นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 121 14 ปี พรบ.องค์การอิสระฯ แท้งเรียบร้อย

  วันนี้ผู้บริโภคอย่างเราๆ คงต้องยอมรับกันแล้วว่าวันนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะข้าวยากหมากแพงกันแล้ว สินค้าหลายตัวทยอยกันขึ้นราคาอย่างไม่มีทีท่าจะว่าจะหยุดยั้งเมื่อไร หลายคนต้องดำรงชีวิตยากลำบากขึ้น เมื่อสินค้าแพงแต่ค่าแรงเท่าเดิม ปัญหาสารพัดถาโถมเข้ามารุมเร้าผู้บริโภคอย่างเราๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ คงทำได้แค่เซซัดตามกระแสไปวันๆ ทั้งปัญหามีเงินไม่พอซื้อสินค้า และมีเงินแต่หาซื้อสินค้าไม่ได้อันนี้น่าเจ็บใจ   เราเป็นประเทศเกษตรกรรมเป็นผู้ผลิตแต่ไม่มีสินค้าให้ซื้อ(กรณีสินค้าขาดตลาด) ปัญหาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเราไม่มีเจ้าภาพที่มีฝีมือแก้ปัญหานี้ จริงๆที่มีอยู่ในปัจจุบันก็เข้าตำรา ลิงแก้แห คือยิ่งแก้ยิ่งยุง สุดท้ายของคนทำงานผู้บริโภคก็หนีไม่พ้นอยากเห็นองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมันเกิดซะที   3 เดือนที่แล้ว พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเข้าสภาผู้แทนผ่านวาระที่ 1 ไปเรียบร้อย จนมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาหนึ่งคณะที่มีทั้งตัวแทนพรรคการเมืองและตัวแทนประชาชน ร่วมกันพิจารณา เสร็จสมบูรณ์ไปในต้นเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นพวกเราก็เฝ้ารอให้ พรบ.เข้าสภา พวกเราได้แจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่ากฎหมายจะเข้าสภาหลายครั้ง ทุกครั้งพวกเราก็จะไปนั่งรอ วันแล้ววันเล่ากฎหมายก็ไม่เข้า เพราะมีกฎหมายอื่นถูกเสนอแซงขึ้นพิจารณาก่อน โดยวิปรัฐบาล แต่พวกเราก็อดทนรอด้วยความหวังว่าน่าจะเข้าทัน   พวกเรารอจนประธานสภาจะปิดประชุม พวกเราถึงได้เคลื่อนออกจากรัฐสภา จนวันที่ 3 มีนาคม 2553 เรียกได้ว่าเป็นวันที่คนทำงานคุ้มครองผู้บริโภครอคอยก็ว่าได้ วันนั้นเป็นวันที่กฎหมายเราจ่อคิวเข้าเป็นฉบับแรกยังไงก็ต้องเข้าเอาช้างมาฉุดก็ไม่อยู่แล้วคราวนี้ ไชโย้.....เช้าพวกเราเดินเข้ารัฐสภาอย่างอิ่มเอมเต็มไปด้วยความหวังอันล้นเปี่ยม แต่พอเข้าไปหลังบรรลังก์เราได้เห็นท่าทีของรองนายกรัฐมนตรี ทั้งคุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ คุณสาทิตย์ วงหนองเตย บวกนายกรัฐมนตรี เราก็รู้สึกทะแม่งๆ เพราะเท่าที่คุยคือวิปรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับกรณีงบบริหารจัดการที่กรรมาธิการเสียงข้างมากกำหนดไว้หัวละ 5 บาท แต่วิปและรัฐบาลมีความเห็นว่าควรเป็น 3 บาท และมีความพยายามที่จะหว่านล้อมให้พวกเราถอน พรบ.ออกจากการพิจารณาเพื่อเอาไปแก้ให้เหลือ 3 บาท ท่านผู้อ่านคิดดูนะเรารอวันนี้มา 14 ปี พอกฎหมายจะเข้าฝ่ายการเมืองมาขอให้ถอนออก เป็นท่าน ท่านคิดยังไง?   อารมณ์นั้นบอกได้คำเดียวว่าอยากร้องให้ และไม่อยากมองหน้าบรรดานักการเมืองเลย.. สุดท้ายพวกเราไม่ยอมให้ถอน ยืนยันให้พิจารณาไป ผ่านก็ผ่านไม่ผ่านก็ไม่ผ่าน(ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป)ฝ่ายการเมืองก็แสดงให้เราเห็นว่าเขาโกรธที่เราแข็งขืน กฎหมายก็เข้าสภาผ่านไปแค่ 4 วาระ ก็มีสส.พรรครัฐบาลเสนอให้ถอนพรบ.ออกไปพิจารณาใหม่ สุดท้ายสภาก็มีมติให้ถอน   พวกเราภาคประชาชนก็ได้แต่นั่งมองเราทำอะไรไม่ได้เพราะคนที่ลงมติได้มีแต่ฝ่ายการเมือง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 120 ไม่มีให้ซื้อตามโฆษณา ก็ต้องฟ้องสิจ้ะ

  วันที่ 30 ธันวาคม 2553 ได้มีโอกาสหยิบหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ขึ้นมาอ่าน และได้เห็นการโฆษณาของห้างโลตัส เป็นภาพสีคู่ 2 หน้า และแสดงภาพสินค้าราคาขายอย่างชัดเจน มีทั้งสินค้าลดราคา ซื้อ 1 แถม 1 ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2553 ถึง 2 มกราคม 2554 พร้อมคำบรรยายว่าซื้อแล้วจะได้สิทธิคูณ แต้ม 3 เท่าในคลับการ์ด และมีข้อความตัวเล็กๆ ด้านล่างของกรอบโฆษณา ถึงข้อจำกัดการซื้อ เช่น กรณีสินค้าขาดตลาด จำหน่ายหมดก่อนกำหนดหรือปฏิบัติตามคำสั่งราชการ โดยไม่มีการระบุว่าสินค้ามีจำนวนจำกัด เมื่ออ่านข้อมูลครบถ้วน ผู้เขียนได้ชวนพี่สาวและหลานๆ เดินทางไปที่ห้างโลตัสสมุทรสงคราม เวลาประมาณ 10.40 น. เพื่อไปซื้อสินค้าตามโฆษณา ไปถึงชั้นวางของปรากฏว่าไม่มีของตามที่โฆษณาวางอยู่ ผู้เขียนจึงไปสอบถามเจ้าหน้าที่ ได้คำตอบว่า ของหมดแล้ว(ฮ้า....นี่เพิ่งวันแรกแต่เช้าหมดแล้วเหรอ..) เอ้า...หมดก็หมด ผู้เขียนเตรียมกลับบ้าน หันมาเจอพี่สาวและหลานๆ เห็นซื้อของกันมาเต็มมือก็เลยถามว่าอ้าว...ของที่ตั้งใจมาซื้อไม่มีแล้วซื้ออะไรกันมา ก็ได้คำตอบว่าไหนๆ ก็เสียเวลามาแล้ว ก็ซื้อๆไปเถอะ (อ้าว...อีกครั้ง)     ผู้เขียนเริ่มรู้สึกว่าการโฆษณาของเขาได้ผล เพราะเมื่อผู้บริโภคเห็นโฆษณาก็อยากจะมาที่ห้าง มาแล้วไม่เจอของที่ตั้งใจซื้อ ก็ต้องซื้อสินค้าอื่นๆ เพื่อไม่ให้เสียเวลา ซึ่งตรงนี้หรือเปล่า คือเป้าของการโฆษณา แต่คิดอีกที เออ..สินค้าเขาคงหมดจริงๆ   จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2554 หลังเสร็จภารกิจส่วนตัวประจำวันผู้เขียนได้เดินทางไป ที่ห้างโลตัสอีกครั้ง ก่อนเที่ยง ปรากฏว่าก็ไม่มีสินค้าอีก เอาละอันนี้เริ่มชัด(อะไรว่ะ....มากี่ทีก็ไม่มีของ..) ผู้เขียนจึงไปแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าต้องการคุยกับผู้จัดการ รอสักพักผู้จัดการ(หรือเปล่าไม่รู้) ก็มาคุยและแจ้งว่าสินค้าหมดแล้วจริงๆ ผู้เขียนจึงได้นำหนังสือพิมพ์ที่โฆษณาของห้างไปแสดงและชี้ให้เห็นว่า ไม่มีข้อความไหนบอกว่า สินค้ามีจำนวนจำกัด และไม่ได้บอกว่าต้องมาซื้อสินค้าเวลาไหนจึงจะซื้อสินค้าตามที่โฆษณาได้ เป็นการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ขณะที่มีการเจรจาก็มีผู้บริโภครายอื่นๆ มายืนฟังด้วย(ที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ..มีผู้บริโภคบางคนพูดว่า...ของมันหมดแล้วมาโวยทำไม หมดก็ซื้ออย่างอื่นซิ..กลายเป็นว่าคนใช้สิทธิเป็นคนผิดอีก..แส้นนนน....ดี...จริงผู้บริโภคไทย) ผู้จัดการบอกว่าขอเบอร์โทรไว้แล้วกันหากสินค้ามาและจะโทรบอก อันนี้ล่ะ..ที่ผู้เขียนรับไม่ได้ พอใครโวยก็ให้สินค้าใครไม่โวยก็หลอกลวงกันเรื่อยๆไป โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่เข้ามากอบโกยรายได้จากผู้บริโภคไทย ด้วยการใช้เทคนิคทางการตลาด นำสินค้าชิ้น 2 ชิ้น มาโฆษณาเป็นเหยื่อล่อ หลอกลวงให้หลงเชื่อ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าไปที่ห้างของตนนั้น เป็นเทคนิคการตลาดที่ขาดจริยธรรมอย่างสิ้นเชิง(จริงๆ) ผู้เขียนได้โทรไปที่สายด่วนผู้บริโภค มีเสียงอัตโนมัติตอบกลับมาว่า ผู้ให้บริการติดบริการรายอื่นอยู่โปรดรอสักครู่ จนสายถูกตัด แต่ก็พยายามโทรอีกหลายครั้งใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมง ก็ไม่สามารถติดต่อได้ เลยต้องโทรหาท่านเลขา สคบ.ท่านก็รับเรื่องแล้วบอกว่าจะดูแลให้ แต่เมื่อคิดอีกทีไปแจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ก็คงดีก็เลยไปแจ้งความไว้ที่โรงพักเพื่อที่จะได้ดำเนินการฟ้อง พรบ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค เพื่อสร้างบรรทัดฐานต่อไป   และในวันเดียวกันก็มีผู้บริโภครายอื่นโทรมาร้องเรียนว่าถูกหลอกเช่นกัน โดยดูทีวีมีการโฆษณาว่ามีกล้องโซนี่ ซื้อ 1แถม 1 ไปซื้อจริงๆไม่มีสินค้าเช่นกัน จึงแนะนำให้ไปแจ้งความไว้อีกคดี กลายเป็นว่าผู้บริโภคได้ร่วมกันให้ของขวัญปีใหม่กับห้างโลตัสไปแล้วโดยไม่ตั้งใจ ที่เขียนเรื่องนี้เพราะผู้เขียนมั่นใจว่าหลายห้างใช้เทคนิคนี้เช่นกัน ไม่อยากจะฝากหน่วยงานแล้วเพราะฝากไปก็เหนื่อยเปล่า ผู้บริโภคอย่างเราๆต้องร่วมมือกันเมื่อเจอเหตุช่วยกันแจ้งความ เพื่อผลักดันให้ธุรกิจเหล่านี้มีจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ พลังของเราจะเป็นพลังที่ขับเคลื่อนสังคมไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมได้จริง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 120 รายงานปัญหาผู้บริโภค ปี 2553 และจับตาภัยผู้บริโภคปี 2554 ตอนที่ 2

  1. ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม   • เอสเอ็มเอสกวนใจ และอินเตอร์เน็ตสุดอืด   ปัญหากลุ่มนี้ อันดับหนึ่งเป็นปัญหาของการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ราวร้อยละ 48 และอันดับสองคือ ปัญหาการใช้บริการอินเตอร์เน็ตร้อยละ 33 ในกลุ่มปัญหาโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น เรื่องที่มีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุดคือ ปัญหาเอสเอ็มเอสกวนใจ หรือสมัครเข้าใช้บริการโดยไม่ได้ตั้งใจและถูกหักเงินค่าใช้บริการ ซึ่งเรื่องนี้จะเชื่อมโยงกับปัญหาการคิดค่าบริการผิดพลาดด้วย เนื่องจากถูกหักเงินโดยไม่ทราบเหตุผล   ส่วนปัญหาอินเตอร์เน็ตนั้น จะมีสองเรื่องใหญ่ที่ผู้บริโภคร้องเรียนคือ ปัญหาเน็ตช้า ไม่เร็วอย่างที่โฆษณา และปัญหาซื้อสินค้าผ่านเน็ต ถูกหลอกให้โอนเงินแต่ไม่ได้สินค้า       แนวทางแก้ไข   • กรณีมีเอสเอ็มเอสขยะเข้ามากวนใจตลอดเวลา ผู้บริโภคสามารถทำข้อตกลงกับผู้ให้บริการมือถือได้ว่าโทรศัพท์มือถือเบอร์ใดที่ไม่ต้องการรับเอสเอ็มเอสขยะได้ และหากยังมีเข้ามาอีกก็สามารถเรียกค่าเสียหายกับผู้ให้บริการได้ เพราะถือว่าได้ทำสัญญาตกลงกันแล้ว• กรณีสมัครเอสเอ็มเอส โดยไม่ตั้งใจ เมื่อทราบว่าเกิดปัญหานี้ขึ้นให้ผู้บริโภคติดต่อกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือโดยทันที เพื่อแจ้งยกเลิกการใช้บริการรับข้อความเอสเอ็มเอสและมิให้เรียกเก็บเงิน หรือหากมีการหักเงินเรียกเก็บไปแล้ว ก็ให้ผู้ให้บริการมือถือคืนเงินโดยทันที เพราะถือว่าเป็นการใช้บริการที่ผู้บริโภคไม่ได้ตั้งใจสมัคร• ปัญหาเน็ตช้า ผู้บริโภคควรเข้าไปในเว็บไซต์ที่มีบริการตรวจสอบความเร็วเน็ต และปริ้นท์ข้อมูลไว้เป็นหลักฐาน หากความเร็วเน็ตที่ใช้ได้ไม่ถึง 80% จากความเร็วที่โฆษณา ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องให้ผู้ให้บริการแก้ไขปัญหาให้มีความเร็วตามที่โฆษณาได้และยังขอลดหย่อนค่าบริการได้ หรือปฏิเสธการจ่ายค่าบริการได้ หากไม่สามารถใช้บริการอินเตอร์เน็ตได้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่มีหลักฐานชัดเจน• ส่วนการซื้อสินค้าผ่านเน็ตนั้น ทราบว่าในขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการกับปัญหานี้ โดยพยายามให้มีการเรียกเก็บภาษีการซื้อขายสินค้าผ่านเน็ต ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภครู้ตัวตนผู้ขายสินค้าได้ชัดเจนมากขึ้น     2. ปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์   คนร้องคอนโดแซงหน้าปัญหาบ้านจัดสรร   ในปี 2553 ปัญหาของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมเบียดแซงหน้าปัญหาของหมู่บ้านจัดสรรไปแบบเฉียดฉิว โดยกลุ่มปัญหาอสังหาริมทรัพย์ การร้องรียนเรื่องคอนโดคิดเป็นร้อยละ 40 และปัญหาหมู่บ้านจัดสรรอยู่ที่ร้อยละ 37   ปัญหาคอนโด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องผิดสัญญาจะซื้อจะขายของผู้ประกอบธุรกิจ คือ สร้างไม่เสร็จ สร้างล่าช้า สร้างไม่ได้มาตรฐาน แต่ผู้บริโภคที่ไม่รู้เหลี่ยมกฎหมายมักตกเป็นฝ่ายถูกฟ้องร้องเหตุไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญา   ในขณะที่หมู่บ้านจัดสรรจะมีปัญหาในการจะซื้อจะขายบ้านและที่ดิน โดยที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินจอง เงินดาวน์ไปก่อน ในระหว่างที่รอคำตอบขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน แต่เมื่อทราบผลว่าสินเชื่อไม่อนุมัติ ทำให้ผู้บริโภคต้องสูญเงินจองเงินดาวน์ไปเป็นจำนวนมาก     แนวทางแก้ไข   • กรณีคอนโดมีปัญหาในการก่อสร้าง สร้างไม่เสร็จ สร้างล่าช้า สร้างไม่ได้มาตรฐาน เมื่อผู้บริโภคทราบเหตุปัญหาในขั้นตอนไหน ลักษณะใด ให้ทำหนังสือทักท้วงให้ผู้ประกอบธุรกิจแก้ไขหรือให้ก่อสร้างให้เป็นไปตามที่ตกลงไว้ในสัญญาโดยทันที อย่าใช้วิธีโทรศัพท์ติดตามเพียงอย่างเดียว และไม่ให้จ่ายเงินค่างวดจนกว่าปัญหาที่ทักท้วงไปนั้นจะได้รับการแก้ไขลุล่วงเรียบร้อย หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญา และเรียกค่าเสียหายได้ • กรณีซื้อบ้านจัดสรร ที่ต้องขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินแล้วยังไม่รู้ผลอนุมัติ เพื่อป้องกันไม่ให้สูญเงินจองเงินดาวน์ไปแบบกินเปล่า ก่อนที่จะลงนามในสัญญาจองและสัญญาจะซื้อจะขาย ผู้บริโภคควรขอให้ผู้ประกอบธุรกิจระบุไว้ในสัญญาเลยว่า หากกู้ไม่ผ่านผู้ประกอบธุรกิจยินดีจะคืนเงินจอง เงินดาวน์ทั้งหมด หรือในสัดส่วนเท่าไหร่ก็ว่าไปตามที่จะตกลงกัน หากผู้ประกอบธุรกิจหรือพนักงานขายไม่ยินยอม ให้เดินออกมาได้เลย ไม่ต้องสนใจกับโครงการนั้นอีกต่อไป     3. ปัญหาด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข   • ฟิตเนส...สัญญาชั่วฟ้าดินสลาย ในช่วงเดือนกันยายน ปี 2553 มีหนังไทยเรื่องหนึ่งเข้าฉาย คือเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย เป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมความรักสุดหน่วงระหว่างอาสะใภ้กับหลานชายของสามี แบบ “ความรักชั่วนิรันดร์ การลงทัณฑ์ชั่วชีวิต” ดูไปแล้วเอามาเทียบกับการเป็นสมาชิกบริการฟิตเนสช่างเหมือนกันได้แบบไม่ผิดเพี้ยน ต่างกันนิดเดียวคือฟิตเนสจะออกแนว “สมาชิกชั่วนิรันดร์ การลงทัณฑ์ชั่วชีวิต” เป็นสมาชิกไปแล้ว เลิกไม่ได้ ต้องจ่ายเงินไปเรื่อยๆ ลูกเดียว นอกจากฟิตเนสแล้ว จากการร้องเรียนยังพบว่าบรรดาศูนย์สุขภาพและความงามจำพวกสปามีการใช้สัญญาชั่วนิรันดร์ลักษณะนี้กับผู้บริโภคเช่นกัน นับเป็นภัยผู้บริโภคอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจับตาในปี 2554   ปัญหาสัญญาสัญญาไม่เป็นธรรมของบริการฟิตเนส เป็นปัญหายอดฮิตที่มีการร้องเรียนในกลุ่มปัญหาด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข โดยมีมากถึงร้อยละ 45   แนวทางแก้ไข   • ผู้บริโภคควรตั้งสติก่อนคิดทำสัญญา • หากหลงเข้าทำสัญญาไปแล้ว ถ้าเป็นการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต หากไม่ประสงค์จะใช้บริการต้องรีบทำหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยเร็วที่สุด ด้วยเหตุผลที่ผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาเป็นเท็จ เกินจริง หรือผิดสัญญาในข้อสำคัญ แล้วให้ส่งสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญาไปที่บริษัทบัตรเครดิตเพื่อให้ระงับการเรียกเก็บเงินโดยทันที• หากผู้ประกอบธุรกิจฟิตเนสผิดสัญญาในเงื่อนไขสำคัญ นอกจากจะสามารถบอกเลิกสัญญาได้แล้ว ผู้บริโภคยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือเรียกร้องค่าสมาชิกคืนได้ แต่หากเจรจาไม่สำเร็จอาจต้องใช้การฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคในท้ายที่สุด   4. ปัญหาด้านอาหาร ยา เครื่องสำอาง   จับตา...อาหารไม่ปลออดภัย   ปัญหาด้านอาหารเท่าที่มีการร้องเรียนกับมูลนิธิฯ มีสองลักษณะใหญ่คือ อาหารไม่ปลอดภัย และการโฆษณาเป็นเท็จหรือเกินจริง  โดยอาหารไม่ปลอดภัยนั้นมักเกิดในลักษณะของอาหารไม่บริสุทธิ์ โดยมีสาเหตุใหญ่ๆ คือ มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ และเกิดปัญหาในกระบวนการผลิต การบรรจุหรือการเก็บรักษา ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ กรณีที่เคยนำมาลงในฉลาดซื้อ เช่น พบตัวมอดในนมผงสำหรับเด็กเล็ก นมบูดเสียก่อนกำหนด   ส่วนด้านการโฆษณาที่เป็นเท็จหรือสงสัยว่าเป็นเท็จนั้น มักพบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาตามสื่อทีวีดาวเทียมหรือสื่อวิทยุชุมชนต่างๆ     แนวทางแก้ไข   ใน 7 กลุ่มปัญหา ปัญหาด้านอาหาร ยา เครื่องสำอางนับเป็นกลุ่มปัญหาที่มีการร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นจำนวนน้อยที่สุด ทั้งนี้ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น การมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอย่างชัดเจน ความเสียหายไม่ชัดเจน หรือเสียหายไม่มาก หรือพบปัญหาบ่อยมากจนเป็นเรื่องชินชา อย่างไรก็ดีปัญหากลุ่มนี้นับเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากที่สุดกว่ากลุ่มใด จึงจำเป็นที่มูลนิธิฯ จะต้องดำเนินการรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้ใช้สิทธิให้มากยิ่งขึ้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 119 ขอประกันสำหรับชาวประมงด้วยได้ไหม

  เราๆ ท่านๆ คงจำกันได้กับเหตุการณ์วิปโยค น้ำท่วมหนักที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ(ขณะที่นั่งเขียนเรื่องนี้น้ำก็ยังท่วมภาคใต้อยู่) ทำให้มีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียชีวิตจำนวนมาก   ซึ่งผู้เขียนก็รู้สึกสลดใจและเห็นใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ต่างอะไรกับท่านผู้อ่านและคนไทยทุกคน  และเราท่านก็คงเห็นเหมือนกันว่าหลังวิกฤติที่เกิดขึ้นต่อจากนี้คือมาตรการฟื้นฟูเยียวยา  ทั้งจากรัฐและเอกชน แต่ที่เป็นหลักจริงๆ หนี้ไม่พ้นรัฐ   ซึ่งมาตรการที่เห็นน้ำเห็นเนื้อที่สุดก็เห็นจะเป็น โครงการประกันรายได้เกษตรกร นั่นเอง     ถึงแม้จะไม่ได้เท่าที่เสียหายแต่เกษตรกร ก็ยังพอเห็นทางรอดอยู่บ้าง ปัญหาคือเกษตรกรไม่ได้มีแค่ชาวไร่ชาวนาที่ปลูกต้นไม้เลี้ยงสัตว์เท่านั้น  แต่ยังมีกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าเกษตรกรอีกกลุ่ม   แต่ไม่เคยมีชื่อในสารระบบเกษตรกรนั่นคือชาวประมง วันนี้ในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นชาวประมงคนหนึ่ง จึงอยากสะท้อน สิ่งที่ไม่มีใครมองเห็นนั่นคือความเดือดร้อนของ ชาวประมงพื้นบ้านและชายฝั่งขนาดเล็กในอ่าวไทย หลังเหตุการณ์น้ำท่วม(ทุกปี)     เปล่า..เขาไม่ได้ถูกน้ำท่วม แต่เขาได้รับผลกระทบจากน้ำจืดจำนวนมหาศาลที่ถูกผลักดันลงทะเล  จนทะเลชายฝั่งในอ่าวไทย กลายเป็นทะเลน้ำกร่อย    เมื่อน้ำทะเลกร่อย(จืด)  กุ้ง,หอย,ปู,ปลา ก็อยู่ไม่ได้   ที่ไหนหนีได้ก็หนี หนีไม่ทันก็ตาย   ทำให้ชายฝั่งทั้งอ่าวไทยกลายเป็นทะเลร้าง...ชาวประมงชายฝั่งโดยเฉพาะบริเวณ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ไม่สามารถทำมาหากินได้มากกว่า 3  เดือน     ที่สำคัญไม่มีอาชีพอื่นรองรับจ้า   หาปลาไม่ได้ก็ไม่มีกิน ต้องกู้หนี้ยืมสินเขาไปเพื่อเอาชีวิตให้รอด  โดยไม่มีหน่วยงานไหนพูดถึง แม้กระทั่งกรมประมงที่มีหน้าที่ดูแลโดยตรง   ขณะที่รัฐประกาศว่าใครเดือดร้อนให้ไปแจ้งขอความช่วยเหลือ   ชาวประมงเหล่านี้จะเอาอะไรไปแจ้ง  ในเมื่อหลักเกณฑ์ของการช่วยเหลือ ต้องบอกว่าความเสียหายนั้นกี่ไร่ เลี้ยงอะไร  เรือเสียหายมั้ย  เรือมีทะเบียนหรือเปล่า. มีใบอนุญาตทำประมงมั้ย ยิ่งเรือเล็กๆ ไม่มีที่จะเรียกร้องเลยสักข้อ     ข้อแม้เหล่านี้ทำให้ชาวประมงกว่า 10,000  ลำ ต้องทนทุกข์โดยไม่สามารถร้องขอความช่วยเหลือใดๆ ได้  ผู้เขียนอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนมุมมองที่ว่าชาวประมงไม่ต้องลงทุนอะไร  เพียงไปกอบโกยจากทะอย่างเดียวเสียที   เพราะอาชีพประมงเป็นอาชีพที่เสี่ยงมาก   ออกทะเลไปแต่ละวัน ไม่รู้ว่าจะได้ปลาหรือไม่ได้  ขาดทุนได้กำไรไม่เคยรู้  แม้แต่จะได้มีชีวิตกลับเข้าฝั่งหรือเปล่าก็ยังไม่สามารถตอบได้ หากรัฐบาลและกระทรวงเกษตร ยังเห็นว่าชาวประมงก็เป็นกลุ่มคนที่ควรได้รับการดูแลฟื้นฟูเยียวยาก็น่าจะดี เราคงไม่อยากเห็นคนกลุ่มนี้ ต้องเลิกทำอาชีพประมงกันใช่มั้ย ถ้าเขาเลิกไปจริง เราจะเอาปลาที่ไหนมากินกันล่ะท่าน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 119 รายงานปัญหาผู้บริโภค ปี 2553 และจับตาภัยผู้บริโภคปี 2554 ตอนที่ 1

  เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคต้องประสบวิบากกรรมเพลิงไหม้สำนักงาน ทำให้พวกเราเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ต้องกลายเป็นชนเผ่าเร่ร่อนชั่วคราว   สถานที่ทำงานต้องถูกย้ายไปย้ายมา สัมภาระข้าวของที่ต้องแบกขนกันอีรุงตุงนัง ที่สำคัญสายโทรศัพท์พื้นฐานซึ่งเป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนหลัก เหลือใช้งานเพียงเบอร์เดียวจากที่เคยมีอยู่ 3 เบอร์   ด้วยสภาพที่ทุลักทุเลของศูนย์พิทักษ์สิทธิฯที่ไม่ต่างจากชาวบ้านที่โดนน้ำท่วม ทำให้การทำงานรับเรื่องร้องเรียนของศูนย์พิทักษ์สิทธิฯในปี 2553 มียอดรับเรื่องร้องเรียนที่ไม่ค่อยน่าภูมิใจเท่าไรนักคือนับได้  796 กรณี(นับแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน) ซึ่งลดลงไปกว่าครึ่งเมื่อเทียบยอดรับเรื่องร้องเรียนในปี 2552 ที่มีถึง 1,587 ราย   อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เรื่องร้องเรียนจะผ่านเข้ามาน้อย แต่กระบวนการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังคงคุณภาพเข้มข้นให้มากที่สุดเท่าที่พวกเราจะมีแรงทำได้ และส่งผลต่อการปกป้องสิทธิของผู้บริโคภที่สำคัญหลายประการ     ภาพรวมเรื่องร้องเรียนปี 2553 ในปี 2553 ปัญหาหนี้สิน การเงิน การธนาคาร ยังคงสร้างความทุกข์ให้กับผู้บริโภคนำมาเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 45 ของกลุ่มเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ตามมาห่างๆ ด้วยปัญหาบริการสาธารณะ คิดเป็นร้อยละ 14 ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม ร้อยละ 11 และที่เกาะกลุ่มตามมาติดๆ คือปัญหาจากการซื้อหรือใช้สินค้าและบริการทั่วไป ปัญหาอสังหาริมทรัพย์     ปัญหาจากการใช้บริการสุขภาพและสาธารณสุข ปัญหาอาหาร ยา เครื่องสำอาง คิดเป็นร้อยละ 8,8,7 และ 3 เรียงตามลำดับ นอกนั้นเป็นเรื่องร้องเรียนอื่นๆที่ไม่ใช่ปัญหาด้านผู้บริโภคอีกร้อยละ 4 แน่นอนว่าปัญหาเรื่องร้องเรียนอันดับต้นๆ ของทุกกลุ่มปัญหาจะเป็นปัญหาผู้บริโภคที่ต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดในปี 2554 ปัญหาเหล่านั้นมีเรื่องใดบ้าง เชิญติดตามได้       1. ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร   • หนี้บัตรเครดิต ปัญหาอมตะที่ต้องเร่งแก้ไข ปัญหาหนี้บัตรเครดิต ครองแชมป์เรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งของมูลนิธิฯมาตั้งแต่ปี 2550 สำหรับในปี 2553 เรื่องร้องเรียนหนี้บัตรเครดิตมีทั้งสิ้น 268 กรณี(เฉพาะที่มีการบันทึก) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 74 ของเรื่องร้องเรียนในกลุ่มการเงินการธนาคารที่มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 360 กรณี   ลักษณะปัญหาที่มีการร้องเรียนหรือขอคำปรึกษา คือ ใช้บัตรเครดิตในทางไม่เหมาะสม เช่น เบิกถอนเป็นเงินสดเพื่อมาลงทุนประกอบธุรกิจแต่ไม่สามารถสู้กับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่สูงของบัตรเครดิตได้พยายามช่วยเหลือตนเองจนเกิดหนี้หลายบัตร เพิ่มเป็นหนี้หลายทางทั้งในและนอกระบบ ขาดความรู้ในการจัดการบริหารหนี้สิน และเลือกใช้วิธีหมุนเงินในอนาคตจนสุดสายป่าน ท้ายสุดต้องผิดนัดชำระหนี้ยกแผง เกิดทุกข์ติดตามเป็นกระบวน คือ ถูกติดตามทวงถามหนี้ไม่เป็นธรรม บางรายถูกหักเงินในบัญชีเงินเดือน ถูกฟ้องศาล และถูกบังคับคดี  บางครอบครัวถึงกับอยู่ในสภาพล่มสลายโดยมิได้เป็นบุคคลล้มละลาย   แนวทางแก้ไข • ความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างวินัยการใช้จ่ายและการจัดการบริหารหนี้ ดังนั้น จึงควรมีการส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชนในการใช้บริการด้านการเงินการธนาคารอย่างเต็มที่ เช่น การทำบัญชีครัวเรือน เพื่อการบริหารจัดการรายได้ การออม การใช้จ่าย การให้ความรู้ในการขอสินเชื่อตรวจสอบค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย รวมทั้งการทำธุรกรรมด้านการเงินต่างๆ เป็นต้น   • ให้เร่งออกกฎหมายคุ้มครองประชาชนอย่างเหมาะสม เช่น กฎหมายติดตามทวงถามหนี้ที่เป็นธรรม , กฎหมายบัตรเครดิตที่มีการกำกับดูแลค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ,กฎหมายการแข่งขันด้านการเงิน เป็นต้น   • รัฐควรจัดให้มีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก   • ควรกำกับผู้ประกอบธุรกิจให้มีวินัยในการปล่อยสินเชื่อ เช่น การให้วงเงินและเพิ่มวงเงินของบัตรเครดิต ควรใช้ข้อมูลเครดิตบูโรมาประกอบการพิจารณา ไม่ใช่ใช้ฐานจากยอดใช้จ่าย ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงทั้งต่อลูกหนี้และผู้ประกอบธุรกิจได้ง่าย เป็นต้น   • การเช่าซื้อรถยนต์และการจองรถ สองเรื่องนี้เปรียบเหมือนปัญหาคู่แฝดสำหรับคนอยากมีรถแต่ไม่มีเงินสด และเป็นปัญหาลูกพี่ลูกน้องของคนที่มีปัญหาหนี้บัตรเครดิต หรือผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงินต่างๆ   การขอสินเชื่อผ่อนรถจากไฟแนนซ์เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเป็นเจ้าของรถใหม่ป้ายแดงได้สะดวกรวดเร็วมากที่สุดวิธีการหนึ่ง แต่การที่ผู้บริโภคบางรายมีปัญหาทางด้านการเงิน ประวัติเครดิตมีตำหนิ แต่ไม่สามารถสลัดความอยากออกจากจิตใจได้เพราะถูกโฆษณาเล้าโลมจนอ่อนระรวย