ฉบับที่ 215 ตรวจสภาพอากาศกับ windy

                จากปรากฏการณ์พายุโซนร้อนปาบึกที่เข้าถล่มจังหวัดนครศรีธรรมราชและภาคใต้ของประเทศไทยนั้น ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก ช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวประชาชนทั่วประเทศจึงให้ความสนใจเป็นอย่างมากและคอยติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของพายุโซนร้อนปาบึกนี้อย่างใกล้ชิด        การติดตามความเคลื่อนไหนของพายุอย่างเรียลไทม์นั้น สามารถติดตามผ่านแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า windy ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ทั้งในระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS         แอปพลิเคชัน windy จะแสดงข้อมูลของสภาพอากาศ ไม่ว่าจะเป็นแรงลมที่พัด พื้นที่ที่มีฝนตก ปริมาณเมฆ อุณหภูมิความร้อน นอกจากนี้ยังสามารถเช็คความสูงของคลื่นทะเลได้ด้วย โดยให้กดสัญลักษณ์สีเหลืองด้านขวาล่างของแอปพลิเคชัน ซึ่งในเครื่องมือนี้จะสามารถเลือกรูปแบบการดูได้ตามที่ต้องการ                ภาพที่ปรากฏบนแอปพลิเคชันจะเปลี่ยนสีไปตามสภาพอากาศที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันต้องการทราบ เช่น เมื่อต้องการทราบอุณหภูมิในแต่ละพื้นที่ จะปรากฏภาพสีเหลือง สีส้ม และสีแดง ไล่ไปตามอุณหภูมิที่เกิดขึ้น หรือเมื่อต้องทราบความเร็วลมในแต่ละพื้นที่ จะปรากฏภาพสีเขียว และสีน้ำเงิน ไล่ไปตามความเร็วของลมที่เกิดขึ้น และจะมีเส้นการเคลื่อนไหวที่แสดงทิศทางลมที่เกิดขึ้นให้เห็นได้ชัดเจน เป็นต้น        เมื่อต้องการทราบข้อมูลสภาพอากาศในรูปแบบใดก็แล้วแต่ ณ บริเวณที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันอยู่ในตำแหน่งนั้น ให้เลือกรูปแบบสภาพอากาศที่ต้องการ และกดปุ่มเลือก Find my location หลังจากนั้นบนหน้าแอปพลิเคชันจะปรากฏจุดบริเวณที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันอยู่ และขึ้นข้อมูลที่ต้องการทราบ ให้กดไปที่จุดนั้น จะทำให้ข้อมูลทั้งหมดขึ้นมาโดยแบ่งสภาพอากาศที่เกิดขึ้นเป็นรายชั่วโมง ทั้งสภาพอากาศแบบย้อนหลังและสภาพอากาศในอนาคต                หรือต้องการทราบสภาพอากาศในบริเวณใด ก็สามารถเลื่อนแผนที่ให้จุดที่เลือกเคลื่อนไปอยู่ตรงที่ต้องการได้  และไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถทราบสภาพอากาศได้ทั่วโลกเลย เพียงแค่มีแอปพลิเคชันนี้ก็สามารถทราบสภาพอากาศทั้งอุณหภูมิ ปริมาณฝนตก ความเร็วลม ความสูงของคลื่นได้อย่างง่ายดาย        ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาศึกษากันดูนะคะ รับรองว่าดูง่ายและไม่ยากจนเกินไป เพราะการใช้สีและการใช้สัญลักษณ์ ทำให้เข้าใจได้ง่ายจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ไม่หลงทาง เมื่อพกแอปพลิเคชัน ViaBus

            ฉบับนี้ขออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ แต่ไม่รู้เส้นทางการเดินรถโดยสารสาธารณะ รวมทั้งแอปพลิเคชันนี้ยังเหมาะสำหรับประชาชนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาทำภารกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อีกด้วย            แอปพลิเคชันนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อต้องการอำนวยความสะดวกการใช้รถโดยสาธารณะให้กับประชาชนผู้ใช้เส้นทาง มีชื่อว่า “ViaBus”  ผู้ใช้สมาร์ทโฟนสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android            ภายในแอปพลิเคชันมีการใช้งานที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เมื่อเข้าหน้าหลักจะปรากฏภาพแผนที่ โดยการค้นหาเส้นทางจะมีอยู่ 2 รูปแบบ ดังนี้           1. ต้องการค้นหาเส้นทางจากจุดที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่ปัจจุบัน ให้กดรูปสัญลักษณ์แว่นขยายบริเวณด้านบนขวาของแอปพลิเคชัน และให้ระบุสถานที่ที่ต้องการเดินทางไป           2.ต้องการค้นหาเส้นทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่บริเวณที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่ปัจจุบัน ให้กดรูปสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมสีแดง จากนั้นให้ระบุสถานที่เริ่มต้นในการเดินทางและสถานที่ที่เป็นจุดเป้าหมายปลายทาง            เมื่อแอปพลิเคชันได้ค้นหาเส้นทางให้แล้ว จะปรากฏเป็นภาพเส้นทางบนแผนที่ และปรากฏข้อมูลต่างๆ ไว้ด้านล่าง ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปดูรายละเอียดต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสายรถเมล์ที่สามารถเดินทางไปได้ ป้ายรถเมล์ใกล้บริเวณนั้น บอกจำนวนป้ายรถเมล์ที่ต้องผ่าน หรือบางเส้นทางจะมีข้อมูลการใช้เส้นทางโดยใช้รถไฟฟ้า นอกจากนี้ยังค้นหาเพิ่มให้เห็นเส้นทางสภาพการจราจรว่า ติดขัดมากน้อยเพียงใด โดยให้กดไปที่สัญลักษณ์ไฟจราจรบริเวณหน้าแอปพลิเคชันจะปรากฏเส้นทางสภาพการจราจรเป็นเส้นสีแดง สีเขียวและสีเหลือง             สิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมคือ สัญลักษณ์การค้นหาตำแหน่งของผู้ใช้สมาร์ทโฟนปัจจุบันได้ทันที โดยกดสัญลักษณ์ค้นหาตำแหน่งที่อยู่ถัดจากสัญลักษณ์ไฟจราจร เพื่อช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลาหาจุดเริ่มต้นของการเดินทาง            ถ้าได้ใช้แอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง และเห็นข้อผิดพลาดของข้อมูล หรือต้องการร้องเรียนการขับรถไม่สุภาพของรถโดยสารสาธารณะ หรือปัญหาอื่นๆ ที่ต้องการแจ้งเพื่อให้แก้ไขปรับปรุง สามารถแจ้งผ่านแอปพลิเคชันได้ทันที โดยกดปุ่มด้านบนซ้าย และเข้า Report             รีบดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ViaBus มาไว้เลย เพียงเท่านี้ก็จะไม่ต้องกังวลว่าจะหลงทางอีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 ฝึกภาษาอังกฤษกับ Echo English

การสื่อสารในปัจจุบันถือว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นภาษาที่สามารถใช้สื่อสารได้กับคนทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่การทำงานในบริษัทต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความต้องการบุคคลที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ในระดับดี ทั้งการพูด การฟัง การเขียนและการอ่าน  ดังนั้นคนยุคใหม่ที่กำลังมองหางาน จึงควรมีทักษะทางด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษไว้บ้าง เพื่อใช้เป็นใบเบิกทางในการสมัครงานในที่ต่างๆ ฉบับนี้มาเสริมทักษะภาษาอังกฤษกันดีกว่าค่ะแอปพลิเคชันที่น่าสนใจในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตั้งแต่เริ่มต้น มีชื่อว่า Echo English ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนามาโดยกระทรวงศึกษาธิการกับภาคเอกชน ที่เน้นการพัฒนาทักษะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษในรูปแบบสถานการณ์ต่างๆ โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และระบบปฏิบัติการ Androidเมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแล้ว ระบบจะให้สร้างบัญชีหรือลงทะเบียนผ่านเฟสบุ๊ค ภายในแอปพลิเคชันจะมี 2 หมวด ได้แก่ หมวด Home ซึ่งจะเป็นหมวดที่เก็บบทเรียนที่ผู้ใช้ได้ดาวน์โหลดบทเรียนนั้นไว้เรียบร้อยแล้ว และหมวด Discover โดยในหมวดนี้จะแบ่งบทเรียนตามความยากง่าย และมีบทเรียนให้เลือกตามสถานการณ์ต่างๆ ที่ผู้ใช้มีความสนใจ อาทิ บทเรียน Can-do A1 จะมีบทเรียนบทสนทนาเกี่ยวกับการทักทาย บทสนทนาเกี่ยวกับการถามข้อมูล หรือบทเรียน Intermediate จะมีบทเรียนบทสนทนาเกี่ยวกับระบบขนส่ง บทสนทนาเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เป็นต้นหลังจากที่ผู้ใช้สามารถเลือกบทสนทนาที่ต้องการเรียนรู้ได้แล้วให้กดเลือก จะปรากฏหัวข้อบทสนทนาและวิดีโอสอน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วนที่มีความต่อเนื่องกัน และให้ผู้ใช้กดดาวน์โหลดหัวข้อที่ต้องการ ทั้งนี้ภายในแต่ละหัวข้อบทสนทนาจะแบ่งรายละเอียดออกเป็นดังนี้  บทเรียน การฟัง การพูด การเขียน การทดสอบ และโหมดอัดเสียง ส่วนหัวข้อวิดีโอสอนจะเป็นการสอนแบบลงรายละเอียดในแต่ละประโยคของบทสนทนาส่วนรายละเอียดของหัวข้อบทสนทนา ในเรื่องบทเรียนจะเป็นวิดีโอบทสนทนาตามสถานการณ์ เรื่องการฟังจะเป็นการฝึกฟังทีละประโยค เรื่องการพูดจะเป็นการฝึกพูดโดยให้ผู้ใช้กดปุ่มบันทึกและพูดแต่ละประโยค หลังจากนั้นแอปพลิเคชันจะประมวลผลว่าดีหรือไม่ โดยจะปรากฏผลในรูปแบบคะแนน เรื่องการเขียนจะเป็นการฝึกเติมคำลงในช่องว่างในแต่ละประโยค เรื่องการทดสอบจะเป็นการทดสอบจากการเรียนรู้จากบทเรียนนั้น และเรื่องโหมดอัดเสียงจะเป็นการอัดเสียงขณะพูดแต่ละประโยคของผู้ใช้ เพื่อนำมาฟังได้ภายหลัง แอปพลิเคชันนี้เหมาะสำหรับผู้ใช้ที่เพิ่งเริ่มต้น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่เข้าใจ เพราะเป็นบทเรียนที่ง่าย  ลองดาวน์โหลดมาเรียนรู้และลองใช้เพื่อเพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษกันนะคะ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 ตรวจเลข อย.

              ฉบับนี้ขอแนะนำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์และสินค้าด้วยการสังเกตสัญลักษณ์ อย. อย. คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่กำกับและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน โดยจะคุ้มครองดูแล 6 ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ อาหาร ยา เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย เครื่องมือแพทย์ และวัตถุเสพติดทางการแพทย์ผลิตภัณฑ์เหล่านี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องมีเครื่องหมาย อย. ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องมี อย. กำกับอยู่ และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่มีเครื่องหมาย อย. แต่ต้องมีเลขที่จดแจ้งหรือทะเบียนกำกับยาบนผลิตภัณฑ์การตรวจสอบเครื่องหมาย อย. หรือเลขที่จดแจ้งหรือทะเบียนกำกับยาบนผลิตภัณฑ์ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานและมีการตรวจสอบอยู่สม่ำเสมอ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ทำแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “อย. ตรวจเลข” โดยหน้าแรกของแอปพลิเคชันจะปรากฏช่องสำหรับพิมพ์หมายเลขค้นหา เพื่อตรวจสอบเลขผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือถ่ายรูปบริเวณสัญลักษณ์ อย. หรือใช้ระบบเสียงในการตรวจสอบหมายเลขได้ด้วย เมื่อใส่หมายเลขที่ต้องการตรวจสอบ ข้อมูลและรายละเอียดของผลิตภัณฑ์นั้นจะปรากฏขึ้น ได้แก่ สถานะปัจจุบันของผลิตภัณฑ์  ประเภทของผลิตภัณฑ์  เลขที่อนุญาต  ชื่อผลิตภัณฑ์  ชื่อผู้รับอนุญาต  สถานที่ผลิต  และที่อยู่สถานที่ผลิตภายในแอปพลิเคชันยังมีหมวดแจ้งเรื่องร้องเรียน กรณีที่ต้องการร้องเรียนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขนอกจากแอปพลิเคชัน “อย. ตรวจเลข” แล้ว ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบเลขผ่านหน้าเว็บไซต์ http://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx  หรือค้นหาด้วยคำว่า ตรวจสอบ อย. ซึ่งทั้งรูปแบบแอปพลิเคชันและหน้าเว็บไซต์ถือว่ามีประโยชน์กับผู้บริโภคมากถ้าอยากทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่มีมาตรฐานหรือผ่านการตรวจสอบหรือไม่ ลองเข้าไปตรวจสอบเลขผลิตภัณฑ์ได้เลยนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 หาเส้นทางแบบไม่ออนไลน์กับ maps.me

ฉบับนี้พามารู้จักกับแอปพลิเคชันสำหรับผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนแบบไม่ใช้อินเทอร์เน็ตตลอดเวลากัน และแอปพลิเคชันยังจะเหมาะสำหรับผู้ที่ชอบการเดินทางท่องเที่ยวหรือต้องเดินทางเพื่อไปทำงานในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย   แอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า maps.me เป็นแอปพลิเคชั่นบอกเส้นทางการเดินทาง เหมือน Google Maps เพียงแต่มีข้อแตกต่างกันก็คือ แอปพลิเคชัน maps.me  สามารถใช้งานได้ในขณะที่ไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต  โดยในขั้นตอนแรกหลังจากดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาแล้ว แอปพลิเคชั่นจะให้ดาวน์โหลดข้อมูลเส้นทางทั้งหมดลงในเครื่องสมาร์ทโฟน ซึ่งจะทำให้ต้องใช้พื้นที่ในสมาร์ทโฟนมากสักหน่อย สิ่งนี้ก็อาจเป็นข้อเสียสำหรับผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนที่มีพื้นที่ความจุในเครื่องน้อย  ภายในแอปพลิเคชันจะสามารถค้นหาเส้นทางได้อย่างอิสระ หรือจะเลือกตามหมวดที่มีอยู่ภายในแอปพลิเคชัน ได้แก่ ค้นหาร้านอาหาร ค้นหาโรงแรม ค้นหาไวไฟ ค้นหาการขนส่ง ค้นหาร้านค้า ค้นหาปั๊มน้ำมัน ค้นหาแหล่งท่องเที่ยว ค้นหาธนาคาร ค้นหาโรงพยาบาล ค้นหาสถานีตำรวจ ค้นหาไปรษณีย์ ค้นหาตู้เอทีเอ็ม ค้นหาร้านขายยา หรือแม้กระทั่งค้นหาห้องน้ำ เป็นต้น    ลักษณะการใช้งานแอปพลิเคชัน เมื่อค้นหาสถานที่ที่ต้องการได้แล้ว แอปพลิเคชันจะแจ้งระยะทางและระยะเวลาที่จะไปถึงจุดหมายปลายทาง และให้กดปุ่มเริ่มต้นเส้นทางจะปรากฏเส้นทางการเดินทางขึ้น ซึ่งสามารถเลือกเส้นทางการเดินทางโดยใช้รถยนต์ การเดินเท้า ได้ตามต้องการ ทั้งนี้ถ้าต้องการที่จะเก็บข้อมูลเส้นทางการเดินทางในแต่ละครั้ง สามารถกดปุ่มบันทึกข้อมูลได้ แอปพลิเคชันจะจัดเก็บข้อมูลไว้เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเรียกดูได้ และยังสามารถแชร์ข้อมูลไปยังเฟซบุ๊ค ไลน์ ทวิตเตอร์ เมล หรือแม้กระทั้งข้อความทางสมาร์ทโฟนอีกด้วย        นอกจากนี้เมื่อได้เจอโรงแรมที่ต้องการและทราบเส้นทางการเดินทางที่สะดวกแล้ว แอปพลิเคชันยังเพิ่มความสะดวกในการเข้าจองที่พักในโรงแรมนั้นได้ทันที โดยจะจองผ่านเว็บไซต์ booking.com หรือถ้าต้องการที่จะจองรถเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางก็สามารถกดเรียกรถแท็กซี่ที่แอปพลิเคชันได้มีบริการไว้ได้เลย  ลองดาวน์โหลดมาใช้กันดูนะคะ แอปพลิเคชันนี้น่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เพียงแค่มีแอปพลิเคชั่นนี้ก็สามารถเพิ่มความสะดวกให้กับการเดินทางได้แล้วค่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 เข้าถึงข้อมูลสิทธิประกันสังคม

เมื่อช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเอกสารฉบับหนึ่งจากสำนักงานประกันสังคม เป็นเอกสารแจ้งรายละเอียดเงินสมทบกรณีชราภาพ ตั้งแต่ปีที่เริ่มทำงานจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดกระแสในสังคมเกี่ยวกับการตรวจสอบเงินสมทบว่า สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่ใดบ้าง  ฉบับนี้จึงขอมานำเสนอข้อมูลการเข้าตรวจสอบดังกล่าวให้ได้ทราบกันขอให้ความรู้สักนิดเกี่ยวกับสิทธิประกันสังคม โดยปกติการมีสิทธิประกันสังคมได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ทำงานและเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 (ยังทำงานในสถานประกอบการ) หรือเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ออกจากงานและยังส่งเงินประกันสังคมต่อ) แต่ปัจจุบันมีมาตรา 40 ขึ้นมาเพื่อรองรับประชาชนที่ต้องการมีสิทธิประกันสังคมในเรื่องการทดแทนการขาดรายได้ ทุพพลภาพ เงินชราภาพและกรณีเสียชีวิต แต่ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลบัตรทอง 30 บาท         กลับมาที่เรื่องการเข้าถึงข้อมูลสิทธิประกันสังคมให้เข้าไปที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม                    ได้ทั้งทางคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน เริ่มต้นจากการคลิกสมัครสมาชิก โดยเว็บไซต์จะให้กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน รหัสผ่านที่ตั้งขึ้น ชื่อนามสกุล เบอร์มือถือ วันเกิดและเมล จากนั้นระบบจะส่งรหัส OTP เข้าเบอร์มือถือที่ให้ไว้ และนำไปกรอกบนหน้าเว็บไซต์ คลิกยืนยัน  หลังจากนั้นให้กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน และรหัสผ่านที่ตั้งขึ้น เพื่อเข้าสู่ระบบ ต่อจากนั้นผู้อ่านสามารถคลิกเข้าไปที่คำว่าผู้ประกันตน ซึ่งภายในจะมีข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประกันสังคม ดังนี้ ข้อมูลผู้ประกันตน ข้อมูลการส่งเงินสมทบ ยื่นแบบขอเปลี่ยนสถานพยาบาล ประวัติการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล การใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน การคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ และตรวจสอบข้อมูลใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ในข้อมูลผู้ประกันตน จะแจ้งข้อมูลชื่อนามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน สถานพยาบาลที่เลือกไว้ ในส่วนข้อมูลการส่งเงินสมทบ จะแสดงรายละเอียดงวดเงินสมทบ วันที่ชำระเงิน จำนวนเงินสมทบที่นำส่ง โดยจะมีข้อมูลแยกเป็นรายเดือน สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน เป็นการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิที่ผู้ประกันตนเคยขอรับ อย่างเช่น กรณีการทำฟันที่จะเบิกได้ปีละ 900 บาท เป็นต้น ต่อไปเป็นการคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ จะเป็นรายละเอียดเงินสมทบของผู้ประกันตนและนายจ้างเป็นยอดรวมจำนวนเงินในแต่ละปี ซึ่งเป็นหัวข้อที่ทำให้ผู้ประกันตนรู้ว่าเงินออมที่จะได้รับเมื่อสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนมีจำนวนเท่าไร เรื่องการยื่นแบบขอเปลี่ยนสถานพยาบาล ก็จะใช้เมื่อต้องการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล ซึ่งจะสอดคล้องกันกับเรื่องประวัติการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล อันสุดท้ายคือเรื่องตรวจสอบข้อมูลใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ จะใช้สำหรับผู้ที่ต้องการใบเสร็จรับเงินโดยต้องสมัครขอรายละเอียดในเรื่องนี้ตามขั้นตอนต่อไป หลายคนอาจไม่เคยรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการจ่ายเงินประกันสังคมของตนเองเลย หรืออาจไม่เคยเข้าใจว่าเมื่อสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนแล้วจะมีเงินจำนวนหนึ่งที่เป็นเงินสงเคราะห์ชราภาพหรือเงินออม ดังนั้นการได้รู้และเข้าถึงข้อมูลของตนเองถือว่าเป็นสิทธิและเป็นข้อดีสำหรับเราแม้ว่าคนไหนจะเคยทำงานเมื่อนานมาแล้ว และไม่ได้ทำงานมาหลายปี แต่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งถือว่าสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ก็สามารถติดต่อขอรับสิทธิเงินสงเคราะห์ชราภาพหรือเงินออมได้ที่สำนักงานประกันสังคมได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 ปรึกษาคุณหมอกับแอปพลิเคชัน Raksa

ช่วงนี้ฝนตกบ่อย ดูแลสุขภาพตัวเองด้วยนะคะอากาศร้อนสลับกับเย็นด้วยสายฝนที่โปรยปรายลงมา ทำให้หลายคนต้องเข้าสู่สภาวะเจ็บป่วย ไม่ว่าจะจาม ไอ มึนหัว ไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงไข้หวัดใหญ่ หรือแม้กระทั่งโรคภัยไข้เจ็บที่ตามมาหลังจากสุขภาพร่างกายอ่อนแอจนไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคต่างๆ ได้สิ่งที่ทำได้เบื้องต้นนั่นคือพยายามรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลการกิน การพักผ่อนให้เพียงพอ การใช้ยารักษาโรค เป็นต้น แต่ถ้าโรคภัยไข้เจ็บถามหาแล้ว ก็คงต้องปรึกษาคุณหมอโดยด่วน  ฉบับนี้ขอแนะนำแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Raksa ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่รวมคุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ รวมไว้ ได้แก่ อายุรแพทย์  กุมารแพทย์  สูตินรีแพทย์  แพทย์ระบบประสาทและสมอง  แพทย์ทางเดินปัสสาวะ แพทย์เวชศาสตร์ทั่วไป แอปพลิเคชัน Raksa เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ที่ไม่มีเวลาว่างและไม่สะดวกไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาล โดยต้องไม่เป็นโรคเฉียบพลัน ควรเป็นเพียงการขอคำปรึกษาและวินิจฉัยในเบื้องต้น ซึ่งทำให้รู้วิธีการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามคำแนะนำจากคุณหมอผ่านการส่งข้อความ การคุยผ่านโทร และการคุยผ่านวิดีโอ แต่ละวิธีที่เลือกขึ้นอยู่กับความเหมาะสมเมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแล้ว จะเริ่มจากการลงทะเบียนโดยใช้เบอร์มือถือ หลังจากเข้ามาในแอปพลิเคชัน จะมีหมวดหน้าหลัก หมวดคุณหมอ หมวดแจ้งเตือน หมวดรู้โรค และหมวดส่วนตัว โดยหมวดหน้าหลักจะแสดงว่าคุณหมอท่านใดออนไลน์อยู่หรือกำลังให้คำปรึกษาอยู่บ้าง และรายละเอียดตารางเวลาที่สามารถปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านได้ฟรีหมวดคุณหมอ จะบอกรายละเอียดคุณหมอทั้งหมดที่แอปพลิเคชันนี้มีอยู่ โดยจะมีประวัติ สถานที่ทำงาน ความเชี่ยวชาญของคุณหมอ นอกจากนี้ถ้าต้องการคุยกับคุณหมอที่ยังไม่ออนไลน์ สามารถกดสัญลักษณ์แจ้งเตือนเมื่อคุณหมอท่านนั้นออนไลน์ ซึ่งจะไปปรากฏอยู่ในหมวดแจ้งเตือนนั่นเอง  ส่วนหมวดรู้โรค จะบอกข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษา และโรคภัยไข้เจ็บ สุดท้ายหมวดส่วนตัว จะเป็นข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้แอปพลิเคชันแต่...คุณหมอบางท่านอาจมีการเก็บค่าให้คำปรึกษากับผู้ใช้แอปพลิเคชันนี้ โดยราคาจะแจ้งไว้ตรงสัญลักษณ์ที่จะเลือก ได้แก่ การส่งข้อความ การคุยผ่านโทร และการคุยผ่านวิดีโอ เพื่อเป็นการให้ตัดสินใจก่อนว่าจะจ่ายเงินหรือไม่ ส่วนขั้นตอนการเติมเงินมีบริการภายในแอปพลิเคชันเรียบร้อย ถ้าอยากปรึกษาคุณหมอในแอปพลิเคชันนี้ แนะนำว่าให้ดูตารางเวลาคุณหมอที่จะใช้คำปรึกษาฟรีน่าจะดีที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 RDU รู้เรื่องยา กับการสแกน QR code

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น สุขภาพร่างกายเริ่มมีสัญญาณเตือนของโรคภัยไข้เจ็บตามมา ดังนั้นการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลจึงเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ แต่วัยหนุ่มสาวก็ไม่ควรมองข้ามเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน และสิ่งที่ได้ตามมานั่นคือ ถุงยาชนิดต่างๆ ที่ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องแอปพลิเคชัน RDU รู้เรื่องยา เป็นแอปพลิเคชันที่มีวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลยาสู่ประชาชนด้วยข้อมูลที่ถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการใช้ยา โดยแอปพลิเคชันนี้ถูกพัฒนาเพื่อรองรับการสแกน QR code ใบสรุปยาหรือชนิดของยา เพื่ออ่านข้อมูลยา วิธีการใช้ คำเตือน ข้อควรระวังให้กับผู้รักษาพยาบาลในโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีความตั้งใจให้แอปพลิเคชันป็นมาตรฐานเดียวกัน อย่างเช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นต้นการให้ความรู้และข้อมูลยาภายในแอปพลิเคชันจะแบ่งเป็น 6 หมวด ได้แก่ หมวด RDU รู้เรื่องยา หมวดสแกน QR code ของยา หมวดข้อมูลยา หมวดข่าวสารเรื่องยา หมวดสาระยาน่ารู้ หมวดโรงพยาบาลและร้านยาหมวด RDU รู้เรื่องยา และหมวดข่าวสารเรื่องยา เป็นหมวดที่ตั้งใจให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา เรื่องสุขภาพ อาการต่างๆ การเก็บรักษายา การแพ้ยา และเรื่องอื่นๆ ในลักษณะของข้อมูลข่าวสาร บทความต่างๆ  ส่วนหมวดสแกน QR code ของยา จะมีไว้สำหรับการสแกน QR code ยาที่ได้รับมาจากโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยหมวดข้อมูลยา เป็นหมวดที่แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับยาแต่ละชนิด โดยจะจัดเรียงตามอักษรภาษาอังกฤษของชื่อยา หรือผู้ใช้สามารถป้อนชื่อยาและค้นหาได้ ต่อมาเป็นหมวดสาระยาน่ารู้ จะเป็นหมวดข้อควรรู้ในการใช้ยาที่จัดเก็บในรูปแบบวิดีโอ  สุดท้ายเป็นหมวดโรงพยาบาลและร้านยา ซึ่งใช้ในการค้นหาโรงพยาบาลและร้านยาบริเวณใกล้เคียงที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันใช้อยู่ หรือค้นหาโรงพยาบาลที่ต้องการ พร้อมทั้งมีแผนที่ในการบอกเส้นทางนอกจากนี้แอปพลิเคชัน RDU รู้เรื่องยา ยังสามารถบันทึกข้อมูลของตนเองไว้เพื่อเป็นข้อมูลให้กับโรงพยาบาลได้อีกด้วย โดยผู้ใช้แอปพลิเคชันเข้าลงทะเบียนและกรอกข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ ชื่อนามสกุล เลขบัตรประชาชน วันเกิด เพศ อีเมล เบอร์โทรติดต่อ รวมถึงการตั้งชื่อบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่าน เมื่อลงทะเบียนภายในแอปพลิเคชันเรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถสแกน QR code เพื่อนำไปบันทึกเป็นข้อมูลการใช้ยา โดยจะปรากฏข้อมูลยาแต่ละชนิดที่ได้รับ วันเวลาที่ได้รับยาจากโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา ถ้าผู้ใช้ต้องการรู้รายละเอียดเกี่ยวกับยาชนิดนั้นให้กดเลือกชื่อยาที่ต้องการ แอปพลิเคชันจะนำไปหน้ารายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลยา ตั้งแต่ชื่อสามัญของยา รูปแบบของยา การใช้รักษาอาการแบบใด คำแนะนำในการใช้ยา อาการที่อาจเกิดหลังจากรับประทานยา ข้อควรระวังในการใช้ยา ข้อระวังในการใช้ยาร่วมกับยาชนิดอื่น ข้อห้ามใช้ยา และการเก็บรักษายาแต่สิ่งที่ดีที่สุด นั่นคือการไม่ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องและไม่ต้องใช้แอปพลิเคชัน RDU รู้เรื่องยา ดังนั้นควรออกกำลังกายสม่ำเสมอและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงกันดีกว่านะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 Voice Translator แปลภาษาผ่านเสียง

หลังจากแนะนำแอปพลิเคชันแปลภาษาไปพอสมควร ล่าสุดผู้เขียนได้เจอแอปพลิเคชันล่าสุดดูดีมีประโยชน์ จึงขอนำมาแนะนำให้ผู้อ่านได้ทราบกันเจ้าค่ะแอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า Free Voice Translator ความพิเศษของแอปพลิเคชันนี้คือวิธีการใช้ที่ง่าย โดยภายในแอปพลิเคชันจะปรากฏภาพธงชาติขึ้นมาบนหน้าจอสมาร์ทโฟนเท่านั้น และนั่นคือสัญลักษณ์ที่แสดงในการเลือกภาษาที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันต้องการแปล  การเลือกภาษาสามารถกดไปที่สัญลักษณ์ลูกศรชี้ลงที่อยู่ข้างใต้ระหว่างสัญลักษณ์ธงชาติด้านซ้ายและด้านขวา เมื่อกดไปที่สัญลักษณ์ลูกศรชี้ลง  ภาษาทั้งหมดที่มีอยู่ภายในแอปพลิเคชันจะปรากฏขึ้นโดยมีสัญลักษณ์ธงชาติของภาษานั้นกำกับอยู่ด้วย ซึ่งจะมีภาษาให้เลือกประมาณ 100 ภาษา เมื่อปรากฏภาษาทั้งหมดแล้ว ถ้าต้องการเปลี่ยนภาษาด้านซ้าย ให้กดเลือกที่สัญลักษณ์ธงชาติด้านซ้ายและกดเลือกภาษาที่ต้องการ  ถ้าต้องการเปลี่ยนภาษาด้านขวา ให้กดเลือกที่สัญลักษณ์ธงชาติด้านขวาและกดเลือกภาษาที่ต้องการเช่นกัน โดยการแปลภาษาในแอปพลิเคชันนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเลือกภาษาใดก่อนหรือหลัง เพราะสามารถแปลสลับไปมาระหว่างภาษาที่เลือกด้านซ้ายและด้านขวาได้แอปพลิเคชันนี้จะมีสัญลักษณ์วิธีการป้อนคำหรือประโยคอยู่ 2 วิธี ได้แก่ สัญลักษณ์รูปไมค์และสัญลักษณ์รูปแป้นพิมพ์ สัญลักษณ์รูปไมค์หมายถึงวิธีการป้อนคำหรือประโยคโดยการใช้เสียงพูดผ่านสมาร์ทโฟนโดยตรง ส่วนสัญลักษณ์รูปแป้นพิมพ์หมายถึงวิธีการป้อนคำหรือประโยคโดยการพิมพ์ผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งวิธีการเลือกนั้นให้เลื่อนซ้ายและขวาแต่ขอแนะนำวิธีที่ง่ายและสะดวกรวดเร็วมาก นั่นคือวิธีการป้อนคำหรือประโยคโดยการใช้เสียงพูดผ่านสมาร์ทโฟนโดยตรง เพียงแค่พูดเป็นประโยคภาษาไทย จากนั้นแอปพลิเคชันจะแปลภาษาที่ต้องการให้ โดยจะปรากฏเป็นคำหรือประโยคที่ป้อนเข้าไปและที่แปลออกมาบนหน้าจอสมาร์ทโฟนด้วย ทั้งนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชันยังสามารถกดสัญลักษณ์เสียงหลังประโยคที่ปรากฎนั้น เพื่อให้สมาร์ทโฟนออกเสียงและสามารถยื่นสมาร์ทโฟนให้เจ้าของภาษานั้นฟังได้ทันที บริเวณมุมบนซ้ายของแอปพลิเคชันจะมีสัญลักษณ์สำหรับการตั้งค่าการใช้ของแอปพลิเคชันนี้ไว้ ซึ่งจะมีปุ่มปรับเปลี่ยนความเร็วของการออกเสียงภาษาว่าจะมีความเร็วมากน้อยแค่ไหน การเลือกเสียงที่ออกเสียงว่าจะเป็นเสียงผู้หญิงหรือเสียงผู้ชาย และการลบประวัติการแปลภาษาภายในแอปพลิเคชัน แค่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนี้ ก็ไม่ต้องกลัวการพบปะคนต่างชาติและไม่ต้องเดินหลงทาง(อีกแล้ว) ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี และภาษาอื่นๆ ก็สามารถรับมือได้แน่นอน  เท่านี้จะให้เดินทางไปไหนก็พร้อมเก็บกระเป๋าเดินทางเลยเจ้าค่ะ แถมเป็นการฝึกภาษาไปในตัวอีกด้วยนะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 เท่าทันฝุ่นละออง PM2.5 กับ Air Visual

มลพิษในอากาศของประเทศไทยมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีข่าวการรายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีค่าเกินมาตรฐาน ซึ่งสามารถมองเห็นสภาพอากาศที่มีฝุ่นละอองในอากาศได้อย่างชัดเจน และทำให้เกิดกระแสการป้องกันตนเองของผู้ที่ต้องใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานครฝุ่นละออง PM2.5 หมายถึง ค่าฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ เป็นขนาดที่เล็กเกินกว่าที่ขนจมูกของมนุษย์จะสามารถกรองฝุ่นละอองชนิดนี้ได้ โดยจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและต่อสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง จะทำให้ฝุ่นละอองสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมเข้าสู่การทำงานในอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับฝุ่นละอองในสภาพอากาศในประเทศไทย จึงนำแอปพลิเคชันเช็คสภาพมลพิษในอากาศที่มีชื่อว่า Air Visual ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS  เพื่อติดตามสภาพอากาศได้ตลอดเวลา ภายในแอปพลิเคชันจะมี หมวด My Air  เพื่อแจ้งผลสภาพอากาศของจังหวัดในประเทศ เป็นระดับตัวเลขให้ทราบว่าสภาพอากาศเป็นเช่นไร โดยแบ่งมาตรฐานตามคุณภาพอากาศได้ 6 ระดับ ดังนี้ ระดับ 0-50 Good  หมายถึงสภาพอากาศดี ไม่มีความเสี่ยงหรือความเสี่ยงน้อย  ระดับ 51-100 Moderate  หมายถึงคนที่แพ้หรือภูมิคุ้มกันต่ำ ไม่ควรทำกิจกรรมนอกบ้าน  ระดับ 101-150 Unhealthy for sensitive group หมายถึงสภาพอากาศคนที่แพ้หรือภูมิคุ้มกันต่ำ ไม่ควรออกนอกบ้าน  และอาจเกิดการระคายเคืองหรือมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจได้  ระดับ 151-200 Unhealthy หมายถึงสภาพอากาศมีผลต่อคนภูมิคุ้มกันต่ำอย่างมากและระดับนี้มีผลกระทบต่อคนทั่วไป อาจมีความเสี่ยงทางเดินหายใจได้  ระดับ 201-300  Very Unhealthy หมายถึงสภาพอากาศมีผลต่อผู้คนทั่วไป ไม่ควรออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน และระดับ 301-500 Hazardous หมายถึงผู้คนทั่วไปมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วย เกิดการระคายเคืองหรือมีปัญหาด้านทางเดินหายใจซึ่งในหมวด My Air จะแบ่งสภาพอากาศเป็นช่วงเวลา และมีการคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้าได้ 3 วัน นอกจากนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นยังสามารถเพิ่มจังหวัดที่ต้องการทราบสภาพอากาศ ให้กดสัญลักษณ์บวกที่อยู่บริเวณตรงกลางด้านล่างแอปพลิเคชันหมวด Map จะแสดงสภาพอากาศทั่วประเทศและทั่วโลก เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบสภาพอากาศภายในประเทศและทั่วโลก  และหมวด News&Ranking มีไว้เพื่อแจ้งข่าวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสภาพอากาศทั่วโลก และแสดงการจัดลำดับสภาพอากาศที่แย่ที่สุดทั่วโลกสภาพอากาศที่มีฝุ่นละอองมากขนาดนี้ ประชาชนอย่างเราควรมีวิธีป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกินมาตรฐานนั้น โดยการหาซื้อหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองมาตรฐาน N95 ซึ่งสามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาด 0.3 ไมครอน จะทำให้สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอนได้   แต่ถ้าเป็นหน้ากากอนามัยทั่วไปจะไม่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอนได้ ป้องกันสุขภาพตัวเองให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บกันด้วยนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >