ฉบับที่ 198 คิดก่อนกิน โปรไบโอติกเม็ด

ผลิตภัณฑ์นี้เป็นอาหารเสริมจากอเมริกาที่ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์สายพันธุ์ที่ดีต่อสุขภาพของมนุษย์หรือ ”โปรไบโอติก” จำนวน 10 สายพันธุ์ โดย 1 เม็ดจะประกอบด้วยจุลินทรีย์จำนวน 1 หมื่นล้านตัวที่ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้มีประสิทธิภาพและเสริมภูมิต้านทานโรค อีกทั้งยังประกอบด้วย “อินนูลิน” ซึ่งเป็นอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งเรียกว่า “พรีไบโอติก” ... คำกล่าวอ้างนี้เป็นโฆษณาของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมตัวหนึ่ง ท่านผู้อ่านคิดว่า ข้อความนี้ถูกหรือผิดอย่างไรสำหรับผู้เขียน โฆษณาในแนวนี้ดูเหมือนว่า ไม่น่าจะมีอะไรผิด เพียงแต่ผู้บริโภคควรถามตนเองว่า ฉันควรซื้อสินค้าชนิดนี้มากินด้วยเหตุผลใด ซึ่งคำตอบนั้นอาจเป็น เพราะไม่มีโอกาสได้กินอาหารที่มีองค์ประกอบ ซึ่งให้โปรไบโอติก(เชื้อแบคทีเรียที่ดีต่อลำไส้) หรือไม่ได้กินอาหารที่ให้พรีไบโอติก(ซึ่งเป็นอาหารสำหรับโปรไบโอติก) หรือไม่มีเวลาที่จะกินอาหารให้ครบห้าหมู่ ดังนั้นการขับถ่ายนั้นจึงไม่ดี บลาๆๆก่อนตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อ ผู้อ่านจึงจำเป็นต้องทราบข้อมูลเหล่านี้เสียก่อน  โปรไบโอติก คือ จุลชีพที่ยังมีชีวิตบางชนิดที่ร่างกายได้รับเสริมเข้าไปจากภายนอก ซึ่งถ้าได้ในปริมาณที่เหมาะสมย่อมก่อให้เกิดผลดีต่อร่างกาย โดยปกติร่างกายเรามีจุลินทรีย์หรือจุลชีพ ที่มีประโยชน์เหล่านี้อยู่แล้ว แต่ด้วยพฤติกรรมการกินหรือการปฏิบัติตนประจำวันทำให้มีปริมาณจุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้ไม่สมดุล หรือมีปริมาณจุลินทรีย์ที่ดีน้อยลง ปัจจัยต่างๆ ที่ว่านั้น เช่น การกินยาปฏิชีวนะเป็นประจำ การกินยาแก้ปวดบ่อยๆ การดื่มแอลกอฮอล์ และ/หรือสูบบุหรี่เป็นนิจ ฯลฯ การกระทำแบบนี้มีส่วนทำให้จำนวนของจุลินทรีย์ที่ดีลดน้อยลงประเด็นหนึ่งซึ่งอาจไม่สำคัญนัก แต่รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม คือ ในทางเดินอาหารของเรานั้น มีแบคทีเรียอยู่ในช่วงระหว่าง 300 ถึง 1000 สายพันธุ์ โดยร้อยละ 99 เป็นแบคทีเรียเพียง 30-40 สายพันธุ์ ดังนั้นการลดเพิ่มจำนวนในแต่ละสายพันธุ์จึงส่งผลดีหรือร้ายต่อร่างกายของเรา นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่หลายท่านอาจสงสัยว่า แล้วมีวิธีการใดที่ทำให้โปรไบโอติกเข้าไปอยู่ในร่างกายเราได้ตั้งแต่เกิดโปรไบโอติกเข้าไปอยู่ในร่างกายเราได้อย่างไรมีหนังสือหลายเล่มกล่าวว่า ในระบบทางเดินอาหารของเด็กในท้องแม่นั้นอยู่ในสภาพปลอดเชื้อ นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่า เมื่อเด็กออกมาจากท้องแม่นั้นแบคทีเรียจากแม่(คิดว่าอาศัยอยู่ในช่องคลอดของแม่) และสิ่งแวดล้อมจะเริ่มเข้าสู่ตัวเด็ก ดังนั้นองค์ประกอบของแบคทีเรียในแต่ละคนจึงมี ความแตกต่างที่มีความคล้ายกันไป นับจากจุดเริ่มต้นของชีวิต และรูปแบบชนิดของโปรไบโอติกจะชัดเจนเมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี สิ่งที่น่าสนใจคือ เด็กที่คลอดตามธรรมชาติมักมีความแตกต่างอย่างชัดเจนในเรื่องของแบคทีเรียในลำไส้เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่กำเนิดจากการถูกผ่าคลอดมีข้อความโฆษณาจากอินเทอร์เน็ตอีกที่หนึ่งกล่าวประมาณว่า หากแม่รับประทานอาหารที่มีโปรไบโอติก ช่องคลอดจะมีโปรไบโอติก ซึ่งเป็นการลดการติดเชื้อราในช่องคลอด เวลาลูกคลอดออกมาก็รับโปรไบโอติกจากแม่ทางปากมดลูก และหากลูกดูดนมแม่ลูกก็ได้รับโปรไบโอติกจากหัวนมแม่ด้วย ซึ่งจะช่วยย่อยน้ำตาลแลคโทสในน้ำนมลดการติดเชื้อในลำไส้เด็ก(Atopic Dermatitis) ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้วข้อความดังกล่าวดูแปลกดีเพราะมองไม่ออกว่า โปรไบโอติกที่แม่กินเข้าไปนั้นไปสู่ช่องคลอดและหัวนมของแม่ได้อย่างไรโดยทั่วไปแล้วแบคทีเรียในขั้นเริ่มต้นของชีวิตเด็กนั้น มักเป็นชนิดที่อยู่ได้ทั้งในสภาพที่มีออกซิเจนและไม่มีออกซิเจน ดังนั้นเมื่อออกซิเจนในทางเดินอาหารตอนล่างหมด แบคทีเรียชนิดไม่ใช้ออกซิเจนจึงคงอยู่เป็นหลักในลำไส้ใหญ่ สิ่งที่น่าสนใจคือ เด็กที่ได้รับนมแม่มักมีแบคทีเรียกลุ่ม bifidobacteria ซึ่งเป็นกลุ่มหลัก ที่เข้าใจกันว่าเพราะในน้ำนมแม่มีปัจจัย(bifidobacterial growth factor) ที่ช่วยให้แบคทีเรียกลุ่มนี้เจริญดี พร้อมทั้งอุดมไปด้วยพรีไบโอติกของแบคทีเรียกลุ่มนี้ ดังนั้นเด็ก ซึ่งดื่มนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจึงมีแบคทีเรียในลำไส้ต่างไปบ้างจากเด็กที่ดื่มนมแม่จนครบเวลาที่ควรเป็นความสำคัญของโปรไบโอติกกล่าวกันในหลายบทความว่า หน้าที่หลักของโปรไบโอติกคือ ยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ก่อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย โดยมีกลไกกระตุ้นการหลั่งสารหลายชนิดออกมาต่อต้านและช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อต่อสู้กับเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายเหล่านั้น และเมื่อโปรไปโอติกเหล่านั้นเข้าไปแล้วก็จะไปรบกวนไม่ให้จุลินทรีย์ก่อโรคทั้งหลายเกาะติดผนังลำไส้ และถูกขับออกไปกับอุจจาระในที่สุดส่วนอินนูลินที่มีการเติมในสินค้าข้างต้นนั้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี  (soluble fiber)  ใยอาหารนั้นไม่ถูกจัดเป็นสารอาหารเพราะร่างกายไม่สามารถย่อยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์โดยตรงได้ จึงเคลื่อนลงสู่ลำไส้ใหญ่หลังการย่อยอาหารในแต่ละมื้อ โดยใยอาหารชนิดที่จัดว่าเป็นพรีไบโอติก หรือเป็นอาหารของแบคทีเรียในกลุ่มโปรไบโอติกซึ่งอยู่ในลำใส้ใหญ่ (สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ดีอย่างไรจะกล่าวต่อไป) ส่วนใยอาหารอีกกลุ่มซึ่งอุ้มน้ำไม่ดี (insoluble fiber) นั้น แม้แบคทีเรียไม่สามารถใช้เป็นอาหารได้ ก็มีประโยชน์อย่างน้อย 2 ประการคือ จับสารพิษที่หลงเหลือในกากอาหารแล้วนำออกจากร่างกายพร้อมกับอุจจาระ และการช่วยทำให้อุจจาระไม่แข็งจนก่อให้เกิดริดสีดวงทวารยังมีงานวิจัยที่กล่าวว่า ใยอาหารกลุ่มที่อุ้มน้ำได้ดีนั้น มีผลช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่ในเลือดและลดระดับโคเรสเตอรอล เพิ่มปริมาณไขมันดี (HDL) และลดระดับปริมาณไขมันเลว (LDL) จึงมีการนำมาใช้กับอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและเป็นอาหารลดความอ้วนได้ ประเด็นเหล่านี้ขอไม่กล่าวในบทความนี้เพราะเป็นเรื่องยาวเกินไปผู้เขียนใคร่ขยายความในประเด็นหนึ่งที่ผู้อ่านบางท่านอาจยังไม่ตระหนักนักคือ ทุกครั้งที่ท่านกินผักหรือผลไม้นั้น ท่านควรได้ใยอาหารทั้งสองกลุ่ม มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไปแล้วแต่ชนิดของพืช ใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี ซึ่งมีสบบัติเป็นพรีไบโอติกนั้นมักมีลักษณะสัมผัสที่นุ่มในปาก ในขณะที่ใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำไม่ดีนั้นผู้บริโภคจะรู้สึกหยาบเมื่ออยู่ในปาก ประโยชน์ข้างเคียงของใยอาหารกลุ่มนี้คือ การทำความสะอาดซอกฟัน โดยผักที่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คะน้า ซึ่งมีก้านใบเป็นใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีแต่เนื้อใบเป็นส่วนที่อุ้มน้ำได้ดีกว่า และถ้าต้องการตัวอย่างของอาหารที่มีใยอาหารอุ้มน้ำดีในปริมาณสูงก็ให้นึกถึง กล้วยชนิดต่างๆ หรือผักตระกูลแตงต่างๆกลับมาที่ประเด็น ซึ่งผู้เขียนกล่าวไว้ในตอนต้นของบทความว่า ท่านผู้อ่านรู้ตัวได้อย่างไรว่า ต้องการกินโปรไบโอติกและ/หรือพรีไบโอติก คำตอบนั้นไม่ยากนักโดยให้พิจารณาว่า หากตื่นนอนแล้วปฏิบัติการถ่ายอุจจาระหลังตื่นนอนไม่ไหลลื่นตามที่ควรเป็น(ก่อให้เกิดการคั่งค้างของกากอาหารในลำไส้ใหญ่) เมื่อนั้นท่านผู้อ่านควรคิดถึงโปรไบโอติกและพรีไบโอติกได้แล้วคำถามที่ควรตามมาคือ จำเป็นต้องซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งให้โปรไบโอติกหรือพรีไบโอติก หรือให้ทั้งสองอย่างซึ่งมักมีการใช้คำว่า ซินไบโอติก (synbiotic) หรือไม่ คำตอบคือ ท่านอยากกินสิ่งนี้ในรูปของอาหารที่มีรสชาติ หรือในรูปเม็ดยาซึ่งไม่มีรสอะไรในอินเทอร์เน็ตนั้น มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มาของโปรไบโอติกอย่างมากมาย แต่ข้อมูลที่ดูจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยคือ อาหารหมักดองของภาคต่างๆ นั่นเอง  แต่เน้นว่า ควรเป็นผักดอง ซึ่งเราควรกินดิบเพื่อให้ได้จุลินทรีย์ที่มีชีวิต แต่ในกรณีของเนื้อสัตว์หมักดอง เช่น ปลาร้า ปลาเจ่า หอยดอง นั้น ผู้เขียนไม่สนับสนุนให้กินดิบเพราะโอกาสได้รับพยาธิมีสูงมาก อันตราย แต่ถ้าทำให้สุกโปรไบโอติกก็ตายไปหมดสิ่งที่เหลือคือความอร่อยเท่านั้นสำหรับพรีไบโอติกนั้น ในกรณีที่ท่านผู้อ่านไม่นิยมกินในรูปเม็ดยา ท่านสามารถกินผักและผลไม้ดังที่ผู้เขียนกล่าวข้างต้น(คะน้า กล้วย แตง) และหากเป็นอาหารที่อยู่ในรูปที่เรียกว่า ซินไบโอติกของไทย แบบซื้อง่ายและกินได้คล่องนอกช่วงเข้าพรรษาก็คือ ข้าวหมาก ยิ่งถ้าเป็นข้าวหมากจากข้าวเหนียวดำแล้ว นอกจากจะได้โปรไบโอติกและพรีไบโอติก ท่านยังได้สารต้านออกซิเดชั่นและสารต้านการก่อกลายพันธุ์พร้อมกันไปด้วย แต่อาจต้องรู้ไว้ก่อนว่า ท่านไม่ควรกินข้าวหมากมากไป เพราะอาจถูกตรวจพบแอลกอฮอล์ในลมหายใจได้ และอาหารนี้ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งที่เด็กและสตรีมีครรภ์กิน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 น้ำส้มสายชู..เพื่อสุขภาพ ?

หลายท่านคงเคยถูกชักชวนให้ดื่มน้ำส้มสายชูเพื่อให้มีสุขภาพดี ประเด็นนี้ก่อความประหลาดใจแก่ผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง(เพราะปรกติเรามักใส่น้ำส้มสายชูใน ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ผัดไทย ราดหน้า หรือนำไปดองผักผลไม้ หรือแม้แต่ใช้ล้างเครื่องซักผ้าตามคำแนะนำของช่างซ่อมเครื่อง) เนื่องจากมองหาเหตุผลไม่ได้ว่า น้ำส้มสายชูช่วยให้สุขภาพดีได้อย่างไร ถ้าไม่กินอาหารให้ครบห้าหมู่ในปริมาณที่เหมาะสม พร้อมทั้งการออกกำลังกายที่เพียงพอน้ำส้มสายชูนั้นมีคำเรียกในภาษาอังกฤษว่า Vinegar ซึ่งเมื่อดูประวัติที่มาของศัพท์คำนี้ก็พบว่า เป็นคำที่ตั้งขึ้นจากการสังเกตของคนโบราณที่พบว่า ถ้าหมักไวน์เกินเวลาที่เหมาะสม ไวน์นั้นกลับมีรสเปรี้ยวขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า จุลชีพหลักที่อยู่ในไวน์ได้เปลี่ยนจากยีสต์ ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลจนสุดท้ายเป็นแอลกอฮอล์ ไปเป็นแบคทีเรียซึ่งเปลี่ยนแอลกอฮอลไปเป็นกรดอะซิติก ทำให้ได้น้ำส้มสายชูธรรมชาติ ซึ่งควรมีความเข้มข้นของกรดไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ตามมาตรฐานของ Codex และสหภาพยุโรป โดยทั่วไปแล้วน้ำส้มสายชูธรรมชาตินั้นแบ่งง่าย ๆ เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ น้ำส้มสายชูที่ได้จากการหมักผลไม้และน้ำส้มสายชูที่ได้จากการหมักพืชอื่น ๆ ด้วยจุลชีพที่มีในธรรมชาติ(หรือที่มีการคัดเลือกพันธุ์เฉพาะไว้เมื่อเป็นการผลิตในโรงงานใหญ่ที่ต้องการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน) ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักถูกใช้ในการปรุงอาหารหรือผลิตอาหารบางชนิด อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีผู้คิดว่า น้ำส้มสายชูควรมีประโยชน์โดยตรงต่อสุขภาพของผู้บริโภคนอกเหนือไปจากเป็นเครื่องปรุงอาหาร ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประโยชน์ของน้ำส้มสายชูต่อสุขภาพที่พบในอินเทอร์เน็ต เช่น ฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรียและเชื้อรา ต้านพิษแมงกะพรุนและบรรเทาผิวไหม้แดด บำบัดอาการปวดศีรษะ เจ็บกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดท้อง ป้องกันการติดเชื้อที่หูชั้นนอก บำบัดแผลพุพองในปากแห้ง ทำให้ผมเงางาม ผิวพรรณนุ่มนวล ลดโคเลสเตอรอลและป้องกันการเกิดเบาหวานขั้นต้น และที่ผู้เขียนค่อนข้างสนใจมากคือ มีผู้ที่เชื่อว่า นํ้าส้มสายชูผสมน้ำผึ้งกับนํ้าอุ่นช่วยให้หายปวดตะคริวที่ขา ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการเล่นกีฬาที่ใช้กำลังกายสูง อย่างไรก็ดีการพิสูจน์ประโยชน์ต่าง ๆ ของน้ำส้มสายชูนั้นยังมีเจ้าภาพในการพิสูจน์ที่เป็นระบบทางวิทยาศาสตร์ค่อนข้างน้อย อาจเพราะไม่มีใครสามารถจดสิทธิบัตรน้ำส้มสายชูได้นั่นเองอย่างไรก็ตามในวันหนึ่งของเดือนเมษายน 2560 ซึ่งร้อนจนตับแทบสุก ผู้เขียนก็ได้พบข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตในหัวข้อเรื่อง How Apple Cider Vinegar May Help With Weight Loss ซึ่งเขียนโดย Markham Heid ในเว็บ http://time.com/time-health เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2017 โดยกล่าวว่า มีนักวิจัยของบริษัท Mizkan Group Corporation (www.mizkan.net/profile) ซึ่งเป็นบริษัทที่ขายน้ำส้มสายชูและเครื่องปรุงรสต่างๆ ในญี่ปุ่นเคยตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรื่อง Vinegar Intake Reduces Body Weight, Body Fat Mass, and Serum Triglyceride Levels in Obese Japanese Subjects ในวารสาร Bioscience, Biotechnology, and Biochemistry หน้าที่ 1837–1843 ของชุดที่ 73 เมื่อปี 2009 ความโดยย่อจากผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้คือ จากการให้อาสาสมัคร(กลุ่มละ 58-59 คน) ซึ่งมีอายุระหว่าง 25-60 ปี (ที่จัดว่าอ้วนเพราะมีดัชนีมวลกาย 25-30 กิโลกรัม/ตารางเมตร) ดื่มน้ำส้มสายชูทำจากแอปเปิ้ล ที่เจือจางด้วยน้ำสะอาดให้มีความเข้มข้นตามกำหนด (ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่ามี กรดอะซิติกเท่ากับ 0, 750 หรือ 1,500 มิลลิกรัม ในน้ำ 500 มิลลิลิตรต่อวัน) นาน 12 สัปดาห์ สามารถช่วยลดน้ำหนัก ดัชนีมวลกาย ไขมัน (visceral and subcutaneous fat) และดัชนีอื่น ๆ ที่ตรวจวัดได้อย่างน่าประทับใจคนทำวิจัย อย่างไรก็ดีสำหรับผู้เขียน เมื่อดูข้อมูลจากบทความที่ตีพิมพ์แล้วกลับรู้สึกว่า มันก็งั้น ๆ ทั้งนี้เพราะค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวเมื่อจบการวิจัย(สัปดาห์ที่ 12) ของอาสาสมัครที่กินน้ำส้มสายชูสูงสุด(1,500 มิลลิกรัม) คือ 71.2 ± 8.3 กิโลกรัม(สัปดาห์ที่ 0 หนัก 73.1 ± 8.6) ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้กินน้ำส้มสายชู(Placebo group) นั้นมีน้ำหนักเมื่อจบการวิจัยคือ 74.6 ± 11.3 (สัปดาห์ที่ 0 หนัก 74.2 ± 11.0) ซึ่งดูไม่น่ามีความหมายเท่าใด เพราะน้ำหนักตัวผู้เขียนก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาในช่วง 2-3 กิโลกรัม โดยไม่ต้องดื่มน้ำส้มสายชูจากบทความของ Markham Heid ซึ่งผู้เขียนได้อ่านนั้น เขาได้สัมภาษณ์ Dr.Carol Johnston ซึ่งเป็นอาจารย์ด้าน โภชนาการและการส่งเสริมสุขภาพ ของมหาวิทยาลัย Arizona State University ผู้ให้ความเห็นว่า น้ำส้มสายชูนั้นคงเข้าไปปรับเปลี่ยนในกระบวนการใช้พลังงานของร่างกาย เช่น การกระตุ้นให้มีการเผาผลาญไขมัน นอกจากนี้ Markham Heid ยังกล่าวว่าเขาพบงานวิจัยอีกชิ้นที่ตั้งสมมุติฐานว่า การดื่มน้ำส้มสายชูช่วยลดน้ำหนักเพราะ ก่อให้ผู้ที่ดื่มเกิดอาการคลื่นไส้จนกินอาหารไม่ลงความรู้สึกที่ดีต่อการดื่มน้ำส้มสายชูของ Dr. Johnston อีกเรื่องนั้น เกี่ยวกับผลการวิจัยของเธอเองซึ่งพบสมมุติฐานว่า น้ำส้มสายชูมีแนวโน้มในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการไปลดการดูดซึมอาหารกลุ่มที่ทำจากแป้ง เช่น พิซซ่า ซึ่งฟังแล้วดูดีต่อผู้ที่ใกล้จะมีอาการเบาหวาน ที่มักมีระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นทุกครั้งหลังอาหารนอกจากนี้ Dr. Johnston ยังให้ข้อสังเกตว่า อาหารเมดิเตอเรเนียน ซึ่งถูกจัดให้เป็นอาหารสุขภาพนั้นก็มีน้ำส้มสายชูเป็นองค์ประกอบในปริมาณที่น่าสนใจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถประยุกต์สู่พฤติกรรมการบริโภคในแต่วันได้ เช่น การใช้น้ำส้มสายชูปริมาณสูงหน่อยกับสลัดผักในมื้ออาหารสำหรับชนิดของน้ำส้มสายชูที่ควรค่าแก่การดื่มหรือปรุงอาหารนั้น Dr. Johnston กล่าวเพียงว่า ขอแค่เป็นน้ำส้มสายชูก็พอ จะผลิตจากพืชอะไรก็ได้ ผลมันก็ดูจะเหมือนกันในประเด็นการลดน้ำหนักที่เธอสนใจ แต่ถ้าเป็นประเด็นอื่นก็ต้องว่ากันเป็นเรื่องๆ ไป เช่น ความสามารถในการลดความดันโลหิตสูงของน้ำส้มสายชู  ซึ่งผู้เขียนค่อนข้างสนใจในเรื่องนี้เช่นกันผลของน้ำส้มสายชูต่อความดันโลหิตนั้น มีงานวิจัย(ที่ใช้หนูทดลอง) ของ Shino Kondo และคณะนักวิจัยของบริษัท Mitsukan Group Corporation (ซึ่งผลิตสินค้าเกี่ยวกับอาหารและมีหน่วยงานวิจัยด้านไบโอเท็คขั้นสูงจนสามารถขอสิทธิบัติเกี่ยวกับยีนทนกรดน้ำส้มของแบคทีเรีย) ชื่อ Antihypertensive Effects of Acetic Acid and Vinegar on Spontaneously Hypertensive Rat ผลงานนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Bioscience, Biotechnology, and Biochemistry (ซึ่งเป็น online journal ดังนั้นผู้อ่านจึงต้องใช้ กาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 ในการอ่านบทความนี้) เมื่อปี 2001 ซึ่งมีผลการวิจัยโดยสรุปว่า หนูที่ได้กินอาหารเหลวซึ่งมีน้ำส้มสายชูที่ทำจากข้าวเป็นองค์ประกอบ (คำนวณเป็นกรดอะซีติก 46.2 กรัมต่อลิตรของอาหาร) นั้น เมื่อวัดปริมาณ angiotensin II ในเลือดพร้อมกับการทำงานของ reninพบว่าลดลง (ค่าทั้งสองนี้เป็นปัจจัยในการเพิ่มความดันโลหิตมนุษย์) สำหรับความรู้สึกในการดื่มน้ำส้มสายชูทำจากผลไม้นั้น กล่าวบรรยายเป็นตัวอักษรได้ค่อนข้างยาก เลยไม่รู้ว่าควรยกนิ้วอะไรให้ เพราะหลังจากดื่มอึกแรกเข้าไปผู้เขียนรู้สึกว่า คอหอยมันระคายเคืองด้วยฤทธิ์กัดของกรดอะซิติก (ที่มีความเข้มข้นราวร้อยละ 5) ประสบการณ์ครั้งนั้นเกิดเนื่องจากมีนักศึกษาขอทำสัมมนาวิชาการเรื่อง เมื่อน้ำส้มสายชูเป็นมากกว่าเครื่องปรุง โดยนักศึกษาผู้นั้นได้ลงทุนซื้อน้ำส้มสายชูจากแอปเปิ้ลที่บรรจุกล่องแบบเดียวกับน้ำผลไม้ขนาด 150 มิลลิลิตร (ปัจจุบันสินค้านี้ไม่เห็นมีวางตลาดแล้ว) มาให้กรรมการคุมการสัมมนาดื่ม ซึ่งก็เป็นครั้งแรกและคงเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตผู้เขียนที่ดื่มเครื่องดื่มนี้ดังนั้นผู้บริโภคพึงคำนึงว่า ถ้าต้องการได้ประโยชน์จากสารธรรมชาติที่ถูกกล่าวว่า พบในน้ำส้มสายชูเหล่านี้จริง ทำไมจึงไม่จ่ายเงินซื้อในรูปผลไม้ซึ่งได้ประโยชน์มากมายพร้อมความอร่อย แล้วค่อยตั้งหลักไปกินน้ำส้มสายชูใน ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ซอสมะเขือเทศ ผักดองน้ำส้มต่าง ซึ่งถูกกว่าและง่ายกว่าต่อการมีชีวิตบนโลกใบนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 วิตามินซีต้านหวัด...หรือ!!!!

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ข้อมูลว่า วิตามินซีนั้นช่วยป้องกันหวัด (และเลยเถิดไปถึงการป้องกันมะเร็ง) โดยอ้างถึงความเชื่อในเรื่องนี้ของ ดร.ไลนัส พอลิ่ง (Dr. Linus Pauling เป็นนักวิทยาศาสตร์เพียงหนึ่งในสองคนของโลกที่ได้รางวัลโนเบลถึงสองสาขา) ซึ่งทุ่มเทความรู้ความสามารถพยายามพิสูจน์ในคุณประโยชน์ของวิตามินซีในประเด็นดังกล่าว จึงทำให้มีคนศรัทธาเชื่อตามในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้ที่ขายวิตามินซีเป็นอาชีพอย่างไรก็ตามผู้ที่สนใจติดตามข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถของวิตามินซีอย่างลึกซึ้ง หรือได้เรียนรู้ในศาสตร์สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพในระดับที่สูงขึ้นกว่าคนทั่วไป มักเคยพบข้อมูลเกี่ยวกับความสงสัยในเรื่องนี้ว่า “วิตามินซีป้องกันหวัดได้จริงหรือ” เพราะเมื่ออ่านผลการศึกษาทางระบาดวิทยาแล้ว ส่วนใหญ่มักออกมาในแบบไม่สามารถสรุปผลได้ชัดเจน อาจเนื่องจากมนุษย์กินอาหารที่เป็นของผสมซึ่งซับซ้อนจนยากในการแยกแยะว่า การที่ใครสักคนมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคใดมากหรือน้อยนั้นขึ้นกับสารอาหารชนิดใด เพราะส่วนใหญ่มักเป็นผลที่เกิดเนื่องจากรูปแบบการกินอาหารมากกว่า ดังนั้นความเชื่อเรื่องการเสริมวิตามินซีในระดับสูงกว่าที่มนุษย์กินเป็นปรกติจากอาหารเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดนั้น จึงดูว่า ยังสรุปอย่างชัดเจนไม่ได้วิตามินซีนั้นเป็นสารชีวเคมีที่มนุษย์สร้างเองในร่างกายไม่ได้ ต้องแสวงหาโดยการกินผักใบเขียว มะเขือเทศ พริก ฯลฯ และกินผลไม้ตระกูลส้ม ฝรั่ง มะขามป้อม มะละกอสุก สตอร์เบอร์รี่ ฯลฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งวิตามินซีอันสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของเรา วิตามินซีมีความสำคัญต่อกระบวนการสร้างโปรตีนชนิดที่เรียกว่า คอลลาเจน(โดยในกระบวนการสร้างนั้นมีเอ็นซัมหนึ่งในหลายชนิดที่มีวิตามินซีเป็นตัวช่วยสำคัญร่วมทำหน้าที่นี้) โปรตีนชนิดนี้เป็นองค์ประกอบหลักของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน(Connective tissue) ในร่างกายเราซึ่งพบได้ที่ ผิวหนัง เหงือก กล้ามเนื้อ ข้อต่อของร่างกาย หลอดเลือดต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อใดที่ร่างกายต้องซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ชำรุด วิตามินซีต้องถูกเรียกใช้งานเป็นประจำ อีกทั้งความสามารถในการสร้างคอลลาเจนนั้นเป็นดัชนีชี้วัดความแก่ของเราที่มองเห็นด้วยสายตาของผู้อื่นประการสำคัญที่เกี่ยวกับการป้องกันหวัดคือ วิตามินซียังเป็นหนึ่งในสารอาหารอีกหลายชนิดที่เชื่อกันว่า จำเป็นต่อระบบภูมิต้านทาน ประเด็นนี้ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า การกินวิตามินซีชนิดเดียวมากๆ เข้าไปนั้นอาจช่วยป้องกันหวัดได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะระบบภูมิต้านทานที่ลดความเสี่ยงในการเป็นหวัดของเรานั้นต้องอาศัยสารอาหารอื่นร่วมด้วยคือ โปรตีนที่มีกรดอะมิโนครบ วิตามินเอ แร่ธาตุเช่น สังกะสี และอื่นๆ มาร่วมทำงานกับวิตามินซี ข้อมูลจากบทความเรื่อง Can vitamin C prevent a cold ? ซึ่งปรากฏใน Harvard Health Letter ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2017 นั้นเล่าถึงผลสรุปของการศึกษาทางระบาดวิทยาที่รวบรวมหลักฐานจากการศึกษา 29 ชิ้น มีอาสาสมัครร่วมงานวิจัยกว่า 11,000 คน แสดงให้เห็นว่า วิตามินซีราว 200 มิลลิกรัมต่อวันที่ให้แก่นักวิ่งมาราธอน นักกีฬาแข่งสกี และทหารประจำการที่ฝึกหนักในบริเวณที่มีอากาศหนาวนั้น สามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดได้ถึงร้อยละ 50 ในขณะที่วิตามินซีขนาดเดียวกันไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดในกลุ่มคนธรรมดาซึ่งไม่ได้ออกแรงเท่าใดนักในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ดียังมีข้อมูลที่ทำให้คนขายวิตามินซีใจชื้นขึ้นมานิดหนึ่งว่า โดยทั่วไปแล้วการได้รับวิตามินซี(ทั้งจากอาหารหรือการเสริม) ในขนาด 200 มิลลิกรัมต่อวันนั้นช่วยให้จำนวนวันของการเป็นหวัดในผู้ใหญ่ลดลงร้อยละ 8 และลดลงร้อยละ 14 ในเด็ก ข้อมูลดังกล่าวนี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์คำนวนต่อได้ว่า วิตามินซีน่าจะช่วยให้วันที่คนไม่สามารถทำงานเพราะเป็นไข้หวัดนั้นกลับคืนมามากว่า 23 ล้านวันทำงานต่อปีทีเดียว บทสรุปที่ได้จากบทความของ Harvard Health Letter ฉบับที่อ้างถึงข้างต้นนี้คือ ถ้าต้องการลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดควรได้รับวิตามินซีราว 200 มิลลิกรัมต่อวัน(ไม่ว่าจากการเสริมหรือจากอาหาร) พร้อมกับมีการใช้แรงกายมากพอจึงได้ผลดี(ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกับการเสริมแคลเซียมที่ต้องออกกำลังกายด้วยหลังกินแคลเซียมเม็ดเพื่อให้ได้ผลในการลดความเสี่ยงของอาการกระดูกบาง) ที่สำคัญคือ ต้องกินวิตามินซีก่อนเป็นหวัด ไม่ใช่เป็นหวัดแล้วจึงกินซึ่งช่วยได้แค่ทางใจนอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดที่ผู้เขียนคิดว่า น่าจะใช่ กล่าวคือ ผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อต้องไปในสถานที่ที่มีคนน่าจะเป็นหวัดเยอะเช่น โรงพยาบาลของราชการ(โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่มักไม่จอแจและมีระบบระบายอากาศดีเป็นไปตามค่าบริการที่ค่อนข้างสูง) โรงภาพยนตร์ รถประจำทางปรับอากาศรุ่นโกโรโกโส เป็นต้น ประเด็นหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญแต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงคือ การได้รับวิตามินซีจากอาหารและจากการเสริมในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น มีความแตกต่างกันในบริบทของการได้รับสารอาหารจำเป็นอื่นๆ ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เพราะวิตามินซีที่ขายเป็นเม็ดนั้นคือ กรดแอสคอบิค(ชื่อทางเคมีของวิตามินซี) มักถูกผสมกับแป้งพร้อมน้ำตาลทราย และอาจมีการเพิ่มสารสกัดจากธรรมชาติบางชนิด เช่น ฟลาโวนอยด์ นัยว่าฟลาโวนอยด์นั้นช่วยให้การดูดซึมวิตามินซีให้ดีขึ้น จึงเป็นเหตุผลในการใช้คำเฉพาะเพื่อส่งเสริมการขายเช่น Bio-vitamin C โดยหวังให้ผู้บริโภคเข้าใจเอาเองว่า สินค้าที่ระบุแบบนี้เป็นวิตามินซีที่สกัดจากธรรมชาติ ซึ่งมักมีราคาที่แพงขึ้นกว่าวิตามินซีเม็ดที่สังเคราะห์ในโรงงาน ดังนั้นถ้าจะให้การกินวิตามินซีได้ผลดีท่านผู้บริโภคควรกินในรูปผลไม้เพื่อให้ได้ฟลาโวนอยด์ไปพร้อมกันกับความอร่อยของผลไม้นั้นอีกประเด็นที่หลายท่านมักเข้าใจผิดว่า อาหารที่มีวิตามินซีสูงต้องมีรสเปรี้ยว ดังเช่นเมื่อกินผลไม้ตระกูลส้มซึ่งมักมีรสเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ แล้วได้วิตามินซีในระดับน่าพอใจ เลยเข้าใจว่าการดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำเชื่อมใส่น้ำแข็งก็น่าจะได้วิตามินซีในระดับสูงเช่นกัน เรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกนักเพราะ รสชาติที่แท้จริงของวิตามินซีคือ ขม ดังนั้นผลไม้ที่ขม เช่น มะขามป้อม จึงมีวิตามินซีสูงกว่ามะนาว อีกทั้งข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมักระบุว่า สามารถพบวิตามินซีระดับสูงได้ในอาหารที่ไม่มีรสเปรี้ยว เช่น พริกหวาน บรอคโคลี กะหล่ำดาว (Brussels sprout) ฯลฯ และการที่ผู้ค้าวิตามินซีเม็ด นำเอาน้ำตาลทรายและกรดมะนาวมาปิดบังความขมของวิตามินซีชนิดเม็ดนั้น เป็นการทำให้เด็กติดในรสชาติหวานอมเปรี้ยวซึ่งไม่ถูกต้อง เป็นการทำให้เด็กเข้าใจผิดว่า วิตามินซีเม็ดนั้นเป็นลูกอมที่มีประโยชน์ปราศจากโทษ น่าจะอมเล่นได้ทั้งวัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการได้รับวิตามินนี้เกินควร จึงมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าอมวิตามินซีมากเกินจำเป็นแล้วจะส่งผลเสียต่อร่างกายหรือไม่ ข้อมูลชิ้นหนึ่งซึ่งสืบค้นได้ในอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า การกินวิตามินซีเสริมในระดับ 2000 มิลลิกรัมต่อวันนั้นมักก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และอาจส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังมีผู้ตั้งสมมุติฐานว่า วิตามินซีปริมาณสูงมากๆ นั้นเป็นสาเหตุของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ด้วยเหตุนี้นักวิชาการที่ไม่มีนอกมีในกับบริษัทผู้ค้าวิตามินชนิดนี้ส่วนใหญ่ มักแนะนำผู้บริโภคว่า การกินอาหารที่มีวิตามินซีสูงดีกว่าการกินวิตามินซีเม็ด เพราะเมื่อกินจากอาหารจะได้ความอร่อยในภาพรวมมากกว่าการกินสิ่งที่เป็นเม็ด ซึ่งอาจมีแค่ความเปรี้ยวหวานหลอกเด็ก ประการที่สำคัญคือ การกินจากอาหารมักทำให้ได้วิตามินซีพร้อมสารอาหารอื่น ซึ่งจำเป็นในการทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย อย่างไรก็ดีเมื่อใดก็ตามที่ผู้บริโภคอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถกินผักผลไม้สดได้ วิตามินซีที่เป็นเม็ดก็เป็นทางเลือกที่จำเป็นต่อสุขภาพที่ดีเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ควรแนะนำให้สตรีมีครรภ์กินปลาเพื่อได้ลูกที่มีสติปัญญาตามที่ควรเป็นหรือไม่

สาเหตุหนึ่งที่หลายคนเลี่ยงการกินปลาคือ ปลานั้นต้องอยู่ในน้ำตลอดเวลาและน้ำเป็นแหล่งธรรมชาติที่มักมีสารพิษปนเปื้อน มากบ้างน้อยบ้างขึ้นกับความมักง่ายของคนในพื้นที่ที่ปลาถูกจับ จึงมีคำถามว่า แล้วอย่างนี้ควรแนะนำให้สตรีมีครรภ์กินปลาเพื่อได้ลูกที่มีสติปัญญาตามที่ควรเป็นหรือไม่การศึกษาทางระบาดวิทยาเกี่ยวกับผลของการกินปลาต่อการพัฒนาของระบบประสาทเด็กในท้องแม่นั้นมีมานาน เช่น การศึกษาในชุมชนบนเกาะซีเซลล์ (Seychelles) ซึ่งอยู่นอกฝั่งอัฟริกาด้านตะวันออกในมหาสมุทรอินเดีย(เมื่อปี 1998 และ 2003) และการศึกษาในชุมชนบนหมู่เกาะฟาโร (Faroe Islands) ในมหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งอยู่ในอาณัติของเดนมาร์ค (เมื่อปี 1997) แสดงให้เห็นว่า DHA (Docosahexaenoic acid) ซึ่งเป็นหนึ่งในกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา 3 ที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทในสมองส่วนสีเทา (grey matter) และผนังของลูกตาในช่วงสามเดือนสุดท้ายของการท้องต่อเนื่องถึง 2 ปีแรกหลังคลอดของเด็ก และที่น่าสนใจเมื่อพบว่า แม่ที่กินปลาเป็นประจำระหว่างท้องได้ลูกมีพฤติกรรมที่ดี ผลการเรียนดี สายตาดี ความจำดี สามารถเรียนรู้และเข้าใจในการเรียนภาษาได้ดีตั้งแต่เด็ก ในทางระบาดวิทยาได้พบหลักฐานว่า การกินกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา-3 จากปลาหรือน้ำมันปลานั้นลดความเสี่ยงต่อการตาย เนื่องจากโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ (Coronary heart diseases) โดยมีข้อสรุปจากการศึกษาว่า การกินน้ำมันปลา 250-500 มิลลิกรัมของกรดไขมันชนิด EPA (Eicosapentaenoic) รวมกับ DHA ต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจร้อยละ 36 อย่างไรก็ดีการกินมากขึ้นกว่านี้กลับไม่ช่วยให้ความเสี่ยงต่ำลงไปอีก ซึ่งแสดงว่า ประโยชน์จากการกินน้ำมันปลาต่อการป้องกันโรคหัวใจนั้นไม่ได้แปรผันโดยตรง ดังนั้นผู้สนใจกินน้ำมันปลาจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนด้วยเหตุที่การกินปลาเป็นเรื่องสำคัญของชาวโลกโดยเฉพาะในสตรีมีครรภ์ องค์การอาหารและเกษตรร่วมกับองค์การอนามัยโลก ซึ่งต่างก็สังกัดองค์การสหประชาชาติจึงได้ร่วมทำงาน(Joint Expert Consultation) อีกครั้งในเรื่องเกี่ยวกับ ความเสี่ยงและประโยชน์(Risks and Benefits) ของการกินปลา เมื่อวันที่ 25-29 มกราคม 2010 ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การอาหารและเกษตร ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ประเด็นหลักของการประชุมคือ แม้ว่าปลาหลายชนิดอุดมด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา 3 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ แต่ปลาก็เป็นแหล่งของสารพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่ปลาอาศัยอยู่เช่น เม็ททิลเมอร์คิวรีและไดออกซิน ดังนั้นการชั่งน้ำหนักถึงความเสี่ยงในการได้รับสารพิษต่อประโยชน์จากการกินปลาจึงเป็นเรื่องสำคัญในการถกความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ 17 คน ถึงความเสี่ยงภัยและประโยชน์ที่ได้จากการกินปลานั้น เป็นการพูดคุยกันในกรอบความรู้ด้านโภชนาการ พิษวิทยา ระบาดวิทยา และการประเมินความเสี่ยง/ประโยชน์ในการกินปลา ซึ่งสุดท้ายได้มีรายงานการประชุมชื่อ Report of the Joint Fao/Who Expert Consultation On The Risks And Benefits Of Fish Consumption ออกมาให้เราได้อ่านงานหลักของผู้เชี่ยวชาญครั้งนี้คือ การทบทวนข้อมูลของระดับสารอาหารและสารปนเปื้อนบางชนิดคือ เม็ททิลเมอร์คิวรีและไดออกซิน ซึ่งปนเปื้อนในปลาหลากหลายสายพันธุ์ ตลอดจนข้อมูลอื่นๆ ที่สำคัญ เพื่อใช้ในการพิจารณาประเมินถึงความเสี่ยงอันตรายจากสารพิษต่อประโยชน์ที่ได้จากน้ำมันปลามีการตั้งความหวังว่า ผลที่ได้จากการประชุมนั้น ควรถูกประเทศสมาชิกของสหประชาชาตินำไปใช้เป็นข้อแนะนำในการปฏิบัติงานเพื่อประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ในการกินปลาของประชาชน โดยในรายงานฉบับนี้กำหนดให้ “ปลา” หมายถึง ปลาที่มีครีบและสัตว์น้ำที่มีเปลือก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ทะเลหรือน้ำจืด ทั้งที่เลี้ยงในฟาร์มและอยู่ในธรรมชาติหลังการประชุมเสร็จผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องกันว่า ควรมีขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงต่อประโยชน์ที่ได้จากการกินปลาของแต่ละประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในการทำความเข้าใจกับประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค ดังนั้นสิ่งที่ได้ออกมาจากการประชุมคือ ขอบข่ายงาน (Framework) ของการประเมินผลสุดท้ายที่ได้จากการกินอาหารปลา ทั้งด้านประโยชน์และโทษเพื่อเป็นเกณฑ์ให้หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางอาหารระดับชาติของแต่ละประเทศและองค์กรที่กำหนดมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ เช่น Codex Alimentarius Commission ใช้ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงในการบริโภคปลาสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญสรุปได้คือ การกินปลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกินของแต่ละชุมชนนั้นเป็นประโยชน์ เพราะปลาเป็นแหล่งของ โปรตีน พลังงาน และสารอาหารต่างๆ ซึ่งรวมถึง กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา-3 และที่สำคัญคือ การกินปลานั้นช่วยลดความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจ ดังนั้นจึงมีคำแนะนำให้สตรีมีครรภ์กินปลาเพื่อให้การพัฒนาระบบประสาทของเด็กในครรภ์เป็นไปตามศักยภาพที่มีในแง่ของอันตรายจากสารปนเปื้อนนั้นพบว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหากับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจเนื่องจากเม็ททิวเมอร์คิวรีนั้น ข้อมูลที่มีอยู่ไม่ชัดเจน ส่วนความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเนื่องจากไดออกซิน(dioxin) นั้น แม้พบว่ามีอยู่แต่ก็ยังมีผลต่ำกว่าการรับได้ประโยชน์ต่อสุขภาพจากการกินปลา นอกจากนี้ในการประชุมนั้น ได้มีการพิจารณาเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับจากกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา-3 ต่อความเสี่ยงอันตรายเนื่องจากเม็ททิลเมอร์คิวรีของลูกในกลุ่มสตรีวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งพบว่า การกินปลาระหว่างการตั้งครรภ์ช่วยลดความเสี่ยงของการไม่พัฒนาของระบบประสาทของลูกแบบแอบแฝง (suboptimal neurodevelopment) ให้ต่ำลงเมื่อเทียบกับลูกของสตรีที่ไม่กินปลาสำหรับระดับของการสัมผัสสารพิษไดออกซิน จากการกินปลาและอาหารอื่นของแม่โดยทั่วไปนั้น ยังไม่เกินระดับที่ยอมรับให้สัมผัสได้ในแต่ละเดือน (Provisional Tolerable Monthly Intake หรือ PTMI) ที่กำหนดโดย JECFA (เมื่อพิจารณาถึงสาร PCDDs, PCDFs และ PCBs) คือ 70 พิโคกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ดังนั้นการกินปลาจึงยังไม่น่าก่อให้เกิดความเสี่ยงในการพัฒนาด้านระบบประสาทของเด็กในครรภ์ อย่างไรก็ดีในกรณีที่มีการสัมผัสสารพิษไดออกซินของสตรีในบางประเทศเกินระดับที่กำหนดนั้น ความเสี่ยงดังกล่าวไม่สามารถถูกตัดทิ้ง เมื่อมีการพิจารณาถึงกลุ่มทารก เด็กเล็กและวัยรุ่นเกี่ยวกับการกินปลานั้น พบว่าข้อมูลในการประชุมดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะสร้างขอบข่ายการประเมินเกี่ยวกับปริมาณ(quantitative framework) สารพิษที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและประโยชน์ที่ได้รับจากการกินปลา อย่างไรก็ดีรูปแบบการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพซึ่งรวมถึงการกินปลานั้น ได้ถูกวางไว้ในวัยดังกล่าวแล้วเพื่อให้มีผลต่อเนื่องถึงชีวิตการเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี อีกทั้งในปี 2007 นั้น The World Cancer Research Fund และ American Institute for Cancer Research ได้รายงานถึงผลของอาหาร โภชนาการ การเคลื่อนไหวร่างกายต่อการเกิดมะเร็ง โดยไม่มีข้อมูลที่ระบุว่าการกินปลานั้นก่อความเสี่ยงอันตรายแต่อย่างไรสำหรับข้อเสนอแนะที่สำคัญจากการประชุมครั้งนี้คือ ประเทศสมาชิกต้องหาทางลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อกลุ่มเป้าหมายตามกระบวนการที่แนะนำ ทั้งในเรื่องการประเมินและการจัดการความเสี่ยง/ประโยชน์ที่ได้รับจากการกินปลาตลอดจนถึงการสื่อสารส่งต่อข้อมูลสู่ประชากร มีการเน้นย้ำว่า เพื่อให้ประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบประสาทของเด็กที่คลอดจากหญิงตั้งครรภ์และแม่ให้นมลูกที่กินปลาเกิดขึ้นนั้น ประเทศสมาชิกต้องดำรงและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับสารอาหารจำเพาะในปลาบางชนิดและโอกาสปนเปื้อนของสารพิษ(โดยเฉพาะอย่างยิ่งเม็ททิลเมอร์คิวรีและไดออกซิน) ในปลาที่ประชาชนในแต่ละประเทศสมาชิกกินและที่สำคัญคือ ต้องมีการพัฒนาและประเมินหลักการจัดการความเสี่ยงรวมถึงการสื่อสารข้อมูลในการลดความเสี่ยงอันตรายจากการกินปลาให้ต่ำสุดโดยได้รับประโยชน์จากการกินปลาสูงสุดสิ่งที่น่ากังวลจากการประชุมคือ มีบางประเทศที่เกิดความเสี่ยงในการยับยั้งการพัฒนาสมองของเด็กระหว่างที่อยู่ในท้อง เนื่องจากแม่กินปลาที่มีการปนเปื้อนเม็ททิลเมอร์คิวรี นอกจากนี้โอกาสเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ผลกระทบด้านภูมิต้านทานและการสืบพันธุ์ก็ยังเป็นไปได้ อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ความสมบูรณ์ในข้อมูลด้านอันตรายของไดออกซินที่ปนเปื้อนในปลาต่อสุขภาพเช่น ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ ภูมิต้านทาน การพัฒนาระบบประสาทตลอดจนถึงมะเร็งนั้นยังไม่สมบูรณ์พอสุดท้ายนี้จึงมีคำถามซึ่งอยู่ในใจของผู้เขียนว่า สตรีมีครรภ์ในบ้านเราได้กินปลาที่ปลอดภัยจากสารพิษที่ปนเปื้อนในทะเลแล้วหรือไม่ เพราะปลาที่จับจากอ่าวไทยมันนั้นน่าจะมีสารพิษเพิ่มขึ้นทุกวัน ทั้งสารพิษจากชุมชม โรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนการล่มของเรือบรรทุกน้ำมันและการรั่วไหลจากบ่อน้ำมันในทะเล อีกทั้งบนชายฝั่งทะเลอันดามันนั้นก็กำลังมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมแถบทวารและมะริดของเพื่อนบ้านไล่ลงมาถึงความพยายามสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน (ซึ่งยังไงๆ ก็ไม่มีทางสะอาด) แล้วสุขภาพทางสมองของเด็กไทยที่แม่ต้องกินปลาที่ปนเปื้อนจะเป็นอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 เครื่องดื่มจากต้นไม้

ผู้เขียนเป็นคนตื่นเช้า อาจเพราะอยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต (30 ปีเรียนหนังสือ 30 ปีทำงาน และ 30 ปีลิ้มรสความสงบสุข) จึงต้องการเห็นแสงแดดและหายใจในแต่ละวันให้มากเท่าที่ทำได้ อีกทั้งปัจจุบันผู้เขียนได้เปลี่ยนระบบอินเทอร์เน็ตจาก ADSL ซึ่งเป็นเน็ตที่มาตามสายโทรศัพท์บ้านไปเป็นเน็ตที่มากับสายนำสัญญาณใยแก้วหรือไฟเบอร์ออปติคซึ่งมีความเร็วสูงกว่าเดิมเป็น 4-5 เท่าตัว ด้วยค่าบริการที่ผู้ให้บริการแจ้งว่าเท่าเดิม แถมได้ดูโทรทัศน์ผ่านกล่อง (ให้ยืม) ของผู้ให้บริการซึ่งมีรายการน่าสนใจที่ไม่เคยดูจากโทรทัศน์ระบบปรกติ เช้าวันหนึ่งผู้เขียนได้ดูช่องข่าวของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นภาษาเกาหลีล้วน ปรากฏว่าข่าวหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการผลิตเครื่องดื่มจากต้นเมเปิลของเกาหลีด้วยวิธีไม่ยากนัก กล่าวคือเป็นการเจาะรูที่ลำต้นแล้วเอาชุดสายยางเสียบเข้าไปในรูที่เจาะ จากนั้นน้ำซึ่งเรียกว่า sap ก็ไหลออกมาค่อนข้างเยอะ จนสามารถรวมน้ำจากหลายต้นแล้วบรรจุขวดขายเป็นเครื่องดื่มสุขภาพในลักษณะ SMEคนไทยรู้จักดีถึงน้ำหรือของเหลวที่ได้จากต้นไม้ เช่น น้ำจากผลมะพร้าว น้ำตาลสดจากจั่นของต้นตาลและต้นมะพร้าว น้ำจืดจากเถาวัลย์ในป่า น้ำจืดจากกระบอกไม้ไผ่ แต่ไม่ค่อยมีใครให้ความรู้เรื่องน้ำที่เจาะได้จากต้นไม้แล้วมีรสชาติดีสามารถนำมาทำเป็นเครื่องดื่มได้ คงเป็นเพราะบ้านเราไม่มีไม้ที่เหมาะแก่การเจาะเอาน้ำออกมาจากต้นได้นั่นเองบทความหนึ่งเรื่อง In South Korea, Drinks Are on the Maple Tree เขียนโดย Choe Sang-Hun ในวารสารออนไลน์ชื่อ Hadong Journal เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2009 ให้ข้อมูลสรุปว่า ในช่วงเวลาที่อุณหภูมิของเกาหลีต่ำกว่าจุดเยือกแข็งในตอนกลางคืนแล้วอุ่นขึ้นในตอนกลางวัน ซึ่งมีแสงแดดจ้าและปราศจากลมแรง นั้นเป็นช่วงเวลาที่กบเลิกจำศีลและนกหัวขวานเริ่มเจาะต้นไม้ทำรังใหม่ ชาวบ้านในชนบทของเกาหลีใต้จะเริ่มเทศกาลเจาะต้นเมเปิลเพื่อให้ได้ของเหลวซึ่งเรียก โกโระเซะ (Gorosoe) มาดื่มกัน ภาพข่าวซึ่งเห็นได้ทั้งทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์นั้นดูเรียบง่าย เพราะเป็นการเจาะรูกลางต้นไม้แล้วเสียบหัวก๊อก (tap) เข้ากับต้นไม้โดยตรงจากนั้นน้ำหวานก็ไหลผ่านสายยางเข้าสู่ภาชนะที่ปลายสายยางตามธรรมเนียมของชาวชนบทในเกาหลีแถบฮาดอง ซึ่งอยู่ทางใต้ของกรุงโซลราว 180 ไมล์นั้น ผู้นิยมดื่มโกโระเซะนี้อาจดื่มได้ถึง 20 ลิตรต่อวัน โดยปักหลักปูเสื่อแล้วดื่มของเหลวจากท่อที่ต่อออกมาจากต้นเมเปิลพร้อมกินขนมขบเคี้ยวเช่น ปลาแห้งรสเค็ม (ซึ่งทำให้หิวน้ำมากขึ้น) ควบไปกับการเล่นไพ่ สำหรับชาวแคนาดา อเมริกันและชาติอื่นๆ ในพื้นที่ภูมิศาสตร์ที่มีต้นเมเปิลขึ้นได้นั้น มีการรวบรวมเอาน้ำที่เจาะได้จากต้นเมเปิลมาเคี่ยวจนเป็นน้ำเชื่อมเมเปิล (น้ำที่เจาะได้ 10 ลิตรทำน้ำเชื่อมได้ 1 ลิตร) ซึ่งขึ้นชื่อว่า เป็นน้ำเชื่อมที่หอมหวานเหมาะกับการราดหน้าแพนเค็กแบบสุดๆ ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า น้ำเชื่อมเมเปิลนั้นมีไวตามินบี 2 สูงเนื่องจากน้ำที่เจาะได้จากต้นไม้นั้นถูกนำมาใส่ขวดขายได้ จึงเป็นที่แน่นอนว่ามีการอ้างถึงประโยชน์ของน้ำจากต้นไม้นี้ต่อร่างกายในลักษณะที่ปราศจากการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากไม่มีใครสามารถจดลิขสิทธิ์สินค้าลักษณะนี้ได้ จึงไม่มีเอกชนลงทุนทำการวิจัยถึงคุณประโยชน์ที่มีข้อมูลสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ เพราะผลการศึกษาที่ได้นั้นใคร ๆ ก็นำไปใช้ในการโฆษณาสินค้าได้ การศึกษาความจริงลักษณะนี้ทางวิทยาศาสตร์จึงทำได้เฉพาะในหน่วยราชการหรือเป็นงานวิจัยของนักศึกษาเท่านั้นการทำน้ำเชื่อมเมเปิลในทวีปอเมริกาเหนือนั้น ที่จริงแล้วเป็นภูมิปัญญาของคนพื้นเมือง ซึ่งผู้อพยพจากยุโรปได้ตอบรับนำมาสู่วิถีชีวิตแบบไม่รีรอ พร้อมกับทำการพัฒนากระบวนการให้ประณีตขึ้นเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ดีขึ้น ประเทศแคนาดาเป็นแหล่งผลิตน้ำเชื่อมเมเปิลที่ใหญ่ที่สุด เพราะผลิตได้ราว 3 ใน 4 ของปริมาณที่พลโลกต้องการ โดยมีการส่งออกด้วยมูลค่าเกือบ 150 ล้านเหรียญดอลลาร์แคนาดา อีกทั้งประเทศนี้ยังเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ชนิดที่เรียกว่า DIY (do it yourself) รายใหญ่สำหรับมือสมัครเล่นที่ประสงค์จะเจาะน้ำจากต้นเมเปิลที่ปลูกไว้ข้างบ้าน (วิธีการและสินค้านั้นหาดูได้จาก YouTube)จากคลิปเรื่อง Maple syrup ใน YouTube ให้ข้อมูลว่า น้ำเชื่อมเมเปิลเป็นน้ำเชื่อมที่ทำจากน้ำที่ได้จากท่อส่งน้ำ (xylem) ของต้นเมเปิลเช่น เมเปิลน้ำตาล (sugar maple) เมเปิลแดง (red maple) หรือเมเปิลดำ (black maple) โดยในช่วงก่อนเข้าหน้าหนาวต้นเมเปิลจะสะสมแป้งในลำต้น จนพอเริ่มเข้าฤดูใบไม้ผลิ แป้งจะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลซึ่งถูกลำเลียงเข้าสู่ท่อส่งน้ำซึ่งมนุษย์สามารถเจาะดูดเอาน้ำซึ่งมีรสหวานเฉพาะตัวมาบริโภค ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กระบวนการต้มจนได้เป็นน้ำเชื่อมในประเทศอื่นเช่น จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย ก็มีการดื่มน้ำจากต้นเมเปิลเช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นเรื่องเป็นราวเหมือนกับการดื่มของชาวเกาหลี นอกจากเมเปิลแล้วยังมีไม้ในสกุลอื่นอีกชนิดซึ่งมีผู้กล่าวว่า เป็นไม้ประจำชาติรัสเซีย ที่มนุษย์เจาะเอาน้ำจากท่อนำน้ำออกมาดื่มได้คือ เบิร์ช (Birch) ผู้เขียนพบบทความเรื่อง น้ำหวานจากต้นเบิร์ช ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 3 พฤษภาคม 2552 ในเว็บ oknation โดยผู้เขียนบทความนี้ได้เล่าประมาณว่า ร้านค้าของชำและอาหารในประเทศรัสเซียนั้นมีเครื่องดื่มใส ๆ ออกสีเขียวจาง ๆ ขายคล้ายน้ำผลไม้ น้ำนี้มีรสชาติหอมนิด ๆ หวานหน่อย ๆ พร้อมกลิ่นไม้ซึ่งได้มาจากต้นเบิร์ช