โจทก์มี นางสาว ค. นาง ม. นางสาว ป. นาง ท. และ นาง พ. ผู้บริโภคสั่งซื้อห้องชุดในโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียมเบิกความทำนองเดียวกันว่า รู้จักโครงการดังกล่าวจากแผ่นพับโฆษณาเอกสารหมาย จ.9 และทราบจากพนักงานขายของโครงการว่าเป็นโครงการของคุณหญิงศศิมา  ศรีวิกรณ์ และเป็นโครงการในเครือของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์  พยานทั้งห้าจึงให้ความเชื่อถือในโครงการและตกลงซื้อห้องชุดในโครงการดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้บริหารการขายซึ่งรับค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 โดยทำหน้าที่ชักชวนประชาชนให้มาซื้อห้องชุดในโครงการเท่านั้น ใบโฆษณาเอกสารหมาย จ.18 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำ จำเลยที่ 2 เพียงมีหน้าที่รับไปแจกจ่ายเท่านั้น”  เอาล่ะสิ จำเลยที่ 2 บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่ใช่คู่สัญญาโดยตรง พยายามดิ้นที่จะไม่รับผิดชอบในคดีนี้ แล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร ขอพักไว้แค่นี้ก่อนนะครับ เนื่องจากมีเนื้อหาฎีกาที่ค่อนข้างยาว ติดตามกันต่อฉบับหน้าครับ  แต่ยังไงเสีย คนผิดก็ต้องรับผลแห่งการกระทำเสมอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 ค้ำประกันเท่าไร เทวดาน่าจะรู้

ค้ำประกันเท่าไร  เทวดาน่าจะรู้ สุภาษิตคำพังเพยโบราณกล่าวไว้ว่า “ อยากเป็นลูกหนี้ให้เป็นนายหน้า  อยากเป็นขี้ข้าให้เป็นนายประกัน “ นั้น  น่าจะมีมูลเป็นความจริง มิฉะนั้นคงจะไม่มีคำพังเพยเช่นนี้  สัญญาค้ำประกัน นั้นคืออะไร ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา ๖๘๐ วรรคแรก บัญญัติว่า “ อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น จากบทนิยามดังกล่าว ลักษณะสำคัญของสัญญาค้ำประกันมี ๓ ประการคือ  ๑.     ผู้ค้ำประกันต้องเป็นบุคคลภายนอก กฎหมายใช้คำว่า “ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกัน “ ดังนั้น ผู้ค้ำประกันจะต้องเป็นบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่สาม คือไม่ใช่เจ้าหนี้และลูกหนี้ อาจจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้  ถ้าเป็นนิติบุคคลต้องเป็นการที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น  ผู้ค้ำประกันหนี้รายหนึ่งอาจมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ สัญญาค้ำประกันเป็นการประกันการชำระหนี้ด้วยตัวบุคคล ซึ่งมีผลให้เจ้าหนี้มีบุคคลสิทธิที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้โดยบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วๆไปของผู้ค้ำประกัน   ๒.    ต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ จะมีการค้ำประกันได้จะต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ หนี้นั้นจะเกิดจากสัญญาหรือละเมิดก็ได้ หนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้เรียกว่าหนี้ประธาน เมื่อมีหนี้ประธานแล้วจึงมีสัญญาระหว่างผู้ค้ำประกันกับเจ้าหนี้  หนี้ระหว่างผู้ค้ำประกันกับเจ้าหนี้เป็นหนี้อุปกรณ์  ถ้าไม่มีหนี้ประธานคือไม่มีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้  แม้มีการทำสัญญาค้ำประกันไว้ ผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิด  ๓.    ต้องเป็นเรื่องผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น การที่จะเป็นการค้ำประกันจะต้องเป็นเรื่องบุคคลภายนอกผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คือต้องทำสัญญาต่อเจ้าหนี้  ถ้าไปทำสัญญากับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้สัญญานั้นไม่ใช่สัญญาค้ำประกัน   นอกจากนี้สัญญาค้ำประกันไม่มีแบบแต่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๐ วรรคสอง บัญญัติว่า “ อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ “   และถ้าผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันสำเร็จรูปแล้วไม่ได้ไม่ได้กรอกจำนวนเงินในช่องจำนวนเงินที่จะค้ำประกันลงไป จะเกิดผลอย่างไร  ดูได้จากกรณีตัวอย่างดังนี้   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๙/๒๕๔๕ วินิจฉัยว่า สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว การตีความจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด การที่จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันต่อหน้าโจทก์โดยระบุว่าใช้หนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ ๑  แต่ในสัญญาค้ำประกันเป็นเพียงแบบที่พิมพ์ไว้โดยเว้นช่องว่างเพื่อการกรอกรายละเอียดต่างๆ  โดยไม่ได้ระบุจำนวนเงิน ดังนั้นข้อความที่ว่า ยอมรับผิดในหนี้สินทั้งหมด จึงเป็นข้อความต่อเนื่องจากข้อความในตอนแรกที่ต้องกรอกจำนวนเงินไว้ก่อน เมื่อในสัญญาค้ำประกันไม่ได้กำหนดจำนวนเงินที่จะค้ำประกันไว้ จึงเป็นเอกสารไม่สมบูรณ์และไม่อาจอนุมานได้ว่า ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดในจำนวนหนี้เท่าใด  จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์  สรุป ศาลก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจำเลยที่ ๒ จะค้ำประกันจำเลยที่ ๑ จำนวนเท่าไรกันแน่จึงยกฟ้องจำเลยที่ ๒ และคิดต่อไปว่าหากมีผู้ค้ำประกันคนไหนไปบอกเจ้าหนี้ว่าถ้าขีดเส้นในช่องจำนวนเงินที่ค้ำประกันนั้นหมายความว่า ค้ำประกันไม่จำกัดจำนวนเงิน คงสนุกดีพิลึก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 117 ถึงตายเวลาเมา ประกันก็ต้องจ่าย

  มีคดีน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่อง ประกันมาฝากครับ สัญญาประกันชีวิตนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 นั้นระบุว่า ในสัญญา ประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลหนึ่ง มีคดีตัวอย่าง ผู้เอาประกันภัยเมาแล้วขับรถยนต์ไปประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย แพทย์ตรวจพบว่าผู้เอาประกันภัยมีแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึงขนาดเรียกได้ว่าเมาสุรา บริษัทฯ ผู้เอาประกันภัยจึงปฏิเสธการจ่ายเงิน ผู้รับผลประโยชน์จึงมาฟ้องคดีต่อศาล มาดูกันสิว่าบริษัทฯ จะต้อง จ่ายเงินหรือไม่ เพราะเหตุใด   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1637/2538 นางสาวเจริญวัลย์ แซ่เตีย โจทก์บริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำเลย โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ตกลงรับประกันชีวิตนาย พงษ์เดช แซ่เตีย โดยมีโจทก์เป็นผู้รับประ โยชน์ครั้น วันที่ 5 มีนาคม 2532 อันเป็นช่วง ระยะเวลา ที่อยู่ ใน ระหว่าง อายุ สัญญาประกันภัย นายพงษ์เดช ได้ขับรถยนต์คัน หมายเลข ทะเบียน 1ร-4173 กรุงเทพมหานครเกิด อุบัติเหตุเฉี่ยว ชน กับ รถยนต์ คัน อื่น ได้รับ บาดเจ็บ และถึงแก่ความตายในวันเดียวกัน ขอให้บังคับจำเลย ใช้เงินจำนวน 436,986.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ เจ็ดครึ่ง ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง   จำเลยให้การ ว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในขณะหรือเนื่องจากนาย พงษ์เดช แซ่เตีย ขับรถยนต์ในขณะที่ เมาสุรา จึงอยู่ในบังคับของข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง   ศาลชั้นต้น พิพากษา ให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 400,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ เจ็ดครึ่ง ต่อปี นับแต่ วันที่ 5 มีนาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึง วันฟ้อง(1 มิถุนายน2533) มิให้คิดเกินกว่า 36,986.30 บาท   จำเลย อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ ฎีกา ศาลฎีกา วินิจฉัย ว่า "ข้อเท็จจริง ฟังได้ในเบื้องต้น ว่านายพงษ์เดช แซ่เตีย ขับรถยนต์ จากสะพาน