ฉบับที่ 207 Voice Translator แปลภาษาผ่านเสียง

หลังจากแนะนำแอปพลิเคชันแปลภาษาไปพอสมควร ล่าสุดผู้เขียนได้เจอแอปพลิเคชันล่าสุดดูดีมีประโยชน์ จึงขอนำมาแนะนำให้ผู้อ่านได้ทราบกันเจ้าค่ะแอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า Free Voice Translator ความพิเศษของแอปพลิเคชันนี้คือวิธีการใช้ที่ง่าย โดยภายในแอปพลิเคชันจะปรากฏภาพธงชาติขึ้นมาบนหน้าจอสมาร์ทโฟนเท่านั้น และนั่นคือสัญลักษณ์ที่แสดงในการเลือกภาษาที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันต้องการแปล  การเลือกภาษาสามารถกดไปที่สัญลักษณ์ลูกศรชี้ลงที่อยู่ข้างใต้ระหว่างสัญลักษณ์ธงชาติด้านซ้ายและด้านขวา เมื่อกดไปที่สัญลักษณ์ลูกศรชี้ลง  ภาษาทั้งหมดที่มีอยู่ภายในแอปพลิเคชันจะปรากฏขึ้นโดยมีสัญลักษณ์ธงชาติของภาษานั้นกำกับอยู่ด้วย ซึ่งจะมีภาษาให้เลือกประมาณ 100 ภาษา เมื่อปรากฏภาษาทั้งหมดแล้ว ถ้าต้องการเปลี่ยนภาษาด้านซ้าย ให้กดเลือกที่สัญลักษณ์ธงชาติด้านซ้ายและกดเลือกภาษาที่ต้องการ  ถ้าต้องการเปลี่ยนภาษาด้านขวา ให้กดเลือกที่สัญลักษณ์ธงชาติด้านขวาและกดเลือกภาษาที่ต้องการเช่นกัน โดยการแปลภาษาในแอปพลิเคชันนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเลือกภาษาใดก่อนหรือหลัง เพราะสามารถแปลสลับไปมาระหว่างภาษาที่เลือกด้านซ้ายและด้านขวาได้แอปพลิเคชันนี้จะมีสัญลักษณ์วิธีการป้อนคำหรือประโยคอยู่ 2 วิธี ได้แก่ สัญลักษณ์รูปไมค์และสัญลักษณ์รูปแป้นพิมพ์ สัญลักษณ์รูปไมค์หมายถึงวิธีการป้อนคำหรือประโยคโดยการใช้เสียงพูดผ่านสมาร์ทโฟนโดยตรง ส่วนสัญลักษณ์รูปแป้นพิมพ์หมายถึงวิธีการป้อนคำหรือประโยคโดยการพิมพ์ผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งวิธีการเลือกนั้นให้เลื่อนซ้ายและขวาแต่ขอแนะนำวิธีที่ง่ายและสะดวกรวดเร็วมาก นั่นคือวิธีการป้อนคำหรือประโยคโดยการใช้เสียงพูดผ่านสมาร์ทโฟนโดยตรง เพียงแค่พูดเป็นประโยคภาษาไทย จากนั้นแอปพลิเคชันจะแปลภาษาที่ต้องการให้ โดยจะปรากฏเป็นคำหรือประโยคที่ป้อนเข้าไปและที่แปลออกมาบนหน้าจอสมาร์ทโฟนด้วย ทั้งนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชันยังสามารถกดสัญลักษณ์เสียงหลังประโยคที่ปรากฎนั้น เพื่อให้สมาร์ทโฟนออกเสียงและสามารถยื่นสมาร์ทโฟนให้เจ้าของภาษานั้นฟังได้ทันที บริเวณมุมบนซ้ายของแอปพลิเคชันจะมีสัญลักษณ์สำหรับการตั้งค่าการใช้ของแอปพลิเคชันนี้ไว้ ซึ่งจะมีปุ่มปรับเปลี่ยนความเร็วของการออกเสียงภาษาว่าจะมีความเร็วมากน้อยแค่ไหน การเลือกเสียงที่ออกเสียงว่าจะเป็นเสียงผู้หญิงหรือเสียงผู้ชาย และการลบประวัติการแปลภาษาภายในแอปพลิเคชัน แค่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนี้ ก็ไม่ต้องกลัวการพบปะคนต่างชาติและไม่ต้องเดินหลงทาง(อีกแล้ว) ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี และภาษาอื่นๆ ก็สามารถรับมือได้แน่นอน  เท่านี้จะให้เดินทางไปไหนก็พร้อมเก็บกระเป๋าเดินทางเลยเจ้าค่ะ แถมเป็นการฝึกภาษาไปในตัวอีกด้วยนะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 เท่าทันฝุ่นละออง PM2.5 กับ Air Visual

มลพิษในอากาศของประเทศไทยมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีข่าวการรายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีค่าเกินมาตรฐาน ซึ่งสามารถมองเห็นสภาพอากาศที่มีฝุ่นละอองในอากาศได้อย่างชัดเจน และทำให้เกิดกระแสการป้องกันตนเองของผู้ที่ต้องใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานครฝุ่นละออง PM2.5 หมายถึง ค่าฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ เป็นขนาดที่เล็กเกินกว่าที่ขนจมูกของมนุษย์จะสามารถกรองฝุ่นละอองชนิดนี้ได้ โดยจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและต่อสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง จะทำให้ฝุ่นละอองสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมเข้าสู่การทำงานในอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับฝุ่นละอองในสภาพอากาศในประเทศไทย จึงนำแอปพลิเคชันเช็คสภาพมลพิษในอากาศที่มีชื่อว่า Air Visual ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS  เพื่อติดตามสภาพอากาศได้ตลอดเวลา ภายในแอปพลิเคชันจะมี หมวด My Air  เพื่อแจ้งผลสภาพอากาศของจังหวัดในประเทศ เป็นระดับตัวเลขให้ทราบว่าสภาพอากาศเป็นเช่นไร โดยแบ่งมาตรฐานตามคุณภาพอากาศได้ 6 ระดับ ดังนี้ ระดับ 0-50 Good  หมายถึงสภาพอากาศดี ไม่มีความเสี่ยงหรือความเสี่ยงน้อย  ระดับ 51-100 Moderate  หมายถึงคนที่แพ้หรือภูมิคุ้มกันต่ำ ไม่ควรทำกิจกรรมนอกบ้าน  ระดับ 101-150 Unhealthy for sensitive group หมายถึงสภาพอากาศคนที่แพ้หรือภูมิคุ้มกันต่ำ ไม่ควรออกนอกบ้าน  และอาจเกิดการระคายเคืองหรือมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจได้  ระดับ 151-200 Unhealthy หมายถึงสภาพอากาศมีผลต่อคนภูมิคุ้มกันต่ำอย่างมากและระดับนี้มีผลกระทบต่อคนทั่วไป อาจมีความเสี่ยงทางเดินหายใจได้  ระดับ 201-300  Very Unhealthy หมายถึงสภาพอากาศมีผลต่อผู้คนทั่วไป ไม่ควรออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน และระดับ 301-500 Hazardous หมายถึงผู้คนทั่วไปมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วย เกิดการระคายเคืองหรือมีปัญหาด้านทางเดินหายใจซึ่งในหมวด My Air จะแบ่งสภาพอากาศเป็นช่วงเวลา และมีการคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้าได้ 3 วัน นอกจากนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นยังสามารถเพิ่มจังหวัดที่ต้องการทราบสภาพอากาศ ให้กดสัญลักษณ์บวกที่อยู่บริเวณตรงกลางด้านล่างแอปพลิเคชันหมวด Map จะแสดงสภาพอากาศทั่วประเทศและทั่วโลก เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบสภาพอากาศภายในประเทศและทั่วโลก  และหมวด News&Ranking มีไว้เพื่อแจ้งข่าวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสภาพอากาศทั่วโลก และแสดงการจัดลำดับสภาพอากาศที่แย่ที่สุดทั่วโลกสภาพอากาศที่มีฝุ่นละอองมากขนาดนี้ ประชาชนอย่างเราควรมีวิธีป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกินมาตรฐานนั้น โดยการหาซื้อหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองมาตรฐาน N95 ซึ่งสามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาด 0.3 ไมครอน จะทำให้สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอนได้   แต่ถ้าเป็นหน้ากากอนามัยทั่วไปจะไม่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอนได้ ป้องกันสุขภาพตัวเองให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บกันด้วยนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 แอปพลิเคชันสำหรับผู้สอบใบขับขี่

แม้ว่าการเดินทางโดยใช้รถโดยสารสาธารณะ ซึ่งมีทั้งรถเมล์ รถแท็กซี่ รถไฟฟ้า จะช่วยให้มีความสะดวกสบายในการเดินทางระดับหนึ่ง แต่การมีรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เป็นของตนเองนั้นก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการใช้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ส่วนตัวช่วยทำให้การเดินทางมีความสะดวกสบายมากกว่าการใช้รถโดยสารสาธารณะ จึงทำให้มีผู้ที่ต้องการสอบใบขับขี่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เมื่อมีการซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ใหม่ ผู้สอบใบขับขี่มือใหม่จึงต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการสอบใบขับขี่เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสร้างความมั่นใจในการสอบใบขับขี่ โดยเฉพาะแอปพลิเคชันที่จะคอยให้ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับการสอบใบขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ได้อย่างรวดเร็ว อย่างแอปพลิเคชั่น “สอบใบขับขี่”  ในหน้าแรกของแอปพลิเคชั่น “สอบใบขับขี่” จะมีหมวดต่างๆ ดังนี้ หมวดการขับขี่รถยนต์ หมวดการขับขี่รถจักรยานยนต์ หมวดแนวข้อสอบพร้อมเฉลย หมวดคลิปสอบปฏิบัติ หมวดตะลุยข้อสอบ หมวดรอบรู้เรื่องขับขี่ หมวดข่าวสารรถยนต์ และหมวดผู้ฝึกขับขี่ หมวดการขับขี่รถยนต์และหมวดการขับขี่รถจักรยานยนต์ ภายในสองหมวดนี้จะมีข้อมูลแบ่งเป็น 8 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 การฝึกพื้นฐานการขับขี่ ซึ่งกล่าวถึงบรรยากาศการสอบใบขับขี่ทั่วไป ขั้นที่ 2 เรื่องคุณสมบัติและเอกสารของผู้ขอรับใบขับขี่ ขั้นตอนการดำเนินการ ขั้นที่ 3 เลือกสถานที่สอบ ซึ่งสามารถค้นหาสถานที่สอบตามจังหวัดว่าอยู่ที่ใด พร้อมมีเบอร์ติดต่อ ขั้นที่ 4 ระเบียบการสอบ โดยแบ่งเป็นการสอบสมรรถภาพ การสอบข้อเขียน การสอบภาคปฏิบัติและคลิปสอบปฏิบัติ ซึ่งจะแจ้งข้อมูลว่าต้องสอบในลักษณะใด ขั้นที่ 5 ทบทวนข้อสอบที่ใช้ในการสอบใบขับขี่  ขั้นที่ 6 เรื่องเทคนิคการสอบภาคปฏิบัติ ซึ่งเป็นตัวอย่างขณะที่สอบว่าควรทำอย่างไรบ้าง ขั้นที่ 7 เป็นการเรียนรู้ความผิดพลาดที่ผู้ที่เคยสอบใบขับขี่เคยผิดพลาด และขั้นที่ 8 การจองคิวออนไลน์เฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งจะลิ้งไปยังเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบกหมวดแนวข้อสอบพร้อมเฉลย เป็นหมวดที่รวบรวมแนวข้อสอบที่มีคำเฉลยโดยแบ่งเป็น 5 เรื่อง คือ กฎหมายว่าด้วยรถยนต์และรถจักรยานยนต์ กฎหมายจราจรทางบก เครื่องหมายจราจร มารยาทและจิตสำนึก และหมวดการบำรุงรักษารถ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับหมวดตะลุยข้อสอบ แต่ในหมวดตะลุยข้อสอบจะให้ฝึกตอบคำถามสำหรับผู้ที่จะสอบใบขับขี่ด้วยตนเองส่วนหมวดรอบรู้เรื่องขับขี่ จะรวบรวมคำถามที่พบบ่อย อย่างเช่น การขับรถเกียร์ออโต้ ชนิดของใบขับขี่ การต่ออายุใบขับขี่ อัตราภาษีรถตาม พ.ร.บ. กฎหมายเมาแล้วขับ มาตรการบันทึกคะแนน วิธีการเปลี่ยนใบขับขี่แบบใหม่ เป็นต้นสำหรับหมวดคลิปสอบปฏิบัติ จะแบ่งเป็นคลิปสอบรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หมวดข่าวสารรถยนต์ ซึ่งรวบรวมข่าวสารที่เกี่ยวข้อง และหมวดผู้ฝึกขับขี่จะเป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ สำหรับผู้ฝึกขับขี่มือใหม่ผู้ที่สนใจจะสอบใบขับขี่ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “สอบใบขับขี่” มาลองศึกษาข้อมูลและลองฝึกตอบคำถามเพื่อเตรียมตัวในการสอบใบขับขี่ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้สอบใบขับขี่ครั้งแรก รวมถึงผู้ที่ต้องการต่อใบขับขี่ เพื่อเป็นการรื้อฟื้นข้อมูลเมื่อต้องไปต่อใบขับขี่อีกครั้ง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 แบ่งปันผ่านหนังสือเสียงกับ RFB

ฉบับนี้ขอต้อนรับปีจอด้วยการแนะนำแอปพลิเคชันที่สามารถทำให้ผู้ใช้ทำความดีช่วยเหลือสังคมและสามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ได้ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งเป็นโครงการดีๆ ที่ช่วยแบ่งปันบทความและหนังสือต่างๆ ให้กับผู้พิการทางสายตา ผ่านหนังสือเสียงในแอปพลิเคชันนี้ได้เลยแอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า Read for the Blind เป็นแอปพลิเคชันที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้เข้ามาอ่านหนังสือให้ผู้พิการทางสายตาโดยเฉพาะ พร้อมทั้งให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้ามาใช้แอปพลิเคชันนี้เพื่อฟังหนังสือหรือบทความที่น่าสนใจได้เช่นกันโดยในขณะนี้ภายในแอปพลิเคชันมีหนังสือที่มีผู้ใช้แอปพลิเคชันได้อ่านแล้วมากถึง 33,676 เล่ม โดยแบ่งหมวดหมู่ประเภทของหนังสือ 14 หมวดหมู่ ได้แก่ หมวดหมู่วรรณคดีวรรณกรรม หมวดหมู่ธุรกิจและการจัดการ หมวดหมู่หนังสือสำหรับเยาวชน หมวดหมู่การท่องเที่ยว หมวดหมู่คู่มือสิบต่างๆ หมวดหมู่เบ็ดเตล็ด หมวดหมู่ปรัชญาจิตวิทยา หมวดหมู่ศาสนาโหราศาสตร์ หมวดหมู่สังคมศาสตร์ หมวดหมู่ภาษาศาสตร์ หมวดหมู่วิทยาศาสตร์ หมวดหมู่วิทยาการและเทคโนโลยี หมวดหมู่ศิลปกรรมและการบันเทิง และหมวดหมู่ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแล้ว แอปพลิเคชันจะให้ผู้ใช้ลงชื่อการใช้งาน ซึ่งสามารถเลือกลงชื่อการใช้งานผ่านการเชื่อมต่อเฟซบุ๊คได้ จากนั้นผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถค้นหาและตรวจสอบชื่อหนังสือหรือชื่อผู้แต่ง เพื่อให้ทราบว่ามีหนังสือที่ต้องการจะบันทึกเสียงหรือไม่ และมีการบันทึกการอ่านหนังสือเล่มนั้นหมดเล่มแล้วหรือไม่ โดยสังเกตจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่อยู่บริเวณภาพหนังสือว่าครบร้อยเปอร์เซ็นต์หรือยังในกรณีที่ต้องการบันทึกหนังสือเล่มใหม่ให้กดตรงคำว่า “สร้างหนังสือเสียงเล่มใหม่” แอปพลิเคชันจะให้กรอก ISBN หรือสแกน ซึ่งเป็นหมายเลขประจำหนังสือนั้นๆ เมื่อกรอก ISBN หรือสแกนเรียบร้อยแล้ว แอปพลิเคชันจะขึ้นชื่อและรายละเอียดมาอัตโนมัติ แต่ถ้าไม่มีหมายเลขจะให้กรอกชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่ง ชื่อสำนักพิมพ์ จำนวนบท จำนวนหน้า และเลือกหมวดหมู่ของหนังสือ หลังจากนั้นจะสามารถบันทึกเสียงได้คำแนะนำของทางแอปพลิเคชันสำหรับผู้เริ่มใช้นั้น อยากให้เริ่มการอ่านบทความก่อน โดยควรฝึกก่อนเริ่มบันทึกเสียงจริง โดยให้ทดลองอ่านก่อนหนึ่งรอบ ทำความเข้าใจกับเรื่องการอ่าน อ่านด้วยน้ำเสียงที่เข้าใจเรื่องที่อ่าน เว้นจังหวะการอ่านให้เหมาะสม อ่านทอดอารมณ์ และตั้งใจอ่านทั้งนี้การกดฟังเสียงของหนังสือหรือบทความต่างๆ จะมีไว้ให้เฉพาะผู้ที่ลงชื่อใช้งานที่เป็นผู้พิการทางสายตาเท่านั้น นอกจากแอปพลิเคชั่น Read for the Blind แล้ว ยังมีเฟซบุ๊ค readfortheblind ที่บอกเล่ากิจกรรมและข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการทางสายตาอีกด้วย  ลองมาเป็น “ผู้ให้” กันนะคะ และจะรู้ว่าความสุขทางใจดีอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 อุ่นใจกับแอปพลิเคชัน “Fast Track”

เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้รับรู้เรื่องราวของรุ่นน้องคนหนึ่งที่ต้องเสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยอายุเพียงสามสิบปี ซึ่งเป็นช่วงวัยทำงานในสายงานที่กำลังเจริญก้าวหน้าอย่างมาก และเป็นบุคคลที่มีแต่คนรัก รุ่นน้องได้เข้ารักษาตัวด้วยอาการรู้สึกเหนื่อยหอบผิดปกติ การเข้าโรงพยาบาลครั้งนี้ใช้เวลาเพียง 9 วันเท่านั้น รุ่นน้องก็จากพวกเราไปอย่างสงบด้วยโรคมะเร็ง แม้ว่ารุ่นน้องจะตรวจสุขภาพเป็นประจำ แต่ไม่เคยพบความผิดปกติแต่อย่างใด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้เขียนอยากแบ่งปันให้ผู้อ่านได้ฟังเพื่อเป็นข้อคิดเตือนใจไว้ ว่าโรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งใกล้ตัว ต้องคอยหมั่นดูแลสุขภาพตนเองตลอดเวลา และควรใส่ใจความผิดปกติของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ต้องถึงขนาดวิตกกังวลจนเกินไปฉบับนี้ผู้เขียนอยากแนะนำแอปพลิเคชันที่คอยให้ความรู้ความเข้าใจและช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ เมื่อเกิดสิ่งผิดปกติกับร่างกาย แอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า “Fast Track” เป็นแอปพลิเคชันที่ร่วมมือกันระหว่างกรมการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และกลุ่มวิจัยโรคหลอดเลือดสมองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นภายในแอปพลิเคชันจะแบ่งเป็น 7 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 1 เป็นสัญลักษณ์เรียกรถพยาบาล เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินต้องการเรียกรถพยาบาลสามารถคลิกที่สัญลักษณ์นี้ได้ทันที โดยรถพยาบาลจะมาถึงภายใน 15 นาที หมวดที่ 2 เป็นเรื่องการให้ความรู้โรคหลอดเลือดสมอง  หมวดที่ 3 เป็นเรื่องการให้ความรู้โรคหัวใจ  หมวดที่ 4 เป็นเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โดยภายในหมวดที่ 2 - 4 จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบทความ ซึ่งเป็นบทความความรู้ที่อธิบายถึงโรคหลอดเลือดสมอง  โรคหัวใจ และอุบัติเหตุและฉุกเฉินโดยผู้เชี่ยวชาญของแต่ละหมวด กลุ่มวิดีโอ ซึ่งเป็นวิดีโอที่เกี่ยวข้องในแต่ละหมวด และกลุ่มแบบประเมินความเสี่ยง โดยในแต่ละหมวดจะมีแบบทดสอบสำหรับประเมินความเสี่ยงเพื่อประมวลผลความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเหล่านั้นหมวดที่ 5 