คนกลุ่มนี้มักตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่ใช้ธุรกิจซื้อขายรถยนต์บังหน้าได้ง่ายๆ โดยจะถูกหลอกให้วางเงินจองรถอย่างน้อย 5,000 บาท เพื่อแลกกับการซื้อรถใหม่ราคาถูกกว่าปกติ แถมออฟชั่นเพียบ แต่สุดท้ายมักถูกริบเงินจองในท้ายที่สุด เพราะถูกอ้างว่าขอสินเชื่อจากไฟแนนซ์ไม่ผ่าน   แนวทางแก้ไข o ให้ผู้บริโภครู้ว่า กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมีการควบคุมสัญญาการซื้อขายรถที่มีการจองแล้วo สัญญาจะซื้อจะขายรถต้องมีรายละเอียดของรถที่ชัดเจน พร้อมกำหนดวันที่คาดว่าจะส่งมอบรถo เมื่อรู้ว่าขอสินเชื่อไฟแนนซ์ไม่ผ่าน ให้แจ้งแก่ผู้ขายโดยทันที ให้เป็นลายลักษณ์อักษรดีที่สุด เพราะสัญญาควบคุมกำหนดไว้ว่า เมื่อผู้ขายทราบเรื่องนี้จะต้องคืนเงินจองให้โดยเร็ว ไม่ถือว่าผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญา  o อย่าซื้อรถกับเต้นท์ขายรถเลื่อนลอย ควรซื้อรถกับผู้ขายที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลo ถ้าจะซื้อรถกับบุคคลธรรมดา ต้องไม่ซื้อรถกับคนที่ไม่ให้สำเนาบัตรประชาชน     2. ปัญหาด้านบริการสาธารณะ• รถโดยสารสาธารณะ ยมทูตติดล้อ ในกลุ่มปัญหาด้านบริการสาธารณะ เกือบครึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ในช่วงปี 2553 มียอดผู้ประสบภัยจากรถโดยสารที่ปรากฏเป็นข่าวมากกว่า 2,000 ราย   ในจำนวนนี้ผู้ประสบภัยกว่าครึ่งได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากบริการรถโดยสารปรับอากาศประจำทาง สาเหตุสำคัญมาจากระบบการบริการที่ขาดคุณภาพมาตรฐาน ทั้งคุณภาพของรถและคุณภาพของคนขับ   ที่มาของปัญหา : รถโดยสารสาธารณะกลุ่มใหญ่เป็นรถร่วมบริการของภาคเอกชน ขาดการอุดหนุน ส่งเสริมด้านความรู้และเงินทุนจากรัฐ ทำให้ไม่สามารถยกระดับคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยได้อย่างเป็นระบบ การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มแข็งและขาดความชัดเจน การประกันภัยภาคบังคับเน้นการเยียวยาด้านชีวิตและร่างกาย ส่วนประกันภัยภาคสมัครใจเน้นใช้หลักฐานานุรูป หรือความยากดีมีจนเป็นเกณฑ์การพิจารณาเยียวยาความเสียหาย ระบบประกันภัยทั้งสองแบบยังให้ความสำคัญในสิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารด้านอื่นๆในระดับที่น้อยมาก แนวทางแก้ไข • ให้รัฐประกาศรับรองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ และมีเกณฑ์ในการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นที่ชัดเจน และไม่ตัดสิทธิในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม รวมทั้งให้มีบทกำหนดโทษหากมีการละเมิดสิทธิผู้โดยสาร   • ให้จัดตั้งกองทุนคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะขึ้น ภายใต้ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522  ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร  ส่งเสริมอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการที่มีประวัติการให้บริการที่ดีโดยอาจเป็นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และเป็นทุนในการพัฒนาองค์ความรู้สู่บริการรถโดยสารที่มีคุณภาพและปลอดภัยอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการผลักภาระของผู้ประกอบการมาสู่ผู้บริโภค และไม่ให้เป็นภาระกับรัฐบาลมากจนเกินไป   • แหล่งที่มากองทุน ให้พิจารณาจากเงินรายได้ที่ได้รับจากภาษีรถยนต์ส่วนบุคคล ค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล  เงินค่าปรับ เงินสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตรง เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น     3. ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป• รถยนต์ไม่ได้คุณภาพ และรถยนต์ซื้อใหม่ ใช้ไปซ่อมไป ปัญหาในกลุ่มรถยนต์ เป็นเรื่องร้องเรียนหลักในด้านสินค้าและบริการทั่วไปที่เข้ามาที่มูลนิธิฯเกือบจะทุกยี่ห้อดัง   ปัญหามีหลายลักษณะ ตัวอย่างปัญหาในกลุ่มรถใหม่ เช่น รถติดก๊าซเอ็นจีวีจากโรงงานระบบทำงานไม่สมบูรณ์ ซื้อรถใหม่ป้ายแดงแต่มีปัญหาจุกจิกเกิดขึ้นตลอด ทำให้เกิดข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนรถใหม่แต่ถูกผู้ประกอบธุรกิจปฏิเสธ   ส่วนปัญหาเรื่องคุณภาพมาตรฐานของรถนั้น มีการร้องเรียนและกลายเป็นคดีฟ้องร้อง มี 2 กรณี คือ รถชนอย่างแรงแต่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บสาหัส ผู้ประกอบธุรกิจอ้างว่ารถชนผิดเหลี่ยมและชนแรงไม่พอ กับอีกกรณีคือ มีควันพิษรั่วไหลเข้ามาในห้องโดยสาร โดยผู้ขับขี่ไม่รู้ตัว และเกิดปัญหาสุขภาพ   แนวทางแก้ไข • ในกรณีที่พบว่ารถเกิดปัญหาชำรุดบกพร่อง ผู้บริโภคควรให้ผู้ประกอบธุรกิจทำการซ่อมแก้ไขก่อน และให้เก็บหลักฐานการซ่อมนั้นไว้ทุกครั้ง โดยผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายในค่าขาดโอกาสในการใช้รถยนต์ หรือขอให้มีรถใช้ระหว่างซ่อมได้   • เมื่อให้โอกาสผู้ประกอบธุรกิจทำการซ่อมแก้ไขแล้วหลายครั้ง แต่ยังเกิดปัญหาเดิมขึ้นมาอีก หรือเกิดปัญหาใหม่ต่อเนื่อง ผู้บริโภคควรใช้สิทธิฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายหรือขอเปลี่ยนรถได้   • แนวทางนี้ใช้สำหรับกรณีรถยนต์ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานเช่นกัน     ฉบับนี้คงรายงานได้เพียงแค่นี้ ติดตามเรื่อง สื่อและโทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ ปัญหาบริการด้านสุขภาพ อาหารและยา ได้ในฉบับหน้า ครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 118 เสียงผู้บริโภค ชาวบ้านร้องขี้ไก่เหม็น

  ชาวบ้านร้องขี้ไก่เหม็น แต่โดนนายทุนฟาร์มไก่ฟ้อง เรียกเงิน 2.3 ล้านฟาร์มไก่ขนาดยักษ์ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 2.3 ล้านบาทกับชาวบ้าน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา รวม 27 รายฐานแจ้งเท็จและหมิ่นประมาท กล่าวหาฟาร์มมีขี้ไก่เหม็นสร้างเดือดร้อนรำคาญไม่หยุดหย่อน เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากตัวแทนชาวบ้านอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่ามีชาวบ้านในเขตตำบลลาดกระทิงจำนวน 27 รายถูกบริษัท บุญแปด จำกัด ของ นายบุญยง ศรีไตรราศรี หนึ่งในกรรมการบริหารสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นคดีอาญาเกี่ยวเนื่องคดีแพ่ง ฐานความผิดคือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและหมิ่นประมาท เรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 2,300,000 บาท โดยมีชาวบ้านจำนวน 26 รายถูกเรียกค่าเสียหายรายละ 50,000 บาท และอีกหนึ่งรายซึ่งเป็นแกนนำถูกเรียกค่าเสียหาย 1,000,000 บาท ขอให้มูลนิธิฯ ได้จัดทนายความอาสาเข้าช่วยเหลือในกระบวนการพิจารณาคดีด้วย       จุดเริ่มต้นของปัญหา เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 เมื่อบริษัท บุญแปด จำกัด ได้เข้ามาประกอบกิจการเลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้รับใบอนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง(อบต.ลาดกระทิง) ให้ประกอบกิจการเลี้ยงไก่ จำนวน 2 โรงเรือน สามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้ 100,000 ตัว     กิจการเลี้ยงไก่นั้น ถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ต้องควบคุมตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 แต่ปรากฏว่า อบต.ลาดกระทิงในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ กลับปล่อยปละละเลยให้บริษัท บุญแปดฯ เลี้ยงไก่ไข่เพิ่มขึ้นอีก 7 โรงรวมเป็นไก่ไข่ที่เลี้ยงโดยไม่ได้รับอนุญาตมากถึง 350,000 ตัว และยังละเมิดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้งที่จะต้องตั้งอยู่ห่างจากชุมชน วัด ศาสนสถาน โบราณสถาน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล หรือสถานที่อื่นๆ ในระยะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและไม่ก่อเหตุรำคาญต่อชุมชน แต่ปรากฏว่าฟาร์มไก่แห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับสถานีอนามัยลาดกระทิง วัดลาดกระทิง รวมถึงโรงเรียนบ้านลาดกระทิงซึ่งสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยม 3 อันเป็นศูนย์กลางของชุมชนเพียงแค่รั้วกั้น     ชาวบ้านได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การประกอบกิจการฟาร์มไก่ของบริษัท บุญแปดฯ ทำให้ชาวบ้านไม่น้อยกว่า 250 หลังคาเรือนที่อยู่อาศัยโดยรอบฟาร์มไก่ภายในรัศมมี 1-2 กิโลเมตร ต่างได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นขี้ไก่มาโดยตลอดมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ทิศทางลมจะพาไป     ช่วงเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามช่วยเหลือตัวเอง โดยในเดือนกรกฎาคม 2549 ชาวบ้านมีหนังสือร้องเรียนไปที่ อบต.ลาดกระทิงพร้อมทั้งได้ร้องเรียนไปยังกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกรมอนามัยโดยศูนย์อนามัยที่ 3 ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและแจ้งผลให้ชาวบ้านทราบว่า การประกอบกิจการฟาร์มไก่แห่งนี้ มีฝุ่นและมลพิษที่อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพ อีกทั้งสถานประกอบกิจการยังตั้งอยู่ติดกับสถานีอนามัย อยู่ใกล้ชุมชน วัดและโรงเรียน ก่อให้เกิดเหตุรำคาญส่งผลกระทบต่อสุขภาพจริง จึงให้ อบต.ลาดกระทิง ดำเนินการแก้ไขเหตุรำคาญและควบคุมการประกอบกิจการฟาร์มไก่ดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนด     แต่อบต.ลาดกระทิง ไม่สามารถบังคับให้บริษัท บุญแปดฯ แก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติได้ อีกทั้งยังฝ่าฝืนคำสั่งของ อบต.ลาดกระทิง โดยนำไก่มาเลี้ยงเพิ่มในโรงเรือนอีก จนกระทั่งวันที่ 3 ธันวาคม 2551 อบต.ลาดกระทิง จึงมีคำสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการให้ แต่ฟาร์มไก่ยังคงประกอบกิจการต่อไป ขณะที่ชาวบ้านต้องคอยรับลมที่มีกลิ่นขี้ไก่ผสมอยู่แทบทุกวัน     ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2552 ชาวบ้านจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองระยอง เพื่อขอให้มีคำสั่งให้ อบต.ลาดกระทิงปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2552     ศาลปกครองระยองได้มีคำพิพากษาคดีให้ อบต.ลาดกระทิง ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ระงับเหตุรำคาญจากการเลี้ยงไก่ของบริษัทบุญแปดฯให้หมดสิ้นภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา พร้อมทั้งให้ อบต.ลาดกระทิง พิจารณาดำเนินคดีกับบริษัท บุญแปดฯ     กรณีมีการฝ่าฝืนคำสั่งที่ให้ปรับปรุงแก้ไขเหตุรำคาญโดยให้พิจารณาดำเนินคดีภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา กับให้ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีการนำไก่ไปเลี้ยงเพิ่มในโรงเรือนเลี้ยงไก่ภายในกำหนด 20 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากมีการฝ่าฝืนให้พิจารณาดำเนินคดีตามบทลงโทษที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การสาธารณสุขพ.ศ.2535     หลังคำพิพากษาฯ อบต.ลาดกระทิงได้แจ้งให้บริษัท บุญแปดฯ แก้ไขปรับปรุงและระงับปัญหากลิ่นขี้ไก่เหม็นให้หมดสิ้นโดยลำดับ ต่อมาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ชาวบ้านได้รับหนังสือขอความร่วมมือให้ความเห็นจากอบต. โดยหนังสือดังกล่าวแจ้งว่า ผู้ประกอบได้มีการแก้ไขปรับปรุงและระงับเหตุรำคาญให้หมดสิ้นไปแล้ว จึงขอความเห็นจากชาวบ้านเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงในปัจจุบัน   โดยมีชาวบ้านยินยอมให้ความเห็นกับ อบต.ลาดกระทิงจำนวน 27 ราย ซึ่งชาวบ้านทั้งหมดให้ความเห็นว่า ยังได้รับกลิ่นเหม็นอยู่ โดยมีอาการแสบจมูก เวียนศีรษะ คลื่นไส้อยากอาเจียน และหงุดหงิด รำคาญ อบต.ลาดกระทิงได้นำรายชื่อ ที่อยู่และความเห็นของชาวบ้านทั้งหมดแจ้งให้บริษัท บุญแปดรับทราบ     แทนที่บริษัท บุญแปดฯ จะนำข้อมูลที่ได้รับจากชาวบ้านไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขการประกอบกิจการของตัวเองให้ดีขึ้น กลับใช้เหตุดังกล่าวมาฟ้องร้องเอาผิดกับชาวบ้านทั้งคดีอาญาและแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นเงินกว่า 2.3 ล้านบาทและล่าสุดทราบว่า อบต.ลาดกระทิงถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 5 แสนบาทด้วยเช่นกัน       แนวทางแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มอบหมายให้ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคเข้าดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านในกระบวนการพิจารณาคดี และได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤษจิกายน 2553 ที่ผ่านมา โดยมีชาวบ้านไปรวมฟังการพิจารณาคดีนับ 100 ราย ซึ่งในการเจรจาไกล่เกลี่ยนั้น ศาลได้สอบถามถึงสาเหตุที่บริษัทฯ ฟ้องร้องชาวบ้าน เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วได้ให้ความเห็นว่า ชาวบ้านเดือดร้อนก็ต้องใช้สิทธิร้องเรียนไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งให้บริษัทฯ แก้ไขและบริษัทฯ รับทราบแล้วก็ควรจะมีการปรับปรุงแก้ไข ชาวบ้านได้ทำตามสิทธิที่ตัวเองมีไม่ได้แจ้งเท็จ อีกทั้งยังเป็นการดีที่จะทำให้บริษัทฯ มีการพัฒนาคุณภาพจึงควรมีการพูดคุยกับชาวบ้านมากกว่าฟ้องร้อง และศาลได้แจ้งให้บริษัทฯ ปรับปรุงการประกอบการของตนโดยมีระยะเวลาที่จะพิสูจน์ต่อจากนี้ และนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกันใหม่โดยให้รวมทุกคดีในวันที่ 24 ธันวาคม 2553 เวลา 13.00 น.     โดยผู้พิพากษาได้ฝากให้ทนายโจทก์และผู้รับมอบอำนาจฯ แจ้งแก่โจทก์ว่า หวังว่าโจทก์จะถอนฟ้องชาวบ้าน และนัดหน้าขอให้โจทก์เข้ามาด้วยตนเอง โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นกลางมาพูดคุยกันจะดีกว่า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 118 นมยูเอชทีบูด จะเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

นมยูเอชทีบูด จะเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่เที่ยงวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม 2553 ณ ห้างกาฬสินธุ์พลาซ่า จังหวัดกาฬสินธุ์ คุณวัลภาซื้อผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ ยูเอชที รสสตรอเบอรี่ ขนาด 225 ซีซี จำนวน 1 แพ็คกับห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ เมื่อนำนมยูเอชทีกลับมาถึงบ้าน จึงได้นำไปแช่ในตู้เย็นเตรียมไว้ให้ลูกกินไม่นาน...ลูกชายคนเล็กวัย 3 ขวบของคุณวัลภา ได้หยิบนมจากตู้เย็นมาดื่ม เพียงแค่อึกแรกที่ดูดจากหลอด เจ้าตัวน้อยทำหน้าเบะหันไปบอกพี่สาวทันทีว่า “นมบูด” ลูกสาวคนโตของคุณวัลภาจึงนำนมกล่องนั้นเททิ้ง และบอกให้คุณวัลภาทราบว่าน้องคนเล็กเจอนมบูดหนึ่งกล่องในเย็นวันนั้นทันที คุณวัลภาไม่ได้ว่าอะไรคิดว่าอาจเป็นไปได้ที่นมจะเน่าเสียบ้าง ไม่อยากจะร้องเรียนให้เสียเวลา     แต่พอวันต่อมา คุณวัลภาได้นำนมกล่องที่ซื้อมาเปิดดื่มด้วยตนเอง พบว่านมกล่องที่สองก็บูดเสียเช่นกัน เจอกับตัวเองแบบนี้ คุณวัลภาเริ่มเครียดนึกถึงตอนเจ้าตัวเล็กดื่มนมบูดเข้าใจอารมณ์ของลูกทันที เลยหยิบกล่องที่สามขึ้นมาดูดเพื่อพิสูจน์ว่าจะบูดอีกหรือเปล่า คุณวัลภาไม่ผิดหวัง เพราะดูดปั๊บรู้ทันทีว่าบูดเหมือนกัน คว้ากล่องที่สี่มาดูดอีก็บูดอีก   คุณวัลภาดูดไปหน้าก็บูดเบ้ไปตามจำนวนกล่องนมที่เจาะดูดพิสูจน์ไปด้วย กว่าจะได้บทสรุปว่านมที่ซื้อมาจากห้างบูดเสียทั้งแพ็ค ใบหน้าคุณวัลภาในวันนั้นก็บูดเบ้เสียทรงไปมากทีเดียว เมื่อตรวจดูวันหมดอายุระบุ 11/11/10 หรือวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดหมดอายุ อีกหลายเดือนในขณะนั้น   “ทีแรกคิดว่าช่างมันเถอะเพราะคงแค่บูดกล่องเดียว แต่นี่เป็นทั้งแพ็คเลย” คุณวัลภาจึงได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน และร้องเรียนกับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ ก่อนที่ศูนย์ฯ แห่งนี้จะส่งเรื่องร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ทำการช่วยเหลือผู้บริโภคต่อไป       แนวทางแก้ไขปัญหา การที่นมปรุงแต่งซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องที่ปิดสนิทเกิดการเน่าเสียก่อนถึงกำหนดวันหมดอายุ ปัญหานี้อาจเกิดจากการผลิต การบรรจุ หรือเก็บรักษาไว้โดยไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นลักษณะของอาหารไม่บริสุทธิ์ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ     มูลนิธิฯ จึงได้มีจดหมายถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนม “โฟร์โมสต์” และกรรมการผู้จัดการบริษัท กาฬสินธุ์พลาซ่า จำกัด ในฐานะผู้จำหน่ายสินค้า