ฉบับที่ 257 รู้จักข้าวยีสต์แดงก่อนซื้อกิน

        “ของกิน” นั้นมีทั้งคุณและโทษ ขึ้นกับวิธีการกินทั้งขนาดและปริมาณตลอดจนถึงความถี่และช่วงเวลาที่กิน ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนของสิ่งที่มนุษย์กินเข้าไปคือ ยา ซึ่งในทางวิชาการแล้วถือว่ายาเป็นสารพิษกลุ่มหนึ่งซึ่งมนุษย์สามารถคิดได้ว่า ควรใช้ความเป็นพิษของยาแต่ละชนิดให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษอย่างไร ดังนั้นยาจึงมีประโยชน์เฉพาะในช่วงเวลาสั้นๆ ขณะกำลังเจ็บป่วย แต่เมื่อหายแล้วไม่ควรกินยาอีกเพราะจะเกิดพิษได้         ตัวอย่างยากลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจคือ สแตติน (statin) ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งการสร้างโคเลสเตอรอลในตับ ดังนั้นจึงถือว่า สแตตินเป็นสารพิษ เนื่องจากไปลดการสร้างโคเลสเตอรอลซึ่งเป็นสารชีวเคมีที่ร่างกายสร้างขึ้นใช้เป็นประโยชน์ ได้แก่ การเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของผนังเซลล์ นำไปใช้สร้างเป็นเกลือน้ำดีซึ่งจำเป็นต่อกระบวนการดูดซึมไขมันจากทางเดินอาหาร และเป็นสารตั้งต้นของการสร้างวิตามินดีเพื่อการดำรงชีวิต         จริงแล้วโคเลสเตอรอลมักถูกใช้หมดอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อร่างกายยังอยู่ในวัยเด็กและหนุ่มสาวตอนต้น หลังจากอายุผ่านไปสู่วัยกลางคนซึ่งร่างกายเริ่มมีการสร้างเซลล์น้อยลง จนถึงจุดหนึ่งโคเลสเตอรอลที่สร้างและกินจากอาหารถูกใช้ไม่หมดเหลืออยู่ในกระแสเลือด และเมื่อจังหวะเหมาะที่เกิดความผิดปรกติของเซลล์ที่ประกอบเป็นผนังหลอดเลือดจนส่งผลให้เกิดการตกตะกอนของโคเลสเตอรอล (ในรูป LDL) บนผนังเซลล์จนหลอดเลือดแคบหรือตีบลง ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดช้าลงจนส่งสารอาหารและออกซิเจนแก่กล้ามเนื้อบริเวณนั้นๆ ไม่พอ ถ้าปรากฏการณ์นี้เกิดกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจปัญหาจะใหญ่หลวงนัก ดังนั้นแพทย์จึงจำเป็นต้องใช้ยาเช่น สแตตินยับยั้งการสร้างโคเลสเตอรอลบางส่วนในคนไข้ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดเส้นเลือดตีบที่เป็นภัยคุกคามชีวิต         ผู้บริโภคทั่วไปมักไม่ทราบว่า การสังเคราะห์สแตตินเพื่อใช้เป็นยานั้น เป็นการสังเคราะห์สารเคมีที่มีโครงสร้างทางเคมีเหมือนกับสารธรรมชาติที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิตข้าวยีสต์แดง ดังนั้นในบทความนี้ผู้เขียนจึงหวังให้ข้อมูลเพื่อเป็นข้อเตือนใจผู้บริโภคว่า ควรคำนึงให้หนักเมื่อตัดสินใจซื้อสินค้าข้าวยีสต์แดงมาบริโภค         มีการโฆษณาขายข้าวยีสต์แดงซึ่งผลิตจากมหาวิทยาลัยหนึ่งในราคา 800 บาทต่อ 60 แคปซูล โดยระบุว่าในหนึ่งแคปซูลมีข้าวยีสต์แดง 250 มก. โปรตีนสกัดจากถั่วเหลือง 250 มก. และสารทำให้เกิดเจล  ในส่วนข้อมูลประกอบการโฆษณากล่าวว่า “ข้าวยีสต์แดง คือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักข้าวด้วยยีสต์ราชื่อ โมแนสคัส (ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Monascus purpureus) ซึ่งเป็นยีสต์ราในอาหารชนิดที่ปลอดภัยกินได้ เพราะมีประวัติการใช้ประโยชน์มาหลายพันปี โดยประเทศในแถบตะวันออกเช่น จีน ได้มีการนำเอาเฉพาะส่วนที่เป็นผงสีทำเป็นองค์ประกอบของเครื่องปรุงในการทำหมูแดง เป็ดปักกิ่ง ซอสเย็นตาโฟ เต้าหู้ยี้ ใช้ปรุงเครื่องดื่มเช่น เหล้า เบียร์ น้ำผลไม้ นมเปรี้ยว นอกจากนี้ยังถูกใช้เป็นยาพื้นบ้านและเครื่องสำอาง” ดังนั้นผู้อ่านคงพอสังเกตได้ว่า การอ้างว่าสินค้านี้ปลอดภัยนั้นหมายถึง เมื่อบริโภคตามแบบคนจีนโบราณ ซึ่งว่าไปแล้วคงมีปริมาณของสีแดงที่ได้จากผงข้าวขึ้นราในปริมาณไม่มากนัก         ผู้บริโภคที่สูงอายุหน่อยอาจรู้จักข้าวยีสต์แดงในชื่อ อังคัก (ang-khak) สินค้านี้ซื้อออนไลน์ได้ในราคาถูกกว่าสินค้าที่อยู่ในรูปแคปซูล เช่นข้าวยีสต์แดง 100 กรัม (ยังเป็นเม็ดข้าวขึ้นราแดง) ราคา 42 บาท หรือที่บดเป็นผงแล้ว 500 กรัม ราคา 199 บาท (ซึ่งเหมาะต่อการทำหมูแดงแบบโบราณที่ต่างจากการทำหมูแดงโดยใช้ผงปรุงรสที่ขายในซูเปอร์มาเก็ตซึ่งใช้สีแดงที่สังเคราะห์ทางเคมี) โดยราคานั้นแตกต่างกันไปตามแพลตฟอร์มที่ขายและขึ้นกับว่าใครคือผู้ขาย อย่างไรก็ดีแต่ละแพลตฟอร์มนั้นไม่รับรองคุณภาพและความปลอดภัยใดๆ เนื่องจากสินค้าไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนกับทางราชการ เพราะระบุว่าเป็นเครื่องเทศทั่วไปสำหรับสินค้าข้าวยีสต์แดงที่มีการโฆษณาขายในรูปแคปซูลนั้นต้องขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งยี่ห้อที่ผลิตจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งนั้นมีการอ้างว่า “ได้ทำวิจัยเพื่อคัดเลือกและปรับปรุงสายพันธุ์จนได้เชื้อยีสต์ราโมแนสคัสที่ให้สาร โมนาโคลินเค (Monacolin K) ในปริมาณสูง”         ผู้จำหน่ายข้าวยีสต์แดงออนไลน์ให้ข้อมูลว่า “โมนาโคลินเคเป็นสารยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์โคเลสเตอรอล ส่วนในด้านความปลอดภัยของข้าวยีสต์แดงนั้นแพลตฟอร์มขายสินค้ากล่าวว่า ได้ผ่านการตรวจสอบด้านความปลอดภัยต่างๆ แล้วคือ ทดสอบกับหนูทดลอง ดูผลของสารสีต่อโครโมโซมเม็ดเลือดขาวของคน ทดสอบโดยฉีดน้ำสีเข้าไปในไข่ไก่ฟัก ทดสอบการก่อกลายพันธุ์ มีการตรวจสอบสารพิษของเชื้อรา (อะฟลาทอกซิน และซิตรินิน)” ในประเด็นความปลอดภัยดังที่โฆษณานี้คงเป็นเพียงการทดสอบในลักษณะงานวิจัยในห้องปฏิบัติการแบบแบ่งแยกกันทำงานใครงานมัน ไม่ได้ผ่านในลักษณะกระบวนการทดสอบความปลอดภัยซึ่งเรียกว่า safety decision tree ที่นักพิษวิทยาทั้งหลายรู้จักดี ทั้งนี้เพราะการทดสอบความปลอดภัยอย่างเป็นระบบที่ว่านั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และในความเป็นจริงแล้วโมนาโคลินเค ได้ถูกประเมินความปลอดภัยในการใช้เป็นยาลดโคเลสเตอรอลแล้วโดยมีขายในชื่อสามัญว่า Lovastatin         ดังนั้นในคำโฆษณาที่กล่าวว่า ข้าวยีสต์แดงที่ขายนั้นใช้ยีสต์ราที่ถูกคัดเลือกและปรับปรุงสายพันธ์จนทำให้ได้สารโมนาโคลินเคปริมาณสูง เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าพิจารณามาก เนื่องจากในสหรัฐอเมริกานั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ถือว่า ผลิตภัณฑ์จากข้าวยีสต์แดงบางยี่ห้อเป็นยาที่ไม่ผ่านการอนุมัติ และไม่สามารถขายผลิตภัณฑ์ที่มีโมนาโคลินเคในปริมาณที่ตรวจพบได้สูงในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างถูกกฎหมาย (ถอดความจากส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง Red Yeast Rice ในเว็บของNational Center for Complementary and Integrative Health (NCCIH) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในแนวทางเดียวกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก)         มีการให้ข้อมูลในการโฆษณาอีกว่า “การกินข้าวยีสต์แดงนั้นทำให้ได้กรดอะมิโน 18 ชนิด โดยแบ่งเป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นครบ 10 ชนิด และกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นอีก 8 ชนิด” ประเด็นนี้ผู้บริโภคควรคำนึงว่า ในการโฆษณาใดๆ นั้นสามารถให้ข้อมูลไม่ครบได้โดยไม่ผิดกฏหมาย เช่นในกรณีข้าวยีสต์แดงนั้นไม่ได้บอกว่าน้ำหนักกรดอะมิโนแต่ละชนิดในหนึ่งแคปซูลนั้นเป็นเท่าใดและมีรูปแบบการกระจายของน้ำหนักเป็นร้อยละเท่าไรที่ร่างกายต้องการ แค่เพียงบอกว่า มี ซึ่งหมายความว่า ตรวจพบได้เมื่อวิเคราะห์ ไม่ได้หมายความว่า มีพอแก่ความต้องการของร่างกาย         การโฆษณาว่า “ข้าวยีสต์แดงมีสารไคตินจากเชื้อยีสต์ราแล้วช่วยเสริมสร้างไขข้อของร่างกายและลดการเสื่อมของไขข้อในผู้สูงอายุ มีสาร GABA ช่วยทำให้สมองเกิดการผ่อนคลายและนอนหลับสบาย มีสารไคโตซาน ซึ่งสามารถช่วยดักจับไขมันในร่างกาย มีสารแอนติออกซิแดนท์ในปริมาณที่สูงช่วยปกป้องเซลล์ของร่างกายจากอนุมูลอิสระได้” นั้น ข้อมูลเหล่านี้สามารถสืบค้นได้ในเว็บ PubMed ได้ว่าจริงหรือไม่ ผู้เขียนพบตัวอย่างบทความที่น่าสนใจเรื่อง Red Yeast Rice for Dyslipidemia ตีพิมพ์ในวารสาร Missouri Medicine ของปี 2013 ซึ่งเป็นการทบทวนเอกสารงานวิจัยต่าง ๆ ถึงประโยชน์ของข้าวยีสต์แดงในลักษณะของยา สิ่งที่น่าสนใจในตอนท้ายของบทความกล่าวว่า “มีการโต้เถียงกันของนักวิชาการเกี่ยวกับการทำตลาดของข้าวยีสต์แดงในลักษณะของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะก่อให้เกิดความสับสนทางกฎหมายระหว่างการจัดหมวดหมู่สารที่เป็นอาหารหรือยาตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ กำหนดว่า ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ไม่สามารถจัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้หากมีองค์ประกอบที่ถูกวางตลาดเป็นยา (ซึ่งหมายถึงโมนาโคลินเคซึ่งถูกวางตลาดเป็นยาลดโคเลสเตอรอลที่มีชื่อสามัญว่า lovastatin) ดังนั้นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคือ Cholestin จึงถูกสั่งให้ถอนออกจากตลาดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯในฤดูใบไม้ผลิปี 2001 เนื่องจากมีโมนาโคลินเคสูง”         นอกจากนี้ยังมีคำเตือนจาก NCCIH ของสหรัฐฯ ประมาณว่า อย่ากินข้าวยีสต์แดงเพียงเพื่อเลี่ยงการพบแพทย์ที่ดูแลสุขภาพ อย่ากินเมื่อกำลังตั้งครรภ์ จะตั้งครรภ์ หรือในช่วงให้นมลูก และไม่ว่าในกรณีใดๆ ควรปรึกษาผู้รู้จริง (ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ถึงผลได้และผลเสียก่อนที่จะกินผลิตภัณฑ์นี้ ที่สำคัญสุดๆ คือ ห้ามกินข้าวยีสต์แดงถ้ากำลังกินยากลุ่มสแตตินเพื่อลดโคเลสเตอรอลในเลือด เพราะอาจเกิดการเสริมฤทธิ์ยาจนเกิดอันตราย         นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำทั่วไปจาก NCCIH อีกว่า ถ้ากินผลิตภัณฑ์ข้าวยีสต์แดงแล้วเกิดอาการมากกว่าหนึ่งอย่างร่วมกันคือ ท้องอืด ปวดท้อง ท้องผูก ท้องร่วง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและเป็นตะคริวมากกว่าปรกติ ปัสสาวะสีเข้ม คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย ท้องผูก หมดแรง มองเห็นไม่ชัด ผื่นหรือลมพิษ เวียนศีรษะ ซึ่งเป็นอาการเดียวที่อาจเกิดเมื่อผู้ป่วยกินยากลุ่มสแตติน ผู้บริโภคข้าวยีสต์แดงควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที         ประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นที่วิตกในสหรัฐอเมริกาและยุโรปคือ ในบางสภาวะการผลิตข้าวยีสต์แดงนั้น Monascus purpureus อาจสร้างสารพิษจากเชื้อรา (mycotoxin) ชื่อ ซิตรินิน (citrinin) เมื่อสิ่งแวดล้อมในการเจริญของยีสต์ราเหมาะสม สารพิษนี้ก่ออันตรายต่อไต ความกังวลนี้จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีการห้ามการบริโภคข้าวยีสต์แดงในลักษณะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในบางประเทศทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทั้งนี้เพราะเป็นไปได้ยากที่จะมีการตรวจวิเคราะห์สารพิษเพื่อควบคุมคุณภาพการผลิตข้าวยีสต์แดง อันมีสถานะเป็นเพียงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งมีการควบคุมทางกฏหมายที่ไม่เคร่งครัดนัก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 แค่มันทอด จะอะไรกันนักกันหนา

