ฉบับที่ 272 รู้หรือไม่ งานทวงหนี้ ต้องขออนุญาต

        หลังที่โรคระบาดโควิดเริ่มซาลง สภาพเศรษฐกิจก็ยังไม่ดีขึ้น หลายคนชักหน้าไม่ถึงหลัง หมุนเงินไม่ทัน ก็ต้องวิ่งเข้าหาแหล่งเงินกู้ ซึ่งแน่นอนว่าสมัยนี้ การกู้ยืมเงินสะดวกมากขึ้น ผู้บริโภคมีช่องทางกู้เงินมากมาย และหนึ่งในช่องทางที่ได้รับความนิยมคือ การกู้ยืมเงินผ่านออนไลน์ หรือแอปพลิเคชั่นกู้เงิน แต่อย่างไรก็ตาม ช่องทางดังกล่าวนี้ ก็มีความเสี่ยง เพราะเห็นในหน้าสื่อต่างๆ อยู่เสมอว่า คนที่กู้เงินผ่านช่องทางพวกนี้ มักเจอการถูกโกงในการกู้เงิน ได้เงินไม่เต็มบ้าง ถูกคิดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าทวงหนี้สูงเกินไปบ้าง หรือบางรายเจอการทวงหนี้ที่น่ากลัว ข่มขู่ จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ  ในฉบับนี้ จึงขอแนะนำความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ เพื่อประโยชน์ของทุกคน จะได้มีวิธีรับมือกับพวกแก๊งค์กู้เงินผิดกฎหมายครับ         ก่อนอื่น หลายคนไม่ทราบว่า “คำข่มขู่” ของแก๊งค์ทวงหนี้บางเรื่อง มีการอ้างข้อกฎหมายที่ไม่จริง ทำให้คนที่ไม่รู้ หลงเชื่อ  เช่น ขู่ว่าเป็นหนี้ไม่จ่ายจะติดคุก ซึ่งอันนี้ น่าจะเจอกันบ่อยที่สุด ซึ่งอันที่จริง การไม่จ่ายหนี้เป็นความผิดทางแพ่งไม่ใช่ความผิดตามกฎหมายอาญา ดังนั้นไม่มีการติดคุกแน่นอน แต่ความผิดทางแพ่งเจ้าหนี้ต้องไปใช้สิทธิฟ้องศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้   อีกกรณีคือการขู่ว่าจะมายึดทรัพย์ลูกหนี้ทันทีถ้าไม่จ่าย ซึ่งความจริงคือ เจ้าหนี้จะไปยึดทรัพย์สินลูกหนี้ตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องมีคำสั่งศาลจนคดีถึงที่สุดก่อน ดังนั้น ก็ต้องไปฟ้องศาลก่อนเช่นกัน และหากเผลอมายึดจริงก็อาจมีความผิดฐานลักทรัพย์ได้          เมื่อพูดถึงเรื่องกฎหมาย หลายคนอาจไม่ทราบว่า รัฐได้ออกกฎหมายคุ้มครองลูกหนี้เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการทวงหนี้อย่างไม่เป็นธรรม ชื่อว่า “พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558” ซึ่งกฎหมายนี้ ให้การคุ้มครองผู้บริโภคในหลายประการ เช่น ห้ามการติดตามทวงหนี้ ซึ่งมีลักษณะการพูดจาข่มขู่ ดูหมิ่น การเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ การใช้ความรุนแรงทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย อาจจะถูกดำเนินคดีในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท         หากใครประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องมีการขออนุญาตตามกฎกระทรวงการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558  หากใครฝ่าฝืนไม่ขออนุญาต มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท ส่วนเจ้าหนี้คนไหนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย คิดดอกเบี้ยแพงเกินร้อยละ 1.25 ต่อเดือนหรือร้อยละ 15 ต่อปี ถือว่าเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท         ดังนั้น เราจะเห็นว่า ความจริงแล้วคนที่ทำผิดกฎหมาย เสี่ยงติดคุกไม่ใช่ลูกหนี้ แต่เป็นบรรดาเจ้าหนี้และแก๊งค์ทวงหนี้มากกว่า เพราะคนเหล่านี้ทำผิดหลายอย่าง ทั้งเจ้าหนี้ที่คิดดอกเบี้ยแพง ก็ถือว่าคิดดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ดอกเบี้ยส่วนนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับ เงินที่จ่ายต้องเอาไปหักเงินต้นทั้งหมด หรือพวกทวงหนี้ที่ใช้คำหยาบ ทวงไม่เป็นเวลา หรือไม่ขออนุญาตก็ถือว่าเป็นการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ถ้าใครเจอปัญหาทวงหนี้ดังกล่าว ขอให้รีบดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1. หยุดจ่าย หยุดสร้างหนี้ใหม่ และรวบรวมหลักฐานเหล่านี้ เพื่อไปแจ้งความดำเนินคดีทางกฎหมาย ได้แก่ รายการเดินบัญชี (Statement) ที่กู้เงินออนไลน์ ชื่อและหน้าแอปฯ กู้เงินเถื่อน หลักฐานการแช็ต และแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน เพื่อให้ดำเนินคดีถึงที่สุด        2. ติดต่อสายด่วนแก้หนี้ 1213 หรือ สายด่วนชนะหนี้ 1443        3. เล่าข้อเท็จจริงและรูปแบบการกระทำของมิจฉาชีพ ลงบนโซเชียลมีเดียเพื่อเตือนภัยให้กับคนรู้จัก        4. หากถูกปลอมแปลงหรือขโมยข้อมูลออนไลน์จากการโหลดแอปกู้เงินเถื่อน แจ้งสายด่วน 1559         นอกจากนี้ การทวงหนี้ที่ไม่ถูกต้อง เคยมีประเด็นฟ้องร้องต่อศาล และศาลฏีกาได้ตัดสินวางหลักที่น่าสนใจไว้ เป็นกรณี การประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย หากไม่จดมีความผิดทางอาญา ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3047/2562 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3047/2562         “พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 5 บัญญัติว่า  ผู้ใดจะประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน...ดังนั้น ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า  เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 เวลากลางวัน  จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบธุรกิจทวงถามหนี้โดยรับจ้างบุคคลผู้มีชื่อทวงถามหนี้เงินกู้จาก ร.และประชาชนอื่นซึ่งเป็นลูกหนี้อันเกิดจากการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด  โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้...จึงเป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบแห่งความผิดแล้ว  ส่วนจำเลยทั้งสองจะรับจ้างจากบุคคลใดและประชาชนผู้ใดบ้างที่ถูกจำเลยทั้งสองทวงถามหนี้  หาใช่องค์ประกอบความผิดอันจะต้องบรรยายมาในคำฟ้องด้วยไม่  แต่เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก็นำสืบได้ในชั้นพิจารณา  การที่โจทก์มิได้ระบุชื่อผู้ว่าจ้างหรือชื่อประชาชนผู้ถูกทวงถามหนี้มาในฟ้อง  จึงไม่ถือว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม  ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 158(5)         ความผิดฐานประกอบธุรกิจทวงถามหนี้โดยไม่ได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 5, 39  มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี  จึงไม่ใช่ข้อหาที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น...เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ  ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องโดยไม่สืบพยานต่อไปก็ได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 176 วรรคหนึ่ง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 กู้เงิน แต่เจอคิดดอกเบี้ยแพง เกินกฎหมาย เจ้าหนี้เงินกู้มีสิทธิได้ดอกเบี้ยหรือไม่