สินค้าชนิดนี้มีขายทั้งที่เป็นของจริงและทำเทียมเลียนแบบ เนื่องจากน้ำต้นเบิร์ชของจริงนั้นเก็บรักษาในสภาพอุณหภูมิห้องได้เพียงไม่นานก็สูญเสียรสชาติ จึงจำต้องแช่แข็งแล้วละลายออกมาขาย การเจาะต้นเบิร์ซให้ได้น้ำมากที่สุดนั้นต้องเป็นช่วงก่อนฤดูใบไม้ผลิ (เช่นเดียวกับต้นเมเปิลที่กล่าวแล้วข้างต้น) ต้นเบิร์ชใหญ่ ๆ 1 ต้นสามารถให้น้ำได้มากถึง 15 ลิตรใน 1 วัน อย่างไรก็ดีช่วงเวลาการเก็บน้ำหวานนี้มีเวลาไม่เกิน 1 เดือนในแต่ละปี และในช่วงเวลาตอนปลายของการเก็บน้ำจะเริ่มขม ชนชาติอื่นที่นิยมดื่มน้ำต้นเบิร์ชเช่นกันนั้นอยู่ในยูเครน เบลารุส ฟินแลนด์ จีนตอนเหนือ คนแถบทะเลบอลติก สวีเดนและเดนมาร์ก จากการวิเคราะห์ทางเคมีพบว่า น้ำต้นเบิร์ชนั้นมีน้ำตาลไซลีทอล แคลเซียม โปแตสเซียม แมงกานีส แมกนีเซียม ฟอสฟอรัสและเหล็ก โปรตีน กรดอะมิโน และพฤกษเคมี ย้อนกลับมาที่น้ำซึ่งเจาะได้จากต้นเมเปิลนั้น คนเกาหลี รัสเซียและอีกหลายชาติเชื่อกันว่า น้ำที่เจาะได้จากต้นไม้นี้มีคุณค่าทางการแพทย์ อีกทั้งความหมายของคำว่า โกโระเซะ (Gorosoe) ในภาษาเกาหลีคือ ดีต่อกระดูก ซึ่งอาจเป็นจริงก็ได้ เพราะเมื่อมีการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์พบว่า น้ำที่ได้จากต้นไม้เหล่านี้เมื่อทำเป็นน้ำเชื่อมแล้วมีแมงกานีสสูง ซึ่งเชื่อกันว่าธาตุนี้ช่วยทำให้มวลกระดูกคงสภาพอยู่ได้นาน (ดูข้อมูลได้ที่ http://umm.edu/health/medical/altmed/supplement/manganese) ในสหรัฐอเมริกามีบริษัทหนึ่งชื่อ Happy Tree (www.drinkhappytree.com) มีสินค้าชื่อ Maple Water สินค้านี้เป็นน้ำจากต้นเมเปิลบรรจุขวดพลาสติกด้วยกระบวนการผลิตที่ไม่ใช้ความร้อนจึงคุยว่า สามารถรักษาความเป็นธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ได้ดี มีรสชาติเป็นที่โปรดปรานของลูกค้า บริษัทนี้ระบุว่า น้ำจากต้นเมเปิลของบริษัทเต็มไปด้วยจุลโภชนาสาร (micronutrients) และเอ็นซัม (ขอให้ฟังหูไว้หูเพราะเอ็นซัมส่วนใหญ่แล้วมักเสื่อมสภาพเมื่อถูกบรรจุใส่ขวด) นอกจากนี้ยังมีการโฆษณาต่ออีกว่า ในปัจจุบันมีร้านอาหารชื่อดังนำสินค้าดังกล่าวไปใช้ในการปรุงอาหารและผสมทำเครื่องดื่มมึนเมา (นัยว่าเพื่อสุขภาพ ???) อีกหลายสูตรถึงจุดนี้ท่านผู้อ่านคงพอเห็นแล้วว่า สักวันหนึ่งเครื่องดื่มที่ได้จากการเจาะต้นไม้ (นอกเหนือไปจากน้ำเชื่อมเมเปิล) ไม่ว่าจะผลิตจากเกาหลี รัสเซีย หรือสหรัฐอเมริกานั้น คงมาเติมเต็มความอยากดื่มกินของแปลกของผู้บริโภคชาวไทย ผู้เขียนขอทำนายว่า คงมีการโฆษณาขายผ่านโทรทัศน์ดาวเทียมเป็นหลักโดยมีโทรทัศน์ดิจิตอลเป็นส่วนเสริม ในช่วงเวลาที่ผู้ดูปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารและโภชนาการละสายตาจากจอมอนิเตอร์เพื่อทำธุระส่วนตัวหรือนอนหลับพักผ่อน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 ผลประโยชน์ทับซ้อน

หลายครั้งที่ผลงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการได้ระบุถึงสาเหตุของการเกิดโรค ซึ่งดูมีประโยชน์มากต่อประชาชน จากนั้นความรู้ดังกล่าวก็ได้ถูกใช้ในแวดวงวิชาการอย่างแพร่หลาย ตราบจนวันหนึ่งก็พบความจริงว่า ความรู้ที่ได้จากบทความเหล่านั้นถูกต้องแบบมีการปกปิดซ่อนเร้นความบกพร่องในการเผยแพร่ผลงานวิชาการนั้น อาจเกิดเพราะผู้เผยแพร่ต้องการละเว้นในการแสดงผลงานที่ได้ประจักษ์ทั้งหมด ส่วนใหญ่เกิดเนื่องจาก ถ้าแสดงผลงานครบแล้วอาจไม่ถูกใจผู้ให้ทุนทำวิจัย และยิ่งถ้าเป็นงานวิจัยที่ทำในหน่วยงานของเอกชนที่หวังผลกำไร (Profit organization) การตีพิมพ์ผลงานนั้นต้องผ่านการกลั่นกรองจากองค์กรว่า ไม่กระทบถึงสิ่งที่องค์กรได้ประโยชน์ การปกปิด/เบี่ยงเบน/ละเว้นในการแสดงความจริงในผลงานวิชาการนั้น หลายท่านคงเดาได้ว่ามันคือ ผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งอาจเกิดขึ้น โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ทั้งเจตนาหรือไม่เจตนา หรือบางเรื่องเป็นการปฏิบัติ สืบต่อกันมาจนไม่เห็นว่าเป็นสิ่งผิดแต่อย่างใด พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการกระทำความผิดทางจริยธรรมเพราะคำนึงถึงผลประโยชน์หรือความอยู่รอดของตนเองตัวอย่างของผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้นในวงการวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพของพลเมืองอเมริกันและพลเมืองในหลายประเทศของดาวโลกดวงนี้คือ การก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เมื่อต้องการลดการได้รับพลังงานในอาหารเพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจนั้นให้กำจัดไขมันแล้วเปลี่ยนไปรับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตโดยเฉพาะน้ำตาลทรายแทน เรื่องราวเป็นอย่างไรนั้นขอท่านผู้อ่านโปรดติดตามวารสารออนไลน์ของนิตยสาร Time ได้เสนอบทความของ Alexandra Sifferlin เรื่อง How the Sugar Lobby Skewed Health Research เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2016 ซึ่งกล่าวถึงบทความของนักวิจัยท่านหนึ่งของโรงเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยที่ถูกจัดลำดับเลขตัวเดียวของสหรัฐอเมริกาว่า ในช่วงต้นปี 1950 ถึงปลายช่วงปี 1960 อุตสาหกรรมน้ำตาลนั้นได้มีส่วนในการเบี่ยงเบนความเชื่อทางโภชนาการของผู้บริโภคเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจหรือ coronary heart disease (CHD) โดยให้นักโภชนาการจากมหาวิทยาลัยแนวหน้าแห่งหนึ่งทำวิจัยแล้วกล่าวว่า โรคนี้เกิดเนื่องจากไขมันและโคเลสเตอรอล ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์สุขภาพทั้งหลายยอมเออออห่อหมกว่า การกินอาหารที่มีไขมันต่ำน่าจะเป็นเรื่องที่ดีต้นตอของบทความที่ Alexandra Sifferlin นำมาเขียนนั้น เป็นบทความทางวิชาการเรื่อง Sugar Industry and Coronary Heart Disease Research: A Historical Analysis of Internal Industry Documents ของทันตแพทย์ Cristin E. Kearns และคณะ ซึ่งตีพิมพ์เป็นข้อมูลออนไลน์ใน JAMA Internal Medicine เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 บทความนี้ก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนในวงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากระบุว่า ก่อนปี ค.ศ. 1980 นั้นงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างๆ ไม่ได้ถูกกำหนดให้ระบุถึงการที่ผู้ทำวิจัยมีผลประโยชน์ทับซ้อนประการใดหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันนี้วารสารที่เชื่อถือได้ส่วนใหญ่ได้กำหนดให้ผู้เขียนบทความวิจัยต้องระบุเสมอว่า ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนแต่อย่างใด ซึ่งหมายความว่า ผู้ทำวิจัยไม่ได้รับทรัพย์มาทำวิจัยเพื่อกำหนดให้งานออกมาแล้วเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้เงินทุนเป็นการเฉพาะทันตแพทย์ Kearns กล่าวว่า ความจริงแล้วได้มีงานวิจัยที่ส่งสัญญานเตือนว่า น้ำตาลทรายนั้นส่อว่าเป็นสาเหตุของโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตั้งแต่ในช่วงปี 1960 ซึ่งงานวิจัยลักษณะนี้กระตุ้นให้องค์กรที่เป็นตัวแทนของผู้ค้าน้ำตาลทรายในสหรัฐอเมริกา (ซึ่งทันตแพทย์ Kearns ระบุชื่อไว้แต่ผู้เขียนไม่ประสงค์จะออกนาม) อยู่เฉยไม่ได้ ต้องเริ่มตั้งทุนเพื่อทำการทำวิจัยถึงสาเหตุว่า อะไร (ซึ่งต้องไม่ใช่น้ำตาลทราย) คือตัวปัญหาที่ก่อให้เกิดโรคที่บั่นทอนสุขภาพนี้ กว่า 60 ปีมาแล้วที่องค์กรผู้ค้าน้ำตาลในสหรัฐอเมริการณรงค์ให้ประชาชนกินอาหารที่มีไขมันต่ำ โดยใช้พื้นฐานความรู้ที่ได้จากนักวิจัยด้านโภชนาการที่ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการกินอาหารที่มีไขมันสูงและการเพิ่มขึ้นของโคเลสเตอรอลว่า เป็นต้นเหตุของการตีบตันของเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ ซึ่งทำให้บุคลากรด้านสาธารณสุขทั่วโลกแนะนำให้ประชาชนลดปริมาณไขมันในอาหาร ความจริงคำแนะนำนี้ไม่ถึงกับผิดเสียทีเดียว เพราะสมัยนั้นยังไม่มีการค้นพบว่าผักและผลไม้นั้นให้ประโยชน์อย่างมหาศาลต่อร่างกาย ดังนั้นส่วนของไขมันในอาหารที่ถูกลดไปจึงถูกจับจ้องจากกลุ่มผู้ค้าน้ำตาลว่า เป็นโอกาสที่พลังงานจากน้ำตาลทรายจะเข้าไปแทนที่ ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์อันมหาศาลที่ตามมาท่านผู้อ่านหลายท่านคงพอทราบว่า ด้วยน้ำหนักที่เท่ากันนั้นไขมันให้พลังงานกว่าสองเท่าของคาร์โบไฮเดรต ดังนั้นการเข้าไปแทนที่ไขมันด้วยน้ำตาลทรายนั้น จำต้องใช้น้ำตาลทรายในน้ำหนักที่เป็นสองเท่าของไขมัน เพื่อให้ผู้บริโภคได้พลังงานเท่าที่ร่างกายต้องการ ประเด็นสำคัญคือ วันหนึ่งเราต้องการพลังงานเท่าไร เว็บของคนไทยบางเว็บกล่าวว่า ผู้หญิงไทยต้องการพลังงานเฉลี่ยวันละ 1500 กิโลแคลอรี ส่วนผู้ชายไทยต้องการ 2000 กิโลแคลอรี ส่วนเว็บฝรั่งมักแนะนำให้ผู้หญิงได้รับพลังงานวันละ 2000 กิโลแคลอรี และผู้ชายควรได้รับวันละ 2500 กิโลแคลอรี ความแตกต่างนั้นมีผู้ให้ความเห็นว่า เนื่องจากฝรั่งมีโครงสร้างร่างกายใหญ่กว่าคนไทย ในความเป็นจริงนั้นค่าความต้องการพลังงานของร่างกายคนเราจริง ๆ นั้นไม่ควรเป็นตัวเลขตัวเดียวโดด ๆ  แต่ควรเป็นช่วงของตัวเลข เพราะความต้องการพลังงานในแต่ละวันของมนุษย์นั้นขึ้นกับ ขนาดของร่างกาย อายุ และอุปนิสัยการใช้งานร่างกายว่า ขยับเขยื้อนมากน้อยเพียงใดดังนั้นสิ่งที่น่าจะบอกว่า เราได้รับพลังงานและสารอาหารจำเป็นในแต่ละวันพอหรือไม่นั้นน่าจะสังเกตุได้จากน้ำหนักตัวว่า อยู่ในช่วงที่เหมาะสมของค่า BMI (ดัชนีมวลกาย) ระหว่าง 18.5-24.9 หรือไม่ แม้ว่ามีนักวิชาการไทยบางคนกล่าวว่า คนไทยมีโครงสร้างเล็กกว่าฝรั่ง ค่า BMI ควรเป็น 18.5-22.99 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทำให้คนไทยซึ่งมีค่า BMI 23-24.99 หมดกำลังใจในการลดน้ำหนักเพราะกลายเป็นคนท้วมไปก็อย่าไปสนใจมากนักเลย เพราะถ้าใช้เกณฑ์สากลเขาเหล่านี้จะยังเป็นผู้มีค่า BMI ปรกติอยู่ ค่า BMI ควรเป็นเท่าไรนั้นไม่ใช่เรื่องตายตัว เนื่องจากหลายคนที่มีค่า BMI สูงเกิน 25 ก็ยังปรกติได้เพราะมีมวลกล้ามเนื้อสูงกว่าปรกติ เนื่องจากเขาผู้นั้นเป็นนักเพาะกายหรือเล่นกีฬาที่จำเป็นต้องมีความหนาของกล้ามเนื้อเพื่อความแข็งแรงในการปะทะ ดังนั้นการพิจารณาค่า BMI ควรมองพร้อมไปกับเส้นรอบเอว ซึ่งเป็นตัวบอกความจริงบางประการเกี่ยวกับไขมันที่สะสมบริเวณหน้าท้อง อย่างไรก็ดีปริมาณไขมันหน้าท้องก็แปรเปลี่ยนไปตามอายุ เนื่องจากคนที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไปนั้นหายากที่หน้าท้องแบนดังนั้นเมื่อร่างกายต้องใช้พลังงานเพื่อดำรงชีวิต เราจึงต้องได้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตและไขมันจากอาหาร แต่เมื่อมีข้อมูลที่กล่าวว่าไขมันและโคเลสเตอรอลเป็นสาเหตุของโรคเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตัน จึงเปิดทางสะดวกให้มีการใช้น้ำตาลทรายและน้ำตาลอื่นเป็นแหล่งพลังงานแทน จึงทำให้หลายคนมีโอกาสได้น้ำตาลสูงกว่าความต้องการ เพราะความหวานของอาหารนั้นก่อให้เกิดการเสพติด น้ำตาลนั้นเมื่อถูกกินมากเกินความต้องการ ร่างกายสามารถเปลี่ยนมันเป็นไขมันและโคเลสเตอรอลได้ ดังระบุไว้ในงานวิจัยเรื่อง Dietary fats, carbohydrates and atherosclerotic vascular disease.ของ R.B. McGandy และคณะ ซึ่งตีพิมพ์มานานแล้วในวารสาร New England Journal of Medicine ฉบับที่ 277 หน้าที่ 186-192 ปี 1967นอกจากนี้ในปี 1972 J. Yudkin (ซึ่งได้ทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหาของน้ำตาลทรายต่อการเกิดโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ) ได้พิมพ์หนังสือเรื่อง Pure, White and Deadly: The Problem of Sugar (สำนักพิมพ์ Davis-Poynter แห่งกรุงลอนดอน)  ออกมาเพื่อกระตุ้นสังคมให้นึกถึงน้ำตาลทรายบ้างไม่ใช่กลัวแค่ไขมันและโคเลสเตอรอลเท่านั้นสรุปแล้วการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและความอ้วนในปัจจุบันนี้  ควรต่างไปจากเดิม เพราะการระวังเพียงพลังงานจากอาหารอย่างเดียวนั้นดูจะไม่ได้เรื่องเท่ากับการมองว่า พลังงานนั้นมาจากอาหารชนิดใดในสัดส่วนที่เหมาะสมหรือไม่ การเน้นประเด็นเพื่อลดพลังงานลงโดยไปจัดการกับไขมันเป็นหลักนั้นอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพเช่นของชาวอเมริกันในปัจจุบัน เพราะแม้จะพยายามกินอาหารที่มีไขมันต่ำลงเพียงใด (แต่เพิ่มน้ำตาลเป็นแหล่งให้พลังงาน) ก็ไม่สามารถลดน้ำหนักได้สักที จนสุดท้ายต้องปล่อยไปตามยถากรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ออกกำลังกายต้านโรค

เพื่อเกาะกระแสที่นายกรัฐมนตรีพยายามกระตุ้นให้ข้าราชการไทยได้ออกกำลังกายบ้าง ผู้เขียนจึงขอกล่าวถึงข่าวคราวที่ได้ความรู้จากการท่องเน็ต ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านเกี่ยวกับการออกกำลังกายผู้เขียนได้พบคลิปของ Stephen Hawking เรื่อง GEN-PEP–Pep Talk by Stephen Hawking ใน YouTube (www.youtube.com/watch?v=A92o9O4FZ7Y) พร้อมด้วยบทความเรื่อง Stephen Hawking Just Declared a New Threat to the Human Race ซึ่งเขียนโดย Sarah Rense เมื่อวันที่ 29 พฤษจิกายน 2016 ใน www.esquire.comดร. สตีเฟน ฮอร์คิง ซึ่งจัดได้ว่าเป็นนักฟิสิกส์ที่เก่งระดับเดียวกับไอนสไตน์ได้กล่าวในการประชุมเพื่อรณรงค์ต่อต้านโรคอ้วนขององค์กรไม่หวังกำไรชื่อ GEN-PEP ในสวีเดนประมาณว่า ในศตวรรษที่ 21 โรคอ้วนจะเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในทางสาธารณสุข ซึ่งอาจส่งผลให้มนุษย์สูญพันธุ์ภายในอีกราว 1000 ปี เพราะมนุษย์สมัยนี้เริ่มมีรูปแบบการดำรงชีวิตที่ค่อนข้างอยู่เฉยไม่ค่อยขยับตัวนักผู้เขียนเห็นด้วยอย่างสุดหัวใจกับ ดร. ฮอร์คิง เพราะปัจจุบันนี้มนุษย์ส่วนใหญ่ได้ฝักใฝ่อยู่กับเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต เริ่มจากการเสพติดกับข้อมูลที่มากับสมาร์ทโฟน ซึ่งเห็นได้จากการที่คนรุ่นนี้เมื่อมีเวลาว่างก็จะเริ่มเขี่ยหน้าจอกัน(จนลายนิ้วมือน่าจะสึกบ้าง) อีกทั้งการพยายามพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นมาทำงานแทนมนุษย์(โดยเฉพาะหุ่นยนต์ในงานอุตสาหกรรมที่เริ่มทำให้คนไทยตกงาน) ตลอดไปจนแม้ในการขับรถก็พยายามสร้างรถที่ไม่ต้องมีคนขับซึ่งเป็นการวางใจว่า เทคโนโลยีในการใช้ไมโครโพรเซสเซอร์นั้นจะไม่มีความบกพร่องจนเกิดการชนกันขนานใหญ่สิ่งที่ ดร. ฮอร์คิงไม่ได้พูดถึงก็คือ ปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์สุขภาพได้มองเห็นแนวโน้มในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่าง การงดออกกำลังกายกับการเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งในการดูแลให้ร่างกายปลอดโรคภัยนั้นเริ่มทีเดียวก็คือ ควรกินอาหารที่ดีให้พออิ่ม โดยหวังว่าจะเป็นวิธีการควบคุมน้ำหนักตัวให้พอเหมาะ อย่างไรก็ดีงานวิจัยส่วนใหญ่ในเรื่องการควบคุมน้ำหนักนั้นมักออกมาในแนวว่า ต้องกำหนดให้มีการออกกำลังกายเป็นสิ่งควบคู่ไปเสมอ ทั้งนี้เพราะนอกจากเป็นการลดความเสี่ยงของมะเร็งแล้ว การออกกำลังกายยังเป็นลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและเบาหวานข้อแนะนำล่าสุดของ American Cancer Society เกี่ยวกับการออกกำลังกายสำหรับผู้ใหญ่ที่ยังไม่ชราคือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ถ้าเป็นการออกกำลังกายปานกลาง และ 75 นาทีต่อสัปดาห์ถ้าเป็นการออกกำลังกายอย่างหนัก หรืออย่างละครึ่งในแต่ละกรณีรวมกัน และถ้าจะให้ดีควรกระจายการออกกำลังกายให้พอ ๆ กันในแต่ละวันของสัปดาห์ ข้อแนะนำนี้เป็นข้อแนะนำที่เพิ่มขึ้นจากการเคลื่อนไหวร่างกายที่เป็นปรกติในชีวิตประจำวันเช่น การขึ้นลงด้วยบันได การทำงานบ้านต่าง ๆ เป็นต้นสำหรับเด็กซึ่งมักมีเวลาว่างในแต่ละวันมากกว่าผู้ใหญ่และอยู่ในวัยที่กำลังเจริญเติบโตนั้น มีข้อแนะนำให้ออกกำลังกายปานกลางประมาณ 60 นาทีในแต่ละวัน รวม 4 วัน และออกกำลังกายอย่างหนักวันละ 30 นาที อีก 3 วันสิ่งที่มักเป็นคำถามอยู่ตลอดเวลาคือ การออกกำลังกายปานกลางและการออกกำลังกายหนักนั้นคืออย่างไร ทาง American Cancer Society ได้ให้แนวทางว่า การออกกำลังกายปานกลางนั้นต้องทำให้ผู้ออกกำลังกายต้องหายใจหนักขึ้นกว่าปรกติ ในลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นเมื่อเราเดินเร็ว ซึ่งรวมถึงการขี่จักรยานไปเรื่อยๆ แบบไม่ช้าไม่เร็ว การทำงานบ้านอย่างต่อเนื่อง และการพรวนดินปลูกต้นไม้ในสวน ส่วนการออกกำลังกายหนักนั้นมักเป็นการใช้กำลังกายจากกล้ามเนื้อเป็นชุดจนได้เหงื่อและต้องหายใจแรงอย่างเร็ว ซึ่งผู้เขียนนึกถึงสภาพขณะที่ตนเองเล่นแบดมินตันในเกมส์ที่ถือว่า หนักจนเหงื่อเปียกเสื้อผ้าไปทั้งตัว ขนาดที่สามารถบิดเหงื่อออกจากเสื้อได้ประการสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์สุขภาพเน้นนักหนาคือ ต้องกำจัดพฤติกรรมอันเลวร้ายออกไปจากชีวิตประจำวัน ซึ่งได้แก่ การนั่งนิ่งหรือแค่ขยับนิ้วเขี่ยสมาร์ทโฟน การนอนราบไม่ทำงานเหมือนจงใจเล่นโยคะท่าศพอาสนะเพียงท่าเดียวโดยเมินเฉยท่าอื่น นั่งดูโทรทัศน์เป็นเวลานาน ซึ่งรวมถึงการให้รางวัลชีวิตหลังออกกำลังกายด้วยการกินขนมแป้งอบหรือแป้งทอดต่างๆ พร้อมน้ำอัดลมหรือน้ำผลไม้ในสหรัฐอเมริกามีองค์กรหนึ่งสังกัดกระทรวงสาธารณสุขชื่อ Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC ซึ่งเรามักเห็นในภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการเกิดโรคระบาดแล้ว CDC ต้องเข้าไปจัดการยุติการระบาด ซึ่งอาจถึงขั้นปิดเมืองหรือแม้แต่เผาเมืองทิ้ง ในปี 1996 CDC ได้มีเอกสารที่น่าสนใจออกมาเรื่องหนึ่งชื่อ Physical Activity and Health เอกสารนี้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในช่วงเวลานั้นร้อยละ 60 ของคนอเมริกันที่เป็นผู้ใหญ่มีพฤติกรรมค่อนข้างเนือยเป็นจ่าเฉย โดยที่ร้อยละ 25 ของผู้ใหญ่ทั้งหมดไม่ยอมขยับเอาเสียเลยถ้ามีโอกาส ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดเท่ากันทั้งหญิงและชาย ที่น่าสนใจคือ คนจนนั้นอยู่เฉยนานกว่าคนรวย และคนเรียนน้อยมีอาการเฉยแฉะหนักกว่าคนเรียนสูง (คนรวยและคนเรียนสูงมักมีเงินไปสถานออกกำลังกาย)สำหรับคนหนุ่มสาวที่มีอายุ 12-21 ปีในตอนใกล้มิลลิเนียม (ค.ศ. 2000) นั้น แม้จะไม่เป็นจ่าเฉยแต่ก็น้องๆ จ่าที่ไม่ชอบทำอะไรให้เหงื่อออก และที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ เด็กมัธยมซึ่งเป็นวัยรุ่นนั้นถอนรายวิชา (withdraw) พลศึกษาถึงร้อยละ 42 ในปี 1991 และดีขึ้นหน่อยในปี 1995 ที่ถอนเพียงร้อยละ 25 โดยข้อมูลจากการสำรวจยังกล่าวอีกว่า มีเด็กมัธยมปลายเพียงร้อยละ 19 เท่านั้นที่อยู่ในสภาวะการออกกำลังกายที่ถูกต้องนาน 20 นาที ในชั้นเรียนพลศึกษาของแต่ละสัปดาห์CDC กล่าวว่าประชาชนนั้น สามารถปฏิรูปชีวิตตนเองให้มีสุขภาพดีได้โดยไม่จำเป็นต้องทำตัวเหมือนนักกีฬาอาชีพ (ได้แก่ ไม่ต้องซื้อเครื่องแต่งตัวและอุปกรณ์แพง ๆ ตามการโฆษณา) ขอเพียงแต่มีการเคลื่อนไหวที่ใช้กล้ามเนื้อเป็นชุด โดยมีเจตคติที่ดีในการเพิ่มช่วงเวลา ความถี่และความหนักขึ้นบ้างเมื่อเวลาผ่านไปตัวอย่างวิธีออกกำลังกายซึ่งให้ผลใกล้กันตามที่ CDC แนะนำให้คนอเมริกันเลือกเพียงอย่างเดียวในแต่ละวันตามความเหมาะสม ซึ่งเริ่มจากชิล ๆ ที่ใช้เวลานานหน่อยไปจนถึงหนักขึ้นแต่ใช้เวลาน้อยลง ดังนี้ล้างและขัดเงารถ(45-60 นาที) ล้างหน้าต่างและทำความสะอาดพื้นบ้าน(45-60 นาที) เล่นวอลเลย์บอล(45 นาที) ทำสวนเป็นเรื่องเป็นเรื่องเป็นราว(30-45 นาที) คนพิการเข็นรถเข็นเอง(30-40 นาที) เดิน(ประมาณ 3 กิโลเมตรใน 30 นาที) ซ้อมยิงบาสเก็ตบอลต่อเนื่อง(30 นาที) ถีบจักรยานต่อเนื่อง(8 กิโลเมตรใน 30 นาที) เล่นกีฬาลีลาศ(30 นาที) โกยใบไม้(อย่างจริงจังนาน 30 นาที) เต้นแอโรบิคในน้ำ(30 นาที) ว่ายน้ำไปกลับในสระ(20 นาที) คนพิการแข่งบาสเก็ตบอลบนรถเข็น(20 นาที) คนปรกติแข่งบาสเก็ตบอล(15-20 นาที) ถีบจักรยานต่อเนื่อง(6.5 กิโลเมตรใน 15 นาที) กระโดยเชือก(15 นาที) วิ่ง(2.5 กิโลเมตร ใน 15 นาที)ประการสำคัญคือ อย่าออกกำลังกายจนเหนื่อยแล้วพูดภาษาคนไม่รู้เรื่อง เพราะนั่นหมายถึงท่านกำลังจะตาย อาจด้วยโรคหัวใจที่ไม่ได้คิดว่าเป็นหรือสมองขาดเลือดสิ่งตอบแทนที่ร่างกายได้จากการออกกำลังกายเป็นเรื่องเป็นราวนั้นคือ การลดความเสี่ยงต่อ 1) การตายก่อนวัยอันควร 2) โรคหัวใจ 3) เบาหวาน 4) ลดอาการความดันโลหิตสูง (ถ้าเป็นอยู่ก็ทำให้น้อยลง) 5) มะเร็งลำไส้ใหญ่ 6) ความเครียดและโรคซึมเศร้า 7) ช่วยควบคุมน้ำหนักตัว 8) ทำให้กระดูก กล้ามเนื้อ และข้อต่อต่าง ๆ เสื่อมช้าลง แม้หกล้มก็ไม่ถึงกับกระดูกหัก เพราะคนที่ออกกำลังกายเป็นเรื่องเป็นราวส่วนใหญ่มักรู้จักวิธีล้มเมื่อเกิดอุบัติเหตุ สังเกตได้จากนักฟุตบอลมักถูกฝึกให้มีมารยาในการล้มเพื่อตบตาผู้ตัดสิน 9) ที่สำคัญที่สุดคือ คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำมักอารมณ์ดีไม่ค่อยเครียด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 เขาว่านมถั่วเหลืองไม่ดี จริงหรือไม่

เวลานี้มีข้อความแนะนำบนโลกไซเบอร์ว่า การดื่มนมถั่วเหลืองเป็นสิ่งไม่ควรกระทำ เพราะนมนี้ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ โดยชื่อเรื่องของบทความที่ส่งต่อกันนั้นคือ Top 10 compelling reasons to avoid soy milk บทความนี้เผยแพร่ใน www.realfarmacy.com บทความนั้นกล่าวทำนองว่า มนุษย์ไม่ควรดื่มนมถั่วเหลืองเพราะนมถั่วเหลืองที่ผลิตทางอุตสาหกรรมนั้นประกอบด้วย น้ำนมสกัดจากถั่วเหลือง น้ำตาลทราย เกลือ วุ้นคาราจีแนน กลิ่นรสธรรมชาติ แคลเซียมคาร์บอเนต ฯลฯ จากนั้นจึงเริ่มระบุปัญหาประการที่หนึ่งว่า นมถั่วเหลืองมีสารไฟโตเอสโตรเจน ซึ่งก่อให้มีการปรับเปลี่ยนในระบบรอบเดือนสตรีไปจากเดิมกรณีไฟโตเอสโตรเจนผู้บริโภคหลายคนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน(และส่งต่อกันในโลกไซเบอร์) ว่า เมื่อผู้หญิงดื่มนมถั่วเหลืองแล้วจะได้ ไฟโตเอสโตรเจน ซึ่งมีผลทำให้ฤทธิ์โดยรวมของเอสโตรเจนในสตรีนั้นเพิ่มขึ้น โดยที่เซลล์เป้าหมายหลักของไฟโตเอสโตรเจนในหญิงวัยเจริญพันธุ์คือ เซลล์ต่อมน้ำนม(ของเต้านม) และเซลล์ที่เป็นผนังมดลูกสารเคมีที่ถูกระบุว่ามีฤทธิ์เอสโตรเจนนั้น เมื่อเข้าสู่เซลล์เป้าหมายแล้วจะออกฤทธิ์แบบเดียวกับที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนทำคือ กระตุ้นให้เซลล์เป้าหมายเตรียมพัฒนาตัวเอง(มีการขยายขนาดเซลล์) เพื่อให้ทำหน้าที่ที่ควรเป็นเช่น กรณีเซลล์ของต่อมน้ำนมจะเตรียมพัฒนาตัวเองให้สามารถให้น้ำนมได้ เมื่อได้รับสัญญาณว่ามีการฝังตัวของตัวอ่อนในมดลูก ส่วนเซลล์ของมดลูกเมื่ออยู่ในวัยเจริญพันธุ์ก็จะเตรียมพร้อมในการขยายตัวในแต่ละเดือนเพื่อให้ตัวอ่อนเกาะผนังมดลูก(ถ้าไม่มีการเกาะของตัวอ่อนบนผนังมดลูก เซลล์ที่เป็นผนังมดลูกก็ลอกออกเป็นเลือดประจำเดือน) แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคมักไม่รู้คือ สารที่มีฤทธิ์เอสโตรเจนอาจถูกจัดให้อยู่ใน กลุ่มมีฤทธิ์มากกว่าเอสโตรเจนของมนุษย์ หรือ กลุ่มที่มีฤทธิ์น้อยกว่าเอสโตรเจนของมนุษย์ (เมื่อเทียบจำนวนโมเลกุลเท่ากัน)ไฟโตเอสโตรเจนของพืชนั้นอาจอยู่กลุ่มใด(ข้างต้น)ก็ได้ขึ้นกับชนิดของพืช เช่น ไฟโตรเอสโตรเจนในกวาวเครือนั้นมีฤทธิ์สูงกว่าเอสโตรเจนในมนุษย์ จึงมีการใช้ในการแพทย์แผนไทยด้วยปริมาณที่พอเหมาะเพื่อแก้อาการวัยทองของผู้สูงอายุ(แต่มีการใช้กระตุ้นเต้านมของสาวหรือหนุ่มให้ใหญ่ขึ้นพร้อมผลข้างเคียงบางประการ) ส่วนไฟโตเอสโตรเจนในถั่วเหลืองนั้น แม้มีความสามารถในการจับกับเซลล์เป้าหมายดีแต่ฤทธิ์ในการกระตุ้นเซลล์ให้พัฒนากลับต่ำกว่าความสามารถของเอสโตรเจนของมนุษย์ผู้เขียนเคยแนะนำให้สตรีที่มีอาการปวดเต้านมและมดลูกช่วงมีประจำเดือน เพิ่มการบริโภคผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้หรือนมถั่วเหลืองล่วงหน้าก่อนมีประจำเดือน 2-3 วัน เพราะไฟโตเอสโตรเจนในผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองนั้นสามารถแย่งไม่ให้เอสโตรเจน ซึ่งมดลูกสร้างในช่วงก่อนมีประจำเดือนของสตรีเข้าจับเซลล์ต่อมน้ำนมและเซลล์ผนังมดลูกได้ ความเจ็บปวดที่เคยเกิดเนื่องจากการขยายตัวของเซลล์ต่อมน้ำนมและผนังมดลูก(ซึ่งอยู่ในพื้นที่เท่าเดิม) ควรน้อยลง ซึ่งส่วนใหญ่ได้ผลตามสมมุติฐานนี้ประการที่สองในบทความที่กล่าวร้ายถึงนมถั่วเหลืองคือ ถั่วเหลืองนั้นเป็นอาหารที่มีสารต้านโภชนาการ(antinutrients) เยอะมาก ซึ่งก็เป็นความจริงในกรณีที่กล่าวถึงถั่วดิบ หรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากถั่วแล้วไม่สุกพอ ถั่วส่วนใหญ่ที่มีลักษณะเหมือนถั่วเหลืองคือ มีเมล็ดอยู่ในฝักห้อยอยู่เหนือดินนั้น มีสารพิษตามธรรมชาติเมื่อยังดิบอยู่ สารพิษเหล่านี้ยับยั้งการทำงานของเอ็นซัมย่อยโปรตีน ย่อยแป้ง และย่อยไขมัน ซึ่งทำให้สารอาหารเหล่านี้ถูกดูดซึมน้อยลง โดยส่วนที่เหลือเคลื่อนผ่านลงสู่ลำไส้ใหญ่กลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย ซึ่งเมื่อกินอาหารที่ไม่ถูกย่อยก็ปล่อยก๊าซต่างๆ ออกมาทำให้ผู้บริโภคท้องอืดท้องเฟ้อที่น่าสนใจคือ ถั่วเหลืองดิบมีสารพิษชื่อ Heamagglutinin ซึ่งสามารถทำให้เซลล์ที่ผนังลำไส้บวมได้ และยังมีสารพิษชื่อ Phytic acid ซึ่งจับแร่ธาตุต่างๆ ไว้ทำให้ร่างกายมนุษยนำไปใช้ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี สารพิษตามธรรมชาติที่ได้ยกตัวอย่างทั้งหมดนั้น ถูกทำลายให้หมดสภาพเมื่อถั่วได้รับความร้อนที่เหมาะสมด้วยระยะเวลาที่นานพอ เช่นในกรณีของนมถั่วเหลืองนั้น ผู้เขียนเคยอ่านพบในเอกสารวิชาการของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา(USDA) ว่า ให้ต้มน้ำนมถั่วเหลืองในลักษณะที่เรียกว่า Simmering หรือเดือดปุด ๆ เบา ๆ นานอย่างน้อย 15 นาที ก็สามารถทำให้สารพิษหมดฤทธิ์ได้ดังนั้นแล้วเมื่อใดที่ท่านพบข้อกล่าวหาว่า การกินผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากถั่วอาจเกิดอันตรายจากสารพิษจากธรรมชาตินั้น ขอให้เข้าใจว่าผู้กล่าวนั้นหมายถึง ผลิตภัณฑ์ถั่วที่ยังไม่สุกพอ ซึ่งผู้อ่านควรมีความรู้ว่า ผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากถั่วต่างๆ นั้นเมื่อสุกดีควรมีลักษณะสัมผัสเช่นไร อีกประเด็นหนึ่งของการกล่าวหาคือ การดื่มนมถั่วเหลืองทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการได้รับยากำจัดวัชพืช ถ้าถั่วเหลืองนั้นเป็นถั่วที่ดัดแปลงพันธุกรรม(Roundup ready soybean) เรื่องนี้เป็นเรื่องถูกต้อง ดังนั้นผู้บริโภคอาจต้องสืบเสาะว่า น้ำนมถั่วเหลืองของบริษัทใดที่ประกาศว่าใช้ถั่วเหลืองที่ไม่ใช่ถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมกรณีคาราจีแนนการกล่าวถึงสารเจือปนในนมถั่วเหลือง ของสารที่ชื่อ คาราจีแนน (Carrageenan) ซึ่งผู้ประกอบการมักใส่เข้าไปเพื่อปรับเนื้อสัมผัสของผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นก็เป็นประเด็นน่าสนใจ โดยเฉพาะข้อมูลที่กล่าวว่า สารเจือปนในอาหารชนิดนี้ก่อมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ โดยข้อมูลดังกล่าวนั้นได้จากการทดลองที่ใช้ขนาดของคาราจีแนนที่สูงมากจนไม่สามารถโยงมาสู่ปริมาณที่มนุษย์ได้รับจากผลิตภัณฑ์อาหาร (หลักการทางพิษวิทยากล่าวประมาณว่า สารเคมีที่ไม่ใช่สารอาหารจะมีประโยชน์หรือโทษต่อผู้บริโภคนั้นขึ้นกับปริมาณและความถี่ที่ได้รับ)ข้อมูลล่าสุดที่ได้จากบทความเรื่อง Food additive carrageenan: Part II: A critical review of carrageenan in vivo safety studies. ซึ่งนิพนธ์โดย M.L. Weiner  ในวารสาร Critical Reviews in Toxicology ฉบับประจำเดือน March ปี 2014 นั้นได้กล่าวโดยสรุปว่า คาราจีแนนยังอยู่ในสถานะปลอดภัยตราบที่ยังใช้ในปริมาณที่ Codex ขององค์การสหประชาชาติกำหนด กรณีสารกลุ่มไอโซฟลาโวนสารกลุ่มไอโซฟลาโวน (isoflavone) คือ เดดซีน (daidzein) และ จีนิสทีน (genistein) ซึ่งถูกศึกษาพบว่า กระตุ้นการเกิดมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งเต้านมในสัตว์ทดลอง นั้น ในความเป็นจริงแล้วยังมี บทความวิชาการกล่าวถึง การลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมของผู้นิยมบริโภคผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง โดยกล่าวว่าสารทั้งสองเป็นปัจจัยในการลดความเสี่ยง ท่านผู้อ่านอาจรู้สึกว่า ข้อมูลทั้งสองนั้นดูขัดแย้งกัน...แต่คำอธิบายนั้นมีผลการศึกษาเกี่ยวกับการก่อมะเร็งนั้น เป็นการศึกษาในสัตว์ทดลองที่ใช้สารบริสุทธิ์ในขนาดที่เกินกว่ามนุษย์จะกินได้จากผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง ซึ่งจะไม่เกิดเมื่อดื่มนมถั่วเหลือง อย่างไรก็ดีข้อมูลดังกล่าวก็เป็นการเตือนว่า สารธรรมชาติที่มีประโยชน์นั้นควรได้รับเข้าสู่ร่างกายในรูปที่อยู่ในอาหาร เพื่อป้องกันการได้รับมากเกินความต้องการ ซึ่งต่างจากการกินในปริมาณสูงกว่าปรกติจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อาจแสดงความเป็นพิษได้ ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายและความปลอดภัยของจีนิสทีนในทางวิชาการนั้นสามารถสืบค้นและ download ได้จาก www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/26178025

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 เลี่ยงมะเร็งอย่างไร ตอนที่ 2: วิธีการ

ในฉบับที่แล้วผู้เขียนได้ให้ข้อมูลเชิงวิชาการจาก World Cancer Research Fund (WCRF) เกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในมนุษย์ซึ่งได้แก่ อาหารการกินซึ่งนัยหนึ่งคือพฤติกรรมการบริโภค น้ำหนักตัวของประชาชน และการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้แรง (physical activity) ดังนั้นในฉบับนี้จึงขอต่อถึง ข้อแนะนำจาก WCRF ในการลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ซึ่งผู้เขียนได้แทรกหลักการทางวิทยาศาสตร์บ้างพอสังเขป ดังนี้ผักมีแป้งต่ำ(Non-starchy vegetables) เช่น ผักตระกูลกระหล่ำ(กระหล่ำปลี บรอคโคลิ ผักโขม คะน้า ดอกกระหล่ำ เทอร์นิบ เป็นต้น) นั้นเป็นปัจจัยช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งปาก คอ และทางเดินอาหาร ด้วยเหตุผลที่ทราบกันดีในวงการวิชาการว่า ผักในตระกูลกระหล่ำปลีนั้น มีพฤษเคมีกลุ่มกลูโคซิโนเลท ซึ่งเมื่อถูกเอนไซม์ชื่อ มัยโรซิเนส(myrosinase) ของผักที่ถูกกระตุ้นให้ทำงานขณะการหั่น ซอย ตำ เปลี่ยนสภาพให้เป็นสารอื่นที่กระตุ้นระบบทำลายสารพิษของตับให้ทำงานดีขึ้น ดังตัวอย่างงานวิจัยทางระบาดวิทยาในต่างประเทศชิ้นหนึ่งกล่าวว่า การบริโภคอาหารของชาวจีน ซึ่งมีกระหล่ำปลีเป็นจานเด็ดสัปดาห์ละสองครั้งช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งโดยรวมถึงสองเท่าผลไม้ต่างๆ เมื่อได้กินในปริมาณที่มากพอในแต่ละมื้ออาหารนั้นช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็ง ปอด ปาก คอ และหลอดอาหาร ประเด็นนี้อธิบายได้ด้วยความจริงที่ปรากฏแล้วว่า ผลไม้เป็นแหล่งใยอาหารและพฤกษเคมีที่มีประโยชน์ เช่น กล้วยให้ใยอาหารซึ่งเป็นโปรไบโอติกของแบคทีเรียกลุ่มแลคโตแบซิลัสซึ่งอยู่ในลำไส้ใหญ่ของเรา มังคุดเป็นผลไม้ที่มีสารต้านออกซิเดชั่นสูงมาก ซึ่งรวมถึงการพบว่า มังคุดมีสารต้านฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารพิษ ดังนั้นมังคุดจึงน่าจะเป็นผลไม้ที่มีแนวโน้มในการลดความเสี่ยงของมะเร็งได้ ส่วนองุ่นสีเข้มนั้น ถูกทดสอบพบว่าต้านฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารก่อมะเร็งบางชนิดได้ และส้มนั้นเป็นผลไม้ที่พบว่ามีสารขมชนิดหนึ่งที่น่าสนใจชื่อ ดี-ลิโมนีน (d-Limonene) ซึ่งมีแนวโน้มว่า ลดความเสี่ยงของมะเร็งด้วยการกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งฆ่าตัวตายเอง การขยับเขยื้อนร่างกาย(Physical activity) เป็นปัจจัยลดความเสี่ยงของมะเร็งที่ ลำไส้ใหญ่ เต้านมและมดลูก(ของสตรีหมดประจำเดือน) ทั้งนี้เพราะในช่วงวันทำงานนั้น มนุษย์เงินเดือนมักสะสมขยะอารมณ์ในร่างกาย ซึ่งควรอย่างยิ่งที่จะขจัดทิ้งออกไปกับเหงื่อในวันหยุดพักผ่อนโดยการเล่นกีฬาให้เป็นเรื่องเป็นราว ได้สนุกแบบสมัยเป็นเด็กที่ได้วิ่งเล่น สมองได้คิดถึงสิ่งอื่นและได้มีการหลั่งฮอร์โมนเอ็นโดฟิน (endorphin) ซึ่งทำให้ร่างกายสดชื่นขึ้น พร้อมสิ่งตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุดคือ การลดน้ำหนักตัวซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงของมะเร็งใยอาหาร(Dietary fiber) อาหารที่มีใยอาหารสูงได้แก่ ผัก ผลไม้ ถั่วต่างๆ พืชพวกหัวต่าง ๆ ข้าวไม่ขัดสี ธัญพืช เป็นปัจจัยลดความเสี่ยงของมะเร็งที่ทางเดินอาหารส่วนล่าง เนื่องด้วยคุณสมบัติที่ใยอาหารอุ้มน้ำได้ดีอุจจาระ จึงถูกเพิ่มให้มีน้ำหนักมากเร็วขึ้นในแต่ละวัน สังเกตได้จากผู้ที่กินผักผลไม้มากจะถ่ายอุจจาระแบบสบายๆ อย่างน้อยวันละครั้ง การถ่ายอุจจาระนั้นเป็นกระบวนการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายซึ่งขึ้นกับปริมาณอุจจาระในลำไส้ใหญ่ อีกทั้งใยอาหารบางชนิดมีคุณสมบัติในการจับสารพิษ(ซึ่งถูกอวัยวะภายในเช่น ตับ ไต ลำไส้ เปลี่ยนแปลงให้มีความสามารถในการละลายน้ำแล้ว) ได้ดีจึงลดโอกาสการดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายที่ผนังลำไส้ใหญ่สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับผักและผลไม้คือ บางชนิดเป็นแหล่งของใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี(soluble fiber) ซึ่งเป็นอาหารของแบคทีเรียกลุ่มแลคโตแบซิลัสในลำไส้ใหญ่ที่กินใยอาหารแล้วปล่อยกรดออกมาปรับให้สภาวะแวดล้อมของลำไส้ใหญ่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญของเซลล์มะเร็งการให้นมลูก(Breast feeding) เป็นพฤติกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่เต้านม ข้อมูลลักษณะนี้มีการตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เมื่อปี 2002 ซึ่งพบว่า สตรีราว 150,000 คน ที่ให้นมลูกนาน 12 เดือน (ไม่ว่าจะมีลูกคนเดียวหรือต่อเนื่องหลายคน) มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมเพียงร้อยละ 4.3 ของแม่ที่ไม่ให้นมลูก ต่อมาในปี 2009 มีรายงานหนึ่งในวารสาร Archives of Internal Medicine โดยศึกษาในสตรี 60,000 คน พบว่าสตรีที่มีประวัติการให้นมลูกมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมต่ำกว่าสตรีที่ไม่ให้นมลูกถึงร้อยละ 60 และในปี 2014 วารสาร Journal of the National Cancer Institute พบว่าสตรีที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวอัฟริกันนั้นปรกติมักมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมสูง แต่การให้นมลูกได้ลดปัญหาดังกล่าวให้น้อยลงกาแฟ อาหารนี้มีข้อมูลทางการวิจัยว่า การดื่มกาแฟซึ่งไม่เข้ม ไม่มันและไม่หวานจัดเป็นประจำนั้นช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งที่ตับและมดลูก ทั้งนี้เพราะกาแฟมีสารก่อมะเร็งในปริมาณน้อยที่สามารถกระตุ้นให้ระบบเอ็นซัมกำจัดสารพิษออกจากร่างกายทำงานได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดีการระบุระดับการดื่มที่แท้จริงเพื่อลดความเสี่ยงที่เป็นไปได้ในแต่ละบุคคลนั้นยังไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ ในการแนะนำให้ดื่มกาแฟเพื่อลดความเสี่ยงของมะเร็งนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานว่า เป็นการดื่มหลังอาหาร เพราะแคฟฟีอีนนั้นเป็นสารกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย ดังนั้นการดื่มกาแฟในช่วงท้องว่างอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เนื่องจากน้ำย่อยที่ถูกหลั่งออกมาได้กัดผนังกระเพาะอาหาร การเป็นแผลที่อวัยวะนี้อย่างต่อเนื่องย่อมเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้อาหารที่มีแคลเซียมสูง(Diets high in calcium) โดยทั่วไปแล้วร่างกายมนุษย์ต้องการแคลเซียมประมาณ 2.5 กรัมต่อวัน ซึ่งพบว่ามีผลทางอ้อมต่อการลดความเสี่ยงของมะเร็งในทางเดินอาหารส่วนล่าง อย่างไรก็ดียังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนทางวิชาการว่า แคลเซียมระดับใดจึงลดความเสี่ยงได้ ในตำราบางเล่มกล่าวว่า การกินแคลเซียมมากกว่า 5 กรัมต่อวันในคนปรกติหรือ 3 กรัมต่อวันในคนที่มีปัญหาไตทำงานบกพร่องอาจก่ออันตรายได้ จึงยังไม่ควรแนะนำให้มีการเสริมแคลเซียมในลักษณะของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่ให้กินอาหารที่มีแคลเซียมสูงเช่น ปลาเล็กปลาน้อย และนม เป็นต้น การได้แคลเซียมจากอาหารเข้าสู่ร่างกายของคนที่อาศัยในพื้นที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร ซึ่งมีแดดอ่อนนั้น อาจต้องเสริมวิตามินดีพร้อมกันไปด้วย เพราะวิตามินดีนี้ช่วยให้แคลเซียมถูกดูดซึมและใช้งานได้ ส่วนคนไทยทั่วไปนั้นอาจไม่จำเป็น ถ้าได้ถูกแสงแดดในตอนเช้าตรู่และบ่ายแก่ ๆ ยกเว้นคนไทยที่ต้องออกจากบ้านก่อนไก่โห่ เพื่อเข้าทำงานในตึกซึ่งปิดสนิทเพราะเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา โดยทำงานจนถึงเวลาไก่ขึ้นคอนนอนแล้วจึงกลับบ้าน คนไทยกลุ่มนี้มีโอกาสขาดวิตามินดีและมักมีปัญหากระดูกไม่แข็งแรงแม้ได้แคลเซียมเพียงพอกระเทียม เป็นเครื่องเทศชนิดที่เชื่อกันว่า ลดความเสี่ยงมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่างได้ โดยกระเทียม(อาจรวมถึงหัวหอม) เป็นพืชที่ให้กลิ่นและรส ซึ่งช่วยให้อาหารไม่จืดชืด มีการศึกษาพบว่า หลังการทุบสับซอยกระเทียมและหัวหอมนั้นมีสารประกอบกัมมะถัน (Organosulfur) ถูกเปลี่ยนแปลงให้สามารถกระตุ้นให้ระบบเอ็นซัมทำลายสารพิษทำงานได้ดีขึ้น จากข้อมูลที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นการนำเสนอประเด็นที่นักวิชาการที่สนใจความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการบริโภคอาหาร สุขภาพของร่างกายและการออกกำลังกายต่อการเกิดมะเร็ง ได้ให้คำแนะนำพร้อมประสบการณ์บางส่วนของผู้เขียนโดยหวังว่า ถ้าใครปฏิบัติตามแล้วควรเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งน้อยลงกว่าผู้ไม่ปฏิบัตินั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 เลี่ยงมะเร็งอย่างไร ตอนที่ 1: ต้นเหตุ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ World Cancer Research Fund (WCRF) ได้ให้ข้อมูลเชิงวิชาการเกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งของมนุษย์ได้แก่ อาหารการกิน(พฤติกรรมการบริโภค) น้ำหนักตัวของประชาชน และการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้แรง (physical activity) ดังนั้นในฉลาดซื้อฉบับนี้ผู้เขียนจึงใคร่ขอนำข้อมูลส่วนที่เรียกว่า Continuous Update Project (CUP) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการทบทวนผลจากการทำโครงการของผู้เชี่ยวชาญของ WCRF ในการวิเคราะห์ว่า ปัจจัยทั้งสามที่กล่าวข้างต้นนั้นมีผลต่อความเสี่ยงและการอยู่รอดของประชาชนเนื่องจากมะเร็งเพียงใด ดังต่อไปนี้ภาวะน้ำหนักเกินหรือความอ้วน (Overweight or Obese) เป็นภาวะที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ เต้านม ถุงน้ำดี ไต ตับ หลอดอาหาร รังไข่ ตับอ่อน ต่อมลูกหมาก และมดลูก ทั้งนี้เพราะภาวะน้ำหนักเกินหรือความอ้วนนั้นส่วนใหญ่เป็นผลที่เกิดจากการกินอาหารที่มีไขมันและ/หรือแป้งมากเกินไป มีข้อสันนิษฐานว่า การเปลี่ยนแป้งไปเป็นพลังงานนั้น ต้องมีการส่งผ่านอิเล็คตรอนในไมโตคอนเดรียของเซลล์ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นมากๆ ความผิดพลาดที่น่ากลัวคือ การเกิดอนุมูลอิสระในเซลล์ต่างๆ ดังนั้นนักกีฬาหรือผู้ใช้กำลังกายสูงๆ จึงจำเป็นต้องกินอาหารที่มีสารต้านอนุมุลอิสระในปริมาณที่เพียงพอ อาหารหมักเกลือ (Salt-preserved foods) ทั้งผักหรือเนื้อสัตว์นั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหาร ข้อมูลนี้มีการกล่าวถึงในแวดวงวิชาการเกี่ยวกับมะเร็งนานพอควรแล้ว เป็นการอาศัยหลักฐานจากการศึกษาทางระบาดวิทยาของชาติทางเอเชียตะวันออกคือ ญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องอาหารหมักเกลือ (ได้มีการวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่าเกลือที่ใช้ในการหมักนั้นมีสารประกอบเกลือไนไตร์ทสูง)สารหนูในน้ำดื่ม (Arsenic in drinking water) ปัญหานี้เกิดจากการปนเปื้อนสารหนูทั้งจากของเสียทางอุตสาหกรรมและที่ปนเปื้อนจากธรรมชาติ ข้อมูลทางวิชาการกล่าวว่า สารหนูเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง กระเพาะปัสสาวะ ปอด และผิวหนัง สำหรับบ้านเราแล้วเหมืองแร่ดีบุกที่ร้างแล้วในบางจังหวัดแถวภาคใต้เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารหนูในแหล่งน้ำ ซึ่งผู้บริโภคพืชผักผลไม้ที่มีการปนเปื้อนของสารพิษนี้มีความเสี่ยงสูงมากต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังหรือไข้ดำ เครื่องดื่มอัลกอฮอล (Alcoholic drinks) เป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่าง (colorectum คือทางเดินอาหารส่วนลำไส้ใหญ่ต่อกับไส้ตรงถึงทวารหนัก) เต้านม ตับ ปากและคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ประเด็นที่น่าสนใจคือ เครื่องดื่มอัลกอฮอลนั้นเป็นสารเสพติดที่เมื่อเริ่มดื่มแล้วมักต้องเพิ่มปริมาณจนผู้ดื่มมีอาการพิษสุราเรื้อรัง อีกทั้งอัลกอฮอลนั้นเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานสูงกว่าแป้งแต่ต่ำกว่าไขมัน ดังนั้นผู้ที่ดื่มหนักย่อมอิ่มพลังงาน จนไม่สนใจกินผักและผลไม้ จึงขาดสารอาหารสำคัญหลายชนิด ซึ่งมีความสำคัญในการต้านสารพิษที่ร่างกายได้รับจากอาหารที่ใช้แกล้มเหล้าเบต้าแคโรตีนในรูปอาหารเสริม (Beta-carotene supplements) มีผลการศึกษาทางระบาดวิทยากล่าวว่า สารอาหารนี้เมื่อกินเป็นอาหารเสริมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดในคนที่สูบบุหรี่ ทั้งที่เบต้าแคโรตีนนั้นถูกระบุว่า มีความปลอดภัยต่อมนุษย์ที่กินสารอาหารนี้จากอาหารธรรมชาติ เช่น ฟักทอง ใบตำลึง มะละกอสุก มะม่วงสุก ฯลฯ ซึ่งปริมาณอาหารที่กินแบบปรกตินั้น เป็นตัวกำหนดปริมาณเบต้าแคโรตีนที่ร่างกายได้รับไม่ให้สูงเกินจนก่ออันตรายที่เกี่ยวเนื่องกับการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย ตามสมมุติฐานที่มีการเสนอไว้เครื่องดื่มมาเต (maté) ซึ่งเป็นเครื่องดื่มในลักษณะเดียวกับชา ซึ่งชงจากใบพืชพื้นเมืองชื่อ Yerba-Mate(Ilex paraguariensis) ในอเมริกาใต้ พืชชนิดนี้ขึ้นได้ดีตามที่ราบลุ่มแม่น้ำในอาร์เจนตินา บราซิล อุรุกวัย และปารากวัย ในการชงเป็นเครื่องดื่มนั้นนิยมนำใบและกิ่งใส่ลงในน้ำร้อนแบบเดียวกับการชงชา ปรากฏว่าการดื่มเครื่องดื่มนี้เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งหลอดอาหาร(esophagus) ของชาวลาตินอเมริกาในอเมริกาใต้ ซึ่งก็เป็นไปในทำนองเดียวกับการข้อมูลที่ทราบกันดีว่า น้ำชาและกาแฟที่ร้อนมาก ๆ มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารดังที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศไปแล้ว อีกทั้ง International Agency for Research on Cancer (IARC) ได้จัดเครื่องดื่มมาเตให้อยู่ในประเภทของสารก่อมะเร็งชั้น น่าจะก่อมะเร็งในมนุษย์ (probably carcinogenic to humans) ปลาเค็มหมักแบบกวางตุ้ง (cantonese style salted fish) ซึ่งเป็นอาหารหมักที่เค็มแบบสุดๆ เป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลังโพรงจมูก (nasopharynx) มีผู้กล่าวว่า ปลาเค็มในลักษณะดังกล่าวนี้เป็นอาหารสำหรับคนจนในประเทศจีน ซึ่งต้องการกินข้าวได้เยอะโดยกินกับข้าวน้อย ทำให้มีข้อสันนิษฐานว่า พฤติกรรมการกินแบบนี้ทำให้ได้สารอาหารไม่ครบถ้วนจึงมีร่างกายไม่แข็งแรงอาหารเนื้อหมัก (processed meat) ที่คนไทยรู้จักดีคือ แฮม เบคอน ไส้กรอกซาลามี เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่างและกระเพาะอาหาร ประเด็นดังกล่าวนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศเตือนผู้บริโภคทั้งโลกแล้ว ดังนั้นการลดความเสี่ยงต่อการได้รับสารก่อมะเร็งของอาหารเนื้อหมักแบบฝรั่ง(และกุนเชียงของคนจีน) นั้น จึงทำได้ด้วยการกินอาหารประเภทนี้พร้อมผัก ผลไม้และเครื่องเทศ เพื่อให้ได้รับใยอาหารและสารพฤกษเคมีพร้อมกันซึ่งช่วยในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย เนื้อแดง (Red meat) เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีหลักฐานทางระบาดวิทยาระบุว่า เนื้อแดงเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่าง โดยมีสมมุติฐานกล่าวว่า เนื้อแดงซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคลื่อนไหวสูงนั้นมีโมเลกุลของเหล็ก(องค์ประกอบของโปรตีนมัยโอกลอบิน) สูงกว่าเนื้อขาว จึงมีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดอนุมูลอิสระชนิด ไฮดรอกซิลฟรีแรดิคอล ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการทำให้ดีเอ็นเอของเซลล์กลายพันธุ์จนถึงกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ นักพิษวิทยามักแนะนำให้กินเนื้อแดงแต่พอควรและกินกับผักและผลไม้ต่างๆ เพื่อให้ได้สารต้านอนุมูลอิสระเพียงพออาหารที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง (high glycemic load) อาหารประเภทนี้เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งที่มดลูก คำเตือนนี้อาจเนื่องจากสมมุติฐานว่า ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นนั้นมักกระตุ้นการสร้างไขมันให้สูงขึ้นโดยเฉพาะฮอร์โมนเพศ ซึ่งมีเอสโตรเจน เป็นฮอร์โมนที่มักเกิดเพิ่มมากขึ้นกว่าปรกติในสตรีที่อยู่ในสภาวะอ้วน ประเด็นที่น่ากังวลคือ ฮอร์โมนนี้ถูกจัดว่าเป็น สารก่อมะเร็งที่เกิดขึ้นเองในร่างกายมนุษย์ โดยหน่วยงานทางพิษวิทยาที่ชื่อ National Toxicology Program ของสหรัฐอเมริกาอะฟลาทอกซิน (aflatoxins) เป็นสารพิษจากเชื้อราที่ปนเปื้อนบนธัญพืช เครื่องเทศ ถั่วลิสง ถั่วพิตาชิโอ ถั่วบราซิล ข้าวโพด ข้าวเจ้า ข้าวฟ่าง พริกแห้ง พริกไทย ผลไม้แห้งต่างๆ และอีกมากมายแม้แต่กัญชาตากแห้งก็ไม่พ้น สารพิษนี้เป็นสารก่อมะเร็งตามธรรมชาติที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ ซึ่งรู้กันมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ปัญหาของอะฟลาทอกซินนั้นเกิดมานานแล้วและจะยังดำรงตลอดไปจนกว่าโลกนี้สลายเนื่องจากเป็นเรื่องยากมากที่จะถั่วลิสงที่ถูกกะเทาะเอาเปลือกออกแล้วปลอดสารพิษนี้นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตซึ่งยังตั้งสมมุติฐานไม่ได้คือ ความสูง (Height) นั้นมีข้อมูลทางระบาดวิทยาระบุว่า คนที่สูงมากกว่าคนอื่นเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่าง เต้านม ไต รังไข่ ตับอ่อน และต่อมลูกหมาก มากกว่าคนที่เตี้ยกว่า และการมีน้ำหนักแรกเกิดมากเกินไป (Greater birth weight) เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมในเด็กที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ สำหรับในเดือนหน้าจะเป็นตอนที่สองซึ่ง World Cancer Research Fund จะให้ข้อเสนอแนะในการลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งสำรหับประชาชนทั่วไป

อ่านเพิ่มเติม >