ให้ร่วมกันตรวจสอบในปัญหาที่เกิดขึ้นและพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งต่อมาผู้บริโภคได้พิจารณาเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 5,000 บาทโดยหวังให้ผู้ประกอบธุรกิจจะได้มีความระมัดระวังในการผลิตและจำหน่ายสินค้าของตนให้มากยิ่งขึ้น     ไม่นานตัวแทนของ บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ ได้นำผลิตภัณฑ์จำนวนหนึ่งไปมอบให้แก่ผู้ร้องเพื่อแทนคำขอบคุณสำหรับการแจ้งขอมูล ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นบริษัทฯ รับที่จะนำข้อมูลและตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยืนยันว่า บริษัทฯ ทำงานด้วยความตั้งใจที่จะมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัยแก่ผู้บริโภคอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอนด้วยระบบเครื่องมือตรวจสอบที่ทันสมัยผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพต่างๆ ทั้ง GMP , HACCPs , ISO 9001 และ ISO 22000 และในเวลาต่อมา บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ฯ ได้รับผิดชอบต่อข้อร้องเรียนของผู้บริโภคเพิ่มเติม ด้วยการจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ร้องเรียนเป็นจำนวน 5,000 บาท     ผู้ร้องมีความพึงพอใจในการแก้ไขปัญหาของบริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ฯ จึงขอขอบพระคุณบริษัทฯ ผ่านทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ประกอบธุรกิจอย่างมีคุณภาพ โดยได้ดูแลผู้บริโภคเป็นอย่างดีเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 118 โอนบ้านแล้วเกือบปี กลับถูกฟ้องเรียกเงินจองเงินทำสัญญาย้อนหลัง

โอนบ้านแล้วเกือบปี กลับถูกฟ้องเรียกเงินจองเงินทำสัญญาย้อนหลัง อย่างนี้ก็มีด้วย...โครงการบ้านเป็นฝ่ายบอกลดเงินจอง เงินทำสัญญาให้ ผู้บริโภคจึงตัดสินใจซื้อบ้าน จนมีการจ่ายเงินค่าบ้านค่าที่ดินและโอนรับบ้านกันเรียบร้อย แต่กลับถูกโครงการติดตามทวงหนี้ย้อนหลังอ้างยังได้เงินจองเงินทำสัญญาไม่ครบ คุณศิริวรรณ ผู้บริโภคที่ประสบเหตุเล่าว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2551 ได้ไปชมโครงการหมู่บ้านพร้อมพัฒน์ ในเครือแสนสิริของบริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด โดยขอเข้าชมบ้านตัวอย่างของโครงการฯ โดยมีพนักงานขายพาชมบ้านตัวอย่าง           ดิฉันได้สอบถามข้อมูลเงินจองและเงินทำสัญญา พนักงานขายบอกว่า เงินจอง 20,000 บาท และเงินทำสัญญา 50,000 บาท ดิฉันบอกจะมาดูใหม่อีกครั้ง พนักงานขายจึงบอกว่าถ้าจองภายในวันนั้น เงินจองจะลดเหลือ 10,000 บาท และเงินทำสัญญาเหลือ 40,000 บาท ดิฉันจึงได้ตัดสินใจวางเงินจองบ้าน ด้วยราคา 10,000 อีกประมาณ 2 เดือนไปจ่ายเงินทำสัญญา 40,000 บาท (ใบเสร็จออกรวม 50,000 บาท ) จากนั้นได้ดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเรื่องให้ทางธนาคารพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ และจ่ายเงินก้อนสุดท้ายในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อถึงวันนัดโอนวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 คุณศิริวรรณได้ไปที่สำนักงานที่ดิน เพื่อทำธุรกรรมโอนกรรมสิทธิ์ และมีการส่งมอบโฉนดแลกเปลี่ยนกับเช็คด้วยจำนวนที่แจ้งไว้เป็นที่เรียบร้อย โดยพนักงานบริษัทฯ มิได้ท้วงติงถึงเรื่องเงินจองบ้านแต่อย่างใด   หลังจากนั้นไม่เท่าไหร่ ประมาณเดือนมกราคม 2552 คุณศิริวรรณได้รับโทรศัพท์แจ้งให้จ่ายค่าเงินจอง และเงินทำสัญญาที่ยังค้างอยู่ จำนวนเงินรวม 20,000 บาท คุณศิริวรรณรู้สึกแปลกใจจึงปรึกษากันกับคนที่บ้านว่า เป็นมิจฉาชีพในคราบของพนักงานขายหรือเปล่า เนื่องจากบ้านมีการโอนกรรมสิทธิ์จากเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ เรียบร้อยแล้ว และยอดเงินดังกล่าว พนักงานขายของบริษัทฯ บอกว่าเป็นส่วนลด หากยังค้างชำระเงินจองจริง บริษัทฯ ต้องแจ้งมาในใบรายละเอียดค่าใช้จ่าย หรือไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ให้ อย่างแน่นอน จากนั้นเรื่องก็หายเงียบไป     จนถึงเดือนกรกฎาคม 2553 คุณศิริวรรณได้รับจดหมายแจ้งเตือน ขอให้ชำระหนี้จำนวนรวม 20,000 บาท ให้แก่ บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด ภายใน 7 วัน ซึ่งจดหมายดังกล่าวไม่มีข้อความแจ้งแหล่งที่มาของจดหมาย ไม่มีชื่อบริษัทฯ ไม่มีตราประทับและไม่มีที่อยู่ให้ติดต่อกลับ เป็นเพียงซองสีขาวเปล่าๆ มีเพียงเบอร์โทรศัพท์มือถือ( Mobile)ไว้ให้เท่านั้น คุณศิริวรรณเกรงว่าจะเป็นมิจฉาชีพสวมรอยจึงมิได้ติดต่อกลับไป   จนถึงเดือนกันยายน 2553 บริษัท อาณาวรรธน์ได้ยื่นฟ้องคุณศิริวรรณเรื่องผิดสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดิน เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 20,000 บาทเศษ คุณศิริวรรณไม่รู้จะทำอย่างไรจึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ       แนวทางแก้ไขปัญหา หลังได้ตรวจสอบคำฟ้องของฝ่ายโจทก์คือ บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด แล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้มอบหมายให้ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคเข้าช่วยเหลือผู้ร้องโดยทันที โดยทนายความอาสาได้เขียนคำให้การให้กับผู้บริโภคเพื่อนำไปยื่นต่อศาล ด้วยตนเอง     โดยคำให้การของผู้บริโภคได้ยืนยันว่า ผู้บริโภคได้จ่ายเงินจองเป็นจำนวน 10,000 บาท และเงินทำสัญญาจำนวน 40,000 บาทตามจำนวนที่ได้รับส่วนลดจากพนักงานขายของบริษัทฯ โดยจ่ายผ่านบัตรเครดิตและเช็คตามลำดับ และในวันที่ทำสัญญาเมื่อจ่ายเงินทำสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว ทางโครงการยังมอบสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินของโครงการและในสัญญาได้ระบุอย่างชัดเจนว่า   ผู้บริโภคได้ชำระเงินจองและเงินทำสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในหนังสือสัญญาขายที่ดินก็ระบุว่าผู้บริโภคในฐานะผู้ซื้อได้ชำระและผู้ขายได้รับค่าที่ดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงขอให้ศาลได้พิจารณายกฟ้อง  เมื่อเห็นคำให้การของฝ่ายผู้บริโภค ทนายความของผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องขอเลื่อนนัดศาลออกไปเพื่อขอตั้งหลัก เพราะไม่คิดว่าผู้บริโภคจะแข็งข้อลุกขึ้นต่อสู้คดีได้     ดังนั้น หากผู้บริโภครายใดเจอเหตุการณ์เช่นนี้ อย่าผลีผลามจ่ายเงินให้ผู้ประกอบธุรกิจ ควรตรวจสอบให้ถ้วนถี่และรีบติดต่อมาที่มูลนิธิฯ โดยทันที ผลของคดีนี้มีความคืบหน้าอย่างไร จะแจ้งให้ทราบเป็นบทเรียนโดยทั่วกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 118 โกงกันเห็นๆ

โกงกันเห็นๆ มีผู้ซื้อประกันภัยมากกว่า 3 ราย ได้ทำหนังสือร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีมุมที่น่าสนใจมาก เขาบอกว่าที่เขาตัดสินใจยอมเสียเงินทำประกันภัยไว้ก็เพื่อประกันความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยที่เขาไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด(จ่ายเพื่อความสบายใจ) โดยเฉพาะการที่ยอมเสียเงินเพิ่มทำประกันภัยรถยนต์ ประเภทประกันชั้น 1   ที่ต้องเสียเงินมากกว่า 10,000 บาท   เพราะเห็นว่าสิทธิประโยชน์ตามสัญญาในกรมธรรม์ มีวงเงินจ่ายความเสียหายแต่ละครั้ง 10 ล้านบาท หากมีผู้เสียชีวิตจ่ายในวงเงิน 500,000 หรือ 250,000 บาทต่อราย(แล้วแต่ตกลงกันในสัญญา) และยังมีวงเงินสำหรับประกันตัวในกรณีที่มีคดีความอีกด้วย     นับว่าการจ่ายเงินของเขาเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อเกิดเหตุขึ้นบริษัทประกันจะได้มารับภาระแทนเขาตามสัญญาที่ทำไว้ คือ 1. เมื่อเกิดเหตุก็มีคนจ่ายเงินให้ 2.เมื่อมีคดีความก็มีคนดูแล   แต่เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น คนที่มาร้องเรียนเขาบอกกับเราว่าเขาตัดสินใจทำประกันไว้กับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด     เพราะชอบที่โฆษณาที่ว่าเมื่อเกิดเหตุ   จะไปเร็ว เคลมเร็ว  แต่เมื่อเขาพลาดประสบเหตุเฉี่ยวชนคนตาย เขาต้องใช้เวลาโทรหาตัวแทนประกันนานมาก....  ต่างจากโฆษณาลิบลับ โทรไปที่บริษัทใหญ่ บริษัทฯ ก็ให้เบอร์สาขาโทรไปสาขา สาขาก็ให้เบอร์ตัวแทน  เรียกว่าเอาเข้าจริงที่โฆษณาไว้ก็ไม่จริง เพราะกว่าตัวแทนจะมาถึงก็เป็นชั่วโมงๆ(กว่าจะมาตำรวจลากรถไปไว้โรงพักแล้ว)     เมื่อเขาต่อว่า ว่าไม่เห็นมาเร็วเหมือนโฆษณาเลย ก็ได้คำตอบจากตัวแทนว่า อ๋อนั่นเฉพาะในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดไม่เร็วหรอกเพราะคดีเยอะ มีเจ้าหน้าที่น้อย(แล้วทำไมตอนโฆษณาไม่บอกว่าเฉพาะกรุงเทพฯ อย่างนี้มันหลอกลวงกันชัดๆ) เมื่อตัวแทนมาถึงก็จดๆ ถ่ายรูป แล้วตำรวจก็นัดเจรจากันอีกครั้งโดยมีการกำหนดวันเวลาไว้ชัดเจน   เมื่อถึงวันนัดคู่กรณีมาพร้อมขาดเพียงตัวแทนบริษัทประกัน ตำรวจบอกให้มาคุยกันต่อหน้าตำรวจเลยจะเอาอย่างไรก็ว่ามา เขาบอกว่าเขางงมาก เพราะไม่รู้จะเจรจาอย่างไร เขาไม่รู้อะไรเลย จริงๆ หน้าที่เจรจาต้องเป็นหน้าที่ของประกัน เขาบอกว่าเขาพยายามโทรหาตัวแทนอยู่หลายครั้ง เริ่มจากคนที่เคยคุยไว้ครั้งแรกก็ได้คำตอบว่าไม่ได้อยู่จังหวัดนี้ย้ายไปจังหวัดอื่นแล้ว และให้เบอร์ตัวแทนคนใหม่มา เขาก็โทรหาอีก คนที่รับสายบอกว่าไม่รู้เรื่อง   เขาก็พยายามโทรหาบริษัท บริษัทก็บอกเดี๋ยวจะติดต่อสาขาให้แล้วให้เบอร์สาขามา โทรหาสาขา สาขาก็บอกว่าเดี๋ยวจะส่งตัวแทนไป(เหตุการณ์คุ้นไหม) ซึ่งขณะนั้นเขาอยู่ในสภาพที่ถูกกดดันมาก คู่กรณีก็นั่งจ้องหน้า ตำรวจก็เร่งให้เจรจาเพราะมีคดีอื่นรออยู่ ตัวแทนประกันที่เขาหวังพึ่งก็ยังไม่มา เขาถามตัวเองว่าเขาเสียเงินทำประกันไปทำไม? เมื่อมีปัญหาแล้วพึ่งไม่ได้     เมื่อมีการเจรจาจริงคู่กรณีได้เรียกร้อง 700,000 บาท   เขาบอกว่าเขาอุ่นใจ เพราะเขาทำ พรบ.ไว้ 2 ส่วน คือ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ วงเงินที่จ่ายกรณีเสียชีวิต 200,000 บาท และหน้ากรมธรรม์ชั้น1 อีก 500,000 บาท รวมแล้วก็พอดีเลย   ตัวแทนก็รับไปคุยกับบริษัทโดยนัดให้ตอบในนัดต่อไป     เมื่อถึงวันนัดตัวแทนประกันบอกว่าบริษัทยอมจ่ายเพียง 300,000  บาท  “จะบ้าเหรอแค่ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ(พรบ.ภาคบังคับที่เขาจ่ายเงินไป 600 บาท)บริษัทก็ต้องจ่ายเต็ม 200,000 บาทแล้ว” เพราะฝ่ายเราเป็นฝ่ายผิด แต่ประกันชั้น 1 ที่เขาเสียเงินเกือบ 20,000 บาท  บริษัทจ่าย 100,000 เดียวเหรอ     แล้วก็ได้คำตอบจากตัวแทนว่าประกันของเขากำหนดวงเงินไว้เพียง 250,000 บาท “ทางบริษัทพิจารณาอนุมัติวงเงินเพียงเท่านี้ผมไม่มีอำนาจตัดสินใจ” เขาบอกอีกว่าเขาได้คุยกับคู่กรณีเรื่องวงเงิน คู่กรณีบอกว่าหากจ่าย 450,000  บาท เขาก็ยินดีจะจบเรื่องเขาก็ได้แจ้งตัวแทนบริษัทไป จากนั้นมีการนัดเจรจากันอีกหลายครั้ง ครั้งนึงบริษัทก็เพิ่มวงเงินทีละประมาณ 5,000 บาท บ้างไม่เพิ่มบ้าง (โอ้โห....เล่นใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อหวังผลประโยชน์ของบริษัท บนความเดือดร้อนของทั้งผู้ซื้อประกันและผู้เสียหายอย่างนี้ก็แย่ซิ. โกงกันชัดๆ.)     จนทำให้คู่กรณีไม่พอใจ และมายืนจ้องเขาแล้วบอกกับเขาว่า  “เอาลูกชั้นคืนมาชั้นไม่ได้อยากได้เงิน” ทั้งๆ ที่เรื่องควรจบได้หากบริษัทยอมจ่ายเงินตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ น้องที่ศูนย์ฯ บอกกับผู้เขียนว่าอย่างนี้แหละพี่ไปเจรจาต่อหน้าเจ้าหน้าที่คปภ. ก็ไม่ได้เรื่อง บริษัทก็ไม่ยอมจ่ายคปภ.ก็ไม่มีน้ำยาผู้เสียหายต้องฟ้องร้องเอง ท่านผู้อ่านรู้สึกเหมือนผู้เขียนไหมว่า ผู้บริโภคอย่างเราๆ ขาดที่พึ่งจริงๆ  ทั้งๆ ที่เรามีสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ยังทำอะไรไม่ได้ น่าเหนื่อยใจจริงๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 117 เสียงผู้บริโภค

ซื้อนมแถมมอด เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา มีคุณพ่อ คุณแม่ลูกอ่อนวัยขวบเศษคู่หนึ่ง ได้เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   สองสามีภรรยาคู่นี้ให้รายละเอียดว่า ในเย็นย่ำวันหนึ่งของปลายเดือนธันวาคม 2552 ตนได้ไปซื้อนมผงสำหรับทารกและเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปียี่ห้อซิมิแลค เกน แอดวานซ์ ขนาดบรรจุ 900 กรัม จำนวน 2 กระป๋อง ราคากระป๋องละ 341 บาทกับห้างสรรพสินค้าโลตัส สาขาปทุมธานี เหตุที่ซื้อเพราะเคยเห็นโฆษณาจึงตัดสินใจเลือกให้ลูกกินตั้งแต่วัย 6 เดือน     เช้าตรู่ของสองวันต่อมา หลังจากนมกระป๋องเดิมที่มีอยู่หมด คุณพ่อคุณแม่จึงได้เปิดหนึ่งในกระป๋องนมที่ซื้อมาใหม่เพื่อเตรียมชงนมให้ลูกกิน แต่ต้องตกใจเป็นอย่างมากเมื่อเปิดกระป๋องนม เพราะพบเนื้อนมในกระป๋องมีสีน้ำตาลเข้มทั้งหมดแทนที่จะเป็นสีขาวเหลืองอย่างที่คุ้นเคย แต่สิ่งที่สร้างความขยะแขยงไปกว่านั้นคือ มีตัวแมลงเล็กๆ คล้ายตัวมอดเดินไต่ยั้วเยี้ยปะปนอยู่ในเนื้อนมเต็มไปหมด   เห็นสภาพเนื้อนมอย่างนั้นแล้วจึงรีบนำฝากระป๋องนมปิดนมกระป๋องนั้นทันที แล้วคว้านมผงอีกกระป๋องที่เหลืออยู่มาเปิดตรวจสอบเช่นกัน โชคดีไม่พบความผิดปกติใดๆ แม้จะคลางแคลงใจว่าจะมีอะไรอยู่ในกระป๋องนมที่เหลืออยู่หรือไม่ แต่ไม่มีทางเลือกเนื่องจากยังเช้าตรู่มากและนมหมดไม่เหลืออยู่ในบ้านเลย จึงจำเป็นต้องใช้นมในกระป๋องที่เหลืออยู่นั้นชงนมให้ลูกกิน   วันนั้นพ่อแม่ลูกอ่อนทั้งสองก็อยู่ไม่สุข เห็นแต่ภาพแมลงยั้วเยี้ยในกระป๋องนมเต็มไปหมด จึงได้นำนมกระป๋องที่เกิดปัญหามาตรวจสอบกันอย่างละเอียดอีกครั้ง จึงพบว่าบริเวณปากกระป๋องนมมีการบุบ ซึ่งในตอนที่ซื้อมานั้นไม่สังเกตเห็นเพราะห้างสรรพสินค้าจะมีการใส่ที่ครอบป้องกันการขโมยไว้บริเวณปากกระป๋อง และในวันที่ซื้อเท่าที่เห็นบนชั้นวางสินค้าก็เหลือนมยี่ห้อนี้เพียง 2 กระป๋องเท่านั้น   เมื่อได้รายละเอียดคร่าวๆ แล้ว จึงโทรศัพท์ไปที่คอลเซนเตอร์ของบริษัทผู้นำเข้านมคือ บริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด เพื่อขอให้นำนมไปตรวจว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น ซึ่งต่อมาบริษัทแสดงความรับผิดชอบโดยแจ้งว่าจะเปลี่ยนนมกระป๋องใหม่มาให้ และมอบกระเช้าของขวัญเพื่อเป็นการแสดงน้ำใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมรับตัวอย่างนมไปตรวจ ในวันเดียวกันได้มีการร้องเรียนไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานีซึ่งเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าแห่งนั้น และยังได้ร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) อีกด้วย   ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 บริษัทแอ๊บบอตได้มีจดหมายยืนยันถึงกระบวนการผลิตนมที่มีมาตรฐานและมีการตรวจสอบคุณภาพการผลิตอย่างสม่ำเสมอ และได้กล่าวถึงกรณีเกี่ยวกับกระป๋องที่บุบว่า ผลิตภัณฑ์รุ่นนี้พบว่ามีมาตรฐานคุณภาพสูงในขณะที่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยสินค้าเพื่อจำหน่ายจากโรงงาน อาจเป็นไปได้ที่กระป๋องถูกทำให้เสียหายระหว่างขนส่ง หรือขณะเก็บรักษาก่อนจำหน่าย หรือหลังจำหน่าย   หลังได้รับจดหมายพ่อแม่ลูกอ่อน เห็นว่ายังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่ามีแมลงเข้าไปอยู่ในกระป๋องนมได้อย่างไร ก็เฝ้ารอติดตามผลการร้องเรียนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่อยมา ส่วนนมที่ชงให้ลูกกินนั้นได้เปลี่ยนยี่ห้อใหม่หลังเกิดปัญหาไม่นาน   แนวทางแก้ไขปัญหา หลังจากที่ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปลายปี 2552 ไม่เห็นความคืบหน้า พ่อแม่ลูกอ่อนสองท่านนี้เห็นข่าวมูลนิธิฯ ตึกถูกไฟไหม้ จึงได้นำปัญหานี้มาร้องเรียนกับมูลนิธิฯ ที่สำนักงานชั่วคราว อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2553   ในเดือนเดียวกัน มูลนิธิฯ จึงได้นัดผู้แทนของห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส คือ บริษัท เอก-ชัย ดริสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัดและบริษัทแอ๊บบอต เข้าร่วมการเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้บริโภค และได้ส่งตัวอย่างนมผงไปที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี เพื่อทำการตรวจสอบ   ผลการเจรจาไกล่เกลี่ยผู้ประกอบธุรกิจทั้งสองได้มีโอกาสชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้บริโภคและรับที่จะนำข้อมูลจากปัญหาที่เกิดขึ้นไปพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการประกอบการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป พร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้บริโภคร่วมกันเป็นเงินทั้งสิ้น 50,000 บาท โดยแบ่งจ่ายบริษัทละ 25,000 บาท   ส่วนผลการตรวจสอบศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ได้ความว่า แมลงที่พบในนมผงที่ส่งมาตรวจสอบนั้น เป็นแมลงชนิดเดียวกัน มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทยว่า มอดแป้ง เป็นแมลงในวงศ์ Tenebrionidae อันดับ Coleoptera ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Tribolium spp.   มอดแป้งเป็นแมลงขนาดเล็ก มีสีน้ำตาลแดง มักพบตามบริเวณที่แห้ง นอกจากนี้อาจพบในผลิตภัณฑ์อาหารแห้งที่เก็บรักษาไว้ มอดแป้งเป็นศัตรูในโรงเก็บ และพบทำลายผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากเมล็ดธัญพืช...   ในส่วนนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้ตั้งขอสันนิษฐานว่า การที่ปากกระป๋องมีรอยบุบก่อนจะถึงมือผู้บริโภคอาจทำให้เกิดการฉีกขาดของแผ่นวัสดุที่ปิดกั้นบริเวณปากกระป๋องเป็นรูรั่วที่เล็กมาก ทำให้มอดแป้งที่อาจเกาะกินอยู่กับสินค้าผลิตภัณฑ์ประเภทธัญพืชซึ่งเก็บรักษาอยู่ในที่เดียวกันหรือใกล้เคียง น่าจะเล็ดลอดเข้าไปอยู่อาศัยทำมาหากินกับนมผงที่กระป๋องมีรอยบุบนี้ได้ และหากพนักงานของผู้ประกอบธุรกิจไม่ตรวจสอบให้ดีและคัดแยกออกไป นมกระป๋องนี้จึงถึงมือผู้บริโภคในท้ายที่สุดได้   อย่างไรก็ดีขอขอบพระคุณผู้ประกอบธุรกิจทั้งสองที่ได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้บริโภค นับเป็นเยี่ยงอย่างที่ดีและน่ายกย่องที่ผู้ประกอบธุรกิจอื่นๆ จะได้นำไปปฏิบัติต่อไป     แนะวิธีคงสัญญา “เม้าท์ไม่อั้น” WE PCT ทรูอุบไต๋ ปิดปากเงียบ ไม่ยอมบอกลูกค้าที่ใช้พีซีทีโปรฯ “เม้าท์ไม่อั้น” “เม้ากันให้มันส์” ฟรี 1 ปี ว่าทุกคนยังคงมีสิทธิตามสัญญาเหมือนเดิม   ฉลาดซื้อฉบับที่แล้วได้นำเสนอเรื่องที่มีผู้ใช้บริการ PCT ของบริษัท เอเซีย ไวร์เรส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทในเครือของทรู ร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำนวนมาก  ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้า we PCT ที่ซื้อ PLUS PHONE และ WE PHONE ในราคา 3,990 บาท และ 2,990 บาท โดยจะได้รับสิทธิโทรฟรีไม่จำกัดทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง นาน 12 เดือน นับแต่วันที่เริ่มเปิดใช้บริการ ซึ่งโปรโมชั่นนี้เริ่มในช่วงกลางปีที่ผ่านมา แต่ได้ใช้กันยังไม่ทันพ้นปี กรกฎาคมที่ผ่านมาทรูกลับแจ้งยกเลิกโปรโมชั่นโทรฟรีดังกล่าว โดยขีดเส้นตายวันที่ 1 ตุลาคม 2553 จะยกเลิกโปรโมชั่นโทรฟรีทั้งหมด และให้ลูกค้าเลือกโปรโมชั่นใหม่ 2 ทางเลือก คือ หนึ่ง ให้โทรฟรีได้เฉพาะเครือข่ายของทรูตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ เครือข่ายอื่นคิดนาทีละ 50 สตางค์ ตัวที่สอง Sim ถูก มูลค่า 49 บาท ค่าโทรทุกเครือข่ายนาทีแรก 2 บาท นาทีถัดไปนาทีละ 50สตางค์ โทรครบ 5 บาทโทรครั้งต่อไปนาทีแรก 2 บาท นาทีถัดไปนาทีละ 25 สตางค์นั้น   ปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีลูกค้า PCT ของทรูหลายรายโทรเข้ามาแจ้งกับมูลนิธิฯว่า ถูกระงับสัญญาณการโทรออกนอกเครือข่าย โทรได้เฉพาะแต่ในเครือข่ายของทรูเท่านั้น ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก “มีผู้บริโภครายหนึ่งแจ้งว่า ตนเป็นพนักงานฝ่ายบัญชีของบริษัทแห่งหนึ่ง ได้นำเสนอให้บริษัทซื้อ PCT Plus Phone มาให้พนักงานฝ่ายขายใช้ติดต่อลูกค้าจำนวน 10 เครื่อง ตนมารับทราบในวันที่ 4 ตุลาคมว่า PCT ถูกทรูระงับสัญญาณไม่ให้โทรออกนอกเครือข่ายได้โดยแจ้งเป็นข้อความว่าวงเงินไม่พอทำให้บริษัทของตนได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก”     แนวทางแก้ไขปัญหา หลังร้องเรียนกับมูลนิธิฯ ผู้บริโภคหลายรายได้พยายามติดต่อไปที่ศูนย์รับร้องเรียนของทรูที่เบอร์โทรศัพท์ 02-900-8088 ปรากฏว่าเพียงแค่แจ้งยืนยันที่จะใช้บริการตามโปรโมชั่นโทรฟรีเดิมต่อไป ทรูจึงได้ยินยอมเปิดสัญญาณให้โทรออกนอกเครือข่ายได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด   ทั้งนี้เนื่องจาก ตามประกาศเรื่องสัญญามาตรฐานของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ได้ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคในด้านสัญญาไว้ว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะทำการเปลี่ยนแปลงสัญญาใดๆ ที่ทำไว้กับผู้บริโภคไม่ได้หากไม่ได้รับการยินยอมจากผู้บริโภคอย่างชัดแจ้ง และผู้ให้บริการจะต้องปฏิบัติตามสัญญาและโฆษณาอย่างครบถ้วน ดังนั้นหากลูกค้า PCT ยังคงต้องการใช้โปรโมชั่นโทรฟรี 1 ปีอยู่ ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิตัดหรือระงับสัญญาณโทรออก เบื้องต้นผู้บริโภคที่ประสบปัญหาขอให้แจ้งยืนยันความประสงค์ที่จะใช้โปรโมชั่นเดิมได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของทรู โทร. 02-900-8088 , 02-643-1071 โทรสาร 02-643-0540 และหากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาขอให้แจ้งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่โทร.02-248-3737 เพื่อช่วยเหลือดำเนินการฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป     ประกันภัยชั้น 1 กับรถเช่า   คุณอนุสรณ์(นามสมมติ) มีความจำเป็นที่จะต้องเช่ารถเพื่อพาญาติเดินทางไปต่างจังหวัด   ตอนไปติดต่อขอเช่ารถ หลังจากที่สอบถามราคาค่าเช่ารถจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงสอบถามผู้ให้เช่าต่อไปว่า รถมีประกันชั้น 1 หรือไม่ ทางผู้ให้เช่าตอบว่า รถมีประกันชั้น 1   ด้วยความคุ้นเคยในประกันภัยประเภทนี้ ทำให้คุณอนุสรณ์วางใจที่จะเช่ารถคันนั้นในทันที เพระคิดว่าประกันภัยประเภทนี้จะให้ความคุ้มครองทั้งหมดเมื่อรถเช่าเกิดอุบัติเหตุ   อีกหนึ่งวันต่อมารถคันที่เช่าก็เกิดอุบัติเหตุขึ้นจริงๆ เนื่องจากฝนตกถนนลื่นรถเบรกไม่อยู่ทำให้ไปชนกับรถอีกคันหนึ่ง คุณอนุสรณ์จึงโทรแจ้งเรียกประกันภัยมาเคลมค่าเสียหายทั้งรถเช่าและรถคู่กรณี  ซึ่งเจ้าหน้าที่เคลมประกันแจ้งให้คุณอนุสรณ์นำรถเข้าอู่ซ่อมของบริษัทประกันภัย   วันรุ่งขึ้นด้วยความพาซื่อคุณอนุสรณ์จึงไปที่อู่ซ่อมของบริษัทประกัน พร้อมถือเอกสารการประกัน และ สัญญาเช่ารถติดไปด้วย เจ้าหน้าที่ประกันคว้าสัญญาเช่ารถไปถ่ายรูปทันที   คุณอนุสรณ์เริ่มเอะใจ ถามเจ้าหน้าที่ประกันว่าจะรับผิดชอบไหม ทำไมต้องถ่ายสัญญาเช่ารถด้วย และท่าทางเจ้าหน้าที่เริ่มมีพิรุธแต่ปากก็ยังบอกว่า ไม่ต้องห่วงประกันจะรับผิดชอบทั้งหมด   หลังจากนั้นไม่กี่วัน  คุณอนุสรณ์ได้รับโทรศัพท์จากผู้ให้เช่ารถแจ้งว่า ประกันภัยปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหม คุณอนุสรณ์ต้องรับผิดชอบค่าซ่อมทั้งหมด เพราะทางประกันแจ้งว่า ประกันชั้น 1 ที่ทำไว้เป็นประเภทบุคคล ไม่ใช่ประกันชั้น 1 สำหรับรถเช่า   “ผมจะทำไงดีครับ เพราะในสัญญาเช่ารถ เขียนไว้ว่า ถ้ารถเกิดอุบัติเหตุ ผู้เช่าต้องรับผิดชอบ แต่ผมเห็นว่ามีประกันชั้น 1 จึงยอมเช่า แต่ไม่รู้ว่าเป็นประกันส่วนบุคคล” คุณอนุสรณ์กล่าว     แนวทางแก้ไขปัญหา เรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องติดต่อขอเช่ารถ ที่จะไม่ถามเพียงแค่ว่ารถคันที่เช่ามีประกันภัยหรือไม่เท่านั้น แต่จะต้องถามว่าประกันภัยของรถคันที่เช่านั้นเป็นประกันภัยประเภทรถยนต์ส่วนบุคคลหรือประกันภัยรถยนต์เชิงพาณิชย์ ให้ชัดเจน เนื่องจากการใช้รถยนต์ผิดประเภทถือเป็นการกระทำที่ผิดสัญญาประกันภัย และจะเป็นเหตุให้บริษัทประกันปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมได้   มีข้อมูลจากบริษัทรถเช่าแห่งหนึ่งกล่าวว่า จริงๆ แล้วส่วนใหญ่จะเป็นฝรั่งที่ถามเกี่ยวกับประกัน คนไทยส่วนมากไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่จริงๆ เป็นเรื่องสำคัญมาก   ในกรณีของคุณอนุสรณ์จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ เพราะผู้ให้เช่าไม่ได้มีการการปกปิดข้อมูลแต่อย่างใด เพียงแต่ผู้ให้เช่าเข้าใจเอาเองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้น บรรดาค่าซ่อมรถ (ทั้งรถคันที่เช่า และคู่กรณี ค่าลากรถ (หากรถไม่สามารถขับเคลื่อนได้) หรือค่าเรียกร้องอื่นๆ หากคู่กรณีเรียกร้องจะต้องรับผิดชอบทั้งหมด   ทางออกพอมีอยู่บ้าง คือ ขอเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อขอให้ลดยอดหนี้ลงมา และหรือขอผ่อนชำระเป็นงวดๆไป  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point