ฉบับที่ 208 ฉลากมะเร็งในร้านกาแฟ

“ในความเป็นจริงแล้วนักพิษวิทยาทราบมานานแล้วว่า ที่ใดมีควันที่นั่นมีสารก่อมะเร็งกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอนเสมอ แต่สารพิษกลุ่มนี้มีอยู่ในปริมาณไม่มากจนก่อให้เกิดพิษในคนส่วนใหญ่ ประการสำคัญคือ สารพิษปริมาณน้อยนี้ (น่าจะ) ช่วยกระตุ้นระบบเอ็นซัมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับสารพิษอื่น ๆ ในอาหารที่เรากินออกจากร่างกายด้วยอัตราที่เร็วขึ้น โดยมีข้อแม้ว่า ต้องดื่มกาแฟในปริมาณที่เหมาะสมคือ 3 - 4 แก้วต่อวัน” ประมาณปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านไปนั้น ผู้เขียนได้แว่วข่าว(ขณะนั่งพิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์) จากโทรทัศน์ช่องหนึ่งประมาณว่า “ต้องมีการทำป้ายเพื่อแจ้งผู้ดื่มกาแฟในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกาว่า กาแฟมีสารก่อมะเร็ง” ซึ่งเมื่อฟังแล้วก็ไม่น่ามีอะไร เพราะมันเป็นของรู้กันมานานแล้วในแวดวงนักพิษวิทยาจนต่อมามีเพื่อนที่เล่นแบดมินตันด้วยกันถามความเห็นเกี่ยวกับประกาศที่เกี่ยวกับกาแฟนี้ แต่ด้วยความที่ผู้เขียนไม่ได้ตามข่าวเลยตอบเพื่อนไม่ได้ จึงต้องกลับบ้านเข้าไปหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตจึงได้พบว่า ประมาณวันที่ 27 มกราคม 2518 ที่ผ่านไปนั้น หนังสือพิมพ์ออนไลน์หลายฉบับเช่น USA Today มีการพาดหัวข่าวว่า “Coffee must carry cancer warning label, California judge rules” ซึ่งแปลได้ประมาณว่า (ร้าน) กาแฟจะต้องติดประกาศเตือน ตามกฏหมายแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียว่า กาแฟมีสารก่อมะเร็งเนื้อข่าวที่ได้จาก USA Today กล่าวว่า องค์กรเอกชนชื่อ The Council for Education and Research on Toxics ได้ฟ้องบริษัทที่ขายกาแฟทั้งยักษ์ใหญ่และยักษ์เล็กราว 90 แห่งว่า ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียคือ California’s Proposition 65 (เดิมชื่อ The Safe Drinking Water and Toxic Enforcement Act of 1986) ที่ต้องมีคำเตือนผู้ดื่มเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดจากการที่กาแฟมีสารเคมี ซึ่งอาจก่อมะเร็งได้ โดยสารเคมีนั้นคือ อะคริลาไมด์(นอกเหนือไปจากสารพิษกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอน)California’s Proposition 65 เป็นกฎหมายที่มีเป้าประสงค์ในการปกป้องผู้บริโภคจากอันตรายที่เกิดจากการได้รับสารพิษในน้ำดื่ม(ปัจจุบันขยายความสู่อาหารที่เป็นของเหลวต่าง ๆ) ซึ่งอาจก่อมะเร็งและความพิการของทารก ดังนั้นเพื่อให้มีการลดหรือขจัดความเสี่ยงของผู้บริโภคเนื่องจากสารพิษในผลิตภัณฑ์ที่ทราบแน่ว่า มีสารพิษที่อาจก่อปัญหา ผู้ประกอบการต้องมีการเตือนผู้บริโภคก่อนการสัมผัสอาหารเหล่านั้น (โดยยังยึดหลักว่า ผู้บริโภคยังมีสิทธิซื้อสินค้าดังกล่าว บนพื้นฐานความเสี่ยงที่ยอมรับเอง) ซึ่งว่าไปแล้วก็ดีต่อผู้ประกอบการในกรณีที่เกิดมีผู้บริโภคเป็นมะเร็งแล้วอ้างว่า เนื่องจากบริโภคสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีการประกาศเตือนแล้วคงฟ้องได้แต่ชนะยากโดยหลักการตามกฎหมายแล้ว คำเตือนของฉลากมีลักษณะทั่วไปดังนี้ WARNING: This product contains chemicals known to the State of California to cause cancer and birth defects or other reproductive harm. (สินค้าที่ผู้บริโภคจะซื้อนั้นได้ถูกตรวจพบว่ามีสารเคมี ซึ่งเป็นที่รู้ต่อรัฐแคลิฟอร์เนียว่า ก่อมะเร็งและความผิดปรกติของทารกแรกเกิดหรือความผิดปรกติอื่นต่อระบบสืบพันธุ์)   โดยอาจมีข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคได้กลับมาที่กรณีของร้านกาแฟในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งหลังการยื่นฟ้องศาลในปี 2511 แล้ว ได้มีการสืบพยานต่อๆ กันมาจนสุดท้ายในปีนี้ (2518) ผู้พิพากษาศาลในลอสแองเจลิสจึงได้ตัดสินว่า ร้านกาแฟจำต้องมีป้ายเตือนให้ผู้บริโภคระลึกว่า การดื่มกาแฟนั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเนื่องจากมีสารก่อมะเร็ง (ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการคั่ว) ทั้งนี้เพราะบริษัทกาแฟขนาดใหญ่ต่างๆ ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่า การดื่มกาแฟนั้น มีประโยชน์ต่อร่างกายมากจนสามารถมองข้ามความเสี่ยงจากสารพิษในกาแฟได้ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ต่างๆ ได้กล่าวพ้องกันประมาณว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่เมล็ดกาแฟคั่วแล้วมีการปนเปื้อนของอะคริลาไมด์ (ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่กำหนดตามรัฐบัญญัติ  the Emergency Planning and Community Right-to-Know Act) ในปริมาณน้อย ในความเป็นจริงแล้วสารอะคริลาไมด์นั้น เป็นสารปนเปื้อนที่เกิดขึ้นในปริมาณน้อยๆ จนดูเป็นของธรรมดาในเมล็ดกาแฟคั่วและอาหารอื่นที่ปรุงสุกด้วยความร้อน เช่น มันฝรั่งทอด บิสกิต และอาหารทารกของบางบริษัท แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ ทนายความของบริษัทขายกาแฟ กลับมักง่ายอ้างด้วยความรู้สึกว่า ปริมาณของอะคริลาไมด์นั้นมีค่อนข้างต่ำ จนความเสี่ยงต่อสุขภาพเนื่องจากการดื่มกาแฟนั้นไม่มีนัยสำคัญ ซึ่งคำพูดดังกล่าวนั้นขาดการสนับสนุนทางวิชาการที่หนักแน่นพอ ศาลจึงไม่รับฟัง เมื่อสืบดูข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟแล้ว ผู้ที่อยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์สุขภาพค่อนข้างเชื่อว่า กาแฟนั้นมีแนวโน้มในการลดความเสี่ยงต่อมะเร็งในผู้บริโภค ศักยภาพในการลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในผู้บริโภคที่ดื่มกาแฟนั้น อาศัยหลักการว่า หลังจากเมล็ดกาแฟถูกคั่วแล้วสีของเมล็ดจะเปลี่ยนไปเป็นสีดำคล้ำ ซึ่งเกิดจากการไหม้และควันที่เกิดจากการคั่วลอยกลับลงมาเคลือบผิวเมล็ด ซึ่งทำให้กาแฟมีกลิ่นไหม้ที่มนุษย์ชอบ ในความเป็นจริงแล้วนักพิษวิทยาทราบมานานแล้วว่า ที่ใดมีควันที่นั่นมีสารก่อมะเร็งกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอนเสมอ แต่สารพิษกลุ่มนี้มีอยู่ในปริมาณไม่มากจนก่อให้เกิดพิษในคนส่วนใหญ่ ประการสำคัญคือ สารพิษปริมาณน้อยนี้ (น่าจะ) ช่วยกระตุ้นระบบเอ็นซัมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับสารพิษอื่น ๆ ในอาหารที่เรากินออกจากร่างกายด้วยอัตราที่เร็วขึ้น โดยมีข้อแม้ว่า ต้องดื่มกาแฟในปริมาณที่เหมาะสมคือ 3 - 4 แก้วต่อวันดังนั้นการที่รัฐแคลิฟอร์เนียเตรียมพร้อมบังคับให้ร้านกาแฟติดประกาศเตือนดังกล่าว ดูไปก็เหมือนการเหวี่ยงแหโดยไม่ได้หวังปลาสักเท่าใดนัก เพราะผู้ประกอบการต่างๆ ไม่ใคร่กังวลในเรื่องการติดประกาศนี้ อาจเป็นเพราะคนอเมริกันก็ไม่ได้ใส่ใจในการอ่านฉลากหรือประกาศเช่นกันข้อบังคับทางกฎหมายของ California’s Proposition 65 นี้ ปรากฏว่ามีคนอเมริกันนำไปทำให้ดูเป็นของเล่น ตัวอย่างเช่น ป้ายเตือนติดในที่สาธารณะที่ว่า WARNING: The Disneyland resort contains chemicals known to the State of California to cause cancer and birth defects or other reproductive harm หรือ WARNING: Breathing the air in this parking garage can expose you to chemicals including carbon monoxide and gasoline or diesel engine exhaust, which are known to the State of California to cause cancer and birth defects or other reproductive harm เป็นต้น ตัวอย่างตลกอื่นๆ สามารถหาดูได้จาก Googleเว็บไซต์เกี่ยวกับมะเร็งเว็บหนึ่งได้กล่าวเป็นเชิงว่า มีการศึกษาทางระบาดวิทยาจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า “การดื่มกาแฟอาจช่วยปกป้องผู้ป่วยจากมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก” นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งลำไส้ใหญ่หลายคนได้กล่าวในอินเทอร์เน็ตประมาณว่า การศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นว่า “การดื่มกาแฟอาจช่วยป้องกันผู้ดื่มจากการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือผู้ดื่มกาแฟที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้วนั้นมีชีวิตยืนยาวกว่าผู้ป่วยที่ไม่ดื่มกาแฟ” อย่างไรก็ดีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้นไม่สามารถตอบแบบ ฟันธง ให้ศาลยุติธรรมเข้าใจได้ เนื่องจากข้อสรุปที่ได้นั้นจำต้องอยู่ภายใต้กรอบของคำว่า อาจจะ ซึ่งเป็นกรอบการพูดภาษาทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องรอบคอบ เนื่องจากการทดสอบหรือหาข้อมูลในมนุษย์นั้นมีปัจจัยแฝง(confounding factor) หลายประการที่อาจทำให้สิ่งที่ไม่น่าเกิดกลับเกิดขึ้นมาได้ในภาวะใดภาวะหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 โฆษณามั่วซั่วต้องตอบแทน (ตอนที่ 2)

ดังได้กล่าวในตอนที่แล้วประมาณว่า การทำธุรกิจในสหรัฐอเมริกานั้น ใครใคร่ทำนั้นสามารถทำได้ แต่อย่าโอ้อวดจนน่าเกลียดเพราะมีนักร้อง(เรียน) อาชีพคอยจัดการอยู่ตัวอย่างต่อไปที่ผู้เขียนอ่านพบในอินเทอร์เน็ตคือ เมื่อปี 2009 ซึ่งกระแสความตื่นกลัวของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมู(H1N1) กำลังแรง บริษัทขายอาหารเช้าชนิดที่ใช้ธัญพืชเป็นวัตถุดิบยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งตัวสินค้านั้นมีความละม้ายคล้ายข้าวเม่าคั่ว ได้ทำฉลากติดพาดกลางกล่องสินค้าชนิดที่ผลิตจากข้าวโพดว่า สินค้านี้ช่วยกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของเด็กได้ดี พร้อมการอวดอ้างว่า การกินสินค้าดังกล่าวด้วยปริมาณที่บริษัทแนะนำนั้น ทำให้ผู้บริโภคได้สารต้านออกซิเดชั่นและสารอาหารถึงร้อยละ 25 ที่ร่างกายต้องการ แต่ทันทีที่ข้อมูลบนฉลากกระทบตานักวิชาการ คำถามถึงที่มาและการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ส่งผลถึงที่มาของข้อความดังกล่าวก็ถูกตั้งเป็นประเด็นขึ้น จนสุดท้ายบริษัทก็ฉีกฉลากดังกล่าวทิ้งถังขยะไปในปีเดียวกันนั้นกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐได้ขอคำอธิบายจากบริษัทเดียวกันนั้นว่า การอวดอ้างว่าสินค้าที่ทำจากข้าวสาลีนั้นช่วยให้เด็กมีพัฒนาการในเรื่อง ความเอาใจใส่(attentiveness) สูงขึ้นร้อยละ 20 นั้น ท่านได้แต่ใดมา ซึ่งทางบริษัทก็ไม่สามารถอธิบายได้ สุดท้ายกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐจึงได้สั่งการแบบปรานี ประมาณว่า ให้บริษัทถอดโฆษณาดังกล่าวออกพร้อมสำทับว่า คราวหน้าถ้าจะโฆษณาอะไรก็ตามเกี่ยวกับสินค้าว่า มีผลต่อสุขภาพผู้บริโภคนั้น ขอให้ทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์จนได้ข้อมูลที่ชัดแจ้ง อย่าได้บังอาจคิดว่าผู้บริโภคนั้นกินฟางเป็นอาหารหลักสืบเนื่องจากการโฆษณาสินค้าที่อ้างว่า มีผลต่อการเพิ่มความสามารถของคนดังกล่าวข้างต้นนั้น ชาวอเมริกันหลายคนที่มีโอกาสได้ดูโฆษณาสินค้าอาหารบางชนิดในประเทศไทย อาจประหลาดใจว่า โฆษณาสินค้าที่อ้างว่าทำให้คนฉลาดนั้นหลุดรอดออกมาสู่สายตาผู้ชมได้อย่างไร เช่น สินค้าบางชนิดอ้างเองว่า ผู้ที่กินเข้าไปแล้วจะฉลาดขึ้น