ฉบับที่ 168 ไม่ได้เป็นหนี้แล้ว ยังส่งข้อมูลไปเครดิตบูโรอีก ต้องทำอย่างไร

คดีนี้โจทก์เป็นผู้บริโภคไปกู้ยืมเงินจากจำเลยซึ่งเป็นบริษัทจำกัดไม่ใช่สถาบันการเงิน(บริษัทจีอี แคปปิตอล(ประเทศไทย) จำกัด) โจทก์ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยไปได้ 4 เดือน แล้วเห็นว่าการคิดดอกเบี้ยของจำเลยนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำต้นเงินที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีไปชำระให้แก่จำเลย แต่จำเลยยังส่งใบแจ้งหนี้ไปให้โจทก์ว่ายังค้างชำระอยู่อีก(ก็ค้างชำระในส่วนดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมาย ) และจำเลยแจ้งข้อมูลที่โจทก์ค้างชำระหนี้ดังกล่าวไปยังบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด โจทก์จึงฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้เพิกถอนสัญญาให้สินเชื่อเงินสดฉบับลงวันที่ 31 มกราคม 2544 และให้บังคับจำเลยมีหนังสือแจ้งบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ว่าโจทก์ไม่มีภาระหนี้สินค้างกับจำเลย หากจำเลยไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 1,027,347 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2548 ) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยมีหนังสือถึงบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ว่าโจทก์ไม่มีภาระหนี้สินค้างกับจำเลย หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาโดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14228/2555 วินิจฉัยว่า จำเลยไม่ใช่สถาบันการเงินตามกฎหมาย ขณะทำสัญญายังไม่มีประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน จำเลยจึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากโจทก์เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ข้อตกลงเกี่ยวกับผลประโยชน์จากการกู้ยืมส่วนที่ถือเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดจึงตกเป็นโมฆะตามป.พ.พ.มาตรา 150 เมื่อโจทก์ชำระหนี้ให้จำเลยครบถ้วนแล้ว การที่จำเลยแจ้งข้อมูลแก่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ว่า โจทก์ยังเป็นหนี้จำเลยอยู่ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์และทำให้สถาบันการเงินที่ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำปฏิเสธไม่ให้โจทก์กู้เงิน ทำให้โจทก์ต้องกู้เงินนอกระบบสถาบันการเงิน แต่ค่าเสียหายอันเป็นผลต่างดอกเบี้ยระหว่างการขอสินเชื่อกับการขอกู้เงินจาก พ. ที่โจทก์เรียกมา มิใช่ค่าเสียหายโดยตรงจากการที่จำเลยแจ้งข้อมูลแก่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด  แต่เป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษกรณีที่ไม่ชำระหนี้ ซึ่งจะต้องเป็นเรื่องที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์ดังกล่าวล่วงหน้าก่อนแล้วตาม ป.พ.พ.มาตรา 222 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้คาดเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวล่วงหน้าก่อนแล้ว โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษนี้ได้ พิพากษายืน (โจทก์กู้เงินไปเพียง 25,000 บาท ได้ค่าเสียหายมา 50,000 บาท)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 ปัญหาที่ดินตาบอด ไม่มีทางออก จะทำอย่างไร ? ตอนที่ 2

ยังอยู่ในเรื่องของ “ที่ดินตาบอด” กันนะครับ เมื่อที่ดินของเรา “ไม่มีทางติดกับทางสาธารณะ หรือไม่มีทางเชื่อมไปสู่ทางสาธารณะได้” เราสามารถใช้กฎหมายช่วยได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ได้บัญญัติไว้ว่า “ ที่ดินแปลงใด มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่า เจ้าของที่ดินแปลงนั้น จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ ไปสู่ทางสาธารณะได้ที่ดินแปลงใด มีทางออกได้ แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือ ทะเล หรือ มีที่ชัน อันระดับที่ดิน กับทางสาธารณะ สูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่า ให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับที่ และ วิธีทำทางผ่านนั้น ต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็น ของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึง ที่ดินที่ล้อมอยู่ ให้เสียหายแต่น้อยที่สุด ที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็น ผู้มีสิทธิจะผ่าน จะสร้างถนน เป็นทางผ่าน ก็ได้ผู้มีสิทธิจะผ่าน ต้องใช้ค่าทดแทน ให้แก่เจ้าของที่ดิน ที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหาย อันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้น นอกจากค่าเสียหาย เพราะสร้างถนน ท่านว่า จะกำหนดเป็นเงินรายปี ก็ได้” จะเห็นว่ากฎหมายให้สิทธิเจ้าของที่ดิน ซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นรายล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะสามารถมี “ ทางจำเป็น “ ขึ้นมาได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9325/2553 การฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นโจทก์จะฟ้องได้ต่อเมื่อที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่น ล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1349 แต่หากเป็นกรณีแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกัน ทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกนั้นแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่งหมายถึงทาง สาธารณะที่มีอยู่ในขณะแบ่งแยกนั้นแล้ว ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 เมื่อปรากฏว่า การแบ่งแยกที่ดินพิพาทกับที่ดินของโจทก์ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1275 กระทำกันในปี 2531 ก่อนมีถนนพุทธมณฑลสาย 1 ในปี 2541 กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 มาบังคับได้ ทางจากที่ดินของโจทก์ออกสู่ทางสาธารณะทั้ง 3 ทาง เป็นเส้นทางที่ต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นและไม่ปรากฏว่าเป็นทางสาธารณะ อีกทั้งไม่ใช่ทางที่เป็นภารยทรัพย์ของที่ดินของโจทก์ ซึ่งเจ้าของอาจจะอนุญาตให้โจทก์ใช้ทางดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ และแม้เจ้าของที่ดินนั้นจะยินยอมให้โจทก์ผ่านที่ดินของตนได้ก็ไม่ใช่สิทธิตามกฎหมาย ประกอบกับมีระยะทางจากที่ดินของโจทก์ไปสู่ทางสาธารณะไกลไม่สะดวก จึงฟังได้ว่า ที่ดินของโจทก์ถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของผู้อื่นจนไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นได้ แต่การที่จะเปิดทางจำเป็นนั้น ต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของโจทก์โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอย ที่ดินพิพาทให้เสียหายน้อยที่สุด  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3484-3485/2548 ที่ดินของจำเลยและของ บ. เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์ แม้จะแบ่งแยกออกจากที่ดินของโจทก์ เป็นของ บ. ก่อนแล้วจึงแบ่งแยกที่ดินของ บ. เป็นของจำเลยภายหลัง ก็ไม่ทำให้ที่ดินของจำเลยไม่ใช่ที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์มาแต่เดิม แต่อย่างใด ถือว่าที่ดินของโจทก์และจำเลยเป็นที่ดินที่มีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาจาก ที่ดินแปลงเดียวกัน เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เปิดทางพิพาท เป็นทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 กรณีรู้อยู่ว่าที่ดินที่จะซื้อเป็นที่ดินตาบอดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เช่นนี้ ศาลฎีกาก็วินิจฉัยว่าผู้ซื้อก็มีสิทธิขอให้เปิดทางจำเป็นได้  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5103/2547 การขอผ่านทางที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกจากทางสาธารณะนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มุ่งพิจารณาถึงสภาพที่ดินนั้น จะต้องถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเป็นสำคัญ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจึงมีสิทธิจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ โดยมิต้องกำหนดเงื่อนไขว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมจะต้องได้ที่ดินมาโดยสุจริต แม้จะฟังได้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินมาโดยรู้อยู่แล้วว่ามีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ออกสู่ทางสาธารณะหมดไป ทางจำเป็นสามารถใช้ได้ตลอดไปเลยหรือ มีระยะเวลาสิ้นสุดเมื่อใด ? ด้วยเหตุที่ทางจำเป็นเกิดขึ้น เป็นการได้สิทธิตามกฎหมาย    กฎหมายมุ่งคุ้มครองสิทธิของผู้ที่มีที่ดินตาบอดจนไม่มีทางเชื่อมต่อสู่ทางสาธารณะเท่านั้น ดังนั้น เมื่อวันใดเจ้าของที่ดินนั้นมีทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะได้  หรือไปซื้อที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ทำให้ตนมีที่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ ทำให้ความจำเป็นต้องใช้ทางของผู้อื่นหมดไป   เช่นนี้   ก็ขอผ่านที่เขาอีกไม่ได้ ทางจำเป็นก็สิ้นสุดลง จากข้อมูลข้างต้น หวังว่าคงช่วยให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิของตนบนที่ดินตาบอดมากขึ้นนะครับ และในฉบับหน้า จะมีกฎหมายอะไรที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมาเล่าสู่กันฟังอีก คอยติดตามนะครับ สวัสดีครับ...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 ปัญหาที่ดินตาบอด ไม่มีทางออก จะทำอย่างไร ?

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ก็มีเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับที่ดินซึ่งเป็นประโยชน์ที่ผู้บริโภคควรรู้ไว้ เพื่อพิทักษ์สิทธิของตนเองมาแนะนำอีกเช่นเคยครับ ท่านผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า “ที่ดินตาบอด” แค่ชื่อก็ฟังดูไม่น่าจะดีแล้วใช่ไหมครับ แต่หลายท่านคงนึกสงสัยว่าทำไมต้องเรียกแบบนั้น  ความจริงก็คือที่ดินตาบอดเป็นที่ดินซึ่ง  “ไม่มีทางติดกับทางสาธารณะ หรือไม่มีทางเชื่อมไปสู่ทางสาธารณะได้”    ซึ่งหลายท่านคงมีที่ดินเป็นของตนเอง แต่ก็มักเจอปัญหาว่า ไปซื้อที่ดินไว้แล้วปรากฏว่าที่ดินที่ซื้อนั้น ถูกที่ดินของคนอื่นรายล้อม เป็นที่ดินซึ่งอยู่ห่างจากถนนหนทางพอสมควรการเข้าออกต้องผ่านทางที่ดินของผู้อื่น  แล้วอย่างนี้ จะทำอย่างไรดี ถึงจะสามารถมีทางเข้าออกจากที่ดินของตนเองสู่ทางสาธารณะได้ ในเรื่องนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ได้บัญญัติไว้ว่า “ ที่ดินแปลงใด มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่า เจ้าของที่ดินแปลงนั้น จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ ไปสู่ทางสาธารณะได้ ที่ดินแปลงใด มีทางออกได้ แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือ ทะเล หรือ มีที่ชัน อันระดับที่ดิน กับทางสาธารณะ สูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่า ให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ ที่ และ วิธีทำทางผ่านนั้น ต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็น ของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึง ที่ดินที่ล้อมอยู่ ให้เสียหายแต่น้อยที่สุด ที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็น ผู้มีสิทธิจะผ่าน จะสร้างถนน เป็นทางผ่าน ก็ได้ ผู้มีสิทธิจะผ่าน ต้องใช้ค่าทดแทน ให้แก่เจ้าของที่ดิน ที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหาย อันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้น นอกจากค่าเสียหาย เพราะสร้างถนน ท่านว่า จะกำหนดเป็นเงินรายปี ก็ได้” จากบทกฎหมายดังกล่าว เห็นได้ว่ากฎหมายให้สิทธิเจ้าของที่ดิน ซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นรายล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะสามารถมี “ ทางจำเป็น “ ขึ้นมาได้ ดังนั้นสิทธิดังกล่าวเรียกว่าเป็นทรัพยสิทธิ เป็นสิทธิเหนือทรัพย์สินที่มีการรับรองไว้โดยกฎหมาย เจ้าของสิทธิดังกล่าวใช้อ้างกับบุคคลทั่วไปได้ ดังนั้นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวจึงไม่ต้องไปจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีเจ้าของที่ดินมีที่ติดทางสาธารณะ เช่น คลอง  แต่ปรากฏว่า คลองดังกล่าวน้ำตื้นเขิน ไม่สามารถใช้สัญจรไปมาได้เป็นเวลานานแล้ว เช่นนี้ เจ้าของที่ดินตาบอดก็สามารถขอให้เปิดทางจำเป็นได้เช่นกัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800 - 801/2544 คลองบางไผ่น้อย แม้ใช้เรือสัญจรเข้าออกได้ แต่ก็ขาดความสะดวกที่จะใช้สอยเป็นทางสาธารณะได้ตามปกติ จึงยังไม่พอที่จะถือได้ว่าเป็นทางสาธารณะตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1349 เหตุนี้โจทก์ทั้งสามจึงมีความจำเป็นที่จะต้องผ่านที่ดินของจำเลยซึ่ง ล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะโดยใช้ทางเดินพิพาทผ่านเข้าออกได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามใช้ทางเดินพิพาทเป็นทางจำเป็นนั้น ชอบแล้ว ในบางครั้งคนที่ใช้ทางเป็นเพียงผู้เช่าที่ดินจากเจ้าของที่ดินตาบอด ตนเองไม่ได้ใช้ทาง แต่ก็สามารถฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้ แม้สิทธิในทางจำเป็นตามมาตรา 1349 จะให้สิทธิเจ้าของที่ดินมีสิทธิใช้ทางจำเป็น แต่เจ้าของที่ดินก็สามารถให้คนอื่นใช้สิทธิในที่ดินแทนตนได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1364/2553 โจทก์เคยใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะ และในขณะยื่นฟ้อง ผู้เช่าที่ดินของโจทก์ทำสวนผลไม้ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินโจทก์มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกเช่นเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นในที่ดินพิพาทของจำเลย แต่ถ้าเจ้าของที่ดินไม่ได้เป็นโจทก์ฟ้อง โดยมีผู้เช่าหรือผู้อาศัยสิทธิในที่ดินเป็นคนฟ้องคดี ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า ผู้เช่าหรือผู้อาศัยสิทธิในที่ดินไม่มีอำนาจฟ้อง ( คำพิพากษาฏีกาที่ 5740/2551 ) กรณีที่ดินแปลงเดียวกัน แล้วต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นหลายแปลง เช่นนี้ ทำให้เจ้าของที่ดินบางแปลงไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่กฎหมายก็มีทางออกให้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ได้ให้สิทธิเจ้าของที่ดินตาบอดดังกล่าว ขอให้เจ้าของที่ดินซึ่งรายล้อมอยู่นั้นเปิดทางจำเป็นได้ โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน โดย บัญญัติว่า “ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน” ซึ่งแตกต่างจากกรณี มาตรา1349 ที่ต้องเสียค่าทดแทนด้วย ผมขอลงเรื่องราวเพิ่มเติมออกไปอีกสักฉบับนะครับ รอติดตามครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 บัญญัติว่า ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต ซึ่งความจริงแล้วประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ของไทยได้เลียนแบบจากมาตรา 2 ของประมวลกฎหมายแพ่งสวิสเซอร์แลนด์ มาตรา 2 บัญญัติว่า ในการใช้สิทธิก็ดี ในการปฏิบัติหน้าที่ก็ดี ทุกคนจะต้องกระทำการโดยสุจริต การใช้สิทธิไปในทางที่ผิดอย่างชัดแจ้งย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย คำว่า “สุจริต” เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้และเป็นนามธรรม ไม่มีความหมายทางเทคนิคหรือคำจำกัดความตามบทบัญญัติกฎหมายแต่ประการใด จึงต้องดูพฤติการณ์เป็นเรื่องๆ ไป สำหรับบทความฉบับนี้เป็นเรื่อง สหกรณ์การเกษตรแห่งหนึ่งเป็นโจทก์ จำเลยเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรดังกล่าวได้กู้เงินจากสหกรณ์ฯ โดยใช้บุคคลค้ำประกัน จำเลยค้างชำระหนี้มาตั้งนานจนขาดอายุความไปแล้ว โจทก์เอาเงินปันผลค่าหุ้นของจำเลยมาชำระหนี้เงินกู้บางส่วนเพื่อเป็นการรับสภาพหนี้มีผลให้อายุความสะดุดหยุดลง แล้วมาฟ้องจำเลยและผู้ค้ำประกันต่อศาล ผลจะเป็นอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6665/2556 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อครบกำหนดชำระหนี้เงินกู้วันที่ 31 มีนาคม 2534 โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2534 แต่จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระให้โจทก์วันที่ 25 มกราคม 2539 จำนวน 5,398 บาท อันเป็นการรับสภาพหนี้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 10 ปี ในวันที่ 25  มกราคม 2549 การที่โจทก์นำเงินปันผล 130 บาท และ 75 บาท ของจำเลยที่ 1 มาชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2554 และวันที่ 18 ตุลาคม 2547 ตามลำดับ แม้จะเป็นการทำตามระเบียบของสหกรณ์โจทก์ แต่ก็เป็นการชำระหนี้โดยที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้รู้เห็นด้วย เป็นการกระทำของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว ทั้งยังเป็นการกระทำหลังจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายโดยโจทก์ปล่อยเวลาให้ผ่านไปถึง 6 และ 8 ปี พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิที่มีอยู่โดยอ้างระเบียบของสหกรณ์เป็นช่องทางให้โจทก์ได้รับประโยชน์เพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลง เช่นนี้ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 การรับสภาพหนี้โดยการชำระหนี้บางส่วนที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 จะต้องเป็นผู้กระทำหรือยินยอมให้กระทำจึงถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้ ดังนั้นการที่โจทก์นำเงินปันผลของจำเลยที่ 1 มาหักชำระหนี้บางส่วน แม้จำเลยทั้งสามไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจะถือว่าจำเลยทั้งสามยินยอมในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวด้วยนั้นหาได้ไม่ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นการชำระหนี้บางส่วนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ หมายเหตุผู้เขียน คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้เดินตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6504/2547 , 1687/2551 ซึ่งเป็นเรื่องธนาคารนำเงิน 6.68 บาทจากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยมาหักชำระหนี้บัตรเครดิตเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2541 หลังจากจำเลยผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 โดยปล่อยเวลาให้ไปถึง 2 ปีเศษและคิดดอกเบี้ยกับค่าปรับชำระหนี้ล่าช้าตลอดมา นอกจากเป็นการไม่ใช้สิทธิของธนาคารตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่า ธนาคารอาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้ธนาคารได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยได้ดอกเบี้ยและค่าปรับชำระหนี้ล่าช้าระหว่างนั้นและเพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้รับ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 จองแล้ว ทำสัญญาแล้ว ไม่สร้างซะที บอกเลิกสัญญาได้ไหม

