ฉบับที่ 158 สัญญาฝากทรัพย์ กรณีรถหายในอู่ซ่อม

สัญญาฝากทรัพย์เป็นเอกเทศสัญญาชนิดหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ลักษณะ 10 หมวด 1 โดย มาตรา 657 ได้ให้ความหมายของสัญญาฝากทรัพย์ว่า “อันว่าฝากทรัพย์นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ฝาก  ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับฝากและผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้” ในการรับฝากทรัพย์นั้นมีทั้งเป็นการรับฝากทรัพย์เป็นการให้เปล่าไม่มีบำเหน็จ  และมีทั้งการรับฝากทรัพย์มีบำเหน็จค่าฝาก  ซึ่งผลของรับฝากทรัพย์เป็นการให้เปล่าไม่มีบำเหน็จและมีบำเหน็จค่าฝากมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะใช้ระดับความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินต่างกัน  ยิ่งผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ต้องมีระดับความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินสูงเพิ่มขึ้นไปอีก โดย มาตรา 659 บัญญัติว่า “ถ้าการฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้ ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดั่งนั้น  ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด  ก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่ เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น” มาดูตัวอย่างกรณีศึกษากันหน่อย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1008/2551 วินิจฉัยว่า การที่จะพิจารณาว่าจำเลยในฐานะผู้รับฝากรถยนต์คันพิพาทไว้โดยมีบำเหน็จค่าฝากได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับคนทั่วๆ ไป ในภาวะเช่นนั้นว่าควรจะพึงใช้ความระมัดระวังเช่นไร  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  จำเลยจอดรถยนต์คันพิพาทไว้บริเวณด้านหน้าอู่ซ่อมรถของจำเลยโดยได้ล็อกประตูและล็อกพวงมาลัยรถยนต์คันพิพาท ส่วนตัวจำเลยก็นอนอยู่ภายในอู่ดังกล่าว เมื่อได้ยินเสียงเครื่องยนต์รถดังขึ้นก็ได้ลุกขึ้นดู  ปรากฏว่ารถยนต์คันพิพาทหายไปก็ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจที่ผ่านมาทราบและออกติดตามคนร้ายกับเจ้าพนักงานตำรวจด้วย ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นแล้ว อู่ซ่อมรถของจำเลยเป็นห้องแถวและเป็นอู่ขนาดเล็ก  บริเวณด้านหน้าของอู่ตั้งประชิดติดกับขอบถนน ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะมีการกั้นรั้วหรือจัดหายามมาคอยระแวดระวังในเวลากลางคืน ดังนั้น การที่จำเลยจอดรถยนต์คันพิพาทไว้บริเวณด้านหน้าของอู่จะถือว่าจำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นหาได้ไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 520/2554 วินิจฉัยว่า  โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ โดยจำเลยเป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีวัตถุประสงค์ว่ารับฝากเงิน  จำเลยจึงเป็นผู้รับฝากผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดจึงต้องใช้ความระมัดระวังและฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นตามบทบัญญัติมาตรา 659  วรรคสาม แห่ง ป.พ.พ. อันเป็นการกำหนดมาตรฐานในการระมัดระวังในการปฏิบัติตามสัญญาในขั้นสูงสุดเยี่ยงผู้มีวิชาชีพเช่นนั้นจะพึงปฏิบัติในกิจการที่กระทำ  เมื่อปรากฏว่า พนักงานของจำเลยทุจริตลักลอบเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้าต่างๆ จำนวน 34 บัญชี รวมทั้งรายบัญชีของโจทก์  แสดงว่าจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลบัญชีเงินฝากของโจทก์ อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา  ได้ความว่าโจทก์ฝากเงินประเภทประจำ 3 ปี กรณีเป็นเรื่องปกติวิสัยที่เจ้าของบัญชีจะอุ่นใจมิได้ติดตามผลในบัญชีเงินฝากจนกว่าจะครบกำหนดตามระยะเวลาที่กำหนด การที่โจทก์ไม่ได้ไปติดต่อรับดอกเบี้ย จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติวิสัยและไม่ใช่ความผิดของโจทก์ เนื่องจากโจทก์เป็นลูกค้าของจำเลย มิใช่ผู้มีหน้าที่ระมัดระวังทรัพย์สินที่ตนฝาก  เมื่อจำเลยผิดสัญญาฝากเงินไม่ได้ใช้ความระมัดระวังและฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นในการดูแลเงินฝากของโจทก์ เมื่อเงินฝากของโจทก์ถูกเบิกถอนไปจนหมด  จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่โจทก์ หมายเหตุผู้เขียน สิทธิเรียกร้องให้คืนเงินตามสัญญาฝากทรัพย์ มิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 (ฎ. 2542/2549)     //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลแค่ไหน ตอนจบ

ความเดิม เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1  (สามี) และผู้ตาย(ภริยา)เป็นคนไข้ที่มารับบริการตรวจรักษา ใช้บริการ(คลอดบุตร) ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 (โรงพยาบาลสมิติเวช) แต่แพทย์ผู้รักษาคือจำเลยที่ 3 เป็นวิสัญญีแพทย์ จำเลยที่ 4 เป็นสูติแพทย์ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ภริยาและบุตรโจทก์ที่ 1 ตาย โจทก์ที่ 1  ถึงที่  6  จึงฟ้องคดีเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้โรงพยาบาลเอกชน... การที่ประเทศต่างๆ ได้เปลี่ยนแนวความคิดเกี่ยวกับมาตรฐานในการรักษาของแพทย์โดยไม่ถือเอามาตรฐานการรักษาดีที่สุด  แต่ใช้มาตรฐานการรักษาตามสภาพและสภาวะในขณะทำการรักษาเป็นตัวกำหนด  รวมทั้งการที่แพทยสภาใหม่ตามแนวคิดดังกล่าวน่าจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดมาตรฐานของศาลให้เปลี่ยนแปลงไปจากการอาศัยมาตรฐานการรักษาดีที่สุดไปสู่หลักเกณฑ์ใหม่  แต่การที่คดีนี้ศาลฎีกายังคงถือหลักมาตรฐานการรักษาในระดับดีที่สุดอยู่เนื่องจากมูลคดีเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2538 ในขณะที่ยังใช้ข้อบังคับเดิมของแพทยสภาที่ถือเอาการรักษาในระดับดีที่สุดเป็นมาตรฐาน  และไม่มีข้อเท็จจริงหรือได้ว่ากล่าวกันมาคือ  เงื่อนไขตามมาตรฐานที่ข้อบังคับใหม่ของแพทยสภากำหนดจึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ศาลฎีกายังคงใช้มาตรฐานดีที่สุด  ซึ่งเป็นข้อที่ปรากฏอยู่ในสำนวนเป็นมาตรฐานการวินิจฉัยความรับผิดของจำเลย  สำหรับคดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  ซึ่งเป็นเวลาที่ข้อบังคับแพทยสภาฉบับปี  2549 ได้บังคับแล้ว  น่าเชื่อว่าการถือมาตรฐานในการรักษาคงจะเปลี่ยนไปตามมาตรฐานใหม่ที่กำหนดใช้ในข้อ 15 แห่งข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549   6. มีปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า  คณะกรรมการแพทยสภาได้ลงมติแล้วว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่มีความผิด  เหตุใดศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยไปตามมติของแพทยสภา หลักในการวินิจฉัยความรับผิดของแพทย์  โดยเฉพาะการวินิจฉัยว่าการรักษาของแพทย์เป็นไปตามหลักวิชาหรือไม่  เป็นเรื่องยากที่ศาลหรือบุคคลทั่วไปจะเข้าใจและรับรู้ได้  ศาลในประเทศต่างๆ จึงถือแนวปฏิบัติว่าจะต้องอาศัยความเห็นของแพทย์ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ( expert witness ) เป็นสำคัญ ในคดี Bolam v. Friem Hospital Management Committee ( 1957 WER 882 )  ศาลได้วางหลักให้ถือเอาความเห็นขององค์กรแพทย์ที่ดูแลแขนงสาขาวิชาทางการแพทย์สาขานั้น  และโดยแพทย์ผู้กอปรทักษะความรู้ในสาขานั้นเป็นเกณฑ์สำคัญในการตัดสิน ( The accepted practice must be regarded as proper by  “  a responsible body of medical men “ skilled in that art ) ทำให้เกิดหลักเรียกว่า Bolam test ขึ้น กล่าวคือ หากผู้แทนองค์กรแพทย์ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เบิกความมาเป็นผู้ให้ความเห็นก็จะผูกพันมีน้ำหนักสำคัญให้ศาลเชื่อถือรับฟัง  ส่วนความเห็นของแพทย์ที่มิอยู่ในสาขาวิชาดังกล่าว หรือโดยองค์กรของแขนงวิชาดังกล่าวมาเบิกความก็จะไม่ถือเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้น หลัก Bolam test ได้เป็นที่ยอมรับในศาลของหลายๆ ประเทศ  แต่ในรอบ 20  ปีที่ผ่านมา  ศาลและประชาชนผู้เกี่ยวข้องเริ่มมีความรู้สึกว่าองค์กรแพทย์มักให้ความเห็นในการปกป้องแพทย์ด้วยกันเองมากกว่าการให้ความเห็นตามหลักวิชาที่เป็นกลางและเที่ยงธรรม  ทำให้ศาลของประเทศต่างๆ ในระยะหลังเริ่มไม่รับฟังความเห็นขององค์กรแพทย์  โดยวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานเองแยกแตกต่างไปจากความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ เช่น คดี Hucks v. Cole (( 1993 ) , 4 Med LR 393 ) คดี Gascoine v. Ian Shridan & Co. (( 1994 ) , 5 med LR 437 และคดี Joyce v.  Wandsworth Health Authority (( 1995 ) , 6 Med LR 60 เป็นต้น อย่างไรก็ดีศาลอีกบางส่วนก็ยังถือเอาความเห็นขององค์กรแพทย์เป็นสำคัญในการวินิจฉัยคดีอยู่เช่นเดิม  จนกระทั่ง House of Lords ของอังกฤษได้ตัดสินคดีสำคัญที่วางหลักการรับฟังพยานผู้เชี่ยวชาญทางแพทย์  และถือว่าเป็นการวางแนวทางที่ได้รับการยอมรับที่ศาลในประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว้างขวางที่สุด นั่นคือ คดี Bolitho v. City & Hackney Authonrity  (( 1997 ),  All ER 771 ) คดีดังกล่าวศาลวางหลักว่า  หากองค์กรแพทย์ประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่วินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีให้ความเห็นตามหลักวิชาที่เปี่ยมด้วยเหตุผล  ศาลพึงต้องรับฟังความเห็นขององค์กรแพทย์ดังกล่าวในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญที่มีน้ำหนักยิ่ง  แต่ถ้าความเห็นมิได้มาจากแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญสาขาวิชาดังกล่าว  ศาลจะไม่รับฟังก็ได้ ผลของคดี Bolitho ทำให้นำไปสู่แนวความคิดในการรับฟังความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะความเห็นขององค์กรแพทย์ว่าศาลยังรับฟังความเห็นขององค์กรแพทย์  เว้นจะปรากฏว่ามีเหตุที่ไม่ควรรับฟัง เช่น  (ก) ขาดเหตุผล หรือมิได้มาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เบิกความ หรือความเห็นขององค์กรแพทย์ไม่อาจชี้ชัดไปได้ว่าจะเป็นเช่นใด เช่น คดี Penney , PaImer and Conon v. East Kent HeaIth Authority (( 2000 ) , Lloyd ‘s Law Rep ( MedicaL , 41 ))  ที่ฝ่ายโจทก์และจำเลยต่างมีพยานองค์กรแพทย์มาให้ความเห็นสนับสนุน  เช่นนี้ศาลวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานเองได้     (ข) แพทย์รักษาผิดไปจากฎหมายที่บัญญัติไว้  หรือเงื่อนไขการรักษาหรือมิได้เป็นไปตามมาตรฐาน CGP (  Clinical Practice Guideline ) (ค)  เมื่อแพทย์รักษาผิดอย่างชัดเจน เช่น แพทย์ผ่าซี่โครงผิดข้าง  หรือเด็กประสงค์ให้แพทย์ผ่าตัดตุ่มเม็ดในปาก  แต่แพทย์ไปขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะแทน  หรือในคดี McGrew v. St. Joseph ‘ s Hospital ( 200 W.Va 114 , 488 SE 2d 389 (1997 ) ) พนักงานเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลยกตัวคนไข้ไม่ดี  ทำหลุดมือปล่อยคนไข้ตกเตียง  ศาลสูงสุดแห่งเวสต์เวอร์จิเนียวินิจฉัยว่าโรงพยาบาลกระทำการโดยประมาทหรือไม่  ศาลวินิจฉัยได้เองโดยไม่ต้องอาศัยความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญหรือองค์กรแพทย์ 7.  ตามคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยด้วยความระมัดระวังไม่ว่าการวางหลักตามแนววินิจฉัยในคดี Bolitho ว่าหากมติของแพทย์สภาถูกต้องและเป็นธรรมก็นำมารับฟังได้  แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการได้มาซึ่งมติความเห็นของแพทยสภามีข้อกังขาและสงสัยว่าจะชอบหรือเหมาะสมหรือไม่  การที่ศาลฎีกาไม่รับฟังมติความเห็นของแพทยสภา  แต่วินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเสียเองจึงชอบแล้ว หมายเหตุผู้เขียน  ต้องขอขอบพระคุณอย่างสูงในความเห็นของท่านอาจารย์นพพร  โพธิรังสิยากร ซึ่งเป็นความเห็นที่ทรงคุณค่าทางวิชาการอย่างยิ่งและเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคที่ต้องเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลแค่ไหน ตอน 5

