นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 161 เสียงผู้บริโภค

เมื่อลุงผู้ใหญ่ ถูกเรียกเก็บค่าบริการเสริมทางโทรศัพท์มือถือ..... ปัญหาการคิดค่าบริการโทรศัพท์ โดยระบุว่า เป็นค่าบริการเสริม ค่ารับ SMS หรือ รับข้อมูลอื่นๆ เกิดขึ้นเยอะในกลุ่มผู้ใช้บริการ ทุกเครือข่าย  ช่วงหลัง มักเจอบ่อยเรื่องของการเก็บโหลดข้อมูล Facebook หรือจากทาง แอฟต่างๆ ที่ส่งมาทางข้อความผู้ใช้บริการโดยจะคิดค่าบริการจาก 10-20 บาท และเริ่มจะมากขึ้นเรื่อยๆ หากผู้ใช้บริการไม่สังเกต  โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บริการเหมาจ่ายรายเดือน และระบบจ่ายรายเดือน เนื่องจากมีรายการหลายอย่าง หรือแม้แต่ผู้ใช้ระบบเติมเงินก็มักถูกหักเงินบ่อยครั้ง แต่ทุกรายมักจะมีคำพูดที่ว่า “ไม่เป็นไร มันไม่เยอะ แค่ 10-20 เอง”  ถ้าลองคำนวณดูว่า 10 บาท กับ 1 ล้านคน ก็เป็น 10 ล้านบาท  เยอะไหมคะ พอที่เราจะต้องเรียกร้องเงินจำนวน 10 บาท ของเราคืนไหม เพื่อที่ประโยชน์จะได้ไม่ต้องไปตกกับกลุ่มเครือข่ายโทรศัพท์ที่เอาเปรียบผู้บริโภค ลุงสำเริง เป็นคนหนึ่งที่พบปัญหาการใช้โทรศัพท์ชนิดเหมาจ่ายรายเดือน ลุงสำเริง เป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่แถวเชียงราย จำเป็นต้องใช้โทรศัพท์หลายเครือข่ายและมักหาโปรโมชั่นที่คุ้ม สามารถติดต่อประสานงานได้ทุกช่วงเวลา  ลุงสำเริงสังเกตว่าค่าโทรศัพท์ของตนในแต่ละเดือน มักจะแจ้งยอดค่าบริการเสริม เช่นการรับ SMS หรือบริการดาวน์โหลดข้อมูลอื่นๆ อยู่บ่อยๆ  ซึ่งตนเองก็ไม่ได้เอะใจอะไรมากเนื่องจากเป็นยอดเงินไม่มาก   จนกระทั่งรอบบิลเดือนพฤษภาคม  ลุงสำเริงได้รับใบแจ้งหนี้ พบว่ามีค่าใช้จ่ายเกี่ยวบริการเสริม คือ ค่าบริการรับข้อมูล/ข่าวสาร จำนวน 12 ครั้ง  เป็นเงิน 78  บาท และบริการดาวน์โหลดต่างๆ จำนวน 10 ครั้ง เป็นเงิน 30 บาท รวมเป็นเงิน  108 บาท  คุณสำเริงบ่นมาตามสายว่า "เอไอเอสเก็บตังค์ลุงแห๋มแล้ว ค่าอะหยังบ่ฮู้  บ่ได้ใจ้สักน้อยโทรศัพท์ก็ใจ้แบบรุ่นเก่า เล่นFacebook ก็บ่ได้  จ่วยลุงกำเต๊อะ หยะอี้บ่เข้าท่าก้า มาไล่เก็บตังค์คนอื่นจ๊ะอี้" น้ำเสียงลุงรู้สึกแย่ๆ  เนื่องจาก ถูกเรียกเก็บแบบนี้มา 2-3 เดือนแล้ว แต่จำนวนไม่เยอะมาก จึงไม่ได้สนใจ แต่พอเจอครั้งนี้ รวมแล้วร้อยกว่าบาท จึงทนไม่ไหว ลุงสำเริงจึงไปทำเรื่องขอย้ายค่าย จากเอไอเอส เป็น ดีแทค (ซึ่งระบบแถวบ้านก็ไม่ได้ดีมาก แต่คิดว่าคงจะไม่มีการเรียกเก็บแบบนี้นัก) แต่พนักงานดีแทคแจ้งว่า ลุงสำเริงต้องไปจ่ายค่าบริการทั้งหมดก่อนจึงจะทำการย้ายค่ายให้ได้   ลุงสำเริง ช่างใจอยู่ว่าจะจ่ายเงินไปเสียเพื่อตัดความรำคาญแล้วก็ทำการย้ายค่ายหนีไปเลย รึจะทำอย่างไรดี เพราะถ้าไม่จัดการ ก็เจออีก  ลุงสำเริงจึงตัดสินใจโทรศัพท์มาเล่าเรื่องให้ฟัง พร้อมกับขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยแก้ไขปัญหาให้ แนวทางการแก้ไขปัญหา ปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ ด้วยตนเองโดยการแจ้งเรื่องไปยัง 1175  เพื่อให้ยกเลิกและให้คืนเงินเนื่องจากไม่ได้ใช้บริการดังกล่าว หรือ กด *137 เพื่อยกเลิกการรับข้อมูลข่าวสารหรือ ข้อมูลดาวน์โหลดต่างๆ ส่วนกรณีลุงสำเริง  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ส่งอีเมล์ ไปยังหน่วยรับเรื่องร้องเรียน ของบริษัท แอ๊ดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เพื่อให้ตรวจสอบและยกเลิกการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภค จำนวน 108 บาท ที่ผู้บริโภคถูกเรียกเก็บ เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้ใช้บริการแต่อย่างใด   ซึ่งในวันเดียวกัน ทางหน่วยรับเรื่องรียนของเอไอเอส ได้อีเมล์กลับมาแจ้งว่าได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว จะขอตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานโดยตรงว่าเป็นสาเหตุหรือการใช้งานด้านใด 7 วัน ต่อมา พนักงานจาก 1175 โทรมาแจ้ง ได้เช็คจากระบบแล้วพบว่า เครื่องของคุณลุงมีการใช้รับ SMS ที่ถูกส่งเข้าไป แล้วกดรับ และมีการดาวน์โหลดข้อมูลจาก Facebook   ซึ่งจากข้อมูลที่ลุงสำเริงให้มาพร้อมกับถ่ายรูปมือถือให้ดูว่าใช้มือถือรุ่นที่ไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ แต่ถูกเรียกเก็บเงิน พนักงานจึงแจ้งว่าในกรณีนี้ จะยกเว้นค่าบริการ จำนวน 108 บาทให้ แต่หากผู้บริโภคไม่ต้องการรับข้อความหรือข้อมูลข่าวสาร ให้ทำเรื่องยกเลิก โดยกด *137 ได้ด้วยตนเอง..... ซึ่งก็อาจจะต้องแก้ไขปัญหากันเป็นรายๆ ไปเพราะเครือข่ายผู้บริโภคพยายามเรียกร้องให้ เครือข่ายมือถือทุกเครือข่ายแก้ไขปัญหาการส่ง SMS กวนใจ กวนเงินให้กับผู้บริโภค อย่างจริงจัง แต่ก็ไม่เห็นมีทางออกที่ดีขึ้น ดังนั้นจึงฝากเตือนผู้บริโภคว่า ควรจะพึงใส่ใจเงินในระบบโทรศัพท์  ใส่ใจใบแจ้งหนี้ค่าโทรศัพท์ให้ดี เพื่อป้องกันการขโมยเงินในกระเป๋าโดยง่ายดายแบบลุงสำเริงที่เจอมา   รถหาย !   ถูกฟ้องเรียกค่ากุญแจ พี่คะ  “แม่หนูถูกฟ้อง  ทำยังไงดี ”   คำถามของคุณจิราภรณ์ ที่ซื้อรถยนต์มือสอง ยี่ห้อ TOYOTA ซึ่งจัดไฟแนนท์กับ  กับบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) โดยใช้ชื่อคุณแม่ เพราะตนเองเพิ่งทำงานและพักอยู่กับแม่ที่ ปทุมธานี  ปลายปี 54  เกิดวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้ต้องอพยพทั้งข้าวของและรถยนต์มาพักบ้านพี่สาวแถวงามวงศ์วาน ทำให้บ้านคับแคบข้าวของต้องวางไว้นอกบ้าน จนจอดรถไม่ได้  เลยต้องนำรถไปจอดไว้ข้างทาง เหมือนที่ชาวบ้านทั่วไปเค้าจอดกัน  โดยล็อกพวงมาลัย ล็อกเบรก และล็อกกุญแจประตูรถยนต์  ตามที่จะสามารถล็อกได้ จอดไว้ได้ประมาณเกือบปี  รถหาย! ในวันเดียวกันกับที่ทราบเรื่อง น้องรีบพาแม่ไปแจ้งความ  ตำรวจแนะนำให้ไปขอหนังสือมอบอำนาจเพราะไม่ใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์รถแจ้งความเองไม่ได้  ตนเองกับแม่ก็รีบไปขอหนังสือฉบับนั้นทันที  แล้วรีบมาดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ตำรวจทำคดีอีกครั้ง จัดการเรื่องนี้เสร็จก็ทำหนังสือถึงไฟแนนท์ขอหยุดชำระทันที  ถูกไฟแนนท์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมไปอีก 500  บาท ตนเองเสียดายรถยังคิดที่จะตามหารถ โดยโพสต์ Facebook บ้าง ไปตามที่มีแหล่งข่าวว่ารถน่าจะถูกขายแถวไหนบ้าง ก็ไม่พบ เรื่องเงียบหายไปปีกว่า  อยู่ๆ แม่ก็ได้รับหมายศาลถูกไฟแนนท์ฟ้องเป็นจำเลย คดีผิดสัญญา  ไฟแนนท์เรียกให้คืนรถ หรือคืนเงิน  ชาวบ้านอย่างเรา จะสู้เค้ายังไง  มีแต่กุญแจ ไม่มีรถ  ไม่มีเงิน  จะหาทนายช่วยอย่างไร  ได้มาปรึกษากับมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหา เนื่องจากพยานหลักฐานของผู้ร้อง ที่มีอยู่ครบถ้วน  เช่น หลักฐานการแจ้งความที่มีรายละเอียดครบถ้วน, หนังสือบอกกล่าวให้บริษัท อยุธยาฯ  รับทราบว่ารถหายไม่ขอชำระค่างวด และใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมการหยุดใช้รถ ภาพถ่ายต่างๆ เช่น การโพสต์ใน Facebook เพื่อตามหารถยนต์ของตนเอง สถานที่จอดรถ เป็นต้น   โดยแนวทางการต่อสู้คดีนั้น ชี้ให้เห็นว่า “รถหายมิได้เกิดจากความประมาทของผู้ซื้อ  และผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับหรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายหรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร” อีกทั้งบริษัทฯ ทราบดีอยู่แล้วว่ารถยนต์คันเช่าซื้อสูญหายไป โดยการแจ้งของผู้ร้อง ตามหลักฐานที่ผู้ร้องมี แล้วยังนำคดีมาฟ้อง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับ ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม คดีนี้ได้ขอให้ศาลยกฟ้อง    ภายหลังการพิจารณาคดี  ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง คดีนี้บริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์   คงต้องตามกันต่อไปว่าจะสิ้นสุดอย่างไร   ค่ารักษาพยาบาลมหาโหด เช้ามืดวันหนึ่ง ขณะที่หลายคนกำลังหลับใหล แต่คุณใหญ่ กลับทรมานด้วยอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว  และมีอาการปวดหลังร่วมด้วย พอเหมาะกับสามีก็ไปทำงานต่างจังหวัด จึงได้โทรศัพท์ให้น้องชายพาไปโรงพยาบาล ขณะที่เดินทางไปพบแพทย์คุณใหญ่เล่าว่าตัวเองมีสติครบถ้วน  และรู้สึกตัวดีทุกประการ  ไม่มีอาการของผู้ป่วยในลักษณะรุนแรง หรือฉุกเฉินแต่อย่างใด   โดยเมื่อมาถึงโรงพยาบาล  แพทย์ที่ทำการรักษาเบื้องต้นได้สอบถามอาการต่างๆ และยังสอบถามกับคุณใหญ่ว่าประสงค์จะนอนพักที่โรงพยาบาล  หรือจะเพียงฉีดยาแล้วเอายากลับไปรับประทานที่บ้าน และตรวจสอบสิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปด้วย  ซึ่งคุณใหญ่ก็แจ้งข้อมูลว่า ได้ทำประกันไว้กับ บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งพร้อมกับแสดงบัตรของบริษัทประกันภัยดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลก็ทำการรับตัวเข้าเป็นผู้ป่วยในทันที “เจ้าหน้าที่พาดิฉันไปเปลี่ยนเสื้อผ้า  เจาะเลือด  ฉีดยา  ให้น้ำเกลือ  และนำสารเคมีอะไรบางอย่างมาให้ ดิฉันดมจนหมดสติไป     ฟื้นขึ้นมาอีกทีก็ทราบว่านอนอยู่ในห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน( ห้อง ไอ ซี ยู ) เสียแล้ว” จากการสอบถามแพทย์ว่าเพราะเหตุใดท้องเสียต้องเข้ารักษาในห้องไอ ซี ยู   แพทย์ตอบว่าความดันต่ำต้องดูแลใกล้ชิด   คุณใหญ่ได้โต้แย้งว่าความดันต่ำเป็นโรคประจำตัวและเป็นปกติอยู่แล้ว  ไม่มีปัญหาอะไร  และขอออกจากห้อง ไอ ซี ยู   แต่แพทย์ไม่ยอมให้ออกท่าเดียวโดยอ้างเรื่องความดันต่ำ เป็นเหตุให้คุณใหญ่ต้องอยู่ในห้อง ไอ ซี ยู  เป็นเวลาถึง  3 วัน                             . ในระหว่างอยู่ในห้อง ไอ ซี ยู  มีการตรวจรักษามากมายหลายรายการ เช่น มีการให้เลือด การเอ็กซ์เรย์ปอด  มีการตรวจช่องท้องโดยอัลตร้าซาวด์  มีการตรวจมะเร็งที่สำไส้ และที่รังไข่  และอื่น ๆ อีกมาก  ทั้ง ๆ ที่ คุณใหญ่เองได้แจ้งต่อแพทย์ ผู้ตรวจตลอดเวลาว่าตนเองไม่ได้เป็นอะไรมาก และได้ตรวจร่างกายครั้งใหญ่เมื่อเดือนที่ผ่านมา  ผลการตรวจร่างกายก็ไม่มีสิ่งใดผิดปกติเลย  แต่แพทย์ก็ยังฝืนตรวจร่างกายอย่างบ้าคลั่ง เกินความจำเป็น  และไม่เกี่ยวกับโรคที่มาเข้ารับการรักษา   เป็นเหตุให้ค่ารักษาพยาบาลสูงมากถึง  139,553 บาท  หักประกันจำนวน  16,400 บาท  แล้วคง เหลือที่จะเรียกเก็บเป็นเงินจำนวน  122,573 บาท  คุณใหญ่เห็นว่าค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวเป็นค่ารักษาที่เกินความจริง เกินความจำเป็น  จึงไม่ชำระเงิน และออกจากโรงพยาบาลมาโดยยังไม่ได้ชำระเงินแต่อย่างใด ผ่านมาเกือบ 2  ปี คุณใหญ่ได้รับหมายศาล เพราะโรงพยาบาลฟ้องเรียกค่าเสียหาย  จึงได้เข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ  ซึ่งมูลนิธิได้ให้การช่วยเหลือและจัดให้ทนายความอาสาของมูลนิธิให้การแก้ต่างในคดีนี้   แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหา กรณีดังกล่าวหากผู้บริโภคเห็นว่าค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น ไม่สมเหตุสมผล แพงเกินจริง หรือมีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเกินความจำเป็นกว่าโรค (เจ็บเกินโรค) สามารถดำเนินการได้ดังต่อไปนี้ ยอมรับสภาพหนี้ที่เกิดขึ้นกับทางสถานพยาบาล แต่ต้อง “ทักท้วง” ในส่วนที่เป็นความผิดปกตินั้นเพื่อให้ทางสถานพยาบาลแสดงถึง ข้อเท็จจริง เอกสารใบเสร็จ กระบวนการขั้นตอนการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น ว่ามีความจำเป็น และ เหมาะสมจริงหรือไม่ หากสถานพยาบาลไม่สามารถแสดงข้อมูลได้ ผู้บริโภคควรสงวนสิทธิที่จะจ่ายค่าบริการที่เรียกเก็บ ในกรณีที่สถานพยาบาล แสดงเอกสารข้อมูลมาแล้ว แต่ผู้บริโภคเห็นว่า ไม่สามารถรับได้ ก็สามารถสงวนสิทธิที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้เช่นกัน ในกรณีที่สถานพยาบาล จะใช้วิธีการกักขัง-หน่วงเหนี่ยว** ตัวผู้บริโภคไว้ ไม่ให้ออกจากสถานพยาบาล โดยอ้างว่าจะปล่อยตัวเมื่อชำระค่าใช้จ่ายหมดสิ้นก่อน ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิดำเนินคดีอาญากับทางสถานพยาบาลนั้นๆ ได้ เพราะมีความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 310 โปรดจงจำไว้ว่า ค่ารักษาพยาบาล เป็นคดีความทางแพ่ง หากผู้บริโภคไม่มีเงินจ่าย ไม่ต้องกลัวว่าจะติดคุก **          กักขัง-หน่วงเหนี่ยว  คือ ผู้ใด หน่วงเหนี่ยว หรือ กักขัง ผู้อื่น หรือกระทำการด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิด ตามวรรคแรกเป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยว  ถูกกักขัง หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้น ถึงแก่ความตาย หรือได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำ ต้องระวางโทษดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 290 มาตรา 297 หรือ มาตรา 298 นั้น //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 160 เสียงผู้บริโภค

โดนขโมยบัตรเดบิตไปรูด  ธนาคารพิสูจน์ไม่ได้ ต้องคืนเงิน !!! เมื่อเดือนมกราคม 2554 เจฟฟรี จี เอเลน หนุ่มใหญ่ชาวออสเตรเลีย พร้อมภรรยา ได้เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า ถูกขโมยรหัสบัตรเดบิตไปใช้ซื้อสินค้าที่สหรัฐอเมริกา ทั้งที่ตนไม่ได้เป็นผู้ใช้ เมื่อติดต่อไปที่ธนาคาร ธนาคารก็ไม่รับผิดชอบ อยากขอให้มูลนิธิฯ ช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ สอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ความว่า เจฟฟรี ได้ย้ายมาอาศัยอยู่กินกับอาจารย์ทิพย์รัตน์ ภรรยาชาวไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยได้เปิดบัญชีออมทรัพย์กับธนาคารกรุงไทย สาขาแม่สะเรียง ตั้งแต่วันที่ 13  ตุลาคม 2548 เพื่อฝากเงินที่ได้รับจากสวัสดิการผู้สูงอายุประเทศออสเตรีย และสมัครเป็นผู้ถือบัตรเดบิตและทำสัญญาเป็นผู้ใช้บัตรเดบิต เพื่อนำไปใช้ชำระค่าซื้อสินค้าและบริการต่างๆ แทนเงินสด และในการเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ หรือ เอทีเอ็ม ต่อมาประมาณวันที่ 27 กันยายน 2554 เจฟฟรีพบความผิดปกติของจำนวนเงินในบัญชีที่ลดลงจำนวนมาก จึงติดต่อไปธนาคารกรุงไทยสาขาแม่สะเรียง เพื่อขอให้ตรวจสอบความผิดปกตินี้ เจ้าหน้าที่ธนาคารตรวจสอบแล้วแจ้งว่า มีรายการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2554  ถึงวันที่ 5 กันยายน 2554 รวมเป็นเงิน 120,599.35 บาท ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว เจฟฟรี และภรรยา ยืนยันว่าทั้งคู่อยู่ในประเทศไทย ไมได้เดินทางออกนอกประเทศไปที่ไหน และไม่เคยให้บัตรหรือรหัสกับผู้ใดไปใช้แน่นอน เจฟฟรีพยายามทักท้วงและให้เหตุผลกับธนาคารเพื่อให้คืนเงินกลับเข้าบัญชี แต่ธนาคารแจ้งว่าไม่พบความผิดปกติ คือธนาคารไม่เชื่อว่าเจฟฟรีไม่ได้ใช้นั่นเอง ธนาคารจึงไม่คืนเงินให้   แนวทางแก้ไขปัญหา ทางศูนย์ฯ ได้แนะนำให้ เจฟฟรี เตรียมพยานหลักฐานที่สำคัญเพื่อแก้ข้อกล่าวหาของธนาคารคือ หนังสือเดินทาง ที่ยืนยันว่าในช่วงเวลาดังกล่าว เจฟฟรีอยู่ในประเทศไทย  และให้ทำหนังสือถึงธนาคารเพื่อยืนยันว่าตนไม่ได้เป็นผู้ใช้และไม่ได้มอบบัตรให้บุคคลใดไปใช้ และขอให้ธนาคารแก้ไขคืนเงินในบัญชีโดยทันที เพื่อเป็นหลักฐานการร้องเรียนเสียก่อน ต่อมาธนาคารปฏิเสธการคืนเงินให้กับเจฟฟรี โดยให้เหตุผลน่าเชื่อว่า เจฟฟรีเป็นผู้ใช้บัตรเอง จึงไม่คืนเงิน เมื่อตกลงกันไม่ได้ เจฟฟรี จึงจำเป็นต้องฟ้องธนาคารกรุงไทย เป็นคดีผู้บริโภค ต่อศาลแขวงพระนครใต้ เรียกค่าเสียหาย 125,357.11 บาท ในชั้นพิจารณาคดี เจฟฟรีและภรรยา เป็นพยานเบิกความว่า ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2554 ถึง วันที่ 5 กันยายน 2554 เจฟฟรีอยู่กับภรรยา ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนและที่จังหวัดเชียงใหม่ เจฟฟรีไม่เคยมอบบัตรเดบิตให้ผู้อื่นนำไปใช้และมิได้เป็นผู้ใช้หรือยินยอมให้ใครนำไปใช้แต่อย่างใด ส่วนจำเลยมีนายอรรนพ ชื่นบุญ พนักงานจำเลยเบิกความพบว่า ในช่วงวันที่ 8 สิงหาคม 2554 ถึง วันที่ 5 กันยายน 2554 บัตรเดบิตของโจทก์ถูกนำไปใช้ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ แบบซื้อสินค้าทั่วไปตามปกติ เช่น อาหาร หรือ ร้านสะดวกซื้อ ไม่ใช่ลักษณะของพวกมิจฉาชีพ และยืนยันว่ารายการดังกล่าวเป็นการใช้บัตรของโจทก์เองหรือตัวแทน โจทก์จึงต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะถือว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ เนื่องจากโจทก์มีหน้าที่เก็บรักษาบัตรและรหัสไว้เอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้คืนโจทก์ตามที่ฟ้อง แต่พยานจำเลยเองก็ได้เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ในการนำบัตรเดบิตไปซื้อสินค้าและบริการต่างๆ จะต้องมีเซลส์สลิปและลายมือชื่อของลูกค้าทุกครั้ง ซึ่งพยานจำเลยอ้างว่า ได้ทำเรื่องไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อขอหลักฐานแล้วแต่ไม่ได้อ้างศาลและจากประสบการณ์การทำงานของพยานจำเลยที่ทำงานมานาน สันนิษฐานได้ว่าบัตรเดบิตของโจทก์ถูกขโมยไปใช้ที่สหรัฐอเมริกา ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าโจทก์เป็นผู้นำบัตรเดบิตไปใช้ด้วยตนเองหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนำไปใช้ แต่กลับไปนำความจากทางนำสืบของจำเลยว่าบัตรเดบิตของโจทก์น่าจะถูกขโมยไปใช้ โดยไม่ปรากฎว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่าบัตรเดบิตของโจทก์ถูกขโมยไปใช้ที่สหรัฐอเมริกา กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์เป็นผู้ใช้บัตรเองหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนำไปใช้ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง จำเลยจึงไม่มีสิทธินำรายการการซื้อสินค้าและใช้บริการดังกล่าวมาหักเงินจากบัญชีของโจทก์ได้ จึงพิพากษาให้ จำเลยต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ “ส่วนตัวตอนแรกไม่คิดว่าจะต้องฟ้องเป็นคดีความต่อศาล เพราะคิดว่าธนาคารจะคืนเงินให้กับตน เพราะตนไม่ได้เป็นผู้ใช้ แต่เมื่อธนาคารไม่สนใจจะแก้ไขปัญหานี้ก็ต้องฟ้องคดี ซึ่งผลคดีที่ออกมา ตนรู้สึกพอใจกับคำพิพากษา ที่ท่านให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภค ตนเชื่อว่านอกจากตนแล้ว น่าจะมีผู้บริโภครายอื่นที่เจอปัญหาแบบนี้ ก็อยากฝากให้คนที่เจอปัญหาแบบตนลุกขึ้นมาใช้สิทธิร้องเรียนให้ถึงที่สุด ตนเชื่อว่าทุกคนจะรับความเป็นธรรมอย่างแน่นอน” คุณเจฟฟรีกล่าวทิ้งท้ายไว้   เจ็บป่วยฉุกเฉิน สิทธิการรักษาที่สร้างความสับสน นิยาม “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน”   คงจะใช้ไม่ได้ในหลายกรณี เช่นเดียวกับผู้ป่วยรายนี้   คุณสายันห์  อายุ 61 ปี อาศัยอยู่แถว ซ.ประชาอุทิศ 19  ทุ่งครุ  เกิดอาการล้มหมดสติ เวลาประมาณ 23.00 น ในวันที่ 3 มกราคม 2557  ญาติได้นำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน   ระหว่างที่นำส่งญาติทราบดีว่าสิทธิของผู้ป่วยอยู่ รพ.ตากสิน แต่ขณะที่อยู่บนรถ คุณสายันห์ เกิดอาการหยุดหายใจ ญาติจึงเร่งนำตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งแพทย์ได้ทำการรักษาผู้ป่วยอย่างเร่งด่วนในห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน จนกระทั่งอาการดีขึ้น ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่เรียกเก็บค่ารักษาคุณสายันห์ เป็นเงิน 148,324 บาท  ญาติถึงกับตกใจ ภรรยาคุณสายันห์ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี จึงได้ขอให้ทางโรงพยาบาลย้ายคุณสายันห์ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลตากสินตามสิทธิ  แล้วจึงไปกู้เงินนอกระบบเพื่อนำกลับมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลแรกที่ช่วยรักษาคุณสายันห์ ปัญหาคือ ทำไมโรงพยาบาลจึงไม่แจ้งเรื่องสิทธิฉุกเฉิน 3 กองทุนที่ผู้ป่วยสามารถใช้ได้ ทำไมต้องมาแบกรับภาระค่ารักษาทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิตามหลักประกันสุขภาพ เมื่อมารักษาที่โรงพยาบาลตากสิน จนอาการดีขึ้นแพทย์อนุญาตให้กลับไปรักษาต่อที่บ้านได้ แต่ญาติๆ พบว่าผู้ป่วยไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ เนื่องจากไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากช่วงที่หัวใจหยุดเต้นก่อนถึงโรงพยาบาล  ปัจจุบันต้องมีคนคอยดูแลตลอดเวลา ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน”  อาจเป็นเพียงภาพลวงตาที่ไม่สามารถเป็นจริงได้ เช่นกรณีคุณสายันห์ป่วยฉุกเฉินด้วยอาการหยุดหายใจเฉียบพลัน ซึ่งเข้าตามเกณฑ์ที่สภาพยาบาลได้ให้ไว้  แต่สุดท้ายก็ต้องจ่ายเงิน(อย่างตกใจ)ไปก่อน พอได้ทราบเรื่องสิทธิและตามเบิกตามสิทธิแห่งตน ก็ได้รับการอนุมัติเงินคืนค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปก่อนหน้านั้นเพียง 16,543  บาท  หากเทียบกับยอดค่าใช้จ่ายที่ญาติผู้ป่วยจ่ายไป 148,324 บาท ยังไม่ได้ถึง 20% ของจำนวนเงินดังกล่าวเลย คำถามจึงเกิดขึ้นมาว่า อะไรคือมาตรฐานในการพิจารณาค่ารักษากรณีฉุกเฉิน  แล้วทำไมสถานพยาบาลจึงไม่มีข้อมูลแจ้งต่อผู้ป่วยหรือญาติ ในการอธิบายหรือช่วยประสานงานกับหน่วย EMCO หรือหน่วยดูแลกองทุนฉุกเฉิน ของ สปสช. ทำให้ผู้ป่วยหลายรายต้องกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อตัดสินใจเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุดจากกรณีป่วยฉุกเฉิน ด้วยหวังว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยลดทอนค่าใช้จ่ายลงได้ แต่กลับพบว่ามันไม่เป็นจริง แนวทางแก้ไข ประสานสำนักงานหลักประกันสุขภาพเพื่อตรวจสอบกรณีการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ 1330 ได้แจ้งให้ประสานไปยังโรงพยาบาลเอกชนที่เรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยเพื่อทำเรื่องเคลมค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ศูนย์ EMCO ประสานโรงพยาบาลที่ทำการรักษาให้ทำเรื่องเคลมค่ารักษาพยาบาลไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ศูนย์ EMCO เมื่อได้รับการอนุมัติค่ารักษาแล้วพบว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถยื่นเรื่องร้องเรียนได้ ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือ สปสช.   นโยบายรัฐให้คำจำกัดความเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินว่า เจ็บป่วยฉุกเฉิน หมายถึง  ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการบ่งชี้ว่าจะเป็นอาการที่คุกคามต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจหยุดเต้น หอบหืดขั้นรุนแรงมีอาการเขียวคล้ำของปากและเล็บมือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นหลอดลมทั้งหมด อุบัติเหตุรุนแรง  มีเลือดออกมาก ภาวะช็อกจากการเสียเลือดหรือขาดน้ำอย่างรุนแรง แขน ขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด ชักตลอดเวลา หรือชักจนตัวเขียว มีไข้สูงกว่า 40 องศา ถูกสารพิษ สัตว์มีพิษกัด หรือได้รับยามากเกินขนาด ถูกสุนัขกัดบริเวณใบหน้าหรือลำคอ รักษาทุกที่ หมายถึง สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที ทุกรพ.ทั้งรัฐและเอกชนที่ใกล้ที่สุดโดยไม่ถูกถามสิทธิก่อนการรักษา ไม่ต้องสำรองจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ไม่ถูกบ่ายเบี่ยงการรักษา และได้รับการดูแลรักษาจนกว่าอาการจะทุเลาลง ทั่วถึงทุกคน หมายถึง  ผู้ที่มีสิทธิของ 3 กองทุน ประกอบด้วย กลุ่มข้าราชการและครอบครัว (ประมาณ 5 ล้านคน) จากกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการกรมบัญชีกลาง กลุ่มลูกจ้างพนักงาน (ประมาณ 10 ล้านคน) จากกองทุนประกันสังคม กลุ่มประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ประมาณ 48 ล้านคน) จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ   สิ่งที่สำคัญสำหรับผู้บริโภคเวลาที่เจ็บป่วยฉุกเฉินต้องปฏิบัติดังนี้ ข้อควรปฏิบัติในการนำผู้ป่วยฉุกเฉินไปโรงพยาบาล กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1)       ต้องเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนผู้ป่วยไปด้วยทุกครั้ง ถ้าอยู่ในวิสัยที่ทำได้ 2)       เข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หากเลือกได้ ขอให้เป็นโรงพยาบาลของรัฐ เพราะโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ 3)       ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วย (ถ้ามี) พร้อมแจ้งการขอใช้สิทธิฉุกเฉินกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หากไม่มีบัตรประชาชน ให้แจ้งชื่อ-สกุลผู้ป่วย แล้วรีบนำบัตรประชาชนมายื่นภายหลัง 4)       หากโรงพยาบาลเรียกเก็บเงิน ให้ยืนยันการใช้สิทธิฉุกเฉินตามสิทธิที่มี และอ้างนโยบายรัฐบาล แต่หากเจ้าหน้าที่ยังยืนยันจะเก็บเงิน ซึ่งส่วนใหญ่อ้างว่าเป็นเงินมัดจำ แล้วจะคืนให้เมื่อเบิกจาก สปสช. ได้  ให้โทรไปสายด่วน 1330 สปสช. เพื่อให้เจราจากับโรงพยาบาล 5)       เมื่อแพทย์แจ้งว่าผู้ป่วยพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายได้แล้ว ให้ประสานโรงพยาบาลตามสิทธิเพื่อย้ายผู้ป่วยเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง 6)       หากได้รับความเสียหายในการใช้สิทธิ สามารถแจ้งเรื่องได้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช.) สายด่วน 1330  และกรณีอยู่ต่างจังหวัด ให้แจ้งเรื่องไปที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) 7)       กรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการ ผู้มีสิทธิบัตรทอง สามารถยื่นเรื่องขอรับการเยียวยา ความเสียหาย จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 41   ภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่ วันที่ทราบถึงความเสียหาย     เจอค่าอาหารโครตแพง ทำอะไรได้บ้าง คุณขิ่ม (สุทธินันท์) โทรมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ตนเองและครอบครัวไปฉลองวันเกิดให้คุณพ่อที่ภัตตาคารแถวปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นภัตตาคารอาหารจีน  เมื่อไปถึง พบว่าตัวเองเป็นลูกค้าโต๊ะแรก  พนักงานเข้ามาต้อนรับและแนะนำเมนูให้หลายอย่าง เช่น หูฉลามน้ำแดง กระเพาะปลาน้ำแดง  ฯลฯ  แต่ที่ได้ยินเสียงเชียร์ว่า เป็นอาหารขึ้นชื่อมาก ลูกค้าที่เป็นข้าราชการมักจะแวะมาทานกันบ่อยๆ    คืออาหารประเภทก้ามปูและปลากระพง จึงสั่งก้ามปูผัดน้ำพริกเผาจานเล็กมาลองชิมกัน  และปลากะพงนึ่งซีอิ๊ว  หูฉลามน้ำแดง กระเพาะปลาน้ำแดง  ผัดหมี่ ต้มยำกุ้ง  ข้าวผัดปู ปอเปี๊ยะทอด คะน้าผัดน้ำมันหอย  รวมแล้วประมาณ 9  อย่างเพราะไปกันเกือบ 10 คน หลังจากรับประทานอาหารเสร็จเช็คบิล แทบเป็นลมเพราะเจอราคาอาหารเข้าไป 10,150   บาท  สอบถามราคาอาหารทุกจาน ก็พอรับได้ แต่เจอก้ามปูผัดน้ำพริกเผาจานเดียว 3,500  บาท ถามว่าทำไมถึงคิดราคานี้ในเมื่อจานเล็กแค่ 800  บาท  พนักงานก็ตอบว่า เฉพาะเมนูนี้คิดราคาเป็นก้าม  ก้ามละ 400 บาท  เพราะใช้ปูคัดสรรอย่างดี อ้าวเมนูไม่เห็นเขียนบอกไว้ เถียงกันไปมา  สรุปก็ต้องยอมจ่ายเงินไปเพราะกินไปแล้ว เสียทั้งเงินและความรู้สึก  แต่ที่มาร้องเรียนเพราะไม่อยากให้คนที่ไปรับประทานแล้วพบเจอปัญหาแบบตนเองอีก   แนวทางการแก้ไข หลังจากรับเรื่องร้องเรียนศูนย์พิทักษ์สิทธิ ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ร้านอาหารดังกล่าว ด้วยการไปสั่งอาหารรับประทานบางอย่าง พบว่าราคาอาหารนั้นมีเขียนบอกไว้ทุกรายการ  เช่น ปลากะพงนึ่งซีอิ๊วนั้น บอกราคาขายเป็นขีด ขีดละ 140 บาท  ส่วนอาหาร ประเภทอื่นจะระบุราคาตามขนาด เล็ก กลาง ใหญ่   โดยเฉพาะเมนูก้ามปู ที่ทีมศูนย์ฯ ไปลองสั่งพบว่า พนักงานจะพยายามเชียร์และอธิบายให้ฟังว่าจานเล็กจะไม่พอทาน เพราะมี 2 ก้าม ควรสั่งให้ครบตามจำนวนคนที่ไปจะได้รับประทานกันทั่วถึง ซึ่งจะคิดก้ามละ 400 บาท  ที่แพงเพราะเป็นปูที่ไปสั่งจากผู้เลี้ยงเฉพาะไม่ได้ซื้อจากตลาดทั่วไปเพราะไม่ได้ขนาดที่ต้องการ  อีกทั้งช่วงเศรษฐกิจขาลง ทำให้ลูกค้าในร้านน้อยเพราะราคาอาหารค่อนข้างสูง เมื่อทราบข้อเท็จจริง ศูนย์ฯ ได้กลับมาสอบถามคุณขิ่มเพิ่มเติม จึงได้รับทราบว่าทางร้านพยายามเชียร์ให้สั่งอาหารแบบเดียวกันและวันนั้นมีลูกค้าอยู่โต๊ะเดียวแต่วิธีการไม่เหมือนกัน ภายหลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด  ศูนย์ฯ ได้ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการเพื่อแก้ไขปัญหา เรื่องเมนูที่ไม่ได้แสดงรายละเอียดให้ชัดเจน    ซึ่งทางร้านได้มีหนังสือชี้แจงว่า ได้ปรับเปลี่ยนเมนูใหม่ เพื่อให้ชัดเจนขึ้น     //

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 159 เสียงผู้บริโภค

รถใหม่ป้ายแดง  ใช้ได้แค่  6  เดือน  กุญแจพัง! ข่าวครึกโครมกรณี  รถยนต์ยี่ห้อดัง  เชฟโรเลต รุ่นครูซ ที่ผลิตปี 2011-2012 เกียร์พัง   ทำให้ คุณสุษมา  โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเช่นกัน ว่าตนได้รับความเสียหายจากการใช้รถยนต์ยี่ห้อนี้เหมือนกัน  แต่เป็นรุ่นแคปติวา  ผลิตปี 2013 ที่ใช้ชื่อพี่ชายเป็นผู้ซื้อมาตั้งแต่เดือนเมษายน 56  ในงานมอเตอร์โชว์ และซื้อเป็นเงินสดถึงหนึ่งล้านหกแสนกว่าบาท รถยนต์ใช้ไปได้ประมาณ  6  เดือน  คุณสุษมาขับรถไปทำธุระ พอจะขับรถกลับบ้าน  เปิดรีโมทกุญแจพบว่า ไม่ปลดล็อก  จึงใช้กุญแจไขเข้าไป แต่กลับใช้กุญแจสตาร์ทรถไม่ได้ และมีไฟสัญลักษณ์ต่างขึ้นบนหน้าปัดรถเต็มไปหมด  จึงโทรเรียก Call Center 1734 บริษัทฯ รีบส่งทีมช่างมาตรวจ แต่แก้ไขไม่ได้   จึงส่งเข้าศูนย์บริการสาขาแจ้งวัฒนะในวันรุ่งขึ้น   ช่างที่ศูนย์ตรวจสอบ  3 สัปดาห์ หาสาเหตุไม่พบ   ศูนย์ได้ประสานให้ช่างจากสำนักงานใหญ่มาตรวจสอบ ได้ทำการรื้อเบาะและคอนโซลรถออกทั้งหมด  จึงพบว่า ชุดสายไฟที่อยู่ด้านล่างมีปัญหา(น่าจะเกิดจากความบกพร่องของวัสดุสายไฟและจากการผลิตรถยนต์) “ดิฉันได้สอบถามที่ Call Center   ทางนั้นชี้แจงว่ามีการสั่งอะไหล่จากศูนย์ฯ แล้ว แต่ยังไม่มีกำหนดส่งให้ศูนย์ฯ  ดิฉันก็พยายามติดต่อกับบริษัทอีกหลายครั้ง(เพราะรถต้องใช้งาน) ทั้งทางโทรศัพท์และทำหนังสือสอบถามและเร่งให้ดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมส่งทางเมล์  ไม่ได้รับการติดต่อกลับหรือมีความคืบหน้าใดๆ เลย” ล่าสุดประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 57  ได้รับแจ้งว่า ซ่อมระบบไฟแล้ว แต่เมื่อใส่เบาะกลับไปพบว่าสตาร์ทไม่ติดอีก  คุณสุษมาจึงขอให้บริษัทส่งรถทดแทนให้ใช้  แต่สุดท้ายต้องนำไปคืนเพราะรถเบรกไม่อยู่ เหตุการณ์นี้นอกจากจะมีความรู้สึกที่แย่กับการให้บริการของบริษัท ยังสร้างความเสียหายให้แก่คุณสุษมาเป็นอย่างมาก  จนอยากให้บริษัทซื้อรถคืนไป การแก้ไขปัญหา เมื่อมูลนิธิฯ ได้รับโทรศัพท์จากผู้ร้อง จึงแนะนำให้ผู้ร้องเก็บหลักฐานการซ่อมรถและทำหนังสือถึงศูนย์บริการสาขาแจ้งวัฒนะสอบถามว่า เหตุใดจึงซ่อมไม่ได้  เสียเพราะอะไร  และเชิญผู้ร้องมาที่ศูนย์พิทักษ์เพื่อพูดคุยและสอบถามถึงวัตถุประสงค์ว่าต้องการเรียกร้องอย่างไร  ซึ่งผู้ร้องและพี่ชายเข้ามาที่มูลนิธิฯ ขอให้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย   โดยผู้ร้องยังประสงค์ใช้รถต่อ  แต่ขอให้บริษัทขยายการรับประกันเป็น 7 ปี หรือ 200,000 กม. จ่ายค่าชดเชยที่ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์วันละ 1,500 บาท หลังการเจรจาไกล่เกลี่ย  คุณสุษมายอมรับข้อเสนอของบริษัทฯ ที่ยอมขยายระยะเวลารับประกันเป็น 5 ปีหรือ 150,000  กม. แล้วแต่เงื่อนไขใดถึงก่อน และได้รับเงินชดเชยค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ เดือนละ 35,000  บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงิน 105,000 บาท ก็ต้องขอขอบคุณบริษัทฯ ที่มองเห็นความสำคัญและพร้อมแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค   คอนโดสร้างไม่เสร็จ  แต่บังคับให้รับโอน คุณนิชา ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดหรูกลางเมืองกรุง โดยทางโครงการระบุในสัญญาว่าจะสร้างแล้วเสร็จพร้อมนัดหมายการตรวจรับ โอนกรรมสิทธิ ในวันที่ 30 มิถุนายน 2556  แต่เมื่อถึงกำหนดการส่งมอบ ห้องชุดก็ยังไม่เสร็จเรียบร้อย ทางโครงการจึงขอขยายเวลากับคุณนิชาออกไปอีก 9 เดือน เพื่อจะทำการก่อสร้าง เก็บรายละเอียดที่ยังไม่เรียบร้อยทั้งหมด คุณนิชาตกลง ให้โครงการขยายเวลาดำเนินการต่อไปได้ แต่เมื่อถึงวันนัดหมาย คุณนิชาตรวจดูแล้ว พบว่าห้องชุดดังกล่าวต้องทำการแก้ไขอีกหลายรายการ เธอจึงยังไม่รับมอบห้องชุดดังกล่าว พร้อมทั้งยื่นรายการแก้ไขให้กับผู้รับผิดชอบ โดยนัดตรวจงานอีกครั้งหลังจากนี้ไป 30 วัน ทางโครงการฯ ก็รับดำเนินการแก้ไขให้ แต่กลับมีเงื่อนไขระบุในสัญญาว่า “หากพ้นวันนัดตรวจงานไปแล้วคุณนิชามิได้แจ้งเหตุขัดข้องหรือติดต่อกลับ บริษัทฯ ถือว่า “ข้าพเจ้ายินยอมรับมอบห้องชุดฯแล้วตามสัญญา และต้องรับโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 30 วันหลังจากได้รับหนังสือแจ้งจากบริษัท” เมื่อครบกำหนดการนัดหมายอีกครั้ง คุณนิชาไปตรวจสอบห้องชุดดังกล่าวแต่พบว่ายังเกิดปัญหาที่โครงการไม่ปฏิบัติตามสัญญา พบความไม่เรียบร้อยหลายส่วน ประกอบด้วย 1. มีคนงานก่อสร้างสัญจรอยู่บนอาคารดังกล่าว อยู่ทั่วไป เพราะชั้นสูงๆยังดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ 2. มีวัสดุ อุปกรณ์ก่อสร้างวางกองอยู่ทั่วไป ทั้งบริเวณพื้นราบด้านในและนอกอาคารดังกล่าว รวมถึงลานจอดรถบนอาคารด้วย 3. พื้นที่ส่วนกลาง เช่นห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำยังไม่แล้วเสร็จ ยังมีคนงานทำงานอยู่ มีอุปกรณ์ก่อสร้างกองอยู่ทั่วไป งานยังไม่เรียนร้อยและปลอดภัยพอที่จะใช้งานได้ คุณนิชาไม่ยอมรับมอบห้องชุด แต่ทางบริษัทฯ อ้างว่า หากเธอไม่รับมอบถือว่า ผิดสัญญาจะซื้อจะขายกับทางบริษัท จะถูกปรับเงิน และถูกบอกเลิกสัญญา  เจอไม้นี้เข้าไปเธอจึงเข้ามาปรึกษากับเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค   แนวทางการแก้ไข คำว่า “ การดำเนินการแล้วเสร็จที่พร้อมจะรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด”  หมายถึง ห้องชุดต้องเสร็จพร้อมทั้งห้องชุดและส่วนกลาง โดยจะต้องแล้วเสร็จอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน และมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้เข้าพักอาศัยภายหลังการรับโอนกรรมสิทธิ์ โดยเมื่อรับโอนแล้วผู้เข้าพักอาศัยจะต้องสามารถเข้าอยู่ได้โดยสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลางที่พร้อมจะใช้งานได้โดยปลอดภัย มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในการเข้าอยู่อาศัย และหากเกิดเหตุสุดวิสัยในการใช้งานอาคารชุด จะต้องมีเจ้าหน้าที่ในการรับเรื่องเพื่อดำเนินการแก้ไขได้ทันการณ์  ดังนั้นห้องชุดดังกล่าว  จึงเข้าข่าย ก่อสร้างไม่เสร็จเรียบร้อยตามสัญญา วิธีแก้ไขปัญหาคือ แนวทางที่ 1 ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา โดยทำจดหมายส่งไปที่ผู้ประกอบการ อ้างอิง ประกาศ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 ข้อ 8.6   ในกรณีผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำเนินโครงการอาคารชุดให้แล้วเสร็จภายในกำหนดสัญญา หรือคาดหมายได้ว่าจะไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดสัญญา หรือคาดหมายได้ว่าจะไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด ก.      ให้ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและมีสิทธิเรียกเงินที่ผู้บริโภคได้ชำระไปแล้ว ทั้งหมดคืนจากผู้ประกอบธุรกิจพร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับเบี้ยปรับ  ที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดสำหรับกรณีผู้บริโภคผิดนัดชำระหนี้  แต่ทั้งนี้  ไม่เป็นการตัดสิทธิผู้บริโภคที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายอย่างอื่น แนวทางที่ 2 ใช้กระบวนการฟ้องร้อง อ้างอิงตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งตามกฎหมายแล้วผู้บริโภคมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายเจ้าของโครงการได้ดังนี้ 1.  ขอต้นเงินที่จองและชำระเงินจองทั้งหมดคืนพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาและตามประกาศประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง  ให้ธุรกิจห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543  ฉบับลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2543 ข้อ 8.6 (ก) 2.  เจ้าของโครงการสร้างไม่เสร็จ แต่จะบังคับโอนกรรมสิทธิ์เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค  ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม  ผู้บริโภคอาจต้องไปหาซื้อคอนโดใหม่แทน  อาจมีราคาต่อตารางเมตรสูงขึ้นจากเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์  สามารถเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ได้เป็น  ค่าขาดประโยชน์ในการใช้ทรัพย์นับแต่วันที่ต้องสร้างให้เสร็จ เป็นรายวัน-รายเดือน ตามข้อเท็จจริง 3.  ค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น เพราะผู้บริโภคตั้งใจซื้อคอนโดใกล้ที่ทำงาน แต่เมื่อเจ้าของโครงการไม่ยอมสร้าง  ทำให้ต้องเสียค่าเดินทางเพิ่มขึ้น 4.  ของแถมที่ตกลงจะให้กับผู้จองคอนโด เช่น ทีวี ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ   แต่เมื่อไม่มีการสร้าง  จึงไม่มีการให้ของแถม เจ้าของโครงการต้องชดใช้คืนให้กับผู้บริโภคตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ 7.  ค่าเสียหายอื่นๆ  อีก (ถ้ามี)  ผู้บริโภคสามารถเรียกได้ทั้งสิ้น การยื่นฟ้องสามารถใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 เพราะในกรณีนี้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจ     เหยื่อรถทัวร์ผี ความสูญเสียที่ไม่มีวันได้คืน เทศกาลสงกรานต์หลายครอบครัวคงมีความสุขที่ได้กลับมาอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา แต่สำหรับครอบครัว นันตะนะ นี่คือการสูญเสียอย่างไม่มีวันได้คืน... เช้า 13 เมษายน 2553  บุญถม นันตะนะ ได้รับงานด่วนให้ไปที่จังหวัดอุบลราชธานี   บุญถมจึงรีบโทรศัพท์จองตั๋วกับ บ.รถทัวร์ แต่ทุกที่บอกเพียงว่า “ ให้มาก่อน บางทีเผื่อจะมีคนยกเลิกตั๋ว ไม่ก็มีรถเสริม ”  คล้อยบ่ายบุญถม จึงรีบเดินทางไปสถานีขนส่งหมอชิต 2  โดยหวังว่าจะมีตั๋วว่างสำหรับคืนนี้ ค่ำวันนั้น “  พ่อได้ตั๋วแล้วนะแม่ ซื้อที่ช่องขายตั๋วเลย รถจะออกตอนสี่ทุ่มครึ่ง เดี๋ยวถึงแล้วจะโทรหาแม่นะ ” ...นี่คือเสียงสุดท้ายที่ ชุติกาญจน์ ได้ยินเสียงจากสามี  เพราะเช้ามืดวันที่ 14 เมษายน 2553  รถทัวร์ที่บุญถมนั่งไปประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำที่จังหวัดนครราชสีมา บุญถม พร้อมผู้โดยสารอีกหลายราย เสียชีวิตทันที และมีคนบาดเจ็บจำนวนมาก หลังการเสียชีวิตของบุญถม ชุติกาญจน์ได้รับจดหมายแจ้งสิทธิการให้ความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เธอจึงมาร้องขอความช่วยเหลือ เพื่อให้ช่วยเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน เพื่อให้ชุติกาญจน์ได้รับการเยียวยาตามสิทธิที่มีก่อนนั้น มูลนิธิฯ ได้นำเรื่องยื่นต่ออนุญาโตตุลาการ เพื่อมีคำสั่งให้บริษัทกมลประกันภัย จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับชุติกาญจน์ตามกรมธรรม์โดยทันที ผลการเจรจาไกล่เกลี่ย บริษัทยอมจ่ายค่าสินไหมตามกรมธรรม์ให้กับชุติกาญจน์ได้สำเร็จ ส่วนข้อเท็จจริงทางคดีจากทะเบียนรถยนต์คันเกิดเหตุ พบว่า รถทัวร์คันที่เกิดเหตุนั้น เป็นรถโดยสารไม่ประจำทางของบริษัท เฟิร์สแฟรงค์ทัวร์ จำกัด ที่นำมาเสริมวิ่งรับคนโดยสารในช่วงเทศกาลสงกรานต์กับบริษัท ขนส่ง จำกัด  แต่ บริษัท ขนส่ง จำกัด กลับปฏิเสธ อ้างไม่มีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์นี้ เพราะรถคันนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาวิ่งรับคนโดยสารในวันดังกล่าว ทำให้การเจรจาไม่สามารถยุติได้ ชุติกาญจน์ จึงจำเป็นต้องนำเรื่องขึ้นฟ้องนายชำนาญ มหาสังข์ คนขับ จำเลยที่ 1 , บริษัท เฟิร์สแฟรงค์ทัวร์ จำกัด เจ้าของรถ จำเลยที่ 2 และ บริษัท ขนส่ง จำกัด  จำเลยที่ 3 ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีผู้บริโภค เพื่อเรียกค่าเสียหาย เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 ในชั้นพิจารณาคดี ทั้งสองฝ่ายนำพยานเข้าสืบ ฝ่ายโจทก์ มีชุติกาญจน์ เบิกความยืนยันถึงความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ภายหลังที่สามีเสียชีวิต โดยมีคุณวิลาวรรณ  ผู้รอดชีวิตที่ขึ้นรถคันเดียวกับบุญถม มาเป็นพยานนำชี้จุดซื้อตั๋วและทางเดินไปที่ชานชาลา พร้อมยืนยันการขึ้นรถในสถานีขนส่ง ขณะที่ฝ่ายจำเลย  บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 3  ปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องทุกอย่าง โดยมีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัท มาเป็นพยานเบิกความถึงขั้นตอนการขออนุญาตนำรถเสริมเข้ามาวิ่งร่วมรับส่งคนโดยสารกับบริษัทในเทศกาลดังกล่าว ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ว่าจำเลยที่ 3 ที่จะนำพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่เบิกความทำนองว่า รถยนต์โดยสารที่จะนำเข้ามาวิ่งรับส่งคนโดยสารร่วมกับจำเลยที่ 3 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 3 และกรมการขนส่งทางบกก่อน ตามหนังสือขออนุญาตของจำเลยที่ 3 และจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจใบอนุญาตตั้งแต่ปากทางเข้าและทางออกอยู่ตลอดเวลานั้น แต่ตามหลักฐานเอกสารการขออนุญาตนำรถเข้าวิ่งร่วมของจำเลยที่ 3 ที่นอกจากจะระบุให้เจ้าของรถร่วมหมวด 2 มาร่วมวิ่งแล้ว ยังระบุให้สมาคมผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารด้วยรถโดยสารไม่ประจำทางมาร่วมวิ่งเสริมได้ด้วย ซึ่งรถยนต์คันเกิดเหตุอาจอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะนำรถเข้าวิ่งร่วมกับจำเลยที่ 3 และได้รับอนุญาตให้นำรถเข้ามาวิ่งร่วมกับจำเลยที่ 3 ได้ แม้จะไม่มีตราหรือสัญลักษณ์ใดๆ ของจำเลยที่ 3 ติดอยู่ก็ตาม เพราะมิฉะนั้นรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุคงไม่สามารถเข้ามาวิ่งร่วมรับคนโดยสารได้เพราะจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมยึดรถได้ นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวยังระบุว่าให้เจ้าของรถร่วมและสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารไม่ประจำทางทุกคันต้องใช้ตั๋วรถโดยสารตามแบบตั๋วโดยสารที่จำเลยที่ 3 กำหนด นั้น ก็เป็นการสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ที่ว่าได้ซื้อตั๋วโดยสารที่ช่องจำหน่ายตั๋วและขึ้นรถที่ชานชาลาในสถานีขนส่งหมอชิต 2 อีกด้วย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้อนุญาตจำเลยที่ 2 รถโดยสารเข้าร่วมวิ่งรับขนคนโดยสารกับจำเลยที่ 3 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นการชั่วคราวโดยมีผลประโยชน์ร่วมกัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 2  เมื่อพิเคราะห์จากความเสียหายที่โจทก์ได้รับแล้ว จึงกำหนดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน 1,312,000 บาท เมื่อหักจากเงินที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยไปแล้ว คงเหลือเป็นเงินที่จำเลยทั้งสามต้องจ่ายทั้งสิ้นจำนวน  682,000 บาท กรณีนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญและเป็นคดีตัวอย่างของผู้บริโภคที่อาจจะไม่มีทางเลือก และหลงใช้บริการรถทัวร์ผี ที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว อาจจะไม่มีผู้ใดออกมารับผิดชอบ แต่กรณีนี้โชคดีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้เสียชีวิตซื้อตั๋วที่ช่องจำหน่ายตั๋วและขึ้นรถภายในสถานีขนส่งหมอชิต 2 ซึ่งแม้คดีจะจบลงด้วยศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าเสียหาย แต่คดีก็ใช้เวลานานกว่า 3 ปี อีกทั้งจำเลยทั้งสามยังมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาต่อได้ ทำให้คดียังไม่สิ้นสุด ชุติกาญจน์ จึงยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างแท้จริง แต่อุปสรรคดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ชุติกาญจน์ยอมแพ้  แม้จะเจ็บช้ำ แต่เธอยังมีหน้าที่ต้องสู้เพื่อสิทธิของครอบครัวเธอต่อไป  สู้จนกว่าเธอจะชนะ     //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 158 เสียงผู้บริโภค

ถังแก๊สเป็นสนิมทำไงดี แก๊สหุงต้มเป็นเรื่องใกล้ตัวและจำเป็นต้องใช้กันอยู่ทุกครัวเรือน นอกจากราคาที่แพงเอาๆ แล้วก็ไม่น่ามีปัญหาอื่น แต่ก็มีจนได้ครับ มันคือเรื่องของถังแก๊สเป็นสนิม เช้าวันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม 2557 เวลาประมาณ 8.00 น.สมชายได้สั่งซื้อแก๊สยี่ห้อ ปตท.น้ำหนัก 15 กิโลกรัม จากร้านค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่แถวถนนสรรพวุธ บางนา  เป็นร้านที่สมชายสั่งซื้ออยู่เป็นประจำ เมื่อแก๊สหมดถัง ก็โทรไปสั่งตามปกติแต่วันนี้เป็นผู้ชายรับสายแทนที่จะเป็นผู้หญิงเหมือนแต่ก่อน สมชายสั่งไปไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เด็กส่งแก๊สก็นำแก๊สมาส่งถึงที่บ้าน ขณะที่แกะสายรัดและเอาถังแก๊สลงมาข้างล่าง สมชายมองเห็นสภาพถังเห็นเป็นถังเก่ามาก  เป็นสนิม ตัวหนังสือแทบจะไม่มี ผิดกับถังของตนซึ่งอยู่ในสภาพที่ใหม่ จึงถามเด็กส่งแก๊สว่า “ทำไมถังถึงเก่าอย่างนี้ ช่วยเปลี่ยนใบใหม่ให้ได้ไหม กลัวใช้แล้วอาจเกิดอันตรายได้” เด็กส่งแก๊สตอบว่า “ถังมีแต่แบบนี้คราวนี้ใช้ไปก่อนคราวหน้าค่อยเปลี่ยนถังใบใหม่ให้” สมชายก็บอกว่า “ช่วยเปลี่ยนให้หน่อยเถอะเพราะที่บ้านใช้แก๊สนานหลายเดือนกว่าจะหมดและประการสำคัญถ้าเกิดเป็นอันตรายใครจะรับผิดชอบ” “ถ้าไม่เอาก็ต้องคิดค่าแบกขึ้นอีก 25 บาท” นี่คือคำสุดท้ายจากเด็กส่งแก๊ส   สมชายขอบิลดูก็พบว่าราคาแก๊สแตกต่างไปจากครั้งก่อน ซื้อกับผู้หญิงจะเป็นราคา 295 บาทบวกค่ายกอีก 25 บาท รวมเป็น 320 บาท แต่นี่คิดราคา 310 บาทถ้ารวมกับค่ายกก็เป็น 310+25 รวมเป็น 335 บาท สมชายจึงตกลงใจที่จะไม่ซื้อแก๊สถังดังกล่าวไว้ เนื่องจาก ข้อแรก ถังอยู่ในสภาพเก่า เกรงว่าเมื่อใช้จะเกิดอันตรายขึ้นได้ ข้อสอง ราคาแตกต่างกับที่เคยซื้อครั้งก่อน(ซึ่งสมชายใช้สิทธิตามโครงการรัฐสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อยอยู่) เรื่องเป็นมาแบบนี้สมชายจึงขอปรึกษาว่าถ้าไม่ต้องการซื้อร้านนี้อีกต่อไป โดยต้องการเปลี่ยนร้านใหม่จะสามารถทำได้หรือไม่และสิทธิยังใช้ได้เหมือนเดิมหรือไม่   แนวทางแก้ไขปัญหา ปกติถังแก๊สทั่วไปจะหมดสภาพการใช้งานประมาณ 5 ปี แต่ถ้าเกิดถังเก่าก่อนกำหนดหรือใช้แล้วเป็นสนิม หน้าที่ในการซ่อมหรือเปลี่ยนถังแก๊ส เป็นของบริษัทแก๊ส เช่นแก๊สของ ปตท.หากถังแก๊สของ ปตท. มีการขึ้นสนิมหรือทรุดโทรมอย่างไร ผู้ใช้ก็สามารถคืนหรือเปลี่ยนถังแก๊สเป็นถังใหม่จากร้านค้าแก๊สนั้นได้ ซึ่งหลังจากนั้นทางร้านก็จะส่งคืนให้ทาง ปตท. ทางปตท.ก็จะเป็นผู้บำรุงรักษาถังนั้นเองด้วยค่าใช้จ่ายของ ปตท.เอง ในส่วนของการร้องเรียนของแก๊ส ปตท. นั้นผู้ร้องสามารถร้องเรียนได้ที่ เบอร์ 02 5372000 ต่อ แผนกร้องเรียน ซึ่งขั้นแรกอาจจะทำการตักเตือนกับทางร้านค้าก่อน ถ้ายังทำอีกก็อาจจะมีการเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป ส่วนในกรณีที่ผู้ร้องไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้า สามารถร้องเรียนได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์  โทรสายด่วน 1569 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือจะทำเป็นจดหมายแบบไปรษณีย์ตอบรับก็ได้สำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อจะได้ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง อีกกรณีที่ผู้ร้องได้ลงทะเบียนเพื่อยืนยันสิทธิแล้วจะเปลี่ยนร้านจำหน่ายซื้อก๊าซหุงต้มนั้น สามารถเปลี่ยนได้ โดยครัวเรือนที่มีรายได้น้อย สามารถกดลงทะเบียนใหม่ได้ด้วยตนเอง ตามขั้นตอนของการลงทะเบียนเพื่อยืนยันสิทธิ แต่มีเงื่อนไขว่า ร้านจำหน่ายใหม่ที่จะซื้อก๊าซจะต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกันกับที่อยู่ของผู้ร้อง ถ้าผู้ร้องร้องเรียนแล้วยังไม่มีการดำเนินการแก้ไข ผู้ร้องสามารถส่งเรื่องและเอกสารที่เกี่ยวข้องมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ เพื่อจะได้มีการตรวจสอบให้กับผู้ร้องอีกครั้งหนึ่ง     เมื่อบ้านเอื้ออาทร ไม่อาทรต่อคนจน สำหรับคนมีรายได้น้อย การอยากมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังหนึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่าย  “ ฉัตร”  คือเป็นหนึ่งในนั้น แต่เธอเริ่มมีความหวัง เมื่อรัฐมี “โครงการบ้านเอื้ออาทร” ที่ตั้งขึ้นเพื่อจัดหาบ้านให้คนมีรายได้น้อยได้มีที่บ้านเป็นของตนเอง ต่อเมื่อเวลาผ่านไป เธอถึงรู้ว่า บ้านเอื้ออาทร นั้นไม่ได้อาทรต่อคนมีรายได้น้อยเลย… เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ฉัตรตัดสินใจเข้าทำสัญญาซื้อบ้านเดี่ยว 2 ชั้น โครงการเอื้ออาทรจังหวัดบุรีรัมย์ กับการเคหะแห่งชาติในราคา 390,000 บาท โดยมีเงื่อนไขที่ต้องทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อนำมาชำระหนี้เป็นค่าซื้อบ้านให้แก่การเคหะฯ  โดยมีการเคหะฯ เป็นผู้ค้ำประกัน ตามสัญญาด้วย ผ่อนมาปีกว่าเธอเริ่มผิดนัดบางงวด เพราะการเงินเริ่มยอบแยบ แต่เธอก็พยายามเก็บเงิน เพื่อไปชำระยอดที่ค้างชำระกับธนาคารให้ได้ โดยที่ธนาคารยังคงรับชำระเงินของผู้ร้องไว้ตามปกติเรื่อยมา จนเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 เมื่อเธอไปจ่ายค่างวดที่ธนาคารตามปกติ ธนาคารปฏิเสธรับเงินจากเธอ และแจ้งให้เธอทราบว่า บ้านที่เช่าซื้ออยู่ได้ถูกบอกเลิกสัญญา เพราะผิดนัดค้างชำระเกินกำหนด และการเคหะแห่งชาติได้มาซื้อคืนไปแล้ว โดยที่เธอไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งเตือน หรือหนังสือบอกเลิกสัญญาใดๆ มาก่อนเลย “เราเลือกซื้อบ้านเอื้ออาทรกับการเคหะฯ เพราะเชื่อมั่นว่า การเคหะ ฯ จะดูแลเราที่เป็นคนมีรายได้น้อย ให้มีบ้านเป็นของตัวเองได้ เราขาดส่งบางงวดจริง แต่เราก็พยายามแก้ไขปัญหานี้มาตลอด เราไม่รู้ว่าทำไมอาคารสงเคราะห์ ถึงไม่แจ้งเตือนเราตามสัญญาก่อน  ทั้งที่ธนาคาร ธอส. ก็ยังรับเงินที่เราไปจ่ายทุกครั้ง แต่อยู่ดีๆ บอกว่าเราถูกบอกเลิกสัญญา บ้านถูกยึดคืนไปแล้ว มาบอกกันแบบนี้ เราจะทำยังไง  แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน ” นี่คือเสียงสะท้อนเล็กๆ ที่อยากให้หลายคนได้รับรู้....   แนวทางแก้ไขปัญหา กรณีนี้ ฉัตร เธอเข้ามาร้องเรียนกับสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ระหว่างร้องเรียน เธอก็ถูกฟ้องให้ตกเป็นจำเลยในคดีที่การเคหะแห่งชาติ ฟ้องขับไล่ให้ออกจากที่พักอาศัยเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ด้วย “เราไม่รู้มาก่อนเลยว่า สัญญาที่เราทำกับการเคหะฯ และธนาคาร ธอส. จะเอาเปรียบเรามากขนาดนี้ นี่มันเอื้ออาทรจริงแน่เหรอ สัญญายิ่งกว่าบริษัทเอกชนซะอีก” กรณีนี้แม้ฉัตรจะผิดนัดชำระหนี้จนเป็นเหตุให้การเคหะฯ มีอ้างสิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาซื้อขายได้นั้น แต่ก็มีประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิผู้บริโภค การบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของการเคหะแห่งชาติและธนาคารอาคารสงเคราะห์อยู่ด้วยหลายรายการ มูลนิธิฯ จึงให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างให้กับผู้บริโภคที่เจอปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ หลังจากผู้บริโภคแพ้คดีในศาลชั้นต้น ต่อมาในวันที่ 30 กันยายน 2556 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ สรุปสาระสำคัญดังนี้ ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้กู้ยืมเงินเพื่อให้ผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2544 ข้อ 3 (2) บัญญัติ ว่าการผิดสัญญาเรื่องใดของผู้กู้ที่ผู้ให้กู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญา จะต้องเป็นข้อที่ผู้ให้กู้ระบุไว้เป็นการเฉพาะด้วยตัวอักษรสีแดง หรือตัวดำ หรือตัวเอน ที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไปและก่อนการบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้กู้และควรกำหนดระยะเวลาอันสมควรให้ผู้กู้แก้ไขการผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขดังกล่าว ประกอบกับตามสัญญากู้ยืมเงินระหว่าง ฉัตร ผู้กู้ กับ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ผู้ให้กู้ ในข้อ 18 ระบุว่า “ในกรณีผู้กู้ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ให้กู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญา  ผู้ให้กู้จะแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้กู้ให้ดำเนินการแก้ไขการผิดสัญญาดังกล่าวภายในระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน หากผู้กู้ไม่ดำเนินการแก้ไขจนพ้นระยะเวลาที่ผู้ให้กู้กำหนด ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้เรียกให้ผู้กู้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่ทั้งหมดคืนได้ทันที” ธนาคารจึงต้องมีหนังสือแจ้งให้จำเลยผู้กู้ชำระหนี้ที่ค้างชำระภายในระยะเวลาที่กำหนดก่อนที่จะบอกเลิกสัญญา ธนาคารจึงจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าธนาคารได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างชำระภายในกำหนดก่อน มิฉะนั้นจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ธนาคารคงมีเพียงหนังสือขอให้ชำระหนี้ ซึ่งเป็นหนังสือแจ้งเตือนให้ลูกหนี้ชำระเงินตามปกติเท่านั้น ธนาคารจึงยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย อีกทั้งยังไม่สามารถเรียกให้การเคหะแห่งชาติมาซื้อทรัพย์คืนได้ด้วย พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ และให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทรระหว่างโจทก์กับจำเลยยังมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ตามสัญญากู้ระหว่างจำเลยกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ให้แก่โจทก์แทนธนาคารอาคารสงเคราะห์ นับแต่งวดที่ชำระครั้งสุดท้ายเป็นต้นไป คดีนี้ จึงจบลงที่ การเคหะแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คือให้ ฉัตร กลับเข้าไปทำสัญญาเดิมใหม่ได้โดยไม่มีเงื่อนไข !!  นับเป็นคดีตัวอย่าง ที่ถือว่าเป็นชัยชนะของผู้บริโภคอีกก้าวหนึ่ง ที่จะเป็นส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคไทยได้แน่นอน   “หน้าที่” ของผู้โดยสาร ในการใช้บริการรถสาธารณะ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มักจะนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวกับ สิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเสมอ แต่ที่มาพร้องกับสิทธิ นั่นคือ “หน้าที่” ซึ่งผู้บริโภคบางครั้งก็มักจะหลงลืม หรือให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้น้อย ฉบับนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงขอนำเสนอ หน้าที่ของผู้โดยสาร เมื่อต้องใช้บริการของรถสาธารณะกันบ้าง ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2557 ได้ประกาศกฎกระทรวง  กำหนดความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยที่ผู้โดยสารต้องปฏิบัติในระหว่างการโดยสาร พ.ศ. 2557 ซึ่งกฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งประจำทางต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยตลอดเวลาที่อยู่ระหว่างการโดยสาร ดังนี้ (1) ไม่สูบบุหรี่หรือสิ่งที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน (2) ไม่กล่าววาจาไม่สุภาพ เสียดสี ดูหมิ่น ก้าวร้าว ส่งเสียงอื้ออึง หรือกระทำการใด ๆ ในลักษณะที่ก่อความรำคาญแก่ผู้อื่น (3) ไม่โดยสารนอกตัวรถ หรือห้อยโหน หรือยื่นมือ แขน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกนอกตัวรถ ทั้งนี้ เมื่อผู้ประจำรถได้ว่ากล่าวตักเตือนแล้วไม่ยอมปฏิบัติตาม (4) ไม่นำสิ่งของที่มีกลิ่นแรงอันอาจก่อความรำคาญแก่ผู้อื่นขึ้นบนรถ เว้นแต่จะได้จัดเก็บให้มิดชิดโดยปราศจากกลิ่นนั้น (5) ไม่นำดอกไม้เพลิง ลูกระเบิด วัตถุระเบิด หรือวัตถุกัดกร่อนขึ้นบนรถ (6) ไม่บ้วน หรือถ่มน้ำลาย น้ำหมาก หรือเสมหะ สั่งน้ำมูก ถ่ายสิ่งปฏิกูล หรือเท หรือทิ้งสิ่งใด ๆ ลงบนรถ ณ ที่ซึ่งมิได้จัดไว้เพื่อการนั้น (7) ไม่ลงจากรถนอกบริเวณที่มีเครื่องหมายหยุดรถประจำทาง (8) ไม่ดื่มสุราตามกฎหมายว่าด้วยสุรา (9) ไม่กระทำการลามกอนาจาร (10) รัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง ผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทาง (เช่น รถท่องเที่ยวทัศนาจร) ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสารตามข้อ  (1) (3) (5) (8) (9) และ (10) เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยที่ผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งประจำทางต้องปฏิบัติตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสารตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งไม่ครอบคลุมข้อปฏิบัติเรื่องความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยบางประการ ประกอบกับจำเป็นต้องเพิ่มข้อกำหนดเพื่อผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทางด้วย เห็นหรือไม่ว่า นอกจากสิทธิแล้ว หน้าที่ก็ยังเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ นั่นก็เพื่อให้ผู้โดยสารมีความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในระหว่างการโดยสารยิ่งขึ้นนั่นเอง    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 157 กินยาบำรุงร่างกายถึงตายได้เลยนะ

ได้มีโอกาสไปเยี่ยมศูนย์รับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน   ตามมาตรา50(5)  ตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ   ซึ่งเป็นการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน  เพื่อเป็นศูนย์รับ เรื่องร้องเรียน  และช่วยแก้ปัญหาของภาคประชาชน (ที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 100 ศูนย์)   ในภาคอีสานตอนบน การไปเยี่ยมเยียนพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาการใช้บริการด้านสุขภาพของประชาชนในหน่วยบริการ จากการพูดคุย     มีเรื่องที่น่าตกใจ   และไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นคือ   มีเด็กกินยาบำรุงร่างกายแล้วเสียชีวิต   เมื่อถามรายละเอียด  จึงทราบว่า  ยาที่เด็กกินคือยา  xxx ยาบำรุงเม็ดสีแดง   ชาวบ้านเล่าว่า   เด็ก 2 คน  อายุ 3-4 ขวบ เป็นพี่น้องกัน  พ่อ-แม่เด็กไปทำงานในเมือง  เด็กกับอยู่กับตา    ตากินยาบำรุงแล้ววางไว้ในมุ้ง    เด็กเห็นเม็ดยาสีสวยคงนึกว่าขนม  จึงแอบกินเกือบหมด    ตามาเห็นจึงรีบพาเด็กส่งโรงพยาบาล คำถามแรกคือ “เด็กกินยาไปกี่เม็ด   คนไหนกินมากกว่ากัน”  ตาบอกจำนวนเม็ดยาได้  แต่บอกไม่ได้ว่า  คนไหนกินมากกว่ากัน แพทย์รับตัวไว้ดูอาการใน โรงพยาบาลผ่านไป 2 วัน อาการไม่มีอะไรน่ากังวล จึงเตรียมจะให้เด็กกลับบ้าน  แต่เด็กเริ่มมีอาการน่าเป็นห่วงสัญญาณชีพมีปัญหา  โรงพยาบาลอำเภอจึงเร่งส่งตัวไปโรงพยาบาลจังหวัด    ไปถึงปรากฏว่าว่าเด็กมีอาการไตวายเฉียบพลัน   แพทย์เร่งล้างท้องและช่วยชีวิตเด็กได้ 1 คน  อีกคนเสียชีวิต (คุยกับแพทย์ได้เหตุผลว่ายาบำรุงมีธาตุเหล็ก  กินมากๆ ธาตุเหล็กจะไปเกาะตับไต ทำให้ตับไตมีปัญหา)  เรื่องนี้มีการร้องเรียนโรงพยาบาลแรกว่าไม่ดำเนินการล้างท้องเด็กปล่อยให้อาการหนักจนเสียชีวิต สปสช. จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกัน  400.000  บาท  เรื่องก็จบไป  พร้อมชีวิตเด็ก 1 คน    แต่ไม่มีการร้องเรียนผู้ผลิตยาดังกล่าวแต่อย่างใด      ดิฉันเลยไปร้านยา ขอดูฉลากยาข้างกล่องเท่าที่ดู (ภายนอก)อย่างละเอียด  ไม่เห็นคำเตือนให้เก็บห่างมือเด็กแต่อย่างใด    จึงเขียนมาเพื่อ เตือนผู้ผลิตว่าควรมีคำเตือนเรื่องนี้ อย่างจริงจัง  เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค  และผู้ปกครองทั้งหลายจะได้ทราบไว้เป็นอุทาหรณ์    เพราะยามีคุณอนันต์  ก็มีโทษมหันต์ เช่นกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 157 เสียงผู้บริโภค

อยากซ่อม ไม่อยากขายซาก รถเกิดอุบัติเหตุก็ต้องซ่อม แม้จะเยินไปหน่อยแต่ก็เพิ่งซื้อมา ทำประกันชั้นหนึ่งด้วย อยู่ๆ จะให้ขายเป็นซากแบบไม่สมเหตุผลมันก็ทำใจลำบากอยู่ คุณผุสดี ซื้อรถยนต์ใหม่ป้ายแดงมาหมาด พร้อมทำประกันภัยชั้น 1 ไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ในวงเงิน 650,000 บาท โชคร้ายรถประสบอุบัติเหตุ(โชคดีที่คนขับไม่บาดเจ็บมาก) ทางประกันภัยจึงมายกรถที่สภาพเสียหายค่อนข้างหนักไปเข้าศูนย์ซ่อม แต่ผ่านไป 4 เดือน รถไม่เคยถูกซ่อม ทางประกันภัยแจ้งว่าทางศูนย์ซ่อมที่ประกันฯ นำรถไปดำเนินการนั้นแจ้งราคาซ่อมเกินวงเงินประกันภัย จึงไม่สามารถซ่อมได้ ประกันฯ ขอรับซื้อซากรถแทน “แต่ดิฉันไม่ตกลงขายค่ะ เพราะสภาพมันซ่อมได้ ไม่ใช่ว่าซ่อมไม่ได้เลย ดิฉันจึงทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทประกันฯ ว่าจะขอนำรถมาซ่อมที่อู่ ซึ่งดิฉันรู้จัก ซึ่งประกันก็ยินยอม แต่ว่ารถก็ยังไม่ได้รับการซ่อมอยู่ดี อู่บอกว่าประกันฯ ยังไม่ได้คุยว่าจะต้องซ่อมอะไร ยังไง พอดิฉันไปคุยกับประกันฯ ทางประกันบอกว่าจะติดต่อกับอู่เองโดยตรง ดิฉันไม่รู้จะทำยังไงดี รถคันนี้ต้องใช้ประกอบอาชีพด้วย ตอนนี้เดือดร้อนมาก”   แนวทางแก้ไขปัญหา เมื่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ติดต่อเจรจากับทางบริษัทประกันภัย ได้ความว่า รถของผู้บริโภคนั้น มีสภาพความเสียหาย(ที่ต้องซ่อมแซม) เกินกว่า 70% ซึ่งเข้าข่ายซ่อมไม่ได้ จึงได้เสนอคืนเงินประกันให้กับคุณผุสดี แต่ทางคุณผุสดีแจ้งว่า เงินที่ทางบริษัทประกันจะคืนให้นั้น ไม่พอปิดยอดไฟแนนซ์ ซึ่งจะต้องชำระค่าส่วนต่างอีกหลายหมื่นบาท และเมื่อดูรายการตามที่ทางช่างได้ประเมินเรื่องการซ่อมแล้ว คุณผุสดีเห็นว่า ช่างยืนยันว่าซ่อมได้ ทั้งยังไม่เกินวงเงินประกันด้วย ทางบริษัทประกันฯ น่าจะพิจารณาคุ้มครองการจ่ายค่าซ่อมแซมทั้งหมด   หลังการเจรจาเรื่องก็จบลงด้วยดีตามความประสงค์ของคุณผุสดีคือ ทางบริษัทประกันอนุมัติการซ่อม คุณผุสดีจึงขอบคุณทางศูนย์ฯ ที่ช่วยเรื่องการเจรจาในครั้งนี้     ปวดหัวกับพี่วิน ปัญหานี้มีทางออก ปัญหาที่มีร้องเรียนเข้ามามากมายอย่างต่อเนื่องของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ในหมวดบริการสาธารณะก็คือ ปัญหาจากการบริการของมอเตอร์ไซด์รับจ้าง หรือว่า พี่วิน ของเราท่านนั่นเอง ปัญหาที่ผู้บริโภคพบส่วนใหญ่คือ คิดราคาแพง เกินกว่าป้ายบอกราคา   หรือแพงกว่าที่ควรจะเป็น  ตั้งราคาเอง  วินเถื่อน  การปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารที่มีรูปร่างอวบอ้วน น้ำหนักตัวมาก กิริยา วาจา ไม่สุภาพ หรือบางรายเข้าข่ายลวนลามลูกค้าก็มี  เรื่องทำนองนี้มีมาเข้ามามิได้หยุดหย่อน แล้วเราจะทำอย่างไรกันดีเมื่อเจอกับปัญหาลักษณะนี้ คุณแสนดี เป็นผู้หนึ่งที่ใช้บริการมอเตอร์ไซด์รับจ้างอยู่เป็นประจำ เพราะบ้านพักอยู่ในซอยที่ค่อนข้างเปลี่ยวและลึก และวันหนึ่งเธอก็ใช้บริการตามปกติ กับวินเดิม แต่สิ่งที่ทำให้คุณแสนดีปรี๊ดแตกก็คือวันนั้นพี่วินไม่ยอมเข้าไปส่งเธอถึงบ้านพักเพราะอ้างว่า ซอยเปลี่ยวและดึกเกินไป ทั้งที่นาฬิกาข้อมือบอกเวลาที่ 19.00 น. เท่านั้น คุณแสนดีพยายามบอกให้คนขับเข้าไปส่งเพราะเธอไม่อยากเดินเข้าไปในซอยเพราะแม้ไม่ดึก แต่ก็มีคนงานตั้งวงดื่มสุรากันริมทาง เกรงจะไม่ปลอดภัย แต่คนขับก็ยืนยันไม่เข้าไปส่งท่าเดียว จนในที่สุดคุณแสนดีต้องจำใจเดินเข้าซอยท่ามกลางความหวาดระแวงตลอดทางจนถึงบ้าน แต่ด้วยความรอบคอบเธอสามารถจดจำหมายเลขทะเบียนรถ และหมายเลขเสื้อของคนขับได้ครบถ้วนจึงได้นำเรื่องมาปรึกษากับเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค   แนวทางแก้ไขปัญหา ถ้าท่านพบเจอเหตุการณ์เช่นเดียวกับคุณแสนดี หรือถูกเอาเปรียบในเรื่องอื่นๆ สามารถแก้ไขปัญหาได้ดังต่อไปนี้ -          จดจำรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานที่ตั้งวิน หมายเลขทะเบียนรถ หมายเลขที่เสื้อคนขับ พื้นที่ให้บริการซึ่งจะระบุไว้ที่ตัวเสื้อ และช่วงเวลาที่เกิดเหตุ -          ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่ทำหน้าที่ ควบคุม ดูแล ประกอบด้วย 1) ตำรวจ ท้องที่ที่เกิดเหตุ 2) สำนักงานเขต 3) กรมการขนส่งทางบก -          การร้องเรียน แจ้งเบาะแส พฤติกรรม ต้องดำเนินการทำเป็นลายลักษณ์อักษร จะเกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะสามารถติดตามการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆที่รับเรื่องร้องเรียนได้ด้วย หากไม่มีความคืบหน้าก็สามารถดำเนินการทางปกครองกับหน่วยงานเหล่านี้ตาม มาตรา 157 (ละเว้นปฏิบัติหน้าที่) ค่ะ   จุดสังเกตว่าเป็นมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่ผิดกฎหมาย หรือ วินเถื่อน - ไม่มีการสวมเสื้อวิน - ไม่มีเบอร์ หรือหมายเลขปรากฎด้านหลัง - ไม่มีการระบุเขตพื้นที่การวิ่งรถ - ไม่มีการระบุชื่อ พนักงานขับรถที่หน้าอกเสื้อวิน หากพบว่า เป็นวินเถื่อน แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที ว่าด้วยเรื่อง พ.ร.บ.รถ อีกสักที ปัญหาเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางถนนสร้างความปวดหัว และปวดใจได้ไม่น้อยเลย ยิ่งในรายที่ประสบอุบัติเหตุแบบไม่ธรรมดา คือ ต้องไปข้องเกี่ยวกับรถที่ไม่ได้ทำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือเรียกว่า พ.ร.บ.ภาคบังคับ หรือบางราย พ.ร.บ.หมดอายุ (พ.ร.บ. ขาด) แล้วใครล่ะที่จะมารับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล และค่าปลงศพ (กรณีเสียชีวิต)ให้กับผู้เสียหาย  เรื่องนี้มีคำตอบ กรณีที่ผู้เสียหาย 3 คน เดินกินลมชมวิวริมถนนอยู่ดีๆ ก็มีรถมาเฉี่ยวชน คนที่ 1 บาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนคนที่ 2 บาดเจ็บเล็กน้อย คนที่ 3 เสียชีวิตคาที่  และบังเอิญ รถคันที่มาชนไม่ได้ทำ พ.ร.บ.ภาคบังคับเสียด้วย จะได้รับการชดเชยเยียวยาอะไรบ้าง การชดเชยในกรณีนี้ -          ทั้ง 3 คน สามารถใช้สิทธิจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ สามารถทำเรื่อง เบิกจ่ายได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) -          คนที่ 1 ทายาทจะได้รับเงิน จำนวน 35,000 บาท ซึ่งจะหัก ค่ารักษาพยาบาลตามจริงก่อนเสียชีวิต ด้วย ในรายที่รักษาเกินกว่า 35,000 บาท ก่อนเสียชีวิตก็เท่ากับว่าจะไม่ได้ค่าปลงศพนั่นเอง -          คนที่ 2 โรงพยาบาลจะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท หากเกินจะสามารถใช้สิทธิที่ตนเองมีอยู่ เช่น ประกันสังคม ข้าราชการ หลักประกันสุขภาพ(บัตรทอง) -          คนที่ 3 ทายาทจะได้รับเงินค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท อีกกรณีคือเด็กชายอายุ 13 ปี ได้ขับรถมอเตอร์ไซด์ พาน้องสาวอายุ 9 ปี นั่งซ้อนท้ายมาด้วยกัน แล้วถูกรถยนต์เก๋งชน จนเป็นเหตุให้คนขับบาดเจ็บ ส่วนน้องสาวเสียชีวิตคาที่  ทั้ง พ.ร.บ.รถมอเตอร์ไซด์ และ พ.ร.บ.รถยนต์ ไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย อ้างว่า เด็กชายคนดังกล่าวไม่มีใบขับขี่ การชดเชยในกรณีนี้ -          โปรดจำไว้ว่า แม้คนขับจะไม่มีใบขับขี่ก็ตาม จะได้รับจากชดเชยเยียวยาจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถตามปกติคือ ค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน 15,000 บาท แต่หากพิสูจน์ได้ว่า คู่กรณีเป็นฝ่ายผิดจะได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเป็นตามจริง ไม่เกิน 50,000 บาท  เพราะ เป็นกฎหมายคนละฉบับกัน หากคนขับไม่มีใบขับขี่จะถูกดำเนินการลงโทษจาก พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยการเปรียบเทียบปรับในภายหลัง -          สำหรับคนซ้อน ถือเป็นบุคคลภายนอก ไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด จะได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.รถมอเตอร์ไซด์ทันที ที่ 200,000 บาท -          หากไม่สามารถตกลงกันได้ สามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)   ความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ค่ารักษาพยาบาล ตามจริง ไม่เกิน 50,000 บาท ค่าปลงศพ จำนวน 200,000 บาท ค่าชดเชยกรณีนอนโรงพยาบาล วันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน กฎหมายบังคับให้รถยนต์ทุกคันที่จดทะเบียนกับการขนส่งทางบกจะต้องมีการประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครอบผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หากไม่ทำจะมีความผิด มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และให้เจ้าของรถหรือผู้ใช้รถเก็บรักษาหลักฐานแสดงการมีประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถไว้ให้พร้อมที่จะแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทุกเวลาที่ใช้รถ เว้นแต่กรณีรถคันดังกล่าวได้จดทะเบียนหรือชำระภาษีประจำปีแล้ว       //

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 156 100 ปี หมอยา

เมื่อวันที่ 10- 12  มกราคม 2557  เป็นวันจัดงาน “100  ปี วิชาชีพและการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย โดย สภาเภสัชกรรม  และมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม   ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทบทวนผลการดำเนินการ 100 ปี ที่ผ่าน และทิศทางการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา “วิชาเภสัชศาสตร์” กับความคาดหวังของประชาชนต่อวิชาชีพนี้  ในทศวรรษ ต่อไป ประเด็นที่ท้าทาย “หมอยา” มีมากมาย   รวมถึงการกำหนดหลักสูตรการสอนอย่างไร?  ให้ผู้ที่จบหลักสูตรวิชาชีพเภสัชกรรม  เป็นผู้ที่ “เอาธุระต่อสังคม” ไม่ใช่เป็นแค่อาชีพหนึ่งในสังคม   สาเหตุที่เขียน เช่นนี้ เพราะเภสัชกร  เป็นผู้ทรงความรู้เกี่ยวกับเรื่องยา   ทุกแขนง ทุกสาขา ทั้งความรู้เรื่องการใช้ยาการกินยา ผลกระทบของยา การผลิตยา  ทั้งยาคนยาสัตว์  รวมถึงเป็นผู้ที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดความมั่นคงด้านยา  เรียกได้ว่าเป็นรอบรู้เรื่องที่เกี่ยวกับยาครบวงจร   แต่ความรู้ที่อุตส่าห์ร่ำเรียนมาตั้ง 6 ปี  กลับถูกนำมาใช้อย่างจำกัด  เภสัชกร เป็นได้แค่คนขายยาในร้านยา คนจัดยาและแนะนำยาให้กินยาตามแพทย์สั่ง  เช่น  ยานี้กินกี่วัน กินวันละกี่มื้อ  แต่กินไม่ตรงแล้วเป็นไง กินไม่ครบจะเกิดอะไร(ไม่มีเวลาบอก)  เป็นเภสัชในโรงงาน  ฯลฯ ที่ยังไม่เคยเป็นเลยตลอด 100 ปีที่ผ่านมา  เห็นจะเป็น  “ผู้ทำให้ประเทศไทยพึ่งพาตัวเองด้านยาได้” อย่างที่ควรจะเป็น ด้วยข้อจำกัด และอุปสรรคมากมาย ทำให้ 100 ปี ที่ผ่านมาประเทศไทยยังต้องพึ่งการนำเข้ายาจากต่างประเทศเป็นหลัก  เท่าที่ผู้เขียนไปนั่งฟังในเวทีรวมถึงเป็นผู้ที่ร่วมวิพากษ์ เรื่องหลักสูตรการศึกษานี้  ทำให้ทราบว่า  เรายังขาด   องค์กรที่จะมาเป็นเจ้าภาพในการสร้างความมั่นคงด้านยาของประเทศ  ขาดทั้งงบประมาณ  ความพร้อมในการผลิตยา  รวมถึงขาดนโยบาย จากฝ่ายการเมือง  ที่จะสร้างความมั่นคงด้านยาอย่างจริงจัง  นักการเมืองบ้านเรายังมีความสุขกับการอนุมัติงบประมาณเพื่อนำไปซื้อยา  มากกว่าที่จะทำให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งด้านพึ่งพาตนเองเรื่องยา    ในภาวะกระแสปฏิรูปประเทศไทยกำลัง มาแรง  ก็เลยอยากฝากประเด็นนี้ให้ติดอยู่ในกระบวนการปฏิรูปด้วยก็จะดียิ่ง เจอกันฉบับหน้าจะนำปัญหาการใช้ยาอย่างขาดความรู้จนทำให้ถึงตายมาเล่าสู่กันฟัง มีเยอะเชียวล่ะคุณเอ๋ย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 156 เสียงผู้บริโภค

เอสเอ็มเอส ไม่สมัครไม่ต้องจ่าย มาอีกแล้วกับเรื่องเอสเอ็มเอสที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ แต่เครือข่ายดันมาคิดค่าบริการแล้วบอกปัดว่า “ไม่ใช่ของบริษัทฯ ค่ะ จึงไม่สามารถระงับบริการได้” ใครจะเชื่อ ที่ผ่านมาและน่าจะยังเป็นเรื่องปัจจุบันด้วย คือรูปแบบการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ปัญหาจะมีลักษณะที่อ้างว่าเป็นบริการในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ข้อความตลก คลิปลับ ดูดวง ชิงโชค บริการข่าว โหลดเพลง ฯลฯ และมีการหักเงินค่าบริการผ่านระบบการหักเงินอัตโนมัติจากเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบต่างๆ ทั้งในระบบเติมเงิน และรายเดือน บางท่านจะไม่รู้ตัวเลยว่าถูกหักเงิน จนเมื่อโทรศัพท์ไม่สามารถใช้งานได้นั่นแหละ ถึงจะทราบว่าตนเองเป็นเหยื่อไปอีกรายแล้ว คุณณิชาก็เช่นกัน เธอเล่าว่าใช้บริการของทรู ทั้งหมายเลขโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต Wi-Fi มานานแล้ว จนพฤษภาคม  ปีที่แล้วได้เปิดบริการเพิ่มอีก 1 เบอร์ โดยวงเงินของเบอร์นี้จำกัดไว้ที่ 1,000 บาท และเนื่องจากใช้บริการหลายอย่างจึงไม่ทันได้สังเกตถึงความผิดปกติ(รายละเอียด)ของค่าบริการว่ามีอะไรบ้าง ได้แต่ชำระเงินไปตามยอดที่ตรวจสอบได้จากทางเว็บไซต์ของทรูเท่านั้น จนเดือนตุลาคมเธอไม่สามารถใช้บริการโทรออกจากเบอร์ที่เปิดใช้งานเมื่อเดือนพฤษภาคมนั่นแหละ จึงรู้ตัวว่าโดนเข้าแล้ว   “ก็มียอดค้างค่าบริการเบอร์นี้ประมาณ 1 เดือนนะคะ ไม่คิดว่าจะถูกตัดบริการ พอลองหาใบแจ้งหนี้ค่าบริการดู เลยมารู้ตัวว่า เบอร์นี้ไม่เคยมีใบแจ้งหนี้มาที่บ้านเลยตั้งแต่สมัคร เมื่อสอบถามกับคอลเซนเตอร์ ปรากฏว่าทางบริษัทฯ จัดส่งใบแจ้งหนี้ไปที่ที่อยู่เก่า ทั้งที่ตอนสมัครใช้ก็แจ้งที่อยู่ปัจจุบันอย่างชัดเจน ยอดค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 701 บาท ซึ่งสูงมากเพราะดิฉันไม่ค่อยได้ใช้บ่อยนัก จึงถามรายละเอียดว่าเป็นค่าอะไร ทางคอลเซนเตอร์แจ้งว่า เป็นค่าบริการที่สมัครเกมจาวา งงไปเลยค่ะว่าสมัครไปตอนไหนกัน” คุณณิชาปฏิเสธว่าไม่เคยสมัครเล่นเกมอะไรเลย ทางคอลเซนเตอร์จึงทำเรื่องยกเลิกให้ ทั้งหมด 4 เกม จากนั้นคุณณิชาลองมาดูรายละเอียดการใช้งานในเดือนกันยายนผ่านทางเว็บไซต์ ก็พบว่า มีการส่ง SMS มาที่เบอร์นี้เยอะมาก ประมาณ 80 ข้อความ(ค่าบริการ 10-20 บาท/ข้อความ) และสำหรับเดือนตุลาคมที่ยังไม่ได้ตัดรอบบิลก็เจอไปอีก 130 ข้อความ ค่าบริการทะลุไป 1,350 บาท ช่วงเวลาที่เกิดปัญหาคือช่วง 05.00 – 08.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่เคยจะหยิบโทรศัพท์มาใช้งานเลยสำหรับคุณณิชา “ดิฉันแจ้งร้องเรียนกับทางคอลเซนเตอร์ทันที ยืนยันไปค่ะว่าไม่เคยสมัคร ทางคอลเซนเตอร์ก็ยืนยันว่า ลูกค้าสมัครๆ และเสนอว่าจะลดค่าบริการให้ 300 บาท จากยอดสองเดือนรวมๆ ประมาณ 2,000 กว่าบาท มันไม่แฟร์เลยนะคะ” คุณณิชาไม่เชื่อว่าทางทรูจะไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่า ช่วยเหลือ 300 บาท ก็ขนาดยอดเงินในเบอร์นี้มีแค่ 1,000 บาท ยังปล่อยให้ข้อความสั้นมันทะลุเกินวงเงินไปได้ จึงมาร้องเรียนและขอคำปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค   แนวทางแก้ไขปัญหา เมื่อไม่ได้สมัครใช้บริการ ก็ไม่ควรต้องจ่ายค่าบริการ ทางศูนย์ฯ จึงแนะนำให้คุณณิชาทำหนังสือ หรือทำจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) ถึงบริษัท ทรู โดย 1.ขอให้ทางทรูตรวจสอบค่าใช้จ่ายกรณีบริการเสริมข้อความสั้น พร้อมปฏิเสธการชำระค่าบริการข้อความสั้นทั้งหมด ตามใบแจ้งหนี้ในรอบบิลที่มีปัญหา พร้อมยกเลิกบริการเสริมทุกชนิด(เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต) 2.แจ้งขอให้ทางบริษัทฯ เปิดสัญญาณการใช้งานตามปกติ โดยทางผู้ร้องจะชำระค่าบริการที่ยังค้างอยู่เฉพาะที่เป็นค่าบริการจริงไม่เกี่ยวกับค่าบริการข้อความสั้นที่ผู้ร้องไม่ได้สมัครใช้บริการ โดยหนังสือนี้สำเนาถึงศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ด้วย ต่อมาได้รับแจ้งจากคุณณิชาว่า ได้ส่งอีเมล์ไปถึงบริษัท ทรู เพื่อดำเนินการตามที่ทางศูนย์ฯ แนะนำ ปัจจุบันทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แล้ว โดยปรับลดค่าบริการส่วนเกินจากบริการข้อความสั้น(SMS) รวม 1341.78 เหลือเฉพาะค่าบริการจริง โดยจะเปิดสัญญาณให้ 3 วันเพื่อให้ทางผู้ร้องได้ชำระค่าบริการที่ค้างอยู่ พร้อมระงับบริการ SMS ทั้งหมด คุณณิชาขอบคุณที่ทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ช่วยเหลือให้คำแนะนำในครั้งนี้ และยินดีจะช่วยเหลือสนับสนุนทางมูลนิธิฯ หากมีประเด็นที่ต้องการพลังจากผู้บริโภคคนเล็กคนน้อย     ค้างค่างวดรถ 3 งวด แต่จะให้จ่าย 6  ไหวไหม สมัยนี้ยังจะมีใครซื้อรถด้วยเงินสดๆ แบบจ่ายทีเดียวไหม คงน้อยมากๆ แม้แต่คนที่มีเงินมาก ก็ไม่ทำเพราะระบบลิซชิ่งหรือระบบเช่าซื้อรถยนต์มันทำให้บริหารเงินได้ดีกว่าที่จะเอาเงินเยอะๆ ไปทุ่มในครั้งเดียว และยังช่วยให้คนเงินน้อยสามารถมีรถยนต์เป็นของตนเองได้ บริษัทรถยนต์ก็ขายได้มากขึ้น ยังไม่รวมนโยบายรถคันแรกที่รัฐบาลออกมาช่วยกระตุ้นยอดขายด้วย เราจึงเห็นปรากฏการณ์ยอดขายรถยนต์สูงลิ่วในทุกปี การเช่าซื้อหรือทำสัญญาเช่าซื้อ (Hire-Purchase) คือ สัญญาที่เจ้าของทรัพย์สินหรือผู้ให้เช่าซื้อนำทรัพย์สินออกให้เ ช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินหรือให้ทรัพย์สินตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้เช่าซื้อ เมื่อผู้เช่าซื้อได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาแล้ว การเช่าซื้อรถยนต์เราจึงยังไม่ได้เป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์แต่เป็นเพียงผู้เช่าซื้อ โดยมีสัญญาว่าจะชำระเงินให้เป็นงวดๆ ให้แก่เจ้าของจริง ซึ่งก็คือบริษัทที่ให้บริการเช่าซื้อรถยนต์ ถ้าสามารถจ่ายเงินได้ตรงงวดคงไม่มีปัญหา ปัญหามาเกิดเอาตรงที่จ่ายไม่ทันและถ้าไม่ทัน 3 งวดติด เจ้าของเขาก็จะมายึดรถ(ทรัพย์)ของเขาทันที คุณพิมลวรรณเช่าซื้อรถยนต์กับบริษัท โตโยต้า ลิสซิ่ง(ประเทศไทย) จำกัด เป็นราคาค่าเช่า 857,247 บาท โดยจะชำระงวดละ 8,733 บาท แต่เกิดปัญหาขึ้นเมื่อคุณพิมลวรรณขาดส่งไป 3 งวด ไม่นานทางบริษัทลิสซิ่ง ได้ให้พนักงานมานำรถไปพร้อมบอกว่า ให้ไปไถ่ถอน ด้วยการชำระเงิน 3 งวดที่ขาดส่งไป รวมค่าปรับ ค่าติดตามรถ พร้อมค่าไถ่ถอนทั้งสิ้น 36,624 บาท โดยให้เวลาดำเนินการ 6 เดือน แต่เมื่อคุณพิมลพรรณติดต่อกลับไปทางโทรศัพท์เพื่อขอทราบรายละเอียดค่าบริการค่าปรับต่างๆ ก็ได้ข้อมูลใหม่ชวนตกใจว่า คุณพิมลพรรณต้องชำระทั้งหมด 89,022 ซึ่งเป็นยอดที่รวมค่าเช่าล่วงหน้าอีก 6 เดือน จึงจะมารับรถคืนได้   แนวทางแก้ไขปัญหา ทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้สอบถามข้อมูลจากคุณพิมลพรรณ พบว่า ยอดค่าใช้จ่ายที่ถูกเรียกเก็บเกิดจากการเจรจาความกันทางโทรศัพท์ ซึ่งคุณพิมลพรรณมิได้รับหนังสือบอกกล่าวจากบริษัทแต่อย่างใด ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์นั้น ความข้อ 3 มีสาระสำคัญและมีเงื่อนไข ที่เกี่ยวข้องดังนี้ (4) ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวด 3 งวดติดๆ กัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อย 30 วัน นับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือและผู้เช่าซื้อละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น (5) เมื่อผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและกลับเข้าครอบครองรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ให้เช่าซื้อ เพื่อนำออกขายให้แก่บุคคลอื่น     ก. ก่อนขายให้แก่บุคคลอื่น ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบเป็นหนังสือไ ม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ       ข. ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขาย หากได้ราคาเกินกว่ามูลหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะคืนเงินส่วนที่เกินนั้นให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่หากได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะรับผิดส่วนที่ขาดนั้นเฉพาะกรณีการขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสมเท่านั้น เมื่อไม่มีหนังสือแจ้งบอกกล่าว เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงได้ติดต่อกลับไปยัง บริษัท โตโยต้า ลิสซิ่ง เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง อีกทั้งแจ้งให้ทางผู้ร้องชำระเงินค่างวดที่ค้างไว้ 3 งวดแก่บริษัทฯ เพื่อให้สัญญากลับคืนสู่สภาพ ทางศูนย์ฯ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ว่า ผู้ร้องผิดสัญญาเพราะผิดนัดชำระ 3 งวด ในหนังสือบอกกล่าวก็ระบุไว้ว่าให้ชำระทันที จุดนี้ทางศูนย์ฯ แย้งว่า ผู้ร้องไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวจากทางบริษัทแต่อย่างใด อีกทั้งการชำระทันทีก็ยังต้องอยู่ในเงื่อนไขตามประกาศของ สคบ. คือ ไม่เกิน 30 วัน จึงถือว่ากรณีนี้ผู้ร้องมิได้กระทำผิดสัญญาและยังได้ชำระค่างวดที่ค้างอยู่ทั้งหมดแล้ว ทางบริษัทจึงต้องคืนรถยนต์ให้กับผู้ร้องโดยทันที เมื่อแย้งกลับไปด้วยข้อกฎหมายทางฝ่ายบริษัทฯ เลยขอพักการเจรจาก่อนบอกว่า ตนเองมิใช่คนดูแลโดยตรง จะติดต่อกลับในภายหลัง ต่อมาผู้ร้องได้แจ้งว่า บริษัทฯ ติดต่อให้ไปรับกุญแจคืนและตนก็ได้ไปรับตรวจรถเรียบร้อยแล้ว จึงขอขอบคุณมูลนิธิฯ มา ณ ที่นี้   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 155 ร้องเรียนกรณี ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ

30 หมู่ที่ 8 ตำบล บางแก้ว อำเภอ เมือง จังหวัดสมุทรสงคราม วันที่   28   พฤศจิกายน  2556 เรื่อง  ร้องเรียนกรณี ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ เรียน   กสทช ด้วยดิฉัน  นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม  หมายเลขบัตรประชาชน 37501-00253-723    เป็นผู้ใช้โทรศัพท์ หมายเลข 081- 3089020   ใช้แบบชำระค่าบริการรายเดือนของบริษัท DTAC  ได้รับความเสียหาย ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ หลายเดือนโดยที่ไม่ได้ใช้บริการ วันที่ 28 พฤศจิกายน  2556  ดิฉันได้ไปจ่ายค่าบริการโทรศัพท์ ที่ศูนย์ DTAC จังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยตัวเอง(ซึ่งเดือนก่อนๆ ให้ลูกน้องไปจ่ายแทน) ซึ่งมียอดต้องชำระ 2 เดือน มียอดรวม 1,622  บาท  จึงได้ถามว่าดิฉัน ใช้บริการโปรฯ 599 ต่อเดือน(รวมอินเตอร์เน็ต) ทำไมค่าบริการจึงสูงกว่า 599  บาท  ได้คำตอบว่า  ส่วนที่เกินมาจากค่าใช้บริการบันเทิงดารา  และการสมัครข่าวฮอตนิวส์  ซึ่งดิฉันไม่เคยสมัครใช้บริการดังกล่าว และไม่เคยได้รับบริการใดๆ (นอกจากสมัครรับข่าวของสำนักข่าวอิศรา) มีเพียงได้รับข้อความทาง SMS เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน  2556  ว่า “ระบบจะต่ออายุบริการHotNews-FT 15D&Normal 29.00 บาท 30 วัน ในวันที่ 2013 -11-14 สอบถามโทร 02-9412815”  ซึ่งดิฉันไม่สนใจและไม่คิดจะรับบริการ  จากนั้นวันที่  14 พฤศจิกายน  2556  ดิฉันก็ได้รับข้อความว่า ระบบได้ต่ออายุบริการแล้ว(ดิฉันได้นำข้อมูลนี้ให้คุณฐากร  ตันฑสิทธิ  เลขา กสทช ดูแล้ว) ส่วนค่าบริการบันเทิงดาราดิฉันมาทราบภายหลังว่า มีการให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2556  ทั้งที่ดิฉันไม่เคยสมัครและไม่เคยรับบริการข่าวบันเทิงใดๆ พฤติกรรมการให้บริการของ  DTAC   เข้าข่ายฉ้อโกงผู้บริโภค อย่างชัดเจน  จึงขอร้องเรียน ให้ DTAC ชดเชยค่าเสียหายดังนี้ เรียกร้องค่าบริการที่เรียกเก็บเกิน  ตามที่เก็บเกินไปจริง เรียกร้องค่าเสียหายกรณีเสียเวลา เสียค่าโทรศัพท์ เสียค่าเดินทางและอื่นๆในกระบวนการร้องเรียน   กรณีถูกฉ้อโกง  จำนวน 5,000  บาท (เพราะผู้บริโภคไม่ได้มีหน้าที่ร้องเรียน  แต่ผู้ให้บริการมีหน้าที่ให้บริการอย่างตรงไปตรงมา มิใช่ช่อโกงผู้บริโภคได้ตามที่ต้องการ) ห้ามมิให้ DTAC ส่งบริการเสริมใดๆโดยไม่ได้มีการส่งคำร้องขอ     ลงชื่อ  นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม ผู้ร้องเรียน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 155 เสียงผู้บริโภค

กลุ่มคนใช้รถเชฟโรเลต ครูซ รวมพลังสู้ ร้องบริษัทรับผิดชอบ รถเสียซ่อมไม่หาย เป็นอีกครั้งที่การรวมพลังกันของผู้บริโภคไทยสร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งสำคัญต่อมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ เชฟโรเลต รุ่นครูซ และ แคปติวา หลาย 10 คัน ทนไม่ไหวกับปัญหาสภาพรถที่เสี่ยงต่อความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น เกียร์ค้าง เปลี่ยนเกียร์ไม่ได้ ขับๆ ไป เครื่องดับโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งแต่ละปัญหาล้วนแล้วแต่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เพราะเห็นว่าชีวิตยังมีค่าไม่น่านำไปเสี่ยงกับรถที่ไม่มีคุณภาพ ผู้ใช้รถยนต์ เชฟโรเลต ที่เจอปัญหาตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน จึงนัดรวมตัวเพื่อแสดงพลังปกป้องสิทธิของผู้บริโภค เรียกร้องให้ผู้ผลิตรถยนต์ออกมาแสดงความรับผิดชอบ เริ่มต้นจากการไปร้องเรียนผ่านสื่อ จนผู้ผลิตอยู่เฉยไม่ไหวต้องออกมาดูแลผู้เสียหาย แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะง่ายเหมือนฝัน เพราะยังมีผู้เสียหายอีกหลายคัน ที่ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างที่ควรจะเป็น แม้ว่าทางบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จะนำรถกลับไปตรวจสอบแก้ไข แต่พอผู้เสียหายนำรถกลับมาใช้ปัญหาก็ยังคงอยู่ และปัญหาที่เกิดส่วนใหญ่ล้วนเสี่ยงต่อความปลอดภัยของชีวิต ทางออกที่ดีที่สุดที่ผู้ผลิตควรทำเพื่อแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา คือรับซื้อคืนรถที่เสี่ยงต่ออันตรายทั้งหมดคืนไป เพื่อความปลอดภัยและความสบายใจของผู้บริโภค   แต่เมื่อข้อเรียกร้องนี้ไม่ได้รับการตอบรับ กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ เชฟโรเลต ครูซ ที่พบปัญหา จึงต้องเพิ่งพากฎหมาย เดินหน้าร้องเรียนต่อ สคบ. โดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยดำเนินการ จนในที่สุดบริษัทผู้ผลิตก็ยินยอมที่จะนำรถยนต์ เชฟโรเลต ครูซ ที่พบปัญหาจำนวน 12 คัน เข้ารับการทดสอบเพื่อตรวจดูคุณภาพรถยนต์ โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพดำเนินการทดสอบ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการทดสอบทั้งหมดทางบริษัท เชฟโรเลต ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งถ้าผลออกมาพบว่ารถยนต์ที่ทดสอบมีปัญหา บริษัทควรต้องซื้อคืนรถยนต์และจ่ายชดเชยค่าเสียหายให้กับเจ้าของรถ สถานการณ์ล่าสุด สคบ. แถลงผลการทดสอบรถยนต์เชฟโรเลต พบปัญหาทุกคัน 13 ม.ค. 57  นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จัดประชุมเพื่อแจ้งผลการทดสอบรถยนต์เชฟโรเลต ครูซ 12 คัน เมื่อวันที่ 14-18 ต.ค. 56 ณ สนามแก่งกระจานเซอร์กิต จ.เพชรบุรี ซึ่งมีผู้ร้องเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และตัวแทนบริษัท เชฟโรเลตฯ เข้าร่วมรับฟัง โดยมีนายศิริบูรณ์ เนาว์ถิ่นสุข ประธานคณะทำงานสืบค้นข้อเท็จจริง เป็นผู้ชี้แจง ผลการทดสอบพบ  ปัญหาในรถทุกคันที่ทดสอบ จากการรายงานของทีมนักขับและผลจากเครื่องมือที่ใช้ติดตั้งเพื่อตรวจสอบ พบปัญหาระบบส่งกำลัง ได้แก่ เกียร์เปลี่ยนขึ้น-ลงกระตุก เกียร์ไม่ Kick-down เกียร์กระตุกในช่วงเครื่องเย็น และในสภาวะรถติดเคลื่อนตัวช้า เบรก RF ค้าง รถยนต์คันที่เกิดปัญหาดังกล่าวมีการรายงานอาการซ้ำๆ มากที่สุดถึง 38 ครั้ง ภายหลังทราบผล นายอำพล เลขาฯ สคบ. ยืนยันว่า สคบ.ผลการทดสอบของคณะทำงานสืบค้นฯ ถือเป็นที่สุด และขอให้บริษัทฯ เยียวยาความเสียหาย โดยคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของ สคบ. จะนัดทั้งสองฝ่ายมาเจรจาในสัปดาห์หน้า และขอให้บริษัทฯ ส่งผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเป็นผู้มาเจรจา ซึ่งตัวแทนบริษัทฯ ขอนำผลการทดสอบในครั้งนี้ไปเปรียบเทียบกับผลการทดสอบที่เก็บข้อมูลมา และหารือเรื่องการเยียวยาความเสียหายกับผู้บริหารต่อไป ปัญหารถยนต์ใหม่เกิดปัญหา จากสถิติการร้องเรียนของ ผู้บริโภคทั่วประเทศ ที่ส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามายังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) พบว่า ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมานั้น การร้องเรียนด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ ขยับขึ้นมาครองแชมป์อันดับหนึ่ง แซงการร้องเรียนด้านอสังหาริมทรัพย์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา ผู้ใช้รถยนต์เชฟโรเลตครูซและแคปติวา จำนวน 26 ราย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ สคบ. เรียกร้องให้เชิญบริษัทรถยนต์เข้า มาไกล่เกลี่ยภายใน 7 วัน เนื่องจากคันเร่งค้าง เครื่องเร่งเองโดยไม่เหยียบคันเร่ง ระบบเกียร์อัตโนมัติมีอาการกระตุกรุนแรง และระบบเกียร์ล็อคขณะเปลี่ยนเกียร์ โดยขอให้ สคบ.จัดทดสอบเพื่อพิสูจน์ปัญหา ซึ่งหากพิสูจน์ได้ว่ารถยนต์มีความชำรุดบกพร่องตามที่ร้องเรียนจริง ขอให้ทางบริษัทรับซื้อรถยนต์คืน ในปี 2555 มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่ สคบ. กว่า 2,000 กรณี โดยเป็นการร้องเรียนด้านรถยนต์ 877 กรณี ซึ่งปัญหาที่ร้องเรียนมากที่สุดเกิดจากรถยนต์ชำรุด บกพร่อง รองลงมาคือของแถมไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ และสัญญาเช่าซื้อที่ไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ซื้อรถส่วนใหญ่เข้าใจผิดเรื่องการผิดนัดชำระเงิน ขณะที่สถิติร้องเรียนด้านรถยนต์ล่าสุด ตั้งวันที่ 1 ต.ค. 2555 ถึง วันที่ 31 ก.ค. 2556 รวมทั้งหมด 682 กรณี แบ่งเป็น รถยนต์ชำรุด 208 ขอเงินจองคืนกรณีไม่ได้รถ 96 ค้างค่างวด/คืนรถ/ส่วนต่างสูง 23 ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญา 65 ยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน 83 ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย 32 ขอคำปรึกษา 36 ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง 67 ค่าปรับสูง 32 กรณี และขอให้ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ 40 นายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เปิดเผยว่า ในแต่ละปีผู้บริโภคที่ประสบปัญหาด้านต่างๆ จะร้องเรียนเข้ามา ประมาณ 2,000 ราย ซึ่ง สคบ.จะจำแนกประเภทการร้องเรียนออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการ โดยการร้องเรียนเกี่ยวกับรถยนต์ แบ่งออกเป็น 4 ด้านใหญ่ๆ คือ 1.ปัญหารถยนต์ป้ายแดง 2.ปัญหารถยนต์มือสอง 3.ปัญหาการเช่าซื้อ และ 4.ปัญหาการซ่อมแซม ซึ่งแม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การร้องเรียนด้านรถยนต์จะ ขยับสูงขึ้นเป็นอันดับ 1 แต่ประมาณ ร้อยละ 80-90 เกี่ยวกับความรู้สึกของผู้ใช้งาน เช่น ไม่พอใจในเสียงดัง ไม่พอใจในกลิ่น ขณะที่เรื่องของคุณภาพและมาตรฐานของรถยนต์นั้น หากช่วงใดเกิดกระแสและมีการรวมตัวกันของผู้ประสบปัญหา ก็จะมีการร้องเรียนเข้ามายัง สคบ.ค่อนข้างมาก   รับเรื่องร้องเรียน 2 ลักษณะ นายจิรชัย กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1.บริษัทรถยนต์เป็น ผู้ดำเนินการตรวจสอบ และดำเนินการปรับเปลี่ยนซ่อนแซมอุปกรณ์ที่มีปัญหา โดยจะต้องยืดระยะเวลาในการประกันออกไปด้วย และ 2.ประสานไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ เข้ามาดำเนินการตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นว่าตรงตามข้อร้องเรียนหรือไม่ รวมถึงหาสาเหตุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านั้นเกิดจากกระบวนการผลิตหรือไม่ ซึ่งการดำเนินการในส่วนที่ 2 นี้ จะเกิดขึ้นหลังจาก การเจรจาระหว่างบริษัทรถยนต์กับผู้บริโภค ไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ ส่วนขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพรถยนต์นั้น ทาง สคบ.จะประสานไปยังสถาบันยานยนต์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการด้านยานยนต์ของ สคบ.อยู่แล้ว ให้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบปัญหาว่าเกิดจากอะไร เช่น เหยียบคันเร่งให้รถเดินหน้าแต่รถไม่ขยับ เข้าเกียร์ถอยหลังแต่ไม่ถอยหลัง หรือเกิดเสียงดังเวลาเปลี่ยนเกียร์ ตรงนี้ต้องตรวจสอบดูว่าตามสภาพจริงของรถยนต์เป็น แบบนี้หรือไม่ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ผู้เชี่ยวชาญสามารถตรวจสอบได้ไม่อยาก และหากว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากความผิดพลาดในการผลิต ทางบริษัทรถยนต์ก็จะต้องดำเนินการแก้ไขตามขั้นตอน เช่น ซ่อมแซม เปลี่ยนอุปกรณ์ที่ชำรุด เปลี่ยนรถคันใหม่ หรือรับซื้อคืน ตามลำดับ   เคลียร์เชฟโรเรตในเดือนนี้ "ที่ผ่านมาการร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพและมาตรฐานของรถยนต์ มีทั้งแบบผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามารายเดียว และผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเดียวกันหรือคล้ายกันรวมกลุ่มเข้ามาร้องเรียน ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา สคบ.ได้ประชุมพิจารณากรณีของผู้ใช้รถยนต์เชฟ โลเรต พบว่าก่อนหน้านี้ได้ร้องเรียนมายัง สคบ.แล้ว 13 ราย ซึ่งทางบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการอยู่ ส่วนที่เหลือได้ยืนความจำนงไปยังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้เข้ามาช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามข้อสรุปจากการประชุม สคบ.สั่งให้ทางบริษัทเร่งดำเนินการเคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้น ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้" นายจิรชัย กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามเมื่อผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามายัง สคบ. ส่วนใหญ่ปัญหาจะจบอยู่ในขั้นตอนเจรจาไกลเกลี่ย ดังนั้นที่ผ่านมาการร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพมาตรฐาน และปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ จึงไม่ไปถึงขั้นฟ้องร้องในชั้นศาล ด้านนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) กล่าวว่า การร้องเรียนปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานรถยนต์ ถือเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคที่ประสบปัญหาให้ความสำคัญ เนื่องจากมูลค่าค่อนข้างสูง แต่กว่าที่ผู้บริโภคจะร้องเรียนเข้ามายัง มพบ. ส่วนใหญ่จะมีการติดต่อไปยังบริษัทรถยนต์ เพื่อเจรจาพูดคุย รวมถึงส่งรถยนต์เข้า ไปตรวจเช็คและซ่อมแซมมาแล้วในระดับหนึ่ง ในขณะที่บางรายก็ได้ร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) แล้ว แต่สุดท้ายอาจจะทนรอขั้นตอนการดำเนินการ ของทางบริษัทรถยนต์หรือหน่วยงานราชการไม่ไหว จึงตัดสินใจร้องเรียนมายัง มพบ. ให้เป็นหน่วยงานกลางเร่งรัดการดำเนินการ และเป็นไปตามกฎหมายผู้บริโภค   ปัญหาเครื่องยนต์กลไก 'ต้องฟ้องร้อง' ส่วนความเสียหายเป็นไปตามมาตรฐานของรถยนต์หรือ ไม่นั้น ส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1.ปัญหาจุกจิกลำคาญใจ เช่น มีเสียงเข้าไปในห้องโดยสาร เสียงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งไม่สนิท เบรกหรือโชคแข็ง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่จะสามารถแก้ไขได้ เพราะตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้รับผิดชอบ และ 2.ปัญหาเรื่องเครื่องยนต์กลไก เช่น ระบบเกียร์ คันเร่ง หรือสมองของรถยนต์ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงเทคนิคต้องมีการพิสูจน์ ส่วนใหญ่จึงนำไปสู่การฟ้องร้อง เนื่องจากบริษัทรถยนต์ไม่มีนโยบายเปลี่ยนรถคันใหม่ เมื่อลูกค้ามีปัญหาเกี่ยวกับรถยนต์ ก็จะให้นำเข้ามาซ่อมแซม ซึ่งแม้ว่าหลังจากซ่อมแล้วยังเกิดอาการเดิม ทางผู้ประกอบการก็จะยืนยันว่าสามารถซ่อมได้ แต่ตามหลักจิตวิทยาของคนซื้อรถใหม่ หากรถที่ซื้อมาใหม่ถูกชำแหละราคาจะตกทันที ส่วนใหญ่ผู้บริโภคจึงต้องการให้ทางบริษัทเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ "หลังจากผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามายัง มพบ. จะมีการตรวจข้อร้องเรียนและปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้นจึงติดต่อไปยังบริษัทรถยนต์ เพื่อให้เข้ามาเจรรจาพูดคุย ส่วนใหญ่จะเป็นการชี้แจงและยืนยันว่าสามารถซ่อมได้ ตรงนี้ผมมองว่าเป็นการประวิงเวลา รับผิดชอบตามระยะประกันและอายุกฎหมาย ที่กำหนดไว้ 1 ปี หลังจากรับสินค้า หากผู้บริโภคฟ้องร้องหลังจากหมดอายุความก็จะแพ้ทางเทคนิค แต่หากเรื่องเข้าสู่กระบวนการเจรจาไกลเกลี่ยผู้บริโภค ตามกฎหมายอายุความจะหยุดทันที แต่ประชนส่วนใหญ่จะไม่รู้" จากการดำเนินการฟ้องร้องที่ผ่านมา แม้ว่าศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายชนะ เช่น กรณีประกอบรถไม่ดีแล้วเขม่าควันเข้ามาในห้องผู้โดยสาร แต่ทางบริษัทรถยนต์ก็ ยื่นอุทธรณ์ กระบวนหลังจากฟ้องร้องจึงยาวนานมาก ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าคนไทยมีกลไลศาลเท่านั้นที่คอยช่วยเหลือ แต่ความรู้เรื่องกลไลการทำงานของรถยนต์ จำเป็นต้องอาศัยผู้เชียวชาญโดยตรง เข้ามาเป็นตัวกลางในการตรวจสอบซ้ำ เพราะหากทางบริษัทนำรถไปตรวจสอบ และออกมาแถลงว่าไม่พบปัญหา ตรงนี้ไม่มีใครสามารถเชื่อถือได้   จี้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า นายอิฐบูรณ์ กล่าวต่อว่า การที่ประเทศไทยไม่มีหน่วยงานที่มีอำนาจโดยตรง ในการตรวจสอบหรือเรียกคืนยานยนต์ ที่ถูกตรวจพบปัญหาหรือถูกร้องเรียนเข้ามา ทำให้ผู้บริโภคในบ้านเราเสียเปรียบ เพราะความรู้ส่วนใหญ่เกี่ยวกับเทคนิคเครื่องยนต์กลไก เป็นข้อมูลที่มาจากผู้ประกอบการทั้งหมด ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าในขณะที่ประเทศไทยรถยนต์เป็น สินค้าส่งออก 5 อันดับแรก แต่การกำกับดูและมาตรฐานสินค้ายังไม่เข้มข้นมากพอ แม้ว่าล่าสุดทาง สคบ.ได้แก้ไขข้อกฎหมายให้มีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจไปตรวจสอบสินค้า แต่ก็ยังคงมีการคำถามในเรื่องการดำเนินการอยู่ดี สำหรับสถิติร้องเรียนด้านมาตรฐานรถยนต์ส่วน บุคคล ที่ร้องเรียนเข้ามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งแต่ปี 2553-2556 รวมทั้งหมด 93 กรณี โดย 10 อันดับ บริษัทที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ 1.เชฟโลเรต 38 กรณี 2.โฟตอน 29 กรณี 3.โตโยต้า 18 กรณี 4.มิซูบิชิ 12 กรณี 5.ฮอนด้า 8 กรณี 6.ฟอร์ด ประเทศไทย 7 กรณี 7.นิสสัน 4 กรณี 8.เมอร์เซเดสเบนซ์ ประเทศไทย 2 กรณี 9.มิลเลนเนียม ออโต้ จำกัด 2 กรณี และ 10.คูโบต้า 2 กรณี ซึ่งปัญหาด้านมาตรฐที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ร้องเรียน เช่น เกียร์กระชาก สมองเกียร์พัง เกียร์กระตุกเวลาเร่งเครื่องรอบขึ้นแต่ความเร็วไม่ขึ้น เครื่องยนต์ร้อนและมีเสียงดังผิดปกติ คันเร่งค้าง เครื่องเร่งเอง เครื่องพุ่ง มีกลิ่นและเขม่าควันเข้ามาในห้องโดยสาร และถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สถิติร้องเรียนปัญหารถยนต์'ป้ายแดง'7เดือนพุ่ง วันที่ 3 กันยายน 2556 ถ้าหน้าไม่พอ ตัดส่วนนี้ออกได้   สถิติรับร้องทุกข์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มกราคม – พฤศจิกายน 2556     กลุ่มปัญหา ปี 2556 ร้อยละ มค. กพ. มีค. เมย. พค. มิย. กค. สค. กย ตค. พย. ธค. รวม ธุรกิจศูนย์ออกกำลังกาย 8 3 2 1 3 1 1 0 1 0 0   20 เครื่องใช้ไฟฟ้า 1 0 0 1 0 0 0 0 0 0 0   2 1.79 ธุรกิจซื้อขายสัตว์เลี้ยง 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0   0 0.00 บริการท่องเที่ยว 0 1 0 0 1 0 0 0 0 0 0   2 1.79 บริการห้างร้าน 2 0 2 4 1 0 2 3 0 2 0   16 14.29 บริการให้เช่า 0 0 0 0 0 0 1 0 1 0 0   2 1.79 วัสดุก่อสร้าง 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0   0 0.00 อุปกรณ์อิเล็คทรอนิค 1 1 1 1 0 0 0 2 0 1 0   7 6.25 ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ 1 0 0 0 0 0 0 0 0 1 0   2 1.79 อุปกรณ์ในครัวเรือน 0 0 0 0 0 0 0 1 0 2 1   4 3.57 ยานพาหนะ 0 1 0 0 3 5 30 7 5 4 1 56 50.00 สินค้าเกษตร 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0   0 0.00 เครื่องแต่งกาย 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0   0 0.00 เครื่องดนตรี 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0   0 0.00 ธุรกิจขายตรง 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0   0 0.00 บริการสถานที่จอดรถ 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0   0 0.00 เครื่องสังฆภัณฑ์ 0 0 0 0 0 0 1 0 0 0 0   1 เฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง 0 0 0 0 0 0 0 0

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point