ฉบับนี้เป็นเรื่องผู้บริโภคไปทำสัญญาจะซื้ออาคารพาณิชย์ 6 ชั้น ชื่อสวนมะลิเซ็นเตอร์ ตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ 146  และ 1705 แขวงสำเพ็ง  เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร จากบริษัทจำเลย โดยเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2548  ผู้บริโภคทำนิติกรรมจองซื้ออาคารพาณิชย์โครงการดังกล่าว เนื้อที่ 17 ตารางวา 1 คูหา จากจำเลยในราคา 16,000,000 บาท ชำระเงินในวันจอง 300,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 15  พฤษภาคม 2548 ผู้บริโภคทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยและ ชำระเงินอีก รวมเป็นเงิน 800,000 บาท ตกลงชำระเงินดาวน์ 12 งวด งวดละ 334,000 บาท งวดแรกชำระวันที่ 15 กันยายน  2548งวดสุดท้ายวันที่ 15 สิงหาคม  2548 รวมเป็นเงิน 4,008,000 บาท ส่วนที่เหลือ 11,192,000 บาท จะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ  โดยสัญญาจะซื้อจะขายมิได้กำหนดเวลาการเริ่มลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาก่อสร้างอาคารพาณิชย์ให้แล้วเสร็จไว้ แต่เมื่อจะครบกำหนดจะชำระเงินดาวน์งวดแรก จำเลยยังไม่ลงมือก่อสร้าง ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจในโครงการของจำเลย เพราะเงินค่างวดที่จะจ่ายแต่ละงวดเป็นจำนวนมากถึงงวดละ 334,000 บาท ผู้บริโภคจึงไม่ยอมจ่ายเงินค่างวดและไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แล้วต่อมาได้บอกเลิกสัญญา แล้วฟ้องเรียกเงินคืน แต่จำเลยก็สู้ยิบตาโดย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ผิดสัญญาทำให้จำเลยเสียหายไม่ได้รับชำระเงิน 2,004,000 บาท แต่จำเลยขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เพียง 1,000,000 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าชำระเสร็จแก่จำเลย   โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ เอาละซิ โจทก์(ผู้บริโภค) แพ้มาสองศาลแล้ว แต่ก็ไม่ถอดใจ กัดฟันฎีกา ให้มันรู้ไปว่าจะแพ้ทั้งสามศาล ศาลฎีกาจะว่าอย่างไรมาดูกัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2556 วินิจฉัยว่า แม้สัญญาจะซื้อจะขายมิได้กำหนดเวลาการเริ่มลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาก่อสร้างอาคารพาณิชย์ให้แล้วเสร็จ  แต่เป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องรีบลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาก่อสร้างที่แล้วเสร็จไว้เพื่อความเป็นธรรมแก่ประชาชนในฐานะผู้บริโภค เมื่อสัญญาไม่ได้กำหนดเวลาไว้แต่เป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องรีบลงมือก่อสร้าง และก่อสร้างให้แล้วเสร็จในเวลาอันสมควรอันเป็นไปตามหลักความสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 หาใช่การจะเริ่มลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาแล้วเสร็จนั้นขึ้นอยู่กับความพอใจของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว เพราะจำเลยเป็นผู้รับผลประโยชน์จากเงินที่โจทก์ชำระไปแล้ว จึงมีหน้าที่ต้องรีบก่อสร้างโดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ดังนั้นการที่โจทก์ชำระเงิน 800,000 บาท แก่จำเลยในการทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว ย่อมมีความคาดหวังจะได้เห็นจำเลยปฏิบัติชำระหนี้ตอบแทน คือการเริ่มลงมือก่อสร้าง แต่เมื่อจะครบกำหนดเวลาชำระเงินดาวน์งวดแรกได้ความว่าจำเลยยังไม่เริ่มลงมือก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ทำให้โจทก์เกิดความไม่มั่นใจในโครงการของจำเลยเพราะเงินค่างวดที่จะจ่ายแต่ละงวดเป็นจำนวนมากถึงงวดละ 334,000 บาท โจทก์จึงไม่ยอมจ่ายเงินค่างวดและไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จำเลยเองก็ไม่ได้แสดงความสุจริตโดยการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโครงการให้โจทก์ทราบเป็นหนังสือหรือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินค่างวดอีก จึงถือได้ว่าการชำระหนี้ของโจทก์มิได้กระทำลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ได้ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยจะถือว่าโจทก์ผิดสัญญาและก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยในการริบมัดจำไม่ได้ เมื่อจำเลยไม่ก่อสร้างอาคารพาณิชย์และโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา จึงมีผลให้สัญญาจะซื้อจะขายเลิกกันคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระแก่จำเลยไปแล้ว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่ได้รับเงินไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระเงินตามฟ้อง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 กฎหมายคุ้มครอง “เจ้าหนี้”

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ก็มีเรื่องกฎหมายที่เป็นประโยชน์มาบอกเล่าเช่นเคย โดยฉบับนี้ จะขอกล่าวถึงกฎหมายเรื่องหนี้ที่น่าสนใจ โดยนำเสนอผ่านเรื่องราวปัญหาจากชีวิตจริงของลูกหนี้และเจ้าหนี้  ซึ่งโดยปกติ เมื่อตกเป็นลูกหนี้ กฎหมายไม่ได้จำกัดสิทธิในการดูแลจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้แต่อย่างใด  ทำให้แม้ตกเป็นลูกหนี้ ก็ยังสามารถโอน ขาย จำหน่ายทรัพย์สินของตัวเองได้  แต่หากมีลูกหนี้จอมขี้โกง ทราบดีว่าตนมีทรัพย์สินเพียงน้อยนิด ยังทะลึ่งไปโอนขายทรัพย์สินให้บุคคลอื่น และรู้อยู่แก่ใจว่า ถ้าขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนี้ไป ตนเองจะมีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เค้า แบบนี้ เจ้าหนี้ก็คงเสียเปรียบแย่ เพราะไม่มีหลักประกันอะไรเลย ว่าเมื่อถึงเวลาชำระหนี้ ลูกหนี้จะมีอะไรมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้ครบถ้วน กฎหมายก็มองเห็นความได้เปรียบเสียเปรียบของเจ้าหนี้ลูกหนี้ในเรื่องแบบนี้ จึงมีบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ขึ้น เรียกว่า “การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล (ของลูกหนี้)” อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 237 โดยมีสาระสำคัญว่า “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย....” เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการคุ้มครองเจ้าหนี้ให้ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่ทำให้ตนเสียเปรียบเท่านั้น การฟ้องไม่ทำให้เจ้าหนี้ได้สิทธิอะไรมากไปกว่าที่มีอยู่เดิม ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลคือการทำให้กองทรัพย์สินของลูกหนี้ กลับมาเป็นเช่นเดิม เช่น ลูกหนี้ทั้งตัวมีทรัพย์สินเพียงที่ดินอยู่หนึ่งแปลง หากโอนขายที่ดินแปลงนี้ให้บุคคลอื่น  เจ้าหนี้จะเดือดร้อนเพราะไม่เหลือทรัพย์สินพอที่จะบังคับใช้หนี้  เมื่อลูกหนี้ขายที่ดินนี้ไปโดยรู้ดีว่าจะทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้ก็มีอำนาจฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล ให้ที่ดินแปลงดังกล่าวกลับมาเป็นของลูกหนี้ตามเดิม เพื่อให้ตนสามารถมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอากับที่ดินแปลงนั้นได้  จึงเห็นได้ว่า ไม่ได้ทำให้เจ้าหนี้ได้เปรียบมากขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนี้ อำนาจฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลซึ่งนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงโดยรู้ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ได้บัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ ซึ่งหมายรวมถึงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ไม่ว่าจะมีการบังคับคดีแล้วหรือไม่ก็ตาม คำพิพากษาฎีกาที่ 5207/2545 เมื่อโจทก์อ้างว่าตนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนและจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทำนิติกรรมยกทรัพย์พิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ การที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันรีบไปจดทะเบียนหย่าและทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์พิพาทที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมนั้น ถือเป็นทางที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 คนที่เป็นเจ้าหนี้ แม้ยังไม่ได้ฟ้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ก็มีสิทธิฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 3975/2553 การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 ดังนั้น เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลจึงหมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ ไม่ว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้เมื่อโจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมทราบว่าตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา และไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีกนอกจากที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ย่อมรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉลนั้นเสียได้ อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือการที่จะเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้น ต้องพิจารณาดูตัวผู้ทำสัญญากับลูกหนี้ด้วย ว่ารับโอนทรัพย์สินไปโดยสุจริตหรือไม่ คำพิพากษาฎีกาที่ 5572/2552 จำเลยที่  1 มีอาชีพจัดสรรที่ดินขาย โจทก์ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 1โดยวางเงินมัดจำไว้ 100,000 บาท จากราคาที่ดิน 2,000,000 บาท   เวลาต่อมา จำเลยที่ 1 กลับเอาที่ดินแปลงดังกล่าวไปจำนองไว้กับจำเลยที่ 5 เพื่อประกันหนี้ค่าวัสดุก่อสร้าง และหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวใช้หนี้แก่จำเลยที่ 5 ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 จึงฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการการโอนดังกล่าว ซึ่ง ศาลฎีกาได้ตัดสินว่าการจำนองดังกล่าว จำเลยที่ 5 รับจำนองโดยทราบดีว่าที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ไว้แล้ว เพราะก่อนรับจำนอง จำเลยที่ 5 ไปดูที่ดินกับจำเลยที่1 ก็เห็นว่าที่ดินดังกล่าวกำลังมีการปลูกสร้างอาคารอยู่ และทราบดีว่าจำเลยที่ 1 มีอาชีพจัดสรรที่ดินขาย ประกอบกับจำเลยที่ 5 มีอาชีพขายวัสดุก่อสร้างย่อมรู้ดีว่าการจัดสรรที่ดินขายนั้น อาจจะทำสัญญาจะซื้อจะขายเฉพาะที่ดิน แล้วให้ผู้ซื้อปลูกสร้างบ้านบนที่ดินเอง อีกทั้งยังทราบดีว่าที่ดินแปลงดังกล่าวที่ตนรับจำนองไว้เป็นที่ดินซึ่งจัดสรรไว้เพื่อขาย การที่มีบ้านปลูกสร้างอยู่บนที่ดิน แสดงให้เห็นว่าที่ดินแปลงดังกล่าวได้มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายไปแล้ว เนื่องจากจำเลยที่5 รู้ว่าตัวจำเลยที่ 1 เองก็ไม่มีเงินทุนพอที่จะสร้างบ้านก่อนแล้วจึงขายพร้อมที่ดินแปลงดังกล่าว อีกทั้งการรับจำนองและโอนที่ดินพิพาทนั้นไม่ได้เป็นการดำเนินไปตามปกติ แต่เป็นการโอนจากหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างของจำเลยที่ 1 มาเป็นหนี้กู้ยืมเงินแล้วจดทะเบียนจำนอง ทำให้จำเลยที่ 5 ไม่ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เลย  พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่5 เป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต โดยมีเจตนาให้โจทก์ที่เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ จึงเป็นกรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237  โจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้ แม้การโอนที่ดินพิพาทจะได้มีการจดทะเบียนแล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 5 รับโอนไว้โดยไม่สุจริต จำเลยที่ 5 ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1300 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์เฉพาะกรณีผู้รับโอนเสียค่าตอบแทนและรับโอนมาโดยสุจริตเท่านั้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 เมื่อคนร้ายงัดบ้าน เอาสมุดฝากเงินกับบัตรฯ ไปถอนเงิน

สำหรับฉบับนี้เป็นอุทาหรณ์ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคที่ต้องใช้บริการฝากเงินไว้กับธนาคาร และเหตุตามอุทาหรณ์อาจเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคในยุคโจรผู้ร้ายชุกชุม ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534  โจทก์ทำสัญญาฝากเงินและเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ไว้กับจำเลยที่ 2 ที่สาขาชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์  ต่อมาวันที่ 25  มีนาคม 2549  มีคนร้ายงัดบ้านโจทก์แล้วลักทรัพย์สินไปหลายรายการรวมทั้งบัตรประชาชนและสมุดฝากเงินดังกล่าวไป  ในวันนั้นโจทก์ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจในทันที  และในวันเดียวกันเวลา 17.34 นาฬิกา โจทก์โทรศัพท์แจ้งศูนย์กรุงไทยโฟน หมายเลข 1551  ให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ศูนย์แจ้งว่ารับแจ้งอายัดเฉพาะบัตรถอนเงินและบัตรเครดิต ไม่รับแจ้งอายัดเงินฝาก หากจะแจ้งอายัดเงินฝากต้องแจ้งที่สาขาที่โจทก์เปิดบัญชีไว้  โจทก์ไม่ได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่สาขาชนแดน เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันเสาร์  ต่อมาวันที่ 26  มีนาคม 2549  ซึ่งเป็นวันอาทิตย์มีหญิงคนหนึ่งนำสมุดเงินฝากของโจทก์ไปถอนเงินจำนวน  280,000  บาท  ที่ธนาคารจำเลยที่ 2 สาขาย่อยฟิวเจอร์พาร์ครังสิต จังหวัดปทุมธานี  โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่สาขาย่อยฟิวเจอร์พาร์ครังสิต จังหวัดปทุมธานี ได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่หญิงคนดังกล่าวไป โจทก์จึงได้มาฟ้อง จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ธนาคารผู้เป็นนายจ้างให้ร่วมกันรับผิด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 แพ้คดี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน  จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาหลายประเด็น  แล้วผลจะเป็นอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 268/2556  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า.....คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่า เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1  มิได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างย่อมหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลละเมิดแล้วโจทก์ยังบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจธนาคาร โจทก์ได้ตกลงทำสัญญาฝากเงินกับจำเลยที่ 2  และจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้จ่ายเงินให้แก่บุคคลอื่นที่แสดงตัวเป็นโจทก์ ทำให้โจทก์สูญเสียเงินในบัญชีเงินฝาก ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 2 ให้รับผิดในมูลฝากทรัพย์ด้วย  ดังนั้น  แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างหลุดพ้นความรับผิด จำเลยที่ 2 ก็หลุดพ้นความรับผิดเฉพาะในมูลละเมิดเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับฝากเงินต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ฝากเงินตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 659  วรรคสาม นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อต่อไปว่า ถ้าโจทก์เก็บรักษาบัตรประจำตัวประชาชนไว้กับตัวคนร้ายก็ไม่สามารถปลอมบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ได้ ถือว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่ด้วยนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่ามีคนร้ายงัดบ้านโจทก์แล้วลักทรัพย์สินไปหลายรายการ  บ้านเป็นเคหสถานซึ่งปกติบ่อมเป็นที่ปกป้องเก็บรักษาทรัพย์สินได้ การที่มีคนร้ายงัดบ้านโจทก์แล้วลักทรัพย์สินภายในบ้านโจทก์ รวมทั้งนำสมุดฝากเงินและบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ไปใช้ถอนเงินไปใช้ถอนเงินจากจำเลยที่ 2 จะถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อมิได้ ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ฯลฯ พิพากษายืน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 ห้องชำรุด ยังไม่ต้องรับโอน บอกเลิกสัญญาขอเงินคืนได้

ฉบับนี้เป็นปัญหาของผู้บริโภคที่ซื้ออาคารชุดแล้วห้องไม่เรียบร้อย เมื่อแจ้งโครงการให้แก้แล้ว แต่โครงการแก้ไขไม่เสร็จ และไม่สามารถให้ผู้บริโภครับโอนกรรมสิทธิ์ได้ ปัญหาลักษณะนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดจวบจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิในการบอกเลิกสัญญา กรณีนี้เช่นนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเป็นตัวอย่างมาแล้ว เรามาดูกันครับ คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการทรัพย์แก้วทาวเวอร์ ของบริษัท ทรัพย์แก้ว จำกัด กับจำเลยในราคา 740,000 บาท ตกลงชำระเงินในวันจอง 5,000 บาท ในวันทำสัญญา 5,000 บาท และระหว่างการก่อสร้างอาคารชุดจำนวน 24 งวด งวดละ 5,750 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 148,000 บาท โดยให้ถือว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินมัดจำ จำเลยตกลงจะส่งมอบห้องชุดในสภาพเรียบร้อยให้แก่โจทก์ประมาณเดือนเมษายน 2539 สำหรับเงินส่วนที่เหลืออีกจำนวน 592,000 บาท มีข้อตกลงให้ชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาและยังได้ชำระค่าตกแต่งเพิ่มเติมห้องชุดให้แก่จำเลยอีกจำนวน 1,470 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสิ้นจำนวน 149,470 บาท เมื่อครบกำหนดส่งมอบปรากฏว่าผนังของห้องชุดดังกล่าวมีรอยร้าวเป็นแนวยาวจากเพดานถึงพื้นห้อง จำเลยจึงขอเลื่อนวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นวันที่ 26 ธันวาคม 2539 แต่จำเลยก็ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ตามที่ตกลงได้ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและทวงถามขอเงินคืน แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยต้องรับผิดคืนเงินจำนวน 149,470 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2540 อันเป็นวันครบกำหนดให้จำเลยชำระเงินคืน คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 1,627.78 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 151,097.78 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 151,097.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 149,470 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 148,000 บาท คืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง(วันที่ 30 กันยายน 2540) ต้องไม่เกิน 1,627.78 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,500 บาท คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 1,500 บาท จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการจำหน่ายห้องชุดเพื่อบุคคลภายนอกในโครงการอาคารชุดพักอาศัยทรัพย์แก้วทาวน์เวอร์ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลยในราคา 740,000 บาท โจทก์ได้ชำระเงินในวันจอง 5,000 บาท ในวันทำสัญญา 5,000 บาท และชำระในระหว่างก่อสร้างห้องชุดจำนวน 24 งวด งวดละ 5,750 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ได้ชำระไปแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 148,000 บาท สำหรับเงินที่เหลืออีกจำนวน 592,000 บาท มีข้อตกลงให้ชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยได้รับเงินจำนวน 148,000 บาท แล้ว แต่จำเลยมิได้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแก่โจทก์ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ จำเลยอ้างว่าจำเลยบอกเลิกแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2539 ก่อนที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยระงับสิ้นไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยอีก เห็นว่า ก่อนที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ ปรากฏว่าผนังของห้องชุดพิพาทมีรอยแตกร้าว ซึ่งจำเลยรับกับโจทก์ว่าจะแก้ไขรอยแตกร้าวในห้องชุดพิพาทให้เรียบร้อย และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2539 จำเลยได้ให้โจทก์ตรวจรับห้องชุดพิพาท ซึ่งพบว่าห้องชุดพิพาทมีรอยแตกร้าวต้องซ่อมแซม และในวันที่ 29 ธันวาคม 2539 ได้มีการนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทซึ่งเป็นวันหลังจากที่จำเลยอ้างว่าได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว การที่มีการนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทหลังจากที่จำเลยอ้างว่าได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้วนั้น แสดงให้เห็นว่า จำเลยมิได้มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์ในเดือนกันยายน 2539 ทั้งหลังจากนั้นจำเลยยังได้ยินยอมให้โจทก์เข้าไปตรวจรับห้องชุดพิพาทและจำเลยได้นัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดกับโจทก์ในวันที่ 26 ธันวาคม 2539 แต่ในวันดังกล่าวไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์กัน เนื่องจากจำเลยเรียกเงินจากโจทก์อีก 50,000 บาท โดยอ้างว่าโจทก์รับโอนห้องชุดพิพาทล่าช้า หลังจากนั้นจำเลยก็ไม่ได้แจ้งให้โจทก์มารับโอนห้องชุดพิพาทอีก เมื่อสัญญายังไม่เลิกกันและจำเลยไม่โอนห้องชุดพิพาทให้โจทก์ตามสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้. (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8390/2549) //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 การเพิกถอนนิติกรรมที่ผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์

ฉบับนี้เป็นเรื่องที่ผู้อ่านควรทราบไว้เพราะเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองได้ ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 นางสาว อ. เด็กชาย ช.เป็นบุตร นาย บ. กับ นาง ห. นาย บ.เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 1012 ต.ตะเคียน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 2  ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และนายกฤตธรรมปลูกสร้างบ้านรวม 7 หลัง อยู่อาศัยในที่ดินพิพาท บ้านเลขที่ 324 เป็นของจำเลยที่ 1 บ้านเลขที่ 324/1  ถึง 324/5  เป็นของโจทก์ที่ 2 บ้านเลขที่ 324/6  เป็นของโจทก์ที่ 1 และบ้านไม่มีเลขที่เป็นของนายกฤตธรรม โดยไม่ได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินเป็นสัดส่วน นางสาว อ. เด็กชาย ช. ถึงแก่ความตายไปก่อน นาย บ.  เมื่อวันที่ 8 เมษายน  2530 นาย บ.ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทที่ยังมีชีวิตอยู่ นาย บ.ไม่ได้ทำพินัยกรรมและแต่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้  จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกโดยไม่ระบุว่าโจทก์ที่ 1 เป็นทายาทนาย บ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 กันยายน. 2538 ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนาย บ. ครั้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม  2539  จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย บ จดทะเบียนโอนที่ดินเป็นของตนเอง  โดยที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทมิได้รู้เห็นยินยอม  แล้วจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันเดียวกัน มีกำหนดเวลาไถ่ถอนภายใน 3 เดือน กำหนดสินไถ่ 2,000,000 บาท เมื่อครบกำหนดจำเลยที่ 1 ไม่ไถ่ถอน. ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม  2539  จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยที่ 3 วงเงิน 3,000,000 บาท โจทก์ทั้งสองฟ้อง ขอให้เพิกถอนนิติการมขายฝากและนิติกรรมจำนองทรัพย์มรดกที่ดิน สู้คดีกันมา 4 ศาล เนื่องจากศาลฎีกาย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ผลคดีพลิกไปพลิกมา  มาดูกันว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่าอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2174/2555  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมาเป็นของตนแต่ผู้เดียวในฐานะส่วนตัวโดยพลการ  แล้วจดทะเบียนขายฝากแก่จำเลยที่ 2 ในวันเดียวกันเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อการจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก  แต่เป็นการกระทำผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกและถือว่าเป็นการกระทำนอกขอบอำนาจในฐานะผู้จัดการมรดก เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ไม่มีสิทธิจดทะเบียนขายฝากกับจำเลยที่ 2 และการจัดการทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบนั้นย่อมทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลง ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของ  บ.และยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดก จำเลยที่ 2 รู้ว่ามีบ้านปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาทหลายหลัง สภาพมั่นคงถาวรมีทางเข้าออกเป็นสัดส่วน มีเลขที่บ้านแยกต่างหากจากกัน  จำเลยที่ 2 ก็ไม่สนใจที่จะสอบถามบุคคลที่อยู่ในที่ดินที่ดินพิพาทให้ได้ความว่าเป็นบริวารของจำเลยที่ 1 หรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท  พฤติการณ์แห่งคดีเชื่อก่อนรับซื้อฝากจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโอยไม่สุจริต มีเหตุให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากตามฟ้องได้ทั้งแปลง เมื่อนิติกรรมขายฝากไม่ผูกพันทายาทคือโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 แล้ว ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของ บ. จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ย่อมไม่มีสิทธินำไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้แก่จำเลยที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ผู้จำนองเป็นตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ทั้งสองหรือทายาทอื่นใด และโจทก์ทั้งสองไม่รู้เห็นยินยอมหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อ  แม้จำเลยที่ 3 รับจำนองจากจำเลยที่ 2 ไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ก็ไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน “ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนขายฝากและรายการจดทะเบียนจำนอง ฯลฯ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 ผลของการทำสัญญาค้ำประกันโดยประมาทเลินเล่อ

อุทาหรณ์จากการทำสัญญาค้ำประกันโดยประมาท จากเรื่องที่ นาย ก. ในที่นี้คือ จำเลยที่ 2  ลงชื่อในสัญญาค้ำประกัน ซึ่งยังไม่มีการกรอกข้อความพร้อมมอบสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการให้ไว้แก่โจทก์ นาย ก.  ถูก นาง ศ. หลอกว่า เป็นการค้ำประกันให้ นาง ศ.  และต่อมา นาง ศ. กับพวกนำไปใช้เป็นหลักฐานในการค้ำประกันจำเลยที่ 1 (คนที่นาย ก. ไม่รู้จัก) ต่อโจทก์ ในการเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์  ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์ติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้แล้วนำออกขายได้ราคาไม่คุ้มกับความเสียหายของโจทก์  จึงได้ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาเช่าซื้อให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 (ซึ่งเข้าสำนวนไทยว่า เนื้อไม่กิน แต่ได้กระดูกแขวนคอ) ให้การต่อสู้คดีว่า เป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ศาลยกฟ้อง(ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 ) มาดูกันว่าศาลฎีกาจะตัดสินว่าอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่  357/2548 ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ... ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาเช่าซื้อให้แก่โจทก์  โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น   คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2  ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกัน หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาค้ำประกันนาง ศ.    มิใช่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะไม่สามารถบังคับจำเลยที่ 2 ได้ และการลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ไม่ได้กรอกข้อความเนื่องจากถูกนาง ศ. หลอกลวง จึงไม่ใช่การกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกัน ซึ่งยังไม่มีการกรอกข้อความพร้อมกับมอบสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการให้ไว้แก่โจทก์นั้น  เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อซึ่งเป็นการยอมเสี่ยงภัยในการกระทำของตนเองอย่างร้ายแรง แม้นาง ศ. กับพวกจะนำไปใช้เป็นหลักฐานในการค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์โดยกรอกข้อความในหนังสือค้ำประกันให้ผิดไปจากเจตนาของจำเลยที่ 2 ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้างความสำคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158**   จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว  ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น  ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น “ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ ก่อนทำสัญญาใดๆ ท่านผู้อ่านอย่าได้ลงลายมือชื่อในสัญญาเปล่าใดๆ ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความดังกรณีนี้เป็นอันขาด และการทำนิติกรรมใดๆ ควรไปทำด้วยตนเอง  สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน/ทะเบียนบ้านจะมอบให้ใครนำไปใช้เรื่องอะไรให้เขียนให้ชัดเจนว่ามอบให้ไปทำอะไร ช่องว่างที่เหลือแบบฟอร์มของสัญญาให้ใช้ไม้บรรทัดขีดออก เพื่อป้องการการเติมข้อความอื่น **ปพพ. มาตรา 158 ความสำคัญผิด ตาม มาตรา 156 หรือ มาตรา 157 ซึ่ง เกิดขึ้น โดย ความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรง ของบุคคล ผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้น จะถือเอา ความสำคัญผิดนั้น มาใช้เป็นประโยชน์ แก่ตน ไม่ได้   //

อ่านเพิ่มเติม >