            ในสภาพสังคมไทยปัจจุบันหลายคนมีปัญหาทางการเงินชักหน้าไม่ถึงหลัง ค่าใช้จ่ายๆ ต่างก็สูงมากขึ้น การไปกู้ยืมเงินจากบรรดาธนาคารต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องหาคนค้ำหรือมีวางหลักประกัน ดังนั้นจึงมีหลายคนหันไปใช้บริการกู้เงินนอกระบบหรือผ่านแอปกู้เงินบนออนไลน์ ซึ่งเมื่อกู้มาแล้วเจอคิดดอกเบี้ยแพง เช่น ร้อยละ 10 ต่อเดือนทั้งที่ตามกฎหมายแล้วการคิดดอกเบี้ยจากเงินกู้ กฎหมายได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยขั้นสูงสุดที่ผู้ให้กู้สามารถเรียกได้ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี คือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน เช่นนี้ลูกหนี้มักถูกเอาเปรียบจากการคิดดอกเบี้ยสุดโหด คำถามที่น่าสนใจคือ เมื่อเจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยจากเงินกู้เกินกฎหมาย ผู้บริโภคอย่างเราในฐานะผู้กู้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงๆ นี้หรือไม่ หากจ่ายไปแล้วเอาคืนได้ไหมหรือเจ้าหนี้จะมีสิทธิได้ดอกเบี้ยแพงผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ ศาลฏีกาได้เคยวินิจฉัยไว้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยศาลเห็นว่าการคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 1.25 ต่อเดือนเป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยแต่ลูกหนี้ก็ไม่มีได้ดอกเบี้ยนี้คืนแต่สามารถเอาเงินที่ชำระเป็นดอกเบี้ยไปหักเงินต้นที่กู้ยืมได้             คําพิพากษาฎีกาที่ 5056/2562             โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือนโดยจำเลยได้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน มาโดยตลอด ดอกเบี้ยที่จำเลยชำระไปดังกล่าวจึงเกิดจากการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมตกเป็นโมฆะ การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่ โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระไป แต่โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวหากแต่ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปหักเงินต้นหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงินโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปื ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง             นอกจากนี้ การกู้ยืมเงิน มีเรื่องที่ผู้บริโภคควรใส่ใจ เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบจากการกู้ยืมเงิน ดังนี้             (1) อย่าได้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าเป็นอันขาดเพราะเจ้าหนี้อาจเอาไปเติมข้อความหรือตัวเลขเงินกู้ที่เกินจริงในภายหลังได้             (2) โฉนดที่ดินเป็นเอกสารสำคัญอย่าไปให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันเพราะอาจเจอปัญหาตอนจ่ายหนี้หมดแต่เจ้าหนี้เรียกค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติมภายหลังได้ หากจะเอาที่ดินเป็นประกันต้องไปจดจำนองที่สำนักงานที่ดินให้ถูกต้อง             (3) ตรวจสอบเงินที่ได้รับมาตรงตามที่ทำสัญญากู้หรือไม่เป็นเรื่องพื้นฐานได้เงินไม่ครบตามเอาทีหลังจะยากเพราะถือว่ารับเงินมาแล้ว ดังนั้นจึงควรตรวจนับทันทีเพื่อให้แน่ใจว่าเงินที่เราได้ตรงกับที่ทำสัญญาไว้             (4) ควรใส่ตัวเงินเป็นตัวหนังสือด้วยเพื่อป้องกันมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตัวเลขในภายหลัง             (5) ผู้กู้ต้องได้สัญญากู้เสมอเป็นสิทธิตามกฎหมาย ผู้กู้ต้องได้สัญญากู้มาด้วยหากไม่ส่งมอบอาจส่อเจตนาไม่สุจริตและผิดต่อกฎหมาย การจ่ายเงินกู้โดยไม่รู้ว่าสัญญากำหนดสิทธิหน้าที่ของเราไว้อย่างไรจะทำให้เราเสียเปรียบเพราะไม่รู้เงื่อนไขตามสัญญาที่ตกลงกันหากเกิดการฟ้องร้องจะทำให้ต่อสู้คดีได้ยาก             (6) ในสัญญากู้ควรมีพยานฝ่ายผู้กู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานอย่างน้อย 1 คน เพื่อให้เป็นหลักฐานว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริง มีพยานยืนยันจำนวนเงินที่กู้ ระยะเวลาที่กู้ ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บ เพื่อหากเกิดปัญหาพิพาทกันภายหลังจะได้มีคนยืนยันไม่ให้ถูกเจ้าหนี้เรียกเงินคืนที่อาจเกินจริง             (7) จ่ายเงินทุกครั้งต้องมีหลักฐาน กล่าวคือ หากจ่ายเป็นเงินสดต้องได้ใบเสร็จรับเงินไว้เป็นหลักฐานยืนยันการชำระเงินและควรเก็บไว้ให้ดีจนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วนหรือเพื่อความสะดวกควรจ่ายโดยวิธีโอนเงินผ่านมือถือมีสลิปที่แอปธนาคารยืนยันก็จะช่วยให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ขอบังคับคดีกับบุคคลภายนอกที่เป็นลูกหนี้ร่วมตามสัญญาประนีประนอมได้หรือไม่

        การบังคับคดี โดยปกติจะกระทำได้ก็เฉพาะคู่ความผู้ที่แพ้คดีและตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่บางกรณี บุคคลภายนอกก็อาจถูกบังคับคดีได้ หากเข้ามาเกี่ยวข้องกับลูกหนี้ตามคำพิพากษา อย่างเช่นในกรณีที่หยิบยกในครั้งนี้ เป็นเรื่องของ นาย ส. ซึ่งเดิมมิใช่คู่ความในคดีเป็นบุคคลภายนอก แต่ในระหว่างดำเนินคดี ได้ยินยอมตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยในคดี  ต่อมาเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ ศาลฏีกาได้ตัดสินให้ นาย ส. ซึ่งแม้เป็นบุคคลภายนอกคดี แต่เมื่อยอมตกลงรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอม แล้วต่อมา นาย ส.ไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญา ก็มีสิทธิบังคับคดีกับทรัพย์สินของนาย ส. ได้ เนื่องจากถือได้ว่านาย ส. อยู่ในฐานะเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ และต้องดำเนินการบังคับคดีภายในสิบปีวันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามมาตรา 274 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามแนวคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3787/2564  คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3787/2564         แม้ ส. เป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความในคดีที่ถูกฟ้องแต่แรก แต่ ส. ยินยอมเข้ามาในคดีโดยตกลงยอมรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างลูกหนี้ร่วมและได้ลงลายมือชื่อผูกพันตนว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274  แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560  มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2560 และโจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีภายหลังจากมาตรา 274  ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับแล้ว การบังคับคดีของโจทก์จึงตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 274  วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมที่ ส. ซึ่ง เป็นบุคคลภายนอกยินยอมเข้ามาผูกพันตนว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ ร่วมรับผิดกับจำเลยมีผลผูกพัน ส. ในฐานะเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ต้องปฏิบัติตาม เมื่อ ส. ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับคดี ส. ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่เกร็ดความรู้เพิ่มเติม สำหรับหลายท่านที่เป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิบังคับคดี ในบางครั้งการบังคับคดี หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ทราบว่าทรัพย์สินลูกหนี้ตั้งอยู่หรือเก็บรักษาไว้ที่ใด เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนหาทรัพย์สินของลูกหนี้ได้             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2559          คำร้องของโจทก์ที่ระบุว่า โจทก์ได้ดำเนินการสืบหาทรัพย์ของจำเลยแล้ว  ปรากฏว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้  แต่ตามฐานะความเป็นอยู่ของจำเลยเชื่อว่าจำเลยมีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับมากกว่าที่ตนทราบแล้ว  ย่อมมีความหมายในตัวเองว่าโจทก์เห็นว่าจำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นซึ่งโจทก์ยังไม่สามารถติดตามจนพบเพื่อบังคับคดีได้จึงต้องขอให้ศาลเรียกจำเลยมาไต่สวนให้ได้ความจริง  การที่โจทก์ไม่อาจนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ได้เพราะยังไม่พบว่าจำเลยมีทรัพย์สินใด   กรณีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ทราบว่าจำเลยมีทรัพย์สินใดเป็นที่แน่ชัดแล้ว  แต่จะอาศัย ป.วิ.พ.มาตรา 277  เป็นเครื่องมือติดตามตัวทรัพย์สิน  หรือเพื่อให้ทราบสถานที่ตั้งของทรัพย์สินนั้น จึงมีเหตุสมควรที่จะรับคำร้องของโจทก์และมีหมายเรียกจำเลยมาไต่สวนทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ทวงหนี้ผ่านออนไลน์ กฎหมายที่ลูกหนี้ควรรู้

        ปัจจุบัน การกู้ยืมเงินเป็นเรื่องปกติ ยิ่งมีสื่อสังคมออนไลน์ การกู้ยืมเงินยิ่งทำได้ง่าย แค่พิมพ์คุยกันทางแชท มีหลักฐานโอนเงิน ตกลงวันเวลาคืนเงิน ทุกอย่างมีหลักฐานการกู้ยืมหมด และบางครั้ง เมื่อถึงกำหนดชำระ ลูกหนี้เบี้ยว เจ้าหนี้ก็ต้องมีการติดตามทวงถามหนี้ แต่บางครั้ง เจ้าหนี้ก็ใช้วิธีการทวงหนี้ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อลูกหนี้ เช่น โพสต์ทวงหนี้ผ่านเฟสบุค หรือบางคนใช้วิธีนินทาบอกคนอื่นในกลุ่มไลน์ เช่นนี้ หลายคนสงสัยว่าทำได้หรือไม่          ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า การทวงถามหนี้ เป็นสิทธิที่เจ้าหนี้สามารถทำได้ แต่เป็นการทวงกับตัวลูกหนี้โดยตรง แต่หากใช้วิธีบอกคนอื่นว่าลูกหนี้เป็นหนี้ มีการบอกชื่อสกุล หรือทำให้รู้ว่าหมายถึงคนใดอันเข้าข่ายประจานลูกหนี้ โดยวิธีการโพสต์ หรือพิมพ์ทางไลน์กลุ่มที่มีคนอื่นนอกจากลูกหนี้อยู่ อาจเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326         นอกจากนี้ ปัจจุบันมีกฎหมาย ชื่อว่า พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ที่เป็นกฏหมายคุ้มครองลูกหนี้ ไม่ให้ถูกทวงหนี้ด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม เช่น ห้ามทวงถามหนี้กับคนอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้ เว้นแต่บุคคลที่ลูกหนี้ระบุไว้ ห้ามบอกความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่น ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นต้น  แต่เจ้าหนี้ที่จะอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จะหมายถึงเฉพาะ ผู้ให้สินเชื่อ เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินเท่านั้น  เช่น สถาบันการเงิน เจ้าหนี้นอกระบบ บริการแอปกู้เงินต่างๆ ดังนั้น หากเป็นกรณี บุคคลธรรมดายืมเงินกัน เช่น เจ้าหนี้เป็นเพื่อน ญาติ  คนในครอบครัว ที่ให้กู้ยืมเงินเป็นครั้งคราว ไม่ใช่คนมีอาชีพปล่อยเงินกู้เป็นปกติ ก็ไม่ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ หรือผู้ทวงถามหนี้ ตามกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้น แม้มีการทวงหนี้จากบุคคลดังกล่าวผ่านทางเฟสบุคหรือกลุ่มไลน์ ก็อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแต่จะไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558   ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8375/2563          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8375/2563         โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและฐานทวงถามหนี้ผู้อื่นในลักษณะการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้ การเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ การติดต่อลูกหนี้โดยสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงหนี้อย่างชัดเจน ตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 11 (1) (2) (3) (4) อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องความผิดฐานหมิ่นประมาท โจทก์มิได้อุทธรณ์ ความผิดฐานหมิ่นประมาทจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่มีอำนาจหยิบยกความผิดฐานดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเพื่อลงโทษจำเลยได้อีกต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 หยิบยกความผิดฐานหมิ่นประมาทขึ้นมาวินิจฉัยและพิพากษาลงโทษจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย โจทก์และจำเลยย่อมฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225         พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 3 “ผู้ทวงถามหนี้” หมายความว่า เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และเจ้าหนี้อื่นซึ่งมีสิทธิรับชำระหนี้อันเกิดจากการกระทำที่เป็นทางการค้าปกติหรือเป็นปกติธุระของเจ้าหนี้ ทั้งนี้ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึง และ “ผู้ให้สินเชื่อ” หมายความว่า (1) บุคคลซึ่งให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ หรือ (2) บุคคลซึ่งรับซื้อหรือรับโอนสินเชื่อต่อไปทุกทอด         จำเลยไม่ใช่ผู้ให้สินเชื่อหรือให้กู้ยืมเงินเป็นทางการค้าปกติหรือเป็นปกติธุระของเจ้าหนี้ อันเป็นผู้ทวงถามหนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานทวงถามหนี้ในลักษณะเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 11 (3)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 พนักงานธนาคารหลอกผู้บริโภคช่วยซื้อหน่วยลงทุน แต่กลับเอาเงินไปส่วนตัว ธนาคารต้องร่วมรับผิดหรือไม่