ความเห็นต่อเนื่องจากคดีคนไข้ฟ้องร้องแพทย์ โดยอาจารย์นพพร  โพธิรังสิยากร ...   4.เมื่อแพทย์ต้องได้รับความยินยอมในการรักษาจากคนไข้  ความคิดเดิมที่ Hippcrates เชื่อว่าแพทย์รักษาดีที่สุดตามหลัก Patermityship โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้จึงได้รับการพิจารณาใหม่ว่า  เมื่อเป็นดังนี้แพทย์ยังจะต้องรักษาคนไข้ในระดับมาตรฐานดีที่สุดหรือไม่  จนต่อมาได้มีคำประกาศ ณ กรุงเจนีวา ค.ศ. 1948 ( the Declaration of Geneva in 1948 amended in Sydney in 1968) ว่าแพทย์ยังจะต้องประกอบวิชาชีพในระดับดีที่สุด โดยถือเป็นจริยธรรมในการรักษาคนไข้เรียกว่าหลัก best practice  อย่างไรก็ดี  แม้องค์กรแพทย์จะถือว่าโดยจริยธรรมแพทย์ต้องรักษาดีที่สุดก็ตาม  แต่ความเห็นในวงการกฎหมายกลับมีความเห็นแตกต่างไปจากเดิม  โดยเห็นว่าการรักษาดีที่สุดไม่มี และมีไม่ได้ เหตุที่มีผู้เห็นว่าการรักษาดีที่สุดไม่มี เป็นการพิจารณาตามสภาวะความเป็นจริง เช่น แพทย์ไปพบคนเจ็บนอนข้างทาง  แพทย์ทำการรักษาเบื้องต้น โดยไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ครบครันเป็นการรักษาดีที่สุดหรือไม่ หากไม่ใช่การรักษาดีที่สุดก็ต้องถือว่าแพทย์ประมาท เพราะทำการรักษาต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดว่า ต้องดีที่สุด แพทย์ประจำอนามัยมีเครื่องมือน้อยกว่าแพทย์ประจำอยู่โรงพยาบาลชุมชนหากรักษาคนไข้ย่อมเรียกได้ว่าเป็นการรักษาไม่ดีที่สุด  หากเป็นเช่นนี้จะมีแพทย์ประจำอนามัยที่กล้ารักษาประชาชนได้อย่างไร   แพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชน มีเครื่องมือไม่เท่ากับโรงพยาบาลประจำจังหวัดแม้จะสามารถผ่าตัดเล็กน้อยได้  แต่ไม่มีวิสัญญีประจำโรงพยาบาลชุมชน  หากมีการผ่าตัดก็ต้องถือว่าเป็นการรักษาไม่ดีที่สุด  เช่นนี้แล้วแพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชนจะกล้าผ่าตัดช่วยคนไข้หรือไม่ แพทย์ประจำโรงพยาบาลประจำจังหวัด มีเครื่องมือและประสบการณ์น้อยกว่าผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลชั้นดีในกรุงเทพมหานคร  การรักษาของแพทย์ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดก็ต้องถือว่าไม่ดีที่สุดเช่นกัน แพทย์ประจำโรงพยาบาลชั้นนำในกรุงเทพมหานคร  ก็หาใช่จะรักษาดีเท่ากับแพทย์ในโรงพยาบาลชั้นนำของโลกที่มีเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ทันสมัยที่สุด  หากเป็นเช่นนี้เท่ากับไม่มีการรักษาที่ดีที่สุดในประเทศไทย แล้วจะมีแพทย์รักษาคนไข้ในประเทศนี้ได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เห็นว่าการรักษาดีที่สุดไม่มี  และมีไม่ได้ เนื่องจากหากมีการรักษาดีที่สุดแล้วก็คงไม่ต้องมีการวิจัยพัฒนาวงการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้นเนื่องจากเป็นการรักษาดีที่สุดอยู่แล้ว  เช่นนี้เท่ากับเป็นการหยุดยั้งพัฒนาการในวงการแพทย์  ซึ่งหาเป็นสิ่งที่ถูกที่ควรไม่  ดังนั้น วงการกฎหมายในประเทศต่างๆ จึงมิได้ถือเอาจริยธรรมของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมแพทย์ในระดับดีที่สุดเป็นมาตรฐานว่าแพทย์กระทำการด้วยความประมาทเลินเล่อหรือไม่ ( Puteri N. J. Kassim , op.cit . , p.41 ) ด้วยเหตุนี้จึงมีคำวินิจฉัยของศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษวินิจฉัยปฏิเสธมาตรฐานในการรักษาในระดับดีที่สุด เช่น คดี Osbom v. Irwin Memorial BloodBank ( 7 CalRptr. 2d , 101 ( Ct.App.Cai.1991 ) ที่เด็กอายุ 3 อาทิตย์ต้องรับการผ่าตัดหัวใจและได้รับการให้เลือด แต่เลือดมีเชื่อ HIV เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีเครื่องมือตรวจสอบเบื้องต้นว่าเลือดที่ได้รับบริจาคมีเชื้อ HIV หรือไม่  ซึ่งมิใช่การรักษาที่ดีที่สุด  แต่ศาลเห็นว่าทางปฏิบัติของโรงพยาบาลแม้มิใช่วิธีการดีที่สุดแต่ก็เป็นไปตามมาตรฐานการรักษาทั่วไป ( Standard Practice ) ของวิธีปฏิบัติในการรักษาในเวลานั้น(custom at the time ) จึงไม่ถือว่าเป็นความประมาท หลังจากนั้นได้มีคดี Nowatske v. Osterioh ( 198 Wis 2d 419 , 543 NW 2d. 265 (1996 )  และคดี Vergara v. Doan ( 593 NF 2d 185 ( ind. 1992 ) วางหลักวินิจฉัยในทำนองเดียวกันว่า  มาตรฐานในการรักษาไม่จำต้องถือมาตรฐานการรักษาดีที่สุด  และไม่จำเป็นต้องใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ( national  standard ) แต่จะเป็นมาตรฐานใดย่อมแล้วแต่สภาพ  สภาวะแห่งท้องถิ่นแต่ละที่เป็นหลัก ( Locality rule ) ซึ่งในคดี Vergara v.Doan ได้วางหลักว่าแพทย์ในเมืองเล็กย่อมมีมาตรฐานต่ำกว่าแพทย์ในเมืองใหญ่  แพทย์ทั่วไปย่อมมีมาตรฐานต่ำกว่าแพทย์ผู่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐย่อมมีมาตรฐานต่ำกว่าแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนที่เรียกค่ารักษาสูงกว่าแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ  ทำให้เกิดหลักในการกำหนดมาตรฐานในการรักษาของแพทย์ขึ้นใหม่แทนการใช้หลักการรักษาดีที่สุด ( best practice ) มาเป็นการพิจารณามาตรฐานในการรักษาตามสภาพและสถานที่ที่มีการรักษานั้น  (Current Accepted Medical Practice) แนวความคิดในการกำหนดมาตรฐานในการรักษาตามหลัก Current Accepted   Practice ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง  ทำให้ศาลในประเทศต่างๆ  ถือเป็นแนวในการกำหนดมาตรฐานการรักษาของแพทย์ สำหรับประเทศไทยนั้น  คณะกรรมการแพทย์สภาได้มีการนำแนวความคิดังกล่าวไปทำการแก้ไขปรับปรุงข้อบังคับแพทย์สภาเสียใหม่ ดังนี้ “  ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.๒๕๔๙ หมวด ๔ การประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับดีที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ ภายใต้ด้วยความสามารถและข้อจำกัดของภาวะ วิสัย และพฤติการณ์ที่มีอยู่ “  ( ราชกิจจานุเบกษา , เล่ม ๑๒๓ ตอนพิเศษ ๑๑๕ ง วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ หน้า ๒๔ )   ไว้มาต่อตอนจบ(จริงๆ) กันในฉบับหน้านะครับ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลแค่ไหน ? ตอน 4

ความเดิม เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1  (สามี) และผู้ตาย(ภริยา)เป็นคนไข้ที่มารับบริการตรวจรักษา ใช้บริการ(คลอดบุตร) ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 (โรงพยาบาลสมิติเวช) แต่แพทย์ผู้รักษาคือจำเลยที่ 3 เป็นวิสัญญีแพทย์ จำเลยที่ 4 เป็นสูติแพทย์ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ภริยาและบุตรโจทก์ที่ 1 ตาย โจทก์ที่ 1  ถึงที่  6  จึงฟ้องคดีเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้โรงพยาบาลเอกชน...   เหตุใดแพทย์จึงกำหนมาตรฐานการประกอบวิชาชีพว่า “ ดีที่สุด “ 3. การรักษาของแพทย์ขึ้นอยู่กับความยินยอมของคนไข้  เนื่องจากการที่แพทย์ใช้เข็มแทงก็ดี  ใช้มีดผ่าก็ดี วางยาสลบก็ดี ผ่าตัดก็ดี หากไม่มีความยินยอมของคนไข้ย่อมเป็นการกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายทั้งสิ้น ( Assualt and Battery ) เมื่อคนไข้ยินยอมให้แพทย์รักษา  แพทย์จึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามหลักความยินยอม ไม่เป็นละเมิด (Volunti non fit injuria) (Puteri N.J.Kassim,Medical Negligence Law in Malaysia, (Interntional Law Book Service, 2003), pp.3-5) ด้วยเหตุนี้การรักษาคนไข้ของแพทย์จึงเกิดหลักคนไข้ยินยอมหรือ Informed Consent ขึ้น   ปัญหาว่าแพทย์จะรักษาคนไข้ต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้ดังกล่าวสร้างปัญหาแก่แพทย์ตลอดมา  โดยเฉพาะในอดีตที่แพทย์เชื่อว่าแพทย์มีเจตนาดีประสงค์จะช่วยคนไข้ เหตุใดจึงต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้ด้วย  ทำให้แพทย์ในอดีตรักษาคนไข้โดยไม่ใส่ใจว่าคนไข้ต้องให้ความยินยอมหรือไม่ เช่น ในสมัยพุทธกาลหมอชีวกทำการรักษาอาการประชวรของพระเจ้าปัชโชต แห่งกรุงอุชเชนี พระเจ้าปัชโชต ขอไม่ให้หมอให้ยาที่มีส่วนผสมของเนยใส  และไม่ยินยอมให้หมอรักษาหากผสมยาด้วยเนยใส หมอชีวกได้หุงเนยให้มีสี กลิ่น และรสเหมือนน้ำฝาด   เป็นยารักษาพระเจ้าปัชโชต  โดยขอรางวัลในการรักษาเป็นช้างภัททวดีซึ่งเป็นช้างที่เดินเร็วที่สุด แล้วขึ้นช้างหนีไปจากกรุงอุชเชนีทันที (พระไตรปิฎก , พระวินัยปิฎก เล่มที่ 5 มหาวรรต ภาค 2 เรื่องพระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงประชวรโรคผอมเหลือง หน้า 144-145) ปัญหาแพทย์รักษาโดยไม่ใสใจความยินยอมของคนไข้ดังกล่าว ก่อปัญหาว่าเมื่อคนไข้ไม่ยินยอมหรือไม่ได้ให้ความยินยอมแล้วแพทย์ทำการรักษาจะไม่ผิดฐานทำร้ายร่างกายหรือ  ปัญหานี้ได้ถูกวางแนวทางแก้ไขโดย Hippocrates ซึ่งถือว่าเป็นบิดาแห่งวงการแพทย์ Hippocrates เห็นว่า แพทย์ต้องปฏิญาณว่าจะทำการต่อคนไข้ดีที่สุดดังเช่นบิดามารดาเลี้ยงดูบุตร  ทำให้เกิดคำปฏิญาณของ Hippocrates เรียกว่า Hippocratic oath และเกิดแนวคิดว่าบิดามารดาเลี้ยงดูบุตร ต้องให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่บุตรโดยไม่จำต้องอาศัยความยินยอมของบุตรที่ตนเลี้ยงดู ทำให้เกิดหลัก Paternityship ( ความเป็นบิดามารดา ) ขึ้น อันนำมาซึ่งการรักษาโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้ หรือที่เรียกว่าเอกสิทธิ์ในการรักษา ( Therapeutic Privilege ) ( Puteri N.J.Kassim, op. Cit.p.13 ) ต่อมาใน พ.ศ.2457 วงการแพทย์ทั่วโลกยอมรับวิธีปฏิบัติในการรักษาว่า คนไข้ต้องให้ความยินยอม เว้นแต่เป็นเหตุฉุกเฉินคนไข้ไม่อยู่ในฐานะให้ความยินยอมได้เท่านั้นแพทย์จึงจะทำการรักษาได้ หาไม่แล้วการรักษาของแพทย์ที่คนไข้ไม่ยินยอม  แพทย์ผู้รักษาต้องมีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ซึ่งเป็นไปตามคำพิพากษาคดี Schloendorff v.Society of New York Hospital ( 105 N.E 92 ( N.Y.1914 ) นอกจากนี้ในคดี Largey v. Rothman (110 N.J.204,540 A 2d. 504 (1998) ยังวางหลักต่อไปว่าความยินยอมของคนไข้จะสมบูรณ์เมื่อแพทย์ได้แจ้งวิธีรักษาและความเสี่ยงของการรักษาให้คนไข้ประกอบการตัดสินใจให้ความยินยอมเรียกว่าหลัก Prudent Patient(Kenneth A. Bamberger , Medical Maipractice & Professionna Liability , handout for Thai Judiciary Course , June 2009 , P .2 ) หรือที่เรียกว่า Informed Consent  ทำให้การรักษาของแพทย์ต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้เสมอ และความยินยอมต้องมาจากการที่แพทย์ให้ข้อมูล ( inform ) ในวิธีรักษาและความเสี่ยงของการรักษาแก่คนไข้ (ยังมีต่อนะครับ)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลแค่ไหน ? ตอน 3

ความเดิม เป็นเรื่องที่ สามี ฟ้องคดีแพทย์และโรงพยาบาลเอกชน จากเหตุผู้ตายคือ ภริยาใช้บริการ(คลอดบุตร) ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 แต่แพทย์ผู้รักษาคือจำเลยที่ 3 เป็นวิสัญญีแพทย์ จำเลยที่ 4 เป็นสูติแพทย์ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ภริยาและบุตรตาย ศาลพิพากษาลงโทษทั้งจำเลยที่ 3 และ 4 แม้แพทยสภาระบุไม่ผิด หมายเหตุผู้เขียน  คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้(อ่านได้จากสองตอนแรก) ท่านอาจารย์นพพร  โพธิรังสิยากร ได้เขียนหมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ไว้อย่างน่ารับฟัง เป็นบทความที่ทรงคุณค่าทางวิชาการอย่างยิ่ง  ผู้เขียนจึงขอนำมาเพื่อผู้บริโภคได้อ่านกัน หมายเหตุ ท่านอาจารย์นพพร  โพธิรังสิยากร   1.คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดในมูลละเมิดโดยอ้างว่าจำเลยที่ 3 เป็นวิสัญญีแพทย์ ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นสูติแพทย์ต้องรักษาคนไข้ในระดับดีที่สุดตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม  ซึ่งกำหนดโดยข้อบังคับแพทย์สภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2526  หมวดที่ 3 ข้อ 1 บัญญัติว่า “ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องรักษามาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับที่ดีที่สุด...” ( ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 10 ตอนที่ 115 วันที่ 14 กรกฎาคม  2526 หน้า 28 ) ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยที่ 3 ฉีดยาชาเข้าสันหลังผู้ตายเพื่อลดความเจ็บปวดในการคลอดบุตรแล้วผู้ตายไปวางยาสลบคนไข้รายอื่นที่ห้องอื่น  ส่วนจำเลยที่ 4 เจาะถุงน้ำคร่ำผู้ตาย  แล้วละทิ้งผู้ตายไปตรวจคนไข้รายอื่น ทำให้เมื่อผู้ตายเกิดภาวะวิกฤติเพราะน้ำคร่ำมีภาวะแทรกซ้อนไปอุดกั้นหลอดเลือดในปอด  จึงกลับมาแก้ไขเยียวยาชีวิตผู้ตายไม่ทัน  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มิได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพในระดับดีที่สุดตามข้อบังคับแพทยสภาฉบับดังกล่าว จึงเป็นการประมาทเลินเล่อเป็นละเมิดต่อโจทก์ 2. ความรับผิดในทางแพ่งมีได้ 2 ทาง คือ ความรับผิดเพราะผิดสัญญา(Contractual liability) และความรับผิดในฐานละเมิด (Tortious  liability ) ความรับผิดฐานละเมิดเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 คือ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย... ความหมายของประมาทเลินเล่อได้เทียบอาศัยตามความหมายใน ป.อ.มาตรา 59 วรรคสี่ว่า “ กระทำโดยประมาท ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ " ตามบทบัญญัติดังกล่าว  การกระทำโดยประมาทเลินเล่อต้องเป็นกรณีมิได้ใช้ความระมัดระวังตามที่ควร แต่แค่ไหนจะควรเป็นการกระทำที่สมควร  ซึ่งเรียกว่ามาตรฐานในการใช้ความระมัดระวัง(Standard of care) ในบางกรณีเป็นเรื่องยากที่จะวินิจฉัยโดยเฉพาะในการประกอบวิชาชีพบางอาชีพ เช่น ทนายความ ผู้ตรวจสอบบัญชี และแพทย์ ด้วยเหตุนี้ความรับผิดและการกำหนดมาตรฐาน จึงต้องอาศัยมาตรฐานโดยบุคคลผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าว  และเป็นบุคคลที่ผู้ร่วมวิชาชีพยอมรับ  ทำให้เกิดจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพดังกล่าว  ในทางกฎหมายต่างประเทศจะเรียกความรับผิดของทนายความ ผู้ตรวจสอบบัญชี และแพทย์ว่า Professional liability หรือความรับผิดของผู้ประกอบวิชาชีพ  แต่สิ่งที่ปรากฏต่อมาก็คือ ทนายความว่าต่างแก้ต่างคดีให้แก่ลูกความแล้วแพ้คดีก็ดี  ผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบบัญชีงบดุลให้ลูกค้าแต่ลูกค้าประสบภาวะขาดทุนก็ดี  จะมีคดีถูกฟ้องร้องน้อยมาก  แต่แพทย์ที่รักษาคนไข้กลับมีแนวโน้มถูกฟ้องร้องคดีมากกว่าผู้ที่ถูกกำหนดให้อยู่ในความรับผิดของผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น ทนายความหรือผู้ตรวจสอบบัญชี เหตุผลที่เป็นดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากมาตรฐานของการประกอบวิชาชีพของแพทย์ที่กำหนดว่า ต้องประกอบวิชาชีพในระดับดีที่สุด เนื้อที่อันจำกัดขอจบในตอนหน้าครับ ด้วยคำอธิบายว่า เหตุใดแพทย์จึงกำหนมาตรฐานการประกอบวิชาชีพว่า “ ดีที่สุด “   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลแค่ไหน ? ตอนจบ

ความเดิม เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1  ( สามี) และผู้ตาย( ภริยา )เป็นคนไข้ที่มารับบริการตรวจรักษา ใช้บริการ(คลอดบุตร) ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 (โรงพยาบาลสมิติเวช) แต่แพทย์ผู้รักษาคือจำเลยที่ 3 เป็นวิสัญญีแพทย์ จำเลยที่ 4 เป็นสูติแพทย์ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ภริยาและบุตรโจทก์ที่ 1 ตาย โจทก์ที่ 1  ถึงที่  6  จึงฟ้องคดีเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้โรงพยาบาลเอกชน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7634/2554 ความต่อจากคราวที่แล้ว... ข้อบกพร่องของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงนำไปสู่การเยียวยาเพื่อช่วยชีวิตผู้ตายและบุตรไม่ได้อย่างรวดเร็วและดีที่สุดตามที่ควรเป็น จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 3  และที่ 4  เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ได้รักษามาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับดีที่สุดตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพฯ หมวดที่ 3 การประกอบวิชาชีพเวชกรรม ข้อที่ 1 ทอดทิ้งผู้ตายไปรักษาพยาบาลผู้ป่วยรายอื่นเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4ประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย   มติของแพทยสภาที่วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2  ถึงที่ 4 ไม่ได้กระทำผิดหรือไม่ได้รักษาผิดมาตรฐานนั้น มติแพทยสภามิใช่กฎหมายและไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาล  ถ้าศาลเห็นว่ามติของแพทยสภาถูกต้องและเป็นธรรมก็จะนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ที่ 3  และที่ 4  ได้ แต่มติเรื่องนี้มีข้อสงสัยว่าจะถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ เพราะเมื่อนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการแพทยสภา มีกรรมการมาประชุม 30 คน ลงมติโดยเปิดเผยโดยการยกมือฝ่ายที่เห็นว่าจำเลยที่ 4  ผิดมี 12  เสียง ฝ่ายที่เห็นว่าไม่ผิดมี 13  เสียง ส่วนมติเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ลงมติว่าไม่ผิด 12  เสียง ต่อ 10  เสียง แต่มีกรรมการที่ลงมติว่าไม่ผิด 1 คนเป็นญาติและนามสกุลเดียวกับผู้ถูกกล่าวหา หลังลงมติมีกรรมการแพทยสภาลาออกเพื่อประท้วงคณะกรรมการแพทยสภา กรรมการแพทยสภาลงมติโดยไม่ได้ศึกษาสำนวนโดยละเอียด กรรมการบางคนไม่เคยประชุมแพทยสภามาก่อนแต่ลงมติว่าไม่ผิด มติแพทยสภาดังกล่าวที่ยังมีข้อโต้แย้งว่าถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ ศาลจึงเพียงแต่นำมารับฟังประกอบการพิจารณาเท่านั้น โดยไม่จำต้องถือตามมติแพทยสภา พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งหก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลแค่ไหน ? ตอนแรก

ฉบับนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1  ( สามี) และผู้ตาย( ภริยา )เป็นคนไข้ที่มารับบริการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 (โรงพยาบาลสมิติเวช) ก่อนเกิดเหตุเป็นเวลาต่อเนื่องกันกว่า 10 ปี ทั้งที่ผู้ตายมีภูมิลำนาอยู่จังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ และโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียง  การที่ผู้ตายมาใช้บริการ(คลอดบุตร) ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1  ครั้งนี้น่าจะเป็นเพราะความเชื่อถือในชื่อเสียงและความสามารถจากแพทย์ของโรงพยาบาลจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในความรู้และความคาดหวังที่จะได้รับการดูและรักษาในมาตรฐานและความพึงพอใจในระดับที่สูงกว่าที่จะจากโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนอื่น แม้จะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลและบริการที่สูงกว่าก็ตาม ต่อมาแพทย์ผู้รักษาคือจำเลยที่ 3 เป็นวิสัญญีแพทย์ จำเลยที่ 4 เป็นสูติแพทย์ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ภริยาและบุตรโจทก์ที่ 1 ตาย โจทก์ที่ 1  ถึงที่  6  จึงฟ้องคดีเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเรียกค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยที่สูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐและแพทย์ผู้ทำการรักษามีความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยด้วยมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับที่ดีที่สุดตามข้อบังคับแพทย์สภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ฝ่ายจำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการรวมทั้งอ้างว่าแพทยสภาได้วินิจฉัยไว้ชัดว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่มีผู้ใดกระทำผิดหรือให้การรักษาผู้ตายไม่ได้มาตรฐานแต่อย่างใด มาดูกันว่าถึงที่สุดศาลฎีกาจะว่าอย่างไร   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7634/2554 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  จำเลยที่ 1 เป็นโรงพยาบาลเอกชนเรียกค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยสูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐและแพทย์ผู้ทำการรักษา มีความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยด้วยมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับดีที่สุดตามข้อบังคับแพทย์สภาว่าด้วยการรักษาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมฯ หมวดที่ 3 ข้อที่ 1 การทำคลอดด้วยการให้ยาชาเข้าไขสันหลังโดยตรง ที่เรียกว่า Spinal Anaesthesia หรือ Epidural Block อาจมีอาการแทรกซ้อนได้หลายประการ  แม้กระทั่งถึงชีวิตในทันทีก็ได้ วิสัญญีแพทย์จำเป็นต้องเฝ้าติดตามอาการของคนไข้โดยใกล้ชิด การที่จำเลยที่ 4 เจาะถุงน้ำคร่ำผู้ตายแล้ว จะต้องดูแลอาการอย่างใกล้ชิด หากจำเลยที่ 4 ไม่อยู่จะต้องมีสูติแพทย์หรือวิสัญญีแพทย์อยู่ดูแลแทน ส่วนจำเลยที่ 3 เมื่อให้ยาชาทางสันหลังจะต้องดูแลผู้ตายอย่างใกล้ชิด  แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4  ทอดทิ้งผู้ตายไว้ในห้องโดยไม่มีสูติแพทย์หรือวิสัญญีแพทย์คนอื่นดูแลแทน คงมีแต่พยาบาลซึ่งมิใช่วิสัญญีพยาบาลดูแลร่วมกับผู้ช่วยคนไข้ ทั้งไม่ได้ความว่าก่อนที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะออกจากห้องคลอดมีการสั่งให้พยาบาลดูแลผู้ป่วยเช่นใด  โดยเฉพาะการวัดความดันโลหิตและชีพจร ผู้ตายถึงแก่ความตายในวันดังกล่าว เนื่องจากระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจากเศษน้ำคร่ำเข้าไปในระบบเส้นเลือดของปอด จำเลยที่ 3 และที่ 4 รับว่าไม่เคยประสบภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นเส้นเลือดในปอดเหมือนเช่นคดีนี้มาก่อนจึงน่าจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ละเลยถึงภาวะดังกล่าวจนไม่ปฏิบัติหรือสั่งการให้ผู้อื่นปฏิบัติตามหลักวิชาการแพทย์เพื่อดูแลผู้ตายอย่างใกล้ชิดจนการคลอดเสร็จสิ้น... หน้ากระดาษหมดพอดี ถ้าว่ากันต่อตัวหนังสือจะเล็กมากไป ดังนั้นขอต่อเป็นตอนสองในฉบับหน้านะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ผลของการต่อเติมห้องชุดโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

ฉบับนี้เป็นเรื่องจำเลย ซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดอยากจะต่อเติมห้องชุดให้เป็นวิมาน จึงได้ตกแต่งห้องชุดดังกล่าวโดยขยายผนังห้องชุด ซึ่งเป็นขอบเฟรมอะลูมิเนียมพร้อมกระจกไปติดตั้งไว้บนขอบระเบียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์(นิติบุคคลอาคารชุด) และต่อเติมส่วนของอาคารให้มีลักษณะแตกต่างจากระเบียงห้องชุดอื่น ซึ่งมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และโครงสร้างของทรัพย์ส่วนกลาง ต่อเติมเสร็จไม่นานมารความสุขก็มาเยือน นิติบุคคลอาคารชุด เห็นว่าเป็นการขัดต่อข้อบังคับของนิติบุคคลฯ จึงมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยรื้อผนังที่ติดตั้งไว้บนขอบระเบียงให้กลับคืนสู่ตำแหน่งเดิม แต่จำเลยก็ดื้อตาใสแบบว่า วิมานข้าฯ ใครอย่าแตะ นิติบุคคลฯ ก็ของขึ้น  จึงไปฟ้องศาลขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรื้อถอน  จำเลยให้การต่อสู้คดีแบบสู้ตายจัดหนัก ที่เด็ดที่สุดสู้ว่าทำเพื่อความปลอดภัยเพราะเมียจำเลยกลัวความสูง( แบบว่าทำไปเพราะรักเมีย กลัวเมียตกคอนโดฯ ตาย) ผลคดีศาลชั้นต้นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนอีก จำเลยก็ยิ่งเฮใหญ่  นิติบุคคลฯ ก็กัดฟันยื่นฎีกาอีก แบบว่ากะวัดดวงกันโค้งสุดท้าย มาดูกันซิว่าศาลฎีกาจะว่าอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8716/2554  วินิจฉัยว่า “ ห้องชุดของจำเลยอยู่ในอาคารชุดที่จัดสร้างขึ้นตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ ดังนั้น การใช้ประโยชน์และการอยู่อาศัยในอาคารชุด หรือการดำเนินการของทั้งโจทก์และจำเลยอันเกี่ยวกับอาคารชุดจึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ทั้งอาคารชุดดังกล่าวยังมีข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อใช้บังคับแก่เจ้าของร่วมทุกคนอีกด้วย สำหรับการต่อเติมห้องชุดของจำเลยนั้น ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด มาตรา 48 (เดิม) บัญญัติว่า การอนุญาตให้เจ้าของคนใดคนหนึ่งทำการก่อสร้างต่อเติมที่มีผลต่อทรัพย์ส่วนกลางหรือลักษณะภายนอกอาคารชุดต้องได้รับมติจากคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด  ส่วนในข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดได้กำหนดไว้ในหมวดที่ 7 เรื่องการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคลในข้อ 26.12 ว่าการดัดแปลง แก้ไข ต่อเติม หรือต่อเติมตกแต่ง  จะต้องขออนุญาต และผู้จัดการจะอนุญาตได้ต่อเมื่อเห็นว่า ไม่กระทบโครงสร้างระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ หรือไม่ยื่นล้ำพื้นที่ห้องชุดหรือแนวอาคารชุด   การที่ พ.ร.บ.อาคารชุดฯ ได้บัญญัติให้การใช้กรรมสิทธิ์ห้องชุดมีลักษณะเป็นการจำกัดการใช้แดนกรรมสิทธิ์ของบรรดาเจ้าของร่วมในอาคารชุดให้น้อยลงซึ่งแตกต่างจากหลักกรรมสิทธิ์โดยทั่วไปเช่นนี้ ก็เป็นเพราะการเป็นเจ้าของและพักอาศัยในอาคารชุดนั้น เป็นการอยู่ร่วมกันของผู้เป็นเจ้าของร่วมอาคารชุดซึ่งมีจำนวนมาก เจ้าของร่วมจึงจำต้องระมัดระวังการใช้สิทธิของตนซึ่งอาจจะมีผลกระต่อสิทธิเจ้าของร่วมคนอื่นหรือผลประโยชน์ของส่วนราม และการอยู่ร่วมกันในอาคารชุดเจ้าของร่วมจะต้องสละประโยชน์ส่วนตัวหรือความเห็นส่วนตนซึ่งเคยมีอยู่ตามปกติในบางประการ และยังต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับซึ่งออกมาเพื่อการอยู่ร่วมกันโดยปกติสุขอย่างเคร่งครัดอีกด้วย การต่อเติมของจำเลยเป็นการเปลี่ยนลักษณะการใช้สอยระเบียงของอาคารชุดตามที่ออกแบบมา และได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ก่อสร้างแล้วการจัดให้มีระเบียงเป็นการออกแบบเพื่อความสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับอาคารชุดนั้น และผู้ออกแบบประสงค์จะให้ใช้ประโยชน์แบบพื้นที่นอกอาคาร จึงไม่ใช่ส่วนของห้องชุดที่จะมาใช้ประโยชน์แบบเดียวกับส่วนของห้องชุดที่อยู่ภายใน  การต่อเติมของจำเลยจึงเป็นการขยายพื้นที่ใช้สอยของตนเองมากกว่าเพื่อความปลอดภัยหรือเป็นเพราะภริยาจำเลยกลัวความสูงดังที่จำเลยอ้าง ทั้งเห็นได้ชัดว่ามีผลกระทบและเปลี่ยนรูปลักษณะอาคารชุดภายนอกอาคาร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ  จำเลยจะต้องขอมติต่อเจ้าของร่วมและได้รับอนุญาตเป็นคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดแล้วจึงจะกระทำได้    ที่จำเลยอ้างว่ามีเจ้าของห้องชุดอื่นหลายห้องที่ดัดแปลงต่อเติมห้องชุดลักษณะเดียวกับจำเลยแต่โจทก์ไม่ฟ้องร้องเหมือนเช่นจำเลย เป็นการเลือกปฏิบัตินั้น เห็นว่า จำเลยจะอ้างการกระทำของจำเลยที่ผิดกฎหมายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับให้เป็นการกระทำที่ชอบเพราะมีผู้อื่นกระทำความผิดเช่นเดียวกับจำเลยด้วยย่อมไม่ได้ และการที่โจทก์ไม่ดำเนินการแก่ผู้กระทำความผิดรายอื่นก็ไม่ถือว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยไม่สุจริต  แต่เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องรับผิดชอบในการกระทำของโจทก์เอง และที่จำเลยอ้างว่าการต่อเติมของจำเลยไม่ได้เพิ่มน้ำหนักให้โครงสร้างอาคารเพราะจำเลยเพียงแต่ขยายแนวกระจกเดิมออกไปเท่านั้น  ปรากฏว่าพื้นที่ส่วนที่จำเลยต่อเติมไม่มีการระบุจำนวนพื้นที่ไว้ว่าเป็นเท่าใด แต่จำเลยขยายออกไปจนชิดขอบระเบียงเท่ากับนำพื้นที่ระเบียงมาใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ใช้สอยภายในทั้งหมดอันมีลักษณะเป็นการเพิ่มการใช้ประโยชน์อีกส่วนหนึ่งของห้องชุด ย่อมทำให้โครงสร้างอาคารชุดรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น ทั้งการกระทำของจำเลยยังเป็นแบบอย่างให้เจ้าของร่วมรายอื่นนำมาอ้างและทำการต่อเติมได้ทุกห้องชุด อันจะมีผลเป็นอันตรายต่อโครงสร้างอาคารชุด การต่อเติมห้องชุดของจำเลยมีผลกระทบต่อลักษณะภายนอกและโครงสร้างของอาคาร  จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยรื้อถอนและปรับปรุงผนังที่ติดตั้งตามฟ้องให้กลับคืนสู่ตำแหน่งและสภาพเดิม “

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ถุงกอล์ฟหายในสนามกอล์ฟ

ผู้บริโภคไปเล่นกอล์ฟที่สนามกอล์ฟแห่งหนึ่ง โดยนำถุงกอล์ฟซึ่งบรรจุไม้กอล์ฟยี่ห้อคอลลาเวย์ไปยังซุ้มหน้าบริเวณคลับเฮ้าส์  ที่เป็นจุดรับส่งถุงกอล์ฟ  เพื่อให้พนักงานยกถุงกอล์ฟลงจากรถเพื่อส่งมอบต่อให้แคดดี้ที่รออยู่  หลังจากเล่นกอล์ฟเสร็จแล้ว  ผู้บริโภคและแคดดี้เดินไปที่บริเวณซุ้มหน้าคลับเฮ้าส์จุดที่รับส่งถุงกอล์ฟ  แคดดี้ได้นำถุงกอล์ฟไปวางไว้ที่ข้างซุ้มบริเวณบันไดหน้าทางขึ้นคลับเฮ้าส์  แล้วแคดดี้กลับออกไป  ระหว่างผู้บริโภคเดินไปเข้าห้องน้ำในคลับเฮ้าส์คนร้ายได้ลักถุงกอล์ฟไป  โดยคนร้ายขับรถยนต์เก๋งมาจอดที่หน้าคลับเฮ้าส์อ้างกับพนักงานของสนามว่า เป็นคนขับรถของผู้บริโภค  แล้วยกถุงกอล์ฟใส่กระโปรงท้ายรถของคนร้ายไป         ผู้บริโภคเรียกร้องให้เจ้าของสนามชดใช้ค่าเสียหาย  เจ้าของไม่ยอม โจทก์จึงนำคดีไปฟ้องศาล  มาดูกันซิว่าศาลฎีกาท่านจะว่าอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2554 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ แม้บริเวณหน้าคลับเฮ้าส์จุดที่รับส่งถุงกอล์ฟ  จะไม่มีข้อความระบุเป็นจุดรับฝากถุงกอล์ฟและไม่มีการออกหลักฐานการรับฝาก  แต่ในทางปฏิบัติของสนามกอล์ฟและลูกค้าที่มาเล่นกอล์ฟโดยทั่วไปต่างเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าบริเวณซุ้มหน้าคลับเฮ้าส์  จุดที่รับส่งถุงกอล์ฟเป็นจุดที่พักถุงกอล์ฟ  เมื่อเล่นกอล์ฟเสร็จแล้วแคดดี้จำต้องนำถุงกอล์ฟมาส่ง ณ จุดดังกล่าว  ดังนั้นการปฏิบัติระหว่างสนามกอล์ฟกับลูกค้าที่มาเล่นกอล์ฟจึงเข้าลักษณะสัญญาฝากทรัพย์ ตาม  ป.พ.พ. มาตรา 657  กรณีต้องถือว่าจำเลยได้รับฝากถุงกอล์ฟของโจทก์ไว้แล้ว  เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้รับฝากถุงกอล์ฟของโจทก์ไว้  จำเลยจะต้องใช้ความระมัดระวังในการดูแลทรัพย์สินที่รับฝาก ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 657 วรรคสามบัญญัติว่า  "ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขาย หรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด  ก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น"ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการให้บริการสนามกอล์ฟ  จำเลยจึงต้องใช้ความระมัดระวังเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรต้องใช้ในกิจการสนามกอล์ฟ  แต่ตามการปฏิบัติของจำเลยปรากฏว่าจำเลยไม่มีมาตรการใดๆ ในการดูแลรักษาถุงกอล์ฟของลูกค้าที่มาใช้บริการของจำเลยแต่อย่างใด อาทิ เช่น  ออกหลักฐานการรับถุงกอล์ฟไว้ หรือจดหมายเลขทะเบียนรถที่จะมารับถุงกอล์ฟไว้ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อมีคนร้ายอ้างต่อนายไพฑูรย์ว่าเป็นคนขับรถของโจทก์มารับถุงกอล์ฟของโจทก์ให้ยกใส่รถและนายไพฑูรย์ยอมให้ถุงกอล์ฟของโจทก์ไปทั้งๆ ที่ในเรื่องนี้นายไพฑูรย์เบิกความรับว่าแคดดี้ของโจทก์แจ้งให้ทราบว่า โจทก์นั่งรถแท็กซี่มาเล่นกอล์ฟ นายไพฑูรย์ย่อมทราบแล้วว่าโจทก์ไม่ได้มีรถส่วนตัวมาเล่นกอล์ฟ  เมื่อมีผู้มาอ้างว่าเป็นคนขับรถของโจทก์มารับถุงกอล์ฟเหตุใดจึงไม่ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบให้ได้ความแน่ชัดว่าเป็นคนขับรถของโจทก์จริงหรือไม่  หรือรอสอบถามโจทก์เสียก่อนกลับยอมให้ถุงกอล์ฟไปโดยไม่มีหลักฐานอย่างใดเลย กรณีเช่นนี้ถือว่านายไพฑูรย์พนักงานของจำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการปฏิบัติหน้าที่จำเลยจึงต้องรับผิดในความสูญหายของอุปกรณ์กอล์ฟต่อโจทก์ " หมายเหตุผู้เขียน หลังจากศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว  ผู้เขียนสงสัยว่านายไพฑูรย์ยังคงจะได้ทำงานอยู่กับจำเลยหรือไม่  น่าเป็นห่วงจริงๆ และฉบับหน้าอย่าพลาดมี “ คดีเด็ด “ ที่หาอ่านที่ไหนไม่ได้นอกจากที่ “ฉลาดซื้อ “ ฉบับเดียวในประเทศไทย เท่านั้น ขอบอก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 กรณีพิพาท ลักไก่...แอบต่อท่อระบายน้ำ

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็คือ  นายเขมไชยและบริษัทเค. อาร์. แอสเซ็ทส์ จำกัด เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 93428 และ 93933  ตำบลบางระมาด อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้งสองแปลงนี้ เป็นทางภาระจำยอม แก่ที่ดินของคนในหมู่บ้านปิ่นเกล้าการ์เด้นซิตี้ โดยบริษัท สาดีเวล๊อปเมนต์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด  เป็นผู้จัดสรรที่ดินและจัดให้มีทางพิพาทเป็นภาระจำยอมเพื่อเป็นทางเข้าออกระหว่างหมู่บ้านกับถนนพุทธมณฑลสาย 2 ซึ่งเป็นทางสาธารณะ  จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดข้างต้นซึ่งอยู่ติดกับทางพิพาท จำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารบนที่ดินทั้งสองแปลงนี้โดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในการก่อสร้างอาคารได้มีการต่อท่อระบายน้ำจากอาคารเชื่อมต่อเข้ากับท่อระบายน้ำเดิมของหมู่บ้านปิ่นเกล้าการ์เด้นซิติ้ซึ่งฝังอยู่ใต้ทางพิพาท  และมีการรื้อรั้วลวดหนาม ต้นไม้ และทางเท้าบนทางพิพาทเพื่อเปิดเป็นช่องทางเข้าออกระหว่างที่ดินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับทางพิพาท   โจทก์ทั้งเจ็ดสิบ(ลูกบ้านในหมู่บ้านการ์เด้นซิตี้)ไม่ยินยอม   จึงมาฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสี่และบริวารออกไปจากบริเวณถนนทางเท้าและท่อระบายน้ำอันเป็นภาระจำยอมของโจทก์ทั้งเจ็ดสิบให้จำเลยทั้งสี่ทำถนนทางเท้า ท่อระบายน้ำ ต้นไม้ และลวดหนามกลับสู่สภาพเรียบร้อยดังเดิม ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ฯลฯ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง  ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งเจ็ดสิบฎีกา  มาดูกันซิว่าศาลฎีกาจะว่าอย่างไร  ศาลฎีกาโดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2942/2555 วินิจฉัยว่า ภาระจำยอมอันเป็นประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดสิบที่มีเหนือที่ดินพิพาทเป็นประเภทเดียวกับภาระจำยอมอันเป็นประโยชน์แก่ที่ดินของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ที่มีเหนือที่ดินพิพาท กล่าวคือ ประโยชน์ที่ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ  แต่ผู้ใช้ทางพิพาทแต่ละคนก็ไม่อาจใช้สิทธิให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใช้ทางพิพาทร่วมกันนั้นได้ การที่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบไม่อาจใช้ทางเท้าบริเวณที่มีการทำทางเชื่อมระหว่างที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับทางพิพาทนั้น  ก็เป็นการสูญเสียทางเท้าเพียงบางส่วนเป็นระยะทาง 7 เมตร เท่านั้นยังสามารถใช้ทางเท้าส่วนใหญ่ที่เหลือนั้นได้  จึงไม่เป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมของโจทก์ทั้งเจ็ดสิบที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทลดไปหรือเสื่อมความสะดวก  การรื้อทางเท้าเพื่อทำทางเชื่อมระหว่างที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับทางพิพาทนั้น จึงไม่เป็นการกระทำโดยละเมิด  แต่การสร้างท่อระบายน้ำใต้ทางพิพาท  โดยการต่อท่อระบายน้ำจากอาคารบนที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้ากับท่อระบายน้ำของหมู่บ้านต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งเจ็ดสิบและผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านก่อน แม้ทางพิพาทดังกล่าวจะตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่ทำให้ท่อระบายน้ำที่อยู่ในทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปด้วย เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดสิบและผู้ที่อาศัยในหมู่บ้านไม่ยินยอม  การต่อท่อระบายน้ำดังกล่าวเข้ากับท่อระบายน้ำของหมู่บ้านจึงเป็นการกระทำโดยละเมิด พิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยุ่งเกี่ยวกับท่อระบายน้ำของหมู่บ้านปิ่นเกล้าการ์เด้นซิตี้ที่อยู่ในทางพิพาท  ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันรื้อท่อระบายน้ำที่จำเลยที่ 1 ทำเชื่อมต่อเข้ากับท่อระบายน้ำของหมู่บ้านปิ่นเกล้าการ์เด้นซิตี้ และทำให้ท่อระบายน้ำของหมู่บ้านปิ่นเกล้าการ์เด้นซิตี้กลับคืนสู่สภาพเรียบร้อยดังเดิม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนโจทก์ทั้งเจ็ดสิบ ---------- ภาระจำยอมคืออะไร  ภาระจำยอมเป็นทรัพย์สิทธิประเภทหนึ่งที่ตัดทอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่น  อันทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบกระเทือนอำนาจกรรมสิทธิ์ เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น  

อ่านเพิ่มเติม >