        สารปนเปื้อนในอาหารนั้นมีผลกระทบต่อคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารตลอดห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ โดยเริ่มตั้งแต่อาหารดิบไปจนถึงอาหารปรุงสุกและ/หรือแปรรูป ประเด็นที่น่าวิตกนี้ได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง Fried potato chips and French fries-Are they safe to eat? ในวารสาร Nutrition ของปี 2011 ซึ่งให้ข้อมูลประมาณว่า ปริมาณอะคริลาไมด์ (acrylamide) ในมันฝรั่งทอดเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวลเมื่ออุณหภูมิในการทอดเพิ่ม สารอะคริลาไมด์นั้นมีผลเสียต่อสุขภาพหลายประการซึ่งรวมถึงความเป็นพิษต่อระบบประสาท ความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ความเป็นพิษต่อหน่วยพันธุกรรมรวมถึงการก่อมะเร็ง         ในทางอุตสาหกรรมอะคริลาไมด์ผลิตได้จากการสังเคราะห์และถูกใช้ในการผลิตโพลีอะคริลาไมด์ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ทำเรซินของไส้กรองเครื่องกรองน้ำสำหรับผลิตน้ำดื่ม ดังนั้นมนุษย์จึงมีโอกาสได้รับอะคริลาไมด์บ้างไม่มากก็น้อย         ผู้บริโภคได้รับอะคริลาไมด์ที่เกิดตามธรรมชาติจากการปรุงอาหารที่อุณหภูมิสูง เมื่อใช้วัตถุดิบเช่น มันฝรั่ง หรือวัตถุดิบอื่นที่มีกรดอะมิโนแอสปาราจีนสูง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีอะคริลาไมด์ปนเปื้อนในระดับที่วิเคราะห์พบเสมอนั้น Wikipedia ให้ข้อมูลว่า ได้แก่ มันฝรั่งทอด แครกเกอร์ บิสกิต และการศึกษาในระยะหลังได้พบอะคริลาไมด์ในมะกอกดำ ลูกพลัมแห้ง ลูกแพร์แห้ง กาแฟคั่ว และถั่วลิสงคั่ว และพบเป็นองค์ประกอบในควันบุหรี่ด้วย อย่างไรก็ดีแม้ว่าปริมาณที่ผู้บริโภคได้รับสารพิษนี้เข้าไปในปริมาณต่ำอาจไม่มีนัยสำคัญ แต่ความถี่ของการบริโภคอาจทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเป็นอันตรายในระยะยาวจากการสะสม เมื่อผู้บริโภคมีอวัยวะภายในเช่น ตับและไต ไม่แข็งแรง         ประเด็นที่เริ่มน่ากังวลคือ อะคริลาไมด์ถูกวิเคราะห์พบเป็นสารปนเปื้อนในอาหารสำหรับทารกและเด็ก บทความเรื่อง Toxicity of acrylamide and evaluation of its exposure in baby foods ในวารสาร Nutrition Research Reviews ของปี 2010 คาดว่า ทารกและเด็กได้รับสารพิษนี้จากการบริโภคที่มากกว่าผู้ใหญ่สองถึงสามเท่าเมื่อคำนึงถึงน้ำหนักตัว ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ความเป็นพิษของอะคริลาไมด์น่าจะสูงขึ้นในเด็ก และเนื่องจากทุกวันนี้การสัมผัสกับอะคริลาไมด์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการปกป้องทารกและเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราต้องการประชากรวัยทำงานในอนาคตที่มีคุณภาพดี         นอกจากอะคริลาไมด์เป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลองแล้วนักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า สารพิษนี้เป็นสารก่อลูกวิรูป (Teratogen) ที่ส่งผลต่อความผิดปรกติของทารกในครรภ์เมื่อแม่สัมผัสกับสารพิษนี้จากอาหาร งานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า ตัวอ่อนในท้องมีการเจริญเติบโตลดลงซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยลบด้านอาหารที่แม่กิน ดังกล่าวไว้ในบทความเรื่อง Importance of growth for health and development ซึ่งอยู่ในหนังสือที่รวบรวมบทความวิจัยของการประชุม 65th Nestlé Nutrition Institute Workshop, Pediatric Program, Kuala Lumpur, March 2009 หนังสือนี้พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Karger, Basel ในปี 2010 ซึ่งได้ให้ข้อมูลพื้นฐานว่า จำนวนการเกิดลูกวิรูปในสังคมมนุษย์เป็นเครื่องบ่งชี้คุณภาพของสิ่งแวดล้อมของทารกในครรภ์ ซึ่งรวมถึงปัจจัยต่างๆ ในอาหารของแม่ที่ส่งผลถึงสมองที่กำลังพัฒนาของทารกในครรภ์และหลังคลอด         ปรกติแล้วอันตรายต่อสมองและระบบประสาทของทารกในท้องแม่มักเกิดจากสารพิษที่มีอยู่ในอาหาร ยา หรือการติดเชื้อโรค และในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า อันตรายต่อสมองและระบบประสาทยังคงเป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่ก่อให้เกิดความบกพร่องต่อการพัฒนาการของระบบประสาทส่งผลให้เด็กมีการรับรู้ล่าช้าและความพิการตลอดชีวิต ส่งผลต่อการทำงานต่างๆ ของร่างกาย ทักษะการปรับตัวของกล้ามเนื้อในภาพรวม ระบบการคิดรับรู้ของสมอง การใช้ภาษา การใช้เหตุผลและความจำ การมีสมาธิ และความสนใจในสิ่งรอบตัว         บทความเรื่อง Structural and ultrastructural evidence of neurotoxic effects of fried potato chips on rat postnatal development ในวารสาร Nutrition ของปี 2011ให้ประเด็นที่มีคุณค่าอย่างยิ่งเพราะเป็นการนำเสนอหลักฐานการทดลองเกี่ยวกับผลกระทบต่อระบบประสาทของมันฝรั่งทอดที่มีอะคริลาไมด์ในระหว่างการพัฒนาของทารกก่อนคลอดและหลังคลอด งานวิจัยนี้ระบุว่า การที่แม่หนูกินมันฝรั่งทอดซึ่งมีอะคริลาไมด์ทำให้เกิดความเสื่อมของสมองน้อยหรือซีรีเบลลัม (cerebellum) และพัฒนาการที่ด้อยลงของกล้ามเนื้อน่องของลูกหนูหลังคลอด ในการศึกษานี้หนูทดลองได้แสดงให้เห็นว่าการเจริญเติบโตที่ช้าและน้ำหนักร่างกายและสมองต่ำกว่าควรนั้นเกิดจากการให้แม่หนูกินอาหารที่มีอะคริลาไมด์ผสมอยู่ ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า การบริโภคอะคริลาไมด์เช่นที่มีในมันฝรั่งทอดเป็นประจำระหว่างตั้งครรภ์น่าจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กในท้องตลอดจนในเด็กปฐมวัย ซึ่งรวมถึงอันตรายต่อการเจริญเติบโตของกระดูก ข้อมูลในบทความเรื่อง Acrylamide: increased concentration in homemade food and first evidence of its variable absorption from food, variable metabolism and placental and breast milk transfer in humans ในวารสาร Chemotherapy ของปี 2002 ได้กล่าวถึงผลในทำนองเดียวกันที่เป็นหลักฐานสำหรับผลกระทบที่เป็นอันตรายเนื่องจากการบริโภคอาหารทอดที่มีปริมาณอะคริลาไมด์เพิ่มขึ้น         ดังนั้นการได้รับอะคริลาไมด์ในอาหารจึงเป็นหัวข้อที่เหมาะสมและสำคัญสำหรับนักวิจัยด้านสุขภาพที่สนใจในการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาของเด็กก่อนคลอดและหลังคลอด จากการศึกษาต่างๆ ได้แสดงให้เห็นว่า อะคริลาไมด์ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์แป้งทอดหรือผลิตภัณฑ์ขนมอบกรอบนั้นอาจมีผลต่อระบบประสาทของประชากร เพราะปัจจุบันการบริโภคอาหารแป้งทอด เช่น เฟรนช์ฟรายส์นั้นเป็นแหล่งอาหารแป้งอันดับต้นๆ ในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา พฤติกรรมการบริโภคอาหารประเภทนี้อาจส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเด็กที่เกิดใหม่ต่ำลง         งานวิจัยหลายเรื่องกล่าวประมาณว่า อะคริลาไมด์สามารถทำให้เกิดการตายของเซลล์ต้นกำเนิดของระบบประสาทและส่งผลต่อการสร้างเซลล์ประสาทของฮิบโปแคมปัส ตัวอย่างเช่นในบทความเรื่อง Acrylamide induces cell death in neuronal progenitor cells and impairs hippocampal neurogenesis. ในวารสาร Toxicology Letter ของปี 2010 ซึ่งกล่าวถึงแนวโน้มว่า อะคริลาไมด์อาจมีผลเสียต่อการซ่อมแซมตัวเองของสมอง การที่สมองสามารถฟื้นตัวและปรับโครงสร้างตัวเองได้หลังจากอาการบาดเจ็บหรือการเสื่อมสภาพของเซลล์และการฟื้นตัวในการทำงานของเซลล์สมอง ประเด็นที่กล่าวนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนากลยุทธ์การป้องกันและป้องกันระบบประสาทอย่างมีเหตุผล เพื่อลดปัญหาของการพัฒนาสมองต่ำกว่าที่ควร ซึ่งอาจทำให้การทำงานและแสดงผลลัพธ์ด้านพฤติกรรมที่ไม่ดีในประชากร         จากหลักฐานดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่า ความกังวลด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการบริโภคอาหารแป้งทอด เช่น มันฝรั่งทอดที่มีอะคริลาไมด์นั้น ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างผู้บริโภค ผู้ผลิตอาหาร และผู้ที่ทำงานดูแลความปลอดภัยในการกินอาหาร ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการกินให้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริโภคทั่วไปควรรู้ว่า อาหารปรุงเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับความร้อนอย่างไม่เหมาะสมอาจเต็มไปด้วยสารพิษจากการปรุงอาหารเช่น อะคริลาไมด์         ผู้เขียนเข้าใจว่า ประชาชนส่วนน้อยเท่านั้นที่มีความรู้หรือสนใจรู้ในปัญหาของการสัมผัสและผลกระทบต่อระบบประสาทของอะคริลาไมด์ในอาหาร ข้อมูลงานวิจัยใหม่ในปัจจุบันนั้นแนะนำว่า ควรตรวจสอบอาหารสำหรับทารกและอาหารทอดทางอุตสาหกรรมเป็นประจำเพื่อควบคุมระดับการปนเปื้อนของอะคริลาไมด์ นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดควรดำเนินการเกี่ยวกับระบบการผลิตอาหารทางอุตสาหกรรมที่ดี ซึ่งควรมีการตรวจหาสารปนเปื้อนที่สามารถเกิดได้ทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 วัคซีน mRNA ทำให้ DNA กลายพันธุ์...จริงหรือ

        ในช่วงที่วัคซีนต้านโควิด-19 แบบ mRNA ใกล้ผ่านการอนุมัติให้ใช้แบบฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกานั้น นักวิทยาศาสตร์หลายคนตั้งประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนประเภทนี้ เนื่องจากเป็นวัคซีนแบบใหม่ซึ่งแม้ดูทันสมัยแต่กระบวนการในการกระตุ้นระบบภูมิต้านทานนั้นดูลัดขั้นตอน ต่างไปจากวัคซีนแบบเดิม (แบบเชื้อตาย) อย่างไรก็ดีบริษัทผู้ผลิตได้พยายามให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนว่า วัคซีนนี้ปลอดภัย ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ในวันที่ 17 ธันวาคม 2020 www.chop.edu มีบทความเรื่อง News & Views: 3 Questions You Will Get About the New mRNA Vaccines ซึ่งตอนหนึ่งของบทความมีหัวข้อที่น่าสนใจคือ วัคซีน mRNA สามารถเปลี่ยนแปลง DNA ของผู้ถูกฉีดหรือไม่? ซึ่งคำตอบสั้นๆ สำหรับคำถามนี้คือ "ไม่" แต่คำตอบนี้ดูไม่น่าพอใจนัก จึงมีคำอธิบายเพิ่มว่า วัคซีน mRNA ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง DNA ของบุคคลได้ด้วยเหตุผลสามประการคือ         1.) ปรกติ mRNA ทำงานในไซโตพลาสซึมของเซลล์ ในขณะที่ DNA ได้รับการปกป้องในนิวเคลียสของเซลล์ ซึ่ง mRNA ไม่สามารถกลับเข้าสู่นิวเคลียสได้ ดังนั้นกรดนิวคลีอิกทั้งสองจึงไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดียวกันในเซลล์         2.) mRNA ไม่ใช่ DNA ดังนั้น ถ้า DNA ของบุคคลจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ mRNA จะต้องเป็นแม่แบบในการสร้าง DNA ใหม่โดยใช้เอ็นไซม์ reverse transcriptase ซึ่งเซลล์ของคนปรกติ (มียีนสร้างแต่) ไม่มีการทำงานของเอนไซม์นี้ (ยกเว้นเมื่อจำเป็น) และมีเพียงไวรัสบางชนิดเท่านั้นที่มี ซึ่ง Coronaviruses ไม่ใช่หนึ่งในนั้น อีกทั้ง mRNA ของวัคซีนเมื่อเข้าเซลล์แล้วจะอยู่แค่นอกนิวเคลียสคือ ในไซโตพลาสซึมเพื่อถอดรหัสเป็นหนามโปรตีนของ SARS-CoV-2 เท่านั้น อย่างไรก็ดีมีข้อยกเว้นหนึ่งเกี่ยวกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus) ซึ่งเป็นไวรัสที่มีเอ็นซัม reverse transcriptase จึงอาจทำให้สงสัยได้ว่า mRNA ของวัคซีนอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน DNA ของผู้ป่วยเหล่านี้ได้ แต่ก็มีคำอธิบายว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะไวรัสเอชไอวีนั้นมีการเพิ่มจำนวนในเม็ดเลือดขาว T-cell ชนิด CD4 ซึ่งไม่ใช่เซลล์ที่ mRNA จากวัคซีนแสดงผลในการสร้างหนามโปรตีน         3.) เป็นที่เข้าใจกันว่า mRNA นั้นโดยทั่วไปไม่เสถียรนัก ค่าครึ่งชีวิตในเซลล์มนุษย์อยู่ในช่วงเวลานับเป็นชั่วโมง ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วเมื่อเซลล์ใช้ mRNA ในการผลิตโปรตีนที่ต้องการพอแล้ว mRNA นั้นจะถูกทำลาย สำหรับ mRNA ในวัคซีนนั้นแม้ได้รับการเพิ่มศักยภาพให้อยู่ในเซลล์ได้นานพอที่จะทำให้มีการกระตุ้นภูมิต้านทานสำเร็จก็ตาม แต่ก็ไม่ควรอยู่นานกว่า 10-14 วัน         ในประเทศไทยประเด็น mRNA อาจไปรบกวนวุ่นวายกับ DNA ในนิวเคลียสได้หรือไม่นั้น ได้มีการปฏิเสธกันอย่างแข็งขัน ผู้เขียนขอยกตัวอย่างแค่บางเว็บที่แสดงแนวความเชื่อในประเด็นนี้คือ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2563 www.bbc.com/thai ได้มีบทความเรื่อง หักล้างข่าวลือเกี่ยวกับวัคซีนโควิดทั้งการฝังไมโครชิปและ “เปลี่ยนดีเอ็นเอ” ในคน โดยมีตอนหนึ่งระบุว่า ... วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะไม่เปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอของมนุษย์  จากนั้นวันที่ 15 มิถุนายน 2564 www.bbc.com/thai มีอีกบทความเรื่อง โควิด-19: เอ็มอาร์เอ็นเอ กับข่าวลือวัคซีนก่อสารพิษ-เปลี่ยนพันธุกรรมมนุษย์ เชื่อถือได้หรือ ซึ่งตอนหนึ่งกล่าวว่า ....ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ หรือซีดีซี (CDC) บอกไว้ชัดเจนว่า เอ็มอาร์เอ็นเอในวัคซีนจะไม่ทำให้เราเป็นมนุษย์กลายพันธุ์แบบในภาพยนตร์แต่อย่างใด และในวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เว็บ https://pharmacy.mahidol มีบทความเรื่อง mRNA COVID-19 vaccine ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในมนุษย์ได้หรือไม่? ตอนหนึ่งของบทความกล่าวว่า ... กลไกการออกฤทธิ์ของวัคซีนชนิดนี้ไม่มีการรบกวนการทำงานของนิวเคลียสซึ่งบรรจุดีเอ็นเอ (DNA) ที่เป็นสารพันธุกรรมหลักของมนุษย์ไว้ภายใน อย่างไรก็ตาม วัคซีนชนิดนี้ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ของการพัฒนาวัคซีน จึงยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงในระยะยาวจริงหรือที่ว่า mRNA ที่ถูกจำลองจาก DNA นั้นไม่ย้อนกลับเข้าไปหา DNA ในนิวเคลียสของเซลล์         ประเด็นนี้ผู้ที่ศึกษาด้านชีวเคมีและ/หรืออณูชีววิทยามักมั่นใจตอบว่า คงไม่เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วมีบทความเรื่อง Mechanism of mRNA transport in the nucleus ปรากฏในวารสาร PNAS (Proceedings of the National Academy of Sciences) ของปี 2005 ได้ให้ข้อมูลว่า mRNA ที่อยู่ในไซโตพลาสซึมมักจับตัวกับโปรตีน (ซึ่งมีความสำคัญต่อการแปลรหัสเพื่อสร้างโปรตีน) ได้เป็นสารประกอบเชิงซ้อนเรียกว่า mRNA–โปรตีน (mRNP) ณ.บริเวณของการถอดรหัส (คือ ไมโครโซมในไซโตพลาสซึม) ซึ่งนำไปสู่ความพยายามพิสูจน์ว่า มีโอกาสที่สารประกอบเชิงซ้อนดังกล่าวผ่านช่องของส่วนที่เป็นผนังเข้าสู่นิวเคลียสนั้นหรือไม่ ในการศึกษานี้นักวิจัยใช้โมเลกุลของสารโอลิโกนิวคลีโอไทด์ที่ถูกสังเคราะห์ (พร้อมความสามารถในการเรืองแสงได้) ขึ้นมาให้สามารถเข้าจับตัวกับโมเลกุล mRNA ที่สนใจ เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของสารประกอบเชิงซ้อน mRNA–โปรตีนในเซลล์ซึ่งมีสมมุติฐานว่า มีการเคลื่อนที่แบบ Brownian diffusion (แรงที่เกิดจากการกระแทกกันเองอย่างอิสระของโมเลกุลต่างๆ ในของเหลวของไซโตพลาสซึม) จนสารประกอบผ่านช่องของผนังนิวเคลียสได้และมีโอกาสเข้าใกล้และหยุดที่ส่วนของโครมาตินของนิวเคลียสซึ่งหมายถึง DNA ของเซลล์ ในบทความนี้ได้แสดงภาพการเรืองแสงของสารประกอบที่เกิดจากโอลิโกนิวคลีโอไทด์จับตัวกับ mRNA-โปรตีน ภายในนิวเคลียสของเซลล์         ดังนั้นเมื่อ mRNA มีโอกาสเข้าสู่นิวเคลียสได้ โอกาสที่ mRNA ของวัคซีนจะเข้าไปวุ่นวายกับ DNA ของผู้รับการฉีดวัคซีนจึงอาจเกิดได้ ประเด็นนี้ต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ที่มีอยู่เดิมว่า โดยทั่วไปแล้ว RNA ไม่สามารถเข้าแทรกตัวเข้าไปในสายหนึ่งของ DNA ซึ่งมีสองสายได้ เนื่องจากเบสที่เป็นองค์ประกอบของ RNA หนึ่งในสี่คือ uridine นั้นไม่สามารถสร้างพันธะไฮโดรเจนจับตัวกับเบส adenine ได้อย่างเสถียรเหมือนเบส thymine ของ DNA ยกเว้นว่ามีการจำลอง complimentary DNA ขึ้นมาจาก mRNA ก่อนโดยอาศัยเอ็นซัม reverse transcriptase โอกาสการเข้าแทรกสาย DNA ที่สร้างขึ้นใหม่เข้าสู่สาย DNA ในนิวเคลียสจึงจะเกิดขึ้นได้และก็ปรากฏว่า ในฐานข้อมูลงานวิจัยของ Pubmed (https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov) นั้นได้มีนักวิทยาศาสตร์ตีพิมพ์ผลงานวิจัยอย่างน้อย 2 เรื่องของการศึกษาในหลอดทดลอง (ที่กำหนดสภาวะการทดลองแบบเฉพาะเจาะจง) ที่แสดงแนวทางของความเป็นไปได้ที่ mRNA น่าจะเข้าไปรบกวนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ DNA         ในปี 2021 มีบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ซึ่งเป็นผลการทดลองร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์จากหลายหน่วยงานในรัฐ Massachusetts เรื่อง Reverse-transcribed SARS-CoV-2 RNA can integrate into the genome of cultured human cells and can be expressed in patient-derived tissues โดยเป็นการศึกษาที่ใช้เซลล์ HEK293T (เป็น cell line ที่ได้จากเซลล์ไตของตัวอ่อนมนุษย์จากการแท้ง เซลล์นี้ได้รับความนิยมใช้ศึกษาการแสดงออกต่างๆ ของยีนมนุษย์) ที่มีการเพิ่ม Plasmids ซึ่งมีการแสดงออกของยีน LINE1 (long interspersed nuclear elements-1) จนส่งผลให้เซลล์ HEK293T สร้างเอ็นซัม reverse transcriptase ได้ จากนั้นจึงผสมไวรัส SARS-CoV-2 เข้ากับเซลล์ซึ่งได้ผลการทดลองว่า มีการเพิ่มความยาวของ DNA ของในเซลล์ HEK293T และส่วนที่ยาวเพิ่มนั้นมีความสอดคล้องว่าเป็น complementary DNA ที่ถูกจำลองมาจาก mRNA ของ SARS-CoV-2         ต่อมาในปี 2022 ได้มีบทความของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Lund University ใน Sweden ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Current Issues In Molecular Biology เรื่อง Intracellular Reverse Transcription of Pfizer BioNTech COVID-19 mRNA Vaccine BNT162b2 In Vitro in Human Liver Cell Line ซึ่งทำการศึกษาโดยเติมวัคซีน mRNA ลงในจานเลี้ยงเซลล์มะเร็งชนิด Huh7 cells (เซลล์มะเร็งตับจากชายชาวญี่ปุ่นอายุ 57 ปี ซึ่งถูกนำมาทำเป็น cell line เมื่อปี 1982) แล้วพบว่า เซลล์นี้มีการแสดงออกของยีน long interspersed nuclear element-1 เพิ่มขึ้น (LINE1 เป็นยีนที่มีใน DNA ของมนุษย์ แต่ถูกปิดไว้เสมอถ้าเป็นเซลล์ปรกติ แต่ในเซลล์มะเร็งเช่น Huh7 นั้นยีนนี้ได้เปิดขึ้นและผลิตเอ็นซัม reverse transcriptase ซึ่งเป็นเอ็นซัมที่สามารถจำลอง DNA จาก RNA ได้) จากนั้นเมื่อทำการวิเคราะห์ด้วย PCR (Polymerase chain reaction) บน DNA ของเซลล์ Huh7 ที่สัมผัสกับวัคซีน mRNA แล้วพบว่า ได้มีการขยายลำดับ DNA ออกไปซึ่งส่วนที่ขยายนี้มีความสอดคล้องเหมือนจำลองมาจาก mRNA ของวัคซีน BNT162b2 ซึ่งบ่งชี้ว่า มีการเพิ่มความยาวของ DNA ในนิวเคลียสของเซลล์มะเร็งตับชนิด Huh7 ได้         ข้อสังเกตจากงานวิจัยทั้งสองเรื่องคือ เซลล์ที่จะมีการเพิ่มขนาดของ DNA ในนิวเคลียสได้และสามารถตรวจดูพบว่าส่วนที่เพิ่มมีความเกี่ยวพันกับ mRNA ในวัคซีน หรือมาจาก mRNA ที่เชื้อ SARS-CoV-2 สร้างขึ้นนั้นต้องมีการแสดงออกของยีน LINE1 เพื่อให้มีการสร้างเอ็นซัม reverse transcriptase ซึ่งถ้าเอ็นซัมนี้ปรากฏในเซลล์มนุษย์เมื่อใดก็หมายความว่า เซลล์นั้นน่าจะเป็นเซลล์มะเร็ง และการเพิ่มส่วนของ DNA ซึ่งอาจถือว่าเป็นการกลายพันธุ์ของเซลล์นั้น ยังไม่รู้ว่าเป็นผลดีหรือผลเสียต่อเซลล์ ดังนั้นจึงอาจอนุมานได้ว่า โอกาสที่ความยาว DNA ในเซลล์ของผู้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แบบ mRNA จะยาวเพิ่มนั้นคงเป็นไปได้ยากถ้าเซลล์นั้นไม่ได้เป็นเซลล์มะเร็ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 อาหารนำเข้าจากจีนในสายตาฝรั่ง

        จีนเป็นผู้ส่งออกสินค้าประเภทต่าง ๆ รายใหญ่ของโลก แต่น่าเศร้าใจที่บางครั้งคนจีนหลายคนหัวไวมากในการพัฒนากระบวนการผลิตแบบที่นักวิชาการเกษตรต้องอ้าปากค้าง เพราะมีการใช้เทคนิคที่คิดขึ้นเองเร่งการผลิตให้เพิ่มขึ้นเพื่อขายในราคาที่ต่ำลงจนส่งผลถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ หลายเว็บไซต์ของฝรั่งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และหลายประเทศในสหภาพยุโรปมีบทความเกี่ยวกับคำแนะนำผู้บริโภคให้เลี่ยงการซื้ออาหารนำเข้าจากจีน ตัวอย่างหัวข้อบทความในลักษณะนี้ เช่น Warning! Think Twice Before Eating These Foods From China (https://m.blog.daum.net), Warning! Don’t Eat These Foods Imported From China (https://betterbe.co) และ 20 Foods Imported From China That People Should Avoid At All Costs For Their Own Health (https://viralzergnet.com) เป็นต้น ซึ่งว่าไปแล้วข้อกล่าวหาเหล่านี้อาจดูไม่ยุติธรรมต่อผู้ผลิตอาหารในจีน เนื่องจากเนื้อหาในบทความทั้งหลายขาดเอกสารทางวิชาการสนับสนุน แต่ในสายตาของชาวตะวันตก อาหารเป็นสินค้าที่มีความผิดพลาดเกี่ยวกับความปลอดภัยไม่ได้ อีกทั้งข่าวในอดีตก็เป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของอาหารจากจีน ซึ่งรัฐบาลจีนดูเหมือนว่ายังไม่สามารถแก้ภาพดังกล่าวได้         เว็บ www.insider.com (ซึ่งเป็นเว็บของบริษัทในสหรัฐอเมริกา จึงต้องฟังหูไว้หู) มีบทความเกี่ยวกับความรู้สึกของผู้บริโภคชาวจีนต่ออาหารในห้างสรรพสินค้า เรื่อง Scarred by a deadly milk scandal and fearing cooking oil cut with raw sewage, China's middle class is skipping the supermarket and buying straight from the farm ซึ่งบางส่วนของบทความกล่าวว่า เกือบ 50% ของประชากรจีนซึ่งอยู่ในกลุ่มรายได้ที่จัดเป็นชนชั้นกลางมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพอาหารที่ขายในห้างสรรพสินค้า ผู้บริโภคในเฉิงตู (Chengdu) 45 ปี คนหนึ่งวัย ไปเดินดูสินค้าในห้างสรรพสินค้าในละแวกบ้านแล้วแนะนำผู้บริโภคว่า ควรอยู่ห่างจากผลไม้และผักที่ดูดีที่สุด ถ้าใหญ่หรือสวยถือว่าไม่ปกติ หากไม่มีรูหรือรอยแมลงกัดกินจำต้องหลีกเลี่ยง เพราะผักที่นำมาจัดแสดงในห้างสรรพสินค้านั้นยังมีสารกำจัดศัตรูพืชและสารเคมีอื่นๆ อยู่ด้วย ผู้บริโภคต้องอาศัยประสบการณ์ค่อนข้างสูงในการตัดสินใจว่าควรซื้ออะไรได้บ้าง"บทความกล่าวต่อว่า ผู้บริโภคหลายล้านคนในประเทศจีนไม่ไว้วางใจในผลิตผลทางการเกษตร เนื่องจากในอดีตผลิตภัณฑ์นมสำหรับทารกถูกเจือด้วยเมลามีน ซึ่งใช้ในการผลิตพลาสติกและปุ๋ย ทารกเกือบ 300,000 คนล้มป่วยหลังจากบริโภคนมที่ถูกปลอมแปลงอย่างน้อย 50 คนเสียชีวิตเนื่องจากเกิดนิ่วในไต สิ่งที่น่ากังวลคือ แม้ว่าเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับนมได้ผ่านไปกว่าทศวรรษแล้ว แต่มีงานวิจัยในปี 2558 ซึ่งได้สำรวจ 1,210 ครัวเรือนในเมืองหนานจิงยังพบว่าร้อยละ 74 ของผู้ถูกสำรวจกล่าวว่า ยังคงกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารทุกวัน         นักวิชาการอเมริกันบางคนให้ข้อมูลต่อผู้เขียนบทความใน Insider ว่า ในประเทศจีนนั้นการซื้ออาหารที่มีชื่อตราสินค้าพร้อมคำกำกับที่ควรเชื่อถือได้ เช่น สีเขียว (Green) ท้องถิ่น (Local) หรือ อินทรีย์ (Organic) นั้นกลับไม่ทำให้ผู้บริโภคแน่ใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์นั้นได้รับการปลูกและแปรรูปตามที่โฆษณา ดังนั้นจึงกล่าวกันว่า มีฟาร์มในหมู่บ้านมากกว่า 500 แห่งในประเทศจีนที่ส่งมอบผลผลิตของพวกเขาไปยังหน้าประตูของผู้บริโภค ซึ่งเป็นการขายตรงของสินค้าจากผู้ผลิตโดยไม่ผ่านคนกลาง เนื่องจากในปี 2019 นั้นไข้หวัดหมูแอฟริกันสายพันธุ์ที่ร้ายแรงได้ส่งผลถึงการเลี้ยงหมูในประเทศจีน ครอบครัวชาวจีนหลายครอบครัวจึงเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเนื้อหมูไปกินเนื้อไก่ผ่านการซื้อตรงจากเกษตรกรที่พบทางออนไลน์         ตัวอย่างอาหารจากจีนซึ่งมีภาพลักษณ์ดูแย่ในสายตาฝรั่ง (ที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต) คือ แตงโม ในแง่การใช้สารกำจัดศัตรูพืชปริมาณสูง น้ำแอบเปิ้ล ที่อาจมีสารกำจัดศัตรูพืชหลงเหลือ ปลาค็อดและปลานิล ที่เลี้ยงในน้ำที่เต็มไปด้วยขยะและกินขยะเหล่านั้น เส้นก๋วยเตี๋ยว ที่ฟอกขาวด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เนื้อแกะ ซึ่งอาจมีเนื้อหนูผสมโดยตั้งใจดังเคยเป็นข่าวในอดีต เนื้อวัว ซึ่งมีการปลอมเนื้อหมูผสมบอแรกซ์เพื่อให้มีลักษณะสัมผัสคล้ายเนื้อวัว เห็ด มีการปนเปื้อนสารพิษในการผลิต ข้าว ทำขึ้นจากมันฝรั่งและสารสังเคราะห์ ซึ่งในบทความเรียกว่า plastic rice นม ซึ่งอาจมีการเติม melamine ไข่ ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นจากองค์ประกอบหลายชนิด เกลือแกง (Table salt) ซึ่งมีการปนเปื้อนของโลหะต่างๆ น้ำมันพืช ที่ทำจากน้ำมันใช้แล้วถูกฟอกสี ไก่ ซึ่งมีไวรัสหวัดนก ชาจีน ซึ่งมักมีสารกำจัดศัตรูพืช ข้าวโพด เติมไซคลาเมตเพื่อปรับปรุงรสชาติและคงสีเหลือง ถั่วลันเตาและถั่วเหลือง ทำปลอมจากถั่วอื่น กระหล่ำปลี อาบฟอร์มาลีน ก๋วยเตี๋ยว จากแป้งมันเทศ (sweet potato) ที่ย้อมสี ซีอิ๊ว มีสารก่อมะเร็งที่เรียกว่า 4-methylimidazole ซึ่งเคยเป็นข่าวในฮ่องกง ขิงและโสม ซึ่งอาจมีสารกำจัดศัตรูพืช aldicarb (GreenPeace กล่าวว่าตรวจพบในทุกตัวอย่าง) พีชกระป๋อง ซึ่งอาจมีตะกั่วสูง (ข่าวการทดสอบพบในออสเตรเลีย) ทูนา ซึ่งมีสารปนเปื้อน กุ้งแช่แข็ง ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะหรือยาอันตราย น้ำผึ้ง ซึ่งมักปลอมหรือดัดแปลง มันฝรั่ง ดัดแปลงสีให้ดูสด และอาหารอีกหลายอย่างที่เว็บดังกล่าวข้างต้นไม่ได้บอกว่าทำไมไม่ควรซื้อกิน ได้แก่ ปวยเล้งแช่แข็ง กระเทียม พริกไทยดำ ไวน์จีน อาหารสุนัข ถั่ววอลนัท ซาลาเปาแช่แข็ง ผักดอง ซุปหม้อไฟ อาหารทารก เม็ดสาคูยักษ์ จากแป้งมันสำปะหลังสำหรับชาไข่มุก และเต้าหู้         สำหรับประเด็นอาหารนำเข้าจากจีนสำหรับคนไทยนั้น เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564 เว็บ prachachat.net มีบทความเรื่อง รถไฟจีน-ลาวทำขาดดุลเพิ่ม สินค้าทะลัก 200 ตู้ถล่มไทย ได้โปรยข่าวตอนหนึ่งว่า “รถไฟลาว-จีนป่วนไทยไม่หยุด ม.หอการค้าไทยคาดการณ์ปีหน้าสินค้าจีนเดือนละ 200 ตู้คอนเทนเนอร์มูลค่า 20,000 ล้านบาทมาแน่ ทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น”…นอกจากนี้ตอนหนึ่งของเนื้อข่าวได้กล่าวว่า “สมาคมผู้ส่งออกผักผลไม้ไทยหวั่นอนาคตไทยจะกำหนดราคาขายผลไม้เองไม่ได้ พร้อมคำแนะนำว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม (สมอ.) จะต้องมาร่วมกันทำจุดเบ็ดเสร็จในการตรวจสอบสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานและต้องยึดโยงกับจีนให้จริงจังขึ้น”         ก่อนหน้านั้น ผู้จัดการออนไลน์เมื่อ 5 ธ.ค. 2564 มีบทความเรื่อง จับตา “ผัก-ผลไม้จีน” ทะลักไทย หลังเปิดรถไฟ “คุนหมิง-เวียงจันทน์” โดยเนื้อความบางส่วนกล่าวว่า “เกษตรกรไทยต้องเผชิญกับความยากลำบากมากกว่าเดิมหลังจากก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนปี 2546 ซึ่งแม้ไทยส่งออกพืชผลทางการเกษตรไปขายยังจีนได้มากขึ้น แต่จีนก็ส่งสินค้าเกษตรมาขายยังไทยได้จำนวนมหาศาล โดยเฉพาะพืชผักเมืองหนาวชนิดเดียวกับที่ปลูกในประเทศไทย”         มาตรการตรวจสอบผักผลไม้จากต่างประเทศทั้งเรื่อง คุณภาพและสารเคมีตกค้างที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นนั้น ไทยมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ในประเด็นนี้ข่าวเดียวกันของผู้จัดการออนไลน์ได้ให้ข้อมูลว่า “รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของด่านอาหารและยาหนองคายแล้วระบุว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า มีการตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนจะอนุญาตให้นำเข้าประเทศ โดยตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบผัก ผลไม้ จะมีมาตรการคุมเข้ม ด้วยการตรวจสอบหนังสือรับรองมาตรฐานระบบการผลิตอาหาร การสุ่มตรวจผักผลไม้โดยใช้เกณฑ์ความเสี่ยงที่อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค หากพบว่ามีผักผลไม้เคยมีประวัติตกมาตรฐานจะกักกันสินค้าไม่ให้เข้าประเทศ และตรวจสอบว่ามีสารเคมีอันตรายตกค้างหรือไม่ หากพบว่าไม่มี จึงจะตรวจปล่อยสินค้า แต่หากพบมีการปนเปื้อนสารตกค้างจะไม่อนุญาตให้นำเข้าและจะมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ขั้นตอนการตรวจสอบใช้เวลา 5 - 7 วัน ตลอดจนมีการทำงานเชิงรุกโดยพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้นที่ด่านอาหารและยาหนองคาย เพื่อใช้คัดกรองความเสี่ยงของผักผลไม้ อำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าประเภทผักผลไม้ได้รวดเร็วขึ้นควบคู่กับการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค”จากข้อมูลของผู้จัดการออนไลน์ทำให้ผู้เขียนได้เข้าใจแล้วว่า 1.) จริงแล้ว อย. นั้นดูแลการนำเข้าอาหารดิบเช่น ผักและผลไม้ที่ผ่านแดนด้วย 2.) การดูแลนั้นเป็นการตรวจดูเอกสารเป็นหลัก ยกเว้นถ้าสงสัยจึงทำการสุ่มตัวอย่างมาทดสอบ ซึ่งอาหารและวัตถุดิบจากจีนมีภาพพจน์อย่างใดในการค้าโลกนั้นย่อมเป็นที่รู้กันในหมู่แม่บ้านทันสมัยว่า ในกรณีที่มีทางเลือกควรตัดสินใจอย่างไรในการหยิบผักและผลไม้ที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้าจากประเทศไหนใส่ตระกร้าหรือรถเข็น         บทความเรื่องนี้ผู้เขียนประสงค์เพียงเพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้นแก่ผู้บริโภคเป็นแง่คิดในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอาหารนำเข้าหลังจากที่ท่านไปสืบหาความจริงว่า ที่ฝรั่งเขาเตือนกันนั้นจริงหรือไม่ โดยไม่ดูเพียงว่าสินค้านั้นมีราคาถูกแล้วซื้อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 มันฝรั่งทอดอร่อยปลอดภัย..ในญี่ปุ่น

        คนไทยกินข้าวเป็นแหล่งของแป้งมาแต่นมนาน ไม่เคยมีใคร (คิดจะ) ทักท้วงว่า ข้าวมีสารพิษ แต่ชาวตะวันตกกินมันฝรั่งเป็นแหล่งของแป้งกลับถูกเตือนว่า ระวังอาจมีสารพิษได้ สารพิษในมันฝรั่งนั้นคืออะไร นอกเหนือไปจาก อะคริลาไมด์ ที่เกิดระหว่างการทอด         เดือนมกราคม 2565 facebook “ครบเครื่องเรื่องญี่ปุ่น” ได้โพสต์ข้อความประมาณว่า บริษัทจำหน่ายขนมอบกรอบรายใหญ่ในญี่ปุ่นรายหนึ่งประกาศว่า  พบสารกลัยโคอัลคาลอยด์ (glycoalkaloid) ในมันฝรั่งทอดกรอบที่นำเข้าจากไทยในปริมาณที่สูงเกินกำหนด จึงทำการเรียกสินค้าคืน (recall) จากผู้บริโภคและผู้บริโภคสามารถขอเงินคืนได้เต็มจำนวน สำหรับจำนวนขนมอบกรอบที่มีการเรียกคืนนั้นคือ 3,348 ถุง         เหตุผลที่ต้องเรียกคืนสินค้านั้นเกิดเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 หน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัยของอาหารในญี่ปุ่นได้ออกประกาศว่า ตรวจพบสารกลัยโคอัลคาลอยด์ซึ่งหลัก ๆ แล้วคือ โซลานีน (solanine) และชาโคนีน (chaconine) ที่มีความเข้มข้นสูงเกินมาตรฐานจากส่วนหนึ่งของมันฝรั่งทอดกรอบซึ่งนำเข้าและจำหน่ายโดยบริษัทหนึ่ง         ประเด็นที่คนไทยควรสนใจคือ ในญี่ปุ่นและประเทศที่กำลังพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ นั้นมีการตรวจสอบปริมาณสารพิษจำเพาะที่เกิดในอาหารแต่ละประเภท (ไม่ใช่แค่โลหะหนัก สารกำจัดศัตรูพืช และอื่นๆ ที่เป็นสารพิษทั่วไป) เพราะกลัยโคอัลคาลอยด์นั้นมีเฉพาะในพืชบางชนิด ซึ่งมีมันฝรั่งเป็นแกนนำในการถูกตรวจสอบ เนื่องจากเมื่อมันฝรั่งถูกแปรรูปโดยทอดเป็นแผ่นกรอบบางนั้น ผลิตภัณฑ์นี้เป็นที่นิยมกินคู่กับเครื่องดื่มอัลกอฮอล์ระหว่างการดูกีฬาเป็นอย่างยิ่งในหลายประเทศ         สำหรับท่านผู้อ่านฉลาดซื้อที่พอมีความรู้ด้านพิษวิทยาและได้เนื้อข่าวตัวเต็มดังกล่าว อาจรู้สึกว่าข้อมูลวิชาการจาก facebook ข้างต้นนั้นค่อนข้างหลวมไปหน่อย ดังนั้นในฉลาดซื้อฉบับนี้ผู้เขียนจึงอยากนำเรื่องเก่าๆ เกี่ยวกับมันฝรั่งมาคุยกันว่า ควรระมัดระวังในเรื่องใดบ้าง เนื่องจากมันฝรั่งนั้นทำอะไรก็อร่อยไปหมดและคนไทยก็บริโภคกันเยอะ         มันฝรั่งเป็นพืชหัวซึ่งมนุษย์ใช้บริโภคเป็นอาหารแป้ง และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกมานานแล้ว เชื่อกันว่ามีแหล่งกำเนิดอยู่บนพื้นที่ระหว่างประเทศเม็กซิโกและชิลี ลากยาวไปบนแถบที่ราบสูงบนเทือกเขาแอนดีส ในประเทศโบลิเวียและเปรูยังปรากฏว่ามีมันฝรั่งป่าพันธุ์พื้นเมืองชนิดที่ปลูกให้เทวดาเลี้ยงขึ้นอยู่จนทุกวันนี้         สำหรับข้อมูลที่กล่าวถึงกลัยโคอัลคาลอยด์ในบทความวิชาการนั้นมีมากเช่น ในบทความทบทวนเอกสารวิชาการเรื่อง A Review of Occurrence of Glycoalkaloids in Potato and Potato Products ตีพิมพ์ในวารสาร Current Research in Nutrition and Food Science ของปี 2016 ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับกลัยโคอัลคาลอยด์ในมันฝรั่งเป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีบทความทบทวนเอกสารเกี่ยวกับความเป็นพิษของมันฝรั่งในระดับลึกจนเกินความจำเป็นของผู้บริโภคทั่วไปเช่น บทความเรื่อง Formation and control of chlorophyll and glycoalkaloids in tubers of Solanum tuberosum L. and evaluation of glycoalkaloid toxicity ตีพิมพ์ในวารสาร Advances in Food Research ของปี 1975 และที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือ หลายบทความได้กล่าวถึงงานวิจัยที่แสดงถึงฤทธิ์ก่อลูกวิรูป (ทำให้ลูกสัตว์พิการแต่กำเนิด) ของกลัยโคอัลคาลอยด์เช่น บทความในวารสาร Teratology หน้าที่ 73-78 ของปี 1975, วารสาร Food and Chemical Toxicology หน้าที่ 537-547 ของปี 1991 และวารสาร Molecular Biology Reports หน้าที่ 9235-9238 ของปี 2020 เป็นต้น         สำหรับผู้บริโภคที่ชอบปรุงอาหารกินเองอาจมีประสบการณ์ว่า เมื่อซื้อมันฝรั่งมาเก็บไว้ในครัวแล้วลืมจนมาพบว่า มันฝรั่งเริ่มมีสีเขียว (ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วสีเขียวนั้นคือ คลอโรฟิลล์) และมีต้นอ่อนเริ่มงอกพร้อมรากแล้ว สิ่งที่หลายคนทำคือ ตัดลำต้นและรากทิ้ง จากนั้นปอกเปลือกออก เฉือนส่วนที่มีสีเขียวทิ้งแล้วรีบปรุงเป็นอาหาร จึงมีคำถามที่น่าสนใจว่า แค่ตัดเอาส่วนสีเขียว ต้นอ่อนและรากทิ้งนั้น มันฝรั่งนั้นยังปลอดภัยดีพอในการบริโภคหรือ         ปรกติแล้วมันฝรั่งมีเปลือกออกสีน้ำตาลหลายระดับเฉดสี แต่ถ้าเริ่มมีบางส่วนของหัวออกสีเขียวเมื่อใด นั่นแสดงว่ามันฝรั่งนั้นกำลังเข้าสู่กระบวนการเริ่มงอกแล้ว ซึ่งช่วงนี้มันฝรั่งจะสร้างสารพิษคือ กลัยโคอัลคาลอยด์ เพิ่มออกมาจากเดิมที่มีอยู่นัยว่า ความเป็นพิษของสารกลุ่มนี้ช่วยป้องกันการเข้ารุกรานของแมลงที่เป็นศัตรูพืช         คำว่า glycoalkaloid นั้น glyco คือ กลุ่มน้ำตาล ส่วน alkaloid คือ สารอินทรีย์ที่มีธาตุไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบในโมเลกุล โดยทั่วไปอัลคาลอยด์มักมีฤทธิ์ทางยาและ/หรือเป็นสารพิษ ในธรรมชาตินั้นพบอัลคาลอยด์มากในพืชชั้นสูง ตามส่วนต่างๆ ของพืชเช่น ใบ ดอก ผล เมล็ด รากและเปลือก แต่ก็มีบ้างที่อัลคาลอยด์เป็นสารพิษจากเชื้อรา เช่น ergot alkaloid ที่เกิดจากราชื่อ Claviceps purpurea ซึ่งปนเปื้อนบนข้าวไรน์ที่เกี่ยวหนีหิมะไม่ทัน ส่วนพืชชนิดอื่นที่อาจพบกลัยโคอัลคาลอยด์ได้คือ มะเขือต่างๆ         หัวมันฝรั่งที่เริ่มออกสีเขียวเนื่องจากกำลังงอกนั้นมีสารพิษกลัยโคอัลคาลอยด์เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากปริมาณที่มีน้อยเป็นพึ้นฐานของหัวมันทั่วไป (ซึ่งไม่แสดงความเป็นพิษ) แต่ที่น่าสนใจคือ หัวมันที่ถูกโยนจนช้ำ (ทั้งจากคนงานและลูกค้าที่เลือกสินค้าแบบไร้มรรยาท) หัวมันที่เก็บในที่อุณหภูมิสูงไป ได้รับแสงแดด หรือมีแมลงเจาะ มักสร้างกลัยโคอัลคาลอยด์เพิ่มขึ้น สมมุติฐานหนึ่งในการสร้างสารพิษกลุ่มนี้คือ เป็นการเตรียมตัวเพื่อต่อสู้กับศัตรูที่จะเข้าโจมตี ประเด็นที่สำคัญคือ เมื่อมีสารพิษเกิดขึ้นใต้เปลือกแล้ว สารพิษนั้นจะซึมไปรอบๆ ส่วนที่มีสีเขียว การตัดต้นหรือรากทิ้งแล้วเฉือนส่วนที่เป็นสีเขียวทิ้งนั้นไม่ได้ช่วยให้สารพิษหมดไป ทดสอบได้จากการลองชิมดูจะรู้สึกถึงรสขมซึ่งเป็นธรรมชาติของอัลคาลอยด์        มีผู้หวังว่าการให้ความร้อนแก่มันฝรั่งระหว่างการปรุงอาหารน่าจะทำลายกลัยโคอัลคาลอยด์ได้ ซึ่งคำตอบคือ ไม่ ทั้งนี้เพราะกลัยโคอัลคาลอยด์นั้นเป็นสารที่ค่อนข้างทนความร้อน การปรุงอาหารธรรมดาจึงทำลายได้ไม่มากนัก ในทางอุตสาหกรรม เช่น การทำมันฝรั่งทอด โดยพื้นฐานแล้วหัวมันมักถูกล้างในระบบการผลิตด้วยน้ำร้อนและลวกไอน้ำ โดยน้ำนั้นอาจมีการปรับให้มีฤทธิ์เป็นด่างเพื่อช่วยทำให้เปลือกยุ่ย ง่ายต่อการขัดให้เปลือกหลุดออกไปด้วยเครื่องอัตโนมัติ ดังนั้นสารพิษนี้จึงอาจหลุดละลายไปกับเปลือกที่หลุดในน้ำเป็นบางส่วน แต่ส่วนที่เหลือนั้นเมื่อถูกทอด ต้ม หรือผัดอย่างไร สารพิษก็ถูกทำลายได้ยาก ดังปรากฏเป็นการปนเปื้อนในมันฝรั่งทอดที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยและเป็นข่าวดังกล่าวข้างต้น         ในประเด็นว่ามีกลัยโคอัลคาลอยด์ในมันฝรั่งดิบสักเท่าไรนั้น ข้อมูลจากเอกสารวิชาการหลายฉบับที่มีการเผยแพร่ในต่างประเทศกล่าวประมาณว่า โดยปรกติแล้วมีไม่เกิน 10-20 มิลลิกรัม/กิโลกรัมทั้งหัว โดยเฉพาะส่วนใหญ่อยู่ที่เปลือกซึ่งเมื่อทำการวิเคราะห์อาจมากกว่า 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของเปลือก ดังนั้นจึงอาจไม่ปลอดภัยนักสำหรับผู้ที่ชอบกินมันฝรั่งปรุงสุกพร้อมเปลือกโดยหวังได้ใยอาหารเพิ่ม แต่ในหัวมันฝรั่งที่มีสีเขียวแล้วอาจมีกลัยโคอัลคาลอยด์ถึง 250–280 มิลลิกรัม/กิโลกรัมทั้งหัว โดยส่วนเปลือกที่มีสีเขียวอาจมีถึง 1500 –2200 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของเปลือก         ปรกติแล้วถ้าผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทำจากมันฝรั่งสภาพดี ผู้บริโภคอาจไม่รู้สึกถึงรสขม อีกทั้งเรามักจิ้มผลิตภัณฑ์นั้นกับซอสที่ชอบ แต่สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนของกลัยโคอัลคาลอยด์ปริมาณสูงและมีการบริโภคปริมาณมากความเป็นพิษอาจเกิดขึ้น เช่น เป็นไข้ ปวดหัว ปวดท้อง ถ่ายท้อง อาเจียน ชีพจรเบาลง หายใจช้าลง ทั้งนี้เพราะกลัยโคอัลคาลอยด์นั้นมีฤทธิ์ทำลายผนังเซลล์ของทางเดินอาหาร และเป็นสารพิษต่อระบบประสาทในลักษณะเดียวกับสารกำจัดแมลงชนิดออร์กาโนฟอสเฟตคือเป็น cholinesterase inhibitor แต่อาการนั้นไม่หนักถึงขั้นเสียชีวิตแบบเกษตรกรที่ได้รับสารกำจัดแมลงโดยตรง         ในประเทศที่บริโภคมันฝรั่งเป็นแหล่งของอาหารแป้งหลายๆ ประเทศนั้น ได้มีการเผยแพร่ความรู้ถึงวิธีการป้องกันการเพิ่มขึ้นของกลัยโคอัลคาลอยด์ในมันฝรั่งว่า ควรเก็บมันฝรั่งในที่เย็นและไม่ควรนานนัก เพราะขนาดอยู่ในตู้เย็นแล้วมันฝรั่งซึ่งเป็นพืชเขตอบอุ่นนั้นยังงอกได้ มีผู้พบว่ามันฝรั่งเก็บที่ 25 องศาเซลเซียสเกิดกลัยโคอัลคาลอยด์เพิ่มเป็น 3 เท่าของการเก็บในตู้เย็น ที่ 7 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำว่า ไม่ควรให้หัวมันโดนแสงแดดหรือแสงไฟโดยไม่จำเป็น ต้องขนส่งอย่างเบามืออย่าให้ช้ำ และที่สำคัญคือ ต้องอยู่ในภาชนะกันแมลงได้         ในกรณีที่มันฝรั่งถูกเก็บอย่างดีแต่นานไปหน่อยจนงอกแล้ว ผู้เขียนได้ลองนำไปฝังดินปนทรายแล้วรดน้ำไม่ต้องมากนักจะพบว่ามันงอกได้และออกดอกคล้ายมะเขือด้วย ทั้งนี้เพราะมันฝรั่งหรือ potato (Solanum tuberosum) และมะเขือหรือ eggplant (Solanum melongena) นั้นเป็นญาติสนิทกัน และณ.วันที่เขียนบทความนี้ผู้เขียนกำลังรอว่า จากมันหนึ่งหัวที่ฝังดินไว้จะเพิ่มเป็นมันหลายหัวได้หรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 เครื่องดื่มสุขภาพ..มีจริงหรือ

        วันที่ 5 ธันวาคม 2564 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย มีบทความเรื่อง 3 เครื่องดื่มสุขภาพ ถ้าดื่มมากเกินไปหรือดื่มเป็นเวลานาน จะทำให้ภูมิตก เสี่ยงติดโควิด-19 ได้ง่าย จริงหรือ? โดยเนื้อข่าวสรุปแล้วกล่าวประมาณว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ในประเด็นของ 3 เครื่องดื่มสุขภาพนั้น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับหน่วยราชการหนึ่งพบว่า เป็นข้อมูลจริง โดยหน่วยราชการนั้นอธิบายเหตุผลที่ข้อมูลดังกล่าวน่าเชื่อประมาณว่า “น้ำผักผลไม้สำเร็จรูปส่วนใหญ่เติม น้ำ น้ำตาล สารคงสภาพ ทำให้คุณประโยชน์ที่ได้น้อย แต่อาจได้น้ำตาลฟรุคโตสจำนวนมากแทน ส่วนการดื่มนมวัวโดยเฉพาะนมรสหวานในปริมาณมากอาจทำให้อ้วนได้จริง และเครื่องดื่มชูกำลังจัดเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งน้ำตาลนั้นหากกินมากไปเสี่ยงทำให้ภูมิคุ้มกันลด ควรเลี่ยง”         ผู้เขียนขอละที่จะกล่าวว่า ความเห็นของหน่วยราชการนั้นถูกหรือผิด แต่ขอแสดงความเห็นว่า น่าเสียดายมากที่หน่วยราชการนั้นอาจจำเป็นต้องประหยัดตัวหนังสือในการให้ข้อมูลการประเมินข่าวแก่ผู้บริโภคว่าข้อความนั้น จริงหรือเท็จ จึงไม่ได้อ้างการสนับสนุนข้อมูลนั้นด้วยหลักฐานทางวิชาการว่า มาจากแหล่งใดหรือจากบทความวิชาการที่เป็นงานวิจัยในวารสารใด เพื่อผู้บริโภคจะได้นำหลักกาลามสูตร 10 มาพิจารณา         จริงอยู่ที่ว่าเราควร ละ เลี่ยง เลิก ในการกินหวาน มัน เค็ม เพื่อลดภาวะการทำลายสุขภาพของไต ซึ่งส่งผลถึงความผิดปรกติอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง แต่ในกรณีของน้ำผักผลไม้รวมสำเร็จรูปนั้น สินค้ากลุ่มนี้น่าจะมีทั้งประโยชน์และโทษในตัวเอง เพราะดื่มน้อยอร่อยดีแต่ถ้าดื่มมากและบ่อยเกินไปปัญหาด้านสุขภาพอาจตามมา ดังนั้นสำหรับคนทั่วไปที่ดื่มบ้างเป็นครั้งคราวเพื่อเพิ่มรสชาติของชีวิต จำเป็นด้วยหรือที่ต้องเลิกดื่มผลิตภัณฑ์นี้ ในประเด็นว่าถ้าดื่มมากแล้วภูมิคุ้มกันต่ำจนเสี่ยงโควิด-19 ง่าย ถ้ามีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่า เครื่องดื่มที่มีรสหวานจากน้ำตาลทำอันตรายผู้บริโภคโดยเฉพาะเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันแล้ว ควรมีการเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพิกถอนตำรับสินค้ากลุ่มนี้เสียเลย         ประเด็นที่ควรสนใจคือ ความหมายที่แท้จริงของคำว่า เครื่องดื่มสุขภาพนั้น..มีจริงหรือ เพราะเท่าที่พยายามสืบค้นทางอินเตอร์เน็ทแล้วนั้น ความหมายอย่างเป็นทางการหรือเป็นที่ยอมรับทางวิชาการโดยองค์กรที่น่าเชื่อถือนั้น ดูเหมือนจะไม่มี         โดยปรกติแล้วเครื่องดื่มทุกชนิดที่ขายในท้องตลาดและผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย. มักมีลักษณะตาม “ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 356 พ.ศ.2556 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท” ซึ่งก็ไม่ได้พูดถึง เครื่องดื่มสุขภาพ ส่วนในกรณีที่สินค้าใดจะอ้างว่า องค์ประกอบของสินค้านั้นมีผลต่อสุขภาพ ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามรายละเอียดในเอกสารชื่อ คู่มือสำหรับประชาชน การขอประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพ (ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพียงเข้าไปใน google แล้วลองค้นหาด้วยคำว่า “health claims on food labels ของ อย.”) ก็มิได้มีคำจำกัดความของคำว่า เครื่องดื่มสุขภาพ         เมื่อค้นหาโดยใช้ google ถึงความหมายของเครื่องดื่มสุขภาพนั้น เว็บไซต์หนึ่งได้ให้ความหมายตามใจเว็บเองว่า “หมายถึงเครื่องดื่มที่มีคุณประโยชน์ที่จับต้องได้และเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ หรือเป็นเครื่องดื่มที่มีการบ่งบอกชัดเจนถึงคุณประโยชน์ เฉพาะเจาะจงเช่น น้ำผลไม้พร้อมดื่มที่มีส่วนผสมของแอล-คารนิทีน ชาเขียวผสมคอลลาเจน นมพร้อมดื่มผสม คอลลาเจน เครื่องดื่มธัญพืชที่ช่วยให้สุขภาพผิวดีขึ้น เครื่องดื่มที่ช่วยลดความอ้วนที่สกัดจากชาหรือสารอาหารจากธรรมชาติ” ซึ่งใครจะเชื่อก็ได้หรือไม่เชื่อก็ได้         มีบทความหนึ่งในอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้เขียนเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยหนึ่ง (ที่ชอบคิดค้นสินค้าที่อ้างว่าเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ) พยายามให้ความหมายประหนึ่งว่า เครื่องดื่มสุขภาพนั้นเป็น functional drink ซึ่งนำไปสู่คำถามต่อไปว่า แล้ว functional drink นั้นคืออะไร และเมื่อค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตต่อก็พบว่า คำ ๆ นี้ยังไม่มีการให้คำจำกัดความทางวิชาการที่แท้จริงเช่นกัน มีแต่ที่จำกัดความกันเองตามใจชอบ เช่นบางเว็บไซต์บอกว่า “คือเครื่องดื่มที่ให้ Benefit กับร่างกายของผู้ดื่มไม่ว่าจะเพื่อช่วยย่อยอาหาร ผิวสวย บำรุงสมอง” ซึ่งเมื่อพิจารณาดีๆ ก็พบว่าเป็นคำจำกัดความที่ค่อนข้างแคบไปหน่อย         ผู้เขียนคิดว่า functional drinks นั้นคงล้อมาจากคำว่า functional foods ซึ่งในความเป็นจริงนั้นถ้าเขียนให้ถูกในความหมายที่มีการอธิบายความเป็นตัวตนของสินค้านี้ ควรใช้คำว่า physiologically functional foods ซึ่งคำๆ นี้น่าจะปรากฏเป็นครั้งแรกในบทความเรื่อง Studies on Functional Foods in Japan: State of the Art ในหนังสือ Food Factors for Cancer Prevention พิมพ์โดย Springer-Verlag Tokyo ในปี 1997 ซึ่งกล่าวถึงโครงการระดับชาติ 3 ปีที่ได้รับการสนับสนุนโดย the Ministry of Education, Science and Culture ของญี่ปุ่นที่มี Dr. Soichi Arai เป็นประธานซึ่งได้เริ่มโครงการชื่อ Analysis and Molecular Design of Physiologically Functional Foods จากบทความนี้ได้สรุปความหมายของ physiologically functional foods ว่าคือ อาหารที่ออกแบบมาให้มีประโยชน์ทางสรีรวิทยาและ/หรือลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังเหนือกว่าอาหารที่มีหน้าที่เกี่ยวกับโภชนาการขั้นพื้นฐาน โดยอาจมีลักษณะภายนอกดูคล้ายกับอาหารทั่วไปและบริโภคโดยเป็นส่วนหนึ่งของการรับประทานอาหารปกติ อย่างไรก็ตาม คำว่า physiologically functional foods นั้นดูยาวเยิ่นเย้อ จึงมีการลดทอนคำไปเป็น functional foods แทน ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมวิชาการ         ดังนั้นสินค้าที่อ้างว่าเป็น functional drinks นั้น ควรเป็นเครื่องดื่มที่ดูไม่ต่างจากเครื่องดื่มธรรมดาแต่ถูกปรับให้มีศักยภาพในการส่งผลให้สุขภาพมนุษย์ดีขึ้นกว่าการดื่มเครื่องดื่มธรรมดา เช่นการเติมสารสกัดจากอะไรสักอย่างหนึ่งลงไปในเครื่องดื่ม แล้วทำการศึกษาจนได้เห็นว่า มีประโยชน์จริงในมนุษย์        อาจมีผู้บริโภคสงสัยว่า functional drinks นั้นเป็นอย่างไร ปรากฏว่าเมื่อพิจารณาจากโฆษณาทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตแล้วพบว่า น่าจะมีลักษณะเป็น เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา (Sport Drink ) ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นเกลือแร่และน้ำตาลเพื่อชดเชยแร่ธาตุและพลังงานที่เสียไประหว่างออกกำลังกาย แต่ประเภทที่ดูว่าขายดีที่สุดคือ เครื่องดื่มให้พลังงาน (Energy Drink) ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ผสมสารให้ความหวานพร้อมกลุ่มวิตามินและกรดอะมิโนในปริมาณหนึ่ง ซึ่งแม้มีประโยชน์บ้างก็ตามแต่จริงแล้วสารเคมีที่ต้องการขายจริงคือ คาเฟอีน ซึ่งช่วยให้คลายความง่วงนอนและมีความตื่นตัว สำหรับเครื่องดื่มเข้มข้น (Enriched Drink) นั้นเป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมองค์ประกอบในอาหารและไม่ใช่อาหาร เช่น คอลลาเจน โคคิวเท็น สารสกัดจากเมล็ดหรือเปลือกหรือรากของพืช  โดยมักอ้างว่ามีสารต่อต้านอนุมูลอิสระหรือช่วยการเผาผลาญไขมัน ฯลฯ ซึ่งสินค้าเหล่านี้บางชนิดเป็นสินค้าเกิดใหม่ บรรพบุรุษเราไม่เคยพบเห็น         สำหรับงานวิจัยที่กล่าวว่า การกินน้ำตาลมากมีผลโดยตรงต่อระบบภูมิคุ้มกันนั้น เท่าที่หาได้จาก PubMed และ ScienceDirect คือ บทความเรื่อง A high-sugar diet affects cellular and humoral immune responses in Drosophila ในวารสาร Experimental Cell Research ของปี 2018 ซึ่งเป็นการเลี้ยงแมลงหวี่ด้วยอาหารที่มีน้ำตาลทรายสูงราว 6.7 เท่าของอาหารปรกติ ทำให้พบข้อบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับความสามารถด้านฟาโกไซโทซิส* (phagocytosis) ของแมลงหวี่ในการจัดการกับสิ่งแปลกปลอมคือ เม็ดยางลาเท็กซ์และสปอร์ของเชื้อราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana เป็นเชื้อราใช้กำจัดแมลง โดยสปอร์งอกและแทงเส้นใยทะลุตัวแมลง ทำให้แมลงมีอาการผิดปกติ อ่อนแอ จนแมลงตายในที่สุด)         อีกทั้งยังพบว่า อาหารที่มีน้ำตาลทรายสูงกระตุ้นการพัฒนาของ lamellocytes (เซลล์ที่มีเฉพาะในตัวอ่อนแมลงที่สามารถต่อสู้เชื้อโรคที่บุกรุก) ในต่อมน้ำเหลืองและระบบเลือดมากเกินไป ซึ่งปรกติไม่เกิดขึ้นในแมลงที่แข็งแรง นั่นแสดงว่าการพัฒนาเพื่อเป็นแมลงตัวโตเต็มวัยนั้นถูกชะลอหรือชะงักด้วยการกินน้ำตาลทรายมากเกิน ซึ่งบทความเรื่องนี้โดยสรุปแล้วให้ข้อมูลว่า อาหารที่มีน้ำตาลสูงนั้นน่าจะส่งผลต่อความผิดปรกติของระบบภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติซึ่งรวมถึงการอักเสบด้วย         *ฟาโกไซโทซิสนั้นเป็นส่วนสำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันหลายชนิดทำหน้าที่นี้เช่น นิวโทรฟิล แมคโครฟาจ เซลล์เดนไดรต์ เป็นต้น กระบวนการฟาโกไซโทซิสนั้นเป็นการกลืนเชื้อโรคเข้าในเซลล์แล้วย่อยทำลายทิ้งด้วยเอ็นซัม เซลล์ฟาโกไซต์บางชนิดได้นำโปรตีนที่ย่อยแล้วและมีส่วนที่เป็น epitope ซึ่งแสดงความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (antigenicity) ของเชื้อโรคไปแสดงบนผนังเซลล์ทำให้เม็ดเลือดขาวเข้ามาเรียนรู้เพื่อทำความรู้จักก่อนที่จะถูกกระตุ้นให้สร้างแอนติบอดีหรือเปลี่ยนไปเป็น T-killer cell

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 เป็นพุทธมามกะนั้น..ยาก

        วิกิพีเดียไทยให้ข้อมูลว่า พุทธมามกะ หมายถึง ผู้ประกาศตนว่าขอถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ หรือผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา และ www.trueplookpanya.com อธิบายต่อว่า ในชีวิตประจำวันนั้นพุทธมามกะมีหน้าที่ปฏิบัติตน 6 ประการคือ 1) ศึกษาหลักธรรมให้เป็นสัมมาทิฏฐิคือ แนวคิดที่ถูกต้อง มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว 2) ฟังธรรมหรือสนทนาธรรมตามกาล 3) ทำบุญตักบาตร 4) ไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน 5) ปฏิบัติตนตามศีล 5 เป็นอย่างน้อย 6) ปฏิบัติกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ดังนั้นถ้าสำรวจกันตามหลักวิชาทางสถิติแท้ ๆ แล้ว ผลที่ได้ออกมาอาจเป็นว่า คนไทยส่วนหนึ่งไม่สามารถอ้างได้ว่าตนเป็นพุทธมามกะเพราะยังทำตามศีล 5 ไม่ได้         ศีลที่ผู้อ้างว่าเป็นพุทธมามกะมักบกพร่องคือ ศีลข้อที่ 5 พิสูจน์จากข้อมูลในเว็บของกรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2560 มีประเด็นข่าวว่า 'XXX' ห่วงคนไทยดื่มเหล้าติดอันดับ 5 ของโลก ซึ่งเนื้อข่าวให้ข้อมูลว่า มีนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนอายุ 15–19 ปี เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 5 ต่อปี เพราะคนไทยใช้เวลาเดินเพียง 4.5 นาที ก็ถึงร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นี่แสดงว่าประชาชนซื้อหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายมาก และองค์การอนามัยโลกเคยระบุว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนถนนมากที่สุดในทุกช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาวและก่อปัญหาสังคมอื่นตามมา เช่น การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะวิวาท การล่วงละเมิดทางเพศ และอาชญากรรมอื่น ๆ         เว็บ https://alcoholrhythm.com มี infographic ที่อ้างข้อมูลจากหนังสือ ข้อเท็จจริงและตัวเลขเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย พ.ศ.2559-2561 ซึ่งมี สาวิตรี อัษณางค์กรชัย เป็นบรรณาธิการและพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สหมิตรพัฒนาการพิมพ์ กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2562 ให้ข้อมูลว่า ในปี 2560 มีนักดื่มในประเทศไทยราว 15.89 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28.4 ของประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยในจำนวนนี้มีคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์มากถึง 6.98 ล้านคน หรือร้อยละ 12.5 ของประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป (แสดงว่ายังมีอีก 8.91 ล้านคนดื่มมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ใช่ไหม) โดยเชียงรายครองอันดับหนึ่งของจังหวัดที่มีนักดื่มมากที่สุดร้อยละ 45.3 ตามด้วยลำพูน (ร้อยละ 44.1) พะเยา (ร้อยละ 44.0) น่าน (ร้อยละ 42.4) และสุรินทร์ (ร้อยละ 40.6) ทำให้เห็นได้ว่าชาวเหนือและอีสานมีจำนวนผู้ละเมิดศีลข้อ 5 เยอะ ส่วนจังหวัดที่มีนักดื่มน้อยที่สุดอยู่ในภาคใต้คือ ยะลามีนักดื่มเพียงร้อยละ 2.3 ตามด้วย ปัตตานี (ร้อยละ 3.9) นราธิวาส (ร้อยละ 4.9) สตูล (ร้อยละ 9.9) และสงขลา (ร้อยละ 13.2)         คนไทยวัยทำงานเป็นกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุด ซึ่งอาจเป็นเพราะความเครียดจากการทำงาน พบว่าผู้ชายเริ่มดื่มเมื่ออายุ 19 ปี (ปีที่เริ่มเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา) ซึ่งโดยเฉลี่ยดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 50 กรัมขึ้นไปต่อวัน ส่วนผู้หญิงเริ่มดื่มหลังที่อายุได้ 24 ปี (น่าจะเพราะเริ่มมีรายได้จากการทำงานและคิดว่าตนเป็นผู้ใหญ่พอ) ซึ่งดื่มโดยเฉลี่ย 12-50 กรัมต่อวัน         ที่น่าสนใจคือ จากการสำรวจในปี 2560 สถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายทั่วประเทศไทยมี 583,880 แห่ง หรือเท่ากับ 1 ร้านสามารถให้บริการประชากรได้ 113 คน นอกจากนี้ในบรรดาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด เบียร์ได้รับความนิยมมากที่สุด พบว่าคนไทยดื่มเบียร์มาก ถึงร้อยละ 47.4 ของการดื่มทั้งหมด รองลงมาเป็นสุราขาวหรือสุรากลั่นชุมชน (ร้อยละ 26.6) และสุราสีหรือสุราแดง (ร้อยละ 22.0)         ข้อมูลจากเว็บ www.expensivity.com เผยข้อมูลดัชนีเบียร์โลกประจำปี 2021 ว่า กาตาร์ขายเบียร์แพงที่สุดในโลก เพราะเรียกเก็บภาษีนำเข้าแอลกอฮอล์เกินร้อยละ 100 เบียร์จึงมีราคาประมาณ 400 บาทต่อขวด ส่วนแอฟริกาใต้มีเบียร์ราคาถูกที่สุดคือ 51 บาทต่อขวด สิ่งที่น่าละอายใจคือ ตำแหน่งขี้เมาเบียร์ประจำเอเชียตกเป็นของคนไทย เพราะคนไทยดื่มเบียร์คนละ 142 ขวด/คน/ปี (จริงแล้วคงมากกว่านี้เพราะคนไทยอีกหลายคนไม่เคยเมาเลยแต่ถูกนำมารวมเป็นตัวหารในการคำนวณหาค่าเฉลี่ย) ตามด้วยคนเกาหลีใต้ 130 ขวด/คน/ปี และ คนจีน 127 ขวด/คน/ปี นอกจากนี้น่าอดสูใจมากที่คนไทยยังหมดเงินไปกับการดื่มเบียร์มากที่สุดโดยเฉลี่ยราวคนละ 21,093 บาทต่อปี ตามมาด้วยคนเกาหลีใต้และคนญี่ปุ่นตามลำดับ         ด้วยข้อมูลข้างต้นนี้คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วยังประกาศตนว่าเป็นพุทธมามกะนั้นน่าจะถูกนับว่าผิดศีลข้อที่ 4 ด้วยเพราะพูดปด โกหกมดเท็จ พูดไม่อยู่กับร่องกับรอยเพิ่มอีก 1 ข้อ ดังนั้นจึงมีผู้พยายามหาเหตุผลว่า ทำไมคนไทยถึงชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งคำตอบนั้นมีหลากหลายประมาณว่า เพื่อคลายเครียด เพื่อให้การเข้าสังคมเป็นเรื่องง่ายซึ่งบางกรณีมีประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ และที่น่ากังวลคือ การอ้างผลการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณดีต่อสุขภาพ         เคยมีนักวิชาการด้านสุขภาพของประเทศทางตะวันตกกล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณนั้นส่งผลที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเช่น ลดโอกาสมีเส้นเลือดหัวใจตีบตัน เป็นต้น ดังในบทความเรื่อง Effect of alcohol consumption on biological markers associated with risk of coronary heart disease: systematic review and meta-analysis of interventional studies ในวารสาร BMJ (British Medical Journal) ของปี 2011ได้ให้ข้อสรุปว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่ดูเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของหลอดเลือดและหัวใจหลายประการเช่น เมื่อมีการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับปานกลางจะมีการเพิ่มขึ้นทั้ง HDL (คลอเรสเตอรอลตัวดี) และ adiponectin ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างจากเซลล์ไขมันและมีบทบาทสำคัญในการป้องกันภาวะดื้อต่ออินซูลิน/เบาหวาน ต้านการอักเสบ และลดการแข็งตัวของเลือดที่เกินพอดี โดยผ่านกลไกที่แตกต่างกันที่เป็นการสนับสนุนทางอ้อมถึงการป้องกันต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ และในบทความเรื่อง Mediterranean alcohol-drinking pattern and mortality in the SUN (Seguimiento Universidad de Navarra) Project: a prospective cohort study ในวารสาร British Journal of Nutrition ของปี 2014 ซึ่งให้ข้อมูลว่า คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะที่ดีต่อสุขภาพคือ ดื่มพอประมาณ (moderate drinking) ราว 10–50 กรัม แอลกอฮอล์ต่อวันสำหรับผู้ชาย หรือ 5–25 กรัมต่อวันสำหรับผู้หญิงนั้น มีอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้ดื่มเลยหรือดื่มมากเกินคำแนะนำ         อย่างไรก็ดีคำแนะนำเกี่ยวกับประโยชน์ของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแง่เกี่ยวกับสุขภาพในปัจจุบันได้เริ่มเปลี่ยนไป โดยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2018 เว็บ www.bbc.com/thai มีบทความเรื่อง ผลวิจัยล่าสุดชี้ "ระดับปลอดภัย" ในการดื่มแอลกอฮอล์ไม่มีจริง ซึ่งทำให้หลายคนที่เชื่อเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์วันละเล็กน้อยดีต่อสุขภาพ อาจต้องทบทวนในความคิดนี้ใหม่ ยืนยันได้จากบทความเรื่อง No level of alcohol consumption improves health ใน www.thelancet.com เมื่อ 22 กันยายน 2018 รายงานผลการศึกษาใน 195 ประเทศ ให้ข้อมูลสรุปประมาณว่า ความเชื่อเดิมว่าการดื่มแอลกอฮอล์วันละเล็กน้อยช่วยป้องกันโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองจำต้องเปลี่ยนไป เพราะความเสี่ยงต่อโรคภัยโดยรวมที่มีอยู่นั้นสูงมากเกินจนไม่คุ้มกับสิ่งที่ได้จากการดื่มเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพบางประการ และชี้ว่าหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐบาล (ที่ไม่ได้หวังภาษีจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นรายได้หลัก) ควรออกคำเตือนให้ประชาชนงดเว้นการบริโภคแอลกอฮอล์อย่างสิ้นเชิง พร้อมไปกับการพิจารณายกเลิกคำแนะนำเรื่องปริมาณการดื่มที่ปลอดภัยที่มีอยู่เดิมเสีย เนื่องจากอัตราความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ เช่นมะเร็ง หรือได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ในแต่ละวัน โดยผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์วันละ 1 หน่วย (มีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ 10 กรัม) มีความเสี่ยงต่อโรคภัยและการบาดเจ็บสูงกว่าคนที่ไม่ดื่มเลย 0.5% ส่วนคนที่ดื่มวันละ 2 หน่วยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 7% และคนที่ดื่มวันละ 5 หน่วยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 37%         สำหรับ www.mayoclinic.org ซึ่งเคยให้ข้อมูลเห็นด้วยเกี่ยวกับประโยชน์จากการดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะพอเหมาะแก่สุขภาพมานานได้เริ่มเปลี่ยนท่าทีแล้ว จากการเข้าดูข้อมูลของเว็บนี้ในปี 2021 พบตอนหนึ่งในบทความเรื่อง Alcohol use: Weighing risks and benefits กล่าวว่า ประโยชน์ที่เป็นไปได้ของแอลกอฮอล์นั้นค่อนข้างน้อยและอาจใช้ไม่ได้กับทุกคน ประกอบกับคำแนะนำในการกินอาหารของคนอเมริกัน (American Dietary Guidelines) ล่าสุดกล่าวอย่างชัดเจนว่า ไม่มีใครควรเริ่มดื่มแอลกอฮอล์หรืออ้างประโยชน์ต่อสุขภาพจึงดื่มบ่อยขึ้น เนื่องจากประโยชน์ที่อาจมีนั้นไม่ได้มีมากกว่าความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เป็นแนวทางที่ดีที่สุดถ้าหวังมีสุขภาพที่ดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 ดูอย่างไรว่า “งานวิจัย” เชื่อได้

        ข้อมูลงานวิจัยทางวิชาการมักถูกใช้ในการตัดสินใจว่า ควรหรือไม่ควรเชื่อ เมื่อมีการกล่าวถึง เช่นในกรณีการอ้างข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สุขภาพในการขายสินค้าที่อ้างว่า มีผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งโดยหลักการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคแล้วเรามักกล่าวถึง กาลามสูตร 10 ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้เพื่อช่วยผู้บริโภคให้ คิดก่อนเชื่อ เพื่อพิจารณาว่า สิ่งใดเชื่อได้หรือเชื่อไม่ได้นั้น ผู้บริโภคควรใช้ข้อมูลอะไรช่วยในการคิด ซึ่งคำตอบง่าย ๆ คือ ใช้ข้อมูลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่เชื่อถือได้ แต่ยังมีคำถามที่ตามต่อมาคือ งานวิจัยที่ตีพิมพ์นั้นเชื่อได้เสมอหรือ ซึ่งคำตอบคือ “ไม่เสมอไป” ดังนั้นในการอ้างอิงเอกสารทางวิชาการมาประกอบการโฆษณาสินค้าของผู้ขายนั้นทำให้จำเป็นต้องพิจารณาว่า  ผลงานวิจัยนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งลำดับแรกที่ควรทำคือ ดูจากการที่วารสารที่ตีพิมพ์บทความนั้นมีกระบวนการพิจารณาความเหมาะสมของบทความที่รอบคอบสามารถจับผิดจับถูกในข้อมูลที่แสดงไว้ในบทความอย่างไร โดยกระบวนการซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการปัจจุบันคือ การทำ peer review ต้นฉบับบทความก่อนสำนักพิมพ์ตัดสินใจตีพิมพ์ในวารสาร (peer-reviewed journals)         จากเอกสารอิเล็คทรอนิคเรื่อง Peer Review (THE NUTS AND BOLTS A guide for early career researchers) ตีพิมพ์ในเว็บ https://senseaboutscience.org เมื่อ 10 กันยายน 2021 นั้นมีข้อมูลหลายประเด็นซึ่งน่าสนใจเพื่อนำมาใช้ในการประเมินว่า ควรใช้งานวิชาการในวารสารใดเพื่อการตัดสินใจเชื่อคำกล่าวถึงคุณภาพของสินค้าเพื่อสุขภาพตามหลักกาลามสูตร 10         ความหมายในภาษาไทยของคำว่า peer-review นั้นน่าจะเป็น การทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน ซึ่งเป็นกระบวนการของวารสารที่เมื่อได้รับต้นฉบับบทความแล้ว บรรณาธิการหรือคณะบรรณาธิการต้องพิจารณาตรวจบทความว่า สมควรรับหรือไม่รับก็ได้ (ถ้ากล้าพอ) แต่เพื่อกันข้อครหานินทาจากสังคมนักวิชาการ กองบรรณาธิการมักตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญ (โดยทั่วไปมักมีจำนวน 2-3 คน) ซึ่งเป็นผู้รู้ที่มีความรู้เสมอกันในสาขาวิชาดังกล่าว ที่พอจะเข้าใจลักษณะของงานวิจัยนั้น เป็นกรรมการผู้พิจารณาตรวจสอบอ่านบทความว่า เป็นผลงานที่ดีและมีคุณภาพในสายตาของผู้เชี่ยวชาญ หรือไม่         ในการค้นหาชื่อของผู้เชี่ยวชาญนั้น วารสารมักเลือกจากฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญในประเทศหรือต่างประเทศที่วารสารเข้าถึงได้ หรือจาก "PubMed" ซึ่งเป็นฐานข้อมูลออนไลน์สำหรับการอ้างอิงบทคัดย่อ (ตลอดจึงการ download บางบทความที่เป็นตัวจริงที่ตีพิมพ์แล้ว) ซึ่งทำให้เห็นชื่อของนักวิจัยที่ทำงานในแต่ละสาขาที่มีผลงานถูกตีพิมพ์ในระดับน่าจะแสดงความเชี่ยวชาญได้ อย่างไรก็ดีบรรณาธิการหลายคนมีความเห็นว่า ควรเลี่ยงที่จะเลือกเชิญนักวิจัยระดับโลก (น่าจะหมายถึงคนที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ) มาช่วยตรวจสอบบทความที่ถูกเสนอเพื่อการตีพิมพ์ เพราะผู้ทรงคุณวุฒิระดับนี้มักยุ่งเกินไปจนทำให้กระบวนการคัดเลือกบทความเพื่อวารสารแต่ละเล่มช้า จนในบางโอกาสผู้เชี่ยวชาญอาจให้ลูกศิษย์หรือนักวิจัยระดับรองในหน่วยงานทำแทน         กระบวนการทำ peer review ที่นิยมทำนั้นมี 3 แบบคือ แบบรู้เขาแต่เขาไม่รู้เรา (Single-Blind Review) ซึ่งกรรมการรู้ว่าใครเป็นคนเขียนต้นฉบับแต่ผู้เขียนไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ตรวจทาน กระบวนการนี้ช่วยให้กรรมการสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา วิจารณ์โดยไม่ต้องกลัวว่าผู้เขียนจะตอบโต้ อย่างไรก็ดีข้อด้อยของกระบวนการนี้อาจเกิดขึ้นถ้าได้กรรมการที่ไร้ยางอาย หาทางชะลอกระบวนการตรวจสอบก่อนตีพิมพ์แล้วขโมยแนวคิดไปทำวิจัยเสียเอง ส่วนแบบเขาไม่รู้เราและเราก็ไม่รู้เขา (Double-Blind Review) นั้นกรรมการไม่รู้ว่าใครเป็นผู้แต่งและเจ้าของต้นฉบับก็ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ตรวจทาน กระบวนการนี้น่าจะลดความลำเอียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรู้ว่า ใครเป็นผู้แต่งและสามารถประเมินความเหมาะสมของผลงานด้วยตัวงานเอง อย่างไรก็ดีแม้ต้นฉบับไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน กรรมการ peer review อาจเดาได้ว่าใครคือเจ้าของต้นฉบับบทความได้หากผู้เขียนได้อ้างอิงบทความของตนเองหลายเรื่องในบทความ ส่วนกระบวนการแบบเปิดหน้าชก (Open Review) นั้นกรรมการผู้ประเมินรู้ว่าใครคือผู้เขียนและผู้เขียนรู้ว่าใครเป็นผู้ประเมิน ในกรณีที่วารสารเลือกใช้กระบวนการนี้มักมีการระบุชื่อผู้ประเมินควบคู่ไปกับบทความที่ตีพิมพ์ เพื่อให้กรรมการได้รับเครดิตสาธารณะสำหรับความเสียสละในการอ่าน ซึ่งเป็นการแสดงความโปร่งใส เพิ่มความรับผิดชอบของกรรมการให้มากขึ้นและน่าจะลดโอกาสในการมีอคติหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม         ประเด็นสำคัญที่ต้องดูในการทำ peer review คือ 1.) ความสำคัญของบทความต่อสังคมทางวิชาการ 2.) การอธิบายกระบวนการทำวิจัยอย่างชัดเจน (เพียงพอสำหรับนักวิจัยคนอื่นทำซ้ำได้) เพื่อตอบสมมุติฐานที่กำหนดไว้ 3.) การวิเคราะห์ผลการศึกษาทางสถิติเหมาะสม 4.) การอภิปรายผลจากงานวิจัยนั้นดูมีความสำคัญทางวิชาการและคำนึงถึงข้อจำกัดของการศึกษาว่ามีทางแก้ไขหรือป้องกันหรือไม่ 5.) งานวิจัยนั้นเป็นนวัตกรรมหรือเป็นสิ่งที่ค้นพบใหม่และ/หรือก่อความท้าทายกระบวนทัศน์ที่มีอยู่เดิมหรือเพิ่มความรู้ที่มีอยู่ 6.) การนำเสนอผลการวิจัยนั้นต้องปรับปรุงหรือไม่และผลนั้นเป็นการตอบคำถามที่ตั้งไว้หรือไม่ 7.) หากศึกษาในมนุษย์ เนื้อเยื่อของมนุษย์ หรือมีสัตว์เกี่ยวข้อง ต้องได้รับการอนุมัติด้านจริยธรรมจากหน่วยงานที่ดูแลการทำวิจัย 8.) ข้อสรุปผลการวิจัยหรือ conclusion นั้นเหมาะสม สะท้อนประเด็นปัญหาที่กำหนดไว้แต่ต้นโดยไม่เสนอแนวคิดใหม่ที่ไม่เกี่ยวในการทำวิจัย ตั้งคำถามที่ท้าทายโดยอ้างอิงผลการศึกษาที่ค้นพบเพื่อเรียกร้องให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง         ประเด็นการแอบนำเสนอผลงานวิจัยของผู้อื่นในรูปแบบงานวิจัยของผู้เขียนต้นฉบับเองซึ่งเรียกว่า plagiarism นั้น ผู้ เชี่ยวชาญบางคนสามารถมองเห็นได้ว่า บทความที่กำลังตรวจสอบนั้นคล้ายกับบทความอื่นที่เคยได้อ่าน หรืออาจจำเป็นต้องใช้คำสำคัญ (key words) ค้นหาบทความในแนวเดียวกันจากฐานข้อมูลที่เหมาะสม ซึ่งในกรณีที่พบความคล้ายกันแบบไม่บังเอิญกรรมการควรแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันทีพร้อมหลักฐาน         ในกรณีที่เจ้าของต้นฉบับสร้างข้อมูลเทียมในต้นฉบับอย่างระมัดระวัง การตรวจจับอาจยากมาก ตัวอย่างเช่น กรณีภาพถ่ายที่เคยมีการตีพิมพ์แล้วถูกนำเปลี่ยนสีและติดป้ายกำกับใหม่ให้ดูเป็นข้อมูลใหม่ หรือการลบบางส่วนของภาพทิ้ง อย่างไรก็ดีในบางกรณีผู้เชี่ยวชาญอาจสามารถสังเกตความผิดปรกติของข้อมูลตัวเลขที่ขัดต่อกฎทางคณิตศาสตร์ งานที่ขาดการสุ่มตัวอย่างที่เหมาะสม ขนาดกลุ่มตัวอย่างที่กำหนดในการศึกษาต่างกันมากอย่างไม่มีเหตุผล การวิเคราะห์ทางสถิติที่ไม่มีความหมายหรือผิดหลักการพื้นฐานที่ใคร ๆ ก็ควรรู้ ผลการศึกษาที่ดูดีเกินไปเช่น ค่าการเบี่ยงเบนมาตรฐานแคบจนไม่น่าเชื่อ หรือผลการจากกราฟที่แสดงความสัมพันธ์เป็นเส้นตรงเกินไปทั้งที่เป็นทำวิจัยในสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลาย         มีปรากฏการณ์หนึ่งที่สามารถเกิดได้หลังจากที่บทความได้รับการตีพิมพ์แล้วคือ ผู้อ่านบางคนสามารถตรวจจับได้ว่า เกิดความผิดปรกติในบทความ (เช่น การลอกเลียนบางส่วนหรือทั้งหมดหรือตกแต่งตัวเลขที่เป็นผลจากการวิจัย) แล้วแจ้งต่อบรรณาธิการ ซึ่งวารสารที่ดีมักทำการถอนบทความนั้นออกเหมือนไม่ได้ตีพิมพ์ (retraction) โดยเอกสารการแจ้งถอนนั้นมักปรากฏควบคู่ไปกับบทความที่ตีพิมพ์ออนไลน์ หรือประทับคำว่า Retraction บนบทความ ผู้ที่สนใจในประเด็นดังกล่าวสามารถติดตามได้ในเว็บ Retraction Watch (https://retractionwatch.com)         ในวารสารด้านวิทยาศาสตร์ที่มีขอบเขตทางวิชาการกว้างและมีผู้นิยมส่งผลงานเป็นจำนวนมาก เช่นวารสาร Science หรือ Nature หลายบทความอาจได้รับการปฏิเสธแม้มีคุณภาพดีพอควรแต่ทางบรรณาธิการยังรู้สึกว่า ยังไม่โดดเด่นกระทบใจคนในวงการวิชาการ ส่วนวารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ เช่น PLOS ONE, Scientific Reports และ Peer J ใช้กระบวนการ peer review ที่เคร่งครัดเพียงเพื่อตัดสินความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์และระเบียบวิธีเท่านั้น จึงทำให้วารสารเหล่านี้แทบจะตีพิมพ์บทความทั้งหมดที่ปฏิบัติตรงตามมาตรฐานที่จำเป็นของความเข้มงวดทางวิทยาศาสตร์ (ซึ่งเจ้าของต้นฉบับบางคนทำให้เกิดขึ้นได้แม้เนื้องานอาจดูไม่ดี) สำหรับวารสารเฉพาะทางที่มีจำนวนการเผยแพร่ต่อผู้อ่านค่อนข้างน้อยจึงมักมีผู้เสนอต้นฉบับบทความเพื่อขอตีพิมพ์น้อย ทำให้การแข่งขันเพื่อการตีพิมพ์ไม่สูงนัก อัตราการตอบรับเพื่อตีพิมพ์เฉลี่ยจึงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง         การที่ต้นฉบับบทความวิชาการบางเรื่องได้รับการตีพิมพ์ยากนั้น อาจเนื่องจากเป็นสาขาวิชาเฉพาะที่ลงลึกมากจนหากรรมการที่เข้าใจได้ยากหรือคุณภาพงานไม่อยู่ในระดับที่ peer-reviewed journals ยอมรับ เจ้าของบทความ เช่น อาจารย์หรือนักวิจัยในหลายประเทศที่จำเป็นต้องมีผลงานในทุกปีมิเช่นนั้นอนาคตอาจมืดมลจนจำเป็นต้องเลือกไปใช้บริการจากวารสารประเภท จ่ายครบตีพิมพ์แน่ โดยวารสารลักษณะนี้เป็นของสำนักพิมพ์ที่ถูกเรียกว่า predatory publisher (สำนักพิมพ์นักล่าเหยื่อ) ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ไม่ได้ดำเนินการเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ แต่จัดทำวารสารเพื่อหารายได้เข้าตนเองเป็นหลัก กระบวนการทุกอย่างในการตีพิมพ์รวดเร็วทันใจมาก ในบางกรณีอาจพบว่าตัววารสารนั้นไม่ได้ดำเนินการโดยสำนักพิมพ์ที่เป็นเรื่องเป็นราวแต่มักมีเว็บไซต์ซึ่งดูดี รายชื่อวารสารหลอกลวงเหล่านี้หาดูได้จาก Beall’s list of predatory publishers ซึ่งเป็นรายชื่อวารสารและสำนักพิมพ์ที่เข้าข่ายซึ่งนักวิชาการที่ดีไม่ควรส่งต้นฉบับงานวิจัยไปตีพิมพ์ เพราะถึงตีพิมพ์แล้วผลงานนั้นอาจไม่ได้รับการพิจารณาว่ามีมาตรฐานพอในการขอตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ รายชื่อนี้จัดทำโดยบรรณารักษ์ชื่อ Associate Professor Jeffrey Beall สังกัด University of Colorado สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประสบการณ์ในการทบทวนกระบวนการทำงานและคุณภาพของวารสารจากสำนักพิมพ์จำนวนมาก จนเห็นความแตกต่างของวารสารที่มีคุณภาพและด้อยคุณภาพว่าเป็นอย่างไร อย่างไรก็ดีวารสารที่มีการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มและ/หรือออนไลน์แต่ไม่อยู่ใน Beall’s list นั้นก็ไม่ได้หมายความว่ามีคุณภาพดี แต่เพราะอาจเป็นเพียงวารสารประจำถิ่นที่ไม่ประสงค์ในการเผยแพร่การค้นพบสู่วงการวิชาการระดับนานาชาติ วารสารลักษณะนี้หาดูได้ไม่ยากนักในประเทศที่พัฒนาแล้วได้แค่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถพัฒนาต่อไปให้ดีกว่านี้         ข้อสังเกตง่าย ๆ ของ predatory publishers คือ 1.) เป็น วารสาร online แทบทั้งนั้น อาจมีการพิมพ์เป็นตัวเล่มบ้างเช่นกันพอเป็นกระสาย 2.) มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ในราคาสูง 3.) มีกระบวนการพิจารณาเรื่องเพื่อตีพิมพ์รวดเร็วทันใจ ประเมินต้นฉบับบทความแบบอะลุ่มอล่วยพอเป็นพิธี 4.) สำนักพิมพ์ของวารสารมักตั้งอยู่ในประเทศที่ไม่น่าเชื่อว่ามีความก้าวหน้าทางวิชาการในสาขานั้นๆ แต่หลายสำนักพิมพ์นั้นก็ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา และบางประเทศในยุโรป 5.) วารสารเหล่านี้มักตั้งชื่อให้คล้ายคลึงกับวารสารมีชื่อเสียงที่มีมานานแล้วเพียงแต่ใช้วิธีลวงตา เช่นเติม s ไปท้ายชื่อวารสารเดิมหรือถ้าเดิมมี s ก็ตัดออกเสีย 6.) บทความที่ตีพิมพ์มักใช้ภาษาที่ผิดไวยากรณ์บ้าง สะกดคำผิด เป็นต้น         วารสารประเภท predatory journals นั้นเป็นแหล่งตีพิมพ์ยอดนิยมของคนที่เรียนออนไลน์เพื่อขอรับปริญญาขั้นสูงจากมหาวิทยาลัยห้องแถวในหลายประเทศ ซึ่งเจ้าของบทความไม่ได้เรียนจริงหรือแม้มีวิทยานิพนธ์ก็ใช้วิธีแอบทำสำเนาจากวิทยานิพนธ์ของคนอื่นที่มีการเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ท แล้วนำมาดัดแปลงโดยอาจอาศัยความช่วยเหลือจากมือปืนอาชีพในบางสาขาวิชาแล้วทำรูปเล่มให้ดูดี เพียงเพื่อใช้ลงใน social media ต่าง ๆ เพื่อลวงสังคมว่าได้จบในสาขาวิชาหนึ่งในขั้นสูงแบบเดียวกับคนที่เขาใช้ความพยายามอย่างหนักกว่าจะได้มา คนประเภทนี้มีเสนอหน้ามากพอควรในสังคมโลกปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ยุงกัดต้องจัดการ

        ยุง เป็นสัตว์อยู่คู่บ้านคู่เมืองคนในประเทศแถบร้อนมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้ว เห็นได้จากการที่มุ้งนั้นถูกใช้เป็นเครื่องใช้ประจำบ้าน ยกเว้นบ้านคนที่ทันสมัยหน่อยมีการติดมุ้งลวดพร้อมเครื่องปรับอากาศ ยุงก็ได้แต่คอยกัดเมื่อคนหรือสัตวเลี้ยงเดินพ้นเขตมุ้งลวด ส่วนสัตว์ที่ใหญ่กว่าหมาและแมวนั้นการถูกยุงกัดดูเป็นเรื่องธรรมดา อย่างไรก็ดีความที่คนไทยเป็นคนมีเมตตา จึงหาทางไล่ยุงให้สัตว์เลี้ยงด้วยควันที่ก่อจากเชื้อเพลิงเช่น ฟางข้าว ซึ่งน่ารำคาญมากและจริงแล้วเราไม่รู้เลยว่าได้ผลจริงในการใช้ควันไล่ยุงหรือไม่         การถูกยุงกัดนั้นไม่ได้เป็นเพียงการก่อความรำคาญเท่านั้น แต่นำความตายมาสู่ผู้ถูกกัดได้ เพราะยุงหลายชนิดเป็นพาหะของการก่อโรคร้ายแรง เช่น มาลาเรีย ไข้เลือดออก โรคเท้าช้าง ไข้ปวดข้อชิคุนกุนยา ไข้สมองอักเสบ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เราจึงมักได้รับคำแนะนำว่า ถ้าต้องใช้เวลาทำกิจกรรมนอกบ้านในเวลากลางคืน ควรหาวิธีป้องกันตัวเองจากการถูกยุงกัด ด้วยการแขวนเครื่องดักแมลง (bug zapper) ชนิดที่ใช้แสงจากหลอดแบล็คไลท์ (black light) ไว้ในบริเวณที่ยุงชุม คำแนะนำนี้คือ คำโฆษณาขายสินค้าในโทรทัศน์ที่คนส่วนใหญ่ (รวมทั้งผู้เขียน) เชื่อ         หลักการทำงานของเครื่องดักแมลงชนิดใช้แบล็คไลท์นั้น เมื่อถามอากู๋ (google) แล้วจะได้คำตอบประมาณว่า โดยทั่วไปแล้วมนุษย์เห็นแสงในช่วงความยาวคลื่น 400-800 นาโนเมตร ในขณะที่แมลงเห็นแสงในช่วง 300-600 นาโนเมตร (ซึ่งรวมเอาแสงอัลตราไวโอเลตที่เป็นหลอดแบล็คไลท์สร้างเข้าไปด้วย) ดังนั้นแมลงจึงมองไม่เห็นแสงสีเหลือง ส้ม และแดง ซึ่งเป็นแนวทางว่า ถ้าต้องการใช้แสงสว่างที่ไม่ล่อยุงก็ควรซื้อหลอดไฟสีเหลือง ส้ม หรือแดง ซึ่งมีความสว่างค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับหลอดไฟให้แสงสีขาว ดังนั้นเครื่องดักแมลงจึงใช้หลักการดึงดูดแมลงด้วยแสงอัลตราไวโอเลตที่สร้างจากหลอดแบล็คไลท์ (ราคาไม่แพงนัก) ที่ถูกล้อมรอบด้วยกรงตาข่ายมีกระแสไฟฟ้าแรงดันต่ำแต่พอจะฆ่าแมลงได้ แมลงต่าง ๆ จึงถูกดึงดูดเข้าหาแสงยูวีโดยบินผ่านตาข่ายไฟฟ้าจนถูกไฟฟ้าช็อตตาย ดังนั้นตั้งแต่พลบค่ำจนถึงรุ่งเช้า เจ้าของบ้านที่มีเครื่องดักแมลงวางไว้นอกบ้าน จะได้ยินเสียงแมลงถูกไฟช็อตดังเปรี้ยะ ๆ ก้องกังวานต่อเนื่องอย่างน่าพอใจว่า ได้กำจัดยุงตัวแสบไปบ้างแล้ว         มีข้อมูลมากพอสมควรที่แสดงให้เห็นว่า เครื่องดักแมลงส่วนใหญ่นั้นมีประสิทธิภาพเพียงเล็กน้อยในการล่อยุงมากำจัด และที่แย่กว่านั้นเครื่องดักแมลงมักจะกำจัดแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เช่น แมลงที่เป็นอาหารแก่นก ค้างคาว และปลา เป็นต้น ดังมีบทความเรื่อง Snap! Crackle! Pop! Electric Bug Zappers Are Useless For Controlling Mosquitoes, Says UF/IFAS Pest Expert ในเว็บ https://news.ufl.edu ของ University of Florida ให้ข้อมูลว่า ในช่วงปี 1977 นั้นมีแมลงราว 71 พันล้านตัวซึ่งไม่ใช่แมลงก่อความรำคาญต้องตายไปด้วยเครื่องดักแมลงโดยใช่เหตุทุกปี ซึ่งมีบทความเรื่อง A field evaluation of electrocutors for mosquito control in southern Ontario. ซึ่งพิมพ์แจกจ่ายเป็นเอกสารประกอบการประชุมชื่อ Proceedings of the Entomological Society of Ontario ในปีเดียวกันให้ข้อมูลว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Guelph ได้ทำการศึกษาเพื่อพิจารณาว่า เครื่องดักแมลงมีประสิทธิภาพในการฆ่ายุงและลดจำนวนยุงในจุดที่วางเครื่องหรือไม่ ผลปรากฏว่ามีเพียงร้อยละ 4.1 ของแมลงที่ถูกฆ่าในเครื่องดักแมลงเท่านั้นที่เป็นยุงตัวเมีย (ที่กัดและดูดเลือดมนุษย์) นอกจากนี้ในการศึกษายังพบว่า อุปกรณ์ดังกล่าวได้เชื้อเชิญให้ยุงตัวเมียเข้ามาในบริเวณนั้นมากกว่าพื้นที่ที่ไม่มีอุปกรณ์         ต่อมาในปี 1982 นักวิจัยของ University of Notre Dame สหรัฐอเมริกาได้ทำการศึกษาที่คล้ายคลึงกับงานวิจัยในปี 1977 แล้วตีพิมพ์ผลงานเป็นบทความเรื่อง Failure of an insect electrocuting device to reduce mosquito biting. ในวารสาร Mosquito News ของปี 1983 ซึ่งให้ข้อมูลประมาณว่า เมื่อวางเครื่องดักแมลง 1 เครื่องในเมืองเซาท์เบนด์ รัฐอินเดียนา พบว่าในคืนหนึ่งสามารถฆ่าแมลงได้ 3,212 ตัว แต่ปรากฏว่ามีเพียงร้อยละ 3.3 เท่านั้นที่เป็นยุงตัวเมีย และนักวิจัยยังพบอีกว่า แสงยูวีนั้นดูเหมือนจะดึงดูดยุงต่างๆ เข้าสู่บริเวณนั้นมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การถูกยุงกัดมากขึ้นทั้งคนและสัตว์ที่ต้องอยู่บริเวณนั้น ทำให้ดูเสมือนว่า ยุงได้เลือกให้ความสำคัญต่อปัจจัยอื่นที่ล่อมันจากคนและสัตว์มากกว่าแสงจากหลอดแบล็คไลท์         จริงแล้วยุงตัวเมียหาแหล่งอาหารได้อย่างไร คำตอบนั้นพบได้ในบทความเรื่อง Mosquito receptor for human-sweat odorant ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ในปี 2004 ให้ข้อมูลว่า มนุษย์ สุนัข ม้า นก ตลอดจนสัตว์อื่น ๆ ที่มีอุณหภูมิร่างกายอุ่นคงที่นั้นเป็นแหล่งอาหารของยุงตัวเมีย เนื่องจากในการหายใจออกนั้นได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ดังนั้นเมื่อยุงตัวเมียได้กลิ่นของคาร์บอนไดออกไซด์ผสมกับสารระเหย 1-octen-3-ol หรือ octenol ซึ่งเป็นอัลกอฮอลที่พบได้ในลมหายใจออกและเหงื่อของมนุษย์ในอากาศจึงบินเข้าหา นี่น่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไมยุงตัวเมียจึงชอบเข้าหาคนที่มีเหงื่อเยอะเป็นพิเศษ โดยเฉพาะขี้เมาที่โดนเมียไล่ให้ออกไปนอนนอกบ้าน และมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ยุงที่กระหายเลือดสามารถตรวจจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดคือ มนุษย์ซึ่งอยู่กลางแจ้งได้ไกลถึง 35 เมตร         ในกรณีของกลิ่นเหงื่อนั้นผู้เขียนมีประสบการณ์เองว่า เสื้อผ้าที่ใส่ออกกำลังกายแล้วไม่สามารถซักได้ในวันนั้น ต้องตากค้างคืนในโรงรถเพื่อให้เหงื่อแห้งก่อนหาวันเหมาะๆ ซักนั้น ในตอนเช้าจะพบยุงตอมที่เสื้อผ้าเยอะมากจนต้องเอาไม้ตียุงไปจัดการเป็นประจำ         จากความรู้เกี่ยวกับกลิ่นล่อยุงนั้น ส่งผลให้นักผลิตเครื่องดักแมลงได้ออกแบบสร้างเครื่องดักแมลงชนิดใหม่ที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และออกทีนอลออกมาเพื่อดึงดูดยุงให้บินเข้าหาเครื่องดักแมลงมากขึ้น แต่น่าเสียดายที่มีข้อมูลไม่เป็นทางการกล่าวว่า คาร์บอนไดออกไซด์และออกทีนอลนั้นช่วยเพิ่มจำนวนยุงที่ฆ่าต่อคืนได้เพียงเล็กน้อย แต่กลับดึงดูดยุงเข้าสู่บริเวณวางเครื่องกำจัดแมลงมากขึ้น ดังนั้นหมาที่ต้องนอนนอกบ้านที่วางเครื่องดักยุง จึงถูกยุงกัดมากขึ้น ผู้เขียนได้เห็นโฆษณาทางโทรทัศน์บ้านเราซึ่งอธิบายถึงเครื่องดักยุงแบบที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้วเช่นกัน ในตอนแรกที่ได้เห็นก็คิดเช่นกันว่า น่าลองซื้อมาใช้ดู แต่สุดท้ายคิดว่าลองตากเสื้อผ้าที่เปียกเหงื่อไปวางข้างเครื่องดักแมลงในตอนกลางคืนดีกว่า         จากเอกสารชื่อ Biopesticides Fact Sheet for 1-Octen-3-ol ซึ่งพบได้ในเว็บของ US.EPA นั้น ได้แบ่งรับแบ่งสู้ในประสิทธิภาพของเครื่องดักแมลงแนวใหม่นี้ โดยบอกเพียงว่า สารเคมี (ซึ่งคงหมายถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และออกทีนอล) นั้นไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในปริมาณที่มีการใช้และห้ามโฆษณาว่า ควบคุมปริมาณยุงได้ แต่ยอมให้กล่าวว่า ช่วยกำจัดยุงเพิ่มได้ (The statements do not claim to control mosquitoes, only to make the electronic insect killers more effective.)         ดังนั้นเรายังคงควรเป็นลูกค้าเครื่องดักแมลงหรือไม่ สำหรับผู้เขียนแล้ว เนื่องจากหลายครั้งขณะที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืน มักมีแมลงที่หลุดรอดจากมุ้งลวดเข้ามาก่อกวนการทำงานเป็นประจำ เพราะแมลงมันคงต้องการอ่านข้อมูลที่ผู้เขียนสืบเสาะจากโลกอินเทอร์เน็ตกระมัง ที่สำคัญคือ เวลาแมลงบินผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์นั้นมันมักทำขนจากขา ลำตัวและปีกหลุดลอยในอากาศ ทำให้ผู้เขียนเกิดอาการแพ้โดยเฉพาะตอนหัวค่ำซึ่งแมลงออกมาเยอะมาก ดังนั้นผู้ค้าเครื่องดักแมลงจึงยังได้ผู้เขียนเป็นลูกค้าราวปีละครั้ง เนื่องจากหลอดที่สร้างแสงยูวีนั้นมีอายุใช้งานจำกัด เวลาผ่านไปแมลงมันก็เมินเพราะความเข้มของแสงยูวีลดลง จึงต้องซื้อใหม่เพราะไม่มีปัญญาไปหาหลอดมาเปลี่ยนใหม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ทฤษฎีสมคบคิด โควิด-19 มาจากไหน

        ช่วงเวลาที่คนอเมริกันกำลังติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากในปี 2020 นั้น อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เริ่มเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดว่า โควิด-19 หลุดรอดออกมาจากห้องแล็บในหวู่ฮั่น ส่งผลให้ WHO ต้องส่งทีมงานไปพิสูจน์เรื่องนี้ที่ประเทศจีน แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถสร้างความกระจ่างในเรื่องนี้ได้ อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวแบบไม่เป็นทางการในขณะนั้นว่า นักวิจัยหลายคนของสถาบันไวรัสวิทยาที่หวู่ฮั่นของจีนล้มป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในเดือนพฤศจิกายน 2019 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่นานก่อนที่ทางการจีนยืนยันการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายแรกในเมืองหวู่ฮั่น         กลางเดือนกันยายน 2020 มีข่าวหนึ่งซึ่งแพร่หลายแทบทุกสื่อคือ Yan Li-Meng ออกเสียงแบบจีนว่า เหยียน ลี่-ม่อง ซึ่งเป็นแพทย์ (MD.) และนักจักษุวิทยา (Ph.D.) ชาวฮ่องกงซึ่งลี้ภัยออกจากฮ่องกงไปสหรัฐอเมริกาได้ให้สัมภาษณ์แก่สถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์นิวส์ว่า รัฐบาลจีนรู้เรื่องเกี่ยว covid-19 ตั้งแต่ก่อนมีการระบาด แต่ปกปิดเอาไว้จนเกิดการระบาดไปทั้งโลก นอกจากนี้เธอยังกล่าวหาหัวหน้าของเธอซึ่งเป็นที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกว่า ไม่นำพากับคำเตือนที่เธอบอกให้ระวังเชื้อไวรัสตัวใหม่เกี่ยวกับการติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยหัวหน้าของเธออ้างว่า รัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูล ซึ่งทำให้แพทย์ตามโรงพยาบาลไม่กล้าให้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับคนไข้ที่มีอาการโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันอย่างรุนแรง ส่งผลให้เธอต้องหนีออกไปสหรัฐอเมริกาเพื่อเปิดเผยให้คนทั้งโลกได้รู้ อย่างไรก็ดีข่าวดังกล่าวได้ถูกด้อยค่าลงโดยนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากหลายประเทศ เนื่องจากหลักฐานที่ เหยียน ลี่-ม่อง อ้างถึงนั้นเป็นบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารซึ่งเป็นประเภท preprint ที่ต้องการความรวดเร็วในการเผยแพร่ข้อมูล จึงไม่มีการตรวจทานความถูกต้อง (no peer review)         ครั้นถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2021 เว็บไซต์สำนักงานข่าว Global Times ของจีนได้มีบทความเรื่อง Conspiracy theory or reasonable skepticism? Why we should demand an investigation into US labs for origins of COVID-19 (ประมาณว่า...ทฤษฎีสมคบคิดหรือความสงสัยที่สมเหตุสมผล? ทำไมเราจึงควรเรียกร้องให้มีการสอบสวนห้องทดลองของสหรัฐฯ เพื่อหาที่มาของ COVID-19) ซึ่งกล่าวว่า ชาวจีนกว่า 25 ล้านคนได้ลงนามเพื่ออุทธรณ์ให้มีการสอบสวนห้องปฏิบัติการทางชีววิทยาใน Fort Detrick สังกัดกองทัพบกในสหรัฐอเมริกาในลักษณะเดียวกับที่ WHO ทำกับสถาบันไวรัสวิทยาหวู่ฮั่นของจีน         ในบทความของ Global Times นั้นนักข่าวได้ชี้ถึงเบาะแสและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเอกสารทางวิชาการและรายงานสาธารณะส่วนหนึ่งจากสื่ออเมริกัน ก่อให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการใน Fort Detrick ซึ่งโยงไปถึงความเกี่ยวข้องกับ ดร. ราล์ฟ แบริค (Ralph Baric) ศาสตราจารย์ในภาควิชาระบาดวิทยาและศาสตราจารย์ในภาควิชาจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาที่ University of North Carolina at Chapel Hill ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการปรับแต่งไวรัสให้เปลี่ยนแปลงได้ตามต้องการด้วยเทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรม         ในบทความวิจัยเรื่อง Reverse genetics with a full-length infectious cDNA of severe acute respiratory syndrome coronavirus (ประมาณว่า...การย้อนกลับของระบบพันธุกรรมทำให้ได้ cDNA ที่ก่อการติดเชื้อได้ของไวรัสโคโรนาซึ่งก่อโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันอย่างร้ายแรง) ในวารสาร PNAS หรือ Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America ของปี 2003 โดยคำว่า cDNA ย่อนั้นมาจาก complementary DNA ซึ่งเป็น DNA สายเดี่ยวที่สร้างจาก RNA template โดยอาศัยเอ็นซัม reverse transcriptase ช่วยเร่งปฏิกิริยา งานวิจัยนี้ได้แสดงศักยภาพของเทคนิคที่คิดค้นชื่อ reverse genetics system จนสามารถสังเคราะห์ cDNA แบบเต็มความยาวจากหน่วยพันธุกรรมคือ RNA ของ SARS-CoV สายพันธุ์ Urbani จากเทคนิคดังกล่าวทำให้ทีมวิจัยสามารถสังเคราะห์ไวรัสโคโรนาในกลุ่ม SARS ที่มีการกลายพันธุ์ตามตำแหน่งที่ต้องการขึ้นมาได้ และสุดท้ายผู้เกี่ยวข้องในการทำวิจัยได้ยื่นขอสิทธิบัตรสิ่งที่ค้นพบสำเร็จในปี 2007 (patent code US7279327B2)         นิตยสาร MIT Technology Review ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน 2021 มีบทความเรื่อง Inside the risky bat-virus engineering that links America to Wuhan (ประมาณว่า...ความเสี่ยงที่เชื่อมโยงให้อเมริกาเกี่ยวข้องกับหวูฮั่นนั้นเกิดเนื่องจากไวรัสในค้างคาวที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรม) ได้กล่าวว่า หลังตีพิมพ์ผลงานเกี่ยวกับวิธีสำคัญในการสังเคราะห์ไวรัสได้ในปี 2007 แล้ว ดร.แบริค ได้เริ่มสะสมตัวอย่างไวรัสโคโรนาจากทั่วโลกโดยหวังสร้างไวรัสโคโรนาที่เป็นต้นแบบที่นำไปสู่การพัฒนายาและวัคซีนที่ต่อต้านไวรัสโคโรนาทั้งหลายที่ออกฤทธิ์คล้ายเชื้อไวรัสก่อโรค SARS (ในปี 2013)         เว็บ www.justia.com ให้ข้อมูลว่า (ณ เดือนสิงหาคม 2021 ) ดร.แบริค นั้นถือสิทธิบัตร 13 เรื่องที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับไวรัสที่เป็นอันตราย 3 ชนิด โดยสิทธิบัตรต่างๆ นั้นน่าจะนำไปสู่การสร้างวัคซีนต่อต้านและวิธีการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับไวรัสเช่น สิทธิบัตรเกี่ยวกับ Dengue virus ซึ่งก่อให้เกิดไข้เลือดออก สิทธิบัตรเกี่ยวกับ Zika virus ซึ่งก่อโรคที่มีอาการคล้ายไข้เลือดออกแต่อันตรายน้อยกว่า ยกเว้นในหญิงมีครรภ์ที่ติดเชื้อนี้จะคลอดลูกออกมามีสมองเล็กกว่าปรกติ และสิทธิบัตรการสร้างหนามโปรตีนของไวรัสโคโรนา         ในช่วงปลายปี 2019 มีข่าวซึ่งเป็นที่สนใจไปทั่วโลกว่า ทีมของนักวิทยาศาสตร์จีนนำโดย ดร.ฉี เจิ้งลี่ (Dr. Shi Zhengli) ซึ่งเป็นนักไวรัสวิทยาและรองผู้อำนวยการสถาบันไวรัสวิทยาที่หวู่ฮั่น ในมณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมของ coronavirus ในค้างคาวถ้ำ (Chinese horseshoe bat) ที่จับได้ในมณฑลยูนนาน ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนและพบว่า เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่         มีคลิปวิดีโอใน YouTube เรื่อง Wuhan Lab Scientist Warns Coronavirus Is Just The Tip Of An Iceberg ซึ่งมีใจความสำคัญในการกล่าวเตือนต่อสาธารณะว่า การพบไวรัสโคโรนาชนิดใหม่นี้จำเป็นต้องมีการศึกษาให้ดีเพราะจะต้องหาหนทางป้องกันหากเกิดการระบาดครั้งใหญ่ นอกจากนี้ในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CGTN นั้น ดร.ฉี กล่าวว่า ตัวอย่างไวรัสที่ศึกษานั้นได้รับในวันที่ 30 ธันวาคม 2019 จากนั้นจึงทำการถอดรหัสพันธุกรรมและตั้งชื่อชั่วคราวว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (novel coronavirus) พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลไปยัง WHO ในวันที่ 12 มกราคม 2020 ซึ่งต่อมาในต้นเดือนกุมภาพันธ์จึงเริ่มพบว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มีความเชื่อมโยงกับอาการปอดบวมอย่างหนักของคนไข้ของโรงพยาบาลที่หวู่ฮั่น         กลับไปที่นิตยสาร MIT Technology Review ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน 2021 ซึ่งให้ข้อมูลย้อนหลังถึงการเกี่ยวข้องของ ดร. แบริค ที่นำมาสู่ความน่าสงสัยเกี่ยวกับต้นตอของ SARS-CoV-2 โดยกล่าวว่า ดร.แบริค เคยติดต่อกับ ดร.ฉี เพื่อขอตัวอย่างข้อมูลพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาที่ถูกสะสมในห้องปฏิบัติการของสถาบันฯ เพื่อนำไปใช้ในการวิจัยและทดลองสร้างไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ภายในห้องปฏิบัติการที่อาจแพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้ และสุดท้ายได้มีการตีพิมพ์ข้อมูลความสำเร็จโดยมี ดร.แบริคและ ดร.ฉี เป็นผู้ร่วมวิจัย บทความนั้นชื่อ A SARS-like cluster of circulating bat coronaviruses shows potential for human emergence (ประมาณว่า...ไวรัสโคโรนาที่มีลักษณะคล้ายกลุ่มไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค SARS ในค้างคาวได้แสดงศักยภาพในการก่อโรคในมนุษย์) ในวารสาร Nature Medicine ของปี 2015           บทความใน Nature Medicine ดังกล่าวเป็นการร่วมงานของทีมนักวิจัยจาก University of North Carolina at Chapel Hill และหน่วยงานสำคัญอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงห้องปฏิบัติการของ US.FDA ตลอดถึงนักวิจัยจาก Wuhan Institute of Virology, Chinese Academy of Sciences ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการค้นพบและการตีพิมพ์ผลงานแบบเปิดเผยนั้น อาจสื่อได้ถึงความบริสุทธิ์ใจในการเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับโอกาสของเชื้อไวรัสโคโรนาที่อาจกลายพันธุ์แล้วระบาดในมนุษย์ โดยทีมนักวิจัยได้อธิบายถึงการดัดแปลงรหัสพันธุกรรมของ RNA ส่วนที่สร้างหนามโปรตีนของไวรัส SARS-CoV (ชนิดที่ก่อการติดเชื้อทางเดินหายใจในหนูเม้าส์) ไปเป็นรหัสทางพันธุกรรมที่สร้างหนามโปรตีนของไวรัสสายพันธุ์ SHC014 (ซึ่ง ดร.ฉี ส่งให้ ดร.แบริค) ส่งผลให้ได้ไวรัสสังเคราะห์ชนิดใหม่ (synthetic virus) ซึ่งมีศักยภาพในการก่อการติดเชื้อในคนได้ เพราะไวรัสใหม่มีหนามโปรตีนที่สวมเข้าพอดีกับตัวรับ ACE2 ของเซลล์ซึ่งแยกจากทางเดินหายใจของมนุษย์แล้วเลี้ยงในห้องทดลอง สิ่งที่น่ากังวลประการหนึ่งจากบทความนี้คือ ได้มีการประเมินวิธีการบำบัดการติดเชื้อไวรัสใหม่ด้วยระบบภูมิคุ้มกันชนิดโดยโมโนโคลนัลแอนติบอดีและแนวทางการใช้วัคซีนตลอดจนถึงการใช้ยาที่มีอยู่ในขณะนั้นต่อการต้านเชื้อใหม่แล้ว พบว่าแนวทางที่มีอยู่ขณะนั้นมีประสิทธิภาพต่ำจนถึงล้มเหลวในการจัดการและป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ถูกสังเคราะห์ให้มีโปรตีนหนามแบบใหม่         งานวิจัยที่กล่าวถึงในวารสาร Nature Medicine ของปี 2015 นั้น ได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากหลายแหล่งคือ National Institute of Allergy & Infectious Disease (ซึ่งมี ดร. Anthony S. Fauci เป็นผู้อำนวยการ และมีห้องปฏิบัติการด้านโรคติดเชื้อร้ายแรงในค่ายทหารบก Fort Detrick), National Institute of Aging of the US National Institutes of Health, National Natural Science Foundation of China และ EcoHealth Alliance ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน (ที่ได้เงินสนับสนุนจากหน่วยงานที่มีภารกิจในการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ) โดยมีบทบาทในการปกป้องผู้คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมจากโรคติดต่ออุบัติใหม่          ดังนั้นโดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่า สองประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีเทคโนโลยีด้านชีวภาพสูงนั้นได้มีความร่วมมือในการทำวิจัยเพื่อให้ได้ความรู้เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ที่ถูกทำนายว่า น่าจะก่อหายนะแก่มนุษย์ ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แล้วถึง 4 ปี ผู้เขียนคาดเอาเองว่า อีกไม่นานอาจมีภาพยนตร์ที่สร้างตามพล็อตเรื่องของทฤษฎีสมคบคิดนี้ในแนวทางเดียวกับภาพยนต์เรื่อง Contagion ซึ่งฉายในปี 2011 และมีชื่อไทยว่า สัมผัสล้างโลก

อ่านเพิ่มเติม >