ฉบับที่ 228 เปลี่ยนวิกฤตในอากาศ...เป็นอาหาร

                มีการพยากรณ์มานานพอควรแล้วว่า มนุษย์บนโลกน่าจะเพิ่มเป็นประมาณหมื่นล้านคนในปี 2050 ซึ่งทำให้นักบริหารระดับสูงขององค์กรระหว่างประเทศหลายคนกังวลว่า โลกอาจกำลังเดินเข้าสู่สถานการณ์ที่ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอเลี้ยงมนุษย์ที่มีอยู่ด้วยกระบวนการเกษตรแบบดั้งเดิม         สมัยที่ผู้เขียนยังเด็กเคยได้ยินข่าวหนึ่งว่า องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้มีความพยายามนำเอาสาหร่าย spirulina ซึ่งก็คือ สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวที่มีขึ้นทั่วไปทั้งน้ำเค็มและน้ำจืดมาเป็นแหล่งของโปรตีนแก่ประเทศยากจน แต่ปรากฏว่าระหว่างการประเมินความปลอดภัยในหนูทดลองนั้น มีผลการศึกษาบางประเด็นที่ส่อถึงปัญหาบางประการ องค์การอนามัยโลกจึงได้หันความสนใจในภารกิจหาโปรตีนให้ประเทศยากจนไปยัง ถั่วเหลือง ซึ่งเป็นพืชที่อุดมทั้งโปรตีนและมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง อีกทั้งข้อความใน Wikipedia ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาหร่ายประเภทนี้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า U.S. National Institutes of Health ยังมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สุขภาพไม่พอจะแนะนำให้กินสาหร่ายชนิดนี้เป็นแหล่งโปรตีนหลักของมนุษย์เช่นกัน         ผ่านไปกว่า 50 ปี ความพยายามค้นหาแหล่งโปรตีนราคาถูกยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของนักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่ม จนล่าสุดก็มีข่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในอนาคตชื่อ Air Protein ของบริษัท startup (ชื่อเดียวกันกับผลิตภัณฑ์) ในเมือง Berkeley รัฐแคลิฟอร์เนียปรากฏขึ้นในอินเทอร์เน็ต บริษัทนี้คุยว่า สามารถใช้เทคโนโลยีชีวภาพอาศัยจุลินทรีย์สายพันธุ์พิเศษเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศรอบตัวมนุษย์ให้กลายเป็นโปรตีน และอาจถึงการผลิตเป็นไขมัน วิตามินและผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่นๆ เพื่อการบริโภคของมนุษย์         คาร์บอนไดออกไซด์นั้นเป็นปัจจัยร่วมสำคัญในการทำให้โลกร้อนขึ้น ผู้เขียนโชคดีได้พบเว็บบนอินเทอร์เน็ตหนึ่งที่มีสารคดีออนไลน์เรื่อง Decoding the Weather Machine ซึ่งผลิตโดย NOVA PBS (ราคา DVD สารคดีนี้ขายอยู่ที่ประมาณ $15.45) จึงเริ่มเข้าใจได้ว่า ทำไมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงทำให้โลกร้อนขึ้นทุกวัน ดังนั้นการลดการปล่อยหรือกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ จึงกำลังเป็นสิ่งที่หลายประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังทำอยู่ ส่วนประเทศที่พัฒนาได้แค่ที่เป็นอยู่ ซึ่งมักมีงบการวิจัยต่ำกว่า 1% GDP ก็ดูคนอื่นทำต่อไปข่าวเกี่ยวกับความสามารถในการสร้างโปรตีนจากอากาศ         ความสามารถในการสร้างโปรตีนจากองค์ประกอบของอากาศที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ก่อให้เกิดความสงสัยแก่ผู้เสพข่าวบางคนว่า เป็นไปได้จริงหรือที่จะสร้างโปรตีนจากคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ข้อมูลที่ได้หลังจากการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตพบว่า เป็นการอาศัยจุลินทรีย์กลุ่ม hydrogenotroph (ซึ่งจริงแล้วมีในธรรมชาติรวมถึงในลำไส้ของมนุษย์) เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นโปรตีน กล่าวอีกนัยหนึ่งประมาณว่า ในขณะที่พืชดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์ไปผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงที่ใช้แสงแดดเป็นแหล่งพลังงานขับเคลื่อนการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ไปเป็นสารอาหารและองค์ประกอบอื่นที่พืชต้องการ จุลินทรีย์กลุ่ม hydrogenotroph ใช้แหล่งพลังงานอื่นในกระบวนการที่ต่างกันแต่ได้ผลในแนวทางเดียวกัน ดังที่ Dr. Lisa Dyson ผู้เป็น CEO ของ Air Protein (และเป็นผู้ร่วมตั้งบริษัทแม่ชื่อ Kiverdi ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม) คุยไว้ในคลิปที่บรรยายให้ TEDx Talks ชื่อ A forgotten Space Age technology could change how we grow food (www.youtube.com/watch?v=c8WMM_PUOj0)         Hydrogenotroph นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถใช้ไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสร้างพลังงานที่ได้จากการรีดิวส์คาร์บอนไดออกไซด์ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจนไปเป็น ก๊าซเม็ทเตน กระบวนการดังกล่าวส่งผลให้เกิดความต่างศักย์ด้านอีเล็คโตรเคมิคอลเพื่อใช้การสร้างสารพลังงานสูงคือ ATP ซึ่งถูกนำไปใช้ในกิจการสร้างสารชีวเคมีต่างๆ ซึ่งรวมถึงการสร้างโปรตีน ดังนั้นเมื่อปริมาณของเซลล์แบคทีเรียเพิ่มขึ้นมากพอ ผู้เลี้ยงจึงสามารถใช้กระบวนการทางชีวเคมีในการสกัดเอาโปรตีนออกมาได้ความจริง Lisa Dyson ได้ยอมรับในการบรรยายต่างๆ ว่า แนวคิดเรื่องโปรตีนจากอากาศนั้นได้รับแรงบันดาลใจจากงานวิจัยของ NASA ที่ทำตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ในความพยายามมองหาวิธีผลิตอาหารสำหรับภารกิจในอวกาศของนักบินในอนาคตที่ต้องไปยังต่างดาวที่มีทรัพยากรจำกัดในการประทังชีวิต ด้วยแนวคิดที่เรียกว่า "ระบบวงปิดของคาร์บอน หรือ the close loop carbon cycle" ที่มีจุลินทรีย์ทำหน้าที่แปลงองค์ประกอบจากอากาศที่หายใจออกมาเป็นอาหารให้นักบินอวกาศกิน และเมื่อมีสิ่งขับถ่ายต่างๆ ออกมา ซึ่งโดยหลักคือ คาร์บอนไดออกไซด์ในลมหายใจออกนั้นจะถูกส่งเข้าสู่วงจรการผลิตใหม่ แต่เมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว วงจรดังกล่าวไม่ใช่วงจรปิดเสียทีเดียว เพราะต้องมีการเติมบางสิ่งบางอย่างเข้าไปช่วยให้วงจรเดินหน้าได้ พร้อมกำจัดบางสิ่งที่ไม่ต้องการออกทิ้ง         ข้อมูลหนึ่งซึ่งสำคัญมากเพราะ Lisa Dyson ได้พยายามกล่อมให้ผู้ฟังคล้อยตามคือ ผลพลอยได้จากการสร้างโปรตีนด้วยคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศนั้นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ เพราะกระบวนการนี้ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วถ้ามีการปลูกป่าบนพื้นโลกให้มากขึ้น พืชจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยประสิทธิภาพดีกว่าและประหยัดกว่า แถมยังเป็นการผลิตสิ่งต่างๆ เพื่อการอุปโภคและบริโภคในชีวิตประจำวันของมนุษย์ด้วยผลกระทบที่อาจถูกละเลยไปอย่างตั้งใจ         สิ่งหนึ่งซึ่งไม่ควรละเลยคือ ผู้ผลิต Air Protein ได้ทำเป็นลืมที่จะกล่าวถึงการประเมินในลักษณะ Cost/Benefit ของกระบวนการ ซึ่งควรจะเป็นส่วนที่แสดงถึง ความคุ้มทุนของการดำเนินการของบริษัทในการผลิต เพราะเท่าที่ผู้เขียนตามดูในการบรรยายของ Lisa Dyson นั้นไม่ได้ระบุว่า  มีการใช้น้ำ แร่ธาตุ และพลังงานมากน้อยเพียงใดในกระบวนการผลิต         สิ่งสำคัญที่น่าสนใจคือ Air Protein นั้นไม่ได้เป็นบริษัท startup เพียงแห่งเดียวที่คุยว่า สามารถใช้อากาศในการผลิตโปรตีน เพราะก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่เดือน บริษัทสัญชาติฟินแลนด์หนึ่งที่ชื่อว่า Solar Foods ก็ได้ประชาสัมพันธ์ว่า กำลังสร้างสารอาหารคือ โปรตีนจากอากาศซึ่งตั้งชื่อว่า Solein (ซึ่งน่าจะมาจากการสมาสคำ solar และ protein) โดยที่กระบวนการของบริษัทนี้ได้เลยจากการพิสูจน์ความเป็นไปได้แล้ว เพราะ Solar Foods คุยว่า สามารถผลิตโปรตีนออกมาได้ในปริมาณ 1 กิโลกรัมต่อวัน ทำให้ขณะนี้ได้เตรียมที่จะผลิตในขนาดของอุตสาหกรรมพร้อมทั้งขอจดสิทธิบัตรและทำการระดมทุนได้ราว 2 ล้านยูโรผ่านการจัดการของ Lifeline Ventures โดยหวังว่าจะกระจายสินค้าคือ Solein ในปี 2021 และในปี 2022 ตั้งเป้าจะผลิตโปรตีนสำหรับอาหาร 50 ล้านมื้อ (ข้อมูลจากบทความชื่อ The Future of Protein Might be ‘Gas Fermentation,’ or Growing Food Out of Thin Air ในเว็บ https://thespoon.tech วันที่ 26 เมษายน 2019)          สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับการสร้างอาหารจากอากาศคือ การดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์นั้น มีความยากง่ายขึ้นกับสถานที่เลือกทำการผลิต เพราะถ้าเป็นอากาศจากชุมชนที่มีปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สูงนั้น ความจำเป็นในการกำจัดสิ่งปนเปื้อนออกไปจากอากาศก่อนเพื่อให้ได้คาร์บอนไดออกไซด์บริสุทธิ์คงต้องลงทุนสูงพอดู นอกจากนี้เมื่อการผลิตโปรตีนนั้นไม่ต้องการพื้นที่มากนักและคงควบคุมการผลิตได้ด้วยระบบอัตโนมัติแล้ว การลดของจำนวนตำแหน่งงานทางด้านปศุสัตว์อย่างมากมายคงไม่ยากที่จะคาดเดาได้ และที่น่าสนใจคือ นอกจากความพยายามผลิตโปรตีนจากอากาศแล้ว ยังมี startup อีกมากมายที่มุ่งเน้นในการปฏิวัติกระบวนการผลิตอาหารอื่นๆ ในลักษณะที่เป็นอุตสาหกรรมทันสมัย จนอาจทำให้ไม่เหลือที่ยืนแก่เกษตรกรในหลายประเทศที่ยังไม่ปรับตัวมัวแต่ประท้วงเรื่องการห้ามใช้วัตถุอันตราย ทั้งที่กระบวนการผลิตอาหารในอนาคตนั้นน่าจะเป็นกระบวนการปิดที่ไม่ต้องใช้วัตถุอันตรายช่วยเหลือการผลิตแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 นมดิบ...ดีหรือไม่

        เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 มีข่าวหนึ่งกล่าวว่า ชายสูงวัยคนหนึ่งและทีมงานหลายร้อยชีวิตเดินทางไปยังสหกรณ์โคนมหนึ่งในจังหวัดราชบุรี เพื่อชมกระบวนการผลิตนมและทดลองรีดนมวัว ก่อนจะพลั้งปากกล่าวประมาณว่า “ต่อไปไม่ต้องกลัวว่าเด็กจะกินนมบูดอีก ให้เอาแม่วัวไปให้เด็กที่โรงเรียน จากนั้นช่วงเช้าก็รีดนมให้เด็กกิน”          ทันทีที่ข่าวตีพิมพ์ขึ้นสู่โลกออนไลน์ ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 ก็มีข่าวต่อเนื่องว่า นักวิชาการหนุ่มซึ่งเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหนึ่งได้ให้ความเห็นใน facebook ถึงเรื่องการดื่มนมดิบว่า "ไม่ควรดื่มน้ำนมดิบ เพราะอาจมีอันตรายจากเชื้อโรค” พร้อมข้อมูลสรุป ซึ่งคนที่เรียนด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพรู้กันทั้งนั้นว่า นมดิบนั้นเป็นนมที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อก่อโรคด้วยความร้อนในระดับที่เรียกว่า พาสเจอร์ไรซ์ จึงเสี่ยงรับเชื้อโรคอันตรายซึ่งอาจจะปนเปื้อนในนมหลายชนิด เช่น บรูเซลล่า (Brucella), แคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter), คริปโตสปอริเดียม (Cryptosporidium), อีโคไล (E. coli), ลิสทีเรีย (Listeria) และซาลโมเนลล่า (Salmonella) ซึ่งก่ออันตรายร้ายแรงได้ในหลายระดับต่อผู้ดื่ม และต่อมาในวันที่ 14 พฤศจิกายน รองโฆษกพรรคการเมืองหนึ่งก็ได้ให้ข่าวทำนองเดียวกัน เพื่อตอกย้ำความไม่รู้ของชายสูงวัย         ปัจจุบันคนไทยบางคนเริ่มนิยมกินอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูปที่ปรุงแต่งด้วยสารเคมีต่างๆ หรือแม้ผ่านการแปรรูปก็ผ่านแต่น้อยซึ่งเรียกว่า Green และถ้าเป็นไปได้ก็ต้องการให้สิ่งที่ Green นั้นเป็น Organic (อาหารอินทรีย์) ด้วย หนักไปกว่านั้นบางคนยังชอบให้ของกินเป็น Raw คือ อาหารพวกผักและผลไม้สด ต้นอ่อนของพืช เมล็ดพืช เนื้อสัตว์ ปลา ฯลฯ ที่ไม่ผ่านกระบวนการปรุงแต่ง ไม่มีการเติมแป้งและน้ำตาล โดยใช้ความร้อนไม่เกิน 49 องศาเซลเซียสในการปรุง         ในเรื่องการกินอาหารสดไม่ผ่านการปรุงนั้น มีบทความเรื่อง “Raw-milk fans are getting a raw deal” ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ The Globe and Mail ฉบับวันที่ 24 กันยายน 2010 ให้ข้อมูลว่า พระราชินีแห่งสหราชอาณาจักรทรงชอบเสวยนมดิบ (raw milk) ที่ไม่ผ่านกระบวนการให้ความร้อนใด ๆ และทรงสนับสนุนว่า นมดิบนั้นป้องการอาการแพ้และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่านมที่ผ่านการพาสเจอไรซ์ นอกจากนี้ยังมีข่าวกล่าวกันว่า ในอดีตนั้นเคยทรงให้รีดนมดิบของวัวเลี้ยงในพระราชวังวินเซอร์ส่งไปให้พระราชนัดดา (เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮรี่) เสวยในสมัยที่ทั้งสองศึกษาที่ Eton College การที่พระราชินีและพระราชนัดดาไม่เคยทรงป่วยทั้งที่เสวยนมดิบนั้นผู้เขียนเข้าใจว่า คงเป็นเพราะวัวทรงเลี้ยงนั้นได้รับการดูแลอย่างดีในโรงวัว ซึ่งสะอาดพร้อมภักษาหารปลอดจากภัยร้าย ต่างจากวัวชาวบ้านที่นอนกลางดินกินหญ้ากลางทราย และอาบน้ำที่มักได้จากแหล่งน้ำสาธารณะหรือบ่อบาดาล        ในหลายประเทศมีกฎหมายห้ามการจำหน่ายนมดิบ เนื่องจากเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางเดินอาหาร เพราะในตำราจุลวิทยาทางอาหารทั่วไปมักกล่าวถึงนมดิบว่า เป็นปัจจัยเสี่ยงของผู้ดื่มต่อการรับเชื้อโรคต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะเชื้อหลายชนิดนั้นสร้างสารพิษออกมาปนเปื้อนในอาหารได้ ในขณะที่เชื้อบางชนิดก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารด้วยตัวมันเอง         สมัยที่ผู้เขียนเรียนอยู่ชั้นประถมต้น ราว 60 ปี มาแล้ว ผู้เขียนจำได้ว่า น้าสาวชอบซื้อนมสดจากแขก (อินเดีย) ซึ่งถีบจักรยานมาส่งที่บ้านเป็นประจำ น้าของผู้เขียนทำการต้มนมสดจนเดือดแล้วทิ้งให้เย็นก่อนดื่ม ซึ่งเป็นพฤติกรรมเฉพาะของคนทางเอเชียบางกลุ่ม ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะเพื่อนร่วมหอพักในมหาวิทยาลัยสมัยที่ผู้เขียนเรียนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นชาวจีนฮ่องกงนั้น ก็ต้มนมสดที่ซื้อจากซูเปอร์มาเก็ตก่อนดื่มเป็นประจำโดยให้เหตุผลว่า เพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยและชอบกลิ่นของนมที่ผ่านการต้มแล้ว         ความชอบกลิ่นนมที่ต้มแล้วของคนไทยนี้ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้น้ำนมวัวบรรจุกระป๋องโลหะที่ผ่านการสเตอริไลซ์ยี่ห้อหนึ่งของสวิสเซอร์แลนด์ขายได้ดีในไทย แต่กลับหาดื่มไม่ได้ในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพราะคนอเมริกันชินต่อการดื่มนมพาสเจอไรซ์ และคนอเมริกันส่วนมากไม่เคยรู้เลยว่า มีการต้มนมให้เดือดเพื่อดื่มบนโลกนี้         ในนิวซีแลนด์นั้นกำหนดว่า ผู้บริโภคสามารถซื้อนมที่รีดสดจากเต้าวัวของเกษตรกรที่ลงทะเบียนกับรัฐเท่านั้น โดยที่เกษตรกรเหล่านี้ต้องผ่านเกณฑ์ที่กำหนดว่า มีความสามารถในการตรวจสอบสิ่งเป็นพิษในนม เช่น เชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรค มีการเก็บข้อมูลการขายและทำฉลากติดสินค้า ซึ่งต้องบอกวันผลิต คำแนะนำในการเก็บรักษา และข้อควรระวังในการดื่มนมดิบสำหรับผู้ดื่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย แต่สิ่งที่สำคัญในการซื้อขายนั้นคือ ต้องเป็นการขายตรงจากเกษตรกรสู่มือผู้บริโภค (ผู้ซื้อและผู้ขายจึงรู้จักกันดี) ห้ามขายผ่านจุดรวบรวมสินค้าเช่น ร้านของสหกรณ์ อีกทั้งผู้ซื้อต้องให้ข้อมูลที่พักอาศัยแก่เกษตรกรผู้ขาย เพื่อให้สามารถติดต่อได้อย่างทันทีทันใด ในกรณีที่ภายหลังการขายนมไปแล้วเกิดตรวจพบว่า นมนั้นไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัยเกี่ยวกับการปนเปื้อน ที่น่าสนใจคือ มีข้อมูลจากบทความชื่อ Raw milk ในเว็บ www.consumer.org.nz เมื่อ 30 มิถุนายน 2016 กล่าวว่า เมื่อปี 2014 มีผู้ติดเชื้อจากการดื่มนมดิบ 41 คน ซึ่ง 9 คน อายุต่ำกว่า 15 ปี แล้วผู้ป่วย 2 คน มีอาการร้ายแรงถึงขั้นไตวาย และต่อมาในปี 2015 ก็มีรายงานของผู้ป่วยจากการดื่มนมดิบอีก 13 คน         ประเทศอื่นที่มีการตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาตสำหรับผู้ที่สามารถทำตามข้อกำหนดเพื่อขายนมดิบนั้นคือ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา (ซึ่งมีกฏหมายประจำรัฐที่ยอมให้มีการขายได้ด้วยข้อกำหนดที่ต่างกันไปในแต่ละรัฐ) อย่างไรก็ดีหน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาคือ CDC (Centers for Disease Control and Prevention) ได้พยายามเตือนว่า มันเสี่ยงต่อหายนะที่มีอันตรายถึงชีวิตของผู้ดื่มนมดิบเพราะมีข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี 1993 ในการระบาดของโรคครั้งใหญ่ในประเทศ 55 ครั้งนั้น ร้อยละ 75 ของการระบาดเกิดในรัฐที่มีการอนุญาตให้ซื้อขายนมดิบได้ตามกฎหมาย ที่น่าสังเกตคือ การเกิดโรคเนื่องจากการกินเนยแข็งในรัฐที่มีกฏหมายอนุญาตให้ขายเนยที่ทำจากนมดิบนั้นสูงเป็น 6 เท่าเมื่อเทียบกับรัฐที่ไม่อนุญาต          ผู้เขียนได้มีโอกาสดูข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน 2011 ของเว็บ เสียงจากอเมริกา (www.voathai.com) ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดื่มนมดิบว่า ในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกานั้น การขายนมสดที่ไม่ผ่านกรรมวิธีเพื่อฆ่าเชื้อเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงทำให้มีการชุมนุมประท้วงที่กรุงวอชิงตันดีซีหลังจากมีการจับเกษตรกรที่นำนมสดไม่ผ่านการฆ่าเชื้อในรัฐที่มีกฎหมายอนุญาตข้ามไปขายในรัฐที่ไม่มีกฏหมายอนุญาต โดยผู้ประท้วงรายหนึ่งถึงกับนำวัวมารีดนมและให้บริการดื่มในการชุมนุมประท้วงนั้นด้วย แต่ข่าวไม่ได้กล่าวต่อว่า หลังจากการประท้วงแล้วมีคนท้องเสียหรือไม่         อย่างไรก็ดีการเกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารระบาดนั้น ไม่ได้มีนมดิบเป็นปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียว เพราะปัจจัยอื่นเช่น การสัมผัสเชื้อจากสัตว์ต่างๆ หรือแม้แต่การสัมผัสน้ำจากปศุสัตว์ที่ไม่ได้รับการบำบัดให้สะอาดก่อนทิ้งก็ก่อให้เกิดโรคระบาดได้ ดังนั้นงานวิจัยต่างๆ จึงไม่สามารถระบุว่า ในการระบาดของโรคนั้นมีนมดิบเป็นสาเหตุหลักของโรคและที่สำคัญคือ ทุกครั้งที่เกิดปัญหาก็ไม่มีใครสามารถหาข้อมูลได้ว่า นมดิบที่ขายตรงต่อผู้บริโภคนั้นมีเชื้อก่อนการบริโภคหรือไม่ ที่สำคัญนมที่ผลิตเพื่อบริโภคในช่วงที่เกิดปัญหามักถูกดื่มหรือทิ้งส่วนที่เหลือไปแล้ว         ข้อมูลจากเว็บของ เสียงจากอเมริกา นั้นกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้นิยมดื่มนมดิบหลายคนในรัฐที่ไม่มีการอนุญาตให้มีการซื้อขาย ได้เลี่ยงอุปสรรคดังกล่าวด้วยการร่วมทุนเข้าหุ้นกันเลี้ยงวัวที่ฟาร์มนอกเมืองเสียเอง ตัวอย่างคือ ฟาร์มที่เฮดจ์บรูคซึ่งอยู่นอกกรุงวอชิงตันนั้น มีการขายหุ้น 25 หุ้นสำหรับวัวตัวหนึ่ง ซึ่งเจ้าของหุ้นแต่ละรายได้รับนมจากเต้าของวัวตัวนั้นซึ่งสดใหม่สมใจ (ในการเสี่ยงโรค) สัปดาห์ละราว 4 ลิตร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ธรรมชาติปลอดภัยกว่าหรือดีกว่า...หรือ

        ผู้คนจำนวนมากมีอคติในความเชื่อว่า อาหาร ยา หรือเครื่องสำอาง ที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติย่อมดูดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค ต่างจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารสังเคราะห์ซึ่งมักถูกมองว่าไม่ปลอดภัย อคติดังกล่าวนี้เกิดเนื่องจากความไม่รู้ว่า สารที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อใช้ในกิจการต่างๆ ที่สัมพันธ์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นมักต้องถูกประเมินความปลอดภัย ด้วยวิธีการที่มีจุดประสงค์ในการเผยศักยภาพของการก่อความเป็นพิษในสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีการใช้สัตว์ทดลองต่างๆ เป็นด่านสุดท้ายก่อนถึงมนุษย์ ในการนำสารสังเคราะห์มาใช้ในการผลิตเป็นสินค้านั้น สารสังเคราะห์แต่ละชนิดจะถูกประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลในสัตว์ทดลองก่อน ว่า ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภคในระดับใด ตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงในการก่อมะเร็งนั้นมักใช้ระดับว่า ในล้านคนจะมีคนเสี่ยงเป็นมะเร็งเท่าใด แล้วสังคมของผู้บริโภคยอมรับในความเสี่ยงดังกล่าวได้หรือไม่          ในกรณีสารที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์หรือสัตว์ทั่วไปเคยกินมาแล้วในอดีต ส่วนใหญ่มักไม่มีการประเมินความเสี่ยงต่ออันตรายของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่เคยมีข้อมูลว่าก่ออันตรายใดๆ มาก่อน ทั้งที่ความจริงแล้วสารที่ได้จากธรรมชาติบางชนิดอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ถ้ามีการนำมาใช้ในลักษณะที่ต่างจากวิธีการที่ใช้ในเวลาก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นที่ขนาดการใช้หรือรูปแบบการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างที่มีข้อมูลเป็นวิทยาศาสตร์คือ เรื่องอันตรายในการถ่ายพยาธิด้วยสารสกัดจากผลมะเกลือ          ผลมะเกลือนั้น ชาวบ้านใช้ในการย้อมผ้าให้ได้ผ้าสีดำที่คงทนมาแต่โบราณ และได้มีการนำผลสดมาคั้นน้ำแล้วผสมกับกะทิกินทันทีเพื่อถ่ายพยาธิ แต่ปัญหาเกิดขึ้นในผู้ที่ไม่เข้าใจวิธีกินเป็นยานั้นอย่างถูกต้อง จนเกิดพิษทำให้เสี่ยงต่อการที่ตาบอดได้ โดยเมื่อคั้นน้ำไว้แล้วไม่ดื่มทันทีหรือใช้วิธีคั้นด้วยน้ำปูนใส สารสำคัญบางชนิดได้เปลี่ยนไปเป็นสารพิษในกรณีแรก  หรือมีสารบางชนิดถูกดูดซึมได้ดีกว่าปรกติเมื่อถูกสกัดออกมาในน้ำปูนใส การที่คนรุ่นเก่าผสมสารสกัดจากผลมะเกลือกับกะทินั้นเข้าใจว่า เป็นการยับยั้งไม่ให้สารที่อาจก่อพิษถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบโลหิต แต่เคลื่อนลงไปจัดการกับพยาธิในทางเดินอาหารตอนล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ         อคติในความชอบของบุคคลต่อสิ่งที่มาจากธรรมชาติเหนือสิ่งที่ประดิษฐนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา เมื่อต้องใช้สินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งหลายครั้งก่อให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรง เช่น กรณีของผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่ผสมสารสกัดอัลคาลอยด์จากสมุนไพรชื่อ หมาหวง (Ma Huang หรือ Ephedra) ซึ่งมีการจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยปราศจากการประเมินความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง         หมาหวง มีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อ แก้หอบ ข้อมูลที่เป็นงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพถึงผลกระทบในคนกล่าวว่า สมุนไพรดังกล่าวมีสารอัลคาลอยด์ ephedrine ชึ่งมีผลกระทบหลายประการต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งที่สำคัญสุดคือ การกระตุ้นให้ระบบเผาผลาญในร่างกายเพิ่มขึ้นและเป็นตัวเร่งในการเผาผลาญไขมัน ผู้ประกอบการบางคนจึงหวังว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารสำคัญจากหมาหวงเป็นองค์ประกอบนั้นควรช่วยลดน้ำหนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลข้างเคียงของการใช้สมุนไพรนี้ในขนาดสูงกว่าที่แพทย์แผนจีนกำหนดได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงของอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น (ถึงขั้นอาจหัวใจวายได้) หรือมีอาการทางจิตเวช ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มี ephedrine ผสมนั้นถูกห้ามจำหน่ายโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2004 แต่ตัวสมุนไพรนั้นยังขายได้ในบางรัฐ         ด้วยเหตุที่ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจของผู้บริโภคต่อคำโฆษณาสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นไม่เท่ากัน หน่วยงานด้านการแพทย์ทางเลือกและการบูรณาการเพื่อสุขภาพหรือ The National Center for Complementary and Integrative Health (NCCIH) ซึ่งสังกัดสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health หรือ NIH) ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Health and Human Services) ได้มีบทความเรื่อง “Natural Doesn't Necessarily Mean Safer, or Better”เพื่อให้ผู้บริโภคได้สังวรณ์ถึงความแตกต่างในความหมายระหว่างคำว่า ธรรมชาติ และ ปลอดภัย         เนื้อหาของบทความนั้นกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ดีต่อมนุษย์ ธรรมชาติเอื้อให้มีการผลิตยาแอสไพริน (จากใบหลิว) และมอร์ฟีน (จากฝิ่น) ช่วยบรรเทาอาการปวด นอกจากนี้ยังมียาบำบัดโรคอื่นๆ ที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งมีประวัติการใช้ที่ยาวนาน ส่งผลถึงการปรับปรุงสุขภาพของมนุษย์ แต่ความเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติไม่ได้บ่งบอกว่า มีประสิทธิภาพและปลอดภัยเสมอไปเพราะมีปัจจัยอื่นมากำหนดด้วย          นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามศึกษาถึงประสิทธภาพของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสมุนไพรบางชนิดแต่ก็พบว่า ตัวอย่างที่ได้จากท้องตลาดนั้นหลายส่วนล้มเหลวในการแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ดังที่โฆษณา เช่นการศึกษาเกี่ยวกับสมุนไพรชื่อ เอ็กไคนาเซีย (Echinacea) ซึ่งไม่พบหลักฐานว่า มีประโยชน์ในการบำบัดไข้หวัดดังที่โฆษณา แต่กลับมีผลข้างเคียงบางอย่างในผู้บริโภคบางคน เช่น มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง เจ็บคอ ปากแห้ง ปวดศีรษะ ลิ้นชา วิงเวียน หลับยาก สับสน ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ หรือแม้กระทั่งก่อการอักเสบของตับด้วย อีกตัวอย่างคือ การศึกษาผลของใบแปะก๊วยที่มีอาสาสมัครสูงอายุกว่า 3,000 คน เข้าร่วมแล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีใบแปะก๊วยเป็นองค์ประกอบนั้นไม่ช่วยป้องกันหรือชะลอภาวะสมองเสื่อม         หลายคนคิดว่า ยา“ธรรมชาติ” ไม่ได้มีผลข้างเคียงมากเหมือนยาสังเคราะห์ ซึ่งหลายครั้งแสดงความเป็นพิษได้ และอาจรวมถึงการมีสารก่อมะเร็งปนเปื้อนเนื่องจากการผลิตที่ควบคุมไม่ดี แต่แนวความคิดดังกล่าวนั้นไม่จริงเสมอไป ตัวอย่างเช่น  คาวา (kava) ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองในหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ที่มีสารสำคัญคือ “คาวาแลคโตน (kavalactone)” ซึ่งมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อและสงบระงับ จึงมีการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อลดความวิตกกังวล แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า สารธรรมชาติดังกล่าวมีผลข้างเคียงหลายประการและที่น่ากังวลคือ มีความเป็นพิษต่อตับ อีกทั้งยังมีปฏิกิริยากับยาอื่นหลายชนิด ดังนั้นก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากคาวาจึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง         มีบทความเรื่อง Adverse Events Reported to the US Food and Drug Administration for Cosmetics and Personal Care Products ในวารสาร JAMA Internal Medicine เมื่อปี 2017 ให้ข้อมูลว่า การดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเครื่องสำอาง ซึ่งมักผสมองค์ประกอบธรรมชาตินั้น ควรได้รับการปรับปรุง เพราะสินค้ากลุ่มนี้ขาดการประเมินเกี่ยวกับความปลอดภัยก่อนการออกสู่ตลาด ผู้ผลิตเครื่องสำอางนั้นไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อมูลการเกิดสิ่งไม่พึงประสงค์เนื่องจากสินค้าไปยัง FDA และ CFSAN (The Center for Food Safety and Applied Nutrition ซึ่งมีหน้าที่ในการปกป้องและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนเกี่ยวกับ อาหาร เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ต่างจากเครื่องมือแพทย์ ยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนั้นโอกาสเกิดปัญหาด้านสุขภาพที่อาจร้ายแรงเนื่องจากเครื่องสำอางจึงเกิดได้บ่อยครั้ง ดังนั้นวุฒิสมาชิก Diane Feinstein ของรัฐแคลิฟอร์เนียจึงได้เสนอ Personal Care Products Safety Act (PCPSA) สู่วุฒิสภาในปี 2017         ความจริงกฏหมายในลักษณะเดียวกันเคยมีวุฒิสมาชิกท่านอื่นเสนอแล้วในปี 2011 เพื่อให้อำนาจ FDA ในการสั่งให้เจ้าของสินค้าเรียกคืนเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยและต้องรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นต่อผู้รับผิดชอบ พร้อมทั้งต้องทำการทบทวนความปลอดภัยขององค์ประกอบในเครื่องสำอาง อย่างไรก็ดีร่างกฎหมายนี้ไม่ได้กำหนดให้เพิ่มงบประมาณในการทดสอบความปลอดภัยขององค์ประกอบในเครื่องสำอางแก่ National Toxicology Program ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการทดสอบความปลอดภัยของสารเคมีที่ผู้บริโภคต้องสัมผัส อีกทั้งในปี 2019 ร่างกฏหมายดังกล่าวก็ยังวนเวียนเป็นสัมภเวสีไม่ได้คลอดออกมาบังคับใช้ดังปรากฏในข่าว The Introduction of the Personal Care Products Safety Act 2019 in the United States Senate ซึ่งมีข้อมูลที่ท่านที่สนใจสามารถอ่านได้ที่ www.modernsoapmaking.com/personal-care-products-safety-act-2019

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 พิษร้ายของอาหารขยะ

        ช่วงหนึ่งที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษที่ A.U.A เพื่อเตรียมตัวไปศึกษาต่อนั้น มีคำศัพท์ภาษาอังกฤษสองคำที่อาจารย์ผู้สอนยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างของคำที่ต้องใช้ให้เหมาะสม เช่น กรณีที่ต้องการอธิบายถึงการที่บุคคล 2 คน ที่พลั้งพลาดทำผิดในเรื่องเดียวกัน แต่คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่อธิบายพฤติกรรมที่เป็นเหตุในการกระทำต่างกัน คำสองคำนั้นคือ stubborn และ ignorant ซึ่งคำทั้งสองนี้ผู้เขียนใคร่ขอนำมาตั้งเป็นประเด็นว่า ข้อมูลข่าวซึ่งจะเขียนถึงในบทความนี้ เป็นความเกี่ยวพันกันระหว่างการเจ็บป่วยทางกายและความรู้ด้านอาหารและโภชนาการซึ่งพบในอินเทอร์เน็ทนั้น ควรใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษใดในการสรุปถึงลักษณะของผู้เคราะห์ร้ายรายนี้   การกินอาหารให้ครบสมบูรณ์แบบที่มนุษย์ควรกิน         ตามความรู้ที่เรามีในปัจจุบัน เพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ในสภาวะสุขภาพดี(ไม่แสดงอาการของโรคใด ๆ) นั้น เป็นเรื่องจำเป็นที่มนุษย์ทุกคนควรรู้ แต่ก็ยังมีทั้งคนที่ไม่ใส่ใจรู้ทั้งที่มีโอกาสรู้ตลอดไปถึงคนที่ไม่มีโอกาสรู้เลย โดยลักษณะแรกนั้นอาจเป็นเพราะความดื้อด้าน(stubborn) ไม่ยอมทำตามสิ่งที่ได้รู้มา แต่ลักษณะหลังอาจจัดเป็นความโฉดเขลา(ignorant) ซึ่งความโฉดเขลานั้นเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจว่า ทำไมมนุษย์บางคนจึงขาดโอกาสเรียนรู้เพื่อขจัดความโฉดเขลา        บทความที่นำมายกเป็นตัวอย่างว่า ควรใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษคำใดในสองคำที่ยกขึ้นมาข้างต้นกับมนุษย์ผู้เป็นข่าว คือ Blindness Caused by a Junk Food Diet ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Internal Medicine 2019 ซึ่งนิพนธ์โดยแพทย์นักวิจัยของ University Hospitals Bristol NHS Foundation Trust, Bristol, United Kingdom และทำนองเดียวกันได้เผยแพร่ในเว็บอื่น ๆ อีกมากมาย จนถึงขนาดที่ข้อมูลดังกล่าวถูกนำไปเผยแพร่ต่อโดย CBS, TIME, NBC, USA Today, The Guardian, WebMD, Newsweek และองค์กรข่าวอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่า แหล่งข่าวต่างๆ นั้นต้องการยกเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นตัวอย่าง เพื่อเตือนใจแก่มนุษย์บนโลกนี้ให้เข้าใจถึงความสำคัญในเรื่องของสภาวะโภชนาการที่เกี่ยวกับสาเหตุของความเจ็บป่วยของคน ที่เป็นข่าว         เด็กหนุ่มชาวสหราชอาณาจักรชื่อ Jasper ผู้ซึ่งไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่และไม่ใช้ยาเสพติด และสถานภาพของร่างกาย ซึ่งดูจากภายนอกไม่เลวนัก มีดัชนีมวลกายอยู่ในระดับปกติ คือ 22 (ความสูงคือ 172.9 ซม. และน้ำหนักเฉลี่ย 65.7 กก.) แต่ต้องประสบเคราะห์หามยามร้ายถึง “ตาบอด”         บทความกล่าวว่า เมื่อแพทย์ทำการสอบถามผู้ป่วยในระดับลึกแล้วพบว่า ผู้ป่วยได้ละเลยไม่กินอาหารบางอย่างที่ไม่ชอบตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถม โดยสิ่งที่เขาชอบกินเป็นชีวิตจิตใจเพื่อดำรงชีวิตคือ มันฝรั่งทอด และขนมขบเคี้ยวอื่นๆ ทุกวัน นอกจากนี้เขายังชื่นชอบขนมปังที่ทำจากแป้งฟอกขาว แฮมและไส้กรอก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นแฟนพันธุ์แท้ของอาหารขยะ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่การตรวจเลือดแสดงออกมาว่า เขามีระดับวิตามินบี 12 และวิตามินดีต่ำพร้อมมวลกระดูกที่ต่ำกว่าปรกติ แม้ว่าผลการตรวจชิ้นเนื้อที่ตัดจากระบบทางเดินอาหารนั้น ยังแสดงความเป็นปรกติอยู่ มีระดับทองแดงและซีลีเนียมต่ำ แต่ระดับสังกะสีสูง ซึ่งผู้เขียนคาดเอาว่า การที่ระดับสังกะสีสูงนั้นเป็นเพราะผู้ป่วยได้โปรตีนจากอาหารน้อยกว่าที่ควร ซึ่งโดยปรกติแล้วสังกะสีเป็นธาตุที่มักถูกร่างกายนำไปใช้ทำหน้าที่เป็นโคแฟกเตอร์ของเอ็นซัม ซึ่ง เป็นโปรตีนโดยธรรมชาติ หรือเป็นองค์ประกอบสำคัญในโปรตีนอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้นจากรูปแบบการกินอาหารของผู้ป่วยนั้นย่อมต้องมีการขาดโปรตีน จึงทำให้ไม่สามารถสร้างเอ็นซัมหรือโปรตีนอะไรที่ต้องการสังกะสีได้มากนัก จึงมีเหลือเป็นอิสระอยู่ในเลือด         ย้อนหลังไปดูประวัติการพบแพทย์ของเด็กหนุ่มซึ่งเริ่มต้นเมื่ออายุ 14 ปี ที่เขาเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้าแล้ว เมื่อตรวจเลือดก็พบว่ามีอาการ macrocytic anemia หรืออาการโลหิตจางเพราะเม็ดเลือดแดงใหญ่กว่าปรกติจนทำงานไม่ได้ แม้ว่าจำนวนเม็ดเลือดอาจไม่ต่ำกว่าปรกติก็ตาม เนื่องจากขาดวิตามินโฟเลตซึ่งช่วยในการสร้างเม็ดเลือดให้สมบูรณ์ โฟเลตนั้นควรได้จากผักใบเขียว เนื้อสัตว์ ถั่วทั้งเมล็ด ผลไม้อีกหลายชนิด เป็นต้น         จากนั้นในปีต่อมาแพทย์เริ่มสังเกตพบสัญญาณของการสูญเสียการได้ยินและการมองเห็น แพทย์จึงสั่งจ่ายวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งก็ไม่ได้แก้ปัญหาแต่อย่างไร เพราะการมองเห็นของเขายังแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งถ้าดูจากพฤติกรรมการกินอาหารแล้วนั้น สภาวะทางโภชนาการของเขายังขาดการกินอาหารโปรตีนอยู่ วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่กินเข้าไปจึงไม่ถูกนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์นัก        พออายุได้ 15 ปี Jasper เริ่มมีการสูญเสียการได้ยินมากขึ้น สุดท้ายเขาได้ถูกส่งต่อไปยังแพทย์หูคอจมูก ซึ่งได้ทำการเอ็กซ์เรย์ด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) แต่ก็ไม่พบความผิดปกติใดในโครงสร้างของร่างกาย อย่างไรก็ดีหลังจากนั้นไม่นานเขาก็เริ่มมีอาการผิดปรกติในการมองเห็นที่จักษุแพทย์หาสาเหตุไม่ได้ สุดท้ายเมื่ออายุได้ 17 ปี ระดับการสูญเสียในการมองเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนต้องถูกส่งตัวไปพบจักษุแพทย์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านระบบประสาทตาและได้พบว่า มีความผิดปรกติเกิดขึ้นกับส่วนปลายเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องในการมองเห็น พร้อมกับการที่เขามีข้อบกพร่องของจอประสาทตาส่วนกลางทั้งสองข้าง ความเสียหายในการมองเห็นที่ถาวรจึงได้เริ่มแสดง ซึ่งน่าจะเป็นการส่งผลเนื่องมาจากสภาวะโภชนาการที่ไม่ดีเพราะกินไม่ดี         อาหารขยะของ Jasper นั้นทำให้เขาได้รับวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณจำกัด ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทตา ซึ่งสำคัญต่อการมองเห็น มันเป็นภาวะแทรกซ้อนที่บำบัดยาก และเป็นตัวอย่างของการก่อปัญหาทางสุขภาพเนื่องจากการขาดสารอาหารหลายชนิดพร้อมกัน พิษร้ายของอาหารขยะ         อาหารขยะที่ Jasper นิยมชมชื่นนั้น ส่งผลให้ร่างกายเขาได้รับวิตามินและแร่ธาตุไม่พอจนเด็กหนุ่มมีอาการทางระบบประสาทตาเสื่อม สภาพการณ์ในลักษณะนี้อาจแพร่หลายมากขึ้นในอนาคตเนื่องจากการบริโภคอาหารขยะกำลังเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มเด็กวัยรุ่นตลอดไปถึงรุ่นแย้มฝาโลงที่ไม่สนใจดูแลตัวเองเรื่องการกิน แม้มีความรู้เกี่ยวกับรูปแบบอาหารที่ช่วยให้สภาวะโภชนาการของร่างกายดี เพราะใจนั้นทุ่มเทให้กับการเขี่ยสมาร์ทโฟนและ/หรือการเล่นเกมส์ที่เป็น e-sport แล้วถ้ายังปราศจากการแก้ไขปรากฏการณ์ดังกล่าว แถมส่งเสริมกันต่อไปในสภาพเหมือนผู้รับผิดชอบตาบอดด้านคุณภาพของประชากร มองไม่เห็นปัญหาที่จะเกิดในอนาคต ประเทศที่มีประชากรในลักษณะนี้คงเข้าสู่ภาพ the aging society along with poor quality citizen ซึ่งคงดูไม่จืดแน่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 คิดดี ๆ ถ้าจะเป็นพ่อ...เมื่อแก่

        โดยทั่วไปแล้วคนไทยที่ศึกษาถึงขั้นปริญญาตรี ไม่ว่าสาขาวิชาใด ควรได้รับข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพจากบางวิชาในสถานศึกษาว่า การมีลูกของผู้หญิงอายุมากกว่า 35 ปี นั้นอาจเป็นผลเสียต่อความสมบูรณ์ของเด็กที่เกิดมา ซึ่งว่าไปแล้วแค่อายุที่เริ่มย่าง 30 ปี ผู้ที่ตั้งท้องจะเป็นแม่คนควรตรวจดูโครโมโซมในน้ำคร่ำของมดลูก(ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับโครโมโซมลูก) ว่า ผิดปรกติหรือไม่         การที่ผู้หญิงวัยกลางคนมีความเสี่ยงต่อการมีลูกปัญญาอ่อนในลักษณะกลุ่มอาการดาว์น (Down’s syndrome) สูงนั้น เพราะเซลล์ไข่ในรังไข่นั้นถูกสร้างมา จนเกือบสมบูรณ์ ตั้งแต่ก่อนออกจากท้องแม่แล้วถึงมาพัฒนาให้สมบูรณ์พร้อมผสมกับอสุจิในภายหลัง ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศเมื่อเด็กหญิงเข้าสู่วัยสาว ดังนั้นเมื่อหญิงสาวมีอายุถึง 35 ปี ไข่ในรังไข่จึงกลายเป็น ไข่ที่เก่าเก็บ เสี่ยงต่อการเกิดความผิดปรกติต่อโครโมโซมของไข่ เนื่องจากช่วงเวลาที่สตรีเริ่มพัฒนาไข่จนถึงอายุ 35 ปี นั้นเป็นเวลาที่นานพอสำหรับไข่ที่ยังไม่พัฒนาต้องเผชิญโอกาสการสัมผัสสิ่งเป็นพิษเช่น เชื้อไวรัสที่ก่อโรคต่างๆ สารเคมี ซึ่งรวมถึงยาบำบัดโรค และรังสีต่างๆ ที่สามารถก่ออันตรายต่อโครโมโซมของไข่ได้         ผู้เขียนได้เห็นความเศร้าของเพื่อนบ้าน ซึ่งมีลูกคนที่สองเมื่ออายุ 39 ปี และแม้ได้รับการตรวจน้ำคร่ำจากโรงพยาบาลเอกชนเก่าแก่ โดยผลจากการตรวจบอกว่า โครโมโซมปรกติ แต่ลูกที่คลอดออกมากลับอยู่ในกลุ่มอาการดาว์น ซึ่งแสดงว่าการตรวจโครโมโซมนั้นมีความผิดพลาดได้ ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า ความแม่นยำของการตรวจนั้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 98 – 99 ซึ่งเป็นเรื่องยอมรับได้ทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า ไม่มีอะไรสมบูรณ์ร้อยละ 100        ดังนั้นคนไทยรุ่นเจ็นวาย (Gen Y คือคนที่เกิดในระหว่างช่วงต้นของปี ค.ศ. 1980 จนถึงปลายของช่วง ค.ศ. 1990 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกของ Gen X และเป็นหลานของ Baby Boomer) ที่เป็นคนชั้นกลางและยังมีปัญหาในการตัดสินใจไม่ได้ว่า มีครอบครัวดีหรือไม่ จนอายุล่วงเข้ากว่า 30 ปีแล้ว มักปักใจว่า ไม่มีลูกดีกว่า เพราะยังต้องก่อร่างสร้างตัว  ไปอีกหลายปีจึงพอเก็บเงินไว้กินเมื่อแก่ได้ อีกทั้งการมีลูกนั้นกวนทั้งตัวและกวนทั้งใจ เนื่องจากถ้าเป็นคนระดับคนชั้นกลาง ระหว่างการเลี้ยงลูกให้โตส่วนใหญ่ต้องหันดูสังคมรอบข้างว่า เขาทำอะไรกันบ้าง เพื่อให้เสมอหน้าเสมอตาคนอื่น รวมทั้งปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเมืองที่เอากันทุกท่า จึงทำให้คนในยุคเจ็นวายมองไม่เห็นความสุขในการมีลูก ตลอดถึงการไม่คิดจะมีแม้แต่ครอบครัวที่แยกออกมาจากพ่อแม่ ดังนั้นสุดท้ายแล้วเมื่อคิดไปคิดมาอย่างรอบคอบ พบว่ามันลำบากนักในการสืบเชื้อสาย ตัดวงจรของกรรมโดยไม่มีลูกมันเสียเลยดีกว่า        อย่างไรก็ดีคนชั้นกลางขึ้นไปถึงระดับบน ซึ่งมีเงินและมองเห็นอนาคตว่า ถ้ามีลูกแล้วเขาสามารถกำหนดให้เป็นอย่างไรก็ได้นั้น ก็ยังคงตั้งใจมีผู้สืบสายเลือด แต่กว่าจะคิดตัดสินใจมีลูกได้อายุก็เข้าวัยกลางคน ซึ่งในทางสรีระวิทยาแล้วผู้หญิงสามารถมีไข่สำหรับผสมกับอสุจิเป็นลูกได้จนถึงอายุประมาณ 40-50 ปี (ขึ้นอยู่กับกรรมของแต่ละคน) แต่โดยทั่วไปแล้วผู้หญิงที่มีอายุเกิน 30 ปี ถ้ามีโอกาสได้ตั้งท้องก็ควรตรวจสอบโอกาสเกิดปัญหาของลูกเมื่อยังท้องอ่อนๆ อยู่ และถ้าผลออกมาเป็นบวกว่า โครโมโซมของลูกในถุงน้ำคร่ำมีความผิดปรกติ การตัดสินใจว่าจะเอาไว้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องใหญ่หลวงนัก         สำหรับผู้ชายนั้นส่วนใหญ่มักไม่นึกถึงอะไรเกี่ยวกับคุณภาพของอสุจิ เนื่องจากมักคิดว่า อสุจิของชายซึ่งสร้างในหลอดสร้างตัวอสุจิหรือ seminiferous tubule นั้นเป็นการสร้างแบบ วันต่อวัน (freshly prepare) ทั้งที่ในความจริงแล้วต้องใช้เวลาราว 74 วัน เพื่อพัฒนาเซลล์ที่เป็นส่วนประกอบของหลอดสร้างตัวอสุจิให้เป็นตัวอสุจิ เพียงแต่ว่ามีการสร้างอยู่ตลอดเวลาแล้วทยอยปล่อยออกมา ตามความต้องการใช้งาน ที่สำคัญคือ ผู้ชายส่วนมากมักไม่เคยได้รับการบอกกล่าวว่า เซลล์ซึ่งถูกนำมาใช้ผลิตเป็นอสุจิในแต่ละวันนั้น มันก็เก่าและแก่ได้ตามวันเวลาที่ผ่านไป เหมือนไข่ในรังไข่ของผู้หญิง         นิตยสาร Time ออนไลน์ มีบทความซึ่งชายทั้งโลกอาจไม่เคยนึกถึงในปี 2018 ชื่อ “Babies Born to Older Dads May Have a Higher Risk of Health Problems, Study Says” โดยมีใจความที่สรุปจากบทความวิชาการเรื่อง Association of paternal age with perinatal outcomes between 2007 and 2016 in the United States: population based cohort study (ปรากฏในวารสารออนไลน์ BMJ เมื่อ 31 ตุลาคม 2018) ซึ่งเป็นการทำวิจัยที่แบ่งกลุ่มพ่อของเด็กออกเป็น 5 กลุ่ม ตามช่วงอายุคือ อายุน้อยกว่า 25 ปี 25-34, 35-44, 45-54 ปีและอายุมากกว่า 55 ปี ขึ้นไป โดยผลสรุปที่ได้คือ ลูกของชายสูงอายุนั้นมีโอกาสสูงในการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกคลอดต่ำ มีปัญหาในการดื่มนม และอาจมีปัญหาทางสุขภาพอื่นแต่กำเนิดเช่น ระบบหายใจไม่ปรกติ         นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมที่น่ากังวลใจสำหรับคนที่หวังเป็นพ่อแต่อายุมากคือ บทความเรื่อง Rate of de novo mutations and the importance of father’s age to disease risk ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2012 ว่า ทุกปีที่ผ่านไปสำหรับผู้ชายนั้น โอกาสเกิดการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอจะเพิ่มขึ้น 2 ตำแหน่ง ซึ่งถ้าเกิดแจ๊คพ็อตแตกการกลายพันธุ์นั้นไปปรากฏบนโครโมโซมของอสุจิที่ตำแหน่งซึ่งมีความสำคัญในการได้ลูกเป็นคนปรกติ โอกาสที่เด็กที่เกิดจากการผสมพันธุ์ด้วยอสุจิที่กลายพันธุ์ของพ่อจะเป็นโรคทางพันธุกรรมย่อมเกิดได้ งานวิจัยดังกล่าวได้ตรงกับสมมุติฐานที่มีผู้พบถึงการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงเด็ก (ที่เป็นลูกของพ่อที่แก่) ต่อการเป็นออทิสติก โรคทางจิตเวช โรคทางระบบประสาท ตลอดจนถึงมะเร็งในเด็ก         สำหรับสตรีที่มีสามีแก่นั้น เมื่อท้องแล้วจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของร่างกายที่อาจเสื่อมเร็วกว่าปรกติ โดยเฉพาะการเป็นเบาหวานช่วงตั้งท้อง(gestational diabetes) เนื่องจากขณะตั้งท้องนั้นรกได้สร้างฮอร์โมนบางชนิดในเลือดของแม่เพิ่มขึ้นจากสภาวะปรกติคือ cortisol และ progesterone เป็นตัวหลัก และมี human placental lactogen, prolactin และ estradiol เป็นตัวเสริม จนอาจก่อให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินชั่วคราวเพื่อเพิ่มการใช้พลังงานจากไขมัน แล้วสงวนพลังงานจากน้ำตาลไว้ให้ลูกในท้อง         เหตุผลที่งานวิจัยต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นนั้นมีความสำคัญมากต่อสหรัฐอเมริกา เพราะปัจจุบันชายอเมริกันต่างมีลูกเมื่ออายุมากขึ้นกว่าสมัย baby bloom ดังได้มีบทความวิจัยเรื่อง The age of fathers in the USA is rising: an analysis of 168,867,480 births from1972 to 2015 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Human Reproduction เมื่อปี  2017 กล่าวว่า ระหว่างปี 1972-2015 ค่าเฉลี่ยของอายุพ่อ เปลี่ยนจาก 27.4 ปี ไปเป็น 30.9 ปี อีกทั้งในบทความดังกล่าวได้อ้างต่อว่า อายุของแม่นั้นก็ได้เปลี่ยนจาก 24.7 ปี ในช่วง ค.ศ. 1972 เป็น 28.6 ปี ในช่วง ค.ศ. 2015 ด้วยเช่นกัน        สรุป การที่อายุของพ่อและแม่ที่ตั้งใจมีลูกเพิ่มขึ้นจากเดิมนั้น ว่าไปก็อาจดี เพราะถ้าสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของพ่อแม่ดีแล้วลูกก็ควรได้รับการอบรมให้เป็นคนทำมาหากินเป็น ดีกว่าการมีลูกที่แข็งแรงแต่อยู่ในครอบครัวที่มีเศรษฐานะไม่ดี จนเด็กต้องไร้การศึกษาและอบรม แต่จะเป็นเรื่องน่าเศร้ามากถ้าปรากฏว่า หญิงหรือชายต้องรอสร้างฐานะจนแก่แล้วจึงคิดมีลูก ซึ่งน่าหมายถึงการสร้างทายาทที่อาจต้องกลายเป็นภาระของสังคม ซึ่งปัจจุบันมันดูไร้อนาคตเสียจริง ๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 สมุนไพรบำบัดอาการซึมเศร้า…ได้จริงหรือ

เซนต์จอห์นเวิร์ต(St.John's wort) เป็นสมุนไพรที่คนไทยอาจไม่ค่อยรู้จัก ยกเว้นมืออาชีพผู้เชื่อว่าการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ทำจากสมุนไพรช่วยให้สุขภาพดีได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วผลิตภัณฑ์จากเซนต์จอห์นเวิร์ตมีวางจำหน่ายทั่วไปในยุโรปและอเมริกามานานพอควร ดังนั้นในอนาคตอันใกล้นี้เว็บขายสินค้าออนไลน์และโทรทัศน์ดิจิตอลก็คงนำมาเสนอแก่ผู้บริโภคไทย เพราะคนไทยใน พ.ศ.นี้ มักมีอาการซึมเศร้าซ่อนอยู่ภายในและพร้อมที่จะระเบิดออกมาเมื่อไรก็ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจยุค 4.0 นีดีแค่ไหน สังเกตได้จากสีหน้าพ่อค้าแม่ค้าที่สำเพ็งและประตูน้ำ         สิ่งที่มาสะกิดใจผู้เขียนเกี่ยวกับอาการซึมเศร้าของคนไทยคือ วันหนึ่งของต้นเดือนกรกฎาคม 2562 ผู้เขียนไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ระหว่างรอถูกเรียกเข้าพบหมอ ตาก็มองไปที่จอโทรทัศน์ซึ่งมีรายการหนึ่งซึ่งพิธีกรกล่าวว่า “ผู้ที่ไม่รู้สึกถึงความต่างระหว่างการอยู่วันนี้และการตายวันพรุ่งนี้นั้น น่าจะเป็นคนที่มีอาการซึมเศร้าแล้ว ควรพบแพทย์หรือนักจิตบำบัด” คำกล่าวนี้ จริงหรือ ???         ผู้เขียนจึงหันไปปรึกษาภริยาซึ่งได้ปฏิบัติธรรมแล้วพอควร ก็ได้คำตอบว่า การคิดถึงความตายก่อนตายนั้นเป็นหลักปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง เพื่อที่จะได้ไม่ยึดตึดกับสิ่งใด ซึ่งต่างจากสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ปรากฏตัวอยู่ในข่าวทุกวันทางโทรทัศน์ดิจิทัล ที่แม้ไม่แสดงอาการซึมเศร้า แต่โอกาสเป็นบ้าตายคงสูง เนื่องจากลืมไปว่า สิ่งสุดท้ายของชีวิตคือ ความตาย และควรเตรียมตัวตายก่อนที่จะตกใจเมื่อใกล้ตาย         ทำไมบุคลากรด้านสุขภาพส่วนใหญ่ถึงเริ่มสนใจถึงภาวะการซึมเศร้าของประชากร เหตุผลหนึ่งซึ่งเหมือนกันทั้งโลกคือ สภาวะแวดล้อมในสังคมของมนุษย์นั้นเปลี่ยนไปมากกว่าเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ ตัวผู้เขียนพบว่าลูกของเพื่อนบ้านคนหนึ่งอายุประมาณ 10 ปี ได้เห็นแคสเซ็ตเทปเพลงที่กำลังรอการทิ้งลงถังขยะแล้วถามว่า มันคืออะไร นี่คือสิ่งที่บอกว่าในช่วงไม่ถึง 20 ปี นั้น เทคโนโลยีการฟังเพลงได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจนเด็กไม่รู้จักเทปเพลงซึ่งมีมาตั้งแต่ผู้เขียนยังวัยรุ่นแล้วก็หายไปหลังจากประเทศไทยย่างเข้าสู่ดิจิทัลอย่างเต็มตัว เช่นเดียวกับการปิดตัวหรือเปลี่ยนระบบของบริษัทสิ่งพิมพ์ที่ใช้กระดาษหลายแห่งที่เปลี่ยนไปใช้ระบบออนไลน์แทน เป็นต้น         การเปลี่ยนแปลงของสังคมส่วนใหญ่นั้นยังไม่เลวร้ายเท่ากับ บางสิ่งที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเลยทั้งที่ควรเปลี่ยนแปลง คือ ระบบการเมืองการปกครองในประเทศเรา นักวิชาการบางคนระบุเลยว่า มันหมุนเวียนกลับมาเป็นช่วงๆ ในลักษณะย่ำรอยเดิม ตามกิเลสเดิมๆ ที่ยังไม่เปลี่ยนไปในคนบางกลุ่ม ซึ่งก่อให้ประชาชนที่ติดตามข่าวการเมืองเกิดความเศร้าใจว่า ประเทศเราทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ และมองไม่ออกว่าจะแก้ไขอย่างไร ดังนั้นผู้เขียนจึงค่อนข้างมั่นใจว่า สำหรับคนที่ไม่เตรียมตัวที่จะเข้าใจในกิเลสมนุษย์นั้น น่าจะมีโอกาสเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย จนอาจต้องพึ่งการบำบัดด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่พร้อมเข้ามาตอบสนองความต้องการของสังคม แต่มีคำถามว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนั้นมาช่วยได้จริงหรือไม่        กลับมาที่ เซนต์จอห์นเวิร์ต ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hypericum peroratum L. คำว่าเซนต์จอห์นเวิร์ตนั้นมีที่มาจากการที่สมุนไพรนี้ มักจะออกดอกตรงกับวันเซนต์จอห์น คือวันที่ 24 มิถุนายน สมุนไพรนี้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้ภายนอก อย่างไรก็ตามต่อมามีการค้นพบว่า สมุนไพรชนิดนี้ดูมีฤทธิ์ในการบำบัดความผิดปกติทางอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของอาการซึมเศร้า         สารสกัดของเซนต์จอห์นเวิร์ตได้รับการรับรองในหลายประเทศของสหภาพยุโรป โดยอยู่ในตำรับยามาตรฐานของ the European Pharmacopeia (1999) ซึ่งมีการระบุข้อบ่งใช้ว่า เพื่อบำบัดอาการผิดปกติทางจิต อาการซึมเศร้าและวิตกกังวลของคนไข้ที่มีอาการซึมเศร้าในระดับอ่อนถึงปานกลาง แต่ในสหรัฐอเมริกานั้นผลิตภัณฑ์เซนต์จอห์นเวิร์ตได้ถูกกำหนดให้ขึ้นทะเบียนในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับ Federal Trade Commission ของรัฐบาลกลาง ซึ่งถ้ามีการโฆษณาเกี่ยวกับการลดอาการซึมเศร้าจำต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดใน the United State Pharmacopeia(USP) ส่วนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ จะเข้ามามีบทบาทดูแลต่อเมื่อผลิตภัณฑ์นั้นส่งผลร้ายต่อสุขภาพของผู้บริโภคเท่านั้นสารสกัดจากเซนต์จอนห์เวิร์ตมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของโมโนเอมีนออกซิเดส(monoamine oxidase) ซึ่งเป็นระบบเอ็นซัมที่ทำลายสารสื่อประสาทในสมองกลุ่มที่เรียกว่า โมโนเอมีน เช่น เซอโรโตนิน โดปามีนและนอร์อิพิเนฟริน ซึ่งต้องมีระดับที่เหมาะสมจึงจะแสดงความเป็นคนมีจิตใจปรกติ แต่ถ้ามากไปหรือน้อยไป พฤติกรรมจะแปลกไปจากคนธรรมดา ดังนั้นจึงมีความเชื่อกันว่า การกินสารสกัดจากเซนต์จอห์นเวิร์ตจะส่งผลให้ปริมาณสารสื่อประสาทจึงคงอยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดอาการซึมเศร้า         แม้ว่าผลิตภัณฑ์จากเซนต์จอห์นเวิร์ตนั้นดูเหมือนว่า มีความปลอดภัยสูงและมีผลข้างเคียงน้อย คนทั่วไปจึงมักใช้ในการบำบัดอาการซึมเศร้าที่เกิดอ่อนๆ ด้วยตัวเอง แต่ National Center for Complementary and Integrative Health (NCCIH) สังกัด National Institutes of Health หรือ NIH ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลการทำวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ในสหรัฐอเมริกานั้น ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรเช่น เซนต์จอห์นเวิร์ตว่า อาจก่อปัญหาที่น่ากังวล ถ้าผู้บริโภคนั้นกำลังกินยาซึ่งแก้อาการซึมเศร้าชนิดที่ลดการทำลายสารกลุ่มโมโนเอมีนในสมองเช่นกัน เนื่องจากจะทำให้ปริมาณสารสื่อประสาทกลุ่มโมโนเอมีนมีมากเกินไป จนเกิดอาการกระวนกระวาย วิตกกังวล นอนไม่หลับ เครียดและตื่นเต้นตลอดเวลา         นอกจากนี้ประเด็นที่อาจเป็นปัญหาต่อเนื่องจากการกินผลิตภัณฑ์จากเซนต์จอห์นเวิร์ตคือ การลดฤทธิ์ของยากลุ่มอื่นเช่น ยาคลายเครียดและ/หรือยานอนหลับบางชนิด, ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเช่น warfarin ยาสเตอรอยด์หลายชนิด ยากระตุ้นหัวใจ เช่น digoxin ยากดภูมิคุ้มกันซึ่งมักใช้หลังการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเช่น cyclosporine ยารักษาอาการหอบ เช่น theophylline ยาต้านไวรัสเอดส์ เช่น indinavir และยาคุมกำเนิดต่างๆ เนื่องจากสารสำคัญคือ hyperforin ในเซนต์จอห์นเวิร์ตนั้นสามารถกระตุ้นระบบเอ็นซัมที่ทำลายยาอื่นที่กล่าวถึงนั้นให้สูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณยาในร่างกายผู้ป่วยลดลงเร็วกว่าปรกติจนอาจไม่ออกฤทธิ์เท่าที่ต้องการ        ข้อควรระวังสำหรับผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากเซนต์จอห์นเวิร์ตที่อาจเกิดได้ในบางคนคือ อาการผิวหนังแพ้แสงแดด มีความวิตกกังวล ปากแห้ง เวียนหัว มีความผิดปรกติของระบบทางเดินอาหาร เมื่อยล้า ปวดหัว หรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ         ดังนั้นในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรชนิดนี้ ผู้บริโภคควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร ให้ดีก่อน เพราะถ้ามีการใช้ยาแผนปัจจุบันชนิดอื่นแล้วอาจจะเกิดอาการที่เรียกว่า ยาตีกัน (drug interaction) กับเซนต์จอห์นเวิรต์ได้ เพื่อให้ใช้สมุนไพรนี้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดสมกับยุคที่มี คนรวยเป็นกระจุกแต่คนจนนั้นกระจายไปทั่ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 อาหารจากการแก้ไขจีโนม ตอนที่ 2

นักวิทยาศาสตร์พยายามคิดค้นกระบวนการแก้ไขหน่วยพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่ต้องไม่เข้าข่ายเป็นการสร้างสิ่งมีชีวิตที่ถูกดัดแปรพันธุกรรม(จีเอ็มโอ) เพื่อเลี่ยงปัญหาที่ค้างคาใจของสังคมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตจีเอ็มโอมี ซึ่งยีนแปลกปลอมที่หลงเหลือในเซลล์หลังถูกดัดแปรพันธุกรรม เช่น ยีนต้านยาปฏิชีวนะที่มีการใช้เป็นตัวบ่งชี้(marker) ระหว่างการเพิ่มปริมาณยีนที่ต้องการใช้ ซึ่งอาจหลุดเป็นอิสระระหว่างการย่อยอาหาร และเมื่อไปถึงกลุ่มแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ ซึ่งอาจเก็บเอายีนต้านยาปฏิชีวนะเข้าสู่เซลล์ ส่งผลให้แบคทีเรียนั้นกลายพันธุ์จนต้านยาปฏิชีวนะได้  หรือ ยีนโปรโมเตอร์ที่ได้จากไวรัส อาจย้ายตำแหน่งบนโครโมโซมในลักษณะของ transposon แล้วไปกำหนดให้ยีนอื่นที่ไม่เคยทำงานถูกกระตุ้นให้สร้างโปรตีนแปลกประหลาดออกมาในเซลล์ และยีนที่แทรกเข้าไปในโครโซมของเซลล์เจ้าบ้านอาจไม่ใช่ยีนเดี่ยว แต่กลับมียีนอื่นซึ่งสามารถสร้างโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้เมื่อได้กินอาหารที่ดัดแปรพันธุกรรม เป็นต้น         ด้วยความระแวงในปัญหาที่เกิดจากอาหารที่ดัดแปรทางพันธุกรรมดังกล่าว ผู้บริโภคในสังคมบางส่วนจึงต่อต้านการเข้าสู่ตลาดอาหารของจีเอ็มโอ อย่างไรก็ดีนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานด้านนี้ก็มิได้ย่อท้อต่อปัญหาที่ประสบและได้ทำการค้นพบวิธีการใหม่ โดยนำเอาเทคนิค Crispr มาใช้กับสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์กินเป็นอาหารเพื่อแก้ไขจีโนมให้เปลี่ยนจากเดิมไปเป็นตามที่ผู้แก้ไขต้องการ นัยว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์ที่ดีต่อมนุษย์ด้วยกันเองโดยละเว้นที่จะบอกว่า มันสามารถทำกำไรมหาศาลเมื่อทำสำเร็จ         หลักการของ Crispr และการยอมรับ         หลักการของ Crispr นั้นดูมหัศจรรย์มาก ผู้คิดค้นสมควรได้รับรางวัลโนเบลเป็นอย่างยิ่ง...ถ้าในอนาคตอันใกล้ไม่มีการพบเสียก่อนว่า หลักการนั้นถูกนำไปใช้แล้วก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เพราะมันเป็นความหวังในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความผิดปรกติทางพันธุกรรมต่างๆ ที่ถ่ายทอดจากพ่อ-แม่ไปสู่ลูก นอกเหนือไปจากการทำให้สิ่งมีชีวิตที่เป็นอาหารมนุษย์ทั้งพืชและสัตว์นั้นดูดีกว่าต้นตำรับสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ         ผู้ที่นิยมทำอาหารกินเองที่บ้านมักให้เหตุผลว่า สามารถควบคุมทั้งรสชาติและความสะอาด แต่บ่อยครั้งมักพบว่าเสียความรู้สึก เพราะอาหารหลายชนิดที่เป็นผัก-ผลไม้ซึ่งรวมถึงเห็ดที่ชื่นชอบนั้นเปลี่ยนสี ไปในลักษณะที่ไม่พึงประสงค์หลังการปอกหรือหั่นแล้ว จนต้องเพิ่มขั้นตอนการใช้สารละลายซึ่งอาจเป็นสารธรรมชาติหรือสารสังเคราะห์ยับยั้งกระบวนการเปลี่ยนสีที่เกิดขึ้น        การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสีของผัก-ผลไม้ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลเนื่องจากการทำงานของเอ็นซัมออกซิเดสในพืชผักและผลไม้ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงได้คิดนำเอาเทคนิค Crisper มาจัดการในเรื่องนี้ โดยปรากฏเป็นบทความในวารสาร Nature ชุดที่ 532 หน้าที่ 293 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2016 เรื่อง Gene-edited Crispr mushroom escapes US regulation ที่มีใจความโดยย่อว่า ผู้ชำนาญด้านพยาธิวิทยาพืชของ Pennsylvania State University ในสหรัฐอเมริกาได้แก้ไขเพื่อหยุดการทำงานของจีโนมที่สร้าง polyphenol oxidase ของเห็ดกระดุมขาว (Agaricus bisporus) เพราะเอ็นซัมนี้ทำให้เห็ดเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นในข่าวนี้คือ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) จะไม่ใช้กฎหมายควบคุมเห็ดกระดุมที่ได้รับการแก้ไขจีโนมด้วย Crispr ในลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่ถูกดัดแปรพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ เนื่องจากไม่ได้มีการสอดใส่ชิ้นส่วนของ DNA แปลกปลอมเข้าไปเหมือนกรณีจีเอ็มโอทั่วไป ดังนั้นเห็ดที่ถูกแก้ไขจีโนมจึงสามารถปลูกและจำหน่ายได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกำกับดูแลของ อย.สหรัฐอเมริกา นี่เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่ได้รับการแก้ไขจีโนมโดย Crispr แล้วได้รับไฟเขียวจากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา        จากกรณีตัวอย่างของเห็ดไม่เปลี่ยนสีในปี 2016 นั้น ส่งผลให้กระทรวงเกษตรต้องทำการทบทวนหลักเกณฑ์การควบคุมการดัดแปรพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่นำมาใช้เป็นอาหาร แล้วสุดท้ายในปี 2018 กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาก็จนมุม ต้องมีแถลงการณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร Sonny Perdue ยอมรับว่า พืชที่ถูกปรับปรุงโดยใช้เทคนิคการแก้ไขจีโนมที่เรียกว่า Crispr นั้นไม่อยู่ภายใต้กฎระเบียบพิเศษอื่นใด เพราะปลอดภัยพอๆ กับเห็ดที่ผ่านกระบวนการแบบดั้งเดิมในการปรับปรุงพันธุ์ (ที่ใช้เวลานานกว่าและแพงกว่า) รายละเอียดนั้นสามารถหาอ่านได้ในบทความชื่อ USDA greenlights gene-edited crops ของเว็บ https://cen.acs.org ประจำวันที่ 9 เมษายน 2018 เป็นต้น         ผลต่อเนื่องจากการที่กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาไฟเขียวต่ออาหารที่ผลิตจากพืชหรือสัตว์ที่ถูกแก้ไขจีโนมในปี 2018 ทำให้มีข่าวที่ปรากฏในหลายเว็บที่สนใจเกี่ยวกับความทันสมัยของการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ลงบทความในทำนองว่า ญี่ปุ่น ยังต้องยอมให้อาหารที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิตที่ถูกแก้ไขจีโนมเข้าสู่ประเทศได้เหมือนเป็นอาหารธรรมดา ดังปรากฏเป็นบทความเรื่อง Gene-edited foods are safe, Japanese panel concludes ใน www.sciencemag.org เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2019 ข่าวโดยย่อกล่าวว่า ญี่ปุ่นจะอนุญาตให้ขายอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบที่มีการแก้ไขจีโนมแก่ผู้บริโภค โดยไม่ต้องมีการประเมินความปลอดภัย ตราบใดที่เทคนิคต่างๆ นั้นมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการที่ปรึกษาของ Ministry of Health, Labour and Welfare เห็นชอบ ประเด็นที่สำคัญคือ นี่เป็นการเปิดประตูสู่การใช้ Crispr และเทคนิคอื่นๆ เกี่ยวกับพืชและสัตว์ที่มีไว้เพื่อการบริโภคของมนุษย์ในญี่ปุ่น         ดังที่กล่าวแล้วในตอนต้นของบทความว่า การใช้เทคนิค Crispr นั้นดูดีไปทุกอย่าง ถ้ากระบวนการนั้นเป็นไปอย่างที่หวัง กล่าวคือ ถ้าหวังว่าต้องการตัดยีนแค่ไหนก็ตัดได้แค่นั้น ไม่ขาดหรือไม่เกิน เพราะถ้ามีการขาดหรือเกินนั้นผลที่ตามมาอาจก่อปัญหาที่รุนแรงต่อฟีโนไทป์ของสิ่งมีชีวิตนั้น         แล้วลางร้ายก็ปรากฏขึ้นดังที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนกังวลใจ เพราะมีงานวิจัยเรื่อง Repair of double-strand breaks induced by CRISPR-Cas9 leads to large deletions and complex rearrangements ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Biotechnology ชุดที่ 36 หน้า 765–771 ในปี 2018 ชี้ให้เห็นว่า การใช้ Crispr ในตอนนี้อาจจะไปไกลเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะระบบการแก้ไขนั้นอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเนื่องมากกว่าที่คิดไว้ รายงานดังกล่าวบอกว่า นักวิจัยลองใช้ Crispr เพื่อแก้ไข DNA ทั้งในเซลล์ของหนูและมนุษย์แล้วพบว่า มีส่วนของดีเอ็นเอขนาดยาวถูกลบทิ้งโดยไม่ได้ตั้งใจ มีการจัดเรียงลำดับหน่วยพันธุกรรมใหม่จนทำให้เซลล์กลายพันธุ์ แล้วส่งผลให้เซลล์เสียสภาพร้อยละ 15 ซึ่ง Allan Bradley (ผู้ร่วมทำงานวิจัยนี้) กล่าวเป็นเชิงกังวลกับ Live Science (ในบทความเรื่อง Crispr gene editing may be doing more damage than scientists thought ดูได้จาก www.livescience.com ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2018) ว่า Crispr อาจไม่ปลอดภัยอย่างที่เราเคยคิด เพราะไม่สามารถควบคุมให้กระบวนการแก้ไข DNA นั้นถูกต้องถึง 100 เปอร์เซ็นต์และอาจมีปัญหาอื่นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม"โดยสรุปแล้วประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับเทคนิค Crispr คือ สิ่งมีชีวิตที่ผ่านการแก้ไขจีโนมนั้นมีลักษณะเหมือนเหล้าใหม่ในขวดเก่า เนื่องจากมีลักษณะฟีโนไทป์ที่แสดงออกคล้ายหรือเหมือนกับสิ่งมีชีวิตต้นแบบ (wild type) ในกรณีที่ฟีโนไทป์ที่แตกต่างนั้นเกี่ยวกับสีหรือกลิ่น ผู้บริโภคอาจสามารถบอกความแตกต่างได้ แต่ถ้าสีและกลิ่นยังเหมือนเดิมในขณะที่ส่วนการแสดงออกที่เปลี่ยนไปนั้นอยู่ภายในสิ่งมีชีวิตนั้น การสังเกตด้วยตาและจมูกก็อาจทำได้ลำบาก ด้วยเหตุนี้เราอาจต้องสวดมนต์ภาวนาว่า ขออย่าให้ต้องกินอาหารที่ได้ถูกแก้ไขจีโนมเลย เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งหนึ่งของยีนในสิ่งมีชีวิตอาจส่งผลให้ยีนอื่น ๆ ทำในสิ่งไม่ดีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 อาหารจากการแก้ไขจีโนม ตอนที่ 1

        คนไทยหลายคนคงลืมแล้วว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้เรามีข่าวความกังวลของสังคมเกี่ยวกับ อาหารจีเอ็มโอ หรือที่มีคำเต็มว่า อาหารซึ่งได้จากสิ่งมีชีวิตที่ดัดแปรพันธุกรรม อย่างไรก็ดีในอนาคตอันใกล้คนไทยอาจได้เลิกกังวลเรื่องเกี่ยวกับอาหารจีเอ็มโอแล้ว เพราะกำลังจะมีอาหารในรูปแบบใหม่เข้ามาสร้างความกังวลในชีวิตเรา คือ gene edited food ซึ่งน่าจะแปลเป็นไทยว่า อาหารที่ถูกแก้ไขจีโนม (จีโนมเป็นคำเดียวกับคำว่า ยีน)         เว็บ www.businessinsider.com ได้ลงข่าวที่น่าสนใจเรื่อง We'll be eating the first Crispr'd foods within 5 years, according to a geneticist who helped invent the blockbuster gene-editing tool ในวันที่ 20 เมษายน 2019 ซึ่งเนื้อข่าวโดยสรุปคือ Jennifer Doudna แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แห่งเมืองเบิร์กลีย์ ผู้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้พัฒนาระบบการแก้ไขจีโนมกล่าวว่า ภายในห้าปีข้างหน้าผลกระทบที่ชัดเจนของเท็คนิคการแก้ไขจีโนมต่อชีวิตประจำวันคนบนโลกนี้จะปรากฏในพืชผลของภาคเกษตรกรรม          ความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ Jennifer Doudna พูดนั้นได้เกิดขึ้นก่อนหน้าแล้ว โดยในวันที่ 20 มีนาคม 2019 เว็บ www.wired.com ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง The First Gene-Edited Food Is Now Being Served ซึ่งมีใจความว่า แม้ผู้บริโภคยังไม่สามารถหาซื้อน้ำมันจากถั่วเหลืองที่ได้รับการแก้ไขจีโนมเพื่อให้ถั่วนั้น ผลิตไขมันอิ่มตัวน้อยลงกว่าเดิมและมีไขมันทรานส์เป็นศูนย์ก็ตาม แต่ซีอีโอของบริษัท Calyxt ได้กล่าวว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันกำลังกินน้ำมันดังกล่าวอยู่แล้ว(โดยไม่รู้ตัว) จากร้านอาหารที่เป็นลูกค้าสั่งซื้อน้ำมันถั่วเหลืองจาก Calyxt โดยร้านอาหารเหล่านี้อยู่ในตะวันตกกลางของสหรัฐ (ได้แก่ นอร์ทดาโกตา เซาท์ดาโกตา เนบราสกา มินเนสโซตา ไอโอวา มิสซูรี วิสคอนซิน อิลลินอยส์ แคนซัส มิชิแกน อินเดียนา และโอไฮโอ) ซึ่งได้เริ่มใช้น้ำมันดังกล่าวแล้วในการทอดอาหาร ทำซอสปรุงรสและน้ำมันสลัดต่างๆ เพื่อบริการแก่ลูกค้า ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้บริหารของ Calyxt นั้นกล่าวอย่างมั่นใจว่า ถั่วเหลืองที่ใช้ผลิตน้ำมันนั้น “ไม่ใช่จีเอ็มโอ” อาหารแก้ไขจีโนมคืออะไร         อาหารในลักษณะนี้ใช้หลักการการเปลี่ยนชนิดขององค์ประกอบ ส่วนใดส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นหน่วยพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ผลิต ซึ่งเมื่อทำสำเร็จแล้วการแสดงออกของสิ่งมีชีวิตซึ่งเป็นลักษณะที่เห็นได้ด้วยตา คือ ฟีโนไทป์ (phenotype) นั้นจะเปลี่ยนแปรไปตามที่หน่วยพันธุกรรมที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น สีของสิ่งมีชีวิตนั้นอาจเปลี่ยนไปจากปรกติที่เคย แดงเป็นดำ ขาวเป็นเขียว โดยที่การเปลี่ยนแปรนั้นถ่ายทอดไปถึงลูกหลานด้วย         การแก้ไขจีโนมนั้นเป็นการใช้เทคนิคที่เรียกว่า Crispr/cas9(อ่านออกเสียงว่า คริสเปอร์/คาสไนน์) หรือเรียกสั้นๆ ว่า Crispr ซึ่งเป็นวิธีที่ดูแล้วน่าศรัทธามาก เพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่าและสะดวกกว่าวิธีการผสมพันธุ์แบบดั้งเดิมซึ่งรวมถึงการผลิตพืชดัดแปรพันธุกรรม อีกทั้งกล่าวกันว่ามีความแม่นยำสูงในการทำให้สิ่งมีชีวิตกลายไปตามต้องการโดย(อาจ) ไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ให้ตรวจจับได้         สิ่งที่สำคัญของเทคนิคนี้ประการแรกคือ ต้องรู้ตำแหน่งของจีโนมหรือยีนที่ต้องการแก้ไข จากนั้นต้องมีกระบวนการทำให้โปรตีนต่างๆ ที่ห่อหุ้ม DNA ของเซลล์สิ่งมีชีวิตเป้าหมาย ตรงตำแหน่งที่ต้องการแก้ไขหน่วยพันธุกรรมหลุดออกก่อน แล้วจึงทำให้ DNA คลายตัวจากการพันกันเป็นเกลียวเพื่อแยกเป็นอิสระจากกัน ซึ่งเป็นการเปิดทางให้องค์ประกอบของระบบเข้าไปดำเนินงานต่อ         ส่วนสำคัญที่เป็นหลักคือ ตัว Crispr (clusters of regularly interspaced short palindromic repeats.) ซึ่งเป็นกรดนิวคลิอิกชนิดที่เรียกว่า RNA ที่บางส่วนของสายมีการเรียงตัวของเบสหรือนิวคลิโอไทด์ที่สามารถประกบกับส่วนของ DNA ซึ่งเป็นจีโนม(ยีน) ที่ต้องการแก้ไข สำหรับองค์ประกอบส่วนที่สองของระบบนี้คือ cas9 ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีฤทธิ์เป็นเอ็นซัมที่สามารถตัดสาย DNA ออกได้เสมือนเป็นกรรไกรตรงตำแหน่งที่ RNA ได้ประกบไว้ ซึ่งเมื่อตัดเสร็จแล้วจะมีการนำชิ้นส่วนของ DNA (ซึ่งเป็นยีนที่สามารถแสดงออกซึ่งลักษณะที่ต้องการเปลี่ยน) ที่เตรียมขึ้นในห้องปฏิบัติการส่งเข้าไปแทนที่ DNA ส่วนที่ถูกตัดออกไป จากนั้นจึงใช้เอ็นซัม (ที่เรียกว่า DNA ligase) เชื่อมต่อให้ชิ้น DNA ใหม่ต่อเข้าได้กับส่วนของ DNA เดิมทั้งสาย และถ้าทุกขั้นตอนสำเร็จเซลล์นั้นจะมีหน่วยพันธุกรรมที่เปลี่ยนไป ซึ่งเมื่อถูกพัฒนาต่อก็จะเจริญเติบโตไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการแสดงออกของฟีโนไทป์ใหม่ที่สามารถสืบต่อลักษณะใหม่นั้นในลูกหลานต่อไป         มีการนำเทคนิคของการแก้ไขจีโนมนี้มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ปลูกในสหรัฐอเมริกา โดยหวังว่าจะได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีและได้ข้าวปริมาณสูง ซึ่งสามารถทนต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เพิ่มความเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ และได้รายงานผลการวิจัยในบทความเรื่อง CRISPR mediated genome engineering to develop climate smart rice: Challenges and opportunities ที่ปรากฏในวารสาร Seminars in Cell and Developmental Biology ในปี 2019 โดยการวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ฟีโนไทป์ ซึ่งเป็นที่ต้องการและปัจจัยทางพันธุกรรมของข้าว แล้วนำมาใช้ในการพัฒนาความทนทานต่อความวิกฤตดังกล่าวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก         โดยปรกติแล้วพืชหลายชนิดที่ปลูกขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้น มักอ่อนแอต่อการรุกรานจากไวรัส เห็นได้จากเมื่อปลูกไปไม่นานเท่าไรมักเกิดโรค เพราะไวรัสสามารถแทรกจีโนมของมันเข้าไปซ่อนในจีโนมของพืชนั้น แล้ววันหนึ่งเมื่อสภาวะภูมิอากาศแห้งแล้งได้ที่ ไวรัสที่ซ่อนอยู่ก็แสดงตัวออกฤทธิ์ได้ มีตัวอย่างงานวิจัยที่นักวิจัยของ International Institute of Tropical Agriculture ในเคนยาได้ใช้วิธีการแก้ไขจีโนมเพื่อตัด DNA ของไวรัสภายในจีโนมของกล้วยสายพันธุ์ Gonja Manjaya ออก  จนได้กล้วยที่ปลอดไวรัสแล้วแจกจ่ายพันธุ์ที่ปลอดโรคแก่เกษตรกรของประเทศ ข่าวนี้ได้ปรากฏในเว็บ www.newscientist.com เรื่อง Virus lurking inside banana genome has been destroyed with Crispr เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2019         ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เนื้อส่งสู่ตลาดมักมีปัญหารำคาญใจที่สัตว์มีเขามักทำร้ายกันเอง จนต้องมีการตัดเขาให้สั้นหรือใช้วิธีเอาไฟฟ้าจี้บริเวณที่เขาจะงอกตั้งแต่สัตว์ยังเล็ก ซึ่งทำให้สัตว์ทรมาน จนผู้เลี้ยงสัตว์ถูกโจมตีเกี่ยวกับสิทธิของสัตว์ ดังนั้นถ้าวัวไม่มีเขาจะส่งผลให้การดูแลง่ายขึ้น แล้วความฝันของคาวบอยก็เป็นจริงเมื่อมีบทความเรื่อง Production of hornless dairy cattle from genome-edited cell lines. เผยแพร่ในวารสาร Nature Biotechnology ชุดที่ 34(5) หน้า 479-481 ของปี 2016 โดยผลงานนี้เป็นความร่วมมือของนักวิจัยจากสองมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาคือ University of Minnesota และ Texas A&M University         เทคนิค Crispr ได้ถูกพัฒนาต่อยอดไปอีก เช่น นักวิทยาศาสตร์ของบริษัท Syngenta ในเมือง Durham รัฐ North Carolina ได้คิดค้นกระบวนการใหม่ชื่อ haploid induction-edit หรือ HI-edit เพื่อทำให้เทคนิคการปรับแก้จีโนมของพืชง่ายขึ้นโดยรวมสองวิธีการคือ การเหนี่ยวนำให้เซลล์มีโครโมโซมชุดเดียว(haploid induction technology) และการแก้ไขจีโนม(gene edited technology) เพื่อทำให้พืชมีเกสรตัวผู้(pollen) พิเศษที่มีชุด Crispr ในเซลล์ จึงเรียกว่า Crispr pollen technique ซึ่งอ้างว่าจะไม่มีการแพร่กระจายไปดัดแปลงพืชอื่นในธรรมชาติที่ไม่ใช่เป้าหมาย เพราะระบบ Crispr ที่ใส่ไว้ในเกสรตัวผู้จะหายไปเอง หลังการปฏิสนธิระหว่างเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย ทำให้พืชที่เป็นผลผลิตไม่ควรถูกควบคุมในลักษณะของจีเอ็มโอ ผลงานนี้ได้เผยแพร่ในรูปบทความวิจัยชื่อ One-step genome editing of elite crop germplasm during haploid induction ในวารสาร Nature Biotechnology ชุดที่ 37 หน้าที่ 287–292 ของเดือนมีนาคม 2019         นอกจากการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์แล้ว เทคโนโลยี Crispr สามารถถูกใช้แก้ไขข้อบกพร่อง ซึ่งก่อโรคทางพันธุกรรมในมนุษย์ ตลอดจนการบำบัดและป้องกันการแพร่กระจายของโรค ฯลฯ แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนที่มีความกังวลในการปรับแต่งจีโนมว่า มันแม่นยำมากดังที่กล่าวอ้างนั้นจริงหรือ คำตอบนั้นสามารถติดตามได้ในฉลาดซื้อฉบับหน้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 เครื่องประดับคุมกำเนิด

เป็นที่ทราบกันดีว่า มนุษย์นั้นมีความกำหนัดแทบทุกคน มากน้อยขึ้นกับพันธุกรรม การอบรมและสิ่งแวดล้อม ความข้อนี้สามารถพิสูจน์ได้ถ้าท่านผู้อ่านเป็นผู้ที่ช่างสังเกตความเป็นไปของคนในสังคม ไม่ว่าจะเล็กขนาดในหมู่บ้านหรือใหญ่ถึงระดับประเทศ ดังนั้นเมื่อคุมความกำหนัดได้ยาก สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องทำให้ได้คือ การคุมกำเนิดเมื่อมีความกำหนัด ซึ่งว่าไปแล้วในทางวิทยาศาสตร์สามารถกล่าวได้ว่า มันไม่ได้ปลอดภัยเสียทีเดียว เนื่องจากมันคือการเข้าไปรบกวนระบบฮอร์โมนของมนุษย์ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดความผิดปรกติต่าง ๆ ได้        มีข่าวหนึ่งซึ่งอาจเป็นที่ยินดีในระบบการวางแผนครอบครัวสำหรับผู้หญิงวันนี้ เพราะกระบวนการนั้นอาจ “ง่ายเหมือนการใส่ต่างหู” โดยรายงานการวิจัยเรื่อง Pharmaceutical jewelry: Earring patch for transdermal delivery of contraceptive hormone ในวารสาร Journal of Controlled Release ชุดที่ 301 หน้าที่ 140–145 ของปี 2019 ได้อธิบายถึงเทคนิคในการให้ยาคุมกำเนิดผ่านการใช้เครื่องประดับ เช่น ต่างหู (ซึ่งมีแนวโน้มว่า น่าจะใช้ได้กับ นาฬิกาข้อมือ แหวน หรือสร้อยคอด้วย) โดยที่ยาคุมกำเนิดนั้นบรรจุอยู่ในแผ่นอาบยา(transdermal patches) ที่สามารถประกอบเข้าเป็นส่วนของเครื่องประดับเช่น ต่างหู ซึ่งเมื่อสัมผัสกับผิวหนังสามารถทำให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้        การทดสอบเบื้องต้นในรายงานการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า แผ่นอาบยาคุมกำเนิดนั้นสามารถจ่ายตัวยาซึ่งออกฤทธิ์เป็นฮอร์โมนเพศหญิงในปริมาณที่เพียงพอต่อการคุมกำเนิดได้ในสัตว์ทดลอง(จะกล่าวถึงกระบวนการในส่วนต่อไปของบทความ) ซึ่งงานวิจัยในสัตว์ทดลองเพื่อพิสูจน์แนวคิดนี้ ได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา(USAID) โดยเป้าหมายต่อไปสำหรับเทคนิคใหม่นี้คือ การปรับปรุงให้สามารถใช้แผ่นอาบยาประกอบกับเครื่องประดับต่างๆ ในการให้ยาคุมกำเนิดผ่านเข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนังแก่กลุ่มเป้าหมายจริง และยังอาจเลยไปถึงการให้ยาชนิดอื่นๆ แก่ผู้ป่วยด้วย        เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้การใช้ยาคุมกำเนิดอาจต้องเปลี่ยนวิธีไปจากการกินประจำวันแบบเดิม เพราะมีในบทความเรื่อง Contraceptive Failure in the United States: Estimates from the 2006–2010 National Survey of Family Growth ตีพิมพ์ในวารสาร Perspectives on Sexual and Reproductive Health ชุดที่ 49 หน้าที่ 7-16 ในปี 2017 ได้ให้ข้อมูลว่า ในการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดนั้นแม้มีความระมัดระวังที่ดีแล้วอย่างไรก็ตาม โอกาสเกิดปัญหาจากการลืมกินยาก็ยังอยู่ที่ร้อยละ 0.3 และถ้าเป็นกรณีที่ผู้ใช้ยาขาดความระมัดระวังคือ ไม่เตือนตนให้กินยาตามกำหนดแล้ว ความผิดพลาดอาจสูงถึงร้อยละ 9 ทีเดียว        ที่น่าสนใจจากงานวิจัยนี้คือ ถ้าชนิดของยาคุมกำเนิดมีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างของหญิง(หรือชาย) แต่ละคนได้ ก็ควรเป็นเรื่องที่ดีเพราะการสวมเครื่องประดับนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของคนที่ทำงานนอกบ้าน แล้วเทคนิคนี้อาจช่วยให้ผู้หญิงบางคนที่อาจติดขัดในข้อบังคับทางศาสนาสามารถ(แอบ) ป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจจากสามีผู้ไม่ประมาณตนในการมีลูกในยุคที่กล่าวกันว่า การมีลูก 1คน อาจยากจนไปถึง 70 ปี ไม่ใช่แค่ 7 ปี ดังคำโบราณที่เคยกล่าวไว้        จริงแล้วการใช้แผ่นอาบยาเพื่อคุมกำเนิดนั้น ไม่ใช่แนวคิดการให้ยาวิธีใหม่เสียทีเดียว เพราะเป็นการปรับเทคโนโลยีในการใช้แผ่นอาบยาป้องกันอาการเมารถ ช่วยการเลิกสูบบุหรี่ และควบคุมอาการของวัยหมดประจำเดือน แต่นี่เป็นแนวคิดครั้งแรกที่ประยุกต์วิธีการดังกล่าวเข้าไปกับการใช้เครื่องประดับซึ่งน่าจะดึงดูดใจในการใช้ยาได้ง่ายขึ้น        วงการแพทย์นั้นมีประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับการสร้างและการใช้แผ่นอาบยาแปะผิวหนังเพื่อจ่ายยาสู่ชั้นใต้ผิวหนังคนไข้ เพียงแต่ในครั้งนี้ต้องการพัฒนาให้แผ่นอาบยามีขนาดเล็กลง (แต่สามารถบรรจุยาที่มีขนาดเพียงพอกับวัตถุประสงค์) จนเนียนพอในการประกอบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประดับ ซึ่งต่างหูดูจะดึงดูดใจสาวได้ดีพอกับแหวนวงงาม นาฬิกาสุดหรู หรือสร้อยคอเก๋ ๆ        ในการทดสอบแนวความคิดเกี่ยวกับการให้ยาด้วยวิธีดังกล่าวโดยใช้สัตว์ทดลองนั้น เริ่มจากการใช้ใบหูของหมู (pig) เพื่อทดสอบว่า ยา levonorgestrel (ซึ่งอยู่ในบัญชียาหลักเพื่อใช้ในสูตรยาคุมกำเนิดสตรีขององค์การอนามัยโลก และยานี้กำลังถูกพัฒนาในสูตรที่เอื้อต่อการคุมกำเนิดในบุรุษด้วย) ซึมผ่านได้ดีตามต้องการ จากนั้นนักวิจัยได้ใช้แผ่นอาบยาดังกล่าวแปะหลังใบหูหนูชนิดที่ไม่มีขน (nude rat) เนื่องจากการผ่าเหล่านาน 16 ชั่วโมงแล้วถอดออก 8 ชั่วโมง(เพื่อจำลองการถอดต่างหูระหว่างการนอนหลับของคนทั่วไป) ผลการทดสอบนั้นชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าระดับยาในเลือดหนูได้ลดลงบ้างในขณะที่เอาต่างหูออกไป แต่ความเข้มข้นของยาที่เหลืออยู่ในช่วงต่ำสุดนั้นก็ยังดูว่าเข้มข้นพอต่อการออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้        แผ่นอาบยาที่ใช้ทดสอบโดยนักวิจัยนั้นมีสามชั้น โดยชั้นแรกเป็นวัสดุที่ยาไม่สามารถซึมผ่านได้ มีกาวที่สามารถยึดให้ติดกับเครื่องประดับ สำหรับชั้นกลางของแผ่นอาบยานั้นประกอบด้วยยาคุมกำเนิดในรูปที่สามารถผ่านวัสดุชั้นที่สามที่มีกาวยึดช่วยยึดเกาะกับผิวหนังแล้วให้ยาผ่านซึมเข้าใต้ผิวหนัง เพื่อเข้าสู่กระแสเลือดได้ตามต้องการ ในรายงานการวิจัยกล่าวว่า แผ่นอาบยาที่ใช้ศึกษานั้นมีขนาดประมาณหนึ่งตารางเซนติเมตร สามารถเกาะผิวหนังของสัตว์ทดลองได้อย่างแน่นหนา ดังนั้นการใช้ต่างหูหรือเครื่องประดับอื่นที่เหมาะสมจึงอาจเป็นแนวทางที่มีประโยชน์มากที่สุดสำหรับการให้ยา        ในที่สุดแล้วถ้าวิธีการนี้ใช้ได้สำเร็จในการคุมกำเนิดของมนุษย์ แผ่นอาบยาที่แปะบนต่างหูจำต้องมีการเปลี่ยนเป็นระยะๆ ที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ใช้ได้รับยาในระดับที่มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด ซึ่งทำให้ผู้รับยาสามารถเปลี่ยนต่างหูได้ตามชอบใจโดยใช้แผ่นอาบยาเดิมได้ วิธีการนี้ควรเป็นแรงดึงดูดให้มีการรับยาในลักษณะที่ลดโอกาศผิดพลาดเหมือนการกินหรือฉีดแบบเดิม ๆ        ข้อมูลในงานวิจัยกล่าวประมาณว่า การปรับเปลี่ยนวิธีให้ยาคุมกำเนิดนี้มีวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์อย่างมากในประเทศกำลังพัฒนาที่การเข้าถึงบริการให้ยาคุมกำเนิดทั้งชนิดกินหรือที่ออกฤทธิ์นานเป็นยาฉีดยังเป็นปัญหา ทั้งนี้เพราะสตรีคงสนใจกับเครื่องประดับที่ให้ยาได้มากกว่าการกินยาหรือใช้อุปกรณ์การแพทย์ เช่น ห่วงคุมกำเนิด โดยตรง งานวิจัยที่จำเป็นต้องตามมาคือ การศึกษาว่า กลุ่มสตรีในพื้นที่ต่างกันนั้นมีรสนิยมหลักแบบใดในการเลือกเครื่องประดับใช้ เพื่อให้การบริหารการใช้ยาไม่มีความจำกัดที่ความชอบในรูปแบบของเครื่องประดับ        ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการคือ นอกจากการศึกษาดูประสิทธิภาพและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของเครื่องประดับคุมกำเนิดแล้ว ยังจำเป็นต้องศึกษาถึงปัจจัยทางสังคมและความเป็นปัจเจกบุคคลที่เข้ามามีบทบาทกับผู้หญิง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่การคุมกำเนิดเป็นข้อห้ามในชีวิตประจำวันผู้ทำการวิจัยได้ให้ความหวังว่า แนวทางการให้ยาแบบนี้ควรมีการศึกษาถึงการใช้ยาชนิดอื่นที่ต้องได้รับเป็นประจำ โดยมีความจำเป็นที่ต้องศึกษาว่า ยาแต่ละชนิดนั้นต้องยังมีประสิทธิภาพด้วยปริมาณที่ต่ำพอที่จะบรรจุในพื้นที่ที่จำกัดของแผ่นแปะซึ่งจะนำไปใช้ร่วมกับเครื่องประดับต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ซักผ้ายุค 4.0

        พอกล่าวถึงคำว่า 4.0 ในการซักผ้า หลายท่านคงคิดว่าผู้เขียนคงจะเขียนเรื่องเครื่องซักผ้าที่ควบคุมการสั่งงานทางไกลด้วยระบบโทรศัพท์มือถือผ่าน IOT (internet of things ซึ่งถ้าจะให้ประสิทธิภาพดีต้องเป็น 5.0 ซึ่งกำลังมา) ดังที่หลายๆ คนคลั่งไคล้กัน  แต่ในความจริงนั้นไม่ใช่ เพราะผู้เขียนใช้คำว่า 4.0 เพียงเพื่อต้องการให้เห็นว่ามันเป็นไปตามยุคสมัยที่หลายๆ อย่างเกิดขึ้นทั้งที่ไม่จำเป็นต้องเกิด เพราะมีการขายสินค้าที่ช่วยในการซักผ้าแบบใหม่คือ ก้อนโลหะแมกนีเซียมในถุงตาข่ายใยสังเคราะห์            ก่อนกล่าวถึงการใช้โลหะแมกนีเซียมในการซักผ้านั้น ขอคุยเรื่องเกี่ยวกับองค์ประกอบหลักของการซักผ้าทั่วไปก่อนคือ ผงซักฟอกหรือน้ำยาซักผ้า มีองค์ประกอบพื้นฐานหลักคือ สารซักฟอก อาจมีการผสมสาร เช่น สารฟอกขาว ที่ทำให้ผ้าดูสดใส สารฟลูออเรสเซนต์ เพื่อดูดซับแสงอัลตราไวโอเลตแล้วสะท้อนกลับเป็นแสงสีฟ้าทำผ้าดูขาวสะอาดขึ้น  สารให้กลิ่นหอม ซึ่งบางคนอาจบอกว่าไม่หอมก็ได้ แล้วอาจมีการเติม เอ็นซัมหลายชนิดเพื่อช่วยกำจัดโปรตีน แป้งและไขมันที่ติดเสื้อผ้า ซึ่งอาจได้ผลหรือไม่ได้ผลตามคำโฆษณา โดยไม่มีองค์กรที่น่าเชื่อถือใดพิสูจน์รับรอง พร้อมลูกเล่น (gimmick) อื่น ๆ ที่ผู้ผลิตใส่เข้าไปเพื่อดึงดูดใจหรือทำให้ผู้บริโภคงง        สมัยโบราณนั้น สบู่ผลิตขึ้นจากวัตถุดิบที่หาได้ไม่ยากคือ ไขมัน ซึ่งมีกรดไขมันจากพืชหรือสัตว์ และด่างแก่ คือ โซเดียมไฮดรอกไซด์หรือโปตัสเซียมไฮดรอกไซด์ ดังนั้นเมื่อกรดไขมันทำปฏิกิริยากับด่าง โดยมีความร้อนเป็นตัวช่วย สิ่งที่ได้จึงเป็นโมเลกุลเกลือที่ละลายน้ำ พร้อมอีกส่วนที่เป็นไขมัน ซึ่งมีความสามารถจับไขมันได้ ทำให้สบู่สามารถดึงเอาไขมันออกมาจากเสื้อผ้าให้มาละลายอยู่ในน้ำ หลักการดังกล่าวนี้ใช้อธิบายประสิทธิภาพของสารซักฟอกในปัจจุบันได้        สิ่งสกปรกที่มักอยู่บนเสื้อผ้าที่ถูกสวมใส่นั้น โดยทั่วไปคือ เหงื่อ ซึ่งเป็นของเหลวที่ร่างกายขับออกมาทางผิวหนังหรือตามซอกหลืบต่างๆ ของร่างกาย มีรสเค็มเพราะมีเกลือเป็นส่วนประกอบ การออกกำลังกาย ความเครียด ความหวาดกลัวหรือเวลาอากาศร้อน ทำให้มีเหงื่อ ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นน้ำร้อยละ 99 ส่วนอีกร้อยละ 1 นั้นประกอบด้วย ยูเรีย น้ำตาล ไขมัน ซึ่งมาจากต่อมไขมันใต้ผิวหนัง โซเดียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม เหล็ก เป็นต้น ตัวปัญหาที่ทำให้เสื้อผ้าที่ถูกใส่แล้วมีกลิ่นเหม็นคือ ไขมันซึ่งเมื่อทิ้งไว้บนเสื้อผ้าเป็นเวลานานจะถูกแบคทีเรียย่อยให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวในไขมันจากเหงื่อนั้นเปลี่ยนไปเป็น สารกลุ่มอัลดีไฮด์ ที่ให้กลิ่นไม่พึงประสงค์ ดังนั้นผงซักฟอกบางสูตรจึงมีการเติมสารที่ฆ่าแบคทีเรียได้ดีเช่น สารที่ให้อนุมูลธาตุเงิน ซึ่งมักใช้คำว่า ซิลเวอร์นาโน          เมื่อมาถึงยุค 4.0 ผู้เขียนพบว่ามีคนใช้เฟซบุ๊คโฆษณาขายสินค้าที่ดูเผินๆ นึกว่าเป็นฟองน้ำล้างจาน แต่เมื่อพิจารณาอีกทีปรากฏว่า ไม่ใช่ เพราะในถุงตาข่ายนั้นแทนที่จะเป็นฟองน้ำสังเคราะห์กลับเป็น เม็ดโลหะค่อนข้างกลมดูคล้ายตะกั่วถ่วงแหจับปลา และมีการโฆษณาว่า ถุงนั้นเป็นอุปกรณ์ที่มาแทนผงซักฟอก โดยนำเอาถุงนั้นใส่ลงในเครื่องซักผ้าพร้อมผ้าที่ต้องการซัก หลังเปิดเครื่องให้ทำงานแล้วสามารถนั่งรอเวลาเครื่องปิดเมื่อครบรอบการซัก หรือจะไปทำอะไรอย่างมีความสุขกับคนในครอบครัว โดยเสื้อผ้าที่ซักแล้วปราศจากคราบสกปรก มีความสะอาดเอี่ยมจนดมกลิ่นแห่งความสะอาดได้ ไม่ทำให้ระคายผิวทั้งเด็กและผู้ใหญ่         สินค้านี้มีโฆษณาหลายคลิปใน YouTube เมื่อดูแล้วพอสรุปข้อมูลได้ว่า โลหะที่ช่วยในการซักผ้านั้นคือ แมกนีเซียม เป็นสินค้าจากผู้ผลิต ซึ่งเดิมใช้แมกนีเซียมในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ แต่สังเกตพบว่าแมกนีเซียมซึ่งเป็นโลหะที่เบามากนั้นเวลาขึ้นรูปเป็นชิ้นส่วนของรถยนต์จะมีฝุ่นฟุ้งกระจาย เมื่อกวาดมารวมกันปรากฏว่าเกิดเป็นประกายไฟขึ้นได้จึงมีคำถามว่าประกายไฟที่เกิดนั้นมาจากไหน         ในทางเคมีนั้นแมกนีเซียมเป็นโลหะกลุ่มอัลคาไลน์เอิร์ธ ชนิดที่สามารถติดไฟได้เองในอากาศที่ชื้นมากๆ (คล้ายกับโลหะโซเดียมซึ่งไวไฟมากจนต้องเก็บในน้ำมันเพื่อไม่ให้สัมผัสน้ำจากอากาศ) คำอธิบายถึงการติดไฟได้นั้นน่าจะเป็นว่า เมื่อแมกนีเซียมเจอน้ำแล้วเกิดปฏิกิริยาเคมีได้ด่างแก่คือ แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Mg(OH)2) พร้อมได้กาซไฮโดรเจน (H2) ซึ่งติดไฟได้ด้วย         ผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่าสิ่งที่ต้องตาเจ้าของโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์คือ น้ำที่ได้จากการเอาโลหะแมกนีเซียมใส่ลงไปนั้นมีความลื่นเพราะเป็นด่าง ปรากฏการณ์นี้อาจกระตุ้นให้เจ้าของโรงงานย้อนคิดไปถึงอดีตครั้งเป็นเด็กที่เคยซักผ้าด้วยน้ำด่างขี้เถ้า จึงปิ๊งไอเดียว่าแมกนีเซียมน่าจะทำเงินให้เขาได้ในรูปของวัสดุช่วยในการซักผ้าที่ไม่น่าทำอันตรายสิ่งแวดล้อม...มากนัก         หลักการที่น้ำด่างทำให้เสื้อผ้าสะอาดได้นั้น มีฝรั่งคนหนึ่งอธิบายในอินเทอร์เน็ตว่า ปรกติแล้วการใช้สบู่ซักผ้านั้น สบู่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่ยึดระหว่างไขมันที่หลุดออกจากเสื้อผ้าให้ละลายน้ำ แต่ในการใช้แมกนีเซียมนั้นเป็นการตัดขั้นตอนการใช้สบู่ โดยให้อนุมูลแมกนีเซียม (Mg++) พร้อมกับอนุมูลไฮดรอกซิล (OH- ซึ่งเป็นตัวทำให้สภาวะแวดล้อมมีความเป็นด่าง) ที่เกิดขึ้นเมื่อใส่โลหะแมกนีเซียมลงน้ำนั้น เข้าจับตัวกับไขมันที่เกาะในเนื้อผ้าได้เป็นสบู่โดยตรง จากนั้นสบู่จับเหงื่อไคลก็ละลายน้ำออกมา        อย่างไรก็ดีมีประเด็นที่ผู้เขียนขอตั้งไว้สำหรับผู้ประสงค์จะทันสมัยแบบ 4.0 ในการซักผ้าโดยไม่ใช้ผงซักฟอกคือ โฆษณาสินค้านี้ในหลายๆ คลิปนั้น ไม่มีส่วนไหนที่แสดงวิธีการใช้สินค้าชิ้นนี้อย่างละเอียดเลย มีแค่การใส่ถุงบรรจุโลหะแมกนีเซีมลงไปกับผ้าที่จะซัก แล้วก็ตัดภาพไปช่วงที่ผ้าซักเสร็จ ทำให้สงสัยว่า ถุงใส่โลหะแมกนีเซียมนั้นอยู่ในถังตลอดวงรอบของการซักเลยหรือ ถ้าเป็นเช่นนั้นแสดงว่า น้ำด่างที่เกิดบางส่วนคงเหลือติดผ้าในช่วงการปั่นครั้งสุดท้ายด้วย ทั้งที่โดยปรกติแล้วถ้าเราใช้น้ำยาซักผ้าแบบเดิม น้ำยานั้นจะถูกทิ้งในน้ำแรก จากนั้นจะมีการล้างผ้าเอาน้ำยาออกอีกราว 1-2 ครั้ง เพื่อให้มีน้ำยาซักผ้าเหลือติดผ้าน้อยที่สุดเพื่อป้องกันการระคายเคืองผิว ส่วนในกรณีของการใช้โลหะแมกนีเซียมซักผ้านั้นแม้ว่าไม่มีการผสมสารอื่นลงไปด้วย แต่ความเป็นด่างของน้ำ ซึ่งมีคำอธิบายในคลิปหนึ่งว่า ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) อยู่ที่ประมาณ 10 ซึ่ง (อาจ) ติดผ้าถือว่าไม่น่าจะปลอดภัยต่อผิวผู้สวมใส่เสื้อผ้า (โดยเฉพาะเด็กแล้วน่าจะไม่ดี) แต่ในโฆษณานั้นกล่าวว่า ไม่เป็นอันตรายต่อผิวเด็ก ประเด็นนี้จึงน่าจะยังรอการพิสูจน์จากหน่วยงานที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนต่อสินค้านี้        สิ่งที่ผู้เขียนสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ ราคาของถุงโลหะแมกนีเซียมนั้นคือเท่าไร เมื่อเข้าไปในเว็บซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการขายออนไลน์ขนาดใหญ่ก็พบว่า 1 ถุงนั้นมีราคาเกือบ US.$ 50 เมื่อคำนวณเป็นเงินบาทที่ประมาณ 31 บาทต่อ US.$ 1 คงประมาณกว่า 1,500 บาท และในโฆษณาการขายนั้นบอกว่า แร่ 1 ถุงนั้นใช้ได้ 365 วัน เมื่อซักวันละ 1 ครั้ง ซึ่งหมายความว่าค่าใช้จ่ายตกแค่ 4 บาทกว่าเล็กน้อย เรื่องค่าใช้จ่ายจึงไม่น่าเป็นปัญหาอะไร...แต่         ยังมีคำถามหนึ่งที่เมื่อนึกถึงหลักการทางเคมีว่า ปริมาณการเกิดปฏิกิริยาได้น้ำด่างจากโลหะนั้นคงเส้นคงวาทุกครั้งที่ซักตลอด 1 ปี หรือไม่ เพราะในหลักการแล้ว ทุกครั้งที่ถุงโลหะถูกใช้งาน ปริมาณเนื้อโลหะแมกนีเซียมย่อมลดลงทุกครั้ง ดังนั้นการพิสูจน์ว่าปริมาณด่างที่เกิดในการใช้ครั้งที่ 1 นั้นต่างจากการใช้ในครั้งที่ 365 หรือไม่นั้นจำเป็นนัก เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่แท้จริง

อ่านเพิ่มเติม >