เสียงผู้บริโภคศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคcomplaint@consumerthai.org หมูยืดอายุ พรานทะเล ยอมจ่ายหนึ่งหมื่นชดใช้ผู้บริโภคจากกรณีร้องเรียนเรื่อง “หมูยำพรานทะเล หมดอายุแล้วยังต่ออายุได้” ซึ่งตีพิมพ์ในฉลาดซื้อฉบับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บัดนี้มีข้อยุติแล้ว หลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำหนังสือไปถึงบริษัท พรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่นซิสเต็ม จำกัด ผู้ประกอบการห้างเทสโก้โลตัส เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2552 ผู้บริหารของบริษัท พรานทะเลฯ ได้มีหนังสือชี้แจงแสดงความรับผิดชอบตอบกลับมาใจความสรุปได้ว่า บริษัทฯ ได้เคยเสนอชดใช้ค่าเสียหายเพื่อเยียวยาข้อบกพร่องในการบรรจุสินค้าเป็นเงิน 5,000 บาทกับผู้ร้อง ซึ่งคิดเป็นเงิน 100 เท่าของมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อไป (ยำ 2 แพ็ค รวมมูลค่า 40 บาท) และชี้แจงเรื่องคุณภาพของอาหารว่า ปลอดภัยเพื่อให้ผู้ร้องเข้าใจความผิดพลาดในกระบวนการบรรจุว่าเนื้อหมูแดงดังกล่าวยังไม่หมดอายุแต่สามารถรับประทานได้เนื่องจากผ่านกระบวนการถนอมสภาพด้วยวิธีแช่แข็งทำให้เก็บได้นาน 18 เดือน แต่ซองบรรจุระบุวันหมดอายุก่อนเพราะแต่เดิมผลิตแบบซีล(แช่เย็น) ซึ่งเก็บไว้ได้นาน 15 วัน ผู้บริหารของบริษัท พรานทะเล ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ต่อมาผู้ร้องได้โทรศัพท์ติดต่อบริษัทฯ ขอค่าเสียหายเป็นเงิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นเงินสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อไปมากหลายเท่า บริษัทฯ จึงได้ต่อรองขอให้ผู้ร้องมารับค่าเสียหายไปจำนวน 10,000 บาท แต่ผู้ร้องปฏิเสธ...บริษัทฯ จึงเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความเป็นธรรมและให้ช่วยประสานงานให้ผู้ร้องมารับเงินซึ่งบริษัทยินดีชดใช้เยียวยาค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท มูลนิธิฯจึงได้มีหนังสือสอบถามไปยังผู้ร้องว่า ยินดีที่จะรับเงินเยียวยาความเสียหายตามที่บริษัทฯเสนอมาหรือไม่ ได้รับคำตอบจากผู้ร้องว่ายินดีและพร้อมที่จะถอนแจ้งความบริษัทด้วย ในที่สุดทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายผู้บริโภคกับฝ่ายเจ้าของสินค้าได้ไปส่งมอบเงินกันต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สถานีตำรวจภูธรบางเสาธง สถานีย่อยในนิคมเมืองใหม่บางพลี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2552 เรื่องนี้ถือเป็นตัวอย่างของผู้บริโภคที่ไม่มองข้ามปัญหาที่บางคนอาจเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับผู้บริโภครายนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และใช้สิทธิร้องเรียนโดยทันที จนได้รับการเยียวยาความเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจโดยที่ไม่ต้องฟ้องร้องกัน ในขณะเดียวกันต้องขอชมเชยบริษัทพรานทะเลฯ ที่ผิดแล้วก็ยอมรับในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคโดยรวดเร็ว งานนี้ขอปรบมือดัง ๆ ให้กับทั้งสองฝ่าย มีข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่จะใช้สิทธิร้องเรียนเมื่อพบอาหารไม่ปลอดภัย หรือติดฉลากไม่ตรงตามความเป็นจริง สิ่งที่ควรทำคือให้เร่งดำเนินการคือการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการถ่ายรูป มีพยานบุคคล หรือการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานโดยทันทีเพื่อป้องกันการถูกกล่าวหาว่าเป็นการร้องเรียนที่มีเจตนาไม่ชอบ และประสานไปยังผู้ขายหรือผู้ผลิตให้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่นอาจให้มาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน และควรมีการเรียกค่าเสียหายที่ชัดเจนตามสมควร หากผู้ขายหรือผู้ผลิตไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ถ้าต้องการเรียกค่าเสียหายสามารถร้องเรียนมาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซึ่งจะช่วยเหลือทั้งการเจรจาและการช่วยเขียนคำฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ ส่วนความผิดในทางอาญานั้นหากเป็นอาหารสำเร็จรูปคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ โทษส่วนใหญ่ที่ผู้ประกอบการได้รับคือการถูกปรับเป็นเงินเข้ารัฐทั้งหมด ส่วนผู้เสียหายอาจได้เงินค่าสินบนนำจับจำนวนหนึ่งหลังจากคดีเสร็จสิ้น ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นข่าวจาก อย. ว่าได้จ่ายเงินสินบนนำจับกับผู้แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนแต่ละปีเป็นเงินเท่าไหร่ ถ้าเป็นไปได้ขอให้ช่วยลงประกาศในเว็บไซต์ของ อย. ก็ยังดี ชาวบ้านจะได้ตื่นตัวช่วยกันเฝ้าระวังสินค้าไม่ปลอดภัยอย่างมีชีวิตชีวา วาระสุดท้ายของสัมพันธ์ประกันภัยในช่วงปี สองปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนกรณีบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยและประชาชนเข้ามาที่มูลนิธิฯ เป็นจำนวนมากหลายร้อยราย และที่ร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) อีกร่วม 9 พันกว่าราย คุณจินตนา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ของผู้เอาประกันภัยกับบริษัทนี้ได้เป็นอย่างดี คุณจินตนาเล่าว่า ตนทำประกันภัยไว้กับบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย และได้เกิดกรณีรถหายตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2549 ซึ่งจะต้องได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำไว้กับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ตอนที่รถหายคุณจินตนายังต้องมีภาระส่งค่างวดกับบริษัทไฟแนนซ์ทิสโก้อยู่ ในขณะที่สัมพันธ์ประกันภัยได้ทำการเลื่อนจ่ายค่าสินไหมทดแทนมาเรื่อยๆ คุณจินตนาส่งค่างวดรถไปได้ประมาณ 6 เดือนจึงหยุดส่ง เพราะเห็นว่าสัมพันธ์ประกันภัยถูกกรมการประกันภัยสั่งให้ระงับการขายประกันชั่วคราวเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2550 ทำให้คุณจินตนากลายเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อกับไฟแนนซ์ทันทีหลังจากที่ไม่ได้ส่งค่างวดติดกัน 3 งวดและถูกบอกกล่าวเลิกสัญญาในเวลาต่อมา คุณจินตนาได้พยายามติดต่อไปทางทิสโก้ให้ตามเรื่องของทางสัมพันธ์ให้ “เพระคิดว่าให้ทางบริษัทใหญ่ตามเรื่องน่าจะดีกว่าเราตัวเล็กๆ ตามเรื่องเอง แต่ก็ไม่ได้ผลอะไรเกิดขึ้น” คุณจินตนาได้ไปแจ้งกับทางกรมการประกันภัยไว้อีกทางหนึ่งแต่ก็ไม่เกิดผลอะไร จนระยะหลังโทรไปที่กรมการประกันภัย กรมฯ ก็เลี่ยงมาตลอดอีกเช่นกัน ให้โทรมาตอนนั้นตอนนี้ แต่ก็ไม่ได้เรื่องอะไรเลย “ในที่สุดก็มีหมายศาลจากทางทิสโก้ ส่งมาให้เรา ซึ่งเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้เรื่องกฎหมายเลยค่ะ ได้แต่รอว่าเมื่อไหร่จะได้เงินจากสัมพันธ์ ทางเราไม่คิดที่จะได้ค่าสินไหมทั้งหมดอยู่แล้วค่ะ ขอแค่บางส่วนมาส่งให้ทิสโก้ก็พอแล้ว หมายศาลนัดให้ไปที่ศาลในเดือนมีนาคมนี้แล้วค่ะ ยังไม่รู้จะทำอย่างไรเลยค่ะ” แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีนี้แยกได้ 2 ประเด็น 1.