ฉบับที่ 166 ง่ายๆ กับเวลาแห่งความสุขบนแอพพลิเคชั่น

ปี 2557 กำลังจะผ่านไป นั่นหมายความว่าเวลาแห่งความสุขของคืนข้ามปีกำลังจะเกิดขึ้น ปีนี้มีวันหยุดยาว 6 วัน ยิ่งถ้าบางคนใช้สิทธิลาหยุดเพิ่มอีกสัก 2 วัน บวกกับวันเสาร์อาทิตย์ที่ติดกัน..ความสุขในการไปเพิ่มพลังจากการท่องเที่ยวมันช่างหอมหวนจริงๆ บางคนอาจจะกลับบ้านต่างจังหวัดก็ถือว่าเป็นการเพิ่มพลังให้กับชีวิตได้เช่นเดียวกัน ช่วงนี้เชื่อว่าหลายคนที่ต้องเดินทางไปที่ต่างๆ ในช่วงเทศกาลปีใหม่คงเริ่มวางแผนในการจองรถทัวร์กันไปบ้างแล้ว เพราะต้องยอมรับว่าการเดินทางในเทศกาลทุกเทศกาล รถทัวร์ทุกเส้นทางมีผู้ใช้บริการอย่างหนาแน่น เทศกาลแห่งความสุขแบบนี้ ผู้เขียนจึงได้วางแผนว่าจะเดินทางไปเที่ยวเชียงใหม่สักหน่อย จะใช้รถทัวร์เป็นพาหนะ  ค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตจนมาเจอแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้รายละเอียดจังหวัดต่างๆ ที่น่าสนใจในการท่องเที่ยว แอพพลิเคชั่นนี้ชื่อว่า “Tourism Thailand” เป็นแอพฯ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภายในจะบอกรายละเอียดว่าในแต่ละจังหวัดมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจใดบ้าง สามารถเดินทางไปที่จังหวัดนั้นได้ด้วยวิธีใดบ้าง พร้อมบอกเบอร์ติดต่อเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการเดินทางไปเที่ยวอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรายชื่อที่พัก ร้านอาหารที่มีชื่อเสียง รวมถึงแหล่งช็อปปิ้งที่นักท่องเที่ยวนิยมไปซื้อของฝากในจังหวัดนั้น เมื่อได้ข้อมูลจังหวัดเชียงใหม่ครบวงจรดังใจแล้ว ทีนี้มาดูวิธีการจองรถทัวร์กันบ้างดีกว่า แม้ว่าในแอพพลิเคชั่น “Tourism Thailand” จะมีบอกเบอร์โทรรถทัวร์ตามที่ผู้เขียนได้ตั้งไว้ว่าจะเดินทางก็ตาม แต่ผู้เขียนก็อยากจะแนะนำแอพพลิเคชั่น “ThaiRoute” ที่สามารถหาบริษัทรถทัวร์ที่ต้องการ รวมถึงการเลือกจองที่นั่ง และชำระเงินภายในแอพพลิเคชั่นนี้บนมือถือสมาร์ทโฟน ที่มีรูปแบบเหมือนกับการจองตั๋วเครื่องบินบนเว็บไซต์ของสายการบินเลยทีเดียว ขออธิบายแอพพลิเคชั่นนี้สักนิดนะคะ ภายในจะมีหมวดของการค้นหาเที่ยวรถที่ผู้ใช้บริการต้องการ และบริษัทของรถต่างๆ ที่มีในเส้นทางนั้นๆ เมื่อเลือกเส้นทางที่จะเดินทางแล้ว แอพพลิเคชั่นจะให้เลือกวันเดินทางไปกลับ หรือเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หลังจากนั้นแอพพลิเคชั่นจะบอกรายละเอียดว่าเส้นทางดังกล่าวมีรถของบริษัทใดบ้าง ในราคาที่เท่าไร ช่วงเวลาในการเดินทางเป็นอย่างไร เมื่อพึงพอใจแล้วจะให้เลือกที่นั่ง ต่อด้วยการให้ระบุชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ และไปยังขั้นตอนสุดท้ายคือ การชำระเงิน ซึ่งมีวิธีการชำระเงิน 2 วิธี ได้แก่ ชำระเงินที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือชำระผ่านบัตรเครดิตก็ได้ อีกทั้งยังมีข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่มีประโยชน์ให้กับผู้ที่ชอบเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะอย่างรถทัวร์ เพื่อให้ติดตามว่ามีข่าวสารอะไรที่อัพเดทบ้าง เท่านี้ก็ได้ข้อมูลต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่รายละเอียดแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องการ ที่พักราคาประหยัด ร้านอาหารแสนอร่อย แหล่งช็อปปิ้งที่รวมทุกอย่างไว้ในที่เดียวกัน พาหนะที่ใช้เดินทางอย่างรถทัวร์ ตลอดจนที่นั่งในรถทัวร์ที่สามารถเลือกได้เอง โดยใช้เวลาไม่นานอย่างที่คิดเลย เหลือแค่รอนับวันเวลาให้ถึงช่วงปีใหม่เร็วๆ ^_^

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 เชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้า 3 สาย

ฉบับนี้มาทำความรู้จักกับแอพพลิเคชั่นการเดินทางโดยรถไฟฟ้าทั้ง  3 รูปแบบกันบ้างดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า BTS  รถไฟฟ้า MRT และ Airport Link รถไฟฟ้าทั้ง 3 รูปแบบที่กล่าวถึงนั้น ช่วยอำนวยความสะดวกกับผู้ที่ต้องการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ในเวลาเร่งด่วน และต้องการหลีกหนีจากการจราจรที่ติดขัดบนท้องถนนของกรุงเทพมหานคร  คนกรุงเทพฯ  จึงนิยมโดยสารรถไฟฟ้าเป็นอย่างมาก อีกทั้งรถไฟฟ้า 3 สายยังมีจุดเชื่อมต่อสำหรับการเดินทางไปในส่วนต่างๆ ด้วย ผู้เขียนหวังว่าแอพพลิเคชั่นที่จะแนะนำนี้ จะช่วยให้คนต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางเข้ามาในกรุงเทพมหานคร ได้ใช้ประโยชน์ได้พอควร โดยมี 2 แอพพลิเคชั่นที่จะแนะนำ ได้แก่ แอพพลิเคชั่น BKK Metro และแอพพลิเคชั่น Airport Link แอพพลิเคชั่น BKK Metro เป็นแอพพลิเคชั่นที่บอกรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ของรถไฟฟ้าBTS  และรถไฟฟ้า MRT โดยภายในจะแบ่งเป็นหมวด และสามารถเลือกมุมมองแผนที่ที่ต้องการดูได้ว่าจะดูแบบลายเส้นหรือแบบภาพเสมือนจริง หมวดแรกจะให้หาพิกัดที่ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นยืนอยู่ว่าใกล้กับสถานีใดที่สุด เพื่อให้ตัดสินใจเลือกที่จะขึ้นสถานีนั้นๆ ต่อจากนั้นหมวดต่อมาจะบอกถึงสถานีต่างๆ ว่ามีสถานที่ใดใกล้เคียงกับสถานีนั้นๆ บ้าง และสามารถใช้ทางออกหมายเลขใด เพื่อให้สะดวกกับการเดินทางมากยิ่งขึ้น หมวดที่สามจะบอกราคาค่าโดยสารระหว่างสถานีต้นทางกับสถานีปลายทางที่เลือก แอพพลิเคชั่นจะคำนวณราคาค่าใช้จ่ายมาให้เรียบร้อย และถ้ามีความไม่เข้าใจในเรื่องราคา การซื้อบัตร หรือข้อมูลต่างๆ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดในหมวดสุดท้ายได้ หรือโทรศัพท์ไปสอบถามตามหมายเลขที่แจ้งไว้ภายในแอพพลิเคชั่น อีกแอพพลิเคชั่นหนึ่ง คือ แอพพลิเคชั่น Airport Link จะบอกถึงรายละเอียดการเดินทางระหว่างสถานีต่างๆ ว่าสถานีนั้นสามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าแบบธรรมดาหรือแบบด่วนพิเศษ โดยจะแจ้งเรื่องเวลาที่ต้องใช้ในการเดินทางระหว่างสถานีว่าต้องเวลากี่นาที และผ่านสถานีใดบ้าง ซึ่งจะช่วยให้สามารถคำนวณเวลาในการเดินทางไปจุดหมายได้ รวมถึงบอกราคาในการเดินทางแต่ละสถานี ประโยชน์ของแอพพลิเคชั่นทั้ง 2 ชนิดนี้ จะช่วยให้ผู้เดินทางสามารถคำนวณเวลาตามระยะทางที่เกิดขึ้นจริง และคำนวณราคาในการเดินทางในแต่ละครั้ง ซึ่งถือว่าช่วยวางแผนการเดินทางได้ในระดับหนึ่ง รถไฟฟ้าทั้ง 3 รูปแบบ ถือว่าเป็นตัวช่วยที่ดีในการหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรภายในกรุงเทพมหานคร แต่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางย่อมสูงไปด้วย ถ้าผู้อ่านลองพิจารณาแล้วเห็นว่าเสียค่าใช้จ่ายมากเกินไป อาจจะกลับไปเลือกแอพพลิเคชั่น “รถเมล์” แทนก็ได้นะ ได้อย่างก็ต้องเสียอย่างเป็นธรรมดา!!!

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 เทียบตารางเวลารถไฟไทยบนปลายนิ้ว

ฉึกกะฉักๆ  ปู๊นๆ เสียงนี้เป็นที่คุ้นเคยกันทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเด็กเล็กจนไปถึงผู้ใหญ่  เสียง “ฉึกกะฉักๆ  ปู๊นๆ”  ยังคงเป็นเอกลักษณ์ของรถไฟเหล็กไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลง  และในตำราเรียนในช่วงวัยเด็ก  ทุกคนต้องได้เรียนประวัติศาสตร์รถไฟไทยกันมาบ้าง ไม่มากก็น้อย หลายคนอาจจะยังไม่มีโอกาสได้ขึ้นรถไฟเหล็กของไทย แต่ก็มีหลายคนเช่นกันที่ต้องใช้รถไฟเป็นพาหนะในการเดินทางไปไหนมาไหน ทุกวันในช่วงเช้าและช่วงเย็น มีประชาชนไม่น้อยที่ต้องโดยสารรถไฟมาทำงาน เหมือนกับการใช้บริการรถสาธารณะในรูปแบบอื่นๆ  ฉบับที่ผ่านมาได้พูดถึงรถเมล์ที่ประชาชนต้องใช้โดยสารในชีวิตประจำวันไปแล้ว  ฉบับนี้จึงขอเอาใจผู้อ่านที่ใช้รถไฟเหล็กกันบ้าง ฉบับนี้มารู้จักกับแอพพลิเคชั่น Thai Railway กันบ้าง แอพพลิเคชั่นนี้จะเน้นเรื่องการบอกตารางเวลาแต่ละเส้นทางการเดินรถไฟ โดยสามารถค้นหาข้อมูลตารางเดินรถไฟในประเทศไทย  ค้นหาเส้นทางการเดินรถไฟของแต่ละภาคในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคชานเมือง และมีให้เลือกใช้ 2 ภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ภายในแอพพลิเคชั่นจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นตารางเวลา สามารถค้นหาโดยใส่ชื่อจุดหมายปลายทาง หรือหมายเลขขบวนรถ จากนั้นจะปรากฏเส้นทางที่ขบวนรถไฟจะผ่านในแต่ละสถานีว่าผ่านสถานีใดบ้าง และถึงสถานีนั้นๆ ในเวลากี่โมง นอกจากนั้นยังบอกว่าขบวนรถไฟสายนี้เป็นขบวนรถเร็ว รถด่วน หรือรถด่วนพิเศษ รถพิเศษชานเมือง รถท้องถิ่น อีกด้วย สังเกตได้จากกรอบสีตรงหมายเลขขบวนนั้นๆ ได้แก่ กรอบสีฟ้า หมายถึงรถด่วนพิเศษ กรอบสีแดง หมายถึงรถด่วน  กรอบสีเขียว หมายถึงรถเร็ว  กรอบสีเทาเข้ม หมายถึงรถธรรมดา  กรอบสีชมพู หมายถึงรถพิเศษชานเมือง  กรอบสีเทาอ่อน หมายถึงรถชานเมือง รถท้องถิ่น ส่วนที่สอง เส้นทางเดินรถ มีไว้เพื่อให้ค้นหาขบวนรถไฟโดยแบ่งออกเป็นแต่ละภาค เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในหาค้นหาได้ดียิ่งขึ้น และส่วนสุดท้ายเป็นส่วนของการค้นหาทั่วไป เมื่อค้นหาขบวนรถไฟที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว  สามารถจองตั๋วโดยสารรถไฟทางโทรศัพท์ผ่านสายด่วน 1690 โดยคลิกผ่านแอพพลิเคชั่น Thai Railway ได้เลย แบบนี้จะเลือกโดยสารรถไฟขบวนไหน มีแอพพลิเคชั่นนี้ก็สามารถทำให้รู้ตารางเวลาการเข้าออกสถานีต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลาได้ ช่วยให้ใช้ชีวิตในการเดินทางง่ายขึ้นทีเดียว    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 แอพค้นหาสายรถเมล์แบบเคลื่อนที่

เคยไหมคะ ยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์แล้วไม่รู้ว่าต้องขึ้นรถเมล์สายไหน... มีเรื่องมาเล่าให้ฟังค่ะ หลายอาทิตย์ที่ผ่านมามีโอกาสได้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ หรือเรียกว่า “รถเมล์” โดยต้องไปในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน และด้วยเงินเดือนของมนุษย์เงินเดือนอันน้อยนิด การใช้บริการรถเมล์ จึงถือว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด บริเวณที่รอขึ้นรถเมล์คือ สนามหลวง หลายคนคงนึกออกใช่ไหมค่ะ ว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ปัญหาที่ตามมาอีกอย่างก็คือไม่รู้จะขึ้นสายไหน พยายามยืนมองป้ายข้างรถทุกคันที่ผ่านว่ามีจุดหมายที่เราต้องการไปหรือไม่ บอกได้คำเดียวว่าเก็กซิม เพราะก็ยังหาคำตอบที่ต้องการไม่ได้อยู่ดี กระวนกระวายอยู่สักพัก พยายามนึกเบอร์สอบถามสายรถเมล์ ก็นึกไม่ออก เลยได้แค่ยืนรอให้มีสติไปอีกสักพัก หลายคนคงสงสัยว่าทำไมไม่ถามคนที่อยู่ที่ป้ายรถเมล์ ต้องบอกว่าช่วงเวลาที่ยืนรอรถเมล์นั้น เวลาประมาณ 20.30 น. ไม่มีใครเหลือเลยค่ะ แต่ด้วยความฉลาดส่วนตัวทำให้นึกขึ้นได้ว่าโซเชียลมีเดียบนสมาร์ทโฟนน่าจะช่วยได้ ด้วยความขวนขวายจึงทำให้เจอเครื่องมือที่ช่วยเหลือให้การเดินทางครั้งประสบความสำเร็จได้ ด้วยเหตุการณ์ทั้งหมดที่เล่าให้ฟัง แอพพลิเคชั่นจะช่วยเหลือเรื่องการโดยสารรถเมล์ได้ดีทีเดียว แอพพลิเคชั่นนี้ชื่อว่า“รถเมล์” สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS ในแอพพลิเคชั่นจะมีฟังก์ชั่นด้านล่างให้เลือก 4 ฟังก์ชั่น อันที่หนึ่งจะเป็นการค้นหาโดยใช้หมายเลขสายรถเมล์ ฟังก์ชั่นนี้จะช่วยได้ตอนที่ยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์ แล้วนำหมายเลขสายรถเมล์ที่อยู่ตรงป้ายมาค้นหาว่าสายดังกล่าววิ่งไปที่ใดบ้าง อันที่สองจะเป็นฟังก์ชั่นป้ายหยุดรถ และอันที่สามจะเป็นฟังก์ชั่นชื่อถนน ถ้ามีชื่อสถานที่หรือชื่อถนนสามารถพิมพ์ลงในช่องค้นหาได้ทันที จากนั้นแอพพลิเคชั่นจะค้นสายรถเมล์มาให้ เพื่อให้เข้าไปดูเส้นทางการเดินรถว่าใช่ที่ต้องการหรือไม่ แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าชื่อจุดหมายปลายทางจะเป็นในส่วนของป้ายรถเมล์หรือชื่อถนน ก็สามารถใช้ฟังก์ชั่นที่สี่เพื่อค้นหาได้เช่นกัน โดยในทุกฟังก์ชั่นที่ทำการค้นหานั้น เมื่อคลิกเลือกสายรถเมล์แล้ว ภายในนั้นแอพพลิเคชั่นจะแจ้งเส้นทางเดินรถของสายรถเมล์นั้นว่าผ่านสถานที่ใดบ้าง ทั้งในขาเข้าเมืองและขาออกเมือง พร้อมทั้งระบุเวลาการวิ่งรถว่าเริ่มและสิ้นสุดการวิ่งรถเมล์กี่โมง นอกจากนี้ถ้ายังไม่แน่ใจว่ารถเมล์สายนั้นผ่านตรงบริเวณที่ต้องการจะไปหรือไม่ สามารถกดเข้าไปที่แผนที่ หลังจากนั้นแอพพลิเคชั่นจะแสดงเส้นทางการเดินรถในรูปของแผนที่ได้ด้วย การโหลดแอพพลิเคชั่นนี้ ถือว่าได้ช่วยมนุษย์เงินเดือนที่ต้องการใช้รถโดยสารสาธารณะอย่างรถเมล์ได้มากทีเดียว และวันนั้นแอพพลิเคชั่นนี้ก็ช่วยทำให้เลือกสายรถเมล์ได้ถูกต้องและถึงจุดหมายปลายทางโดยไม่หลงทาง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 Google Translate ตัวช่วยแปลภาษา

เมื่อสัปดาห์ก่อนได้มีโอกาสได้ร่วมงานกับชาวต่างชาติบินตรงมาจากสหรัฐอเมริกา ต้องสปีค ฟุด-ฟิด-ฟอ-ไฟ กันตลอดเวลา ไม่ว่าจะกินข้าว คุยงาน ทำกิจกรรมทุกอย่าง คงเดากันได้ใช่ไหมคะ ว่าความวุ่นวายสำหรับคนที่ใช้ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง จะมีมากมายแค่ไหน บอกตรงๆ ว่าเหนื่อยมากค่ะ บางท่านอาจจะกำลังคิดว่าทำไมไม่หาคนแปลมาช่วย ถูกค่ะ เราหาคนมาช่วยแปลแน่นอน แต่ในบางช่วงเล็กๆ น้อยๆ เราก็ต้องสื่อสารด้วยประโยคภาษาอังกฤษไปบ้างเช่นกัน ถ้าเป็นสมัยก่อนคงต้องหา Talking Dict มาเป็นตัวช่วย แต่กว่าจะหาซื้อ กว่าจะกดแต่ละตัวอักษร คงไม่ได้คุยกันแน่  ดีว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยเราได้มาก แค่ยกสมาร์ทโฟนกดค้นหาแอพพลิเคชั่นสำหรับแปลภาษาก็ช่วยได้มากทีเดียว แอพพลิเคชั่นนี้เป็นที่รู้จักกันดี เป็นของ Google หลายคนคงคุ้นเคยกับการใช้โปรแกรมช่วยแปลภาษาบน Google มาบ้างแล้ว แอพพลิเคชั่นได้ย่อมาไว้บนสมาร์ทโฟน เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยของเทคโนโลยีในปัจจุบัน  แอพพลิเคชั่นมีชื่อว่า Google Translate แอพพลิเคชั่น Google Translate  สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีบนสมาร์ทโฟน ภายในแอพพลิเคชั่นมีภาษาครอบคลุมมากกว่า 70 ภาษา ขั้นตอนแรกต้องเลือกภาษาที่ต้องการป้อนและภาษาที่ต้องการให้แปลออกมา จากนั้นจะมีวิธีการป้อนคำต่างๆ ได้ 3 วิธี วิธีที่ 1 สามารถพิมพ์ในรูปแบบคีย์บอร์ดปกติ วิธีที่ 2 สามารถกดรูปเส้นด้านขวามือ เพื่อให้มือเขียนเป็นคำที่ต้องการได้เลย และทางแอพพลิเคชั่นจะอ่านข้อความที่เขียนนั้นอัตโนมัติ และวิธีที่ 3 ระบบเสียง ให้กดรูปไมโครโฟนแล้วพูดเป็นเสียง เพื่อให้แอพพลิเคชั่นจับคลื่นเสียงแล้วอ่านเป็นข้อความให้อัตโนมัติ เมื่อแปลภาษาเรียบร้อยแล้ว ด้านหลังประโยคที่แปลจะมีสัญลักษณ์รูปลำโพง สามารถกดเพื่อให้แอพพลิเคชั่นอ่านออกเสียงให้ฟังได้ด้วย  นอกจากนี้ Google Translate  ยังเก็บข้อมูลที่เคยมีการแปลไว้ให้ด้วย เพื่อช่วยเก็บบันทึกการแปลภาษา เพื่อเอาไว้ใช้งานภายหลัง ข้อสังเกตอันหนึ่งสำหรับแอพพลิเคชั่นนี้ ไม่แนะนำให้แปลประโยคยาวๆ เนื่องจากการแปลประโยคที่ซับซ้อนของ Google ยังได้ผลไม่ค่อยดีเท่าที่ควร แต่สามารสรุปใจความได้ในระดับพอใช้ อย่างน้อยแอพพลิเคชั่น Google Translate ก็ช่วยให้ความไม่เข้าใจในภาษาอังกฤษบางคำ เปลี่ยนมาเป็นสามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้พอสมควร แค่นี้ก็ทำให้รู้สึก ฟุด-ฟิด-ฟอ-ไฟ ได้คล่องขึ้นมานิดนึงล่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 ตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจ

หัวใจ เป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดของชีวิต เมื่อหัวใจหยุดเต้น ชีวิตเราก็จะสิ้นสุดไปด้วย ดังนั้นหัวใจถือเป็นอวัยวะที่จะต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ  การดูแลหัวใจในร่างกายนั้นทำได้ง่าย โดยให้สังเกตจังหวะการเต้นของหัวใจที่เกิดขึ้นในระหว่างวัน วิธีการตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจ ให้ใช้นิ้วมือ จับชีพจรบริเวณข้อมือหรือข้อพับแขน และนับการเต้นของหัวใจภายในเวลาหนึ่งนาที โดยปกติอัตราการเต้นของหัวใจในแต่ละช่วงวัย สามารถแบ่งได้ดังนี้ อายุ 1 เดือน มีอัตราการเต้นประมาณ 120-160 ครั้งต่อนาที อายุ 1-12 เดือน มีอัตราการเต้นประมาณ 100-140 ครั้งต่อนาที อายุ 1-6 ปี มีอัตราการเต้นประมาณ 80-120 ครั้งต่อนาที อายุ 6-12 ปี มีอัตราการเต้นประมาณ 70-120 ครั้งต่อนาที อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป มีอัตราการเต้นประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที   แต่ถ้าจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ไม่ว่าจะเต้นช้าเกินไปหรือเร็วเกินไป ย่อมส่งผลให้ร่างกายที่อาการต่างๆ เกิดขึ้น และถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเจ็บป่วย อาการที่จะเกิดขึ้นนั้น ถ้าหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ มักจะทำให้มีอาการ มึนงง หวิวๆ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หรืออาจวูบหมดสติเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ จะมีอาการ ใจสั่น เต้นเร็ว แรง จะทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก เป็นลม และถ้ารู้สึกหัวใจเต้นผิดจังหวะ สะดุด จะรู้สึกเหมือนหัวใจเต้นๆ หยุดๆ อาจมีอาการวูบ หรือเจ็บหน้าอกร่วมได้  ถ้ามีอาการไม่มาก อาจแค่ใจสั่น  ไม่มีอันตรายรุนแรง แต่ถ้ามีอาการมาก จะส่งผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เกิดอาการเป็นลม หมดสติ เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบง่าย หรือเกิดอาการหัวใจวาย ทั้งนี้จะมีปัจจัยอาจเกิดจากความเครียดหรือปัจจัยกระตุ้นบางอย่าง เช่น ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ เป็นต้น  ทั้งนี้ถ้าจังหวะการเต้นของหัวใจ เต้นผิดจังหวะรุนแรงมาก ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว การตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ในเบื้องต้นเราสามารถตรวจสอบแบบง่ายๆ ได้ด้วยตนเอง โดยการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Runtastic Heart Rate หรือแอพพลิเคชั่น Instant Heart Rate เพื่อนำมาใช้ตรวจสอบการเต้นของหัวใจในระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวัน อย่างเช่น จังหวะการเต้นของหัวใจหลังตื่นนอน  จังหวะการเต้นของหัวใจช่วงการเดินทาง จังหวะการเต้นของหัวใจหลังจากการออกกำลังกาย  จังหวะการเต้นของหัวใจก่อนเข้านอน เป็นต้น ในทุกแอพพลิเคชั่นจะใช้วิธีการตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยให้ใช้ปลายนิ้วมือแตะไปที่เลนส์กล้องและบริเวณแฟลชด้านหลังสมาร์ทโฟน ใช้เวลาประมาณ 2 นาที แอพพลิเคชั่นจะประมวลผลออกมาให้รู้ว่าจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือไม่ อย่างน้อยการใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจ ก็ช่วยให้เรารู้สภาพร่างกายของตนเองในเบื้องต้น เพื่อช่วยให้ป้องกันความผิดปกติที่จะเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 กลับมาฝึกจดบันทึกรายรับรายจ่ายกันดีกว่า

หลายวันก่อนผู้เขียนแอบเห็นเพื่อนคนหนึ่งในเฟส แชร์รูปภาพวิธีการเก็บออมเงิน โดยให้แต่ละวันลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย อย่างเช่น การซื้อกาแฟ การรับประทานอาหารบุฟเฟ่ต์ เป็นต้น พออ่านแล้วรู้สึกว่าข้อความนี้ใช่เลย เพราะคนรอบข้างที่รู้จักส่วนใหญ่ จะเสียเงินไปกับกาแฟแก้วละร้อยกว่า และนิยมรับประทานบุฟเฟ่ต์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอาหารญี่ปุ่น อาหารเกาหลี ตามสไตล์คนอินเทรนด์ พูดถึงความเป็นจริงของการออมเงินในแต่ละเดือนกันดีกว่า มนุษย์เงินเดือนที่ต้องใช้จ่ายเงินในแต่ละวันที่มีราคาสูงขึ้นๆ ในปัจจุบัน จะมีสักกี่คนที่มีภาระค่าใช้จ่ายประจำจะสามารถออมเงินได้ทุกเดือน สุดท้ายก็ได้แค่พยายามควบคุมการใช้เงินในแต่ละเดือนไม่ให้เงินถูกควักไปอยู่ตามแก้วกาแฟ มื้ออาหารเสื้อผ้า รองเท้า และอื่นๆ อีกมากมาย อย่างน้อยการบริหารเงินเพื่อให้สมดุลในแต่ละเดือนก็ช่วยให้พ้นจากการเป็นหนี้ที่จะสมทบไปเดือนต่อไปได้บ้าง  การจดบันทึกรายรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันก็สามารถช่วยบริหารจัดการเงินได้เช่นกัน และเมื่อเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนเข้ามา เราก็ควรใช้ให้เป็นประโยชน์การจดบันทึกรายรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นผ่านแอพพลิเคชั่น วันนี้ขอแนะนำแอพพลิเคชั่นการบันทึกรายรับรายจ่ายเพื่อใช้ในการบริหารเงิน 2 แอพพลิเคชั่น 1. แอพพลิเคชั่น  Weple Money เป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้ง่าย พอเข้าไปในแอพพลิเคชั่นนี้ จะปรากฏปฏิทินเดือนนั้นๆ โดยเราสามารถเลือกมุมมองว่าจะให้ปรากฏเป็นรายเดือน รายสัปดาห์ หรือรายวัน   กรณีที่เป็นรายเดือน เพียงคุณแตะวันที่ต้องการจดบันทึกค่าใช้จ่าย อย่างเช่น คุณรับเงินเดือนวันที่ 15 เดือนมิถุนายน คุณแตะที่วันที่ 15 ของเดือนมิถุนายน แล้วกรอกรายรับ และถ้าในวันนั้นคุณมีรายจ่าย ก็สามารถกรอกเพิ่มไปเรื่อยๆ จนครบรายการของวันนั้น แอพพลิเคชั่นจะคำนวณโดยการหักลบค่าใช้จ่ายจากเงินเดือน ทำให้คุณทราบว่าคุณเหลือเงินจำนวนเท่าไรในวันปัจจุบัน 2. แอพพลิเคชั่น CoinKeeper หน้าตาของแอพพลิเคชั่นนี้จะไม่เป็นปฏิทิน แต่จะเน้นสีสันไอคอน ที่แยกออกเป็นประเภทของค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น อย่างเช่น ค่าอาหาร  ค่ารถโดยสาร  ค่าช้อปปิ้ง  ค่าเช่าบ้าน  ค่าสังสรรค์ เป็นต้น โดยแบ่งส่วนของรายรับเป็นเงินในกระเป๋า และเงินในธนาคาร อย่างแรกจะต้องไปตั้งตัวเลขประมาณการค่าใช้จ่ายของเดือนนี้ในแต่ละประเภทการใช้จ่ายไว้ให้เรียบร้อยก่อน  เมื่อมีค่าใช้จ่ายจริงเกิดขึ้น ก็ให้แตะไปที่ไอคอนประเภทนั้น เพื่อกรอกตัวเลข ระบบจะคำนวณโดยการหักลบค่าใช้จ่ายจากเงินเดือน ซึ่งจะปรากฏอยู่บนสุดของแอพพลิเคชั่นนี้ แอพพลิเคชั่นนี้ จะเพิ่มลูกเล่นของไอคอนด้วยการแบ่งแยกสีของปริมาณการใช้จ่าย ถ้ายังไม่มีการใช้จ่ายใดๆ ไอคอนจะปรากฏเป็นสีขาวธรรมดา เมื่อมีการใช้จ่ายจะเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวและจะเพิ่มสีขึ้นเรื่อยๆ ในไอคอนเมื่อมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  ถ้าใช้จ่ายเกินจำนวนที่ตั้งใจไว้ ไอคอนนั้นจะกลายเป็นสีแดง แอพพลิเคชั่นทั้ง 2 แอพพลิเคชั่น มีรูปร่างหน้าตาคนละแบบ อยู่ที่จะเลือกใช้ หรืออาจจะลองใช้ทั้ง 2 แบบเลยก็ได้ การกลับไปจดบันทึกรายรับรายจ่าย เหมือนตอนที่คุณครูฝึกให้ทำตอนเด็กๆ สามารถช่วยเรื่องการบริหารเงินของเราได้จริงๆ  อย่างน้อยก็ทำให้รู้ตัวตลอดว่าในกระเป๋ามีเงินมากน้อยแค่ไหนสำหรับการเลือกใช้จ่ายในแต่ละกิจกรรม และช่วยลดการใช้จ่ายที่เกินตัว ส่งผลให้เกิดหนี้ตามมา ถ้ายังบริหารเงินในกระเป๋าของตนเองไม่เป็น //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 ใส่ใจสุขภาพกับร้านอาหารบน Q Restaurant

หลังจากที่เหน็ดเหนื่อยกับการทำงานมาทั้งสัปดาห์ ขอขับรถชิลล์ไปหาร้านอาหารบรรยากาศดี รสชาติอร่อยและมีมาตรฐานในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์สักหน่อย ลองค้นไปค้นมาในสมาร์ทโฟนที่อยู่ในมือ ได้ไปเจอแอพพลิเคชั่นที่รวบรวมร้านอาหารที่มีความปลอดภัยและได้คุณภาพ อย่างแอพพลิเคชั่น Q Restaurant แอพพลิเคชั่น Q Restaurant  เป็นแอพพลิเคชั่นโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่รวบรวมร้านอาหารไว้สำหรับผู้บริโภค ที่ใส่ใจในสุขภาพ ต้องการหาร้านอาหารที่ผลิตอาหารที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพ เพราะในแอพพลิเคชั่นนี้จะสามารถค้นหาร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบที่ปลอดภัย และได้รับการรับรองโดยเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร Q จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย ในแอพพลิเคชั่น Q Restaurant  จะแบ่งออกเป็น 4 หมวดดังนี้  หมวดที่หนึ่ง ชื่อว่า Q Restaurant เป็นหมวดการค้นหารายชื่อและข้อมูลร้านอาหาร ขั้นตอนการค้นหาเพียงคุณคลิกให้แสดงร้านอาหารที่อยู่ใกล้บริเวณที่ยืนอยู่ หรือจะระบุชื่อร้านอาหารที่ต้องการก็ทำได้ โดยสามารถค้นหาร้านอาหารได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ  และเมื่อได้ร้านอาหารที่พึงพอใจแล้ว ทางแอพพลิเคชั่นจะแจ้งรายละเอียดของร้านอาหารนั้นว่ามีเมนูอะไรบ้าง วัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหาร ตัวเลขระยะทางที่จะเดินทางไปถึง ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์แอพพลิเคชั่นจะสามารถแสดงเส้นทางการเดินทางจากตำแหน่งปัจจุบันของคุณไปยังร้านอาหารที่คุณต้องการ   ถ้าต้องการให้แอพพลิเคชั่นแสดงแผนที่ในการเดินทาง สามารถกด Direction ได้ จากนั้นจะเห็นร้านอาหารเป้าหมายปรากฏในแผนที่ โดยมีรูปเข็มทิศกำหนดในแผนที่นี้ด้วย หมวดที่สอง ชื่อว่า Promotion เป็นหมวดที่แสดงโปรโมชั่นของร้านอาหารที่ร่วมรายการ ซึ่งได้รวบรวมไว้เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภค หมวดที่สอง ชื่อว่า Favorites เป็นหมวดที่เก็บลิสต์ร้านอาหารที่ชื่นชอบไว้ให้สามารถเข้ามาใช้ บริการได้อย่างรวดเร็ว หมวดที่สี่ ชื่อว่า Camera  ใช้สำหรับตกแต่งรูปอาหาร และสามารถแนะนำต่อให้เพื่อนได้ทางโซเชียลมีเดียได้ Q Restaurant  สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งในระบบ Android และ iOS

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 360 องศากับ Google Earth

หลายครั้งที่ต้องเดินทางไปที่นั่นที่นี่ โดยที่ไม่รู้ว่าบริเวณที่จะไปอยู่ส่วนไหนของประเทศหรืออยู่ส่วนไหนของโลก ถือว่าเป็นเรื่องที่ลำบากอย่างมาก ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่อินเตอร์เน็ตช่วยทำให้ความลำบากเหล่านั้นหายไปโดยสิ้นเชิง ต้องยอมรับว่าอินเตอร์เน็ตมีประโยชน์อย่างมากที่จะช่วยค้นหาสถานที่ต่างๆ ที่ต้องการเดินทางไป ซึ่งคำตอบที่มักจะมาจาก google ที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง แค่นี้เว็บไซต์นี้ก็จะค้นหาแผนที่ที่จะใช้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ มาให้เลือกมากมาย ภาพแผนที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นตามวิวัฒนาการของเทคโนโลยี จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากภาพแผนที่เดิมๆ ที่มีเพียงลายเส้นเพื่อบอกทิศทาง เปลี่ยนมาเป็นภาพผ่านดาวเทียม มีลักษณะจำลองเป็นภาพ 3 มิติ เป็นภาพเสมือนจริง เหมือนกับเราได้ไปเดินในถนนเส้นนั้นๆ ฉบับนี้จึงพามารู้จักแผนที่ฉบับดาวเทียมที่ถือว่ามีชื่อเสียงระดับโลกเลยทีเดียว นั่นคือ Google Earth ปัจจุบัน Google Earth ได้ถูกพัฒนาให้เห็นสถานที่ต่างๆ ในเส้นทางที่ต้องการจะค้นหาว่าสถานที่ใดตั้งอยู่ในบริเวณใด ถือว่าเป็นการย่อส่วนของสถานที่ทั่วโลกมาไว้ที่คอมพิวเตอร์   โดยปกติ Google Earth สามารถใช้ผ่านอินเตอร์เน็ต ถ้าต้องการโปรแกรมมาไว้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ก็สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมมาติดตั้งได้ด้วย โดยเข้าที่เว็บไซต์ www.google.com/earth และได้ถูกพัฒนามาไว้ที่แอพพลิเคชั่นแบบเต็มตัว ที่ชื่อว่า Google Earth เพื่อให้ทันสมัยกับยุคโซเชียลมีเดีย แอพพลิเคชั่นนี้จะช่วยในการค้นหาเส้นทาง ผังเมือง แผนที่การคมนาคม  ภายในแอพพลิเคชั่น Google Earth จะมีลักษณะการใช้งานเหมือนกับในคอมพิวเตอร์ โดยจะมีเข็มทิศบอกทิศทางเหนือทิศใต้  เมื่อต้องการค้นหาสถานที่ใดให้ใส่ชื่อสถานที่ในช่องค้นหา ภาพจำลอง 3 มิติจะปรากฏขึ้นมา เราสามารถเลื่อนไปทางซ้ายหรือทางขวา ขึ้นลง ได้ตามความต้องการ ถ้าต้องการมองในมุมแนวเดียวกับถนน ให้กดที่รูปคนด้านซ้ายมือ จะปรากฏภาพถนนสายนั้นๆ ที่เป็นเหมือนภาพถ่าย 360 องศา ทำให้รู้สึกเสมือนว่าเรายืนอยู่ตรงบริเวณนั้น ปุ่มบนด้านขวามือ จะเป็นการตั้งค่าของมุมมองที่ต้องการให้เห็น อย่างเช่น ต้องการให้เห็นถนน ต้องการให้เห็นสถานที่ ต้องการให้เห็นมหาสมุทร เป็นต้น ก็ให้คลิกเพื่อทำเครื่องหมายที่เราต้องการให้เห็นในส่วนนั้น  อีกปุ่มหนึ่งจะเป็นลูกศรอยู่ทางด้านล่างขวา ลูกศรนี้ช่วยหาตำแหน่งที่อยู่ของเราในขณะที่ใช้งานแอพพลิเคชั่นนี้ ช่วยให้ผู้ที่ไม่แน่ใจว่าตนเองอยู่ส่วนไหนได้รู้ตำแหน่งตนเองให้แน่ชัด ประโยชน์ของแอพพลิเคชั่น Google Earth จะช่วยให้รู้สถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอะไรก็ตามในโลกนี้  Google Earth ได้ทำภาพจำลอง 3 มิติอาคารสถานที่ให้ได้เห็น โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปยังประเทศนั้นๆ อย่างน้อยก็ช่วยให้รู้จักบรรยากาศ สภาพบ้านเมืองของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ลองโหลด Google Earth มาเล่นกันดูนะคะ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 ง่ายๆ กับ “แอพสายด่วน”

2 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนเคยเขียนแนะนำแอพพลิเคชั่น YellowPages Live ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่รวบรวมข้อมูลรายละเอียดเบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ จากสมุดหน้าเหลืองเล่มหนาๆ มาย่อรวมไว้ที่สมาร์ทโฟนบนมือของเรา  ในฉบับนี้ผู้เขียนได้ไปเจอแอพพลิเคชั่นในลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่แค่ย่นย่อข้อมูลไว้เป็นหมวดๆ แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า “แอพสายด่วน” เป็นแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาขึ้นจากกระปุกดอทคอม แอพพลิเคชั่นนี้จะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อเมื่อถึงคราวจำเป็น โดยแบ่งออกเป็น 8 หมวด ได้แก่ หมวด Delivery  หมวดโรงภาพยนตร์  หมวดธนาคาร  หมวดแท็กซี่  หมวดสอบถามข้อมูล  หมวดการติดต่อสื่อสาร  หมวดแจ้งเหตุด่วน  และหมวดอุทกภัย หมวด Delivery เป็นหมวดที่รวบรวมเบอร์โทรศัพท์ร้านอาหารที่วิ่งส่งอาหารไปถึงบ้าน อย่างเช่น  แมคโดนัลด์ เคเอฟซี พิซซ่าฮัท เอ็มเค เอสแอนด์พี เป็นต้น ทั้งยังมีแจ้งรายละเอียดช่วงเวลาในการโทรสั่ง ราคาค่าจัดส่ง หมวดโรงภาพยนตร์  เป็นหมวดที่รวบรวมเบอร์โทรศัพท์ของเครือโรงภาพยนตร์ที่มีทั้งหมด อย่างเช่น เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ เอสเอฟซีนีม่า อีจีวี เป็นต้น โดยแบ่งย่อยเป็นเบอร์โทรศัพท์ของสาขาต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ หมวดธนาคาร  จะรวบรวมเบอร์ธนาคารทุกธนาคารไว้  หมวดแท็กซี่ จะรวบรวมเบอร์ธุรกิจบริษัทแท็กซี่ทั้งหมดที่มี  และหมวดการติดต่อสื่อสาร  จะรวบรวมศูนย์บริการของเครือข่ายโทรศัพท์ทั้งหมดทั่วประเทศไว้ ไม่เพียงแต่เครือข่ายของมือถือ อย่างเช่น เอไอเอส  ดีแทค  ทรูมูฟ เท่านั้น ยังมีของ ทีโอที กสท. ด้วย หมวดสอบถามข้อมูล จะแบ่งย่อยเป็นหมวดย่อยบริการภาครัฐและบริการทางสังคม จะมีสายด่วนผู้บริโภค อย. สายด่วนประกันสังคม ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริการทางสังคม ซึ่งในหมวดนี้มีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครวมอยู่ด้วย  นอกจากนี้ยังมีหมวดย่อยการเดินทาง การจราจร หมวดย่อยภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ หมวดย่อยสุขภาพ และหมวดย่อยอื่นๆ ที่รวบรวมเบอร์ติดต่อของศูนย์ที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ไว้ หมวดแจ้งเหตุด่วน  จะแยกย่อยเป็นเรื่องอุบัติเหตุ จราจร เพลิงไหม้ สาธารณูปโภค กู้ชีพ และรถพยาบาล ส่วนหมวดอุทกภัย จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับไฟฟ้า การประปา เป็นต้น ในแอพพลิเคชั่น “แอพสายด่วน” นี้ ยังสามารถจัดเก็บเบอร์โทรที่ผู้ใช้ต้องใช้เป็นประจำไว้ได้ภายในเมนู Favarite เพื่อสะดวกกับการหาในครั้งต่อไป และผู้ใช้สามารถเพิ่มข้อมูลด้วยตัวเองภายในเมนูเพิ่มเบอร์โทรได้อีกด้วย สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ทั้งในระบบสำหรับมือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ทาง App Store  และสำหรับมือถือระบบปฏิบัติการ iOS โดยพิมพ์คำว่า “แอพสายด่วน” หรือในเว็บไซต์ http://m.kapook.com/hotline    

อ่านเพิ่มเติม >