เป็นรายชื่อโรงพยาบาลที่แอปพลิเคชันจะคำนวณหาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในขณะนั้น หรือค้นหาโรงพยาบาลที่ต้องการ โดยมีระยะทาง เบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่อ และแผนที่เพื่อบอกทางไปโรงพยาบาล ต่อไปเป็นหมวดที่ 6 เป็นหมวดหนังสือ เพื่อให้ความรู้โรคต่างๆ และหมวดสุดท้ายคือ หมวดภาพความรู้ เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคผ่านภาพอินโฟกราฟฟิก เพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นนอกจากนี้แอปพลิเคชันยังสามารถกรอกข้อมูลของตนไว้ ตั้งแต่ชื่อนามสกุล เบอร์ติดต่อ ที่อยู่ น้ำหนัก ส่วนสูง อายุ เพศ เบอร์ติดต่อญาติ ประวัติการแพ้ยา โรคประจำตัว ข้อมูลโรงพยาบาลที่เคยรักษา เพื่อเป็นข้อมูลให้กับโรงพยาบาลเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้ด้วยอย่างน้อยการมีแอปพลิเคชัน “Fast Track” นี้ไว้บนสมาร์ทโฟนก็ช่วยให้รู้สึกอุ่นใจ ทำให้รู้สึกว่าอยู่ใกล้หมอ เพราะไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเราและคนใกล้ชิดบ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 ออกกำลังกายกับแอพพลิเคชั่นนับก้าวเดิน

ข่าวการวิ่งรับบริจาคของ “ตูน บอดี้สแลม” ถูกจับตามองจากประชาชนทั้งประเทศ อีกทั้งการชักชวนให้ออกกำลังกายโดยการวิ่งก็เริ่มเป็นกระแสที่โด่งดังอีกครั้ง และกระแสดังกล่าวได้เป็นแรงกระตุ้นจนทำให้มีผู้คนหลายฝ่ายหันมาให้ความสนใจกับการวิ่งออกกำลังกายกันมากขึ้น  การวิ่งถือว่าเป็นการออกกำลังกายวิธีหนึ่ง ซึ่งส่งผลดีในหลายด้าน ได้แก่ ช่วยเบิร์นไขมันส่วนเกินออกจากร่างกาย เพิ่มกล้ามเนื้อ เพิ่มความแข็งแกร่ง สร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเครียด ลดความวิตกกังวล และเป็นวิธีที่ช่วยฝึกฝนสมาธิอีกวิธีหนึ่ง หลายคนที่กำลังอยากจะออกกำลังกายโดยการวิ่ง แต่ร่างกายไม่พร้อมอาจหันมาให้ความสนใจในเรื่องการเดินเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงได้เช่นกัน เพราะการเดินก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการออกกำลัง ลองเริ่มต้นจากการใช้แอพพลิเคชั่นที่ช่วยคำนวณการเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นจุดเริ่มต้น โดยขอแนะนำแอพพลิเคชั่น “Moves” และแอพพลิเคชั่น “StepsApp” ซึ่งแอพพลิเคชั่นทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันในการใช้งาน นั่นคือ ช่วยในการนับก้าวเดินในแต่ละวัน แต่มีรายละเอียดที่ความแตกต่างกันบางส่วน แอพพลิเคชั่น “Moves” นอกจากจะช่วยนับก้าวเดินในแต่ละวันแล้ว ยังสามารถช่วยนับก้าวขณะวิ่งได้ด้วย และเป็นแอพพลิเคชั่นที่สามารถบอกระยะทางเป็นเส้นทางการเดินทางในแต่ละวันได้ว่า เริ่มการใช้แอพพลิชั่นจากสถานที่ใดในช่วงเวลาใด ใช้เส้นทางใด และเดินทั้งหมดกี่ก้าว กี่กิโลเมตร หรือช่วงเวลาใดเดินทางด้วยรถ ซึ่งผู้ใช้แอพพลิเคชั่นสามารถเปิดดูเส้นทางที่มีลักษณะเป็นแผนที่ย้อนหลังได้ และยังสามารถคำนวณการเบิร์นแคลอรี่ สำหรับแอพพลิเคชั่น “StepsApp” มีความแตกต่างกับแอพพลิเคชั่น “Moves” โดย “StepsApp” จะสามารถตั้งเป้าหมายที่ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นต้องการให้เป็นไปในแต่ละวัน ตั้งแต่จำนวนก้าวในการเดิน จำนวนปริมาณการเบิร์นแคลอรี่ ระยะทางเป็นกิโลเมตร และการระบุเวลาในการเดินทั้งหมด นอกจากนี้ยังสามารถเก็บเป็นสถิติเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เพื่อนำมาเปรียบเทียบกันได้ ถ้ามีการตั้งเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว ภายในหน้าแอพพลิเคชั่น “StepsApp” จะมีสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นเดินเพื่อออกกำลังกายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ทั้งแอพพลิเคชั่น “Moves” และแอพพลิเคชั่น “StepsApp” มีความแตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งการเลือกดาวน์โหลดลงมาใช้งานบนสมาร์ทโฟน ก็ต้องขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของผู้ใช้ว่าต้องการเลือกแบบใด เพราะการเลือกแอพพลิเคชั่นใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ใช้เป็นหลักแต่ถ้าชอบทั้งคู่ ก็ดาวน์โหลดเก็บไว้ทั้ง “Moves” และ “StepsApp” เลยล่ะกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 ร่วมถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 9

ด้วยความจงรักภักดีที่ประชาชนชาวไทยมีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทำให้ประชาชนทั่วประเทศหลั่งไหลกันมาเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพกันอย่างมาก ประชาชนยิ่งล้นหลามเมื่อใกล้เวลาการปิดการเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 ของสำนักพระราชวัง ในวันที่ 5 ตุลาคม 2560 เป็นวันสุดท้าย เพื่อจัดเตรียมการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตรในเดือนตุลาคม 2560 นี้ ทางสำนักพระราชวังได้กำหนดวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในระหว่างวันที่ 25 – 29 ตุลาคม 2560 ได้กำหนดจำนวนริ้วขบวน พระราชอิสริยยศไว้ทั้งสิ้น  6  ริ้วกระบวน และนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 9 ผ่านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ โครงการพระราชดำริ รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ชื่นชมความงามของพระเมรุมาศ ซึ่งมีกำหนดเปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ 1 - 30 พฤศจิกายน 2560คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จึงได้จัดทำเว็บไซต์ www.kingrama9.net เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถติดตามการจัดเตรียมการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้อย่างใกล้ชิดเว็บไซต์ www.kingrama9.net จะมีข้อมูลข่าวสารรายละเอียดการจัดเตรียมงาน ประกาศจากสำนักพระราชวัง  และในส่วนของข้อมูลและคำอธิบายของพระเมรุมาศว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง ส่วนต่างๆ เรียกชื่อว่าอย่างไร  ทั้งนี้มีคำอธิบายรายละเอียดเส้นทางของขบวนพระบรมราชอิสริยยศทั้งสิ้น  6  ริ้วกระบวน ว่าแต่ละริ้วกระบวนจะเริ่มจากจุดใดและใช้เส้นทางใด และรายละเอียดการแต่งกายของแต่ละส่วนในริ้วพระบรมราชอิสริยยศทั้งหมด  นอกจากการจัดเตรียมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพบริเวณท้องสนามหลวงแล้ว ยังมีการจัดสร้างพระเมรุมาศจำลอง 85 แห่งทั่วประเทศไทย และต่างประเทศ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสถวายความจงรักภักดีแด่พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยสามารถตรวจสอบสถานที่จุดวางดอกไม้จันทน์ใกล้บ้านได้ในเว็บไซต์ www.kingrama9.net เช่นกันรายละเอียดและข้อมูลทุกอย่างสามารถหาคำอธิบายได้ในเว็บไซต์ www.kingrama9.net 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 Thai Weather ปรับตัวตามการพยากรณ์สภาพอากาศ

หลายเดือนที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในช่วงฝนตกอย่างต่อเนื่อง และในบางช่วงเกิดจากมรสุมพัดผ่าน จึงทำให้บางครั้งฝนตกช่วงเช้า ช่วงเย็น หรือตกตลอดทั้งวัน จนไม่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสำหรับประชาชนที่ต้องเดินทางไปทำงานพอสมควร เนื่องจากไม่แน่ใจในสภาพอากาศที่แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวอากาศร้อนแล้วเปลี่ยนเป็นฝนตก สลับกันไป ถ้าไม่มีการเตรียมตัวมาก็อาจต้องมีตากฝนตากแดดจนเป็นไข้หวัดกันได้  ฉบับนี้ผู้เขียนจึงเห็นว่าในฐานะประชาชนในประเทศไทยคนหนึ่ง ควรที่จะได้รู้และศึกษาสภาพอากาศได้ก่อนล่วงหน้า จึงนำแอปพลิเคชันของกรมอุตุนิยมวิทยาที่มีชื่อว่า Thai Weather มาแนะนำให้ดาวน์โหลดลงบนสมาร์ทโฟนเพื่อติดตามสภาพอากาศได้ตลอดเวลา ภายในแอปพลิเคชัน Thai Weather จะแบ่งเมนูหลักเป็น 15 หมวด ได้แก่ เมนูแผนที่เตือนภัยจะบอกข่าวเมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้น เมนูพยากรณ์อากาศเป็นส่วนที่จะบอกรายละเอียดถึงอุณหภูมิ การพยากรณ์ฟ้าฝนในแต่ละจังหวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยสามารถเลือกจังหวัดที่ต้องการทราบข้อมูลจากวันนี้และถัดไปอีก 