คดีที่คุณจินตนาถูกไฟแนนซ์ฟ้อง เนื่องจากผิดสัญญาไม่ส่งค่างวดรถให้ครบตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ได้เคยเขียนไว้ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 93 สรุปสั้น ๆ ว่า ไฟแนนซ์น่าจะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค โดยอ้างข้อสัญญาว่า ถ้ารถที่เช่าซื้อสูญหายไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ หรือสุดวิสัย ผู้เช่าซื้อยินยอมรับผิดและยอมชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาจนครบ ขอให้ศาลบังคับให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบชดใช้ค่าเช่าซื้อที่เหลืออยู่ ข้อตกลงเช่นนี้ศาลฎีกาตัดสินว่าใช้บังคับได้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย แต่ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยดูจากมูลค่าทรัพย์สิน เงินค่าเช่าซื้อที่ได้จ่ายไป และระยะเวลาที่ได้ใช้ประโยชน์จากรถที่หายไป ดังนั้นคุณจินตนาควรไปให้การต่อศาลถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและขอให้ศาลพิจารณาลดหย่อนค่าเสียหายที่ไฟแนนซ์เรียกร้อง แต่หากสัญญาเช่าซื้อที่ทำไม่มีข้อสัญญาที่ว่ามาข้างต้น ทางกฎหมายก็ถือว่าเมื่อรถที่เป็นทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สูญหายไป สัญญาเช่าซื้อถือเป็นอันระงับไปด้วย ผู้เช่าซื้อไม่ต้องชำระเงินค่าเช่าซื้อหรือค่าเสียหายตั้งแต่งวดรถที่หายเป็นต้นไป ถ้าเป็นอย่างนี้คุณจินตนาก็คงจะเบาใจไปเปลาะหนึ่ง 2. กรณีสัมพันธ์ประกันภัยไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ได้ถูกกระทรวงการคลังสั่งปิดกิจการโดยเด็ดขาดแล้ว โดยมีมาตรการคุ้มครองประชาชนในฐานะเจ้าหน้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้ไปยื่นเรื่องขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี ของบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย และกองทุนประกันวินาศภัย ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2552 โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนาเอกสาร จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นด้วย คือ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำหระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ สำหรับส่วนกลางยื่นได้ 3 แห่ง คือ 1.ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) หรือกรมการประกันภัยเดิม กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี 2. สำนักงาน คปภ. เขต 1 ซอยวิภาวดี 44 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร 3.สำนักงาน คปภ. เขต 2 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี ส่วนต่างจังหวัดนั้นให้ยื่นได้ที่ สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้นจังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดลำพูน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดนนทบุรี) หากคุณจินตนาได้ไปฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคและมีคำพิพากษาออกมาแล้ว คำพิพากษาถือเป็นเอกสารที่รับรองถึงมูลหนี้ที่ชัดเจนที่สุดแล้ว นำไปยื่นขอรับชำระหนี้กับ คปภ. ได้เลย ไม่ต้องพิสูจน์อีก เพื่อนรัก เพื่อนร้ายหลอกเซ็นค้ำประกันเปล่าการลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกันเปล่า ไม่มีข้อความว่าค้ำประกันอะไร เพียงแค่ลงชื่ออย่างเดียว พร้อมแนบหลักฐานแสดงตน ถือเป็นความประมาทอย่างร้ายแรง และไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง คุณบุญเยี่ยม ได้รับการติดต่อจากเพื่อนรักว่า ให้ช่วยเซ็นค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ให้หน่อยเพราะอยากจะได้รถยนต์โตโยต้าที่โชว์รูมราษฎร์บูรณะไว้ใช้สักคัน โดยจะเช่าซื้อผ่านทางบริษัท ลิสซิ่งกสิกรไทย ด้วยความรักเพื่อน กลัวเพื่อนจะเสียน้ำใจจึงตกปากรับคำและลงนามเป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ให้โดยไม่มีข้อความว่าเช่าซื้อรถอะไร จากบริษัทใด ซ้ำยังแนบหลักฐานแสดงตนเพื่อการค้ำประกันไว้ให้กับเพื่อนอีก ในขณะที่ฝั่งเพื่อนแทนที่จะเป็นผู้เช่าซื้อเองกลับให้น้องสาวของตนเป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อ บริษัทลิสซิ่งกสิกรไทยอนุมัติผลการเช่าซื้อให้ แต่มีเงื่อนไขต้องวางเงินดาวน์จำนวน 10,000 บาทก่อน เพื่อนรักของคุณบุญเยี่ยมอยากได้รถแต่ไม่มีเงินสักบาท คิดจะใช้วิธีผ่อนค่างวดอย่างเดียว เลยต้องชวดรถโตโยต้าคันดังกล่าวไป หลังจากไม่ได้รถคันแรกแล้ว เพื่อนของคุณบุญเยี่ยมได้ใช้เอกสารค้ำประกันที่เซ็นต์ลอยๆ ไว้ ไปเที่ยวดูรถยนต์คันใหม่ที่โชว์รูมรถยนต์อีกแห่งหนึ่งบริเวณถนนกาญจนาภิเษก คราวนี้ขอจัดไฟแนนซ์ผ่านทางโตโยต้าลิสซิ่ง โดยใช้ชื่อและเอกสารของน้องสาวและของคุณบุญเยี่ยมเป็นผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันเหมือนเดิม ในครั้งนี้แม้ไม่มีข้อตกลงในการวางเงินดาวน์เหมือนครั้งแรก แต่ไฟแนนซ์ไม่ผ่าน คุณบุญเยี่ยมก็คิดว่า เพื่อนรักน่าจะรู้สภาพฐานะการเงินของน้องสาวและของตัวเองดีแล้วว่าไม่พร้อมที่จะมีรถใช้ และไม่คิดจะไปดูรถที่ไหนอีก และพันธะการค้ำประกันของตนจะหมดสิ้นลงไปด้วย …แต่สิ่งที่คุณบุญเยี่ยมไม่ได้ทำก็คือ การขอเอกสารค้ำประกันคืนหรือยกเลิกหรือทำลายเอกสารดังกล่าวไป ปัญหาจึงเกิดขึ้นตามมา ประมาณเดือนกันยายน 2550 คุณบุญเยี่ยมต้องตกใจและรู้สึกสับสนเป็นอย่างมากที่ได้รับหนังสือค้ำประกันรถยนต์ยี่ห้อ เชฟโรเล็ต โคโลราโด้ 3.0LXCAB จาก บริษัท กสิกรไทยลิสซิ่ง ที่มีข้อความระบุว่าตนเป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวให้กับน้องสาวของเพื่อนรัก เนื่องจากไม่เคยรับรู้เรื่องการเช่าซื้อรถยนต์คันล่าสุดนี้เลย จึงได้สอบถามไปยังเพื่อนรักทราบว่า รถยนต์เชฟโรเล็ตคันนี้ เพื่อนเป็นคนอยากได้ จึงได้ใช้ชื่อน้องสาวเป็นผู้ซื้อและใช้ชื่อผู้ร้องเป็นคนค้ำประกันเหมือนเดิมแต่ไม่ได้บอกกล่าวกันล่วงหน้า คุณบุญเยี่ยมคิดว่าเรื่องไม่ดีแน่ เพราะตนไม่ได้รับรู้เรื่องการซื้อขายรถยนต์คันนี้แม้แต่น้อย จึงได้ประสานไปยังฝ่ายกฎหมายของบริษัท กสิกรไทยลิสซิ่ง เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และขอให้บริษัทฯ ติดตามรถยนต์คันดังกล่าวคืน แต่ก็สายไปเสียแล้วเมื่อปรากฎว่า ผู้เช่าซื้อถูกบอกเลิกสัญญาภายหลังค้างค่างวดเกินสามงวดติดต่อกัน และไฟแนนซ์สามารถติดตามรถคืนได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2551 และถูกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ที่ขาดอยู่ แต่ขายทอดตลาดแล้วเงินที่ได้ก็ยังไม่พอชำระหนี้ ทางบริษัท ลิสซิ่งกสิกรไทย จึงใช้สิทธิฟ้องร้องผู้เช่าซื้อคือน้องสาวของเพื่อนรักเป็นจำเลยที่ 1 ฐานผิดสัญญาเช่าซื้อ และคุณบุญเยี่ยมเป็นจำเลยที่ 2 ฐานผิดสัญญาค้ำประกัน ให้ร่วมกันรับผิดชอบในหนี้ที่เหลืออยู่จำนวน 434,800 บาท แนวทางแก้ไขปัญหาการลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกันแม้จะไม่มีการกรอกข้อความใดๆ แต่เมื่อมีการนำไปใช้เข้าทำสัญญาการซื้อขายหรือเช่าซื้อพร้อมกับแนบสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการแล้วถือว่ามีผลทางกฎหมายทันที โดยที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบในหนี้ที่เกิดขึ้นเสมือนลูกหนี้ร่วมตามที่สัญญาสำเร็จรูปส่วนใหญ่กำหนดไว้ ทั้งนี้เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาไว้อย่างชัดเจน (ฎ.357/2548) ว่า ผู้ค้ำประกันไม่สามารถที่จะอ้างว่าผู้เช่าซื้อและพวกไปกรอกข้อความให้ผิดไปจากเจตนาของผู้ค้ำประกันมาเป็นประโยชน์เพื่อจะให้ผู้ค้ำประกันพ้นจากความรับผิดได้ เพราะถือว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อซึ่งเป็นการยอมเสี่ยงภัยในการกระทำของตนเอง(ผู้ค้ำประกัน)อย่างร้ายแรง จึงต้องร่วมรับผิดกับผู้เช่าซื้อตามสัญญาค้ำประกันดังนั้นทางเลือกที่เหลือของคุณบุญเยี่ยม คือเป็นผู้ชี้เป้าให้เจ้าหนี้คือไฟแนนซ์ไปเรียกเก็บหนี้กับผู้เช่าซื้อให้ได้ หรือไม่ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในหนี้ที่เกิดขึ้นแทนผู้เช่าซื้อแล้วจึงค่อยไปฟ้องไล่เบี้ยเอาในภายหลัง ดังนั้นที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ ขอแนะนำว่าไม่ควรเข้าทำสัญญาค้ำประกันใดๆ โดยที่ตนไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในทรัพย์สินตามสัญญานั้น และหากจะเข้าทำสัญญาค้ำประกันต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า ผู้เช่าซื้อหรือผู้ซื้อสินค้านั้นมีความสามารถทางการเงินพอที่จะชำระค่าสินค้าจนลุล่วงหรือไม่ และสำคัญต้องคอยติดตามการชำระเงินค่างวดอย่างใกล้ชิดไม่ต่างอะไรกับผู้ขายสินค้าเช่นกัน หากปล่อยปละละเลยผู้ค้ำประกันไม่สามารถที่จะอ้างว่าผู้เช่าซื้อและพวกไปกรอกข้อความให้ผิดไปจากเจตนาของผู้ค้ำประกันได้หรือเซ็นชื่อทิ้งขว้างไปตามสัญญาซื้อขายต่างๆ มีสิทธิที่จะได้หนี้มาแขวนคอเหมือนกรณีนี้ก็เป็นได้ ทางด่วน ที่ไม่ด่วน แล้วจะให้ทำยังไงเรื่องโดยบุญยืน ศิริธรรม ถึงเทศกาล การเดินทางกันอีกแล้วละพี่น้อง และเมื่อต้องเดินทางคงหนีไม่พ้นถนนใช่ไหม วันนี้เลยมีเรื่องถนนมาเล่าสู่กันฟัง พอดีเมื่อวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2552 ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปบางแสน จังหวัดชลบุรี แนะๆ คิดว่าไปเที่ยวล่ะซิ เปล่า…เลย ไปประชุมต่างหาก พอดีที่นั่นมีชาวบ้านเขาร้องเรียนเรื่องความเดือดร้อนจากการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจกรรมโทรคมนาคม จึงไปจัดเวทีเพื่อระดมความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ทั้งผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการ นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาเชิงระบบในภาพรวม เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่อไป แต่คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร จากการที่ถูกเชิญจึงทำให้ต้องเดินทางไปจากสมุทรสงคราม ซึ่งหนีไม่พ้นคือต้องขึ้นทางด่วนที่ดาวคะนองเพื่อมุ่งหน้าไปบางนาแล้วผ่านไปยังบางแสน ขาไปก็ไม่รู้สึกอะไร เสียค่าทางด่วนที่ดาวคะนอง 45 บาท เจออีกด่านก็รับบัตร ไปเสียเงินด่านหน้า อีก 65 บาท รวมเป็น 110 บาท มามีเรื่องเอาขากลับ วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม