นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 154 ซิมระบบ 1800 เรื่องยุ่งระดับชาติ

14  พฤศจิกายน  2556  ที่ผ่านมา คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน  ได้จัดเวที เสวนา  : 60 วัน ประกาศเยียวยา 1800  MHz  ประชาชน ได้อะไร? :  เพื่อติดตาม  “ประกาศมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ของกสทช.  หลังบริษัทดิจิตอลโฟน  จำกัด(มหาชน) สิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800  MHz   ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2556 ผลการเสวนาทำให้ได้ข้อมูลที่ชวนกลุ้มใจ  โดยประกาศฯ ข้อ 5 ที่เขียนเรื่องสาระที่ต้องคุ้มครองผู้บริโภค  มีประเด็นสรุปได้คือ    1. ห้ามทำให้เกิดซิมดับ 2. ห้ามขายเลขหมายทรูมูฟ(คลื่น1800 เดิม) และ 3. เร่งส่งเสริมและพัฒนาช่องทางให้ผู้บริโภคโอนย้ายเลขหมายไประบบอื่น ให้เร็วขึ้น  โดยห้ามบังคับโอนย้าย  นั้น ปรากฏว่ายังคงมีการขายหมายเลขระบบคลื่น 1800  MHz   อยู่  ตัวแทน ทรูฯ รีบปฏิเสธว่าไม่ได้ขายแล้ว  งานนี้มีเฮ.. เพราะมีการทดลองซื้อซิมมาใส่ต่อหน้านักข่าวกันเลย  ใส่ปุ๊บก็ทดลองโทรเข้าปรากฏว่าใช้ได้เป็นปกติ    ห้ามซิมดับ ยังมีคนมาร้องเรียนเรื่อยๆ ว่าเติมเงินไว้ตั้งหลายเยอะ แต่สัญญาณโทรศัพท์กลับหายไปดื้อๆ  ติดต่อไปกลับได้คำตอบว่า หากไม่มาโอนย้ายไปทรูมูฟ  เลขหมายนั้นก็จะใช้ไม่ได้อีกต่อไป อ้าว..ข้อห้ามที่อ้างว่าออกประกาศนี้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคก็ไม่มีการบังคับใช้จริงนะสิ  เพราะห้ามขาย  ยังขายอยู่ ห้ามซิมดับ  ก็ดับซะงั้น ห้ามบังคับโอนย้าย ยังบังคับโอนไปบริษัทตัวเองหน้าตาเฉย โดยมีหลักฐานยืนยันชัดเจน แล้วลองฟังคำตอบของนายฐากร   ตันฑสิทธิ์ เลขา กสทช. ซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้ประกาศนี้ ท่านตอบสรุปพอได้ดังนี้  1.  เห็นปัญหาแล้วจะรีบไปหาทางแก้ไข  2. โอ้ย...มีคนใช้โทรศัพท์เยอะแยะ  มีคนร้องเรียนแค่ 7-8  พัน คน  น้อยมาก...อยากให้มาร้องกันเยอะๆ  3. ประกาศฯ นี้มีผลบังคับใช้แล้ว  ไม่ใช่ใช้แค่ทรูฯ  แต่จะมีผลให้ดีแทค และ AIS ที่จะหมดสัมปทานใน 2 ปี  ข้างหน้าด้วย (งงมาก ณ จุดๆ นี้) กรณีทรูฯ อาจจะเตรียมการไม่ทันจึงต้องขยายระยะเวลา(ประเทศเสียหายหลายล้านบาท)  แต่อีก 2 บริษัท มีเวลาอีกตั้ง 2 ปี  ทำไมต้องใช้ประกาศนี้ด้วย  คำตอบคือ  ขยายเวลาให้ทรูแล้วก็ต้องขยายให้ทุกเจ้าไม่งั้น จะถูกฟ้องว่าเลือกปฏิบัติ อ้าว....ตกลงที่ขยายให้ทรูฯ นี่เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค หรือเตรียมการไว้รองรับการหมดสัญญาฯ ของผู้ให้บริการโทรคมรายใหญ่กันแน่ ผู้บริโภคหลายคนลุกขึ้นโวยว่าประกาศที่ไม่บังคับใช้ ประกาศทำไม?  ท่านเลขาฯ ก็ตอบแบบอ้อมๆ แอ้มๆ  ว่าจะดูให้ๆ  นี่มันผ่านมาแล้วเกือบ 70  วันผู้บริโภคยังคงถูกเอาเปรียบ  โดยที่ (กสทช.) ที่เป็นกรรมการทำเป็นมองไม่เห็น  นายกำชัย  น้อยบรรจง  ผู้จัดการสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสระบุรี  เลยลุกขึ้นมาประกาศกลางวงว่าจะเป็นโจทย์ฟ้อง กสทช. ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก็ต้องคอยดูกันต่อไปนะงานนี้สนุกแน่  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 154 เสียงผู้บริโภค

ซื้อของบนโลกออนไลน์ เพื่อต้อนรับเทศกาลปีใหม่ สำหรับคนที่ชอบซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตทั้งจากหน้าเว็บและผ่านทางเฟซบุ้ค เรามีเรื่องมาฝากเพื่อเป็นบทเรียนสำหรับการตัดสินใจซื้อของทุกท่าน ธรรมดาเวลาจะซื้อหาสินค้าอะไรสักชิ้น หลายท่านยังนิยมไปดูสินค้าที่ร้านเพื่อจะได้พิจารณาแบบเห็นหน้าตาก่อน ได้ลองใช้รวมทั้งต่อรองราคา แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป บางร้านค้าก็เปิดขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ตด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางให้กับผู้บริโภค ที่จะได้เห็นสินค้าของตนได้สะดวกขึ้น รายละเอียดก็ดูจากภาพที่ลง รวมทั้งโทรสอบถามต่อรองราคากันก็ได้ แน่นอนว่าการระบุคุณสมบัติและรายละเอียดตลอดจนราคาขาย ถือเป็นการโฆษณาหรือสัญญาแบบหนึ่งที่ทางผู้ประกอบการได้ให้กับผู้บริโภค ถ้าหากสั่งซื้อมาแล้วได้ไม่ตรงกับคุณสมบัติที่ระบุ ผู้ซื้อย่อมมีสิทธิเต็มในการคืนสินค้า แต่เรื่องมันก็ไม่ได้ง่ายและตรงไปตรงมาเสมอไป   เรามีสองเรื่องมานำเสนอในกรณีซื้อสินค้าผ่านทางโลกออนไลน์ ซื้อเตาขนมเครปทางเน็ต มันหนักจนรับไม่ไหว เรื่องนี้ร้องทุกข์ผ่านมาทางกระทู้ร้องทุกข์ เนื่องจากผู้ร้องกำลังศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา วันหนึ่งคุณปาริชาติผู้ร้อง เกิดสนใจเตาทำขนมเครปใช้แก๊สแบบ 2 หัว ที่โฆษณาอยู่บนหน้าเว็บของร้านขายเตาขนมเครปเข้า สมมติว่า ชื่อร้าน GAS ล่ะกัน โดยติดต่อเข้าไปที่ร้านโดยตรงเรียกว่า ลงทุนโทรศัพท์ข้ามประเทศเพื่อให้มั่นใจ ความที่อยู่อเมริกา ถ้าจะเอาเตานี้ไปใช้ได้คงต้องฝากเพื่อนหิ้วมาให้ ช่วงนั้นก็พอดีมีเพื่อนกำลังจะมาอเมริกา และเตาดังกล่าวก็ระบุคุณสมบัติบนหน้าเว็บชัดเจนว่า 12,000 กรัม ซึ่งก็คือ 12 กิโลกรัม น้ำหนักถือว่าผ่านหิ้วเข้าไปไม่ผิดกฎสายการบินที่ต้องไม่เกิน 23 กิโลกรัมต่อกระเป๋า 1 ใบ “ถามทางโทรศัพท์หลายครั้งว่า 12 กิโลแน่ๆ นะ เพราะไม่อยากพลาดจุดนี้ ทางร้านก็ยืนยันหนักแน่นว่า 12 กิโลแน่นอน” คุณปาริชาติจึงสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวเป็นเงินจำนวน  13,150 บาท (สินค้า 12,900+250 ค่าขนส่ง) โดยต้องทำเรื่องโอนเงินสองต่อคือให้ญาติก่อนแล้วให้ญาติโอนให้ทางร้านอีกที คุณปาริชาติขอให้ร้านไปส่งที่บ้านเพื่อนคนที่จะหิ้วมาอเมริกาให้ บ้านเพื่อนอยู่ราชบุรี การส่งของไม่มีปัญหา มามีปัญหาเมื่อเพื่อนสงสัยว่า มันคงไม่ใช่สิบสองกิโลกรัมแล้วล่ะ เพราะมันหนักมาก เมื่อลองชั่งน้ำหนักดู โอ้แม่เจ้า เตาเครปสองหัวนี้หนัก 36.3 กิโลกรัม หนักขนาดนี้หิ้วไปไม่ไหวแน่และไม่ผ่านด่านด้วย “ลองแจ้งไปทางร้านนะคะ คิดว่าเขาอาจจะส่งสินค้าผิด เขาบอกไม่ผิด อ้าว งั้นที่ผิดก็คือน้ำหนักที่ทางร้านเขาแจ้งไว้บนหน้าเว็บนะสิ” พอท้วงกับทางร้านว่าเราไม่เอามาใช้ไม่ได้นะ น้ำหนักมันเกินไปมาก ทางร้านจึงเสนอทางเลือกให้เอาแบบเตาเครปหัวเดียวแทนไหม แล้วจะคืนเงินส่วนต่างให้ “กลัวจะซ้ำรอยเดิมค่ะ เลยย้ำว่าหัวเดียวมันหนักเท่าไหร่ เขาแจ้งว่ามันหนัก 7 กิโลกรัม พอถามว่า 7 จริงหรือเปล่า เขาก็บอกว่าข้อมูลมาจากคู่มือไม่ผิดแน่ เราเลยขอให้เขาชั่งน้ำหนักใหม่ ปรากฏว่า เตาหัวเดียวมันก็หนักถึง 28 กิโลกรัมค่ะ” เรียกว่าแจ้งน้ำหนักผิดทุกอย่าง ทุกรายการ คุณปาริชาติจึงขอคืนสินค้าและให้ทางร้านโอนเงินคืนให้ โดยยอมจ่ายค่าเสียเวลาให้ทางร้านจำนวน 1,000 บาท แต่ทางร้านไม่ยอมขอหักเงิน 20% (ประมาณ 2,630 บาท) และต้องเอาเตาหนักๆ นั้นมาส่งคืนเรื่องเองด้วย จึงจะคืนเงินให้ “รู้สึกว่าทางร้านเขาเอาเปรียบมากเกินไป มันเป็นความผิดพลาดของทางร้าน แต่เขาไม่ยอมรับผิดชอบอะไรเลย เราต่างหากเป็นฝ่ายเสียหาย เสียทั้งเงิน ทั้งเวลา ค่าโทรศัพท์ระหว่างประเทศอีกเป็นร้อยครั้ง เราก็ไม่ได้จะเอาเงินคืนเต็มจำนวนด้วยซ้ำจะยอมให้หัก 1,000 บาทด้วยซ้ำ แต่ 20% ไม่ไหว ไหนจะต้องส่งของคืนร้านอีกจะทำได้ยังไง เพื่อนก็ไม่สะดวกทำให้เพราะของมันหนักมาก” การแก้ไขปัญหา เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดของทางร้านเต็มๆ เพราะโฆษณาอันเป็นเท็จทำให้ผู้ซื้อเกิดความเข้าใจผิดในสินค้า การขอเงินคืนรวมทั้งเรียกร้องสิทธิเพิ่มในเรื่องของค่าเสียเวลา ค่าใช้จ่ายต่างๆ สามารถทำได้ แต่ผู้ร้องคงไม่อาจดำเนินการได้สะดวก จึงต้องใช้การเจรจาต่อรอง การพูดคุยแน่นอนว่า ทางผู้ประกอบการคงอึดอัดและไม่อยากยอมลงให้กับผู้บริโภคง่าย โดยดำเนินการคืนเงินให้ผู้ร้องแต่หักไว้ 20% ในการเจรจาจำเป็นต้องพูดกับคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งทางศูนย์พิทักษ์สิทธิได้คุยกับเจ้าของร้านโดยตรง  ทางร้านแจ้งว่า ตนเองก็เสียหายเพราะต้องรับค่าขนส่งพันกว่าบาท ทางศูนย์ฯ พยายามไกล่เกลี่ยขอให้ทางร้านเข้าใจผู้ร้องบ้าง เพราะก็ไม่ได้ทำผิดอะไรเช่นกัน และทางผู้ร้องไม่ได้เรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม(ซึ่งทำได้) เพียงแต่ขอเงินคืนส่วนที่หักไป 20% ถ้าทางร้านสั่งซื้อสินค้าจากที่อื่นแล้วได้ของที่ไม่ต้องการก็คงไม่อยากรับเหมือนกัน เรื่องนี้ขอให้ทางร้านช่วยพิจารณาเพื่อหาข้อยุติให้กับปัญหานี้จะได้ไม่ยืดเยื้อต้องฟ้องร้องกัน และทางร้านเองก็มีชื่อเสียงน่าจะรักษาลูกค้าไว้ สุดท้ายทางร้านก็คืนเงิน 20% ให้กับคุณปาริชาติ ซึ่งเธอดีใจมากและขอบคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยให้ “ขอชื่นชมที่แม้เป็นองค์กรไม่แสวงกำไร แต่ทำงานเร็วมากค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้ และขออนุญาตบริจาคเงินสนับสนุนกิจกรรมมูลนิธิฯ นะคะ จะได้ช่วยคนอื่นต่อไป”   เครื่องปั๊มวันที่ ต้องการสองแถว แต่ได้มาแถวเดียว ผู้ร้องรายนี้ปรึกษามาทางออนไลน์เช่นกัน ปัญหาของผู้ร้องคือ อยากได้เครื่องปั๊มวันที่บนซองบรรจุอาหาร ตอนแรกเห็นผ่านเฟซบุ้คหนึ่งแต่เขาไม่มีของให้ แต่แนะนำเว็บไซด์หนึ่งให้ จึงตามไปที่เว็บดังกล่าวเมื่อคุยไปตามเบอร์โทรบนหน้าเว็บ พร้อมทั้งส่งภาพวิดีโอลักษณะของเครื่องปั๊มที่อยากได้ไปให้ทางผู้ขายดู ทางนั้นก็บอกให้มารับของได้เลย จึงให้หลานไปรับสินค้าและจ่ายเงินไป 2,900 บาท แต่เมื่อหลานนำกลับมาปรากฏว่าเป็นเครื่องปั๊มคนละแบบกับที่อยากได้ เพราะเป็นแถวเดียว แถมเป็นภาษาจีน ไม่ใช่แบบสองแถวที่ส่งภาพวิดีโอไปให้ดู “รีบโทรกลับไปเพื่อขอเปลี่ยนเพราะไม่ใช่ของที่เราต้องการ นอกจากไม่ยอมเปลี่ยนให้แล้ว อ้างว่าหลานเห็นของแล้ว คนขายยังด่าว่าอย่างหยาบคายกลับมาและท้าให้ไปแจ้งความอีกด้วย”   การแก้ไขปัญหา เมื่อได้ติดต่อกลับไป พบว่าผู้ร้องไม่อยากเอาความต่อแล้ว เพราะรับไม่ได้ที่โดนว่าอย่างหยาบคายและยังมามาราวีต่อให้หน้าเฟซบุ้คของบริษัทด้วย “จริงๆ ก็ตั้งใจจะเปลี่ยนเป็นสินค้าอื่น แต่พอเจอคนขายแบบนี้ก็ไม่อยากค้าขายด้วยแล้ว ของมูลค่าไม่มาก ช่างมันเถอะ” เจอคนขายแบบนี้เข้าไป เล่นเอาขยาดกันไปทีเดียว ดังนั้นหากว่าสั่งซื้อสินค้าใดไปแล้ว เกิดได้สินค้าที่ไม่ตรงกับรายการที่ทางผู้ขายแสดง หรือผู้ขายทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสินค้า เราสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ แต่ว่าการใช้สิทธิในบ้านเรายังติดๆ ขัดๆ เพราะผู้ประกอบการไม่ค่อยรับผิดชอบ ผู้บริโภคเองก็ถูกคุกคาม บางทีก็เสียเวลา เสียเงินทองจนเลยมูลค่าของสินค้าไปมาก ผู้ร้องที่จะฝ่าด่านเหล่านี้ไปได้จึงมีอยู่ไม่มาก ดังนั้นผู้ประกอบการที่แย่ๆ จึงยังคงแย่อยู่ได้ตลอดโดยไม่มีการปรับปรุง   โอนเงินแล้ว บอกไม่ได้รับ แล้วใครจะรับผิดชอบระหว่างธนาคารหรือคนรับโอน ธุรกรรมทางการเงินที่สะดวกและหลากหลายช่องทางในปัจจุบัน ช่วยสร้างความคล่องตัวให้กับผู้บริโภคและภาคธุรกิจอย่างมากมาย แม้แต่ธุรกรรมอย่างการโอนเงิน ไม่ต้องไปหน้าเคาน์เตอร์หรือตู้เอทีเอ็มเราก็สามารถทำผ่านอินเตอร์เน็ตได้เช่นเดียวกัน คุณเขมวิภากับน้องสาวสนใจจะเข้าอบรมเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะจัดอบรมกันที่จังหวัดพัทลุงโดยบริษัทโซล่า เซล แห่งหนึ่ง ซึ่งจะจัดในวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา เธอจึงโอนเงินจำนวน 5,500 บาทผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้ง จากบัญชีธนาคารทหารไทยของเธอไปที่ธนาคารกรุงไทยของผู้รับโอน ซึ่งก็คือตัวแทนบริษัทโซล่า เซล ดังกล่าว ในตอนเย็นของวันที่ 24 ตุลาคม วันที่ 25 ตุลาคม ระบบเอสเอ็มเอสได้แจ้งเข้ามาที่มือถือยืนยันว่า การโอนเงินสำเร็จ โดยแจ้งทั้งทางมือถือผู้โอนและผู้รับโอน พอวันที่ 26 ไปถึงหน้าห้องอบรม ปรากฏว่า ทางผู้จัดบอกว่า “ยังไม่ได้รับเงิน” (ไม่มีเงินในบัญชี) จึงไม่อนุญาตให้เข้าอบรม “ดิฉันร้อนใจโทรไปสอบถามทางคอลเซนเตอร์ 1558 พนักงานยืนยันว่ารายการสำเร็จเรียบร้อย แต่ถ้าอยากให้เช็ครายละเอียดขอเวลาสักหน่อย” คุณเขมวิภาเห็นว่าไหนๆ ก็มาถึงที่แล้ว ไม่เข้าอบรมไม่ได้ จึงให้น้องสาวกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มมาจ่ายให้กับทางผู้จัดการอบรม และขอให้ทำหนังสือว่าได้รับเงินจำนวนนี้ไว้แล้ว ระหว่างที่อบรมน้องสาวของคุณเขมวิภาได้ไปติดต่อกับธนาคารทหารไทยสาขาพัทลุงให้ช่วยตรวจสอบ แต่ถูกปฏิเสธบอกไม่มีอำนาจต้องรอคอลเซนเตอร์ ซึ่งต้องใช้เวลาสำหรับการตรวจสอบถึง 7 วัน วันที่ 1 พฤศจิกายน ครบ 7 วันคอลเซนเตอร์ไม่โทรมา คุณเขมวิภาต้องโทรไปเอง คำตอบเดิมคือยืนยันว่า การโอนเงินสำเร็จ เงินไปอยู่ในบัญชีผู้รับแล้วดึงกลับมาไม่ได้ “ดิฉันโทรกลับไปทางผู้จัดการอบรม ทางนี้ก็ยืนยันว่า ไม่มียอดเงินเข้า แต่ไม่ยอมแสดงหลักฐานบัญชี บอกแต่ว่าเป็นเอกสารของบริษัท แต่ส่งจดหมายเพื่อเป็นเอกสารยืนยันกับดิฉันว่า ไม่ได้รับเงินจริงๆ” คุณวิภาจึงต้องย้อนไปธนาคารอีกครั้งเพื่อยื่นเรื่องให้ตรวจสอบและคืนเงิน ทางธนาคารแนะนำให้ไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการตรวจสอบ เมื่อรอผลการตรวจสอบทางสำนักงานใหญ่ธนาคารยืนยันเหมือนเดิมว่า รายการโอนสำเร็จ “ตอนนี้ดิฉันเริ่มหงุดหงิดแล้วค่ะ จึงโทรไปหาบริษัทฯ บริษัทฯ ก็ปฏิเสธเช่นเดิม และขอให้เอาหลักฐานมาแสดงว่าเงินเข้ายังบัญชีปลายทางจริงๆ ทั้งสองฝ่ายต่างปฏิเสธแล้วคนที่เสียหายอย่างดิฉัน จะไปเอาเงิน 5,500 บาทนี้ คืนจากใครค่ะ”   การแก้ไขปัญหา เมื่อพิจารณาจากความเป็นไปได้แล้ว ทางฝ่ายธนาคารน่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนกว่าทางบริษัทฯ ที่ไม่ยอมแสดงหน้าบัญชีให้เห็นว่า มีรายการโอนเงินเข้าในเวลาและจำนวนดังกล่าวตามที่ทางธนาคารทหารไทยยืนยัน ทางศูนย์พิทักษ์ฯ จึงแนะนำให้คุณเขมวิภา ทำหนังสือถึงบริษัทอย่างเป็นทางการเพื่อขอคืนเงิน โดยระบุเนื้อหาและเอกสารที่ยืนยันว่าการโอนเงินนั้นสำเร็จ โดยทางศูนย์ฯ ได้ช่วยประสานกับทางบริษัทฯ ด้วย เพราะถ้าหากบริษัทยืนยันว่า ทางตนเองไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวควรแสดงหลักฐานยืนยัน หากไม่มีหลักฐานก็ควรคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้กับผู้บริโภคเพราะทางบริษัทฯ ได้รับเงินสดสำหรับเป็นค่าอบรมไปแล้ว สุดท้ายบริษัทก็คืนเงินจำนวน 5,500 บาทให้กับคุณเขมวิภาเรียบร้อย แต่เงินจำนวนนี้ไปค้างอยู่กับบริษัทถึง 13 วัน (25 ตุลาคม – 6 พฤศจิกายน) แหม มันน่าเอาเรื่องต่อจริงๆ   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 153 ทำบัตร ATM แต่ถูกยัดเยียดให้ซื้อประกันพ่วงด้วย

พอดีผู้เขียนได้รับคำปรึกษาของผู้บริโภคท่านหนึ่งจากจังหวัดอยุธยา  กรณีการถูกยัดเยียดขายประกัน  ก็เลยได้พูดคุยรายละเอียดกัน  จึงได้ทราบว่าเหตุเกิดจากคุณ อ๋อ(นามสมมุติ)มีความประสงค์จะทำบัตร ATM เพื่อความสะดวกด้านการเงิน   ก็เลยตัดสินใจเดินเข้าไปที่ ธนาคารกรุงไทย สาขาอยุธยา   และแจ้งความประสงค์ต่อพนักงานธนาคาร พนักงานแจ้งข้อมูลว่า หากคุณอ๋อต้องการทำบัตรATM ในวันนี้  คุณอ๋อ ต้องซื้อประกันอุบัติเหตุพ่วงไปด้วย   คุณอ๋อบอกว่า “อ๋อ งง..มาก” เพราะความตั้งใจคือต้องการแค่บัตรเพื่อความสะดวก ทำไม! ต้องถูกบังคับให้ซื้อประกันด้วย  คุณอ๋อ จึงปฏิเสธพร้อมยืนยันว่าต้องการทำแค่บัตรATM อย่างเดียว   พนักงานจึงแจ้งว่าหากจะทำบัตร ATM   อย่างเดียว วันนี้ทำไม่ได้เพราะบัตรหมด เหลือแต่บัตรที่บวกประกันด้วย  หากยืนยันจะทำแค่ ATM  คุณอ๋อต้องมาใหม่วันหลัง   ตกลงวันนั้นคุณอ๋อต้องกลับบ้านมือเปล่า   แต่คุณอ๋อก็ยังไม่ละความพยายามที่จะทำ    เดินทางไปที่ธนาคารอีกหลายครั้ง  แต่ก็ได้คำตอบเดิม  คือบัตรหมด  ยังไม่มา  มีแต่บัตรที่พ่วงประกัน   สุดท้ายคุณอ๋อก็ไม่ได้ทำบัตรATM คำถามที่ตามมาก็คือ “เกิดอะไรขึ้นที่ธนาคาร” ที่เกิดเหตุนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากปัจจุบันธนาคารหันมาทำธุรกิจประกันภัย  และการทำธุรกิจนี้ทำให้เกิดตัวชี้วัดกับพนักงาน  ว่าแต่ละคนต้องขายประกันได้กี่ราย   หรือไม่?  ที่เป็นสาเหตุของปัญหาที่เขียนไว้เบื้องต้น   หากเป็นจริง  คนที่เดือดร้อนคือผู้บริโภค ที่ถูกละเมิดสิทธิตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค  ในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ   การที่ผู้บริโภคถูกผู้ให้บริการใช้เทคนิคยัดเยียดบริการผู้บริโภคโดยมิได้สมัครใจเยี่ยงนี้    คำถามที่ตามมาคือ ปัญหานี้ ใครมีหน้าที่ดูแลและควบคุม  เพราะปรากฏการณ์เช่นนี้   น่าจะไม่ได้เกิดที่ธนาคารใดธนาคารหนึ่ง  แต่เกิดขึ้นเกือบทุกธนาคารในประเทศไทย  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงหนีไม่พ้นธนาคารแห่งประเทศไทย  ที่ต้องออกกฎ ระเบียบมาควบคุมการให้บริการของธนาคาร  ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้ผู้บริโภคมาเผชิญชะตากรรมอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ขณะนี้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน  ได้เดินหน้าเรื่องนี้ อย่างเต็มกำลังโดยสรุปสถานการณ์ปัญหาพร้อมเสนอแนะวิธีแก้ไข ต่อธนาคารแห่งประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 7  ตุลาคม 2556  ผู้บริโภคอย่างเราๆ คงต้องคอยเฝ้าระวังว่าปัญหาเหล่านี้จะถูกคลี่คลายหรือเพิ่ม  คนที่ให้ข้อมูลที่ดีที่สุดคือผู้บริโภคที่ประสบปัญหานั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 153 เสียงผู้บริโภค

มะเร็ง บัตรทองและการส่งต่อผู้ป่วย มะเร็งเป็นโรคร้ายที่มีคนไทยป่วยเป็นจำนวนมากและคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คุณวิภาก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ต้องเผชิญหน้ากับโรคร้ายแรงนี้และคาดหวังถึงการรักษาที่จะช่วยให้เธอผ่านพ้นความเจ็บป่วยนี้ไปได้ คุณวิภามีสิทธิในบัตรทองหรือสิทธิการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยามเจ็บไข้เธอมักจะไปใช้บริการการแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเสมอ โดยจ่ายเงินเองไม่พึ่งระบบหลักประกัน แต่ในการตรวจรักษาครั้งล่าสุดจากอาการเลือดออกทางช่องคลอด แพทย์วินิจฉัยว่าเธอเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3 ซึ่งการรักษาพยาบาลต้องทำอย่างต่อเนื่องและมีค่าใช้จ่ายสูง แพทย์จึงแนะนำให้เธอติดต่อกับสถานพยาบาลต้นสังกัดที่เธอมีสิทธิในระบบหลักประกันเพื่อลดภาระในเรื่องค่ารักษาพยาบาล ปัญหาแรกคือ เธอไม่แน่ใจว่าเธอมีสิทธิบัตรทองที่สถานพยาบาลไหน ปัญหานี้แก้ไม่ยากเพราะเพียงตรวจสอบจากฐานข้อมูล ก็พบว่าเป็นสถานพยาบาลใด ปัญหาที่สองคือ เมื่อสามีพาเธอไปติดต่อเพื่อขอรับการรักษาสถานพยาบาลดังกล่าว ทั้งสองพบว่าสถานพยาบาลแห่งนี้ไม่มีศักยภาพพอในการรักษาโรคร้ายของเธอ จึงร้องขอให้ทางสถานพยาบาลทำเรื่องส่งต่อ โดยประสงค์ให้ส่งต่อไปรักษาตัวที่ รพ.รามาธิบดี ซึ่งคุณวิภาคุ้นเคยและมีประวัติการตรวจวินิจฉัยโรคพร้อมอยู่แล้ว แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยบอกเพียงว่าจะทำเรื่องส่งตัวผู้ป่วยให้ไปรักษาที่สถาบันมะเร็งเท่านั้น ถ้าจะรักษาที่รามาธิบดีผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง   สามีของคุณวิภาจึงโทรศัพท์มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และขอให้ช่วยเหลือให้ทางสถานพยาบาลต้นสังกัดทำเรื่องให้ภรรยาได้เข้ารับการรักษาที่ รพ.รามาธิบดี   การแก้ไขปัญหา ในเบื้องต้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้ประสานไปยังสถานพยาบาลที่คุณวิภามีสิทธิบัตรทองอยู่ ทราบข้อมูลตรงกับที่สามีคุณวิภาร้องเรียนมา แต่ทางสถานพยาบาลแห่งนี้แจ้งว่า ไม่สามารถทำตามประสงค์ของผู้ร้องได้เนื่องจาก รพ.รามาธิบดีไม่ได้เป็นโรงพยาบาลในเครือข่าย หากเกินกว่าความสามารถในการรักษาทั้งระดับสถานพยาบาลปฐมภูมิและทุติยภูมิ จะส่งต่อไปที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถานพยาบาลในเครือข่ายเท่านั้น   หากผู้ป่วยยังยืนยันจะรักษาพยาบาลที่ รพ.รามาธิบดี ก็ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง โดยไปทำเรื่องตามขั้นตอนการย้ายสิทธิกับทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เรื่องการส่งตัวนี้เป็นหนึ่งในปัญหาที่ทาง สปสช.ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดปัญหาหนึ่ง ซึ่งยังคงต้องมีการสื่อสารให้ผู้มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าใจ ในระบบของบัตรทองหรือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะมีลำดับขั้นของการดูแลรักษา คือถ้าสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิหรือคลินิกใกล้บ้านใกล้ใจ ไม่สามารถรักษาได้ จะส่งต่อการรักษาไปที่โรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ ซึ่งมีอุปกรณ์ที่รักษาผู้ป่วยได้ หากยังรักษาไม่ได้อีกจึงจะส่งต่อไปรักษาในสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงสุด ซึ่งอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน โดย สปสช.จะติดตามดูแลค่ารักษาของผู้ป่วยไปตามสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยถูกส่งตัวไปรักษา เมื่ออธิบายให้ทั้งคุณวิภาและสามีเข้าใจ ทั้งสองก็ยินดีให้ทางสถานพยาบาลทำเรื่องส่งตัวคุณวิภาไปรักษาที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ แต่สามีคุณวิภาก็แอบกังวลว่า ภรรยาอาจต้องรอคิวการรักษานานแล้วจะทำให้อาการของภรรยาทรุดหนักลง ซึ่งปัญหานี้ทางสถานพยาบาลตามสิทธิของคุณวิภาได้ช่วยประสานกับทางสถาบันมะเร็งฯ เป็นที่เรียบร้อย และเร่งทำใบส่งตัวให้อย่างเร็วที่สุด ปัจจุบันคุณวิภาได้เข้ารับการรักษา ณ สถาบันมะเร็งแห่งชาติแล้ว     ความอึดอัดของผู้บริโภค กรณี เครื่องทำน้ำอุ่นได้น้ำร้อนเกินไป เรียน บรรณาธิการ นิตยสารฉลาดซื้อ ผมเป็นสมาชิกฉลาดซื้อครับ ได้ซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นยี่ห้อฮิตาชิ รุ่น HES-35R(BL) จากพาวเวอร์บาย สาขา โรบินสันแฟชั่นไอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 ราคา 3,676 บาท โดยชำระเป็นเงินสด หลังจากใช้เครื่องได้พบความผิดปกติ คือ แม้จะปรับระดับวอลุ่มที่ต่ำสุด แต่น้ำมีความร้อนสูง จึงได้แจ้งไปยังศูนย์ซ่อมฮิตาชิ คือ หจก. เค.เอ็นวี.เอ็นจิเนียริ่ง ในวันที่ 8 ตุลาคม ทางศูนย์ฯ ได้ส่งช่างมาตรวสอบและดำเนินการเปลี่ยนแผงวงจรให้ใหม่ แต่อาการดังกล่าวยังไม่หายช่างแจ้งว่าต้องเปลี่ยนตัวปรับวอลุ่มด้วยจึงจะหาย ในวันที่ 18 ตุลาคม ศูนย์ฯ ได้เข้ามาเปลี่ยนให้ แต่ช่างแจ้งว่าอาการยังเป็นเหมือนเดิม ในที่สุดช่างของ บ.ฮิตาชิ สำนักงานใหญ่ก็มาเอง ปรากฏว่า เรียกผมเข้าไปทดสอบดูว่าใช้ได้แล้ว ซึ่งก็จริงเพราะเปิดปุ๊บไม่ร้อนปั๊บ แล้วช่างก็พากันกลับไปโดยแจ้งว่าจะต้องเข้ามาเปลี่ยนอะไหล่ให้อีกตัวหนึ่ง แต่พอตกตอนค่ำผมเข้าไปอาบน้ำ ปรากฏว่าใช้ไปสักพัก น้ำก็มีความร้อนสูงทั้งที่ปรับวอลุ่มอยู่ต่ำสุดแล้ว ผมจึงแจ้งไปยัง บริษัท ฮิตาชิเซลส์(ประเทศไทย)จำกัด ให้ดำเนินการเปลี่ยนเครื่องตัวใหม่ เนื่องจากลูกค้าไม่สบายใจต่อคุณภาพและประสิทธิภาพของเครื่องเดิม เพราะซ่อมหลายครั้งไม่หาย ไม่นานทางฮิตาชิก็อนุมัติให้พาวเวอร์บาย สาขาแฟชั่นฯ เข้ามาเปลี่ยนสินค้าตัวใหม่ให้ ในวันที่ 30 ตุลาคม แต่พอติดตั้งเสร็จช่างไม่ได้ให้ใบรับประกันตัวใหม่ เมื่อผมทวงและดูเลขเครื่องจากใบรับประกันกลับไม่ตรงกัน เพราะยังเป็นฝาครอบอันเก่า ฝักบัวอันเก่า(เข้ามาเปลี่ยนฝาครอบให้ แต่ไม่รู้ว่าเครื่องข้างในอันเก่าด้วยหรือเปล่า) ผมจึงถามช่างว่าตกลงได้เปลี่ยนเครื่องให้ผมจริงหรือเปล่า ผมยังโทรไปแจ้งทั้งทางบริษัทฮิตาชิกับพาวเวอร์บาย ซึ่งก็เพียงแค่รับฟัง จึงเรียนมายังผู้บริโภคว่าก่อนซื้อสินค้าอะไรพิจารณาให้จงดีก่อนว่าบริษัทฯ เขาเก่งเรื่องอะไร บทเรียนนี้ได้รับรู้เรื่องการปัดความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ(ทั้งพาวเวอร์บายและฮิตาชิ) บรรยากาศจะผิดกันมากระหว่างก่อนซื้อและหลังซื้อครับ เพราะเขาทำงานกันเป็นทีมจริงๆ จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาเผยแพร่เป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้บริโภค สมาชิก 5464 ปล. ผมไม่เรียกร้องอะไรแล้วครับ เพราะเสียทั้งเงิน 320+เวลา+ค่าโทรศัพท์ เลยไปซื้อเครื่องใหม่มาติดแทน   ไม่พบว่าคุณสมาชิก 5464 จะทำผิดขั้นตอนตรงไหนในการใช้สิทธิ แต่นั่นแหละสุดท้ายซื้อใหม่อาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด? ขอบคุณที่เขียนมาเล่าประสบการณ์ให้ทราบนะคะ   ซื้อคอนโดมาใหม่ 1 ปี ร้าวทุกเดือนทำยังไงดี เรื่องมาทางกระทู้ร้องเรียนในเว็บ consumerthai.org ผู้บริโภคคงเหลืออดจริง จึงโพสต์ร้องทุกข์และระบายความคับข้องใจมาได้แสบๆ คันๆ แท้ คุณบุญโพสต์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 55 ว่า ซื้อคอนโดของ AP มา 1 ปี ร้าวทุกเดือนทำยังไงดี เป็นคอนโดใหม่เพิ่งสร้างเสร็จชื่อ Life 18 หลังจากโอนเข้าอยู่มีร้าวแทบทุกเดือนไม่หยุด รอยล่าสุดเพิ่งเกิดเดือนนี้ตรงขอบประตูทางเข้าห้อง โครงการฯ แจ้งหมดประกันเมื่อไหร่ลูกบ้านก็ไปซ่อมเอง น่ากลัวจัง ตอนที่ซื้อ sale บอกเป็นแบรนด์เดียวกับแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ดูโครงการก็น่าเชื่อถือ แต่พอเข้าอยู่ ปัญหาร้าวไม่เว้นแต่ละเดือน ซ่อมก็ช้าชอบรอให้ร้าวหลายรอบแล้วซ่อม แต่ก็มีรอยใหม่ตามมาอีก กังวลว่าปีแรกเป็นขนาดนี้ ถ้าตึกเก่าไปจะขนาดไหน 17 กรกฎาคม 55 เดือนนี้ฝนตก ท่อน้ำดันขยะไปถึงเพดาน กระเบื้องในห้องน้ำร้าวอีกแล้ว ผนังฝั่งครัวก็ไม่รอด เมื่อเช้าไปตากผ้า ร้าวเพิ่มตรงระเบียง...จะบ้าตาย... 27 กรกฎาคม 55 พื้น laminate ปูขอบเกยกันทั้งห้องและมีขอบบวม แจ้งซ่อมไปตั้งแต่เช้า โครงการฯ ผัดวันประกันพรุ่งมาปีกว่าแล้ว ก็สรุปว่า ไม่แก้ ผนังห้องน้ำคนละสีและปูไม่ได้ระดับ ส่วนนอกห้องก็ไม่รอด โครงการเนียนเอาหินโรยถนนมาโรยแทนหินแม่น้ำได้ใจจริงๆ ผนังเตียงนอนมีหรือจะรอด โครงการฯ อะไรทำไมมันร้าวได้ทุกส่วน...ดูแล้วมันต้องเป็นผู้รับเหมาเดียวกันกับสนามบินสุวรรณภูมิแน่นอน   การแก้ไขปัญหา ครั้งแรกที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ติดต่อกลับไปยังไม่สามารถคุยรายละเอียดกับทางผู้ร้องคุณบุญได้ แต่เมื่อติดต่อได้ภายหลังและเริ่มประสานกับทางโครงการ AP ก็ทราบว่าทางคุณบุญได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทางโครงการฯ จัดการซ่อมแซมรายการร้าวๆ และปัญหาต่างๆ ที่พบ รวม 7 รายการ ซึ่งทางโครงการฯ ได้เข้ามาจัดการและขอให้ทางคุณบุญลงลายมือรับรอง ซึ่งบางรายการคุณบุญไม่ได้ลงลายมือรับรอง ทราบต่อมาภายหลังว่า “รับไม่ไหว รายการซ่อมบางรายการไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงว่ามีการปรับปรุงแก้ไขแต่อย่างใด”   คุณบุญอธิบายกับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งมีท่าทีรับผิดชอบกับปัญหาน่าอึดอัดใจของคุณบุญ สุดท้ายก็สามารถจัดการปัญหาในจุดต่างๆ จนเป็นที่พอใจของผู้บริโภคได้ แต่ระยะเวลาที่ใช้ในการจัดการปัญหานี้เกือบ 1 ปีทีเดียว หวังว่ารอยร้าวจะไม่มาสร้างปัญหาให้กับคุณบุญอีกต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 152 จัดฉากไปทำไม??

1  กันยายน  2556   วันที่ผู้บริโภคไทยต้องจดจำเป็นพิเศษ   เพราะเป็นวันของแพงแห่งชาติ  บรรดาสินค้าที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันตั้งแต่  แก๊ส   ค่าไฟฟ้า  ค่าทางด่วน  นัดกันขึ้นราคาพร้อมๆ กัน จนผู้บริโภคอย่างเรามึนไปตามๆ กัน  และยิ่งมึนไปกว่านั้นคือ ประโยคเด็ด ของท่านปลักกระทรวงพาณิชย์ ที่ว่า  “ของไม่ได้แพงจริง  ที่คิดว่าของแพง มันเป็นแค่ความรู้สึก”  เล่นเอาผู้ฟังอย่างเราๆ สะอึกจนพูดไม่ออก เอ้า..กลับมาเข้าเรื่องกันหน่อย  เรื่องนี้ยังผูกติดอยู่กับ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ที่เขียนย้ำบ่อยๆ เกี่ยวกับกกพ. เพียงต้องการให้ผู้บริโภคทราบว่า  กกพ.นี่แหละ เป็นคนชี้เป็นชี้ตาย  เรื่องการขึ้นราคาไฟฟ้าในประเทศเรา  คราวที่แล้วเขียนเรื่องไฟดับ 14  จังหวัด  ส่งข้อเสนอไป  เงียบ...ไม่มีคำตอบ  (อยู่ระหว่างทวงถาม) คราวนี้มาใหม่ วันที่ 23  สิงหาคม 2556  มีข้อมูลผ่านสื่อว่า กกพ. มีมติขึ้นค่าไฟฟ้า อัตโนมัติ(FT)  สำหรับเดือนกันยายน – ธันวาคม 2556 อีก 7.2  สต.ต่อหน่วย  ผู้เขียนในฐานะคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต  ได้ท้วงติงการตัดสินใจของกกพ. ที่ไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็น  จากนั้นก็ได้รับข้อมูลจากฝ่ายคุ้มครองสิทธิฯ(กกพ) ให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกับการขึ้นราคาค่า FTโดยเปิดให้แสดงความคิดเห็นจนถึงวันที่ 30  สิงหาคม  2556   ผู้เขียนจึงนำเรื่องนี้เข้า ที่ประชุมเพื่อให้คณะกรรมการร่วมกัน ที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลที่ กกพ. เสนอมา และมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง  และได้มีมติเป็นเอกฉันท์  “ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าFT ” ที่กกพ. มีมติ เห็นชอบตามข้อเสนอของ กฟผ. ฝ่ายเดียว      ผลสรุปมีข้อเสนอส่งไปถึงกกพ. ดังนี้ 1. กกพ.  เป็นองค์กรกำกับ  ไม่ควรที่จะด่วนตัดสินใจขึ้นค่า FT   โดยพิจารณาเพียงข้อมูลที่ กฟผ. เสนอมาเพียงฝ่ายเดียว  เพราะขาดความรอบคอบ เกี่ยวกับการตัดสินใจที่ ส่งผลต่อผู้ใช้พลังงานทั้งประเทศ      2. กกพ.    ควรจัดให้มีมีกระบวนการ ศึกษาข้อมูล ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า  เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลจาก กฟผ.  เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านในการตัดสินใจ ให้เกิดความเป็นธรรม  ทั้งกับผู้ประกอบการ และผู้ใช้พลังงาน 3. กกพ.ควรดำเนินการพัฒนาสูตรคำควณการขึ้นค่าไฟฟ้า อัตโนมัติ(ค่าFT)ขึ้นใหม่      โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย  เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำสูตรคำนวณการขึ้นค่าไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (FT) ให้เป็นที่ยอมรับ และมีความเป็นธรรมมากขึ้น เมื่อได้ข้อเสนอแล้วก็ส่งไปให้กกพ. ภายในวันที่กำหนดคือ 30 สิงหาคม 2556  ซึ่งเป็นวันศุกร์  เจ้าหน้าที่ตอบรับเรียบร้อย  วันที่ 31 เป็นวันเสาร์  วันที่ 1 กันยายน 2556 วันอาทิตย์  ค่า FT ขึ้นทันที  คำถามคือ เขารับฟังความคิดเห็นทำไม?  รับฟังแล้วนำข้อเสนอไปพิจารณาตอนไหน?  คำถามนี้คงยังไม่มีคำตอบ  แต่คงเป็นภาระที่พวกเราต้องค้นหาคำตอบร่วมกัน  ว่าองค์กรกำกับที่ปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้พวกเราจะจัดการกับพวกเขาอย่างไร ?  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 152 เสียงผู้บริโภค

เครื่องซักผ้านำเข้า...ซักผ้านวมแล้วเอ๋อ เมื่อปลายปี 2553 ในงานแสดงสินค้าที่เมืองทองธานี ประสารได้ซื้อเครื่องซักผ้านำเข้าจากนิวซีแลนด์ ยี่ห้อ Fisher & Paykal บริษัท ทิมแลง 2000 จำกัดเป็นตัวแทนจำหน่าย เครื่องซักผ้าที่ซื้อเป็นระบบฝาบน ขนาดความจุประมาณ 10 กิโลกรัม ราคา 25,000 บาท เหตุผลสำคัญที่ซื้อเพราะตัวแทนขายสินค้ายืนยันว่า เครื่องซักผ้ารุ่นนี้สามารถซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้แน่นอน ตอนที่ซื้อเครื่องซักผ้า ประสารเพิ่งปลูกบ้านหลังใหม่ยังสร้างไม่เสร็จ จึงฝากเครื่องไว้กับตัวแทนขายก่อน และได้รับเครื่องซักผ้าจริงๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2554 พอได้เครื่องซักผ้ามาก็ฉลองใช้งานเลย เสื้อ-กางเกงผ้าชิ้นไม่ใหญ่น้ำหนักไม่มาก ซักได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอเอาผ้าห่มนวมขนาด 6 ฟุตมาซักปรากฏว่าเกิดปัญหาทุกครั้ง “เครื่องจะมีอาการหยุดทำงานระหว่างที่การซักยังไม่จบ หน้าจอเครื่องร้องว่าเครื่องขัดข้อง พร้อมกับมีน้ำค้างที่ก้นถังซัก ปั่นออกไม่หมด และไม่สามารถดำเนินการซักต่อได้” วิธีการแก้ไขของประสารคือ ต้องเอาผ้าห่มออกและถอดปลั๊ก ปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่ พร้อมกับกดโปรแกรมให้ปั่นน้ำออก เครื่องก็จะกลับมาทำงานได้ใหม่ และซักผ้าอื่นๆ ต่อไปได้ แต่หากเอาผ้าห่มนวม 6 ฟุตกลับมาซักอีกก็จะเกิดปัญหาแบบเดิมซ้ำๆ ทุกครั้ง บางครั้งเกิดหลังซักผ้าห่มนวม 1-2 ผืน บางครั้งซักผ้าห่มนวมผืนแรกก็เกิดปัญหาที่ว่าแล้ว และประสารต้องใช้วิธีแก้ไขแบบเดิมๆ ทุกครั้ง เขาตั้งข้อสงสัยว่า เครื่องซักผ้าที่ซื้อมา น่าจะซักผ้าห่มนวมขนาด 6 ฟุตไม่ได้จริงตามที่โฆษณา ก่อนที่จะนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประสารติดต่อไปที่บริษัทจัดจำหน่ายคือบริษัททิมแสง 2000 ให้มาตรวจสอบแก้ไข บริษัทแสดงความรับผิดชอบด้วยการส่งช่างเข้ามาซ่อมหลายครั้งในช่วงเวลาราว 1 ปี ตั้งแต่ที่รับเครื่องมาเมื่อต้นปี 2554 จนถึงปี 2555 การซ่อมของช่างจากบริษัททุกครั้งก็ทำและได้ผลชั่วคราวเหมือนกับที่ประสารจัดการแก้ปัญหาเอง   “คือเครื่องซักผ้ากลับมาใช้งานได้ชั่วคราว ก่อนจะเกิดปัญหาเดิมอีกครั้งเมื่อซักผ้าห่มนวม 6 ฟุตอีก” สำหรับสาเหตุอาการเสียของเครื่องซักผ้าก็มีความแตกต่างกันไปในการซ่อมแต่ละครั้ง เช่น ยกท่อน้ำทิ้งสูงเกินไป เครื่องชื้นจากโดนละอองน้ำฝน หรือเครื่องชื้นจากการอยู่ในห้องปิดระบายน้ำไม่ดี เครื่องวางบนพื้นเอียง อุปกรณ์บางชิ้นเสื่อม ซึ่งเปลี่ยนแล้วก็ไม่หาย “ผมได้ร้องเรียนที่บริษัทหลายครั้งในช่วงปี 2555 เป็นต้นมา ด้วยความเชื่อว่าเครื่องซักผ้ารุ่นนี้อาจไม่สามารถซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้จริงตามที่โฆษณา สุดท้ายทางผู้จัดการบริษัทแจ้งผมว่า ถ้าเครื่องมีปัญหาอีกให้รีบโทรบอก อย่าเพิ่งถอดปลั๊ก ให้ปล่อยเครื่องร้องข้ามวันข้ามคืนไปก่อนเพื่อให้การบันทึกการเสียโดยอัตโนมัติยังอยู่ที่เครื่องซักผ้า จะรีบนำเครื่องเข้ามาตรวจจับให้เพื่อจะได้ทราบสาเหตุเสียที่แน่นอนและแก้ไขได้ถูกต้อง และจะยอมคืนเงินพร้อมรับเครื่องคืน ถ้ามีหลักฐานชัดเจนแจ้งไปที่บริษัทผู้ผลิตที่นิวซีแลนด์ว่าเครื่องใช้ไม่ได้จริงๆ” ข้อเสนอของผู้จัดการบริษัทนี้มีขึ้นในช่วงปลายปี 2555 หลังจากนั้นเครื่องซักผ้ายังคงทำงานตามปกติ คือรับซักเฉพาะเสื้อและกางแกง แต่ไม่รับซักผ้านวมเจอผ้านวม 6 ฟุตลงเครื่องเมื่อไหร่เป็นต้องหยุดปั่นผ้าทุกครั้ง แต่ประสารก็ไม่สามารถเปิดเครื่องให้ร้องข้ามวันข้ามคืนไว้ให้ทางบริษัทเข้ามาตรวจได้ตามที่บอก เพราะกว่าบริษัทจะเข้ามาได้ก็ต้องนัดนานเป็นสัปดาห์ ก็ต้องทนใช้วิธีการแก้ปัญหาชั่วคราวแบบเดิมไปพลางๆ “จนถึงต้นปี 2556 เมื่อเกิดปัญหาแบบเดิมอีก ผมได้แจ้งบริษัทให้ส่งช่างมาดู พร้อมกับบอกว่าจะยอมเปิดเครื่องให้ร้องทิ้งไว้ข้ามสัปดาห์ ทางบริษัทแจ้งว่า ผู้จัดการคนเดิมที่เคยคุยกับผมมาตลอดนั้นตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว ไม่ทราบว่าตกลงยังไงกันไว้บ้าง ให้ปิดเครื่องไปได้เลยแล้วจะส่งช่างเข้ามาดูในสัปดาห์ถัดไป” ประสารเล่า พอถึงวันนัด มีช่างเข้ามาดูแลแจ้งว่าอุปกรณ์บางชิ้นเสื่อมอีก จะเปลี่ยนให้ฟรีแม้จะหมดประกันแล้ว แต่ช่างมาสังเกตพบว่า น้ำไหลเข้าเครื่องไม่สม่ำเสมอ และตรวจพบว่าเกิดจากแผงวงจรเสีย ซึ่งต้องเปลี่ยนแผงวงจรราคา 4,000 บาท เพราะหมดประกันแล้ว ประสารไม่ตกลงเพราะอะไหล่ที่จะเปลี่ยนไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเครื่องซักผ้าไม่ยอมซักผ้านวม ทางช่างจึงกลับไปโดยไม่คิดค่าตรวจ แต่เครื่องซักผ้าก็ถูกทิ้งในสภาพเดิมที่แจ้งสถานะว่า ใช้งานไม่ได้ต่อไป   แนวทางแก้ไขปัญหา ประสารพยายามโทรติดต่อกับผู้จัดการคนใหม่หลายครั้งแต่ติดต่อไม่ได้เลย เลขาหรือเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่ว่างทุกครั้ง แล้วจะติดต่อกลับมาแต่ไม่เคยติดต่อกลับมาอีก ประสารจึงส่งเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แม้เรื่องนี้จะเกิดมาเนิ่นนานหลายปี แต่ก็เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทเองก็ไม่สามารถแก้ไขให้เครื่องสามารถใช้งานได้ตามโฆษณา มูลนิธิฯ จึงติดต่อไปที่บริษัทเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ประสารแจ้งว่า หลังจากที่มูลนิธิฯ ช่วยประสานงานให้ ในที่สุดทางผู้จัดการคนใหม่ได้ยอมพูดคุยด้วย และส่งช่างเข้ามาดู ทางผู้จัดการยังคงยืนยันว่าเครื่องซักผ้ารุ่นนี้ซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้แน่นอนตามที่โฆษณา แต่คาดว่าประสารอาจจะโชคร้ายได้รับเครื่องการผลิตที่มีปัญหาเอง แต่ยินดีที่จะรับเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้มาใช้ต่อ ประสารบอก ผมไม่สามารถเชื่อใจทางบริษัทได้อีก จึงยื่นข้อเสนอขอคืนเครื่องและรับเงินคืน หลังจากการเจรจาต่อรองกันอีกราว 2 เดือน ในที่สุดจึงได้ข้อตกลงร่วมกัน โดยทางบริษัทยอมรับคืนเครื่องและคืนเงินให้จำนวน 15,000 บาท เรื่องจึงเป็นอันยุติ ความจริงแล้ว กระบวนการร้องเรียนเพื่อการเยียวยาความเสียหายไม่จำเป็นต้องปล่อยให้ยืดยาว รอซ่อมแล้วซ่อมอีก หากผู้บริโภคพบว่า สินค้ามีคุณภาพไม่เป็นไปตามที่โฆษณาก็สามารถที่จะแสดงเจตจำนงขอเปลี่ยนสินค้าหรือคืนสินค้าเพื่อขอคืนเงินได้ตั้งแต่การมาตรวจซ่อมครั้งแรกแล้ว หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ยินยอมผู้บริโภคก็สามารถร้องเรียนต่อ สคบ. หรือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทันที     หม้อมิเตอร์หมุนปรื๊ด ทำค่าไฟกระโดดกบ เมื่อเดือนธันวาคม 2555 อรรถนนท์ ได้เช่าบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านนันทนาการ์เดนท์ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เป็นที่พักอาศัย ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 เรื่อยมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 สามเดือนแรกของการเข้าพักอาศัยหม้อมิเตอร์ไฟฟ้าหมุนดีไม่มีปัญหา มีการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยในบ้านหลังนี้ประมาณ 285 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟตกเดือนละประมาณ 1,200 บาท จนเมื่อวันที่ 15 เมษายน  อรรถนนท์เดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด และกลับมาที่บ้านเช่าอีกทีในวันที่ 3 พฤษภาคม พบใบแจ้งค่าไฟฟ้าที่ส่งมาถึงบ้านก็ตกใจ ค่าไฟฟ้าในช่วงรอบเดือนล่าสุดระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน 2556 ปรากฏว่าบิลค่าไฟฟ้าแจ้งว่ามีหน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 2,032 หน่วย คิดเป็นค่าไฟ 9,488.61 บาท “เหยียบหมื่น...” อรรถนนท์เห็นว่า เป็นค่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่ผิดปกติเป็นอย่างมาก จึงรีบแจ้งไปที่การไฟฟ้าบางพลีเพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ ทางการไฟฟ้าส่งคนมาตรวจสอบแล้วแจ้งกลับมาว่า ไม่มีปัญหาอะไรทุกอย่างปกติ การไฟฟ้าบอกหม้อมิเตอร์ไฟฟ้าปกติ และให้ลูกค้าจ่ายเงินซะดีๆ แต่สำหรับอรรถนนท์เขาเห็นว่า ค่าไฟรอบนี้ไม่ปกติแน่นอน จากที่เคยใช้แค่ 200-300 หน่วยแล้วอยู่ดีๆ หม้อมิเตอร์กลับหมุนปรื๊ดทำเอายอดหน่วยค่าไฟขึ้นไปถึง 2,000 หน่วยภายในเดือนเดียว “ผมขอยืนยัน บ้านผมใช้ไฟฟ้ากันอย่างประหยัดมากๆ เปิดไฟเท่าที่จำเป็นจริงๆ ครับ”   แนวทางแก้ไขปัญหา สำหรับใครที่เจอปัญหาแบบนี้ สิ่งแรกที่ควรทำคือการวิ่งไปดูเลขหน่วยค่าไฟฟ้าที่หม้อมิเตอร์ที่เสาไฟฟ้าหน้าบ้านทันที ว่าใช่หรือใกล้เคียงกับเลขหน่วยในบิลค่าไฟฟ้าหรือไม่ หากใช่หรือใกล้เคียง ก็ต้องมาตรวจดูต่อไปว่ามีการใช้ไฟฟ้าในบ้านเพิ่มขึ้นหรือไม่ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากไม่ก็ต้องมาตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังดูล่ะ เพราะเรากำลังตั้งสมมติฐานว่า หม้อมิเตอร์ไฟฟ้ามันเพี้ยน ดังนั้น บิลค่าไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับหลักฐานฝั่งผู้บริโภคว่าเรามีสถิติการใช้ไฟฟ้าในระดับไหน หากมีการเก็บบิลค่าไฟฟ้าไว้อย่างน้อย 2 ปีก็จะเป็นการดีอย่างยิ่ง เพราะจะได้เทียบไปถึงช่วงเดือนเดียวกันในปีก่อนได้ แต่ไม่ค่อยมีใครทำกัน...! ดังนั้น เมื่อพบความผิดปกติของค่าไฟฟ้าเกิดขึ้นในรอบเดือนใดและตัวเองก็ไม่มีหลักฐานอะไรไปยืนยัน ก็ให้ผู้บริโภคทำหนังสือทักท้วงและขอให้การไฟฟ้าแสดงปริมาณการใช้ฟ้าย้อนหลังอย่างน้อย 1 ปี เช่น เมื่อพบว่ามีค่าไฟฟ้าผิดปกติในช่วงเดือนเมษายน 2555 ก็ควรขอให้การไฟฟ้าแสดงยอดการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังไปถึงเดือนเมษายน 2554 เพื่อจะได้เห็นทิศทางแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ในช่วงเวลาและฤดูกาลเดียวกัน ซึ่งขณะที่มีการทักท้วงและยังหาข้อยุติไม่ได้นั้น ผู้บริโภคปฏิเสธการจ่ายค่าไฟฟ้าในรอบเดือนที่มีปัญหาได้โดยที่การไฟฟ้าจะมาตัดไฟฟ้าไม่ได้ จนกว่าการไฟฟ้าจะสามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ว่าผู้บริโภคได้ใช้ไฟฟ้าจริงเป็นไปตามบิลที่แจ้ง กรณีนี้เมื่อตรวจสอบแล้วตั้งแต่ช่วงที่ผู้บริโภคเข้ามาพักอยู่อาศัยในบ้านเช่า พบว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงผิดปกติเป็นอย่างมากในรอบเดือนสุดท้ายอย่างเห็นได้ชัดถึง 10 เท่าตัว เราจึงแนะนำให้ผู้บริโภคยื่นเรื่องทักท้วงต่อการไฟฟ้าทันที ท้ายที่สุดเมื่อตรวจสอบแล้ว การไฟฟ้าบางพลีจึงงดเก็บค่าไฟฟ้าจำนวน 9,488.61 บาททั้งหมด และได้ดำเนินการเปลี่ยนมิเตอร์ที่แสดงค่าการใช้ไฟฟ้าผิดเพี้ยนเป็นมิเตอร์ใหม่ทันที นับเป็นข้อดีประการหนึ่งของการจ่ายค่าไฟฟ้าแบบเงินสด เพราะหากจ่ายแบบหักบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิต ฝั่งผู้บริโภคอาจมีความยุ่งยากกว่านี้ เพราะเป็นเรื่องของการติดตามทวงถามเงินคืนจากค่าไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้จริง     สมาร์ทโฟนแค่เดือนเดียวเจ๊งต้องขอเปลี่ยนคืน เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 เวลาประมาณ 6 โมงเย็นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ภูษิตเข้าไปซื้อสมาร์ทโฟน Sony Xperia SZ(LT26i) ในราคา 15,990 บาทจากบริษัท ทีจี เซลลูล่าร์เวิลด์ จำกัด สาขาที่ 108 หลังจากใช้งานได้ประมาณ 1 เดือน มือถือเริ่มมีอาการค้างบูทเอง และเปิดเครื่องไม่ได้ในท้ายที่สุด “วันที่ 15 ตุลาคม 2555 ผมเอาเครื่องไปส่งซ่อมที่ศูนย์โซนี สาขามาบุญครอง ช่างบอกว่าต้องลงโปรแกรมใหม่ ใช้เวลา 2 ชั่วโมงมารับเครื่องได้ หลังจากรับเครื่องไปใช้ได้เพียงหนึ่งวัน เครื่องก็มีอาการเดิมครับ” “วันที่ 17 ตุลาคม 2555 ผมนำเครื่องกลับไปที่ศูนย์มาบุญครองอีก ช่างแจ้งว่าต้องนำไปที่ศูนย์ทองหล่อ ซอย 9 เพื่อตรวจสอบ เพราะอาจเสียที่ฮาร์ดแวร์และเป็นศูนย์ใหญ่แน่นอนกว่า” “ในวันเดียวกันผมจึงเดินทางไปที่ศูนย์ทองหล่อซอย 9 ช่างยืนยันจะลงโปรแกรมให้เหมือนเดิม อ้างว่าศูนย์มาบุญครองอาจลงไม่ครบ” “หลังจากที่ผมรอ 2 ชั่วโมงกลับมารับเครื่อง ระหว่างตรวจสอบก่อนรับเครื่องคืน เครื่องก็มีอาการดับเอง บูทเครื่องเองอีก ต้องใช้เวลานานมากเพื่อให้ช่างรับเครื่องไว้ เพื่อให้ตรวจสอบฮาร์ดแวร์” “ช่างพยายามบอกให้ผมนำเครื่องกลับไปใช้ก่อน แต่ผมไม่มีความมั่นใจอีกแล้ว สุดท้ายเจ้าหน้าที่จึงรับปากจะตรวจสอบฮาร์ดแวร์ให้อย่างละเอียด บอกว่าใช้เวลา 3 วัน” วันที่ 19 ตุลาคม 2555 ครบกำหนดสามวันภูษิตกลับไปรับเครื่อง เมื่อเปิดเครื่องตรวจสอบเครื่องก็ดับต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของศูนย์โซนีเลย “ผมไปรับเครื่องตั้งแต่บ่ายสามโมงเย็น คุยจนศูนย์ปิดห้าโมงเย็น ถามเจ้าหน้าที่ว่าเครื่องมีปัญหาชัดเจนแบบนี้ทำไมไม่ทำอะไรให้ ช่างจึงรับปากว่าจะเปลี่ยนเมนบอร์ดให้ แต่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 อาทิตย์” “ผมไม่มีความมั่นใจในบริการอีกแล้ว เครื่องไม่สามารถใช้ได้ต้องรอนาน ศูนย์ไม่ใส่ใจในการแก้ปัญหา ผมเขียนอีเมล์ถึงบริษัทโซนี เพื่อขอให้รับซื้อสินค้าคืน และขอร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยติดตามเรื่องด้วยครับ”   แนวทางแก้ไขปัญหา โดยทั่วไป ผู้ประกอบธุรกิจมักจะมีระยะเวลารับประกันสินค้าหากเกิดความชำรุดบกพร่องอันเนื่องจากสภาพตัวเครื่องหรือการใช้งานตามปกติ และมักจะใช้วิธีการซ่อมแล้วซ่อมอีกซ่อมไปเรื่อยๆ จนหมดระยะเวลารับประกัน หลังจากนั้นก็โบกมือบ๊ายบาย แต่เดี๋ยวนี้มือถือนี่เหมือนรถยนต์ ราคาไม่ใช่ถูก จึงเป็นสินค้าที่เอามาขายต่อได้ ซื้อมาใช้ อยากเปลี่ยนใหม่ก็ขายต่อได้ แต่ถ้าต้องเจอแบบซื้อมาแป๊บเครื่องซ่อมแล้วซ่อมอีก ซ่อมก็ไม่หายจะเอาไปขายต่อใครก็ไม่ได้ เพราะเครื่องยังเจ๊งอยู่ซ่อมไม่หาย ใช้งานไม่ได้ ขายไม่ได้ ดังนั้นผู้ขายผู้ผลิตจึงต้องรับผิดชอบที่เกิดขึ้นซ่อมได้ หายก็จบ ซ่อมไม่ได้ก็ต้องคืนสินค้าและเรียกร้องค่าใช้จ่ายทั้งหมดคืน หลังจากที่ภูษิตส่งอีเมล์ถึงโซนี และได้แสดงอาการเสียและความล้มเหลวในการซ่อมให้เห็นอย่างแจ่มแจ้ง และได้แสดงความประสงค์อย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการเปลี่ยนสินค้าตัวใหม่เพราะขาดความมั่นใจในคุณภาพของสินค้า ท้ายที่สุดโซนีจึงให้บริษัททีจี เซลลูล่าร์เวิลด์ จำกัด ผู้จำหน่ายสินค้า ชำระเงินคืนทั้งหมดจำนวน 15,990 บาทคืนแก่ภูษิตจนเป็นที่เรียบร้อย    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 151 ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัด (ตอน 3)

จากตอนที่แล้ว เราเห็นๆ กันอยู่ คือเมื่อไฟฟ้าดับ ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ต่างออกหน้ามาให้ข่าวกันอย่างครึกโครม จนเราลืมไปเลยว่ายังมีอีกองค์กรหนึ่ง ที่มีหน้าที่กำกับดูแลประเด็นนี้โดยตรงคือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน แห่งชาติ(กกพ.) หรือ 7 อรหันต์(ที่มีเงินเดือนสูงส่ง แต่กลับมีบทบาทเรื่องนี้น้อยมากจนน่าใจหาย เพราะไม่เห็นตัวตนของท่านเลย) คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานเขต 10 จึงได้ทำข้อเสนอมาตรการแก้ไขและปรับปรุงการให้บริการพลังงาน ตามมาตรา 99 แห่ง พระราชบัญญัติ ประกอบกิจการพลังงาน 2550 ดังนี้ 1. ขอให้ กฟผ. แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายร้ายแรงในครั้งนี้ โดยเสนอให้ กกพ. กำหนดมาตรการชดเชยผู้ได้รับความเสียหาย และกำหนดว่าการเสียหายกรณีใด จึงจะได้รับการเยียวยา 2. ขอให้กพพ. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายนอกอย่างเร่งด่วน กรณีดังกล่าวโดยการสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน รวมถึงการให้ตัวแทนผู้ใช้พลังงานในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมในกรณีดังกล่าว มิใช่รอให้ กฟผ.มารายงานฝ่ายเดียว 3. ขอให้ กกพ. กำหนดมาตรการ บังคับให้ กฟผ.มีแผนฉุกเฉินรองรับกรณีไฟฟ้าในระดับ และกฟผ.ต้องแจ้งเดือนประชาชน กรณีมีการซ่อมบำรุงที่สุ่มเสี่ยงต่อการที่จะก่อให้เกิดไฟฟ้าดับในวงกว้างให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วัน 4. ขอให้ กกพ. มีนโยบายในการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถ นำวัตถุดิบที่มีในพื้นที่ มาผลิตเป็นพลังงานทางเลือกใช้เอง ลดการพึ่งพาแหล่งผลิตขนาดใหญ่ ป้องกันเหตุไฟฟ้าดับในวงกว้างได้อย่างยั่งยืน โดยแต่ละพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในพื้นที่ และเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างแท้จริงให้กับประเทศไทย 5. ขอให้ กกพ.ออกมาตรการให้แต่ละจังหวัดสามารถจัดทำแผนพลังงานระดับจังหวัดได้ เพื่อเป็นการกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัด มีส่วนร่วมกำหนดแผนพลังงานให้เหมาะสมกับพื้นที่ ลดการผูกขาดอำนาจจากส่วนกลาง 6. ขอให้ กกพ.มีข้อเสนอต่อคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ ในการกระจายกองทุนอนุรักษ์พลังงานไปในระดับจังหวัด เพื่อหนุนเสริมแผนพลังงานจังหวัด นี่คือข้อเสนอที่เราคาดหวังว่าจะได้เห็นพัฒนาการของการบริหารจัดการ ด้านพลังงาน ที่จะสร้าง ความเป็นธรรม ให้กับผู้บริโภคไฟฟ้า แต่คงไม่ใช่เสนอแล้วก็จบไป คงต้องร่วมกันติดตามและผลักดันกันต่อไป ด้วยความหวัง ด้วยพลังของผู้บริโภค .......

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 151 เสียงผู้บริโภค

“สังฆทาน บาป” รู้หรือไม่ว่าของในถังสังฆทานที่ซื้อมาหมดอายุก่อนวันซื้อ คุณทำได้มากกว่าการนำไปเปลี่ยนคืน ธ.ก.ส. ลดหนี้มโหฬาร ล้างบาป “กลุ่มเกษตรกรพันธุ์ใหม่” เมื่อกลุ่มเกษตรกร “คนรุ่นใหม่” ต้องตกเป็นเหยื่อจากการดำเนินโครงการด้านการเกษตรที่ล้มเหลวของรัฐ     สังฆทาน “บาป” สังฆทาน เป็นชื่อเรียกการถวายทานแก่พระสงฆ์อย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามีอานิสงส์มาก โดยเฉพาะการถวายสังฆทานแก่คณะพระสงฆ์จะมีอานิสงส์มากกว่าการถวายทานเฉพาะเจาะจงแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง หรือแม้แต่การถวายทานแก่พระพุทธเจ้าแม้ยังทรงพระชนม์อยู่ ก็ยังได้บุญสู้การถวายทานแก่พระสงฆ์ที่เป็นหมู่คณะไม่ได้...ผู้รู้ทางพุทธศาสนาท่านว่าไว้อย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้...ในยุคสังคมแบบ “เร็วเข้าว่า ช้าไม่เป็น” สังฆทานถูกแปรรูป แปรเจตนาไปเยอะ มีการจัดชุดสังฆทานขายอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ต้องการบุญแบบแดกด่วน หวังกำไรมาก ไม่คิดถึงบาปบุญ จนกลายเป็นปัญหาขึ้นมาทั้งคนทำบุญและสงฆ์ที่รับทาน คุณบารมี ไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตตราดอกบัว ย่านรังสิต เดี๋ยวนี้แทบทุกห้างมีแผนกนี้ล่ะ “แผนกเครื่องสังฆภัณฑ์” บารมีเตรียมหาของไปทำบุญวันเข้าพรรษา เห็นป้ายโฆษณาขายชุดถังสังฆทานใส่ในถังพลาสติกใบเหลืองเล็ก ขนาดพอหิ้วดูเก๋ไก๋ แกว่งไปมาได้ไม่เจ็บข้อมือ “ซื้อ 1 แถม 1” ราคา 155 บาท “โอว พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ...ได้บุญมาก ราคาไม่แพง แถมยังแบ่งกับเพื่อนได้อีกถัง” บารมีเห็นหนทางนิพพานของตัวเองทันที หิ้วถังสังฆทาน 2 ใบ ไปที่ทำงาน เห็นพลาสติกใสหุ้มสิ่งของจนล้นปากถังเลยอยากรู้ว่ามีอะไรอยู่บ้างดูซะล้นถังอย่างนั้น ชวนเพื่อนที่จะเป็นคู่บุญกันมาแกะดูสิ่งของที่อยู่ในถัง ขาดเหลืออะไรจะได้ซื้อเพิ่มเติมได้ รายการของที่มีอยู่ในทั้งสองถังเหมือนกันเด๊ะ คือ ยาหอม 1 ถุง คงเข้าใจว่าพระเป็นลมบ่อยเลยใส่เข้ามา ชาจีน 1 กล่อง ถือเป็นมาตรฐานสังฆทานต้องมีชาจีน ชาเก๊กฮวย 1 กล่อง เผื่อพระไม่ชอบชาจีน น้ำส้มผสม 1 ขวด เผื่อให้พระเวลาสวดเวลาเทศน์เสียงจะได้สดได้ใส เกลือ 1 ถุง อาจจะเอาไว้ให้พระใส่เติมเพิ่มรสชาติน้ำชา น้ำส้ม ขันน้ำพลาสติกสีเหลือง 1 ใบ มีความบางจนน่าจะเขียนคำเตือนว่า “อย่าตักน้ำแรงเดี๋ยวขันแตก” และของที่ใหญ่ที่สุด สูงที่สุดซึ่งอยู่ก้นถัง และเป็นตัวการสำคัญที่ทำของดูพอกพูนจนล้นถัง มันคือ กระดาษชำระเนื้ออย่างเลว 1 ห่อ พิจารณาดูเนื้อกระดาษแล้ว หากนำไปเช็ดก้นเป็นประจำก็อาจทำให้เป็นริดสีดวงทวารได้ ว่างั้นเหอะ รวมกับถังพลาสติกใบเล็ก 1 ใบที่ใช้ใส่สิ่งของรวมเป็นชุดสังฆทาน 1 ชุดทั้งหมด ราคา 155 บาทแถมอีก 1 ถัง “ถึงว่าทำไมขายลดราคาได้” บารมีเริ่มตรัสรู้ แต่เอ๊ะ...น้ำส้ม ทำไมวันหมดอายุไม่เหมือนกัน บารมีกับเพื่อนช่วยกันดู แล้วก็นะจังงัง เพราะน้ำส้มที่อยู่ในถังสังฆทานใบหนึ่ง มันหมดอายุไปเป็นเดือนแล้ว “ยังดีนะที่ไม่ได้เอาไปถวายพระ ไม่งั้นคงบาปแย่ เพราะนำของหมดอายุไปถวาย” บารมีรำพึงกับเพื่อน สรุปว่า วันเข้าพรรษาครานั้นบารมีและเพื่อนต้องไปหาซื้อของจัดชุดสังฆทานเพื่อถวายพระกันใหม่ ส่วนชุดสังฆทานที่ซื้อมาแล้วก็ต้องหิ้วมาร้องเรียนกันที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แนวทางแก้ไขปัญหา สังฆทานจัดชุดแล้วนำมาขายให้ชาวพุทธเกิดปัญหาบ่อยมาก เพราะเป็นการนำสินค้าหลายชนิดมาบรรจุหุ้มห่อรวมกัน สินค้าบางชนิดที่นำมารวมนั้นโดยเฉพาะจำพวกอาหารการกิน มีกำหนดอายุหรือเวลาที่ควรใช้ แต่คนที่ซื้อก็ไม่รู้ว่ามันหมดอายุหรือเปล่าเพราะถูกหุ้มห่อไว้ด้วยพลาสติกใสใส่ในถัง ผู้ผลิตที่แย่ๆ บางรายก็ชอบเอามาซุกมาห่อรวมกันขาย อีกปัญหาคือความไม่ลงรอยของสินค้าที่ถูกยัดใส่ในถังรวมกัน ชอบทำปฏิกิริยาหาเรื่องใส่กัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนสี กลิ่น หรือรส จนมาสร้างความซวยให้กับพระสงฆ์องค์เจ้าให้ท้องไส้ปั่นป่วนได้ ที่สำคัญตัวสินค้าในชุดสังฆทานน่ะต้นทุนไม่เท่าไหร่แต่ค่าจัดชุดสังฆทานนี่สิแพงที่สุดร่วม 30-40%ของราคาสินค้าทั้งหมด แถมของที่จัดมาพระสงฆ์ไม่ได้ใช้เลย เพราะเป็นของไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณภาพ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงออกประกาศให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ประกาศเมื่อปี 2550 ใครจะขายต้องมีการแสดงฉลากแสดงรายละเอียดของรายการสินค้า ที่ระบุขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก จำนวน และราคาของสินค้าแต่ละรายการ ต้องแสดงชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ต้องแสดงวันเดือนปีที่หมดอายุ หรือวันเดือนปีที่ควรใช้ก่อน ของสินค้าใดสินค้าหนึ่งที่นำมารวมนั้นระบุว่าเร็วที่สุด ต้องระบุวันเดือนปีที่บรรจุ และราคารวมชุดจัดบรรจุระบุหน่วยเป็นบาท ประกาศฉบับนี้ยังควบคุมไปถึงปัญหาสินค้าที่อยู่ในชุดสังฆทานจะทำปฏิกิริยากันจนทำให้มีสี กลิ่น หรือรสเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่พระสงฆ์ หรือผู้บริโภคได้ จึงให้มีการระบุคำเตือนในฉลาก ด้วย เช่น ใบชา ข้าวสาร สบู่ และผงซักฟอก อาจทำปฏิกิริยากัน จนทำให้มีสี กลิ่น หรือรสเปลี่ยนแปลงไปซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคเนื่องในการใช้หรือโดยสภาพของสินค้านั้นได้ ดังนั้น ผู้ใช้ควรแยกสินค้าที่อาจทำปฏิกิริยากันได้นั้นออกจากกันโดยเร็ว แม้จะเป็นคำเตือนที่ดูแปลกๆ เพราะหากสินค้ามันจะเกิดปฏิกิริยากันมันก็สามารถเกิดได้ตั้งแต่ตอนวางขายอยู่ในห้างแล้ว แม้จะแยกกันออกมาภายหลัง สี กลิ่น หรือรส ที่เปลี่ยนแปลงไปก็คงไม่สามารถเรียกกลับคืนได้ง่าย สุดท้ายก็ต้องทิ้งของนั้นไป แต่ก็ถือว่าเป็นความพยายามของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้ามาควบคุมดูแลการขายชุดสังฆทานจากที่ไม่เคยมีมาก่อน ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 52 ได้กำหนดโทษไว้ว่า ผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายสินค้าที่มีฉลากที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก(ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) สั่งเลิกใช้ โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำข้างต้นเป็นการกระทำของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในประเทศเพื่อขาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ด้วยโทษที่สูงเอาการ เราจึงแนะนำให้ผู้ร้องเรียนไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เพื่อเป็นหลักฐานก่อน ยังไม่ต้องแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ และมีจดหมายเชิญตัวแทนห้างดอกบัวในฐานะผู้ขายสินค้ามาเจรจาเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภค ผลการเจรจาทางห้างยินยอมเยียวยาความเสียหายให้เป็นจำนวนเงิน 15,000 บาท  ซึ่งผู้ร้องยินดีรับค่าเยียวยาความเสียหายและไม่ติดใจเอาความใดๆ ส่วนห้างเมื่อต้องจ่ายค่าเสียหายไปแล้ว ก็เดินหน้าเช็คบิลเอาผิดกับผู้ผลิตชุดสังฆทานต่อไป โดยจะทำการตรวจสอบสินค้าและหากพบว่าสินค้าที่อยู่ในชุดสังฆทานหมดอายุจริง ก็จะให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการฟ้องร้องกับบริษัทผู้ผลิตชุดสังฆทาน ขณะที่ผู้ร้องเรียนก็ยินยอมที่จะเป็นพยานในชั้นศาลอีกด้วย   กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 52 ได้กำหนดโทษไว้ว่า ผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายสินค้าที่มีฉลากที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก(ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) สั่งเลิกใช้ โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำข้างต้นเป็นการกระทำของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในประเทศเพื่อขาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ     ธ.ก.ส. ลดหนี้มโหฬาร ล้างบาป “กลุ่มเกษตรกรพันธุ์ใหม่” เมื่อปี 2531 ต่อเนื่องปี 2532 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนเกษตรกรและคนหนุ่มสาวที่จบการศึกษาด้านการเกษตรให้มาเข้าร่วม “โครงการนิคมเกษตรกรรมเพื่อการส่งออกร่วมกับภาคเอกชน” หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ในสมัยนั้นว่า “โครงการเกษตรกรยุคใหม่” หรือ “เกษตรกรก้าวหน้า” ครั้งนั้น ธ.ก.ส. ให้สัญญาว่าจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมด้านเงินทุนระยะยาวเพื่อให้พวกเขามีอาชีพทางการเกษตรที่มั่นคง มีบ้าน มีที่ดินอันสมบูรณ์เพื่อการเพาะปลูก จะช่วยส่งเสริมความรู้ทางวิชาการและเครื่องมือทางการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศโดยมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอนจากการบริหารงานของบริษัทเอกชน ที่ ธ.ก.ส. จัดหามาให้ ด้วยคำโฆษณาและความเชื่อมั่นในความเป็นธนาคารของรัฐ หนุ่มสาวที่เพิ่งเรียนจบหลายร้อยรายตัดสินใจสมัครสอบเข้าร่วมโครงการฯ มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 80 คน ซึ่งทั้งหมดจะต้องทำสัญญาซื้อที่ดินที่ทุ่งดอนโพ ซึ่งเดิมอยู่ในเขตหมู่ 2 บ้านบางกะโด ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เนื้อที่ 565 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา จากบริษัทร่วมโครงการคือบริษัท มีดีเทค จำกัด ในราคา 27.3 ล้านบาท โดยทำสัญญาจำนองกับ ธ.ก.ส. และทุกคนเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ร่วมกัน และมีบริษัท นิวเจนเนอร์เรชั่น ฟาร์มโปรดิวส์ จำกัด (เอ็น จี ซี) ทำหน้าที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ และมีพนักงานประจำในพื้นที่เพื่อประสานงานด้านการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ ควบคุมการคัดคุณภาพของผลผลิต จัดการเรื่องการบรรจุหีบห่อ และการขนส่งไปยังจุดหมายปลายทาง รวมทั้งให้บริการเครื่องจักรอุปกรณ์การเกษตรขนาดใหญ่ เช่น รถไถ เครื่องพ่นยา เครื่องรดน้ำ เป็นต้น ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ได้ยกระดับเป็นหมู่บ้าน มีชื่อกลุ่มว่า สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านสิงห์ หมู่บ้านดอนโพ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี โครงการผ่านไปเพียงแค่ 3-4 ปี บริษัทเอกชนก็ละทิ้งโครงการ ส่วน ธ.ก.ส. ก็มุ่งแต่ติดตามทวงหนี้ ปล่อยให้ชาวบ้านต่อสู้ดิ้นรนอย่างโดดเดี่ยวไปตามยถากรรม และต้องแบกรับภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส. เพื่อนำมาลงทุนทำเกษตร และเพื่อนำไปซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากบริษัทมีดีเทคฯ ในราคาร่วม 27.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้นมาก จนปี 2551 กลุ่มเกษตรกรกลุ่มนี้ได้นำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า พวกเขาเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการด้านการเกษตรที่ล้มเหลวของรัฐ แต่ต้องมาแบกรับภาระหนี้สินรวมกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยร่วม 100 ล้านบาท และเกษตรกรจำนวน 16 รายถูก ธ.ก.ส. ดำเนินคดีฟ้องร้องแล้วรวม 19 คดี เป็นทุนทรัพย์รวมทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านบาท ขอให้มูลนิธิฯ หาหนทางช่วยเหลือด้วย   ธ.ก.ส. ให้สัญญาว่าจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมด้านเงินทุนระยะยาวเพื่อให้พวกเขามีอาชีพทางการเกษตรที่มั่นคง มีบ้าน มีที่ดินอันสมบูรณ์เพื่อการเพาะปลูก จะช่วยส่งเสริมความรู้ทางวิชาการและเครื่องมือทางการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศโดยมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอนจากการบริหารงานของบริษัทเอกชน ที่ ธ.ก.ส. จัดหามาให้     ผ่านไปเพียงแค่ 3-4 ปี ...พวกเขากลายเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการด้านการเกษตรที่ล้มเหลวของรัฐ แต่ต้องมาแบกรับภาระหนี้สินรวมกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยร่วม 100 ล้านบาท และเกษตรกรจำนวน 16 รายถูก ธ.ก.ส. ดำเนินคดีฟ้องร้องแล้วรวม 19 คดี เป็นทุนทรัพย์รวมทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านบาท   แนวทางแก้ไขปัญหา เมื่อเราได้สอบถามข้อมูล ทราบความเป็นมาเห็นความเป็นจริงทั้งหมด จึงได้วางแนวทางการช่วยเหลือเป็น 2 แนวทางใหญ่ๆ คือ การช่วยเหลือด้านคดีความ และการช่วยเหลือเพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสนำปัญหาของตัวเองฟ้องต่อสังคม โดยแนวทางทั้งสองมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างเกษตรกรและ ธ.ก.ส.อย่างเป็นธรรม การช่วยเหลือด้านคดีความ ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้จัดทนายความเข้าไปช่วยเหลือต่อสู้คดีโดยชี้ให้ศาลได้เห็นว่า หนี้ที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรมิได้เกิดจากปัญหาของเกษตรกรโดยตรงแต่มาจากการดำเนินโครงการที่ล้มเหลวของรัฐบาลเอง ส่วนการช่วยเหลือเพื่อการฟ้องต่อสังคมนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทราบในเวลาต่อมาว่ายังมีกลุ่มกลุ่มเกษตรกรทำสวนเขาดิน อ.เดิมบางนางบวช และ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี อีกกลุ่มที่ประสบปัญหาในทำนองเดียวกัน จึงได้ใช้พลังจากสภาพของสุนัขจนตรอกของชาวบ้านรวบรวมกำลังใจและกำลังคนมารวมตัวที่หน้า ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ นางเลิ้ง เมื่อ 12 มิถุนายน 2551 เพื่อยื่นข้อเรียกร้องเต็มขั้นคือ (1)ให้ ยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้านทั้งหมด (2)ให้ธ.ก.ส. ยกเลิกหนี้สินให้เกษตรกรทั้งหมด และ (3) ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาและชดใช้ค่าเสียโอกาสของชาวบ้านจากความล้มเหลวของโครงการดังกล่าว และได้มารวมตัวกันอีกครั้งที่หน้า ธ.ก.ส. เพื่อฟังคำตอบในวันที่ 19 มิถุนายน 2551 ผลของการดำเนินการในครั้งนั้น ธ.ก.ส. รับพิจารณาข้อเสนอของเกษตรกรทั้งหมด โดยเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่ดำเนินการคือการขอให้ศาลชะลอการดำเนินคดีออกไปก่อนและยุติการเรียกเก็บหนี้กับเกษตรกรทั้งต้นและดอกออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีการเจรจาหาข้อยุติที่เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย กระบวนการเจรจาดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและค่อยๆ มีความคืบหน้าเป็นลำดับ ต่อมาคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ได้มีการประชุมครั้งที่  9/2553 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 พิจารณาและให้ความเห็นชอบในแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรดังกล่าว ดังนี้ (1) ให้ความเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. นำเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาอนุมัติการจำหน่ายหนี้เงินกู้ต้นเงินส่วนที่ ธ.ก.ส. ลดหนี้ให้แก่เกษตรกรซึ่งเป็นลูกค้าดังกล่าวเป็นหนี้สูญ รวมทั้งโครงการอื่นที่จำเป็นต้องจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญด้วย (2) อนุมัติให้ ธ.ก.ส.ปรับปรุงโครงสร้างนี้ ด้วยการลดต้นเงินบางส่วน ลดดอกเบี้ยค้างทั้งหมด และงดดอกเบี้ยใหม่ โดยให้มีต้นเงินคงเหลือรายละ 130,000 บาท แล้วนำมาขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 9 ปีตามศักยภาพของลูกค้า และงดดอกเบี้ยที่เกิดใหม่ โดยใช้หลักประกันจำนองเดิม และอนุญาตให้ลูกค้าไถ่ถอนที่ดินหลักประกันจำนองได้เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้น จากมติบอร์ด ธ.ก.ส. ดังกล่าว กลุ่มเกษตรกรและ ธ.ก.ส. จึงได้มีหนังสือไปถึงกระทรวงการคลังในช่วงต้นปี 2554 เพื่อขอให้พิจารณาอนุมัติแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรดังกล่าว ปรากฏว่าเรื่องไม่มีความคืบหน้า จนปี 2556 มูลนิธิฯได้มีหนังสือติดตามเรื่องไปอีกครั้ง ได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลังว่า ได้มีการแก้ไขกฎระเบียบภายในของ ธ.ก.ส. แล้วว่าตามแนวทางดังกล่าว ธ.ก.ส.สามารถดำเนินการเองได้เลย โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้ย้อนกลับไปติดตามเรื่องกับ ธ.ก.ส. ทำให้ทราบว่า เงื่อนไขต่างๆ ที่เคยมีมาไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากยอดหนี้เดิมตกคนละ 1.5-1.6 ล้านบาทลดเหลือเพียง 130,000 บาท กำหนดเวลาผ่อนชำระคืนไม่เกิน 9 ปี ใช้หลักประกันจำนองเดิม ส่วนเรื่องงดดอกเบี้ยที่เกิดใหม่ ธ.ก.ส.ขอคิดอัตราดอกเบี้ย บวกลบ MRR 3% ซึ่งปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 4 ของยอดหนี้ที่ 130,000 บาทเพื่อให้เกิดสภาพบังคับไว้บ้าง กลุ่มเกษตรกรได้พิจารณาเทียบกับระยะเวลาที่ได้หยุดพักชำระหนี้ไปตั้งแต่ปี 2552 จนมีโอกาสฟื้นฟูความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นตามลำดับ เห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวแม้จะมีการคิดดอกเบี้ยอยู่บ้างแต่ก็มีความเหมาะสมแล้วและสามารถที่จะชำระหนี้ดังกล่าวได้ในเวลาอันรวดเร็ว เกษตรกรจำนวนกว่า 90 ครัวเรือนที่เคยตกเป็นทาสหนี้ครัวเรือนละ 1.5-1.6 ล้าน จึงยินยอมตกลงทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง ส่วนคนที่เคยถูกฟ้องร้อง ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการถอนฟ้องทั้งหมด แนวทางนี้ได้ถูกนำไปใช้แก้ไขปัญหาหนี้ของกลุ่มเกษตรกรทำสวนเขาดิน อ.เดิมบางนางบวช และ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เช่นกัน จนสามารถปลดหนี้ไถ่ถอนที่ดินสร้างความเป็นไทให้กับครอบครัวได้ในเวลาไม่นาน วันนี้ฟ้าใหม่เปิดแล้ว เนื้อที่ 565 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวาของกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านสิงห์กำลังกลับคืนสู่ความเป็นเจ้าของของพวกเขาอีกไม่นาน หมู่บ้านดอนโพ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นสถานที่ผลิตพืชผักผลไม้นานาพรรณ ใครผ่านไปทางนั้นควรไปแวะเยี่ยมชมและซื้อหาผลผลิตได้ในราคาย่อมเยา ชาวบ้านฝากบอกว่า ยินดีต้อนรับเป็นอย่างยิ่ง   แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร จากการประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 (1) ให้ความเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. นำเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาอนุมัติการจำหน่ายหนี้เงินกู้ต้นเงินส่วนที่ ธ.ก.ส. ลดหนี้ให้แก่เกษตรกรซึ่งเป็นลูกค้าดังกล่าวเป็นหนี้สูญ รวมทั้งโครงการอื่นที่จำเป็นต้องจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญด้วย (2) อนุมัติให้ ธ.ก.ส.ปรับปรุงโครงสร้างนี้ ด้วยการลดต้นเงินบางส่วน ลดดอกเบี้ยค้างทั้งหมด และงดดอกเบี้ยใหม่ โดยให้มีต้นเงินคงเหลือรายละ 130,000 บาท แล้วนำมาขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 9 ปีตามศักยภาพของลูกค้า และงดดอกเบี้ยที่เกิดใหม่ โดยใช้หลักประกันจำนองเดิม และอนุญาตให้ลูกค้าไถ่ถอนที่ดินหลักประกันจำนองได้เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้น    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 150 ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัด (ตอน 2)

เรื่องไฟฟ้าดับตอนที่แล้ว เขียนถึงข้อสงสัยกรณีไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้  ตอนนี้เรามีข้อมูลจากผู้ปฏิบัติการจริงในพื้นที่ มาตอบข้อสงสัยกัน(ไม่รู้ว่าจะใช่คำตอบที่แท้จริงหรือไม่) เรื่องนี้เกิดขึ้นโดยผู้เขียนใช้ฐานะ ประธานคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานเขต 10 ราชบุรี  (มีพื้นที่ดูแล 6 จังหวัด)เชิญผู้อำนวยการกองควบคุมและบำรุงรักษา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 เพชรบุรี (ภาคใต้)  เข้าชี้แจงสาเหตุการเกิดไฟฟ้าดับ   ซึ่งมีคำชี้แจงว่า 1.การเกิดไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้และภาคกลางบางส่วน เมื่อวันที่        21 พฤษภาคม  2556  เหตุเกิดจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) มีการปิดซ่อมสายส่งขนาด 500 KV สายส่งจาก อำเภอ       จอมบึง-อำเภอบางสะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์   ระหว่างเวลา 08.00 น. – 17.00 น. ในพื้นที่ อำเภอบ้านลาดจังหวัดเพชรบุรี   มีกำหนดการนำสายส่งกลับเข้าระบบเพื่อจ่ายไฟในเวลา  18.00 น.  แต่ปรากฏว่าการซ่อมบำรุงล่าช้ากว่ากำหนด เวลา 20.00 น.ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556  เกิดเหตุฟ้าผ่าสายส่งเส้นสำรองทำให้เกิดการชำรุดและไฟฟ้าดับ โดยไฟฟ้าฝ่ายผลิตนำสายส่งที่ซ่อมบำรุงเข้ามาติดตั้งได้เวลา 02.00 น. ของวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายวงกว้าง(แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต  กลับออกมาคนละทาง  กับข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่    ดังที่เราได้เห็นข้อมูลที่ รมต.พลังงาน  ออกมา ให้ข่าวสรุปผลการสอบ  ว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของระบบ) 2. กรณีภาคใต้มีแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่หลายโรง และมีปริมาณการผลิตจำนวนมาก  แต่ทำไมไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสายส่งได้   สาเหตุเป็นเพราะระบบการส่งกระแสไฟฟ้ามีการคำนวณโดยใช้สูตร N- 1  สรุปได้ว่า เมื่อกระแสไฟฟ้าจากส่วนกลางถูกตัดขาด  เทคโนโลยีของแต่ละโรงไฟฟ้าคำนวณได้ว่าหากส่งกระแสไฟเข้าสายส่งจะเกิดความเสียหายต่อระบบผลิต  ก็จะตัดการส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสายส่งแบบอัตโนมัติ  เป็นเหตุให้ในพื้นที่ภาคใต้ไฟฟ้าดับเต็มพื้นที่ คำถามสำคัญคือ  แนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มในภาคใต้ สามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือ? เพราะประสบการณ์ผ่านมาทำให้เราเห็นได้ว่า    นโยบายที่ทำให้ระบบการการส่งกระแสไฟผูกติดกับส่วนกลาง ส่งผลให้พื้นที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ปัญหามันอยู่ที่แนวคิดและนโยบาย ที่ใช้อำนาจผูกขาดการตัดสินใจไว้เพียงในส่วนกลางเท่านั้น  ที่สำคัญคือ เราบอกว่าประเทศไทยปรกครองในระบบประชาธิปไตย  การบริหารหลายส่วน มีการกระจายอำนาจลงพื้นที่  แต่ที่ส่วนกลางกอดติดไม่ยอมกระจายอำนาจ คือ  “พลังงาน” เพราะอะไร? แหม...ข้อมูลกำลังเข้มข้นเลย  หมดเนื้อที่ซะแล้ว ......โปรดติดตามตอนต่อไป    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 150 เสียงผู้บริโภค

ตรวจสุขภาพฝากครรภ์  ใครๆ ก็ใช้บัตรทองได้ เราอาจเคยได้ยินว่าสิทธิด้านสุขภาพต่างๆ ที่รัฐจัดให้ ทั้งสิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ หรือสิทธิตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) หากใครมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะไปใช้สิทธิอีกอย่างหนึ่งไม่ได้ ด้วยความรู้แบบนี้และความอ่อนแอในการสื่อสารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้ประชาชนพลาดสิทธิที่มีอยู่ได้เช่นกัน สุพัตรา เป็นพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่งมีสิทธิประกันสังคม เธอตั้งครรภ์อยากจะฝากครรภ์พอเปิดไปดูรายละเอียดความคุ้มครองเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในประกันสังคม ก็พบแต่เงินช่วยเหลือเหมาจ่าย 13,000 บาทให้ค่าคลอดบุตรเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าต้องควักเงินสำรองจ่ายไปก่อนจนคลอดบุตรแล้วถึงจะไปขอเบิกคืนได้ ก็อยากจะประหยัดเงินมากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เธอจึงขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมจนทราบว่า ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ได้ให้สิทธิแก่ผู้ถือบัตรประกันสังคมและคนไทยทุกคนให้มาใช้สิทธิบัตรทองได้ในการรับบริการสาธารณสุขเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ซึ่งรวมถึงการฝากครรภ์ด้วย โป๊ะเช่ะ...ไม่ต้องควักเงิน ลุย ! สุพัตรา เดินเข้าไปที่โรงพยาบาลราชวิถีเพื่อขอฝากครรภ์และขอใช้สิทธิบัตรทอง เรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเป็นงง  บอกใช้ไม่ได้มีสิทธิประกันสังคมอยู่แล้วก็ให้ไปเบิกเงินกับทางนั้นซะ คนถือบัตรประกันสังคมจะใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้เพียงเรื่องการคุมกำเนิดเท่านั้น รอคลอดก่อนแล้วค่อยใช้สิทธิทำตอนทำหมันนะจ๊ะ ซึมเล็กๆ เมื่อได้รับคำตอบแบบนั้น สุพัตราหยิบมือถือโทรไปที่ call center สปสช. 1330 ถามความชัดเจนว่ามันเป็นยังไงกันแน่ เห็นใบประชาสัมพันธ์บอกว่าใช้ได้ไง call center สปสช. ยืนยันว่า ผู้ถือบัตรประกันสังคมสามารถใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเรื่องการฝากครรภ์ได้ และแนะนำให้สุพัตราไปคุยกับทางศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลราชวิถีอีกครั้ง สุพัตราอุ้มท้องอ่อนๆ แล้วค่อยๆ เดินไปที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลราชวิถีเพื่อขอยืนยันการใช้สิทธิอีกคำรบ “ไม่ได้ค่ะ เราเคยมีผู้ถือบัตรประกันสังคมมาขอใช้สิทธิแบบน้องนี่แหละค่ะ ก็ต้องแจ้งว่าผู้ที่ใช้สิทธิได้จะเป็นผู้ที่ส่งประกันสังคมไม่ครบ 7 เดือนเท่านั้นค่ะ” เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลอธิบาย สุพัตราจึงกดโทรศัพท์และขอให้เจ้าหน้าที่ สปสช. ได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ คุยกันอยู่พักใหญ่สุดท้ายศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลก็ยังยืนยันไม่ให้เธอใช้สิทธิ แถมยังบอกว่า ไม่มีนโยบาย หากต้องการใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้ไปขอใช้สิทธิที่สถานพยาบาลอื่นแทน  จะเรียกว่าเป็น “ไล่” อย่างสุภาพก็ว่าได้ เมื่อการใช้สิทธิล้มเหลว สุพัตราจึงโทรคุยกับเจ้าหน้าที่ สปสช. อีกครั้ง เจ้าหน้าที่แจ้งว่าแม้ สปสช.จะมีนโยบายดังกล่าว แต่ สปสช. ไม่มีอำนาจบังคับให้โรงพยาบาลทำตามนโยบายดังกล่าวได้ “เอ้า...แล้วมันจะเรียกว่านโยบายได้ไงน่ะ เที่ยงนี้ขนมจีนอย่ากินดีกว่า มันคงไม่มีน้ำยาเหมือนกัน” สุพัตราบ่นกับตัวเองพร้อมควักเงิน 760 บาทเป็นค่าดำเนินการฝากครรภ์ให้กับโรงพยาบาล ก่อนนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แนวทางแก้ไขปัญหา   หลังรับเรื่องร้องเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ตรวจสอบที่มาที่ไปในสิทธิการรับบริการสาธารณสุข การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้พบความเป็นมาว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ดำเนินงานภายใต้นโยบายสาธารณสุขที่ต้องการให้ประชาชนได้รับบริการทางสุขภาพทั้งด้านการรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพ การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคอย่างมีมาตรฐาน เสมอภาค และเท่าเทียมกัน รวมถึงการพัฒนาสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องการลดอัตราตายของเด็กและทารก อัตรามารดาตาย การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญ เป็นต้น จึงได้ดำเนินการแปลงนโยบายที่ว่าสู่การปฏิบัติเพื่อให้มีการดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง มีระบบบริการเน้นการดูแลในระดับ Primary care และในชุมชน โดยจัดให้มีบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์จนถึงวัยสูงอายุโดยการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัว/ตามกิจกรรมหรือตามผลงานบริการ ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ที่กำหนด นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ผู้มีสิทธิอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในอนาคต  โดยเปิดให้ผู้ที่ใช้สิทธิประกันสังคมและสิทธิราชการ สามารถใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้ จากเอกสารเผยแพร่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพยังยืนยันว่า ผู้มีสิทธิประกันสังคมสามารถเข้าขอใช้สิทธิการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ไม่ใช่แค่การฝากครรภ์ แต่ยังรวมไปถึงการวางแผนครอบครัวแบบชั่วคราว ทั้งการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด ห่วงอนามัย แม้กระทั่งการจะขอรับการตรวจหามะเร็งปกมดลูก ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้ เมื่อได้ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว มูลนิธิฯจึงได้ทำหนังสือเรียนถึง ประธานคณะกรรมการคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขเพื่อให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้ในเวลาต่อมาได้มีการประสานงานระหว่าง สปสช. กับโรงพยาบาลราชวิถีอีกครั้ง และมีการยินยอมให้สุพัตราสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้ เนื่องจากการฝากครรภ์อยู่ในบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ให้ความคุ้มครองแก่คนไทยทุกคน โดยต้องเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพ ประเด็นนี้ทำให้เห็นจุดอ่อนใหญ่ๆ 2 จุด คือ ความคุ้มครองด้านสุขภาพของประกันสังคมใครอยากใช้สิทธิต้องควักเงินก่อนและมีข้อจำกัดของวงเงินซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และเน้นให้ความคุ้มครองด้านการรักษาแต่ไม่เน้นด้านการป้องกัน ขณะที่นโยบายในความคุ้มครองของหลักประกันสุขภาพแม้จะมีนโยบายที่ดีมุ่งหวังดูแลประชาชนถ้วนหน้าแต่ยังมีการปฏิบัติที่ไม่ถ้วนหน้าจากสถานพยาบาลบางแห่งหรือบางครั้งอยู่ จำเป็นที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะต้องวางกรอบระเบียบแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิได้อย่างแท้จริงต่อไป     ซื้อเตียงนอกแถมได้มอดนำเข้า พลชัย เป็นหนุ่มฐานะดีมีงานทำอยู่ต่างประเทศ 1-2 เดือนถึงจะได้กลับมาพักผ่อนที่เมืองไทยสักครั้งหนึ่ง ลงทุนซื้อคอนโดใหม่เป็นนิวาสสถาน อยู่คอนโดใหม่จะใช้ของเก่าไม่เข้าสไตล์ก็กระไรอยู่ เลยลงทุนซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่เอี่ยมยกชุดรวมถึงเตียงนอน พลชัยไปซื้อเตียงหรูจากห้างเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังย่านบางนาราคาสี่หมื่นเก้าพันกว่าบาท เขาบอก ประทับใจตั้งแต่วันแรกที่นัดส่งของ นัดครั้งแรกปล่อยให้รอถึง 5 โมงเย็น สุดท้ายโทรมาบอกสินค้าชำรุดส่งไม่ได้ นัดครั้งที่สอง เอาเตียงมาส่ง แต่เอาของชำรุดมาหัวเตียงหัก พลชัยเลยไม่ยอมรรับของ นัดครั้งที่สาม พลชัยบอกต้องรับของเลยเพราะจะเข้าอยู่แล้วไม่งั้นคงได้นอนปูเสื่อในคอนโดหรูแน่ หลังจากที่รับสินค้ามาใช้งานก็สังเกตว่า ใต้เตียงมีผงไม้ตกอยู่ที่พื้น พลชัยนึกในแง่ดีว่าคงเป็นแค่เศษไม้ที่ใสไม่ดีมีเศษค้างอยู่และร่วงหล่นมา จนเวลาล่วงเลยมาได้ 6 เดือนหลังจากรับเตียงมาใช้ ทางคอนโดมีการฉีดยาฆ่าแมลง พลชัยกลับจากทำงานต่างประเทศจะนอนเตียงซะหน่อย ก็เจอตัวอะไรสักอย่างตายเกลื่อนพื้นตกอยู่ใต้เตียง พอพลิกฟูกขึ้นมาดูเห็นซากแมลงตัวเล็กๆ ที่ดูคล้ายมอด เขาโทรแจ้งไปที่ห้างเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังแห่งนั้น บอกว่าเตียงน่าจะมีตัวมอดอยู่ให้ส่งคนเข้ามาตรวจสอบดูและกำจัดมอดให้ด้วย พนักงานจากร้านเฟอร์นิเจอร์มาดูและยอมรับว่าเตียงมีมอดจริง พร้อมแสดงความรับผิดชอบด้วยการรับเตียงกลับไปและบอกให้พลชัยไปเลือกเตียงใหม่ที่ร้านได้ โดยไม่ได้มีการกำจัดมอดที่อาจหลงเหลืออยู่ในห้อง ปรากฏว่าเตียงใหม่ที่ได้มาหัวเตียงสไตล์หลุยส์แต่ราคาร่วมหกหมื่นบาท เขาต้องจ่ายเพิ่มอีกเกือบหนึ่งหมื่นบาท เอามาใช้นอนได้สักพักปรากฏว่าเตียงตัวใหม่มีมอดเป็นของแถมเหมือนกัน “ห้างฯ บอกว่าเป็นเตียงนำเข้า ตัวมอดก็นำเข้ามาจากต่างประเทศมาแพร่เชื้อเมืองไทย ทุกครั้งที่เห็นโฆษณาของห้างฯ ชื่อดังแห่งนี้ เห็นเตียงเราปรากฏบนหน้าจอทีวี เจ็บช้ำใจมาก ไม่รู้คนอื่นซื้อไปติดตัวมอดไปอีกกี่คน” พลชัยถาม   แนวทางแก้ไขปัญหา จากการตรวจสอบข้อมูล ทราบว่าผู้ร้องเรียนรายนี้ได้รับการแจ้งข้อมูลจากพนักงานหลายคนของห้างเฟอร์นิเจอร์แห่งนี้ว่า สินค้าล็อตแรกๆ ช่วงที่เปิดห้างสินค้านำเข้าไม่ได้ผ่านการอบฆ่าเชื้อ และรีบส่งให้ลูกค้า ทำให้มีปลวกมีมอดติดมาในเนื้อไม้ด้วย หลังจากที่ได้มีการประสานงานเจรจากัน ห้างเฟอร์นิเจอร์ยอมรับสินค้าคืนและคืนเงินให้แก่ผู้ร้องเรียนเต็มตามจำนวนที่จ่ายไปเกือบหกหมื่นบาท และยังยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องเรียนต้องจ้างบริษัทกำจัดปลวกมากำจัดสัตว์ไม่พึงประสงค์ที่ตกค้างในคอนโดให้อีก 8,000 บาท พลชัยยอมรับการชดเชยด้วยอารมณ์เซ็งฝุดๆ เข็ดแล้วเลือกเตียงตามโฆษณา แถมอะไรไม่แถม ดันแถมมอดปลวกนำเข้าซะนี่     ถูกเรียกค่าเช่าห้องก่อนย้ายออกไม่เป็นธรรม ปรารถนา ทำสัญญาเช่าห้องกับอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่งย่านอ้อมน้อย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2555 สัญญาระบุค่าเช่าห้องและค่าเช่าเฟอร์นิเจอร์ราคา 3,900 บาทต่อเดือน เก็บค่าประกันเฟอร์นิเจอร์ 5,000 บาท กำหนดพักอาศัยไม่ต่ำกว่า 6 เดือนนับแต่วันที่เช่า  หากเช่าไม่ครบกำหนด อพาร์ทเม้นท์จะไม่คืนเงินค่าประกันให้ ในขณะที่ปรารถนาได้ให้ข้อมูลว่า ห้องที่เข้าพักเป็นห้องวีไอพี สัญญาจึงต้องอยู่ขั้นต่ำ 3 เดือน โดยจะครบกำหนดวันที่ 4 มิถุนายน 2555 (ตรวจสอบสัญญาแล้วไม่มีข้อความไหนที่ระบุตามเงื่อนไขนี้) พอเข้าพักอาศัยปรารถนาบอกว่าพบความไม่สะดวกหลายอย่างในการเข้าพักที่อพาร์ทเม้นท์แห่งนี้ เช่น เสียงดังจากถนนใหญ่ การเก็บค่าไฟฟ้ามากเกินจริง ร้านซักรีดรีดเสื้อผ้าไม่ประณีต และเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญที่สกปรก รวมไปถึงเรื่องการจราจรที่ต้องใช้เวลารอการข้ามถนนนานมากทำให้ไปงานสาย จึงอยากย้ายออกก่อนกำหนดที่เข้าใจว่าคือวันที่ 4 มิถุนายน 2555 แต่ต้องการเงินประกันคืน ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2555 ปรารถนาจึงไปปรึกษากับเสมียนสำนักงานอาคารว่าอยากขอย้ายออกก่อนกำหนด โดยให้เหตุผลแบบเนียนๆ ว่า ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ดูเท่ไม่เบา เสมียนก็เห็นใจแจงว่า หากย้ายออกก่อนกำหนดและต้องการเงินประกันคืน ทางอาคารจะคิดค่าเช่าถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2555 แล้วถึงจะได้เงินประกันคืนหลังจากนั้น ซึ่งปรารถนาก็ยินยอม วันที่ 25 พฤษภาคม 2555 จึงได้ไปกรอกแบบฟอร์มแจ้งความจำนงขอย้ายออก พบเงื่อนไขในแบบฟอร์มว่า “กรณีผู้เช่าออกไม่เกินวันที่ 15 ของเดือน จะเก็บค่าเช่าห้องพักถึงวันที่ 15 เท่านั้น โดยสามารถรับเงินค่าประกันห้องพักคืนได้ตั้งแต่วันที่ 20 ของเดือนที่ย้ายออกเป็นต้นไป กรณีผู้เช่าย้ายออกหลังจากวันที่ 15 ของเดือน จะเก็บค่าเช่าห้องพักเต็มเดือน โดยสามารถรับเงินค่าประกันห้องพักคืนได้ตั้งแต่วันที่ 10 ของเดือนถัดไปเป็นต้นไป” จากเงื่อนไขที่ว่า ทำให้ปรารถนาต้องถามย้ำกับเสมียนอพาร์ทเม้นท์ว่า ตนเองจะต้องเสียค่าเช่าถึงวันที่เท่าไหร่ ก็ได้รับคำตอบยืนยันเหมือนเดิมว่า คิดค่าเช่าถึงวันที่ 4 มิถุนายนเท่านั้นและเงินประกันห้องจะได้คืน พอถึงวันย้ายของออก ได้มีเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานมาแจ้งกับปรารถนาว่าจะต้องจ่ายค่าเช่าถึงวันที่ 15 มิถุนายนหรือจ่ายอีกครึ่งเดือนตามเงื่อนไขที่ได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วถึงจะได้เงินประกันคืน ปรารถนาเลยไม่ยอมเพราะเจรจาและเข้าใจมาโดยตลอดว่าจ่ายถึงวันที่ 4 มิถุนายนเท่านั้น แล้วนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แนวทางแก้ไขปัญหา ได้ฟังเรื่องราวแล้วดูชุลุมุนอีรุงตุงนังเหมือนกัน เนื่องจากการสื่อสารที่ไม่ได้ยึดข้อสัญญาที่ทำไว้ และด้วยความปรารถนาดีของเสมียนอพาร์ทเม้นท์ที่อยากจะช่วยเหลือผู้ร้องเรียนทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีอำนาจ ก็เลยทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนห่างไกลไปจากข้อสัญญาที่ทำไว้มากขึ้นเรื่อยๆ อพาร์ทเม้นท์แห่งนี้แม้จะมีข้อเสียหลายประการ แต่จุดดีอย่างหนึ่งก็คือการเปิดโอกาสให้ผู้เช่าแจ้งย้ายออกได้โดยให้บอกกล่าวล่วงหน้าก่อน 15 วันเท่านั้น เพราะที่เห็นมาบางแห่งต้องแจ้งก่อนเป็นเดือน และอีกประการคือหากแจ้งย้ายก่อนวันที่ 15 ของเดือนก็จะคิดค่าเช่าแค่ครึ่งเดียวบางแห่งก็ฟาดซะเต็มเดือน ดังนั้นเมื่อปรารถนาแจ้งย้ายเป็นทางการด้วยการกรอดแบบฟอร์มแจ้งความจำนงขอเลิกสัญญาเช่าในวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ตามสัญญาที่ถือกันอยู่ปรารถนาก็มีสิทธิที่จะอยู่พักในห้องเช่าได้ไปจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2555 เพราะมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเช่าอีกครึ่งเดือนตามสัญญาอยู่แล้ว ที่ว่ามานี้เป็นไปตามสัญญาทั่วไปที่ใช้ปฏิบัติกันอยู่ แต่ทั้งนี้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกประกาศ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าที่อยู่อาศัยที่เรียกเงินประกันเป็นธุรกิจควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2549 ซึ่งกำหนดให้ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันทันทีเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเช่าที่อยู่อาศัย หรือเมื่อสัญญาเช่าเลิกกัน เว้นแต่กรณีที่ผู้ให้เช่าประสงค์จะตรวจสอบความเสียหายที่ผู้เช่าต้องรับผิดชอบ หากผู้เช่าไม่ได้ทำความเสียหาย ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันภายใน 7 วัน โดยให้ผู้ให้เช่ารับภาระค่าใช้จ่ายในการนำส่งคืนเงินประกันตามวิธีการที่ผู้เช่าแจ้งให้ทราบ ดังนั้น เมื่อปรารถนาบอกเลิกสัญญาในวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 และแจ้งจะขนย้ายของออกในวันที่ 27 พฤษภาคม 2555  ส่วนผู้ให้เช่าขอตรวจสอบความเสียหาย แล้วไม่พบความเสียหายก็จะต้องคืนเงินประกันภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ซึ่งสามารถที่จะหักค่าเช่าห้องครึ่งเดือนที่ค้างอยู่ตามสัญญาได้ หากอพาร์ทเม้นท์หรือห้องเช่าแห่งไหนที่มีการเรียกเก็บเงินประกันไม่มีข้อความหรือรายการแจ้งสิทธิตามประกาศของ สคบ. ผู้บริโภคสามารถแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ให้เช่าได้ทันที ฐานความผิดคือมีใบเสร็จรับเงินที่ไม่มีรายการตามที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนด มีความผิดตามมาตรา 57 ของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถไปซื้อแบบหลักฐานการรับเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ที่กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โทรติดต่อสอบถามได้ที่ 02-1430377-83    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point