ฉบับที่ 267 ใส่ใจสุขภาพ กับ Thaisook

        เมื่อเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตหลักในประจำวัน จนเหมือนเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งไปแล้ว จากที่เคยต้องออกจากบ้านเพื่อไปซื้อจับจ่ายซื้อของในตลาด เปลี่ยนมาเป็นกดเลือกสินค้าผ่านสมาร์ทโฟน เท่านี้สินค้าก็เดินทางมาถึงหน้าบ้าน โดยไม่ต้องเหนื่อย หรือจะสั่งอาหารจากร้านอาหารชื่อดัง ไม่ว่าจะอยู่มุมไหน ไกลแค่ไหน แต่เมื่อเราอยากกินเราต้องได้กิน แค่กดปุ๊ปจ่ายปั๊ป ใช้นิ้วมือในการบริหารจัดการได้ทันที        เทคโนโลยีทำประโยชน์ให้กับการใช้ชีวิตของพวกเราให้ง่ายขึ้นมากถึงมากที่สุด แต่ผลเสียด้านสุขภาพก็ตามมาเช่นกัน เมื่อไม่มีการขยับเขยื้อนร่างกาย ร่างกายก็จะไม่ได้รับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพได้มากทีเดียว         เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ เครื่องมือที่จะช่วยดูแลสุขภาพจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างแอปพลิเคชั่น “ไทยสุข” หรือ “thaisook” ได้พัฒนาขึ้นมาจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับทุกคน โดยเฉพาะในช่วงวัยทำงาน ให้หันมาสนใจและดูแลสุขภาพของตนเอง ซึ่งใช้แอปพลิเคชั่นเป็นสื่อกลางช่วยกระตุ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นผลดีต่อสุขภาพ         ผู้อ่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android มีขั้นตอนการลงทะเบียนง่ายๆ โดยข้อมูลในการกรอกลงทะเบียนของแอปพลิเคชั่น “ไทยสุข” เริ่มต้นจะใช้หมายเลขโทรศัพท์ เพื่อรอรับ OTP ในขั้นตอนแรก และระบบจะให้กรอกชื่อนามสกุล วันเกิด เพศ ส่วนสูง การสูบบุหรี่ และกดยินยอมนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเข้าสู่แอปพลิเคชั่นนี้        การใช้งานภายในแอปพลิเคชั่นง่ายและไม่ซ้ำซ้อน โดยหน้าแรกจะปรากฎเมนูด้านล่างตามหมวด 4 หมวด ได้แก่ หมวดวันปัจจุบัน หมวดสถิติรายสัปดาห์ หมวดกลุ่ม และหมวดการแข่งขัน ซึ่งมุมขวาบนจะเป็นปุ่มการตั้งค่าที่มีสัญลักษณ์ 3 ขีด        หน้าแรกจะเป็นหมวดวันปัจจุบัน ที่ปรากฎให้เห็นการนับจำนวนก้าว เวลาการวิ่ง เวลาการเดิน โดยกิจกรรมเหล่านี้ ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสามารถเพิ่มข้อมูลได้ด้วยตนเอง ทั้งจำนวนเวลา ระยะทาง อัตราการเต้นของหัวใจ แคลอรี่ที่เผาผลาญ นอกจากการดูแลด้านกายภาพแล้ว ยังมีในส่วนของการดูแลสุขภาพภายใน ทั้งในเรื่องติดตามปริมาณการดื่มน้ำต่อวัน ค่าความดันโลหิต ค่าผลเลือด น้ำหนัก องค์ประกอบร่างกาย ระยะเวลาการนอนหลับ         ทั้งนี้ควรรับประทานอาหารผักผลไม้ให้เป็นไปตามสักส่วนที่เหมาะสม ซึ่งแอปพลิเคชั่นได้มีคู่มือไว้ให้อ่าน และเพื่อให้ข้อมูลครบถ้วนและสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมได้ ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสามารถเพิ่มข้อมูลการรับประทานผักและผลไม้ลงไปด้วย         หมวดสถิติรายสัปดาห์เป็นการเก็บข้อมูลสถิติของการดูแลสุขภาพร่างกายที่เกิดขึ้นมาทั้งหมด เพื่อให้เห็นภาพรวมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม หมวดกลุ่มเป็นหมวดที่มีไว้เป็นทางเลือกให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นได้สร้างกลุ่มหรือเข้ากลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสุขภาพ ส่วนหมวดการแข่งขันจะเป็น Challenge ให้ตนเองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดูแลสุขภาพร่างกายให้ดียิ่งขึ้น         มาดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรง โดยเริ่มจากการบริหารจัดการกับการกินอาหาร การพักผ่อน หรือการออกกำลังกาย เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกันนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 แอปพลิเคชั่น Alljit เพื่อนดูแลใจ

        เมื่อเกิดภาวะความเครียดขึ้นภายในใจ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล จนทำให้เกิดความกดดันในการดำเนินชีวิตได้ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้เมื่อเกิดความเครียดจนถึงระดับหนึ่ง การปล่อยวางและหาวิธีขจัดความเครียด ความกดดันเหล่านั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง เพื่อลดระดับความเครียด โดยควบคุมให้ความเครียดนั้นอยู่ในระดับที่รับได้จนไม่ก่อนให้เกิดอันตรายกับตนเอง         ความเครียดสะสม ก่อให้เกิดภาวะอันตรายทำลายสุขภาพ เช่น มีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูง ผลต่อเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตามมา โรคเครียดลงกระเพาะ กระทบต่อการนอนหลับ หรือหากนอนหลับก็หลับไม่สนิท ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย เกิดอาการปวดหัวไมเกรน ภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นนานๆ อาจกลายเป็นภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งส่งผลต่อทางด้านร่างกาย และจิตใจ         ฉบับนี้จึงขอมาให้กำลังใจและแนะนำตัวช่วยผ่านแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Alljit (ออลจิต) ผู้ช่วยที่คอยให้คำปรึกษาปัญหาด้านจิตใจในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องส่วนตัว ครอบครัว การเงิน การงาน หรือความรัก โดยสามารถเลือกรูปแบบความต้องการได้ ได้แก่ การประเมินความรู้สึกด้วยตนเอง ความต้องการกำลังใจ การแลกเปลี่ยนเรื่องราว การฟังพอตแคสต์ (Podcast คือ ข้อความเสียงประเภทหนึ่งที่คล้ายกับการจัดรายการวิทยุโดยจะมีผู้ดำเนินรายการเพียงคนเดียวหรือหลายคนมาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ) และพูดคุยกับแอดมิน         การประเมินความรู้สึกด้วยตนเอง แบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ ความเครียด ความเศร้า และการหมดไฟการทำงาน ที่ลักษณะการประเมินความรู้สึกด้วยคำถาม ส่วนความต้องการกำลังใจ แบ่งเป็นหมวดแชทเล่าความในใจ โดยสามารถเลือกคู่แชทและปิดบังตัวตนได้ เพื่อพูดคุยความในใจที่เกิดขึ้น หมวดกลุ่มพูดคุย ซึ่งเป็นการพูดคุยในรูปแบบกลุ่ม         การแลกเปลี่ยนเรื่องราว จะเป็นการเขียนข้อความตามที่ต้องการและเผยแพร่ทั่วไป โดยทุกคนที่เข้ามา สามารถแสดงความคิดเห็นได้ และการฟังพอตแคสต์ (Podcast) ผ่านหมวดหมู่หนังและซีรีย์ รีวิวหนังสือ อารมณ์และความรู้สึก ชีวิตในวัยรุ่น ดนตรี คุยกับนักจิตวิทยา จิตวิทยาชีวิตคู่ และฟังก่อนนอน ซึ่งแต่ละหมวดจะมีนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญเฉพาะมาแบ่งปันให้ฟังเพื่อช่วยเยียวจิตใจในช่วงที่อ่อนแอ         ลองสำรวจตนเองสม่ำเสมอ เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์และควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ให้สังเกตว่าถ้าหากคุณมีอาการอารมณ์แปรปรวน รู้สึกกลัว เครียด กังวล เบื่อ เฉยชา หงุดหงิดง่าย นอนไม่ค่อยหลับ หลับไม่สนิท รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่สดชื่น เฉื่อยชาลง ขาดสมาธิในการทำงาน มีอาการหลงๆ ลืมๆ รู้สึกท้อแท้หมดหวัง รู้สึกไร้ค่า หรืออาการอื่นใดที่ใกล้เคียง ให้รีบลดระดับความเครียดทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 กาลครั้งหนึ่ง...ที่ “Me Books”

        ช่วงเทศกาลสัปดาห์หนังสือมาเยือนอีกครั้ง หลายคนเฝ้ารอที่ได้ไปเดินเลือกซื้อหนังสือโปรดและเฝ้ารอพบปะพูดคุยกับเหล่านักเขียนทั้งหลายกันอย่างใจจดใจจ่อทีเดียว ผู้เขียนเป็นหนึ่งในนั้นที่ต้องการเดินชมเหล่าหนังสือด้วยความสุขใจ เพื่อเลือกซื้อตามรายการที่ได้รวบรวมไว้เช่นกัน แต่ครั้งนี้พิเศษหน่อยตรงที่ต้องพาเด็กน้อยติดตามไปด้วย ดังนั้นโซนที่ต้องไปเยือนอย่างแน่นอน หนีไม่พ้นโซนหนังสือนิทาน การ์ตูน แบบเรียนพัฒนาการสำหรับเด็กน้อย         เมื่อเห็นโซนหนังสือนิทานของเด็กน้อย ทำให้นึกถึงแอปพลิเคชันหนึ่งที่ช่วยเป็นสื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กน้อยผ่านการเล่านิทานในรูปแบบมีเสียง ซึ่งแอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า “Me Books” อย่างแรกมารู้จักกับที่มาของแอปพลิเคชันนี้กันก่อนดีกว่า         แอปพลิเคชัน “Me Books” เกิดจากศูนย์กิจการสร้างสุข (SOOK Enterprise) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ บริษัท มีบุ๊คส์ จำกัด ประเทศมาเลเซีย ได้พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ภายใต้แนวคิดปลุกหนังสือให้มีชีวิต เพื่อสนับสนุนให้แอปพลิเคชันนี้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาวะ ผ่านนิทานออนไลน์ 4 ภาษา ให้มีความน่าสนใจและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กอย่างเป็นระบบ         เรียกง่ายๆ คือ การพัฒนาสติปัญญาโดยการเรียนรู้ผ่านนิทานของเด็กๆ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีและพฤติกรรมของครอบครัวที่มักนำสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมาเป็นสื่อการเรียนการสอนอยู่แล้ว แอปพลิเคชันนี้จึงนำทั้งสองอย่างมารวบรวมไว้ในที่เดียวกัน เพื่อสะดวกในการใช้ง่าย ทั้งนี้นิทานที่อยู่ภายในแอปพลิเคชันจะมีทั้งหมด 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษามลายู สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งในระบบปฏิบัติการ iOS และ Android         หลังจากดาวน์โหลดต้องลงทะเบียนด้วยเมลและกำหนดรหัสผ่านในหน้าแรก โดยต้องกำหนดว่าผู้ลงทะเบียนมีสถานะเป็นพ่อหรือแม่ พร้อมทั้งลงทะเบียนชื่อเด็กได้มากกว่าหนึ่งคน เพื่อให้สามารถสลับหน้าแอปพลิเคชันไปยังข้อมูลการอ่านนิทานของแต่ละคนได้ ซึ่งแยกไว้อย่างชัดเจนตามชื่อที่ตั้งไว้ในแอปพลิเคชัน อีกทั้งยังเพิ่มความน่ารักด้วยการให้เลือกรูปภาพเป็นตัวแทนผู้ลงทะเบียน และเป็นตัวแทนเด็กๆ แต่ละคน         ในการค้นหานิทานในแต่ละครั้ง สามารถกำหนดเป้าหมายที่ต้องการตามช่วงอายุ ตามความชื่นชอบ ซึ่งแอปพลิเคชันได้แยกไว้ตามความเหมาะสมเรียบร้อย ทำให้สามารถเลือกนิทานได้ง่ายขึ้น และสามารถเลือกเก็บเรื่องที่ชื่นชอบไว้ในหมวดชื่นชอบได้ด้วย ทำให้เด็กๆ สามารถเข้าไปหาเรื่องที่ชื่นชอบได้ทันที โดยที่ไม่ต้องมาค้นหาใหม่อีกครั้ง         มาดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “Me Books” เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการฟังนิทาน ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาการของเด็ก เนื่องจากช่วยฝึกกระบวนการคิดของเด็กผ่านการเล่า เน้นการฟัง ทำให้ช่วยมีสมาธิมากขึ้น และช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ สร้างจินตนาการ เเละสร้างเรียนรู้อย่างมีความสุข แถมช่วยฝึกทักษะของภาษาให้กับเด็กในช่วงวัยที่เหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 รู้สรรพคุณสมุนไพรผ่าน Samunprai First

        “สุขภาพร่างกาย” เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เมื่อสุขภาพร่างกายแข็งแรง โรคภัยไข้เจ็บย่อมห่างไกล หลายคนจึงพยายามหาหนทางในการรักษาสุขภาพที่แข็งแรงนี้ไว้ให้นานที่สุด โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และมีประโยชน์ นอกจากนี้บางคนยังรับประทานยาบำรุงที่มีออกมาขายหลายยี่ห้อเพื่อเสริมสร้างวิตามินและแร่ธาตุให้กับร่างกายอีกด้วย         สิ่งเหล่านี้ที่กล่าวมา เป็นผลดีและนำประโยชน์มาให้กับร่างกายอย่างมาก แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจมองข้ามไปหรือหลงลืมไป ทั้งที่สามารถหาได้โดยทั่วไป นั่นคือการรับประทานอาหารประเภทสมุนไพรพื้นบ้าน สมุนไพรพื้นบ้านนี้สามารถช่วยส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้หลากหลาย ส่วนใหญ่ใช้สมุนไพรมาเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหารในแต่ละมื้อ ซึ่งสมุนไพรนั้นมีสรรพคุณช่วยบำรุงรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แตกต่างกันไป เมื่อรับประทานสมุนไพรหลากหลายและเป็นประจำก็จะช่วยทำให้ป้องกันโรคได้         ยกตัวอย่างพืชผักสมุนไพรที่สามารถช่วยดูแลสุขภาพและมีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด เช่น กระชาย กระเทียม ขิง ข่า ตะไคร้บ้าน ดีปลี ขมิ้นชัน เป็นต้น สำหรับบรรเทาอาการไอ ระคายคอจากเสมหะ ให้รับประทานฟ้าทลายโจร มะขามป้อม มะแว้งเครือ มะขาม มะนาว เป็นต้น นอกจากการรับประทานอาหารแล้ว ยังสามารถนำสมุนไพรมาต้ม บีบ คั้น ฯลฯ เพื่อนำมารักษาได้อีกด้วย เช่น เมื่อมีอาการแพ้ อักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย ให้นำผักบุ้งทะเลมายาต้มอาบแก้คันตามผิวหนัง หรือใช้ใบสดของตำลึงตำและคั้นน้ำมาประคบแก้ปวดแสบร้อนและคันได้ ซึ่งสมุนไพรบางชนิดมีสรรพคุณมากกว่าหนึ่งอย่าง         ข้อมูลเหล่านี้ได้มีแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อ Samunprai First ได้รวบรวมสรรพคุณของสมุนไพรไว้เรียบร้อยแล้ว โดยสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี พัฒนาโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้สมุนไพรนำมาใช้รักษาอาการเจ็บป่วยที่พบบ่อยและไม่รุนแรง การรวบรวมข้อมูลภายในแอปพลิเคชั่นจะเป็นสมุนไพรที่มีหลักฐานการใช้ตามภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทย และ/หรือ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณที่ช่วยบรรเทาอาการได้จริง         เมื่อเปิดหน้าแรกของแอปพลิเคชั่นจะพบเมนู 2 หมวดใหญ่ ได้แก่ เมนูพืชสมุนไพร และ เมนูยาสมุนไพรสำเร็จรูป ซึ่งเมนูพืชสมุนไพร จะแบ่งเป็นหมวดอาการเจ็บป่วย ที่แสดงถึงอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ท้องเสีย ปวดฟัน ท้องผูก เบื่ออาหาร กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กลาก เกลื้อน แผลน้ำร้อนลวก ลมพิษ ผื่นคัน และหมวดสมุนไพร ซึ่งจะเรียงตามชื่อตัวอักษรของสมุนไพร โดยรายละเอียดด้านในของแต่ละหมวดจะปรากฎข้อมูลสรรพคุณ วิธีการรักษาของสมุนไพร รวมถึงการให้ข้อมูลชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง         ส่วนเมนูยาสมุนไพรสำเร็จรูปจะแจ้งข้อมูลชื่อผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำเร็จรูป ผู้ผลิต สรรพคุณ เลขทะเบียนผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ วิธีใช้ ข้อควรระวัง และขนาดบรรจุของผลิตภัณฑ์ไว้ภายในแอปพลิเคชั่นนี้ด้วย         อยากทราบสรรพคุณของสมุนไรพเพิ่มเติม ให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Samunprai First มาศึกษาข้อมูล ช่วยทำให้เกิดประโยชน์และเป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 “สุขภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” ประโยคนี้ถูกต้องที่สุด

        ในยุคสมัยที่การดำเนินชีวิตประจำวันต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี หันไปทางใดก็มีแต่การใช้เทคโนโลยีตลอดเวลา อย่างเช่น การสแกนจ่ายสินค้าต่างๆ ผ่าน QR Code ธนาคาร การโอนเงินเพื่อซื้อบัตรโดยสารรถไฟฟ้า การซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์ เป็นต้น         อันดับแรกขอพามารู้คำว่า AI กันก่อน AI ย่อมาจากคำว่า Artificial Intelligence แปลเป็นภาษาไทยว่า ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งหมายถึง ระบบประมวลผลของคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ เครื่องจักร หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่มีการวิเคราะห์เชิงลึกคล้ายความฉลาดของมนุษย์ และสามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นการกระทำได้ หรือเครื่องจักรที่มีความสามารถในการทำความเข้าใจ เรียนรู้องค์ความรู้ต่างๆ จดจำ ตอบสนองต่อภาษา ตัดสินใจ และแก้ไขปัญหา โดยอาศัยข้อมูลจำนวนมากที่มีลักษณะซ้ำๆ เหมือนกัน         มากล่าวถึงเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่ถูกพัฒนาขึ้นมาบ้าง อย่างแอปพลิเคชัน Agnos Health เป็นแอปพลิเคชันที่ให้บริการวิเคราะห์อาการป่วยเบื้องต้นด้วยระบบ AI ที่มีความละเอียดสูง และแม่นยำ ที่สำคัญคือไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แอปพลิเคชันนี้สามารถใช้ได้กับสมาร์ทโฟนทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android การทำงานของแอปพลิเคชันจะใช้วิธีการช่วยวิเคราะห์อาการของโรคให้กับผู้ใช้ก่อนจะประมวลผลความเสี่ยงโรคที่มี หรือความเป็นไปได้พร้อมบอกวิธีการรับมือโรคในขั้นต่อไปว่าสามารถรักษาให้หายเองได้หรือควรต้องไปพบแพทย์ต่อ         เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Agnos Health ให้ลงทะเบียนเข้าใช้ จากนั้นภายในแอปพลิเคชันจะปรากฎเมนูต่างๆ ได้แก่ เมนูตรวจโรคด้วยตัวเองโดยระบบ AI เมนูตรวจโรคด้านจิตใจด้วย AI เมนูปรึกษาแพทย์ เมนูค้นหาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เมนูซื้อยา เมนูกระทู้ถามแพทย์ เมนูคลินิกแนะนำ เมนูโรคที่พบบ่อย เมนูบทความแนะนำ         เมนูตรวจโรคด้วยตัวเองโดยระบบ AI และเมนูตรวจโรคด้านจิตใจด้วย AI จะเป็นเมนูคัดกรองอาการเบื้องต้นโดยการตอบคำถามและแอปพลิเคชั่นจะวิเคราะห์ผลลัพธ์ออกมา สำหรับเมนูปรึกษาแพทย์กรณีที่ต้องการสอบถามอาการเจ็บป่วย และสามารถปรึกษาเภสัชกรกรณีต้องการซื้อยารักษาโรค เพื่อให้สามารถรักษาได้ตรงตามโรคที่เป็นในเบื้องต้น ทั้งนี้ถ้าการวิเคราะห์จากแอปพลิเคชันมีความสุ่มเสี่ยง แอปพลิเคชันหรือแพทย์หรือเภสัชกรจะแนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเช็คร่างกายอย่างละเอียดต่อไป         สำหรับเมนูค้นหาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เมนูซื้อยา แอปพลิเคชั่นจะค้นหาบริเวณที่ผู้ใช้อยู่ รวมถึงสามารถเข้าดูรายละเอียดตารางเวลาออกตรวจของแพทย์เฉพาะด้านแต่ละโรงพยาบาลได้ เช่น สูตินรีแพทย์ กุมารแพทย์ หูตาจมูก ตา กระดูก ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท จิตเวช  ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเลือกพบแพทย์ได้ล่วงหน้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 ติดตามผลการรักษาสุขภาพตนเองได้ ด้วย EVER Healthcare

        โรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากพบเจอ แต่ทุกคนต้องเคยเจ็บป่วยแน่นอน อย่างน้อยก็โรคไข้หวัดธรรมดา ที่ทำให้เกิดอาการเป็นไข้ น้ำมูกไหล ปวดหัว ตัวร้อน ซึ่งทุกคนก็หวังว่าการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้เท่านั้น         เมื่อมากล่าวถึงโรคภัยไข้เจ็บที่รุนแรงที่เป็นภัยเสี่ยงอาจทำให้เสียชีวิตได้มีอยู่หลายโรค จะเห็นได้จากการประชาสัมพันธ์ของบริษัทประกันชีวิตเกี่ยวกับโรคร้ายแรง ซึ่งได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดอักเสบ โรคปอดเรื้อรัง โรคไตวายเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคเกี่ยวกับตับ โรควัณโรค เป็นต้นโรครุนแรงเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี ยาและแพทย์เฉพาะทางในการรักษา ซึ่งการแพทย์สมัยใหม่สามารถรักษาโรคร้ายแรงให้หายได้และวิทยาการทางการแพทย์ก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เพียงแต่ต้องหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้เพิ่มโอกาสรักษาให้มากขึ้น         เมื่อโรครุนแรงมาเยือนและจำเป็นต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง การเข้าถึงข้อมูลการรักษาและทราบถึงประวัติการรักษาของตนเองและครอบครัวก็มีความสำคัญ ฉบับนี้ขอมาแนะนำแอปพลิเคชั่นที่สามารถทำให้ติดตามผลการรักษาทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่มีชื่อว่า EVER Healthcare         แอปพลิเคชั่น EVER Healthcare เป็นเครื่องมือที่ช่วยบันทึกข้อมูลสุขภาพ จัดเก็บ และสามารถส่งต่อข้อมูลการรักษา และการเพิ่มความรู้ทางด้านสุขภาพ โดยผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลการรักษาตนเองผ่านโทรศัพท์มือถือได้ พร้อมเชื่อมโยงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลต่างๆ มาให้คำปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ขอพบแพทย์ผ่านแอปพลิเคชั่น และการสั่งยาแบบออนไลน์         การเชื่อมต่อข้อมูลในครั้งแรกต้องมีการลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน ชื่อนามสกุล และยืนยันตัวตนด้วยการถ่ายภาพคู่กับบัตรประจำตัวประชาชนผ่านทางแอปพลิเคชั่นจนครบขั้นตอน หลังจากเข้าสู่ระบบจะปรากฎรายการนัดหมายที่กำลังจะมาถึงของผู้ใช้ ในส่วนนี้จะช่วยย้ำเตือนนัดหมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ภายในแอปพลิเคชั่นจะมีหมวดต่างๆ ปรากฎ ได้แก่ หมวดพบเภสัชกรเพื่อสั่ง หมวดพบแพทย์ทันที ใน 2 หมวดนี้จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกและเข้าถึงบริการเพื่อซื้อยา และจัดส่งยาถึงบ้าน รวมถึงการเลือกพบแพทย์ตามอาการที่ต้องการปรึกษาได้ทันที         ถัดไปจะเป็นหมวดประวัติการรักษา ในหมวดนี้ผู้ใช้สามารถเข้าไปดูบันทึกการรักษารวมทั้งผลการตรวจแล็บที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งได้ด้วยตนเอง หมวดค้นหา ซึ่งแบ่งเมนูตามแผนกของโรคเพื่อความสะดวกในการใช้งาน หมวดบันทึกสุขภาพ ช่วยให้ผู้ใช้บันทึกข้อมูลเก็บไว้ดูย้อนหลังได้ หมวดแบบประเมินสุขภาพ เพื่อช่วยประเมินสุขภาพเบื้องต้นโดยการตอบคำถามในแต่ละข้อในระบบ         แอปพลิเคชั่น EVER Healthcare นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ใช้ดูข้อมูลย้อนหลังการรักษาได้ทุกที่ และเป็นข้อมูลที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้ที่ต้องถูกส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น อีกทั้งช่วยทำให้เข้าใจและเข้าถึงการรักษาของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง         อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้ ผู้เขียนอยากให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี ไม่เป็นโรคร้ายแรง ดังนั้นหมั่นตรวจเช็คสุขภาพ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงจะดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 แจ้งขอความช่วยเหลือการล่วงละเมิดทางเพศทางเว็บไซต์ www.คลิปหลุดทำไง.com

        ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลกับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่มักมีความสนใจและความอยากรู้อยากลอง จึงเป็นกลุ่มที่ชอบติดตามโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ ชอบการสื่อสารโต้ตอบกันผ่านโซเชียลมีเดีย สามารถรู้จักเพื่อนใหม่ทางโซเชียลมีเดียได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้โซเชียลมีเดียก็กลับกลายเป็นแหล่งรวมโจรที่พร้อมจะหลอกกลุ่มวัยรุ่นนี้ได้เช่นกัน อาจด้วยความเยาว์วัย รู้เท่าไม่ถึงการณ์ กล้าได้กล้าเสีย ความคึกคะนอง ฯลฯ เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาชญากรรมด้านการล่วงละเมิดทางเพศแบบไม่รู้ตัว         นอกจากกลุ่มวัยรุ่นที่กล่าวมาแล้วนั้น กลุ่มผู้ใหญ่ที่ไม่มีความรู้เท่าทันโซเชียลมีเดียก็ออาจพบเจอกับอาชญากรรมด้านการล่วงละเมิดทางเพศได้ไม่ต่างกัน         สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ทำโครงการประชารัฐยุติธรรมนำเด็กปลอดภัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขจัดการปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ได้จัดทำเว็บไซต์ www.คลิปหลุดทำไง.com มารับข้อร้องเรียนปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตและสื่อลามกอนาจารเด็กทางออนไลน์ ซึ่งเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการช่วยเหลือได้ทันที         เมื่อต้องการความช่วยเหลือให้เปิดเว็บไซต์ www.คลิปหลุดทำไง.com กดเลือกที่เมนูที่ชื่อว่า แจ้งเหตุและติดตาม ด้านบนหน้าจอ จากนั้นหน้าจอจะให้เลือกประเภทการแจ้งเหตุ กดเลือกขอความช่วยเหลือสำหรับต้องการร้องเรียนปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตและสื่อลามกอนาจารเด็กทางออนไลน์         เริ่มกรอกรายละเอียดข้อมูลส่วนตัว โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้ ข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแส ได้แก่ ชื่อ นามสกุล ชื่อเล่นหรือนามแฝง เบอร์ติดต่อ ต่อด้วยข้อมูลผู้ถูกละเมิด และข้อมูลผู้ละเมิด พร้อมทั้งรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ สิ่งที่กังวล สิ่งที่อยากให้ช่วย รูปแบบการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้น         ทั้งนี้ข้อมูลที่แจ้งไปนั้นจะถูกเก็บเป็นความลับ และเจ้าหน้าที่จะได้นำไปสืบสวนเพื่อหาพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด แต่ถ้ามีการให้ข้อมูลเพื่อกลั่นแกล้งกันหรือเรียกว่าการให้ข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงาน เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือเพื่อให้ผู้อื่นต้องรับโทษนั้น จะมีความผิดอาญา ซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับ         หลังจากแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว ผู้แจ้งสามารถเข้ามากดเลือกเมนูติดตามผลการแจ้งเบาะแส เพื่อติดตามผลได้อย่างต่อเนื่อง         นอกจากการแจ้งขอความช่วยเหลือการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตแล้ว เว็บไซต์ www.คลิปหลุดทำไง.com ยังมีช่องทางให้แจ้งเบาะแสทั่วไปได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 พามาหาคำตอบว่า “ภาษีไปไหน”

        ทุกการใช้จ่ายของประชาชนจะมีส่วนหนึ่งเป็นภาษีรวมไปด้วยเสมอ ฉบับนี้จึงพามารู้จักกับภาษีกัน คำว่า ภาษี คือ ภาระที่ประชาชนมีหน้าที่ต้องนำส่งให้ภาครัฐตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อสนับสนุนรัฐและกิจการของรัฐ โดยอาจจะอยู่ในรูปของเงินหรือไม่ก็ได้ ซึ่งตัวภาษีนั้นอาจจะใช้ชื่อเรียกว่า ภาษี หรือชื่ออย่างอื่นก็ได้แต่ต้องไม่ใช่การบริจาคหรือการจ่ายตามอัธยาศัย ซึ่งประเภทของภาษีที่ต้องชำระมีอยู่ 5 ประเภท ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับภาษีที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันที่ประชาชนอย่างเราต้องเข้าใจและรู้จักมี 2 ประเภท คือ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม         ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ รูปแบบหนึ่งของการเสียภาษี โดยเงินรายได้ของเราจะถูกหักทันทีจากผู้จ่ายเพื่อนำส่งให้สรรพากร ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT คือ การเก็บภาษีจากการขายสินค้า หรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิต และจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ         หลายคนอาจสงสัยว่าภาษีเหล่านี้ที่เก็บไปนั้นจะนำไปทำอะไรบ้าง และผลประโยชน์กลับมายังประชาชนจริงหรือไม่ จากคำถามนี้ ทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA จึงได้ดำเนินการพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “ภาษีไปไหน” เพื่อตอบคำตอบให้กับประชาชน โดยการนำเสนอภาพรวมรายได้การจัดเก็บของรัฐบาล จากกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง และข้อมูลด้านงบประมาณรายรับรายจ่ายของประเทศ         แอปพลิเคชั่นนี้จะมีหมวดสำคัญด้านล่างหน้าจออยู่ 5 หมวด ได้แก่ หมวดหน้าหลักจะสามารถค้นหาโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยการกดปุ่มค้นหาใหม่ ซึ่งจะปรากฎโครงการพร้อมรายละเอียดรอบบริเวณที่ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นอยู่บริเวณนั้น กับการค้นหาชื่อโครงการ หน่วยงาน หรือบริษัทผ่านช่องค้นหาโดยตรง ซึ่งหมวดนี้จะแสดงข้อมูลในรูปแบบแผนที่ประเทศไทยเพื่อให้เห็นพิกัดที่ชัดเจนของโครงการที่เกิดขึ้น         หมวดภาษีมาจากไหนจะรวบรวมสถิติผลรวมรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บในรูปแบบ Dashboard และการจัดอันดับ Ranking ข้อมูลต่างๆ หมวดงบประมาณจะบ่งบอกถึงวงเงินงบประมาณในแต่ละปี ผลการเบิกจ่าย รวมถึงวงเงินตามยุทธศาสตร์ที่มี ส่วนหมวดจัดซื้อจัดจ้างจะเป็นภาพรวมงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง มูลค่าโครงการรวม ผลการจัดซื้อจัดจ้างในแต่ละเดือน เป็นต้น และหมวดตั้งค่าจะให้เลือกตั้งค่าตำแหน่งที่ตั้งและภาษาที่ใช้ภายในแอปพลิเคชั่น         ทั้งนี้ในหน้าหลักจะมีสัญลักษณ์ 3 ขีดด้านบนซ้ายมือ ซึ่งจะเปลี่ยนการแสดงผลจากข้อมูลในรูปแบบแผนที่เป็นข้อความ และมีสัญลักษณ์ตัวกรองด้านบนขวามือที่ช่วยให้สามารถค้นหาขั้นสูงได้         นอกจากแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติ Android แล้ว ยังสามารถค้นหาข้อมูลต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ http://govspending.data.go.th/ ได้อีกช่องทางหนึ่ง         คำตอบว่า “ภาษีไปไหน” สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้นำคำตอบมาอยู่ในแอปพลิเคชั่นนี้เรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะให้ผู้อ่านได้ทราบและตรวจสอบข้อมูลต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ฉุกเฉิน! ฉุกเฉิน! เตรียมพร้อมด้วย ThaiEMS 1669

        เหตุฉุกเฉินเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดหรือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดทันทีทันใดโดยไม่ทันได้ตั้งตัว ซึ่งสถานการณ์ในลักษณะนี้ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นนั้น จะช่วยทำให้ลดระยะเวลา ลดแรงกดดันได้มากทีเดียว ฉบับนี้จึงพามารู้จักกับแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า ThaiEMS 1669          เมื่อต้องการความช่วยเหลือ แอปพลิเคชั่น ThaiEMS 1669 สามารถช่วยคุณได้ทันที โดยสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีในทุกระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟน แอปพลิเคชั่น ThaiEMS 1669 ถูกพัฒนาขึ้นโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินกับประชาชนอย่างรวดเร็วและทันท่วงทีอย่างครบครัน         เริ่มแรกให้ลงทะเบียนเข้าใช้งาน โดยมีวิธีการลงทะเบียนให้เลือก 4 รูปแบบ ได้แก่ ลงทะเบียนด้วย EMS Smart Card คือการใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลักในการลงทะเบียนเข้าระบบ ลงทะเบียนด้วย Facebook ลงทะเบียนด้วย email และลงทะเบียนด้วยข้อมูลส่วนตัว คือการใช้ชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ เลขประจำตัวประชาชน หรือกรณีที่เคยลงทะเบียนมาแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นครั้งแรกแนะนำให้ลงทะเบียนด้วยข้อมูลส่วนตัวก่อน         หน้าแรกของแอปพลิเคชั่นจะปรากฏปุ่มสีแดงสำหรับกดเรียกรถพยาบาล ซึ่งทำให้ง่ายต่อการใช้งานเป็นอย่างมาก และเหมาะกับการเกิดเหตุฉุกเฉินที่สุด ขณะรอรถพยาบาลเดินทางมาถึง สามารถกดปุ่มติดตามสถานะแจ้งเหตุได้ การกดปุ่มสีแดงจะสามารถระบุพิกัดตำแหน่งที่อยู่ผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างแม่นยำ ทำให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถส่งภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องเพิ่มไปได้พร้อมกัน เพื่อให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินทราบถึงสถานการณ์นั้นได้อีกทาง         สำหรับหมวดเมนู ตรงบริเวณมุมด้านขวาบน จะรวบรวมรายละเอียดต่างๆ เป็นหมวดหมู่ที่เน้นเรื่องการให้ความรู้ความเข้าใจ ตั้งแต่วิธีการปฏิบัติเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน ได้แก่ ข้อมูลการปฐมพยาบาลเบื้องต้นกรณีหมดสติกะทันหัน โรคลมชัก หัวใจวาย โรคหอบหืด กระดูกหัก ภาวะอุณหภูมิในร่างกายต่ำกว่าปกติ สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ เป็นต้น และเรียนรู้การคัดแยกภาวะฉุกเฉิน รวมถึงการตรวจสอบโรงพยาบาลใกล้เคียงพร้อมเส้นทางที่ช่วยนำทางไปยังโรงพยาบาลนั้นได้         นอกจากนี้ด้านข้างของปุ่มสีแดงสำหรับกดเรียกรถพยาบาล จะเห็นปุ่มที่มีสัญลักษณ์ AED เป็นปุ่มที่ช่วยค้นหาตำแหน่งที่ตั้งของเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าแบบอัตโนมัติที่ใกล้ที่สุด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ส่วนปุ่มที่มีสัญลักษณ์ CPR จะเชื่อมต่อไปยังวิธีการปฐมพยาบาลในรูปแบบ CPR และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า ทั้งนี้ควรศึกษาข้อมูลไว้ล่วงหน้า        แนะนำดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ThaiEMS 1669 มาติดสมาร์ทโฟนไว้ เพื่อเพิ่มความอุ่นใจให้ตัวเราและครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่างน้อยให้สามารถกดปุ่มฉุกเฉินเรียกรถพยาบาลและแจ้งพิกัดได้ทันที เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่ไม่คาดฝันขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 เฝ้าระวังสาธารณภัยผ่าน Thai Disaster Alert

        สภาพอากาศของประเทศไทยในช่วงฤดูฝนมักมาคู่กับการเกิดลมมรสุมหรือเกิดพายุพัดผ่านตลอด ดังนั้นการติดตามข่าวสารเพื่อแจ้งเตือนเรื่องพายุเข้าจึงมีความสำคัญอย่างมาก เมื่อประชาชนได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด จะทำให้สามารถรับมือและป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะการเกิดพายุพัดผ่านบริเวณใดจะส่งผลให้ประชาชนบริเวณนั้นได้รับผลกระทบจากการฝนตกหนักเบาตามลำดับ จนอาจกลายเป็นภัยธรรมชาติตามมาได้         ด้วยหน้าที่ที่ต้องเฝ้าระวังเพื่อติดตามจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติจากน้ำ บรรเทาสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นในประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. กระทรวงมหาดไทย จึงได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการสาธารณภัยนี้โดยการพัฒนาแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Thai Disaster Alert โดยสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android         แอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert มีหน้าที่แจ้งเตือนภัยข่าวสารสาธารณภัยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศแบบ Real Time ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อให้ประชาชนที่ใช้แอปพลิเคชันได้ทราบข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว ทำให้ทันท่วงทีในการเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกันตนเองและทรัพย์สินก่อนที่ภัยจะมาถึง ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงและผลกระทบได้อีกทางหนึ่ง         เมื่อติดตั้งแอปพลิเคชันเรียบร้อยแล้ว แอปพลิเคชันจะให้ผู้ใช้งานใส่ข้อมูลเพศ วันเดือนปีเกิด ต่อจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนให้เลือกจังหวัดที่ต้องการรับแจ้งเตือนภัยได้ 3 จังหวัด ซึ่งจังหวัดที่เลือกนั้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ภายหลัง และเลือกตั้งค่าเปิดสิทธิ์เข้าถึงตำแหน่งที่ตั้ง (Location Service) บนสมาร์ทโฟน ซึ่งหน้าแอปพลิเคชันจะปรากฎหมวดหมู่ ได้แก่ สัญลักษณ์กระดิ่ง สัญลักษณ์แผนที่ สัญลักษณ์ที่ตั้ง (Location) สัญลักษณ์โทรศัพท์ และสัญลักษณ์รูปคน         สัญลักษณ์กระดิ่ง จะแสดงข่าวสารการแจ้งเตือนโดยเรียงข่าวล่าสุดอยู่ด้านบนสุด เป็นข้อความสั้นๆ กระชับ และมีเอกสารอ้างอิงของข้อมูลนั้นๆ มุมบนขวาเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปดูแหล่งที่มาได้ทันที ในหน้านี้จะมีเมนู 2 เมนูเพิ่มเติม ได้แก่ เมนูแจ้งเตือนในพื้นที่และเมนูแจ้งเตือนล่าสุด โดยเมนูแจ้งเตือนล่าสุดจะสามารถเลือกค้นหาข่าวตามช่วงวันเวลาต่างๆ ได้ตามต้องการ ทั้งนี้สามารถเปลี่ยนภาษาที่แสดงบนแอปพลิเคชันได้ที่หน้านี้         สัญลักษณ์แผนที่จะแสดงภาพแผนที่ประเทศไทย โดยจะขึ้นแสดงเป็นแถบสีในพื้นที่จังหวัดนั้นว่ามีพื้นที่ไหนเสี่ยงต่อการเกิดสาธารณภัยบ้าง ผู้ใช้งานสามารถกดเลือกจังหวัดบนแผนที่ เพื่อดูการแจ้งเตือนเฉพาะจังหวัดได้ สัญลักษณ์ที่ตั้ง (Location) เป็นหมวดสำหรับปรับเปลี่ยนจังหวัดที่ต้องการรับแจ้งเตือนภัย สัญลักษณ์โทรศัพท์เป็นหมวดที่รวบรวมเบอร์โทรศัพท์สายด่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การไฟฟ้านครหลวง กองปราบปราม ร่วมด้วยช่วยกัน ศูนย์ กทม. ศูนย์ควบคุมจราจร แจ้งเหตุเพลิงไหม้ แพทย์ฉุกเฉิน เป็นต้น และสัญลักษณ์รูปคนจะเป็นหน้าสำหรับแก้ไขข้อมูลส่วนตัว         แอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยทำหน้าที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทำให้สามารถเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวได้อย่างใกล้ชิด ดังนั้นขอแนะนำว่าประชาชนที่สนใจโดยเฉพาะประชาชนที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert มาติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมในการรับมือไม่ให้ทรัพย์สินเสียหายได้ทันเวลา

อ่านเพิ่มเติม >