ฉบับที่ 247 เด็กยุคนี้สูงได้เต็มศักยภาพ...จริงหรือ

        คนที่มีร่างกายสูงมักดูได้เปรียบคนตัวเตี้ย มองดูดีและมีความมั่นใจ และอาจส่งผลไปถึงบางอาชีพที่เลือกเฉพาะคนตัวสูงและแข็งแรง ซึ่งรวมถึงกีฬาอาชีพหลายประเภท ดังนั้นจึงมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดพยายามสร้างข้อเสนอให้พ่อแม่เตรียมพร้อมเรื่องความสูงให้กับลูกของตนตั้งแต่เยาว์วัย         คำโฆษณาสินค้าประเภทนี้มักระบุว่า ความสูงของคนนั้นขึ้นกับพันธุกรรม การกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเพื่อเป็นการประกันให้เด็กในวัยเจริญเติบโตสามารถสูงเต็มศักยภาพซึ่งอาจสูงกว่าพ่อแม่นั้น จำต้องกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เหล่าคุณแม่ที่เป็นเซเล็บต่าง (ออกมา call out ในโฆษณาว่า) เลือกเสริมเพิ่มความสูงให้ลูกน้อย ซึ่งสินค้าเหล่านี้มักเป็นนวัตกรรมจากต่างชาติที่อ้างว่า เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยสร้างหรือกระตุ้นมวลกระดูกและกล้ามเนื้อให้แข็งแรง โดยกินคู่ไปกับอาหารหลัก 5 หมู่ (ความจริงแค่กินอาหารได้ครบ 5 หมู่ด้วยปริมาณที่เหมาะสมตามหลักการทางโภชนาการก็น่าจะพอแล้ว...ผู้เขียน)         มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีเพิ่มความสูงแบบรวดเร็วสำหรับเด็กที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น โดยอ้างว่ามาจากแหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้ (ซึ่งดูจริงบ้าง มั่วบ้าง) คือ  1.) กระโดดเชือกวันละ 30 นาที โดยแบ่งเป็นครั้งละ 5 นาที หรือเล่นบาสเก็ตบอลวันละ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย  2.) ดื่มนมจืดวันละ 2 แก้ว หลังอาหารเช้าและก่อนนอน  3.) งดดื่มน้ำอัดลมเพราะเสี่ยงกระดูกพรุนและเบาหวาน  4.) ฉีด Growth hormone เพิ่มความสูง แต่ต้องระวังว่าหากได้ฮอร์โมนเกินขนาดที่ร่างกายรับได้ อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูง  5.) ไม่เล่นมือถือก่อนนอนเพราะทำให้ลดการหลั่ง Growth hormone และควรนอนติดต่อกัน 7-8 ชั่วโมง  6.) กินนมน้ำเหลือง (Colostrum) จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  7.) ผ่าตัดยืดกระดูกเฉลี่ย 1 เซนติเมตร/เดือน โดยต้องยอมรับความเจ็บและราคาแพง  8.) ควรนอนช่วง 3-4 ทุ่ม เพื่อให้ได้หลับลึกที่เที่ยงคืนซึ่งเป็นช่วงที่ Growth hormone หลั่งออกมามากที่สุด  9.) กินอาหารที่มีแคลเซียมสูงเช่น ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง เต้าหู้แข็ง ผักสีเขียวเข้ม เช่น คะน้า ตำลึง ผักกาดเขียว พร้อมการออกกำลังกาย แต่ถ้าเห็นว่ามันยากนัก (เพราะเด็กในปัจจุบันชอบเล่นแต่โทรศัพท์มือถือ) ทางออกที่ง่ายกว่าคือ การกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิด CBP หรือ Concentrated Bioactive Protein ที่มีในนมวัว         กล่าวกัน (ในโฆษณา) ว่า ในนมวัว 1 ลิตรมี CBP เพียง 1.5 มิลลิกรัมเท่านั้น ดังนั้นในสายตาของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงคิดว่า การดื่มนมเพียงอย่างเดียวดูจะได้ CBP ไม่พอต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ต้องมีตัวช่วยมาเสริมให้เด็กมีโอกาสสูงได้เต็มศักยภาพที่ควร โดยการกิน CBP ที่ถูกอัดไว้ในแคปซูลที่วางขายในตลาดเมืองไทยและระบุว่า ใน 1 แคปซูล มี CBP สูงถึงเกือบ 100  มิลลิกรัม ซึ่งถ้าคำนวณด้วยบัญญัติไตรยางศ์แล้วการกินสินค้า 1 แคปซูล ดูเสมือนได้กินนมกว่า 50 ลิตร พร้อมด้วยวิตามินบางชนิดที่จำเป็นต่อความสูง (ในปริมาณที่น่าจะเกินพอต่อความต้องการของร่างกายในหนึ่งวัน) เพื่อช่วยเสริมสร้างมวลกระดูกและกล้ามเนื้อของผู้กิน ซึ่งจริงแล้วต้องมีปัจจัยอื่นเสริมด้วย คือ พันธุกรรมที่อาจเป็นอุปสรรคได้ เพราะถ้าเถือกเถาเหล่ากอตัวเตี้ยมาตลอดลูกหลานคงไม่สูงเกินศักยภาพทางพันธุกรรม ยกเว้นมีการกลายพันธุ์         สรุปแล้วมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างถึง CBP ซึ่งมีคุณสมบัติในการเพิ่มส่วนสูงของผู้บริโภคตั้งแต่วัย 3-18 ปี โดยช่วยให้มีสัดส่วนความสูงที่สมบูรณ์แบบ กระดูกแข็งแรง เสริมสร้างกล้ามเนื้อ จนดูหุ่นดี และสินค้านี้ยังช่วยป้องกันโรคกระดูกเปราะ กระดูกพรุน ในผู้บริโภคผู้ใหญ่ใกล้วัยชรา อย่างไรก็ตาม prerequisite (แปลเป็นไทยว่า ข้อกำหนดเบื้องต้น) คือ ผู้บริโภคต้องมีสตางค์พอ เพราะราคาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนี้ตกแคปซูลละ 17 บาท ถึง 50 บาท ขึ้นกับว่าขายบนแพลทฟอร์มออนไลน์ใด (หรืออาจขึ้นอีกว่าเป็นของแท้ด้วยหรือไม่)         ประเด็นที่น่าสนใจคือ CBP นั้นมีแนวโน้มในการช่วยเด็กให้เติบโตเพิ่มขึ้นจริงหรือ แนวคำตอบคือ ถ้าเด็กชายที่เข้าสู่วัยรุ่นคนหนึ่งมีศักยภาพที่จะสูงได้ 180 เซนติเมตร ตามพันธุกรรมของตระกูล (คือมีคนในตระกูลที่เป็นผู้ชายสูงได้เฉลี่ยประมาณนี้) แต่มีพฤติกรรมชีวิตที่ไม่เหมาะสมเช่น กินอาหารไม่ครบห้าหมู่ นอนดึก ไม่ออกกำลังกาย เอาแต่เล่นเกมส์ในมือถือ ฯลฯ โอกาสสูงถึง 180 เซนติเมตรย่อมน้อยลง ถึงจะกิน CBP ตามที่ฉลากบอกไว้ก็คงหวังยาก แต่ถ้ากินแล้วปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมแบบที่วัยรุ่นที่ดีควรทำ ความสูงก็ควรขึ้นได้ถึงจุดที่ควรเป็น         ต้นแบบของ CBP นั้นคือ เวย์โปรตีน         ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นต้นแบบของ CBP นั้นคือ เวย์โปรตีน ซึ่งน่าจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและลดน้ำหนักจากการออกกำลังกายได้ เพราะมีบทความวิชาการที่อ้างว่า โปรตีนในนมมีผลต่อมวลกล้ามเนื้อของผู้บริโภค บทความนั้นชื่อ Dietary protein recommendations and the prevention of sarcopenia (sarcopenia หมายถึง ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย) ในวารสาร Current Opinion in Clinical Nutrition & Metabolic Care ของปี 2009 ซึ่งให้ข้อมูลประมาณว่า มวลกล้ามเนื้อของมนุษย์ลดลงตามธรรมชาติเมื่ออายุเพิ่มขึ้นโดยมีไขมันเข้ามาแทนและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์ในองค์ประกอบของร่างกายนั้นสามารถชะลอ ป้องกัน หรือย้อนกลับได้บ้างเป็นบางส่วน ด้วยการฝึกความแข็งแรงควบคู่ไปกับการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนสูงหรืออาหารเสริมที่มีโปรตีน         สิ่งที่ผู้อ่านบางท่านอาจไม่เคยสนใจรู้คือ สมัยก่อนถือว่าเวย์โปรตีนเป็นของเหลือจากการผลิตเนยเหลวหรือ butter และเนยแข็งคือ cheese ทั้งนี้เพราะนมสดที่ได้มาสดๆ และยังไม่ได้ดำเนินการใดนั้น เมื่อทิ้งไว้สักพักจะเกิดการแยกส่วนและตกตะกอน โดยส่วนที่มีไขมันสูงซึ่งมีความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำจะแยกตัวลอยขึ้นมาอยู่ชั้นบนเป็นครีม (cream) ที่ถูกแยกนำไปใช้ทำเนย butter ในขณะที่เนยแข็งหรือ cheese นั้นทำมาจากส่วนที่ตกตะกอนอยู่ชั้นล่างซึ่งอุดมไปด้วยโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนสุดท้ายที่เหลือคือ ของเหลวซึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็นโปรตีนที่ละลายน้ำได้ดี กรดอะมิโนอิสระบางชนิดรวมถึงวิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมนั้นนิยมนำของเหลวนี้ไปใช้ทำอาหารสัตว์ แล้วพบว่าสัตว์เจริญเติบโตได้ดี จึงมีการศึกษาของเหลวส่วนนี้อย่างจริงจังแล้วก็พบว่า มีโปรตีนสำคัญที่มีองค์ประกอบเป็นกรดอะมิโนชนิด branched-chain amino acid  ได้แก่ ลิวซีน (leucine), ไอโซลิวซีน (isoleucine), และ เวลีน (valine) ในสัดส่วนที่สูง กรดอะมิโนทั้งสามมีความสำคัญต่อการสร้างโปรตีนของกล้ามเนื้อทดแทนส่วนที่สูญเสียระหว่างการออกกำลังกายหนักและใช้แป้งเป็นพลังงานหมดไปแล้ว จนต้องสลายโปรตีนของกล้ามเนื้อระหว่างการออกกำลังกายหนัก เพราะกรดอะมิโนทั้งลิวซีน ไอโซลิวซีนและเวลีนนั้นถูกนำไปใช้เป็นพลังงานได้ ดังนั้นเมื่อใดที่ออกกำลังกายจนได้กลิ่นแอมโมเนีย ซึ่งเปลี่ยนมาจากกลุ่มอะมิโนของกรดอะมิโนทั้งสามที่ถูกตัดออกเพื่อเอาส่วนที่เหลือไปผลิตเป็นสารเข้าสู่กระบวนการสร้างพลังงาน         ทุกวันนี้ในท้องตลาดมีเวย์โปรตีนขายอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน โดยชนิดที่มีราคาถูกสุดคือ เวย์โปรตีนคอนเซนเทรท (whey protein concentrate) ซึ่งมีความเข้มข้นโปรตีนอยู่ประมาณ 70-80% มีลักษณะเป็นผงสีครีมอ่อน กลิ่นรสตามธรรมชาติเหมือนนม ส่วนเวย์โปรตีนไอโซเลต (whey protein isolate) ซึ่งได้จากการนำเวย์โปรตีนคอนเซนเทรทมาผ่านกระบวนการผลิตเพิ่มความเข้มข้นของโปรตีนสูงถึงกว่า 90% พร้อมทั้งราคาเพิ่มขึ้น ชนิดที่สามคือ เวย์โปรตีนไฮโดรไลเซต (whey protein hydrolysate) นั้นเป็นการนำเวย์โปรตีนมาย่อยด้วยเอ็นซัมเฉพาะเพื่อเปลี่ยนโมเลกุลของโปรตีนให้เล็กลงเป็นเปปไทด์ที่มีความบริสุทธิ์สูงถึงเกือบ 100% ซึ่งตามหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้วเปปไทด์ถูกร่างกายดูดซึมได้ดีกว่าโปรตีน และมีงานวิจัยทางคลินิกแสดงให้เห็นว่า เวย์โปรตีนช่วยส่งเสริมภาวะโภชนาการที่ดีและอื่นๆ         บทความชื่อ Consumption of fat-free fluid milk after resistance exercise promotes greater lean mass accretion than does consumption of soy or carbohydrate in young, novice, male weightlifters ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition ของปี 2007 ให้ข้อมูลว่า การดื่มนมที่เอาไขมันออกไปแล้วเหลือแต่โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินและเกลือแร่นั้นช่วยในการซ่อมแซมกล้ามเนื้อของนักยกน้ำหนักวัยเยาว์ดีกว่าการดื่มนมถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีแป้ง         ในการโฆษณาขายสินค้านั้นมักระบุว่า เวย์โปรตีนมีกรดอะมิโนจำเป็นคือ ลิวซีน ซึ่งมีบทความเรื่อง Signaling pathways and molecular mechanisms through which branched-chain amino acids mediate translational control of protein synthesis ในวารสาร Journal of Nutrition ของปี 2006 ได้กล่าวว่า ลิวซีนเป็นกรดอะมิโนจำเป็นสูงที่ส่งเสริมการเจริญเติบโต ซึ่งรวมถึงการซ่อมแซมกล้ามเนื้อที่สูญเสียเมื่อเทียบกับกรดอะมิโนอื่นทำให้สรุปได้ว่า เวย์โปรตีนจึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการสูญเสียกล้ามเนื้อทั้งในเด็กวัยออกกำลังกายและผู้สูงวัยซึ่งกินโปรตีนต่ำกว่าที่ควร ข้อมูลในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เมื่อเชื่อและมีสตางค์พอซื้อสินค้าเหล่านี้กินได้น้นถือว่าเป็นบุญของผู้บริโภคที่มีกำลังทรัพย์พอซื้อของแพงกิน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 น้องชมพู่กับขน 3 เส้น

        เว็บ https://workpointtoday.com เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 มีหัวข้อข่าวเรื่อง “สรุปคดีลุงพลทุกมิติ โพสต์เดียวจบ” ตอนหนึ่งของบทความกล่าวว่า “...หลังจากผ่านไป 1 ปีเต็ม พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ว่า “คดีน้องชมพู่ยังไม่จบ แต่เรามีคำตอบให้แน่นอน ช้าเร็วอยู่ที่เรา และผมเชื่อว่ามีคำตอบที่สังคมพอใจแน่ เอาอย่างนี้แล้วกัน” โดยมีรายงานว่าตำรวจค้นพบ เส้นขนจำนวน “3 เส้น” อยู่ในจุดที่เกิดเหตุ โดยหลังจากตรวจ DNA แล้ว สามารถชี้ชัดได้ว่า ใครที่อยู่ใกล้ชิดกับน้องชมพู่ในวันนั้น         ประเด็นที่น่าสนใจคือ การใช้เส้นขนจำนวน 3 เส้น ซึ่งตกอยู่ข้างศพเด็กเพื่อตรวจหา DNA ว่าเป็นของใครนั้นจะตรวจสอบได้อย่างไร        วันที่ 2 มิถุนายน 2564 รายการข่าวสามมิติ ของสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลช่อง 33 รายงานประมาณว่า หลักฐานสำคัญในการคลี่คลายคดี คือ พยานหลักฐานทั้งหมด 16 ชิ้นได้จากที่เกิดเหตุโดยหลักฐานสำคัญ คือ เส้นผมทั้งหมด 36 เส้น ความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ซึ่งตรวจพบดีเอ็นเอของน้องชมพู่ และ เส้นขนไร้ราก 3 เส้น  จากนั้นจึงนำเส้นขนนี้ไปตรวจด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ที่มีความละเอียดระดับนาโนเมตร (synchrotron นั้น google translate อ่านออกเสียงตามภาษา phonetic ว่า sing-kruh-traan หรือประมาณว่า ซิ้ง-โคร-ตรอน ซึ่งผู้อ่านสามารถเลือกอ่านได้ว่า ให้คนที่รู้ภาษาอังกฤษรู้เรื่อง หรือ ให้เป็นไปตามการกำหนดการอ่านออกเสียงแบบไทย ๆ คือ ซิน-โคร-ตรอน)         แสงซินโครตรอน คืออะไร ในเว็บของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ให้ข้อมูลว่า เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเช่นเดียวกับแสงที่มาจากดวงอาทิตย์ แต่แสงซินโครตรอนนั้นคือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากอนุภาคที่มีประจุ เช่น อิเล็กตรอน ที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงเกือบเท่าความเร็วแสง และถูกบังคับให้เลี้ยวโค้งด้วยสนามแม่เหล็ก ทำให้อิเล็กตรอนสูญเสียพลังงานบางส่วน และปลดปล่อยออกมาในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เรียกว่า “แสงซินโครตรอน”         ส่วน Wikipedia ให้ข้อมูลเพิ่มเติมประมาณว่า จริงแล้วในการเลี้ยวโค้งในสนามแม่เหล็กของอิเล็กตรอนนั้น เส้นทางการวิ่งไม่ได้ทำเป็นวงกลมเสียทีเดียวแต่เป็นรูป polygon คือ มีหลายมุมมากจนดูคร่าว ๆ เป็นวงกลม การเกิดมุมบนเส้นทางวิ่งโค้งของอิเล็คตรอนนั้น ส่งผลให้อิเล็คตรอนสูญเสียพลังงานบางส่วนออกมาในรูปของแสง ซึ่งมีหลายรูปแบบ (เมื่อเสียความเร็วแล้วเข้าใจว่าอีเล็คตรอนจะถูกเร่งความเร็วใหม่ด้วยสนามแม่เหล็กอีก เป็นอย่างนี้ไปตลอดเส้นทาง...ผู้เขียน) เช่น ในรูปของแสงเอ็กซ์เรย์กำลังสูง ซึ่งมีการนำไปใช้ประโยชน์ในทางต่างๆ ในแนวทางเดียวกับการหาโครงสร้างของดีเอ็นเอในวิธีการที่เรียกว่า X-ray diffraction crystallography เมื่อเกือบ 70 ปีก่อน (ซึ่งมีเครื่องกำเนิดแสงเอ็กซ์เรย์แล้ว เพียงแต่มีกำลังต่ำกว่ามาก)         วิธีการของ X-ray diffraction crystallography นั้น James Dewey Watson และ Francis Harry Compton Crick ได้ใช้เป็นกระบวนการในการหาโครงสร้างของ DNA โดยประกาศว่า มีลักษณะเป็น double helix ในปี 1953 ผลงานดังกล่าวทำให้เขาทั้งสองและ Maurice Hugh Frederick Wilkins ได้รับรางวัล Noble Prize สาขา Physiology or Medicine ในปี 1962         ไทยรัฐออนไลน์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 มีบทความเรื่อง การตรวจ DNA จากเส้นผม เมื่อไม่เจอรากผม "ไมโทคอนเดรีย" คือความหวัง ท่านผู้อ่านพึงทราบว่า โดยทั่วไปแล้วเป็นที่เข้าใจโดยทั่วกันว่า ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตนั้นมี DNA อยู่ 2 ลักษณะคือ nucleus DNA (ซึ่งทั่วไปเรียกว่า DNA) และ mitochondrial DNA (ซึ่งมักเรียกกันว่า mDNA) โดย nucleus DNA นั้นมีอยู่ 2 ชุด (ชุดละ 2 สายพันกันอยู่เป็นเกลียว) ซึ่งเรียกแต่ละชุดว่า แท่งโครโมโซม (chromosome) ส่วน mDNA นั้นอยู่ในไมโตคอนเดรีย ซึ่งเป็น organelle ซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตสารให้พลังงานสูง (ATP) แก่เซลล์ และมี DNA ของตัวเองขนาดเล็ก (ซึ่งทำหน้าที่ต่างไปจาก nucleus DNA) ประเด็นที่น่าสนใจคือ ยิ่งเซลล์นั้นต้องทำงานมากเท่าไร จำนวนไมโตคอนเดรียต้องมีมากขึ้นเท่านั้น         ไทยรัฐออนไลน์ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564 อีกเช่นกัน มีข่าวเรื่อง ผู้เชี่ยวชาญแจง "น้องชมพู่" ไม่ใช่คดีแรก ที่ใช้เทคนิคซินโครตรอน โดยเนื้อข่าวส่วนหนึ่งกล่าวว่า “ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ลักษณะของการตรวจด้วยแสงซินโครตรอนไม่เหมือนการตรวจดีเอ็นเอ (ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ลำดับการเรียงตัวของเบสของกรดนิวคลิอิก..ผู้เขียน) แต่เป็นการตรวจข้อมูลทางกายภาพอื่น ๆ เพื่อนำไปประกอบในการสืบคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ต้องมีข้อมูลหลากหลาย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องสืบสวนว่า ใครทำอะไรอยู่ตรงไหน เกิดอะไรได้ขึ้น จากนั้นจึงนำข้อมูลในด้านต่างๆ มาประกอบจนได้ข้อสรุป แต่ข้อสรุปดังกล่าวจะถูกต้องและน่าเชื่อถือได้ขนาดไหนก็อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล ทางสถาบันซินโครตรอนมีหน้าที่ให้ข้อมูลส่วนหนึ่งที่นำประกอบในสำนวน”         ประเด็นที่ต้องคำนึงคือ นักวิทยาศาสตร์คงต้องพยายามอย่างหนักในการอธิบายถึง ผลที่ได้จากการใช้แสงซินโครตรอนสามารถพิสูจน์เอกลักษณ์ที่เหมือนกันระหว่าง mDNA ในไมโตรคอนเดรียของตัวอย่างขนและ mDNA ในไมโตคอนเดรียจากขนของแม่ของผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ให้ศาลเข้าใจและยอมรับได้นั่นเอง         แล้วสิ่งที่ท่านผู้อ่านควรรู้ก็คือ mDNA นั้น มนุษย์ทุกคนได้มาจากแม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับพ่อ เพราะในการผสมกันระหว่างไข่และอสุจินั้น ส่วนของหางอสุจิจากพ่อ ซึ่งมีไมโตคอนเดรียต้องหลุดไป ไม่ได้เข้าไปในไข่ของแม่ (มีแค่โครโมโซมของพ่อเท่านั้นที่เข้าไปได้) ดังนั้นเมื่อการผสมของเซลล์ทั้งสองเสร็จ ได้เซลล์ที่เรียกว่า zygote นั้น ไมโตคอนเดรียที่ zygote ใช้ในการสร้างพลังงานเพื่อการแบ่งตัวจึงมาจากแม่อย่างเดียว ความรู้นี้สร้างประเด็นที่เป็นคำถามคือ ในเส้นขนหรือเส้นผมซึ่งขาดรากหรือหมายความง่ายๆ ว่า ไม่มีตัวเซลล์อยู่นั้นมี mDNA ด้วยหรือ และเส้นขนนั้นไม่ใช่ส่วนของร่างกายที่ต้องการพลังงานสูงนัก จึงไม่น่ามีจำนวน mDNA สูงแต่อย่างใด         มีหลายเว็บที่เป็นภาษาไทยอธิบายความหมายของส่วนของเส้นขน ซึ่งภาษาอังกฤษคือ hair shaft คลาดเคลื่อนว่า “เป็นเซลล์ส่วนที่ตายแล้ว ไม่มีชีวิต และความรู้สึก เป็นส่วนที่งอกเจริญยาวออกมาปกคลุมศีรษะ” ทั้งที่จริงแล้ว hair shaft นั้นในตำราหลายเล่มกล่าวว่าเป็น a protein filament that grows from follicles found in the dermis. ซึ่งแปลง่ายๆ ว่า เป็นเส้นใยโปรตีนที่เติบโตจากรูขุมขนที่พบในผิวหนังชั้นหนังแท้         หลายบทความวิชาการทางนิติวิทยาศาสตร์ได้กล่าวว่า ส่วนของเส้นขนหรือเส้นผมที่ไม่มีราก (hair shaft) นั้นมี mDNA ด้วยทั้งที่ไม่ได้เป็นเซลล์ เช่น บทความเรื่อง Forensic applications of mDNA ในวารสาร Trends in Biotechnology หรือ Tibtech ของเดือนเมษายน 1998 ได้อธิบายถึงการใช้ mDNA ในส่วนของเส้นขนที่ไม่มีราก (hair shaft) ในการพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งผู้เขียนเข้าใจจากการอ่านบทความว่า ไมโตคอนเดรียนั้นถูกดันออกไปพร้อมโปรตีนที่ทำให้เส้นผมยาวออกไปเรื่อยๆ         แต่บรรดาแถลงข่าวเกี่ยวกับการใช้แสงซินโครตรอนเพื่องานด้านนิติวิทยาศาสตร์นั้น  ไม่มีการกล่าวถึงรายละเอียดแต่อย่างใดในการพิสูจน์ mDNA ดังนั้นผู้สนใจในเรื่องนี้อาจต้องมโนเองว่า มีการเพิ่มจำนวน mDNA ที่สกัดได้จากเส้นขนแค่ 3 เส้น ด้วยวิธีการในห้องปฏิบัติการ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการที่เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction) จนได้ mDNA มากพอที่จะตกผลึกได้ จากนั้นจึงนำผลึกไปใช้ในการศึกษาด้าน X-ray diffraction crystallography (แบบที่ Watson และ Crick เคยอธิบายเมื่อเกือบ 70 ปีมาแล้ว) ด้วยแสงซินโครตรอนเพื่อให้ได้ภาพถ่าย mDNA จากขนที่เป็นวัตถุพยานไปเทียบกับภาพถ่ายของ mDNA จากขน (ซึ่งน่าจะเป็นเส้นผม) ของแม่ของผู้ต้องสงสัยว่า อยู่ในบริเวณที่พบศพผู้เคราะห์ร้าย ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้ความสามารถระดับสูงเป็นอย่างยิ่ง         ดังนั้นผู้ที่สนใจข่าวนี้ในแง่ของการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไขปัญหาคดีการฆาตกรรมนั้น ควรมีความอดทน อย่าเบื่อและอย่าลืม ติดตามผลสุดท้ายของคดีนี้ ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ความมหัศจรรย์ของการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อไขความจริงในคดีฆาตกรรมอีกครั้งหนึ่งในประเทศไทย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 ฟ้าทะลายโค (วิด)

        มีผู้โพสต์คลิปบ้างและจัดรายการสดบ้างใน YouTube แนะนำให้ผู้บริโภคที่เริ่มสงสัยตนเองว่าติดเชื้อก่อโรค covid-19 กินสมุนไพรฟ้าทะลายโจรบรรจุในแคปซูล โดยวิธีการกินนั้น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้แนะนำไว้ (ในเอกสารรูปแบบ pdf เรื่อง คำแนะนำการใช้ฟ้าทะลายโจร-บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเข้าไปดาว์นโหลดได้ที่ https://thaicam.go.th/26042020)         ประมาณว่า “สำหรับผู้ที่ได้รับการตรวจพบเชื้อโควิด-19 แล้วแต่ยังไม่มีอาการป่วย ควรกินสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) ปริมาณ 20 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน และเย็น (รวม 60 มิลลิกรัมต่อวัน) ติดต่อกันนาน 5 วัน ส่วนผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงและไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงอื่นๆ มีคำแนะนำให้กินสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ปริมาณ 60 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้ากลางวัน และเย็น (รวม 180 มิลลิกรัมต่อวัน) ติดต่อกันนาน 5 วัน”         สำหรับในการแถลงข่าวทางโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ออนไลน์ต่างๆ กระทรวงสาธารณสุขโดยอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ให้ข้อมูลว่า แม้สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ไม่สามารถนำมาใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้ แต่สารแอนโดรกราโฟไลด์ในสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ฆ่าไวรัสและแบคทีเรีย ลดไข้ ลดอาการอักเสบ ส่งเสริมภูมิคุ้มกัน โดยมีผลการทดลองจากโรงพยาบาล 9 แห่งพบว่า การให้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรจำนวน 180 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งเป็นสามมื้อให้กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการน้อยจำนวน 304 ราย กินต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วันแล้วมีอาการดีขึ้นและไม่มีอาการข้างเคียงรุนแรง อย่างไรก็ดีได้มีคำแนะว่า หลังผู้เริ่มป่วยกินทันทีเมื่อมีไข้แล้ว หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วันให้รีบพบแพทย์        นอกจากนี้ใน www.bangkokbiznews.com ยังมีบทความเรื่อง ไขข้อสงสัย 'ฟ้าทะลายโจร' รักษา - ป้องกัน 'โควิด-19' ได้หรือไม่ ซึ่งให้ข้อมูลว่า หลายหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับโรงพยาบาลสมุทรปราการศึกษาในผู้ป่วยที่ติดเชื้อกลับจากต่างประเทศแล้วถูกกักตัวใน State Quarantine นั้นพบว่า ผู้ป่วยที่กินสารสกัดฟ้าทะลายโจรมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 ของการได้รับสารสกัดโดยไม่มีอาการข้างเคียงซึ่งตรวจวัดได้จากค่าการทำงานของตับและไตที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ         ฟ้าทะลายโจรที่มีวางขายอย่างแพร่หลายในลักษณะยาสมุนไพรนั้น มักเป็นการนำใบแห้งมาบดเป็นผงบรรจุแคปซูลขนาด 500 มิลลิกรัม ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยแล้ว ควรพบสารแอนโดรกราโฟไลด์ราว 20 มิลลิกรัม อย่างไรก็ดีในการโฆษณาขายยาฟ้าทะลายโจรนั้น ในบางกรณีอาจก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้บริโภค เพราะยาฟ้าทะลายโจรบางยี่ห้อนั้นโฆษณาว่า เป็นสารสกัดฟ้าทะลายโจร ซึ่งโดยทั่วไปแล้วน่าจะหมายถึง การนำเอาฟ้าทะลายโจรแห้งมาบดสกัดในตัวทำละลายเช่น แอลกอฮอล์ 95% ก่อนแล้วจึงนำสารที่สกัดได้ในรูปของเหลวไปทำให้กลายเป็นผงแห้ง น่าจะทำให้ได้สารแอนโดรกราโฟไลด์ในปริมาณที่เข้มข้นขึ้นกว่าการกินในลักษณะผงที่ได้จากการบดใบแห้ง ผู้บริโภคจำเป็นต้องสอบถามความชัดเจนจากเภสัชกรที่เป็นผู้ขายก่อนว่า สินค้าที่ขายนั้นเป็นผงใบแห้งหรือสารสกัดจากใบ และต้องกินเท่าใดจึงจะได้แอนโดรกราโฟไลด์ตามที่กรมการแพทยแผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแนะนำ ข้อมูลในลักษณะนี้อาจขาดหายไปเมื่อสินค้านั้นถูกขายออนไลน์ (ดูคำแนะนำการใช้ที่ กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ)         ข้อมูลเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 จากเว็บของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์กล่าวว่า ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์วา Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees นอกจากนี้ยังมีชื่อสามัญอื่น ๆ อีกว่าฟ้าทะลาย หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน สามสิบดี คีปังฮี เป็นต้น ฟ้าทะลายโจรส่วนของต้นเหนือดินมีสารสำคัญกลุ่มไดเทอร์ปีนแลคโตน (diterpene lactones) หลายชนิด ได้แก่ แอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide), นีโอแอนโดกราโฟไลด์ (neoandrographolide), ดีออกซีแอนโดกราโฟไลด์ (deoxyandrographolide), 14-ดีออกซี-11,12-ไดดีไฮโดรแอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide) ซึ่งสารสำคัญเหล่านี้มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาแตกต่างกันไป         Wikipedia ให้ข้อมูลที่น่าสนใจประการหนึ่งว่า อนุพันธุ์หนึ่งของแอนโดรกราโฟไลด์ที่ได้จากการสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการชื่อ Xiyanping (ซิ-เหยีน-ผิง) ได้ถูกผลิตในประเทศจีนเพื่อใช้ในรูปยาฉีดเพื่อต่อต้านไวรัสหลายชนิดนั้น ให้ผลในลักษณะเดียวกับสารแอนโดรกราโฟไลด์ธรรมชาติ แต่อาจก่ออาการแพ้ได้ เช่น มีผื่นแดงและตุ่มคันรอบ ๆ บริเวณที่ฉีด ตลอดไปจนถึงก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรง  จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตและที่น่ากังวลคือ พบว่าซิเหยีนผิงทำให้สัตว์ทดลองแท้งลูก ดังนั้นจึงไม่เหมาะสำหรับการใช้ในสตรีมีครรภ์ ซึ่งข้อมูลจาก Wikipedia นี้เป็นการยืนยันถึงข้อห้ามการใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรในหญิงมีครรภ์ดังกล่าวข้างต้น         ข้อมูลเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของฟ้าทะลายโจรนั้นมีผลการศึกษาหลายเรื่อง ที่น่าสนใจ เช่น งานวิจัยจากประเทศอินเดียเรื่อง Immunostimulant Agents From Andrographis Paniculata ตีพิมพ์ใน Journal of Natural Products ของปี 1993 กล่าวว่า สารสกัดฟ้าทะลายโจรด้วยเอทานอล 95% สามารถกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีเพื่อการตอบสนองต่อเซลล์เม็ดเลือดแดงแกะ (SRBC) ที่ฉีดเข้าสู่ร่างกายหนูอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีการกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันเป็นแบบไม่เฉพาะเจาะจง (nonspecific immune response) กล่าวคือ เมื่อดูการเพิ่มจำนวนเซลล์แมคโครฟาจและการเพิ่มจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดขาวในม้ามนั้น ปรากฏผลว่า สารสกัดฟ้าทะลายโจรสามารถกระตุ้นกระตุ้นการเพิ่มเซลล์ดังกล่าวในลักษณะเดียวกันของแอนโดรกราโฟไลด์บริสุทธิ์ (เมื่อปรับปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ให้เท่ากัน) เพียงแต่ผลจากสารสกัดนั้นสูงกว่าซึ่งชี้ให้เห็นว่า สารธรรมชาติอื่นที่ไม่ใช่แอนโดรกราโฟไลด์ที่มีอยู่ในสารสกัดอาจมีส่วนในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วย         ในการศึกษาเพื่อดูว่าองค์ประกอบใดในฟ้าทะลายโจรที่ควรนำไปพัฒนาเป็นยาต้านการรุกรานของไวรัสที่ก่อโรค covid-19 นั้นบทความเรื่อง Computational investigation on Andrographis paniculata phytochemicals to evaluate their potency against SARS-CoV-2 in comparison to known antiviral compounds in drug trials ในวารสาร Journal of Biomolecular Structure and Dynamics ของปี 2020 ได้ศึกษาโดยใช้รูปแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ดูความสามารถของสารพฤกษเคมี 4 ชนิด ซึ่งพบได้ในฟ้าทะลายโจร ได้แก่ andrographolide, 14-deoxy 11,12-didehydro andrographolide, neoandrographolide และ 14-deoxy andrographolide ในการเข้าจับกับเป้าหมายหลักซึ่งเป็นโปรตีน 4 ชนิดของไวรัสซึ่ง สองชนิดเป็นเอ็นซัมโปรตีเอส หนึ่งชนิดคือเอ็นซัม RNA-direct RNA polymerase (เอ็นซัมสำคัญในการเพิ่มปริมาณองค์ประกอบของ SARS-CoV-2) และหนามโปรตีน (spike protein) ของไวรัส ซึ่งข้อมูลจากการศึกษาในภาพรวมชี้ให้เห็นว่า neoandrographolide น่าจะถูกใช้เป็นยาสำหรับการบำบัดการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศกำลังพัฒนา เพราะมีผลในการจับรูปแบบโปรตีนของไวรัสดีที่สุด         ในการทบทวนเอกสารเกี่ยวกับสารธรรมชาติที่น่าจะมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสก่อ covid-19 นั้น มีบทความเรื่อง Combating COVID-19: The role of drug repurposing and medicinal plants ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Infection and Public Health ของปี 2021ให้ข้อมูลว่า แอนโดรกราโฟไลด์ในฟ้าทะลายโจรนั้นมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและเป็นสารต้านไวรัสแบบไม่จำกัด (broad spectrum) โดยยับยั้งเชื้อไวรัส Influenza A virus (H9N2, H5N1 และ H1N1), ไวรัส Hepatitis B และ C, ไวรัส Herpes simplex, ไวรัส Epstein–Barr, ไวรัส Human papilloma, ไวรัส HIV และไวรัส Chikungunya         ส่วนในกรณีของการต้านไวรัส SARS-CoV-2 นั้นมีรายงานผลการวิจัยที่เป็นความร่วมมือของหลายคณะในมหาวิทยาลัยมหิดลและโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ตีพิมพ์ในวารสาร bioRxiv เมื่อ 8 ธันวาคม 2020 เรื่อง Anti-SARS-CoV- 2 activity of Andrographis paniculata extract and its major component Andrographolide in human lung epithelial cells and cytotoxicity evaluation in major organ cell representatives ที่ให้ข้อมูลว่า ทั้งสารสกัดฟ้าทะลายโจรด้วยเอทานอล 95% หรือแอนโดรกราโฟไลด์บริสุทธิ์นั้นสามารถยับยั้งการเจริญของไวรัส SARS-CoV-2 ในเซลล์ปอดมนุษย์ (Calu-3) ที่เลี้ยงในหลอดทดลอง ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาฟ้าทะลายโจรที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ  1) ห้ามใช้ยาฟ้าทะลายโจรในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร2) ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไข้เจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง หนาวสั่น3) ห้ามใช้ในผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ฟ้าทะลายโจร หากไม่เคยมีประวัติแต่เมื่อใช้ยาแล้วมีอาการแพ้ เช่น เกิดผื่น ลมพิษ หน้าบวม ริมฝีปากบวม หายใจลำบาก ให้หยุดใช้ยาทันที4) ควรระวังในผู้ที่ใช้ยาที่มีผลต่อเลือดเช่น วาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ยาลดความดันโลหิต เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ข่าวดีเพิ่มเติมจากยาสูบ

        ข้อมูลส่วนใหญ่ที่สืบค้นได้ในประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้ยาสูบสายพันธุ์ออสเตรเลียสู้ไวรัสนั้น มักเป็นไปในด้านการดัดแปลงพันธุกรรมให้ใบยาสูบสร้างโปรตีนที่เป็นแอนติบอดีสู้กับเชื้อโรค (neutralizing antibody) ดังที่เล่าให้ฟังในฉลาดซื้อประจำเดือนมีนาคม 2564 อย่างไรก็ดีได้มีคำถามถึงการใช้ใบยาสูบเพื่อผลิตโปรตีนที่ทำหน้าที่ในวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต้านเชื้อโรคมีบ้างไหม ซึ่งคำตอบคือ มี         บทความชื่อ Potential Applications of Plant Biotechnology against SARS-CoV-2 ตีพิมพ์ในวารสาร Trends in Plant Science ในปี 2020 นั้น ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการหาทางต่อสู้ covid-19 โดยอาศัยใบยาสูบช่วยในการผลิตวัคซีน ข้อความส่วนหนึ่งในบทความกล่าวประมาณว่า...         “อย่างน้อยก็มีบริษัทหนึ่งที่คิดจะพัฒนาวัคซีน covid-19 โดยอาศัยการแสดงออกของยีน (เพื่อสร้างหน่วยย่อยโปรตีนจาก SARS-CoV-2) ในใบยาสูบ บริษัทนั้นคือ Kentucky BioProcessing ในเมือง Owensboro รัฐเคนตักกี สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ British American Tobacco อย่างไรก็ดีรายละเอียดนั้นยังไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ โดยมีข้อมูลเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นการใช้ลำดับโปรตีน S1 ซึ่งเป็นโพลีเป็บไทด์ที่เป็นองค์ประกอบส่วนที่แสดงความแตกต่างระหว่างหนามโปรตีน (spike protein) ของ SARS-CoV-2 และหนามโปรตีนของ coronavirus ชนิดอื่น มาถอดเป็นรหัสพันธุกรรมแล้วใส่เข้าไปในเซลล์ของใบยาสูบ เพื่อบังคับให้ใบยาสูบสร้างโปรตีนซึ่งสามารถแยกออกเป็นโปรตีนบริสุทธิ์ที่มีศักยภาพเป็นแอนติเจน เพื่อใช้ทำเป็นวัคซีนสำหรับฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้าน SARS-CoV-2 ในคน”         กลับมาที่แอนติบอดีที่ผลิตจากใบยาสูบ ซึ่งปรากฏเป็นข่าวในแง่ความปลอดภัยว่าผ่านหรือไม่นั้น ในเว็บ www.sanook.com เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 มีหัวข้อข่าวเรื่อง บริษัทยาสหรัฐแตะเบรก ระงับการทดลองแอนติบอดีรักษาโควิด-19 เหตุกังวลความปลอดภัย บริษัทที่ข่าวกล่าวถึงคือ Eli Lilly & Co ซึ่งได้แถลงการณ์ว่า คณะกรรมการติดตามความปลอดภัยด้านข้อมูลของบริษัทจาก US.FDA ได้แนะนำให้บริษัทระงับการรับอาสาสมัครทดลองการฉีดแอนติบอดีในโครงการทดลองซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยแอนติบอดีชนิดนี้เป็นโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) ที่ Eli Lilly & Co ต้องการใช้บำบัดอาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ควบคู่กับการใช้ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ของบริษัทกิลเลียด ไซแอนเซส (Gilead Sciences)         ต่อมาในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ได้มีข่าวปรากฏใน https://www.prnewswire.com กล่าวว่า Lilly's neutralizing antibody bamlanivimab (LY-CoV555) receives FDA emergency use authorization for the treatment of recently diagnosed COVID-19 และเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ในเว็บ https://www.biopharma-reporter.com มีข่าวเรื่อง Canada grants emergency use authorization to Lilly’s COVID-19 antibody, drug maker in strategic manufacturing deal with Samsung ซึ่งเป็นการแสดงว่ามีการอนุมัติแบบฉุกเฉินในการใช้ neutralizing antibody เป็นยาในคนไข้วิกฤตบางกลุ่มเป็นกรณีพิเศษแล้ว         Bamlanivimab เป็นโปรตีนแอนติบอดีที่สามารถจับตัวกับหนามโปรตีนของไวรัส เพื่อยับยั้งการเข้าสู่เซลล์มนุษย์ โดยมีข้อแม้ในการใช้ยาตัวนี้คือ ต้องเป็นคนไข้ covid-19 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่มีอาการไม่หนักหรือถ้าเป็นเด็กจะต้องมีอายุมากกว่า 12 ปีและมีน้ำหนักอย่างน้อย 40 กิโลกรัม ซึ่งแพทย์ต้องประเมินว่า ถ้าไม่ได้รับการบำบัดด้วยยานี้แล้วมีแนวโน้มว่า จะมีอาการหนักเมื่อเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาล        Bamlanivimab นี้ห้ามใช้กับผู้ป่วยใน (Inpatient) ของโรงพยาบาลซึ่งป่วยเนื่องจาก covid-19 ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและผู้ป่วยที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำ (ผู้เขียนเข้าใจว่าเนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้อยู่ในขั้นวิกฤตที่เกิดจาก cytokine storm คือสภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาดและตอบสนองด้านการอักเสบแบบโหมกระหน่ำเกินภาวะควบคุมได้ ส่งผลให้มีการทำลายเซลล์ปอดในคนไข้หลายคน) ยานี้ผ่านการประเมินทั้ง 3 ระยะแล้วในคน แต่ผลจากการประเมินนั้น US.FDA ไม่ประทับใจนัก ซึ่งดูได้จากการกำหนดให้มีข้อแม้ในการใช้ยามากมายซึ่งหาดูได้จากเอกสารหลายชิ้นที่ Eli Lilly & Co เผยแพร่ในเว็บของบริษัท         ตัวอย่างที่สำคัญของข้อมูลที่เป็นข้อจำกัดห้ามใช้คือ ผู้ป่วยต้องไม่เป็น 1. คนขี้แพ้ (allergies) 2. คนท้องหรือเตรียมจะท้อง 3. แม่กำลังให้นมลูก 4. คนไข้โรคร้ายแรงอื่น ๆ หรือ 5. ผู้ที่กำลังกินยาหรือวิตามินเสริมใด ๆ เพื่อการบำบัดโรค และที่สำคัญคือ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยจำเป็นต้องให้สู่หลอดเลือดดำโดยผ่านสายน้ำเกลือในปริมาณสูงถึง 700 มิลลิกรัมต่อ 20 มิลลิลิตร ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงได้ถึงขั้น “ตาย” หรืออยู่โรงพยาบาลนานขึ้น เป็นต้น         ต่อคำถามที่อาจมีคือ แอนติบอดีชนิดใดบ้างถูกใช้ในการบำบัดโรคเนื่องจากไวรัสได้จริงแล้วหรือไม่ นั้น ผู้เขียนได้สืบข้อมูลพบว่า มีหลายบทความในอินเตอร์เน็ตที่กล่าวถึงยาชื่อ ZMapp ของ Eli Lilly & Co ที่เคยมีเป็นความหวังในการใช้บำบัดโรค Ebola ที่เกิดจากไวรัสชื่อ Zaire ebolavirus โดยโรคนี้ติดต่อจากคนสู่คน (Human to human transmission) ผ่านการสัมผัสเมือกหรือสารคัดหลั่ง (ปัสสาวะ น้ำลาย เหงื่อ อุจจาระ อาเจียน น้ำนมหรือน้ำอสุจิ) ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าสัตว์บางชนิดอาจเป็นพาหะ ได้แก่ ค้างคาวผลไม้ (Fruit Bat) และลิง เป็นต้น         อาการของการติดเชื้อไวรัสอีโบลาโดยทั่วไปเหมือนการติดเชื้อไข้เลือดออกคือ มีอาการไม่เฉพาะเจาะจง ประกอบไปด้วยอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว แต่อาการจะรุนแรงขึ้นถึงขั้นมีเลือดออก ตาเหลือง ตัวเหลือง การทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว นอกจากนี้ให้สงสัยไว้ก่อนในผู้ที่มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา และ/หรือ มีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลาว่า เป็นผู้อาจติดเชื้อ ซึ่งโดยทั่วไปมักเริ่มมีอาการตั้งแต่ 2-21 วันภายหลังจากสัมผัสกับเชื้อ โรคอีโบลานี้มีความรุนแรงมากเพราะมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึงราวร้อยละ 50         จากบทความเรื่อง Fighting Ebola with ZMapp: spotlight on plant-made antibody ใน Scientific China Life Sciences ของปี 2014 (doi: 10.1007/s11427-014-4746-7) และบทความเรื่อง Ebola 'Secret Serum': Small Biopharma, The Army, And Big Tobacco ในเว็บ www.forbes.com รวมถึงข้อมูลจาก Wikipedia ทำให้ประมวลรู้เรื่องของ ZMapp ว่า ยานี้ผลิตภายใต้กระบวนการแบบโมโนโคลนอลแอนติบอดีซึ่งมีหลายวิธี แต่วิธีที่เกิดจากการดัดแปลงพันธุกรรมของยาสูบออสเตรเลีย (Nicotiana bethamiana) นั้นเป็นความพยายามของบริษัท Kentucky BioProcessing Inc. ซึ่งหวังว่าจะเป็นยาที่อาจช่วยชีวิตชาวโลกจากโรคอีโบลา         จากข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับ ZMapp นั้นกล่าวประมาณว่า โปรตีนนี้เป็นยาชีวเภสัชภัณฑ์ซึ่งประกอบด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่เป็น chimeric antibodies 3 ชนิดที่ถูกพัฒนาให้ทำงานร่วมกันเพื่อบำบัดโรคอีโบลา คำว่า Chimeric antibody นั้นหมายถึง แอนติบอดีลูกผสมที่เกิดจากการต่อโปรตีนส่วน Fab (ส่วนของแอนติบอดีที่เปลี่ยนแปลงไปตามแอนติเจนที่ต่างกัน) ซึ่งมักผลิตได้จากสัตว์ทดลอง (เช่นหนู) กับโปรตีนส่วน Fc (ส่วนของแอนติบอดีที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามแอนติเจนที่ต่างกัน) ของแอนติบอดีจากมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อลดการกระตุ้นให้เกิดการสร้างแอนติบอดีที่ต่อต้านโปรตีนที่ใช้เป็นยา (ในที่นี้คือ ZMabb) ให้น้อยลง         ยา ZMapp ได้รับการทดสอบกับสัตว์เท่านั้นและยังไม่ได้รับการทดลองแบบ randomized controlled trial ในคน แต่จำเป็นต้องใช้ในมนุษย์อย่างรีบด่วนเพราะในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2014 เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ชาวอเมริกัน 2 คน ชื่อ Dr. Kent Brantly (อาสาสมัครวัย 33 ปีของ โครงการของ Samaritan's Purse ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรของกลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์) และ Nancy Writebol (อาสาสมัครวัย 59 ปี ที่ไปทำงานช่วยคนไข้อีโบลา) ได้ติดเชื้อในระหว่างการดูแลผู้ป่วยอีโบลาในไลบีเรีย ซึ่งหลังจากได้ยา ZMapp แล้วผู้ป่วยทั้งสองอ้างว่า รู้สึกดีขึ้นและออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2014 ซึ่งเป็นข่าวโทรทัศน์ที่หาดูได้จาก YouTube เรื่อง How to grow an Ebola vaccine with a tobacco plant (https://www.youtube.com/watch?v=uCW6qeJt-JA)         National Institute of Health (หรือกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา) เริ่มดำเนินการทดลองประสิทธิภาพของ ZMapp ทางคลินิกในอาสาสมัครจากเซียร์ราเลโอน กินี และไลบีเรีย ในเดือนมกราคม 2015 โดยมีเป้าหมายที่จะทดลองในคน 200 คน แต่การแพร่ระบาดของโรคลดลงส่งผลทำให้ต้องปิดการทดลองก่อนกำหนดในเดือนมกราคม 2016 โดยมีข้อมูล (ที่ไม่สามารถตัดสินทางสถิติ) ว่า ZMapp ช่วยลดอันตรายของโรคราวร้อยละ 40         แม้ว่า ZMapp เคยได้รับการประเมินโดยองค์การอนามัยโลกเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินเนื่องจากมีประโยชน์มากกว่าผลเสียที่เป็นความเสี่ยงก็ตาม แต่ก็มีข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาของอุณหภูมิของการจัดเก็บระหว่างการขนส่งที่ต้องการความเย็นต่อเนื่อง ในเดือนสิงหาคม 2019 หน่วยงานด้านสุขภาพแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก องค์การอนามัยโลกและสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศหยุดใช้ ZMapp จากนั้นในเดือนตุลาคม 2020 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติยาอีกชนิดหนึ่งในลักษณะเดียวกับ ZMapp ชื่อ Inmazeb ซึ่งเป็นของผสมของโมโนโคลนอลแอนติบอดี 3 ชนิด คือ atoltivimab, maftivimab, และ odesivimab ในการรักษาการติดเชื้อที่เกิดจาก Zaire ebolavirus         ดังนั้นโดยสรุปแล้ว แอนติบอดีสู้ไวรัสที่ผลิตโดยใช้ใบยาสูบจึงมีแค่แนวโน้มที่อาจถูกใช้ได้จริงยามฉุกเฉิน แต่ยังไม่ได้ใช้โดยทั่วไปในขณะที่เขียนบทความนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 วัคซีนสู้ covid-19 มาแล้ว…ดีใจไหม

        www.bbc.com เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2021 มีข่าวเรื่อง วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกถึงไทยแล้ว แต่ผลสำรวจพบบุคลากรทางแพทย์ฯ แค่ 55% พร้อมฉีด โดยมีเนื้อข่าวว่า “วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวคไบโอเทคและบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เดินทางมาถึงประเทศไทยวันนี้ (24 ก.พ.) แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของวัคซีน หลังจากหน่วยงานวิจัยของ สธ. สำรวจพบว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพียง 55% ยินดีรับวัคซีนโควิด-19” และ “…บุคลากรทางการแพทย์ฯ เพศหญิงและผู้ที่มีอายุน้อย หรืออาชีพพยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์และแพทย์ เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มไม่รับวัคซีนโควิด-19 หรือยังไม่แน่ใจในสัดส่วนสูงที่สุด”         ประเด็นที่น่าสนใจในข้อความข้างต้นนั้นคือ ทำไมคนระดับปฏิบัติการในกระทรวงนี้ ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นฐานการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพหรือวิทยาศาสตร์สุขภาพเป็นหลัก นั้นยังขอพึ่งหลักการใช้หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และการจัดระยะห่างระหว่างบุคคลเป็นแนวทางชีวิตในการป้องกัน covid-19 ก่อน มิใยว่าผู้บริหารจะออกมาพรรณนาถึงหลักการว่า ความเสี่ยงที่อาจจะมีเนื่องจากการฉีดวัคซีนนั้นต่ำมาก ว่ากันว่าเป็นเพียง หนึ่งในล้าน ในขณะที่ความเสี่ยงต่อการตายเนื่องจากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งก่อโรค covid-19 นั้นคือ หนึ่งในร้อย ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลย         เพื่อยืนยันว่า เราจะเสี่ยงไปด้วยกัน คนที่อยู่ในแถวหน้าของประเทศต่างก็แสดงความหาญกล้าอันเป็นที่ยกย่องไม่รู้วายในการรับการฉีดวัคซีนจนครบ 2 เข็ม อย่างหน้าชื่นตาบานและก็ไม่เห็นเป็นอะไร อยู่รอดปลอดภัยดี ยกเว้นส่วนน้อยที่ติดเชื้อบ้างเพราะทำงานในหน้าที่หนักไปหน่อยทั้งกลางวันและกลางคืน         ประเด็นเรื่องผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนต่างๆ นั้นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะกระบวนการฉีดวัคซีนเป็นการไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานมากขึ้นกว่าระดับที่เป็นปรกติ เพื่อส่งผลให้ในเลือดของผู้ถูกฉีดวัคซีนมีแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อเกิดขึ้น (แต่ก็มีข่าวลือบ้างเหมือนกันว่า บางคนฉีดครบ 2 เข็มแล้วความเข้มข้นของแอนติบอดีนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง...ซึ่งก็ต้องรอหาเหตุผลก่อนว่าทำไม ทั้งนี้ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมว่า การใช้วัคซีนในลักษณะที่อนุญาตแบบฉุกเฉินนี้ น่าจะถูกเรียกว่า เป็นการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนในระยะที่ 3/2 อยู่) นอกจากนี้เม็ดเลือดขาวกลุ่ม T-cells เช่น  T-killer cells นั้นควรจะต้องเพิ่มด้วย แต่ ณ วันที่เขียนบทความนี้ยังไม่เห็นมีใครนำข้อมูลส่วนนี้ออกมาเผยแพร่ว่า วัคซีนที่ฉีดกันทั่วโลกไปแล้วนั้นได้กระตุ้นการเพิ่มปริมาณของ T-cells ดีแค่ไหน...เสมือนทำเป็นลืม         ประเด็นที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักคิดไม่ถึงคือ ร่างกายต้องมีการลงทุน (และยอมรับความเสี่ยง) บางประการเพื่อให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งแสดงออกด้วยอาการที่เรียกว่า ผลข้างเคียง เช่น แขนปวดระบมบริเวณถูกเข็มปักเข้ากล้ามเนื้อแขน (ลึกราว 1 นิ้ว) ส่วนใหญ่ของผู้ถูกฉีดวัคซีนมักมีอาการตัวร้อนระหว่างการเพิ่มภูมิคุ้มกันซึ่งแตกต่างกันไปในหลายระดับ (ตั้งแต่ตัวอุ่นไปถึงร้อนเป็นไข้) จนบางคนที่ไม่ปวดแขนและตัวไม่ร้อนหลังการฉีดวัคซีนชักสงสัยว่าการฉีดวัคซีนไม่ได้ผล (ความจริงกรณีนี้เมื่อรอครบ 14 วัน หลังฉีดครบ 2 เข็มแล้วผู้บริโภคน่าจะยอมเสียเงินทำการตรวจดูการเพิ่มขึ้นของแอนติบอดีด้วย quick test....แต่ก็ไม่เห็นข่าวว่ามีคนทำ เพราะเหล่าหมอทั้งหลายบอกผ่านทางโทรทัศน์ว่าไม่จำเป็น) และบางคนที่เป็นส่วนน้อยมาก อาจมีอาการแพ้ในลักษณะที่เรียกว่า anaphylaxis ระหว่างรอดูอาการ 30 นาทีหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งถ้าอยู่ใกล้มือหมอและมียาเฉพาะอาการนี้ (ปรกติเป็น Epinephrine) โอกาสตายนั้นควรจะน้อยมาก ยกเว้นว่าอาการแพ้เกิดขึ้นเมื่อกลับถึงบ้านแล้วหลายชั่วโมง         อย่างไรก็ดีในภาพรวมจากทั่วโลกแล้ว มีการออกมายืนยันกันอย่างเต็มที่ว่า การฉีดวัคซีนป้องกัน covid-19 นั้นเป็นเรื่องควรกระทำ (ซึ่งผู้เขียนก็ wholeheartedly agree แปลว่า เห็นด้วยสุดหัวใจเลย) โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวแบบที่เรียกว่า degenerative diseases ซึ่งเกิดจากความเสื่อมของร่างกายนั้นถูกจัดให้มีลำดับความสำคัญสูงในการถูกฉีด แต่มันก็มีกรณีปัญหาผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนที่ออกมาก่อกวนการทำงานของผู้บริหารด้านสาธารณสุขของประเทศบ้างเล็กน้อย ซึ่งกรณีที่ดูจะกระเทือนซางมากหน่อย คือ การปรากฏเป็นหัวข้อข่าวออนไลน์ ดังเช่นใน www.prachachat.net เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 มีบทความชื่อ  แพทย์แจง 6 ราย อาการคล้ายอัมพฤกษ์หลังฉีดวัคซีนซิโนแวค เป็นแค่ชั่วคราว ซึ่งสาระของข่าวกล่าวว่า “แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เผยผลสอบสวนอาการไม่พึงประสงค์บุคลากรสาธารณสุข 6 รายที่ระยอง หลังฉีดวัคซีนซิโนแวคมีอาการคล้ายหลอดเลือดสมองอักเสบชั่วคราว คาดเกี่ยวข้องกับวัคซีนจริง แต่ตรวจไม่พบความผิดปกติของสมองผู้ป่วย รวมถึงวัคซีนล็อตนี้ต้องศึกษาเพิ่ม ย้ำประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก ลงความเห็นสามารถใช้วัคซีนล็อตนี้ได้ต่อ เชื่อมีประโยชน์มากกว่าอาการข้างเคียง”         สิ่งที่น่ากังวลใจคือ ข่าวเกี่ยวกับอาการข้างเคียงในผู้เป็น เบาหวาน หนึ่งรายที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเวลาผ่านไปชั่วข้ามคืนก็เสียชีวิต ซึ่งต้องใช้คำว่า มรณภาพ เพราะผู้เคราะห์ร้ายนั้นเป็นพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ปรากฏว่าข่าวนี้กลับเงียบหายไป ทำให้ผู้เขียนค่อนข้างสงสัยว่า มีอะไรที่น่าจะเป็นสาเหตุการตายได้บ้าง ผู้เขียนจึงลองทำการสืบค้นข้อมูลดู         ต้นเรื่องการมรณภาพของสงฆ์รูปนี้อยู่ในเว็บข่าวทั่วไป เช่น ในเว็บของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อ 2 เมษายน 2564 มีหัวข้อข่าว “ผู้ช่วยเจ้าอาวาส มรณภาพ หลังฉีดวัคซีน แน่นิ่งในกุฏิ” รายงานข่าวกล่าวว่า “พระรูปดังกล่าว (อายุ 70 ปี) ได้รับวัคซีนตั้งแต่เวลา 10.00 น. วันที่ 31 มีนาคม และได้สังเกตอาการจนครบ 30 นาที ตามหลักเกณฑ์ จากนั้นได้รับการถวายภัตตาหารเพล อาการปกติทุกอย่าง ได้สอบถามลูกศิษย์วัดทราบว่า พระครูสิริปัญญาเมธี อาพาธทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมัน ช่วงเย็นสังเกตว่าท่านมีอาการเพลียขอตัวไปจำวัด ช่วงเช้าท่านไม่ลงมาฉันภัตตาหารเช้า เมื่อไปดูที่กุฏิพบว่ามรณภาพ”         เว็บไซต์ของประชาชาติธุรกิจออนไลน์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ให้ข้อมูลต่อมาว่า โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นผู้ชันสูตรศพมีผลไม่เป็นทางการออกมาว่า ไม่พบการอุดตันของลิ่มเลือดทั้งที่สมอง หัวใจ หรืออวัยวะอื่น ๆ แต่พบอาการเส้นเลือดหัวใจตีบ ดังนั้นจากผลในเบื้องต้นทำให้ทราบว่า วัคซีนที่พระสงฆ์ท่านได้รับไม่ได้ส่งผลต่อการมรณภาพแต่อย่างใด (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่นำข้อมูลมาแถลงข่าวนั้นกล่าวแบบมั่นใจสุด ๆ)         www.bbc.com เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2021 มีข่าวเรื่อง วัคซีนโควิด-19: เกิดผลข้างเคียงอะไรบ้างกับคนไทย หลังฉีดวัคซีนของซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งตอนหนึ่งของข่าวรายงานกล่าวประมาณว่า “ตามการเปิดเผยของผู้บริหารของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ไทยมีผู้ได้รับวัคซีนโควิดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคม 2564 รวม 29,900 ราย ในจำนวนนี้มีรายงานผ่านระบบไลน์ "หมอพร้อม" ว่ามีอาการข้างเคียงชนิดไม่รุนแรง จำนวน 2,380 ราย คิดเป็น 7.96% ของผู้รับวัคซีนทั้งหมด โดยอาการข้างเคียงจากการฉีดที่เกิดขึ้นได้ปกติคือ อาเจียน ปวดเมื่อยเนื้อตัว อักเสบบริเวณที่ฉีด เป็นไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นขึ้น”         ตำราภูมิคุ้มกันวิทยาบางเล่มให้ข้อมูลในทำนองว่า อาการข้างเคียงหลังได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าวแล้วนั้นดูเป็นตัวบ่งชี้ว่า ร่างกายตอบสนองการฉีดวัคซีนได้ดีและกำลังมีการสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น แต่ต้องระวังว่า วัคซีนไม่ควรทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านที่รุนแรงเกินจนเป็นอันตรายต่อผู้รับวัคซีนที่อ่อนแออย่างกลุ่มคนชราได้         มูลนิธิ The diaTribe Foundation (https://diatribe.org ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนที่ป่วยเป็นเบาหวานหรือกำลังจะเป็น) มีบทความเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2021 เรื่อง What You Should Know About COVID-19 Vaccines and Diabetes ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีคนเป็นเบาหวานทั้งโลก 463 ล้านคน (สำหรับประเทศไทยนั้นในงานแถลงข่าววันเบาหวานโลก 2562 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุงกล่าวว่า ปัจจุบันประชากรไทยวัยผู้ใหญ่ป่วยเป็นโรคเบาหวานถึง 4.8 ล้านคน และมักเกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่ออายุเพิ่มขึ้น)         The diaTribe Foundation ให้ข้อมูลว่า วัคซีนต่างๆ อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจนคุมไม่ได้ถ้าไม่ระวังให้ดี ดังนั้นจึงควรตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดของคุณอย่างรอบคอบเป็นเวลา 48 ชั่วโมงหลังจากที่คุณได้รับการฉีดวัคซีนใดๆ ก็ตาม และดื่มน้ำให้เพียงพอ         บทความเรื่อง Acute Hyperglycemia After Influenza Vaccination in a Patient With Type 2 Diabetes ในวารสาร Pharmacy and Therapeutics ของปี 2017 นั้น มีเนื้อความเพื่อแจ้งเตือนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น (แต่ไม่ได้เขียนไว้ที่ฉลากวัคซีน) แก่ผู้ทำการฉีดวัคซีนว่า ในการฉีดวัคซีนต่างๆ แก่ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงแบบเฉียบพลัน เพราะตั้งแต่ปี 1991 ถึง 2017 มีรายงานภาวะน้ำตาลในเลือดสูงแบบเฉียบพลันถึง 946 ครั้ง หลังการฉีดวัคซีนต่างๆ โดยที่ 361 ครั้งเป็นรายงานภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหลังฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่         ได้มีการให้สมมติฐานถึงกลไกที่ส่งผลให้ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหลังการฉีดวัคซีนคือ ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายนั้นถือว่าเป็น “ความเครียด (stress)” ในระดับหนึ่ง ความเครียดทางร่างกายไม่ว่าจะมาจากการผ่าตัด การติดเชื้อ การบาดเจ็บ หรือการเจ็บป่วยเฉียบพลัน มีโอกาสเพิ่มระดับฮอร์โมนได้แก่ อะดรีนาลีนและคอร์ติซอล เพื่อตอบสนองต่อความเครียดซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นโดยอาการแล้วไม่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างรวดเร็วเหมือนคนปรกติ จึงถือว่าเป็นภาวะอันตราย ดังนั้นความเครียดในร่างกายที่ดูไม่รุนแรงแต่ส่งผลสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในคนเป็นเบาหวานจึงเป็นเรื่องน่าสนใจ โปรดอย่าได้มองข้ามเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 เมากัญชาจากอาหารกันให้ครื้นเครง

        รายงานข่าวจากไทยพีบีเอสในช่วง 9.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น ตอนหนึ่งเป็นข่าวเกี่ยวกับ อาหารผสมกัญชา ซึ่งเป็นไปตามกาลสมัยที่ผู้อาศัยอำนาจของประชาชนในการปกครองประเทศได้มองเห็นศักยภาพของกัญชาในการเพิ่มความนิยมทางการเมืองจากประชาชนที่อยู่ในข่ายของคำพระที่ว่า “สุกรานิ อสาธูนิ อตฺตโน อหิตานิ จ” ซึ่งแปลได้ว่า กรรมอันไม่ดีและไม่เป็นประโยชน์แก่ตน คนทำง่าย โดยเปลี่ยนข้อกำหนดทางกฏหมายให้บางส่วนของกัญชาถูกเอามาผสมกับอาหารต่างๆ เพื่อให้คนไทยยุคโควิด-19 นี้ได้ยิ้มกันทั่วหน้าทั้งที่กระเป๋าแห้งครึ่งค่อนประเทศ         สิ่งที่น่าสนใจในตอนหนึ่งของข่าวจากไทยพีบีเอสคือ ได้มีทั้งเภสัชกรของโรงพยาบาลที่สนับสนุนการปรุงอาหารใส่ใบกัญชาและแพทย์ที่เป็นผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ได้ย้ำเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับการกินอาหารใส่ใบกัญชาว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่า เหมาะสมแค่ไหนในการกินอาหารลักษณะนี้ โดยเฉพาะการเกิดปัญหายาตีกันในผู้ที่ได้รับสารเสพติดจากใบกัญชาแล้วไปมีผลต่อยาบำบัดโรคอื่นที่กำลังกินอยู่ แม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ยังเตือนผู้บริโภคในการกินอาหารที่ปนกัญชาประมาณว่า กินน้อยเป็นคุณกินมากเป็นโทษ ต้องพอดี ( แต่คำว่า พอดี นั้นขึ้นกับแต่ละบุคคลซึ่งไม่เท่ากัน) ดังนั้นอาหารผสมกัญชาจะก่อปัญหาให้เกิดขึ้นต่อผู้บริโภคหรือไม่นั้น อยู่ภายใต้สามัญสำนึกของผู้ประกอบการว่า ควรใส่ส่วนไหนของกัญชาลงในอาหารในปริมาณเท่าใด และมีการเตือนผู้บริโภคหรือไม่ว่าอาหารมีกัญชา         เนื้อความต่อไปนี้ไม่ได้ประสงค์จะต่อต้านการใส่กัญชาในอาหารแต่อย่างใดเพราะรู้อยู่แล้วว่า เปล่าประโยชน์ในการต่อต้าน เพียงแต่ต้องการตั้งประเด็นคำถามให้ผู้อ่านลองหาคำตอบว่า มีวิธีการใดที่สามารถควบคุมผู้ประกอบการให้ใส่เฉพาะใบของกัญชาที่ซื้อจากแหล่งที่ได้รับการอนุญาตการปลูกตามกฏหมาย ด้วยจำนวนใบที่แค่เพิ่มความรู้สึกอร่อยของอาหาร แต่ไม่ทำให้เกิดอาการเมาสารเคมีในกัญชา และเมื่ออาหารที่ผสมใบกัญชามาถึงลูกค้าแล้วทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าอาหารนั้นมีแค่ใบกัญชาจำนวนเท่าที่อนุญาต และ/หรือไม่มีการเติมสารสกัดหรือส่วนอื่นของกัญชาที่ยังเป็นยาเสพติด ในประเด็นหลังนี้ผู้สนับสนุนการค้าอาหารใส่กัญชาคงมีคำตอบว่า ไม่น่าจะมีการใส่เกินเพราะกัญชานั้นยังมีราคาแพง แต่ท่านผู้อ่านต้องไม่ลืมว่า ก่อนทำให้คนติดใจในอะไรสักอย่างก็คงต้องมีการลงทุนทำให้ติดใจเสียก่อน เพราะเมื่อติดใจจนใจติดแล้ว เท่าไรก็ยอมควักจ่ายเพื่อให้ได้ตามใจที่ต้องการ         เภสัชกรท่านหนึ่งได้เขียนบทความเรื่อง พืชกัญชา:ประโยชน์ โทษและข้อเสนอการพัฒนาการกำกับดูแล ซึ่งปรากฏอยู่บนเว็บ https://ccpe.pharmacycouncil.org (ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ สภาเภสัชกรรม) ตอนหนึ่งประมาณว่า  “ส่วนของต้นกัญชาที่มีสาร Tetrahydrocannabinol หรือ THC มากที่สุด คือ ช่อดอก (flower heads) และใบ (leaves)”..... ดังนั้นจึงควรเป็นที่เข้าใจในแนวทางเดียวกันว่า การบริโภคใบกัญชาในอาหารนั้นน่าจะเป็นหนทางการรับสาร THC เข้าสู่ร่างกายด้วยความตั้งใจนอกเหนือไปจากการสูดควันจากใบกัญชาที่มวนในลักษณะบุหรี่ อย่างไรก็ดีปริมาณ THC ในใบกัญชานั้นขึ้นกับสายพันธุ์ของกัญชาว่าเป็นสายพันธุ์ใดด้วย         อาหารที่รสชาติไม่ได้เรื่องแล้วเมื่อใส่กัญชาลงไปอร่อยขึ้นหรือ คำตอบคือ ใช่ในภาพลวง ดังนั้นพ่อครัวหรือแม่ครัวไร้ฝีมือย่อมพอใจถ้าคนกินอาหารเข้าไปแล้วสักพักก็ชมว่า อาหารจานนั้นอร่อย เพราะผลจากการที่สาร THC ในกัญชาวิ่งเข้าไปหาตัวรับ (receptor) ก็จะส่งผลให้ระบบประสาทส่งสัญญาณไปสมองว่า ร่างกายรู้สึกชอบใจเมื่อได้กิน THC ในอาหารนั้นๆ ดังปรากฏจากบทความเรื่อง The endocannabinoid system controls food intake via olfactory processes ในวารสาร Nature Neuroscience Trusted Source ของปี 2014 ที่ระบุว่า  เมื่อ THC เข้าไปในสมองของหนูทดลองแล้วได้ช่วยเพิ่มความสามารถในการรับกลิ่นและลิ้มรสอาหารสูงขึ้น ดังนั้นผู้กินอาหารมีกัญชา (ซึ่งต้องมี THC) จึงคงรู้สึกพึงพอใจในอาหารจานนั้นมากขึ้นเพราะลิ้มรสได้ดีขึ้น ไม่ใช่อาหารอร่อยขึ้นแต่อย่างใด         นอกจากนี้บทความเรื่อง  Hypothalamic POMC neurons promote cannabinoid-induced feeding ในวารสาร Nature Neuroscience Trusted Source ของปี 2015 พบว่า สารเคมีในกัญชาน่าจะกระตุ้นเซลล์ประสาทส่วนที่ทำให้กินอาหารไม่หยุด เพราะเซลล์ประสาทที่ดูเหมือนถูกเปิดให้ทำงานด้วยสาร THC นั้นเป็นเซลล์ประสาทที่ปรกติแล้วทำหน้าที่ปิดสัญญาณความหิวของร่างกายตามปกติเพื่อควบคุมการกินอาหาร ดังนั้นจึงดูเหมือนว่า THC ได้เปลี่ยนกระบวนการทำงานของสมอง โดยส่งคำสั่งแสดงความหิวโหยแม้ว่าเพิ่งกินไปหรือไม่มีความหิวก็ตาม         บทความเรื่อง Smoking, Vaping, Eating Is Legalization Impacting the Way People Use Cannabis ในวารสาร International Journal of Drug Policy ของปี 2016 ให้ข้อมูลว่า อาหารผสมกัญชาที่มี THC นั้น ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกหลุดไปจากโลกเช่นเดียวกับการสูบกัญชา นอกจากนี้การกินกัญชานั้นน่าจะเป็นวิธีที่ทำให้ THC ออกฤทธิ์ได้สูงกว่าเมื่อได้จากการสูบควัน ซึ่งมีการทำวิจัยเกี่ยวกับการกินอาหารมีกัญชานั้นได้แสดงให้เห็นว่า ผลกระทบจากการกินนั้นใช้เวลาหลังจากกินแล้วประมาณ 1 ชั่วโมงในการเริ่มต้นแสดงฤทธิ์เมา และอาจอยู่ได้นานถึง 6 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ซึ่งต่างจากผลของ THC จากการสูบควันกัญชานั้นมักออกฤทธิ์เมาอยู่ในช่วง 1–4 ชั่วโมง         ในเอกสารเรื่อง The Health Effects of Cannabis and Cannabinoids ของ The National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine เผยแพร่โดย The National Academies Press ในปี  2017  กล่าวเป็นเชิงว่า การกินอาหารใส่กัญชานั้น เป็นการลดความเสี่ยงในการได้รับควันจนเกิดอาการไอเรื้อรังและมีเสมหะ หรือถ้ายาวไปกว่านั้นคือ ลดความเสี่ยงของมะเร็งปอด ดังนั้นสำหรับผู้ประสงค์จะละศีลข้อ 5 เพื่อลองกินผลิตภัณฑ์ใส่กัญชาจึงรู้สึกว่า ได้ทำคุณแก่โลกที่ไม่ได้หยิบยื่นควันพิษให้สัตว์โลกที่อยู่ใกล้เคียง สิ่งสำคัญที่พึงระลึกเสมอคือ ควรเริ่มด้วยขนาดที่ต่ำหน่อยเพื่อดูว่าร่างกายตอบสนองอย่างไร เพราะการกินนั้นง่ายมากที่จะกินจนได้สารเสพติดในขนาดที่สูงเกินไป ซึ่งกว่าที่จะรู้ผลที่เกิดขึ้นจาก THC นั้น ก็อาจเกินกว่าที่ร่างกายรับไหว         เรารู้กันมานานแล้วว่า สารเสพติด THC ในกัญชานั้นออกฤทธิ์แทบจะทันทีทันใดเมื่อสูบควันเข้าถึงปอด เพราะมีการส่งต่อสารเสพติดนั้นเข้าสู่เลือดในพริบตาที่ปอด ในขณะที่ผลของ THC จากการกินนั้นต้องรอเวลาย่อยผ่านระบบทางเดินอาหาร ไปตับก่อนเข้าสู่เลือดที่ต้องรอเวลาสักระยะหนึ่ง ซึ่งไม่เท่ากันในแต่ละคน คนที่มีการเผาผลาญเร็วอาจรู้สึกถึงผลกระทบได้เร็วขึ้นเนื่องจากร่างกายสามารถย่อยและประมวลผลสิ่งที่กินได้เร็วขึ้น การกินกัญชาตอนท้องว่างอาจทำให้ได้ผลเร็วกว่าเมื่อเทียบกับการกินแบบกินร่วมกับอาหารอื่นๆ หรือหลังกินอาหาร ดังนั้นหลังการกินอาหารใส่กัญชาสิ่งที่ผู้บริโภคอาจนึกไม่ถึงคือ การออกฤทธิ์ของสารเสพติดในกัญชา (ถ้ามี) อาจเริ่มขึ้นหลังจากอยู่หลังพวงมาลัยรถยนต์แล้วเริ่มเคลิบเคลิ้มไปกับการจราจร         อาหารบางอย่างเช่นลูกอมหรือลูกกวาดนั้น การดูดซึมของ THC อาจทำให้เมาตั้งแต่ขนมนั้นอยู่ในปาก ดังบทความเรื่อง  Practical considerations in medical cannabis administration and dosing ในวารสาร  European Journal of Internal Medicine ของปี 2018 ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กัญชาในลูกอมที่เรียกว่า hard candy นั้นอาจเริ่มออกฤทธิ์ใน 15–45 นาที ในขณะที่กัญชาในอาหารอื่นอาจต้องรอเวลา 60–180 นาที กว่าที่ผู้บริโภคเริ่มเมา         ความสามารถทนได้ต่อการออกฤทธิ์ของสารเสพติดทั้งหลายในกัญชา (Individual tolerance) นั้นต่างกันในแต่ละคน สายเขียวที่จัดว่าได้สูบหรือกินกัญชามาเป็นเวลานานสามารถทนกับฤทธิ์ของ THC ได้ในปริมาณสูงระดับหนึ่งจึงจะเมาตามต้องการ ส่วนผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์จากกัญชาอาจรู้สึกถึงฤทธิ์ที่รุนแรงอย่างรวดเร็วจนหัวทิ่มตำหลังได้ THC จากกัญชาในระยะเวลาไม่นานเท่าใด  ซึ่งตรงกับข้อมูลในบทความเรื่อง Practical considerations in medical cannabis administration and dosing ซึ่งกล่าวแล้วข้างต้นที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อได้รับ THC ในปริมาณหนึ่ง สายเขียวส่วนใหญ่อาจเมากัญชาแค่ไม่กี่ชั่วโมง (เฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 4 ชั่วโมง) ในขณะที่มือใหม่หัดเสพอาจเป๋ได้ถึง 6–8 ชั่วโมง และไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่พบว่า คนที่ไวต่อสารเสพติดต่างๆ ในกัญชาสูงอาจเมาได้นานถึง 8–12 ชั่วโมง        เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดปริมาณของ THC ในกัญชาว่า ควรเป็นเท่าใดในอาหารจึงจะไม่ออกฤทธิ์ที่ก่อปัญหาในคนที่ไวต่อการเมากัญชา  มีบางบทความในอินเตอร์เน็ทเสนอว่า สาร THC ในปริมาณที่ต่ำแค่ 0.5 มิลลิกรัม เรื่อยไปจนถึง  2.5-5.0 มิลลิกรัมนั้นไม่ควรส่งผลเสียในผู้บริโภค อย่างไรก็ดียังไม่มีงานวิจัยรับรองข้อเสนอนี้ สำหรับสายเขียวมืออาชีพที่นิยมการใช้หรือกินผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชามักกล่าวว่า THC ประมาณ 10-15 มิลลิกรัม ก็ควรส่งผลให้ร่างกายรู้ได้ถึงฤทธิ์ของสารเสพติดดังกล่าวแล้วหลังการเสพเข้าไป 2-3 ชั่วโมง และเมื่อใดที่ขนาดของสาร THC ขึ้นไปถึง 20 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่มืออาชีพรับได้นั้น มือใหม่อาจจะได้รับโอกาสรู้ว่า ชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร โดยไม่มีโอกาสกลับมาบอกเล่าให้เพื่อนสนิทมิตรสหายฟัง         ปริมาณจิ๊บ ๆ  (สำหรับบางคน) ของ THC ที่ 20 มิลลิกรัมนั้น ดูแล้วไม่เท่าไรเลยในผู้ที่ชินกับการสูบกัญชา แต่ปริมาณเดียวกันนี้อาจก่ออันตรายต่อมือใหม่หัดกินอาหารใส่กัญชา ดังที่บทความทบทวนเอกสารเรื่อง Tasty THC Promises and Challenges of Cannabis Edibles ในวารสาร Methods Rep RTI Press ของปี 2017 ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าผลกระทบจาก THC ในอาหารที่กินได้อาจปรากฏในบางคนด้วยปริมาณที่ต่ำแค่ 2.5 มิลลิกรัม ในขณะที่คนอื่น ๆ ต้องการสูงถึง 50 มิลลิกรัมจึงจะซาบซึ้งถึงฤทธิ์ของ THC ช่วงที่กว้างของขนาดที่ออกฤทธิ์ในแต่ละบุคคลของ THC นี้ดูเป็นการตอกย้ำถึงหลักการว่า คนที่ยินดีละศีลข้อ 5 ควรเริ่มต้นกินอาหารใส่กัญชาด้วยปริมาณที่น้อยก่อนถ้ายังคิดว่า โลกนี้ยังน่าอยู่ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ใบยาสูบสู้โควิด-19

        การวิเคราะห์เพื่อหาว่ามีสารเคมีใดอยู่ในตัวอย่างที่อาจเป็นอาหาร เลือด น้ำทิ้งจากสิ่งแวดล้อม หรืออื่นๆ นั้นมีหลายวิธี โดยวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันคือ การประยุกต์ใช้แอนติบอดี (antibody) มาช่วยในการวิเคราะห์ เพราะวิธีการซึ่งเรียกแบบกว้าง ๆ ว่า immunoassay นี้มีความแม่นยำ ความจำเพาะสูง เร็วและเมื่อนำมาใช้กันแพร่หลายพอจะทำให้ต้นทุนต่ำกว่าการวิเคราะห์ด้วยวิธีอื่น         สำหรับคนไทยในยุคที่โควิด-19 เคาะอยู่ที่หน้าประตูบ้านนี้ บางคนคงพอรู้บ้างว่า แอนติบอดี คือโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อต่อสู้เชื้อโรคต่างๆ ยับยั้งการรุกรานไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย เหนือไปกว่านั้นบางคนอาจเคยรู้มาว่า  แอนติบอดีในร่างกายอาจถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองสารเคมีหลายประเภท เช่น สารเจือปนในอาหาร สารเคมีทางการเกษตร และอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในชีวิตประจำวันได้ ทั้งที่สารเคมีเหล่านี้หลายชนิดไม่ได้มีความเป็นโปรตีน จึงไม่น่ามีคุณสมบัติของการเป็นแอนติเจน (antigenicity) ที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีได้         แต่ปรากฏว่าหลายคนที่ได้รับสารเคมีเหล่านี้กลับมีโอกาสเกิดอาการแพ้ (ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับแอนติบอดีอย่างแน่นอน) ตัวอย่างเช่น บางคนแพ้สารประกอบซัลไฟต์ ซึ่งตกค้างจากกระบวนการผลิตอาหารทางอุตสาหกรรม (จะเห็นว่าอาหารสำเร็จรูปที่เป็นผลิตภัณฑ์จากยุโรปมักมีคำเตือนบนฉลากประมาณว่า อาหารอาจมีสารกลุ่มซัลไฟต์ เพื่อเตือนคนที่แพ้สารนี้)  บางคนแพ้สารกำจัดศัตรูพืชที่ปนเปื้อนบนผักและผลไม้ บางคนแพ้ฝุ่นละอองในอากาศ บางคนแพ้สีย้อมผม เป็นต้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้มีคำอธิบายทางวิชาการว่า สารเคมีหลายชนิดนั้นมีคุณสมบัติที่เรียกว่า แฮพเทน (hapten)         แฮพเทน เป็นคุณสมบัติของสารเคมีที่สามารถเชื่อมตัวกับโปรตีนใดๆ ในน้ำเลือด แล้วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสามมิติ (conformation) ของโปรตีนนั้นๆ ไปจากเดิม จนเซลล์ในระบบภูมิต้านทานของร่างกายจำไม่ได้คิดว่าเป็นโปรตีนแปลกปลอมจึงเริ่มกระบวนการต่อต้านเพื่อทำลายโปรตีนนั้น ซึ่งมักเริ่มต้นด้วยการที่เม็ดเลือดขาวชนิดมาโครฟลาจ (macrophage) เข้าทำลายในลักษณะเสมือนการฉีกโปรตีนโมเลกุลนั้นเป็นชิ้นๆ โดยบางชิ้นมีสารที่เป็นแฮพเทนติดอยู่ด้วย จากนั้นเม็ดเลือดขาวที่เป็นตัวช่วยในการกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีจะเข้าสำรวจว่า โปรตีนชิ้นใดมีศักยภาพเป็นแอนติเจน เพื่อเริ่มกระบวนการกระตุ้นให้เซลล์ที่มีหน้าที่สร้างแอนติบอดีเข้าหาโปรตีนชิ้นเล็กชิ้นน้อยแต่ละชิ้น ซึ่งรวมถึงชิ้นโปรตีนที่มีแฮพเทนติดอยู่ ดังนั้นแอนติบอดีที่ถูกสร้างขึ้นมาบางส่วน จึงสามารถจับตัวกับสารที่มีคุณสบบัติเป็นแฮพเทนได้         ความรู้เกี่ยวกับความสามารถเป็นแฮพเทนของสารเคมีบางชนิดช่วยให้นักวิทยาศาสตร์นำมาใช้ในการผลิตแอนติบอดีต่อสารเคมีที่ไม่ใช่โปรตีน เช่น สารพิษจากเชื้อรา สารเคมีทางการเกษตร สารเจือปนในอาหาร และอื่น เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ที่ง่ายและรวดเร็วขึ้นได้         ส่วนกระบวนการผลิตให้ได้สารแอนติบอดีต่อสารเคมีใดๆ ในปริมาณมากนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคโนโลยีทางอณูชีววิทยาคือ cell fusion (โดยใช้สารเคมีเช่น polyethylene glycol) เพื่อควบรวมเซลล์ของสัตว์ที่สร้างแอนติบอดี เช่น เซลล์จากม้ามของสัตว์ที่ถูกกระตุ้นให้สร้างแอนติบอดีที่จำเพาะกับสารเคมีที่สนใจ เข้ากับเซลล์มะเร็งบางชนิด (ที่นิยมกันคือ มะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดพลาสมาเซลล์ที่เปลี่ยนสภาพเป็นเซลล์มะเร็ง) ได้เซลล์ใหม่ที่สร้างแอนติบอดีที่ต้องการและมีการแบ่งตัวไม่หยุด (กระบวนการนี้ถูกเรียกว่า การผลิตโมโนคลอนอลแอนติบอดี)  จึงทำให้ได้แอนติบอดีในปริมาณมากจนคุ้มทุนเกิดกำไรในทางธุรกิจตรวจวัดหาปริมาณสารเคมีที่สนใจ การสร้างแอนติบอดีจากใบยาสูบ         มาถึงศตวรรษที่ 21 ความก้าวหน้าทางชีวโมเลกุลในปัจจุบันได้ก่อให้เกิดการผลิตแอนติบอดีแนวใหม่ที่อาศัยเทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรมของพืช ทำให้ได้พืชหลายชนิดที่ผลิตสารแอนติบอดีจำเพาะต่อสารเคมีต่างๆ ตลอดไปจนถึงเชื้อโรคต่างๆ ในลักษณะของโมโนคลอนอลแอนติบอดี ซึ่งในช่วง พ.ศ. 2563-2564 ได้มีการพูดถึงการได้มาซึ่งแอนติบอดีจากใบยาสูบที่สามารถต้านเชื้อ SARS-CoV-2         ข่าวจากหลายสื่อได้กล่าวถึงนวตกรรมหนึ่งในการผลิด rapid test เพื่อตรวจหาแอนติบอดีต่อไวรัส SARS-CoV-2 นั้นระบุว่า มีการใช้แอนติบอดีมาตรฐานที่ผลิตได้จากใบยาสูบออสเตรเลีย ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nicotiana benthamiana (มีญาติสนิทเป็นต้นยาสูบคือ  Nicotiana tabacum และ Nicotiana rustica ที่ใช้ในการผลิตบุหรี่ในปัจจุบัน) ซึ่งตั้งแต่อดีตกาลนั้นชนพื้นเมืองออสเตรเลีย (Aborigines) ใช้เป็นสารกระตุ้นให้มีชีวิตชีวา         ความที่พืชในตระกูลของยาสูบนั้นมีศัตรูเป็นไวรัสหลายชนิด จึงเหมาะในการศึกษาที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะเพื่อพาหน่วยพันธุกรรมที่ต้องการเข้าสู่เซลล์ใบยาสูบ ที่สำคัญคือ ยาสูบสายพันธุ์พื้นเมืองของออสเตรเลีย (ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการผลิตแอนติบอดี) นั้นเป็นสายพันธุ์ที่ยังคงมียีน Rdr1 (RNA-dependent RNA polymerase 1) อยู่ จึงทำให้ง่ายต่อการที่ไวรัสชนิด RNA virus เข้ารุกราน         มีบทความวิจัยหนึ่งของคนไทยเรื่อง Monoclonal Antibodies B38 and H4 Produced in Nicotiana benthamiana Neutralize SARS-CoV-2 in vitro ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Plant Science เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2020 ได้อธิบายถึงความสำเร็จในการใช้ใบยาสูบสายพันธุ์ของออสเตรเลียผลิตโมโนคลอนอลแอนติบอดีของมนุษย์ 2 ชนิดคือ B38 และ H4 (เป็นรหัสเรียกชื่อของแอนติบอดีสองชนิดต่อโปรตีนที่เป็นหนามของไวรัส SARS-CoV-2) โดยในบทความนั้นได้กล่าวถึงการนำข้อมูลการเรียงตัวของกรดอะมิโนในโปรตีน B38 และ H4 ซึ่งถูกวิเคราะห์และเผยแพร่เป็นบทความวิจัยเรื่อง A noncompeting pair of human neutralizing antibodies block COVID-19 virus binding to its receptor ACE2 ใน www.sciencemag.org เมื่อ 13 พฤษภาคม 2020 โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนซึ่งนำทีมโดย Yan Wu (สังกัด Capital Medical University, Beijing, China) มาใช้ประโยชน์         คณะวิจัยชาวไทยที่ตีพิมพ์บทความดังกล่าวในวารสาร Frontiers in Plant Science ได้ใช้เทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรมซึ่งอาศัย geminiviral vector (เป็นไวรัสสาเหตุของโรคพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจซึ่งมีกรดนิวคลีอิคเป็นแบบดีเอ็นเอสายเดี่ยว) พายีนที่สนใจในรูป DNA plasmid (สังเคราะห์โดย บริษัท Genewiz ในเมือง Suzhou ประเทศจีน ให้มีลำดับนิวคลีโอไทด์ที่อ่านผลภายในเซลล์ที่มีชีวิตแล้วได้โปรตีนที่มีลำดับกรดอะมิโนตรงกับแอนติบอดีสองชนิดคือ B38 และ H4 ตามที่ Yan Wu และคณะศึกษาไว้) เข้าสู่เซลล์ใบยาสูบ         จากนั้นนักวิจัยได้นำเซลล์ใบยาสูบที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรมแล้วไปเพิ่มปริมาณให้มากขึ้นด้วยวิธีการทางอณูชีววิทยา ก่อนนำไปปลูกเป็นต้นยาสูบในโรงเรือนแบบปิด จนได้ใบยามากพอสำหรับการนำไปบดให้ละเอียด แล้วแยกเอาโปรตีนออกมาโดยอาศัยวิธีการ affinity column chromatography ได้สารแอนติบอดี B38 และ H4 ที่บริสุทธิ์ ซึ่งถูกนำไปทำการศึกษาถึงความสามารถในการจับตัวกับไวรัส SARS-CoV-2 ที่แยกได้จากคนไข้ covid-19 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการรายงานถึงการผลิตแอนติบอดีจากพืชที่สามารถจับกับ receptor binding domain (หมายถึงหนามของไวรัส หรือ spike protein) ของ SARS-CoV-2 ในลักษณะที่เป็นการหยุดฤทธิ์ของไวรัสดังกล่าวสำเร็จ และรายงานต่ออีกว่า ได้กำลังศึกษาต่อในสัตว์ทดลองแล้ว         ในการใช้พืชผลิตแอนติบอดีเพื่อใช้ในการบำบัดโรคติดเชื้อใดๆ นั้น ปัจจุบันวงการวิทยาศาสตร์มีคำศัพท์ใหม่คำหนึ่งคือ pharming ซึ่งออกเสียงคล้าย farming มีความหมายว่า เป็นการทำการเกษตรที่ได้ผลผลิตเป็นยา โดยการอาศัยการตัดแต่งพันธุกรรมพืชใดพืชหนึ่งให้มีหน่วยพันธุกรรมเพิ่ม ที่เมื่อเซลล์ของพืชนั้นมีการอ่านรหัสพันธุกรรมที่ตัดแต่งใส่เพิ่มเข้าไปจะได้โปรตีนที่มีฤทธิ์เป็นแอนติบอดีต่อจุลชีพใดจุลชีพหนึ่ง         ในรัฐเคนตักกี สหรัฐอเมริกา มีโรงงานผลิตแอนติบอดี (มีชื่อการค้าคือ ZMabb) จากใบยาสูบเพื่อสู้โรคที่เกิดจาก Ebola virus และได้รับอนุมัติแบบฉุกเฉินจาก US.FDA แล้ว นอกจากนี้ในรัฐนอร์ทแคโรไลนาก็มีโรงงานหนึ่งที่กำลังผลิตแอนติบอดีสำหรับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันได้ยื่นขออนุมัติฉุกเฉินในการใช้จาก US.FDA และตั้งเป้าจะผลิตแอนติบอดีสำหรับ ไวรัส AIDS, ไวรัส Herpes และอื่น ๆ ส่วนในเอเชียนั้นได้มีบริษัทผลิตยาแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้ที่มีงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาให้ใบยาสูบออสเตรเลียสามารถผลิตแอนติบอดีต่อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคปากเท้าเปื่อยในหมู         ประเด็นหนึ่งที่ควรได้รับความสนใจคือ แอนติบอดีนั้นไม่ว่ามาจากแหล่งใดก็ตามย่อมเป็นโปรตีน ซึ่งถ้าฉีดเข้าสู่คนหรือสัตว์ชั้นสูงอื่นๆ เพียงครั้งเดียวแล้วบำบัดโรคได้เลย คงไม่ก่อปัญหาทางสุขภาพแต่อย่างใด แต่ถ้าต้องใช้การฉีดมากกว่าหนึ่งครั้งขึ้นไป ร่างกายย่อมสังเกตได้ว่ามันเป็นโปรตีนแปลกปลอม ซึ่งมีความเป็น แอนติเจน จึงต้องสร้างแอนติบอดีออกมาสู้ ดังนั้นการใช้แอนติบอดีบำบัดโรค จึงย่อมจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภูมิแพ้ ถ้ามีการฉีดมากกว่าหนึ่งครั้งขึ้นไป  มากกว่าการใช้วัคซีนกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีของร่างกายเอง         ด้วยเหตุที่ข่าวเกี่ยวกับงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้ใบยาสูบพันธุ์ออสเตรเลียผลิตเวชภัณฑ์ที่ไปต่อสู้กับ SARS-CoV-2 นั้น มีมากมายทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ ทางโทรทัศน์ และคลิปซึ่งหาดูได้ใน YouTube ประเด็นหนึ่งที่ก่อให้นักวิชาการหลายคนสับสนคือ ในการทำวิจัยต่างๆ นั้นมีความมุ่งหมายที่ต้องการผลิตวัคซีนหรือแอนติบอดีกันแน่         การใช้คำที่ต่างกันสับสนไปมาเกี่ยวกับการจัดการกับเชื้อ SARS-CoV-2 นั้นเกิดเช่นกันกับนักข่าวต่างชาติ เช่น คลิปเรื่อง “Korean researchers mass produce swine flu vaccine using tobacco leaves” ซึ่งปรากฏใน YouTube ที่เล่าถึงการใช้ใบยาสูบออสเตรเลียผลิตแอนติบอดีสำหรับสู้กับไวรัสก่อโรคปากเท้าเปื่อยในหมูที่กล่าวแล้วข้างต้นนั้น นักข่าวในคลิปนี้มีความสับสนในการใช้คำว่าวัคซีนในงานวิจัย ซึ่งความจริงแล้วดูเหมือนเป็นการผลิตแอนติบอดี (neutralizing antibody) ซึ่งใช้เป็นยาเพื่อจัดการกับไวรัสในลักษณะที่เรียกว่า passive immunization ไม่ใช่ผลิตเป็นวัคซีน นอกจากนี้ถ้าท่านผู้อ่านได้ดูคลิปชื่อ Future jobs: Pharmer ใน YouTube ซึ่งเผยแพร่ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2010 แล้ว จะพบว่าอาจารย์จากมหาวิทยาลัย St. George's Medical School ใน London ชื่อ Professor Julian Ma ได้แสดงวิธีการผลิตแอนติบอดีต่อโรคเอดส์จากใบยาสูบอย่างคร่าวๆ ในห้องปฏิบัติการ และใช้คำว่า แอนติบอดี อย่างชัดเจนตลอดคลิป         สิ่งที่เหนือกว่าในการใช้วัคซีนต่อการใช้แอนติบอดีเพื่อสู้โรคติดต่อนั้นคือ วัคซีนก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันครบทั้งระบบคือ T-cells ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ฆ่าสิ่งแปลกปลอม และ B-cells ชนิดที่ถูกพัฒนาให้สร้างแอนติบอดี เหนือจากนั้นที่สำคัญคือ จะเกิดเซลล์ความจำที่เรียกว่า memory cells ทั้ง T-cells และ B-cells เพื่อสู้กับเชื้อโรคที่ต้องการป้องกันอย่างรวดเร็วเมื่อร่างกายถูกโจมตีนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ปัสสาวะมีกลิ่นผิดปรกติ...บอกอะไรบ้าง

        อินเทอร์เน็ตนั้นอุดมไปด้วยความรู้ด้านสุขภาพที่ควรต้องกลั่นกรองในระดับหนึ่ง โดยมีสิ่งที่ต้องระวังเป็นหลักคือ ไม่เป็นเว็บขายสินค้าใดๆ ทั้งสิ้น         ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ  ปรกติปัสสาวะของคนส่วนใหญ่มักมีกลิ่นแอมโมเนียเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถ่ายออกมาในตอนเช้า เพราะเราได้เว้นการดื่มน้ำระหว่างนอนหลับนานกว่า 4-6 ชั่วโมง ความเข้มข้นของปัสสาวะจึงเพิ่มขึ้นพร้อมกลิ่น อย่างไรก็ดีเมื่อใดที่ปัสสาวะที่มีกลิ่นแรงผิดปรกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณไม่ค่อยดี เช่น อาการเบาหวานที่ไม่ได้บำบัดมักทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นเฉพาะคล้ายน้ำจากผลต้นนมแมว เพราะมีน้ำตาลออกในปัสสาวะมากเกินปรกติ หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะหรือไต อาจทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นผิดปรกติ ซึ่งมักตามมาด้วยอาการปวดเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะขุ่นข้นหรือมีเลือด มีไข้ ปวดหลัง เป็นต้น อาการเหล่านี้สามารถใช้ในการประเมินขั้นต้นว่า เป็นอาการของการติดเชื้อที่ไต ซึ่งคำแนะนำที่พบในอินเตอร์เน็ทคือ ควรไปพบแพทย์ โอกาสที่ปัสสาวะมีกลิ่นโดยไม่เจ็บป่วย         การเกิดกลิ่นที่ผิดปรกติของปัสสาวะอาจไม่ได้เกิดจากภาวะสุขภาพผิดปรกติเสมอไป อาจมีปัจจัยอื่นๆ เช่น เมื่อร่างกายเสียน้ำมากในการออกกำลังกายอย่างหนัก การทำงานกลางแจ้งหรือการเดินทางไกล ซึ่งมักร่วมกับอาการที่เห็นได้ง่ายคือ ปากแห้ง เฉื่อยชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดหัว เวียนหัว อาการดังกล่าวควรหายไปเมื่อดื่มน้ำมากพอพร้อมเกลือแร่ แต่ถ้าไม่หายควรไปพบแพทย์เพราะอาจหมายถึงความผิดปรกติในการทำงานของไต         อาหารหลายชนิดสามารถทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นผิดจากปรกติ เช่น กาแฟ ผักที่มีกลิ่นแรงอย่างสะตอ ชะอม ขึ้นฉ่าย กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น กลิ่นที่เกิดในปัสสาวะหลังกินอาหารเหล่านี้เป็นดัชนีบ่งชี้การที่ไตต้องทำงานหนักขึ้นกว่าการกินอาหารที่มีกลิ่นไม่แรงนัก เพราะในอาหารที่มีกลิ่นแรงอาจจะมีสารเคมีที่ไม่ใช่สารอาหารมากกว่า         ผู้ที่กินวิตามินบีรวมที่มีความเข้มข้นสูงเกินความต้องการของร่างกาย กินยาปฏิชีวนะกลุ่นซัลโฟนาไมด์ กินยาบำบัดเบาหวานหรือยาบำบัดมะเร็ง มักมีประสบการณ์ว่าปัสสาวะมีกลิ่นที่ผิดปกติไปจากเดิม ทั้งนี้เพราะวิตามินบีเป็นสารที่ละลายน้ำดี เมื่อมากเกินความต้องการจึงต้องขับทิ้งทางปัสสาวะเช่นเดียวกับยาต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นสารแปลกปลอมของร่างกาย อวัยวะภายในหลักในการนี้คือ ตับและไต ต้องเพิ่มการทำงานในการเปลี่ยนแปลงสารเหล่านี้เพื่อขับออกจากร่างกายพร้อมกลิ่นซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสารที่ถูกขับแต่ละชนิด ปรากฏการณ์นี้มีความหมายว่า เราต้องจ่ายเพิ่มในเรื่องความเสื่อมของไต เพราะไตต้องทำงานหนักขึ้นในการขับสารที่ถูกเปลี่ยนแปลงแล้วออกทิ้งในปัสสาวะ ส่วนตับนั้นไม่มีปัญหาเท่าไรเพราะเป็นการขับทิ้งออกในน้ำดีซึ่งหลั่งออกสู่ทางเดินอาหารเพื่อใช้ช่วยในการย่อยอาหารไขมันอยู่แล้ว         การเสียสมดุลของแบคทีเรียบริเวณอวัยวะเพศสตรี อาจส่งผลทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นคาวปลาได้ เนื่องจากในสถานะการณ์ปรกตินั้นแบคทีเรียกลุ่มแลคโตแบซิลัสมักเป็นกลุ่มเด่นในการทำให้สภาวะแวดล้อมในอวัยวะเพศสตรีมีสภาวะเป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งเป็นการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย การล้างช่องคลอดโดยไม่จำเป็น การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย การว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่ไม่สะอาดจึงเกิดการติดเชื้อ ฯลฯ เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเสียสมดุลทั้งปริมาณและชนิดของแบคทีเรียที่เหมาะสม แบคทีเรียบางชนิดที่มีมากขึ้นผิดปรกติสามารถเปลี่ยนสารเคมีในช่องคลอดให้กลายเป็นสารที่มีกลิ่นคล้ายคาวปลา         การที่ปัสสาวะมีกลิ่นคล้ายปลาเน่านั้น เป็นการบ่งชี้ถึงความผิดปรกติในการทำงานของไตหรือปัญหาด้านพันธุกรรมที่ส่งผลให้ตับขาดเอ็นซัมชื่อ Flavin-containing monooxygenase 3 ซึ่งผลการขาดเอ็นซัมนี้ก่อให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า Trimethylaminuria นั่นคือ ไตไม่สามารถทำลายสาร trimethylamine ซึ่งเป็นอนุพันธุ์ที่เกิดขึ้นในร่างกายหลังการเปลี่ยนแปลง lecithin, choline และ L-carnitine ในอาหารบางประเภท เช่น ไข่แดง ต้นอ่อนข้าวสาลี เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์เช่น ตับ สาร trimethylamine นี้เป็นสารเคมีชนิดเดียวกับที่เกิดขึ้นในสภาวะที่ปลาถูกทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องนานๆ จนเกิดการเน่าเสีย โดยปรกติแล้ว trimethylamine ในร่างมนุษย์จะถูกเปลี่ยนไปเป็น trimethylamine-N-oxide ซึ่งไม่มีกลิ่น (สักเท่าไร) เพื่อขับออกทางการปัสสาวะ         การตั้งท้องของสตรีทำให้สภาวะฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลให้ปัสสาวะมีกลิ่นผิดไปจากเดิมหรืออาจบวกกับการที่คนท้องมักมีการได้รับกลิ่นไวขึ้นกว่าเดิม จึงรู้สึกว่าปัสสาวะมีกลิ่นแรงกว่าเดิม หนังสือทางชีววิทยาการสืบพันธุ์นั้นกล่าวว่า หลังจากไข่ได้รับการผสมกับอสุจิจนเกิดเซลล์ใหม่ ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนนั้น เซลล์จะเข้าไปฝังตัวในเยื่อบุมดลูกซึ่งเป็นการกระตุ้นกระบวนการหลั่งฮอร์โมนโกนาโดโทรปินคอโรนิกของมนุษย์หรือเอชซีจี ตรวจพบได้ในเลือดและปัสสาวะของหญิงตั้งท้อง ผู้หญิงที่จมูกไวมักสามารถได้กลิ่นเอชซีจีในปัสสาวะหลังมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคู่นอนเพียงไม่กี่อาทิตย์ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้ไปซื้อเครื่องตรวจการตั้งครรภ์มาทดสอบว่าจะจัดการกับชีวิตข้างหน้าอย่างไร บุญหรือกรรมสำหรับคนที่ไม่ได้กลิ่นบางอย่างของปัสสาวะ         โดยทั่วไปมนุษย์นั้นมีความสามารถในการรับกลิ่นต่างๆ ไม่เท่ากัน ในทางวิทยาศาสตร์เรียกสภาวะนี้ว่า Idiosyncrasies ซึ่งจัดว่าเป็นผลทางพันธุกรรม ดังนั้นจึงพบได้ทั่วไปว่า บางคนมีจมูกดีได้กลิ่นไวมากในขณะที่บางคนสบายมากในการเดินผ่านที่พักผู้โดยสารรถประจำทางเก่าๆ ในกรุงเทพมหานคร         จากหนังสือชื่อ Fart Proudly: Writings of Benjamin Franklin You Never Read in School พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ North Atlantic Books ในปี  2003. กล่าวว่า ในปี 1781 Benjamin Franklin เคยบันทึกถึงประสบการณ์ว่า การกินแอสปารากัสหรือหน่อไม้ฝรั่งเพียงไม่กี่ต้นทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ได้ และในปี 2014 เว็บ www.aurorahealthcare.org มีบทความเรื่อง Why Asparagus Makes Your Urine Smell ซึ่งเป็นการอธิบายว่า เมื่อเรากินหน่อไม้ฝรั่งแล้วร่างกายจะเปลี่ยนแปลง asparagusic acid ที่มีในหน่อไม้ฝรั่ง ไปเป็นสารเคมีกลุ่มที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ ทำให้ปัสสาวะ (รวมถึงเหงื่อและลมหายใจ) มีกลิ่นเฉพาะที่บอกว่าคนผู้นั้นได้กินอาหารที่มีหน่อไม้ฝรั่งเมื่อ 15-60 นาทีที่แล้ว        บทความเรื่อง Food Idiosyncrasies: Beetroot and Asparagus ตีพิมพ์ในวารสาร Drug Metabolism and Disposition ของปี 2001 ให้ข้อมูลส่วนหนึ่งว่า เมื่อทางเดินอาหารในร่างกายย่อยหน่อไม้ฝรั่งแล้ว asparagusic acid จะถูกดูดซึมไปที่ตับซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไปได้สารประกอบซัลเฟอร์ 6 ชนิด คือ methanethiol, dimethyl sulfide, dimethyl disulfide, bis(methylthio)methane, dimethyl sulfoxide, และ dimethyl sulfone สารเหล่านี้รวมกันแล้วเป็นสาเหตุของกลิ่นในปัสสาวะโดยมี methanethol ทำหน้าที่เป็นแกนนำหลัก แต่กรณีที่คนบางคนกินหน่อไม้ฝรั่งแล้วปัสสาวะไม่มีกลิ่นหรือมีน้อยมากนั้นบทความดังกล่าวบอกว่า อาจเป็นเพราะมีการดูดซึม asparagusic acid ต่ำจนถึงไม่ดูดซึม แต่ก็มีเรื่องน่าสนใจว่าบางคนที่กินหน่อไม้ฝรั่งแล้วปัสสาวะไม่มีกลิ่นรุนแรง ซึ่งแสดงว่าเขาผู้นั้นอาจขาดเอ็นซัมที่สามารถย่อยให้ asparagusic acid ไปเป็นสารประกอบซัลเฟอร์ที่ก่อให้เกิดกลิ่น อย่างไรก็ดียังไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องดังกล่าวในลักษณะลึกซึ้ง         สำหรับในกรณี คนไม่ได้กลิ่นที่เปลี่ยนไปของปัสสาวะ ได้มีการอธิบายในบทความเรื่อง Web-Based, Participant-Driven Studies Yield Novel Genetic Associations for Common Traits ในวารสาร PLoS Genetics ตีพิมพ์ในเดือนมิถุนายน 2020 ว่า เป็นลักษณะเฉพาะบุคคลที่มีการกลายพันธุ์ในลักษณะของ SNP (single nucleotide polymorphism) ของโครโมโซมแท่งที่ 1 โดยตำแหน่ง SNP ที่เกิดนั้นคือ rs4481887, rs4309013 และ rs4244187 ของยีน OR2M7 (olfactory receptor family 2 subfamily M member 7) ซึ่งมีหน้าที่สร้างโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็น olfactory receptors หรือตัวรับกลิ่น ที่น่าสนใจคือ บทความนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทชื่อ 23andMe ซึ่งรับตรวจสอบความผิดปรกติทางพันธุกรรมในการรับกลิ่นของปัสสาวะของคนที่กินหน่อไม้ฝรั่ง โดยงานวิจัยนี้ได้ศึกษาในคนราวหมื่นคนว่าได้กลิ่นเฉพาะในปัสสาวะหลังกินหน่อไม้ฝรั่งหรือไม่ จากนั้นก็ดูลักษณะร่วมของคนที่ไม่ได้กลิ่นว่ามีลักษณะทางพันธุกรรมส่วนใดที่เป็น SNP ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น         นอกจากนี้ยังมีบทความเรื่อง Sniffing out significant “Pee values”: genome wide association study of asparagus anosmia ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ ของปี 2016 ที่ศึกษาในอาสาสมัครที่มีข้อมูลทางพันธุกรรมของโครงการการศึกษาทางระบาดวิทยา 2 โครงการ คือ Nurses’ Health Study และ Health Professionals Follow-up Study ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเกี่ยวกับความสามารถในการได้กลิ่นจากปัสสาวะของคนที่กินหน่อไม้ฝรั่ง โดยผลสรุปของงานวิจัยคือ 58.0% ของผู้ชาย (n=1449/2500) และ 61.5% ของผู้หญิง (n=2712/4409) มีการแสดงออกที่เรียกว่า asparagus anosmia คือ ไม่ได้กลิ่นสารเคมีจากหน่อไม่ฝรั่งในปัสสาวะ         สภาวะการไม่ได้กลิ่นของปัสสาวะหรือ anosmia นั้นเกิดขึ้นได้ทั้ง ชั่วคราว หรือ ถาวร ซึ่งในกรณีหลังนั้นเนื่องจากพันธุกรรมดังกล่าวข้างต้น แต่ในกรณีชั่วคราวนั้นมักเกิดจากการระคายเคืองของจมูกเมื่อติดเชื้อ เช่น ป่วยเป็น covid-19 ทำให้จมูกไม่ได้กลิ่นเท่าเดิม ซึ่งมักส่งผลให้ไม่อยากอาหารจนมีภาวะทุพโภชนาการ น้ำหนักลดลง อาจเป็นโรคซึมเศร้า ซ้ำร้ายการสูญเสียความสามารถในการดมกลิ่มอาจส่งผลถึงการหมดสมรรถภาพทางเพศได้ด้วย สำหรับสาเหตุอื่นของการไม่ได้รับกลิ่นนั้นมักเป็นผลมาจากการบวมและอุดตันภายในจมูกหรือปัญหาเกี่ยวกับการส่งสัญญาณจากเส้นประสาทในจมูกไปยังสมอง การติดเชื้อบริเวณโพรงอากาศข้างจมูกหรือไซนัส ไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ การสูบบุหรี่ เสพโคเคนหรือสารเสพติดอื่น ๆ ทางจมูก การอุดตันในจมูกเนื่องจากเนื้องอก กระดูกในจมูกหรือผนังกั้นจมูกผิดรูป โรคอัลไซเมอร์หรือเป็นโรคฮันติงตัน (Huntington’s Disease) ที่เกิดจากพันธุกรรมผิดปกติซึ่งทำให้ระบบประสาทเสื่อม ความผิดปกติของฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาบำบัดความดันโลหิตสูง ลมชัก เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 Covid-19 หนักหรือเบาเพราะอะไร

        ระหว่างที่ประชากรโลกตั้งตารอวัคซีนต่อสู้เชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งก่อโรค Covid-19 นั้น มีข่าวงานวิจัยที่น่าสนใจเรื่อง Preexisting and de novo humoral immunity to SARS-CoV-2 in humans ในวารสาร Science ของปี 2020 ซึ่งอาจจะให้แนวทางในการอธิบายว่า ทำไมคนที่ได้รับเชื้อ SARS-CoV-2 นั้นจึงมีอาการต่างกัน หรืออาจไม่มีอาการเสียด้วยซ้ำ         บทความดังกล่าวระบุว่า ประชากรของโลกบางคนมีแอนติบอดี (antibody) ที่สามารถจัดการกับไวรัส SARS-CoV-2 ได้ ทั้งที่คนๆ นั้นไม่เคยป่วยเพราะรับเชื้อดังกล่าวมาก่อน ข้อมูลนี้ได้จากการดูผลวิเคราะห์เลือดที่ได้รับบริจาคก่อนการระบาดของ Covid-19 โดยนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่สถาบัน Francis Crick Institute ในกรุงลอนดอนซึ่งได้ร่วมกับเพื่อนๆ จาก University College London ของสหราชอาณาจักรทำการศึกษานี้         จริงแล้วนักวิจัยกลุ่มดังกล่าวตั้งวัตถุประสงค์ของงานเพื่อพัฒนาวิธีการตรวจวัดหาแอนติบอดีในเลือดของผู้ป่วยที่ฟื้นจากอาการป่วยหลังติดเชื้อ SARS-CoV-2 ให้ไวขึ้นกว่าวิธีเดิม เพื่อติดตามว่าผู้ป่วยเหล่านี้มีแอนติบอดีอยู่ในร่างกายได้นานเพียงใดหลังจากหายดีแล้ว ในการศึกษานั้นจำต้องมีการตรวจสอบปริมาณแอนติบอดีจากน้ำเลือดของคนที่ไม่ได้สัมผัสเชื้อมาก่อนเลย (ซึ่งตัวอย่างนั้นต้องเก็บก่อนมีการระบาดของ Covid-19) เพื่อใช้เป็นกลุ่มควบคุมผลลบที่เรียกว่า negative control แต่ปรากฏว่าน้ำเลือดบางตัวอย่างจากกลุ่มควบคุมดังกล่าวถูกตรวจพบว่า มีระดับแอนติบอดีที่ต่อต้าน SARS-CoV-2 ในขนาดที่น่าสนใจต่างจากคนปรกติทั่วไป        นักวิจัยกลุ่มนี้ได้ตั้งสมมุติฐานถึงการสัมผัสโคโรนาไวรัสอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดอาการหวัดธรรมดา (common cold ซึ่งเป็นอาการที่เกิดได้จากไวรัสต่างสกุลกันกว่า 200 สายพันธุ์ ไวรัสเหล่านี้ก่ออาการอักเสบของทางเดินหายใจตอนบนในลักษณะเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันที่ได้ผลดี) ว่าเป็นตัวกระตุ้นให้ประชากรบางคนมีแอนติบอดีต่อโคโรนาไวรัสที่ก่ออาการหวัดธรรมดา โดยที่แอนติบอดีที่เกิดนั้นไม่ได้มีความจำเพาะต่อไวรัสก่อโรคแบบสัมบูรณ์ (absolute) กล่าวคือ สามารถทำปฏิกิริยากับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์อื่นซึ่งรวมถึง SARS-CoV-2 ที่ก่อโรค Covid-19 ด้วย ปรากฏกรณ์นี้เรียกว่า immune cross-reactivity ซึ่งเป็นลักษณะการต้านเชื้อข้ามสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาในไวรัสหลายกลุ่มโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ นั้นต่างก็มีตุ่มโปรตีน (spike protein) บนผิวหน้าของตัวไวรัสซึ่งอาจมีสัณฐานของตุ่มโปรตีนดูคล้ายกันในภาพรวมจนทำให้แอนติบอดีเหมาเอาว่าเป็นไวรัสเดียวกัน ในบทความเรื่อง Common Human Coronaviruses ซึ่งเผยแพร่โดย US.CDC (Center of Disease Control and Prevention) นั้นได้กล่าวว่า โคโรนาไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการหวัดธรรมดาประจำปีของอเมริกานั้นมี 4 สายพันธุ์คือ HCoV-NL63, HCoV-229E, HCoV-OC43 และ HCoV-HKU1 ซึ่งมีความแตกต่างกันไม่มากนัก         จริงแล้วไวรัสที่ก่ออาการหวัดธรรมดานั้นมีการหมุนเวียนเข้ามาก่อปัญหาสุขภาพของประชากรโลกเป็นระยะๆ มีบทความหนึ่งที่น่าสนใจชื่อ Seasonal coronavirus protective immunity is short-lasting ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine ของปี 2020 ซึ่งในความเป็นจริงเป็นงานที่ทำการศึกษาต่อเนื่องมานาน 22 ปี ในอาสาสมัคร 513 คน ที่มีอายุระหว่าง 27-40 ปี ของโครงการ The Amsterdam Cohort Studies on HIV infection and AIDS ซึ่งพบว่า น้ำเลือดของอาสาสมัครมีระดับแอนติบอดีหลายชนิด (ซึ่งรวมถึงแอนติบอดีต่อโคโรนาไวรัสที่ก่ออาการหวัดธรรมดา) ตกค้างอยู่ในระยะยาวซึ่งอาจนานถึง 12 เดือน ดังนั้นโอกาสที่อาสาสมัครจะมีอาการเป็นหวัดซ้ำอีกครั้งจึงอาจเป็นอีก 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง ถึงอีก 12 เดือนบ้าง ผู้เขียนบทความได้อ้างถึงสมมุติฐานที่ว่า แอนติบอดีที่ร่างกายสร้างสู้เชื้อโคโรนาไวรัสนั้นมักมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อได้หลายสายพันธุ์ในสกุลเดียวกันในลักษณะที่เรียกว่า immune cross-reactivity ซึ่งเป็นการสนับสนุนบทความในวารสาร Science ที่กล่าวถึงข้างต้นในประเด็นที่ว่า ระบบภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นด้วยโคโรนาไวรัสสายพันธุ์หนึ่งอาจไปป้องกันโคโรนาไวรัสอีกสายพันธุ์หนึ่งได้นอกจากนี้ยังมีข้อมูลในบทความเรื่อง Antibodies fight off the new coronavirus, but what do T cells do? ในเว็บ www.medicalnewstoday.com ซึ่งกล่าวถึงการที่เซลล์ภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันไวรัส SARS-CoV-2 และระบุว่าเม็ดเลือดขาวชนิด T-cells ดูมีบทบาทมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคิดไว้ในระยะแรกของการระบาดของโรค โดยเม็ดเลือดขาวกลุ่ม T-cells นั้นได้ถูกกล่าวถึงว่ามีส่วนร่วมในการกระตุ้นการเกิดแอนติบอดีต้าน Covid-19         T-cells เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวกลุ่มหนึ่งซึ่งไขกระดูกสร้างขึ้นในรูปแบบของเซลล์ต้นกำเนิด(stem cells) แล้วจึงมีการเคลื่อนย้ายบางส่วนไปยังต่อมไธมัส (Thymus gland) เพื่อพัฒนาเป็น T-cells ที่ทำงานหลายประเภท โดยที่สำคัญในกรณีนี้คือ Helper T-cells ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับ SARS-CoV-2 ดร. John Yewdell หัวหน้าแผนกชีววิทยาของเซลล์ที่ห้องปฏิบัติการโรคไวรัสที่สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIAID) ของสหรัฐอเมริกาได้ให้ภาพรวมของ T cells ในบริบทของ Covid-19 ว่าควรมุ่งถึง CD4 helper T-cell ซึ่งมีโปรตีนที่เรียกว่า cluster of differentiation 4 (CD4) ติดบนผิวเซลล์         โปรตีน CD4 นี้ทำหน้าที่ช่วยสำรวจหาเชื้อโรคในร่างกายของเราเพื่อส่งสัญญานให้ระบบภูมิคุ้มกันขั้นต้นจัดการย่อยไวรัสให้เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ในลักษณะโพลีเป็บไตด์ (ซึ่งเป็นสายกรดอะมิโนที่ต่อกันซึ่งสั้นเกินกว่าที่จะเรียกเป็นโปรตีนแต่ยังมีความสามารถในการกระตุ้นให้เกิดแอนติบอดีซึ่งเรียกว่า antigenicity) แล้วถูกจับได้ด้วยโมเลกุลที่เรียกว่า Major Histocompatibility Complex (MHC) Class II ซึ่งเป็นโปรตีนที่สามารถกระตุ้นให้ CD4 helper T-cells เริ่มบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้ B-cells ที่ถูกเปลี่ยนเป็น plasma cells ทำหน้าที่สร้างแอนติบอดีที่เฉพาะเจาะจงในการจับตัวกับตุ่มโปรตีนที่อยู่บนผิวของไวรัส เพื่อเริ่มกระบวนการทำลายไวรัสซึ่งมีหลายขั้นตอน         สำหรับ  B-cell นั้นเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวอีกชนิดที่ถูกพัฒนามาจากเซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูกแล้วถูกเคลื่อนย้ายไปยังส่วนของต่อมน้ำเหลืองที่ยังระบุชัดเจนไม่ได้ชัดว่าอยู่ตรงไหน (แต่ถูกค้นพบครั้งแรกที่ไขกระดูกบริเวณก้นกบของไก่ซึ่งเรียกว่า Bursa of Fabricius จึงเป็นที่มาของอักษรย่อ B) ซึ่งในการตอบสนองต่อปฏิสัมพันธ์กับ helper T-cell ชนิด CD4 นั้น B-cells จะถูกเปลี่ยนให้เป็นเซลล์ 2 ชนิดคือ เซลล์ที่ทำงานได้จริงในการสร้างแอนติบอดีซึ่งเรียกว่า plasma cells และ memory B-cells ซึ่งชนิดหลังนี้สามารถดำรงอยู่นานระยะหนึ่งเพื่อพัฒนากลับเป็น plasma cells ในการต่อสู้เมื่อมีการติดเชื้อซ้ำ (ซึ่งในกรณีของ T-cells ที่ถูกกระตุ้นแล้วนั้นก็มี memory T-cells เช่นกัน)         ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเซลล์ถูกไวรัสรุกรานคือ ขณะที่เซลล์ถูกบังคับให้สร้างโปรตีนและองค์ประกอบอื่นๆ ที่ไวรัสต้องการนั้นจะมีการสร้างเปปไทด์บางชนิดขึ้นแล้วถูกส่งออกไปติดที่ผิวเซลล์ ซึ่งถูกรุกรานในลักษณะเดียวกับ Major Histocompatibility Complex เดิมของเซลล์ เป็นลักษณะสำคัญที่ทำให้เป็นการบอกให้ระบบภูมิคุ้มกันรู้ว่า เซลล์นั้นกลายเป็นเซลล์ที่ติดเชื้อ ปรากฏการณ์นี่เป็นการส่งสัญญาณให้ CD8 T-cells (หรือ killer T-cell) สามารถค้นหาและทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อได้         จากข้อมูลที่เล่าให้ฟังนี้ท่านผู้อ่านอาจพอเห็นแนวทางรางๆ ของคำอธิบายเกี่ยวกับการตอบสนองในคนที่ติดเชื้อ Covid-19 ที่แสดงออกต่างกันไม่ว่ากรณีไม่แสดงอาการเลย แสดงอาการช้านานเกิน 14 วัน เป็นไข้แค่ไม่กี่วันกินยาเองก็หายนั้นเกิดเนื่องจากสาเหตุใด สำหรับแนวทางที่ชัดเจนนั้นอาจต้องรอให้มีการใช้วัคซีนที่ได้ผลแล้วในระดับหนึ่งในอนาคต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 วิตามินซีในเครื่องดื่มสลายตัวเป็นอะไร

        ผู้บริโภคที่ศึกษาถึงขั้นมัธยมศึกษาขึ้นไปนั้นคงพอมีความรู้ว่า วิตามินซี เป็นสารอาหารสำคัญมากชนิดหนึ่งต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรรู้ว่า ร่างกายต้องใช้วิตามินซีในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนที่เรียกว่า คอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีสัดส่วนมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ราวร้อยละ 25-35 ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรกินผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเพื่อให้มีผิวพรรณดีเพราะมีคอลลาเจนครบตามที่ผิวควรมีได้ (ไม่เกี่ยวกับสีผิวนะครับ) นอกจากนี้วิตามินซียังมีบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่ง (ในอีกหลายประการ) คือ ช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (ร่วมกับสังกะสี วิตามินเอ โปรตีนและอื่น ๆ) ให้ทำงานเป็นปรกติ)         สิ่งที่พิสูจน์ว่าคนไทยหลายคนสนใจเกี่ยวกับวิตามินซีและรู้ถึงประโยชน์ของวิตามินซีอย่างดีนั้น ยืนยันด้วยความนิยมในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเสริมวิตามินซี โดยเฉพาะน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มที่มีการเติมวิตามินซีลงไป ทั้งเติมน้อยพอประมาณหรือเติมเท่าค่า RDA (คือ 60 มิลลิกรัม) หรือเติมให้มากเกินความต้องการโดยระบุเป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้น เช่น 200% ไปเลย         แต่ประเด็นที่ผู้บริโภคมักมองผ่านคือ ในการเรียนรู้ที่ผ่านมาในชีวิตนั้น คุณครูมักสอนว่า วิตามินซีไม่ค่อยเสถียรเมื่อได้รับความร้อนและ/หรือแสง ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์แล้วแสงโดยเฉพาะแสงอัลตราไวโอเล็ทมีผลต่อการสูญเสียของวิตามินซีเป็นหลักมากกว่าความร้อนเสียอีก ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่เสริมวิตามินซีจึงมักใช้ภาชนะบรรจุปิดสนิทเพื่อป้องกันแสงพร้อมทั้งป้องกันออกซิเจนจากอากาศ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงวิตามินซีไปเป็นสารอื่น         ประเด็นที่น่าสนใจคือ วิตามินซีที่อยู่ในอาหาร ทั้งวิตามินซีธรรมชาติและวิตามินซีที่สังเคราะห์เลียนแบบธรรมชาติที่เติมลงไปในอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารอื่นยากหรือง่ายเพียงใด และที่สำคัญคือ เปลี่ยนไปเป็นอะไร เครื่องดื่มผสมวิตามินซี         ความที่สินค้าที่มีการเสริมวิตามินซีได้รับความนิยมสูง คำถามหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในใจของคนขี้สงสัย คือ สินค้าที่ซื้อมาบริโภคนั้นมีวิตามินซีที่ต้องการได้ตามที่ระบุไว้บนฉลากหรือไม่ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องทำตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (มีลักษณะเป็นอาหารทั่วไปซึ่งมีเพียงการควบคุมการแสดงฉลากและดูแลความปลอดภัยเท่าที่ควรเป็นเท่านั้น)         ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงเก็บตัวอย่างสินค้าเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ส่งให้ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากรัฐ ตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีที่ปรากฏในวันที่เก็บตัวอย่าง แล้วเปิดเผยผลการตรวจสอบปริมาณวิตามินซีในตัวอย่างที่เก็บมาเมื่อวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563 ซึ่งพบว่ามี 8 ตัวอย่าง ไม่พบปริมาณวิตามินซีตามที่แจ้งบนฉลากสินค้าและหนึ่งในนั้นคือ เครื่องดื่มผสมน้ำสมุนไพรสกัดชนิดหนึ่งและวิตามินซี ของผู้ผลิตใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสินค้าดังกล่าวประหลาดใจปนเสียดายเงิน ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ที่เคยได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับวิตามินซีมาก่อนเห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะวิตามินซีนั้นก็เหมือนกับวิตามินที่ละลายน้ำอื่น ๆ ที่เสียสภาพได้ไม่ยากเมื่อถูกละลายน้ำ โดยขึ้นกับสิ่งแวดล้อมรอบวิตามินนั้น ๆ ทั้งสภาวะทางกายภาพและองค์ประกอบในสินค้านั้นว่าเป็นอะไรบ้าง (งานวิจัยในลักษณะนี้มีมากสามารถค้นหาได้จากฐานข้อมูลวิชาการทางวิทยาศาสตร์ในอินเทอร์เน็ต)         หลังการแถลงข่าวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีผู้ผลิตสินค้ารายหนึ่งเห็นความสำคัญที่ต้องแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน (ผู้เขียนจำต้องดัดแปลงเนื้อหาบางส่วนนิดหน่อยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยี่ห้อสินค้าเพื่อตัดความรำคาญที่อาจตามมาภายหลัง) ว่า          ….สินค้าที่ผลิตทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่นๆ และเร็วขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น ทางผู้ผลิตขอยืนยันว่า สินค้าของบริษัทในทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่น ๆ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ อาจส่งผลให้การสลายตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ และวิตามินซียังสามารถสลายตัวได้ง่ายในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น แต่วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม ทีมงานวิจัยของบริษัทได้มีการคิดค้นวิธีการตามหลักวิทยาศาสตร์และนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้านั้นคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทได้วางแผนการอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บสินค้าอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่า สินค้าที่ส่งถึงมือผู้บริโภคนั้น ยังคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี...          ประเด็นสำคัญในแถลงการณ์ของผู้ผลิตรายนี้คือ การระบุว่า วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม สิ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูลส่วนนี้ได้ตรงกับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์แล้วก่อให้เกิดความประหลาดใจแก่นักวิชาการที่รู้เรื่องเกี่ยวกับวิตามินซีและผู้เขียน (ซึ่งแม้เกษียณการทำงานสอนแล้วแต่ยังติดตามข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพอยู่) เป็นอย่างมากเสมือนได้ความรู้ใหม่ซึ่งต้อง คิดก่อนเชื่อ         เพื่อให้ได้ข้อตัดสินว่า วิตามินซีที่ละลายน้ำนั้นเปลี่ยนไปเป็น L-tartrate (สารเคมีนี้เป็นเกลือของกรดมะขามคือ L-tartric acid ซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้) ได้จริงหรือไม่ ผู้เขียนจึงได้ใช้ฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพทั้งที่เป็นวารสารและตำราทั้งของ PubMed ซึ่งสังกัด National Center for Biotechnology Information (หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา) และ ScienceDirect ซึ่งเป็นของเอกชนที่รวบรวมข้อมูลจากวารสารนานาชาติจำนวนมาก เพื่อหาว่ามีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิตามินซีในน้ำ ซึ่งสุดท้ายแล้วหลังใช้ความพยายามพอสมควรก็ได้พบว่ามี 1 บทความวิจัยที่ตอบคำถามว่า วิตามินซีเมื่ออยู่ในน้ำนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปเป็น L-tartrate         บทความเรื่อง Oxidative Decomposition of Vitamin C in Drinking Water ซึ่งเขียนโดย Patric J. Jansson และคณะ ในวารสาร Free Radical Research ชุดที่ 38 เล่มที่ 8 ประจำเดือน สิงหาคม หน้า 855–860 ของปี 2004 ได้รายงานการทำวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวฟินแลน์ ซึ่งผู้เขียนขอแปลส่วนที่เป็นบทคัดย่อให้ผู้อ่านได้อ่านแบบเต็มๆ ดังนี้         ก่อนหน้านี้เราได้แสดงให้เห็นว่าวิตามินซี (กรดแอสคอร์บิก) สามารถก่อให้เกิดอนุมูลไฮดรอกซิลในน้ำดื่มที่ปนเปื้อนทองแดงในครัวเรือน (Jansson, P.J. et al. 2003. Vitamin C (ascorbic acid) induced hydroxyl radical formation in copper contaminated household drinking water: role of bicarbonate concentration Free Radic. Res. 37: 901–905.) ในการศึกษาปัจจุบันเราได้ตรวจสอบความเสถียรของวิตามินซีในน้ำดื่มในครัวเรือนที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต (สารตัวนี้ผู้ทำวิจัยไม่ได้บอกว่าเติมลงไปทำไม ผู้แปลเข้าใจว่าเพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างด้วยคุณสมบัติเป็น buffer ให้เหมาะสมในการทำวิจัย) ในการศึกษาพบว่าร้อยละ 35 ของวิตามินซีที่เติมในตัวอย่างน้ำดื่ม (ให้มีความเข้มข้น 2 mM) ที่วางไว้ที่อุณหภูมิห้องถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก (dehydroascorbic acid) ภายใน 15 นาที และหลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมง ร้อยละ 93 ของกรดแอสคอร์บิกที่เติมลงไปถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก ซึ่งสลายตัวต่อไปเป็นกรดออกซาลิก (oxalic acid) และกรดธรีโอนิก (threonic acid) ด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่เกิดจากปฏิกิริยา autooxidation ระหว่างไอออนทองแดง (Cu+1) และออกซิเจนในน้ำ (สมมุติฐานตามหลักการของ Fenton reaction…ผู้แปล) การออกซิเดชั่นของวิตามินซีเกิดขึ้นพอประมาณในน้ำ Milli-Q (น้ำกรองจนบริสุทธิ์ระดับ ASTM 1...ผู้แปล) และในตัวอย่างน้ำในครัวเรือนที่ไม่ปนเปื้อนด้วยไอออนของทองแดง ยิ่งไปกว่านั้นการเพิ่มวิตามินซีลงในตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดที่จำหน่ายในประเทศ (ฟินแลนด์ ??...ผู้เขียน) ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการออกซิเดชั่นของวิตามินซี ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า กรดแอสคอร์บิกถูกออกซิไดซ์อย่างรวดเร็วเป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิกและย่อยสลายต่อไปเป็นกรดออกซาลิกและกรดธรีโอนิกในน้ำประปาที่ปนเปื้อนด้วยทองแดง ซึ่งถูกบัฟเฟอร์ด้วยไบคาร์บอเนต (โดยสรุป)งานวิจัยได้แสดงถึงสิ่งที่ได้จากการบริโภคกรดแอสคอร์บิกในน้ำดื่มที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต          จากบทคัดย่อผลงานวิจัยของ Patric J. Jansson ที่ผู้เขียนได้แปลนั้นคงให้คำตอบแล้วว่า วิตามินซีเปลี่ยนไปเป็นสารใดเมื่ออยู่ในน้ำ ส่วนการเกิด L-tartrate ได้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูต่อไปว่ามีใครพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ้าง

อ่านเพิ่มเติม >