4 วัน เมนูสภาพอากาศจะบอกถึงรายละเอียดถึงอุณหภูมิ การพยากรณ์ฟ้าฝนจังหวัดที่ผู้ถือสมาร์ทโฟนอยู่ ณ เวลานั้น เมนูกรุงเทพจะเป็นรายงานและพยากรณ์ฝนภายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมนูประกาศจะบอกข่าวสารที่ต้องประกาศ เมนูแผ่นดินไหวจะรายงานการเกิดแผ่นไหวล่าสุดรอบประเทศไทยและทั่วโลก เมนูทางเดินพายุจะรายงานทิศทางการเดินทางของพายุ เมนูเรดาร์จะเป็นการแสดงภาพสภาพอากาศในรูปแบบเรดาร์ เมนูดาวเทียมจะเป็นการแสดงภาพสภาพอากาศผ่านดาวเทียม เมนูแผนที่อากาศจะแสดงบริเวณที่เกิดความกดอากาศสูงและความกดอากาศต่ำ เมนูสื่อวีดีทัศน์จะเป็นวิดีโอพยากรณ์อากาศในแต่ละวัน เมนูถ่ายภาพแบ่งปันจะให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถแบ่งปันรูปภาพที่ถ่ายด้วยตนเอง แล้วนำมาใส่ตัวเลขอุณหภูมิ ณ เวลานั้นเพื่อนำไปเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียต่อไป เมนูสื่อเผยแพร่จะรายงานข่าวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสภาพอากาศ ส่วนเมนูปรับตั้งค่า เมนูแจ้งเตือนและเมนูติดต่อเรา จะช่วยในการตั้งค่าการใช้งานภายในแอปพลิเคชัน การเปิดระบบการแจ้งเตือนภัย และข้อมูลรายละเอียดการติดต่อกรมอุตุนิยมวิทยาพร้อมแผนที่การเดินทางลองดาวน์โหลดมาพกติดตัวกันไว้ จะได้ไม่ต้องมาคอยหาข่าวสารจากทางอื่น ยิ่งสำหรับคนทำงานที่ต้องเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ จะได้คาดการณ์สภาพอากาศและตระเตรียมอุปกรณ์กันแดดกันฝนได้ทัน ซึ่งน่าจะช่วยไม่ให้เป็นโรคยอดฮิต อย่างไข้หวัดได้บ้างเล็กน้อย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 ดูแลสุขภาพกับ “iCare Health Monitor”

วันนี้ขอมาดูแลสุขภาพกันนะคะ ปัจจุบันการดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บในยุคสมัยนี้จะมากับอาหารการกินเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการทำงานที่อยู่ภายใต้ภาวะความกดดันและความเครียด ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่มีเวลาที่ใส่ใจสุขภาพของตนเองได้ตลอดเวลา หรือบางคนอาจจะไม่แม้แต่เสียเวลาในการไปตรวจสุขภาพประจำปีด้วยซ้ำ สุขภาพร่างกายควรได้รับการดูแลเอาใส่ใจเป็นอย่างดี ผู้เขียนจึงขอแนะนำแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “iCare Health Monitor” ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับตรวจสอบสุขภาพในเบื้องต้น สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android หลังจากที่ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเรียบร้อยแล้ว เมื่อเข้าไปในแอพพลิเคชั่นจะปรากฏหน้าหลัก โดยมีให้เลือกตรวจวัดสุขภาพทั้งหมด 8 ด้าน ได้แก่ ด้านการมองเห็นหรือ Vision ด้านการได้ยินหรือ Hearing ด้านความดันเลือดหรือ Blood pressure ด้านอัตราการเต้นของหัวใจหรือ Heart rate ด้านความจุของปอดหรือ Lung capacity ด้านอัตราการหายใจหรือ Respiratory rate ด้านปริมาณออกซิเจนหรือ Oxygen ด้านจิตวิทยาหรือ Psychological ด้านการมองเห็นหรือ Vision จะเป็นการตรวจวัดการมองเห็นในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็นรูป สี เส้น ด้านการได้ยินหรือ Hearing จะเป็นการทดสอบการฟังเสียงที่ได้ยินที่ออกมาจากแอพพลิเคชั่น ด้านความจุของปอดหรือ Lung capacity จะทดสอบการเป่าลมโดยใช้ปอด ซึ่งแอพพลิเคชั่นจะให้เป่าลมอย่างเต็มแรงผ่านช่องไมโครโฟนของสมาร์ทโฟนสำหรับด้านความดันเลือดหรือ Blood pressure ด้านอัตราการเต้นของหัวใจหรือ Heart rate ด้านอัตราการหายใจหรือ Respiratory rate ด้านปริมาณออกซิเจนหรือ Oxygen และด้านจิตวิทยาหรือ Psychological แอพพลิเคชั่นจะให้ตรวจวัดโดยวิธีเดียวกันนั่นคือ ให้นำนิ้วชี้วางไว้บริเวณกล้องด้านหลังสมาร์ทโฟนโดยให้การกดหน้าจอค้างไว้ในขณะที่นำนิ้วชี้วางไว้บริเวณกล้องด้านหลัง และรอจนกว่าแอพพลิเคชั่นจะทำงานสำเร็จ หรือผู้ใช้สามารถตรวจเช็คสุขภาพแบบรวดเร็ว โดยกดปุ่มวงกลมใหญ่มีข้อความว่า Quick Check จนกว่าแอพพลิเคชั่นจะทำงานสำเร็จ ก็จะได้ผลการตรวจวัดทั้ง 5 ด้านซึ่งภายในแอพพลิเคชั่น “iCare Health Monitor” ยังสามารถเก็บสถิติการตรวจวัดในแต่ละครั้งเพื่อนำมาเปรียบเทียบย้อนหลังได้อีกด้วยนอกจากนี้แอพพลิเคชั่นยังมีหมวดการตรวจวัดจำนวนก้าวที่เดินในแต่ละวัน เพื่อนำมาเปรียบเทียบให้ทราบเป็นระยะทางและจำนวนแคลอรี่ที่เผาผลาญออกไปในแต่ละวัน โดยจะมีผลสรุปเป็นกราฟให้เห็นอย่างชัดเจนของการก้าวเดินที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาในวันนั้นๆ และผลสรุปเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน รายปีมาใส่ใจสุขภาพกันวันละนิดนะคะ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 SSO Connect บัตรประกันสังคมอิเล็กทรอนิกส์

ฉบับนี้ขอเอาใจผู้อ่านที่ใช้บริการประกันสังคมกันสักหน่อย ทั้งผู้ทำงานและผู้ที่เคยทำงานที่ต้องใช้บริการประกันสังคม โดยปกติผู้ที่มีสิทธิการใช้ประกันสังคมจะได้รับบัตรประกันสังคมประจำตัวคนละใบ ซึ่งในบัตรจะระบุรายละเอียดชื่อผู้ถือบัตร เลขบัตรประชาชน สถานพยาบาล ระยะเวลาการหมดอายุของบัตร แต่ถ้าผู้ถือบัตรอยากทราบข้อมูลการส่งเงินสมทบ การใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน เงินสงเคราะห์ชราภาพที่ตนส่งนั้นมีมูลค่าเท่าไรในปัจจุบัน สามารถเข้าตรวจสอบรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ประกันสังคมโดยตรง แต่ทั้งนี้ต้องมีการสมัครเป็นสมาชิกในระบบดังกล่าวเสียก่อนจากนโยบายของรัฐบาลภายใต้สังคมยุคดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 ความนิยมในการใช้โซเชียลมีเดียในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟนที่เป็นไปอย่างแพร่หลาย  สำนักงานประกันสังคม ภายใต้กระทรวงแรงงาน จึงพัฒนาระบบและการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อเข้าถึงงานบริการของรัฐในรูปแบบของบัตรประกันสังคมออนไลน์ ที่สามารถใช้งานได้เสมือนกับบัตรประกันสังคมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ล่าสุดสำนักงานประกันสังคมได้เปิดบริการออนไลน์ที่มีชื่อว่า SSO  Connect ซึ่งสามารถเข้าใช้บริการออนไลน์ได้ที่ ssoconnect.mywallet.co หรือดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น my SSO ได้ทั้งระบบ ios และ Andriod เมื่อเข้าไปที่ ssoconnect.mywallet.co ระบบจะให้กรอกเลขประจำตัวประชาชนและเบอร์โทรศัพท์ จากนั้นจะมีเงื่อนไขและข้อกำหนดการใช้บริการบัตร SSO  Connect ให้อ่านและกดยอมรับ ระบบจะบอกขั้นตอนและตัวอย่างในการปฏิบัติ เพื่อทำการดาวน์โหลดบัตรประกันสังคม ส่วนแอพพลิเคชั่น my SSO ก็จะมีให้ลงทะเบียนเพื่อใช้งานระบบเช่นกันภายในบัตรประกันสังคมอิเล็กทรอนิกส์ จะปรากฏชื่อผู้ประกันตน ยอดเงินการใช้สิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรม สิทธิสถานพยาบาล ยอดเงินสมทบทั้งหมด วันหมดอายุของบัตร โดยบัตรประกันสังคมอิเล็กทรอนิกส์จะใช้ได้เสมือนกับบัตรประกันสังคมที่ออกให้จากประกันสังคม นอกจากนี้บนบัตรประกันสังคมอิเล็กทรอนิกส์จะมีปุ่มสัญลักษณ์วงกลม i  ซึ่งจะมีรายละเอียดที่แตกต่างจากบนบัตรประกันสังคมอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ วันออกบัตร วันหมดอายุบัตร สิทธิประโยชน์ของคุณ ประวัติการส่งเงินสมทบและการเข้าถึงข้อมูลอื่นๆ โดยเมื่อคลิกเข้าสู่ระบบเพื่อดูข้อมูลสิทธิประโยชน์จะเชื่อมต่อไปที่หน้าเว็บไซต์ www.sso.go.th สำหรับบนแอพพลิเคชั่น my SSO จะมีเมนูข้อมูลส่วนตัว เงินสะสมชราภาพ เงินสมทบผู้ประกันตน ตรวจสอบสถานการณ์เบิกสิทธิประโยชน์ และเมนูสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมนอกจากนี้การบริการออนไลน์ SSO  Connect บนหน้าบัตรประกันสังคมอิเล็กทรอนิกส์จะอัพเดทข้อมูลอัตโนมัติเพื่อช่วยให้ผู้ประกันตนทราบข้อมูลปัจจุบันล่าสุด และถ้าเกิดมีข้อสงสัยการบริการออนไลน์ SSO  Connect ก็จะมีเบอร์ติดต่อ พร้อมกับเบอร์สายด่วนการใช้สิทธิการรักษาพยาบาลให้ผู้ประกันตนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้อีกด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >