ฉบับที่ 156 แอพพลิเคชั่น “สิทธิ 30 บาท”

ทุกท่านคงได้ยินคำว่า “สิทธิ 30 บาท” กันจนคุ้นหู ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เป็นสิทธิที่ช่วยให้ประชาชนมีความเสมอภาคกันในเรื่องการรับบริการสาธารณสุข การรักษาพยาบาลในราคา 30 บาท  เพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. จึงได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น “สิทธิ 30 บาท” แอพพลิเคชั่น “สิทธิ 30 บาท”  จะแบ่งเป็น 7 หมวด คือ  หมวดที่หนึ่ง หมวดตรวจสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพ เมื่อคลิกที่หมวดนี้จะถูกลิ้งไปที่หน้าเว็บไซต์ของ www.nhso.go.th จากนั้นให้กรอกหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก  วันเดือนปีเกิด และคลิกตรวจสอบสิทธิ  หน้าจอจะปรากฏข้อมูลต่างๆ ดังนี้ จังหวัดที่ลงทะเบียนรักษา  สิทธิหลักในการรับบริการ  หน่วยบริการปฐมภูมิ และหน่วยบริการประจำ สำหรับผู้ที่จะตรวจสอบสิทธิได้นั้นต้องเป็นผู้ที่ใช้สิทธิ 30 บาท ส่วนผู้ที่ใช้ระบบประกันสังคมจะไม่ปรากฏข้อมูลใดๆ หมวดที่สอง หมวดวิธีใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ 30 บาท จะแจ้งรายละเอียดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พึงจะได้รับ รวมถึงขั้นตอนการขอเปลี่ยนหน่วยบริการ การคุ้มครองที่ครอบคลุมสำหรับสิทธิ 30 บาท หมวดที่สาม หมวด 30 บาทยุคใหม่เพิ่มคุณภาพ จะแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการบริการที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ และยุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าบริการ หมวดที่สี่ถึงหก ได้แก่ หมวดสอบถามข้อมูลสายด่วน สปสช. หมวดร้องเรียนร้องทุกข์ หมวดติดต่อหน่วยงาน สปสช. จะมีข้อมูลการติดต่อ สปสช. เพื่อสอบถามข้อมูล หรือร้องเรียน ร้องทุกข์ โดยแบ่งเป็นเขตในแต่ละจังหวัด เพื่อให้สะดวกในการหาข้อมูล ซึ่งในแอพพลิเคชั่นยังสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ผ่านสายด่วน สปสช. 1330  โดยเพียงคลิกเพื่อกดโทรออกได้ทันที หมวดสุดท้าย เป็นหมวดสื่อประชาสัมพันธ์ จะมีเอกสารและวารสารอิเล็คทรอนิกส์เพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับทาง สปสช. ทั้งนี้แอพพลิเคชั่น “สิทธิ 30 บาท” สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ทั้งในระบบสำหรับมือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ทาง App Store  และสำหรับมือถือระบบปฏิบัติการ iOS  โดยพิมพ์คำว่า “สิทธิ 30 บาท” หรือ “บัตรทอง” หรือ “สปสช.” หรือเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ www.nhso.go.th เมื่อต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล บางครั้งอาจเกิดความไม่มั่นใจว่าอาการที่จะเข้ารับการรักษา รวมอยู่ในสิทธิ 30 บาท หรือไม่ แอพพลิเคชั่นนี้ช่วยให้เข้าใจสิทธิที่พึงจะได้รับได้มากทีเดียว   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 เรียกแท็กซี่ด้วยแอพพลิเคชั่น Easy Taxi

“ไปอนุสาวรีย์ชัยฯ ไหมคะ” ผู้เขียน “ไม่ไปครับ แก๊สไม่พอครับ” คนขับแท็กซี่ ประโยคนี้เป็นที่คุ้นหูกับผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ ผู้เขียนเคยถูกแท็กซี่ปฏิเสธไม่รับเพื่อไปจุดหมายปลายทางที่ที่หนึ่งประมาณ 10 คันได้ ทำให้คลาดเคลื่อนนัดหมายไปเป็นชั่วโมง และหลายครั้งที่ต้องหันมาเลือกขึ้นรถโดยสารสาธารณะแทน  และนอกจากเหตุผลแก๊สไม่พอ ยังมีเหตุผลอีกสารพัดที่จะไม่รับ จนต้องถามในใจว่า แล้วเค้าจะไปที่ไหนกัน ฉบับนี้ขอแนะนำแอพพลิเคชั่น Easy Taxi เป็นแอพพลิเคชั่นช่วยเรียกรถแท็กซี่ โดยที่ไม่ต้องมายืนรอ เพียงแค่กดปุ่ม “เรียกแท็กซี่” และใส่รายละเอียดเท่านั้น แอพพลิเคชั่น Easy Taxi ได้ถูกพัฒนาครั้งแรกเมื่อปี 2011 ที่ประเทศบราซิล และมีมาแล้วกว่า 18 ประเทศทั่วโลก  โดยขณะนี้ในประเทศไทยมีคนขับ 60,000 คน และ ผู้โดยสารกว่า 3,500,000 คน ที่ผ่านมามีเที่ยวโดยสารเกิดขึ้นมากกว่า 3 ล้านเที่ยว ภายในแอพพลิเคชั่น Easy Taxi จะมีรายละเอียดของคนขับแท็กซี่ทั้งหมด ซึ่งจะได้รับการตรวจสอบและมีการลงทะเบียน ผู้ใช้บริการสามารถดูชื่อและรูปภาพของคนขับแท็กซี่ที่จะเดินทางไปรับได้ด้วย เป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการและผู้ขับแท็กซี่ ส่วนทางด้านผู้ใช้บริการก็ต้องลงทะเบียนด้วยเช่นกัน โดยใช้เมล์ ชื่อ และเบอร์โทรศัพท์ เพื่อไว้เป็นข้อมูลให้สำหรับผู้ขับแท็กซี่ และแอพพลิเคชั่นนี้ยังสามารถบันทึกการใช้บริการที่ใช้บ่อย เพื่อเก็บข้อมูลไว้ใช้บริการในครั้งต่อไป ค่าบริการของการเรียกแท็กซี่ด้วยแอพพลิเคชั่น Easy Taxi นั้นอยู่ที่ราคา 20 บาทต่อครั้ง  ซึ่งเหมือนกับการโทรเรียกแท็กซี่หรือการขึ้นแท็กซี่ที่สนามบิน  จะต้องจ่ายเงินค่าบริการเรียก ไปพร้อมกับค่าบริการที่ผู้โดยสารต้องจ่ายตามมิเตอร์ อย่างน้อยแอพพลิเคชั่นนี้ก็ช่วยไม่ให้เสียเวลาในการยืนเรียกแท็กซี่คันแล้วคันเล่า!!   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 3 ฤดูกาลกับ EDT แหล่งเที่ยว กิน ช้อป

อากาศหนาวในช่วงเดือนธันวาคมนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวจำเป็นต้องแสวงหาสถานที่ท่องเที่ยวกันใหญ่ จะเลือกภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคใต้หรือภาคกลาง นั้น อยู่ที่ความต้องการของนักท่องเที่ยวว่าอยากได้บรรยากาศแบบใด แต่พูดได้เลยว่าทุกคนต้องอยากสัมผัสอากาศหนาวแน่นอน ดังนั้นภาคเหนือจึงตกเป็นอันดับหนึ่งที่จะเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวกัน สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในประเทศไทย มีสถานที่ที่น่าสนใจหลายที่ อาจจะเยอะเกินไปด้วยซ้ำ จนไม่สามารถเลือกได้ถูก  www.EDTguide.com  เป็นเว็บไซต์ที่หลายคนรู้จักกันมานาน โดยได้รวบรวมข้อมูลกินดื่มเที่ยวในประเทศไทย พร้อมแผนที่ให้ได้ค้นหาข้อมูลอย่างง่ายดาย นอกจากเว็บไซต์แล้ว ยังมีแอพพลิเคชั่นออกมา 3 แบบ คือ EDT in Winter , EDT in Summer และ EDT in Rainy ให้ผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนสามารถเข้าถึงข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว แหล่งอาหาร ได้อย่างรวดเร็ว แอพพลิเคชั่น EDT in Winter เป็นแอพพลิเคชั่นที่รวบรวมสถานที่ท่องเที่ยวในฤดูหนาวที่น่าสนใจ สถานที่กิน และที่พักบริเวณใกล้เคียง ส่วนแอพพลิเคชั่น EDT in Summer และ EDT in Rainy ก็มีลักษณะเหมือนกัน เพียงแต่แหล่งท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาลของประเทศไทย   ภายในแอพพลิเคชั่นจะมี 4 หมวดให้เลือก ดังนี้ Home จะแสดงภาพและชื่อสถานที่ท่องเที่ยวที่ติดอันดับในช่วงฤดูกาลนั้นๆ โดยสามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดว่ามีความสำคัญอย่างไร พร้อมมีแผนที่แสดงให้ทราบถึงตำแหน่งแหล่งท่องเที่ยว และมีข้อมูลแนะนำถึงสถานที่กิน แนะนำเรื่องดื่ม แนะนำเรื่องเที่ยว และแนะนำเรื่องที่พัก เมื่อคลิกเข้าไปดูรายละเอียดแอพพลิเคชั่นนี้ได้รวบรวมภาพแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ให้ได้ดูอีกด้วย หมวดที่สอง คือ EDT index จะมีข้อมูลเรื่องต่างๆ ไม่ว่าเรื่องกิน ดื่ม เที่ยวและที่พัก โดยทั่วไป ไม่เฉพาะเจาะจงเหมือนกันหน้า Home หมวดที่สาม คือ Favorites เป็นหมวดที่ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นได้ตั้งค่าไว้ว่าสถานที่ใดเป็นสถานที่ที่ชื่นชอบ โดยจะต้องลงทะเบียนกับทาง EDT ในหมวดที่สี่ คือ Setting ซะก่อน  เพื่อ log in เข้าไปดูรายละเอียดต่างๆ ได้ หมวดสุดท้ายเป็นหมวด More App จะเป็นหน้าที่รวบรวมแอพลิเคชั่นต่างๆ ไว้ในหัวข้อที่ทางแอพพลิเคชั่นนี้สร้างไว้ ได้แก่ หัวข้อ Recommend New Release, Travel, Horoscope, Food ลองดูกันนะคะว่า ภาพในแอพพลิเคชั่นนี้น่าจะช่วยทำให้การตัดสินใจเลือกแหล่งท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้นบ้าง คราวนี้ก็เตรียมตัวแพ็คกระเป๋าเดินทางไปพักผ่อนในช่วงสิ้นปีได้เลยค่ะ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 ราคาที่พักตามงบประมาณในกระเป๋า

ช่วงเวลาสิ้นปี คงเป็นเวลาแห่งการรอคอยของใครหลายๆคน ซึ่งผู้เขียนก็รอคอยนับวันเวลาเช่นกัน อย่างแรก เรื่องโบนัส!! ก็เป็นธรรมดาสำหรับมนุษย์เงินเดือนอยู่แล้วค่ะ ที่ต้องคาดหวังไว้บ้าง แต่ฉบับนี้ขอไม่พูดถึงล่ะกันนะคะ เอาเป็นว่าได้หรือไม่ได้โบนัส แต่ขอได้ที่พักราคาถูกๆ สำหรับการวางแผนการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดสิ้นปีดีกว่าค่ะ ถือว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่รัฐบาลได้ประกาศให้วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2556 เป็นวันหยุดพิเศษ เพื่อให้มีวันหยุดติดต่อกัน 5 วัน ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2556 ถึงวันพุธที่ 1 มกราคม 2557 เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวตามเจตนารมณ์ (ตัวเอง) ด้วยเหตุผล หรือข้ออ้างอะไรก็แล้วแต่ ดังนั้นเราต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยเงินเดือนอันน้อยนิดนี่แหละคะ  แต่ขอที่พักที่ดูหรูหราไฮโซในราคาที่พอรับสถานการณ์การรัดเข็มขัดในอนาคตได้ด้วย ขอแบบที่มีส่วนลดสัก 15 – 50 เปอร์เซ็นต์  อิอิ ขอแนะนำแอพพลิเคชั่น 2 ตัว ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ที่จะช่วยให้ค้นหาที่พักในบริเวณที่ต้องการได้ คือ แอพพลิเคชั่น Hotels.com  และแอพพลิเคชั่น Booking.com แอพพลิเคชั่นทั้ง 2 ตัว มีคุณสมบัติในการค้นหาที่พัก โดยระบุบริเวณหรือจังหวัดที่ต้องการ และวันที่ต้องการเข้าพัก จำนวนคืนที่พัก จำนวนห้องที่ต้องการพัก ต่อจากนั้นข้อมูลจะปรากฏ โดยสามารถกำหนดว่าจะให้แสดงผลแบบใด อย่างเช่น ลักษณะโรงแรมกี่ดาว ราคาที่ต้องการ สถานที่ที่เป็นที่นิยม บริเวณที่ต้องการ เป็นต้น   นอกจากนี้ยังมีแผนที่สถานที่พักนั้นๆ ว่าที่พักแต่ละที่อยู่บริเวณใดบ้าง ห่างกันเท่าไร  บางที่พัก อาจจะไม่คุ้นเคย เราสามารถคลิกไปยังเบอร์โทรศัพท์ของที่พักนั้นๆ เพื่อติดต่อสอบถามเส้นทางกับที่พักนั้นโดยตรงได้ทันที และพิเศษสุดๆ กับคนที่ต้องการที่พักแบบเร่งด่วนก็ช่วยได้นะคะ โดยสามารถระบุวันที่ต้องการเข้าพัก แล้วค้นหาสถานที่บริเวณนั้นได้เลย โดยจะปรากฏข้อมูลขึ้นมาเปรียบเทียบราคา ส่วนลด ให้เลือกได้ตามสะดวก และแผนที่ก็จะบอกว่าที่พักแต่ละแห่งห่างจากที่เรายืนอยู่กี่กิโลเมตร เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกที่พัก แอพพลิเคชั่น Hotels.com  และแอพพลิเคชั่น Booking.com ช่วยให้หาที่พักตามงบประมาณที่ต้องการได้ อย่างน้อยก็มีตัวเลือกให้มากพอที่จะตัดสินใจและวางแผนท่องเที่ยวในสิ้นปีนี้ค่ะ ผู้เขียนวางแผนและได้ที่พักสำหรับช่วงหยุดยาว ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2556 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2557 เรียบร้อยแล้วนะคะ  (บอกแล้วว่าตามเจตนารมณ์ตัวเอง)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ข้อความส่วนตัวบน Line กับความมั่งคงของประเทศ?

เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2556 หลายคนที่ชื่นชอบการใช้โซเชียลมีเดีย ต้องตื่นตระหนกกับการออกหมายเรียกผู้โพสต์ข้อความลงบนเฟสบุ๊คของตนเอง ว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์  รวมถึงผู้ที่กด like หรือ กด Share จำนวน 4 รายนั้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงส่งผลให้เกิดกระแสการควบคุมการสื่อสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมตรวจสอบเฝ้าระวังการสื่อสารผ่านโปรแกรมสนทนาไลน์ หรือแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) โดยอ้างว่าอาจกระทบความมั่นคงของชาติ จนทำให้ใครหลายๆ คนในวงการโซเชียลมีเดีย ออกมาถามหาความความเป็นส่วนตัวในการดำรงชีวิต ด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์การตรวจสอบเฝ้าระวังการสื่อสารแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) ของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย จึงกลายเป็นข่าวฮอตฮิตไปทั่วประเทศ แอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) เป็นโปรแกรมที่เป็นตัวกลางช่วยให้สามารถสื่อสารผ่านข้อความ รูปภาพ ระหว่างอุปกรณ์มือถือ และได้พัฒนาโปรแกรมให้สามารถใช้กับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะได้อีกด้วย ทั้งที่ต้องใช้ผ่านอินเตอร์เน็ตด้วย การสื่อสารบนแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) จะเหมือนกับการส่งข้อความส่วนตัวโต้ตอบกันได้ทันทีจากคนหนึ่งไปถึงอีกคนหนึ่ง หรือเป็นหลายคนในเวลาเดียวกันได้   จากสถิติของบริษัทไลน์ คอร์ปอเรชั่น (LINE Corporation) ในงาน press conference เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2556 ปัจจุบันมียอดผู้ใช้งาน Line Messenger ทั่วโลกอยู่ที่ 230 ล้านคน  โดยประเทศไทยติดอันดับเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานมากเป็นอันดับ 2 ถึง 18 ล้านคน รองลงมาจากอันดับ 1 ประเทศญี่ปุ่น มีผู้ใช้งาน 47 ล้านคน ส่วนอันดับที่ 3 จากประเทศไต้หวัน มีผู้ใช้งาน 17 ล้านคน อันดับที่ 4 จากประเทศสเปน มีผู้ใช้งาน 15 ล้านคน และอันดับที่ 5 จากประเทศอินโดนีเซีย มีผู้ใช้งาน 14 ล้านคน สังเกตปริมาณการใช้ แอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) ในประเทศไทย 18 ล้านคน ถือว่าประเทศไทยมีผู้ใช้งานค่อนประเทศ ถ้าต้องการตรวจสอบเฝ้าระวังการสื่อสารบนแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) จริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องใช้จำนวนคนและเวลาในการตรวจสอบนานพอดู เพราะขณะนี้สถิติข้อความที่ใช้ส่งหากันใน Line มีมากกว่า 7 พันล้านข้อความแล้ว  ลองคำนวณกันเองล่ะกันว่าผู้ใช้งานในประเทศไทย จะส่งข้อความหากันไปแล้วกี่ข้อความ...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 GPS ตรวจจับพฤติกรรมผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ

จากที่เคยมีข่าวรถโดยสารขับรถเร็วเกินกำหนด ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมาหลายครั้ง โดยที่ไม่เคยใส่ใจกับเรื่องการพัฒนาถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารที่ต้องโดยสารรถสาธารณะ  จนปัจจุบันได้มีมาตรการการเยียวยาเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากการขับขี่โดยประมาทของคนขับรถโดยสารสาธารณะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นระบบของ บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ได้ติดตั้งระบบที่เรียกว่า GPS ซึ่งย่อมาจาก Global Positioning System หรือ “ระบบกำหนดพิกัดตำแหน่งบนโลก” ระบบนี้จะอาศัยการคำนวณพิกัดจากดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลก โดยจะรับสัญญาณจากดาวเทียมตั้งแต่ 3 ดวงขึ้นไป ทำให้ระบบนี้สามารถชี้บอกตำแหน่งได้ทุกแห่งบนโลก ระบบนี้มีความแม่นยำของข้อมูลด้านทิศทาง เส้นทางการเดินทาง ถนน และสถานที่ต่างๆ แต่มีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน คือ ถ้าอยู่ในบริเวณที่สัญญาณส่งไม่ถึง เช่น อยู่ในตึก ใต้ทางด่วนก็จะไม่สามารถรับสัญญาณดาวเทียมได้ หรือแม้กระทั่งถ้าฟ้าปิด ฟ้าไม่ปลอดโปร่งก็จะไม่สามารถรับสัญญาณดาวเทียมได้เช่นกัน  ผู้ที่ติดตั้งระบบกำหนดพิกัดตำแหน่งบนโลก หรือ GPS  จำเป็นต้องอยู่ตรงถนนสายหลักๆ ต่างๆ   เมื่อระบบสามารถแจ้งพิกัดที่เราอยู่บนพื้นโลกนี้ได้ จึงส่งผลให้การติดตั้งระบบ GPS ที่ทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ได้นำมาใช้ติดตั้งกับรถโดยสารสาธารณะนั้น จะช่วยบอกข้อมูลของรถแต่ละคันแบบ Realtime โดยจะแสดงข้อมูลตำแหน่งของรถ ความเร็วที่ขับ และลักษณะของรถที่มีการขับผิดปกติ ได้แก่ การเบรคกะทันหัน การขับกระชาก การเปลี่ยนเลนกะทันหัน หรือรถที่มีการเอียงเกิน 30 องศาซึ่งเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำได้ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะมาปรากฏขึ้นภายในศูนย์ควบคุมของบริษัท อย่างน้อยด้วยระบบติดตามรถสาธารณะชนิดนี้ ก็ทำให้ผู้โดยสารที่ต้องใช้บริการรถสาธารณะสบายใจกันบ้าง   ประเภทของ GPS แบ่งออกตามประโยชน์การใช้งานได้ 2 แบบคือ ระบบนำทาง (Navigation System) โดยโครงสร้างของอุปกรณ์จะมีชุดรับสัญญาณดาวเทียม GPS ขนาดเล็ก ฝังติดตั้งอยู่ภายในแผ่นเซอร์กิต จากนั้นสัญญาณดาวเทียมจะถูกควบคุมด้วยโปรแกรมนำทางอีกที ระบบติดตาม (Tracking System) ใช้ในการติดตามสิ่งของที่อยู่ติดกับตัวอุปกรณ์ และในชุดอุปกรณ์จะมี ช่องให้ใส่ซิมการ์ด (โทรศัพท์มือถือ) เนื่องจาก GPS Module จะทำหน้าที่รับสัญญาณดาวเทียม แล้วปล่อยออกมาเป็นข้อมูลพิกัด ณ จุดนั้น จากนั้น ก็ต้องอาศัยระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือส่งพิกัดนี้ ออกไปทาง SMS, EDGE , GPRS เป็นต้น เมื่อปลายทางได้รับข้อมูลแล้วก็จะนำเอาพิกัด ไป Plot กับตารางแผนที่ จึงออกมาเป็นตำแหน่งบนแผนที่ที่อุปกรณ์นั้นติดตั้งอยู่ ระบบนี้ โดยมากจะใช้ติดตามยานพาหะนะ ที่กำลังเป็นที่นิยมกันเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน  โดยสามารถนำมาใช้กับการติดตามคน และสัตว์เลี้ยงได้ด้วย **ข้อมูลเพิ่มเติมจาก http://www.it24hrs.com/2011/about-gps/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 Call Recorder หลักฐานฟ้องด้วยเสียง

ช่วงนี้ข่าวการปล่อยคลิปเสียงที่ถูกแอบอัดเป็นที่สนใจสำหรับประชาชนเป็นอย่างมาก ต่างหาต้นตอของคลิปเสียงที่ถูกปล่อยออกมา เพื่อหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะเสียงที่เกิดขึ้นนั้นถือว่าเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญมากทีเดียว และต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าคลิปเสียงนั้นถูกตัดต่อขึ้นหรือไม่ ต้องยอมรับว่าข้อมูลข่าวสารที่ใช้สนทนากัน ทั้งในรูปแบบเผชิญหน้าและทางโทรศัพท์ ล้วนมีความสำคัญและมีประโยชน์ ในการเก็บเป็นข้อมูลความรู้ได้ ดังนั้นในปัจจุบันการพยายามหาวิธีอัดเสียงด้วยสมาร์ทโฟน จึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยคุณสมบัติอาจไม่เท่ากับเครื่องอัดเสียง แต่ก็มีประโยชน์มากไม่น้อย ผู้อ่านที่ใช้ไอโฟน ลองหาแอพพลิเคชั่น call recorder มาลงไว้ในเครื่อง จะช่วยอัดเสียงการสนทนาได้ทุกสายตามที่ต้องการ   ถ้าต้องการอัดเสียงระหว่างการสนทนา เริ่มต้นโดยเข้าไปที่แอพพลิเคชั่น call recorder จะมีปุ่ม Dialer มีไว้สำหรับโทรออกเพื่ออัดเสียง เมื่อกดเข้าไปแล้วจะปรากฏหน้าจอแป้นหมายเลขสำหรับโทรออก แค่กดหมายเลขปลายทางที่ต้องการ แอพพลิเคชั่นนี้จะอัดเสียงระหว่างการสนทนาโดยอัตโนมัติ ข้อความที่ถูกอัดจะนำไปเก็บไว้ในแอพพลิเคชั่นนี้โดยตรง สามารถเข้าไปฟังที่ปุ่ม Recordings ถ้าต้องการที่จะที่จะนำไฟล์เสียงออกจากโทรศัพท์ ให้กดปุ่ม Edit จะปรากฏปุ่มให้เลือกวิธีนำไฟล์ออก ซึ่งเป็นการส่งในรูปแบบเมล หรือซิงก์ข้อมูลไปยัง iTunes แล้วนำไฟล์ลงเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ทันที และถ้าต้องการลบไฟล์ก็สามารถ Delete ได้เลย สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้ได้ที่ https://itunes.apple.com/th/app/call-recorder-intcall/id521680097?mt=8 หรือเข้าไปที่ App Store สำหรับโทรศัพท์แอนดรอยด์ก็มีแอพพลิเคชั่น call recorder เช่นกัน แต่คนละรูปแบบ เมื่อดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นลงโทรศัพท์มือถือเรียบร้อยแล้ว ให้เข้าไปเซ็ตค่าเริ่มต้นให้บันทึกการสนทนาทุกสายอัตโนมัติ แต่ถ้าไม่ต้องการให้บันทึกทุกสายสนทนา สามารถตั้งเปิดปิดการบันทึกเสียงได้ และสามารถส่งไฟล์ในรูปแบบเมลล์ โดยแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือแอนดรอยด์ จะโทรออกในรูปแบบปกติ ไม่จำเป็นต้องเข้าไปโทรในแอพพลิเคชั่นเหมือนกันโทรศัพท์มือถือไอโฟน หลังจากนี้ไม่ว่าติดต่อกับใคร ระวังแอพพลิเคชั่นนี้ให้ดีนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 คำนวณสกุลเงินกับ “SuperRichTH”

เมื่อนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ที่ชอบเดินทางในราคาประหยัดและไม่ชำนาญกับการคำนวณสกุลเงินมากนัก การเดินทางไปต่างประเทศในแต่ละครั้ง จึงมักมีปัญหากับการเปรียบเทียบตัวเลขของค่าเงินจากสกุลเงินประเทศนั้นๆ เป็นเงินบาท เพื่อให้ได้สิ่งของในราคาที่เหมาะสม แต่ปัญหาแรกคือ คนส่วนใหญ่มักจะสับสนกับวิธีการหรือคำเรียกในเรื่องการแลกเปลี่ยนสกุลเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงิน อย่างคำว่า ราคาซื้อ ราคาขาย จนทำให้ต้องมาตั้งหลักทำความเข้าใจใหม่ทุกครั้งไป อย่างแรกเรามาทำความเข้าใจกับคำว่า ราคาซื้อและราคาขาย กันก่อน ราคาซื้อ หมายถึง ราคาที่ธนาคารรับซื้อเงินตราต่างประเทศเปลี่ยนเป็นเงินบาทไทย หรือจำง่ายๆ ว่าเราถือเงินต่างประเทศไปแลกเป็นเงินบาทไทย  ส่วนราคาขาย หมายถึง ราคาที่ธนาคารขายเงินตราต่างประเทศ หรือนำเงินบาทไทยไปแลกเงินตราต่างประเทศมา สรุปดังนี้ ธนาคารรับซื้อเงินต่างประเทศ หมายถึง ราคาซื้อ ส่วนธนาคารขายเงินตราต่างประเทศ หมายถึง ราคาขาย   สำหรับเรื่องปัญหาการเปรียบเทียบราคาของค่าเงินต่างประเทศกับเงินบาทไทย ผู้เขียนขอแนะนำชื่อสถานที่ที่ใครๆ จะแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รู้จักกันดี คือ  ซุปเปอร์ริช นั่นเอง ซุปเปอร์ริชไทยแลนด์ มีแอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยแก้ปัญหากับความไม่เชี่ยวชาญทางด้านการเงินของนักท่องเที่ยว ชื่อว่า “SuperRichTH” แอพพลิเคชั่นนี้จะคอยนำเสนอทุกความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท และอัตราแลกเปลี่ยนกว่า 30 สกุลทั่วโลกและอัพเดทข้อมูลตลอด ซึ่งสามารถติดตามตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทได้อย่างใกล้ชิด เมื่อเปิดแอพพลิเคชั่นเข้าไป เราสามารถเลือกสกุลเงินของประเทศที่ต้องการ ต่อจากนั้นให้กรอกตัวเลขว่าต้องการได้เงินในสกุลต่างประเทศจำนวนเท่าไร โปรแกรมจะคำนวณมาให้เป็นผลลัพธ์ด้านล่างเป็นค่าเงินบาทไทย โดยให้สังเกตที่ลูกศรตรงคำว่า converter ถ้าลูกศรหันไปทางซ้าย หมายถึงต้องเปลี่ยนสกุลเงินตราต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาทไทย ซึ่งตัวเลขจะปรับเปลี่ยนตามราคาซื้อ  และถ้าลูกศรหันไปทางขวา หมายถึงต้องเปลี่ยนสกุลเงินบาทไทยเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ  ซึ่งตัวเลขจะปรับเปลี่ยนตามราคาขาย นอกจากนี้ภายในแอพพลิเคชั่น “SuperRichTH” ยังมีแผนที่สถานที่ซุปเปอร์ริช และเบอร์โทรติดต่อ เพียงแค่คลิกก็สามารถโทรติดต่อได้ทันที ลองแอพพลิเคชั่นนี้ดู เผื่อสักวันหนึ่งการคำนวณเงินตราต่างประเทศระหว่างเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ จะช่วยทำให้การช้อปปิ้งสะดวกรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม หรือไม่ก็ช่วยให้เข้าใจระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ราคาซื้อ ราคาขาย ได้ดีขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 Delivery Traffic รู้ทันตำรวจจราจร

รถชน!!! ความวุ่นวายในชีวิตก็จะเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่สำรวจว่าตนเองบาดเจ็บหรือไม่ ตรวจสภาพรถว่าเสียหายมากน้อยแค่ไหน แจ้งความกับตำรวจ เรียกประกันมาประเมินราคา และอะไรอีกน้า??? คุณผู้อ่านเคยเป็นไหม พอเกิดเหตุการณ์รถชน ความตื่นเต้น สับสน ทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง จะหันไปหาเพื่อนร่วมเดินทาง ก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรเหมือนกัน วันนี้ผู้เขียนจึงนำแอพพลิเคชั่นที่จะช่วยให้ประโยชน์ได้ทั้งคนขับและคนโดยสาร แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า Delivery Traffic หรือเรียกว่า กฎหมายจราจรเดลิเวอรี่ เป็นแอพพลิเคชั่นที่ให้ความรู้ผู้ที่ขับรถ หรือแม้แต่คนที่ขับรถไม่จำเป็นก็สามารถเรียนรู้แอพพลิเคชั่นนี้ไว้ได้เช่นกัน ข้อมูลใน Delivery Traffic จะให้ความรู้และความเข้าใจ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นบนท้องถนนได้อย่างดี   Delivery Traffic  เป็นของกองบังคับการตำรวจจราจร  โดยภายในแอพพลิเคชั่นจะแบ่งเป็น 6 ส่วน ในส่วนแรกจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเกร็ดความรู้ที่จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อมีการกระทำผิดกฎจราจร อย่างเช่น มีคำถามว่าตำรวจจราจรเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ได้หรือไม่ เมื่อคลิกเข้าไปก็จะมีคำอธิบายเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ในส่วนที่สอง จะเป็นการบอกความหมายของเครื่องหมายจราจรบนท้องถนน ส่วนที่สามเป็นเรื่องคำถามและคำตอบเกี่ยวกับอัตราค่าปรับเมื่อกระทำความผิด ซึ่งจะบอกว่าผู้อ่านรู้ว่าถ้าทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ จะต้องมีโทษอย่างใด หรือปรับเป็นเงินเท่าไร ส่วนที่สี่เป็นแผนผังรูปภาพเพื่ออธิบายการปฏิบัติตนเมื่อได้รับใบสั่ง ส่วนที่ห้า เป็นเรื่องของสิ่งที่ควรรู้ น่ารู้และต้องรู้เกี่ยวกับการจราจร ในส่วนนี้จะอธิบายเป็นวิดีโอแอนนิเมชั่น เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ส่วนสุดท้าย เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรู้ทันแอลกอฮอล์ สำหรับนักดื่มที่ต้องใช้รถ โดยมีการอธิบายถึงปริมาณในการดื่มแต่ละครั้งว่าควรดื่มปริมาณเท่าไรที่จะขับรถได้ ซึ่งไม่ให้มีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้อ่านที่ต้องการติดตามวิดีโอแอนนิเมชั่นที่แนะนำวิธีต่างๆ สามารถคลิกเข้า youtube และ facebook ภายในแอพพลิเคชั่น Delivery Traffic ได้ทันที สามารถที่จะดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น Delivery Traffic ได้ที่  https://itunes.apple.com/th/app/delivery-traffic/id409994187?mt=8 สำหรับ iPhone, iPod touch และ iPad  และที่ https://play.google.com/store/apps/details?id=com.smileapp.deliverytraffic สำหรับ android ลองดาวน์โหลดมาอ่านดู เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และรู้ทันกับการทำงานของตำรวจจราจร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 โหลดฟรีกับแอพพลิเคชั่น App of the Day

  ผู้อ่านเคยยอมเสียเงินเพื่อดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนบ้างหรือเปล่า   ต้องยอมรับกันว่าหลายคนคงยอมเสียเงินเพื่อแลกกับการได้เล่นแอพพลิเคชั่นที่ตนสนใจ และน่าสนใจ  ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่นความสวยความงาม  แอพพลิเคชั่นอาหารการกิน แอพพลิเคชั่นด้านการเงินการบริหาร แอพพลิเคชั่นตกแต่งภาพ แอพพลิเคชั่นเกมส์ต่างๆ และแอพพลิเคชั่นอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนเป็นที่น่าสนใจในสายตาของผู้มีสมาร์ทโฟนทั้งสิ้น แต่การเสียเงินเพื่อให้แอพพลิเคชั่นนั้นลงมาอยู่บนสมาร์ทโฟนของตน ก็ทำให้ผู้บริโภคฉลาดซื้ออย่างพวกเรารู้สึกไม่คุ้มค่าและสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ   ด้วยเหตุนี้ แอพพลิเคชั่น  App of the Day จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด   แอพพลิเคชั่น  App of the Day เป็นแอพพลิเคชั่นที่คอยแจ้งให้เจ้าของสมาร์ทโฟนได้ทราบว่าในแต่ละวันมีแอพพลิเคชั่นตัวไหนที่เปิดให้ดาวน์โหลดฟรี โดยสามารถดาวน์โหลดได้ภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อคลิกเข้าไปในแอพพลิเคชั่น App of the Day โปรแกรมจะดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีขึ้นมาให้เห็น ซึ่งในแต่ละวันจะมีเพียงแอพพลิเคชั่นเดียวที่จะเปิดฟรี ให้ดาวน์โหลดหมุนเวียนกันไป  และบริเวณรายละเอียดภายในแอพพลิเคชั่น จะมีเวลานับถอยหลังสำหรับการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนั้นๆ ปรากฏอยู่  ตรงนี้จะช่วยให้รู้เวลาที่เหลือ แล้วผู้อ่านก็รีบไปบอกต่อเพื่อนๆ เลยค่า...   นอกจากนี้ด้านบนหน้าจอของแอพพลิเคชั่น ยังบอกราคาของแอพพลิเคชั่นนั้นๆ ไว้ด้วย เผื่อใครดาวน์โหลดฟรีไม่ทัน จะได้รู้ว่าราคาที่แท้จริงอยู่ที่เท่าไร  ส่วนบริเวณด้านล่างหน้าจอของแอพพลิเคชั่น จะมีรายละเอียดที่แจ้งให้ว่าแอพพลิเคชั่นตัวไหนบ้างที่เคยเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี พร้อมราคาให้เสร็จสรรพ   ถ้าเปิดแอพพลิเคชั่น App of the Day แล้ว รู้สึกพึงพอใจกับแอพพลิเคชั่นที่ปรากฏอยู่ ก็คลิกเลย  

อ่านเพิ่มเติม >