พระรามหก มุ่งหน้าไปทางสี่แยกท่าพระ ตามถนนจรัญสนิทวงศ์ เมื่อขับมาถึงปากทางเข้าการไฟฟ้าคลองมอญ มีนายปรีชา บำรุงพืช ขับรถยนต์ มาจากทางสี่แยกท่าพระ ถึงปากทางเข้าการไฟฟ้าคลองมอญ ได้ ขับรถเลี้ยวกลับตัดหน้ารถ ที่นายพงษ์เดช ขับมาเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน รถของนายพงษ์เดช เสียหลักแล่นไปชนท้ายรถยนต์โดยสาร ที่จอดอยู่ริมทาง เป็นเหตุให้นายพงษ์เดช ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุ ดังกล่าว แพทย์โรงพยาบาลศิริราชตรวจศพนายพงษ์เดช ผู้ตาย แล้วปรากฏว่า พบ แอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ตาย สูงถึง 203 มิลลิกรัม เปอร์เซ็นต์ หรือ 0.203 กรัม เปอร์เซ็นต์ ซึ่งวงการแพทย์ ถือหลักว่า หากปริมาณแอลกอฮอล์ ในเลือดมีถึง 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือ 0.15 กรัม เปอร์เซ็นต์ หรือ มากกว่าถือว่าบุคคลนั้น เมาสุราแล้ว ทั้งนี้เนื่องจาก แอลกอฮอล์ ในเลือดที่มีจำนวนเท่านั้น จะมีผลทำให้ บุคคลที่มีร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์และเป็นปกติมีปฏิกิริยาในการตอบสนองช้าลง ระบบประสาท ซึ่ง ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ จะทำให้บังคับกล้ามเนื้อทำงานไม่ประสม ประสานกัน สติสัมปชัญญะผิดไปจากคนปกติ และมีความยากลำบาก ในการควบคุมเครื่องจักรกล และการบังคับ ยานพาหนะ ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริง ว่าขณะที่เกิดอุบัติเหตุ ผู้ตายเมาสุรา เข้าข้อยกเว้น การรับผิด ตามข้อ 11 (ฎ) จำเลย ไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย จำนวน 400,000 บาท ให้ แก่ โจทก์   มีปัญหาต้องวินิจฉัย ตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลย ได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย จำนวน 400,000 บาท ให้ แก่ โจทก์ตาม สัญญา ข้อ 11 (ฎ) หรือไม่ เห็นว่า สัญญา ข้อ 11(ฎ) ระบุ ไว้ว่า "สัญญา เพิ่มเติม นี้ ไม่คุ้มครองการสูญเสียหรือทุพพลภาพ อันเกิดขึ้นโดยทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งหมด หรือแต่บางส่วนจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ในขณะหรือเนื่องจากผู้เอาประกัน เมาสุราหรือแพ้ยา " นั้น มี ความหมายว่า สัญญาเพิ่มเติมนี้ ไม่คุ้มครองการมรณะของผู้เอาประกัน อันเกิดขึ้นโดยตรงจาก อุบัติเหตุ ที่ เกิดขึ้นจากผู้เอาประกันเมาสุรา ดังนั้นการที่จำเลย พิสูจน์ได้เพียงว่านายพงษ์เดช ผู้เอาประกัน ซึ่งถึงแก่กรรมโดยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในขณะผู้เอาประกันเมาสุราตามหลักวิชาการแพทย์ โดยพิสูจน์ไม่ได้ ว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นเนื่องจากผู้เอาประกันเมาสุรา จำเลยจึงไม่ได้ รับยกเว้น ตามข้อสัญญาดังกล่าว ต้องรับผิดต่อโจทก์ ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องโจทก์ มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ ฟังขึ้น "พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้น”   สรุป ถึงตายเวลาเมา ประกันก็ต้องจ่าย เพราะไม่ได้ตายด้วยเหตุเมา  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 รักษาโรคทางโทรศัพท์

ฉบับนี้มีเรื่องเกี่ยวกับคดีเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์มาฝากท่านสมาชิกฉลาดซื้อ ไม่อยากโม้มากเดี๋ยว บก.หาว่าอู้บทความมีแต่น้ำไม่มีเนื้อ มาดูเรื่องจริงกันเลยดีกว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2552 จำเลยที่ 3 มิได้ตรวจดูอาการของโจทก์ตั้งแต่แรกเข้าการรักษาที่โรงพยาบาลพนมสารคามด้วยตนเอง  แต่วินิจฉัยโรคและสั่งการรักษาอาการของโจทก์ตามที่ได้รับรายงานทางโทรศัพท์จากพยาบาลแทนโดยไม่ได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของโจทก์ด้วยตนเอง  แม้จำเลยที่ 3 จะสอบถามจากพยาบาลก่อนที่พยาบาลจะฉีดยาให้โจทก์เพื่อทำการรักษาก็ตาม  ก็หาใช่วิสัยของบุคคลผู้มีวิชาชีพเป็นแพทย์จะพึงกระทำไม่  ทั้งห้องแพทย์เวรกับห้องฉุกเฉินที่โจทก์อยู่ห่างกันเพียง 20 เมตร ไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยอันทำให้จำเลยที่ 3 ไม่สามารถมาตรวจวินิจฉัยอาการของโจทก์ได้ด้วยตนเองแต่อย่างใด  ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อ   เมื่อพยาบาลฉีดยาบริคานิลให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งการ  หลังจากนั้นโจทก์มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง  โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์มีอาการเช่นว่านั้นมาก่อน  อาการแพ้ยาดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ความยินยอมของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 3 ทำการรักษา หากการรักษานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายโจทก์ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 อันเป็นการทำละเมิด  จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์  โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 3 อันเป็นหน่วยงานของรัฐให้ต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ได้ ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย  ค่าเสียสมรรถภาพในการมองเห็นและค่าสูญเสียความสวยงาม  ถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน  ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ประกอบอาชีพด้วยหรือไม่  หมายเหตุผู้เขียน 1.คดีนี้ฟ้องคดีก่อนที่ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 จะมีผลใช้บังคับ ปัจจุบันคดีพิพาทที่คนไข้ฟ้องแพทย์หรือโรงพยาบาลโดยมีสาเหตุเกิดจากการรักษาพยาบาลแล้วมีความเสียหายเกิดขึ้นเป็นคดีผู้บริโภคตามคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ที่ 58/2551 2.เมื่อเป็นคดีผู้บริโภคแล้วภาระการพิสูจน์ตกอยู่กับฝ่ายแพทย์หรือโรงพยาบาลที่จะต้องพิสูจน์ว่าตนเองรักษาตามมาตรฐานการรักษาที่ถูกต้อง หากพิสูจน์ไม่ได้ก็ต้องรับผิด ทั้งนี้ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 บัญญัติว่า ประเด็นข้อพิพาทข้อใดจำเป็นต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการผลิต การประกอบ การออกแบบ หรือส่วนผสมของสินค้า การให้บริการ หรือการดำเนินการใดๆ ซึ่งศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของคู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ ให้ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจนั้น 3.คดีนี้โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 3 กระทำละเมิด รักษาอาการเจ็บป่วยของโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อ จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่า โจทก์ยินยอมให้ยอมรับผลการรักษาแล้ว และจำเลยที่ 3 มิได้ประมาทเลินเล่อ ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสามในเรื่องความยินยอมของโจทก์ในการรักษาเป็นการอ้างข้อต่อสู้ตามหลัก “ ความยินยอมไม่เป็นละเมิด “ เห็นว่าคดีนี้แม้โจทก์จะยินยอมให้จำเลยที่ 3 รักษาก็ต้องถือว่า เป็นการยินยอมให้รักษาตามมาตรฐานการรักษาที่ถูกต้อง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่ามีการรักษาบกพร่องผิดจากมาตรฐาน ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ 4.คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้โจทก์ได้รับค่าความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินคือ ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย 400,000 บาท ค่าเสียสมรรถภาพในการมองเห็น 800,000 บาท และค่าสูญเสียความสวยงามของโจทก์ 800,000 บาท รวมเป็นค่าเสียทั้งสิ้น 2,000,000 บาท ศาลฎีกาพิพากษายืน  จำเลยที่ 1 คือกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จ่าย  

อ่านเพิ่มเติม >