เสมือนคนที่มะงุมมะงาหราอยู่ในที่มืดมานานแล้วสามารถเปิดไฟสว่างมองเห็นทางออก เช่น สอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยได้ โดยไม่ได้คำนึงเลยว่า ความฉลาดของมนุษย์นั้นมีหลายปัจจัยเป็นตัวคุม โดยหนึ่งนั้นคือ สภาวะโภชนาการ ซึ่งเป็นผลจากการกินอาหาร ซึ่งต้องเป็นอาหารที่ครบหมู่ต่างๆ ที่ร่างกายต้องการ ไม่ใช่สินค้าที่เหมือนได้จากการต้มโครงหมูกระดูกไก่แล้วแต่งสีบรรจุขวดขายอีกตัวอย่างที่ดูเหมือนเป็นปัจจัยที่ห้าของชีวิตสตรีและผู้ที่ข้ามเพศจำต้องหามาใช้บำรุงชีวิตนั้น คือ เครื่องสำอาง ผู้เขียนได้ดูภาพยนตร์สั้นเรื่องหนึ่งใน YouTube เกี่ยวกับสตรีไทยผู้มีอาชีพเป็นนางแบบภาพเปลือย ซึ่งทำให้เข้าใจความหมายของคำว่า nude นั้นเป็นอย่างไร มีตอนหนึ่งที่สะกิดใจมากคือ นางแบบนั้นขอทาอายไลเนอร์ก่อนถ่ายภาพทั้งที่วันนั้นเป็นการถ่ายภาพที่มองไม่เห็นส่วนดวงตาของเธอก็ตาม ซึ่งน่าจะแสดงว่าสตรีบางคนในเมืองที่มีแสงสีนั้น ขอบำรุงผิวหน้าสักหน่อยก่อนออกไปไหนๆ เพื่อความมั่นใจในตนเอง เกี่ยวกับเครื่องสำอางโฆษณาเกินจริงนี้ ผู้เขียนขอข้ามจากสหรัฐอเมริกาไปยังสหราชอาณาจักรสักหน่อย เพราะในปี 2009 นั้นผู้ดูแลด้านกฏหมายการโฆษณาของสหราชอาณาจักร(U.K.’s Advertising Standards Authority) ได้สั่งถอดโฆษณาเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นครีมที่ใช้บำรุงผิวหนังบริเวณหลังตา โดยการสั่งห้ามนั้นมาจากสาเหตุที่ในการโฆษณานั้นมีการใช้นางแบบวัยดึกอายุราว 60 ปี คนหนึ่งซึ่งเคยถูกขนานนามว่า สวยแบบผอมกระหร่องที่สุดในโลก (นางเข้าวงการเดินแบบเมื่ออายุ 15 ปีในปี 1966 โดยเป็นต้นกำเนิดของแฟชั่นสไตล์ "Androgyny" ซึ่งเป็นสไตล์กึ่งหญิงกึ่งชาย) มาอวดอ้างว่า ครีมนั้นป้องกันตีนกา(ซึ่งฝรั่งใช้คำว่า crow’s feet) ได้ สุดท้ายแล้วข่าวในอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า หลังจากการพูดจากันระหว่างผู้ดูแลกฎหมายและผู้ประกอบการ  ซึ่งก็ยอมรับแบบเสียไม่ได้ว่า ภาพที่โฆษณานั้นใช้การตกแต่งด้วยคอมพิวเตอร์(retouching) เพื่อกำจัดริ้วรอยของความแก่ตามวัยที่หางตานางแบบนั้นออกไป และสุดท้ายบริษัทก็เปลี่ยนภาพนางแบบจากสาวแก่เป็นสตรีเยาว์วัยแทนปรากฏการณ์เอาเรื่องของผู้ดูแลกฎหมายเกี่ยวกับโฆษณาเครื่องสำอางในอังกฤษนั้น ยากที่จะเกิดในบางประเทศ เพราะผู้ดูแลกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องสำอางส่วนใหญ่ในประเทศ กำลังพัฒนา มักใช้กระบวนการประมาณว่า(สมน้ำหน้า) ถ้าเครื่องสำอางนั้นใช้ไม่ได้ผลก็ให้โยนลงถังขยะแล้วอย่า(โง่) ไปซื้อมาใช้อีก โดยไม่คำนึงเลยว่า ค่าโง่ของผู้บริโภคนั้นมันต้องเสียเงินไปมากแค่ไหนย้อนกลับไปที่สหรัฐอเมริกาเพื่อดูข่าวเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการที่คนอเมริกัน ถูกหลอกให้กินผลไม้กวนปลอมปนที่ผลิตโดยบริษัทผลิตอาหารยักษ์ใหญ่หนึ่งของสหรัฐอเมริกา(บริษัทนี้ขึ้นชื่อในการผลิตอาหารที่ทำจากแป้งเมื่อเริ่มต้นตั้งบริษัท จากนั้นก็ขยายไลน์ของผลิตภัณฑ์ออกไปมากมาย พร้อมธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวกับอาหาร ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อลือชามากคือ ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดแผ่นอบกรอบชนิดที่ขายดีในวันฮาโลวีน) ขนมผลไม้กวนม้วนที่คล้ายมะม่วงกวนบ้านเราซึ่งบริษัท(ซึ่งผู้เขียนไม่ขอออกนาม) ผลิตนั้น ได้ใช้ชื่อที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า ทำจากผลสตรอว์เบอร์รี ทั้งที่มีส่วนผสมหลักคือ น้ำคั้นจากลูกแพร์เข้มข้น น้ำตาลข้าวโพดเข้มข้น น้ำตาลทราย และอื่น ๆ เช่น เพ็กตินซึ่งทำให้สินค้าเป็นแผ่นเหมือนผลไม้กวน โดยอาจมีสตรอว์เบอร์รีบ้างเป็นบางครั้งแต่ก็ไม่ถึงร้อยละ 2 (ข้อมูลจาก wikipedia)การหลอกพ่อแม่เด็กชาวอเมริกันว่า สินค้านั้นทำจากผลไม้ธรรมชาติแล้วโฆษณาว่า เด็กจะมีสุขภาพดีเพราะได้สารอาหารเหมือนกินผลไม้แท้นั้น กระตุ้นให้ The Center for Science in the Public Interest (CSPI) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนไม่หวังผลกำไรที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นั้นเกิดอาการ หัวร้อน จัดการฟ้องร้องบริษัทนี้ในด้านละเมิดสิทธิที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อปี 2011 จนสุดท้ายมีการตกลงกันนอกศาล(ตามระบบกฎหมายของสหรัฐอเมริกา) ว่า ผู้ผลิตต้องเลิกใช้รูปผลไม้บนฉลากสินค้า เลิกอวดอ้างว่าทำจากผลไม้แท้ หรือข้อมูลที่ทำให้ผู้จ่ายเงินซื้อเข้าใจว่าซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผลไม้แท้ สำหรับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนี้กระทำครบแล้วตามศาลสั่งในปี 2014สินค้าอาหารหลายอย่างที่มีลักษณะการผลิตดังที่ผู้เขียนเล่าให้ฟังนี้ ในบ้านเราคงมีขายอยู่บ้าง ตัวอย่างที่ผู้เขียนเคยพบและคิดว่าน่าจะเข้าข่ายการหลอกลวงนั้นเกิดในสมัยผู้เขียนยังทำงานสอนหนังสืออยู่คือ เมื่อชงกาแฟ 3 in 1 ยี่ห้อหนึ่งในช่วงเช้าก่อนเวลาทำงาน ปรากฏว่าเกิดกลิ่นหอมออกไปจากห้องทำงานถึงทางเดินส่วนกลางจนมีผู้ตามกลิ่นเข้ามาดูว่า กาแฟอะไรทำไมถึงหอมอย่างนี้ ปรากฏว่าเมื่อดูที่ฉลากบนซองได้พบมีการระบุชัดเจนว่า เติมกลิ่นรสกาแฟสังเคราะห์ ซึ่งสารเคมีดังกล่าวนี้ผู้เขียนคงได้เคยประสบมาแล้วอีกเช่นกัน เมื่อวันหนึ่งเดินเข้าไปในศูนย์การค้าใหญ่แถวสยามสแควร์เวลาประมาณ 11.00 น. ก็ได้กลิ่นกาแฟหอมฉุยมาจากร้านกาแฟร้านหนึ่ง จึงเดินตามกลิ่นไปดู สิ่งที่พบคือ พนักงานของร้านยังไม่ได้ต้มน้ำร้อนสำหรับชงกาแฟเลย เพียงแต่เอาสเปรย์กลิ่นกาแฟฉีดเพื่อให้เกิดบรรยากาศเรียกน้ำย่อยเท่านั้น ดังนั้นโดยสรุปแล้ว สินค้าที่ท่านซื้อมาบริโภคในวันนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ท่านต้องการได้จริงในบางครั้ง เพราะเทคโนโลยีต่างๆ ในการผลิตเพื่อตบตานั้นได้ก้าวล้ำไปไกลแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 โฆษณามั่วซั่วต้องตอบแทน (ตอนที่ 1)

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 สำนักข่าวอิศราได้ลงข่าวหนึ่งซึ่งผู้เขียนสนใจและเก็บข้อมูลไว้ในคอมพิวเตอร์ ข่าวนั้นคือ “พบ 102 ผลิตภัณฑ์อาหารและยาโฆษณาเกินจริงในสื่อวิทยุชุมชน-เคเบิ้ลทีวี-ทีวีดาวเทียม ผลิตภัณฑ์สุขภาพมากสุด 59% ‘สุภิญญา’ เผยเตรียมผุดโมเดล จว.นำร่อง ‘เพชรบุรี’ หวังจับมือท้องถิ่นแก้ปัญหา ชง รบ.บรรจุวาระชาติ กวาดล้างธุรกิจลวงผู้บริโภคจริงจัง” ข่าวดังกล่าวนั้นเป็นการจัดแถลงผลงานของสำนักงาน กสทช. ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพมหานคร ตามข้อตกลงความร่วมมือ ‘การสร้างเครือข่ายร้องเรียนการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์’ ระหว่างสำนักงาน กสทช. กับมหาวิทยาลัย 4 แห่ง รวมทั้งเครือข่ายผู้บริโภคทั้ง 4 ภูมิภาค โดยทำการวิจัย (ธันวาคม 2555-กุมภาพันธ์ 2556) พบการโฆษณาเอาเปรียบผู้บริโภคผ่านทางสื่อวิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียมที่อวดอ้างสรรพคุณการบำบัดบรรเทาหรือป้องกันโรคตลอดจนบำรุงร่างกายทั้งสิ้น 102 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีเนื้อหา ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาหาร พ.ศ.2522 ทุกผลิตภัณฑ์ สุดท้ายของข่าวคือ คุณสุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวประมาณว่า หากรัฐบาลจะออกนโยบายประชานิยมที่ช่วยเหลือคนยากจนไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ควรแสดงความจริงใจโดยมีนโยบายกวาดล้างธุรกิจเหล่านี้ และสนับสนุนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ช่วยดำเนินการด้วย มิใช่ตั้งเป้าเพียงคดีทางการเมือง เนื่องจากหลายธุรกิจมีส่วนโยงใยกับนักการเมืองท้องถิ่น”ผู้เขียนรู้สึกสะกิดใจทุกครั้งที่ย้อนไปอ่านข่าวนี้ว่า ได้พลาดการพบข่าวว่ามีหน่วยงานใดสนใจข่าวและมีการปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณสุภิญญาหรือเปล่า แต่ก็ได้ตอบตัวเองว่า ไม่น่าพลาดเพราะติดตามข่าวทำนองนี้มาตลอด อีกทั้งยังได้เห็นปรากฏการณ์ของโฆษณาตามลักษณะที่งานวิจัยข้างต้นพบนั้นตำตาอยู่ตลอดเวลา จนมีความรู้สึกว่า มันคงต้องเป็นเช่นนี้ตลอดไป ไม่มีที่สิ้นสุดแบบว่า คงต้องถอดใจในความหวังว่าจะมีการแก้ไขประเด็นปัญหานี้แล้วดังนั้นในฉลาดซื้อฉบับนี้และฉบับหน้า ผู้เขียนจะนำตัวอย่างการจัดการปัญหาสินค้าที่มีการโฆษณาตามใจบริษัทในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษมาเล่าเป็นตัวอย่างว่า มีชะตากรรมอย่างไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเริ่มต้นจากผู้บริโภคหรือองค์กรเอกชนแล้วสานต่อด้วยหน่วยงานรัฐที่ถูกกระตุ้นให้กระทำสหรัฐอเมริกาสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีเสรีภาพอย่างสุดๆ พร้อมทั้งการบังคับใช้กฏหมายแบบ(แทบ) ไม่มีการยกเว้น ต่างจากบางประเทศที่พัฒนาแล้วได้เท่าที่เป็น(เพราะพัฒนาต่อไปไม่ไหว) โดยเรื่องราวต่อไปนี้เป็นตัวอย่างให้รู้ว่า การโฆษณาขายสินค้าแบบมั่วๆ ในสหรัฐอเมริกาทำไม่ได้นะ เพราะประเทศนี้ก็มีนักร้อง (เรียน) ระดับชาติเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคและบริโภค และศาลอเมริกันนั้นเอาจริงเสมอถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดผลประโยชน์ของผู้บริโภคหลายปีมาแล้วมีบริษัทหนึ่งขายรองเท้าที่โฆษณาว่าเป็น "รองเท้าที่ใส่แล้วเหมือนวิ่งด้วยเท้าเปล่า (Barefoot Running Shoe)" อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณเท้าและขาช่วงล่าง กระตุ้นการทำงานของประสาทที่เกี่ยวข้องกับความสมดุลและความว่องไว อีกทั้งช่วยให้เท้าและลำตัวเคลื่อนไปเป็นธรรมชาติ รองเท้าที่ว่านี้ต่างจากรองเท้าอื่นเพราะออกแบบให้มีรูปร่างเหมือนมีนิ้วเท้าห้านิ้วและส้นค่อนข้างบางมาก (FiveFingers shoes) นัยว่าเมื่อใส่แล้วควรรู้สึกเหมือนไม่ได้ใส่มีลูกค้าถึง 70 ล้านคนที่ยอมจ่ายเงินซื้อรองเท้าประหลาดนี้ในราคาคู่ละเกือบ 100 เหรียญดอลลาห์สหรัฐ แต่สุดท้ายก็มีนักร้อง(เรียน) ชาวอเมริกันคนหนึ่งเอาเรื่องถึงศาล โดยกล่าวหาว่าบริษัททำโฆษณาแบบไม่ได้ใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาประกอบ เป็นการโฆษณามั่วซั่วเกี่ยวกับสุขภาพเท้าของประชาชน อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์สุขภาพบางคนกล่าวว่า รองเท้าประหลาดนี้อาจทำให้สุขภาพเท้าเสื่อมได้เมื่อใส่วิ่ง สุดท้ายในปี 2012 ศาลจึงตัดสินว่า บริษัทต้องจ่ายค่าปรับ 3.75 ล้านเหรียญดอลลาห์สหรัฐให้กระทรวงพาณิชย์(Federal Trade Commission) และต้องคืนเงินให้ลูกค้าที่ซื้อรองเท้าไปราวคู่ละ 20- 50 เหรียญ(คงเป็นไปตามสภาพรองเท้าที่เหลืออยู่)ในปี 2005 มีบริษัทผลิตน้ำบ้วนปากยี่ห้อหนึ่งถูก Federal Judge (น่าจะหมายถึง ศาลสูง) สั่งให้แพ้คดีที่บริษัทผลิตไหมขัดฟันฟ้องว่า โฆษณามั่วซั่วที่ไปอ้างว่า น้ำบ้วนปากที่ผลิตโดยบริษัทมีประสิทธิภาพดีเท่ากับการใช้ไหมขัดฟันเพื่อป้องกันฟันผุและเหงือกร่น ข่าวกล่าวว่า ผู้พิพากษาชาวอเมริกันเชื้อสายจีนตัดสินคดีพร้อมให้ความเห็นว่า มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่ไม่มีการทำวิจัยก่อนกล่าวอ้างเอาเองแบบนี้ ซึ่งบริษัทขายน้ำบ้วนปากก็รับรู้จ่ายค่าปรับโดยดีเมื่อตามข่าวเกี่ยวกับน้ำบ้วนปากยี่ห้อดังกล่าวในทางลึกพบว่า เมื่อปี 1976 ซึ่งขณะนั้นบริษัทที่ผลิตน้ำบ้วนปากนี้เป็นอีกบริษัทหนึ่ง ได้ถูกคำพิพากษาให้ใช้เงิน 10 ล้านเหรียญดอลลาร์ในการทำโฆษณาเผยแพร่ว่า โฆษณาเดิมที่อ้างว่า น้ำบ้วนปากยี่ห้อนี้ป้องกันหวัดและอาการเจ็บคอได้ นั้นไม่เป็นความจริงเรื่องที่สามนี้อาจเกี่ยวกับการที่เราพยายามเป็นไทยแลนด์ 4.0 หรือไม่ โปรดพิจารณา เพราะมันเกี่ยวกับการใช้สมาร์ทโฟน โดยมีการอวดอ้างว่าการส่งภาพลามก(salacious pictures) ตลอดจนการเขียนหรือส่งต่อข้อความลามก(sexting) ผ่านแอปพลิเคชันหนึ่งบนโทรศัพท์มือถือที่บริษัทหนึ่งเขียนขึ้นนั้นไม่มีใครสามารถเก็บไว้ได้(พูดง่ายๆ คือ ถ่อยกันได้เต็มที่ไม่ต้องกลัวว่ามีการเก็บไว้เป็นหลักฐานตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ของแต่ละชาติ) เพราะมันจะถูกลบไปในเวลาสั้น ๆ ตามที่ผู้ส่งกำหนดไว้ สำหรับในบ้านเรานั้น มีการแนะนำแอปพลิเคชันนี้บนเว็บภาษาไทยโดยตอนหนึ่งกล่าวว่า “รูปที่ส่งไป หลังจากที่ผู้ใช้งานเปิดดูรูป จะมีเวลาจำกัดในการดูตามเวลาที่ถูกตั้งไว้ สามารถกด Replay ได้ 1 ครั้ง/1 วัน หลังจากนั้น รูปนั้นก็จะหายไปจากระบบตลอดกาล (แต่เราสามารถแคปเก็บไว้ได้นะครับ) อีกทั้งไม่ใช่เพียงแต่รูปที่หายไป แต่หากเราไม่ได้กดเซฟข้อความไว้ ข้อความที่เราคุยก็จะหายไปเช่นกัน” ข้อมูลจาก Wikipedia เล่าว่า แอปพลิเคชันของบริษัทที่ถูกร้องเรียนว่าหลอกลวงนี้ จัดอยู่ในโหมด Social Network ซึ่งก่อตั้งในปี 2011 โดยเริ่มแรกนั้นสื่อสารกันผ่านรูปถ่ายและคลิปสั้นๆ เป็นหลัก แต่ภายหลังเริ่มเพิ่มลูกเล่นเข้ามาเรื่อยๆ จนตอนนี้สามารถ ส่งรูปถ่าย, คลิปสั้น, ข้อความ จนไปถึง Video callดังที่มีผู้อธิบายถึงการใช้แอปพลิเคชันนี้เป็นภาษาไทยแล้วว่า ทั้งรูปและข้อความนั้นสามารถแคปเก็บไว้ได้ ผู้ใช้จึงควรคำนึงตลอดเวลาว่า ปรกติแล้วบนแป้นพิมพ์ของคอมพิวเตอร์นั้นมีปุ่ม PrtScn ไว้ให้เราเก็บสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนจอภาพอยู่แล้ว(ในกรณีที่สั่ง save ไม่ได้) สำหรับสมาร์ทโฟนซึ่งผู้เขียนไม่ชำนาญนั้นก็คงมีปุ่มวิเศษลักษณะนี้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ใครก็ตามที่ได้ปฏิบัติการในการส่งภาพหรือข้อเขียนที่สังคมไม่นิยมในที่แจ้ง (แต่อาจแอบดูในที่ลับ) ด้วยแอปพลิเคชันนี้แล้ว ก็ควรทำใจสบายๆ เกี่ยวกับผลกรรมที่อาจตามมาได้ในอนาคตตัวอย่างต่อมาคือ คำว่า Naked หรือเปลือยนั้น ได้ถูกนำไปรวมกับคำว่า น้ำผลไม้ แล้วจดทะเบียนการค้าเป็นสินค้าซึ่งจริงแล้วคือ น้ำผลไม้(คั้นสดหรือปั่น) ในชั้น premium grade สำหรับผู้ดื่มคอสูง เพราะเมื่อสำรวจราคาในอินเทอร์เน็ตแล้วพบว่า ขวด(1 ออนซ์) ราคาราว 5-25 เหรียญดอลลาร์ สินค้านี้เริ่มผลิตในปี 1983 เป็นน้ำผลไม้บรรจุขวดแช่เย็นไม่มีวัตถุกันเสีย ในลักษณะอุตสาหกรรมในครอบครัวเพื่อขายแก่ขานู้ด(เปลือย) ที่ชอบไปอาบแดดที่ชายหาด ซานตา-มอนิกา รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจขานู้ดที่มีอันจะกินทั้งหลาย จึงขายดีมากจนในปี 2001 บริษัทน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่หนึ่งได้ซื้อลิขสิทธิ์ยี่ห้อสินค้าแล้วทำการ rebranding ขนานใหญ่เพื่อสร้างภาพ จนในปี 2012 ก็เจอดีโดนฟ้องเนื่องจากโฆษณาเกินจริง (ตามที่ระบุใน Wikipedia) ว่า "The product was 100% Juice, was "All Natural, contained Nothing Artificial, and was Non-GMO"  ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วมีการเติมน้ำตาล และน้ำตาลเทียม ใยอาหาร กลิ่นรสสังเคราะห์ วิตามินสังเคราะห์ ซึ่งสุดท้ายบริษัทผู้ผลิตได้ยอมลบข้อความอวดอ้างเกินจริงออกจากฉลากอาหาร สำหรับในประเทศไทยนั้นสินค้าลักษณะดังกล่าวพร้อมโฆษณาคล้ายกัน ยังมีขายในอินเทอร์เน็ต เข้าใจว่าเพื่อสนองนโยบาย “ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า” ตามที่ปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงนั่นเอง (โปรดติดตามตอนต่อไปในเดือนหน้าครับ)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 อาหารที่ไม่เข้ากัน

อยู่ ๆ ก็มีคำถามจากบรรณาธิการฉลาดซื้อว่า มีบทความหนึ่งชื่อ “เกือบเอาชีวิตไม่รอด ห้ามกินคู่กันเด็ดขาด มีพิษร้ายแรงเทียบเท่าสารหนู” ซึ่งลงไว้ในเว็บไทยเว็บหนึ่งในอินเตอร์เน็ทเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2018 โดยมีคำบรรยายต่อว่า “ยังดีที่มา รพ. ทัน ไม่งั้นอาจถึงแก่ชีวิตได้? แพทย์เผยสาเหตุ..ของหญิงวัย 30 ที่ป่วยอยู่..แล้วกินกล้วยกับของเหล่านี้เข้าไปคู่กันโดยคาดไม่ถึงว่ามันจะอันตรายขนาดนี้?” เป็นบทความที่น่าเชื่อหรือไม่ เพราะดูค่อนข้างแปลกรายละเอียดต่อจากหัวข้อข่าวกล่าวว่า “....หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ากล้วยหอมห้ามกินกับอะไรบ้าง เหมือนกับผู้ป่วยรายนี้ที่รับประทานกล้วยกับโยเกริต์เข้าไปพร้อมกัน พอเวลาผ่านไปสักพัก เขาเริ่มเกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงจนทนไม่ไหว ทางบ้านจึงรีบพาส่ง รพ. แพทย์รีบเช็คดูอาการแล้วจึงรีบล้างท้องโดยด่วน พร้อมเผยว่าหญิงวัย 30 รายนี้ได้รับประทานอะไรเข้าไปหรือป่าว หญิงรายนี้เลยบอกแค่ว่าเขา รับประทานแค่กล้วยกับโยเกริต์เข้าไป แต่ไม่คิดว่าจะปวดท้องมากขนาดนี้…”ลักษณะข่าวดังกล่าวนี้ดูเป็นเรื่องน่าสนใจทันทีเพราะ เป็นเรื่องของกล้วยหอมและเรื่องของโยเกิร์ต ซึ่งบางคนกินแยกกันและบางคนกินผสมกัน(โดยเฉพาะฝรั่งหลายชาติอาจปั่นเป็น smoothie ดังปรากฏเป็นสูตรอาหารเช้าในเน็ต เมื่อใช้คำว่า banana and yogurt ใน google search) แต่พอมีข่าวเกี่ยวกับการก่ออันตรายได้ทั้งที่เป็นอาหารที่เราคุ้นชิน คำถามจึงควรมีต่อไปว่า คำแนะนำนั้นอยู่บนฐานของความจริงเพียงใดในชั้นต้นนั้นเมื่อดูคำแนะนำของผู้หวังดีก็พบว่า คำแนะนำนั้นขาดที่มาหรือไม่ให้เหตุผลว่า ทำไมถึงห้าม อยู่ ๆ ก็มาห้าม เหมือนโกรธกับแม่ค้าขายกล้วยหอม หรือเคืองพ่อค้าขายโยเกิร์ต ซึ่งก็คงไม่ใช่ ในฐานะที่ผู้เขียนเคยทำการสอนวิชาที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการบริโภคอาหารจึงได้พยายามสืบต่อว่า ข้อห้ามนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร สุดท้ายเมื่อเข้าไปดูหลายๆ เว็บทั้งไทยและเทศที่แนะว่าไม่ควรกินกล้วยหอมกับโยเกิร์ตแล้วก็พบว่า ต่างก็อาศัยข้อมูลพื้นฐานจากศาสตร์โบราณของชาวฮินดูคือ อายุรเวท (Ayurveda มาจากภาษาสันสกฤตว่า อายุส แปลว่าชีวิต และเวท แปลว่า ศาสตร์ รวมแปลว่า ศาสตร์แห่งชีวิต) ผู้เขียนได้พบบทความสั้น ๆ เรื่อง Food Combining เขียนโดย Vasant Lad ซึ่งคงเป็นคนในกลุ่มของ The Ayurvedic Institute ที่ตั้งอยู่ในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้เขียนได้พยายามทำความเข้าใจในเนื้อหาเพื่อนำมาเล่าให้ผู้อ่านที่ไม่เคยสนใจในอายุรเวททราบดังนี้ อายุรเวทนั้นเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับการบำบัดโรคและอาการผิดปรกติของร่างกาย ซึ่งส่วนหนึ่งของศาสตร์นี้กล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่ต้องเลือกให้ถูกถ้าจะผสมกันก่อนกิน ตามความเชื่อทางอายุรเวท อาหารแต่ละชนิดมีความเฉพาะในรสชาติ ความเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการให้พลังงานและผลที่เกิดหลังการย่อยต่างกัน ดังนั้นหนทางในการถูกย่อยของอาหารแต่ละชนิดจึงแตกต่างกัน การนำอาหารสองอย่างขึ้นไปมาผสมกันนั้นจำต้องคำนึงถึงกระบวนการย่อยอาหารที่ถูกผสมนั้นว่าไม่ขัดขวางกัน เพราะสุดท้ายแล้วความไม่เหมาะสมของการผสมอาหารนั้นอาจก่อให้เกิดสารพิษขึ้นมาได้ (ประเด็นนี้น่าสนใจมาก เสียดายในบทความไม่ได้ยกตัวอย่างว่าได้แก่อะไรบ้าง...ผู้เขียน) ซึ่งต่างจากการกินอาหารดังกล่าวแต่ละชนิดต่างเวลากัน อาหารทั้งหมดนั้นกลับช่วยให้ร่างกายดำรงชีวิตได้อายุรเวทกล่าวประมาณว่า การผสมอาหารที่ไม่เข้ากันนั้นอาจก่อให้เกิดการย่อยที่ไม่สมบูรณ์ในร่างกายผู้กิน ส่งผลให้มีการหมัก จนเกิดก๊าซในทางเดินอาหาร ตัวอย่างเช่น การกินนมกับกล้วยนั้นทำให้เกิดการยับยั้งการย่อยในกระเพาะอาหาร ปรับเปลี่ยนจุลินทรีย์ธรรมชาติที่มีในลำไส้ใหญ่จนเกิดการสร้างสารพิษที่ก่อให้เกิดอาการไซนัสอักเสบ หนาว ไอ และแพ้อาหาร โดยมีคำอธิบายทางอายุรเวทประมาณว่า ถึงอาหารทั้งสองต่างให้พลังเย็นต่อร่างกาย แต่ผลที่เกิดขึ้นหลังการย่อยแล้วกลับต่างกันโดยกล้วยนั้นให้รสเปรี้ยวแต่นมให้รสหวาน ส่งผลให้ระบบการย่อยอาหารสับสนจนเกิดสารพิษและความไม่สมดุลต่าง ๆ ได้ Vasant Lad ยกตัวอย่างอาหารที่ก่อปัญหาประมาณว่า ไม่ควรดื่มนมพร้อมไปกับแตงต่างๆ แม้ว่าอาหารทั้งสองให้พลังเย็นต่อร่างกาย แต่นมนั้นมีฤทธิ์ส่งผลให้เกิดการถ่ายท้อง ในขณะที่แตงช่วยระบายปัสสาวะ โดยปรกติแล้วนมนั้นต้องการเวลาในการย่อยมากกว่าแตง นอกไปจากนี้กรดในกระเพาะอาหารนั้นก็เป็นที่ต้องการในการย่อยแตงส่งผลให้นมตกตะกอน(curdle) ซึ่งไม่ดีต่อการย่อยอาหาร ความในข้อนี้ดูแปลกเพราะ ในความเป็นจริงทางสรีรวิทยาการย่อยอาหารแล้ว แตงนั้นไม่มีส่วนใดที่ควรถูกย่อยในกระเพาะอาหารเนื่องจากมีโปรตีนต่ำ น้ำตาลในแตงจะถูกย่อยด้วยน้ำย่อยจากตับอ่อนในลำไส้เล็ก และส่วนใหญ่ของแตงนั้นคือ ใยอาหาร จะไม่ถูกย่อยแต่ส่งผลในด้านการป้องกันมะเร็งในทางเดินอาหาร และสิ่งที่ตรงข้ามกับความรู้ทางอายุรเวทคือ การตกตะกอนของนมนั้นจริงแล้วเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นกับโปรตีนทุกชนิดก่อนที่จะถูกย่อยบางส่วนด้วยเอ็นซัมเป็บซินในกระเพาะอาหาร แล้วจึงส่งต่อให้ถูกย่อยจนสำเร็จด้วยเอ็นซัมจากตับอ่อนในลำไส้เล็กนอกจากนี้ผู้เขียนยังได้พบบทความอีกหนึ่งบทความชื่อ Viruddha Ahara: A critical view ซึ่งเขียนโดย M. Sabnis (www.ayujournal.org/text.asp?2012/33/3/332/108817) ผู้ซึ่งอธิบายถึงเรื่องราวของ Viruddha Ahara ซึ่งเป็นแนวคิดเฉพาะเรื่องที่อธิบายไว้ในอายุรเวท (Ayurveda) โดยคำว่า Viruddha Ahara นั้นหมายถึง ปฏิสัมพันธ์ต่อกันระหว่างอาหารกับอาหาร ซึ่งรวมถึงปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบในอาหารระหว่างการแปรรูปอาหาร ในขณะที่คำที่มีความหมายถึง อาหารที่ไม่เข้ากัน นั้นอายุรเวทใช้คำศัพท์ว่า Viruddha Anna M. Sabnis ยกตัวอย่างการกินอาหารที่ไปด้วยกันไม่ได้ตามหลักอายุรเวท ซึ่งก่ออันตรายต่อร่างกาย ได้แก่ กินปลากับนม กินน้ำผึ้งกับเนยใสหรือกีในสัดส่วนที่เท่ากัน (เนยใสหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม หรือครีม หรือเนย ซึ่งใส่จุลินทรีย์หรือไม่ก็ตาม โดยแยกธาตุน้ำนมไม่รวมมันเนยและระเหยเอาน้ำออก) ดื่มน้ำร้อนหลังจากกินน้ำผึ้ง กินอาหารที่ไม่ถูกต้องตามกาลเวลา เช่น กินอาหารรสฉุนในฤดูร้อนและอาหารรสเย็นในช่วงฤดูหนาว ดื่มน้ำเย็นทันทีหลังดื่มชาร้อนหรือกาแฟร้อน เป็นต้นผู้รู้ในศาสตร์อายุรเวทนี้ได้ทำบัญชีรายชื่ออาหารที่ไม่เข้ากัน ซึ่งถ้ามีการบริโภคเข้าไปพร้อมกันแล้ว ผู้บริโภคอาจเกิดปัญหาความเสื่อมสมรรถภาพทางเพศไปจนอาจเป็นหมันได้ ผู้ที่สนใจในรายชื่ออาหารที่ส่อให้เกิดปัญหาต่างๆ นั้นสามารถตามเข้าไปดูในเว็บดังกล่าวข้างต้นที่ M. Sabnis เขียนบทความนี้ได้นอกจากคำแนะนำในการกินอาหารที่ไม่เข้ากันทางอายุรเวทแล้ว ข้อมูลลักษณะเดียวกันนี้ย่อมต้องมีในชนชาวจีน ซึ่งมีรากฐานทางวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมานานไม่ต่างจากชาวอินเดีย ผู้เขียนได้พบข้อมูลที่เป็นข้อห้ามในการกินอาหารที่ไม่เหมาะกันของชาวจีน ในบทความชื่อ Dangerous food combinations ซึ่งปรากฏในเว็บ martalivesinchina.wordpress.com เมื่อวันที่ 27 เดือนตุลาคม 2016 โดยกล่าวประมาณว่า อย่ากินมะเขือเทศพร้อมกุ้ง (กุ้งมีอะไรบางอย่างที่เมื่อผสมกับมะเขือเทศกลายเป็นพิษ) น้ำผึ้งพร้อมต้นหอม (ก่อปัญหาต่อดวงตา) ไก่พร้อมผักชีฝรั่ง (มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันอ่อนลง) เนื้อเห็ดพร้อมเนื้อลา (ทำให้เส้นเลือดแดงทำงานผิดปรกติ) แครอทพร้อมหัวไชเท้า (ลดประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันและทำให้เกิดการติดเชื้อในเลือด) มันฝรั่งพร้อมลูกพลับ (อาจเกิดนิ่วในไตได้) เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนมองว่า เหตุผลที่อยู่ในวงเล็บนั้นดูไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด ความเชื่อเรื่องการกินอาหารของชาวจีนก็คงไม่ต่างจากชาวอินเดีย กล่าวคือ อาศัยประสบการณ์จดจำและบันทึกจากผลที่เกิดกับการกินอาหารต่างๆ แล้วก่ออันตรายแก่คนบางคน ซึ่งอาจไม่ใช่ทุกคน จึงเป็นที่น่าเสียดายที่ข้อมูลการห้ามการกินอาหารบางอย่างร่วมกันนี้ไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริงหรือไม่ทางวิทยาศาสตร์แผนปัจจุบัน ดังนั้นสำหรับความเชื่อดังกล่าวท่านผู้อ่านที่นับถือพุทธศาสนาก็คงต้องอาศัยหลักการทางกาลามสูตร 10 ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งไปก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 204 เมื่อคิดลดน้ำหนักก็มีข้อต้องระวัง

การขายอาหารหรืออุปกรณ์ที่อุปโลกน์เองว่า ทำให้คนมีสุขภาพดีโดยดูจากการมีน้ำหนักตัวตามมาตรฐานนั้น เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั้งในแผ่นพับ ประกาศติดเสาไฟฟ้า โทรทัศน์ ตลอดถึงอินเทอร์เน็ต ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีวิธีอะไรที่ทำให้น้ำหนักลดได้ง่าย ส่วนใหญ่ที่ออกมาพูดกันนั้นอาจได้ผลเฉพาะกับตัวผู้พูดแต่ไม่ได้ผลกับคนอื่น ซึ่งมีความแตกต่างตั้งแต่พันธุกรรมไปจนถึงพฤติกรรมการบริโภคและเศรษฐานะ บทความเรื่อง 9 Myth About Weight Loss เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2017 ในวารสารออนไลน์ TIME Health บรรยายถึงความอึมครึม (Myth) เกี่ยวกับความเชื่อบางประการในการลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารและอื่นๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบันได้พยายามหาคำอธิบาย ถึงที่มาของความเชื่อนั้นๆ ว่า จริงหรือไม่ ซึ่งผู้เขียนขอเลือกบางประเด็นที่น่าสนใจและอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ซึ่งกำลังพยายามลดน้ำหนักอยู่มาเล่าให้ฟังมนุษย์ส่วนใหญ่เมื่อเป็น สว. (สูงวัย) แล้วหลายท่านมักกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะลดน้ำหนักตัว ซึ่งเมื่อไปคุยกับผู้ที่เคยพยายามลดน้ำหนักแล้วไม่สำเร็จ จะได้ยินคำสารภาพว่า การลดน้ำหนักนั้นเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ ทั้งกายและใจ ดั่งเข็นครกขึ้นภูเขา ทั้งที่ความจริงแล้วสามารถทำได้องค์กรไม่หวังผลกำไรชื่อ National Weight Control Registry ซึ่งก่อตั้งในปี 1994 ได้เริ่มติดตามคนอเมริกันที่สามารถลดน้ำหนักได้อย่างน้อย 30 ปอนด์และสามารถคงสภาพน้ำหนักหลังลดได้อย่างน้อย 1 ปี มีข้อค้นพบว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จของผู้ลงทะเบียนคือ การเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมการบริโภค(ร้อยละ 98) และเริ่มออกกำลังกาย(ร้อยละ 94) โดยมีพฤติกรรมเสริมคือ การกินอาหารเช้าทุกวัน(ร้อยละ 78) ชั่งน้ำหนักตนเองอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง(ร้อยละ 75) และดูโทรทัศน์(คิดว่าคงหมายถึงรายการไร้สาระต่างๆ เช่น เกมโชว์ ละครน้ำเน่า ฯลฯ) น้อยกว่าอาทิตย์ละ 10 ชั่วโมง(ร้อยละ 62) โดยมีการออกกำลังกายอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน(ร้อยละ 90)หลายท่านอาจเคยเข้าใจว่า เพียงกินให้น้อยลงและออกกำลังกายเพิ่มขึ้นก็ลดน้ำหนักได้ แต่ National Weight Control Registry ได้พบว่า นอกเหนือไปจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภครวมถึงรูปแบบอาหารและเริ่มออกกำลังกายแล้ว ชนิดของอาหารที่แต่ละคนเลือกกิน นั้นเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งนักโภชนาการหลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำว่า ให้นับจำนวนแคลอรีที่กินทุกวัน เพราะการกระทำดังนั้นอาจไม่ก่อประโยชน์อย่างเต็มที่ในการลดน้ำหนัก เนื่องจากเป็นการมองข้ามระบบทางชีวภาพของร่างกายผู้พยายามลดน้ำหนักไป ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เพียงจำนวนพลังงานเท่านั้น ที่เป็นปัจจัยแห่งความอ้วน แต่กระบวนการนำพลังงานออกมาจากอาหารให้ร่างกายนั้น อาจเป็นประเด็นสำคัญในการเพิ่มหรือลดการสะสมไขมันในร่างกาย ตัวอย่างที่อธิบายความในเรื่องนี้คือ การกินอาหารพวกแป้งที่ผ่านกระบวนการเช่น ขนมปังแครกเกอร์ ข้าวเกรียบต่างๆ (ที่ชัดมากในบ้านเราคือ ข้าวเกรียบว่าว) น้ำอัดลม ขนมอบกรอบต่างๆ เหล่านี้เป็นอาหารที่ย่อยเร็วและกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนอินซูลินสูงกว่าการกินอาหารแป้งที่ย่อยช้า ซึ่งฝรั่งใช้คำว่า complex carbohydrates ดังนั้นจึงมีกลูโคสเข้าเซลล์เพื่อนำไปใช้ผลิตสารให้พลังงานอย่างรวดเร็วและเกินพอจนร่างกายรู้สึกอิ่มพลังงาน(ซึ่งแฝงอยู่ในรูป ATP หรือ adenosine triphosphate) จึงมีสารตัวกลาง (metabolic intermediate) คือ อะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอคั่งขึ้นมา ส่งผลให้มีการนำสารตัวกลางนี้ไปสร้างเป็นไขมัน ส่งผลให้เกิดการสะสมไขมันในร่างกาย ดังนั้นแม้ว่าการคำนึงถึงค่าแคลอรีนั้น เป็นเรื่องดีแต่ก็ควรเลือกอาหารชนิดที่ค่อยๆ ปล่อยแคลอรีออกมา เพื่อลดความเสี่ยงในการเปลี่ยนพลังงานไปเป็นไขมันคำอธิบายดังกล่าวนี้ดูจะเป็นเหตุผลที่อธิบายถึงความล้มเหลวของผู้ประสงค์จะลดน้ำหนักตัว แต่ไม่เข้าใจในวิธีการเลือกชนิดของอาหารกิน ดังนั้นนักโภชนาการในปัจจุบันจึงให้ความสนใจในเรื่องการเลือกกินอาหารที่มีค่า Glycemic Index (GI ซึ่งมีผู้เสนอคำภาษาไทยว่า ดัชนีน้ำตาล) ต่ำ ในการวัดค่า GI ของอาหารแป้งแต่ละชนิดนั้น ทำได้โดยการให้อาหาร ซึ่งคำนวณได้ว่าให้คาร์โบไฮเดรต 50 กรัม(ไม่รวมใยอาหาร) แก่อาสาสมัครที่อดอาหารมาก่อน 12 ชั่วโมง อย่างน้อย 10 คน แล้ววัดระดับน้ำตาลในเลือดทุก 15 ถึง 30 นาทีของช่วงเวลาสองชั่วโมง เพื่อสร้างกราฟการตอบสนองระหว่างเวลาที่ผ่านไปกับระดับน้ำตาลในเลือดที่เปลี่ยนแปลง จากนั้นจึงเปรียบเทียบกับผลที่อาสาสมัครกลุ่มเดิม(ซึ่งได้พักแล้วอดอาหาร 12 ชั่วโมงเช่นกัน) ได้รับน้ำตาลกลูโคสหรือขนมปังขาวซึ่งกำหนดให้มีค่า GI เท่ากับ 100 รายละเอียดการศึกษาดูได้จาก www.youtube.com/watch?v=nXyIaDgTBAk ซึ่งโดยปรกติแล้วกำหนดว่า ค่า GI นั้น มีค่าต่ำเมื่อตัวเลขน้อยกว่า 55 มีค่าปานกลางเมื่อเท่ากับ 56-69 และมีค่าสูงเมื่อเท่ากับหรือมากกว่า 70มีคำแนะนำสำหรับผู้สนใจลดน้ำหนักโดยการกินอาหารประเภทแป้ง(ที่ปรุงสุกแล้วและไม่ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่มีการเติมน้ำตาล) ซึ่งมีค่า glycemic index ต่ำ เช่น ข้าวกล้อง มันเทศ เผือก ข้าวโพด ฯลฯ (สังเกตได้ง่ายว่าอาหารเหล่านี้กินแล้วจะอิ่มนาน) ผู้ที่สนใจในรายละเอียดเช่น International table of glycemic index นั้นสามารถดูได้จาก ajcn.nutrition.org/content/76/1/5.full.pdf และจากเว็บไทย ๆ คือ www.ezygodiet.com/ดัชนีน้ำตาลในอาหาร, www.honestdocs.co/table-of-glycemic-index-per-food-types เป็นต้น ผู้ห่วงใยสุขภาพตนเองอาจเข้าใจว่า จำเป็นต้องทำให้น้ำหนักตัวลดอย่างชัดเจนจึงจะระบุได้ว่าสุขภาพดีขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งชื่อ Benefits of Modest Weight Loss in Improving Cardiovascular Risk Factors in Overweight and Obese Individuals With Type 2 Diabetes ตีพิมพ์ในวารสาร Diabetes Care (วารสารของสมาคม American Diabetes Association) ชุดที่ 34 หน้าที่ 1481–1486 ของปี 2011 ว่า การที่น้ำหนักลดลงแค่ร้อยละ 10 ของอาสาสมัครในการศึกษานั้นทำให้ความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน แถมด้วยการลดความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจและเบาหวานประเภท 2 สำหรับความอึมครึมในประเด็นว่า อาหารที่ดีที่สุดสำหรับการลดน้ำหนักมีเพียงสูตรเดียวนั้น ในความจริงแล้วใครๆ ก็สามารถลดน้ำหนักอย่างได้ผลด้วยวิธีการที่ต่างกัน โดยร้อยละ 45 ของอาสาสมัครที่ลงทะเบียนกับ National Weight Control Registry กล่าวว่า ต่างก็ลดน้ำหนักด้วยสูตรอาหารของตนเอง ในขณะที่ร้อยละ 55 กล่าวว่า ได้พยายามลดน้ำหนักตามสูตรอาหารของโครงการที่มีผู้กำหนดไว้ให้ แต่สุดท้ายกลับจำต้องใช้อาหารหลายสูตรในการลดน้ำหนักที่ให้ผลระยะยาวตามรูปแบบชีวิตที่เหมาะสม  ในปี 2516 NIH (U.S. National Institute of Health ซึ่งเทียบได้กับกระทรวงสาธารณสุข) ได้ให้เงินทุนสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับโรคอ้วนประมาณ 931 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ได้ผลงานวิจัยที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่า เหตุใดการจำกัดอาหารจึงเป็นเรื่องที่ยากมากในการทำให้น้ำหนักที่ลดได้แล้วในช่วงเวลาหนึ่งคงดำเนินต่อไปได้ และที่ยากไปกว่านั้นคือ การหากระบวนการลดน้ำหนักเพียงหนึ่งกระบวนการที่ให้ได้ผลดีกับทุกคน เพื่อสร้างความหวังใหม่ให้แก่ชาวอเมริกันราว 155 ล้านคนที่มีน้ำหนักเกิน ตามที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC หรือ U.S. Centers for Disease Control and Prevention) สำรวจพบมีตัวอย่างงานวิจัยหนึ่งแสดงให้เห็นว่า บางโครงการลดน้ำหนักนั้นทำให้อาสาสมัครบางคนลดน้ำหนักตัวได้ถึง 60 ปอนด์และรักษาน้ำหนักตัวหลังลดอยู่ได้ถึง 2 ปี ในขณะเดียวกันนั้นอาสาสมัครบางคนที่อยู่ในโครงการเดียวกันมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 5 ปอนด์ ซึ่งสรุปได้ว่า อาหารที่เหมาะสมนั้นเป็นแบบตัวใครตัวมัน ต้องปรับปรุงเอาเองจนกว่าจะได้ผลในการลดน้ำหนัก สุดท้ายนี้ผู้อ่านที่กำลังพยายามลดน้ำหนักต้องไม่ท้อใจ ครั้งใดที่ลดแล้วไม่ได้ผล หรือได้ผลแต่มันกลับมาใหม่ ก็พึงหาทางปรับปรุงวิธีที่เหมาะสมแก่ตนเอง สักวันหนึ่งอาจประสบความสำเร็จ ดังที่ผู้เขียนได้ประสบกับตนเองแล้ว ในการพยายามทำน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ของดัชนีมวลกายต่ำกว่า 22.9

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 กลูโคซามีนลดอาการข้อเข่าเสื่อม...จริงหรือ

กลูโคซามีน เป็นสารชีวเคมีธรรมชาติที่สกัดออกมาได้จากเปลือกสัตว์ เช่น หอย กระดูกสัตว์ต่างๆ ไขกระดูก และราบางชนิด(สามารถสังเคราะห์กลูโคซามีนจากข้าวโพดเพื่อขายแก่ผู้ที่เป็นมังสวิรัติ) สารชีวเคมีนี้เมื่อเกิดในร่างกายมนุษย์ จะอยู่ในรูปกลูโคซามีน-6-ฟอสเฟต ส่วนที่มีการขายทั่วไปนั้นมักเป็นกลูโคซามีนซัลเฟต ทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารอื่นในกลุ่มน้ำตาลชนิดที่มีอะตอมไนโตรเจนในโมเลกุล(nitrogen-containing sugars)งานวิจัยบางชิ้นให้ผลว่า โมเลกุลกลูโคซามีนนั้น น่าจะถูกนำไปใช้สร้างน้ำหล่อลื่นข้อต่อต่างๆ ในขณะที่กลุ่มซัลเฟตที่ได้จากกลูโคซามีนซัลเฟตนั้น อาจมีส่วนร่วมในการสังเคราะห์กระดูกอ่อนด้วย ซึ่งสมมุติฐานนี้ไปสนับสนุนผลของบางการศึกษาที่พบว่า กลูโคซามีนที่ได้ผลนั้นต้องอยู่ในรูปกลูโคซามีนซัลเฟตเท่านั้น ไม่ใช่กลูโคซามีนไฮโดรคลอไรด์หรือเอ็นอะเซ็ตติลกลูโคซามีน ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีกลูโคซามีนซัลเฟตเป็นหลักมักมีการเติมสารอื่น เช่น คอนดรอยตินซัลเฟต(chondroitin sulfate) กระดูกอ่อนจากปลาฉลาม และสารอื่นเข้าไปด้วย โดยผู้ค้าหวังว่าจะช่วยให้การออกฤทธิ์ของกลูโคซามีนดีขึ้น แต่ยังไม่มีใครพิสูจน์ทางวิชาการได้ว่า หวังนั้นเป็นจริงเว็บของ MedlinePlus (https://medlineplus.gov) สังกัด National Library of Medicine ซึ่งเป็นห้องสมุดการแพทย์ของสหรัฐอเมริกาที่ใหญ่สุดในโลกให้ข้อมูลว่า กลูโคซามีนซัลเฟตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ให้ความหวังแก่ผู้มีอาการกระดูกเข่าเสื่อม ปวดข้อเนื่องจากยาบางชนิด กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ ปวดขากรรไกร ปวดเข่า ปวดหลัง ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง(Multiple Sclerosis) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการผลิตเป็นสินค้าผสมการบูรและ/หรือสารอื่นๆ ในรูปครีมใช้ทาลดอาการปวดตามข้ออีกด้วยNatural Medicines Comprehensive Database องค์กรด้านวิชาการหนึ่งสังกัด California State University ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการบำบัดโรคด้วยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติกล่าวว่า กลูโคซามีนซัลเฟตน่าจะใช้ได้ผลในการลดความเจ็บปวดของข้อเข่าเสื่อม ในระดับเดียวกันกับการใช้ยาพาราเซ็ตตามอลหรืออยากลุ่ม NSAIDs เพียงแต่ระยะเวลาต่างกันเท่านั้น อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่ากลูโคซามีนไม่มีประสิทธิผลในคนไข้บางกลุ่ม โดยเฉพาะพวกที่มีอาการเจ็บปวดมานาน อ้วน หรือเป็นผู้สูงวัยข้อมูลที่ดูดีอีกหน่อยหนึ่งในอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า กลูโคซามีนอาจจะช่วยบรรเทาอาการข้อต่อสะโพกเสื่อมและข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม ยืดอายุข้อเข่าในผู้ที่กินติดต่อกัน อีกทั้งผู้ที่กินยานี้มีแนวโน้มว่าอาจจะไม่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า อย่างไรก็ดีข้อมูลประการนี้ยังควรฟังหูไว้หูNatural Medicines Comprehensive Database ได้กล่าวอีกว่า มีงานวิจัยบางชุดที่ระบุว่า มีหลักฐานไม่พอที่กล่าวว่ากลูโคซามีน (ซึ่งใช้ร่วมกับสารธรรมชาติอื่น) มีประสิทธิผล ในคนไข้ที่มีปัญหาเจ็บข้อต่อ (เนื่องจากการใช้ยาเพื่อลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในการบำบัดมะเร็งเต้านมระยะต้น) คนไข้เจ็บกระเพาะปัสสาวะ(Interstitial cystitis) เจ็บเข่า ปวดขากรรไกร เป็นต้นความปลอดภัยของกลูโคซามีนเกี่ยวกับความปลอดภัยของกลูโคซามีนนั้น MedlinePlus กล่าวเป็นเชิงว่า ควรปลอดภัยถ้ากินอย่างถูกต้องตามที่เภสัชกรแนะนำ และน่าจะปลอดภัยกว่า กรณีที่ถูกฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 ครั้งต่อสัปดาห์นาน 6 สัปดาห์ หรือใช้ทาผิวหนังร่วมกับคอนดรอยตินซัลเฟต กระดูกอ่อนปลาฉลามและการบูรนาน 8 สัปดาห์ผลข้างเคียงของการกินกลูโคซามีนซัลเฟตนั้นมีรายงานว่า ในผู้บริโภคบางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ กรดไหลย้อน ถ่ายท้องและท้องผูก นอกจากนี้ผลข้างเคียงที่อาจเกิดเพิ่มเติมเฉพาะคนคือ ง่วงซึม ความผิดปรกติของผิวหนังและปวดหัว ที่สำคัญคือ หญิงตั้งท้องหรือให้นมลูกนั้นพึงระวัง เพราะยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของกลูโคซามีนซัลเฟตในประเด็นนี้ สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่ออาการหอบหืดอาจต้องระวังเป็นพิเศษเพราะเคยมีการระบุปัญหาในรายงานทางวิชาการชิ้นหนึ่ง กลูโคซามีนนั้นทำให้ยาวอร์ฟาริน(ซึ่งใช้ลดอาการเลือดข้น) ออกฤทธิ์มากขึ้นจนทำให้ความดันโลหิตผู้ป่วยต่ำลง อีกทั้งยังมีรายงานที่ตั้งข้อสงสัยว่า กลูโคซามีนอาจไปวุ่นวายต่อประสิทธิภาพในการใช้ยาต้านมะเร็ง(chemotherapy)ในสหรัฐอเมริกากลูโคซามีนซัลเฟต ถูกให้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์ เพราะจัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(US.FDA) ไม่มีบทบาทในการควบคุมดูแลแต่อย่างใด แม้แต่อำนาจในการขอหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิผลของสินค้าก็ไม่มี ยกเว้นเมื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดก่อปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้บริโภค งานจึงจะเข้าให้ US.FDA พิสูจน์และมีบทบาทในการฟ้องร้องสำหรับประเทศส่วนใหญ่ในสหภาพยุโรปนั้น กลูโคซามีนซัลเฟตถูกจัดให้เป็นยาจึงต้องขึ้นทะเบียนพร้อมหลักฐานทางวิชาการถึงประสิทธิผล พร้อมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการนำไปใช้บำบัดอาการปวดข้อต่างๆ อย่างไรก็ดีในปี 2014 OARSI (Osteo Arthritis Research Society International) ได้แถลงข่าวเป็นเชิงว่า ไม่แนะนำให้ใช้กลูโคซามีนบำบัดอาการปวดเข่า (เข้าใจว่าเป็นเพราะข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลยังสับสนอยู่)จากความไม่แน่นอนทางวิชาการเกี่ยวกับผลของกลูโคซามีนในการรักษาอาการเจ็บข้อต่างๆ นั้น ทางคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย ได้ถอนรายชื่อของกลูโคซามีนออกจากบัญชียาหลัก ทำให้กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค 0422.2/ว127 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2553 แจ้งเวียน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสถานพยาบาลของทางราชการ /สถานพยาบาลที่กระทรวงการคลังกำหนด เพื่อทราบและแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบและถือปฏิบัติ เรื่องการกำหนดรายการยาที่ห้ามเบิกจ่ายจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยได้กำหนดให้ กลุ่มยา SYSADOA (กลูโคซามีน คอนดรอยติน ซัลเฟตและไดอะเซอเรน) ทุกรูปแบบและกลุ่มยาฉีดเข้าข้อบรรเทา อาการข้อเสื่อม (ไฮยาลูโรแนนและอนุพันธ์) เป็นรายการยาที่ห้ามเบิกจ่ายจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และไม่ให้คณะกรรมการแพทย์ของสถานพยาบาลออกหนังสือรับรองการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มยาดังกล่าวไม่มีความคุ้มค่าและมีประสิทธิผลไม่ชัดเจนอย่างไรก็ดีเมื่อเข้าไปในเว็บ www.hfocus.org/content/2015/05/10007 ก็ได้พบข้อมูลว่า ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา (เล่ม 132 ตอนที่ 41) ได้ลงประกาศสำนักงานศาลปกครอง เรื่อง ศาลปกครองได้พิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนกฏ นัยว่าเพื่อให้เป็นไปตามคําพิพากษาถึงที่สุดของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 502/2558 ระหว่าง ผู้ฟ้องคดี (ขอสงวนนาม) กับกระทรวงการคลัง และคําพิพากษาถึงที่สุดในคดีหมายเลขแดงที่ 503/2558 ระหว่าง ผู้ฟ้องคดี (ขอสงวนนาม) กับกระทรวงการคลัง โดยพิพากษา “เพิกถอนหลักเกณฑ์กระทรวงการคลัง แจ้งตามหนังสือกระทรวงการคลังด่วนที่สุด ที่ กค0422.2/ว127 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2553 ที่กําหนดให้กลุ่มยา SYSADOA (กลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต และไดอะเซอเรน) ...” ดังกล่าวข้างต้น โดยให้การเพิกถอนคำสั่งกรมบัญชีกลางนั้นมีผลตั้งแต่วันที่มีการประกาศผลแห่งคําพิพากษาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558ผู้เขียนได้รับการบอกเล่ามาว่า การที่แพทย์จะจ่ายยาที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติให้ผู้ป่วยซึ่งเป็นข้าราชการทั้งที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่หรือเกษียณไปแล้วนั้น จำต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจ่ายยาดังกล่าว ซึ่งเป็นกระบวนการที่แพทย์หลายส่วนกังวล เพราะสุ่มเสี่ยงต่ออะไรหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ ดังนั้นผู้ที่ประสงค์จะกิน “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ชนิดนี้คงต้องจ่ายเงินเองไปก่อน จนกว่าจะมีผลการพิสูจน์ว่าสารชีวเคมีชนิดนี้มีประสิทธิผลในการบำบัดอาการปวดข้อต่างๆ แล้วกลับเข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 คิดหน้าคิดหลังกับ “โคคิวเท็น”

ผู้เขียนมีอาการปวดกล้ามเนื้อที่น่องค่อนข้างบ่อยในระยะ 5-6 ปีมานี้ พยายามหาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือถึงสาเหตุก็หาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ เพราะมักอธิบายแบบกว้างๆ ตรงกับอาการบ้างไม่ตรงบ้าง จึงเข้าใจเอาเองในขั้นต้นว่า เป็นไปตามอายุที่เพิ่มขึ้นหรือเป็นผลข้างเคียงของการใช้ยาปรับความดันโลหิต ชนิดที่มีผลต่อการทำงานของแคลเซียมที่กล้ามเนื้อ ทั้งนี้เพราะอาการนี้เกิดหลังเริ่มกินยา ผู้เขียนจึงลองเพิ่มการกินอาหารที่มีแร่ธาตุมากขึ้นโดยเฉพาะ แคลเซียมและแมกนีเซียม นอกจากกินอาหารที่มีแร่ธาตุมากขึ้นแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่งที่มีผู้แนะนำและหยิบยื่นให้ลองกินฟรี โดยใช้พื้นความรู้ว่า ตะคริวนั้นอาจเกิดเนื่องจากการออกกำลังกายประจำวันของผู้เขียน สินค้านั้นคือ โคคิวเท็น ซึ่งเป็นสารชีวเคมีที่ผู้เขียนไม่ค่อยศรัทธาว่ากินแล้วได้ผล เพราะข้อมูลจากงานวิจัยที่เคยอ่านและจากตำราที่เคยเรียนชวนให้มีความสงสัยว่า โคคิวเท็นที่กินเข้าไปนั้นสามารถเข้าไปสู่เซลล์ต่างๆ ของร่างกายเพื่อทำงานได้จริงหรือไม่อะไรคือ โคคิวเท็นโคคิวเท็นนั้นเป็นสารชีวเคมีที่เราสร้างขึ้นมาใช้เอง(จากองค์ประกอบต่างๆ ในอาหาร จึงไม่น่าเรียกว่า วิตามิน) โดยหน้าที่หลักของโคคิวเท็นคือ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเคลื่อนย้ายอิเล็คตรอนในระบบการสร้างสารให้พลังงานสูงในเซลล์เรียกว่า เอทีพี (ATP ย่อมาจาก adenosine triphosphate) ซึ่งเมื่อใดที่เซลล์ของร่างกายต้องการสร้างสารชีวเคมีใดๆ พลังงานที่ใช้สร้างจะมาจากการสลายสารเอทีพีมีผู้ตั้งคำถามว่า เราต้องการโคคิวเท็นสักเท่าไร ร่างกายจึงจะปรกติสุข คำตอบนั้นควรเป็นในลักษณะว่า ความต้องการสารชีวเคมีใดๆ ของร่างกายแต่ละบุคคลนั้นไม่เหมือนกัน ปัจจัยหนึ่งคือ สภาวะแวดล้อมของแต่ละคน ซึ่งมีการดำเนินชีวิตต่างกันไป เช่น มนุษย์เงินเดือนนั่งทำงานในห้องปรับอากาศ ย่อมต้องการสารเอทีพีเพื่อให้พลังงานต่างไปจากนักกีฬาอาชีพที่ต้องออกแรงให้ได้เหงื่อทุกวัน ดังนั้นปริมาณโคคิวเท็นที่กล้ามเนื้อของคนที่มีกิจกรรมในแต่ละวันที่ต่างกันก็น่าจะต่างกันไปด้วยแต่คำถามซึ่งเป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับโคคิวเท็นคือ สารชีวเคมีนี้มีสัมฤทธิผลต่อร่างกายในการสร้างเอทีพีแก่ร่างกายมนุษย์หรือไม่เมื่อกินเข้าไป ผู้เขียนพบข้อมูลจากเว็บในอินเทอร์เน็ตของหน่วยงานที่คิดว่าเชื่อถือได้แน่คือ NIH หรือ National Institute of Health ของสหรัฐอเมริกาซึ่งกล่าวว่า โคคิวเท็นนั้นดูจะมีประโยชน์ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ แม้ว่ายังไม่มีผลสรุปที่ชัดเจนนักในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม NIH ไม่ได้กล่าวถึงประโยชน์ของโคคิวเท็นในคนที่มีสุขภาพปรกติแต่อย่างใดนอกจากเรื่องของประโยชน์ของโคคิวเท็นแล้ว NIH ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของสารชีวเคมีนี้ว่า ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพในคนที่เป็นชิ้นเป็นอันมักกล่าวว่า โคคิวเท็นนั้นมีผลข้างเคียงที่ผู้(จำต้อง) บริโภคต้องทนบางประการ โดยมีรายงานว่า ผู้บริโภคบางคนนอนไม่หลับ ระดับเอ็นซัมบางชนิดในตับสูงขึ้น มีผื่นแดงที่ผิวหนัง คลื่นไส้ ปวดตอนบนของหน้าท้องเวียนหัว แพ้แสง ปวดหัว มีอาการกรดไหลย้อน และอ่อนเพลีย อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ NIH เตือนว่า สตรีมีครรภ์ไม่ควรกินโคคิวเท็นตลอดไปจนถึงช่วงกำลังให้นมลูก และที่สำคัญห้ามลืมคือ ใครก็ตามที่ต้องกินยาชื่อ วอร์ฟาริน ซึ่งใช้บำบัดอาการเลือดข้นนั้น ถ้ากินโคคิวเท็นเข้าไปยานี้จะมีฤทธิ์ลดลงจนไม่เกิดผลเหตุที่โคคิวเท็นเป็นประเด็นที่น่าสนใจในปัจจุบันเพราะ ราคาแพง อีกทั้งมีข้อมูลว่า กินเข้าไปแล้วดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเพื่อนำไปใช้งานค่อนข้างยาก ดังที่นายแพทย์ Julian Whitaker กล่าวไว้ในบทความชื่อ Choosing the right CoQ10 Supplement ว่า การกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนี้จำเป็นต้องกินในรูปแบบที่พอดูดซึมได้บ้างคือ Ubiquinol (อ่าน ยู-บิ-ควิ-นอล) ไม่ใช่ ubiquinone (อ่าน ยู-บิ-ควิ-โนน) ซึ่งถูกดูดซึมยากมาก บทความนี้หาอ่านได้ที่ www.drwhitaker.com/choosing-the-right-coq10-supplement โคคิวเท็นนั้นในความเป็นจริงมีพี่น้องหลายตัว เพราะเป็นสารชีวเคมีหนึ่งในตระกูลที่เรียกว่า โคเอ็นซัมคิว(Coenzyme Q) คำว่า เท็นหรือสิบ นั้นเป็นการระบุ จำนวนของหน่วย isoprenyl ซึ่งเป็นหน่วยไฮโดรคาร์บอนที่ประกอบกันเป็นหางของโมเลกุลของสารชีวเคมีชนิดนี้ด้วยจำนวนที่มีมากถึง 10 หน่วยของ isoprenyl ของโคคิวเท็นนั้น ได้ส่งผลทำให้สารชีวเคมีนี้มีความสามารถในการละลายน้ำค่อนข้างน้อย จึงทำให้โคคิวเท็นกระจายตัวในลำไส้เล็ก ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นน้ำเพื่อการถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายยากมาก จำเป็นต้องทำให้โคคิวเท็นอยู่รูปที่ผ่านเข้าสู่เซลล์ของลำไส้เล็กด้วยกรรมวิธีขั้นสูง ดังนั้นราคาของโคคิวเท็นจึงต่างกันไปตามยี่ห้อที่ใช้เทคนิคเฉพาะตัวที่ต่างคิดค้นเอง ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตได้ให้ความรู้โดยรวมว่า การดูดซึมของโคคิวเท็นนั้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2-3 เท่านั้น  เมื่อศึกษาในหนูทดลอง รายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษาในมนุษย์ (ซึ่งก็ดูไม่ต่างไปจากการศึกษาในหนู) นั้นสามารถหาอ่านได้จากบทความชื่อ Coenzyme Q10: Absorption, tissue uptake, metabolism and pharmacokinetics. ตีพิมพ์ในวารสาร Free Radical Research หน้าที่ 445–453 ของชุดที่ 40(5) ฉบับประจำเดือนพฤษภาคม ปี 2006 สำหรับพฤติกรรมของโคคิวเท็นนอกเหนือจากการทำงานในไมโตคอนเดรียแล้ว โคคิวเท็นเป็นสารต้านการออกซิเดชั่นที่ช่วยทำให้การทำงานของเซลล์เป็นไปอย่างที่ควรเป็น มีรายงานว่าโคคิวเท็นนั้นช่วยทำให้สารต้านออกซิเดชั่นอื่นเช่น วิตามินอีที่ถูกใช้งานแล้วในการกำจัดอนุมูลอิสระในเซลล์กลับฟื้นคืนมาทำงานได้เหมือนเดิม ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับโคคิวเท็นคือ การใช้ในคนทั้งที่เป็นโรคเกิดจากความบกพร่องทางพันธุกรรมทำให้มีโคคิวเท็นในระดับต่ำ และในคนที่มีความต้องการสูงแต่ได้ไม่พอจากกินจากอาหาร เพราะแม้ว่าโคคิวเท็นมีในปลา เนื้อสัตว์และธัญพืช แต่ก็มีอยู่ในระดับที่จัดว่าต่ำ จึงทำให้หลังกินอาหารดังกล่าวแล้วอาจไม่สามารถเติมในส่วนที่พร่องไปของร่างกายNIH กล่าวว่า การเสริมโคคิวเท็นนั้นน่าจะมีประโยชน์บ้างในคนไข้ที่เกี่ยวกับโรคหัวใจและเส้นเลือด อาการเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อที่เกิดจากผลของยาบางชนิด ความผิดปรกติในระบบสืบพันธุ์ และอีกหลายอาการ อย่างไรก็ดีงานวิจัยในเรื่องดังกล่าวนี้ยังไม่ชัดเจนพอ จนยากที่จะสรุปผลที่แท้จริงปัจจุบันมีรายงานเกี่ยวกับโคคิวเท็นที่สรุปว่า โคคิวเท็นมีประโยชน์ต่อคนไข้อาการหัวใจผิดปรกติ โดยคนไข้มักดีขึ้น(แต่คงไม่เท่าเมื่อมีสภาพปรกติก่อนป่วย) โดยรายงานนี้เป็นการศึกษาแบบ meta-analysis หรือการวิเคราะห์อภิมาน ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับผลของการศึกษาอื่นที่อยู่ในกรอบงานเดียวกันว่ามีผลไปในทางเดียวกันหรือไม่ โดยงานวิจัยในช่วงปี 2007-2009 ให้ผลออกมาว่า สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเกี่ยวกับหัวใจเมื่อได้รับโคคิวเท็นพร้อมกับสารอาหารอื่นๆ แล้วดูว่าจะมีอาการดีกว่าผู้ที่ถูกผ่าตัดเช่นเดียวกันแต่ไม่ได้รับสารนี้ ส่วนการกินโคคิวเท็นในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงนั้น ดูแล้วผลไม่มีอะไรดีขึ้นกว่าเดิมนักหากแต่มีประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างคือ มีผู้พยายามใช้โคคิวเท็นแก้ปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ ซึ่งพบว่า ในผู้ชายนั้นคุณภาพของอสุจิดูดีขึ้น(เข้าใจว่าเป็นการเทียบกันในกลุ่มผู้ที่บ่มิไก๊ด้วยกัน) แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงที่ว่าดีขึ้นนั้นช่วยในการแก้ปัญหามีบุตรยากหรือไม่ ดังนั้นในปัจจุบัน (2017) NIH ได้มีการให้ทุนเพื่อศึกษาผลของโคคิวเท็นต่อการบำบัดอาการกล้ามเนื้ออ่อนล้าของผู้ได้รับยาสตาติน ภาวะเจริญพันธุ์ของสตรีสูงอายุ และผลในการบำบัดมะเร็งเต้านม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 เรื่องราวของน้ำไม่ธรรมดา

ผู้เขียนเคยอ่านบทนำของอาจารย์ประเวศ วะสี ในนิตยสาร หมอชาวบ้าน ฉบับหนึ่งซึ่งแนะนำว่า หลังออกกำลังกายเสียเหงื่อนั้นเครื่องดื่มที่ดีที่สุดคือ น้ำเปล่า ข้อมูลดังกล่าวนี้ตรงกับความรู้ที่เรียนมาในวิชาสรีรวิทยาที่กล่าวประมาณว่า ถ้าไตเราอยู่ในสภาพปรกติ ไตนั้นจะเป็นตัวปรับสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายเอง การดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่นั้นเป็นแค่ช่วยเร่งการปรับระบบให้เร็วขึ้นเท่านั้น ซึ่งอาจมีประโยชน์บ้างในแง่การป้องกันตะคริวของผู้ออกกำลังกายหนัก อย่างไรก็ดีการดื่มเครื่องเกลือแร่นั้น ต้องระวังไม่ให้ได้รับเกลือแร่มากเกิน เพราะอาจทำให้ไตต้องทำงานหนักในการที่ต้องขับเกลือแร่ส่วนเกินออกจากร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตและ/หรือความดันโลหิตสูง เพราะในการออกกำลังกายเพื่อให้เหงื่อออกนั้น จะเกิดการขับเกลือต่างๆ ออกจากร่างกายโดยผ่านทางต่อมเหงื่อ ซึ่งเป็นการลดภาระการทำงานของไตอีกทางหนึ่ง ดังนั้นผู้ที่มีโรคประจำตัวดังกล่าวจึงควรดื่มแต่น้ำเปล่าหลังออกกำลังกายน่าจะดีที่สุด พอมาถึงปัจจุบันในปีที่เราหวังเป็น ไทยแลนด์ 4.0 ผู้เขียนได้อ่านข้อความในจดหมายอีเล็คทรอนิคของ Time Health เรื่อง Is Hydrogen Water Actually Good For You? เขียนโดย Alice Park เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2017 ซึ่งได้เอ่ยถึงประโยชน์ของน้ำเปล่าดังเช่นที่อาจารย์ประเวศกล่าวว่า เป็นของเหลวที่เหมาะสุดหลังการออกกำลังกาย และให้ประเด็นเพิ่มว่า การดื่มน้ำเปล่านั้นเป็นการเลี่ยงการได้รับน้ำตาลและสารเคมีที่ใช้ในการปรุงแต่งเครื่องดื่มอื่น(ที่ไม่ใช่น้ำเปล่า) เพื่อให้มีรสชาติต่าง ๆ บทความของ Alice Park ได้ตั้งคำถามว่า เมื่อน้ำเปล่านั้นดีต่อสุขภาพแล้ว การเพิ่มก๊าซไฮโดรเจนลงไปในน้ำดื่มนั้นจะช่วยให้มีผลดีต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้เพราะปัจจุบันได้มีคนสมองใสนำเอาน้ำเปล่ามาเติมก๊าซไฮโดรเจนบรรจุกระป๋องขาย โดยอวดอ้างว่า มีคุณความดีต่าง ๆ นานา อีกทั้งผู้ที่เคยไปทัศนาจรในประเทศญี่ปุ่นอาจได้พบโฆษณาว่า มีการผสมก๊าซไฮโดรเจนในบ่ออาบน้ำของร้านทำสปาในหลายพื้นที่ก๊าซไฮโดรเจนผสมน้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ถ้าท่านผู้อ่านลองใช้วลีต่อไปนี้คือ hydrogen fortified drinking water ใน google ก็จะพบบทความจากเว็บต่างๆ ซึ่งเบื่อจะฟันธงว่า จริงหรือไม่ เพราะมันต้องไตร่ตรองกันมากๆ หน่อยเช่น ผู้เขียนขอยกบทความเรื่อง Effects of drinking hydrogen-rich water on the quality of life of patients treated with radiotherapy for liver tumors ซึ่งเป็นบทความวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของ Ki-Mun Kang และคณะ ตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Medical Gas Research เมื่อปี 2011 (ผู้อ่านที่สนใจสามารถดาว์นโหลดมาอ่านได้ฟรี) พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ในเครือของ Springer ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างคุ้นชินว่า บทความวิจัยที่มาจากเครือสำนักพิมพ์นี้(ควรจะ) ผ่านการคัดกรองแล้วระดับหนึ่ง จากการเข้าไปหาดูข้อมูลเกี่ยวกับวารสาร Medical Gas Research นั้นพบว่า เพิ่งเปลี่ยนสำนักพิมพ์ในเดือน พฤศจิกายน 2015 จาก BioMed Central ไปเป็น Medknow Publications ผู้เขียนเข้าใจว่า สำนักพิมพ์หลังนี้คงยังอยู่ในเครือข่ายของ Springer  ซึ่งปัจจุบันได้หันมาทำธุรกิจด้านวารสาร Online เหมือนสำนักพิมพ์ใหญ่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง โดยสรุปของบทความนี้กล่าวว่า การให้ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกที่ตับ ดื่มน้ำที่มีการเติมก๊าซไฮโดรเจนเข้มข้นนั้นพบว่าผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดตัวบ่งชี้การออกซิเดชั่นหลังการรับการฉายรังสี แต่อย่างไรก็ตามต้องฟังหูไว้หูแม้จะมีการประกาศที่ท้ายบทความของเหล่าผู้นิพนธ์ (ทั้งจากเกาหลีและญี่ปุ่น) ในทำนองว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนก็ตามคราวนี้ย้อนกลับมาพิจารณางานวิจัยของ Ki-Mun Kang และคณะนั้น เราสามารถพบว่า มีความน่าสงสัยในงานวิจัยนี้หลายประการ โดยเฉพาะวิธีการทำน้ำที่มีก๊าซไฮโดรเจนผสมนั้น เป็นวิธีการที่นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องชาวญี่ปุ่นหลายคนใช้ในการทำน้ำชนิดนี้ขาย เชื่อได้หรือไม่ ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญานคิดดู ซึ่งถ้าพบว่าตนเองมีวิจารณญานไม่พอ เพราะลืมแล้วว่าครูสอนเคมีกล่าวว่าอย่างไร ก็ขอให้ไปถามนักเคมีดูว่า น่าหัวเราะหรือไม่ เนื่องจากผู้วิจัยได้ใช้วิธีแยกน้ำด้วยไฟฟ้าให้ได้เป็นก๊าซไฮโดรเจนออกมาผสมกับน้ำ โดยใช้แท่งโลหะแมกนีเซียมเป็นขั้วอิเล็คโทรด ใครก็ตามที่เรียนระดับมัธยมศึกษาในสายวิทยาศาสตร์คงเคยทำการทดลองดังกล่าวมาแล้ว ผลที่ได้จากการให้กระแสไฟฟ้าชนิดตรงผ่านอิเล็คโทรดลงน้ำนั้น ทำให้โมเลกุลน้ำแตกตัวเป็นก๊าซไฮโดรเจนวิ่งไปที่อิเล็คโทรดขั้วลบ ส่วนก๊าซออกซิเจนวิ่งไปที่อิเล็คโทรดขั้วบวก ก๊าซทั้งสองจะถูกเก็บในภาชนะด้วยวิธีการแทนที่น้ำ เนื่องจากก๊าซไฮโดรเจนและออกซิเจนนั้นละลายน้ำน้อยมากค่าการละลายน้ำของไฮโดรเจนคือ 0.00016 กรัม ต่อน้ำ 100 กรัม ส่วนของออกซิเจนคือ 0.0043 กรัม ต่อน้ำ 100 กรัม (ข้อมูลจาก www.wiredchemist.com/chemistry/data/solubilities-gases) ดังนั้นในบทความงานวิจัยของ Ki-Mun Kang และคณะจึงทำเป็นลืมบอกว่า น้ำที่ให้คนไข้ดื่มนั้นมีไฮโดรเจนเท่าไร(เพราะตัวเลขมันคงน้อยมาก) และทำนองเดียวกันใครก็ตามที่ไปซื้อน้ำกระป๋องที่ผสมก๊าซไฮโดรเจนมาดื่มคงต้องยอมรับในการไม่รู้ว่า ในน้ำนั้นมีก๊าซไฮโดรเจนเท่าไร ผู้เขียนได้พยายามสืบค้นว่า มีงานวิจัยในวารสารวิชาการที่เชื่อถือได้กล่าวถึงก๊าซไฮโดรเจนว่าบำบัดโรคใดได้บ้างหรือไม่ ก็ไม่พบสักบทความวิจัย ยกเว้นผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Pharmacology เมื่อปี 2015 ที่กล่าวเป็นเชิงว่า เมื่อให้คนไข้กิน Acarbose ซึ่งเป็นสารต้านการย่อยแป้ง(ทำหน้าที่เป็นยาต้านเบาหวานชนิดที่ 2) แล้วทำให้เกิดการสร้างก๊าซไฮโดรเจนในร่างกาย ซึ่งมีผลบางประการเกี่ยวกับระบบภูมิต้านทาน ว่าไปแล้วไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะถ้าใครกินอาหารแล้วเกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อนั้นจะพบว่า เป็นเพราะมีระดับก๊าซไฮโดรเจนเพิ่มขึ้นในทางเดินอาหารแล้วรั่วออกมาทางลมหายใจ ซึ่งรวมถึงลมที่ผายออกมาด้วยประเด็นหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจของเหล่านักเขียนบนอินเทอร์เน็ตคือ การพยายามอธิบายว่า ก๊าซไฮโดรเจนนั้นมีความสามารถในการรีดิวส์สารที่มีสถานะออกซิไดซ์ เช่น อนุมูลอิสระ ได้ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไฮโดรเจนที่จะทำงานลักษณะนี้ได้นั้นต้องเป็นไฮโดรเจนที่เป็นองค์ประกอบของสารอินทรีย์บางชนิดในผักและผลไม้ ซึ่งระหว่างออกฤทธิ์นั้นต้องอาศัยเอ็นซัมในเซลล์สิ่งมีชีวิตเป็นตัวช่วย เพราะอยู่ๆ สารเหล่านี้จะไม่สามารถทำงานได้เอง สำหรับไฮโดรเจนซึ่งอยู่ในรูปของก๊าซนั้น ถ้าจะสามารถทำหน้าที่เป็นตัวรีดิวส์ในหลอดทดลองได้ ก็ต้องมีแร่ธาตุบางชนิดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วกระบวนนี้ไม่น่าเกิดได้ในเซลล์Alice Park ผู้เขียนบทความเรื่อง Is Hydrogen Water Actually Good For You? ได้เอ่ยชื่อของชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อ Dr. Nicholas Perricone ซึ่งมีอาชีพขายน้ำยี่ห้อ Dr. Perricone Hydrogen Water ในราคากระป๋องละ 3 เหรียญดอลล่าร์อเมริกัน มีข่าวกล่าวว่า Dr. Perricone เคยใช้สินค้าของตนเองในการ (อ้างว่า) ช่วยให้พลังงานของเซลล์ผิวหนังของอาสาสมัครดีขึ้น แต่ตัว Dr. Perricone เองก็ตอบไม่ได้ว่า ไฮโดรเจนในน้ำนั้นไปออกฤทธิ์อีท่าไหนในร่างกายมนุษย์ ได้แต่อ้อมแอ้มว่าเป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับเอ็นซัมต้านออกซิเดชั่น อย่างไรก็ตามที่แน่ ๆ คือ คนประเภท Dr. Perricone นั้นรวยแบบไม่รู้เรื่องไปหลายคน ซึ่งอาจรวมถึงคนไทยบางคนในอนาคตไม่ไกลนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 แผนพิฆาตความหวานด้วยการขึ้นภาษี

ผู้เขียนนั้นเมื่อย่างเข้าสู่ความเป็น สว.(สูงวัย) ก็ไม่ได้รอดไปจาก โรคของผู้สูงอายุ คือ มีภาวะความดันโลหิตสูง ดังนั้นอมตะวาจาที่อายุรแพทย์แนะนำให้ปฏิบัติเป็นประจำคือ อย่ากินเค็มและอย่ากินหวาน เพื่อให้ยาลดความดันโลหิตทำงานได้ดีและเป็นการถนอมไตไปในตัวดังที่เคยเล่าอยู่บ่อยๆ ในหลายบทความว่า ผู้เขียนออกกำลังกายแบบแอโรบิคคือ ถีบจักรยานเสือภูเขาเป็นประจำอย่างน้อย 45 นาทีต่อวัน จำนวน 3 วัน และเล่นแบดมินตันเพื่อให้เหงื่อออกชุ่มอย่างน้อย 60 นาที จำนวน 2 วัน พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้ผู้เขียนซึ่งสูง 170 เซนติเมตร สามารถคุมน้ำหนักให้อยู่ที่ 70 + 1 กิโลกรัมตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เมื่อคำนวณเป็นค่าดัชนีมวลกายแล้วได้ผลเฉลี่ยออกมาที่ 24.22 ซึ่งถ้าเป็นฝรั่งก็ยังอยู่ในค่าดัชนีที่ยังไม่อ้วนเพราะไม่เกิน 25 อย่างไรก็ดีการมีค่าดัชนีมวลกายที่ 24.22 ของผู้เขียนนั้น เมื่อมายืนอยู่ร่วมกับคนไทยกลับกลายเป็นว่า ผู้เขียนอยู่ในเกณฑ์ของคนที่อ้วนระดับ 1 เพราะค่าที่เหมาะสมของคนเอเชียนั้นอยู่ในช่วง 18.5-22.9 (อ้างอิงจากเว็บของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล) ผู้เขียนนั้นแอบคิดในใจว่า คนที่ปฏิบัติตนเองดี ออกกำลังกายเสมอ กินอาหารให้เหมาะสมก็คงมีค่าดัชนีมวลกายที่ 22.9 ได้ แล้วทำไมผู้เขียนถึงทำบ้างไม่ได้ สุดท้ายเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว(เขียนบทความนี้ในเดือนสิงหาคม) ผู้เขียนกลับมานั่งทบทวนพฤติกรรมการกินแล้วได้ข้อสรุปว่า น้ำอัดลม ซึ่งดื่มหลังออกกำลังกายแล้วรู้สึกเหนื่อยมากนั้นคือ เหตุที่ทำให้ดัชนีมวลกายคงอยู่แค่เกือบ 25 ไม่ยอมลดสักทีดังนั้นผู้เขียนจึงยกเลิกการซื้อน้ำอัดลมเข้าบ้านรวมถึงลดการดื่มกาแฟแบบ 3 in 1 เหลือเพียงวันละ 1 ซอง จึงพบว่า เมื่อ 2 เดือนผ่านไปน้ำหนักตัวค่อยๆ ลดจาก 70 กิโลกรัม เป็น 68 กิโลกรัม และเมื่อผ่านไป 4 เดือนก็อยู่ในช่วง 66 + 1 กิโลกรัมซึ่งคำนวณเป็นค่าดัชนีมวลกายที่ 22.84 สรุปแล้วสิ่งที่ผู้เขียนพิสูจน์พบคือ ปัจจัยหนึ่งที่สร้างโอกาสให้เรามีน้ำหนักเกินอย่างแน่นอนคือ อาหารรสหวาน ดังนั้นผู้เขียนจึงเข้าไปตั้งคำถาม(ทั้งไทยและอังกฤษ) กับอากู๋ (Google) ประมาณว่า มีโอกาสไหมที่ประชาชนจะลดการดื่มน้ำหวานได้ คำตอบที่ได้จากอากู๋ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษดูจะคล้ายกันว่า เป็นไปได้โดยการขึ้นภาษีเครื่องดื่มตามความหวานที่อยู่ในขวดเครื่องดื่มนั้นจากเว็บ www.bangkokbiznews.com มีหัวข้อข่าวหนึ่งที่น่าสนใจคือ “กรมสรรพสามิตเดินหน้าจัดเก็บภาษีความหวาน ดีเดย์ 16 กันยายนนี้ ด้าน อย. ออกโลโก้ทางเลือกสุขภาพ หวังเปลี่ยนพฤติกรรมติดทานหวานของคนไทย” โดยผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต ให้ข้อมูลประมาณว่า มาตรการหนึ่งที่ภาครัฐจะบังคับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาคนไทยติดรสหวาน คือ จัดเก็บภาษีความหวาน โดยมีเกณฑ์ว่า หากสินค้าผสมน้ำตาลมากกว่า 6-10 กรัม และ 10 กรัมขึ้นไปต่อ 100 มิลลิลิตร ก็จะถูกจัดเก็บภาษีในระบบใหม่ ซึ่งผลจากการที่รัฐเป็นห่วงสุขภาพประชาชนนั้นจะทำให้รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และ 25 ของราคาขายปลีก ตามลำดับเครื่องดื่มที่ถูกเสนอให้จัดเก็บภาษีความหวานนี้ประกอบด้วย น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำผลไม้ น้ำพืชผัก เครื่องดื่มชนิดผง เครื่องดื่มชนิดเข้มข้น ซึ่งในกรณีนี้รวมถึงเครื่องดื่มที่หวานตามธรรมชาติไม่ได้ใส่น้ำตาลเพิ่มด้วย เพราะสามารถทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบคือ ความอ้วนจากน้ำตาลได้เช่นกันแนวทางในการจัดเก็บภาษีความหวานนั้น เริ่มจากการให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนส่วนผสมของน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ในช่วง 2 ปี คือ 16 กันยายน 2560 - 30 กันยายน 2562 แล้วถ้าหากรายใดทำได้ก็จะได้สิทธิในการเสียภาษีเท่าเดิม ส่วนผู้ประกอบการใดที่งอแงปรับสูตรช้ากว่าจะได้รับรางวัลคือ ถูกเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไปภาษีความหวานนี้น่าจะตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Sugary drink tax ซึ่งไม่ได้หมายถึง ภาษีที่เก็บจากการขายน้ำตาลทราย(อันนี้เก็บไปแล้ว) แต่จะเก็บจากสินค้าซึ่งใช้น้ำตาลทรายเป็นส่วนประกอบในการผลิตมากเกินไปจนน่าจะก่อให้เกิดปัญหาแก่ประชาชน ผู้เขียนเข้าไปใน Wikipedia และพบว่า มีบทความเกี่ยวกับ Sugary drink tax ที่น่าสนใจมาก จึงขอกล่าวถึงบางส่วนโดยสรุปดังนี้ Wikipedia ให้ความรู้ว่า Sugary drink tax หรือ Soda tax นั้นถูกกำหนดขึ้นโดยหวังว่าจะลดการดื่มน้ำหวานของประชาชน ซึ่งไม่ว่าประเทศใดที่หวังออกภาษีนี้ก็ต้องถูกต่อต้านจากผู้ผลิตน้ำหวานรายใหญ่ทั้งหลาย ในขณะที่องค์การอนามัยโลกก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ ที่มีน้ำตาลเข้าไปเกี่ยวข้องเช่น เบาหวาน น้ำหนักเกิน นั้นมหาศาลนักเดนมาร์คได้เริ่มแนวความคิดของการมีภาษีนี้เมื่อ ค.ศ. 1930 แต่มาในปี 2013 รัฐบาลเดนมาร์คได้ดำริในการเลิกกฎหมายนี้โดยการออกกฎหมายที่กว้างคือ Fat tax ซึ่งบังคับเก็บภาษีอาหารทุกชนิดที่ทำให้อ้วน แต่ปรากฏว่าระบบภาษีใหม่ใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากประชาชนข้ามพรมแดนเข้าเยอรมันหรือสวีเดนเพื่อซื้ออาหารที่ทำให้อ้วนต่างๆ ในราคาที่ถูกกว่า เดนมาร์คจึงหันกลับมาใช้กฎหมายเดิมในปี 2014 สำหรับฟินแลนด์นั้นได้นำการเก็บภาษีลักษณะนี้มาใช้ในปี 2011 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ฮังการีได้เริ่มใช้การเก็บภาษีในลักษณะเดียวกันภายใต้ชื่อ Public health product tax ซึ่งครอบคลุมถึงอาหารที่มีการใช้น้ำตาลแบบเกินเลย ดังนั้นโดยหลักการที่ดีเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนแล้ว ประเทศในสหภาพยุโรปดูมีความตั้งใจในการออกกฎหมายเก็บภาษีในลักษณะนี้แทบทุกประเทศ (แนะนำให้ดูเอกสารที่ ec.europa.eu/ DocsRoom/documents/5827/attachments/1/translations/en/renditions/pdf) เม็กซิโก ซึ่งมีปัญหาจำนวนคนอ้วนเพิ่มมากได้เริ่มเก็บภาษีนี้ในปี 2013 สหราชอาณาจักรเริ่มในปี 2016 ส่วนอัฟริกาใต้เริ่มใช้ในปี 2017 สำหรับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่ตั้งของเหล่าบริษัทแม่ของน้ำอัดลมระดับยักษ์ใหญ่ของโลกจึงผ่านกฎหมายลักษณะนี้ออกมาใช้ก็ค่อนข้างลำบากหน่อย(เพราะใครๆ ก็รู้ว่า ในสหรัฐอเมริกานั้น แข็งเท่าแข็งเงินง้างอ่อนได้ดังใจ) จึงมีเพียง 2 เมืองคือ เบอรค์เลย์ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียและฟิลาเดลเฟียในมลรัฐเพนซิลเวเนียเท่านั้นในปัจจุบันที่มีภาษีนี้ระดับท้องถิ่น มีข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งได้จากการศึกษาที่มหาวิทยาลัย Duke University และ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์เมื่อปี 2010 ว่า ถ้าภาษีเครื่องดื่มที่หวานด้วยน้ำตาลถูกเปลี่ยนให้สูงขึ้นเป็นร้อยละ 20 ถึง 40 แล้วมันน่าจะไม่มีผลอะไรต่อการลดการได้รับพลังงาน(แม้ว่ายอดขายลดลง) เนื่องจากเมื่อสินค้าแพงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผู้บริโภคจะหันไปกินอาหารกลุ่มอื่นซึ่งให้ความหวานในระดับเดียวกัน เว็บในสหราชอาณาจักรชื่อ health.spectator.co.uk มีบทความเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2016 เรื่อง A sugar tax to make us slimmer? It’s not as simple as that ซึ่งผู้เขียนบทความดังกล่าวได้แสดงความเห็นประมาณว่า การที่คนจะบริโภคสินค้าน้อยลงเมื่อมันแพงขึ้นนั้นเป็นความคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ (มัก) ง่ายเกินไป ทั้งนี้เพราะการได้มาซึ่งสิ่งที่ชอบของมนุษย์นั้น บางครั้งไม่ได้ขึ้นกับราคาของสินค้าเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเมื่อประชาชนเห็นว่าสินค้าหนึ่งมีราคาเพิ่มขึ้นจนไม่คุ้มกับการจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการ (ในที่นี้คือ รสหวาน) นั้น ประชาชนจะหันไปหาสิ่งอื่นซึ่งย่อมเยากว่า แต่ตอบสนองความต้องการเดิมได้ โดยไม่พะวงที่จะคิดถึงผลเสียอื่น ๆ ที่อาจตามมาบทความทางวิชาการใน Journal of Public Economics ชุดที่ 94 หน้าที่ 967-974 ประจำเดือนธันวาคม 2010 เรื่อง The effects of soft drink taxes on child and adolescent consumption and weight outcomes. ได้สรุปผลสุดท้ายของงานวิจัยว่า เมื่อภาษีน้ำหวานเพิ่มขึ้น การดื่มน้ำหวานก็ลดลง แต่ความอ้วนของประชากรก็ยังเพิ่มขึ้นในลักษณะเดิม เพราะเมื่อไม่ดื่มน้ำหวาน (ซึ่งให้พลังงาน) ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็เลี่ยงไปรับพลังงานจากอาหารอื่น เช่น น้ำผลไม้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากน้ำผลไม้ และนมรวมทั้งผลิตภัณฑ์นม ดังนั้นสิ่งที่ควรหาทางทำให้สำเร็จหลังออกภาษีน้ำหวานแล้วคือ กระตุ้นให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายเพื่อหยุดยั้งความอ้วนที่เกิดจากพลังงานที่ได้รับเกินในแต่ละวัน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 ไฟโตสเตอรอล

ไฟโตสเตอรอล (phytosterol น่าจะออกเสียงว่า ไฟ-โต-สะ-เตีย-รอล) เป็นพฤกษเคมีที่เข้ามาสู่วิถีชีวิตของผู้บริโภคหลายท่าน ที่ปรับตัวให้เข้ากับความเป็นอยู่แบบไทยแลนด์ 4.0 โดยใช้บางช่วงของชีวิตล่องลอยไปกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต จนทำให้กลายเป็นคนลดพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เกิดโรคเนื่องจากความเสื่อมของร่างกายเร็วกว่าที่ควรเป็น เช่น มีโคเลสเตอรอลในเลือดสูง มีข้อมูลบอกกล่าวในเว็บที่โฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งมีไฟโตสเตอรอลเป็นองค์ประกอบว่า ราว 50 ปีมาแล้ว ชาวฟินแลนด์เคยมีปัญหาโคเลสเตอรอลในเลือดสูงมาก่อน จนทำให้คนวัยทำงานเสียชีวิตสูงที่สุดในโลก ด้วยโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด รัฐบาลฟินแลนด์และเอกชนได้ระดมนักวิจัยมาคิดหาสิ่งที่ช่วยลดโคเลสเตอรอลในเลือด จนปี 1972 นักวิจัยก็ประสบความสำเร็จค้นพบว่า ไฟโตสเตอรอล มีผลในการลดโคเลสเตอรอลในเลือดของชาวฟินแลนด์ ส่งผลให้ภายใน 5 ปีหลังจากนั้น อัตราการตายเนื่องจากโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดของชาวฟินแลนด์ในวัยทำงาน ลดลงถึงร้อยละ 70 ซึ่งทำให้องค์การอนามัยโลกจัดอันดับคุณภาพชีวิตของชาวฟินแลนด์ว่า ดีเป็นที่ 11 ของโลกผู้เขียนได้ข้อสังเกตหนึ่งจากการเข้าไปดูเว็บขายผลิตภัณฑ์ที่มีไฟโตสเตอรอลเป็นองค์ประกอบ คือ ชนิดของพฤกษเคมีที่อยู่ในโฆษณาในบ้านเรานั้นมักเป็น แพลนท์สตานอล (แต่ในต่างประเทศนั้นมีแพลนท์สเตอรอลด้วย) จึงฉุกใจว่า ชื่อต่างๆ ของพฤกษเคมีกลุ่มนี้ น่าจะมีความหมายในส่วนลึก ใช่แต่ว่าจะพูดแค่ ไฟโตสเตอรอล เท่านั้นอะไรคือ ไฟโตสเตอรอลคำว่า สเตอรอล นั้นเป็นชื่อของกลุ่มสารเคมี(ที่เป็นอนุพันธ์แอลกอฮอล์ของสารกลุ่มที่เรียกว่า steroid ซึ่งน่าจะออกเสียงว่า ส-เตีย-รอยด์) มีองค์ประกอบค่อนข้างซับซ้อนแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งเมื่อนักวิทยาศาสตร์ที่สนในเรื่องนี้เห็นสูตรโครงสร้างแล้วควรจำได้ทันที สเตอรอลที่เรารู้จักดีมากๆ คือ โคเลสเตอรอล ส่วนในกรณีของ ไฟโตสเตอรอล นั้นมีความหมายว่าเป็น สเตอรอลที่ถูกสร้างขึ้นในพืช ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ แพลนท์สเตอรอล (plant sterol) และแพลนท์สตานอล (plant stanol) ซึ่งอาจเรียกสั้น ๆ ว่า สเตอรอลและสตานอล ตามลำดับ สำหรับสูตรโครงสร้างทางเคมีของสารทั้งสองนั้น มีความต่างกันเล็กน้อยแต่มีผลต่างกันทางชีวเคมีพอควรไฟโตสเตอรอลทั้งสองกลุ่มนั้น ขณะผ่านเซลล์ลำไส้เล็กเพื่อเข้าสู่กระแสเลือด ส่วนใหญ่ถูกระบบชีวเคมีของเซลล์ขับสารกลุ่มนี้กลับออกไปสู่ลำไส้เล็ก จึงมีเพียงส่วนน้อยที่เข้ากระแสเลือด กลุ่มนักวิจัยอเมริกันกล่าวว่า อาหารที่มีปริมาณไฟโตสเตอรอลและโคเลสเตอรอลใกล้เคียงกันนั้น มีเพียงร้อยละ 5 ของแพลนท์สเตอรอลและร้อยละ 0.5 ของแพลนท์สตานอล เท่านั้น ที่ผ่านเข้าสู่กระแสเลือดของเรา เมื่อเทียบกับโคเลสเตอรอลจากอาหารที่ผ่านเข้าสู่กระแสเลือดถึงร้อยละ 50แพทย์คนหนึ่งในอินเทอร์เน็ตตั้งข้อสังเกตว่า แพลนท์สเตรอลส่วนที่เข้าสู่ระบบโลหิตได้นั้น อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อร่างกายได้ถ้ามีมากไป ทั้งนี้เพราะสารนี้มีสมบัติทางเคมีคล้ายคลึงกับโคเลสเตอรอล ดังนั้นเมื่อมีปริมาณในเลือดมากก็อาจเกาะผนังหลอดเลือดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ประเด็นข้อสังเกตนี้เป็นที่สนใจอย่างยิ่งของนักวิจัยที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้ ในขณะที่แพลนท์สตานอลนั้นยังไม่มีข้อมูลที่เป็นสัญญานบ่งว่าก่อปัญหาดังกล่าวไฟโตสเตอรอลที่ขายในตลาดส่วนใหญ่ ได้จากการแยกออกมาจากน้ำมันพืชระหว่างการปรับสภาพให้น้ำมันพืชดูใสขึ้น สารที่แยกได้เหล่านี้ถูกขายให้กับโรงงานผลิตอาหาร เพื่อใช้เสริมให้อาหารนั้นดูดีขึ้นในลักษณะที่อาจเรียกว่า อาหารวัตถุประสงค์พิเศษ หรือใช้ผลิตเป็น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โดยตรง เพื่อขายแก่ผู้ที่หวังว่า สารเคมีธรรมชาตินี้น่าจะช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดซึ่งสูงผิดปรกติการยับยั้งการดูดซึมโคเลสเตอรอลในลำไส้เล็กเกิดเนื่องจาก ไฟโตสเตอรอลสามารถเข้าไปแย่งที่โคเลสเตอรอลในส่วนที่เป็นไขมันของ ไมเซลส์ (micelles คือ ของผสมของสิ่งที่ได้จากอาหารที่กินเข้าไปแล้วไม่ละลายน้ำผสมกับน้ำดีที่ส่งมาจากถุงน้ำดี) ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ไขมันถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็ก ส่งผลให้โคเลสเตอรอลจากอาหารที่ไม่ถูกรวมเข้าไปในไมเซลส์ต้องออกจากร่างกายไปพร้อมกับอุจจาระอาหารที่มีสเตอรอลและสตานอลสูงคือ ถั่วและพืชน้ำมันอื่นๆ (เช่น งา เมล็ดฝ้าย มะกอกฝรั่ง) ธัญพืชที่ไม่ขัดสีรวมทั้งผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ผักหลายชนิดและผลไม้(เช่น กล้วย ส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่)ปริมาณไฟโตสเตอรอลจากอาหารธรรมดานั้น อาจเพียงพอกับความต้องการของคนธรรมดาที่ กินอาหารอย่างระวังแหล่งของโคเลสเตอรอล แต่สำหรับคนที่กินไม่เลือกหรือมีปัญหาโคเลสเตอรอลในเลือดสูงเองตามพันธุกรรมนั้น แค่อาหารธรรมดานั้นอาจไม่พอในการช่วยลดปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มองเห็นโอกาสรวย จึงนำเอาพฤกษเคมีที่ถูกสกัดออกออกจากน้ำมันมันพืชมาเติมลงในอาหารบางชนิดที่เหมาะสม เช่น เนยเทียม มายองเนส โยเกิร์ต น้ำส้มคั้น ขนมอบกรอบหรือเป็นผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยตรงการยอมรับถึงประโยชน์และความปลอดภัยที่สามารถใช้อ้างบนฉลากของผลิตภัณฑ์ที่มีการเติมไฟโตสเตอรอลเป็นองค์ประกอบนั้น Wikipedia ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์ที่ถูกกำหนดโดยองค์กรสำคัญๆ เช่น EFSA (The European Foods Safety Authority) ของสหภาพยุโรปที่ดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US.FDA) และกระทรวงสาธารณสุขของแคนาดา สำหรับรายละเอียดนั้นท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปอ่านหาความรู้ได้ด้วยตนเองอ่านมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงพอเข้าใจว่า บทความนี้เขียนเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่า เมื่อท่านมีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงแล้ว อาจมีแพทย์บางคนแนะนำให้ท่านกินผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แทนยากลุ่ม สแตติน (เพื่อเลี่ยงผลข้างเคียงของยา) แต่ท่านก็มีสิทธิเลือกทางอื่นเพิ่มได้ ด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้ปรกติแล้วร่างกายเราผลิตน้ำดีที่ตับ โดยใช้โคเลสเตอรอลจากเลือดเป็นวัตถุดิบ น้ำดีนั้นมีส่วนสำคัญต่อการดูดซึมไขมันผ่านลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือด โดยหลังการทำงานแล้วน้ำดีจะเคลื่อนลงสู่ลำไส้ใหญ่ แล้วถูกดูดซึมกลับไปที่ถุงน้ำดี เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ดังนั้นวิธีลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดจึงสามารถทำได้ ด้วยการรบกวนการดูดซึมกลับของน้ำดีที่ลำไส้ใหญ่โดยอาศัยเพกติน(ซึ่งมีในผักและผลไม้หลายชนิด) เป็นตัวจับน้ำดีแล้วพาออกจากร่างกายไปพร้อมกับอุจจาระ ส่งผลให้มีการนำโคเลสเตอรอลจากเลือดมาสร้างน้ำดีที่สูญเสียไป ดังนั้นโคเลสเตอรอลในเลือดจึงลดลงได้ในชีวิตประจำวัน เราสามารถเพิ่มปริมาณของเพกตินในลำไส้ใหญ่จากการกินถั่วต่างๆ ผลไม้ตระกูลส้ม แครอท ฟักทอง กล้วย มัน แอปเปิล สตรอเบอร์รี่ ถั่วเขียว มะเขือเทศ องุ่น แตงโม แตงกวา สับปะรด เป็นต้น(อาหารเหล่านี้โดยพื้นฐานแล้วมีไฟโตสเตอรอลธรรมชาติอยู่แล้วเช่นกัน) ดังนั้นแพทย์หลายท่าน จึงแนะนำคนไข้ให้เพิ่มการกินผักและผลไม้ที่มีเพกตินสูง เพื่อแก้ไขปัญหาโคเลสเตอรอลสูงในเลือดเป็นลำดับแรกก่อนการใช้ยาแหล่งหาความรู้เพิ่มเติมข้อมูลที่ท่านสามารถสืบค้นจากอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับการที่เพกตินสามารถลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดได้นั้น เช่น Pectin penta-oligogalacturonide reduces cholesterol accumulation by promoting bile acid biosynthesis and excretion in high-cholesterol-fed mice ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Chemico-Biological Interactions ชุดที่ 272 (2017) หน้าที่ 153-159 และ The Interaction Between Insoluble and Soluble Fiber ในหนังสือ Dietary Fiber for the Prevention of Cardiovascular Disease หน้าที่ 35-59 ซึ่งพิมพ์ในปี 2017 และข้อมูลในวารสาร Foods, Nutrients and Food Ingredients with Authorised EU Health Claims ชุดที่ 2 หน้า 153-174 ในปี 2015 ซึ่งระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีเพกตินสามารถใส่ข้อความบนฉลากอาหารว่า “Pectins contribute to the maintenance of normal blood cholesterol concentrations” ถ้ามีเพกตินเป็นองค์ประกอบที่สามารถทำให้ผู้บริโภคได้รับเข้าร่างกาย 6 กรัมต่อวัน

อ่านเพิ่มเติม >