        ทุกวันนี้ หลายคนคงตั้งคำถามต่อความรับผิดชอบของธนาคาร ว่าเมื่อเราฝากเงินไว้ในบัญชีของธนาคาร ธนาคารควรมีหน้าที่ดูแลเงินของเราให้ดี เพราะเป็นวิชาชีพหนึ่งที่ต้องสร้างความไว้วางใจเพื่อให้คนเอาเงินมาไว้กับตน แต่ตามข่าวจะเห็นได้ว่า เมื่อเกิดปัญหาถูกขโมยข้อมูลและมีการดูดเงินออกจากบัญชี ธนาคารกลับไม่ได้รับผิดชอบ ผู้บริโภคอย่างเราเสียเองต้องไปดิ้นรนแจ้งความดำเนินคดีกับมิจฉาชีพเอง ซึ่งถ้ามองในมุมกฎหมายแล้ว การที่เราเอาเงินไปฝากธนาคาร “เงินที่นำเข้าบัญชีธนาคาร” ถือเป็น “เงินของธนาคาร” ตามสัญญาฝากเงิน เพียงแต่ธนาคารมีหน้าที่ตามสัญญาฝากเงินต้องนำเงินจำนวนเดียวกันกับที่ฝากมาคืนเรา ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจความรับผิดของธนาคาร จึงขอหยิบยกคดีเรื่องหนึ่งซึ่งน่าสนใจมาเป็นกรณีศึกษา          เป็นกรณีธนาคารพาณิชย์ จัดให้มีบริการพนักงานธนาคารเพื่อคอยดูแลลูกค้าคนสำคัญ ไปหาลูกค้าถึงที่เพื่อช่วยจัดการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ของลูกค้า และต่อมาพนักงานธนาคารคนดังกล่าว ไปหลอกให้ลูกค้าคือผู้บริโภคจัดทำเอกสารอ้างว่าจะไปซื้อหน่วยการลงทุน แต่กลับนำใบนำฝาก/โอน มาทำรายการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้บริโภคเข้าบัญชีของบุคคลอื่นโดยมิได้นำไปซื้อหน่วยลงทุน ทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนหลายสิบล้านบาท ผู้บริโภคในฐานะเจ้าของเงินและเป็นลูกค้าของธนาคารจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ธนาคารรับผิด          ศาลฏีกาได้ตัดสินให้ธนาคารต้องรับผิดในผลการกระทำของพนักงานธนาคารคนดังกล่าว ในฐานะนายจ้างต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้าง เพราะการที่ธนาคารจัดให้มีพนักงานดูแลลูกค้ารายใหญ่ด้วยการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมกับธนาคารถึงที่ทำการของลูกค้าโดยลูกค้าไม่ต้องมาดำเนินการที่สาขาของธนาคารด้วยตนเอง ถือเป็นบริการอย่างหนึ่งของธนาคารเพื่อประโยชน์ในกิจการของธนาคารเอง ธนาคารจึงสมควรคัดเลือกพนักงานที่ไว้ใจได้มาทำหน้าที่นี้และคอยสอดส่องไม่ให้ทำผิดหน้าที่   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1802/2565         จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ การจัดให้มีพนักงานดูแลลูกค้ารายใหญ่ด้วยการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมกับจำเลยถึงที่ทำการของลูกค้าโดยลูกค้าไม่ต้องมาดำเนินการที่สาขาของจำเลยด้วยตนเอง ถือเป็นบริการอย่างหนึ่งของจำเลยเพื่อประโยชน์ในกิจการของจำเลยเอง ซึ่งจำเลยสมควรคัดเลือกพนักงานที่ไว้ใจได้มาทำหน้าที่นี้และคอยสอดส่องไม่ให้ทำผิดหน้าที่ เมื่อ จ. พนักงานผู้มีหน้าที่ดูแลลูกค้าของจำเลยกลุ่มลูกค้าบุคคลได้รับมอบหมายจากจำเลยให้เป็นผู้ดูแลโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ การที่ จ. อำนวยความสะดวกให้โจทก์ด้วยการนำใบนำฝาก/โอน และใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อถึงที่ทำการของโจทก์ แล้วรับเอกสารดังกล่าวมาดำเนินการต่อที่สาขาของจำเลย ถือเป็นกิจการของจำเลยที่มอบหมายให้ จ. ไปกระทำ มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์มอบหมายให้ จ. เป็นตัวแทนของโจทก์ไปทำธุรกรรมกับจำเลยดังที่จำเลยฎีกา การที่ จ. รู้จักสนิทสนมคุ้นเคยกับโจทก์มาก่อนมีผลเพียงทำให้โจทก์ให้ความไว้วางใจ จ. ในฐานะพนักงานของจำเลยที่มาอำนวยความสะดวกให้โจทก์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น หาทำให้ จ. กลับกลายเป็นตัวแทนของโจทก์ไปทำธุรกรรมกับจำเลยไม่ จ. เพียงทำหน้าที่นำเอกสารที่ใช้ในการถอนเงินและซื้อหน่วยลงทุนไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อแล้วรับเอกสารจากโจทก์ไปมอบให้พนักงานของจำเลยที่มีอำนาจหน้าที่ในการทำธุรกรรมนั้น ๆ เป็นผู้ดำเนินการต่อ หาใช่ว่า จ. เป็นผู้รับทำธุรกรรมให้โจทก์ด้วยตนเองไม่         ดังนั้น แม้ขณะทำธุรกรรมดังกล่าว จ. ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้แนะนำการลงทุนดังที่จำเลยฎีกา การกระทำของ จ. ก็ยังอยู่ในขอบอำนาจและในกิจการที่ได้รับมอบหมายจากจำเลย เมื่อ จ. นำใบนำฝาก/โอน มาทำรายการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์เข้าบัญชีของบุคคลอื่นโดยมิได้นำไปซื้อหน่วยลงทุนอันผิดไปจากความประสงค์ของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ จ. ลูกจ้างของจำเลยกระทำไป ในทางการที่จ้างโจทก์สามารถตรวจสอบได้โดยง่ายว่า จ. ได้ซื้อหน่วยลงทุนถูกต้องตามความประสงค์ของโจทก์ในแต่ละครั้งหรือไม่ โดยการเรียกสมุดคู่ฝากบัญชีและสมุดบัญชีกองทุนรวมทั้งเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบทุกครั้งภายหลังจากที่ได้มอบหมายให้ไปทำธุรกรรม ทั้งการโอนเงินตามฟ้องแต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกัน หากโจทก์ได้ตรวจสอบดังเช่นวิญญูชนพึงกระทำก็ย่อมจะทราบได้ตั้งแต่แรกว่ามีการทำธุรกรรมผิดไปจากความประสงค์ของตน ซึ่งอาจจะอายัดเงินในบัญชีของผู้รับโอนกลับคืนมาได้ทันหรืออย่างน้อยก็ทำให้สามารถป้องกันมิให้เกิดความเสียหายซ้ำอีก แต่โจทก์กลับมอบสมุดคู่ฝากบัญชีและสมุดบัญชีกองทุนให้ จ. เป็นผู้เก็บรักษา ทั้งยังปล่อยปละไม่ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมจนเวลาล่วงเลยมานานหลายเดือนจึงทราบเหตุละเมิด ถือได้ว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์ประกอบด้วย         การกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชำระแก่โจทก์มากน้อยเพียงใด จึงต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งละเมิดแล้ว เห็นว่า ความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดขึ้นเพราะฝ่ายจำเลยเป็นผู้ก่อมากกว่า ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์สองในสามส่วน เป็นเงินรวม 14,333,333.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,000,000 บาท นับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ของต้นเงิน 3,666,666.67 บาท นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 และของต้นเงิน 6,666,666.67 บาท นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2558 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดรวม 21,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน และเมื่อศาลฎีกาแก้ไขจำนวนเงินที่ให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ จึงเห็นสมควรแก้ไขค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยใช้แทนโจทก์เสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 นิติบุคคลคอนโดออกข้อบังคับ ยกเว้นการเก็บค่าส่วนกลางได้หรือไม่

        เมื่อเราซื้อห้องชุดหรือคอนโดก็เสมือนเป็นการเข้ามาอยู่อาศัยร่วมกันกับคนหมู่มาก มีสาธารณูปโภคและทรัพย์สินบางอย่างต้องใช้ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นฟิตเนส สระว่ายน้ำ เครื่องซักผ้า ระบบรักษาความปลอดภัย เป็นต้น ดังนั้นเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นจึงต้องมีการจัดหาและมีผู้ดูแลส่วนกลางเหล่านั้น และแน่นอนย่อมเกิดค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งทุกคนต้องออกร่วมกันออก ที่เรารู้จักกันในชื่อของ “ค่าส่วนกลาง”          อย่างไรก็ตามเรื่องจริงที่เกิดขึ้นคือในการอยู่ร่วมกันของผู้อยู่อาศัยในแนวดิ่งนี้ ก็จะมีข้อบังคับของคอนโด ที่เปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญที่เป็นสิ่งสูงสุดที่ทุกคนในคอนโดต้องยึดถือและปฏิบัติเพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข แต่ในเรื่องค่าส่วนกลาง หากนิติบุคคลมีการออกข้อบังคับ เพื่อยกเว้นการเรียกเก็บค่าส่วนกลาง ให้กับเจ้าของร่วมบางกลุ่ม อาจเป็นชนวนความขัดแย้ง ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีคดีเกิดขึ้น และศาลได้มีการตัดสินวางแนวทางไว้ว่า ค่าส่วนกลางเป็นค่าใช้จ่ายที่มีกฎหมายกำหนดให้เรียกเก็บจากเจ้าของร่วม ดังนั้นการที่มีข้อบังคับกำหนดให้ยกเว้นให้เจ้าของโครงการอาคารชุดซึ่งมีห้องชุดไว้เพื่อขายไม่ต้องเฉลี่ยค่าใช้จ่ายตามข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุด จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายใช้บังคับไม่ได้  เป็นไปตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13225/2553         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13225/2553        การที่ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 (เดิม) บัญญัติให้เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากบริการส่วนรวม และที่เกิดจากเครื่องมือ เครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด กับต้องร่วมกันออกค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษา และการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามอัตราส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 14 นั้น ก็เพื่อจะได้นำเงินดังกล่าวไปเป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางซึ่งเป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วม ซึ่งเจ้าของร่วมผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการบำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลางย่อมรวมถึงบริษัท ว. ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการอาคารชุดและเจ้าของห้องชุดพิพาทในขณะจดทะเบียนอาคารชุดและยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บุคคลอื่นด้วย การที่จำเลยออกข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดยกเว้นให้เจ้าของโครงการอาคารชุดซึ่งมีห้องชุดไว้เพื่อขายไม่ต้องเฉลี่ยค่าใช้จ่ายตามข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุด จึงเป็นการออกข้อบังคับที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ข้อบังคับในส่วนดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้ บริษัท ว. ต้องรับผิดชอบชำระค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18         กรณีข้อบังคับเขียนยกเว้นความรับผิดของนิติบุคคล เมื่อทรัพย์สินของเจ้าของร่วมถูกขโมยหรือสูญหาย ข้อตกลงเช่นนี้ ใช้บังคับไม่ได้ เพราะถ้าเจ้าของร่วมนำสืบได้ว่า ก่อนเข้าไปในห้องชุดคนร้ายจะต้องเดินไปตามที่เดินซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนกลาง ขณะงัดแงะหรือใช้กุญแจปลอมเปิดประตูเข้าไปในห้องชุดจะต้องยืนหน้าห้องชุดอันเป็นทรัพย์สินส่วนกลางงัดแงะหรือเปิดกุญแจปลอมเข้าไป ก็เรียกได้ว่า รปภ. ไม่ดูแลป้องกันคนร้ายขณะอยู่ที่ทรัพย์สินส่วนกลางแล้วนิติบุคคลก็ต้องรับผิดฐานละเมิดต่อเจ้าของร่วม ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3220/2553คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3220/2553         การกระทำอันเป็นละเมิดนั้นต้องเป็นการประทุษกรรมต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย หรือละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำ หรือที่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลิ่นเล่อ การละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้กระทำหรือตนไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องกระทำนั้นหาเป็นละเมิดไม่ เมื่อนิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่จัดการและดูแลเฉพาะทรัพย์ส่วนกลางซึ่งหมายถึง ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุดและที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้เพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 4 วรรคสามเท่านั้น นิติบุคคลอาคารชุดจึงไม่มีหน้าที่ดูแลรักษาห้องชุดซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลตามมาตรา 4 วรรคสองแต่อย่างใด ดังนั้นการที่พนักงานรักษาความปลอดภัยของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลตรวจตราอาคารชุดโดยใกล้ชิดและมีคนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ในห้องชุดของโจทก์จึงถือไม่ได้ว่าการลักทรัพย์เกิดจากการที่จำเลยที่ 1 งดเว้นหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 รู้ทัน กล่องสุ่ม ใครได้ ใครเสีย

        กล่องสุ่ม (Mystery box) คือ กล่องที่มีการนำสินค้าหลายๆ อย่าง คละแบบ/ราคา ใส่ไว้ในกล่อง และมีการนำมาขาย โดยที่ผู้ซื้อไม่ทราบว่าสินค้าในกล่องมีอะไรบ้าง รู้เพียงราคาของกล่องที่ซื้อว่าเท่าไรเท่านั้น ซึ่งตามหลักแล้วถือเป็นกลยุทธ์ในการทำการตลาดแบบหนึ่ง เป็นการกระตุ้นยอดขายและทำให้ลูกค้ารู้จักร้านมากขึ้น         ทุกวันนี้หลายคนคงรู้จักกล่องสุ่มมากขึ้น เพราะมีการโฆษณาขายอยู่บนโลกออนไลน์อย่างแพร่หลาย และบวกกับคุณสมบัติของกล่องสุ่มที่ทำให้ผู้ซื้ออย่างเราๆ ได้ลุ้นว่าจะได้ของอะไรบ้าง ซึ่งตรงกับนิสัยคนไทยบางส่วนที่ชอบการเสี่ยงโชค เสี่ยงดวง ทำให้กล่องสุ่มได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว มีอินฟลูเอนเซอร์หรือดาราหลายคนหันมาขายกล่องสุ่ม แต่อย่างไรก็ตามก็มีข่าวออกมาอยู่เป็นระยะว่ามีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่โดนหลอกลวงจากกล่องสุ่ม เนื่องจากมีการชวนเชื่อว่าซื้อไปแล้วในกล่องมีโอกาสได้ของราคาแพง มีโอกาสสร้างกำไรจากกล่องสุ่ม เสมือนเป็นการพนันขันต่อที่มีทั้งคนได้และคนเสีย  จึงเป็นที่สงสัยกันมากว่า ตกลงกล่องสุ่มที่มีอยู่เต็มไปหมดในโลกออนไลน์ เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายไหม           ในประเด็นนี้ หากมองมุมของกฎหมายก็ตอบได้ทันทีว่า การขายกล่องสุ่มเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ผิดกฎหมายเพราะมีลักษณะเป็นการพนัน แต่หากกล่องสุ่มนั้นมาในรูปแบบของชิงโชค เช่น ซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าหรือในตลาดออนไลน์ครบ 1,000 บาท ได้บัตรแลกกล่องสุ่มหนึ่งใบ กล่องสุ่มแบบนี้สามารถทำได้เพียงแต่ต้องขออนุญาตต่อกรมการปกครอง เช่นเดียวกับพวกลุ้นใต้ฝาเครื่องดื่มชูกำลังในสมัยก่อนหรือร้านค้าที่เปิดให้สอยดาวต่างๆ เหล่านี้ เป็นกลุ่มที่เรียกว่ารับชิงโชคต้องมีการขออนุญาตทั้งสิ้น  เป็นไปตาม มาตรา 8 และมาตรา 12 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478         มาตรา 8 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478         “การจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค โดยวิธีใด ๆ ในการ ประกอบกิจการค้าหรืออาชีพ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตก่อนจึงจะทำได้”         หากฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50 บาท ขึ้นไปจนถึง 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 12 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478         “ ผู้ใดจัดให้มีการเล่น หรือทําอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวน โดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หรือรับอนุญาตแล้วแต่เล่นพลิกแพลง ”         หากฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปจนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป จนถึง 5,000 บาท         สรุปได้ว่า การขายกล่องสุ่ม ถ้ามีลักษณะที่ทำให้ผู้ซื้อต้องลุ้นว่าจะได้หรือเสีย กล่าวคือ ของในกล่องสุ่มอาจมีราคาสูงหรือต่ำกว่าเงินที่จ่ายค่ากล่อง เช่นนี้ มีลักษณะเป็นการพนัน การเสี่ยงโชค ผิดกฎหมายพนัน แต่หากการขายกล่องสุ่มของที่อยู่ในกล่องรวมกัน ราคามากกว่าเงินที่ผู้ซื้อจ่ายเพียงแต่ละคนอาจได้ของมูลค่ามากน้อยแตกต่างกันไป เช่นนี้ ถือว่าไม่มีการได้การเสีย ไม่มีลักษณะการพนันสามารถทำได้         อย่างไรก็ตาม ในมุมกฎหมายการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคก็มีประเด็นเกี่ยวกับการระบุข้อมูลของสินค้าที่อยู่ในกล่องสุ่ม ซึ่งพบว่าที่ผ่านมาบางร้านขายกล่องสุ่มโดยกล่องสินค้ามีเพียงการแจ้งประเภทสินค้า เช่น เครื่องสำอางหรือของใช้ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดสำคัญของสินค้า ทั้งฉลากและราคา เช่นนี้ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน   เนื่องจากผู้บริโภคควรได้รับข้อมูลที่เพียงพอก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าไม่ตรงปก หรือไม่ครบตามที่มีการโฆษณา         ดังนั้นในฐานะผู้บริโภคเวลาจะซื้อสินค้าหรือบริการใด ก็ต้องตรวจสอบข้อมูลผู้ขาย ดูรีวิว คอมเม้น  และหลีกเลี่ยงสินค้าที่มีความเสี่ยง อย่างเช่นกล่องสุ่มก็เป็นสินค้าอีกประเภทที่เราต้องเท่าทัน อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาจ่ายน้อยได้มาก เพราะส่วนมากคือเป็นกลโกงของมิจฉาชีพเพื่อหลอกเอาเงินเรา  เราควรใช้เงินอย่างคุ้มค่าเพื่อให้ได้มาซึ่งของที่เราต้องการจริงๆ  มากกว่าการซื้อสินค้าอย่างกล่องสุ่มที่ไม่รู้จะได้อะไรมา ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และโดนหลอกจนสูญเงินอย่างเปล่าประโยชน์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 การจอดรถหน้าบ้านคนอื่น ผิดกฎหมายหรือไม่

        หลายคนมักมีปัญหาเจอคนชอบเอารถมาจอดขวางหน้าบ้านทำให้เข้าออกได้ไม่สะดวก แน่นอนว่าหลายคนอาจสงสัยว่า บริเวณหน้าบ้านถือเป็นพื้นที่ของเจ้าของบ้านหรือไม่ (ความเป็นจริงส่วนมากมักเป็นที่สาธารณะ) อย่างไรก็ตามการจอดรถในที่สาธารณะซึ่งเป็นบริเวณหน้าบ้านของคนอื่น ก็อาจทำให้เจ้าของบ้านเกิดปัญหามีความเดือดร้อนในการเข้าออกหรือไม่สามารถนำรถยนต์ของตนเองออกไปข้างนอกได้เช่นนี้ หลายคนจึงสงสัยว่ากฎหมายมีการคุ้มครองเจ้าของบ้านมากน้อยเพียงใด  มีบทลงโทษคนที่ชอบจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่นไหม เรื่องนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 ระบุว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือ ให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท”        บทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ระบุพฤติการณ์ของผู้ที่จะถือว่ากระทำความผิดต้องมีการกระทำในลักษณะ “รังแก” หรือ “ข่มเหง” หรือ คุกคาม หรือ ให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ”  ดังนั้นการจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่นก็อาจไม่ใช่เป็นความผิดเสมอไป เนื่องจากหากมีการเรียกให้เจ้าของรถยนต์เอารถยนต์ที่จอดขวางออกไปเพื่อให้เจ้าของบ้านเข้าออกได้และมีการย้ายรถยนต์ออกไปก็จะไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่ในทางกลับกันหากเมื่อเจ้าของบ้านได้ขอให้ขยับรถออกจากหน้าบ้าน แต่เจ้าของรถยนต์กลับเมินเฉยไม่สนใจและไม่ขยับรถออกไปหน้าบริเวณหน้าบ้านเช่นนี้ อาจเข้าข่ายกระทำความผิดในมาตรา 397 เพราะถือว่าเป็นการรังแกข่มเหงให้เจ้าของบ้านเกิดความเดือดร้อนรำคาญ   ซึ่งเรื่องนี้เคยมีการฟ้องร้องเป็นคดีสู่ศาลจนเกิดแนวคำพิพากษาเป็นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2518 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2518         จำเลยจอดรถขวางกั้นไม่ให้โจทก์ถอยรถออกไปจากซอยที่เกิดเหตุ เป็นเพียงขัดขวางไม่ให้โจทก์นำรถออกไปได้เท่านั้น ส่วนตัวโจทก์มีอิสระที่จะออกไปจากซอยได้ การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 แต่เป็นการรังแกข่มเหงทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ แม้ซอยนั้นจะอยู่ในที่ดินของผู้มีชื่อซึ่งแบ่งให้ผู้อื่นเช่าปลูกบ้าน แต่ประชาชนก็ชอบที่จะเข้าออกไปติดต่อกับผู้ที่อยู่ในซอยนั้นได้ ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำในที่สาธารณสถาน จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397         นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายจราจร ที่กำหนดว่าผู้ขับขี่จะจอดรถก็ต้องระมัดระวัง ไม่ไปจอดในพื้นที่ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายกับผู้อื่น ดังนั้น การจอดรถขวางทางเข้าออกบ้านคนอื่น จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 55 (6) ซึ่งบัญญัติว่า มาตรา 55 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถ 1. ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง 2. บนทางเท้า 3. บนสะพานหรือในอุโมงค์ 4. ในทางร่วมทางแยก 5. ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ 6. ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ 7. ในเขตปลอดภัย ซึ่งหากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท         อย่างไรก็ตามแม้การที่มีผู้อื่นมาจอดรถขวางหน้าบ้านของเราจะถือเป็นความผิดต่อกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้เจ้าของบ้านเกิดสิทธิที่จะทำลายหรือทำให้รถยนต์ที่จอดขวางหน้าบ้านได้รับความเสียหาย อย่างเช่นในอดีตที่มีข่าวป้าทุบรถและถูกเจ้าของรถดำเนินคดีซึ่งในคดีดังกล่าวศาลก็ตัดสินว่าเป็นการกระทำผิดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ที่ระบุว่าผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ           ดังนั้นสำหรับเจ้าของรถหากมีความจำเป็นที่จะต้องจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่นเพื่อทำธุระ ควรทิ้งเบอร์ติดต่อไว้ที่หน้ารถเผื่อมีกรณีฉุกเฉินหรือเจ้าของบ้านต้องการให้ขยับรถของจากหน้าบ้าน เจ้าของบ้านจะได้ติดต่อได้สะดวก ส่วนเจ้าของบ้านหากพบว่ามีรถจอดขวางหน้าบ้านก็ควรติดต่อเจ้าของรถแจ้งเตือนหรือบอกกล่าวให้รับทราบในกรณีเจอรถจอดขวางหน้าบ้านหรือติดป้ายประกาศห้ามจอดที่รั้วประตูบ้าน พร้อมระบุข้อความแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับรถที่ผ่านมาได้ทราบ และหากไม่ได้รับความร่วมมือในการย้ายรถออกก็ควรไปแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายอันเป็นการใช้สิทธิที่ชอบธรรมตามที่มีกฎหมายรับรองไว้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 สัญญาเช่าต้องติดอากรแสตมป์ด้วยหรอ

        ผู้บริโภคหลายคนโดยเฉพาะนักศึกษาและคนวัยเริ่มทำงานมักจะเช่าห้องเช่าคอนโดมิเนียม หลายคนอาจไม่ทราบว่าสัญญาเช่าที่เราทำกัน จริงๆ แล้วต้องติดอากรแสตมป์ด้วย หลายๆ คนอาจจะสับสนว่า อากรแสตมป์ อันเดียวกันกับที่เป็นแสตมป์ปิดซองจดหมายใช่หรือไม่  บอกเลยไม่ใช่         อากรแสตมป์เป็นภาษีประเภทหนึ่งตามประมวลรัษฎากรที่จัดเก็บในรูปของดวงแสตมป์ที่ใช้สำหรับปิดบนเอกสารราชการและหนังสือสัญญาต่างๆ โดยมีกรมสรรพากร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเก็บ  มีชนิด 1 บาท 5 บาท และ 20 บาท สีเขียวๆ  โดยอัตราที่ต้องเสียคิดง่ายๆ เสียอัตรา 0.1% ของค่าเช่าตลอดอายุสัญญา (ถ้าไม่กำหนดให้ถือว่ามีระยะเวลา 3 ปี และถ้าครบกำหนดแล้วยังให้เช่าต่อไปถือว่าทำสัญญากันใหม่และต้องเสียอากรสำหรับสัญญาดังกล่าว ภายใน 30 วัน) เช่น ค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท ทำสัญญา 1 ปี = 60,000 บาท เสียภาษีอากรอัตราร้อยละ 0.1 จึงเท่ากับ ต้องติดอากรจำนวน 60 บาท ซึ่งตามกฎหมายผู้ที่ต้องเสียอากรส่วนนี้ คือผู้ให้เช่า เนื่องจากกฎหมายมองว่าเจ้าของทรัพย์ที่เช่าเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการทำสัญญาเช่า  ส่วนผู้เช่ามีหน้าที่ต้องขีดฆ่าอากรแสตมป์  อย่างไรก็ตามกฎหมายก็ยังเปิดช่องให้คู่สัญญาสามารถตกลงกันเองได้ ว่าจะกำหนดให้ใครมีหน้าที่ต้องเสียอากรนี้ โดยระบุไว้ในสัญญา แต่หากไม่ได้ตกลงกันก็ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด         ดังนั้น หากในสัญญาเช่าระบุไว้ว่า ให้ผู้เช่าเป็นผู้รับผิดชอบ เราจึงควรรู้ว่า หากต้องเสียอากรสามารถทำได้ โดยหาซื้ออากรได้ที่หน่วยงานราชการ เช่น กรมสรรพากร หรือร้านเครื่องเขียน (บางร้าน)หรือ จะนำเงินไปขอเสียอากรที่สำนักงานสรรพากรใกล้บ้านก็ได้ โดยจ่ายเงินสด จะได้ใบเสร็จมา ก็นำใบเสร็จมาแนบประกอบสัญญาเช่าไว้เป็นหลักฐาน         หากสัญญาเช่าใด ไม่ติดอากรหรือติดไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด ผลคือ ผู้มีหน้าเสียอากรจะต้องเสียเงินเพิ่มนอกเหนือจากค่าอากรที่ต้องเสียนับจากวันทำสัญญาเช่า ซึ่งแบ่งเป็นช่วงเวลาคือถ้าปิดอากรหลัง 15 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน จะเสีย 2 เท่า แต่ถ้าเกิน 90 วัน จะเสีย 5 เท่า แต่หากไม่ดำเนินการและถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเจอ จะเสีย 6 เท่า เงินเพิ่มดังกล่าวสามารถขอลดหย่อนได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดและหากมีข้อพิพาทต่อศาล ตราสารดังกล่าวจะไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีในศาลได้จนกว่าจะได้เสียอากรแสตมป์ให้ถูกต้อง (ขอบคุณที่มา กรมสรรพากร )         สัญญาเช่าซื้อไม่ติดอากรแสตมป์ มีผลใช้บังคับได้ไม่ตกเป็นโมฆะเพียงแต่อ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่2089/2552)         คำพิพากษาฎีกาที่ 2089/2552         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยแบบของสัญญาเช่าซื้อบัญญัติไว้เพียงว่า "สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ" เมื่อปรากฏว่าสัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นโดยมีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้เช่า และมีผู้รับมอบอำนาจโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในช่องเจ้าของ ถือได้ว่าสัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นเป็น หนังสือตามแบบที่บัญญัติไว้แล้ว จึงมีผลผูกพันคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตามนั้น ส่วนการ ปิดอากรแสตมป์ในตราสารตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลรัษฎากร ก็เป็นเรื่องของการเรียกกับ อากรอันเป็นอีกเรื่องหนึ่งแยกต่างหาก ทั้งการไม่ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ก็มีผล เพียงไม่อาจอ้างตราสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้เท่านั้น มิใช่ว่าสัญญาที่มิได้ ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์จะตกเป็นโมฆะไม่         สัญญาเช่าไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ แต่เมื่อจำเลยยอมรับว่ามีการทำสัญญากันจริง เพียงแต่เจตนาเป็นสัญญาซื้อขาย จึงไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน แม้หนังสือสัญญาเช่าฉบับดังกล่าวจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังได้ตามคำรับของจำเลยว่ามีการทำหนังสือสัญญาเช่ากันจริง          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7720/2550         โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำหนังสือสัญญาเช่ากับโจทก์ตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าท้ายฟ้องแล้วผิดสัญญา ขอให้ขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหาย จำลยให้การว่าหนังสือสัญญาเช่าเอกสารท้ายฟ้องเป็นสัญญาที่โจทก์เจ้าของที่ดินรวมและจำเลยมีเจตนาให้เป็นสัญญาซื้อขาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยให้การยอมรับว่า จำเลยทำหนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวกับโจทก์จริง เพียงแต่อ้างว่าหนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวคู่สัญญามีเจตนาให้เป็นสัญญาซื้อขาย กรณีเช่นนี้จึงไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน แม้หนังสือสัญญาเช่าฉบับดังกล่าวจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังได้ตามคำรับของจำเลยว่ามีการทำหนังสือสัญญาเช่ากันจริงไม่ต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา118

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 หลอกลงทุนทิพย์ แต่หมดตัวจริง

        บ่อยครั้ง ที่เราได้ยินได้ฟังข่าวเกี่ยวกับการจับกุมบรรดาพ่อข่ายแม่ข่ายชวนลงทุนแล้วเชิดเงินหนี และมีคนเสียหายหลายสิบล้าน จากเดิมที่ชวนลงทุนในสินค้าขายปลีก ก็มาสู่การลงทุนผ่านออนไลน์ แม้ช่องทางหรือสินค้าที่นำมาหลอกให้ลงทุนจะเปลี่ยนแปลงไปตามเศรษฐกิจแต่รูปแบบการหลอกลวงก็ยังเหมือนเดิม คือหลอกให้ร่วมทำธุรกิจ อ้างว่าจะได้ผลตอบแทนสูง แต่ความจริงเน้นหาสมาชิกและนำเงินจากรายใหม่มาจ่ายให้รายเก่า จนเมื่อหมุนเงินไม่ไหวก็จะพังลง และจะหนีหายไปทิ้งไว้แต่หนี้สินให้เป็นของดูต่างหน้า ลักษณะเช่นนี้ ถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีบทลงโทษทางอาญาที่รุนแรง เพราะในการกระทำความผิดในแต่ละครั้งเกิดความเสียหายจำนวนมาก ซึ่งล่าสุดที่กำลังเป็นข่าวช่วงต้นปี 2566 คือกรณี น.ส.พิชญ์นรี ตันติวิทย์ หรือ ‘เม พรีมายา’ เจ้าของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้ชื่อแบรนด์ PRIMAYA (พรีมายา) และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ใช้ข้อความอันเป็นเท็จ ลักษณะเชิญชวนอ้างว่าลงทุน 6,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ได้เงิน 15 ล้านบาท พร้อมโพสต์ภาพหญิงคนหนึ่งคู่กับรถหรูในโชว์รูม ในลักษณะเชิญชวน ซึ่งต่อมาโดนหมายจับ พ.ร.บ.คอมพ์ ซึ่งการหลอกลวงเช่นนี้ เกิดขึ้นตลอด         หากย้อนไปเมื่อต้นปี 2560 หลายคนคงรู้จัก “ซินแสโชกุน” อายุเพียง 34 ปี ร่วมกับพวก หลอกให้ร่วมลงทุนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสมองจะพาสมาชิกไปทัวร์ญี่ปุ่น สุดท้ายลอยแพกลางสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้มีคนถูกหลอกกว่าแปดร้อยราย ความเสียหายมากกว่าร้อยล้านบาท ท้ายที่สุดศาลก็สั่งจำคุกซินแสโชกุนกับพวก เนื่องจากมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ผิด พ.ร.ก.กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษบทหนักสุดตาม พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กระทงละ 3 ปี 4 เดือน โดยกระทำผิดรวม 871 กระทง จึงจำคุก คนละ 2,903 ปี 4 เดือน ส่วนโชกุนโดนจำคุก 4,355 ปี  แต่เมื่อรวมโทษจำคุกตามกฎหมายแล้ว จำคุกสูงสุดคนละ 20 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2)         หรืออีกคดีกรณี “เมจิกสกิน”   เป็นคดีรีวิวเครื่องสำอางเมจิกสกินและจำหน่ายสินค้าปลอม มีการฟ้องในฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ผิด พ.ร.บ เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ศาลตัดสินปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 175,000 บาท  จำเลยที่ 2 และ 3 จำคุกคนละ 20 ปี 5 เดือน และปรับ 170,500 บาท จำเลยที่ 4 -6 จำคุกคนละ 20 ปี และปรับ 147,500 บาท         ช่วงปี 2561 นายสวัสดิ์ แสงบางปลา อายุ 80 ปี อดีตประธานกก.ดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาฯ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ฯ ลงทุนแชร์ล็อตเตอรี่ สูญเงินกว่า 187 ล้านบาท จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 เเละ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงลงโทษฐานการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นบทหนักสุดให้ลงโทษ ทุกกรรมกรรมละ 5 ปี จำเลยรับสารภาพลงโทษเหลือกรรมละ 2 ปี 6 เดือน การกระทำจำเลยเป็นความผิด 100 ครั้ง คงลงโทษจำคุกจำเลย ทั้งหมด 200 ปี 600 เดือน เเต่ตามกฎหมายคงจำคุกจริงมีกำหนด 20 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2)         หรือเมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีมหากาพย์คดี Forex-3D  ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 พัวพันกับบุคคลที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก หลอกให้ประชาชนเข้ามาร่วมลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (Forex) มีผู้หลงเชื่อตกเป็นผู้เสียหาย 9,824 คน ความเสียหายเกือบ 2,500 ล้านบาท ซึ่งคดีก็ยังอยู่ในขั้นตอนของหน่วยงานรัฐที่สอบสวนเพื่อพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ           ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ อยากให้ทุกท่านได้เห็นว่า ความเสียหายจากการหลอกลวงไม่ว่าจะมาในลักษณะชวนลงทุนโดยใช้ข้อความชวนเชื่อจูงใจให้ลงทุนน้อยๆ อ้างได้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว หรืออาศัยคนมีชื่อเสียงเพื่อทำให้ดูน่าเชื่อถือก็ตาม เมื่อหลงเชื่อไปแล้ว สุดท้ายเกิดความเสียหายกับคนจำนวนมากที่โดนหลอกเงิน การดำเนินคดีก็มุ่งไปที่การลงโทษผู้กระทำผิดที่ฉ้อโกงหลอกลวงให้ติดคุก ซึ่งเราก็เห็นจากตัวอย่างคดีต่างๆ ที่กล่าวมาว่า ต่อให้ศาลมีกำหนดโทษจำคุกมากถึงร้อยปีพันปี แต่สุดท้ายกฎหมายอาญาก็ให้ลงโทษจำคุกจริงสูงสุดเพียง 20 ปี  เพียงเท่านั้น ในอีกมุมหนึ่งการชดเชยความเสียหายแก่ประชาชนที่ถูกหลอก กลับไม่เป็นจริง โอกาสที่จะไปติดตามเส้นทางการเงินหรือหาเงินมาชดเชยความเสียหายเป็นไปได้ยาก         ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุดคือ การมีสติ ตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะลงทุนใดๆ และหลีกเลี่ยงการลงทุนที่มีลักษณะชวนเชื่อที่อ้างการใช้เงินลงทุนน้อยๆ แต่ได้ผลตอบแทนสูงผิดปกติ หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือกิจการที่ชอบโชว์ชีวิตแบบหรูหรา ใช้ของแพง เที่ยวต่างประเทศ เหล่านี้ ล้วนเป็นเพียงวิธีการให้หลงเชื่อเพื่อหลอกเอาเงิน หากเจอการโฆษณาชวนเชื่อรูปแบบดังกล่าว ควรร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐหรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อช่วยตรวจสอบ แจ้งเตือนภัย เพื่อไม่ให้คนตกเป็นเหยื่อภัยลงทุนทิพย์เหล่านี้ ประมวลกฎหมายอาญา         มาตรา 91  เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้         (1) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี         (2) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี         (3) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

อ่านเพิ่มเติม >