ฉบับที่ 145 ชวนมาลงทะเบียน ICT free Wifi

  ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนพยายามเข้าอินเตอร์เน็ตเพื่อติดต่อเรื่องงานผ่านโทรศัพท์มือถือ ปรากฎว่าบริเวณนั้นสัญญาณอินเตอร์เน็ตของเครือข่ายที่ใช้บริการขัดข้อง งานก็เร่ง สัญญาณเน็ตก็ไม่เดิน เปิดไวไฟ (Wifi) ก็เจอแต่เครือข่ายอื่น จะเปลี่ยนสถานที่จากจุดที่อยู่ไปหาร้านอินเตอร์เน็ตในช่วงจราจรติดขัดก็คงเป็นทางเลือกที่ไม่ถูกสักเท่าไร บอกตรงๆ เลยคะ จิตใจร้อนรนจนทำอะไรไม่ถูกเลยทีเดียว   ตอนที่เปิดเช็คสัญญาณไวไฟ (Wifi) ตรวจเจอไวไฟ (Wifi) ชื่อว่า ICT Free Wi-Fi จึงทำให้สนใจสมัครขึ้นมา แม้ว่าจะเคยได้ยินข่าวมาบ้าง ว่าทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไร้สายทั่วประเทศ แต่ไม่เคยคิดจะสนใจ ด้วยเหตุการณ์ที่ต้องทำให้กระวนกระวายใจ จึงเริ่มศึกษาข้อมูลการสมัครอย่างทันถ่วงที   มือถือสมาร์ทโฟนทุกประเภท ให้ใช้ระบบการค้นหาสัญญาณไวไฟ (Wifi) ผ่านมือถือได้เลย เมื่อเจอสัญญาณไวไฟ (Wifi) ชื่อว่า ICT Free Wi-Fi ให้เลือกสัญญาณนั้น หน้าจอจะเปลี่ยนมาให้กรอก Username และ Password  โดยผู้เข้าใช้งานครั้งแรกจะต้องสมัครเพื่อขอรับ Username และ Password เสียก่อน โดยกดที่ลงทะเบียน จากนั้นระบบจะให้กรอกข้อมูลส่วนตัว พร้อมหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ระบบจะแจ้ง Username และ Password ให้อีกครั้ง เพื่อกรอก Username และ Password เพื่อเชื่อมต่อกับสัญญาณ ICT Free Wi-Fi   ส่วน Username และ Password ที่ได้สมัครไว้นั้น เมื่อใกล้หมดอายุก่อน 15 วัน ก็สามารถต่ออายุการใช้งานได้อีกครั้ง  ICT Free Wi-Fi นี้ ผู้ใช้สามารถใช้งานได้ครั้งละไม่เกิน 30 นาที และใน 1 วันจะใช้ได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง   การให้บริการของ ICT Free Wi-Fi เพื่อต้องการให้ประชาชนเข้าถึงการให้บริการอินเตอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงฟรี  ซึ่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตั้งเป้าไว้ที่จำนวน 50,000 จุดทั่วประเทศ โดยเน้นไปตามสถานที่ราชการ อย่างเช่น  ศาลาว่ากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ตำบล โรงเรียน โรงพยาบาล อนามัย สถานีตำรวจ และตามสถานีขนส่ง สนามบิน สวนสาธารณะ และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เป็นต้น   สำหรับบนคอมพิวเตอร์สามารถใช้สัญญาณไวไฟ (Wifi) ได้เช่นกัน โดยแบ่งวิธีการสมัครลงทะเบียนตามจังหวัด ดังนี้  http://vip.totwifi.com/ict-ชื่อจังหวัดที่ท่านอยู่  เช่น • กระบี่ http://vip.totwifi.com/ict-krabi • กาญจนบุรี http://vip.totwifi.com/ict-kanchanaburi • ชลบุรี http://vip.totwifi.com/ict-chonburi • เชียงใหม่ http://vip.totwifi.com/ict-chiangmai • นครราชสีมา http://vip.totwifi.com/ict-nakhonratchasima • นครศรีธรรมราช http://vip.totwifi.com/ict-nakhonsithammarat   ผู้ใช้บริการในส่วนของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะสามารถสมัครลงทะเบียนได้ ดังนี้ • กรุงเทพมหานครและปริมณฑล http://vip.totwifi.com/ict-metro1 • กรุงเทพมหานครและปริมณฑล http://vip.totwifi.com/ict-metro2 • กรุงเทพมหานครและปริมณฑล http://vip.totwifi.com/ict-metro3 • กรุงเทพมหานครและปริมณฑล http://vip.totwifi.com/ict-metro4   เพื่อประโยชน์ของประชาชนในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง ลองสมัครเพื่อใช้สิทธิ์และช่วยตรวจสอบการเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงฟรีดูกันค่ะ  ว่ามีประสิทธิภาพและน่าพึงพอใจแค่ไหน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 Skyscanner บินลัดฟ้าข้ามหาราคาที่พึงพอใจ

  ฉบับนี้มาบินลัดฟ้าท่องเที่ยวกันทั่วโลกดีกว่าค่ะ ใครที่ชอบเดินทางไปโน่นมานี่ โดยใช้บริการเครื่องบินโดยสารสายการบินต่างๆ ไม่ว่าจะเดินทางไปท่องเที่ยว ทำกิจกรรมของบริษัท ติดต่อธุรกิจ แม้กระทั่งเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ไม่มากก็น้อยที่เคยใช้บริการซื้อตั๋วเครื่องบินของสายการบินต่างๆ ในรูปแบบออนไลน์  เพราะสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบาย อีกทั้งยังสามารถเปรียบเทียบราคา และเลือกเวลาการเดินทางได้ด้วยตนเอง   ด้วยเหตุผลมากมายหลายประการที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียนจึงอยากให้ผู้อ่านที่ชอบใช้บริการบนเว็บไซต์ ลองเปลี่ยนมาใช้แอพพลิเคชั่น Skyscanner บนโซเชียลมีเดียกันดูบ้าง เพียงแค่โหลดแอพพลิเคชั่นลงบนมือถือ ที่รองรับได้หลากหลายประเภท ได้แก่ ไอโฟน(iphone) ไอแพด(ipad)  แอนดรอยด์ (Android)  แบล็คเบอร์รี่ (Blackberry) นอกจากนี้ยังมีเวอร์ชั่นสำหรับวินโดวส์ (Windows 8) ที่ผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดมาไว้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ได้เลย หรือถ้าไม่ถนัดแอพพลิเคชั่น ก็สามารถเข้าไปใช้บริการได้ที่ http://th.skyscanner.com  ในเวอร์ชั่นภาษาไทย   แอพพลิเคชั่นนี้ มีประโยชน์ในการใช้ค้นหาและเปรียบเทียบตั๋วเครื่องบินจากสายการบินทั่วโลก ที่มีมากกว่า 1,000 สายการบิน  รองรับภาษาต่างๆ ได้ถึง 28 ภาษา และสามารถเปลี่ยนสกุลเงินได้กว่า 61 สกุลเงิน ซึ่งช่วยให้นักเดินทางสะดวกและรวดเร็ว โดยสามารถระบุวันที่ที่ต้องการเดินทาง ประเภทที่นั่ง เมืองหรือประเทศที่ต้องการเดินทางไป   โปรแกรมจะช่วยประมวลผลราคาและช่วงเวลาในการเดินทางของสายการบินต่างๆ จากนั้นราคาทั้งหมดที่ใช้ในการเดินทางก็จะถูกสรุปออกมาพร้อมกับสายการบินต่างๆ  เพื่อให้เลือกได้ตามความพึงพอใจ เมื่อได้สายการบิน ราคา ช่วงเวลาเดินทางที่ต้องการทั้งหมดแล้ว แอพพลิเคชั่น Skyscanner จะส่งต่อหน้าเว็บไปยังเว็บไซต์ของสายการบินนั้นๆ หรือเว็บไซต์ตัวแทนจำหน่าย เพื่อให้ผู้ใช้บริการติดต่อซื้อตั๋วเครื่องบินได้โดยตรง ตามราคาที่แจ้งมานั้น โดยที่ไม่ต้องเสียค่าบริการผ่าน Skyscanner แต่อย่างใด หรือถ้ายังไม่แน่ใจ คลิกที่ปุ่ม Call โทรหาสายการบินนั้นได้ทันที   แต่ถ้าผู้อ่านยังไม่รู้จุดหมายปลายทางที่แน่ชัด ก็สามารถค้นหาเมืองในประเทศต่างๆ ว่ามีที่ใดบ้าง ในราคาตั๋วเครื่องบินเท่าไร ได้ที่ปุ่ม Explore  และทำขั้นตอนเพื่อใช้บริการตามเดิม หลังจากเลือกตั๋วเครื่องบินที่ต้องการได้แล้ว แอพพลิเคชั่น Skyscanner จะเก็บข้อมูลการค้นหาไว้ เพื่อสะดวกในการเรียกใช้ในครั้งต่อไป นอกจากค้นหาตั๋วเครื่องบินแล้ว แอพพลิเคชั่นนี้ยังช่วยค้นหาโรงแรม รีสอร์ท บังกะโล ที่พักต่างๆ รถเช่า ได้อีกด้วย และถ้าต้องการแบ่งปันรายละเอียดเที่ยวบินที่น่าสนใจให้กับเพื่อน ขวามือด้านบน จะมีปุ่มเพื่อแบ่งปันข้อมูลไปยัง E-Mail  Facebook หรือ Twitter ได้เลย   Skyscanner ใช้งานฟรีค่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 ใช้ประโยชน์จาก Google Maps

  สวัสดีปีใหม่ปีมะเส็งนะคะ ผู้อ่านทุกท่าน เทศกาลปีใหม่ผ่านพ้นไป หลายคนคงได้หยุดพักผ่อนกันอย่างเต็มที่ (แม้ว่าวันหยุดจะน้อยไปนิ๊ด 555) บางคนได้เดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ บางคนก็กลับบ้าน พอเทศกาลปีใหม่ผ่านไป มนุษย์เงินเดือนอย่างเราก็ต้องกลับเข้าประจำโต๊ะทำงานกันต่อไป กลับมาใช้ชีวิตผจญปัญหาจราจรติดขัดในเมืองกรุงเหมือนเดิม   ปัญหาการจราจรบนท้องถนนในกรุงเทพมหานครติดขัดตลอด ไม่มีใครสามารถแก้ปัญหานี้ไปได้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนนานนับเป็นชั่วโมง จะหลีกเลี่ยงเส้นทางก็ไม่แน่ใจว่าจะติดเหมือนกันหรือไม่ จึงได้แต่ร้องเพลงรอกันต่อไป  ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงลองหาแอพพลิเคชั่นที่มีประสิทธิภาพมาช่วยปัญหาที่เกิดขึ้น (อย่างน้อยก็ช่วยอะไรได้บ้างนะคะ)   แอพพลิเคชั่น Google Maps เป็นบริการแสดงแผนที่ประเทศไทย (รวมถึงทั่วโลก) บอกถึงสภาพการจราจรบนท้องถนน ตำแหน่งที่ยืนอยู่ไปจนถึงค้นหาตำแหน่งจุดหมายที่ต้องการเดินทางไปถึง ระบบขนส่งมวลชน อย่างเช่น สถานีรถไฟฟ้า BTS สายรถเมล์ที่สามารถทำให้จุดหมายปลายทางนั้นได้ โดยแอพพลิเคชั่นจะบอกระยะทางการเดินทาง รวมถึงเวลาที่จะใช้ในการเดินทาง   เมื่อเปิดแอพพลิเคชั่นขึ้นมา Google Maps จะบอกตำแหน่งที่เรายื่นอยู่ปรากฏบน Google Maps จากนั้นให้กรอกสถานที่จุดหมายที่ต้องการเดินทาง โดยจะมีเมนูที่แสดงผลสถานที่ใกล้เคียงบริเวณที่ค้นหา ให้คุณเลือกเพิ่มเติมอีกด้วย ในกรณีที่การแสดงผลไม่ตรงกับสถานที่ที่คุณต้องการ  เมื่อเจอสถานที่นั้นแล้ว คุณสามารถเปลี่ยนมุมมองเป็นแผนที่ 3 มิติหมุน 360 องศา หรืออาจจะเป็นในรูปแบบภาพถ่ายดาวเทียม นอกจากนี้ยังสามารถดูภาพท้องถนน หรือเรียกว่า Google Street View ในช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน   บน Google Maps ที่แสดงผลอยู่นั้น คุณสามารถดูสภาพการจราจรไปด้วยในตัว ว่าเส้นทางใดสภาพการจราจรติดขัดควรหลีกเลี่ยง เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกเส้นทางการเดินทางที่ไม่ติดตัดและที่ดีที่สุด และแอพพลิเคชั่นยังคำนวณเวลาในการเดินทางให้ ไม่ว่าจะเป็นรถส่วนตัว หรือขึ้นรถเมล์ โดยจะบอกสายรถเมล์ที่ผ่านบริเวณจุดหมายให้อีกด้วย Google Maps สามารถติดตั้งในรูปแบบแอพพลิเคชั่น โดยผู้ที่ใช้ระบบ  iOS สามารถไปดาวน์โหลดได้ที่ App Store สำหรับผู้ใช้ระบบ Android  สามารถไปดาวน์โหลดได้ที่ Android Market เมื่อดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Google Maps มาใช้งานแล้วมีปัญหา Google Maps ไม่ระบุตำแหน่ง ให้ไปเช็คที่  Settings > Privacy > Location Services   ลองดาวน์โหลดและดึงประโยชน์ของ แอพพลิเคชั่น Google Maps มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน อาจจะช่วยแก้ความหงุดหงิดใจในระหว่างที่อยู่บนท้องถนนได้สักเล็กน้อย ^_^

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 YellowPages Live ติดตามตัว

ผู้อ่านจำหนังสือเล่มหนาๆ ปกเหลืองๆ ที่ถูกแจกจ่ายไว้ตามบ้านทุกหลังคาเรือนได้ไหมค่ะ คุณสมบัติของเล่มนี้จะช่วยค้นหาเบอร์ติดต่อร้านค้า สำนักงาน โรงพยาบาล สถานีตำรวจ หรือแม้แต่เบอร์โทรศัพท์บ้านของเราก็มีระบุไว้ สมุดเล่มนี้มีชื่อว่า “สมุดหน้าเหลือง” หรือเรียกว่า เยลโล่เพจเจส (YellowPages) เป็นชื่อที่ผู้เขียนและผู้อ่านรู้จักเป็นอย่างดี  ซึ่งเป็นหนังสือขนาดเล่มหนา มีปกสีเหลือง โดยได้รวบรวมรายชื่อธุรกิจ สินค้า และบริการ มาเรียบเรียงไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อแจกจ่ายไปตามบ้านเรือน บริษัท ห้างร้าน และแหล่งธุรกิจ  ภายหลังสมุดหน้าเหลืองได้ถูกพัฒนาเป็นรูปแบบออนไลน์ บน  http://www.yellowpages.co.th แต่ด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีบนสมาร์ทโฟนในโลกปัจจุบัน  สมุดหน้าเหลือง จึงถูกพัฒนามาเป็น YellowPages Live Application และสามารถรองรับทุกระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็น iOS (iPhone หรือ iPad), Android OS, BlackBerry OS, Windows Phone, Windows Mobile และ สมาร์ทโฟน หรือฟีเจอร์โฟน ที่รองรับ J2ME  จะสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้จาก http://www.typlive.com/mobile  มาติดตั้งใช้งานได้ทันที แอพพลิเคชั่น YellowPages Live มีอยู่ 5 ส่วน คือ ส่วนแรก Highlight เป็นส่วนที่อัพเดทข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจ ส่วนที่สอง Search จะเป็นส่วนค้นหาหมายเลขสำคัญ เบอร์ฉุกเฉิน คำค้นยอดนิยม ส่วนลดร้านอาหาร และโปรโมชั่นต่างๆ โดยสามารถคลิกรับโปรโมชั่นที่ต้องการได้ทันที ส่วนที่สาม Map สามารถค้นข้อมูลและให้แสดงผลในรูปแบบแผนที่ได้ เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการทราบเส้นทางการเดินทาง ส่วนที่สี่ Content อัพเดทราคาน้ำมัน ราคาทอง อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน เลขหมายน่าสนใจ 4 หลัก รวมถึงสลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนที่ห้า Member เป็นส่วนของการ log in สำหรับสมาชิก ผู้อ่านสามารถสมัครเป็นสมาชิกกับแอพพลิเคชั่น YellowPages Live ได้ทันที ผู้อ่านลองดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้มาใช้กันนะคะ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายสำหรับการค้นหาเบอร์ติดต่อในกรณีเหตุสุดวิสัยและสามารถพกพาไปได้ทุกสถานที่ แถมแอพพลิเคชั่น YellowPages Live ยังสามารถรองรับได้ทุกระบบปฏิบัติการได้ขนาดนี้ มีแอพฯ นี้ไว้ในมือถือก็ดีไม่น้อยนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 Viber…สื่อสารทั่วทุกมุมโลก

พื้นที่บนโลกอินเตอร์เน็ตกว้างขวางมากในปัจจุบัน หลายคนได้เปรียบเปรยไว้ว่า อินเตอร์เน็ตช่วยย่อโลกให้แคบขึ้น  ไม่ว่าลูกหลาน ญาติพี่น้อง จะเดินทางไปพำนักอยู่คนละซีกโลก เพียงแค่สื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต อย่าง E-Mail  Facebook  Twitter ก็ช่วยทำให้ระยะทางที่ไกลแสนไกล หายไปในพริบตา แม้ว่า E-Mail  Facebook จะสามารถสื่อสารกันข้ามโลกโดยไม่มีขีดจำกัด แต่ก็มีอุปสรรคในเรื่องการใช้ก็คือ ผู้ส่งและผู้รับสาร จะติดต่อผ่านเพียงตัวอักษรเท่านั้น โดยต้องรอการตอบกลับจากอีกฝ่าย ส่วน Twitter สามารถพูดคุยกับเห็นภาพได้ทันที แต่ต้องผ่านการ log in เสียก่อน ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนขอยกแอพพลิเคชั่นที่สามารถพกติดตัวไปไหนมาไหนได้ทุกสถานที่ อย่างแอพพลิเคชั่น Viber ที่จะช่วยให้การติดต่อข้ามช่องว่างเวลาได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องผ่านการ log in ใดๆ   Viber เป็นแอพพลิเคชั่นในหมวดของผู้ให้บริการ VOIP (Voice Over IP) ที่สามารถดาวน์โหลดได้จาก App Store และขยายการใช้งานไปยัง Android Market  ซึ่งปัจจุบันสามารถใช้ Viber ใน Blackberry และ Nokia อีกด้วย โดยดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้ได้ที่ http://www.viber.com ความสามารถที่แอพพลิเคชั่น Viber  ให้กับผู้ใช้คือ คุณสามารถโทรผ่านแอพพลิเคชั่น Viber หาเบอร์ปลายทางที่มีแอพพลิเคชั่น Viber เช่นกัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งรูปแบบการโทรจะเหมือนกับโหมดการโทรของโทรศัพท์มือถือที่เรามีอยู่ รวมถึงการส่งข้อความ ที่มีลักษณะคล้ายกับ Line หรือ Whatsapp เพียงแต่สีของแอพพลิเคชั่นนี้จะเป็นสีม่วง ถ้าผู้อ่านอยากทราบว่าเบอร์ปลายทางที่จะโทรหานั้นมีแอพพลิเคชั่น Viber หรือไม่ แค่เข้าแอพฯ และไปที่ contacts เท่านี้ก็จะทราบได้ทันทีว่าใครบ้างที่จะสามารถติดต่อผ่านแอพพลิเคชั่นนี้ได้ โดยด้านหลังของรายชื่อจะคำว่า Viber ต่อท้ายไว้ด้วย ใครที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ หรือเดินทางท่องเที่ยวไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  Viber ก็ถือเป็นแอพพลิเคชั่นที่น่าสนใจ ที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการติดต่อสื่อสารได้บ้าง เพียงแต่อย่าลืมว่าแอพพลิเคชั่นนี้ต้องใช้ผ่านอินเตอร์เน็ตเท่านั้น อิอิ **แนะนำว่า ให้โทรบริการที่มีบริการให้ใช้ไวไฟฟรี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 ใกล้ชิดผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กับแอพฯ Thai Police Phonebook

“เหตุด่วน เหตุร้าย แจ้งศูนย์รับบริการแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191” ประโยคเด็ดที่ใครหลายคนจำได้ขึ้นใจ เวลามีเหตุการณ์คับขัน ดูไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน หมายเลข 191 ต้องผุดอยู่ในความคิดเป็นอันดับแรก  เพราะน้อยคนนักที่จะทราบเบอร์สถานีตำรวจในพื้นที่นั้นๆ เพื่อที่จะโทรแจ้งเหตุการณ์ต่างๆ ในเวลาอันสั้นและทันท่วงทีได้ วันนี้ผู้เขียนจึงขอแนะนำแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กันสักหน่อย แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า “Thai Police Phonebook” ผลิตขึ้นโดย กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นแอพฯ ที่เก็บข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ติดต่อข้าราชการตำรวจ ตั้งแต่ระดับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จนถึง สารวัตร จากทุกกองบัญชาการทั่วประเทศ   ขั้นตอนแรกผู้อ่านต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “Thai Police Phonebook” โดยคลิกที่ App Store หรือ Android Market บนโทรศัพท์มือถือ หรือคลิกโหลดได้ที่ play.google.com สำหรับระบบแอนดรอยด์ หรือคลิกโหลดที่  http://itunes.apple.com/th/app/thai-police-phonebook/id544328261?mt=8  สำหรับระบบ iOS  แบบไม่ต้องเสียค้าใช้จ่ายใดๆ ภายในแอพพลิเคชั่น จะมี 2 เมนู คือ เมนูสมุดโทรศัพท์ตำรวจ (Police Phonebook) ซึ่งจะมีข้อมูลรายละเอียดของข้าราชการตำรวจแต่ละท่าน ทั้งตำแหน่ง สังกัด เบอร์โทรศัพท์สำนักงาน เบอร์โทรศัพท์มือถือ เพียงพิมพ์ชื่อหรือนามสกุลบุคคลที่ต้องการในช่องค้นหา หรือถ้าต้องการค้นหาแบบละเอียดก็สามารถคลิกแถบด้านบนขวามือ เท่านี้ก็จะทราบรายละเอียดของข้าราชการตำรวจคนนั้น อีกเมนู คือ เมนูเกี่ยวกับกองสารนิเทศ (About us) เป็นเมนูบอกสถานที่ตั้งของกองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบอร์ติดต่อ เมล พร้อมเมนูลิ้งไปยังเว็บไซต์ facebook  twitter และ Google Map เพื่อแสดงแผนที่ที่ตั้งของหน่วยงาน แม้ว่าเหตุการณ์คับขันไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่อย่างน้อยการมีเบอร์โทรหรือเบอร์สำนักงานตำรวจของพื้นที่ที่อยู่อาศัย และบริเวณสถานที่ทำงาน ก็ถือว่าช่วยเพิ่มความอุ่นใจขึ้นมาระดับหนึ่ง อ้อ เอาไว้ตรวจสอบพวกชอบแต่งตัวเป็นตำรวจมาหลอกชาวบ้านได้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 Price Grab เปรียบเทียบความคุ้มค่าสินค้า ใน App Box

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้เขียนตั้งใจไปช้อปปิ้งสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันด้วยความเพลิดเพลิน แต่พอดูราคากับปริมาณสุทธิของสินค้าทำให้ความเพลิดเพลินนั้นหายไปเลยทีเดียว ผู้อ่านสังเกตไหมคะ ว่าสินค้าชนิดเดียวกัน แต่มีขนาดแตกต่างกัน โดยที่ราคาก็ไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก หรือบางทีดูภายนอกสินค้ากล่องใหญ่น่าจะคุ้ม แต่พอคำนวณจริงๆแล้วกล่องเล็กคุ้มกว่า ด้วยจิตวิญญาณของผู้บริโภคแบบฉลาดซื้อจึงรู้สึกเพลียกับการคำนวณของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงค้นพบแอพพลิเคชั่นที่ช่วยคำนวณปริมาณสุทธิของสินค้ากับราคา ของสินค้า 2 ประเภท เพียงแค่กรอกตัวเลข แอพพลิเคชั่นนี้จะคำนวณความคุ้มค่าของสินค้ามาให้อย่างรวดเร็ว แค่นี้ผู้เขียนก็ยิ้มออก ^_^ แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า App Box ซึ่งภายในแอพฯ นี้ จะมีแอพฯ ย่อยอีกมากมาย ผู้อ่านสังเกตไอคอนที่เขียนว่า Price Grab ที่จะช่วยผู้อ่านเปรียบเทียบราคาสินค้าระหว่างสินค้า 2 ชนิด โดยหน้าจอจะแบ่งเป็น 2 ส่วนซ้ายขวา คือ สินค้า A และสินค้า B ซึ่งในสินค้าแต่ละชนิด ผู้อ่านต้องกรอกราคาและปริมาณสุทธิของสินค้า หลังจากกรอกรายละเอียดครบถ้วนแล้ว โปรแกรมจะคำนวณความคุ้มค่าของสินค้าระหว่าง 2 ชนิด ถ้าสินค้า B มีความคุ้มค่ามากกว่าสินค้า A จะปรากฏภาพดังนี้  A < B นอกจาก Price Grab ใน App Box แล้ว ยังมี Currency โปรแกรมคำนวณเรื่องสกุลเงินของแต่ละประเทศ Date Calc โปรแกรมคำนวณระยะเวลา  Day Until เป็นสมุดบันทึกรายการนัดหมายที่สามารถใส่รูปได้  Holidays รายละเอียดของรายการวันหยุดประจำปีของแต่ละประเทศที่รวบรวมไว้ Loan โปรแกรมสำหรับคำนวณดอกเบี้ย สำหรับเงินกู้ยืมหรือผ่อนทั้งหลาย  pCalendar โปรแกรมคำนวณสำหรับสาวๆ (คำนวณการมีประจำเดือน) Tip Calc โปรแกรมคำนวณการจ่ายทิป ภาษี คำนวณได้ทั้งสินเครื่องอุปโภคบริโภค Unit โปรแกรมแปลหน่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยของพื้นที่ ความยาว ความดัน อุณหภูมิ ปริมาตร น้ำหนัก เช่น กิโลเมตรเป็นเซนติเมตร ลองหาแอพพลิเคชั่น App Box มาเล่นกันดูนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 ข่าวสารผู้บริโภคบนทวิตเตอร์ (Twitter)

ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบติดตามข่าวสารบ้านเมืองผ่านโซเชียลมีเดียหลากหลายรูปแบบ ตื่นเช้ามาสิ่งแรกที่คุณเปิดรับคือการคลิกลงบนจอโทรศัพท์มือถือ แท็ปเล็ต หรืออุปกรณ์ไอทีชนิดอื่นๆ เพื่ออ่านข้อความของใครต่อใครว่ามุมโลกแต่ละมุมเป็นอย่างไรบ้าง ก็คงไม่แปลกอะไรที่คุณจะรู้จัก Twitter แต่เนื่องจากบางท่านอาจไม่รู้จัก twitter จึงขออธิบายความหมายกันสักหน่อย Twitter (ทวิตเตอร์) เป็นบริการเครือข่ายสังคมออนไลน์จำพวกไมโครบล็อก โดยผู้ใช้สามารถส่งข้อความยาวไม่เกิน 140 ตัวอักษร ซึ่งเป็นข้อความสั้นๆ ข้อความอัปเดตที่ส่งเข้าไปยังทวิตเตอร์จะแสดงอยู่บนเว็บเพจของผู้ใช้คนนั้นบนเว็บไซต์ ทวิตเตอร์ถูกสร้างขึ้นโดย Jack Dorsey หรือผู้อ่านสามารถตามทวิตได้ที่ @jack   สำหรับผู้อ่านที่ใส่ใจเรื่องเกี่ยวกับผู้บริโภค ที่ชอบติดตามข่าวสารสิทธิผู้บริโภค ความเป็นไปในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งชื่นชอบการใช้อินเตอร์เน็ตในการท่องโลกออนไลน์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงขอแนะนำทวิตเตอร์ในแวดวงผู้บริโภคที่ต้องการทราบด้านโทรคมนาคมให้ทุกคน following ตามข่าวสารอย่างทันถ่วงที ในส่วนบุคคล คนแรกขอแนะนำ “สุภิญญา กลางณรงค์” หรือทวิตเตอร์ “@supinya” ผู้หญิงคนเดียวจากจำนวน 11 คน ในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยจะอัพเดททุกความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. ซึ่งจะดูแลทางด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในส่วนของวิทยุและโทรทัศน์ คนที่สอง พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ “@DrNateeDigital” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  และคุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ “@TakornNBTC” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ส่วนหน่วยงานที่น่าสนใจแนะนำเป็น “@NBTCrights” และ “@Teleconsumer” สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เป็นอีกช่องทางสื่อสารกับผู้บริโภค ทั้งปัญหา เรื่องราวอัพเดต ของนโยบายด้านกิจการวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม  อีกหนึ่งช่องทาง ลองตามข่าวสารทาง twiiter กันดูนะคะ รวดเร็วทันใจจริงๆ **มือถือทุกรุ่นสามารถโหลดแอพพลิเคชั่น twitter ได้ฟรีค๊า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 DoctorMe คู่มือดูแลสุขภาพฉบับกระเป๋า

“อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยระวังสุขภาพให้ดีนะคะ” เป็นประโยคฮิตเหมาะสำหรับคนไทยเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงแต่อากาศเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ปัจจุบันเหตุการณ์ต่างๆ ก็ทำให้เป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บได้เช่นกัน อย่างโรคที่มากับน้ำในวิกฤติน้ำท่วม โรคที่มากับอาหารในวิกฤติโรคระบาด เป็นต้น ซึ่งทุกโรคที่เกิดขึ้น ถ้าเรารู้จักเข้าใจถึงสาเหตุการเกิดของโรคเหล่านั้นแล้ว จะทำให้การแก้ไขและการป้องกันโรคเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ง่ายและเข้าใจในการรักษาถึงสาเหตุที่แท้จริงมากขึ้น การปฐมพยาบาลในเบื้องต้นเมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นอย่างกะทันหันจึงถือว่าสำคัญ ซึ่งผู้อ่านสามารถเข้าไปศึกษาวิธีการปฏิบัติต่างๆ ได้ในเว็บไซต์หมอชาวบ้านที่ www.doctor.or.th ได้ทุกเวลา แต่ถ้าผู้อ่านไม่สะดวกที่จะใช้คอมพิวเตอร์ในเวลาเร่งด่วน  แอพพลิเคชั่น  DoctorMe ถือว่าเป็นแอพพลิเคชั่นที่น่าสนใจมากทีเดียว   แอพพลิเคชั่น  DoctorMe เป็นแอพพลิเคชั่นที่ย่อคู่มือการดูแลสุขภาพด้วยตนเองลงมาไว้บนมือถือแบบฉบับพกพา ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นช่วยบอกวิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้น กว่า 200 รายการ โดยมีคำแนะนำเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล  อาการเจ็บป่วย และโรคต่างๆ รวมถึงการใช้ยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรอีกด้วย ภายในแอพพลิเคชั่นจะแบ่งอาการบริเวณที่คุณเจ็บป่วย หรือสามารถป้อนคำเพื่อค้นหาโรคที่เกิดขึ้นได้เลย เมื่อค้นหาเจอแล้ว แอพพลิเคชั่นจะบอกถึงอาการ สาเหตุ การรักษา การดูแลตนเอง และคำอธิบายที่เกี่ยวข้องของโรคดังกล่าวไว้  แต่ถ้าอาการเจ็บป่วยเกินเยียวยา แอพพลิเคชั่นนี้ยังมีปุ่มสำหรับคลิกเพื่อโทรไปยังสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉินหมายเลข 1669 ในกรณีเร่งด่วนได้อีกด้วย ล่าสุดแอพพลิเคชั่นนี้ได้ออก Version 1.6 ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง สถาบัน ChangeFusion สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิหมอชาวบ้าน และ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด โดยเพิ่มเติมข้อมูลพิกัดและหมายเลขโทรศัพท์ของโรงพยาบาลทั่วประเทศ  และสามารถดูโรงพยาบาลใกล้เคียงจากจุดที่ค้นหา พร้อมคำนวณระยะทาง เปิดดูแผนที่ และเดินทางตามเส้นทางที่แผนที่ได้ลากเส้นไว้ให้ รวมถึงมีที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาล เพื่อสะดวกในการติดต่อกับโรงพยาบาลได้ทันที ปัจจุบันแอพพลิเคชั่น DoctorMe สามารถรองรับได้ทั้งผู้ใช้ iOS และ Android ซึ่งสามารถดาวน์โหลด ได้ที่ www.doctorme.in.th แอพพลิเคชั่น DoctorMe ถือว่ามีประโยชน์อย่างมาก แม้ว่าในชีวิตประจำวันบางท่านอาจจะไม่ต้องใช้ในกรณีฉุกเฉิน แต่ถ้าได้ลองศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจกับอาการเจ็บป่วยต่างๆ สาเหตุของการเกิดโรค ขั้นตอนการรักษา รวมถึงขั้นตอนการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีแล้ว ถือได้ว่าแอพพลิเคชั่นนี้เป็นหมอชาวบ้านที่ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ลองดาวน์โหลดมาศึกษากันดูนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 Taxi Reporter รายงานพฤติกรรมที่ไม่พึงพอใจ

หลังจากที่แนะนำให้ผู้อ่านตรวจจับความเร็วกับแอพพลิเคชั่น Traffy bSafe เพื่อร้องเรียนความไม่พึงพอใจกับการบริการของรถบริการสาธารณะและพนักงานขับรถบริการสาธารณะบนท้องถนนไปฉบับก่อนหน้านี้ ฉบับนี้ผู้เขียนจึงขอแนะนำแอพพลิเคชั่นสำหรับร้องเรียนรถบริการสาธารณะประเภทแท็กซี่กันบ้าง พอพูดถึงรถแท็กซี่ ผู้อ่านหลายคนคงส่ายหน้ากับการเลือกรับผู้โดยสาร โดยมีเหตุผลรองรับต่างๆ นานา อย่างเช่น “ไปส่งรถไม่ทัน” “จะไปเติมแก๊ส” “แถวนั้นรถติด” เป็นต้น แค่นี้ก็ทำให้เอือมระอากับการเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ไปแล้ว ส่วนผู้โดยสารที่โชคดีได้รถแท็กซี่ตกลงไปส่งจุดหมายปลายทางที่ต้องการ แต่ก็อาจเจอกับความโมโห ฉุนเฉียว พูดจาไม่สุภาพของคนขับรถแท็กซี่ เสมือนไม่พอใจที่จะไปจุดหมายปลายทางนั้น หรือไม่ก็ขับขี่ด้วยความไม่ระมัดระวัง จนทำให้รู้สึกเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดอะไรของผู้โดยสารเลย แอพพลิเคชั่น Taxi Reporter ถูกพัฒนาขึ้นโดย บริษัท Siam Squared Technologies เป็นแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้การร้องเรียนถึงพฤติกรรมของคนขับรถแท็กซี่ที่ผู้โดยสารไม่พึงพอใจและเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับการใช้บริการ ซึ่งข้อมูลที่ร้องเรียนจะถูกส่งไปยังบริษัทเพื่อรวบรวมและส่งข้อมูลต่อไปยังกรมขนส่งทางบกอีกครั้ง   ขั้นตอนในการส่งเรื่องร้องเรียน ขั้นตอนแรกจะให้กรอกหมายเลขทะเบียนรถแท็กซี่เจ้าปัญหา โดยผู้โดยสารจะสังเกตหมายเลขทะเบียนรถได้จากบริเวณประตูด้านหลังทั้งสองข้าง ขั้นตอนที่สองจะให้เลือกเรื่องที่ต้องการร้องเรียน โดยในแอพพลิเคชั่นจะมีให้เลือก ดังนี้ ไม่รับผู้โดยสาร ฝ่าฝืนกฎจราจร มีพฤติกรรมหยาบคาย และโกงค่าโดยสาร ในขั้นตอนนี้ผู้อ่านสามารถเลือกได้หลายตัวเลือก ขั้นตอนที่สาม ผู้อ่านสามารถพิมพ์ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่ต้องการร้องเรียนได้ พร้อมทั้งทางแอพพลิเคชั่นจะปักหมุดบนแผนที่ตรงบริเวณที่ผู้อ่านร้องเรียน เพื่อให้รู้ว่ารถแท็กซี่คันนั้นวิ่งในบริเวณใด เมื่อเติมข้อมูลทุกอย่างเสร็จสิ้น ให้คลิกเมื่อส่งข้อมูล สำหรับผู้อ่านที่เล่นเฟสบุ๊กสามารถโพสต์ข้อความการร้องเรียนได้ทันที โดยในหน้าต่างถัดไป แอพพลิเคชั่นจะสอบถามการแชร์ข้อมูลเรื่องร้องเรียนผ่านเฟสบุ๊ก เพียงคลิกตามขั้นตอน ข้อความเหล่านั้นก็จะไปปรากฏบนเฟสบุ๊กให้ทันที แต่ข้อจำกัดของแอพพลิเคชั่นนี้ก็มีเช่นกัน เพราะยังไม่สามารถรองรับอุปกรณ์ไปทั้งหมด ซึ่งจะรองรับเฉพาะอุปกรณ์ตระกูล iOS เท่านั้น อาทิ iPhone, iPad เป็นต้น โดยดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Taxi Reporter ฟรีได้ที่ http://itunes.apple.com/th/app/taxi-reporter/id501278589?mt=8 เอาเป็นว่าช่วยกันรายงานพฤติกรรมที่เกิดขึ้นผ่านทางแอพพลิเคชั่น Taxi Reporter ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นช่องทางหนึ่งที่อาจช่วยกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มความใส่ใจในเรื่องการบริการ และความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับผู้โดยสารมากขึ้นกว่าเดิม

อ่านเพิ่มเติม >