ฉบับที่ 136 อายุความสัญญาฝากทรัพย์ (1)

ฉบับนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคไปเปิดบัญชีฝากเงินไว้กับธนาคารชื่อดัง เค – แบ็งก์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ไปถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อ ปี พ.ศ. 2507 มียอดเงินฝากคงเหลืออยู่ในสมุดคู่ฝากจำนวน 22,596.33 บาท แล้วก็เก็บสมุดไว้และไม่ได้ไปทำธุรกรรมใดๆ กับธนาคารอีกเลย ต่อมาเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2544 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 ผู้บริโภคไปติดต่อถอนเงินจากธนาคารดังกล่าว ธนาคารปฏิเสธและแจ้งว่า ไม่มียอดเงินเหลืออยู่ในบัญชีที่ผู้บริโภคอ้าง ผู้บริโภคจึงไปฟ้องศาลดำเนินคดี คดีนี้มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่น่าสนใจหลายประการ จึงขอนำคำพิพากษาศาลฎีกามาลงให้แบบ “ จัดเต็ม “ ให้เห็นว่าศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไว้อย่างไรบ้าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8772/2550 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่ฝาก 347,070.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นทุกๆ สิ้นปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์   จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 22,596.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 347,070.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ รับฝากเงินจากบุคคลทั่วไปโดยให้ดอกเบี้ยเป็นการตอบแทน เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2504 โจทก์ได้เปิดบัญชีเงินฝากแบบสะสมทรัพย์และนำเงินฝากไว้กับจำเลยที่สาขาพัฒนพงศ์ เป็นบัญชีเลขที่ 1194 หลังจากนั้นโจทก์ได้นำเงินเข้าฝากและถอนออกไปตลอดมาโดยโจทก์ได้ถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้าย 3 ,000 บาท เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2507 ซึ่งในวันดังกล่าวโจทก์ยังคงมีเงินฝากเหลืออยู่ 22,596.33 บาท ปรากฏตามสมุดฝากเงินที่จำเลยทำมอบให้ไว้แก่โจทก์เป็นหลักฐาน หลังจากนั้นโจทก์ก็ไม่ได้ติดต่อกับจำเลยอีกเลย ต่อมาในระหว่างเดือนธันวาคม 2544 ถึงเดือนมกราคม 2545 โจทก์ได้ติดต่อขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวกับจำเลย แต่จำเลยปฏิเสธอ้างว่าไม่พบว่ามียอดเงินคงเหลืออยู่ในบัญชีตามที่โจทก์อ้าง ตามหนังสือตอบเรื่องบัญชีเงินฝากของจำเลย คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่าจำเลยต้องชำระเงินฝากคืนให้แก่โจทก์ และโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องถอนเงินคืนจากจำเลยได้ตลอดเวลา โดยโจทก์มีสมุดฝากเงินมาเป็นพยานสนับสนุน ซึ่งตามสมุดฝากเงินดังกล่าวไม่มีข้อความกำหนดระยะเวลาในการรับฝากเงินไว้แต่อย่างใด … เนื้อหามีความละเอียดมาก เพราะฉะนั้นอ่านกันต่อฉบับหน้านะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 ผลร้ายของการชำระหนี้ที่ขาดอายุความไปแล้ว

โดยปกติเจ้าหนี้จะต้องฟ้องบังคับชำระหนี้ภายในอายุความที่กฎหมายบัญญัติไว้  ซึ่งอาจจะเป็น 6 เดือน ถึง 10 ปี เช่น  กรณีผู้พักอาศัยในโรงแรมจะเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพราะความสูญหายหรือบุบสลายของทรัพย์สินที่ผู้พักอาศัยพามาไว้ในโรงแรมจากเจ้าสำนักโรงแรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 678   หรือ 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสัญญาฝากทรัพย์ในกรณีฟ้องเรียกให้ใช้เงินบำเหน็จค่าฝากทรัพย์หรือให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ ตามมาตรา 671 หรือ 1 ปีในกรณีของการฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดตามมาตรา 488 วรรคหนึ่ง หรือ 2 ปี ในกรณีผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตฟ้องเรียกคืนเงินที่ได้ออกทดรองจ่ายแทนผู้ถือบัตรไปตาม มาตรา 193/34(7) หรืออย่างยาวที่สุดก็ไม่เกิน 10 ปี ดังกรณีที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 193/30 สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความมิได้ทำให้สิทธิเรียกร้องหรือหนี้รายนั้นระงับสิ้นไปเพียงแต่ให้ลูกหนี้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้เท่านั้น  หากลูกหนี้ยอมชำระหนี้ให้ ถึงจะไม่รู้ว่าหนี้ขาดอายุความแล้ว ก็ถือเป็นการชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 193/28 วรรคหนึ่งมิใช่ลาภมิควรได้ ลูกหนีจึงไม่มีสิทธิเรียกคืนจากเจ้าหนี้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 408(2)   ถ้าลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ที่ขาดอายุความ เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องบังคับชำระหนี้นั้นได้ กฎหมายเพียงแต่ให้สิทธิลูกหนี้ที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้เท่านั้นตามมาตรา 193/10 หากลูกหนี้มิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแจ้งชัด คดีก็เท่ากับลูกหนี้มิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้  ศาลจะยกเรื่องอายุความขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้เพราะมาตรา 193/29 บัญญัติห้ามไว้ ในกรณีที่หนี้ขาดอายุความไปแล้ว แต่ถ้าลูกหนี้ได้สละประโยชน์แห่งอายุความนั้นเสีย  จะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ตามเช่น  ปฏิบัติการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้บางส่วน  ทั้งๆ ที่รู้ว่าหนี้ดังกล่าวขาดอายุความ  ลูกหนี้ก็ไม่อาจยกอายุความที่ขาดไปแล้วนั้นขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ และต้องเริ่มนับอายุความเดิมกันใหม่  นับแต่วันที่ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นตามมาตรา 193/24 มาดูกรณีศึกษาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7912/2553 จำเลยใช้บัตรเครดิตของธนาคาร ก. ซื้อสินค้าและบริการ  ธนาคาร ก. แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ภายในวันที่ 9 พฤศจิกายน  2537 แต่จำเลยไม่ชำระ  ธนาคาร ก.จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน  2537 เป็นต้นไป  เมื่อสัญญาใช้บัตรเครดิตมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 และครบกำหนดวันที่ 10 พฤศจิกายน 2539   หลังจากที่อายุความครบกำหนดแล้ว  จำเลยได้ผ่อนชำระหนี้จากการใช้บัตรเครดิตให้แก่ธนาคาร ก. หลายครั้งตั้งแต่ปี 2540 ติดต่อกันเรื่อยมา  โดยชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 8 ตุลาคม  2544  เป็นการแสดงออกโดยปริยายว่า  จำเลยได้สละประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24 จำเลยย่อมไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้ธนาคาร ก.   และโจทก์ซึ่งรับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคาร ก. ได้ และต้องเริ่มนับอายุความใหม่จากวันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้าย ซึ่งนับถึงวันฟ้องยังไม่ครบ 2 ปี จึงไม่ขาดอายุความ หมายเหตุผู้เขียน ลูกหนี้บัตรเครดิตทั้งหลายจำไว้ให้แม่นๆ  หนี้ขาดอายุความไปแล้ว อย่าเผลอผ่อนชำระใดๆ ทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 ดอกเบี้ยที่เกินอัตรากว่าที่กฎหมายกำหนด

  ฉบับนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ผู้ประกอบธุรกิจ( บริษัทจีอี แคปปิตอล  (ประเทศไทย) จำกัด) ฟ้องศาลบังคับให้จำเลย( ผู้บริโภค)ชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยตามที่ได้กู้เงินสินเชื่อควิกแคชไป โดยผู้บริโภคกู้เงินต้นไปเพียง 100,000 บาท  แต่ได้รับเงินจริง 98,500 บาท เพราะ  โดนหักค่าบริการครั้งแรกในอัตราร้อยละ  0.5 ของวงเงิน และจำเลยต้องผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเดือนละ 5,064.02 บาท เป็นเวลา 30 เดือน เป็นเงิน 151,920.60 บาท  เมื่อหักเงินที่จำเลยได้รับมาจริง  98,500 บาท โจทก์จะได้รับผลประโยชน์ถึง 53,420.59 บาท (ดอกโหดจริงๆ) ต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่ได้ผ่อนชำระ โจทก์จึงมาฟ้องคดีโดยเรียกเรียกดอกเบี้ยมาเต็มอัตราศึก มาดูกันสิว่าผลคดีจะเป็นอย่างไร โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 116,891.09 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 81,371.92 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 81,371.92 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2548  เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาท   จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ ... คดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมาย  ขณะทำสัญญายังไม่มีประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน  ดังนั้นการเรียกดอกเบี้ยเงินกู้จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 654  และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี  แม้โจทก์จะคิดผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาเป็นค่าบริการครั้งแรก  และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินต่างหากจากดอกเบี้ยที่เรียกเก็บโดยใช้ชื่อเรียกแตกต่างออกไป  แต่ผลประโยชน์ดังกล่าวก็เป็นค่าตอบแทนที่จำเลยต้องใช้ให้แก่โจทก์จากการได้กู้ยืมเงิน  ดังนั้น เงินที่โจทก์คิดเป็นค่าบริการครั้งแรกและค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงินดังกล่าวจึงเป็นดอกเบี้ยของสัญญากู้ยืมเงิน  โจทก์ได้รับผลประโยชน์คิดเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดตามสัญญา ได้แก่ ค่าบริการครั้งแรก ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 53,420.59 บาท  ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วมากกว่าร้อยละ 15  ต่อปี  อันเป็นการคำนวณจากต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งหมดที่คำนวณไว้ล่วงหน้าเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน   โดยจำเลยต้องผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่โจทก์เท่ากันทุกเดือน โดยที่จำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระมิได้ลดลงตามสัดส่วนของต้นเงินที่ลดลง  อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่เมื่อคำนวณเป็นดอกเบี้ยตามอัตราปกติเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ข้อตกลงที่เกี่ยวกับผลประโยชน์จากการกู้ยืมในสัญญาในส่วนที่ถือเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ  โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจากจำเลย  และต้องหักเงินค่าบริการครั้งแรกที่โจทก์เรียกเก็บไปแล้วออกจากต้นเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาด้วย พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5  ต่อปี  นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และเมื่อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัดและไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้  จึงต้องนำไปชำระต้นเงินทั้งหมด...ฯลฯ พิพากษาแก้เป็นว่า  ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 99,966.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 98,500 บาท นับแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2548  จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์  แต่ให้นำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วนับแต่วันที่ได้รับเงินกู้ยืมจากโจทก์(วันที่ 20 เมษายน 2547) จนถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2548  ไปหักออกจากต้นเงินจำนวน 98,500 บาท เมื่อเหลือต้นเงินจำนวนเท่าใด ให้จำเลยชำระต้นเงินคงเหลือจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี  นับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2548  เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์...ฯลฯ “ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13835/2553) หมายเหตุผู้เขียน มีสุภาษิตคำพังเพยทางกฎหมายว่า มาศาลด้วยมืออันสกปรก ศาลไม่รับบังคับให้ สมน้ำหน้ามัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 เจตนาส่อพฤติกรรม เรื่องต้องรู้คนคอนโด

กรณีเจ้าของอาคารชุดไม่ยอมชำระค่าส่วนกลาง แล้วเจอการขัดขวางการใช้ทรัพย์ด้วยวิธีการแปลกๆ พิลึกพิลั่น เช่น ติดตั้งประตูกลอัตโนมัติหากไม่มีบัตรรหัสผ่านก็เข้าไม่ได้ ไม่ให้บัตรจอดรถ  ตัดน้ำตัดไฟ ปิดประกาศทวงหนี้หน้าตึกให้อับอายไปทั้งวงศ์ตระกูลฯลฯ วิธีการเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการกระทำละเมิดทั้งสิ้น แม้จะอ้างว่าเป็นระเบียบข้อบังคับของนิติบุคคล แต่ข้อบังคับเหล่านี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้หลายคดีแล้วว่า เป็นการออกข้อบังคับเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคดีทางศาล ไม่มีผลใช้บังคับได้ และต้องใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดนั้นด้วย ส่วนจะมากจะน้อยก็แล้วแต่พฤติการณ์แห่งคดี อย่างไรก็ตามมีคดีล่าสุดที่ศาลเห็นว่าโจทก์มีส่วนผิดและส่อไปในทางไม่สุจริต  ผลเรื่องค่าเสียหายพลิกล็อคถล่มทลาย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10230/2553 การที่เจ้าของร่วมรวมทั้งโจทก์มีหน้าที่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางนั้น  เป็นหนี้ที่เกิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 18  ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ  ไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำสัญญาระหว่างกันและเป็นหนี้เงินซึ่งตาม ป.วิ.พ. ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การบังคับชำระหนี้โดยการใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้พิจารณาพิพากษาบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้  และตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ  ก็ไม่ได้บัญญัติให้จำเลยทั้งสองบังคับชำระหนี้โดยวิธีอื่นหรือโดยพลการ  ตรงกันข้าม พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังบัญญัติไว้ในมาตรา 41  กำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดมีบุริมสิทธิในหนี้ค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 ดังกล่าวไว้ เพื่อประโยชน์ในการบังคับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายนี้  แสดงว่าการบังคับชำระหนี้ก็ต้องดำเนินการโดยใช้สิทธิทางศาล นอกจากนี้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดย่อมมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลของตนในอาคารชุด และมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลางด้วย  ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด มาตรา 13 วรรคหนึ่ง  มิสิทธิใช้สอยทรัพย์ส่วนกลางที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมนั้นด้วย ย่อมไม่ชอบที่จำเลยที่ 1 จะใช้วิธีการขัดขวางการใช้ทรัพย์สินของโจทก์เพื่อเป็นมาตรการบังคับให้โจทก์ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์โดยพลการ ส่วนข้อบังคับของจำเลยที่ 1 มีข้อความในทำนองให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิห้ามหรืองดสิทธิการใช้ทรัพย์ส่วนกลางหรือกำหนดมาตรการหรือได้นั้น  เมื่อพิจารณาถึงข้อบังคับในหมดเดียวกันนี้ข้ออื่นๆ ที่มีข้อความกำหนดการใช้ทรัพย์ส่วนกลางของเจ้าของร่วมต้องไม่เป็นการใช้หรือกระทำการใด ๆ  อันก่อให้เกิดความเดือดร้อน  รำคาญ รบกวน ละเมิดสิทธิ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของร่วมในอาคารชุด และต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง รวมทั้งต้องใช้ไปตามเกณฑ์ระเบียบปฏิบัติระยะเวลาการใช้หรือกฎเกณฑ์อื่นที่กำหนดให้ใช้   ซึ่งล้วนเป็นกรณีที่เป็นการใช้ทรัพย์ส่วนกลางโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบที่กระทบสิทธิเจ้าของร่วมรายอื่น  จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 จะใช้วิธีการเพื่อป้องกันการกระทำโดยไม่ชอบนั้นเท่านั้น ไม่รวมถึงการห้ามหรือขัดขวางการใช้ทรัพย์ส่วนกลางเพื่อบังคับให้เจ้าของร่วมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางแต่อย่างใด   ดังนี้ ในกรณีการจ่ายน้ำประปาไปยังห้องชุดของโจทก์นั้น แม้การจ่ายน้ำประปาจะต้องใช้อุปกรณ์บางส่วนที่เป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วยดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิห้ามไม่ให้โจทก์ใช้ประโยชน์ และเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ผิดนัดข้อตกลงในการซื้อน้ำประปา จำเลยที่ 1 ก็ย่อมไม่มีสิทธิงดจ่ายน้ำประปาแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำการโดยไม่ชอบอันเป็นการละเมิดและผิดสัญญาซื้อน้ำประปาต่อโจทก์  ซึ่งโจทก์น่าจะได้รับความเสียหายอยู่บ้าง แต่โจทก์มีส่วนผิดกระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและส่อไปในทางไม่สุจริตจึงไม่สมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ หมายเหตุผู้เขียน คดีนี้โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการไม่ได้เข้าอยู่ในอาคารชุดเดือนละ 100,000 บาท จนกว่าจำเลยจะส่งมอบบัตรคีย์การ์ด บัตรผ่านติดรถยนต์และจ่ายน้ำประปา แต่ศาลไม่ให้แม้แต่บาทเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 สนามกอล์ฟข้าฯ ใครอย่าแตะ

  ฉบับนี้เป็นเรื่องเบาๆ เกี่ยวกับผู้บริโภคซึ่งเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟแห่งหนึ่งวันดีคืนดี(ที่ถูกน่าจะเป็นวันร้ายคืนร้ายเสียมากกว่า) ทางสนามกอล์ฟก็มีหนังสือถึงผู้บริโภคให้ชำระค่าบริการรายปีเพิ่มขึ้นอีกปีละ 3,000  ผู้บริโภคไม่ยอมชำระ ทางสนามกอล์ฟจึงไม่ให้ใช้บริการสนามกอล์ฟ สงสัยผู้บริโภครายนี้คงเคยอ่านหนังสือฉลาดซื้อ(ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศไทยในหนังสือประเภทเดียวกัน) เลยทราบดีว่าร้องทุกข์ 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1,000 ครั้ง และการยื่นฟ้องคดีก็น่าจะดีกว่าการร้องทุกข์ มาดูกันว่าผลคดีจะเป็นอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1991/2552 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันยกเลิกกฎข้อบังคับที่ออกใหม่ทั้งหมดและให้ใช้กฎข้อบังคับฉบับเดิมจนกว่าจะครบกำหนด 30 ปี และให้โจทก์ทั้งแปดใช้บริการสนามกอล์ฟเมืองแก้วได้ต่อไปตามกฎข้อบังคับเดิมจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลา 30 ปี กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 96,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องตนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งแปด จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง  จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้กฎและข้อบังคับของสนามกอล์ฟเมืองแก้วของจำเลยทั้งสามที่ออกตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544  ไม่มีผลใช้บังคับกับโจทก์ทั้งแปดและให้โจทก์ทั้งแปดมีสิทธิใช้สนามกอล์ฟเมืองแก้วได้ตามกฎและข้อบังคับเดิมจนกว่าครบกำหนดเวลาอายุสมาชิก 30 ปีกับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งแปด โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการบริหารกิจการสนามกอล์ฟเมืองแก้ว โจทก์ทั้งแปดเป็นสมาชิกสามัญของจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งแปดรับโอนสิทธิการเป็นสมาชิกมาจากสมาชิกของจำเลยที่ 2 สัญญาระหว่างโจทก์ทั้งแปดกับจำเลยที่ 2 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน  คู่สัญญาต่างมีสิทธิและหน้าที่ต่อกัน กล่าวคือโจทก์ทั้งแปดจะต้องชำระเงินค่าสมาชิกและเงินประกันค่าบำรุงสนาม เมื่อโจทก์ทั้งแปดชำระเงินดังกล่าวแล้วเกิดสิทธิที่จะใช้สนามกอล์ฟตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 2  ส่วนจำเลยที่ 2 เมื่อได้รับเงินจากโจทก์ทั้งแปดดังกล่าวก็มีหน้าที่ให้โจทก์ทั้งแปดเข้าสนามกอล์ฟ  ดังนั้น  หากจำเลยที่ 2 จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสำคัญคือการเรียกเก็บค่าบำรุงสนามเป็นรายปีก็จะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งแปดซึ่งเป็นคู่สัญญาก่อน  หามีสิทธิกระทำตามลำพังแต่อย่างใดไม่ ที่ใบรับขอโอนสมาชิกมีข้อความว่าโจทก์ทั้งแปดยินยอมที่จะปฏิบัติตามกฎและข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ที่มีอยู่ในขณะนี้และที่จะมีภายหน้า ก็หมายความแต่เพียงกฎเกณฑ์ข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้สนามกอล์ฟเท่านั้น  หาได้รวมถึงค่าบำรุงสนามรายเดือนแต่อย่างใด  เพราะโจทก์ทั้งแปดรับโอนสิทธิการเป็นสมาชิกจากสมาชิกเดิมของจำเลยที่ 2 จะต้องเสียค่าตอบแทนต่างหากจากค่าสมาชิกและเงินประกันค่าบำรุงสนามรายเดือนอีกต่างหาก  ส่วนกฎและข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ที่มีหมายเหตุว่าค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ นี้ อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมนั้นเป็นข้อความที่เขียนต่อจากหัวข้อค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียม ไม่เกี่ยวกับการสมัครเป็นสมาชิกและค่าบำรุงสนามรายเดือนแต่อย่างใด  มีส่วนเกี่ยวข้องกับโจทก์ทั้งแปดซึ่งเป็นสมาชิกแต่เพียงค่าบริการสนามกอล์ฟแก่ผู้ที่สมาชิกพาไปเล่นกอล์ฟเท่านั้น “ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 ซื้อคอนโดจากการขายทอดตลาด ต้องรับภาระหนี้เดิมหรือไม่

การซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการขายทอดตลาด เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการจะมีบ้านหรือห้องชุด อย่างแรกไม่โดนหลอกขายแน่ๆ เพราะมีการรับประกันโดยหน่วยงานของรัฐ ราคาก็แล้วแต่การประมูล แต่ข้อพึงระวังก็เยอะเช่นกัน ทั้งเรื่องสภาพบ้านที่อาจจะประเมินยากว่า เสื่อมสภาพไปแค่ไหน หรือปัญหาการไม่ยอมออกจากบ้านของเจ้าของเดิมที่ยังทำใจไม่ได้ ฉลาดซื้อมีกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นกรณีศึกษาของผู้ซื้อห้องชุดจากการขายทอดตลาด ที่โดนเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของเดิมค้างชำระไว้ ปัญหาคือเจ้าของใหม่ต้องจ่ายหรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10390/2553  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ ...โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อห้องชุดพิพาทได้จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี  แต่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของกรรมสิทธิ์คนเดิมค้างชำระกับเบี้ยปรับรวมเป็นเงิน 1,264,798.51 บาท จำเลยที่ 1 จึงไม่ต่อมาตรวัดน้ำให้ห้องชุดพิพาท ไม่มอบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สำหรับผ่านประตูเข้าออกอาคารชุดและไม่ออกหนังสือรับรองรายการหนี้ห้องชุดพิพาทให้โจทก์เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการจดทะเบียนและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองรายการหนี้หรือหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทหรือไม่  เห็นว่า ตามพ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าของร่วม(หมายถึงเจ้าของห้องชุดในอาคารชุด)  ต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้บริการส่วนรวมและที่เกิดจากเครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูและรักษาและดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามอัตราส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 14 หรือตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุดทั้งนี้ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ และมาตรา 24 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่ขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพนักงานเจ้าหน้าที่จะรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้เมื่อห้องชุดดังกล่าวปลอดจากหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 โดยต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุดจากนิติบุคคลอาคารชุดมาแสดง  นางสาวชลธร  มีวงษ์อุโฆษ เจ้าพนักงานบังคับคดีเบิกความประกอบประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเรื่องขายทอดตลาดไว้ว่า “ ...ผู้ซื้อได้ต้องรับผิดชอบเรื่องภาระหนี้สิน(หากมี)ที่มีต่อนิติบุคคลอาคารชุดด้วย” ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกรมบังคับคดีที่กำหนดให้ระบุข้อความลักษณะดังกล่าวในกรณีที่ทรัพย์ที่ขายทอดตลาดเป็นอาคารชุดเพื่ออนุวัตรตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ดังนั้นเมื่อโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ห้องชุดพิพาทได้จึงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวจะปฏิเสธอ้างว่าไม่ทราบเงื่อนไขนี้ไม่ได้ ทั้งนางสาวชลธรยังเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองว่า ก่อนประกาศขายทอดตลาด จำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 30 สิงหาคม  2544 แจ้งบอกหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางจำนวนดังกล่าวที่เจ้าของกรรมสิทธิ์คนเดิมค้างชำระอยู่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบแล้ว  ซึ่งโจทก์สามารถตรวจสอบภาระหนี้สินดังกล่าวได้จากเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อนเข้าสู้ราคาได้อยู่แล้ว เพราะเอกสารดังกล่าวอยู่ในสำนวนบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี  ทั้งเป็นข้อมูลสำคัญที่โจทก์ต้องนำมาประกอบการตัดสินใจเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาด  ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าไม่ทราบว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทมีภาระหนี้สินจำนวนเท่าใดจึงฟังไม่ขึ้น  เมื่อโจทก์ไม่ยอมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางพร้อมเบี้ยปรับที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองรายการหนี้หรือการปลอดหนี้ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น” พิพากษายืน หมายเหตุ ตามคำพิพากษาศาลฎีกานี้แม้โจทก์ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดจะไม่ได้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดเพราะจำเลยไม่ออกหนังสือปลอดหนี้ให้โจทก์ โจทก์จึงไม่สามารถนำหนังสือปลอดหนี้มาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ แต่เมื่อฟังไม่ได้ว่าโจทก์รับโอนมาโดยไม่สุจริตศาลฎีกาจึงรับรองสิทธิการครอบครองของโจทก์ในฐานะผู้ซื้อห้องชุดได้จากการประมูลขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยศาลฎีกาตัดสินให้จำเลยที่ 1 (นิติบุคคลอาคารชุด) โดยจำเลยที่ 2 (ผู้แทน) ต่อมาตรวัดน้ำ มิเตอร์ไฟ และส่งมอบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์(คีย์การ์ด)ให้โจทก์เพื่อให้โจทก์สามารถใช้ประโยชน์และครอบครองห้องชุดได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 เอาอาหารจากข้างนอกเข้าไปในโรงภาพยนตร์ได้หรือไม่

  เป็นเรื่องถกเถียงกันมาตลอดว่า เราสามารถเอาอาหาร เครื่องดื่ม ที่ไม่ได้จำหน่ายหน้าโรงภาพยนตร์เข้าไปรับประทานในขณะชมภาพยนตร์ได้หรือไม่ “ได้สิ ก็หน้าโรงขายแพงเหลือเกิน ราคาขูดรีดมาก ซื้อข้างนอกถูกกว่าตั้งแยะ” “ทำไมจะไม่ได้ ก็ขายของราคาเอาเปรียบมาก เราซื้อตั๋วแล้ว ก็น่าจะนำเอาอาหารเข้าไปได้ ของที่เราซื้อก็เหมือนหน้าโรงหนังนั่นแหละ” บลาๆๆ เรื่องนี้ก็เห็นจะต้องแยกเป็นสองประเด็นก่อน คือ 1.เราเอาอาหารจากข้างนอกเข้าไปในโรงภาพยนตร์ได้หรือไม่ 2.ราคาอาหารหน้าโรงหนังแพงเกินไป ประเด็นแรกคือ เราต้องยอมรับก่อนว่า เราเข้าไปซื้อบริการ “ชมภาพยนตร์” ในสถานที่ของเจ้าของกิจการ เท่ากับว่า เรายินยอมรับเงื่อนไขที่ทางโรงกำหนด เช่น ห้ามนำอาหารจากร้านค้าภายนอกที่ไม่ได้จำหน่ายโดยโรงหนังเข้าไปภายในโรง หรือการขอตรวจกระเป๋าเพื่อดูว่าเรานำกล้องเข้าไปแอบถ่ายหรือเปล่า ฯลฯ ถ้าเราไม่ยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ทางโรงกำหนด ก็เท่ากับเราละเมิดสัญญาเขาก็มีสิทธิยกเลิกการชมภาพยนตร์ของเราได้ เพราะเราเป็นฝ่ายผิดเงื่อนไข แต่ในทางปฏิบัติ หลายโรงก็ยืดหยุ่นให้เรานำอาหารเข้าไปได้ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความพอใจให้ลูกค้า คงไม่มีโรงไหนกล้าไล่เราออกมาอย่างจริงจัง นอกจากจะเตือนๆ บ้าง สรุปว่า ทางโรงมีสิทธิห้ามไม่ให้เรานำอาหารจากภายนอกเข้าไปได้ ประเด็นที่สอง สินค้าหน้าโรงราคาแพงมาก โดยปราศจากการควบคุมราคานั้น อันนี้เป็นเรื่องน่าคิด เคยมีการทำเรื่องร้องเรียนกระทรวงพาณิชย์มาแล้ว โดยหน่วยงานที่ดูแลเรื่องราคาสินค้าก็คือ กรมการค้าภายใน ซึ่งได้อธิบายว่า สินค้าโรงภาพยนตร์ไม่ได้อยู่ในบัญชีสินค้าและบริการควบคุม เพราะถือเป็น “บริการทางเลือก” ซึ่งไม่สามารถใช้อำนาจตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ไปเอาผิดกรณีจำหน่ายสินค้าในราคาแพงกว่าท้องตลาดได้ บริการทางเลือก หมายความว่า เขาไม่ได้บังคับให้ซื้อ ไม่พอใจก็ไม่ต้องซื้อ อืม ก็จริงนะ แต่ว่า เมื่อไปรวมกับการห้ามนำอาหารจากข้างนอกเข้าไป ก็เลยกลายเป็นว่า มันเหมือนการ “มัดมือชก” ผู้บริโภคดีๆ นี่เอง(ยังไม่รวมเรื่องราคาตั๋วที่แพงจัดและการโฆษณาบ้าเลือดในโรง) เรื่องนี้สำหรับประเทศนี้ กฎหมายคงไม่ใช่ทางออก ผู้บริโภคต้องรวมตัวกันให้ได้จนมีพลังมากๆ มากพอที่จะต่อรองด้วยการไม่ซื้อสินค้าหน้าโรงหนัง จนกว่าผู้ประกอบการจะสำนึกได้ ซึ่งถ้าทำได้จริง รับรองว่า ราคาจะลดลงมาแน่นอน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ระวังปัญหาแอบใช้บัตรประชาชน…ช่วงน้ำท่วม

  มีโอกาสไปประชุมกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลพบุรีเลยได้มีโอกาสฟังปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในจังหวัด ซึ่งเป็นปัญหาเก่าแก่ที่เกิดขึ้นมานานคือ การแอบนำสำเนาบัตรประชาชนไปใช้ทำกิจการอย่างอื่นๆ เรื่องมีอยู่ว่าชาวบ้านจำนวนสามสิบกว่าคนได้นำสำเนาบัตรประชาชนไปให้ผู้ใหญ่บ้านเพื่อขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร แต่วันดีคืนดีก็พบว่า สมาชิกในกลุ่มทั้งสามสิบกว่าคนเป็นหนี้กันถ้วนหน้าคนละหลายแสนบาท เรื่องแดงขึ้นเพราะถูกโทรศัพท์ทวงเงินว่าไปกู้เงินกับเขาไว้แล้วทำไมไม่จ่ายคืน แถมถูกแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจ ตำรวจพาซื่อนัดผู้เสียหายไปข่มขู่ให้เสร็จว่า เป็นหนี้เขาแล้วก็ต้องจ่าย จะทำบันทึกจ่ายกันยังไงก็ว่ามา เจอเรื่องแบบนี้กับเรา หากไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่มีความรู้คงปวดหัวและวุ่นวายมากพอควร แต่เผอิญสามสิบกว่าคนนี้โชคดี จังหวัดลพบุรีมีศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เลยมีคนนำเรื่องมาเล่าให้ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ ฟังก็ได้สืบสาวเรื่องราวจนทำให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ลูกสะใภ้ผู้ใหญ่บ้านได้นำสำเนาบัตรประชาชนของคนที่ไปขึ้นทะเบียนไปทำสำเนาเพิ่มเติมแล้วปลอมลายเซ็นต์ไปกู้เงิน และน่าจะรับรู้ร่วมกันระหว่างคนแอบไปกู้กับคนให้กู้ โดยอาจจะเคยดำเนินการแบบนี้มาก่อนหรือไม่ ในอดีตเราอาจจะมีปัญหาเรื่องนี้เพราะนำบัตรประชาชนไปขอใช้โทรศัพท์มือถือเรียกว่านอนอยู่บ้านเฉยๆ ก็เป็นหนี้ หรือบางคนก็กลายเป็นสมาชิกพรรคการเมืองกันไป กรณีนี้เมื่อศูนย์ฯ เข้าไปให้การช่วยเหลือนอกจากไม่ต้องจ่ายเงินเพราะไม่ได้กู้แล้ว ยังได้แจ้งความดำเนินคดีกับลูกสะใภ้ผู้ใหญ่บ้านว่า ใช้เอกสารทางราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต และฉ้อโกงประชาชน ช่วงนี้หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและรัฐบาลได้มีมติให้เยียวยาความเสียหาย ซึ่งในคอลัมน์นี้เราคงไม่ถกเถียงเรื่องจำนวนที่จ่ายว่ามากน้อยเพียงพอหรือไม่เพียงใด แต่ทุกครั้งในการดำเนินการก็ต้องใช้บัตรประชาชนเป็นหลักฐาน อย่าลืมคิดถึงเรื่องนี้ไว้เป็นบทเรียน การใช้สำเนาบัตรประชาชนต้องระบุให้ชัดเจนว่าเพื่อวัตถุประสงค์อะไร และกรุณาเขียนให้ชัดเจนในการใช้งานและเขียนระบุบนรูปของตนเองไม่ต้องกลัวว่ารูปจะไม่สวยหรือมองไม่เห็นเพราะมิเช่นนั้น อาจจะมีผู้ไม่หวังดีนำสำเนาไปใช้ประโยชน์เพื่อการอื่นและอาจจะลำบากและเจ็บตัวภายหลังได้ ให้กำลังใจกับผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 อายุความสินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ

  ฉบับนี้มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องอายุความตามสัญญากู้เงินสินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีผู้บริโภคกู้เงินกันจำนวนมากอายุความคือระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดบังคับไว้ให้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลภายในกำหนดเวลา  ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นานจนเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วจะทำให้เกิดผลเสียหายแก่เจ้าของสิทธิเรียกร้อง(เจ้าหนี้)นั้นได้  ซึ่งเรียกว่า “ สิทธิเรียกร้องขาดอายุความ” หรือ “ หนี้ขาดอายุความ “ ทั้งนี้ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 กำหนดไว้เมื่อเจ้าหนี้ปล่อยปละละเลยไม่บังคับสิทธิเรียกร้องของตนที่มีต่อลูกหนี้ จนกระทั่งเลยกำหนดอายุความที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว  เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิที่จะนำคดีของตนขึ้นฟ้องร้องต่อศาลได้  เพียงแต่ว่าเจ้าหนี้ฟ้องแล้ว อาจถูกศาลพิพากษายกฟ้องได้ถ้าลูกหนี้ได้ยกเหตุหนี้ขาดอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ปฏิเสธการชำระหนี้  แต่ถ้าลูกหนี้ไม่ยกเหตุขาดอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้  ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุใดก็ตาม ศาลก็ไม่อาจเอาเหตุหนี้ขาดอายุความนี้มาเป็นเหตุยกฟ้องได้ ทั้งนี้เพราะมาตรา 192/29 ได้กำหนดห้ามไว้มาตรา 193/12 บัญญัติว่า “ อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใดให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น "มาดูกรณีศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5725/2552 ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ ผู้กู้ทำสัญญากู้เงินสินเชื่อกรุงไทยธนวัฎมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันโดยยินยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วม  และตามหนังสือสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏ ข้อ 4 ระบุว่า ผู้กู้ตกลงให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนและเงินพึงได้อื่นใดที่ผู้กู้พึงได้จากนายจ้างเป็นรายเดือนให้ผู้กู้ โดยวิธีนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้กู้ที่เปิดไว้ ณ สำนักงานธนาคารผู้ให้กู้เป็นประจำทุกเดือนตลอดไป  จากข้อสัญญาดังกล่าวเห็นได้ว่านิติสัมพันธ์ระหว่างผู้กู้กับโจทก์ตามสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏในลักษณะนี้กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้กู้ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม  2534 หลังจากนั้นผู้กู้หรือหน่วยงานของผู้กู้ ก็มิได้นำเงินมาชำระหนี้โจทก์อีกเลย  จึงถือเป็นการประพฤติผิดสัญญา และเมื่อตามหนังสือสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏ ข้อ 4 ระบุว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งหมดคืนได้ทันที ถือได้ว่าระยะเวลา  ซึ่งโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นั้นเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม  2534 เป็นต้นไป หาใช่นับแต่วันครบกำหนด 7 วันนับแต่วันที่ 26  มกราคม  2547 ที่โจทก์บอกเลิกสัญญาดังที่โจทก์ฎีกาไม่  โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มกราคม2547 จึงเกิน 10 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 นิติบุคคลอาคารชุดห้ามเราเข้าห้องของเราได้หรือไม่

ในฉบับนี้มีเรื่องราวมาฝากผู้บริโภคซึ่งเป็นคนคอนโดฯ รับรองเป็นเรื่องโดนใจผู้บริโภคแน่นอน ส่วนจะพิลึกอย่างไรก็มาติดตามกันดู คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8512/2553 ตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ ให้ความหมายของคำว่า “ ทรัพย์ส่วนบุคคล” ว่า ห้องชุดและหมายความรวมถึงสิ่งปลูกสร้าง หรือที่ดินที่จัดไว้ให้เป็นของเจ้าของห้องชุดแต่ละราย และให้ความหมายของคำว่า “ ทรัพย์ส่วนกลาง “ ว่า ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิห้องชุดในอาคารชุดพิพาท ซึ่งถือเป็นทรัพย์ส่วนบุคคล  โจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอย  จำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น  กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้  และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336   แม้จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดพิพาทและออกระเบียบข้อบังคับในอันที่จะจัดการและดำเนินการเพื่อความปลอดภัยดูแลกิจการต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของร่วมเพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ของอาคารชุดก็ตาม  แต่ตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 33 วรรคสอง  บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า “ นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางและให้มีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว  ทั้งนี้  ตามมติของเจ้าของร่วมภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้   “ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเพียงจัดการ  ดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางและมีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามมติของเจ้าของร่วมเท่านั้น  หามีอำนาจกระทำการใดเป็นการรบกวนสิทธิหรือเสื่อมความสะดวกในการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของร่วมไม่  แม้จะได้ความว่าโจทก์ค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางต่อจำเลยที่ 1  แต่จำเลยที่ 1  ก็ชอบที่ไปว่ากล่าวเป็นอีกคดีต่างหาก  ห้ามออกระเบียบเพื่อบังคับโจทก์ให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่จำเลยที่ 1 กำหนดโดยหลีกเลี่ยงการที่จะฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายไม่การที่จำเลยที่ 1 ติดตั้งประตูนิรภัยบริเวณหน้าลิฟต์และบันไดของอาคารชุด  โดยกำหนดระเบียบว่าจะส่งมอบบัตรผ่านประตูให้แก่เจ้าของร่วมที่ไม่ติดค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเท่านั้น  การออกระเบียบข้อบังคับเช่นนี้ทำให้โจทก์เสื่อมเสียสิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของร่วม ในอันที่จะเข้าไปใช้ทรัพย์ส่วนบุคคล  กรณีนี้ถือว่าเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์  จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในผลแห่งละเมิดที่ตนทำขึ้นก่อนหน้านี้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013/2550 วินิจฉัยทำนองเดียวกัน โดยคดีดังกล่าวเป็นเรื่องผู้บริโภคค้างค่าส่วนกลางนิติบุคคลอาคารชุด จึงออกระเบียบห้ามไม่ให้ออกสติ๊กเกอร์จอดรถให้พวกค้างชำระค่าส่วนกลางและไม่ให้เอารถมาจอดที่ที่จอดรถ  ก็เลยถูกฟ้องและแพ้คดีไปจำไว้นะครับ ห้องชุดของเราก็เสมือนบ้านของเราเป็นทรัพย์สินที่เรามีสิทธิเต็ม นิติบุคคลมีหน้าที่แค่ดูแลทรัพย์ส่วนกลางจะมาห้ามเราเข้าบ้านเราได้อย่างไร ถึงบอกไงครับ นิติบุคคลนี้ทำพิลึกจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >