นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 184 เสียงผู้บริโภค

หน้าเป็นแผล เพราะเลเซอร์แม้ปัจจุบันสถานบริการความงามต่างๆ จะมีบริการกำจัดไฝหรือขี้แมลงวันด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งมักโฆษณาว่าเป็นวิธีที่สะดวก เห็นผลชัดเจนและราคาไม่สูงมากนัก แต่เราสามารถมั่นใจในความปลอดภัยได้จริงหรือ เหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้เกิดขึ้นกับคุณดวงใจ เธอตกลงใช้บริการเลเซอร์ลบขี้แมลงวันบนใบหน้า ที่คลินิกแห่งหนึ่งในห้างสรรพสินค้าชั้นนำโดยคิดราคาเป็นคอร์สละ 16,500 บาท อย่างไรก็ตามระหว่างที่กำลังใช้บริการ เธอได้ยินพนักงานคุยกันว่า “เลเซอร์เครื่องนี้ไม่ดีเลย ไม่ยอมโฟกัสจุดบนผิวหน้า” ซึ่งเธอก็คิดว่าพนักงานจะหยุดใช้เครื่องดังกล่าว แต่เธอคิดผิด เพราะพนักงานยังคงใช้เครื่องเลเซอร์นั้นบริการเธอต่อไป ซึ่งภายหลังการยิงเลเซอร์ เธอก็รู้สึกร้อนผ่าวไปทั่วหน้า และพบว่ามีรอยแผลเป็นจุดแดงๆ ที่ทราบภายหลังว่า ไม่สามารถหายเองได้ เธอจึงร้องเรียนไปยังคลินิก เพื่อให้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่กลับได้รับคำตอบว่าให้มารักษากับทางคลินิก ซึ่งเธอไม่ยินดีกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะไม่มั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัยของคลินิกดังกล่าวอีกต่อไป ดังนั้นเธอจึงไปรักษาต่อที่สถาบันด้านผิวหนังด้วยตนเอง ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินกว่า 2 หมื่นบาท นอกจากนี้ยังต้องเลื่อนงานแต่งงานของตัวเองออกไปอีกด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องมีหลักฐานเป็นใบรับรองแพทย์ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้น มาจากการเข้ารับบริการเลเซอร์ขี้แมลงวันบนใบหน้า ซึ่งถือเป็นความประมาทเลินเล่อของแพทย์จากคลินิกดังกล่าว โดยทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ ทั้งยังเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษาแผลบนใบหน้า ที่เกิดจากความผิดพลาดในการรักษาอีกด้วย ศูนย์ฯ จึงส่งหนังสือเชิญให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจา โดยผู้ร้องได้เสนอให้ทางคลินิกช่วยเยียวยาความเสียหาย ซึ่งภายหลังคลินิกก็ยินยอมช่วยเหลือผู้ร้อง ด้วยการคืนเงินค่าคอร์ส พร้อมชดเชยค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริง ค่ารักษาพยาบาลในอนาคต ค่าเสียเวลา และค่าทำขวัญ รวมเป็นเงิน 100,000 บาท ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว และยุติการร้องเรียนไป     ระวังถูกล้วงข้อมูลส่วนตัวใครจะไปคิดว่าการบอกข้อมูลส่วนตัวทั่วๆ ไปกับบริษัทประกันภัย จะสามารถสร้างปัญหาหนักใจให้เราภายหลังได้ และเราควรจัดการปัญหานั้นอย่างไร ลองมาดูตัวอย่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้กันคุณสุชาติถูกชักชวนให้ทำประกันทางโทรศัพท์จากบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ซึ่งภายหลังฟังข้อเสนอต่างๆ เขาก็ไม่มีความประสงค์ที่จะทำประกันดังกล่าว อย่างไรก็ตามก่อนวางสายพนักงานก็พยายามสอบถามข้อมูลส่วนตัวทั่วๆ ไป เช่น ชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ และแน่นอนเขาได้บอกไปตามความจริงทุกอย่าง เนื่องจากไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาอะไร แต่ภายหลังได้รับกรมธรรม์ประกันภัย จึงรู้ว่าตัวเองถูกหลอกให้ทำประกันไปซะแล้ว เมื่อโทรศัพท์กลับไปสอบถามที่บริษัทดังกล่าวก็ได้รับการชี้แจงว่า บริษัทไม่ได้ไม่ได้หลอกผู้ร้องแต่อย่างใด เพราะผู้ร้องเป็นคนบอกข้อมูลส่วนตัวให้ทำประกันเอง ซึ่งมีหลักฐานเป็นคลิปเสียงการสนทนาในครั้งนั้นอีกด้วย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เขาจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องยกเลิกประกันภัยทางโทรศัพท์ โดยส่งหนังสือยกเลิกสัญญา พร้อมหนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ไปยังบริษัทประกันภัย และธนาคารเพื่อไม่ให้มีการเรียกเก็บเงิน หรือตัดเงินผ่านบัตรเครดิต ซึ่งต้องส่งภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งนี้สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มของหนังสือยกเลิกสัญญาดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค http://www.consumerthai.org หรือโทรศัพท์มาขอคำแนะนำได้ที่เบอร์ 02 - 2483737 (จันทร์ – ศุกร์, 09.00 – 17.00 น.)นอกจากนี้สำหรับใครที่ไม่อยากเกิดปัญหาสมัครประกันแบบไม่รู้ตัว สามารถทำได้โดยการปฏิเสธอย่างชัดเจน หรือในกรณีที่สนใจข้อเสนอของประกันภัยนั้นๆ เราควรขอกรมธรรม์มาศึกษาก่อน และหากไม่แน่ใจรายละเอียดยิบย่อย สามารถโทรศัพท์สอบถามที่สายด่วนประกันภัย คปภ. ที่เบอร์ 1186 ได้เลย     แพ้ครีม ร้องเรียนได้หรือไม่“อยากบอกว่าครีมนี้ใช้แล้วหน้าขาวใสขึ้นจริง ปลอดภัยแน่นอน” นี่เป็นตัวอย่างคำโฆษณาที่แสนจะคุ้นหู ตามช่องเคเบิลทีวีและสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามีผู้บริโภคหลายคนที่หลงเชื่อซื้อครีมดังกล่าวมาใช้ แล้วมาค้นพบความจริงภายหลังว่าครีมไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสุนีย์ตัดสินใจซื้อครีมยี่ห้อหนึ่ง ที่โฆษณาผ่านทางเคเบิลทีวีมาบำรุงให้ผิวหน้าขาวใส เพราะเห็นว่าคนที่มาแนะนำครีมดังกล่าวมีผิวหน้าดีจริง เธอจึงเชื่อว่าหากใช้บ้างหน้าจะเด้งและดูดีขึ้นเหมือนกัน อย่างไรก็ตามเมื่อเธอใช้ครีมดังกล่าวกลับว่า มีอาการแพ้ บวมแดงและแสบคัน เธอจึงติดต่อไปยังผู้จัดจำหน่าย ซึ่งรับผิดชอบด้วยการคืนเงินค่าครีมให้ แต่ไม่เยียวยาค่ารักษาอื่นๆ ที่เรียกร้องไป ทำให้เธอร้องเรียนมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาแม้ผู้ร้องต้องการให้ศูนย์ฯ ช่วยเหลือ โดยให้ตรวจสอบว่าครีมดังกล่าวผสมสารที่อันตรายต่อใบหน้าหรือไม่ แต่เมื่อศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องส่งหลักฐานมาให้เพิ่มเติมคือ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพร้อมรายละเอียดการโฆษณาต่างๆ หลักฐานการซื้อขาย และใบรับรองแพทย์ ที่สามารถยืนยันได้ว่าอาการแพ้ที่เกิดขึ้น เกิดจากการใช้ครีมดังกล่าวจริง ผู้ร้องก็แจ้งว่าเธอส่งครีมดังกล่าวคืนไปให้บริษัทแล้ว นอกจากนี้ไม่ได้ไปพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการแพ้ แต่ซื้อยามาทาเอง ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ทางศูนย์ฯ จึงไม่สามารถช่วยผู้ร้องต่อได้ เนื่องจากขาดหลักฐานที่มากพอ ศูนย์ฯ จึงขอฝากเตือนผู้ที่ซื้อครีมไม่ว่ายี่ห้อใดมาใช้ว่า ควรเก็บหลักฐานสำคัญดังที่กล่าวไว้ข้างต้นไว้ก่อน และหากพบว่าใช้แล้วมีอาการแพ้ ควรไปพบแพทย์ เพื่อให้วินิจฉัยอาการ และขอใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐานยืนยัน นอกจากนี้ควรทดสอบการแพ้เบื้องต้นด้วยตัวเองทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าเสียโฉม ด้วยการทาครีมทิ้งไว้ในส่วนที่บอบบางของร่างกายอย่าง ใต้ท้องแขน หรือหลังใบหู ประมาณ 24 ชม. ซึ่งหากพบว่ามีผื่นแดงขึ้นหรือคัน แสดงว่าเราแพ้ และไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์นั้นต่อไป     ค่าโดยสาร คิดราคาตามใจชอบ แม้ปัจจุบันวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จะมีป้ายใหญ่ๆ กำหนดอัตราค่าโดยสารให้ผู้ใช้บริการตัดสินใจก่อนเรียก แต่ก็เป็นไปได้ยาก ที่เราจะเลือกใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเจ้าเดิม หรือวินเดิมทุกครั้ง ทำให้ผู้โดยสารมีโอกาสในการเรียกวินเถื่อน ที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งอาจเรียกเก็บอัตราค่าบริการตามใจชอบ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณปาริชาตเล่าว่า ปกติเธอใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นประจำ โดยจะเรียกจากหน้าบ้าน ไปปากซอย ระยะทางประมาณ 600 เมตร ซึ่งทุกครั้งจะเสียค่าบริการราคา 10 บาท แต่ครั้งนี้เสีย 15 บาท เมื่อสอบถามว่าทำไมวันนี้ราคาแพงกว่าเดิม ก็ได้รับคำตอบว่า “คันอื่นผมไม่รู้ แต่รถผมเก็บราคานี้” จึงทำให้เธอรู้สึกว่า แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก แต่มอเตอร์ไซค์คันดังกล่าวกำลังเอาเปรียบลูกค้า ซึ่งเขาอาจทำแบบนี้กับลูกค้ารายอื่นๆ อีกก็ได้ เธอจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะอยากรู้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้ สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้างแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้แม้ผู้ร้องจะจำชื่อวินที่แปะไว้หลังเสื้อของคนขี่ได้ แต่เมื่อศูนย์ฯ ส่งจดหมายไปกรมการขนส่งทางบกกลับพบว่า กรมฯ ไม่สามารถติดตามผู้ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างคันดังกล่าวได้ เนื่องจากในซอยนั้นมีหลายวิน และมีมอเตอร์ไซค์ที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ผู้ร้องจำต้องยุติการร้องเรียน ด้วยเหตุผลข้างต้น ทางศูนย์ฯ จึงขอแนะนำให้ผู้ใช้บริการว่า ไม่ควรจำเฉพาะป้ายวินอย่างเดียว แต่ควรจำหมายเลขทะเบียนรถคันที่เราขึ้นไว้ เพราะสามารถบอกได้ว่าผู้ที่ขับขี่เป็นใคร นอกจากนี้หากเราพบว่าการเรียกเก็บค่าบริการไม่มีความเป็นธรรม สามารถโทรศัพท์ไปร้องเรียนโดยตรงได้ที่กรมการขนส่งทางบก เบอร์ 1584    

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 184 ร้องเรียนเรื่องนมถั่วเหลืองบูดก่อนวันหมดอายุ

กลับมาแล้วจ้ะ  หลังจากหายหน้าไปนาน เล่มนี้เราจะมาเรียนรู้วิธีการพิทักษ์สิทธิของเราเอง  เมื่อเจอสินค้าเสื่อมคุณภาพ(สินค้าเน่าเสียก่อนวันหมดอายุ)   โดยต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม  ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ กรณีนมถั่วเหลืองชนิดยูเอชที เน่าเสียก่อนวันหมดอายุ(ตามที่ระบุไว้ที่กล่อง)   เอาล่ะเราก็ต้องตรวจสอบไล่เรียงเรื่องราวกันก่อน ได้ความว่าผู้ร้องได้ซื้อนมถั่วเหลืองยี่ห้อหนึ่งจากร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน  เพื่อนำไปแจกในงานศพญาติ  ก่อนซื้อได้ตรวจดูวันผลิตและวันหมดอายุแล้ว(ผลิตวันที่ 25 กุมภาพันธ์.59 หมดอายุ 25 ธันวาคม 59) ผู้ร้องซื้อสินค้าตอนต้นเดือนมีนาคม ห่างจากวันผลิตไม่ถึง 10 วัน จริงๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่หลังจากแจกจ่ายนมไปแล้ว   ปรากฏว่าแขกในงานที่ได้รับแจกนมกล่องไป ได้โทรมาต่อว่าผู้ร้อง ว่าแจกนมบูดไปให้เขากิน  ผู้ร้องจึงได้ไปตรวจสอบนม ที่เหลืออยู่ปรากฏว่าบูดเสียจริงทั้งแพ็กที่ซื้อมาจึงได้มาร้องเรียนที่สมาคมฯ   จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า เรื่องนี้ไม่สามารถไปเอาผิดกับร้านสะดวกซื้อได้ เพราะไม่ได้จำหน่ายสินค้าหมดอายุ  จึงต้องนำเรื่องไปร้องเรียนที่บริษัทผู้ผลิต ซึ่งเหตุการณ์นี้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกิดจากความบกพร่องในกระบวนการผลิต    ทางสมาคมฯ จึงได้แนะนำกับผู้ร้องให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้  1. ผู้ร้องต้องกลับไปซื้อนมร้านเดิม วันเดือนปี ผลิตเดียวกัน(ซึ่งพบว่ายังมีจำหน่ายอยู่) มาเปิดพิสูจน์อีกครั้งว่าเน่าเสียเหมือนกันหมดหรือไม่ 2. ถ้าพบว่านมนั้นเน่าเสีย  ให้นำนมนั้นไปเป็นหลักฐานในการแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งผลคือพบนมเน่าเสียทั้งหมด (อันที่จริงถ้าไม่พบที่ร้านอีกก็สามารถนำนมที่เหลืออยู่กับผู้ร้องไปแจ้งความได้) ผู้ร้องจึงได้ไปแจ้งความลงบันทึกตามคำแนะนำของสมาคมฯ จากนั้นสมาคมฯ ได้รวบรวมเอกสารหลักฐาน พร้อมส่งหนังสือร้องเรียนไปที่บริษัทผู้ผลิตนมยี่ห้อนั้น  ซึ่งทางบริษัทผู้ผลิตแสดงความรับผิดชอบต่อสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานของตน และได้ทำหนังสือมาขอโทษและแจ้งว่าบริษัทฯ ได้ตรวจสอบนมล็อตที่ถูกร้องเรียน ซึ่งพบว่า มีปัญหาเน่าเสียจริง อันเป็นผลจากกระบวนการขนส่งบริษัท และทางบริษัทฯ ได้เรียกเก็บนมล็อตนั้นออกจากตลาดแล้วทั้งหมด   จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการเจราจาความเสียหายของผู้ร้องเรียน  บริษัทเสนอชดเชยด้วยนมจำนวน 4 ลัง และขอให้เรื่องจบ   สมาคมฯ เห็นว่าไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้บริโภค และแจ้งบริษัทว่ากรณีร้องเรียนนี้ ผู้ร้องมิได้เสียหายแค่ซื้อสินค้ามาบริโภคเอง แต่มีการแจกจ่ายไปให้ผู้ร่วมงานศพ ทำให้เพื่อนบ้านในวงกว้าง เข้าใจผิด ทำให้ผู้ร้องเสียหายจากการถูกกล่าวหาว่าซื้อของเน่าเสียมาแจก  ทำให้เกิดความเสียหายทางด้านจิตใจ สมาคมฯในฐานะคนกลางในการไกล่เกลี่ย ได้เสนอการเยียวยาความเสียหายของผู้ร้อง 2 ข้อดังนี้ คือหนึ่งให้บริษัทเยียวยาความเสียหายของผู้ร้องเป็นจำนวนเงิน  20,000  บาท  สองให้บริษัททำหนังสือขอโทษ และสัญญาว่าจะระมัดระวังผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานทุกชิ้นก่อนถึงมือผู้บริโภค  จากนั้นมีการลงนาม 3 ฝ่าย (บริษัทผู้ผลิต สมาคมฯ ผู้รับเรื่องร้องทุกข์ ผู้ร้องเรียนในฐานะผู้เสียหาย) ในข้อตกลง และแต่ละฝ่ายเก็บข้อตกลงไว้คนละฉบับ ซึ่งทางบริษัทยินดีปฏิบัติตามข้อเสนอ      

อ่านเพิ่มเติม >

ยกเลิกบริการอินเทอร์เน็ตก่อน 12 เดือน ไม่ต้องเสียค่าปรับ!

บทความจากเว็บมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค http://goo.gl/gc3YUr     ปัญหาคาใจใครหลายๆคนที่ พอตกลงเซ็นต์สัญญาใช้บริการอินเทอร์เน็ตปุ๊บ ก็จะมีสัญญาตัวหนังสือเล็กจิ๋ว ดูดีๆ ก็จะพบกว่าเป็นสัญญา 12 เดือน ที่ต้องใช้บริการ แล้วแบบนี้จะยกเลิกได้ไหมมาดูกันค่ะ กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า ในการตกลงใช้บริการโทรคมนาคมย่อมไม่ใช่เรื่องที่จะผูกมัดกันโดยตลอด ผู้บริโภคจะเปลี่ยนใจยกเลิกบริการเมื่อใดก็ได้ เพียงแต่ต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า 5 วัน อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้บริโภคประสบปัญหาจากการใช้บริการ ก็สามารถยกเลิกได้ทันที และกรณีมีเงินผู้บริโภคค้างอยู่ที่ผู้ประกอบการ ก็จะต้องคืนให้ภายใน 30 วัน หากล่าช้าจะต้องจ่ายดอกเบี้ยด้วย ส่วนกรณีที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบให้ของแถม เช่น ติดตั้งโทรศัพท์พ่วงอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องใช้บริการในระยะยาว 1 ปีนั้น ถึงแม้ตามสัญญาให้บริการจะระบุเงื่อนไขดังกล่าว แต่ตามกฎหมายแล้ว ผู้บริโภคยังคงมีสิทธิที่จะเลิกใช้บริการได้ เพราะคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ได้ออกระเบียบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ สรุปสาระได้ดังนี้ "กรณีที่บริษัทมอบเครื่องโทรศัพท์ หรือเครื่องอุปกรณ์ใดๆ ให้ผู้บริโภคใช้ในราคาถูก แต่กำหนดให้ผูกพันตามสัญญาเป็นระยะเวลานาน ผู้ใช้บริการสามารถยกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องเสียค่าปรับใดๆ แต่ต้องส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวคืนให้แก่บริษัท และหากมีความเสียหายเกิดขึ้น ผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าเสียหายตามจริง"  

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 181 อย่าชะล่าใจกับเครื่องใหม่มือหนึ่ง

อย่าชะล่าใจกับเครื่องใหม่มือหนึ่ง แม้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อยอดนิยมของคนส่วนใหญ่อย่าง iphone จะเปิดตัวด้วยราคาที่สูงเพียงไร แต่ก็ยังได้รับความสนใจจากผู้ที่ชื่นชอบอยู่เสมอ เช่นเดียวกับผู้ร้องรายนี้ที่ต้องการซื้อ iphone รุ่นใหม่อย่าง 6s Plus ที่มีราคาสูงกว่าสามหมื่นบาท แต่การตัดสินใจซื้อของเขามีจุดพลาดอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่ได้ตรวจเช็คสภาพเครื่องก่อน ทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง เดิมทีผู้ร้องซื้อโทรศัพท์ดังกล่าวจากบูทของ เอไอเอส ในงาน Thailand expo 2016 โดยไม่ได้มีการตรวจสอบความสมบูรณ์ของหน้าจอโทรศัพท์ก่อน เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตามเมื่อกลับถึงบ้านและเปิดเครื่องใช้งานก็พบว่าหน้าจอเกิดความผิดปกติของเม็ดสี หรือ Dead Pixel เป็นจุดสีเขียวขนาดเท่าปลายเข็ม เขาจึงนำโทรศัพท์กลับไปเปลี่ยนที่บูทดังกล่าว แต่ก็พบว่าเลยเวลาจัดกิจกรรมของงานแล้ว ทำให้ต้องกลับไปอีกครั้งในวันรุ่งขึ้นแทน ภายหลังแจ้งปัญหากับพนักงานก็ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ ถ้าจะเปลี่ยนต้องเป็นภายในวันที่ซื้อเท่านั้น และหากต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควรติดต่อกับบริษัทของ iphone ด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้ผู้ร้องจึงมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงบริษัทของโทรศัพท์ คือ บริษัท แอปเปิ้ล เซาท์ เอเชีย (ประเทศไทย) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เพื่อให้พิจารณาเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ โดยให้ชี้แจงเหตุผลว่าการที่โทรศัพท์ดังกล่าวเกิดปัญหา Dead Pixel เป็นจุดสีเขียว ไม่ใช่ความผิดของผู้ซื้อ เพราะโทรศัพท์น่าจะมีปัญหาดังกล่าวตั้งแต่แรกอยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้ร้องมีสิทธิที่จะได้รับโทรศัพท์ที่มีคุณภาพตามราคาที่ซื้อ ซึ่งภายหลังผู้ร้องส่งหนังสือไปบริษัท แอปเปิ้ล ก็ได้รับการตอบกลับว่าสามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ โดยให้ไปติดต่อศูนย์บริการเอไอเอส ที่สาขาสยามพารากอน และเมื่อผู้ร้องสามารถเปลี่ยนเครื่องได้ที่ศูนย์บริการดังกล่าวเรื่องจึงยุติลง

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 167 กระเป๋าหาย แอร์เอเชีย

>>>อ่านแล้วอยากสนับสนุนให้เรามีเงินทุนต่อเนื่อง ร่วมสมัครอ่านออนไลน์ 200 บาท/ ต่อปี >>>รายละเอียดข้างล่าง กระเป๋าหาย แอร์เอเชีย  ทุกวันนี้สายการบินต้นทุนต่ำทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศนั้น มีการแข่งขันกันสูง ทุกเจ้าต้องต่อสู้กันทางธุรกิจทั้งด้วยราคาและบริการ เพื่อครองใจลูกค้าให้ได้ การลด แลก แจก แถม... ก็มีให้เห็นกันตลอด คุณนันท์นภัส ก็เป็นคนหนึ่งที่มีความจำเป็นต้องเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่บ่อยๆ เธอจึงเลือกใช้บริการของ แอร์เอเชีย ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ที่ว่ากันว่าดีที่สุดในโลก(โฆษณาเขาว่ามาแบบนี้นะ) ย้อนกลับไปเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2556  คุณนันท์นภัส โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนต่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า สายการบินแอร์เอเชียทำกระเป๋าเดินทางเธอหาย โดยเธอเล่าว่าเมื่อวันที่ 26  พฤษภาคม 2556  ขณะที่เธอไปทำงานกับสามีที่ประเทศสิงคโปร์ เธอเลือกที่จะใช้บริการสายการบินแอร์เอเชีย โดยเครื่องออกจากท่าอากาศยานซางฮี สิงคโปร์  เพื่อเดินทางกลับมาประเทศไทย เธอนำกระเป๋าโหลดเข้าเครื่องตามปกติ  แต่เมื่อถึงสนามบินดอนเมือง กระเป๋ากลับไม่ได้ตามออกมาด้วย คุณนันท์นภัสยืนรอที่สายพานลำเลียงกระเป๋าอยู่นานจนแน่ใจว่า ไม่มีกระเป๋าเดินทางของเธอแล้ว  เธอจึงสอบถามกับพนักงานของสายการบินทันที ว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร เพราะเธอมีกำหนดเดินทางต่อไปจังหวัดอุบลราชธานี  ประเทศลาว  มาเก๊า และอีกหลายที่อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นที่พักของเธอ “ดิฉันพยายามติดต่อ สอบถามพนักงานของสายการบิน ตั้งแต่วันแรกที่หาย เพื่อขอให้ติดตามกระเป๋าคืนมาให้ได้โดยเร็ว เพราะในกระเป๋าเดินทางมีของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นอยู่จำนวนมาก ซึ่งพนักงานก็ได้ยืนยันว่ากระเป๋าไม่หายแน่นอน เพราะยังมีเที่ยวบินจากสิงค์โปร์อีก 2 เที่ยวในวันนั้น โดยอ้างว่าเมื่อพบกระเป๋าเดินทางแล้วจะส่งคืนให้ดิฉันที่จังหวัดอุบลราชธานีในวันรุ่งขึ้นทันที” แต่พอถึงอุบลราชธานีแล้ว ก็ไม่มีการส่งมอบกระเป๋าคืนตามที่ว่าไว้แต่อย่างใด เธอหงุดหงิดมาก เพราะทุกครั้งเธอต้องเป็นฝ่ายพยายามสอบถามแล้วกับทางสายการบินตลอด แต่ไม่มีคำตอบและแทบไม่มีการติดต่อกลับ ต่อมาในวันที่ 19 มิถุนายน 2556  บริษัท แอร์เอเชีย โดยแผนกติดตามสัมภาระ ฝ่ายปฏิบัติการภาคพื้นดิน ได้มีหนังสือแจ้งคุณนันท์นภัสว่า สายการบินหากระเป๋าเดินทางของเธอไม่เจอ จึงขอแสดงความรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย โดยอ้างข้อกำหนดและเงื่อนไขการบินของแต่ละสายการบิน ซึ่งในกรณีสัมภาระสูญหายสำหรับเส้นทางการบินระหว่างประเทศ กำหนดไว้ที่ 922 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม เมื่อสัมภาระของคุณนันท์นภัส มีน้ำหนัก 15 กิโลกกรัม  คุณนันท์นภัส จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยความเสียหายเป็นเงินจำนวน 13,830 บาท  จากจดหมายฉบับดังกล่าว เธอเห็นว่า “ไม่เป็นธรรม” เนื่องจากในกระเป๋าเดินทางมีของใช้ที่จำเป็นและทรัพย์สินหลายอย่างที่มีมูลค่ารวมเกินกว่า 50,000  บาท ในเมื่อบริษัทไม่สามารถติดตามกระเป๋าเดินทางคืนมาได้ การเสนอจะชดใช้โดยอ้างกฎระเบียบที่กำหนดขึ้นเอง จึงเป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบและการเอาเปรียบของผู้ประกอบการต่อผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นแบบอย่างให้เกิดการเอาเปรียบกับผู้บริโภครายอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากในอนาคต  เธอจึงนำเรื่องเข้าร้องเรียนต่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือ   แนวทางแก้ไขปัญหา ภายหลังรับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ออกหนังสือเพื่อขอให้บริษัทแอร์เอเชีย เยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภค  แต่ก็ได้รับการยืนยันจากบริษัทว่า ได้พิจารณาเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคุณนันท์นภัสแล้วเป็นเงิน 13,830 บาท ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ดังนั้นเมื่อไม่มีทางออกในการเจรจา คุณนันท์นภัส จึงจำเป็นต้องขอนำเรื่องเข้าสู่ศาล ด้วยการยื่นฟ้องบริษัท แอร์เอเชีย จำกัด เป็นคดีผู้บริโภค ต่อศาลแขวงดอนเมือง เมื่อฟ้องคดีแล้วกระบวนการในคดีผู้บริโภคนั้นศาลจะเน้นกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยสำหรับคดีนี้โดยใช้ชั้นเจรจาไกล่เกลี่ยคู่กรณีทั้งสองฝ่าย พยายามหาข้อยุติร่วมกันในการเจรจาประนีประนอม แต่ก็ไม่สามารถหาจุดร่วมที่ตกลงกันได้ เมื่อคดีมีแนวโน้มจะต้องตัดสินให้มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกผิดด้วยคำพิพากษา แต่ผู้ตัดสินเห็นว่ายังมีแนวโน้มที่จะตกลงกันได้ จึงได้พยายามหาทางไกล่เกลี่ยกันอีกครั้ง  โดยในครั้งนี้มีผู้ตัดสินเข้าร่วมการเจรจาด้วย  เบื้องต้นคุณนันท์นภัส ยืนยันถึงข้อเสนอให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 30,000  บาท พร้อมให้บริษัททำการขอโทษถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น  แต่เพื่อให้การเจรจาสามารถดำเนินการต่อไปตามคำแนะนำของผู้ตัดสิน   คุณนันท์นภัสและบริษัท แอร์เอเชีย จึงสามารถบรรลุข้อตกลงในการเจรจากันได้ คือ บริษัท แอร์เอเชีย ยินดีชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายเป็นเงินจำนวน 25,000 บาท พร้อมปลอบใจด้วยบัตรโดยสารเส้นทางภายในประเทศไปและกลับจำนวน 1 ที่  และบริษัทยินดีรับจะนำเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดไปปรับปรุงแก้ไขการบริการให้ดีขึ้นต่อไป คุณนันท์นภัส ยินยอมรับข้อเสนอนี้ เรื่องจึงเป็นอันยุติลงในชั้นศาล ด้วยการจบคดีแบบประนีประนอมยอมความ แม้ว่าผลของคดีนี้จะไม่ได้จบลงด้วยคำพิพากษาเพื่อให้เป็นคดีตัวอย่าง ตามที่คุณนันท์นภัสคาดหวังไว้ในตอนแรก แต่การจบลงด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ย  ก็สามารถชี้ให้เห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีลักษณะนี้สำหรับผู้บริโภครายต่อๆ ไปได้ว่า หากใครเจอปัญหาแบบนี้แล้วเจรจาตกลงกันไม่ได้  ให้เตรียมหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาฟ้องศาลได้เลย อย่าได้กลัวหรือคิดว่าจะเสียเวลา เพราะการพิทักษ์สิทธิตนเองเป็นสิ่งสำคัญ อย่างน้อยการเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศาล ก็สามารถสร้างแรงกดดัน เพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับบริษัทผู้ให้บริการต้องชดเชยความเสียหายคืนได้เหมือนคดีนี้ได้--------------------------------->>>อ่านแล้วอยากสนับสนุนให้เรามีเงินทุนต่อเนื่อง ร่วมสมัครอ่านออนไลน์ 200 บาท/ ต่อปี --------------------------------->>> อ่านย้อนหลังได้กว่า 90 ฉบับ ผลทดสอบเพียบ! >>>นิตยสารนี้ไม่มีโฆษณา...เพื่อข้อมูลที่เป็นกลางและตัดสินใจได้ สำหรับผู้บริโภค>>> รายได้ทั้งหมดมาจากทุกท่านบริจาคสนับสนุน...ขอบคุณมากครับ --------------------------------->>> โอนเงินแล้ว  +อีเมล์แจ้ง Chaladsue@gmail.com +แนบรูปการโอน >>> เปิดอ่าน full Version  1 ปี ทันทีจ้าาาาาา---------------------------------***** พิมพ์ชื่อ-ที่อยู่ ในอีเมล์ เพื่อส่งใบเสร็จ***---------------------------------โอน OnlineBanking ชื่อ บช. "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค"กสิกรไทย : 058-2-86735-6ไทยพาณิชย์ : 319-2-62123-1กรุงไทย : 141-1-28408-9ทหารไทย : 026-2-40760-4กรุงเทพ : 088-0-38742-8กรุงศรีอยุธยา : 463-1-10884-6

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 135 เสียท่าเซลล์ขายบริการเสริมความงาม

เสียท่าเซลล์ขายบริการเสริมความงาม บ่ายวันหนึ่งของเดือนธันวาคม 2554 คุณศรินภรณ์มาปรากฏตัวที่ห้างเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ตั้งใจจะไปดูโปรโมชั่นไอโฟน 4 ซึ่งจัดแสดงที่ชั้น 3 ของห้างหรูแห่งนี้ คุณศรินภรณ์พาตัวเองขึ้นบันไดเลื่อนสู่ชั้นสาม แต่บุญสะสมคงไม่พอที่จะได้ยลโฉมสัมผัสไอโฟน  4 เพราะพอบันไดเลื่อนพาขึ้นมาถึงชั้นสอง เธอไม่รู้ตัวเลยว่าได้เข้าสู่คิลลิ่งโซนพื้นที่สังหาร(ทางการขาย)ของเซลล์สถานบริการเสริมความงามกลุ่มหนึ่ง ที่มาตั้งบูธดักเหยื่อบริเวณริมทางเดินบันไดเลื่อนชั้นสองพอดี “คุณคะขอเวลา 1 นาทีค่ะ” หญิงสาวบุคลิกดี เดินเข้ามาทัก ตอนแรกเธอว่าจะไม่หยุด แต่คำต่อมาที่บอกว่า “คุณเป็นคนสวยมากเลยค่ะ แต่ถ้าได้ลดส่วนเกินตรงหน้าท้องออกไปอีกนิด เชื่อว่าคุณจะสวยมากกว่านี้แน่ค่ะ” เหมือนต้องมนต์ “แค่ 1 นาที คงไม่เสียหายอะไร” เธอคิดในใจ   ด้วยความอยากรู้ คุณศรินภรณ์จึงยอมให้เซลล์สาวพาไปชั่งน้ำหนัก วัดค่าของไขมัน รวมทั้งวัดน้ำหนักกล้ามเนื้อส่วนเกินว่ามีมากน้อยแค่ไหน เมื่อวัดเสร็จแล้วจึงให้เธอมานั่งรอเพื่อฟังผลการตรวจ “รอผลประมาณ 5 นาทีค่ะ” เซลล์สาวบอก “ห้านาทีก็ห้านาที(วะ)” เธอคิดในใจไหนๆ ก็ตรวจแล้วนี่อยากรู้ผลเหมือนกัน ระหว่างนั่งรอ...เซลล์สาวนักขายเกือบทั้งกลุ่มก็เริ่มกระบวนการมะรุมมะตุ้มตั้งคำถามกับเธอ “พี่ต้องการจะลดส่วนไหนเป็นพิเศษคะ” “เออ...ไม่ค่ะ ไม่อยากทำวันนี้เสียเงินมามากแล้วค่ะ” “คุณพี่ควรจะเปิดใจให้เราสักครั้งนะคะ นอกจากนี้เรายังมีบริการหลังการขายด้วย” “ขอบคุณค่ะ...แต่ไม่อยากทำหรอกค่ะ” “เถอะน่าทำเถอะค่ะ เราเชื่อว่า บริการของเราจะทำให้พี่ดูดีขึ้นอีกมาก เดี๋ยวจะลดราคาให้เป็นกรณีพิเศษ” ไม่พูดเปล่าเซลล์สาวยกตารางเปรียบเทียบราคาใช้บริการมาให้ดู “นี้เป็นคอร์สในราคา 1 แสนบาทค่ะทั้งปี แต่ถ้ามีบัตรเครดิตจะมีส่วนลดพิเศษให้  ขอดูบัตรเครดิตหน่อยนะคะ เดี๋ยวจะช่วยตรวจสอบให้ เพราะบัตรเครดิตของแต่ละที่จะมีส่วนลดแตกต่างกัน” เซลล์สาวอธิบายเหตุผล คุณศรินภรณ์จึงเปิดกระเป๋าและหยิบบัตรเครดิตให้ดู เซลล์สาวรับบัตรไปดู เห็นแบรนด์ธนาคารปั๊บก็ทำตาโต “โห...บัตรของคุณพี่ลดได้ถึง 50% เชียวนะคะ จากแสนหนึ่งก็เหลือแค่ห้าหมื่นบาท ผ่อน 10 เดือน” “ไม่หรอกค่ะ ยังไม่อยากเสียตังค์” คุณศรินภรณ์ปฏิเสธ พร้อมกับขอบัตรเครดิตคืน เซลล์สาวแกล้งทำเฉย ไม่ยอมคืนบัตรเครดิตพร้อมสูดลมหายใจเข้าปอด ถ้าคุณศรินภรณ์ฟังเสียงในใจของเซลล์สาวได้คงจะได้ยินเสียงนี้ “หนืดนักนะ...เอาวะ ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น วันนี้ต้องจัดการนังนี่ให้ได้ เพื่อค่าคอมฯ สู้โว้ย...!” “คุณพี่ลองพิจารณาดูนะคะ หนูจะเพิ่มคอร์สที่สนใจเพิ่มเติมให้อีก พี่เลือกดูได้ค่ะ” เซลล์สาวออดอ้อน “ไม่ดีกว่าค่ะ พี่ไม่อยากเสียตังค์จริงๆ นะคะ ช่วงนี้ก็มีภาระเรื่องค่าใช้จ่ายมากพออยู่แล้ว” คุณศรินภรณ์ ใจอยากจะไปดูไอโฟน 4 ที่เพียงขึ้นบันไดเลื่อนไปอีกชั้นเดียวก็จะถึงแล้ว จึงแปลงร่างเป็นกระต่ายขาเดียวปฏิเสธไป “โถคุณพี่คะ บริการของเรามีประโยชน์กับพี่มากนะคะ เวลาพี่เครียดก็มาทำได้ ทำแล้วสบายใจ ถ้าห้าหมื่นไม่ไหวหนูลดให้เหลือสี่หมื่นห้า นะคะพี่” “ไม่หรอกค่ะ” ยืนกระต่ายขาเดียวเหมือนเดิม “อ๊ะ...สี่หมื่นห้าไม่ได้ หนูลดให้เลยค่ะจากแสนเหลือสี่หมื่นถ้วน ราคานี้สำหรับพี่คนเดียวเลยนะคะ อย่าไปบอกใคร” คุณศรินภรณ์ ก้มดูนาฬิกาที่ข้อมือ จาก 1 นาทีที่เซลล์ขอตรงทางขึ้นบันไดเลื่อน และอีก 5 นาทีที่เข้ามานั่งรอข้อมูลค่าไขมัน และกล้ามเนื้อส่วนเกิน แต่ตอนนี้เธอนั่งอยู่กับเซลล์หน้าสวยกลุ่มนี้ร่วมชั่วโมงแล้ว ไม่เห็นวี่แววว่าการพูดคุยจะจบเสียที เซลล์ทุกคนดูจะมีความสุขกับการใช้ปากใช้ลิ้นเชิญชวนลูกค้าไม่มีเหนื่อย ส่วนไอโฟน 4 คงไม่ได้ดูแล้ว เพราะต้องรีบไปประชุมอีก “ฉันจะจบเรื่องนี้ยังไงดี” คุณศรินภรณ์คิดในใจ “เออน้องคะ เดี๋ยวต้องรีบไปประชุมแล้ว ขอบัตรเครดิตคืนด้วยค่ะ” คุณศรินภรณ์ขอปิดการคุยเอาดื้อๆ “เดี๋ยวก่อนสิคะ คุณพี่แป๊บหนึ่งค่ะ หนูไม่อยากให้พี่เสียโอกาสราคาลดขนาดนี้ หาไม่ได้อีกแล้วนะคะ” “เซ็นต์สัญญาก่อนแล้วค่อยไปยกเลิกทีหลังก็ได้ ไม่งั้นไม่ได้ไปซะที” คุณศรินภรณ์คิดในใจ “งั้นก็รีบเอาเอกสารมา เดี๋ยวจะเซ็นต์ชื่อให้ค่ะ” เธอบอกกับเซลล์   เมื่อได้ลายเซ็นต์สัญญาใช้บริการของเหยื่อรายล่าสุดแล้ว เซลล์สาวรีบนำบัตรเครดิตของลูกค้าไปรูดเงินทันที ก่อนที่จะคืนให้ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม “พอเราเซ็นต์เสร็จ เขาก็เอาบัตรเครดิตเราไปรูด หลังจากนั้นเขาไม่คุยกับเราอีกเลยค่ะ แทบจะดันก้นให้เราออกจากร้านทันที” คุณศรินภรณ์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้กับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟัง “พอเราได้บัตรเครดิตคืนก็รีบไปประชุม ขณะที่เดินออกมาก็กดโทรศัพท์ไปที่ธนาคารเลยค่ะเพื่อขอให้ระงับการหักเงินในบัตรเครดิต ธนาคารก็บอกว่าให้เราติดต่อยกเลิกสัญญากับสถานความงามก่อน ถ้าทางนั้นยินยอมธนาคารจึงจะยกเลิกให้ได้” “เราก็ต้องโทรกลับไปที่บริษัทสถานเสริมความงาม ทางนั้นบอกว่าพรุ่งนี้ให้เข้ามาทำ พอโทรกลับไปที่ธนาคารอีกครั้ง ธนาคารบอกว่ามีการหักบัญชีไปเรียบร้อยแล้ว จะทำยังไงดีคะ” คุณศรินภรณ์ขอความช่วยเหลือ   แนวทางแก้ไขปัญหา สัญญาที่คุณศรินภรณ์ไปทำกับสถานเสริมความงามแห่งหนึ่งนั้น เป็นสัญญาผูกพันระยะเวลา 10 เดือน โดยจะถูกหักเงินจากรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเดือนละ 4,000 บาท หากจ่ายครบตามสัญญาจะรวมเป็นเงินมากถึง 40,000 บาท การแก้ไขปัญหาการถูกหักเงินจากบัตรเครดิตเพื่อไปจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่เราไม่ได้ต้องการนั้น เราต้องเริ่มปลดล็อคตัวเองด้วยการบอกเลิกสัญญาซื้อใช้สินค้าหรือบริการนั้นเสียก่อน ด้วยการทำหนังสือไปบอกเลิกสัญญา ย้ำว่าต้องเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นจึงจะมีผล ทั้งนี้ เนื้อหาในการบอกเลิกสัญญาจะต้องมีเหตุผลที่เกิดจากความบกพร่องของเจ้าของสินค้าหรือบริการนั้น เช่น ไม่จัดให้มีการบริการที่สำคัญให้ตามสัญญา หรือซื้อบริการไปอย่างหนึ่ง แต่ไม่จัดให้มีบริการนั้น แม้จะให้มีบริการอื่นมาทดแทน ก็สามารถใช้เป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อทำหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้วให้ถ่ายสำเนาเก็บไว้สองชุด ชุดหนึ่งเก็บไว้เป็นหลักฐานกับตัวเอง อีกชุดให้ส่งไปที่ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต และจดหมายตัวจริงก็ส่งไปที่ผู้ประกอบการสินค้าหรือบริการที่ได้ไปซื้อสินค้าหรือบริการมา การส่งจดหมายเพื่อบอกเลิกสัญญาการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ ดีที่สุดอย่าให้เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อสินค้าหรือรับบริการ และควรส่งเป็นไปรษณีย์ตอบรับเพื่อจะได้มีหลักฐานยืนยันการรับจดหมายของเรา   ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2542 ได้ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้าไปทำสัญญาการซื้อใช้สินค้าหรือบริการผ่านทางบัตรเครดิต โดยกำหนดให้สัญญาของบัตรเครดิต จะต้องไม่ตัดสิทธิผู้บริโภคที่จะขอยกเลิกการซื้อสินค้าหรือรับบริการภายในระยะเวลา 45 วัน นับแต่วันที่สั่งซื้อสินค้าหรือรับบริการ หรือภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันถึงกำหนดการส่งมอบสินค้าหรือบริการ โดยผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภค หรือในกรณีที่เรียกเก็บเงินไปแล้ว ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการภายในประเทศ จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้ง ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายใน 60 วันนับแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้งเช่นกัน   หลังจากที่คุณศรินภรณ์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไป ทางสถานบริการเสริมความงามก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทางสำนักงานใหญ่ได้ประสานไปยังร้านสาขาเพื่อให้ทำการยกเลิกสัญญา และประสานไปยังธนาคารให้ทราบถึงการยกเลิกสัญญา และให้ระงับการเรียกเก็บเงินกับผู้บริโภคทั้งหมด “ใช้เวลาในการดำเนินการทั้งหมด 17 วัน ดิฉันไม่ต้องเสียค่าอะไรเลย เนื่องจากยังไม่ได้ใช้บริการ และทางร้านก็ยังไม่ได้เปิดบริการ” “ขอขอบคุณมูลนิธิฯ ที่ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์และคอยสอบถามเรื่องราวต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ขอให้ผู้ร่วมงานในศูนย์ฯ(ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค)ทุกคนมีความสุข สุขภาพแข็งแรง มีความอดทนและเข้มแข็ง เสียสละอย่างมาก เพื่อเป็นเกราะกำบังให้ผู้บริโภคที่ประสบกับความอยุติธรรมในสังคมนี้ที่นับวันจะมีแต่เล่ห์เหลี่ยม หลอกลวงผู้บริโภคเพื่อเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ขอขอบคุณฝ่ายตรวจสอบของ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย และฝ่ายบัญชีของสำนักงานใหญ่ของ Slimming Plus Institution ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จและพบกับสิ่งดีๆ ในชีวิต” เอ้า...สา....ธุ   พร้อมกันโหลดตัวอย่างจดหมายยกเลิกสัญญาบริการ << ที่นี่  

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 183 เสียงผู้บริโภค

อันตรายในบ้านลมบ้านลม หรือเครื่องเล่นเป่าลม คือสถานที่โปรดของเด็กส่วนใหญ่ โดยเราจะเห็นบ้านลมที่มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถหาเล่นได้ตามตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า หรือตามงานต่างๆ และเรามักจะพาลูกหลานไปเล่น โดยลืมนึกถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เด็กติดระหว่างช่องตัวตุ๊กตา หรือเด็กล้มแขนหักในบ้านลม ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เราควรไปทวงความรับผิดชอบจากใครเหตุการณ์ไม่คาดคิดนี้เกิดขึ้นกับคุณปวีณา เมื่อเธอพาลูกๆ ไปเดินเล่นที่ห้างสรรพสินค้าซีคอน สแควร์ ซึ่งพบว่าในขณะนั้นมีการจัดกิจกรรมของบริษัทไทยประกันชีวิต โดยมีการนำบ้านลมมาตั้งให้เด็กเข้าไปเล่นได้ เพียงแค่ระบุข้อมูลส่วนตัวก็จะได้คูปองเข้าไป จากการชักชวนของพนักงาน เธอจึงให้ลูกๆ เข้าไปเล่น โดยเธอยืนเฝ้าอยู่ข้างนอก แต่สักพักเดียว เธอได้สังเกตว่า ลูกสาวของเธอได้ไถลตัวลงจากสไลเดอร์มานานแล้ว แต่ไม่เห็นวิ่งขึ้นมาเล่นอีกครั้งสักที จึงชะโงกหน้าเข้าไปดูและพบว่า ลูกสาวกำลังนอนร้องไห้อยู่ จึงรีบพาลูกออกมา ในตอนแรกเธอไม่ได้คิดว่าลูกสาวบาดเจ็บอะไร อย่างไรก็ตามลูกของเธอยังคงร้องไห้ไม่หยุด และเมื่อเธอสังเกตที่แขนลูกก็พบว่า มีอาการบวมอย่างเห็นได้ชัด จึงพาลูกสาวไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที ซึ่งแพทย์ได้วินิจฉัยว่า ลูกสาวของเธอ ข้อศอกหักทั้ง 2 ข้าง ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดและใส่เหล็กดามกระดูกเธอจึงติดต่อกลับไปที่ห้างดังกล่าว เพราะต้องการให้มีการแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทางห้างก็ได้ติดต่อเจ้าของกิจกรรมในวันงาน คือ บริษัทไทยประกันชีวิต เพื่อมาเจรจากับเธอ แต่ทางบริษัทฯ กลับชี้แจงว่า “ไม่ได้บังคับให้เด็กเล่นบ้านลม”  ผู้ปกครองจึงต้องช่วยดูแลความปลอดภัยบุตรหลานของท่านเอง เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ผู้ร้องจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อหาข้อเท็จจริง ทางผู้ร้องได้ติดต่อไปที่ห้างอีกครั้งเพื่อขอดูกล้องวงจรปิด ซึ่งพบว่าเป็นภาพของเด็กใส่ชุดสีชมพู ปีนขึ้นมาตรงทางสไลด์แล้วโดนชนตกลงไปแล้วก็ปีนขึ้นมาใหม่ ทำให้ทางบริษัทอ้างว่าลูกสาวของเธอเล่นพิเรนทร์ จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บดังกล่าวขึ้นเอง ดังนั้นจึงปฏิเสธข้อเสนอของผู้ร้องที่ต้องการให้มีการชดเชยค่าเสียหายจำนวน 70,000 บาท โดยจะรับผิดชอบเพียง 50,000 บาทเท่านั้น ภายหลังศูนย์ฯ ได้นัดให้ทั้งสองฝ่ายมาเจรจากันอีกครั้ง แต่ทางผู้ร้องได้แจ้งว่าจะดำเนินการฟ้องร้องคดีแทน อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้สิ่งที่น่าคิดคือ มาตรฐานด้านความปลอดภัยของเครื่องเล่นเด็กมีมากแค่ไหน  เพราะเราจะสังเกตได้ว่าบ้านลมเกือบจะทุกที่นั้น ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบดูแลอยู่ภายใน มีเพียงคนดูแลและผู้ปกครองที่รอดูอยู่ด้านนอกเท่านั้น นอกจากนี้เครื่องเล่นดังกล่าวยังไม่มีคำแนะนำในการเล่น หรือคำเตือนที่ระบุว่าเหมาะสำหรับเด็กอายุเท่าไร หรือกำหนดอายุของเด็กในการเล่นเลย ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็อาจจะเกิดการบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบเหมือนดังกรณีนี้นั่นเอง เครื่องสำอางเด็กหมดอายุการร้องเรียนกรณีห้างสรรพสินค้าวางจำหน่ายสินค้าที่หมดอายุแล้ว ยังคงมีเข้ามาเสมอ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ใช้สำหรับการบริโภค แต่สำหรับกรณีนี้กลับเป็นสินค้าประเภทเครื่องสำอาง ซึ่งมีไว้ให้เด็กเล่นอีกต่างหาก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณดวงใจ เธอซื้อชุดแต่งหน้าสำหรับเด็กยี่ห้อ บาร์บี้ (Barbie) จากแผนกของเล่นเด็กที่ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล สาขาเวตส์เกต ในราคาลด 50% จากราคาเต็มเกือบสองพัน ลดแล้วเหลือเพียงเก้าร้อยกว่าบาท  ซึ่งก่อนซื้อเธอได้สอบถามพนักงานว่า สินค้าดังกล่าวมีตำหนิอะไรหรือไม่จึงนำมาลดราคา แต่พนักงานก็ไม่ได้แจ้งว่ามีปัญหาแต่อย่างใด เธอเห็นว่าสินค้าก็มีสภาพดีจริง จึงให้พนักงานนำสินค้าดังกล่าวไปห่อของขวัญ เพื่อนำมามอบเป็นของขวัญให้ลูกสาว อย่างไรก็ตามเมื่อนำกลับไปบ้าน เธอก็สังเกตเห็นฉลากที่ระบุวันผลิตและหมดอายุไว้ว่า สินค้านี้ผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2555 หรือ 4 ปีที่แล้วและหมดอายุไปเมื่อ 2 ปีก่อน เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เธอจึงต้องการร้องเรียนให้ทางห้างสรรพสินค้าแสดงความรับผิดชอบที่นำของหมดอายุมาจำหน่าย โดยส่งกล่องเครื่องสำอางดังกล่าวมาให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยตรวจสอบอีกครั้งด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังได้รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์ฯ ได้ตรวจสอบเบื้องต้นและพบว่า สินค้าดังกล่าวมีการโฆษณาและแนะนำให้ใช้ในการแต่งหน้าเด็ก ซึ่งสามารถเข้าข่ายเครื่องสำอาง แต่ไม่มีฉลากที่ระบุว่าเป็นเครื่องสำอางที่มีการควบคุมของสำนักงานคณะ กรรมการอาหารและยา (อย.) มีเพียงฉลากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กำกับไว้ที่ข้างกล่องเท่านั้น นอกจากนี้ฉลากภาษาไทยกำกับไว้ว่า เหมาะสำหรับเด็กอายุ 3 – 12 ปี ก็ไม่ตรงกับฉลากภาษาอังกฤษที่ระบุไว้บนกล่องว่า เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป และมีคำเตือนกำกับไว้สำหรับผู้เล่นอายุต่ำกว่า 3 ปี เช่น ควรมีผู้ปกครองดูแล ศูนย์ฯ จึงทำหนังสือถึง 1. คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้มีการตรวจสอบของเล่นดังกล่าว ว่าเป็นของเล่นที่เข้าข่ายเป็นเครื่องสำอางหรือไม่ ซึ่งหากบ่งชี้ได้ว่าเข้าข่ายเป็นเครื่องสำอาง จะต้องมีการดำเนินการจดแจ้งกับ อย.ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 และหากไม่ขออนุญาตมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท 2. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อให้มีการตรวจสอบฉลากสินค้าภาษาไทยที่ระบุวันหมดอายุ ไม่ตรงกับข้างกล่อง เพราะถือว่าเป็นการทำผิด พ.ร.บ. ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในกรณีการขายสินค้าที่หมดอายุนั้น สคบ. มีอำนาจในการสั่งปรับผู้ผลิตและบริษัทผู้นำได้ไม่เกิน 50,000 บาท รวมทั้งผู้จัดจำหน่ายไม่เกิน 20,000 บาท3. ห้างสรรพสินค้าดังกล่าว เพื่อให้มีการตรวจสอบสินค้าประเภทเดียวกันที่นำมาจัดจำหน่ายว่า ยังมีกล่องไหนที่หมดอายุอีกหรือไม่4. ผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าหมดอายุ ทั้งนี้สำหรับผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไร ทางศูนย์ฯ จะติดตามความคืบหน้าต่อไป รับบริการปลูกผม แต่ไม่ได้ผล ปัญหาการละเมิดเกิดขึ้นบ่อยครั้งกับผู้บริโภคอย่างเรา ซึ่งหากเราชะล่าใจ หรือรอการตอบกลับจากทางบริษัทเพียงอย่างเดียว ไม่แน่ว่าอาจทำให้อายุความของคดีนั้นหมดลง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเราทั้งในเรื่องเวลา และค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งค่าเยียวยาที่เราควรจะได้รับด้วยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้ร้องที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการปลูกผม โดยเขาเลือกใช้บริการจากบริษัท สเวนสันแฮร์  ตอนปี พ.ศ. 2546 หรือเมื่อ 13 ปีก่อน ทั้งนี้ในระหว่างการรักษาผู้ร้องพอใจมากเพราะผมค่อยๆ ขึ้นทีละน้อย อย่างไรก็ตามในการรักษา 3 ครั้งสุดท้าย พนักงานได้เปลี่ยนวิธีการรักษาไปจากเดิม โดยไปเน้นการขยี้หนังศีรษะเพียงอย่างเดียว ไม่มีอบและนวดหนังศีรษะเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อผ่านไปสักพักก็เกิดสิวเม็ดเล็กๆ และผื่นแดงจำนวนมากบนหนังศีรษะ เขาจึงสอบถามและร้องเรียนไปยังบริษัทเสมอ แต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบกลับใดๆ ภายหลังผู้ร้องจึงไปร้องเรียนที่ สคบ. ในปี 2558 ก็ได้รับการชดเชยค่าเสียหายจำนวน 6,000 บาท จากที่เรียกไปทั้งหมด 80,000 บาท นอกจากนี้ทางบริษัทยังให้ผู้ร้องลบทุกข้อความที่เขียนไว้ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าการเยียวยาของบริษัทฯ ยังไม่มีความเป็นธรรม จึงมาร้องเรียนต่อที่มูลนิธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาในการร้องเรียนลักษณะนี้ หากผู้ร้องมีหลักฐานทางการแพทย์ที่สามารถพิสูจน์หรือยืนยันได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการเข้ารับบริการปลูกผมจริง เขาก็มีสิทธิที่จะได้รับเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในจำนวนที่เป็นธรรม โดยผู้ร้องสามารถรวบรวมเอกสารค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมด มาเรียกร้องในส่วนที่เห็นว่ายังไม่ครอบคลุมความเสียหายได้อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ร้องได้มากกว่านี้ เพราะคดีได้หมดอายุความในเรื่องสัญญาหรือการละเมิดไปแล้ว เพราะกฎหมายได้กำหนดให้อายุความในการฟ้องร้องคดีการละเมิดอยู่ที่ 1 ปี ซึ่งหากฟ้องร้องต่อไปก็จะถูกโต้แย้งในประเด็นอายุความและถูกยกฟ้องในที่สุด นอกจากนี้บริษัทอาจอ้างได้อีกว่า ผู้ร้องยินดีรับเงินค่าชดเชยไปแล้วอีกด้วย ทำให้เขาจึงจำต้องยุติการร้องเรียนไปดังนั้นแล้วจะฟ้องก็รีบฟ้อง เดี๋ยวจะหมดอายุความ หมอลืมของไว้ในแก้มฉันการศัลยกรรมให้ใบหน้าสวยเข้ารูปด้วยการตัดกราม เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สาวๆ หลายคนยอมเจ็บตัว ซึ่งผลลัพธ์ของมันจะคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป เมื่อการศัลยกรรมดังกล่าวออกมาสวยดั่งใจและปลอดภัย แต่หากเราพบว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพื่อรักษาตัวจากการมีสิ่งแปลกปลอมอย่าง ผ้าก๊อซปิดแผล ที่ถูกลืมไว้ในแก้ม เราควรจะทำอย่างไรดีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นคุณพัชราภา ที่เข้ารับการผ่าตัดกรามจากคลินิกศัลยกรรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย โดยสาเหตุที่เธอเลือกใช้บริการคลินิกแห่งนี้ เพราะเห็นว่าเป็นคลินิกที่มีชื่อเสียง ได้รับการรีวิวจากผู้ใช้ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก เธอจึงตัดสินใจนั่งเครื่องบินจากประเทศเยอรมันกลับบ้านเกิด เพื่อมาทำศัลยกรรมดังกล่าว ซึ่งตกลงกันอยู่ที่ 60,000 บาทอย่างไรก็ตามหลังผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย และมาพักฟื้นที่กรุงเทพฯ เธอก็พบว่าแผลที่ผ่าตัดเป็นหนองอักเสบ จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แม้จะมีอาการดีขึ้น แต่เธอยังปวดแผล และพบว่ามีหนองไหลออกมาจากแผลตลอดเวลา เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เธอจึงกลับไปที่คลินิกเดิม เพื่อให้แพทย์ที่ทำการศัลยกรรมให้ตรวจรักษาแต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้นทั้งนี้เมื่อเธอเดินทางกลับประเทศเยอรมันก็พบว่าอาการรุนแรงขึ้นกว่าเดิม เธอจึงไปพบแพทย์และได้รับข้อมูลที่น่าตกใจหลังการเอ็กซ์เรย์ว่า มีเศษกระดูกชิ้นเล็กติดค้างอยู่ตรงบริเวณที่แผลอักเสบ และเมื่อแพทย์ผ่าตัดเพื่อนำชิ้นส่วนดังกล่าวออก ก็ยังพบผ้าก๊อซถูกทิ้งไว้ที่บริเวณแผลผ่าตัดอีกด้วย! แนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังได้รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ทำหนังสือเชิญให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจาหาข้อยุติ ซึ่งทางด้านผู้ร้องได้ชี้แจงว่า ยังคงมีอาการที่ไม่ดีขึ้น โดยหากต้องพูดนานๆ เธอจะมีอาการชาที่บริเวณคางและริมฝีปากล่าง ซึ่งทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ จึงเสนอให้ทางคลินิกดังกล่าวรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นจำนวนเงินกว่า 3 ล้านบาทด้านบริษัทฯ ก็รับว่าจะนำข้อเสนอของผู้ร้องกลับไปพิจารณา แต่ยังไม่ตอบตกลง ซึ่งภายหลังก็เสนอกลับว่า ยินยอมที่จะเยียวยาค่ารักษาส่วนหนึ่งเป็นจำนวนเงินประมาณ 3 แสนบาท แต่ให้สิทธิ์ผู้ร้องสามารถรักษาฟรีที่คลินิกของของตนเอง หรือให้พาเพื่อนมาทำศัลยกรรมได้ฟรีอีก 1 คน อย่างไรก็ตามผู้ร้องได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เพราะเห็นว่าไม่มีความเป็นธรรม และดำเนินการใช้สิทธิ์ทางศาล ฟ้องคดีเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป ค่าทำ(ตา)ไม่กี่บาท แต่ค่ารักษาเป็นแสนการมีดวงตาที่สวยงามเป็นความฝันของใครหลายคน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการมีตาสองชั้น ทำให้การทำศัลยกรรมตาสองชั้นได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเราจะพบว่าการแพทย์ในปัจจุบันสามารถทำให้การศัลยกรรมดังกล่าว มีความปลอดภัย ไม่ยุ่งยากและราคาไม่แพงเท่าไรนัก อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่ทำศัลยกรรมแล้วจะสวยสมใจหรือปลอดภัยเสมอไป ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณธมลเข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรมตาสองชั้นที่คลินิกย่านรามคำแหง โดยตกลงราคาค่าทำศัลยกรรมที่ 12,000 บาท ภายหลังทำเสร็จเรียบร้อยเธอก็เชื่อว่า อาการบวมหรือรอยช้ำต่างๆ น่าจะหายไปภายใน 2 - 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่เธอคิด หลังจากเวลาผ่านไป 2 เดือน ตาข้างขวาของเธอมีอาการปวดแสบ เหมือนมีอะไรบาดตาเวลากะพริบตา รู้สึกระคายเคือง มีน้ำตาไหลตลอดเวลา และบางครั้งถึงขั้นลืมตาไม่ขึ้น สู้แสงไม่ได้ในเวลากลางวัน เธอจึงไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่ากระจกตาดำของเธอเป็นแผล มีแคลเซียมที่เปลือกตาและต้องรักษาด้วยการขูดออกอย่างไรก็ตามแม้จะรักษาหลายครั้ง แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น จนในที่สุดเมื่อผ่านไปประมาณ 7 เดือนนับจากวันที่ทำศัลยกรรมตาสองชั้น เธอก็ยังคงเข้ารับการรักษาดวงตาเช่นเดิม เพียงแต่พบข่าวใหม่ที่ไม่น่ายินดีว่า อาการเจ็บตาของเธอนั้นมีสาเหตุมาจาก ไหมที่ค้างอยู่ในเปลือกตาตั้งแต่ตอนทำศัลยกรรมตาสองชั้นนั่นเอง!แม้แพทย์จะผ่าตัดไหมดังกล่าวออกให้แล้ว แต่อาการระคายเคืองต่างๆ ก็ยังไม่หายเป็นปกติ ทำให้เธอยังคงต้องไปพบแพทย์อยู่เสมอ เธอจึงกลับไปร้องเรียนคลินิกเดิมที่เคยทำศัลยกรรมตาสองชั้นให้ ซึ่งได้รับการตอบกลับมาว่า อาการที่เกิดขึ้นกับเธอ ไม่เกี่ยวกับการทำศัลยกรรมตาสองชั้น เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เธอจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพราะเชื่อว่าสาเหตุดังกล่าวมาจากความไม่รอบคอบของแพทย์ที่ทำศัลยกรรมตาสองชั้นให้เธอแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้แม้ผู้ร้องจะเสียเงินค่าทำศัลยกรรมตาสองชั้นในราคาที่ไม่แพงเท่าไรนัก แต่เธอได้แจงรายละเอียดค่ารักษา เพื่อให้ดวงตากลับมาดีเหมือนเดิมว่า เป็นจำนวนเงินมากกว่า 1 แสนบาทแล้ว นอกจากนี้ยังต้องเสียบุคลิกภาพ เพราะต้องก้มหน้าตลอดเวลา เนื่องจากดวงตาไม่ค่อยสู้แสงอีกด้วย ซึ่งภายหลังทางศูนย์พิทักษ์สิทธิได้รับเรื่องร้องเรียน ก็ได้ทำหนังสือเชิญแพทย์ดังกล่าวมาเจรจา ซึ่งผลจะอย่างไรทางศูนย์ฯ จะคอยติดตามเรื่องต่อไปทั้งนี้ข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่อยากทำศัลยกรรมไม่ว่าจะเป็นประเภทใดๆ ก็ตาม คือ การเลือกศัลยแพทย์ที่ได้การรับรอง โดยให้สังเกตง่ายๆ จากใบประกอบโรคศิลป์ที่มักจะติดไว้ในคลินิก และดูว่าชื่อแพทย์ที่ได้รับการรับรองนั้น ตรงกับคนที่มาทำศัลยกรรมให้เราหรือเปล่า รวมถึงเลือกวิธีการศัลยกรรมให้ปลอดภัย โดยคำนึงจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเราด้วยตรวจสอบรายชื่อศัลยกรรมตกแต่ง สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย    http://www.plasticsurgery.or.th/lst.php----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------สคบ. เผยปี58 ยอดร้องเรียนศัลยกรรมความงามพุ่ง 100% นพ.จักรพงษ์ ชุณหเสวี คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้บริการเสริมความงาม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่1 ม.ค. - 19 ต.ค. 2558  มีผู้มาร้องเรียนกรณีได้รับความเสียหายจากการใช้บริการสถานเสริมความงาม และศัลยกรรมความงามกับสคบ. จำนวน355 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีการร้องเรียน158 ราย โดยเมื่อนำมาวิเคราะห์พบว่าสามารถแบ่งประเภทความเสียหายจากคลินิกศัลยกรรม เสริมความงาม จำนวน81ราย ประเด็นการร้องเรียน คือจมูกเบี้ยว เอียง อักเสบ รูจมูกไม่เท่ากัน จมูกยุบ ซิลิโคนไม่ได้มาตรฐาน ทำตาสองชั้นผิดรูป หนังตาปิด ทำเต้านมไม่ได้ขนาดตามสัญญา เต้านมเอียง ไม่เป็นธรรมชาติ อักเสบ ปัญหาการดูดไขมัน เป็นต้นนพ.จักรพงษ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นการร้องเรียนในสถานบริการเสริมความงามที่เป็นคลินิก และสปา ที่ไม่ใช่คลินิกศัลยกรรม 433 ราย ประเด็นที่ร้องเรียนคือ เกิดอาการแพ้ ผื่นแดง ผิวไหม้ ผิวหนังอักเสบ เป็นฝ้า กระ เพิ่มขึ้นหลังรับบริการยิงเลเซอร์ ทั้งนี้ หลังจากพิจารณาไกล่เกลี่ยพบปัญหาว่า เกิดจากพนักงานที่ให้บริการไม่มีความชำนาญ ผู้ประกอบกิจการไม่มีแพทย์ หรือ แพทย์เฉพาะทางอยู่ประจำ ให้บริการโดยตรงหรือแพทย์ให้คำปรึกษาเพียงสัปดาห์ละ1วัน เมื่อเกิดปัญหาพนักงานไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การบริการไม่ตรงตามที่ตกลงกับพนักงาน เช่น จำนวนครั้ง หรือ ลักษณะคอร์สที่ใช้บริการ การทำหัตถการบางอย่างไม่ได้ทำกับแพทย์อย่างการทำเลเซอร์ สถานบริการปิดกิจการ และผู้ใช้บริการไม่สามารถยกเลิก หรือ ขอค่าสมัครคืนได้ เป็นต้น ทั้งนี้ สคบ.ได้ตักเตือน และให้มีการแก้ไขปรับปรุงให้มีคุณภาพตามที่กำหนด“เห็นได้ว่าปัญหาที่น่ากังวล คือ การเข้าไปใช้บริการคลินิกที่ไม่ใช่แพทย์จริงๆ หรือ เป็นแพทย์ที่แอบอ้างว่าเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านนั้นๆ ซึ่งความจริงแล้วยังไม่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการสถานบริการเสริมความงาม ผู้ใช้บริการสามารถ ตรวจสอบรายชื่อแพทย์ ที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา ที่ http://tmc.or.th/check_md โดยกรอกชื่อนามสกุล และค้นหากก็จะทำให้ทราบว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่ เชี่ยวชาญตามที่ระบุไว้หรือไม่” นพ.จักรพงษ์ กล่าวที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/mobile/view/news/676725  

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 182 เสียงผู้บริโภค

  ฉลากอาหารไม่มีเลข อย. 13 หลักถือว่าผิดกฎหมาย เครื่องหมาย อย. เป็นสิ่งที่การันตีความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง เมื่อซื้ออาหารแปรรูปต่างๆ มารับประทาน แต่เครื่องหมาย อย. อย่างเดียวอาจไม่ถูกต้อง เพราะจำเป็นต้องมี เลขสารบบอาหารหรือเลขประจำตัวผลิตภัณฑ์อาหาร 13 หลักแสดงอยู่ภายในกรอบเครื่องหมาย อย. ด้วย จึงจะเรียกว่า ถูกต้อง คุณสุจิตราซื้อนมปรุงแต่งพาสเจอร์ไรส์ยี่ห้อ อืมม!..มิลค์ (Umm!..Milk) รสกล้วยหอม ราคา 55 บาท จากห้างสรรพสินค้าเซ็นทัลลาดพร้าวกลับมารับประทานที่บ้าน แต่ได้สังเกตว่านมดังกล่าว แม้จะมีเครื่องหมาย อย.แต่ไม่มีเลขสารบบอาหาร เธอจึงสอบถามไปยังหน้าแฟนเพจเฟซบุ๊กของนมยี่ห้อดังกล่าวซึ่งชี้แจงกลับมาว่า “นมปรุงแต่ง 0% แล็กโทส รสกล้วยหอม เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของ อืมม!..มิลล์ ที่อยู่ในขั้นตอนการขอ อย. และสามารถจำหน่ายได้เนื่องจากจำหน่ายในจำนวนจำกัด โดยมีการส่งตรวจคุณภาพกับ อย. เสมอ” อย่างไรก็ตามคุณสุจิตรา ยังข้องใจในคำตอบของบริษัทฯ เธอจึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะไม่แน่ใจว่านมดังกล่าวได้รับมาตรฐานและมีความปลอดภัยจริงหรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหาหลังได้รับเรื่องร้องเรียนศูนย์ฯ จึงไปซื้อนมดังกล่าวจากห้างสรรพสินค้าทั่วไป เพื่อนำมาตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ซึ่งพบว่ามีเพียงเครื่องหมาย อย. แต่ไม่มีเลขสารบบอาหารจริง จึงทำหนังสือสอบถามและขอให้มีการตรวจสอบไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่ง อย. ตอบกลับมากว่า ได้ขอความร่วมมือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ให้มีการตรวจสอบสถานที่ผลิตพร้อมเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ดังกล่าวส่งตรวจเพื่อวิเคราะห์คุณภาพ ซึ่งพบว่ามีคุณภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่การแสดงอาหารดังกล่าวไม่ถูกต้อง ถือเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 367 พ.ศ.2557 เรื่องการแสดงฉลากอาหารในภาชนะบรรจุ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาจึงได้ดำเนินการปรับตามประกาศ (ไม่เกิน 30,000 บาท) เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้สำหรับอาหารใดๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ต้องมีฉลากอาหาร ก็ไม่ควรวางจำหน่ายก่อนได้รับเครื่องหมาย อย. เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอีกด้วย   ย้ายค่ายใหม่เบอร์เดิม ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดความคาดหวังของผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือคงหนีไม่พ้นเรื่อง สัญญาณเครือข่ายที่ดีและมีความคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคอย่างเราสามารถเลือกใช้บริการเครือข่ายที่ต้องการได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องเปลี่ยนเลขหมายผ่านการบริการที่เรียกว่า การย้ายค่ายใหม่เบอร์เดิม อย่างไรก็ตามมีผู้ใช้บริการบางส่วนที่ได้รับความไม่สะดวกจากการใช้บริการดังกล่าว โดยเขาไม่สามารถติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ได้เลยเป็นเวลาเกือบ 10 วัน ภายหลังการติดต่อขอย้ายเครือข่ายใหม่ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณสุชาติ ซึ่งเดิมทีใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ ดีแทค (Dtac) แต่พบว่าในพื้นที่ที่เขาใช้งานไม่ค่อยมีสัญญาณโทรศัพท์ของเครือข่ายดังกล่าว ส่งผลให้การติดต่องานต่างๆ ไม่สะดวกเท่าที่ควร เขาจึงต้องการเปลี่ยนค่ายใหม่เป็นเครือข่าย ทรูมูฟเอช (TrueMove-H) อย่างไรก็ตามภายหลังไปดำเนินการย้ายค่ายในวันที่ 13 มี.ค.และรอให้มีการรีเซทสัญญาณใหม่ครบ 3 วันแล้ว เขาก็ยังไม่สามารถใช้บริการเครือข่ายใหม่ได้ โดยทางทรูมูฟเอชแจ้งว่าไม่สามารถดึงสัญญาณโทรศัพท์ได้ เนื่องจากเครือข่ายเดิมไม่อนุญาต ทำให้ผู้ร้องมาขอความช่วยเหลือที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะได้รับความเดือนร้อนติดต่องานหรือธุระต่างๆ ทางโทรศัพท์มือถือไม่ได้เลยแนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังศูนย์ฯ โทรศัพท์ไปสอบถามปัญหาดังกล่าวที่ Call center ของเครือข่ายดีแทค (1678) ก็ได้รับการชี้แจงว่าขณะนี้มีปัญหาเรื่องการดึงสัญญาณ ซึ่งทางเครือข่ายกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยผู้ร้องจะสามารถโอนย้ายเครือข่ายใหม่ได้ภายในวันที่ 21 มี.ค.ทำให้สิ่งที่ผู้ร้องทำได้ในขณะนั้นคือ รอ! ให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเสร็จสิ้น และในที่สุดหลังจากรอเครือข่ายเดิมดำเนินการย้ายค่ายไปทั้งหมดเกือบ 10 วัน เขาก็สามารถกลับมาใช้งานโทรศัพท์มือถือได้ตามปกติ สำหรับเหตุการณ์นี้แม้ผู้ร้องจะได้ใช้งานเครือข่ายใหม่ที่เขาต้องการ แต่ก็ต้องแลกกับเวลาที่เสียไป ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าประกาศการย้ายค่ายเบอร์เดิมของ กสทช. ที่กำหนดให้ประชาชนสามารถเลือกใช้เครือข่ายใหม่ที่ดีกว่าได้ตามต้องการ โดยมีขั้นตอนง่ายๆ คือ กรอกแบบคำขอโอนย้ายพร้อมแสดงบัตรประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่นๆ ที่ออกให้โดยหน่วยงานของราชการ ณ จุดให้บริการของค่ายใหม่ที่จะย้ายไป และชำระค่าธรรมเนียมจำนวน 29 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากนั้นก็รอรับ SMS แจ้งผลการอนุมัติ ซึ่งประมาณ 3 วันทำการ (วันจันทร์ - ศุกร์ ไม่รวมเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ก็จะสามารถใช้บริการเครือข่ายใหม่ได้นั้น ผู้บริโภคสามารถทำตามได้จริงแค่ไหน * หมายเหตุ สำหรับผู้ใช้บริการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการย้ายค่าย หรือผู้ให้บริการเครือข่ายไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว สามารถโทรศัพท์ร้องเรียนโดยตรงได้ที่ กสทช. Call center 1200 (โทรฟรี) ซึ่งมีอำนาจตาม พรบ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 64, 65, 66 ในการสั่งให้ผู้ประกอบการดำเนินการย้ายค่าย ซึ่งหากฝ่าฝืน โปรดดูวันหมดอายุก่อนซื้อแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการร้องเรียนจำนวนมาก เกี่ยวกับอาหารหมดอายุที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งทางบริษัทฯ ทั้งหลายก็ยินดีที่จะตรวจสอบให้มากขึ้น แต่ปัจจุบันเราก็พบว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าไรนัก ทำให้ผู้บริโภคที่ไม่ได้ตรวจสอบฉลากก่อนซื้อ ต้องเสี่ยงดวงว่าจะสังเกตเห็นก่อนรับประทานเข้าไปหรือเปล่า อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่ดวงดีอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ คุณสมชายซื้อนมกล่องยี่ห้อดูแม็กไฮคิววัน จำนวน 2 แพ็ค ราคา 132 บาท จากห้างเทสโกโลตัสแถวบ้าน ภายหลังลูกชายนำนมไปดื่มก็มีอาการอาเจียนและอุจจาระเหลว เขาจึงนำนมกล่องดังกล่าวมาตรวจสอบดูและพบว่า มีกลิ่นเปรี้ยวผิดปกติและเลยวันหมดอายุไปตั้งแต่ 3 เดือนที่แล้ว เขาจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ โดยต้องการให้ทางห้างสรรพสินค้าดังกล่าวมีความรอบคอบในการวางจำหน่ายสินค้า และแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น อีกกรณีหนึ่ง ผู้ร้องซื้อกาแฟยี่ห้อมอคโคน่า ราคา 99 บาท จากห้างเทสโกโลตัสสาขามหาชัย โดยไม่ได้ตรวจสอบวันหมดอายุ ภายหลังนำกลับมาที่บ้านจึงสังเกตเห็นว่าสินค้าดังกล่าวหมดอายุไปเมื่อ 3 เดือนก่อน เธอจึงนำสินค้าพร้อมใบเสร็จรับเงิน กลับไปที่ห้างดังกล่าว ซึ่งภายหลังการติดต่อที่จุดบริการลูกค้า เธอเรียกร้องให้ทางห้างเยียวยาค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,000 บาท แต่พนักงานกลับนำกระเช้าของขวัญมาให้ พร้อมขอเก็บสินค้าดังกล่าวไปแทน ซึ่งเธอยินยอมให้สินค้าไป แต่ยืนยันที่จะขอรับค่าเสียหาย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้พนักงานจึงเสนอให้คูปองเงินสดจำนวน 1,000 บาท ด้านผู้ร้องเห็นว่าห้างดังกล่าวควรมีความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้นมากกว่านี้ จึงปฏิเสธข้อเสนอของพนักงานและขอสินค้านั้นคืน แต่พนักงานก็ได้แจ้งว่าทำสินค้าดังกล่าวหายไปแล้ว เธอจึงร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับ 2 กรณีข้างต้นมีประเด็นเหมือนกันคือ สินค้าหมดอายุแล้วแต่ยังวางจำหน่าย และมีคู่กรณีเดียวกันคือห้างสรรพสินค้าเทสโกโลตัส ศูนย์ฯ จึงนัดเจรจาพร้อมกันระหว่างผู้ร้องทั้ง 2 กรณีและสำนักงานใหญ่ของห้างสรรพสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้สำหรับในกรณีแรกผู้จัดการห้างได้ติดต่อผู้ร้องเพื่อขอตรวจสอบสินค้า และพร้อมจ่ายค่าเยียวยาให้จำนวน 5,000 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังการนัดเจรจา ผู้ร้องทั้งคู่ต้องการค่าชดเชยคนละ 20,000 บาท ทำให้ทางบริษัทฯ ขอนำข้อเรียกร้องดังกล่าวกลับไปพิจารณาก่อน ซึ่งผลจะเป็นอย่างไร ผู้บริโภคจะได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ ทางศูนย์ฯ ก็จะคอยติดตามความคืบหน้าต่อ ทั้งนี้แนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหา เมื่อเราซื้อสินค้ามาโดยไม่ได้ตรวจสอบฉลากก่อน แล้วพบว่าหมดอายุไปแล้ว สิ่งที่เราควรทำคืออย่ารีบทิ้งสินค้าดังกล่าว โดยให้ถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ / วันหมดอายุ / ใบเสร็จรับเงิน* และแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการร้องเรียน *หมายเหตุ เนื่องจากใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานสำคัญในการเอาผิด เราจึงไม่ควรทิ้งทันทีที่ซื้อของเสร็จ เพราะหากมีปัญหาอาจทำให้การฟ้องร้องเป็นไปอย่างลำบาก รองเท้าใหม่ใช้ได้แค่วันเดียวของใช้ต่างๆ ย่อมเสื่อมสภาพตามวันเวลา แต่หากเราซื้อของมาแล้วใช้ได้แค่วันเดียว ถึงแม้จะมีราคาไม่สูงมากนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องปกติที่น่ายินดีสักเท่าไร  ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ คุณมัลลิษาซื้อรองเท้าคู่ใหม่มือหนึ่งยี่ห้อ Kito ราคาเกือบ 400 บาท จากการออกบูทขายสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าย่านอนุสาวรีย์ชัย แต่วันแรกที่สวมใส่ก็พบว่ารองเท้าดังกล่าวชำรุด โดยพื้นรองเท้ากับรองเท้าได้แยกออกจากกัน ซึ่งเธอคิดว่าปัญหาดังกล่าวน่าจะมาจากล็อต (Lot) การผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะมั่นใจในตราสินค้าว่ามีคุณภาพและเชื่อว่าอย่างน้อยก็ต้องใช้งานได้เป็นปี จึงส่งอีเมล์ร้องเรียนปัญหาดังกล่าว พร้อมแนบรูปถ่ายสินค้าที่ชำรุดไปยังบริษัท เพื่อให้มีการตรวจสอบและชดเชยความเสียหาย เพราะถือว่าเป็นการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ อย่างไรก็ตามภายหลังส่งเรื่องร้องเรียนไปก็ไม่มีการตอบรับจากบริษัท เธอจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ โทรศัพท์ไปสอบถามความคืบหน้ากับทางบริษัทฯ ซึ่งแจ้งว่ายังไม่พบการร้องเรียนดังกล่าว จึงขอให้ส่งรายละเอียดปัญหาไปอีกครั้งทางแฟกซ์ โดยภายหลังได้รับทราบปัญหาก็ขอโทษพร้อมชดเชยผู้ร้องด้วยการส่งรองเท้าคู่ใหม่มาให้ พร้อมชี้แจงว่าปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากการข้อผิดพลาดทางการผลิต ซึ่งพนักงานฝ่ายการผลิตอาจลืมขัดพื้นรองเท้าที่สำหรับทากาวให้ยึดเกาะ ด้านผู้ร้องเมื่อได้รับรองเท้าคู่ใหม่ก็ยินดียุติการร้องเรียน    

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 181 เสียงผู้บริโภค

เจ็บป่วยฉุกเฉิน ยังคงต้องสำรองจ่ายแม้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” ที่ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษา ในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทุกแห่งโดยไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า ซึ่งประกาศไปเมื่อปี 2555 แต่ก็ยังเกิดปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินบางราย ไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้สามีของผู้ร้องเป็นโรคหัวใจ ซึ่งขณะที่กำลังเดินทางอยู่บนสถานีรถไฟฟ้าก็เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ทำให้หมดสติ ต่อมาจึงได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยกู้ชีพ นำส่งไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในขณะนั้นคือ โรงพยาบาลพระราม 9 แต่ภายหลังเข้ารับการรักษา สามีของเธอก็ได้เสียชีวิตลง อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ไม่ได้จบแค่นั้น เมื่อทางโรงพยาบาลให้วางเงินมัดจำนวนเกือบ 80,000 บาท เป็นค่ารักษาพยาบาล แม้ผู้ร้องจะแจ้งว่าขอใช้สิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่ก็ได้รับคำตอบว่าให้เบิกคืนได้ที่กองทุนฉุกเฉิน เธอจึงต้องระดมหาเงินจำนวนดังกล่าวมาให้กับโรงพยาบาล ภายหลังจ่ายเงินเรียบร้อย เธอจึงไปติดต่อเบิกเงินคืนจาก สปสช. ซึ่งได้คืนประมาณ 19,000 บาท ส่วนที่เหลือกองทุนแจ้งว่า ต้องไปทำเรื่องขอความอนุเคราะห์เบิกกับที่โรงพยาบาลดังกล่าวแทน ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงขอความช่วยเหลือมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องต้องการทราบว่าจะได้รับเงินที่จ่ายไปแล้วคืนหรือไม่ ศูนย์ฯ จึงช่วยทำหนังสือประสานงานไปยัง สปสช. และโรงพยาบาลดังกล่าว โดยอ้างตามสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินตามนโยบายรัฐบาล ภายหลังทางโรงพยาบาลยินยอมที่จะไม่เรียกเก็บเงิน พร้อมคืนเงินส่วนต่างทั้งหมดให้ ดังนั้นแนวทางสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินรายอื่นๆ ที่ไม่ต้องการเสียเงินเมื่อเข้ารับการรักษา มีดังนี้1. หากเลือกโรงพยาบาลได้ควรเป็นของรัฐ เพราะเจรจาต่อรองได้ง่ายกว่าเมื่อเกิดปัญหา2. ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วย (ถ้ามี) พร้อมแจ้งการขอใช้สิทธิฉุกเฉินกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ซึ่งสำหรับการวินิจฉัยว่าเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือไม่ แพทย์จะพิจาณาตามข้อบ่งชี้ ดังนี้ - โรคหรืออาการของโรคที่มีลักษณะรุนแรงอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายต่อผู้อื่น- โรคหรืออาการของโรคที่มีลักษณะรุนแรง ต้องรักษาเป็นการเร่งด่วน- โรคที่ต้องผ่าตัดด่วน หากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต- โรคหรือลักษณะอาการของโรคที่คณะกรรมการกำหนด- ความดันโลหิต ชีพจร อาการของโรค การวินิจฉัยโรค แนวทางการรักษาและความเร่งด่วน ในการรักษารวมทั้งคำนึงถึงการรับรู้ของผู้รับบริการที่มีต่อการป่วยด้วย3. หากโรงพยาบาลเรียกเก็บเงิน ต้องยืนยันการใช้สิทธิฉุกเฉิน โดยอ้างสิทธิตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งหากเจรจาตกลงกันไม่ได้ ควรแจ้งเรื่องที่สายด่วน สปสช. (โทรฟรี) 1330 4. เมื่อแพทย์แจ้งว่าผู้ป่วยพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายได้แล้ว ให้ประสานโรงพยาบาลตามสิทธิเพื่อย้ายผู้ป่วยเข้ารับการรักษาต่อเนื่องอ้างอิงข้อมูล: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ http://www.nhso.go.th/FrontEnd/page-forpeople_useuc.aspx#b และ http://indyconsumers.org/main/index.php/information/handbook/health-service-157/168-571028016 อย่าชะล่าใจกับเครื่องใหม่มือหนึ่งแม้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อยอดนิยมของคนส่วนใหญ่อย่าง iphone จะเปิดตัวด้วยราคาที่สูงเพียงไร แต่ก็ยังได้รับความสนใจจากผู้ที่ชื่นชอบอยู่เสมอ เช่นเดียวกับผู้ร้องรายนี้ที่ต้องการซื้อ iphone รุ่นใหม่อย่าง 6s Plus ที่มีราคาสูงกว่าสามหมื่นบาท แต่การตัดสินใจซื้อของเขามีจุดพลาดอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่ได้ตรวจเช็คสภาพเครื่องก่อน ทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังเดิมทีผู้ร้องซื้อโทรศัพท์ดังกล่าวจากบูทของ เอไอเอส ในงาน Thailand expo 2016 โดยไม่ได้มีการตรวจสอบความสมบูรณ์ของหน้าจอโทรศัพท์ก่อน เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตามเมื่อกลับถึงบ้านและเปิดเครื่องใช้งานก็พบว่าหน้าจอเกิดความผิดปกติของเม็ดสี หรือ Dead Pixel เป็นจุดสีเขียวขนาดเท่าปลายเข็ม เขาจึงนำโทรศัพท์กลับไปเปลี่ยนที่บูทดังกล่าว แต่ก็พบว่าเลยเวลาจัดกิจกรรมของงานแล้ว ทำให้ต้องกลับไปอีกครั้งในวันรุ่งขึ้นแทน ภายหลังแจ้งปัญหากับพนักงานก็ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ ถ้าจะเปลี่ยนต้องเป็นภายในวันที่ซื้อเท่านั้น และหากต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควรติดต่อกับบริษัทของ iphone ด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้ผู้ร้องจึงมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงบริษัทของโทรศัพท์ คือ บริษัท แอปเปิ้ล เซาท์ เอเชีย (ประเทศไทย) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เพื่อให้พิจารณาเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ โดยให้ชี้แจงเหตุผลว่าการที่โทรศัพท์ดังกล่าวเกิดปัญหา Dead Pixel เป็นจุดสีเขียว ไม่ใช่ความผิดของผู้ซื้อ เพราะโทรศัพท์น่าจะมีปัญหาดังกล่าวตั้งแต่แรกอยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้ร้องมีสิทธิที่จะได้รับโทรศัพท์ที่มีคุณภาพตามราคาที่ซื้อ ซึ่งภายหลังผู้ร้องส่งหนังสือไปบริษัท แอปเปิ้ล ก็ได้รับการตอบกลับว่าสามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ โดยให้ไปติดต่อศูนย์บริการเอไอเอส ที่สาขาสยามพารากอน และเมื่อผู้ร้องสามารถเปลี่ยนเครื่องได้ที่ศูนย์บริการดังกล่าวเรื่องจึงยุติลง ค้างชำระค่างวดรถ โดนยึดทันทีจริงหรือหนึ่งในปัญหาเรื่องการเช่าซื้อรถทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ที่สร้างความปวดหัวให้กับผู้เช่าซื้อมาตลอดคือ การค้างชำระค่างวดรถแล้วไม่แน่ใจว่าควรแก้ปัญหาอย่างไรดี เพราะรถกำลังจะโดนบริษัทมายึดไปแล้ว ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้ผู้ร้องซื้อรถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อฮอนด้า เวฟ โดยตกลงกันให้มีการผ่อนชำระเดือนละ 1,130 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังการผ่อนชำระไปได้ไม่กี่เดือน ผู้ร้องก็มีปัญหาทางการเงิน ทำให้ต้องหยุดการผ่อนค่างวดรถคันดังกล่าวเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งภายหลังพนักงานของบริษัทก็เดินทางมายึดรถไป โดยไม่มีหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์ที่เตือนให้มีการชำระค่างวดที่ค้างไว้ก่อนแต่อย่างใด แม้จะพยายามเจรจาด้วยการขอชำระค่างวดทั้งหมดในขณะนั้นทันที แต่พนักงานก็ไม่ยอมและยืนยันที่จะยึดรถคืนแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้แม้ผู้ร้องจะผิดชำระค่างวดรถมอเตอร์ไซค์ แต่บริษัทก็ไม่สามารถดำเนินการยึดรถคืนได้ทันที เพราะตามประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์กำหนดว่า บริษัทสามารถยึดรถคืนได้ กรณีที่ผู้เช่าซื้อค้างชำระค่างวด 3 งวดติดๆ กัน โดยผู้ให้เช่าซื้อต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 30 วัน ดังนั้นถ้ายังไม่ครบกำหนด 4 เดือน ผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถยึดรถ หากฝ่าฝืนถือว่าผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญา และผู้เช่าซื้อสามารถร้องเรียนหรือฟ้องต่อศาลคุ้มครองผู้บริโภคได้ ทั้งนี้หากเราพบว่าโดนเอาเปรียบด้วยการกระทำดังกล่าว จึงไม่จำเป็นต้องส่งรถคืนแต่ควรเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจ พร้อมรายละเอียดการค้างชะระค่างวดและขอให้มีการเจรจา แต่ถ้าในกรณีที่บริษัทได้แจ้งเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว และเราก็ยังไม่สามารถชำระค่างวดได้ สิ่งที่ควรทำคือ1. ให้มีการประเมินสภาพรถหรือราคาเบื้องต้นก่อนการส่งมอบ เพื่อเป็นหลักฐานในกรณีที่บริษัทนำรถคันดังกล่าวไปขาย และเรียกร้องให้เราจ่ายค่าส่วนต่างที่เหลือให้ครบ2. ในกรณีที่เราอยากได้รถคืนก็ต้องกลับไปติดต่อที่บริษัทดังกล่าวและจ่ายค่างวด รวมทั้งเบี้ยปรับต่างๆ ให้ครบ หรือหากไม่ต้องการรถคันดังกล่าวแล้ว ก็รอจ่ายเงินส่วนต่างที่เหลือภายหลังบริษัทนำรถไปขาย ระวังผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัด เถื่อนสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่คอยดูดเลือดและแฝงตัวอยู่กับน้องหมาอย่างเห็บหมัด ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงน้องหมาทุกคนไม่อยากเจอ ทำให้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้กำจัดเห็บหมัดอย่างกว้างขวาง ซึ่งเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ายาดังกล่าวจะทำให้เห็บหมัดหายไป หรือมีความปลอดภัยต่อน้องหมาและเราจริงๆเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อผู้ร้องได้เห็นข่าวจากกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ ที่ออกมาเตือนถึงผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดเถื่อน ซึ่งสามารถทำให้เกิดอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงได้ เขาจึงต้องการให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยเป็นอีกหนึ่งในผู้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งทางนิตยสารฉลาดซื้อเห็นว่า น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้รักสัตว์ทั้งหลาย จึงค้นข้อมูลเพื่อนำมาเผยแพร่ต่อไปแนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังได้รับเรื่องศูนย์ฯ ก็ได้หาข้อมูลเพิ่มเติม และพบข่าวการแจ้งเตือนดังกล่าวว่า นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เตือนผู้เลี้ยงสัตว์อย่าหลงเชื่อผู้ผลิตหรือผู้ขายยาสัตว์อวดอ้างสรรพคุณ เพราะใช้แล้วอาจมีพิษต่อตับ ไต ระบบประสาท และการทำงานของหลอดเลือดหัวใจ อาจทำให้สัตว์เลี้ยงของท่านพิการและตายได้ ซึ่งหากร้านใดมีการขายยาสัตว์จะต้องได้รับใบอนุญาต หากฝ่าฝืนก็จะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้สำหรับหลักการเบื้องต้นในการสังเกตว่าผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดยี่ห้อไหนได้รับมาตรฐาน เราสามารถตรวจสอบได้ดังนี้1. ยาแท้ต้องมีชื่อยา: โดยมีทั้งชื่อทางการค้า (ยี่ห้อ) และชื่อสามัญทางยาหรือสารออกฤทธิ์สำคัญ2. ยาแท้ต้องมีเลขทะเบียนยา: โดยจะสังเกตเห็นข้อความว่าทะเบียนยา เลขทะเบียนยา หรือ Reg. No. หรือเลขทะเบียนวัตถุอันตราย ซึ่งจะสังเกตเห็นข้อความ “อย. วอส.” ในกรอบสัญลักษณ์เช่น วอส. 1266/25543. ยาแท้ต้องระบุปริมาณ: หรือขนาดบรรจุของยา เช่น มียากี่เม็ด มียากี่หลอด และแต่ละหลอดบรรจุปริมาณเท่าใด เป็นต้น4. ยาแท้ต้องระบุเลขที่ผลิต: หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต หรือครั้งที่วิเคราะห์ ซึ่งมักใช้คำย่อเป็นภาษาอังกฤษ เช่น Lot No. Cont. No. หรือ Batch No. แล้วตามด้วยเลขแสดงครั้งที่ผลิต5. ยาแท้ต้องมีการระบุวันเดือนปีที่ผลิต: ซึ่งจะใช้อักษรย่อว่า Mfd. หรือ Mfd. Date ตามด้วยวันเดือนปีที่ผลิต และระบุวันเดือนปีที่หมดอายุ โดยมีคำย่อว่า Exp. Date แล้วตามด้วยวันเดือนปีที่หมดอายุ6. ยาแท้ต้องมีชื่อและสถานที่ผู้ผลิต: มีชื่อและสถานที่ผู้นำเข้ามาจำหน่ายระบุไว้อย่างละเอียดด้วย7. ยาแท้ต้องมีวิธีใช้: รวมถึงคำเตือน ข้อควรระวังและวิธีการเก็บรักษา ระบุไว้อย่างชัดเจน8. หากเป็นยาพิเศษจะมีข้อความระบุด้วยอักษรสีแดงชัดเจน: เช่น ยาสำหรับสัตว์ ยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ยาใช้ภายนอก ยาใช้เฉพาะที่ แล้วแต่ว่าจะเป็นยาอะไรนอกจากนี้ยังมีหลัก 5 สอ เพื่อป้องกันพิษภัยจากยาฆ่าเห็บหมัดในสุนัข คือ1. ศึกษา: ควรศึกษาผลิตภัณฑ์ก่อนใช้ทุกครั้ง โดยอ่านจากเอกสารกำกับยาหรือฉลากยา ซึ่งภายในนั้นจะชี้แจงรายละเอียดให้ทั้งหมด2. สอบถาม: ควรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากสัตวแพทย์หรือผู้รู้ให้ดีก่อนนำยามาใช้ อย่าเชื่อจากคำบอกเล่าโดยไม่มีข้อมูลอ้างอิงทางวิชาการ3. สวมใส่: ควรสวมถุงมือและหน้ากากเพื่อป้องกันการรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย ส่วนตัวน้องหมาให้สวมปลอกคอกันเลียหรือสวมเสื้อไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เลียสารพิษเข้าสู่ร่างกาย4. สัมผัส: หลักเลี่ยงการสัมผัสลูบคลำตัวน้องหมาที่เพิ่งใส่ยา หยอดยา ทายา หรือพ่นยาตามตัวมา ที่สำคัญควรเก็บยาที่เหลือใช้ให้พ้นมือเด็ก5. สังเกต: ให้สังเกตอาการน้องหมาหลังได้รับยาด้วยว่า มีอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียงจากยาที่ใช้หรือไม่ ถ้ามีให้รีบปฐมพยาบาล แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลต่อไปอ้างอิงข้อมูล: กรมปศุสัตว์ http://secretary.dld.go.th/index.php/informationdld/newsdld/1491-19-12-58 และ Doglike.com/สังคมอบอุ่นของน้องหมาสุดรัก    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 180 เสียงผู้บริโภค

หมู่บ้านในแอ่งกระทะหลังเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 บ้านเรือนหลายหลังได้รับความเสียหายหนัก ผู้ประสบภัยบางรายตัดสินใจขายทิ้งบ้านมากกว่าซ่อมแซม แต่หากทั้งขายและซ่อมไม่ได้ เพราะเพิ่งรู้ความจริงทีหลังว่าบ้านอยู่ในพื้นที่ต่ำ ที่ต่อให้ซ่อมแล้วก็ยังต้องผจญกับปัญหาน้ำท่วมขังเช่นนี้ตลอดไป เราควรแก้ปัญหาอย่างไรดี เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้ร้อง ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้เสียหายจำนวน 465 หลังคาเรือน จากโครงการ ศุภาลัย แกรนด์เลค (Suphalai Grand Lake Village) ที่มีมูลค่าการซื้อขายไม่ต่ำกว่าหลังคาเรือนละ 4 ล้านบาท โดยภายหลังน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 พวกเขาพบว่า เวลาฝนตกจะมีน้ำไหลซึมเข้ามาภายในโครงการตลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อตรวจสอบจึงทราบว่าพื้นที่ของทั้งโครงการต่ำกว่าพื้นที่รอบนอก หรือเป็นแอ่งกระทะนั่นเอง ทำให้สามารถตอบโจทย์ได้ว่าทำไมทั้งๆ ที่มีรั้วกั้นน้ำ จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะรั้วดังกล่าวกลับสร้างในระดับเดียวกันกับพื้นที่รอบนอก ภายหลังทางโครงการฯ ได้แก้ปัญหาด้วยการนำเครื่องสูบน้ำมาช่วยระบายน้ำออก แต่ก็ยังไม่สามารถระบายน้ำเสียออกจากหมู่บ้านได้ทันกับระดับน้ำขังที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ผู้พักอาศัยจะแจ้งให้โครงการฯ เข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถทำได้ ชี้แจงเพียงว่า สาธารณูปโภคเป็นไปตามมาตรฐานและสามารถใช้งานได้อย่างปกติ ไม่มีความเสียหายหรือก่อให้เกิดปัญหาต่อการอยู่อาศัย โดยได้มีการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินต่ำไว้แล้ว ด้วยการนำท่อน้ำ พีวีซี มาเจาะรูแล้วนำไปฝังดักน้ำตามแนวรั้วด้านหลังบ้านแต่ละหลัง และนำอิฐมอญมาก่อเป็นกระถางต้นไม้ด้านหลังบ้านแล้วใส่ดินในกระถาง อย่างไรก็ตามผู้ร้องต้องการให้บริษัทฯ ดำเนินการซ่อมแซมรั้วของหมู่บ้านใหม่ หรือหาแนวทางเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำรั่วซึมเข้ามาภายในหมู่บ้านระยะยาว เนื่องจากบริษัทฯ ควรมีหน้าที่ส่งมอบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานให้กับผู้บริโภค จึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีนี้ผู้ร้องได้ทำสัญญาซื้อขายบ้านพร้อมที่ดินกับโครงการฯ โดยที่ไม่ทราบมาก่อนว่าโครงการฯ มีที่ดินสภาพต่ำกว่าพื้นที่รอบนอกหมู่บ้าน เพราะที่ดินดังกล่าวเคยเป็นบ่อเลี้ยงปลาเก่า และเมื่อมีการก่อสร้างก็ไม่ได้ถมที่ดินเพิ่มเติมให้เท่ากับพื้นที่รอบนอก ทำให้มีน้ำขังเวลาฝนตก โดยน้ำจะซึมผ่านใต้บ้านตลอดเวลา ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้ผู้ร้องเก็บข้อมูลหลักฐานต่างๆ เพิ่มเติม เช่น รูปถ่ายสถานที่ และข้อพิสูจน์เรื่องพื้นที่ต่างระดับดังกล่าว ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ในระหว่างการฟ้องคดี โดยศูนย์ฯ ยังคงติดตามความคืบหน้าต่อไป ทั้งนี้ก่อนรับโอนบ้านเราควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้าน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการซื้อบ้านแล้วไม่ได้บ้านอย่างที่ฝันไว้ ดังนี้1. พิจารณารายรับรายจ่าย ของตัวเองว่ามีกำลังซื้อหรือผ่อนบ้านได้หรือไม่2. ศึกษาข้อมูลรายละเอียดโครงการ ที่ประกาศขายบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ว่ามีความน่าเชื่อถือ หรือสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่3. ไปดูสถานที่จริง ว่าบ้านได้คุณภาพมาตรฐานหรือไม่ ไม่ควรดูตามโฆษณาหรือโบชัวร์อย่างเดียว4. ศึกษารายละเอียดของสัญญา การจองซื้อบ้าน การโอนกรรมสิทธิ์ หรือการให้ประโยชน์ตอบแทนที่ชัดเจน ซึ่งในสัญญาจองควรระบุว่า หากกู้ธนาคารไม่ผ่านสามารถขอเงินคืนทั้งหมดได้5. สัญญาการจะซื้อจะขาย ควรจะมีการรับประกันโครงสร้างหรือการรับประกันบ้าน6. อย่าหลงเชื่อคำโฆษณา หรือคำกล่าวอ้างของพนักงานขาย ที่เร่งให้โอนกรรมสิทธิ์ขณะที่บ้านยังไม่แล้วเสร็จ เพราะผู้ประกอบการอาจละทิ้งงานเพราะไม่มีข้อต่อรองแล้ว บางทีผู้ประกอบการอาจอ้างว่าจะมาซ่อมให้จนหมดอายุการรับประกันบ้านได้ ซึ่งอายุการรับประกันจะนับหนึ่งตั้งแต่วันที่โอนกรรมสิทธิ์ ควรระบุในสัญญาให้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการต้องเข้ามาซ่อมแซมให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด7. การโอนกรรมสิทธิ์บ้าน หลังสร้างเสร็จแล้วผู้บริโภคต้องตรวจสอบว่า เป็นไปตามแปลนหรือข้อตกลงหรือไม่ หากยังจะผู้สร้างจะได้ปรับแก้ให้ตรงความต้องการที่ตกลงกันไว้8. ไม่ควรซื้อบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะอาจเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน9. ใช้สิทธิ์เมื่อเกิดปัญหา ทั้งหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือปรึกษาได้ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ ผ่านทางเว็บไซต์  http://www.consumerthai.org หรือโทรศัพท์ 02-2483737 ที่มา: เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. รู้ไว้ใช้สิทธิ์ก่อนซื้อบ้านต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน. http://www.consumerthai.org   อาหารหมดอายุ แต่ทำไมยังวางจำหน่ายในคอลัมน์เสียงผู้บริโภคเล่มก่อนๆ เราเคยเสนอประเด็นเรื่อง “ของหมดอายุควรมีอยู่ในห้างหรือไม่” เพราะผู้บริโภคอย่างเรา ไม่ได้มีหน้าที่นำสินค้าที่หมดอายุไปคืน แต่ควรเป็นทางร้านมากกว่าที่ต้องวางขายสินค้าที่ไม่หมดอายุให้กับเรา อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวก็ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ จนเกิดคำถามจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ว่า เมื่อไรที่ปัญหานี้จะได้รับการดูแลอย่างจริงจังจากผู้จัดจำหน่ายสินค้านั้นๆ กรณีนี้เกิดขึ้นกับผู้ร้องที่ซื้ออาหารจากห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี โดยเขาได้ซื้อฟักทองนึ่ง และปลานิลทอด 4 ตัว เมื่อนำกลับมารับประทานที่บ้าน(ไม่เกิน 20 นาที นับจากเวลาที่ชำระเงินเรียบร้อย) ก็พบว่าฟักทองดังกล่าวมีกลิ่นบูดและมียางเหนียวๆ ติดมือ และปลานิลทอดก็มีกลิ่นเน่าโชยออกมาทุกตัว เขาจึงตัดสินใจเก็บใส่ตู้เย็นไว้ และโทรศัพท์ไปร้องเรียนที่ห้างดังกล่าวในวันรุ่งขึ้น เมื่อได้รับการแจ้งร้องเรียนพนักงานของทางห้างได้แจ้งว่า ให้นำใบเสร็จมารับเงินคืน แต่ผู้ร้องเห็นว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งทางห้างควรให้ความสนใจมากกว่าประเด็นเรื่องการคืนเงิน เขาจึงขอพูดสายกับผู้บริหารระดับสูง เพราะต้องการให้ห้างดังกล่าวมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ อย่างไรก็ตามพนักงานกลับโอนสายให้ผู้จัดการระดับแผนกเป็นผู้รับเรื่องแทน ผู้ร้องจึงตอบกลับไปว่า จะไม่เป็นฝ่ายไปรับเงินคืนที่ห้าง แต่ให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของห้างเป็นผู้มารับสินค้ากลับไปและมารับเรื่องร้องเรียนด้วยตนเองแทน แต่ก็กลับพบว่าคนที่มารับสินค้าเป็นเพียงหัวหน้าแผนกซีฟู้ด ซึ่งได้ขอโทษและคืนเงินให้ ทำให้ผู้ร้องเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เขาจึงนำคลิปที่ถ่ายอาหารดังกล่าวไว้ลงในสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook ส่วนตัว) และเว็บไซต์ยูทูบ เพื่อเผยแพร่ข่าวสาร และร้องเรียนมายังมูลนิธิ เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแนวทางการแก้ไขปัญหาทางศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องทำจดหมายแจ้งรายละเอียด และความประสงค์ส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของห้างสรรพสินค้าดังกล่าว และนัดให้มีการเจรจาที่มูลนิธิฯ ซึ่งภายหลังการเจรจาตัวแทนของบริษัทฯ ยืนยันที่นำข้อเสนอต่างๆ ของผู้ร้องกลับไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้มีมาตรฐานในการดูแลสินค้าให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคต่อไป ทั้งนี้สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการร้องเรียนในประเด็น อาหารหมดอายุ หรือเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ สามารถทำได้ตามขั้นตอนดังนี้1. เก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้า และใบเสร็จรับเงินมาเป็นหลักฐาน อย่างไรก็ตามในกรณีที่ไม่มีใบเสร็จรับเงิน สิ่งที่สามารถเรียกร้องได้โดยทั่วไปคือการเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ (ขึ้นอยู่กับการต่อรองกับผู้ขาย) ซึ่งควรดำเนินการทันทีที่พบว่าได้บริโภคอาหารหมออายุ หรือเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ2. ถ่ายรูป ฉลาก (ที่ระบุ ว/ด/ปี ที่ผลิต – หมดอายุ) รูปสินค้า และใบเสร็จรับเงิน 3. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่4. ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งควรคิดล่วงหน้าว่าต้องการให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร เช่น เปลี่ยนสินค้าใหม่ คืนเงิน จ่ายค่าเสียเวลา หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติดังกล่าว 5. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร โดยบรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง ถึงประธานกรรมการบริหารที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทนั้นๆ ซึ่งสามารถให้ทางศูนย์ฯ ช่วยตรวจสอบข้อมูลก่อนได้ นำเครื่องเก่ามาแลกใหม่หลัง เอไอเอส (AIS) ประกาศสิ้นสุดการให้บริการเครือข่าย AIS 2G (GSM Advance และ 1-2-Call 2G) บนคลื่นความถี่ 900 MHz ผู้ที่ใช้บริการเครือข่ายดังกล่าวในระบบ 2G จึงต้องเปลี่ยนซิมและเครื่องโทรศัพท์ใหม่ ให้สอดคล้องกับการใช้งานในระบบ 3G โดยทางเครือข่ายก็ออกโปรโมชั่นมาอำนวยความสะดวกลูกค้าด้วยการให้ “นำเครื่องเก่ามาแลกเครื่องใหม่ฟรี” อย่างไรก็ตามโปรโมชั่นดังกล่าวก็ได้สร้างความสับสนให้กับลูกค้าบางราย เมื่อพนักงานแจ้งว่าให้เปลี่ยนเครื่อง ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมากับผู้ร้องที่ใช้บริการเครือข่ายดังกล่าว โดยขณะที่เขากำลังโทรศัพท์พูดคุยกับเพื่อน ก็มีสายแทรกจากโอเปอเรเตอร์ถึง 2 ครั้งว่า มือถือของเขาไม่รองรับระบบ 3G ให้นำเครื่องเก่ามาเปลี่ยนที่ศูนย์บริการของ AIS ฟรี ซึ่งหากไม่นำมาเปลี่ยนจะทำให้ใช้งานต่อไปไม่ได้ ภายหลังเขานำมือถือที่ใช้งานอยู่คือ ยี่ห้อ I-mobile รุ่น I-style 2.8 ไปเปลี่ยนเป็น  AIS LAVA ตามคำแนะนำของโอเปอเรเตอร์ดังกล่าว อย่างไรก็ตามพนักงานที่ศูนย์ฯ กลับแจ้งว่า รุ่นที่เขาต้องการหมด และแนะนำให้เปลี่ยนเป็น ยี่ห้อ I-mobile รุ่น I-style 7.8 DTV แทน โดยให้เพิ่มเงินอีก 1,190 บาท พร้อมจ่ายค่าบริการเหมาจ่ายล่วงหน้าอีก 200 บาท รวมเป็น 1,390 บาท และเซ็นสัญญาผูกมัดการใช้งานกับเครือข่ายดังกล่าว (AIS One - 2 – Call) อีก 1 ปี ทั้งนี้เมื่อผู้ร้องนำมือถือเครื่องใหม่กลับมาใช้งานก็พบว่า เครื่องมีอาการค้าง เปิด - ปิดเอง (Restart) ตลอดเวลา ความละเอียดภาพหน้าจอไม่ชัดเจน และการเชื่อมต่อสัญญาณ WIFI ก็แย่ลง เมื่อเปรียบเทียบกับมือถือเครื่องเก่าที่เคยใช้งานมา เขาจึงนำมือถือดังกล่าวกลับไปที่ศูนย์ฯ เพื่อแก้ไข พนักงานจึงนำเครื่องใหม่มาเปลี่ยนให้ แต่เป็นยี่ห้อและรุ่นเดิม ซึ่งหลังจากที่เขาลองทดสอบดู ก็พบว่ายังมีปัญหาเหมือนเดิม ทางศูนย์บริการ จึงแนะนำให้ผู้ร้องนำเครื่องใหม่ที่มีปัญหา ไปซ่อมที่ศูนย์บริการของ I-mobile ด้วยตนเอง โดยการซ่อมดังกล่าวอาจใช้เวลา 1 เดือน ซึ่งผู้ร้องไม่สามารถส่งซ่อมได้ เพราะระหว่างนั้นมีความจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ อย่างไรก็ตามเมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ เขาจึงกลับไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโทรศัพท์ยี่ห้อดังกล่าว ซึ่งพบความจริงหลังได้ลองเปรียบเทียบข้อมูลจำเพาะ (Spec) ระหว่างเครื่องรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ว่า ไม่มีความแตกต่างกันมากเท่าไรนัก นอกจากนี้มือถือเครื่องเก่าของเขาก็สามารถรองรับระบบ 3G ได้อยู่แล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงทำให้ผู้ร้องมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพราะเห็นว่า เครือข่ายดังกล่าวมีการเอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด สร้างความสับสนให้ลูกค้า และยังใช้วิธีแกมบังคับให้นำเครื่องมาเปลี่ยนใหม่ ทั้งๆ ที่เครื่องเดิมนั้นไม่มีปัญหาในการใช้งานแต่อย่างใด โดยมีข้อเรียกร้องคือ 1. ขอให้ทางบริษัท คืนเครื่องเก่าให้ คือ โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ I-mobile รุ่น I-style 2.8 พร้อมคืนเงินค่าส่วนต่างที่ได้จ่ายไปแล้วจำนวน 1,390 บาท พร้อมยกเลิกสัญญาผูกมัดดังกล่าว2. ขอให้ทางบริษัท เปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ โดยเป็นรุ่นอื่นที่มีคุณภาพดี ในมูลค่าเทียบเท่ากับโทรศัพท์เครื่องเก่าของเขา และบวกเงินค่าส่วนต่างที่ได้เสียไปประมาณ 2,500 – 3,000 บาท พร้อมกับยกเลิกสัญญาผูกมัดดังกล่าวแนวทางการแก้ไขปัญหาในประเด็นเรื่องโทรศัพท์ใช้งานได้ไม่ดีนั้น ศูนย์พิทักษ์สิทธิ ได้แนะนำให้ผู้ร้องตรวจเช็คระบบของตัวเครื่องโทรศัพท์และ SIM AIS ที่ใช้งานอยู่ก่อน เพราะอาจเกิดจากสัญญาณในพื้นที่การใช้งานนั้นๆ ไม่เสถียร แต่อาการเครื่องค้างยังเหมือนเดิม ส่วนในประเด็นเรื่องข้อเรียกร้องผู้ร้องสามารถทำได้ เพราะบริษัทไม่สามารถบังคับให้ผู้ร้องทำสัญญาผูกมัดดังกล่าว โดยอิงตามประกาศของ กสทช. ที่เคยออกมาชี้แจงสิทธิผู้บริโภคในด้านกิจการโทรคมนาคมว่า การใช้บริการโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตที่มีสัญญาให้ใช้ 6 เดือนหรือ 1 ปี สามารถยกเลิกก่อนได้ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ ซึ่งหากผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคประสบปัญหา จากการใช้บริการโทรคมนาคมสามารถร้องเรียนต่อ กสทช . โดยตรงได้ที่เบอร์ 1200 กด 1 (ฟรี) อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องได้มีการไปเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางบริษัทที่ สคบ. ซึ่งยินยอมทำตามข้อเรียกร้องข้อ 2 ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว เรื่องจึงยุติลง ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ต้องนำเครื่องเก่าไปแลกเครื่องใหม่ ควรศึกษารายละเอียดด้านข้อมูลจำเพาะต่างๆ ของเครื่องเดิมก่อน และเงื่อนไขต่างๆ ในการเปลี่ยนเครื่อง โดยเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของเครื่องข่ายดังกล่าวได้ที่ http://www.ais.co.th/judhai/ ข้อมูลอ้างอิงเรื่อง สิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม : http://tcp.nbtc.go.th/uploads/vdo/pdfPublication/RightConsumer.pdf    

อ่านเพิ่มเติม >